ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรคาถา
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๗. ภัททิยกาฬิโคธาปุตตเถรคาถา
[๘๔๗] ฯลฯ ถือการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๔๘] ฯลฯ ถือการฉันหนเดียวเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๔๙] ฯลฯ ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๐] ฯลฯ ถือการห้ามอาหารที่เขานำมาถวายภายหลังฉันเป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๑] ฯลฯ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๒] ฯลฯ ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๓] ฯลฯ ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๔] ฯลฯ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๕] ฯลฯ ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัดให้เป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๖] ฯลฯ ถือการนั่งเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๗] ฯลฯ มีความปรารถนาน้อย มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๘] ฯลฯ มีความสันโดษ มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๕๙] ฯลฯ ชอบสงัด มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๖๐] ฯลฯ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[๘๖๑] ข้าพระองค์มีนามว่าภัททิยะ เป็นโอรสของพระนางกาฬิโคธา
ปรารภความเพียร มีความเพียรต่อเนื่อง
ยินดีในอาหารที่บิณฑบาตได้มา
ไม่มีความยึดมั่น เพ่งพินิจอยู่
[๘๖๒] ข้าพระองค์ได้ละทิ้งจานทองคำลวดลายวิจิตร
หนักร้อยปละมาใช้แทนบาตรดิน
นี้เป็นการอภิเษกครั้งที่สอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๘. อังคุลิมาลเถรคาถา
[๘๖๓] เมื่อก่อน ข้าพระองค์มีหมู่ทหาร
ถือดาบคอยคุ้มครองรักษาอยู่ในพระนคร
ซึ่งมีป้อมและซุ้มประตูอย่างแข็งแรง
ซึ่งแวดล้อมด้วยกำแพงเป็นวงกลม สูงลิ่ว อยู่อย่างหวาดระแวง
[๘๖๔] บัดนี้ ข้าพระองค์มีนามว่าภัททิยะ เป็นโอรสของพระนางกาฬิโคธา
เป็นผู้เจริญ ไม่หวาดระแวง ละความหวาดกลัวภัยเสียได้
มาสู่ป่า เพ่งพินิจอยู่
[๘๖๕] ดำรงมั่นอยู่ในกองศีล เจริญสติและปัญญาอยู่
ได้บรรลุความสิ้นสังโยชน์ทั้งหมดแล้ว โดยลำดับ

๘. อังคุลิมาลเถรคาถา
ภาษิตของพระองคุลิมาลเถระ
(พระองคุลิมาลเถระ ครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยภาษิตว่า)
[๘๖๖] ท่านสมณะ ท่านยังเดินอยู่ แต่กลับกล่าวว่า เราหยุดแล้ว
และกล่าวหาเราซึ่งหยุดแล้วว่า ไม่หยุด
ท่านสมณะ เราขอถามท่านถึงความข้อนี้ที่ว่า
ท่านหยุดแล้ว แต่เราซิ ไม่หยุด อย่างไรกัน
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบองคุลิมาลโจรนั้นด้วยพระคาถาว่า)
[๘๖๗] องคุลิมาล เราได้ละทิ้งโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งมวลอยู่ทุกเมื่อ
ส่วนท่านซิไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าหยุดแล้ว
ส่วนท่านชื่อว่ายังไม่หยุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๘. อังคุลิมาลเถรคาถา
(องคุลิมาลโจร กราบทูลว่า)
[๘๖๘] เป็นเวลานานหนอที่พระองค์ซึ่งเป็นสมณะ
ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกบูชา ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาสู่ป่าใหญ่เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์
ข้าพระองค์นั้น ได้สดับพระพุทธภาษิต
ซึ่งประกอบด้วยธรรมของพระองค์จะเลิกละบาปตั้งพัน
(พระสังคีติกาจารย์ ได้รจนา ๒ ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๖๙] ครั้นองคุลิมาลโจรกราบทูลแล้ว
ก็ได้โยนดาบและอาวุธทิ้งเหวซึ่งทั้งกว้างและลึก
ได้ถวายบังคมพระยุคลบาทพระสุคต
ได้ทูลขอบวชกับพระพุทธเจ้า ณ ที่นั้นนั่นเอง
[๘๗๐] ทันใดนั้นเอง พระพุทธเจ้า ทรงมีพระกรุณา
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นศาสดาของชาวโลก
พร้อมทั้งเทวโลก ได้ตรัสกับองคุลิมาลโจรนั้นว่า
จงเป็นภิกษุมาเถิด เพียงเท่านี้
องคุลิมาลโจรนั้น ก็ได้เป็นภิกษุ
(พระองคุลิมาลเถระเกิดปีติโสมนัส จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๗๑] ผู้ใด ประมาทแล้วในกาลก่อน
ภายหลัง ไม่ประมาท
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ
[๘๗๒] บาปกรรมที่ทำไว้ ผู้ใดปิดกั้นเสียได้ ด้วยกุศล
ผู้นั้น ย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๘. อังคุลิมาลเถรคาถา
[๘๗๓] ภิกษุใดแลยังหนุ่มแน่น
ย่อมประกอบขวนขวายในพระพุทธศาสนา
ภิกษุนั้น ย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ
[๘๗๔] พวกคนที่เป็นข้าศึกกับเรา
ขอเชิญสดับธรรมกถา
ขอเชิญปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
ขอเชิญคบค้าสมาคมกับคนที่เป็นสัตบุรุษ
ซึ่งยึดมั่นแต่ธรรมเท่านั้น
[๘๗๕] ขอเชิญสดับธรรมของท่านที่กล่าวสรรเสริญความอดทน
ชอบสรรเสริญความไม่โกรธได้ตามกาล
และขอเชิญปฏิบัติตามธรรมที่ได้สดับแล้วนั้น
[๘๗๖] ผู้เป็นข้าศึกกับเรานั้นแล
อย่าพึงเบียดเบียนเรา หรือสัตว์ไร ๆ อื่นเลย
พึงถึงความสงบอย่างเยี่ยม
และพึงรักษาคุ้มครองสัตว์ทั้งมวลเหมือนอาจารย์คุ้มครองศิษย์
[๘๗๗] พวกคนไขน้ำก็ทำหน้าที่ไขน้ำ
พวกช่างทำศรก็ดัดลูกศร
พวกช่างไม้ก็ถากไม้
พวกบัณฑิตก็ฝึกตน
[๘๗๘] คนฝึกช้างและคนฝึกม้าบางพวก
มีท่อนไม้ ขอและแส้จึงจะฝึกได้
เราพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้คงที่
ซึ่งไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ทรงฝึกได้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๘. อังคุลิมาลเถรคาถา
[๘๗๙] แต่ก่อนเรามีชื่อว่า อหิงสกะ แต่ยังเบียดเบียนอยู่
วันนี้ เรามีชื่อที่เป็นจริง ไม่เบียดเบียนใคร ๆ เลย
[๘๘๐] แต่ก่อน เราได้เป็นโจรลือชื่อทั่วไปว่า องคุลิมาล
ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดพาไป
จนได้มาถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง
[๘๘๑] ครั้งก่อน เรามีมือเปื้อนเลือดลือชื่อทั่วไปว่า องคุลิมาล
ดูเอาเถิด สรณคมน์๑
เราถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้แล้ว
[๘๘๒] เราได้ทำกรรมอันเป็นเหตุให้ไปทุคติเช่นนั้นไว้มาก
จึงต้องรับผลกรรม
บัดนี้ย่อมฉันโภชนะอย่างไม่เป็นหนี้
[๘๘๓] เหล่าชนพาลที่มีปัญญาทราม
ย่อมประกอบความประมาทอยู่เนือง ๆ
ส่วนผู้ที่มีปัญญาย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้
ดุจบุคคลรักษาทรัพย์อันประเสริฐที่สุดไว้
[๘๘๔] บุคคล อย่าพึงขวนขวายความประมาท
อย่าขวนขวายหาความสนิทสนมด้วยความยินดีในกาม
เพราะผู้ที่ไม่ประมาทเพ่งพินิจอยู่
ย่อมประสบความสุขอย่างยิ่ง
[๘๘๕] การที่เรามาสำนักพระศาสดาเป็นการดีแล้ว มิใช่ไม่ดี
การที่เราคิดจะบวชในสำนักพระศาสดานี้ก็มิใช่เป็นการคิดไม่ดี
นั่นเป็นการเข้าถึงธรรมอย่างประเสริฐ
ในพระธรรมที่พระศาสดาทรงจำแนกไว้ดีแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ การถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง (ขุ.เถร.อ. ๒/๘๘๑/๓๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๙. อนุรุทธเถรคาถา
[๘๘๖] การที่เรามายังสำนักพระผู้มีพระภาค
เป็นการมาดีแล้ว่ไม่ไร้ประโยชน์
การที่เราคิดจะบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคนี้
เป็นความคิดไม่เลวเลย
เราได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๘๘๗] แต่ก่อน เราอยู่ตามป่า ตามโคนไม้ ตามภูเขา ตามถ้ำ
ทุกหนแห่ง อย่างมีใจหวาดระแวง
[๘๘๘] พอพระศาสดาทรงอนุเคราะห์แล้ว
ไม่ต้องตกอยู่ในบ่วงมือมาร จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นสุข
[๘๘๙] เมื่อก่อน เรามีเชื้อชาติเป็นพราหมณ์
มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย
วันนี้ เรานั้นเป็นโอรสของพระสุคตศาสดาผู้เป็นพระธรรมราชา
[๘๙๐] ปราศจากตัณหา ไม่ยึดมั่น คุ้มครองทวาร สำรวมดีแล้ว
ตัดรากเหง้าแห่งทุกข์ได้แล้ว ความสิ้นอาสวะเราบรรลุแล้ว
[๘๙๑] เราปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักเสียได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว

๙. อนุรุทธเถรคาถา
ภาษิตของพระอนุรุทธเถระ
(พระอนุรุทธเถระ เสวยวิมุติสุขอยู่ พิจารณาข้อปฏิบัติของตน เกิดปีติโสมนัส
จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๙๒] อนุรุทธะนี้แหละ ละพระชนกชนนี
พระประยูรญาติและกามคุณ ๕ ได้แล้ว เข้าฌานอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๙. อนุรุทธเถรคาถา
[๘๙๓] บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้อง
มีเสียงดนตรีที่บรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกค่ำเช้า
ย่อมไม่บรรลุถึงความบริสุทธิ์ด้วยการบริโภคกามนั้น
ยังยินดีในกามคุณซึ่งเป็นวิสัยของมาร
[๘๙๔] ส่วนอนุรุทธะนี่แหละ ล่วงกามคุณ ๕ นี้ได้แล้ว
ยินดีในคำสอนของพระพุทธเจ้า
ล่วงโอฆะทั้งปวงได้แล้ว เข้าฌานอยู่
[๘๙๕] และล่วงกามคุณ ๕ เหล่านี้ คือ
รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ที่น่ารื่นรมย์ใจ เข้าฌานอยู่
[๘๙๖] อนุรุทธะ เป็นปราชญ์ ไม่มีอาสวะ
กลับจากบิณฑบาตแล้ว
เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลแต่ผู้เดียวไม่มีเพื่อน
[๘๙๗] อนุรุทธะ ผู้เป็นปราชญ์ มีปัญญา ไม่มีอาสวะ
เที่ยวเลือกหาแต่ผ้าบังสุกุล
ครั้นได้แล้ว ซัก ย้อมเอง แล้วนุ่งห่ม
[๘๙๘] บาปธรรมที่เศร้าหมองเหล่านี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้มักมาก
ไม่สันโดษ ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ และมีจิตฟุ้งซ่าน
[๘๙๙] ส่วนภิกษุผู้มีสติ มักน้อย สันโดษ
ไม่มีความขัดเคือง ยินดีในวิเวก
ชอบสงัด ปรารภความเพียรเป็นประจำ
[๙๐๐] ย่อมมีแต่กุศลธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายให้ตรัสรู้เหล่านี้
ทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ก็ตรัสว่า
ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๙. อนุรุทธเถรคาถา
[๙๐๑] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบความดำริของเราแล้ว
เสด็จมาหาเราด้วยพระวรกายที่สำเร็จโดยมโนมยิทธิ๑
[๙๐๒] เมื่อใด เรามีความดำริ
เมื่อนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้วก็เสด็จมาหาเราด้วยฤทธิ์
ได้ทรงแสดงธรรมอันยิ่งแก่เรา
พระพุทธเจ้าผู้ทรงยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ได้ทรงแสดงธรรมที่ไม่เนิ่นช้าแก่เราไว้แล้ว
[๙๐๓] เราได้รู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์
ยินดีอยู่ในคำสอนของพระองค์
บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๙๐๔] ตั้งแต่เวลาที่เราถือการไม่นอนเป็นวัตรตลอด ๕๕ ปี
กำจัดความง่วงเหงาหาวนอนได้ มาเป็นเวลา ๒๕ ปี
พระอนุรุทธเถระ(เมื่อภิกษุทั้งหลายถามในเวลาที่พระศาสดาเสด็จดับขันธปริ-
นิพพานว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วหรือยัง ได้ประกาศว่า พระผู้มีพระภาค
ปรินิพพานแล้ว ด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๐๕] พระผู้มีพระภาคผู้มีพระหฤทัยตั้งมั่น คงที่
ไม่ได้มีลมหายใจเข้าหายใจออก
พระองค์ไม่ทรงหวั่นไหว ปรารภความสงบ
มีพระจักษุ เสด็จปรินิพพานแล้ว
[๙๐๖] ทรงมีพระหฤทัยไม่หดหู่ อดกลั้นเวทนาได้
มีพระหฤทัยหลุดพ้นไป
เหมือนดวงประทีปที่ลุกโชนแล้วก็ดับไป

เชิงอรรถ :
๑ ฤทธิ์ทางใจ ฤทธิ์ที่นิรมิตด้วยใจ (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๐๑/๓๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๙. อนุรุทธเถรคาถา
[๙๐๗] บัดนี้ ธรรมเหล่านี้ซึ่งมีสัมผัสเป็นที่ ๕
ของพระมหามุนีได้สิ้นสุดลง
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว
จิตและเจตสิกธรรมเหล่าอื่นจักไม่มีอีกต่อไป
[๙๐๘] เทวดา บัดนี้ เราไม่มีการอยู่คือการอุบัติในหมู่เทพอีกต่อไป
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก
[๙๐๙] ภิกษุใดรู้แจ้งมนุษยโลกเทวโลก พร้อมทั้งพรหมโลก
ซึ่งมีประเภทตั้งพันได้ในกาลครู่เดียว
ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในคุณคือฤทธิ์
ในจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
ภิกษุนั้น ย่อมเห็นเทพเจ้าทั้งหลายได้ในขณะที่เกิด
[๙๑๐] ชาติก่อน เรามีชื่ออันนภาระ
เป็นคนยากจน เที่ยวรับจ้างเลี้ยงชีพ
ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้สงบ ผู้มียศ
[๙๑๑] เรานั้นเกิดในศากยสกุล
พระประยูรญาติทรงขนานนามให้เราว่า อนุรุทธะ
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง
มีเสียงดนตรีที่บรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกค่ำเช้า
[๙๑๒] ครั้นต่อมา เราได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้หาภัยแต่ที่ไหนมิได้
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์แล้วบวชเป็นบรรพชิต
[๙๑๓] เรารู้จักขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยมาก่อน
เกิดเป็นท้าวสักกะในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๘๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๙.อนุรุทธเถรคาถา
[๙๑๔] ปราบไพรีให้พ่ายแพ้
ได้ครองราชเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
จอมมนุษย์ในชมพูทวีป ซึ่งมีสมุทรสาครทั้ง ๔
เป็นขอบเขต ๗ ครั้ง
ได้ปกครองปวงประชากรโดยธรรม
ไม่ต้องใช้อาชญา
ไม่ต้องใช้ศัสตรา
[๙๑๕] ได้ระลึกชาติก่อนในคราวที่อยู่ในเทวโลกได้ ๑๔ ชาติ
คือ ครั้งที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ
ครั้งที่เป็นท้าวสักกะ ๗ ชาติ
[๙๑๖] เมื่อสมาธิประกอบด้วยองค์๑ ๕ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง
ได้ความสงบระงับแล้ว
ทิพยจักษุของเราจึงหมดจด
[๙๑๗] เราดำรงมั่นอยู่ในฌานที่ประกอบด้วยองค์๒ ๕
จึงรู้จุติและอุบัติ
การมา การไปของสัตว์ทั้งหลายว่า
เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น
[๙๑๘] เราปรนนิบัติพระศาสดา ฯลฯ
ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[๙๑๙] จะปรินิพพานอย่างไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นชีวิต
ภายใต้พุ่มไม้ไผ่ใกล้เวฬุวคาม แคว้นวัชชี

เชิงอรรถ :
๑ องค์ ๕ คือ (๑) การแผ่ปีติ (๒) การแผ่สุข (๓) การแผ่จิต (๔) การแผ่แสงสว่าง และ (๕) การพิจารณา
นิมิต (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๑๖/๓๘๓)
๒ ฌานที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ในที่นี้คือสมาธิประกอบด้วยองค์ ๕ นั่นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๑๐. ปาราปริยเถรคาถา
๑๐. ปาราปริยเถรคาถา
ภาษิตของพระปาราปริยเถระ
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายรจนาคาถานี้ว่า)
[๙๒๐] พระปาราปริยเถระผู้เป็นสมณะ
มีจิตแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว
ชอบสงัด นั่งเจริญฌานอยู่ในป่าใหญ่
ในฤดูดอกไม้ผลิ ได้มีความคิดว่า
[๙๒๑] เมื่อพระโลกนาถซึ่งเป็นบุรุษผู้สูงสุด ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่
ความประพฤติของภิกษุทั้งหลายได้เป็นอย่างหนึ่ง
บัดนี้ เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว
ย่อมปรากฏเป็นอีกอย่างหนึ่ง
[๙๒๒] ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ได้นุ่งห่มผ้าเป็นปริมณฑลเพียงเพื่อจะป้องกันความหนาวความ
ร้อนและลม ปกปิดอวัยวะที่จะให้เกิดความละอายเท่านั้น
[๙๒๓] ได้ขบฉันอาหารประณีตก็ตาม เศร้าหมองก็ตาม
น้อยก็ตาม มากก็ตาม เพียงเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ไม่ติด
ไม่พัวพัน
[๙๒๔] ไม่ได้ขวนขวายจนเกินไปในยาแก้ไข้
ซึ่งเป็นบริขารเครื่องรักษาชีวิต เหมือนขวนขวายในความสิ้นอาสวะ
[๙๒๕] พอกพูนวิเวก มุ่งแต่วิเวก
อยู่ในป่า โคนต้นไม้ ซอกเขา และถ้ำ
[๙๒๖] อ่อนน้อม มีศรัทธาตั้งมั่น เลี้ยงง่าย อ่อนโยน
มีใจไม่กระด้าง ไม่ปราศจากสติ ไม่ปากร้าย
ไฝ่คิดแต่ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นสำคัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๑๐. ปาราปริยเถรคาถา
[๙๒๗] เพราะเหตุนั้น ภิกษุแต่ปางก่อนเหล่านั้น
มีความประพฤติทางกายและทางวาจา
การบริโภคปัจจัยการส้องเสพโคจร
และมีอิริยาบถละมุนละไม น่าเลื่อมใส
เหมือนสายน้ำมันที่ไหลออกจากภาชนะไม่ขาดสาย
[๙๒๘] บัดนี้ ท่านเหล่านั้น สิ้นอาสวะหมดแล้ว
มักเจริญฌานเป็นอันมาก
ประกอบด้วยประโยชน์มาก
เป็นพระเถระ นิพพานแล้ว
เดี๋ยวนี้ท่านเช่นนั้นยังเหลืออยู่จำนวนน้อย
[๙๒๙] เพราะกุศลธรรมและปัญญาสิ้นไป
คำสอนของพระชินเจ้าซึ่งประกอบด้วยสภาวะอันประเสริฐ
ทุกอย่างก็เลือนหายไป
[๙๓๐] เวลาที่บาปธรรมและกิเลสกำลังเฟื่องฟู
ส่วนเหล่าภิกษุที่มุ่งมั่นเพื่อความสงบสงัด
ชื่อว่าเป็นผู้มีพระสัทธรรมที่เหลือเป็นข้อปฏิบัติ
[๙๓๑] กิเลสเหล่านั้นเฟื่องฟูอยู่
ก็ย่อมครอบงำชนผู้โง่เขลาเป็นจำนวนมาก
เหมือนจะเยาะเย้ยเล่นกับเหล่าชนผู้โง่เขลา
ดุจปีศาจเข้าสิงผู้คนทำให้บ้า
แล้วเล่นกับพวกเขาที่บ้าแล้ว
[๙๓๒] คนที่ยังโง่เขลาเหล่านั้น ถูกกิเลสครอบงำ
จึงพล่านไปในวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส
ตามส่วนแห่งอารมณ์นั้น ๆ
เหมือนพล่านไปหาสิ่งที่ตนใคร่ ที่เขาเชิญชวนไว้ ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๑๐. ปาราปริยเถรคาถา
[๙๓๓] ละพระสัทธรรมแล้ว ทะเลาะกันเอง
ยึดถือเอาความเห็นของตน สำคัญว่า นี้เท่านั้น ประเสริฐ
[๙๓๔] นรชนทั้งหลาย ละทิ้งทรัพย์สมบัติ
และบุตรภรรยาออกบวชแล้ว
ย่อมพากันทำกรรมที่บรรพชิตไม่ควรทำ
แม้เพราะเหตุแห่งภิกษาทัพพีเดียว
[๙๓๕] พวกเธอฉันภัตตาหารเต็มอิ่มแล้ว
เมื่อนอนก็นอนหงาย
ตื่นแล้ว กล่าวแต่ถ้อยคำที่พระศาสดาทรงตำหนิติเตียน
[๙๓๖] ภายในไม่สงบ สนใจศึกษาแต่ศิลปะ
ที่ชาวบ้านทั่วไปศึกษากัน
ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ
ย่อมล่วงเลยพวกเธอไปเสีย
[๙๓๗] ภิกษุทั้งหลายที่มุ่งหวังจะได้มาก ๆ
จึงน้อมสิ่งของเข้าไปให้พวกคฤหัสถ์ คือ
ดินเหนียวบ้าง น้ำมันบ้าง จุณเจิมบ้าง
น้ำบ้าง ที่นั่งที่นอนบ้าง อาหารบ้าง
[๙๓๘] ไม้สีฟันบ้าง ผลมะขวิดบ้าง
ดอกไม้บ้าง ของควรเคี้ยวบ้าง บิณฑบาตที่สมบูรณ์ด้วยกับบ้าง
ผลมะม่วงบ้าง ผลมะขามป้อมบ้าง
[๙๓๙] ย่อมปฏิบัติตนในการประกอบยา
เพื่อพวกคฤหัสถ์เหมือนหมอ
ทำกิจน้อยใหญ่เหมือนคฤหัสถ์
ตกแต่งร่างกายเหมือนหญิงแพศยา
วางตัวเป็นใหญ่เหมือนกษัตริย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] ๑๐. ปาราปริยเถรคาถา
[๙๔๐] ใช้อุบายมากอย่าง คือ ทำให้คนหลงเชื่อ
หลอกลวง เป็นพยานเท็จ
ใช้เล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ บริโภคอามิส
[๙๔๑] มุ่งแต่จะเป็นอยู่ จึงแล่นไปตาม(บาปธรรม)
ในการพูดเลียบเคียง อ้อมค้อมใช้โวหารเล็กน้อย
ใช้อุบาย รวบรวมทรัพย์ให้ได้มาก ๆ
[๙๔๒] ย่อมให้ผู้คนบำรุงบำเรอตน เพราะงานตนเป็นเหตุ
แต่มิใช่เพราะธรรมเป็นเหตุ
แสดงธรรมตามที่ต่าง ๆ เพราะเห็นแก่ลาภเป็นเหตุ
แต่มิใช่เพราะเห็นแก่ประโยชน์(สูงสุด)เป็นเหตุ
[๙๔๓] ทะเลาะวิวาทกันเพราะเหตุแห่งลาภที่เกิดในสงฆ์
เหินห่างจากพระอริยสงฆ์
เลี้ยงชีพด้วยอาศัยลาภของผู้อื่น ไม่มีหิริ ไม่ละอายเลย
[๙๔๔] จริงอย่างนั้น ภิกษุบางพวก ซึ่งไม่ประพฤติตามสมณธรรม
เป็นเพียงคนหัวโล้น คลุมร่างไว้ด้วยผ้ากาสาวพัสตร์
ปรารถนาแต่การยกย่องสรรเสริญฝ่ายเดียว ยังติดลาภสักการะ
[๙๔๕] เมื่อธรรมที่เป็นเครื่องทำลายมีประการต่าง ๆ
เป็นไปอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้
การบรรลุฌานและวิปัสสนาที่ยังไม่ได้บรรลุ
หรือการคอยตามรักษาฌานและวิปัสสนาที่บรรลุแล้ว
มิใช่ทำได้ง่าย ๆ เหมือนอย่างเมื่อพระศาสดา
ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๙๔๖] มุนี พึงตั้งสติให้มั่น เที่ยวไปในหมู่บ้าน
เหมือนคนไม่สวมรองเท้า เที่ยวไปในที่มีหนาม
[๙๔๗] พระโยคีเมื่อระลึกถึงวิปัสสนาที่ปรารภในกาลก่อนแล้ว
ระลึกถึงข้อสำหรับภาวนาวิธีเหล่านั้นอยู่
แม้จะถึงเวลาสุดท้ายแห่งชีวิต
ก็พึงบรรลุอมตบทให้ได้
(พระสังคีติกาจารย์ หวังจะประกาศการปรินิพพานของพระเถระ จึงได้กล่าว
ภาษิตสุดท้ายนี้ว่า)
[๙๔๘] พระปาราปริยเถระ ผู้เป็นสมณะ
อบรมอินทรีย์แล้ว เป็นพราหมณ์
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ สิ้นภพใหม่
ครั้นกล่าววิธีปฏิบัตินี้แล้ว ก็ได้ปรินิพพานในสาลวัน
วีสตินิบาต จบ

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. พระอธิมุตตเถระ ๒. พระปาราปริยเถระ
๓. พระเตลกานิเถระ ๔. พระรัฏฐปาลเถระ
๕. พระมาลุงกยบุตรเถระ ๖. พระเสลเถระ
๗. พระภัททิยกาฬิโคธบุตรเถระ ๘. พระองคุลิมาลเถระ
๙. พระอนุรุทธเถระ ๑๐. พระปาราปริยเถระ๑

ในวีสตินิบาตนี้ มีพระเถระที่ท่านระบุไว้ ๑๐ รูปถ้วน
และมี ๒๔๕ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๑. ปุสสเถรคาถา
๑๗. ติงสนิบาต
๑. ปุสสเถรคาถา
ภาษิตของพระปุสสเถระ
(พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวภาษิตเบื้องต้นไว้ว่า)
[๙๔๙] ฤๅษีปัณฑรสโคตรได้พบเห็นภิกษุมากรูป
ผู้น่าเลื่อมใส อบรมตน สำรวมดีแล้ว
ได้สอบถามพระปุสสเถระว่า
[๙๕๐] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายในพระศาสนานี้
จะมีความพอใจอย่างไร มีความประสงค์อย่างไร
มีอากัปกิริยาอย่างไร
ข้าพเจ้าเรียนถามท่านแล้ว นิมนต์บอกความข้อนั้นด้วยเถิด
(พระปุสสเถระไดักล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๕๑] ท่านปัณฑรสฤๅษี เชิญท่านฟังคำของอาตมา
ขอเชิญตั้งใจจดจำให้ดี
อาตมาจะบอกข้อความที่ท่านถามถึงอนาคตแก่ท่าน
[๙๕๒] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายส่วนมาก
จักเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่คุณท่าน
หัวดื้อ โอ้อวด ริษยา และมีวาทะขัดแย้งกัน
[๙๕๓] มีความสำคัญในสัทธรรมที่ยังไม่รู้ ไม่เห็นว่ารู้ ว่าเห็น
มีความคิดในธรรมที่ลึกซึ้งว่าตื้น เป็นคนเบา
ไม่หนักแน่นในธรรม ไม่เคารพกันและกัน
[๙๕๔] ในกาลภายหน้า โทษเป็นอันมาก
จะเกิดขึ้นในสัตว์โลก
ภิกษุทั้งหลายผู้ไร้ความคิด
จะทำธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วนี้
ให้มัวหมอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๑. ปุสสเถรคาถา
[๙๕๕] ทั้งจะเสื่อมจากคุณธรรม กล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์
มีพวกมาก ปากจัด ไม่ยอมรับฟัง(ความคิดเห็นของผู้อื่น)
[๙๕๖] ฝ่ายพวกที่มีคุณธรรม พูดในท่ามกลางสงฆ์ตามความเป็นจริง
ละอายใจ ไม่ต้องการผลประโยชน์จักมีพวกน้อย
[๙๕๗] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายจะมีปัญญาทราม
พากันยินดี เงิน ทอง ไร่นา สวน แพะ แกะ และคนใช้ชายหญิง
[๙๕๘] จะเป็นคนอันธพาล ชอบมุ่งแต่จะตำหนิติเตียน
ไม่ตั้งมั่นในศีล ถือตัวจัด โหดร้าย เที่ยวไป
ชอบก่อการทะเลาะวิวาท
[๙๕๙] ทั้งจะมีใจฟุ้งซ่าน นุ่งห่มแต่จีวรสีเขียว
เที่ยวทำตัวดังพระอริยะ
[๙๖๐] จะใช้น้ำมันแต่งผมให้งดงาม
เป็นคนเหลาะแหละเหลวไหล
ใช้ยาหยอดแต่งตา นุ่งห่มจีวรสีงาช้าง
เที่ยวไปตามถนนหนทาง
[๙๖๑] จะรังเกียจผ้ากาสาวะซึ่งย้อมดีแล้ว
ที่พระอริยะทั้งหลายไม่รังเกียจ
เป็นธงชัยของพระอรหันต์ ชอบใช้แต่ผ้าขาว
[๙๖๒] จะมุ่งแต่ลาภ เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
รังเกียจเสนาสนะป่า
ชอบอยู่แต่เสนาสนะใกล้บ้าน
[๙๖๓] จะไม่สำรวม เที่ยวประพฤติตามพวกภิกษุ
ที่ยินดีในมิจฉาชีพ ได้ลาภอยู่เสมอ ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๑. ปุสสเถรคาถา
[๙๖๔] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายจะไม่บูชายกย่องเหล่าภิกษุผู้ไม่
มีลาภ ทั้งจะไม่คบค้าสมาคมกับเหล่าภิกษุผู้รักษาศีลดี
ซึ่งเป็นนักปราชญ์
[๙๖๕] จะห่มจีวรสีแดงที่คนป่าชอบย้อมใช้
พากันติเตียนผ้ากาสาวะซึ่งเป็นธงชัยของตน
บางพวกก็จะห่มจีวรสีขาว ซึ่งเป็นธงชัยของพวกเดียรถีย์
[๙๖๖] ในกาลภายหน้า ภิกษุเหล่านั้นจะไม่มีความเคารพในผ้ากาสาวะ
ทั้งจะไม่พิจารณาใช้ผ้ากาสาวะ
[๙๖๗] การไม่คิดพิจารณาให้ดี
ได้เป็นความเลวร้ายอย่างใหญ่หลวงของพญาช้าง
ที่ถูกลูกศรเสียบแทง
ถูกทุกขเวทนาครอบงำทุรนทุรายอยู่
[๙๖๘] เพราะครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์
ได้เห็นผ้ากาสาวะ ซึ่งโสณุตตรพรานคลุมร่างไว้
ที่ย้อมดีแล้วเป็นธงชัยของพระอรหันต์
ได้กล่าวภาษิตที่ประกอบด้วยประโยชน์ในขณะนั้นแหละว่า
[๙๖๙] ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด
ปราศจากทมะ และสัจจะ
จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย
[๙๗๐] ส่วนผู้ใดพึงคลายกิเลสดุจน้ำฝาด
ตั้งมั่นดีแล้วในศีล ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นแหละควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้

เชิงอรรถ :
๑ ความฝึกอินทรีย์ (ขุ.เถร.อ.๒/๙๖๙/๔๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๑. ปุสสเถรคาถา
[๙๗๑] ผู้ใดมีศีลวิบัติ มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์
ชอบทำตามความพอใจ มีจิตฟุ้งซ่าน ทั้งไม่บริสุทธิ์
ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย
[๙๗๒] ส่วนผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ
มีจิตตั้งมั่นดี มีความดำริในใจใสสะอาด
ผู้นั้นแหละ ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้
[๙๗๓] ผู้ที่ไม่มีศีล ฟุ้งซ่าน มีมานะจัด เป็นคนพาล
ควรที่จะนุ่งห่มผ้าขาวเท่านั้น
ผ้ากาสาวะจะช่วยอะไรได้
[๙๗๔] ในกาลภายหน้า ทั้งพวกภิกษุและภิกษุณี
ผู้มีใจชั่ว ไม่เอื้อเฟื้อ
จะข่มขี่ฝ่ายที่คงที่มีจิตเมตตา
[๙๗๕] พวกที่เป็นคนโง่เขลา มีปัญญาทราม
ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบทำตามความพอใจ
ถึงพระเถระทั้งหลาย จะสอนให้ครองจีวร ก็จักไม่เชื่อฟัง
[๙๗๖] พวกเธอซึ่งเป็นคนโง่เขลา
พระอุปัชฌาย์อาจารย์สอนอย่างนั้น
ก็จะไม่เคารพกันและกัน
ไม่เอื้อเฟื้อพระอุปัชฌาย์อาจารย์
เหมือนม้าพยศไม่ยอมให้สารถีฝึก
[๙๗๗] ครั้นกาลภายหลัง(ตติยสังคายนา)ผ่านไปแล้ว
พวกภิกษุและภิกษุณีในกาลภายหน้า จักปฏิบัติกันอย่างนี้
(ครั้นพระปุสสเถระแสดงภัยอย่างใหญ่หลวงที่ยังมาไม่ถึงนั้นจะมาถึงในกาล
ภายหน้าอย่างนั้น เมื่อจะให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายที่ประชุมกัน ณ ที่นั้นอีก จึง
ได้กล่าว ๓ ภาษิตเหล่านี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๒. สารีปุตตเถรคาถา
[๙๗๘] ภัยอย่างใหญ่หลวงซึ่งยังมาไม่ถึงนี้ จะมาถึงข้างหน้า
ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ว่าง่าย พูดจาอ่อนหวาน
มีความเคารพกันและกัน
[๙๗๙] มีจิตเมตตากรุณา สำรวมในศีล
ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
บากบั่นมั่นคงเป็นประจำเถิด
[๙๘๐] ขอชนทั้งหลายจงเห็นความประมาทโดยเป็นสิ่งที่น่ากลัว
และเห็นความไม่ประมาทโดยเป็นสิ่งที่เกษม
แล้วบำเพ็ญอัฏฐังคิกมรรคที่จะบรรลุอมตบท๑ได้

