ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑๘. ปัญญาสนิบาต
๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
ว่าด้วยพระราชธิดานฬินิกา

(พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งให้เรียกพระราชธิดานฬินิกามาแล้ว ตรัสว่า๑)
[๑] ลูกหญิงนฬินิกา ชนบทกำลังเดือดร้อน
แม้แคว้นก็กำลังพินาศ มาเถิด ลูกจงไปนำพราหมณ์นั้นมาให้พ่อ
(พระราชธิดานฬินิกาสดับพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๒] ทูลกระหม่อมพ่อ หม่อมฉันไม่เคยทนทุกข์ลำบาก
ทั้งไม่ฉลาดในหนทางไกล
หม่อมฉันจักไปยังป่าที่มีช้างอาศัยอยู่ได้อย่างไร
(พระราชาตรัสว่า)
[๓] ลูกหญิงนฬินิกา ลูกจงไปยังชนบท
ที่มั่งคั่ง ด้วยช้าง ด้วยรถ และด้วยยาน
ที่สร้างด้วยไม้๒โดยวิธีนี้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ในวงเล็บนี้และทุกวงเล็บที่ปรากฏตลอดคัมภีร์เล่มนี้ ยกมาจากอรรถกถาของชาดกเรื่องนั้น ๆ เริ่มจาก
ขุ.ชา.อ. ๘ - ๑๐ เป็นลำดับไป
๒ ยานที่สร้างด้วยไม้ ในที่นี้หมายถึงเรือ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๔] ลูกจงพาเอากองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
และกองพลราบไป ลูกจักนำพราหมณ์มาสู่อำนาจได้
เพราะผิวพรรณและรูปของลูก
(นายพรานป่าชี้ไปที่อาศรม แล้วกราบทูลพระราชธิดานฬินิกาว่า)
[๕] อาศรมอันน่ารื่นรมย์ของอิสิสิงคดาบสปรากฏอยู่นั่น
ซึ่งมีต้นกล้วยปรากฏเป็นทิวแถว แวดล้อมไปด้วยป่าแสม
[๖] นั่นแสงไฟยังโพลงเห็นประจักษ์อยู่ นั่นควันไฟยังปรากฏอยู่
เข้าใจว่า อิสิสิงคดาบสผู้มีฤทธิ์มากจะยังไม่เลิกบูชาไฟ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสว่า)
[๗] อิสิสิงคดาบสมองเห็นพระราชธิดานั้น
สวมใส่ตุ้มหูแก้วมณีกำลังเสด็จมา
เกิดความกลัว จึงเข้าไปยังอาศรมที่มุงด้วยใบไม้
[๘] ที่ใกล้ประตูอาศรมของดาบสนั้น
พระราชธิดานั้นก็ทรงแสดงให้เห็นอวัยวะของลับ
และส่วนที่ปรากฏ ขณะเล่นลูกข่างอยู่
[๙] ฝ่ายชฎิลดาบสผู้อยู่ในบรรณศาลา
ครั้นเห็นพระราชธิดานั้นทรงเล่นอยู่
จึงออกมาจากอาศรมแล้วกล่าวคำนี้ว่า
[๑๐] พ่อมหาจำเริญ ต้นไม้ของท่านชื่ออะไรที่มีผลเป็นอย่างนี้
ถึงท่านจะขว้างไปแล้วแม้ในที่ไกล
มันก็ย้อนกลับมา ไม่ละทิ้งท่านไป
(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า)
[๑๑] ท่านพราหมณ์ ที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
ณ ภูเขาคันธมาทน์ ต้นไม้ชนิดนั้นที่มีผลเป็นอย่างนี้มีอยู่มาก
ถึงข้าพเจ้าจะขว้างไปแล้วแม้ในที่ไกล
มันก็ย้อนกลับมา ไม่ละทิ้งข้าพเจ้าไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
(อิสิสิงคดาบสเมื่อจะทำการปฏิสันถาร จึงกล่าวว่า)
[๑๒] เชิญท่านผู้เจริญเข้าไปยังอาศรมนี้เถิด
จงรับน้ำมันทาเท้าและภักษาหาร ข้าพเจ้าจักให้
นี้อาสนะ เชิญท่านผู้เจริญนั่งบนอาสนะนี้
เชิญท่านผู้เจริญขบฉันเหง้ามันและผลไม้ ณ ที่นี้เถิด
[๑๓] ที่ระหว่างขาอ่อนทั้ง ๒ ของท่านนี้เป็นอะไร
สวยเรียบดี ปรากฏเป็นเพียงสีดำ
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า
อวัยวะส่วนปลายยอด๑ของท่านเข้าไปอยู่ในฝักหรือ
(พระราชธิดานฬินิกาลวงดาบสว่า)
[๑๔] ข้าพเจ้ากำลังเที่ยวแสวงหารากไม้และผลไม้อยู่ในป่า
ได้ขว้างหมีร้ายกาจตัวหนึ่ง
มันวิ่งปราดเข้าถึงตัวข้าพเจ้าโดยฉับพลัน
ทำให้ข้าพเจ้าล้มลงแล้วกัดอวัยวะส่วนปลายยอดไป
[๑๕] แผลนี้ มันรบกวนและเกิดอาการคันขึ้น
ข้าพเจ้าจึงไม่ได้รับความสำราญตลอดเวลา
ท่านผู้เจริญพอจะกำจัดอาการคันนี้ได้หรือ
ข้าพเจ้าขอร้องท่านผู้เจริญ
โปรดบำเพ็ญประโยชน์แก่พราหมณ์ด้วยเถิด
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[๑๖] แผลของท่านมีสีแดง ค่อนข้างลึกและใหญ่
แต่ไม่เน่า มีกลิ่นนิดหน่อย
ข้าพเจ้าจะปรุงยาน้ำฝาดให้ท่านขนานหนึ่ง
เท่าที่ท่านผู้เจริญจะพึงมีบรมสุขได้

เชิงอรรถ :
๑ อวัยวะส่วนปลายยอด หมายถึงเครื่องหมายเพศ (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๓/๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า)
[๑๗] ท่านพรหมจารี การเสกมนต์ การปรุงยาน้ำฝาด
และโอสถทั้งหลายก็บำบัดไม่ได้
ขอท่านพึงใช้องคชาตอันอ่อนนุ่มเสียดสีกำจัดอาการคัน
เท่าที่ข้าพเจ้าจะพึงมีบรมสุขได้เถิด
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[๑๘] อาศรมของท่านผู้เจริญอยู่ทางทิศไหนจากที่นี้หนอ
ท่านผู้เจริญย่อมรื่นรมย์อยู่ในป่าหรือ
มูลผลาหารของท่านมีเพียงพอหรือ
สัตว์ร้ายทั้งหลายไม่เบียดเบียนท่านผู้เจริญหรือ
(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า)
[๑๙] จากที่นี้ตรงไปทางทิศเหนือ
มีแม่น้ำชื่อเขมาเกิดจากป่าหิมพานต์
อาศรมที่น่ารื่นรมย์ของข้าพเจ้าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนั้น
ท่านผู้เจริญ ท่านควรจะไปเยี่ยมอาศรมของข้าพเจ้าบ้าง
[๒๐] ต้นมะม่วง ต้นสาละ ต้นหมากเม่า ต้นหว้า
ต้นราชพฤกษ์ และต้นแคฝอย ออกดอกบานสะพรั่ง
ท่านผู้เจริญ ท่านควรจะไปเยี่ยมอาศรมของข้าพเจ้าบ้าง
ซึ่งมีพวกกินนรขับกล่อมอยู่โดยรอบ
[๒๑] ต้นตาล เหง้าตาล และผลตาล ณ ที่นั้น
มีสีสันงดงามและมีกลิ่นหอม
ท่านผู้เจริญ ท่านควรจะไปเยี่ยมอาศรมของข้าพเจ้าบ้าง
ซึ่งประกอบไปด้วยภูมิภาคอันงดงามนั้นบ้าง
[๒๒] ผลไม้และเผือกมันซึ่งมีสีสันสวยงาม
มีกลิ่นหอมและมีรสอร่อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
ที่อาศรมของข้าพเจ้านั้นมีอยู่เพียงพอ
และพวกนายพรานพากันมายังที่นั้นแล้ว
ขออย่าได้ลักมูลผลาหาร๑จากอาศรมของข้าพเจ้านั้นไปเลย
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[๒๓] ขณะนี้ บิดาของข้าพเจ้าไปแสวงหามูลผลาหาร
จะกลับมาในตอนเย็น เราทั้ง ๒ จะไปยังอาศรมนั้น
ต่อเมื่อบิดากลับมาจากการแสวงหามูลผลาหาร
(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า)
[๒๔] ฤๅษีและพระราชฤๅษีทั้งหลายผู้เป็นคนดีเหล่าอื่น
มีจำนวนมากอยู่ตามทาง
ท่านจงถามฤๅษีเหล่านั้นถึงอาศรมของข้าพเจ้าเถิด
ฤๅษีเหล่านั้นจักนำท่านไป ณ สถานที่อยู่ของข้าพเจ้าเอง
(พระดาบสโพธิสัตว์กลับมาจากป่าแล้วถามว่า)
[๒๕] เจ้ามิได้หักฟืน มิได้ตักน้ำ มิได้ก่อไฟ
เพราะเหตุไรหนอ เจ้าจึงเหงาหงอยซบเซาอยู่
[๒๖] แน่ะลูกผู้ประพฤติพรหมจรรย์
เมื่อก่อน ฟืนเจ้าก็หัก ไฟเจ้าก็บูชา
แม้ไฟสำหรับผิงเจ้าก็จัดแจงไว้
ตั่งเจ้าก็ตั้งไว้ น้ำเจ้าก็ตักไว้เพื่อพ่อ
ลูกยังประพฤติพรหมจรรย์รื่นรมย์อยู่หรือ
[๒๗] เจ้ามิได้หักฟืน มิได้ตักน้ำ
มิได้ก่อไฟ มิได้หุงต้มโภชนาหาร
วันนี้ ลูกยังมิได้ทักทายพ่อเลย
สิ่งของอะไรหายหรือ หรือว่าลูกมีทุกข์ใจอะไร

เชิงอรรถ :
๑ มูลผลาหาร คือ อาหารที่ได้จากรากไม้กล่าวคือเหง้า (เหง้าบัว,หัวเผือก,หัวมัน) และผลไม้ทั้งหลายที่มี
สีและกลิ่นเป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๒/๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[๒๘] ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ได้มาที่นี่
รูปร่างของเธอสวยงาม น่าชม
ไม่สูงเกินไปและไม่เตี้ยเกินไป มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง
ศีรษะของเธอผู้เจริญดำสวยงาม
เพราะปกคลุมด้วยผมอันดำสนิทเป็นเงางาม
[๒๙] ไม่มีหนวด บวชได้ไม่นาน
ก็เธอมีเครื่องประดับเช่นกับเชิงบาตรอยู่ที่คอ
และมีปุ่ม ๒ ปุ่มเกิดที่อกอย่างงดงาม
ทั้งคู่มีผิวพรรณเปล่งปลั่งดังผลมะพลับทองคำ
[๓๐] อนึ่ง ใบหน้าของเธอน่าทัศนายิ่งนัก
กรรเจียกจอนก็ห้อยอยู่ที่หูทั้ง ๒
เมื่อมาณพเดินไปมา มันก็เปล่งประกายแวววาว
สายรัดชฎาที่ประดับก็โชติช่วงชัชวาล
[๓๑] และเครื่องประดับอย่างอื่นอีก ๔ อย่างของมาณพนั้น
มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง และสีขาว
เมื่อมาณพเดินไปมา มันก็แกว่งไกวไปมา
เหมือนหมู่นกติรีฏิ ยามเมื่อฝนตก
[๓๒] ก็เธอมิได้คาดสายรัดเอวที่ทำด้วยหญ้ามุงกระต่าย
เปลือกปอ และหญ้าปล้อง
สายรัดเอวนั้นปลิวสะบัดเหมือนสายฟ้าในอากาศ
โชติช่วงอยู่ระหว่างสะเอวกับสะโพก
[๓๓] อนึ่ง ผลไม้ทั้งหลายไม่มีใบ ไม่มีขั้ว ติดอยู่ที่สะเอว
ใต้สะดือ ไม่กระทบกันเลย ส่ายได้เป็นนิจ
พ่อ ผลไม้เหล่านั้นเป็นผลของต้นไม้อะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๓๔] ก็แหละชฎา๑ของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก
มีปลายงอนมากกว่าร้อย มีกลิ่นหอม
จัดรูปทรงแบ่งศีรษะเป็นสองส่วนได้อย่างงดงาม
ขอให้ชฎาของเราเป็นเช่นนั้นเถิด
[๓๕] ก็คราวใดชฎิลนั้นสยายชฎา
ที่ประกอบด้วยสีและกลิ่นเหล่านั้น
คราวนั้นอาศรมนี้ก็หอมอบอวล
เหมือนดอกอุบลเขียวที่ต้องลม
[๓๖] เปือกตมที่เรือนร่างชฎิลนั้นก็น่าดูยิ่งนัก
หาเป็นเช่นกับกายของเราไม่
พอถูกลมโชยพัดก็หอมฟุ้ง
เหมือนป่าไม้มีดอกบานสะพรั่งปลายฤดูร้อน
[๓๗] ชฎิลนั้นตีผลไม้มีรูปอันวิจิตรงดงามน่าดูลงบนพื้นดิน
และผลไม้ที่ขว้างไปแล้วย่อมกลับมาสู่มือของชฎิลนั้นอีก
พ่อ ผลไม้นั้นเป็นผลของต้นไม้อะไรหนอ
[๓๘] อนึ่ง ฟันของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก
ขาว เรียบเสมอ เปรียบได้กับสังข์ที่ขัดดีแล้ว
เมื่อเธอยิ้ม ย่อมทำใจให้ผ่องใส
ชฎิลนั้นคงไม่ได้เคี้ยวผักด้วยฟันเหล่านั้นเป็นแน่
[๓๙] คำพูดของเธอไม่หยาบคาย ไม่คลาดเคลื่อน
นุ่มนวล อ่อนหวาน ซื่อตรง ไม่ทำให้ฟุ้งซ่าน ไม่คลอนแคลน
เมื่อเปล่งออกมา น้ำเสียงของเธอทำให้ฟูใจ
ไพเราะจับใจ ดุจเสียงนกการเวก
ทำให้ใจของลูกกำหนัดยิ่งนัก

เชิงอรรถ :
๑ ชฎาในที่นี้หมายถึงสายผม (เส้นผมหลายเส้นที่ร้อยในลูกปัด) ที่เอาแก้วแซมผูกไว้มีทรงคล้ายชฎา (ขุ.ชา.อ.
๘/๓๔/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๔๐] เธอมีน้ำเสียงหยดย้อย ไม่เป็นถ้อยคำที่น่ารังเกียจ
และไม่ประกอบด้วยเสียงอันพึมพำ
ลูกปรารถนาที่จะได้พบเธออีก
เพราะชฎิลหนุ่มได้เป็นมิตรกับลูกมาก่อน
[๔๑] แผลนี้เชื่อมต่อสนิทดี เกลี้ยงเกลาทุกส่วน
อูมใหญ่ตั้งอยู่อย่างเหมาะเจาะ
งามพร้อมคล้ายกับกลีบบัว
ชฎิลหนุ่มขึ้นคร่อมลูกด้วยแผลนั้นนั่นแหละ
ใช้บั้นเอวดันขาอ่อนให้เปิดไว้
[๔๒] รัศมีที่แผ่ซ่านจากกายของเธอ
เปล่งปลั่งผุดผ่องสว่างไสว
เหมือนสายฟ้าในอากาศ
แม้แขนทั้ง ๒ ของเธอก็อ่อนนุ่ม
มีขนเช่นกับขนดอกอัญชัน
นิ้วของเธอก็กลมกลึงวิจิตรงดงาม
[๔๓] เธอมีร่างกายไม่ระคายเคือง มีขนไม่ยาว
แต่มีเล็บยาว ปลายเล็บเป็นสีแดง
ชฎิลหนุ่มรูปงามกอดรัดลูกด้วยลำแขนทั้งหลาย อันอ่อนนุ่ม
บำรุงบำเรอให้รื่นรมย์
[๔๔] มือทั้งหลาย ของเธออ่อนนุ่ม คล้ายกับปุยนุ่น งามเปล่งปลั่ง
มีผิวพรรณงดงาม กลมกลึงเหมือนแผ่นทองคำอันงดงาม
เธอสัมผัสลูกด้วยมือเหล่านั้นแล้วไปจากที่นี่
เพราะสัมผัสนั้น มันจึงเผาลูกให้เร่าร้อนอยู่ นะท่านพ่อ
[๔๕] ชฎิลหนุ่มนั้นไม่ได้หาบคอนแน่นอน
มิได้หักฟืนเองแน่นอน มิได้โค่นต้นไม้ด้วยขวานแน่นอน
เพราะที่ฝ่ามือทั้งหลายของเธอไม่กระด้างเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๔๖] ส่วนเจ้าหมีได้ทำให้ชฎิลหนุ่มนั้นเป็นแผล
ชฎิลหนุ่มนั้นได้กล่าวกับลูกว่า
ขอท่านช่วยทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขด้วยเถิด
ลูกได้ช่วยทำให้เธอนั้นมีความสุข
เพราะการกระทำนั้น ความสุขก็มีแก่ลูกด้วย
ท่านผู้ประเสริฐ ก็เธอได้พูดกับลูกว่า ข้าพเจ้ามีความสุขแล้ว
[๔๗] เครื่องปูลาดใบเถาย่านทรายของท่านพ่อนี้
กระจัดกระจายไปเพราะลูกกับเธอ
เราทั้ง ๒ มีความเหน็ดเหนื่อย จึงรื่นรมย์กันในน้ำ
แล้วพากันเข้ากระท่อมใบไม้อยู่บ่อย ๆ
[๔๘] ท่านพ่อ วันนี้มนต์ทั้งหลายของลูกไม่แจ่มแจ้งเลย
การบูชาไฟและแม้การบูชายัญก็ไม่แจ่มแจ้ง
ตราบใดที่ลูกยังไม่พบพรหมจารีนั้น
ตราบนั้นลูกจะไม่ยอมบริโภคมูลผลาหารของท่านพ่อ
[๔๙] ท่านพ่อ ท่านต้องรู้จักแน่ว่า พรหมจารีอยู่ ณ ทิศใด
ขอท่านโปรดช่วยพาลูกไปให้ถึงทิศนั้นโดยเร็วเถิดพ่อ
ขอลูกอย่าได้ตายในอาศรมของท่านเลย
[๕๐] อนึ่ง ลูกได้ฟังมาว่า ป่าไม้ผลิดอกบานสะพรั่ง วิจิตรสวยงาม
กึกก้องไปด้วยเสียงนก มีฝูงนกอยู่อาศัย
ท่านพ่อ ขอท่านโปรดช่วยพาลูกไปให้ถึงป่านั้นโดยเร็วเถิด
ก่อนที่ลูกจะต้องละชีวิตทิ้งไว้ในอาศรมของท่าน
(พระดาบสโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕๑] ในราวป่าที่มีรัศมีโชติช่วงนี้
ซึ่งมีหมู่คนธรรพ์และเทพอัปสรสถิตอยู่
เป็นที่อยู่ของฤๅษีทั้งหลาย
บุคคลผู้เป็นบัณฑิตไม่ควรถึงความไม่ยินดีเช่นนี้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๕๒] สัตว์ทั้งหลายเป็นมิตรก็มี ไม่เป็นมิตรก็มี
พวกเขาทำความรักใคร่ในญาติและมิตรทั้งหลาย
ส่วนเจ้ามิคสิงคดาบสนี้จัดว่าเป็นคนเลว
เพราะตนเองยังไม่รู้เลยว่า “เรามาจากไหน”
กลับไว้ใจ(มาตุคามด้วยสำคัญว่าเป็นมิตร)เพราะเหตุไร
[๕๓] เพราะว่า ขึ้นชื่อว่ามิตรย่อมเชื่อมติดต่อกันได้
เพราะการอยู่ร่วมกันบ่อย ๆ
มิตรนั้นนั่นเองของบุคคลผู้ไม่สมาคมกัน
ย่อมเสื่อมไปเพราะการไม่ได้อยู่ร่วมกัน
[๕๔] หากลูกจะได้พบเห็นพรหมจารี
จะได้เจรจากับพรหมจารี
ลูกจะละทิ้งคุณคือตบะนี้โดยเร็วพลัน
ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดพาไป
[๕๕] หากลูกจะได้พบเห็นพรหมจารีอีก
ได้เจรจากับพรหมจารีอีก
ลูกก็จะละทิ้งเดชแห่งสมณะนี้โดยเร็วพลัน
ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดพาไป
[๕๖] ลูกเอ๋ย ก็ภูต๑เหล่านี้ท่องเที่ยวอยู่ในมนุษยโลก
ด้วยการแปลงรูปต่าง ๆ
คนมีปัญญาไม่ควรคบหาภูตเหล่านั้น
พรหมจารีบุคคลย่อมพินาศไปเพราะเกี่ยวข้องกับภูตนั้น
นฬินิกาชาดกที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ภูต ในที่นี้หมายถึงพวกนางยักษิณี ที่เที่ยวแปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อหลอกจับมนุษย์กิน (ขุ.ชา.อ.
๘/๕๖/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
ว่าด้วยเสนาบดีถวายนางอุมมาทันตีแด่พระราชา
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๕๗] สุนันทะ นี้เป็นนิเวศน์ของใครหนอ
ล้อมด้วยกำแพงสีเหลือง
ใครหนอปรากฏอยู่ในที่ไกลประดุจเปลวไฟในอากาศ
และประดุจเปลวไฟบนยอดภูเขา
[๕๘] สุนันทะ หญิงนี้เป็นธิดาของใครหนอ
เป็นลูกสะใภ้หรือเป็นภรรยาของใคร
เป็นหญิงโสดหรือว่ามีภัสดาในนิเวศน์นี้
เราถามแล้ว ท่านจงบอกมาโดยเร็วเถิด
(สุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน หญิงคนนั้น
ข้าพระองค์รู้จักทั้งมารดาและบิดาของนาง
แม้สามีของนางข้าพระองค์ก็รู้จัก
ข้าแต่พระภูมิบาล บุรุษนั้นเป็นข้าราชบริพารของพระองค์เอง
เป็นผู้ไม่ประมาทในราชกิจอันเป็นประโยชน์ของพระองค์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
[๖๐] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ก็อำมาตย์คนหนึ่งของพระองค์
ผู้ประสบความสำเร็จ มั่งคั่ง และเจริญรุ่งเรือง
นางเป็นภรรยาของอภิปารกอำมาตย์นั้นเอง
ชื่อว่าอุมมาทันตี พระเจ้าข้า
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๖๑] พ่อมหาจำเริญ พ่อมหาจำเริญ ชื่อของนางนี้
มารดาและบิดาตั้งให้เหมาะสมดีจริง เป็นความจริงอย่างนั้น
เมื่อนางอุมมาทันตีมองดูเรา ได้ทำให้เราคล้ายจะเป็นบ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๖๒] ในคืนเดือนเพ็ญ นางมีนัยน์ตาชะม้ายคล้ายตานางเนื้อทราย
ร่างกายมีผิวพรรณดุจกลีบดอกบุณฑริก นั่งอยู่ใกล้หน้าต่าง
ในคืนนั้น เราได้เห็นนางนุ่งผ้าสีแดงดุจสีเท้านกพิราบแล้ว
สำคัญว่าดวงจันทร์ขึ้น ๒ ดวง
[๖๓] คราวใดนางชมดชม้อยชำเลืองมองดูเราด้วยอาการ
อันอ่อนหวาน ด้วยใบหน้าอันเบิกบานงดงามบริสุทธิ์
ประดุจจะลักเอาดวงใจของเราไป ประหนึ่งนางกินนรี
เกิดที่ภูเขาในป่าลักเอาดวงใจของกินนรไป
[๖๔] คราวนั้นนางผู้เลอโฉม มีผิวกายสีทอง
ใส่ตุ้มหูแก้วมณี มีผ้านุ่งท่อนเดียว ชำเลืองดูเรา
ประดุจนางเนื้อทรายตื่นตกใจกลัวเมื่อเห็นนายพราน
[๖๕] เมื่อไรเล่า แม่นางผู้มีเล็บแดง มีขนงาม
แขนอ่อนนุ่ม ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
มีนิ้วกลมกลึง งามตั้งแต่ศีรษะ
จักบำเรอเราด้วยกิริยาอันชดช้อยชาญฉลาด
[๖๖] เมื่อไรเล่า ธิดาของท่านติรีฏิ
ผู้มีทับทรวงสังวาลทองคำ เอวเล็กเอวบาง
จักกอดเราด้วยแขนทั้ง ๒ อันอ่อนนุ่ม
ประดุจเถาย่านทรายรึงรัดต้นไม้ที่เกิดในป่าใหญ่
[๖๗] เมื่อไรเล่า นางผู้มีผิวพรรณงามแดงดังน้ำครั่ง
มีเต้าถันกลมกลึงประดุจฟองน้ำ
ร่างกายมีผิวพรรณดังกลีบดอกบุณฑริก
จักโน้มปากเข้าจุมพิตปากเรา
เหมือนดังนักเลงสุรายื่นจอกสุราให้นักเลงสุราด้วยกัน
[๖๘] เมื่อใด เราได้เห็นนางผู้มีสรรพางค์กาย
อันเจริญ น่ารื่นรมย์ใจ ยืนอยู่
เมื่อนั้น เราไม่รู้สึกตัวเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๖๙] เราได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้ใส่ตุ้มหูแก้วมณีแล้ว
นอนไม่หลับทั้งกลางวันและกลางคืน
เหมือนปราชัยต่อข้าศึกมาแล้วตั้งพันครั้ง
[๗๐] หากท้าวสักกะจะพึงประทานพรแก่เราไซร้
ขอเราพึงได้พรนั้นเถิด
อภิปารกเสนาบดีพึงอภิรมย์กับนางอุมมาทันตี
ตลอดคืนหนึ่งหรือสองคืน
จากนั้นพระเจ้ากรุงสีพีพึงได้อภิรมย์กับนางบ้าง
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๗๑] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมแห่งภูต
เมื่อข้าพระองค์นมัสการอยู่ซึ่งภูตทั้งหลาย
เทวดาตนหนึ่งได้มากล่าวเนื้อความนี้กับข้าพระองค์ว่า
พระทัยของพระราชาจดจ่ออยู่เฉพาะนางอุมมาทันตี
ข้าพระองค์ขอถวายนางแด่พระองค์
ขอพระองค์ทรงให้นางบำเรอเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๒] เราจะพึงคลาดไปจากบุญ และมิใช่เราจะไม่ตาย
ทั้งประชาชนจะพึงรู้ความชั่วของเรานี้
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๗๓] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นอกจากพระองค์และข้าพระองค์แล้ว
ประชาชนแม้ทั้งหมดไม่พึงรู้กรรมที่ทำแล้วได้
ข้าพระองค์ทูลถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์
โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า๑
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๔] คนผู้ทำกรรมชั่วย่อมคิดว่า
คนเหล่าอื่นอย่ารู้การกระทำนี้เลย
แต่ว่า คนบนพื้นปฐพีที่ประกอบด้วยฤทธิ์๒ ยังมีอยู่
ย่อมจะเห็นเขาผู้กระทำกรรมชั่วนั้น
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๕] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้
จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นางอุมมาทันตีนี้
เป็นที่รักของข้าพระองค์อย่างแท้จริง
ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่
ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระเจริญ
ขอพระองค์เสด็จไปหานางอุมมาทันตีทันที
ดุจราชสีห์เข้าไปยังถ้ำศิลา

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า หมายถึงการร่วมอภิรมย์กับนางอุมมาทันตี (ภรรยาผู้อื่น) เป็นการทำกรรมหยาบ
ช้า คือ ตัณหาดุจต้นไม้ที่เจริญงอกงามอยู่ในป่า (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๒/๔๔)
๒ นรชนผู้ประกอบด้วยฤทธิ์ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรผู้มีฤทธิ์ (ขุ.ชา.อ.
๘/๗๔/๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๗] ปราชญ์ทั้งหลายถึงจะถูกความทุกข์ของตนบีบคั้นแล้ว
ก็จะไม่สละกรรมที่มีผลเป็นสุข
หรือแม้ลุ่มหลงมัวเมาด้วยความสุข
ก็จะไม่ประพฤติกรรมชั่ว
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๗๘] ก็พระองค์ทรงเป็นทั้งมารดาและบิดา เป็นภัสดา เป็นนาย
เป็นผู้ชุบเลี้ยง และเป็นเทวดาของข้าพระองค์
ข้าพระองค์พร้อมทั้งบุตรและภรรยาเป็นทาสของพระองค์
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์ทรงบริโภคกาม
ตามความสำราญเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๙] ผู้ใดกระทำความชั่วด้วยสำคัญว่า เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่
ครั้นกระทำแล้ว ผู้นั้นก็ไม่หวั่นเกรงต่อชนเหล่าอื่น
เพราะกรรมนั้น เขาย่อมมีอายุอยู่ได้ไม่ยืนยาว
แม้เทพทั้งหลายก็มองเขาด้วยสายตาอันเหยียดหยาม
[๘๐] ชนเหล่าใดผู้ดำรงอยู่ในธรรม
รับทานที่เป็นของชนเหล่าอื่น อันเจ้าของมอบให้แล้ว
ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นทั้งผู้รับ เป็นทั้งผู้ให้ในทานนั้นแม้ทั้งหมด
ย่อมทำกรรมอันมีผลเป็นสุขทีเดียว
[๘๑] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้
จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นางอุมมาทันตีนี้
เป็นที่รักของข้าพระองค์อย่างแท้จริง
ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่
ข้าพระองค์ขอถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๘๓] ผู้ใดก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยความทุกข์ของตน
หรือก่อความสุขให้แก่ตนด้วยความสุขของคนอื่น๑
(ผู้นั้นชื่อว่า ไม่รู้ธรรม) ส่วนผู้ใดรู้อย่างนี้ว่า
ความทุกข์ ความสุขนี้ของเราเป็นอย่างไร
ของคนเหล่าอื่นก็เป็นอย่างนั้น
ผู้นั้นชื่อว่า รู้ธรรม
[๘๔] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้
จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ใดก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยความทุกข์ของตน หมายถึงผู้ที่ถูกทุกข์บีบคั้นแล้วใส่ทุกข์ให้แก่คนอื่นคือ
นำทุกข์ออกจากสรีระของตัวแล้วใส่ในสรีระของผู้อื่น หรือก่อความสุขให้แก่ตนด้วยความสุขของคนอื่น
หมายถึงผู้ที่ถือเอาความสุขของคนอื่นมาใส่ไว้ในตน ชื่อว่าทำผู้อื่นให้ถึงความทุกข์เพราะเข้าใจว่า “เราจัก
นำความทุกข์ออกจากตน” ชื่อว่าทำผู้อื่นให้ถึงความทุกข์เพราะเข้าใจว่า “เราจักทำตนให้มีความสุข
สบาย” ชื่อว่าทำความสุขของคนอื่นให้พินาศเพราะเข้าใจว่า “เราจักทำตนให้มีความสุข” คนนั้นชื่อว่า
ไม่รู้ธรรม
ส่วนผู้ใดรู้อย่างนี้ว่า “ความสุขและความทุกข์ของเรานั้นเป็นอย่างไร ของคนอื่นก็เป็นอย่างนั้น”
ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรม คือ รู้จักธรรม (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๓/๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน พระองค์ทรงทราบว่า
นางอุมมาทันตีนี้เป็นที่รักของข้าพระองค์
ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่
ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ด้วยความจงรักภักดีต่อพระองค์
ข้าพระองค์ขอถวายนางผู้เป็นที่รักแด่พระองค์
ขอเดชะสมมติเทพ บุคคลให้สิ่งของอันเป็นที่รัก
ย่อมได้สิ่งของอันเป็นที่รัก
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๘๖] เราจักฆ่าตนอันมีกามเป็นเหตุแน่
เพราะเราไม่สามารถจะฆ่าธรรมด้วยอธรรมได้
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๘๗] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน
ผู้ประเสริฐแกล้วกล้ากว่านรชน
ถ้าพระองค์ไม่ทรงประสงค์นางอุมมาทันตี
ผู้เป็นสมบัติของข้าพระองค์
ข้าพระองค์จะสละนางในท่ามกลางประชาชนทั้งปวง
พระองค์พึงนำนางผู้พ้นขาดจากข้าพระองค์แล้วมาจากที่นั้นเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๘๘] นี่แน่ะท่านอภิปารกะ ผู้บำเพ็ญประโยชน์
หากท่านสละนางอุมมาทันตีผู้ไม่ประทุษร้ายต่อท่าน
ก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ท่าน
อนึ่ง การกล่าวโทษอย่างใหญ่หลวงก็จะพึงมีแก่ท่าน
แม้คนผู้เป็นฝักฝ่ายของท่านในเมืองก็จะไม่พึงมีอีกด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๘๙] ข้าแต่พระภูมิบาล ข้าพระองค์จักอดกลั้นคำกล่าวโทษ
คำนินทา คำสรรเสริญ และคำติเตียนนั้นทุกอย่าง
ขอคำนั้นทั้งหมดจงมาตกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์ทรงบริโภคกามตามความสำราญเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๐] ผู้ใดไม่ยึดถือคำนินทา ไม่ยึดถือคำสรรเสริญ
ไม่ยึดถือคำติเตียน ทั้งไม่ยึดถือการบูชา
สิริและปัญญาย่อมปราศจากผู้นั้น
เหมือนน้ำฝนที่ตกจนโชกย่อมไหลไปจากที่ดอน
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๑] ความทุกข์ ความสุข อกุศลที่เป็นไปล่วงธรรม
และความคับแค้นใจจากการเสียสละนี้ทั้งหมด
ข้าพระองค์จักรับไว้ด้วยอกประดุจพื้นปฐพีรับไว้ได้ทุกอย่าง
ทั้งของบุคคลผู้มั่นคงและผู้หวาดสะดุ้ง
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๒] เราไม่ปรารถนาอกุศลที่เป็นไปล่วงธรรม
ความคับแค้นใจ และความทุกข์ของบุคคลเหล่าอื่น
เราผู้ดำรงอยู่ในธรรมจะไม่ทำประโยชน์อะไร ๆ ให้เสื่อมเสียไป
เราจักนำภาระนี้ไปเพียงผู้เดียวเท่านั้น
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน บุญกรรมอันนำให้ถึง
โลกสวรรค์ของข้าพระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงทำอันตรายเลย
ข้าพระองค์มีใจเลื่อมใส จะถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
เหมือนกับพระราชาพระราชทานทรัพย์
แก่พวกพราหมณ์ในการบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๔] ท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ท่านหวังประโยชน์แก่เราแน่แท้
ทั้งนางอุมมาทันตีและท่านก็เป็นเพื่อนของเรา
เทวดา บิดา๑ และประชาชนทั้งปวงจะพึงนินทาได้
อนึ่ง เราก็ได้เห็นบาปในสัมปรายภพ
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๕] ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ชาวชนบทพร้อมทั้งชาวนิคมทั้งปวง
จะพึงกล่าวข้อนั้นว่าไม่เป็นธรรมหาได้ไม่
ข้าพระองค์ถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
เพราะนางอุมมาทันตี ข้าพระองค์ถวายพระองค์แล้ว
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๖] นี่แน่ะท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ท่านหวังประโยชน์แก่เราแน่แท้
นางอุมมาทันตีและท่านก็เป็นเพื่อนของเรา
ก็ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายที่ประกาศไว้ดีแล้ว
ยากที่จะก้าวล่วงได้ เหมือนฝั่งสมุทร
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๗] พระองค์ทรงเป็นอาหุเนยยบุคคล๒
ทรงอนุเคราะห์สิ่งที่เป็นประโยชน์ ทรงเป็นผู้ปกป้อง
คุ้มครอง และทรงรักษาความประสงค์ของข้าพระองค์
ข้าแต่พระราชา ก็ยัญที่บูชาแล้วในพระองค์มีผลมาก
ขอพระองค์ทรงรับนางอุมมาทันตี
ตามความประสงค์ของข้าพระองค์เถิด

เชิงอรรถ :
๑ บิดา ในที่นี้หมายถึงพรหม (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๔/๔๗)
๒ อาหุเนยยบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาคำนับ (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๗/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๘] อภิปารกกัตตุบุตร ก็ท่านได้ประพฤติธรรมทุกอย่างแก่เราโดยแท้
คนสองเท้าของท่าน คนอื่นใครเล่าหนอ
จะกระทำความสวัสดีให้แก่ท่านในเวลารุ่งอรุณ ในชีวโลกนี้
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๙] พระองค์ทรงเป็นผู้ประเสริฐ ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยม
พระองค์ทรงมีธรรมคุ้มครอง เป็นผู้ถึงธรรม ทรงรู้แจ้งธรรม
ทรงมีปัญญาดี พระองค์ผู้ทรงรักษาธรรม
ขอพระองค์ผู้มีธรรมคุ้มครองแล้วนั้น
จงดำรงพระชนม์ยั่งยืนนาน
และโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๑๐๐] เชิญเถิด อภิปารกะ ท่านจงฟังคำของเรา
เราจักแสดงธรรมที่พวกสัตบุรุษส้องเสพแล้วแก่ท่าน
[๑๐๑] พระราชาทรงพอพระทัยในธรรมเป็นพระราชาที่ดี
คนมีความรู้รอบคอบเป็นคนดี
ความไม่ประทุษร้ายมิตรเป็นความดี
การไม่กระทำบาปเป็นเหตุนำสุขมาให้
[๑๐๒] ในแคว้นของพระราชาผู้ไม่กริ้ว ผู้ดำรงอยู่ในธรรม
มนุษย์ทั้งหลายพึงหวังความสุขในเรือนของตน
ภายใต้ร่มเงาอันร่มเย็น
[๑๐๓] กรรมใดที่มิได้พิจารณาแล้วกระทำลงไป
เป็นกรรมไม่ชอบ เราไม่ชอบกรรมนั้นเลย
ฝ่ายพระราชาเหล่าใดทรงทราบแล้ว
จึงทรงกระทำลงไปด้วยพระองค์เอง
เราชอบใจกรรมของพระราชาเหล่านั้น
ขอท่านจงฟังข้ออุปมาเหล่านี้ของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๑๐๔] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
[๑๐๕] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์
[๑๐๖] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง
โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง
[๑๐๗] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข๑
[๑๐๘] อภิปารกะ เราไม่ปรารถนาความเป็นเทวดา
หรือเพื่อจะชนะแผ่นดินทั้งปวงนี้โดยอธรรมเลย
[๑๐๙] แท้จริง รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง
คือ โค ทาส เงิน ผ้า และจันทน์เหลือง
ก็มีอยู่ในหมู่มนุษย์ในโลกนี้

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๐/๑๑๕-๑๑๖, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๓๓-๑๓๖/๑๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๑๑๐] อนึ่ง แม้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ก็รักษา ม้า หญิง และแก้วมณีไว้เพื่อเรา
เราไม่พึงประพฤติธรรมไม่สม่ำเสมอเพราะเหตุแห่งรัตนะนั้นเลย
เพราะเราเกิดเป็นพระราชาผู้เจริญที่สุดท่ามกลางชาวกรุงสีพี
[๑๑๑] เราเป็นผู้นำ เป็นผู้เกื้อกูล มีชื่อเสียง ปกครองแคว้น
ประพฤตินอบน้อมธรรมเพื่อชาวกรุงสีพีอยู่
เรานั้นคิดถึงธรรมนั้นอยู่เนือง ๆ
เพราะเหตุนั้น จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจจิตของตน
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๑๑๒] ข้าแต่มหาราช
พระองค์จักทรงปกครองราชสมบัติมิให้พินาศ
ให้ปลอดภัยอยู่เป็นนิตย์ตลอดกาลนานแน่แท้
เพราะพระปรีชาของพระองค์เป็นเช่นนั้น
[๑๑๓] พระองค์ไม่ทรงประมาทธรรมใด
ข้าพระองค์ขออนุโมทนาธรรมนั้นของพระองค์
กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ ทรงประมาทธรรมแล้ว
ย่อมเคลื่อนจากแคว้น
[๑๑๔] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระชนกและพระชนนีเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๑๕] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระโอรสและพระชายาเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๑๑๖] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในมิตรและอำมาตย์เถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๑๗] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม
ในพาหนะและพลนิกายเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๑๘] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม
ในชาวบ้านและชาวนิคมเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๑๙] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม
ในแคว้นและชนบทเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๒๐] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม
ในสมณะและพราหมณ์เถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๒๑] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในหมู่เนื้อและหมู่นกเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๒๒] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด
ธรรมที่พระองค์ประพฤติแล้วนำสุขมาให้
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๒๓] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด
เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหม
บรรลุถึงโลกทิพย์ด้วยธรรมที่ตนประพฤติดีแล้ว
ขอพระองค์อย่าได้ทรงประมาทธรรมเลย พระเจ้าข้า
อุมมาทันตีชาดกที่ ๒ จบ

๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
ว่าด้วยโพธิกุมารโพธิสัตว์
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๒๔] ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงรีบร้อนฉวยเอาไม้เท้า หนังเสือ
ร่ม รองเท้า ไม้ตะขอ บาตร และผ้าพาด
ท่านปรารถนาจะไปยังทิศไหนหนอ
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๒๕] ตลอด ๑๒ ปีนี้ที่อาตมภาพอยู่ในสำนักของมหาบพิตร
อาตมภาพไม่ได้รู้จักเสียงสุนัขสีน้ำตาลเห่าคำรามเลย
[๑๒๖] ขอถวายพระพรมหาบพิตรผู้เป็นใหญ่
สุนัขตัวนี้นั้น มันแยกเขี้ยวสีขาว เห่าคำรามอย่างร้อนรน
เพราะได้ยินพระดำรัสของพระองค์
พร้อมทั้งพระมเหสีผู้สิ้นศรัทธาอาตมภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต] ๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๒๗] ท่านพราหมณ์ โทษนั้นเป็นความผิด
ที่โยมกระทำแล้วจริงตามที่ท่านกล่าว
โยมนั้นเลื่อมใสท่านอย่างยิ่ง
ขอนิมนต์อยู่เถิด อย่าไปเลย ท่านพราหมณ์
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๒๘] เมื่อแรก ข้าวสุกสีขาวล้วน ต่อมาก็กระดำกระด่าง
บัดนี้กลายเป็นสีแดงล้วน
จึงเป็นกาลสมควรที่อาตมภาพจะหลีกไป
[๑๒๙] เมื่อแรก อาสนะอยู่ภายใน
ต่อมาอยู่ท่ามกลาง ต่อมาอยู่ภายนอก
อาตมภาพขอไปเองก่อนที่จะถูกขับจากเมือง
[๑๓๐] บุคคลไม่พึงคบหาคนผู้สิ้นศรัทธาเหมือนบ่อน้ำที่ไม่มีน้ำ
ถึงแม้จะพยายามขุดมันขึ้น น้ำก็จะพึงมีกลิ่นโคลนตม
[๑๓๑] บุคคลพึงคบหาผู้ที่เลื่อมใสเท่านั้น
พึงเว้นคนผู้ไม่เลื่อมใส พึงเข้าไปใกล้คนผู้เลื่อมใส
เหมือนคนต้องการน้ำเข้าไปหาห้วงน้ำ
[๑๓๒] บุคคลพึงคบหาคนที่คบด้วย
ไม่พึงคบหาคนที่ไม่คบด้วย
บุคคลใดไม่คบหาคนที่คบด้วย
บุคคลนั้นชื่อว่ามีธรรมของอสัตบุรุษ
[๑๓๓] ผู้ใดไม่คบหาคนที่คบด้วย
ไม่เสวนาคนที่เสวนาด้วย
ผู้นั้นแลเป็นคนชั่วช้าที่สุด
เหมือนลิงที่อาศัยอยู่ตามกิ่งไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๓๔] มิตรทั้งหลายย่อมแหนงหน่ายกัน
เพราะเหตุ ๓ ประการนี้ คือ
๑. เพราะการคลุกคลีกันพร่ำเพรื่อเกินไป
๒. เพราะการไม่ร่วมสโมสรกัน
๓. เพราะขอในเวลาอันไม่สมควร
[๑๓๕] เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่พึงไปมาหาสู่กันจนพร่ำเพรื่อ
ไม่ควรเหินห่างกันไปจนเนิ่นนาน
และพึงขอสิ่งที่ควรขอตามกาลอันสมควร
เมื่อเป็นเช่นนี้ มิตรทั้งหลายย่อมจะไม่แหนงหน่ายกัน
[๑๓๖] คนผู้เป็นที่รักย่อมกลับกลายไม่เป็นที่รัก
เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกินไป
อาตมภาพขอถวายพระพรลามหาบพิตรไป
ก่อนที่อาตมาจะไม่เป็นที่รักของมหาบพิตร
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๓๗] หากพระคุณเจ้าไม่ยอมรับรู้
การอัญชลีของปริจารชนสัตบุรุษผู้อ้อนวอนอยู่อย่างนี้
และไม่ยอมกระทำตามคำขอร้องของโยม
โยมขอวิงวอนพระคุณเจ้าอย่างนี้ว่า
พระคุณเจ้าพึงแวะมาอีก
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๓๘] ขอถวายพระพร มหาราชผู้ผดุงแคว้นให้เจริญ
หากว่าเมื่อเรายังคงเป็นอยู่อย่างนี้
อันตรายจักไม่มีแก่มหาบพิตรหรือแก่อาตมาไซร้
เมื่อวันคืนล่วงไป เราคงจะได้พบกันบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๓๙] หากถ้อยคำของมหาบพิตรเป็นไปตามคติของตน
และตามสภาวะที่เป็นจริงไซร้
เพราะไม่มีความประสงค์ สัตว์จึงทำกรรมที่ไม่ควรทำบ้าง
ที่ควรทำบ้าง เมื่อกระทำโดยไม่มีความประสงค์
ใครเล่าในโลกนี้ จะแปดเปื้อนบาป
[๑๔๐] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๔๑] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น
[๑๔๒] ถ้าพระผู้เป็นใหญ่๑กำหนดชีวิต จัดสรรฤทธิ์
ความหายนะ และกรรมดีกรรมชั่วแก่ชาวโลกทั้งปวงไซร้
คนผู้ทำตามคำสั่งทำบาป
พระผู้เป็นใหญ่ย่อมแปดเปื้อนบาปนั้นเอง
[๑๔๓] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๔๔] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ พระผู้เป็นใหญ่ หมายถึงพระพรหมหรือพระเป็นเจ้าองค์อื่นจัดแจงตรวจตราชีวิตแก่ชาวโลกทั้งหมด (ขุ.ชา.อ.
๒/๑๔๒/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๔๕] ถ้าว่าสัตว์ย่อมเข้าถึงความสุขและความทุกข์
เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนกระทำไว้ในชาติปางก่อน
เขาย่อมเปลื้องหนี้คือบาปกรรมเก่าที่ตนทำไว้นั้นได้
เมื่อความพ้นหนี้คือบาปกรรมเก่ามีอยู่
ใครเล่าในโลกนี้จะแปดเปื้อนบาป
[๑๔๖] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๔๗] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น
[๑๔๘] รูปของสัตว์ย่อมเกิดมีได้
เพราะอาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔ เท่านั้น
ก็รูปย่อมเกิดมีได้เพราะมหาภูตรูปใด
ก็คล้อยไปตามมหาภูตรูป๑นั่นเอง
[๑๔๙] ชีวะย่อมเป็นอยู่ในโลกนี้เท่านั้น
ละไปแล้ว ละทิ้งไปแล้ว ย่อมพินาศ
โลกนี้ย่อมขาดสูญ ทั้งคนพาลและบัณฑิตก็ขาดสูญ
เมื่อโลกขาดสูญอยู่ ใครเล่าในโลกนี้ย่อมแปดเปื้อนบาป

เชิงอรรถ :
๑ คล้อยไปตามมหาภูตรูป หมายถึงบุคคลผู้ประกอบด้วยมหาภูตทั้ง ๔ นี้ (คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม) ตาย
ลงในเวลาใด ร่างกายส่วนที่เป็นดินก็กลับกลายเป็นดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับกลายเป็นน้ำ ส่วนที่เป็นไฟ
ก็กลับกลายเป็นไฟ ส่วนที่เป็นลมก็กลับกลายเป็นลมในเวลานั้น (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๔๘/๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๕๐] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๕๑] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น
[๑๕๒] นักปกครองทั้งหลายที่เป็นคนพาล
สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ได้กล่าวไว้ในโลกว่า
“บุคคลพึงฆ่ามารดาบิดา พี่ชาย น้องชาย
และบุตรภรรยา ถ้าพึงมีความประสงค์เช่นนั้น”
[๑๕๓] บุคคลพึงนั่งหรือนอนใต้ร่มต้นไม้ใด
ไม่พึงหักรานกิ่งต้นไม้นั้น
เพราะว่าคนประทุษร้ายมิตรเป็นคนชั่ว
[๑๕๔] ถ้าเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นก็พึงถอนแม้ทั้งราก
อาตมภาพมีความต้องการอาหาร
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๕๕] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๕๖] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๕๗] คนผู้มีวาทะว่าไม่มีเหตุ ๑
คนผู้มีวาทะว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างโลก ๑
คนผู้มีวาทะว่าสุขทุกข์เกิดมีเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน ๑
คนผู้มีวาทะว่าโลกนี้ขาดสูญ ๑
คนผู้เป็นนักปกครองที่เป็นพาล ๑
[๑๕๘] คนเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล
มีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตในโลก
คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองบ้าง
พึงแนะนำให้ผู้อื่นกระทำบาปบ้าง
การคลุกคลีกับอสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร
[๑๕๙] ในปางก่อน หมาป่าตัวหนึ่งปลอมตัวเป็นแพะ
ไม่ถูกระแวงสงสัยจึงเข้าไปหาฝูงแพะ
ฆ่าทั้งแม่แพะ แพะตัวเมีย และแพะตัวผู้
ทำให้เกิดความสะดุ้งกลัวแล้วจึงไปตามความปรารถนา
[๑๖๐] สมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งก็มีวิธีการอย่างนั้น
กระทำการปิดบังตน หลอกลวงมนุษย์ทั้งหลาย
บางพวกไม่บริโภคอาหาร บางพวกนอนบนแผ่นดิน
บางพวกทำการฉาบทาเถ้าธุลีที่ร่างกาย
บางพวกทำความเพียรโดยการเดินกระโหย่ง
บางพวกบริโภคอาหารเป็นครั้งคราว บางพวกไม่ดื่มน้ำ
เป็นผู้มีอาจาระเลวทราม เที่ยวพูดอวดอ้างว่าเป็นพระอรหันต์
[๑๖๑] สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล
มีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตในโลก
คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองบ้าง
พึงแนะนำให้ผู้อื่นกระทำบาปบ้าง
การคลุกคลีกับอสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๖๒] คนเหล่าใดกล่าวว่า
ความเพียรไม่มี ๑ ประกาศความไม่มีเหตุ ๑
พรรณนาการกระทำของผู้อื่นและการกระทำของตน
ว่าเป็นการสูญเปล่า ๑
[๑๖๓] คนเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล
มีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตในโลก
คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองบ้าง
พึงแนะนำให้ผู้อื่นกระทำบาปบ้าง
การคลุกคลีกับอสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด
มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร
[๑๖๔] ก็ถ้าว่าความเพียรไม่พึงมี กรรมดีกรรมชั่วไม่พึงมี
พระราชาก็จะไม่ทรงชุบเลี้ยงช่างไม้
แม้เครื่องยนต์ทั้งหลายก็จะไม่พึงให้สร้าง
[๑๖๕] แต่เพราะความเพียรมีอยู่ กรรมดีกรรมชั่วก็มีอยู่
ฉะนั้น พระราชาจึงทรงให้สร้างเครื่องยนต์
และทรงชุบเลี้ยงช่างไม้ไว้
[๑๖๖] หากฝนไม่พึงตก หิมะไม่พึงตกตลอด ๑๐๐ ปี
โลกนี้ก็พึงขาดสูญ หมู่สัตว์นี้พึงพินาศไป
[๑๖๗] แต่เพราะฝนยังตกอยู่ และหิมะยังโปรยปรายอยู่เนือง ๆ
ฉะนั้น ข้าวกล้าจึงเผล็ดผล
และทำให้พระราชาปกครองแคว้นได้ยั่งยืน
[๑๖๘] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๖๙] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์
[๑๗๐] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง
โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง
[๑๗๑] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข๑
[๑๗๒] เมื่อต้นไม้ใหญ่กำลังมีผล
คนใดปลิดเอาผลดิบ คนนั้นจะไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น
ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็จักพินาศไปด้วย
[๑๗๓] แคว้นอุปมาเหมือนกับต้นไม้ใหญ่
พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองโดยไม่เป็นธรรม
พระราชาพระองค์นั้นจะไม่ทรงทราบรสแห่งแคว้นนั้น
ทั้งแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นก็จักพินาศไปด้วย
[๑๗๔] เมื่อต้นไม้ใหญ่กำลังมีผล
คนใดปลิดเอาผลสุก คนนั้นจึงจะรู้รสแห่งผลไม้นั้น
ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็จักไม่พินาศไปด้วย

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๐/๑๑๕-๑๑๖, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๓๓-๑๓๖/๑๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๗๕] แคว้นอุปมาเหมือนกับต้นไม้ใหญ่
พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองแคว้นโดยธรรม
พระราชาพระองค์นั้นจึงจะทรงทราบรสแห่งแคว้นนั้น
ทั้งแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นก็จักไม่พินาศไปด้วย
[๑๗๖] ส่วนขัตติยราชพระองค์ใด
ทรงปกครองชนบทโดยไม่เป็นธรรม
ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงเป็นผู้คลาดจากโอสถ๑ทั้งปวง
[๑๗๗] ขัตติยราชพระองค์ใดทรงเบียดเบียนชาวนิคม
ผู้ประกอบการซื้อขาย กระทำการถวายโอชะและราชพลี๒
ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงคลาด
จากพระคลังสมบัติเช่นนั้นเหมือนกัน
[๑๗๘] พระราชาพระองค์ใดทรงเบียดเบียน
นายขมังธนูผู้รู้เขตแห่งการประหารเป็นอย่างดี ๑
ทหารผู้กระทำความชอบในสงคราม ๑ มหาอำมาตย์ผู้เลื่องลือ ๑
พระราชาพระองค์นั้นจะทรงคลาดจากกำลังพล
[๑๗๙] พระราชาผู้เป็นกษัตริย์พระองค์ใดผู้ไม่ประพฤติธรรม
ทรงเบียดเบียนหมู่ฤๅษีผู้มีความสำรวม ประพฤติพรหมจรรย์
ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงคลาดจากสวรรค์เช่นนั้นเหมือนกัน
[๑๘๐] อนึ่ง พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ทรงประหารพระชายาผู้ไม่ประทุษร้าย
ย่อมทรงประสบฐานะอันหยาบช้า
และคลาดจากพระโอรสทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ โอสถ หมายถึงรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ เป็นต้น ที่เป็นยา รวมถึงเนยใส เนยข้น
ที่เป็นยาด้วย (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๖/๗๓)
๒ โอชะและราชพลี หมายถึงรสที่ได้จากสิ่งของต่าง ๆ ที่ชาวชนบทถวายพร้อมทั้งการเสียภาษีอากรด้วย
(ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๗/๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] รวมชาดกที่มีในวรรค
[๑๘๑] พระราชาพึงประพฤติธรรมในชาวชนบท
ในชาวนิคม และในกำลังพล
ไม่พึงทรงเบียดเบียนหมู่ฤๅษี
และพึงประพฤติให้สม่ำเสมอ
ในพระโอรสและพระชายา
[๑๘๒] พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทรงปกครองแคว้น
ไม่ทรงเกรี้ยวกราดเช่นนั้น
ท้าวเธอย่อมทรงทำศัตรูให้หวั่นไหว
ประดุจพระอินทร์ผู้เป็นอธิบดีแห่งอสูรฉะนั้นแล
มหาโพธิชาดกที่ ๓ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้
๑. นฬินิกาชาดก ๒. อุมมาทันตีชาดก
๓. มหาโพธิชาดก

ปัญญาสนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
๑๙. สัฏฐินิบาต
๑. โสณกชาดก (๕๒๙)
ว่าด้วยพระราชาพระราชทานรางวัลแก่ผู้พบโสณกกุมาร
(พระเจ้าอรินทมะตรัสว่า)
[๑] โสณกะสหายเล่นฝุ่นของเรา
ใครได้สดับข่าวแล้วมาบอก เราจะให้ทรัพย์หนึ่งร้อย
ใครได้พบเห็นแล้วมาบอก เราจะให้ทรัพย์หนึ่งพัน
(พระศาสดาได้ตรัสหนึ่งคาถาครึ่งว่า)
[๒] ลำดับนั้น เด็กน้อยไว้ผม ๕ แหยม ได้กราบทูลว่า
ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงประทานทรัพย์หนึ่งร้อย
แก่ข้าพระองค์ผู้สดับข่าวแล้วมากราบทูล
และขอทรงประทานทรัพย์หนึ่งพัน
แก่ข้าพระองค์ผู้ได้พบเห็นโสณกะ
ข้าพระองค์จักกราบทูลถึงโสณกะพระสหายเล่นฝุ่นแก่พระองค์
(พระราชาสดับดังนั้นแล้วตรัสถามว่า)
[๓] เขาอยู่ในชนบท แคว้น และนิคมไหน
พ่อได้พบโสณกะ ณ ที่ไหน
พ่อจงตอบเนื้อความที่เราถามนั้นเถิด
(เด็กน้อยกราบทูลว่า)
[๔] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ
ในแคว้นของพระองค์นั่นเอง
ณ ภาคพื้นแห่งพระอุทยานของพระองค์นั่นแหละ
มีต้นรังใหญ่หลายต้น ซึ่งมีลำต้นตรง
มีสีเขียวชะอุ่ม น่ารื่นรมย์ใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๕] ยืนต้นประสานอาศัยกันและกัน
เสมอเหมือนกลุ่มเมฆ น่ารื่นรมย์
เมื่อชาวโลกมีความยึดมั่น ถูกแผดเผาอยู่
โสณกะไม่มีความยึดมั่น เป็นผู้ดับแล้ว
เพ่งฌานอยู่ ณ โคนต้นรังเหล่านั้น
[๖] ลำดับนั้นแล พระราชาได้เสด็จไปพร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่า
ตรัสสั่งให้ปรับหนทางให้เรียบเสมอแล้ว
ได้เสด็จไปจนถึงที่อยู่ของโสณกปัจเจกพุทธะ
[๗] ครั้นเสด็จถึงภูมิภาคพระอุทยาน
จึงเสด็จเที่ยวไปในป่าใหญ่
ทอดพระเนตรเห็นโสณกปัจเจกพุทธะ
ผู้นั่งสงบเย็น ในเมื่อชาวโลกเร่าร้อนอยู่
(พระราชาตรัสว่า)
[๘] ภิกษุนี้เป็นคนเข็ญใจหนอ มีศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ
ไม่มีแม่ ไม่มีพ่อ เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
[๙] พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้าสดับพระดำรัสนี้แล้ว
จึงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร
บุคคลผู้สัมผัสธรรมด้วยกายไม่จัดว่าเป็นคนเข็ญใจ
[๑๐] บุคคลใดในโลกนี้รังเกียจธรรม ประพฤติตามอธรรม
บุคคลนั้นจัดว่าเป็นคนเข็ญใจ เป็นคนชั่ว
มีบาปติดตามไปในภายหน้า
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๑๑] โยมมีชื่อว่าอรินทมะ มหาชนรู้จักโยมว่าพระเจ้ากาสี
พระคุณเจ้าโสณกะ พระคุณเจ้าผู้เจริญ
มาถึงสถานที่นี้ จำวัดสบายหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
(พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้า แสดงความเจริญของสมณะแด่พระราชาว่า)
[๑๒] ความเจริญข้อที่ ๑ ย่อมมีแม้ในกาลทุกเมื่อ
แก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน
คือ ข้าวเปลือกไม่เข้าไป(มี)อยู่ในฉาง
ในหม้อ ในกระเช้าของภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุเหล่านั้นแสวงหาอาหารสำเร็จ
ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารนั้น เป็นผู้มีวัตรดีงาม
[๑๓] ความเจริญข้อที่ ๒ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ภิกษุพึงฉันก้อนข้าวที่ไม่มีโทษ
และกิเลสไร ๆ จะไม่เข้าไปรบกวนท่าน
[๑๔] ความเจริญข้อที่ ๓ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ภิกษุพึงฉันก้อนข้าวที่เย็น
และกิเลสไร ๆ จะไม่เข้าไปรบกวนท่าน
[๑๕] ความเจริญข้อที่ ๔ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ความเกี่ยวข้องย่อมไม่มี
แก่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว เที่ยวจาริกไปในแคว้น
[๑๖] ความเจริญข้อที่ ๕ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ เมื่อบ้านเมืองถูกไฟไหม้
ท่านไม่มีอะไรจะถูกเผาไหม้
[๑๗] ความเจริญข้อที่ ๖ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ เมื่อแคว้นถูกโจรปล้น
ท่านก็ไม่มีอะไรจะให้โจรปล้น
[๑๘] ความเจริญข้อที่ ๗ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ หนทางใดที่พวกโจรยึดครองก็ดี
หนทางอื่นใดที่มีอันตรายก็ดี
ภิกษุผู้มีวัตรดีงาม ถือบาตรและจีวรไปได้อย่างปลอดภัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๑๙] ความเจริญข้อที่ ๘ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ จะหลีกไปยังทิศใด ๆ
ก็ไปยังทิศนั้น ๆ ได้อย่างไม่ต้องห่วงใย
(พระราชาตรัสว่า)
[๒๐] พระคุณเจ้าโสณกะผู้เห็นภัย
พระคุณเจ้าสรรเสริญความเจริญของภิกษุเหล่านั้นมากมาย
แต่โยมยังติดอยู่ในกามทั้งหลาย จะทำอย่างไรได้เล่า
[๒๑] กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์ โยมก็พึงพอใจ
ถึงแม้กามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ โยมก็พึงพอใจ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำอย่างไรหนอโยมจึงจะได้กามทั้ง ๒ ในโลก
(พระปัจเจกพุทธเจ้ากราบทูลว่า)
[๒๒] คนทั้งหลายผู้ติดอยู่ในกาม ยินดีในกาม
หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
กระทำบาปแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ
[๒๓] ส่วนคนเหล่าใดละกามทั้งหลาย
เป็นผู้ออกแล้วจากกาม ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
บรรลุถึงความเป็นสมาธิอันแน่วแน่
คนเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
[๒๔] ขอถวายพระพร พระเจ้าอรินทมะ
อาตมภาพจักยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
โปรดสดับข้ออุปมานั้น
บัณฑิตบางพวกในโลกนี้
ย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยการเปรียบเทียบ
[๒๕] กาตัวหนึ่งมีปัญญาน้อยเพราะไม่มีความคิด
เห็นซากศพถูกแม่น้ำคงคาพัดลอยไปในห้วงน้ำใหญ่ จึงคิดว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๒๖] “ยานนี้เราได้แล้วหนอ และซากศพนี้จักเป็นอาหารมิใช่น้อย
ได้เป็นผู้มีใจยินดีไม่เสื่อมคลายในซากศพนั้นเท่านั้น
ตลอดคืนตลอดวัน
[๒๗] เมื่อกาจิกกินเนื้อช้าง ดื่มน้ำในแม่น้ำคงคาอยู่
เมื่อเห็นต้นไม้ใหญ่ ๆ ในป่า ก็ไม่โผบินขึ้นไป
[๒๘] ก็แม่น้ำคงคาได้ไหลพัดพาเอากาตัวประมาท
ยินดีในซากศพตัวนั้นไปยังสมุทร
ซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝูงนกบินไปไม่ได้
[๒๙] ก็กาตัวนั้นสิ้นอาหารแล้วจึงตกลงไปในน้ำ
จะบินไปข้างหลังก็ไม่ได้ ข้างหน้าก็ไม่ได้
ด้านเหนือก็ไม่ได้ ด้านใต้ก็ไม่ได้
[๓๐] มันบินไปไม่ถึงเกาะซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝูงนกบินไปไม่ได้
และมันก็ตกลงไปในสมุทรนั้นเองโดยอาการหมดกำลัง
[๓๑] อนึ่ง ฝูงปลา จระเข้ มังกร ปลาร้ายชื่อสุสุ
ที่อยู่ในสมุทรก็พากันข่มเหงฮุบกินกานั้น
ซึ่งกำลังดิ้นรนจนขนปีกขาด
[๓๒] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
พระองค์ก็ดี คนเหล่าอื่นที่ยังบริโภคกามก็ดี
ถ้าจักยังกำหนัดไม่คายกามเสียก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ชนเหล่านั้นบัณฑิตทั้งหลายรู้ว่า มีปัญญาเพียงดังกา
[๓๓] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
นี้เป็นอุปมาที่แสดงเนื้อความอย่างชัดเจน
ซึ่งอาตมภาพกล่าวถวายแด่มหาบพิตร
มหาบพิตรจะทรงกระทำหรือไม่ก็ตาม
มหาบพิตรก็จักปรากฏตามเหตุนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
(พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวสรุปว่า)
[๓๔] บุคคลผู้มีความเอ็นดู
พึงกล่าวเพียงคำเดียวหรือสองคำเท่านั้น
ไม่กล่าวให้ยิ่งไปกว่านั้นเหมือนทาสในสำนักของนาย
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๓๕] พระโสณกปัจเจกพุทธะผู้มีความรู้อันนับมิได้
ครั้นกล่าวคำนี้แล้วจึงเหาะขึ้นไปในอากาศ
พร่ำสอนบรมกษัตริย์แล้วเหาะไปในอากาศ
(พระราชาตรัสว่า)
[๓๖] บุคคลผู้ได้รับการศึกษา ถึงพร้อมด้วยความเฉียบแหลม
ที่จะครอบครองราชสมบัติเหล่านี้มีอยู่ที่ไหนหนอ
เราจักมอบราชสมบัติให้ เราไม่มีความต้องการราชสมบัติ
[๓๗] เราจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอเราอย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
(พวกอำมาตย์ได้ฟังแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๓๘] พระราชบุตรองค์น้อยของพระองค์ทรงพระนามว่า
ทีฆาวุกุมาร ผู้จะผดุงรัฐให้เจริญมีอยู่
ขอพระองค์ทรงอภิเษกพระราชบุตรพระองค์นั้นในราชสมบัติเถิด
ท้าวเธอจักเป็นพระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลาย
(พระราชาตรัสว่า)
[๓๙] จงรีบนำทีฆาวุกุมารผู้จะผดุงรัฐให้เจริญมาเถิด
เราจักอภิเษกในราชสมบัติ
เธอจักเป็นพระราชาของท่านทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๔๐] ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายได้เชิญเสด็จทีฆาวุกุมาร
ผู้จะผดุงรัฐให้เจริญมาเฝ้า
พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว
ได้ตรัสกับพระโอรสพระองค์เดียว
ผู้เป็นที่โปรดปรานพระองค์นั้นว่า
[๔๑] มีบ้านอยู่หกหมื่นหมู่บ้านสมบูรณ์ทุกอย่าง
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลหมู่บ้านเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า
[๔๒] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๔๓] มีช้างอยู่หกหมื่นเชือก เป็นช้างพลาย
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
มีสัปคับทองคำ ปกคลุมด้วยเครื่องปกคลุมทองคำ
[๔๔] มีนายควาญช้างถือโตมรและขอขึ้นประจำ
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลช้างเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า
[๔๕] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๔๖] มีม้าอยู่หกหมื่นตัวประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
คือ ม้าสินธพซึ่งเป็นม้าพาหนะที่มีฝีเท้าเร็ว ชาติอาชาไนย
[๔๗] มีนายสารถีผู้สวมเกราะ ถือแล่งธนูขึ้นประจำ
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลม้าเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๔๘] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๔๙] มีรถอยู่หกหมื่นคัน เป็นรถมีหนังเสือเหลืองหุ้มก็มี
มีหนังเสือโคร่งหุ้มก็มี ยกธงขึ้นปักแล้ว
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
[๕๐] มีนายสารถีผู้สวมเกราะ ถือแล่งธนูขึ้นประจำ
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลรถเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า
[๕๑] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๕๒] มีแม่โคนมอยู่หกหมื่นตัว เป็นแม่โคสีแดง
พร้อมทั้งโคผู้ตัวประเสริฐ
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลโคเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า
[๕๓] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๕๔] มีหญิงอยู่หนึ่งหมื่นหกพันนาง
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
มีเสื้อผ้าอาภรณ์อันวิจิตร สวมใส่ตุ้มหูแก้วมณี
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลหญิงเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๕๕] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
(พระราชกุมารกราบทูลว่า)
[๕๖] เสด็จพ่อ เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเด็กอยู่
หม่อมฉันได้สดับมาว่า พระมารดาสวรรคตแล้ว
เสด็จพ่อ หม่อมฉันเว้นจากเสด็จพ่อแล้ว
ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้
[๕๗] ลูกช้างย่อมติดตามไปข้างหลังช้างป่า
ที่เที่ยวไปในซอกเขาที่เสมอบ้าง ไม่เสมอบ้างฉันใด
[๕๘] หม่อมฉันก็จะพาเอาบุตรติดตามเสด็จพ่อไปข้างหลังฉันนั้น
จักเป็นลูกที่เลี้ยงง่ายของเสด็จพ่อ
จักไม่เป็นลูกที่เลี้ยงยากของเสด็จพ่อ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๕๙] อันตรายพึงยึดเรือที่แล่นไปในสมุทร
ของพ่อค้าผู้แสวงหาทรัพย์ไว้ในสมุทรนั้น
พ่อค้าพึงพินาศฉันใด
[๖๐] ลูกกาลีคนนี้พึงเป็นคนกระทำอันตรายแก่เราฉันนั้นเหมือนกัน
พวกท่านจงส่งกุมารนี้ไปให้ถึงปราสาท
อันเจริญไปด้วยความยินดีเถิด
[๖๑] ณ ปราสาทนั้น เหล่าหญิงสาว
ผู้มีมือประดับด้วยเครื่องประดับทองคำ
จักยังกุมารนั้นให้รื่นรมย์ในปราสาทนั้น
เหมือนนางอัปสรให้ท้าวสักกะรื่นรมย์
และกุมารนั้นก็จักรื่นรมย์ด้วยหญิงสาวทั้งหลายเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๖๒] ลำดับนั้น พวกอำมาตย์ได้ส่งเสด็จพระกุมาร
จนถึงปราสาทอันเจริญไปด้วยความยินดี
เหล่าหญิงสาวเห็นทีฆาวุกุมารผู้ผดุงรัฐให้เจริญนั้นแล้ว
จึงได้กราบทูลถามว่า
[๖๓] พระองค์เป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
พระองค์เป็นใครหรือเป็นพระราชบุตรของใคร
หม่อมฉันทั้งหลายจะรู้จักพระองค์ได้อย่างไร
(พระราชกุมารตรัสตอบว่า)
[๖๔] เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์ ทั้งมิใช่ท้าวสักกปุรินททะ
เราเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสีพระนามว่าทีฆาวุกุมาร
ผู้จะผดุงรัฐให้เจริญ พวกเธอจงเลี้ยงดูบำเรอเรา
ขอพวกเธอจงมีความเจริญเถิด เราจะเป็นภัสดาของพวกเธอ
[๖๕] เหล่าหญิงสาวได้กราบทูลถามทีฆาวุกุมาร
ผู้ผดุงรัฐให้เจริญพระองค์นั้น ณ ที่นั้นว่า
พระราชาเสด็จถึงไหนแล้ว พระราชาจากที่นี้ไป ณ ที่ไหน
[๖๖] พระราชาเสด็จล่วงเลยเปือกตมแล้วดำรงอยู่บนบก
ทรงดำเนินสู่ทางใหญ่อันปราศจากหนามไม่รกชัฏ
[๖๗] ส่วนเราดำเนินไปยังหนทางของคนผู้ไปสู่ทุคติ
มีทั้งหนามและรกชัฏซึ่งเป็นหนทางไปสู่ทุคติ
(เหล่าหญิงสาวกราบทูลว่า)
[๖๘] ข้าแต่พระราชา พระองค์นั้นเสด็จมาดีแล้ว
เหมือนราชสีห์คืนสู่ถ้ำ ณ ซอกเขา
ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์โปรดทรงอนุศาสน์พร่ำสอน
และทรงเป็นใหญ่แห่งหม่อมฉันทั้งปวงเถิด
โสณกชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)
ว่าด้วยสังกิจจฤๅษี
(พระศาสดาทรงปรารภพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ทำปิตุฆาต จึงตรัสสังกิจจชาดก
นี้ว่า)
[๖๙] ลำดับนั้น คนเฝ้าสวนเห็นพระเจ้าพรหมทัต
ผู้ทรงเป็นจอมทัพประทับนั่งอยู่
จึงได้กราบทูลท้าวเธอให้ทรงทราบว่า
“พระองค์ทรงเอ็นดูท่านผู้ใด
[๗๐] ท่านผู้นี้ คือ สังกิจจฤๅษี ผู้ได้รับสมมติว่า
เป็นคนดีกว่าฤๅษีทั้งหลาย ได้มาถึงแล้ว
ขอเชิญพระองค์รีบเสด็จออกไปพบ
ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่โดยด่วนเถิด พระเจ้าข้า”
[๗๑] ลำดับนั้น พระราชาผู้จอมทัพ
รีบเสด็จขึ้นประทับราชรถที่เทียมไว้แล้ว
มีหมู่มิตรและอำมาตย์ห้อมล้อมได้เสด็จไปแล้ว
[๗๒] พระราชาผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี
ทรงเก็บราชกกุธภัณฑ์ ๕ ประการ คือ
๑. พัดวาลวีชนี ๒. กรอบพระพักตร์ ๓. พระขรรค์
๔. เศวตฉัตร ๕. ฉลองพระบาท
[๗๓] พระราชาทรงวางเบญจกกุธภัณฑ์ไว้อย่างปกปิดแล้ว
เสด็จลงจากราชยาน ทรงดำเนินเข้าไปหาสังกิจจฤๅษี
ซึ่งนั่งอยู่ ณ ทายปัสสอุทยาน
[๗๔] พระราชาพระองค์นั้นครั้นเสด็จเข้าไปหาแล้ว
ทรงบันเทิงอยู่กับฤๅษีสนทนาปราศรัย
พอให้ระลึกถึงกันและกันแล้วเสด็จเข้าไป ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๗๕] ประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
เมื่อทรงเห็นว่าเป็นกาลอันสมควร
จึงทรงสอบถามถึงกรรมอันเป็นบาปว่า
[๗๖] โยมขอถามท่านสังกิจจฤๅษีผู้ได้รับสมมติว่า
เป็นคนดีกว่าฤๅษีทั้งหลายซึ่งนั่งอยู่ ณ ทายปัสสอุทยาน
ห้อมล้อมไปด้วยหมู่ฤๅษีว่า
[๗๗] คนผู้ประพฤติล่วงธรรมทั้งหลาย
เหมือนโยมผู้ประพฤติล่วงธรรม ละไปแล้วจะไปสู่คติอะไร
ขอพระคุณเจ้าจงตอบเนื้อความที่โยมถามเถิด
[๗๘] สังกิจจฤๅษีได้กราบทูลพระราชาผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี
ซึ่งประทับนั่ง ณ ทายปัสสอุทยานว่า
ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์ทรงสดับคำของอาตมภาพ
[๗๙] ผู้ใดพร่ำสอนบอกหนทางแก่คนเดินทางผิด
ถ้าเขาพึงทำตามคำของผู้นั้น เขาก็ไม่พึงถูกหนามตำฉันใด
[๘๐] ผู้ใดพร่ำสอนธรรมแก่ผู้ปฏิบัติผิดธรรม
ถ้าเขาพึงทำตามคำสอนของท่านผู้นั้น
เขาจะไม่พึงไปสู่ทุคติฉันนั้นเหมือนกัน
(ฤๅษีโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาต่อไปว่า)
[๘๑] ข้าแต่มหาราช ธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ปลอดภัย๑
ส่วนอธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ไม่ปลอดภัย
เพราะว่าอธรรมนำสัตว์ไปสู่นรก ส่วนธรรมยังสัตว์ให้ถึงสุคติ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ปลอดภัย ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (กายกรรม ๓ คือ เว้นจากการ
ฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม, วจีกรรม ๔ คือเว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูด
ส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ, มโนกรรม ๓ คือไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่คิดปองร้ายเขา
เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม) เป็นทางเกษม ไม่มีภัยเฉพาะหน้า ดำเนินไปสู่สุคติ (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๑/๑๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๘๒] ข้าแต่มหาบพิตร คนผู้ประพฤติล่วงธรรมทั้งหลาย
มีชีวิตไม่ราบรื่น ตายไปแล้วจะไปสู่คติใดในนรก
ขอพระองค์ทรงสดับการกล่าวถึงนรกเหล่านั้นของอาตมภาพเถิด
[๘๓] คือ ๑. สัญชีวนรก ๒. กาฬสุตตนรก ๓. สังฆาฏนรก
โรรุวนรก ๒ คือ (๔. ชาลโรรุวนรก ๕. ธูมโรรุวนรก)
๖. ตาปนนรก ๗. ปตาปนนรก ๘. อเวจีมหานรก๑
[๘๔] นรก ๘ ขุมเหล่านี้บัณฑิตกล่าวว่า ก้าวพ้นได้โดยยาก
เกลื่อนกล่นไปด้วยเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า
แต่ละขุม ๆ มีอุสสทนรก ๑๖ ขุมเป็นบริวาร

เชิงอรรถ :
๑ มหานรกทั้ง ๘ ขุมนี้มีคำแปลและความหมาย ดังนี้
๑. สัญชีวนรก นรกที่ตายแล้วฟื้น หมายถึงสัตว์นรกในนรกนี้ถูกสับถูกฟันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้ว
กลับฟื้นขึ้นมาบ่อย ๆ
๒. กาฬสุตตนรก นรกสายบรรทัดเหล็ก หมายถึงสัตว์นรกวิ่งไปบนแผ่นเหล็กแดง ถ้าล้มลง จะถูก
ดีดด้วยสายบรรทัดเหล็กแดง
๓. สังฆาฏนรก นรกที่ถูกบดหรือหนีบ หมายถึงมีภูเขาเหล็กลุกเป็นไฟกลิ้งมาบดขยี้สัตว์ในนรกนี้
๔. ชาลโรรุวนรก นรกที่สัตว์ร้องไห้เพราะเปลวไฟ หมายถึงนรกที่มีเปลวไฟพุ่งวูบเข้าทางทวารทั้ง ๙
เผาสัตว์นรกตลอดเวลา
๕ ธูมโรรุวนรก นรกที่สัตว์ร้องไห้เพราะควันไฟ หมายถึงนรกที่มีควันไฟรมสัตว์นรกทางทวารทั้ง ๙
อยู่ตลอดเวลา
๖. ตาปนนรก นรกที่ทำให้ร้อน หมายถึงพวกสัตว์นรกในนรกนี้จะถูกแทงด้วยหลาวเหล็กเท่า
ลำตาลลุกเป็นไฟ
๗. ปตาปนนรก นรกที่ทำให้ร้อนมาก หมายถึงสัตว์นรกในนรกนี้ถูกไล่ตีหนีขึ้นไปบนภูเขา บนกำแพง
ที่ร้อน ตกลงมาถูกหลาวเหล็กเสียบแทง
๘. อเวจีมหานรก นรกที่ไม่มีเวลาว่าง หมายถึงนรกที่มีเปลวไฟพลุ่งออกมาจากทิศทั้ง ๔ เผาสัตว์นรก
อยู่ตลอดเวลา
มหานรกทั้ง ๘ ขุมนี้แต่ละขุมมีประตู ๔ ด้าน ประตูหนึ่ง ๆ มีอุสสุทนรก (นรกบริวาร) ด้านละ ๔
มหานรกขุมหนึ่ง ๆ จึงมีอุสสทนรก ๑๖ แห่ง มหานรก ๘ ขุมมีอุสสทนรก ๑๒๘ รวมกับมหานรก ๘
เป็น ๑๓๖ ขุม (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๓-๘๔/๑๑๑-๑๑๔) ดูการทำกรรมและวิธีเสวยผลกรรมต่าง ๆ จากเนมิราช-
ชาดก ชาดกที่ ๔ ในมหานิบาต (ข้างหน้า) (ขุ.ชา. ๒๘/๔๒๑-๕๘๙/๑๖๖-๑๘๗) (ขุ.ชา.อ. ๙/๔๒๑-๕๘๙/
๑๕๑-๒๐๙) และดูเทวทูตสูตรใน ม.อุ.๑๔/๒๖๑-๒๗๑/๒๓๐-๒๔๐, ม.อุ.อ.๓/๒๖๑-๒๗๑/๑๖๗-๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๘๕] เป็นนรกที่โหดร้าย เผาผลาญเหล่าสัตว์
ผู้ตระหนี่เหนียวแน่นให้เร่าร้อน
เป็นมหาภัย มีเปลวไฟลุกโพลง น่าขนพองสยองเกล้า
น่าสะพรึงกลัว มีภัยเฉพาะหน้า มีแต่ทุกข์
[๘๖] มี ๔ มุม มีประตู ๔ ด้าน จัดไว้เหมาะสมตามสัดส่วน
มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ มีเหล็กครอบไว้ด้วย
[๘๗] ภาคพื้นของนรกเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นเหล็ก มีไฟลุกโชน
มีความร้อนแผ่ซ่านไปตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
ตั้งอยู่ในกาลทุกเมื่อ
[๘๘] คนผู้กล่าวล่วงเกินฤๅษีทั้งหลาย ผู้สำรวม ผู้มีตบะเหล่านั้น
ย่อมตกนรก มีเท้าชี้ขึ้นเบื้องบน มีศีรษะปักลงเบื้องล่าง
[๘๙] คนเหล่านั้นผู้มีปกติกระทำกรรมหยาบช้า
มีความเจริญถูกขจัดแล้ว เหมือนปลาที่ถูกเฉือนออกเป็นชิ้น ๆ
ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดปีนับไม่ถ้วน
[๙๐] มีกายถูกไฟเผาไหม้ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่เป็นนิตย์
แสวงหาทางออกจากนรก ก็ไม่พบประตูที่จะออก
[๙๑] จึงวิ่งไปทางประตูด้านทิศตะวันออก
จากนั้นก็วิ่งกลับไปทางประตูด้านทิศตะวันตก
วิ่งไปแม้ทางประตูด้านทิศเหนือ
จากนั้นจึงวิ่งกลับไปยังประตูด้านทิศใต้
วิ่งไปถึงประตูใด ๆ ประตูนั้น ๆ ก็ปิดทันที
[๙๒] นับเป็นเวลาหลายพันปี ชนทั้งหลายที่ตกนรก
ต้องประคองแขนคร่ำครวญ เสวยทุกข์มิใช่น้อย
[๙๓] เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่ควรระรานคนดี
เพราะท่านมีความสำรวม มีตบะ
ประดุจอสรพิษมีพิษกล้าที่โกรธแล้วหลีกเลี่ยงได้ยาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๙๔] พระเจ้าอัชชุนะทรงเป็นใหญ่ในแคว้นเกตกะ
มีพระวรกายกำยำล่ำสัน
ทรงเป็นนายขมังธนูผู้ยิ่งใหญ่ มีพระพาหาตั้งพัน
ก็หายสาบสูญไปเพราะระรานโคตมฤๅษี
[๙๕] พระเจ้าทัณฑกีได้ทรงเอาธุลีโปรยใส่กีสวัจฉฤๅษี
ผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังธุลี
พระองค์ทรงถึงความพินาศเหมือนต้นตาลถูกตัดราก
[๙๖] พระเจ้ามัชฌะคิดร้ายมาตังคฤๅษีผู้เรืองยศ
จึงได้หายสาบสูญไปพร้อมทั้งบริษัท
แคว้นของพระองค์ก็กลายเป็นป่าไม้ในกาลนั้น
[๙๗] ชาวเมืองอันธกเวณฑยะระรานกัณหทีปายนฤๅษี
ต่างถือไม้พลองตีกันและกัน
ก็พากันไปถึงสถานที่ชำระโทษของพญายม
[๙๘] ส่วนพระเจ้าเจจจะพระองค์นี้
เมื่อก่อนทรงเหาะไปในอากาศได้
ถูกกบิลดาบสสาปมีอัตภาพเสื่อมสิ้นฤทธิ์แล้ว
ถูกแผ่นดินสูบถึงสิ้นพระชนม์
[๙๙] เพราะเหตุนั้นแหละ บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญ
การถึงความลำเอียงเพราะความชอบ
บุคคลไม่พึงมีจิตคิดประทุษร้าย
พึงกล่าววาจาที่ประกอบด้วยความจริง
[๑๐๐] ถ้าว่าคนใดมีใจประทุษร้าย
เพ่งเล็งมุนีผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เขาก็จะไปสู่นรกเบื้องต่ำ
[๑๐๑] ชนเหล่าใดพยายามพูดคำหยาบคาย ด่าว่าผู้เฒ่า
ชนเหล่านั้นจะไม่มีที่พึ่ง ไม่มีทายาท
เป็นเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๑๐๒] อนึ่ง คนใดฆ่าบรรพชิตผู้ทำกิจเสร็จแล้ว
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
คนนั้นย่อมหมกไหม้อยู่ในกาฬสุตตนรกตลอดราตรีนาน
[๑๐๓] อนึ่ง พระราชาพระองค์ใดไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ทรงมีอคติ เที่ยวกำจัดแคว้น ทำชนบทให้เดือดร้อน
สิ้นพระชนม์แล้วจะหมกไหม้อยู่ในตาปนนรก
[๑๐๔] และท้าวเธอจะต้องหมกไหม้อยู่ตลอดแสนปีทิพย์๑
จะถูกกลุ่มเปลวเพลิงห้อมล้อมเสวยทุกขเวทนา
[๑๐๕] เปลวเพลิงจะเปล่งรัศมีพวยพุ่งออกจากพระกายของท้าวเธอ
สรรพางค์กายพร้อมทั้งขนและเล็บทั้งหลายของสัตว์
ผู้มีไฟเป็นอาหารจะลุกโชนเป็นอันเดียวกัน
[๑๐๖] สัตว์นรกมีกายถูกไฟครอกทั้งภายในและภายนอกอยู่เป็นนิตย์
ถูกความทุกข์ย่ำยีร้องครวญครางอยู่เหมือนช้างถูกสับด้วยตะขอ
[๑๐๗] คนใดเป็นคนต่ำช้า ฆ่าบิดาเพราะความโลภหรือความโกรธ
คนนั้นย่อมหมกไหม้ในกาฬสุตตนรกตลอดราตรีนาน
[๑๐๘] คนผู้ฆ่าบิดาเช่นนั้นจะต้องหมกไหม้อยู่ในโลหกุมภีนรก
และนายนิรยบาลทั้งหลายจะใช้หอกแทงเขาผู้ถูกต้มจนไม่มีหนัง
ทำให้ตาบอด ให้กินปัสสาวะและอุจจาระเป็นอาหาร
แล้วกดคนเช่นนั้นให้จมลงในน้ำกรด
[๑๐๙] นายนิรยบาลบังคับให้สัตว์นรกกินน้ำอุจจาระ
ที่ร้อนจนเดือดพล่าน และก้อนเหล็กแดงที่มีไฟลุกโชน
ถือเอาผาลที่ยาวและร้อนอยู่ตลอดราตรีนาน
งัดปาก เมื่อปากเปิดอ้าจึงใช้เบ็ด
ที่ผูกสายเชือก(ดึงลิ้นออกมา) แล้วจึงยัด(เหล็กแดง)เข้าไป

เชิงอรรถ :
๑ หนึ่งแสนปีทิพย์ ประมาณ ๕๕,๘๗๒ ล้านปีมนุษย์ (คำนวนตามประมาณอายุ)(อภิ.วิ.อ. ๑/๑๐๒๓/๕๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๑๑๐] ฝูงสุนัขดำ ฝูงสุนัขด่าง ฝูงนกแร้ง ฝูงกาป่า
และฝูงนกปากเหล็ก
พากันรุมจิกกัดสัตว์นรกผู้กำลังดิ้นทุรนทุราย
แบ่งกันกินเป็นอาหารพร้อมทั้งเลือด
[๑๑๑] สัตว์นรกผู้ฆ่าบิดานั้นมีร่างกายแตกปริไปทั่ว
เหมือนต้นตาลที่ถูกไฟไหม้
นายนิรยบาลทั้งหลายจะเที่ยวติดตามทุบตี
จริงอยู่ นายนิรยบาลเหล่านั้นมีความยินดี
แต่พวกสัตว์นรกนอกนี้ได้รับทุกข์ทรมาน
คนผู้ฆ่าบิดาทุกจำพวกในโลกนี้ต้องตกอยู่ในนรกเช่นนั้น
[๑๑๒] อนึ่ง บุตรฆ่ามารดา ตายจากโลกนี้ไปแล้ว
เข้าถึงที่อยู่ของพญายม
ต้องเสวยทุกข์อย่างร้ายแรงด้วยผลกรรมของตน
[๑๑๓] นายนิรยบาลทั้งหลายที่มีพละกำลังอย่างยิ่ง
จะใช้ขนหางสัตว์ที่เป็นลวดเหล็กแดง
มัดบีบคั้นสัตว์นรกที่ฆ่ามารดาผู้ให้กำเนิดอยู่เสมอ ๆ
[๑๑๔] บังคับให้สัตว์นรกนั้นผู้ฆ่ามารดาดื่มเลือดที่มีอยู่ในตน
ที่ไหลออกจากร่างกายของตน
ซึ่งร้อนปานประหนึ่งน้ำทองแดงที่ละลายคว้าง
[๑๑๕] สัตว์นรกนั้นลงสู่ห้วงน้ำที่คล้ายน้ำหนองน้ำเลือด
มีโคลนตม คูถอันน่าเกลียด
มีกลิ่นเหม็นเน่าดุจซากศพ แล้วยืนอยู่
[๑๑๖] ณ ห้วงน้ำนั้น หมู่หนอนปากเหล็ก
มีร่างกายใหญ่โตเหลือประมาณทำลายผิวหนัง
ชอนไชเข้าไปในเนื้อและเลือด กัดกินสัตว์นรกนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๑๑๗] ก็สัตว์นรกนั้นตกถึงนรกแล้ว
ก็จมลงไปประมาณ ๑๐๐ ช่วงคน
ซากศพอันเน่าก็เหม็นฟุ้งตลบไปโดยรอบตลอด ๑๐๐ โยชน์
[๑๑๘] จริงอยู่ แม้คนที่มีจักษุ
ก็จะเสื่อมจากจักษุทั้ง ๒ ได้เพราะกลิ่นนั้น
ขอถวายพระพรพระเจ้าพรหมทัต
คนฆ่ามารดาย่อมได้รับความทุกข์เช่นนั้นแหละ
[๑๑๙] หญิงที่รีดลูกทั้งหลายจะต้องย่างเหยียบนรก
บนคมมีดโกนอันคมกริบที่ไม่น่ารื่นรมย์
แล้วตกไปยังแม่น้ำเวตตรณีซึ่งข้ามไปได้ยาก
[๑๒๐] ต้นงิ้วทั้งหลายล้วนแต่เป็นเหล็ก มีหนามยาว ๑๖ องคุลี
ห้อยย้อยปกคลุมแม่น้ำเวตตรณีซึ่งข้ามไปได้ยากทั้ง ๒ ฝั่ง
[๑๒๑] สัตว์นรกเหล่านั้นมีเปลวเพลิงลุกโชนขึ้นไปเบื้องบนหนึ่งโยชน์
มีกายเร่าร้อนด้วยไฟที่เกิดเอง
ยืนอยู่เหมือนกองไฟที่ตั้งอยู่ในที่ไกล
[๑๒๒] หญิงผู้ประพฤตินอกใจสามีก็ดี
ชายผู้คบชู้กับภรรยาคนอื่นก็ดี
พวกเขาเหล่านั้นต้องตกอยู่ในนรกอันเร่าร้อนมีหนามแหลมคม
[๑๒๓] สัตว์นรกเหล่านั้นถูกอาวุธทิ่มแทง
ก็กลิ้งกลับเอาศีรษะลงเบื้องล่าง ตกลงไปเป็นจำนวนมาก
ถูกหลาวเหล็กทิ่มแทงร่างกายจนนอน
ตื่นอยู่ตลอดกาลอันยาวนาน
[๑๒๔] ต่อแต่นั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว
สัตว์นรกทั้งหลายก็ถูกนายนิรยบาลซัดเข้าไปยังโลหกุมภีอันใหญ่
อุปมาดังภูเขามีน้ำร้อนอันเปรียบได้กับไฟ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๑๒๕] บุคคลผู้ทุศีลถูกโมหะครอบงำ
ย่อมเสวยกรรมของตนหมกไหม้อยู่
ที่ตนกระทำชั่วไว้แล้วในปางก่อนตลอดวันตลอดคืนอย่างนี้
[๑๒๖] อนึ่ง ภรรยาที่เขาไถ่มาด้วยทรัพย์
ดูหมิ่นสามี หรือแม่ผัว พ่อผัว
หรือแม้พี่ชาย พี่สาวของสามี
[๑๒๗] นายนิรยบาลทั้งหลายจะเอาเบ็ดเกี่ยวปลายลิ้นของเธอ
ดึงออกมาพร้อมทั้งสายเบ็ด
เธอเห็นลิ้นของตนยาวประมาณ ๑ วา เต็มไปด้วยหนอน
ไม่อาจจะบอกใครให้ทราบได้
จึงตายไปหมกไหม้อยู่ในตาปนนรก
[๑๒๘] พวกคนฆ่าแกะ ฆ่าสุกร จับปลา ดักสัตว์
พวกโจร พวกคนฆ่าวัว พวกนายพราน
และพวกที่กล่าวอ้างโทษว่าเป็นคุณ
[๑๒๙] พวกเขาจะถูกนายนิรยบาลทั้งหลายเข่นฆ่าด้วยหอก
ด้วยค้อนเหล็ก ด้วยดาบ ด้วยลูกศร
และศีรษะจะปักดิ่งลงไปยังแม่น้ำกรด
[๑๓๐] ส่วนคนผู้ตัดสินคดีไม่เป็นธรรม
จะถูกพวกนายนิรยบาลทุบตีด้วยค้อนเหล็กทุกเย็นทุกเช้า
ต่อแต่นั้นจะต้องกินอาเจียนที่สัตว์นรกเหล่าอื่นคายออก
ที่มีอัตภาพลำบากทุกเมื่อ
[๑๓๑] ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอก ฝูงแร้ง
และฝูงกาป่าปากเหล็ก
ก็พากันรุมจิกกัดกินสัตว์นรก
ผู้กระทำกรรมหยาบช้าซึ่งกำลังดิ้นรนอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] รวมชาดกที่มีในนิบาต
[๑๓๒] เหล่าชนผู้เป็นอสัตบุรุษใช้ธุลีฉาบปกปิดร่างกาย
ฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อหรือฆ่านกด้วยนกต่อ
ชนเหล่านั้นต้องไปตกอุสสทนรก
[๑๓๓] ส่วนสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไปสู่เทวโลกเบื้องบน
เพราะกรรมที่ตนประพฤติดีแล้วในโลกนี้
ขอมหาบพิตรโปรดทอดพระเนตร
ผลกรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วเถิด
เทพเจ้าทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหมก็มีอยู่
[๑๓๔] ข้าแต่มหาราช เพราะเหตุนั้น
อาตมภาพขอถวายพระพร
ขอพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้น
จงทรงประพฤติธรรม
โดยประการที่บุคคลประพฤติธรรมดีแล้ว
ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลังเถิด
สังกิจจชาดกที่ ๒ จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้
๑. โสณกชาดก ๒. สังกิจจชาดก

สัฏฐินิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
๒๐. สัตตตินิบาต
๑. กุสชาดก (๕๓๑)
ว่าด้วยพระเจ้ากุสะหลงรูปโฉมนางประภาวดี
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์กราบทูลพระมารดาว่า)
[๑] เสด็จแม่ นี้แคว้นของเสด็จแม่
มีทรัพย์สมบัติ ยานพาหนะ เครื่องประดับ
สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวง
ขอเสด็จแม่ทรงปกครองราชสมบัติของเสด็จแม่นี้เถิด
หม่อมฉันจะไปยังนครที่พระนางประภาวดี
ผู้เป็นที่รักประทับอยู่
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๒] พระองค์มีพระทัยไม่ซื่อตรง
ทรงหาบคอนหาบใหญ่ จักทรงเหน็ดเหนื่อย
ทั้งกลางวัน กลางคืน และดึกดื่นเที่ยงคืน
ข้าแต่พระเจ้ากุสะ ขอเชิญพระองค์
รีบเสด็จกลับกรุงกุสาวดีโดยพลันเถิด
หม่อมฉันไม่ประสงค์จะให้พระองค์
ผู้ทรงมีผิวพรรณทรามประทับอยู่ ณ ที่นี้
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๓] พี่จะไม่จากที่นี้ไปกรุงกุสาวดี
น้องประภาวดี พี่ลุ่มหลงในความงามของเธอ
จึงยินดีอยู่ในที่ประทับอันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้ามัททะ
พี่ยินดีพอใจที่จะเห็นเธอ จึงละทิ้งแคว้นมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๔] น้องประภาวดี พี่ลุ่มหลงในผิวพรรณของเธอ
จึงซมซานท่องเที่ยวไปสู่เมทนีดล
ไม่รู้จักทิศว่า เรามาจากไหน
มัวแต่มัวเมาหลงใหลในตัวเธอ
ผู้มีดวงตาประดุจตาลูกน้อยเนื้อทราย
[๕] น้องนางผู้มีสะโพกอันผึ่งผาย
ทรงผ้าขลิบทอง
เครื่องประดับทองคำ
พี่ไม่มีความต้องการราชสมบัติ
เพราะปรารถนาตัวเธอ
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๖] ข้าแต่พระราชาผู้เจริญ
ผู้ใดปรารถนาบุคคลที่เขาไม่ปรารถนา
ผู้นั้นย่อมไม่มีความเจริญ
พระองค์ต้องการบุคคลที่เขาไม่ต้องการ
ปรารถนารักใคร่บุคคลที่เขาไม่รักใคร่
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๗] คนใดได้คนที่ไม่ต้องการตนก็ตาม
ที่ต้องการตนก็ตามมาเป็นคนรัก
เราสรรเสริญการได้ในความรักนี้ของคนนั้น
การไม่ได้ในความรักนั้นซิเป็นความโชคร้าย
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๘] พระองค์ทรงปรารถนาหม่อมฉันผู้ไม่ปรารถนาพระองค์
เปรียบเสมือนพระองค์ทรงใช้ไม้กรรณิการ์ขุดเพชร
(หรือ) ทรงใช้ตาข่ายดักลม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๙] หินคงถูกฝังไว้ในพระหทัยอันมีลักษณะ
อ่อนละมุนละไมของพระนางเป็นแน่
เพราะหม่อมฉันมาจากชนบทบ้านนอก
ยังมิได้ประสบความแช่มชื่นจากพระนางเลย
[๑๐] เมื่อใด พระราชบุตรีหน้านิ่ว
ทอดพระเนตรหม่อมฉัน
เมื่อนั้นหม่อมฉันก็ยังคงเป็นคนครัวภายในเมืองของพระเจ้ามัททะ
[๑๑] เมื่อใด พระราชบุตรีทรงแย้มสรวลทอดพระเนตรหม่อมฉัน
เมื่อนั้น หม่อมฉันไม่ใช่คนครัว
เมื่อนั้น หม่อมฉันเป็นพระเจ้ากุสะ
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๑๒] ก็ถ้าว่า คำทำนายของโหรทั้งหลายจักเป็นความจริงว่า
พระองค์ไม่ใช่พระสวามีของหม่อนฉันแน่นอน
ขอชนทั้งหลายจงสับหม่อมฉันให้เป็น ๗ ท่อนเถิด
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๑๓] ก็ถ้าว่า คำทำนายของพวกโหรอื่น
หรือของหม่อนฉันจักเป็นความจริงไซร้
คนอื่นนอกจากพระเจ้ากุสะผู้มีพระสุรเสียงดังราชสีห์
ไม่ใช่พระสวามีของพระนางแน่นอน
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ทรงหยอกล้อหญิงค่อม พระพี่เลี้ยงพระนางประภาวดีว่า)
[๑๔] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงเหลียวมองดูเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๑๕] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงเจรจากับเรา
[๑๖] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงทรงยิ้มแย้มให้เรา
[๑๗] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงทรงพระสรวลกับเรา
[๑๘] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงทรงจับต้องเราด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒
(นางค่อมไปกราบทูลพระนางประภาวดีว่า)
[๑๙] ก็พระราชบุตรีพระองค์นี้คงจะไม่ประสบ
แม้ความสำราญพระทัยในพระเจ้ากุสะ
ผู้เป็นคนครัว คนรับใช้ คนเลี้ยงดู
ซึ่งไม่ทรงประสงค์ค่าจ้างอย่างแน่แท้
(พระนางประภาวดีตรัสว่า)
[๒๐] ก็นางค่อมคนนี้คงยังไม่ได้ถูกมีดคมตัดลิ้นแน่นอน
จึงยังกล่าวชั่วช้าอย่างนี้อยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(นางค่อมประกาศความดีของพระโพธิสัตว์ว่า)
[๒๑] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีพระยศใหญ่
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๒] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีทรัพย์มากมาย
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๓] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีพระกำลังมาก
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๔] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระราชอาณาจักรกว้างใหญ่
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๕] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงเป็นมหาราช
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๖] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีพระสุรเสียงดังราชสีห์
แล้วทำความรักในความงามเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๒๗] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะ
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๘] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงหยดย้อย
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๙] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงหวานจับใจ
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๓๐] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะอ่อนหวาน
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๓๑] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีศิลปะนับเป็นร้อย ๆ อย่าง
แล้วทำความรักในความงามเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๓๒] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๓๓] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงพระนามว่าพระเจ้ากุสะ
แล้วทำความรักในความงามเถิด
(เหล่าอำมาตย์กราบทูลพระเจ้ามัททะว่า)
[๓๔] พระราชาผู้ประเสริฐเหล่านี้ทรงกระด้างยิ่งนัก
ทั้งหมดสวมเกราะประทับยืนตระหง่านอยู่
ก่อนที่พระราชาเหล่านั้นจะทรงทำลายกำแพง
ขอพระองค์จงทรงส่งพระราชสาส์นไปว่า
ขอพระราชาทั้งหลายจงนำเอาพระธิดาประภาวดีไปเถิด
(พระเจ้ามัททะตรัสว่า)
[๓๕] เราจักสับลูกหญิงประภาวดีนั้นให้เป็น ๗ ท่อนแล้ว
ถวายให้แก่พระราชาทั้งหลายที่เสด็จมาเพื่อฆ่าเรา ณ ที่นี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๖] พระราชบุตรีผู้มีผิวพรรณดุจทอง ทรงผ้าไหมสีขลิบทอง
พระเนตรทั้ง ๒ นองไปด้วยพระอัสสุชล
มีหมู่นางทาสีห้อมล้อมได้เสด็จลุกขึ้นแล้ว
(พระนางประภาวดีทรงคร่ำครวญว่า)
[๓๗] ดวงหน้าหม่อมฉันที่ลูบไล้ด้วยแป้ง
ส่องดูที่กระจกเงาด้ามงาอันงดงาม
มีดวงตาคมคายผุดผ่องเป็นยองใยไม่มีไฝฝ้านั้น
จักถูกพวกกษัตริย์โยนทิ้งไว้ในป่าเป็นแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๓๘] เส้นผมทั้งหลายของหม่อมฉันที่ดำสนิท
มีปลายงอน อ่อนละมุนละไม
ที่ลูบไล้ด้วยน้ำมันแก่นจันทน์เหล่านั้น
นกแร้งทั้งหลายจะพากันใช้เท้าทั้ง ๒ ตะกุยคุ้ยเขี่ย
ให้ยุ่งเหยิงในท่ามกลางป่าช้าเป็นแน่
[๓๙] แขนทั้ง ๒ ของหม่อมฉันอ่อนนุ่ม มีเล็บมือแดง
มีขนละเอียดอ่อนซึ่งลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์เหล่านั้น
จะถูกพวกกษัตริย์ตัดทิ้งไว้ในป่า
นกกาก็จะคาบเอาไปตามความต้องการเป็นแน่
[๔๐] ถันทั้ง ๒ ของหม่อมฉันยังไม่หย่อนยาน
เปรียบปานได้กับผลตาล
ลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์แดงจากแคว้นกาสีเหล่านั้น
สุนัขจิ้งจอกเห็นเข้าแล้วจักยื้อดึงถันทั้ง ๒ ของหม่อมฉัน
เหมือนลูกอ่อนอันเกิดแต่ตนยื้อดึงถันทั้ง ๒ ของมารดาเป็นแน่
[๔๑] สะโพกอันกลมกลึงผึ่งผาย ที่ผูกห้อยประดับ
ด้วยสายสร้อยรัดเอวทองคำของหม่อมฉันซึ่งถูกตัด
ที่พวกกษัตริย์โยนทิ้งไว้ในป่านั้น
ฝูงสุนัขจิ้งจอกจะยื้อแย่งเป็นแน่แท้
[๔๒] ฝูงสุนัขป่า ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอก
และสัตว์ที่มีเขี้ยวเหล่าอื่นใดที่มีอยู่
พวกมันได้กัดกินเจ้าหญิงประภาวดีเป็นภักษาหารแล้ว
คงจักไม่แก่ชราเป็นแน่
[๔๓] ข้าแต่ทูลกระหม่อมแม่
หากกษัตริย์ทั้งหลายผู้เสด็จไปสู่หนทางไกล
ได้ทรงนำเอาชิ้นเนื้อของหม่อมฉันไป
ขอเสด็จแม่โปรดทรงขอกระดูกไว้แล้วเผามันทิ้งเสียในระหว่างทาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๔๔] ทูลกระหม่อมแม่ ขอเสด็จแม่โปรดให้สร้างเป็นสวน
แล้วให้ปลูกต้นกรรณิการ์ไว้ในเขตนี้
เมื่อใด ต้นกรรณิการ์เหล่านั้นมีดอกบานสะพรั่ง
ในคราวหิมะตกแห่งฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น เสด็จแม่พึงรำลึกถึงหม่อมฉันว่า
ลูกประภาวดีของแม่มีผิวพรรณอย่างนี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๕] นางกษัตริย์ผู้มีผิวพรรณดังเทพอัปสร
ซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าหญิงประภาวดีนั้น
ทอดพระเนตรเห็นดาบและเขียง
ภายในบุรีของพระเจ้ามัททะ จึงเสด็จลุกขึ้น
(พระมารดาของพระนางประภาวดี ทรงรำพันว่า)
[๔๖] ข้าแต่เสด็จพี่มัททะ พระองค์จักทรงประหาร
พระธิดาเอวบางร่างน้อยซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี
ด้วยพระแสงดาบนี้แล้วประทานให้แก่กษัตริย์ทั้งหลายแน่ละหรือ
[๔๗] ลูกหญิง ลูกไม่ทำตามคำของแม่ผู้หวังประโยชน์
ลูกนั้นจะมีเลือดโซมกายไปสู่สำนักพญายมในวันนี้
[๔๘] คนใดแลไม่ทำตามคำของผู้หวังเกื้อกูล
และบ่งชี้ประโยชน์ทั้งหลาย
คนนั้นย่อมต้องลำบากอย่างนี้
และต้องประสบความชั่วร้ายยิ่งกว่า
[๔๙] ก็ถ้าวันนี้ลูกหญิงมีพระกุมารทรงโฉมงดงาม
ประดุจฉาบไว้ด้วยทอง เป็นกษัตริย์ทรงกำเนิดกับพระเจ้ากุสะ
สวมใส่สร้อยสังวาลทองคำประดับแก้วมณี
ที่หมู่พระญาติทรงบูชาแล้ว
ก็จะไม่ต้องไปสู่นิเวศน์พญายม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๕๐] กลองบันลือเสียงสนั่น
ช้างก็ร้องเสียงดังกึกก้อง
ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย
ลูกหญิงเอ๋ย อะไรเล่าจะสุขกว่านั้น
[๕๑] ม้าศึกคะนองร้องคำรามอยู่ที่พระทวาร
กุมารร้องรำทำเพลงอยู่
ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย
ลูกหญิงเอ๋ย อะไรเล่าจะสุขกว่านั้น
[๕๒] ตระกูลของกษัตริย์ทั้งหลาย
มีเสียงร้องดังกึกก้องของเหล่านกยูงและนกกระเรียน
และมีเสียงร้องเสนาะไพเราะแห่งเหล่านกดุเหว่า
ลูกหญิงเอ๋ย อะไรเล่าจะสุขกว่านั้น
(พระมารดาของพระนางประภาวดี ตรัสกับพระนางประภาวดีแล้วตรัสว่า)
[๕๓] พระเจ้ากุสะพระองค์ใดทรงมีพระปรีชาอันโอฬาร
ย่ำยีศัตรูปราบปรามแคว้นของพระราชาพระองค์อื่น
จะพึงปลดเปลื้องพวกเราจากความทุกข์ได้
พระเจ้ากุสะพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๕๔] พระเจ้ากุสะพระองค์ใดทรงมีพระปรีชาอันโอฬาร
ย่ำยีศัตรู ปราบปรามแคว้นของพระราชาพระองค์อื่น
จักทรงกำจัดกษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดได้
พระเจ้ากุสะพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่นี้ พระเจ้าข้า
(พระมารดาตรัสว่า)
[๕๕] เจ้าเป็นบ้าหรือ จึงพูดออกมาเหมือนเด็กไร้เดียงสาพูด
ถ้าพระเจ้ากุสะพึงเสด็จมา ทำไมพวกเราจะไม่รู้จักพระองค์เล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๕๖] พระเจ้ากุสะคือคนครัวนั่น ทรงหยักรั้งอย่างมั่นคง
กำลังก้มล้างหม้ออยู่ระหว่างตำหนักเจ้าหญิงทั้งหลาย
(พระมารดาตรัสบริภาษว่า)
[๕๗] เจ้าเป็นช่างถาก เป็นหญิงจัณฑาล
หรือเป็นคนทำลายวงศ์ตระกูล
เจ้าเกิดในวงศ์ตระกูลของพระเจ้ามัททะ
ไฉนจึงทำพระสวามีให้เป็นทาส
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๕๘] หม่อมฉันมิใช่ช่างถาก มิใช่หญิงจัณฑาล
และมิใช่คนทำลายวงศ์ตระกูล ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระเจ้ากุสะนั้นคือพระราชบุตรของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
(พระนางประภาวดีทรงสรรเสริญพระเกียรติยศของพระเจ้ากุสโพธิสัตว์ว่า)
[๕๙] พระราชาพระองค์ใดทรงเชื้อเชิญพราหมณ์ ๒๐,๐๐๐ คน
ให้บริโภคทุกเมื่อ ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
[๖๐] เจ้าพนักงานตระเตรียมช้าง ๒๐,๐๐๐ เชือกไว้ทุกเมื่อ
เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
[๖๑] เจ้าพนักงานตระเตรียมม้า ๒๐,๐๐๐ ตัวไว้ทุกเมื่อ
เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๖๒] เจ้าพนักงานตระเตรียมราชรถ ๒๐,๐๐๐ คันไว้ทุกเมื่อ
เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
[๖๓] เจ้าพนักงานรีดน้ำนมแม่โค ๒๐,๐๐๐ ตัวไว้ทุกเมื่อ
เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
(พระเจ้ามัททะทรงตำหนิพระธิดาว่า)
[๖๔] โอ ลูกหญิงผู้โง่เขลา เจ้านั้นชั่วช้าเหลือเกิน
ที่ไม่บอกถึงองค์กษัตริย์ผู้ทรงพลังมหาศาลดุจพญาช้าง
แปลงเป็นกบเสด็จมา ณ ที่นี้
(พระเจ้ามัททะทรงแสดงโทษของพระองค์ว่า)
[๖๕] ข้าแต่มหาราชผู้จอมทัพ
ขอพระองค์โปรดงดโทษแก่หม่อมฉัน
ที่ไม่ทราบว่าทรงปลอมพระองค์เสด็จมา ณ ที่นี้
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๖๖] การที่หม่อมฉันเป็นคนครัวนั้นไม่เป็นการปกปิด
สำหรับคนเช่นหม่อมฉันเลย ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ
พระองค์ทรงเลื่อมใสหม่อมฉันต่างหาก
การกระทำผิดของพระองค์ไม่มี
(พระเจ้ามัททะส่งพระนางประภาวดีไปขอโทษว่า)
[๖๗] นี่ลูกหญิงผู้โง่เขลา เจ้าจงไปขอให้พระเจ้ากุสะ
ผู้ทรงพลังมหาศาลทรงงดโทษเสีย
พระเจ้ากุสะพระองค์นั้นผู้ที่เจ้าให้งดโทษแล้ว
จะประทานชีวิตให้เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๘] เจ้าหญิงประภาวดีผู้มีผิวพรรณดุจเทพอัปสร
ทรงสดับพระดำรัสของพระปิตุราชแล้วทรงซบพระเศียร
กอดพระบาทพระเจ้ากุสะผู้ทรงพลังมหาศาล
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๖๙] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ
ราตรีทั้งหลายเหล่านี้ใดล่วงเลยไป
ราตรีทั้งหลายเหล่านี้นั้นเว้นจากพระองค์ล่วงเลยไปแล้ว
หม่อมฉันขอถวายบังคมพระบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า
ข้าแต่พระจอมทัพ ขอพระองค์โปรด
อย่าทรงกริ้วหม่อมฉันเลย พระเจ้าข้า
[๗๐] หม่อมฉันขอถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระองค์
ขอเดชะมหาราช โปรดสดับคำของหม่อมฉัน
หม่อมฉันจะไม่กระทำความชิงชังต่อพระองค์อีกต่อไป
[๗๑] ถ้าพระองค์ไม่ทรงโปรดกระทำตาม
คำของหม่อมฉันผู้ทูลวิงวอนอยู่อย่างนี้
พระราชบิดาก็จักทรงเข่นฆ่าหม่อมฉัน
แล้วประทานให้แก่กษัตริย์ทั้งหลาย ณ กาลบัดนี้
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๒] เมื่อพระน้องนางอ้อนวอนอยู่อย่างนี้
ไฉนพี่จะไม่กระทำตามคำของพระน้องนางเล่า
แม่ประภาวดีผู้เลอโฉม พระน้องนางอย่าทรงกลัวไปเลย
พี่ไม่โกรธพระน้องนางหรอก
[๗๓] พี่ขอให้สัตย์ปฏิญาณต่อพระน้องนาง
พระราชบุตรีโปรดทรงสดับคำของพี่เถิด
พี่จะไม่กระทำความชิงชังต่อพระน้องนางอีกต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๗๔] แม่ประภาวดีผู้มีสะโพกผึ่งผาย
ความจริง พี่สามารถที่จะย่ำยีตระกูลกษัตริย์มัททราชมากมาย
ให้ย่อยยับแล้วนำพระนางไป แต่เพราะความรักพระนาง
จึงยอมสู้ทนอดกลั้นความทุกข์อย่างล้นเหลือ
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ให้ขัตติยมานะเกิดขึ้น แล้วตรัสว่า)
[๗๕] ข้าหลวงทั้งหลาย จงตระเตรียมราชรถ
ที่วิจิตรไปด้วยเครื่องอลังการต่าง ๆ และม้าที่ฝึกฝนดีแล้ว
ต่อแต่นั้น ท่านทั้งหลายจงดูความเร็วของเรา
ผู้กำลังกำจัดศัตรูเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๖] หญิงทั้งหลายภายในบุรีของพระเจ้ามัททะ
พากันมองดูพระเจ้ากุสะนั้น
กำลังทรงเยื้องกรายดุจราชสีห์ ปรบพระหัตถ์
เสวยพระกระยาหารเป็นสองเท่า ณ ที่นั้น
[๗๗] พระเจ้ากุสะเสด็จขึ้นทรงคอช้าง
และโปรดให้พระนางประภาวดีขึ้นประทับด้วย
ทรงหยั่งลงสู่สงครามบันลือสีหนาท
[๗๘] กษัตริย์ทั้งหลายนอกนี้ทรงสดับพระสุรสีหนาท
ของท้าวเธอผู้ทรงบันลืออยู่
ถูกความหวาดกลัวต่อพระสุรเสียงของพระเจ้ากุสะคุกคาม
จึงพากันเสด็จหนีไป
เหมือนหมู่เนื้อหวาดกลัวต่อเสียงราชสีห์แล้วพากันหนีไป
[๗๙] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ถูกความหวาดกลัวต่อพระสุรเสียงของพระเจ้ากุสะคุกคาม
ต่างพากันฟาดฟันกันเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๘๐] ในสงครามสำคัญครั้งนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว
ทรงมีพระหฤทัยร่าเริงชื่นชมยินดี
จึงได้พระราชทานแก้วมณีอันไพโรจน์ดวงหนึ่งแด่พระเจ้ากุสะ
[๘๑] พระราชาพระองค์นั้นครั้นทรงชนะสงครามนั้นแล้ว
ได้รับพระราชทานแก้วมณีอันไพโรจน์
ประทับบนคอช้าง เสด็จเลียบบุรีนคร
[๘๒] ทรงจับเป็นกษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ แล้วทรงพันธนาการ
ให้น้อมนำเข้าไปถวายต่อพระสัสสุระ (พ่อตา) ด้วยพระดำรัสว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์
[๘๓] พวกศัตรูทั้งหมดที่จะกำจัดพระองค์
ก็ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์แล้ว
ขอพระองค์ทรงทำตามพระประสงค์เถิด
จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารกษัตริย์เหล่านั้นก็ตามพระทัยเถิด
(พระเจ้ามัททะตรัสว่า)
[๘๔] กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ต่างหาก
มิใช่เป็นศัตรูของหม่อมฉันเลย
ข้าแต่มหาราช พระองค์เท่านั้นทรงเป็นใหญ่กว่าหม่อมฉัน
จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารกษัตริย์เหล่านั้น
ก็ตามพระทัยเถิด
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๘๕] พระธิดาทั้ง ๗ ของพระองค์เหล่านี้ ทรงเลอโฉม
อุปมาดังเทพกัญญา ขอพระองค์โปรดพระราชทาน
พระราชธิดาแต่ละพระองค์แด่กษัตริย์เหล่านั้น
ขอกษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดจงเป็นพระราชบุตรเขยของพระองค์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(พระเจ้ามัททะตรัสกับพระเจ้ากุสโพธิสัตว์ว่า)
[๘๖] ข้าแต่มหาราช พระองค์เท่านั้นทรงเป็นใหญ่กว่าหม่อมฉัน
กว่าธิดาของหม่อมฉันเหล่านั้น และกว่าหม่อมฉันทั้งปวง
ขอพระองค์ทรงพระราชทานธิดาทั้งหลายของหม่อมฉัน
แด่กษัตริย์เหล่านั้นตามที่พระองค์ทรงพระประสงค์เถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๗] ในกาลนั้น พระเจ้ากุสะ
ผู้ทรงมีพระสุรเสียงประหนึ่งราชสีห์
ได้พระราชทานพระธิดาของพระเจ้ามัททะ
แด่กษัตริย์เหล่านั้นพระนางละองค์
[๘๘] กษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ต่างพากันเอิบอิ่มพระทัย
ด้วยการได้นั้น ทรงมีพระทัยยินดีในพระเจ้ากุสะ
ผู้มีพระสุรเสียงประหนึ่งราชสีห์
ต่างฝ่ายต่างเสด็จกลับสู่แคว้นของตนทันที
[๘๙] ส่วนพระเจ้ากุสะผู้ทรงพลังมหาศาล
ทรงพาเจ้าหญิงประภาวดีและแก้วมณี
อันไพโรจน์งดงามเสด็จกลับยังกรุงกุสาวดี
[๙๐] เมื่อพระราชาและพระราชเทวีทั้ง ๒ พระองค์นั้น
เสด็จไปในราชรถคันเดียวกัน เสด็จเข้าไปยังกรุงกุสาวดี
ทรงมีพระฉวีวรรณและพระรูปโฉมทัดเทียมกัน
มิได้ทรงรุ่งโรจน์ยิ่งกว่ากันและกันเลย
[๙๑] ในกาลนั้น พระราชมารดาได้ทรงพบ
พระราชบุตรและพระชายา
พระบิดาและพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์นั้นทรงสมัครสมานกัน
ครอบครองแผ่นดินกุสาวดีให้รุ่งเรืองแผ่ไพศาลสืบมา
กุสชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
ว่าด้วยโสณนันทดาบส
(พระเจ้ามโนชะเมื่อทรงพิจารณาดาบสนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๙๒] ท่านเป็นเทวดา คนธรรพ์ เป็นท้าวสักกปุรินททะ
หรือเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์กันแน่หนอ พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร
(นันทบัณฑิตดาบสกราบทูลว่า)
[๙๓] อาตมภาพไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์
แม้ท้าวสักกปุรินททะก็ไม่ใช่
อาตมภาพเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ขอถวายพระพร
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด ภารถมหาบพิตร๑
(พระเจ้ามโนชะได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๔] พระคุณเจ้าได้ทำการขวนขวายช่วยเหลือมิใช่น้อยเห็นปานนี้
เมื่อฝนตก พระคุณเจ้าก็ได้ทำให้ฝนหยุด
[๙๕] จากนั้นเมื่อลมแรง แดดกล้า พระคุณเจ้าก็ได้ทำเงาอันร่มเย็น
ต่อมาพระคุณเจ้าก็ได้ทำการป้องกันลูกศรในท่ามกลางศัตรู
[๙๖] ต่อมาพระคุณเจ้าก็ได้ทำแคว้นให้เจริญรุ่งเรืองแผ่ไพศาล
และได้นำประชาชนผู้อยู่ในแคว้นเหล่านั้นให้อยู่ในอำนาจของโยม
ต่อมาก็ได้ทำให้กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ให้เป็นผู้ติดตามโยม
[๙๗] โยมมีความพอใจต่อพระคุณเจ้าผู้เจริญ
พระคุณเจ้าประสงค์สิ่งปลื้มใจอันใด คือ
ยานพาหนะที่เทียมด้วยช้าง รถเทียมด้วยม้า
นารีที่ประดับด้วยเครื่องอลังการ
และหรือนิเวศน์อันรื่นรมย์สำราญ
ขอพระคุณเจ้าออกปากขอมาเถิด
โยมขอถวายแด่พระคุณเจ้าผู้เจริญ

