ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๑๒๖๕] ท่านทั้งหลายอย่าได้ทำการบูชาเสริสสกเทพบุตรเลย
สิ่งที่ท่านทั้งหลายพูดถึงทั้งหมดจักมีแก่พวกท่าน
ท่านทั้งหลายจงงดเว้นกรรมชั่วและจงตั้งใจประพฤติธรรมเถิด
[๑๒๖๖] ในหมู่พ่อค้าเกวียนนี้ มีอุบาสกผู้เป็นพหูสูต
ประกอบด้วยศีลและวัตร มีศรัทธา มีจาคะ มีศีลเป็นที่รักยิ่ง
มีวิจารณญาณ สันโดษ มีความรู้
[๑๒๖๗] ไม่พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น
ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกกัน
พูดแต่วาจาอ่อนหวานละมุนละม่อม
[๑๒๖๘] เขามีความเคารพ ยำเกรง มีวินัย
ไม่เป็นคนเลว เป็นคนบริสุทธิ์ในอธิศีล
มีความประพฤติประเสริฐ เลี้ยงดูมารดาบิดาโดยชอบธรรม
[๑๒๖๙] เขาเห็นจะแสวงหาโภคทรัพย์ เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา
มิใช่เพราะเหตุแห่งตน เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไป
เขาก็น้อมไปในเนกขัมมะ ประพฤติพรหมจรรย์
[๑๒๗๐] เขาเป็นคนซื่อตรง ไม่คดโกง ไม่โอ้อวด ไม่เจ้าเล่ห์
ไม่พูดมีเลศนัย เขาทำแต่กรรมดี
ตั้งอยู่ในธรรมเช่นนี้ จะพึงได้รับทุกข์อย่างไรเล่า
[๑๒๗๑] เพราะอุบาสกนั้นเป็นเหตุ ข้าพเจ้าจึงได้ปรากฏตัว
พ่อค้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเห็นธรรมเถิด
เพราะเว้นอุบาสกนั้นเสียแล้ว ท่านทั้งหลายจะสับสน
เหมือนคนตาบอดหลงเข้าไปในป่าเป็นเถ้าถ่านไป
การทอดทิ้งผู้อื่นเป็นการง่ายสำหรับคนทั่วไป
(แต่เป็นการยากสำหรับสัตบุรุษ)
การคบหาสัตบุรุษจึงนำความสุขมาให้อย่างแท้จริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๒๗๒] อุบาสกคนนั้นคือใคร และทำงานอะไร
เขาชื่ออะไร และโคตรอะไร
เทวดา แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็ต้องการจะเห็นอุบาสกนั้น
ที่ท่านมาที่นี้เพื่อช่วยเหลือ อุบาสกที่ท่านชอบ เป็นคนโชคดี
(เทพบุตรตอบว่า)
[๑๒๗๓] ผู้ใดเป็นกัลบก๑ มีชื่อว่า สัมภวะ อาศัยการตัดผมเลี้ยงชีพ
เขาเป็นคนรับใช้ของพวกท่าน
ท่านทั้งหลายจงรู้ว่าผู้นั้นเป็นอุบาสก
ท่านทั้งหลายอย่าได้ดูหมิ่นเขา เขาเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักยิ่ง
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[๑๒๗๔] เทวดา พวกข้าพเจ้ารู้จักช่างตัดผมคนที่ท่านพูดถึงดี
แต่ไม่รู้ว่าเขาเป็นคนเช่นนี้เลย
เทวดา แม้พวกเราฟังคำของท่านแล้ว
ก็จักบูชาอุบาสกนั้นอย่างโอฬาร
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๑๒๗๕] พวกผู้คนในกองเกวียนนี้ ไม่ว่าคนหนุ่ม คนแก่
หรือคนปูนกลาง ทุกคนนั้นแหละเชิญขึ้นวิมาน
พวกคนตระหนี่จงดูผลของบุญทั้งหลาย
(พระธรรมสังคีติกาจารย์กล่าว ๖ คาถาในตอนจบเรื่องว่า)
[๑๒๗๖] พ่อค้าทุกคน ณ ที่นั้นต่างคนต่างเข้าห้อมล้อมช่างตัดผมนั้น
พากันขึ้นวิมานซึ่งเสมือนภพดาวดึงส์ของท้าววาสวะ
พร้อมกับกล่าวว่าเราก่อน ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ช่างแต่งกาย (ขุ.วิ.อ. ๑๒๗๓/๔๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน
[๑๒๗๗] พ่อค้าทุกคนนั้นต่างก็ประกาศความเป็นอุบาสก ณ ที่นั้นว่า
เราก่อน ๆ แล้วได้เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
[๑๒๗๘] พ่อค้าทุกคนนั้นครั้นประกาศความเป็นอุบาสก ณ ที่นั้นแล้ว
ได้ไปยังประเทศที่ตนปรารถนาโดยสวัสดี
หมู่พ่อค้าเกวียนบันเทิงอยู่ด้วยฤทธิ์ของเทวดาเนือง ๆ
ได้รับอนุญาตแล้วหลีกไป
[๑๒๗๙] พ่อค้าเหล่านั้นต้องการทรัพย์ หวังกำไร
ไปถึงสินธุและโสวีระประเทศ
พยายามค้าขายตามที่ตั้งใจไว้
มีลาภบริบูรณ์ กลับมาเมืองปาฏลีบุตรโดยปลอดภัย
[๑๒๘๐] พ่อค้าเหล่านั้นไปเรือนของตน
มีความสวัสดี พร้อมหน้าบุตรภรรยา
มีจิตเพลิดเพลิน ดีใจ ปลาบปลื้ม
ทำการบูชาเสริสสกเทพบุตรอย่างโอฬาร
ได้ช่วยกันสร้างเทวาลัยชื่อเสริสสกะขึ้น
[๑๒๘๑] การคบสัตบุรุษให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้
การคบผู้มีคุณธรรมมีประโยชน์มาก
พ่อค้าทั้งหมดได้ประสบความสุข
เพราะผลอันสืบเนื่องมาจากอุบาสกคนเดียว
เสริสสกวิมานที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๑. สุนิกขิตตวิมาน
๑๑. สุนิกขิตตวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่อุบาสก
ผู้จัดดอกไม้ให้เป็นระเบียบอยู่หน้าสถูป
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๒๘๒] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
เป็นปราสาท ๗๐๐ ยอด ดูโอฬาร มีเสาประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์
มีพื้นปูลาดด้วยแผ่นทองคำสวยงาม
[๑๒๘๓] ท่านสถิต ดื่ม กินอยู่ในวิมานนั้น
มีทวยเทพพากันมาบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
ในวิมานของท่านนี้มีเบญจกามคุณอันเป็นทิพรส
และเหล่าเทพนารีผู้ประดับด้วยอาภรณ์ทองคำฟ้อนรำอยู่
[๑๒๘๔] เพราะบุญอะไรท่านจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจ จึงเกิดขึ้นแก่ท่าน
[๑๒๘๕] เทวดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๒๘๖] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๒๘๗] ข้าพเจ้าได้จัดดอกไม้ที่เขาวางไว้ไม่เรียบร้อยให้เรียบร้อย
แล้วได้วางไว้ที่พระสถูปของพระสุคต๑
จึงเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
พรั่งพร้อมด้วยกามคุณทิพย์

เชิงอรรถ :
๑ พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า (ขุ.วิ.อ. ๘๕/๔๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรค
[๑๒๘๘] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
[๑๒๘๙] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
สุนิกขิตตวิมานที่ ๑๑ จบ
สุนิกขิตตวรรคที่ ๗ จบ

รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จิตตลตาวิมาน ๒. นันทนวิมาน
๓. มณิถูณวิมาน ๔. สุวัณณวิมาน
๕. อัมพวิมาน ๖. โคปาลวิมาน
๗. กัณฐกวิมาน ๘. อเนกวัณณวิมาน
๙. มัฏฐกุณฑลีวิมาน ๑๐. เสริสสกวิมาน
๑๑. สุนิกขิตตวิมาน

ภาณวารที่ ๔ จบ
วิมานวัตถุ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๕ }




หน้าว่าง



{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑. เขตตูปมเปตวัตถุ
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เปตวัตถุ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. อุรควรรค
หมวดว่าด้วยอุปมาด้วยงูลอกคราบ
๑. เขตตูปมเปตวัตถุ
เรื่องพระอรหันต์เปรียบเหมือนนาย่อมมีอุปการะแก่เปรตและทายก
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑] พระอรหันต์ทั้งหลายเปรียบเหมือนนา
ทายกทั้งหลายเปรียบเหมือนชาวนา
ไทยธรรมเปรียบเหมือนพืช
ผลทานย่อมเกิดจากการที่ทายกบริจาคไทยธรรมแก่ปฏิคาหก
[๒] เหตุ ๓ อย่างนี้ คือ พืช การหว่าน นา
ย่อมมีอุปการะแก่พวกเปรตและทายก
เปรตทั้งหลายย่อมบริโภคผลนั้น
ทายกย่อมเจริญด้วยบุญ
[๓] ทายกทำกุศลในอัตภาพนี้แล้วอุทิศให้พวกเปรต
ครั้นทำกรรมดีแล้วย่อมไปสวรรค์
เขตตูปมเปตวัตถุที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๓. ปูติมุขเปตวัตถุ
๒. สูกรมุขเปตวัตถุ
เรื่องเปรตปากหมู
(ท่านพระนารทเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๔] ทั่วทั้งกายของท่านมีสีเหมือนทองคำ
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
แต่ปากของท่านเหมือนปากสุกร
เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๕] ท่านพระนารทะ เมื่อก่อนข้าพเจ้าได้สำรวมกาย
แต่ไม่ได้สำรวมวาจา
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงมีรูปร่างและผิวพรรณ
ตามที่ท่านเห็นอยู่นั้น
[๖] ท่านนารทะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอบอกท่าน
สรีระของข้าพเจ้านี้ท่านเห็นเองแล้ว
ท่านอย่าได้ทำบาปด้วยปาก
ท่านอย่าได้มีปากเหมือนสุกรเลย
สูกรเปตวัตถุที่ ๒ จบ

๓. ปูติมุขเปตวัตถุ
เรื่องเปรตปากเน่า
(ท่านพระนารทะถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๗] ท่านมีผิวพรรณงามดังทิพย์ ยืนอยู่ในกลางอากาศ
แต่ปากของท่านมีกลิ่นเหม็น
หมู่หนอนพากันชอนไช เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๔. ปิฏฐธีตลิกเปยวัตถุ
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๘] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นสมณะลามก มีวาจาชั่วหยาบ
มีปกติสำรวมกาย แต่ไม่สำรวมปาก
จึงได้มีผิวพรรณดังทองคำเพราะความสำรวมกาย
แต่ปากของข้าพเจ้าเหม็นเน่าเพราะพูดส่อเสียด
[๙] ท่านนารทะ รูปร่างของข้าพเจ้าท่านเห็นเองแล้ว
ท่านผู้ฉลาดซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์กล่าวไว้ว่า
ท่านอย่าได้พูดส่อเสียด และอย่าได้พูดมุสา
ท่านจักเป็นเทพผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติที่น่าปรารถนา
ปูติมุขเปตวัตถุที่ ๓ จบ

๔. ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ
เรื่องเปรตตุ๊กตาแป้ง
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า)
[๑๐] บุคคลผู้ไม่ตระหนี่ ควรทำเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นอารมณ์
คือ ปรารภบุรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือเทวดาผู้สิงอยู่ในเรือน
[๑๑] หรือท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้รักษาโลก มีบริวารยศ
คือ ท้าวกุเวร ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์
และท้าววิรูฬหก แล้วพึงถวายทาน
ท่านเหล่านั้นเป็นผู้อันบุคคลบูชาแล้ว และทายกก็ไม่ไร้ผล
[๑๒] การร้องไห้ ความเศร้าโศก หรือความร่ำไห้
คร่ำครวญอย่างอื่นใด ไม่ควรทำเลย
เพราะการร้องไห้เป็นต้นนั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ญาติทั้งหลายก็ยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๕. ติโรกุฑฑเปตวัตถุ
[๑๓] ส่วนทักษิณาทานนี้แหละ ที่ตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์
ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตนั้นโดยทันที สิ้นกาลนาน
ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุที่ ๔ จบ

๕. ติโรกุฑฑเปตวัตถุ๑
เรื่องเปรตอยู่นอกฝาเรือน
[๑๔] พวกเปรตพากันมาสู่เรือนของตน
บ้างยืนอยู่ที่ฝาเรือนด้านนอก
บ้างยืนอยู่ที่ทางสี่แพร่งสามแพร่ง
บ้างยืนพิงอยู่ที่บานประตู
[๑๕] เมื่อมีข้าวและน้ำดื่มมากมาย
เมื่อของเคี้ยวของกินถูกจัดเตรียมไว้แล้ว
ญาติสักคนก็ไม่นึกถึงเปรตเหล่านั้น
เพราะกรรมของสัตว์ทั้งหลายเป็นปัจจัย
[๑๖] เหล่าชนผู้อนุเคราะห์
ย่อมให้อาหารและน้ำดื่มที่สะอาดประณีต
เหมาะแก่พระสงฆ์ตามกาล
อุทิศให้ญาติทั้งหลาย(ที่เกิดเป็นเปรต)อย่างนี้ว่า
ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย
ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด
[๑๗] ส่วนญาติที่เกิดเป็นเปรตเหล่านั้น
พากันมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ให้ทานนั้น
ย่อมอนุโมทนาในอาหารและน้ำดื่มเป็นอันมากโดยเคารพว่า

เชิงอรรถ :
๑ เหมือนเล่ม ๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๕. ติโรกุฑฑเปตวัตถุ
[๑๘] เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใดพวกเราจึงได้สมบัติเช่นนี้
ขอญาติเหล่านั้นของพวกเราจงมีอายุยืน
อนึ่ง การบูชาญาติผู้เป็นทายกก็ได้ทำแก่พวกเราแล้ว
และทายกก็ไม่ไร้ผล
[๑๙] ก็ในเปตวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรม(การทำไร่ไถนา)
ไม่มีโครักขกรรม(การเลี้ยงวัวไว้ขาย)
ไม่มีพาณิชกรรม(การค้าขาย)เช่นนั้น
การแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงินก็ไม่มี
ผู้ที่ตายไปเป็นเปรตในเปตวิสัยนั้น
ดำรงชีพอยู่ด้วยผลทานที่พวกญาติอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
[๒๐] น้ำฝนตกลงมาในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่มฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จผลแน่นอนแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน
[๒๑] ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยมฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน
[๒๒] กุลบุตรเมื่อระลึกถึงอุปการะที่ญาติผู้ละไปแล้วทำไว้ในกาลก่อนว่า
ผู้นั้นได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ได้ทำสิ่งนี้แก่เรา
ได้เป็นญาติ มิตร และสหายของเรา
ก็ควรถวายทักษิณาทานอุทิศให้แก่ญาติผู้ละไปแล้ว
[๒๓] การร้องไห้ ความเศร้าโศก
หรือความร่ำไห้คร่ำครวญอย่างอื่นใด
ใคร ๆ ไม่ควรทำเลย เพราะการร้องไห้เป็นต้นนั้น
ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ญาติทั้งหลายก็ยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๖. ปัญจปุตตขาทิกเปติวัตถุ
[๒๔] ส่วนทักษิณาทานนี้แหละที่ตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์
ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตนั้นโดยทันทีสิ้นกาลนาน
[๒๕] ญาติธรรม๑นี้นั้นท่านแสดงออกแล้ว
การบูชาญาติที่ตายไปท่านทำอย่างยิ่งใหญ่แล้ว
ทั้งกำลังกายของภิกษุท่านก็เพิ่มให้แล้ว
เป็นอันว่าท่านสะสมบุญไว้มิใช่น้อยเลย
ติโรกุฑฑเปตวัตถุที่ ๕ จบ

๖. ปัญจปุตตขาทิกเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตกินลูกคราวละ ๕ ตน
(พระสังฆเถระถามว่า)
[๒๖] เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป
หมู่แมลงวันพากันไต่ตอมเกลื่อนกล่น
เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ในที่นี้
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๒๗] ท่านผู้เจริญ ดิฉันเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
[๒๘] เวลาเช้า คลอดลูก ๕ คน เวลาเย็นอีก ๕ คน
แล้วกินลูกเหล่านั้นทั้งหมด
แต่ก็ยังไม่อาจบรรเทาความหิวของดิฉันได้

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมคือการสงเคราะห์ญาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๗. สัตตปุตตขาทิกเปติวัตถุ
[๒๙] หัวใจของดิฉันถูกความหิวแผดเผาสุมอยู่
ดิฉันไม่ได้ดื่มน้ำที่ควรดื่ม
ขอเชิญท่านดูดิฉันซึ่งถึงความพินาศเช่นนี้เถิด
(พระเถระถามว่า)
[๓๐] เมื่อก่อน เธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงต้องกินเนื้อลูก
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๓๑] เมื่อก่อน หญิงร่วมสามีของดิฉันคนหนึ่งได้ตั้งครรภ์
ดิฉันได้คิดร้ายต่อเธอ มีใจประทุษร้ายได้ทำให้เธอแท้ง
[๓๒] นางตั้งครรภ์ ๒ เดือนเท่านั้นก็ตกเลือด
ครั้งนั้น มารดาของนางโกรธแล้วเชิญญาติของดิฉันมาประชุมซักถาม
ให้ดิฉันสาบาน และขู่เข็ญดิฉันให้กลัว
[๓๓] ส่วนดิฉันนั้นได้กล่าวคำสาบานเท็จอย่างรุนแรงว่า
ถ้าดิฉันทำความชั่วอย่างนี้จริง ขอให้ดิฉันกินเนื้อลูกเถิด
[๓๔] เพราะผลกรรม คือการทำลายสัตว์มีชีวิต
และการกล่าวเท็จทั้ง ๒ อย่างนั้น
ดิฉันจึงมีกายเปื้อนหนองและเลือด กินเนื้อลูก
ปัญจปุตตขาทิกเปติวัตถุที่ ๖ จบ

๗. สัตตปุตตขาทิกเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตกินลูกคราวละ ๗ ตน
(พระมหาเถระถามนางเปรตตนหนึ่งว่า)
[๓๕] เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป หมู่แมลงวันพากันไต่ตอมเกลื่อนกล่น
เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ในที่นี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๗.สัตตปุตตขาทิกเปติวัตถุ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๓๖] ท่านผู้เจริญ ดิฉันเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
[๓๗] เวลาเช้า คลอดลูก ๗ คน เวลาเย็นอีก ๗ คน
แล้วกินลูกเหล่านั้นทั้งหมด
แต่ก็ยังไม่อาจบรรเทาความหิวของดิฉันได้
[๓๘] หัวใจของดิฉันถูกความหิวแผดเผาสุมอยู่
ดิฉันเป็นดังถูกไฟเผาในที่อันร้อนยิ่ง
ไม่ได้ประสบความเย็นเลย
(พระเถระถามว่า)
[๓๙] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงต้องกินเนื้อลูก
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๔๐] เมื่อก่อนดิฉันมีลูก ๒ คน ลูก ๒ คนนั้นกำลังหนุ่มแน่น
ดิฉันนั้นประกอบด้วยกำลังคือลูก๑ จึงดูหมิ่นสามีของตน
[๔๑] ภายหลังสามีโกรธดิฉัน จึงได้หาภรรยามาอีก
และภรรยาใหม่นั้นตั้งครรภ์ ดิฉันได้คิดร้ายต่อนาง
[๔๒] มีใจประทุษร้ายได้ทำให้นางแท้ง
ภรรยาใหม่นั้นตั้งครรภ์ ๓ เดือนเท่านั้น ก็ตกเลือด
[๔๓] ครั้งนั้น มารดาของนางโกรธแล้ว
เชิญพวกญาติของดิฉันมาประชุมซักถาม
ให้ดิฉันสาบาน และขู่เข็ญดิฉันให้กลัว

เชิงอรรถ :
๑ ถือตัวว่ามีลูก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๘. โคณเปตวัตถุ
[๔๔] ส่วนดิฉันนั้นได้กล่าวคำสาบานเท็จอย่างรุนแรงว่า
ถ้าดิฉันทำความชั่วอย่างนี้จริง ขอให้ดิฉันกินเนื้อลูกเถิด
[๔๕] เพราะผลกรรมคือการทำลายสัตว์มีชีวิต
และการกล่าวเท็จทั้ง ๒ อย่างนั้น
ดิฉันจึงมีกายเปื้อนหนองและเลือด กินเนื้อลูก
สัตตปุตตขาทิกเปติวัตถุที่ ๗ จบ

๘. โคณเปตวัตถุ
เรื่องลูกสอนพ่อด้วยโคที่ตายแล้ว
(กุฎุมพีผู้เป็นบิดาถามสุชาตกุมารว่า)
[๔๖] เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือ จึงเกี่ยวหญ้าสด
แล้วเพ้อร้องเรียกโคแก่ซึ่งตายแล้วว่า จงกิน จงกิน
[๔๗] โคตายแล้ว ลุกขึ้นกินหญ้าและน้ำไม่ได้หรอก
เจ้าเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาเหมือนคนโง่อื่น ๆ
(สุชาตกุมารกล่าวว่า)
[๔๘] โคตัวนี้ยังมีเท้าครบทั้ง ๔ เท้า
มีหัว มีตัว พร้อมทั้งหางและนัยน์ตาคงอยู่ตามเดิม
เพราะเหตุนี้ ลูกจึงคิดว่า โคตัวนี้พึงลุกขึ้น
[๔๙] ส่วนคุณปู่ไม่ปรากฏกระทั่งมือ เท้า กาย และศีรษะ
คุณพ่อมาร้องไห้ถึงกระดูกของคุณปู่ที่บรรจุไว้ในสถูปดิน
จะไม่เป็นคนโง่หรือ
(กุฎุมพีฟังคำนั้นแล้วจึงกล่าวสรรเสริญสุชาตกุมารว่า)
[๕๐] เจ้าช่วยรดข้าผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมด
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๙. มหาเปสการเปติวัตถุ
[๕๑] เจ้าได้บรรเทาความเศร้าโศกถึงบิดาของข้าผู้กำลังเศร้าโศก
ชื่อว่า ได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศก
ซึ่งเสียบหทัยของข้าขึ้นได้แล้วหนอ
[๕๒] พ่อมาณพ ข้าซึ่งเจ้าช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นได้แล้ว
ก็เย็นสงบแล้ว
จะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ เพราะได้ฟังคำของเจ้า
[๕๓] ชนเหล่าใดเป็นผู้อนุเคราะห์มารดาบิดา
ชนเหล่านั้นเป็นคนมีปัญญาย่อมทำอย่างนี้
ย่อมช่วยมารดาบิดาให้หายจากความเศร้าโศก
เหมือนสุชาตกุมารช่วยมารดาบิดาให้หายจากความเศร้าโศกได้
โคณเปตวัตถุที่ ๘ จบ

๙. มหาเปสการเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตอดีตภรรยาหัวหน้าช่างหูก
(ภิกษุรูปหนึ่งถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๕๔] นางเปรตนี้กินคูถ๑ มูตร โลหิต และหนอง
นี้เป็นวิบากกรรมอะไร
นางเปรตผู้ที่กินเลือดและหนองเป็นประจำ
เมื่อก่อนได้ทำกรรมอะไรไว้
[๕๕] ผ้าทั้งหลายยังใหม่ สวยงาม
อ่อนนุ่ม บริสุทธิ์ มีขนอ่อน
ที่ท่านให้ ย่อมกลายเป็นแผ่นเหล็ก
เมื่อก่อนนางเปรตนี้ได้ทำกรรมอะไรไว้หนอ

เชิงอรรถ :
๑ คูถ อุจจาระ มูตร ปัสสาวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑๐. ขัลลาฏิยเปติวัตถุ
(เทพบุตรตอบว่า)
[๕๖] เมื่อก่อนนางเปรตนี้เป็นภรรยาของข้าพเจ้า
เป็นคนตระหนี่ กระด้าง ไม่ให้ทาน
นางได้ด่าและบริภาษข้าพเจ้า
ผู้กำลังถวายทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายว่า
[๕๗] เจ้าจงกินคูถ มูตร เลือด และหนอง
ซึ่งเป็นของไม่สะอาดทุกเมื่อ
คูถ มูตร เลือด และหนองจงเป็นอาหารของเจ้าในโลกหน้า
แผ่นเหล็กจงเป็นผ้าของเจ้า
เพราะประพฤติชั่วเช่นนี้
นางมาในที่นี้ จึงกินแต่คูถและมูตรเป็นต้นตลอดกาลนาน
มหาเปสการเปติวัตถุที่ ๙ จบ

๑๐. ขัลลาฏิยเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตศีรษะล้าน
(หัวหน้าพ่อค้าถามนางเวมานิกเปรตตนหนึ่งว่า)
[๕๘] ท่านเป็นใครกันเล่า อยู่แต่ภายในวิมาน
ไม่ออกมาข้างนอกเลย
นางผู้เจริญ เชิญท่านออกมาเถิด
ข้าพเจ้าจะขอชมท่านผู้มีฤทธิ์มาก
(นางเวมานิกเปรตตอบว่า)
[๕๙] ดิฉันเป็นหญิงเปลือยกาย มีแต่ผมปิดบังไว้
กระดากอายที่จะออกไปข้างนอก
ดิฉันได้ทำบุญไว้น้อยนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑๐. ขัลลาฏิยเปติวัตถุ
(หัวหน้าพ่อค้ากล่าวว่า)
[๖๐] นางผู้มีรูปงาม เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะให้ผ้าเนื้อดีแก่ท่าน
เชิญท่านนุ่งผ้านี้ ครั้นนุ่งผ้านี้เสร็จแล้วจงออกมา
ขอเชิญออกมาภายนอกนะนางผู้เจริญ
ข้าพเจ้าจะขอชมท่านผู้มีฤทธิ์มาก
(นางเวมานิกเปรตตอบว่า)
[๖๑] ผ้านั้นถึงท่านจะหยิบยื่นให้ที่มือของดิฉันเอง
ก็ไม่สำเร็จแก่ดิฉัน ถ้าในหมู่ชนนี้มีอุบาสกผู้มีศรัทธา
เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๖๒] ขอท่านจงให้อุบาสกนั้นนุ่งห่มผ้าที่ท่านจะให้ดิฉัน
แล้วอุทิศส่วนบุญให้ดิฉัน เมื่อทำอย่างนั้น
ดิฉันจักถึงความสุข พรั่งพร้อมด้วยสมบัติตามปรารถนาทุกอย่าง
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๖๓] พ่อค้าเหล่านั้นให้อุบาสกนั้นอาบน้ำ
ลูบไล้ด้วยของหอม ให้นุ่งห่มผ้าแล้ว
อุทิศส่วนบุญไปให้นางเวมานิกเปรตนั้น
[๖๔] ในลำดับที่พวกพ่อค้าอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง
วิบากคืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม และน้ำดื่ม
ก็เกิดขึ้นแก่นางเวมานิกเปรตนั้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
[๖๕] ลำดับนั้น นางมีร่างกายหมดจด นุ่งผ้าสะอาด
สวมใส่ผ้าเนื้อดีกว่าผ้าแคว้นกาสี
เดินยิ้มออกมาจากวิมาน นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
[๖๖] อนึ่ง วิมานของท่านงดงาม มีรูปภาพวิจิตรดี สว่างไสว
แม่เทพธิดา พวกข้าพเจ้าถามแล้ว ขอเธอจงบอก
นี้เป็นผลของกรรมอะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑๑. นาคเปตวัตถุ
(เทพธิดานั้นตอบว่า)
[๖๗] ดิฉันมีจิตเลื่อมใสดีแล้ว
ได้ถวายแป้งคั่วเจือด้วยน้ำมัน
แด่ภิกษุผู้ปฏิบัติตรงซึ่งกำลังเที่ยวภิกขาจาร
[๖๘] ดิฉันเสวยวิบากแห่งกุศลกรรมนั้นในวิมาน สิ้นกาลนาน
แต่เดี๋ยวนี้ ผลบุญนั้นเหลืออยู่นิดหน่อย
[๖๙] พ้นจาก ๔ เดือนไปแล้ว ดิฉันจักตาย
จักตกนรกอันเร่าร้อนแสนสาหัส
[๗๐] นรกนั้นมี ๔ เหลี่ยม มีประตู ๔ ด้าน
กรรมสร้างจำแนกไว้เป็นส่วน ๆ
ล้อมรอบด้วยกำแพงเหล็ก ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก
[๗๑] พื้นนรกนั้นล้วนเป็นเหล็กแดงลุกเป็นเปลวเพลิง
ประกอบด้วยความร้อน
แผ่ไปรอบตลอดร้อยโยชน์อยู่ตลอดกาล
[๗๒] ดิฉันจักต้องเสวยทุกขเวทนาในมหานรกนั้นยาวนาน
ด้วยว่า การเสวยทุกข์เช่นนี้เป็นผลกรรมชั่ว
เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงเศร้าโศกอย่างหนัก
ขัลลาฏิยเปติวัตถุที่ ๑๐ จบ