๒. สารีปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระสารีบุตรเถระ
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๘๑] ผู้ใดมีสติประพฤติเหมือนผู้สำรวมกาย เหมือนสัตบุรุษ
ไม่ประมาท เหมือนผู้สำรวมความคิด
ยินดีในการเจริญกรรมฐานไว้ภายใน
มีจิตตั้งมั่นดีอยู่ผู้เดียว สันโดษ
นักปราชญ์ทั้งหลาย เรียกผู้นั้นว่าเป็นภิกษุ
[๙๘๒] ภิกษุ เมื่อฉันอาหารสดก็ตาม แห้งก็ตาม
ไม่พึงฉันให้อิ่มเกินไป ไม่พึงฉันให้น้อยเกินไป
พึงฉันแต่พอประมาณ พึงมีสติอยู่
[๙๘๓] พึงเลิกฉันก่อนอิ่ม ๔-๕ คำ แล้วดื่มน้ำ
เท่านี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ นิพพาน (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๘๐/๔๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๒. สารีปุตตเถรคาถา
[๙๘๔] อนึ่ง การนุ่งห่มจีวรที่สมควร ซึ่งเป็นประโยชน์
นี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน
[๙๘๕] เมื่อภิกษุนั่งขัดสมาธิในกุฎีใด ฝนตกไม่เปียกเข่าทั้งสอง
กุฎีเท่านี้ ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน
[๙๘๖] ภิกษุใดพิจารณาเห็นสุขโดยความเป็นทุกข์
เห็นทุกข์เป็นเหมือนลูกศรคอยทิ่มแทงได้
ภิกษุนั้น ไม่ได้มีความยึดมั่นในอทุกขมสุขเวทนาทั้ง ๒ นั้น
ว่าเป็นของเนื่องในตน
เธอจะพึงถูกกิเลสอะไรผูกมัดไว้ในโลกได้อย่างไร
[๙๘๗] ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามก
เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
มีการเล่าเรียนน้อย ไม่เอื้อเฟื้อ
อย่าได้มีในสำนักเรา ในกาลไหน ๆ เลย
(เพราะ)คนเช่นนั้นในสัตวโลก
จะพึงสอนแบบไหนอย่างไรได้
[๙๘๘] ส่วนภิกษุผู้เป็นพหูสูต มีปัญญา
ตั้งมั่นดีในศีล ประกอบความสงบใจเนือง ๆ อยู่
ขอจงมาสถิตอยู่บนกระหม่อมของเราเถิด
[๙๘๙] ภิกษุใดประกอบธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า๑อยู่เนือง ๆ
มีใจยินดีในธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ภิกษุนั้น ชื่อว่าพลาดจากนิพพาน
ซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม

เชิงอรรถ :
๑ ความยินดีในกามและความติดในรูปเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๘๙/๔๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๒. สารีปุตตเถรคาถา
[๙๙๐] ส่วนภิกษุใดละธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้าได้แล้ว
ยินดีแล้วในทางแห่งธรรมซึ่งเป็นเหตุไม่ให้เนิ่นช้า
ภิกษุนั้นบรรลุนิพพาน
ซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
[๙๙๑] พระอรหันต์ทั้งหลาย อยู่สถานที่ใด
คือ จะเป็นบ้านก็ตาม ป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม
สถานที่นั้น เป็นรมณียสถาน
[๙๙๒] ท่านผู้ปราศจากราคะทั้งหลาย
จะยินดีป่าทั้งหลาย อันน่ารื่นรมย์
ที่ชนผู้แสวงหากามไม่ยินดี
เพราะท่านเหล่านั้น ไม่แสวงหากาม
[๙๙๓] บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ
มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์
(และ) พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น
เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย
[๙๙๔] ผู้ใดพึงกล่าวสอนพร่ำสอน และห้ามจากความชั่ว
ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย
แต่ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษทั้งหลาย
[๙๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระจักษุ
ได้ทรงแสดงธรรมโปรดผู้อื่น
เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่
เรามุ่งประโยชน์ ได้ตั้งใจฟัง
การตั้งใจฟังของเรานั้น ไม่ไร้ประโยชน์
จึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วหาอาสวะมิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๒. สารีปุตตเถรคาถา
[๙๙๖] เราไม่ได้ตั้งความปรารถนาไว้
เพื่อปุพเพนิวาสญาณ๑ ทิพพจักขุญาณ๒
เจโตปริยญาณ๓ อิทธิวิธญาณ๔
จุตูปปาตญาณ๕ และทิพพโสตญาณ๖
(ยักษ์กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๙๗] พระเถระโล้นชื่ออุปติสสะนั่นแหละ
ยอดเยี่ยมด้วยปัญญา
ครองผ้าสังฆาฏิอาศัยโคนไม้นั่นเองนั่งเข้าฌานอยู่
[๙๙๘] สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสมาบัติอันไม่มีวิตก
เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้นิ่งอย่างประเสริฐโดยแท้จริง
[๙๙๙] ภูเขาศิลาล้วน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเพราะสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวเหมือนภูเขา
(พระสารีบุตรเถระฟังคำของสามเณรนั้นแล้ว จึงได้กล่าวภาษิตว่า)
[๑๐๐๐] คนผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน
ใฝ่ใจแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์
ความชั่วเพียงเท่าปลายขนทราย
ย่อมปรากฏดังเท่าก้อนเมฆ
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงว่าตนมีจิตเสมอกัน ทั้งตาย ทั้งเป็นอยู่ จึง
กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)

เชิงอรรถ :
๑ ความรู้ที่เป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน ทั้งของตนและของผู้อื่น
๒ ความรู้คือดวงตาทิพย์
๓ ความรู้กำหนดใจผู้อื่นได้
๔ ความรู้ที่แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ
๕ ความรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
๖ ความรู้ที่ทำให้ฟังได้ยินหมดตามปรารถนา (หูทิพย์) ๑-๖ (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๙๖/๔๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๒. สารีปุตตเถรคาถา
[๑๐๐๑] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่เรามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า จักละกายนี้
[๑๐๐๒] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่เราคอยเวลาอันควร
เหมือนลูกจ้างทำการงานคอยค่าจ้าง
(และเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น จึงได้กล่าวไว้อีก ๒ ภาษิตว่า)
[๑๐๐๓] ความตายนี้มีแน่นอนใน ๒ คราว
คือ คราวแก่และคราวหนุ่มจะไม่ตาย ไม่มี
เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อย่าพินาศเลย
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
[๑๐๐๔] เมืองชายแดนได้รับการคุ้มครองทั้งภายในและภายนอก ฉันใด
ท่านทั้งหลายโปรดคุ้มครองตนให้ได้ ฉันนั้น
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมแออัดกันในนรก เศร้าโศกอยู่
(พระสารีบุตรเถระ พบท่านพระมหาโกฏฐิตะเมื่อจะประกาศเกียรติคุณของท่าน
จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๐๕] ภิกษุผู้สงบ งดเว้นจากการทำชั่ว
พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลายได้
เหมือนกับลมพัดใบไม้ให้ร่วงหล่น
[๑๐๐๖] ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นจากการทำความชั่ว
มักพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ย่อมกำจัดบาปธรรมได้แล้ว
เหมือนกับลมพัดใบไม้ให้ลอยไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๒. สารีปุตตเถรคาถา
[๑๐๐๗] ภิกษุผู้สงบระงับ ไม่มีความคับแค้น
มีใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว มีศีลอันงาม
เป็นปราชญ์ พึงทำที่สุดทุกข์ได้
(พระสารีบุตรเถระปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรที่เชื่อพระเทวทัตต์ จึงได้กล่าว
ภาษิตทั้งหลายไว้ว่า)
[๑๐๐๘] บุคคลไม่พึงไว้ใจในปุถุชนบางพวก
ทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิต
แม้เบื้องต้นเขาจะเป็นคนดี ภายหลังจะเป็นคนไม่ดี
หรือเบื้องต้นเป็นคนไม่ดี ภายหลังจะกลับเป็นคนดีก็ตาม
[๑๐๐๙] นิวรณธรรม ๕ เหล่านี้ คือ
(๑) กามฉันทะ (๒) พยาบาท (๓) ถีนมิทธะ
(๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (๕) วิจิกิจฉา
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองใจของภิกษุ
[๑๐๑๐] สมาธิของภิกษุใดผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
(๑) ด้วยมีผู้สักการะ (๒) ด้วยไม่มีผู้สักการะ
[๑๐๑๑] ภิกษุผู้เข้าฌาน มีความเพียรต่อเนื่อง
พิจารณาเห็นด้วยปัญญาที่สุขุม
ยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน๑นั้น
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า สัตบุรุษ
[๑๐๑๒] มหาสมุทร ๑ แผ่นดิน ๑ ภูเขา ๑ ลม ๑
ไม่ควรที่จะเปรียบเทียบกับความหลุดพ้นอย่างประเสริฐ
ของพระศาสดา

เชิงอรรถ :
๑ ความยึดมั่นถือมั่น (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๑๑/๔๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๓. อานนทเถรคาถา
[๑๐๑๓] พระเถระผู้ประพฤติตามพระธรรมจักร
ที่พระศาสดาทรงให้เป็นไป มีปัญญามาก มีจิตตั้งมั่น
เป็นผู้เสมอด้วยแผ่นดิน น้ำ และไฟ ไม่ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย
[๑๐๑๔] ภิกษุถึงที่สุดสาวกปัญญาบารมี มีความรู้มาก เป็นมหามุนี
ไม่โง่เขลา ไม่ใช่เหมือนผู้โง่เขลา เป็นผู้เย็นอยู่เป็นนิตย์
[๑๐๑๕] เราปรนนิบัติพระศาสดา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[๑๐๑๖] ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี้เป็นคำพร่ำสอนของเรา
เราหลุดพ้นจากกิเลสและภพได้ทั้งหมดแล้ว จะปรินิพพานละ

๓. อานนทเถรคาถา
ภาษิตของพระอานนทเถระ
(พระอานนทเถระ เมื่อสังคายนาพระธรรมได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๑๗] บัณฑิตไม่พึงทำความเป็นสหายกับคนพูดส่อเสียด ๑
คนมักโกรธ ๑ คนตระหนี่ ๑ คนชอบใจที่จะให้ผู้อื่นพินาศ ๑
เพราะการสมาคมกับคนชั่วเป็นความเลว ๑
[๑๐๑๘] บัณฑิตพึงทำความเป็นสหายกับคนที่มีศรัทธา ๑
มีศีลเป็นที่รัก ๑ มีปัญญา ๑ เป็นพหูสูต ๑
เพราะการสมาคมกับคนดีทั้งหลายเป็นความเจริญ
[๑๐๑๙] ขอเชิญดูอัตภาพที่ผ้าและอาภรณ์เป็นต้นทำให้วิจิตร
มีกายเป็นแผล มีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครงร่าง
กระสับกระส่าย ที่พวกคนเขลาดำริหวังกันส่วนมาก
ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๓. อานนทเถรคาถา
[๑๐๒๐] ขอเชิญดูอัตภาพที่สตรีใช้แก้วมณีและต่างหูแต่งให้วิจิตร
ซึ่งมีหนังหุ้มกระดูกไว้ภายใน งามพร้อมเสื้อผ้า
[๑๐๒๑] เท้าทั้งสองย้อมด้วยครั่งสด หน้าทาด้วยจุรณ
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๑๐๒๒] ผมที่ตบแต่งให้เป็นลอนดังกระดานหมากรุก
ตาทั้งสองที่หยอดด้วยยาหยอดตาก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๑๐๒๓] กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดาซึ่งตบแต่งแล้ว
เหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ ๆ ที่งดงาม
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนแสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๑๐๒๔] พระอานนทเถระผู้โคตมโคตร เป็นพหูสูต
กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร เป็นพุทธอุปัฏฐาก
ปลงภาระได้แล้ว พรากจากกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้
พอเอนกายลงนอน
[๑๐๒๕] สิ้นอาสวะ พรากจากกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้
ล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้อง ดับกิเลสได้สนิท
ถึงฝั่งแห่งความเกิดและความตาย
ยังทรงร่างกาย ซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่
[๑๐๒๖] ธรรมทั้งหลายของพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์
ตั้งอยู่เฉพาะในบุรุษพิเศษใด
บุรุษพิเศษนั้น คือพระอานนทโคตมโคตร
ยังดำรงอยู่ในหนทางเป็นที่ดำเนินไปสู่นิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๓. อานนทเถรคาถา
[๑๐๒๗] เราได้เรียนมาจากพระพุทธเจ้า ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
จากภิกษุ ๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
จึงรวมธรรมที่เราช่ำชองคล่องปากได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
[๑๐๒๘] คนที่มีการศึกษาน้อยนี้ย่อมแก่ไปเปล่าเหมือนโคพลิพัท๑
เขาเจริญแต่เนื้อหนัง ส่วนปัญญาหาเจริญไม่
[๑๐๒๙] ผู้ที่มีการศึกษามาก กลับดูหมิ่นผู้ที่มีการศึกษาน้อย
เพราะการศึกษาเป็นเหตุ ย่อมปรากฏแก่เรา
เหมือนคนตาบอดถือดวงประทีปไป
[๑๐๓๐] บุคคลพึงเข้าไปนั่งใกล้ท่านผู้เป็นพหูสูต
ทั้งไม่ควรทำสุตะ๒ให้เสื่อมสูญไป
เพราะความเป็นพหูสูตนั้นเป็นรากเง่าของพรหมจรรย์
ฉะนั้น จึงควรเป็นผู้ทรงธรรม
[๑๐๓๑] บุคคลรู้เบื้องต้นและเบื้องปลายภาษิต
รู้อรรถแห่งภาษิต ฉลาดในนิรุตติ และในบท๓
เรียนธรรมให้รู้ให้เข้าใจดีและพิจารณาเนื้อความ
[๑๐๓๒] เขาก็ทำความพอใจด้วยความอดทน
พยายามพิจารณาไตร่ตรองถึงนามรูปนั้น
เริ่มตั้งความเพียรในเวลา(ที่ควรประคองจิตเป็นต้น)
จึงจะพึงเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นดีในภายในได้
[๑๐๓๓] ผู้หวังความรู้แจ้งธรรมพึงคบหาท่านผู้เป็นพหูสูต
ทรงธรรม มีปัญญา เป็นพุทธสาวกเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ โคถึกที่มีกำลัง (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๒๘/๔๖๖)
๒ ความเป็นผู้มีการศึกษามากด้วยการเล่าเรียน (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๓๐/๔๖๗)
๓ ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ คือในนิรุตติปฏิสัมภิทาและในปฏิสัมภิทา ๓ ที่เหลือ (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๓๑/๔๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๓. อานนทเถรคาถา
[๑๐๓๔] บุคคลผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม
รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้นเป็นดวงตาและเป็นปูชนียบุคคล
ของชาวโลกทั้งมวล
[๑๐๓๕] ภิกษุมีธรรม๑ เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม
พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่
ก็ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม
[๑๐๓๖] ภิกษุผู้หนักในความตระหนี่กาย
เมื่อกายและชีวิตเสื่อมไปอยู่
เธอไม่ขยันหมั่นเพียร ยังติดความสุขทางกาย
จะมีความอยู่ผาสุกด้วยความเป็นสมณะได้แต่ที่ไหน
[๑๐๓๗] ทิศทุกทิศ ไม่ปรากฏ ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่เรา
เมื่อพระธรรมเสนาบดีซึ่งเป็นกัลยาณมิตร นิพพานเสียแล้ว
โลกนี้ทั้งหมดปรากฏเหมือนกับว่ามืดมิด
[๑๐๓๘] กัลยาณมิตรเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้ปราศจากสหาย
ผู้มีพระศาสดาล่วงลับหมือนกายคตาสติ
[๑๐๓๙] มิตรเก่า ก็ล่วงลับไป จิตของเราไม่ยอมสมาคมกับมิตรใหม่
วันนี้เรานั้น ขอเข้าฌานอยู่คนเดียว
เหมือนกับนกเข้าอยู่ประจำรังในฤดูฝน
(พระศาสดาได้ตรัสกับพระอานนทเถระด้วยพระพุทธภาษิตว่า)
[๑๐๔๐] เธออย่าได้ห้ามชนหมู่มากผู้เป็นชาวต่างรัฐต่างถิ่น
ที่พากันมาไม่ทันพบเรา
ชนเหล่านั้นซึ่งมุ่งฟังธรรม จงเข้าพบเราได้
นี้แหละเป็นเวลาเข้าพบเรา

เชิงอรรถ :
๑ สมถะและวิปัสสนา (ขุ.เถร.อ. ๑๐๓๕/๔๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๐๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] ๓. อานนทเถรคาถา
(พระอานนทเถระได้ฟังพุทธดำรัสนั้นแล้ว ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๔๑] พระศาสดาผู้มีพระจักษุทรงประทานพระวโรกาส
ไม่ทรงห้ามชนหมู่มากซึ่งเป็นชาวต่างรัฐต่างถิ่น
ที่พากันมาไม่ทันเข้าเฝ้า
[๑๐๔๒] เมื่อเราเป็นเสขบุคคลอยู่ ๒๕ ปี กามสัญญา๑มิได้เกิดขึ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
[๑๐๔๓] เมื่อเราเป็นเสขบุคคลอยู่ ๒๕ ปี โทสสัญญา๒มิได้เกิดขึ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
[๑๐๔๔] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตากายกรรม
ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา ๒๕ ปี
[๑๐๔๕] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตาวจีกรรม
ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา ๒๕ ปี
[๑๐๔๖] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตามโนกรรม
ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา ๒๕ ปี
[๑๐๔๗] เมื่อพระพุทธองค์เสด็จจงกรม
เราได้จงกรมตามเบื้องพระปฤษฎางค์ของพระองค์
เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ญาณได้เกิดขึ้นแก่เรา
[๑๐๔๘] เรายังเป็นเสขะมีกิจที่ต้องทำ ยังไม่ได้บรรลุอรหัต
แต่พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์เรา ปรากฏว่าปรินิพพานเสียแล้ว
[๑๐๔๙] เวลานั้น(เรา)ได้มีความสะพรึงกลัว และขนพองสยองเกล้า
ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระคุณอย่างประเสริฐ
โดยอาการทั้งปวง เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ความกำหนดหมายในความใคร่
๒ ความกำหนดหมายในความโกรธ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๗. ติงสนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
(พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายเมื่อจะสรรเสริญพระอานนทเถระ จึงได้
กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๕๐] พระอานนทเถระ เป็นพหูสูต ทรงธรรม
รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่
เป็นดวงตาของชาวโลกทั้งมวล ปรินิพพานเสียแล้ว
[๑๐๕๑] พระอานนทเถระเป็นพหูสูต ทรงธรรม
รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เป็นดวงตาของชาวโลกทั้งมวล กำจัดความมืดในโลกที่มืดมนได้
[๑๐๕๒] พระอานนทเถระ มีคติ๑ มีสติ มีธิติ๒ แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
และทรงพระสัทธรรมไว้ ได้เป็นบ่อเกิดรัตนะ๓
(พระอานนทเถระก่อนจะปรินิพพาน ได้กล่าวภาษิตสุดท้ายว่า)
[๑๐๕๓] เราได้ปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ปลงภาระที่หนักเสียได้ บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก
ติงสนิบาต จบ

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. พระปุสสเถระ ๒. พระสารีบุตรเถระ
๓. พระอานนทเถระ
ในตึงสนิบาตนี้ มีพระเถระที่ระบุไว้ ๓ รูป
และมี ๑๐๕ ภาษิต ฉะนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ญาณคือความหยั่งรู้ (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๕๒/๔๗๑)
๒ ปัญญาเครื่องทรงจำ (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๕๒/๔๗๑)
๓ พระสัทธรรม (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๕๒/๔๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. มหากัสสปเถรคาถา
๑๘. จัตตาฬีสนิบาต
๑. มหากัสสปเถรคาถา
ภาษิตของพระมหากัสสปเถระ
(พระมหากัสสปเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๕๔] บุคคลไม่พึงมีหมู่คณะแวดล้อมเที่ยวไป
เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ยากแก่การได้สมาธิ
การสงเคราะห์ชนต่าง ๆ เป็นความลำบาก
บุคคลเห็นโทษด้วยประการฉะนี้แล้ว
ไม่พึงชอบใจการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
[๑๐๕๕] มุนีไม่พึงเกี่ยวข้องตระกูลทั้งหลาย
เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ยากแก่การได้สมาธิ
ผู้ขวนขวายเกี่ยวข้องกับตระกูลนั้น
ย่อมติดในรส ละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้
[๑๐๕๖] ด้วยว่านักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
กล่าวการไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลายว่า เป็นเปือกตม
เป็นลูกศรอันละเอียดซึ่งถอนขึ้นได้ยาก
เป็นสักการะที่คนชั่วละได้ยาก
[๑๐๕๗] เราลงจากเสนาสนะแล้วได้เข้าไปบิณฑบาตยังนคร
ได้เข้าไปยืนอยู่ใกล้ ๆ บุรุษโรคเรื้อนซึ่งกำลังบริโภคอาหารนั้นด้วย
ความเอื้อเฟื้อ
[๑๐๕๘] บุรุษโรคเรื้อนนั้นใช้มือข้างที่หงิกงอ
น้อมคำข้าวเข้ามาถวายเรา
และเมื่อเขาใส่คำข้าวลง
นิ้วมือของเขาเน่าเฟะก็ขาดตกลงในบาตรของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. มหากัสสปเถรคาถา
[๑๐๕๙] เราได้อาศัยฝาเรือนฉันคำข้าวนั้นอยู่
ขณะฉัน หรือฉันเสร็จแล้ว เราไม่มีความรังเกียจเลย
[๑๐๖๐] ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นบริโภคปัจจัย ๔ นี้ คือ
(๑) อาหารบิณฑบาตที่จะต้องลุกขึ้นยืนรับ (๒) บังสุกุลจีวร
(๓) เสนาสนะคือโคนไม้ (๔) ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
ภิกษุนั้นแหละควรอยู่ในทิศทั้ง ๔ ได้
[๑๐๖๑] ในปัจฉิมวัย ภิกษุบางพวกเมื่อขึ้นภูเขาย่อมลำบาก
แต่กัสสปะซึ่งเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า
มีสติสัมปชัญญะตั้งมั่น แข็งแรงด้วยกำลังฤทธิ์ ย่อมขึ้นได้สบาย
[๑๐๖๒] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน ละความหวาดกลัวภัยได้แล้ว
กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่
[๑๐๖๓] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟไหม้อยู่
ก็ดับไฟเสียได้ กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่
[๑๐๖๔] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่
[๑๐๖๕] ภูมิภาคเรียงรายไปด้วยแนวต้นกุ่ม
น่ารื่นรมย์ใจ กึกก้อง ด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์
ล้วนแล้วด้วยภูเขา ย่อมทำเราให้ยินดี
[๑๐๖๖] ภูเขาเหล่านั้นมีสีเขียวดุจเมฆ งดงาม
มีน้ำเย็น ทรงความสะอาดไว้
ดารดาษด้วยแมลงค่อมทอง ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[๑๐๖๗] ภูเขาเหล่านั้นเปรียบดังปราสาท
เขียวชะอุ่มสูงตระหง่านเทียมเมฆ
กึกด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์
ย่อมทำเราให้ยินดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. มหากัสสปเถรคาถา
[๑๐๖๘] ภูเขาเหล่านั้นที่ฝนตกรดใหม่ ๆ มีพื้นน่ารื่นรมย์
ทั้งเหล่าฤๅษีก็อาศัยอยู่ เซ็งแซ่ด้วยเสียงนกยูงร้อง
ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[๑๐๖๙] สถานที่เช่นนั้นเหมาะแก่เราผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งเข้าฌาน
เหมาะแก่เราผู้เป็นภิกษุมีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งประโยชน์
[๑๐๗๐] เหมาะแก่เราผู้เป็นภิกษุ มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งความผาสุก
เหมาะแก่เรา ผู้คงที่ มีใจเด็ดเดี่ยว มั่นคง
[๑๐๗๑] ภูเขาเหล่านั้นมีสีเสมอด้วยดอกผักตบ
คล้ายกับว่าหมู่เมฆบนท้องฟ้าปกคลุม
คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาชนิด ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[๑๐๗๒] ภูเขาเหล่านั้นไม่มีหมู่คนพลุกพล่าน
มีแต่หมู่เนื้ออาศัยอยู่
คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาชนิด
ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[๑๐๗๓] ภูเขาหินอันกว้างใหญ่ไพศาลมีน้ำไหลใสสะอาด
มีฝูงค่างและฝูงเนื้อฟานคลาคล่ำ
ดารดาษไปด้วยน้ำและสาหร่าย ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจยิ่งนัก
[๑๐๗๔] ความยินดีด้วยดนตรีมีเครื่อง ๕ เช่นนั้น
ย่อมไม่มีแก่เราผู้มีจิตตั้งมั่น
พิจารณาเห็นธรรมโดยชอบ
[๑๐๗๕] ภิกษุไม่ควรทำงานก่อสร้างให้มาก
พึงเว้นห่างหมู่ชน ไม่พึงขวนขวายเพื่อลาภผล
ภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนั้นเป็นผู้ขวนขวาย
ในลาภผลและติดในรสอาหาร
ย่อมละทิ้งประโยชน์ที่จะนำความสุขมาให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. มหากัสสปเถรคาถา
[๑๐๗๖] ภิกษุไม่พึงทำงานก่อสร้างให้มาก
พึงเว้นห่างงานก่อสร้างนั้น
ซึ่งไม่นำประโยชน์มาให้ตน
เพราะกายจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
เธอซึ่งประสบความลำบาก
ย่อมไม่ประสบความสงบใจ
[๑๐๗๗] ภิกษุไม่พิจารณาเห็นแม้ประโยชน์ตน
ด้วยเพียงท่องบ่นพระพุทธวจนะ
ย่อมเที่ยวชูคอ สำคัญตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
[๑๐๗๘] นรชนใดไม่ประเสริฐเป็นพาล
สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา
ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมไม่สรรเสริญนรชนนั้น ผู้มีใจกระด้าง
[๑๐๗๙] ส่วนผู้ใดเป็นคนประเสริฐกว่าเขาแต่ไม่ถือตัวว่า
ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา
หวั่นไหวด้วยมานะสักอย่างหนึ่งใน ๙ อย่าง
[๑๐๘๐] ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นนั่นแหละว่า
มีปัญญา คงที่เช่นนั้น ตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย
บำเพ็ญความสงบใจอยู่เนือง ๆ
[๑๐๘๑] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้นย่อมห่างไกลจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน
[๑๐๘๒] ก็เหล่าภิกษุมีหิริและโอตตัปปะตั้งมั่นโดยชอบทุกเมื่อ
มีพรหมจรรย์งอกงาม ย่อมเป็นผู้มีภพใหม่สิ้นแล้ว
[๑๐๘๓] ภิกษุที่ยังมีจิตฟุ้งซ่าน กลับกลอก
ถึงจะห่มผ้าบังสุกุล ก็ย่อมไม่งดงามด้วยผ้าบังสุกุลนั้น
เหมือนวานรที่คลุมด้วยหนังราชสีห์ ไม่งดงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต] ๑.มหากัสสปเถรคาถา
[๑๐๘๔] ส่วนภิกษุผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก
มีปัญญารักษาตนรอด สำรวมอินทรีย์
ย่อมงดงามด้วยผ้าบังสุกุล เหมือนราชสีห์ที่ซอกภูเขาฉะนั้น
[๑๐๘๕] อุบัติเทพมีฤทธิ์ มีเกียรติยศ
มีจำนวนมากถึง ๑๐,๐๐๐ เหล่านี้
และหมู่พรหมทั้งหมดนั้น
[๑๐๘๖] พากันมายืนประนมมือ
นอบน้อมท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรผู้เป็นปราชญ์
เข้าฌานสมาบัติได้อย่างอุกฤษฏ์
มีจิตตั้งมั่น พร้อมกับเปล่งวาจาว่า
[๑๐๘๗] ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษสูงสุด ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ที่พวกเราไม่รู้ว่า ท่านอาศัยอารมณ์ไรเล่า ถึงเข้าฌานอยู่
[๑๐๘๘] น่าอัศจรรย์จริงหนอ
วิสัยเฉพาะตัวของท่านผู้รู้ทั้งหลายลึกซึ้งยิ่งนัก
พวกเราผู้สามารถที่จะรู้วิสัยแม้ที่ละเอียด
ดุจนายขมังธนูผู้ยิงขนทรายได้มาประชุมกันแล้ว ก็ยังรู้ไม่ได้
[๑๐๘๙] เพราะได้เห็นท่านพระสารีบุตรผู้ควรแก่การบูชา
ซึ่งหมู่ทวยเทพบูชาแล้วอย่างนั้นในครั้งนั้น
ท่านพระกัปปินะจึงได้มีความยิ้มแย้ม
[๑๐๙๐] ทั่วพุทธอาณาเขต ยกเว้นพระมหามุนีเสีย
เราได้เป็นผู้ประเสริฐในธุดงคคุณ ไม่มีใครเทียบเท่าเรา
[๑๐๙๑] เราปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักเสียได้แล้ว ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๑๐๙๒] พระโคดมผู้ทรงพระคุณหาประมาณมิได้
มีพระทัยน้อมไปในเนกขัมมะ
สลัดออกจากภพ ๓
ไม่ทรงติดจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
เหมือนดอกบัวไร้มลทินไม่ติดน้ำฉะนั้น
[๑๐๙๓] พระองค์เป็นจอมปราชญ์
มีสติปัฏฐานเป็นพระศอ
มีศรัทธาเป็นพระหัตถ์
มีปัญญาเป็นพระเศียร
ทรงมีพระปรีชามาก
ทรงปฏิบัติดับกิเลสและกองทุกข์ได้ตลอดไป
จัตตาฬีสนิบาต จบบริบูรณ์

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. พระมหากัสสปเถระรูปเดียวเท่านั้น
และในจัตตาฬีสนิบาตมี ๔๐ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
๑๙. ปัญญาสนิบาต
๑. ตาลปุฏเถรคาถา
ภาษิตของพระตาลปุฏเถระ
(พระตาลปุฏเถระหวังจะจำแนกแสดงโยนิโสมนสิการโดยประการต่าง ๆ จึงได้
กล่าวสอนภิกษุทั้งหลายด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๙๔] เมื่อไรหนอเราจะอยู่ผู้เดียวไม่มีตัณหาเป็นเพื่อนที่ซอกเขา
เมื่อไรหนอเราจะพิจารณาเห็นแจ้งภพทั้งปวงโดยเป็นสภาวะไม่เที่ยงอยู่
เมื่อไรหนอความดำริเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จได้
[๑๐๙๕] เมื่อไรหนอเราจะได้เป็นมุนีนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ที่ตัดด้วยศัสตรา
ไม่ยึดมั่น ไม่มีความหวัง ละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว เที่ยว
ไปในป่าใหญ่อยู่ได้อย่างสบาย
[๑๐๙๖] เมื่อไรหนอเราจึงจะเห็นแจ้งร่างกายนี้ซึ่งไม่เที่ยง เป็นรังแห่ง
ความตายและเป็นรังแห่งโรค ถูกมรณะและชราคอยรบกวน
ปราศจากความกลัว อาศัยอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว
ตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๐๙๗] เมื่อไรหนอเราพึงจับดาบคมกริบคืออริยมรรคที่สำเร็จด้วยปัญญา
ตัดเถาวัลย์คือตัณหาที่ก่อให้เกิดภัย นำทุกข์มาให้
เป็นเหตุให้หมุนวนเวียนไปตามอารมณ์มากอย่าง
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๐๙๘] เมื่อไรหนอเราจะได้ฉวยศัสตราที่สำเร็จด้วยปัญญาอันมีเดชานุภาพ
มากของท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย หักรานกิเลสมาร
พร้อมทั้งเสนามารโดยฉับพลัน เหนือบัลลังก์สีหอาสน์๑
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ

เชิงอรรถ :
๑ บัลลังก์ที่นั่งอย่างมั่นคง, บัลลังก์ที่นั่งแล้วชนะมารและเสนามารได้ (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๐๙๘/๕๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๐๙๙] เมื่อไรหนอสัตบุรุษผู้มีความหนักแน่นในธรรม
คงที่ มีปกติเห็นตามความเป็นจริง ชนะอินทรีย์แล้ว
จะพึงเห็นเราว่า บำเพ็ญเพียรในสมาคม
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๐] เมื่อไรหนอความเกียจคร้าน ความหิวกระหาย
ลม แดด หรือเหลือบ ยุง สัตว์เลื้อยคลาน
จะไม่เบียดเบียนเราที่ซอกภูเขา นี้เป็นความประสงค์ส่วนตัวเรา
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๑] เมื่อไรหนอเราจึงจะได้เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น มีสติ
บรรลุอริยสัจ ๔ ที่เห็นได้แสนยาก ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทรงทราบแล้วด้วยพระปัญญา
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๒] เมื่อไรหนอ เราจะมีความสงบระงับจากเครื่องเร่าร้อน
ในเพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
ที่เรายังไม่รู้เท่าทัน พิจารณาเห็นได้ด้วยปัญญา
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๓] เมื่อไรหนอเราถูกว่ากล่าวติเตียนด้วยคำหยาบ
จะไม่เดือดร้อนใจ เพราะคำหยาบนั้นเป็นเหตุ
ถึงได้รับการสรรเสริญ ก็จะไม่ยินดี เพราะการสรรเสริญนั้นเป็นเหตุ
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๔] เมื่อไรหนอเราพึงเห็นสภาพภายใน
คือ เบญจขันธ์ของเราเหล่านี้ รูปธรรมที่ยังไม่รู้
และสภาพภายนอก คือ ท่อนไม้ กอหญ้า
และลดาวัลย์ ว่าเป็นสภาพเสมอกัน
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๐๕] เมื่อไรหนอน้ำฝนใหม่ตามฤดูกาลในเวลาใกล้รุ่ง
จะตกรดเราผู้ครองผ้าจีวรดำเนินไปในมรรคา๑
ที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ดำเนินไปอยู่ในป่า
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๖] เมื่อไรหนอเราพึงได้ยินเสียงร้องของนกยูงที่ซอกเขาในป่า
แล้วลุกขึ้นพิจารณาเพื่อบรรลุอมตธรรม
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๗] เมื่อไรหนอเราจะพึงข้ามพ้นแม่น้ำคงคา ยมุนา สุรัสวดี ที่ไหล
ไปถึงบาดาล มีปากอ่าวใหญ่ทั้งน่ากลัว ไปได้ด้วยฤทธิ์ ไม่ติดขัด
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๘] เมื่อไรหนอเราจะพึงงดเว้นนิมิตว่างามทั้งปวงเสียได้
ขวนขวายในฌานแล้ว ทำลายความพอใจในกามคุณทั้งหลาย
เหมือนช้างทำลายเสาตะลุง และโซ่เหล็กได้แล้วเที่ยวไปในสงคราม
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๐๙] เมื่อไรหนอเราจึงจะได้บรรลุคำสอนของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหา
คุณอันยิ่งใหญ่ได้แล้ว พอใจเหมือนลูกหนี้ผู้ขัดสนถูกเจ้าหนี้บีบ
บังคับ แสวงหาทรัพย์มาได้ก็พึงพอใจ
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[๑๑๑๐] (จิตผู้เจริญ) ท่านอ้อนวอนเรามาเป็นเวลาหลายปีว่า
ท่านไม่สมควรอยู่ครองเรือนเลย บัดนี้เรานั้นก็ได้บวชสมประสงค์
แล้ว เหตุไฉน ท่านจึงไม่ชักนำเสียเล่า
[๑๑๑๑] จิตผู้เจริญ ท่านอ้อนวอนเรามาแล้วมิใช่หรือว่า
ฝูงนกยูงมีขนปีกแพรวพราว และเสียงกึกก้องแห่งธารน้ำตกตาม
ซอกเขา จะทำท่านผู้เข้าฌานอยู่ในป่าให้เพลิดเพลิน