เชิงอรรถ :
๑ ภารถมหาบพิตร หมายถึงพระราชาผู้รับภาระปกครองแคว้น, ผู้บริหารราชการแผ่นดิน (ขุ.ชา.อ.๗/๙๓/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๙๘] หรือว่าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งใดในแคว้นอังคะก็ตาม
มคธก็ตาม โยมขอถวายแด่พระคุณเจ้าผู้เจริญ
หรือพระคุณเจ้าประสงค์แคว้นอัสสกะหรือแคว้นอวันตี
โยมก็เต็มใจถวายสิ่งนั้นแด่พระคุณเจ้า
[๙๙] หรือแม้ราชสมบัติกึ่งหนึ่ง
โยมก็จะถวายแด่พระคุณเจ้าผู้เจริญ
ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์ราชสมบัติ
นิมนต์แนะนำสิ่งที่พระคุณเจ้าประสงค์มาเถิด
(นันทบัณฑิตดาบสกราบทูลชี้แจงความประสงค์ของตนว่า)
[๑๐๐] ราชสมบัติก็ตาม บ้านเมืองก็ตาม
ทรัพย์สมบัติก็ตาม อาตมภาพไม่ต้องการ
แม้ถึงชนบทอาตมภาพก็ไม่มีความต้องการ
[๑๐๑] ในพระราชอาณาจักรของมหาบพิตรผู้เจริญ
มีอาศรมหลังหนึ่งอยู่ ณ ราวป่า
บิดามารดาทั้ง ๒ ของอาตมภาพพำนักอยู่ ณ อาศรมนั้น
[๑๐๒] อาตมภาพไม่ได้ทำบุญในท่านทั้ง ๒
ผู้เป็นบุรพาจารย์นั้นเลย
อาตมภาพจะทำการทูลเชิญมหาบพิตรผู้ทรงพระเจริญ
แล้วจะขอการสังวร (ขอโทษ) กับโสณบัณฑิต
(พระเจ้ามโนชะตรัสกับนันทบัณฑิตดาบสนั้นว่า)
[๑๐๓] ท่านพราหมณ์ โยมจะทำตามคำของพระคุณเจ้า
ตามที่พระคุณเจ้าพูดกับโยม
แต่เรื่องนั้นพระคุณเจ้าบอกโยมมาเถิดว่า
ผู้วิงวอนขอร้องมีจำนวนเท่าไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(นันทบัณฑิตดาบสกราบทูลว่า)
[๑๐๔] คหบดี ชาวชนบทและพราหมณ์มหาศาลกว่าร้อยขึ้นไป
กษัตริย์ผู้อภิชาติผู้ทรงมีพระอิสริยยศเหล่านี้ทั้งหมด
และพระองค์ผู้ทรงพระเจริญทรงพระนามว่า พระเจ้ามโนชะ
ผู้วิงวอนขอร้อง ก็จักเพียงพอ
(พระเจ้ามโนชะตรัสกับนันทบัณฑิตดาบสว่า)
[๑๐๕] พนักงานทั้งหลายจงตระเตรียมช้างและม้า
นายสารถีจงเทียมรถ ท่านทั้งหลายจงถือเอาเครื่องผูก
จงยกธงขึ้นปักที่แท่นปักธง
เราจักไปยังอาศรมที่โกสิยดาบสพำนักอยู่
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐๖] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จไปพร้อมกับจาตุรงคเสนา
ได้เสด็จถึงอาศรมอันน่ารื่นรมย์ที่โกสิยดาบสอยู่
(พระเจ้ามโนชะทรงเห็นโสณดาบสโพธิสัตว์มา จึงตรัสว่า)
[๑๐๗] หาบของใครผู้จะไปหาบน้ำ ทำด้วยไม้กระทุ่ม
ไม่ถูกต้องบ่า ลอยขึ้นสู่อากาศ
(ห่างบ่า)ประมาณ ๔ องคุลี
(โสณดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๐๘] ข้าแต่มหาราช อาตมภาพคือโสณดาบส
ผู้อดกลั้นประพฤติวัตร ไม่เกียจคร้าน
เลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ทุกคืนวัน
[๑๐๙] ขอถวายพระพร พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
อาตมภาพระลึกถึงอุปการะที่ท่านทั้งสอง
ได้ทำไว้แล้วในกาลก่อนอยู่เนือง ๆ
จึงนำเอาผลไม้และเผือกมันในป่ามาเลี้ยงดูมารดาบิดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(พระเจ้ามโนชะทรงประสงค์จะทำความคุ้นเคยกับโสณบัณฑิตดาบส จึงตรัสว่า)
[๑๑๐] โยมทั้งหลายปรารถนาจะไปยังอาศรมที่โกสิยดาบสอยู่
พระคุณเจ้าโสณะ นิมนต์พระคุณเจ้า
กรุณาบอกหนทางแก่พวกโยมด้วย
พวกโยมจะไปถึงอาศรมได้โดยหนทางใด
(โสณดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๑๑] ขอถวายพระพรพระราชา
หนทางนี้เป็นทางเดินเท้าสำหรับคนผู้เดียว
ณ ที่ใด มีป่าสีเขียวครามคล้ายเมฆ
ดารดาษไปด้วยต้นทองกวาว
ท่านโกสิยดาบสพำนักอยู่ ณ ป่าแห่งนี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๑๒] มหาฤๅษี ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว
จึงเหาะขึ้นในอากาศพร่ำสอนกษัตริย์ทั้งหลาย
แล้วรีบด่วนหลีกไปในอากาศ
[๑๑๓] ปัดกวาดอาศรม ปูลาดอาสนะแล้วเข้าไปยังบรรณศาลา
บอกกล่าวบิดาให้รู้ตัวว่า
[๑๑๔] ข้าแต่มหาฤๅษี กษัตริย์ผู้อภิชาติ
ทรงมีพระอิสริยยศทั้งหลายเหล่านี้
กำลังเสด็จมา ขอท่านพ่อจงออกไปนั่งนอกอาศรมเถิด
[๑๑๕] มหาฤๅษีสดับคำของโสณบัณฑิตนั้นแล้ว
รีบออกจากอาศรม นั่งอยู่ใกล้ประตูอาศรมของตน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๑๖] โกสิยดาบสได้เห็นพระเจ้ามโนชะนั้นมีหมู่กษัตริย์แวดล้อม
เป็นประดุจกองทัพรุ่งเรืองอยู่ด้วยเดชานุภาพ
กำลังเสด็จมา จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๑๗] กระบวนกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์
และมโหระทึกนำหน้าใครมา ยังพระราชาผู้จอมทัพให้ร่าเริง
[๑๑๘] ใครมีหน้าผากสวมกรอบอุณหิสทองคำอันหนา
มีวรรณะประดุจสายฟ้า
ใครหนอยังหนุ่มแน่นผูกสอดแล่งลูกศร
รุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๑๙] อนึ่ง ใบหน้าของใครงดงามผุดผ่อง
ดุจทองคำที่ละลายคว้างอยู่ปากเบ้า
มีสีดังถ่านเพลิงไม้ตะเคียน
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๒๐] ฉัตรมีซี่น่ารื่นรมย์ใจ สำหรับกั้นบังแสงอาทิตย์
เขาประคองกั้นแล้วเพื่อใคร
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๒๑] ชนทั้งหลายถือพัดวาลวีชนีเครื่องสูง
เดินแวดล้อมเรือนร่างของใคร
ผู้มีบุญอันประเสริฐซึ่งกำลังมาบนคอช้าง
[๑๒๒] เศวตฉัตร ม้าอาชาไนย และทหารสวมเกราะ
ของใครเรียงรายอยู่โดยรอบ
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๒๓] กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ผู้ทรงมีพระอิสริยยศ
กำลังแวดล้อมติดตามใครอยู่โดยรอบ
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๒๔] อนึ่ง เสนา ๔ เหล่า คือ กองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ และกองพลราบ แวดล้อมตามใครอยู่โดยรอบ
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๒๕] เสนาหมู่ใหญ่นั่นของใคร นับไม่ถ้วน
แวดล้อมติดตามมาข้างหลังประดุจคลื่นแห่งสาคร
[๑๒๖] พระเจ้ามโนชะผู้เป็นราชาธิราช
เหมือนพระอินทร์ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งเทพทั้งหลาย
ผู้มีชัยกำลังเสด็จมาสู่อาศรมของท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทรงขอขมาโทษแทนนันทดาบส
[๑๒๗] นั้นเสนาหมู่ใหญ่ของพระองค์นับไม่ถ้วน
แวดล้อมติดตามมาข้างหลังประดุจคลื่นแห่งสาคร
[๑๒๘] พระราชาทั้งหลายมีพระวรกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ทรงพระภูษากาสิกพัสตร์อันอุดม
ทุกพระองค์ต่างประนมมือเสด็จเข้าไปหาพระฤๅษี
(ต่อแต่นั้น พระเจ้ามโนชะตรัสว่า)
[๑๒๙] พระคุณเจ้าผู้เจริญมีความสุขสำราญดี
ไม่มีโรคเบียดเ บียนหรือ
พระคุณเจ้ายังอัตภาพให้เป็นไป
ด้วยการแสวงหามูลผลาหารหรือ
เผือก มัน และผลไม้ยังมีอยู่มากหรือ
[๑๓๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่านไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(โสณดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๓๑] ข้าแต่พระราชา พวกอาตมภาพ
มีความสุขสำราญดี และไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง อาตมภาพทั้งหลายยังอัตภาพ
ให้เป็นไปด้วยการแสวงหามูลผลาหาร
และเผือก มัน ผลไม้ก็ยังมีมากอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๓๒] อนึ่ง เหลือบยุงและสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
เนื้อร้ายอยู่พลุกพล่านในป่าก็ไม่มาเบียดเบียนอาตมภาพเลย
[๑๓๓] หลายปีมาแล้ว อาตมาอยู่ในอาศรมนี้
ยังไม่รู้จักความอาพาธที่ไม่ทำใจให้รื่นรมย์ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว
[๑๓๔] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ทรงเป็นใหญ่ เสด็จมาถึงโดยลำดับ
สิ่งใดที่ทรงพอพระทัย โปรดตรัสบอกสิ่งนั้นเถิด
[๑๓๕] ข้าแต่พระราชา ผลมะพลับ ผลมะหาด
ผลมะซาง และผลหมากเม่า มีรสหวานเล็กน้อย
เชิญพระองค์เลือกเสวยผลดี ๆ เถิด
[๑๓๖] น้ำดื่มนี้ก็เย็นสนิท ตักมาจากซอกเขา
มหาบพิตรหากพระองค์ประสงค์ ขอทรงดื่มเถิด
(พระเจ้ามโนชะตรัสว่า)
[๑๓๗] สิ่งที่พระคุณเจ้าให้โยมก็รับไว้แล้ว
พระคุณเจ้าทำให้มีค่าสำหรับคนทุกคน
ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดเงี่ยโสตสดับ
คำของนันทดาบสเถิด ท่านจะกล่าว
[๑๓๘] พวกโยมเป็นบริษัทของนันทดาบส
พากันมายังสำนักของพระคุณเจ้าผู้เจริญ
เพื่อจะขอขมาโทษ ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญ
โปรดสดับฟังคำของนันทดาบสและของบริษัทเถิด
(นันทบัณฑิตเมื่อเจรจากับบริษัทของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓๙] ชาวชนบทและพราหมณ์มหาศาลกว่าร้อยขึ้นไป
กษัตริย์ผู้อภิชาติผู้ทรงมีพระอิสริยยศเหล่านี้ทั้งหมด
และพระราชาผู้เจริญทรงพระนามว่า มโนชะ
โปรดทรงสดับคำของอาตมภาพสักเล็กน้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๔๐] อนึ่ง ยักษ์ ภูต และเทวดาทั้งหลายในป่า
ที่พากันมาประชุมอยู่ในอาศรมนี้
ขอจงฟังคำของข้าพเจ้า
[๑๔๑] ข้าพเจ้าขอกระทำความนอบน้อมแก่ภูตทั้งหลาย
แล้วจะกล่าวกับโสณฤๅษีผู้มีวัตรดีงาม
ข้าพเจ้านั้นชาวโลกสมมติแล้วว่า
เป็นชาวโกสิยโคตรร่วมกับท่าน
จึงนับว่าเป็นแขนขวาของท่าน
[๑๔๒] ข้าแต่ท่านพี่โกสีย์ผู้กล้าหาญ
เมื่อข้าพเจ้ามีความประสงค์
จะเลี้ยงดูมารดาและบิดาบังเกิดเกล้าของข้าพเจ้า
ฐานะนี้ชื่อว่าเป็นบุญ ขอท่านพี่จงอย่าห้ามข้าพเจ้าเลย
[๑๔๓] แท้จริง การบำรุงมารดาและบิดานั้น
สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว
ขอท่านพี่จงสละการบำรุงมารดาบิดานั้นให้ข้าพเจ้าเถิด
ท่านพี่ได้กระทำกุศลมานานแล้ว
ด้วยการลุกขึ้นทำกิจวัตรและการบีบนวด
บัดนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะทำบุญในมารดาบิดาทั้งหลายบ้าง
ขอท่านพี่จงมอบโลกสวรรค์ให้แก่ข้าพเจ้าเถิด
[๑๔๔] ข้าแต่ท่านพี่ผู้เป็นฤๅษี มนุษย์ทั้งหลายผู้รู้บทแห่งธรรม
ในธรรมว่า เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์
เหมือนอย่างท่านพี่รู้ มีอยู่ในบริษัทนี้เหมือนกัน
[๑๔๕] ท่านโสณบัณฑิตผู้พี่ห้ามข้าพเจ้า
ผู้จะบำรุงมารดาและบิดาให้มีความสุขด้วยการอุปัฏฐาก
และการนวดเฟ้น จากบุญนั้น
ชื่อว่าเป็นคนปิดกั้นหนทางอันประเสริฐ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(เมื่อนันทบัณฑิตกล่าวอย่างนี้แล้ว โสณดาบสโพธิสัตว์ประกาศให้ทราบว่า)
[๑๔๖] ขอถวายพระพรมหาราช กษัตริย์ผู้เจริญทั้งหลาย
ผู้จะขอขมาโทษแทนน้องชายของอาตมภาพ ขอทรงสดับคำ
ของอาตมภาพ ผู้ใดยังสกุลวงศ์อันเก่าแก่ให้เสื่อมไป
ไม่ประพฤติธรรมในบุคคลผู้เจริญในสกุลทั้งหลาย
ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก
[๑๔๗] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
ก็ชนเหล่าใดเป็นผู้ฉลาดในธรรมอันเก่าแก่
ถึงพร้อมด้วยจารีต
ชนเหล่านั้นจะไม่ไปสู่ทุคติ
[๑๔๘] มารดาและบิดา พี่ชายน้องชาย
พี่สาวน้องสาว เครือญาติและพวกพ้อง
ชนเหล่านั้นทั้งหมดเป็นภาระของพี่ชายใหญ่
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด ท่านภารถ
[๑๔๙] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
อาตมภาพต้องรับภาระอันหนักและไม่ละเลยธรรม
เหมือนนายเรือต้องรับภาระอันหนัก พยายามนำเรือไป
เพราะว่าอาตมภาพเป็นพี่ชายใหญ่
(พระราชาทุกพระองค์ทรงพอพระทัย ทรงชมเชยโสณดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[๑๕๐] เราทั้งหลายได้บรรลุญาณคือปัญญาในความมืด
ท่านโสณโกสิยฤๅษีผู้เจริญได้แสดงธรรมอย่างชัดแจ้ง
แก่เราทั้งหลายเหมือนเปลวเพลิงจากไฟป่าในเวลามืดมิด
[๑๕๑] ดวงอาทิตย์เหล่ากอแห่งวาสุเทพเปล่งรัศมีอุทัยอยู่
ย่อมส่องแสงให้เห็นรูปทั้งดีทั้งชั่วอย่างแจ่มแจ้งแก่เหล่าสัตว์ฉันใด
ท่านโสณโกสิยฤๅษีผู้เจริญก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ได้แสดงธรรมอย่างชัดแจ้งแก่เราทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(ลำดับนั้น นันทบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๒] ถ้าท่านพี่ไม่ยอมรับรู้
ถึงการประคองอัญชลีของข้าพเจ้าผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้
ข้าพเจ้าจักประพฤติตามท่านพี่ จักตั้งใจปฏิบัติบำรุงท่านพี่
(โสณดาบสโพธิสัตว์เมื่อจะประกาศคุณของนันทบัณฑิต จึงกล่าวว่า)
[๑๕๓] นันทะ เธอรู้แจ้งชัดถึงสัทธรรม
ที่สัตบุรุษทั้งหลายแสดงไว้แล้วอย่างแท้จริง
เธอเป็นผู้ประเสริฐ มีมารยาทงาม พี่พอใจเธอยิ่งนัก
[๑๕๔] พี่จะบอกท่านพ่อท่านแม่
ขอท่านทั้ง ๒ จงฟังคำของข้าพเจ้า
ภาระนี้เป็นเพียงภาระชั่วครั้งชั่วคราวของข้าพเจ้าหามิได้
[๑๕๕] นันทดาบส กระทำการขอขมาโทษอ้อนวอนขอกับข้าพเจ้า
เพื่อบำรุงท่านทั้ง ๒ อันเป็นการอุปัฏฐาก
ที่นำความสุขมาให้แก่มารดาบิดานั้นบ้าง
[๑๕๖] บรรดาท่านทั้ง ๒ ผู้สงบ ประพฤติพรหมจรรย์
ท่านผู้ใดปรารถนา ขอท่านคนหนึ่งจงปรารถนานันทะเถิด
ขอนันทะจงบำรุงใครคนหนึ่งในท่านทั้ง ๒ ตามต้องการเถิด
(มารดาของโสณดาบสโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๕๗] โสณะ แม่และพ่ออาศัยเธอ เธออนุญาตแล้ว
แม่พึงได้จุมพิตนันทะผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่กระหม่อมเถิด
[๑๕๘] เพราะนานเหลือเกินจึงได้เห็นนันทะ
หัวใจของแม่ย่อมหวั่นไหว
เหมือนใบอ่อนของต้นโพธิ์ถูกลมพัดไหวไปมา
[๑๕๙] เมื่อใดแม่หลับลงฝันเห็นนันทะมา
แม่ก็เบิกบานดีใจว่า ลูกนันทะของแม่มาแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๖๐] แต่เมื่อใดแม่ตื่นขึ้นแล้วไม่เห็นนันทะมา
ความเศร้าโศกและความเสียใจมิใช่น้อยกลับทับถมโดยยิ่ง
[๑๖๑] แม่เห็นนันทะกลับมาในวันนี้
ขอนันทะผู้เป็นที่รักของพ่อแม่จงเข้าไปยังเรือนของพวกเราเถิด
[๑๖๒] นันทะเป็นลูกสุดที่รักแม้ของบิดา
นันทะไม่ควรจากเรือนนี้ไปอีก
พ่อโสณะ ขอนันทะจงได้สิ่งที่ตนปรารถนาเถิด
ขอนันทะจงบำรุงแม่เถิด
(โสณดาบสโพธิสัตว์ประกาศพระคุณของมารดาว่า)
[๑๖๓] พ่อฤๅษี มารดาเป็นผู้อนุเคราะห์ เป็นที่พึ่ง
และเป็นผู้ให้รส (คือ น้ำนม) แก่พวกเรามาก่อน
เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า
[๑๖๔] พ่อฤๅษี มารดาเป็นผู้ให้รสมาก่อน
เป็นผู้คุ้มครอง เป็นที่เข้าไปประกอบบุญกุศล
เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า
(โสณดาบสโพธิสัตว์เมื่อจะประกาศว่ามารดาเป็นผู้ทำกิจที่ทำได้ยากที่บุคคล
อื่นจะทำได้ จึงกล่าวว่า)
[๑๖๕] มารดาเมื่อหวังผลคือบุตรจึงนอบน้อมเทวดา
และไต่ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย๑
[๑๖๖] เมื่อมารดานั้นมีระดู การตั้งครรภ์จึงมีได้
เพราะการตั้งครรภ์นั้น มารดาจึงมีการแพ้ท้อง
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า สุหทา หญิงผู้มีใจดี๒

เชิงอรรถ :
๑ มารดานอบน้อมเทวดา หมายถึงทำการนอบน้อมคือบนบานต่อเทวดาว่า “ขอลูกจงเกิดขึ้นแก่เรา”
ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย หมายถึงมารดาต้องการทราบว่าบุตรเกิดในฤกษ์ ฤดู และปีใด จะ
มีอายุยืน อายุสั้นอย่างไร (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๖๕/๑๙๕-๑๙๖)
๒ เมื่อมารดานั้นมีระดู หมายถึงเมื่อต่อมเลือด(ไข่สุก)เกิดแล้ว ระดูไม่มาตามกำหนด มารดาได้ชื่อว่า สุหทา
หญิงผู้มีใจดี (เพราะในเวลานั้นมารดาจะเกิดความรักในบุตรที่เกิดในท้องของตน) (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๖๖/๑๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๖๗] มารดาประคับประคองครรภ์อยู่หนึ่งปีหรือหย่อนกว่าบ้าง
แล้วจึงคลอดบุตร เพราะเหตุนั้น มารดานั้นจึงชื่อว่า
หญิงผู้ให้กำเนิดบุตร เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า
ชเนตตี หญิงผู้ยังบุตรให้เกิด
[๑๖๘] เมื่อบุตรร้องไห้ มารดาก็ปลอบโยนให้ยินดีได้
ด้วยน้ำนมบ้าง ด้วยการร้องเพลงกล่อมบ้าง
ด้วยการกอดไว้แนบอกบ้าง
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า
โตเสนตี หญิงผู้ยังบุตรให้ร่าเริงยินดี
[๑๖๙] จากนั้น เมื่อลมแรงและแดดกล้า
มารดาก็กระทำความรักอย่างจับใจ
มองดูบุตรผู้ยังเป็นเด็กอ่อนไร้เดียงสาอยู่
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกว่า
โปเสนตี หญิงผู้เลี้ยงดูบุตร
[๑๗๐] ทรัพย์อันใดที่เป็นทรัพย์ของมารดาก็ดี
เป็นทรัพย์ของบิดาก็ดี
แม้ทรัพย์ทั้ง ๒ มารดาก็คุ้มครองรักษาไว้เพื่อบุตรนั้น
ด้วยหมายใจว่า แม้ทรัพย์ทั้ง ๒ นี้พึงเป็นของบุตรของเรา
[๑๗๑] มารดาเมื่อให้บุตรสำเหนียกว่า
อย่างนี้ซิลูก อย่างโน้นซิลูก ย่อมลำบาก
และทราบว่าบุตรของตนเมื่อถึงคราวเป็นหนุ่ม
ลุ่มหลงมัวเมาในภรรยาของผู้อื่นอยู่จนดึกดื่นเที่ยงคืน
ไม่กลับมาในเวลาเย็น ก็ย่อมเดือดร้อน ด้วยประการฉะนี้
[๑๗๒] บุตรที่มารดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้
ไม่บำรุงมารดา บุตรคนนั้นชื่อว่า
ประพฤติผิดในมารดา ย่อมเข้าถึงนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๗๓] บุตรที่บิดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้
ไม่บำรุงบิดา บุตรคนนั้นชื่อว่า
ประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก
[๑๗๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แก่บุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการทรัพย์ ก็พินาศไปบ้าง
บุตรนั้นย่อมถึงฐานะอันลำบากบ้าง เพราะไม่บำรุงมารดา
[๑๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แก่บุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการทรัพย์ ก็พินาศไปบ้าง
บุตรนั้นย่อมถึงฐานะอันลำบากบ้าง เพราะไม่บำรุงบิดา
[๑๗๖] ความเพลิดเพลินยินดี ความรื่นเริงบันเทิงใจ
และการหัวเราะเล่นหัวกันในกาลทุกเมื่อนั้น
บัณฑิตผู้รู้แจ้งจะพึงได้เพราะบำรุงมารดา
[๑๗๗] ความเพลิดเพลินยินดี ความรื่นเริงบันเทิงใจ
และการหัวเราะเล่นหัวกันในกาลทุกเมื่อนั้น
บัณฑิตผู้รู้แจ้งจะพึงได้เพราะบำรุงบิดา
[๑๗๘] สังคหวัตถุ๑ทั้งหลาย คือ
๑. ทาน (การให้) ๒. ปิยวาจา (การเจรจาถ้อยคำที่น่ารัก)
๓. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์)
๔. สมานัตตตา (ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตาม
สมควรในที่นั้น ๆ)
ทั้ง ๔ ประการนี้ยังมีอยู่ในโลกนี้
เหมือนเพลารถยังมีแก่รถที่กำลังแล่นไป

เชิงอรรถ :
๑ สังคหวัตถุ หมายถึงหลักการสงเคราะห์หรือธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ได้ ในที่นี้หมายถึงบุตรพึง
ปรนนิบัติมารดาบิดาด้วยหลัก ๔ ประการ คือ (๑) ทาน การให้(สิ่งของ)แก่มารดาบิดา (๒) เปยยวัชชะ
พึงเจรจาแต่คำที่น่ารัก (๓) อัตถจริยา พึงประพฤติประโยชน์ด้วยการทำหน้าที่(ของท่าน)ที่เกิดขึ้นให้สำเร็จ
(๔) สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตามสมควร หมายถึงความประพฤติยำเกรงต่อผู้
ใหญ่ทั้งหลาย (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๘/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] รวมชาดกที่มีในนิบาต
[๑๗๙] หากว่าสังคหวัตถุเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้
มารดาไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตรเลย
หรือบิดาไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตรเลย
[๑๘๐] ก็เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นสังคหวัตถุเหล่านี้โดยชอบ
เพราะฉะนั้น จึงบรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่
ทั้งบัณฑิตเหล่านั้นยังเป็นผู้น่าสรรเสริญอีกด้วย
[๑๘๑] มารดาและบิดาทั้งหลายบัณฑิตกล่าวว่า
๑. เป็นพรหมของบุตร
๒. เป็นบุรพาจารย์ของบุตร
๓. เป็นผู้ควรของต้อนรับบูชาของบุตร๑
๔. เป็นผู้อนุเคราะห์หมู่สัตว์คือบุตร
[๑๘๒] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงนอบน้อมและพึงสักการะ
มารดาและบิดาทั้ง ๒ นั้นด้วยข้าวและน้ำ
ด้วยผ้านุ่งผ้าห่มและที่นอน ด้วยการอบตัวและอาบน้ำให้
และด้วยการล้างเท้าทั้ง ๒ ให้ท่าน
[๑๘๓] เพราะการบำรุงมารดาและบิดาทั้ง ๒ นั้น
บัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว
เขาตายไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ดังนี้แล
โสณนันทชาดกที่ ๒ จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้
๑. กุสชาดก ๒. โสณนันทชาดก
สัตตตินิบาตจบ

เชิงอรรถ :
๑ มารดาและบิดาเป็นพรหมของบุตร เพราะเป็นผู้เสมอด้วยพรหม คือ สูงสุด ประเสริฐสุดของบุตร เป็น
บุรพาจารย์ คือ เป็นอาจารย์คนแรกของบุตร เป็นผู้ควรของต้อนรับบูชา คือ สมควรแก่สักการะ
อย่างใดอย่างหนึ่งของบุตร (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๘๑/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
๒๑. อสีตินิบาต
๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
ว่าด้วยพญาหงส์ติดบ่วง
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะทดลองใจหงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๑] ท่านสุมุขะ ฝูงหงส์ไม่เหลียวแล พากันบินหนีไป
แม้ท่านก็จงหนีไปเถิด อย่ามัวกังวลอยู่เลย
ความเป็นสหายไม่มีอยู่ในผู้ติดบ่วง
(หงส์สุมุขะกล่าวว่า)
[๒] ข้าพระองค์จะหนีไปหรือไม่หนีไปก็ตาม
เพราะการหนีไปและไม่หนีไปนั้น ข้าพระองค์จะไม่ตายก็หามิได้
เมื่อพระองค์มีความสุข ข้าพระองค์ได้พึ่งพาอาศัย
เมื่อพระองค์มีความทุกข์ ข้าพระองค์จะพึงละทิ้งไปได้อย่างไร
[๓] การตายพร้อมกับพระองค์เท่านั้น
ประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากพระองค์
การมีชีวิตโดยปราศจากพระองค์จะประเสริฐอะไร
[๔] ข้าแต่มหาราช การที่ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์
ผู้ถึงความทุกข์อย่างนี้ไป นั่นไม่เป็นธรรมเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งหมู่วิหค
ข้าพระองค์ชอบใจคติของพระองค์
(พญาหงส์โพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕] คติของเราผู้ติดบ่วงจะเป็นอย่างอื่นไป
จากโรงครัวใหญ่ได้อย่างไรเล่า
ท่านมีปัญญาคือความคิดพ้นบ่วงมาแล้ว
จะพอใจคตินั้นได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๖] นี่แน่ะพ่อปักษี ท่านเห็นประโยชน์ของเรา ของท่าน
หรือของญาติทั้งหลายที่เหลืออย่างไร
ในเมื่อเราทั้ง ๒ จะสิ้นชีวิต
[๗] พ่อปักษีผู้มีปีกทั้ง ๒ ประดุจทองคำ
เมื่อท่านสละชีวิต ในเพราะคุณอันประจักษ์เช่นนี้
ก็เหมือนคนตาบอด ตกอยู่ในความมืดมิด
จะพึงทำประโยชน์อะไรให้โชติช่วงเล่า
(หงส์สุมุขะกล่าวตอบว่า)
[๘] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหมู่หงส์
ทำไมหนอ พระองค์จึงไม่ทรงทราบประโยชน์ในธรรม
ธรรมที่มีคนบูชา ย่อมชี้ประโยชน์แก่เหล่าสัตว์
[๙] ข้าพระองค์นั้นมุ่งธรรมอยู่ ได้เห็นประโยชน์อันเกิดขึ้นจากธรรม
และความภักดีในพระองค์จึงไม่คำนึงถึงชีวิต
[๑๐] มิตรเมื่อระลึกถึงธรรม
ไม่พึงทอดทิ้งมิตรในยามอันตรายแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต
นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้
(พญาหงส์โพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า)
[๑๑] ธรรมนี้ท่านก็ประพฤติแล้ว
และความภักดีในเราก็ปรากฏชัดแล้ว
ขอท่านจงทำตามความต้องการของเราเถิด
เราอนุญาตท่านแล้วจงหนีไป
[๑๒] ก็แลเมื่อเวลาผ่านพ้นไปแม้อย่างนี้
ส่วนที่บกพร่องอันใดที่เราได้ทำไว้แล้วแก่หมู่ญาติ
ส่วนที่บกพร่องนั้นท่านพึงสังวรอย่างยิ่ง
ให้ถึงพร้อมด้วยปัญญาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๑๓] เมื่อพญาหงส์ ตัวประเสริฐ ผู้มีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ
ปรึกษากันอยู่อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้
นายพรานก็ได้ปรากฏต่อหน้า
ประดุจพญามัจจุราชปรากฏแก่คนไข้
[๑๔] นกทั้ง ๒ ผู้เกื้อกูลกันและกันมาสิ้นกาลนานเหล่านั้น
เห็นศัตรูแล้วก็จับนิ่งเฉยอยู่
ไม่เคลื่อนไหวไปจากที่จับ
[๑๕] ส่วนนายพรานศัตรูของนกได้เห็นเหล่าพญาหงส์ธตรัฏฐะ
กำลังบินขึ้นไปจากที่นั้น ๆ
จึงได้รีบก้าวเท้าเข้าไปหาพญาหงส์ทั้ง ๒ โดยเร็ว
[๑๖] ก็นายพรานนั้นครั้นรีบก้าวเท้าเข้าไปใกล้พญาหงส์ทั้ง ๒
ก้าวเท้าไปก็คิดไปอยู่ว่า ติดหรือไม่ติด
[๑๗] เห็นหงส์ติดบ่วงจับอยู่เพียงตัวเดียว
อีกตัวหนึ่งไม่ติด จับอยู่ใกล้ ๆ
แต่เพ่งมองตัวที่เป็นทุกข์ซึ่งติดบ่วง
[๑๘] จากนั้น พรานนั้นก็เกิดความสงสัย
จึงได้ถามหงส์ทั้ง ๒ ตัวซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่นก
มีร่างกายเจริญเติบใหญ่ที่จับอยู่ว่า
[๑๙] หงส์ตัวที่ติดบ่วงใหญ่ไม่กำหนดทิศทางที่จะบินหนีไป
พ่อปักษี แต่เจ้าไม่ติดบ่วง
ยังมีกำลังอยู่ ทำไมจึงไม่บินหนีไป
[๒๐] หงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับเจ้า
เจ้าพ้นแล้วยังเฝ้าหงส์ตัวที่ติดบ่วงอยู่ใกล้ ๆ
นกทั้งหลายพากันละทิ้งหนีไป
ทำไมเจ้าจึงเหลืออยู่แต่ผู้เดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(หงส์สุมุขะตอบว่า)
[๒๑] นี่ท่านผู้เป็นศัตรูของนก พญาหงส์นั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า
และเป็นเพื่อนเสมอด้วยชีวิตของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจักไม่ละทิ้งพระองค์ไป
จนกว่าวาระแห่งความตายจะมาถึง
(นายพรานกล่าวว่า)
[๒๒] ก็ไฉนพญาหงส์นี้จึงไม่เห็นบ่วงที่ดักไว้แล้ว
ความจริงการรู้ถึงอันตรายเป็นเหตุของคนผู้เป็นใหญ่
เพราะเหตุนั้นผู้เป็นใหญ่เหล่านั้นควรจะรู้เท่าทันอันตราย
(หงส์สุมุขะตอบว่า)
[๒๓] ในกาลใดความเสื่อมย่อมมีเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิต
ในกาลนั้นแม้สัตว์จะเข้าใกล้ข่ายและบ่วงก็ไม่รู้
[๒๔] ท่านผู้มีปัญญามาก ก็แลบ่วงทั้งหลายที่เขาดักไว้
มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ในเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิตอย่างนี้
สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าไปติดบ่วงที่เขาอำพรางดักไว้
(หงส์สุมุขะเมื่อจะขอชีวิตของพญาหงส์โพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า)
[๒๕] ก็การอยู่ร่วมกับท่านนี้พึงมีความสุขเป็นกำไรหนอ
อนึ่ง ขอท่านจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ไป
ขอท่านพึงให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ด้วยเถิด
(นายพรานจึงกล่าวว่า)
[๒๖] ท่านไม่ได้ติดบ่วงของข้าพเจ้า
และข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะฆ่าท่าน
ท่านจงรีบไปจากที่นี้ตามความปรารถนา
และจงมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากความทุกข์ตลอดกาลนานเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(หงส์สุมุขะได้กล่าวว่า)
[๒๗] ข้าพเจ้าไม่ประสงค์อย่างนั้นเลย นอกจากชีวิตของพญาหงส์นี้
หากท่านยินดีหงส์ตัวเดียว ขอท่านจงปล่อยพญาหงส์นั้น
และจงกินข้าพเจ้าแทนเถิด
[๒๘] ข้าพเจ้าทั้ง ๒ มีทรวดทรงสัณฐานและวัยเสมอกัน
ท่านจะไม่มีรายได้ลดค่าลงเลย
ขอท่านจงพอใจด้วยการแลกเปลี่ยนอย่างนี้
[๒๙] เชิญเถิดเชิญท่านไตร่ตรองเรื่องนั้นดูให้ดี
บรรดาข้าพเจ้าทั้ง ๒ ขอท่านจงมีความพอใจ
ท่านจงใช้บ่วงผูกข้าพเจ้าไว้ก่อน
จงปล่อยพญานกไปในภายหลัง
[๓๐] อนึ่ง เมื่อท่านกระทำตามคำขอร้อง
รายได้ของท่านก็จะมีเท่าเดิมด้วย
และท่านจะพึงมีไมตรีกับเหล่าพญาหงส์ธตรัฏฐะไปตลอดชีวิต
(นายพรานเมื่อจะยกพญาหงส์โพธิสัตว์ให้เป็นรางวัลแก่หงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๓๑] ขอมิตรอำมาตย์ข้าทาสบริวารบุตรภรรยา
และพวกพ้องเผ่าพันธุ์ทั้งหลายหมู่ใหญ่
จงเห็นพญาหงส์ผู้พ้นไปแล้วจากที่นี้เพราะท่านเถิด
[๓๒] ก็บรรดามิตรทั้งหลายเป็นอันมาก
มิตรทั้งหลายเช่นกับท่านผู้เป็นเพื่อนร่วมชีวิต
ของพญาหงส์ธตรัฏฐะเหล่านั้นไม่มีอยู่ในโลกนี้
[๓๓] ข้าพเจ้ายอมปล่อยสหายของท่าน
ขอพญาหงส์จงบินตามท่านไป
ท่านทั้ง ๒ จงรีบไปจากที่นี้ตามความปรารถนา
จงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางแห่งญาติเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๔] หงส์สุมุขะผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนายนั้น
มีความปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วงแล้ว
เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงกล่าวว่า
[๓๕] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้ายินดีเบิกบานใจ
เพราะได้เห็นพญานกพ้นจากบ่วงแล้วฉันใด
ขอท่านจงยินดีเบิกบานใจพร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวงฉันนั้นเถิด
(พญาหงส์สุมุขะกล่าวกับนายพรานว่า)
[๓๖] มาเถิด ข้าพเจ้าจะบอกท่านโดยวิธีที่ท่านจะได้ลาภ
พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มิได้มุ่งร้ายอะไรต่อท่านเลย
[๓๗] ท่านจงรีบนำข้าพเจ้าทั้ง ๒
ซึ่งจับอยู่ที่หาบทั้ง ๒ ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัด
ภายในเมืองแล้วแสดงต่อพระราชาว่า
[๓๘] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ นี้
เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์นี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย
ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี
[๓๙] พระราชาผู้ทรงเป็นนราธิบดีทอดพระเนตรเห็นพญาหงส์นี้แล้ว
จะทรงปรีดา ปลาบปลื้ม พอพระทัย
จะพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ท่าน
เป็นจำนวนมากอย่างไม่ต้องสงสัย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๐] นายพรานได้สดับคำของหงส์สุมุขะนั้นแล้ว
ได้จัดแจงกิจการงานให้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว
รีบไปยังภายในเมือง ได้แสดงหงส์ทั้ง ๒ ซึ่งจับอยู่
ที่หาบทั้ง ๒ ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัดแด่พระราชาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๔๑] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้งหลายเหล่านี้
เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์ตัวนี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย
ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี
(พระราชารับสั่งถามว่า)
[๔๒] ก็วิหคเหล่านี้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเจ้าได้อย่างไร
เจ้าเป็นพรานจับวิหคที่เป็นใหญ่กว่าวิหคทั้งหลาย
มาในที่นี้ได้อย่างไร
(นายพรานกราบทูลว่า)
[๔๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน
บ่วงเหล่านี้ข้าพระองค์ได้วางไว้ที่เปือกตมทั้งหลาย
ซึ่งเป็นสถานที่ที่ข้าพระองค์เข้าใจว่า
เป็นสถานที่ประชุมแห่งนก
เป็นสถานที่ปลิดชีวิตนกทั้งหลาย
[๔๔] พญาหงส์เข้ามาใกล้บ่วงเช่นนั้นแล้วก็ไม่รู้
ส่วนนกตัวนี้ไม่ได้ติดบ่วง แต่จับอยู่ใกล้ ๆ พญาหงส์นั้น
ได้พูดกับข้าพระองค์
[๔๕] วิหคผู้ประกอบแล้วในธรรม
เมื่อบากบั่นในประโยชน์ของผู้เป็นนาย
ได้ประกาศภาวะอันอุดมซึ่งคนผู้มิใช่อริยะกระทำได้ยาก
[๔๖] วิหคนี้ยังควรที่จะมีชีวิตอยู่ แต่กลับสละชีวิตของตนเอง
จับอยู่อย่างไม่ทอดถอนท้อแท้ใจ
วิงวอนร้องขอชีวิตของผู้เป็นนาย
[๔๗] ข้าพระองค์สดับคำของวิหคนั้นแล้วจึงกลับเลื่อมใส
จากนั้นจึงได้ปลดปล่อยพญาหงส์จากบ่วง
และอนุญาตให้ไปได้ตามสบาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๔๘] หงส์สุมุขะนั้นมีความเคารพต่อผู้เป็นนาย
มีความปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง
เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงได้กล่าวว่า
[๔๙] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้ายินดีเบิกบานใจ
เพราะได้เห็นพญานกพ้นจากบ่วงแล้วฉันใด
ขอท่านจงยินดีเบิกบานใจพร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวงฉันนั้นเถิด
[๕๐] มาเถิด ข้าพเจ้าจะบอกท่านโดยวิธีที่ท่านจะได้ลาภ
พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มิได้มุ่งร้ายอะไรต่อท่านเลย
[๕๑] ท่านจงรีบนำข้าพเจ้าทั้ง ๒
ซึ่งจับอยู่ที่หาบทั้ง ๒ ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัด
ไปภายในเมืองแล้วแสดงต่อพระราชาว่า
[๕๒] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ นี้
เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์นี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย
ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี
[๕๓] พระราชาผู้ทรงเป็นนราธิบดีทอดพระเนตรเห็นพญาหงส์นี้แล้ว
จะทรงปรีดา ปลาบปลื้ม พอพระทัย
จะพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ท่าน
เป็นจำนวนมากอย่างไม่ต้องสงสัย
[๕๔] หงส์ทั้ง ๒ เหล่านี้ข้าพระองค์นำมา
ตามคำของหงส์สุมุขะนั้น ด้วยประการฉะนี้
ความจริง ข้าพระองค์ได้อนุญาต
ให้หงส์ทั้ง ๒ เหล่านี้อยู่ที่สระนั้นตามเดิม
[๕๕] ก็สุมุขพญาปักษีทิชาชาติตัวนี้นั้น
เป็นหงส์ประกอบอยู่ในธรรมอย่างยิ่ง
แม้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูอย่างนี้
ก็ยังทำนายพรานเช่นข้าพระองค์ให้เกิดความอ่อนโยนได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ก็ในบ้านพรานนกทุกแห่งข้าพระองค์มิได้เห็น
เครื่องบรรณาการอย่างอื่นเหมือนเช่นนี้สำหรับพระองค์เลย
ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรเครื่องบรรณาการนั้นเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๕๗] พญาหงส์ครั้นเห็นพระราชาประทับนั่ง
บนตั่งทองคำอันสวยงาม
เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงกล่าวว่า
[๕๘] พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ทรงสุขสำราญดีอยู่หรือ
ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ
แคว้นอันมั่งคั่งนี้พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๕๙] เราสุขสำราญดีพญาหงส์ และไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง แคว้นอันมั่งคั่งนี้เราก็ปกครองโดยธรรม
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๖๐] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของพระองค์ไม่มีหรือ
อนึ่ง อำมาตย์เหล่านั้นไม่กังวลถึงชีวิต
ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๖๑] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของเราก็ไม่มี
อนึ่ง แม้อำมาตย์เหล่านั้นก็ไม่กังวลถึงชีวิต
ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อเราเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๖๒] พระราชเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับพระองค์
ทรงเชื่อฟัง ตรัสพระวาจาอ่อนหวานน่ารัก
ทรงมีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ทรงคล้อยตามพระอัธยาศัยของพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๖๓] ก็พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับเรา
เชื่อฟัง กล่าววาจาอ่อนหวานน่ารัก
มีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ยังคล้อยตามอัธยาศัยของเราอยู่
[๖๔] ท่านผู้เจริญตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูผู้ร้ายกาจนั้น
ถึงความลำบากมากเพราะอันตรายเบื้องต้นนั้นหรือ
[๖๕] นายพรานได้วิ่งเข้าไปใช้ท่อนไม้โบยตีท่านหรือ
เพราะคนต่ำทรามเหล่านี้จะมีปกติเป็นอย่างนี้ในขณะนั้น
(พญาหงส์โพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖๖] ขอเดชะมหาราช ในคราวมีอันตรายอย่างนี้
ความปลอดภัยได้มีแล้ว ด้วยว่านายพรานผู้นี้
หาได้ดำเนินการบางสิ่งบางอย่าง
ในข้าพระองค์ทั้ง ๒ เหมือนศัตรูไม่
[๖๗] นายพรานค่อย ๆ ก้าวเข้าไปหาและได้ปราศรัยขึ้นก่อน
ในกาลนั้นสุมุขบัณฑิตผู้นี้แหละได้กล่าวตอบ
[๖๘] นายพรานสดับคำของสุมุขวิหคนั้นแล้วจึงกลับเลื่อมใส
จากนั้นจึงได้ปลดปล่อยข้าพระองค์จากบ่วง
และอนุญาตให้ไปได้ตามสบาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๖๙] ก็การมาสู่สำนักของพระองค์ผู้ทรงพระเจริญนี้
สุมุขวิหคนั่นแหละปรารถนาทรัพย์เพื่อนายพรานผู้นี้
ได้คิดแล้วเพื่อประโยชน์แก่เขา
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๐] ก็การมาของท่านผู้เจริญนี้เป็นการมาดีแล้วทีเดียว
และเราก็ยินดีเพราะได้เห็นท่าน
อนึ่ง แม้นายพรานนี้จะได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจจำนวนมาก
ตามที่ตนปรารถนา
(พระศาสดาเมื่อจะทรงเผยข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๑] พระราชาผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ทรงยังนายพรานให้อิ่มเอมใจด้วยโภคะทั้งหลายแล้ว
เมื่อจะตรัสวาจาอันระรื่นหู จึงตรัสกับพญาหงส์ว่า
[๗๒] ได้ยินว่า อำนาจของเราผู้ทรงธรรม
ย่อมเป็นไปในที่มีประมาณเล็กน้อย
ความเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวงจงมีแก่ท่าน
ขอท่านจงปกครองตามความปรารถนาเถิด
[๗๓] อนึ่ง สิ่งอื่นใดย่อมเข้าไปสำเร็จเพื่อประโยชน์
แก่การต้านทานหรือเพื่อการเสวยราชสมบัติได้
สิ่งนั้นซึ่งเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจเราขอยกให้ท่าน
และขอสละอิสริยยศให้แก่ท่านด้วย
(พระราชาเมื่อจะทรงสนทนากับหงส์สุมุขะ จึงตรัสว่า)
[๗๔] ก็ถ้าว่าหงส์สุมุขะผู้เป็นบัณฑิตถึงพร้อมด้วยปัญญานี้
จะพึงเจรจากับเราตามความปรารถนาบ้าง
ข้อนั้นจะพึงเป็นที่รักยิ่งแห่งเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(หงส์สุมุขะกราบทูลว่า)
[๗๕] ข้าแต่มหาราช นัยว่า
ข้าพระองค์เหมือนกับพญาช้างเข้าไประหว่างซอกหิน
ไม่อาจจะพูดสอดแทรกขึ้นได้ นั้นไม่ใช่วินัยของข้าพระองค์
[๗๖] พญาหงส์นั้นเป็นผู้ประเสริฐกว่าข้าพระองค์ทั้งหลาย
ส่วนพระองค์ก็เป็นผู้สูงสุด เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
เป็นยอดแห่งมนุษย์ พระองค์ทั้ง ๒
เป็นผู้อันข้าพระองค์พึงบูชาด้วยเหตุเป็นอันมาก
[๗๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
เมื่อพระองค์ทั้ง ๒ กำลังตรัสปราศรัยกันอยู่
เมื่อการวินิจฉัยกำลังเป็นไปอยู่ ข้าพระองค์ผู้เป็นคนรับใช้
จึงไม่ควรที่จะพูดสอดแทรกขึ้นในระหว่าง
(พระราชาสดับคำของหงส์สุมุขะแล้วดีพระทัย จึงตรัสว่า)
[๗๘] ได้ยินว่า โดยธรรมดานายพรานกล่าวว่า
นกนี้เป็นบัณฑิต
ความจริง นัยเช่นนี้ไม่พึงมีแก่บุคคลผู้มิได้อบรมตนเลย
[๗๙] บุคคลผู้มีปกติเลิศอย่างนี้ เป็นสัตว์อุดมอย่างนี้
เท่าที่เราเห็นมามีอยู่ แต่เราหาเห็นสัตว์อื่นเช่นนี้ไม่
[๘๐] เรายินดีต่อท่านทั้ง ๒ โดยปกติ
และยินดีด้วยการกล่าวถ้อยคำอันไพเราะของท่านทั้งสอง
อนึ่ง ความพอใจของเราอีกอย่างหนึ่ง
นั่นคือการที่เราพึงเห็นท่านทั้ง ๒ เป็นเวลานาน
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะสรรเสริญพระราชา จึงกราบทูลว่า)
[๘๑] กิจอันใดที่บุคคลพึงกระทำในมิตรผู้สูงศักดิ์
กิจอันนั้นพระองค์ทรงกระทำแล้วในข้าพระองค์ทั้ง ๒
เพราะความภักดีต่อพระองค์ที่มีอยู่ในข้าพระองค์ทั้งหลาย
ข้าพระองค์จึงมีความภักดีต่อพระองค์โดยไม่ต้องสงสัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๘๒] ส่วนทางโน้น ความทุกข์คงเกิดขึ้นแล้ว
ในหมู่หงส์จำนวนมากเป็นแน่
เพราะมิได้พบเห็นข้าพระองค์ทั้ง ๒
ในระหว่างแห่งหมู่ญาติเป็นอันมาก
[๘๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงย่ำยีข้าศึก
พวกข้าพระองค์ได้รับอนุมัติจากพระองค์แล้ว
จะขอกระทำประทักษิณพระองค์แล้วไปพบเห็นหมู่ญาติ
เพื่อกำจัดความโศกของหงส์เหล่านั้น
[๘๔] ข้าพระองค์ได้ประสบปีติอันไพบูลย์
เพราะได้มาเฝ้าพระองค์ผู้เจริญแน่แท้
อนึ่ง ความคุ้นกับหมู่ญาติแม้นี้ก็พึงมีประโยชน์ใหญ่หลวง
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๕] พญาหงส์ธตรัฏฐะครั้นกราบทูลคำนี้กับนราธิบดีแล้ว
อาศัยการบินเร็วอย่างสุดกำลัง ได้เข้าไปหาหมู่ญาติแล้ว
[๘๖] หงส์ทั้งหลายเห็นพญาหงส์ทั้ง ๒ นั้น
มาถึงโดยลำดับอย่างปลอดภัย
ต่างพากันส่งเสียงว่าเกก ๆ ได้เกิดสำเนียงเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว
[๘๗] หงส์เหล่านั้นผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนาย
พากันปลาบปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง
จึงพากันแวดล้อมอยู่โดยรอบ หงส์ทั้งหลายได้ที่พึ่งแล้ว
(พระศาสดาตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า)
[๘๘] ประโยชน์ทั้งปวงของบุคคลผู้มีกัลยาณมิตร
ย่อมสำเร็จผลเป็นความสุขความเจริญ
เหมือนพญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ ได้อยู่ใกล้หมู่ญาติฉะนั้น
จูฬหังสชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)
ว่าด้วยพญาหงส์ติดบ่วง
(พญาหงส์โพธิสัตว์ได้กล่าว ๓ คาถาว่า)
[๘๙] สุมุขะ พ่อเนื้อเหลือง ผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ
หงส์ทั้งหลายหวั่นไหวต่อภัยอันตราย
จึงพากันบินหนีไป
ท่านจงหลีกหนีไปตามความปรารถนาเถิด
[๙๐] หมู่ญาติทั้งหลายละทิ้งเรา
ผู้ติดบ่วงไว้เพียงลำพัง
ไม่มีความเยื่อใย พากันบินหนีไป
ทำไมจึงเหลือท่านอยู่ตัวเดียวเล่า
[๙๑] บินขึ้นไปเถิด ท่านผู้ประเสริฐกว่าหมู่หงส์
ความเป็นสหายไม่มีในผู้ติดบ่วง
ท่านอย่าทำความไม่มีทุกข์ให้เสื่อมไปเลย
จงหนีไปตามความปรารถนาเถิด สุมุขะ
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๙๒] ข้าแต่ท้าวธตรัฏฐะ ข้าพระองค์
แม้จะมีทุกข์เป็นเบื้องหน้าก็ไม่ละทิ้งพระองค์ไป
ความเป็นหรือความตายของข้าพระองค์
จักมีพร้อมกับพระองค์
[๙๓] ข้าแต่ท้าวธตรัฏฐะ ข้าพระองค์
แม้จะมีทุกข์เป็นเบื้องหน้าก็ไม่ละทิ้งพระองค์ไป
พระองค์ไม่ควรจะชักชวนให้ข้าพระองค์
ประกอบกรรมที่บุคคลผู้ไม่ประเสริฐประกอบกันเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๙๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าฝูงหงส์
ข้าพระองค์เป็นเด็กรุ่นเดียวกับพระองค์๑
เป็นเพื่อนของพระองค์ ดำรงอยู่ในจิตใจของพระองค์
ข้าพระองค์เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นเสนาบดีของพระองค์
[๙๕] ข้าพระองค์ไปจากที่นี้แล้ว
จักอธิบายในท่ามกลางหมู่ญาติได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์จากที่นี้ไปแล้ว
จะชี้แจงกับฝูงหงส์เหล่านั้นได้อย่างไร
ข้าพระองค์ยอมสละชีวิตทิ้งไว้ในที่นี้
จะไม่พยายามทำกรรมอันไม่ประเสริฐ
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะสรรเสริญคุณของหงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๙๖] สุมุขะ การที่ท่านไม่พยายามที่จะทอดทิ้งเรา
ผู้เป็นทั้งนาย เป็นทั้งเพื่อน
ชื่อว่าดำรงอยู่ในทางของพระอริยะ
นั้นเป็นธรรมของโบราณกบัณฑิต
[๙๗] ก็แลเมื่อเราเห็นท่าน ก็ไม่เกิดความสะดุ้งกลัวเลย
แต่ท่านจะประสบอันตรายเหมือนชีวิตของเราที่เป็นอยู่ในขณะนี้
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๘] เมื่อพญาหงส์ทั้ง ๒ ผู้ประเสริฐมีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ
กล่าวปรึกษากันอยู่อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้
นายพรานถือท่อนไม้กระชับมั่นรีบด่วนเข้ามาถึงตัว

เชิงอรรถ :
๑ เด็กรุ่นเดียวกับพระองค์ หมายถึงถือปฏิสนธิวันเดียวกัน ออกจากไข่ในวันเดียวกัน และเจริญเติบโตมา
ด้วยกัน (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๔/๒๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๙๙] หงส์สุมุขะครั้นเห็นนายพรานกำลังเดินเข้ามา
จึงจับอยู่เบื้องหน้าพญาหงส์
เมื่อจะปลอบพญาหงส์ผู้หวาดกลัวให้เบาใจ
จึงได้กล่าวขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า
[๑๐๐] อย่าทรงกลัวเลย พระองค์ผู้ประเสริฐ
ด้วยว่า คนทั้งหลายเช่นกับพระองค์หากลัวไม่
ข้าพระองค์จักประกอบความเพียรอันเนื่องด้วยธรรมอันสมควร
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วนั้น
พระองค์จักพ้นจากบ่วงโดยเร็วพลัน
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๑๐๑] นายพรานได้สดับคำสุภาษิตของหงส์สุมุขะนั้น
ก็มีโลมชาติชูชัน จึงได้น้อมอัญชลีต่อหงส์สุมุขะนั้น
ด้วยกล่าวว่า
[๑๐๒] เราไม่เคยได้ยินหรือเคยได้เห็นนกพูดภาษาคนได้
นกพูดถ้อยคำอันประเสริฐ เปล่งวาจาภาษามนุษย์ได้
[๑๐๓] หงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับเจ้า
เจ้าพ้นแล้วยังเฝ้าหงส์ตัวติดบ่วงอยู่ใกล้ ๆ
หงส์ทั้งหลายพากันละทิ้งหนีไป
ทำไมเจ้าจึงเหลืออยู่แต่ผู้เดียว
(หงส์สุมุขะถูกนายพรานถามแล้ว จึงตอบว่า)
[๑๐๔] ท่านผู้เป็นศัตรูของฝูงนก
หงส์นั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ารับตำแหน่งเป็นเสนาบดีของพระองค์
เมื่อมีภัยอันตราย ข้าพเจ้าไม่สามารถจะละทิ้งพระองค์
ผู้เป็นอธิบดีแห่งฝูงวิหคไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๐๕] หงส์นั้นเป็นนายของหงส์ฝูงใหญ่และของข้าพเจ้า
ขอพระองค์อย่าถึงความพินาศพระองค์เดียวเลย
นายพรานเพื่อนเอ๋ย หงส์นี้เป็นนายอย่างแท้จริง
ข้าพเจ้าจึงพอใจที่จะอยู่ใกล้ ๆ พระองค์
(นายพรานถามว่า)
[๑๐๖] หงส์สุมุขะเอ๋ย ท่านนอบน้อมตำแหน่ง
ประดุจก้อนข้าวที่ได้รับ
ชื่อว่าประพฤติธรรมอันประเสริฐ
ข้าพเจ้ายอมปล่อยนายของท่าน
ท่านทั้ง ๒ จงไปตามสบายเถิด
(หงส์สุมุขะตอบว่า)
[๑๐๗] เพื่อนเอ๋ย ถ้าท่านดักหงส์และนกทั้งหลาย
ด้วยความพยายามเพื่อประโยชน์แก่ตนไซร้
ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ขอรับอภัยทานนั้นของท่าน
[๑๐๘] ถ้าท่านไม่ดักหงส์และนกทั้งหลายด้วยความพยายาม
เพื่อประโยชน์แก่ตนไซร้ ท่านจะไม่มีอิสระ
เมื่อปล่อยเราทั้ง ๒ ไป จะพึงทำตนให้เป็นขโมยนะ นายพราน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า)
[๑๐๙] ท่านเป็นคนรับใช้ของพระราชาองค์ใด
จงนำข้าพเจ้าทั้ง ๒ ไปให้ถึงพระราชาองค์นั้นตามพระประสงค์
พระเจ้าสัญญมนะจักทรงกระทำ
ตามพระประสงค์ในพระราชนิเวศน์นั้น
[๑๑๐] นายพรานถูกหงส์สุมุขะกล่าวอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว
จึงใช้มือประคองพญาหงส์เนื้อทอง
ตัวมีผิวพรรณประดุจทองคำทั้ง ๒ ใส่ไว้ในกรง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๑๑] นายพรานพาพญาหงส์ทั้ง ๒ ซึ่งมีผิวพรรณผุดผ่อง
คือ หงส์สุมุขะและพญาหงส์ธตรัฏฐะซึ่งอยู่ในกรงหลีกไป
[๑๑๒] พญาหงส์ธตรัฏฐะถูกนายพรานนำไปอยู่
ได้กล่าวเนื้อความนี้กับหงส์สุมุขะว่า
เรากลัวนัก สุมุขะ
ด้วยนางพญาหงส์ตัวมีผิวพรรณดังทองคำ
มีลำขาอ่อนได้ลักษณะ
รู้ว่าเราถูกฆ่าแล้วจักฆ่าตัวตายตาม
[๑๑๓] สุมุขะ ก็สุเหมานางพญาหงส์ แม่เนื้อเหลือง
ผู้เป็นธิดาของพญาปากหงส์จักร่ำไห้อย่างแน่นอน
เสมือนนางนกกระเรียนผู้กำพร้าร่ำไห้อยู่ที่ริมฝั่งสมุทร
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาว่า)
[๑๑๔] พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งสัตวโลกคือหมู่หงส์
มีคุณประมาณมิได้ เป็นครูแห่งหมู่คณะใหญ่
แต่กลับมัวเศร้าโศกรำพันถึงหญิงคนเดียวอย่างนี้
นี้เป็นเหมือนมิใช่การกระทำของคนมีปัญญาเลย
[๑๑๕] ลมย่อมพัดพาเอากลิ่นทั้ง ๒ อย่าง
คือ กลิ่นหอมและกลิ่นเหม็นไป
เด็กอ่อนย่อมเก็บเอาผลไม้ทั้งดิบและสุก
คนตาบอดที่โลเลย่อมรับอามิสฉันใด
ธรรมดาหญิงก็ฉันนั้น
[๑๑๖] พระองค์ไม่รู้จักวินิจฉัยในเหตุทั้งหลาย
ปรากฏกับข้าพระองค์เหมือนคนเขลา
ถึงเวลาจะตายอยู่แล้ว
ก็ยังไม่ทราบกิจที่ควรทำหรือไม่ควรทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๑๗] พระองค์สำคัญหญิงว่าเป็นผู้ประเสริฐ
เห็นจะเป็นคนกึ่งบ้า จึงบ่นเพ้อรำพันไป
ความจริง หญิงเหล่านี้สาธารณะทั่วไปแก่ชนเป็นอันมาก
เหมือนโรงสุราเป็นสถานที่ทั่วไปแก่นักเลงสุรา
[๑๑๘] อนึ่ง หญิงนี้มีมายาเหมือนพยับแดด
เป็นเหตุแห่งความเศร้าโศก
เป็นเหตุแห่งโรคและอันตราย
อนึ่ง หญิงเหล่านี้เป็นเครื่องผูกมัดอันกล้าแข็ง เป็นบ่วง
เป็นถ้ำ และเป็นที่อยู่อาศัยของมัจจุราช
บุรุษใดวางใจในหญิงเหล่านั้น
บุรุษนั้นชื่อว่าเป็นคนต่ำทรามในบรรดานรชนทั้งหลาย
(พญาหงส์ธตรัฏฐะเมื่อจะแสดงธรรมแก่หงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๑๑๙] สิ่งใดที่ท่านผู้เจริญรู้จักกันดี
ใครควรจะติเตียนสิ่งนั้นเล่า
ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายเป็นผู้มีคุณมาก เกิดขึ้นก่อนในโลก๑
[๑๒๐] การเล่นคะนองอันบุคคลตั้งไว้แล้วในหญิงเหล่านั้น
ความยินดีในหญิงเหล่านั้นบุคคลก็ตั้งไว้เฉพาะแล้ว
พืชทั้งหลายก็งอกงามในหญิงเหล่านั้น
คือสัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดในหญิงเหล่านั้น
ชีวิตกับชีวิตมาเกี่ยวข้องกันแล้ว
ใครเล่าจะพึงเบื่อหน่ายหญิงเหล่านั้น
[๑๒๑] สุมุขะ ท่านเองนั่นแหละไม่ใช่คนอื่น
ยังต้องประกอบความต้องการกับหญิงทั้งหลาย
วันนี้เมื่อเกิดภัย ความคิดจึงเกิดแก่ท่านเพราะความกลัว

เชิงอรรถ :
๑ เกิดขึ้นก่อนในโลก หมายถึงเพศหญิงปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในกาลปฐมกัลป์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๑๙/๒๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๒๒] จริงอยู่ ผู้ถึงความสงสัยในชีวิตทั้งปวง
ถึงจะหวาดกลัวก็อดกลั้นความกลัวไว้
เพราะบัณฑิตทั้งหลายผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่
ย่อมประกอบประโยชน์ที่ยากจะประกอบได้
[๑๒๓] พระราชาทั้งหลายทรงปรารถนาข้าราชการที่กล้าหาญ
เพื่อประสงค์ที่จะให้คนกล้าหาญ
ป้องกันอันตรายและเหตุรอบข้างพระองค์
[๑๒๔] วันนี้ ขอพ่อครัวของพระราชา
อย่าเชือดเราทั้ง ๒ ในห้องเครื่องใหญ่เลย
เพราะว่า สีขนปีกจะฆ่าท่านเหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่
[๑๒๕] ท่านแม้พ้นแล้วก็ไม่ปรารถนาจะบินไป
ตนเองกลับเดินเข้ามาหาเครื่องดัก
วันนี้ แม้ท่านผู้ถึงความสงสัยในชีวิต
จงถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์เถิด
อย่ายื่นปากออกมาเลย
[๑๒๖] ท่านนั้นจงประกอบความเพียร
ที่เนื่องด้วยธรรมอันสมควรนั้นเถิด
จงเที่ยวแสวงหาหนทางรอดชีวิตให้แก่เรา
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วของท่าน
(หงส์สุมุขะกล่าวว่า)
[๑๒๗] อย่าทรงกลัวเลย พระองค์ผู้ประเสริฐ
ด้วยว่า บุคคลทั้งหลายเช่นกับพระองค์หากลัวไม่
ข้าพระองค์จักประกอบความเพียรอันเนื่องด้วยธรรมอันสมควร
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วนั้น
พระองค์จักพ้นจากบ่วงโดยเร็วพลัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า)
[๑๒๘] นายพรานนั้นเข้าไปยังประตูพระราชวังพร้อมทั้งหาบหงส์
ด้วยกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงกราบทูลถึงเรา
ให้พระราชาทรงทราบว่า พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มาแล้ว
[๑๒๙] ได้ยินว่า พระเจ้าสัญญมนะทอดพระเนตรเห็น
พญาหงส์ทั้ง ๒ นั้นเช่นกับผู้มีบุญ
รู้ได้ด้วยลักษณะ จึงได้รับสั่งกับพวกอำมาตย์ว่า
[๑๓๐] ท่านทั้งหลายจงให้ผ้า ข้าว น้ำ และของบริโภค
แก่นายพราน เงินเป็นบ่อเกิดความพอใจ๑ ให้เขา
จงให้แก่เขาตามที่เขาต้องการ
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๑๓๑] พระเจ้ากาสีทอดพระเนตรเห็นนายพรานผู้มีอาการร่าเริง
จึงได้ตรัสคำนี้ว่า เขมกะ เพื่อนรัก
ผิว่าสระโบกขรณีนี้มีฝูงหงส์จับอยู่เต็มไปหมดไซร้
[๑๓๒] ทำไมท่านจึงถือบ่วงเข้าไปใกล้พญาหงส์
ผู้งดงามซึ่งอยู่ ณ ท่ามกลาง
ได้จับพญาหงส์ผู้มีหมู่ญาติเกลื่อนกล่น
ซึ่งมิใช่หงส์ชั้นกลางได้อย่างไร
(นายพรานเขมกะนั้นกราบทูลพระราชาว่า)
[๑๓๓] วันนี้เป็นราตรีที่ ๗ ของข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่ประมาท แอบซ่อนอยู่ในตุ่ม
คอยแสวงหารอยเท้าของพญาหงส์ทองตัวนั้น
ตัวเข้าไปใกล้สถานที่ที่จับเหยื่อ

เชิงอรรถ :
๑ เงินเป็นบ่อเกิดความพอใจ หมายถึงเป็นกิริยาแสดงความใคร่ของเขา (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๓๐/๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๓๔] ต่อมาข้าพระองค์ได้เห็นรอยเท้าของพญาหงส์นั้น
ตัวกำลังเที่ยวแสวงหาเหยื่อ จึงได้ดักบ่วงลงไว้ ณ ที่นั้น
แล้วจับพญาหงส์นั้นได้ด้วยวิธีอย่างนี้
(พระราชาได้สดับดังนั้น จึงตรัสถามว่า)
[๑๓๕] พ่อพราน นกเหล่านี้มีอยู่ ๒ ตัว
แต่ทำไมท่านจึงกล่าวว่าตัวเดียว
จิตของท่านแปรปรวนแล้วหนอ
หรือว่าท่านปรารถนาประโยชน์อะไรกันหนอ
(นายพรานกราบทูลว่า)
[๑๓๖] หงส์ตัวที่มีลายสีแดงจรดถึงทรวงอก งดงามประดุจทองคำ
ที่กำลังถูกหล่อหลอมนั้น ได้เข้ามาติดบ่วงของข้าพระองค์
[๑๓๗] ส่วนหงส์ตัวมีผิวพรรณผ่องใสตัวนี้มิได้ติดบ่วง
ยืนเปล่งวาจาเป็นภาษามนุษย์ กล่าวถ้อยคำอันประเสริฐ
กับพญาหงส์ตัวติดบ่วง ซึ่งกำลังกระสับกระส่ายอยู่
(พระราชาทรงประสงค์จะให้หงส์สุมุขะแสดงธรรม จึงตรัสว่า)
[๑๓๘] สุมุขะ ทำไมหนอเวลานี้ท่านจึงยืนหดคางอยู่
หรือท่านมาถึงบริษัทของเราแล้ว กลัวภัยจึงไม่พูด
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น เมื่อจะแสดงความที่ตนไม่กลัวภัย จึงกราบทูลว่า)
[๑๓๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี
ข้าพระองค์หยั่งลงสู่บริษัทของพระองค์แล้วจะเกรงกลัวหามิได้
ข้าพระองค์ไม่พูดเพราะความเกรงกลัวก็หามิได้
ข้าพระองค์จักกล่าวถ้อยคำในเมื่อมีเรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้น
(พระราชาสดับดังนั้นแล้วทรงแย้มสรวล ตรัสว่า)
[๑๔๐] เราไม่เห็นบริษัทที่ถืออาวุธเลย ไม่เห็นพลรถ พลราบ
เกราะ หรือโล่หนัง และนายขมังธนูผู้สรวมเกราะของท่านเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๔๑] เงิน ทอง หรือนครที่สร้างไว้แล้วอย่างดี
มีคูเรียงราย ยากที่จะข้ามได้
มีหอรบและป้อมอันมั่นคง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านเข้าไป
ไม่กลัวสิ่งที่ควรกลัว เรายังไม่เห็นเลย สุมุขะ
(หงส์สุมุขะเมื่อจะทูลเหตุนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๑๔๒] ข้าพระองค์ไม่ต้องการบริวารที่ถืออาวุธ นคร หรือทรัพย์
เพราะข้าพระองค์ทั้งหลายมีปกติเที่ยวไปในอากาศ
ย่อมไปยังหนทางอันเป็นสถานที่มิใช่หนทาง
[๑๔๓] ก็พระองค์ได้ทรงสดับมาว่า
ข้าพระองค์เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียดอ่อน
เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
ข้าพระองค์จะกล่าววาจาที่มีประโยชน์
ขอพระองค์พึงดำรงอยู่ในความสัตย์เถิด
[๑๔๔] ด้วยว่าถ้อยคำที่พวกข้าพระองค์กล่าวแล้ว
แม้จะเป็นสุภาษิต จะกระทำอะไรแก่พระองค์ผู้หาความสัตย์มิได้
ผู้มิใช่คนประเสริฐมักกล่าวคำเท็จและหยาบช้า
[๑๔๕] พระองค์รับสั่งให้ขุดสระอันเกษมนี้ตามคำของพวกพราหมณ์
และพระองค์รับสั่งให้ประกาศอภัยทานไปทั่วทิศทั้ง ๑๐ นี้
[๑๔๖] นกทั้งหลายจึงลงสู่สระโบกขรณีของพระองค์
ซึ่งมีน้ำใสสะอาด ที่สระบัวนั้นมีของกินเพียงพอ
และไม่มีการเบียดเบียนนกทั้งหลายที่สระนั้น
[๑๔๗] พวกข้าพระองค์ได้ยินคำประกาศนี้แล้ว
จึงพากันมาใกล้สระโบกขรณีของพระองค์
พวกข้าพระองค์นั้นจึงถูกบ่วงของพระองค์รัด
คำประกาศนั้นเป็นภาษิตเท็จของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๔๘] บุคคลมุ่งการกล่าวเท็จและความโลภ
คือความต้องการอันชั่วช้าแล้วล่วงเลยสนธิทั้ง ๒๑ไป
ย่อมเข้าถึงนรกอันไม่มีความสำราญ
(พระราชาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๙] สุมุขะ เรามิได้ประพฤติผิดที่จับท่านมาที่นี้
เพราะความโลภก็หามิได้ เราทราบมาว่า ท่านทั้งหลาย
เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียดอ่อน
เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
[๑๕๐] ทำอย่างไรพญาหงส์ทั้ง ๒
จึงจะมากล่าววาจาอันมีประโยชน์ ณ ที่นี้
สุมุขะเพื่อนรัก นายพรานถูกเราสั่ง
จึงได้จับท่านด้วยเหตุนั้น
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๑๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี
ข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อชีวิตใกล้เข้ามาถึงคราวใกล้ตาย
จึงจะกล่าววาจาที่มีประโยชน์หามิได้เลย
[๑๕๒] ผู้ใดฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อ หรือว่าฆ่านกด้วยนกต่อ
หรือเบียดเบียนผู้เป็นพหูสูตด้วยสุตะ
จะมีอะไรเล่าเลวทรามไปกว่านั้น
[๑๕๓] ก็ผู้ใดกล่าวถ้อยคำอันประเสริฐ
แต่อิงอาศัยธรรมอันไม่ประเสริฐ
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมพลาดจากโลกทั้ง ๒
คือ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ สนธิทั้ง ๒ หมายถึงปฏิสนธิในเทวโลกและมนุษยโลกทั้ง ๒ อธิบายว่า คนที่ทำบาปธรรมเหล่านี้ไว้
ต่อไปเบื้องหน้าก็จะล่วงเลยปฏิสนธิที่เป็นสุคติเข้าถึงนรกที่ไม่น่ายินดีไป (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๔๖/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๕๔] บุคคลได้ยศแล้วไม่พึงมัวเมา
ถึงความสงสัยในชีวิต๑แล้วไม่พึงเดือดร้อน
พึงพยายามในกิจการงานทั้งหลายร่ำไป
และพึงปิดช่องโหว่ทั้งหลาย๒เสีย
[๑๕๕] บัณฑิตผู้เจริญเหล่าใดผ่านชีวิตโลกนี้ไป
ถึงคราวใกล้ตาย ประพฤติธรรมในโลกนี้
บัณฑิตเหล่านั้นย่อมไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทิพย์แล้วด้วยประการฉะนี้
[๑๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี
พระองค์ทรงสดับคำนี้แล้ว
ขอทรงรักษาธรรมไว้ในพระองค์เถิด
และขอทรงปล่อยพญาหงส์ธตรัฏฐะ
ผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าหงส์ทั้งหลายเถิด
(พระราชาครั้นสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๕๗] พนักงานทั้งหลายจงนำน้ำมันทาเท้า
และอาสนะอันมีค่ามากมา
เราจะปล่อยพญาหงส์ธตรัฏฐะผู้มียศออกจากกรง
[๑๕๘] และเราจะปล่อยพญาหงส์
ตัวที่เมื่อหงส์ผู้เป็นพระราชามีสุขก็เป็นสุขด้วย
เมื่อมีทุกข์ก็เป็นทุกข์ด้วย
ซึ่งเป็นหงส์เสนาบดี เป็นนักปราชญ์
มีปัญญาละเอียดอ่อน เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
[๑๕๙] บุคคลเช่นนี้แลสมควรที่จะบริโภคก้อนข้าวของนายได้
เหมือนหงส์สุมุขะผู้เป็นเพื่อนร่วมชีวิตของพระราชา

เชิงอรรถ :
๑ ถึงความสงสัยในชีวิต หมายถึงประสบทุกข์แล้วไม่พึงลำบาก (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๕๔/๒๕๗)
๒ ปิดช่องโหว่ทั้งหลาย หมายถึงพึงปิด พึงกั้นช่องทะลุ (ข้อบกพร่อง) ของตน (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๕๔/๒๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๐] ก็พญาหงส์ธตรัฏฐะได้บินเข้าไปจับตั่งทองคำล้วน
ซึ่งมีเท้า ๘ น่ารื่นรมย์ เกลี้ยงเกลา ปูลาดด้วยผ้าแคว้นกาสี
[๑๖๑] ส่วนหงส์สุมุขะได้บินเข้าไปเกาะเก้าอี้ทองคำล้วน
ซึ่งบุด้วยหนังเสือโคร่ง ถัดจากพญาหงส์ธตรัฏฐะ
[๑๖๒] ชาวแคว้นกาสีจำนวนมากพาเอาอาหารอันเลิศ
ที่พระเจ้ากาสีทรงส่งไปด้วยถาดทองคำให้แก่พญาหงส์เหล่านั้น
[๑๖๓] พญาหงส์ธตรัฏฐะผู้ฉลาดในธรรมเนียมการปฏิสันถาร
เห็นอาหารอันเลิศที่เขานำมาแล้ว
ซึ่งพระเจ้ากาสีทรงประทานส่งไป
ต่อจากนั้นจึงได้ทูลถามเป็นลำดับไปว่า
[๑๖๔] พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ทรงสุขสำราญดีอยู่หรือ
ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ
แคว้นอันมั่งคั่งนี้พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมหรือ
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๖๕] เราสุขสำราญดีพญาหงส์ และไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง แคว้นอันมั่งคั่งนี้เราก็ปกครองโดยธรรม
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๑๖๖] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของพระองค์ไม่มีหรือ
อนึ่ง อำมาตย์เหล่านั้นไม่กังวลถึงชีวิต
ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๖๗] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของเราก็ไม่มี
อนึ่ง แม้อำมาตย์เหล่านั้นก็ไม่กังวลถึงชีวิต
ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อเราเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๑๖๘] พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับพระองค์
ทรงเชื่อฟัง ตรัสพระวาจาอ่อนหวานน่ารัก
ทรงมีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ทรงคล้อยตามพระอัธยาศัยของพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๖๙] ก็พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับเรา
เชื่อฟัง กล่าววาจาอ่อนหวานน่ารัก
มีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ยังคล้อยตามอัธยาศัยของเราอยู่
(พญาหงส์โพธิสัตว์ ทูลถามว่า)
[๑๗๐] แคว้นมิได้ถูกเบียดเบียน
มิได้มีอันตรายแต่ที่ไหน ๆ หรือ
พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมอย่างสม่ำเสมอ
โดยมิได้เกรี้ยวกราดหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๗๑] แคว้นก็มิได้ถูกเบียดเบียน
มิได้มีอันตรายแต่ที่ไหน ๆ เลย
เราปกครองโดยธรรมอย่างสม่ำเสมอ
โดยมิได้เกรี้ยวกราดเลย
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๑๗๒] สัตบุรุษพระองค์ทรงยำเกรง
ทรงเว้นอสัตบุรุษเสียห่างไกลหรือ
พระองค์มิได้ทรงห่างเหินธรรม
ประพฤติคล้อยตามอธรรมหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๗๓] สัตบุรุษเราก็ยำเกรง
อสัตบุรุษเราก็เว้นห่างไกล
เราประพฤติคล้อยตามธรรมเหล่านั้น
ส่วนอธรรมเราได้ห่างเหินไปแล้ว
(พญาหงส์ทูลถามว่า)
[๑๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์
พระองค์มิได้ทรงพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานหรือ
ทรงมัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา
ไม่ทรงสะดุ้งกลัวปรโลกหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๗๕] เราพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานก็หาไม่
พญาหงส์ เราดำรงอยู่ในธรรม ๑๐ ประการ๑
จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก

[๑๗๖] คือ ๑. ทาน ๒. ศีล
๓. การบริจาค ๔. ความซื่อตรง
๕. ความอ่อนโยน ๖. ความเพียร
๗. ความไม่โกรธ ๘. ความไม่เบียดเบียน
๙. ความอดทน ๑๐. ความไม่คลาดธรรม๑


เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ๑๐ ประการ คือทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ คือ (๑) ทาน หมายถึงเจตนาให้วัตถุ ๑๐ ประการ
มีข้าวและน้ำเป็นต้น (๒) ศีล หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ (๓) การบริจาค หมายถึงการบริจาคไทยธรรม
(๔) ความซื่อตรง หมายถึงความเป็นคนตรง (๕) ความอ่อนโยน หมายถึงความเป็นคนอ่อนโยน
(๖) ความเพียร หมายถึงกรรมคือการรักษาอุโบสถ (๗) ความไม่โกรธ หมายถึงความมีเมตตาเป็นเบื้องต้น
(๘) ความไม่เบียดเบียน หมายถึงความมีกรุณาเป็นเบื้องต้น (๙) ความอดทน หมายถึงความอดกลั้น
(๑๐) ความไม่คลาดจากธรรม หมายถึงความไม่ขัดเคือง (ขุ.ชา.อ. ๒๘/๑๗๖/๒๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๗๗] เราเห็นกุศลธรรมเหล่านี้ดำรงอยู่แล้วในตนด้วยประการฉะนี้
ต่อจากนั้นปีติและโสมนัสมีประมาณไม่น้อยจึงเกิดแก่เรา
[๑๗๘] ส่วนหงส์สุมุขะนี้ไม่ทันคิด
ไม่ทราบความประทุษร้ายแห่งจิตต่อข้าพระองค์
จึงได้เปล่งวาจาอันหยาบคายออกมา
[๑๗๙] หงส์สุมุขะนั้นโกรธ
จึงได้เปล่งวาจาอันหยาบคายโดยไม่ไตร่ตรอง
กล่าวหาโทษที่ไม่มีอยู่ในข้าพระองค์
การเปล่งนี้ดูเหมือนไม่ใช่ของผู้มีปัญญา
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๑๘๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ความพลั้งพลาดนั้นย่อมมีแก่ข้าพระองค์เพราะความผลุนผลัน
อนึ่ง เมื่อพญาหงส์ธตรัฏฐะติดบ่วง
ข้าพระองค์จึงได้มีทุกข์มากกว่า
[๑๘๑] พระองค์เป็นเสมือนพระบิดาของพระโอรสทั้งหลาย
เป็นเหมือนแผ่นดินเป็นที่พึ่งของภูตทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดุจพญาช้าง ขอพระองค์โปรดทรงงดโทษ
แก่ข้าพระองค์ผู้ถูกความผิดครอบงำด้วยเถิด
(พระราชาทรงสรวมกอดหงส์สุมุขะนั้นเมื่อจะรับการขอโทษ จึงตรัสว่า)
[๑๘๒] เมื่อเป็นเช่นนี้ เราขออนุโมทนาต่อท่าน
เพราะท่านไม่ปกปิดความจริง
พญาหงส์ ท่านย่อมทำลายตะปูตรึงจิต๑
จึงนับได้ว่าท่านเป็นหงส์ผู้ซื่อตรง

เชิงอรรถ :
๑ ตะปูตรึงจิต หมายถึงเสาแห่งจิตหรือหลักตอแห่งจิต (ได้แก่ ความโกรธ ความไม่พอใจ จิตถูกโทษ
ครอบงำทำให้แข็งกระด้างต่อผู้อื่น) (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๘/๒๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๘๓] รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่มากมาย
ในราชนิเวศน์แห่งแคว้นกาสี
คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา และแก้วไพฑูรย์
[๑๘๔] แก้วมณี สังข์ ไข่มุก ผ้า จันทน์เหลือง
หนังสัตว์ เครื่องงาช้าง ทองแดง และเหล็ก
เราขอมอบทรัพย์เครื่องปลื้มใจทุกชนิดนั้นให้แก่ท่านทั้ง ๒
และขอปล่อยท่านทั้ง ๒ ให้เป็นอิสระ
(พญาหงส์โพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ ข้าพระองค์ทั้ง ๒
ผู้อันพระองค์ทรงยำเกรงและทรงสักการะแล้วโดยแน่แท้
ขอพระองค์โปรดทรงเป็นพระอาจารย์ของข้าพระองค์ทั้ง ๒
ผู้ประพฤติในธรรมทั้งหลายเถิด
[๑๘๖] ข้าแต่พระอาจารย์ผู้ทรงย่ำยีข้าศึก ข้าพระองค์ทั้ง ๒
ผู้อันพระองค์ทรงอนุญาตแล้ว ทรงอนุมัติแล้ว
จะขอกระทำประทักษิณพระองค์แล้วกลับไปพบญาติทั้งหลาย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๘๗] พระเจ้ากาสีทรงดำริและทรงปรึกษา
อรรถคดีตามที่กล่าวมาตลอดราตรีทั้งปวงแล้ว
ทรงอนุญาตพญาหงส์ทั้ง ๒ ตัวประเสริฐสูงสุดกว่าหงส์ทั้งหลาย
[๑๘๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีรุ่งสว่าง ดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมา
ขณะพระเจ้ากาสีกำลังทอดพระเนตรอยู่
พญาหงส์ทั้ง ๒ ได้โผบินไปสู่อากาศจากพระราชมณเฑียร
[๑๘๙] หงส์ทั้งหลายเห็นพญาหงส์ทั้ง ๒ นั้น
มาถึงโดยลำดับอย่างปลอดภัย
ต่างพากันส่งเสียงว่าเกก ๆ ได้เกิดสำเนียงเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๑๙๐] หงส์เหล่านั้นผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนาย
พากันปลาบปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง
จึงพากันแวดล้อมอยู่โดยรอบ หงส์ทั้งหลายได้ที่พึ่งแล้ว
[๑๙๑] ประโยชน์ทั้งปวงของบุคคลผู้มีกัลยาณมิตร
ย่อมสำเร็จผลเป็นความสุขความเจริญ
เหมือนพญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ ได้อยู่ใกล้หมู่ญาติฉะนั้น
มหาหังสชาดกที่ ๒ จบ

๓. สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
ว่าด้วยอาหารทิพย์
(โกสิยเศรษฐีกราบทูลท้าวสักกะว่า)
[๑๙๒] ของนี้ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ซื้อมา
ทั้งไม่ได้ขายและไม่ได้สะสมไว้ในที่นี้
มีอยู่เพียงนิดหน่อย ได้มาแสนยาก
ข้าวสุกแล่งหนึ่งไม่เพียงพอสำหรับคนสองคน
(ท้าวสักกะได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๙๓] บุคคลควรให้แต่น้อยจากของที่มีน้อย
ควรให้พอปานกลางจากของที่มีพอปานกลาง
ควรให้มากจากของที่มีมาก ชื่อว่าการไม่ให้ย่อมไม่ควร
[๑๙๔] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(เมื่อท้าวสักกะประทับนั่ง จันทเทพบุตรจึงเข้าไปหาโกสิยเศรษฐีแล้ว กล่าวว่า)
[๑๙๕] ผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วยังบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นเป็นโมฆะ
แม้ความบากบั่นแสวงหาทรัพย์ของเขาก็เป็นโมฆะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๑๙๖] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(ต่อจากนั้นสุริยเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๑๙๗] ผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นย่อมมีผล
แม้ความบากบั่นแสวงหาทรัพย์ของเขาก็มีผล
[๑๙๘] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(ต่อจากนั้น มาตลีเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๑๙๙] ก็บุคคลใดเข้าไปยังแหล่งน้ำบางแห่ง
แล้วบูชาที่แม่น้ำหลายสายบ้าง
ที่สระโบกขรณีชื่อว่าคยาบ้าง
ที่ท่าน้ำชื่อโทณะและท่าน้ำชื่อติมพรุบ้าง
ที่ห้วงน้ำใหญ่อันมีกระแสเชี่ยวบ้าง
[๒๐๐] ผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของเขาในที่นั้น
และความบากบั่นแสวงหาทรัพย์ของเขาในที่นั้นย่อมมีผล
[๒๐๑] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(ต่อจากนั้น ปัญจสิขเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๒๐๒] ส่วนผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วยังบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
ผู้นั้นชื่อว่ากลืนเบ็ดพร้อมทั้งเหยื่อที่มีสายยาว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๐๓] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(โกสิยเศรษฐีเห็นฤทธิ์ของพราหมณ์เหล่านั้น จึงถามว่า)
[๒๐๔] พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ
เพราะเหตุอะไร สุนัขของพวกท่านจึงเปลี่ยนสีได้ต่าง ๆ นานา
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย
ขอท่านจงบอกข้าพเจ้า พวกท่านเป็นใครกัน
(ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า)
[๒๐๕] เหล่าเทพที่มา ณ ที่นี้ คือ จันทเทพบุตร
และสุริยเทพบุตรทั้ง ๒ ส่วนผู้นี้คือมาตลีเทพสารถี
เราคือท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพชั้นไตรทศ
และผู้นี้ชื่อว่าปัญจสิขเทพบุตร
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงสรรเสริญยศของปัญจสิขเทพบุตรนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๐๖] เสียงปรบมือ ๑ ตะโพน ๑ กลอง ๑ เปิงมาง ๑
ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้วนั้นให้ตื่นขึ้น
เทพบุตรผู้ตื่นขึ้นแล้วย่อมร่าเริงยินดี
[๒๐๗] คนผู้ตระหนี่เห็นแก่ตัวเหล่านี้
บางพวกมักด่าว่าสมณะและพราหมณ์
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้
หลังจากตายแล้วย่อมไปสู่นรก
[๒๐๘] คนผู้หวังสุคติเหล่านี้ บางพวกดำรงอยู่ในธรรม
คือ ความสำรวมและการจำแนกทาน
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้
หลังจากตายแล้วย่อมไปสู่สุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๐๙] ท่านเป็นญาติของพวกเราเมื่อชาติก่อน
แต่ท่านนั้นเป็นคนตระหนี่ มักโกรธ มีธรรมเลวทราม
พวกเรามาที่นี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ท่านนั่นเอง
ท่านอย่ามีธรรมอันเลวทรามไปตกนรกเลย
(โกสิยเศรษฐีได้ฟังดังนั้นมีจิตยินดี จึงกล่าวว่า)
[๒๑๐] พวกท่านหวังเกื้อกูลข้าพเจ้าอย่างแน่นอน
จึงได้พร่ำสอนข้าพเจ้า ข้าพเจ้านั้น
จะทำตามที่พวกท่านผู้หวังเกื้อกูลกล่าวทุกประการ
[๒๑๑] ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้านั้นจะของดเว้น
จะไม่กระทำบาปอะไร ๆ อีก
อนึ่ง วัตถุอะไร ๆ ที่ไม่ให้จะไม่มีแก่ข้าพเจ้า
แม้แต่น้ำข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้แล้ว ก็จะไม่ยอมดื่ม
[๒๑๒] ข้าแต่ท้าววาสวะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่ตลอดกาลทั้งปวงอย่างนี้
ถึงโภคะทั้งหลายของข้าพเจ้าจักหมดสิ้นไป ข้าแต่ท้าวสักกะ
ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าจะละกามทั้งหลายตามที่มีอยู่แล้วจักบวช
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๓] เทพธิดาเหล่านั้นอันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา
ทรงอภิบาลแล้วบันเทิงอยู่ ณ ภูเขาคันธมาทน์
ซึ่งเป็นภูเขาอันประเสริฐสูงสุด
ครั้งนั้น ฤๅษีผู้ประเสริฐสามารถจะไปได้ทั่วโลก
ได้ถือเอาช่อดอกไม้อันประเสริฐมีดอกบานสะพรั่งเดินมา
[๒๑๔] ก็ดอกไม้นั้นสะอาด มีกลิ่นหอม
อันเหล่าเทพชั้นไตรทศสักการะ เป็นดอกไม้สูงสุด
อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าอมรเทพทรงใช้สอย
ซึ่งพวกมนุษย์หรือพวกอสูรไม่ได้แล้ว เว้นไว้แต่พวกเทวดา
เป็นดอกไม้ที่สมควรแก่เทวดาเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๑๕] ลำดับนั้น เทพนารีทั้ง ๔ นางผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ
เป็นใหญ่กว่าเทพธิดาทั้งหลาย คือ ๑. เทพธิดาอาสา
๒. เทพธิดาสัทธา ๓. เทพธิดาสิรี ๔. เทพธิดาหิรี
ต่างลุกขึ้นกล่าวกับพระนารทมุนีเทวพราหมณ์ว่า
[๒๑๖] ข้าแต่พระมหามุนีผู้ประเสริฐ ถ้าดอกปาริฉัตตกะนี้
พระคุณเจ้ามิได้เจาะจงจะให้แก่ผู้ใด
ขอพระคุณเจ้าจงให้แก่พวกดิฉันเถิด
ขอคติทั้งปวงจงสำเร็จแด่พระคุณเจ้า
แม้พระคุณเจ้าก็จงให้แก่พวกดิฉันเหมือนท้าววาสวะเท่านั้นเถิด
[๒๑๗] นารทดาบสเพ่งดูเทพธิดาทั้ง ๔ นางพากันขอดอกไม้นั้นอยู่
จึงเปล่งถ้อยคำชวนทะเลาะแล้วกล่าวว่า
อาตมาหามีความต้องการดอกไม้เหล่านี้แม้สักน้อยหนึ่งไม่
บรรดาพวกเธอทั้ง ๔ ผู้ใดประเสริฐกว่า
ผู้นั้นจงประดับดอกไม้นั้นเถิด
(เทพธิดาทั้ง ๔ นางนั้นกล่าวว่า)
[๒๑๘] ข้าแต่ท่านนารทะผู้อุดม พระคุณเจ้านั้นแหละ
โปรดจงพิจารณาดูพวกดิฉัน
พระคุณเจ้าปรารถนาจะให้แก่นางใดก็จงให้แก่นางนั้น
ข้าแต่ท่านนารทะ ก็บรรดาดิฉันทั้งหลาย
พระคุณเจ้าจักมอบให้แก่นางใด
นางนั้นเท่านั้นจักเป็นผู้ที่พวกดิฉันยกย่องว่าประเสริฐที่สุด
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๑๙] แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างอันงดงาม คำนั้นไม่สมควรเลย
พราหมณ์คนไหน ใครเล่าจะพึงเปล่งถ้อยคำชวนทะเลาะได้
จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตดูเถิด
ถ้าพวกเธอในที่นี้ไม่ทราบว่าตนสูงสุดหรือต่ำทราม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(ต่อจากนั้น พระศาสดาตรัสพระคาถาว่า)
[๒๒๐] เทพธิดาเหล่านั้นถูกนารทดาบสกล่าวแนะนำ
มีความโกรธแค้นอย่างยิ่ง เป็นผู้มัวเมาแล้ว
ด้วยความมัวเมาในผิวพรรณ จึงไป ณ สำนักท้าวสหัสสนัยน์
แล้วทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตว่า
บรรดาหม่อมฉัน ใครหนอประเสริฐกว่า
(เทพธิดาทั้ง ๔ นางได้ยืนทูลถามอย่างนั้นแล้ว พระศาสดา จึงตรัสว่า)
[๒๒๑] ท้าวปุรินททะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา
ผู้อันเทพธิดาทั้ง ๔ กระทำอัญชลีแล้ว
ทอดพระเนตรเห็นเทพธิดาทั้ง ๔ ผู้กระตือรือร้น
จึงตรัสว่า ลูกหญิงมีความงามเป็นเลิศ มีใบหน้าผ่องใส
พวกเจ้าทั้งปวงล้วนทัดเทียมกัน
ใครเล่าหนอจะกล่าวถ้อยคำทะเลาะกันขึ้นได้
(ลำดับนั้น เทพธิดาเหล่านั้นเมื่อจะกราบทูลท้าวสักกะ จึงกล่าวคาถาว่า)
[๒๒๒] พระนารทมหามุนีองค์ใดผู้ท่องเที่ยวไปได้ทั่วโลก
ดำรงอยู่ในธรรม มีความบากบั่นอย่างจริงจัง
ท่านนั้นได้กล่าวแก่พวกหม่อมฉันที่ภูเขาคันธมาทน์
ซึ่งเป็นภูเขาอันประเสริฐว่า
จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตดูเถิด
ถ้าพวกเธอในที่นี้ไม่ทราบว่าตนสูงสุดหรือต่ำทราม
(ท้าวสักกะเมื่อจะตรัสบอกเหตุ จึงตรัสคาถาว่า)
[๒๒๓] ลูกหญิงผู้มีเรือนร่างอันงดงาม
มีมหามุนีผู้ท่องเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่นามว่าโกสิยะ
ท่านไม่ให้แล้วจะไม่ยอมบริโภคอาหาร
ท่านพิจารณาแล้วจึงจะให้ทาน ก็ท่านจักให้แก่ลูกหญิงผู้ใด
ผู้นั้นแหละประเสริฐกว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(ท้าวสักกะเมื่อจะส่งเทพธิดาทั้ง ๔ ไปสำนักโกสิยดาบส ให้เรียกมาตลีเทพบุตร
มาแล้ว จึงตรัสคาถาว่า)
[๒๒๔] ก็โกสิยดาบสนั้นอยู่ ณ ทิศใต้ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
ข้างหิมวันตบรรพต โกสิยดาบสนั้นมีน้ำและโภชนะหาได้ยาก
นี่แน่ะเทพสารถี ท่านจงนำอาหารทิพย์ไปถวายให้ถึงแก่ท่าน
(ต่อจากนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า)
[๒๒๕] มาตลีเทพบุตรนั้นถูกท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา
ทรงส่งไป จึงขึ้นรถเทียมด้วยม้า ๑,๐๐๐ ตัว
ได้ไปถึงอาศรมอย่างเร็วพลันนั่นแล ไม่ปรากฏกาย
ได้ถวายอาหารทิพย์แก่พระมุนีแล้ว
(โกสิยดาบสรับโภชนะแล้วยืนอยู่นั่นแหละ กล่าวว่า)
[๒๒๖] ก็เมื่อเรายืนบำเรอการบูชาไฟอยู่ต่อหน้าดวงอาทิตย์
ซึ่งบรรเทาความมืดในโลกอันอุดม
ท้าววาสวะผู้ทรงครอบงำภูตทั้งปวง
หรือใครกันแน่มาวางอาหารทิพย์ไว้ในฝ่ามือของเรา
[๒๒๗] อาหารทิพย์นี้ขาวอุปมาดังสังข์ ไม่มีสิ่งเปรียบปาน
น่าดู สะอาด มีกลิ่นหอม น่าพอใจ ไม่เคยมีมา
ยังไม่เคยได้เห็นด้วยตาของเราผู้เป็นคน
เทวดาตนใดวางอาหารทิพย์ไว้ในฝ่ามือของเราหรือ
(มาตลีเทพสารถีกล่าวว่า)
[๒๒๘] ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพเจ้าถูกท้าวสักกะ
ผู้เป็นจอมแห่งเทพ ผู้ยิ่งใหญ่ใช้มา
จึงได้รีบนำอาหารทิพย์มา ข้าแต่พระมหามุนี
ขอพระคุณเจ้าจงรู้จักข้าพเจ้าว่า มาตลีเทพสารถี
ขอพระคุณเจ้าจงบริโภคภัตรอันอุดม อย่าห้ามเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๒๙] ก็อาหารทิพย์นั้นบุคคลผู้บริโภคแล้ว
ย่อมกำจัดบาปธรรมได้ ๑๒ ประการ คือ

๑. ความหิว ๒. ความกระหาย
๓. ความไม่ยินดี ๔. ความกระวนกระวาย
๕. ความเหน็ดเหนื่อย ๖. ความโกรธ
๗. ความผูกโกรธ ๘. ความวิวาท
๙. ความส่อเสียด ๑๐. ความหนาว
๑๑. ความร้อน ๑๒. ความเกียจคร้าน
อาหารทิพย์นี้รสยอดเยี่ยม

(โกสิยดาบสเมื่อจะเปิดเผยการสมาทานวัตรของตน จึงกล่าวคาถาว่า)
[๒๓๐] มาตลี การไม่ให้ก่อนแล้วบริโภคไม่สมควรแก่อาตมา
วัตรอันอุดมของอาตมาเป็นดังนี้
อนึ่ง การบริโภคคนเดียวพระอริยะหาบูชาไม่
และบุคคลผู้ไม่จำแนกแจกจ่ายย่อมไม่ประสบความสุข
(โกสิยดาบสถูกมาตลีเทพบุตรถาม จึงตอบว่า)
[๒๓๑] ชนทั้งหลายเหล่านี้ บางพวกเป็นผู้ฆ่าหญิง
คบชู้ภรรยาชายอื่น ประทุษร้ายมิตร
และด่าว่าสมณะและพราหมณ์ผู้มีวัตรดีงาม
ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีความตระหนี่เป็นประการที่ ๕
ชื่อว่าเป็นคนเลวทราม เพราะเหตุนั้น
แม้แต่น้ำอาตมาไม่ให้แล้วจะไม่ยอมดื่ม
[๒๓๒] อนึ่ง อาตมาจักให้ทานที่ท่านผู้รู้สรรเสริญแก่หญิงหรือชาย
เพราะว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา
รู้ถ้อยคำของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่
ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าสะอาดและซื่อสัตย์ในโลกนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๓] ลำดับนั้น เทพกัญญาทั้ง ๔ นางผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ
ซึ่งท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทพทั้งหลาย
ทรงอนุมัติแล้ว ทรงส่งไปแล้ว คือ
๑. เทพธิดาอาสา ๒. เทพธิดาสัทธา
๓. เทพธิดาสิรี ๔. เทพธิดาหิรี
ได้มาถึงอาศรมซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบสนั้น
[๒๓๔] โกสิยดาบสครั้นเห็นเทพกัญญาเหล่านั้น
มีความปราโมทย์อย่างยิ่ง จึงได้กล่าวกับเทพกัญญาทั้ง ๔
ผู้มีผิวพรรณงดงามประดุจเปลวเพลิงทั้ง ๔ ทิศ
ต่อหน้ามาตลีเทพบุตรว่า
[๒๓๕] แม่เทพธิดา เธอมีนามใด ประดับตบแต่งร่างกายงดงาม
ประดุจดาวประกายพรึกซึ่งประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลาย
มีผิวพรรณเปล่งปลั่งอยู่ ณ ทิศตะวันออก
อาตมาขอถามเธอผู้มีเรือนร่างประดุจหุ่นทองคำ
โปรดบอกอาตมาเถิดว่า เธอเป็นเทพชั้นไหน
(สิรีเทพกัญญาตอบว่า)
[๒๓๖] ดิฉันชื่อสิรีเทวี ได้รับการบูชาจากหมู่มนุษย์
มีปกติไม่คบหาสัตว์ผู้มีใจชั่วทุกเมื่อ
มายังสำนักพระคุณเจ้าเพราะทะเลาะกันด้วยเรื่องอาหารทิพย์
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด
[๒๓๗] ท่านมหามุนี ดิฉันปรารถนาอาหารทิพย์ของนรชนใด
นรชนนั้นย่อมบันเทิงใจด้วยกามคุณทั้งปวง ข้าแต่พระคุณเจ้า
ผู้มีปัญญาอันประเสริฐ อุดมกว่าผู้บูชาไฟทั้งหลาย
พระคุณเจ้าจงรู้จักดิฉันว่า สิรีเทวี
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(โกสิยดาบสกล่าวว่า)
[๒๓๘] นรชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยศิลปวิทยา มารยาท
และความรู้ เป็นผู้ชำนาญการงานของตน
ถูกเธอทอดทิ้งให้เหินห่าง ย่อมไม่ได้อะไรแม้แต่น้อย
ความขาดแคลนที่เธอกระทำแล้วนั้นไม่ดีเลย
[๒๓๙] แม่นางสิรีเทวี อาตมาเห็นคนผู้เกียจคร้าน กินจุ
ทั้งเป็นคนมีตระกูลต่ำ มีรูปร่างแปลกประหลาด
คนนั้นผู้อันเธอเฝ้าคุ้มครองรักษา
กลับกลายเป็นคนมีโภคะ มีความสุข
แม้คนผู้สมบูรณ์ด้วยชาติตระกูล
ก็ใช้สอยได้เหมือนอย่างทาส
[๒๔๐] เพราะฉะนั้น อาตมาจึงรู้จักเธอว่า ไม่มีสัจจะ
ไม่แยกคบคน เป็นคนงมงาย ทำผู้รู้ให้ตกต่ำ
เทพธิดาเช่นเธอจึงไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ
อาหารทิพย์ที่ไหนจักมี จงไปเสียเถิด
อาตมาไม่ชอบใจเธอ
(โกสิยดาบสสนทนากับนางอาสาเทพธิดาว่า)
[๒๔๑] ใครกันนั่น มีฟันขาวสะอาด
สวมใส่ตุ้มหู มีเรือนร่างงามวิจิตร
ทรงเครื่องประดับทองคำเนื้อเกลี้ยง นุ่งห่มภูษาสีรดน้ำ
ประดับช่อดอกไม้สีแดงประดุจเปลวไฟที่ไหม้หญ้าคา
ดูช่างงดงาม
[๒๔๒] เธอเหมือนนางเนื้อทรายผู้ตื่นกลัว
ที่ถูกนายพรานยิงพลาดแล้วมองดูอย่างงุนงง
แม่เทพธิดาผู้มีดวงตาซื่อ ในที่นี้ใครเป็นเพื่อนของเธอ
เธอเที่ยวไปผู้เดียวในป่าใหญ่ ไม่กลัวหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(อาสาเทพธิดากล่าวว่า)
[๒๔๓] ข้าแต่ท่านโกสิยะ ในที่นี้ดิฉันไม่มีเพื่อน
ดิฉันเป็นเทพธิดาเกิดในดาวดึงสพิภพ ชื่อเทพธิดาอาสา
มายังสำนักของพระคุณเจ้าเพราะหวังจะได้อาหารทิพย์
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด
(โกสิยดาบสกล่าวว่า)
[๒๔๔] พ่อค้าทั้งหลายผู้แสวงหาทรัพย์มีความหวังจึงจะไป
ย่อมขึ้นเรือแล่นไปในท้องทะเล
บางครั้งพวกเขาย่อมจมลงในท้องทะเลนั้นบ้าง
บางคราวพวกเขาย่อมสูญสิ้นทรัพย์ขาดทุนกลับมาบ้าง
[๒๔๕] ชาวนาทั้งหลายมีความหวังจึงไถนา
หว่านพืช กระทำตามวิธีการ
แต่เพราะศัตรูพืชลงบ้าง ฝนแล้งบ้าง
พวกเขาจึงไม่ได้ประสบผลอะไร ๆ อันจะมีมาจากข้าวกล้านั้น
[๒๔๖] อนึ่ง นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข
ตั้งความหวังไว้เบื้องหน้า
ย่อมทำการเยี่ยงบุรุษของตนในกิจหน้าที่ของเจ้านาย
แต่พวกเขากลับถูกบีบคั้นอย่างหนัก
ไม่ได้อะไร ๆ แม้แต่น้อยเลย
เตลิดหนีไปทั่วทิศเพื่อประโยชน์แก่เจ้านาย
[๒๔๗] นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข
มีใจมุ่งหวังที่จะไปสวรรค์
จึงสละธัญญชาติ ทรัพย์สมบัติ และเครือญาติ
บำเพ็ญตบะอันเศร้าหมองแม้ตลอดกาลนาน
ขึ้นสู่ทางผิด จึงแล่นไปสู่ทุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๔๘] ความหวังชื่อว่าก่อเรื่องคลาดเคลื่อน
นรชนเหล่านี้พากันตกนรกก็เพราะหวัง
แน่ะแม่อาสา เธอจงเลิกอาหารทิพย์ในตัวเธอเสีย
คนเช่นเธอไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ
อาหารทิพย์ที่ไหนจักมี จงไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจเธอ
(โกสิยดาบสสนทนากับนางสัทธาเทพธิดาว่า)
[๒๔๙] เธอผู้มียศรุ่งเรือง อยู่ด้วยยศ เป็นเจ้าประจำทิศ
อาตมาขอถามเธอผู้มีนามอันน่าเกลียด
แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างประดุจหุ่นทองคำ
โปรดบอกอาตมาเถิดว่า เธอเป็นเทพชั้นไหน
(ต่อจากนั้น นางสัทธาเทพธิดากล่าวว่า)
[๒๕๐] ดิฉันชื่อสัทธาเทวี ได้รับการบูชาจากหมู่มนุษย์
มีปกติไม่คบหาสัตว์ผู้มีใจชั่วทุกเมื่อ
มายังสำนักของพระคุณเจ้าเพราะทะเลาะกันด้วยเรื่องอาหารทิพย์
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด
(โกสิยดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๑] ก็ในกาลบางคราว มนุษย์ทั้งหลายยึดถือการให้ทานบ้าง
การฝึกฝนตนบ้าง การบริจาคบ้าง ความสำรวมบ้าง
กระทำไปด้วยศรัทธา แต่มนุษย์พวกหนึ่งกลับถูกเธอ
ชักนำผิดทาง จึงกระทำการขโมยบ้าง พูดเท็จบ้าง
คดโกงบ้าง พูดส่อเสียดบ้าง
[๒๕๒] บุรุษผู้มีความเพ่งเล็งภรรยาทั้งหลายของชายอื่น
ผู้เสมอเหมือนกัน ประกอบด้วยศีลบ้าง มีวัตรปฏิบัติต่อสามีบ้าง
กำจัดความพอใจแม้ในหญิงทั้งหลายที่เป็นกุลสตรีออกเสียแล้ว
กลับทำความศรัทธาในนางกุมภทาสี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๕๓] แม่นางสัทธาเทพธิดา เธอนั้นแหละประพฤตินอกใจ
กระทำความชั่ว ละทิ้งความดี
เทพธิดาเช่นเธอจึงไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ
อาหารทิพย์ที่ไหนจักมี จงไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจเธอ
(โกสิยดาบสสนทนากับนางหิรีเทพธิดาว่า)
[๒๕๔] ในที่สุดแห่งราตรี เมื่อยามรุ่งอรุณ
เทพธิดาผู้ปรากฏรูปพรรณอันอุดม
เธอปรากฏกับอาตมาเปรียบได้กับเทพธิดาผู้นั้น
โปรดบอกอาตมาเถิดว่า เธอเป็นเทพอัปสรชั้นไหน
[๒๕๕] เธอนั้นเป็นใคร เหมือนเถาวัลย์ดำในฤดูร้อน
เหมือนเปลวเพลิง เหมือนดอกไม้มีกลีบสีแดง
ที่โอนเอนไปมาเพราะถูกลมพัด
คล้ายแม่เนื้อตัวเซื่องซึมกำลังชะเง้อมอง
ดูเหมือนมีความประสงค์จะกล่าว แต่ก็ไม่เปล่งวาจา
(หิรีเทพธิดากล่าวว่า)
[๒๕๖] ดิฉันชื่อหิรีเทวี ได้รับการบูชาจากหมู่มนุษย์
มีปกติไม่คบหาสัตว์ผู้มีใจชั่วทุกเมื่อ
มายังสำนักของพระคุณเจ้าเพราะทะเลาะกันด้วยเรื่องอาหารทิพย์
ดิฉันไม่อาจจะขอแม้อาหารทิพย์ได้
สำหรับหญิง การขอเป็นเหมือนการเปิดเผยอวัยวะที่น่าละอาย
(โกสิยดาบสครั้นได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๒๕๗] แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างอันงดงาม
เธอจักได้ตามธรรม ตามเหตุ เพราะว่าอาหารทิพย์
ใคร ๆ จะได้เพราะการขอหามิได้ นี้เป็นธรรมเนียม
เพราะฉะนั้น อาตมาพึงเชื่อเธอผู้ไม่ขอ
เธอปรารถนาอาหารทิพย์ใด
อาตมาจะให้แม้อาหารทิพย์นั้นแก่เธอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๕๘] แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างประดุจหุ่นทองคำ
วันนี้ อาตมาขอเชิญเธอในอาศรมของอาตมา
ขอบูชาเธอด้วยรสทุกชนิด แม้อาหารทิพย์นั้น
อาตมาครั้นบูชาเธอแล้วจึงจักบริโภค
(พระบรมศาสดาตรัสพระคาถาต่อไปว่า)
[๒๕๙] หิรีเทวีเทพธิดานั้นได้รับอนุมัติอย่างแน่นอน
จากโกสิยดาบสผู้มีอานุภาพรุ่งเรือง
จึงได้เข้าไปยังอาศรมอันน่ารื่นรมย์
มีน้ำมีผลไม้อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้ว
เป็นสถานที่ที่สัตว์ผู้มีใจชั่วไม่เข้าไปคบหาทุกเมื่อ
[๒๖๐] ณ ที่ใกล้อาศรมนี้มีหมู่ไม้นานาชนิด
ผลิดอกออกผลจำนวนมาก คือ
มะม่วง มะหาด ขนุน ทองกวาว มะรุม
อีกทั้งโลดทะนง บัวบก การะเกด จันทน์กระพ้อ
และหมากหอมก็ผลิดอกบานสะพรั่ง
[๒๖๑] ในป่านี้มีต้นไม้จำนวนมาก คือ
สาละ กุ่ม หว้า โพธิ ไทร มะซาง โศก
ราชพฤกษ์ แคฝอย ย่านทราย จิก และลำเจียก
มีกลิ่นหอมหวลน่ายวนใจ
[๒๖๒] ถั่วแระ อ้อยแขม ถั่วป่า มะพลับ ข้าวฟ่าง ลูกเดือย
ถั่วเหลืองเมล็ดเล็ก กล้วยมีเมล็ด กล้วยไม่มีเมล็ด
ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ราชดัด และข้าวสาร
ก็มีจำนวนมากในอาศรมนี้
[๒๖๓] อนึ่ง ด้านเหนือแห่งอาศรมนี้มีสระโบกขรณีเกิดขึ้นเอง
น่าเกษมสำราญ น้ำไม่ขุ่น มีท่าราบเรียบ
น้ำใสสะอาด จืดสนิทดี ไม่มีกลิ่นปฏิกูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๖๔] ในสระโบกขรณีนั้นมีปลานานาชนิด คือ
ปลาดุก ปลากระทุงเหว ปลากราย กุ้ง
ปลาตะเพียน ปลาสลาด และปลากา
ต่างพากันแหวกว่ายเกลื่อนกลาดอยู่ในสระที่มีขอบคัน
อย่างร่าเริงเกษมสำราญ ทั้งมีอาหารมากมาย
[๒๖๕] ที่สระโบกขรณีนั้นมีนกนานาชนิด คือ
หงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจักรพราก
นกออก นกดุเหว่า นกที่มีปีกสวยงาม
นกมีหงอน และนกโพระดกจำนวนมากมาย
ต่างพากันร่าเริงเกษมสำราญ ทั้งมีอาหารมากมาย
[๒๖๖] ฝูงเนื้อนานาชนิดจำนวนมาก คือ
สิงโต เสือโคร่ง ช้าง หมี หมาป่า และเสือดาว
ต่างพากันมาดื่มน้ำที่สระโบกขรณีนั้น
[๒๖๗] ณ ที่นั้นมีทั้งแรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง
เนื้อทราย หมูป่า ระมาด หมูบ้าน ชะมด เสือปลา
กระต่าย และวัวกระทิงเป็นจำนวนมาก
[๒๖๘] ภาคพื้นและขุนเขาดารดาษไปด้วยดอกไม้อันงามวิจิตร
กึกก้องระงมไปด้วยเสียงฝูงนกขานขัน
เป็นสถานที่ฝูงนกอยู่อาศัย
(พระบรมศาสดาเพื่อจะทรงแสดงอาการที่หิรีเทพธิดาเข้าไปในอาศรมนั้น จึง
ตรัสว่า)
[๒๖๙] เทพธิดานั้นผู้มีผิวพรรณงดงาม ทัดทรงดอกไม้สีเขียว
เยื้องกรายเข้าไปยังอาศรม
ประดุจสายฟ้าในระหว่างกลุ่มมหาเมฆ
โกสิยดาบสได้จัดตั้งเก้าอี้ที่ทำด้วยหญ้าคา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
มีพนักถักไว้อย่างดี สะอาด มีกลิ่นหอม
ปูลาดด้วยหนังสัตว์เพื่อเทพธิดานั้น
แล้วได้กล่าวคำนี้กับหิรีเทวีเทพธิดาว่า
เชิญนั่งให้สบายเถิด แม่โฉมงาม นี่อาสนะ
[๒๗๐] ในกาลนั้น เมื่อนางหิรีเทวีนั้นนั่งบนเก้าอี้แล้ว
โกสิยมหามุนีผู้สวมชฎาและหนังเสือเหลือง
ได้รีบนำอาหารทิพย์พร้อมกับใช้ใบบัวสดตักน้ำมา
เพื่อนางเทพธิดาผู้ปรารถนาตามความต้องการด้วยตนเอง
[๒๗๑] หิรีเทวีเทพธิดานั้นมีใจเบิกบาน
ประคองรับอาหารทิพย์นั้นด้วยมือทั้ง ๒
แล้วได้กล่าวกับโกสิยดาบสผู้เกล้าชฎาว่า
เอาเถิด พระมุนีผู้ประเสริฐ บัดนี้
ดิฉันเป็นผู้ที่พระคุณเจ้ายอมบูชา ได้รับชัยชนะแล้ว
จะพึงกลับไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทิพย์
[๒๗๒] เทพธิดานั้นผู้มัวเมาแล้วด้วยความมัวเมาในผิวพรรณ
อันโกสิยดาบสผู้มีอานุภาพรุ่งเรืองอนุญาตแล้ว
ได้ไปในสำนักของท้าวสหัสสนัยน์แล้วกราบทูลว่า
ข้าแต่ท้าววาสวะ นี้อาหารทิพย์
ขอพระองค์ทรงประทานชัยชนะให้แก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า
[๒๗๓] แม้ท้าวสักกะก็ได้ทรงบูชาหิรีเทวีเทพธิดานั้น
ในกาลนั้น เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์
ต่างพากันบูชานางสุรกัญญาผู้สูงสุด
เทพธิดานั้นเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประนมมือบูชา
ในกาลที่ตนเข้าไปนั่งเก้าอี้ตัวใหม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงทำข้อความนั้นให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสว่า)
[๒๗๔] ท้าวสหัสสนัยน์ผู้เป็นจอมแห่งเทพชั้นไตรทศ
ได้ตรัสกับมาตลีเทพสารถีนั้นอีกว่า
ท่านจงไปถามโกสิยฤๅษีตามคำของเราว่า
ข้าแต่ท่านโกสิยะ เว้นเทพธิดาอาสา เทพธิดาสัทธา
และเทพธิดาสิรีเสีย เทพธิดาหิรีผู้เดียว
ได้อาหารทิพย์แล้วเพราะเหตุไร
[๒๗๕] มาตลีเทพสารถีได้ขึ้นสู่เวชยันตราชรถอันรุ่งเรือง
เช่นกับเครื่องอุปกรณ์ มีหงอนอันสำเร็จด้วยทองชมพูนุท
โชติช่วงดุจดวงตะวัน ประดับตบแต่งอย่างงดงาม
มีประกายวิจิตรดังทองคำเลื่อนลอยไปได้โดยสะดวกสบาย
[๒๗๖] ณ ราชรถนี้มีรูปดวงจันทร์ รูปช้าง รูปโค รูปม้า รูปกินนร
รูปเสือโคร่ง รูปเสือเหลือง รูปเนื้อทรายทำด้วยทองคำ
ประชุมกันมากมาย มีรูปนกทำท่าทางโผบินอยู่ในราชรถนี้
รูปมฤคาทำด้วยแก้วไพฑูรย์ประชุมกันเป็นฝูง ๆ ในราชรถนี้
[๒๗๗] ที่ราชรถนั้น เทพบุตรทั้งหลายได้เทียมอัศวราชที่มีผิวกาย
คล้ายทองคำ มีพลังเช่นกับช้างหนุ่มประมาณ ๑,๐๐๐ เชือก
ประดับตบแต่งแล้ว มีเครื่องประดับอกคือข่ายทองคำ
มีพู่ห้อยหูทั้ง ๒ ข้าง วิ่งไปได้ด้วยเสียงรวดเร็วไม่ติดขัด
[๒๗๘] มาตลีเทพสารถีขึ้นสู่ราชยานอันประเสริฐนั้น
ได้บันลือไปตลอดทิศทั้ง ๑๐ เหล่านี้
ยังท้องฟ้า ภูเขา ต้นไม้ใหญ่อันเป็นเจ้าแห่งป่าในไพรสณฑ์
และแผ่นดินพร้อมทั้งสมุทรสาครให้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น
[๒๗๙] มาตลีเทพสารถีนั้นได้ไปถึงอาศรมโดยเร็วพลัน
กระทำผ้าปาวารเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ประนมมือแล้วได้กล่าวกับโกสิยเทวพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต
มีคุณอันเจริญ มีวัตรอันฝึกฝนดีแล้วว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๘๐] ท่านโกสิยะ ขอพระคุณเจ้าจงสดับถ้อยคำของพระอินทร์
ข้าพเจ้าเป็นทูต ท้าวปุรินททะตรัสถามพระคุณเจ้าว่า
(ท่านโกสิยะ) เว้นพระนางอาสาเทวี
พระนางสัทธาเทวี และพระนางสิรีเทวีเสีย
พระนางหิรีเทวีผู้เดียวได้อาหารทิพย์แล้วเพราะเหตุไร
(โกสิยดาบสฟังคำของมาตลีเทพบุตรนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๒๘๑] มาตลีเทพสารถี ก็พระนางสิรีเทวี
ปรากฏกับอาตมาว่าเป็นคนตาบอด
พระนางสัทธาเทวีเป็นคนไม่แน่นอน
ส่วนพระนางอาสาเทวีอาตมารู้ได้ว่าเป็นคนพูดจาเหลวไหล
แต่พระนางหิรีเทวีดำรงอยู่ในคุณอันประเสริฐ
(โกสิยดาบสเมื่อจะสรรเสริญคุณของหิรีเทพธิดานั้น จึงกล่าวว่า)
[๒๘๒] หญิงใด ๆ บางพวก คือ ๑. หญิงสาว
๒. หญิงที่โคตรตระกูลรักษา ๓. หญิงหม้าย
๔. หญิงมีสามี เหล่านี้รู้ฉันทราคะของตนที่เกิดขึ้นอย่างแรงกล้า
ในบุรุษทั้งหลายแล้วหักห้ามจิตของตนเสียได้ด้วยหิริ
[๒๘๓] เมื่อเหล่านักรบผู้พ่ายแพ้ในสงคราม
ที่กำลังสู้รบด้วยลูกศรและหอก
บางพวกกำลังล้มตาย บางพวกกำลังหนีไป
นักรบเหล่าใดสละชีวิตแล้วย่อมหวนกลับมาด้วยความละอาย
นักรบผู้มีความละอายใจเหล่านั้น
จึงกลับมารับใช้เจ้านายได้อีก (กล้าสู้หน้าเจ้านาย)
[๒๘๔] ก็หิรีเทวีเทพธิดานี้มีปกติห้ามชนผู้มีใจบาปเพราะมีหิริ
เปรียบเหมือนทำนบมีปกติกั้นกระแสแห่งสาคร
เทพสารถี เพราะเหตุนั้น ท่านจงกราบทูลหิรีเทวีเทพธิดา
ซึ่งท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้วในโลกทั้งปวงนั้นให้พระอินทร์ทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(มาตลีเทพบุตรได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๒๘๕] ท่านโกสิยดาบส พระพรหมก็ตาม
พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ก็ตาม ท้าวปชาบดีก็ตาม
ใครเล่าจะหยั่งถึงความเห็นของพระคุณเจ้านี้ได้
พระคุณเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ก็พระธิดาของพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่เกิดได้รับยกย่องว่า
ประเสริฐสุดในหมู่เทพเพราะมีหิริ
(มาตลีเทพบุตรประสงค์จะนำโกสิยดาบสไปยังเทวโลก จึงกล่าวว่า)
[๒๘๖] เชิญเถิด เชิญพระคุณเจ้ามาขึ้นรถเหาะไป
สู่สวรรค์ชั้นไตรทศ ณ บัดนี้เถิด
รถคันนี้น่าพอใจพระคุณเจ้าผู้มีโคตรเสมอกับพระอินทร์
แม้พระอินทร์ก็ทรงจำนงหวังพระคุณเจ้าอยู่
ขอพระคุณเจ้าจงถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์ในวันนี้เถิด
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๒๘๗] สัตว์ทั้งหลายที่ไม่ทำบาปย่อมหมดจดด้วยอาการอย่างนี้
อนึ่ง ผลกรรมที่ประพฤติดีแล้วจะไม่สูญหาย
สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งได้เห็นอาหารทิพย์
สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดได้ถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์
[๒๘๘] หิรีเทวีเทพธิดาคือพระอุบลวรรณาเถรี
โกสิยฤๅษีคือภิกษุทานบดี
ปัญจสิขเทพบุตรคืออนุรุทธเถระ
ส่วนมาตลีเทพสารถีคือพระอานนทเถระ
[๒๘๙] สุริยเทพบุตรคือพระมหากัสสปเถระ
จันทเทพบุตรคือพระมหาโมคคัลลานเถระ
นารทดาบสคือพระสารีบุตรเถระ
ส่วนท้าวสักกะคือตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้แล
สุธาโภชนชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)
ว่าด้วยนกดุเหว่า
เล่ากันมาอย่างนี้ ได้ฟังตามกันมาอย่างนี้ว่า ที่ประเทศหิมพานต์อันทรงไว้ซึ่ง
แผ่นดินมีโอสถทุกชนิด ดารดาษไปด้วยดอกไม้และพวงดอกไม้มากมายหลายชนิด
เป็นที่สัญจรไปมาแห่งช้าง โคลาน กระบือ กวาง จามรี เนื้อฟาน แรด ระมาด สิงโต
เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาป่า เสือดาว นาก ชะมด เสือปลา กระต่าย
วัวกระทิง เป็นที่อาศัยแห่งโขลงช้างใหญ่และช้างพลายตระกูลมหานาค เกลื่อนกล่น
อยู่ทั่วปริมณฑลอันราบเรียบ มีค่าง ลิง อีเห็น ละมั่ง เนื้อสมัน อีเก้ง ยักษิณี
หน้าลา กินนร ยักษ์ และรากษสอาศัยอยู่ร่วมกัน ดารดาษไปด้วยหมู่ไม้มากมาย
หลายพันธุ์มีทั้งดอกยังตูม ทั้งกำลังออกช่อ ทั้งดอกที่บานสะพรั่ง และดอกที่บาน
ตลอดยอด มีฝูงนกเขา นกโพระดก นกหัสดีลิงค์ นกยูง นกดุเหว่า นกยาง นกกระสา
ส่งเสียงร้องกึกก้องระงมไพร เป็นภูมิประเทศประดับแน่นไปด้วยแร่ธาตุหลายร้อย
ชนิดเป็นต้นว่าอัญชัน มโนศิลา หรดาล มหาหิงคุ์ ทอง เงิน และทองคำ ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนกดุเหว่าตัวหนึ่งชื่อ
กุณาละ อาศัยอยู่ เป็นนกที่สวยงาม มีขนและปีกงดงามยิ่งนัก
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า นกดุเหว่าตัวนั้นมีนางนกดุเหว่าเป็นนางบำเรอ
ถึง ๓,๕๐๐ ตัว ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกดุเหว่า ๒ ตัวใช้
ปากคาบท่อนไม้ให้นกกุณาละนั้นจับตรงกลาง พาบินไปด้วยประสงค์ว่า “ความ
เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการเดินทางไกลอย่าได้เบียดเบียนนกกุณาละนั้นเลย” นาง
นกดุเหว่า ๕๐๐ ตัวบินอยู่ข้างล่างด้วยประสงค์ว่า “ถ้านกกุณาละนี้พลัดตกจากคอน
พวกเราจักใช้ปีกประคองรับไว้”
นางนก ๕๐๐ ตัวบินอยู่ข้างบนด้วยประสงค์ว่า “แสงแดดอย่าได้แผดเผานก
กุณาละนั้นเลย”
นางนกฝูงละ ๕๐๐ ตัวบินขนาบอยู่ทั้ง ๒ ข้างด้วยประสงค์ว่า “ความหนาว
ก็ตาม ความร้อนก็ตาม หญ้าก็ตาม ละอองก็ตาม ลมก็ตาม น้ำค้างก็ตาม อย่า
ได้ถูกต้องนกกุณาละนั้นเลย”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
นางนก ๕๐๐ ตัวบินอยู่ข้างหน้าด้วยประสงค์ว่า “คนเลี้ยงโคก็ตาม คนเลี้ยง
สัตว์ก็ตาม คนหาบหญ้าก็ตาม คนหาฟืนก็ตาม คนทำงานในป่าก็ตาม อย่าได้ใช้
ดุ้นฟืน กระเบื้อง ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา หรือก้อนกรวด ทำร้ายนก
กุณาละนั้นเลย นกกุณาละนี้อย่าได้กระทบกอไม้ เถาวัลย์ ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน
และพวกนกที่มีกำลังกว่าเลย”
นางนก ๕๐๐ ตัวบินประกบอยู่ข้างหลัง เปล่งเสียงอันไพเราะ อ่อนหวาน
เพราะพริ้ง จับใจ ด้วยประสงค์ว่า “นกกุณาละนี้อย่าได้เงียบเหงาอยู่บนคอนเลย”
นางนก ๕๐๐ ตัวพากันบินไปยังทิศต่าง ๆ นำเอาผลไม้ชนิดต่าง ๆ จากต้นไม้
หลายชนิดมาด้วยประสงค์ว่า “นกกุณาละนี้อย่าได้ลำบากเพราะความหิวเลย”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกดุเหว่าเหล่านั้นพาเอานกกุณาละ
นั้นจากสวนดอกไม้ไปยังสวนดอกไม้ จากอุทยานไปยังอุทยาน จากท่าน้ำไปยังท่าน้ำ
จากยอดเขาไปยังยอดเขา จากสวนมะม่วงไปยังสวนมะม่วง จากสวนต้นหว้าไปยัง
สวนต้นหว้า จากสวนขนุนสำปะลอไปยังสวนขนุนสำปะลอ จากสวนมะพร้าวไปยัง
สวนมะพร้าวโดยเร็วพลัน ก็พากันมีความยินดี
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นกกุณาละผู้มีนางนกเหล่านั้น
ห้อมล้อมอยู่ตลอดวัน ก็ยังด่าอย่างนี้ว่า “ถอยออกไป พวกเจ้าอีนกถ่อย พวกเจ้า
จงฉิบหาย อีถ่อย อีโจร อีนักเลง อีเผอเรอ อีใจเบา อีเนรคุณคน อีตามใจตน
เองเหมือนลม๑”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ด้านทิศตะวันออกแห่งภูเขาหิมพานต์
นั้นแล มีแม่น้ำที่เกิดแต่ภูเขาอันสุขุมละเอียดอ่อน มีสีเขียว ไหลบ่าออกมา เป็น