๑๑. นาคเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้เดินร้องไห้ตามพาหนะช้างของลูกชาย
(สามเณรถามพวกเปรตเหล่านั้นว่า)
[๗๓] คนหนึ่งขี่ช้างเผือกไปข้างหน้า
คนหนึ่งขี่รถเทียมด้วยแม่ม้าอัสดรไปท่ามกลาง
และสาวน้อยขึ้นวอไปข้างหลัง
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑๑. นาคเปตวัตถุ
[๗๔] ส่วนพวกท่านถือฆ้องเดินร้องไห้
มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา มีร่างกายแตกเป็นแผล
สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์พวกท่านได้ทำบาปอะไรไว้
ซึ่งเป็นเหตุให้พวกท่านดื่มกินโลหิตของกันและกัน
(เปรตทั้งสองได้ฟังสามเณรถามจึงตอบว่า)
[๗๕] ผู้ที่ขี่ช้างเผือกชาติกุญชร ๔ เท้าไปข้างหน้า
เป็นบุตรคนโตของข้าพเจ้าทั้งสอง
เขาได้ถวายทาน จึงได้รับความสุข บันเทิงใจ
[๗๖] ผู้ที่ขี่รถเทียมด้วยแม่ม้าอัสดร ๔ ตัว
แล่นเรียบไปในท่ามกลาง เป็นบุตรคนกลางของข้าพเจ้าทั้งสอง
เป็นคนไม่ตระหนี่ เป็นทานบดี รุ่งโรจน์อยู่
[๗๗] นารีผู้มีปัญญา มีดวงตากลมหยาดเยิ้มดังตาเนื้อ
ขึ้นวอมาข้างหลัง เป็นธิดาคนสุดท้องของข้าพเจ้าทั้งสอง
นางมีความสุขเบิกบานใจ เพราะส่วนแห่งทานครึ่งส่วน
[๗๘] เมื่อก่อน เขาทั้งสามมีจิตเลื่อมใส
ได้ถวายทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ส่วนข้าพเจ้าทั้งสองเป็นคนตระหนี่ บริภาษสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
อนึ่ง เขาทั้งสามนี้ถวายทานแล้วได้รับการบำรุงบำเรอด้วยกามคุณ
อันเป็นทิพย์ ส่วนข้าพเจ้าทั้งสองซูบซีดอยู่ดังไม้อ้อที่ถูกตัด
(สามเณรถามว่า)
[๗๙] อาหารและที่นอนของพวกท่านเป็นเช่นไร
อนึ่ง พวกท่านผู้มีบาปหนาเลี้ยงอัตภาพได้อย่างไร
เมื่อโภคะพร้อมมูลมีอยู่มิใช่น้อย เหตุไรจึงหน่ายสุข
ประสบแต่ความทุกข์จนทุกวันนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑๒. อุรคเปตวัตถุ
(เปรตทั้งสองตอบว่า)
[๘๐] พวกเราทั้งสองตีกันเองแล้วดื่มกินเลือดและหนองของกันและกัน
ได้ดื่มเลือดและหนองเป็นอันมากก็ยังไม่อิ่ม มีความหิวอยู่เป็นนิตย์
[๘๑] คนทั้งหลายผู้ไม่ให้ทานตายไปเกิดในยมโลก๑
ย่อมร่ำไห้คร่ำครวญเหมือนอย่างนี้
สัตว์เหล่าใดได้ประสบโภคะต่าง ๆ แล้ว
ไม่ใช้สอยเอง ทั้งไม่ทำบุญ
[๘๒] สัตว์เหล่านั้นจักต้องประสบความหิวกระหายในปรโลก
ภายหลัง ถูกความหิวเป็นต้นแผดเผาไหม้อยู่สิ้นกาลนาน
ย่อมได้เสวยทุกข์ เพราะทำกรรมมีผลเผ็ดร้อน มีทุกข์เป็นกำไร
[๘๓] ความจริง ทรัพย์และธัญญาหารอยู่ได้ไม่นาน
ทั้งชีวิตของสัตว์ในมนุษยโลกนี้ก็สั้นนัก
บัณฑิตทราบสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริงแล้วพึงทำที่พึ่ง
[๘๔] เหล่าชนผู้ฉลาดในธรรม
ฟังคำสอนของพระอรหันต์ทั้งหลายแล้ว
มารู้ชัดอย่างนี้ ย่อมไม่ประมาทในทาน
นาคเปตวัตถุที่ ๑๑ จบ

๑๒. อุรคเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้จากไปเหมือนงูลอกคราบ
(พราหมณ์ เมื่อจะบอกเหตุแห่งการไม่ร้องไห้ จึงกล่าว ๒ คาถาว่า)
[๘๕] บุตรของข้าพเจ้าละร่างกายของตนไปเหมือนงูลอกคราบ
ในเมื่อร่างกายใช้การไม่ได้ก็ตายจากไปอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ที่อยู่ประจำของพญายมในแดนเปรต (ขุ.เป.อ. ๘๑/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑๒. อุรคเปตวัตถุ
[๘๖] เมื่อพวกญาติเผาอยู่ บุตรของข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่า
พวกญาติพากันร้องไห้คร่ำครวญถึง
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา
เขาไปตามทางของเขา
(นางพราหมณี เมื่อจะบอกเหตุแห่งการไม่ร้องไห้ จึงกล่าว ๒ คาถาว่า)
[๘๗] บุตรของดิฉัน ดิฉันไม่ได้เชิญมา ก็มาแล้วจากโลกอื่นนั้น
ดิฉันไม่ได้อนุญาตให้ไป ก็ไปแล้วจากมนุษยโลกนี้
เขามาอย่างไร เขาก็ไปแล้วอย่างนั้น
ทำไมจะต้องไปร่ำไห้ถึงบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจนั้นเล่า
[๘๘] เมื่อพวกญาติเผาอยู่ บุตรของดิฉันก็ไม่รู้ว่า
พวกญาติพากันร้องไห้คร่ำครวญถึง
เพราะเหตุนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา
เขาไปตามทางของเขา
(น้องสาวกล่าวว่า)
[๘๙] ถ้าดิฉันร้องไห้ ก็จักซูบผอม
ผลอะไรจะพึงมีแก่ดิฉันในการร้องไห้นั้น
ญาติมิตรและสหายของพวกเราจะพึงมีความไม่สบายใจอย่างยิ่ง
[๙๐] เมื่อพวกญาติเผาอยู่ พี่ชายของดิฉันก็ไม่รู้ว่า
พวกญาติพากันร้องไห้คร่ำครวญถึง
เพราะเหตุนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา
เขาไปตามทางของเขา
(ส่วนภรรยาของเขากล่าวว่า)
[๙๑] ผู้ใดเศร้าโศกถึงคนที่ล่วงลับไปแล้ว
ความเศร้าโศกของผู้นั้น
เปรียบเหมือนทารกร้องไห้อยากได้ดวงจันทร์ซึ่งโคจรอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรค
[๙๒] เมื่อพวกญาติเผาอยู่ สามีของดิฉันก็ไม่รู้ว่า
พวกญาติพากันร้องไห้คร่ำครวญถึง
เพราะเหตุนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา
เขาไปตามทางของเขา
(ส่วนนางทาสีกล่าวว่า)
[๙๓] ท่านพราหมณ์ หม้อน้ำที่แตกแล้ว
พึงประสานให้เป็นดังเดิมอีกไม่ได้ฉันใด
ความเศร้าโศกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ฉันนั้น
[๙๔] เมื่อพวกญาติเผาอยู่ นายของดิฉันก็ไม่รู้ว่า
พวกญาติพากันร้องไห้คร่ำครวญถึง
เพราะเหตุนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา
เขาไปตามทางของเขา
อุรคเปตวัตถุที่ ๑๒ จบ
อุรควรรคที่ ๑ จบ

รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เขตตูปมเปตวัตถุ ๒. สูกรมุขเปตวัตถุ
๓. ปูติมุขเปตวัตถุ ๔. ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ
๕. ติโรกุฑฑเปตวัตถ ๖. ปัญจปุตตขาทิกเปติวัตถุ
๗. สัตตปุตตขาทิกเปติวัตถุ ๘. โคณเปตวัตถุ
๙. มหาเปสการเปติวัตถุ ๑๐. ขัลลาฏิยเปติวัตถุ
๑๑. นาคเปตวัตถุ ๑๒. อุรคเปตวัตถุ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑.สังสารโมจกเปติวัตถุ
๒. อุพพริวรรค
หมวดว่าด้วยพระนางอุพพรีกับเปรต
๑. สังสารโมจกเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตสังสารโมจิกา
(ท่านพระสารีบุตรเถระถามนางเปรตตนหนึ่งว่า)
[๙๕] แน่ะนางผู้มีร่างกายซูบผอม มีแต่ซี่โครงผุดขึ้น
เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ที่นี้
(นางเปรตตอบว่า)
[๙๖] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(พระเถระถามว่า)
[๙๗] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร
เธอจึงต้องจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นางเปรตตอบว่า)
[๙๘] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชนเหล่าใดเป็นบิดาก็ตาม มารดาก็ตาม
หรือแม้เป็นญาติ พึงชักชวนดิฉันว่า
เธอจงมีจิตเลื่อมใสให้ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ชนผู้อนุเคราะห์แก่ดิฉันเช่นนั้น มิได้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑. สังสารโมจกเปติวัตถุ
[๙๙] ข้อที่ดิฉันเป็นเปรตเปลือยกาย
ถูกความหิวและความอยากเบียดเบียนเที่ยวไปเช่นนี้
ตลอด ๕๐๐ ปีนับแต่บัดนี้ไป
นั้นเป็นผลกรรมชั่วของดิฉัน
[๑๐๐] พระคุณเจ้าผู้แกล้วกล้า มีอานุภาพมาก
ดิฉันมีจิตเลื่อมใส ขอไหว้ท่าน และขอท่านจงอนุเคราะห์ดิฉัน
พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอท่านจงให้ไทยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
แล้วอุทิศส่วนบุญแก่ดิฉันบ้าง
ขอจงช่วยดิฉันให้พ้นจากทุคติด้วยเถิด
(เพื่อจะแสดงการที่พระเถระปฏิบัติ พระธรรมสังคีติกาจารย์จึงกล่าว ๓ คาถาว่า)
[๑๐๑] พระสารีบุตรเถระซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์นั้นรับคำนางเปรตนั้นแล้ว
จึงถวายข้าวปั้นหนึ่ง ผ้ามีขนาดเท่าฝ่ามือผืนหนึ่ง
และน้ำดื่มถ้วยหนึ่ง แก่ภิกษุแล้วอุทิศส่วนบุญให้นางเปรตนั้น
[๑๐๒] ในลำดับที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง
วิบากคืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม และน้ำดื่ม
ก็เกิดขึ้นแก่นางเปรตนั้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
[๑๐๓] ลำดับนั้น นางมีร่างกายหมดจด นุ่งผ้าสะอาด
สวมใส่ผ้าเนื้อดีกว่าผ้าแคว้นกาสี
มีพัสตราภรณ์และเครื่องประดับวิจิตรงดงาม
เข้าไปหาพระสารีบุตรเถระ
(พระสารีบุตรเถระถามว่า)
[๑๐๔] แม่เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงดงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศสถิตอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๑๐๕] เพราะบุญอะไรเธอจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
โภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑. สังสารโมจกเปติวัตถุ
[๑๐๖] แม่เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
สมัยเมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
แม้เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
(เทพธิดานั้นตอบว่า)
[๑๐๗] (เมื่อก่อน) พระคุณเจ้าเป็นมุนีมีความกรุณาในโลก
ได้เห็นดิฉันซุบซีดผอมเหลือง หิวโหย
เปลือยกาย มีผิวแตกเป็นริ้วรอย ได้รับความทุกข์
[๑๐๘] ได้ถวายข้าวปั้นหนึ่ง ผ้ามีขนาดเท่าฝ่ามือผืนหนึ่ง
และน้ำดื่มถ้วยหนึ่ง แก่ภิกษุแล้วอุทิศส่วนบุญให้ดิฉัน
[๑๐๙] ขอพระคุณเจ้าจงดูผลแห่งคำข้าว
ดิฉันสมบูรณ์ด้วยกามที่น่ารื่นรมย์
บริโภคข้าวมีกับข้าวซึ่งมีรสหลายอย่าง ถึง ๑,๐๐๐ ปี
[๑๑๐] ขอพระคุณเจ้าจงดูวิบากแห่งผ้าที่มีขนาดเท่าฝ่ามือว่าเป็นเช่นใด
ผ้าในแคว้นของพระเจ้านันทราชมีประมาณเท่าใด
[๑๑๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ผ้านุ่งผ้าห่มของดิฉันมีมากกว่านั้น
คือ ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน และผ้าฝ้าย
[๑๑๒] ผ้าเหล่านั้นทั้งยาว ทั้งกว้าง มีราคาแพง ห้อยอยู่ในอากาศ
ดิฉันเลือกเอาแต่ผืนที่พอใจนุ่งห่ม
[๑๑๓] อนึ่ง ขอพระคุณเจ้าจงดูวิบากแห่งการถวายน้ำดื่มถ้วยหนึ่ง
ว่ามีผลเช่นใด สระโบกขรณี ๔ เหลี่ยม ลึก ที่สร้างไว้ดีแล้ว
[๑๑๔] มีท่าเรียบ มีน้ำใสเย็น มีกลิ่นหอม หาสิ่งเปรียบมิได้
หนาแน่นไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
เต็มด้วยน้ำซึ่งดารดาษด้วยเกสรดอกบัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๒. สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ
[๑๑๕] ดิฉันเป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ย่อมรื่นรมย์ร่าเริงบันเทิงใจ
พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันมาเพื่อจะไหว้พระคุณเจ้า
ผู้เป็นปราชญ์ มีความกรุณาในโลก
สังสารโมจกเปติวัตถุที่ ๑ จบ

๒. สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตอดีตมารดาพระสารีบุตรเถระ
(พระสารีบุตรเถระถามนางเปรตตนหนึ่งว่า)
[๑๑๖] แน่ะนางผู้มีร่างกายซูบผอม มีแต่ซี่โครงผุดขึ้น
เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ ณ ที่นี้
(นางเปรตตอบว่า)
[๑๑๗] เมื่อก่อนในชาติอื่น ๆ
ดิฉันเกิดในตระกูลศากยะ เป็นมารดาของท่าน
ดิฉันเข้าถึงเปตวิสัย ถูกความหิวกระหายครอบงำ
[๑๑๘] ดิฉันถูกความหิวกระหายครอบงำแล้ว
จึงกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะที่เขาถ่มทิ้งแล้ว
กินมันเหลวซากศพที่ถูกเผาอยู่
และกินโลหิตของหญิงทั้งหลายผู้คลอดลูก
[๑๑๙] กินโลหิตของคนที่มีแผลและผู้ที่ถูกตัดจมูกและศีรษะ
และกินหนัง เนื้อ เอ็นเป็นต้น ที่อาศัยร่างกายชายหญิง
[๑๒๐] ดิฉันไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อยู่อาศัย นอนบนเตียงอันแปดเปื้อน
กินหนองและเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๒. สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ
[๑๒๑] ลูกน้อยเอ๋ย ขอลูกจงให้ทานเพื่อแม่
ครั้นให้แล้วจงอุทิศส่วนบุญนั้นให้แม่บ้าง
ถ้ากระไร แม่จะพึงพ้นจากการกินหนองและเลือด
[๑๒๒] พระสารีบุตรเถระฟังคำของมารดาแล้วคิดจะช่วยเหลือ
จึงปรึกษาพระมหาโมคคัลลานเถระ พระอนุรุทธะ และพระกัปปินะ
[๑๒๓] ได้สร้างกุฎี ๔ หลัง แล้วถวายกุฎี ข้าว และน้ำ
แด่พระสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ อุทิศส่วนบุญให้มารดา
[๑๒๔] ในลำดับที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั่นเอง
วิบากคือ อาหาร น้ำดื่ม และเครื่องนุ่งห่ม
ก็เกิดขึ้นแก่นางเปรตนั้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
[๑๒๕] ลำดับนั้น นางมีร่างกายหมดจด นุ่งผ้าสะอาด
สวมใส่ผ้าเนื้อดีกว่าผ้าแคว้นกาสี
มีพัสตราภรณ์และเครื่องประดับวิจิตรงดงาม
เข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามนางเปรตนั้นว่า)
[๑๒๖] แม่เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศสถิตอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๑๒๗] เพราะบุญอะไรเธอจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๒๘] แม่เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
สมัยเมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๓. มัตตาเปติวัตถุ
(เทพธิดานั้นตอบว่า)
[๑๒๙] เมื่อก่อนในชาติอื่น ๆ ดิฉันเป็นมารดาของพระสารีบุตรเถระ
เข้าถึงเปตวิสัย๑ ถูกความหิวกระหายครอบงำ
[๑๓๐] ดิฉันถูกความหิวกระหายครอบงำแล้ว
ได้กินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะที่เขาถ่มทิ้งแล้ว
กินมันเหลวซากศพที่ถูกเผาอยู่
และกินโลหิตของหญิงทั้งหลายผู้คลอดลูก
[๑๓๑] กินโลหิตของคนที่มีแผลและผู้ที่ถูกตัดจมูกและศีรษะ
และกินหนัง เนื้อ เอ็นเป็นต้น ที่อาศัยร่างกายชายหญิง
[๑๓๒] ดิฉันไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อยู่อาศัย นอนบนเตียงอันแปดเปื้อน
กินหนองและเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๓๓] ดิฉันบันเทิงอยู่เพราะทานของพระสารีบุตร จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันจะไหว้พระสารีบุตร
ผู้เป็นปราชญ์ มีความกรุณาในโลก
สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุที่ ๒ จบ

๓. มัตตาเปติวัตถุ
เรื่องนางมัตตาเปรต
(นางติสสาถามนางเปรตตนหนึ่งว่า)
[๑๓๔] แน่ะนางเปรตผู้มีร่างกายซูบผอม มีแต่ซี่โครงผุดขึ้น
เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียด น่ากลัว
ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ ณ ที่นี้

เชิงอรรถ :
๑ ที่อยู่ของเปรต, แดนเกิดเป็นเปรต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๓. มัตตาเปติวัตถุ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๓๕] เมื่อก่อน ฉันชื่อมัตตา เธอชื่อติสสา
ฉันเป็นหญิงร่วมสามีของเธอ
เพราะทำกรรมชั่วไว้ จึงต้องจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นางติสสาถามว่า)
[๑๓๖] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงต้องจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๓๗] ฉันเป็นหญิงดุร้าย หยาบคาย ริษยา ตระหนี่ และมักโอ้อวด
ได้กล่าววาจาชั่วต่อเธอ จึงจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นางติสสาถามว่า)
[๑๓๘] เรื่องนั้นเป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า เธอเป็นหญิงดุร้ายอย่างไร
แต่อยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น
เพราะกรรมอะไร เธอจึงมีร่างกายเปื้อนฝุ่น
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๓๙] เธอกับฉันพากันอาบน้ำชำระร่างกายแล้ว
เธอได้นุ่งห่มผ้าสะอาด ประดับตกแต่งร่างกายแล้ว
ส่วนฉันประดับตกแต่งเรียบร้อยยิ่งกว่าเธอมากนัก
[๑๔๐] เมื่อฉันนั้นกำลังจ้องมองดูเธอคุยอยู่กับสามี
ทีนั้นฉันจึงเกิดความริษยาและความโกรธเป็นอันมาก
[๑๔๑] ทันใดนั้น ฉันได้กวาดตะล่อมฝุ่นแล้วเอาฝุ่นโปรยรดเธอ
เพราะผลกรรมนั้นฉันจึงมีร่างกายเปื้อนฝุ่น
(นางติสสาถามว่า)
[๑๔๒] เรื่องนี้เป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า เธอเอาฝุ่นโปรยใส่ฉัน
แต่ฉันอยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น เพราะกรรมอะไรเธอจึงเป็นหิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๓. มัตตาเปติวัตถุ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๔๓] เราทั้งสองเป็นคนหายา ได้พากันไปป่า
เธอหายามาได้ ส่วนฉันนำหมามุ่ยมา
[๑๔๔] เมื่อเธอเผลอ ฉันได้โปรยหมามุ่ยลงบนที่นอนของเธอจนทั่ว
เพราะผลกรรมนั้นฉันจึงเป็นหิด
(นางติสสาถามว่า)
[๑๔๕] เรื่องนี้เป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า
เธอโปรยหมามุ่ยลงบนที่นอนของฉันจนทั่ว
แต่ฉันอยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น
เพราะกรรมอะไรเธอจึงเป็นหญิงเปลือยกาย
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๔๖] (วันหนึ่ง) ได้มีการประชุมมิตรสหายและญาติทั้งหลาย
เธอได้รับเชิญ แต่ฉันซึ่งร่วมสามีกับเธอไม่มีใครเชิญเลย
[๑๔๗] เมื่อเธอเผลอ ฉันได้ลักขโมยผ้าเธอไป
เพราะผลกรรมนั้น ฉันจึงเป็นหญิงเปลือยกาย
(นางติสสาถามว่า)
[๑๔๘] เรื่องนี้เป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า
เธอลักขโมยผ้าฉันไป แต่ฉันอยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น
เพราะกรรมอะไรเธอจึงมีกลิ่นกายเหม็นดังกลิ่นคูถ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๔๙] ฉันได้ทิ้งห่อของหอม ดอกไม้
และเครื่องลูบไล้ซึ่งมีราคาแพงของเธอลงส้วม
ฉันทำบาปชั่วช้านั้นไว้แล้ว
เพราะผลกรรมนั้น ฉันจึงมีกายเหม็นดังกลิ่นคูถ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๓. มัตตาเปติวัตถุ
(นางติสสาถามว่า)
[๑๕๐] เรื่องนี้เป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า เธอทำบาปนั้นไว้แล้ว
แต่ฉันอยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น
เพราะกรรมอะไรเธอจึงเป็นคนยากจน
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๕๑] ที่เรือนของเราทั้งสองได้มีทรัพย์อยู่เท่ากัน
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ฉันไม่ได้ทำที่พึ่งสำหรับตน
เพราะผลกรรมนั้นฉันจึงเป็นคนยากจน
[๑๕๒] ครั้งนั้น เธอได้กล่าวตักเตือนฉัน ห้ามไม่ให้ทำกรรมชั่วว่า
เธอจะไม่มีทางได้สุคติ เพราะกรรมชั่ว
(นางติสสากล่าวว่า)
[๑๕๓] เธอไม่เชื่อเรา ที่แท้กลับริษยาเรา เชิญเธอดูผลกรรมชั่ว
[๑๕๔] เมื่อก่อน ที่เรือนของเธอได้มีนางทาสีและเครื่องประดับเหล่านี้
แต่เดี๋ยวนี้ นางทาสีเหล่านั้นพากันรับใช้คนอื่น
โภคะทั้งหลายเป็นของไม่แน่นอน
[๑๕๕] บัดนี้ กุฎุมพีผู้เป็นบิดาของบุตรเรา
จักกลับจากตลาดมายังบ้านนี้
เธออย่าเพิ่งรีบไปจากที่นี่เสียก่อนละ
บางทีเขากลับมาจะพึงให้อะไรแก่เธอบ้าง
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๕๖] ฉันเปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
การเปลือยกายและการมีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวนี้
เป็นสิ่งที่น่าละอายสำหรับหญิงทั้งหลาย
กุฎุมพีผู้เป็นบิดาของบุตรอย่าได้เห็นฉันเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๓. มัตตาเปติวัตถุ
(นางติสสากล่าวว่า)
[๑๕๗] ว่ามาเถอะ ฉันจะให้หรือทำอะไรแก่เธอ
ที่เป็นเหตุให้เธอมีความสุข
สำเร็จความปรารถนาทุกอย่าง
ฉันจะให้หรือกระทำแก่เธอ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๕๘] ขอเธอจงนิมนต์ภิกษุ ๔ รูปจากสงฆ์
นิมนต์เจาะจงอีก ๔ รูป รวมเป็น ๘ รูป
ให้ฉันภัตตาหารแล้วอุทิศส่วนบุญให้ฉัน
เมื่อนั้น ฉันจักได้รับความสุข
สำเร็จความปรารถนาทุกอย่าง
[๑๕๙] นางติสสานั้นรับว่า ได้จ้ะ
แล้วนิมนต์ภิกษุ ๘ รูปให้ฉันภัตตาหาร
ให้ครองไตรจีวร แล้วอุทิศส่วนบุญให้นางเปรตนั้น
[๑๖๐] ในลำดับที่นางติสสาอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง
วิบากคืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม และน้ำดื่ม
ก็เกิดขึ้นแก่นางเปรตนั้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
[๑๖๑] ทันใดนั้น นางเปรตมีร่างกายหมดจด นุ่งผ้าสะอาด
สวมใส่ผ้าเนื้อดีกว่าผ้าแคว้นกาสี
มีพัสตราภรณ์และเครื่องประดับวิจิตรงดงาม
เข้าไปหานางติสสาซึ่งเป็นหญิงร่วมสามี
(นางติสสาจึงถามว่า)
[๑๖๒] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
สถิตอยู่ดุจดาวประกายพรึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๔. นันทาเปติวัตถุ
[๑๖๓] เพราะบุญอะไรเธอจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๖๔] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ฉันขอถามว่า
สมัยเมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
(นางมัตตาเทพธิดาตอบว่า)
[๑๖๕] เมื่อก่อน ฉันชื่อมัตตา เธอชื่อติสสา
ฉันเป็นหญิงร่วมสามีของเธอ
เพราะทำกรรมชั่วไว้จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
[๑๖๖] ฉันบันเทิงอยู่เพราะทานที่เธออุทิศให้แล้ว จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน
คุณน้อง ขอเธอพร้อมด้วยหมู่ญาติทุกคนจงมีอายุยืนนานเถิด
จงเข้าถึงสถานที่ที่ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากธุลี
มีความสำราญซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าววสวัตดี
[๑๖๗] เธอผู้มีรูปงาม เธอประพฤติธรรม ให้ทานในโลกนี้
กำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งเหตุได้แล้ว
ไม่มีใครตำหนิติเตียนได้ จงเข้าถึงโลกสวรรค์
มัตตาเปติวัตถุที่ ๓ จบ

๔. นันทาเปติวัตถุ
เรื่องนางนันทาเปรต
(นันทิเสนอุบาสกถามว่า)
[๑๖๘] เธอมีผิวดำ รูปร่างน่าเกลียด
ผิวพรรณหยาบกร้าน มองดูน่ากลัว
ตาเหลือง มีเขี้ยวสีน้ำตาลแก่ เรารู้ว่าเธอไม่ใช่มนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๔. นันทาเปติวัตถุ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๖๙] ท่านนันทิเสน เมื่อก่อนฉันชื่อนันทา เป็นภรรยาของท่าน
เพราะทำกรรมชั่วไว้ จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นันทิเสนอุบาสกถามว่า)
[๑๗๐] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๗๑] (เมื่อก่อน) ฉันเป็นหญิงดุร้าย หยาบคาย
และไม่เคารพท่าน ได้กล่าววาจาชั่วร้ายกับท่าน
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นันทิเสนอุบาสกกล่าวว่า)
[๑๗๒] เอาละ เราจะให้ผ้าอย่างดีแก่เธอ เธอจงนุ่งผ้านี้
นุ่งเสร็จแล้วจงมา เราจักนำเธอไปเรือน
[๑๗๓] เธอไปเรือนแล้ว จักได้ผ้า ข้าว และน้ำ
ทั้งจักได้เห็นบุตรและลูกสะใภ้ทั้งหลายของเธอ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๗๔] ผ้านั้นถึงท่านจะหยิบยื่นให้ที่มือของฉันเอง ก็ไม่สำเร็จแก่ฉัน
ท่านจงเลี้ยงภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลสมบูรณ์
ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต
[๑๗๕] ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ จงอุทิศส่วนบุญให้ฉัน
เมื่อนั้น ฉันจักมีความสุข สำเร็จความปรารถนาทุกอย่าง
[๑๗๖] นันทิเสนอุบาสกนั้นรับคำแล้วได้ถวายทานเป็นอันมาก
คือ ข้าว น้ำ ของเคี้ยว ผ้า เสนาสนะ
ร่ม ของหอม ดอกไม้ และรองเท้าต่าง ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๔. นันทาเปติวัตถุ
[๑๗๗] และเลี้ยงภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลสมบูรณ์ ปราศจากราคะ
เป็นพหูสูต ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
แล้วอุทิศส่วนบุญให้นางนันทานั้น
[๑๗๘] ในลำดับที่นันทิเสนอุบาสกอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง
วิบากคือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และน้ำดื่ม
ก็เกิดขึ้นแก่นางเปรตนั้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
[๑๗๙] ทันใดนั้น นางเปรตมีร่างกายหมดจด นุ่งผ้าสะอาด
สวมใส่ผ้าเนื้อดีกว่าผ้าแคว้นกาสี
มีพัสตราภรณ์และเครื่องประดับวิจิตรงดงาม เข้าไปหาสามี
(นันทิเสนอุบาสกถามว่า)
[๑๘๐] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
สถิตอยู่ดุจดาวประกายพรึก
[๑๘๑] เพราะบุญอะไรเธอจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในที่นี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๘๒] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ฉันขอถามว่า
สมัยเมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
(นันทาเทพธิดาตอบว่า)
[๑๘๓] ท่านนันทิเสนอุบาสก เมื่อก่อนฉันชื่อนันทา
เป็นภรรยาของท่าน เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
[๑๘๔] ฉันบันเทิงอยู่เพราะทานที่ท่านอุทิศให้แล้ว
จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน ท่านคหบดี
ขอท่านพร้อมด้วยหมู่ญาติทุกคนจงมีอายุยืนนานเถิด
จงเข้าถึงสถานที่ที่ไม่มีความเศร้าโศก
ปราศจากธุลี มีความสำราญซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าววสวัตดี
[๑๘๕] ท่านคหบดี ท่านประพฤติธรรม ให้ทานในโลกนี้
กำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งเหตุได้แล้ว
ไม่มีใครตำหนิติเตียนได้ จงเข้าถึงโลกสวรรค์
นันทาเปติวัตถุที่ ๔ จบ

๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
เรื่องมัฏฐกุณฑลีเปรตผู้ทำใจให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าก่อนสิ้นใจ
(พราหมณ์ถามว่า)
[๑๘๖] เจ้าประดับตกแต่งร่างกาย ใส่ตุ้มหูเกลี้ยง
ทัดทรงดอกไม้ มีกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์แดง
ประคองแขนคร่ำครวญอยู่กลางป่า
เจ้าเป็นทุกข์เรื่องอะไร
(มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรตอบว่า)
[๑๘๗] เรือนรถที่ทำด้วยทองคำ
งามผุดผ่องเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ายังหาล้อรถทั้งคู่นั้นไม่ได้
เพราะความทุกข์นั้น ข้าพเจ้าจักยอมสละชีวิต
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๘๘] พ่อมาณพผู้เจริญ เจ้าอยากได้ล้อทองคำ ล้อแก้วมณี
ล้อทองแดง หรือล้อเงิน จงบอกข้ามา
ข้าจะจัดล้อทั้งคู่ให้เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
[๑๘๙] มาณพนั้นกล่าวแก่พราหมณ์นั้นว่า
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้งสองย่อมปรากฏในท้องฟ้านั้น
รถทองคำของข้าพเจ้าย่อมงามด้วยล้อทั้งคู่นั้น
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๙๐] พ่อมาณพ เจ้าโง่นัก ที่มาปรารถนาสิ่งที่ไม่ควรปรารถนา
ข้าเข้าใจว่า เจ้าจักตายเสียก่อน
เพราะไม่มีทางที่จะได้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เลย
(มาณพกล่าวว่า)
[๑๙๑] แม้การโคจรไปมาของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ยังปรากฏอยู่
รัศมีก็ยังปรากฏอยู่ในวิถีทั้งสอง
ส่วนคนที่ตายล่วงลับไปแล้วย่อมไม่ปรากฏ
เราทั้งสองผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้ ใครหนอโง่กว่ากัน
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๙๒] พ่อมาณพ เจ้าพูดจริงแท้ เราทั้งสองผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่
ข้านี่แหละโง่กว่า มาปรารถนาถึงคนที่ตายล่วงลับไปแล้ว
เหมือนทารกร้องไห้อยากได้ดวงจันทร์
[๑๙๓] เจ้ามาช่วยรดข้าผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมด
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[๑๙๔] เจ้าบรรเทาความเศร้าโศกถึงบุตรของข้าผู้กำลังเศร้าโศก
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศก
ซึ่งเสียบที่หัวใจของข้าขึ้นได้แล้วหนอ
[๑๙๕] พ่อมาณพ ข้าซึ่งเจ้าช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นให้แล้ว
เย็นสงบแล้ว จะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ เพราะได้ฟังคำของเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
(พราหมณ์เมื่อจะถามต่อไป จึงกล่าวว่า)
[๑๙๖] เจ้าเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ๑
เจ้าเป็นใคร หรือเป็นบุตรของใคร
เราจะรู้จักเจ้าได้อย่างไร
(มาณพเปิดเผยตนแก่พราหมณ์นั้นว่า)
[๑๙๗] ท่านเองเผาบุตรที่ป่าช้าแล้ว
คร่ำครวญร้องไห้ถึงบุตรคนใด
บุตรคนนั้นคือข้าพเจ้าซึ่งทำกุศลกรรมแล้ว
ถึงความเป็นสหายของทวยเทพชั้นดาวดึงส์
(พราหมณ์ถามว่า)
[๑๙๘] เมื่อเจ้าให้ทานน้อยหรือมากในเรือนของตน
หรือรักษาอุโบสถกรรมเช่นนั้น ข้าพเจ้ามิได้เห็น
เพราะทำกรรมอะไรไว้เจ้าจึงไปเทวโลกได้
(มาณพตอบว่า)
[๑๙๙] ข้าพเจ้าป่วยเป็นไข้ ได้รับทุกข์
มีกายกระสับกระส่ายอยู่ในที่อยู่ของตน
ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสดังธุลี
ทรงข้ามพ้นความสงสัย เสด็จไปดีแล้ว มีพระปัญญาไม่ต่ำทราม