เชิงอรรถ :
๑ สมถะและวิปัสสนา (ขุ.เถร.อ. ๒/๑๑๐๕/๕๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๑๒] เรายอมสละญาติมิตรอันเป็นที่รักในสกุล
ความยินดีในการเล่น และกามคุณในโลกได้หมดแล้ว เข้ามาถึงป่านี้
ท่านช่างไม่ยินดีกับเราเสียเลยนะจิต
[๑๑๑๓] เราเมื่อพิจารณาเห็นว่า เพราะจิตนี้เป็นของเราเท่านั้น
ฉะนั้น ท่านจึงไม่ใช่ของผู้อื่น การร้องไห้รำพันจะมีประโยชน์อะไร
ในเวลาทำสงครามกับกิเลสมาร จิตทั้งหมดนี้มีแต่หวั่นไหวดังนี้
จึงได้ออกบวชแสวงหาอมตบท
[๑๑๑๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเหนือเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นจอมท้าวสักกเทวราช เป็นจอมสารถีฝึกนระได้
ตรัสสุภาษิตไว้ว่า จิตนี้กวัดแกว่งเหมือนลิง
ทั้งห้ามได้แสนยาก เพราะไม่ปราศจากความกำหนัด
[๑๑๑๕] เพราะเหล่าปุถุชนที่ยังไม่รู้เท่าทัน
พัวพันอยู่ในกามทั้งหลายที่งดงาม มีรสหวาน ชวนให้รื่นรมย์ใจ
พวกเขาแสวงหาภพใหม่ ก่อแต่สิ่งที่ไร้ประโยชน์
ถูกจิตทำให้เหินห่างจากสุข นำไปไว้ในนรก ย่อมประสบทุกข์
[๑๑๑๖] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านมีเสือเหลืองและเสือโคร่งห้อมล้อมอยู่ในป่า
ที่มีเสียงนกยูงและนกกระไนร่ำร้อง
จงละความห่วงใยในร่างกาย อย่าได้พลาดหวังเสียเลย
[๑๑๑๗] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงเจริญฌาน อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ และสมาธิภาวนา
ทั้งบรรลุวิชชา ๓ ในพระพุทธศาสนาให้ได้
[๑๑๑๘] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงเจริญมรรคมีองค์ ๘ ที่นำสัตว์ออกจากวัฏฏทุกข์
หยั่งถึงความสิ้นทุกข์ทั้งมวล ชำระล้างกิเลสได้หมดสิ้น
เพื่อบรรลุนิพพานให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๑๙] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงพิจารณาเห็นเบญจขันธ์โดยอุบายที่แยบคายว่า เป็นทุกข์
จงละเหตุให้เกิดทุกข์ และจงทำความสิ้นทุกข์ในอัตภาพนี้แหละ
ให้ได้
[๑๑๒๐] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงพิจารณาเบญจขันธ์โดยอุบายที่แยบคายว่า
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ว่า ว่างเปล่า ไม่มีตัวตน
และว่า ต้องวิบัติไป เป็นผู้ฆ่า
จงดับมโนวิจารทางใจเสียให้ได้
[๑๑๒๑] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงปลงผมและโกนหนวดแล้ว ถือเพศสมณะ
มีรูปร่างแปลก ถูกเขาสาปแช่ง
ถือบาตรเที่ยวภิกษาไปตามตระกูลทั้งหลาย
จงพากเพียรในคำสอนของพระศาสดา
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ให้ได้
[๑๑๒๒] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงสำรวมระวังให้ดี เมื่อเที่ยวไปในระหว่างตรอก
อย่ามีใจเกี่ยวข้องในตระกูล
และกามารมณ์ทั้งหลายเที่ยวไป
เหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญที่ปราศจากเมฆฉะนั้น
[๑๑๒๓] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงยินดีในธุดงคคุณทั้ง ๕ คือ
(๑) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
(๒) ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
(๓) ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร
(๔) ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
(๕) ถือการไม่นอนเป็นวัตรทุกเมื่อให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๒๔] บุคคลบางคนต้องการผลไม้ ปลูกไม้ผลไว้แล้ว
ไม่ได้รับผล ประสงค์จะโค่นต้นไม้นั้นเสีย ฉันใด
จิต ท่านทำเรา ที่ท่านชักนำให้หวั่นไหวในความไม่เที่ยง
ให้เป็นเหมือนบุคคลผู้ปลูกต้นไม้ฉันนั้น
[๑๑๒๕] จิต ที่ไม่มีรูปร่าง ไปได้ไกล ทั้งเที่ยวไปแต่ผู้เดียว
บัดนี้ เราจะไม่ทำตามคำของท่าน
เพราะกามทั้งหลาย ล้วนแต่ก่อให้เกิดทุกข์ ให้ผลเผ็ดร้อน
มีภัยอย่างใหญ่หลวง
เราจะประพฤติมุ่งมั่นอยู่เฉพาะนิพพาน
[๑๑๒๖] เราไม่ได้ออกบวชเพราะไม่มีบุญ เพราะหมดความกระดากอาย
เพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจจิต เพราะทำผิดต่อชาติบ้านเมือง
ก็หรือเพราะเหตุแห่งอาชีพ
จิต ก็ท่านได้รับรองกับเราไว้ว่า จะอยู่ในอำนาจเรามิใช่หรือ
[๑๑๒๗] จิต ท่านแนะนำเราไว้คราวนั้นแหละว่า
ความเป็นผู้มักน้อย การละความลบหลู่คุณท่าน
และความสงบทุกข์ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ
มาบัดนี้ ท่านกลับประพฤติเช่นเดิม
[๑๑๒๘] เราไม่อาจกลับไปหาตัณหา อวิชชา
ความรัก ความชัง รูปอันสวยงาม สุขเวทนา
และกามคุณที่น่าชอบใจ ซึ่งคายได้แล้ว
[๑๑๒๙] จิต เราได้ทำตามคำของท่านมาทุกภพ ทุกชาติ
ทุกคติ และทุกวิญญาณฐิติ
เราไม่ได้ขุ่นเคืองท่านในหลายชาติ
เพราะความที่ท่านเป็นคนกตัญญู จึงเกิดมีอัตภาพนี้ขึ้น
ทั้งเราก็ได้เร่ร่อนไปในทุกข์ ที่ท่านทำให้มาช้านาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๓๐] จิต ท่านนั่นแหละทำเราให้เป็นพราหมณ์บ้าง
ให้เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพระราชาบ้าง
เพราะอำนาจแห่งท่านนั่นแหละ
บางคราวเราเป็นแพศย์บ้าง
เป็นศูทรบ้าง เป็นเทพบ้าง
[๑๑๓๑] เพราะเหตุแห่งท่าน เพราะอำนาจแห่งท่าน
มีท่านเป็นมูลเหตุ บางคราวเราเป็นอสูรบ้าง
เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง
[๑๑๓๒] ท่านประทุษร้ายเรามาแล้วบ่อยครั้งมิใช่หรือ
ท่านแสดงน้ำใจเหมือนจะห้ามเรา
ครู่เดียวท่านก็ล่อลวงเหมือนกับคนบ้า
จิต เราได้ผิดอะไรต่อท่านไว้บ้าง
[๑๑๓๓] แต่ก่อนจิตนี้ได้ท่องเที่ยวไปตามอารมณ์ต่าง ๆ
ตามความปรารถนา ตามความต้องการ ตามความสบาย
วันนี้ เราจะข่มจิตนั้นโดยอุบายอันแยบคาย
เหมือนควาญช้างปราปพยศช้างตกมัน
[๑๑๓๔] พระศาสดาของเราทรงหยั่งรู้โลกนี้
โดยความเป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มีแก่นสาร
จิต เชิญท่านพาเราบ่ายหน้าไปในศาสนาของพระชินเจ้า
ช่วยเราให้ข้ามโอฆะใหญ่ที่ข้ามได้แสนยาก
[๑๑๓๕] จิต เรือนคืออัตภาพนี้ไม่เป็นของท่านเหมือนเมื่อก่อน
เราไม่พึงกลับไปอยู่ในอำนาจท่าน
จะบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ธรรมดาสมณะทั้งหลายไม่ประสบความเสียหายเหมือนเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๓๖] ภูเขา มหาสมุทร แม่น้ำคงคาเป็นต้น
แผ่นดิน ทิศใหญ่ทั้ง ๔ ทิศน้อยทั้ง ๔
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง และภพทั้ง ๓
ล้วนเป็นสภาพไม่เที่ยง มีแต่ถูกเบียดเบียนอยู่เสมอ
จิต ท่านไปที่ไหนเล่าจึงจะยินดีความสุข
[๑๑๓๗] จิต เรามั่นคงแล้ว ท่านจะทำอะไรได้
เราไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจท่าน
คนไม่พึงแตะต้องถุงหนัง มีปากสองข้าง
น่าตินัก ร่างกายที่เต็มไปด้วยของไม่สะอาดต่าง ๆ
หลั่งของไม่สะอาดออกจากปากแผลทั้ง ๙
[๑๑๓๘] ท่านเข้าไปสู่เรือนคือถ้ำที่เงื้อมเขาและยอดเขา
ที่สวยงามตามธรรมชาติ ซึ่งฝูงหมูป่าและฝูงกวางอาศัยอยู่
และป่าที่ฝนตกรดใหม่ ๆ นั้น จะยินดีภาวนา ณ ที่นั้น
[๑๑๓๙] ฝูงนกยูงมีขนคอเขียวสวยงาม มีหงอนงาม
มีปีกงาม ทั้งปกคลุมด้วยขนปีกสวยงาม
ส่งสำเนียงเสียงร้องก้องกังวานไพเราะจับใจนั้น
จะช่วยท่านผู้บำเพ็ญฌานอยู่ในป่าให้รื่นรมย์ได้
[๑๑๔๐] เมื่อฝนตก หญ้างอกยาวประมาณ ๔ นิ้ว
เมื่อป่าไม้ผลิดอกออกช่อ งามคล้ายก้อนเมฆ
เราเป็นเหมือนต้นไม้จะนอนบนยอดหญ้าในระหว่างภูเขา
เครื่องลาดหญ้านั้นอ่อนนุ่มจะเป็นเหมือนที่นอนสำลีสำหรับเรา
[๑๑๔๑] เราจะทำท่านไว้ในอำนาจให้ได้เหมือนคนผู้เป็นใหญ่
จะพอใจด้วยปัจจัยตามที่ได้ จะทำท่านไว้ในอำนาจให้ได้
เหมือนคนไม่เกียจคร้าน เหมือนกระสอบใส่แมวที่มัดไว้ดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] ๑. ตาลปุฏเถรคาถา
[๑๑๔๒] เราจะทำท่านไว้ในอำนาจให้ได้เหมือนคนผู้เป็นใหญ่
จะพอใจด้วยปัจจัยตามที่ได้
จะใช้ความพยายามนำท่านมาไว้ในอำนาจให้ได้
เหมือนนายควาญช้างผู้ชาญฉลาด
ใช้ขอสับช้างตกมันให้อยู่ในอำนาจตน
[๑๑๔๓] เราพร้อมกับท่านผู้ฝึกฝนดีแล้ว มั่นคง
สามารถดำเนินไปถึงทางที่ปลอดโปร่ง
ซึ่งท่านผู้ตามรักษาจิตทั้งหลายได้ดำเนินไปแล้วทุกสมัย
เหมือนนายสารถีผู้ฝึกม้าสามารถดำเนินไปถึงภูมิภาค
ที่ปลอดภัยได้ด้วยม้าอาชาไนยที่มีใจซื่อตรง
[๑๑๔๔] เราจะผูกท่านไว้ที่อารมณ์กรรมฐานด้วยกำลังภาวนา
เหมือนนายควาญช้างใช้เชือกที่เหนียวผูกช้างไว้ที่เสาตะลุง
จิตที่เราคุ้มครองดี อบรมดีแล้วด้วยสติ
จะเป็นจิตอันตัณหาในภพทั้งปวงอาศัยไม่ได้
[๑๑๔๕] ท่านตัดเหตุเกิดคืออายตนะที่แล่นไปผิดทางด้วยปัญญา
ข่มมันเสียด้วยความเพียร
ให้ตั้งมั่นอยู่ในทางถูก
เห็นแจ้งทั้งความเกิดและความดับ
แล้วจะเป็นทายาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีวาทะเป็นเลิศ
[๑๑๔๖] จิต ท่านชักนำเราให้เป็นไปตามอำนาจของความเข้าใจผิด ๔ อย่าง
เหมือนคนจูงเด็กชาวบ้านวิ่งวนไปฉะนั้น
ท่านน่าจะคบหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เพียบพร้อมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ
ผู้ตัดเครื่องผูกคือสังโยชน์เสียได้
เป็นพระมหามุนี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[๑๑๔๗] มฤคชาติเข้าไปยังภูเขาอันน่ารื่นรมย์
ประกอบด้วยน้ำและดอกไม้
เที่ยวไปในป่าอันงดงามอย่างเสรี
จิต ท่านก็จะรื่นรมย์ในภูเขาที่ไม่เกลื่อนกล่นด้วยผู้คนตามลำพังใจ
เมื่อท่านไม่ยินดีอยู่ที่ภูเขานั้น
ท่านก็จะต้องเสื่อมโดยไม่ต้องสงสัย
[๑๑๔๘] จิตชายและหญิงเหล่าใดประพฤติตามความพอใจ
ตามอำนาจของท่าน จะเสวยความสุข
ชายหญิงเหล่านั้นโง่เขลา ประพฤติไปตามอำนาจมาร
เพลิดเพลินในภพน้อยภพใหญ่
เป็นสาวกของท่าน
ปัญญาสนิบาต จบบริบูรณ์

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
พระตาลปุฏเถระผู้บริสุทธิ์รูปเดียว
และในปัญญาสนิบาตนี้ มี ๕๕ ภาษิต ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
๒๐. สัฏฐินิบาต
๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
ภาษิตของพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระมหาโมคคัลลานเถระได้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลายด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๔๙] เราทั้งหลายถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
พอใจอาหารในบาตรที่ได้มาด้วยการเที่ยวแสวงหา
เป็นผู้มีจิตมั่นคงด้วยดีภายใน
จึงทำลายเสนามัจจุราชได้
[๑๑๕๐] เราทั้งหลายถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
พอใจอาหารในบาตรที่ได้มาด้วยการเที่ยวแสวงหา
จะกำจัดเสนามัจจุราชได้
เหมือนช้างทำลายเรือนไม้อ้อ
[๑๑๕๑] เราทั้งหลายถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง
พอใจในอาหารที่อยู่ในบาตรด้วยการเที่ยวแสวงหาได้มา
เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีภายใน
พึงทำลายเสนามัจจุราชได้
[๑๑๕๒] เราทั้งหลายถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง
พอใจในอาหารที่อยู่ในบาตรด้วยการเที่ยวแสวงหาได้มา
จะกำจัดเสนามัจจุราชได้
เหมือนช้างทำลายเรือนไม้อ้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
(พระเถระหวังจะสอนหญิงแพศยา จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๕๓] น่าติ กระท่อมคือเรือนร่างสำเร็จด้วยโครงกระดูก
ฉาบทาด้วยเนื้อ รึงรัดไปด้วยเส้นเอ็น
เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น
เธอยังมัวยึดถือเรือนร่างที่สัตว์อื่นหมายปองว่าเป็นของเรา
[๑๑๕๔] ในร่างกายซึ่งเหมือนถุงเต็มด้วยคูถ
มีหนังหุ้มห่อไว้ของเธอผู้เปรียบเหมือนนางปีศาจ
มีฝีที่อก มีช่อง ๙ ช่อง หลั่งของไม่สะอาดออกอยู่เป็นนิตย์
[๑๑๕๕] เรือนร่างของเธอที่เนื่องมาแต่การปฏิบัติโดยชอบ
มีช่อง ๙ ช่อง ส่งกลิ่นเหม็น
ท่านผู้เห็นภัยในสังสารวัฏย่อมเว้นเสียห่างไกล
เหมือนคนรักความสะอาดเห็นคูถแล้วก็หลีกเสียห่างไกล
[๑๑๕๖] หากชนพึงรู้ถึงเรือนร่างของเธอเหมือนที่ฉันรู้
ก็จะพึงเว้นเสียห่างไกล เหมือนคนรักความสะอาด
เห็นหลุมคูถในฤดูฝนก็หลีกเสียห่างไกล
(หญิงแพศยาเกิดความสลดใจ จึงได้กล่าวตอบท่านด้วยภาษิตนี้ว่า)
[๑๑๕๗] ข้าแต่ท่านสมณะผู้มีความเพียรมาก
เรื่องนี้เป็นจริงอย่างที่ท่านพูด
แต่ผู้คนบางพวกยังจมอยู่ในร่างกายนี้
เหมือนโคแก่จมอยู่ในปลัก
(พระเถระกล่าวตอบหญิงแพศยาด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๕๘] ผู้ใดประสงค์จะใช้ขมิ้น
หรือแม้เครื่องย้อมอย่างอื่น ย้อมอากาศ
การกระทำของผู้นั้นเป็นเหตุให้เกิดความลำบากใจเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๒๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[๑๑๕๙] จิตของฉันนี้เสมอด้วยอากาศ ตั้งมั่นดีแล้วในอารมณ์ภายใน
เธอผู้มีความคิดเลวทราม เธออย่ามาหวังคนอย่างฉัน
เหมือนตัวแมลงเม่าชอบเล่นกองไฟ
(พระเถระเมื่อจะกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๖๐] เชิญท่านดูอัตภาพที่ผ้าและอาภรณ์เป็นต้นทำให้วิจิตร
มีกายเป็นแผล มีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครงร่าง
กระสับกระส่าย ที่พวกคนเขลาดำริหวังกันส่วนมาก
ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น
[๑๑๖๑] เชิญท่านดูรูปที่สตรีใช้แก้วมณีและต่างหูทำให้วิจิตร
ซึ่งมีหนังหุ้มกระดูกไว้ภายใน งามพร้อมกับผ้า
[๑๑๖๒] เท้าทั้งสองย้อมด้วยครั่งสด หน้าทาด้วยจุรณ
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนแสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๑๑๖๓] ผมที่ตบแต่งให้เป็นลอนดังกระดานหมากรุก
ตาทั้งสองที่หยอดด้วยยาหยอดตาก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๑๑๖๔] กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดาซึ่งตบแต่งแล้ว
เหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ ๆ ที่งดงาม
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[๑๑๖๕] นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้ เนื้อไม่มาติดบ่วง
เราทั้งหลาย(ฝูงเนื้อ)กินเหยื่อแล้วหลบหนีไป
เมื่อนายพรานกำลังคร่ำครวญอยู่
[๑๑๖๖] เราทั้งหลาย(ฝูงเนื้อ)กัดบ่วงของนายพรานเนื้อขาดแล้ว
เนื้อไม่ติดบ่วง เรากินเหยื่อแล้วหลบหนีไป
ในเมื่อนายพรานเนื้อกำลังเศร้าโศกอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
(พระเถระปรารภการปรินิพพานของพระสารีบุตรเถระจึงกล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๖๗] เวลานั้นก็เกิดเหตุน่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า
เมื่อพระสารีบุตรผู้เพียบพร้อมด้วยอาการทุกอย่างนิพพานแล้ว
[๑๑๖๘] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีสภาวะเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ความสงบระงับไปแห่งสังขารเหล่านั้นได้โดยสิ้นเชิง เป็นความสุข
[๑๑๖๙] ท่านผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายที่พิจารณาเห็นเบญจขันธ์
โดยเป็นสภาวะแปรปรวน และโดยมิใช่ตัวตน
ย่อมรู้แจ้งได้อย่างสุขุมลุ่มลึก
เหมือนนายขมังธนูใช้ลูกศรยิงปลายขนเนื้อทราย
[๑๑๗๐] อนึ่ง ท่านผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายที่พิจารณา
เห็นสังขารทั้งหลาย โดยเป็นสภาวะแปรปรวน
และโดยมิใช่ตัวตน รู้แจ้งได้อย่างละเอียด
เหมือนนายขมังธนูใช้ลูกศรยิงปลายขนทราย
[๑๑๗๑] ภิกษุผู้มีสติพยายามละกามราคะ
เหมือนคนพยายามใช้ศัสตราตัดเครื่องประหารที่ชื่อโอมัฏฐะ
และเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะรีบดับไฟนั้นเสีย
[๑๑๗๒] ภิกษุผู้มีสติพยายามละภวราคะ๑
เหมือนคนพยายามใช้ศัสตราตัดเครื่องประหารที่ชื่อว่าโอมัฏฐะ
และเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะรีบดับไฟนั้น
[๑๑๗๓] เราอันพระผู้มีพระภาคผู้อบรมพระองค์เอง
ทรงไว้ซึ่งพระวรกายมีในภพสุดท้าย ทรงเตือนแล้ว
ได้ทำปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาให้ไหวด้วยปลายนิ้วเท้า

เชิงอรรถ :
๑ ความกำหนัด(ยินดี)ในภพ (ขุ.เถร.อ. ๑๑๗๒/)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[๑๑๗๔] บุคคลไม่พึงบรรลุนิพพาน
อันเป็นเหตุปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงได้
เพราะความเพียรย่อหย่อน
ทั้งบรรลุไม่ได้ด้วยกำลังความเพียรนิดหน่อย
[๑๑๗๕] ภิกษุนี้ยังหนุ่มและเป็นคนประเสริฐ
ชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร
ยังทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่
[๑๑๗๖] ภิกษุผู้เป็นบุตรของพระพุทธองค์ซึ่งคงที่
หาผู้เสมอเหมือนมิได้อยู่ที่ซอกเขาเข้าฌาน
เหมือนสายฟ้าแลบส่องลอดเข้าไป
ตามช่องภูเขาเวภาระ และภูเขาปัณฑวะ
[๑๑๗๗] ภิกษุผู้สงบ งดเว้นจากการทำชั่ว
อยู่แต่ในเสนาสนะที่สงัดเป็นมุนี
เป็นทายาทของพระพุทธองค์ผู้ประเสริฐ
อันท้าวมหาพรหมพร้อมทั้งเทวดากราบไหว้
(พระเถระ เมื่อจะอนุเคราะห์พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิ หลานชายพระสารีบุตรเถระ
จึงได้กล่าว ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๗๘] พราหมณ์ เชิญท่านไหว้พระมหากัสสปะผู้สงบระงับ
งดเว้นจากการกระทำความชั่ว อยู่แต่ในเสนาสนะที่สงัด
เป็นมุนี เป็นทายาทของพระพุทธองค์ผู้ประเสริฐ
[๑๑๗๙] อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเป็นพราหมณ์
สืบเชื้อสายพราหมณ์ติดต่อกันมาทั้งหมดถึง ๑๐๐ ชาติ
เพียบพร้อมด้วยความรู้
[๑๑๘๐] ถึงแม้จะพึงเป็นผู้เล่าเรียนมนต์ จบไตรเพท
การเรียนสำเร็จวิชาเป็นต้นนั้นของผู้นั้น
ย่อมมีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งบุญที่ได้ไหว้พระมหากัสสปะนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[๑๑๘๑] ในเวลาเช้า ภิกษุเช่นใดเข้าวิโมกขสมาบัติ ๘ ทั้งอนุโลมและ
ปฏิโลม ออกจากสมาบัตินั้นแล้ว จึงเที่ยวไปบิณฑบาต
[๑๑๘๒] พราหมณ์ ท่านอย่ารุกรานภิกษุเช่นนั้น
อย่าได้ทำลายตนเสียเลย
เชิญทำใจให้เลื่อมใสในพระอรหันต์ผู้คงที่
รีบประนมมือไหว้เสีย ศีรษะของท่านอย่าได้แตก
(พระเถระเห็นพระโปฏฐิละปฏิบัติ จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๘๓] พระโปฏฐิละนี้ไม่เห็นพระสัทธรรม
ถูกสังสารวัฏหุ้มห่อไว้ เดินทางผิด ซึ่งเป็นทางคดไม่ควรเดิน
[๑๑๘๔] พระโปฏฐิละหมกมุ่นอยู่ในสังขาร ติดอยู่ในลาภสักการะ
ดังตัวหนอนที่ติดคูถ จึงเป็นคนเปล่า
(พระเถระเมื่อจะสรรเสริญท่านพระสารีบุตร จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๘๕] เชิญท่านดู ท่านพระสารีบุตรมีคุณน่าดู น่าชม
หลุดพ้นได้ด้วยวิกขัมภนปหานและสมุจเฉทปหานทั้ง ๒ ส่วน
มีจิตตั้งมั่นดีภายใน
[๑๑๘๖] ผู้ปราศจากลูกศรคือราคะเป็นต้น
สิ้นสังโยชน์ บรรลุวิชชา ๓
ละมัจจุเสียได้ ควรแก่ทักษิณา
เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยมของหมู่มนุษย์
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะสรรเสริญพระมหาโมคคัลลานเถระ จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๘๗] อุบัติเทพมีฤทธิ์ มีเกียรติยศ
มีจำนวนมากถึง ๑๐,๐๐๐ เหล่านี้ และพรหมปุโรหิตทั้งหมดก็พา
กันมายืนประนมมือนอบน้อมพระโมคคัลลานะ
พร้อมกับกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[๑๑๘๘] ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษสูงสุด ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านสิ้นอาสวะแล้วเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
[๑๑๘๙] พระโมคคัลลานะผู้อันมนุษย์และเทวดาบูชาแล้ว
เกิดโดยอริยชาติ ครอบงำความตายเสียได้
ไม่ติดอยู่ในสังขาร เหมือนดอกบัวไม่ติดอยู่กับน้ำ
[๑๑๙๐] พระโมคคัลลานะรู้แจ้งโลกได้ตั้งพันเพียงครู่เดียว
เหมือนท้าวมหาพรหมเป็นผู้ชำนาญในคุณคือฤทธิ์
ในจุติและอุบัติของเหล่าสัตว์
ย่อมเห็นเทวดาทั้งหลายได้ด้วยทิพยจักษุในกาลอันสมควร
(พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อจะประกาศคุณของตนได้กล่าวภาษิตว่า)
[๑๑๙๑] พระสารีบุตรเท่านั้นเยี่ยมกว่าภิกษุผู้ทรงคุณธรรมชั้นสูง
ทั้งทางด้านปัญญา ศีล และอุปสมะ
[๑๑๙๒] พึงเนรมิตอัตภาพชั่วขณะเดียวได้ตั้งแสนโกฏิ
เราเป็นผู้ฉลาดในวิธีแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ทั้งเป็นผู้ชำนาญด้วยฤทธิ์
[๑๑๙๓] ภิกษุโมคคัลลานโคตรผู้ถึงความสำเร็จโดยความเป็นผู้ชำนาญ
ในสมาธิและวิชชา เป็นปราชญ์
มีอินทรีย์มั่นคงในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้อันตัณหาอาศัยไม่ได้
ได้ตัดเครื่องจองจำคือกิเลสเสียได้อย่างเด็ดขาด
เหมือนช้างทำลายปลอกที่ทำด้วยเถาหัวด้วนให้ขาดเสีย
[๑๑๙๔] เราได้ปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักเสียได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[๑๑๙๕] เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงเราก็ได้บรรลุแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[๑๑๙๖] นรกที่ทุสสิมาร๑ ได้ทำร้ายพระวิธุรอัครสาวก
และพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วได้ไปหมกไหม้อยู่ เป็นเช่นไร
[๑๑๙๗] คือ นรกที่มีขอเหล็กเป็นร้อย
ทั้งให้เกิดทุกขเวทนาเฉพาะตนทั่วถึงหมด
นรกที่ทุสสิมารได้ทำร้ายพระวิธุระองค์อัครสาวก
และพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้ไปหมกไหม้อยู่ เป็นเช่นนี้
[๑๑๙๘] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้กรรมและผลกรรมนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[๑๑๙๙] วิมานทั้งหลายที่อยู่ท่ามกลางมหาสมุทร
อยู่ได้ตลอดกัป มีสีดังแก้วไพฑูรย์งดงาม
แสงไฟสว่างดุจกองไฟที่ลุกโพลง
ทั้งเพียบพร้อมด้วยรัศมี มีหมู่นางอัปสรจำนวนมาก
มีผิวพรรณต่างกันฟ้อนรำอยู่
[๑๒๐๐] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิมานนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้าจะต้องได้รับทุกข์
[๑๒๐๑] ภิกษุใดอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ไปแล้ว
ภิกษุสงฆ์เป็นอันมากก็เห็นอยู่
ทำปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาให้ไหวด้วยปลายนิ้วเท้า
[๑๒๐๒] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิมานนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ทุสสิมาร คือมารผู้ชอบประทุษร้าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] ๑. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[๑๒๐๓] ภิกษุใดมีพลังฤทธิ์กล้าแข็ง ได้ทำเวชยันตปราสาทให้ไหวด้วย
ปลายนิ้วเท้า ทั้งทำเทพทั้งหลายให้สลดใจ
[๑๒๐๔] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิมานนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[๑๒๐๕] ภิกษุนั้นใดไต่ถามท้าวสักกเทวราชที่เวชยันตปราสาทว่า
มหาบพิตร ท้าวเธอทรงทราบวิมุตติซึ่งเป็นที่สิ้นตัณหาบ้างไหม
ท้าวสักกเทวราชถูกถามปัญหา ได้ทรงพยากรณ์ตามแนวเทศนาที่
พระศาสดาทรงแสดงแล้วแก่ภิกษุนั้น
(พระมหาโมคคัลลานเถระได้พูดทักทายท้าวมหาพรหมนั้นด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๐๖] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิมุตติเป็นที่สิ้นตัณหานี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[๑๒๐๗] ภิกษุใดยืนอยู่ที่สุธรรมสภาสอบถามท้าวมหาพรหมว่า
ท่านผู้เจริญ แม้วันนี้ ท่านยังมีความเห็นอยู่อย่างเมื่อก่อน
หรือท่านยังเห็นอยู่ว่ารัศมีของพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งสาวกพวยพุ่งรุ่งเรืองยิ่งนัก
[๑๒๐๘] ครั้นท้าวมหาพรหมถูกถามปัญหาแล้ว
ได้พยากรณ์ตามแนวเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วแก่ภิกษุนั้นว่า
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้นิรทุกข์
ข้าพเจ้าไม่ได้มีความเห็นอย่างเมื่อก่อนแล้ว
[๑๒๐๙] ข้าพเจ้าเห็นว่า รัศมีของพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งสาวกเป็นไปล่วงเลยรัศมีในพรหมโลก
วันนี้ ข้าพเจ้านั้นละทิ้งคำพูดของพระเจ้า
ผู้เห็นว่า เราเป็นผู้เที่ยง มีความยั่งยืน เสียได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๐. สัฏฐินิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
(พระมหาโมคคัลลานเถระได้พูดทักทายท้าวมหาพรหมนั้นด้วยภาษิตเหล่านี้ ว่า)
[๑๒๑๐] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้ทิฏฐินี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[๑๒๑๑] ภิกษุใดแสดงยอดขุนเขาสิเนรุให้ชนชาวชมพูทวีป ปุพพวิเทหทวีป
อมรโคยานทวีป และชาวอุตตรกุรุทวีป เห็นกันได้ด้วยวิโมกข์
[๑๒๑๒] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิโมกข์ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[๑๒๑๓] ไฟไม่ได้ตั้งใจเลยว่า เราจะไหม้คนพาล
แต่คนพาลกระโดดเข้าไปหาไฟที่ลุกโพลง ให้ไหม้ตัวเอง ฉันใด
[๑๒๑๔] มาร ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกันทำร้ายพระตถาคตและอริยสาวก
นั้นแล้ว ก็จะเผาตนเอง เหมือนคนพาลถูกไฟไหม้
[๑๒๑๕] มารทำร้ายพระตถาคตและอริยสาวกนั้น จึงได้ประสบสิ่งมิใช่บุญ
มารผู้ชั่วช้า หรือท่านเข้าใจว่า บาปไม่ให้ผลแก่เรา
[๑๒๑๖] มารผู้มุ่งแต่ความตาย เมื่อท่านทำแต่บาปท่านก็ย่อมตายด้วย
ความทุกข์สิ้นกาลนาน ท่านอย่าได้รังเกียจสาวกของพระพุทธเจ้า
แล้วมุ่งทำร้ายภิกษุทั้งหลายเลย
[๑๒๑๗] พระมหาโมคคัลลานเถระได้คุกคามมารที่ป่าเภสกฬาวันดังนี้แล้ว
เพราะเหตุนั้น มารนั้นเสียใจ จึงได้หายไป ณ ที่นั้นนั่นเอง
ทราบว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้กล่าวภาษิตทั้งหลาย
ด้วยประการฉะนี้แล
สัฏฐินิบาต จบ