เชิงอรรถ :
๑ ถ่อย หมายถึงชั่ว เลว ทราม โจร ในที่นี้หมายถึงเป็นตัวล้างผลาญทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้นในเรือน
นักเลง ในที่นี้หมายถึงเป็นสัตว์มีมายามาก เผอเรอ หมายถึงเสียสติ ใจเบา หมายถึงมีใจไม่มั่นคง
เนรคุณคน ในที่นี้หมายถึงเป็นส้ตว์ก่อความพินาศ เพราะประทุษร้ายมิตร ตามใจตนเองเหมือนลม
หมายถึงไปตามชอบใจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๑๗-๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ภูมิประเทศที่สมควรรื่นรมย์ใจ ชื่นใจ ด้วยกลิ่นหอมแห่งดอกอุบล ดอกปทุม ดอกโกมุท
ดอกบัวขาว ดอกสัตบุศย์ ดอกจงกลนี และดอกบัวเผื่อน ซึ่งงอกงามขึ้นในบัดนั้น
เป็นดังป่าหมู่ไม้นานาพันธุ์ คือ ต้นโกฐคำ ต้นจิก ต้นลำเจียก ต้นย่านทราย
ต้นอ้อยช้าง ต้นบุนนาค ต้นพิกุล ต้นหมากหอม ต้นประดู่ ต้นขมิ้น ต้นรัง
ต้นสน ต้นจำปา ต้นอโศก ต้นกากะทิง ต้นหงอนไก่ ต้นเสม็ด ต้นโลดทะนง และต้น
จันทน์แดง เป็นป่าชัฏที่ดาษดื่นไปด้วยต้นกฤษณาดำ ต้นบัวบก ต้นประยงค์ ต้น
เทพพารุ และต้นกล้วย เป็นภูมิภาคที่สะพรั่งไปด้วยพวงช่อดอกไม้แห่งต้นรกฟ้า
ต้นอัญชัน ต้นปรู ต้นสัก ต้นคนทีสอ ต้นกรรณิการ์ ต้นหางช้าง ต้นคัดเค้า
ต้นทองหลาง ต้นทองกวาว ต้นโยธกา ต้นมะลิป่า ต้นหงอนไก่ อันปราศจากมลทิน
ไม่มีโทษ และต้นขานางอันสวยงามยิ่ง อันดารดาษไปด้วยพุ่มและกอแห่งต้นมะลิซ้อน
ต้นนมแมว ต้นแคธนู ต้นเปราะหอม ต้นกฤษณา และต้นแฝกหอม เป็นประเทศ
ที่ดารดาษประดับไปด้วยเครือเถาดอกไม้ที่เบ่งบานสวยงามน่าพอใจยิ่งนัก มีฝูงหงส์
นกนางนวล นกกาน้ำ และนกเป็ดน้ำส่งเสียงกึกก้องร้องระงม เป็นที่สถิตอยู่แห่ง
หมู่วิทยาธร นักสิทธิ์ สมณะ และดาบส เป็นประเทศที่สัญจรไปมาเป็นอาจิณแห่ง
หมู่เทพยดา ยักษ์ รากษส ทานพ คนธรรพ์ กินนร และพญานาค
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนก
ดุเหว่าขาวอีกตัวหนึ่งชื่อปุณณมุขะ อาศัยอยู่ มีสำเนียงไพเราะยิ่งนัก มีนัยน์ตางดงาม
มีดวงตาแดงเหมือนคนเมา
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นแลมีนางนก
เป็นบริวาร ๓๕๐ ตัว ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนก ๒ ตัวใช้ปากคาบท่อนไม้ให้
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นจับตรงกลาง พาบินไปด้วยประสงค์ว่า “ความเหน็ด
เหนื่อยเมื่อยล้าในการเดินทางไกลอย่าได้เบียดเบียนปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย”
นางนก ๕๐ ตัวบินอยู่ข้างล่างด้วยประสงค์ว่า “ถ้าปุณณมุขนกดุเหว่าขาวน
ี้พลัดตกจากคอน พวกเราจักใช้ปีกประคองรับไว้”
นางนก ๕๐ ตัวบินอยู่ข้างบนด้วยประสงค์ว่า “แสงแดดอย่าได้แผดเผา
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
นางนกฝูงละ ๕๐ ตัวบินขนาบอยู่ทั้ง ๒ ข้างด้วยประสงค์ว่า “ความหนาว
ก็ตาม ความร้อนก็ตาม หญ้าก็ตาม ละอองก็ตาม ลมก็ตาม น้ำค้างก็ตาม อย่าได้
ถูกต้องปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย”
นางนก ๕๐ ตัวบินอยู่ข้างหน้าด้วยประสงค์ว่า “คนเลี้ยงโคก็ตาม คนเลี้ยง
สัตว์ก็ตาม คนหาบหญ้าก็ตาม คนหาฟืนก็ตาม คนทำงานในป่าก็ตาม อย่าได้ใช้
ดุ้นฟืน กระเบื้อง ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา หรือก้อนกรวดทำร้าย
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้อย่าได้กระทบกอไม้ เถาวัลย์
ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน และพวกนกที่มีกำลังกว่าเลย”
นางนก ๕๐ ตัวบินประกบอยู่ข้างหลัง เปล่งเสียงอันไพเราะ อ่อนหวาน
เพราะพริ้ง จับใจ ด้วยประสงค์ว่า “ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้ อย่าเงียบเหงาอยู่
บนคอนเลย”
นางนก ๕๐ ตัวพากันบินไปยังทิศต่าง ๆ นำเอาผลไม้ชนิดต่าง ๆ จากต้นไม้
หลายชนิดมาด้วยประสงค์ว่า “ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้อย่าได้ลำบากเพราะความ
หิวเลย”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกเหล่านั้นพาเอาปุณณมุขนก
ดุเหว่าขาวนั้นจากสวนดอกไม้ไปยังสวนดอกไม้ จากอุทยานไปยังอุทยาน จากท่า
น้ำไปยังท่าน้ำ จากยอดเขาไปยังยอดเขา จากสวนมะม่วงไปยังสวนมะม่วง จากสวน
ต้นหว้าไปยังสวนต้นหว้า จากสวนขนุนสำปะลอไปยังสวนขนุนสำปะลอ จากสวน
มะพร้าวไปยังสวนมะพร้าวโดยเร็วพลัน ก็พากันมีความยินดี
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวผู้มีนางนก
เหล่านั้นห้อมล้อมอยู่ตลอดวัน จึงสรรเสริญอย่างนี้ว่า “ดีละ ดีละ แม่น้องหญิง
ทั้งหลาย การที่พวกเธอพึงปฏิบัติบำเรอภัสดา นั่นเป็นการสมควรแก่เธอทั้งหลาย
ผู้เป็นกุลธิดา”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ในกาลต่อมา ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวได้เข้า
ไปหาพญานกกุณาละจนถึงที่อยู่ พวกนางนกผู้เป็นนางบำเรอของพญานกกุณาละ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ได้เห็นปุณณมุขนกดุเหว่าขาวตัวนั้นกำลังบินมาแต่ไกล จึงพากันเข้าไปหาแล้ว
กล่าวว่า นกปุณณมุขะเพื่อนรัก นกกุณาละตัวนี้เป็นนกหยาบช้า มีวาจาหยาบ
คายเหลือเกิน ไฉนพวกข้าพเจ้าจะพึงได้วาจาอันน่ารักเพราะอาศัยท่านบ้าง นก
ปุณณมุขะจึงกล่าวตอบว่า “บางทีจะได้บ้าง น้องหญิงทั้งหลาย” แล้วจึงเข้าไปหา
นกกุณาละจนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว กล่าวสัมโมทนียกถากับนกกุณาละแล้ว
จับอยู่ ณ ที่สมควร ครั้นแล้วปุณณมุขนกดุเหว่าขาว จึงได้กล่าวกับนกกุณาละนั้นว่า
กุณาละเพื่อนเอ๋ย เพราะเหตุไร เพื่อนจึงปฏิบัติอย่างผิด ๆ ต่อนางนกผู้มีชาติเสมอกัน
เป็นกุลธิดาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเล่า กุณาละเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงทั้งหลาย
แม้จะพูดถ้อยคำที่ไม่น่าพอใจ บุคคลก็ควรจะพูดถ้อยคำที่น่าพอใจแก่พวกเธอ จะ
กล่าวไปไยถึงพวกหญิงที่พูดถ้อยคำที่น่าพอใจเล่า”
เมื่อนกปุณณมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว นกกุณาละได้รุกรานปุณณมุขนกดุเหว่าขาว
นั้นอย่างนี้ว่า “จงฉิบหาย จงพินาศเสียเถิดเจ้า เจ้าเพื่อนลามก เจ้าเพื่อนถ่อย
จะมีใครที่ฉลาดเหมือนผู้ปราบเมียได้เล่า”
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวถูกรุกรานอย่างนี้แล้วจึงได้กลับจากที่นั้น
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า โดยสมัยอื่นต่อมา โดยการล่วงไปไม่นานนัก
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวได้เกิดความไม่สบายอย่างหนักขึ้น ถ่ายเป็นเลือด เกิดเวทนา
กล้าแข็งปางตาย
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกทั้งหลายผู้เป็นนางบำเรอของ
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวได้มีความวิตกอย่างนี้ว่า ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้ไม่สบาย
หนักนัก ไฉนจะพึงหายจากความไม่สบายนี้ได้ จึงพากันละทิ้งไว้ตัวเดียวไม่มีเพื่อน
แล้วเข้าไปหานกกุณาละจนถึงที่อยู่
นกกุณาละได้เห็นนางนกเหล่านั้นกำลังโผบินมาแต่ไกล จึงได้กล่าวกับนางนก
เหล่านั้นอย่างนี้ว่า “นางนกถ่อยทั้งหลาย ผัวของพวกเจ้าไปไหนเสียเล่า”
“กุณาละเพื่อนเอ๋ย ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวไม่สบายหนักนัก ไฉนจะพึงหาย
จากความไม่สบายนั้นได้เล่า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
เมื่อนางนกเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นกกุณาละได้รุกรานนางนกเหล่านั้น
อย่างนี้ว่า “อีนกถ่อย พวกเจ้าจงฉิบหาย จงพินาศ อีถ่อย อีโจร อีนักเลง อีเผอเรอ
อีใจเบา อีเนรคุณคน อีตามใจตนเองเหมือนลม” ครั้นกล่าวแล้วจึงได้เข้าไปหา
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวจนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วจึงได้กล่าวกับปุณณมุขนก
ดุเหว่าขาวตัวนั้นอย่างนี้ว่า “ยังอยู่ดีหรือ ปุณณมุขะเพื่อน”
“ยังอยู่ดี กุณาละเพื่อน”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ลำดับนั้น นกกุณาละได้ใช้ปีกทั้ง ๒ และจะงอย
ปากประคองให้ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวตัวนั้นลุกขึ้นแล้วกรอกเภสัชต่างๆ ให้ดื่ม
ได้ยินว่า ครั้งนั้น ความไม่สบายของปุณณมุขนกดุเหว่าขาวตัวนั้นก็ระงับไป
แล้วแล
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ลำดับนั้น นกกุณาละได้กล่าวกับปุณณมุข
นกดุเหว่าขาวตัวหายจากไข้ซึ่งหายจากความป่วยไข้ไม่นานนั้นอย่างนี้ว่า “เราได้เห็นมา
แล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย เราได้เห็นนางกัณหา มีบิดา ๒ คน๑ มีผัว ๕ คน๒ ยังมี
จิตปฏิพัทธ์ในชายคนที่ ๖ ซึ่งเป็นคนเปลี้ย เหมือนผีหัวขาด ก็แลในเรื่องนี้ ยังมี
คำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า
[๒๙๐] ครั้งนั้น นางล่วงละเมิด (นอกใจ) สามีทั้ง ๕ คน
เหล่านี้ คือ ๑. ท้าวอัชชุนะ๓ ๒. ท้าวนกุละ
๓. ท้าวภีมเสน ๔. ท้าวยุธิฏฐิละ ๕. ท้าวสหเทพ
แล้วได้กระทำลามกกับชายเตี้ยค่อม

เชิงอรรถ :
๑ มีบิดา ๒ คน คือพระเจ้ากาสีและพระเจ้าโกศล พระเจ้ากาสีรบชนะพระเจ้าโกศล ได้ราชสมบัติและมเหสี
ผู้ทรงครรภ์มาด้วย พระองค์ได้ตั้งพระมเหสีนั้นให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ต่อมา พระนางประสูติพระ
ราชธิดาให้ชื่อว่า กัณหา (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๒๙-๓๒๘)
๒ มีผัว ๕ คน คือ ท้าวอัชชุนะเป็นต้น พระราชกุมารทั้ง ๕ เป็นโอรสของพระเจ้าปัณฑุราช จบการศึกษา
จากเมืองตักกสิลา เดินทางผ่านมาทางเมืองพาราณสี ถูกพระราชธิดากัณหาเสี่ยงพวงมาลัยเลือกเป็น
พระสวามีทั้ง ๕ พระองค์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๒๘)
๓ ท้าวอัชชุนะ เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (๘/๒๙๐/๓๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
เราได้เห็นมาแล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย นางสมณีชื่อปัญจตปาวี อาศัยอยู่
ท่ามกลางป่าช้า ยังพรตคือการอดอาหาร ๔ วันแล้วจึงจะบริโภคให้ผันแปรไป ได้
กระทำลามกกับนักเลงสุรา๑
เราได้เห็นมาแล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย พระเทวีนามว่ากากวดี อยู่ ณ ท่าม
กลางมหาสมุทร เป็นภรรยาของพญาครุฑนามว่าเวนเตยยะ๒ ได้กระทำลามกกับ
คนธรรพ์นามว่านฏกุเวร
เราได้เห็นมาแล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย เจ้าหญิงขนงามนามว่ากุรุงคเทวี
ผู้ทำให้เอฬิกกุมาร๓ มีความรักใคร่ ได้กระทำลามกกับฉฬังคกุมารเสนาบดีและ
ธนันเตวาสี
ความจริง เรื่องนั้นเราได้รู้มาอย่างนี้ พระมารดาของพระเจ้าพรหมทัตทรง
ทอดทิ้งพระเจ้าโกศลแล้วได้ทรงกระทำลามกกับปัญจาลจัณฑพราหมณ์๔
[๒๙๑] หญิงทั้ง ๕ คนเหล่านี้ก็ดี หญิงเหล่าอื่นก็ดี
ได้กระทำกรรมอันลามกแล้ว
เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วางใจ ไม่สรรเสริญหญิงทั้งหลาย
แผ่นดินคือภูมิเป็นที่เป็นไปแห่งเหล่าสัตว์
อันทรงไว้ซึ่งรัตนะต่าง ๆ
เป็นที่รองรับทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดี มีความยินดีเสมอกัน
ทนทานได้ทุกอย่าง ไม่ดิ้นรน ไม่โกรธ ฉันใด
หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น นรชนไม่ควรวางใจหญิงทั้งหลายเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ นักเลงสุรา เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๓๒)
๒ พญาครุฑ เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับกากวตีชาดก ชาดกที่ ๓๒๗ ใน
จตุกกนิบาต (เล่ม ๒๗/๑๐๕/๑๐๙) (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๓๒)
๓ เอฬิกกุมาร เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๓๕)
๔ ปัญจาลจัณฑพราหมณ์ เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๒๙๒] สิงโตซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย กินเลือดและเนื้อเป็นอาหาร
มีอาวุธ ๕ อย่าง๑ เป็นสัตว์หยาบช้า
ชอบในการเบียดเบียนสัตว์อื่น ข่มขี่สัตว์ทั้งหลายกินฉันใด
หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน๒
เพราะฉะนั้น นรชนไม่ควรวางใจหญิงทั้งหลายเหล่านั้น
ปุณณมุขะผู้สหาย นัยว่า หญิงทั้งหลายไม่ใช่หญิงแพศยา ไม่ใช่หญิงงามเมือง
ไม่ใช่หญิงคณิกา เพราะหญิงเหล่านั้นจะชื่อว่าเป็นหญิงบริสุทธิ์ก็ไม่ได้ ที่แท้ หญิง
เหล่านี้เป็นหญิงเพชฌฆาต
หญิงทั้งหลายโพกผมเหมือนพวกโจร มีพิษร้ายเหมือนสุราเจือยาพิษ พูด
โอ้อวดเหมือนพ่อค้า กลับกลอกบิดพลิ้วเหมือนนอแรด ลิ้นมีสองแฉกเหมือนงู
ปกปิดความชั่วเหมือนหลุมคูถ ให้เต็มได้ยากเหมือนบาดาล ให้ยินดีได้ยากเหมือน
นางรากษส นำไปส่วนเดียวเหมือนพญายม กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ พัดพา
ไปทุกอย่างเหมือนแม่น้ำ ประพฤติตามใจตนเองเหมือนลม ไม่กระทำอะไรให้วิเศษ
เหมือนภูเขาสิเนรุ ผลิตผลอยู่เป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ ก็ในเรื่องนี้ยังมีคำกล่าว
เป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า
[๒๙๓] หญิงทั้งหลายเหมือนโจร เหมือนสุรามีพิษร้าย
พูดโอ้อวดเหมือนพ่อค้า กลับกลอกบิดพลิ้วเหมือนนอแรด
มีลิ้นสองแฉกเหมือนงู
[๒๙๔] ปกปิดความชั่วเหมือนหลุมคูถ
ให้เต็มได้ยากเหมือนบาดาล
ให้ยินดีได้ยากเหมือนนางรากษส
นำไปส่วนเดียวเหมือนพญายม

เชิงอรรถ :
๑ อาวุธ ๕ อย่าง ได้แก่ ปาก ๑ และเท้าทั้ง ๔ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๒/๓๓๗)
๒ หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน หมายถึงใช้อาวุธ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จับ
บุรุษให้อยู่ในอำนาจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๒/๓๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๒๙๕] กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ พัดพาไปเหมือนแม่น้ำ
มีความประพฤติตามขอบเขตแห่งความใคร่เหมือนลม
ไม่มีความวิเศษอะไรเหมือนภูเขาสิเนรุ
ผลิตผลอยู่เป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ
หญิงทั้งหลายมักกระทำอันตรายแก่รัตนะทั้งหลาย
ยังโภคสมบัติในเรือนให้พินาศ
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ทรัพย์ ๔ อย่างเหล่านี้บัณฑิตไม่ควรให้อยู่ในสกุลอื่น คือ
๑. โคผู้ ๒. แม่โคนม ๓. ยานพาหนะ ๔. ภรรยา บัณฑิตไม่ควรให้ทรัพย์ทั้ง ๔
อย่างเหล่านี้พลัดพรากไปจากเรือน
[๒๙๖] ๑. โคผู้ ๒. แม่โคนม
๓. ยานพาหนะ ๔. ภรรยา
บัณฑิตไม่ควรให้อยู่ในสกุลแห่งญาติ
เพราะญาติทั้งหลายผู้ไม่มียานพาหนะจะใช้สอยรถ
จะฆ่าโคตัวผู้เพราะการใช้ลากเข็นจนเกินกำลัง
จะฆ่าลูกโคเพราะการรีดนมโค
และภรรยาจะประทุษร้าย (นอกใจ) ในสกุลแห่งญาติ
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ของ ๖ อย่างเหล่านี้ เมื่อมีกิจธุระเกิดขึ้นแล้ว ย่อมใช้
ประโยชน์อะไรไม่ได้ คือ

[๒๙๗] ๑. ธนูไม่มีสาย ๒. ภรรยาอยู่ในสกุลแห่งญาติ
๓. เรืออยู่ฝั่งโน้น ๔. ยานเพลาหัก
๕. มิตรอยู่แดนไกล ๖. เพื่อนชั่ว

เมื่อมีกิจธุระเกิดขึ้นแล้ว ย่อมใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงทั้งหลายย่อมดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘
ประการ คือ
๑. เพราะความเป็นคนจน
๒. เพราะความเป็นคนป่วยกระเสาะกระแสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
๓. เพราะความเป็นคนแก่ชรา
๔. เพราะความเป็นนักเลงสุรา
๕. เพราะความเป็นคนโง่เซอะ
๖. เพราะความเป็นคนมัวเมาในกามคุณ
๗. เพราะคล้อยตามกิจการงานทั้งปวง
๘. เพราะหาทรัพย์ทั้งปวงเพิ่มเติมไม่ได้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงทั้งหลายย่อมดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘ ประการ
เหล่านี้ ก็ในเรื่องนี้ ยังมีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า
[๒๙๘] หญิงย่อมดูหมิ่นสามี ๑. ผู้ยากจน
๒. ผู้ป่วยกระเสาะกระแสะ ๓. ผู้แก่ชรา
๔. ผู้เป็นนักเลงสุรา ๕. ผู้มัวเมาในกามคุณ
๖. ผู้เป็นคนโง่เซอะ ๗. ผู้โง่เขลาในกิจการงานทั้งปวง
๘. ผู้ย่อหย่อนเพราะหาทรัพย์ที่ให้ความใคร่ทั้งปวงเพิ่มเติมไม่ได้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้สามีด้วยเหตุ
๙ ประการ คือ
๑. ไปสวนดอกไม้เป็นประจำ
๒. ไปอุทยานเป็นประจำ
๓. ไปท่าน้ำเป็นประจำ
๔. ไปตระกูลญาติเป็นประจำ
๕. ไปตระกูลคนอื่นเป็นประจำ
๖. ส่องกระจกและประกอบการตบแต่งร่างกายด้วยเสื้อผ้าเป็น
ประจำ
๗. ชอบดื่มน้ำเมาเป็นประจำ
๘. เยื้องมองทางหน้าต่างเป็นประจำ
๙. ชอบยืนอวดทรวดทรงอยู่ที่ประตูเป็นประจำ
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้สามีด้วย
เหตุ ๙ ประการเหล่านี้ ก็ในเรื่องนี้ ยังมีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๒๙๙] ก็หญิงใด ๑. ไปสวนดอกไม้ ๒. ไปอุทยาน ๓. ไปท่าน้ำ
๔. ไปตระกูลญาติ ๕. ไปตระกูลคนอื่นเป็นประจำ
๖. ส่องกระจกและประกอบการตบแต่งร่างกายด้วยเสื้อผ้าเป็นประจำ
๗. ชอบดื่มน้ำเมาเป็นประจำ
[๓๐๐] ๘. เยื้องมองทางหน้าต่างเป็นประจำ
๙. ชอบยืนอวดทรวดทรงอยู่ที่ประตูเป็นประจำ
หญิงทั้งหลายเหล่านั้นย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้สามี
ด้วยเหตุ ๙ ประการเหล่านี้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการ คือ

๑. บิดกาย ๒. ก้มลง
๓. เยื้องกราย ๔. ทำละอาย
๕. เอาเล็บถูกัน ๖. เอาเท้าเหยียบกัน
๗. เอาไม้ขีดแผ่นดิน ๘. ให้เด็กกระโดด
๙. เล่นเอง ให้เด็กเล่น ๑๐. จูบเด็ก ให้เด็กจูบ
๑๑. บริโภคเอง ให้เด็กบริโภค ๑๒. ให้ของเด็ก
๑๓. ขอของเด็ก ๑๔. ทำตามที่เด็กกระทำ
๑๕. ทำเสียงสูง ๑๖. ทำเสียงต่ำ
๑๗. พูดเปิดเผย ๑๘. พูดปกปิด
๑๙. ทำซิกซี้ด้วยการฟ้อนรำ ๒๐. ด้วยการขับร้อง
๒๑. ด้วยการประโคมดนตรี ๒๒. ด้วยการร้องไห้
๒๓. ด้วยการกรีดกราย ๒๔. ด้วยการแต่งกาย
๒๕. จ้องมอง ๒๖. ส่ายสะเอว
๒๗. ส่ายของลับ ๒๘. เปิดขาอ่อน
๒๙. ปิดขาอ่อน ๓๐. เปิดถันให้ดู
๓๑. เปิดรักแร้ให้ดู ๓๒. เปิดสะดือให้ดู
๓๓. หลิ่วตา ๓๔. ยักคิ้ว
๓๕. เม้มปาก ๓๖. แลบลิ้น
๓๗. ทำผ้านุ่งหลุด ๓๘. กลับนุ่งผ้า
๓๙. สยายผม ๔๐. เกล้าผม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการ
เหล่านี้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงประทุษร้ายสามี บัณฑิตพึงทราบได้ด้วย
เหตุ ๒๕ ประการ คือ
๑. สรรเสริญการจากไปของสามี
๒. สามีจากไปแล้วไม่ระลึกถึง
๓. สามีกลับมาก็ไม่ยินดี
๔. พูดติเตียนสามี
๕. ไม่พูดสรรเสริญสามี
๖. ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสามี
๗. ไม่ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสามี
๘. กระทำกิจอันไม่สมควรต่อสามี
๙. ไม่กระทำกิจอันสมควรต่อสามี
๑๐. นอนคลุมโปง
๑๑. นอนหันหลังให้
๑๒. นอนพลิกไปพลิกมาเป็นโกลาหล
๑๓. ทอดถอนหายใจยาว
๑๔. นอนกระสับกระส่ายเป็นทุกข์
๑๕. ไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะบ่อย ๆ
๑๖. ประพฤติตรงข้าม
๑๗. ได้ยินเสียงชายอื่นเงี่ยหูฟัง
๑๘. ล้างผลาญโภคทรัพย์
๑๙. ทำความสนิทสนมกับชายบ้านใกล้เรือนเคียง
๒๐. ชอบออกนอกบ้าน
๒๑. ชอบเที่ยวตามตรอกซอกซอย
๒๒. ประพฤตินอกใจ ไม่เคารพสามี คิดประทุษร้ายอยู่เป็นนิตย์
๒๓. ยืนอยู่ที่ประตูเนือง ๆ
๒๔. เปิดรักแร้ อวัยวะและถันให้ดู
๒๕. เที่ยวสอดส่องเพ่งมองไปยังทิศต่าง ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงประทุษร้ายสามี บัณฑิตพึงทราบได้ด้วย
เหตุ ๒๕ ประการเหล่านี้ ก็ในเรื่องนี้ ยังมีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า
[๓๐๑] ๑. สรรเสริญการจากไปของสามี
๒. ไม่โศกเศร้าถึงการจากไปของสามี
๓. เห็นสามีกลับมาไม่ยินดี
๔. ไม่เคยกล่าวคำสรรเสริญสามีสักคราวเดียว
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๒] ๕. ไม่มีความสำรวม ประพฤติแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสามี
๖. ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสามีให้เสื่อมสูญ
๗. กระทำกิจอันไม่สมควรต่อสามี
๘. นอนคลุมโปง ๙. นอนหันหลังให้
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๓] ๑๐. นอนพลิกไปพลิกมาเป็นโกลาหล
๑๑. ถอนหายใจยาว
๑๒. นอนกระสับกระส่ายเป็นทุกข์
๑๓. ไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะบ่อย ๆ
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๔] ๑๔. ประพฤติตรงข้าม
๑๕. ไม่กระทำกิจอันสมควรต่อสามี
๑๖. เมื่อชายอื่นพูดเงี่ยหูฟัง
๑๗. ล้างผลาญโภคทรัพย์
๑๘. กระทำความเชยชมกับชายชู้
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๕] ๑๙. ทำทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่สามีหามาได้ด้วยความลำบาก
หามาได้ด้วยความฝืดเคือง
เก็บรวบรวมสะสมไว้ด้วยความยากให้พินาศ
๒๐. ทำความสนิทสนมกับชายบ้านใกล้เรือนเคียง
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๐๖] ๒๑. ชอบออกนอกบ้าน ชอบเที่ยวตามตรอกซอกซอย
๒๒. ประพฤตินอกใจ ไม่เคารพสามี คิดประทุษร้ายอยู่เป็นนิตย์
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๗] ๒๓. ยืนอยู่ใกล้ประตูเนือง ๆ
๒๔. เปิดถันและรักแร้ให้เห็น
๒๕. มีจิตพลุกพล่านเพ่งมองไปยังทิศต่าง ๆ
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๘] แม่น้ำทุกสายไหลไปคดเคี้ยว
ป่าไม้ทุกแห่งล้วนดาษดื่นไปด้วยต้นไม้
หญิงทั้งปวงพึงกระทำความชั่ว
เมื่อได้โอกาสหรือที่ลับ
[๓๐๙] ถ้าว่า พึงได้โอกาสหรือที่ลับ
หรือว่าพึงได้สถานที่ปิดบังเช่นนั้น
หญิงทั้งปวงพึงกระทำความชั่วแน่นอน
ไม่ได้ชายอื่นที่สมบูรณ์
ก็พึงกระทำกับชายง่อยเปลี้ย
[๓๑๐] ก็ในบรรดานารีที่หลายใจ ไม่มีใครข่มขี่ได้
ผู้สร้างความอภิรมย์ยินดีให้แก่ชายทั้งหลาย
แม้หากเธอผู้ใดจะไม่พึงกระทำความปลื้มใจในที่ทั้งปวง
บัณฑิตก็ไม่ควรวางใจ เพราะนารีเปรียบเสมอท่าน้ำ
[๓๑๑] ก็บัณฑิตเห็นเหตุการณ์ของเจ้ากินนรี
และพระนางกินนราเทวีแล้วพึงทราบเถิดว่า
หญิงทั้งปวงจะยินดีในเรือนของสามีเท่านั้นก็หาไม่
พระนางกินนราเทวีได้เห็นชายอื่น ถึงเป็นคนง่อยเปลี้ย
ก็ยังทรงทอดทิ้งคนเช่นกับเจ้ากินนรีนั้นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๑๒] พระมเหสีของพระเจ้าพกะและพระเจ้าพาวริยะ
ผู้ทรงหมกมุ่นในกามจนเกินไป
ได้ทรงประพฤติอนาจารกับคนใช้ใกล้ชิด
ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนา
ชายคนอื่นนั้น ใครหรือหญิงจะไม่พึงประพฤตินอกใจด้วย
[๓๑๓] พระนางปิงคิยานี ผู้เป็นพระมเหสีสุดที่รัก
ของพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
ได้ทรงประพฤติอนาจารกับคนเลี้ยงม้า
ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนา
นางผู้มีความใคร่ในกามไม่ได้ประสบความใคร่ทั้ง ๒ แม้นั้น
[๓๑๔] บุรุษผู้ไม่ถูกผีสิง ไม่ควรจะเชื่อถือหญิงทั้งหลาย
ผู้หยาบช้า ใจเบา ไม่รู้คุณคน มักประทุษร้ายมิตรเลย
[๓๑๕] หญิงเหล่านั้นไม่รู้อุปการะที่คนอื่นกระทำแล้วแก่ตน
ไม่รู้กิจที่ตนควรกระทำ ไม่รู้จักมารดาบิดาหรือพี่น้อง
เป็นผู้ไม่ประเสริฐ ล่วงละเมิดธรรมอยู่เสมอ
เป็นไปตามอำนาจจิตของตนอย่างเดียว
[๓๑๖] สามีสุดที่รัก ที่น่าพอใจ แม้อยู่ด้วยกันมานาน
เป็นผู้อนุเคราะห์ แม้เสมอเหมือนกับชีวิต
พวกนางยังพากันทอดทิ้งไปได้ในคราวเกิดอันตราย
และในคราวมีกิจจะต้องกระทำ
เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วางใจหญิงทั้งหลาย
[๓๑๗] เพราะว่าจิตของหญิงทั้งหลายเหมือนจิตของวานร
ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เหมือนเงาต้นไม้
ดวงใจของหญิงทั้งหลายนั้นหวั่นไหวไปมา
กลับกลอกเหมือนกงล้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๑๘] เมื่อใด พวกเธอเมื่อเพ่งเล็งเห็นทรัพย์
ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้
เมื่อนั้น พวกเธอจะใช้วาจาอันอ่อนหวานชักพาเอาบุรุษนั้นไป
เหมือนชาวกัมโพชะใช้สำรับลวงม้า๑
[๓๑๙] เมื่อใด พวกเธอเมื่อเพ่งเล็งไม่เห็นทรัพย์
ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้
เมื่อนั้น พวกเธอจะเหินห่างทอดทิ้งบุรุษนั้นไปทุกด้าน
เหมือนคนข้ามฝั่งพอถึงฝั่งแม่น้ำแล้ว
ก็ละทิ้งแพสำหรับข้ามไป
[๓๒๐] จริงอยู่ หญิงทั้งหลายเหล่านั้นอุปมาได้กับสิ่งผูกพัน
กินทุกอย่างเหมือนไฟ
มีมายากล้าแข็งเหมือนแม่น้ำที่มีกระแสไหลเชี่ยว
ย่อมคบหาได้ทั้งชายที่เป็นคนรัก และไม่ใช่คนรัก
เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
[๓๒๑] หญิงเหล่านั้นมิใช่เป็นสมบัติชายคนเดียวหรือสองคน
เหมือนร้านตลาดที่แบของวางขาย
ชายใดพึงสำคัญหญิงเหล่านั้นว่าเป็นของเรา
ชายนั้นชื่อว่าดักลมด้วยตาข่าย
[๓๒๒] ๑. แม่น้ำ ๒. ทางเดิน ๓. ร้านเครื่องดื่ม
๔. สภา ๕. บ่อน้ำ เป็นฉันใด
ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายในโลกนี้ก็ฉันนั้น
ขอบเขตย่อมไม่มีสำหรับพวกเธอ

เชิงอรรถ :
๑ ใช้สำรับลวงม้า หมายถึงชาวกัมโพชะต้องการม้าป่า เขาจะกั้นคอกแห่งหนึ่งแล้วทำประตูให้ดี เอาน้ำผึ้งทา
สาหร่ายที่ลอยอยู่บนน้ำที่พวกม้าป่าเคยกิน แล้วทอดสาหร่ายจนถึงประตูคอก ทาน้ำผึ้งตลอด ม้าป่ามา
กินน้ำ กินหญ้า กินสาหร่ายที่มีรสหวาน ติดใจในรสก็จะเดินเข้าคอกไปโดยไม่รู้ตัว (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๑๘/๓๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๒๓] หญิงทั้งหลายเหล่านี้เสมอกับไฟที่กินเปรียง
อุปมาได้กับหัวงูเห่า๑ ย่อมเลือกกินแต่ของดี ๆ
เหมือนพวกโคเลือกเล็มแต่หญ้าดี ๆ ในภายนอกเท่านั้น

[๓๒๔] ๑. ไฟกินเปรียง ๒. ช้างสาร
๓. งูเห่า ๔. พระราชาผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
๕. หญิงทั้งปวง

บุคคลทั้ง ๕ เหล่านี้ นรชนพึงคบหาโดยความระมัดระวังเป็นนิตย์
เพราะว่าภาวะที่เป็นจริงของบุคคลเหล่านั้นรู้ได้ยากนัก
[๓๒๕] ชายไม่พึงคบหา
๑. หญิงผู้มีผิวพรรณงดงามนัก
๒. หญิงผู้ที่ชายหมู่มากรักใคร่
๓. หญิงผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง
๔. หญิงผู้เป็นภรรยาของชายอื่น
๕. หญิงผู้คบหาเพราะเหตุแห่งทรัพย์
หญิงทั้ง ๕ ประเภทเหล่านี้ชายไม่พึงคบหาเลย
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พญานกแร้งชื่ออานนท์ รู้แจ้งชัด
ซึ่งคาถาทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของนกกุณาละ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
[๓๒๖] ถ้าบุรุษจะพึงยกแผ่นดินแม้ที่เต็มไปด้วยทรัพย์ผืนนี้
ให้แก่หญิงผู้ที่ตนยกย่องไซร้
หญิงนั้นได้โอกาสแล้วก็จะพึงดูหมิ่นบุรุษแม้นั้น เพราะเหตุนั้น
เราจึงไม่ยอมตกไปสู่อำนาจของหญิงเหล่านั้นผู้ที่ไม่ใช่คนดี

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงหญิงอุปมาได้กับหัวงูเห่า เพราะเหตุ ๕ อย่างนี้ คือ (๑) เพราะเป็นสัตว์มักโกรธ (๒) เพราะเป็น
สัตว์มีพิษร้าย (๓) เพราะเป็นสัตว์มีลิ้นสองแฉก (๔) เพราะเป็นสัตว์ผูกโกรธ (๕) เพราะเป็นสัตว์ประทุษ-
ร้ายมิตร ในเหตุ ๕ อย่างที่สตรีชื่อว่ามีพิษร้าย พึงทราบได้เพราะความที่เธอมีราคะมาก ชื่อว่ามีลิ้นสองแฉก
เพราะเธอมักพูดส่อเสียด ชื่อว่าประทุษร้ายมิตร เพราะเธอมักประพฤตินอกใจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๒๓/๓๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๒๗] สามีหนุ่มผู้มีความหมั่นขยัน มีพฤติการณ์ไม่หดหู่
น่ารัก และน่าพอใจ
พวกเธอยังพากันทอดทิ้งเขาไปได้ในคราวเกิดอันตราย
และในคราวมีกิจที่ต้องกระทำ
เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วางใจหญิงทั้งหลาย
[๓๒๘] บุรุษไม่พึงวางใจว่า หญิงนี้ต้องการเรา
ไม่พึงวางใจว่า หญิงนี้ร้องไห้อยู่ในที่อยู่ของเรา
จริงอยู่ หญิงทั้งหลายเหล่านั้นย่อมคบหาได้
ทั้งชายที่เป็นคนรักและมิใช่คนรัก
เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
[๓๒๙] ๑. บุคคลไม่พึงวางใจเครื่องลาดที่ทำด้วยกิ่งไม้เก่า
๒. ไม่พึงวางใจโจรผู้เคยเป็นมิตรเก่าแก่
๓. ไม่พึงวางใจพระราชาว่า เป็นเพื่อนของเรา
๔. ไม่พึงวางใจหญิงซึ่งเป็นแม่ของลูกตั้ง ๑๐ คน
[๓๓๐] ไม่พึงวางใจในนารีทั้งหลาย ผู้สร้างความรื่นรมย์ยินดีให้
ผู้ล่วงละเมิดศีล ไม่มีความสำรวม
ถึงภรรยาจะพึงมีความรักอย่างแน่นแฟ้น ก็ไม่พึงวางใจ
เพราะว่านารีทั้งหลายเสมอเหมือนกับท่าน้ำ
[๓๓๑] หญิงทั้งหลายพึงฆ่าชายเสียเองก็มี
ตัดอวัยวะของชายเสียเองก็มี
ให้ผู้อื่นตัดก็มี เชือดลำคอแล้วดื่มเลือดกินก็มี
เพราะเหตุนั้น ชายอย่าพึงทำความสนิทสนมในหญิงทั้งหลาย
ผู้มีความใคร่อันเลวทราม ผู้ไม่สำรวม
เปรียบได้กับท่าน้ำที่แม่น้ำคงคา
[๓๓๒] หญิงเหล่านั้นกล่าวคำเท็จเหมือนกับคำสัตย์
กล่าวคำสัตย์เหมือนกับคำเท็จ พวกเธอเลือกกินแต่ของดี ๆ
เหมือนพวกโคเลือกเล็มแต่หญ้าดี ๆ ในภายนอกเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๓๓] พวกหล่อนประเล้าประโลมชาย
ด้วยการเดินบ้าง ด้วยการจ้องมองบ้าง
ด้วยการหัวเราะบ้าง ด้วยการนุ่งห่มไม่เรียบร้อยบ้าง
และด้วยการกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานบ้าง
[๓๓๔] เพราะว่าหญิงทั้งหลายเหล่านั้น
เป็นนางโจร มีจิตใจหยาบกระด้าง
โหดร้าย เจรจาอ่อนหวานเหมือนน้ำตาลกรวด
การล่อลวงอย่างใดอย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์
พวกเธอจะไม่รู้ไม่มีเลย
[๓๓๕] ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายในโลก
เป็นคนชั่วร้าย ไม่มีขอบเขต กำหนัดจัด
และคึกคะนอง กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ
[๓๓๖] ธรรมดาว่าบุรุษเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รักก็ไม่มี
เพราะว่าหญิงทั้งหลายย่อมคบบุรุษได้
ทั้งที่เป็นคนรักและมิใช่คนรัก
เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
[๓๓๗] ธรรมดาว่าบุรุษเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รักก็ไม่มี
เพราะว่าหญิงทั้งหลายมีความต้องการทรัพย์
จึงยอมพัวพันด้วย เหมือนเถาวัลย์ที่เกี่ยวพันต้นไม้
[๓๓๘] ชายที่มีทรัพย์จะเป็นควาญช้าง คนเลี้ยงม้า
คนเลี้ยงโค คนจัณฑาล สัปเหร่อ
หรือคนล้างส้วมก็ตาม นารีทั้งหลายจะติดตามเขาไป
[๓๓๙] หญิงสาวทั้งหลายย่อมทอดทิ้งชาย
แม้ที่เป็นบุตรคนมีตระกูล
ซึ่งไม่มีทรัพย์อะไรๆ ไป เหมือนเช่นกับซากศพ
แต่กลับคอยติดตามชายไปเนือง ๆ เพราะเหตุแห่งทรัพย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นารทเทวพราหมณ์รู้แจ้งชัดซึ่งคาถา
ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของอานนท์พญาแร้ง จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
[๓๔๐] นี่แน่ะ พญานก ท่านจงฟังคำของข้าพเจ้า
ผู้จะกล่าวถึงสิ่ง ๔ อย่าง ที่ไม่รู้จักเต็มเหล่านี้ คือ
๑. ทะเล ๒. พราหมณ์
๓. พระราชา ๔. หญิง
[๓๔๑] แม่น้ำสายใดสายหนึ่งซึ่งอาศัยแผ่นดิน
ย่อมไหลไปสู่สาคร
แม่น้ำเหล่านั้นก็ทำสมุทรให้เต็มไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่
[๓๔๒] ส่วนพราหมณ์สาธยายพระเวท
มีประวัติศาสตร์เป็นที่ ๕ ได้แล้ว
ก็ยังปรารถนาการศึกษาแม้ให้ยิ่งขึ้นไป
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่
[๓๔๓] ส่วนพระราชาเล่าทรงชนะแล้ว
ครอบครองแผ่นดินทั้งหมดพร้อมทั้งสมุทร
และภูเขาอันสั่งสมรัตนะไว้หาที่สุดมิได้
ก็ยังทรงปรารถนาสมุทรฝั่งโน้น
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่
[๓๔๔] แต่หญิงถึงแม้จะพึงมีสามีคนละ ๘ คน
ซึ่งเป็นคนแกล้วกล้ามีพลัง
สามารถนำรสแห่งความใคร่ทั้งปวงมาให้ได้
เธอก็ยังคงทำความพอใจในชายคนที่ ๙
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๔๕] หญิงทั้งปวงกินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ
พัดพาเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปเหมือนแม่น้ำ
เกาะเกี่ยวเหมือนเรียวหนาม
ย่อมคบหาชายเพราะเหตุแห่งทรัพย์
[๓๔๖] ก็นรชนใดปลงใจเชื่อหญิงทุกสิ่งทุกอย่าง
นรชนนั้นชื่อว่าดักลมด้วยตาข่าย
วิดน้ำทะเลด้วยฝ่ามือข้างเดียว
ปรบมือข้างเดียวของตนให้เกิดเสียง ก็รู้ได้ยาก
[๓๔๗] ภาวะของหญิงที่เป็นนางโจร
รู้มาก หาความจริงได้ยาก
เป็นการลำบากที่จะหยั่งรู้เหมือนรอยทางปลาในน้ำ
[๓๔๘] หญิงทั้งหลายเหล่านั้นไม่รู้จักพอ
พูดจาไพเราะอ่อนหวาน เต็มได้ยาก
เหมือนแม่น้ำย่อมทำให้ล่มจม
ชายรู้แจ้งชัดแล้วพึงเว้นเสียให้ห่างไกล
[๓๔๙] หญิงทั้งหลายยั่วยวนให้ลุ่มหลง
มีมายามาก ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ
ย่อมทำให้ล่มจมเสียหาย
ชายรู้แจ้งชัดแล้วพึงเว้นเสียให้ห่างไกล
[๓๕๐] ก็หญิงทั้งหลายเหล่านั้นเข้าไปคบหาชายใด
ด้วยความพอใจหรือด้วยทรัพย์ก็ตาม
ก็ติดตามเผาผลาญชายนั้นโดยทันที
เหมือนไฟป่าเผาผลาญสถานที่ของตน
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พญานกกุณาละรู้แจ้งชัดซึ่งคาถาทั้ง
เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของนารทเทวพราหมณ์ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ใน
เวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๕๑] บัณฑิตพึงเจรจากับคนผู้ถือดาบอันคมกริบ
พึงเจรจาแม้กับปีศาจผู้ดุร้าย
พึงเข้าไปนั่งใกล้งูตัวที่มีพิษร้ายแรง
แต่อย่าพึงเจรจากับหญิงตัวต่อตัว
[๓๕๒] เพราะว่านารีทั้งหลายเป็นผู้ย่ำยีจิตของชาวโลก
มีการฟ้อนรำขับร้อง เจรจา
และการแย้มยิ้มเป็นอาวุธ
ย่อมเบียดเบียนชายผู้มีสติไม่มั่นคง
เหมือนหมู่นางรากษสบนเกาะเบียดเบียนพวกพ่อค้า
[๓๕๓] หญิงเหล่านั้นไม่มีวินัย ไม่สังวร
พวกเธอยินดีในน้ำเมาและเนื้อสัตว์ ไม่มีความสำรวม
ย่อมฮุบเอาทรัพย์ที่ชายหามาได้
เหมือนปลาติมิงคละกลืนกินมังกรในสาคร
[๓๕๔] หญิงทั้งหลายมีกามคุณทั้ง ๕ อันน่าพอใจเป็นเหยื่อล่อ
มีจิตฟุ้งซ่านไม่แน่นอน ไม่มีความสำรวม
ย่อมแล่นเข้าไปหาชายผู้มีความมัวเมา
เหมือนแม่น้ำทั้งหลายย่อมไหลไปสู่ทะเล
[๓๕๕] หญิงทั้งหลายประเล้าประโลมชายใดเพราะความพอใจ
เพราะความยินดีหรือเพราะทรัพย์ก็ตาม
ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าชายนั้นด้วยราคะ โทสะ
ย่อมเผาผลาญชายเช่นนั้นให้เป็นแม้ดังเช่นไฟ
[๓๕๖] หญิงทั้งหลายรู้ว่า ชายใดเป็นผู้มั่งคั่ง
มีทรัพย์มาก ย่อมแล่นเข้าไปหา
ย่อมผูกมัดชายนั้นผู้มีจิตกำหนัดยินดีไว้ด้วยเรือนร่างของตน
เหมือนเถาย่านทรายรัดรึงต้นสาละในป่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๕๗] หญิงทั้งหลายเหล่านั้นประดับร่างกายและใบหน้า
จนงามวิจิตรแล้วเข้าไปหาชาย
ด้วยความพอใจมีประการต่าง ๆ ทำยิ้มน้อยยิ้มใหญ่
มีความฉลาดในมายาตั้งร้อยเหมือนนักมายากล
[๓๕๘] หญิงทั้งหลายประดับสวมใส่ทองคำ แก้วมณี
แก้วมุกดา มีคนสักการะและรักษาอยู่แล้วในตระกูลสามี
ก็ยังประพฤตินอกใจสามี
เหมือนหญิงผู้ซบอยู่แนบทรวงอกประพฤตินอกใจอสูร
[๓๕๙] จริงอยู่ นรชนถึงจะมีเดช มีปัญญาเห็นประจักษ์
เป็นที่สักการะบูชาของชนเป็นอันมาก
ตกอยู่ในอำนาจของหญิงทั้งหลาย
ก็จะไม่รุ่งเรือง เหมือนดวงจันทร์ที่ถูกราหูเข้าไปบดบัง
[๓๖๐] จอมโจรผู้มีจิตโหดร้าย โกรธขึ้นแล้ว พึงกระทำ
ความพินาศอันใดให้จอมโจรผู้เป็นคู่อริ ซึ่งมาประจันหน้ากัน
นรชนผู้ยังมีการเพ่งเล็ง มีตัณหา
ตกอยู่ในอำนาจหญิงทั้งหลาย
ย่อมประสบความพินาศยิ่งกว่านั้น
[๓๖๑] จริงอยู่ หญิงเหล่านั้นถึงจะถูกชายที่เลวทราม
คุกคามด้วยการจิกผมจนยุ่งเหยิง
และการหยิกข่วนด้วยเล็บ ทุบตีด้วยเท้า ฝ่ามือ และท่อนไม้
ก็ยังเข้าไปหาชายคนเลวทรามนั่นแหละ
เหมือนหมู่แมลงวันย่อมยินดีในซากศพ
[๓๖๒] นรชนผู้มีดวงตาคือปัญญา ปรารถนาความสุข
พึงเว้นหญิงเหล่านั้นซึ่งเป็นประดุจบ่วงและข่ายของมาร
ที่เขาขึงดักไว้ในตระกูลในระหว่างทางเดิน
ในราชธานีหรือว่าในนิคมทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๖๓] ผู้ใดสลัดทิ้งคุณคือตบะอันเป็นกุศลแล้ว
ประพฤติการประพฤติอันมิใช่ของพระอริยะ
ผู้นั้นจากเทวโลกย่อมเข้าถึงนรก เหมือนพ่อค้าถือหม้อแตก
[๓๖๔] เขาผู้นั้นถูกติเตียนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
มีความคิดที่ชั่ว ถูกกรรมของตนเข้าไปบั่นทอน
ย่อมพลัดพรากจากเทวโลกบ้าง
มนุษยโลกบ้าง โดยไม่แน่นอน
เหมือนรถที่เทียมด้วยลาโกงย่อมพาไปนอกทาง
[๓๖๕] เขาผู้นั้นจึงเข้าถึงนรกอันเร่าร้อนและนรกป่าไม้งิ้ว
มีหนามแหลมเหมือนหอกเป็นหลักแล้ว
มาอยู่ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน และไม่พ้นเปรตและจอมอสูร
[๓๖๖] หญิงทั้งหลายย่อมทำลายการเล่นหัว
และความรื่นรมย์ยินดีอันเป็นทิพย์ในนันทวันเทวอุทยาน
และจักรพรรดิสมบัติในหมู่มนุษย์ของชายผู้มัวเมาทั้งหลาย
ให้พินาศและยังเขาให้ถึงทุคติอีกด้วย
[๓๖๗] การเล่นหัวและความรื่นรมย์ยินดีก็ดี
จักรพรรดิสมบัติในมนุษย์ก็ดี
นางเทพอัปสรผู้อยู่วิมานทองก็ดี
อันชายผู้ไม่มีความต้องการหญิงประพฤติพรหมจรรย์อยู่
หาได้ไม่ยากเลย
[๓๖๘] คติที่ล่วงเลยกามภูมิก็ดี
การสมภพในรูปภูมิก็ดี
การเข้าถึงวิสัยแห่งผู้ปราศจากราคะก็ดี
อันชายผู้ไม่มีความต้องการหญิงประพฤติพรหมจรรย์อยู่
หาได้ไม่ยากเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๓๖๙] นิพพานอันปลอดโปร่งพ้นทุกข์ทั้งปวง
ไม่หวั่นไหวอย่างแท้จริง ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง
อันชายผู้ไม่มีความต้องการหญิงประพฤติพรหมจรรย์อยู่
มีกิเลสอันตนดับได้แล้ว เป็นผู้สะอาด
หาได้ไม่ยากเลย ดังนี้
(พระศาสดาทรงประมวลธรรมเทศนา ได้ตรัสพระคาถาประชุมชาดกว่า)
[๓๗๐] ในกาลนั้น เราผู้ตถาคตได้เป็นพญานกกุณาละ
อุทายีได้เป็นพญานกดุเหว่าขาว
อานนท์ได้เป็นพญานกแร้ง
สารีบุตรได้เป็นนารทดาบส
และพุทธบริษัทได้เป็นบริษัทนกทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้แล
กุณาลชาดกที่ ๔ จบ

๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
ว่าด้วยพระเจ้ามหาสุตโสมทรงทรมานโจรโปริสาท๑
(กาฬหัตถีเสนาบดีถามพ่อครัวว่า)
[๓๗๑] พ่อครัว เพราะเหตุไร
ท่านจึงทำกรรมทารุณโหดร้ายเช่นนี้
ท่านหลงฆ่าหญิงและชายทั้งหลาย
เพราะเหตุแห่งเนื้อหรือแห่งทรัพย์

เชิงอรรถ :
๑ พระเจ้ามหาสุตโสมโพธิสัตว์ทรงเป็นพระสหายร่วมสำนักเรียนกับพระเจ้าพรหมทัตและพระกุมารอื่น ๆ อีก
ประมาณ ๑๐๑ พระองค์ ต่อมาเมื่อแยกย้ายกลับบ้านเมืองของตนแล้ว พรหมทัตกุมารได้ครองเมือง
พาราณสี แต่หลงผิดไปติดใจบริโภคเนื้อมนุษย์ ทำให้ถูกเนรเทศ พระเจ้ามหาสุตโสมต้องไปทรมานจน
กลับใจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๗๘-๓๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พ่อครัวจึงตอบเสนาบดีว่า)
[๓๗๒] ท่านผู้เจริญ มิใช่เพราะเหตุแห่งตน
มิใช่เพราะเหตุแห่งทรัพย์
มิใช่เพราะเหตุแห่งบุตรภรรยา
มิใช่เพราะเหตุแห่งสหายและญาติทั้งหลาย
แต่พระจอมภูมิบาลซึ่งเป็นนายของข้าพเจ้า
พระองค์เสวยมังสะเช่นนี้
(กาฬหัตถีเสนาบดีกล่าวว่า)
[๓๗๓] ถ้าท่านขวนขวายในกิจของเจ้านาย
ทำกรรมอันโหดร้ายทารุณเช่นนี้ได้
เวลาเช้าตรู่ ท่านควรจะเข้าไปในพระราชวัง
แล้วแถลงเหตุนั้นแก่เราต่อพระพักตร์พระราชา
(พ่อครัวกล่าวว่า)
[๓๗๔] ท่านกาฬหัตถี ข้าพเจ้าจักกระทำตามที่ท่านสั่ง
เวลาเช้าตรู่ ข้าพเจ้าจะเข้าไปในพระราชวัง
จะแถลงเหตุนั้นแก่ท่านต่อพระพักตร์พระราชา
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๗๕] ลำดับนั้น ครั้นราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์อุทัย
กาฬเสนาบดีได้พาคนทำครัวเข้าไปเฝ้าพระราชา
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า
[๓๗๖] ข้าแต่มหาราช ได้ทราบด้วยเกล้าว่า
พระองค์ทรงใช้พ่อครัวให้ฆ่าหญิงและชายทั้งหลาย
พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์จริงหรือ พระเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระราชาตรัสว่า)
[๓๗๗] แน่นอน เป็นความจริง ท่านกาฬะ
เราใช้พ่อครัว เมื่อเขาทำประโยชน์ให้แก่เรา
ท่านจะด่าเขาทำไม
(กาฬเสนาบดี เมื่อจะนำเรื่องมาแสดง จึงกราบทูลว่า)
[๓๗๘] ปลาใหญ่ชื่ออานนท์ ติดใจในรสปลาทุกชนิด
เมื่อฝูงปลาหมดสิ้นไป ก็กลับมากินตัวเองตาย
[๓๗๙] พระองค์ทรงประมาทไปแล้ว
มีพระทัยยินดียิ่งนักในรส(เนื้อมนุษย์)
ถ้าเป็นคนพาลต่อไป ยังไม่ทรงรู้สึกอย่างนี้
จะต้องมาละทิ้งพระโอรส พระมเหสี และพระญาติ
จะกลับมาเสวยตัวพระองค์เอง
[๓๘๐] เพราะได้ทรงสดับอุทาหรณ์ที่ข้าพระองค์นำมากราบทูลนี้
ขอความพอพระทัยที่จะเสวยเนื้อมนุษย์จงคลายไปเถิด
ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่มนุษย์
พระองค์อย่าได้เสวยเนื้อมนุษย์เลย
อย่าได้ทรงทำแคว้นนี้ให้ว่างเปล่า
เหมือนปลาอานนท์ทำมหาสมุทรให้ว่างเปล่า
(พระราชาได้สดับดังนั้น เมื่อจะนำเรื่องเก่ามาแสดง จึงตรัสว่า)
[๓๘๑] กุฎุมพีชื่อว่าสุชาตะ ลูกที่เกิดกับตัวเขา
ไม่ได้ชิ้นลูกหว้าเขาก็ตาย
เพราะชิ้นลูกหว้านั้นหมดสิ้นไป
[๓๘๒] ท่านกาฬะ เราก็เหมือนกัน
บริโภคอาหารที่มีรสอร่อยที่สุด
ถ้าไม่ได้เนื้อมนุษย์ เข้าใจว่า คงเสียชีวิตแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พราหมณ์ได้กล่าวกับมาณพว่า)
[๓๘๓] มาณพ เจ้าเป็นผู้มีรูปงาม
เกิดในตระกูลโสตถิยพราหมณ์
เจ้าไม่ควรกินอาหารที่ไม่ควรกินนะ
(มาณพกล่าวว่า)
[๓๘๔] บรรดารสทั้งหลาย น้ำเมานี้มีรสอร่อยที่สุดอย่างหนึ่ง
เพราะเหตุไร พ่อจึงห้ามผม
ผมจักไปในสถานที่ที่ผมจักได้รสเช่นนี้
[๓๘๕] ผมจักออกไปละ จักไม่อยู่ในสำนักของพ่อ
เพราะพ่อไม่ยินดีที่จะได้เห็นผม
(ลำดับนั้น พราหมณ์จึงกล่าวว่า)
[๓๘๖] มาณพ ข้าคงจะได้ลูกคนอื่น ๆ เป็นทายาทเป็นแน่
เจ้าคนต่ำทราม เจ้าจงฉิบหายเสียเถิด
จงไปในที่ที่ข้าจะไม่พึงได้ข่าวเจ้าผู้ไปแล้ว
(กาฬหัตถีเสนาบดีประมวลเหตุนี้มาแสดงแก่พระราชา แล้วกราบทูลว่า)
[๓๘๗] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งหมู่มนุษย์
พระองค์ก็อย่างนั้นเหมือนกัน โปรดสดับคำของข้าพระองค์
พสกนิกรทั้งหลายจักพากันเนรเทศพระองค์ไปจากแคว้น
เหมือนพราหมณ์เนรเทศมาณพผู้เป็นนักเลงสุรา
(พระราชาเมื่อไม่อาจจะงดเนื้อนั้นได้ ตรัสแสดงเหตุแม้อย่างอื่นอีกว่า)
[๓๘๘] สาวกของพวกฤๅษีผู้อบรมแล้วชื่อว่าสุชาตะ
เขาต้องการนางอัปสรเท่านั้น จนไม่กินข้าวและไม่ดื่มน้ำ
[๓๘๙] บุคคลพึงเอาน้ำที่ติดอยู่กับปลายหญ้าคา
มานับเปรียบกันดูกับน้ำที่มีอยู่ในสมุทรฉันใด
กามทั้งหลายของพวกมนุษย์ในสำนักของกามทิพย์ก็ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๓๙๐] ท่านกาฬะ เราก็เหมือนกัน
บริโภคอาหารที่มีรสอร่อยที่สุดแล้ว
ถ้าไม่ได้เนื้อมนุษย์ เข้าใจว่า คงเสียชีวิตแน่
(กาฬเสนาบดีครั้นได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๓๙๑] เปรียบเสมือนพวกหงส์ชื่อธตรัฏฐะ เหิรบินไปในท้องฟ้า
ถึงความตายไปจนหมดเพราะกินอาหารที่ไม่ควรกิน ฉันใด
[๓๙๒] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งหมู่มนุษย์
พระองค์ก็อย่างนั้นเหมือนกัน โปรดสดับคำของข้าพระองค์
พระองค์เสวยเนื้อที่ไม่ควร
ฉะนั้น พสกนิกรทั้งหลายจึงพากันเนรเทศพระองค์
(โจรโปริสาท๑กล่าวกับรุกขเทวดานั้นว่า)
[๓๙๓] เราได้ห้ามท่านแล้วว่า จงหยุด ท่านนั้นก็ยังเดินดุ่ม ๆ ไป
ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านไม่ได้หยุด
แต่บอกว่าหยุด ท่านสมณะ นี้ควรแก่ท่านแล้วหรือ
ท่านสำคัญดาบของเราว่าเป็นขนปีกนกตะกรุมหรือ
(ลำดับนั้น เทวดากล่าวว่า)
[๓๙๔] มหาบพิตร อาตมภาพหยุดแล้วในธรรมของตน
ไม่ได้เปลี่ยนชื่อและโคตร
ส่วนโจรบัณฑิตกล่าวว่า ไม่หยุดในโลก
จุติจากโลกนี้แล้วจะต้องไปเกิดในอบายหรือนรก
มหาบพิตร ถ้าทรงเชื่ออาตมภาพ
ขอมหาบพิตรจงจับพระเจ้าสุตโสมผู้เป็นกษัตริย์เถิด
มหาบพิตรทรงจับพระเจ้าสุตโสมนั้นบูชายัญแล้ว
จักเสด็จไปสวรรค์ได้อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ โปริสาท แปลว่า มีคนเป็นอาหาร, คนกินคน เป็นชื่อของพระเจ้าพรหมทัต หลังจากถูกชาวเมืองเนรเทศแล้ว
ได้ไปอาศัยโคนต้นไทรอยู่ แล้วเที่ยวปล้นคนเดินทาง เพื่อฆ่าเอาเนื้อมาปรุงอาหาร จึงปรากฏชื่อเสียงว่า
โปริสาท (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๙๒/๓๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ยืนถวายพระพรอยู่ข้างทาง
จึงตรัสถามว่า)
[๓๙๖] ชาติภูมิของท่านอยู่ในแคว้นไหนหนอ
ท่านมาถึงนครนี้ได้ด้วยประโยชน์อะไร
ท่านพราหมณ์ ขอท่านจงบอกประโยชน์นี้แก่ข้าพเจ้า
ท่านต้องการอะไร ข้าพเจ้าจะให้ตามที่ท่านต้องการ ณ วันนี้
(พราหมณ์ได้กราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์นั้นว่า)
[๓๙๗] พระภูมิบาล คาถาทั้ง ๔ มีอรรถที่ลึก
เปรียบด้วยสาครอันประเสริฐ
หม่อมฉันมานครนี้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์เท่านั้น
ขอพระองค์โปรดสดับคาถา
ที่ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งเถิด
(โจรโปริสาทจับพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้แล้ว จึงทูลถามว่า)
[๓๙๘] ชนเหล่าใดมีความรู้ มีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้มาก ชนเหล่านั้นย่อมไม่ร้องไห้
การที่เหล่าบัณฑิตเป็นผู้บรรเทาความโศกได้
นี่แหละเป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยมของเหล่านรชน
[๓๙๙] ท่านสุตโสม พระองค์ทรงเศร้าโศกเพราะเหตุไร
เพราะเหตุแห่งพระองค์เอง พระญาติ พระโอรส
พระมเหสี ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน หรือว่าทองหรือ
ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐ หม่อมฉันขอฟังพระดำรัสของพระองค์
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๐๐] หม่อมฉันมิได้ทอดถอน มิได้เศร้าโศกเพื่อประโยชน์แก่ตน
แก่โอรส มเหสี ทรัพย์ และแคว้น
แต่ธรรมของเหล่าสัตบุรุษที่เคยประพฤติมาเก่าก่อน
หม่อมฉันนัดหมายไว้กับพราหมณ์
หม่อมฉันทอดถอนเศร้าโศกถึงการนัดหมายนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๐๑] หม่อมฉันดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตนเอง
ได้ทำการนัดหมายไว้กับพราหมณ์
เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
(โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า)
[๔๐๒] นรชนผู้มีความสุข หลุดพ้นไปจากปากของมฤตยูแล้ว
จะพึงกลับมาสู่เงื้อมมือของศัตรูอีก
ข้อนี้หม่อมฉันยังไม่เชื่อ ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐที่สุด
พระองค์ไม่เสด็จเข้าไปหาหม่อมฉันเลย
[๔๐๓] พระองค์ทรงหลุดพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์
จะมัวทรงเพลิดเพลินในกามคุณ ข้าแต่พระราชา
พระองค์ทรงได้พระชนม์ชีพอันเป็นที่รักแสนหวานแล้ว
ไฉนจักเสด็จกลับมายังสำนักของหม่อมฉันเล่า
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้น ไม่ทรงหวาดระแวง จึงตรัสว่า)
[๔๐๔] คนผู้มีศีลบริสุทธิ์พึงปรารถนาความตาย
ผู้มีธรรมลามกที่นักปราชญ์ติเตียนก็ไม่ปรารถนาชีวิต
นรชนใดพึงกล่าวเท็จเพราะเพื่อประโยชน์ของตนใดเป็นเหตุ
เหตุเพื่อประโยชน์ของตนนั้น
ย่อมป้องกันนรชนนั้นจากทุคติไม่ได้
[๔๐๕] แม้ถ้าลมจะพึงพัดพาภูเขามาได้
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็จะพึงตกลงบนแผ่นดินได้
และแม่น้ำทุกสายก็จะพึงไหลทวนกระแส
ถ้าเป็นไปได้อย่างนั้น
หม่อมฉันก็จะไม่พึงพูดเท็จเลย พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๐๖] ฟ้าพึงทลายรั่วได้ ทะเลก็พึงแห้งได้
แผ่นดินที่ทรงรองรับสัตว์ไว้ก็จะพึงพลิกกลับได้
ภูเขาพระสุเมรุก็จะพึงเพิกถอนขึ้นได้พร้อมทั้งเหง้า
ถ้าเป็นไปได้อย่างนั้น
หม่อมฉันก็จะไม่พึงพูดเท็จเลย พระเจ้าข้า
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสสาบานว่า)
[๔๐๗] สหาย หม่อมฉันจะจับดาบและหอก
จะทำแม้แต่การสาบานต่อพระองค์ก็ได้
หม่อมฉันผู้ที่พระองค์ปล่อยแล้ว
จักเป็นผู้หมดหนี้ รักษาความสัตย์ หวนกลับมาอีก
(โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า)
[๔๐๘] ท่านผู้ดำรงอยู่แล้วในความเป็นใหญ่ในแคว้นของพระองค์
ได้ทำการนัดหมายใดไว้กับพราหมณ์
เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
พระองค์ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๐๙] หม่อมฉันผู้ดำรงอยู่แล้วในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตน
ได้ทำการนัดหมายใดไว้กับพราหมณ์
เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๑๐] พระเจ้าสุตโสมนั้นทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
ได้เสด็จไปตรัสกับพราหมณ์นั้นดังนี้ว่า
ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าขอฟังสตารหคาถา
ที่ข้าพเจ้าได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พราหมณ์ดูคัมภีร์ กราบทูลว่า)
[๔๑๑] ท่านสุตโสม การสมาคมกับสัตบุรุษ
ครั้งเดียวเท่านั้นก็คุ้มครองผู้นั้นได้
การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากครั้งก็คุ้มครองไม่ได้
[๔๑๒] บุคคลพึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษเท่านั้น
พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษทั้งหลาย
เพราะรู้ทั่วถึงธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย
บุคคลจึงมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย
[๔๑๓] ราชรถที่วิจิตรดีทั้งหลายยังทรุดโทรมได้
อนึ่ง แม้สรีระก็ยังเข้าถึงความแก่ชรา
ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า
สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นย่อมรู้กันได้
[๔๑๔] ฟ้ากับแผ่นดินห่างไกลกัน
ฝั่งโน้นกับฝั่งนี้ของสมุทรก็กล่าวกันว่าไกลกัน
ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ไกลยิ่งกว่านั้นโดยแท้
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับพราหมณ์นั้นว่า)
[๔๑๕] คาถาเหล่านี้มีค่า ๑,๐๐๐
ไม่ใช่มีค่าเพียง ๑๐๐
ท่านพราหมณ์ เชิญท่านรีบมารับเอาทรัพย์ ๔,๐๐๐ เถิด
(พระราชบิดาของพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๑๖] คาถามีค่า ๘๐ ๙๐ และ ๑๐๐ ก็ยังมี
พ่อสุตโสม พ่อจงเข้าใจเอาเองเถิด
มีคาถาอะไรที่ชื่อว่า มีค่าตั้ง ๑,๐๐๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์กราบทูลให้พระราชบิดายินยอมว่า)
[๔๑๗] หม่อมฉันย่อมปรารถนาความเจริญทางการศึกษาของตน
สัตบุรุษคือผู้สงบทั้งหลายพึงคบหาหม่อมฉัน
ข้าแต่ทูลกระหม่อมพ่อ หม่อมฉันไม่อิ่มด้วยสุภาษิต
เหมือนมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำ
[๔๑๘] ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ไฟไหม้หญ้าและไม้ย่อมไม่อิ่ม
สาครก็ไม่อิ่มด้วยแม่น้ำทั้งหลายฉันใด
แม้บัณฑิตเหล่านั้นฟังแล้วก็ไม่อิ่มด้วยสุภาษิตฉันนั้น
[๔๑๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน
เมื่อใด หม่อมฉันฟังคาถาที่มีประโยชน์ในสำนักแห่งทาสของตน
เมื่อนั้น หม่อมฉันย่อมตั้งใจฟังคาถานั้นเท่านั้นโดยเคารพ
ข้าแต่ทูลกระหม่อมพ่อ
เพราะหม่อมฉัน ไม่มีความอิ่มในธรรมเลย
[๔๒๐] แคว้นของทูลกระหม่อมนี้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง
มีทั้งทรัพย์ ยวดยาน และเครื่องประดับ
ทูลกระหม่อมทรงบริภาษหม่อมฉันเพราะเหตุแห่งกามทำไม
หม่อมฉันขอทูลลาไปในสำนักของโปริสาท
(พระบิดาตรัสว่า)
[๔๒๑] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ล้วนแต่เชี่ยวชาญในการธนูพอที่จะปกป้องตัวเองได้
เราจะยกกองทัพไปฆ่าศัตรูเสีย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ฟังคำของพระราชบิดาและพระราชมารดาแล้ว จึงตรัสว่า)
[๔๒๒] โจรโปริสาทได้ทำกิจที่ทำได้แสนยาก
จับหม่อมฉันได้ทั้งเป็นแล้วปล่อยมา
ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน หม่อมฉันระลึกถึงอุปการะ
ที่มีมาก่อนเช่นนั้นที่โจรโปริสาทนั้นทำแล้ว
จะพึงประทุษร้ายต่อโปริสาทนั้นได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๒๓] พระเจ้าสุตโสมนั้นถวายบังคมพระบิดา
และพระมารดาแล้ว
ทรงพร่ำสอนชาวนิคมและพลนิกาย
เป็นผู้ตรัสความสัตย์ และทรงรักษาคำสัตย์
ได้เสด็จไปยังที่เป็นที่อยู่ของโปริสาทแล้ว
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทว่า)
[๔๒๔] หม่อมฉันผู้ดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตน
ได้ทำการนัดหมายไว้กับพราหมณ์
เพื่อเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
จึงเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
ท่านโปริสาท ขอเชิญท่านบูชายัญกินเราเสียเถิด
(โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๔๒๕] การเคี้ยวกินท่านในภายหลัง
ไม่เสียหายสำหรับข้าพเจ้า
แท้จริงกองไฟนี้ก็ยังมีควัน
เนื้อที่ย่างในกองไฟอันไม่มีควันจะสุกดี
หม่อมฉันจะขอฟังคาถาซึ่งมีค่าตั้ง ๑๐๐
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๒๖] ท่านโปริสาท ท่านประพฤติไม่ชอบธรรม
ต้องพลัดพรากจากแคว้น เพราะเหตุแห่ง(ปาก)ท้อง
ส่วนคาถาเหล่านี้ย่อมกล่าวสรรเสริญธรรม
ธรรมและอธรรมจะลงกันได้ที่ไหน๑

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมและอธรรมจะลงกันได้ที่ไหน หมายถึงรวมกันไม่ได้ เพราะว่าธรรมย่อมให้ถึงสุคติคือนิพพาน
ส่วนอธรรมให้ถึงทุคติ (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๒๖/๔๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๒๗] คนผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม หยาบช้า
มีฝ่ามือเปื้อนเลือดเป็นนิตย์ ย่อมไม่มีสัจจะ
ธรรมจะมีได้แต่ที่ไหน
ท่านจักทรงทำประโยชน์อะไรด้วยการสดับ๑
(โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๔๒๘] ผู้ใดเที่ยวล่าเนื้อ (ล่าสัตว์) เพราะเหตุแห่งเนื้อ
หรือฆ่าคนเพราะเหตุแห่งตน
คนทั้ง ๒ นั้นละโลกนี้ไปแล้วก็เสมอกัน (พอกัน)
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงกล่าวหาหม่อมฉันว่า
เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะแก้ลัทธิของโจรโปริสาท จึงตรัสว่า)
[๔๒๙] พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทราบธรรมเนียมกษัตริย์
ไม่ควรเสวยเนื้อสัตว์ ๑๐ ชนิดมีเนื้อช้างเป็นต้น
ข้าแต่พระราชา พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์ที่ไม่ควรเสวย
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พระโพธิสัตว์รับบาปบ้าง จึงกราบทูลว่า)
[๔๓๐] พระองค์ทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์
ทรงเพลิดเพลินอยู่ในกาม
เสด็จหวนกลับมาสู่เงื้อมมือของหม่อมฉันผู้เป็นศัตรูอีก
พระองค์ช่างเป็นผู้ไม่ฉลาด
ในธรรมของกษัตริย์๒เลยนะ พระเจ้าข้า

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์อะไรด้วยการสดับ หมายความว่า ท่านจักทำอะไรกับการฟังนี้ เพราะท่านไม่ใช่ภาชนะรอง
รับธรรม เหมือนภาชนะที่ไม่ใช่ภาชนะรองรับเปลวมันราชสีห์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๒๗/๔๒๑)
๒ ธรรมของกษัตริย์ หมายถึงหลักนิติศาสตร์ ในที่นี้ โจรโปริสาทกล่าวว่า พระเจ้าสุตโสมไม่ฉลาดใน
นิติศาสตร์กล่าวคือธรรมของกษัตริย์ คือไม่รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของตน (เพราะเห็น
พระราชากลับมาสู่สำนักของตนอีก) (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๓๐/๔๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[๔๓๑] ชนเหล่าใดฉลาดในธรรมของกษัตริย์
ชนเหล่านั้นต้องตกนรกเสียโดยมาก
เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงละธรรมของกษัตริย์
แล้วเป็นผู้รักษาความสัตย์ หวนกลับมาอีก
ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๓๒] พระตำหนักที่ประทับ แผ่นดิน โค ม้า
สตรีผู้น่ารักใคร่ ผ้าแคว้นกาสี และแก่นจันทน์
พระองค์ทรงได้ทุกสิ่งในพระนครนั้น
ก็พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
พระองค์ทรงเห็นอานิสงส์อะไรด้วยความสัตย์
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๓๓] รสเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ในแผ่นดิน
สัจจะเป็นรสดีกว่ารสเหล่านั้น
ก็เพราะสมณะและพราหมณ์ผู้ดำรงอยู่ในสัจจะ
ย่อมข้ามฝั่งแห่งชาติและมรณะได้
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๓๔] พระองค์ทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์
ทรงเพลิดเพลินอยู่ในกาม
ยังเสด็จหวนกลับมาสู่เงื้อมมือของศัตรูอีก
ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน
พระองค์ไม่ทรงกลัวความตายแน่นะ
และพระองค์เป็นผู้ตรัสคำสัตย์ไม่มีพระทัยท้อแท้เลยหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า)
[๔๓๕] หม่อมฉันได้บำเพ็ญความดีไว้มากมาย
ได้บูชายัญที่บัณฑิตสรรเสริญอย่างไพบูลย์
ได้ชำระทางไปปรโลกไว้แล้ว
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะต้องกลัวตาย
[๔๓๖] หม่อมฉันได้บำเพ็ญความดีไว้มากมาย
ได้บูชายัญที่บัณฑิตสรรเสริญอย่างไพบูลย์ไว้แล้ว
จึงไม่เดือดร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก
ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด
[๔๓๗] หม่อมฉันได้บำรุงพระบิดาและพระมารดาแล้ว
ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม
ได้ชำระทางไปปรโลกไว้แล้ว
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะพึงกลัวตาย
[๔๓๘] หม่อมฉันได้บำรุงพระบิดาและพระมารดาแล้ว
ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม
จึงไม่เดือดเนื้อร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก
ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด
[๔๓๙] หม่อมฉันได้ทำอุปการะไว้ในหมู่พระญาติ
และมิตรทั้งหลายแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม
ได้ชำระทางไปปรโลกไว้แล้ว
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะพึงกลัวตาย
[๔๔๐] หม่อมฉันได้ทำอุปการะไว้ในหมู่พระญาติ
และมิตรทั้งหลายแล้ว
ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรมจึงไม่เดือดร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก
ท่านโปริสาทขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๔๑] หม่อมฉันได้ให้ทานมากมายแก่คนเป็นอันมาก
และได้บำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ให้อิ่มหนำ
ได้ชำระทางไปสู่ปรโลกไว้แล้ว
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะพึงกลัวตาย
[๔๔๒] หม่อมฉันได้ให้ทานมากมายแก่คนเป็นอันมาก
และได้บำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ให้อิ่มหนำ
จึงไม่เดือดร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก
ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด
(โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๔๔๓] บุรุษใดพึงกินคนผู้มีวาจาสัตย์เช่นท่าน
บุรุษนั้นชื่อว่าบริโภคยาพิษทั้ง ๆ ที่รู้
ชื่อว่าจับอสรพิษที่ร้ายแรง มีเดชกล้า
แม้ศีรษะของเขาพึงแตกเป็น ๗ เสี่ยง
[๔๔๔] นรชนทั้งหลายได้ฟังธรรมแล้ว
ย่อมรู้แจ้งทั้งบุญและบาป
ใจของหม่อมฉันย่อมยินดีในธรรม เพราะได้ฟังคาถาบ้าง
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทรงแสดงธรรมแก่โจรโปริสาทว่า)
[๔๔๕] ข้าแต่มหาราช
การสมาคมกับสัตบุรุษเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
การสมาคมนั้นย่อมคุ้มครองผู้นั้นได้
การสมาคมกับอสัตบุรุษมากครั้งก็คุ้มครองไม่ได้
[๔๔๖] บุคคลพึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษเท่านั้น
พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ
เพราะรู้ทั่วถึงธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย
บุคคลจึงมีความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๔๗] ราชรถที่วิจิตรดีทั้งหลายยังทรุดโทรมได้
อนึ่ง แม้สรีระก็ยังเข้าถึงความแก่ชรา
ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า
สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นย่อมรู้กันได้
[๔๔๘] ฟ้ากับแผ่นดินห่างไกลกัน
ฝั่งโน้นกับฝั่งนี้ของสมุทรก็กล่าวกันว่าไกลกัน
ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ไกลยิ่งกว่านั้นโดยแท้
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน คาถาเหล่านี้มีอรรถและพยัญชนะดี
พระองค์ตรัสไว้ถูกต้องดีแล้ว
หม่อมฉันได้สดับแล้วเพลิดเพลิน ปลื้มใจ ดีใจ อิ่มใจ
ข้าแต่พระสหาย หม่อมฉันขอถวายพร ๔ ประการแด่พระองค์
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะรุกต้อนโจรโปริสาท จึงตรัสว่า)
[๔๕๐] ท่านผู้มีบาปธรรม พระองค์ไม่รู้สึกว่าตนจะตาย
ไม่รู้สึกประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ วินิบาตและสวรรค์
เป็นผู้ติดใจในรส ตั้งมั่นในทุจริต จะประทานพรอะไรได้
[๔๕๑] หากหม่อมฉันจะกล่าวกับพระองค์ว่า โปรดให้พรเถิด
ฝ่ายพระองค์ครั้นประทานแล้วจะพึงกลับคำ
บัณฑิตคนไหนเล่ารู้อยู่จะพึงก่อการทะเลาะวิวาทนี้ที่เห็นอยู่ชัด ๆ
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๕๒] คนเราแม้ให้พรใดแล้วพึงกลับคำ
เขาไม่สมควรให้พรนั้น
สหาย ท่านจงขอพรเถิด อย่าหวั่นวิตกไปเลย
แม้แต่ชีวิตหม่อมฉันก็ยอมสละถวายได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[๔๕๓] มิตรธรรมของพระอริยะกับพระอริยะย่อมเสมอกัน
ของผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญาก็เสมอกัน
หม่อมฉันพึงเห็นพระองค์เป็นผู้มีพลานามัยตลอด ๑๐๐ ปี
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๑ ที่หม่อมฉันทูลขอ
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[๔๕๔] มิตรธรรมของพระอริยะกับพระอริยะย่อมเสมอกัน
ของผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญาก็เสมอกัน
พระองค์จงเห็นหม่อมฉันผู้หาโรคมิได้ตลอด ๑๐๐ ปี
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๑ ที่หม่อมฉันขอถวาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๕๕] พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ผู้ทรงได้มูรธาภิเษก
ทรงได้เฉลิมพระปรมาภิไธยเหล่าใดในชมพูทวีปนี้
พระองค์อย่าได้เสวยกษัตริย์เหล่านั้นผู้เช่นนั้น
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๒ ที่หม่อมฉันทูลขอ
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[๔๕๖] พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ผู้ทรงได้มูรธาภิเษก
ทรงได้เฉลิมพระปรมาภิไธยเหล่าใดในชมพูทวีปนี้
หม่อมฉันจะไม่กินกษัตริย์เหล่านั้นผู้เช่นนั้น
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๒ ที่หม่อมฉันขอถวาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๕๗] กษัตริย์เกินกว่า ๑๐๐ พระองค์ที่พระองค์จับร้อยฝ่าพระหัตถ์ไว้
ทรงกันแสง พระพักตร์ชุ่มด้วยพระอัสสุชล
ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยกษัตริย์เหล่านั้น
ให้กลับไปในแคว้นของตน ๆ เถิด
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๓ ที่หม่อมฉันทูลขอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[๔๕๘] กษัตริย์เกินกว่า ๑๐๐ พระองค์ที่หม่อมฉันจับร้อยฝ่าพระหัตถ์ไว้
ทรงกันแสง มีพระพักตร์ชุ่มด้วยพระอัสสุชล
หม่อมฉันจะปล่อยกษัตริย์เหล่านั้นให้กลับไปในแคว้นของตน ๆ
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๓ ที่หม่อมฉันขอถวาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๕๙] แคว้นของพระองค์เป็นช่อง๑
เพราะชนเป็นอันมากหวาดหวั่นเพราะกลัว
จึงพากันหนีเข้าหาที่หลบซ่อน
ขอพระองค์โปรดทรงงดเว้นเนื้อมนุษย์เถิด พระเจ้าข้า
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๔ ที่หม่อมฉันทูลขอ
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๖๐] มนุษย์นั้นเป็นภักษาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมาตั้งนาน
หม่อมฉันหนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
หม่อมฉันนั้นจะพึงงดอาหารนั้นได้อย่างไร
ขอพระองค์จงขอพรข้อที่ ๔ อย่างอื่นเถิด
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๖๑] พระองค์ผู้จอมชน คนเช่นกับพระองค์มัวพะวงอยู่ว่า
นี้เป็นที่พอใจของเรา มาทอดทิ้งตนเสีย
ย่อมไม่ประสบสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจทั้งหลาย
ตนนั่นแหละประเสริฐกว่า ประเสริฐอย่างยอดเยี่ยมกว่า
เพราะบุคคลผู้อบรมตนแล้ว
พึงได้สิ่งซึ่งเป็นที่พอใจทั้งหลายในภายหลัง

เชิงอรรถ :
๑ แคว้นของพระองค์เป็นช่อง หมายถึงไม่มีที่อยู่หนาแน่น คือ เกิดมีช่องว่าง เพราะเกิดหมู่บ้านขึ้นเฉพาะที่
(ขุ.ชา.อ. ๘/๔๕๙/๔๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(โจรโปริสาทมีน้ำตานองหน้า กราบทูลว่า)
[๔๖๒] เนื้อมนุษย์เป็นที่พอใจของหม่อมฉัน พระเจ้าสุตโสม
โปรดทรงทราบอย่างนี้ หม่อมฉันไม่อาจจะงดเว้น
เชิญพระองค์เลือกพรอย่างอื่นเถิด พระสหาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๖๓] ผู้ใดมัวรักษาของซึ่งเป็นที่พอใจว่า
นี้เป็นที่พอใจของเรา มาทอดทิ้งตนเสีย
ย่อมประสบแต่ของซึ่งเป็นที่รักทั้งหลาย
เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราที่เจือยาพิษ
เพราะเหตุนั้นเอง เขาจึงได้รับทุกข์ในโลกหน้า
[๔๖๔] อนึ่ง ผู้ใดในโลกนี้ได้พิจารณาแล้ว
ละสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจเสียได้ ย่อมเสพอริยธรรมได้แสนยาก
เหมือนคนไข้ผู้ประสบทุกข์ดื่มยา
เพราะเหตุนั้นแหละ ผู้นั้นจึงเป็นผู้ได้รับความสุขในโลกหน้า
(โจรโปริสาทกล่าวคร่ำครวญว่า)
[๔๖๕] หม่อมฉันละทิ้งพระบิดาและพระมารดา
ทั้งเบญจกามคุณอันเป็นที่ชอบใจ
หนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
พรข้อนั้นหม่อมฉันจะถวายแก่พระองค์ได้อย่างไร
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๖๖] บัณฑิตทั้งหลายไม่กล่าววาจาเป็น ๒ ส่วน
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมมีปฏิญญาเป็นคำสัตย์โดยแท้
พระองค์ได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า เชิญขอพรเถิดนะ พระสหาย
พระองค์ได้ตรัสไว้อย่างนี้
เพราะฉะนั้น พระดำรัสที่พระองค์ตรัสจึงไม่สมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(โจรโปริสาทร้องไห้อีก กราบทูลว่า)
[๔๖๗] หม่อนฉันเข้าถึงการไม่ได้บุญ
ความเสื่อมยศเสื่อมเกียรติ บาป ทุจริต
ความเศร้าหมองเป็นอันมาก เพราะเนื้อมนุษย์เป็นเหตุ
หม่อมฉันจะพึงถวายพรนั้นแก่พระองค์ได้อย่างไร
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทนั้นอีกว่า)
[๔๖๘] คำว่า คนเราให้พรใดแล้วกลับคำ เขาไม่สมควรให้พรนั้น
สหาย ขอพระองค์จงขอพรเถิด อย่าหวั่นวิตกไปเลย
แม้แต่ชีวิตหม่อมฉันก็สละถวายพระองค์ได้
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสสนับสนุนโจรโปริสาทนั้นให้อาจหาญในการให้พรว่า)
[๔๖๙] สัตบุรุษทั้งหลายยอมสละชีวิต แต่ไม่สละธรรม
สัตบุรุษมีปฏิญญาเป็นสัตย์อย่างเดียว
พรที่พระองค์ได้ประทานแล้ว ขอได้โปรดรีบประทานเสียเถิด
พระราชาผู้ประเสริฐสุด ขอพระองค์จงสมบูรณ์ด้วยธรรมนี้เถิด
[๔๗๐] นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะที่สำคัญ
เมื่อจะรักษาชีวิต ก็พึงสละอวัยวะ
เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละทั้งอวัยวะ
ทรัพย์ และแม้แต่ชีวิตทั้งหมด
[๔๗๑] บุรุษรู้ธรรมจากผู้ใด
และเหล่าสัตบุรุษย่อมขจัดความสงสัยของบุรุษนั้นได้
ข้อนั้นเป็นที่พึ่งและเป็นจุดมุ่งหมายของบุรุษนั้น
ด้วยเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญาไม่พึงทำลายไมตรี
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[๔๗๒] มนุษย์นั้นเป็นภักษาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมาตั้งนาน
หม่อมฉันหนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
สหาย ก็ถ้าพระองค์จะตรัสขอเรื่องนี้กับหม่อมฉัน
หม่อมฉันขอถวายพรนี้แด่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๗๓] สหาย พระองค์เป็นทั้งครูและสหายของหม่อมฉัน
หม่อมฉันได้ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว
แม้พระองค์ก็ขอได้โปรดทำตามคำของหม่อมฉัน
เราแม้ทั้ง ๒ จะได้ไปปลดปล่อย(เหล่ากษัตริย์)ด้วยกัน
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทนั้นว่า)
[๔๗๔] สหาย หม่อมฉันเป็นทั้งครูและสหายของพระองค์
พระองค์ได้ทำตามคำของหม่อมฉันแล้ว
แม้หม่อมฉันก็จะทำตามพระดำรัสของพระองค์
เราแม้ทั้ง ๒ ก็จะได้พากันไปปลดปล่อย(เหล่ากษัตริย์)ด้วยกัน
(ครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เสด็จเข้าไปหากษัตริย์เหล่านั้น
แล้ว จึงตรัสว่า)
[๔๗๕] พระองค์ทั้งหลายอย่าได้ประทุษร้าย
ต่อพระราชานี้ด้วยความเคียดแค้นว่า
“เราทั้งหลายถูกพระเจ้ากัมมาสบาทเบียดเบียน
ถูกร้อยฝ่ามือ ร้องไห้ มีหน้านองไปด้วยน้ำตา
ขอพระองค์ทั้งหลายจงทรงรับสัตย์ปฏิญาณของหม่อมฉัน”
(กษัตริย์เหล่านั้นตรัสตอบว่า)
[๔๗๖] พวกหม่อมฉันจะไม่ประทุษร้าย
ต่อพระราชาพระองค์นี้ด้วยความเคียดแค้นว่า
“เราทั้งหลายถูกพระเจ้ากัมมาสบาทเบียดเบียน
ถูกร้อยฝ่ามือ ร้องไห้ มีหน้านองไปด้วยน้ำตา
หม่อมฉันทั้งหลายขอรับสัจจปฏิญญาของพระองค์”
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับกษัตริย์เหล่านั้นว่า)
[๔๗๗] บิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุเคราะห์
ปรารถนาประโยชน์แก่ประชาฉันใด
ขอพระราชานี้จงเป็นเสมือนพระบิดาและพระมารดา
ของท่านทั้งหลาย
และขอท่านทั้งหลายจงเป็นเสมือนบุตรฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(กษัตริย์เหล่านั้นเมื่อรับปฎิญาณ จึงกราบทูลว่า)
[๔๗๘] บิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุเคราะห์
ปรารถนาประโยชน์แก่ประชาทั้งหลายฉันใด
แม้พระราชานี้ก็จงเป็นเหมือนพระบิดา
และพระมารดาของหม่อมฉันทั้งหลาย
แม้หม่อมฉันทั้งหลายก็จะเป็นเหมือนโอรสฉันนั้น
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทรงพรรณนาถึงสมบัติของพระนคร จึงตรัสปลอบโจร
โปริสาทว่า)
[๔๗๙] พระองค์เคยเสวยกระยาหารเนื้อสัตว์ ๔ เท้า
และนกที่พวกพ่อครัวจัดปรุงให้สำเร็จอย่างดี
เหมือนพระอินทร์ทรงเสวยสุธาโภชน์
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า
[๔๘๐] นางกษัตริย์เหล่านั้นล้วนแต่เอวบางร่างน้อยสะโอดสะอง
ประดับแวดล้อมบำรุงพระองค์ให้บันเทิงพระทัย
เหมือนนางเทพอัปสรแวดล้อมพระอินทร์ในเทวโลกฉะนั้น
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าตามลำพังเล่า
[๔๘๑] พระแท่นบรรทมมีพนักแดง โดยมากปูลาดด้วยผ้าโกเชาว์
ล้วนแต่ปูลาดด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวงอันงดงาม
พระองค์เคยทรงบรรทมสุขสำราญ
ประทับบนท่ามกลางพระแท่นบรรทมเช่นนั้น
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า
[๔๘๒] ในเวลาพลบค่ำ มีทั้งเสียงปรบมือ
เสียงตะโพน และเสียงดนตรี
รับประสานเสียงล้วนแต่สตรีไม่มีบุรุษเจือปน
การขับและการประโคมก็ล้วนไพเราะ
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๘๓] พระราชอุทยานชื่อมิคาชินวัน
สมบูรณ์ด้วยบุปผชาติหลากหลายชนิด
พระนครของพระองค์ประกอบด้วยพระราชอุทยานเช่นนี้
เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจยิ่งนัก ประกอบด้วยม้า ช้าง และรถ
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า
(โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า)
[๔๘๔] ข้าแต่พระราชา ในกาฬปักษ์
ดวงจันทร์ย่อมอ่อนแสงลงทุก ๆ วัน
การสมาคมคบหาอสัตบุรุษ
ย่อมเปรียบเสมือนดวงจันทร์ในข้างแรมฉันใด
[๔๘๕] หม่อมฉันก็ฉันนั้นเหมือนกัน
อาศัยพ่อครัวซึ่งเป็นคนชั่วเลวทราม
ได้ทำแต่บาปกรรมที่จะเป็นเหตุให้ไปทุคติ
[๔๘๖] ในสุกกปักษ์
ดวงจันทร์ย่อมส่องแสงสว่างขึ้นทุก ๆ วันฉันใด
ข้าแต่พระราชา การสมาคมคบหาสัตบุรุษ
ก็เปรียบเสมือนดวงจันทร์ในข้างขึ้นฉันนั้น
[๔๘๗] ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม ขอพระองค์ทรงทราบว่า
เหมือนหม่อมฉันได้อาศัยพระองค์แล้ว
จักทำกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้ไปสุคติได้
[๔๘๘] พระองค์ผู้จอมชน เปรียบเสมือนน้ำฝนที่ตกลงบนที่ดอน
ไม่ควรยืดเยื้อขังอยู่ได้นานฉันใด
แม้การสมาคมคบหาอสัตบุรุษของหม่อมฉันก็ฉันนั้น
ไม่ควรจะยืดเยื้อยาวนานได้เหมือนน้ำบนที่ดอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ผู้เป็นนรชน
ผู้แกล้วกล้า และประเสริฐสุด
น้ำฝนที่ตกลงในสระย่อมขังอยู่ได้นานฉันใด
แม้การสมาคมคบหาสัตบุรุษของหม่อมฉันก็ฉันนั้น
ย่อมตั้งอยู่ได้นานเหมือนน้ำในสระ
[๔๙๐] การสมาคมสัตบุรุษย่อมไม่รู้จักเสื่อมคลายไป
ย่อมเป็นอยู่เหมือนอย่างนั้น แม้ตลอดเวลาที่ชีวิตยังคงอยู่
ส่วนการสมาคมคบหาอสัตบุรุษย่อมเสื่อมไปอย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษจึงห่างไกลกันกับอสัตบุรุษ
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงธรรมเพื่อให้เนื้อความถึงที่สุด จึงตรัสว่า)
[๔๙๑] พระราชาผู้ชนะคนที่ไม่ควรชนะ๑ ไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา
เพื่อนผู้ชนะเพื่อน ก็ไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อน
ภรรยาผู้ไม่เกรงกลัวสามี ก็ไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา
บุตรทั้งหลายผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้แก่ชรา ก็ไม่ชื่อว่าเป็นบุตร
[๔๙๒] ที่ประชุมที่ไม่มีสัตบุรุษ๒ ก็ไม่ชื่อว่าสภา
เหล่าชนผู้ไม่พูดคำที่เป็นธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ
ชนทั้งหลายผู้ละราคะ โทสะ โมหะ
กล่าวคำที่เป็นธรรมเท่านั้น จึงชื่อว่า เป็นสัตบุรุษ
[๔๙๓] บัณฑิตผู้อยู่ปะปนกับคนพาล
เมื่อไม่พูด ใคร ๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นบัณฑิต
แต่บัณฑิตเมื่อพูด เมื่อแสดงอมตบท จึงรู้ว่าเป็นบัณฑิต

เชิงอรรถ :
๑ คนที่ไม่ควรชนะ หมายถึงมารดาบิดา เมื่อชนะมารดาบิดาไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา หากว่าท่านได้ราช
สมบัติจากพระราชบิดาแล้ว กลับเป็นปฐมกษัตริย์ต่อท่าน ชื่อว่าทำกิจไม่สมควร (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๙๑/๔๔๙)
๒ สัตบุรุษหมายถึงบัณฑิต สัตบุรุษทั้งหลายละกิเลสมีราคะเป็นต้นแล้ว เป็นผู้อนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยประโยชน์
พูดแต่ความจริง (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๙๒/๔๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] รวมชาดกที่มีในอสีตินิบาต
[๔๙๔] เพราะเหตุนั้น บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงกล่าวธรรม
พึงอธิบายธรรมให้แจ่มแจ้ง
พึงเชิดชูธงของฤๅษีทั้งหลาย
เพราะฤๅษีทั้งหลายมีธรรมที่เป็นสุภาษิตเป็นธงชัย
ธรรมนั่นแหละเป็นธงชัยของฤๅษีทั้งหลาย
มหาสุตโสมชาดกที่ ๕ จบ

รวมชาดกที่มีในอสีตินิบาตนี้ คือ
๑. จูฬหังสชาดก ๒. มหาหังสชาดก
๓. สุธาโภชนชาดก ๔. กุณาลชาดก
๕. มหาสุตโสมชาดก

อสีตินิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
๒๒. มหานิบาต
๑. เตมิยชาดก ๑ (๕๓๘)
ว่าด้วยพระเตมีย์โพธิสัตว์
(เทพธิดาผู้เคยเป็นมารดาพระโพธิสัตว์ในอัตภาพหนึ่ง ปลอบพระโพธิสัตว์ให้
สบายพระทัยแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑] ท่านจงอย่าเปิดเผยตนว่าเป็นบัณฑิต
จงให้คนทั้งปวงรู้ว่าเป็นคนโง่
ขอให้คนทั้งหมดจงดูหมิ่นท่านเถิด
ความประสงค์ของท่าน
จักสำเร็จได้ด้วยอาการอย่างนี้
(พระเตมีย์โพธิสัตว์กลับได้ความสบายพระทัยตามคำของเทพธิดานั้น จึงตรัส
ว่า)
[๒] แม่เทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน
ที่ได้กล่าวกับข้าพเจ้า
แม่เทพธิดา ท่านเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์
มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า
(พระโพธิสัตว์ตรัสถามนายสารถีว่า)
[๓] นายสารถี ท่านจะรีบขุดหลุมไปทำไมหนอ
สหายเอ๋ย เราถามท่านแล้ว ท่านจงบอกเรา
ท่านจักทำประโยชน์อะไรกับหลุมเล่า

เชิงอรรถ :
๑ เป็นชาดกที่พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการเสด็จออกบรรพชาอันยิ่งใหญ่(ในอดีต)
ได้ตรัสไว้โดยทรงเริ่มต้นด้วยคาถาแรกที่เทวดาผู้สถิตอยู่ที่เศวตฉัตรกล่าวสอนเตมิยกุมารว่า “ท่านจง
อย่าเปิดเผยตนว่าเป็นบัณฑิต” เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๑/๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(สุนันทสารถีได้ฟังคำนั้น ขุดหลุมมิได้เงยหน้าดู จึงกราบทูลว่า)
[๔] พระโอรสของพระราชาเป็นใบ้
และเป็นง่อยเปลี้ยขาดความสำนึก
พระราชาตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า ควรฝังลูกเราไว้ในป่าช้า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ ตรัสกับสุนันทสารถีว่า)
[๕] นายสารถี เรามิได้เป็นคนหนวก
คนใบ้ คนเปลี้ย และมิได้เป็นคนบกพร่อง๑
ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
[๖] ท่านจงดูขา แขน และฟังภาษิตของเรา
ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
(สุนันทสารถีไม่รู้ จึงกราบทูลว่า)
[๗] ท่านเป็นเทวดา คนธรรพ์
หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
ท่านเป็นใครหรือเป็นบุตรของใคร
พวกเราจักรู้จักท่านได้อย่างไร
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อแสดงตนให้ปรากฏ แสดงธรรมแก่สุนันทสารถีนั้น จึง
ตรัสว่า)
[๘] เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์
ทั้งมิใช่ท้าวสักกปุรินททะ
เราเป็นผู้ที่ท่านจะฝังในหลุม
เป็นโอรสของพระเจ้ากาสี
[๙] เราเป็นโอรสของพระราชา
องค์ที่ท่านเข้าไปพึ่งบารมีเลี้ยงชีพอยู่เสมอ
นายสารถี ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า
ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า มิได้เป็นคนบกพร่อง หมายถึงเป็นผู้มีอินทรีย์สมบูรณ์ (ขุ.ชา.อ. ๙/๕/๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๐] บุคคลพึงนั่งหรือนอนที่ร่มแห่งต้นไม้ใด
ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น
เพราะคนผู้ประทุษร้ายมิตร ชื่อว่าเป็นคนเลวทราม
[๑๑] พระราชาก็เหมือนต้นไม้ เราก็เป็นเหมือนกิ่งไม้
ข้าแต่มหาราช นายสารถีเป็นเหมือนคนผู้อาศัยร่มไม้
นายสารถี ถ้าท่านฝังเราไว้ในป่า
ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ปรารภคาถาบูชามิตร ๑๐ คาถาว่า)
[๑๒] ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร
ผู้นั้นพรากจากเรือนของตนแล้ว
ย่อมมีอาหารสมบูรณ์
คนเป็นอันมากย่อมเข้าไปพึ่งพาผู้นั้นเลี้ยงชีพ
[๑๓] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
จะไปสู่ชนบท นิคม และราชธานีใด ๆ
ก็เป็นผู้อันชนทั้งหลายในชนบท นิคม
และราชธานีนั้น ๆ บูชาไปทุกแห่งหน
[๑๔] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ไม่มีพวกโจรข่มเหง
พระมหากษัตริย์ก็ไม่ทรงดูหมิ่น ย่อมข้าม(ชนะ)ศัตรูทั้งปวงได้
[๑๕] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
ไม่โกรธเคืองใคร ๆ มาสู่เรือนของตน
ย่อมเป็นผู้ที่มหาชนยินดีต้อนรับในที่ประชุม
และเป็นคนชั้นสูงของหมู่ญาติ
[๑๖] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร สักการะคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้ที่คนอื่นสักการะตอบ
เคารพคนอื่นแล้วก็มีคนอื่นเคารพตอบ
เป็นผู้อันเขาสรรเสริญเกียรติคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๗] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
บูชาผู้อื่น ย่อมได้รับการบูชาตอบ
ไหว้ผู้อื่น ย่อมได้รับการไหว้ตอบ
ทั้งได้รับอิสริยยศและเกียรติ
[๑๘] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมรุ่งเรือง๑เหมือนไฟ
ย่อมรุ่งโรจน์เหมือนเทวดา เป็นผู้อันสิริไม่ทอดทิ้ง
[๑๙] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมมีโคทั้งหลายตกลูกมาก
พืชที่หว่านลงในนาย่อมงอกงาม
ย่อมได้บริโภคผลของพืชทั้งหลายที่หว่านไว้แล้ว
[๒๐] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร พลัดตกจากเหว ภูเขา
พลาดตกต้นไม้หรือเคลื่อนจากภพ ย่อมได้ที่พึ่ง
[๒๑] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ศัตรูทั้งหลายจะระรานไม่ได้
เหมือนลมระรานต้นไทรที่มีรากและลำต้นงอกงามแล้วไม่ได้
(สุนันทสารถีประคองอัญชลี ทูลวิงวอนว่า)
[๒๒] ข้าแต่พระราชโอรส เชิญเสด็จเถิด
กระหม่อมจักนำพระองค์เสด็จกลับ
ไปยังพระราชมณเฑียรของพระองค์
เชิญพระองค์เถลิงถวัลยราชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า
พระองค์จักทรงทำอะไรในป่าได้เล่า
(ลำดับนั้น พระเตมีย์โพธิสัตว์จึงตรัสกับนายสุนันทสารถีนั้นว่า)
[๒๓] นายสารถี พอทีสำหรับเราด้วยราชสมบัตินั้น
พระญาติทั้งหลายหรือทรัพย์ทั้งหลาย
ที่เราจะพึงได้ด้วยการประพฤติอันไม่ชอบธรรม

เชิงอรรถ :
๑ รุ่งเรือง ในที่นี้หมายถึงรุ่งเรืองด้วยอิสริยยศและบริวารยศ (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๘/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(สุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๒๔] ข้าแต่พระราชโอรส พระองค์เสด็จไปจากที่นี้แล้ว
ทำให้ข้าพระองค์ได้รับรางวัล เมื่อพระองค์เสด็จกลับไป
พระบิดาและพระมารดาพึงพระราชทานรางวัลให้แก่ข้าพระองค์
[๒๕] ข้าแต่พระราชโอรส เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว
พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์เหล่านั้น
จะพึงดีใจ ให้รางวัลแก่ข้าพระองค์
[๒๖] ข้าแต่พระราชโอรส เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
แม้เหล่านั้นจะพากันดีใจ ให้รางวัลแก่ข้าพระองค์
[๒๗] ข้าแต่พระราชโอรส เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว
ชาวชนบทและชาวนิคมผู้มีธัญญาหารมาก
จะมาประชุมกัน ให้เครื่องบรรณาการแก่ข้าพระองค์
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๘] เราเป็นผู้อันพระบิดาและพระมารดา
ชาวแคว้น ชาวนิคม และกุมารทั้งปวงสละแล้ว
เราไม่มีเรือนของตน
[๒๙] เราเป็นผู้อันพระมารดาทรงอนุญาตแล้ว
และพระบิดาก็ทรงสละขาดแล้ว
ออกไปบวชอยู่ในป่าแต่ลำพัง
เราไม่พึงปรารถนากามทั้งหลาย
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อจะเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติ จึงตรัสว่า)
[๓๐] ความหวังผลของเหล่าชนผู้ไม่รีบร้อนย่อมสำเร็จแน่
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
นายสารถี ท่านจงรู้ไว้อย่างนี้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๓๑] อนึ่ง ประโยชน์โดยชอบของเหล่าชน
ผู้ไม่รีบร้อน ย่อมเผล็ดผลโดยแท้
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
ออกบวชแล้วย่อมไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
(นายสุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๓๒] พระองค์เป็นผู้มีพระวาจาไพเราะ
มีพระดำรัสสละสลวยอย่างนี้
เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ตรัสในสำนัก
ของพระบิดาและพระมารดาในเวลานั้น
(ลำดับนั้น พระเตมีย์โพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[๓๓] เราเป็นคนง่อยเปลี้ย เพราะไม่มีข้อต่อก็หามิได้
เป็นคนหนวก เพราะไม่มีโสตประสาทก็หามิได้
เป็นคนใบ้ เพราะไม่มีชิวหาประสาทก็หามิได้
ท่านอย่าเข้าใจว่า เราเป็นใบ้
[๓๔] เราระลึกชาติก่อนที่เราเสวยราชสมบัติได้
เราได้เสวยราชสมบัติในครั้งนั้นแล้ว
ต้องไปตกนรกอันแสนสาหัส
[๓๕] เราได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้น ๒๐ ปี
แล้วต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกถึง ๘๐,๐๐๐ ปี
[๓๖] เรากลัวจะต้องได้เสวยราชสมบัตินั้น
จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า
ขอชนทั้งหลายอย่าได้อภิเษกเราไว้ในราชสมบัติเลย
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่พูดในสำนัก
ในสำนักของพระบิดาและพระมารดาในกาลนั้น
[๓๗] พระบิดาทรงอุ้มเราให้นั่งบนพระเพลาแล้ว
ตรัสพิพากษาว่า ท่านทั้งหลายจงฆ่าโจรคนหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
จงจองจำโจรอีกคนหนึ่งไว้ในเรือนจำ
จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่งแล้ว ราดด้วยน้ำกรด
จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว
พระบิดาตรัสพิพากษาอรรถคดีแก่มหาชนนั้นด้วยประการฉะนี้
[๓๘] เราได้ฟังพระวาจาอันหยาบคายที่พระบิดาตรัสนั้น
จึงกลัวต่อการเสวยราชสมบัติ
เรามิได้เป็นคนใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นคนใบ้
มิได้เป็นคนง่อยเปลี้ย ก็ทำเป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย
เรากลิ้งเกลือกนอนจมอยู่ในอุจจาระและปัสสาวะของตน
[๓๙] ชีวิตเป็นของยาก เป็นของเล็กน้อย๑
ซ้ำประกอบไปด้วยทุกข์
ใครเล่าอาศัยชีวิตนี้แล้วพึงก่อเวรกับใคร ๆ
[๔๐] ใครเล่าอาศัยชีวิตนี้แล้วพึงก่อเวรกับใคร ๆ
เพราะไม่ได้ปัญญาและเพราะไม่ได้เห็นธรรม
[๔๑] ความหวังผลของเหล่าคนผู้ไม่รีบร้อนย่อมสำเร็จแน่
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
นายสารถี ท่านจงรู้ไว้อย่างนี้เถิด
[๔๒] อนึ่ง ประโยชน์โดยชอบของเหล่าชน
ผู้ไม่รีบร้อน ย่อมเผล็ดผลโดยแท้
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
ออกบวชแล้วย่อมไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ชีวิตเป็นของเล็กน้อย หมายความว่า หากชีวิตของสัตว์ทั้งหลายได้รับความลำบาก ก็จะดำรงอยู่ได้นาน
มาก แต่หากได้รับความสบาย ก็จะดำรงอยู่ได้ชั่วเวลานิดหน่อย และชีวิตนี้ยากเข็ญ เป็นของเล็กน้อย คือ
มีประมาณน้อยนิด อีกทั้งเป็นชีวิตที่ประกอบด้วยความสั่งสมทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๓๙/๒๗-๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(นายสุนันทสารถีได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๔๓] ข้าแต่พระราชโอรส
แม้ข้าพระองค์ก็จักบวชในสำนักของพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสอนุญาตให้ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด
ข้าพระองค์พอใจจะบวช พระเจ้าข้า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๔] นายสารถี เรามอบรถให้ท่านแล้ว ท่านจงเป็นผู้ไม่มีหนี้
มาเถิด เพราะคนที่ไม่มีหนี้ จึงจะบวชได้
พวกฤๅษีทั้งหลายกล่าวสรรเสริญการบวชนั้น
(สุนันทสารถีได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๔๕] ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ
ข้าพระองค์ได้ทำตามพระดำรัสที่พระองค์ได้ตรัสไว้แล้ว
ข้าพระองค์ทูลวิงวอนแล้ว
ขอพระองค์ควรทรงโปรดกระทำตามคำของข้าพระองค์เถิด
[๔๖] ขอพระองค์จงประทับอยู่ ณ ที่นี้
จนกว่าข้าพระองค์จะทูลเชิญเสด็จพระราชามา
พระบิดาของพระองค์ทอดพระเนตรแล้ว
จะพึงมีพระทัยเอิบอิ่มเป็นแน่
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๗] นายสารถี เราจะทำตามคำของท่านที่กล่าวกับเรา
แม้เราก็ปรารถนาจะเฝ้าพระบิดาของเราซึ่งเสด็จมา ณ ที่นี้
[๔๘] ท่านจงกลับไปเถิด สหาย
การที่ท่านได้ทูลพระญาติทั้งหลายด้วยเป็นการดี
ท่านรับคำสั่งเราแล้ว
พึงกราบทูลการถวายบังคมพระมารดาและพระบิดาของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๙] นายสารถีจับพระบาททั้ง ๒ ของพระโพธิสัตว์นั้น
และทำประทักษิณพระองค์แล้ว
ก็ขึ้นรถบ่ายหน้าเข้าไปยังทวารพระราชวัง
[๕๐] พระมารดาทอดพระเนตรเห็นรถว่างเปล่า
กลับมาแต่นายสารถีคนเดียว
จึงทรงกันแสง มีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล
ทอดพระเนตรดูนายสารถีนั้นอยู่
[๕๑] พระนางทรงเข้าพระทัยว่า
นายสารถีฝังลูกของเราแล้วจึงกลับมา
ลูกของเราถูกนายสารถีฝังไว้ในแผ่นดิน
กลบดินแล้วเป็นแน่
[๕๒] พวกศัตรูย่อมพากันยินดี
พวกคนจองเวรต่างก็เอิบอิ่มเป็นแน่
เพราะเห็นนายสารถีฝังลูกของเรากลับมาแล้ว
[๕๓] พระมารดาทอดพระเนตรเห็นรถอันว่างเปล่า
กลับมาแต่นายสารถีคนเดียว
มีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล
ทรงกันแสงอยู่ ตรัสถามนายสารถีนั้นว่า
[๕๔] ลูกของเราเป็นคนใบ้จริงหรือ เป็นคนง่อยเปลี้ยจริงหรือ
ลูกของเราขณะที่ท่านจะฝังดิน พูดอะไรบ้างหรือเปล่า
นายสารถี ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เราด้วยเถิด
[๕๕] ลูกของเราเป็นคนใบ้ เป็นคนง่อยเปลี้ย
เมื่อท่านจะฝังลงดิน กระดิกมือและเท้าอย่างไร
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เราเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(ลำดับนั้น นายสุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๕๖] ข้าแต่พระแม่เจ้า
ขอได้โปรดพระราชทานอภัยโทษแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด
ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูล
ตามที่ได้ยินและได้เห็นมาในสำนักของพระราชโอรส
(พระนางจันทาเทวีตรัสกับนายสุนันทสารถีนั้นว่า)
[๕๗] นายสารถีผู้สหาย เราให้อภัยโทษแก่ท่าน
อย่าได้กลัวเลย จงพูดไปเถิด
ตามที่ท่านได้ยินหรือได้เห็นมาในสำนักของพระราชโอรส
(นายสุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๕๘] พระราชโอรสนั้นมิได้เป็นคนใบ้ มิได้เป็นคนง่อยเปลี้ย
ยังมีพระดำรัสสละสลวยไพเราะ ได้ทราบว่า
พระองค์ทรงกลัวต่อการครองราชสมบัติ
จึงได้ทำการลวงอย่างมากมาย
[๕๙] พระองค์ทรงระลึกถึงชาติก่อน
ที่พระองค์เคยได้เสวยราชสมบัติ
ครั้นได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว
ต้องไปตกนรกอย่างแสนสาหัส
[๖๐] พระองค์ได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้น ๒๐ ปี
แล้วต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกถึง ๘๐,๐๐๐ ปี
[๖๑] พระองค์ทรงกลัวต่อการเสวยราชสมบัติ
จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า
ขอชนทั้งหลายอย่าได้อภิเษกเราในราชสมบัติเลย
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัส
ในสำนักของพระบิดาและพระมารดาในกาลนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๖๒] พระราชโอรสทรงถึงพร้อมด้วยองคาพยพ
มีพระรูปสมบัติงดงามสมส่วน
มีพระวาจาสละสลวย มีพระปัญญา
ทรงดำรงอยู่ในทางสวรรค์
[๖๓] ถ้าพระแม่เจ้าทรงพระประสงค์จะทอดพระเนตร
พระราชโอรสของพระองค์
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลเชิญเสด็จพระแม่เจ้าไปให้ถึงสถานที่
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเตมีย์
(ฝ่ายพระเจ้ากาสีทรงสดับคำของนายสุนันทสารถี จึงดำรัสสั่งให้เรียกมหา-
เสนคุตมา รีบให้ตระเตรียมเสด็จ ตรัสว่า)
[๖๔] เจ้าหน้าที่ทั้งหลายจงเทียมรถ เทียมม้า
ผูกเครื่องประคับช้าง จงประโคมสังข์และบัณเฑาะว์
ตีกลองหน้าเดียวเถิด
[๖๕] จงตีกลองสองหน้าและรำมะนาอันไพเราะ
ขอชาวนิคมจงตามเรามา
เราจะไปให้โอวาทแก่พระโอรส
[๖๖] ขอพระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์
และพราหมณ์ทั้งหลายจงรีบเทียมยาน
เราจะไปให้โอวาทแก่พระโอรส
[๖๗] ขอพวกกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
และกองพลราบจงรีบเทียมยาน
เราจะไปให้โอวาทแก่พระโอรส
[๖๘] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
จงรีบเทียมยานเถิด
เราจะไปให้โอวาทแก่พระโอรส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๙] พวกนายสารถีจูงม้าสินธพที่มีฝีเท้าเร็ว
เทียมเข้ากับราชรถขับมายังทวารพระราชวัง
และกราบทูลว่า ม้าเหล่านี้เทียมแล้ว พระเจ้าข้า
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๐] ม้าอ้วนก็ไม่มีฝีเท้าเร็ว ม้าผอมก็ไม่มีเรี่ยวแรง
จงเว้นทั้งม้าผอมและม้าอ้วนเสีย
เลือกเทียมแต่ม้าที่สมบูรณ์
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๑] ลำดับนั้น พระราชารีบเสด็จขึ้นประทับม้าสินธพที่เทียมแล้ว
ได้ตรัสกับนางชาววังว่า พวกเจ้าทั้งหมดจงตามเรามาเถิด
[๗๒] พระราชาตรัสสั่งว่า จงตระเตรียมเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง
คือ พัดวาลวีชนี อุณหิส พระขรรค์ เศวตฉัตร
และฉลองพระบาทที่ประดับตกแต่งด้วยทองคำขึ้นรถไปด้วย
[๗๓] และต่อจากนั้น พระราชาตรัสสั่งให้นายสารถีนำทาง
เสด็จเคลื่อนขบวนเข้าไปถึงสถานที่
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเตมีย์
[๗๔] ส่วนพระเตมีย์ทอดพระเนตรเห็นพระบิดา
กำลังเสด็จมา ทรงรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ
ทรงแวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ จึงถวายพระพรว่า
[๗๕] ขอถวายพระพรเสด็จพ่อ
พระองค์ทรงสุขสบายดีหรือ ทรงพระสำราญดีหรือ
ราชกัญญาทั้งปวงและพระมารดาของอาตมภาพ
ไม่มีพระโรคาพาธหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๗๖] ลูกรัก โยมสุขสบายดี
ไม่มีโรคเบียดเบียน
พระราชกัญญาทั้งปวงและพระมารดา
ของลูกรักก็ไม่มีโรคาพาธ
(ลำดับนั้น พระเตมีย์โพธิสัตว์ทูลถามพระราชาว่า)
[๗๗] ขอถวายพระพรเสด็จพ่อ
มหาบพิตรไม่ทรงเสวยน้ำจัณฑ์หรือ
ไม่ทรงโปรดปรานการเสวยน้ำจัณฑ์หรือ
พระทัยของพระองค์ทรงยินดีในสัจจะ
ในธรรม และในทานหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๗๘] ลูกรัก โยมไม่ดื่มน้ำจัณฑ์
และไม่โปรดปรานการดื่มน้ำจัณฑ์
ใจของโยมยังยินดีในสัจจะ ในธรรม และในทาน
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๗๙] ขอถวายพระพรเสด็จพ่อ
ราชพาหนะของพระองค์ที่เขาเทียมแล้วมั่นคงหรือ
ราชพาหนะยังนำภาระไปได้ดีอยู่หรือ
มหาบพิตร พยาธิที่จะเข้าไปแผดเผาพระสรีระของพระองค์ไม่มีหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๘๐] พาหนะมีม้าและโคเป็นต้นของโยมที่เทียมแล้วมั่นคง
ราชพาหนะก็ยังนำภาระไปได้
พยาธิที่เข้าไปแผดเผาสรีระของโยมก็ไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๘๑] ชุมชนแถบชายแดนของพระองค์ยังมั่งคั่งหรือ
คามนิคมในท่ามกลางรัฐของพระองค์
ยังเป็นที่อยู่แน่นหนามั่งคั่งอยู่หรือ
ฉางหลวงและท้องพระคลังของพระองค์ยังบริบูรณ์ดีอยู่หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๘๒] ชุมชนแถบชายแดนของโยมยังมั่งคั่ง
คามนิคมในท่ามกลางแคว้นก็ยังอยู่แน่นหนาดี
ฉางหลวงและท้องพระคลังของโยม
ก็ยังคงบริบูรณ์ดีทุกอย่าง
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๘๓] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
ขอมหาดเล็กทั้งหลายจงจัดตั้งบัลลังก์
ซึ่งเป็นที่ประทับนั่งถวายพระราชาเถิด
[๘๔] เชิญประทับนั่ง ณ เครื่องลาดใบไม้ที่เขาปูไว้เรียบร้อย
ถวายมหาบพิตร ณ ที่นี้เถิด
จงทรงตักน้ำจากภาชนะนี้ล้างพระบาทของพระองค์เถิด
[๘๕] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
ใบหมากเม่าของอาตมภาพนี้เป็นของสุกไม่เค็ม
พระองค์มาเป็นแขกของอาตมภาพแล้ว เชิญเสวยเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๘๖] โยมไม่บริโภคใบหมากเม่า
เพราะใบหมากเม่านี้มิใช่อาหารของโยม
โยมบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยเนื้ออันสะอาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระราชาตรัสกับพระเตมีย์โพธิสัตว์แล้ว จึงตรัสคาถาว่า)
[๘๗] ความน่าอัศจรรย์ปรากฏชัดเจนกับโยม
เพราะได้เห็นลูกรักอยู่ในที่ลับแต่ผู้เดียว
เพราะเหตุไร ผิวพรรณของผู้บริโภคอาหารเช่นนี้จึงผ่องใสเล่า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อจะทูลพระราชานั้น จึงตรัสว่า)
[๘๘] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
อาตมภาพจำวัดตามลำพังบนเครื่องลาดใบไม้
เพราะการจำวัดตามลำพังนั้น
ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส
[๘๙] อนึ่ง อาตมภาพไม่มีราชองครักษ์คาดกระบี่คอยป้องกัน
เพราะการจำวัดตามลำพังของอาตมภาพนั้น
ผิวพรรณจึงผ่องใส ขอถวายพระพร
[๙๐] อาตมภาพมิได้เศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว
มิได้ปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง
ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
เพราะฉะนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส
[๙๑] เพราะการปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง
เพราะเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว
ทั้ง ๒ อย่างนี้ พวกคนพาลซูบซีดเหี่ยวแห้ง
เหมือนไม้อ้อที่เขียวสดถูกถอนทิ้งไว้
(ลำดับนั้น พระราชาทรงเชิญพระเตมีย์โพธิสัตว์ให้ครองราชสมบัติ จึงตรัสว่า)
[๙๒] ลูกรัก โยมขอมอบกองพลช้าง๑ กองพลม้า
กองพลรถ กองพลราบ เหล่าทหารผูกโล่
และพระนิเวศน์ที่น่ารื่นรมย์แก่ลูก