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึง ท้าวสักกะผู้ให้ทานในกาลก่อน เป็นชื่อหนึ่งของท้าวสักกะ ท้าวสักกะมีชื่อที่รู้กันส่วนมาก ๗
ชื่อ คือ (๑) ท้าวมฆวาน เพราะเคยเกิดเป็นมนุษย์ ชื่อมฆมาณพ (๒) ท้าวปุรินททะ เพราะเคยให้
ทานในกาลก่อน (๓) ท้าวสักกะ เพราะให้ทานโดยเคารพ (๔) ท้าววาสวะ เพราะให้ที่พักอาศัย
(๕) ท้าวสหัสสักขะ เพราะคิดเนื้อความตั้งพันได้โดยครู่เดียว (๖) ท้าวสุชัมบดี เพราะเป็นพระสวามีของ
นางสุชาดา (๗) ท้าวเทวานมินทะ เพราะครองราชเป็นใหญ่กว่าเทพชั้นดาวดึงส์ (วินัย. ๔/๒๕๘/๒๗๖)
อีกนัยหนึ่ง มี ๒๐ ชื่อ คือ สักกะ ปุรินททะ เทวราชา วชิรปาณี สุชัมบดี สหัสสักขะ มหินทะ
วชิราวุธ วาสวะ ทสสตนัย (สหัสสนัย) ติทิวาธิภู สุรนาถ วิชิรหัตถะ ภูตปัตยะ มฆวา โกสีย์ อินโท
วัตรภู ปากสาสน์ วิโฑโช (ดู อภิธา. คาถา ๑๘-๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
[๒๐๐] ข้าพเจ้านั้นมีใจเบิกบาน มีจิตเลื่อมใส
ได้ทำอัญชลีกรรมแด่พระตถาคต
ข้าพเจ้าครั้นทำกุศลกรรมนั้นแล้ว
ได้เกิดร่วมกับหมู่เทพชั้นดาวดึงส์
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๒๐๑] น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาแล้วหนอ
อัญชลีกรรมมีผลเป็นได้ถึงเช่นนี้
แม้ข้าพเจ้าก็มีใจเบิกบาน มีจิตเลื่อมใส
จึงขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึกในวันนี้นี่เอง
(มาณพกล่าวว่า)
[๒๐๒] ท่านจงมีจิตเลื่อมใส
ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
เป็นที่พึ่งที่ระลึกในวันนี้นี่แหละ
อนึ่ง ท่านจงสมาทานสิกขาบท ๕ อย่าให้ขาดและด่างพร้อย
[๒๐๓] คือ จงรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
อย่ากล่าวเท็จ อย่าดื่มน้ำเมา
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๒๐๔] เทวดาผู้น่าบูชา ท่านเป็นผู้มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน
ท่านเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า
[๒๐๕] ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์
พระธรรมอันยอดเยี่ยม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๖. กัณหเปตวัตถุ
[๒๐๖] ข้าพเจ้าจะรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุที่ ๕ จบ

๖. กัณหเปตวัตถุ
เรื่องเปรตกัณหโคตร
(โรหิไณยอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๐๗] พระองค์ผู้กัณหโคตร๑ ขอพระองค์เสด็จลุกขึ้นเถิด
จะมัวบรรทมอยู่ทำไม
จะมีประโยชน์อะไรต่อพระองค์ด้วยการบรรทมอยู่เล่า
พระเกสวะ (บัดนี้) พระภาดาร่วมพระอุทรของพระองค์
ซึ่งเป็นดังพระหทัยและนัยน์เนตรเบื้องขวาของพระองค์
ทรงมีลมกำเริบ เพ้อคลั่งอยู่
[๒๐๘] พระเจ้าเกสวะทรงสดับคำของโรหิไณยอำมาตย์นั้นแล้ว
ได้ทรงอึดอัดเพราะความโศกถึงพระภาดา
จึงรีบเสด็จลุกขึ้นทันที
(ทรงจับมือทั้งสองของฆฏบัณฑิตไว้มั่น เมื่อจะทรงปราศรัย จึงตรัสว่า)
[๒๐๙] เหตุไรหนอ เธอจึงเป็นดังคนบ้า
เที่ยวบ่นเพ้ออยู่ทั่วพระนครทวารกะนี้ ว่า
กระต่าย ๆ เธอต้องการกระต่ายเช่นไร

เชิงอรรถ :
๑ โคตรดำ เป็นคำร้องเรียกถึงโคตรหรือเหล่ากอของพระวาสุเทพ (ซึ่งเป็นชื่อของพระนารายณ์ปาง
พระกฤษณะ) (ขุ.เป.อ. ๒๐๗/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๖. กัณหเปตวัตถุ
[๒๑๐] ฉันจักให้นายช่างทำกระต่ายทองคำ กระต่ายแก้วมณี
กระต่ายโลหะ กระต่ายเงิน กระต่ายสังข์
กระต่ายศิลา กระต่ายแก้วประพาฬ ให้เธอ
[๒๑๑] แม้กระต่ายอื่น ๆ ที่เที่ยวหากินอยู่ในป่ายังมีอยู่
ฉันจักให้นำกระต่ายแม้เหล่านั้นมาให้เธอ
เธอต้องการกระต่ายเช่นไร
(ฆฏบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๒๑๒] ข้าพระองค์ไม่ต้องการกระต่ายที่อยู่บนแผ่นดิน
ข้าพระองค์ต้องการกระต่ายจากดวงจันทร์
พระเกสวะ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา
โปรดนำกระต่ายนั้นลงมาประทานแก่หม่อมฉันเถิด
(พระเจ้าวาสุเทพตรัสว่า)
[๒๑๓] แน่ะพระญาติ เธอจักละชีวิตที่ประเสริฐยิ่งเสียแน่
เพราะเธอต้องการกระต่ายจากดวงจันทร์
ชื่อว่าปรารถนาสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา
(ฆฏบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๒๑๔] พระองค์ผู้กัณหโคตร หากพระองค์ทรงทราบ
ตามที่พระองค์ทรงพร่ำสอนบุคคลอื่น
เหตุไฉน พระองค์จึงทรงกรรแสงถึงพระราชโอรส
ที่ทิวงคตไปตั้งนาน จนถึงวันนี้เล่า
[๒๑๕] มนุษย์หรืออมนุษย์ไม่พึงได้ตามปรารถนาว่า
ขอบุตรของเราผู้เกิดมาแล้วอย่าตายเลย
พระองค์จะทรงได้พระราชโอรสที่ทิวงคตแล้ว
ซึ่งไม่ควรได้แต่ที่ไหน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๖. กัณหเปตวัตถุ
[๒๑๖] พระองค์ผู้กัณหโคตร พระองค์ไม่อาจจะนำพระราชโอรส
ผู้ทิวงคตแล้ว ที่พระองค์ทรงกรรแสงถึงมาได้ด้วยมนต์
ด้วยยาสมุนไพรหรือทรัพย์ได้
[๒๑๗] แม้ชนทั้งหลายที่มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
ถึงจะเป็นกษัตริย์ผู้ครองแคว้น
มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย จะไม่แก่ตายก็ไม่มี
[๒๑๘] แม้เหล่าชนที่เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
จัณฑาล ปุกกุสะ และชนประเภทอื่น ๆ
ผู้มีความเกิดของตนเป็นเหตุ จะไม่แก่ไม่ตายก็ไม่มี
[๒๑๙] แม้เหล่าชนผู้ร่ายมนต์พรหมจินดามีองค์ ๖๑
และเหล่าชนที่ใช้วิชาอื่น ๆ
จะไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่มี
[๒๒๐] อนึ่ง แม้ฤๅษีทั้งหลายผู้สงบ สำรวม บำเพ็ญตบะ
ก็ยังต้องละทิ้งร่างกายไปตามกาลอันสมควร
[๒๒๑] แม้พระอรหันต์ทั้งหลายผู้อบรมตนแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ สิ้นบุญและบาป
ก็ยังต้องทอดทิ้งร่างกายนี้ไป
(พระเจ้าวาสุเทพตรัสว่า)
[๒๒๒] เธอมาช่วยรดเราผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมด
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง

เชิงอรรถ :
๑ องค์ ๖ คือ ๑. สิกขา (การศึกษาในการออกสำเนียง และการอ่าน มีการอ่านให้ถูกจังหวะ ให้คล่อง
และให้ไพเราะ) ๒. กัปปะ (รู้จักแบบแผน การกระทำกิจพิธีต่าง ๆ พิธีสวดคัมภีร์พระเวท ) ๓. นิรุตฺติ
(รู้จักมูลและคำแปลศัพท์) ๔. พยากรณะ (รู้จักตำราภาษามีของปาณินิ เป็นต้น) ๕. โธติสัตถะ (รู้จัก
ดวงดาวและหาฤกษ์ ผูกดวงชตา) ๖. ฉันทะ (รู้จักคณะฉันท์ แต่งฉันท์ได้) (ขุ.เปต.อ. ๒๑๙/๑๐๖) ดู
อภิธา. คาถา ๑๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๗. ธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ
[๒๒๓] เธอบรรเทาความเศร้าโศกถึงบุตรของเราผู้กำลังเศร้าโศก
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศก
ซึ่งเสียบที่หทัยของเราขึ้นได้แล้วหนอ
[๒๒๔] เราผู้ซึ่งเธอช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นได้แล้ว
เย็น สงบแล้ว จะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้
เพราะได้ฟังคำของเธอ
[๒๒๕] ชนเหล่าใดเป็นผู้อนุเคราะห์ ชนเหล่านั้นเป็นคนมีปัญญา
ย่อมทำอย่างนี้ ย่อมช่วยกันและกันให้หายจากความเศร้าโศก
เหมือนฆฏบัณฑิตช่วยพระเชษฐภาดาให้หายจากความเศร้าโศก
[๒๒๖] พวกอำมาตย์ผู้ถวายการรับใช้ของพระราชาพระองค์ใด
ย่อมเป็นเช่นนี้ ย่อมแนะนำด้วยสุภาษิต
เหมือนฆฏบัณฑิตแนะนำพระเชษฐภาดาของตน
กัณหเปตวัตถุที่ ๖ จบ

๗. ธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ
เรื่องธนปาลเศรษฐีเปรต
(พวกพ่อค้าถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๒๒๗] แน่ะเพื่อนยาก ท่านเปลือยกาย
มีผิวพรรณแและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
มีแต่ซี่โครงผุดขึ้น มีร่างกายซูบผอม
ท่านเป็นใครกันหนอ
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๒๒๘] ผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๗. ธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๒๒๙] ท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร ท่านจึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๒๓๐] มีพระนครของพระเจ้าทสันนราช ปรากฏชื่อว่า เอรกัจฉะ
เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นเศรษฐีอยู่ในนครนั้น
ชนทั้งหลายเรียกข้าพเจ้าว่า ธนปาลเศรษฐี
[๒๓๑] ข้าพเจ้ามีเงิน ๘๐ เล่มเกวียน ทองคำ
แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ ก็มีมากมาย
[๒๓๒] แม้ข้าพเจ้าจะมีทรัพย์มากมายถึงเพียงนั้น
ก็ไม่พอใจที่จะให้ทาน ปิดประตูเรือนแล้ว จึงบริโภคอาหาร
ด้วยคิดว่า พวกยาจกอย่าได้เห็นเรา
[๒๓๓] ข้าพเจ้าไม่มีศรัทธา เป็นคนตระหนี่ กระด้าง
ได้ด่าพวกคนที่ให้ทาน ทำบุญ
และห้ามชนเป็นจำนวนมากที่ให้ทานทำบุญ
[๒๓๔] ด้วยคำว่า ผลแห่งทานไม่มี
ผลแห่งความสำรวมจักมีแต่ที่ไหน
จึงทำลายสระน้ำ บ่อน้ำ ที่เขาขุดไว้
ทำลายสวนดอกไม้ สวนผลไม้ ศาลาน้ำดื่ม
และสะพานในที่เดินลำบากให้พินาศ
[๒๓๕] ข้าพเจ้านั้นไม่ได้ทำความดี ทำแต่ความชั่วไว้
เคลื่อนจากมนุษยโลกนั้นแล้วจึงเกิดในแดนเปรต
มีแต่ความหิวกระหาย
[๒๓๖] ตลอด ๕๐ ปี ตั้งแต่ข้าพเจ้าตายแล้ว
ยังไม่ได้กินข้าวและดื่มน้ำเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๗. ธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ
[๒๓๗] ความหวงแหนทรัพย์เป็นความพินาศ
ความพินาศก็คือความหวงแหนทรัพย์
ได้ยินว่า เปรตทั้งหลายก็รู้ว่าความหวงแหนทรัพย์เป็นความพินาศ
[๒๓๘] เมื่อชาติก่อน ข้าพเจ้าหวงแหนทรัพย์
เมื่อทรัพย์มีอยู่เป็นจำนวนมากก็ไม่ได้ให้ทาน
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ก็ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน
ข้าพเจ้านั้นได้รับผลกรรมของตน จึงเดือดร้อนในภายหลัง
[๒๓๙] พ้นจาก ๔ เดือนไปแล้ว ข้าพเจ้าจักตาย
จักตกนรกอันเร่าร้อนแสนสาหัส
[๒๔๐] นรกนั้นมี ๔ เหลี่ยม มีประตู ๔ ด้าน
กรรมสร้างจำแนกไว้เป็นส่วน ๆ
ล้อมรอบด้วยกำแพงเหล็ก ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก
[๒๔๑] พื้นนรกนั้นล้วนเป็นเหล็กแดงลุกเป็นเปลวเพลิง
ประกอบด้วยความร้อน แผ่ไปรอบตลอดร้อยโยชน์อยู่ตลอดกาล
[๒๔๒] ข้าพเจ้าจักต้องเสวยทุกขเวทนาในมหานรกนั้นยาวนาน
ด้วยว่าการเสวยทุกข์เช่นนี้เป็นผลกรรมชั่ว
เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงเศร้าโศกอย่างหนัก
[๒๔๓] ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าขอเตือนท่านทั้งหลาย
ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายผู้มาประชุมกันในที่นี้
พวกท่านอย่าได้ทำกรรมชั่วทั้งในที่แจ้งหรือที่ลับ
[๒๔๔] ถ้าพวกท่านจักทำกรรมชั่วนั้นหรือกำลังทำอยู่
แม้พวกท่านจะเหาะหนีไปก็ไม่พ้นจากทุกข์ได้
[๒๔๕] ขอท่านทั้งหลายจงเกื้อกูลมารดา จงเกื้อกูลบิดา
ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในสกุล
เป็นผู้เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์
ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ ท่านทั้งหลายจักไปสู่สวรรค์
ธนปาลกเสฏฐิเปตวัตถุที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๘. จูฬเสฏฐิเปตวัตถุ
๘. จูฬเสฏฐิเปตวัตถุ
เรื่องจูฬเศรษฐีเปรต
(พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสถามเปรตนั้นว่า)
[๒๔๖] ท่านผู้เจริญท่านเป็นนักบวชเปลือยกายซูบผอม
เพราะผลกรรมอะไร ท่านจึงไปที่ไหน ๆ เฉพาะกลางคืน
ขอท่านจงบอกเหตุที่มาแก่ข้าพเจ้าเถิด
บางทีข้าพเจ้าอาจมอบทรัพย์เครื่องปลื้มใจจากโภคะทั้งปวงให้แก่ท่าน
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๒๔๗] (เมื่อชาติก่อน) พระนครพาราณสีมีกิตติคุณเลื่องลือไปไกล
ข้าพระองค์เป็นคหบดีผู้มั่งคั่งอยู่ในพระนครนั้น
แต่เป็นคนมีจิตทราม ไม่เคยให้สิ่งของแก่ใคร
มีใจข้องอยู่ในอามิส ได้ตกไปถึงวิสัยแห่งพญายมเพราะเป็นผู้ทุศีล
[๒๔๘] เพราะบาปกรรมเหล่านั้น
ข้าพระองค์นั้นจึงลำบากเนื่องจากถูกความหิวเสียดแทง
เพราะความทุกข์อันเกิดแต่ความหิวนั้นแหละ
ข้าพระองค์ปรารถนาอามิส จึงได้มาหาหมู่ญาติ
มนุษย์แม้เหล่าอื่นมีปกติไม่ให้ทาน
และไม่เชื่อว่าผลแห่งทานมีอยู่ในปรโลก
[๒๔๙] ธิดาของข้าพระองค์พูดอยู่เสมอว่า
เราจักให้ทานอุทิศบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย
พวกพราหมณ์บริโภค ทานที่นางจัดแจงแล้ว
ข้าพระองค์จะไปยังเมืองอันธกวินทะเพื่อบริโภคอาหาร
[๒๕๐] พระราชาจึงตรัสสั่งกับเขาว่า ถ้าท่านไปได้เสวยผลทานแม้นั้น
พึงรีบกลับมาบอกเหตุที่มีจริงแก่เรา
เราฟังคำมีเหตุผลอันควรเชื่อถือได้แล้ว จักทำสักการบูชาบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๘. จูฬเสฏฐิเปตวัตถุ
[๒๕๑] เปรตจูฬเศรษฐีรับพระดำรัสแล้ว ได้ไปยังเมืองอันธกวินทนั้น
(แต่ไม่ได้รับผลแห่งทานนั้น)
เพราะพราหมณ์ทั้งหลายที่บริโภคภัตร
เป็นผู้ไม่มีศีล ไม่ควรแก่ทักษิณา
ภายหลัง เปรตจูฬเศรษฐีกลับมายังกรุงราชคฤห์อีก
ได้แสดงกายให้ปรากฏเฉพาะพระพักตร์
ของพระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่ชน
[๒๕๒] พระราชาทอดพระเนตรเห็นเปรตนั้นกลับมาอีก
จึงตรัสถามว่า เราจะให้ทานอะไร
ถ้าเหตุที่จะทำให้ท่านอิ่มหนำตลอดกาลนานมีอยู่
ขอท่านจงบอกเหตุนั้นแก่เรา
(จูฬเศรษฐีเปรตกราบทูลว่า)
[๒๕๓] พระราชา ขอพระองค์จงทรงอังคาสพระพุทธเจ้า
และพระสงฆ์ด้วยข้าวน้ำและจีวร
แล้วทรงอุทิศส่วนบุญนั้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพระองค์
ด้วยทรงบำเพ็ญกิจอย่างนี้
ข้าพระองค์จะพึงอิ่มหนำตลอดกาลนาน
[๒๕๔] เพราะเหตุนั้น พระราชาจึงรีบเสด็จออก
ทรงถวายทานมากมายแก่สงฆ์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์
แล้วทรงกราบทูลเรื่องราวแด่พระตถาคต
และทรงอุทิศส่วนบุญให้แก่เปรตนั้น
[๒๕๕] จูฬเศรษฐีเปรตนั้นได้รับการบูชาแล้ว เป็นผู้งดงามยิ่งนัก
ได้มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระราชาแล้วกราบทูลว่า
ข้าพระองค์เป็นเทวดาผู้มีฤทธิ์อย่างยอดเยี่ยม
มนุษย์ทั้งหลายผู้มีฤทธิ์เสมอเหมือนกับข้าพระองค์ไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๒๕๖] ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรอานุภาพ
ซึ่งหาประมาณมิได้ของข้าพระองค์นี้เถิด
ที่พระองค์ทรงถวายทานมากมายแก่สงฆ์
อุทิศแก่ข้าพระองค์ด้วยความอนุเคราะห์
พระองค์ผู้เป็นเทพแห่งมนุษย์
ข้าพระองค์เป็นผู้ที่พระองค์ทรงให้อิ่มหนำตลอดกาลเป็นนิตย์
ด้วยไทยธรรมเป็นอันมาก
บัดนี้ ข้าพระองค์มีความสุขแล้ว จึงขอทูลลา
จูฬเสฏฐิเปตวัตถุที่ ๘ จบ
ภาณวารที่ ๑ จบ

๙. อังกุรเปตวัตถุ
เรื่องอังกุระกับเปรต
(พราหมณ์พ่อค้าคนหนึ่งเห็นของทิพย์ออกจากมือรุกขเทวดา๑ จึงเกิดความโลภ
ขึ้น ได้บอกแก่อังกุรพาณิชว่า)
[๒๕๗] เราทั้งหลายนำทรัพย์ที่หาได้ไปสู่แคว้นกัมโพชะเพื่อประโยชน์ใด
พวกเราจะนำเทพบุตรผู้ให้สิ่งที่เราต้องการจะได้นี้ไปเพื่อประโยชน์นั้น
[๒๕๘] พวกเราจะอ้อนวอนเทพบุตรนี้
หรือบังคับให้ขึ้นยานแล้วรีบเดินทางไปยังเมืองทวารวดีโดยเร็ว
(อังกุรพาณิชเมื่อจะห้ามพราหมณ์พ่อค้านั้นจึงได้กล่าวคาถาว่า)
[๒๕๙] บุคคลอาศัยนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด
แม้แต่กิ่งของต้นไม้นั้นก็ไม่ควรหัก
เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม