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
พระมหาโมคคัลลานเถระผู้มีฤทธิ์มากรูปเดียวเท่านั้น
และในสัฏฐินิบาตนี้มี ๖๘ ภาษิต ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
๒๑. มหานิบาต
๑. วังคีสเถรคาถา
ภาษิตของพระวังคีสเถระ
(พระวังคีสเถระบวชแล้วใหม่ ๆ ได้เห็นหญิงหลายคน ล้วนแต่งตัวงดงาม พา
กันไปวิหาร ก็เกิดความกำหนัดยินดี เมื่อจะบรรเทาความกำหนัดยินดีนั้น ได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๑๘] ความตรึกกับความคะนองอย่างเลวทรามเหล่านี้
ย่อมเข้าครอบงำเราผู้ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๑๒๑๙] บุตรของคนสูงศักดิ์ได้ศึกษาวิชายิงธนูคราวละมากๆ
มาอย่างเชี่ยวชาญ ยิงลูกธนูไปรอบ ๆ ตัวโดยไม่ผิดพลาด
[๑๒๒๐] ถึงแม้หญิงจะมามากยิ่งไปกว่าหญิงเหล่านี้
ก็จะเบียดเบียนเราไม่ได้แน่นอน
เพราะเราได้เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมเสียแล้ว
[๑๒๒๑] ด้วยว่า เราได้สดับทางเป็นที่ให้ถึงนิพพานนี้
เบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ดวงอาทิตย์
ใจของเรายินดีแล้วในทางนั้นแน่นอน
[๑๒๒๒] มารผู้ชั่วช้า ถ้าท่านยังเข้ามาหาเราผู้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้
เราก็จะทำทางที่เราทำไว้ให้ถึงที่สุด
โดยท่านจะไม่พบเห็นได้ ฉะนั้น
[๑๒๒๓] ผู้ใดละความยินดี ยินร้าย
และความตรึกเกี่ยวกับบ้านเรือนได้ทั้งหมด
หมดตัณหา ไม่มีกิเลส ไม่พึงก่อตัณหาดุจป่าในที่ไหน ๆ
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๒๔] รูปอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้
ทั้งที่อาศัยแผ่นดิน อยู่ในอากาศ อันนับเนื่องในภพ ๓
ล้วนไม่เที่ยงคร่ำคร่าไปทั้งนั้น
ท่านผู้รู้ทั้งหลายรู้แจ้งอย่างนี้แล้ว มีตนหลุดพ้นเที่ยวไป
[๑๒๒๕] เหล่าปุถุชนที่มีจิตหมกมุ่นในอุปธิทั้งหลาย
คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ท่านจงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวกำจัดความพอใจในเบญจกามคุณนี้เสีย
เพราะผู้ใดไม่ติดในเบญจกามคุณนี้
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่าเป็นมุนี
[๑๒๒๖] ถ้ามิจฉาวิตกที่อิงอาศัยทิฏฐิ ๖๐ ประการ
ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ตั้งมั่นในกาลไหน ๆ
ผู้ใดไม่พึงเป็นไปในอำนาจกิเลสด้วยอำนาจมิจฉาวิตกเหล่านั้น
ทั้งไม่ชอบกล่าวคำหยาบคาย ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ
[๑๒๒๗] ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีจิตมั่นคงมานาน ไม่ลวงโลก
มีปัญญารักษาตนได้ หมดความทะเยอทะยาน
เป็นมุนี ได้บรรลุสันตบท ย่อมหวังคอยเฉพาะเวลาที่จะปรินิพพาน
[๑๒๒๘] ท่านผู้เป็นสาวกของพระโคดม
ท่านจงละความเย่อหยิ่งเสีย
และจงละทางแห่งความเย่อหยิ่งให้หมด
เพราะผู้ที่หมกมุ่นอยู่ในทางแห่งความเย่อหยิ่ง
จะต้องเดือดร้อนเป็นเวลานาน
[๑๒๒๙] หมู่สัตว์ที่ยังลบหลู่คุณท่าน
ถูกความเย่อหยิ่งกำจัดแล้ว ย่อมตกนรก
เหล่าปุถุชนที่ถูกความเย่อหยิ่งกำจัดแล้ว
เกิดในนรก ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๓๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๓๐] บางครั้ง ภิกษุปฏิบัติชอบแล้ว
ชนะกิเลสได้ด้วยมรรค ไม่เศร้าโศกเลย
ยังกลับได้เกียรติคุณและความสุข
บัณฑิตทั้งหลายเรียกภิกษุผู้ปฏิบัติชอบเช่นนั้นว่า เป็นผู้เห็นธรรม
[๑๒๓๑] เพราะเหตุนั้น ภิกษุในพระศาสนานี้
ไม่ควรมีกิเลสเครื่องตรึงใจ ๕ อย่าง
ควรมีแต่ความเพียรชอบ ละนิวรณ์ได้แล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์
ทั้งละความเย่อหยิ่งได้หมด
สงบระงับได้แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ด้วยวิชชา ๓
(พระวังคีสเถระเมื่อจะแจ้งความเป็นไปของตนแก่พระอานนทเถระ จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๓๒] กระผมถูกกามราคะแผดเผา
จิตของกระผมเร่าร้อน
ท่านผู้เป็นเชื้อสายโคตมโคตร ดังกระผมจะขอโอกาส
ขอท่านโปรดอนุเคราะห์ช่วยบอกเหตุที่ดับราคะให้ด้วย
(พระอานนทเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๓๓] จิตของท่านเร่าร้อนก็เพราะความสำคัญผิด
ท่านจงละทิ้งนิมิตว่างามซึ่งประกอบด้วยราคะเสีย
[๑๒๓๔] จงอบรมจิตให้มีอารมณ์เดียว ให้ตั้งมั่นดี
ด้วยการพิจารณาเห็นว่าไม่งาม
จงอบรมกายคตาสติ
และจงเป็นผู้เบื่อหน่ายให้มาก
[๑๒๓๕] จงเจริญการพิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยง
และจงละมานานุสัยเสียให้ได้ขาด
แต่นั้น ท่านจะเป็นผู้สงบเที่ยวไป เพราะละมานะได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
(พระวังคีสเถระ เกิดความโสมนัส เมื่อจะชมเชยพระผู้มีพระภาคเบื้องพระพักตร์
จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๓๖] บุคคลพึงกล่าวแต่วาจาที่ไม่เป็นเหตุทำตนให้เดือดร้อน
และไม่เป็นเหตุเบียดเบียนชนเหล่าอื่น
วาจานั้นแลเป็นสุภาษิต
[๑๒๓๗] พึงกล่าวแต่วาจาที่น่ารัก ซึ่งเหล่าชนพากันชื่นชม
ไม่พึงพูดหยาบคายต่อชนเหล่าอื่น
พึงพูดแต่คำที่น่ารัก
[๑๒๓๘] คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย
ธรรมนี้เป็นของเก่า
สัตบุรุษทั้งหลายตั้งมั่นอยู่แล้วในคำสัตย์
ทั้งที่เป็นอรรถและเป็นธรรม
[๑๒๓๙] พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใดอันเกษม
เพื่อบรรลุนิพพาน เพื่อทำที่สุดทุกข์
พระวาจานั้นแลสูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย
(พระวังคีสเถระเมื่อจะสรรเสริญท่านพระสารีบุตรเถระ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[๑๒๔๐] พระสารีบุตรมีปัญญาสุขุม เป็นนักปราชญ์
รู้ทางและมิใช่ทาง มีปัญญามาก
แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
[๑๒๔๑] แสดงโดยย่อก็ได้ โดยพิสดารก็ได้
เมื่อท่านกำลังแสดงธรรม
เสียงที่เปล่งออกก็ไพเราะเหมือนเสียงนกสาลิกา
ทั้งปฏิภาณก็ปรากฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๔๒] เมื่อท่านแสดงธรรมนั้นอยู่
ภิกษุทั้งหลายที่ฟังคำไพเราะ
ก็มีจิตร่าเริงเบิกบานด้วยเสียงที่น่ายินดี น่าฟัง ไพเราะจับใจ
จึงตั้งใจฟัง
(พระวังคีสเถระเมื่อจะชมเชยพระศาสดา ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๔๓] ในวัน ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันวิสุทธิปวารณา
วันนี้ มีภิกษุ ๕๐๐ รูปมาประชุมกัน
ล้วนเป็นผู้ตัดกิเลสเครื่องผูกคือสังโยชน์ได้ขาด
ไม่มีทุกข์สิ้นภพสิ้นชาติแล้ว
เป็นผู้แสวงหาคุณธรรมอันประเสริฐ
[๑๒๔๔] พระเจ้าจักรพรรดิมีหมู่อำมาตย์แวดล้อม
เสด็จเลียบแผ่นดินอันไพศาล
มีมหาสมุทรสาครเป็นขอบเขตนี้ ฉันใด
[๑๒๔๕] สาวกทั้งหลายผู้ได้วิชชา ๓ ละมัจจุราชได้
พากันแวดล้อมพระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะสงคราม
ทรงนำหมู่ เป็นผู้ยอดเยี่ยม ก็ฉันนั้น
[๑๒๔๖] พระสาวกทั้งมวลล้วนแต่เป็นพุทธชิโนรส
และในสาวกเหล่านี้ไม่มีความว่างเปล่าจากคุณธรรมเลย
ข้าพระองค์พึงถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์
ซึ่งทรงทำลายลูกศรคือตัณหาได้แล้ว
[๑๒๔๗] ภิกษุกว่าพันรูปเข้าไปเฝ้าพระสุคตซึ่งกำลังทรงแสดงธรรม
ที่ปราศจากกิเลสดุจธุลีคือนิพพาน ซึ่งหาภัยแต่ที่ไหนมิได้
[๑๒๔๘] ภิกษุเหล่านั้นก็พากันฟังธรรมอันไพบูลย์
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีหมู่ภิกษุแวดล้อมย่อมทรงงดงามหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๔๙] พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่านาคะ
ทรงเป็นพระฤๅษีผู้สูงสุดกว่าบรรดาฤๅษีทั้งหลาย
ทรงโปรยฝนอมตธรรมให้ตกรดเหล่าพระสาวก
คล้ายฝนห่าใหญ่
[๑๒๕๐] ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า
พระวังคีสะสาวกของพระองค์ประสงค์จะเฝ้าพระศาสดา
จึงออกจากที่พักกลางวัน มาถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๕๑] พระวังคีสะครอบงำทางเป็นที่เกิดขึ้นแห่งกิเลสมาร
ทำลายกิเลสเครื่องตรึงใจ ๕ อย่างมีราคะเป็นต้นอยู่
เธอทั้งหลายจงดูวังคีสะ ผู้ทำการปลดเปลื้องกิเลสเป็นเครื่องผูก
ผู้อันตัณหา มานะ และทิฏฐิอิงอาศัยไม่ได้
ผู้จำแนกธรรมเป็นส่วน ๆ ได้นั้น
[๑๒๕๒] ความจริง พระวังคีสะได้บอกทางไว้หลายอย่าง
เพื่อถอนโอฆกิเลส
และเมื่อพระวังคีสะนั้นบอกทางอมตะนั้นไว้แล้ว
ภิกษุทั้งหลายที่เห็นธรรมก็ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
[๑๒๕๓] พระวังคีสะนั้นผู้ทำแสงสว่างให้เกิด รู้แจ่มแจ้ง
ได้เห็นนิพพานเป็นเหตุล่วงพ้นวิญญาณฐิติได้ทั้งหมด
ครั้นรู้และทำให้แจ้ง
จึงได้แสดงธรรมอันเลิศแก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ๑๐ รูป
[๑๒๕๔] เมื่อท่านแสดงธรรมไว้ดีอย่างนี้
ท่านผู้รู้แจ้งธรรมทั้งหลายจะมีความประมาทได้อย่างไร
เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุผู้ไม่ประมาทในคำสอนของพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น พึงตั้งใจศึกษา(สิกขา ๓) ทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
(พระวังคีสเถระหวังจะชมเชยพระอัญญาโกณฑัญญเถระ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[๑๒๕๕] พระอัญญาโกณฑัญญเถระผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า
ได้มีความบากบั่นอย่างแรงกล้า
ได้วิเวกซึ่งเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขเป็นประจำ
[๑๒๕๖] เป็นผู้ไม่ประมาท ศึกษาอยู่ ได้บรรลุสิ่งที่พระสาวกผู้ทำตาม
คำสอนของพระศาสดาจะพึงบรรลุได้ทุกรูป
[๑๒๕๗] พระอัญญาโกณฑัญญเถระมีอานุภาพมาก
ได้บรรลุวิชชา ๓ ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น
เป็นพุทธทายาทมาถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดาอยู่
(พระวังคีสเถระหวังจะชมเชยพระผู้มีพระภาคและพระอรหันตสาวก จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๕๘] พระสาวกทั้งหลายผู้ได้บรรลุวิชชา ๓ ละมัจจุราชได้
พากันแวดล้อมพระมหามุนีผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ ประทับนั่งที่ข้างภูเขา
[๑๒๕๙] พระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก
พิจารณากำหนดรู้จิตที่หลุดพ้น
ไม่มีอุปธิของพระขีณาสพเหล่านั้นได้ด้วยจิต
[๑๒๖๐] พระสาวกเหล่านั้นพากันแวดล้อมพระมหามุนีโคดม
ผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยสมบัติทุกประการ
ทรงถึงฝั่งแห่งทุกข์ เพียบพร้อมด้วยพระคุณมากอย่าง
(พระวังคีสเถระ หวังจะชมเชยพระผู้มีพระภาค จึงได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๒๖๑] ข้าแต่พระมหามุนีอังคีรส
พระองค์ไพโรจน์ล่วงโลกทั้งหมดด้วยพระยศ
เหมือนดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ที่ปราศจากมลทิน
สว่างจ้าอยู่บนท้องฟ้าที่ปราศจากเมฆหมอก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
(พระวังคีสเถระเมื่อจะประกาศคุณของพระศาสดาและของตน จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๖๒] เมื่อก่อน เราเป็นผู้อันนักปราชญ์เคารพนับถือ
เที่ยวไปจากหมู่บ้านไปยังหมู่บ้าน จากเมืองไปยังเมือง
จึงได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
[๑๒๖๓] พระองค์ผู้เป็นพระมหามุนี ทรงถึงฝั่งแห่งทุกข์
ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเรา
เราฟังธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
[๑๒๖๔] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธองค์
แล้วรู้ชัดถึงขันธ์ อายตนะ และธาตุ จึงได้ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๑๒๖๕] พระตถาคตทั้งหลายทรงอุบัติเพื่อประโยชน์แก่สตรีและบุรุษผู้ทำ
ตามคำสอนเป็นจำนวนมากหนอ
[๑๒๖๖] พระมหามุนีได้บรรลุพระโพธิญาณเพื่อประโยชน์แก่เหล่าภิกษุ
และภิกษุณีผู้ได้เห็นธรรมซึ่งเป็นทางออกจากทุกข์หนอแล
[๑๒๖๗] พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์ ทรงมีพระจักษุ
ทรงอนุเคราะห์ต่อหมู่สัตว์ ได้ทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ
[๑๒๖๘] (๑) ทุกข์ (๒) เหตุให้เกิดทุกข์ (๓) ความดับทุกข์
(๔) อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๑๒๖๙] เราได้เห็นธรรมเหล่านั้น เหมือนอย่างที่พระศาสดาตรัสไว้
ความเป็นจริงอย่างนี้ เราได้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว
ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๑๒๗๐] การที่เราได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นการดีหนอสำหรับเรา
เพราะเราได้บรรลุธรรมที่ประเสริฐสุด
บรรดาธรรมที่พระองค์ทรงจำแนกไว้ดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๗๑] เราได้ถึงฝั่งแห่งอภิญญา ชำระโสตธาตุให้หมดจด
ได้วิชชา ๓ บรรลุฤทธิ์ ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น
(พระวังคีสเถระ ในคราวที่พระอุปัชฌาย์ของท่านปรินิพพาน ได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[๑๒๗๒] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระบรมศาสดาผู้มีพระปัญญามากว่า
ภิกษุใดมีชื่อเสียง เรืองยศ ตัดความสงสัย
ดับกิเลสเสียได้ในปัจจุบันชาตินี่แหละ
ได้ปรินิพพานที่อัคคาฬวเจดีย์วิหาร
[๑๒๗๓] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ภิกษุนั้นเห็นธรรมคือนิพพานอันมั่นคง
เป็นพราหมณ์มาแต่กำเนิด
มีนามที่พระองค์ทรงประทานให้ว่า นิโครธกัปปะ
ผู้มุ่งแต่ความหลุดพ้น ปรารภความเพียร
ยังกราบไหว้ท่านอยู่
[๑๒๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าศากยะ ซึ่งมีพระจักษุรอบคอบ
แม้ข้าพระองค์ทุกรูป ปรารถนาจะทราบถึงพระสาวกรูปนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายพร้อมที่จะเงี่ยโสตลงฟัง
พระองค์มิใช่หรือเป็นศาสดา พระองค์เป็นผู้ยอดเยี่ยม
[๑๒๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจแผ่นดิน
ขอพระองค์โปรดตัดความเคลือบแคลงสงสัยของข้าพระองค์ทั้งหลาย
โปรดตรัสบอกพระนิโครธกัปปเถระผู้ปรินิพพานแล้วนั้น ให้ข้า
พระองค์ทราบด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกท่ามกลางแห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด
เหมือนท้าวสักกะผู้มีพระเนตรตั้งพันตรัสบอกแก่เหล่าเทวดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๗๖] กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้
เป็นทางก่อให้เกิดความลุ่มหลง เป็นฝ่ายแห่งความไม่รู้
เป็นมูลฐานแห่งความเคลือบแคลงสงสัย
กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้นพอมาถึงพระตถาคตซึ่งมีพระจักษุ
มีพระคุณยิ่งกว่านรชนทั้งหลายนี้แล ย่อมหมดไป
[๑๒๗๗] ถ้าพระผู้มีพระภาคจะเป็นบุรุษแต่เพียงกำเนิด
ก็จะไม่พึงทรงทำลายกิเลสได้
เหมือนลมพัดทำลายก้อนเมฆหมอกที่หนาทึบไม่ได้
โลกทั้งมวลที่มืดอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะมืดหนักลง
พระสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตรเป็นต้น ที่รุ่งเรืองอยู่บ้าง
ก็จะไม่พึงรุ่งเรืองนัก
[๑๒๗๘] นักปราชญ์ทั้งหลาย เป็นผู้ทำแสงสว่างให้เกิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระปรีชาญาณ
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์เข้าใจพระองค์ว่า
ทรงทำแสงสว่างให้เกิดเป็นแม่นมั่น
ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ว่าพระองค์ทรงเห็นธรรมทั้งปวง
ได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงได้พากันมาเฝ้า
ขอพระองค์โปรดประกาศพระนิโครธกัปปเถระแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ในบริษัทด้วยเถิด
[๑๒๗๙] พระองค์ทรงเปล่งพระวาจาอย่างไพเราะจับใจ
ทั้งทรงเปล่งด้วยพระสุรเสียงกังวานที่เกิดแต่พระนาสิกที่บุญญาธิการ
ตกแต่งมาดีแล้วได้อย่างคล่องแคล่วแผ่วเบา เหมือนพญาหงส์ทอง
โก่งคอขันเบา ๆ อย่างไพเราะ
ข้าพระองค์ทุกรูปตั้งใจแน่วแน่
ขอฟังพระดำรัสที่ไพเราะของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
[๑๒๘๐] ข้าพระองค์จะเปิดเผยความเกิดและความตายที่ละได้อย่างสิ้นเชิง
จะแสดงบอกบาปธรรมซึ่งเป็นตัวกำจัด
เพราะบรรดาปุถุชนและเสขบุคคลเป็นต้น
ผู้ที่ทำได้ตามความพอใจตนไม่มี
เหมือนคนที่ไตร่ตรองพิจารณาตามพระตถาคตเท่านั้น
สามารถที่จะรู้หรือกล่าวธรรมอย่างที่ตัวต้องการได้
[๑๒๘๑] พระดำรัสของพระองค์นี้มีไวยากรณ์สมบูรณ์
พระองค์ทรงมีพระปัญญาตรงไปตรงมาตรัสไว้อย่างถูกต้อง
ข้าพระองค์ก็เรียนมาดีแล้ว
การถวายบังคมที่ข้าพระองค์ถวายอย่างนอบน้อมนี้เป็นครั้งสุดท้าย
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญามาก
พระองค์ทรงทราบคติของพระนิโครธกัปปเถระได้
ไม่ยังข้าพระองค์ให้หลง
[๑๒๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
พระองค์ทรงตรัสรู้อริยธรรมทั้งที่เป็นโลกุตตระและโลกิยะ
ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมดได้
ไม่ยังข้าพระองค์ให้หลง
ข้าพระองค์หวังพระดำรัสของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง
เหมือนคนถูกความร้อนแผดเผาในฤดูร้อน
ก็ต้องการน้ำเป็นอย่างยิ่ง
ขอพระองค์ทรงยังฝนคือพระธรรมเทศนา
ที่ข้าพระองค์ฟังมาแล้วให้ตกลงเถิด
[๑๒๘๓] พระนิโครธกัปปเถระได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์ของท่านนั้นไม่สูญเปล่าหรือ
ท่านนิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพาน
หรือนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ข้าพระองค์ทั้งหลายขอฟังเรื่องนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] ๑. วังคีสเถรคาถา
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
[๑๒๘๔] พระนิโครธกัปปเถระนั้นได้ตัดขาดตัณหาในนามรูปนี้
ทั้งตัดกระแสแห่งธรรมฝ่ายดำ
ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาช้านาน
ข้ามพ้นชาติมรณะได้อย่างสิ้นเชิง
พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐด้วยพลธรรม ๕ ประการได้ตรัสไว้ดังนี้
(พระวังคีสเถระกราบทูลด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นพุทธะ
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้วย่อมเลื่อมใส
ทราบว่า เรื่องที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ไม่ไร้ประโยชน์
พระองค์เป็นพุทธเจ้าไม่ทรงลวงข้าพระองค์แน่นอน
[๑๒๘๖] สาวกของพระพุทธองค์พูดอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น
ได้ตัดข่ายคือตัณหาที่แผ่กว้างทั้งมั่นคงของพญามารเจ้าเล่ห์ได้ขาด
[๑๒๘๗] พระผู้มีพระภาคสมควรที่จะตรัสว่า
ท่านนิโครธกัปปเถระได้เห็นมูลเหตุแห่งอุปาทาน
ล่วงพ้นบ่วงมัจจุราชที่ข้ามได้แสนยากแล้ว
(พระวังคีสเถระเมื่อจะประกาศความเลื่อมใส จึงได้กล่าวภาษิตสุดท้ายว่า)
[๑๒๘๘] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์
ข้าพระองค์ขอกราบไหว้ท่านพระนิโครธกัปปเถระ
ผู้เป็นวิสุทธิเทพ เป็นอนุชาตบุตร
มีความเพียรมาก เป็นผู้ประเสริฐ
ทั้งเป็นโอรสของพระองค์ผู้ประเสริฐนั้น
ทราบว่า ท่านพระวังคีสเถระได้กล่าวภาษิตทั้งหลายไว้
ด้วยประการฉะนี้แล
มหานิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๔๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๒๑. มหานิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
ในสัตตตินิบาต(มหานิบาต)นี้
พระวังคีสเถระผู้แตกฉานรูปเดียวเท่านั้น
ไม่มีพระเถระรูปอื่น และมี ๗๑ ภาษิต ฉะนี้แล
เถรคาถา จบ

สรุปความเถรคาถานี้
พระเถระ ๒๖๔ รูป ผู้เป็นพุทธบุตร ไม่มีอาสวะ
บรรลุนิพพานอันเป็นแดนเกษม พากันบันลือสีหนาท
ประกาศภาษิตไว้รวม ๑,๓๖๐ ภาษิต
แล้วก็พากันนิพพานเหมือนกองไฟหมดเชื้อแล้วดับไป ฉะนี้แล

เถรคาถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑.เอกกนิบาต] ๒. มุตตาเถรีคาถา
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรีคาถา
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เอกกนิบาต
๑. อัญญตราเถรีคาถา
ภาษิตของพระอัญญตราเถรี
ทราบว่า พระเถรีรูปหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏชื่อได้กล่าวภาษิตนี้ว่า
[๑] พระเถรีท่านจงใช้ท่อนผ้าทำจีวรนุ่งห่ม
แล้วพักผ่อนตามสบายเถิด เพราะราคะของท่านสงบแล้ว
เหมือนผักดองแห้งอยู่ในหม้อ

๒. มุตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระมุตตาเถรี
(พระมุตตาเถรีรับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๒] มุตตา เธอจงพ้นไปจากโยคกิเลสทั้งหลาย๑
เหมือนดวงจันทร์พ้นจากถูกราหูจับ
เธอจงมีจิตหลุดพ้นแล้วบริโภคก้อนข้าวอย่างไม่มีหนี้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ โยคกิเลส กิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพมี ๔ คือ (๑) กามโยคะ โยคะคือกาม (๒) ภวโยคะ โยคะคือภพ
(๓) ทิฏฐิโยคะ โยคะคือทิฏฐิ (๔) อวิชชาโยคะ โยคะคืออวิชชา (ขุ.เถรี.อ.๒/๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๕. อัญญตราติสสาเถรีคาถา
๓. ปุณณาเถรีคาถา
ภาษิตของพระปุณณาเถรี
(พระปุณณาเถรีรับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๓] ปุณณา เธอจงยังธรรมทั้งหลายให้บริบูรณ์
เหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ
จงทำลายกองแห่งความมืดด้วยปัญญาที่บริบูรณ์

๔. ติสสาเถรีคาถา
ภาษิตของพระติสสาเถรี
(พระติสสาเถรีรับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๔] ติสสา เธอจงศึกษาในไตรสิกขา
โยคกิเลสทั้งหลายอย่าได้ครอบงำเธอเลย
เธอจงพรากจากกิเลสโยคะทั้งหมด
ท่องเที่ยวไปในโลกอย่างไม่มีอาสวะเถิด

๕. อัญญตราติสสาเถรีคาถา
ภาษิตของพระติสสาเถรีอีกรูปหนึ่ง
พระติสสาเถรีอีกรูปหนึ่ง (รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๕] ติสสา เธอจงประกอบธรรมทั้งหลายเถิด
ขณะอย่าได้ล่วงเลยเธอไป
เพราะผู้ที่มีขณะล่วงเลยไปแล้ว
จะต้องเศร้าโศกแออัดกันอยู่ในนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๘. มิตตเถรีคาถา
๖. ธีราเถรีคาถา
ภาษิตของพระธีราเถรี
พระธีราเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๖] ธีรา เธอจงสัมผัสนิโรธซึ่งเป็นความสงบ
ระงับสัญญาอันเป็นสุข
จงยินดีนิพพานที่ยอดเยี่ยมซึ่งปลอดโปร่งโยคกิเลสเถิด

๗. อัญญตราธีราเถรีคาถา
ภาษิตของพระธีราเถรีอีกรูปหนึ่ง
พระธีราเถรีอีกรูปหนึ่ง(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๗] ธีราภิกษุณีผู้อบรมอินทรีย์แล้วด้วยธรรมทั้งหลายที่ทรงไว้
ย่อมชนะมาร๑พร้อมทั้งเสนามาร๒
แล้วดำรงไว้ซึ่งกายที่มีในภพสุดท้าย

๘. มิตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระมิตตาเถรี
พระมิตตาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๘] มิตตา เธอบวชแล้วด้วยศรัทธา
จงยินดีในกัลยาณมิตร
เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่ปลอดโปร่งจากโยคะกิเลสเถิด

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสมาร (ขุ.เถรี.อ. ๗/๑๖)
๒ วัตถุกาม (ขุ.เถรี.อ. ๗/๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๑. มุตตาเถรีคาถา
๙. ภัทราเถรีคาถา
ภาษิตของพระภัทราเถรี
พระภัทราเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๙] ภัทรา เธอบวชแล้วด้วยศรัทธา
จงยินดีในธรรมที่ดีงาม
เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่ยอดเยี่ยม
ซึ่งปลอดโปร่งจากโยคะกิเลสเถิด

๑๐. อุปสมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุปสมาเถรี
พระอุปสมาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๐] อุปสมา เธอพึงข้ามโอฆะ๑ซึ่งเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก
จงชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร
ดำรงไว้ซึ่งกายที่มีในภพสุดท้ายเถิด

๑๑. มุตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระมุตตาเถรี
พระมุตตาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๑] เราเป็นผู้พ้นด้วยดี พ้นโดยชอบด้วยความพ้นจาก
ความค่อม ๓ อย่าง คือ
(๑) ค่อมเพราะครก (๒) ค่อมเพราะสาก (๓) ค่อมเพราะสามี
เป็นผู้พ้นจากความเกิดและความตาย
ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ สังสารวัฏ (ขุ.เถรี.อ. ๑๐/๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๕. อุตตราเถรีคาถา
๑๒. ธัมมทินนาเถรีคาถา
ภาษิตของพระธัมมทินนาเถรี
พระธรรมทินนาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๒] ผู้ที่เกิดฉันทะมีอัตภาพสุดท้ายก็พึงสัมผัสนิพพานด้วยใจ
มีจิตไม่ปฏิพัทธ์ในกามทั้งหลาย
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีกระแสในเบื้องบน๑

๑๓. วิสาขาเถรีคาถา
ภาษิตของพระวิสาขาเถรี
พระวิสาขาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๓] ท่านทั้งหลาย จงทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่บุคคลทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง
จงรีบล้างเท้าทั้งสอง แล้วนั่ง ณ ที่อันสมควรเถิด

๑๔. สุมนาเถรีคาถา
ภาษิตฃองพระสุมนาเถรี
พระสุมนาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๔] เธอพิจารณาเห็นธาตุทั้งหลายว่าเป็นทุกข์แล้วอย่ามาเกิดอีก
คลายความพอใจในภพแล้ว จะเป็นผู้สงบระงับท่องเที่ยวไป

๑๕. อุตตราเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุตตราเถรี
พระอุตตราเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๕] เราเป็นผู้สำรวมกาย วาจา และใจ
ถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากได้แล้ว เป็นผู้เย็นดับสนิทแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ อนาคามิมรรคและสุทธาวาส (ขุ.เถรี.อ. ๑๒/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑๘. สังฆาเถรีคาถา
๑๖. วุฑฒปัพพชิตสุมนาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุมนาเถรีผู้บวชเมื่อแก่
พระวุฑฒปัพพชิตสุมนาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๖] สุมนาผู้เฒ่า เธอจงใช้ท่อนผ้าทำจีวรนุ่งห่ม
แล้วพักผ่อนตามสบายเถิด
เพราะเธอมีราคะสงบระงับแล้ว
เป็นผู้เย็น ดับสนิทแล้ว

๑๗. ธัมมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระธัมมาเถรี
พระธรรมาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๗] เราทุพพลภาพ มีกายสั่นเทา ถือไม้เท้าเที่ยวบิณฑบาต
ได้ล้มลงบนแผ่นดินตรงนั้นเอง
คราวนั้น จิตของเราหลุดพ้นแล้ว
เพราะเห็นโทษในกาย

๑๘. สังฆาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสังฆาเถรี
พระสังฆาเถรี(รับพระพุทธโอวาทแล้วได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๘] เราละเรือน บุตร และสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นที่รัก บวชแล้ว
ละราคะโทสะ และคลายอวิชชาเสีย
ถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากได้แล้ว
เป็นผู้สงบระงับ ดับสนิทแล้ว
เอกกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๒. เชนตาเถรีคาถา
๒. ทุกนิบาต
๑. อภิรูปนันทาเถรีคาถา
ภาษิตของพระนันทาเถรี
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสอนนันทาสิกขมานาผู้ยินดีในรูปที่สวยงาม
เนือง ๆ ด้วยพระคาถาเหล่านี้ (ภายหลังพระเถรีบรรลุอรหัตผลแล้วได้กล่าวภาษิต
นี้ว่า)
[๑๙] นันทา เธอจงพิจารณาดูกายซึ่งกระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เป็นของเปื่อยเน่า
จงอบรมจิตให้ตั้งมั่นดี มีอารมณ์เดียว ด้วยอสุภภาวนาเถิด
[๒๐] และจงอบรมอนิมิตตวิโมกข์
ละเสียซึ่งอนุสัยคือมานะ
เพราะละมานะได้ แต่นั้นเธอจะอยู่อย่างสงบ

๒. เชนตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระเชนตาเถรี
ทราบว่า พระเชนตาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า
[๒๑] โพชฌงค์ ๗ ประการเป็นทางบรรลุนิพพานนี้
เราเจริญแล้วทั้งหมดตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
[๒๒] เพราะเราได้เห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว
ร่างกายนี้เป็นร่างกายที่มีในภพสุดท้าย
ชาติสงสารสิ้นแล้ว
บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๕. จิตตาเถรีคาถา
๓. สุมังคลมาตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุมังคลมาตาเถรี
พระสุมังคลมาตาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๓] เราพ้นดีแล้ว ในการพ้นดีแล้ว เป็นผู้พ้นแล้วโดยชอบจากสาก
จากสามีของเราผู้ไม่มีหิริ จากร่ม จากหม้อข้าว และจากงูน้ำ
[๒๔] เรากำลังตัดราคะ และโทสะ อาศัยโคนไม้
เข้าฌานอยู่โดยความสุขว่า สุขหนอ

๔. อัฑฒกาสีเถรีคาถา
ภาษิตของพระอัฑฒกาสีเถรี
พระอัฑฒกาสีเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๕] ส่วยของเรามีประมาณเท่าส่วยในกาสีชนบท
ชาวนิคมกำหนดราคาแคว้นกาสีนั้นไว้แล้ว
จึงตั้งราคาเราไว้ครึ่งหนึ่ง
[๒๖] ภายหลัง เราเบื่อหน่ายในรูป
และเมื่อเบื่อหน่ายจึงคลายความกำหนัด
เราอย่าพึงแล่นไปสู่ชาติสงสารบ่อย ๆ อีกเลย
เราบรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

๕. จิตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระจิตตาเถรี
พระจิตตาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๗] เราเป็นผู้มีร่างกายผ่ายผอม เป็นไข้ อ่อนเพลียมาก
ต้องเดินถือไม้เท้าไปไหน ๆ ก็จริงนะ
ถึงอย่างนั้น ก็ยังขึ้นภูเขาได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๗. มิตตาเถรีคาถา
[๒๘] เราเก็บผ้าสังฆาฏิ และคว่ำบาตรแล้ว
ข่มตนทำลายกองความมืดได้แล้วบนภูเขา

๖. เมตติกาเถรีคาถา
ภาษิตของพระเมตติกาเถรี
พระเมตติกาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๙] เราประสบทุกข์ เสื่อมกำลัง ผ่านวัยสาวไปแล้ว
ต้องเดินถือไม้เท้าไปไหน ๆ ก็จริงนะ
ถึงอย่างนั้น ก็ยังขึ้นภูเขาได้
[๓๐] เราเก็บผ้าสังฆาฏิ และคว่ำบาตรแล้ว นั่งบนภูเขา
ครั้งนั้น จิตของเราหลุดพ้นแล้ว
เราได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

๗. มิตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระมิตตาเถรี
พระมิตตาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๑] เรายินดีเพลิดเพลินเทพนิกาย
จึงเข้าจำอุโบสถซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ตลอดวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริยปักษ์
[๓๒] เราเมื่อปรารถนาหมู่เทพจึงได้เข้าจำอุโบสถวันนี้
เรานั้นฉันอาหารมื้อเดียว
ปลงผม ห่มผ้าสังฆาฏิ บวชแล้ว
ไม่พึงปรารถนาเทพนิกาย
กำจัดความกระวนกระวายในใจเสียได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๕๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สามาเถรีคาถา
๘. อภยมาตุเถรีคาถา
ภาษิตของพระอภยมาตุเถรี
พระอภยมาตุเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๓] แม่เจ้า ท่านจงพิจารณาร่างกายนี้ เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป
เบื้องล่างตั้งแต่ปลายผมลงมาว่า เป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นเน่า
[๓๔] เราพิจารณาอยู่อย่างนี้ จึงถอนราคะทั้งปวงได้
ตัดความเร่าร้อนได้ขาด เป็นผู้เย็นดับสนิทแล้ว

๙. อภยาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอภยาเถรี
พระอภยาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๕] อภยา กายซึ่งปุถุชนทั้งหลายข้องอยู่ มีสภาวะที่จะต้องแตกไป
เราจะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า ละทิ้งกายนี้เสีย
[๓๖] เราถูกทุกข์มากมายกระทบแล้ว จึงยินดีในความไม่ประมาท
บรรลุความสิ้นตัณหา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