เชิงอรรถ :
๑ กองพลช้าง หมายถึงกองทัพที่จัดขึ้นเป็นหมู่ใหญ่ นับช้างตั้งแต่สิบเชือกขึ้นไป ที่ชื่อว่ากองพลรถก็เช่น
เดียวกัน (ขุ.ชา.อ. ๙/๙๒/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๙๓] โยมขอมอบพระสนมกำนัลในผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
ลูกรักจงปกครองพระสนมกำนัลในเหล่านั้น
จงเป็นพระราชาของโยมทั้งหลาย
[๙๔] หญิงทั้ง ๔ คนผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง
ศึกษาดีแล้วในหน้าที่ของหญิงแม้อื่น ๆ
จักทำลูกรักให้รื่นรมย์ในกามได้ ลูกจักทำอะไรในป่าเล่า
[๙๕] โยมจักนำราชกัญญาจากพระราชาอื่น ๆ ผู้ประดับดีแล้วมา
ขอลูกรักให้กำเนิดพระโอรสในหญิงเหล่านั้นแล้ว
จึงบวชในภายหลังเถิด
[๙๖] ลูกรักยังหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ผมดำสนิท
จงครอบครองราชสมบัติก่อนเถิด
ขอลูกจงมีความเจริญ ลูกจักทำอะไรในป่าเล่า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์แสดงธรรมโปรดพระราชาว่า)
[๙๗] คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์
ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรจะเป็นคนหนุ่ม
เพราะการบวชของคนหนุ่ม ฤๅษีทั้งหลายสรรเสริญแล้ว
[๙๘] คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์
ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรเป็นคนหนุ่ม
อาตมภาพจักประพฤติพรหมจรรย์
อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ
[๙๙] อาตมภาพเห็นเด็กหนุ่มของท่านทั้งหลาย
ผู้เรียกมารดาและบิดา ซึ่งเป็นบุตรที่รักได้มาโดยยาก
ยังไม่ทันถึงความแก่เลยก็ตายเสียแล้ว
[๑๐๐] อาตมภาพเห็นเด็กสาวของท่านทั้งหลาย
ที่สวยสดงดงาม สิ้นชีวิต เหมือนหน่อไม้ไผ่ที่ถูกถอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๐๑] จริงอยู่ จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม
แม้ยังหนุ่มสาวก็ตาย เพราะฉะนั้น
ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตนั้นได้ว่า เรายังเป็นหนุ่มสาว
[๑๐๒] อายุของคนเป็นของน้อย เพราะวันคืนล่วงไป ๆ
เปรียบเหมือนอายุของฝูงปลาในน้ำน้อย
ความเป็นหนุ่มสาวในวัยนั้นจักทำอะไรได้
[๑๐๓] สัตวโลกถูกครอบงำและถูกรุมล้อมอยู่เป็นนิตย์
เมื่อราตรีทั้งหลายทำอายุ วรรณะ และกำลัง
ของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไปเป็นไปอยู่
มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไม
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๔] สัตวโลกถูกอะไรครอบงำ และถูกอะไรรุมล้อมไว้
อะไรชื่อว่าราตรีที่ทำอายุ วรรณะ
และกำลังของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไปเป็นไปอยู่
โยมถามแล้ว ขอลูกรักจงบอกข้อนั้นแก่โยมเถิด
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ทูลว่า)
[๑๐๕] สัตวโลกถูกความตายครอบงำ
และถูกความแก่รุมล้อมไว้
วันคืนที่ชื่อว่าทำอายุ วรรณะ
และกำลังของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไปก็เป็นไปอยู่
มหาบพิตร ขอจงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร
[๑๐๖] เมื่อเส้นด้ายที่เขากำลังทอ
ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่ต้องทอต่อไป
โยมก็พึงทราบว่า เหลืออยู่น้อยเท่านั้นฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๐๗] ห้วงน้ำที่เต็มฝั่งเมื่อไหลไปย่อมไม่ไหลกลับฉันใด
อายุของมนุษย์ทั้งหลายเมื่อผ่านไป
ก็ย่อมไม่หวนกลับคืนฉันนั้น
[๑๐๘] ห้วงน้ำที่เต็มฝั่งย่อมพัดพาเอาต้นไม้
ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไปฉันใด
สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไปฉันนั้น
(พระราชาสดับธรรมกถาของพระเตมีย์โพธิสัตว์แล้ว จะเชิญให้ครองราชสมบัติอีก จึงตรัสว่า)
[๑๐๙] ลูกเอ๋ย โยมขอมอบกองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ กองพลราบ เหล่าทหารผูกโล่
และพระราชนิเวศน์ที่น่ารื่นรมย์แก่ลูก
[๑๑๐] อนึ่ง โยมขอมอบพระสนมกำนัลใน
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
ลูกเอ๋ย จงปกครองพระสนมกำนัลในเหล่านั้น
ลูกจักเป็นพระราชาของโยมทั้งหลาย
[๑๑๑] หญิงทั้ง ๔ คนผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง
ศึกษาดีแล้วในหน้าที่ของหญิงอื่น ๆ
จักทำลูกรักให้รื่นรมย์ในกามได้ ลูกจะทำอะไรในป่าเล่า
[๑๑๒] โยมจักนำราชกัญญาจากพระราชาอื่น ๆ
ผู้ประดับแล้วมาให้แก่ลูก
ลูกให้หญิงเหล่านั้นกำเนิดพระโอรสแล้ว
จึงบวชในภายหลังเถิด
[๑๑๓] ลูกยังหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย มีผมดำสนิท
จงครอบครองราชสมบัติก่อนเถิด
ขอลูกจงมีความเจริญ ลูกจักทำอะไรในป่าเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๑๔] ลูกเอ๋ย โยมขอมอบฉางหลวง พระคลัง พาหนะ
พลนิกาย และพระราชนิเวศน์อันน่ารื่นรมย์แก่ลูก
[๑๑๕] ลูกจงแวดล้อมด้วยแวดวงราชกัญญาที่งามพร้อม
จงแวดล้อมด้วยหมู่พระสนมกำนัลใน
จงครอบครองราชสมบัติก่อนเถิด
ขอลูกจงมีความเจริญ ลูกจักทำอะไรในป่าเล่า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อจะประกาศความที่ตนไม่ปรารถนาราชสมบัติ จึงทูลว่า)
[๑๑๖] มหาบพิตรจะให้อาตมภาพเสื่อมไปเพราะทรัพย์ทำไม
บุคคลจักตายเพราะภรรยาทำไม
ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นหนุ่มสาวที่แก่เฒ่า
เพราะถูกชราครอบงำ
[๑๑๗] ในโลกสันนิวาสที่มีชราและมรณะเป็นธรรมดานั้น
จะเพลิดเพลินไปทำไม จะเล่นหัวไปทำไม
จะยินดีไปทำไม จะแสวงหาทรัพย์ไปทำไม
จะมีประโยชน์อะไรด้วยลูกและเมียแก่อาตมภาพ
อาตมภาพเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร
[๑๑๘] มัจจุราชย่อมไม่ย่ำยีอาตมภาพผู้รู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อบุคคลถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว
จะยินดีไปทำไม จะแสวงหาทรัพย์ไปทำไม
[๑๑๙] ภัยของผลไม้ที่สุกแล้วทั้งหลาย
ย่อมมีเพราะหล่นลงเป็นนิตย์ฉันใด
ภัยของเหล่าสัตว์ผู้เกิดมาแล้ว
ย่อมมีเพราะความตายอยู่เป็นนิตย์ฉันนั้น
[๑๒๐] คนเป็นจำนวนมากที่ได้พบกันในตอนเช้า
ตกตอนเย็นบางพวกก็ไม่เห็นกัน
คนเป็นจำนวนมากที่ได้พบกันในตอนเย็น
ตกตอนเช้าบางพวกก็ไม่เห็นกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๒๑] ควรรีบทำความเพียรเสียแต่ในวันนี้
ใครเล่าจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจะมีในวันพรุ่งนี้
เพราะความผ่อนผันกับมัจจุราชที่มีเสนาหมู่ใหญ่นั้น
ไม่มีแก่เราทั้งหลายเลย
[๑๒๒] พวกโจรย่อมปรารถนาทรัพย์
มหาบพิตร อาตมภาพเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูก
เชิญมหาบพิตรเสด็จกลับไปเถิด
อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ ขอถวายพระพร
เตมิยชาดกที่ ๑ จบ

๒. มหาชนกชาดก๑ (๕๓๙)
ว่าด้วยพระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
(เทพธิดากล่าวว่า)
[๑๒๓] ใครกันนี่ ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง
ก็ยังเพียรพยายาม(ว่าย)อยู่ในท่ามกลางสมุทร
ท่านรู้อำนาจประโยชน์อะไร
จึงพยายามเต็มที่อยู่อย่างนี้
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๒๔] เทพธิดา เราพิเคราะห์เห็นธรรมเนียมของโลก
และอานิสงส์ของความพยายาม
เพราะฉะนั้น ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง
เราจึงเพียรพยายาม(ว่าย)อยู่ในท่ามกลางสมุทร

เชิงอรรถ :
๑ มหาชนกชาดก เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภการเสด็จออก
บรรพชาครั้งใหญ่ (ในอดีต) จึงได้ตรัสเรื่องพระมหาชนกนี้โดยทรงยกคาถาแรกของเรื่องที่นางเทพธิดา
กล่าวกับพระมหาชนกที่กำลังว่ายน้ำข้ามทะเลอยู่ว่า “ใครกันนี่ ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่งก็ยังพยายาม
(ว่าย)อยู่ในท่ามกลางสมุทร ” เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(เทพธิดากล่าวว่า)
[๑๒๕] ฝั่งสมุทรอันลึกประมาณไม่ได้ยังไม่ปรากฏ
ความพยายามอย่างลูกผู้ชายของท่านย่อมเปล่าประโยชน์
ยังไม่ทันจะถึงฝั่งเลย ท่านก็จักตายแน่
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๒๖] บุคคลผู้ทำหน้าที่ของลูกผู้ชายอยู่
จะไม่ถูกหมู่ญาติ เทวดา และพรหมทั้งหลายนินทา
ทั้งจะไม่เดือดร้อนในภายหลัง
(เทพธิดากล่าวว่า)
[๑๒๗] การงานที่ให้ถึงฝั่งไม่ได้
ปราศจากผล ก่อให้เกิดความลำบาก
และความตาย ย่อมมีได้เพราะทำการงานใด
ประโยชน์อะไรด้วยความพยายาม ในการงานนั้น
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๒๘] เทพธิดา บุคคลใดรู้ว่า
งานสุดวิสัยเกินตัวแล้ว ไม่รักษาชีวิตของตน
ถ้าผู้นั้นคลายความเพียรเสีย ก็จะพึงรู้ผลของงานนั้น
[๑๒๙] เทพธิดา คนบางพวกในโลกนี้
พิจารณาเห็นผลแห่งความมุ่งประสงค์ของตน
จึงประกอบการงานทั้งหลาย
การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตามที
[๑๓๐] เทพธิดา ท่านกำลังเห็นผลงานที่ประจักษ์แก่ตนเองแล้วมิใช่หรือ
คนอื่น ๆ พากันจมน้ำแล้ว
เราคนเดียวเท่านั้นพยายามข้ามอยู่
และยังเห็นท่านอยู่ใกล้เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๓๑] เรานั้นจักพยายามตามกำลังความสามารถ
จักไปให้ถึงฝั่งสมุทร
จักทำความเพียรอย่างลูกผู้ชาย
(ต่อมา พระโพธิสัตว์ได้ครองราชสมบัติในเมืองมิถิลาแล้ว ทรงระลึกถึงผลแห่ง
ความเพียรชอบของพระองค์ ทรงเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติว่า)
[๑๓๒] ท่านใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม
ไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่หาประมาณมิได้เห็นปานนี้ด้วยการกระทำ
ท่านนั้นจงไปในสถานที่ที่ท่านชอบใจเถิด
ขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ ขุม๑นี้ คือ
๑. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ขึ้น
๒. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ตก
๓. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน
๔. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก
๕. ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่อยู่ภายในภายนอก
๖. ขุมทรัพย์ที่ทางขึ้น
๗. ขุมทรัพย์ที่ทางลง

เชิงอรรถ :
๑ ขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ ขุมที่พระเจ้าโปลชนกทรงฝังไว้ อธิบายโดยย่อ ดังนี้
๑. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ขึ้น หมายถึงที่ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้า
๒. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ตก หมายถึงที่ส่งพระปัจเจกพุทธเจ้ากลับ
๓. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน หมายถึงขุมทรัพย์ที่อยู่ภายในประตูใหญ่พระราชวัง
๔. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก หมายถึงขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอกประตูใหญ่พระราชวัง
๕. ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่อยู่ภายในภายนอก หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ภายใต้ธรณีประตู
๖. ขุมทรัพย์ที่ทางขึ้น หมายถึงขุมทรัพย์ตรงที่ลาดบันได เวลาเสด็จขึ้นช้างมงคล
๗. ขุมทรัพย์ที่ทางลง หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ตรงที่เสด็จลงจากคอช้าง
๘.-๑๑. ขุมทรัพย์ที่ไม้สาละทั้ง ๔ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ที่เท้าพระแท่นบรรทมทั้ง ๔
๑๒. ขุมทรัพย์ที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ชั่วแอก (หนึ่งวา) รอบที่บรรทม
๑๓. ขุมทรัพย์ที่ปลายงาทั้ง ๒ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ตรงปลายงาทั้ง ๒ ของช้างมงคลในโรงช้างมงคล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
๘.-๑๑. ขุมทรัพย์ที่ไม้สาละทั้ง ๔
๑๒. ขุมทรัพย์ที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ
๑๓. ขุมทรัพย์ที่ปลายงาทั้ง ๒
๑๔. ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง
๑๕. ขุมทรัพย์ที่สระน้ำ
๑๖. ขุมทรัพย์ที่ยอดไม้ ธนูหนักหนึ่งพันแรงคน
บัลลังก์สี่เหลี่ยม ผู้ทำเจ้าหญิงสีวลีให้ยินดี
[๑๓๓] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังร่ำไป
ไม่พึงเบื่อหน่าย
เราเห็นตนเองได้เป็นพระราชาตามที่ตนปรารถนา
[๑๓๔] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังร่ำไป
ไม่พึงเบื่อหน่าย
เราเห็นตนเองถูกอุ้มจากน้ำขึ้นบกแล้ว
[๑๓๕] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามร่ำไป
ไม่พึงเบื่อหน่าย
เราเห็นตนเองได้เป็นพระราชาตามที่ตนปรารถนา
[๑๓๖] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามร่ำไป
ไม่พึงเบื่อหน่าย
เราเห็นตนเองถูกอุ้มจากน้ำขึ้นบกแล้ว

เชิงอรรถ :
๑๔. ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ตรงปลายหางของช้างมงคลในโรงช้างมงคล
๑๕. ขุมทรัพย์ที่สระน้ำ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ในสระโบกขรณีมงคล
๑๖. ขุมทรัพย์ที่ยอดไม้ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้ต้นรังใหญ่ในพระราชอุทยาน เวลาเที่ยงวันเงาจะอยู่
ที่โคนต้น จึงให้ขุดทรัพย์ที่นั้น ธนูหนักหนึ่งพันแรงคน หมายถึงธนูที่ใช้แรงคนโก่งหนึ่งพันคน แต่
พระมหาชนกโก่งได้โดยง่ายเหมือนธนูดีดฝ้ายของสตรี บัลลังก์สี่เหลี่ยม ก็ทรงทราบด้านศีรษะของ
บัลลังก์ให้พระนางสีวลีเอาปิ่นปักพระเกศาวาง ผู้ทำเจ้าหญิงสีวลีให้ยินดี หมายถึงพระนางสีวลี
ยินดีกับชายใด ชายนั้นจะได้ครองราชย์ พระมหาชนกเป็นที่โปรดปรานของพระนางสีวลีตั้งแต่แรกพบ
ถึงกับยื่นพระหัตถ์ให้เกาะ ท้าวเธอก็ทรงเกาะพระหัตถ์พระนางขึ้นสู่ปราสาท
(ขุ.ชา.อ. ๙/๑๓๒/๑๖๔-๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๓๗] คนมีปัญญาแม้ถูกทุกข์กระทบแล้ว
ก็ไม่พึงทำลายความหวัง เพื่อการมาถึงแห่งความสุข
เพราะสัมผัสมีมากอย่างทั้งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
ผู้ไม่นึกถึงประโยชน์ย่อมเข้าถึงความตาย
[๑๓๘] สิ่งที่ไม่ได้คิดกลับเป็นไปได้ สิ่งที่คิดแล้วกลับพินาศไป
ทรัพย์สมบัติทั้งหลายของหญิงหรือชาย
หาได้สำเร็จด้วยความคิดไม่
(ชาวเมืองกล่าวกันว่า)
[๑๓๙] ท่านผู้เจริญ พระราชาผู้ครอบครองพื้นที่ทั้งปวง
เป็นใหญ่ในทิศ ไม่เป็นเหมือนแต่ก่อนหนอ
วันนี้ ไม่ทอดพระเนตรการฟ้อนรำ
ไม่ทรงใส่พระทัยในการขับร้อง
[๑๔๐] ไม่ทอดพระเนตรฝูงเนื้อ ไม่เสด็จประพาสพระราชอุทยาน
ไม่ทอดพระเนตรฝูงหงส์
พระองค์ทรงประทับนิ่งเฉยเหมือนคนใบ้
ไม่ทรงว่าราชการเลย
(พระโพธิสัตว์ทรงระลึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงเปล่งอุทานว่า)
[๑๔๑] นักปราชญ์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข
มีปกติหลีกเร้น ปราศจากเครื่องผูกคือกิเลส
ทั้งหนุ่มทั้งแก่ ก้าวล่วงตัณหาเสียได้
ย่อมอยู่ ณ อารามของใครหนอในวันนี้
[๑๔๒] ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนักปราชญ์เหล่านั้นผู้แสวงหาคุณใหญ่
นักปราชญ์เหล่าใดเป็นผู้ไม่ขวนขวายอยู่ในโลกที่ถึงความขวนขวาย
[๑๔๓] นักปราชญ์เหล่านั้นตัดข่ายคือตัณหาอันมั่นคงแห่งมฤตยู
ที่มีมายาอย่างยิ่งทำลายด้วยญาณไปอยู่
ใครเล่าจะพึงนำเราไปให้ถึงสถานที่อยู่ของนักปราชญ์เหล่านี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๔๔] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
ที่นายช่างผู้ฉลาดได้จัดจำแนกไว้
สร้างไว้เป็นสัดส่วนออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๕] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรืองกว้างขวาง
สว่างไสวทั่วทุกทิศ ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๖] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
ซึ่งมีปราการและเสาค่ายเป็นอันมาก ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๗] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีป้อมคูและซุ้มประตูมั่นคง ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๘] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีถนนหลวงตัดไว้อย่างดี ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๙] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีร้านตลาดที่จัดแยกไว้สวยงาม ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๐] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
ซึ่งมีโค ม้า และรถเบียดเสียดกัน ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๑] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีสวนสาธารณะมีระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๕๒] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
ที่มีวนอุทยาน มีระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๓] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีปราสาทราชมณเฑียร สถานที่และอุทยาน
เป็นระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๔] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง มีปราการ ๓ ชั้น
คับคั่งด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ที่พระเจ้าวิเทหะ
ผู้เรืองยศพระนามว่าโสมนัสได้ทรงสร้างไว้ ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๕] เมื่อไร เราจักละแคว้นวิเทหะอันรุ่งเรือง
พรั่งพร้อมด้วยการสะสมเสบียง เช่น
สะสมทรัพย์และธัญญาหารเป็นต้น
ที่พระเจ้าวิเทหะทรงปกครองโดยชอบธรรม ออกบวชได้
การละแคว้นเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๖] เมื่อไร เราจักละแคว้นวิเทหะอันรุ่งเรือง
ที่พวกปรปักษ์ผจญไม่ได้
ซึ่งพระเจ้าวิเทหะทรงปกครองโดยธรรม ออกบวชได้
การละแคว้นเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๗] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักอันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ที่นายช่างผู้ฉลาดได้จัดจำแนกไว้
สร้างไว้เป็นส่วนสัด ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๕๘] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักอันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ที่โบกฉาบด้วยปูนขาวและดินเหนียว ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๙] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักอันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
มีกลิ่นหอมสดชื่นรื่นรมย์ใจ ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๐] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด
ที่นายช่างผู้ชาญฉลาดจัดจำแนก
สร้างไว้เป็นสัดส่วน ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๑] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด
ที่โบกฉาบด้วยปูนขาวและดินเหนียว ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๒] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด
ที่มีกลิ่นหอมสดชื่นรื่นรมย์ใจ ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๓] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด
ที่นายช่างผู้ชาญฉลาดฉาบทา
และประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์ ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๖๔] เมื่อไร เราจึงจักละบัลลังก์ทอง
ที่ลาดด้วยพรมขนสัตว์อันวิจิตร ออกบวชได้
การละบัลลังก์ทองเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๕] เมื่อไร เราจักละบัลลังก์แก้วมณี
ที่ลาดด้วยพรมขนสัตว์อันวิจิตร ออกบวชได้
การละบัลลังก์แก้วมณีเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๖] เมื่อไร เราจักละผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าป่าน
และผ้าขนสัตว์อย่างละเอียด ออกบวชได้
การละผ้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๗] เมื่อไร เราจักละสระโบกขรณีอันรื่นรมย์
มีนกจักรพากส่งเสียงร่ำร้องอยู่
ดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก ดอกปทุม
และดอกอุบล ออกบวชได้
การละสระโบกขรณีเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๘] เมื่อไร เราจักละกองช้างพลาย
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
มีสายรัดทองคำ มีเครื่องปกกระพองและข่ายทองคำ
[๑๖๙] มีนายควาญช้างถือโตมรและขอขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละกองช้างเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๐] เมื่อไร กองม้าสินธพชาติอาชาไนย๑
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ เป็นพาหนะเร็ว

เชิงอรรถ :
๑ ม้าสินธพชาติอาชาไนย หมายถึงฝูงม้าที่มีชื่อว่าอาชาไนย เพราะเป็นม้าที่รู้จักเหตุและมิใช่เหตุ (ฝึกง่าย)
โดยกำเนิด (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๗๐/๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๗๑] มีนายสารถีถือแส้และธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละกองม้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๒] เมื่อไร เราจักละกองรถที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๗๓] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละกองรถเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๔] เมื่อไร เราจักละรถทองคำที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๗๕] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถทองคำเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๖] เมื่อไร เราจักละรถเงินที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๗๗] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเงินเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๘] เมื่อไร เราจักละรถม้าที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๗๙] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถม้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๐] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยอูฐที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๘๑] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยอูฐเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๒] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยโคที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๘๓] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยโคเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๔] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยแพะที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๘๕] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยแพะเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๖] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยแกะที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๘๗] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยแกะเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๘] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยเนื้อที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๘๙] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยเนื้อเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๙๐] เมื่อไร เราจักละกองช้างที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว
แกล้วกล้า ถือโตมรและขอ ออกบวชได้
การละกองช้างเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๑] เมื่อไร เราจักละกองม้าที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว
แกล้วกล้า สะพายธนูและแล่ง ออกบวชได้
การละกองม้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๒] เมื่อไร เราจึงจักละกองรถที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว
แกล้วกล้า สะพายธนูและแล่ง ออกบวชได้
การละกองรถเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๓] เมื่อไร เราจักละกองธนูที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว
แกล้วกล้า ถือธนูและแล่ง ออกบวชได้
การละกองธนูเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๔] เมื่อไร เราจักละพวกราชบุรุษผู้ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะอันวิจิตร
แกล้วกล้า เหน็บกฤชทองคำ ออกบวชได้
การละพวกราชบุรุษเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๕] เมื่อไร เราจักละหมู่พราหมณ์ผู้บำเพ็ญพรต
ประดับตกแต่งแล้ว ทาตัวด้วยกระแจะจันทน์เหลือง
ครองผ้ากาสิกพัสตร์เนื้อดี ออกบวชได้
การละหมู่พราหมณ์เห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๙๖] เมื่อไร เราจักละหมู่อำมาตย์ผู้ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเหลือง แกล้วกล้า
เดินไปข้างหน้ามีระเบียบเรียบร้อยดี ออกบวชได้
การละหมู่อำมาตย์เห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๗] เมื่อไร เราจักละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ออกบวชได้
การละพระสนมกำนัลในเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๘] เมื่อไร เราจักละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ละมุนละไมสะโอดสะอง ออกบวชได้
การละพระสนมกำนัลในเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๙] เมื่อไร เราจักละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้เชื่อฟัง พูดไพเราะ ออกบวชได้
การละพระสนมกำนัลในผู้น่ารักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๐] เมื่อไร เราจักละถาดทองคำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ
จำหลักลวดลายเป็นร้อย ออกบวชได้
การละถาดทองคำเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๑] เมื่อไร กองช้างพลายที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ มีสายรัดทองคำ
มีเครื่องปกกระพองและข่ายทองคำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๐๒] มีนายคราญช้างถือโตมรและขอขึ้นขี่ประจำ
ที่เคยขี่ติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๓] เมื่อไร กองม้าสินธพชาติอาชาไนย
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ เป็นพาหนะเร็ว
[๒๐๔] มีนายสารถีถือแส้และธนูขึ้นขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๕] เมื่อไร กองรถที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๐๖] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๗] เมื่อไร รถทองคำที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๐๘] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๙] เมื่อไร รถเงินที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๐] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๑๑] เมื่อไร รถม้าที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๒] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๑๓] เมื่อไร รถเทียมด้วยอูฐที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๔] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๑๕] เมื่อไร รถเทียมด้วยโคที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๖] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๑๗] เมื่อไร รถเทียมด้วยแพะที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๘] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๑๙] เมื่อไร รถเทียมด้วยแกะที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๒๐] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๑] เมื่อไร รถเทียมด้วยเนื้อที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๒๒] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๓] เมื่อไร กองช้างที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือโตมรและของ้าว
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๔] เมื่อไร กองม้าที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือแส้และธนู
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๕] เมื่อไร กองรถที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือธนูและแล่ง
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๒๖] เมื่อไร กองธนูที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือธนูและแล่ง
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๗] เมื่อไร พวกราชบุตรผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะอันวิจิตร แกล้วกล้า เหน็บกฤชทองคำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๘] เมื่อไร หมู่พราหมณ์ผู้มีพรตประดับแล้ว
ทาตัวด้วยจุรณจันทน์เหลือง ใช้ผ้าเนื้อดีจากแคว้นกาสี
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๙] เมื่อไร หมู่อำมาตย์ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเหลือง แกล้วกล้า
เดินนำไปข้างหน้าอย่างเป็นระเบียบ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๐] เมื่อไร พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๑] เมื่อไร พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๓๒] เมื่อไร พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้เชื่อฟัง เจรจาไพเราะ น่ารัก
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๓] เมื่อไร เราจักได้ปลงผม ห่มผ้าสังฆาฏิ
อุ้มบาตรเที่ยวบิณฑบาต
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๔] เมื่อไร เราจักทรงผ้าสังฆาฏิที่ทำด้วยผ้าบังสุกุล
ที่เขาทิ้งไว้ที่หนทางใหญ่
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๕] เมื่อไร เมื่อมีฝนตกพรำตลอด ๗ วัน
เราจึงมีจีวรเปียกชุ่มเที่ยวไปบิณฑบาต
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๖] เมื่อไร เราจักได้เที่ยวจาริกไปตามต้นไม้น้อยใหญ่
ตามป่าน้อยใหญ่ตลอดทั้งคืนและวัน
โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๗] เมื่อไร เราจักละความกลัวและความขลาดเสียได้
ไปที่ซอกเขาและลำธารได้ตามลำพัง
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๘] เมื่อไร เราจักทำจิตให้ตรงได้เหมือนคนดีดพิณ
ดีดพิณทั้ง ๗ สายให้มีเสียงน่ารื่นรมย์จับใจ
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๙] เมื่อไร เราจักตัดกามสังโยชน์ทั้งที่เป็นของทิพย์
และของมนุษย์ได้เหมือนช่างหนังตัดรองเท้าโดยรอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(เมื่อพระมหาชนกทรงรำพึงอย่างนี้แล้ว ทรงถือเพศบรรพชา เสด็จลงจาก
ปราสาทไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงเสียงคร่ำครวญของสตรีเหล่านั้นว่า)
[๒๔๐] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
ต่างประคองแขนทั้ง ๒ คร่ำครวญว่า
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกหม่อมฉัน
[๒๔๑] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง
ต่างพากันประคองแขนทั้ง ๒ ร้องคร่ำครวญว่า
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกหม่อมฉัน
[๒๔๒] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ล้วนเป็นผู้เชื่อฟัง เจรจาไพเราะ น่ารัก
ต่างพากันประคองแขนทั้ง ๒ คร่ำครวญว่า
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกหม่อมฉันเสีย
[๒๔๓] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
ถูกพระราชาทรงละทิ้งไว้แล้ว เสด็จดำเนินไปมุ่งผนวช
[๒๔๔] พระราชาทรงละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง เสด็จดำเนินไปมุ่งผนวช
[๒๔๕] พระราชาทรงละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ล้วนแต่เป็นผู้เชื่อฟัง เจรจาไพเราะ น่ารัก
เสด็จดำเนินไปมุ่งผนวช
[๒๔๖] ทรงละถาดทองคำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ
จำหลักลวดลายตั้งร้อย ทรงอุ้มบาตรดิน
นั้นเป็นการอภิเษกครั้งที่ ๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(พระนางสีวลีกราบทูลพระโพธิสัตว์ว่า)
[๒๔๗] เปลวไฟน่ากลัว ไหม้ท้องพระคลังตามลำดับ
คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์มากมาย
[๒๔๘] แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ผ้า จันทน์เหลือง
หนังสัตว์ เครื่องงาช้าง ทองแดง
และเหล็กเป็นอันมากที่ไฟไหม้
ข้าแต่พระราชา มาเถิดพระเจ้าข้า
เชิญพระองค์เสด็จกลับก่อนเถิด
พระราชทรัพย์ของพระองค์อย่าได้พินาศเสียหายเลย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๔๙] เราผู้ไม่มีความกังวลอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ
เมื่อกรุงมิถิลาถูกเพลิงเผาผลาญ
เรามิได้มีอะไรจะไหม้
(พระนางสีวลีกราบทูลว่า)
[๒๕๐] พวกโจรป่าเกิดขึ้น ปล้นแคว้นของพระองค์
มาเถิดพระเจ้าค่ะ ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับเถิด
แคว้นนี้อย่าได้พินาศเสียหายเลย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๕๑] เราผู้ไม่มีความกังวลอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ
เมื่อแคว้นถูกพวกโจรปล้น
เรามิได้มีอะไรจะให้ปล้นเลย
[๒๕๒] เราผู้ไม่มีความกังวลอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ
เราจักมีปีติเป็นอาหารเหมือนเหล่าเทพชั้นอาภัสสรพรหม๑

เชิงอรรถ :
๑ เหล่าเทพชั้นอาภัสสรพรหมมีปีติเป็นอาหารให้เวลาผ่านไปด้วยความสุขในฌาน (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๕๑/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๓] เสียงอึกทึกกึกก้องอะไรกันนั่น
ใครกันหนอเล่นกันเหมือนอยู่ในบ้าน
ท่านสมณะ อาตมภาพขอถาม
มหาชนนั้นติดตามท่านมาเพื่อประโยชน์อะไร
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๕๔] มหาชนนี้ติดตามข้าพเจ้าผู้ละทิ้งพวกเขามาในที่นี้
ผู้ล่วงเขตแดนคือกิเลสไป
เพื่อบรรลุถึงโมเนยยธรรม คือญาณของพระมุนี
แต่ยังเจือปนด้วยความเพลิดเพลินทั้งหลายอยู่
พระคุณเจ้าก็รู้อยู่จะถามไปทำไม
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๕] พระองค์เพียงแต่ทรงสรีระ (เพศนักบวช) นี้
อย่าได้เข้าพระทัยว่า “เราข้ามเขตแดนคือกิเลสแล้ว”
กรรมคือกิเลสนี้จะพึงข้ามได้ด้วยเพศแห่งบรรพชิตก็หาไม่
เพราะอันตรายทั้งหลายยังมีอยู่มาก
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๕๖] อันตรายอะไรหนอ
จะพึงมีแก่ข้าพเจ้าผู้มีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างนี้
ข้าพเจ้าไม่ปรารถนากามทั้งหลายทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๗] อันตรายเป็นอันมากทีเดียว
คือ ความหลับ ความเกียจคร้าน
ความบิดกาย ความเหนื่อยหน่าย
ความเมาอาหารที่มีอยู่ในสรีระของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๕๘] ท่านพราหมณ์ ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าดีหนอ
ท่านพราหมณ์ผู้นิรทุกข์
ข้าพเจ้าขอถามท่าน ท่านเป็นใครหนอ
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๙] ชนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพโดยชื่อว่า นารทะ
โดยโคตรว่า กัสสปะ
อาตมภาพมาในสำนักของพระองค์ด้วยเข้าใจว่า
การสมาคมกับสัตบุรุษเป็นการดี
[๒๖๐] ขอความเพลิดเพลินและวิหารธรรมทั้งปวงจงมีแก่พระองค์เท่านั้น
พระองค์จงบำเพ็ญสิ่งที่บกพร่องให้บริบูรณ์เถิด
จงประกอบด้วยความอดทนและความสงบเถิด
[๒๖๑] จงทรงคลี่คลายความยุบลงและฟูขึ้น
จงสักการะกรรม วิชชา ธรรม๑
และสมณธรรมแล้วบำเพ็ญพรหมจรรย์เถิด
[๒๖๒] ข้าแต่พระชนก พระองค์ทรงละทิ้งช้าง ม้า
ชาวพระนคร และชนบทเป็นอันมาก
เสด็จออกผนวช ทรงยินดีในบาตรดิน
[๒๖๓] ชาวชนบท มิตร อำมาตย์ และพระญาติเหล่านั้น
ได้ทำความผิดอะไรให้แก่พระองค์หรือหนอ
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงชอบพระทัยบาตรดินนั้น
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๖๔] ท่านฤๅษี ข้าพเจ้ามิได้เคยเอาชนะ
พระญาติอะไร ๆ โดยส่วนเดียวในกาลไหน ๆ โดยอธรรมเลย
แม้พระญาติทั้งหลายก็มิเคยได้เอาชนะข้าพเจ้าโดยอธรรม

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า กรรม ได้แก่กุศลกรรมบถ ๑๐, คำว่า วิชชา ได้แก่ญาณในอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ คำว่า กรรม
ได้แก่สมณธรรมกล่าวคือการบำเพ็ญกสิณ (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๖๑/๙๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๖๕] ข้าพเจ้าได้เห็นประเพณีของโลก
เห็นโลกถูกกิเลสกัดกร่อน ถูกกิเลสทำให้เป็นดุจเปือกตม
จึงได้ทำเหตุนี้ให้เป็นเครื่องเปรียบเทียบว่า
ปุถุชนจมอยู่ในกิเลสวัตถุใด
สัตว์เป็นจำนวนมากย่อมเดือดร้อน
และย่อมถูกฆ่า ในกิเลสวัตถุนั้น
ดังนี้แล้ว จึงได้บวชเป็นภิกษุ นะท่านผู้ครองหนังสัตว์ผู้เจริญ
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๖๖] ใครหนอเป็นผู้จำแนกแจกธรรมคำสั่งสอนพระองค์
คำอันสะอาดนี้เป็นคำของใคร
ท่านผู้เป็นจอมทัพ เพราะบอกเจาะจงถึงดาบสผู้เป็นกรรมวาที
หรือสมณะคือพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยวิชชา
นักปราชญ์ไม่เรียกผู้ประพฤติวัตรว่า เป็นสมณะ
เหมือนการก้าวล่วงทุกข์ได้เลย
[๒๖๗] ท่านผู้ครองหนังสัตว์
แม้ข้าพเจ้าจะสักการะสมณะหรือพราหมณ์โดยส่วนเดียว
แต่ไม่เคยเข้าไปใกล้ไต่ถามอะไร ๆ ในกาลไหน ๆ เลย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๖๘] ข้าพเจ้ารุ่งเรืองด้วยสิริไปยังพระราชอุทยาน
ด้วยอานุภาพใหญ่ ขณะที่เพลงขับที่เขาขับร้อง
ดนตรีที่ไพเราะกำลังบรรเลงอยู่
[๒๖๙] ข้าพเจ้านั้นได้เห็นต้นมะม่วงที่กำลังมีผลอยู่ภายนอกกำแพง
ถูกพวกมนุษย์ผู้ที่ต้องการผลฟาดอยู่
ในพระราชอุทยานอันกึกก้องด้วยการประโคมดนตรี
ประกอบด้วยคนขับและคนประโคม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๗๐] ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์
ข้าพเจ้านั้นละทิ้งสิรินั้นเสียแล้วลงจากยาน
เข้าไปใกล้ต้นมะม่วงทั้งที่มีผลและไม่มีผล
[๒๗๑] ข้าพเจ้าได้เห็นต้นมะม่วง
อันมีผลถูกฟาดกระจัดกระจายย่อยยับ
ส่วนมะม่วงอีกต้นหนึ่งสีเขียวชะอุ่มน่าพอใจ
[๒๗๒] ศัตรูทั้งหลายจักกำจัดแม้พวกเรา
ผู้เป็นอิสระ ผู้มีเสี้ยนหนามมาก
เหมือนต้นมะม่วงที่มีผลถูกมนุษย์ทั้งหลายเบียดเบียนแล้ว
[๒๗๓] เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา
คนมีทรัพย์ถูกฆ่าเพราะทรัพย์
ใครเล่าจักฆ่าคนที่ไม่มีที่อยู่ ที่ไม่มีความคุ้นเคย
ต้นมะม่วงที่มีผลและไม่มีผลทั้ง ๒ ต้นนั้นเป็นครูของข้าพเจ้า
(พระนางสีวลีกราบทูลว่า)
[๒๗๔] ชนทั้งปวง คือ กองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ กองพลราบ ต่างก็ตกใจว่า
พระราชาทรงผนวชเสียแล้ว
[๒๗๕] ขอพระองค์ได้ทรงปลอบชุมชนให้เบาใจ
ทรงวางหลักปกครอง
ทรงอภิเษกพระราชโอรสไว้ในราชสมบัติแล้ว
จึงจักทรงผนวชในภายหลัง
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๗๖] เราได้สละชาวชนบท มิตร อำมาตย์
และพระญาติทั้งหลายแล้ว พระราชโอรสของชาวแคว้นวิเทหะ
และคนผู้มีอายุยืน ผู้จักผดุงรัฐให้เจริญก็มีอยู่
เธอเหล่านั้นจักครองราชสมบัติในกรุงมิถิลา นะปชาบดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๗๗] จงมาเถิด เราจะตามสอนเธอด้วยวาจาที่ชอบ
เธอจะไปสู่ทุคติด้วยกาย วาจา และใจ เพราะบาปใด
เมื่อเธอครองราชสมบัติก็จักทำบาปทุจริตนั้นเป็นอันมาก
[๒๗๘] ผู้ที่ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยก้อนข้าวที่ผู้อื่นให้
ซึ่งสำเร็จมาแต่ผู้อื่นนี้ นั่นเป็นธรรมของนักปราชญ์
(พระนางสีวลีกราบทูลว่า)
[๒๗๙] กุลบุตรผู้ฉลาดแม้คนใดไม่พึงบริโภคอาหารในภัตกาลที่ ๔๑
จะพึงตายอย่างน่าอนาถเพราะความหิว
กุลบุตรผู้ฉลาดนั้นก็ไม่พึงบริโภคก้อนข้าว
ที่เปื้อนฝุ่น ซึ่งไม่ดีมิใช่หรือ
กิริยาของพระองค์นี้ไม่ดี ไม่งามเลย
ข้าแต่พระชนก พระองค์พึงเสวยก้อนเนื้อที่เป็นเดนสุนัข
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๘๐] พระนางสีวลี บิณฑบาตใด
เป็นของอันบุคคลผู้ครองเรือน หรือสุนัขสละแล้ว
บิณฑบาตนั้นชื่อว่าไม่เป็นอาหารของอาตมภาพก็หามิได้
ของบริโภคเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ได้มาโดยธรรม
ของบริโภคทั้งหมดนั้นกล่าวกันว่า ไม่มีโทษ
(พระโพธิสัตว์ตรัสกับเด็กหญิงว่า)
[๒๘๑] กุมาริกาผู้นอนแนบมารดา ผู้ประดับอยู่เป็นนิตย์
เพราะเหตุไร กำไลมือข้างหนึ่งของเธอจึงมีเสียงดัง
อีกข้างหนึ่งไม่มีเสียงดัง

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ไม่พึงบริโภคอาหารในภัตกาลที่ ๔ พระนางสีวลีตรัสหมายถึงว่า ถ้าบุคคลเราไม่บริโภคอาหาร
มื้อสุดท้าย จะพึงตายไปเพราะความหิว ผู้นั้นพึงเป็นสัตบุรุษเชื้อสายกุลบุตร จึงไม่พึงเสวยอาหารนั้น
เพราะทรงรังเกียจเนื้อที่เป็นเดนสุนัขที่พระมหาชนกนำมาย่างเสวย (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๗๙/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(เด็กหญิงกราบทูลว่า)
[๒๘๒] ท่านสมณะ กำไลมือ ๒ วงที่สวมอยู่ที่ข้อมือของดิฉันนี้
เพราะทั้ง ๒ วงกระทบกัน จึงเกิดเสียงดัง
คติของคน ๒ คนก็เป็นเช่นนี้
[๒๘๓] ท่านสมณะ กำไลมือวงหนึ่งที่สวมอยู่ที่ข้อมือของดิฉันนี้
ไม่มีอันที่ ๒ จึงไม่มีเสียงดังเหมือนมุนีสงบนิ่งอยู่
[๒๘๔] คนมีคู่จึงถึงความวิวาทกัน บุคคลคนเดียวจักวิวาทกับใคร
ท่านนั้นเป็นผู้ปรารถนาสวรรค์ ก็ขอจงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด
(พระโพธิสัตว์ตรัสกับพระนางสีวลีว่า)
[๒๘๕] พระนางสีวลี เธอได้ยินคาถาที่นางกุมาริกากล่าวแล้วหรือ
นางกุมาริกาเป็นสาวใช้มาติเตียนเรา มันเป็นคติของคนคู่เท่านั้น
[๒๘๖] พระนางผู้เจริญ ทาง ๒ แพร่งนี้
เราทั้ง ๒ ผู้เดินทางได้สัญจรมาแล้ว
บรรดาทางทั้ง ๒ แพร่งนั้น เธอจงเลือกเอาทางหนึ่ง
อาตมภาพก็จักเลือกเอาอีกทางหนึ่ง
[๒๘๗] เธออย่าเรียกอาตมภาพว่าเป็นพระสวามีของเธอ
และอาตมภาพก็จะไม่เรียกเธอว่าเป็นพระมเหสีของอาตมภาพต่อไป
เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๒ ตรัสข้อความนี้แล้วต่างก็เสด็จเข้าไปยังถูณนคร
[๒๘๘] เมื่อจวนเวลาอาหาร พระโพธิสัตว์ประทับอยู่
ณ ซุ้มประตูของช่างศร และ ณ ที่นั้น
ช่างศรนั้นหลับตาลงข้างหนึ่งเล็งดูลูกศรที่คด
ซึ่งตนดัดให้ตรงด้วยตาอีกข้างหนึ่ง
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๘๙] ช่างศร ท่านจงฟังอาตมภาพ
ท่านเห็นความสำเร็จประโยชน์หรือหนอ
ที่ท่านหลับตาข้างหนึ่งลง เล็งดูลูกศรที่คดด้วยตาอีกข้างหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(ช่างศรกราบทูลว่า)
[๒๙๐] ท่านสมณะ การเล็งดูด้วยตาทั้ง ๒ ย่อมปรากฏกว้างไป
เพราะเห็นไม่ถึงส่วนที่คดข้างหนึ่ง การดัดให้ตรงจึงไม่สำเร็จ
[๒๙๑] แต่เมื่อหลับตาข้างหนึ่ง เล็งดูส่วนที่คดด้วยตาข้างหนึ่ง
เพราะเห็นส่วนที่คดข้างหน้า การดัดให้ตรงจึงสำเร็จได้
[๒๙๒] คนที่มีคู่จึงวิวาทกัน คนเดียวจักวิวาทกับใคร
ท่านนั้นปรารถนาสวรรค์ ก็ขอจงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด
(พระโพธิสัตว์ตรัสกับพระนางสีวลีว่า)
[๒๙๓] พระนางสีวลี เธอได้ยินคำที่ช่างศรกล่าวแล้วหรือยัง
คนใช้มาติเตียนเรา นั้นเป็นคติของคนคู่เท่านั้น
[๒๙๔] พระนางผู้เจริญ ทาง ๒ แพร่งนี้
เราทั้ง ๒ ผู้เดินทางได้สัญจรมาแล้ว
บรรดาทาง ๒ แพร่งนั้น เธอจงเลือกเอาทางหนึ่ง
อาตมภาพก็จักเลือกเอาอีกทางหนึ่ง
[๒๙๕] เธออย่าเรียกอาตมภาพว่าเป็นพระสวามีของเธอ
และอาตมภาพก็จะไม่เรียกเธอว่า
เป็นพระมเหสีของอาตมภาพต่อไป
หญ้ามุงกระต่ายเล็กน้อยขาดไปแล้ว๑
เธอจงอยู่คนเดียวเถิด พระนางสีวลี
มหาชนกชาดกที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หญ้ามุงกระต่ายเล็กน้อยขาดไปแล้ว พระโพธิสัตว์ตรัสหมายถึงหญ้ามุงกระต่ายเส้นเล็ก ๆ ที่พระองค์
ถอนขึ้นมาแล้วดึงให้ขาดจากกัน ใคร ๆ ไม่สามารถต่อกันได้ เป็นการเตือนว่า พระองค์ไม่ปรารถนาจะ
อยู่ร่วมกับพระเทวีอีก เป็นการห้ามไม่ให้ตามไป (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๙๕/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
๓. สุวัณณสามชาดก๑ (๕๔๐)
ว่าด้วยสุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมี
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ไม่ทันเห็นพระราชา จึงตรัสว่า)
[๒๙๖] ใครกันหนอใช้ลูกศรยิงเรา
ผู้ประมาท๒กำลังนำน้ำไปอยู่
กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์คนไหนแอบซุ่มยิงเรา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงว่า เนื้อที่ร่างกายของตนไม่เป็นอาหาร จึง
ตรัสว่า)
[๒๙๗] เนื้อของเราก็ไม่ควรจะกิน
หนังของเราก็ไม่มีประโยชน์
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ
เขาจึงเข้าใจว่า เราเป็นผู้ควรยิง
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ตรัสถามชื่อพระราชานั้นว่า)
[๒๙๘] ท่านเป็นใคร เป็นบุตรของใคร
เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร
สหาย เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเถิด
ทำไมท่านจึงซุ่มยิงเรา
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสตอบว่า)
[๒๙๙] เราเป็นพระราชาของชาวกาสี
คนทั้งหลายรู้จักเราว่า พระเจ้าปิลยักษ์
เพราะความโลภ เราจึงละทิ้งแคว้นมาเที่ยวแสวงหาเนื้อ

เชิงอรรถ :
๑ พระบรมศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุเลี้ยงดูมารดารูปหนึ่ง ตรัสสุวัณณสามชาดก
ซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า ใครกันหนอใช้ลูกศรยิงเราผู้ประมาทกำลังนำน้ำไปอยู่ ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๐๘)
๒ ประมาท หมายถึงยังมิได้คุมสติด้วยเมตตาภาวนา (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๙๖/๑๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๐๐] เราเป็นคนเชี่ยวชาญในศิลปะธนู
เลื่องลือว่า เป็นผู้มีความสามารถยิงธนู
ที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้
แม้ช้างที่มาถึงระยะที่ลูกศรยิงก็ไม่พึงพ้นเราไปได้
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสถามชื่อและโคตรของสุวรรณสามโพธิสัตว์ว่า)
[๓๐๑] ท่านเป็นใคร เป็นบุตรของใคร
เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร
ท่านจงประกาศชื่อและโคตรของบิดา
และตัวของท่านเองให้ทราบด้วย
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๓๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นบุตรของนายพราน๑
พวกญาติต่างเรียกข้าพระองค์เมื่อยังมีชีวิตอยู่ว่า สาม
วันนี้ ข้าพระองค์นั้นเข้าไปในปากแห่งความตาย
จึงนอนอยู่อย่างนี้
[๓๐๓] ข้าพระองค์ถูกพระองค์ยิงด้วยศรลูกใหญ่
อาบยาพิษเหมือนยิงเนื้อ
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ทอดพระเนตรข้าพระองค์
ผู้นอนเปื้อนเลือดของตน
[๓๐๔] ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรลูกศรที่ทะลุออกข้างซ้าย
ข้าพระองค์บ้วนโลหิต เป็นผู้กระสับกระส่าย
ขอทูลถามพระองค์ว่า ทำไมจึงซุ่มยิงข้าพระองค์
[๓๐๕] เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ
พระองค์จึงเข้าพระทัยว่า ข้าพระองค์เป็นผู้ที่ควรยิง

เชิงอรรถ :
๑ บุตรของนายพราน หมายถึงเป็นบุตรฤๅษี (ขุ.ชา.อ. ๙/๓๐๒/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสแก้ตัวว่า)
[๓๐๖] เนื้อปรากฏมาถึงระยะลูกศรแล้ว
ท่านสาม มันเห็นท่านแล้วจึงแตกหนีไป
เพราะฉะนั้น เราจึงโกรธ
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๓๐๗] ตั้งแต่ข้าพระองค์จำความได้
ตั้งแต่ข้าพระองค์รู้จักรับผิดชอบ
ฝูงเนื้อในป่าแม้จะเป็นเนื้อร้าย
ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์
[๓๐๘] ตั้งแต่ข้าพระองค์นุ่งเปลือกไม้อยู่ในปฐมวัย
ฝูงเนื้อในป่าแม้จะเป็นเนื้อร้าย
แต่ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์
[๓๐๙] ข้าแต่พระราชา ฝูงกินนรผู้ขลาดกลัวที่ภูเขาคันธมาทน์
เราทั้งหลายต่างเพลิดเพลินพากันไปสู่ภูเขาและป่า
[๓๑๐] ฝูงเนื้อแม้จะเป็นเนื้อร้ายในป่า
ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
ฝูงเนื้อจึงจะสะดุ้งกลัวข้าพระองค์เล่า
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๑๑] ท่านสาม เนื้อหาได้สะดุ้งกลัวท่านไม่
เรากล่าวเท็จแก่ท่านต่างหาก
เราถูกความโกรธและความโลภครอบงำ
จึงได้ปล่อยลูกศรนั้นไปถึงท่าน
[๓๑๒] สาม ท่านมาจากไหน ใครใช้ท่านมาว่า
ท่านจงไปยังแม่น้ำมิคสัมมตาแล้วตักน้ำมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้อดกลั้นทุกขเวทนาแสนสาหัส กราบทูลว่า)
[๓๑๓] มารดาบิดาของข้าพระองค์เป็นคนตาบอด
ข้าพระองค์เลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ นั้นอยู่ในป่าใหญ่
ข้าพระองค์จะไปตักน้ำมาให้ท่านทั้ง ๒ นั้น
จึงมายังแม่น้ำมิคสัมมตา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กล่าวบ่นเพ้อรำพันถึงมารดาบิดาว่า)
[๓๑๔] ท่านทั้ง ๒ นั้นมีเพียงอาหารเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น จะพึงมีชีวิตอยู่ได้เพียง ๖ วัน
เพราะไม่ได้น้ำ ท่านผู้ตาบอดทั้ง ๒ เห็นจักตายแน่
[๓๑๕] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้ คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบมารดา
เป็นความทุกข์อย่างยิ่งของหม่อมฉัน
[๓๑๖] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้ คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบบิดา
เป็นความทุกข์อย่างยิ่งของหม่อมฉัน
[๓๑๗] มารดานั้น จะร้องไห้อย่างน่าสงสารเป็นเวลานาน
จนเที่ยงคืน หรือตลอดคืน จะซูบซีดลง
เหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูร้อนเหือดแห้งไป
[๓๑๘] บิดานั้นจักเป็นทุกข์ลำบากแน่เป็นเวลานาน
จนเที่ยงคืน หรือตลอดคืน จะซูบซีดลง
เหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูร้อนเหือดแห้งไป
[๓๑๙] มารดาและบิดาทั้ง ๒ จักเที่ยวบ่นเรียกหาข้าพระองค์ว่า
พ่อสาม ๆ ในป่าใหญ่ เพื่อต้องการปรนนิบัติเท้า
และเพื่อต้องการบีบนวดมือและเท้าด้วยความพยายาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๒๐] ถึงความโศกนี้เป็นลูกศรที่ ๒
ทำหัวใจของข้าพระองค์ให้สะท้านหวั่นไหว
ความโศกใดที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบมารดาและบิดาทั้ง ๒ ผู้ตาบอด
เพราะความโศกนั้น ข้าพระองค์เห็นจะต้องเสียชีวิตไป
(พระเจ้าปิลยักษ์ทรงฟังคำเพ้อรำพันของสุวรรณสามโพธิสัตว์ ทรงสันนิษฐาน
แล้ว ตรัสว่า)
[๓๒๑] ท่านสามผู้เห็นกัลยาณธรรม
ท่านอย่าคร่ำครวญไปนักเลย
เราจะทำการงานเลี้ยงดูมารดาและบิดาของท่านในป่าใหญ่
[๓๒๒] เราเป็นคนเชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า
เป็นผู้มีความสามารถยิงธนูที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้
เราจะทำการงานเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
[๓๒๓] เราจักแสวงหาของที่เป็นเดนของฝูงเนื้อและมูลผลาผลในป่า
จะทำงานเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
[๓๒๔] ท่านสาม มารดาและบิดาของท่านอยู่ป่าไหน
เราจะเลี้ยงดูมารดาและบิดาของท่าน
ให้เหมือนอย่างที่ท่านได้เลี้ยงดูมา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลบอกหนทางว่า)
[๓๒๕] ขอเดชะ หนทางที่เดินไปได้คนเดียว
ที่มีอยู่ทางศีรษะของข้าพระองค์นี้
พระองค์เสด็จไปจากที่นี้สิ้นระยะทางประมาณกึ่งโกสะ๑
ก็จะเสด็จถึงเรือนหลังเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่อยู่
ของมารดาและบิดาทั้ง ๒ ของข้าพระองค์
ขอพระองค์เสด็จไปจากที่นี้แล้ว
จงเลี้ยงดูมารดาและบิดาของข้าพระองค์เถิด

เชิงอรรถ :
๑ โกสะ เป็นชื่อมาตราวัดระยะ ๑ โกสะ เท่ากับ ๕๐๐ ชั่วธนู อัฑฒโกสะ = ๒๕๐ ชั่วธนู (๒๕๐ วา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๒๖] ข้าแต่พระเจ้ากาสี ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐกาสีให้เจริญ
ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงพระกรุณาเลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้ตาบอด
ของข้าพระองค์ในป่าใหญ่ด้วยเถิด
[๓๒๗] ข้าแต่พระเจ้ากาสี ข้าพระองค์ขอประคองอัญชลี
ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระองค์กราบทูลพระองค์แล้ว
ขอได้โปรดทรงพระกรุณาตรัสบอกการกราบลา
กับมารดาและบิดาของข้าพระองค์ด้วยเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๒๘] สุวรรณสามผู้หนุ่มแน่นเห็นแก่กัลยาณธรรม
ครั้นได้กราบทูลคำนี้แล้ว ถึงกับสลบแน่นิ่งไปเพราะกำลังยาพิษ
[๓๒๙] พระราชานั้นทรงคร่ำครวญเป็นที่น่าสงสารอย่างมากว่า
เราเข้าใจว่าจะเป็นผู้ไม่แก่และไม่ตาย
เราได้เห็นสามบัณฑิตตาย
วันนี้ จึงได้รู้ความแก่และความตาย แต่ก่อนหาได้รู้ไม่
ความตายจะไม่มาถึงเป็นไม่มี
[๓๓๐] สามบัณฑิตถูกลูกศรอาบยาพิษเสียบแทงแล้ว
ตอบโต้กับเราอยู่แท้ ๆ ครั้นกาลล่วงเลยไปวันนี้เอง
เขาพูดอะไร ๆ ไม่ได้เลย
[๓๓๑] เราจะต้องตกนรกเป็นแน่
ในข้อนี้เราไม่มีความสงสัย เพราะในเวลานั้น
เราได้ทำบาปอันหยาบช้าไว้ตลอดราตรีนาน
[๓๓๒] เมื่อเรานั้นอยู่ในบ้านเมืองกระทำกรรมชั่ว
ก็จะมีคนกล่าวติเตียน
แต่ในป่าหาผู้คนมิได้ ใครเล่าควรจะกล่าวติเตียนเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๓๓] คนทั้งหลายประชุมกันในบ้าน
ต่างก็เตือนกันและกันให้ระลึกถึงกรรม
ส่วนในป่าที่หาคนมิได้ ใครหนอจะเตือนเราให้ระลึกถึงกรรม
[๓๓๔] นางเทพธิดาที่ภูเขาคันธมาทน์นั้นได้อันตรธานไป
เพื่ออนุเคราะห์พระราชา จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๓๕] ข้าแต่มหาราช
พระองค์ได้ทรงทำกรรมชั่วอย่างใหญ่หลวงแล้ว
มารดาและบิดา และบุตรรวม ๓ คนผู้หาความผิดมิได้
พระองค์ทรงฆ่าแล้วด้วยลูกศรลูกเดียว
[๓๓๖] เชิญเสด็จมาเถิด หม่อมฉันจะแนะนำถวายพระองค์
โดยประการที่พระองค์จะพึงมีสุคติ คือ
พระองค์จงทรงเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ผู้ตาบอดในป่าโดยธรรมเถิด
ดิฉันเข้าใจว่า พระองค์จักพึงไปสุคติ
[๓๓๗] พระราชานั้นทรงคร่ำครวญอย่างน่าสงสารเป็นอันมาก
จึงทรงถือเอาหม้อน้ำ บ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศทักษิณ
(ทุกูลบัณฑิตไดัยินเสียงฝีพระบาทแห่งพระเจ้าปิลยักษ์ จึงถามว่า)
[๓๓๘] นั่นเสียงใครเดินมา นั่นไม่ใช่เสียงฝีเท้าของพ่อสาม
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครกันหนอ
[๓๓๙] เพราะพ่อสามเดินเงียบกริบ วางเท้าเรียบ
นั่นไม่ใช่เสียงฝีเท้าของพ่อสาม
ท่านนิรทุกข์ ท่านเป็นใครกันหนอ
(พระเจ้าปิลยักษ์ประทับยืนอยู่ที่ประตูบรรณศาลา ตรัสว่า)
[๓๔๐] ข้าพเจ้าเป็นพระราชาของชาวกาสี
คนทั้งหลายรู้จักข้าพเจ้าว่า พระเจ้าปิลยักษ์
เพราะความโลภ ข้าพเจ้าจึงละทิ้งแคว้นมาเที่ยวแสวงหาเนื้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๔๑] ทั้งข้าพเจ้าเป็นคนเชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า
เป็นผู้มีความสามารถยิงธนูที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้
แม้ช้างที่มาถึงระยะลูกศรยิงก็ไม่พึงรอดพ้นไปได้
(ฝ่ายทุกูลบัณฑิตเมื่อจะทำปฏิสันถารกับพระเจ้าปิลยักษ์ จึงทูลว่า)
[๓๔๒] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ผู้เป็นใหญ่ได้เสด็จมาถึงแล้ว
ขอพระองค์จงตรัสบอกสิ่งที่ต้องประสงค์ซึ่งมีอยู่ในที่นี้เถิด
[๓๔๓] ข้าแต่มหาราช ผลมะพลับ ผลมะหาด
ผลมะซาง และผลหมากเม่าซึ่งเป็นผลไม้เล็กน้อย
ขอพระองค์ทรงเลือกเสวยแต่ที่ดี ๆ เถิด
[๓๔๔] ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์ทรงดื่มน้ำเย็นนี้
ที่ข้าพระองค์ตักมาจากซอกเขาเถิด
ถ้าพระองค์ทรงพระประสงค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสว่า)
[๓๔๕] ท่านทั้ง ๒ ตาบอดไม่สามารถจะเห็นอะไร ๆ ในป่าได้
ใครเล่าหนอนำผลไม้มาให้ท่านทั้ง ๒
การเก็บสะสมผลาผลที่ทำไว้อย่างเรียบร้อยนี้
ย่อมปรากฏแก่เราเหมือนการเก็บสะสมของคนตาไม่บอด
(ทุกูลบัณฑิตได้ฟังพระดำรัสนั้น เมื่อจะแสดงธรรม จึงกราบทูลว่า)
[๓๔๖] สามหนุ่มน้อยร่างสันทัด ผู้เห็นแก่กัลยาณธรรม
มีผมยาวดำสนิท มีปลายงอนช้อนขึ้นข้างบน
[๓๔๗] เธอนั่นแหละนำผลไม้มา
บัดนี้ ถือหม้อน้ำจากที่นี้ไปตักน้ำยังแม่น้ำ
เข้าใจว่าใกล้จะกลับแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(พระเจ้าปิลยักษ์ครั้นสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๔๘] ข้าพเจ้าได้ฆ่าสามกุมารผู้บำรุงบำเรอท่าน
ผู้เห็นแก่กัลยาณธรรมที่ท่านกล่าวถึงแล้ว
[๓๔๙] เขามีผมยาวดำสนิท
มีปลายงอนช้อนขึ้นข้างบน
ถูกข้าพเจ้าฆ่าแล้ว
นอนอยู่ที่หาดทรายที่เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด
(นางปาริกาได้ฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว ประสงค์จะทราบเหตุ จึงถามว่า)
[๓๕๐] ท่านทุกูลบัณฑิต ท่านปรึกษากับใครที่บอกว่า
พ่อสามถูกข้าพเจ้าฆ่าแล้ว
ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหวเพราะได้ยินว่า
พ่อสามถูกฆ่าแล้ว
[๓๕๑] เพราะได้ยินว่า พ่อสามถูกฆ่า
ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหว
เหมือนใบอ่อนของต้นอัสสัตถพฤกษ์ถูกลมพัดไหวไปมา
(ทุกูลบัณฑิตให้โอวาทนางปาริกาว่า)
[๓๕๒] ปาริกา ท่านผู้นี้คือพระเจ้ากรุงกาสี
พระองค์ทรงยิงพ่อสามด้วยลูกศร
เพราะความโกรธ ที่ฝั่งแม่น้ำมิคสัมมตา
เราทั้ง ๒ อย่าได้มุ่งร้ายต่อพระองค์เลย
(นางปาริกากล่าวว่า)
[๓๕๓] บุตรที่น่ารักผู้ซึ่งได้เลี้ยงดูเราทั้ง ๒ คน
ผู้ตาบอดในป่า เราได้มาโดยยาก
ไฉนจะไม่พึงทำจิตให้โกรธ
ในคนผู้ฆ่าบุตรคนเดียวนั้นเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(ทุกูลบัณฑิตกล่าวว่า)
[๓๕๔] บุตรที่น่ารักผู้เลี้ยงดูเราทั้ง ๒ คน
ผู้ตาบอดในป่า เราได้มาโดยยาก
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
ไม่ควรโกรธในคนผู้มีบุตรคนเดียวนั้น
(ลำดับนั้น พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสปลอบโยนท่านทั้ง ๒ นั้นว่า)
[๓๕๕] พระคุณท่านทั้ง ๒ อย่าคร่ำครวญให้มากนัก
เพราะข้าพเจ้ากล่าวว่า สามกุมารถูกข้าพเจ้าฆ่าแล้ว
ข้าพเจ้าจะทำการงานเลี้ยงดูพระคุณท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
[๓๕๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า
เป็นผู้มีความสามารถยิงธนูที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้
จะทำการงานเลี้ยงดูพระคุณท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
[๓๕๗] ข้าพเจ้าจักแสวงหาของที่เป็นเดนของฝูงเนื้อ
และมูลผลาผลในป่า
จะทำการงานเลี้ยงดูพระคุณท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
(ดาบสทั้ง ๒ กราบทูลว่า)
[๓๕๘] ข้าแต่มหาราช นั่นมิใช่ธรรม
ไม่สมควรในอาตมภาพทั้ง ๒
พระองค์เป็นพระราชาของอาตมภาพทั้ง ๒
อาตมภาพทั้งหลายขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น ทรงดีพระทัยอย่างยิ่ง จึงตรัสว่า)
[๓๕๙] ท่านผู้มีเชื้อชาติเป็นพราน
ท่านกล่าวเป็นธรรม ท่านได้ประพฤติอ่อนน้อม
ขอพระคุณท่านจงเป็นบิดาของข้าพเจ้า
ข้าแต่นางปาริกา ขอพระคุณท่านจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(ดาบสทั้ง ๒ นั้นประคองอัญชลี กราบทูลว่า)
[๓๖๐] ข้าแต่พระเจ้ากาสี อาตมภาพทั้ง ๒ ขอถวายบังคมแด่พระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี
อาตมภาพทั้งหลายขอถวายบังคมแด่พระองค์
อาตมภาพทั้งหลายขอประคองอัญชลีแด่พระองค์จนกว่าพระองค์
ทรงพาอาตมภาพทั้งหลายไปให้ถึงสถานที่ซึ่งสามกุมารอยู่
[๓๖๑] อาตมภาพทั้ง ๒ เมื่อได้ลูบคลำเท้าทั้ง ๒
และใบหน้าอันงดงามของเขา จักทุบตีตนให้ถึงความตาย
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้ตรัสว่า)
[๓๖๒] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่เหมือนดวงจันทร์ตกดิน
ในป่าที่เกลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย
เป็นป่าสูง ปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ
[๓๖๓] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่เหมือนดวงอาทิตย์ตกดิน
ในป่าที่เกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย
เป็นป่าสูง ปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ
[๓๖๔] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่ เปื้อนเปรอะด้วยฝุ่น
ในป่าที่เกลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย
เป็นป่าสูง ปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ
[๓๖๕] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่
ในป่าที่กลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย
เป็นป่าสูงปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ
ขอพระคุณท่านทั้ง ๒ จงอยู่ในอาศรมที่พักนี้เท่านั้นเถิด
(ลำดับนั้น ดาบสทั้ง ๒ นั้นเมื่อแสดงว่าตนไม่กลัวต่อสัตว์ร้าย จึงกราบทูลว่า)
[๓๖๖] ถ้าในป่านั้น จะมีเนื้อร้ายตั้งร้อย ตั้งพัน และตั้งหมื่น
อาตมภาพทั้ง ๒ ไม่มีความกลัว
ในสัตว์ร้ายทั้งหลายในป่าไหน ๆ เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๖๗] ลำดับนั้น พระเจ้ากาสีทรงพาฤๅษีทั้ง ๒
ผู้ตาบอดไปในป่าใหญ่
จูงมือฤๅษีทั้ง ๒ ไปในที่ที่สามกุมารถูกฆ่าแล้ว
[๓๖๘] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น
ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่เหมือนดวงจันทร์ตกดิน
[๓๖๙] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น
ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่เหมือนดวงอาทิตย์ตกดิน
[๓๗๐] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น
ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่ ก็คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร
[๓๗๑] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น
จึงประคองแขนทั้ง ๒ ข้าง คร่ำครวญว่า ชาวเราเอ๋ย
ได้ทราบว่า วันนี้ ความไม่เป็นธรรมกำลังเป็นไปในโลกนี้
[๓๗๒] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าประมาทนักแล้ว
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๓] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าโง่ไปมากนักแล้ว
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๔] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าโกรธเคืองไปมากนักแล้ว
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๕] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าเป็นผู้มักหลับไปมากนักแล้ว
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๖] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าช่างเป็นคนปราศจากน้ำใจจริง
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๗] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายเสียแล้ว
บัดนี้ ใครเล่าจักชำระชฎาที่หม่นหมองเปื้อนฝุ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๗๘] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายแล้ว
บัดนี้ ใครเล่าจักจับไม้กวาดแล้วกวาดอาศรมของเราทั้ง ๒
[๓๗๙] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายแล้ว
บัดนี้ ใครเล่าจักนำน้ำเย็นน้ำร้อนมาให้เราทั้ง ๒ อาบ
[๓๘๐] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายแล้ว
บัดนี้ ใครเล่าจักให้เราทั้ง ๒ บริโภคมูลผลาผลไม้ในป่า
[๓๘๑] มารดาได้เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรล้มคลุกฝุ่นอยู่
เป็นผู้อึดอัดเพราะความโศกถึงบุตร จึงได้กล่าวสัจวาจาว่า
[๓๘๒] ลูกสามนี้ได้เคยมีปกติประพฤติธรรมมาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๓] ลูกสามนี้มีปกติประพฤติพรหมจรรย์มาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๔] ลูกสามนี้ได้เคยมีปกติกล่าวคำสัตย์มาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๕] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๖] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้นอบน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๗] ลูกสามนี้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๘] บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามทำแล้วแก่เราและบิดาของเขา
ด้วยกุศลนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๙] บิดาได้เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรล้มคลุกฝุ่นอยู่
เป็นผู้อึดอัดเพราะความโศกถึงบุตร จึงได้กล่าวสัจวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๙๐] ลูกสามนี้ได้เคยเป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมมาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๑] ลูกสามนี้มีปกติประพฤติพรหมจรรย์มาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๒] ลูกสามนี้มีปกติกล่าวคำสัตย์มาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๓] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๔] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้นอบน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๕] ลูกสามนี้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๖] บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามทำแล้วแก่เราและมารดาของเขา
ด้วยกุศลนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๗] นางเทพธิดาที่ภูเขาคันธมาทน์นั้นได้อันตรธานไป
ด้วยความอนุเคราะห์สามกุมาร จึงได้กล่าวสัจวาจานี้ว่า
[๓๙๘] เราอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์มานาน
ไม่มีคนอื่น จะเป็นใครก็ตาม
เป็นที่รักของเรายิ่งกว่าสามกุมาร
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงเสื่อมหายไป
[๓๙๙] ต้นไม้ทั้งหมดที่ภูเขาคันธมาทน์ล้วนแต่เป็นไม้หอม
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงเสื่อมหายไป
[๔๐๐] เมื่อดาบสทั้ง ๒ กำลังบ่นพร่ำรำพันอย่างน่าสงสารเป็นอันมาก
สามกุมารผู้ยังเป็นหนุ่มแน่นมีรูปสง่างาม ก็ได้ลุกขึ้นทันที

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(ลำดับนั้น สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นว่า)
[๔๐๑] ข้าพเจ้าเป็นผู้ชื่อว่าสาม
ขอความสุขความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
ข้าพเจ้าลุกขึ้นได้แล้วโดยความสวัสดี
ขอท่านทั้งหลายจงอย่าคร่ำครวญไปนักเลย
จงพูดกับข้าพเจ้าด้วยเสียงอันไพเราะเถิด
(ลำดับนั้น สุวรรณสามโพธิสัตว์เห็นพระราชา จึงกราบทูลว่า)
[๔๐๒] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ผู้เป็นใหญ่เสด็จมาถึงแล้ว
ขอจงทรงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้เถิด
[๔๐๓] ข้าแต่พระราชา ขอเชิญเลือกเสวยผลมะพลับ
ผลมะซาง และผลหมากเม่า
ซึ่งเป็นผลไม้เล็กน้อยแต่ผลที่ดี ๆ เถิด
[๔๐๔] น้ำใสเย็นข้าพระองค์ตักมาจากซอกเขาก็มีอยู่
จงโปรดเสวยจากนั้นเถิด พระเจ้าข้า
ถ้าพระองค์ทรงพระประสงค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ทรงเห็นความอัศจรรย์นั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๔๐๕] เรางุนงงไปหมด หลงไปทั่วทุกทิศ
เราได้เห็นสามตายไปแล้ว
ท่านสาม ทำไมหนอ ท่านจึงกลับฟื้นชีวิตคืนมาได้
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ทูลว่า)
[๔๐๖] ข้าแต่มหาราช บุรุษผู้มีชีวิตอยู่
แต่มีเวทนามาก ปราศจากความรู้สึก๑
แม้ยังมีชีวิตอยู่ ชาวโลกก็เข้าใจว่า ตายแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ปราศจากความรู้สึก หมายถึงวาระจิตที่หยั่งลงสู่ภวังค์ (ความอยู่โดยไม่รู้สึกตัว, สลบ) (ขุ.ชา.อ. ๙/๔๐๖/๑๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๔๐๗] ข้าแต่มหาราช บุรุษผู้มีชีวิตอยู่
แต่มีเวทนามาก ถึงความดับสนิท
แม้ยังมีชีวิตอยู่ ชาวโลกก็เข้าใจว่า ตายแล้ว
(สุวรรณสามโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่พระเจ้าปิลยักษ์ว่า)
[๔๐๘] บุคคลใดเลี้ยงดูมารดาและบิดาโดยธรรม
แม้เทวดาก็เยียวยารักษาบุคคลผู้เลี้ยงดูมารดาและบิดานั้น
[๔๐๙] บุคคลใดเลี้ยงดูมารดาและบิดาโดยธรรม
แม้นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้
บุคคลนั้นละโลกนี้ไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น ทรงประคองอัญชลี ขอร้องอยู่ว่า)
[๔๑๐] เรายิ่งงุนงงหนักขึ้น หลงไปทั่วทุกทิศ
ท่านสาม เราขอถึงท่านว่าเป็นที่พึ่ง
และท่านก็จงเป็นที่พึ่งของเรา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กล่าวทศพิธราชธรรมถวายว่า)
[๔๑๑] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระมารดาและพระบิดาเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๒] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระโอรสและพระมเหสีเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๓] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในมิตรและอำมาตย์เถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๔๑๔] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพาหนะและพลนิกายเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๕] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในชาวบ้านและชาวนิคมเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๖] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในชาวแคว้นและชาวชนบทเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๗] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์เถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๘] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในฝูงเนื้อและฝูงนกเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๙] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด
ธรรมที่พระองค์ทรงประพฤติแล้วย่อมนำสุขมาให้
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๒๐] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด
พระอินทร์ เทวดา พร้อมทั้งพรหมเข้าถึงทิพยสถานได้
เพราะธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ขอพระองค์อย่าทรงประมาทธรรมเลย
สุวัณณสามชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
๔. เนมิราชชาดก๑ (๕๔๑)
ว่าด้วยพระเจ้าเนมิทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๒๑] น่าอัศจรรย์หนอ
การที่พระเจ้าเนมิผู้เป็นบัณฑิตมีพระประสงค์ด้วยกุศล
ทรงเกิดขึ้นในคราวที่บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลายเกิดขึ้นในโลก
[๔๒๒] พระเจ้าเนมิผู้ทรงทรมานอริราชศัตรู
ของชาวแคว้นวิเทหะทั้งปวงได้บริจาคแล้ว
เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานอยู่นั้น
ก็เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี
อย่างไหนเล่าจะมีผลมาก
[๔๒๓] ท้าวมฆวานเทพกุญชรสหัสสเนตร
ทรงทราบพระดำริของพระเจ้าเนมิแล้ว ปรากฏพระองค์
ทรงกำจัดความมืดด้วยพระรัศมีแล้ว
[๔๒๔] พระเจ้าเนมิจอมมนุษย์ทรงมีพระโลมชาติชูชัน
ได้ตรัสถามท้าววาสวะว่า ท่านเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์
หรือเป็นท้าวสักกะผู้บำเพ็ญทานในภพก่อนกันแน่
[๔๒๕] รัศมีเช่นนั้นข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็น
หรือไม่เคยได้ยินมาเลย
แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจงบอกข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้อย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ เนมิราชชาดก เป็นเรื่องที่พระบรมศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยเมืองมิถิลา ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วง
ของพระราชามฆเทพ ทรงปรารภการกระทำการแย้มสรวลให้ปรากฏ ตรัสเรื่องเนมิราชชาดกนี้ เริ่มต้น
ด้วยคำว่า น่าอัศจรรย์หนอ...ในโลก ดังนี้ (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๒๖] ท้าววาสวะทรงทราบว่าพระเจ้าเนมิมีพระโลมชาติชูชัน
ได้ตรัสตอบว่า หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มาในสำนักของพระองค์ พระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์
พระองค์อย่าทรงมีพระโลมชาติชูชัน
เชิญตรัสถามปัญหาที่พระองค์ทรงพระประสงค์เถิด
[๔๒๗] พระเจ้าเนมินั้นเมื่อท้าวเธอทรงถวายโอกาส
จึงได้ตรัสกับท้าววาสวะว่า ข้าแต่มหาราชผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
ข้าพเจ้าขอถามพระองค์ ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี
อย่างไหนมีผลมากกว่ากันเล่า
[๔๒๘] ท้าววาสวะถูกพระเจ้าเนมิผู้เป็นเทพแห่งนรชนตรัสถามแล้ว
เมื่อจะตรัสตอบพระเจ้าเนมิ
ท้าวเธอทรงทราบวิบากแห่งพรหมจรรย์อยู่
จึงได้ตรัสบอกแก่พระเจ้าเนมิผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๒๙] บุคคลย่อมเกิดในตระกูลกษัตริย์ได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ
เข้าถึงความเป็นเทวดาได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง
ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูง
[๔๓๐] เพราะพรหมจรรย์เหล่านี้มิใช่จะหาได้ง่าย ๆ
ด้วยการประกอบพิธีวิงวอนขอร้องอะไร ๆ
บุคคลผู้ที่เกิดในหมู่พรหมได้ต้องออกบวชบำเพ็ญตบะ
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเรื่องที่พระราชาทั้งหลายในอดีต ผู้บริจาค
มหาทานแล้วไม่สามารถพ้นไปจากกามาวจรภพได้ จึงได้ตรัสว่า)

[๔๓๑] ๑. พระเจ้าทุทีปะ ๒. พระเจ้าสาคระ
๓. พระเจ้าเสละ ๔. พระเจ้ามุจลินท์
๕. พระเจ้าภคีรสะ ๖. พระเจ้าอุสินนะ
๗. พระเจ้าอัตถกะ ๘. พระเจ้าปุถุทธนะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๓๒] พระราชาเหล่านั้น พระราชามหากษัตริย์เหล่าอื่น
และพวกพราหมณ์เป็นอันมาก
ต่างก็บูชายัญเป็นอันมากแล้วก็ยังไม่ล่วงพ้นภพแห่งเปรตได้
ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อน อยู่คนเดียว
ไม่ยินดีกับใคร ย่อมไม่ได้ปีติอันเกิดแต่วิเวก
ชนเหล่านั้นถึงจะมีสมบัติเสมอกับทิพยสมบัติของพระอินทร์ก็จริง
ถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้นแลยังชื่อว่า ผู้ตกยาก
เพราะมีความสุขเนื่องด้วยผู้อื่น
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเหล่าดาบสผู้ล่วงภพแห่งเปรตได้แล้วบังเกิด
ในพรหมโลกด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ จึงตรัสว่า)
[๔๓๓] ฤๅษีทั้ง ๗ เหล่านี้ คือ
๑. ยานหนฤๅษี ๒. โสมยาคฤๅษี ๓. มโนชวฤๅษี
[๔๓๔] ๔. สมุททฤๅษี ๕. มาฆฤๅษี
๖. ภรตฤๅษี ๗. กาลปุรักขิตฤๅษี
กับฤๅษีอีก ๔ ตน คือ
๑. อังคีรสฤๅษี ๒. กัสสปฤๅษี
๓. กีสวัจฉฤๅษี ๔. อกัตติฤๅษี
ออกบวชบำเพ็ญตบะ ล่วงพ้นกามาวจรภพได้แน่นอน
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงเล่าเรื่องที่ตนเคยเห็นมา จึงตรัสว่า)
[๔๓๕] แม่น้ำที่ชื่อสีทามีอยู่ทางทิศเหนือ
เป็นแม่น้ำลึก ข้ามได้ยาก
ภูเขาทองมีสีดังไฟไหม้ต้นอ้อ โชติช่วงอยู่ทุกเมื่อ
[๔๓๖] ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น มีต้นกฤษณาขึ้นงอกงาม
มีภูเขาซึ่งมีป่าไม้ขึ้นงอกงาม
ที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์อย่างนี้นั้น
มีฤๅษีรุ่นเก่าประมาณหมื่นตนอาศัยอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๓๗] หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐ
เพราะทาน ความสำรวม และความฝึก
หม่อมฉันได้อุปัฏฐากดาบสเห็นปานนี้
ที่บำเพ็ญวัตรซึ่งไม่มีวัตรอื่นยิ่งกว่า
ละคณะไปอยู่ผู้เดียวมีจิตเป็นสมาธิ
[๔๓๘] หม่อมฉันจักนอบน้อมนรชนผู้มีชาติและไม่มีชาติ
ผู้ปฏิบัติตรงตลอดกาลเป็นนิตย์
เพราะเหล่าสัตว์เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
[๔๓๙] ฉะนั้น วรรณะทั้งปวงที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ย่อมตกนรกเบื้องต่ำ วรรณะทั้งปวงย่อมบริสุทธิ์ได้
เพราะประพฤติธรรมสูงสุด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๔๐] ท้าวมฆวานสุชัมบดีเทวราชครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว
จึงทรงสั่งสอนพระเจ้าเนมิผู้ครองแคว้นวิเทหะแล้ว
ได้เสด็จจากไปสู่หมู่เทพชาวสวรรค์
(ท้าวสักกเทวราชครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว จึงตรัสเหตุนั้นอีกว่า)
[๔๔๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
ผู้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ประมาณเท่าใด
จงตั้งใจฟังคุณเป็นอันมากทั้งสูงและต่ำนี้
ของเหล่ามนุษย์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
[๔๔๒] เหมือนพระเจ้าเนมินี้ผู้เป็นบัณฑิตมีพระประสงค์กุศล
เป็นพระราชาผู้ทรงปราบอริราชศัตรูได้
ได้ทรงให้ทานแก่ชาวแคว้นวิเทหะทั้งปวง
[๔๔๓] เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานนั้นอยู่
ก็ได้เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี
อย่างไหนเล่าจะมีผลมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(มหาชนร่าเริงยินดี จึงกล่าวว่า)
[๔๔๔] ความขนพองสยองเกล้าที่ไม่เคยมีมาแล้วหนอ
ได้เกิดขึ้นแล้วในโลก
รถทิพย์ได้ปรากฏแก่พระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๔๕] มาตลีเทพบุตรผู้เป็นเทพสารถีมีฤทธิ์มาก
ได้เชื้อเชิญพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลาว่า
[๔๔๖] ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ
ขอเชิญเสด็จขึ้นรถพระที่นั่งนี้เถิด
เทพชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยพระอินทร์ประสงค์จะเฝ้าพระองค์
เพราะเทพเหล่านั้นกำลังระลึกถึง
นั่งกล่าวสรรเสริญคุณของพระองค์อยู่ ณ สุธรรมสภา
[๔๔๗] ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลา
ผู้ทรงธรรม ด่วนรีบเสด็จลุกขึ้นจากพระราชอาสน์
บ่ายพระพักตร์ขึ้นสู่รถพระที่นั่ง
[๔๔๘] มาตลีเทพบุตรได้ทูลถามพระเจ้าเนมิผู้เสด็จขึ้นรถทิพย์แล้วว่า
ข้าแต่พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ
ข้าพระองค์จะนำพระองค์ไปทางไหน
คือ ทางที่คนทำบาปหรือทำบุญไว้
(ลำดับนั้น พระเจ้าเนมิจึงตรัสกับมาตลีเทพสารถีนั้นว่า)
[๔๔๙] มาตลีเทพสารถี ขอให้ท่านจงนำเราไปทั้ง ๒ ทางนั่นแหละ
คือ ทางที่คนทำบาปและทางที่คนทำบุญไว้
(ต่อจากนั้น มาตลีเทพสารถีทูลถามว่า)
[๔๕๐] ข้าแต่พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ
ข้าพระองค์จะนำเสด็จพระองค์ไปทางไหนก่อน
คือ ทางที่คนทำบาปหรือทางที่คนทำบุญไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิตรัสว่า)
[๔๕๑] เราจะดูนรกซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่านรชนที่มีกรรมเป็นบาป
สถานที่อยู่ของเหล่านรชนที่มีกรรมหยาบช้า
และคติของเหล่านรชนผู้ทุศีลก่อน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๕๒] มาตลีเทพสารถีฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว
จึงแสดงแม่น้ำที่ชื่อเวตตรณี๑ ที่ข้ามได้ยาก
ประกอบด้วยน้ำด่างที่ร้อนเดือดพล่าน
เปรียบด้วยเปลวเพลิง
[๔๕๓] พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรสัตว์ผู้ตกอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี
ที่ข้ามได้ยาก จึงได้ตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า
มาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ผู้ตกอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี
เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรหนอ
จึงตกลงสู่แม่น้ำเวตตรณี
[๔๕๔] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงได้ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๕๕] ชนเหล่าใดในมนุษยโลก ผู้มีกำลัง มีกรรมอันเป็นบาป
ย่อมเบียดเบียน ด่าว่าผู้อื่นซึ่งมีกำลังน้อย
ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า
ทำบาปแล้วย่อมตกลงสู่แม่น้ำเวตตรณี

เชิงอรรถ :
๑ แม่น้ำชื่อเวตตรณี เป็นแม่น้ำที่ตั้งขึ้นตามฤดูซึ่งมีกรรมเป็นเหตุ เหล่านายนิรยบาลในนรกนั้นถืออาวุธ
มีดาบ หอก หอกซัด ฉมวก และพลองเป็นต้นที่ลุกเป็นไฟ เข้าประหาร ทิ่มแทง ทุบตีสัตว์นรกทั้งหลาย
(ขุ.ชา.อ. ๙/๔๕๒/๑๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๕๖] ฝูงสุนัขดำ ฝูงสุนัขด่าง ฝูงแร้ง ฝูงกาปากเหล็กที่น่ากลัว
รุมกัดจิกกินสัตว์นรก ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นฝูงสัตว์รุมกัดจิกกินสัตว์นรก
ท่านมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน
สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกฝูงกาปากเหล็กรุมกัดจิกกิน
[๔๕๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๕๘] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น
มีธรรมลามก บริภาษ เบียดเบียน ด่าว่าสมณะและพราหมณ์
ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงถูกฝูงกาปากเหล็กรุมกัดจิกกิน
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นสัตว์นรกเหล่านั้น ทรงสะดุ้งกลัว ตรัสถามมาตลี-
เทพสารถีว่า)
[๔๕๙] สัตว์นรกเหล่านี้มีร่างกายลุกโชน
เดินเหยียบแผ่นดินเหล็กที่ลุกโชน
นายนิรยบาลทั้งหลายโบยตีด้วยกระบองเหล็กอันร้อน
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ที่ถูกโบยตีด้วยกระบองเหล็ก
เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกทุบตีด้วยกระบองเหล็กนอนอยู่
[๔๖๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๖๑] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกเป็นผู้มีธรรมอันชั่วช้า
เบียดเบียน ด่าว่าชายหญิงผู้ไม่มีธรรมอันชั่วช้า
ชนเหล่านั้นผู้มีธรรมอันชั่วช้า มีกรรมหยาบช้า
ทำบาปแล้ว จึงถูกทุบตีด้วยกระบองเหล็กนอนอยู่
(พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสถามว่า)
[๔๖๒] สัตว์นรกอีกพวกหนึ่งตกหลุมถ่านเพลิง
ถูกไฟไหม้ทั่วร่างกาย ร้องครวญครางอยู่
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ถูกไฟไหม้ทั่วร่างกาย
เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงตกหลุมถ่านเพลิงอยู่
[๔๖๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๖๔] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งอ้างพยานโกงลบหนี้
เพราะเหตุแห่งทรัพย์ของประชุมชน
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
ชนเหล่านั้นครั้นทำทรัพย์ของหมู่ชนให้สิ้นไปแล้ว
มีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้วตกอยู่ในหลุมถ่านเพลิง
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๖๕] โลหกุมภีใหญ่มีไฟลุกโพลงโชติช่วงปรากฏอยู่
ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นโลหกุมภีนั้น
ท่านมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน
สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงต้องดิ่งหัวตกลงไปสู่โลหกุมภี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๖๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๖๗] ชนเหล่าใดสุดแสนจะชั่ว เบียดเบียน
อาฆาตสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล
ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงดิ่งหัวตกลงไปสู่โลหกุมภี
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๖๘] นายนิรยบาลย่อมตัดคอหรือผูกคอสัตว์นรก
ฉุดลากโยนลงไปในน้ำร้อน
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกตัดศีรษะนอนอยู่
[๔๖๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๗๐] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกสุดแสนจะชั่ว จับนกมาฆ่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ชนเหล่านั้นครั้นฆ่านกแล้ว
มีกรรมหยาบช้าทำบาปแล้ว จึงถูกตัดศีรษะนอนอยู่
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๗๑] แม่น้ำนี้มีน้ำมาก มีฝั่งไม่ลึก
มีท่าน้ำงดงาม ไหลอยู่เสมอ
สัตว์นรกถูกความร้อนแผดเผาแล้วจะดื่มน้ำ
น้ำที่สัตว์นรกเหล่านั้นดื่มแล้วก็กลายเป็นแกลบไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๗๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
น้ำที่สัตว์นรกเหล่านั้นดื่มแล้วจึงกลายเป็นแกลบไป
[๔๗๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๗๔] สัตว์นรกเหล่าใดมีการงานไม่บริสุทธิ์
เอาข้าวลีบปนข้าวเปลือกล้วน ๆ ขายให้แก่ผู้ซื้อ
น้ำที่สัตว์นรกผู้ถูกความร้อนแผดเผากระหายเหล่านั้นดื่มแล้ว
ก็กลายเป็นแกลบไป
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๗๕] นายนิรยบาลใช้ลูกศร หอก และโตมร
แทงสีข้างทั้ง ๒ ของเหล่าสัตว์นรกผู้คร่ำครวญอยู่
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกแทงด้วยหอกนอนอยู่
[๔๗๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๗๗] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกมีการงานไม่ดี
ลักทรัพย์ของผู้อื่น คือ ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง
แพะ แกะ ปศุสัตว์ และกระบือ มาเลี้ยงชีวิต
ชนเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงถูกแทงด้วยหอกนอนอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๔๗๘] เพราะเหตุไร สัตว์นรกเหล่านี้จึงถูกนายนิรยบาลล่ามคอไว้
สัตว์นรกอีกพวกหนึ่งถูกนายนิรยบาลหั่นแล้วสับนอนอยู่
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกสับนอนอยู่
[๔๗๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๘๐] สัตว์นรกเหล่านี้เคยเป็นผู้ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร ฆ่าปลา
ครั้นฆ่าปศุสัตว์ คือ กระบือ แพะ
และแกะแล้วจึงวางบนเขียงเพื่อขายเลี้ยงชีพ
สัตว์นรกเหล่านั้นทำบาปแล้วจึงต้องถูกสับเป็นชิ้น ๆ กองอยู่
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๔๘๑] ห้วงน้ำนี้เต็มไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ
ไม่สะอาด บูดเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป
สัตว์นรกถูกความหิวครอบงำ
ย่อมกินอุจจาระและปัสสาวะนั้น
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงต้องมากินอุจจาระและปัสสาวะ
[๔๘๒] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๘๓] สัตว์นรกเหล่านี้บางพวกมักก่อเหตุ เกรี้ยวกราด
รังแกมิตรสหาย ตั้งมั่นในการเบียดเบียนผู้อื่นทุกเมื่อ
สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า
เป็นพาล ประทุษร้ายมิตร ทำบาปแล้ว
จึงกินปัสสาวะและอุจจาระ
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๘๔] ห้วงน้ำนี้เต็มไปด้วยเลือดและหนอง
ไม่สะอาด บูดเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป
สัตว์นรกทั้งหลายถูกความร้อนแผดเผา
เกิดความกระหาย จึงดื่มเลือดและหนอง
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงกินเลือดและหนอง
[๔๘๕] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๘๖] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกฆ่ามารดาบิดา
หรือพระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นปาราชิก (ผู้พ่ายแพ้)
ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงกินเลือดและหนอง
(เมื่อมาตลีเทพสารถีแสดงเรื่องนั้นแล้ว พระเจ้าเนมิจึงตรัสถามว่า)
[๔๘๗] ท่านจงดูลิ้นของสัตว์นรกที่นายนิรยบาลเกี่ยวด้วยเบ็ด
และจงดูหนังที่นายนิรยบาลถลกด้วยขอเหล็ก
สัตว์นรกเหล่านี้ย่อมดิ้นรนเหมือนปลาถูกโยนขึ้นบนบก
ร้องไห้น้ำลายไหล เพราะเหตุไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๘๘] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงกลืนกินเบ็ดนอนอยู่
[๔๘๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๙๐] สัตว์นรกบางพวกเคยเป็นมนุษย์
มีตำแหน่งหน้าที่ให้ลดราคาซื้อลงจากราคาขาย
ทำการโกงด้วยตาชั่งโกง เพราะโลภในทรัพย์
ปกปิดการโกงไว้เหมือนคนเมื่อจะฆ่าปลาเอาเหยื่อปกปิดเบ็ดไว้
[๔๙๑] บุคคลผู้ทำการโกงถูกกรรมของตนหุ้มห่อไว้
ไม่มีการป้องกันได้เลย สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า
ทำบาปแล้ว จึงต้องกลืนกินเบ็ดนอนอยู่
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๔๙๒] นางสัตว์นรกเหล่านี้มีร่างกายแตกเยิ้ม
น่าเกลียด เปรอะเปื้อน เกรอะกรังไปด้วยเลือดและหนอง
เหมือนพวกโคหัวขาดในที่ฆ่า
ยกแขนทั้ง ๒ ข้างขึ้นร้องคร่ำครวญอยู่
นางสัตว์นรกนั้นถูกฝังไว้ในแผ่นดินทุกเมื่อ
มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้
[๔๙๓] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของนางสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน นางสัตว์นรกเหล่านี้
ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกฝังไว้ในแผ่นดินทุกเมื่อ
มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๙๔] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๙๕] หญิงเหล่านั้นเป็นกุลธิดาในมนุษยโลกที่เป็นอยู่นี้
มีการงานไม่บริสุทธิ์ ประพฤติไม่สงบเสงี่ยม
ทำตัวเป็นนักเลง ทอดทิ้งสามีแล้วไปคบหาชายอื่น
เพราะเหตุแห่งความเริงรมย์และเล่นสนุก
หญิงเหล่านั้นทำจิตของตนให้เริงรมย์อยู่กับชายอื่น
ในมนุษยโลกแล้ว มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๔๙๖] เพราะเหตุไร นายนิรยบาลอีกพวกหนึ่งนี้
จึงจับเท้าสัตว์นรกให้มีศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก
[๔๙๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๙๘] สัตว์นรกทั้งหลายเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
ต่างทำกรรมไว้ไม่ดี ล่วงละเมิดเหล่าภรรยาของชายอื่น
เช่นนั้นชื่อว่าเป็นผู้ลักของสำคัญที่สุด
จึงต้องถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๙๙] สัตว์นรกเหล่านั้นเสวยทุกขเวทนาอยู่ในนรกนั้น
สิ้นปีเป็นอันมาก เพราะบุคคลผู้ทำบาปกรรมเป็นปกติ
ถูกกรรมของตนเชิดไว้ข้างหน้า ไม่มีการต้านทานได้เลย
สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงต้องถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก
(พระเจ้าเนมิตรัสถามว่า)
[๕๐๐] สัตว์นรกทั้งเล็กและใหญ่เหล่านี้
มีการประกอบเหตุการณ์ต่าง ๆ กัน
มีรูปร่างแสนจะน่ากลัว ปรากฏอยู่ในนรก
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงต้องมาเสวยทุกขเวทนาอันร้ายแรงแข็งกล้า
และเผ็ดร้อนเหลือประมาณอยู่
[๕๐๑] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๐๒] เหล่าสัตว์นรกที่เมื่อมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
เป็นผู้มีทิฏฐิสุดแสนชั่ว๑ หลงทำกรรมเพราะความชะล่าใจ
และชักชวนผู้อื่นในทิฏฐิเช่นนั้น มีทิฏฐิชั่ว
จึงต้องมาเสวยทุกขเวทนาอันแรงแข็งกล้า
และเผ็ดร้อนเหลือประมาณอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิสุดแสนชั่ว หมายถึงมีบาปธรรมมากด้วยความเห็นผิดที่มีวัตถุ ๑๐ คือ การให้ทานไม่มีผล การบูชา
ไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การเสวยผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ แม้สมณ-
พราหมณ์ทั้งหลายก็ไม่มี สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี (ขุ.ชา.อ. ๙/๕๐๒/๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(มาตลีเทพสารถีฟังพระดำรัสแล้ว จึงแสดงนรกมากมายในทิศทั้ง ๔ ว่า)
[๕๐๓] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ทรงทราบสถานที่อยู่
ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมชั่ว ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า
และคติของเหล่าสัตว์ผู้ทุศีลแล้ว
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ บัดนี้
ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้นไปในสำนักของท้าวสักกเทวราชเถิด
(เทพมาตลีสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงเทพธิดา จึงกราบทูลพยากรณ์แด่
พระองค์ว่า)
[๕๐๔] วิมาน ๕ ยอดนี้ย่อมปรากฏนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก
ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่างมีดอกไม้เป็นต้น
นั่งอยู่ในท่ามกลางที่ไสยาสน์
แสดงเทพฤทธิ์ได้ต่าง ๆ สถิตอยู่ในวิมานนี้
(พระเจ้าเนมิตรัสว่า)
[๕๐๕] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นพฤติการณ์ของนางเทพธิดาผู้สถิตอยู่ในวิมานนี้
เราขอถามท่าน นางเทพธิดานี้ได้ทำกรรมอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๐๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๐๗] บางทีพระองค์จะทรงเคยได้ยินว่า
ในมนุษยโลกมีนางทาสีเรือนทาสของพราหมณ์ชื่อว่า พีรณี
คราวหนึ่งนางทราบว่า แขกมาถึงแล้วตามกาล
ก็ชื่นชม ยินดีเหมือนมารดาชื่นชมบุตรของตน
นางมีการสำรวมและการบริจาค บันเทิงอยู่ในวิมาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมที่โสณทินนเทพบุตรทำแล้ว
จึงทูลตอบแด่พระองค์ว่า)
[๕๐๘] วิมานทั้ง ๗ หลังถูกนิรมิตขึ้น เรืองรองผ่องใส
มีเทพบุตรตนหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์มาก
ประดับประดาด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง
มีหมู่เทพธิดาแวดล้อมผลัดเปลี่ยนเวียนวนอยู่โดยรอบ
ในวิมานทั้ง ๗ หลัง ซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ตามลำดับนั้น
(พระเจ้าเนมิตรัสว่า)
[๕๐๙] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นพฤติการณ์ของเทพบุตรผู้อยู่ในวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรตนนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๑๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๑๑] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดีชื่อโสณทินนะ
เป็นทานบดีให้สร้างวิหาร ๗ หลังอุทิศแก่บรรพชิต
[๕๑๒] เขาได้อุปัฏฐากภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในวิหาร ๗ หลังนั้น
ด้วยความเคารพ ได้บริจาคผ้านุ่ง ผ้าห่ม
อาหาร เสนาสนะ เครื่องประทีป
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตเลื่อมใส
[๕๑๓] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๑๔] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเหล่าเทพอัปสร จึง
ทูลตอบว่า)
[๕๑๕] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก
เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่นางเทพอัปสรผู้ประเสริฐ
รุ่งเรืองด้วยเรือนยอดประกอบไปด้วยข้าวและน้ำ
งดงามด้วยการฟ้อนรำและขับร้องทั้ง ๒ อย่าง
ส่องแสงสว่างไสวอยู่
(พระเจ้าเนมิตรัสว่า)
[๕๑๖] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปแห่งวิมานนี้
เราขอถามท่าน นางเทพอัปสรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๑๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๑๘] นางเทพอัปสรเหล่านั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
เคยเป็นอุบาสิกาผู้มีศีล ยินดีในการให้ทาน
มีใจเลื่อมใสเป็นนิตย์ ตั้งอยู่ในสัจจะ
ไม่ประมาทในการรักษาอุโบสถศีล
เป็นผู้สำรวมและทำการบริจาคทาน
จึงบันเทิงอยู่ในสวรรค์
(พระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรเหล่านั้นว่า)
[๕๑๙] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
ประกอบด้วยภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์
จัดสรรสร้างไว้เป็นส่วน ๆ ส่องแสงสว่างไสวอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๒๐] เสียงทิพย์ คือ เสียงเปิงมาง เสียงตะโพน
เสียงการฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี
เปล่งออกมาน่าฟัง เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
[๕๒๑] เราไม่รู้สึกว่า เคยได้เห็นหรือเคยได้ฟังเสียง
ที่น่ารื่นรมย์ใจอย่างนี้ ที่ไพเราะอย่างนี้มาก่อนเลย
[๕๒๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรตนนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๒๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๒๔] เทพบุตรบางพวกเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
เคยเป็นอุบาสกผู้มีศีล ได้สร้างสวนดอกไม้
บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปรนนิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๒๕] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย๑
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๕๒๖] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๒๗] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ
ทั้งมีความสำรวมและบริจาคทาน
เทพบุตรเหล่านั้นจึงมาบันเทิงอยู่ในสวรรค์

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ปัจจัย ได้แก่ คิลานปัจจัย (ยาเพื่อคนไข้) (ขุ.ชา.อ. ๙/๕๒๕/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิทรงมีพระทัยยินดี จึงตรัสถามกุศลกรรมของเทพบุตรนั้นว่า)
[๕๒๘] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก
เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นางเทพอัปสรผู้ประเสริฐ
รุ่งเรืองด้วยเรือนยอด
[๕๒๙] บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ
งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้องทั้ง ๒ ส่องแสงสว่างไสวอยู่
และแม่น้ำสายหนึ่งที่ประกอบด้วยไม้ดอกนานาชนิด
ไหลไปล้อมรอบวิมานนั้น
[๕๓๐] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๓๑] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๓๒] เทพบุตรนี้เคยเป็นคหบดีเป็นทานบดีอยู่ในกรุงมิถิลา
ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๓๓] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๕๓๔] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๓๕] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรผู้ประกอบด้วยสมบัตินั้นว่า)
[๕๓๖] วิมานที่นิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก
เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นางเทพอัปสรนารีผู้ประเสริฐ
รุ่งเรืองด้วยเรือนยอด
[๕๓๗] บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ
งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้องทั้ง ๒ ส่องแสงสว่างไสวอยู่
และแม่น้ำสายหนึ่งที่ประกอบด้วยต้นไม้ดอกนานาชนิด
ไหลไปล้อมรอบวิมานนั้น
[๕๓๘] มีไม้เกด ไม้มะขวิด ไม้มะม่วง ไม้สาละ ไม้หว้า
ไม้มะพลับ และไม้มะหาดเป็นจำนวนมาก มีผลตลอดฤดูกาล
[๕๓๙] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๔๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๔๑] เทพบุตรนี้เคยเป็นคหบดี เป็นทานบดีอยู่ในกรุงมิถิลา
ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๔๒] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๕๔๓] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๔๔] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๕๔๕] วิมานที่นิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
ประกอบด้วยภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์
ที่จัดสรรสร้างไว้เป็นส่วน ๆ ส่องแสงสว่างไสวอยู่
[๕๔๖] มีเสียงทิพย์ คือ เสียงเปิงมาง เสียงตะโพน
เสียงการฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี
เปล่งออกมาน่าฟัง เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
[๕๔๗] เราไม่รู้สึกว่า เคยได้เห็นหรือเคยได้ฟังเสียง
ที่น่ารื่นรมย์อย่างนี้ ที่ไพเราะอย่างนี้มาก่อนเลย
[๕๔๘] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๔๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๕๐] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดี
เป็นทานบดีอยู่ในกรุงพาราณสี
ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๕๑] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๕๒] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๕๓] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๕๕๔] วิมานทองที่นิรมิตขึ้นนี้ รุ่งเรืองสุกใส
เหมือนดวงอาทิตย์ดวงใหญ่โผล่ขึ้นมาเป็นสีแดง
[๕๕๕] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๕๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๕๗] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดี เป็นทานบดีอยู่ในกรุงสาวัตถี
ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๕๘] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๕๕๙] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๖๐] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรสมบัติของเทพบุตรที่อยู่ในวิมานนั้น จึงตรัสว่า)
[๕๖๑] วิมานทองเป็นอันมากนี้ที่ได้นิรมิตไว้
ลอยอยู่ในอากาศ รุ่งเรืองสุกใสเหมือนสายฟ้า
ส่องแสงเรือง ๆ อยู่ในระหว่างก้อนเมฆทึบ
เหล่าเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง
มีหมู่เทพอัปสรห้อมล้อมผลัดเปลี่ยนเวียนวนกัน
อยู่ในวิมานเหล่านั้นโดยรอบ
[๕๖๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๖๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๖๔] เทพบุตรเหล่านี้เคยเป็นสาวกในศาสนา
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อศรัทธาตั้งมั่นแล้ว
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระสัทธรรมดีแล้ว
ได้ทำตามพระดำรัสของพระศาสดา
ข้าแต่พระราชา เชิญพระองค์ทอดพระเนตร
สถานที่สถิตของเทพบุตรเหล่านั้นเถิด
(มาตลีเทพสารถีเมื่อจะทำอุตสาหะเพื่อจะให้พระเจ้าเนมิเสด็จไปสำนักของท้าว
สักกเทวราช จึงทูลว่า)
[๕๖๕] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ทรงทราบสถานที่อยู่
ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมชั่ว
และทรงทราบสถานที่สถิตอยู่ของเหล่าเทพเจ้าผู้มีกรรมดีแล้ว
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
บัดนี้ เชิญพระองค์เสด็จขึ้นไปในสำนักของท้าวสักกเทวราชเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรภูเขาเหล่านั้นแล้วตรัส
ถามมาตลีเทพสารถีให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสว่า)
[๕๖๖] พระมหาราชเสด็จประทับบนทิพยยาน
เทียมด้วยม้าสินธพ ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปอยู่
ได้ทอดพระเนตรเห็นภูเขาทั้งหลายในระหว่างมหาสมุทรสีทันดร
ครั้นแล้วจึงได้ตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า ภูเขาเหล่านี้ชื่ออะไร
[๕๖๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบ
(มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามอย่างนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๕๖๘] ภูเขาหลวงทั้ง ๗ เทือก คือ ภูเขาสุทัศนะ
ภูเขากรวีกะ ภูเขาอิสินธร ภูเขายุคันธร
ภูเขาเนมินธร ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ
[๕๖๙] ภูเขาเหล่านี้สูงขึ้นไปตามลำดับ
อยู่ในมหาสมุทรสีทันดร เป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช
ข้าแต่พระราชา เชิญพระองค์ทอดพระเนตรภูเขาเหล่านั้นเถิด
(พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรเห็นพระอินทร์นั้นแล้ว จึงตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๕๗๐] ประตูมีรูปหลายอย่าง รุ่งเรือง
งดงามไปด้วยรัตนะนานาชนิด
สมบูรณ์ด้วยรูปเหมือนพระอินทร์ ย่อมปรากฏ
เหมือนป่าใหญ่ที่เสือโคร่งหรือราชสีห์รักษาไว้ดีแล้ว
[๕๗๑] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นประตูนี้ เราขอถามท่าน
ประตูนี้เขาเรียกชื่อว่าอะไรหนอ
น่ารื่นรมย์ใจ ปรากฏแต่ที่ไกลทีเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๗๒] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๗๓] ประตูนี้เขาเรียกว่า จิตรกูฏ
เป็นที่เสด็จเข้าออกของท้าวสักกเทวราช
ประตูนี้เป็นซุ้มประตูของเทพนคร
ที่ตั้งอยู่ในที่สุดแห่งภูเขาสุทัศนะ
[๕๗๔] ประตูมีรูปหลายอย่าง รุ่งเรือง
งดงามไปด้วยรัตนะนานาชนิด
สมบูรณ์ด้วยรูปเหมือนพระอินทร์ ย่อมปรากฏ
เหมือนป่าใหญ่ที่เสือโคร่งหรือราชสีห์รักษาไว้ดีแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปทางประตูนี้เถิด
ขอเชิญพระองค์ทรงเหยียบภาคพื้นอันเป็นทิพย์
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๕๗๕] พระมหาราชเสด็จประทับบนทิพยยาน
ที่เทียมด้วยม้าสินธพประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปอยู่
ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภานี้แล้ว
(พระเจ้าเนมิได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภาชื่อสุธรรมา จึงตรัสถามมาตลีเทพ-
สารถีว่า)
[๕๗๖] วิมานที่นิรมิตไว้แล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
เปรียบเสมือนอากาศ ส่องแสงสว่างไสว ทอสีเขียวในสารทกาล
[๕๗๗] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน วิมานนี้เขาเรียกว่าอะไรหนอ
น่ารื่นรมย์ใจ ปรากฏแต่ไกลทีเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๗๘] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมิผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๗๙] วิมานนี้นั้นเป็นเทวสภา เขาเรียกชื่อปรากฏว่า สุธรรมา
รุ่งเรืองด้วยแก้วไพฑูรย์ตระการตา ที่นิรมิตไว้อย่างดี
[๕๘๐] มีเสา ๘ เหลี่ยมที่ทำไว้ดีแล้ว
ทุกต้นล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์
เป็นที่อยู่ของเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งมวล
ซึ่งมีพระอินทร์เป็นประธาน
[๕๘๑] ประชุมกันคิดถึงประโยชน์ของเหล่าเทวดาและมนุษย์
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปสู่ทิพยสถาน
เป็นที่บันเทิงกันและกันของเหล่าเทวดาโดยทางนี้เถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๕๘๒] เทพเจ้าทั้งหลายเห็นพระเจ้าเนมิเสด็จมาถึง
ต่างพากันยินดีต้อนรับว่า
ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้วมิได้เสด็จมาร้าย
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
บัดนี้ ขอพระองค์ประทับนั่ง ณ ที่ใกล้ท้าวเทวราชเถิด
[๕๘๓] ถึงท้าวเทวราชก็ทรงยินดีต้อนรับพระองค์
ผู้เป็นใหญ่แห่งชาวแคว้นวิเทหะ ทรงปกครองกรุงมิถิลา
ท้าววาสวะก็ทรงเชื้อเชิญด้วยทิพยกามารมณ์และทิพยอาสน์ว่า
[๕๘๔] ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เป็นความดีแล้วที่พระองค์ได้เสด็จมาถึงทิพยสถาน
เป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาผู้บันดาลสิ่งที่ตนต้องประสงค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
ให้เป็นไปตามอำนาจ ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ในหมู่เทพเจ้า
ผู้ประกอบด้วยความสำเร็จแห่งทิพยกามารมณ์ทั้งปวง
ขอเชิญพระองค์ทรงเสวยกามทั้งหลาย
ที่มิใช่ของมนุษย์อยู่ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด พระเจ้าข้า
(พระเจ้าเนมิถูกท้าวเทวราชเชื้อเชิญด้วยกามทิพย์และให้ประทับนั่ง เมื่อจะ
ทรงปฏิเสธ จึงตรัสว่า)
[๕๘๕] ยานที่ขอยืมเขามา ทรัพย์ที่ขอยืมเขามาสำเร็จประโยชน์ฉันใด
ของที่บุคคลอื่นให้ก็สำเร็จประโยชน์ฉันนั้นเหมือนกัน
[๕๘๖] หม่อมฉันมิได้ประสงค์สิ่งที่ผู้อื่นให้
บุญทั้งหลายที่ตนได้ทำไว้เอง
เป็นทรัพย์ของหม่อมฉันแผนกหนึ่งต่างหาก
[๕๘๗] หม่อมฉันนั้นจักกลับไปทำบุญให้มากขึ้นในหมู่มนุษย์
ด้วยการบริจาคทาน การประพฤติสม่ำเสมอ
ความสำรวม และความฝึกอินทรีย์ที่บุคคลทำแล้ว
จะได้รับความสุขและไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง
(พระเจ้าเนมิโพธิสัตว์เมื่อจะตรัสยกย่องคุณของมาตลีเทพสารถี จึงตรัสว่า)
[๕๘๘] ท่านมาตลีเทพสารถีได้แสดงสถานที่อยู่ของทวยเทพ
ผู้มีกรรมดี และสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์นรกผู้มีกรรมชั่ว
ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา
(พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิโพธิสัตว์บวชแล้วให้แจ้งชัด จึงตรัส
พระคาถาสุดท้ายว่า)
[๕๘๙] พระเจ้าเนมิแห่งชนชาวแคว้นวิเทหะทรงปกครองกรุงมิถิลา
ครั้นได้ตรัสพระคาถานี้แล้วทรงบูชายัญเป็นอันมากแล้ว
จึงทรงเข้าถึงความสำรวม
เนมิราชชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
๕. มโหสธชาดก๑ (๕๔๒)
ว่าด้วยพระมโหสธบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
(พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรเห็นมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เข้ามาเฝ้า ก็สบาย
พระทัย เมื่อจะรับสั่งกับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[๕๙๐] พ่อมโหสธ พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองแคว้นปัญจาละ
เสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า
กองทัพของพระเจ้าปัญจาละนั้นประมาณไม่ได้
[๕๙๑] มีกองช่างโยธา กองราบ
ล้วนแต่ฉลาดในสงครามทุกอย่าง มีเสียงอึกทึกกึกก้อง
เป็นสัญญาให้กันและกันรู้ได้ด้วยเสียงกลองและเสียงสังข์
[๕๙๒] มีความรู้ในการใช้โลหธาตุ มีเครื่องประดับครบครัน
มีธงทิวสลอน ช้างและม้า สมบูรณ์ดีด้วยผู้เชี่ยวชาญศิลป์
ตั้งมั่นด้วยเหล่าทหารผู้แกล้วกล้า
[๕๙๓] กล่าวกันว่า ในกองทัพนี้ มีบัณฑิต ๑๐ คน
มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน มีการประชุมปรึกษากันในที่ลับ
พระมารดาของพระเจ้าปัญจาละเป็นองค์ที่ ๑๑
ช่วยปกครองสั่งสอนชาวแคว้นปัญจาละ
[๕๙๔] อนึ่ง ในบรรดาชนเหล่านี้
กษัตริย์ ๑๐๑ พระนครผู้เรืองยศตามเสด็จพระเจ้าปัญจาละ
ถูกชิงแคว้น กลัวภัย
จึงตกอยู่ในอำนาจของชาวแคว้นปัญจาละ

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภปัญญาบารมีของพระองค์ ตรัสมโหสธชาดกซึ่ง
มีคำเริ่มต้นว่า พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองแคว้นปัญจาละเสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า
เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๐๙) (ต้นเรื่องมโหสธชาดกมีปรากฏในชาดกภาค ๑ คือ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗
ถึง ๑๑ ตอน มีสัพพสังหารกปัญหชาดก เป็นต้น)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๕๙๕] เป็นผู้ทำตามที่พระราชารับสั่ง
ไม่มีความปรารถนาจะกล่าว ก็จำต้องกล่าวคำเป็นที่รัก
ต้องตามเสด็จพระเจ้าปัญจาละผู้มีอำนาจมาก่อน
ไม่มีความปรารถนาก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าปัญจาละ
[๕๙๖] กรุงมิถิลาก็ถูกล้อมด้วยกองทัพนั้นเป็น ๓ ชั้น
เมืองหลวงของชาวแคว้นวิเทหะก็ถูกขุดเป็นคูโดยรอบ
[๕๙๗] พ่อมโหสธ กองทัพที่แวดล้อมกรุงมิถิลานั้น
ปรากฏเหมือนดาวบนท้องฟ้า
พ่อจงรู้ว่า จักรอดพ้นได้อย่างไร
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๕๙๘] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์ทรงเหยียดพระบาทตามพระสำราญเถิด
ขอเชิญเสวยและรื่นรมย์พระหฤทัยในกามเถิด
พระเจ้าพรหมทัตจะต้องทิ้งกองทัพชาวแคว้นปัญจาละเสด็จหนีไป
(พราหมณ์เกวัฏเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าวิเทหะแล้วกราบทูลเหตุที่ตนมาว่า)
[๕๙๙] พระราชามีพระประสงค์จะทำสันถวไมตรีกับพระองค์
จะพระราชทานรัตนะแก่พระองค์ ตั้งแต่นี้ไป
ราชทูตทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะ พูดคำเป็นที่รักจงมา
[๖๐๐] ขอจงกล่าววาจาอ่อนหวาน เป็นที่ชื่นชมต่อกัน
ขอแคว้นปัญจาละกับแคว้นวิเทหะ
ทั้ง ๒ แคว้นนั้นจงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
(พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรพราหมณ์เกวัฏแล้วตรัสถามถึงอาการที่สนทนา
กับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๖๐๑] ท่านเกวัฏ ท่านได้พบกับมโหสธเป็นอย่างไรหนอ
ขอเชิญเล่าเรื่องราวนั้น มโหสธกับท่านต่างอดโทษกันแล้วกระมัง
มโหสธยินดีแล้วกระมัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พราหมณ์เกวัฏจึงกราบทูลว่า)
[๖๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน คนผู้ไม่สุภาพ
ไม่ชื่นชมกับใคร เป็นคนกระด้าง ไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ
เขาไม่กล่าวข้อความอะไร ๆ เป็นเหมือนคนใบ้และคนหนวก
(พระเจ้าวิเทหะได้สดับดังนั้น ไม่ทรงยินดี ไม่ทรงคัดค้าน เริ่มตั้งคำถามขึ้น
เองว่า)
[๖๐๓] มนต์บทนี้เห็นได้ยากแน่นอน
มโหสธผู้มีความเพียรได้เห็นประโยชน์อันบริสุทธิ์
จริงอย่างนั้น กายของเราก็ยังหวั่น ๆ อยู่
ใครเล่าจักทิ้งแคว้นของตนไปสู่เงื้อมมือของผู้อื่น
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๖๐๔] มติของเราทั้ง ๖ คนผู้เป็นบัณฑิต
มีปัญญายอดเยี่ยม เป็นเอกฉันท์เสมอกัน
มโหสธ แม้เธอก็จงลงมติว่า ควรไปหรือไม่ควรไป
หรือควรยับยั้งอยู่ที่นี้
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น คิดแล้วได้กราบทูลว่า)
[๖๐๕] ข้าแต่พระราชา พระองค์ย่อมทรงทราบอยู่ทีเดียวว่า
พระเจ้าจูฬนีพรหมทัตทรงมีอานุภาพมาก มีพลังมาก
และปรารถนาจะปลงพระชนม์พระองค์
เหมือนนายพรานเนื้อด้วยนางเนื้อ
[๖๐๖] ปลาอยากกินเหยื่อสดกลืนเบ็ดที่ใช้เหยื่อปกปิดไว้
ก็ไม่รู้ว่าตนจะตายฉันใด
[๖๐๗] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงติดอยู่ในกาม
ก็ย่อมไม่ทรงทราบพระธิดาของพระเจ้าจูฬนี
เหมือนปลาไม่รู้จักว่าตนจะตายฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๐๘] ถ้าพระองค์จะเสด็จไปแคว้นปัญจาละ
ก็จักเสียพระองค์ไปในทันที ภัยใหญ่จักมาถึงพระองค์
เหมือนภัยคือความตายมาถึงเนื้อที่เดินไปตามทาง๑
(พระเจ้าวิเทหะถูกมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ข่มมากเกินไป จึงทรงกริ้วแล้ว
ตรัสถามว่า)
[๖๐๙] พวกเรานั่นแหละผู้กล่าวถึงประโยชน์อันสำคัญกับท่าน
กลับเป็นคนโง่ บ้าน้ำลาย
ท่านเล่าเติบโตมาด้วยหางไถ๒
จะรู้ประโยชน์เหมือนคนอื่น ๆ ได้ละหรือ
(พระเจ้าวิเทหะด่าบริภาษมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ เมื่อจะขับไล่ จึงตรัสว่า)
[๖๑๐] ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสธบัณฑิตนี้
ผู้พูดเป็นอันตรายแก่การได้รัตนะของเรา
ขับไล่ให้พ้นไปจากแคว้นของเรา
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๑๑] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตก็หลีกไปจากราชสำนัก
ของพระเจ้าวิเทหะ ต่อมา ก็ได้เรียกนกแขกเต้าตัวฉลาด
ที่ชื่อมาธุระ ที่เป็นทูตมาสั่งว่า
[๖๑๒] มานี่เถิด สหายผู้มีขนปีกสีเขียว
เจ้าจงทำการขวนขวายช่วยเหลือเรา
มีนางนกสาลิกาที่เขาเลี้ยงไว้ใกล้ที่บรรทมของพระเจ้าปัญจาละ