เชิงอรรถ :
๑ เทวดาประจำต้นไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
(พราหมณ์พ่อค้ากล่าวว่า)
[๒๖๐] บุคคลอาศัยนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด
แม้ลำต้นของต้นไม้นั้นก็พึงตัดได้ ถ้ามีความต้องการเช่นนั้น
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[๒๖๑] บุคคลอาศัยนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด
แม้แต่ใบของต้นไม้นั้นก็ไม่ควรทำลาย
เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
(พราหมณ์พ่อค้ากล่าวว่า)
[๒๖๒] บุคคลอาศัยนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด
แม้ต้นไม้นั้นพร้อมทั้งรากก็พึงถอนได้ ถ้ามีความต้องการเช่นนั้น
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[๒๖๓] ด้วยว่าบุรุษพักอยู่ในเรือนของบุคลใดเพียงหนึ่งคืน
หรือได้ข้าวน้ำในที่อยู่ของบุคคลใด ไม่ควรมีจิตคิดร้ายต่อบุคคลนั้น
ความเป็นผู้กตัญญูสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว
[๒๖๔] บุคคลพึงพักอยู่ในเรือนของบุคคลใดแม้เพียงหนึ่งคืน
ได้รับบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ก็ไม่ควรมีจิตคิดร้ายต่อบุคคลนั้น
บุคคลผู้มีมืออันไม่เบียดเบียนย่อมทำให้บุคคล
ผู้ประทุษร้ายมิตรเดือดร้อน
[๒๖๕] บุคคลใดทำความดีไว้ในกาลก่อน
ภายหลังกลับเบียดเบียนบุพการีชนด้วยความชั่ว
บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นคนอกตัญญู ย่อมไม่พบเห็นความเจริญ
บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน
ความชั่วย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลแน่แท้
ดังธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
(รุกขเทวดาฟังคำโต้ตอบของคนทั้งสองนั้นแล้ว โกรธพราหมณ์ จึงกล่าวว่า)
[๒๖๖] ไม่เคยมีเทวดา มนุษย์
หรือผู้เป็นใหญ่คนใดจะมาข่มเหงเราได้โดยง่าย
เราเป็นเทวดาผู้มีฤทธิ์อย่างยอดเยี่ยม
ไปได้ไกล ประกอบด้วยรูปสมบัติและกำลัง
(อังกุรพาณิชจึงถามรุกขเทวดานั้นว่า)
[๒๖๗] ฝ่ามือของท่านมีสีดังทองคำทั่วไปหมด
ทรงไว้ซึ่งวัตถุที่บุคคลอื่นปรารถนาด้วยนิ้วทั้ง ๕
เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย
รสต่าง ๆ ย่อมไหลออก
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านเป็นท้าวสักกะผู้ให้ทานในปางก่อน
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[๒๖๘] เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์
ทั้งไม่ใช่ท้าวสักกะผู้ให้ทานในปางก่อน
อังกุระเอ๋ย ท่านจงทราบว่า
เราเป็นเปรตจุติจากโรรุวนครมาอยู่ที่ต้นไทรนี้
(อังกุรพาณิชถามว่า)
[๒๖๙] เมื่อก่อน ท่านอยู่ในโรรุวนคร
ท่านรักษาศีลเช่นไร มีความประพฤติชอบอย่างไร
เพราะพรหมจรรย์อะไร
ผลบุญจึงสำเร็จที่ฝ่ามือของท่าน
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[๒๗๐] เมื่อก่อน เราเป็นช่างหูกอยู่ในโรรุวนคร
มีความเป็นอยู่แสนจะฝืดเคือง น่าสงสาร
ในขณะนั้น เราไม่มีอะไรจะให้ทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๒๗๑] เรือนของเราอยู่ใกล้เรือนของอสัยหเศรษฐีซึ่งเป็นผู้มีศรัทธา
เป็นใหญ่ในทาน ทำบุญไว้แล้ว มีความละอาย
[๒๗๒] พวกยาจกวณิพกมีโคตรต่างกัน ไปที่บ้านของเรานั้น
พากันถามเราถึงเรือนของอสัยหเศรษฐีว่า
[๒๗๓] ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
พวกเราจะไปทางไหน เขาให้ทานกันที่ไหน
เราถูกพวกยาจกวณิพกถามแล้ว
จึงได้ชี้บอกเรือนของอสัยหเศรษฐี
[๒๗๔] ได้ยกมือเบื้องขวาชี้บอกเรือนของอสัยหเศรษฐีว่า
ท่านทั้งหลายจงไปทางนี้ ความเจริญจักมีแก่ท่านทั้งหลาย
เขาให้ทานอยู่ที่เรือนของอสัยหเศรษฐีนั่น
[๒๗๕] เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของเราจึงให้สิ่งที่น่าปรารถนา
เป็นที่หลั่งออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย
เพราะการทำดีนั้น ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของเรา
(อังกุรพาณิชถามว่า)
[๒๗๖] ได้ยินว่า ท่านไม่ได้ให้ทานแก่ใคร ๆ ด้วยมือทั้งสองของตน
เป็นแต่ร่วมอนุโมทนาทานของผู้อื่น
ยกมือชี้บอกทางให้
[๒๗๗] เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของท่านจึงให้สิ่งที่น่าปรารถนา
เป็นที่หลั่งออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย
เพราะการทำความดีนั้น ผลบุญจึงสำเร็จที่ฝ่ามือของท่าน
[๒๗๘] ท่านผู้เจริญ อสัยหเศรษฐีผู้เลื่อมใส
ได้ให้ทานด้วยมือทั้งสองของตน
ละร่างมนุษย์แล้วไปยังทิศไหนหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[๒๗๙] ข้าพเจ้าไม่รู้ทางไปหรือทางมา
ของอสัยหเศรษฐีผู้มีรัศมีซ่านออกจากตน
แต่เราได้ฟังมาในสำนักของท้าวเวสวัณว่า
อสัยหเศรษฐีได้เป็นสหายของท้าวสักกะ
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[๒๘๐] บุคคลควรทำความดีแท้
ควรให้ทานตามสมควร
ใครเล่าได้เห็นฝ่ามือซึ่งให้สิ่งที่น่าปรารถนาแล้วจักไม่ทำบุญ
[๒๘๑] เราจากที่นี้ไปถึงเมืองทวารวดี
จักรีบบำเพ็ญทานซึ่งจักนำความสุขมาให้เราแน่นอน
[๒๘๒] จักให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำดื่ม สระน้ำ
และสะพานในที่เดินลำบากเป็นทาน
(อังกุรพาณิชถามรุกขเทวดาว่า)
[๒๘๓] เพราะเหตุไร นิ้วมือของท่านจึงหงิกงอ
หน้าของท่านจึงบิดเบี้ยว
และนัยน์ตาทั้งสองจึงเขรอะ(ด้วยขี้ตา)
ท่านได้ทำบาปอะไรไว้
(รุกขเทวดานั้นตอบว่า)
[๒๘๔] เราได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ในการให้ทาน
ในโรงทานของคหบดีผู้มีรัศมีซ่านออกจากตน
มีศรัทธา ยังครองเรือนอยู่
[๒๘๕] เห็นยาจกผู้ต้องการอาหารพากันมาที่โรงทานนั้นแล้ว
ได้หลีกไปทำหน้างออยู่ ณ ที่ข้างหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๒๘๖] เพราะกรรมนั้น นิ้วของเราจึงหงิกงอ
หน้าของเราจึงบิดเบี้ยว และนัยน์ตาทั้งสองของเราจึงเขรอะ
เราได้ทำบาปนั้นไว้
(อังกุรพาณิชถามว่า)
[๒๘๗] แน่ะบุรุษเลวทราม สมควรแล้วที่ท่านมีหน้าบิดเบี้ยว
นัยน์ตาทั้งสองจึงเขรอะ เพราะท่านได้ทำหน้างอต่อทานของผู้อื่น
[๒๘๘] ทำไม อสัยหเศรษฐีเมื่อจะให้ทาน
จึงได้มอบข้าว น้ำ ของเคี้ยว ผ้า
และที่อยู่อาศัยให้ผู้อื่นจัดแจง
[๒๘๙] เราจากที่นี้ไปถึงเมืองทวาราวดี
จักรีบบำเพ็ญทานซึ่งจะนำความสุขมาให้แก่เราแน่นอน
[๒๙๐] จักให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำ สระน้ำ
และสะพานในที่ที่เดินลำบากเป็นทาน
[๒๙๑] อังกุรพาณิชนั้นกลับจากทะเลทรายนั้น
ไปถึงเมืองทวาราวดีแล้ว
เริ่มบำเพ็ญทานซึ่งจะนำความสุขมาให้ตน
[๒๙๒] ได้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำ สระน้ำ
ด้วยจิตอันเลื่อมใสแล้ว
[๒๙๓] ช่างกัลบก พ่อครัวชาวมคธพากันป่าวร้องในเรือน
ของอังกุรพาณิชนั้นทั้งในเวลาเย็นทั้งในเวลาเช้าทุกวันว่า
ใครหิวจงมารับประทานตามชอบใจ
ใครกระหายจงมาดื่มตามชอบใจ
ใครจักนุ่งห่มผ้าจงมานุ่งห่มตามชอบใจ
ใครต้องการพาหนะเทียมรถจงเลือกพาหนะที่ชอบใจ
จากหมู่พาหนะเทียมรถนี้แล้วเทียมเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๒๙๔] ใครต้องการร่มจงมาเอาร่มไป
ใครต้องการของหอมจงมาเอาของหอมไป
ใครต้องการดอกไม้จงมาเอาดอกไม้ไป
ใครต้องการรองเท้าจงมาเอารองเท้าไป
[๒๙๕] ชนย่อมยกย่องเราว่า อังกุรพาณิชนอนเป็นสุข
สินธุมาณพเอ๋ย เพราะไม่เห็นเหล่าชนผู้ขอ เราจึงนอนเป็นทุกข์
[๒๙๖] ชนย่อมยกย่องเราว่า อังกุรพาณิชนอนเป็นสุข
สินธุมาณพเอ๋ย เมื่อวณิพกมีน้อย เราจึงนอนเป็นทุกข์
(สินธุมาณพได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า)
[๒๙๗] ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์
และเป็นใหญ่กว่าชาวโลกทั้งปวง พึงประทานพรแก่ท่าน
เมื่อท่านจะเลือก ท่านจะเลือกขอพรเช่นไร
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[๒๙๘] ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์ พึงประทานพรแก่เรา
เราจะพึงขอพรว่า เมื่อเราลุกขึ้นแต่เช้า ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น
ภักษาหารอันเป็นทิพย์และเหล่าชนผู้ขอซึ่งมีศีลพึงปรากฏขึ้น
[๒๙๙] เมื่อเราให้อยู่ ไทยธรรมไม่พึงสิ้นไป
ครั้นเราให้ทานนั้นแล้ว ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง
เมื่อกำลังให้ พึงยังจิตให้เลื่อมใส
ข้าพเจ้าพึงเลือกขอพรอย่างนี้กับท้าวสักกะ
(โสนกบุรุษกล่าวเตือนอังกุรพาณิชว่า)
[๓๐๐] บุคคลไม่ควรให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมดแก่บุคคลอื่น
ควรให้ทานและควรรักษาทรัพย์ไว้
เพราะว่าทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน
เพราะการให้ทานเกินประมาณ สกุลทั้งหลายจะล่มจม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๓๐๑] บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญการไม่ให้ทานและการให้เกินควร
เพราะเหตุนั้นแหละ ทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน
ประเพณีแห่งการให้ทานและการไม่ให้
เป็นธรรมเนียมของบุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ พึงเป็นไปโดยพอเหมาะ
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[๓๐๒] ชาวเราทั้งหลาย ดีหนอ เราพึงให้ทานแน่แท้
ด้วยว่าสัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบระงับพึงคบหาเรา
เราพึงทำความประสงค์ของวณิพกทั้งปวงให้เต็ม เลี้ยงดูให้อิ่มหนำ
เปรียบเหมือนฝนตกทำที่ลุ่มทั้งหลายให้เต็ม
[๓๐๓] บุคคลผู้มีสีหน้าผ่องใส เพราะเห็นเหล่าชนผู้ขอ
ครั้นให้ทานแล้วมีใจเบิกบาน
ข้อนั้นเป็นความสุขของบุคคลผู้อยู่ครองเรือน
[๓๐๔] บุคคลผู้มีสีหน้าผ่องใส เพราะเห็นเหล่าชนผู้ขอ
ครั้นให้ทานแล้วมีใจเบิกบาน
นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ(บุญ)
[๓๐๕] ก่อนแต่ให้ก็มีใจดี
เมื่อกำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส
ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน
นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวเป็นคาถาว่า)
[๓๐๖] ในเรือนของอังกุรพาณิชผู้มุ่งบุญ
เขาให้โภชนะแก่หมู่ชนวันละ ๖๐,๐๐๐ เล่มเกวียนเป็นนิตย์
[๓๐๗] พ่อครัว ๓,๐๐๐ คนประดับด้วยต่างหูแก้วมณี
เป็นผู้ขวนขวายในการให้ทาน
พากันเข้าไปอาศัยอังกุรพาณิชเลี้ยงชีพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๓๐๘] มาณพ ๖๐,๐๐๐ คนประดับด้วยต่างหูแก้วมณี
ช่วยกันผ่าฟืนในมหาทานของอังกุรพาณิช
[๓๐๙] นารี ๑๖,๐๐๐ คนประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง
ช่วยกันบดเครื่องเทศ(สำหรับปรุงอาหาร)
ในมหาทานของอังกุรพาณิช
[๓๑๐] นารีอีก ๑๖,๐๐๐ คนประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง
ถือทัพพีเข้าไปยืนคอยรับใช้ในมหาทานของอังกุรพาณิช
[๓๑๑] อังกุรพาณิชนั้นได้ให้ของเป็นอันมาก
แก่คนจำนวนมากโดยประการต่าง ๆ
ได้ทำความเคารพและความเลื่อมใสในกษัตริย์ด้วยมือของตนบ่อย
ให้ทานโดยประการต่าง ๆ สิ้นกาลนาน
[๓๑๒] อังกุรพาณิชบำเพ็ญมหาทานให้เป็นไปแล้วตลอดเดือน
ตลอดปักษ์ ตลอดฤดู ตลอดปีเป็นอันมาก ตลอดกาลนาน
[๓๑๓] อังกุรพาณิชนั้นได้ให้ทาน บูชาแล้วอย่างนี้ตลอดกาลนาน
ละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์
[๓๑๔] อินทกมาณพถวายภิกษาทัพพีหนึ่งแก่พระอนุรุทธเถระ
ละร่างมนุษย์แล้วได้ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์
[๓๑๕] แต่อินทกเทพบุตรรุ่งเรืองยิ่งกว่าอังกุรเทพบุตร
โดยฐานะ ๑๐ อย่าง คือ
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ารื่นรมย์ใจ
[๓๑๖] อายุ ยศ วรรณะ สุข และความเป็นใหญ่ยิ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า) อังกุระ
ท่านให้มหาทานสิ้นกาลนาน
มาในสำนักของเรา ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๓๑๗] ครั้งที่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุรุษผู้สูงสุด
ประทับอยู่ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์๑
ที่โคนต้นปาริฉัตตกพฤษ์ ณ ภพดาวดึงส์
[๓๑๘] เทวดาในหมื่นโลกธาตุพากันมานั่งประชุม
เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่บนยอดเขา
[๓๑๙] ไม่มีเทวดาตนไหนมีผิวพรรณงามรุ่งเรือง
ยิ่งกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นงดงามรุ่งเรืองยิ่งกว่าเทวดาทั้งปวง
[๓๒๐] ครั้งนั้น อังกุรเทพบุตรนี้อยู่ในที่ไกล ๑๒ โยชน์
จากที่พระศาสดาประทับอยู่
ส่วนอินทกเทพบุตรนั่งในที่ใกล้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รุ่งเรืองยิ่งกว่า
[๓๒๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็น
อังกุรเทพบุตรและอินทกเทพบุตร
เมื่อจะทรงประกาศพระทักขิไณยบุคคล
จึงได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
[๓๒๒] อังกุรเทพบุตร ท่านให้มหาทานสิ้นกาลนาน
มาในสำนักของเรา ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก
[๓๒๓] อังกุรเทพบุตรผู้อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้อบรมพระองค์เองทรงตักเตือนแล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า จะประสงค์อะไรด้วยทานของข้าพระองค์นั้น
ซึ่งว่างจากพระทักขิไณยบุคคล
[๓๒๔] อินทกเทพบุตรนี้ให้ทานนิดหน่อย
รุ่งเรืองยิ่งกว่าข้าพระองค์
ดังดวงจันทร์รุ่งเรืองยิ่งกว่าหมู่ดาว

เชิงอรรถ :
๑ แท่นหินที่มีสีเหมือนผ้ากัมพล (สีเหลือง)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๐. อุตตรมาตุเปติวัตถุ
(อินทกเทพบุตรกราบทูลว่า)
[๓๒๕] พืชแม้มากที่บุคคลหว่านลงในนาดอน
ย่อมมีผลไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ทำชาวนาให้ปลื้มใจ ฉันใด
[๓๒๖] ทานมากมายที่บุคคลตั้งไว้ในบุคคลผู้ทุศีล
ย่อมมีผลไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ทำทายกให้ปลื้มใจ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
[๓๒๗] พืชแม้น้อยที่บุคคลหว่านลงในนาดี
เมื่อฝนตกสม่ำเสมอ ผลย่อมทำชาวนาให้ปลื้มใจ ฉันใด
[๓๒๘] อุปการะแม้น้อยที่บุคคลทำแล้วในท่านผู้มีศีล
มีคุณความดี ผู้คงที่ บุญย่อมกลับมีผลมาก ฉันนั้นเหมือนกัน
[๓๒๙] ควรเลือกให้ทานในเขตที่บุคคลให้แล้วมีผลมาก
ทายกเลือกให้ทานแล้ว จึงไปสู่สวรรค์
[๓๓๐] ทานที่เลือกให้พระสุคตทรงสรรเสริญ
ทานที่ทายกให้ในพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลายซึ่งยังอยู่ในมนุษยโลกนี้
ย่อมมีผลมาก เหมือนพืชที่หว่านลงในนาดี
อังกุรเปตวัตถุที่ ๙ จบ

๑๐. อุตตรมาตุเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตมารดาของอุตตรมาณพ
[๓๓๑] นางเปรตผู้มีผิวพรรณน่าเกลียดน่ากลัว
เข้าไปหาภิกษุนั้นผู้อยู่ในที่พักกลางวัน
ซึ่งนั่งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
[๓๓๒] นางมีผมยาวห้อยลงมาจรดพื้นดิน
มีผมปกคลุมอยู่แล้ว
ได้กล่าวกับสมณะนั้นดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๐. อุตตรมาตุเปติวัตถุ
[๓๓๓] ตั้งแต่ดิฉันตายจากมนุษยโลกเป็นเวลา ๕๕ ปีแล้ว
ยังไม่ได้กินข้าวและดื่มน้ำเลย
ขอท่านจงให้น้ำดื่มแก่ดิฉันผู้กระหายน้ำด้วยเถิด เจ้าค่ะ
(ภิกษุนั้นกล่าวว่า)
[๓๓๔] แม่น้ำคงคานี้มีน้ำเย็น ไหลมาจากภูเขาหิมพานต์
เธอจงตักน้ำจากแม่น้ำคงคานั้นดื่มเถิด จะมาขอเราทำไม
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๓๓๕] ท่านผู้เจริญ ถ้าดิฉันตักน้ำในแม่น้ำคงคาดื่มเอง
น้ำนั้นจะกลายเป็นเลือด (เพราะผลแห่งบาปกรรม)ของดิฉัน
เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงขอน้ำดื่ม
(ภิกษุนั้นถามว่า)
[๓๓๖] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรน้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่เธอ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๓๓๗] ดิฉันมีลูกชายคนหนึ่งชื่ออุตตระ เป็นอุบาสกมีศรัทธา
และเขาได้ถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง และยาสำหรับแก้ไข้
แก่สมณะทั้งหลายด้วยความไม่พอใจของดิฉัน
[๓๓๘] ดิฉันถูกความตระหนี่ครอบงำ ได้ด่าเขาว่า
[๓๓๙] เจ้าถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง
และยาสำหรับแก้ไข้ ด้วยความไม่พอใจของแม่
[๓๔๐] เจ้าอุตตระ สิ่งนั้นจงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่เจ้าในปรโลก
เพราะผลกรรมนั้นน้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่ดิฉัน
อุตตรมาตุเปติวัตถุที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๑. สุตตเปตวัตถุ
๑๑. สุตตเปตวัตถุ
เรื่องหญิงผู้ถวายด้ายได้ไปอยู่กับเปรต
(หญิงคนหนึ่งไปอยู่กับเวมานิกเปรตเป็นเวลา ๗๐๐ ปี เกิดความเบื่อหน่าย
จึงกล่าวกับเวมานิกเปรตนั้นว่า)
[๓๔๑] เมื่อก่อน ฉันได้ถวายด้ายแก่ภิกษุซึ่งเข้าไปขอถึงเรือนของฉัน
ฉันได้เสวยวิบากซึ่งเป็นผลแห่งการถวายด้ายนั้น
อนึ่ง ผ้ามากมายหลายโกฏิบังเกิดมีแก่ฉัน
[๓๔๒] วิมานของฉันดารดาษไปด้วยดอกไม้ น่ารื่นรมย์ แสนจะงดงาม
ทั้งเทพบุตรเทพธิดาพากันมาชมไม่ขาดสาย
ฉันเลือกใช้สอยนุ่งและห่มตามปรารถนาถึงเพียงนี้
สรรพวัตถุซึ่งเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมากมายก็ยังไม่สิ้นไป
[๓๔๓] ฉันได้รับความสุขและความสำราญในวิมานนี้
เพราะอาศัยวิบากแห่งกรรมนั้นเอง
กลับไปยังมนุษยโลกแล้วจักทำบุญให้มากขึ้น
ลูกเจ้า ขอเจ้าจงนำฉันกลับไปยังมนุษยโลกเถิด
(เวมานิกเปรตกล่าวว่า)
[๓๔๔] ท่านมาอยู่ในวิมานนี้กว่า ๗๐๐ ปี เป็นคนแก่เฒ่าแล้ว
จะไปอยู่ในมนุษยโลกทำไม อนึ่ง ญาติของท่านตายไปหมดแล้ว
ท่านจากเปตโลกนี้ไปยังมนุษยโลกนั้นแล้วจักทำอะไรได้
(หญิงนั้นกล่าวว่า)
[๓๔๕] เมื่อฉันอยู่ที่วิมานนี้ ๗ ปี๑ ได้เสวยทิพสมบัติและความสุข
อิ่มหนำแล้วกลับไปยังมนุษยโลกตามเดิม จักทำบุญให้มาก
ลูกเจ้า ขอท่านจงนำฉันไปส่งยังมนุษยโลกเถิด

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ๗ ปี ในที่นี้หมายถึง ๗๐๐ ปี นั้นเอง เพราะผู้ที่เสวยความสุขอันเป็นทิพย์ ย่อมไม่กำหนด
วันเวลาที่ผ่านไป (ขุ.เป.อ. ๓๔๕/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๒. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
[๓๔๖] เวมานิกเปรตนั้นจับแขนหญิงนั้น
นำกลับไปส่งยังบ้านที่นางเกิดและเจริญวัย
แล้วพูดกับหญิงนั้นซึ่งกลายเป็นหญิงแก่มีกำลังน้อยที่สุดว่า
เธอจงบอกชนแม้อื่นในที่นี้ว่า
ท่านทั้งหลายจงทำบุญจะได้รับความสุข
[๓๔๗] มนุษย์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อนเหมือนเปรตทั้งหลายที่เราเห็นแล้ว
เดือดร้อนอยู่เพราะไม่ได้ทำกรรมดีไว้
ก็หมู่สัตว์คือเทวดาและมนุษย์ทำกรรมมีสุขเป็นวิบากแล้ว
เป็นผู้ดำรงอยู่ในความสุข
สุตตเปตวัตถุที่ ๑๑ จบ

๑๒. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตผู้ถูกสุนัขกัณณมุณฑกัดกินเนื้อ
(พระเจ้าพาราณสีตรัสถามนางเวมานิกเปรตว่า)
[๓๔๘] สระโบกขรณีมีน้ำใสเย็น มีบันไดทองคำ
มีพื้นดาดด้วยทรายทองคำ
ในสระโบกขรณีนั้นมีต้นไม้สวยงาม มีกลิ่นหอมยวนใจ
[๓๔๙] ดาดดื่นไปด้วยหมู่ไม้นานาพันธุ์
ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมต่าง ๆ
ดารดาษไปด้วยบัวนานาชนิด รายล้อมไปด้วยบัวขาว
[๓๕๐] มีกลิ่นหอมเจริญใจ
ยามต้องลมรำเพยพัดก็โชยกลิ่นหอมระรื่นฟุ้งขจรไป
ระงมไปด้วยเสียงหงส์และนกกะเรียน
นกจักรพาก๑มาส่งเสียงร้องไพเราะจับใจ

เชิงอรรถ :
๑ นกชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์นกเป็ดน้ำ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๒. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
[๓๕๑] ขวักไขว่ไปด้วยฝูงทิชาชาติ๑นานาชนิด
มีเสียงร้องของนกนานาชนิด ไพเราะจับใจ
มีไม้ผล ไม้ดอกนานาพันธุ์
[๓๕๒] ไม่มีเมืองใดในมนุษย์เหมือนเมืองของท่านนี้
ปราสาทของท่านมีมาก สำเร็จแล้วด้วยทองคำและเงิน
ส่องแสงสว่างโชติช่วงโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ
[๓๕๓] ทาสี ๕๐๐ คน ประดับด้วยกำไลทองคำ
นุ่งห่มผ้าทองคำ คอยบำเรอท่าน
[๓๕๔] ท่านมีบัลลังก์ทองคำและเงินจำนวนมาก
ปูลาดด้วยหนังชะมดและผ้าโกเชาว์๒ ที่เขาจัดเตรียมไว้แล้ว
[๓๕๕] ท่านจะเข้าบรรทมบนบัลลังก์ใดก็สำเร็จสมประสงค์ทุกอย่าง
เมื่อถึงเที่ยงคืน ท่านลุกจากบัลลังก์นั้นไป
[๓๕๖] ลงไปสู่สวนรอบสระโบกขรณี
ยืนอยู่ที่ริมสระนั้นซึ่งมีหญ้าเขียวอ่อนนุ่ม
[๓๕๗] ทันใดนั้น สุนัขชื่อกัณณมุณฑกะก็ขึ้นมาจากสระนั้น
กัดอวัยวะน้อยใหญ่ของท่าน
เมื่อใดท่านถูกสุนัขกัดกินเหลือแต่ร่างกระดูก
เมื่อนั้น ท่านจึงลงสู่สระโบกขรณี
ร่างกายก็กลับเป็นเหมือนเดิม
[๓๕๘] ภายหลังจากเวลาที่ลงสระโบกขรณี
ท่านกลับมีอวัยวะน้อยใหญ่บริบูรณ์ งดงาม ดูน่ารัก
นุ่งห่มผ้า มาสู่สำนักเรา

เชิงอรรถ :
๑ นก ได้ชื่อว่า ทิชาชาติ เพราะเกิด ๒ หน คือ คลอดจากท้องมารดาเป็นฟองไข่หนหนึ่ง และถูกฟักจน
คลอดเป็นตัวอีกหนหนึ่ง
๒ พรมที่ทำด้วยขนแกะที่มีขนยาว (ขุ.เป.อ. ๓๕๔/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๒. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
[๓๕๙] เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร
สุนัขกัณณมุณฑกะจึงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของท่าน
(นางเวมานิกเปรตกราบทูลว่า)
[๓๖๐] มีคหบดีคนหนึ่ง เป็นอุบาสก มีศรัทธา อยู่ในเมืองกิมพิลา
หม่อมฉันเป็นภรรยาของเขา เป็นคนทุศีล ประพฤตินอกใจเขา
[๓๖๑] เมื่อหม่อมฉันประพฤตินอกใจเขา
สามีจึงพูดดังนี้ว่า การที่เธอประพฤตินอกใจฉันแล้วปกปิดไว้
เป็นการไม่เหมาะ ไม่สมควร
[๓๖๒] และหม่อมฉันนั้นได้กล่าวเท็จสาบานอย่างร้ายแรงว่า
ฉันไม่ได้ประพฤตินอกใจท่านทางกายหรือทางใจ
[๓๖๓] ถ้าฉันประพฤตินอกใจท่านทางกายหรือทางใจ
ขอให้สุนัขกัณณมุณฑกะตัวนี้จงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของฉันเถิด
[๓๖๔] ผลกรรมชั่วและการกล่าวเท็จทั้งสองนั้น
หม่อมฉันได้เสวยแล้วเป็นเวลา ๗๐๐ ปี
เพราะกรรมอันชั่วช้าสุนัขกัณณมุณฑกะ
จึงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของหม่อมฉัน
[๓๖๕] ขอเดชะพระองค์ผู้ประเสริฐ
พระองค์ทรงมีอุปการะแก่หม่อมฉันมาก
เสด็จมา ณ ที่นี้เพื่อประโยชน์แก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันพ้นแล้วจากสุนัขกัณณมุณฑกะ
หายโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
[๓๖๖] ขอเดชะ หม่อมฉันขอถวายบังคมพระองค์
ขอประนมอัญชลีวิงวอนว่า ขอพระองค์จงเสวยกามสุขอันเป็นทิพย์
รื่นรมย์อยู่กับหม่อมฉันเถิดเพคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ
(พระราชาตรัสว่า)
[๓๖๗] ฉันเสวยกามสุขอันเป็นทิพย์และรื่นรมย์กับเธอแล้ว
เชิญเถิดนางงาม ฉันอ้อนวอนเธอ
ขอจงรีบนำฉันกลับเถิด
กัณณมุณฑเปติวัตถุที่ ๑๒ จบ

๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ
เรื่องพระนางอุพพรีกับเปรต
[๓๖๘] พระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่ในแคว้นปัญจาละ
เมื่อวันคืนล่วงไป ๆ พระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว
[๓๖๙] พระนางอุพพรีมเหสีของพระองค์
เสด็จไปยังพระเมรุมาศแล้วทรงกรรแสงอยู่
เมื่อไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัต ก็ทรงกรรแสงว่า พรหมทัต ๆ
[๓๗๐] อนึ่งดาบส๑ ผู้เป็นมุนี สมบูรณ์ด้วยจรณะ ได้มาที่นั้น
และได้ถามชนทั้งหลายที่มาประชุมกันในที่นั้นว่า
[๓๗๑] นี่เป็นเมรุมาศของใครซึ่งตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมต่าง ๆ
หญิงนี้เป็นภรรยาของใคร เมื่อไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่
ซึ่งเสด็จจากมนุษยโลกนี้ไปไกล
คร่ำครวญอยู่ว่า พรหมทัต ๆ
[๓๗๒] ฝ่ายชนที่มาประชุมกันอยู่ในที่นั้นตอบว่า
ท่านผู้เจริญ ผู้นิรทุกข์ นี่เป็นพระเมรุมาศของพระเจ้าพรหมทัต
หญิงนี้เป็นพระมเหสีของท้าวเธอ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้บำเพ็ญเพียรเผากิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ
[๓๗๓] นี่เป็นพระเมรุมาศของท้าวเธอ
ซึ่งตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมต่าง ๆ
หญิงนี้เป็นพระมเหสีของท้าวเธอ
เมื่อไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัตพระราชสวามี
ซึ่งเสด็จจากมนุษยโลกนี้ไปไกล
จึงทรงกรรแสงอยู่ว่า พรหมทัต ๆ
(ดาบสจึงทูลถามว่า)
[๓๗๔] พระราชาผู้มีพระนามว่าพรหมทัต ๘๖,๐๐๐ พระองค์
ถูกเผาในป่าช้านี้
บรรดาพระเจ้าพรหมทัตเหล่านั้น
พระนางทรงกรรแสงถึงพระเจ้าพรหมทัตองค์ไหน
(พระนางอุพพรีตรัสตอบว่า)
[๓๗๕] ท่านผู้เจริญ ดิฉันเศร้าโศกถึงพระราชา
ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจูฬนี
เป็นใหญ่ในแคว้นปัญจาละ ซึ่งเป็นพระราชสวามี
ทรงประทานสิ่งของที่น่าปรารถนาทุกอย่าง
(ดาบสทูลถามว่า)
[๓๗๖] พระราชาทุกพระองค์ทรงพระนามว่าพรหมทัตเหมือนกันทั้งหมด
เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจูฬนี
ทรงเป็นใหญ่ในแคว้นปัญจาละ
[๓๗๗] พระนางเป็นพระมเหสีของพระราชาเหล่านั้นทุกพระองค์โดยลำดับ
เหตุไรจึงละเว้นพระราชาองค์ก่อน ๆ เสีย
แล้วมาเศร้าโศกถึงพระราชาองค์สุดท้ายเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ
(พระนางอุพพรีตรัสตอบว่า)
[๓๗๘] ท่านผู้นิรทุกข์ ตลอดเวลาอันยาวนาน
ดิฉันเกิดเป็นสตรีเท่านั้น(ไม่เคยเกิดเป็นบุรุษบ้างหรือ)
ท่านพูดถึงแต่การที่ดิฉันเป็นสตรี
ในการเวียนว่ายตายเกิดเป็นอันมาก
(ดาบสทูลตอบว่า)
[๓๗๙] บางคราวพระนางเกิดเป็นสตรี
บางคราวเกิดเป็นบุรุษ
บางคราวเกิดเป็นปศุสัตว์
ที่สุดแห่งอัตภาพทั้งหลายที่ผ่านมาที่เข้าถึงความเป็นหญิงเป็นต้นนั้น
ย่อมไม่ปรากฏอย่างนี้
(พระนางอุพพรีตรัสว่า)
[๓๘๐] ท่านช่วยรดดิฉันผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมด
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[๓๘๑] ผู้ที่ช่วยให้ดิฉันผู้กำลังเศร้าโศกถึงพระสวามีให้บรรเทาลงได้
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศกที่เสียบหทัยของดิฉันแล้วหนอ
[๓๘๒] พระมหามุนี ดิฉันซึ่งท่านถอนลูกศรคือความโศกได้แล้ว
ก็เย็นสงบ ไม่เศร้าโศก ไม่กรรแสงอีก
เพราะได้ฟังคำของท่าน
[๓๘๓] พระนางอุพพรีฟังคำสุภาษิตของดาบสผู้เป็นสมณะนั้นแล้ว
ถือบาตรจีวรออกบวชเป็นบรรพชิต
[๓๘๔] ครั้นออกบวชแล้วเป็นผู้สงบ เจริญเมตตาจิต
เพื่อบังเกิดในพรหมโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ[๒. อุพพริวรรค] รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรค
[๓๘๕] พระนางเมื่อเที่ยวจากบ้านหนึ่งไปยังบ้านหนึ่ง
ไปยังนิคมและราชธานีทั้งหลาย
ได้เสด็จสวรรคตที่บ้านอุรุเวลา
[๓๘๖] พระนางเบื่อหน่ายการเกิดเป็นหญิง
เจริญเมตตาจิตเพื่อบังเกิดในพรหมโลก
จึงได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกแล้ว
อุพพรีเปตวัตถุที่ ๑๓ จบ
อุพพริวรรคที่ ๒ จบ

รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สังสารโมจกเปติวัตถุ ๒. สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ
๓. มัตตาเปติวัตถุ ๔. นันทาเปติวัตถุ
๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ ๖. กัณหเปตวัตถุ
๗. ธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ ๘. จูฬเสฏฐิเปตวัตถุ
๙. อังกุรเปตวัตถุ ๑๐. อุตตรมาตุเปติวัตถุ
๑๑. สุตตเปตวัตถุ ๑๒. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๑. อภิชชมานเปตวัตถุ
๓. จูฬวรรค
หมวดเล็ก
๑. อภิชชมานเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้เดินทวนกระแสน้ำอันไหลไม่ขาดสาย
(โกลิยมหาอำมาตย์ของพระเจ้าพิมพิสาร ถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๓๘๗] ท่านเปลือยกาย เหมือนกับเปรตครึ่งท่อน
ทัดทรงดอกไม้ ตกแต่งร่างกาย
เดินอยู่ในที่นี้ ซึ่งมีน้ำในแม่น้ำคงคาไหลไม่ขาดสาย
ท่านจักไปไหนนะเปรต ท่านอยู่ประจำที่ไหน
(พระสังคีติกาจารย์กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๓๘๘] เปรตนั้นกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักไปยังบ้านจุนทัฏฐิละ
ซึ่งอยู่ในระหว่างวาสภคามกับกรุงพาราณสี
[๓๘๙] อนึ่งมหาอำมาตย์ซึ่งปรากฏชื่อว่า โกลิยะ เห็นเปรตนั้นแล้ว
จึงได้ให้ข้าวสัตตุ๑และผ้าสีเหลืองคู่หนึ่งแก่เปรต
[๓๙๐] เมื่อเรือหยุด ได้สั่งให้สิ่งของเหล่านั้นแก่อุบาสกผู้เป็นช่างกัลบก
ผ้านุ่งผ้าห่มก็ปรากฏแก่เปรตทันที
ในขณะที่มหาอำมาตย์ได้ให้ผ้าคู่หนึ่งแก่อุบาสกซึ่งเป็นช่างกัลบก
[๓๙๑] ลำดับนั้น เปรตนั้นนุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
ทัดทรงดอกไม้ ตกแต่งร่างกายอย่างสวยงาม
ทักษิณาย่อมสำเร็จแก่เปรตผู้ดำรงอยู่ในฐานะ๒
เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาพึงให้ทานบ่อย ๆ เพื่ออนุเคราะห์เปรตทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ข้าวตู คือข้าวตากคั่วแล้วตำเป็นผงเคล้ากับน้ำตาลและมะพร้าว (ขุ.เป.อ. ๓๘๙/๑๘๑)
๒ เปรตที่อยู่ในฐานะที่จะรับส่วนบุญที่ผู้อื่นอุทิศให้ เช่น ขุปปิปาสิกเปรต เปรตที่หิวกระหายอยู่เป็นนิตย์
วันตาสเปรต เปรตที่กินน้ำมูกน้ำลายที่เขาบ้วนทิ้งแล้ว ปรทัตตูปชีวิเปรต เปรตที่อาศัยอาหารที่คนอื่น
เขาให้ นิชฌามตัณหิกเปรต เปรตที่ถูกตัณหาแผดเผา เป็นต้น (ขุ.ขุ.อ. ๑๒/๑๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๑. อภิชชมานเปตวัตถุ
[๓๙๒] เปรตเหล่าอื่นบางพวกนุ่งผ้าขี้ริ้วขาดรุ่งริ่ง
บางพวกนุ่งเส้นผม หลีกไปยังทิศน้อยใหญ่เพื่อหาอาหาร
[๓๙๓] บางพวกวิ่งไปแม้ในที่ไกล กลับมาโดยไม่ได้อะไรเลย
บางพวกหิวจัดจนเป็นลมล้มสลบกลิ้งไปบนพื้นดิน
[๓๙๔] บางพวกไม่ได้ทำความดีไว้ในชาติก่อน ไม่ได้อะไรเลย
ล้มกลิ้งบนพื้นดินเหมือนถูกไฟเผาอยู่กลางแดด
ประสบความเดือดร้อน คร่ำครวญว่า
[๓๙๕] ในชาติก่อน พวกเราเป็นหญิงแม่เรือน
เป็นมารดาทารกในตระกูล เป็นคนมีบาป
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ไม่ได้ทำที่พึ่งให้แก่ตน
[๓๙๖] แม้ข้าวและน้ำมีมากแต่เราไม่ได้แจกจ่ายให้ทาน
และไม่ได้ถวายอะไรแก่บรรพชิตผู้ปฏิบัติชอบ
[๓๙๗] อยากทำแต่กรรมที่คนดีไม่พึงทำ เป็นคนเกียจคร้าน
ใคร่แต่ความสำราญและกินจุ
แม้ผู้ที่ให้ก้อนข้าวปฏิคาหกเพียงคำหนึ่ง ตนก็ยังด่า
[๓๙๘] เรือน คนรับใช้ชายหญิง
และผ้าอาภรณ์เหล่านั้นเป็นของพวกเรา
แต่คนเหล่าอื่นเอาไปใช้สอย
พวกเราจึงประสบแต่ทุกข์
[๓๙๙] ช่างจักสานก็ดี ช่างหนังก็ดี
คนประทุษร้ายมิตรก็ดี คนจัณฑาลก็ดี
คนกำพร้าก็ดี ช่างกัลบกก็ดี มักถูกดูหมิ่นอยู่ร่ำไป
[๔๐๐] เปรตทั้งหลายจุติจากเปตวิสัยแล้ว
ย่อมเกิดในตระกูลเหล่านั้น ซึ่งเป็นตระกูลต่ำและขัดสน
นี้เป็นที่เกิดสำหรับคนตระหนี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๑. อภิชชมานเปตวัตถุ
[๔๐๑] ส่วนคนทั้งหลายทำความดีไว้ในชาติปางก่อน
มีปกติให้ ปราศจากความตระหนี่
พวกเขาย่อมทำสวรรค์ให้เต็มบริบูรณ์
และเปล่งรัศมีสว่างไสวทั่วนันทวัน
[๔๐๒] บริโภคกามคุณตามความปรารถนา
รื่นรมย์ในเวชยันตปราสาท จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว
ย่อมเกิดในตระกูลสูง มีโภคสมบัติมาก
[๔๐๓] คือ เกิดในตระกูลแห่งบุคคลผู้มีบริวารยศ
ซึ่งมีคนถือพัดแววหางนกยูง
คอยพัดอยู่บนบัลลังก์ที่ปูลาดด้วยผ้าขนสัตว์
ในเรือนยอดและปราสาทราชมนเทียร
[๔๐๔] (ในเวลาเป็นทารก) ก็ทัดทรงดอกไม้ ตบแต่งร่างกาย
หมู่ญาติและพี่เลี้ยงนางนมผลัดกันอุ้ม
เหล่าพี่เลี้ยงนางนมปรารถนาความสุข พากันบำรุงอยู่ทั้งเช้าและเย็น
[๔๐๕] ป่าใหญ่ของเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์ซึ่งปราศจากความเศร้าโศก
น่ารื่นรมย์ยินดี เป็นสถานที่ซึ่งดิฉันได้แล้วนี้
ย่อมไม่มีแก่ผู้ที่ไม่ได้ทำบุญไว้ แต่ย่อมมีแก่ผู้ที่ทำบุญไว้เท่านั้น
[๔๐๖] ส่วนผู้ที่ไม่ได้ทำบุญไว้
ย่อมไม่มีความสุขทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า
แต่ผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้ว
ย่อมมีความสุขทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า
[๔๐๗] ผู้ปรารถนาจะอยู่ร่วมกับเทพชั้นดาวดึงส์เหล่านั้น
ต้องทำบุญกุศลไว้ให้มาก เพราะว่าเหล่าชนผู้ทำบุญไว้แล้ว
ย่อมเพียบพร้อมด้วยโภคสมบัติ ร่าเริงบันเทิงอยู่ในสวรรค์
อภิชชมานเปตวัตถุที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
เรื่องเปรตญาติของพระสานุวาสีเถระ
[๔๐๘] พระเถระชาวกุณฑินครรูปหนึ่งซึ่งอยู่ประจำที่ภูเขาสานะ
มีชื่อว่า โปฏฐปาทะ เป็นผู้สงบ อบรมอินทรีย์แล้ว
[๔๐๙] มารดา บิดา พี่ชายของท่านตกยาก เกิดในยมโลก
เพราะทำกรรมชั่วไว้จึงไปเกิดในเปตโลก
[๔๑๐] เปรตเหล่านั้นตกยาก มีร่างกายเศร้าหมอง
อึดอัดด้วยของบูดเน่า ลำบากยิ่งนัก
เปลือยกาย ซูบผอม สะดุ้งหวาดเสียวมาก
ทำงานหนัก ไม่กล้าปรากฏตัว
[๔๑๑] เปรตพี่ชายของท่านเพียงคนเดียวกล้าเปลือยกาย
คลานไปแสดงตนแก่พระเถระในทางเปลี่ยว
[๔๑๒] ฝ่ายพระเถระก็ไม่ได้ใส่ใจถึง
เดินผ่านไปอย่างสงบ
เปรตนั้นจึงบอกให้พระเถระรู้ว่า
ข้าพเจ้าคือพี่ชายของท่าน ซึ่งไปเกิดในเปตโลก
[๔๑๓] ท่านผู้เจริญ มารดาบิดาของท่านตกยาก เกิดในยมโลก
เพราะทำกรรมชั่วไว้จึงต้องไปเกิดในเปตโลก
[๔๑๔] เปรตมารดาบิดาของท่านเหล่านั้นตกยาก มีร่างกายเศร้าหมอง
อึดอัดด้วยของบูดเน่า ลำบากยิ่งนัก
เปลือยกาย ซูบผอม สะดุ้ง หวาดเสียวมาก
ทำงานหนัก ไม่กล้าปรากฏตัว
[๔๑๕] ขอท่านกรุณาอนุเคราะห์ให้ทานอุทิศส่วนกุศลให้พวกเรา
พวกเปรตที่ทำงานหนักจักเป็นอยู่ได้ด้วยทานที่ท่านให้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
[๔๑๖] พระเถระและภิกษุอื่นอีก ๑๒ รูป เที่ยวบิณฑบาตแล้ว
กลับมาประชุมกัน เพราะต้องทำภัตกิจ๑ร่วมกัน
[๔๑๗] พระเถระกล่าวกับภิกษุเหล่านั้นแม้ทั้งหมดว่า
ขอท่านทั้งหลายจงให้ภัตตาหารตามที่ได้มาแก่ผมเถิด
ผมจักทำสังฆภัต๒เพื่ออนุเคราะห์ญาติทั้งหลาย
[๔๑๘] ภิกษุเหล่านั้นจึงมอบถวายพระเถระ
พระเถระจึงนิมนต์สงฆ์มาแล้วถวายทาน
ครั้นถวายแล้วอุทิศส่วนกุศลให้ว่า
ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย
คือ มารดา บิดา และพี่ชายของเรา
ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุขเถิด
[๔๑๙] ในลำดับที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง
โภชนะสะอาด ประณีต สมบูรณ์ พร้อมด้วยกับมีรสต่าง ๆ
ก็เกิดขึ้นแก่เปรตเหล่านั้น
[๔๒๐] หลังจากที่ได้ของกินนั้น
เปรตผู้เป็นพี่ชายมีผิวพรรณดี มีกำลัง
มีความสุข ก็มาแสดงตนกล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ ดูเอาเถิด โภชนะมีมากมาย
แต่พวกเรายังเปลือยกายอยู่
ขอท่านจงพยายามที่จะให้พวกเราได้ผ้านุ่งผ้าห่มเถิด
[๔๒๑] พระเถระเลือกเก็บผ้าเก่าจากกองขยะ
เย็บผ้าเก่าให้เป็นจีวร แล้วได้ถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔

เชิงอรรถ :
๑ การฉันภัตตาหารร่วมกัน
๒ ถวายอาหารแก่สงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
[๔๒๒] ครั้นถวายแล้ว ได้อุทิศส่วนกุศลให้ว่า
ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย
คือ มารดา บิดา และพี่ชายของเรา
ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุขเถิด
[๔๒๓] ในขณะที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั่นเอง
ผ้าทั้งหลายก็เกิดมีแก่เปรตเหล่านั้น
หลังจากได้ผ้าแล้ว เปรตผู้เป็นพี่ชายนุ่งห่มผ้าสวยงาม
มีผิวพรรณดี มีกำลัง มีความสุข
ได้มาแสดงตนแก่พระเถระกล่าวว่า
[๔๒๔] ท่านผู้เจริญ ผ้านุ่งผ้าห่มของพวกเรา
มีมากกว่าผ้าที่มีในแคว้นของพระเจ้านันทราช
[๔๒๕] คือ ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้าย
ผ้าแม้เหล่านั้นเหลือเฟือและมีค่ามากห้อยอยู่ในอากาศนั่นเอง
[๔๒๖] พวกเราเลือกนุ่งห่มเฉพาะผืนที่พอใจ
ขอท่านจงพยายามที่จะให้พวกเราได้บ้านเรือนเถิด
[๔๒๗] พระเถระสร้างกุฎีใบไม้แล้วได้ถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔
ครั้นถวายแล้วได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ว่า
ขอผลแห่งบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย
คือ มารดา บิดาและพี่ชายของเรา
ขอพวกญาติจงมีความสุขเถิด
[๔๒๘] ในขณะที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั่นเอง
เรือนทั้งหลาย คือ ปราสาท และที่อยู่อาศัยอย่างอื่น
ซึ่งจัดสร้างไว้เป็นสัดส่วน ก็เกิดขึ้น
[๔๒๙] เรือนในหมู่มนุษย์หาเป็นเช่นเรือนของพวกเราในเปตโลกนี้ไม่
เรือนของพวกเราในเปตโลกนี้เหมือนเรือนในหมู่เทพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
[๔๓๐] เปล่งรัศมีรุ่งเรืองไปโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ
ขอท่านจงพยายามที่จะให้พวกเราได้น้ำดื่มเถิด
[๔๓๑] พระเถระจึงตักน้ำเต็มธมกรกแล้ว
ได้ถวายสงฆ์ซึ่งมาจากทิศทั้ง ๔
ครั้นถวายแล้วได้อุทิศส่วนกุศลให้ว่า
ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่พวกญาติของเรา
คือ มารดา บิดา และพี่ชาย
ขอพวกญาติของเราจงมีความสุขเถิด
[๔๓๒] ในขณะที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั่นเอง
น้ำดื่มก็เกิดขึ้นเป็นสระโบกขรณีมีรูปสี่เหลี่ยม ลึก
ซึ่งบุญกรรมจัดสร้างไว้ดีแล้ว
[๔๓๓] มีน้ำเย็น มีท่าราบเรียบ เย็นสบาย
มีกลิ่นหอมหาที่เปรียบมิได้ ดารดาษด้วยดอกปทุมและอุบล
ผิวน้ำเต็มด้วยละอองเกสร
[๔๓๔] เปรตเหล่านั้นอาบและดื่มกินในสระนั้นแล้ว
แสดงตนแก่พระเถระ กล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ น้ำดื่มของพวกเรามีมากเพียงพอแล้ว
บาปย่อมเผล็ดผลเป็นทุกข์แก่พวกเรา
[๔๓๕] เมื่อพวกเราเที่ยวไป
ต้องเดินเขยกไปบนก้อนกรวดและหน่อหญ้าคา
ขอท่านจงพยายามที่จะให้พวกเราได้ยานเถิด
[๔๓๖] พระเถระได้รองเท้าแล้ว ได้ถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔
ครั้นถวายแล้วได้อุทิศส่วนกุศลให้ว่า
ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่พวกญาติ
คือ มารดา บิดา และพี่ชายของเรา
ขอพวกญาติของเราจงมีความสุขเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๓. รถการเปติวัตถุ
[๔๓๗] ในขณะที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง
เปรตทั้งหลายได้มาปรากฏพร้อมกับรถ
แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ
พวกเราได้รับอนุเคราะห์ด้วยอาหาร ผ้านุ่งผ้าห่ม
[๔๓๘] บ้านเรือน ด้วยการให้น้ำดื่ม และยานทั้งสอง
เพราะฉะนั้น พวกเราจึงมาเพื่อไหว้ท่าน
ผู้เป็นมุนีมีความกรุณาในโลก
สานุวาสีเถรเปตวัตถุที่ ๒ จบ

๓. รถการเปติวัตถุ
เรื่องนางเวมานิกเปรตผู้อาศัยอยู่ที่สระรถการ
(มาณพคนหนึ่งถามนางเวมานิกเปรตตนหนึ่งว่า)
[๔๓๙] นางเทวีผู้มีอานุภาพมาก
เธอขึ้นวิมานที่มีเสาแก้วไพฑูรย์งามผุดผ่อง
แสนจะงดงาม สถิตอยู่ในวิมานนั้น
ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญเด่นอยู่บนท้องฟ้า
[๔๔๐] เธอมีรัศมีเรืองรองดังทองคำ
มีรูปโฉมเลอเลิศ น่าดูน่าชมยิ่งนัก
นั่งอยู่แต่ผู้เดียวบนบัลลังก์อันประเสริฐสุด มีค่ามาก
เธอไม่มีสามีหรือ
[๔๔๑] สระโบกขรณีของเธอเหล่านี้
โดยรอบมีดอกไม้ต่าง ๆ อยู่มาก มีบัวขาวมาก
โดยรอบลาดด้วยทรายทองคำ
ในสระโบกขณีนั้นหาเปือกตมและจอกแหนมิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๓. รถการเปติวัตถุ
[๔๔๒] และมีฝูงหงส์น่าดูน่าชม น่ารื่นรมย์ใจ
ว่ายเวียนอยู่ในน้ำไม่ขาดสาย
ทั้งหมดมีเสียงไพเราะ
พากันมาชุมนุมส่งเสียงร้องอย่างไพเราะดังเสียงกลอง
[๔๔๓] เธอรุ่งเรืองด้วยเทวฤทธิ์
มีบริวารยศ ยืนพิงอยู่ในเรือ
เธอผู้มีคิ้วโก่งดำสนิท
มีหน้ายิ้มแย้ม พูดจาน่ารัก
มีอวัยวะทุกส่วนงาม รุ่งเรืองยิ่งนัก
[๔๔๔] วิมานนี้ปราศจากธุลี
ตั้งอยู่บนภาคพื้นราบเรียบ
มีสวนป่าซึ่งชวนให้ยินดีเพลิดเพลินเจริญใจ
แน่ะนารีผู้มองแล้วไม่เบื่อ
เราปรารถนาที่จะอยู่บันเทิงร่วมกับเธอในสวนนันทวันของเธอนี้
(นางเวมานิกเปรตกล่าวว่า)
[๔๔๕] ท่านจงทำกรรมซึ่งจะให้ท่านได้เสวยผลในวิมานของฉันนี้
และจิตของท่านจงน้อมมาในวิมานนี้ด้วย
ท่านครั้นทำกรรมซึ่งเป็นเหตุให้ได้เสวยผลในวิมานนี้แล้ว
จักได้ฉันผู้จะทำให้ท่านสมความปรารถนาได้ด้วยประการอย่างนี้
[๔๔๖] มาณพนั้นรับคำนางเวมานิกเปรตนั้นแล้ว
จึงได้ทำกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุให้ได้เสวยผลในวิมานนั้น
แล้วก็ได้อยู่ร่วมกับนางเวมานิกเปรตนั้น
รถการเปติวัตถุที่ ๓ จบ
ภาณวารที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๔. ภุสเปตวัตถุ
๔. ภุสเปตวัตถุ
เรื่องเปรตกอบแกลบ
(พระมหาโมคคัลลานเถระได้ถามถึงบุพกรรมของเปรตทั้ง ๔ ตน ด้วยคาถา
เหล่านี้ว่า)
[๔๔๗] ท่านทั้ง ๔ ตนนี้
ตนหนึ่งกอบเอาแกลบข้าวสาลีที่ไฟกำลังลุกโชน
โปรยใส่ศีรษะของตนเอง
อีกตนหนึ่งเอาฆ้อนเหล็กทุบศีรษะตนเองจนศีรษะแตก
ส่วนตนนี้เป็นหญิงกินเนื้อส่วนหลังและโลหิตของตนเอง
ส่วนท่านกินคูถซึ่งเป็นของไม่สะอาด ไม่น่าปรารถนา
นี้เป็นผลกรรมอะไร
(นางเปรตซึ่งอดีตเคยเป็นภรรยาพ่อค้าโกงตอบว่า)
[๔๔๘] เมื่อก่อน ผู้นี้ทำร้ายมารดา
ส่วนผู้นี้เป็นพ่อค้าโกง
ผู้นี้กินเนื้อแล้วแก้ตัวด้วยการกล่าวเท็จ
[๔๔๙] ครั้งที่ดิฉันเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นหญิงแม่เรือน ใหญ่กว่าทุกคนในสกุล
เมื่อสิ่งของที่ชนเหล่าอื่นขอได้ยังมีอยู่ก็เก็บซ่อนเสีย
(โดยคิดว่า) เราจะไม่ให้อะไร ๆ จากของที่มีอยู่นี้
[๔๕๐] ปกปิดไว้ด้วยการกล่าวเท็จว่า ในเรือนของเราไม่มีสิ่งนี้
ถ้าเราปกปิดของที่มีไว้ ขอคูถจงเป็นอาหารของเรา
[๔๕๑] เพราะวิบากทั้งสอง คือ วิบากแห่งการกระทำนั้นด้วย
วิบากแห่งการกล่าวเท็จด้วย
ภัตข้าวสาลีที่มีกลิ่นหอมจึงกลับกลายเป็นคูถสำหรับดิฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๕. กุมารเปตวัตถุ
[๔๕๒] อนึ่งกรรมทั้งหลายไม่ไร้ผล
เพราะกรรมย่อมไม่สูญหาย
ฉะนั้น ดิฉันจึงต้องทั้งกินทั้งดื่มคูถ
ซึ่งมีกลิ่นเหม็น มีหนอน
ภุสเปตวัตถุที่ ๔ จบ

๕. กุมารเปตวัตถุ
เรื่องกุมารเปรต
(เมื่อจะประกาศเรื่องของกุมารเปรตนั้น พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าว ๗ คาถาว่า)
[๔๕๓] พระญาณของพระสุคต น่าอัศจรรย์
โดยที่พระศาสดาทรงพยากรณ์บุคคลได้อย่างถูกต้องว่า
บุคคลบางเหล่าในโลกนี้ มีบุญมากก็มี
บางเหล่ามีบุญน้อยก็มี
[๔๕๔] คหบดีผู้นี้เมื่อยังเป็นเด็ก ถูกเขาทิ้งไว้ในป่าช้า
เป็นอยู่ด้วยน้ำนมที่ไหลออกจากนิ้วมือตลอดราตรี
ยักษ์และภูตผีปีศาจ หรือสัตว์เลื้อยคลาน
ก็ไม่เบียดเบียนเด็กผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้ว
[๔๕๕] แม้สุนัขทั้งหลายก็พากันมาเลียเท้าทั้งสองของเด็กนั้น
ฝูงเหยี่ยวและสุนัขจิ้งจอกก็พากันวนเวียนรักษา
ฝูงนกก็พากันคาบรกไปทิ้ง
ส่วนฝูงกาพากันคาบขี้ตาออกไป
[๔๕๖] มนุษย์และอมนุษย์ไร ๆ มิได้จัดการรักษาเด็กนี้
หรือใครๆ ที่จะปรุงยาหรือทำการบำบัดด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาดมิได้มี
และมิได้ถือเอาการประกอบฤกษ์ยาม
ทั้งไม่ได้โปรยธัญชาติทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๕. กุมารเปตวัตถุ
[๔๕๗] เด็กที่บุคคลนำมาทิ้งไว้ในป่าช้าในยามราตรี
ได้รับความลำบากอย่างยิ่งเช่นนี้
สั่นเทาอยู่ เป็นดุจก้อนเนยข้น
ยังเหลืออยู่เพียงชีวิต มีความสงสัยว่า (ตัวจะรอดหรือไม่รอดหนอ)
[๔๕๘] พระผู้มีพระภาคผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว
ทรงมีพระปัญญากว้างขวาง ได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว
ครั้นแล้วได้ทรงพยากรณ์เด็กนั้นว่า
เด็กคนนี้จักเป็นผู้มีสกุลสูง๑ สำหรับนครนี้
(อุบาสกซึ่งอยู่ในที่ใกล้พระศาสดาทูลถามว่า)
[๔๕๙] ข้อปฏิบัติของเขาเป็นอย่างไร พรหมจรรย์ของเขาเป็นอย่างไร
เขาประพฤติข้อปฏิบัติและพรหมจรรย์อย่างไร จึงมีวิบากอย่างนี้
เขาถึงความพินาศเช่นนี้แล้วจึงกลับมาเสวยความสำเร็จเช่นนั้น ๆ
(พระสังคีติกาจารย์เมื่อจะแสดงคำพยากรณ์ของพระผู้มีพระภาค จึงกล่าว
๔ คาถาว่า)
[๔๖๐] เมื่อก่อน หมู่ชนได้ทำการบูชาพระสงฆ์
ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานอย่างโอฬาร
เด็กนั้นได้มีความคิดเห็นในการบูชานั้นเป็นอย่างอื่นไป
เขาได้กล่าววาจาหยาบคาย ซึ่งมิใช่ของสัตบุรุษ
[๔๖๑] ภายหลังเขาบรรเทาความคิดนั้นแล้ว
กลับได้ปีติและความเลื่อมใส ได้บำรุงพระตถาคต
ซึ่งประทับอยู่ที่พระเชตวัน ด้วยข้าวต้ม ๗ วัน
[๔๖๒] ข้อนั้นเป็นข้อปฏิบัติและพรหมจรรย์ของเขา
เขาประพฤติเช่นนั้น จึงมีวิบากอย่างนี้
เขาถึงความพินาศเช่นนี้แล้วจักกลับได้เสวยความสำเร็จเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ จักได้เป็นเศรษฐีมีโภคสมบัติมาก (ขุ.เป.อ. ๔๕๘/๒๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๖. เสริณีเปติวัตถุ
[๔๖๓] เขาอยู่ในมนุษยโลกนี้แหละเป็นเวลาร้อยปี
เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณทุกอย่าง หลังจากตายไป
จักเข้าถึงความเป็นสหายของท้าววาสวะ๑ในสัมปรายภพ
กุมารเปตวัตถุที่ ๕ จบ

๖. เสริณีเปติวัตถุ
เรื่องนางเสริณีเปรต
(อุบาสกคนหนึ่งถามนางเสริณีเปรตว่า)
[๔๖๔] นางผู้มีร่างกายซูบผอม มีแต่ซี่โครงปรากฏ
เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
เธอเป็นใครเล่ามายืนอยู่ที่นี้
(นางเสริณีเปรตตอบว่า)
[๔๖๕] ท่านผู้เจริญ ดิฉันเกิดเป็นเปรตในยมโลก ได้รับความลำบาก
เพราะทำกรรมชั่วไว้จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(อุบาสกถามว่า)
[๔๖๖] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นางเสริณีเปรตตอบว่า)
[๔๖๗] เมื่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้เป็นดุจท่าน้ำซึ่งไม่มีใครหวงห้ามมีอยู่
ดิฉันเก็บทรัพย์ไว้ประมาณกึ่งมาสก
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ก็ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน

เชิงอรรถ :
๑ ไปเกิดเป็นลูกของท้าวสักกะจอมเทพชั้นดาวดึงส์ (ขุ.เป.อ. ๔๖๓/๒๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๖. เสริณีเปติวัตถุ
[๔๖๘] ดิฉันกระหายน้ำจึงเข้าไปใกล้แม่น้ำ
แม่น้ำกลับกลายเป็นว่างเปล่าไป
ในเวลาร้อนเข้าไปใกล้ร่มไม้
ร่มไม้กลับกลายเป็นแดดไป
[๔๖๙] ทั้งลมก็ร้อนเหมือนไฟ พัดดิฉันฟุ้งไป
ท่านผู้เจริญ ดิฉันเสวยทุกข์มีความกระหายเป็นต้นนี้
และทุกข์อย่างอื่นที่หนักกว่านั้น
[๔๗๐] ท่านไปถึงหัตถินีนครแล้วช่วยบอกมารดาของดิฉันว่า
เราเห็นธิดาของท่านตกยาก เกิดในยมโลก
เพราะทำกรรมชั่วไว้ เขาจึงตายไปเกิดยังเปตโลก
[๔๗๑] ดิฉันมีทรัพย์อยู่สี่แสน เก็บซ่อนไว้ใต้เตียง
ทั้งไม่ได้บอกใคร ๆ ไว้
[๔๗๒] ขอมารดาของดิฉันจงเอาทรัพย์ส่วนหนึ่งจากที่เก็บซ่อนไว้นั้น
ให้ทานบ้าง เลี้ยงชีพบ้าง
ครั้นให้ทานแล้วจงอุทิศส่วนบุญมาให้ดิฉันบ้าง
เมื่อนั้นดิฉันจักมีความสุข สำเร็จความประสงค์ทุกอย่าง
[๔๗๓] อุบาสกนั้นรับคำของนางว่า สาธุ แล้วไปถึงหัตถินีนคร
ได้บอกมารดาของนางว่า
ฉันเห็นธิดาของเธอตกยาก เกิดในยมโลก
เพราะทำชั่วไว้ นางจึงตายไปเกิดยังเปตโลก
[๔๗๔] ณ ที่นั้น นางสั่งฉันว่า
ท่านไปถึงหัตถินีนครแล้วช่วยบอกมารดาของดิฉันว่า
เราเห็นธิดาของท่านตกยาก เกิดในยมโลก
เพราะทำกรรมชั่วไว้ นางจึงตายไปเกิดยังเปตโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๗. มิคลุททกเปตวัตถุ
[๔๗๕] ดิฉันมีทรัพย์อยู่สี่แสน เก็บซ่อนไว้ใต้เตียง
ทั้งไม่ได้บอกใคร ๆ ไว้
[๔๗๖] ขอมารดาของดิฉันจงเอาทรัพย์ส่วนหนึ่งจากที่เก็บซ่อนไว้นั้น
ให้ทานบ้าง เลี้ยงชีพบ้าง
ครั้นให้ทานแล้วจงอุทิศส่วนบุญให้แก่ดิฉันบ้าง
เมื่อนั้นดิฉันจักมีความสุข สำเร็จความประสงค์ทุกอย่าง
[๔๗๗] มารดาของนางเสริณีเปรตนั้น
ถือเอาทรัพย์ส่วนหนึ่งจากที่นางเสริณีเปรตเก็บซ่อนไว้นั้นมาให้ทาน
ครั้นให้แล้วได้อุทิศส่วนบุญไปให้นาง
นางเสริณีเปรต มีความสุข
และแม้มารดาของนางก็มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
เสริณีเปติวัตถุที่ ๖ จบ

๗. มิคลุททกเปตวัตถุ
เรื่องเปรตพรานเนื้อ
(พระนารทเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๔๗๘] ท่านยังหนุ่ม มีเทพบุตรและเทพธิดาห้อมล้อม
งามด้วยกามคุณทั้งหลาย ซึ่งทำให้เกิดความกำหนัดยินดี
ได้เสวยเหตุแห่งทุกข์ในกลางวัน
ชาติก่อน ท่านได้ทำกรรมอะไรไว้
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๔๗๙] เมื่อชาติก่อน ข้าพเจ้าเป็นพรานเนื้อ
มีฝ่ามือเปื้อนเลือด เป็นคนหยาบช้าทารุณ
อยู่ที่เขาคิริพพชะ เป็นที่น่ารื่นรมย์
ใกล้กรุงราชคฤห์ซึ่งน่ารื่นรมย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๗. มิคลุททกเปตวัตถุ
[๔๘๐] ข้าพเจ้ามีใจประทุษร้ายในสัตว์มีชีวิตจำนวนมาก
หยาบช้าทารุณอย่างยิ่ง
ชอบเบียดเบียนสัตว์อื่น
ไม่สำรวม เที่ยวไปเป็นนิตย์
[๔๘๑] ข้าพเจ้านั้นมีสหายใจดี
มีศรัทธา เป็นอุบาสกคนหนึ่ง
เพราะเขาเป็นผู้เอ็นดูข้าพเจ้า
จึงห้ามอยู่บ่อย ๆ ว่า
[๔๘๒] พ่อเอ๋ย อย่าได้ทำชั่วเลย
อย่าได้ดำเนินทางผิดเลย
ถ้าสหายปรารถนาความสุขเมื่อตายไป
จงงดเว้นการฆ่าสัตว์ซึ่งเป็นการไม่สำรวมเสียเถิด
[๔๘๓] ข้าพจ้าฟังคำของเขาผู้หวังดี
มีความเอ็นดูด้วยประโยชน์เกื้อกูล
แต่ไม่ได้ทำตามคำสั่งสอนของเขาทั้งสิ้น
เพราะเป็นคนไม่มีปัญญา ยินดีในบาปมาช้านาน
[๔๘๔] เขามีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน
แนะนำข้าพเจ้าให้ตั้งอยู่ในความสำรวมด้วยอนุเคราะห์อีกว่า
ถ้าท่านจะฆ่าสัตว์ในกลางวัน
ในเวลากลางคืนก็จงงดเว้นเสีย
[๔๘๕] ข้าพเจ้านั้นจึงฆ่าสัตว์แต่เฉพาะกลางวัน
กลางคืนเป็นผู้สำรวมงดเว้น
เพราะฉะนั้น กลางคืนข้าพเจ้าจึงได้รับการบำรุงบำเรอ
กลางวันประสบทุกข์ ถูกสุนัขรุมกัดกิน คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๘. ทุติยมิคลุททกเปตวัตถุ
[๔๘๖] กลางคืนได้เสวยทิพยสมบัติด้วยผลแห่งกุศลกรรมนั้น
กลางวันฝูงสุนัขดุร้ายพากันวิ่งเข้ามากัดกินข้าพเจ้ารอบด้าน
[๔๘๗] ชนเหล่าใดมีความเพียรเนือง ๆ
เอาธุระในพระศาสนาของพระสุคตอย่างมั่นคง
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ชนเหล่านั้นแหละจะได้บรรลุอมตบท
ซึ่งปัจจัยอะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้อย่างแน่นอน
มิคลุททกเปตวัตถุที่ ๗ จบ