๑๐. สามาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสามาเถรี
พระสามาเถรี(ได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๓๗] เราบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ จึงไม่ได้ความสงบใจ
ต้องเข้าออกจากที่อยู่ถึง ๔-๕ ครั้ง
ตั้งแต่ได้รับโอวาทของพระอานนทเถระแล้ว
ในคืนที่ ๘ เรานั้นจึงถอนตัณหาได้
[๓๘] เราถูกทุกข์มากมายกระทบแล้ว จึงยินดีในความไม่ประมาท
บรรลุความสิ้นตัณหา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ทุกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๓. ติกนิบาต] ๒. อุตตมาเถรีคาถา
๓. ติกนิบาต
๑. อปราสามาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอปราสามาเถรี
พระอปราสามาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๙] ตั้งแต่เราบวชมาแล้ว ๒๕ พรรษา
ยังไม่รู้สึกว่าได้ความสงบจิตในกาลไหน ๆ เลย
[๔๐] เราบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ จึงไม่ได้ความสงบจิต
เพราะเหตุนั้น เรามาระลึกถึงคำสอนของพระชินเจ้า
จึงได้ถึงความสังเวช
[๔๑] ถูกทุกข์มากมายกระทบแล้ว จึงยินดีในความไม่ประมาท
บรรลุความสิ้นตัณหา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
วันนี้เป็นคืนที่ ๗ นับแต่วันที่เราทำตัณหาให้แห้งสนิทแล้ว

๒. อุตตมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุตตมาเถรี
พระอุตตมาเถรี(ได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๔๒] เราบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ จึงไม่ได้ความสงบจิต
ต้องเข้าออกจากที่อยู่ถึง ๔-๕ ครั้ง
[๔๓] ได้เข้าไปหาภิกษุณีผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้
ท่านได้แสดงธรรม คือขันธ์ อายตนะ และธาตุแก่เรา
[๔๔] เราฟังธรรมของท่านแล้วได้ปฏิบัติตามที่ท่านพร่ำสอน
เอิบอิ่มด้วยสุขที่เกิดแต่ปีติ
นั่งขัดสมาธิท่าเดียวตลอด ๗ วัน
ในวันที่ ๘ ทำลายกองความมืดได้แล้ว จึงเหยียดเท้าออก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๓. ติกนิบาต] ๔. ทันติกาเถรีคาถา
๓. อปราอุตตมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอปราอุตตมาเถรี
พระอปราอุตตมาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๔๕] โพชฌงค์ ๗ ประการเป็นทางบรรลุนิพพานนี้
เราเจริญแล้วทั้งหมดตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
[๔๖] ได้สุญญตสมาบัติและอนิมิตตสมาบัติเป็นประจำตามปรารถนา
เราเป็นธิดาซึ่งเกิดแต่พระอุระของพระพุทธเจ้า
ยินดีแล้วในนิพพานทุกเมื่อ
[๔๗] กามทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์เราก็ตัดขาดแล้ว
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก

๔. ทันติกาเถรีคาถา
ภาษิตของพระทันติกาเถรี
พระทันติกาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๔๘] เราออกจากที่พักกลางวันบนภูเขาคิชฌกูฏ
ได้เห็นช้างลงสู่แม่น้ำแล้ว ขึ้นที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
[๔๙] นายควาญช้างถือขอแล้ว ร้องบอกว่า จงเหยียดเท้าออก
ช้างเหยียดเท้าออกแล้ว
นายควาญช้างจึงขึ้นขี่ช้าง
[๕๐] เราเห็นช้างที่ไม่เคยได้รับการฝึก
ครั้นได้รับการฝึกแล้ว ตกอยู่ในอำนาจของมนุษย์ทั้งหลาย
ภายหลังแต่ได้เห็นช้างนั้น เราจึงเข้าป่า
ทำจิตให้เป็นสมาธิเพราะกิริยาช้างนั้นเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๓. ติกนิบาต] ๖. สุกกาเถรีคาถา
๕. อุพพิรีเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุพพิรีเถรี
(พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎี แสดงพระองค์แก่พระอุพพิรีเถรี ได้
ตรัสพุทธภาษิตนี้ว่า)
[๕๑] อุพพิรีเธอคร่ำครวญอยู่ในป่าว่า ลูกชีวาเอ๋ย ดังนี้
เธอจงรู้สึกตนก่อนเถิด
บรรดาธิดาของเธอที่มีชื่อเหมือนกันว่า ชีวา
ถูกเผาอยู่ในป่าช้านี้ทั้งหมดถึง ๘๔,๐๐๐ คน
เธอเศร้าโศกถึงธิดาคนไหน
พระอุพพิรีเถรี(บรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะกราบทูล ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๕๒] ลูกศรคือความโศกที่เห็นได้ยาก ซึ่งเสียบที่หทัยหม่อมฉัน
หม่อมฉันถอนขึ้นได้แล้ว เพราะพระองค์ได้ทรงช่วยบรรเทาความ
โศกถึงธิดาของหม่อมฉันซึ่งถูกความโศกครอบงำ
[๕๓] วันนี้ หม่อมฉันนั้นถอนลูกศรคือความโศกขึ้นได้แล้ว
หมดความอยาก ดับรอบแล้ว
ได้ถึงมุนีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

๖. สุกกาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุกกาเถรี
พระสุกกาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๕๔] พวกมนุษย์เมืองราชคฤห์เหล่านี้ทำอะไรกัน
มัวดื่มน้ำผึ้ง๑ ดีดนิ้วมืออยู่ ไม่เข้าไปหาพระสุกกาเถรีผู้กำลังแสดง
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เล่า

เชิงอรรถ :
๑ น้ำหวานที่เกิดจากการหมักดองของเครื่องปรุงหลายอย่าง (เมรัย, น้ำเมา) (ขุ.เถรี.อ. ๕๔/๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๓. ติกนิบาต] ๗. เสลาเถรีคาถา
[๕๕] ส่วนพวกคนที่มีปัญญา
เข้าใจดื่มพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น
ซึ่งเป็นธรรมไม่นำกลับหลัง
ทำผู้ฟังให้ชุ่มชื่น มีโอชะ
ดุจบุคคลเดินทางไกลดื่มน้ำฝน
[๕๖] พระสุกกาเถรีมีธรรมบริสุทธิ์
ปราศจากราคะ
มีจิตตั้งมั่น ชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร
ยังทรงร่างกายที่มีในภพสุดท้ายอยู่

๗. เสลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระเสลาเถรี
(มารกล่าวกับพระเสลาเถรีว่า)
[๕๗] นิพพานเป็นที่สลัดออกไม่มีในโลก
ท่านจะทำประโยชน์อะไรด้วยวิเวกเล่า
เชิญท่านบริโภคความยินดีในกามทั้งหลายเถิด
อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย
พระเสลาเถรี(โต้ตอบมารด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๕๘] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
เป็นเขียงรองสับขันธ์ทั้งหลาย
บัดนี้ เราไม่มีความยินดีในกามที่ท่านพูดถึง
[๕๙] เรากำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๓. ติกนิบาต] ๘. โสมาเถรีคาถา
๘. โสมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระโสมาเถรี
(มารกล่าวกับพระโสมาเถรีว่า)
[๖๐] ฐานะใดอันประเสริฐอย่างยิ่ง
คือพระอรหัตซึ่งฤๅษีทั้งหลายพึงบรรลุ
อันบุคคลเหล่าอื่นให้สำเร็จได้ยาก
ท่านเป็นหญิงมีปัญญาแค่ ๒ นิ้ว๑
ไม่สามารถจะบรรลุฐานะอันนั้นได้
พระโสมาเถรี(โต้ตอบมารด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๖๑] เมื่อจิตตั้งมั่นดี
ญาณเป็นไปอยู่
เมื่อเห็นแจ้งธรรมโดยชอบ
ความเป็นหญิงจะทำอะไรเราได้
[๖๒] เรากำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว
ติกนิบาต จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีปัญญาทราม (ขุ.เถรี.อ. ๖๐/๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๔. จตุกกนิบาต] ๑. ภัททกาปิลานีเถรีคาถา
๔. จตุกกนิบาต
๑. ภัททกาปิลานีเถรีคาถา
ภาษิตของพระภัททกาปิลานีเถรี
พระภัททกาปิลานีเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๖๓] พระมหากัสสปเถระเป็นบุตร
เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า
มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
ท่านระลึกชาติได้ ทั้งเห็นสวรรค์และอบาย
[๖๔] อนึ่ง ท่านถึงความสิ้นชาติ
เป็นผู้เสร็จกิจแล้ว เพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี
เป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ ด้วยวิชชา ๓ เหล่านี้
[๖๕] พระภัททกาปิลานีเถรีก็ได้วิชชา ๓ เหมือนพระมหากัสสปะ
ละมัจจุราชได้
ชนะมารพร้อมทั้งเสนามารได้แล้ว
ยังทรงร่างกายที่มีในภพสุดท้ายอยู่
[๖๖] เราทั้ง ๒ เห็นโทษทางโลก แล้วออกบวช
ฝึกฝนตน สิ้นอาสวะ
เป็นผู้เย็น ดับสนิทแล้ว
จตุกกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วิมลาเถรีคาถา
๕. ปัญจกนิบาต
๑. อัญญตราเถรีคาถา
ภาษิตของพระอัญญตราเถรี
พระเถรีรูปหนึ่ง(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๖๗] ตั้งแต่เราบวชมาตลอด ๒๕ พรรษา ยังไม่ประสพความสงบจิต
แม้ชั่วเวลาเพียงลัดนิ้วมือเดียวเลย
[๖๘] เราไม่ได้ความสงบจิต มีจิตชุ่มด้วยกามราคะ
เดินประคองแขนคร่ำครวญเข้าไปสู่วิหาร
[๖๙] ได้เข้าไปหาภิกษุณีผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้
ท่านได้แสดงธรรม คือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุแก่เรา
[๗๐] เราฟังธรรมของท่านแล้ว เข้าไปนั่ง ณ ที่สมควร
ระลึกชาติได้ ชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว
[๗๑] เราชำระเจโตปริยญาณและโสตธาตุให้หมดจดแล้ว
แม้ฤทธิ์เราก็ทำให้แจ้งแล้ว ธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะเราก็บรรลุแล้ว
อภิญญา ๖ เราก็ทำให้แจ้งแล้ว
เราได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

๒. วิมลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระวิมลาเถรี
พระวิมลาเถรีผู้เคยเป็นหญิงคณิกา๑ (ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๗๒] เรามัวเมาด้วยผิวพรรณ รูปสมบัติ ความสวยงาม บริวารยศ
และเป็นผู้มีจิตกระด้างอย่างยิ่ง ด้วยความเป็นสาว ดูหมิ่นหญิงอื่น

เชิงอรรถ :
๑ หญิงแพศยา หรือหญิงโสเภณี (ขุ.เถรี.อ. ๗๒/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. สีหาเถรีคาถา
[๗๓] ประดับร่างกายนี้ให้วิจิตรงดงามสำหรับลวงชายโง่
ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนหญิงแพศยา
ดุจนายพรานเนื้อวางบ่วงดักเนื้อไว้
[๗๔] เราอวดเครื่องประดับต่าง ๆ เป็นอันมาก
และอวดอวัยวะที่ควรปกปิดให้ปรากฏ
กระซิกกระซี้ ได้ทำมายาหลายอย่างให้ชายจำนวนมากลุ่มหลง
[๗๕] วันนี้ เรานั้นปลงผมห่มผ้าสังฆาฏิ บวช เที่ยวบิณฑบาต
แล้วมานั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ ได้ฌานที่ไม่มีวิตก๑
[๗๖] ได้ตัดกิเลสเป็นเหตุเกาะเกี่ยว
ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ได้ทั้งหมด
ทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป เป็นผู้เย็น ดับสนิทแล้ว

๓. สีหาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสีหาเถรี
พระสีหาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๗๗] เมื่อก่อน เราได้ถูกกามราคะเบียดเบียน มีจิตฟุ้งซ่าน
บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ เพราะไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย
[๗๘] ถูกกิเลสกลุ้มรุม มักเข้าใจกามว่าสวยงาม
ตกอยู่ในอำนาจราคะ จึงไม่ได้ความสงบจิต
[๗๙] ผอมเหลือง และมีผิวพรรณไม่ผ่องใส
ประพฤติ(พรหมจรรย์)อยู่ ๗ ปี มีแต่ทุกข์
ไม่ได้ความสุขทั้งกลางวันและกลางคืน

เชิงอรรถ :
๑ ได้บรรลุทุติยฌาน (ขุ.เถรี.อ. ๗๕/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๔. สุนทรีนันทาเถรีคาถา
[๘๐] เพราะเหตุนั้น เราจึงถือเชือกเข้าไปสู่ราวป่า ด้วยคิดว่า
จะผูกคอตายเสียในที่นี้ ดีกว่าที่จะกลับไปเป็นคฤหัสถ์อีก
[๘๑] จึงทำบ่วงให้มั่น ผูกที่กิ่งไม้ แล้วสวมบ่วงที่คอ
ทันใดนั้น จิตของเราก็หลุดพ้นจากกิเลส

๔. สุนทรีนันทาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุนทรีนันทาเถรี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงธรรมให้เหมาะแก่พระสุนทรีนันทาเถรี จึงได้ตรัส
พระพุทธภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๒] นันทา เธอจงพิจารณาดูร่างกายซึ่งกระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เป็นของเปื่อยเน่า
จงอบรมจิตให้ตั้งมั่นดี มีอารมณ์เดียว ด้วยอสุภภาวนา
[๘๓] ร่างกายหญิงที่เนรมิตขึ้นนี้ ฉันใด
ร่างกายของเธอนั่น ก็ฉันนั้น
ร่างกายของเธอนั่น ฉันใด
ร่างกายหญิงที่เนรมิตขึ้นนี้ ก็ฉันนั้น
ร่างกายเป็นของเปื่อยเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป
ที่พวกคนเขลาเพลิดเพลินกันยิ่งนัก
[๘๔] เมื่อเธอพิจารณาร่างกายนั้นอย่างนี้
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
แต่นั้น จะเห็นแจ้งด้วยปัญญาของตนเองได้
(พระสุนทรีเถรีบรรลุพระอรหัตแล้วได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๕] เมื่อเรานั้นไม่ประมาท
ค้นคว้าอยู่โดยแยบคาย
ได้เห็นร่างกายนี้ทั้งภายในและภายนอกตามความเป็นจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๖๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๕. นันทุตตราเถรีคาถา
[๘๖] ทีนั้น เราจึงเบื่อหน่ายในร่างกาย
และคลายความกำหนัดในภายใน
ไม่ประมาท ไม่เกาะเกี่ยวในสิ่งอะไร ๆ
เป็นผู้สงบระงับ ดับสนิทแล้ว

๕. นันทุตตราเถรีคาถา
ภาษิตของพระนันทุตตราเถรี
พระนันทุตตราเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๘๗] เราบูชาไฟ ไหว้ดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์ และเทวดา
ไปยังท่าน้ำแล้วลงดำน้ำ
[๘๘] สมาทานวัตรมากมาย
โกนศีรษะครึ่งหนึ่ง นอนบนแผ่นดิน
ไม่บริโภคอาหารในเวลากลางคืน
[๘๙] แต่ยังยินดีการประดับตกแต่ง
บำรุงร่างกายนี้ด้วยการอาบน้ำและขัดสี
ถูกกามราคะครอบงำแล้ว
[๙๐] ต่อมา ได้ศรัทธา บวชเป็นบรรพชิต
เห็นร่างกายตามความเป็นจริง
จึงถอนกามราคะได้
[๙๑] ตัดภพ ความอยาก และความปรารถนาได้ทั้งหมด
ไม่เกาะเกี่ยวด้วยกิเลสเครื่องผูกทุกอย่าง
บรรลุความสงบใจแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๗. สกุลาเถรีคาถา
๖. มิตตากาฬีเถรีคาถา
ภาษิตของพระมิตตากาฬีเถรี
พระมิตตากาฬีเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๒] เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา
แต่เป็นผู้ขวนขวายในลาภสักการะเที่ยวไปด้วยเหตุนั้น ๆ
[๙๓] ละทิ้งประโยชน์ที่ยอดเยี่ยม ถือเอาประโยชน์ที่เลว
ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส
ไม่ยินดีประโยชน์ของความเป็นสมณะ
[๙๔] เมื่อเรานั้นนั่งในที่อยู่ ได้เกิดความสังเวชว่า
เราเดินทางผิดเสียแล้ว ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา
[๙๕] ชีวิตของเราน้อย ชราและพยาธิย่ำยี
ร่างกายนี้จะแตกสลายไปเสียก่อน
ไม่ใช่เวลาที่เราจะประมาท
[๙๖] เมื่อเราพิจารณาถึงความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไปของขันธ์ทั้งหลายตามความเป็นจริง
จึงได้ดำรงอยู่อย่างผู้มีจิตหลุดพ้น
เราได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

๗. สกุลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสกุลาเถรี
พระสกุลาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๗] เมื่อเรายังอยู่ในเรือน ฟังธรรมของภิกษุแล้ว
ได้เห็นนิพพานซึ่งเป็นธรรมปราศจากกิเลสดุจธุลี
เป็นทางถึงความสุข ไม่จุติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๘. โสณาเถรีคาถา
[๙๘] เรานั้นละบุตรธิดา ทรัพย์ และข้าวเปลือก
โกนผมแล้วบวชเป็นบรรพชิต
[๙๙] เป็นสิกขมานาอยู่ เจริญมรรคเบื้องสูง จึงละราคะ โทสะ
และอาสวะทั้งหลายที่ประกอบด้วยราคะและโทสะนั้นได้
[๑๐๐] อุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้ว ระลึกชาติก่อนได้
ชำระทิพยจักษุที่อบรมแล้วอย่างดีให้หมดมลทินได้
[๑๐๑] เห็นสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตาอันเกิดแต่เหตุ
มีสภาวะทรุดโทรมโดยความเป็นอนัตตาแล้วละอาสวะทั้งปวงได้
จึงเป็นผู้เย็นดับสนิทแล้ว

๘. โสณาเถรีคาถา
ภาษิตของพระโสณาเถรี
พระโสณาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๒] ในเรือนร่างคือรูปนี้ เราคลอดบุตร ๑๐ คน
เพราะเหตุนั้น จึงทรุดโทรมแก่ไป ได้เข้าไปหาภิกษุณี
[๑๐๓] ภิกษุณีนั้นแสดงธรรม คือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุแก่เรา
เราฟังธรรมของท่านแล้วก็โกนผมบวช
[๑๐๔] เมื่อเราศึกษาอยู่ ก็ชำระทิพยจักษุให้หมดจด
ระลึกถึงชาติก่อนที่เราเคยอยู่อาศัยมา
[๑๐๕] และเจริญอนิมิตตสมาธิ๑ มีจิตตั้งมั่นดี มีอารมณ์เดียว
มีวิโมกข์๒เกิดขึ้นในลำดับ ไม่ยึดมั่น ดับสนิทแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิที่พิจารณาธรรมไม่มีนิมิต ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยอำนาจอนิจจลักษณะ (ที.ปา.อ.
๙/๓๐๕)
๒ ความหลุดพ้นที่เกิดขึ้นโดยลำดับนับแต่ปฐมมรรค(โสดาปัตติมรรค)เป็นต้นไปจนถึงอรหัตตผล (ขุ.เถรี.อ.
๑๐๕/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๙. ภัททากุณฑลเกสาเถรีคาถา
[๑๐๖] ขันธ์ ๕ ที่เรากำหนดรู้แล้ว
มีรากอันขาดแล้ว คงอยู่
สิ่งที่ยังคงอยู่ ก็คงมีอยู่ในกายที่คร่ำคร่า เลวทราม
บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก

๙. ภัททากุณฑลเกสาเถรีคาถา
ภาษิตของพระภัททากุณฑลเกสาเถรี
(พระภัททากุณฑลเกสาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๐๗] เมื่อก่อนเราถอนผม อมขี้ฟัน
มีผ้าผืนเดียว เที่ยวไป
สำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ
และเห็นในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ
[๑๐๘] เราจากที่พักกลางวันบนภูเขาคิชกูฏ
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลส
แวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุ
[๑๐๙] จึงคุกเข่าถวายบังคม ทำอัญชลีเบื้องพระพักตร์
พระองค์ได้ตรัสว่า มาเถิด ภัททา
พระดำรัสนั้น ทำให้เราได้อุปสมบทแล้ว
[๑๑๐] เมื่อก่อน เราบริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นอย่างเป็นหนี้
จาริกไปทั่วแคว้นอังคะ มคธ วัชชี กาสี และโกศล
ตั้งแต่พบพระศาสดา เราบริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นอย่าง
ไม่เป็นหนี้มา ๕๐ ปีแล้ว
[๑๑๑] ก็อุบาสกที่ได้ถวายจีวรแก่เราผู้ชื่อว่าภัททา
ซึ่งพ้นจากกิเลสที่ร้อยรัดทุกอย่าง
เป็นคนมีปัญญา ได้ประสบบุญเป็นอันมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๑๑. ติงสมัตตาเถรีคาถา
๑๐. ปฏาจาราเถรีคาถา
ภาษิตของพระปฏาจาราเถรี
(พระปฏาจาราเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๑๒] มาณพทั้งหลายใช้ไถ ไถนา หว่านเมล็ดพืชลงบนแผ่นดิน
ได้ทรัพย์มาเลี้ยงดูบุตรและภรรยา
[๑๑๓] เรามีศีลสมบูรณ์ ทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
ไม่เกียจคร้าน ไม่ฟุ้งซ่าน ไฉนจะไม่บรรลุนิพพานเล่า
[๑๑๔] เราล้างเท้า เห็นน้ำล้างเท้าไหลจากที่ดอนมาสู่ที่ลุ่ม
ใส่ใจนิมิตในน้ำ
[๑๑๕] แต่นั้น เราตั้งใจไว้มั่นคง ดุจม้าอาชาไนยที่ดี
ลำดับนั้น ถือประทีปเข้าไปยังวิหาร ตรวจดูที่นอน ขึ้นนั่งบนเตียง
[๑๑๖] ต่อแต่นั้น ถือลูกดาล(ปิดประตูลงกลอน) หมุนไส้ประทีปลง
ความหลุดพ้นทางใจก็ได้มี
เหมือนประทีปติดโพลงแล้วดับลง

๑๑. ติงสมัตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระติงสมัตตาเถรี
ทราบว่า พระเถรีประมาณ ๓๐ รูปนี้ได้พยากรณ์อรหัตตผลในสำนักพระ
ปฏาจาราเถรีอย่างนี้ว่า
[๑๑๗] มาณพทั้งหลายถือสากตำข้าว
ได้ทรัพย์มาเลี้ยงดูบุตรและภรรยา
[๑๑๘] ท่านทั้งหลายจงทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่บุคคลกระทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง
จงรีบล้างเท้า แล้วนั่ง ณ ที่สมควรเถิด
จงประกอบความสงบใจเนือง ๆ
กระทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๕. ปัญจกนิบาต] ๑๒. จันทาเถรีคาถา
[๑๑๙] ภิกษุณีเหล่านั้นฟังคำสั่งสอนของปฏาจาราเถรีนั้นแล้ว
ล้างเท้าเข้าไปนั่ง ณ ที่สมควร ได้ประกอบความสงบใจเนือง ๆ
กระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
[๑๒๐] ในปฐมยามแห่งราตรี พากันระลึกชาติก่อนได้
ในมัชฌิมยามแห่งราตรี ชำระทิพยจักษุให้หมดจดได้
ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ทำลายกองแห่งความมืดได้
[๑๒๑] ภิกษุณีเหล่านั้น พากันลุกขึ้นกราบเท้าพระเถรีพร้อมกับกล่าวว่า
พวกเราทำตามคำสอนของท่านแล้ว จะอยู่แวดล้อมท่าน
เหมือนเทวดาชั้นดาวดึงส์แวดล้อมท้าวสักกะผู้ชนะในสงคราม
พวกเราได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ

๑๒. จันทาเถรีคาถา
ภาษิตของพระจันทาเถรี
พระจันทาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๒๒] เมื่อก่อน เราเป็นคนเข็ญใจ และเป็นหญิงหม้ายไม่มีบุตร
ปราศจากญาติมิตร ไม่ได้ความบริบูรณ์ด้วยอาหารและผ้า
[๑๒๓] ถือภาชนะและไม้เท้า เที่ยวขอทานจากตระกูลหนึ่งไปยังตระกูลหนึ่ง
ถูกความหนาวและความร้อนเบียดเบียน เที่ยวขอทานอยู่ถึง ๗ ปี
[๑๒๔] ต่อมาภายหลัง ได้พบปฏาจาราภิกษุณีผู้ได้ข้าวและน้ำอยู่เป็น
ประจำ จึงเข้าไปขอบวชเป็นบรรพชิต
[๑๒๕] และพระปฏาจาราภิกษุณีนั้นก็ได้กรุณาบวชให้เรา
ต่อมาท่านก็สั่งสอนเราให้ประกอบในประโยชน์อย่างยิ่ง
[๑๒๖] เราฟังคำของท่านแล้วได้ทำตามคำสอน
โอวาทของพระแม่เจ้าไม่เป็นโมฆะ
เราได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ
ปัญจกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๑. ปัญจสตมัตตาเถรีคาถา
๖. ฉักกนิบาต
๑. ปัญจสตมัตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระปัญจสตมัตตาเถรี
(พระปฏาจาราเถรีกล่าวอบรมพระเถรี ๕๐๐ รูป ทีละรูปว่า)
[๑๒๗] ท่านไม่รู้ทางของสัตว์ใดผู้มาแล้วหรือไปแล้ว
เหตุไฉน ท่านจึงร้องไห้ถึงสัตว์ที่มาแล้วนั้นว่า บุตรของเรา
[๑๒๘] ถึงท่านจะรู้ทางของเขาผู้มาแล้วหรือไปแล้ว
ก็ไม่ควรเศร้าโศกถึงเขาเลย
เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมมีอย่างนี้เป็นธรรมดา
[๑๒๙] สัตว์ผู้ใคร ๆ มิได้เชื้อเชิญก็มาจากปรโลกนั้น
ใคร ๆ ยังมิได้อนุญาตก็ไปจากโลกนี้
เขามาจากที่ไหนกันแน่หนอ อยู่ได้ ๒-๓ วัน
แล้วก็ไปจากภพนี้สู่ภพอื่นก็มี จากภพนั้นไปสู่ภพอื่นก็มี
[๑๓๐] เขาละไปแล้ว จะท่องเที่ยวไปโดยรูปร่างของมนุษย์
เขามาอย่างใด ก็ไปอย่างนั้น
ในเพราะเหตุนั้นจะร่ำไห้ไปทำไม
(พระเถรีประมาณ ๕๐๐ รูป กล่าวทีละรูปด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๓๑] ท่านได้บรรเทาความโศกถึงบุตรของดิฉันซึ่งถูกความโศกครอบงำ
นับว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศกที่เห็นได้ยาก
ซึ่งเสียบที่หทัยของดิฉันขึ้นแล้วหนอ
[๑๓๒] วันนี้ ดิฉันช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นได้แล้ว
หายอยาก ดับสนิทแล้ว
ขอถึงพระมุนีพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๓. เขมาเถรีคาถา
๒. วาสิฏฐีเถรีคาถา
ภาษิตของพระวาสิฏฐีเถรี
พระวาสิฏฐีเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๓๓] เรากระทบกระเทือนใจเพราะความเศร้าโศกถึงบุตร
มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่รู้สึกตัว
เปลือยกายและมีผมรุงรัง เที่ยวร้องไห้ไปตามที่ต่าง ๆ
[๑๓๔] ได้เที่ยวไปตามถนน กองขยะ ในป่าช้า
ในตรอกใหญ่ตรอกน้อย อด ๆ อยาก ๆ ถึง ๓ ปี
[๑๓๕] ภายหลัง ได้พบพระสุคตผู้ฝึกคนที่ยังไม่ได้ฝึก
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ไม่เกิดความกลัวแต่ที่ไหน ๆ กำลังเสด็จไปยังกรุงมิถิลา
[๑๓๖] กลับได้สติแล้วเข้าไปถวายบังคม
พระโคดมพระองค์นั้น ได้ทรงพระกรุณาแสดงธรรมโปรดเรา
[๑๓๗] เราฟังธรรมของพระองค์แล้วบวชเป็นบรรพชิต
เพียรพยายามในคำสอนของพระศาสดา
ได้ทำให้แจ้งซึ่งบทธรรมอันปลอดโปร่ง
[๑๓๘] ถอนและละความโศกทั้งหมดได้แล้ว
เพราะเรากำหนดรู้วัตถุคืออุปาทานขันธ์ ๕
ซึ่งเป็นเหตุเกิดแห่งความโศกทั้งหลายได้

๓. เขมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระเขมาเถรี
(มารใจบาปเมื่อจะประเล้าประโลมพระเถรีด้วยกามคุณ จึงได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๑๓๙] เธอยังเป็นสาว มีรูปสวย ถึงเราก็ยังหนุ่มรุ่น
มาสิ เขมา เรามาร่วมอภิรมย์กันด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๔. สุชาตาเถรีคาถา
พระเขมาเถรี(เมื่อจะประกาศความไม่ยินดีของตน จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๔๐] เราอึดอัดเอือมระอาด้วยกายที่เปื่อยเน่า กระสับกระส่าย
ซึ่งมีอันจะแตกพังไปเป็นธรรมดานี้อยู่
เราถอนกามตัณหาได้แล้ว
[๑๔๑] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
เป็นเขียงรองสับขันธ์ทั้งหลาย
บัดนี้เราไม่มีความยินดีในกามที่ท่านพูดถึง
[๑๔๒] เรากำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว
[๑๔๓] พวกคนเขลาไม่รู้ตามความเป็นจริง
พากันนอบน้อมดวงดาวทั้งหลาย
บูชาไฟอยู่ในป่าแล้วได้สำคัญว่าบริสุทธิ์
[๑๔๔] ส่วนเราแล นอบน้อมเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นบุรุษสูงสุด จึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา

๔. สุชาตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุชาดาเถรี
(พระสุชาดาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ ด้วยการเปล่งอุทานว่า)
[๑๔๕] เราแต่งตัว นุ่งห่มผ้าอย่างดี สวมมาลัย ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง มีหมู่สาวใช้แวดล้อม
[๑๔๖] ใช้หมู่สาวใช้ให้ถือข้าว น้ำ ของเคี้ยว และของบริโภคมิใช่น้อย
นำออกจากเรือนไปยังอุทยาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๕. อโนปมาเถรีคาถา
[๑๔๗] รื่นรมย์สนุกสนานในอุทยานนั้นแล้ว
ขณะเดินกลับเรือนตน
แวะเข้าไปในป่าอัญชันใกล้เมืองสาเกตเพื่อชมวิหาร
[๑๔๘] ได้พบพระพุทธเจ้าผู้เป็นแสงสว่างของโลกแล้วเข้าไปเฝ้า
ถวายอภิวาทพระองค์ผู้มีพระจักษุ
ได้ทรงพระกรุณาแสดงธรรมโปรดเรา
[๑๔๙] และเราได้ฟังธรรมเทศนาของพระองค์
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
ก็ได้รู้แจ้งชัดสัจจะ ได้สัมผัสธรรมคืออมตบท
ซึ่งปราศจากกิเลสดุจธุลีในที่นั้นนั่นเอง
[๑๕๐] ต่อแต่นั้น ได้รู้แจ้งพระสัทธรรม
แล้วบวชเป็นบรรพชิต
ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่เปล่าปราศจากประโยชน์เลย

๕. อโนปมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอโนปมาเถรี
(พระอโนปมาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ด้วยการเปล่งอุทานว่า)
[๑๕๑] เราเกิดในตระกูลสูงมีสิ่งของเครื่องปลื้มใจมาก
มีทรัพย์มาก สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณสัณฐานและรูปร่าง
เป็นธิดาซึ่งเป็นลูกแท้ ๆ ของเมฆีเศรษฐี
[๑๕๒] เป็นผู้ที่พระราชโอรสปรารถนา บุตรเศรษฐีหมายปอง
เขาพากันส่งทูตไปขอต่อบิดาของเราว่า ขอจงให้อโนปมาแก่เรา
[๑๕๓] อโนปมาธิดาของท่านนั้นมีค่าตัวเท่าใด
เราจะให้เงินและทองเป็น ๘ เท่าต่อค่าตัวนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๗๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๖. มหาปชาปติโคตมีเถรีคาถา
[๑๕๔] เรานั้นได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดในโลก
ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า แล้วเข้าไปเฝ้า ณ ที่สมควร
ได้ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์
[๑๕๕] พระโคดมพระองค์นั้นได้ทรงพระกรุณาแสดงธรรมโปรดเรา
เรานั่งอยู่ ณ อาสนะนั้น ก็ได้บรรลุผลที่ ๓๑
[๑๕๖] ครั้นแล้วก็โกนผมบวชเป็นบรรพชิต
วันนี้เป็นคืนที่ ๗ นับแต่วันที่เราทำตัณหาให้แห้งสนิทแล้ว

๖. มหาปชาปติโคตมีเถรีคาถา
ภาษิตของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
(พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีประสงค์จะสดุดีพระคุณพระศาสดา จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๕๗] พระพุทธเจ้าผู้ทรงแกล้วกล้าสูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระพุทธองค์ผู้ทรงช่วยปลดเปลื้องหม่อมฉัน
และชนอื่นเป็นจำนวนมากให้พ้นจากทุกข์
[๑๕๘] หม่อมฉันกำหนดรู้ทุกข์ทั้งปวงแล้ว
ทำตัณหาซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ให้เหือดแห้งแล้ว
ได้เจริญมรรคซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ และได้บรรลุนิโรธแล้ว
[๑๕๙] ชนทั้งหลายเป็นมารดาบิดา เป็นบุตรธิดา เป็นพี่น้อง
เป็นปู่ย่าตายายกันมาในชาติก่อน ๆ
หม่อมฉันไม่รู้ตามความเป็นจริง
ไม่พบที่พึ่งจึงท่องเที่ยวไป

เชิงอรรถ :
๑ อนาคามิผล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๗. คุตตาเถรีคาถา
[๑๖๐] เพราะหม่อมฉันได้พบพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว
ร่างกายนี้เป็นร่างกายที่มีในภพสุดท้าย
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก
[๑๖๑] ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรพระสาวกทั้งหลาย
ผู้บำเพ็ญเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ พร้อมเพรียงกัน
การกระทำโลกุตตรธรรมให้ประจักษ์แก่ตนนี้
นับว่าเป็นการประกาศพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระพุทธสาวก
[๑๖๒] พระนางเจ้ามหามายาเทวี ประสูติพระโคดมมา
เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากหนอ
เพราะพระองค์ได้ทรงบรรเทากองทุกข์ ของสัตว์ทั้งหลาย
ที่ยังถูกพยาธิและมรณะทิ่มแทงแล้ว

๗. คุตตาเถรีคาถา
ภาษิตของพระคุตตาเถรี
(พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงอนุเคราะห์พระคุตตาเถรีได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๖๓] คุตตา การละบุตรและสมบัติอันเป็นที่รัก
ออกบวชเพื่อประโยชน์แก่นิพพานใด
เธอจงพอกพูนนิพพานนั้นเนือง ๆ เถิด
อย่าตกอยู่ในอำนาจจิต
[๑๖๔] สัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่รู้แจ้ง ถูกจิตลวงแล้ว
ยินดีในสิ่งที่เป็นวิสัยของมาร
ย่อมพากันท่องเที่ยวไปสู่ชาติสงสารมิใช่น้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๘. วิชยาเถรีคาถา
[๑๖๕] ภิกษุณี เธอละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อย่างนี้ คือ
สักกายทิฏฐิ๑ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
กามราคะ ปฏิฆะ
[๑๖๖] ให้ขาดแล้ว อย่าได้กลับมาสู่กามภพนี้อีก
[๑๖๗] เธอละเว้นรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
ตัดสังโยชน์ทั้งหลายแล้ว จะทำที่สุดทุกข์ได้
[๑๖๘] ทำชาติสงสารให้สิ้นไปแล้ว
กำหนดรู้ภพใหญ่
หมดความทะยานอยาก
จะเป็นผู้สงบระงับอยู่ในปัจจุบัน