เชิงอรรถ :
๑ เนื้อที่เดินไปตามทาง หมายถึงฝูงเนื้อป่าได้ยินเสียงนางเนื้อต่อที่นายพรานฝึกไว้ดีแล้วร้องขึ้น ก็จะเดิน
เข้าไปหาด้วยความกำหนัด จะถูกนายพรานแทงถึงแก่ความตาย (ขุ.ชา.อ. ๙/๖๐๘/๓๔๐)
๒ เติบโตมาด้วยหางไถ หมายถึงมโหสธบัณฑิตบุตรของคหบดีจับหางไถเจริญเติบโตมาตั้งแต่วัยเด็ก
(บุตรชาวนาจะรู้เรื่องอะไร) (ขุ.ชา.อ. ๙/๖๐๙/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๑๓] นางนกตัวนั้นฉลาดในสิ่งทั้งปวง เจ้าจงถามมันโดยละเอียด
มันรู้ความลับทุกอย่างทั้งของพระราชา
และเกวัฏฏพราหมณ์โกสิยโคตรนั้น
[๖๑๔] นกแขกเต้าตัวฉลาดที่ชื่อมาธุระ ตัวมีขนปีกสีเขียว
รับคำของมโหสธบัณฑิตแล้วได้ไปยังที่อยู่ของนางนกสาลิกา
[๖๑๕] แต่นั้น นกแขกเต้าตัวฉลาดที่ชื่อว่ามาธุระนั้น
ครั้นไปถึงแล้วก็ได้ถามนางนกสาลิกา
ตัวมีกรงงาม มีเสียงเพราะว่า
[๖๑๖] แม่กรงงาม เธอสบายดีหรือ
แม่เพศสวย เธอผาสุกหรือ
เธอได้ข้าวตอกกับน้ำผึ้งในกรงอันงามของเธออยู่หรือ
[๖๑๗] นางนกสาลิกาตอบว่า สุวบัณฑิตผู้สหาย
ฉันสบายดีและไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง ฉันได้ข้าวตอกและน้ำผึ้งอยู่นะ
[๖๑๘] ท่านมาจากที่ไหน หรือใครใช้ให้มา
สหาย ก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยพบหรือเคยรู้จักท่านเลย
(นกแขกเต้าได้ฟังคำของนางนกสาลิกานั้นแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๖๑๙] ฉันถูกเขาเลี้ยงไว้ใกล้ที่บรรทมบนปราสาทของพระเจ้ากรุงสีพี
ต่อมา พระราชาพระองค์นั้นทรงตั้งอยู่ในธรรม
โปรดให้ปล่อยเหล่าสัตว์ที่ถูกขังไว้จากที่ขัง
(นกแขกเต้าต้องการจะฟังความลับ จึงกล่าวมุสาว่า)
[๖๒๐] ฉันนั้นได้มีนางนกสาลิกามีเสียงหวานตัวหนึ่งเป็นภรรยาเก่า
นางได้ถูกเหยี่ยวฆ่าตายเสียในห้องบรรทม
ต่อหน้าของฉันในกรงอันงามที่เห็นอยู่
[๖๒๑] เพราะฉันรักเธอจึงมาหาเธอ
ถ้าเธอเปิดโอกาสให้ เราทั้ง ๒ ก็จะได้อยู่ร่วมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น ก็ดีใจ แต่ไม่ให้นกแขกเต้ารู้ว่าตัวก็รัก ทำเป็นไม่
ปรารถนา แล้วกล่าวว่า)
[๖๒๒] ก็นกแขกเต้าก็ควรรักใคร่กับนางนกแขกเต้า
ส่วนนกสาลิกาก็ควรรักใคร่กับนางนกสาลิกา
นกแขกเต้ากับนางนกสาลิกาอยู่ร่วมกันจะเป็นเช่นไร
(นกแขกเต้าได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๒๓] ผู้ใดใคร่อยู่ในกามแม้แต่กับหญิงจัณฑาล
ผู้นั้นก็เป็นเหมือนกันทั้งหมด
เพราะในกามไม่มีคนที่จะไม่เหมือนกัน
(นกแขกเต้าบัณฑิตครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะประมวลเรื่องในอดีตมา
แสดง จึงกล่าวต่อว่า)
[๖๒๔] มีพระชนนีของพระเจ้ากรุงสีพีพระนามว่าชัมพาวดี
พระนางเป็นพระมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้าวาสุเทพกัณหโคตร
(นกแขกเต้าบัณฑิตยกอุทาหรณ์อย่างอื่นมากล่าวอีกว่า)
[๖๒๕] มีกินนรีชื่อรัตนวดี แม้เธอก็ได้ร่วมรักกับวัจฉดาบส
มนุษย์ได้ร่วมรักกับนางเนื้อก็มี
ในความใคร่ มนุษย์หรือสัตว์ไม่มีต่างกัน
(นกแขกเต้าบัณฑิตเมื่อจะทดลองนางนกสาลิกา จึงกล่าวอีกว่า)
[๖๒๖] แม่นกสาลิกาผู้มีเสียงไพเราะ เอาเถอะ ฉันจักไปละ
เพราะถ้อยคำของเธอนี้เป็นเหตุให้ฉันประจักษ์
เธอดูหมิ่นฉันแน่
(นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๒๗] มาธุรสุวบัณฑิต สิริย่อมไม่มีแก่ผู้ด่วนได้ใจเร็ว
เชิญท่านอยู่ ณ ที่นี้แหละจนกว่าจะได้เฝ้าพระราชา
จนกว่าจะได้ฟังเสียงตะโพน และเห็นอานุภาพของพระราชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(นกแขกเต้าบัณฑิตเมื่อจะถามความลับนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๒๘] เสียงดังอึกทึกนี้ฉันได้ยินมาภายนอกชนบทว่า
พระธิดาของพระเจ้าปัญจาละ
มีพระฉวีวรรณดังดาวประกายพรึก
พระเจ้าปัญจาละจักพระราชทานพระราชธิดานั้น
แก่ชาวแคว้นวิเทหะ คือ จักมีอภิเษก
ระหว่างพระเจ้าวิเทหะกับพระธิดานั้น
(นางนกสาลิกาถูกนกแขกเต้าบัณฑิตแค่นไค้นัก จึงกล่าวว่า)
[๖๒๙] มาธุระ วิวาหมงคลเช่นนี้จงอย่ามีแก่คนผู้เป็นศัตรูกัน
เหมือนวิวาหะของพระธิดาของพระเจ้าปัญจาละ
กับพระเจ้าวิเทหะเลย
(นางนกสาลิกาครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวอีกว่า)
[๖๓๐] พระราชาผู้เป็นจอมทัพแห่งชาวแคว้นปัญจาละ
จักทรงนำพระเจ้าวิเทหะมา
แต่นั้นจักรับสั่งให้ปลงพระชนม์ชีพพระองค์เสีย
พระเจ้าวิเทหะไม่เป็นพระสหายของพระเจ้าปัญจาละ
(นกแขกเต้าบัณฑิตได้ฟังดังนั้น หวังจะให้นางนกสาลิกาอนุญาตให้ตนกลับไป
จึงกล่าวว่า)
[๖๓๑] เอาเถิด เธอจงอนุญาตให้ฉันไปสัก ๗ คืน
เพียงให้ฉันได้กราบทูลพระเจ้ากรุงสีพีและพระมเหสีของพระองค์ว่า
ฉันได้ที่พักในที่อยู่ของนางนกสาลิกาแล้ว
(นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น เมื่อไม่สามารถจะห้ามได้ จึงกล่าวว่า)
[๖๓๒] เอาเถิด ฉันอนุญาตให้ท่านไปได้เพียง ๗ คืน
ถ้า ๗ คืนท่านยังไม่กลับมายังที่อยู่ ฉันกำหนดวันตายไว้แล้ว
ท่านจักกลับมาได้ ก็ต่อเมื่อฉันได้ตายไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๓๓] ลำดับนั้นแล นกแขกเต้าตัวฉลาดชื่อมาธุระ
จึงได้บินไปบอกคำของนางนกสาลิกานี้แก่มโหสธบัณฑิต
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เมื่อจะเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติ จึงได้กราบทูลว่า)
[๖๓๔] ราชบุรุษพึงได้บริโภคโภคะ
ในพระตำหนักของพระราชาพระองค์ใด
ก็ควรทำประโยชน์ให้แก่พระราชาพระองค์นั้นเท่านั้น
ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งชน เอาเถิด
ข้าพระองค์จะไปสู่เมืองอันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้าปัญจาละก่อน
เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระองค์
ผู้ทรงพระนามว่าวิเทหะผู้ทรงยศ
[๖๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์
ครั้นข้าพระองค์สร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระองค์
ผู้ทรงพระนามว่าวิเทหะผู้ทรงยศแล้ว
พึงส่งข่าวมาถวายพระองค์ได้เมื่อใด
ขอพระองค์เสด็จไปเมื่อนั้น
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๓๖] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตได้ไปยังเมืองอันน่ารื่นรมย์
ของพระเจ้าปัญจาละก่อน เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์
ถวายพระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ
[๖๓๗] ครั้นได้สร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระเจ้าวิเทหะ
ผู้ทรงยศ แล้วภายหลังจึงได้ส่งทูต
ไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลาว่า
ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์เสด็จ ณ บัดนี้เถิด
พระราชนิเวศน์ที่สร้างเพื่อพระองค์สำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๓๘] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จไปพร้อมด้วยจตุรงคเสนา
เพื่อทอดพระเนตรเมืองเจริญที่มโหสธบัณฑิตสร้างถวาย
ในแคว้นกปิละซึ่งมีพาหนะนับไม่ถ้วน
[๖๓๙] แต่นั้น ท้าวเธอครั้นเสด็จไปถึงแล้ว
จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าพรหมทัตว่า
ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันจะมา
เพื่อถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์
[๖๔๐] ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระธิดา
ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์
ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง
ให้เป็นมเหสีของหม่อมฉัน ณ บัดนี้เถิด
(พระเจ้าจูฬนีสดับถ้อยคำของราชทูตแล้วก็ทรงโสมนัส เมื่อจะทรงแสดงโสมนัส
ให้ปรากฏเด่นชัด ประทานรางวัลแก่ราชทูตแล้ว จึงตรัสว่า)
[๖๔๑] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ พระองค์เสด็จมาดีแล้ว
อนึ่ง พระองค์มิได้เสด็จมาร้าย
เชิญพระองค์ทรงหาฤกษ์ไว้เถิด หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดา
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวงแก่พระองค์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๔๒] ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะก็ได้ทรงหาฤกษ์
ครั้นแล้วจึงทรงส่งพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าพรหมทัตว่า
[๖๔๓] ขอพระองค์ทรงพระราชทานพระราชธิดา
ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์
ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง
ให้เป็นมเหสีของหม่อมฉัน ณ บัดนี้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(ฝ่ายพระเจ้าจูฬนีตรัสตอบว่า)
[๖๔๔] หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดา
ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์
ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง
ให้เป็นมเหสีของพระองค์ ณ บัดนี้
(พระเจ้าวิเทหะเมื่อทรงปรึกษากับอาจารย์ผู้เป็นบัณฑิต จึงตรัสว่า)
[๖๔๕] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
เป็นกองทัพที่สวมเกราะตั้งอยู่
จุดคบเพลิงสว่างไสวอยู่
บัณฑิตทั้งหลายจะเข้าใจอย่างไรหนอ
[๖๔๖] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
เป็นกองทัพที่สวมเกราะตั้งอยู่
จุดคบเพลิงสว่างไสวอยู่
บัณฑิตทั้งหลายจักทำอย่างไรหนอ
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖๔๗] ข้าแต่มหาราช พระเจ้าจูฬนีพรหมทัตมีกำลังมาก
รักษาพระองค์ไว้ จะทรงประทุษร้ายพระองค์
รุ่งเช้าก็จักรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระองค์
(พระเจ้าวิเทหะทรงกลัวต่อมรณภัย ได้ตรัสว่า)
[๖๔๘] หทัยของเราสั่นและปากก็แห้งผาก
เราไม่ได้รับความเย็นใจเลย เป็นเสมือนถูกไฟเผาอยู่กลางแดด
[๖๔๙] เบ้าหลอมทองของพวกช่างทองย่อมไหม้อยู่ข้างใน
หาไหม้ข้างนอกไม่ฉันใด
ใจของเราก็ฉันนั้น ไหม้อยู่ข้างใน หาไหม้ข้างนอกไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ยินเสียงพระเจ้าวิเทหะคร่ำครวญ จึงกราบทูลว่า)
[๖๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ ทรงเป็นผู้ประมาท
ล่วงเลยการปรึกษา ทำลายการปรึกษา
บัดนี้ ขอชนทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา
จงป้องกันพระองค์เถิด
[๖๕๑] พระราชาไม่ทรงทำตามคำของข้าพระองค์ผู้เป็นอำมาตย์
ผู้ใคร่ประโยชน์และหวังดี ทรงยินดีด้วยปีติของพระองค์
จึงเหมือนเนื้อติดบ่วงนายพราน
[๖๕๒] ปลาอยากกินเหยื่อสด กลืนขอเบ็ดที่ใช้เหยื่อปิดบังไว้
ก็ไม่รู้ว่าตนจะตายฉันใด
[๖๕๓] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงติดอยู่ในกาม
ก็ย่อมไม่ทรงทราบพระธิดาของพระเจ้าจูฬนี
เหมือนปลาไม่รู้จักตนว่าจะตายฉันนั้น
[๖๕๔] ถ้าพระองค์เสด็จไปแคว้นปัญจาละ
ก็จักเสียพระองค์ไปทันที ภัยใหญ่จักมาถึงพระองค์
เหมือนภัยคือความตายมาถึงเนื้อตัวเดินไปตามทาง
[๖๕๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน บุรุษผู้เป็นอนารยชน
ก็เป็นเหมือนงูที่อยู่ในชายพกจะพึงกัดได้
นักปราชญ์ไม่พึงผูกไมตรีกับบุรุษผู้นั้น
เพราะการสังคมกับบุรุษชั่วนำทุกข์มาให้โดยแท้
[๖๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน
นักปราชญ์พึงผูกไมตรีกับบุคคลผู้มีศีล
เป็นพหูสูตที่รู้จักกันนั้นแหละ
เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษนำสุขมาให้โดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ข่มพระเจ้าวิเทหะยิ่งขึ้น จึงนำพระดำรัสที่ตรัสไว้ใน
กาลก่อนมากราบทูลว่า)
[๖๕๗] ข้าแต่พระราชา พระองค์ได้ตรัสถึงเหตุ
ที่จะให้ได้รัตนะอันสูงส่งในสำนักของข้าพระองค์
ทรงเป็นผู้โง่เขลา บ้าน้ำลาย
ข้าพระองค์เป็นบุตรของคหบดี เติบโตมาด้วยหางไถ
จะรู้เหตุที่จะให้ได้รัตนะอันสูงส่งเหมือนคนอื่น ๆ ได้อย่างไร
[๖๕๘] ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสธบัณฑิตนี้
ผู้พูดเป็นอันตรายต่อการได้รัตนะของเรา
ขับไล่ให้พ้นไปจากแคว้นของเรา
(พระเจ้าวิเทหะเมื่อจะยึดมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เป็นที่พึ่ง จึงตรัสว่า)
[๖๕๙] มโหสธ เหล่าบัณฑิตย่อมไม่พูดทิ่มแทงเพราะโทษที่ล่วงไปแล้ว
เพราะเหตุไร เจ้าจึงมาทิ่มแทงเรา
เหมือนม้าที่เขาล่ามไว้ถูกแทงด้วยปฏัก
[๖๖๐] ถ้าเจ้าเห็นว่าเราจะพ้นภัยหรือปลอดภัย
เพราะเหตุไร เจ้าจึงทิ่มแทงเราเพราะโทษที่ล่วงไปแล้วเล่า
จงสั่งสอนเราโดยความสวัสดีนั้นเถิด
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖๖๑] ข้าแต่กษัตริย์ กรรมของมนุษย์ที่ล่วงไปแล้ว
ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง
ข้าพระองค์ไม่อาจจะปลดเปลื้องพระองค์ได้
ขอพระองค์ได้โปรดทรงทราบเถิด
[๖๖๒] ช้างทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ
สามารถเหาะไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่
ช้างเหล่านั้นก็จะพึงพาพระราชานั้นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๖๓] ม้าทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ
สามารถเหาะไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่
ม้าเหล่านั้นก็จะพึงพาพระราชานั้นไปได้
[๖๖๔] นกทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ
สามารถบินไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่
นกเหล่านั้นจะพึงพาพระราชานั้นไปได้
[๖๖๕] ยักษ์ทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ
สามารถเหาะไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่
ยักษ์เหล่านั้นก็จะพึงพาพระราชานั้นไปได้
[๖๖๖] ข้าแต่กษัตริย์ กรรมของมนุษย์ที่ล่วงไปแล้ว
ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง
ข้าพระองค์ไม่อาจปลดเปลื้องพระองค์ทางอากาศได้
(เสนกบัณฑิตเมื่อจะขอร้องมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ จึงได้กล่าวว่า)
[๖๖๗] บุรุษผู้ยังมองไม่เห็นฝั่งในมหาสมุทร ได้ที่พำนักในที่ใด
เขาย่อมได้รับความสุขในที่นั้นฉันใด
[๖๖๘] ท่านมโหสธ ขอท่านจงได้เป็นที่พึ่ง
ทั้งของพวกข้าพเจ้าและพระราชาฉันนั้นเถิด
ท่านเป็นผู้ประเสริฐสุดของพวกข้าพเจ้าเหล่ามนตรี
ขอท่านจงช่วยปลดเปลื้องข้าพเจ้าทั้งหลาย
ให้พ้นจากทุกข์ด้วยเถิด
(ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เมื่อจะข่มเสนกบัณฑิต จึงกล่าวว่า)
[๖๖๙] ท่านอาจารย์เสนกะ กรรมของมนุษย์ที่ล่วงไปแล้ว
ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง
ข้าพเจ้าไม่อาจจะปลดเปลื้องท่านได้
ขอท่านจงรู้เอาเองเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามว่า)
[๖๗๐] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์เสนกะ
ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร
(เสนกบัณฑิตได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๖๗๑] พวกเราจะปิดประตูเอาไฟจุดเผา
หรือมิฉะนั้นก็จับศัสตราห้ำหั่นฆ่ากันและกัน
ชิงละชีวิตไปเสียก่อน อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตฆ่าพวกเรา
ด้วยการทรมานเป็นเวลานานเลย
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามปุกกุสบัณฑิตว่า)
[๖๗๒] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์ปุกกุสะ
ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร
(ปุกกุสบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๖๗๓] พวกเราจะกินยาพิษฆ่าตัวตาย ชิงละชีวิตไปเสียก่อน
อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตฆ่าพวกเรา
ด้วยการทรมานเป็นเวลานานเลย
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามกามินทบัณฑิตว่า)
[๖๗๔] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์กามินทะ
ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร
(กามินทบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๖๗๕] พวกเราจะเอาเชือกผูกคอตายหรือโดดเหวตาย
อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตฆ่าพวกเรา
ด้วยการทรมานเป็นเวลานานเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามเทวินทบัณฑิตว่า)
[๖๗๖] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์เทวินทะ
ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร
(เทวินทบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๖๗๗] พวกเราจะปิดประตูเอาไฟจุดเผา
หรือมิฉะนั้นก็จับศัสตราห้ำหั่นฆ่ากันและกัน
ชิงละชีวิตไปเสียก่อน มโหสธไม่สามารถจะช่วยปลดเปลื้องพวกเรา
ให้รอดพ้นไปได้โดยง่ายเลย
(พระเจ้าวิเทหะได้สดับดังนั้น คร่ำครวญจนมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ยิน จึง
ตรัสว่า)
[๖๗๘] บุคคลแสวงหาแก่นของต้นกล้วย แต่ไม่พบฉันใด
พวกเราเมื่อค้นหาปัญหาคืออุบายที่จะพ้นทุกข์
ก็ไม่พบปัญหานั้นฉันนั้น
[๖๗๙] บุคคลแสวงหาแก่นงิ้ว แต่ไม่พบฉันใด
พวกเราเมื่อค้นหาปัญหาคืออุบายที่จะพ้นทุกข์
ก็ไม่พบปัญหานั้นฉันนั้น
[๖๘๐] การที่เราทั้งหลายอยู่ในสำนักหมู่พาล
ซึ่งเป็นพวกเขลา ไม่รู้อะไร
ก็เท่ากับฝูงกุญชรอยู่ในที่ไม่มีน้ำซึ่งเป็นถิ่นไม่สมควรหนอ
[๖๘๑] หทัยของเราสั่น และปากก็แห้งผาก
เราไม่ได้รับความเย็นใจเลย เป็นเหมือนถูกไฟเผาอยู่กลางแดด
[๖๘๒] เบ้าหลอมทองของพวกช่างทองย่อมไหม้อยู่ข้างใน
หาไหม้ข้างนอกไม่ ฉันใด
ใจของเราก็ฉันนั้น ไหม้อยู่ข้างใน หาไหม้ข้างนอกไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๘๓] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์มองเห็นประโยชน์นั้น
เห็นพระเจ้าวิเทหะผู้ประสบทุกข์ จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๖๘๔] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนช่วยปลดเปลื้องดวงจันทร์ที่ถูกราหูจับให้หลุดพ้น
[๖๘๕] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนช่วยปลดเปลื้องดวงอาทิตย์ที่ถูกราหูจับให้หลุดพ้น
[๖๘๖] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนช่วยปลดเปลื้องช้างเชือกจมปลักให้รอดพ้น
[๖๘๗] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนช่วยปลดเปลื้องงูที่ติดอยู่ในข้องให้รอดพ้น
[๖๘๘] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
[๖๘๙] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดแหให้รอดพ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๙๐] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์
พร้อมด้วยพระราชยานหมู่พลและพาหนะให้รอดพ้น
[๖๙๑] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักขับไล่กองทัพของพระเจ้าปัญจาละให้หนีไป
เหมือนขับไล่กาและเหยี่ยวให้หนีไป
[๖๙๒] อำมาตย์ใดพึงปลดเปลื้องพระองค์
ผู้ตกอยู่ในที่คับขันให้พ้นจากทุกข์ไม่ได้
ปัญญาของอำมาตย์ผู้เช่นนั้นหรืออำมาตย์
ผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาผู้เช่นนั้น จะมีประโยชน์อะไร
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์สั่งเหล่าทหารให้เปิดประตูอุโมงค์ว่า)
[๖๙๓] มาเถิด ลุกขึ้นเถิดมาณพทั้งหลาย
จงเปิดปากอุโมงค์และประตูเรือนเถิด
พระเจ้าวิเทหะ พร้อมอำมาตย์จักเสด็จไปทางอุโมงค์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๙๔] พวกคนติดตามของมโหสธบัณฑิตฟังคำสั่งของมโหสธนั้นแล้ว
ช่วยกันเปิดประตูอุโมงค์และถอดกลอนที่ติดยนต์
[๖๙๕] เสนกะเดินนำเสด็จไปข้างหน้า
มโหสธเดินตามเสด็จไปข้างหลัง
พระเจ้าวิเทหะมีอำมาตย์ห้อมล้อมเสด็จไปท่ามกลาง
[๖๙๖] พระเจ้าวิเทหะเสด็จออกไปจากอุโมงค์แล้ว
เสด็จขึ้นประทับเรือพระที่นั่ง ส่วนมโหสธบัณฑิตได้ทราบว่า
พระเจ้าวิเทหะเสด็จขึ้นประทับเรือพระที่นั่งแล้ว
จึงถวายอนุสาสน์ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๙๗] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมชน ผู้นี้คือพระโอรส
แห่งพระเจ้าจูฬนีผู้เป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระองค์
พระเทวีนี้เป็นพระสัสสุ (แม่ยาย) ของพระองค์
ขอโปรดทรงปฏิบัติต่อพระสัสสุของพระองค์
เหมือนทรงปฏิบัติต่อพระราชมารดาของพระองค์เถิด
[๖๙๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
พระภาดาแท้ ๆ ผู้ร่วมพระอุทร มีพระชนนีเดียวกัน
พระองค์ก็ควรทรงเอ็นดูฉันใด
พระปัญจาลจันทราชกุมารพระองค์ก็ควรเอ็นดูฉันนั้น
[๖๙๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
พระนางปัญจาลจันทนีราชบุตรีของพระเจ้าพรหมทัตนี้
ที่พระองค์ทรงปรารถนายิ่งนัก
ขอพระองค์จงทำความรักใคร่ในพระนางของพระองค์
พระนางจะเป็นมเหสีของพระองค์
(พระเจ้าวิเทหะทรงประสงค์จะเสด็จไป จึงตรัสกับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๐๐] มโหสธ ท่านจงรีบขึ้นเรือเถิด
จะยืนอยู่ที่ฝั่งทำไมหนอ พวกเราพ้นจากทุกข์ได้โดยยาก
จงรีบไป ณ บัดนี้เถิด
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๗๐๑] ข้าแต่มหาราช การที่ข้าพระองค์เป็นผู้นำกองทัพ
จะทอดทิ้งกองทัพแล้ว
พึงเอาตัวรอดนี้ ไม่เป็นธรรมเลย
[๗๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
ข้าพระองค์จักนำกองทัพที่พระองค์ละทิ้งไว้ในพระราชนิเวศน์
ซึ่งพระเจ้าพรหมทัตพระราชทานแล้วนั้นกลับมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะตรัสว่า)
[๗๐๓] ท่านบัณฑิต ท่านมีเสนาน้อย
จักข่มพระเจ้าพรหมทัตผู้มีเสนามากได้อย่างไร
ท่านไม่มีกำลังจักเดือดร้อน
เพราะพระเจ้าพรหมทัตมีกำลัง
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๗๐๔] ผู้มีปัญญา ถึงจะมีเสนาน้อย
ก็ชนะคนที่มีเสนามากแต่ไม่มีปัญญาได้
เหมือนพระราชาผู้ทรงพระปรีชา
ย่อมชนะพระราชาหลายพระองค์ผู้ไม่ทรงพระปรีชาได้
ดังดวงอาทิตย์ขึ้นมากำจัดความมืด
(พระเจ้าวิเทหะ ทรงสรรเสริญคุณของมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์แก่เสนกบัณฑิต
ว่า)
[๗๐๕] ท่านอาจารย์เสนกะ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลาย
เป็นสุขดีหนอ เพราะมโหสธบัณฑิตได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเรา
ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูให้รอดพ้นได้
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้พ้น
(เสนกบัณฑิตได้ฟังพระราชดำรัสนั้นแล้ว จึงสรรเสริญคุณของมโหสธบัณฑิต
โพธิสัตว์ว่า)
[๗๐๖] ข้าแต่มหาราช บัณฑิตทั้งหลาย
เป็นผู้นำความสุขมาให้โดยแท้
มโหสธบัณฑิตได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเรา
ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูให้รอดพ้นได้
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้รอดพ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๐๗] พระเจ้าจูฬนีผู้ทรงมีพระกำลังมาก
เฝ้าระวังไว้ตลอดราตรีทั้งสิ้น
ครั้นรุ่งอรุณก็เสด็จไปถึงอุปการนคร๑
[๗๐๘] พระเจ้าปัญจาละพระนามว่าจูฬนีผู้ทรงมีพระกำลังมาก
เสด็จขึ้นประทับช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐมีกำลัง
ต่อมีอายุ ๖๐ ปีจึงเสื่อมกำลัง ได้รับสั่งแล้วว่า
[๗๐๙] พระองค์ทรงสวมเกราะแก้วมณี
มีพระหัตถ์ทรงพระแสงศร ได้ตรัสสำทับกับเหล่าทหารหาญ
ผู้เชี่ยวชาญศิลปะทุก ๆ ด้าน ซึ่งมาประชุมกันอยู่
(บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงข้อความเหล่านั้นโดยย่อ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า)
[๗๑๐] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
กองพลราบ ผู้มีฝีมือ ชำนาญในศิลปะธนู
ยิงได้แม่นยำ มาประชุมกันแล้ว
(พระเจ้าจูฬนีรับสั่งใหัจับพระเจ้าวิเทหะว่า)
[๗๑๑] พวกท่านจงไสช้างพลายงาทั้งหลายที่มีกำลัง
ต่อมีอายุ ๖๐ ปีจึงเสื่อมกำลังไป
ขอช้างทั้งหลายจงเหยียบย่ำทำลายเมือง
ที่พระเจ้าวิเทหะได้รับสั่งให้สร้างไว้ดีแล้ว
[๗๑๒] ขอให้ลูกศรขาวด้านหน้าทำด้วยเขี้ยวลูกสัตว์
มีปลายแหลมคมแทงทะลุกระดูกที่ถูกปล่อยไปแล้ว
จงข้ามไปตกลงด้วยกำลังธนูเถิด

เชิงอรรถ :
๑ อุปการนคร หมายถึงนครที่มโหสธบัณฑิตให้สร้างขึ้นในเขตเมืองปัญจาลนคร(ของพระเจ้าจุฬามณี เพื่อใช้
เป็นที่ประทับของพระเจ้าวิเทหะ เพื่อรอเวลาเข้าพิธีวิวาห์กับพระนางปัญจาลจันทนีธิดาของพระเจ้าจุฬามณี
(ขุ.ชา.อ. ๙/๑๐๗/๓๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๑๓] พวกทหารรุ่นหนุ่ม ๆ สวมเกราะแกล้วกล้า
มีอาวุธมีด้ามอันงดงาม
เมื่อช้างใหญ่ทั้งหลายแล่นเข้าสงครามมาอยู่
จงหันหน้าสู้ช้างทั้งหลายเถิด
[๗๑๔] หอกทั้งหลายที่ชโลมด้วยน้ำมันส่องแสงเป็นประกายเพลิง
โชติช่วงตั้งอยู่ดังดาวประกายพรึกซึ่งมีรัศมีตั้งร้อย
[๗๑๕] เมื่อเหล่าทหารมีกำลังอาวุธ
สวมสังวาลรัดเกราะเช่นนี้ ไม่หนีสงคราม
พระเจ้าวิเทหะต่อให้มีปีกบินก็หนีไปไหนไม่พ้น
[๗๑๖] เหล่าทหาร ๓๙,๐๐๐ นายทั้งหมดของเรา
แต่ละคนล้วนถูกคัดเลือกไว้แล้ว
เราเที่ยวไปทั่วแผ่นดินก็ไม่เห็นทหารผู้ทัดเทียม
[๗๑๗] อนึ่ง ช้างพลายงาทั้งหลายที่ประดับแล้วล้วนแต่มีกำลัง
ต่อเมื่ออายุ ๖๐ ปีจึงเสื่อมกำลัง
ซึ่งมีเหล่าทหารหนุ่ม ๆ มีผิวพรรณดุจทองคำสง่างามอยู่บนคอ
[๗๑๘] ทหารเหล่านั้นมีเครื่องประดับสีเหลือง
นุ่งผ้าสีเหลือง ผ้านุ่งผ้าห่มสีเหลือง
ย่อมสง่างามอยู่บนคอช้างดังเทพบุตรในอุทยานนันทวัน
[๗๑๙] กระบี่ทั้งหลายที่มีสีเช่นเดียวกับปลาสลาด
ขัดถูด้วยน้ำมันเป็นประกายวาบวับ
ที่เหล่าทหารกล้าทำสำเร็จแล้ว
ลับเป็นอย่างดีมีคมอยู่เสมอ
[๗๒๐] ดาบส่องแสงจ้า ปราศจากสนิม
ทำด้วยเหล็กกล้าทนทาน
ที่เหล่าทหารผู้มีกำลังชำนาญในการฟันถือไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๒๑] ดาบเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ด้ามทองคำ
ประกอบด้วยฝักสีแดง กวัดแกว่งไปมางดงาม
ดังสายฟ้าที่แปลบปลาบอยู่ในระหว่างก้อนเมฆ
[๗๒๒] เหล่าทหารดาบผู้แกล้วกล้าสวมเกราะ
สามารถตีลังกาไปในอากาศ ฉลาดในการใช้ดาบและโล่ห์
ฝึกฝนมาดีกว่าพลแม่นธนู สามารถจะตัดคอช้างให้ขาดตกลงไปได้
[๗๒๓] พระองค์ถูกทหารทั้งหลายเช่นนี้ล้อมไว้แล้ว
พระองค์จะพ้นไปจากที่นี้ไม่ได้
ข้าพระองค์ยังไม่เห็นราชานุภาพของพระองค์
ที่จะเป็นเหตุให้เสด็จดำเนินไปถึงกรุงมิถิลาได้
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ กล่าวเย้ยหยันกับพระเจ้าจูฬนีว่า)
[๗๒๔] พระองค์ทรงด่วนไสช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐมาทำไมหนอ
พระองค์มีพระทัยร่าเริงเสด็จมา
พระองค์ทรงสำคัญว่า เราเป็นผู้ได้ประโยชน์
[๗๒๕] ขอพระองค์ทรงลดแล่งธนูนั่นลงเสียเถิด
ทรงเก็บลูกศรเสียเถิด จงทรงเปลื้องเกราะอันงดงาม
ติดแผ่ไปด้วยแก้วไพฑูรย์และแก้วมณีออกเสียเถิด
(พระเจ้าจูฬนีได้สดับดังนั้น ทรงคุกคามมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๒๖] เจ้ามีสีหน้าผ่องใส และพูดอย่างฝืนยิ้ม
ความถึงพร้อมด้วยผิวพรรณเช่นนี้ย่อมมีในคราวใกล้ตาย
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ประกาศข้อความนี้ว่า)
[๗๒๗] ข้าแต่ขัตติยราช พระดำรัสที่พระองค์ตรัสขู่คำราม
เป็นพระดำรัสที่เปล่าประโยชน์
พระองค์เป็นผู้มีความลับแตกเสียแล้ว
เพราะพระราชาของข้าพระองค์ยากที่พระองค์จะจับได้
เหมือนม้าขาเขยกขับม้าสินธพได้ยาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๒๘] พระราชาของข้าพระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพาร
เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาไปแล้วแต่วานนี้
ถ้าพระองค์จักทรงติดตามไป ก็จักตกไปสู่ความลำบาก
เหมือนกาบินไล่ติดตามพญาหงส์
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ไม่พรั่นพรึงดุจพญาราชสีห์ ยกอุทาหรณ์มากราบ
ทูลว่า)
[๗๒๙] สุนัขจิ้งจอกทั้งหลายเป็นสัตว์ต่ำทรามกว่าเนื้อ
เห็นดอกทองกวาวบานในราตรี ก็เข้าใจว่า
เป็นชิ้นเนื้อ จึงเข้าล้อมต้นไว้
[๗๓๐] เมื่อราตรีผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น
สุนัขจิ้งจอกที่ต่ำทรามกว่าเนื้อเหล่านั้น
ได้เห็นดอกทองกวาวที่บานแล้ว ก็หมดหวังฉันใด
[๗๓๑] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงล้อมพระเจ้าวิเทหะ
ก็จักทรงหมดหวังเสด็จกลับไป ฉันนั้นเหมือนกัน
เหมือนสุนัขจิ้งจอกล้อมต้นทองกวาว
(พระเจ้าจูฬนีได้สดับดังนั้นแล้ว ทรงสั่งลงโทษมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๓๒] พวกเจ้าจงตัดมือ เท้า หู และจมูก
ของมโหสธนี้ผู้ที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ
ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราให้รอดพ้นไป
[๗๓๓] พวกเจ้าจงเสียบมโหสธผู้ที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ
ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราให้รอดพ้น
บนหลาวแล้วย่างมันเสียเหมือนย่างเนื้อนี้
[๗๓๔] บุคคลแทงหนังวัวลงบนแผ่นดิน
หรือใช้ขอเกี่ยวหนังราชสีห์ หรือหนังเสือโคร่งฉุดมาฉันใด
[๗๓๕] เราจักให้พวกเจ้าช่วยกันใช้หอกทิ่มแทงมโหสธนี้
ผู้ที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ
ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราให้รอดพ้นฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้น ก็หัวเราะกราบทูลว่า)
[๗๓๖] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น
ของพระปัญจาลจันทราชกุมารเช่นเดียวกัน
[๗๓๗] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น
ของพระนางปัญจาลจันทนีราชธิดาเช่นเดียวกัน
[๗๓๘] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น
ของพระนางนันทาเทวีอัครมเหสีเช่นเดียวกัน
[๗๓๙] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น
ของพระโอรส และพระชายาของพระองค์เช่นเดียวกัน
[๗๔๐] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว
แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ
ของพระปัญจาลจันทราชกุมารบนหลาวแล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน
[๗๔๑] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว
แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ
ของพระนางปัญจาลจันทนีราชธิดาบนหลาวแล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน
[๗๔๒] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว
แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ
ของพระนางนันทาเทวีอัครมเหสีแล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๔๓] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว
แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ
ของพระโอรสและพระชายาของพระองค์แล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน
[๗๔๔] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ทิ่มแทง
พระปัญจาลจันทราชกุมารด้วยหอกเช่นเดียวกัน
[๗๔๕] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ทิ่มแทง
พระนางปัญจาลจันทนีราชธิดาเช่นเดียวกัน
[๗๔๖] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ใช้หอกทิ่งแทง
พระนางนันทาเทวีอัครมเหสีเช่นเดียวกัน
[๗๔๗] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ใช้หอกทิ่มแทง
พระโอรสและพระชายาของพระองค์เช่นเดียวกัน
ข้อความดังกราบทูลมาอย่างนี้ ข้าพระองค์กับพระเจ้าวิเทหะ
ได้ปรึกษาตกลงกันไว้แล้วในที่ลับ
[๗๔๘] โล่หนักประมาณ ๑๐๐ ปละ๑
ที่ช่างหนังทำสำเร็จแล้วด้วยมีดของช่างหนัง
ย่อมช่วยป้องกันตนเพื่อห้ามลูกศรฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ โล่หนักประมาณ ๑๐๐ ปละ หมายถึงโล่หนังหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ (๑ ปละ ประมาณ ๔ ออนซ์)
ซึ่งเขาใช้น้ำด่างจำนวนมากกัดทำให้อ่อน (ขุ.ชา.อ. ๙/๗๔๘/๓๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๔๙] ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เป็นผู้นำสุขมาให้
บรรเทาทุกข์ถวายพระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ
จึงจำกัดมติของพระองค์เสีย
ดุจกำจัดลูกศรด้วยโล่หนัก ๔๐๐ ปละ
[๗๕๐] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์จงทอดพระเนตร
พระราชมณเฑียรของพระองค์อันว่างเปล่า
พระสนมกำนัลใน พระกุมาร และพระมารดาของพระองค์
ข้าพระองค์ให้นำออกทางอุโมงค์
นำไปถวายพระเจ้าวิเทหะแล้ว
(พระเจ้าจูฬนีเมื่อสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งมาเฝ้าแล้วส่งไปเพื่อให้รู้ความจริง จึง
ตรัสว่า)
[๗๕๑] เชิญพวกเจ้าจงไปสู่ราชมณเฑียรของเราแล้วตรวจดู
คำของมโหสธนี้จริงหรือเท็จอย่างไร
(อำมาตย์นั้นไปแล้วกลับมา กราบทูลว่า)
[๗๕๒] ข้าแต่มหาราช มโหสธกราบทูลว่าฉันใด
คำนั้นเป็นจริงฉันนั้น
พระราชมณเฑียรทุกแห่งว่างเปล่า
เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงกา
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์พรรณนามรรคาที่พระนางนันทาเทวีเสด็จไป จึงทูลว่า)
[๗๕๓] ข้าแต่มหาราช
พระนางนันทาเทวีทรงพระโฉมงดงามทั่วทั้งสรรพางค์
มีพระโสณีผึ่งผายงามดุจดังแท่งทองคำธรรมชาติ
มีปกติตรัสพระสำเนียงอันอ่อนหวานประดุจดังลูกหงส์
เสด็จไปทางอุโมงค์นี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๕๔] ข้าแต่มหาราช พระนางนันทาเทวีทรงพระโฉม
งดงามทั่วทั้งสรรพางค์ ทรงพระภูษาโกไสย
มีพระสรีระเหลืองอร่าม มีสายรัดพระองค์งดงามด้วยทองคำ
ข้าพระองค์นำออกไปแล้วจากอุโมงค์นี้
[๗๕๕] พระนางนันทาเทวีมีพระบาทแดงสดใส
ทรงพระโฉมงดงาม มีสายรัดพระองค์เป็นแก้วมณีแกมทองคำ
มีดวงพระเนตรดังนัยน์ตานกพิราบ มีพระสรีระงดงาม
มีพระโอษฐ์แดงดังลูกตำลึงสุกสะโอดสะอง
[๗๕๖] มีบั้นพระองค์เล็กเรียวดังเถานาคลดาที่เกิดดีแล้ว
และเหมือนกาญจนไพที มีพระเกสายาวดำ
มีปลายช้อนขึ้นเล็กน้อย
[๗๕๗] มีดวงพระเนตรเขื่องดุจดวงตาของลูกเนื้อทรายที่เกิดดีแล้ว
และดุจเปลวเพลิงในฤดูหนาว
เหมือนแม่น้ำใกล้ภูผาอันดารดาษไปด้วยไม้ไผ่ต้นเล็ก ๆ
[๗๕๘] พระนางมีพระเพลางามดังงวงอัยรา
ที่สำคัญมีพระถันยุคลดังคู่ผลมะพลับ
มีพระสัณฐานสันทัด ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก
มีพระโขนงพองาม ไม่มากนัก
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ ทราบว่าพระเจ้าจูฬนีมีความเสน่หาเกิดขึ้น จึง
กราบทูลต่ออีกว่า)
[๗๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพาหนะที่สมบูรณ์ด้วยสิริ
พระองค์คงจะทรงยินดีกับการทิวงคต
ของพระนางนันทาเทวีเป็นแน่
ข้าพระองค์และพระนางนันทาเทวี
ก็จะพากันไปสำนักของพญายมด้วยกันแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(ลำดับนั้น พระเจ้าจูฬนีจึงตรัสถามมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๖๐] มโหสธผู้ได้ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ
ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราทำเล่ห์กลทิพย์หรือทำภาพลวงตา
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๗๖๑] ข้าแต่มหาราช บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมทำเล่ห์กลอันเป็นทิพย์
ชนผู้มีปัญญามีมันสมองเหล่านั้นย่อมปลดเปลื้องตนได้
[๗๖๒] เหล่าทหารหนุ่มผู้รับใช้เป็นคนฉลาด
เป็นผู้ขุดอุโมงค์ของข้าพระองค์ผู้ได้สร้างหนทาง
ที่พระเจ้าวิเทหะได้เสด็จไปกรุงมิถิลาไว้มีอยู่
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ทราบความประสงค์ของพระเจ้าจูฬนี จึงทูลว่า)
[๗๖๓] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทอดพระเนตรอุโมงค์
ที่สร้างไว้ดีแล้วงดงาม เรืองรองด้วยถ่องแถวแห่งกองพลช้าง
กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ซึ่งเขาทำเป็นรูปปั้นและเป็นลวดลายไว้ที่สำเร็จดีแล้วเถิด
(พระเจ้าจูฬนีทรงเห็นอุโมงค์แล้ว ทรงยกย่องคุณของมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๖๔] มโหสธ เป็นลาภของชนชาวแคว้นวิเทหะหนอ
(และ)เป็นลาภของผู้ที่มีเหล่าบัณฑิตเช่นนี้
อยู่ในเรือนในแคว้นเหมือนมีเจ้า
(ลำดับนั้น พระเจ้าจูฬนีตรัสด้วยประสงค์จะให้มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์อยู่ใน
สำนักของตนว่า)
[๗๖๕] เราจะให้เครื่องดำเนินชีวิต ที่บริหาร
เบี้ยเลี้ยงและบำเหน็จเป็น ๒ เท่า
ให้โภคะอันไพบูลย์ เจ้าจงใช้สอยและรื่นรมย์ในกามเถิด
เจ้าไม่กลับไปยังแคว้นวิเทหะ พระเจ้าวิเทหะจักทรงทำอะไรได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เมื่อจะปฏิเสธ จึงกราบทูลว่า)
[๗๖๖] ข้าแต่มหาราช บุคคลผู้ที่สละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน
เพราะเหตุแห่งทรัพย์
ย่อมถูกตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายติเตียนได้
ข้าพระองค์ไม่พึงอยู่ในแคว้นของผู้อื่นได้
ตราบเท่าเวลาที่พระเจ้าวิเทหะยังทรงดำรงพระชนม์อยู่
[๗๖๗] ข้าแต่มหาราช บุคคลผู้ที่สละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน
เพราะเหตุแห่งทรัพย์
ย่อมถูกตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายติเตียนได้
ข้าพระองค์ไม่พึงเป็นราชบุรุษของพระราชาองค์อื่นได้
ตราบเท่าเวลาที่พระเจ้าวิเทหะยังทรงดำรงพระชนม์อยู่
(ในเวลาที่มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ทูลลา พระเจ้าจูฬนี ตรัสว่า)
[๗๖๘] มโหสธ เราจะให้ทอง ๑,๐๐๐ แท่ง
บ้าน ๘๐ หมู่บ้านในแคว้นกาสีแก่ท่าน
ให้ทาสี ๔๐๐ คน และภรรยา ๑๐๐ คนแก่ท่าน
ท่านจงพากองทัพทั้งปวงไปโดยสวัสดีเถิด
[๗๖๙] ชนทั้งหลายจงให้อาหารแก่ช้างและม้าทั้งหลาย
อย่างละ ๒ เท่าเพียงใด ก็จงเลี้ยงกองพลรถและกองพลราบ
ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำเพียงนั้นเถิด
[๗๗๐] มโหสธบัณฑิต ท่านจงพาเอากองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ และกองพลราบไปเถิด
พระเจ้าวิเทหมหาราชจงทอดพระเนตร
ท่านผู้ไปถึงกรุงมิถิลาแล้วเถิด
(ฝ่ายพระเจ้าวิเทหะทรงเห็นกองทัพใหญ่ ตกพระทัยตรัสกับบัณฑิตทั้ง ๔ ว่า)
[๗๗๑] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ปรากฏมากมายครบทั้ง ๔ กองพลที่น่าสะพรึงกลัว
บัณฑิตทั้งหลายจะเข้าใจอย่างไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(ลำดับนั้น เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๗๗๒] ข้าแต่มหาราช ความยินดีอย่างสูงส่งจงปรากฏแก่พระองค์
มโหสธบัณฑิตได้พากองทัพทั้งหมดมาถึงโดยสวัสดีแล้ว
(พระเจ้าวิเทหะเสด็จลุกขึ้นสวมกอดมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์แล้ว ทำปฏิสันถาร
ตรัสว่า)
[๗๗๓] คนทั้ง ๔ ทิ้งร่างคนตายไว้ในป่าช้าแล้วกลับไปฉันใด
เราทั้งหลายก็ทิ้งท่านไว้ในกปิลรัฐแล้วกลับมาที่นี้ฉันนั้น
[๗๗๔] เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าปลดเปลื้องตนได้
เพราะเหตุ เพราะปัจจัย หรือเพราะประโยชน์อะไร
(ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์จึงกราบทูลว่า)
[๗๗๕] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะผู้เป็นกษัตริย์
ข้าพระองค์ล้อมประโยชน์ไว้ด้วยประโยชน์
ล้อมความคิดไว้ด้วยความคิด
ล้อมพระราชาไว้เหมือนน้ำทะเลล้อมชมพูทวีปไว้
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลถึงบรรณาการที่พระเจ้าจูฬนีพระราชทานแก่ตน
ให้ทรงทราบว่า)
[๗๗๖] พระเจ้าพรหมทัตทรงพระราชทานทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง
บ้าน ๘๐ หมู่บ้านในแคว้นกาสี
ทาสี ๔๐๐ คน และภรรยา ๑๐๐ คนแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์พากองทัพทั้งหมดมาที่นี้โดยสวัสดีแล้ว
(พระเจ้าวิเทหะทรงยินดี ร่าเริงอย่างยิ่ง ทรงยกย่องคุณของมโหสธบัณฑิต
โพธิสัตว์ว่า)
[๗๗๗] ท่านอาจารย์เสนกะ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลาย
เป็นสุขดีหนอ เพราะมโหสธบัณฑิตปลดเปลื้องพวกเรา
ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้รอดพ้น
(ฝ่ายเสนกบัณฑิตรับพระราชดำรัสแล้วกราบทูลว่า)
[๗๗๘] ข้าแต่มหาราช ข้อความนี้ก็เป็นอย่างนี้
เพราะพวกบัณฑิตเป็นผู้นำสุขมาให้
มโหสธได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเราผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรง
และปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้พ้นไป
(พระเจ้าวิเทหะรับสั่งให้ชาวพระนครเที่ยวตีกลองประกาศว่า)
[๗๗๙] ขอประชาชนทั้งหลายจงดีดพิณทุกชนิด
จงตีกลองน้อย กลองใหญ่ และมโหระทึก
จงเป่าสังข์อันมีเสียงไพเราะของชาวเมืองเถิด
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๘๐] พวกพระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์
ต่างก็ได้นำข้าวน้ำเป็นอันมากมามอบให้แก่มโหสธบัณฑิต
[๗๘๑] พวกกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างก็นำข้าวน้ำเป็นอันมากมามอบให้แก่มโหสธบัณฑิต
[๗๘๒] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมามอบให้แก่มโหสธบัณฑิต
[๗๘๓] ชนเป็นอันมากได้เห็นมโหสธบัณฑิตกลับมา
ต่างก็เลื่อมใส ครั้นมโหสธบัณฑิตมาถึงแล้ว
ต่างก็โบกผ้าอยู่ไปมา
มโหสธชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
๖. ภูริทัตตชาดก๑ (๕๔๓)
ว่าด้วยพระเจ้าภูริทัต
(เหล่านาคมาณพเมื่อจะประกาศข้อความนี้ จึงกราบทูลพระราชาว่า)
[๗๘๔] รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ในนิเวศน์ของท้าวธตรัฏฐะ
รัตนะทั้งหมดจงมาสู่พระราชนิเวศน์ของพระองค์
ขอพระองค์จงพระราชทานพระราชธิดาแก่พระราชา
(พระเจ้าพรหมทัตครั้นได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๘๕] ไม่ว่ากาลไหน ๆ พวกเราไม่เคยทำการวิวาห์กับพวกนาคเลย
พวกเราจะทำการวิวาห์อันไม่สมควรนั้นได้อย่างไร
(เหล่านาคมาณพได้ฟังพระดำรัสนั้น จึงขู่พระราชาว่า)
[๗๘๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งมนุษย์
พระองค์จำต้องเสียสละพระชนมชีพ
หรือแคว้นเป็นแน่ เพราะเมื่อนาคโกรธแล้ว
คนเช่นพระองค์จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้นาน
[๗๘๗] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์เป็นมนุษย์ไม่มีฤทธิ์
แต่มาดูหมิ่นพญานาคธตรัฏฐะผู้มีฤทธิ์
ซึ่งเป็นลูกในอกของท้าววรุณนาคราชที่เกิดอยู่ใต้แม่น้ำยมุนา
(พระเจ้าพรหมทัตตรัสว่า)
[๗๘๘] เราไม่ได้ดูหมิ่นท้าวธตรัฏฐะผู้ทรงยศ
เพราะท้าวธตรัฏฐะเป็นใหญ่แม้แห่งนาคเป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภอุบาสก อุบาสิกา
ผู้รักษาอุโบสถศีล ตรัสภูริทัตตชาดกนี้ ซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ ดังนี้ เป็นต้น
(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๗๘๙] ถึงจะเป็นพญานาคผู้มีอานุภาพมาก
ก็ไม่สมควรกับธิดาของเรา
ส่วนเราเป็นกษัตริย์ของชาวแคว้นวิเทหะ
และนางสมุททชาธิดาของเราก็เป็นอภิชาตบุตร
(ท้าวธตรัฏฐะเมื่อทรงสั่งให้ประชุมบริษัท จึงตรัสว่า)
[๗๙๐] พวกนาคกัมพลอัสสดร๑จงเตรียมตัว
จงไปประกาศให้นาคทั้งปวงรู้กัน
จงพากันไปกรุงพาราณสี แต่อย่าได้เบียดเบียนใคร ๆ
(ท้าวธตรัฏฐะตรัสบอกนาคมาณพเหล่านั้นว่า)
[๗๙๑] นาคทั้งหลายจงแผ่พังพานห้อยอยู่ที่นิเวศน์
บึง ถนน ทาง ๔ แพร่ง ยอดไม้ และเสาระเนียด
[๗๙๒] แม้เราก็จะนิรมิตตัวให้ใหญ่ ขาวล้วน
วงล้อมเมืองใหญ่ด้วยขนดหาง
ทำความกลัวให้เกิดแก่ชาวกาสี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๙๓] นาคทั้งหลายได้ฟังคำของท้าวธตรัฏฐะแล้ว
ต่างก็แปลงเพศเป็นหลายอย่าง
พากันเข้าไปยังกรุงพาราณสี แต่มิได้เบียดเบียนใครเลย
[๗๙๔] นาคเหล่านั้นต่างพากันแผ่พังพานห้อยอยู่ที่นิเวศน์
บึง ถนน ทาง ๔ แพร่ง ยอดไม้ และเสาระเนียด
[๗๙๕] พวกหญิงสาวจำนวนมากได้เห็นนาคเหล่านั้น
แผ่พังพานห้อยอยู่ตามที่ต่าง ๆ
หายใจฟู่ ๆ อยู่ ต่างก็พากันร้องคร่ำครวญ

เชิงอรรถ :
๑ นาคกัมพลอัสสดร หมายถึงพวกนาคที่อาศัยอยู่ที่เชิงเขาสิเนรุและเป็นญาติฝ่ายพระมารดาของท้าวธตรัฏฐะ
(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๗๙๐/๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๗๙๖] ชาวกรุงพาราณสีต่างก็สะดุ้ง ตกใจ กลัว เดือดร้อน
พากันไปประชุมกอดอกร้องทุกข์ว่า
ขอพระองค์จงทรงพระราชทานพระราชธิดาแก่พระราชาเถิด
(พราหมณ์เนสาทะไปยังสำนักพระโพธิสัตว์ถามว่า)
[๗๙๗] ท่านชื่ออะไร มีนัยน์ตาแดง มีอกผึ่งผาย
นั่งอยู่ในท่ามกลางป่าอันเต็มไปด้วยดอกไม้
นารี ๑๐ คนทรงเครื่องประดับสร้อยสังวาลทองคำ
นุ่งผ้าสวยงาม ยืนไหว้อยู่เป็นใคร
[๗๙๘] ท่านเป็นใคร มีแขนใหญ่ รุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางป่า
เหมือนไฟอันลุกโชนด้วยเปรียง
ท่านคงจะเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่คนใดคนหนึ่ง
เป็นยักษ์หรือเป็นนาคผู้มีอานุภาพมาก
(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น ตรัสบอกว่าตนเป็นพญานาคว่า)
[๗๙๙] เราเป็นนาคผู้มีฤทธิ์เดช ยากที่ใคร ๆ จะล่วงล้ำได้
ถ้าแม้ว่าเราโกรธแล้ว จะพึงขบกัดชนบทที่เจริญ
ให้แหลกลาญไปได้ด้วยเดช
[๘๐๐] เรามีมารดาชื่อสมุททชาและบิดาชื่อธตรัฏฐะ
เราเป็นน้องคนเล็กของสุทัศนะ คนทั้งหลายรู้จักเราว่า ภูริทัต
(พระโพธิสัตว์ตรัสบอกที่อยู่ของตนว่า)
[๘๐๑] ท่านจงมองดูห้วงน้ำลึกน่ากลัวไหลวนอยู่ทุกเมื่อ
นั่นเป็นที่อยู่อันดีเลิศของเรา ลึกหลายร้อยชั่วคน
[๘๐๒] ท่านอย่ากลัวเลย จงเข้าไปยังแม่น้ำยมุนาที่มีน้ำสีเขียว
ไหลมาจากกลางป่า จอแจไปด้วยเสียงนกยูงและนกกระเรียน
เป็นที่อยู่อันเกษมสำราญของพวกผู้มีอาจารวัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พระโพธิสัตว์พาพราหมณ์กับบุตรทั้ง ๒ ไปยังฝั่งแม่น้ำยมุนา ยืนอยู่ที่ริมฝั่ง
แล้วกล่าวว่า)
[๘๐๓] พราหมณ์ ท่านพร้อมด้วยบุตร
และภรรยาไปถึงนาคพิภพแล้ว
เราจะบูชาท่านด้วยกามทั้งหลาย
ท่านจักได้ความสุขในนาคพิภพนั้น
(พราหมณ์เนสาทะพรรณนาสมบัติของพระโพธิสัตว์ว่า)
[๘๐๔] แผ่นดินมีพื้นราบเรียบรอบด้าน
มีกฤษณาเป็นอันมาก
ดารดาษไปด้วยหมู่แมลงค่อมทอง
มีหญ้าสีเขียวชะอุ่มอุดมสวยงาม
[๘๐๕] แนวป่าไม้อันน่ารื่นรมย์
สระโบกขรณีที่นิรมิตขึ้นด้วยดีน่ารื่นรมย์ใจ
มีดอกปทุมบานสะพรั่งร่วงหล่นลงดารดาษ
[๘๐๖] มีเสา ๘ เหลี่ยมที่ทำไว้ดีแล้ว
ทุกต้นล้วนสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
ปราสาทมีเสา ๑,๐๐๐ ต้น ส่องแสงแวววาว
เต็มไปด้วยนางนาคกัญญา
[๘๐๗] พระองค์เป็นผู้เข้าถึงทิพยวิมานอันกว้างขวาง
เกษมสำราญรื่นรมย์
ประกอบไปด้วยความสุขอย่างเลอเลิศด้วยบุญของตน
[๘๐๘] พระองค์เห็นจะไม่ทรงหวังวิมานของท้าวสหัสสนัยน์
เพราะฤทธิ์อันยิ่งให้ไพบูลย์ของพระองค์นี้
ก็เหมือนของท้าวสักกะผู้รุ่งเรือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๘๐๙] อานุภาพของท้าวสักกะผู้รุ่งเรือง
ใคร ๆ ไม่พึงบรรลุได้แม้ด้วยใจ
ยศของเราทั้งหลายย่อมไม่ถึงเสี้ยว
ของท้าววสวัตดีผู้รับใช้พระอินทร์
(พระโพธิสัตว์ตรัสบอกความปรารถนาของตนว่า)
[๘๑๐] เราปรารถนาวิมานของเหล่าเทวดาผู้ดำรงอยู่ในความสุขนั้น
จึงเข้าไปจำอุโบสถศีล นอนอยู่บนจอมปลวก
(พราหมณ์เมื่อจะลากลับ จึงกล่าวว่า)
[๘๑๑] ข้าพระองค์พร้อมด้วยบุตรเข้าไปป่าแสวงหาเนื้อ
พวกญาติ ๆ ก็ยังไม่ทราบว่า
ข้าพระองค์นั้นตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่
[๘๑๒] ข้าพระองค์ขอทูลลาพระภูริทัตผู้ทรงยศ
ผู้เป็นพระโอรสของพระธิดาแคว้นกาสี
พระองค์ทรงอนุญาตแล้วก็จะได้ไปเยี่ยมญาติ ๆ
(ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๘๑๓] แท้จริง นั่นเป็นความพอใจของเราหนอ
ที่ให้ท่านอยู่ในสำนักของเรา
เพราะว่ากามทั้งหลายเช่นนี้จะหาได้ไม่ง่ายในหมู่มนุษย์
[๘๑๔] ถ้าท่านไม่ปรารถนาจะอยู่ เราจะบูชาท่านด้วยกามารมณ์
เราอนุญาตให้ท่านไปเยี่ยมญาติ ๆ ได้โดยความสวัสดี
(พระโพธิสัตว์ทรงให้แก้วมณีแก่พราหมณ์แล้วตรัสว่า)
[๘๑๕] เมื่อท่านทรงทิพยมณีนี้อยู่
ย่อมจะได้ทั้งปศุสัตว์และลูก ๆ
ขอท่านจงถือเอาทิพยมณีนี้ไปเถิด
จงปราศจากโรคภัย ประสบสุขเถิด พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์จึงกล่าวว่า)
[๘๑๖] ข้าแต่พระภูริทัต พระดำรัสของพระองค์เป็นกุศล
ข้าพระองค์ยินดียิ่งนัก
ข้าพระองค์แก่แล้วจักบวช ไม่ปรารถนากามทั้งหลาย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๘๑๗] หากพรหมจรรย์มีการแตกทำลาย
กิจที่ต้องทำด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายจะเกิดขึ้น
ท่านอย่าได้มีความหวั่นใจ ควรมาหาเรา
เราจะให้ทรัพย์แก่ท่านมาก ๆ
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๑๘] ข้าแต่พระภูริทัต พระดำรัสของพระองค์เป็นกุศล
ข้าพระองค์ยินดียิ่งนัก
ข้าพระองค์จักกลับมาอีก ถ้ามีความต้องการ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๑๙] พระภูริทัตได้ฟังคำนี้แล้วจึงใช้ให้ชน ๔ คนไปส่งว่า
ท่านทั้งหลายจงลุกขึ้นมาไปเถิด
จงเตรียมตัวพาพราหมณ์ไปส่งโดยเร็ว
[๘๒๐] ชนทั้ง ๔ ที่พระภูริทัตใช้ให้ไปส่ง
ฟังพระดำรัสของพระภูริทัตแล้ว
ลุกขึ้นพาพราหมณ์ไปส่งจนถึงโดยเร็ว
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวกับพราหมณ์อลัมปายนะว่า)
[๘๒๑] แก้วมณีที่สมมติกันว่าเป็นมงคล เป็นของดี
เป็นเครื่องปลื้มใจ น่ารื่นรมย์ใจ เกิดแต่หิน
สมบูรณ์ด้วยลักษณะที่ท่านถืออยู่นี้ ใครให้มา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(ลำดับนั้น พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๒๒] แก้วมณีนี้พวกนางนาคมาณวิกาประมาณ ๑,๐๐๐
ล้วนแต่มีนัยน์ตาแดง วงล้อมไว้โดยรอบ
เราเดินทางไปได้แก้วมณีนี้มาในวันนี้
(พราหมณ์เนสาทะประสงค์จะลวงพราหมณ์อลัมปายนะ ประกาศโทษของแก้ว
มณี ประสงค์จะรับเป็นของตน จึงได้กล่าวว่า)
[๘๒๓] แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้ที่หามาได้ด้วยดี
ที่บุคคลบูชานับถือ วางไว้ เก็บไว้เป็นอย่างดีทุกเมื่อ
พึงทำประโยชน์ทุกอย่างให้สำเร็จได้
[๘๒๔] เมื่อบุคคลปราศจากการระมัดระวังในการเก็บรักษา
หรือในการวางไว้ เก็บไว้
แก้วมณีที่เกิดแต่หินนี้ที่บุคคลหามาได้แล้วไม่ใส่ใจ
ย่อมนำมาซึ่งความพินาศ
[๘๒๕] คนผู้ไม่มีกุศลไม่ควรประดับแก้วมณีทิพย์นี้
เราจักให้ทองคำ ๑๐๐ แท่งแก่ท่าน
ท่านจงให้แก้วมณีนี้แก่เราเถิด
(ลำดับนั้น พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๒๖] แก้วมณีของเรานี้ไม่ควรแลกเปลี่ยนด้วยโคหรือรัตนะ
เพราะแก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะ
ฉะนั้น เราไม่ควรแลกเปลี่ยนเลย
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๒๗] ถ้าท่านไม่แลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยโคหรือรัตนะ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจะแลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยอะไร
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๒๘] ผู้ใดบอกนาคใหญ่ผู้มีเดชยากที่บุคคลจะล่วงเกินได้แก่เรา
เราจะให้แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้
อันเป็นเหมือนรุ่งเรืองด้วยเดชแก่ผู้นั้นไป
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๒๙] ครุฑตัวประเสริฐหรืออะไรหนอ
แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาแสวงหานาค
ประสงค์จะนำไปเป็นภักษาของตน
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๓๐] ท่านพราหมณ์ เรามิได้เป็นพญาครุฑ
เราไม่เคยเห็นครุฑ เราเป็นผู้สนใจด้วยงูพิษ
ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า เป็นหมองู
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๓๑] ท่านมีกำลังอะไร มีศิลปะอะไร
ท่านเป็นผู้ได้รับการสนับสนุนในเรื่องอะไร
จึงไม่ยำเกรงนาค
(พราหมณ์อลัมปายนะนั้นเมื่อจะแสดงพลังของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๓๒] ครุฑมาบอกวิชาหมองูอย่างยอดเยี่ยม
แก่ฤๅษีโกสิยโคตรผู้อยู่ป่าประจำ
ประพฤติตบะมาเป็นเวลานาน
[๘๓๓] เราเข้าไปหาฤๅษีตนหนึ่งบรรดาฤๅษี
ผู้บำเพ็ญตนอยู่ในระหว่างภูเขา
ได้บำรุงท่านด้วยความเคารพ
มิได้เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๓๔] ในกาลนั้น ท่านบำเพ็ญวัตรและพรหมจรรย์
เป็นผู้มีโชค เมื่อได้สมาคมกับเรา
จึงสอนมนต์ทิพย์ให้แก่เราด้วยความรัก
[๘๓๕] เราได้รับการสนับสนุนในมนต์นั้น จึงไม่กลัวนาค
เราเป็นอาจารย์ของพวกหมอขจัดพิษ
ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า อลัมปายนะ
(พราหมณ์เนสาทะได้ฟังดังนั้น เมื่อปรึกษากับบุตร จึงกล่าวว่า)
[๘๓๖] พ่อโสมทัต พวกเรารับแก้วมณีไว้สิ เจ้าจงเข้าใจ
เราทั้ง ๒ อย่าละสิริที่มาถึงตนด้วยอาชญาตามความชอบใจสิ
(โสมทัตผู้เป็นบุตรของพราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๓๗] พ่อพราหมณ์ ภูริทัตนาคราชบูชาคุณพ่อผู้ไปถึงที่อยู่ของตน
เพราะเหตุไร คุณพ่อจึงปรารถนาที่จะประทุษร้าย
ต่อมิตรผู้ทำความดีเพราะความหลงอย่างนี้เล่า
[๘๓๘] ถ้าคุณพ่อต้องการทรัพย์ พระภูริทัตก็คงจะให้
คุณพ่อจงไปขอเถิด พระภูริทัตคงจะให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่คุณพ่อ
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๓๙] โสมทัต การกินของที่ถึงมือถึงภาชนะ
หรือตั้งอยู่เบื้องหน้าเป็นความประเสริฐ
ประโยชน์ที่เห็นประจักษ์อย่าได้ล่วงเลยเราไปเลย
(โสมทัตกล่าวว่า)
[๘๔๐] คนผู้ประทุษร้ายมิตรสละความเกื้อกูล
จะต้องหมกไหม้อยู่ในนรกอันร้ายแรง
แผ่นดินย่อมสูบผู้นั้น หรือถึงมีชีวิตอยู่ก็ซูบซีด
[๘๔๑] ถ้าพ่อต้องการทรัพย์ ลูกเข้าใจว่า
พ่อจักต้องประสบเวรที่ตนได้ทำไว้ในไม่ช้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๔๒] พราหมณ์ทั้งหลายบูชามหายัญอย่างนี้แล้วย่อมบริสุทธิ์ได้
เราจักบูชามหายัญ ก็จักพ้นจากบาปได้อย่างนี้
(โสมทัตกล่าวว่า)
[๘๔๓] เชิญเถิด บัดนี้ ลูกจะขอแยกทางไป
วันนี้ ลูกจะไม่ขออยู่ร่วมกับพ่อ จะไม่ขอเดินทาง
ร่วมกับพ่อผู้ทำกรรมหยาบช้าอย่างนี้สักก้าวเดียว
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๔๔] โสมทัตผู้เป็นพหูสูตครั้นกล่าวคำนี้กับบิดา
ประกาศกับเทวดาทั้งหลายแล้ว ได้หลีกไปจากที่นั้น
(พราหมณ์เนสาทะพาพราหมณ์อลัมปายนะไป เห็นพญานาคภูริทัตนอนขนด
อยู่บนจอมปลวกจึงชี้มือบอกว่า)
[๘๔๕] ท่านจงจับนาคใหญ่นั้น จงส่งแก้วมณีนี้มาให้แก่เรา
นาคใหญ่นี้มีผิวพรรณดังสีแมลงค่อมทอง ศีรษะแดง
[๘๔๖] กายนั้นปรากฏดั่งกองปุยฝ้ายนอนอยู่บนจอมปลวกนั่น
ท่านจงจับเอาเถิด พราหมณ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๔๗] ลำดับนั้น พราหมณ์อลัมปายนะเอาทิพยโอสถลูบทาตัว
และร่ายมนต์ป้องกันตัวอย่างนี้ จึงสามารถจับพญานาคนั้นได้
(ลำดับนั้น นาคสุทัศนะพระโอรสองค์โตของพระนางสมุททชา ทูลถามมารดา
ว่า)
[๘๔๘] เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์
ผู้ให้สำเร็จสิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงมาเฝ้าแล้ว
อินทรีย์ของพระแม่เจ้าจึงไม่ผ่องใส
พระพักตร์ของพระแม่เจ้าก็เกรียมดำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๔๙] เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์เช่นนี้
พระพักตร์ของพระแม่เจ้าก็เกรียมดำ
เหมือนดอกบัวที่ถูกขยี้อยู่ในมือ
[๘๕๐] ใครด่าทอท่านหรือ พระแม่เจ้ามีเวทนาอะไรหรือ
เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์ผู้มาเฝ้า
พระพักตร์ของพระแม่เจ้าเกรียมดำเพราะเหตุไร
(พระนางสมุททชาตรัสบอกแก่สุทัศนะว่า)
[๘๕๑] ลูกรัก แม่ได้ฝันล่วงมาได้หนึ่งเดือนแล้วว่า
มีชายมาตัดแขนของแม่ดูเหมือนจะเป็นข้างขวา
ถือเอาไปทั้งที่ยังเปื้อนเลือด เมื่อแม่กำลังร้องไห้อยู่
[๘๕๒] ตั้งแต่แม่ได้ฝันเห็นแล้ว พ่อสุทัศนะ เจ้าจงรู้เถิดว่า
แม่ไม่ได้ความสุขทั้งกลางวันทั้งกลางคืน
(พระนางสมุททชาครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็คร่ำครวญอยู่ว่า)
[๘๕๓] เมื่อก่อน พระภูริทัตผู้ที่นางนาคกัญญา
ผู้มีร่างกายสวยงาม คลุมด้วยข่ายทองคำพากันบำเรอ
ยังไม่ปรากฏตัว
[๘๕๔] เมื่อก่อน พระภูริทัตผู้ซึ่งเสนาทั้งหลายถือดาบอันคมกล้า
แวดล้อมดังดอกกรรณิการ์บานสะพรั่งยังไม่ปรากฏตัว
[๘๕๕] เอาละ บัดนี้ เราจักไปที่อยู่ของพระภูริทัต
จะไปเยี่ยมเยือนน้องชายของเจ้า
ผู้ดำรงอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๕๖] ภรรยาทั้งหลายของนาคภูริทัต
ครั้นได้เห็นพระมารดาของนาคภูริทัตกำลังเสด็จมา
จึงพากันเข้าประคองแขนคร่ำครวญว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๕๗] ข้าแต่พระแม่เจ้า ตลอดหนึ่งเดือนล่วงไปแต่วันนี้
พวกหม่อมฉันยังไม่ทราบว่า
พระภูริทัตผู้ทรงยศพระโอรสของพระแม่เจ้าสิ้นชีพแล้ว
หรือว่ายังดำรงพระชนม์อยู่
[๘๕๘] เมื่อพวกเราไม่เห็นพระภูริทัตก็จักระทมทุกข์สิ้นกาลนาน
เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าตายเห็นแต่รังที่ว่างเปล่า
[๘๕๙] เมื่อพวกเราไม่เห็นพระภูริทัตก็จักระทมทุกข์สิ้นกาลนาน
เหมือนแม่นกเขาที่ลูกถูกฆ่าตายเห็นแต่รังที่ว่างเปล่า
[๘๖๐] เมื่อพวกเราไม่เห็นพระภูริทัต
ก็จักหม่นไหม้ไปด้วยทุกข์สิ้นกาลนาน
เหมือนนางนกจักรพากบนเปือกตมที่ปราศจากน้ำเป็นแน่
[๘๖๑] เหมือนเบ้าหลอมทองของพวกช่างทอง
ย่อมไหม้อยู่ข้างในหาไหม้ข้างนอกไม่ฉันใด
พวกเราเมื่อไม่เห็นพระภูริทัตก็ย่อมหม่นไหม้ด้วยความโศกฉันนั้น
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๖๒] บุตรและภรรยาในที่อยู่ของพระภูริทัต
ต่างพากันล้มนอนระเกะระกะ
เหมือนต้นรังที่ถูกลมพัดทำให้ย่อยยับไป
[๘๖๓] ครั้นได้ยินเสียงกึกก้องของบุตรและภรรยาเหล่านั้น
ในที่อยู่ของพระภูริทัตแล้ว
นาคอริฏฐะและสุโภคะต่างก็วิ่งวุ่นไปในระหว่างพูดขึ้นว่า
[๘๖๔] ข้าแต่พระแม่เจ้า จงเบาพระทัยเถิด อย่าเศร้าโศกเลย
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา
คือ ย่อมเกิด ย่อมตาย
การตายและการเกิดนี้เป็นความแปรผันของสัตว์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พระนางสมุททชามารดากล่าวว่า)
[๘๖๕] ลูกรัก ถึงแม่จะทราบว่า
สัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา
แต่ว่าเมื่อไม่เห็นพระภูริทัต แม่ก็ได้รับความเศร้าโศก
[๘๖๖] พ่อสุทัศนะ เจ้าจงรู้ไว้เถิด
ถ้าคืนวันนี้ เมื่อยังไม่เห็นพระภูริทัต
แม่เข้าใจว่าจักต้องตายแน่
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๖๗] ข้าแต่พระแม่เจ้า จงเบาพระทัยเถิด อย่าเศร้าโศกเลย
ลูกทั้งหลายจักนำท่านพี่ภูริทัตมา
จักเที่ยวไปตามหาท่านพี่ภูริทัตตามทิศน้อยใหญ่
[๘๖๘] ที่ภูเขา ซอกเขา บ้าน และนิคม
พระแม่เจ้าจะได้ทรงเห็นท่านพี่กลับมาภายใน ๗ วัน
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๖๙] นาคหลุดจากมือเลื้อยไปฟุบลงที่เท้าโดยกะทันหัน
ข้าแต่พ่อ คุณพ่อถูกมันกัดเอากระมังหนอ
คุณพ่ออย่ากลัวเลย จงได้รับความสุขเถิด
(สุทัศนกุมารผู้ปลอมตัวเป็นดาบสตามหานาคภูริทัตพี่ชายกล่าวว่า)
[๘๗๐] นาคตัวนี้ไม่สามารถจะทำความทุกข์อะไรให้เราได้เลย
หมองูเท่าที่มีอยู่ก็ไม่มีคนไหนจะดียิ่งกว่าเรา
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๗๑] ใครกันหนอ เงอะงะ แปลงเพศเป็นพราหมณ์
มายังสำนักบริษัท อวดอ้างยุทธการที่ดี
ขอบริษัทจงฟังข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๗๒] หมองู ท่านจงต่อสู้กับเราด้วยนาค
เราจักต่อสู้กับท่านด้วยลูกเขียด ในการรบของเรานั้น
เราทั้ง ๒ จงพนันกันด้วยทรัพย์เพียง ๕,๐๐๐
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๗๓] มาณพ เราเท่านั้นเป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์
ท่านเป็นคนจน ใครหนอจะเป็นคนค้ำประกันท่าน
และอะไรเป็นเดิมพันของท่านเล่า
[๘๗๔] ส่วนข้าพเจ้ามีทั้งเดิมพัน และมีทั้งคนค้ำประกันเช่นนั้น
ในการขันสู้ของเราทั้ง ๒ นั้น
เราทั้ง ๒ จงพนันกันด้วยทรัพย์เพียง ๕,๐๐๐
(สุทัศนกุมารเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า)
[๘๗๕] มหาบพิตร ขอพระองค์โปรดสดับคำของอาตมภาพ
ขอมหาบพิตรจงทรงพระเจริญ ขอมหาบพิตรผู้ทรงเกียรติ
จงทรงค้ำประกันทรัพย์ ๕,๐๐๐ ให้อาตมภาพเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๘๗๖] หนี้เป็นของตกค้างมาแต่บิดา หรือท่านก่อมันขึ้นมาเอง
ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุไร
ท่านจึงขอทรัพย์ข้าพเจ้ามากมายอย่างนี้
(สุทัศนกุมารกราบทูลว่า)
[๘๗๗] พราหมณ์อลัมปายนะปรารถนาจะต่อสู้กับอาตมภาพด้วยนาค
อาตมภาพจะให้ลูกเขียดกัดพราหมณ์อลัมปายนะ
[๘๗๘] มหาบพิตรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญ
ขอเชิญพระองค์ผู้ทรงคับคั่งไปด้วยหมู่กษัตริย์
เสด็จออกไปทอดพระเนตรนาคในวันนี้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๗๙] มาณพ เรามิได้ดูหมิ่นท่านด้วยวาทศิลป์เลย
แต่ท่านมัวเมาศิลปะเกินไป จึงไม่ยำเกรงนาค
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๘๐] ท่านพราหมณ์ แม้อาตมาก็มิได้ดูหมิ่นท่านด้วยวาทศิลป์
แต่ท่านกล้าลวงประชาชนด้วยนาคที่ปราศจากพิษ
[๘๘๑] ประชาชนจะพึงรู้เรื่องนี้เหมือนอาตมภาพรู้จักท่าน
ท่านจักไม่ได้แกลบสักกำมือหนึ่งเลย
ท่านจะได้ทรัพย์แต่ที่ไหนเล่า อลัมปายนะ
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๘๒] ท่านคนสกปรก ม้วนชฎา รุ่มร่าม
นุ่งห่มหนังสัตว์ขรุขระ เหมือนคนเงอะงะเข้ามายังบริษัท
ซึ่งดูหมิ่นนาคผู้มีพิษถึงอย่างนี้ว่าไม่มีพิษ
[๘๘๓] ท่านเข้ามาใกล้แล้วนั่นแหละ จึงจะรู้นาคนั้นได้ว่า
เต็มไปด้วยเดชร้ายแรง๑ ข้าพเจ้าแน่ใจว่า
นาคตัวนี้จักทำท่านให้เป็นเหมือนกองเถ้าไปทันที
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๘๔] งูเรือน งูปลา งูเขียวต่างหากมีพิษ
แต่นาคหัวแดงไม่มีพิษเลย
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๘๕] ข้าพเจ้าได้ยินมาจากเหล่าพระอรหันต์
ผู้สำรวม ผู้บำเพ็ญตบะอย่างนี้ว่า
ทายกทั้งหลายให้ทานในโลกนี้แล้วย่อมไปสวรรค์
ท่านจงให้ทานเสียแต่ยังมีชีวิตเถิด ถ้าท่านมีความประสงค์จะให้

เชิงอรรถ :
๑ เต็มไปด้วยเดชร้ายแรง หมายถึงเต็มไปด้วยพิษร้ายแรง (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๘๘๘/๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๘๖] นาคนี้มีฤทธิ์มาก มีเดชยากที่ใครจะล่วงเกินได้
ข้าพเจ้าจะให้มันฉกท่าน มันจักทำท่านให้เป็นเถ้าไปได้
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๘๗] สหาย แม้เราก็ได้ยินมาจากเหล่าพระอรหันต์
ผู้สำรวม ผู้บำเพ็ญตบะอย่างนี้ว่า
ทายกทั้งหลายให้ทานในโลกนี้แล้วย่อมไปสวรรค์
ท่านนั่นแหละเมื่อยังมีชีวิตอยู่จงให้ทาน
ถ้าท่านมีความประสงค์จะให้
[๘๘๘] ลูกเขียดชื่อว่าอัจจิมุขีนี้เต็มไปด้วยเดชร้ายแรง
เราจะให้ลูกเขียดนั้นกัดท่าน มันจักทำท่านให้เป็นเถ้าไปได้
[๘๘๙] นางเป็นธิดาของท้าวธตรัฏฐะเป็นน้องสาวต่างมารดาของเรา
นางอัจจิมุขีเต็มไปด้วยเดชร้ายแรงจงกัดท่าน
[๘๙๐] พรหมทัตมหาบพิตร
ขอพระองค์ได้โปรดทราบไว้เถิด
หากอาตมภาพหยดพิษลงบนแผ่นดิน
ต้นหญ้าลดาวัลย์และรุกขชาติที่เป็นยาทั้งหลาย
ก็จะพึงเฉาแห้งไปโดยไม่ต้องสงสัย
[๘๙๑] พรหมทัตมหาบพิตร
ขอพระองค์ได้โปรดทราบไว้เถิด
หากอาตมภาพจักขว้างพิษขึ้นไปบนอากาศ
ฝนก็จะไม่ตก หิมะก็จะไม่ตกตลอด ๗ ปี
[๘๙๒] พรหมทัตมหาบพิตร
ขอพระองค์ได้โปรดทราบไว้เถิด
หากอาตมภาพจักหยดพิษลงไปในแม่น้ำ
ฝูงสัตว์คือปลาและเต่าที่เกิดในน้ำ
ต่างก็จะพึงล้มตายไปทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๙๓] เมื่อเรากำลังอาบน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของโลก๑
ซึ่งขังอยู่ที่ท่าน้ำปยาคะ
มีภูตอะไรมาฉุดเราลงสู่แม่น้ำยมุนาอันลึก
(สุโภคกุมารน้องชายนาคภูริทัตกล่าวว่า)
[๘๙๔] พญานาคตัวประเสริฐใดที่เป็นใหญ่ในโลก
เรืองยศ ปกคลุมกรุงพาราณสีไว้โดยรอบ
เราเป็นลูกของพญานาคตัวประเสริฐนั้น
พราหมณ์ นาคทั้งหลายเรียกเราว่า สุโภคะ
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๙๕] ถ้าท่านเป็นโอรสของพญานาคผู้ประเสริฐ
เป็นเจ้าแห่งชาวกาสี เป็นใหญ่แห่งเทวดา
พระบิดาของท่านมีศักดามากผู้หนึ่ง
และพระมารดาของท่านก็ไม่มีใครเทียมเท่าได้ในหมู่มนุษย์
ผู้มีอานุภาพมากเช่นท่าน
ไม่สมควรฉุดแม้เพียงแต่ทาสของพราหมณ์ให้จมน้ำเลย
(สุโภคกุมารกล่าวว่า)
[๘๙๖] เจ้าแอบแฝงต้นไม้ ยิงเนื้อละมั่งที่มาเพื่อจะดื่มน้ำ
เจ้าเนื้อมายาตัวนั้นถูกยิงแล้ว
ยังวิ่งไปได้ไกลด้วยกำลังศร
[๘๙๗] เจ้าได้เห็นมันล้มลงในป่าใหญ่
เจ้านั้นจึงหาบเนื้อของมันเข้าไปหาต้นไทรในเวลาเย็น
เป็นต้นไม้มีใบเหลือง ระเกะระกะไปด้วยราก

เชิงอรรถ :
๑ น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของโลก หมายถึงน้ำที่โลกสมมติว่าสามารลอยบาปได้อย่างนี้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๘๙๓/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๙๘] กึกก้องไปด้วยเสียงร้องของนกแขกเต้าและนกสาลิกา
มีฝูงนกดุเหว่าส่งเสียงร้องระงม น่ารื่นรมย์ใจ
มีหญ้าแพรกเขียวอยู่เป็นประจำ
[๘๙๙] พี่ชายของเรานั้นมีอานุภาพมาก รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์และยศ
แวดล้อมไปด้วยนางนาคกัญญาทั้งหลาย
ปรากฏตัวต่อท่านผู้อยู่ที่ต้นไทรนั้น
[๙๐๐] เขาบำเรอเจ้านั้นให้เอิบอิ่มด้วยสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง
เจ้ายังประทุษร้ายต่อเขาผู้มิได้ประทุษร้าย
เวรของเจ้านั้นมาถึงที่นี้แล้ว
[๙๐๑] เจ้าจงรีบยื่นคอออกมา เราจักไม่ให้ชีวิตแก่เจ้า
เมื่อระลึกถึงเวรที่เจ้าก่อไว้ต่อพี่ชายของเรา
เราจักตัดศีรษะของเจ้า
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๙๐๒] พราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
เป็นผู้ประกอบในการอ้อนวอน และเป็นผู้บูชาไฟ
จึงไม่ควรถูกฆ่าด้วยเหตุ ๓ ประการนี้๑
(สุโภคกุมารกล่าวว่า)
[๙๐๓] เมืองของท้าวธตรัฏฐะอยู่ภายใต้แม่น้ำยมุนา
จรดภูเขาหิมพานต์ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำยมุนา
ล้วนไปด้วยทองคำงามรุ่งเรือง
[๙๐๔] พี่น้องร่วมอุทรของเราล้วนแต่เป็นคนขึ้นชื่อลือชา
พี่น้องของเราเหล่านั้นในเมืองนั้นจักว่าอย่างใด
เจ้าก็จักต้องเป็นอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ หมายถึงพราหมณ์ไม่สมควรถูกฆ่าคือใคร ๆ จะฆ่าพราหมณ์ไม่ได้ด้วยเหตุ ๓ ประการ
มีความเป็นผู้ควรถูกฆ่าเป็นต้นเหล่านี้ เพราะผู้ที่ฆ่าพราหมณ์ย่อมเกิดในนรก (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๐๒/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(นาคกาณาริฏฐะ กล่าวถ้อยคำที่ผิดว่า)
[๙๐๕] พี่สุโภคะ ยัญและพระเวททั้งหลายในโลก
ที่พวกพราหมณ์ประกอบขึ้น มิใช่ของเล็กน้อย๑
เพราะฉะนั้น ผู้ติเตียนพราหมณ์ผู้ที่ไม่ควรติเตียน
ชื่อว่าย่อมละเลยทรัพย์เครื่องปลื้มใจและธรรมของสัตบุรุษ
[๙๐๖] พวกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน
พวกแพศย์ยึดเกษตรกรรมและพวกศูทรยึดการรับใช้
วรรณะทั้ง ๔ นี้เข้าถึงการงานตามที่อ้างมาแต่ละอย่าง
กล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจสร้างขึ้นไว้
[๙๐๗] แม้พวกเทพเจ้าเหล่านี้ คือ ท้าวธาดา วิธาดา
วรุณ กุเวร โสมะ พระยม พระจันทร์ พระวายุ
และพระอาทิตย์ ต่างก็บูชายัญโดยวิธีการต่าง ๆ
และให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่างแก่พวกพราหมณ์ผู้สาธยาย
[๙๐๘] ท้าวอัชชุนะและภีมเสนผู้มีกำลังมาก
มีแขนตั้งพัน ไม่มีใครเสมอเหมือนในแผ่นดิน
ยกธนูขึ้นได้ถึง ๕๐๐ คัน ก็ได้ทรงบูชาไฟในครั้งนั้น
[๙๐๙] พี่สุโภคะ ผู้เลี้ยงดูพวกพราหมณ์มาเป็นเวลานาน
ด้วยข้าวและน้ำตามกำลังความสามารถ
มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาอยู่ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[๙๑๐] พระเจ้ามุจลินท์สามารถบูชาเทวดาคือไฟผู้กินมาก
มีรัศมีไม่ต่ำทรามให้อิ่มหนำด้วยเนยใส
ทรงบูชายัญวิธีแก่เทวดาคือไฟผู้ประเสริฐแล้ว
ได้ไปบังเกิดในทิพยคติ

เชิงอรรถ :
๑ มิใช่ของเล็กน้อย หมายถึงยัญและเวททั้งหลายในโลกนี้มิใช่ของเล็กน้อย คือ ไม่ต่ำต้อย มีอานุภาพมาก
(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๐๕/๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๑๑] พระเจ้าทุทีปะผู้มีอานุภาพมาก
มีพระชนมายุยืนถึง ๑,๐๐๐ ปี มีพระรูปงามน่าดูยิ่ง
ทรงละแคว้นอันไม่มีที่สุดพร้อมทั้งเสนา
เสด็จออกผนวชแล้ว ได้เสด็จไปสู่สวรรค์
[๙๑๒] พี่สุโภคะ พระเจ้าสาคระทรงปราบแผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด
รับสั่งให้ตั้งเสาเจว็ดอันงามยิ่ง ล้วนแล้วด้วยทองคำ
ทรงบูชาไฟแล้ว ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[๙๑๓] พี่สุโภคะ แม่น้ำคงคาที่ไหลไปสู่มหาสมุทรเป็นที่สั่งสมนมส้ม
ย่อมเป็นไปด้วยอานุภาพของผู้ใด
ผู้นั้นคือพระเจ้าอังคโลมบาท ทรงบูชาไฟแล้ว
เสด็จไปเกิดในพระนครของท้าวสหัสสนัยน์
[๙๑๔] เทวดาผู้ประเสริฐมีฤทธ์มาก เรืองยศ
เป็นเสนาบดีของท้าววาสวะในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
กำจัดมลทินด้วยวิธีโสมยาคะ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[๙๑๕] เทพผู้ประเสริฐมีฤทธิ์มียศองค์ใดได้ทรงสร้างโลกนี้
โลกหน้า แม่น้ำภาคีรถี ภูเขาหิมพานต์ และภูเขาวิชฌะ
แม้เทพองค์นั้นก็ทรงได้บำเรอไฟในกาลนั้น
[๙๑๖] ภูเขามาลาคีรีก็ดี ภูเขาหิมพานต์ก็ดี ภูเขาคิชฌกูฏก็ดี
ภูเขาสุทัศนะก็ดี ภูเขานิสภะก็ดี ภูเขากากเวรุก็ดี
ภูเขาเหล่านี้และภูเขาใหญ่อื่น ๆ ว่ากันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญสร้างขึ้นไว้
[๙๑๗] ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า
ผู้ประกอบการอ้อนวอนมหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น
ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งสมุทร
เพราะฉะนั้น น้ำในสมุทรจึงดื่มไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๑๘] วัตถุที่ควรบูชาทั้งหลาย คือ พวกพราหมณ์
มีอยู่มากในแผ่นดินของท้าววาสวะ
พราหมณ์เหล่านั้นมีอยู่ทั้งในทิศตะวันออก ทิศตะวันตก
ทิศใต้ และทิศเหนือย่อมทำความรู้ให้เกิด
(พระโพธิสัตว์กล่าวเฉลยว่า)
[๙๑๙] พ่ออริฏฐะ แท้จริง การเรียนรู้พระเวท
เป็นโทษของเหล่านักปราชญ์
แต่เป็นการกระทำของพวกคนพาล
เหมือนอาการของพยับแดด
เพราะเป็นของมองเห็นไม่ได้เสมอไป
มีคุณทางหลอกลวง พาเอาคนผู้มีปัญญาไปไม่ได้
[๙๒๐] เวททั้งหลายมิได้มีเพื่อป้องกันคนผู้ประทุษร้ายมิตร
ผู้ล้างผลาญความเจริญ เหมือนไฟที่บุคคลบำเรอแล้ว
ย่อมป้องกันคนโทสจริตให้ทำกรรมชั่วไม่ได้
[๙๒๑] ถ้าคนทั้งหลายจะนำเอาไม้ที่มีอยู่ในโลกทั้งหมด
พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติของตนผสมกับหญ้าให้ไฟเผา
ไฟที่มีเดชอันไม่มีใครเทียมเผาสิ่งทั้งหมด
แนะพ่อลิ้นสองแฉก ใครเล่าจะพึงทำให้ไฟนั้นอิ่มได้
[๙๒๒] นมสดแปรไปได้เป็นธรรมดา คือ
เป็นนมส้มแล้วก็กลับกลายไปเป็นเนยข้นฉันใด
ไฟก็มีความแปรไปเป็นธรรมดาได้ฉันนั้น
ไฟที่ประกอบด้วยความเพียรในการสีไฟจึงเกิดไฟได้
[๙๒๓] ไม่ปรากฏว่าไฟเข้าไปอยู่ในไม้แห้งและไม้สด
เมื่อคนไม่สีไฟ ไฟก็ไม่เกิด
ไฟย่อมไม่เกิดเพราะไม่มีคนทำให้เกิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๒๔] ก็ถ้าไฟจะพึงเข้าไปอยู่ภายในไม้แห้งและไม้สด
ป่าทั้งหมดในโลกก็จะพึงแห้งไป
และไม้แห้งก็จะพึงลุกโพลงขึ้นเองได้
[๙๒๕] ถ้าคนเลี้ยงดูไฟที่มีเปลวควันกำลังส่องแสงอยู่
ให้เผา(กิน)ไม้และหญ้า ชื่อว่าได้ทำบุญ
คนเผาถ่าน คนต้มเกลือ พ่อครัว และคนเผาศพ
ก็ชื่อว่าพึงได้ทำบุญด้วย
[๙๒๖] ถ้าหากพราหมณ์เหล่านี้ทำบุญได้เพราะเลี้ยงไฟ
ด้วยการเรียนมนต์ เพราะเลี้ยงไฟให้อิ่มหนำ
คนบางคนในโลกนี้ผู้เอาเชื้อไฟให้ไฟเผาไหม้
จะไม่ชื่อว่าได้ทำบุญอย่างไรเล่า
[๙๒๗] แนะพ่อลิ้นสองแฉก เพราะเหตุไร
เพราะไฟเป็นสิ่งที่โลกยำเกรง
พึงกินได้ทั้งของที่มีกลิ่นไม่น่าพอใจ คนเป็นอันมากไม่ชอบ
และของที่พวกมนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ประเสริฐนั้น
[๙๒๘] ความจริง คนบางพวกนับถือไฟเป็นเทวดา
ส่วนพวกมิลักขะนับถือน้ำเป็นเทวดา
คนทั้งหมดนี้กล่าวเท็จ ไฟและน้ำไม่ใช่เทพเจ้าตนใดตนหนึ่ง
[๙๒๙] ชาวโลกบำเรอไฟที่ไม่มีอินทรีย์ ไม่มีกายที่จะรับรู้สึกได้
ส่องแสงสว่าง เป็นเครื่องทำการงานของประชาชน
เมื่อยังทำบาปกรรมอยู่ จะพึงถึงสุคติได้อย่างไร
[๙๓๐] พวกพราหมณ์ผู้ต้องการเลี้ยงชีวิตของตนในโลกนี้กล่าวว่า
พระพรหมครอบงำได้ทั้งหมด และว่าพระพรหมบำเรอไฟ
เมื่อพระพรหมมีอานุภาพและมีอำนาจทุกสิ่ง
ทำไมจึงไม่สร้างตนเอง แต่กลับมาไหว้ไฟที่ตนสร้างขึ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๓๑] คำของพวกพราหมณ์น่าหัวเราะเยาะ๑
ไม่ควรสวด ไม่เป็นความจริง
พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคำเท็จไว้ก่อน
เพราะเหตุแห่งสักการะ พราหมณ์เหล่านั้น
เมื่อลาภสักการะยังไม่ปรากฏขึ้น ก็ร้อยกรองยัญที่ชื่อว่า
“สันติธรรม” โยงเข้ากับการฆ่าสัตว์๒ (บูชายัญ)
[๙๓๒] พวกพราหมณ์ถือการสาธยาย (มนต์)
พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน
พวกแพศย์ยึดเกษตรกรรม และพวกศูทรยึดการรับใช้
วรรณทั้ง ๔ นี้เข้าถึงการงานตามที่อ้างมาแต่ละอย่าง
กล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจได้สร้างขึ้นไว้
[๙๓๓] ถ้าคำนี้จะพึงเป็นคำจริงเหมือนที่พวกพราหมณ์ได้กล่าวไว้
ผู้ที่มิใช่กษัตริย์ก็ไม่พึงได้ราชสมบัติ
ผู้ที่มิใช่พราหมณ์ก็ไม่พึงศึกษามนต์
คนนอกจากแพศย์ก็ไม่พึงทำเกษตรกรรม
และพวกศูทรก็ไม่พึงพ้นจากการรับใช้ผู้อื่น
[๙๓๔] แต่เพราะคำนี้ไม่จริง เป็นคำเท็จ
ฉะนั้น พวกคนเหล่านี้จึงกล่าวเท็จทั้งนั้นเพราะเห็นแก่ท้อง๓
พวกคนมีปัญญาน้อยย่อมเชื่อถือคำนั้น
พวกบัณฑิตย่อมพิจารณาเห็นคำนั้นด้วยตนเอง

เชิงอรรถ :
๑ น่าหัวเราะเยาะ หมายความว่า ขึ้นชื่อว่า คำของพวกพราหมณ์ สมควรต้องหัวเราะเยาะ เพราะอด
ทนต่อความเพ่งพินิจ(ตรวจสอบ)ของบัณฑิตไม่ได้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๓๑/๗๑)
๒ โยงเข้ากับการฆ่าสัตว์ หมายถึงพวกพราหมณ์โยงลาภสักการะซึ่งไม่ปรากฏประมาณเท่านี้เข้ากับหมู่สัตว์
แล้วเชื่อมสันติธรรม กล่าวคือ ลัทธิธรรมของตนอันประกอบด้วยการฆ่าสัตว์แล้วร้อยกรองคัมภีร์ชื่อ
ยัญญสูตรขึ้นไว้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๓๑/๗๑)
๓ เพราะเห็นแก่ท้อง หมายถึงผู้อาศัยท้องเลี้ยงชีวิตหรือเพราะเหตุต้องการจะบรรจุให้เต็มท้อง (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๙๓๔/๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๓๕] เพราะพวกกษัตริย์ย่อมเก็บภาษีอากรจากพวกแพศย์
พวกพราหมณ์ก็ถือศัสตราเที่ยวฆ่าสัตว์
เพราะเหตุไร พระพรหมจึงไม่บันดาล
โลกที่ปั่นป่วนแตกต่างกันเช่นนั้นให้เที่ยงตรงเสียเล่า
[๙๓๖] เพราะถ้าพระพรหมเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์
เพราะเหตุไร จึงทำโลกทั้งปวงให้มีทุกข์
เพราะเหตุไร จึงไม่บันดาลโลกทั้งปวงให้มีแต่ความสุข
[๙๓๗] เพราะถ้าพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์
เพราะเหตุไร จึงชักจูงให้โลกทำแต่ความพินาศโดยไม่เป็นธรรม
เช่น มีมายา พูดเท็จ และมัวเมาเล่า
[๙๓๘] อริฏฐะ เพราะถ้าพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ แต่เป็นเจ้าชีวิตที่ไม่ชอบธรรม
เมื่อธรรมมีอยู่ ก็ไม่จัดตั้งธรรม กลับจัดตั้งอธรรม
[๙๓๙] ตั๊กแตน ผีเสื้อ งู แมลงภู่ หนอน
และแมลงวัน ใครฆ่าแล้วย่อมบริสุทธิ์
ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมของอนารยชน
ซึ่งเป็นธรรมที่ผิดของชาวกัมโพชะจำนวนมาก
[๙๔๐] ก็ถ้าคนฆ่าผู้อื่นจะบริสุทธิ์ได้
แม้คนผู้ถูกฆ่าก็เข้าถึงแดนสวรรค์ได้
พวกพราหมณ์ก็ควรฆ่าพวกพราหมณ์
และพวกคนที่เชื่อพราหมณ์เหล่านั้นด้วย
[๙๔๑] พวกเนื้อ ปศุสัตว์ และโคแต่ละพวก
ไม่ได้อ้อนวอนเพื่อให้ฆ่าตนเองเลย
ล้วนแต่ดิ้นรนต้องการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
คนทั้งหลายย่อมนำสัตว์และปศุสัตว์เข้าผูกไว้ที่เสายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๔๒] พวกคนพาลยื่นหน้าพูดนำไปที่เสาบูชายัญซึ่งเป็นที่ผูกสัตว์
ด้วยการพรรณนาอย่างวิจิตรว่า เสายัญนี้จักให้
สิ่งที่น่าใคร่แก่เจ้าในโลกอื่นในสัมปรายภพแน่นอน
[๙๔๓] ถ้าบุคคลจะพึงได้แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ข้าวเปลือก
ทรัพย์ เงิน ทอง ที่เสายัญทั้งที่ไม้แห้งและไม้สด
ถ้าเสายัญจะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่างในไตรทิพย์ได้
หมู่พราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในไตรเพทเท่านั้นจึงควรบูชายัญ
ผู้ไม่ใช่พราหมณ์ก็ไม่ควรให้พราหมณ์บูชายัญให้เลย
[๙๔๔] แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง
จักมีที่เสายัญ ที่ไม้แห้ง และไม้สดที่ไหน
เสายัญจะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงในไตรทิพย์ที่ไหนเล่า
๙๔๕] พราหมณ์เหล่านี้เป็นผู้โอ้อวด หยาบช้า
โง่เขลา โลภจัด ยื่นปากพูดนำไป
ด้วยการพรรณนาอย่างหยดย้อยต่าง ๆ ว่า
จงรับเอาไฟไป จงให้ทรัพย์แก่เรา
แต่นั้น ท่านจักมีความสุขในสิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวง
[๙๔๖] พวกพราหมณ์พาคนเข้าไปโรงบูชาไฟแล้ว
ต่างก็ยื่นหน้าพูดนำไปด้วยการพรรณนาอย่างวิจิตรต่าง ๆ
ให้เขาโกนผม โกนหนวด และตัดเล็บ
ยังทรัพย์ของเขาให้สิ้นไปด้วยเวททั้งหลาย
[๙๔๗] พวกพราหมณ์ผู้หลอกลวง แอบหลอกลวงได้คนหนึ่ง
ก็มาประชุมกินกันเป็นอันมาก เหมือนฝูงกาตอมนกเค้า
หลอกเอาจนเกลี้ยงแล้วเก็บไว้ที่บริเวณบูชายัญ
[๙๔๘] พวกพราหมณ์ลวงผู้นั้นได้คนหนึ่งอย่างนี้แล้ว
ก็พากันมาเป็นอันมาก ใช้ความพยายามแล้วพยายามอีก
ล่อหลอกพรรณนาสิ่งที่มองไม่เห็น ปล้นเอาทรัพย์ที่มองเห็นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๔๙] เหมือนพวกราชบุรุษที่พระราชาสอนสั่งให้เก็บส่วย
ถือเอาทรัพย์ของพระราชาไป
อริฏฐะ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเหมือนโจร มิใช่สัตบุรุษ
เป็นผู้ควรจะฆ่าเสีย แต่ไม่มีใครฆ่าในโลก
[๙๕๐] พวกพราหมณ์กล่าวว่า
ไม้ทองหลางเป็นแขนขวาของพระอินทร์
จึงตัดเอาไม้ทองหลางมาใช้ในยัญนี้
หากคำนั้นเป็นจริง พระอินทร์ก็แขนขาด
เพราะเหตุไร พระอินทร์ชนะพวกอสูรด้วยกำลังแขนนั้นได้
[๙๕๑] หากคำนั้นแหละเป็นเท็จ
พระอินทร์ก็ยังมีอวัยวะสมบูรณ์
เป็นเทวดาชั้นดีเยี่ยม ไม่มีใครฆ่า แต่กำจัดพวกอสูรได้
มนต์ของพราหมณ์เหล่านี้เปล่าประโยชน์
นี้เป็นการลวงกันที่เห็นอยู่ในโลกนี้
[๙๕๒] ภูเขามาลาคีรีก็ดี ภูเขาหิมพานต์ก็ดี ภูเขาคิชฌกูฏก็ดี
ภูเขาสุทัศนะก็ดี ภูเขานิสภะก็ดี ภูเขากากเวรุก็ดี
ภูเขาเหล่านี้ และภูเขาใหญ่อื่น ๆ กล่าวกันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญได้สร้างไว้
[๙๕๓] ชนทั้งหลายกล่าวกันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญเอาอิฐเช่นใดมาสร้างภูเขา
อิฐเช่นนั้นมิใช่ภูเขา ภูเขาเป็นอย่างหนึ่ง
ไม่หวั่นไหว เห็นได้ชัดว่าเป็นหิน
[๙๕๔] ภูเขามิใช่อิฐแต่เป็นหินมานานแล้ว
เหล็กและโลหะย่อมไม่เกิดในอิฐนั้น
แต่เขาจะพรรณนาถึงยัญนี้ จึงกล่าวว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญได้สร้างไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๕๕] ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า
“ผู้ประกอบในการอ้อนวอน”
มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น
ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งสมุทร
เพราะฉะนั้น น้ำในสมุทรจึงดื่มไม่ได้
[๙๕๖] แม่น้ำพัดพาเอาพราหมณ์ผู้จบพระเวท
ทรงมนต์เกินกว่าพันคนไป น้ำมีรสไม่เสียมิใช่หรือ
เพราะเหตุไร มหาสมุทรที่กว้างใหญ่จึงดื่มไม่ได้
[๙๕๗] บ่อน้ำเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกมนุษย์นี้
ที่พวกขุดบ่อขุดไว้ เกิดเป็นน้ำเค็มได้
แต่มิใช่เค็มเพราะท่วมพราหมณ์ตาย
น้ำในบ่อเหล่านั้นดื่มไม่ได้ นะพ่อลิ้นสองแฉก
[๙๕๘] เมื่อก่อนครั้งต้นกัป ใครเป็นภรรยาของใคร
ใจให้มนุษย์เกิดก่อน๑ แม้โดยธรรมดานั้น
ไม่มีใครเลวกว่าใครมาแต่กำเนิด
ท่านกล่าวจำแนกส่วนของสัตว์ไว้แม้อย่างนี้
[๙๕๙] แม้บุตรของคนจัณฑาลก็เรียนพระเวท
สวดมนต์ได้ เป็นคนฉลาด มีความคิด
ศีรษะของเขาจะไม่พึงแตก ๗ เสี่ยง
มนต์เหล่านี้พวกพราหมณ์แต่งขึ้นไว้ฆ่าตน

เชิงอรรถ :
๑ ใครเป็นภรรยาของใคร หมายความว่า ใครจะชื่อว่าเป็นภรรยาของใคร เพราะในเวลานั้นยังไม่มีเพศชาย
เพศหญิง ภายหลังเกิดชื่อว่ามารดาบิดา เพราะอำนาจเมถุนธรรม ใจให้มนุษย์เกิดก่อน หมายความ
ว่า แท้จริง เวลานั้นใจเท่านั้นทำให้เกิดเป็นมนุษย์ คือ สัตว์ทั้งหลายบังเกิดขึ้นด้วยใจเท่านั้น (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๙๕๘/๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๖๐] มนต์เหล่านี้พวกพราหมณ์แต่งขึ้นด้วยวาจา
แต่งขึ้น (และ) ยึดถือไว้ด้วยความโลภ
เข้าถึงท่วงทำนองของพวกพราหมณ์นักแต่งกาพย์
ยากที่จะปลดเปลื้องได้
จิตของพวกคนโง่ตั้งอยู่ด้วยอาการที่ไม่สม่ำเสมอ
คนไม่มีปัญญาจึงหลงเชื่อคำนั้น
[๙๖๑] พราหมณ์หามีกำลังเยี่ยงลูกผู้ชาย
ดุจกำลังของราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลืองไม่
ความเป็นมนุษย์ของพราหมณ์เหล่านั้นพึงเห็นเหมือนของโค๑
แต่ชาติพราหมณ์เหล่านั้นมีลักษณะไม่เสมอ
[๙๖๒] ก็ถ้าพระราชาปกครองแผ่นดิน พร้อมทั้งอำมาตย์คู่ชีพ
และราชบริษัทผู้รับพระราชโองการ
ทรงชำนะหมู่ศัตรูลำพังพระองค์เอง
ประชาราษฎร์ของพระองค์นั้นก็จะพึงมีสุขอยู่เป็นนิตย์
[๙๖๓] มนต์ของกษัตริย์และไตรเพทเหล่านี้มีความหมายเท่ากัน
ถ้าไม่วินิจฉัยความแห่งมนต์และไตรเพทนั้น ก็ไม่รู้ได้
เหมือนทางที่ถูกน้ำท่วม
[๙๖๔] มนต์ของกษัตริย์และไตรเพทเหล่านี้มีความหมายเท่ากัน
มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ
ทั้งหมดทีเดียวเป็นธรรมดาของวรรณะ ๔ นั้น
[๙๖๕] พวกคหบดีใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำงานบนแผ่นดิน
เพราะเหตุแห่งทรัพย์และข้าวเปลือกฉันใด
แม้หมู่พราหมณ์ผู้ทรงไตรเพทก็ฉันนั้น
ย่อมใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำงานบนแผ่นดินในวันนี้

เชิงอรรถ :
๑ พึงเห็นเหมือนของโค อธิบายว่า ชาติพราหมณ์เหล่านั้นนั่นแหละเหมือนกับของโค เพราะมีปัญญาทราม
แต่มีลักษณะไม่เสมอ เพราะมีรูปร่างสัณฐานต่างกับโค (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๖๑/๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๖๖] พราหมณ์เหล่านี้ก็เหมือนกับพวกคหบดี
ต่างมีความขวนขวายประกอบในกามคุณเป็นนิตย์
ย่อมใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำการงานบนแผ่นดิน
แนะพ่อลิ้นสองแฉก เพราะฉะนั้น พราหมณ์เหล่านั้นจึงไร้ปัญญา
(พระเจ้าสาครพรหมทัตทูลถามพระบิดาผู้เป็นดาบสว่า)
[๙๖๗] กระบวนกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์
และมโหระทึกนำหน้าใครมา ยังพระราชาผู้จอมทัพให้ทรงร่าเริง
[๙๖๘] ใครมีหน้าสีสุกใสด้วยกรอบอุณหิสทอง
ที่ติดอยู่ชายหน้าผากอันหนา มีประกายดังสายฟ้า
ใครยังหนุ่มแน่นสวมสอดแล่งธนู รุ่งเรืองด้วยสิริเดินมา
[๙๖๙] ใครมีพักตร์เปล่งปลั่งดังทอง
เหมือนถ่านเพลิงไม้ตะเคียนที่ลุกโชนอยู่ที่ปากเบ้า
รุ่งเรืองไปด้วยสิริมาอยู่
[๙๗๐] ใครมีฉัตรทองชมพูนุทพร้อมทั้งซี่ที่น่าพึงใจ
สำหรับใช้กันแสงดวงอาทิตย์ ใครรุ่งเรืองไปด้วยสิริมาอยู่
[๙๗๑] ใครมีปัญญาประเสริฐ มีพัดวาลวีชนีอย่างดีเยี่ยม
ที่บุคคลประคองไว้บนเศียรทั้ง ๒ ข้าง
[๙๗๒] ใครถือกำหางนกยูงอันวิจิตรอ่อนสลวย
มีด้ามล้วนแล้วด้วยทองและแก้วมณี
เที่ยวไปมาผ่านหน้าทั้ง ๒ ข้าง
[๙๗๓] ใครมีตุ้มหูอันกลมเกลี้ยงเหล่านี้
ซึ่งมีประกายดังสีถ่านเพลิงไม้ตะเคียน
ซึ่งลุกโชนอยู่ที่ปากเบ้างดงามข้างหน้าทั้ง ๒ ข้าง
[๙๗๔] ใครมีปลายผมอ่อนสลวยดำสนิทเห็นปานนี้
ถูกลมพัดสบัดพลิ้วอยู่เหมือนสายฟ้าพุ่งขึ้นจากท้องฟ้า
ทำให้ชายหน้าผากงดงามอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๗๕] ใครมีนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างกว้างและใหญ่
มีเนตรกว้างงดงาม มีพักตร์ผ่องใสดุจคันฉ่องทอง
[๙๗๖] ใครมีฟันเหล่านี้เกิดที่ปาก
งามหมดจดดุจสังข์อันขาวผ่อง
เมื่อพูด ย่อมงามดังดอกมณฑาลกตูม
[๙๗๗] ใครมีมือและเท้าทั้ง ๒ ข้าง
มีสีเหมือนน้ำครั่ง รักษาได้ง่าย
มีริมฝีปากแดงดังผลตำลึงสุก
เปล่งปลั่งดังดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน
[๙๗๘] เขาเป็นใครห่มผ้าปาวารขนสัตว์ขาวสะอาด
ดังต้นสาละใหญ่มีดอกบานสะพรั่งข้างหิมวันตบรรพต
ในฤดูหิมะตก งามดังดวงจันทร์ได้ชัยชนะ
[๙๗๙] เขาเป็นใครนั่งอยู่ในท่ามกลางบริษัท
สะพายดาบอันวิจิตรด้วยด้ามแก้วมณี
ล้อมสะพรั่งไปด้วยลายทอง
[๙๘๐] เขาเป็นใครสวมรองเท้าที่ขลิบด้วยทองงดงาม
เย็บวิจิตรสำเร็จเรียบร้อยดี
ข้าพเจ้านมัสการแด่พระมเหสี
(พระดาบสกล่าวว่า)
[๙๘๑] นาคที่มาเหล่านั้นเป็นนาคที่มีฤทธิ์
มียศ เป็นลูกของท้าวธตรัฏฐะ
เกิดจากนางสมุททชา
นาคเหล่านี้ต่างก็มีฤทธิ์มาก
ภูริทัตตชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
๗. จันทกุมารชาดก๑ (๕๔๔)
ว่าด้วยจันทกุมารทรงบำเพ็ญขันติบารมี
[๙๘๒] พระเจ้าเอกราช ผู้มีกรรมหยาบช้า
ประทับอยู่ในกรุงบุปผวดี
ท้าวเธอตรัสถามขัณฑหาลปุโรหิต
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ผู้เป็นคนหลงว่า
[๙๘๓] ท่านพราหมณ์ ท่านฉลาดในสุจริตธรรมและอาจารวินัย
ขอจงบอกทางสวรรค์แก่เรา
อย่างที่นรชนทำบุญแล้ว จากโลกนี้จะไปสู่สุคติภพเถิด
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๙๘๔] ข้าแต่สมมติเทพ เหล่านรชนให้ทานยิ่งกว่าทาน
ฆ่าคนที่ไม่น่าจะฆ่า ทำบุญแล้วย่อมไปสู่สวรรค์ได้อย่างนี้
(พระราชาตรัสว่า)
[๙๘๕] ก็ทานที่ยิ่งกว่าทานนั้นคืออะไร
และคนจำพวกไหนเป็นผู้ไม่น่าจะฆ่าในโลกนี้
ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา
เราจักบูชายัญ จักให้ทาน
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๙๘๖] ข้าแต่สมมติเทพ ควรบูชายัญด้วยพระราชโอรส
พระราชธิดา พระมเหสี ชาวนิคม โคอุสภราช
และม้าอาชาไนย อย่างละ ๔
ควรบูชายัญด้วยของครบอย่างละ ๔ พระเจ้าข้า

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ทรงปรารภพระเทวทัตตรัสจันทกุมารชาดกซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า มี
พระราชาผู้ทรงทำกรรมหยาบช้า ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๙๘๗] ในพระราชวังมีเสียงระเบ็งเซ็งแซ่เป็นอันเดียวกัน
เพราะได้ยินคำว่า พระกุมาร พระกุมารี
และพระมเหสีจะถูกประหาร
(พระราชาตรัสว่า)
[๙๘๘] ขอพวกท่านจงไปทูลพระกุมารทั้งหลาย
คือ จันทกุมาร สุริยกุมาร ภัททเสนกุมาร
สูรกุมาร และวามโคตตกุมารเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[๙๘๙] ขอพวกเจ้าจงไปทูลพระกุมารีทั้งหลาย
คือ อุปเสนากุมารี โกกิลากุมารี
มุทิตากุมารี และนันทากุมารีเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[๙๙๐] อนึ่ง พวกเจ้าจงไปทูลพระนางวิชยา
พระนางเอราวดี พระนางเกศินี
และพระนางสุนันทาผู้เป็นมเหสีของเรา
ผู้ซึ่งประกอบด้วยลักษณะอันประเสริฐเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[๙๙๑] พวกท่านจงไปบอกพวกคหบดี
คือ ปุณณมุขคหบดี ภัททิยคหบดี
สิงคาลคหบดี และวัฑฒคหบดีเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๙๒] คหบดีเหล่านั้นมีบุตรและภรรยามาก
ต่างก็มาพร้อมกัน ณ ที่นั้น
ได้กราบทูลพระราชาว่า “ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์จงไว้จุก๑แก่ข้าพระองค์ทั้งหมดเถิด
อีกอย่างหนึ่ง ขอให้ทรงประกาศพวกข้าพระองค์เป็นข้าทาสเถิด”
(พระราชาตรัสว่า)
[๙๙๓] พวกท่านจงรีบนำช้างทั้งหลายของเรามา
คือ ช้างอภยังกร ช้างนาฬาคีรี
ช้างอัจจุคคตะ ช้างวรุณทันตะ
ช้างเหล่านั้นจักเป็นประโยชน์แก่การบูชายัญ
[๙๙๔] พวกท่านจงรีบไปนำม้าอัสดรของเรามา
คือ ม้าเกศี ม้าสุรามุขะ ม้าปุณณกะ ม้าวินตกะ
ม้าเหล่านั้นจักเป็นประโยชน์แก่การบูชายัญ
[๙๙๕] ขอพวกท่านจงรีบไปนำเอาโคอุสภะของเรามา
คือ โคยูถปติ โคอโนชะ โคนิสภะ และโคควัมปติ
จงต้อนโคเหล่านั้นทั้งหมดเข้าเป็นหมู่
เราจักบูชายัญ จักให้ทาน
[๙๙๖] พวกท่านจงตระเตรียมยัญทุกอย่างไว้
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ
พวกท่านจงบังคับเหล่ากุมารมาว่า
จงรื่นรมย์ตลอดราตรีนี้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ไว้จุก หมายถึงทำให้เป็นผู้รับใช้ ทำให้เป็นทาส (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๙๒/๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๙๙๗] พวกท่านจงตั้งยัญทุกอย่างไว้
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ
พวกเจ้าจงไปทูลพระกุมาร ณ บัดนี้
วันนี้แหละเป็นคืนสุดท้าย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๙๘] พระมารดาเสด็จมาจากพระตำหนัก
ทรงกันแสงพลางตรัสถามพระเจ้าเอกราชนี้นั้นว่า
“ลูกรัก ได้ยินว่า พ่อจักบูชายัญด้วยพระโอรสทั้ง ๔ หรือ”
(พระราชากราบทูลว่า)
[๙๙๙] เมื่อจะต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคนหม่อมฉันก็สละได้
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์
(พระราชมารดาตรัสว่า)
[๑๐๐๐] ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้นที่ว่า
“สุคติจะมีได้เพราะใช้บุตรบูชายัญ
เพราะว่า นั้นเป็นทางไปนรก ไม่ใช่ทางไปสวรรค์”
[๑๐๐๑] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน
อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง นี้เป็นทางไปสู่สุคติ
และทางไปสู่สุคติมิใช่เพราะใช้บุตรบูชายัญ
(พระราชากราบทูลว่า)
[๑๐๐๒] คำของอาจารย์ทั้งหลายมีว่า
“หม่อมฉันจักฆ่าทั้งจันทกุมารและสุริยกุมาร
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายที่สละได้ยากแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐๐๓] แม้แต่พระเจ้าวสวัตดีพระราชบิดา
ได้ตรัสถามพระราชโอรสของพระองค์นั้นว่า
“ลูกรัก ได้ยินว่า พ่อจักบูชายัญด้วยโอรสทั้ง ๔ หรือ”
(พระราชากราบทูลว่า)
[๑๐๐๔] เมื่อจะต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคนหม่อมฉันก็สละได้
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์
(พระราชบิดาตรัสว่า)
[๑๐๐๕] ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้นที่ว่า
“สุคติจะมีได้เพราะใช้บุตรบูชายัญ
เพราะว่า นั้นเป็นทางไปนรก มิใช่ทางไปสู่สวรรค์
[๑๐๐๖] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน
อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง นี้เป็นทางไปสู่สุคติ
และทางไปสู่สุคติมิใช่เพราะใช้บุตรบูชายัญ
(พระราชากราบทูลว่า)
[๑๐๐๗] คำของอาจารย์ทั้งหลายมีว่า
“หม่อมฉันจักฆ่าทั้งจันทกุมารและสุริยกุมาร
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายที่สละได้ยากแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์”
(พระราชบิดาตรัสว่า)
[๑๐๐๘] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน
อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
พ่อจงเป็นผู้มีบุตรห้อมล้อม
รักษารัฐและชนบทเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(จันทกุมารกราบทูลว่า)
[๑๐๐๙] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นข้าทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขาได้
[๑๐๑๐] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลช้างให้เขาได้
[๑๐๑๑] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลม้าให้เขาได้
[๑๐๑๒] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิต
ตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกขับไล่จากแคว้น
ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๑๓] พวกเจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ได้ก่อทุกข์แก่เราแท้
จงปล่อยพวกพระกุมารไป ณ บัดนี้เถิด
เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๑๐๑๔] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า
การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว
ให้กระจัดกระจายไปเล่า
[๑๐๑๕] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ
(จันทกุมารกราบทูลว่า)
[๑๐๑๖] ข้าแต่สมมติเทพ เพราะเหตุไร
เมื่อก่อนพระองค์จึงรับสั่งให้พวกพราหมณ์
กล่าวคำสวัสดีแก่พวกหม่อนฉัน
มาภายหลัง พระองค์จะรับสั่งฆ่าพวกหม่อมฉัน
เพื่อต้องการจะบูชายัญโดยหาเหตุมิได้
[๑๐๑๗] ข้าแต่พระบิดา เมื่อก่อน
เวลาที่พวกหม่อมฉันยังเป็นเด็กหนุ่ม
พระองค์มิได้ทรงฆ่าเองและมิได้ทรงรับสั่งให้ผู้อื่นฆ่า
บัดนี้ พวกหม่อมฉันถึงความเจริญวัยเป็นหนุ่มแน่นแล้ว
มิได้คิดประทุษร้ายต่อพระองค์เลย
เพราะเหตุไร จึงจะถูกฆ่า
[๑๐๑๘] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตร
ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้ขึ้นขี่ช้างและม้า
ผูกสอดเครื่องรบได้ออกรบแล้วหรือกำลังสู้รบ
บุตรทั้งหลายผู้กล้าหาญดังเช่นพวกข้าพระองค์
ย่อมไม่ควรที่จะต้องถูกฆ่าเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๑๙] เมื่อเมืองชายแดน หรือเมื่อพวกโจรในดงกำเริบ
ชนทั้งหลายย่อมใช้คนเช่นข้าพระองค์
ข้าแต่พระบิดา แต่พวกข้าพระองค์จะถูกฆ่า
ในสถานที่ที่ไม่สมควรโดยหาเหตุมิได้
[๑๐๒๐] ข้าแต่สมมติเทพ แม่นกที่เกื้อกูลเหล่าใดพากันทำรังอยู่
ลูกนกทั้งหลายเป็นที่รักของแม่นกเหล่านั้น
ส่วนพระองค์รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์เพราะเหตุไร
[๑๐๒๑] ข้าแต่สมมติเทพ อย่าได้ทรงเชื่อขัณฑหาลปุโรหิต
ขัณฑหาลปุโรหิตไม่พึงฆ่าข้าพระองค์
เพราะเขาฆ่าข้าพระองค์ได้แล้ว
ก็จะพึงฆ่าพระองค์ในอันดับต่อไป
[๑๐๒๒] ข้าแต่มหาราช พระราชาทั้งหลาย
ย่อมพระราชทานบ้านอย่างดี
นิคมอย่างดี แม้แต่โภคทรัพย์แก่พราหมณ์นั้น
อนึ่ง พวกพราหมณ์นั้นแม้ได้ข้าวและน้ำอันเลิศในตระกูล
ย่อมบริโภคในตระกูล
[๑๐๒๓] ข้าแต่มหาราช พวกพราหมณ์ย่อมปรารถนา
เพื่อประทุษร้ายต่อผู้ให้ข้าวน้ำเช่นนั้นแม้เหล่านั้น
เพราะโดยมากพวกพราหมณ์แม้เหล่านี้
เป็นคนอกตัญญู พระเจ้าข้า
[๑๐๒๔] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขาได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๒๕] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลช้างให้เขาได้
[๑๐๒๖] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลม้าให้เขาได้
[๑๐๒๗] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ให้เป็นทาส
ของขัณฑหาลปุโรหิตตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกขับไล่จากแคว้น
ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๒๘] พวกเจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ได้ก่อทุกข์แก่เราแท้
จงปล่อยพวกพระกุมารทั้งหลายไป ณ บัดนี้เถิด
เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๑๐๒๙] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า
การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว
ให้กระจัดกระจายไปเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๓๐] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ
(จันทกุมารกราบทูลว่า)
[๑๐๓๑] ข้าแต่พระราชา ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย
จุติจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่เทวโลกดังได้ยินมา
พราหมณ์จงบูชาก่อนเถิด
ขอพระองค์ทรงบูชายัญตามในภายหลัง
[๑๐๓๒] ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย
จุติจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่เทวโลกดังได้ยินมา
ขอขัณฑหาลพราหมณ์ผู้นี้แหละ
จงบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายของตนเถิด
[๑๐๓๓] ถ้าว่าขัณฑหาลพราหมณ์รู้อยู่อย่างนี้
ทำไมจึงไม่ฆ่าบุตรของตน
ไม่ฆ่าคนที่เป็นญาติทุกคนและตนเองเล่า
[๑๐๓๔] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชายัญอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่นรกทุกคน
[๑๐๓๕] ก็ถ้าว่าคนผู้ฆ่าผู้อื่นจะบริสุทธิ์ได้
แม้คนผู้ถูกฆ่านั้นก็เข้าถึงแดนสวรรค์ได้
พวกพราหมณ์ก็ควรฆ่าพวกพราหมณ์
และพวกคนที่เชื่อพราหมณ์เหล่านั้นด้วย
[๑๐๓๖] ดังที่ได้ยินมา พ่อเรือนและแม่เรือนผู้รักบุตรที่มีอยู่ในนครนี้
ทำไมจึงไม่ทัดทานพระราชาว่า
“อย่าทรงฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๓๗] ดังที่ได้ยินมา พ่อเรือนและแม่เรือนผู้รักบุตรที่มีอยู่ในนครนี้
ทำไมจึงไม่ทัดทานพระราชาว่า
“อย่าทรงฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย”
[๑๐๓๘] เราเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์แก่พระราชา
และเป็นผู้เกื้อกูลแก่ชนบททั้งมวล
ใคร ๆ ก็ไม่พึงมีความแค้นเคืองกับเรา
ชาวชนบททั้งหลายไม่ช่วยกราบทูลให้พระองค์ได้ทรงทราบเลย
[๑๐๓๙] แม่เรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
จงไปกราบทูลพระบิดาและวิงวอนขัณฑหาลพราหมณ์ว่า
“ขออย่าฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์”
[๑๐๔๐] แม่เรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
จงไปกราบทูลพระบิดาและวิงวอนขัณฑหาลพราหมณ์ว่า
“ขออย่าฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้เป็นบุคคลตัวอย่างที่หวังของชาวโลกทั้งมวล”
[๑๐๔๑] ไฉนหนอ เราพึงเกิดในตระกูลช่างรถ
ตระกูลปุกกุสะ หรือในตระกูลพ่อค้า
พระราชาก็ไม่พึงรับสั่งให้ฆ่าเราในการบูชายัญวันนี้
(จันทกุมารตรัสกับพระชายาทั้งหลายว่า)
[๑๐๔๒] เจ้าผู้มีความคิดทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้า
ของผู้เป็นเจ้าขัณฑหาละ เรียนว่า
“เรามิได้เห็นความผิดเลย”
[๑๐๔๓] เจ้าผู้มีความคิดทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้า
ของผู้เป็นเจ้าขัณฑหาละ เรียนว่า
“ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลายได้ประทุษร้ายอะไรท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐๔๔] พระเสลาราชกุมารีผู้ควรการุณย์ทรงเห็นพระภาดาทั้งหลาย
ที่เขานำมาเพื่อบูชายัญ จึงทรงคร่ำครวญว่า
ได้ยินว่า พระบิดาของเราทรงปรารถนาสวรรค์
รับสั่งให้ตั้งพิธีบูชายัญขึ้น
[๑๐๔๕] พระวสุลราชนัดดากลิ้งเกลือกไปมาต่อพระพักตร์
ของพระราชากราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ
ข้าพระบาทยังเป็นเด็ก ไม่ถึงความเป็นหนุ่ม
ขอพระองค์ได้ทรงโปรดอย่าฆ่าพระบิดาของข้าพระบาทเลย”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๔๖] วสุละ นั่นพ่อเจ้า เจ้าจงไปพร้อมกับพ่อ
เจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่ในพระราชวัง ได้ก่อทุกข์ให้แก่เราแท้
จงปล่อยพระกุมารไป ณ บัดนี้เถิด
เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๑๐๔๗] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า
“การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว
ให้กระจัดกระจายไปเล่า
[๑๐๔๘] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ
[๑๐๔๙] ข้าแต่พระเจ้าเอกราช ข้าพระองค์ได้ตระเตรียม
จัดแจงยัญด้วยแก้วสารพัดไว้เพื่อพระองค์แล้ว
เชิญเสด็จออกเถิด พระองค์ทรงบูชายัญแล้วจักเสด็จไปสู่สวรรค์
บันเทิงพระหฤทัย พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๕๐] หญิงสาว ๗๐๐ คนนี้เป็นภรรยาของจันทกุมาร
ต่างสยายผมร้องไห้เดินไปตามทาง
[๑๐๕๑] ส่วนหญิงอีกพวกหนึ่งก็ออกไปด้วยความเศร้าโศก
เหมือนเหล่าเทวดาในอุทยานนันทวัน
ต่างสยายผมร้องไห้ไปตามทาง
(หญิง ๗๐๐ พร่ำเพ้อว่า)
[๑๐๕๒] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช
[๑๐๕๓] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไป
ทำความเศร้าโศกพระหฤทัยให้แก่พระมารดา
[๑๐๕๔] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน
[๑๐๕๕] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๕๖] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำไป ทำความเศร้าโศกพระหฤทัยให้แก่พระราชชนนี
[๑๐๕๗] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน
[๑๐๕๘] เมื่อก่อน พลช้างตามเสด็จจันทกุมารและสุริยกุมาร
ผู้เสด็จขึ้นคอช้างตัวประเสริฐ
วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์
เสด็จดำเนินด้วยพระบาท
[๑๐๕๙] เมื่อก่อน พลม้าตามเสด็จจันทกุมารและสุริยกุมาร
ผู้เสด็จทรงขึ้นหลังม้าตัวประเสริฐ
วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์
เสด็จดำเนินด้วยพระบาท
[๑๐๖๐] เมื่อก่อน พลรถตามเสด็จจันทกุมารและสุริยกุมาร
ผู้เสด็จขึ้นทรงรถคันประเสริฐ
วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์
เสด็จดำเนินด้วยพระบาท
[๑๐๖๑] เมื่อก่อน จันทกุมารและสุริยกุมาร
ที่ราชบุรุษเชิญเสด็จออกด้วยม้าทั้งหลายที่ตกแต่งเครื่องทอง
วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์
เสด็จดำเนินด้วยพระบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(มหาชนเพ้อว่า)
[๑๐๖๒] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยพระโอรส ๔ พระองค์
[๑๐๖๓] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้นพระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยพระธิดา ๔ พระองค์
[๑๐๖๔] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยพระมเหสี ๔ พระองค์
[๑๐๖๕] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยคหบดี ๔ คน
[๑๐๖๖] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยช้าง ๔ เชือก
[๑๐๖๗] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยม้า ๔ ตัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๖๘] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะบูชายัญด้วยโคอุสภราช ๔ ตัว
[๑๐๖๙] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะบูชายัญด้วยสัตว์ทุกจำพวกอย่างละ ๔
[๑๐๗๐] นี่ปราสาทของท่านล้วนด้วยทองคำ
ห้อยระย้าด้วยพวงมาลัยดอกไม้
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๑] นี่เรือนยอดของท่านล้วนด้วยทองคำ
ห้อยระย้าด้วยพวงมาลัยดอกไม้
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๒] นี่พระอุทยานของท่าน
มีดอกไม้บานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๓] นี่ป่าอโศกของท่าน
มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๔] นี่ป่ากรรณิการ์ของท่าน
มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๕] นี่ป่าแคฝอยของท่าน
มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๗๖] นี่สวนมะม่วงของท่าน
มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๗] นี่สระโบกขรณีของท่านที่ดารดาษไปด้วย
ดอกบัวหลวง ดอกบัวขาว และเรือที่ขจิตด้วยทองคำ
งดงามด้วยลวดลายเครือวัลย์ สุดแสนที่น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๘] นี่ช้างแก้วของท่าน เป็นช้างงามีกำลังชื่อเอราวัณ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๙] นี่ม้าแก้วของท่าน เป็นม้าเร็วมีกีบไม่แตก
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๘๐] นี่รถม้าของท่าน เวลาแล่นไปมีเสียงดังก้องไพเราะ
เหมือนเสียงนกสาลิกา สวยงามตระการตาด้วยแก้ว
ซึ่งเป็นที่ที่พระลูกเจ้าประทับเสด็จไป
งดงามเหมือนพวกเทวดาในพระอุทยานนันทวัน
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๘๑] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จักทรงบูชายัญด้วยพระราชโอรสทั้ง ๔ พระองค์
ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีพระวรกายอันอ่อน
ชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์
[๑๐๘๒] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จักทรงบูชายัญด้วยพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์
ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีพระวรกายอันอ่อน
ชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๘๓] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จักทรงบูชายัญด้วยพระมเหสีทั้ง ๔ พระองค์
ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีพระวรกายอันอ่อน
ชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์
[๑๐๘๔] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จักทรงบูชายัญด้วยคหบดีทั้ง ๔ คน
ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง
มีร่างกายชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์
[๑๐๘๕] คามนิคมทั้งหลายจะว่างเปล่า ไม่มีคนอยู่
กลายเป็นป่าใหญ่ไปฉันใด บุปผวดีนครก็จักเป็นฉันนั้น
ในเมื่อจันทกุมารและสุริยกุมารถูกบูชายัญ
(พระเทวีกราบทูลว่า)
[๑๐๘๖] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันจักกลายเป็นคนวิกลจริต
ถูกขจัดความเจริญ มีร่างกายเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นธุลี
ถ้าเขาฆ่าจันทกุมาร ชีวิตของหม่อมฉันจะแตกสลาย
[๑๐๘๗] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันจักกลายเป็นคนวิกลจริต
ถูกขจัดความเจริญ มีร่างกายเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นธุลี
ถ้าเขาฆ่าสุริยกุมาร ชีวิตของหม่อมฉันจะแตกสลาย
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๘๘] เพราะเหตุไร สะใภ้ของเราเหล่านี้ คือ นางฆัฏฏิกา
นางอุปริกขี นางโบกขรณี และนางภาริกา
ต่างก็กล่าวปิยวาจากะกันและกัน
ฟ้อนรำอยู่ในสำนักของพระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร
จึงไม่ทำให้ลูก ๆ ของเรารื่นรมย์ได้
หญิงอื่นที่จะเสมอเหมือนกับสะใภ้ ๔ คนนั้นไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระเทวีคร่ำครวญกับลูกสะใภ้ สาปแช่งขัณฑหาลปุโรหิตว่า)
[๑๐๘๙] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด
ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปฆ่า
แม่ของเจ้าจงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้
[๑๐๙๐] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด
ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปฆ่า
แม่ของเจ้าก็จงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้
[๑๐๙๑] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด
ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปฆ่า
ภรรยาของเจ้าก็จงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้
[๑๐๙๒] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด
ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปฆ่า
ภรรยาของเจ้าก็จงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้
[๑๐๙๓] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์
แม่ของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูก ๆ และสามีเลย
[๑๐๙๔] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้เป็นที่มุ่งหวังของชาวโลกทั้งมวล
แม่ของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูก ๆ และสามีเลย
[๑๐๙๕] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์
ภรรยาของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูก ๆ และสามีเลย
[๑๐๙๖] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้เป็นที่มุ่งหวังของชาวโลกทั้งมวล
ภรรยาของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูก ๆ และสามีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(จันทกุมารกราบทูลว่า)
[๑๐๙๗] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขาได้
[๑๐๙๘] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลช้างให้เขาได้
[๑๐๙๙] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลม้าให้เขาได้
[๑๑๐๐] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกขับไล่จากแคว้น
ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๐๑] ข้าแต่สมมติเทพ หญิงทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตร
แม้จะเป็นคนยากจนก็วิงวอนขอบุตรต่อเทพเจ้า
หญิงบางพวกละปฏิภาณ๑แล้วไม่ได้บุตรก็มี
[๑๑๐๒] หญิงเหล่านั้นย่อมทำความหวังว่า “ขอบุตรจงเกิดแก่เรา”
แต่นั้น ขอหลาน ๆ จงเกิดอีก
ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อเป็นเช่นนี้
พระองค์รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์
เพื่อต้องการจะทรงบูชายัญโดยเหตุอันไม่สมควร
[๑๑๐๓] ข้าแต่พระบิดา คนทั้งหลายได้บุตรด้วยการวิงวอน
ขอพระองค์อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
ขออย่าทรงบูชายัญนี้ด้วยบุตรทั้งหลายที่ได้มาโดยยาก
[๑๑๐๔] ข้าแต่พระบิดา คนทั้งหลายได้บุตรด้วยการวิงวอน
ขอพระองค์อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
ขออย่าได้พรากพวกข้าพระองค์
ผู้เป็นบุตรที่ได้มาโดยยากจากมารดาเลย
[๑๑๐๕] ข้าแต่พระมารดา พระมารดาย่อมย่อยยับ
เพราะทรงเลี้ยงลูกจันทกุมารด้วยความลำบากมาก
ลูกขอกราบพระยุคลบาทของพระมารดา
ขอพระราชบิดาจงทรงได้ปรโลกเถิด
[๑๑๐๖] เชิญพระมารดา จงสวมกอดลูก
แล้วประทานพระยุคลบาทมาให้ลูกกราบไหว้เถิด
ลูกจะจากไป ณ บัดนี้
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช

เชิงอรรถ :
๑ ละปฏิภาณ หมายถึงละการแพ้ท้อง คือ ไม่ได้การแพ้ท้อง (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๑๐๑/๑๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๐๗] เชิญพระมารดา จงสวมกอดลูก
แล้วประทานพระยุคลบาทมาให้ลูกกราบไหว้เถิด
ลูกจะจากไป ณ บัดนี้
ทำความโศกเศร้าพระทัยให้แก่พระมารดา
[๑๑๐๘] เชิญพระมารดาจงสวมกอดลูก
แล้วประทานพระยุคลบาทมาให้ลูกกราบไหว้เถิด
ลูกจะจากไป ณ บัดนี้
ทำความโศกเศร้าเสียใจให้แก่ประชาชน
(พระมารดาตรัสกับจันทกุมารว่า)
[๑๑๐๙] เชิญเถิด ลูกโคตมี เจ้าจงรัดเมาลีด้วยใบบัว
จงประดับดอกไม้อันแซมด้วยกลีบจำปา
นี่เป็นปกติของเจ้าที่มีมาเก่าก่อน
[๑๑๑๐] เชิญเถิด เจ้าจงไล้ทาเครื่องลูบไล้
คือจันทน์แดงอันเป็นครั้งสุดท้ายของเจ้า
เจ้าไล้ทาด้วยจุรณแก่นจันทน์แดงนั้นแล้วย่อมงามในราชบริษัท
[๑๑๑๑] เชิญเถิด เจ้าจงนุ่งผ้าของชาวแคว้นกาสีเป็นครั้งสุดท้าย
ซึ่งเป็นผ้าเนื้อละเอียด อ่อนนุ่ม
เจ้านุ่งผ้ากาสิกพัสตร์นั้นดีแล้วย่อมงามในราชบริษัท
[๑๑๑๒] เชิญเจ้าประดับหัตถาภรณ์
อันเป็นเครื่องประดับทองคำฝังแก้วมุกดาและแก้วมณี
เจ้าประดับหัตถาภรณ์นั้นแล้วย่อมงามในราชบริษัท
(พระเทวีกราบทูลพระราชาว่า)
[๑๑๑๓] พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองรัฐเป็นทายาทของชนบท
ผู้เป็นใหญ่เป็นอิสระในโลกนี้
จะไม่ทรงทำความสิเนหาให้เกิดในพระโอรสแน่ละหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๑๔] แม้ลูกก็เป็นที่รักของเรา ตนเองก็เป็นที่รัก
เธอและภรรยาทั้งหลายก็เป็นที่รักของเรา
แต่เราปรารถนาสวรรค์ เพราะฉะนั้น เราจึงจักฆ่าให้ได้
(พระเทวีกราบทูลว่า)
[๑๑๑๕] ข้าแต่สมมติเทพ อันดับแรก
ขอพระองค์จงรับสั่งให้ฆ่าหม่อมฉันเถิด
ขอทุกข์อย่าได้ทำลายหทัยของหม่อมฉันเลย
พระโอรสของพระองค์เป็นสุขุมาลชาติ ประดับแล้วงดงาม
[๑๑๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้า เชิญเถิด
ขอพระองค์ได้โปรดฆ่าหม่อมฉันเถิด
หม่อมฉันจักอยู่กับจันทกุมารในปรโลก
ขอพระองค์ทรงทำบุญให้ไพบูลย์เถิด
หม่อมฉันทั้ง ๒ จะท่องเที่ยวไปในปรโลก
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๑๗] จันทาผู้มีนัยน์ตาโต เจ้าอย่าชอบใจความตายเลย
โคตมีบุตรถูกเราบูชายัญแล้ว ผัว พี่ผัว น้องผัวของเจ้า
เป็นอันมากเหล่านั้นจักทำให้รื่นรมย์ใจได้
[๑๑๑๘] เมื่อพระราชาได้ตรัสอย่างนี้แล้ว
พระนางจันทาเทวีทรงตีพระองค์เองด้วยฝ่าพระหัตถ์
พอทีด้วยชีวิตในโลกนี้ เราจักดื่มยาพิษตาย
[๑๑๑๙] พระญาติและมิตรผู้มีหทัยดีของพระราชาพระองค์นี้
ย่อมไม่มีแน่แท้ จึงไม่ทูลทัดทานพระราชาว่า
อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าบุตรทั้งหลาย
ผู้เกิดแต่พระอุระเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๒๐] พระญาติและมิตรผู้มีหทัยดีของพระราชาพระองค์นี้
ย่อมไม่มีแน่แท้ จึงไม่ทูลทัดทานพระราชาว่า
อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย
[๑๑๒๑] บุตรของหม่อมฉันเหล่านี้ประดับพวงดอกไม้
สวมกำไลทองต้นแขน ขอพระราชาทรงบูชายัญ
ด้วยบุตรของหม่อมฉันเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น
ขอพระองค์ทรงปล่อยบุตรโคตมีเถิด พระเจ้าข้า
[๑๑๒๒] ข้าแต่มหาราช ขอจงฆ่าหม่อมฉัน
แบ่งออกเป็นร้อยส่วนแล้วบูชายัญ ๗ ส่วน
ขออย่าทรงฆ่าบุตรองค์ใหญ่
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์เลย
[๑๑๒๓] ข้าแต่มหาราช ขอจงฆ่าหม่อมฉัน
แบ่งออกเป็นร้อยส่วนแล้วบูชายัญ ๗ ส่วน
ขออย่าทรงฆ่าบุตรองค์ใหญ่
ผู้เป็นที่มุ่งหวังของชาวโลกทั้งมวลเลย
(จันทกุมารตรัสกับพระนางจันทาเทวีว่า)
[๑๑๒๔] เครื่องประดับเป็นอันมากล้วนแต่ของดี ๆ คือ
แก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์
ที่เราให้แก่เจ้า ในเมื่อเจ้ากล่าวคำดี
นี้เป็นของที่เราให้แก่เจ้าเป็นครั้งสุดท้าย
(พระนางจันทากราบทูลว่า)
[๑๑๒๕] เมื่อก่อน พวงดอกไม้ที่บานเคยสวมที่พระศอ
ของพระกุมารเหล่าใด
วันนี้ ดาบที่เขาลับคมดีแล้ว
จักตัดที่พระศอของพระกุมารเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๒๖] เมื่อก่อน พวงดอกไม้ที่วิจิตร
เคยสวมที่พระศอของพระกุมารเหล่าใด
วันนี้ ดาบที่เขาลับคมดีแล้ว
จักตัดที่พระศอของพระกุมารแม้เหล่านั้น
[๑๑๒๗] ไม่นานหนอ ดาบจักตัดที่พระศอ
ของพระราชบุตรทั้งหลาย
ส่วนหทัยของเราจะยังไม่แตก
ตราบเท่าที่มีเครื่องผูกมารัดเราไว้แน่น
[๑๑๒๘] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช
[๑๑๒๙] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำออกไปทำความเศร้าพระทัยแก่พระมารดา
[๑๑๓๐] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำออกไปทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน
[๑๑๓๑] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๓๒] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำออกไปทำความเศร้าพระทัยให้แก่พระมารดา
[๑๑๓๓] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำออกไปทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน
[๑๑๓๔] เมื่อเขาตกแต่งเครื่องบูชายัญครบทุกสิ่งแล้ว
เมื่อจันทกุมารและสุริยกุมารประทับนั่ง
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ
พระราชธิดาของพระเจ้าปัญจาละประนมพระหัตถ์
เสด็จดำเนินเวียนไปในระหว่างบริษัททั้งปวง ได้ทำสัจกิริยาว่า
[๑๑๓๕] ขัณฑหาละผู้มีปัญญาทราม
ได้ทำกรรมชั่วด้วยสัจจะอันใด
ด้วยสัจวาจานี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี
[๑๑๓๖] อมนุษย์ก็ดี ยักษ์ก็ดี
สัตว์ที่เกิดแล้วและที่จะมาเกิดก็ดี มีอยู่ในที่นี้
ขอจงทำความขวนขวายช่วยเหลือข้าพเจ้า
ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี
[๑๑๓๗] เหล่าเทวดาที่มาแล้ว ณ ที่นี้
สรรพสัตว์ที่เกิดแล้วและที่จะมาเกิด
ขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าผู้ไร้ที่พึ่งซึ่งแสวงหาที่พึ่ง
ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านทั้งหลาย
ขออย่าให้พวกข้าศึกชนะพระสวามีของข้าพเจ้าเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๓๘] ท้าวสักกเทวราชทรงสดับเสียงคร่ำครวญ
ของพระนางจันทานั้นแล้วทรงกวัดแกว่งค้อนเหล็ก
ยังความกลัวให้เกิดแก่พระเจ้าเอกราชนั้นแล้ว
ได้ตรัสกับพระราชาดังนี้ว่า
[๑๑๓๙] พระราชากาลี ขอท่านจงรู้ไว้
อย่าให้เราต้องทุบเศียรของท่านด้วยค้อนเหล็กนี้เลย
ท่านอย่าได้ฆ่าบุตรองค์ใหญ่
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์
[๑๑๔๐] พระราชากาลี ท่านเคยเห็นที่ไหน
คนที่ปรารถนาสวรรค์ต้องฆ่าบุตร
ภรรยา เศรษฐี และคหบดีผู้ไม่คิดประทุษร้าย
[๑๑๔๑] ขัณฑหาลปุโรหิตและพระราชาได้ฟังพระดำรัส
ของท้าวสักกะนั้นแล้ว ได้เห็นรูปอันน่าอัศจรรย์
จึงได้แก้เครื่องจองจำสัตว์ทั้งปวงออก
เหมือนแก้เครื่องจองจำสัตว์ผู้ไม่ต้องถูกฆ่าออกฉะนั้น
[๑๑๔๒] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น
ทุกคนใช้ก้อนดินคนละก้อนทุ่มลง
นั่นคือการฆ่าขัณฑหาลปุโรหิต
[๑๑๔๓] คนที่ทำกรรมชั่วต้องตกนรกทั้งหมดฉันใด
คนที่ทำกรรมชั่วแล้วจากโลกนี้ไป
ก็ไม่พึงได้การไปสู่สุคติเลยฉันนั้น
[๑๑๔๔] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
ราชบริษัททั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๔๕] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
ราชกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร
[๑๑๔๖] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
เทพบริษัททั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกพระจันทกุมาร
[๑๑๔๗] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
เทพกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร
[๑๑๔๘] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
ราชบริษัททั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง
[๑๑๔๙] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
ราชกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง
[๑๑๕๐] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
เทพบริษัททั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง
[๑๑๕๑] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
เทพกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง
[๑๑๕๒] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
ประชาชนเป็นอันมาก ต่างก็รื่นรมย์ยินดี
พวกเขาได้ประกาศความยินดีในเวลาที่จันทกุมาร
เสด็จเข้าสู่พระนครและได้ประกาศโฆษณาความหลุดพ้น
จากเครื่องจองจำของสัตว์ทั้งปวงแล้ว
จันทกุมารชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
๘. มหานารทกัสสปชาดก๑ (๕๔๕)
ว่าด้วยพระมหานารทกัสสปะทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๑๕๓] พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระราชาของชาวแคว้นวิเทหะ
ทรงพระนามว่าอังคติ ทรงมีพระราชยาน
พระราชทรัพย์มากมาย ทรงมีพลนิกายเหลือที่จะคณานับ
[๑๑๕๔] เมื่อปฐมยามคืนวันเพ็ญเดือน ๔
ซึ่งเป็นเวลาที่ดอกโกมุทบานยังไม่ผ่านไป
พระองค์รับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์
[๑๑๕๕] ราชบัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยการศึกษาเล่าเรียน
มีปกติยิ้มก่อนจึงพูด เฉลียวฉลาด
และอำมาตย์ผู้ใหญ่อีก ๓ นาย
คือ (๑) วิชัยอำมาตย์ (๒) สุนามอำมาตย์
(๓) อลาตเสนาบดีอำมาตย์
[๑๑๕๖] พระเจ้าวิเทหะตรัสถามอำมาตย์ ๓ นายนั้นทีละคนว่า
ท่านทั้งหลายจงกล่าวตามความพอใจของตน ๆ ว่า
ในคืนวันเพ็ญเดือน ๔ นี้ ดวงจันทร์แจ่มจรัส
กลางคืนวันนี้ เราทั้งหลายจะพึงพักอยู่
ตลอดฤดูกาลเช่นนี้นี้ ด้วยความยินดีอะไร
[๑๑๕๗] ลำดับนั้น อลาตเสนาบดีอำมาตย์ได้กราบทูล
คำนี้แด่พระราชาว่า “ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายพึงจัด
ราชยาน กองพลช้าง กองพลม้า กองพลเสนา
ที่ยินดีร่าเริงแล้วให้พร้อมสรรพ

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ อุทยานลัฏฐิวัน ทรงปรารภการที่ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปะ ตรัสมหา-
นารทกัสสปชาดกซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า ได้มีพระราชาแห่งกรุงวิเทหะ ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๕๘] ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะนำกองทัพ
ที่ทรงพลังเกรียงไกรออกต่อสู้การยุทธ์ให้ได้
พวกใดยังไม่มาสู่อำนาจ
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะนำมาสู่อำนาจ
นี้เป็นความเห็นส่วนตัวของข้าพระพุทธเจ้า
เราทั้งหลายจะได้ชัยชนะผู้ที่ยังไม่ชนะ”
[๑๑๕๙] สุนามอำมาตย์ได้ฟังคำของอลาตเสนาบดีอำมาตย์แล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาราช
พวกศัตรูของฝ่าพระบาทมาสู่พระราชอำนาจหมดแล้ว
[๑๑๖๐] ต่างพากันวางศัสตรา ยอมสวามิภักดิ์แล้วทั้งหมด
วันนี้เป็นวันมหรสพสนุกสนานยิ่ง
การรบข้าพระพุทธเจ้าไม่ชอบใจ
[๑๑๖๑] ขอชนทั้งหลายจงรีบนำข้าวน้ำ
และของควรเคี้ยวมาเพื่อพระองค์เถิด
ขอเดชะ ขอฝ่าพระบาทจงทรงรื่นรมย์ด้วยกามคุณ
ในการฟ้อนรำ ขับร้อง และการประโคมอันไพเราะเถิด”
[๑๑๖๒] วิชัยอำมาตย์ได้ฟังคำของสุนามอำมาตย์แล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาราช กามทุกอย่าง
ได้ปรากฏแก่พระองค์อยู่เป็นนิตย์แล้ว
[๑๑๖๓] ขอเดชะ การเพลิดเพลินด้วยกามคุณทั้งหลาย
พระองค์ทรงหาได้ไม่ยากเลย ทรงปรารถนาก็ได้ทุกเมื่อ
การรื่นรมย์กามคุณทั้งหลายมิใช่ความคิดเห็นของข้าพระองค์
[๑๑๖๔] วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาสมณะ
หรือพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ
ที่ท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้ดีกว่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๖๕] พระเจ้าอังคติได้สดับคำของวิชัยอำมาตย์แล้ว
ได้ตรัสว่า แม้เราก็ชอบใจคำพูดของวิชัยอำมาตย์ตามที่พูดไว้
[๑๑๖๖] วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาสมณะ
หรือพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ
ที่ท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้ดีกว่า
[๑๑๖๗] ท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ ทุกท่านจงลงมติว่า
“วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาบัณฑิต
ผู้รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ
ที่ท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้”
[๑๑๖๘] อลาตเสนาบดีได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า ได้มีชีเปลือย
ที่ชาวโลกยอมรับว่าเป็นนักปราชญ์อยู่ในมฤคทายวัน
[๑๑๖๙] ชีเปลือยผู้นี้ชื่อว่าคุณะ ผู้กัสสปโคตร
เป็นพหูสูต พูดจาไพเราะ เป็นเจ้าหมู่คณะ
ขอเดชะ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาท่าน
ท่านจักกำจัดความสงสัยของพวกเราได้”
[๑๑๗๐] พระราชาได้ทรงสดับคำของอลาตเสนาบดีแล้ว
ได้รับสั่งสารถีว่า “เราจะไปยังมฤคทายวัน
ท่านจงนำยานที่เทียมม้าแล้วมาที่นี้”
[๑๑๗๑] พวกนายสารถีได้จัดเทียมพระราชยานที่ทำด้วยงา
มีกระพองเป็นเงิน และจัดรถพระที่นั่งรองที่บุผ้าขาวอันผุดผ่อง
ดังดวงจันทร์ในราตรีที่ปราศจากมลทินโทษ
มาถวายแด่พระราชานั้น
[๑๑๗๒] รถนั้นเทียมด้วยม้าสินธพ ๔ ตัวล้วนแต่มีสีดังดอกโกมุท
เป็นม้ามีฝีเท้าเร็วดังลมพัด วิ่งเรียบ ประดับด้วยดอกไม้ทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๗๓] ฉัตร รถ ม้า และพัดวีชนีล้วนมีสีขาว
พระเจ้าวิเทหะพร้อมด้วยหมู่อำมาตย์
เสด็จออกย่อมงดงามเหมือนดวงจันทร์
[๑๑๗๔] หมู่พลราชบริพารผู้กล้าหาญอยู่บนหลังม้า
ถือหอกดาบตามเสด็จจอมกษัตริย์ผู้ประเสริฐกว่านรชน
[๑๑๗๕] พระเจ้าวิเทหะบรมกษัตริย์พระองค์นั้น
เสด็จไปถึงมฤคทายวันโดยครู่เดียว
เสด็จลงจากพระราชยานแล้ว
ทรงดำเนินเข้าไปหาคุณาชีวก พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์
[๑๑๗๖] ในคราวนั้น มีพราหมณ์และคหบดีแม้เหล่าใด
มาประชุมกันในพระราชอุทยานนั้น
พระราชามิให้พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น
ผู้นั่งอยู่ที่ภาคพื้นซึ่งไม่ได้เว้นที่ไว้ลุกหนีไป
[๑๑๗๗] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จเข้าไปประทับนั่งบนราชอาสน์
ที่ปูลาดด้วยพระยี่ภู่มีสัมผัสอ่อนนุ่ม ณ ที่อันสมควร
[๑๑๗๘] ได้ทรงปราศรัยไต่ถามสุขทุกข์ว่า
“พระคุณเจ้าสบายดีอยู่หรือ ลมมิได้กำเริบเสียดแทงหรือ
[๑๑๗๙] พระคุณเจ้าเลี้ยงชีวิตโดยไม่ฝืดเคืองหรือ
ได้บิณฑบาตพอประทังชีวิตให้เป็นไปอยู่หรือ
พระคุณเจ้ามีอาพาธน้อยหรือ จักษุมิได้เสื่อมไปหรือ”
[๑๑๘๐] คุณาชีวกทูลปราศรัยกับพระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยินดีในวินัยว่า
“ถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพสบายดีทุกประการ
[๑๑๘๑] บ้านเมืองของพระองค์ไม่กำเริบหรือ
ช้างม้าของพระองค์มิได้มีโรคหรือ ราชพาหนะก็ยังเป็นไปหรือ
พยาธิไม่มีมาเบียดเบียนพระวรกายของพระองค์บ้างหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๘๒] ลำดับนั้น พระราชาผู้เป็นจอมทัพทรงใคร่ธรรม
อันอาชีวกทูลชมเชยแล้ว
ได้ตรัสถามอรรถธรรมและเหตุในลำดับว่า
[๑๑๘๓] “ท่านกัสสปะ นรชนพึงประพฤติธรรม
ในบิดาและมารดาอย่างไร
พึงประพฤติธรรมในอาจารย์อย่างไร
พึงประพฤติธรรมในบุตรภรรยาอย่างไร
[๑๑๘๔] พึงประพฤติธรรมในวุฑฒบุคคลอย่างไร
พึงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์อย่างไร
พึงประพฤติธรรมในพลนิกายอย่างไร
พึงประพฤติธรรมในชาวชนบทอย่างไร
[๑๑๘๕] ชนทั้งหลายประพฤติธรรมอย่างไร
ละโลกนี้แล้วจึงไปสู่สุคติ
ส่วนคนบางพวกไม่ดำรงอยู่ในธรรม ทำไมจึงตกนรก”
[๑๑๘๖] คุณาชีวกกัสสปโคตรได้ฟังพระดำรัส
ของพระเจ้าวิเทหะแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า
“ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์ทรงสดับ
ทางที่จริงแท้ของพระองค์เถิด
[๑๑๘๗] ผลดีผลชั่วแห่งธรรมที่ประพฤติแล้วไม่มี
ข้าแต่สมมติเทพ โลกอื่นไม่มี
ใครเล่าจากโลกอื่นนั้นมาสู่โลกนี้
[๑๑๘๘] ข้าแต่สมมติเทพ ปู่ย่าตายายไม่มี
มารดาบิดาจะมีได้ที่ไหน
ชื่อว่าอาจารย์ไม่มี ใครจักฝึกคนที่ยังไม่ฝึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๘๙] สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ทัดเทียมกันหมด
ผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญไม่มี
กำลังหรือความเพียรไม่มี
บุรุษผู้มีความหมั่นจะได้รับผลแต่ที่ไหน
สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดตามกันมาเหมือนเรือพ่วงตามเรือไป
[๑๑๙๐] สัตว์ย่อมได้สิ่งที่ควรจะได้
ในข้อนั้น ผลทานจะมีแต่ที่ไหน
ข้าแต่สมมติเทพ ผลทานไม่มี
เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร๑ พระเจ้าข้า
[๑๑๙๑] พวกคนพาลบัญญัติทาน พวกบัณฑิตรับทาน
พวกคนพาลถือตนว่าเป็นบัณฑิต เป็นผู้ไร้อำนาจ
ย่อมให้ทานแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย
[๑๑๙๒] รูปกายอันเป็นที่รวม ๗ ประการนี้ คือ
(๑) ดิน (๒) น้ำ (๓) ไฟ (๔) ลม
(๕) สุข (๖) ทุกข์ (๗) ชีวิต เป็นของเที่ยง
ไม่ขาดสูญ ไม่กำเริบ
ความขาดสูญไม่มีแก่สัตว์เหล่าใด
รูปกาย ๗ ประการนี้ย่อมมีแก่สัตว์เหล่านั้น
[๑๑๙๓] ผู้ฆ่า ผู้ตัด หรือใคร ๆ ผู้ถูกฆ่า ก็ไม่มี
ศัสตราทั้งหลายสอดแทรกเข้าไป
ในระหว่างรูปกาย ๗ ประการนี้

เชิงอรรถ :
๑ เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร หมายถึงเมื่อผลทานไม่มีอย่างนี้ ใครคนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นคนโง่ก็ยังให้
ทานอยู่ แต่เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร โดยสรุปอาชีวกกราบทูลชี้แจงว่า คนผู้นั้นไม่เชื่อว่าให้ทาน
ด้วยอำนาจ ด้วยกำลังของตน แต่สำคัญว่า ผลทานมีจึงให้ทาน เพราะเชื่อคนโง่พวกอื่น (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๑๑๙๐/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๙๔] ผู้ใดตัดศีรษะของผู้อื่นด้วยดาบที่ลับแล้ว
ผู้นั้นไม่ชื่อว่าตัดรูปกายเหล่านั้น
ในการทำเช่นนั้น ผลบาปจะมีแต่ที่ไหน
[๑๑๙๕] สัตว์ทุกจำพวกท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ๘๔ มหากัป
ย่อมบริสุทธิ์ได้เอง เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น
แม้สำรวมดีแล้วก็บริสุทธิ์ไม่ได้
[๑๑๙๖] เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น
แม้จะประพฤติความดีมากมายก็บริสุทธิ์ไม่ได้
แม้ถ้าทำบาปไว้มากมายก็ไม่ล่วงพ้นขณะนั้นไปได้
[๑๑๙๗] ในวาทะของเราทั้งหลาย ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ตามลำดับ
เมื่อถึง ๘๔ กัป พวกเราย่อมไม่ล่วงเลยเขตที่แน่นอนนั้น
เหมือนสาครไม่ล้นฝั่งไป”
[๑๑๙๘] อลาตเสนาบดีได้ฟังคำของคุณาชีวกกัสสปโคตรแล้ว
ได้กล่าวดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าชอบใจ
คำของท่านผู้เจริญตามที่กล่าวไว้
[๑๑๙๙] แม้ข้าพเจ้าเองก็ระลึกชาติก่อนที่ตนท่องเที่ยวไปได้
คือ ในชาติก่อน ข้าพเจ้าเกิดในกรุงพาราณสี
ที่เป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นพรานฆ่าโคชื่อปิงคละ
[๑๒๐๐] ข้าพเจ้าเกิดในกรุงพาราณสีที่เป็นเมืองมั่งคั่งแล้ว
ได้ทำบาปกรรมไว้เป็นอันมาก คือ ได้ฆ่าสัตว์มีชีวิต
ได้แก่ กระบือ สุกร แพะเป็นจำนวนมาก
[๑๒๐๑] จุติจากชาตินั้นแล้วมาเกิดในตระกูลเสนาบดีอันบริบูรณ์นี้
บาปไม่มีผลแน่นอน ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องไปตกนรก”
[๑๒๐๒] ครั้งนั้น ในกรุงมิถิลานี้ ได้มีคนเข็ญใจเป็นทาสชื่อว่าวีชกะ
กำลังรักษาอุโบสถ เข้าไปยังสำนักของคุณาชีวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๐๓] ได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวก
และของอลาตเสนาบดีกล่าวกันแล้ว
จึงถอนหายใจอึดอัดร้องไห้หลั่งน้ำตา
[๑๒๐๔] พระเจ้าวิเทหะได้ตรัสถามนายวีชกะนั้นว่า
“สหาย เจ้าร้องไห้ทำไม เจ้าได้ฟังได้เห็นอะไรมาหรือ
เจ้าได้รับทุกขเวทนาอะไร จงบอกให้เราทราบเถิด”
[๑๒๐๕] นายวีชกะได้ฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว
ได้กราบทูลให้ทรงทราบดังนี้ว่า
“ข้าแต่มหาราชข้าพระองค์ไม่มีทุกขเวทนาเลย
ขอพระองค์ได้ทรงสดับคำของข้าพระพุทธเจ้าเถิด
[๑๒๐๖] แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังระลึกถึง
ความสุขในชาติก่อนของตนเองได้ คือ
ในชาติก่อน ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยเกิดเป็นเศรษฐี
ชื่อว่าภาวเศรษฐี ยินดีในคุณธรรมอยู่ในเมืองสาเกต
[๑๒๐๗] ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้รับการยกย่องจากพราหมณ์และคหบดี
ยินดีในการบริจาคทาน มีการงานสะอาด
ระลึกถึงบาปกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ไม่ได้เลย
[๑๒๐๘] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ ข้าพระพุทธเจ้าจุติจากชาตินั้นแล้ว
มาเกิดในครรภ์ของนางกุมภทาสี
ซึ่งเป็นหญิงขัดสนยากจนในกรุงมิถิลานี้
ตั้งแต่เวลาที่เกิดมา ข้าพระพุทธเจ้า
ก็เป็นยาจกเข็ญใจตลอดมา
[๑๒๐๙] แม้ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นคนยากจนอย่างนี้
ก็ยังตั้งมั่นอยู่ในความประพฤติชอบ
ได้ให้อาหารกึ่งหนึ่งแก่ผู้ที่ปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๑๐] ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้รักษาอุโบสถศีล
ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำทุกเมื่อ
ไม่เบียดเบียนสัตว์และไม่ลักทรัพย์
[๑๒๑๑] กรรมทั้งปวงที่ข้าพระพุทธเจ้า
ได้ประพฤติมาดีแล้วนี้ไร้ผลแน่
ศีลนี้เห็นจะไร้ประโยชน์เหมือนอลาตเสนาบดีกล่าว
[๑๒๑๒] ข้าพระพุทธเจ้ากำเอาแต่ความปราชัยไว้
เหมือนนักเลงผู้ไร้ศิลปะเป็นแน่
ส่วนอลาตเสนาบดีกำเอาไว้แต่ชัยชนะ
เหมือนนักเลงผู้ฝึกฝนการพนัน
[๑๒๑๓] ข้าแต่พระราชา ข้าพระพุทธเจ้ายังมองไม่เห็นประตู
ที่จะเป็นทางไปสู่สุคติเลย ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟัง
คำของกัสสปคุณาชีวกแล้ว จึงร้องไห้”
[๑๒๑๔] พระเจ้าอังคติได้สดับคำพูดของนายวีชกะแล้ว
ได้ตรัสว่า “ประตูสุคติไม่มี ท่านยังสงสัยอีกหรือวีชกะ”
[๑๒๑๕] ได้ทราบว่า “สุขหรือทุกข์สัตว์ได้เองแน่นอน
สัตว์ทั้งหลายหมดจดได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ
เมื่อยังไม่ถึงเวลา ท่านอย่าได้รีบด่วนไปเลย
[๑๒๑๖] เมื่อก่อน แม้เราก็เคยทำความดีมา
ขวนขวายช่วยเหลือพราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
สั่งสอนราชกิจอยู่เนือง ๆ งดเว้นจากความยินดี(ในกามคุณ)
ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้
[๑๒๑๗] ท่านผู้เจริญ พวกเราจะได้พบกันอีก
ถ้าจักมีการคบหาสมาคมกัน”
พระเจ้าวิเทหะครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว
ก็ได้เสด็จกลับไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๑๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว
พระเจ้าอังคติรับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์
ในสถานที่ประทับสำราญของพระองค์แล้ว
ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๑๒๑๙] “ขอเหล่าอำมาตย์จงจัดกามคุณทั้งหลายให้แก่เราทุกเมื่อ
ในจันทกปราสาทของเรา
เมื่อราชการลับถูกเปิดเผยขึ้น
ใคร ๆ อย่าได้เข้ามาหาเรา
[๑๒๒๐] อำมาตย์ฉลาดในราชกิจ ๓ นาย คือ
(๑) วิชัยอำมาตย์ (๒) สุนามอำมาตย์
(๓) อลาตเสนาบดี จงนั่งพิจารณาข้อราชการเหล่านี้”
[๑๒๒๑] พระเจ้าวิเทหะครั้นตรัสดังนี้แล้ว
จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
“ขอท่านทั้งหลายจงใส่ใจในกามคุณให้มาก
และอย่าได้ไปยุ่งในกิจการอะไร ๆ
ในพวกพราหมณ์และคหบดีเลย”
[๑๒๒๒] ตั้งแต่วันนั้นมา ๒ สัปดาห์
พระราชกัญญาพระนามว่ารุจา
ผู้เป็นพระธิดาเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหะ
ได้ตรัสกับพระพี่เลี้ยงว่า
[๑๒๒๓] “ขอพวกท่านจงช่วยกันประดับประดาให้ฉันด้วย
และขอให้เพื่อนหญิงของฉันจงช่วยกันประดับ
พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำเป็นวันทิพย์๑
ฉันจะไปเฝ้าพระบิดา”

เชิงอรรถ :
๑ วันทิพย์ หมายถึงวันที่เทวดาประชุมกันประดับตกแต่งร่างกาย (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๒๒๓/๑๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๒๔] พระพี่เลี้ยงทั้งหลายได้จัดมาลัย แก่นจันทน์
แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา และผ้าสีต่าง ๆ
ที่มีค่ามากมาถวายแด่พระนางรุจานั้น
[๑๒๒๕] หญิงเป็นอันมากแวดล้อมพระนางรุจาราชธิดา
ผู้มีพระฉวีวรรณงามนั้น ผู้ประทับนั่งอยู่บนพระภัทรบิฐ๑
สวยงามยิ่งนักดังนางเทพกัญญา
[๑๒๒๖] พระนางรุจาราชธิดานั้นทรงประดับสรรพาภรณ์
เสด็จไป ณ ท่ามกลางเพื่อนหญิง
เหมือนสายฟ้าแลบออกจากเมฆ
ได้เสด็จเข้าสู่จันทกปราสาท
[๑๒๒๗] ครั้นเสด็จเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหะ
ถวายบังคมพระบิดาผู้ทรงยินดีในคำแนะนำแล้ว
ประทับอยู่บนพระภัทรบิฐอันขจิตด้วยทอง ณ ที่อันสมควร
[๑๒๒๘] พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรเห็นพระนางรุจา
ประทับอยู่ท่ามกลางพระสหายหญิง
ซึ่งเป็นเหมือนสมาคมของนางเทพอัปสร
จึงได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า
[๑๒๒๙] “ลูกหญิงยังรื่นรมย์อยู่ในปราสาท
และสระโบกขรณีในภายในอุทยานอยู่หรือ
คนเหล่านั้นยังนำของเสวยเป็นอันมาก
มาให้ลูกหญิงอยู่เสมอหรือ
[๑๒๓๐] ลูกหญิงและเพื่อนหญิงของลูก
ยังเก็บดอกไม้หลายชนิดมาร้อยเป็นพวงมาลัย
ทำเรือนหลังเล็ก ๆ แต่ละหลังเล่นเพลิดเพลินอยู่หรือ

เชิงอรรถ :
๑ ภัทรบิฐ หมายถึงตั่งทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๓๑] อีกประการหนึ่ง ลูกหญิงยังขาดแคลนบกพร่องอะไรบ้าง
คนเหล่านั้นรีบนำสิ่งของมาให้ทันใจลูกหรือ
ลูกรักผู้มีพักตร์ผ่องใส ลูกจงทำใจของเจ้าให้ผ่องใส
เช่นกับดวงจันทร์เถิด”
[๑๒๓๒] พระนางรุจาราชธิดาได้สดับพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว
ได้กราบทูลพระบิดาว่า “ข้าแต่มหาราช
หม่อมฉันได้สิ่งนี้ทั้งหมดในสำนักของพระองค์
[๑๒๓๓] พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำ เป็นวันทิพย์
ขอราชบุรุษทั้งหลายจงนำพระราชทรัพย์พันหนึ่งมาให้หม่อมฉัน
หม่อมฉันจักให้ทานแก่วณิพกทั้งปวงตามที่เคยให้มา”
[๑๒๓๔] พระเจ้าอังคติได้สดับพระดำรัส
ของพระนางรุจาแล้วตรัสว่า
ลูกหญิงทำลายทรัพย์ให้พินาศไปเสียเป็นจำนวนมาก
หาผลประโยชน์มิได้
[๑๒๓๕] ลูกหญิงรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคข้าวน้ำเป็นนิตย์
ลูกหญิงจักต้องไม่บริโภคข้าวน้ำเป็นนิตย์
บุญไม่มีแก่ผู้ไม่บริโภค
[๑๒๓๖] แม้นายวีชกะได้ฟังคำพูดของคุณาชีวกกัสสปโคตรในเวลานั้น
ถอนหายใจฮึดฮัด ร้องไห้หลั่งน้ำตาแล้ว
[๑๒๓๗] ลูกหญิงรุจาเอ๋ย ตราบใดที่ลูกยังมีชีวิตอยู่
ก็อย่าได้อดอาหารเลย ปรโลกไม่มีหรอก
ลูกหญิงจะลำบากเดือดร้อนไปทำไมไร้ประโยชน์”
[๑๒๓๘] พระนางรุจาผู้มีพระฉวีวรรณงดงาม
ได้สดับพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว
ก็ทรงทราบกฎธรรมดาในอดีต ๗ ชาติ ในอนาคต ๗ ชาติ
กราบทูลพระบิดาดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๓๙] “แต่ก่อน หม่อมฉันได้แต่ฟังเท่านั้น
หม่อมฉันได้เห็นข้อนี้อย่างประจักษ์ว่า
ผู้ใดคบหาคนพาล ผู้นั้นก็พลอยเป็นพาลไปด้วย
[๑๒๔๐] เพราะว่าคนหลงอาศัยคนหลง
ก็ยิ่งเข้าถึงความหลงหนักขึ้น
อลาตเสนาบดี และนายวีชกะสมควรจะหลง
[๑๒๔๑] ข้าแต่สมมติเทพ ส่วนพระองค์ทรงพระปรีชา
เป็นนักปราชญ์ ทรงฉลาดในอรรถ
จะทรงเป็นเหมือนพวกคนพาลเข้าถึงทิฏฐิต่ำทรามได้อย่างไร
[๑๒๔๒] แม้ถ้าสัตว์จะบริสุทธิ์ได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ
การบวชของคุณาชีวกก็ไร้ประโยชน์
เขาเป็นคนหลงใหลงมงายจะเข้าถึงความเป็นคนเปลือย
เหมือนแมลงหลงบินเข้ากองไฟที่ลุกโชน
[๑๒๔๓] คนส่วนมากผู้ไม่รู้อะไร พอได้ฟังคำของคุณาชีวกว่า
ความหมดจดมีได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ
ก็เชื่อมั่นเสียก่อนทีเดียว จึงพากันปฏิเสธกรรมและผลของกรรม
ผลที่เคยยึดถือผิดมาก่อนยากที่จะแก้ได้
เหมือนปลาติดเบ็ดยากที่จะแก้ตนออกจากเบ็ดได้
[๑๒๔๔] ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันจักยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
เพื่อประโยชน์แก่ทูลกระหม่อมเอง
บัณฑิตบางพวกในโลกนี้ย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยการเปรียบเทียบ
[๑๒๔๕] เหมือนเรือของพ่อค้าบรรทุกสินค้าหนักเกินประมาณ
ย่อมทำสินค้าที่หนักยิ่งจมดิ่งลงในมหาสมุทรฉันใด
[๑๒๔๖] คนสั่งสมบาปกรรมไว้ทีละน้อย ๆ
ก็จะพาเอาบาปกรรมที่หนักอย่างยิ่ง
จมดิ่งลงในนรกฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๔๗] ขอเดชะเสด็จพ่อ ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
อกุศลอันหนักของอลาตเสนาบดียังไม่บริบูรณ์ก่อน
อลาตเสนาบดีสั่งสมแต่บาปที่เป็นเหตุให้ไปทุคติ
[๑๒๔๘] ขอเดชะเสด็จพ่อ ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
การที่อลาตเสนาบดีได้รับความสุขอยู่ในบัดนี้
เป็นผลบุญที่ตนได้เคยทำไว้ในปางก่อนนั่นเอง พระเจ้าข้า
[๑๒๔๙] บุญของอลาตเสนาบดีนั้นกำลังจะหมดสิ้น
จริงอย่างนั้น บัดนี้ อลาตเสนาบดี
จึงกลับมายินดีในอกุศลกรรมที่ไม่ใช่คุณ
เลิกละทางตรงไปตามทางผิด
[๑๒๕๐] ตราชั่งที่กำลังชั่งของต่ำลงข้างหนึ่ง
เมื่อเอาของหนักออก ข้างที่ต่ำจะสูงขึ้นฉันใด
[๑๒๕๑] นรชนก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อสั่งสมบุญทีละน้อย ๆ ย่อมไปสู่สวรรค์
เหมือนนายวีชกะผู้เป็นทาสยินดีในกรรมอันงาม
[๑๒๕๒] นายวีชกะผู้เป็นทาสเห็นทุกข์ในตนวันนี้
เพราะได้ประสบบาปกรรม
ที่ตนเคยได้ทำไว้ในปางก่อนนั่นเอง
[๑๒๕๓] บาปกรรมของเขากำลังจะหมดสิ้นไป
บัดนี้ เขาจึงกลับมายินดีในข้อแนะนำ
ทูลกระหม่อมอย่าคบกัสสปคุณาชีวกเลย
ขอพระองค์อย่าดำเนินทางผิดเลย
[๑๒๕๔] ข้าแต่พระบิดา บุคคลคบบุคคลเช่นใด
เป็นสัตบุรุษผู้มีศีล หรืออสัตบุรุษผู้ไม่มีศีล
เขาย่อมตกอยู่ในอำนาจของบุคคลนั้นเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๕๕] บุคคลทำคนเช่นใดให้เป็นมิตรและคบหาคนเช่นใด
แม้เขาก็ย่อมเป็นคนเช่นนั้น
เพราะการอยู่ร่วมกันก็เป็นเช่นนั้น
[๑๒๕๖] ผู้คบย่อมแปดเปื้อนคนคบ
ผู้สัมผัสย่อมแปดเปื้อนคนสัมผัส
เหมือนลูกศรอาบยาพิษย่อมเปื้อนแล่ง
เพราะกลัวจะแปดเปื้อน นักปราชญ์ไม่ควรมีคนชั่วเป็นสหาย
[๑๒๕๗] การคบหาคนพาลก็เหมือนคนเอาใบไม้ห่อปลาเน่า
แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไปด้วย
[๑๒๕๘] การคบนักปราชญ์ก็เหมือนคนเอาใบไม้ห่อกฤษณา
แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นหอมฟุ้งไปด้วย
[๑๒๕๙] เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ความเป็นบัณฑิตของตน
ดังใบไม้สำหรับห่อแล้ว จึงเลิกคบอสัตบุรุษ คบแต่สัตบุรุษ
อสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก ส่วนสัตบุรุษย่อมนำให้ถึงสุคติ
[๑๒๖๐] แม้หม่อมฉันก็ระลึกชาติที่ตนได้ท่องเที่ยวมาแล้ว
ได้ ๗ ชาติ และรู้ชาติที่ตนจุติจากโลกนี้แล้ว
จักไปเกิดในอนาคตอีก ๗ ชาติ
[๑๒๖๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปกครองประชาชน
ชาติที่ ๗ ของหม่อมฉันในอดีต
หม่อมฉันได้เกิดเป็นบุตรชายของนายช่างทอง
ในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
[๑๒๖๒] หม่อมฉันอาศัยสหายชั่วทำบาปกรรมไว้มาก
เที่ยวประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่นเหมือนจะไม่ตาย
[๑๒๖๓] กรรมนั้นยังไม่ทันให้ผลเหมือนไฟที่ถูกกลบไว้ด้วยเถ้า
ต่อมา ด้วยกรรมอื่น ๆ หม่อมฉันจึงได้เกิดในแคว้นวังสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๖๔] ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันเป็นบุตรคนเดียว
ในตระกูลเศรษฐีที่มั่งคั่งสมบูรณ์
มีทรัพย์มากในกรุงโกสัมพี
ได้รับสักการะบูชาอยู่เป็นนิตย์
[๑๒๖๕] ในชาตินั้น หม่อนฉันได้คบหามิตรสหาย
ผู้ยินดีในกรรมอันงาม ผู้เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต
สหายนั้นได้แนะนำให้หม่อมฉันตั้งอยู่ในกรรมอันเป็นประโยชน์
[๑๒๖๖] หม่อมฉันได้รักษาอุโบสถศีล
ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ตลอดราตรีเป็นอันมาก
กรรมนั้นยังไม่ทันให้ผลเหมือนขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้น้ำ
[๑๒๖๗] ครั้นต่อมา บรรดาบาปกรรมทั้งหลาย
กรรมคือการล่วงละเมิดภรรยาของผู้อื่นใด
ที่หม่อมฉันได้กระทำไว้ในแคว้นมคธ
ผลของกรรมนั้นได้มาถึงหม่อมฉันเข้าแล้วในภายหลัง
เหมือนดื่มยาพิษอันร้ายแรง
[๑๒๖๘] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ
หม่อมฉันจุติจากตระกูลเศรษฐีในกรุงโกสัมพีนั้นแล้ว
ต้องหมกไหม้อยู่ในโรรุวนรกตลอดกาลนาน
เพราะกรรมของตน หม่อมฉันระลึกถึงทุกข์
ที่ตนเคยได้เสวยมาในนรกนั้น ไม่ได้รับความสุขเลย
[๑๒๖๙] หม่อมฉันทำทุกข์มากมายให้หมดสิ้นไป
ในนรกนั้นมากมายหลายปีแล้ว
จึงเกิดเป็นลาถูกตอนอยู่ในภินนาคตนคร พระเจ้าข้า
[๑๒๗๐] หม่อนฉันต้องพาลูกอำมาตย์ไปด้วยหลังบ้าง ด้วยรถบ้าง
นั่นเป็นผลของกรรมที่ล่วงละเมิดภรรยาของคนอื่นของหม่อมฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ครองแคว้นวิเทหะ
หม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลานั้นแล้วได้ไปเกิดเป็นลิงในป่าใหญ่
ถูกหัวหน้าฝูงตัวคะนองกัดลูกอัณฑะออก
นั่นเป็นผลของกรรมที่ล่วงละเมิดภรรยาของคนอื่นของหม่อมฉัน
[๑๒๗๒] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ
หม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลิงนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดเป็นโคในแคว้นทสันนะ ถูกตอน มีกำลังแข็งแรงดี
หม่อมฉันต้องเทียมยานอยู่เป็นเวลานาน
นั่นเป็นผลของกรรมที่ล่วงละเมิดภรรยาผู้อื่นของหม่อมฉัน
[๑๒๗๓] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ
หม่อมฉันจุติจากชาติเป็นโคนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดเป็นกระเทยในตระกูลที่มีโภคสมบัติมากในแคว้นวัชชี
จะได้เกิดเป็นมนุษย์ก็แสนยาก
นั่นเป็นผลของกรรมคือการล่วงละเมิดภรรยาคนอื่นของหม่อมฉัน
[๑๒๗๔] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ
หม่อมฉันจุติจากชาติเป็นกระเทยนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดเป็นนางอัปสรในพระอุทยานนันทวันชั้นดาวดึงสพิภพ
มีฉวีวรรณงามน่ารักใคร่
[๑๒๗๕] มีผ้าและอาภรณ์งามวิจิตร ใส่ตุ้มหูแก้วมณี
เก่งในการฟ้อนรำขับร้อง เป็นปริจาริกาของท้าวสักกะ
[๑๒๗๖] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ
เมื่อหม่อนฉันอยู่ในชั้นดาวดึงสพิภพนั้น
ระลึกชาติแม้ในอนาคตได้อีก ๗ ชาติ
ที่หม่อมฉันจุติจากดาวดึงสพิภพนั้นแล้วจักเกิดต่อไป
[๑๒๗๗] กุศลที่หม่อมฉันได้ทำไว้ในกรุงโกสัมพีได้ตามมาให้ผล
หม่อมฉันจุติจากดาวดึงสพิภพแล้ว
ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๗๘] ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันนั้น
ได้รับสักการะบูชาเป็นนิตย์มาตลอด ๗ ชาติ
หม่อมฉันไม่พ้นจากความเป็นหญิงตลอด ๖ ชาติ
[๑๒๗๙] ข้าแต่สมมติเทพ ชาติที่ ๗
หม่อมฉันจักได้เกิดเป็นเทวดาผู้ชาย
คือ เป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้สูงสุดในหมู่เทวดา
[๑๒๘๐] แม้วันนี้ เหล่านางอัปสรผู้เป็นปริจาริกาของหม่อมฉัน
ยังช่วยกันร้อยดอกไม้เป็นพวงมาลัยอยู่ในพระอุทยานนันทวัน
เทพบุตรนามว่าชวะ ยังรับพวงมาลัยของหม่อมฉันอยู่
[๑๒๘๑] ๑๖ ปีในมนุษย์นี้เป็นเหมือนครู่หนึ่งของเทวดา
๑๐๐ ปีของมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดา
[๑๒๘๒] ดังที่ได้กราบทูลมานี้ กรรมทั้งหลายติดตามไปได้
แม้ตั้งอสงไขยชาติ
ด้วยว่ากรรมจะดีหรือชั่วก็ตามย่อมไม่พินาศไป
[๑๒๘๓] บุคคลใดปรารถนาจะเป็นชายทุก ๆ ชาติไป
บุคคลนั้นพึงเว้นภรรยาผู้อื่นเสีย
เหมือนคนล้างเท้าสะอาดแล้วเว้นเปือกตม
[๑๒๘๔] หญิงใดปรารถนาจะเป็นชายทุก ๆ ชาติไป
หญิงนั้นก็พึงยำเกรงสามีเหมือนนางเทพอัปสร
ผู้เป็นปริจาริกายำเกรงพระอินทร์
[๑๒๘๕] ผู้ใดปรารถนาโภคทรัพย์ อายุ ยศ และสุขทิพย์
ผู้นั้นพึงเว้นบาปทั้งหลายแล้วประพฤติธรรม ๓ อย่าง๑เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ๓ อย่าง ในที่นี้หมายถึงสุจริต ๓ ที่เป็นไปทางกาย วาจา ใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๘๖] หญิงหรือชายก็ตาม ไม่ประมาทด้วยกาย วาจา ใจ
เป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ของตน
[๑๒๘๗] มนุษย์เหล่าใดในชีวโลกนี้
เป็นผู้มียศ มีโภคทรัพย์บริบูรณ์ทุกอย่าง
มนุษย์เหล่านั้นได้สั่งสมกรรมดีไว้ในปางก่อนโดยไม่ต้องสงสัย
สัตว์ทั้งปวงล้วนมีกรรมเป็นของของตน
[๑๒๘๘] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงพระราชดำริ
ด้วยพระองค์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
พระสนมผู้ทรงโฉมงามปานดังนางเทพอัปสร
ประดับประดาคลุมกายด้วยข่ายทองเหล่านี้
พระองค์ทรงได้มาเพราะผลแห่งกรรมอะไร”
[๑๒๘๙] พระนางรุจาราชกัญญาทรงให้พระเจ้าอังคติ
พระชนกนาถพอพระทัย พระราชกุมารีผู้มีวัตรดีงาม
ทรงกราบทูลทางแห่งสุคติแก่พระชนกนาถพระองค์นั้นแล้ว
เหมือนบอกทางให้แก่คนหลงทาง
และได้กราบทูลข้อธรรมถวายด้วยประการฉะนี้
[๑๒๙๐] ต่อมา นารทมหาพรหมตรวจดูชมพูทวีป
ได้เห็นพระเจ้าอังคติ จึงมาจากพรหมโลกถึงถิ่นมนุษย์
[๑๒๙๑] ลำดับนั้น นารทมหาพรหมได้ยืนอยู่ที่ปราสาท
เบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าวิเทหะ
พระนางรุจาราชกัญญาได้เห็นนารทฤๅษีนั้น
มาถึงที่แล้ว จึงนมัสการ
[๑๒๙๒] ครั้งนั้น พระราชาทรงมีพระทัยหวาดกลัว
เสด็จลงจากราชอาสน์ เมื่อจะตรัสถามนารทฤๅษี
จึงได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๙๓] “ท่านผู้มีผิวงามดังเทวดา
ส่องสว่างไปทั่วทุกทิศดังดวงจันทร์
ท่านมาจากที่ไหนหนอ ข้าพเจ้าถามแล้ว
ขอท่านจงบอกนามและโคตรแก่ข้าพเจ้า
คนทั้งหลายในมนุษยโลกย่อมรู้จักท่านได้อย่างไร”
(นารทฤๅษีกราบทูลว่า)
[๑๒๙๔] อาตมภาพมาจากเทวโลก ณ บัดนี้เอง
ส่องสว่างไปทั่วทุกทิศดังดวงจันทร์
มหาบพิตรตรัสถามแล้ว
อาตมภาพขอถวายพระพรนามและโคตรให้ทรงทราบ
คนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพโดยนามว่านารทะ
และโดยโคตรว่า กัสสปะ
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๑๒๙๕] สัณฐานของท่าน การที่ท่านเหาะไป
และยืนอยู่บนอากาศได้น่าอัศจรรย์
ท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่าน
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงมีฤทธิ์เช่นนี้
(นารทฤๅษีทูลตอบว่า)
[๑๒๙๖] คุณธรรม ๔ ประการนี้ คือ (๑) สัจจะ (๒) ธรรม
(๓) ทมะ (๔) จาคะ๑ อาตมภาพได้ทำไว้แล้วในภพก่อน
เพราะคุณธรรมที่อาตมภาพได้เสพมาดีแล้วนั้นแหละ
อาตมภาพจึงไปได้เร็วทันใจตามความปรารถนา

เชิงอรรถ :
๑ คุณธรรม ๔ ประการนี้ มีอธิบาย ดังนี้ สัจจะ หมายถึงวจีสัจที่เว้นจากมุสาวาท ธรรม หมายถึงธรรม
คือสุจริต ๓ และธรรมคือการเพ่งกสิณบริกรรม (การปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน) ทมะ หมายถึงการฝึก
อินทรีย์ (สำรวมทวาร ๖) จาคะ หมายถึงการสละกิเลสและการสละไทยธรรม (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๒๙๘/๑๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๑๒๙๗] เมื่อท่านบอกความสำเร็จแห่งบุญ
ชื่อว่าท่านบอกความอัศจรรย์
ถ้าเป็นจริงอย่างที่ท่านกล่าว ท่านนารทะ
ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่าน
ขอท่านจงพยากรณ์ให้ดี
(นารทฤๅษีทูลตอบว่า)
[๑๒๙๘] ขอถวายพระพรมหาบพิตร ข้อใดพระองค์ทรงสงสัย
ขอเชิญมหาบพิตรตรัสถามข้อนั้นกับอาตมภาพเถิด
อาตมภาพจะวิสัชนาถวายให้มหาบพิตรทรงสิ้นสงสัย
ทั้งโดยนัยด้วยความรู้และด้วยเหตุผล
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๑๒๙๙] ท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่าน
ท่านอย่าได้กล่าวมุสาต่อข้าพเจ้า ที่คนพูดกันว่า
“เทวดามี มารดาและบิดามี ปรโลกมี” นั้นเป็นจริงหรือ
(นารทฤๅษีทูลตอบว่า)
[๑๓๐๐] ที่คนพูดกันว่า “เทวดามี มารดาและบิดามี
และปรโลกมี” นั้นเป็นจริงทั้งนั้น
แต่คนทั้งหลายหมกมุ่น ติดใจ หลงใหล
งมงายในกามคุณ จึงไม่รู้จักปรโลก
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๑๓๐๑] ท่านนารทะ ถ้าท่านเชื่อว่า “ปรโลกมีจริง”
เหล่าสัตว์ที่ตายไปแล้วก็ต้องมีที่อยู่ในปรโลก
ขอท่านจงให้ทรัพย์ ๕๐๐ แก่ข้าพเจ้าในโลกนี้แหละ
ข้าพเจ้าจักให้แก่ท่านพันหนึ่งในปรโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
(นารทฤๅษีทูลตอบว่า)
[๑๓๐๒] ถ้าอาตมภาพรู้ว่า “มหาบพิตรทรงมีศีล
ทรงรู้ความประสงค์ของพวกผู้ขอ
อาตมภาพก็จะให้มหาบพิตรสัก ๕๐๐
แต่มหาบพิตรหยาบช้า ทรงจุติจากโลกนี้แล้ว
จะต้องไปอยู่ในนรก
ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกได้
[๑๓๐๓] ผู้ใดในโลกนี้ไม่มีศีลธรรม ประพฤติชั่ว
เกียจคร้าน มีกรรมหยาบ
บัณฑิตทั้งหลายไม่ให้กู้หนี้ในผู้นั้น
เพราะจะไม่ได้ทรัพย์คืนจากคนเช่นนั้น
[๑๓๐๔] ส่วนคนขยันหมั่นเพียร มีศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
คนทั้งหลายรู้แล้วย่อมนำโภคทรัพย์มาเชื้อเชิญเอง
ด้วยคิดว่า “ผู้นี้ทำการงานเสร็จแล้วพึงนำมาใช้คืนให้”
[๑๓๐๕] ขอถวายพระพร มหาบพิตรจุติจากที่นี่แล้ว
จักทอดพระเนตรเห็นพระองค์เองอยู่ในนรกนั้น
ผู้ถูกฝูงกายื้อแย่งฉุดคร่าอยู่
ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร
ผู้ตกอยู่ในนรกซึ่งถูกฝูงกา แร้ง และสุนัขรุมกัดกิน
ตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรมอยู่
[๑๓๐๖] ในโลกันตนรกนั้นมืดมิดที่สุด
ไม่มีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
โลกันตนรกนั้นมืดมิดอยู่เป็นนิตย์ น่ากลัว
กลางคืนกลางวันไม่ปรากฏ ผู้ต้องการทรัพย์
ใครเล่าจะพึงเที่ยวไปในสถานที่นั้นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๓๐๗] ในโลกันตนรกนั้นมีสุนัข ๒ ตัว คือ
สุนัขด่างและสุนัขดำคล้ำ มีตัวกำยำ ล่ำสัน แข็งแรง
พากันใช้เขี้ยวเหล็กกัดกินผู้ที่จุติจากมนุษยโลกนี้แล้ว
ไปตกอยู่ในนรก
[๑๓๐๘] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร
ผู้ถูกฝูงสุนัขทารุณโหดร้าย ตัวนำทุกข์มาให้รุมกัดกินอยู่
อยู่ในนรกจนตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรม
[๑๓๐๙] และในนรกที่โหดร้าย มีพวกนายนิรยบาลชื่อกาฬะและอุปกาฬะ
ผู้เป็นข้าศึกใช้ดาบและหอกที่ลับไว้เป็นอย่างดี
เชือดเฉือนและทิ่มแทงคนผู้ทำกรรมชั่วไว้ในภพก่อน
[๑๓๑๐] ใครเล่าจะพึงไปทวงถามเอาทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลก
กับมหาบพิตรผู้ถูกทิ่มแทงเข้าที่พระอุทร
ที่พระปรัศว์ มีพระอุทรพรุนวิ่งไปมาอยู่ในนรก
มีตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้
[๑๓๑๑] ในโลกันตนรกนั้น มีห่าฝนชนิดต่าง ๆ คือ ฝนหอก
ฝนดาบ ฝนแหลน ฝนหลาว มีประกายลุกวาว
เหมือนถ่านเพลิงตกลงบนศีรษะ
สายอัสนีบาตศิลาแดงโชนตกลงทับสัตว์นรกผู้มีกรรมหยาบช้า
[๑๓๑๒] และในนรกนั้น มีลมร้อนอันยากที่จะทนได้
สัตว์ในนรกนั้นไม่ได้รับความสุขแม้แต่น้อย
ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร
ผู้ทรงกระสับกระส่ายวิ่งพล่านไปมา หาที่ซ่อนเร้นมิได้
[๑๓๑๓] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร
ผู้ถูกเทียมไว้ในรถวิ่งไปมาอยู่
ต้องทรงเหยียบแผ่นดินที่ลุกโชน
ถูกทิ่มแทงด้วยดีด้วยปฏักอยู่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๓๑๔] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กับมหาบพิตร
ผู้ทนอยู่ไม่ได้วิ่งไปขึ้นภูเขาที่ดารดาษไปด้วยขวากกรด
ลุกโชนน่าสยดสยองอย่างยิ่ง มีตัวถูกตัดขาด
หลั่งเลือดไหลโทรมอยู่ได้
[๑๓๑๕] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร
ผู้ต้องวิ่งขึ้นไปเหยียบถ่านเพลิงกองเท่าภูเขาที่ลุกโชน
น่ากลัว มีตัวถูกไฟไหม้ทนไม่ไหว
ร้องครวญครางอย่างน่าสงสารอยู่ได้
[๑๓๑๖] ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยหนามเหล็กคม
กระหายจะดูดดื่มเลือดคน
[๑๓๑๗] หญิงทั้งหลายที่ประพฤตินอกใจสามี
และชายหญิงทั้งหลายที่เป็นชู้กับภรรยาของคนอื่น
ถูกนายนิรยบาลผู้ทำตามคำสั่งของพญายม
ถือหอกไล่ทิ่มแทงให้ขึ้นต้นงิ้วนั้น
[๑๓๑๘] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์นั้น
กับมหาบพิตรผู้ต้องปีนขึ้นต้นงิ้วในนรก
มีเลือดไหลเปรอะเปื้อน มีกายไหม้เกรียม
มีหนังและเนื้อถลอกปอกเปิกกระสับกระส่าย
เสวยเวทนาอย่างหนัก
[๑๓๑๙] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์นั้นกับมหาบพิตร
ผู้เหนื่อยหอบมีความผิดเพราะบุรพกรรมในทางผิด
เนื้อตัวมีหนังถลอกปอกเปิกไป
[๑๓๒๐] ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยใบเหล็กคมดังดาบ
กระหายจะดูดดื่มเลือดคน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๓๒๑] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กับมหาบพิตร
ผู้กำลังปีนขึ้นต้นงิ้วนั้น
ก้าวไปเหยียบใบเหล็กอันคมเหมือนดาบ
ก็ถูกดาบอันคมนั้นบาด ตัวขาดกระจัดกระจาย
เลือดไหลโทรมอยู่ในปรโลกได้
[๑๓๒๒] ทรัพย์จำนวนนั้น ใครเล่าจะพึงไปขอกับมหาบพิตร
ผู้เดินหนีออกจากขุมนรกไม้งิ้วมีใบเป็นดาบ
พลัดตกลงไปสู่แม่น้ำเวตตรณีได้
[๑๓๒๓] แม่น้ำเวตตรณีมีน้ำเป็นกรด หยาบแข็ง
เผ็ดร้อน ข้ามได้ยาก
ปกคลุมไปด้วยบัวเหล็กมีใบคมไหลไปอยู่
[๑๓๒๔] ทรัพย์จำนวนนั้น ใครเล่าจะไปขอกับมหาบพิตร
ผู้มีตัวขาดกระจัดกระจาย มีเลือดเปรอะเปื้อน
ลอยอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี ที่นั้นหาที่เกาะมิได้
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๓๒๕] ข้าพเจ้าแทบจะล้มเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัด
ข้าพเจ้าหลงสำคัญผิด จึงไม่รู้จักทิศ ท่านฤๅษี
ข้าพเจ้าได้ฟังคาถาภาษิตของท่านแล้ว
ร้อนใจ เพราะกลัวมหาภัย
[๑๓๒๖] ท่านฤๅษี ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า
เหมือนน้ำสำหรับแก้กระหายในเวลาร้อน
เหมือนเกาะเป็นที่พึ่งของพวกคนที่มีเรืออับปาง
หาที่พึ่งไม่ได้ในมหาสมุทร
และเหมือนดวงประทีปสำหรับส่องทาง
ของพวกคนผู้เดินทางมืดเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๓๒๗] ท่านฤๅษี ขอท่านจงสอนอรรถและธรรมแก่ข้าพเจ้า
ในกาลก่อน ข้าพเจ้าได้ทำความผิดไว้ส่วนเดียว
ท่านนารทะ ขอท่านจงบอกทางบริสุทธิ์แก่ข้าพเจ้า
โดยที่ข้าพเจ้าจะไม่พึงตกไปในนรกด้วยเถิด
(นารทฤๅษีกราบทูลว่า)
[๑๓๒๘] พระราชา ๖ พระองค์นี้ คือ (๑) ท้าวธตรัฏฐะ
(๒) ท้าวเวสสามิตะ (๓) ท้าวอัฏฐกะ
(๔) ท้าวยมทัคคิ (๕) ท้าวอุสินนระ
(๖) ท้าวสิวิราช ได้ทรงบำรุงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายแล้ว
[๑๓๒๙] พระราชาเหล่านั้นและพระราชาเหล่าอื่นเสด็จไปสู่สวรรค์ฉันใด
มหาบพิตรผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน แม้มหาบพิตรก็ฉันนั้น
จงทรงเว้นอธรรมแล้วทรงประพฤติธรรมเถิด
[๑๓๓๐] ราชบุรุษทั้งหลายจงถืออาหารไปประกาศในพระราชนิเวศน์
และภายในพระนครว่า ใครหิว ใครกระหาย
ใครปรารถนาดอกไม้ ใครปรารถนาเครื่องลูบไล้
ใครไม่มีผ้านุ่งห่ม ก็จงนุ่งห่มผ้าสีต่าง ๆ ตามปรารถนาเถิด
[๑๓๓๑] ใครต้องการร่ม ใครต้องการรองเท้าที่อ่อนนุ่ม สวยงาม
ในทางเปลี่ยว ราชบุรุษทั้งหลายจงประกาศไปดังนี้
ในพระนครของพระองค์ทั้งในเวลาเย็นและเวลาเช้า
[๑๓๓๒] มหาบพิตรจงอย่าใช้งานคนแก่ โคแก่
และม้าแก่เหมือนแต่ก่อน
และจงพระราชทานเครื่องบริหารแก่คนที่เป็นกำลัง
ซึ่งเคยได้ทำความดีไว้เท่าเดิมเถิด
[๑๓๓๓] มหาบพิตรจงสำคัญพระวรกายของพระองค์ว่าเป็นดังรถ
มีใจเป็นนายสารถี กระปรี้กระเปร่า
มีอวิหิงสาเป็นเพลา มีปริจาคะเป็นหลังคา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๓๓๔] มีการสำรวมเท้าเป็นกง
มีการสำรวมมือเป็นดุม
มีการสำรวมท้องเป็นน้ำมันหยอด
มีการสำรวมวาจาเป็นความเงียบสนิท
[๑๓๓๕] มีการกล่าวคำสัตย์เป็นส่วนประกอบรถที่บริสุทธิ์
มีการไม่กล่าวคำส่อเสียดเป็นการเข้าหน้าไม้ได้สนิท
มีการกล่าวคำอ่อนหวานเป็นเครื่องรถที่เกลี้ยงเกลา
มีการกล่าวพอประมาณเป็นเครื่องผูกมัด
[๑๓๓๖] มีศรัทธาและความไม่โลภเป็นเครื่องประดับ
มีความถ่อมตนและการทำอัญชลีเป็นธูป
มีความไม่แข็งกระด้างเป็นงอน
มีความสำรวมศีลเป็นเชือกขันชะเนาะ
[๑๓๓๗] มีความไม่โกรธเป็นเครื่องกันกระทบกระทั่ง
มีคุณธรรมเป็นเศวตฉัตร
มีพาหุสัจจะเป็นสายพาน
มีจิตตั้งมั่นเป็นที่มั่น
[๑๓๓๘] มีความคิดรู้จักกาลเป็นไม้แก่น
มีความแกล้วกล้าเป็นไม้ค้ำสามแฉก
มีความประพฤติถ่อมตนเป็นเชือกขันแอก
มีความไม่เย่อหยิ่งเป็นแอกเบา
[๑๓๓๙] มีจิตไม่หดหู่เป็นเครื่องลาด
มีการคบคนผู้เจริญเป็นเครื่องกำจัดธุลี
นักปราชญ์มีสติเป็นปฏัก
มีความเพียรและการใช้การปฏิบัติเกื้อกูลเป็นสายบังเหียน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๓๔๐] มีใจที่ฝึกฝนดีแล้วเหมือนม้า
ที่ได้รับฝึกสม่ำเสมอเป็นเครื่องนำทาง
ความปรารถนาและความโลภเป็นทางคด
ส่วนความสำรวมเป็นทางตรง
[๑๓๔๑] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
ปัญญาเป็นเครื่องทิ่มแทงม้า
ในรถคือพระวรกายของมหาบพิตร
ที่กำลังโลดแล่นไปในรูป เสียง กลิ่น รส
ในรถคือพระวรกายของมหาบพิตรนั้น
มีตนคือจิตของพระองค์เท่านั้นเป็นนายสารถี
[๑๓๔๒] ถ้าความประพฤติชอบ
และความเพียรมั่นคงมีอยู่กับยานนี้
รถนั้นจะให้สมบัติที่น่าใคร่ได้ทุกอย่างและไม่นำไปเกิดในนรก
(พระศาสดาทรงประชุมชาดก ดังนี้)
[๑๓๔๓] อลาตเสนาบดีเป็นพระเทวทัต
สุนามอำมาตย์เป็นพระภัททชิ
วิชัยอำมาตย์เป็นพระสารีบุตร
ชีวกบุรุษเป็นพระโมคคัลลานะ
[๑๓๔๔] สุนักขัตตะเป็นบุตรของเจ้าลิจฉวี คุณาชีวกเป็นชีเปลือย
พระนางรุจาราชธิดาผู้ทรงนำพระราชาให้ทรงเลื่อมใส
เป็นพระอานนท์
[๑๓๔๕] พระเจ้าอังคติผู้มีทิฏฐิชั่วในครั้งนั้นเป็นพระอุรุเวลกัสสปะ
ท้าวมหาพรหมโพธิสัตว์เป็นเราตถาคต
พวกเธอจงทรงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้แล
มหานารทกัสสปชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
๙. วิธุรชาดก๑ (๕๔๖)
ว่าด้วยวิธุรบัณฑิตบำเพ็ญปัญญาบารมี
โทหฬกัณฑ์
ตอนว่าด้วยความแพ้ท้อง
(พญานาคตรัสถามนางนาควิมลามเหสีว่า)
[๑๓๔๖] “เธอมีผิวพรรณเหลือง ซูบผอม มีกำลังน้อย
เมื่อก่อน ผิวพรรณของเธอมิได้เป็นเช่นนี้เลย
น้องวิมลา พี่ถามแล้ว ขอเธอจงบอก
เวทนาในร่างกายของเธอเป็นเช่นไร”
(นางนาควิมลาทูลตอบว่า)
[๑๓๔๗] “พระองค์ผู้เป็นจอมชน ชื่อว่าความแพ้ท้อง
เป็นธรรมดาของมารดาทั้งหลายในหมู่มนุษย์
พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในหมู่นาค
หม่อมฉันปรารถนาอย่างยิ่งซึ่งดวงหทัย
ของวิธุรบัณฑิตที่นำมาได้โดยชอบธรรม พระเจ้าข้า”
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๓๔๘] “เธอแพ้ท้องปรารถนาหทัยของวิธุรบัณฑิต
ก็จะเหมือนกับปรารถนาดวงจันทร์
และดวงอาทิตย์ หรือปรารถนาลม
เพราะว่าวิธุรบัณฑิตยากที่บุคคลจะพบได้
ใครเล่าจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ได้”

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภการบำเพ็ญปัญญาบารมี ตรัสวิธุรชาดกนี้ ซึ่งมีคำ
เริ่มต้นว่า เธอมีผิวพรรณเหลือง ซูบผอม มีกำลังน้อย ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
(นางนาคอิรันทดีผู้ธิดากราบทูลว่า)
[๑๓๔๙] “ข้าแต่พระบิดา เหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงซบเซาอยู่
พระพักตร์ของพระองค์เหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ
ข้าแต่พระบิดาผู้เป็นอิสราธิบดี เป็นที่เกรงขามของศัตรู
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงทุกข์พระทัย
ขออย่าทรงเศร้าโศกเลย พระเจ้าข้า”
(พญานาควรุณตรัสว่า)
[๑๓๕๐] “อิรันทดีลูกรัก มารดาของเจ้าปรารถนาซึ่งดวงหทัย
ของวิธุรบัณฑิต เพราะวิธุรบัณฑิตยากที่ใครจะพบได้
ใครเล่าจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ได้
[๑๓๕๑] เจ้าจงเที่ยวไปแสวงหาสามี
ผู้ซึ่งจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้”
นางนาคมาณวิกานั้นได้สดับพระดำรัสของพระบิดาแล้ว
มีจิตชุ่มด้วยกิเลสออกไปเที่ยวตลอดคืน
(นางนาคอิรันทดีกล่าวว่า)
[๑๓๕๒] “คนธรรพ์ รากษส นาค กินนร หรือมนุษย์พวกไหน
คนไหนเป็นบัณฑิตสามารถจะให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงได้
เขาจักเป็นสามีของเราตลอดกาล”
(เสนาบดียักษ์กล่าวว่า)
[๑๓๕๓] “นางผู้มีนัยน์ตาหาที่ติมิได้ ขอเธอจงเบาใจเถิด
เราจักเป็นผู้เลี้ยงดูเธอ
เพราะปัญญาของเราสามารถจะนำเนื้อดวงหทัย
ของวิธุรบัณฑิตมาให้ได้
ขอจงเบาใจเถิด เธอจักเป็นภรรยาของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
[๑๓๕๔] นางอิรันทดีผู้มีใจกำหนัดรักใคร่
เพราะเคยร่วมอภิรมย์กันมาในภพก่อน
ได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ว่า
“มาเถิดท่าน เราจักไปในสำนักของพระบิดาของฉัน
พระบิดาของฉันนี่แหละจักตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ท่าน”
[๑๓๕๕] นางอิรันทดีประดับตกแต่งนุ่งผ้าเรียบร้อยแล้ว
ทัดทรงดอกไม้ประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์
จูงมือปุณณกยักษ์เข้าไปยังสำนักของพระบิดา
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๓๕๖] “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหมู่นาค
ขอพระองค์ได้โปรดสดับถ้อยคำของข้าพระองค์
ขอพระองค์จงทรงรับสินสอดตามสมควร
ข้าพระองค์ปรารถนาพระนางอิรันทดี
ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพระองค์
ได้อยู่ร่วมกับพระนางอิรันทดีเถิด
[๑๓๕๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์โปรดได้ทรงพระกรุณารับสินสอดนั้น
คือ ช้าง ๑๐๐ เชือก ม้า ๑๐๐ ตัว
รถที่เทียมด้วยม้าอัสดร ๑๐๐ คัน
เกวียนบรรทุกของเต็มด้วยรัตนะต่าง ๆ ๑๐๐ เล่ม
ขอได้โปรดพระราชทานพระราชธิดาอิรันทดีให้แก่ข้าพระองค์เถิด”
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๓๕๘] “ขอท่านจงรออยู่จนกว่าเราจะได้ปรึกษาหารือ
กับบรรดาญาติ มิตร และเพื่อนที่สนิทเสียก่อน
(เพราะ)กรรมที่กระทำลงไปโดยไม่ได้ปรึกษาหารือกันนั้น
ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๓๕๙] ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์
ปรึกษากับพระชายา ตรัสคำนี้ว่า
[๑๓๖๐] “ปุณณกยักษ์นี้นั้นมาขอลูกอิรันทดีกับเรา
เราจะให้ลูกอิรันทดีผู้เป็นที่รักของเราแก่ปุณณกยักษ์นั้น
เพราะได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจเป็นจำนวนมากหรือ”
(นางนาควิมลามเหสีกราบทูลว่า)
[๑๓๖๑] “ปุณณกยักษ์ไม่พึงได้ลูกอิรันทดีของเรา
เพราะทรัพย์ เพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจ
แต่ถ้าปุณณกยักษ์จะพึงได้หทัยของบัณฑิต
นำมาในนาคพิภพนี้ได้โดยชอบธรรม
เขาจะพึงได้ลูกสาวของเราเพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจนั้น
หม่อมฉันไม่ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งกว่านี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๓๖๒] ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จออกจากนิเวศน์
ตรัสเรียกปุณณกยักษ์มาแล้วตรัสดังนี้ว่า
[๑๓๖๓] “ท่านไม่พึงได้ลูกอิรันทดีของเรา
เพราะทรัพย์ เพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจ
ถ้าท่านได้หทัยของบัณฑิตนำมาในนาคพิภพนี้ได้โดยชอบธรรม
ท่านจะพึงได้ลูกสาวของเราเพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจนั้น
เราไม่ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่านี้”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๓๖๔] “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐในโลกนี้
คนบางคนย่อมเรียกคนใดว่าเป็นบัณฑิต
คนอีกพวกหนึ่งกลับเรียกคนนั้นนั่นแหละว่าเป็นพาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
ในเรื่องนี้ คนทั้งหลายยังกล่าวแย้งกันอยู่
ขอพระองค์ได้ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์
พระองค์ทรงเรียกใครเล่าว่า เป็นบัณฑิต”
(พญานาควรุณตรัสว่า)
[๑๓๖๕] “บัณฑิตชื่อว่าวิธุระ ผู้ทำการสั่งสอนอรรถธรรม
แก่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ ถ้าท่านได้ยินได้ฟังมาแล้ว
ขอท่านจงไปนำบัณฑิตนั้นมา
ครั้นท่านได้มาโดยชอบธรรมแล้ว
นางอิรันทดีจงเป็นผู้บำเรอเท้า (ภรรยา) ของท่านเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๓๖๖] ฝ่ายปุณณกยักษ์ได้สดับพระดำรัสของท้าววรุณนาคราชนี้แล้ว
ก็ยินดียิ่งนัก ลุกขึ้นแล้วไปสั่งบุรุษคนใช้ของตน
ผู้อยู่ในที่นั้นนั่นแหละว่า
“เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่เตรียมไว้มาที่นี้นั่นแหละให้ได้
[๑๓๖๗] ม้าอาชาไนยตัวนั้นมีหูทั้ง ๒ ข้างประดับด้วยทอง
มีกีบหุ้มแล้วด้วยแก้วมณีแดง
มีเครื่องประดับอกทำด้วยทองชมพูนุทอันสุกปลั่ง”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า)
[๑๓๖๘] “ปุณณกยักษ์ผู้ประดับแล้ว
จัดแจงแต่งผมและหนวดดีแล้ว
ก็ขึ้นขี่ม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา
เหาะไปในอากาศกลางหาว
[๑๓๖๙] ปุณณกยักษ์นั้นกำหนัดด้วยกามราคะ
กำลังปรารถนานางอิรันทดีนาคกัญญา
ไปกราบทูลท้าวกุเวรเวสสุวรรณผู้เรืองยศเป็นใหญ่แห่งภูตว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
[๑๓๗๐] ภพนาคนั้นเขาเรียกว่า โภควดีนครบ้าง
วาสนานครบ้าง หิรัญวดีนครบ้าง
เป็นเมืองนิรมิตล้วนแต่ทองคำ
สำเร็จแก่พญานาคผู้สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ทุกอย่าง
[๑๓๗๑] ป้อมและเชิงเทินสร้างมีรูปทรงเหมือนคออูฐ
ทำด้วยแก้วแดงและแก้วลาย
ในนาคพิภพนั้น มีปราสาททำด้วยศิลา
มุงด้วยกระเบื้องทองคำ
[๑๓๗๒] ในนาคพิภพนั้น มีไม้มะม่วง ไม้หมากเม่า
ไม้หว้า ไม้ตีนเป็ด ไม้จิก
ไม้เกด ไม้ประยงค์ ไม้ราชพฤกษ์
ไม้มะม่วงหอม ไม้ชะบา และไม้ย่านทราย
[๑๓๗๓] ไม้จำปา ไม้กากะทิง มะลิซ้อน มะลิลา
และไม้กระเบา ต้นไม้ในนาคพิภพเหล่านี้
มีกิ่งโน้มเข้าหากัน ยังมณเฑียรของนาคราชให้งามยิ่งนัก
[๑๓๗๔] ในนาคพิภพนั้น มีต้นอินทผลัมสำเร็จแล้วด้วยแก้วอินทนิล
ผลิดอกล้วนแต่ทองเป็นนิตย์จำนวนมาก
ซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าววรุณนาคราชผู้มีฤทธิ์มาก ผู้ผุดเกิด
[๑๓๗๕] พญานาคนั้นมีมเหสีกำลังสาวรุ่นทรงพระนามว่าวิมลา
มีพระรูปโฉมสง่างามดังแท่งทองคำ
สูงโปร่งสะโอดสะองดังหน่อเถาจิงจ้อดำ
ทั้งคู่มีสัณฐานดังผลมะพลับงดงามน่าชมยิ่งนัก
[๑๓๗๖] มีพระฉวีวรรณแดงประดุจน้ำครั่ง
เปรียบเสมือนดอกกรรณิการ์ที่แย้มบานน้อมลง
เหมือนดังนางอัปสรที่เที่ยวไปในภพชั้นดาวดึงส์
หรือเหมือนสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
[๑๓๗๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ พระนางวิมลานั้นทรงแพ้พระครรภ์
ทรงปรารถนาซึ่งดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต
ข้าพระองค์จะถวายดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตนั้น
แก่ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมลาทั้ง ๒ พระองค์นั้น
เพราะเหตุนั้น ท้าวเธอทั้ง ๒ พระองค์นั้น
จะพระราชทานพระนางอิรันทดีให้แก่ข้าพระองค์
[๑๓๗๘] ปุณณกยักษ์นั้นทูลลาท้าวกุเวรเวสสุวรรณผู้เรืองยศ
เป็นใหญ่แห่งหมู่ยักษ์แล้ว
ไปสั่งบุรุษคนใช้ของตนในที่นั้นนั่นแหละว่า
เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่เตรียมไว้มา ณ ที่นี้เถิด
[๑๓๗๙] ม้าอาชาไนยตัวนั้นมีหูทั้ง ๒ ข้างประดับด้วยทอง
มีกีบหุ้มแล้วแก้วมณีแดง
มีเครื่องประดับอกทำด้วยทองชมพูนุทอันสุกปลั่ง
[๑๓๘๐] ปุณณกยักษ์ผู้ประดับแล้ว
จัดแจงแต่งผมและหนวดดีแล้ว
ก็ขึ้นขี่ม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา
เหาะไปในอากาศกลางหาว
[๑๓๘๑] ปุณณกยักษ์นั้นได้เหาะไปยังกรุงราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์นัก
เป็นนครของพระเจ้าอังคะที่พวกข้าศึกไม่กล้าเข้าใกล้
มีภักษาหาร ข้าว และน้ำมากมาย
ดังภพของท้าววาสวะ ซึ่งชื่อว่ามสักกสาระ
[๑๓๘๒] เป็นนครที่อึกทึกกึกก้องไปด้วยฝูงนกยูงและนกกระเรียน
อื้ออึงไปด้วยฝูงนกต่าง ๆ ชนิด
เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงนก
มีนกต่าง ๆ ส่งเสียงร่ำร้องอยู่อึงมี่
มีเนินสวยงาม ดารดาษไปด้วยดอกไม้เหมือนภูเขาหิมพานต์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
[๑๓๘๓] ปุณณกยักษ์นั้นขึ้นเวปุลลบรรพตซึ่งเป็นภูเขาศิลาล้วน
เป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่กินนร
เที่ยวแสวงหาแก้วมณีดวงประเสริฐอยู่
จึงได้เห็นแก้วมณีนั้นในท่ามกลางยอดเขา
[๑๓๘๔] ครั้นได้เห็นแก้วมณีอันมีรัศมีผุดผ่อง
เป็นแก้วมณีที่ประเสริฐสุด
สามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจมุ่งหมาย
รุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่กับหมู่แก้วบริวารเป็นอันมาก
สว่างไสวอยู่ดังสายฟ้าในอากาศ
[๑๓๘๕] จึงได้ถือแก้วไพฑูรย์ชื่อว่า มโนหรจินดา
อันมีค่ามาก มีอานุภาพมาก เป็นผู้มีวรรณะไม่ทราม
ขึ้นขี่หลังม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว
[๑๓๘๖] ปุณณกยักษ์นั้นได้เหาะไปถึงกรุงอินทปัตถ์
ลงมาแล้วเข้าไปสู่ที่ประชุมของชาวกุรุรัฐ
ไม่เกรงกลัวพระราชา ๑๐๑ พระองค์
ที่ประชุมพร้อมเพรียงกันอยู่ ณ ที่นั้น
กล่าวท้าทายด้วยสะกาว่า
[๑๓๘๗] บรรดาพระราชาในราชสมาคมนี้ พระองค์ไหนหนอ
จะทรงชิงเอาแก้วมณีอันประเสริฐของข้าพระองค์ได้
หรือข้าพระองค์จะพึงชนะพระราชาพระองค์ไหน
ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ
เมื่อชนะจะชิงเอาแก้วมณีอันประเสริฐอันยอดเยี่ยม
กับพระราชาพระองค์ไหน
อีกประการหนึ่ง พระราชาพระองค์ไหนจะทรงชนะข้าพระองค์
ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสถามว่า)
[๑๓๘๘] “ชาติภูมิของท่านอยู่แคว้นไหน
ถ้อยคำของท่านนี้ไม่ใช่ถ้อยคำของชาวกุรุรัฐเลย
ท่านมิได้เกรงกลัวเราทั้งมวลด้วยรัศมีแห่งผิวพรรณ
ท่านจงบอกชื่อและพวกพ้องของท่านแก่เรา”
(ปุณณกยักษ์ทูลตอบว่า)
[๑๓๘๙] “ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์เป็นมาณพ
กัจจายนโคตรชื่ออนูนะ
ญาติ ๆ และพวกพ้องของข้าพระองค์อยู่ในแคว้นอังคะ
ต่างก็พากันเรียกข้าพระองค์อย่างนี้
ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์มาถึงเมืองนี้
ด้วยต้องการที่จะเล่นการพนันสะกา”
(พระราชาทั้งหลายตรัสว่า)
[๑๓๙๐] “พระราชาทรงชำนาญการเล่นสะกา
เมื่อทรงชนะจะพึงนำเอาแก้วเหล่าใดไป
แก้วเหล่านั้นของมาณพมีอยู่หรือ
แก้วของพระราชามีอยู่เป็นจำนวนมาก
ท่านเป็นคนเข็ญใจจะมาพนันกับพระราชาเหล่านั้น
ผู้มีทรัพย์มากมายได้อย่างไร”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๓๙๑] “แก้วมณีของข้าพระองค์นี้
ชื่อว่าสามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา
นักเลงสะกาชนะข้าพระองค์แล้วพึงนำแก้วมณีดวงประเสริฐ
สามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา
และม้าอาชาไนยเป็นที่เกรงขามของศัตรู
ของข้าพระองค์ทั้ง ๒ นี้ไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์
(พระราชาทั้งหลายตรัสว่า)
[๑๓๙๒] “มาณพ แก้วมณีดวงเดียวจักทำอะไรได้
ส่วนม้าอาชาไนยตัวเดียวจักทำอะไรได้
แก้วมณีของพระราชามีอยู่เป็นจำนวนมาก
ม้าอาชาไนยที่มีกำลังรวดเร็วดังลม
ของพระราชามีมิใช่น้อยเลย”
โทหฬกัณฑ์จบ

มณิกัณฑ์
ตอนว่าด้วยอานุภาพแก้วมณี
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๓๙๓] “ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่าประชาชน
ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูแก้วมณีของข้าพระองค์ดวงนี้เถิด
มีรูปหญิงและรูปชายปรากฏเป็นหมู่ ๆ อยู่ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๓๙๔] มีรูปเนื้อและรูปนกปรากฏเป็นหมู่ ๆ อยู่ในแก้วมณีดวงนี้
มีพญานาคและพญาครุฑปรากฏอยู่ในแก้วมณีดวงนี้
ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูสิ่งที่น่าอัศจรรย์
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด
[๑๓๙๕] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูจตุรงคินีเสนานี้
คือ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ที่สวมเกราะอันธรรมดาได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด
[๑๓๙๖] ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรดู
เหล่าพลทหารที่จัดไว้เป็นกรม ๆ คือ
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์
[๑๓๙๗] ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูพระนคร
ที่มีป้อมพร้อมมูล มีกำแพงและค่ายเป็นอันมาก
มีถนนสามแพร่ง สี่แพร่ง มีพื้นที่สวยงาม
อันธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด
[๑๓๙๘] ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูเสาระเนียด
คูคลอง กลอนประตูเหล็ก ป้อมค่าย และซุ้มประตู
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด
[๑๓๙๙] ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูฝูงนกนานาชนิด
เป็นจำนวนมากมายที่ปลายเสาค่าย
คือ ฝูงหงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจักรพาก และนกเขา
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด
[๑๔๐๐] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูพระนคร
อันเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกชนิดต่าง ๆ
คือ ฝูงนกดุเหว่าดำ นกดุเหว่าที่มีปีกลายงดงาม ไก่ฟ้า
และนกโพระดก เป็นจำนวนมาก
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด
[๑๔๐๑] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูพระนคร
ที่ล้อมด้วยกำแพงทองคำ
น่าอัศจรรย์ชวนให้ขนพองสยองเกล้า
ชักธงขึ้นเป็นประจำ น่ารื่นรมย์ ลาดด้วยทรายทอง
[๑๔๐๒] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรร้านตลาด
ที่เต็มไปด้วยสินค้านานาชนิด
เรือน สิ่งของในเรือน ถนน ซอย และถนนหลวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์
[๑๔๐๓] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรโรงขายสุรา
นักเลงสุรา พ่อครัว เรือนครัว พ่อค้า
หญิงแพศยา หญิงงามเมือง
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๐๔] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพวกช่างดอกไม้
ช่างย้อม ช่างปรุงของหอม ช่างทอผ้า
ช่างทอง และพวกช่างแก้วมณี
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๐๕] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพวกคนทำของหวาน
คนทำของคาว พวกนักดนตรี คือ
บางพวกฟ้อนรำขับร้อง บางพวกปรบมือ บางพวกตีฉิ่ง
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๐๖] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรกลอง ตะโพน สังข์
บัณเฑาะว์ มโหระทึก และเครื่องดนตรีทุกชนิด
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๐๗] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเปิงมาง (ฉิ่ง) กังสดาล พิณ
การฟ้อนรำขับร้อง เครื่องดนตรีดีดสีตีเป่าที่เขาประโคมกึกก้อง
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๐๘] อนึ่ง ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพวกนักกระโดด
นักมวย นักเล่นกล หญิงงาม ชายงาม คนเฝ้ายาม
และช่างตัดผม ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๐๙] ก็ในแก้วมณีดวงนี้ มีมหรสพที่คลาคล่ำไปด้วยชายหญิง
ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพื้นที่สำหรับเล่นมหรสพ
บนเตียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์
[๑๔๑๐] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพวกนักมวย
ผู้กำลังชกต่อยกันอยู่ในสนามมวย
ที่วงรอบเป็นสองชั้น ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๑๑] ขอทูลเชิญทอดพระเนตรฝูงเนื้อนานาชนิด
เป็นจำนวนมากที่เชิงเขา เช่น
ราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี หมาใน เสือดาว
[๑๔๑๒] แรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง
เนื้อทราย ระมาด วัว สุกรบ้าน
[๑๔๑๓] ชะมด แมวป่า กระต่าย และกระแต
ซึ่งมีอยู่มากมายหลายหลาก
ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรฝูงเนื้อนานาชนิด
ที่มีอยู่กลาดเกลื่อนซึ่งธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๑๔] ในแก้วมณีดวงนี้ มีแม่น้ำที่มีท่าน้ำสวยงาม
ลาดด้วยทรายทอง มีน้ำใสสะอาดไหลไปไม่ขาดสาย
เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลา
[๑๔๑๕] อนึ่ง ในแม่น้ำนี้ มีฝูงจระเข้
มังกร ตะโขง เต่า ปลาสลาด
ปลากระบอก ปลากด ปลาเค้า
และปลาตะเพียนแหวกว่ายไปมา
[๑๔๑๖] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสระโบกขรณี
ที่ก่อสร้างด้วยแก้วไพฑูรย์
ซึ่งเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลานานาชนิด
ดารดาษไปด้วยหมู่ไม้ชนิดต่าง ๆ
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์
[๑๔๑๗] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสระโบกขรณีในแก้วมณีดวงนี้
ที่ธรรมชาติเนรมิตไว้เป็นอย่างดีทั้ง ๔ ทิศ
เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลานานาชนิด
เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลาใหญ่
[๑๔๑๘] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ
เป็นแก่งแห่งสาครประกอบราวไพร
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๑๙] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรบุพพวิเทหทวีปทางข้างหน้า
อปรโคยานทวีปทางข้างหลัง
อุตตรกุรุทวีปและชมพูทวีปทางด้านขวา
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๐] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ที่กำลังหมุนรอบภูเขาสิเนรุ
ส่องแสงสว่างไสวไปทั่วทิศทั้ง ๔ และสิ่งมหัศจรรย์
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๑] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรภูเขาสิเนรุ ภูเขาหิมพานต์
สมุทรสาคร พื้นแผ่นดินใหญ่ และท้าวมหาราชทั้ง ๔
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๒] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพุ่มไม้ในสวน หินดาด
และเนินหินที่น่ารื่นรมย์ เกลื่อนกล่นไปด้วยกินนร
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๓] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสวนสวรรค์
คือ ปารุสกวัน จิตรลดาวัน มิสกวัน
นันทวัน และเวชยันตปราสาท
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์
[๑๔๒๔] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสภาชื่อสุธรรมา
ต้นปาริฉัตรที่มีดอกบานสะพรั่ง และพญาช้างเอราวัณ
ซึ่งมีอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๕] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า
ขอทูลเชิญทอดพระเนตรเหล่านางเทพกัญญา
ผู้เลอโฉมยิ่งนัก ดังสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ
ผู้กำลังเที่ยวไปอยู่ในนันทวันนั้น
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๖] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า
ขอทูลเชิญทอดพระเนตรเหล่านางเทพกัญญา
ผู้ประเล้าประโลมเทพบุตร
ซึ่งกำลังอภิรมย์เหล่าเทพบุตรอยู่ในนันทวันนั้น
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๗] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรปราสาท
เกินกว่า ๑,๐๐๐ หลัง
ซึ่งมีพื้นลาดด้วยแผ่นแก้วไพฑูรย์ มีรัศมีเรืองรอง
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๘] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี
และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๙] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสระโบกขรณี
ที่มีน้ำใสสะอาด ซึ่งดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก
ดอกปทุม และดอกอุบลในสวรรค์นี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อักขกัณฑ์
[๑๔๓๐] ในแก้วมณีดวงนั้น มีลายขาว ๑๐ ลาย
สวยงามน่ารื่นรมย์ใจ ลายสีเหลืองอ่อน ๒๑ ลาย
และลายเหลืองขมิ้น ๑๔ ลาย ปรากฏอยู่
[๑๔๓๑] ในแก้วมณีดวงนั้น มีลายสีทอง ๒๐ ลาย
ลายสีเงิน ๒๐ ลาย ปรากฏอยู่
ลายสีแมลงค่อมทอง ๓๐ ลาย ปรากฏอยู่
[๑๔๓๒] ในแก้วมณีดวงนี้ มีลายสีดำ ๑๖ ลาย
ลายสีดอกชะบา ๒๕ ลาย แซมด้วยลายดอกหงอนไก่
อันงามตระการตาด้วยดอกอุบลเขียวปรากฏอยู่
[๑๔๓๓] ข้าแต่มหาราชผู้สูงส่งกว่าชาวประชา
ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรแก้วมณีดวงนี้
ซึ่งมีรัศมีเรืองรองผ่องใส สมบูรณ์ทุก ๆ ส่วนอย่างนี้
อันเป็นรางวัลแก่ผู้ชนะพนัน”
มณีกัณฑ์ จบ

อักขกัณฑ์
ตอนว่าด้วยการเล่นสะกา
(ต่อจากนั้น ปุณณกยักษ์ได้กราบทูลต่อไปว่า)
[๑๔๓๔] “ข้าแต่พระราชา การงานในโรงเล่นการพนัน (สะกา)
สำเร็จลงแล้ว ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไป
สถานที่จะทรงเล่นการพนันเถิด
แก้วมณีเช่นนี้สำหรับพระองค์ไม่มี
เราทั้ง ๒ เมื่อเล่นก็จะพึงชนะกันโดยธรรม
ขอจงอย่าชนะกันโดยไม่ชอบธรรม
ถ้าพระองค์แพ้แล้ว ขออย่าได้ทรงทำให้เนิ่นช้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อักขกัณฑ์
[๑๔๓๕] ข้าแต่พระเจ้าสุรเสนปัญจาละผู้มีพระกิตติศัพท์โด่งดัง
ข้าแต่พระเจ้ามัจฉะ พระเจ้ามัททะ
พร้อมด้วยชาวเกกกชนบททั้งหลาย
ขอพระราชาเหล่านี้จงทรงทอดพระเนตรการต่อสู้
ของข้าพระองค์ทั้งหลายโดยการไม่ฉ้อโกง
มิใช่ไม่ทรงทำใครให้เป็นพยานในที่ประชุมเลย”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า)
[๑๔๓๖] “พระราชาของชาวแคว้นกุรุและปุณณกยักษ์ทั้ง ๒ นั้น
ต่างก็มัวเมาในการเล่นการพนันพากันเข้าไปสู่โรงเล่นการพนัน
พระราชาทรงเลือกอยู่จึงได้รับความปราชัย
ส่วนปุณณกยักษ์ได้ชัยชนะ
[๑๔๓๗] พระราชาและปุณณกยักษ์ทั้ง ๒ นั้น
เมื่อลูกสะกามีพร้อมแล้วก็ได้เล่นการพนันในโรงเล่นการพนันนั้น
ปุณณกยักษ์ได้ชัยชนะพระราชาผู้แกล้วกล้าและประเสริฐกว่าชน
ในท่ามกลางพระราชาและพยานทั้งหลาย
เสียงบันลือลั่นได้มีขึ้นในสนามการพนันนั้น”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๔๓๘] “ข้าแต่มหาราช บรรดาเราทั้ง ๒ ที่ยังพยายามเล่นอยู่
ความชนะและความแพ้ย่อมตกแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน
พระองค์ทรงเสื่อมจากทรัพย์อันประเสริฐแล้ว ทรงแพ้แล้ว
ขอพระองค์จงทรงพระราชทานทรัพย์แก่ข้าพระองค์โดยเร็วเถิด”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๓๙] ท่านกัจจานะ ช้าง ม้า โค ตุ้มหูแก้วมณี
และรัตนะที่ประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลายมีอยู่ในแผ่นดินของเรา
ท่านจงรับไปเถิด เชิญขนไปตามปรารถนาเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อักขกัณฑ์
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๔๔๐] “ช้าง ม้า โค ตุ้มหูแก้วมณี
รัตนะแม้อื่นใดที่มีอยู่ในแผ่นดินของพระองค์
บัณฑิตชื่อว่าวิธุระเป็นผู้ประเสริฐกว่ารัตนะทั้งปวงเหล่านั้น
ข้าพระองค์ได้ชนะพระองค์แล้ว
โปรดพระราชทานวิธุรบัณฑิตนั้นให้แก่ข้าพระองค์เถิด”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๔๑] “วิธุรบัณฑิตนั้นเป็นเหมือนตัวของเรา เป็นสรณะ เป็นคติ
เป็นที่พึ่ง เป็นที่เร้น และเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของเรา
ท่านไม่ควรเปรียบวิธุรบัณฑิตนั้นกับทรัพย์ของเรา
วิธุรบัณฑิตนี้เท่ากับชีวิตของเรา คือตัวเราเอง”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๔๔๒] “การโต้แย้งกันของข้าพระองค์กับพระองค์จะพึงเป็นไปนาน
พวกเราไปถามวิธุรบัณฑิตนั้นดูดีกว่า
วิธุรบัณฑิตนี้แหละจะไขข้อข้องใจนี้แก่เราทั้งหลายได้
วิธุรบัณฑิตจักกล่าวคำใด คำนั้นก็จักเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้ง ๒”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๔๓] “มาณพ ท่านพูดจริงทีเดียว และไม่ได้พูดคำรุนแรงแก่เรา
พวกเราไปถามวิธุรบัณฑิตกันดูเถิด
เราทั้ง ๒ คนจงยินดีคำที่วิธุรบัณฑิตพูดนั้น”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๔๔๔] “เทวดาทั้งหลายรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุชื่อว่าวิธุระ
ผู้ตั้งอยู่ในธรรมจริงหรือ การบัญญัติชื่อว่าวิธุระในโลกนั้น
ท่านเป็นอะไร คือ เป็นทาสหรือเป็นพระญาติของพระราชา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อักขกัณฑ์
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๔๔๕] “ทาสมี ๔ จำพวก คือ
(๑) ทาสในเรือนเบี้ย (๒) ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์
(๓) ทาสที่ยอมตนเข้าเป็นข้าเฝ้า (๔) ทาสเชลย๑
[๑๔๔๖] ในหมู่คนมีทาส ๔ จำพวกเหล่านี้
แม้ข้าพระองค์ก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว
ความเจริญหรือความเสื่อมจะมีแก่พระราชาก็ตาม
ข้าพระองค์ไปสู่ที่อื่นก็ยังคงเป็นทาสของสมมติเทพอยู่นั่นเอง
มาณพ พระราชาก็จะพึงพระราชทานตัวข้าพเจ้าแก่ท่านโดยธรรม”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๔๔๗] “ชัยชนะนี้เป็นชัยชนะครั้งที่ ๒ ของข้าพระองค์ในวันนี้
เพราะว่าวิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ถูกข้าพระองค์ถามแล้ว
ได้ชี้แจงปัญหาอย่างแจ่มแจ้ง
พระราชาผู้ประเสริฐไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ
วิธุรบัณฑิตได้กล่าวไว้ถูกต้องดีแล้ว
พระราชาไม่ทรงอนุญาตให้วิธุรบัณฑิตนี้แก่ข้าพระองค์”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๔๘] “กัจจานะ หากวิธุรบัณฑิตได้ชี้แจงปัญหาแก่พวกเราอย่างนี้ว่า
เราเป็นทาส เรามิได้เป็นญาติเลย ท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิต
ผู้เป็นทรัพย์อันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย
พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด”
อักขกัณฑ์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทาสในเรือนเบี้ย หมายถึงทาสผู้เกิดในครรภ์ของนางทาสหรือนางทาสี ทาสที่ยอมตนเป็นข้าเฝ้า
หมายถึงพวกคนที่เกิดในตระกูลผู้รับใช้ ยอมตนเข้าไปเป็นทาสเขา ทาสเชลย หมายถึงพวกคนที่พลัดที่
อยู่ของตน เพราะราชภัย โจรภัย หรือตกเป็นเชลย ยอมไปอยู่ในแผ่นดินอื่น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๔๕/๒๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ฆราวาสปัญหา
ฆราวาสปัญหา
ปัญหาในการอยู่ครองเรือน
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๔๙] “ท่านวิธุระ คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนของตน
จะพึงมีความประพฤติที่ปลอดภัยได้อย่างไร
จะพึงมีการสงเคราะห์ได้อย่างไร
[๑๔๕๐] จะพึงมีความไม่เบียดเบียนกันได้อย่างไร
และอย่างไรคนจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์
คนจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้าจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร
[๑๔๕๑] วิธุรบัณฑิตผู้มีคติ มีความเพียร
มีปัญญาเห็นอรรถธรรม
กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ได้กราบทูลคำนี้
กับพระราชาพระองค์นั้นในธรรมสภานั้นว่า
[๑๔๕๒] “ผู้อยู่ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณ์๑เป็นภรรยา
ไม่ควรบริโภคอาหารอันมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว
ไม่ควรส้องเสพกล่าวถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก
เพราะว่าคำอันให้ติดอยู่ในโลกนี้ไม่เป็นทางเจริญแห่งปัญญา
[๑๔๕๓] ผู้อยู่ครองเรือนควรเป็นคนมีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร
เป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเห็นประจักษ์
มีความประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้าง
สงบเสงี่ยม พูดคำไพเราะจับใจ สุภาพอ่อนโยน
[๑๔๕๔] ผู้อยู่ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร
จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำกิจการงาน
บำรุงสมณะและพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
๑ หญิงสาธารณ์ หมายถึงภรรยาของคนอื่น ผู้ครองเรือนไม่พึงประทุษร้าย (เป็นชู้) ในภรรยาของคนอื่น
(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๕๒/๒๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ลักขณกัณฑ์
[๑๔๕๕] ผู้อยู่ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม ทรงสุตะ
หมั่นสอบถาม เข้าไปหาท่านผู้มีศีล เป็นพหูสูต โดยความเคารพ
[๑๔๕๖] คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนของตน
ควรมีความประพฤติปลอดภัยอย่างนี้
ควรสงเคราะห์ได้อย่างนี้
[๑๔๕๗] ไม่ควรเบียดเบียนกันและกันอย่างนี้
และคนควรปฏิบัติอย่างนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์
จากโลกนี้แล้วไปสู่โลกหน้าจะไม่เศร้าโศกได้ด้วยประการฉะนี้”
ฆราวาสปัญหา จบ

ลักขณกัณฑ์
ตอนว่าด้วยลักษณะของบัณฑิต
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๔๕๘] “มาเถิดท่าน ประเดี๋ยวเราจักไปกัน
พระราชาผู้เป็นใหญ่
ได้ทรงพระราชทานท่านให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว
ขอท่านจงปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเท่านั้น
นี้เป็นธรรมเก่า
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๔๕๙] “มาณพ ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านได้แล้ว
ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่พระราชาผู้เป็นใหญ่ทรงพระราชทานให้ท่านแล้ว
แต่พวกเราขอให้ท่านพักอยู่ในเรือนของตนสัก ๓ วัน
และขอให้ท่านยับยั้งรออยู่ตลอดเวลา
ที่ข้าพเจ้าจะได้สั่งสอนบุตรทั้งหลายก่อน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ลักขณกัณฑ์
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๔๖๐] “คำที่ท่านกล่าวมาทั้งหมดนั้น
จงเป็นไปตามที่ท่านกล่าวอย่างนั้น
ข้าพเจ้าจะพักอยู่ ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ไป
ขอท่านจงทำหน้าที่ในเรือนเถิด
จงสั่งสอนบุตรและภรรยาเสียแต่ในวันนี้
โดยวิธีที่บุตรและภรรยาของท่านจะพึงมีความสุขใจ
เมื่อท่านจากไปแล้ว
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๖๑] ปุณณกยักษ์ผู้มีโภคทรัพย์จำนวนมากกล่าวว่า ตกลง
แล้วได้หลีกไปพร้อมกับวิธุรบัณฑิต
เป็นอารยชนผู้มีมรรยาทประเสริฐสุด
ได้เข้าไปสู่ภายในเมืองของวิธุรบัณฑิต
ที่เต็มไปด้วยช้างและม้าอาชาไนย
[๑๔๖๒] ปราสาทของพระโพธิสัตว์มีอยู่ ๓ หลัง คือ
(๑) โกญจนปราสาท (๒) มยูรปราสาท (๓) ปิยเกตปราสาท
ในปราสาท ๓ หลังนั้น พระโพธิสัตว์ได้พาปุณณกยักษ์
เข้าไปยังปราสาทซึ่งเป็นที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง
มีภักษาเพียงพอ มีข้าวน้ำมากมาย
ดังวิมานของท้าววาสวะ ซึ่งชื่อว่ามสักกสาระ
[๑๔๖๓] ในปราสาทหลังนั้น มีนารีทั้งหลายประดับอย่างงดงาม
ฟ้อนรำขับร้องเพลงอย่างไพเราะจับใจ
เหมือนนางเทพอัปสรในเทวโลกกล่อมปุณณกยักษ์อยู่
[๑๔๖๔] พระโพธิสัตว์ผู้รักษาธรรมได้รับรองปุณณกยักษ์
ด้วยนางบำเรอที่น่ายินดี ทั้งข้าวและน้ำแล้ว
คิดถึงประโยชน์ส่วนตน ได้เข้าไปในสำนักของภรรยาในกาลนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ลักขณกัณฑ์
[๑๔๖๕] ได้กล่าวกับภรรยาผู้ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์และน้ำหอม
ผู้มีผิวพรรณผุดผ่องดังแท่งทองชมพูนุทว่า
นางผู้เจริญ ผู้มีดวงตาสีน้ำตาล มานี่เถิด
จงเรียกบุตรทั้งหลายมาฟังคำสั่งสอน
[๑๔๖๖] นางอโนชาได้ฟังคำของสามีแล้ว
ได้กล่าวกับลูกสะใภ้ผู้มีเล็บแดง มีนัยน์ตางามว่า
“เจ้าผู้มีผิวพรรณดังดอกบัวเขียว
เจ้าจงเรียกบุตรทั้งหลายเหล่านั้นมาเถิด”
[๑๔๖๗] พระโพธิสัตว์ผู้รักษาธรรมได้จุมพิตบุตรเหล่านั้น
ผู้มาแล้วที่กระหม่อม เป็นผู้ไม่หวั่นไหว
ครั้นเรียกมาแล้วได้สั่งสอนว่า
พระราชาในกรุงอินทปัตถ์นี้ได้พระราชทานพ่อให้แก่มาณพ
[๑๔๖๘] ตั้งแต่วันนี้ไป พ่อจะมีความสุขของตนเองได้เพียง ๓ วัน
ต่อจากนั้นไป พ่อก็จะต้องเป็นอยู่ในอำนาจของมาณพนั้น
เขาจะพาพ่อไปตามที่เขาปรารถนา
พ่อกลับมาเพื่อจะสั่งสอนลูก ๆ ว่า
พ่อยังมิได้ทำเครื่องป้องกันให้แก่ลูก ๆ แล้วจะพึงไปได้อย่างไร
[๑๔๖๙] ถ้าพระราชาแห่งชาวแคว้นกุรุผู้มีโภคทรัพย์ที่น่าใคร่เป็นจำนวนมาก
ทรงประสานชนผู้เป็นมิตร พึงตรัสถามลูกทั้งหลายว่า
เมื่อก่อน พวกเธอรู้เหตุการณ์เก่า ๆ อะไรบ้าง
พ่อของพวกเธอได้พร่ำสอนอะไรไว้ในก่อนบ้าง
[๑๔๗๐] ก็ถ้าพระราชาจะพึงตรัสว่า
พวกเธอเป็นผู้มีอาสนะเสมอกันกับเราในราชตระกูลนี้
คนอื่นใครเล่าจะเป็นคนมีชาติตระกูลสมควรกับพระราชาไม่มี
ลูกทั้งหลายพึงประนมมือกราบทูลพระราชานั้นอย่างนี้ว่า
ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์อย่าได้รับสั่งอย่างนี้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
เพราะนั่นมิใช่ธรรมของพวกข้าพระองค์
ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์
จะพึงมีอาสนะเสมอกับพระองค์ได้อย่างไร
เหมือนสุนัขจิ้งจอกตัวมีชาติต่ำต้อย
จะพึงมีอาสนะเสมอกับเสือได้อย่างไร พระเจ้าข้า
ลักขณกัณฑ์ จบ

ราชวสตีธรรม
ว่าด้วยธรรมสำหรับผู้อยู่ในราชสำนัก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๗๑] “วิธุรบัณฑิตนั้นมีความดำริในใจที่ไม่หดหู่
ได้กล่าวกับบุตร ธิดา อำมาตย์ ญาติ
และเพื่อนสนิทดังนี้ว่า
[๑๔๗๒] “ลูกรักทั้งหลาย ลูกทั้งหลายจงพากันมา
นั่งฟังราชวสตีธรรม๑ ที่เป็นเหตุให้บุคคล
ผู้เข้าไปสู่ราชตระกูลแล้วได้ยศ
[๑๔๗๓] เพราะบุคคลผู้เข้าไปสู่ราชตระกูล
มีคุณความดียังไม่ปรากฏ ย่อมไม่ได้ยศ
ผู้เป็นราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไป
ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทไม่ว่าในกาลไหน ๆ
[๑๔๗๔] เมื่อใด พระราชาทรงทราบปัญญา
และความบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น
เมื่อนั้น พระองค์ก็ทรงวางพระทัย
และไม่ทรงปกปิดความลับของพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ราชวสตีธรรม หมายถึงธรรมของผู้รับราชการ, ผู้ปฏิบัติราชการ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๗๒/๒๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
[๑๔๗๕] ราชเสวกที่พระราชาตรัสรับสั่งใช้
ก็ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจความพอใจเป็นต้น
พึงเป็นผู้สม่ำเสมอเหมือนตราชั่งที่บุคคลจับประคอง
ให้มีคันเที่ยงตรงสม่ำเสมอดีฉะนั้น
ราชเสวกผู้เห็นปานนี้นั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๗๖] ราชเสวกเมื่อกระทำราชกิจทุกอย่าง
เหมือนตราชั่งที่บุคคลจับประคอง
ให้มีคันเที่ยงตรงสม่ำเสมอดี
พึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๗๗] ราชเสวกนี้ผู้ฉลาดในราชกิจทั้งหลาย
ที่พระราชาตรัสรับสั่งใช้ในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม
ไม่พึงหวาดหวั่น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๗๘] ราชเสวกต้องเป็นผู้ฉลาดในราชกิจทั้งหลาย
ทำราชกิจทุกอย่างไม่ว่าเวลากลางวันหรือกลางคืน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๗๙] ทางใดที่เขาทำประดับตกแต่งไว้เรียบร้อยดี
เพื่อเสด็จพระราชดำเนินของพระราชา พระองค์ทรงอนุญาตแล้ว
ราชเสวกก็ไม่ควรเดินตามทางนั้น
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๘๐] ราชเสวกไม่พึงบริโภคกามทัดเทียมกับพระราชา
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ พึงดำเนินการตามหลังในทุก ๆ อย่าง๑
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

เชิงอรรถ :
๑ พึงดำเนินการตามหลังในทุก ๆ อย่าง หมายถึงข้าราชสำนักพึงดำเนินการ (บริโภค) ในกามคุณทุก
อย่างมีรูปเป็นต้นตามหลังพระราชา (ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้า) อย่างเดียว โดยความ คือใช้แต่ของที่
ด้อยกว่าเท่านั้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๘๐/๒๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
[๑๔๘๑] ราชเสวกไม่พึงใช้สอยเสื้อผ้า ประดับประดาดอกไม้
เครื่องลูบไล้ทัดเทียมกับพระราชา
ไม่พึงประพฤติอากัปกิริยาหรือการพูดจาทัดเทียมกับพระราชา
แต่ควรทำอากัปกิริยาอีกอย่างหนึ่งต่างหาก
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๘๒] เมื่อพระราชาทรงพระสำราญอยู่กับอำมาตย์
พระสนมกำนัลในเฝ้าแหนอยู่ อำมาตย์ต้องเป็นคนฉลาด
ไม่พึงทำการทอดสนิทในพระชายาทั้งหลายของพระราชา
[๑๔๘๓] ราชเสวกไม่พึงเป็นคนฟุ้งซ่าน ตลบตะแลง
พึงมีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน
สำรวมอินทรีย์ ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๘๔] ราชเสวกไม่พึงเล่นหัว เจรจาปราศรัย
ในที่ลับกับพระชายาทั้งหลายของพระราชานั้น
ไม่พึงเบียดบังทรัพย์จากพระคลังหลวง
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๘๕] ราชเสวกไม่พึงหลับนอนมากนัก
ไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย
ไม่พึงฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัย
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๘๖] ราชเสวกไม่พึงนั่งร่วมพระภัทรบิฐ
พระบัลลังก์ เก้าอี้พระที่นั่ง
เรือพระที่นั่ง และรถพระที่นั่ง
ด้วยการทนงตัวว่าเป็นคนโปรดปราน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
[๑๔๘๗] ราชเสวกต้องเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
ไม่ควรเฝ้าห่างนัก ใกล้นัก
ควรยืนเฝ้าในที่เฉพาะพระพักตร์
พอให้ทอดพระเนตรเห็นได้ถนัด
[๑๔๘๘] ราชเสวกไม่ควรทำความวางใจว่า
พระราชาเป็นเพื่อนของเรา
พระราชาเป็นคู่หูกับเรา
พระราชาทั้งหลายทรงพิโรธได้เร็วไว
เหมือนนัยน์ตาถูกผงกระทบ
[๑๔๘๙] ราชเสวกไม่ควรถือตัวว่าเป็นนักปราชญ์เป็นบัณฑิต
พระราชาทรงบูชา ไม่ควรเพ็ดทูลถ้อยคำที่ให้ทรงพิโรธ
กับพระราชาผู้ประทับอยู่ในราชบริษัท
[๑๔๙๐] ราชเสวกผู้ได้รับพระราชทานพระทวารเป็นพิเศษ
ไม่ควรวางใจในพระราชาทั้งหลาย
ควรเป็นผู้สำรวม เหมือนอยู่ใกล้ไฟ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๙๑] พระราชาจะทรงยกย่องพระโอรส
หรือเชื้อพระวงศ์ของพระองค์ด้วยบ้าน นิคม
แคว้น หรือชนบท ราชเสวกควรจะนิ่งดูก่อน
ไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษในเวลานั้น
[๑๔๙๒] พระราชาจะทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่กองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ และกองพลราบ ตามความชอบในราชการของเขา
ราชเสวกไม่ควรทัดทานคนเหล่านั้น
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
[๑๔๙๓] ราชเสวกผู้เป็นปราชญ์พึงโอนอ่อนเหมือนคันธนู
และพึงโอนเอนไปตามเหมือนไม้ไผ่ ไม่ควรทูลทัดทาน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๙๔] ราชเสวกพึงเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือนคันธนู
เป็นผู้ไม่มีลิ้นเหมือนปลา๑ รู้จักประมาณในการบริโภค
มีปัญญารักษาตน แกล้วกล้า
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๙๕] ราชเสวกไม่พึงสัมผัสหญิงซึ่งเป็นเหตุให้ถึงความสิ้นเดช
คนที่สิ้นปัญญาย่อมเข้าถึงโรคไอ โรคมองคร่อ
ความกระวนกระวาย ความอ่อนกำลัง
[๑๔๙๖] ราชเสวกไม่ควรพูดมากเกินไป ไม่ควรนิ่งไปทุกเมื่อ
เมื่อถึงเวลา ควรพูดพอประมาณ ไม่พร่ำเพรื่อ
[๑๔๙๗] ราชเสวกเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระทั่งผู้อื่น
เป็นคนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่พูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๙๘] ราชเสวกพึงเลี้ยงดูมารดาและบิดา
ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
มีวาจาอ่อนหวาน กล่าววาจาละมุนละไม
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๙๙] ราชเสวกเป็นผู้ได้รับแนะนำดี มีศิลปะ ฝึกฝนแล้ว
เป็นผู้ทำประโยชน์ แน่นอน อ่อนโยน
ไม่ประมาท สะอาดและขยัน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีลิ้นเหมือนปลา หมายถึงข้าราชการควรมีกิริยาเหมือนไม่มีลิ้น โดยพูดให้น้อย (ทำงานให้มาก)
เหมือนปลาพูดไม่ได้ เพราะไม่มีลิ้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๙๔/๒๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
[๑๕๐๐] ราชเสวกเป็นผู้มีความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน
มีความเคารพยำเกรงในท่านผู้เจริญเป็นผู้สงบเสงี่ยม
อยู่ร่วมกันเป็นสุข ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๐๑] ราชเสวกพึงเว้นไกลซึ่งทูตผู้ที่พระราชาฝ่ายปรปักษ์
ส่งมาเพื่อความลับ พึงดูแลแต่เฉพาะพระราชวงศ์เท่านั้น
ไม่พึงอยู่ในสำนักของพระราชาฝ่ายอื่น
[๑๕๐๒] ราชเสวกพึงคบหาสมาคมกับสมณะและพราหมณ์
ผู้มีศีล เป็นพหูสูตโดยความเคารพ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๐๓] ราชเสวกเมื่อคบหาสมาคมกับสมณะและพราหมณ์
ผู้มีศีล เป็นพหูสูต
พึงสมาทานรักษาอุโบสถศีลโดยความเคารพ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๐๔] ราชเสวกพึงบำรุงเลี้ยงดูสมณะและพราหมณ์
ผู้มีศีล เป็นพหูสูต ด้วยข้าวและน้ำ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๐๕] ราชเสวกผู้หวังความเจริญแก่ตน
พึงคบหาสมาคมกับสมณะและพราหมณ์
ผู้มีศีล เป็นพหูสูต มีปัญญา
[๑๕๐๖] ราชเสวกไม่พึงทำทานที่เคยพระราชทานมา
ในสมณะและพราหมณ์ให้เสื่อมไป
อนึ่ง เห็นพวกวณิพกที่มาในเวลาพระราชทาน
ไม่ควรห้ามอะไรเลย
[๑๕๐๗] ราชเสวกพึงเป็นผู้มีปัญญา มีความรู้พร้อมมูล
ฉลาดในวิธีจัดการราชกิจ เป็นผู้รู้จักกาลสมัย
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
[๑๕๐๘] ราชเสวกเป็นคนขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาท
มีปัญญาสอดส่องพิจารณาในการงานที่ตนจะพึงทำ
จัดการงานได้สำเร็จเรียบร้อยดี
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๐๙] อนึ่ง ราชเสวกพึงไปตรวจตราดูลานข้าวสาลี
ปศุสัตว์ และนาอยู่เสมอ ๆ
พึงตวงข้าวเปลือกให้รู้ประมาณแล้วให้เก็บไว้ในฉาง
พึงนับดูคนข้างเคียงในเรือนแล้ว
จึงให้หุงต้มข้าวแต่พอประมาณเท่านั้น
[๑๕๑๐] ไม่พึงตั้งบุตรหรือพี่น้อง
ผู้ไม่ตั้งมั่นในศีลให้เป็นใหญ่
เพราะคนเหล่านั้นเป็นพาล ไม่จัดว่าเป็นพี่น้อง
คนเหล่านั้นเป็นเหมือนคนตายแล้ว
แต่เมื่อคนเหล่านั้นมาหานั่งอยู่แล้ว
ก็ควรให้ผ้า เครื่องนุ่งห่ม และอาหาร
[๑๕๑๑] พึงตั้งทาส กรรมกร คนใช้ ผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีล
เป็นคนขยันหมั่นเพียรให้เป็นใหญ่
[๑๕๑๒] ราชเสวกพึงเป็นผู้มีศีล ไม่โลภ
และคล้อยไปตามพระราชา
ประพฤติประโยชน์แก่พระราชานั้นทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๑๓] ราชเสวกพึงเป็นผู้รู้จักพระอัธยาศัยของพระราชา
และปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระราชา
ไม่ควรประพฤติขัดต่อพระประสงค์ของพระราชา
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล
[๑๕๑๔] ในเวลาผลัดเปลี่ยนพระภูษาทรงและในเวลาสรงสนาน
ราชเสวกควรก้มศีรษะลงชำระพระบาท
แม้จะถูกกริ้วก็ไม่ควรโกรธ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๑๕] บุรุษผู้หวังความเจริญแก่ตนพึงทำอัญชลีแม้หม้อน้ำ
และทำประทักษิณแม้นกแอ่นลมได้
ไฉนเล่า เขาจะไม่พึงนอบน้อมพระราชาผู้เป็นปราชญ์สูงสุด
ผู้พระราชทานสมบัติที่น่าใคร่ทุกอย่างให้
[๑๕๑๖] พระราชาผู้ซึ่งทรงพระราชทานที่นอน
ผ้านุ่งห่ม ยาน เรือนที่อยู่อาศัย
ทรงยังโภคะให้ตกไปทั่วถึง
เหมือนเมฆยังน้ำฝนให้ตกไปเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั่วไปฉะนั้น
[๑๕๑๗] แน่ะเจ้าทั้งหลาย นี้ชื่อว่าราชวสตีธรรม
เมื่อคนประพฤติตาม ย่อมทำให้พระราชาโปรดปราน
และย่อมได้การบูชาในเจ้านายทั้งหลาย
ราชวสตีธรรม จบ