๘. ทุติยมิคลุททกเปตวัตถุ
เรื่องเปรตพรานเนื้อ เรื่องที่ ๒
(พระนารทเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๔๘๘] ท่านรื่นรมย์ยู่บนบัลลังก์
ที่ในเรือนยอดและปราสาทปูลาดด้วยผ้าขนสัตว์
ด้วยดนตรีเครื่องห้าซึ่งบุคคลประโคมแล้วอย่างไพเราะ
[๔๘๙] ภายหลัง เมื่อสิ้นราตรี ดวงอาทิตย์ขึ้น (จน)ดวงอาทิตย์ตก
ท่านเข้าไปประสบทุกข์เป็นอันมากอยู่ในป่าช้า
[๔๙๐] เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร ท่านจึงต้องประสบทุกข์เช่นนี้
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๔๙๑] เมื่อชาติก่อน ข้าพเจ้าเป็นพรานเนื้อ
เป็นคนหยาบช้า ทารุณ ไม่สำรวม
อยู่ที่ภูเขาคิริพพชะ เป็นที่น่ารื่นรมย์
ใกล้กรุงราชคฤห์ซึ่งน่ารื่นรมย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๘. ทุติยมิคลุททกเปตวัตถุ
[๔๙๒] ข้าพเจ้านั้นมีสหายใจดี มีศรัทธา เป็นอุบาสกคนหนึ่ง
เขามีภิกษุที่คุ้นเคยกัน ซึ่งเป็นสาวกของพระสมณโคดม
เพราะเขาเอ็นดูข้าพเจ้าจึงห้ามอยู่บ่อย ๆ ว่า
[๔๙๓] พ่อเอ๋ย อย่าได้ทำชั่วเลย
อย่าได้ดำเนินทางผิดเลย
ถ้าสหายปรารถนาความสุขเมื่อตายไป
จงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นการไม่สำรวมเสียเถิด
[๔๙๔] ข้าพเจ้าฟังคำของเขาผู้หวังดี มีความเอ็นดูด้วยประโยชน์เกื้อกูล
แต่ไม่ได้ทำตามคำสั่งสอนของเขาทั้งสิ้น
เพราะเป็นคนไม่มีปัญญา ยินดีในบาปมาช้านาน
[๔๙๕] เขามีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน
แนะนำข้าพเจ้าให้ตั้งอยู่ในความสำรวมด้วยความอนุเคราะห์อีกว่า
ถ้าท่านจะฆ่าสัตว์ในกลางวัน
ในเวลากลางคืนก็จงงดเว้นเสีย
[๔๙๖] ข้าพเจ้านั้นจึงฆ่าสัตว์แต่เฉพาะกลางวัน
กลางคืนเป็นผู้สำรวมงดเว้น
เพราะฉะนั้น กลางคืนข้าพเจ้าจึงได้รับความสุข
กลางวันประสบทุกข์ ถูกสุนัขรุมกัดกิน คือ
[๔๙๗] กลางคืนได้เสวยทิพยสมบัติด้วยผลแห่งกุศลกรรมนั้น
กลางวันฝูงสุนัขดุร้ายพากันวิ่งเข้ามากัดกินข้าพเจ้ารอบด้าน
[๔๙๘] ชนเหล่าใดมีความเพียรเนือง ๆ
เอาธุระในพระศาสนาของพระสุคตอย่างมั่นคง
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ชนเหล่านั้นแหละจะได้บรรลุอมตบท
ซึ่งปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้อย่างแน่นอน
ทุติยมิคลุททกเปตวัตถุที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๙. กูฏวินิจฉยิกเปตวัตถุ
๙. กูฏวินิจฉยิกเปตวัตถุ
เรื่องเปรตอดีตผู้พิพากษาโกง
(พระนารทเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๔๙๙] ตัวท่านทัดทรงดอกไม้ ใส่ชฎา สวมกำไลทอง
ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ท่านมีสีหน้าผ่องใส งดงาม ดุจแสงดวงอาทิตย์อ่อน ๆ
[๕๐๐] ท่านมีเทพบุตรและเทพธิดา พวกละ ๑๐,๐๐๐ สวมกำไลทอง
นุ่งห่มผ้าขลิบด้วยทอง พวกละ ๑๐,๐๐๐ คอยบำรุงบำเรอ
[๕๐๑] ท่านมีอานุภาพมาก มีรูปชวนให้เกิดขนลุกแก่ผู้พบเห็น
แต่ท่านจิกเนื้อหลังของตนเองกินเป็นอาหาร
[๕๐๒] เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร ท่านจึงจิกเนื้อหลังของตนเองกินเป็นอาหาร
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๕๐๓] ข้าพเจ้าได้ประพฤติทุจริตด้วยการพูดส่อเสียด พูดเท็จ และ
ด้วยการอำพรางหลอกลวงเพื่อความฉิบหายแก่ตนเองในมนุษยโลก
[๕๐๔] ในมนุษยโลกนั้น ข้าพเจ้าไปยังชุมชนแล้ว
เมื่อถึงเวลาที่จะพูดความจริง ละเหตุผลเสีย
ประพฤติคล้อยตามอธรรม
[๕๐๕] ผู้ประพฤติทุจริตมีพูดส่อเสียดเป็นต้น ย่อมจิกเนื้อหลังตนเองกิน
เหมือนข้าพเจ้าจิกเนื้อหลังตนเองกินอยู่ในวันนี้
[๕๐๖] ข้าแต่พระนารทะ ทุกข์ที่ข้าพเจ้าได้รับอยู่นี้ ท่านได้เห็นเองแล้ว
เหล่าชนผู้ฉลาด มีความอนุเคราะห์ พึงกล่าวสอนว่า
ท่านอย่าได้พูดส่อเสียด และอย่าได้พูดเท็จ
อย่าได้กินเนื้อหลังของตนเป็นอาหารเลย
กูฏวินิจฉยิกเปตวัตถุที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] ๑๐. ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ
๑๐. ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้ตำหนิการบูชาพระธาตุ
(พระมหากัสสปเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๕๐๗] ท่านอยู่ในอากาศ มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป
และหมู่หนอนพากันชอนไชกินปากที่มีกลิ่นเหม็นเน่าของท่าน
เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้
[๕๐๘] เพราะการฟุ้งไปแห่งกลิ่นเหม็นนั้น
นายนิรยบาลถือศัสตรามาเฉือนปากที่มีแผลซ้ำแล้วซ้ำอีก
เอาน้ำแสบราดตรงที่เฉือนแล้วเชือดซ้ำ ๆ
[๕๐๙] เมื่อก่อนท่านทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร ท่านจึงต้องประสบทุกข์เช่นนี้
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๕๑๐] ท่านผู้นิรทุกข์ (เมื่อก่อน)ข้าพเจ้าอยู่ที่ภูเขาคิริพพชะ
เป็นที่น่ารื่นรมย์ใกล้กรุงราชคฤห์ซึ่งน่ารื่นรมย์
เป็นเจ้าของทรัพย์และข้าวเปลือกมากมายยิ่ง
[๕๑๑] ข้าพเจ้าได้ห้ามภรรยา ธิดา
และลูกสะใภ้ของข้าพเจ้านั้น
ซึ่งพากันนำพวงมาลัย
ดอกอุบล และเครื่องลูบไล้ใหม่ ๆ
ไปเพื่อบูชาพระสถูป
บาปนั้นข้าพเจ้าได้ทำไว้แล้ว
[๕๑๒] พวกเราจึงได้เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ กัน
จักหมกไหม้อยู่ในนรกแสนสาหัสถึง ๘๖,๐๐๐ ปี
เพราะตำหนิการบูชาพระสถูป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๓. จูฬวรรค] รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรค
[๕๑๓] เมื่อการบูชาและการฉลองพระสถูป
ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไปอยู่
ชนเหล่าใดประกาศโทษ (แห่งการบูชาพระสถูปเหมือนเรา)
ท่านพึงคัดชนเหล่านั้นออกจากบุญนั้น
[๕๑๔] อนึ่ง เชิญท่านดูเทพธิดาเหล่านี้
ซึ่งทัดทรงดอกไม้ ตกแต่งร่างกายเหาะมา
พวกนางมั่งคั่งและมีบริวารยศ
เสวยผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๕๑๕] ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายได้เห็นผลน่าอัศจรรย์
น่าขนลุกขนชัน ซึ่งไม่เคยมีมาแล้วนั้น
ย่อมทำการนอบน้อม
กราบไหว้พระมหามุนีนั้น
[๕๑๖] ข้าพเจ้าจากเปตโลกนี้ไปแล้ว
ได้ถือกำเนิดเป็นมนุษย์
จักเป็นผู้ไม่ประมาท
ทำการบูชาพระสถูปบ่อย ๆ แน่แท้
ธาตุวิวัณณเปตวัตถุที่ ๑๐ จบ
จูฬวรรคที่ ๓ จบ

รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อภิชชมานเปตวัตถุ ๒. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
๓. รถการเปติวัตถุ ๔. ภุสเปตวัตถุ
๕. กุมารเปตวัตถุ ๖. เสริณีเปติวัตถุ
๗. มิคลุททกเปตวัตถุ ๘. ทุติยมิคลุททกเปตวัตถุ
๙. กูฏวินิจฉยิกเปตวัตถุ ๑๐. ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
๔. มหาวรรค
หมวดใหญ่
๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
เรื่องเจ้าอัมพสักขรลิจฉวีกับเปรตเปลือย
[๕๑๗] ชาวเมืองวัชชีมีนครนามว่าไพสาลี
ในนครไพสาลีนั้น มีกษัตริย์ลิจฉวี พระนามว่าอัมพสักขระ๑
ได้ทอดพระเนตรเห็นเปรตที่ภายนอกพระนคร
มีพระประสงค์จะทรงทราบเหตุ
จึงได้ตรัสถามเปรตนั้นในที่นั้นนั่นเองว่า
[๕๑๘] บุคคลที่ถูกเสียบอยู่บนปลายหลาวนี้
ไม่มีการนอน การนั่ง การเดินไปเดินมา
และการลิ้ม การดื่ม การเคี้ยวกิน การนุ่งห่มผ้า
แม้หญิงบำเรอของเขาก็ไม่มี
[๕๑๙] ชนเหล่าใดเป็นญาติ เป็นมิตรสหายซึ่งเคยเห็นหรือเคยได้ยินกันมา
เคยเอ็นดูกันมาในกาลก่อนของผู้นี้
เดี๋ยวนี้ชนเหล่านั้นแม้จะเยี่ยมเยียนเขาก็ไม่ได้
เพราะว่าผู้นี้มีสภาพที่ชนนั้นสละแล้ว
[๕๒๐] ผู้ที่ตายแล้วย่อมไม่มีมิตรสหาย
พวกมิตรสหายทราบถึงความขาดแคลนจึงพากันละทิ้ง
และเห็นประโยชน์จึงพากันห้อมล้อม
ส่วนผู้ที่มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติย่อมมีมิตรสหายมากมาย
[๕๒๑] ชีวิตของบุรุษที่เสื่อมจากเครื่องอุปโภคและบริโภคทุกอย่างฝืดเคือง
ถูกหลาวเสียบตัว มีร่างกายเปื้อนเลือด
จักดับในวันนี้ หรือในวันพรุ่งนี้เป็นแน่
ดุจหยาดน้ำค้างซึ่งติดอยู่บนปลายหญ้า

เชิงอรรถ :
๑ เจ้าลิจฉวีองค์นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ นับถือลัทธินัตถิกวาทว่า ‘ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ทำดีทำชั่วไม่มีผล’ (ขุ.เป.อ.
๑๒๑/๒๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๒๒] ยักษ์ เมื่อเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุไร
ท่านจึงพูดกับบุรุษผู้ได้รับความลำบากอย่างยิ่ง
นอนหงายอยู่บนหลาวด้ามไม้สะเดาเช่นนี้ว่า
บุรุษผู้เจริญ ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด
การมีชีวิตอยู่เท่านั้นเป็นความประเสริฐ
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๒๓] ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์ระลึกได้ว่า ในชาติก่อน
บุรุษนี้เป็นญาติสายโลหิตของข้าพระองค์
ก็ข้าพระองค์เห็นแล้ว มีความกรุณาต่อเขาว่า
ขอบุรุษผู้เลวทรามนี้อย่าตกนรกเลย
[๕๒๔] ข้าแต่กษัตริย์ลิจฉวี บุรุษผู้ทำกรรมชั่วนี้ตายจากอัตภาพนี้แล้ว
จักบังเกิดในนรกซึ่งแน่นขนัดไปด้วยสัตว์ผู้กระทำความชั่วไว้
เป็นนรกร้ายกาจ
มีความเร่าร้อนมาก เผ็ดร้อน น่ากลัว
[๕๒๕] หลาวนี้แหละยังดีกว่านรกนั้นมากมายหลายส่วน
ขอบุรุษนี้อย่าตกนรก ซึ่งมีแต่ทุกข์โดยส่วนเดียว
เผ็ดร้อนอย่างน่ากลัว รุนแรงยิ่ง
[๕๒๖] เพราะฟังคำของข้าพระองค์นี้แล้ว บุรุษนี้เป็นประหนึ่งว่า
น้อมจิตเข้าไปหาทุกข์ในนรก พึงละบาปเสียได้
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จะไม่พูดในที่ใกล้เขาด้วยหวังว่า
ชีวิตของบุรุษนี้จงอย่าดับไปเพราะข้าพระองค์แต่ผู้เดียว
(เมื่อเปรตแสดงความประสงค์ของตนอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงขอโอกาสเพื่อ
จะตรัสถามความเป็นไปของเปรตนั้นอีก จึงได้ตรัสคาถานี้ว่า)
[๕๒๗] เรื่องของบุรุษนี้ เรารู้แล้ว
แต่เราปรารถนาจะถามท่านถึงเรื่องอื่นบ้าง
ถ้าท่านให้โอกาสแก่เรา
เราจะถาม และท่านไม่ควรโกรธเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๒๘] ข้าพระองค์ได้ให้ปฏิญญาไว้ในกาลนั้นแน่นอนแล้ว
จะไม่บอกแก่ผู้ที่ไม่เลื่อมใส
(แต่บัดนี้)ข้าพระองค์ไม่ประสงค์(จะบอก)
(แต่)มีวาจาที่ควรเชื่อถือได้ เพราะเหตุดังว่ามานี้
ขอเชิญพระองค์ตรัสถามข้าพระองค์ตามพระประสงค์
ข้าพระองค์จะทูลตอบเท่าที่จะทูลตอบได้
(เมื่อเปรตให้โอกาสเช่นนั้นแล้ว เจ้าอัมพสักขระลิจฉวีจึงตรัสถามว่า)
[๕๒๙] เราจะเชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นด้วยตา
ถ้าแม้นเราเห็นสิ่งนั้นแล้วไม่เชื่อ
ก็ขอให้ลงโทษถอดยศเราเถิด ยักษ์
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๓๐] นี้ขอจงเป็นสัจปฏิญญาของพระองค์ต่อข้าพระองค์
พระองค์ได้ทรงฟังธรรมแล้ว จงทรงได้ความเลื่อมใสดีงาม
ข้าพระองค์ต้องการทราบ มิได้มีจิตคิดประทุษร้าย
จักขอกราบทูลถวายทุกเรื่องที่พระองค์ได้สดับแล้วบ้าง
หรือไม่ได้สดับแล้วบ้าง แด่พระองค์ เท่าที่รู้มา
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสว่า)
[๕๓๑] ท่านขี่ม้าขาวประดับประดาแล้ว
เข้าไปใกล้บุรุษที่ถูกเสียบด้วยหลาว
ยานนี้น่าอัศจรรย์ น่าดู น่าชม นี้เป็นผลกรรมอะไร
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๓๒] ที่ท่ามกลางเมืองไพสาลีนั้น
มีหลุมที่หนทางลื่น ข้าพระองค์มีจิตเลื่อมใส
จึงใส่หัวโคหัวหนึ่งลงไปในหลุมใช้เป็นสะพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๓๓] ข้าพระองค์และบุคคลอื่น
เหยียบบนหัวโคนั้นเดินข้ามไปได้
ยานนี้น่าอัศจรรย์ น่าดู น่าชม นี้เป็นผลกรรมนั้น
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[๕๓๔] ท่านมีรัศมีกายสว่างไสวทั่วทุกทิศ
และมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ
เข้าถึงเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
แต่ยังเปลือยกายอยู่ นี้เป็นผลกรรมอะไร
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๓๕] เมื่อก่อน ข้าพระองค์ไม่เป็นคนมักโกรธ มีจิตผ่องใสเป็นนิตย์
พูดกับคนทั่วไปด้วยวาจาอ่อนหวาน ด้วยผลกรรมนั้น
ข้าพระองค์จึงมีรัศมีกายเป็นทิพย์ สว่างไสวอยู่เนืองนิตย์
[๕๓๖] ข้าพระองค์เห็นยศและชื่อเสียงของผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม
มีจิตเลื่อมใส กล่าวสรรเสริญ ด้วยผลกรรมนั้น
ข้าพระองค์จึงมีกลิ่นทิพย์ฟุ้งไปเนือง ๆ
[๕๓๗] เมื่อพวกสหายของข้าพระองค์อาบน้ำที่ท่าน้ำ
ข้าพระองค์ลักเอาผ้าที่เขาซ่อนไว้บนบก
มีความประสงค์จะล้อเล่น แต่ไม่ได้มีจิตคิดประทุษร้าย
เพราะกรรมนั้นข้าพระองค์จึงเป็นเปรตเปลือยกาย
และเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[๕๓๘] ผู้ที่ทำบาปเล่น ๆ (โดยเห็นแก่ความสนุก)
นักปราชญ์ยังกล่าวว่ามีผลกรรมถึงเพียงนี้
แล้วผู้ที่จงใจทำบาปเล่า
นักปราชญ์ได้กล่าวว่าจะมีผลกรรมสักเพียงไหน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๓๙] มนุษย์ทั้งหลายมีใจดำริชั่วร้าย
เป็นผู้เศร้าหมองทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา
ตายไปจะต้องตกนรกในสัมปรายภพ อย่างไม่ต้องสงสัย
[๕๔๐] ส่วนชนเหล่าอื่นปรารถนาสุคติ
ยินดีให้ทาน เลี้ยงอัตภาพแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติในสัมปรายภพอย่างไม่ต้องสงสัย
(เมื่อเปรตชี้แจงจำแนกผลกรรมแต่โดยย่ออย่างนี้ พระราชาไม่ทรงเชื่อจึงตรัส
ถามว่า)
[๕๔๑] เราจะพึงรู้เรื่องนั้นโดยไม่ต้องอาศัยบุคคลอื่นอย่างไรว่า
นี้เป็นผลกรรมดีและกรรมชั่ว
เราเห็นอะไรแล้วจึงควรเชื่อ
หรือใครบ้างจะพึงช่วยชี้แจงให้เราเชื่อเรื่องนั้นได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๔๒] พระองค์ทรงเห็นและทรงสดับมาแล้วก็จงทรงเชื่อเถิดว่า
นี้เป็นผลกรรมดีและกรรมชั่ว
เมื่อกรรมดีและกรรมชั่วทั้งสองไม่มี
สัตว์ทั้งหลายที่ไปสู่สุคติหรือทุคติจะพึงมีได้อย่างไรเล่า
[๕๔๓] ถ้าสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกนี้ ไม่พึงทำกรรมดีและกรรมชั่ว
เหล่าสัตว์ในมนุษยโลกที่จะไปสุคติหรือทุคติ เลวบ้าง ประณีตบ้าง
ก็มีไม่ได้
[๕๔๔] แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลก
ได้ทำกรรมดีและกรรมชั่วไว้
ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกจึงไปสุคติหรือทุคติ
เลวบ้าง ประณีตบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๔๕] บัณฑิตทั้งหลายได้กล่าวกรรม
อันเป็นเหตุให้เสวยสุขและทุกข์ไว้ทั้งสองอย่าง
เทวดาเหล่านั้นห้อมล้อมเหล่าชนที่ได้รับผลอันเป็นเหตุให้เสวยสุข
ส่วนพวกคนพาลมักไม่เห็นกรรมและผลกรรมทั้งสอง
จึงถูกกรรมแผดเผาอยู่
[๕๔๖] ข้าพระองค์มิได้มีบุญกรรมที่ทำไว้ด้วยตนเอง
ทั้งไม่มีผู้ที่จะพึงถวายผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน ข้าวและน้ำ แล้วอุทิศให้
เหตุนั้นข้าพระองค์จึงเป็นเปรตเปลือยกาย
มีความเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[๕๔๗] ท่านยักษ์ จะพึงมีเหตุอะไร ๆ บ้างหนอ
ที่จะทำให้ท่านได้เครื่องนุ่งห่ม
เชิญบอกเราได้ ถ้ามีเหตุ
เรารับฟังคำที่มีเหตุควรเชื่อถือได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๔๘] เมืองไพสาลีนี้ มีภิกษุนามว่ากัปปิตกะ๑
สำเร็จฌาน มีศีลบริสุทธิ์ เป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นแล้ว
คุ้มครองอินทรีย์ได้ สำรวมในพระปาติโมกข์
เยือกเย็น มีสัมมาทิฏฐิอันสูงสุด
[๕๔๙] เป็นผู้อ่อนโยน รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ว่าง่าย
มีหน้าเบิกบาน มาดี ไปดี พูดโต้ตอบได้ดี
เป็นเนื้อนาบุญ มีเมตตาจิตเป็นประจำ
และเป็นทักขิไณยบุคคลของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนอดีตชฎิล ๑,๐๐๐ รูป ท่านเป็นอุปัชฌาย์ของท่านพระอุบาลีเถระ (ขุ.เป.อ.
๕๔๘/๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๕๐] สงบระงับ กำจัดมิจฉาวิตกได้
หมดทุกข์ หมดตัณหา
หลุดพ้นแล้ว ปราศจากกิเลสเป็นเหตุเสียบแทง
ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่คด ไม่มีอุปธิ
หมดสิ้นกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า
ได้บรรลุวิชชา ๓ มีความรุ่งเรือง
[๕๕๑] ไม่มีชื่อเสียงปรากฏ แม้ใคร ๆ เห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นปราชญ์
ในหมู่ชนชาววัชชี เขาพากันเรียกท่านว่า ปราชญ์
ส่วนพวกยักษ์และเทวดารู้จักท่านว่า ผู้ไม่หวั่นไหว
มีกัลยาณธรรม เที่ยวไปในโลก
[๕๕๒] ถ้าพระองค์ทรงถวายผ้าคู่หนึ่งหรือสองคู่แก่พระมุนีนั้น
ทรงอุทิศส่วนบุญให้ข้าพระองค์
พระมุนีนั้นจะพึงรับคู่ผ้าเหล่านั้น
และพระองค์ก็จะทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์ผู้นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[๕๕๓] บัดนี้ สมณะนั้นอยู่ที่ไหน
เราไปแล้วจักพึงพบเห็นได้
และสมณะนั้น คือใคร จะพึงแก้ไขความสงสัยและความสนเท่ห์
ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามแห่งความเห็นในวันนี้ได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๕๔] ท่านนั่งอยู่ที่กปินัจจนานั่น
มีเทวดาแวดล้อมเป็นจำนวนมาก
เป็นผู้มีเกียรติคุณอันแท้จริง
และเป็นผู้ไม่ประมาทในคุณอันอัศจรรย์ของตน
กล่าวธรรมีกถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสว่า)
[๕๕๕] เราไปแล้วจักทำตามที่ท่านสั่งนั้นเดี๋ยวนี้
จักให้สมณะนุ่งห่มผ้าคู่หนึ่ง
พระมุนีนั้นจะพึงรับคู่ผ้าเหล่านั้น
และเราจะพึงเห็นท่านผู้นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๕๖] ข้าแต่เจ้าลิจฉวี ขอประทานวโรกาส
ขอพระองค์อย่าได้เสด็จเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาไม่สมควร
นั่นเป็นธรรมเนียมไม่เหมาะสำหรับพระองค์
และต่อจากนั้น พระเจ้าลิจฉวีตรัสว่า
เราจะเข้าไปพบบรรพชิตผู้นั่งอยู่ในที่ลับ ณ ที่นั้นในเวลาอันสมควร
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๕๗] ครั้นตรัสแล้วอย่างนี้ เจ้าลิจฉวีมีหมู่ข้าทาสบริพารแวดล้อม
เสด็จไปในพระนครนั้น
ครั้นเสด็จเข้าไปยังพระนครนั้นแล้ว
จึงเสด็จเข้าประทับอาศัยในพระราชนิเวศน์ของพระองค์
[๕๕๘] ต่อจากนั้น พระเจ้าลิจฉวีทรงกระทำกิจของคฤหัสถ์ทั้งหลาย
ทรงสรงสนาน และเสวยน้ำแล้ว
ได้เวลาอันสมควร จึงทรงเลือกผ้า ๘ คู่จากหีบ
รับสั่งให้หมู่ข้าทาสบริพารถือไป
[๕๕๙] พระองค์ ครั้นเสด็จเข้าไปยังสถานที่นั้นแล้ว
ได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะนั้นมีจิตสงบระงับ
เดินกลับจากโคจรคาม เป็นผู้เยือกเย็น
นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๖๐] จึงเสด็จเข้าไปหาแล้วตรัสถามสมณะนั้น
ถึงความเป็นผู้มีอาพาธน้อย ความอยู่สำราญ
แล้วได้ตรัสกับสมณะนั้นว่า
พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเป็นกษัตริย์ลิจฉวี ในเมืองไพสาลี
ชนทั้งหลายรู้จักโยมว่า เจ้าอัมพสักขรลิจฉวี
[๕๖๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าจงรับผ้า ๘ คู่นี้ของโยม
โยมถวายพระคุณเจ้า
โยมมาในที่นี้เพราะต้องการความสบายใจที่โยมจะพึงสบายใจ
(พระเถระทูลถามว่า)
[๕๖๒] สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันละเว้นราชนิเวศน์
ของมหาบพิตรเสียห่างไกล
เพราะในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ บาตรก็แตก
และแม้ผ้าสังฆาฏิก็ยังถูกฉีกทำลาย
[๕๖๓] ครั้นต่อมา สมณะอีกพวกหนึ่งถูกมัดเท้าจับห้อยหัวลง
สมณะทั้งหลายได้รับการเบียดเบียน
ที่มหาบพิตรทรงกระทำกับบรรพชิตเช่นนั้น
[๕๖๔] มหาบพิตรไม่เคยพระราชทาน
แม้แต่น้ำมันสักหยดหนึ่งด้วยยอดหญ้า
ไม่ตรัสบอกทางให้คนหลงทาง
ชิงเอาไม้เท้าของคนตาบอดเสียเอง
เป็นคนตระหนี่ ไม่สำรวมเช่นนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร
หรือเพราะทรงเห็นอะไร
มหาบพิตร จึงทรงจำแนกแจกจ่ายให้แก่อาตมาเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสว่า)
[๕๖๕] พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเบียดเบียนสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
โยมขอรับผิดตามที่ท่านพูด
แต่โยมมีความประสงค์จะล้อเล่น ไม่ได้คิดประทุษร้าย
กรรมชั่วแม้นั้นโยมกระทำแล้วจริง
[๕๖๖] เด็กหนุ่มเปลือยกาย มีโภคะเพียงเล็กน้อย
ได้สร้างบาปกรรมด้วยการล้อเล่น จึงต้องเสวยทุกข์
ก็เปรตนั้นจะมีทุกข์อะไรเล่า
ที่เป็นทุกข์ยิ่งกว่าความเปลือยกายนั้น
[๕๖๗] พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเห็นสิ่งอันน่าสังเวช
และผลอันเป็นมลทินนั้นแล้ว
จึงถวายทานแม้เพราะเหตุนั้นเป็นปัจจัย
นิมนต์พระคุณเจ้ารับผ้าทั้ง ๘ คู่เถิด
ทักษิณา๑ นี้จงสำเร็จแก่เปรต
(พระเถระถวายพระพรว่า)
[๕๖๘] เพราะบัณฑิตทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น
สรรเสริญการให้ทานไว้โดยมากแท้
และเมื่อมหาบพิตรทรงถวายทาน ขอให้ทานอย่าหมดเปลืองไป
อาตมภาพรับผ้าของมหาบพิตรทั้ง ๘ คู่
ขอทักษิณาทานเหล่านี้จงสำเร็จแก่เปรต
[๕๖๙] ลำดับนั้น เจ้าลิจฉวีนั้น ทรงบ้วนพระโอษฐ์
ทรงถวายผ้า ๘ คู่แด่พระเถระ พระเถระรับผ้า ๘ คู่นั้นแล้ว
และเจ้าลิจฉวีนั้นก็ทอดพระเนตรเห็นเปรตนุ่งห่มผ้าเรียบร้อย

เชิงอรรถ :
๑ ทานที่ให้โดยเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม,หรือไทยธรรมที่ถวายแก่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ เพื่อประโยชน์
แก่เปตชน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๗๐] (เจ้าลิจฉวีนั้น)ได้ทอดพระเนตรเห็นเปรตนั้น
ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์แดง มีรูปงาม ประดับประดา
นุ่งผ้าอย่างดี ขี่ม้าอาชาไนย มีบริวารห้อมล้อม มีเทวฤทธิ์มาก
[๕๗๑] พระองค์ทรงเห็นเช่นนั้นแล้ว ทรงปลื้มพระหฤทัย เบิกบาน
มีพระหฤทัยร่าเริง งามสง่า
ได้ทรงเห็นกรรมและผลกรรมมากอย่างแจ้งประจักษ์ด้วยพระองค์เอง
[๕๗๒] จึงเสด็จเข้าไปหาเปรตนั้นแล้วรับสั่งกับเปรตนั้นว่า
เราจักให้ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
สิ่งไร ๆ ที่เราไม่ควรให้ไม่มีเลย
และท่านมีอุปการะแก่เรามาก
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๗๓] ข้าแต่เจ้าลิจฉวี พระองค์ได้พระราชทานสิ่งของอย่างหนึ่ง
แก่ข้าพระองค์ ทานนั่นมิได้ไร้ผล
ข้าพระองค์นั้นซึ่งเป็นอมนุษย์
จักเป็นพยานร่วมกับพระองค์ผู้เป็นมนุษย์
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๗๔] ท่านเป็นตัวอย่าง เป็นพวกพ้อง เป็นที่ยึดเหนี่ยว
เป็นมิตรและเป็นเทพของเรา
เราขอไหว้ อ้อนวอนท่าน ต้องการจะพบท่านอีก
(เปรตกราบทูลว่า)
[๕๗๕] ถ้าพระองค์จักเป็นผู้ไม่มีศรัทธา
ยังกระด้างกระเดื่อง มีจิตดำเนินไปผิด๑
ขอเดชะเจ้าลิจฉวี พระองค์จักไม่ได้เห็นข้าพระองค์
และข้าพระองค์เห็นพระองค์แล้วก็จักไม่เจรจาด้วย