๘. วิชยาเถรีคาถา
ภาษิตของพระวิชยาเถรี
(พระวิชยาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ด้วยการรเปล่งอุทานว่า)
[๑๖๙] เราบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้
จึงไม่ได้ความสงบใจ
ต้องเข้าออกจากที่อยู่ถึง ๔-๕ ครั้ง
[๑๗๐] จึงเข้าไปหาพระเขมาภิกษุณี
ไต่ถามโดยเคารพ
ท่านแสดงธรรมโปรดเรา คือ ธาตุ อายตนะ

เชิงอรรถ :
๑ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน) วิจิกิจฉา (ความสงสัย) สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่น
ศีลพรต) กามราคะ (ความกำหนัดในกาม) ปฏิฆะ (ความหงุดหงิดขัดเคือง) รูปราคะ (ความปรารถนา
ในรูปภพ) อรูปราคะ (ความปรารถนาในอรูปภพ) มานะ (ความสำคัญตน) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าาน)
อวิชชา (ความไม่รู้จริง)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๖. ฉักกนิบาต] ๘. วิชยาเถรีคาถา
[๑๗๑] อริยสัจ ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗
และมรรคมีองค์ ๘ เพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุด
[๑๗๒] เราฟังคำของท่านแล้วได้ปฏิบัติตามที่ท่านพร่ำสอน
ในปฐมยามแห่งราตรีก็ระลึกชาติก่อนได้
[๑๗๓] ในมัชฌิมยามแห่งราตรี ก็ชำระทิพยจักษุให้หมดจดได้
ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ทำลายกองแห่งความมืดได้
[๑๗๔] ในกาลนั้น เรามีความสุขซึ่งเกิดแต่ปีติแผ่ไปทั่วร่างกายอยู่
ในวันที่ ๗ ก็ได้ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
จึงเหยียดเท้าออก
ฉักกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๗. สัตตกนิบาต] ๑. อุตตราเถรีคาถา
๗. สัตตกนิบาต
๑. อุตตราเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุตตราเถรี
(พระปฏาจาราเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๗๕] มาณพทั้งหลายถือสากตำข้าว
ได้ทรัพย์มาเลี้ยงดูบุตรและภรรยา
[๑๗๖] ท่านทั้งหลายจงพากเพียรในคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่กระทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง
จงรีบล้างเท้าแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๑๗๗] จงตั้งจิตให้แน่วแน่มีอารมณ์เดียวแล้ว
พิจารณาสังขารทั้งหลายโดยความเป็นของแปรปรวน
และโดยความเป็นของไม่ใช่ของตน
พระอุตตราเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๗๘] เราฟังคำพร่ำสอนของพระปฏาจาราเถรีนั้นแล้ว
ล้างเท้า เข้าไปนั่ง ณ ที่สมควร
[๑๗๙] ในปฐมยามแห่งราตรีระลึกชาติก่อนได้แล้ว
ในมัชฌิมยามแห่งราตรีชำระทิพยจักขุให้หมดจดได้
[๑๘๐] ในปัจฉิมยามแห่งราตรีทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
ได้บรรลุวิชชา ๓ จึงลุกจากอาสนะ ในภายหลัง
ได้ทำตามคำสอนของท่านแล้ว
[๑๘๑] จะอยู่แวดล้อมท่าน
เหมือนเทวดาชั้นดาวดึงส์แวดล้อมท้าวสักกะผู้ไม่แพ้ในสงคราม
เราได้บรรลุวิชชา ๓ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๗. สัตตกนิบาต] ๒. จาลาเถรีคาถา
๒. จาลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระจาลาเถรี
พระจาลาเถรี(เมื่อจะกล่าวภาษิตที่มารกล่าวแก่ตน จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๘๒] เราเป็นภิกษุณี อบรมอินทรีย์แล้ว ตั้งสติไว้มั่น
รู้แจ้งบทอันสงบเป็นเหตุเข้าไปสงบระงับสังขารเป็นสุข
(มารถามว่า)
[๑๘๓] ท่านมีศีรษะโล้นบวชเจาะจงใครหนอ
วางตัวเหมือนสมณะ ท่านไม่ชอบใจลัทธิเดียรถีย์
ทำไมยังมางมงายประพฤติทางผิดนี้อยู่เล่า
(พระจาลาเถรีตอบว่า)
[๑๘๔] เหล่าชนที่ถือลัทธิเดียรถีย์นอกจากศาสนานี้
ยึดมั่นทิฏฐิทั้งหลาย
ไม่รู้แจ้งธรรม ไม่ฉลาดในธรรม
[๑๘๕] ส่วนพระพุทธเจ้า เสด็จอุบัติในตระกูลศากยะ ไม่มีผู้ใด
เปรียบปราน พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเรา
อันเป็นอุบายล่วงเสียซึ่งทิฏฐิทั้งหลาย คือ
[๑๘๖] ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๑๘๗] เราฟังคำสอนของพระองค์แล้ว ยินดีอยู่ในคำสอน
ได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๑๘๘] เรากำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๗. สัตตกนิบาต] ๓. อุปจาลาเถรีคาถา
๓. อุปจาลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุปจาลาเถรี
พระอุปจาลาเถรี(เมื่อจะกล่าวภาษิตที่มารกล่าวแก่ตนจึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๘๙] เราเป็นภิกษุณี มีสติ มีจักษุ อบรมอินทรีย์แล้ว
รู้แจ้งบทอันสงบซึ่งอุดมบุรุษคบหาแล้ว
(มารถามว่า)
[๑๙๐] ทำไม แม่นางจึงไม่ชอบใจความเกิด
เพราะธรรมดาผู้เกิดมาแล้วย่อมบริโภคกามทั้งหลาย
เชิญแม่นางบริโภคความยินดีในกามทั้งหลายเถิด
แม่นางอย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย
(พระอุปจาลาเถรีตอบว่า)
[๑๙๑] ผู้เกิดมาแล้วจะต้องตาย จะต้องถูกตัดมือตัดเท้า
ถูกฆ่า ถูกจองจำ เกิดมาแล้วจำต้องประสบทุกข์
[๑๙๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติในตระกูลศากยะ
ผู้ทรงชนะแล้ว ทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม
โปรดเราอันเป็นอุบายล่วงเสียซึ่งชาติ คือ
[๑๙๓] ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีด้วยองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๑๙๔] เราได้ฟังคำสอนของพระองค์แล้ว ยินดีอยู่ในคำสอน
ได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๑๙๕] กำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว
สัตตกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๘. อัฏฐกนิบาต] ๑. สีสูปจาลาเถรีคาถา
๘. อัฏฐกนิบาต
๑. สีสูปจาลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสีสูปจาลาเถรี
(พระสีสูปจาลาเถรีเมื่อจะกล่าวภาษิตที่มารกล่าวแก่ตนจึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๑๙๖] ภิกษุณี ผู้มีศีลสมบูรณ์ สำรวมอินทรีย์ดีแล้ว
บรรลุบทอันสงบที่ใครทำให้เสียหายมิได้ มีสภาวะชื่นใจ
(มารถามว่า)
[๑๙๗] แม่นางจงตั้งจิตปรารถนาไว้ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์
ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
ที่แม่นางเคยอยู่มาแล้วแต่ก่อนเถิด
(พระสีสูปจาลาเถรีตอบว่า)
[๑๙๘] เทวดาชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี
และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
[๑๙๙] พากันไปจากภพสู่ภพตลอดกาล ติดอยู่ในกายตน
ล่วงกายของตนไปไม่ได้ ก็แล่นไปหาชาติและมรณะ
[๒๐๐] โลกทั้งปวงถูกไฟไหม้ ลุกโพลงโชติช่วง หวั่นไหวแล้ว
[๒๐๑] พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ไม่หวั่นไหว ชั่งไม่ได้
ปุถุชนเสพไม่ได้ โปรดเรา ใจของเรายินดีนักในธรรมนั้น
[๒๐๒] เราฟังคำสอนของพระองค์แล้ว ยินดีอยู่ในคำสอน
ได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๒๐๓] กำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวง
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว มารผู้ชั่วช้าเลวทราม
ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ท่านถูกเรากำจัดแล้ว
อัฏฐกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๙. นวกนิบาต] ๑. วัฑฒมาตุเถรีคาถา
๙. นวกนิบาต
๑. วัฑฒมาตุเถรีคาถา
ภาษิตของพระวัฑฒมาตาเถรี
(พระวัฑฒมาตาเถรีเมื่อจะกล่าวตักเตือนพระวัฑฒเถระ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[๒๐๔] ลูกวัฑฒะ กิเลสดุจหมู่ไม้ในป่า ในโลก
อย่าได้มีแก่พ่อไม่ว่าในกาลไหน ๆ เลย
ลูกเอ๋ย ลูกอย่าได้เป็นผู้มีความทุกข์ร่ำไปเลย
[๒๐๕] ลูกวัฑฒะ พระมุนีทั้งหลาย ไม่หวั่นไหว
ตัดความสงสัยเสียได้ เป็นผู้เย็น
ถึงความฝึกฝนแล้วเป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่อย่างสบาย
[๒๐๖] ลูกวัฑฒะ พ่อพึงพอกพูนมรรค
ซึ่งเป็นทางที่ท่านผู้แสวงหาคุณเหล่านั้นประพฤติกันมาแล้ว
เพื่อบรรลุญาณทัสนะ เพื่อทำที่สุดทุกข์
(พระวัฑฒะเถระ กล่าวตอบด้วยภาษิตนี้ว่า)
[๒๐๗] โยมมารดาบังเกิดเกล้า โยมกล้ากล่าวคาถานี้แก่ลูก
โยมมารดา ลูกเข้าใจว่า
กิเลสดุจหมู่ไม้ในป่าของโยมมารดาคงไม่มีแน่ละ
(พระเถรีกล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๐๘] ลูกวัฑฒะ สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งเลว ประณีต และปานกลาง
กิเลสดุจหมู่ไม้ในป่าในสังขารเหล่านั้นของโยมแม่
อณูหนึ่งก็ดี ขนาดอณูหนึ่งก็ดี ไม่มีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๙. นวกนิบาต] ๑. วัฑฒมาตุเถรีคาถา
[๒๐๙] เมื่อโยมแม่ไม่ประมาทเพ่งอยู่
อาสวะหมดสิ้นแล้ว
โยมแม่บรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
(พระเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๑๐] โยมมารดาได้มอบปฏัก
คือโอวาทอันโอฬารแก่เราหนอ
โยมมารดาของเราได้กล่าวภาษิตที่ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง
เหมือนมารดาผู้อนุเคราะห์อื่น ๆ
[๒๑๑] ลูกฟังคำพร่ำสอนของโยมมารดาบังเกิดเกล้านั้นแล้ว
ถึงความสลดใจในธรรม
เพื่อบรรลุธรรมที่ปลอดโปร่งจากโยคะกิเลส
[๒๑๒] เรานั้นถูกโยมมารดาเตือนอยู่
มีใจเด็ดเดี่ยว
ด้วยการบำเพ็ญเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
ได้สัมผัสความสงบอย่างยอดเยี่ยมแล้ว
นวกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๘๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๐. เอกาทสกนิบาต] ๑. กีสาโคตมีเถรีคาถา
๑๐. เอกาทสกนิบาต
๑. กีสาโคตมีเถรีคาถา
ภาษิตของพระกีสาโคตมีเถรี
(พระกีสาโคตมีเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๑๓] พระมุนีกล่าวสรรเสริญความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ไว้เฉพาะชาวโลกว่า ผู้คบกัลยาณมิตร
ถึงแม้จะเป็นพาล ก็จะพึงเป็นบัณฑิตได้บ้าง
[๒๑๔] สัตบุรุษเป็นคนที่ควรคบ
ผู้คบสัตบุรุษ ปัญญาย่อมเจริญได้แน่นอน
ผู้คบสัตบุรุษ พึงพ้นจากทุกข์ทั้งมวลได้
[๒๑๕] และพึงรู้แจ้งอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ ๑ เหตุให้เกิดทุกข์ ๑ ความดับทุกข์ ๑
อริยมรรคมีองค์แปด ๑
(ยักษิณีกล่าวว่า)
[๒๑๖] พระผู้มีพระภาคเป็นสารถีผู้ทรงฝึกคนที่ควรฝึก
ตรัสว่า ความเป็นหญิงเป็นทุกข์
เพราะแม้ความเป็นหญิงมีสามีร่วมกันก็เป็นทุกข์
หญิงบางพวกคลอดครั้งเดียว
[๒๑๗] อดกลั้นความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะการคลอดบุตรไม่ไหว
จึงเชือดคอตนเองเสียก็มี
บางพวกมีร่างกายอ่อนแอ
ทนความลำบากไม่ได้ กินยาพิษเสียก็มี
เด็กอยู่ในครรภ์ และมารดาผู้มีครรภ์
ย่อมประสบความย่อยยับทั้งสองคนก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๐. เอกาทสกนิบาต] ๑. กีสาโคตมีเถรีคาถา
(พระปฏาจาราเถรีกล่าวว่า)
[๒๑๘] เราเวลามีครรภ์แก่ใกล้คลอด
เดินทางไปยังไม่ทันถึงเรือนตน
ก็คลอดบุตรที่ระหว่างทาง พบสามีตาย
[๒๑๙] บุตรทั้งสองก็ตาย สามีก็ตายเสียที่ระหว่างทาง
มารดาบิดา และพี่ชายของเราผู้กำพร้า
ถูกเผาอยู่บนเชิงตะกอนเดียวกัน
(พระกีสาโคตมีเถรีกล่าวว่า)
[๒๒๐] เจ้า เมื่อสิ้นตระกูลแล้ว ตกเป็นคนกำพร้า
เสวยทุกข์หาประมาณมิได้
ก็แลน้ำตาของเจ้าไหลตลอดมาหลายพันชาติ
[๒๒๑] เราเห็นเจ้าและเนื้อบุตรของเจ้า
ถูกสุนัขเป็นต้นกัดกินที่ท่ามกลางป่าช้า
เราพร้อมกับสามีมีตระกูลฉิบหายแล้ว
ถูกชนทั้งปวงติเตียนแล้วได้บรรลุอมตธรรม
[๒๒๒] อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงอมตธรรม
เราได้เจริญแล้ว
แม้นิพพานเราก็ทำให้แจ้งแล้ว
เราได้พบกระจกคือธรรมแล้ว
[๒๒๓] ตัดลูกศรเสียได้ ปลงภาระได้แล้ว
กระทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
กีสาโคตมีเถรีผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว
ได้กล่าวเนื้อความนี้ไว้
เอกาทสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๑. ทวาทสกนิบาต] ๑. อุปลวัณณาเถรีคาถา
๑๑. ทวาทสกนิบาต
๑. อุปลวัณณาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุบลวรรณาเถรี
(พระอุบลวรรณาเถรีอาศัยภาษิตที่โยมมารดาของพระคังคาตีริยเถระกล่าว จึง
ได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๒๒๔] เรา ๒ คน คือ มารดาและธิดามีสามีร่วมกัน
เรานั้นได้มีความสลดใจ ขนพองสยองเกล้าอย่างไม่เคยมี
[๒๒๕] น่าติเตียนนัก กามทั้งหลายไม่สะอาด
มีกลิ่นเหม็น มีหนามมาก
ที่เรา ๒ คน คือ มารดาและธิดา เป็นภริยาร่วมกัน
[๒๒๖] เรานั้นเห็นโทษในกามทั้งหลาย
เห็นการออกจากกามโดยความปลอดโปร่ง
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในกรุงราชคฤห์
(พระอุบลวรรณาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๒๗] เราระลึกชาติก่อนได้ ทิพพจักขุ เจโตปริยญาณ
และโสตธาตุ เราชำระให้หมดจดแล้ว
[๒๒๘] แม้ฤทธิ์เราทำให้แจ้งแล้ว
เราบรรลุความสิ้นอาสวะแล้ว
ทำอภิญญา ๖ ให้แจ้งแล้ว
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๒๒๙] เราเนรมิตรถเทียมด้วยม้า ๔ ตัวด้วยฤทธิ์
มาถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นที่พึ่งของโลก ทรงพระสิริ แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๑. ทวาทสกนิบาต] ๑. อุปลวัณณาเถรีคาถา
(มารเห็นพระเถรีนั่งอยู่ที่พักกลางวัน ได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๒๓๐] ท่านเข้าไปใกล้ต้นไม้ที่มีดอกบานสะพรั่งถึงยอด
ยืนอยู่แต่ผู้เดียวที่โคนต้นไม้
และแม้เพื่อนไร ๆ ของท่านก็ไม่มี
ท่านไม่กลัวความสามหาวของพวกนักเลงเจ้าชู้หรือ
(พระอุบลวรรณาเถรีเมื่อจะคุกคามมาร จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๓๑] ต่อให้นักเลงเจ้าชู้ตั้งแสนคนเช่นนี้ห้อมล้อม
แม้เพียงขนของเราก็ไม่พึงหวั่นไหว ไม่สะเทือน
มาร ท่านผู้เดียวจะทำอะไรเราได้
[๒๓๒] เรานั้น หายตัวก็ได้ เข้าท้องท่านก็ได้
ยืนอยู่ระหว่างคิ้วของท่านก็ได้
เรายืนอยู่ ท่านก็มองไม่เห็น
[๒๓๓] เรามีจิตเชี่ยวชาญ อบรมอิทธิบาทดีแล้ว
เราทำอภิญญา ๖ ให้แจ้งแล้ว
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๒๓๔] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
เป็นเขียงรองสับขันธ์ทั้งหลาย
บัดนี้ เราไม่มีความยินดีในกามที่ท่านพูดถึง
[๒๓๕] กำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว
ทวาทสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๒. โสฬสกนิบาต] ๑. ปุณณาเถรีคาถา
๑๒. โสฬสกนิบาต
๑. ปุณณาเถรีคาถา
ภาษิตของพระปุณณาเถรี
พระปุณณาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๓๖] เราเป็นคนตักน้ำ กลัวต่อภัยคืออาชญาของนาย
ถูกภัยคือวาจาและโทสะของนายบีบคั้นแล้ว
จึงลงตักน้ำเป็นประจำ แม้หน้าหนาว
[๒๓๗] ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวอะไรนะ จึงลงอาบน้ำเป็นประจำ
ทั้งมีตัวสั่นเทา ประสบความหนาวอย่างหนัก
(พราหมณ์กล่าวตอบด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๓๘] แม่ปุณณาผู้เจริญ ก็ท่านรู้อยู่ว่า
ฉันกำลังทำกุศลกรรมอันจะปิดกั้นบาปกรรม
ที่ตัวได้ก่อไว้ ยังจะสอบถามอีก
[๒๓๙] ผู้ใดไม่ว่าแก่หรือหนุ่มก่อบาปกรรมไว้
แม้ผู้นั้นย่อมพ้นจากบาปกรรมได้อย่างสิ้นเชิงก็เพราะการอาบน้ำ
(พระปุณณาเถรีกล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๔๐] ใครหนอช่างไม่รู้ มาบอกความนี้แก่ท่านซึ่งไม่รู้ว่า
คนจะพ้นจากบาปกรรมได้ก็เพราะการอาบน้ำ
[๒๔๑] พวกกบ เต่า งู จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่น
ที่เที่ยวหากินอยู่ในน้ำทั้งหมดก็คงพากันไปสวรรค์แน่แท้
[๒๔๒] คนฆ่าแกะ คนฆ่าสุกร ชาวประมง พรานเนื้อ
โจร เพชฌฆาต และคนที่ก่อบาปกรรมอื่น ๆ แม้เหล่านั้น
ก็จะพึงพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการอาบน้ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๒. โสฬสกนิบาต] ๑. ปุณณาเถรีคาถา
[๒๔๓] ถ้าแม่น้ำเหล่านี้จะพึงนำบาปที่ท่านก่อไว้แต่ก่อนไปได้
แม่น้ำเหล่านี้ก็จะพึงนำทั้งบุญของท่านไปด้วย
ท่านก็จะพึงเป็นผู้ห่างจากบุญกรรมนั้นไป
[๒๔๔] ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวบาปใด จึงลงอาบน้ำเป็นประจำ
ท่านก็อย่าได้ทำบาปอันนั้น
ขอความหนาวเย็นอย่าได้ทำลายผิวท่านเลย
(พราหมณ์กล่าวตอบด้วยภาษิตว่า)
[๒๔๕] ท่านนำฉันผู้เดินทางผิดมาสู่ทางที่พระอริยะเดินแล้วด้วยดี
แม่ปุณณาผู้เจริญ ฉันขอถวายผ้าสาฏกสำหรับสรงน้ำนี้แก่ท่าน
(พระปุณณาเถรีได้กล่าวตอบด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๔๖] ผ้าสาฏกจงเป็นของท่านตามเดิมเถิด เราไม่ต้องการผ้าสาฏก
ถ้าท่านกลัวทุกข์ ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่าน
[๒๔๗] ท่านก็อย่าได้ก่อกรรมชั่วทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
ถ้าท่านจะทำ หรือกำลังทำกรรมชั่ว
[๒๔๘] ท่านถึงจะเหาะหนีไป ก็ไม่พ้นจากทุกข์ไปได้เลย
ถ้าท่านกลัวทุกข์ ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่าน
[๒๔๙] ท่านจงถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ผู้คงที่
ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด จงสมาทานศีล
ข้อนั้นแหละจะเป็นความหลุดพ้นแก่ท่าน
(พราหมณ์กล่าวตอบด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๕๐] ฉันขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ผู้คงที่
ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ขอสมาทานศีล ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ฉัน
[๒๕๑] เมื่อก่อน ฉันเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม
วันนี้ ฉันเป็นพราหมณ์จริง ฉันได้วิชชา ๓ มีความสวัสดี
จบเวท และเป็นผู้ล้างบาปได้แล้ว
โสฬสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๑. อัมพปาลีเถรีคาถา
๑๓. วีสตินิบาต
๑. อัมพปาลีเถรีคาถา
ภาษิตของพระอัมพปาลีเถรี
(พระอัมพปาลีเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๒๕๒] เมื่อก่อน ผมของเรามีสีดำเหมือนสีแมลงภู่
มีปลายผมงอน เดี๋ยวนี้ ผมเหล่านั้น
กลายสภาพเป็นเหมือนป่านและปอเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๕๓] เมื่อก่อน มวยผมของเราเต็มด้วยดอกไม้หอมกรุ่น
เหมือนผอบที่อบกลิ่น
เดี๋ยวนี้ ผมนั้นมีกลิ่นเหมือนขนกระต่ายเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๕๔] เมื่อก่อน ผมของเราดกงาม
มีปลายผมรวบไว้ด้วยหวีและปิ่นปักผม
เหมือนป่าไม้ทึบ ที่ปลูกไว้เป็นระเบียบ งามสะพรั่ง
เดี๋ยวนี้ ผมนั้นบางลง ๆ ทั่วศีรษะเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๕๕] เมื่อก่อน ผมของเราตกแต่งด้วยช้องผม
ประดับด้วยปิ่นทองคำอันละเอียดมีกลิ่นหอม งดงาม
เดี๋ยวนี้ ผมนั้นล้านเลี่ยนทั้งศีรษะ
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๑. อัมพปาลีเถรีคาถา
[๒๕๖] เมื่อก่อน คิ้วของเรา สวยงามนัก
คล้ายรอยเขียนที่จิตรกรบรรจงเขียนไว้
เดี๋ยวนี้คิ้วนั้นมีรอยย่นห้อยลงเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๕๗] เมื่อก่อน ดวงตาทั้งคู่ของเราดำขลับ
กลมโต มีประกายงาม คล้ายแก้วมณี
เดี๋ยวนี้ ถูกชราทำลายเสียแล้ว จึงไม่งาม
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๕๘] เมื่อก่อน เวลายังรุ่นสาว จมูกของเราโด่ง งาม
เหมือนเกลียวหรดาลที่ปั้นวางไว้
เดี๋ยวนี้เหี่ยวแฟบเหมือนจะจมลงไปเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๕๙] เมื่อก่อน ใบหูทั้งสองของเราสวยงามนัก
เหมือนกำไลแขนที่ช่างทำอย่างประณีต เสร็จเรียบร้อยแล้ว
เดี๋ยวนี้กลับมีรอยย่นห้อยลงเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๐] เมื่อก่อน ฟันของเราสวยงามนัก
เหมือนสีหน่อตูมของต้นกล้วย
เดี๋ยวนี้ กลับหัก มีสีเหลืองปนแดงเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๑. อัมพปาลีเถรีคาถา
[๒๖๑] เมื่อก่อน เราพูดเสียงไพเราะ เหมือนนกดุเหว่า
ที่เที่ยวไปในไพรสณฑ์ ส่งเสียงไพเราะอยู่ในป่าใหญ่
เดี๋ยวนี้คำพูดของเราพลาดไป ทุก ๆ คำเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๒] เมื่อก่อน คอของเราสวยงามนัก
กลมเกลี้ยงเหมือนสังข์ทองขัดเกลาดีแล้ว
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นงุ้มค่อมลงเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่วามจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๓] เมื่อก่อน แขนทั้งสองของเราสวยงามนัก
เหมือนไม้กลอนกลมกลึง
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นลีบ เหมือนกิ่งแคคดเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๔] เมื่อก่อน มือทั้งสองของเราสวยงามนัก
ประดับด้วยแหวนทองงามระยับ
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นเหมือนเหง้ามันเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๕] เมื่อก่อน ถันทั้งสองของเราเต่งตึงกลมกลึง
ตั้งประชิดกัน ทั้งงอนสล้างสวยงามนัก
เดี๋ยวนี้ กลายเป็นหย่อนยานเหมือนถุงหนังไม่มีน้ำเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๑. อัมพปาลีเถรีคาถา
[๒๖๖] เมื่อก่อน ร่างกายของเราเกลี้ยงเกลาสวยงามนัก
เหมือนอย่างแผ่นทองคำที่ขัดดีแล้ว
เดี๋ยวนี้ ดื่นไปด้วยรอยเหี่ยวย่นอันละเอียดเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๗] เมื่อก่อน ขาอ่อนทั้งสองของเราสวยงามนัก
เปรียบเหมือนงวงช้าง
เดี๋ยวนี้ เป็นปมเป็นปุ่ม เหมือนข้อไม้ไผ่เพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๘] เมื่อก่อน แข้งทั้งสองของเรา ประดับด้วยกำไลทอง
เกลี้ยงเกลาสวยงามนัก
เดี๋ยวนี้ กลับเหี่ยวแห้งเหมือนต้นงาแห้งเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๖๙] เมื่อก่อน เท้าทั้งสองของเราสวยงามนัก
เปรียบเหมือนรองเท้ายัดปุยนุ่น
เดี๋ยวนี้ แตกเป็นริ้วรอยเพราะชรา
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น
[๒๗๐] เดี๋ยวนี้ ร่างกายนี้เป็นเช่นนี้ คร่ำคร่าเพราะชรา
เป็นแหล่งที่อยู่แห่งทุกข์เป็นอันมาก
ปราศจากเครื่องลูบไล้ เป็นดุจเรือนอันคร่ำคร่า
พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง
เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๕๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๒. โรหิณีเถรีคาถา
๒. โรหิณีเถรีคาถา
ภาษิตของพระโรหิณีเถรี
(พระโรหิณีเถรีกล่าวภาษิตที่บิดาและตนเองพูดจาโต้ตอบกันด้วยการเปล่งอุทาน
ว่า)
(บิดาถามเราว่า)
[๒๗๑] แม่โรหิณีผู้เจริญ เจ้าหลับก็พูดว่า“สมณะ”
ตื่นก็พูดว่า “สมณะ”
สรรเสริญแต่สมณะเท่านั้น
เห็นทีลูกจะบวชเป็นสมณะเสียแน่แท้
[๒๗๒] โรหิณี ลูกถวายข้าวและน้ำอย่างไพบูลย์แก่เหล่าสมณะ
พ่อขอถาม เดี๋ยวนี้ เพราะเหตุไรเหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๗๓] พวกสมณะไม่ชอบทำการงาน เกียจคร้าน
อาศัยแต่ของที่คนอื่นให้เลี้ยงชีพ
หวังแต่จะได้ ชอบของอร่อย
เพราะเหตุไร เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
(เราตอบท่านว่า)
[๒๗๔] คุณพ่อขา คุณพ่อสอบถามไล่เลียงกับลูก
เรื่องคุณของสมณะเสียตั้งนาน
ลูกจะขยายปัญญา ศีล และความบากบั่น
ของสมณะเหล่านั้นแก่คุณพ่อดังนี้
[๒๗๕] สมณะทั้งหลายชอบทำการงาน ไม่เกียจคร้าน
ทำแต่การงานที่ประเสริฐสุด จึงละราคะโทสะได้
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๒. โรหิณีเถรีคาถา
[๒๗๖] สมณะทั้งหลาย กำจัดมูลราก๑ทั้ง ๓ ของบาป
ทำแต่งานสะอาด จึงละบาปได้ทั้งหมด
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๗๗] กายกรรมของสมณะเหล่านั้นสะอาด
วจีกรรมก็สะอาด มโนกรรมก็สะอาด
เพราะเหตุนั้นเหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๗๘] สมณะเหล่านั้น ไร้มลทินดุจสังข์และมุกดาที่ขัดดีแล้ว
สะอาดทั้งภายในและภายนอก บริบูรณ์ด้วยธรรมฝ่ายขาว
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๗๙] สมณะเหล่านั้นเป็นพหูสูต ทรงธรรม
เป็นพระอริยะ เป็นอยู่โดยธรรม แสดงเหตุและผล
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๘๐] สมณะเหล่านั้นเป็นพหูสูต ทรงธรรม
เป็นพระอริยะ เป็นอยู่โดยธรรม มีจิตมีอารมณ์เดียว๒ มีสติ
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๘๑] สมณะเหล่านั้นอยู่ป่าห่างไกลผู้คน มีสติ
พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน รู้ที่สุดทุกข์
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๘๒] สมณะเหล่านั้น หลีกออกจากหมู่บ้านใดไป
ไม่เหลียวแลอย่างกังวลในหมู่บ้านนั้น
ไปอย่างไม่มีเยื่อใยเลย
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก

เชิงอรรถ :
๑ โลภะ (ความอยากได้) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง) (ขุ.เถรี.อ. ๒๗๖/๒๗๗)
๒ จิตมีสมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๓. จาปาเถรีคาถา
[๒๘๓] สมณะเหล่านั้นไม่เก็บสะสมทรัพย์สมบัติไว้ในยุ้งฉาง
ในหม้อ และในกระเช้า แสวงหาแต่อาหารที่สำเร็จแล้ว
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๘๔] สมณะเหล่านั้นไม่รับเงิน ทอง และรูปิยะ
เลี้ยงชีพด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[๒๘๕] สมณะเหล่านั้นบวชมาจากต่างสกุลกัน
และต่างชนบทกัน ก็รักซึ่งกันและกัน
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
(บิดากล่าวกับเราว่า)
[๒๘๖] ลูกโรหิณีผู้เจริญ ลูกเกิดมาในสกุล
เพื่อประโยชน์แก่พวกเราแท้หนอ
ลูกมีศรัทธา มีความเคารพแรงกล้า
ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
[๒๘๗] เพราะลูกรู้จักพระรัตนตรัยนั้นว่า
เป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยม
สมณะเหล่านั้นคงจะรับทักษิณาทานของพ่อบ้างนะ
[๒๘๘] เพราะว่า ยัญคือบุญที่เราตั้งไว้แล้วในสมณะเหล่านั้น
คงจะมีผลไพบูลย์แก่พวกเราแน่
(เรากล่าวกับบิดาว่า) ถ้าคุณพ่อกลัวทุกข์
ถ้าคุณพ่อเกลียดทุกข์
[๒๘๙] ขอคุณพ่อ โปรดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
ผู้คงที่ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด
จงสมาทานศีล ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์แก่คุณพ่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๓. จาปาเถรีคาถา
(บิดากล่าวกับเราว่า)
[๒๙๐] พ่อขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
ผู้คงที่ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ขอสมาทานศีล
ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์แก่พ่อ
[๒๙๑] เมื่อก่อน พ่อเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม
วันนี้ พ่อเป็นพราหมณ์ พ่อได้วิชชา ๓ มีความสวัสดี
จบเวท และเป็นผู้ล้างบาปได้แล้ว

๓. จาปาเถรีคาถา
ภาษิตของพระจาปาเถรี
(พระจาปาเถรีได้รวบรวมคาถาที่อุปกาชีวกและตนกล่าวด้วยการเปล่งอุทาน
ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๒๙๒] เมื่อก่อน ตัวเรา(เป็นปริพาชก)ถือไม้เท้า
เดี๋ยวนี้ เรานั้นกลายเป็นพรานล่าเนื้อไปเสียแล้ว
ไม่อาจข้ามจากตัณหาและเปือกตมอันร้ายกาจ๑
ไปสู่ฝั่งโน้นได้เลย
[๒๙๓] เมื่อก่อน นางจาปาดูหมิ่นเราว่าเป็นคนมัวเมานัก
จึงกล่อมลูกเย้ยหยันเสียดสี
เราจะตัดความเกี่ยวข้องด้วยจาปาไปบวชเสีย
(เรากล่าวว่า)
[๒๙๔] อย่าโกรธเลย ท่านมหาวีระ อย่าโกรธเลย ท่านมหามุนี
เพราะว่า ผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ไม่มีความบริสุทธิ์ดอก
แล้วตบะจะมีแต่ที่ไหนเล่า