อนันตรเปยยาล
ว่าด้วยเนื้อความที่ย่อไว้ในระหว่าง
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๕๑๘] วิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
ครั้นพร่ำสอนหมู่ญาติอย่างนี้แล้ว
มีหมู่ญาติเพื่อนที่สนิทแวดล้อมเข้าไปเฝ้าพระราชา
[๑๕๑๙] ถวายบังคมพระบาทด้วยเศียรเกล้า
และทำประทักษิณพระองค์แล้ว ประนมมือกราบบังคมทูลดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล
[๑๕๒๐] “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปราบอริราชศัตรู
มาณพนี้ปรารถนาจะทำตามประสงค์ จึงนำข้าพระองค์ไป
ข้าพระองค์จักกราบทูลประโยชน์ของญาติทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดสดับประโยชน์นั้น
[๑๕๒๑] ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาเอาพระทัยใส่
ดูแลบุตรภรรยาของข้าพระองค์
และทรัพย์อย่างอื่น ๆ ที่มีอยู่ในเรือน
โดยประการที่หมู่ญาติของข้าพระองค์จะไม่เสื่อมในภายหลัง
ในเมื่อข้าพระองค์ถวายบังคมลาไปแล้ว
[๑๕๒๒] ความพลั้งพลาดของข้าพระองค์นี้
ก็เหมือนคนพลาดล้มลงบนแผ่นดิน
แล้วกลับยืนขึ้นได้บนแผ่นดินเหมือนกัน
ฉะนั้น ข้าพระองค์ย่อมเห็นโทษนั้น”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๕๒๓] “ท่านไม่อาจจะไปได้ นั่นแหละเป็นความพอใจของเรา
เราจะสั่งให้ฆ่าเชือดเฉือน(มาณพนั้น)ออกเป็นท่อน ๆ
แล้วหมกไว้ให้มิดชิดในเมืองนี้ ท่านจงอยู่ที่นี้แหละ
การทำได้ดังนี้ เราชอบใจ
ท่านบัณฑิตผู้มีปัญญาอันสูงส่งกว้างขวางดุจแผ่นดิน
ท่านอย่าไปเลย”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๕๒๔] “ขอพระองค์อย่าทรงตั้งพระทัยไว้ในอธรรมเลย
ขอจงทรงประกอบพระองค์ไว้ในอรรถและธรรมเถิด
กรรมอันเป็นอกุศลไม่ประเสริฐ บัณฑิตติเตียนว่า
ผู้ทำกรรมอันเป็นอกุศลพึงเข้าถึงนรกในภายหลัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล
[๑๕๒๕] นี่ไม่ใช่ธรรมเลย ไม่เข้าถึงกิจที่ควรทำ
ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ธรรมดาว่านายผู้เป็นใหญ่ของทาส
จะทุบตีก็ได้ จะเผาก็ได้ จะฆ่าก็ได้
ข้าพระองค์ไม่มีความโกรธเลย และขอกราบบังคมทูลลาไป”
[๑๕๒๖] พระมหาสัตว์นั้นมีนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างนองด้วยน้ำตา
กำจัดความกระวนกระวายในหทัยแล้ว
สวมกอดบุตรคนโตแล้วเข้าไปสู่เรือนหลวง
[๑๕๒๗] บุตรทั้งหลายและภรรยาในบ้านของวิธุรบัณฑิต
ต่างก็นอนร้องไห้คร่ำครวญไปมาอยู่
เหมือนป่าไม้รังถูกพายุพัดล้มระเนระนาด
[๑๕๒๘] ภรรยา ๑,๐๐๐ คน และหญิงรับใช้ ๗๐๐ คน
ต่างประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ
ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต
[๑๕๒๙] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ทั้งหลาย
ต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต
[๑๕๓๐] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ
ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต
[๑๕๓๑] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต
[๑๕๓๒] ภรรยา ๑,๐๐๐ คน และหญิงรับใช้ ๗๐๐ คน
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งเราทั้งหลายไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล
[๑๕๓๓] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ทั้งหลาย
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งเราทั้งหลายไป”
[๑๕๓๔] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งเราทั้งหลายไป”
[๑๕๓๕] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งเราทั้งหลายไป”
[๑๕๓๖] พระมหาสัตว์ทำกิจทั้งหลายในเรือน
สั่งสอนคนของตน คือ มิตร อำมาตย์ คนใช้
บุตร ธิดา ภรรยา และพวกพ้อง
[๑๕๓๗] จัดการงาน บอกมอบทรัพย์ในเรือน ขุมทรัพย์
และการใช้หนี้ แล้วจึงได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ดังนี้ว่า
[๑๕๓๘] “ท่านกัจจานะ
ท่านได้พักอยู่ในเรือนของข้าพเจ้า ๓ วันแล้ว
กิจทั้งหลายที่ควรทำในเรือนของข้าพเจ้าก็ได้ทำแล้ว
อนึ่ง บุตร ธิดา และภรรยา ข้าพเจ้าก็ได้สั่งสอนแล้ว
บัดนี้ ข้าพเจ้ายอมทำกิจตามอัธยาศัยของท่าน”
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๕๓๙] “ท่านมหาอำมาตย์ผู้สำเร็จราชกิจทั้งปวง
ก็ถ้าท่านได้สั่งสอนบุตร ธิดา ภรรยา และคนอาศัยแล้ว
ขอเชิญท่านรีบไป ณ บัดนี้เถิด
เพราะทางข้างหน้ายังอยู่อีกไกลนัก
[๑๕๔๐] ท่านอย่าได้กลัวเลย จงจับหางม้าอาชาไนยเถิด
นี้เป็นการเห็นชีวโลกครั้งสุดท้ายของท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๔๑] “ข้าพเจ้าจักสะดุ้งกลัวไปทำไม
เพราะข้าพเจ้าไม่มีกรรมชั่วทางกาย วาจา และใจ
ที่จะเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติ
[๑๕๔๒] พญาม้านั้นนำวิธุรบัณฑิตเหาะไป
ในอากาศกลางหาวไม่กระทบกิ่งไม้และภูเขาเลย
เหาะไปถึงภูเขากาฬาคีรีอย่างรวดเร็ว
[๑๕๔๓] ภรรยา ๑,๐๐๐ คน และหญิงรับใช้ ๗๐๐ คน
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
ฯลฯ ยักษ์ได้แปลงเป็นพราหมณ์นำวิธุรบัณฑิตไป
พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ทั้งหลาย
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
ฯลฯ ยักษ์ได้แปลงเป็นพราหมณ์นำวิธุรบัณฑิตไป
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
ฯลฯ ยักษ์ได้แปลงเป็นพราหมณ์นำวิธุรบัณฑิตไป
[๑๕๔๔] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
ฯลฯ ยักษ์ได้แปลงเป็นพราหมณ์นำวิธุรบัณฑิตไป
[๑๕๔๕] ภรรยา ๑,๐๐๐ คน และหญิงรับใช้ ๗๐๐ คน
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน”
พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ทั้งหลาย
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน”
[๑๕๔๖] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า
“บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน”
[๑๕๔๗] ถ้าบัณฑิตนั้นจักไม่มาภายใน ๗ วัน
ข้าพระพุทธเจ้าจักพากันเข้าไปสู่กองไฟทั้งหมด
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความต้องการด้วยชีวิต
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๕๔๘] “วิธุรบัณฑิตเป็นคนฉลาดหลักแหลม
สามารถแสดงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ได้แจ้งชัด
มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา คงจะปลดเปลื้องตนได้ฉับพลัน
ท่านทั้งหลายอย่ากลัวไปเลย
วิธุรบัณฑิตปลดเปลื้องตนได้แล้วจักรีบกลับมา”
อนันตรเปยยาล จบ

สาธุนรธรรมกัณฑ์
ตอนว่าด้วยธรรมของคนดี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๕๔๙] ปุณณกยักษ์นั้นไปยืนคิดอยู่บนยอดภูเขากาฬาคีรีนั้นว่า
เจตนาย่อมเป็นของสูง ๆ ต่ำ ๆ
ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นอยู่ของวิธุรบัณฑิตนี้ไม่มีแก่เรา
เราจักฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้แล้วจักนำแต่หัวใจของเขาไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์
[๑๕๕๐] ปุณณกยักษ์มีจิตคิดประทุษร้ายลงจากยอดเขา
ไปสู่เชิงเขา พักพระมหาสัตว์ไว้ในระหว่างภูเขา
ชำแรกเข้าไปภายในภูเขานั้น จับพระมหาสัตว์
เอาศีรษะหย่อนลงแล้วขว้างลงไปที่พื้นดินที่ไม่มีอะไรกีดขวาง
[๑๕๕๑] วิธุรบัณฑิตเป็นอำมาตย์ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุ
เมื่อถูกห้อยศีรษะลงในเหวชันที่น่ากลัว
น่าสยดสยอง น่าหวาดเสียว ก็ไม่สะดุ้งกลัว
ได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ดังนี้ว่า
[๑๕๕๒] “ท่านมีรูปร่างดังผู้ประเสริฐแต่หาเป็นคนประเสริฐไม่
คล้ายจะเป็นคนสำรวม แต่ไม่สำรวม
ทำกรรมหยาบช้า ไม่มีประโยชน์อย่างยิ่ง
กุศลแม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มีในใจของท่าน
[๑๕๕๓] ท่านปรารถนาจะโยนข้าพเจ้าลงไปในเหว
ท่านจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความตายของข้าพเจ้า
วันนี้ ผิวพรรณของท่านเหมือนของอมนุษย์
ท่านจงบอกข้าพเจ้า ท่านเป็นเทวดาได้อย่างไร”
(ปุณณกยักษ์ตอบว่า)
[๑๕๕๔] “ถ้าท่านทราบมาแล้วว่าข้าพเจ้าชื่อปุณณกะ
และเป็นอำมาตย์คู่ชีพของท้าวกุเวรพญานาคใหญ่นามว่าวรุณ
ผู้ครอบครองนาคพิภพ มีรูปงามสะอาด
ถึงพร้อมด้วยผิวพรรณแห่งสรีระและกำลัง
[๑๕๕๕] ข้าพเจ้ารักใคร่อยากได้นางนาคกัญญา
ชื่ออิรันทดี ผู้เป็นธิดาของพญานาคนั้น
ท่านผู้เป็นปราชญ์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทดี
ผู้มีเอวงามน่ารักนั้น ข้าพเจ้าจึงตกลงใจจะฆ่าท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๕๖] “ยักษ์ ท่านอย่าได้ลุ่มหลงนักเลย
สัตวโลกเป็นจำนวนมากพินาศไปเพราะความถือผิด
เพราะเหตุไร ท่านจึงทำความรักใคร่
ในนางอิรันทดีผู้มีเอวงามน่ารัก
ท่านจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความตายของข้าพเจ้า
เชิญเถิด ข้าพเจ้าขอฟังเรื่องทั้งหมด”
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๕๕๗] “ข้าพเจ้าปรารถนาธิดาของพญาวรุณนาคราช
ผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้รับอาสา
นำญาติของนางอิรันทดีมา ญาติเหล่านั้นได้สำคัญข้าพเจ้าว่า
ถูกกามครอบงำด้วยดี
ฉะนั้น พญาวรุณนาคราช พ่อตาจึงได้ตรัสกับข้าพเจ้า
ผู้กำลังทูลขอนางอิรันทดีนาคกัญญานั้นว่า
[๑๕๕๘] เราทั้งหลายพึงให้ธิดาของเราผู้มีร่างกายงดงาม
มีเนตรงามอย่างน่าพิศวง มีตัวลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ถ้าท่านจะพึงให้ดวงหทัยของบัณฑิต
นำมาในนาคพิภพนี้โดยธรรม
เพราะความดีความชอบนี้ ท่านก็จะได้ธิดาของเรา
เราทั้งหลายมิได้ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่านั้น
[๑๕๕๙] ท่านมหาอำมาตย์ ข้าพเจ้ามิได้เป็นคนหลง
ท่านจงฟังให้ทราบเรื่องอย่างนี้
อนึ่ง ข้าพเจ้ามิได้มีความถือผิดอะไร ๆ เลย
เพราะหทัยของท่านที่ข้าพเจ้าได้ไปโดยชอบธรรม
ท้าววรุณนาคราชและนางวิมลา
จะประทานนางอิรันทดีนาคกัญญาให้แก่ข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์
[๑๕๖๐] เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงพยายามฆ่าท่าน
ข้าพเจ้าจะได้ประโยชน์ด้วยการตายของท่านอย่างนี้
จึงผลักท่านให้ตกลงในเหวนี้
ฆ่าแล้วจะนำเอาดวงหทัยนั้นไป”
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๖๑] “จงวางข้าพเจ้าลงโดยเร็วเถิด
ถ้าท่านมีความจำเป็นที่จะต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะทำธรรมเหล่านั้นทั้งหมดให้ปรากฏในวันนี้”
[๑๕๖๒] ปุณณกยักษ์นั้นรีบวางวิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุลงบนยอดเขา
เห็นวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม
ได้ความเบาใจนั่งอยู่ จึงถามว่า
[๑๕๖๓] ข้าพเจ้าได้ยกท่านขึ้นมาจากเหวแล้ว
วันนี้ ข้าพเจ้ายังมีความจำเป็นที่ต้องทำด้วยหทัยของท่านอยู่
ท่านจงทำธรรมเหล่านั้นทั้งหมดให้ปรากฏแก่ข้าพเจ้าในวันนี้เถิด”
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๖๔] “ท่านได้ยกข้าพเจ้าขึ้นมาจากเหวแล้ว
ถ้าท่านยังมีความจำเป็นที่ต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะทำธรรมเหล่านั้นทั้งหมดให้ปรากฏในวันนี้
[๑๕๖๕] มาณพ ท่านจงเดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว
จงอย่าเผาฝ่ามืออันเปียกชุ่ม
อย่าได้ประทุษร้ายในมิตรทั้งหลายในกาลไหน ๆ
อย่าตกอยู่ในอำนาจของเหล่าอสตรี๑”

เชิงอรรถ :
๑ อสตรี หมายถึงหญิงผู้ประกอบด้วยอสัทธรรม (เมถุนธรรม) (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๕๖๕/๒๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์
(ปุณณกยักษ์ถามว่า)
[๑๕๖๖] “บุคคลชื่อว่าเป็นผู้เดินไปตามทางที่เดินไปแล้วอย่างไร
ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันเปียกชุ่มอย่างไร บุคคลเช่นไร
จึงชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตร หญิงเช่นไรชื่อว่าอสตรี
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้เถิด”
(วิธุรบัณฑิตตอบว่า)
[๑๕๖๗] “ผู้ใดพึงเชื้อเชิญคนที่ไม่เคยอยู่ร่วมกัน
ไม่เคยพบเห็นกันด้วยอาสนะ
บุรุษพึงทำประโยชน์แก่ผู้นั้นเท่านั้น
บัณฑิตกล่าวว่าบุรุษนั้นเดินตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว
[๑๕๖๘] บุคคลพึงอยู่ในเรือนของผู้ใดแม้คืนเดียว
พึงได้ทั้งข้าวและน้ำ ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้นแม้ด้วยใจ
ผู้คิดร้ายบุคคลเช่นนั้น ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันเปียกชุ่ม
และชื่อว่าประทุษร้ายมิตร
[๑๕๖๙] บุคคลพึงนั่งหรือนอนที่ร่มของต้นไม้ใด
ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น
เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
[๑๕๗๐] หากบุรุษพึงให้แผ่นดินนี้ที่บริบูรณ์ด้วยทรัพย์
แก่หญิงผู้ที่สามียกย่องเป็นอย่างดี
หญิงนั้นได้โอกาสแล้วพึงดูหมิ่นบุรุษนั้นก็ได้
บุคคลไม่พึงตกอยู่ในอำนาจของอสตรี
[๑๕๗๑] บุคคลชื่อว่าเป็นผู้เดินตามทางที่ท่านเดินไปแล้วอย่างนี้
ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันเปียกชุ่มอย่างนี้
ชื่อว่าตกอยู่ในอำนาจของอสตรีอย่างนี้
และชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรอย่างนี้
ท่านจงเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ละเลิกอธรรมเถิด”
สาธุนรธรรมกัณฑ์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) กาฬาคิริกัณฑ์
กาฬาคิริกัณฑ์
ตอนว่าด้วยภูเขาสีดำ
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๕๗๒] “ข้าพเจ้าได้พักอยู่ในเรือนของท่าน ๓ วัน
ทั้งเป็นผู้ที่ท่านบำรุงด้วยข้าวและน้ำ
ท่านเป็นมิตรของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะปลดปล่อยท่าน
ท่านผู้มีปัญญาอันสูงส่ง
เชิญท่านกลับไปเรือนของท่านตามต้องการเถิด
[๑๕๗๓] ความต้องการของตระกูลนาคจะเสื่อมไปก็ตามเถิด
เหตุที่จะได้นางนาคกัญญา ข้าพเจ้ายกเลิกแล้ว
ท่านผู้มีปัญญา เพราะคำสุภาษิตของตนเองแท้ ๆ
ท่านจึงพ้นจากข้าพเจ้าผู้จะฆ่าท่านในวันนี้”
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๗๔] “ปุณณกยักษ์ เชิญท่านนำข้าพเจ้าไป
ในสำนักของพ่อตาของท่านเถิด
จงประพฤติประโยชน์ในข้าพเจ้า
แม้ข้าพเจ้าก็อยากเห็นท้าววรุณอธิบดีของนาค
และวิมานของท้าวเธอที่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็น”
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๕๗๕] “คนผู้มีปัญญาไม่ควรจะดู
สิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คน
ท่านผู้มีปัญญาอันสูงส่ง
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงปรารถนาจะไปยังบ้านของศัตรูเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๗๖] “แม้ข้าพเจ้าก็รู้ชัดถึงสิ่งที่ผู้มีปัญญาไม่ควรจะดู
แต่ข้าพเจ้าไม่มีกรรมชั่วที่ได้ทำไว้แล้วในที่ไหนเลย
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่รังเกียจความตายที่จะมาถึงตน”
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๕๗๗] ท่านบัณฑิต เชิญเถิด ท่านจงมากับข้าพเจ้าไปดูพิภพ
ของพญานาค ซึ่งมีอานุภาพมาก หาที่เปรียบมิได้
เป็นที่อยู่อันมีการฟ้อนรำขับร้องตามปรารถนา
[๑๕๗๘] เหมือนนิกีฬิตราชธานีเป็นที่ประทับอยู่ของท้าวเวสสุวรรณฉะนั้น
นาคพิภพนั้นเป็นที่เที่ยวเล่นเป็นหมู่ ๆ
ของนางนาคกัญญาตลอดวันและคืนเป็นนิตย์
มีดอกไม้ดารดาษอยู่มากมายหลายชนิด
สว่างไสวดังสายฟ้าในอากาศ
[๑๕๗๙] ประกอบด้วยข้าวและน้ำ
เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้องและการประโคม
เต็มไปด้วยนางนาคกัญญาที่ประดับอย่างสวยงาม
งดงามไปด้วยผ้านุ่งห่มและเครื่องประดับ
[๑๕๘๐] ปุณณกยักษ์นั้นเชิญให้วิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุไปนั่งบนอาสนะข้างหลัง
ได้พาวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทรามเข้าสู่ภพของพญานาค
[๑๕๘๑] วิธุรบัณฑิตถึงที่อยู่ของพญานาคซึ่งมีอานุภาพมาก
หาที่เปรียบมิได้แล้ว ได้อยู่ข้างหลังของปุณณกยักษ์
พญานาคได้ทอดพระเนตรเห็นลูกเขยของตนก่อความสามัคคี
ตนเองก็รีบตรัสทักทายปราศรัยก่อนเลยทีเดียวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๕๘๒] ท่านได้ไปยังโลกมนุษย์
เที่ยวแสวงหาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต
กลับมาถึงนาคพิภพนี้ด้วยความสำเร็จหรือ
หรือว่าท่านได้พาเอาวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทรามมาด้วย”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๕๘๓] “ท่านผู้นี้แหละคือวิธุรบัณฑิต
ที่พระองค์ทรงปรารถนามาแล้ว
ท่านวิธุรบัณฑิตผู้รักษาธรรม
ข้าพระพุทธเจ้าได้มาแล้วโดยธรรม
เชิญพระองค์ทอดพระเนตรวิธุรบัณฑิต
ผู้จะแสดงธรรมถวายด้วยเสียงอันไพเราะเฉพาะพระพักตร์
การสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลายเป็นเหตุนำสุขมาให้โดยแท้”
กาฬาคิริกัณฑ์ จบ
(พญานาคตรัสถามว่า)
[๑๕๘๔] “ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพที่ตนไม่เคยเห็น
ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว ไม่กลัวและไม่อภิวาท
อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๕๘๕] “ข้าแต่พญานาค ข้าพระองค์ไม่กลัว
และไม่ถูกภัยคือความตายคุกคาม
นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารไหว้ตน
[๑๕๘๖] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ตนจะฆ่า
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๕๘๗] “บัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง
นักโทษประหารไม่ควรกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่ควรให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน
[๑๕๘๘] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ตนจะฆ่า
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๕๘๙] “ข้าแต่นาคราช วิมานของพระองค์นี้
เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็นเหมือนเที่ยง
ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
และการอุบัติในนาคพิภพได้มีแล้วแก่พระองค์
ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกับพระองค์
วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาอย่างไรหนอ
[๑๕๙๐] วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาเพราะอาศัยอะไร
หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล
พระองค์ทรงสร้างขึ้นเองหรือเหล่าเทวดาถวายพระองค์
ข้าแต่พญานาค ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์
ตามที่พระองค์ทรงได้วิมานนี้เถิด”
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๕๙๑] “วิมานนี้ เราจะได้มาเพราะอาศัยอะไรก็หามิได้
จะเกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้
เรามิได้ทำขึ้นเอง เหล่าเทวดาก็มิได้ถวาย
วิมานนี้เราได้มาด้วยบุญกรรมอันไม่ต่ำทรามของเราเอง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า)
[๑๕๙๒] “ข้าแต่นาคราช อะไรเป็นวัตร
อะไรเป็นพรหมจรรย์ของพระองค์
ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
และการอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานใหญ่ของพระองค์นี้
เป็นผลของกรรมอะไรที่พระองค์ทรงประพฤติไว้ดีแล้ว”
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๕๙๓] “เราและภรรยาทั้ง ๒ เมื่อครั้งยังอยู่ในมนุษยโลก
เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี
ครั้งนั้น เรือนของเราเป็นดังบ่อน้ำ
เราได้บำรุงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญแล้ว
[๑๕๙๔] เราทั้ง ๒ ได้ถวายทาน คือ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอน ที่พัก
ผ้านุ่งห่ม ผ้าปูนอน ข้าว และน้ำ โดยเคารพ
[๑๕๙๕] ทานที่ได้ถวายโดยความเคารพนั้นเป็นวัตรของเรา
และการสมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของเรา
ท่านนักปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
การอุบัติในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของเรานี้
เป็นผลแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้นที่เราประพฤติดีแล้ว”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๕๙๖] “ถ้าวิมานนี้พระองค์ทรงได้มาด้วยอานุภาพแห่งบุญอย่างนี้
พระองค์ย่อมทรงทราบผลบุญ
และทราบการอุบัติในนาคพิภพเพราะผลบุญ
เพราะเหตุนั้นแล ขอพระองค์อย่าทรงประมาท
จงทรงประพฤติธรรมตามที่จะได้ครอบครองวิมานนี้ต่อไปเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๕๙๗] “ท่านบัณฑิต ในนาคพิภพนี้
ไม่มีสมณะและพราหมณ์ที่เราจะถวายข้าวและน้ำเลย
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่เรา
โดยที่เราจะพึงได้ครอบครองวิมานต่อไปอีกเถิด”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๕๙๘] “ข้าแต่พญานาค ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส
พระธิดา พระชายา ทั้งพระญาติและข้าเฝ้าของพระองค์
ผู้อุบัติในวิมานนี้มีอยู่ ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้าย
ในนาคที่เป็นพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้น
ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์เถิด
[๑๕๙๙] พระองค์ทรงรักษาความไม่ประทุษร้าย
ด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้
พระองค์ดำรงอยู่ในวิมานนี้ได้จนตลอดพระชนมายุแล้ว
จักเสด็จไปสู่เทวโลกซึ่งสูงขึ้นไปกว่านาคพิภพนี้”
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๖๐๐] ท่านเป็นอำมาตย์คู่ชีพของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด
พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว
ย่อมทรงเศร้าโศกแน่ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี
คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๐๑] “ข้าแต่พญานาค พระองค์ตรัสธรรมของเหล่าสัตบุรุษ
ซึ่งเป็นส่วนแห่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม
ที่นักปราชญ์ได้ประพฤติดีแล้วโดยแท้
เพราะบรรดาอันตรายทั้งหลาย เมื่อภัยเช่นนี้เกิดขึ้น
คุณวิเศษของเหล่าบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ย่อมปรากฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พญานาคตรัสถามว่า)
[๑๖๐๒] “ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่า ๆ หรือ
ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นการพนัน
จึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้บอกว่า ได้ท่านมาโดยธรรม
ท่านตกอยู่ในเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร”
(วิธุรบัณฑิตทูลตอบว่า)
[๑๖๐๓] “ปุณณกยักษ์นี้เล่นการพนันชนะพระราชาของข้าพระองค์
ผู้เป็นใหญ่ในกรุงอินทปัตถ์นั้น
พระราชาพระองค์นั้นที่ปุณณกยักษ์ชนะแล้ว
จึงได้ทรงพระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้
ปุณณกยักษ์นี้จึงได้ข้าพระองค์มาโดยธรรม
มิใช่ได้มาโดยไม่เป็นธรรม”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๐๔] “ในกาลนั้น พญานาคผู้ประเสริฐทรงสดับคำสุภาษิต
ของวิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์แล้ว
ทรงชื่นชมโสมนัสมีพระทัยเต็มตื้นด้วยปีติ
ทรงจูงมือวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม
ได้เสด็จเข้าไปในที่อยู่ของพระชายา” ตรัสว่า
[๑๖๐๕] “น้องวิมลา เพราะเหตุใด น้องจึงผอมเหลือง
เพราะเหตุใด น้องจึงไม่ชอบเสวยพระกระยาหาร
ก็เกียรติคุณเช่นนั้นของเราไม่มี
ท่านผู้นี้คือวิธุรบัณฑิตผู้บรรเทาความมืดของโลกทั้งปวง
[๑๖๐๖] นี้คือผู้ที่น้องต้องการหัวใจ ผู้ทำความสว่างไสวมาถึงแล้ว
เชิญน้องตั้งใจฟังถ้อยคำของท่าน
การที่จะได้เห็นท่านอีกเป็นการหาได้ยาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พระศาสดาตรัสต่อไปว่า)
[๑๖๐๗] “นางวิมลาทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้น
ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดินแล้ว มีพระทัยยินดีโสมนัส
ทรงยกพระองคุลีทั้ง ๑๐ นิ้วขึ้นไหว้และตรัสกับวิธุรบัณฑิต
ผู้เป็นนักปราชญ์ประเสริฐที่สุดแห่งชาวกุรุรัฐว่า
[๑๖๐๘] “ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพที่ตนไม่เคยเห็น
ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว ไม่กลัวและไม่อภิวาท
อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๐๙] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ข้าพระองค์ไม่กลัว
และไม่ถูกภัยคือความตายคุกคาม
นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน
[๑๖๑๐] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ฆ่าตน
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”
(นางนาควิมลาตรัสว่า)
[๑๖๑๑] บัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง
นักโทษประหารไม่ควรกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่ควรให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน
[๑๖๑๒] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ที่ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่จะฆ่าตน
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า)
[๑๖๑๓] “ข้าแต่นางนาคกัญญา วิมานของพระองค์นี้
เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็นเหมือนเที่ยง
ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
และการอุบัติในนาคพิภพได้มีแล้วแก่พระองค์
ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกับพระองค์
วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาอย่างไรหนอ
[๑๖๑๔] วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาเพราะอาศัยอะไร
หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล
พระองค์งทรงสร้างขึ้นเองหรือเหล่าเทวดาถวายพระองค์
ข้าแต่นางนาคกัญญา ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์
ตามที่พระองค์ทรงได้วิมานนี้เถิด”
(นางนาควิมลาตอบว่า)
[๑๖๑๕] “วิมานนี้ ฉันจะได้มาเพราะอาศัยอะไรก็หามิได้
จะเกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้
ฉันมิได้ทำขึ้นเอง เหล่าเทวดาก็มิได้ถวาย
วิมานนี้ฉันได้มาด้วยบุญกรรมอันไม่ต่ำทรามของฉันเอง
(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า)
[๑๖๑๖] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี อะไรเป็นวัตร
อะไรเป็นพรหมจรรย์ของพระองค์
ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
และการอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานใหญ่ของพระองค์นี้
เป็นผลของกรรมอะไรที่พระองค์ได้ประพฤติไว้ดีแล้ว”
(นางนาควิมลาตอบว่า)
[๑๖๑๗] “ฉันและพระสวามีของฉันทั้ง ๒
เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี
ครั้งนั้น เรือนของฉันเป็นดังบ่อน้ำ
ฉันได้บำรุงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๑๘] ฉันและพระสวามีได้ถวายทาน คือ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอน ที่พัก
ผ้านุ่งห่ม ผ้าปูนอน ข้าว และน้ำ โดยเคารพ
[๑๖๑๙] ทานที่ได้ถวายโดยเคารพนั้นเป็นวัตรของฉัน
และการสมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของฉัน
ท่านนักปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
การอุบัติในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของฉันนี้
เป็นผลแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้นที่ฉันประพฤติดีแล้ว”
(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า)
[๑๖๒๐] “ถ้าวิมานนี้พระองค์ทรงได้มาด้วยอานุภาพแห่งบุญอย่างนี้
พระองค์ย่อมทรงทราบผลบุญ
และทราบการอุบัติในนาคพิภพเพราะผลบุญ
เพราะเหตุนั้นแล ขอพระองค์อย่าทรงประมาท
จงทรงประพฤติธรรมตามที่จะได้ครอบครองวิมานนี้ต่อไปเถิด
(นางนาควิมลากล่าวว่า)
[๑๖๒๑] “ท่านบัณฑิต ในนาคพิภพนี้
ไม่มีสมณะและพราหมณ์ที่ฉันจะถวายข้าวและน้ำเลย
ฉันถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่ฉัน
โดยที่ฉันจะพึงได้ครอบครองวิมานต่อไปอีกเถิด”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๒๒] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส
พระธิดา พระสวามี ทั้งพระญาติ และข้าเฝ้าของพระองค์
ผู้อุบัติในวิมานนี้มีอยู่ ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้าย
ในนาคที่เป็นพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้น
ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๒๓] พระองค์ทรงรักษาความไม่ประทุษร้าย
ด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้
พระองค์ดำรงอยู่ในวิมานนี้ได้จนตลอดพระชนมายุแล้ว
จักเสด็จไปสู่เทวโลกซึ่งสูงขึ้นไปกว่านาคพิภพนี้”
(นางนาควิมลาตรัสว่า)
[๑๖๒๔] “ท่านเป็นอำมาตย์คู่ชีพของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด
พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว
ย่อมทรงเศร้าโศกแน่ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี
คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๒๕] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี พระองค์ตรัสธรรมของเหล่าสัตบุรุษ
ซึ่งเป็นส่วนแห่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม
ที่นักปราชญ์ได้ประพฤติดีแล้วโดยแท้
เพราะบรรดาอันตรายทั้งหลาย เมื่อภัยเช่นนี้เกิดขึ้น
คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ย่อมปรากฏ”
(นางนาควิมลาตรัสถามว่า)
[๑๖๒๖] “ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่า ๆ หรือ
ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นการพนัน
จึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้บอกว่า ได้ท่านมาโดยธรรม
ท่านตกอยู่ในเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๒๗] “ปุณณกยักษ์นี้เล่นการพนันชนะพระราชาของข้าพระองค์
ผู้เป็นใหญ่ในกรุงอินทปัตถ์นั้น
พระราชาพระองค์นั้นที่ปุณณกยักษ์ชนะแล้ว
จึงได้ทรงพระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้
ปุณณกยักษ์นี้จึงได้ข้าพระองค์มาโดยธรรม
มิใช่ได้มาโดยไม่เป็นธรรม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า)
[๑๖๒๘] พญานาควรุณได้ตรัสถามปัญาหากับบัณฑิตฉันใด
แม้พระนางวิมลานาคกัญญาก็ตรัสถามปัญหากับบัณฑิตฉันนั้น
[๑๖๒๙] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ที่พญานาควรุณตรัสถามแล้ว
ได้พยากรณ์ปัญหาให้พญานาควรุณทรงยินดีฉันใด
แม้พระนางวิมลานาคกัญญาก็ให้ทรงยินดีฉันนั้น
[๑๖๓๐] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ทราบว่า พญานาคผู้ประเสริฐ
และนางนาคกัญญาทั้ง ๒ พระองค์นั้นพอพระทัย
ก็ไม่ครั่นคร้าม ไม่กลัว ไม่ขนพองสยองเกล้า
ได้กราบทูลท้าววรุณนาคราชว่า
[๑๖๓๑] “ข้าแต่พญานาค พระองค์อย่าทรงวิตกเลย
ข้าพระองค์เป็นส่วย๑ ขอพระองค์จงทรงทำกิจ
ด้วยเนื้อหทัยตามที่พระองค์ทรงประสงค์เถิด
ข้าพระองค์จะทำลายสรีระนี้ตามพระประสงค์ของพระองค์เอง”
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๖๓๒] “ปัญญานั่นเอง เป็นหัวใจของบัณฑิตทั้งหลาย
พวกเรายินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนัก
ขอปุณณกเสนาบดีของยักษ์จงได้ภรรยา ณ วันนี้
และจงไปส่งท่านให้ถึงแคว้นกุรุในวันเดียวกันนี้เถิด”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๓๓] ปุณณกยักษ์นั้นได้นางอิรันทดีนาคกัญญาแล้ว
ก็มีใจชื่นชมโสมนัส ได้กล่าวกับวิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐที่สุดแห่งชาวแคว้นกุรุว่า

เชิงอรรถ :
๑ ส่วย หมายถึงของที่เรียกเก็บจากพื้นเมืองส่งเป็นภาคหลวง ตามวิธีเรียกเก็บภาษีอากรในสมัยโบราณ
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๗๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๓๔] “ท่านวิธุรบัณฑิต ท่านได้ทำให้ข้าพเจ้า
พร้อมเพรียงกับภรรยา
ข้าพเจ้าจะทำกิจให้แก่ท่าน จะให้รัตนะคือแก้วมณีนี้แก่ท่าน
และจะนำท่านไปส่งให้ถึงแคว้นกุรุในวันนี้เลยทีเดียว”
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๖๓๕] “กัจจานะ ขอท่านจงมีไมตรี
อย่าได้แตกแยกกับภรรยาผู้น่ารักของท่านตลอดไปเถิด
ขอท่านจงเป็นผู้มีจิตเบิกบานมีปีติโสมนัส
ท่านได้ให้แก้วมณีแล้ว
ขอจงนำข้าพเจ้าไปยังกรุงอินทปัตถ์ด้วยเถิด
(พระศาสดาตรัสต่อไปว่า)
[๑๖๓๖] ปุณณกยักษ์นั้นเชิญให้วิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุ ซึ่งมีปัญญาไม่ต่ำทราม
ให้ขึ้นนั่งบนอาสนะข้างหน้าของตนแล้ว
นำไปยังกรุงอินทปัตถ์
[๑๖๓๗] ปุณณกยักษ์นั้นได้นำวิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุไปสู่กรุงอินทปัตถ์
ได้เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์คิดไปรับอารมณ์๑เสียอีก
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๖๓๘] “โน่น กรุงอินทปัตถ์ปรากฏอยู่
และป่ามะม่วงที่น่ารื่นรมย์ก็เห็นเป็นหย่อม ๆ
ข้าพเจ้าพร้อมกับภรรยาและท่านก็ได้ถึงที่พักอาศัยของตน”

เชิงอรรถ :
๑ เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์คิดไปรับอารมณ์ หมายถึงธรรมดาใจไปหาอะไรไม่ได้ เป็นแต่ว่ารับอารมณ์ได้ไกล
ท่านจึงเรียกว่า ใจไป อธิบายว่า การเดินทางของม้าสินธพมโนมัย(ของปุณณกยักษ์)นั้น เร็วยิ่งกว่าใจ
รับอารมณ์ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๓๖๗/๒๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๓๙] ปุณณกยักษ์ผู้มีผิวพรรณผุดผ่องนั้น
ได้ยกวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐที่สุดของชาวแคว้นกุรุ
ลงไว้ในท่ามกลางธรรมสภาแล้ว
ก็ขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว
[๑๖๔๐] พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้นแล้ว
ทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง
เสด็จลุกขึ้นสวมกอดวิธุรบัณฑิตด้วยพระพาหาทั้ง ๒
ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงเชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะ
ท่ามกลางธรรมสภาตรงพระพักตร์ ตรัสว่า
[๑๖๔๑] “ท่านเป็นผู้แนะนำพวกเรา
เหมือนนายสารถีบังคับรถหุ้มเกราะ
ชาวแคว้นกุรุทั้งหลายยินดีเพราะได้เห็นท่าน
เราได้ถามท่านแล้ว ขอจงบอกเนื้อความนั้น
ท่านพ้นจากมาณพมาได้อย่างไร”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๔๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
ซึ่งแกล้วกล้าและประเสริฐกว่าคน
ผู้ที่พระองค์เรียกว่ามาณพนั้นมิใช่มนุษย์
เขาเป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ
พระองค์ก็ทรงเคยได้ทราบชื่อมาแล้ว
ก็ปุณณกยักษ์นั้นเป็นอำมาตย์คู่ชีพของท้าวกุเวร
[๑๖๔๓] พญานาคทรงพระนามว่าวรุณผู้ครองนาคพิภพ
มีพระกายใหญ่ สะอาด สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณและกำลัง
ปุณณกยักษ์รักปรารถนานางนาคกัญญาชื่ออิรันทดี
ผู้เป็นธิดาของพญานาคนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๔๔] ปุณณกยักษ์นั้นจึงตกลงใจจะฆ่าข้าพระองค์
เพราะเหตุแห่งนางอิรันทดีผู้มีเอวบางร่างน้อยน่ารัก
ก็ปุณณกยักษ์นั้นแลเป็นผู้พร้อมเพรียงกับภรรยา
ส่วนข้าพระองค์ได้รับอนุญาตพญานาคมา
และได้แก้วมณีมาด้วย”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๖๔๕] “มีต้นไม้ต้นหนึ่งเกิดริมประตูราชมณเฑียรของเรา
มีปัญญาเป็นลำต้น มีศีลเป็นกิ่ง
ต้นไม้นั้นผลิผลต้องตามอรรถและธรรม
มีผลเป็นปัญจโครส๑ ดารดาษไปด้วยช้าง ม้า และโค
[๑๖๔๖] เมื่อมหาชนกำลังทำการบูชาต้นไม้นั้น
เล่นเพลินอยู่ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง และดนตรี
มีบุรุษคนหนึ่งไล่ทหารให้หนีไปแล้วถอนต้นไม้นั้นไปด้วย
ต้นไม้ของเรานั้นกลับคืนมาตั้งอยู่ตามเดิม
วิธุรบัณฑิตนี้ก็เหมือนต้นไม้ใหญ่นั้น
กลับคืนมาสู่ที่อยู่ของตนตามเดิมแล้ว
ขอท่านทั้งหลายจงทำความเคารพนบนอบแก่ต้นไม้นี้เถิด
[๑๖๔๗] ขอเชิญอำมาตย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้มีความปลื้มใจด้วยยศ
ที่ได้เพราะอาศัยเราทุก ๆ ท่านทีเดียว
จงแสดงความปลื้มใจของตนให้ปรากฏในวันนี้เถิด
ท่านกระทำบรรณาการให้มากแล้ว
จงทำความเคารพนบนอบแก่ต้นไม้นี้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ปัญจโครส หมายถึงผลที่ได้จากนมโค ๕ ประการ (นมสด, นมส้ม, เนยใส, เนยข้น, เปรียง) (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๑๖๔๕/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๔๘] สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถูกผูกไว้และขังไว้
ซึ่งมีอยู่ในแว่นแคว้นของเรา
ขอชนทั้งหลายจงปล่อยสัตว์เหล่านั้นจากเครื่องผูกให้หมดเถิด
วิธุรบัณฑิตนี้หลุดพ้นจากการจองจำแล้วฉันใด
ขอสัตว์เหล่านั้นจงหลุดพ้นจากเครื่องผูกฉันนั้นเหมือนกัน
[๑๖๔๙] ขอพวกชาวนาชาวไร่จงหยุดพักคราดไถไว้
เล่นมหรสพตลอดเดือนหนึ่งนี้เถิด
ขอเชิญพราหมณ์ทั้งหลายจงมาบริโภคข้าวที่เจือด้วยเนื้อ
พวกนักเลงสุราและพวกที่ชอบดื่มสุราจงดื่มจากถ้วยที่เต็มเปี่ยม
[๑๖๕๐] พวกหญิงแพศยาที่อาศัยอยู่ตามถนนใหญ่
จงเล้าโลมชายผู้มีความต้องการเป็นนิตย์
อนึ่ง ราชบุตรทั้งหลายจงจัดแจงการรักษาในแคว้นให้เข้มแข็ง
อย่าได้เบียดเบียนกันและกัน
ขอท่านทั้งหลายจงทำความเคารพยำเกรงแก่ต้นไม้นี้เถิด”
(เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว)
[๑๖๕๑] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพวกพราหมณ์
ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต
[๑๖๕๒] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต
[๑๖๕๓] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันนำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต
[๑๖๕๔] ชนเป็นจำนวนมากเห็นวิธุรบัณฑิตกลับมาถึงแล้ว
ต่างก็เลื่อมใส ครั้นวิธุรบัณฑิตมาถึงโดยลำดับแล้ว
ต่างโบกผ้าไปมาด้วยประการฉะนี้แล
วิธุรชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทศพร
๑๐. เวสสันดรชาดก๑ (๕๔๗)
ว่าด้วยพระเจ้าเวสสันดรทรงบำเพ็ญบารมีชาติสุดท้าย
กัณฑ์ทศพร
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๖๕๕] ผุสดีผู้มีรัศมีผิวพรรณอันประเสริฐ
มีอวัยวะส่วนด้านหน้าสวยงาม
เธอจงเลือกเอาพร ๑๐ ประการ
ในปฐพีอันเป็นที่รักแห่งหฤทัยของเธอเถิด
(เทพธิดาผุสดีกราบทูลว่า)
[๑๖๕๖] ข้าแต่ท้าวเทวราช หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
หม่อมฉันได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หรือ
พระองค์จึงให้หม่อมฉันจุติจากสถานอันน่ารื่นรมย์
ดุจลมพัดต้นไม้ใหญ่ให้โค่นไป
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๖๕๗] เธอมิได้ทำบาปกรรมอะไรไว้เลย
และเธอจะไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้
แต่บุญของเธอได้หมดสิ้นแล้ว
เหตุนั้น เราจึงกล่าวกับเธออย่างนี้
[๑๖๕๘] ความตายใกล้เธอแล้ว
เธอจักต้องพลัดพรากจากไป
เธอจงรับพร ๑๐ ประการนี้ของเราผู้กำลังจะให้

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงปรารภฝนโบกขรพรรษ (ฝนดุจน้ำตกในใบบัว
มีสีแดง ผู้ต้องการให้เปียกจึงเปียก) ให้เป็นเหตุ ตรัสเวสสันดรชาดกแก่ภิกษุทั้งหลาย (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๕๔๗/๒๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทศพร
(เทพธิดาผุสดีกราบทูลว่า)
[๑๖๕๙] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง
ถ้าพระองค์จะประทานพรแก่หม่อมฉัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้หม่อมฉัน
พึงเกิดในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากรุงสีพี
[๑๖๖๐] ข้าแต่ท้าวปุรินททะ ขอให้หม่อมฉัน
(๑) พึงเป็นผู้มีตาดำเหมือนลูกเนื้อทราย ซึ่งมีนัยน์ตาดำ
(๒) พึงมีขนคิ้วดำ
(๓) พึงมีนามว่าผุสดีในพระราชนิเวศน์นั้น
[๑๖๖๑] (๔) พึงได้โอรสผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ
ประกอบความเกื้อกูลในยาจก
มิได้ตระหนี่ ซึ่งพระราชาทุกประเทศบูชา มีเกียรติยศ
[๑๖๖๒] (๕) เมื่อหม่อมฉันตั้งครรภ์ ขออย่าให้ครรภ์นูนขึ้น
พึงมีครรภ์ไม่นูนเสมอดังคันศร
ที่นายช่างศรเหลาเกลี้ยงเกลาแล้ว
[๑๖๖๓] (๖) ข้าแต่ท้าววาสวะ ขอถันทั้งคู่ของหม่อมฉันอย่าได้หย่อนยาน
(๗) ขอผมหงอกจงอย่าได้มี
(๘) ขอผงธุลีอย่าได้ติดเปรอะเปื้อนกาย
(๙) ขอหม่อมฉันพึงได้ปลดปล่อยนักโทษผู้ต้องประหาร
[๑๖๖๔] (๑๐) ขอให้หม่อมฉันได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงสีพี
ในพระราชนิเวศน์นั้นอันกึกก้องไปด้วยเสียงร้องของนกยูง
และนกกระเรียน แวดล้อมด้วยหมู่ขัตติยนารี
มีทั้งคนเตี้ยและคนค่อมเกลื่อนกล่น ที่พ่อครัวชาวแคว้นมคธเลี้ยงดู
[๑๖๖๕] กึกก้องไปด้วยเสียงกลอนและเสียงบานประตูอันวิจิตร
มีคนเชิญให้ดื่มสุราและกินกับแกล้มเถิด พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๖๖๖] นางผู้งามทั่วทั้งสรรพางค์กาย
พร ๑๐ ประการใด ที่เราได้ให้เธอ
เธอจักได้พรเหล่านั้นทั้งหมด
ในแคว้นของพระเจ้ากรุงสีพี
[๑๖๖๗] ท้าววาสวมฆวานสุชัมบดีเทวราช
ครั้นตรัสพระดำรัสนี้ จึงโปรดประทานพร
แก่พระนางผุสดีแล้วทรงอนุโมทนา
กัณฑ์ทศพร จบ

กัณฑ์หิมพานต์
(พระศาสดาตรัสเนื้อความนี้ว่า)
พระนางผุสดีนั้น
จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว
มาบังเกิดในตระกูลกษัตริย์
ได้ทรงอยู่ร่วมกับพระเจ้าสัญชัยในกรุงเชตุดร
พระนางผุสดีทรงครรภ์ถ้วนทศมาสแล้ว
เมื่อทรงทำประทักษิณพระนคร
ได้ประสูติเราในท่ามกลางถนนของพวกพ่อค้า
ชื่อของเรามิได้เนื่องมาแต่พระมารดาและมิได้เกิดแต่พระบิดา
เราเกิดที่ถนนของพวกพ่อค้า
ฉะนั้น เราจึงชื่อว่า เวสสันดร
เมื่อเรายังเป็นเด็กเล็กเกิดได้ ๘ ขวบ
นั่งอยู่บนปราสาท คิดที่จะบริจาคทานว่า
เราพึงให้หทัย ดวงตา เนื้อ เลือด และร่างกาย
ถ้าว่าจะมีใครมาขอเรา เราก็ยินดีบริจาคให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
เมื่อเราคิดจะบริจาคทานตามสภาพความเป็นจริง
ใจก็ไม่หวั่นไหวมุ่งมั่นอยู่ในกาลนั้น
เหมือนแผ่นดินมีภูเขาสิเนรุและหมู่ไม้เป็นเครื่องประดับ
(พระเวสสันดรตรัสกับพวกพราหมณ์ผู้มาทูลขอช้างว่า)
[๑๖๖๘] พวกพราหมณ์ผู้มีขนรักแร้ดก
และมีเล็บยาว มีขี้ฟันเขรอะ มีธุลีบนศีรษะ
เหยียดแขนข้างขวาออก จะขออะไรฉันหรือ
(พวกพราหมณ์กราบทูลว่า)
[๑๖๖๙] ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทั้งหลายทูลขอรัตนะ
ที่เป็นเครื่องทำให้แคว้นของชาวกรุงสีพีเจริญ
ขอได้โปรดพระราชทานช้างตัวประเสริฐ
มีงาดุจงอนไถ มีกำลังสามารถเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๖๗๐] เราจะให้ช้างพลายซับมันตัวประเสริฐ
ซึ่งเป็นช้างพาหนะอันสูงสุด
ที่พวกพราหมณ์ขอเรา เรามิได้หวั่นไหว
[๑๖๗๑] พระราชาผู้ทรงผดุงแคว้นให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
มีพระทัยน้อมไปในการบริจาค
เสด็จลงจากคอช้าง ทรงให้ทานแก่พราหมณ์ทั้งหลาย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๗๒] เมื่อพระเจ้ากรุงสีพีพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
คราวนั้นความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าก็ได้เกิดขึ้น
แผ่นดินก็กัมปนาทหวั่นไหว
[๑๖๗๓] เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
คราวนั้นความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าก็ได้เกิดขึ้น
ชาวพระนครก็กำเริบเสิบสาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๖๗๔] เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
ชาวเมืองก็วุ่นวายสับสนเสียงดังเซ็งแซ่
เป็นที่น่าสะพรึงกลัวแผ่กระจายไปมากมาย
พระนครก็ปั่นป่วน เมื่อพระเวสสันดร
ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้พระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
เสียงอื้ออึงอันน่าสะพรึงกลัวเป็นอันมากก็เป็นไปในนครนั้น
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๑๖๗๕] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร
แพศย์ ชาวนา พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
[๑๖๗๖] ชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลมาประชุมพร้อมกัน
ชนเหล่านั้นเห็นพวกพราหมณ์นำพญาช้างไป
จึงกราบทูลแด่พระเจ้ากรุงสญชัยให้ทรงทราบว่า
[๑๖๗๗] ข้าแต่สมมติเทพ
แคว้นของพระองค์ถูกกำจัดแล้ว
เพราะเหตุไร พระเวสสันดรพระโอรสของพระองค์
จึงพระราชทานช้างตัวประเสริฐของเราทั้งหลาย
ที่ชาวแคว้นบูชา
[๑๖๗๘] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน
พญากุญชรของเราทั้งหลายตัวมีงาดุจงอนไถ
แกล้วกล้าสามารถ รู้จักเขตแห่งการรบทั้งปวง
เผือกผ่องประเสริฐสุด
[๑๖๗๙] คลุมด้วยผ้ากัมพลเหลือง ซับมัน อาจย่ำยีศัตรูได้
มีงาน่าชอบใจ เผือกผ่องดังภูเขาไกรลาส
พร้อมทั้งพัดวาลวีชนี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๖๘๐] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน
พญาช้างราชพาหนะซึ่งเป็นยานชั้นเลิศ
เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ พร้อมทั้งฉัตรขาว เครื่องลาด
หมอช้าง และคนเลี้ยงช้างแก่พวกพราหมณ์
[๑๖๘๑] พระเวสสันดรนั้นควรจะพระราชทาน
ข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม และที่นั่งที่นอน
ทานเช่นนี้แหละเหมาะสม ทานนั้นแหละสมควรแก่พราหมณ์
[๑๖๘๒] ข้าแต่พระเจ้ากรุงสญชัย ทำไม พระเวสสันดรพระโอรส
ผู้เป็นพระราชาโดยสืบพระราชวงศ์ของพระองค์นี้
ผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจึงพระราชทานพญาคชสารไป
[๑๖๘๓] ถ้าพระองค์จักไม่ทรงทำตามคำนี้ของชาวกรุงสีพี
ชาวกรุงสีพีเห็นทีจักยึดอำนาจพระองค์
พร้อมทั้งพระโอรสไว้ในเงื้อมมือ
(พระเจ้าสัญชัยตรัสว่า)
[๑๖๘๔] ถึงชนบทจะไม่มี และแม้แคว้นจะพินาศไปก็ตามเถิด
เราจะไม่พึงเนรเทศพระราชบุตรผู้ไม่มีโทษ
ออกไปจากแคว้นของตนตามคำของชาวกรุงสีพี
เพราะพระราชบุตรเกิดจากอกของเรา
[๑๖๘๕] ถึงชนบทจะไม่มี และแม้แคว้นจะพินาศไปก็ตามเถิด
เราจะไม่พึงเนรเทศพระราชบุตรผู้ไม่มีโทษ
ออกไปจากแคว้นของตนตามคำของชาวกรุงสีพี
เพราะพระราชบุตรเกิดแต่ตัวของเรา
[๑๖๘๖] อนึ่ง เราจะไม่พึงประทุษร้ายในพระราชบุตรนั้น
เพราะเธอเป็นผู้มีศีลและวัตรอันประเสริฐ
แม้คำติเตียนจะพึงมีแก่เรา และเราจะพึงประสบบาปเป็นอันมาก
เราจะให้ประหารพระเวสสันดรโอรสของเราด้วยศัสตราได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
(ชาวเมืองกราบทูลว่า)
[๑๖๘๗] พระองค์อย่าได้รับสั่งให้ประหารพระเวสสันดรนั้น
ด้วยท่อนไม้หรือด้วยศัสตรา
พระเวสสันดรนั้นไม่ควรแก่เครื่องจองจำ
แต่จงทรงขับไล่พระเวสสันดรนั้น
จากแคว้นไปอยู่ที่เขาวงกตเถิด
(พระเจ้าสัญชัยตรัสว่า)
[๑๖๘๘] ถ้าความพอใจของชาวกรุงสีพีเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่ขัด
ขอเธอจงอยู่และบริโภคกามทั้งหลายตลอดคืนนี้
[๑๖๘๙] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ชาวกรุงสีพีจงพร้อมเพรียงกันขับไล่เธอเสียจากแคว้นเถิด
[๑๖๙๐] นายนักการ ท่านจงลุกขึ้นรีบไปทูลพระเวสสันดรว่า
ขอเดชะ ชาวกรุงสีพี ชาวนิคม
พากันโกรธเคืองพระองค์ มาชุมนุมกันแล้ว
[๑๖๙๑] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
ทั้งชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลก็มาประชุมพร้อมกันแล้ว
[๑๖๙๒] เมื่อสิ้นราตรีนี้แล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ชาวกรุงสีพีจะชุมนุมกันขับไล่พระองค์ออกไปจากแคว้น
[๑๖๙๓] นายนักการนั้น เมื่อได้รับพระราชดำรัสสั่ง
จึงรีบสวมสอดเครื่องประดับมือ
นุ่งห่มเรียบร้อย ประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์
[๑๖๙๔] สระศีรษะในน้ำ สวมกุณฑลแก้วมณีแล้ว
รีบเข้าไปตำหนักอันน่ารื่นรมย์
ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ของพระเวสสันดร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๖๙๕] ได้เห็นพระเวสสันดรราชกุมาร
ซึ่งกำลังทรงพระสำราญรื่นรมย์อยู่
ในพระราชวังของพระองค์ซึ่งแน่นขนัดไปด้วยหมู่อำมาตย์
ปานประหนึ่งท้าววาสวะแห่งสวรรค์ชั้นไตรทศ
[๑๖๙๖] นายนักการนั้นครั้นรีบไปในพระราชนิเวศน์นั้นแล้ว
จึงได้กราบทูลพระเวสสันดรว่า ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ
ข้าพระองค์จะกราบทูลความทุกข์แด่พระองค์
ขอพระองค์อย่าได้ทรงกริ้วข้าพระองค์เลย
[๑๖๙๗] นายนักการนั้นถวายบังคมแล้วพลางร้องไห้คร่ำครวญ
กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช
พระองค์ทรงชุบเลี้ยงข้าพระองค์
ทรงนำมาซึ่งรสที่น่าใคร่ทุกอย่าง
[๑๖๙๘] ข้าพระบาทจะกราบทูลแด่พระองค์
เมื่อข้าพระองค์กราบทูลข่าวสาส์นเรื่องทุกข์ร้อนนั้นแล้ว
ขอพระองค์จงทรงยังข้าพระองค์ให้เบาใจด้วยเกิด
ขอเดชะ ชาวกรุงสีพีและชาวนิคมโกรธเคืองพระองค์
มาชุมนุมกันแล้ว
[๑๖๙๙] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
ทั้งชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลล้วนมาประชุมกัน
[๑๗๐๐] เมื่อสิ้นราตรีนี้แล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ชาวกรุงสีพีจะชุมนุมกันขับไล่พระองค์ออกไปจากแคว้น
(พระเวสสันดรตรัสถามว่า)
[๑๗๐๑] นายนักการ เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงโกรธเคืองเรา
ขอท่านจงบอกความชั่วที่เรามองไม่เห็น
ทำไม พวกเขาจึงจะขับไล่เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
(นายนักการกราบทูลว่า)
[๑๗๐๒] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
ต่างพากันติเตียน เพราะพระองค์พระราชทานพญาช้าง
เหตุนั้น พวกเขาจึงจะขับไล่พระองค์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๗๐๓] เราจะให้หทัย ให้จักษุ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์
หรือแก้วมณีซึ่งเป็นทรัพย์ภายนอกของเราก็จะเป็นไรไป
[๑๗๐๔] เมื่อยาจกมาถึง เราเห็นแล้วจะพึงให้แขนขวาแขนซ้าย
ก็ไม่หวั่นไหวเลย ใจของเรายินดีในการให้
[๑๗๐๕] ถึงชาวกรุงสีพีทั้งมวลจะขับไล่เราหรือจะเข่นฆ่าเรา
หรือตัดเราให้เป็น ๗ ท่อนก็ตามเถิด
เราจะไม่งดการให้เลย
[๑๗๐๖] ชาวกรุงสีพีและชาวนิคมประชุมพร้อมกันกล่าวอย่างนี้ว่า
พระเวสสันดรผู้มีวัตรอันงามจงเสด็จไป
สู่อารัญชรคีรีทางฝั่งแม่น้ำโกนติมารา
ตามทางที่พระราชาผู้ถูกขับไล่เสด็จออกไปนั้นเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๗๐๗] เรานั้นจักไปตามทางที่พระราชาผู้มีโทษเสด็จไป
ขอให้ท่านทั้งหลายจงงดโทษแก่เราคืนหนึ่งและวันหนึ่ง
พอให้เราได้ให้ทานก่อนเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๗๐๘] พระราชาตรัสตักเตือนพระนางมัทรี
ผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายว่า
ทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้ให้แก่พระนาง
และสิ่งของที่ควรสงวนอันเป็นของพระนาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๗๐๙] คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา หรือแก้วไพฑูรย์มีอยู่เป็นอันมาก
และทรัพย์ฝ่ายบิดาของพระนางเอง ควรเก็บไว้ทั้งหมด
[๑๗๑๐] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้ทูลถามพระเวสสันดรนั้นว่า ข้าแต่สมมติเทพ
หม่อมฉันจะเก็บไว้ที่ไหน หม่อมฉันได้ทูลถามพระองค์แล้ว
ขอได้โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้นเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๗๑๑] มัทรี เธอพึงให้ทานในท่านผู้มีศีลทั้งหลายตามสมควรเถิด
เพราะที่พึ่งอย่างอื่นของสัตว์ทั้งปวงยิ่งไปกว่าทานไม่มี
[๑๗๑๒] มัทรี เธอพึงเอาใจใส่ในลูกทั้งหลาย
พึงเอาใจใส่ในแม่ผัวและพ่อผัว
อนึ่ง ผู้ใดพึงตกลงปลงใจว่าจะเป็นพระสวามีของเธอ
ก็พึงบำรุงผู้นั้นโดยความเคารพ
[๑๗๑๓] ถ้าไม่มีผู้ใดตกลงปลงใจเป็นพระสวามีของเธอ
เพราะเธอกับพี่จะต้องพลัดพรากจากกัน
เธอก็จงแสวงหาผู้อื่นมาเป็นพระสวามีเถิด
อย่าลำบากเพราะขาดเราเลย
[๑๗๑๔] เพราะเราจะไปสู่ป่าที่น่าสะพรึงกลัวอันประกอบไปด้วยสัตว์ร้าย
เมื่อเราคนเดียวอยู่ในป่าใหญ่ ชีวิตก็น่าสงสัย
[๑๗๑๕] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้ทูลถามพระเวสสันดรนั้นว่า ทำไมพระองค์
จึงตรัสเรื่องที่ไม่เป็นจริง ทำไมจึงตรัสเรื่องไม่ดี
[๑๗๑๖] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
การที่พระองค์จะพึงเสด็จไปตามลำพังนี้มิใช่ธรรม
แม้หม่อมฉันก็จะตามเสด็จไปตามทางที่พระองค์เสด็จไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๗๑๗] ความตายร่วมกับพระองค์
หรือการมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์
ความตายร่วมกับพระองค์นั้นเท่านั้นประเสริฐกว่า
การมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์จะประเสริฐอะไร
[๑๗๑๘] การก่อไฟให้ลุกโพลงมีเปลวเป็นอันเดียวกัน
แล้วจึงตายในไฟที่ลุกโพลงนั้นประเสริฐกว่า
การมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์จะประเสริฐอะไร
[๑๗๑๙] ช้างพังติดตามพญาช้างผู้ได้รับการฝึกอยู่ในป่า
เที่ยวไปตามซอกเขาเสมอบ้าง ไม่เสมอบ้างฉันใด
[๑๗๒๐] หม่อมฉันจะพาลูกทั้งหลายติดตามพระองค์ไปข้างหลังฉันนั้น
หม่อมฉันจักเป็นผู้เลี้ยงง่ายสำหรับพระองค์
จักไม่เป็นผู้เลี้ยงยากสำหรับพระองค์
[๑๗๒๑] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก นั่งอยู่ที่พุ่มไม้ในป่า
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๒] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก กำลังเล่นอยู่ที่พุ่มไม้ในป่า
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๓] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก อยู่ที่อาศรมอันน่ารื่นรมย์
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๔] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก เล่นอยู่ที่อาศรมอันน่ารื่นรมย์
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๗๒๕] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ผู้ทัดทรงมาลาประดับองค์อยู่ที่อาศรมรมณียสถาน
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๖] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ผู้ทัดทรงมาลาประดับองค์เล่นเพลิดเพลินอยู่
ในอาศรมอันน่ารื่นรมย์
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๗] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ทัดทรงมาลาอยู่ในอาศรมอันน่ารื่นรมย์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๘] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารทั้งหลาย
ทัดทรงมาลา กำลังฟ้อนรำ
เล่นเพลิดเพลินอยู่ในอาศรมอันน่ารื่นรมย์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๙] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นช้างพลาย
มีวัยล่วงได้ ๖๐ ปี กำลังเที่ยวไปในป่าตามลำพัง
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๐] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นช้างพลาย
มีวัยล่วงได้ ๖๐ ปี กำลังเที่ยวไปทั้งในเวลาเย็นเวลาเช้า
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๑] เมื่อใด ช้างพลายมีวัยล่วงได้ ๖๐ ปี
เดินนำหน้าโขลงช้างพังไป ส่งเสียงร้องดังกึกก้อง
พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของช้างที่บันลือลั่นอยู่นั้น
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๗๓๒] เมื่อใด พระองค์ผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจ
ได้ทอดพระเนตรเห็นลำเนาไพรสองข้าง
แห่งทางอันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๓] พระองค์ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นเนื้อที่เดินมาเป็นฝูง
ฝูงละ ๕ ตัวในเวลาเย็นและได้ทอดพระเนตรเห็นพวกกินนร
กำลังฟ้อนรำอยู่ ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๔] เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงกระเซ็นของแม่น้ำ
ที่กำลังหลั่งไหลอยู่ และเสียงเพลงขับกล่อมของพวกกินนร
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๕] เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของนกเค้า
ที่บินเที่ยวไปตามซอกเขา
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๖] เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของเหล่าสัตว์ร้าย
คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง แรด และวัวลาน
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๗] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูง
ซึ่งล้อมสะพรั่งไปด้วยนางนกยูงทั้งหลาย
กำลังรำแพนหางจับอยู่บนยอดเขา
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๘] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูง
ที่มีขนปีกงามตระการตา ซึ่งกำลังรำแพนหางอยู่
ล้อมสะพรั่งไปด้วยนางนกยูงทั้งหลาย
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๓๙] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูงตัวมีคอสีเขียว
มีหงอนงามล้อมสะพรั่งไปด้วยนางนกยูงทั้งหลายฟ้อนรำอยู่
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๔๐] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ทั้งหลาย
มีดอกเบ่งบาน กลิ่นหอมอบอวลในฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๔๑] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นดิน
อันดารดาษไปด้วยแมลงค่อมทอง
มีสีเขียวสดชะอุ่มในเดือนท้ายฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๔๒] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ทั้งหลาย
มีดอกบานสะพรั่ง คือ อัญชันเขียวที่กำลังผลิยอดอ่อน
ต้นโลท และบัวบกที่มีดอกบานสะพรั่ง
มีกลิ่นหอมอบอวลไปในฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๔๓] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นหมู่ไม้
มีดอกบานสะพรั่ง และปทุมชาติ
มีดอกร่วงหล่นลงในเดือนท้ายฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
กัณฑ์หิมพานต์ จบ

กัณฑ์ทานกัณฑ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๗๔๔] พระนางผุสดีราชบุตรีผู้ทรงยศได้ทรงสดับคำ
ที่พระโอรสและพระสุณิสาพร่ำสนทนากัน
ทรงคร่ำครวญว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๔๕] เรากินยาพิษตายเสียดีกว่า
เรากระโดดเหวตายเสียดีกว่า
เราเอาเชือกผูกคอตายเสียดีกว่า
เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดรผู้ไม่มีโทษเล่า
[๑๗๔๖] เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดร
ผู้ไม่มีโทษ ผู้ปราดเปรื่อง
เป็นทานบดี ควรแก่การขอ ไม่ตระหนี่
ผู้ที่พระราชาทุก ๆ ประเทศบูชา มีเกียรติยศ
[๑๗๔๗] เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดร
ผู้ไม่มีโทษ ผู้เลี้ยงดูมารดาบิดา
ประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
[๑๗๔๘] เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดร
ผู้ไม่มีโทษ ผู้เกื้อกูลแก่พระราชา พระเทวี
พระญาติทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลาย และทั่วทั้งแคว้น
[๑๗๔๙] ชาวกรุงสีพีจะให้ขับไล่ลูกผู้ไม่มีโทษ
แคว้นของพระองค์ก็จะเป็นเหมือนรังผึ้งที่ตัวแมลงผึ้งหนีจากไป
และเหมือนผลมะม่วงสุกที่ร่วงหล่นลงบนดิน
[๑๗๕๐] พระเจ้าแผ่นดินผู้อันพวกอำมาตย์ทอดทิ้งแล้ว
จักทรงลำบากอยู่ตามลำพัง
เหมือนหงส์มีขนปีกสิ้นแล้ว
ลำบากอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ
[๑๗๕๑] ข้าแต่มหาราช เพราะฉะนั้น
หม่อมฉันจึงขอกราบทูลพระองค์ว่า
ประโยชน์อย่าได้ล่วงเลยพระองค์ไปเสีย
ขอพระองค์อย่าได้ทรงขับไล่ลูกผู้ไม่มีโทษนั้น
ตามคำของชาวกรุงสีพีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๑๗๕๒] เราย่อมทำความยำเกรงต่อธรรม
เราจึงขับไล่ลูกของตนผู้เป็นธงชัยของชาวกรุงสีพี
ถึงแม้ลูกจะเป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเราเอง
(พระนางผุสดีทรงคร่ำครวญว่า)
[๑๗๕๓] เมื่อก่อน ยอดธงปลิวสะบัดตามเสด็จพระเวสสันดร
เหมือนดอกกรรณิการ์บานสะพรั่ง
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๔] เมื่อก่อน ยอดธงปลิวสะบัดตามเสด็จพระเวสสันดร
เหมือนสวนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๕] เมื่อก่อน กองทหารเคยตามเสด็จพระเวสสันดร
เหมือนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๖] เมื่อก่อน กองทหารเคยตามเสด็จพระเวสสันดร
เหมือนสวนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๗] เมื่อก่อน กองทหารเคยแต่งเครื่องแบบ
ผ้ากัมพลเหลืองจากแคว้นคันธาระ
ทอแสงแวววับเหมือนแมลงค่อมทอง
เคยตามเสด็จพระเวสสันดร
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๘] เมื่อก่อน พระเวสสันดรเคยเสด็จไป
ด้วยช้างพระที่นั่ง วอ และราชรถทรง ทำไมเล่า
วันนี้ จะเสด็จไปด้วยพระบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๕๙] เมื่อก่อน พระเวสสันดรเคยลูบไล้องค์ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ตื่นอยู่ด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ทำไมเล่า
วันนี้ จักทรงหนังเสืออันหยาบแข็งและหาบบริขารไป
[๑๗๖๐] เพราะเหตุไร กองทหารจึงไม่ขนเอาผ้า
ที่ย้อมด้วยน้ำฝาดและหนังเสือ
ติดตามพระเวสสันดรผู้เสด็จไปในป่าใหญ่เล่า
พระเวสสันดรจึงจะไม่ต้องนุ่งห่มผ้าคากรอง
[๑๗๖๑] พวกคนที่เป็นเจ้าทรงผนวช
จะทรงครองผ้าคากรองได้อย่างไรหนอ
แม่มัทรีจักนุ่งห่มผ้าคากรองได้อย่างไร
[๑๗๖๒] พระนางมัทรีเคยใช้แต่ผ้าแคว้นกาสี
แคว้นโขมะ และแคว้นโกทุมพร
แล้วมาใช้ผ้าคากรองจักทำได้อย่างไร
[๑๗๖๓] พระนางมัทรีนั้นเคยไปด้วยยาน คานหาม วอ และรถ
วันนี้ จะเดินเท้าไปตามทางได้อย่างไร
[๑๗๖๔] พระนางมัทรีผู้มีสิริโฉม มีฝ่ามืออันอ่อนนุ่ม
มีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข
วันนี้ จะเดินเท้าไปตามทางได้อย่างไร
[๑๗๖๕] พระนางมัทรีผู้มีฝ่าเท้าอันอ่อนนุ่ม
มีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข
เดินไปอย่างลำบากด้วยรองเท้าทอง
วันนี้ จะเดินเท้าไปตามทางได้อย่างไร
[๑๗๖๖] พระนางมัทรีผู้ทัดทรงมาลา
เดินนำหน้านางข้าหลวงเป็นพัน
วันนี้ จะเดินไปป่าคนเดียวได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๖๗] พระนางมัทรีเมื่อก่อนได้ยินเสียงสุนัขเห่าหอน
ก็สะดุ้งหวาดกลัวประจำ
วันนี้ จะเดินไปป่าได้อย่างไร
[๑๗๖๘] พระนางมัทรีผู้ได้ยินเสียงนกเค้าแมว นกฮูกร้องครวญคราง
ก็หวาดกลัวตัวสั่นเหมือนนางวารุณี๑
วันนี้ จะเดินไปป่าได้อย่างไร
[๑๗๖๙] หม่อมฉันกลับมายังนิเวศน์อันว่างเปล่านี้แล้ว
ก็จักระทมทุกข์ตลอดกาลนานเป็นแน่แท้
เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๐] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักผอมเหลืองลง
เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๑] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้น ๆ
เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๒] หม่อมฉันมายังนิเวศน์อันว่างเปล่านี้แล้ว
ก็จักระทมทุกข์สิ้นกาลนาน
เหมือนแม่นกออกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๓] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักผอมเหลืองเป็นแน่แท้
เหมือนแม่นกออกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๔] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้น ๆ
เหมือนแม่นกออกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า

เชิงอรรถ :
๑ นางวารุณี หมายถึงหญิงที่โดนผีสิง (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๗๖๘/๓๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๗๕] หม่อมฉันกลับมายังนิเวศน์อันว่างเปล่านี้แล้ว
ก็จักระทมทุกข์ตลอดกาลนานเป็นแน่แท้
เหมือนแม่นกจักรพากซบเซาอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ
[๑๗๗๖] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักผอมเหลืองเป็นแน่แท้
เหมือนแม่นกจักรพากซบเซาอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ
[๑๗๗๗] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้น ๆ
เหมือนแม่นกจักรพากวิ่งพล่านอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ
[๑๗๗๘] เมื่อหม่อมฉันพร่ำเพ้ออยู่อย่างนี้
ถ้าพระองค์ยังทรงให้ขับไล่ลูกเวสสันดร
ผู้ไม่มีความผิดจากแว่นแคว้นไปสู่ป่า
หม่อมฉันเห็นจะละชีวิตแน่
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๗๗๙] พระสนมกำนัลในพระเจ้ากรุงสีพีถ้วนหน้า
ได้ยินคำรำพันของพระนางผุสดีแล้ว
ต่างพากันมาประชุมประคองแขนทั้งหลายขึ้นร่ำไห้
[๑๗๘๐] พระโอรสทั้งหลายและพระชายาในนิเวศน์
ของพระเวสสันดร ต่างก็นอนกันแสง
เหมือนหมู่ไม้รังที่ถูกพายุพัดล้มระเนระนาด
[๑๗๘๑] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ในนิเวศน์
ของพระเวสสันดร ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายคร่ำครวญ
[๑๗๘๒] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างก็พากันประคองแขนคร่ำครวญในนิเวศน์ของพระเวสสันดร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๘๓] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ต่อมาพระเวสสันดรก็เสด็จมาสู่โรงทาน
เพื่อทรงให้ทาน โดยรับสั่งว่า
[๑๗๘๔] พวกท่านจงให้ผ้าแก่ผู้ต้องการผ้า
ให้เหล้าแก่พวกนักเลงเหล้า
ให้โภชนะแก่พวกคนผู้ต้องการโภชนะโดยทั่วถึงกัน
[๑๗๘๕] และพวกท่านอย่าได้เบียดเบียนพวกวณิพกผู้มา ณ ที่นี้
จงเลี้ยงดูพวกเขาให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
พวกเขาได้รับการบูชาแล้ว ก็จงไปเถิด
[๑๗๘๖] คราวนั้น มีเสียงอึกทึกกึกก้องน่าสะพรึงกลัว
เป็นไปในพระนครนี้ว่า
ชาวกรุงสีพีขับไล่พระเวสสันดรนั้นเพราะทรงบริจาคทาน
ขอให้พระองค์ได้ทรงบริจาคทานต่อไปอีกเถิด
[๑๗๘๗] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
วณิพกเหล่านั้นก็เป็นดังคนเมามีท่าทางอิดโรย
นั่งปรับทุกข์กันและกันว่า
[๑๗๘๘] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดร
ผู้ไม่มีความผิดไปจากแคว้น
ก็เหมือนได้พากันตัดต้นไม้ที่มีผลต่าง ๆ
[๑๗๘๙] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดร
ผู้ไม่มีความผิดไปจากแคว้น
ก็เหมือนได้พากันตัดต้นไม้ที่ให้สิ่งที่น่าต้องการทุกอย่าง
[๑๗๙๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดร
ผู้ไม่มีความผิดไปจากแคว้น
ก็เหมือนได้พากันตัดต้นไม้ที่นำรสที่น่าต้องการทุกอย่างมาให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๙๑] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
ทั้งคนแก่ เด็ก และคนปานกลาง
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ
[๑๗๙๒] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
พวกทรงเจ้า พวกขันที สนมฝ่ายใน และโหรหลวง
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ
[๑๗๙๓] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
แม้หญิงทั้งหลายที่อยู่ในกรุงนั้นต่างก็พากันร้องไห้คร่ำครวญ
[๑๗๙๔] สมณะ พราหมณ์ และพวกวณิพกเหล่าอื่น
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า เป็นการไม่ยุติธรรมเลย
[๑๗๙๕] เพราะเหตุที่พระเวสสันดรกำลังบำเพ็ญทาน
อยู่ในพระราชวังของพระองค์
จะเสด็จออกไปจากแคว้นของพระองค์
เพราะคำของชาวกรุงสีพีเป็นเหตุ
[๑๗๙๖] พระเวสสันดรได้พระราชทานช้าง ๗๐๐ เชือก
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
อันมีสายรัดทองและสัปคับทอง
[๑๗๙๗] มีนายควาญช้างถือหอกซัดและขอ ขึ้นขี่คอประจำแล้ว
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๗๙๘] พระเวสสันดรทรงพระราชทานม้า ๗๐๐ ตัว
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
เป็นม้าสินธพชาติอาชาไนย มีฝีเท้าเร็ว
[๑๗๙๙] มีนายสารถีถือทวนและธนู ขึ้นขี่ประจำแล้ว
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๐๐] พระเวสสันดรทรงพระราชทานรถ ๗๐๐ คัน
ซึ่งผูกสอดเครื่องรบชักธงขึ้น
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
[๑๘๐๑] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนู ขึ้นขับขี่แล้ว
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๒] พระเวสสันดรพระราชทานสตรี ๗๐๐ นาง
นั่งประจำในรถคันละนาง
สวมสอดด้วยสร้อยสังวาล ตบแต่งด้วยเครื่องทอง
[๑๘๐๓] มีเครื่องประดับ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม
และประดับเครื่องอาภรณ์ล้วนแต่มีสีเหลือง
มีดวงตากว้าง ใบหน้ายิ้มแย้ม สะโพกงาม
เอวบางร่างน้อย แล้วเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๔] พระเวสสันดรพระราชทานแม่โคนม ๗๐๐ ตัว
พร้อมด้วยภาชนะเงินสำหรับรองรับน้ำนมทุก ๆ ตัวแล้ว
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๕] พระเวสสันดรพระราชทานทาสี ๗๐๐ คน
และทาส ๗๐๐ คนแล้ว
จึงเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๖] พระเวสสันดรนี้พระราชทานช้าง ม้า รถ
และนารีที่ประดับตบแต่งแล้ว
จึงเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๗] ในสมัยนั้น ได้มีสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า
เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานมหาทานแล้ว
แผ่นดินก็สะท้านหวั่นไหว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๐๘] ในสมัยนั้น ได้มีสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า
เมื่อพระเวสสันดรทรงประนมมือ
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๙] คราวนั้น เสียงอึกทึกกึกก้องน่าสะพรึงกลัว
เป็นไปในพระนครนี้ว่า
ชาวกรุงสีพีขับไล่พระเวสสันดรนั้นเพราะบริจาคทาน
ขอให้พระองค์ได้ทรงบริจาคทานต่อไปอีกเถิด
[๑๘๑๐] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
วณิพกเหล่านั้นก็เป็นดังคนเมามีท่าทางอิดโรย
นั่งปรับทุกข์กันและกัน
[๑๘๑๑] พระเวสสันดรกราบทูลพระเจ้ากรุงสญชัย
ผู้ประเสริฐ ผู้ทรงธรรมว่า
ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเนรเทศข้าพระองค์เถิด
ข้าพระองค์จะไปยังเขาวงกต
[๑๘๑๒] ข้าแต่มหาราช สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีมาแล้ว
ที่จะมีมา และที่มีอยู่
สัตว์เหล่านั้นยังไม่อิ่มด้วยกามเลย
จะต้องพากันไปสู่สำนักของพญายม
[๑๘๑๓] ข้าพระองค์นั้นบำเพ็ญทานอยู่ในบุรีของตน
ยังชื่อว่าเบียดเบียนชาวเมืองของตน
จะต้องออกจากแคว้นของตนเพราะเหตุแห่งคำของชาวกรุงสีพี
[๑๘๑๔] หม่อมฉันจักต้องได้เสวยความคับแค้นนั้น ๆ ในป่า
อันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย
ซึ่งแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัย
ข้าพระองค์จะบำเพ็ญบุญ
ขอพระองค์ประทับจมอยู่ในเปือกตมเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๑๕] ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้า
ได้ทรงโปรดอนุญาตหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันพอใจการบวช
หม่อมฉันเมื่อบำเพ็ญทานอยู่ในบุรีของตน
ยังชื่อว่าเบียดเบียนชาวเมืองของตน
จะต้องออกจากแคว้นของตนเพราะเหตุแห่งคำของชาวกรุงสีพี
[๑๘๑๖] หม่อมฉันจักต้องได้เสวยความคับแค้นนั้น ๆ ในป่า
อันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย
ซึ่งแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัย
หม่อมฉันจะบำเพ็ญบุญ
ขอพระองค์ประทับจมอยู่ในเปือกตมเถิด
(พระนางผุสดีตรัสว่า)
[๑๘๑๗] ลูกเอ๋ย แม่อนุญาตให้ลูก ขอการบวชของลูกจงสำเร็จ
ส่วนแม่มัทรีผู้มีโฉมงาม มีสะโพกผึ่งผาย เอวบางร่างน้อยนี้
จงอยู่กับลูก ๆ เถิด จักทำอะไรในป่าได้
(พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๑๘๑๘] หม่อมฉันไม่ต้องการนำแม้ทาสีไปสู่ป่าโดยที่เธอไม่ปรารถนา
ถ้าเธอปรารถนา จะติดตามไปก็ตามใจ
ถ้าไม่ปรารถนาก็จงอยู่เถิด
[๑๘๑๙] ลำดับนั้น พระมหาราชเสด็จดำเนินไปทรงวิงวอนพระสุณิสาว่า
แม่มัทรี ผู้มีร่างกายอันชโลมจันทน์
เจ้าอย่าได้ทรงไว้ซึ่งความหมักหมมด้วยละอองธุลีเลย
[๑๘๒๐] แม่มัทรีเคยทรงผ้าแคว้นกาสี อย่าได้ทรงผ้าคากรองเลย
การอยู่ในป่าเป็นความลำบาก
แม่มัทรีผู้มีลักษณะงาม เจ้าอย่าได้ไปเลยนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๒๑] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้กราบทูลพระสัสสุระนั้นว่า
ความสุขใดจะพึงมีแก่หม่อมฉันโดยเว้นจากพระเวสสันดร
หม่อมฉันไม่พึงปรารถนาความสุขนั้น
[๑๘๒๒] พระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้ตรัสกับพระนางมัทรีนั้นว่า
เชิญฟังก่อนแม่มัทรี สัตว์อันจะรบกวน
ยากที่จะอดทนได้ สัตว์เหล่าใดมีอยู่ในป่า
[๑๘๒๓] สัตว์เหล่านั้นเป็นอันมาก คือ เหลือบ ตั๊กแตน
ยุง และผึ้ง มันจะพึงเบียดเบียนเธอในป่านั้น
ความทุกข์อย่างยิ่งนั้นจะพึงมีแก่เธอ
[๑๘๒๔] เธอจะต้องได้พบสัตว์ที่น่ากลัวอื่นอีก
ที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำ เช่นงูเหลือม
สัตว์ที่ไม่มีพิษ แต่มีกำลังมาก
[๑๘๒๕] มันรัดมนุษย์ หรือแม้แต่เนื้อที่มาใกล้
ด้วยขนดแล้วนำมาสู่อำนาจของมัน
[๑๘๒๖] แม้เนื้อร้ายอื่น ๆ เช่นหมีดำ
คนที่มันได้เห็นแล้วหนีขึ้นต้นไม้ก็ไม่พ้น
[๑๘๒๗] ควายเปลี่ยวขวิดลับปลายเขาทั้งคู่ให้แหลม
เที่ยวไปอยู่ในถิ่นที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโสตุมพะ
[๑๘๒๘] แม่มัทรี เธอเปรียบเสมือนแม่โคนมรักลูก
เห็นฝูงเนื้อและโคถึกที่ท่องเที่ยวอยู่ในป่า จักทำอย่างไร
[๑๘๒๙] แม่มัทรี เธอได้เห็นลิงทะโมนไพรที่น่าสะพรึงกลัว
ซึ่งบังเอิญประจวบเข้าที่หนทางที่เดินได้ยาก
ความหวาดหวั่นพรั่นพรึงอันใหญ่หลวง
ก็จักมีแก่เธอเพราะไม่รู้จักเขต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๓๐] แม่มัทรี เมื่อเธออยู่ในพระนคร
ได้ยินเสียงสุนัขเห่าหอน ยังสะดุ้งตกใจบ่อย ๆ
เธอไปถึงเขาวงกตจักทำอย่างไร
[๑๘๓๑] เมื่อฝูงนกพากันจับชุมนุมอยู่ในเวลาเที่ยงตรง
ป่าใหญ่เหมือนส่งเสียงกระหึ่ม
เธอปรารถนาจะไปในป่าใหญ่นั้นทำไม
[๑๘๓๒] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงสิริโฉม
ได้กราบทูลคำนี้กับพระเจ้ากรุงสญชัยนั้นว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ขอพระองค์ทรงพระกรุณา
ตรัสบอกสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวที่มีอยู่ในป่าแก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันจักยอมอดทนต่อสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวเหล่านั้นทั้งหมด
หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๓๓] หม่อมฉันจักแหวกต้นเป้ง หญ้าคา
หญ้าคมบาง แฝก หญ้าปล้อง
และหญ้ามุงกระต่ายไปด้วยอก
หม่อมฉันจักไม่เป็นผู้อันพระเวสสันดรนั้นนำไปได้โดยยาก
[๑๘๓๔] กุมารีได้สามีด้วยวัตตจริยาเป็นอันมาก
คือ ด้วยการอดอาหาร ทรมานท้อง
และด้วยการผูกคาดด้วยไม้คางโค
[๑๘๓๕] ด้วยการบำเรอไฟ และด้วยการดำน้ำ
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๓๖] ชายใดจับมือหญิงหม้ายนั้นผู้ไม่ปรารถนาฉุดคร่าไป
ชายนั้นเป็นผู้ไม่ควรบริโภคของที่เป็นเดนของหญิงหม้ายนั้น
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๓๗] ชายอื่นดูหมิ่นหญิงผู้ไม่มีสามี
ให้ทุกข์มากมายมิใช่น้อยแก่หญิงผู้ไม่มีสามีนั้น
ด้วยการจับผม เตะ ถีบ ถอง
และผลักให้ล้มลงบนพื้นดิน ไม่ยอมหลีกไป
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๓๘] พวกผู้ชายเจ้าชู้ต้องการหญิงหม้ายผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง
ให้ทรัพย์เล็กน้อยแล้ว ก็เข้าใจว่า ตนเป็นผู้มีโชคดี
ย่อมยื้อยุดฉุดกระชากหญิงหม้ายผู้ไม่ปรารถนาจะไป
เหมือนฝูงกาพากันรุมทึ้งนกเค้า
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๓๙] อันว่าหญิงหม้าย แม้จะอยู่ในตระกูลญาติ
ที่เจริญรุ่งเรืองไปด้วยเครื่องทองสัมฤทธิ์
จะไม่ได้รับคำติเตียนล่วงเกินจากพี่น้องและเพื่อนฝูงเป็นไปไม่ได้
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๔๐] แม่น้ำที่ไม่มีน้ำก็ดี แว่นแคว้นที่ไม่มีเจ้าครองก็ดี ย่อมไร้ประโยชน์
แม้หญิงหม้ายถึงจะมีพี่น้องตั้ง ๑๐ ก็เหมือนอยู่โดดเดี่ยว
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๔๑] ธงเป็นเครื่องหมายแห่งรถ ควันเป็นเครื่องปรากฏแห่งไฟ
พระราชาเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน
ภัสดาเป็นศรีสง่าของสตรี
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๔๒] หญิงใดผู้มีเกียรติ เป็นคนขัดสนในเวลาสามีขัดสน
เป็นคนมั่งคั่งในเวลาสามีมั่งคั่ง หญิงนั้นแล
เทพเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญว่า “กระทำสิ่งที่ทำไดัยาก”
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๔๓] หม่อมฉันจักบวชติดตามพระสวามีไปทุกเมื่อ
ในเมื่อแม้แต่แผ่นดินยังไม่แตกสลายไป
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดของหญิง
[๑๘๔๔] หม่อมฉันขาดพระเวสสันดรแล้ว
ก็ไม่ปรารถนาแม้แต่แผ่นดินอันมีสาครเป็นขอบเขต
ซึ่งมีทรัพย์เครื่องปลื้มใจมากมาย
บริบูรณ์ด้วยรัตนะนานัปปการ
[๑๘๔๕] หญิงเหล่าใดเมื่อสามีมีทุกข์ ย่อมปรารถนาสุขเพื่อตน
หญิงเหล่านั้นเลวทรามแท้ หัวใจของพวกเธอเป็นอย่างไรหนอ
[๑๘๔๖] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
หม่อมฉันจักขอติดตามพระองค์ไปด้วย
เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงประทาน
สิ่งที่น่าต้องการทั้งปวงแก่หม่อมฉัน
[๑๘๔๗] พระมหาราชได้ตรัสพระดำรัสนี้
กับพระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายว่า
แม่มัทรีผู้มีลักษณะสวยงาม พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา
ลูกทั้งหลายเหล่านี้ของเธอยังเป็นเด็ก เจ้าจงฝากฝังไว้แล้วไปเถิด
พวกเราจะรับเลี้ยงดูเด็กทั้งหลายนั้นไว้เอง
[๑๘๔๘] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้กราบทูลพระเจ้าสญชัยนั้นดังนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาเป็นลูกรักของหม่อมฉัน
ลูกทั้ง ๒ นั้นจักชโลมใจหม่อมฉัน
ผู้มีชีวิตที่เศร้าโศกให้รื่นรมย์ในป่านั้นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๔๙] พระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้ตรัสกับพระนางมัทรีนั้นว่า
เด็กทั้งหลายเคยเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยเนื้ออันสะอาด
เมื่อมาเสวยผลไม้ จักทำอย่างไร
[๑๘๕๐] เด็กทั้งหลายเคยเสวยในถาดทองหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ
เป็นของใช้ประจำราชตระกูล
เมื่อต้องมาเสวยในใบไม้ จักทำอย่างไร
[๑๘๕๑] เด็กทั้งหลายเคยสวมใส่ผ้าแคว้นกาสี
แคว้นโขมะ และแคว้นโกทุมพร
เมื่อต้องมาสวมใส่ผ้าคากรอง๑ จักทำอย่างไร
[๑๘๕๒] เด็กทั้ง ๒ เคยไปด้วยคานหาม วอ และรถ
เมื่อต้องเดินด้วยเท้าเปล่า จักทำอย่างไร
[๑๘๕๓] เด็กทั้งหลายเคยนอนในเรือนยอด มีบานหน้าต่างปิดมิดชิด
เมื่อต้องมานอนในที่โคนไม้ จักทำอย่างไร
[๑๘๕๔] เด็กทั้งหลายเคยนอนบนพรมที่ปูลาดอย่างวิจิตรบนบัลลังก์
เมื่อต้องมานอนที่ลาดด้วยหญ้า จักทำอย่างไร
[๑๘๕๕] เด็กทั้งหลายเคยลูบไล้ด้วยกฤษณาและจันทน์หอม
เมื่อต้องมาแปดเปื้อนละอองธุลี จักทำอย่างไร
[๑๘๕๖] เด็กทั้งหลายเคยดำรงอยู่ในความสุข
มีผู้ใช้แส้จามรีและกำหางนกยูงพัดวีให้
ต้องถูกเหลือบและยุงกัด จักทำอย่างไร
[๑๘๕๗] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้กราบทูลพระเจ้ากรุงสญชัยดังนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ทรงปริเวทนาการ และอย่าได้เสียพระทัยเลย
หม่อมฉันทั้งหลายเป็นอย่างไร เด็กทั้งหลายก็จักเป็นอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าทำด้วยหญ้าคา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๕๘] พระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ครั้นกราบทูลดังนี้แล้วก็เสด็จจากไป
พระนางผู้มีลักษณะโสภาทรงพาพระโอรสทั้งหลาย
เสด็จไปตามทางที่พระเจ้ากรุงสีพีเคยเสด็จไป
[๑๘๕๙] ลำดับนั้น พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์
ครั้นได้ทรงบริจาคทานแล้วก็ถวายบังคม
พระบิดาและพระมารดา และทรงทำประทักษิณ
[๑๘๖๐] รีบเสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งอันเทียมด้วยม้าสินธพ ๔ ตัว
ทรงพาพระโอรสและพระชายาเสด็จไปสู่เขาวงกต
[๑๘๖๑] ลำดับนั้น พระเวสสันดรเสด็จไป
ในสถานที่ที่มีหมู่ชนเป็นอันมากอยู่
ตรัสบอกลาว่า เราจะไปละนะ
ขอหมู่ญาติทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีโรคเถิด
[๑๘๖๒] เชิญดูเถิดมัทรี ที่ประทับของพระเจ้ากรุงสีพีผู้ประเสริฐ
ปรากฏเป็นรูปอันน่ารื่นรมย์
ส่วนตำหนักของเราเป็นดังที่อยู่ของเปรต
[๑๘๖๓] พราหมณ์ทั้งหลายได้ตามพระเวสสันดรนั้นไป
พวกเขาได้ทูลขอม้ากับพระองค์ พระองค์ถูกขอแล้ว
จึงได้ทรงมอบม้า ๔ ตัวให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๔ คน
[๑๘๖๔] เชิญดูเถิดมัทรี ละมั่งทองปรากฏร่างงดงาม
เป็นดังม้าที่ได้รับการฝึกมาดีแล้ว นำเราไป
[๑๘๖๕] ต่อมา พราหมณ์คนที่ ๕ ในป่านั้น
ได้มาทูลขอราชรถกับพระองค์
พระองค์ถูกขอแล้ว ก็ทรงพระราชทานราชรถนั้นให้แก่เขา
และพระองค์มิได้มีพระทัยท้อแท้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๖๖] ลำดับนั้น พระเวสสันดรรับสั่งให้คนของพระองค์ลงแล้ว
ทรงพอพระทัยมอบรถม้าพระที่นั่ง
ให้แก่พราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ไป
[๑๘๖๗] มัทรี เธอจงอุ้มแม่กัณหาผู้เป็นน้องนี้ซึ่งเบากว่า
ส่วนพี่จักอุ้มพ่อชาลี เพราะเธอเป็นพี่คงจะหนักกว่า
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๘๖๘] พระราชาทรงอุ้มพระกุมาร
ส่วนพระนางมัทรีราชบุตรีทรงอุ้มทาริกา
ทรงยินดีร่วมกัน ทั้งตรัสปราศรัยคำอันไพเราะ
กับกันและกันดำเนินไป
กัณฑ์ทานกัณฑ์ จบ

กัณฑ์วนปเวสน์
(พระศาสดาตรัสเนื้อความที่พระเวสสันดรตรัสกับพระนางมัทรีว่า)
[๑๘๖๙] ถ้ามนุษย์บางคนเดินไปตามทาง หรือเดินสวนทางมา
เราจะได้ถามทางกับพวกเขาว่า เขาวงกตอยู่ที่ไหน
[๑๘๗๐] พวกเขาพบเราในระหว่างทางนั้น
ต่างก็พากันคร่ำครวญอย่างน่าสงสาร
ทุกข์ระทมตอบเราว่า เขาวงกตยังอยู่อีกไกล
(พระศาสดาตรัสเนื้อความนี้ว่า)
[๑๘๗๑] ถ้าทารกทั้งหลาย
ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ที่มีผลในป่าใหญ่
ต่างก็ทรงกันแสง เพราะเหตุแห่งผลไม้เหล่านั้น
[๑๘๗๒] หมู่ไม้สูงใหญ่ดังจะเห็นทารกทรงพระกันแสง
จึงโน้มกิ่งลงมาเอง จนใกล้จะถึงทารกทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๗๓] พระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
เห็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยมีมา
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดขนพองสยองเกล้านี้แล้ว จึงกล่าวสาธุการว่า
[๑๘๗๔] เหตุอันน่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาในโลก
เป็นเหตุให้เกิดขนพองสยองเกล้า
ด้วยเดชแห่งพระเวสสันดร ต้นไม้จึงโน้มกิ่งลงมา
[๑๘๗๕] ทวยเทพทั้งหลายต่างก็ได้มาช่วยย่นทางเข้า
ให้กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์เสด็จถึงเจตราชได้
โดยใช้เวลาเสด็จเพียงวันเดียว
เพื่ออนุเคราะห์ทารกทั้งหลาย
[๑๘๗๖] กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์นั้นทรงดำเนินไปสิ้นทางไกล
เสด็จถึงเจตราชซึ่งเป็นชนบทที่เจริญมั่งคั่ง
มีเนื้อและข้าวอย่างดีเป็นอันมาก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๘๗๗] ชาวนครเจตราชเห็นพระนางมัทรี
ผู้มีลักษณะสวยงามเสด็จมา
ก็ห้อมล้อมแห่แหนด้วยกล่าวกันว่า
พระแม่เจ้าเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติหนอ
ดำเนินมาด้วยพระบาทเปล่า
[๑๘๗๘] เคยทรงราชยานคานหามและราชรถ
วันนี้ พระนางมัทรีต้องดำเนินด้วยพระบาทเปล่าในป่า
[๑๘๗๙] พระยาเจตราชทั้งหลายได้เห็นพระเวสสันดร
ต่างก็ทรงกันแสงเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามว่า
ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทรงพระสำราญ
ปราศจากโรคาพาธหรือ พระองค์ไม่มีทุกข์หรือ
พระราชบิดาของพระองค์หาพระโรคาพาธมิได้หรือ
ชาวกรุงสีพีก็ไม่มีโรคหรอกหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๘๐] ข้าแต่มหาราช พลนิกายของพระองค์อยู่ที่ไหน
กระบวนรถของพระองค์อยู่ที่ไหน พระองค์ไม่มีม้าทรง
ไม่มีรถทรง ทรงดำเนินมาสิ้นทางแสนไกล
ถูกพวกอมิตรย่ำยีหรือ จึงเสด็จมาถึงทิศนี้
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๘๘๑] สหายทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความสุขไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง พระราชบิดาของข้าพเจ้าก็ทรงปราศจากพระโรค
และชาวกรุงสีพีก็ไม่มีโรคเบียดเบียน
[๑๘๘๒] เพราะข้าพเจ้าได้ให้พญากุญชรมีงาดุจงอนไถ
แกล้วกล้าสามารถรู้จักเขตแห่งการรบทั้งปวง
เผือกผ่องประเสริฐสุด
[๑๘๘๓] คลุมด้วยผ้ากัมพลเหลือง ซับมัน อาจย่ำยีศัตรูได้
มีงาน่าชอบใจ เผือกผ่องดังภูเขาไกรลาส
พร้อมทั้งพัดวาลวีชนี
[๑๘๘๔] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน
พญาช้างราชพาหนะซึ่งเป็นยานชั้นเลิศ
เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐพร้อมทั้งฉัตรขาว เครื่องลาด
หมอช้าง และคนเลี้ยงช้างแก่พวกพราหมณ์
[๑๘๘๕] เพราะเหตุนั้น ชาวกรุงสีพีจึงพากันโกรธเคืองข้าพเจ้า
ทั้งพระบิดาก็ทรงกริ้วขับไล่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะไปเขาวงกต สหายทั้งหลาย
ขอท่านทั้งหลายจงทราบโอกาสซึ่งเป็นที่อยู่ในป่าของข้าพเจ้าเถิด
(พระยาเจตราชกราบทูลว่า)
[๑๘๘๖] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดี มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ผู้ทรงเป็นใหญ่เสด็จมาถึงแล้ว
ขอพระองค์ตรัสบอกพระประสงค์สิ่งที่มีอยู่ในเมืองนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๘๗] ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์เสวยสุธาโภชนาหาร
ข้าวสาลี ผักดอง เหง้ามัน น้ำผึ้ง และเนื้อเถิด
พระองค์เป็นแขกที่ข้าพระองค์ทั้งหลายสมควรต้อนรับ
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๘๘๘] สิ่งใดที่ท่านทั้งหลายให้แล้ว
ขอสิ่งนั้นทั้งหมดจงเป็นอันเราได้รับไว้แล้วเถิด
บรรณาการเป็นอันท่านทั้งหลายได้ทำแล้วทุกอย่าง
พระราชาทรงพิโรธข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปยังเขาวงกต
สหายทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทราบ
โอกาสซึ่งเป็นที่อยู่ในป่าของข้าพเจ้าเถิด
(พระยาเจตราชกราบทูลว่า)
[๑๘๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
ขอเชิญพระองค์เสด็จประทับ ณ เจตราชนี้ก่อนเถิด
จนกว่าชาวเจตราชจักไปเฝ้าพระเจ้ากรุงสีพีเพื่อทูลขอถึงพระราชสำนัก
[๑๘๙๐] เพื่อทูลขอพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ทรงอภัยโทษให้ชาวเจตราชได้ที่พึ่งแล้ว
มีความปรีดาแห่แหนแวดล้อมพระองค์ไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๘๙๑] ท่านทั้งหลายอย่าได้ชอบใจเลย
การไปทูลขอถึงพระราชสำนักเพื่อให้พระราชาทรงอภัยโทษให้
แม้แต่พระราชาก็ไม่ทรงเป็นใหญ่ในเรื่องนี้
[๑๘๙๒] เพราะถ้าชาวกรุงสีพีพร้อมทั้งพลนิกาย
และชาวนิคมโกรธเคืองยิ่งแล้ว
ก็ปรารถนาจะกำจัดพระราชาเสียเพราะสาเหตุแห่งเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
(พระยาเจตราชกราบทูลว่า)
[๑๘๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ
ถ้าเหตุการณ์นี้ในรัฐนั้นเป็นไปเช่นนี้ ขอพระองค์ทรงมี
ชาวเจตราชแวดล้อมเสด็จครองราชสมบัติในรัฐนี้เถิด
[๑๘๙๔] รัฐนี้มั่งคั่งสมบูรณ์ ชนบทก็มั่งคั่งกว้างใหญ่
ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงตกลงพระทัยครองราชสมบัติเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๘๙๕] ข้าพเจ้าไม่มีความพอใจ ไม่ตกลงใจที่จะครองราชสมบัติ
บุตรแห่งชาวเจตราชทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า
ผู้ถูกขับไล่จากแคว้นเถิด
[๑๘๙๖] ชาวกรุงสีพี พลนิกาย และชาวนิคมคงไม่ยินดีว่า
ชาวเจตราชได้ราชาภิเษกข้าพเจ้าผู้ถูกขับไล่จากแคว้น
[๑๘๙๗] แม้ความไม่เบิกบานใจจะพึงมีแก่ท่านทั้งหลาย
เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าแน่นอน
อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่ชอบใจความบาดหมางใจ
และความทะเลาะกับชาวกรุงสีพีเลย
[๑๘๙๘] มิใช่แต่เท่านั้น ความบาดหมางใจจะพึงรุนแรงขึ้น
สงครามใหญ่ก็อาจจะมีได้ คนเป็นจำนวนมากก็จะฆ่าฟันกันเอง
เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าผู้เดียว
[๑๘๙๙] สิ่งใดที่ท่านทั้งหลายให้แล้ว
ขอสิ่งนั้นทั้งหมดจงเป็นอันข้าพเจ้ารับไว้แล้วเถิด
บรรณาการเป็นอันท่านทั้งหลายได้ทำแล้วทุกอย่าง
พระราชาทรงพิโรธข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปยังเขาวงกต
สหายทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทราบ
โอกาสซึ่งเป็นที่อยู่ในป่าของข้าพเจ้าเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
(ชาวเจตราชกราบทูลว่า)
[๑๙๐๐] เชิญเถิด ราชฤๅษีทั้งหลายผู้ทรงบูชาไฟ
มีพระทัยตั้งมั่นประทับอยู่ ณ ประเทศใด
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจักกราบทูลประเทศนั้น
ขอให้ทรงทราบเหมือนอย่างผู้ฉลาดในหนทางฉะนั้นเถิด
[๑๙๐๑] ข้าแต่มหาราช โน่น ภูเขาคันธมาทน์ที่เป็นศิลาล้วน
ซึ่งเป็นสถานที่ประทับอยู่ของพระองค์
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายา
[๑๙๐๒] พระยาเจตราชทั้งหลายต่างก็ทรงกันแสง
มีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล
กราบทูลพระเวสสันดรให้ทรงทราบว่า ข้าแต่มหาราช
จากนี้ไป ขอเชิญพระองค์ทรงบ่ายพระพักตร์
ตรงไปทางทิศเหนือเถิด
[๑๙๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ต่อจากนั้น
พระองค์จักทรงทอดพระเนตรเห็นภูเขาเวปุลละ
ซึ่งดารดาษไปด้วยหมู่ไม้นานาพันธุ์
มีเงาร่มเย็น น่ารื่นรมย์ใจ
[๑๙๐๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ
พระองค์เสด็จเลยภูเขาเวปุลละนั้นไป
จากนั้นก็จะทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำเกตุมดี
ซึ่งเป็นแม่น้ำลึก ไหลมาจากซอกเขา
[๑๙๐๕] เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลามากมาย
มีท่าน้ำราบเรียบดี มีน้ำมาก
พระองค์จะได้สรงสนานและเสวย ณ ที่นั้น
ปลุกปลอบพระโอรสและพระชายาให้สำราญพระทัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๙๐๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ต่อจากนั้นไป
พระองค์จักทอดพระเนตรเห็นต้นไทร
ที่มีผลหวาน มีร่มเงาเยือกเย็น เป็นที่รื่นรมย์ใจ
ซึ่งเกิดอยู่บนยอดเขาอันน่ารื่นรมย์
[๑๙๐๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ถัดจากนั้นไป
พระองค์จักทอดพระเนตรเห็นภูเขานาลิกะซึ่งเป็นศิลาล้วน
คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาพันธุ์และหมู่กินนร
[๑๙๐๘] ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือแห่งภูเขานาลิกะนั้น
มีสระมุจลินท์ที่ดารดาษไปด้วยดอกบุณฑริก
ดอกอุบลขาว และดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม
[๑๙๐๙] ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปยังไพรสณฑ์วนสถาน
อันเขียวชะอุ่มดังเมฆอยู่เป็นนิตย์ สะพรั่งไปด้วยไม้ดอก
และไม้ผลทั้ง ๒ เหมือนพญาราชสีห์ที่มุ่งเหยื่อ
[๑๙๑๐] ในไพรสณฑ์นั้น มีฝูงนกมากมาย
ส่งเสียงขันคูกู่ร้องก้องไพเราะ ประสานเสียงกู่ร้องอยู่อึงมี่
บนต้นไม้ที่ผลิดอกออกช่อตามฤดูกาล
[๑๙๑๑] พระองค์เสด็จดำเนินถึงซอกเขาซึ่งเป็นทางเดินลำบาก
และเป็นต้นของแม่น้ำทั้งหลาย จะได้ทอดพระเนตรเห็น
สระโบกขรณีอันสะพรั่งไปด้วยไม้กุ่มและไม้รกฟ้า
[๑๙๑๒] เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลามากมาย
มีท่าน้ำงาม ราบเรียบดี มีน้ำมาก
เต็มเปี่ยมอยู่สม่ำเสมอ เป็นสระสี่เหลี่ยม
มีน้ำอร่อย ปราศจากกลิ่นเหม็น
[๑๙๑๓] ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือแห่งสระโบกขรณีนั้น
พระองค์ได้ทรงสร้างบรรณศาลา
ครั้นแล้วพึงทรงบำเพ็ญเพียรเลี้ยงพระชนมชีพ
ด้วยการเที่ยวแสวงหามูลผลาหารอยู่เถิด
กัณฑ์วนปเวสน์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
กัณฑ์ชูชก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นจึงตรัสว่า)
[๑๙๑๔] ได้มีพราหมณ์ชื่อชูชก ซึ่งอยู่ประจำในแคว้นกาลิงคะ
เขามีภรรยาสาวชื่ออมิตตตาปนา
[๑๙๑๕] ถูกพวกหญิงในหมู่บ้านนั้นที่พากันไปตักน้ำที่ท่าน้ำ
ต่างแตกตื่นกันมารุมด่าอย่างอึงมี่ว่า
[๑๙๑๖] มารดาของเจ้าคงเป็นศัตรูแน่นอน
บิดาของเจ้าก็คงเป็นศัตรูแน่ จึงได้พากันยกเจ้า
ที่ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๑๗] ไม่เกื้อกูลเลยหนอ
พวกญาติของเจ้าแอบไปปรึกษากันลับ ๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๑๘] พวกญาติของเจ้าเป็นศัตรูหนอ
ได้พากันแอบไปปรึกษากันลับ ๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๑๙] เป็นความชั่วจริงหนอ
ที่พวกญาติของเจ้าได้แอบไปปรึกษากันลับ ๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๒๐] เป็นความเลวทรามจริงหนอ
ที่พวกญาติของเจ้าได้แอบไปปรึกษากันลับๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๒๑] เป็นที่น่าเสียใจหนอ
ที่พวกญาติของเจ้าได้แอบไปปรึกษาลับ ๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
[๑๙๒๒] เจ้าคงไม่พอใจอยู่กับผัวแก่
การที่เจ้าอยู่ในเรือนของพราหมณ์เฒ่า
เจ้าตายเสียยังดีกว่าอยู่
[๑๙๒๓] แม่คนงามสุดสวย มารดาและบิดาของเจ้า
คงหาชายอื่นมาให้เป็นผัวเจ้าไม่ได้แน่
จึงยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๒๔] ในดิถีที่ ๙ เจ้าคงจักบูชายัญไว้ไม่ดี
คงจักไม่ได้ทำการบูชาไฟ
มารดาและบิดาของเจ้าจึงยกเจ้า
ผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๒๕] เจ้าคงสาปแช่งสมณะและพราหมณ์
ผู้มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า
ผู้มีศีล เป็นพหูสูตในโลกแน่
เจ้าจึงได้มาอยู่ในเรือนของพราหมณ์เฒ่า
แต่ยังเป็นสาวแรกรุ่นอย่างนี้
[๑๙๒๖] การถูกงูกัดก็ไม่เป็นทุกข์
การถูกแทงด้วยหอกก็ไม่เป็นทุกข์
การได้เห็นผัวแก่นั้นแหละเป็นทุกข์หนักหนา
[๑๙๒๗] การเล่นหัวกับผัวแก่ก็ไม่มี การรื่นรมย์กับผัวแก่ก็ไม่มี
การสนทนาปราศรัยกับผัวแก่ก็ไม่มี แม้แต่การซิกซี้ก็ไม่งาม
[๑๙๒๘] แต่เมื่อใด ผัวหนุ่มเมียสาวเล่นเย้าหยอกกันอยู่ในที่ลับ
เมื่อนั้น ความเศร้าโศกทุกอย่าง
ที่เสียดแทงหัวใจอยู่ ก็หายไปสิ้น
[๑๙๒๙] เจ้ายังเป็นสาวรูปงาม พวกชายหนุ่มปรารถนายิ่งนัก
เจ้าจงไปอยู่อาศัยในตระกูลญาติเถิด
คนแก่จักทำให้เจ้ารื่นรมย์ได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
(นางอมิตตตาปนากล่าวว่า)
[๑๙๓๐] พราหมณ์ ฉันจักไม่ไปตักน้ำที่ท่าน้ำเพื่อท่านต่อไปอีก
เพราะพวกหญิงชาวบ้านมันรุมกันด่าฉัน เหตุที่ท่านเป็นคนแก่
(ชูชกปลอบว่า)
[๑๙๓๑] เธออย่าได้ทำการงานเพื่อฉัน
อย่าได้ตักน้ำมาเพื่อฉัน
ฉันจักตักน้ำเอง แม่มหาจำเริญ
เธออย่าได้โกรธเคืองฉัน
(นางอมิตตตาปนาตอบว่า)
[๑๙๓๒] ฉันมิได้เกิดในตระกูลที่จะใช้สามีตักน้ำ
พราหมณ์ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่าน
[๑๙๓๓] พราหมณ์ ถ้าท่านจักไม่นำทาสหรือทาสีมาให้ฉัน
ท่านจงทราบอย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในสำนักของท่าน
(ชูชกกล่าวว่า)
[๑๙๓๔] พราหมณี ศิลปกรรมหรือทรัพย์
และข้าวเปลือกของฉันไม่มีที่ไหน
ฉันจักนำทาสหรือทาสีมาให้แก่เธอผู้เจริญได้
ฉันจักอุปถัมภ์บำรุงเธอ เธออย่าได้โกรธเคืองเลย
(นางอมิตตตาปนาตอบว่า)
[๑๙๓๕] มาเถิด ฉันจักบอกแก่ท่านตามที่ฉันได้ฟังมา
โน่นพระราชาเวสสันดรประทับอยู่ที่เขาวงกต
[๑๙๓๖] พราหมณ์ ท่านจงไปทูลขอทาสและทาสี
กับพระองค์เถิด เมื่อท่านทูลขอแล้ว
พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์จักพระราชทานทาสและทาสีให้แก่ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
(ชูชกกล่าวว่า)
[๑๙๓๗] นางผู้เจริญ ฉันแก่แล้วเป็นคนทุพพลภาพ
ทั้งหนทางก็แสนไกล เดินไปได้แสนยาก
เธออย่าได้พิไรรำพัน อย่าได้เสียใจ
ฉันจักอุปถัมภ์บำรุงเธอ เธออย่าได้โกรธเคืองเลย
(นางอมิตตตาปนาพูดว่า)
[๑๙๓๘] คนขลาดยังไม่ทันถึงสนามรบ
ยังไม่ทันได้รบก็ยอมแพ้ฉันใด
พราหมณ์ ท่านยังไม่ทันได้ไป
ก็ยอมแพ้เสียแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน
[๑๙๓๙] พราหมณ์ ถ้าท่านจักไม่นำทาสหรือทาสีมาให้ฉัน
ท่านจงทราบอย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่าน
จักทำการที่ไม่พอใจให้แก่ท่าน ข้อนั้นจักเป็นทุกข์แก่ท่าน
[๑๙๔๐] ในคราวมหรสพซึ่งมีในต้นฤดูนักขัตฤกษ์
ท่านจักได้เห็นฉันแต่งตัวสวยงาม
รื่นรมย์อยู่กับชายอื่น ข้อนั้นจักเป็นทุกข์แก่ท่าน
[๑๙๔๑] พราหมณ์ เมื่อท่านที่เป็นคนแก่รำพันอยู่
เพราะไม่เห็นฉัน ร่างกายที่งอก็จักงอยิ่งขึ้น
และผมที่หงอกก็จักหงอกมากขึ้น
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๙๔๒] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นตกใจกลัว
ตกอยู่ในอำนาจของนางพราหมณี
ถูกกามราคะบีบคั้น ได้กล่าวกับนางพราหมณีว่า
[๑๙๔๓] พราหมณี เธอจงทำเสบียงเดินทางให้ฉัน
ทั้งขนมงา ขนมเทียน สัตตุก้อน สัตตุผง
และข้าวผอก เธอจงจัดให้ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
[๑๙๔๔] ฉันจักนำพระกุมารทั้ง ๒ มาให้เป็นทาส
พระกุมารทั้ง ๒ องค์นั้นเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน
จักปรนนิบัติเธอทั้งกลางคืนและกลางวัน
[๑๙๔๕] พราหมณ์ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพรหม
ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็สวมรองเท้า พร่ำสั่งเสียต่อไป
ทำประทักษิณภรรยาแล้ว
[๑๙๔๖] พราหมณ์นั้นสมาทานวัตร มีน้ำตานองหน้า
หลีกไปยังนครอันเจริญรุ่งเรืองของชาวกรุงสีพี
เที่ยวไปแสวงหาทาส
[๑๙๔๗] พราหมณ์ชูชกนั้นไปในเมืองนั้นแล้ว
ได้ถามชนทั้งหลายผู้มาประชุมกันอยู่ในที่นั้นว่า
พระราชาเวสสันดรประทับอยู่ที่ไหน
เราจะไปเฝ้าพระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ได้ที่ไหน
[๑๙๔๘] ชนเหล่านั้นผู้มาประชุมกัน ณ ที่นั้น
ได้ตอบพราหมณ์ชูชกนั้นไปว่า
พราหมณ์ พระเวสสันดรบรมกษัตริย์
ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป
จึงถูกขับไล่ไปจากแคว้นของพระองค์
บัดนี้ ประทับอยู่ ณ เขาวงกต
[๑๙๔๙] พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์
ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป
จึงทรงพาพระโอรสและพระชายา
ไปประทับอยู่ ณ เขาวงกต
[๑๙๕๐] พราหมณ์ชูชกนั้นเป็นผู้มีความติดใจในกาม
ถูกนางพราหมณีอมิตตตาตักเตือน
จึงได้เสวยทุกข์เป็นอันมากในป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน
เป็นที่อาศัยอยู่ของแรดและเสือเหลือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
[๑๙๕๑] แกถือไม้เท้าสีเหมือนผลมะตูม เครื่องบูชาไฟ และเต้าน้ำ
เข้าไปสู่ป่าใหญ่ ในที่ที่จะได้ทราบข่าว
พระเวสสันดรผู้ประทานสิ่งที่น่าใคร่
[๑๙๕๒] เมื่อแกเข้าไปยังป่าใหญ่ ถูกฝูงสุนัขรุมล้อมกัด
แกร้องเสียงหลง เดินผิดทางถอยห่างออกไปจากทาง
[๑๙๕๓] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นผู้โลภในโภคะ ไม่สำรวม
เดินผิดทางที่จะไปยังเขาวงกต ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๙๕๔] ใครเล่าจะพึงบอกพระราชบุตร
พระนามว่าเวสสันดรผู้ประเสริฐสุด
ทรงชนะความตระหนี่ที่ใคร ๆ ให้แพ้ไม่ได้
ประทานความปลอดภัยในเวลามีภัยแก่เรา
[๑๙๕๕] พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของพวกยาจก
เหมือนธรณีเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราชผู้เปรียบดังธรณีแก่เราได้
[๑๙๕๖] พระองค์ทรงเป็นที่เข้าเฝ้าของพวกยาจก
เหมือนสาครเป็นที่ไหลรวมแห่งแม่น้ำทั้งหลาย
ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราชผู้เปรียบดังทะเลแก่เราได้
[๑๙๕๗] ใครจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนห้วงน้ำมีท่าสวยงาม สะอาด
มีน้ำเยือกเย็นเป็นที่รื่นรมย์ใจ ดารดาษไปด้วยดอกบุณฑริก
สะพรั่งไปด้วยเกสรดอกบัวแก่เราได้
[๑๙๕๘] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นโพธิ์ที่เกิดอยู่ริมทาง
มีร่มเงาเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
[๑๙๕๙] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นไทรที่เกิดอยู่ริมทาง
มีร่มเงาเยือกเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้
[๑๙๖๐] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นมะม่วงที่เกิดอยู่ริมทาง
ที่มีร่มเงาเยือกเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้
[๑๙๖๑] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นสาละที่มีร่มเงาเยือกเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้
[๑๙๖๒] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่เกิดอยู่ริมทาง มีร่มเงาเยือกเย็น
เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้
[๑๙๖๓] ก็เมื่อเราเข้าไปในป่าใหญ่ เพ้อรำพันอยู่อย่างนี้
ผู้ใดพึงบอกว่า เรารู้จัก
ผู้นั้นจะพึงทำความเพลิดเพลินให้เกิดแก่เราได้
[๑๙๖๔] ก็เมื่อเราเข้าไปในป่าใหญ่ เพ้อรำพันอยู่อย่างนี้
ผู้ใดพึงบอกสถานที่ประทับอยู่
ของพระเวสสันดรได้ว่า เรารู้จัก
ผู้นั้นพึงประสบบุญมิใช่น้อยด้วยคำคำเดียวนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๙๖๕] เจตบุตรพรานป่าได้ตอบพราหมณ์ชูชกว่า
พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์ถูกพวกท่านรบกวน
เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป จึงถูกขับไล่ออกจากแคว้น
ของพระองค์ไปประทับอยู่ที่เขาวงกต
[๑๙๖๖] พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์ถูกพวกท่านรบกวน
เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป จึงทรงพาพระโอรส
และพระชายาไปประทับอยู่ที่เขาวงกต
[๑๙๖๗] ท่านเป็นคนโง่เขลา ทำสิ่งที่ไม่น่าทำ
จากแคว้นมาป่าใหญ่ เที่ยวแสวงหาพระราชบุตร
เหมือนนกยางเที่ยวเสาะหาปลาในน้ำ
[๑๙๖๘] พราหมณ์ ณ ที่นี้ เราจักไม่ให้ท่านมีชีวิตอยู่ได้
ลูกศรที่เรายิงนี้แหละจักดูดกินโลหิตของท่าน
[๑๙๖๙] พราหมณ์ เราจะตัดศีรษะของท่าน
ผ่าหัวใจพร้อมด้วยไส้พุง บูชายัญชื่อปันถสกุณะ๑
พร้อมด้วยเนื้อของท่าน
[๑๙๗๐] พราหมณ์ เราจะเชือดเฉือนเอาหัวใจของท่าน
พร้อมด้วยเนื้อ มันข้น และมันสมองของท่าน
ยกขึ้นเป็นเครื่องบวงสรวง
[๑๙๗๑] พราหมณ์ ข้อนั้นจักเป็นยัญที่เราบูชาดีแล้ว
บวงสรวงดีแล้ว ด้วยเนื้อของท่าน
และท่านจักนำพระชายาและพระโอรสทั้งหลาย
ของพระราชบุตรไปไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ปันถสกุณะ หมายถึงการฆ่าแล้วผ่าเนื้อหัวใจควักออกมาพร้อมด้วยตับ ไต และลำไส้ แล้วบูชายัญแก่
เทวดาประจำทาง (คล้ายการฆ่านกแล้วย่างไฟบูชา) (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๙๖๙/๓๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
(ชูชกโกหกว่า)
[๑๙๗๒] เจตบุตร ท่านจงฟังเราก่อน พราหมณ์ผู้เป็นทูตไม่ควรถูกฆ่า
เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ฆ่าทูต นี้เป็นธรรมอันเก่าแก่
[๑๙๗๓] ชาวกรุงสีพีทุกคนตกลงยินยอมแล้ว
พระบิดาก็ทรงพระประสงค์จะพบพระราชบุตรนั้น
และพระมารดาของพระราชบุตรนั้นก็ทรงทุพพลภาพ
คงไม่นานนัก พระเนตรทั้ง ๒ ของพระองค์ก็จักขุ่นมัว
[๑๙๗๔] เจตบุตร ท่านจงฟังเราก่อน
เราเป็นทูตที่พวกชาวกรุงสีพีนั้นส่งมา
เราจักทูลเชิญพระราชบุตรเสด็จกลับ
ถ้าท่านรู้ขอได้บอกทางแก่เราเถิด
(พรานเจตบุตรกล่าวว่า)
ท่านเป็นทูตที่โปรดปรานของพระเวสสันดรผู้เป็นที่รักของเรา
เราจะให้รางวัลแก่ท่าน
[๑๙๗๕] พราหมณ์ เราจะให้น้ำเต้า และขาเนื้ออย่างดีแก่ท่าน
และจะบอกสถานที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดร
ผู้ให้สิ่งที่น่าใคร่แก่ท่าน
กัณฑ์ชูชก จบ