เชิงอรรถ :
๑ มีจิตเป็นมิจฉาทิฏฐิ ละทางถูกไปปฏิบัติทางผิด (ขุ.เป.อ. ๕๗๕/๒๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๗๖] แต่ถ้าพระองค์จักทรงเคารพธรรม
ยินดีบริจาคทานเครื่องบำรุงอัตภาพ
เป็นเสมือนบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ขอเดชะเจ้าลิจฉวี เมื่อเป็นดังนี้ พระองค์จักได้เห็นข้าพระองค์
[๕๗๗] และข้าพระองค์จักได้เห็นได้เจรจากับพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยบุรุษนี้จากหลาวโดยเร็ว
เพราะการมาหาบุรุษนี้เป็นเหตุ
เราทั้งสองได้เป็นพยานร่วมกัน
เพราะเหตุแห่งบุรุษถูกเสียบที่หลาว ข้าพระองค์เข้าใจว่า
[๕๗๘] เราทั้งสองนั้นได้เป็นพยานร่วมกัน
ฝ่ายบุรุษถูกเสียบที่หลาวนี้ ถูกปล่อยโดยเร็วโดยทันที
แล้วประพฤติธรรมโดยเคารพ
พึงพ้นจากนรกนั้นแน่นอน
กรรมที่เว้นการให้ผล๑ ก็พึงมีได้
[๕๗๙] พระองค์เสด็จเข้าไปหากัปปิตกภิกษุแล้ว
ทรงถวายทานแก่ท่าน ในเวลาที่สมควร
ประทับนั่งใกล้แล้วเชิญตรัสถามด้วยพระโอษฐ์เอง
ท่านจักทูลความข้อนั้นแก่พระองค์
[๕๘๐] พระองค์ทรงประสงค์บุญ และมีจิตไม่ประทุษร้าย
เชิญเสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้นแล้วตรัสถามเถิด
ท่านจักทูลธรรมทั้งที่ทรงสดับแล้ว
และยังไม่ได้ทรงสดับทั้งหมดแด่พระองค์ตามความรู้
(พระองค์ทรงสดับธรรมแล้วจักได้ตรัสบอกสุคติ)

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่เว้นผลอันบุคคลพึงเสวยในภพต่อ ๆ ไป (อโหสิกรรม) พึงมีได้ เมื่อยังมีการเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.เป.อ.
๕๙๐/๒๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๘๑] ท้าวเธอทรงเจรจาความลับในที่นั้นแล้ว
ได้เป็นพยานร่วมกับเปรต เสด็จหลีกไป
ครั้นแล้วท้าวเธอได้กล่าวกับข้าราชบริพารของกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย
ซึ่งนั่งประชุมกันอยู่ใกล้ ๆ ว่า
[๕๘๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดฟังคำอย่างหนึ่งของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจักเลือกพร จักได้ประโยชน์
บุรุษที่ถูกเสียบที่หลาว มีกรรมหยาบช้า
ถูกลงอาชญา มีสภาพที่จะต้องติดอยู่ร่ำไป
[๕๘๓] เขาถูกหลาวเสียบมาอย่างนี้ประมาณ ๒๐ ราตรี
จะตายหรือไม่ตาย เราจักปล่อยเขาด้วยความเต็มใจ
หมู่ชนจงอนุญาตตามชอบใจ
[๕๘๔] พระองค์โปรดจงรีบปล่อยบุรุษนั้นและบุรุษอื่นโดยเร็ว
และใครเล่าจะพึงว่ากล่าวพระองค์ผู้ทรงทำอย่างนั้นอยู่ได้
พระองค์ทรงทราบอย่างไร ขอจงทรงทำอย่างนั้น
หมู่ชนย่อมอนุญาตตามชอบใจ
[๕๘๕] เจ้าลิจฉวีนั้นเสด็จเข้าไปยังสถานที่นั้นแล้ว
ทรงรีบปล่อยบุรุษที่ถูกหลาวเสียบ
และได้ตรัสกับบุรุษนั้นว่า อย่ากลัวเลยเพื่อน
และรับสั่งให้พวกหมอพยาบาลรักษา
[๕๘๖] แล้วเสด็จเข้าไปหากัปปิตกภิกษุ
ทรงถวายทานแก่ท่านในเวลาที่สมควร
มีพระประสงค์จะทรงทราบเหตุ จึงประทับนั่งใกล้
แล้วได้รับสั่งถามท่าน ณ ที่นั้นนั่นแหละด้วยพระองค์เองว่า
[๕๘๗] บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบ มีกรรมหยาบช้า
ถูกลงอาชญา มีสภาพจะต้องติดอยู่ร่ำไป
เขาถูกเสียบอย่างนี้ประมาณ ๒๐ ราตรี จะตายหรือไม่ตาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๘๘] โยมไปปล่อยเขามาเดี๋ยวนี้ตามคำของเปรตนั้น
พระคุณเจ้าผู้เจริญ จะพึงมีเหตุอะไรหรือ
ที่เปรตนั้นไม่ต้องตกนรก
[๕๘๙] ถ้ามีเหตุขอนิมนต์ท่านบอกโยมเถิด พระคุณเจ้าผู้เจริญ
โยมกำลังรอฟังคำมีเหตุที่น่าเชื่อถืออยู่
(กัปปิตกภิกษุถวายพระพรว่า)
เพราะยังไม่ได้เสวย
ผลกรรมเหล่านั้นจะไม่มีการสูญหาย
ภาวะที่กรรมเหล่านั้นจะสูญสิ้นไปจะพึงมีได้ในโลกนี้
[๕๙๐] ถ้าเขาประพฤติธรรมสม่ำเสมอโดยเคารพ
ไม่ประมาททั้งคืนทั้งวัน
เขาจะพึงพ้นจากนรกนั้นไปได้
และกรรมที่เว้นการให้ผล พึงมีได้
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๙๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมรู้ประโยชน์ของบุรุษนี้อย่างทั่วถึง
บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าจงอนุเคราะห์โยมบ้าง
ขอได้กล่าวตักเตือนพร่ำสอนโยม
โดยวิธีที่โยมไม่พึงตกนรกด้วยเถิด
ท่านผู้มีปัญญากว้างขวาง
(กัปปิตกภิกษุถวายพระพรว่า)
[๕๙๒] วันนี้ ขอมหาบพิตรจงมีพระหฤทัยเลื่อมใส
ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกถึง
อนึ่ง จงทรงศึกษาสมาทานสิกขาบท ๕ ประการ
ไม่ให้ขาดและไม่ให้บกพร่อง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[๕๙๓] จงทรงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์โดยพลัน
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ในโลก
ไม่ทรงเสวยน้ำจัณฑ์ ไม่ตรัสเท็จ
และทรงยินดีเฉพาะพระมเหสีของพระองค์
อนึ่ง ขอจงทรงสมาทานอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘
อย่างประเสริฐนี้ ซึ่งเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร
[๕๙๔] ขอพระองค์จงทรงถวายจีวร บิณฑบาต
คิลานปัจจัย ที่นอน ที่นั่ง ข้าว น้ำ ของกิน ของเคี้ยว
ผ้า และที่อยู่อาศัย ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลาย
บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ
[๕๙๕] ทรงอังคาสภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ
เป็นพหูสูต ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ บุญจึงเจริญทุกเมื่อ
[๕๙๖] ผู้ที่ประพฤติธรรมสม่ำเสมอโดยเคารพ
ไม่ประมาททั้งคืนทั้งวันอย่างนี้ พึงพ้นจากนรกนั้น
และกรรมที่เว้นการให้ผลพึงมีได้
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๙๗] วันนี้แหละ โยมมีจิตเลื่อมใส ขอถึงพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
อนึ่ง ขอศึกษาสมาทานสิกขาบท ๕ ประการ
ไม่ให้ขาดและไม่ให้บกพร่อง คือ
[๕๙๘] ของดเว้นจากการฆ่าสัตว์พลัน
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้ในโลก
ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่กล่าวเท็จ
และยินดีเฉพาะภรรยาของตน
อนึ่ง ขอสมาทานอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘
อย่างประเสริฐนี้ ซึ่งเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
[๕๙๙] โยมจะถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย ที่นอน ที่นั่ง
ข้าว น้ำ ของกินของเคี้ยว ผ้า และที่อยู่อาศัย
[๖๐๐] โยมยินดีในพระพุทธศาสนา ไม่หวั่นไหว
จะถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต
[๖๐๑] เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีทรงเป็นอุบาสกคนหนึ่งในเมืองไพสาลี
ทรงมีศรัทธา และมีพระหฤทัยอ่อนโยนเช่นนั้น
ทรงทำอุปการะ บำรุงพระภิกษุสงฆ์โดยเคารพในกาลนั้น
[๖๐๒] บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบ หายโรค
มีอิสระ สบายดี ได้บรรพชาแล้ว
แม้คนทั้งสองอาศัยกัปปิตกภิกษุผู้ประเสริฐ ได้บรรลุสามัญญผล๑
[๖๐๓] การคบสัตบุรุษเช่นนี้ย่อมมีผลมากแก่สัตบุรุษทั้งหลายผู้รู้แจ้งอยู่
บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบได้บรรลุอรหัตตผล
ส่วนเจ้าอัมพสักขรลิจฉวีได้บรรลุโสตาปัตติผล
อัมพสักขรเปตวัตถุที่ ๑ จบ

๒. เสรีสกเปตวัตถุ
เรื่องเสรีสกเปรต
(พระควัมปติกล่าวว่า)
[๖๐๔] ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเทวดาและพวกพ่อค้า
ที่ได้มาพบกันในทางทะเลทรายในคราวนั้น
และขอเชิญทุกท่านฟังถ้อยคำตามที่เทวดา
และพวกพ่อค้ากล่าวสนทนากัน

เชิงอรรถ :
๑ สามัญญผล แปลว่า ผลแห่งความเป็นสมณะ ความเป็นสมณะ หมายถึงการบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา
พระผู้มีพระภาคทรงพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า การบวชได้ผลเห็นประจักษ์ (หมายถึงการบรรลุมรรค ๔ ผล ๔
นิพพาน ๑ ไปตามลำดับ) (สุตฺต ๙/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
[๖๐๕] ยังมีพระราชาผู้ทรงยศพระนามว่า ปายาสิ
ได้เกิดร่วมกับหมู่ภุมเทวดา
มีบริวารยศบันเทิงอยู่ในวิมานของตน
เป็นเทวดาแต่ได้มาสนทนากับพวกมนุษย์
(เสรีสกเทพบุตรถามพวกพ่อค้าด้วยคาถาว่า)
[๖๐๖] มนุษย์ทั้งหลายผู้กลัวทางคดเคี้ยว
มีใจหวาดหวั่นอยู่ในที่น่าระแวงว่ามีภัย ในป่า ในถิ่นของอมนุษย์
ในทางกันดาร ซึ่งมีน้ำมีอาหารไม่เพียงพอ
เดินไปได้แสนยาก ท่ามกลางทะเลทราย
[๖๐๗] ในทางทะเลทรายนี้ ไม่มีผลไม้ ไม่มีเผือกมัน ไม่มีเชื้อไฟ
ในทางทะเลทรายนี้ จักหาอาหารได้แต่ที่ไหน
นอกจากฝุ่นและทรายที่แดดแผดเผาทั้งร้อน ทั้งทารุณ
[๖๐๘] ที่นี้เป็นที่ดอน ร้อนดังแผ่นเหล็กเผาไฟ
หาความสบายมิได้ เทียบเท่านรก
สถานที่นี้เป็นที่อยู่ดั้งเดิมของพวกหยาบช้ามีปีศาจเป็นต้น
เป็นภูมิประเทศเหมือนถูกสาปไว้
[๖๐๙] อนึ่ง พวกท่านหวังอะไร
เพราะเหตุไรจึงไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน
ตามกันเข้ามายังประเทศถิ่นนี้พร้อมกัน
เพราะความโลภ ความกลัว หรือเพราะความหลง
(พวกพ่อค้าตอบว่า)
[๖๑๐] พวกข้าพเจ้านั้นเป็นพ่อค้าเกวียนอยู่ในแคว้นมคธและแคว้นอังคะ
ต้องการทรัพย์ หวังกำไร
จึงบรรทุกสินค้ามามาก
พากันไปยังสินธุประเทศและโสวีระประเทศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
[๖๑๑] กลางวัน พวกข้าพเจ้าทุกคนทนความกระหายน้ำไม่ได้
ทั้งมุ่งหวังจะอนุเคราะห์สัตว์พาหนะ
จึงรีบเดินทางมาในกลางคืน ซึ่งเป็นเวลาวิกาล
[๖๑๒] พวกข้าพเจ้าไปผิดทาง จึงหลงทาง
สับสนเหมือนคนตาบอด
เดินหลงเข้าไปในป่าที่ไปได้ยากแสนยาก
ท่ามกลางทะเลทราย เกิดงุนงงสงสัย ไม่รู้ทิศทาง
[๖๑๓] ท่านที่ควรบูชา พวกข้าพเจ้าได้พบวิมานอันประเสริฐ
และตัวท่านซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนนี้
จึงหวังจะรอดชีวิตยิ่งกว่าแต่ก่อน
เพราะได้เห็น จึงพากันร่าเริง ดีใจและเบิกบานใจ
(เทพบุตรถามว่า)
[๖๑๔] เพราะโภคทรัพย์เป็นต้นเหตุ
พวกท่านจึงพากันไปยังทิศทางต่าง ๆ
คือ ฝั่งสมุทรทะเลทรายทางที่ต้องใช้เครื่องหวาย
ทางที่ต้องตอกทอย๑ ทางที่มีแม่น้ำ
และทางภูเขาที่ไปได้ยาก
[๖๑๕] พ่อค้าทั้งหลาย พวกท่านได้ไปยังแคว้นของพระราชาอื่น ๆ
พบเห็นผู้คนชาวต่างประเทศ
พวกเราขอฟังสิ่งอัศจรรย์
ที่พวกท่านได้ยิน หรือได้เห็นมา

เชิงอรรถ :
๑ ตอกทอย หมายถึง การตีลูกทอยคือไม้แหลม ๆ ที่ทำเป็นตะปูตีเข้าที่ต้นไม้ (หรือที่หน้าผาเพื่อทำเป็น
บันไดไต่ขึ้นไป) (ขุ.วิ.อ. ๑๒๓๘/๓๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
(พวกพ่อค้าตอบว่า)
[๖๑๖] พ่อกุมาร สมบัติของมนุษย์ที่ผ่านมาทั้งหมด
ซึ่งอัศจรรย์กว่าวิมานของท่านแม้นี้
พวกข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็นหรือได้ยิน
วิมานของท่านซึ่งมีรัศมีไม่เลว
พวกข้าพเจ้าแลดูแล้วไม่อิ่มเลย
[๖๑๗] ที่วิมานของท่านมีสระโบกขรณี ลอยอยู่ในอากาศ
มีสวนดอกไม้มากมาย มีบัวขาวมาก
มีหมู่ไม้ผลิดอกออกผลเป็นนิตย์
โชยกลิ่นหอมตลบอบอวล
[๖๑๘] เสาวิมานเหล่านี้เป็นเสาแก้วไพฑูรย์ สูงร้อยศอก
ประดับด้วยแก้วผลึก แก้วประพาฬ แก้วลาย และทับทิม
มีรัศมีโชติช่วง
[๖๑๙] วิมานของท่านนี้มีเสา ๑,๐๐๐ ต้น
ภายในประกอบด้วยแก้ว
ภายนอกล้อมรอบด้วยไพทีทองคำ๑
และมุงบังอย่างดีด้วยแผ่นทองคำ
มีอานุภาพหาที่เปรียบมิได้
งามอยู่บนเสาเหล่านั้น
[๖๒๐] วิมานของท่านนี้สว่างไสวด้วยทองชมพูนุชชั้นเยี่ยม
ทุกส่วนของวิมานเกลี้ยงเกลาดี
ประกอบด้วยบันไดและพื้นน่าพอใจ มั่นคง
งดงาม มีส่วนประกอบกลมกลืน
ชวนพิศอย่างยิ่ง น่าชอบใจ

เชิงอรรถ :
๑ เวทีที่ทำด้วยทอง เพื่อใช้ประโยชน์ในการฟ้อนรำขับร้อง หรือบางแห่งใช้ตั้งเครื่องบูชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
[๖๒๑] ภายในวิมานแก้ว มีข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์
ตัวท่านมีหมู่เทพอัปสรห้อมล้อม
กึกก้องด้วยเสียงตะโพน เปิงมางและดุริยางค์
เป็นผู้ที่ทวยเทพนอบน้อมแล้วด้วยการชมเชยและกราบไหว้
[๖๒๒] ตัวท่านนั้นมีอานุภาพสุดที่จะคิด
ประกอบด้วยคุณทุกอย่าง
ผู้อันหมู่เทพนารีปลุกเร้า
บันเทิงอยู่ในวิมานปราสาทที่ประเสริฐ น่ารื่นรมย์ใจ
เหมือนท้าวเวสวัณบันเทิงอยู่ในนฬินีสถาน๑
[๖๒๓] ท่านเป็นเทวดาหรือเป็นยักษ์
เป็นท้าวสักกะจอมเทพ หรือเป็นมนุษย์
พวกพ่อค้าเกวียนถามท่าน
โปรดบอกด้วยเถิด ท่านเป็นเทวดาชื่ออะไร
(เทพบุตรตอบว่า)
[๖๒๔] ข้าพเจ้าเป็นเทวดาชื่อเสรีสกะ เป็นผู้รักษาทางกันดาร
คุ้มครองทางทะเลทราย ทำตามคำสั่งท้าวเวสวัณ
จึงดูแลรักษาประเทศถิ่นนี้อยู่
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๖๒๕] วิมานนี้ท่านได้ตามความปรารถนา
หรือเกิดโดยความเปลี่ยนแปลง
ท่านทำเองหรือเทวดาทั้งหลายมอบให้
พวกพ่อค้าเกวียนถามท่านว่า
วิมานที่น่าชอบใจนี้ท่านได้มาอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ สถานที่ทรงเล่นกีฬาสนามกีฬา (ขุ.วิ.อ. ๑๒๔๖/๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
(เทพบุตรตอบว่า)
[๖๒๖] วิมานนี้มิใช่ข้าพเจ้าได้ตามความปรารถนา
มิใช่เกิดโดยการเปลี่ยนแปลง
มิใช่ข้าพเจ้าทำเองทั้งมิใช่เทวดาทั้งหลายมอบให้
วิมานที่น่าชอบใจนี้ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมอันดีงามของตน
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๖๒๗] อะไรเป็นข้อปฏิบัติและเป็นพรหมจรรย์ของท่าน
นี้เป็นวิบากแห่งบุญกรรมอะไรที่ท่านสั่งสมไว้ดีแล้ว
พวกพ่อค้าเกวียนถามท่านว่า
วิมานนี้ท่านได้มาอย่างไร
(เทพบุตรตอบว่า)
[๖๒๘] ข้าพเจ้าได้มีนามว่าปายาสิ
เมื่อครั้งข้าพเจ้าครองราชสมบัติแคว้นโกศล
ข้าพเจ้าเป็นนัตถิกทิฏฐิ๑
เป็นคนตระหนี่ มีธรรมเลวทราม
และมีปกติกล่าวว่าขาดสูญ๒
[๖๒๙] ได้มีสมณะ ผู้พหูสูต นามว่ากุมารกัสสปะ
ซึ่งเลิศทางกล่าวธรรมได้อย่างวิจิตรไพเราะ
ครั้งนั้นท่านได้กล่าวธรรมกถาโปรดข้าพเจ้า
ได้ช่วยบรรเทาทิฏฐิที่เป็นข้าศึกทางใจของข้าพเจ้าได้

เชิงอรรถ :
๑ มีความเห็นผิดว่า ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมองเอง
(สุตฺต. ๙/๑๖๘/๕๔)
๒ การกล่าวว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบูชายัญไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดี
ทำชั่วไม่มีผล โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มีคุณ ฯลฯ (สุตฺต. ๙/๑๗๑/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
[๖๓๐] ข้าพเจ้าฟังธรรมกถาของท่านแล้ว
ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก
งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
[๖๓๑] ข้อนั้นเป็นข้อปฏิบัติและเป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า
นี้เป็นวิบากแห่งบุญกรรมนั้นที่ข้าพเจ้าสั่งสมไว้ดีแล้ว
วิมานนี้ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมอันดีงามนั้นนั่นเอง
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๖๓๒] ทราบมาว่า คนมีปัญญาทั้งหลายพูดแต่คำจริง
คำพูดของบัณฑิตทั้งหลายจึงไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
คนทำบุญไว้จะไปที่ใด ย่อมมีแต่สิ่งที่น่ารักน่าใคร่
บันเทิงอยู่ในที่นั้น
[๖๓๓] ณ ที่ใด มีความโศก ความร่ำไห้
การฆ่า การจองจำ และเหตุเกิดเรื่องเลวร้าย
คนทำบาปไว้ก็จะไปในที่นั้น
ไม่พ้นจากคติที่ชั่วไปได้ไม่ว่าในกาลไหน
[๖๓๔] พ่อกุมาร เพราะเหตุอะไรหนอ
เทพบริวารจึงเป็นเสมือนผู้ฟั่นเฟือนไปในชั่วครู่นี้
เหมือนน้ำใสถูกกวนให้ขุ่น
เพราะเหตุไรหนอ
เทพบริวารนี้และตัวท่านจึงได้มีความโทมนัส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
(เทพบุตรตอบว่า)
[๖๓๕] พ่อทั้งหลาย กลิ่นทิพย์เหล่านี้
โชยกลิ่นหอมระรื่นจากป่าไม้ซึก
หอมตลบอบอวลทั่ววิมานนี้
กำจัดความมืดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
[๖๓๖] ล่วงไป ๑๐๐ ปี เปลือกฝักไม้ซึกเหล่านี้
แต่ละฝักก็จะแตกออก
เป็นที่รู้กันว่า ๑๐๐ ปีของมนุษย์ล่วงไปแล้ว
ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดในหมู่เทวดานี้
[๖๓๗] พ่อทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้เห็นแล้วว่า
ข้าพเจ้าจักดำรงอยู่ในวิมานนี้อีก ๕๐๐ ปีทิพย์
แล้วจึงจุติ เพราะสิ้นบุญ สิ้นอายุ
ข้าพเจ้าจึงซบเซา เพราะความโศกนั้นนั่นเอง
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[๖๓๘] ผู้ที่ได้วิมานซึ่งหาที่เปรียบมิได้เป็นเวลานานเช่นนั้น
จะพึงเศร้าโศกไปทำไมเล่า
แต่พวกผู้มีบุญน้อยเข้าอยู่วิมานชั่วเวลาสั้นนั้นแหละ
ควรเศร้าโศกแท้
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๖๓๙] พ่อทั้งหลาย ข้อที่ท่านทั้งหลายกล่าววาจาที่น่ารักกับข้าพเจ้า
นั่นเป็นการกล่าวตักเตือนอันสมควรแก่ข้าพเจ้า
ส่วนข้าพเจ้าจะตามคุ้มครองท่านทั้งหลาย
เชิญท่านทั้งหลายไปยังที่
ที่ท่านทั้งหลายปรารถนาโดยความสวัสดีเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[๖๔๐] พวกข้าพเจ้าต้องการทรัพย์ หวังกำไร
จึงพากันไปยังสินธุประเทศ และโสวีระประเทศ
แล้วจักประกอบกรรมที่ได้รับรองไว้ตามสมควร
มีการเสียสละอย่างบริบูรณ์
กระทำการบูชาเสรีสกเทพบุตรอย่างโอฬาร
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๖๔๑] ท่านทั้งหลาย อย่าได้ทำการบูชาเสรีสกเทพบุตรเลย
สิ่งที่ท่านทั้งหลายพูดถึงทั้งหมด จักมีแก่พวกท่าน
ท่านทั้งหลายจงงดเว้นกรรมชั่วและจงตั้งใจประกอบตามธรรม
[๖๔๒] ในหมู่พ่อค้าเกวียนนี้ มีอุบาสกผู้เป็นพหูสูต
มีศีลและวัตร มีศรัทธา มีจาคะ
มีศีลเป็นที่รักอย่างยิ่ง
มีวิจารณญาณ สันโดษ มีความรู้
[๖๔๓] ไม่พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่
ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น
ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกกัน
พูดแต่วาจาอ่อนหวานละมุนละม่อม
[๖๔๔] เขามีความเคารพ ยำเกรง มีวินัย
ไม่เป็นคนเลว เป็นผู้บริสุทธิ์ในอธิศีล
มีความประพฤติประเสริฐ
เลี้ยงมารดาบิดาโดยชอบธรรม
[๖๔๕] เขาเห็นจะแสวงหาโภคทรัพย์ เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา
มิใช่เพราะเหตุแห่งตน เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไป
เขาก็น้อมไปในเนกขัมมะ ประพฤติพรหมจรรย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
[๖๔๖] เขาเป็นคนซื่อตรง ไม่คดโกง
ไม่โอ้อวด ไม่เจ้าเล่ห์ ไม่พูดมีเลศนัย
เขาทำแต่กรรมดี
ตั้งอยู่ในธรรมเช่นนี้ จะพึงได้รับทุกข์อย่างไรเล่า
[๖๔๗] เพราะอุบาสกนั้นเป็นเหตุ ข้าพเจ้าจึงได้ปรากฏตัว
พ่อค้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเห็นธรรมเถิด
เพราะเว้นอุบาสกนั้นเสียแล้ว
ท่านทั้งหลายจะสับสน
เหมือนคนตาบอดหลงเข้าไปในป่าเป็นเถ้าถ่านไป
การทอดทิ้งผู้อื่นเป็นการง่ายสำหรับคนทั่วไป
(แต่เป็นการยากสำหรับสัตบุรุษ)
คบหาสัตบุรุษจึงนำความสุขมาให้อย่างแท้จริง
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๖๔๘] อุบาสกคนนั้นคือใคร และทำงานอะไร
เขาชื่ออะไร และโคตรอะไร
ข้าแต่เทวดา แม้ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ก็ต้องการจะเห็นอุบาสกนั้นที่ท่านมาที่นี้
เพื่อช่วยเหลืออุบาสกที่ท่านชอบ เป็นคนโชคดี
(เทพบุตรตอบว่า)
[๖๔๙] ผู้ที่เป็นกัลบกมีชื่อว่าสัมภวะ
อาศัยการตัดผมเลี้ยงชีพ
เป็นคนรับใช้ของพวกท่าน
ท่านทั้งหลายจงรู้ว่าเป็นอุบาสก
ท่านทั้งหลายอย่าดูหมิ่นเขา
เขาเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[๖๕๐] ข้าแต่เทวดา พวกข้าพเจ้ารู้จักช่างตัดผมคนที่ท่านพูดถึงดี
แต่ไม่รู้จักว่า เขาเป็นคนเช่นนี้เลย
แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายฟังคำของท่านแล้ว
ก็จักบูชาอุบาสกนั้นอย่างโอฬาร
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๖๕๑] พวกผู้คนในกองเกวียนนี้
ไม่ว่าคนหนุ่ม คนแก่ หรือคนปูนกลาง
ทั้งหมดทุกคนนั้น เชิญขึ้นไปบนวิมาน
พวกคนตระหนี่จงดูผลของบุญทั้งหลาย
(พระธรรมสังคีติกาจารย์กล่าว ๖ คาถาในตอนจบเรื่องว่า)
[๖๕๒] พ่อค้าทุกคน ณ ที่นั้น
ต่างคนต่างเข้าห้อมล้อมช่างตัดผมนั้น
พากันขึ้นวิมานซึ่งเสมือนภพดาวดึงส์ของท้าววาสวะ
พร้อมกล่าวว่า เราก่อน ๆ
[๖๕๓] พ่อค้าทุกคนนั้นต่างประกาศความเป็นอุบาสก ณ ที่นั้นว่า
เราก่อน ๆ แล้วได้เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
[๖๕๔] พ่อค้าทุกคน ครั้นต่างคนต่างประกาศความเป็นอุบาสก
ณ ที่นั้นแล้วได้ไปยังสถานที่ที่ตนปรารถนาโดยสวัสดี
หมู่พ่อค้าเกวียนบันเทิงอยู่ด้วยเทวฤทธิ์เนือง ๆ
ได้รับอนุญาตแล้วหลีกไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๖๕๕] พ่อค้าเหล่านั้นต้องการทรัพย์ หวังกำไร
ไปถึงสินธุและโสวีระประเทศ พยายามค้าขายตามปรารถนา
มีลาภบริบูรณ์ กลับมาเมืองปาฏลีบุตรโดยปลอดภัย
[๖๕๖] พ่อค้าเหล่านั้นไปเรือนของตน
มีความสวัสดี พร้อมหน้าบุตรภรรยา
มีจิตเพลิดเพลิน ดีใจ ปลาบปลื้ม
บูชาเสรีสกเทพบุตรอย่างโอฬาร
ได้ช่วยกันสร้างเทวาลัยชื่อเสรีสกะขึ้น
[๖๕๗] การคบสัตบุรุษให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้
การคบผู้มีคุณธรรมมีประโยชน์มาก
พ่อค้าทั้งหมดได้ประสบความสุข
เพราะผลอันสืบเนื่องมาจากอุบาสกคนเดียว
เสรีสกเปตวัตถุที่ ๒ จบ
ภาณวารที่ ๓ จบ

๓. นันทกเปตวัตถุ๑
เรื่องนันทกเปรต
(เพื่อจะแสดงเนื้อความนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า)
[๖๕๘] มีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าปิงคลกะ
เป็นใหญ่แห่งชาวสุรัฏฐวิสัย เสด็จไปเฝ้าพระเจ้าโมริยะแล้ว
กลับมาถึงทางที่จะไปยังสุรัฏฐวิสัยอีก
[๖๕๙] เสด็จมาถึงทางโค้ง ในเวลาเที่ยงวัน ซึ่งเป็นเวลาร้อน
ได้ทอดพระเนตรเห็นทางที่น่ารื่นรมย์
เป็นทางทรายที่เปรตเนรมิตไว้นั้น