เชิงอรรถ :
๑ กาม (ความใคร่, ความกำหนัด) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (ขุ.เถรี.อ. ๒๙๒/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๓. จาปาเถรีคาถา
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๒๙๕] เราจะออกจากบ้านนาลา ใครจะอยู่ในบ้านนาลานี้ได้
เจ้าจะผูกเหล่าสมณะผู้เลี้ยงชีพโดยธรรมด้วยมารยาหญิงอยู่หรือ
(เรากล่าวว่า)
[๒๙๖] มาสิ ท่านกาฬะ กลับมาเถิด
เชิญบริโภคกามเหมือนแต่ก่อน
ดิฉันและพวกญาติยอมอยู่ในอำนาจของท่าน
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๒๙๗] จาปา เจ้ากล่าวคำอ่อนหวานเช่นใดแก่เรา
พึงเปล่งคำอ่อนหวานให้ยิ่งไปกว่านี้อีก ๔ เท่า
คำอ่อนหวานนั้นจะพึงเป็นคำจับใจบุรุษ
ผู้ยินดีในเธอเท่านั้นดอกนะ
(เรากล่าวว่า)
[๒๙๘] ท่านกาฬะ ดิฉันซึ่งสะสวย
มีเรือนร่างงามดังต้นคนทามีดอกบานสะพรั่งอยู่บนยอดเขา
ดังเครือทับทิมมีดอกบานแล้ว
ดังต้นแคฝอยมีดอกบานสะพรั่งภายในเกาะ
[๒๙๙] มีร่างกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
นุ่งห่มผ้าแคว้นกาสีมีค่ามาก
เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งไปเสียเล่า
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๓๐๐] เจ้าจะตามเบียดเบียนเราด้วยรูปที่ตกแต่ง
เหมือนอย่างพรานนกประสงค์จะตามเบียดเบียนนก
ไม่ได้ดอกนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๓. จาปาเถรีคาถา
(เรากล่าวว่า)
[๓๐๑] ท่านกาฬะ ก็ผลคือลูกของเรานี้ท่านทำให้เกิดมาแล้ว
ท่านจะละทิ้งดิฉันซึ่งมีลูกไปเพื่ออะไรเล่า
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๓๐๒] ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย มีความเพียรมาก ย่อมละพวกลูก
จากนั้นก็ละพวกญาติ ต่อจากนั้นก็ละทรัพย์
ตัดเครื่องผูกพันได้ขาด แล้วออกบวช
เหมือนพญาช้างทำเครื่องผูกให้ขาดแล้วหนีไป
(เรากล่าวว่า)
[๓๐๓] บัดนี้ ดิฉันจะเอาท่อนไม้ทุบ
หรือเอากริชแทงลูกคนนี้ของท่านให้ล้มลงเหนือพื้นดิน
เพราะความเศร้าโศกถึงลูก
ท่านจะไปไม่ได้แน่
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๓๐๔] ถึงเจ้าจักยอมมอบลูกให้ฝูงสุนัขจิ้งจอก(กินเป็นอาหาร)
แน่ะหญิงเลว เพราะลูกเป็นต้นเหตุ
เจ้าจักทำเราให้หวนกลับมาอีกไม่ได้ดอก
(เรากล่าวว่า)
[๓๐๕] ท่านกาฬะผู้เจริญ บัดนี้ ท่านจักไปที่ไหน
จะเป็นหมู่บ้าน นิคม นคร ราชธานีไหน ก็เชิญเถิด
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๓๐๖] เมื่อก่อน เราเป็นเจ้าคณะ
ไม่เป็นสมณะ แต่สำคัญตัวว่าเป็นสมณะ
ได้เที่ยวไปตามหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ทุกนคร ทุกราชธานี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๓. จาปาเถรีคาถา
[๓๐๗] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้ ณ ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ทรงแสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์เพื่อให้ละทุกข์ทั้งปวง
เราควรจักไปเฝ้าพระองค์
พระองค์จักเป็นศาสดาของเรา
(เรากล่าวว่า)
[๓๐๘] บัดนี้ ขอท่านพึงกราบทูลพระโลกนาถผู้ยอดเยี่ยม
ถึงการถวายอภิวาทของดิฉัน
และพึงทำประทักษิณ
แล้วอุทิศส่วนบุญให้ดิฉันด้วย
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[๓๐๙] แม่จาปา ข้อที่เจ้าพูดกับเรา เรารับได้
บัดนี้เราจักกราบทูลพระโลกนาถผู้ยอดเยี่ยม
ถึงการถวายอภิวาทของเจ้า
และจักทำประทักษิณ
แล้วอุทิศส่วนบุญให้แก่เจ้าแน่
[๓๑๐] ต่อแต่นั้น ท่านกาฬะได้เดินทางไปใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้กำลังทรงแสดงอมตบท
[๓๑๑] คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๓๑๒] ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์
ทำประทักษิณพระองค์
แล้วอุทิศส่วนบุญให้จาปา
บวชเป็นบรรพชิต บรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๔. สุนทรีเถรีคาถา
๔. สุนทรีเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุนทรีเถรี
(สุชาตพราหมณ์ผู้เป็นบิดา เมื่อจะถามถึงเหตุแห่งการบรรเทาความเศร้าโศก
จึงถามพระวาสิฏฐีเถรีด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๑๓] นางผู้เจริญ เมื่อก่อน เจ้ากินลูก ๆ ให้ตายไป
เจ้าเดือดร้อนอย่างยิ่งทั้งกลางวันและกลางคืน
[๓๑๔] พราหมณี วันนี้ เจ้านั้นกินลูกหมดทั้ง ๗ คน
แม่วาสิฏฐี เพราะเหตุไร เจ้าจึงไม่เดือดร้อนหนักหนาเล่า
(พระวาสิฏฐีเถรีกล่าวว่า)
[๓๑๕] ท่านพราหมณ์ ในส่วนอดีต
ลูกและหมู่ญาติของเราหลายร้อยคน
เราและท่านก็กินกันมาแล้ว
[๓๑๖] เรานั้นรู้นิพพานที่เป็นธรรมเครื่องสลัด
ซึ่งความเกิดและความตายออกเสีย
จึงไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ และไม่เดือดร้อน
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๓๑๗] แม่วาสิฏฐี น่าอัศจรรย์จริงหนอที่เจ้ากล่าววาจาเช่นนี้
เจ้ารู้ธรรมของใครเล่า
จึงกล่าววาจาเช่นนี้
(พระวาสิฏฐีเถรีกล่าวว่า)
[๓๑๘] ท่านพราหมณ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เสด็จมาถึงเมืองมิถิลา
ทรงแสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์เพื่อละทุกข์ทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๔. สุนทรีเถรีคาถา
[๓๑๙] ท่านพราหมณ์ เราฟังธรรมที่ปราศจากอุปธิกิเลส๑
ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
รู้แจ้งพระสัทธรรมในธรรมเทศนานั้นแล้ว
จึงบรรเทาความเศร้าโศกถึงลูกเสียได้
(สุชาตพราหมณ์กล่าวว่า)
[๓๒๐] ถึงเรานั้นก็จักไปเมืองมิถิลาเหมือนกัน
ถ้าอย่างไร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ก็คงจะทรงช่วยปลดเปลื้องเราจากทุกข์ทั้งสิ้นได้แน่
[๓๒๑] พราหมณ์ได้พบพระพุทธเจ้าผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว ไม่มีอุปธิกิเลส
พระมุนีผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์นั้น
[๓๒๒] คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๓๒๓] สุชาตพราหมณ์รู้แจ้งพระสัทธรรม
ในพระธรรมเทศนาคืออริยสัจ ๔ นั้นแล้ว
เข้าบวชได้ ๓ วัน ก็ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
(พระสุชาตพราหมณ์กล่าวกับนายสารถีว่า)
[๓๒๔] มานี่สิ สารถี เธอจงกลับไป
จงมอบรถคันนี้ให้พราหมณีด้วย
และช่วยบอกนางพราหมณีถึงความสบาย ไม่เจ็บป่วยว่า
บัดนี้ สุชาตพราหมณ์บวชได้ ๓ วัน ก็ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
[๓๒๕] ลำดับนั้น นายสารถีนำรถและทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ
ไปมอบให้นางพราหมณี และได้บอกนางพราหมณีถึงความสบาย
ไม่เจ็บป่วยว่า บัดนี้ สุชาตพราหมณ์บวชได้ ๓ วัน ก็ได้บรรลุ
วิชชา ๓ แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ปราศจากทุกข์ (ขุ.เถรี.อ. ๓๑๙/๒๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๔. สุนทรีเถรีคาถา
(พราหมณีกล่าวว่า)
[๓๒๖] นายสารถี ฉันฟังเรื่องพราหมณ์ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
ขอมอบรถม้าคันนี้และทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ
เป็นรางวัลตอบแทนเจ้าที่ให้ข่าวดี
(นายสารถีไม่ยอมรับ กลับกล่าวว่า)
[๓๒๗] ข้าแต่พราหมณี รถม้ากับทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ
จงเป็นของแม่เจ้าตามเดิมเถิด
ถึงตัวข้าพเจ้าก็จักบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ
(พราหมณีกล่าวกับสุนทรีธิดาว่า)
[๓๒๘] บิดาของลูก ละช้าง ม้า โค แก้วมณี แก้วกุณฑล
และเครื่องอุปกรณ์เรือนมากมายนี้
ออกบวชเสียแล้ว
ลูกสุนทรีลูกจงบริโภคโภคสมบัติทั้งหลาย
จงเป็นทายาทรับมรดกในตระกูล นะลูก
(สุนทรีฟังคำของมารดานั้นแล้ว เมื่อจะประกาศความที่ตนตั้งใจจะออกบวช
จึงได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๓๒๙] บิดาของลูกกระทบกระเทือนใจ
เพราะความเศร้าโศกถึงลูกชาย
จึงละช้าง ม้า โค แก้วมณี แก้วกุณฑล
และอุปกรณ์เรือนที่น่ารื่นรมย์นี้ออกบวช
ถึงลูกก็กระทบกระเทือนใจ
เพราะความเศร้าโศกถึงพี่ชายมาก
ก็จักออกบวชด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๐๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๔. สุนทรีเถรีคาถา
(ลำดับนั้น มารดาเมื่อจะชักนำสุนทรีธิดาในทางเนกขัมมะ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[๓๓๐] ลูกสุนทรี ขอความดำริของลูกจงสำเร็จตามที่ลูกปรารถนาเถิด
ลูกเมื่อใช้สอยสิ่งเหล่านี้ คือ ก้อนข้าวที่พึงลุกขึ้นยืนรับ
การเที่ยวแสวงหาอาหาร และนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
จงเป็นผู้ไม่มีอาสวะในโลกหน้าเถิด
(พระสุนทรีจึงกล่าวขออนุญาตพระภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์ว่า)
[๓๓๑] ข้าแต่แม่เจ้า ดิฉันเมื่อเป็นสิกขมานา
ก็ชำระทิพยจักขุให้หมดจดได้แล้ว
ดิฉันระลึกรู้ถึงชาติก่อนที่เคยอยู่อาศัยมาได้
[๓๓๒] ข้าแต่แม่เจ้า ผู้มีคุณความดีเป็นผู้งามในหมู่พระเถรี
เพราะอาศัยแม่ท่าน ดิฉันบรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๓๓๓] ข้าแต่แม่เจ้า โปรดอนุญาตเถิดเจ้าค่ะ
ดิฉันประสงค์จะไปกรุงสาวัตถี
จักบันลือสีหนาทในสำนักพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
(พระสุนทรีเถรีไปถึงกรุงสาวัตถีแล้ว เข้าไปยังพระวิหาร ได้เห็นพระศาสดา
ประทับนั่งอยู่บนธรรมาสน์ จึงพูดกับตนเองว่า)
[๓๓๔] สุนทรีท่านจงดูพระศาสดาผู้มีพระรัศมีดังทองคำ
มีพระฉวีวรรณเรืองรองดังทองคำ
ทรงฝึกเหล่าชนที่ใคร ๆ ฝึกไม่ได้
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
(กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[๓๓๕] ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรหม่อมฉันผู้ชื่อว่าสุนทรี
ซึ่งหลุดพ้นแล้ว ไม่มีอุปธิกิเลส
ปราศจากราคะ ไม่เกาะเกี่ยว
ไม่มีอาสวะ ทำกิจเสร็จแล้วมาเฝ้าอยู่
[๓๓๖] ข้าแต่พระมหาวีระ สุนทรีสาวิกาของพระองค์
ออกจากกรุงพาราณสี มาเฝ้าพระองค์
ถวายอภิวาทพระยุคลบาทอยู่
[๓๓๗] พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของหม่อมฉัน
ข้าแต่พระผู้ทรงเป็นพราหมณ์
หม่อมฉันเป็นธิดาซึ่งเกิดแต่พระอุระ
เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระองค์
ไม่มีอาสวะ ทำกิจเสร็จแล้ว
(ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อจะชมเชยการมาเฝ้าของนาง จึงได้ตรัสว่า)
[๓๓๘] สุนทรีผู้เจริญ เธอมาดีแล้ว มาไม่เลวเลย
เพราะว่าผู้ที่ฝึกแล้วอย่างนี้ ปราศจากราคะ
ไม่เกาะเกี่ยว ไม่มีอาสวะ
ทำกิจเสร็จแล้ว ย่อมมากราบเท้าพระศาสดา

๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุภากัมมารธิดาเถรี
พระสุภากัมมารธิดาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๓๙] เพราะเมื่อก่อน เรายังสาวนุ่งห่มผ้าสะอาด
ได้ฟังธรรมแล้ว เรานั้นไม่ประมาท
จึงได้ตรัสรู้สัจธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[๓๔๐] ฉะนั้น เราจึงไม่ยินดีอย่างยิ่งในกามทั้งปวง
เห็นภัยในกายของตน กระหยิ่มเฉพาะเนกขัมมะเท่านั้น
[๓๔๑] ละหมู่ญาติ ทาส กรรมกร บ้าน ไร่นา ความมั่งคั่ง
และกองโภคะที่น่ารื่นรมย์ ที่เขาบันเทิงกันนัก
[๓๔๒] ละสมบัติมิใช่น้อย ออกบวชด้วยศรัทธาอย่างนี้
ในพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศดีแล้ว
[๓๔๓] ข้อที่เราละเงินทองแล้วยังกลับ (ยินดีเงินทอง) อีกนั้น
ไม่สมควรแก่เรา เพราะเราปรารถนาความไม่มีห่วงกังวล
[๓๔๔] เพราะเงินทอง หาใช่มีไว้เพื่อความตรัสรู้ เพื่อความสงบใจไม่
เงินทองนั้นไม่สมควรแก่สมณะ ทั้งไม่ใช่อริยทรัพย์
[๓๔๕] อนึ่ง เงินทองนี้ ทำให้เกิดความโลภ นำมาซึ่งความมัวเมา
ให้เกิดความลุ่มหลง เป็นเครื่องเพิ่มพูนความกำหนัดยินดี
มีความระแวง มีความยุ่งยาก
และในเงินทองนั้นไม่มีความยั่งยืนมั่นคงเลย
[๓๔๖] อนึ่ง ผู้คนเป็นอันมากยินดีในทรัพย์นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท
มีใจเศร้าหมอง ต่างผิดใจต่อกันและกัน
กระทำความบาดหมางทะเลาะวิวาทกัน
[๓๔๗] การฆ่ากัน การถูกจองจำ การต้องโทษมีตัดมือเป็นต้น
ความเสื่อม ความเศร้าโศก ร่ำไร
ความพินาศเป็นอันมากของคนทั้งหลาย
ผู้เนื่องอยู่ในกามทั้งหลาย ก็มองเห็นกันอยู่
[๓๔๘] ท่านทั้งหลายเป็นญาติก็เหมือนเป็นศัตรู
เพราะเหตุไร จึงชักจูงเรานั้นไว้ในกามทั้งหลายเล่า
ท่านทั้งหลายจงรู้เถิดว่า เราเห็นภัยในกามทั้งหลายจึงบวช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[๓๔๙] อาสวะทั้งหลาย ย่อมไม่สิ้นไปเพราะเงินและทอง
กามทั้งหลาย เป็นศัตรู เป็นผู้ฆ่า
เป็นข้าศึก เป็นดังลูกศรเสียบไว้
[๓๕๐] ท่านทั้งหลายเป็นญาติก็เหมือนเป็นศัตรู
เพราะเหตุไร จึงชักจูงเราไว้ในกามทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงรู้เถิดว่า
เราบวชศีรษะโล้นครองผ้าสังฆาฏิแล้ว
[๓๕๑] ก้อนข้าวที่จะพึงลุกขึ้นยืนรับ การเที่ยวแสวงหา
การนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
และบริขารเครื่องอาศัยของนักบวชผู้ไม่มีเรือน
นี่แหละเป็นของเหมาะสมสำหรับเรา
[๓๕๒] กามทั้งหลายทั้งที่เป็นของทิพย์ และที่เป็นของมนุษย์
เหล่าท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่คลายเสียแล้ว
ท่านเหล่านั้น น้อมไปแล้วในฐานะอันปลอดโปร่ง
บรรลุสุขอันไม่หวั่นไหวแล้ว
[๓๕๓] เราอย่าร่วมด้วยกามทั้งหลายซึ่งช่วยอะไรไม่ได้เลย
กามทั้งหลายเป็นศัตรู เป็นผู้ฆ่า
อุปมาด้วยกองไฟ นำแต่ทุกข์มาให้
[๓๕๔] กามนั่น เป็นสภาวะที่เบียดเบียน มีภัย
เป็นไปกับด้วยความคับแค้น
เป็นเสี้ยนหนาม และกามนั้น มีสภาวะหมกมุ่น
ไม่เรียบร้อย เป็นเหตุลุ่มหลงมาก
[๓๕๕] เป็นเหตุขัดข้อง และเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว
กามทั้งหลาย เปรียบด้วยงูพิษ
ที่เหล่าปุถุชนทั้งเขลาและบอดเพลิดเพลินกันยิ่งนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[๓๕๖] ปุถุชนเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก
ข้องอยู่แล้วด้วยเปือกตมคือกาม ไม่รู้ความจริงในโลก
ย่อมไม่รู้ซึ้งถึงที่สิ้นสุดความเกิดและความตาย
[๓๕๗] ผู้คนเป็นอันมากพากันเดินทางไปทุคติซึ่งมีกามเป็นเหตุทั้งนั้น
อันนำโรคมาให้แก่ตนทีเดียว
[๓๕๘] กามทั้งหลายเป็นเหตุให้เกิดศัตรู ให้เดือดร้อน
นำความเศร้าหมองมา เป็นเหยื่อในโลก
เป็นเครื่องจองจำ เกี่ยวเนื่องด้วยความตาย
[๓๕๙] กามทั้งหลายเป็นเหตุให้บ้า ให้บ่นเพ้อ ย่ำยีจิต
เพราะทำหมู่สัตว์ให้เศร้าหมอง
พึงเห็นว่า เหมือนลอบที่มารรีบดักไว้
[๓๖๐] กามทั้งหลาย มีโทษหาที่สุดไม่ได้ มีทุกข์มาก มีพิษมาก
มีความพอใจน้อย เป็นสนามรบ ทำกรรมฝ่ายกุศลให้เหือดแห้งลง
[๓๖๑] เรานั้นละความพินาศซึ่งมีกามเป็นเหตุเช่นนั้นได้แล้ว
จักไม่กลับมาหามันอีก เพราะว่าตั้งแต่บวชแล้ว
เรายินดีอย่างยิ่งในนิพพาน
[๓๖๒] หวังความเยือกเย็น จึงทำสงครามต่อกามทั้งหลาย
ยินดีแล้วในนิพพานเป็นที่สิ้นสังโยชน์
จักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่
[๓๖๓] เดินตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางสายตรง
ไม่เศร้าโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นทางปลอดโปร่ง
ซึ่งเป็นทางที่เหล่าท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พากันข้ามไปแล้ว
(พระผู้มีพระภาค ทรงแนะนำพระเถรีผู้บรรลุพระอรหัตตผลในวันที่ ๘ หลังจาก
บวช ผู้นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะทรงสรรเสริญ
จึงตรัสคาถาเหล่านี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต] ๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[๓๖๔] ท่านทั้งหลาย จงดูธิดาของช่างทองผู้สวยงาม
ผู้ดำรงอยู่ในธรรมผู้นี้เถิด
เธอได้บรรลุอรหัตตผลอันไม่หวั่นไหว
เข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
[๓๖๕] วันนี้เป็นวันที่ ๘ หลังจากเธอมีศรัทธาบวชแล้ว
งามเพราะบรรลุพระสัทธรรม
ได้พระอุบลวัณณาเถรีช่วยแนะนำแล้ว
บรรลุวิชชา ๓ ละมัจจุมารเสียได้
[๓๖๖] ภิกษุณีรูปนี้นั้น เป็นไทแก่ตัวเอง
ไม่เป็นหนี้ อบรมอินทรีย์แล้ว
พรากจากกิเลสที่เคยมีได้หมด
ไม่มีอาสวะ ทำกิจเสร็จแล้ว
(พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวภาษิตนี้ไว้ว่า)
[๓๖๗] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่สัตว์พร้อมด้วยหมู่เทพ
พากันเข้าไปหาพระเถรีซึ่งเป็นธิดาของช่างทอง
ผู้สวยงามนั้นด้วยฤทธิ์ของตน แล้วทรงนมัสการอยู่
วีสตินิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต] ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
๑๔. ติงสนิบาต
๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรี
พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรี(ได้เปล่งอุทานด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๖๘] นักเลงเจ้าชู้คนหนึ่งได้ยืนขวางกั้นพระสุภาภิกษุณี
ซึ่งกำลังเดินไปสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจที่น่ารื่นรมย์
พระสุภาภิกษุณีได้พูดกับชายนักเลงเจ้าชู้นั้นว่า
[๓๖๙] ฉันประพฤติผิดอะไรต่อท่านหรือ จึงมายืนขวางกั้นฉันไว้
ท่านผู้อาวุโส ชายไม่ควรถูกต้องหญิงนักบวชเลย
[๓๗๐] เพราะเหตุไร ท่านจึงยืนขวางกั้นดิฉันผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุยั่วยวน
มีส่วนบริสุทธิ์ด้วยสิกขาที่พระสุคตทรงแสดงไว้
ในศาสนาที่ควรเคารพแห่งพระศาสดาของดิฉัน
[๓๗๑] เพราะเหตุไร ท่าน จึงมีจิตขุ่นมัว มีจิตมีกิเลสดุจธุลี
มายืนขวางกั้นฉันผู้มีจิตไม่ขุ่นมัว
ปราศจากกิเลสเป็นเหตุยั่วยวน
มีจิตหลุดพ้นในเบญจขันธ์ทั้งปวง
(นักเลงเจ้าชู้กล่าวตอบด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๓๗๒] แม่นางยังสาว ทั้งสวยไม่ทรามเลย
บรรพชาจักทำประโยชน์อะไรให้แม่นางได้ โปรดทิ้งผ้ากาสายะเสีย
มาสิ เรามารื่นรมย์กันในป่าที่มีดอกไม้บานสะพรั่งเถิด
[๓๗๓] และหมู่ไม้ถูกลมพัดเอาละอองเกสรดอกไม้ฟุ้งขึ้น
ก็โชยกลิ่นหอมตลบไปทั่ว ฤดูนี้ เป็นต้นฤดูฝนน่าสบาย
มาสิ เรามารื่นรมย์กันในป่าที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต] ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
[๓๗๔] อนึ่ง ต้นไม้ทั้งหลายมีดอกบานแล้ว
ต้องลมไหวระริก ดุจจะมีเสียงครวญอยู่
แม่นางจักมีความยินดีอะไร
ถ้าแม่นางจักเข้าป่าเพียงผู้เดียว
[๓๗๕] ป่าใหญ่มีหมู่สัตว์ร้ายอาศัยอยู่
คลาคล่ำไปด้วยช้างพลายตกมัน
และช้างพัง ไม่มีผู้คน น่าสะพรึงกลัว
แม่นางไม่มีเพื่อน ยังปรารถนาจะเข้าไปหรือ
[๓๗๖] แม่นางงามไม่มีใครเปรียบ
แม่นางท่องเที่ยวไป
เหมือนตุ๊กตาที่นายช่างผู้ชาญฉลาดทำแล้วด้วยทองคำสีสุก
งดงามด้วยผ้าสวยเนื้อละเอียดของแคว้นกาสี
ดังเทพอัปสรเที่ยวไปในสวนจิตรลดาเชียวละ
[๓๗๗] ถ้าเราทั้งสองได้อยู่ร่วมกันในกลางป่า
ฉันจะยอมอยู่ในอำนาจของแม่นาง
แม่นางผู้มีดวงตาหยาดเยิ้มดังกินรี
เพราะคนที่น่ารักกว่าแม่นางสำหรับฉันไม่มีเลย
[๓๗๘] ถ้าแม่นางเชื่อฉัน ก็จะมีความสุข
มาสิ มาครองเรือนกัน
แม่นางจะได้อยู่บนปราสาทที่ปราศจากลมพัด
หญิงทั้งหลายจะคอยรับใช้แม่นาง
[๓๗๙] แม่นาง จงนุ่งห่มผ้าเนื้อละเอียดของแคว้นกาสี
จงตกแต่งร่างกาย สวมมาลัย ลูบไล้ประเทืองผิว
ฉันจะทำเครื่องประดับต่าง ๆ มากชนิด
ที่เป็นทองคำแก้วมณีและมุกดาให้แม่นาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต] ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
[๓๘๐] แม่นางขึ้นที่นอนใหญ่ใหม่เอี่ยม มีค่ามาก
สวยงามปูด้วยผ้าโกเชาว์ขนยาวและผ้าสำลี
คลุมด้วยผ้าที่ซักสะอาดแล้ว
ตกแต่งด้วยแก่นจันทน์มีกลิ่นหอม
[๓๘๑] ดอกอุบลโผล่พ้นน้ำ ไม่มีมนุษย์ชมแล้วฉันใด
แม่นางเป็นสาวพรหมจารีก็ฉันนั้น
เมื่อส่วนเรือนร่างของแม่นางยังไม่มีใครเชยชมเลย
แม่นางก็จักถึงความชราร่วงโรยไปเสียเปล่า ๆ
(พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรีถามว่า)
[๓๘๒] ในร่างกายที่จะต้องแตกสลายเป็นธรรมดา
ซึ่งเต็มไปด้วยซากศพ
รังแต่จะรกป่าช้านี้ มีอะไรที่ท่านเข้าใจว่าเป็นสาระ
เพราะเห็นสิ่งใด จึงเกิดติดใจ ขอท่านโปรดบอกสิ่งนั้นมาเถิด
(นักเลงเจ้าชู้ตอบว่า)
[๓๘๓] เพราะเห็นดวงตาของแม่นาง เสมือนดวงตาลูกเนื้อทราย
และเสมือนดวงตากินรีที่เที่ยวอยู่ตามไหล่เขา
ความใคร่ความยินดีของฉันยิ่งกำเริบ
[๓๘๔] เพราะเห็นดวงตาของแม่นางอุปมาดังปลายดอกอุบล
ดวงหน้าของแม่นางไร้ไฝฝ้าเรืองรองดังดวงหน้ารูปทองคำ
ความใคร่ความปรารถนาของฉันก็ยิ่งกำเริบ
[๓๘๕] แม่นางผู้มีดวงตาบริสุทธิ์มีขนตายาว
แม้ฉันจะไปไกลแสนไกล
ก็จะยังคงระลึกถึงดวงตาทั้งคู่ของแม่นางเท่านั้น
แม่นางผู้มีดวงตาหยาดเยิ้มดังกินรี
เพราะว่าสิ่งอะไรอื่นที่น่ารักกว่าดวงตาของแม่นางสำหรับฉันไม่มีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต] ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
(พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรีกล่าวตอบว่า)
[๓๘๖] ท่านปรารถนาดิฉันผู้เป็นธิดาของพระพุทธเจ้า
นับว่าปรารถนาจะเดินทางผิด
แสวงหาดวงจันทร์เอาเป็นของเล่น
ต้องการจะกระโดดขึ้นภูเขาสิเนรุ
[๓๘๗] เพราะว่า ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
บัดนี้ ดิฉันไม่มีความกำหนัดเลย
ความกำหนัดนั้น ดิฉันไม่รู้ดอกว่าเป็นเช่นไร
เพราะมันถูกดิฉันกำจัดเสียแล้วพร้อมทั้งรากด้วยอริยมรรค
[๓๘๘] ความกำหนัดนั้นดิฉันยกออกแล้ว
เหมือนลมหอบเอาเชื้อเพลิงออกจากหลุมถ่านเพลิง
ถูกทำให้พินาศไปแต่ยอด เหมือนยกภาชนะที่ตกลงในยาพิษออกไป
ความกำหนัดนั้น ดิฉันไม่รู้ดอกว่าเป็นเช่นไร
เพราะมันถูกดิฉันกำจัดเสียแล้วพร้อมทั้งรากด้วยอริยมรรค
[๓๘๙] หญิงใดไม่พิจารณาเบญจขันธ์ หรือไม่เข้าเฝ้าพระศาสดา
เชิญท่านประเล้าประโลมหญิงเช่นนั้นเถิด
ท่านนั้นจะต้องเดือดร้อน
เพราะอาศัยสุภาภิกษุณีผู้รู้ตามความเป็นจริงนี้
[๓๙๐] เพราะสติของดิฉันมั่นคง
ไม่ว่าในการด่า การไหว้ สุขและทุกข์
เพราะรู้ว่าสังขารที่ปัจจัยปรุงแต่งเป็นของไม่งาม
ใจดิฉันจึงไม่ติดอยู่ในภพ ๓ ทั้งสิ้นเลย
[๓๙๑] ดิฉันนั้นเป็นสาวิกาของพระสุคต
ดำเนินไปด้วยยานคืออริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
ถอนกิเลสดุจลูกศรเสียแล้ว ไม่มีอาสวะ
ยินดีอยู่แต่ในเรือนว่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต] ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
[๓๙๒] รูปภาพที่ทำด้วยไม้หรือใบลานที่เขาบรรจงเขียนไว้สวยงาม
อันเขาผูกไว้ด้วยด้ายและตรึงไว้ด้วยตะปู
ทำให้เหมือนกับจะฟ้อนรำได้ต่าง ๆ ดิฉันเห็นมาแล้ว
[๓๙๓] เมื่อรูปนั้นถูกรื้อออก ปลดด้ายและตะปูออก
ก็บกพร่อง กระจัดกระจาย
แยกออกเป็นชิ้น ๆ ไม่พึงได้สภาพที่ชื่อว่ารูป
บุคคลจะพึงเอาใจจดจ่อในรูปนั้นทำไม
[๓๙๔] ร่างกายของดิฉันนี้ ก็เปรียบด้วยรูปภาพนั้น
เว้นจากธรรม๑เหล่านั้นเสีย ก็เป็นไปไม่ได้
ร่างกายเว้นจากธรรม๑ทั้งหลายเสีย ก็เป็นไปไม่ได้
บุคคลจะพึงเอาใจจดจ่อในร่างกายนั้นทำไม
[๓๙๕] เหมือนบุคคลได้เห็นภาพจิตรกรรม
ที่จิตรกรระบายด้วยหรดาล
ทำไว้ที่ฝาผนัง ในจิตรกรรมนั้น ท่านก็ยังเห็นวิปริต
ความสำคัญว่ามนุษย์ของท่านก็ไร้ประโยชน์
[๓๙๖] คนบอด ท่านยังจะเข้าไปยึดอัตภาพที่ว่างเปล่า
เหมือนภาพลวงตาที่ปรากฏต่อหน้า
เหมือนต้นไม้ทองในความฝัน เหมือนรูปของมายากลที่นักเล่นกล
แสดงท่ามกลางฝูงชนว่าเป็นของจริง
[๓๙๗] ฟองเป็นดังฟองน้ำที่อยู่กลางดวงตานั้น
มีน้ำตา มีมูลตา เกิดที่ดวงตานั้น
และส่วนของดวงตาต่าง ๆ ก็มารวมกัน
เหมือนก้อนครั่งที่อยู่ตามโพรงไม้