จูฬวนวัณณนา
พรรณนากัณฑ์จุลพน
(พรานเจตบุตรกล่าวว่า)
[๑๙๗๖] มหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทย์ศิลาล้วน
ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
[๑๙๗๗] พระองค์ทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟอยู่
[๑๙๗๘] ทิวไม้เขียวนั้นมีผลหลากหลาย
และภูผาสูงยอดเสียดเมฆเขียวชะอุ่ม
นั่นแลเป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยดอกอัญชัน
[๑๙๗๙] นั่นหมู่ไม้ตะแบก หูกวาง ไม้ตะเคียน ไม้รัง
ไม้สะคร้อ และย่านทราย อ่อนไหวไปตามลม
เหมือนมาณพดื่มสุราครั้งเดียวก็ซวนเซไปมาอยู่
[๑๙๘๐] ท่านจะได้ยินเสียงนกนานาชนิด
ที่จับอยู่บนกิ่งไม้ดุจทิพยสังคีต คือ
เหล่านกโพระดก นกดุเหว่า ส่งเสียงขันคูกู่ร้อง
บินขวักไขว่ไปมาจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง
[๑๙๘๑] ทั้งหมู่ไม้ที่ต้องลมพัดสะบัดกิ่งใบไหวพลิ้วเสียดสีกันไปมา
เหมือนจะเรียกคนผู้กำลังเดินไปให้หวนกลับมา
และเหมือนจะเชิญชวนเหล่าชนผู้กำลังเดินผ่านมา
ให้ชื่นชมรื่นรมย์พักผ่อน ณ สถานที่ที่พระเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายประทับอยู่
[๑๙๘๒] พระองค์ทรงเพศเป็นบรรพชิตอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟอยู่
[๑๙๘๓] ในบริเวณอาศรมสถานนั้นมีไม้มะม่วง
มะขวิด ขนุน ไม้รัง ชมพู่ สมอพิเภก
สมอไทย มะขามป้อม โพธิ และพุทรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
[๑๙๘๔] ทั้งมะพลับทอง ไทร มะขวิด มะซางหวาน
และมะเดื่อ มีผลสุกแดงปลั่งอยู่ในที่ต่ำ
[๑๙๘๕] หมู่ไม้ที่มองเห็น ณ เชิงเขาปาเรวตะ ผลองุ่น
ผลจันทน์มีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง รวงผึ้งที่ปราศจากตัวผึ้ง
คนเอื้อมมือนำมาบริโภคได้เองในอาศรมนั้น
[๑๙๘๖] ต้นมะม่วงบางต้นก็ผลิดอกออกช่อแย้มบาน
บางต้นมีดอกและใบร่วงหล่น ผลิผลดาษดื่น
บางผลดิบ บางผลสุก ผลมะม่วงทั้งดิบและสุก
มีสีคล้ายหลังกบ
[๑๙๘๗] อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น
คนที่ยืนอยู่ใต้ต้นมะม่วงเหล่านั้นก็เก็บเอาผลมะม่วงสุกได้
ผลมะม่วงทั้งดิบและสุกมีสีสวยงาม กลิ่นหอม และมีรสอร่อย
[๑๙๘๘] สิ่งที่ว่ามาทั้งนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง
ถึงกับข้าพเจ้าออกอุทานว่า อือ
ที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดรนั้น
เหมือนกับที่อยู่ของพวกเทวดา
งดงามเปรียบด้วยพระอุทยานนันทวัน
[๑๙๘๙] มีต้นตาล ต้นมะพร้าว และต้นอินทผาลัมอยู่ในป่าใหญ่
มีดอกสีหลากหลายเหมือนพวงดอกไม้
ที่เขาร้อยไว้บนต้นไม้ที่มีดอกบานสะพรั่ง
ต้นไม้เหล่านั้น ย่อมปรากฏดังยอดธงชัย
เหมือนดวงดาวประดับฟ้า
[๑๙๙๐] ในบริเวณอาศรมนั้นมีหมู่ไม้นานาพันธุ์
คือ ไม้โมกมัน โกฐสะค้าน แคฝอย บุนนาค
บุนนาคเขา และไม้ซึก มีดอกบานสะพรั่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
[๑๙๙๑] อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้นมีต้นราชพฤกษ์
มะเกลือ กฤษณา รักดำ ไทรใหญ่ หงอนไก่
และประดู่ เป็นอันมาก มีดอกบานสะพรั่ง
[๑๙๙๒] ในบริเวณอาศรมนั้นมีไม้โมกหลวง
ไม้สน ไม้กระทุ่ม ไม้ช่อ ไม้ตะแบก และไม้รัง
ล้วนมีดอกบานสะพรั่ง เป็นพุ่มเหมือนลอมฟาง
[๑๙๙๓] ในที่ไม่ไกลจากอาศรมนั้น
มีสระโบกขรณี ณ ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์
ดารดาษไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
เหมือนสระโบกขรณีที่อยู่ในอุทยานนันทวันของเหล่าเทวดา
[๑๙๙๔] อนึ่ง ณ ที่ใกล้สระโบกขรณีนั้น
มีฝูงนกดุเหว่าเมารสดอกไม้ ส่งเสียงร้องไพเราะจับใจ
ทำให้ป่าใหญ่ดังอึกทึกกึกก้อง
เมื่อหมู่ไม้ผลิดอกออกช่อเบ่งบานตามฤดูกาล
[๑๙๙๕] รสหวานปานน้ำผึ้งพลัดร่วงลงจากเกสรดอกไม้
มาติดค้างอยู่บนใบบัว จึงชื่อว่าน้ำผึ้งใบบัว
อนึ่ง อาศรมนั้น เมื่อลมทิศใต้และทิศตะวันตกพัดมา
ก็เกลื่อนกลาดไปด้วยละอองเกสรดอกปทุม
[๑๙๙๖] ในสระโบกขรณีนั้นมีกระจับขนาดใหญ่
ทั้งข้าวสาลีอ่อนบ้าง แก่บ้าง
เหล่านั้นนั่นแหละล้มระเนระนาดอยู่บนพื้นดิน
และในสระโบกขรณีนั้น น้ำใสสะอาดมองเห็นฝูงปลา
เต่า และปูเป็นจำนวนมากที่กำลังว่ายไปมาเป็นกลุ่ม
รสที่ไหลออกจากเหง้าบัวและจากสายบัว
มีรสหวานปานน้ำผึ้ง นมสด และเนยใสที่เจือปนด้วยน้ำนม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
[๑๙๙๗] ไม้ป่านั้นมีกลิ่นต่าง ๆ มีลมโชยพัดมา
หอมฟุ้งตลบอบอวลเหมือนจะยังชนผู้มาถึงแล้ว
ให้บันเทิงเบิกบานด้วยกลิ่นและพวงดอกไม้
หมู่ภมรก็โผบินร่อนส่งเสียงกระหึ่มอยู่รายรอบ
เพราะกลิ่นหอมของดอกไม้
[๑๙๙๘] อนึ่ง ที่ใกล้อาศรมนี้
มีฝูงนกจำนวนมากที่มีสีต่าง ๆ กัน
ต่างก็บันเทิงใจอยู่กับคู่ของตน
กู่ร้องประชันเสียงกันและกัน
[๑๙๙๙] ยังมีฝูงนกอีก ๔ ฝูง๑ อาศัยอยู่ใกล้สระโบกขรณี
คือ ฝูงนกนันทิกา ฝูงนกชีวปุตตา
ฝูงนกปุตตาปิยาจโน ฝูงนกปิยปุตตาปิยานันทา
[๒๐๐๐] ดอกไม้ทั้งหลาย ตั้งเรียงรายกันอยู่
เหมือนพวงมาลัยที่เขาร้อยไว้
หมู่ไม้เหล่านั้นย่อมปรากฏดังยอดธงชัย มีดอกสีต่าง ๆ กัน
ดังนายช่างผู้ฉลาดได้เก็บมาเรียงร้อยไว้เป็นอย่างดี
ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระราชาเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายประทับอยู่
[๒๐๐๑] พระองค์ทรงเพศเป็นนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและทรงบูชาไฟอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ฝูงนก ๔ ฝูง หมายถึงนกที่มีชื่อต่างกันตามเสียงร้อง ฝูงนกนันทิการ้องว่า “ข้าแต่พระเวสสันดรผู้เป็น
นาย ขอให้ท่านอยู่ในป่านี้อย่างเพลิดเพลินเถิด” ฝูงนกชีวปุตตาร้องว่า “ขอให้พระองค์และพระราชโอรส
จงเป็นอยู่สบาย” ฝูงนกปุตตาปิยาจโนร้องว่า “ขอให้พระองค์และพระโอรสสุดที่รักจงมีชีวิตอยู่” ฝูงนก
ปิยปุตตาปิยานันทาร้องว่า “ขอให้พระองค์และพระราชโอรสสุดที่รักจงเพลิดเพลิน” (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๑๙๙๙/๓๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
(ชูชกกล่าวว่า)
[๒๐๐๒] ก็ข้าวสัตตุผงที่ระคนด้วยน้ำผึ้ง
และข้าวสัตตุก้อนที่มีรสหวานอร่อยของเรานี้
ที่นางอมิตตตาได้จัดแจงให้ เราจะแบ่งให้แก่เจ้า
(พรานเจตบุตรกล่าวว่า)
[๒๐๐๓] ท่านพราหมณ์ ขอจงเอาไว้เป็นเสบียงทางของท่านเถิด
ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาเสบียงทาง ท่านพราหมณ์
ขอท่านจงรับเอาคืนไปจากที่นี้เถิด ขอท่านจงไปตามสบายเถิด
[๒๐๐๔] ทางนี้เป็นทางเดินไปได้คนเดียว ตรงไปยังอาศรม
แม้อัจจุตฤๅษีผู้อยู่ในอาศรมนั้นเป็นผู้มีขี้ฟันเขรอะ
มีศีรษะเปื้อนด้วยธุลี ทรงเพศเป็นนักบวชอันประเสริฐ
ถือขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎาอยู่
[๒๐๐๕] เป็นผู้นุ่งห่มหนังเสือ นอนเหนือพื้นดิน และบูชาไฟ
เชิญท่านไปถามฤๅษีนั้นดูเถิด ฤๅษีจักบอกทางให้แก่ท่าน
[๒๐๐๖] ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์
ครั้นได้ฟังคำแนะนำนี้แล้วกระทำประทักษิณ
มีใจเบิกบาน อำลาพรานเจตบุตร
แล้วหลีกไปในทางที่อัจจุตฤๅษีอยู่
พรรณนากัณฑ์จุลพน จบ

มหาวนวัณณนา
พรรณนากัณฑ์มหาพน
[๒๐๐๗] พราหมณ์ชูชกภารทวาชะนั้น
เมื่อเดินไปก็ได้พบอัจจุตฤๅษี ครั้นพบแล้ว
ได้ทักทายปราศรัยกับอัจจุตฤๅษีว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๐๘] พระคุณเจ้าไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ สุขสำราญดีหรือ
เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ
มูลผลาหารก็มีมากหรือ
[๒๐๐๙] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(อัจจุตฤๅษีกล่าวว่า)
[๒๐๑๐] พราหมณ์ เราไม่มีโรคเบียดเบียน เราสุขสบายดี
อนึ่ง เราเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกดี
ทั้งมูลผลาหารก็มีมาก
[๒๐๑๑] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียนเราเลย
[๒๐๑๒] หลายปีมาแล้ว เรามาอยู่อาศรมของเรา
ยังไม่รู้จักอาพาธที่ไม่น่ารื่นรมย์ซึ่งจะเกิดขึ้น
[๒๐๑๓] มหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว มิได้มาร้าย
ท่านผู้เจริญ ขอเชิญเข้าไปข้างใน
เชิญล้างเท้าทั้ง ๒ ของท่านเถิด
[๒๐๑๔] ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง ผลหมากเม่า
มีรสหวานปานน้ำผึ้ง เชิญท่านเลือกบริโภคแต่ผลดี ๆ เถิด
[๒๐๑๕] น้ำดื่มเย็นสนิทที่เรานำมาจากซอกเขา
มหาพราหมณ์ ถ้าท่านต้องการ ก็เชิญดื่มเถิด
(ชูชกกล่าวว่า)
[๒๐๑๖] สิ่งใดที่พระคุณเจ้าให้แล้ว
สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นอันข้าพเจ้ารับไว้แล้ว
บรรณาการพระคุณเจ้าได้ทำไว้ทุกอย่างแล้ว
ข้าพเจ้ามาก็เพื่อจะเยี่ยมเยือนพระราชาเวสสันดร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
พระโอรสของพระเจ้ากรุงสญชัย
ซึ่งพลัดพรากจากชาวกรุงสีพีมาช้านาน
ถ้าพระคุณเจ้าทราบสถานที่ประทับ
ก็โปรดแจ้งแก่ข้าพเจ้าเถิด
(อัจจุตฤๅษีกล่าวว่า)
[๒๐๑๗] ท่านผู้เจริญ มาเพื่อต้องการบุญ
เพื่อเยี่ยมเยือนพระเวสสันดรเจ้ากรุงสีพีก็หาไม่
เราเข้าใจว่าท่านปรารถนา(จะมาขอ)พระชายา
ผู้เคารพนบนอบพระราชาไปเป็นภรรยา
หรือมิฉะนั้น ท่านก็ปรารถนา(จะมาขอ)
พระกัณหาชินาไปเป็นทาสีและพระชาลีไปเป็นทาส
[๒๐๑๘] หรือหาไม่ ก็มาเพื่อจะนำทั้งพระมารดา
และพระโอรสทั้ง ๓ พระองค์ไปจากป่า
ท่านพราหมณ์ โภคะทั้งหลาย ทรัพย์สิน
และข้าวเปลือกของพระเวสสันดรนั้นไม่มี
(ชูชกกล่าวว่า)
[๒๐๑๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านยังไม่สมควรจะโกรธเคือง
เพราะข้าพเจ้ามิได้มาเพื่อขอ
การพบเห็นพระอริยะเป็นการดี
การอยู่ร่วมกับพระอริยะเป็นสุขทุกเมื่อ
[๒๐๒๐] ข้าพเจ้าไม่เคยได้พบพระเวสสันดรเจ้ากรุงสีพี
ผู้ทรงพลัดพรากจากชาวกรุงสีพีมานาน
ข้าพเจ้ามาเพื่อเยี่ยมเยือนพระองค์
ถ้าพระคุณเจ้ารู้จักสถานที่ประทับ
โปรดบอกแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
(อัจจุตฤๅษีกล่าวว่า)
[๒๐๒๑] มหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทน์ศิลาล้วน
ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายา
[๒๐๒๒] พระองค์ทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและทรงบูชาไฟอยู่
[๒๐๒๓] ทิวไม้เขียวนั้นมีผลหลากหลาย
และภูผาสูงยอดเสียดเมฆเขียวชะอุ่ม
นั่นแลเป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยดอกอัญชัน
[๒๐๒๔] นั่นหมู่ไม้ตะแบก หูกวาง ไม้ตะเคียน
ไม้รัง ไม้สะคร้อ และย่านทราย อ่อนไหวไปตามลม
เหมือนมาณพดื่มสุราครั้งเดียวก็ซวนเซไปมาอยู่
[๒๐๒๕] ท่านจะได้ยินเสียงนกนานาชนิด
ที่จับอยู่บนกิ่งไม้ดุจดังเสียงทิพยสังคีต
คือ นกโพระดก นกดุเหว่า ส่งเสียงขันคูกู่ร้อง
บินขวักไขว่ไปมาจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง
[๒๐๒๖] ทั้งหมู่ไม้ที่ต้องลมพัดสะบัดกิ่งใบไหวพลิ้วเสียดสีกันไปมา
เหมือนจะเรียกคนผู้กำลังเดินผ่านไปให้หวนกลับมา
และเหมือนจะเชิญชวนเหล่าชนผู้กำลังเดินผ่านมา
ให้ชื่นชมรื่นรมย์พักผ่อน ณ สถานที่ที่พระราชาเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายาประทับอยู่
[๒๐๒๗] พระองค์ทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและทรงบูชาไฟอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๒๘] ที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ใจ มีดอกกุ่มร่วงหล่นเรี่ยราด
พื้นแผ่นดินเขียวชะอุ่มไปด้วยหญ้าแพรก
ณ ที่นั้น ไม่มีผงธุลีฟุ้งขึ้นเลย
[๒๐๒๙] หญ้านั้นสีเขียวคล้ายสร้อยคอนกยูง
อ่อนนุ่มเหมือนสัมผัสสำลี
หญ้ารายรอบยาวไม่เกิน ๔ นิ้ว
[๒๐๓๐] ต้นมะม่วง ชมพู่ มะขวิด
และมะเดื่อมีผลสุกอยู่ในที่ต่ำ ๆ
ป่านั้นเป็นสถานที่เพิ่มความรื่นรมย์มากขึ้น
เพราะมีหมู่ไม้ที่ใช้บริโภคได้
[๒๐๓๑] มีน้ำใสสะอาดกลิ่นหอม สีเหมือนแก้วไพฑูรย์
เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลาหลั่งไหลไปในป่านั้น
[๒๐๓๒] ภูมิภาคเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ไม่ห่างไกลจากอาศรมนั้น
มีสระโบกขรณีดารดาษไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
เหมือนมีในอุทยานนันทวันของพวกเทวดา
[๒๐๓๓] พราหมณ์ ในสระโบกขรณีนั้น
มีอุบลอยู่ ๓ เหล่า คือ อุบลเขียว อุบลขาว
และอุบลแดง งามตระการตามากมาย
[๒๐๓๔] ในสระนั้นมีดอกปทุมสีขาวดังผ้าโขมพัสตร์
สระนั้นชื่อสระมุจลินท์
ดารดาษไปด้วยอุบลขาว จงกลนี และผักทอดยอด
[๒๐๓๕] อนึ่ง ในสระนี้มีปทุมชาติบานสะพรั่ง
ปรากฏดังจะหาที่สุดมิได้
บ้างก็บานในฤดูคิมหันต์ บ้างก็บานในฤดูเหมันต์
ปรากฏเหมือนลอยอยู่บนน้ำซึ่งลึกประมาณเพียงเข่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๓๖] ปทุมชาติงามตระการตาชูดอกสะพรั่ง
ส่งกลิ่นอบอวล
หมู่ภมรก็โผบินร่อนเสียงดังกระหึ่มอยู่รายรอบ
เพราะกลิ่นหอมของดอกไม้
[๒๐๓๗] พราหมณ์ ณ ริมรอบขอบสระนี้
มีต้นไม้ขึ้นมากมายเช่นต้นกระทุ่ม
ต้นแคฝอย และต้นทองหลาง ผลิดอกออกช่อบานสะพรั่ง
[๒๐๓๘] ต้นปรู ไม้ซาก ไม้ปาริชาติ ก็มีดอกบานสะพรั่ง
ต้นกากะทิงมีอยู่ที่ ๒ ฟากฝั่งของสระมุจลินท์
[๒๐๓๙] ต้นซึก ต้นแคขาว บัวบกส่งกลิ่นฟุ้งไป
ต้นคนทีสอ ต้นคนที ต้นเขมา และต้นประดู่
ขึ้นอยู่ใกล้สระนั้น มีดอกบานสะพรั่ง
[๒๐๔๐] ต้นมะคำไก่ ไม้มะซาง ต้นแก้ว ต้นมะรุม
การะเกด กรรณิการ์ และชบา ผลิดอกบานสะพรั่ง
[๒๐๔๑] ต้นรกฟ้า ต้นอินทนิล ต้นกระท้อน และต้นทองกวาว
ต่างก็ผลิดอกออกช่อและยอดแดงระเรื่อ
[๒๐๔๒] ไม้มะรื่น ตีนเป็ด กล้วย ต้นคำฝอย นมแมว
คนทา ประดู่ลาย และสลอด ผลิดอกบานสะพรั่ง
[๒๐๔๓] ต้นมะไฟ ต้นงิ้ว ช้างน้าว พุดขาว กฤษณา
โกฐเขมา และโกฐสอ ผลิดอกบานสะพรั่ง
[๒๐๔๔] ณ บริเวณสระนั้น มีต้นไม้ที่มีทั้งอ่อนและแก่
ต้นไม่คดงอ ผลิดอกแย้มบาน
ตั้งอยู่ทั้ง ๒ ข้างอาศรมรอบเรือนไฟ
[๒๐๔๕] อนึ่ง ที่ริมรอบขอบสระนี้ มีพรรณไม้เกิดขึ้นมากมาย
คือ ตะไคร้ ถั่วเขียว ถั่วราชมาส สาหร่าย และสันตะวา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๔๖] น้ำในสระนี้ ถูกลมรำเพยพัด
เกิดเป็นระลอกคลื่นกระทบฝั่ง
มีหมู่แมลงโผบินเคล้าเกสรดอกไม้ที่แย้มบาน
สีเสียดเทศ เต่าร้าง และผักทอดยอดมีอยู่มาก
[๒๐๔๗] พราหมณ์ ต้นไม้ทั้งหลายดารดาษไปด้วยกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ
กลิ่นของบุปผชาติเหล่านั้นหอมอบอวล
อยู่ได้ถึง ๗ วัน ไม่ระเหยหายไป
[๒๐๔๘] บุปผชาติทั้งหลายเกิดอยู่เรียงราย ๒ ฟากฝั่ง
สระมุจลินท์ ล้วนแต่สวยงาม
ป่านั้นดารดาษไปด้วยต้นราชพฤกษ์ทำให้สวยงาม
[๒๐๔๙] กลิ่นดอกราชพฤกษ์นั้นหอมอบอวล
อยู่ได้ถึงกึ่งเดือน ไม่ระเหยหาย
ดอกอัญชันเขียว อัญชันขาว และกุ่มแดง มีดอกบานสะพรั่ง
ป่านั้นดารดาษไปด้วยอบเชยและแมงลัก
[๒๐๕๐] เหมือนป่านั้นจะให้คนบันเทิงใจ
ด้วยดอกไม้และกิ่งไม้ที่มีกลิ่นหอม
หมู่ภมรก็โผบินร่อนเสียงดังกระหึ่มอยู่รายรอบ
เพราะกลิ่นหอมของดอกไม้
[๒๐๕๑] พราหมณ์ ณ ริมรอบขอบสระนั้น มีฟักแฟง แตง
น้ำเต้า ๓ ชนิด คือ ชนิดหนึ่งมีผลเขื่องขนาดเท่าหม้อ
อีก ๒ ชนิดเหล่านั้นมีผลโตขนาดเท่าตะโพน
[๒๐๕๒] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีเมล็ดพันธุ์ผักกาด
เป็นจำนวนมาก ทั้งกระเทียมที่มีใบเขียวสด
ต้นเหลาชะโอนตั้งอยู่เหมือนต้นตาล
ผักสามหาวเป็นจำนวนมากควรเด็ดดอกด้วยกำมือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๕๓] มีเถาโคกกระออม นมตำเลีย เถาหญ้านาง
เถาชะเอม ไม้อโศก ต้นเทียน บอระเพ็ดไฟ ชิงช้าชาลี
[๒๐๕๔] ว่านหางช้าง อังกาบ เถาพลุ และมะลิซ้อน มีดอกแย้มบาน
ต้นทองกวาวเครือมีดอกบานสะพรั่ง ขึ้นอยู่ตามต้นไม้
[๒๐๕๕] ต้นก้างปลา กำยาน คัดเค้า ชะเอม มะลิเลื้อย
มะลิธรรมดา ชบา บัวบก งดงาม
[๒๐๕๖] ต้นแคฝอย ฝ้ายทะเล และกรรณิการ์มีดอกเบ่งบาน
ปรากฏดังข่ายทองงดงาม ระเรื่อ เปรียบเหมือนเปลวเพลิง
[๒๐๕๗] ดอกไม้ที่เกิดบนบกและเกิดในน้ำเหล่านั้น
ทั้งหมดต่างก็ปรากฏอยู่ในสระนั้น
เพราะมีน้ำขังอยู่มากน่ารื่นรมย์ ด้วยประการฉะนี้
[๒๐๕๘] อนึ่ง ในสระโบกขรณีนั้น
มีปลาที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำมากชนิด
คือ ปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาดุก
จระเข้ ปลามังกร ปลากา
[๒๐๕๙] ณ ที่ใกล้สระนั้น มีชะเอมต้น ชะเอมเครือ กำยาน
ประยงค์ เนระพูสี แห้วหมู สัตตบุษย์ สมุลแว้ง
[๒๐๖๐] พิมเสน สามสิบ กฤษณา เถากระไดลิงเป็นจำนานมาก
บัวบก โกฐขาว กระทุ่มเลือด ต้นหนาด
[๒๐๖๑] ขมิ้น แก้มหอม หรดาล กำคูณ สมอพิเภก
ไคร้เครือ การะบูร และกลิงคุก
[๒๐๖๒] อนึ่ง ในป่านั้น มีสัตว์หลากหลายชนิด คือ
ราชสีห์ เสือโคร่ง ยักษิณีมีหน้าดุจฬา ช้างพัง
ช้างพลาย เนื้อทราย เนื้อฟาน ละมั่ง และอีเห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๖๓] สุนัขจิ้งจอก หมาใน บ่าง กระรอก
จามรี ชะนี ลิงลม ค่าง ลิง ลิงจุ่น
[๒๐๖๔] ณ ที่ใกล้สระนั้น มีกวาง กระทิง หมี วัวป่า แรด
หมู พังพอน และงูเห่า เป็นจำนวนมาก
[๒๐๖๕] กระบือ หมาใน สุนัขจิ้งจอก กิ้งก่า ตะกวด เหี้ย
เสือดาว และเสือเหลืองมีอยู่โดยรอบด้าน
[๒๐๖๖] กระต่าย แร้ง ราชสีห์ และเสือปลา
สกุณชาติหลายชนิด คือ นกกวัก นกยูง นกหงส์ขาว ไก่ฟ้า
[๒๐๖๗] นกกะปูด ไก่ป่า นกหัสดีลิงค์ ร่ำร้องคูขันหากันและกัน
นกยางโทน นกยางกรอก นกโพระดก นกต้อยตีวิด นกกระเรียน
[๒๐๖๘] เหยี่ยวดำ เหยี่ยวแดง นกช้อนหอย นกพริก นกคับแค
นกแขวก นกกด นกกระเต็นใหญ่ นกนางแอ่น
[๒๐๖๙] นกคุ่ม นกกระทา นกกระทุง นกกระจอก
นกกระจาบ นกกระเต็นน้อย นกกางเขน
[๒๐๗๐] นกการเวก นกแอ่นลม นกเงือก นกออก
สระมุจลินท์เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกนานาชนิด
กู่ร้องขานขันด้วยเสียงต่าง ๆ กัน
[๒๐๗๑] อนึ่ง ณ ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกมากมายมีขนปีกงามวิจิตร
มีเสียงไพเราะเสนาะโสตบันเทิงใจอยู่กับคู่ของตน
กู่ร้องประชันเสียงกันและกัน
[๒๐๗๒] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกส่งเสียงร้องไพเราะเป็นนิตย์
มีตางามประกอบด้วยเบ้าตาขาว มีฝูงนกที่มีขนปีกงามวิจิตร
[๒๐๗๓] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกส่งเสียงร้องไพเราะเป็นนิตย์
มีหงอน มีสร้อยคอเขียว กู่ร้องประชันเสียงกันและกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๗๔] มีไก่เถื่อน ไก่ฟ้า นกเปล้า นกนางนวล เหยี่ยวดำ
เหยี่ยวนกเขา นกกาน้ำ นกแขกเต้า และนกสาลิกา
[๒๐๗๕] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีนกเป็นจำนวนมากเป็นพวก ๆ
คือ เหลือง แดง ขาว นกหัสดีลิงค์ พญาหงส์ทอง
นกกาน้ำ นกแขกเต้า นกเอี้ยง
[๒๐๗๖] นกดุเหว่า นกอกขาว หงส์ขาว
นกเงือก นกเค้าแมว ห่าน
นกยาง นกโพระดก นกต้อยตีวิด
[๒๐๗๗] นกพิราบ หงส์แดง นกจักรพาก นกเป็ดน้ำ
นกหัสดีลิงค์ ส่งเสียงร้องที่น่ารื่นรมย์ใจ
นกเหล่านั้นต่างก็ส่งเสียงร้องกู่ก้องหากันและกันที่เชิงเขา
ทั้งเช้าและเย็นอยู่เป็นนิตย์
[๒๐๗๘] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกจำนวนมากที่มีสีต่าง ๆ กัน
บันเทิงใจอยู่กับคู่ของตนกู่ประชันเสียงกันและกัน
[๒๐๗๙] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกจำนวนมากที่สีต่าง ๆ กัน
ทั้งหมดต่างก็ขันคูกู่ร้องเสียงไพเราะ
อยู่ฟากฝั่งทั้ง ๒ ของสระมุจลินท์
[๒๐๘๐] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกการเวก
ต่างก็บันเทิงใจอยู่กับคู่ของตน กู่ประชันเสียงกันและกัน
[๒๐๘๑] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ ฝูงนกการเวกทั้งหมดนั้น
ต่างก็กู่ร้องเสียงไพเราะอยู่ฟากฝั่งทั้ง ๒ ข้างของสระมุจลินท์
[๒๐๘๒] ป่านั้นเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อทราย เนื้อฟาน
เป็นที่อยู่อาศัยของช้างพลายและช้างพัง
ดารดาษไปด้วยเถาวัลย์นานาชนิด
เป็นที่อาศัยอยู่ของฝูงชะมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๐๘๓] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีธัญญชาติเป็นจำนวนมาก
คือ ข้าวฟ่าง ลูกเดือยเป็นอันมาก
ข้าวสาลีที่ไม่ต้องหุงด้วยฟืนไฟ และอ้อยมิใช่น้อยก็มีอยู่ในป่านั้น
[๒๐๘๔] ทางนี้เป็นทางเดินไปได้คนเดียว ตรงไปยังอาศรม
คนผู้ไปถึงอาศรมซึ่งเป็นสถานที่ที่พระเจ้าเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายประทับอยู่นั้น
จะไม่ประสบความหิว ความกระหาย และความไม่ยินดี
[๒๐๘๕] พระองค์ทรงเพศเป็นนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฏา
นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและบูชาไฟอยู่
[๒๐๘๖] ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์
ครั้นได้ฟังคำแนะนำนี้แล้ว กระทำประทักษิณ
มีใจเบิกบาน อำลาท่านฤๅษี
แล้วหลีกไปยังสถานที่ที่พระเจ้าเวสสันดรประทับอยู่
พรรณนากัณฑ์มหาพน จบ

กัณฑ์กุมาร
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๐๘๗] ลุกขึ้นยืนเถิดนะ พ่อชาลี การมาของพวกยาจกในวันนี้
ปรากฏเหมือนที่พ่อเห็นพราหมณ์มาเมื่อครั้งก่อน ๆ
ความชื่นชมยินดีทำให้พ่อเกษมศานต์
(พระชาลีกราบทูลว่า)
[๒๐๘๘] ข้าแต่พระบิดา แม้หม่อมฉันก็เห็นผู้นั้น
ปรากฏเหมือนพราหมณ์ ดูเหมือนคนเดินทาง
จักเป็นแขกของพวกเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
(ชูชกทูลถามว่า)
[๒๐๘๙] พระองค์ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ ทรงสุขสำราญดีหรือ
เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ
มูลผลาหารก็มีมากหรือ
[๒๐๙๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๐๙๑] ท่านพราหมณ์ เราทั้งหลายไม่มีโรคเบียดเบียนเป็นสุขสำราญดี
อนึ่ง เราเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกดี
ทั้งมูลผลาหารก็มีมาก
[๒๐๙๒] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียนเราเลย
[๒๐๙๓] เมื่อเรามาอยู่ในป่ามีชีวิตอันหงอยเหงาตลอด ๗ เดือน
เราเพิ่งจะเห็นท่านผู้เป็นพราหมณ์บูชาไฟ
ทรงพรตอันประเสริฐ ถือไม้เท้ามีสีดังผลมะตูม
และลักจั่นน้ำนี้เป็นคนแรก
[๒๐๙๔] ท่านมหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว มิได้มาร้าย
ท่านผู้เจริญ ขอเชิญเข้าไปข้างใน
เชิญล้างเท้าทั้ง ๒ ของท่านเถิด
[๒๐๙๕] พราหมณ์ ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง
ผลหมากเม่ามีรสหวานปานน้ำผึ้ง
เชิญท่านเลือกฉันแต่ผลดี ๆ เถิด
[๒๐๙๖] มหาพราหมณ์ แม้น้ำดื่มนี้ก็เย็นสนิท เรานำมาจากซอกเขา
ถ้าท่านต้องการก็เชิญดื่มเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๐๙๗] อนึ่ง ท่านมาถึงป่าใหญ่ เพราะเหตุไร
หรือเพราะปัจจัยอะไร
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เรา
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๐๙๘] ห้วงน้ำเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลาไม่เหือดแห้งฉันใด
พระองค์ก็ฉันนั้น หม่อมฉันมาเพื่อทูลขอ
ขอพระองค์ผู้ที่หม่อมฉันทูลขอแล้ว
ทรงพระกรุณาพระราชทานพระโอรสทั้งหลายเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๐๙๙] ท่านพราหมณ์ เรายอมให้ เรามิได้หวั่นไหว
ท่านจงเป็นใหญ่ นำลูกทั้ง ๒ ของเราไปเถิด
พระนางมัทรีราชบุตรีไปป่าแต่เช้า
จักกลับมาจากการแสวงหาผลไม้ในเวลาเย็น
[๒๑๐๐] ท่านพราหมณ์ จงพักค้างคืนสักคืนหนึ่งเถิด พรุ่งนี้เช้าจึงค่อยไป
เมื่อกุมารและกุมารีที่พระมารดาของเธอให้อาบน้ำดำเกล้า
ประดับระเบียบดอกไม้ไว้แล้ว
[๒๑๐๑] พราหมณ์ จงพักค้างคืนสักคืนหนึ่งเถิด พรุ่งนี้เช้าจึงค่อยไป
จงพากุมารและกุมารีที่ประดับตกแต่งด้วยกลิ่นหอมชนิดต่าง ๆ ไป
ในหนทางที่ปกคลุมไปด้วยดอกไม้นานาชนิด
เกลื่อนกล่นไปด้วยมูลผลาหารนานาประการ
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๑๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
ข้าพระองค์ไม่ชอบใจที่จะพักอยู่ ข้าพระองค์ยินดีที่จะไป
แม้อันตรายจะพึงมีแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็จะไปให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๐๓] เพราะว่า ธรรมดาสตรีเหล่านี้เป็นผู้ไม่สมควรแก่การขอ
มีปกติกระทำอันตราย หญิงทั้งหลายรู้มนต์๑
ย่อมรับทุกสิ่งโดยข้างซ้าย
[๒๑๐๔] เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานด้วยพระศรัทธา
พระองค์อย่าได้เห็นพระมารดาของพระปิโยรสนั้นเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
พระมารดาของพระปิโยรสทั้ง ๒ พระองค์นั้น
จะพึงทำอันตรายได้ ข้าพระองค์จะไปให้ได้
[๒๑๐๕] ขอพระองค์ตรัสเรียกพระโอรสเหล่านั้นมาเถิด
อย่าให้พระโอรสเหล่านั้นได้พบเห็นพระมารดาเลย
เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานอยู่ด้วยศรัทธา
บุญย่อมเจริญยิ่งขึ้นด้วยอาการฉะนี้
[๒๑๐๖] ขอพระองค์ตรัสเรียกพระโอรสเหล่านั้นมาเถิด
อย่าให้พระโอรสเหล่านั้นได้พบเห็นพระมารดาเลย
ขอเดชะ พระองค์ทรงประทานทรัพย์คือพระโอรสทั้งหลาย
แก่ข้าพระองค์แล้วจักเสด็จไปสวรรค์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๑๐๗] ถ้าท่านไม่ปรารถนาจะเห็นภริยาของเราผู้มีวัตรอันงาม
ก็จงทูลถวายพระกุมารทั้ง ๒ คือพระชาลีและพระกัณหาชินา
แด่พระเจ้ากรุงสญชัยผู้เป็นพระอัยกา
[๒๑๐๘] พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระราชกุมารเหล่านี้
ผู้มีพระสุระเสียงไพเราะ ตรัสพระวาจาน่ารัก
ทรงปลื้มพระทัยปรีดาปราโมทย์
จักพระราชทานทรัพย์แก่ท่านเป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
๑ มนต์ หมายถึงมารยา (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๑๐๓/๓๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๑๐๙] ข้าแต่พระราชบุตร ขอพระองค์โปรดทรงฟังข้าพระองค์ก่อน
ข้าพระองค์กลัวการที่จะถูกหาว่าฉกชิงเอาไป
พระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชจะพึงลงพระราชอาญาข้าพระองค์
คือ จะทรงปรับสินไหมหรือให้ประหารชีวิต
ข้าพระองค์จะขาดทั้งทรัพย์และทาส
และจะถูกนางพราหมณีผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ติเตียนได้
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๑๑๐] พระมหาราชทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงเป็นผู้ผดุงรัฐ
ให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ผู้มีพระสุระเสียงไพเราะ ตรัสพระวาจาน่ารัก
ได้ปีติและโสมนัสแล้วจักพระราชทานทรัพย์แก่ท่านเป็นอันมาก
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๑๑๑] ข้าพระองค์จักทำตามสิ่งที่พระองค์ทรงพร่ำสอนคงไม่ได้
จักนำทารกทั้งหลายไปเป็นทาสรับใช้
ของนางพราหมณีเท่านั้น
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๑๒] ลำดับนั้น พระกุมารทั้ง ๒
คือ พระชาลีและพระกัณหาชินา ได้สดับคำของชูชกผู้หยาบช้า
ตกพระทัยจึงพากันเสด็จวิ่งหนีไปจากที่นั้น
(พระเวสสันดรตรัสเรียก ๒ กุมารว่า)
[๒๑๑๓] ชาลีลูกรัก มานี่เถิด
เจ้าทั้ง ๒ จงช่วยกันบำเพ็ญบารมีของพ่อให้เต็มเถิด
จงช่วยกันโสรจสรงหทัยของพ่อให้เยือกเย็นเถิด
จงเชื่อฟังคำของพ่อเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๑๔] เจ้าทั้ง ๒ จงเป็นดุจยานนาวาของพ่อ
อันไม่โยกโคลงในสาครคือภพเถิด พ่อจักข้ามฝั่งคือชาติ
จักช่วยสัตวโลกพร้อมด้วยเทวโลกให้ข้ามด้วย
[๒๑๑๕] แม่กัณหาลูกรัก มานี่เถิด ทานบารมีเป็นที่รักของพ่อ
เจ้าทั้ง ๒ จงช่วยกันโสรจสรงหทัยของพ่อให้เยือกเย็นเถิด
จงเชื่อฟังคำของพ่อเถิด
[๒๑๑๖] เจ้าทั้ง ๒ จงเป็นดุจยานนาวาของพ่อ
อันไม่โยกโคลงในสาครคือภพเถิด พ่อจักข้ามฝั่งคือชาติ
จักช่วยสัตวโลกพร้อมด้วยเทวโลกให้ข้ามด้วย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๑๗] ลำดับนั้น พระเวสสันดรผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ทรงพาพระกุมารทั้ง ๒ คือ พระชาลีและพระกัณหาชินามา
ได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์แล้ว
[๒๑๑๘] ลำดับนั้น พระเวสสันดรทรงพาพระกุมารทั้ง ๒
คือพระชาลีและพระกัณหาชินามา
ได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์แล้ว
ก็ทรงพระทัยชื่นบานในปุตตทานอันอุดม
[๒๑๑๙] ครั้งนั้น เมื่อพระเวสสันดรได้พระราชทาน
พระกุมารทั้ง ๒ แล้ว ความบันลือลั่น
น่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า ได้เกิดขึ้น
แผ่นดินก็สะท้านหวั่นไหว
[๒๑๒๐] ครั้งนั้น พระเวสสันดรผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ทรงประคองอัญชลี พระราชทานพระกุมาร
ผู้เจริญด้วยความสุขให้เป็นทานแก่พราหมณ์
ความบันลือลั่นน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า
ได้เกิดขึ้นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๒๑] ลำดับนั้น พราหมณ์ผู้หยาบช้ากัดเถาวัลย์ให้ขาดแล้ว
เอาเถาวัลย์ผูกพระหัตถ์ของพระกุมารทั้ง ๒
ฉุดกระชากลากไปด้วยเถาวัลย์
[๒๑๒๒] แต่นั้น พราหมณ์นั้นถือเอาเชือกและไม้เท้า
ทุบตีพระกุมารทั้ง ๒ นั้นไป
ทั้งที่พระเจ้าเวสสันดรพระเจ้ากรุงสีพีทอดพระเนตรเห็นอยู่
[๒๑๒๓] ลำดับนั้น พระกุมารทั้งหลาย
พอหลุดจากพราหมณ์ก็รีบวิ่งหนีไป
พระชาลีมีพระเนตรทั้ง ๒ นองไปด้วยพระอัสสุชล
ชะเง้อมองดูพระบิดา
[๒๑๒๔] ทรงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระบิดา
พระวรกายสั่นระริกเหมือนใบโพธิ์
ครั้นทรงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระบิดาแล้ว
ก็ได้กราบทูลดังนี้ว่า
[๒๑๒๕] ข้าแต่พระบิดา พระมารดากำลังเสด็จออกไปป่า
พระองค์ก็จะพระราชทานหม่อมฉันทั้ง ๒ เสียแล้ว
ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์โปรดประทานหม่อมฉันทั้ง ๒
เมื่อหม่อมฉันทั้ง ๒ เห็นพระมารดากลับมาก่อน
[๒๑๒๖] ข้าแต่พระบิดา พระมารดากำลังเสด็จออกไปป่า
พระองค์ก็จะพระราชทานหม่อมฉันทั้ง ๒ เสียแล้ว
ขอพระองค์โปรดพระราชทานหม่อมฉันทั้ง ๒
จนกว่าพระมารดาของหม่อมฉันทั้ง ๒ จะได้เสด็จมา
เมื่อนั้น พราหมณ์นี้จะขายหรือจะฆ่า
ก็จงทำตามความปรารถนาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๒๗] พราหมณ์ผู้หยาบช้านี้ประกอบด้วยบุรุษโทษ ๑๘ ประการ๑ คือ

๑. มีเท้าทู่ ๒. มีเล็บกุด
๓. มีปลีน่องหย่อนยาน ๔. มีริมฝีปากบนยาว
๕. มีน้ำลายไหล ๖. มีเขี้ยว
๗. มีจมูกหัก
[๒๑๒๘] ๘. มีพุงเหมือนหม้อ ๙. มีหลังค่อม
๑๐. มีตาเหล่ ๑๑. มีหนวดแดง
๑๒. มีผมเหลือง ๑๓. มีหนังย่นตกกระ
[๒๑๒๙] ๑๔. มีตาเหลือง ๑๕. มีกายคต
๑๖. มีขาโกง ๑๗. มีขนหยาบยาว

๑๘. นุ่งห่มหนังเสือ เป็นอมนุษย์ที่น่าสะพรึงกลัว
[๒๑๓๐] เป็นมนุษย์หรือยักษ์ที่กินเนื้อและเลือด
ออกจากบ้านมาสู่ป่า มาทูลขอทรัพย์กับพระองค์ พระเจ้าข้า
(กัณหาชาลีกล่าวว่า)
[๒๑๓๑] ข้าแต่พระบิดา หม่อมฉันทั้ง ๒ กำลังถูกปีศาจนำไปอยู่
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงมองเมินอยู่
พระทัยของเสด็จพ่อเห็นจะเหมือนหิน
หรือมิฉะนั้น ก็เหมือนแผ่นเหล็กที่ตรึงไว้

เชิงอรรถ :
๑ บุรุษโทษ ๑๘ ประการ คือ (๑) มีเท้าทู่ หมายถึงมีเท้าแบนเป็นแผ่น (๒) มีเล็บกุด หมายถึงมีเล็บเน่า
(๓) มีปลีน่องหย่อนยาน หมายถึงเนื้อปลีน่องหย่อนยานลงข้างล่าง (๔) มีริมฝีปากบนยาว หมายถึง
ริมฝีปากด้านบนยาวห้อยปิดริมฝีปากด้านล่าง (๕) มีน้ำลายไหล หมายถึงมีน้ำลายไหล(ตลอดเวลา)
(๖) มีเขี้ยว หมายถึงมีเขี้ยวงอกขึ้นเหมือนเขี้ยวสุกร (๗) มีจมูกหัก หมายถึงมีจมูกทั้งหักทั้งคด (๘-๑๐
ความชัดแล้ว) (๑๑) มีหนวดแดง หมายถึงมีหนวดสีแดงเหมือนเส้นลวดทองแดง (๑๒) มีผมเหลือง
หมายถึงมีผมงอกขึ้นมาเป็นสีทอง (๑๓) มีหนังย่นตกกระ หมายถึงหนังตามตัวเต็มไปด้วยรอยย่นและ
เกลื่อนกล่นไปด้วยมูลแมลงวัน (๑๔) มีตาเหลือง หมายถึงมีลูกตาเหลือกเหลืองเหมือนตาแมว (๑๕) มี
กายคด หมายถึงมีที่คด ๓ แห่ง คือ สะเอว หลัง และคอ (๑๖) มีขาโกง หมายถึงมีเท้าเฉไปคนละทาง
ข้อต่อกระดูกไม่สนิทกัน (เวลาเดิน)เสียงดังกฏะ กฏะ (๑๗) ความชัดแล้ว (๑๘) เป็นอมนุษย์ หมายถึง
ไม่ใช่มนุษย์ คือ ผู้นั้นเป็นยักษ์จำแลงตัวเป็นมนุษย์เที่ยวไป (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๑๒๗-๒๑๒๙/๓๙๑-๓๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๓๒] พระองค์ไม่ทรงรู้สึกว่า หม่อมฉันทั้ง ๒
ถูกพราหมณ์ผู้หยาบช้าเหลือเกิน ผู้แสวงหาทรัพย์ผูกมัด
แกเฆี่ยนตีหม่อมฉันทั้ง ๒ เหมือนนายโคบาลเฆี่ยนตีโค
[๒๑๓๓] ขอให้น้องกัณหาอยู่ ณ ที่นี้นี่แหละ
เธอยังไม่รู้จักทุกข์ร้อนอะไร ๆ เธอจะคร่ำครวญ
เหมือนลูกเนื้อที่ยังดื่มนมพลัดจากฝูงไม่เห็นแม่
(พระกุมารคร่ำครวญถึงพระมารดาและพระบิดาว่า)
[๒๑๓๔] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ทุกข์ที่หม่อมฉันไม่เห็นพระมารดา
เป็นทุกข์ที่ยิ่งกว่านี้ของหม่อมฉัน
[๒๑๓๕] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ทุกข์ที่หม่อมฉันไม่เห็นเสด็จพ่อ
เป็นทุกข์ที่ยิ่งกว่านี้ของหม่อมฉัน
[๒๑๓๖] พระมารดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี
ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน
[๒๑๓๗] พระบิดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี
ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน
[๒๑๓๘] พระมารดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี
ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหา
ในอาศรมตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๓๙] พระบิดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี
ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหา
ในอาศรมตลอดกาลนาน
[๒๑๔๐] พระมารดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน
ทรงหวนระลึกถึงเราทั้ง ๒ ตลอดครึ่งคืนหรือทั้งคืนแล้ว
จะทรงซูบผอมตายไปเหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูแล้งเหือดแห้งไป
[๒๑๔๑] พระบิดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน
ทรงหวนระลึกถึงเราทั้ง ๒ ตลอดครึ่งคืนหรือทั้งคืนแล้ว
จะทรงซูบผอมตายไปเหมือนแม่น้ำเขินเหือดแห้งไป
[๒๑๔๒] รุกขชาติชนิดต่าง ๆ เหล่านี้
คือ ต้นหว้า ต้นย่านทราย ที่มีกิ่งห้อยย้อย
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งรุกขชาติต่าง ๆ เหล่านั้นไป
[๒๑๔๓] รุกขชาติชนิดที่มีผลชนิดต่าง ๆ
คือ ต้นโพธิ์ใบ ต้นขนุน ต้นไทร
และต้นมะขวิด ที่เราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งรุกขชาติเหล่านั้นไป
[๒๑๔๔] สวนเหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่ นี้แม่น้ำที่เยือกเย็น
เราทั้ง ๒ เคยลงเล่นมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งทั้ง ๒ นั้นไป
[๒๑๔๕] บุปผชาติชนิดต่าง ๆ บนภูเขาลูกโน้น
ที่เราทั้ง ๒ เคยทัดทรงมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งเหล่านั้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๔๖] ผลไม้ชนิดต่าง ๆ บนภูเขาลูกโน้น
ที่เราทั้ง ๒ เคยบริโภคมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งผลไม้เหล่านั้นไป
[๒๑๔๗] สิ่งของเหล่านี้ คือ ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
ที่พระบิดาทรงปั้นไว้ให้เราทั้ง ๒ เล่น
ซึ่งเราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งตุ๊กตาเหล่านั้นไป
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๔๘] พระกุมารทั้ง ๒ พระองค์ถูกพราหมณ์ชูชกนำไปอยู่
ได้กราบทูลพระบิดาดังนี้ว่า
ข้าแต่พระบิดา ขอให้พระองค์ทรงพระกรุณา
ตรัสบอกพระมารดาว่า ลูกทั้ง ๒ ไม่มีโรค
และขอพระองค์ทรงพระสำราญเถิด
(ชาลีกล่าวว่า)
[๒๑๔๙] ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
เหล่านี้เป็นของหม่อมฉันทั้ง ๒
ขอให้พระองค์โปรดประทานตุ๊กตาเหล่านั้นแก่พระมารดา
ความเศร้าโศกของพระองค์จักหายไปเพราะตุ๊กตาเหล่านั้น
[๒๑๕๐] ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
เหล่านี้เป็นของหม่อมฉันทั้ง ๒
พระมารดาได้ทอดพระเนตรเห็นตุ๊กตาเหล่านั้น
ก็จักทรงกำจัดความเศร้าโศกเสียได้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๕๑] ลำดับนั้น พระเวสสันดรขัตติยราชทรงบำเพ็ญทานแล้ว
เสด็จเข้าไปสู่บรรณศาลาทรงกันแสงพิลาปว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
(พระเวสสันดรทรงคร่ำครวญว่า)
[๒๑๕๒] วันนี้ ลูกน้อยทั้ง ๒ จะหิวข้าว กระหายน้ำอย่างไรหนอ
จักเดินทางไกล ร้องไห้สะอึกสะอื้น
ครั้นในตอนเย็นเวลาบริโภคอาหาร
ใครจะให้อาหารแก่ลูกทั้ง ๒ นั้น
[๒๑๕๓] วันนี้ ลูกน้อยทั้ง ๒ จะหิวข้าว กระหายน้ำอย่างไรหนอ
จักเดินทางไกล ร้องไห้สะอึกสะอื้น
ครั้นในตอนเย็นเวลาบริโภคอาหาร
ลูกทั้ง ๒ เคยอ้อนมัทรีผู้เป็นมารดาว่า พระเจ้าแม่
ลูกทั้ง ๒ หิวแล้ว ขอเสด็จแม่จงประทานแก่ลูกทั้ง ๒ เถิด
[๒๑๕๔] ลูกทั้ง ๒ ไม่ได้สวมรองเท้า
จะเดินทางด้วยเท้าเปล่าได้อย่างไร
ลูกทั้ง ๒ จะเมื่อยล้ามีบาทาทั้ง ๒ ข้างฟกช้ำ
ใครจะจูงมือลูกทั้ง ๒ นั้นเดินทาง
[๒๑๕๕] ทำไมหนอ พราหมณ์นั้นช่างร้ายกาจนักไม่ละอาย
เฆี่ยนตีลูก ๆ ผู้ไม่ประทุษร้ายต่อหน้าเรา
[๒๑๕๖] แม้แต่คนที่ตกเป็นทาสีเป็นทาสของเรา
หรือคนรับใช้อื่น ใครเล่าที่มีความละอาย
จักเฆี่ยนตีคนที่แสนต่ำต้อยแม้นั้นได้
[๒๑๕๗] เมื่อเรายังอยู่ พราหมณ์ช่างด่า
ช่างเฆี่ยนลูกรักทั้ง ๒ ของเราผู้มองดูอยู่
เหมือนปลาที่ติดอยู่ที่หน้าไซ
[๒๑๕๘] หรือเราจักถือเอาธนู จักเหน็บพระขรรค์ไว้ข้างซ้าย
นำเอาลูกทั้ง ๒ ของเรามา
เพราะว่าลูกทั้ง ๒ ถูกเฆี่ยนตีเป็นทุกข์ทรมาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๕๙] การที่กุมารทั้งหลายเดือดร้อน
เป็นทุกข์แสนสาหัสนี้ไม่ควรเลย
ก็ใครเล่ารู้ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย
ให้ทานแล้วย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง
(ชาลีกล่าวว่า)
[๒๑๖๐] ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้ได้พูดความจริงไว้อย่างนี้ว่า
บุตรใดไม่มีมารดาของตนเอง บุตรนั้นก็เหมือนไม่มีบิดา
[๒๑๖๑] มานี่เถิด น้องกัณหา เราทั้ง ๒ จักตายด้วยกัน
จะมีชีวิตอยู่ไปก็เปล่าประโยชน์
พระบิดาผู้ทรงเป็นจอมประชาชนได้ประทานเราทั้ง ๒
แก่ตาพราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ ผู้หยาบช้าเหลือเกิน
แกเฆี่ยนตีหม่อมฉันทั้ง ๒ เหมือนนายโคบาลเฆี่ยนตีโค
[๒๑๖๒] รุกขชาติชนิดต่าง ๆ เหล่านี้ คือ ต้นหว้า
ต้นย่านทรายมีกิ่งห้อยย้อย ที่เราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งรุกขชาติเหล่านั้นไป
[๒๑๖๓] รุกขชาติที่มีผลต่างชนิด ๆ คือ ต้นโพธิ์ใบ
ต้นขนุน ต้นไทร และต้นมะขวิด ที่เราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้ง
รุกขชาติเหล่านั้นไป
[๒๑๖๔] สวนเหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่ นี้แม่น้ำที่เยือกเย็น
เราทั้ง ๒ เคยลงเล่นมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งทั้ง ๒ นั้นไป
[๒๑๖๕] บุปผชาติชนิดต่าง ๆ บนภูเขาลูกโน้น
ที่เราทั้ง ๒ เคยทัดทรงมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งเหล่านั้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๖๖] ผลไม้ชนิดต่าง ๆ บนภูเขาลูกโน้น
ที่เราทั้ง ๒ เคยบริโภคมาก่อน น้องกัณหา วันนี้
เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งผลไม้เหล่านั้นไป
[๒๑๖๗] สิ่งของเหล่านี้ คือ ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
ที่พระบิดาทรงปั้นไว้ให้เราทั้ง ๒ เล่น
ซึ่งเราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งตุ๊กตาเหล่านั้นไป
[๒๑๖๘] พระกุมารทั้ง ๒ เหล่านั้น คือ พระชาลี
และพระกัณหาชินาถูกพราหมณ์ชูชกนำไปอยู่
พอพ้นออกจากมือพราหมณ์ ก็พากันวิ่งไปทางนั้น ๆ
[๒๑๖๙] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นถือเอาเชือกและไม้เท้า
ทุบตีราชกุมารและกุมารีทั้ง ๒ นั้นแล้วนำไป
ทั้งที่พระเวสสันดรพระเจ้ากรุงสีพีทอดพระเนตรเห็นอยู่
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๗๐] พระกัณหาชินาได้กราบทูลพระบิดาว่า ข้าแต่พระบิดา
พราหมณ์นี้เฆี่ยนตีหม่อมฉันด้วยไม้เท้าเหมือนตีทาสีผู้เกิดในเรือนเบี้ย
[๒๑๗๑] ข้าแต่พระบิดา ผู้นี้คงจะมิใช่พราหมณ์เป็นแน่
เพราะพราหมณ์ทั้งหลายเป็นผู้มีธรรม
แต่พราหมณ์คงจะเป็นยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์
นำลูกทั้ง ๒ ไปเพื่อจะกินเป็นอาหาร พระเจ้าข้า
ลูกทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้เป็นปีศาจนำไป
ข้าแต่พระบิดา ทำไมหนอ พระองค์จึงเมินเฉยอยู่เล่า
(พระกัณหาชินาได้เดินคร่ำครวญไปว่า)
[๒๑๗๒] เท้าของเราทั้ง ๒ นี้ยังเล็กนักเป็นทุกข์ ทั้งหนทางก็ไกล
เดินไปได้แสนยาก เมื่อพระอาทิตย์คล้อยลงต่ำ
พราหมณ์ก็เร่งเราทั้ง ๒ ให้รีบเดิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๗๓] เราทั้ง ๒ ขอโอดครวญกราบไหว้เทพเจ้าทั้งหลาย
ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขา ลำเนาไพร สระน้ำ
และบ่อน้ำ ที่มีท่าสวยงาม ด้วยเศียรเกล้า
[๒๑๗๔] ขอเทพเจ้าทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่ ณ ป่าหญ้า ลดาวัลย์
ต้นไม้ที่เป็นโอสถ บนภูเขา และป่าไม้
ขอให้ช่วยกราบทูลพระมารดาว่า เราทั้ง ๒ นี้ไม่มีโรค
พราหมณ์นี้นำเราทั้ง ๒ ไป
[๒๑๗๕] อนึ่ง เทพเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลาย
จงช่วยกราบทูลพระแม่เจ้ามัทรีผู้เป็นพระมารดาของเราทั้ง ๒ ว่า
ถ้าพระแม่เจ้าปรารถนาจะเสด็จติดตามมา
ก็ให้รีบเสด็จติดตามมาโดยเร็ว
[๒๑๗๖] ทางนี้เป็นทางเดินไปได้คนเดียว ตรงไปยังอาศรม
พระมารดาพึงเสด็จติดตามมาทางนั้นเท่านั้น
ก็จะทันได้เห็นเราทั้ง ๒ อย่างเร็วไว
[๒๑๗๗] โอหนอ พระเจ้าแม่ผู้ทรงเพศเป็นตาปสินี
ทรงนำมูลผลาหารมาจากป่า
ได้เห็นอาศรมอันว่างเปล่า พระองค์จักเป็นทุกข์
[๒๑๗๘] พระมารดาเสด็จเที่ยวไปแสวงหามูลผลาหารจนล่วงเวลา
คงได้มามิใช่น้อย คงไม่ทราบว่า
เราทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ผูกมัดพาไป
[๒๑๗๙] ถูกพราหมณ์ผู้หยาบช้าเหลือเกิน ผู้แสวงหาทรัพย์ผูกมัด
แกเฆี่ยนตีหม่อมฉันทั้ง ๒ เหมือนนายโคบาลเฆี่ยนตีโค
เออก็วันนี้ เราทั้ง ๒ จะได้เห็นพระมารดา
เสด็จมาจากการแสวงหามูลผลาหารในเวลาเย็น
[๒๑๘๐] พระมารดาพึงประทานผลไม้ที่เจือด้วยน้ำผึ้งแก่พราหมณ์
ครั้งนั้น พราหมณ์นี้หิวกระหาย จะไม่พึงเร่งให้เราทั้ง ๒ เดิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๑๘๑] เท้าทั้ง ๒ ของเราบวมหนอ
พราหมณ์ก็เร่งให้เราทั้ง ๒ รีบเดิน
พระกุมารทั้งหลายทรงรักใคร่ในพระมารดา
ทรงกันแสงพิลาปอยู่ ณ ที่นั้นด้วยประการฉะนี้
กัณฑ์กุมาร จบ

กัณฑ์มัทรี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๘๒] เทวดาเหล่านั้นได้ฟังพระกุมารทั้ง ๒ นั้น
ทรงพิลาปรำพันแล้ว จึงได้กล่าวกับเทพบุตรทั้ง ๓
ดังนี้ว่า “ท่านทั้ง ๓ จงแปลงเพศเป็นสัตว์ร้ายในป่า
คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง
[๒๑๘๓] อย่าให้พระนางมัทรีราชบุตรีเสด็จกลับมาจากการแสวงหา
มูลผลาหารในตอนเย็น และอย่าให้สัตว์ร้ายในป่า
อันเป็นแคว้นของเราทั้งหลายรบกวนพระนางมัทรีราชบุตรีได้
[๒๑๘๔] ถ้าราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง
พึงรบกวนพระนางผู้ทรงสิริโฉม
พระชาลีกุมารก็จะมีพระชนม์อยู่ไม่ได้เลย
แล้วพระกัณหาชินาจะมีพระชนม์อยู่ได้แต่ที่ไหน
พระนางผู้ทรงลักษณะอันสง่างาม
จะพึงสูญเสียทั้งพระภัสดาและพระลูกรักทั้ง ๒ ไปเท่านั้น”
(พระนางมัทรีใคร่ครวญว่า)
[๒๑๘๕] “เสียมของเราก็หล่นลง ตาข้างขวาก็เขม่นอยู่ริก ๆ
ต้นไม้ทั้งหลายที่เคยมีผลก็กลับไม่มีผล
และทุก ๆ ทิศก็มืดมน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๑๘๖] เมื่อพระนางเสด็จกลับบ่ายพระพักตร์มาสู่อาศรม
ในเวลาที่พระอาทิตย์อัสดงคต เหล่าสัตว์ร้ายก็มายืนขวางทาง
(พระนางมัทรีรำพึงว่า)
[๒๑๘๗] เมื่อพระอาทิตย์คล้อยต่ำลง และอาศรมก็ยังอยู่ไกลนัก
พระเจ้าพี่เวสสันดรและพระลูกรักทั้ง ๒ นั้น
ก็คอยบริโภคมูลผลาหารที่เราจักนำไปจากป่านี้
[๒๑๘๘] พระจอมกษัตริย์นั้นประทับอยู่ในบรรณศาลาพระองค์เดียว
คงจะทรงปลอบประโลมให้ลูกน้อยทั้ง ๒ ผู้หิวกระหาย
คอยทอดพระเนตรดูเราผู้ยังมาไม่ถึงให้ยินดีเป็นแน่แท้
[๒๑๘๙] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
ในเวลาเย็นเป็นเวลากินเวลาดื่มก็จักคอย
เหมือนลูกเนื้อที่กำลังดื่มนมเป็นแน่แท้
[๒๑๙๐] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
ในเวลาเย็นเป็นเวลากินเวลาดื่มก็จักคอย
เหมือนลูกเนื้อที่กำลังกระหายน้ำเป็นแน่แท้
[๒๑๙๑] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
คงจะยืนคอยต้อนรับเรา
เหมือนลูกโคอ่อนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่แท้
[๒๑๙๒] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
คงจะยืนคอยต้อนรับเรา
เหมือนลูกหงส์ที่ตกอยู่ในเปือกตมเป็นแน่แท้
[๒๑๙๓] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
คงจะยืนคอยต้อนรับเราอยู่ไม่ไกลจากอาศรม
[๒๑๙๔] หนทางที่จะไปก็มีอยู่ทางเดียว
และเป็นทางที่เดินไปได้คนเดียว โดยข้างหนึ่งเป็นสระน้ำ
อีกข้างหนึ่งเป็นบึง เรายังไม่เห็นทางอื่นที่จะไปสู่อาศรมได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๑๙๕] ข้าแต่พญาเนื้อทั้งหลายผู้มีกำลังมากในป่าใหญ่
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายกับข้าพเจ้าก็เป็นพี่น้องกันโดยธรรม
ข้าพเจ้าขออ้อนวอน ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ข้าพเจ้าเถิด
[๒๑๙๖] ข้าพเจ้าเป็นภรรยาของพระราชบุตรผู้มีสิริ
ผู้ถูกขับไล่จากกรุงสีพี
และข้าพเจ้ามิได้ดูหมิ่นพระสวามีพระองค์นั้นเลย
เหมือนดังนางสีดาคอยประพฤติตามพระราม
[๒๑๙๗] ขอท่านทั้งหลายจงหลีกทางให้ดิฉัน
แล้วกลับไปเยี่ยมลูกน้อยของท่าน
ในเวลาออกหาอาหารในตอนเย็น
ส่วนดิฉันก็จะกลับไปเยี่ยมลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พระชาลีและพระกัณหาชินา
[๒๑๙๘] อนึ่ง มูลผลาหารนี้ก็มีอยู่มาก
และภักษาก็มีอยู่ไม่น้อย ดิฉันขอแบ่งให้พวกท่านกึ่งหนึ่ง
ดิฉันอ้อนวอนแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ดิฉันเถิด
[๒๑๙๙] พระมารดาของเราทั้งหลายเป็นราชบุตรี
และพระบิดาของเราทั้งหลายก็เป็นพระราชบุตร
ท่านทั้งหลายกับดิฉันเป็นพี่น้องกันโดยธรรม
ดิฉันอ้อนวอนแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ดิฉันเถิด
[๒๒๐๐] พญาเนื้อร้ายทั้งหลายได้ฟังวาจาอันไพเราะ
ซึ่งประกอบด้วยความการุณย์เป็นอย่างมาก
ของพระนางผู้ทรงพิลาปรำพันอยู่
จึงได้พากันหลีกออกจากทางไป
[๒๒๐๑] ลูกน้อยทั้งหลายคงขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น
คงจะยืนคอยต้อนรับเรา
เหมือนลูกโคอ่อนยืนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๐๒] ลูกน้อยทั้งหลายคงขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น
คงจะยืนคอยต้อนรับเราอยู่ตรงนี้
เหมือนลูกหงส์ที่ตกอยู่ในเปือกตมเป็นแน่แท้
[๒๒๐๓] ลูกน้อยทั้งหลายคงขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น
คงจะยืนคอยต้อนรับเราอยู่ตรงนี้ ไม่ห่างไกลจากอาศรม
[๒๒๐๔] ลูกน้อยเหล่านั้นเคยร่าเริงวิ่งมาต้อนรับเรา
เหมือนจะทำให้หทัยของเราหวั่นไหว
เหมือนลูกเนื้อเห็นแม่แล้วหูชันร่าเริงวิ่งไปวิ่งมารอบแม่
วันนี้ เรามิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๐๕] เราละลูกน้อยทั้งหลายไว้ออกไปหาผลไม้
เหมือนแม่แพะและแม่เนื้อละลูกน้อย ไปหากิน
เหมือนปักษีละลูกน้อยไปจากรัง หรือเหมือนแม่ราชสีห์
ผู้ต้องการอาหารละลูกน้อยไว้ออกไปหากิน
วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๐๖] นี้รอยเท้าวิ่งเล่นไปมาของลูกน้อยทั้ง ๒
ยังปรากฏอยู่เหมือนรอยเท้าช้างที่เชิงเขา
นี้กองทรายที่ลูกน้อยทั้ง ๒ ขนมาเล่น
ยังกระจัดกระจายอยู่ ณ ที่ใกล้อาศรม
วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๐๗] ลูกน้อยทั้งหลายเคยเกลื่อนกล่นไปด้วยทราย
และขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น วิ่งเข้ามาล้อมเราอยู่รอบ ๆ
เรามิได้เห็นทารกเหล่านั้น
[๒๒๐๘] เมื่อก่อนลูกน้อยทั้งหลายเคยต้อนรับเราผู้กลับมา
จากป่าแต่ที่ไกล วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๐๙] ลูกน้อยทั้งหลายเคยไปคอยต้อนรับแม่ คอยมองดูเราแต่ที่ไกล
เหมือนลูกแพะหรือลูกเนื้อคอยชะเง้อหาแม่
เรามิได้เห็นทารกเหล่านั้นเลย
[๒๒๑๐] ผลมะตูมสีเหลืองที่ตกอยู่นี้
เป็นของเล่นของลูกน้อยทั้ง ๒ นั้น
วันนี้ เรามิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๑๑] ถันทั้ง ๒ ของเรานี้ยังเต็มไปด้วยน้ำนม
และอกของเราเหมือนจะแตกดับ
วันนี้ เรามิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่ กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๑๒] ใครเล่าจะค้นชายพก ใครเล่าจะเหนี่ยวถันทั้ง ๒ ของเรา
วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๑๓] เวลาเย็น ลูกน้อยทั้ง ๒ ขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น
เคยวิ่งเข้ามาเกาะที่ชายพกของเรา
วันนี้ เรามิได้เห็นทารกเหล่านั้นเลย
[๒๒๑๔] เมื่อก่อน อาศรมนี้ปรากฏแก่เราเหมือนโรงมหรสพ
วันนี้ เมื่อเราไม่เห็นลูกน้อยเหล่านั้น
อาศรมปรากฏเหมือนดังจะหมุนไป
[๒๒๑๕] นี่อย่างไร อาศรมจึงปรากฏกับเราดูเงียบสงัดจริงหนอ
แม้ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของเราคงจะตายแน่
[๒๒๑๖] นี่อย่างไร อาศรมจึงปรากฏกแก่เราดูเงียบสงัดจริงหนอ
แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของเราคงจะตายแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๑๗] นี่อย่างไร พระองค์จึงทรงนิ่งเฉยอยู่
แม้เมื่อคืนใจหม่อมฉันก็เหมือนฝันไป แม้ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงจะตายแน่
[๒๒๑๘] นี่อย่างไร พระองค์จึงทรงนิ่งเฉยอยู่
แม้เมื่อคืนใจหม่อมฉันก็เหมือนฝันไป แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงจะตายแน่
[๒๒๑๙] ข้าแต่พระลูกเจ้า เหล่าเนื้อร้ายในป่าอันเงียบสงัด
ได้กินทารกทั้งหลายของหม่อมฉันแล้วหรือกระไรหนอ
หรือว่าใครนำทารกทั้งหลายของหม่อมฉันไป
[๒๒๒๐] ทารกเหล่านั้นผู้กำลังพูดจาน่ารัก
พระองค์ทรงส่งไปเป็นทูต หรือว่ายังหลับอยู่
หรือทารกเหล่านั้นของเราออกไปเล่นภายนอก
[๒๒๒๑] เส้นผม ลายมือ ลายเท้าของทารกเหล่านั้นมิได้ปรากฏเลย
หรือนกทั้งหลายมาโฉบเฉี่ยวเอาไป
หรือว่าใครนำทารกทั้งหลายของหม่อมฉันไป
[๒๒๒๒] การที่หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาในวันนี้นั้น
เป็นทุกข์ยิ่งกว่าการถูกขับไล่จากแคว้น
เปรียบเหมือนแผลที่ถูกลูกศรแทง
[๒๒๒๓] การที่หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒
และฝ่าพระบาทมิได้ตรัสกับหม่อมฉันนี้
เป็นดุจลูกศรเสียบแทงหทัยของหม่อมฉันซ้ำสอง
หทัยของหม่อมฉันย่อมหวั่นไหว
[๒๒๒๔] ข้าแต่พระราชบุตร ถ้าคืนวันนี้พระองค์มิได้ตรัสกับหม่อมฉัน
พรุ่งนี้เช้าพระองค์น่าจะได้ทอดพระเนตรหม่อมฉัน
ผู้ปราศจากชีวิตตายไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๒๒๕] แม่มัทรีราชบุตรีผู้มีรูปโฉมงดงาม ผู้มียศ
มัวไปแสวงหามูลผลาหารแต่เช้า
ทำไมจึงกลับมาจนเย็น
(พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๒๒๒๖] พระองค์ได้ทรงสดับแล้วมิใช่หรือ
ซึ่งเสียงบันลือลั่นของราชสีห์และเสือโคร่ง
ต่างก็มุ่งมาสู่สระนี้เพื่อจะดื่มน้ำ
[๒๒๒๗] บุพพนิมิตได้เกิดมีแก่หม่อมฉันผู้กำลังเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่
คือ เสียมพลัดตกจากมือของหม่อมฉัน
และกระเช้าที่หาบอยู่ก็พลัดตกจากบ่า
[๒๒๒๘] เวลานั้น หม่อมฉันหวาดกลัวเป็นกำลัง
จึงได้ทำอัญชลี นอบน้อมไปทั่วทุกทิศ
ขอความสวัสดีพึงมีแต่ที่นี้ด้วย
[๒๒๒๙] ขอพระราชบุตรของเราอย่าได้ถูกราชสีห์
หรือเสือเหลืองเบียดเบียนเลย
หรือขอให้ทารกทั้งหลายอย่าได้ถูกหมี
สุนัขป่า หรือเสือดาวรังควานเลย
[๒๒๓๐] สัตว์ร้ายทั้ง ๓ ในป่า คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง
และเสือเหลืองได้มายืนขวางทางหม่อมฉัน
เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงกลับมาถึงในเวลาเย็น
(พระนางมัทรีทรงคร่ำครวญว่า)
[๒๒๓๑] เราเป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นปฏิบัติพระสวามี
บำรุงเลี้ยงดูลูกน้อยทั้งหลายทุกวัน
เหมือนมาณพปฏิบัติอาจารย์
เราเกล้าผมประพฤติพรหมจรรย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๓๒] นุ่งห่มหนังเสือ เที่ยวไปแสวงหามูลผลาหาร
ในป่ามาทุกวันคืนเพราะความรักเธอทั้งหลาย นะลูกน้อย
[๒๒๓๓] ขมิ้นเหลือง ผลมะตูมสุกแม่หามาแล้ว
และแม่ก็ได้นำผลไม้สุกมา นี้เป็นของเล่นของลูกรักทั้ง ๒ นะลูก
[๒๒๓๔] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมกษัตริย์ เหง้าบัวพร้อมทั้งฝัก
หน่ออุบล และกระจับ ที่คลุกน้ำผึ้ง
ขอเชิญพระองค์ทรงเสวยพร้อมพระโอรสทั้งหลายเถิด
[๒๒๓๕] ขอพระองค์โปรดประทานดอกปทุมให้พ่อชาลี
ประทานดอกโกมุทให้กุมารี
พระองค์จะได้ทอดพระเนตรพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ทรงประดับดอกไม้ฟ้อนรำอยู่
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์โปรดตรัสเรียก
พระโอรสทั้งหลายมาเถิด
[๒๒๓๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ต่อจากนั้น
ขอพระองค์ทรงสดับพระสุรเสียงอันไพเราะอ่อนหวาน
ของแม่กัณหาชินาผู้ซึ่งกำลังเข้าสู่อาศรมเถิด
[๒๒๓๗] เราทั้ง ๒ ถูกเนรเทศจากแคว้น เป็นผู้มีสุขและทุกข์เสมอกัน
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ถึงพระองค์ก็โปรดทอดพระเนตรลูกน้อยทั้ง ๒
คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาเถิด
[๒๒๓๘] หม่อมฉันคงได้สาปแช่งสมณะและพราหมณ์
ผู้มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า มีศีล เป็นพหูสูตในโลกเป็นแน่
วันนี้ หม่อมฉันจึงไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒
คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา
[๒๒๓๙] รุกขชาติชนิดต่าง ๆ เหล่านี้ คือ ต้นหว้า
ต้นย่านทรายมีกิ่งห้อยย้อย ที่พระกุมารทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
วันนี้ กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๔๐] รุกขชาติที่มีผลชนิดต่าง ๆ คือ ต้นโพธิ์ใบ ต้นขนุน
ต้นไทร และต้นมะขวิด เหล่านี้ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาวิ่งเล่น
วันนี้ กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๑] สวนเหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่ นี้แม่น้ำที่เยือกเย็น
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเล่น
กุมารทั้ง ๒ ไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๒] บุปผชาติชนิดต่าง ๆ มีอยู่บนภูเขาลูกนี้
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยทัดทรง
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๓] ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่บนภูเขาลูกนี้
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเสวย
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๔] ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
เหล่านี้ที่กุมารเหล่านั้นเคยเล่น
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๕] ตุ๊กตาเนื้อทรายทองเล็ก ๆ ตุ๊กตากระต่าย ตุ๊กตานกเค้า
ตุ๊กตาชะมดเหล่านี้เป็นอันมากที่กุมารทั้ง ๒ เคยเล่น
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๖] ตุ๊กตาหงส์ ตุ๊กตานกกระเรียน
ตุ๊กตานกยูงที่มีแววหางงามวิจิตร
เหล่านี้ที่กุมารทั้ง ๒ เคยเล่น
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๗] พุ่มไม้มีดอกบานสะพรั่งทุกฤดูกาลเหล่านี้
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเล่น
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๔๘] สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์เหล่านี้ มีนกจักรพากส่งเสียงกู่ขัน
ดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก ปทุม และอุบล
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเล่น กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๙] พระองค์มิได้หักฟืน มิได้ตักน้ำ มิได้ติดไฟ
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงหงอยเหงาซบเซาอยู่
[๒๒๕๐] เพราะคนรักกับคนรักยังรวมกันอยู่
ความทุกข์ร้อนของหม่อมฉันย่อมหายไป
วันนี้ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒
คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา
[๒๒๕๑] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของฉัน
ไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
แม้แต่ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่
[๒๒๕๒] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา
ไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่
[๒๒๕๓] พระนางมัทรีทรงปริเวทนา
พลางเที่ยวไปวิ่งหาตามซอกเขาและป่าชัฏ
ในท้องเขาวงกตนั้นแล้วเสด็จมายังอาศรมอีก
ทรงกันแสงอยู่ในสำนักพระราชสวามี ทูลคร่ำครวญว่า
[๒๒๕๔] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา
และไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
แม้แต่ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๕๕] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา
และไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
แม้แต่ฝูงนกก็ไม่ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่
[๒๒๕๖] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา
และไม่ทราบว่าผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
ทั้งที่เที่ยวไปหาที่โคนไม้ ภูเขา และถ้ำ
[๒๒๕๗] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงพระรูปโฉมงดงาม ผู้มีพระยศ
ประคองพระพาหาคร่ำครวญล้มลง ณ พื้นดิน
แทบพระยุคลบาทของพระเวสสันดรนั้นนั่นเองด้วยประการฉะนี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๒๕๘] พระเวสสันดรราชฤๅษีทรงวักน้ำประพรม
พระนางมัทรีราชบุตรีผู้เสด็จมาเฝ้าพระองค์
(ทรงวิสัญญีล้มลงแทบพระยุคลบาทของพระองค์)
ทรงทราบว่า พระนางทรงฟื้นพระองค์ดีแล้ว
จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้กับพระนางว่า
[๒๒๕๙] มัทรี เราไม่อยากจะบอกความทุกข์แก่เธอแต่แรกก่อน
พราหมณ์แก่ยาจกผู้ตกยากมาสู่อาศรม
[๒๒๖๐] เราได้ให้ลูกน้อยทั้ง ๒ แก่พราหมณ์นั้นไป
มัทรี เธออย่าได้กลัวเลย เธอจงดีใจเถิด
มัทรี เธออย่าเห็นลูกน้อยทั้ง ๒ เลย อย่าได้ร้องไห้ไปนักเลย
เมื่อเรายังชีวิตอยู่ ไม่มีโรคภัย ก็จักได้พบลูกน้อยทั้ง ๒ แน่
[๒๒๖๑] สัตบุรุษเห็นยาจกมาหาแล้วพึงให้บุตร ปศุสัตว์
ธัญชาติ และทรัพย์อื่นใดในเรือน
มัทรี ขอเธอจงอนุโมทนาปุตตทานอันสูงสุดของเราเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
(พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๒๒๖๒] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันขออนุโมทนา
ปุตตทานอันสูงส่งของพระองค์
ขอพระองค์พระราชทานปุตตทานอันสูงส่งแล้ว
ทรงทำพระทัยให้ผ่องใสเถิด
ขอพระองค์จงทรงบำเพ็ญทานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด
[๒๒๖๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน
ในหมู่มนุษย์ผู้เป็นคนตระหนี่
พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้ทรงบำเพ็ญทานแก่พราหมณ์แล้ว
[๒๒๖๔] แผ่นดินก็บันลือลั่นแก่พระองค์
กิตติศัพท์ของพระองค์บันลือไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบอยู่โดยรอบ
ดังสะท้านปานประหนึ่งว่าภูเขาจะถล่มทลาย
[๒๒๖๕] เทพเจ้าทั้ง ๒ หมู่ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขานารทะ
ต่างถวายอนุโมทนาแด่พระเวสสันดรนั้นว่า
พระอินทร์ พระพรหม ท้าวประชาบดี
พระโสม ยมยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณมหาราช
และเทพเจ้าเหล่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พร้อมทั้งพระอินทร์ทุกถ้วนหน้า ต่างก็ถวายอนุโมทนา
[๒๒๖๖] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงรูปโฉมงดงาม
ผู้มีพระยศ ก็ทรงอนุโมทนาปุตตทาน
อันสูงสุดของพระเวสสันดรแล้วด้วยประการฉะนี้แล
กัณฑ์มัทรี จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
กัณฑ์สักกบรรพ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๒๖๗] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ท้าวสักกเทวราชทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์
ได้ปรากฏแก่กษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์นั้นแต่เช้าตรู่
(พราหมณ์ทูลถามว่า)
[๒๒๖๘] พระคุณเจ้าไม่มีโรคาพาธเบียดเบียนหรือหนอ
ทรงพระสำราญดีหรือ
พระคุณเจ้าเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ
มูลผลาหารมีมากหรือ
[๒๒๖๙] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่านไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(พระเวสสันดรตอบว่า)
[๒๒๗๐] ท่านพราหมณ์ เราไม่มีโรคมาเบียดเบียน เป็นสุขสำราญดี
อนึ่ง เราเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหาร
และมูลผลาหารก็มีอยู่มาก
[๒๒๗๑] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียนเราเลย
[๒๒๗๒] เมื่อพวกเรามีชีวิตเศร้าโศกอยู่ในป่ามาตลอด ๗ เดือน
เราย่อมเห็นท่านผู้เป็นพราหมณ์ ผู้ทรงเพศอันประเสริฐ
บูชาไฟ ถือไม้เท้าสีดังผลมะตูมสุก
และลักจั่นน้ำนี้เป็นคนที่ ๒
[๒๒๗๓] มหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว มิได้มาร้าย
ท่านผู้เจริญ ขอเชิญเข้าไปภายใน เชิญล้างเท้าของท่านเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๗๔] พราหมณ์ ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง
ผลหมากเม่าที่มีรสหวานปานน้ำผึ้ง
เชิญท่านเลือกบริโภคแต่ผลที่ดี ๆ เถิด
[๒๒๗๕] มหาพราหมณ์ แม้น้ำดื่มนี้ก็เย็นสนิทเรานำมาจากซอกเขา
ถ้าท่านต้องการก็เชิญดื่มเถิด
[๒๒๗๖] อนึ่ง ท่านมาถึงป่าใหญ่ เพราะเหตุไร
หรือเพราะปัจจัยอะไร
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เรา
(พราหมณ์กราบทูลว่า)
[๒๒๗๗] ห้วงน้ำยังเต็มเปี่ยมตลอดเวลาไม่เหือดแห้งฉันใด
พระองค์ทรงมีพระทัยเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาฉันนั้น
ข้าพระองค์ทูลขอแล้ว ขอพระองค์ทรงพระกรุณา
พระราชทานพระชายาแก่ข้าพระองค์เถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๒๗๘] ท่านพราหมณ์ ท่านขอสิ่งใด เราจะให้สิ่งนั้น
เรามิได้หวั่นไหวเลย เราไม่ซ่อนสิ่งของที่มีอยู่
ใจของเรายินดีในทาน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๒๗๙] พระเวสสันดรผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ทรงกุมพระหัตถ์ของพระนางมัทรี ทรงจับเต้าน้ำ
หลั่งน้ำพระราชทานพระนางมัทรีให้เป็นทานแก่พราหมณ์
[๒๒๘๐] ขณะนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์
ทรงบริจาคพระนางมัทรีให้เป็นทาน
ความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าได้เกิดขึ้น
แผ่นดินก็หวั่นไหว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๘๑] พระนางมัทรีมิได้มีพระพักตร์เง้างอ มิได้ทรงเก้อเขิน
และมิได้ทรงกันแสง ทรงเพ่งดูพระสวามีโดยดุษณีภาพ
โดยคิดว่า ท้าวเธอย่อมทรงทราบสิ่งที่ประเสริฐ
(พระศาสดาตรัสพระดำรัสนี้ว่า)
เมื่อตถาคตเป็นพระเวสสันดร
บริจาคพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาซึ่งเป็นธิดา
และพระมัทรีเทวีผู้มีวัตรอันดี ผู้ยำเกรงในพระสวามี
มิได้คิดเสียดายเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
บุตรทั้ง ๒ เป็นที่เกลียดชังของเราก็หามิได้
พระนางมัทรีเทวีจะไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้
แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
ฉะนั้น เราจึงได้ให้ของซึ่งเป็นที่รัก
(ต่อมา พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๒๒๘๒] หม่อมฉันเป็นพระชายาของพระองค์ตั้งแต่ยังเป็นสาวรุ่น
พระองค์ทรงเป็นพระสวามีผู้เป็นใหญ่ของหม่อมฉัน
พระองค์ทรงปรารถนาจะพระราชทานหม่อมฉันแก่ผู้ใด
ก็ทรงพระราชทานแก่ผู้นั้นเถิด
หรือทรงปรารถนาจะขายหรือจะฆ่า ก็ทรงขายหรือทรงฆ่าเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๒๘๓] ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริของกษัตริย์ทั้ง ๒ นั้น
จึงได้ตรัสดังนี้ว่า ข้าศึกทั้งมวล๑ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์
พระองค์ทรงชนะแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ข้าศึกทั้งมวล หมายถึงผู้รับทานที่มีทิพยสมบัติและผู้รับทานที่มีมนุษยสมบัติ ท่านเหล่านั้นยังมีความ
ตระหนี่อยู่ พระเวสสันดรชนะคนเหล่านี้ได้ด้วยการให้บุตรและภรรยาเป็นทาน (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๒๘๓/๔๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๘๔] แผ่นดินก็บันลือลั่นแก่พระองค์
กิตติศัพท์ของพระองค์บันลือไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบอยู่โดยรอบ
ดังสะท้านปานประหนึ่งว่าภูเขาถล่มทลาย
[๒๒๘๕] เทพเจ้าทั้ง ๒ หมู่ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขานารทะ
ต่างถวายอนุโมทนาแด่พระเวสสันดรนั้นว่า
พระอินทร์ พระพรหม ท้าวประชาบดี
พระโสม ยมยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณมหาราชและทวยเทพทั้งมวล
ต่างก็ถวายอนุโมทนาว่า พระองค์ทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยากแท้
[๒๒๘๖] สัตบุรุษทั้งหลายเมื่อจะให้ทานชื่อว่าให้ได้ยาก๑
เมื่อจะทำกรรมก็ชื่อว่าทำได้ยาก
ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายพวกอสัตบุรุษรู้ได้ยาก
[๒๒๘๗] เพราะฉะนั้น สัตบุรุษและอสัตบุรุษ
จึงมีคติที่ไปจากโลกนี้ต่างกัน คือ
พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์
[๒๒๘๘] การที่พระองค์เสด็จมาประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระกุมารทั้งหลายและพระชายาให้เป็นทานนี้
ชื่อว่าเป็นยานอันประเสริฐ ไม่เป็นยานที่พาก้าวลงสู่อบายภูมิ
ขอมหาทานของพระองค์จงเผล็ดผลในสวรรค์เถิด
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๒๘๙] ข้าพเจ้าขอถวายพระนางมัทรีพระชายา
ผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายคืนแก่พระคุณเจ้า
พระองค์เท่านั้นทรงเป็นผู้คู่ควรกับพระนางมัทรี
และพระนางมัทรีก็เป็นผู้คู่ควรแก่พระสวามี
[๒๒๙๐] น้ำนมและสังข์ทั้ง ๒ มีสีเหมือนกันฉันใด
พระองค์และพระนางมัทรีก็ทรงมีพระทัยเสมอเหมือนกันฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุ.ชา. แปล ๒๗/๕๙-๖๐/๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๙๑] ทั้ง ๒ พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้สมบูรณ์ด้วยพระโคตร
เป็นอุภโตสุชาติ๑ทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา
ทรงถูกเนรเทศจากแคว้นมาอยู่ ณ อาศรมในป่านี้
บุญทั้งหลายที่พระองค์กระทำมาแล้วฉันใด
ขอพระองค์ทรงให้ทาน กระทำบุญอยู่ร่ำไปฉันนั้น
[๒๒๙๒] ข้าแต่พระราชฤๅษี หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มาในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์ทรงเลือกรับพร
หม่อมฉันขอถวายพร ๘ ประการแก่พระองค์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๒๙๓] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
ถ้าพระองค์จะประสาทพรแก่หม่อมฉัน
ขอให้พระบิดาจงมารับหม่อมฉัน
ขอพระบิดาทรงต้อนรับหม่อมฉัน
ผู้ออกจากป่านี้ไปถึงเรือนของตนด้วยราชอาสน์
นี้เป็นพรประการที่ ๑
[๒๒๙๔] ขอให้หม่อมฉันไม่พึงชอบใจการฆ่าคน
อนึ่ง แม้ผู้นั้นจะเป็นนักโทษถึงประหารชีวิต
ผู้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง
ขอให้หม่อมฉันพึงได้ปลดปล่อยให้พ้นจากการถูกประหารชีวิต
นี้เป็นพรประการที่ ๒
[๒๒๙๕] ขอให้ประชาชนทั้งหลายทั้งคนแก่ ทั้งเด็ก และคนปานกลาง
พึงเข้ามาอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีวิต
นี้เป็นพรประการที่ ๓

เชิงอรรถ :
๑ อุภโตสุชาติ หมายถึงมีวรรณะเสมอกัน คือ บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๒๑๙/๔๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๙๖] ขอให้หม่อมฉันอย่าพึงล่วงละเมิดภรรยาผู้อื่น
พอใจแต่ในภรรยาของตนไม่ไปสู่อำนาจของหญิงทั้งหลาย
นี้เป็นพรประการที่ ๔
[๒๒๙๗] ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอให้บุตรของหม่อมฉันผู้พลัดพรากไปนั้น
พึงมีอายุยืนนาน จงครอบครองแผ่นดินโดยธรรมเถิด
นี้เป็นพรประการที่ ๕
[๒๒๙๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ขอให้อาหารทิพย์พึงปรากฏ
นี้เป็นพรประการที่ ๖
[๒๒๙๙] เมื่อหม่อมฉันให้ทานอยู่ ขออย่าให้ไทยธรรมหมดสิ้นไป
เมื่อกำลังให้ ขอให้หม่อมฉันพึงทำใจให้ผ่องใส
ครั้นให้แล้ว ขออย่าให้หม่อมฉันได้เดือดร้อนใจในภายหลัง
นี้เป็นพรประการที่ ๗
[๒๓๐๐] เมื่อพ้นจากอัตภาพนี้ไป
ขอให้หม่อมฉันไปสู่สวรรค์ อันเป็นการไปพิเศษ
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
นี้เป็นพรประการที่ ๘
[๒๓๐๑] ครั้นได้สดับพระดำรัสของพระเวสสันดรแล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า
คงไม่นานนัก พระบิดาบังเกิดเกล้าของพระองค์
ก็คงจะเสด็จมาเยี่ยมพระองค์
[๒๓๐๒] ครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว ท้าวมฆวานสุชัมบดีเทวราช
ก็ได้พระราชทานพรแก่พระเวสสันดรแล้ว
เสด็จกลับไปสู่หมู่ชาวสวรรค์
กัณฑ์สักกบรรพ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
กัณฑ์มหาราช
(พระเจ้าสญชัยทอดพระเนตรเห็น ๒ กุมารจึงตรัสว่า)
[๒๓๐๓] นั่นใครหนอ หน้างามยิ่งนักดังทองคำธรรมชาติ
ที่นายช่างหล่อหลอมด้วยไฟ สีใสสุกปลั่ง
ดังแท่งทองธรรมชาติที่ละลายคว้างอยู่ที่ปากเบ้า
[๒๓๐๔] ทารกเหล่านี้มีอวัยวะคล้ายคลึงกัน
มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ
คนหนึ่งเหมือนพ่อชาลี
อีกคนเหมือนแม่กัณหาชินา
[๒๓๐๕] ทารกเหล่านี้มีรูปเสมอกันเหมือนราชสีห์ออกจากถ้ำทอง
ทารกเหล่านี้ปรากฏเหมือนหล่อหลอม
ด้วยทองคำธรรมชาติเลยทีเดียว
[๒๓๐๖] ภารทวาชพราหมณ์ ท่านได้นำ
ทารกเหล่านี้มาจากที่ไหนหนอ
วันนี้ ท่านได้มาถึงแคว้นของเราแล้ว
จะไปที่ไหนต่อไป
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๓๐๗] ข้าแต่สมมติเทพ
ทารกเหล่านี้มีผู้ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยความพอใจ
ตั้งแต่วันที่ได้ทารกเหล่านี้มา วันนี้เป็นคืนที่ ๑๕
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๐๘] ด้วยวาจาไพเราะอะไรเล่า ท่านจึงได้ทารกเหล่านี้มา
ท่านควรทำให้เราเชื่อโดยวิธีที่ชอบ
ใครให้ปุตตทานอันสูงสุดนั้นแก่ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๓๐๙] พระราชาผู้ทรงเป็นที่พึ่งของพวกยาจกที่มาทูลขอ
เป็นดังธรณีเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
คือพระเวสสันดรผู้เสด็จไปประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายแก่ข้าพระองค์
[๒๓๑๐] พระราชาผู้ทรงเป็นที่ต้องประสงค์ของพวกยาจกผู้มาทูลขอ
เป็นดังสาครอันเป็นที่รองรับของแม่น้ำทั้งหลายที่หลั่งไหลมา
คือพระเวสสันดรผู้เสด็จไปประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายแก่ข้าพระองค์
(พวกอำมาตย์ติเตียนพระเวสสันดรว่า)
[๒๓๑๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระราชาผู้มีศรัทธา
ทรงอยู่ครอบครองเรือน ทรงทำกรรมที่ไม่สมควรหนอ
พระเวสสันดรถูกเนรเทศออกจากแคว้นไปอยู่ในป่า
จะพึงพระราชทานพระโอรสทั้งหลายได้อย่างไรหนอ
[๒๓๑๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวพระนครมีประมาณเท่าใด
ที่มาประชุมกันอยู่ในที่นี้ ขอทุกท่านจงช่วยกันพิจารณาดูเรื่องนี้
พระเวสสันดรประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายได้อย่างไร
[๒๓๑๓] พระองค์จงพระราชทานทาส ทาสี ม้า แม่ม้าอัสดร
รถ และช้างกุญชรตัวประเสริฐไปเถิด
ทำไม จึงทรงพระราชทานทารกทั้งหลายเล่า
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๑๔] ข้าแต่สมเด็จพระอัยกา ในเรือนของผู้ใดไม่มีทาส
ม้า แม่ม้าอัสดร รถ และช้างกุญชรตัวประเสริฐ
ผู้นั้นจะพึงให้อะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๑๕] บุตรน้อยทั้งหลาย ปู่สรรเสริญทานแห่งบิดาของเจ้านั้น
ไม่ได้ติเตียนเลย หทัยแห่งบิดาของเจ้าเป็นอย่างไรหนอ
จึงได้ให้เจ้าทั้ง ๒ แก่พราหมณ์วณิพก
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
ข้าแต่พระอัยกามหาราช พระบิดาของหม่อมฉัน
พระราชทานพวกหม่อมฉันแก่พราหมณ์วณิพกแล้ว
ได้ทรงสดับถ้อยคำรำพันพิลาปซึ่งน้องกัณหาได้กล่าวแล้ว
[๒๓๑๖] ข้าแต่สมเด็จพระอัยกา พระหทัยของพระบิดานั้น
เป็นทุกข์และเร่าร้อน มีดวงพระเนตรแดงดังดาวโรหิณี
มีพระอัสสุชลหลั่งไหล
[๒๓๑๗] น้องกัณหาชินาได้กราบทูลพระบิดาว่า
“ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์นี้เฆี่ยนตีหม่อมฉัน
ด้วยไม้เท้าเหมือนตีทาสีผู้เกิดในเรือนเบี้ย
[๒๓๑๘] ข้าแต่พระบิดา ผู้นี้คงจะมิใช่พราหมณ์แน่
เพราะพราหมณ์ทั้งหลายเป็นผู้มีธรรม
แต่พราหมณ์คงจะเป็นยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์
นำลูกทั้ง ๒ ไปเพื่อจะกินเป็นอาหาร พระเจ้าข้า
ลูกทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้เป็นปีศาจนำไป
ข้าแต่พระบิดา ทำไมหนอ พระองค์จึงทรงเมินเฉยอยู่เล่า”
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๑๙] มารดาของเจ้าทั้งหลาย เป็นพระราชบุตรี
บิดาเป็นราชบุตร เจ้าทั้งหลาย เคยขึ้นนั่งตักของปู่
แต่บัดนี้ เพราะเหตุไร จึงยืนอยู่ห่างไกลหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๒๐] พระมารดาของหม่อมฉันทั้งหลาย เป็นพระราชบุตรี
และพระบิดาก็เป็นพระราชบุตร
แต่หม่อมฉันทั้งหลาย เป็นทาสของพราหมณ์
เพราะฉะนั้น จึงยืนอยู่ห่างไกล พระเจ้าข้า
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๒๑] เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ไม่ชอบเลย
หทัยของปู่กำลังเร่าร้อน กายของปู่เหมือนอยู่บนเชิงตะกอน
ปู่มิได้รับความสุขบนราชอาสน์เลย
[๒๓๒๒] เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ไม่ชอบเลย
อย่าได้เพิ่มความเศร้าโศกให้เกิดแก่ปู่เลย
ปู่จักไถ่เธอทั้งหลายด้วยทรัพย์ เธอทั้งหลายจักไม่เป็นทาส
[๒๓๒๓] พ่อชาลี บิดาของเธอทั้งหลาย
ได้ตีราคาพวกเธอไว้เท่าไร จึงให้พราหมณ์
ขอให้เธอทั้งหลายจงบอกปู่ตามความจริง
พนักงานทั้งหลายจงให้พราหมณ์รับเอาทรัพย์ไปเถิด
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๒๔] ข้าแต่พระอัยกา พระบิดาทรงตีราคาหม่อมฉัน
มีค่าเท่าราคาทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง
ทรงตีราคาน้องกัณหาชินาราชกัญญา
ด้วยสัตว์พาหนะมีช้างเป็นต้นอย่างละ ๑๐๐
แล้วจึงได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๒๕] มหาดเล็ก เจ้าจงลุกขึ้น รีบไปนำทาสี ทาส โค ช้าง
และโคอุสภราชอย่างละ ๑๐๐ กับทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง
มาให้แก่พราหมณ์ เป็นค่าไถ่บุตรทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๒๖] ลำดับนั้น พนักงานรีบไปนำทาสี ทาส โค ช้าง
และโคอุสภราชอย่างละ ๑๐๐ มาให้แก่พราหมณ์
เป็นค่าไถ่
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๒๗] กษัตริย์ทั้ง ๒ ทรงไถ่แล้ว
รับสั่งให้สรงสนานและให้เสวยพระกระยาหารเสร็จ
ให้ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งหลายแล้ว
สมเด็จพระอัยกาทรงอุ้มทารกองค์หนึ่ง
สมเด็จพระอัยยิกาทรงอุ้มองค์หนึ่ง
[๒๓๒๘] พระกุมารทั้ง ๒ ทรงสรงสนานพระเศียรแล้ว
ทรงพระภูษาอันสะอาด ทรงประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวงแล้ว
พระราชาผู้พระอัยกาก็ทรงอุ้มพระชาลีขึ้นประทับบนพระเพลา
[๒๓๒๙] พระกุมารทั้ง ๒ ทรงประดับกุณฑล
ที่มีเสียงดังก้องน่ารื่นรมย์ใจ
ทรงประดับดอกไม้และเครื่องอลังการทั้งปวงแล้ว
พระราชาทรงอุ้มพระชาลีกุมารขึ้นประทับ
บนพระเพลาแล้วได้ตรัสถามดังนี้ว่า
[๒๓๓๐] พ่อชาลี พระบิดาและพระมารดาทั้ง ๒ ของเธอ
ไม่มีโรคดอกหรือ เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหา
ผลาหารหรือ มูลผลาหารมีมากหรือ
[๒๓๓๑] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๓๒] ข้าแต่สมมติเทพ พระบิดาและพระมารดาของหม่อมฉัน
ทั้ง ๒ พระองค์นั้นไม่มีโรค
เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหาผลาหาร และมูลผลาหารก็มีมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๓๓] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
ในป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียน
ซึ่งพระบิดาและพระมารดาทั้ง ๒ พระองค์นั้นเลย
[๒๓๓๔] พระมารดาของหม่อมฉันทรงขุดรากบัว เหง้าบัว
ทรงสอยผลพุทรา ผลรกฟ้า และผลมะตูม
นำมาเลี้ยงพระบิดาและหม่อมฉันทั้ง ๒
[๒๓๓๕] พระมารดานั้นทรงนำมูลผลาหารใดมาจากป่า
พระบิดาและหม่อมฉันทั้ง ๒ มารวมกัน
เสวยมูลผลาหารนั้นในทุกคืนวัน
[๒๓๓๖] พระมารดาของหม่อมฉันทั้ง ๒ เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ
ต้องมาเที่ยวแสวงหาผลไม้ มีพระฉวีวรรณผอมเหลือง
เพราะลมและแดด เหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ
[๒๓๓๗] เมื่อพระมารดาเสด็จเที่ยวไปในป่าใหญ่
ซึ่งเป็นป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน
เป็นที่อยู่อาศัยของแรดและเสือเหลือง
พระเกสาของพระองค์ก็ร่วงหล่น
[๒๓๓๘] พระมารดาทรงขมวดพระเมาลี
ทรงไว้ซึ่งเหงื่อไคลที่พระกัจฉะ ทรงพระภูษาหนังเสือ
บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟ
[๒๓๓๙] บุตรทั้งหลายเกิดมาแล้วเป็นที่รักของมนุษย์ในโลก
พระอัยกาของเราทั้งหลายไม่เกิดพระสิเนหาในพระโอรสเป็นแน่
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๔๐] หลานรัก จริงทีเดียว การที่ปู่ให้เนรเทศ
ซึ่งพระบิดาของเจ้าผู้ไม่มีโทษเพราะคำพูดของชาวกรุงสีพีนั้น
ชื่อว่าปู่ได้ทำกรรมชั่วร้าย
และชื่อว่าปู่ได้ทำกรรมที่ทำลายความเจริญแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๔๑] สิ่งใดสิ่งหนึ่งของปู่มีอยู่ในนครนี้ก็ดี
ทรัพย์และธัญชาติใด ๆ มีอยู่ก็ดี
ขอให้พระเจ้าเวสสันดรจงมาเป็นเจ้าปกครองสิ่งนั้น ๆ ในกรุงสีพีเถิด
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๔๒] ขอเดชะสมมติเทพ พระบิดาของหม่อมฉัน
เป็นผู้สูงสุดแห่งชาวกรุงสีพีคงจักไม่เสด็จมาเพราะคำของหม่อมฉัน
ขอให้พระองค์ผู้สมมติเทพเสด็จไปทรงอภิเษก
พระบิดาของหม่อมฉันด้วยโภคะทั้งหลายด้วยพระองค์เองเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๔๓] ลำดับนั้น พระเจ้ากรุงสญชัยจึงได้รับสั่งเสนาบดีว่า
กองทัพ คือ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
กองพลราบจงตระเตรียมอาวุธให้พร้อม
ชาวนิคม พราหมณ์ และพวกปุโรหิตจงตามเราไป
[๒๓๔๔] ต่อจากนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นายผู้สง่างาม
ผูกสอด(อาวุธ)แล้ว ประดับด้วยผ้าสีต่าง ๆ กัน
จงพากันรีบตามมาโดยเร็ว
[๒๓๔๕] เหล่าทหารผู้ผูกสอด(อาวุธ)แล้ว
ประดับประดาด้วยเสื้อผ้าสีต่าง ๆ กัน คือ
พวกหนึ่งแต่งด้วยผ้าสีเขียว พวกหนึ่งแต่งสีเหลือง
พวกหนึ่งแต่งสีแดง พวกหนึ่งแต่งสีขาวจงรีบตามมา
[๒๓๔๖] ภูเขาคันธมาทน์มีกลิ่นหอมถูกหิมะปกคลุม
ดารดาษไปด้วยพฤกษชาตินานาชนิด
เป็นที่อาศัยอยู่ของฝูงสัตว์เป็นอันมาก
[๒๓๔๗] และมีต้นไม้ที่เป็นทิพยโอสถ
สว่างไสวและฟุ้งตลบไปทั่วทิศฉันใด
ขอเหล่าทหารผู้ผูกสอด(อาวุธ)แล้วจงรีบตามมา
และจงรุ่งเรืองมีเกียรติยศฟุ้งขจรไปทั่วทิศฉันนั้นเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๔๘] ต่อจากนั้น จงจัดเทียมช้างที่สูงใหญ่ ๑๔,๐๐๐ เชือก
มีสายรัดประคับทองมีเครื่องประดับ
และเครื่องปกคลุมศีรษะที่สำเร็จแล้วด้วยทอง
[๒๓๔๙] มีนายควานช้างถือโตมรและขอ
ขึ้นขี่คอประจำ เตรียมพร้อมสรรพ
ประดับตกแต่งสวยงาม จงรีบตามมา
[๒๓๕๐] ต่อจากนั้น จงจัดม้าสินธพชาติอาชาไนย
๑๔,๐๐๐ ตัว ที่มีฝีเท้าเร็ว
[๒๓๕๑] พร้อมด้วยนายสารถีผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการ
ถือแส้และดาบสั้น ผูกสอด(อาวุธ)ขึ้นขี่ประจำหลัง
[๒๓๕๒] ต่อจากนั้น จงจัดเทียมกระบวนรถ ๑๔,๐๐๐ คัน
ที่มีเหล็กหุ้มกงล้ออย่างแน่นหนา เรือนรถขจิตด้วยทอง
[๒๓๕๓] จงยกธงขึ้นปักไว้บนรถคันนั้น ๆ
พวกนายขมังธนูผู้ยิงได้แม่นยำ คล่องแคล่วชำนาญ
ในรถทั้งหลาย จงเตรียมโล่ห์ เกราะ และแล่งธนูไว้ให้พร้อม
ทหารเหล่านี้จงตระเตรียมให้พร้อมแล้วรีบตามมา
[๒๓๕๔] ขอจงให้โปรยข้าวตอก ดอกไม้
มาลัย ของหอม และเครื่องลูบไล้เถิด
และจงให้จัดตั้งเครื่องบูชาอันมีค่า
ตามทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา
[๒๓๕๕] ในบ้านแต่ละหมู่บ้าน จงให้ตั้งหม้อสุราและเมรัยไว้
หมู่ละ ๑๐๐ หม้อที่หนทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา
[๒๓๕๖] จงให้ตั้งมังสาหาร ขนม ขนมแดกงา
ขนมกุมมาส ที่ปรุงด้วยเนื้อปลาไว้ใกล้ทาง
ที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๕๗] จงให้ตั้งเนยใส น้ำมัน นมส้ม นมสด
ขนมแป้ง ข้าวฟ่าง และสุราเป็นจำนวนมาก
ไว้ใกล้ทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา
[๒๓๕๘] ให้มีพนักงานพิเศษทั้งครัวหวานและครัวคาว
จัดตั้งไว้เพื่อประชาชนทั่วไป
ให้มีมหรสพฟ้อนรำขับร้องทุก ๆ อย่าง
เพลงปรบมือ กลองยาว คนขับเสภา
และคนผู้บรรเทาความเศร้าโศก๑
[๒๓๕๙] พวกมโหรีจงเล่นดนตรี
ดีดพิณพร้อมทั้งตีกลองน้อยกลองใหญ่
เป่าสังข์ ตีกลองหน้าเดียว
[๒๓๖๐] ตีตะโพน แกว่งบัณเฑาะว์ เป่าสังข์ ดีดจะเข้
และตีกลองใหญ่ กลองเล็ก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๖๑] กองทัพของกรุงสีพีเป็นกองทัพใหญ่
ที่จัดเป็นกระบวนตั้งไว้เสร็จแล้ว
มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทาง ได้ยาตราไปยังเขาวงกต
[๒๓๖๒] ช้างพลายอายุ ๖๐ ปี มีสายรัดประคับทอง
ผูกตกแต่งไว้ บันลือก้องโกญจนาทกระหึ่มอยู่
ช้างวารณะก็บันลือโกญจนาทกระหึ่มอยู่
[๒๓๖๓] เหล่าม้าอาชาไนยก็แผดเสียงแหลมดังลั่น
เสียงกงล้อดังกึกก้อง ฝุ่นละอองฟุ้งตลบถึงนภากาศ
กองทัพของชาวกรุงสีพีก็จัดกระบวนตั้งไว้ดีแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ คนผู้บรรเทาความเศร้าโศก หมายถึงนักมายากล หรือนักร้อง นักดนตรี แม้พวกอื่น ท่านก็เรียกว่า
ผู้บรรเทาความเศร้าโศก เพราะสามารถนำความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นออกไปได้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๓๕๘/๔๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
[๒๓๖๔] กองทัพนั้นเป็นกองทัพใหญ่ จัดเป็นกระบวนตั้งไว้
สามารถทำลายล้างอริราชศัตรูได้
มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทาง ได้ยาตราไปยังเขาวงกต
[๒๓๖๕] พระเจ้ากรุงสญชัยพร้อมด้วยข้าราชบริพารเหล่านั้น
เสด็จเข้าไปยังป่าใหญ่มีกิ่งไม้มากมายและน้ำมาก
ดารดาษไปด้วยต้นไม้ดอกและไม้ผลทั้ง ๒ อย่าง
[๒๓๖๖] ในป่าใหญ่นั้น มีนกมากมายหลายสี
มีเสียงกล่อมไพเราะ เกาะอยู่บนต้นไม้ที่ผลิดอกตามฤดูกาล
ร้องประสานเสียง เสียงระเบงเป็นคู่ ๆ
[๒๓๖๗] พระเจ้ากรุงสญชัยพร้อมด้วยราชบริพารเหล่านั้น
เสด็จพระราชดำเนินไปสู่ทางไกล
ล่วงเลยหลายวันหลายคืน
จึงบรรลุถึงประเทศที่พระเวสสันดรประทับอยู่
กัณฑ์มหาราช จบ

กัณฑ์ฉกษัตริย์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๖๘] พระเวสสันดรได้ทรงสดับเสียงกึกก้องแห่งกองทัพเหล่านั้น
ก็ตกพระทัยกลัว เสด็จขึ้นภูเขา ทรงหวาดหวั่นพรั่นพรึง
ทอดพระเนตรดูกองทัพ ตรัสว่า
[๒๓๖๙] เชิญดูเถิดมัทรี เสียงกึกก้องเช่นใดในป่า
ม้าอาชาไนยส่งเสียงแผดร้องก้องสนั่น ปรากฏยอดธงไหว ๆ
[๒๓๗๐] นายพรานเหล่านี้ได้ขึงข่ายล้อมฝูงเนื้อในป่า
ไล่ต้อนให้ตกลงในหลุมแล้ว ไล่ทิ่มแทงด้วยหอกอันคม
คัดเลือกเอาเนื้อเหล่านั้นตัวอ้วน ๆ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
[๒๓๗๑] เราทั้ง ๒ ก็ฉันนั้น เป็นผู้ไม่มีโทษ
ถูกขับไล่จากแคว้นมาอยู่ในป่า
จึงตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกศัตรูเป็นแน่
จงดูเอาเถิดคนผู้ฆ่าคนที่ไม่มีกำลัง
(พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๒๓๗๒] พวกศัตรูย่ำยีพระองค์ไม่ได้
เปรียบเหมือนไฟย่ำยีห้วงน้ำไม่ได้ฉะนั้น
ขอพระองค์จงทรงระลึกถึงข้อนั้นนั่นแหละ
แต่นี้ไปจะพึงมีแต่ความสวัสดี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๗๓] ลำดับนั้น พระเจ้าเวสสันดรได้เสด็จลงจากภูเขา
ประทับนั่งในบรรณศาลา ทรงตั้งพระทัยให้หนักแน่น
[๒๓๗๔] พระบิดารับสั่งให้ถอยรถกลับ ให้วางกำลังกองทัพไว้แล้ว
เสด็จเข้าไปหาพระโอรสผู้ประทับอยู่ในป่าเพียงลำพัง
[๒๓๗๕] เสด็จลงจากคอช้างพระที่นั่ง ทรงเฉวียงพระอังสา
ประนมพระหัตถ์ แวดล้อมแห่แหนด้วยหมู่อำมาตย์
เสด็จไปเพื่ออภิเษกพระโอรส
[๒๓๗๖] ณ ที่นั้น ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็น
พระโอรสทรงเพศเป็นบรรพชิต
ประทับนั่งเข้าฌานอยู่ในบรรณศาลา
เป็นสมาธิแน่วแน่ ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
[๒๓๗๗] พระเวสสันดรและพระนางมัทรี
ทอดพระเนตรเห็นพระบิดา
ผู้มีความรักในบุตรกำลังเสด็จมา
ได้ทรงต้อนรับถวายอภิวาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
[๒๓๗๘] ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรถวายอภิวาท
แทบพระยุคลบาทของพระสัสสุระ(พ่อผัว)กราบทูลว่า
ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมัทรีสะใภ้ของพระองค์
ขอถวายบังคมพระยุคลบาท
พระเจ้ากรุงสญชัยทรงสวมกอด ๒ กษัตริย์ ใช้ฝ่าพระหัตถ์
ลูบพระปฤษฎางค์อยู่ไปมา ณ อาศรมนั้น (ตรัสว่า)
[๒๓๗๙] ลูกรัก พวกเจ้าไม่มีโรคเบียดเบียน เป็นสุขสำราญดีหรือ
เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ
มูลผลาหารมีมากอยู่หรือ
[๒๓๘๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มาเบียดเบียนหรือ
(พระเวสสันดรกราบทูลว่า)
[๒๓๘๑] ข้าแต่สมมติเทพ พวกหม่อนฉันเป็นอยู่ตามมีตามได้
หม่อมฉันทั้งหลายเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
ชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยการเที่ยวแสวงหา
[๒๓๘๒] ข้าแต่มหาราช นายสารถีทรมานม้าให้หมดฤทธิ์ฉันใด
หม่อมฉันทั้งหลายก็ถูกทรมานให้หมดฤทธิ์ฉันนั้น
ความหมดฤทธิ์ย่อมทรมานหม่อมฉันทั้งหลาย
[๒๓๘๓] ข้าแต่มหาราช เมื่อหม่อมฉันทั้งหลาย
ถูกเนรเทศมามีชีวิตอยู่อย่างหงอยเหงาในป่า
หม่อมฉันทั้งหลาย มีเนื้อหนังซูบซีดผอมลง
เพราะไม่ได้พบพระบิดาและพระมารดา
[๒๓๘๔] ข้าแต่มหาราช ทายาทผู้มีมโนรถยังไม่สมบูรณ์
ของหม่อมฉันผู้ประเสริฐแห่งชาวกรุงสีพี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
คือพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา ทั้ง ๒ องค์
ยังตกอยู่ในอำนาจของพราหมณ์ผู้หยาบช้า
มันเฆี่ยนตีพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้ง ๒ นั้นเหมือนเฆี่ยนตีโค
[๒๓๘๕] ถ้าพระองค์ทรงทราบ
หรือทรงได้สดับข่าวลูกทั้ง ๒ ของพระราชบุตรีนั้น
ขอได้ทรงกรุณารีบตรัสบอกแก่หม่อมฉันทั้งหลายด้วยเถิด
เหมือนหมอรีบพยาบาลคนผู้ถูกงูกัด
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๘๖] กุมารทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา
พ่อได้ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์แล้วไถ่ถอนมา
ลูกรัก ลูกอย่าได้กลัวเลย จงเบาใจเถิด
(พระเวสสันดรทูลถามว่า)
[๒๓๘๗] ข้าแต่พระบิดา พระองค์ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ
ทรงพระสำราญดีหรือ
พระจักษุของพระมารดาของข้าพระองค์ยังไม่เสื่อมหรือ
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๘๘] ลูกรัก พ่อสบายดี ไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง จักษุแม่ของเจ้าก็ไม่เสื่อม
(พระเวสสันดรทูลถามว่า)
[๒๓๘๙] ราชพาหนะของพระองค์ที่เขาเทียมแล้วยังมั่นคงหรือ
ราชพาหนะยังนำภาระไปได้หรือ
ชนบทเจริญดีอยู่หรือ ฝนไม่แห้งแล้งหรือ
(พระเจ้าสญชัยตอบว่า)
[๒๓๙๐] ราชพาหนะของเราที่เทียมแล้วยังมั่นคง
ราชพาหนะยังนำภาระไปได้
ชนบทก็เจริญดี และฝนก็ไม่แล้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
[๒๓๙๑] เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๓ เหล่านั้นกำลังทรงสนทนากันอย่างนี้
ด้วยประการฉะนี้ พระมารดาผู้เป็นราชบุตรี
ไม่ทรงฉลองพระบาท เสด็จไปปรากฏที่ช่องภูเขา
[๒๓๙๒] พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นพระมารดา
ผู้มีความรักในพระโอรสกำลังเสด็จมา
จึงทรงต้อนรับถวายอภิวาท
[๒๓๙๓] ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรเกล้าถวายอภิวาท
แทบพระยุคลบาทของพระสัสสุ(แม่ผัว)กราบทูลว่า
ข้าแต่สมเด็จพระอัยยิกา หม่อมฉันมัทรีสะใภ้ของพระองค์
ขอถวายบังคมพระยุคลบาท
[๒๓๙๔] ส่วนบุตรน้อยทั้งหลาย
เสด็จมาแต่ที่ไกลโดยสวัสดิภาพ
ทอดพระเนตรเห็นพระนางมัทรี ก็ทรงคร่ำครวญวิ่งเข้าไปหา
อุปมาเหมือนลูกโคอ่อนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่
[๒๓๙๕] ฝ่ายพระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นบุตรน้อยทั้งหลาย
ผู้เสด็จมาแต่ที่ไกลโดยสวัสดิภาพ
ทั้งสั่นระรัวไปทั่วพระวรกายเหมือนแม่มด
น้ำนมก็หลั่งไหล
[๒๓๙๖] เมื่อพระญาติทั้งหลายมาพร้อมกันแล้ว
ขณะนั้น ก็ได้เกิดเสียงดังอึกทึกกึกก้อง
ภูเขาทั้งหลายก็มีเสียงดังลั่น
แผ่นดินสะเทือนหวั่นไหว
[๒๓๙๗] ฝนตกลงยังท่อธารให้หลั่งไหลไป
ขณะที่พระเจ้าเวสสันดรได้สมาคมกับพระญาติทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๓๙๘] ในกาลที่กษัตริย์ทั้งหลาย คือ พระราชา พระเทวี พระโอรส
พระสุณิสา และพระนัดดาทั้งหลาย
มาประชุมพร้อมกันแล้ว ก็ได้เกิดอัศจรรย์น่าขนพองสยองเกล้า
[๒๓๙๙] ประชาราษฎร์ทั้งปวงมาพร้อมใจกัน
ประนมมือถวายบังคมพระมหากษัตริย์
ร้องไห้วิงวอนพระเวสสันดรและพระนางมัทรี
ในป่าอันน่าสะพรึงกลัวว่า
ขอพระองค์ทรงเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย
ขอพระองค์ทั้ง ๒ ทรงพระกรุณาเสวยราชสมบัติ
เป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด
กัณฑ์ฉกษัตริย์ จบ

กัณฑ์นครกัณฑ์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๔๐๐] พระบิดา ชาวชนบท และชาวนิคม
ได้พร้อมใจกันเนรเทศหม่อมฉัน
ผู้ครองราชสมบัติโดยธรรมจากแคว้น
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๔๐๑] ลูกรัก จริงทีเดียว การที่พ่อให้เนรเทศ
ซึ่งลูกผู้ไม่มีความผิดออกไปจากแคว้นตามคำของชาวกรุงสีพีนั้น
ชื่อว่าพ่อได้ทำกรรมชั่วร้าย
และชื่อว่าพ่อได้ทำกรรมที่ทำลายความเจริญแล้ว
[๒๔๐๒] ขึ้นชื่อว่าบุตรควรช่วยปลดเปลื้องความทุกข์
ของมารดาบิดาและพี่น้องที่เกิดขึ้น
เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ด้วยชีวิตของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๔๐๓] ลำดับนั้น พระเจ้าเวสสันดรได้ทรงชำระล้างธุลีและสิ่งโสโครก
ครั้นทรงชำระล้างธุลีและสิ่งโสโครกแล้ว
ได้ทรงเพศเป็นพระราชา
[๒๔๐๔] พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ทรงสนานพระเศียรแล้ว
ทรงพัสตราภรณ์อันสะอาด ทรงประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง
สอดพระแสงขรรค์ที่ทำให้ราชปัจจามิตรเดือดร้อนเกรงขาม
เสด็จขึ้นทรงพญาปัจจยนาค
[๒๔๐๕] ครั้งนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นายผู้สง่างาม
ต่างก็ชื่นชมยินดี แวดล้อมพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
[๒๔๐๖] ลำดับนั้น เหล่าพระสนมกำนัลในของพระเจ้ากรุงสีพี
มาประชุมพร้อมกัน ทูลเชิญพระนางมัทรีให้สรงสนานแล้ว
ถวายพระพรว่า ขอพระเวสสันดรจงทรงอภิบาลรักษาพระเจ้าแม่
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้ง ๒ พระองค์
อนึ่ง ขอพระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชจงทรงอภิรักษ์พระแม่เจ้าเทอญ
[๒๔๐๗] พระเวสสันดรบรมกษัตริย์และพระนางมัทรี
กลับมาดำรงในสิริราชสมบัติตามเดิมแล้ว
ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน
จึงรับสั่งให้นำกลองนันทิเภรีไปตีประกาศ
ที่คุ้มครองเขาวงกตอันน่ารื่นรมย์
[๒๔๐๘] พระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะได้ปัจจัย๑ นี้แล้ว
ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน
ครั้นได้พบพระโอรสทั้งหลายก็มีพระทัยปลาบปลื้มโสมนัส

เชิงอรรถ :
๑ ได้ปัจจัยนี้ หมายถึงได้ราชสมบัติ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๔๐๘/๔๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๐๙] ก็พระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะได้ปัจจัยนี้แล้ว
ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน
มีพระทัยชื่นชมยินดีปรีดาพร้อมกับพระโอรสทั้งหลาย
[๒๔๑๐] ลูกรักทั้ง ๒ เมื่อก่อนแม่ได้บำเพ็ญวัตรนี้
นอนเหนือแผ่นดินเป็นนิตย์
นี้เป็นวัตรของแม่ เพราะแม่รักเจ้าทั้งหลาย
[๒๔๑๑] วัตรของแม่สำเร็จในวันนี้ เพราะได้พบพวกเจ้า
ลูกรักทั้ง ๒ ขอความโสมนัสที่เกิดจากแม่ก็ดี
จากพระบิดาก็ดี จงคุ้มครองลูก
อนึ่ง ขอพระเจ้ากรุงสญชัยมหาราช
จงทรงอภิรักษ์ความโสมนัสนั้น
[๒๔๑๒] บุญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่แม่และพระบิดาของลูกทำแล้วมีอยู่
ด้วยบุญกุศลทั้งหมดนั้น ขอลูกจงเป็นผู้ไม่แก่ไม่ตาย
[๒๔๑๓] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยพระภูษาอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดพระภูษาอย่างนั้น
คือ พระภูษากัปปาสิกพัสตร์ โกไสยพัสตร์ โขมพัสตร์
และโกทุมพรพัสตร์ ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา
[๒๔๑๔] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น
คือ พระธำมรงค์สุพรรณรัตน์ สร้อยพระศอนพรัตน์
ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา
[๒๔๑๕] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น
คือ พระวลัยสำหรับประดับข้อพระบาท
พระกุณฑลสำหรับพระกรรณ สายรัดพระองค์ฝังแก้วมณีเพชร
ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๑๖] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น
คือ ดอกไม้กรองเครื่องประดับพระเมาลี
เครื่องประดับพระนลาตและเครื่องประดับฝังแก้วมณีสีต่าง ๆ กัน
ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา
[๒๔๑๗] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น
คือ เครื่องประดับพระถัน เครื่องประดับพระอังสา
สะอิ้งเพชร และฉลองพระบาท
ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา
[๒๔๑๘] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงตรวจดูเครื่องประดับ
ที่ร้อยด้วยด้ายและไม่ร้อยด้วยด้าย
พระนางมัทรีราชบุตรีทรงตรวจดูและประดับตกแต่งแล้ว
ทรงงดงามดังนางเทพกัญญาในพระอุทยานนันทวัน
[๒๔๑๙] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงสนานพระเศียร
ทรงพัสตราภรณ์อันสะอาด ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
ทรงงดงามดังนางเทพอัปสรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๔๒๐] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงมีริมพระโอษฐ์งาม
ทรงงดงามดังต้นกล้วยสีทองที่เกิดในสวนจิตรลดาถูกลมพัดไปมา
[๒๔๒๑] พระนางมัทรีราชบุตรีมีพระโอษฐ์แดงดุจผลไทรและผลตำลึกสุก
งดงามดังกินนรีมีขนปีกงามวิจิตร บินร่อนอยู่ในอากาศ
[๒๔๒๒] เหล่าพนักงานตกแต่งดรุณหัตถีอันเป็นช้างพระที่นั่ง
ตัวประเสริฐ อดทนต่อหอกซัดและลูกศร
มีงาเรียวงามดุจงอนรถ มีกำลังกล้าหาญ
เสร็จแล้วให้นำมาประเทียบเกยคอยต้อนรับพระนางมัทรีนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๒๓] พระนางมัทรีนั้นเสด็จขึ้นประทับบนหลังดรุณหัตถี
อันเป็นช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐ อดทนต่อหอกซัดและลูกศร
มีงาเรียวงามดุจงอนรถ มีกำลังกล้าหาญ
[๒๔๒๔] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นไม่เบียดเบียนกันและกัน
ด้วยเดชของพระเวสสันดร
[๒๔๒๕] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงนกประมาณเท่านั้นไม่เบียดเบียนกันและกัน
ด้วยเดชของพระเวสสันดร
[๒๔๒๖] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นมาประชุมในที่เดียวกัน
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ
[๒๔๒๗] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงนกประมาณเท่านั้นมาประชุมในที่เดียวกัน
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ
[๒๔๒๘] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นมิได้ส่งเสียงร้องไพเราะเหมือนในกาลก่อน
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ
[๒๔๒๙] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงนกประมาณเท่านั้นมิได้ส่งเสียงร้องไพเราะเหมือนในกาลก่อน
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ
[๒๔๓๐] ราชมรรควิถีที่จะเสด็จพระราชดำเนินนั้น
ประชาราษฎร์ช่วยกันประดับตกแต่งงามตระการตา
ลาดด้วยดอกไม้ ตั้งแต่กรุงเชตุดร
จนถึงที่ประทับของพระเวสสันดร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๓๑] ลำดับนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นาย
ผู้แต่งเครื่องพร้อมสรรพ งามสง่าน่าดู
ต่างพากันติดตามแวดล้อมอยู่โดยรอบ
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ
[๒๔๓๒] พวกพระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพวกพราหมณ์
ต่างพากันติดตามพระเวสสันดรแวดล้อมอยู่โดยรอบ
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ
[๒๔๓๓] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างพากันตามเสด็จแวดล้อมโดยรอบ
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ
[๒๔๓๔] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพร้อมใจกันมาประชุมแวดล้อมอยู่โดยรอบ
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ
[๒๔๓๕] เหล่าทหารกล้าต่างก็สวมหมวก สวมเกราะ
ถือดาบ ถือโล่ห์หนังเดินนำหน้า
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกับ
[๒๔๓๖] กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นเสด็จเข้าสู่พระนครที่รื่นรมย์
ซึ่งมีป้อมปราการและประตูเป็นอันมาก
ประกอบด้วยข้าวน้ำอุดม
และการฟ้อนรำและขับร้องทั้ง ๒ ประการ
[๒๔๓๗] ชาวชนบทและชาวนิคมต่างชื่นชมโสมนัสยินดี
พร้อมใจกันมาประชุม ในเมื่อพระเวสสันดร
ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จถึงพระนครโดยลำดับแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๓๘] เมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงพระราชทานทรัพย์เสด็จมาถึงแล้ว
ชาวชนบทและชาวนิคมต่างก็โบกผ้าสะบัดไปมา
พระองค์รับสั่งให้นำกลองนันทิเภรีไปตีประกาศในพระนคร
และรับสั่งให้ประกาศปลดปล่อยสัตว์ทั้งปวง
จากเครื่องพันธนาการ
[๒๔๓๙] ขณะที่พระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
เสด็จเข้าพระนคร
ท้าวสักกเทวราชก็ทรงบันดาลให้ฝนทองตกลงมา
[๒๔๔๐] ต่อมา พระเจ้าเวสสันดร ผู้เป็นกษัตริย์ ผู้มีปัญญา
ทรงบำเพ็ญทานแล้ว หลังจากสวรรคตแล้ว
พระองค์ก็เสด็จเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ฉะนี้แล
กัณฑ์นครกัณฑ์ จบ
มหาเวสสันดรชาดกที่ ๑๐ จบ
มหานิบาต จบ
ชาดก ภาค ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๖๐ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒ จบ





eXTReMe Tracker