เชิงอรรถ :
๑ เว้นจากธาตุมีปฐวีธาตุเป็นต้น และเว้นจากอวัยวะมีจักษุเป็นต้น ร่างกายเว้นจากธาตุและอวัยวะนี้ย่อม
เป็นไปไม้ได้ (ขุ.เถรี.อ. ๓๙๔/๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต] ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
[๓๙๘] พระสุภาเถรีมีดวงตางามและมีใจไม่ข้องไม่ติดในดวงตานั้น
ก็ควักดวงตาออกจากเบ้าตา
ส่งมอบให้ชายเจ้าชู้ผู้นั้นทันที
พร้อมกับกล่าวว่า
เชิญนำดวงตานั้นไปเถิด
เพราะเรามอบให้ท่านแล้ว
[๓๙๙] ทันใดนั้นเอง ความกำหนัดในดวงตานั้น
ของนักเลงเจ้าชู้นั้นก็หายไป
และเขาขอขมาพระเถรีนั้นด้วยคำว่า
ข้าแต่แม่นางผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ขอความสวัสดีพึงมีแก่แม่นางเถิด
ความประพฤติอนาจารเช่นนี้จักไม่มีต่อไปอีกละ
(พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรีกล่าวว่า)
[๔๐๐] ท่านกระทบกระทั่งคนเช่นดิฉันนี้
ก็เหมือนกอดกองไฟที่ลุกโชน
เหมือนจับงูมีพิษร้าย
ท่านขอโทษดิฉัน พึงมีความสวัสดีได้บ้าง
[๔๐๑] ภิกษุณีนั้นพ้นจากนักเลงเจ้าชู้นั้นแล้ว
ได้ไปยังสำนักพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ได้ชมบุญลักษณะอันประเสริฐ
จักษุก็กลับเป็นปกติเหมือนอย่างเดิม
ติงสนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
๑๕. จัตตาฬีสนิบาต
๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
ภาษิตของพระอิสิทาสีเถรี
(พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๔๐๒] ในเมืองปาฏลีบุตรได้ชื่อว่าเป็นเมืองดอกไม้
เป็นแผ่นดินที่ผ่องใส
มีพระภิกษุณี ผู้ทรงคุณธรรม
เป็นกุลธิดาในศากยสกุล ๒ รูป
[๔๐๓] ใน ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งชื่อว่าอิสิทาสี รูปที่ ๒ ชื่อว่าโพธิ
ล้วนมีศีลสมบูรณ์ ยินดีเข้าฌาน เป็นพหูสูต กำจัดกิเลสได้แล้ว
[๔๐๔] ทั้งสองรูปนั้นเที่ยวบิณฑบาต ฉันและล้างบาตรแล้ว
ก็นั่งพักอย่างสบายในที่สงัด ได้เปล่งถ้อยคำเหล่านี้ถามตอบกัน
(พระโพธิเถรีถามว่า)
[๔๐๕] แม่เจ้าอิสิทาสี แม่เจ้าเป็นผู้น่าเลื่อมใสอยู่
แม้วัยของแม่เจ้าก็ยังไม่เสื่อมโทรม
แม่เจ้าเห็นโทษอะไร จึงขวนขวายในเนกขัมมะเล่า
[๔๐๖] พระอิสิทาสีเถรีนั้นฉลาดในการแสดงธรรม
เมื่อถูกซักถามในที่สงัด จึงได้กล่าวตอบดังนี้ว่า
แม่เจ้าโพธิ ขอแม่เจ้าจงฟังเหตุที่ฉันออกบวช
(ต่อไปนี้เป็นคำวิสัชนา)
[๔๐๗] ในกรุงอุชเชนนีราชธานี
บิดาของดิฉันเป็นเศรษฐี สำรวมในศีล
ดิฉันเป็นธิดาคนเดียวของท่าน
จึงเป็นที่รักที่โปรดปราน และน่าเอ็นดู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๐๘] ภายหลังพวกคนสนิทของดิฉัน
ที่มีตระกูลสูงมาจากเมืองสาเกต
ขอดิฉันว่า เศรษฐีมีรัตนะมากขอดิฉัน
บิดาได้ให้ดิฉันเป็นสะใภ้ของเศรษฐีนั้น
[๔๐๙] ดิฉันต้องเข้าไปทำความนอบน้อมพ่อผัวและแม่ผัวทุกเช้าเย็น
ต้องกราบเท้าด้วยเศียรเกล้า ตามที่ถูกสั่งสอนมา
[๔๑๐] พี่สาวน้องสาว พี่ชายน้องชาย
หรือบ่าวไพร่ของสามีดิฉันไม่ว่าคนใด
ดิฉันเห็นแล้วแม้ครั้งเดียว ก็หวาดกลัวต้องให้ที่นั่งเขา
[๔๑๑] ดิฉันต้องรับรองเขาด้วยข้าว น้ำ ของเคี้ยว
และสิ่งของที่จัดเตรียมไว้ในที่ที่เขาเข้าไปนั้น
นำเข้าไปให้ และต้องให้ของที่สมควรแก่เขา
[๔๑๒] ดิฉันลุกขึ้นตามเวลา เข้าไปยังเรือนสามี
ล้างมือและเท้าที่ใกล้ประตู ประนมมือเข้าไปหาสามี
[๔๑๓] ต้องจัดหาหวี เครื่องผัดหน้า ยาหยอดตา
และกระจก แต่งตัวให้สามีเอง เสมอเหมือนหญิงรับใช้
[๔๑๔] หุงข้าวต้มแกงเอง ล้างภาชนะเองทั้งนั้น
ปรนนิบัติสามี เสมือนมารดาปรนนิบัติบุตรน้อยคนเดียว
[๔๑๕] จงรักภักดี ทำหน้าที่ครบถ้วน
เลิกถือเนื้อถือตัว ขยันไม่เกียจคร้าน
มีศีลอย่างนี้ สามีก็ยังเกลียด
[๔๑๖] สามีนั้น บอกมารดาและบิดาว่า
ลูกจักลาไปละ ลูกไม่ขออยู่ร่วมกับอิสิทาสี
ทั้งไม่ยอมอยู่ร่วมเรือนหลังเดียวกันด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
(มารดาบิดาของเขากล่าวว่า)
[๔๑๗] อย่าพูดอย่างนี้สิลูก
อิสิทาสีเป็นบัณฑิต ฉลาดรอบครอบ
ขยันไม่เกียจคร้าน ทำไมลูกจึงไม่ชอบใจล่ะ
(สามีของดิฉันพูดว่า)
[๔๑๘] อิสิทาสี ไม่ได้เบียดเบียนอะไรลูกดอก
แต่ลูกไม่อยากอยู่ร่วมกับอิสิทาสี
ลูกเกลียด ลูกพอแล้ว จักขอลาไป
[๔๑๙] แม่ผัวและพ่อผัว ฟังคำของสามีดิฉันนั้นแล้ว
ได้ถามดิฉันว่า เจ้าประพฤติผิดอะไร
เจ้าจึงถูกเขาทอดทิ้ง
จงพูดไปตามความเป็นจริงสิ
(ดิฉันตอบว่า)
[๔๒๐] ดิฉันไม่ได้ประพฤติผิดอะไร ไม่ได้เบียดเบียนเขา
ทั้งไม่ได้พูดคำหยาบคาย ดิฉันกล้าหรือ
ที่จะทำสิ่งที่สามีเกลียดดิฉันได้นะคุณแม่
[๔๒๑] มารดาบิดาของเขานั้น เสียใจ ถูกทุกข์ครอบงำ
หวังทะนุถนอมบุตร จึงนำดิฉันส่งกลับไปเรือนบิดา
ฉันเป็นผู้ชนะสิริที่สวยงามแล้วหนอ
[๔๒๒] ภายหลัง บิดาได้ยกดิฉันให้แก่กุลบุตร
ผู้ร่ำรวยน้อยกว่าสามีคนแรกครึ่งหนึ่ง
โดยสินสอดครึ่งหนึ่งจากสินสอดที่เศรษฐีให้เราครั้งแรก
[๔๒๓] ดิฉัน อยู่ในเรือนสามีคนที่ ๒ นั้นได้เดือนเดียว
ต่อมา เขาขับไล่ดิฉันซึ่งบำรุงบำเรออยู่ดุจทาสี
ไม่คิดประทุษร้าย มีศีลสมบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๒๔] บิดาของดิฉัน บอกบุรษผู้หนึ่ง ที่ฝึกกายและวาจาแล้ว
มีหน้าที่ฝึกจิตของชนเหล่าอื่น กำลังเที่ยวขอทานอยู่ว่า
เจ้าจงทิ้งผ้าเก่า ๆ และกระเบื้องขอทานเสีย
มาเป็นลูกเขยข้าเถิด
[๔๒๕] แม้บุรุษนั้น อยู่ได้ครึ่งเดือน ก็พูดกับบิดาว่า
โปรดคืนผ้าเก่า กระเบื้องขอทาน
และภาชนะขอทานแก่ฉันเถิด
ฉันจักไปขอทานตามเดิม
[๔๒๖] ครั้งนั้น บิดามารดาและหมู่ญาติของดิฉันทุกคน
พูดกับคนขอทานนั้นว่า เจ้าทำอะไรไม่ได้ในที่นี้ รีบบอกมา
เธอจักทำกิจนั้นแทนเจ้าเอง
[๔๒๗] เขาถูกบิดามารดาและหมู่ญาติของดิฉันถามอย่างนี้แล้ว
จึงพูดว่า ถึงตัวฉันจะเป็นใหญ่และเป็นไท
ฉันพอแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ร่วมกับอิสิทาสี
ฉันไม่ขออยู่ร่วมกับอิสิทาสี
ทั้งไม่ขออยู่ร่วมเรือนหลังเดียวกับเธอ
[๔๒๘] ชายขอทานนั้นถูกบิดาปล่อยก็ไป
แม้ดิฉันอยู่คนเดียว ก็คิดว่า
จะลาบิดามารดาไปตายหรือไปบวชเสีย
[๔๒๙] ขณะนั้น พระแม่เจ้าชินทัตตาเถรี
ผู้ทรงวินัย เป็นพหูสูต มีศีลสมบูรณ์
เที่ยวบิณฑบาตมายังตระกูลบิดา
[๔๓๐] ดิฉันเห็นท่าน จึงลุกไปจัดที่นั่งของดิฉันถวายท่าน
และเมื่อท่านนั่งเรียบร้อยแล้ว
ดิฉันก็กราบเท้าแล้วถวายอาหาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๓๑] ดิฉันเลี้ยงดูท่านด้วยข้าวน้ำ ของควรเคี้ยว
และสิ่งของที่จัดไว้ในเรือนนั้นให้อิ่มหนำสำราญ
จึงเรียนท่านว่า ดิฉันประสงค์จะบวช เจ้าค่ะ
[๔๓๒] ลำดับนั้น บิดาพูดกับดิฉันว่า
ลูกเอ๋ย ลูกจงประพฤติธรรมในเรือนนี้ก็แล้วกัน
จงเลี้ยงดูสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำเถิด
[๔๓๓] ขณะนั้น ดิฉันร้องไห้ประนมมือพูดกับบิดาว่า
ความจริง ลูกทำบาปมามากแล้ว
ลูกจักชำระกรรมนั้นให้เสร็จสิ้นกันเสียที
[๔๓๔] ครั้งนั้น บิดาจึงให้พรดิฉันว่า
ขอให้ลูกบรรลุอรหัตตมรรค อรหัตตผลอันเลิศ
และจงได้นิพพานที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์
ทรงกระทำให้แจ้งเถิด
[๔๓๕] ดิฉันกราบลามารดาบิดาและหมู่ญาติทุกคน
บวชได้ ๗ วัน ก็ได้บรรลุวิชชา ๓
[๔๓๖] รู้ระลึกชาติได้ ๗ ชาติ จักบอกกรรมที่มีผลวิบากแก่แม่เจ้า
ขอแม่เจ้าโปรดสำรวมใจฟังวิบากกรรมนั้นเถิด
[๔๓๗] ชาติก่อน ดิฉันเป็นช่างทองในเมืองเอรกกัจฉะ
มีทรัพย์มาก มัวเมาในวัยหนุ่ม ได้เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
[๔๓๘] ดิฉันนั้นตายจากชาตินั้นแล้ว
ต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกเป็นเวลานาน ถูกไฟนรกเผาแล้ว
ครั้นพ้นจากนรกนั้นแล้ว ก็เกิดในท้องนางลิง
[๔๓๙] พอเกิดได้ ๗ วัน วานรใหญ่ จ่าฝูง ก็กัดอวัยวะสืบพันธุ์
นี้เป็นผลกรรมที่ดิฉันเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๔๐] ดิฉันนั้นตายจากกำเนิดวานรนั้นแล้ว
เกิดในท้องแม่แพะตาบอด และเป็นง่อยอยู่ในป่า แคว้นสินธุ
[๔๔๑] พออายุได้ ๑๒ ปี พาเด็กขึ้นหลังไป
ถูกเด็กตัดอวัยวะสืบพันธุ์ ป่วยเป็นโรค
หมู่หนอนชอนไชที่อวัยวะสืบพันธุ์
นี้เป็นผลกรรมที่ดิฉันเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
[๔๔๒] ดิฉันนั้นตายจากกำเนิดแพะนั้นแล้ว
ก็เกิดในท้องแม่โคของพ่อค้าโค
เป็นลูกโคมีขนแดงดังน้ำครั่ง
อายุ ๑๒ เดือนก็ถูกตอน
[๔๔๓] ดิฉันถูกเขาใช้ให้ลากไถและเทียมเกวียน
ป่วยเป็นโรคตาบอด มีความลำบาก
นี้เป็นผลกรรมที่ดิฉันเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
[๔๔๔] ดิฉันนั้นตายจากกำเนิดโคนั้นแล้ว
เกิดในท้องสาวใช้ข้างถนนในพระนคร
เป็นหญิงก็ไม่ใช่ เป็นชายก็ไม่เชิง
นี้เป็นผลกรรมที่ดิฉันเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
[๔๔๕] อายุ ๓๐ ปีก็ตาย
มาเกิดเป็นเด็กหญิง
ในตระกูลช่างเกวียนที่เข็ญใจ
มีโภคทรัพย์น้อย
มีเจ้าหนี้มากมาย
[๔๔๖] เมื่อหนี้พอกพูนทับถมมากขึ้น
แต่นั้น นายกองเกวียนก็ริบเอาทรัพย์สมบัติแล้ว
ฉุดคร่าดิฉันนั้นผู้กำลังรำพันอยู่ออกจากเรือนของสกุล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๕. จัตตาฬีสนิบาต] ๑. อิสิทาสีเถรีคาถา
[๔๔๗] ภายหลัง บุตรของนายกองเกวียนนั้นชื่อคิริทาส
เห็นดิฉันเป็นสาวรุ่นอายุ ๑๖ ปี
ก็มีจิตปฏิพัทธ์ จึงขอไปเป็นภรรยา
[๔๔๘] แต่นายคิริทาสนั้น มีภรรยาอยู่ก่อนคนหนึ่ง
เป็นคนมีศีล มีคุณธรรม และมีชื่อเสียง
รักใคร่สามีอย่างดียิ่ง ดิฉันได้ทำให้สามีเกลียดนาง
[๔๔๙] ข้อที่สามีทั้งหลาย เลิกร้างดิฉัน
ซึ่งปรนนิบัติอยู่เสมือนสาวใช้ไป
ก็เป็นผลกรรมที่ดิฉันนั้นกระทำแล้วในครั้งนั้น
ดิฉันสิ้นสุดกรรมนั้นแล้ว
จัตตาฬีสนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
๑๖. มหานิบาต
๑. สุเมธาเถรีคาถา
ภาษิตพระสุเมธาเถรี
ทราบว่า พระสุเมธาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า
[๔๕๐] เราเป็นธิดาของพระอัครมเหสีพระเจ้าโกญจะกรุงมันตาวดี ชื่อว่า
สุเมธา ผู้ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ทำตามคำสั่งสอน
ทำให้เกิดเลื่อมใสแล้ว
[๔๕๑] เจ้าหญิงสุเมธามีศีล กล่าวธรรมได้วิจิตร
เป็นพหูสูต ถูกแนะนำในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เข้าเฝ้าพระชนกและพระชนนี กราบทูลว่า
“ขอพระชนกพระชนนีทั้ง ๒ พระองค์
โปรดตั้งพระทัยสดับคำของลูก
[๔๕๒] ลูกยินดีอย่างยิ่งในนิพพาน
ภพถึงแม้ว่าจะเป็นทิพย์ก็ไม่ยั่งยืน
จะกล่าวไปใยถึงกามทั้งหลายซึ่งเป็นของว่างเปล่า
มีความยินดีน้อย มีความคับแค้นมาก
[๔๕๓] กามทั้งหลายเผ็ดร้อน เปรียบด้วยงูพิษ
ที่พวกคนเขลาหมกมุ่นอยู่
พวกคนเขลาเหล่านั้นแออัดกันในนรก
ต้องประสบทุกข์เดือดร้อนอยู่เป็นเวลาช้านาน
[๔๕๔] พวกคนเขลาไม่สำรวมกายวาจาและใจ ทำแต่ความชั่ว
พอกพูนแต่ความชั่วย่อมโศร้าโศกในอบายทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๒๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๕๕] พวกคนเขลาเหล่านั้นมีปัญญาทราม ไม่มีความคิด
ยินดีแล้วในทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์
ไม่รู้สัจธรรม ๔ ที่พระอริยะแสดงอยู่ จึงรู้อริยสัจไม่ได้
[๔๕๖] ทูลกระหม่อมแม่เจ้าขา คนเขลาเหล่าใดเมื่อไม่รู้สัจจะทั้งหลาย
ที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงไว้แล้ว ยังชื่นชมภพ พอใจเกิด
ในหมู่เทพ คนเขลาเหล่านั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากในโลกนี้
[๔๕๗] ความเกิดในหมู่เทพในภพที่ไม่เที่ยง เป็นสภาวะที่ไม่ยั่งยืน
พวกคนเขลาย่อมไม่สะดุ้งกลัวต่อการที่จะต้องเกิดบ่อย ๆ
[๔๕๘] สัตว์ทั้งหลายย่อมได้อบาย ๔ กันง่าย
ส่วนคติ ๒ ได้กันลำบาก
เหล่าสัตว์ที่เข้าถึงอบาย ในนรกไม่มีการบวชนะเพคะ
[๔๕๙] ขอพระชนกพระชนนีทั้ง ๒ พระองค์
ทรงอนุญาตให้ลูกบวชในพระธรรมวินัยของพระทศพลเถิดเพคะ
ลูกจักขวนขวายน้อย พากเพียรเพื่อละชาติและมรณะ
[๔๖๐] กายที่มีโทษคือกายที่ไร้สาระซึ่งพวกคนเขลาชื่นชมนักหนา
จะมีประโยชน์อะไรในภพ
ขอทั้ง ๒ พระองค์ทรงอนุญาตเถิด
ลูกจักบวชเพื่อดับภวตัณหา๑
[๔๖๑] ความอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายลูกได้แล้ว
อักขณะ๒ลูกก็เว้นแล้ว
ขณะลูกก็ได้แล้ว
ลูกจะไม่พึงทำลายศีลและพรหมจรรย์ตลอดชีวิต”

เชิงอรรถ :
๑ ความอยากในภพ
๒ ไม่ใช่เวลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๖๒] เจ้าหญิงสุเมธากราบทูลพระชนกพระชนนีอย่างนี้ว่า
“ตราบใดที่ลูกยังเป็นคฤหัสถ์จักไม่ยอมรับประทานอาหาร
ถึงจะตายก็ยอมเพคะ”
[๔๖๓] พระชนนีของพระนางสุเมธานั้นทรงเป็นทุกข์ ทรงกันแสง
และพระชนกของนางมีพระพักตร์นองด้วยอัสสุชล
ทั้ง ๒ พระองค์ทรงพยายามเกลี้ยกล่อมพระนางสุเมธานั้น
ซึ่งฟุบลงที่พื้นดิน ณ พื้นปราสาทว่า
[๔๖๔] “ลุกขึ้นเถิด ลูกรัก จะเศร้าโศกไปทำไม
พ่อแม่ได้ยกลูกให้พระเจ้าอนิกรัต
ผู้ทรงสง่างามในพระนครวารณวดีแล้ว
[๔๖๕] ลูกจักเป็นเอกอัครมเหสีของพระเจ้าอนิกรัต
ศีล พรหมจรรย์ บรรพชาทำได้ยากนะลูกรัก
[๔๖๖] อำนาจในแคว้นของพระเจ้าอนิกรัต ทรัพย์
ความเป็นใหญ่ โภคะ สุขในราชสกุลนี้
ถ้าลูกปรารถนาแล้ว ก็จักอยู่ในเงื้อมมือของลูก
ลูกก็ยังเป็นสาว จงบริโภคกามทั้งหลายเถิด
ลูกจงวิวาห์เสียนะลูกนะ”
[๔๖๗] ลำดับนั้น เจ้าหญิงสุเมธากราบทูลพระชนกพระชนนีนั้น
อย่างนี้ว่า “อำนาจเป็นต้นเช่นนี้จงอย่ามีเลย
เพราะภพหาสาระมิได้ ลูกขอบวชหรือตายเท่านั้น
แต่ลูกไม่ยอมวิวาห์แน่นอน
[๔๖๘] กายที่เปื่อยเน่าเหมือนหมู่หนอน ไม่สะอาด
มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป น่าสะพรึงกลัว
เป็นดุจถุงหนัง บรรจุศพ เต็มด้วยของไม่สะอาด
ไหลออกอยู่เนือง ๆ ซึ่งคนเขลายึดถืออยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๖๙] ลูกรู้อยู่ว่าร่างกายนั้นปฏิกูลเหมือนหมู่หนอน
ถูกฉาบไว้ด้วยเนื้อและเลือด
เป็นที่อยู่ของหมู่หนอน เป็นเหยื่อของแร้งกา
ทำไมทูลกระหม่อมจึงพระราชทานซากศพ
แก่พระราชาพระองค์นั้นเพคะ
[๔๗๐] ไม่ช้าร่างกายที่ปราศจากวิญญาณ
ถูกหมู่ญาติซึ่งพากันเกลียดชัง
ทอดทิ้งไปเหมือนท่อนไม้ที่เขาก็พากันนำไปทิ้งป่าช้า
[๔๗๑] มารดาบิดาของตนยังเกลียดชัง
พากันเอาซากศพนั้นไปทิ้งให้เป็นอาหารของสัตว์อื่น ๆ ในป่าช้า
กลับมาก็ต้องอาบน้ำดำเกล้า
จะกล่าวไปใยถึงหมู่ชนทั่ว ๆ ไปเล่า
[๔๗๒] หมู่ชนยึดถือแล้วในร่างกายอันเปื่อยเน่า
เป็นซากศพ ไม่มีแก่นสาร เป็นร่างของกระดูกและเอ็น
เต็มไปด้วยน้ำลาย น้ำตา และอุจจาระ
[๔๗๓] ผู้ใดพึงชำแหละร่างกายนั้นกลับข้างในมาไว้ข้างนอก
ผู้นั้นก็จะทนกลิ่นเหม็นของร่างกายนั้นไม่ได้
แม้มารดาของตนก็ยังเกลียดชัง
[๔๗๔] ลูกพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายว่า
ขันธ์ ธาตุ อายตนะอันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
มีชาติเป็นมูลเหตุ เป็นทุกข์ เพราะเหตุไร
จะพึงปรารถนาการวิวาห์เล่าเพคะ
[๔๗๕] หอก ๓๐๐ เล่มใหม่เอี่ยมจะพึงตกต้องที่กายทุก ๆ วัน
และทิ่มแทงอยู่ถึง ๑๐๐ ปี ยังประเสริฐกว่า
หากว่าความสิ้นทุกข์ จะพึงมีได้ด้วยอาการอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๗๖] ผู้ใดรู้แจ้งคำสอนของพระศาสดาอย่างนี้แล้ว
พึงยอมรับการทิ่มแทง ด้วยอาการอย่างนั้นยังประเสริฐกว่า
เพราะสังสารวัฎของคนเหล่านั้น
ซึ่งถูกชราพยาธิและมรณะเบียดเบียนบ่อย ๆ ยาวนาน
[๔๗๗] ในจำพวกเทวดา มนุษย์ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
หมู่อสุรกาย เปรต และสัตว์นรก
การทำร้ายกันยังปรากฏอยู่หาประมาณมิได้
[๔๗๘] สำหรับสัตว์ที่เศร้าหมองอยู่ในอบาย
ยังมีการทำร้ายกันอยู่มากในนรก
แม้ในเทวดาทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้
สุขอื่นนอกจากสุขคือนิพพานไม่มีเลย
[๔๗๙] ชนเหล่าใดขวนขวายในพระธรรมวินัยของพระทศพล
มีความขวนขวายน้อย พากเพียรเพื่อละชาติและมรณะ
ชนเหล่านั้นย่อมถึงนิพพาน
[๔๘๐] ทูลกระหม่อมพ่อ เพคะ วันนี้แหละลูกจักออกบวช
โภคทรัพย์ทั้งหลายที่ไม่มีแก่นสารจะมีประโยชน์อะไร
ลูกเบื่อหน่ายกามทั้งหลายแล้ว
ทำให้เสมอด้วยรากสุนัข ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน”
[๔๘๑] เจ้าหญิงสุเมธานั้นกำลังกราบทูลพระชนกอยู่อย่างนี้
พระเจ้าอนิกรัตผู้ได้รับพระราชทานพระนางสุเมธานั้น
มีข้าราชบริพารหนุ่มแวดล้อมแล้ว
ก็เสด็จมาเพื่อเข้าสู่วิวาห์เมื่อเวลากระชั้นชิด
[๔๘๒] ภายหลัง เจ้าหญิงสุเมธาทราบว่าพระเจ้าอนิกรัตเสด็จมา
จึงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศาอันดำขลับที่รวบไว้ อ่อนสลวย
ทรงปิดปราสาท เข้าปฐมฌาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๘๓] เจ้าหญิงสุเมธานั้นเข้าฌาน อยู่ในปราสาทนั้น
และพระเจ้าอนิกรัตก็ได้เสด็จมาถึงพระนคร
สุเมธาก็เจริญอนิจจสัญญาอยู่ในปราสาทนั้นนั่นแหละ
[๔๘๔] เจ้าหญิงสุเมธานั้นกำลังมนสิการ
และพระเจ้าอนิกรัตทรงแต่งองค์ด้วยแก้วมณีและทองคำ
ก็รีบเสด็จขึ้นปราสาท ทรงประคองอัญชลี
อ้อนวอนพระนางสุเมธาว่า
[๔๘๕] “อำนาจ ทรัพย์ ความเป็นใหญ่ โภคะ สุขในราชสมบัติ
น้องหญิงยังเป็นสาวอยู่
ขอเชิญบริโภคกามทั้งหลาย
กามสุขหาได้ยากในโลก
[๔๘๖] ราชสมบัติพี่ยอมสละให้น้องหญิงแล้ว
เชิญน้องหญิงบริโภคโภคทรัพย์
ถวายทานทั้งหลายเถิด
น้องหญิงอย่าทรงเสียพระทัยเลย
พระชนกพระชนนีของพระน้องหญิงทรงเป็นทุกข์”
[๔๘๗] เจ้าหญิงสุเมธาไม่ต้องการกามทั้งหลาย
ปราศจากโมหะแล้ว
จึงกราบทูลพระเจ้าอนิกรัตนั้นว่า
“อย่าทรงเพลิดเพลินกามเลย
โปรดทรงเห็นโทษในกามทั้งหลายเถิด เพคะ
[๔๘๘] พระเจ้ามันธาตุ เจ้าแห่งทวีปทั้ง ๔
ทรงเป็นยอดผู้บริโภคกามทั้งหลาย
ยังไม่ทันทรงอิ่มก็เสด็จสวรรคตไปแล้ว
ทั้งความปรารถนาของพระองค์ ก็ยังไม่เต็มเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๘๙] เทวดาผู้เป็นเจ้าแห่งฝนพึงหลั่งฝนคือรัตนะ ๗ ลงมาโดยรอบ
ทั่วทั้ง ๑๐ ทิศ ความอิ่มกามทั้งหลายก็ไม่มี
นรชนทั้งหลายยังไม่อิ่มเลย ก็พากันตายไป
[๔๙๐] กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบและหลาว
เปรียบด้วยหัวงูเห่า เปรียบด้วยร่างกระดูก
เปรียบด้วยคบเพลิงตามเผาอยู่
[๔๙๑] กามทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก มีพิษมาก
เป็นเหตุแห่งทุกข์ มีผลเป็นทุกข์ เหมือนก้อนเหล็กที่ลุกโชน
[๔๙๒] กามทั้งหลายเปรียบด้วยผลไม้ เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ
นำทุกข์มาให้ เปรียบด้วยความฝันหลอกลวง
เปรียบด้วยของที่ยืมเขามา
[๔๙๓] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นทุกข์ เป็นความลำบาก
เสมือนหลุมถ่านเพลิง เป็นเหตุแห่งทุกข์
เป็นภัย เป็นเพชฌฆาต
[๔๙๔] กามทั้งหลายมีทุกข์มากอย่างนี้
บัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวว่าทำอันตราย
เชิญพระองค์เสด็จกลับไปเสียเถิด
หม่อมฉันไม่มีความวางใจในภพของตนเองเลย
[๔๙๕] เมื่อไฟกำลังไหม้ศีรษะของตนเองอยู่
คนอื่นจักช่วยอะไรหม่อมฉันได้
เมื่อชราและมรณะติดตามอยู่
ก็ควรพยายามกำจัดชราและมรณะนั้นเสีย”
[๔๙๖] ดิฉันเห็นพระชนกพระชนนีและพระเจ้าอนิกรัตเสด็จยังไม่ทันถึง
พระทวารก็ประทับนั่งที่พื้นดิน ทรงกันแสงอยู่
จึงได้กราบทูลดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๔๙๗] “สังสารวัฏเป็นสภาวะยืดยาวสำหรับพวกคนเขลา
ผู้ร้องไห้อยู่บ่อย ๆ เพราะบิดามารดาตาย
พี่ชายน้องชายถูกฆ่า และตัวเองถูกฆ่า
ในสังสารวัฏที่มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว
[๔๙๘] ขอพระองค์ทรงโปรดระลึกถึงน้ำตา น้ำนม เลือด
และกองกระดูก ของสัตว์ทั้งหลายผู้ท่องเที่ยวไปมาว่ามากเพียงไร
เพราะความที่สังสารวัฏมีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว
[๔๙๙] โปรดทรงระลึกถึงมหาสมุทรทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรง
นำมาเปรียบเทียบด้วยน้ำตา น้ำนมและเลือด
โปรดทรงระลึกถึงกองกระดูกในกัปหนึ่งของบุคคลคนหนึ่ง
เทียบเท่าภูเขาวิปุลบรรพต
[๕๐๐] โปรดทรงระลึกถึงแผ่นดินใหญ่ชมพูทวีปที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ทรงนำมาเปรียบเทียบด้วยสังสารวัฏของสัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่ใน
สังสารวัฏที่มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว
แผ่นดินทั้งหลายทำให้เป็นก้อนเท่าเมล็ดพุทรา
ก็มากไม่พอเท่าจำนวนมารดาบิดาทั้งหลาย
[๕๐๑] โปรดทรงระลึกถึงหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้
ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงนำมาเปรียบเทียบ
เพราะสังสารวัฏมีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว
ท่อนไม้ทั้งหลายมีขนาด ๔ นิ้ว
ก็มากไม่พอเท่าจำนวนบิดาและปู่ทั้งหลาย
[๕๐๒] โปรดทรงระลึกถึงเต่าตาบอด
และช่องแอกอันหมุนวนไปในทิศบูรพาและทิศอื่น ๆ
ในมหาสมุทรมาสวมหัวเต่าตาบอดตัวนั้น
เปรียบเทียบในการได้อัตภาพเป็นมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๕๐๓] โปรดทรงระลึกถึงสภาวะที่จะสลายไปแห่งโทษคือกาย
ที่ไม่มีแก่นสาร ซึ่งเปรียบด้วยก้อนฟองน้ำ
โปรดทรงพิจารณาให้เห็นขันธ์ทั้งหลายว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง
โปรดทรงระลึกถึงนรกทั้งหลายว่ามีความคับแค้นมาก
[๕๐๔] โปรดทรงระลึกถึงสัตว์ทั้งหลายที่พากันทำป่าช้าให้รก
ในชาตินั้น ๆ อยู่ร่ำไป
โปรดระลึกถึงภัยคือจรเข้๑
โปรดทรงระลึกถึงอริยสัจ ๔
[๕๐๕] เมื่ออมตนิพพานมีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไร
ด้วยของเผ็ดร้อน ๕ อย่างที่ทรงดื่มแล้วอีกเล่า
เพราะว่า ความยินดีกามทุกอย่าง
เผ็ดร้อนกว่าของเผ็ดร้อน ๕ อย่าง
[๕๐๖] เมื่ออมตนิพพานมีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไรด้วยกามทั้งหลายที่เร่าร้อนอีกเล่า
เพราะว่าความยินดีกามทุกอย่างอันไฟติดโพลงแล้ว
ให้เดือดร้อน ให้หวั่นไหว เผาให้ร้อนแล้ว
[๕๐๗] เมื่อการออกจากกามซึ่งไม่มีข้าศึกมีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไรด้วยกามทั้งหลายที่มีข้าศึกมาก
กามทั้งหลายมีภัยอยู่ทั่วไป
คือ ราชภัย อัคคีภัย โจรภัย อุทกภัย
และอัปปิยภัย๒จึงชื่อว่ามีข้าศึกมาก

เชิงอรรถ :
๑ เห็นแก่กินเห็นแก่ปากแก่ท้อง
๒ ภัยที่เกิดจากคนร่วมมรดกที่ไม่ถูกกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๕๐๘] เมื่อโมกขธรรมมีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไร
ด้วยกามทั้งหลายที่มีการฆ่าการจองจำเล่า
เพราะว่าการฆ่าการจองจำมีอยู่ในกามทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่กามย่อมได้รับทุกข์ทั้งหลาย
[๕๐๙] คบเพลิงหญ้าที่ลุกโพลงย่อมไหม้คนที่ถือ
และพวกคนที่ไม่ยอมปล่อย
เพราะว่ากามทั้งหลายเปรียบด้วยคบเพลิงย่อมไหม้คนที่ไม่ยอมละ
[๕๑๐] โปรดอย่าละสุขอันไพบูลย์
เพราะเหตุแห่งกามสุขเพียงเล็กน้อย
อย่าทรงเป็นดุจปลาใหญ่กลืนเบ็ด
ต้องเดือดร้อนในภายหลัง
[๕๑๑] โปรดอย่าทรงเป็นดุจสุนัขถูกล่ามโซ่หมุนไปหมุนมา
เพราะกามทั้งหลายเลย
เพราะกามทั้งหลายจักทำพระองค์ให้เป็นเหมือนคนจัณฑาลหิวจัด
ได้สุนัขแล้วทำให้พินาศได้
[๕๑๒] พระองค์ทรงประกอบด้วยกาม
จักเสวยทุกข์ซึ่งหาประมาณมิได้
และความเสียใจอย่างมาก
โปรดสละกามอันไม่ยั่งยืนเสียเถิด
[๕๑๓] เมื่อนิพพานที่ไม่มีความแก่มีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไร
ด้วยกามทั้งหลายที่มีความแก่เล่า
ความเกิดทั้งปวงมีมรณะและพยาธิกำกับไว้ในภพทุกภพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๕๑๔] นิพพานนี้ไม่แก่ ไม่ตาย
เป็นทางดำเนินถึงความไม่แก่และไม่ตาย
ไม่มีความเศร้าโศก
ไม่ถูกข้าศึกเบียดเบียน
ไม่พลาด ไม่มีภัย
ไม่มีความเดือดร้อน
[๕๑๕] นิพพานนี้ พระอริยเจ้าเป็นจำนวนมากบรรลุแล้ว
อมตนิพพานนี้อันผู้พยายามโดยแยบคายพึงได้ในวันนี้นี่แหละ
แต่ผู้ไม่พยายามอาจหาได้ไม่”
[๕๑๖] เจ้าหญิงสุเมธาเมื่อไม่ทรงยินดีในสังขาร กราบทูลอย่างนี้
และเมื่อกำลังทรงเกลี้ยกล่อมพระเจ้าอนิกรัตอยู่
ก็ทรงโยนพระเกศาลงที่พื้นดิน
[๕๑๗] พระเจ้าอนิกรัตเสด็จลุกขึ้น ประคองอัญชลี
ทูลอ้อนวอนพระชนกของพระนางว่า
“โปรดทรงปลดปล่อยเจ้าหญิงสุเมธาให้ผนวชเถิด
เพราะว่าเจ้าหญิงทรงเห็นวิโมกข์และสัจธรรมแล้ว”
[๕๑๘] เจ้าหญิงสุเมธานั้นซึ่งพระชนกชนนีทรงปล่อยแล้ว
กลัวภัยคือความโศก
บวชแล้วเมื่อศึกษาอยู่
ก็ทำให้แจ้งอภิญญา ๖ และอรหัตผลแล้ว
[๕๑๙] นิพพานนั้นน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี
ได้มีแก่สุเมธาราชกัญญา
พระสุเมธาเถรีได้พยากรณ์วิธีที่ตนประพฤติแล้วในปุพเพนิวาสญาณ
เหมือนอย่างที่พยากรณ์ในเวลาใกล้ปรินิพพานว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๓๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต] ๑. สุเมธาเถรีคาถา
[๕๒๐] “เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าโกนาคมนะเสด็จอุบัติขึ้นใน
โลก เมื่อสร้างสังฆารามเสร็จใหม่ ๆ ข้าพเจ้าได้เป็นหญิง รวมกับ
เพื่อนกัน ๓ คน๑ ได้ถวายวิหารแด่สงฆ์
[๕๒๑] พวกเราทั้ง ๓ คนเกิดในเทวดา ๑๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง
๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐,๐๐๐ ชาติบ้าง
ไม่จำต้องกล่าวถึงการเกิดในมนุษย์เลย
[๕๒๒] พวกเรามีฤทธิ์มากในหมู่เทวดา
ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงฤทธิ์ในหมู่มนุษย์
เราเป็นมเหสีนารีรัตน์ของพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีรัตนะ ๗ ประการ
[๕๒๓] การสร้างอารามถวายสงฆ์เป็นวิหารทานนั้น
เป็นเหตุเป็นแดนเกิด(แห่งทิพยสมบัติตามที่กล่าวมาแล้ว)
ข้อนั้นเป็นมูล และเป็นความเกษมในพระศาสนา
เป็นเหตุตั้งมั่น (พร้อมด้วยธรรมครั้งที่ ๑)
ข้อนั้นเป็นนิพพานสำหรับข้าพเจ้าผู้ยินดีแล้วในธรรม
[๕๒๔] ชนเหล่าใดเชื่อพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
ผู้มีพระปัญญาไม่ทราม
ชนเหล่านั้นย่อมกล่าวอย่างนี้ย่อมเบื่อหน่ายในภพ
ครั้นเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมคลายกำหนัดดังนี้”
มหานิบาต จบบริบูรณ์
เถรีคาถา จบบริบูรณ์
ในเถรีคาถานี้ มี ๔๙๔ คาถา
และมีพระเถรีล้วนแต่เป็นผู้สิ้นอาสวะเกิน ๑๐๐ รูป ฉะนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ คือ ธนัญชานี เขมา และข้าพเจ้า (สุเมธา) (ขุ.เถรี.อ. ๕๒๐/๓๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๖๔๐ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา จบ





eXTReMe Tracker