เชิงอรรถ :
๑ เรื่องนี้เกิดหลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๒๐๐ ปี (ขุ.เป.อ. ๑๒๓/๒๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๖๖๐] จึงตรัสบอกนายสารถีว่า
“ทางนี้น่ารื่นรมย์ ปลอดภัย สะดวก ปลอดโปร่ง
สารถี พวกเราตรงไปทางนี้แหละ
จากที่นี้ไปไม่ไกลก็จะถึงสุรัฏฐประเทศ”
[๖๖๑] พระเจ้าสุรัฏฐ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทางนั้น
พร้อมด้วยกองทัพ ๔ เหล่า
บุรุษคนหนึ่งตกใจกลัวได้กราบทูลพระเจ้าสุรัฏฐ์ ดังนี้ว่า
[๖๖๒] “พวกเราเดินทางผิดเสียแล้ว เป็นทางน่ากลัว
น่าขนพองสยองเกล้า
เพราะทางปรากฏเฉพาะข้างหน้า แต่ข้างหลังไม่ปรากฏ
[๖๖๓] พวกเราเดินผิดทางเสียแล้ว เห็นจะมาใกล้พวกเปรต
กลิ่นอมนุษย์ฟุ้งมา ข้าพระองค์ได้ยินเสียงพิลึกน่าสะพรึงกลัว”
[๖๖๔] พระเจ้าสุรัฏฐ์ทรงตกพระทัย ตรัสกับนายสารถีดังนี้ว่า
“พวกเราเดินทางผิดเสียแล้ว เป็นทางน่ากลัวน่าขนพองสยองเกล้า
ทางปรากฏเฉพาะข้างหน้า แต่ข้างหลังไม่ปรากฏ
[๖๖๕] พวกเราเดินผิดทางเสียแล้ว เห็นจะมาใกล้พวกเปรต
กลิ่นอมนุษย์ฟุ้งมา เราได้ยินเสียงพิลึกน่าสะพรึงกลัว”
[๖๖๖] จึงเสด็จขึ้นคอช้าง ทอดพระเนตรไปทั่วทั้ง ๔ ทิศ
ทรงเห็นต้นไทรย้อยต้นหนึ่ง มีร่มหนาทึบดี
เขียวชอุ่มคล้ายสีเมฆ ทั้งสีและสัณฐานก็คล้ายเมฆ
[๖๖๗] จึงรับสั่งกับนายสารถีว่า “ป่าใหญ่เขียวชอุ่มดุจสีเมฆ
ทั้งสีและสัณฐานคล้ายเมฆ ปรากฏอยู่นั่นใช่ไหม”
(นายสารถีกราบทูลว่า)
[๖๖๘] “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า นั้นต้นไทรย้อย มีร่มหนาทึบดี
เขียวชอุ่มคล้ายสีเมฆ ทั้งสีและสัณฐานก็คล้ายเมฆ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๖๖๙] พระเจ้าสุรัฏฐ์เสด็จพระราชดำเนินไปจนถึงป่าใหญ่
ซึ่งเขียวชอุ่มคล้ายสีเมฆ
ทั้งสีและสัณฐานก็คล้ายเมฆ ปรากฏอยู่
[๖๗๐] เสด็จลงจากคอช้างแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ต้นไม้
ประทับนั่งที่โคนต้น พร้อมทั้งหมู่อำมาตย์ข้าราชบริพาร
ได้ทอดพระเนตรเห็นขันน้ำเต็มและขนมที่ถูกพระทัย
[๖๗๑] บุรุษผู้มีรูปลักษณ์ดั่งเทพ ประดับอาภรณ์พร้อมสรรพ
เข้าไปเฝ้าพระเจ้าสุรัฏฐ์แล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า
[๖๗๒] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว
และก็มิได้เสด็จมาร้าย ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงกำจัดศัตรู
เชิญพระองค์ผู้ประเสริฐเสวยน้ำ และเสวยขนมเถิด
[๖๗๓] พระเจ้าสุรัฏฐ์พร้อมด้วยอำมาตย์และข้าราชบริพาร
พากันดื่มน้ำและกินขนมแล้ว จึงตรัสถามว่า
[๖๗๔] ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
พวกเราไม่รู้จักจึงขอถามท่าน
พวกเราจะพึงรู้จักท่านได้อย่างไร
(นันทกเปรตกราบทูลว่า)
[๖๗๕] ข้าพระองค์ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์
ทั้งไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ
ข้าพระองค์เป็นเปรต มาจากถิ่นสุรัฏฐวิสัย มาอยู่ที่นี้
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๖๗๖] เมื่อก่อน ท่านอยู่ในสุรัฏฐวิสัย
มีปกตินิสัยอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร
เพราะความดีอะไร ท่านจึงมีอานุภาพอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
(นันทกเปรตกราบทูลว่า)
[๖๗๗] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ทรงปราบอริราชศัตรู
ทรงผดุงรัฐให้เจริญ ขอพระองค์ทรงสดับความนั้น
อำมาตย์ ข้าราชบริพาร และพราหมณ์ ปุโรหิต ก็เชิญสดับด้วย
[๖๗๘] ขอเดชะ(เมื่อก่อน) ข้าพระองค์เป็นบุรุษ อยู่ในสุรัฏฐวิสัย
เป็นคนใจบาป เป็นมิจฉาทิฏฐิ๑ ทุศีล ตระหนี่
และด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
[๖๗๙] เมื่อชนเหล่าอื่นกำลังทำบุญให้ทาน
ข้าพเจ้าก็ทำอันตรายเสีย ซ้ำยังห้ามหมู่ชนว่า
[๖๘๐] ผลทานไม่มี ผลแห่งความสำรวมจักมีแต่ที่ไหน
ใครผู้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ไม่มี
ใครเล่าจักฝึกฝนบุคคลผู้ไม่เคยฝึกฝนได้
[๖๘๑] สัตว์ทั้งหลายเท่าเทียมกัน
ผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลจึงไม่ต้องมี
กำลังหรือความเพียรก็ไม่ต้องมี
ความพากเพียรของบุรุษจักมีแต่ที่ไหน
[๖๘๒] ธรรมดาผลทานย่อมไม่มี
ใครจะทำบุคคลผู้มีเวรให้หมดจดด้วยทานไม่ได้
สัตว์ย่อมได้สุขหรือทุกข์ที่ควรได้เอง
สุขหรือทุกข์ที่เกิดจากการแปรผัน สัตว์นำมาเอง
[๖๘๓] มารดาไม่มี บิดาไม่มี พี่ชายไม่มี น้องชายไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมไม่มีผล การบูชาก็ไม่มีผล
ทานและการบูชาที่ตั้งไว้ดีแล้วก็ไม่มีผล

เชิงอรรถ :
๑ แสดงความเห็นผิดว่า การทำบุญ การให้ทานเป็นต้นไม่มีผล (ขุ.เป.อ. ๖๗๘/๒๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๖๘๔] คนแม้ฆ่าคน (หรือ) ตัดคอคนอื่น ก็ไม่ชื่อว่าใครฆ่าใคร
เป็นแต่ศัสตรา เสียบเข้าไปในระหว่างช่องกายทั้ง ๗ ช่อง๑
[๖๘๕] ชีวะ๒ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ถูกตัด ไม่ถูกทำลาย
บางคราวมี ๘ เหลี่ยม บางคราวกลมเหมือนงบน้ำอ้อย
บางคราวสูง ๕๐๐ โยชน์ ใครเล่าสามารถจะตัดชีวะให้ขาดได้
[๖๘๖] เหมือนเมื่อกลุ่มด้ายที่ถูกขว้างไป
กลุ่มด้ายนั้นย่อมคลายกลิ้งไปได้ ฉันใด
ถึงชีวะนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมแหวกหนีออกไปจากร่างได้
[๖๘๗] เหมือนบุคคลออกจากบ้านหนึ่ง เข้าสู่บ้านหนึ่ง ฉันใด
ถึงชีวะนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ออกจากร่างหนึ่ง เข้าสู่อีกร่างหนึ่ง
[๖๘๘] เหมือนบุคคลออกจากเรือนหลังหนึ่ง เข้าสู่อีกเรือนหลังหนึ่ง ฉันใด
ถึงชีวะนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ออกจากร่างหนึ่ง เข้าสู่อีกร่างหนึ่ง
[๖๘๙] ครั้นสิ้นกำหนด ๘,๔๐๐,๐๐๐ มหากัป
สัตว์ทั้งหลายจะเป็นพาลหรือบัณฑิตก็ตาม
จักยังสังสารวัฏให้สิ้นไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง
[๖๙๐] สุขและทุกข์ เหมือนตักตวงได้ด้วยทะนานและกระบุง
พระชินเจ้าย่อมรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง หมู่สัตว์นอกนี้ล้วนเป็นผู้ลุ่มหลง
[๖๙๑] เมื่อชาติก่อน ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ จึงได้เป็นคนหลง
ถูกโมหะครอบงำ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุศีล ตระหนี่
และด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
[๖๙๒] ภายใน ๖ เดือน ข้าพระองค์จักตาย
จักตกนรกอันเร่าร้อนแสนสาหัส

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า กายทั้ง ๗ ในลัทธินี้ หมายถึงสภาวะ ๗ กอง ได้แก่ กองแห่งธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ทุกข์และชีวะ
(ดู ลัทธิของครูปกุธะ กัจจายตนะ ใน ที.สี. ๙/๑๗๓)
๒ คำว่า ชีวะ ในที่นี้ เทวดากล่าวหมายถึง ดวงชีพ ตรงกับอาตมันหรืออัตตาของลัทธิพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๖๙๓] นรกนั้นมี ๔ เหลี่ยม มีประตู ๔ ด้าน
กรรมสร้างจำแนกไว้เป็นส่วน ๆ
ล้อมรอบด้วยกำแพงเหล็ก ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก
[๖๙๔] พื้นนรกนั้นล้วนเป็นเหล็กแดงลุกเป็นเปลวเพลิง
ประกอบด้วยความร้อน
แผ่ไปรอบตลอดร้อยโยชน์อยู่ตลอดกาล
[๖๙๕] ล่วงไป ๑๐๐,๐๐ ปี ในกาลนั้น ข้าพระองค์ได้ยินเสียงอื้ออึง
(ว่า เพื่อนยากทั้งหลายเมื่อพวกท่านไหม้อยู่ในนรกนี้
กาลประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปีล่วงไปแล้ว)
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ๑๐๐ โกฏิปีเป็นกำหนดของนรก
[๖๙๖] ชนทั้งหลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุศีล และติเตียนพระอริยะ
ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรกถึง ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิปี
[๖๙๗] ข้าพระองค์จักเสวยทุกขเวทนาในนรกนั้นเป็นเวลายาวนาน
นี้เป็นผลกรรมอันชั่วช้าของข้าพระองค์
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงเศร้าโศกอย่างหนัก
[๖๙๘] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ทรงปราบอริราช ทรงผดุงรัฐให้เจริญ
ขอพระองค์ทรงสดับความนั้น
ขอความเจริญจงมีแด่ข้าพระองค์และอุตตราธิดาของข้าพระองค์
[๖๙๙] นางทำแต่กรรมดี ยินดีแล้วในนิจศีลและอุโบสถศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ และยินดีในทาน
[๗๐๐] เป็นสะใภ้ตระกูลอื่นก็ยังคงรักษาศีลไม่บกพร่องอยู่เป็นนิตย์
และเป็นอุบาสิกาของพระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงสิริ
[๗๐๑] ภิกษุรูปหนึ่ง มีศีลสมบูรณ์ สำรวมตา มีสติ คุ้มครองอินทรีย์
สำรวมระวังเป็นอันดี เข้ามาบิณฑบาตยังหมู่บ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๗๐๒] เดินไปตามลำดับตรอก ได้มาถึงบ้านนั้น
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์
นางอุตตราได้เห็นภิกษุนั้นแล้ว
[๗๐๓] นางได้ถวายน้ำดื่มเต็มขันและขนมอย่างวิจิตรแล้ว
อุทิศว่า ขอผลทานที่ดิฉันถวายแล้วนี้
จงสำเร็จแก่บิดาของดิฉันซึ่งตายไปแล้วเถิด เจ้าค่ะ
[๗๐๔] ในขณะที่นางอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง วิบากก็เกิดขึ้น
ข้าพระองค์สำเร็จความประสงค์ดังปรารถนา
บริโภคกามสุขอยู่ เหมือนท้าวเวสวัณมหาราช
[๗๐๕] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ทรงปราบอริราช
ทรงผดุงรัฐให้เจริญ ขอพระองค์จงทรงสดับความนั้น
บัณฑิตกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลผู้เลิศของโลก
พร้อมทั้งเทวโลก ขอพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรส
และพระอัครมเหสี ทรงถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่า
เป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด
[๗๐๖] ชนทั้งหลายย่อมบรรลุอมตบทด้วยมรรคมีองค์ ๘
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปราบอริราช
ขอพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระอัครมเหสี
จงทรงถึงพระธรรมนั้น ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด
[๗๐๗] พระอริยบุคคลผู้บรรลุอริยมรรค ๔
และพระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในอริยผล ๔ ชื่อว่าพระสงฆ์
ผู้ปฏิบัติตรง มีศีล สมาธิและปัญญา
ขอพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระอัครมเหสี
ทรงถึงพระสงฆ์นั้น ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๓. นันทกเปตวัตถุ
[๗๐๘] ขอพระองค์ทรงรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์
ทรงยินดีเฉพาะพระมเหสีของพระองค์
ไม่ตรัสคำเท็จ ไม่เสวยน้ำจัณฑ์เถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๐๙] เทวดาผู้ควรบูชา ท่านเป็นผู้มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา
เราจะทำตามคำของท่าน
ท่านเป็นอาจารย์ของเรา
[๗๑๐] เราขอถึงพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์
พระธรรมอันยอดเยี่ยม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
[๗๑๑] เราจะรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
จะไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
[๗๑๒] เราจะผ่อนคลายความเห็นชั่ว
เหมือนโปรยแกลบให้ลอยไปตามลมแรง
หรือเหมือนทิ้งเศษไม้ใบหญ้าลงกระแสน้ำเชี่ยว
และยินดีในพระพุทธศาสนา
[๗๑๓] พระเจ้าสุรัฏฐ์เมื่อตรัสดังนี้แล้ว
ทรงงดเว้นจากความเห็นชั่ว
ทรงนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว
เสด็จทรงรถพระที่นั่ง
บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
นันทกเปตวัตถุที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๔. เรวตีเปตวัตถุ
๔. เรวตีเปตวัตถุ
เรื่องนางเรวดีเปรต
(ยักษ์บริวารของท้าวเวสวัณปรารถนาจะจับนางเรวดีโยนลงไปในอุสสทนรก
จึงกล่าวว่า)
[๗๑๔] จงลุกขึ้น นางเรวดีผู้แสนจะชั่วช้า มีปกติไม่ให้ทาน
ประตู(นรก)เปิดแล้ว
พวกเราจะนำเจ้าไปโยนลงนรก
อันเป็นสถานที่ทอดถอนใจของเหล่าสัตว์นรก
ผู้มีความทุกข์ทรมานทนทุกข์อยู่
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า)
[๗๑๕] ยักษ์ใหญ่ตาแดงสองตนดุจทูตพญายมนั้น ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว
ก็จับแขนนางเรวดีคนละข้าง พาไปใกล้หมู่เทวดา
(นางเรวดีถามยักษ์สองตนว่า)
[๗๑๖] นั่นวิมานของใคร มีรัศมีแสงอาทิตย์ น่าพอใจ
เรืองรอง งดงาม น่าอยู่อาศัย ปกคลุมด้วยตาข่ายทอง
เนืองแน่นไปด้วยเทพบุตรและเทพธิดา รุ่งโรจน์ดังแสงอาทิตย์
[๗๑๗] หมู่เทพนารีลูบไล้กายด้วยแก่นจันทน์หอม
ช่วยทำวิมานทั้งภายในและภายนอกให้งดงาม
วิมานนั้นมีรัศมีปรากฏเสมอด้วยแสงอาทิตย์
คนที่ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมานเป็นใครกัน
(ยักษ์สองตนจึงบอกแก่นางเรวดีว่า)
[๗๑๘] ที่กรุงพาราณสี มีอุบาสกชื่อนันทิยะ
เป็นคนไม่ตระหนี่ เป็นทานบดี รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
วิมานที่เนืองแน่นไปด้วยเทพบุตรและเทพธิดา
รุ่งโรจน์ดังแสงอาทิตย์นั้นเป็นของนันทิยอุบาสก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๔. เรวตีเปตวัตถุ
[๗๑๙] หมู่เทพนารีลูบไล้กายด้วยแก่นจันทน์หอม
ช่วยทำวิมานทั้งภายในและภายนอกให้งดงาม
วิมานนั้นมีรัศมีปรากฏเสมอด้วยแสงอาทิตย์
คนที่ขึ้นสวรรค์ บันเทิงอยู่ในวิมาน คือ นันทิยอุบาสก
(นางเรวดีกล่าวว่า)
[๗๒๐] ฉันเป็นภรรยาของนันทิยอุบาสก
เป็นใหญ่ในเรือน เป็นใหญ่ในทรัพย์สินทั้งหมดของสามี
บัดนี้ ฉันจะรื่นรมย์ในวิมานของสามี
ไม่ปรารถนาจะเห็นนรก
(ยักษ์สองตนนั้นไม่ยอมเชื่อจึงพาตัวนางลงไปใกล้อุสสทนรกแล้วกล่าวว่า)
[๗๒๑] นางผู้แสนจะชั่วช้า นี่แหละนรกสำหรับเจ้า
บุญเจ้าไม่ได้ทำไว้ในมนุษยโลก
เพราะคนตระหนี่มักโกรธมีบาปธรรม
ย่อมไม่ได้อยู่ร่วมกับผู้เกิดในสวรรค์
(นางเรวดีเห็นนายนิรยบาลสองตนพากันมาฉุดคร่าตนเพื่อจะโยนลงไปในคูถนรก
ชื่อว่าสังสวกะ จึงถามถึงนรกนั้นว่า)
[๗๒๒] ทำไมหนอจึงปรากฏแต่อุจจาระ ปัสสาวะ สิ่งสกปรก
เหตุไฉน อุจจาระนี้จึงมีกลิ่นเหม็นร้ายกาจ คละคลุ้งไปเล่า
(นายนิรยบาลตอบว่า)
[๗๒๓] นางเรวดี นรกที่เจ้าจะหมกไหม้อยู่หลายพันปีนี้
มีชื่อว่าสังสวกนรก ลึก ๑๐๐ ชั่วคน
(นางเรวดีจึงถามว่า)
[๗๒๔] ฉันทำกรรมชั่วทางกายวาจาใจอะไรหรือหนอ
จึงตกสังสวกนรกที่ลึก ๑๐๐ ชั่วคน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๔. เรวตีเปตวัตถุ
(นายนิรยบาลตอบว่า)
[๗๒๕] เจ้าลวงสมณพราหมณ์และวณิพกพวกอื่น
ด้วยการกล่าวเท็จ นั่นแหละบาปที่เจ้าทำไว้
[๗๒๖] เพราะบาปนั้นเจ้าจึงตกสังสวกนรกที่ลึกถึง ๑๐๐ ชั่วคน
นางเรวดี เจ้าจะต้องหมกไหม้อยู่ในนรกนั้นหลายพันปี
[๗๒๗] นายนิรยบาลทั้งหลาย จะตัดมือ เท้า หู แม้กระทั่งจมูก
อนึ่งแม้ฝูงนกกาก็จะพากันมารุมจิกกินเจ้าที่ดิ้นทุรนทุรายอยู่
(นางเรวดีกล่าวว่า)
[๗๒๘] โปรดเถิดพ่อคุณ ขอท่านทั้งหลายช่วยนำดิฉันกลับไปเถิด
ดิฉันจักสร้างกุศลกรรมที่คนทำแล้วได้รับความสุข
และไม่เดือดร้อนในภายหลังนั้นให้มาก
ด้วยการให้ทาน ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
การสำรวม และการฝึกอินทรีย์
(นายนิรยบาลกล่าวว่า)
[๗๒๙] เมื่อก่อน เจ้าประมาทมัวเมา บัดนี้จะมาร่ำไห้ทำไมเล่า
เจ้าจักต้องเสวยผลกรรมทั้งหลายที่เจ้าทำไว้เอง
(นางเรวดีกล่าวว่า)
[๗๓๐] ใครจากเทวโลกไปยังมนุษยโลก เมื่อถูกถาม
พึงกล่าวถ้อยคำของดิฉันอย่างนี้ว่า
ขอท่านทั้งหลายจงถวายทาน คือ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม
ที่นอน ที่นั่ง ข้าวและน้ำ
ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ปล่อยวางอาชญา
เพราะว่า คนตระหนี่ มักโกรธ มีบาปธรรม
ย่อมไม่ได้เกิดร่วมกับผู้ไปสวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๔. เรวตีเปตวัตถุ
[๗๓๑] ถ้าดิฉันนั้นจากที่นี้ไป ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว
จักรู้ความประสงค์ของผู้ขอ สมบูรณ์ด้วยศีล
จักสร้างกุศลให้มากด้วยการให้ทาน
การประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
การสำรวม และการฝึกอินทรีย์
[๗๓๒] ดิฉันจักปลูกสวนไม้ดอกไม้ผล
จักตัดทางเข้าไปในสถานที่ที่เดินลำบาก
ขุดบ่อน้ำ และตั้งน้ำดื่มไว้ด้วยใจที่ผ่องแผ้ว
[๗๓๓] จักเข้าจำอุโบสถศีลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
ตลอดวันปาฏิหาริยปักษ์
[๗๓๔] ดิฉันผู้สำรวมระวังในศีลตลอดเวลา
และจักไม่ละเลยในการให้ทาน
เพราะผลกรรมนี้ ดิฉันได้เห็นเองแล้ว
(พระสังคีติกาจารย์กล่าวไว้ว่า)
[๗๓๕] นายนิรยบาลทั้งหลายช่วยกันจับนางเรวดี
ที่กำลังพร่ำเพ้อ ดิ้นรนไปมาอยู่อย่างนี้
ให้เท้าชี้หัวดิ่งลงไปในนรกอันน่ากลัว
(นางเรวดีได้กล่าวคาถาสุดท้ายอีกว่า)
[๗๓๖] ชาติก่อน ฉันเป็นคนตระหนี่
ด่าว่าสมณพราหมณ์
และลวงสามีด้วยเรื่องไม่จริง
จึงหมกไหม้ในนรกที่น่ากลัว
เรวตีเปตวัตถุที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๕. อุจฉุเปตวัตถุ
๕. อุจฉุเปตวัตถุ
เรื่องเปรตเจ้าของไร่อ้อย
(อุจฉุเปรตถามพระมหาโมคคัลลานเถระว่า)
[๗๓๗] ไร่อ้อยแปลงใหญ่นี้เกิดมีแก่ข้าพเจ้า เป็นผลบุญมิใช่น้อย
เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ากินอ้อยนั้นไม่ได้
ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านบอกด้วยเถิดว่า นี้เป็นผลกรรมอะไร
[๗๓๘] ข้าพเจ้าเดือดร้อน อยากจะกิน(อ้อย)
พยายามตะเกียกตะกาย ทนทุกข์
จะกินสักหน่อยหนึ่ง ก็สิ้นเรี่ยวแรง พร่ำเพ้ออยู่
นี้เป็นผลกรรมอะไร
[๗๓๙] อนึ่ง ข้าพเจ้าหมดเรี่ยวแรงแล้ว ซวนเซล้มลง
ดิ้นเร่า ๆ อยู่บนพื้นดิน เหมือนปลาดิ้นรนอยู่บนบกที่ร้อนจัด
ก็เมื่อข้าพเจ้าร้องไห้อยู่ สัตว์ทั้งหลายพากันมากินน้ำตาของข้าพเจ้า
ท่านผู้เจริญ นี้เป็นผลกรรมอะไร
[๗๔๐] ข้าพเจ้าทั้งเหน็ดเหนื่อย ทั้งหิวกระหาย
ปากคอแห้งผาก ไม่ประสบความสุขสำราญ
ท่านผู้เจริญ อย่างไรหนอ ข้าพเจ้าจึงจะกินอ้อยได้
(พระมหาโมคคัลลานเถระกล่าวว่า)
[๗๔๑] เมื่อชาติก่อน ท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำกรรมไว้ด้วยตนเอง
เราจะบอก ท่านจงฟังให้เข้าใจ
[๗๔๒] ท่านเดินกินอ้อยไป
บุรุษคนหนึ่งเดินตามหลังท่าน
และเขาหวังจะกินอ้อย จึงขอท่าน
ท่านมิได้พูดอะไรกับเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๖. กุมารเปตวัตถุ
[๗๔๓] และเขาได้วิงวอนท่านซึ่งไม่พูดด้วย
ได้พูดกับท่านว่า ขอท่านให้อ้อยเถิดนาย
ท่านได้ยื่นอ้อยให้แก่บุรุษนั้นข้างหลัง
นี้เป็นผลกรรมนั้นแหละ
[๗๔๔] ขอเชิญท่านหันหลังไปหยิบเอา
ครั้นรับแล้ว เชิญกินอ้อยนั้นตามต้องการเถิด
เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านจักเป็นผู้ดีใจ
ร่าเริง เบิกบาน และบันเทิงใจ
[๗๔๕] เปรตนั้นได้หันหลังไปหยิบอ้อย
ครั้นรับแล้ว กินอ้อยนั้นตามความต้องการ
เพราะเหตุนั้นแหละ เปรตนั้นจึงดีใจ
ร่าเริง เบิกบาน และบันเทิงใจ
อุจฉุเปตวัตถุที่ ๕ จบ

๖. กุมารเปตวัตถุ
เรื่องกุมารเปรต
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๗๔๖] เราได้ฟังมาดังนี้ว่า
ได้มีกุมารสององค์เป็นพระราชโอรส
ในกรุงสาวัตถี ข้างป่าหิมพานต์
[๗๔๗] พระราชกุมารทั้ง ๒ พระองค์นั้น
ทรงมัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ทรงเพลิดเพลินด้วยอำนาจ ความยินดีในกาม
ทรงติดความสุขในปัจจุบัน
ไม่ทรงเห็นถึงความสุขในอนาคต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๗. ราชปุตตเปตวัตถุ
[๗๔๘] ครั้นเคลื่อนจากความเป็นมนุษย์นี้ไปสู่ปรโลก
ไม่ปรากฏกายให้ใครเห็น
ร้องคร่ำครวญถึงกรรมชั่วครั้งก่อนของตน
ณ ที่ใกล้กรุงสาวัตถีนี้ว่า
[๗๔๙] เมื่อพระทักขิไณยบุคคลมีอยู่มากหลาย
และเมื่อไทยธรรมก็มีอยู่
แต่พวกเราไม่อาจทำบุญซึ่งจะนำความสุขมาให้
แล้วทำตนให้มีความสวัสดี(แม้เพียง)เล็กน้อย
[๗๕๐] อะไรจะพึงเลวกว่ากามนั้น
อันเป็นเหตุให้พวกเราเคลื่อนจากราชสกุลแล้วไปอยู่เปตวิสัย
เพียบพร้อมไปด้วยความหิวกระหาย
[๗๕๑] มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้เคยเป็นเจ้าของในที่ใด
ย่อมไม่ได้เป็นเจ้าของในที่นั้นอีก
เป็นผู้เจริญขึ้นแล้วเสื่อมลง ย่อมหมุนไปตามความหิวกระหาย
[๗๕๒] นรชนทราบถึงโทษ
ซึ่งเกิดมีด้วยอำนาจความเมาในความเป็นใหญ่อย่างนี้แล้ว
ละความเมาในความเป็นใหญ่ได้แล้ว พึงไปสวรรค์ได้
เขามีปัญญาเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสวรรค์
กุมารเปตวัตถุที่ ๖ จบ

๗. ราชปุตตเปตวัตถุ
เรื่องเปรตราชบุตร
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๗๕๓] ผลกรรมทั้งหลายที่พระราชโอรสทำไว้ในชาติก่อนพึงย่ำยีจิตใจ
เพราะรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะที่น่ารื่นรมย์ใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๗. ราชปุตตเปตวัตถุ
[๗๕๔] พระราชโอรสจึงได้เสวยการฟ้อนรำ ขับร้อง ความยินดี
และความสนุกสนานเป็นอันมาก
ทรงได้รับการบำรุงบำเรอในพระราชอุทยานแล้ว
จึงเสด็จเข้าไปยังภูเขาคิริพพชะ
[๗๕๕] ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธะนามว่า สุเนตร
ผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐ ฝึกฝนตนแล้ว
มีจิตตั้งมั่น ปรารถนาน้อย
สมบูรณ์ด้วยหิริ ยินดีเฉพาะอาหารที่อยู่ในบาตรซึ่งได้มาด้วยภิกขาจาร
[๗๕๖] จึงเสด็จลงจากคอช้างแล้วได้ตรัสถามว่า
ได้ภิกษาบ้างไหม พระคุณเจ้า
ถือตัวว่าเป็นกษัตริย์
ทรงจับบาตรของพระปัจเจกพุทธะนั้นชูขึ้น
[๗๕๗] แล้วทุ่มทำลายบาตรที่พื้นดินแข็ง
ทรงพระสรวล หลีกไป(หน่อยหนึ่ง)แล้วตรัสว่า
เราเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากิตวะ
ท่านจักทำอะไรเราได้
[๗๕๘] กรรมหยาบช้ามีผลเผ็ดร้อน
ซึ่งพระราชโอรสผู้แออัดอยู่ในนรกเสวยแล้ว
[๗๕๙] พระราชโอรสทำบาปหยาบช้าไว้
จึงได้ประสบทุกข์แสนสาหัสอยู่ในนรก ๘๔๐,๐๐๐ ปี รวม ๖ ครั้ง
[๗๖๐] เธอเป็นคนพาล
นอนหงายบ้าง คว่ำบ้าง
นอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวาบ้าง
ชี้เท้าขึ้นข้างบนบ้าง ยืนอยู่บ้าง
หมกไหม้อยู่สิ้นกาลนาน (ข้างละ ๘๔๐,๐๐๐ ปี)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๘. คูถขาทกเปตวัตถุ
[๗๖๑] เธอทำบาปหยาบช้าไว้
จึงประสบทุกข์แสนสาหัสอยู่ในนรกหลายพัน หลายหมื่นปี
[๗๖๒] บุคคลผู้มีการกระทำอันเป็นบาป
พากันระรานฤๅษีผู้ไม่ประทุษร้ายต่อผู้ประทุษร้าย
ผู้มีข้อปฏิบัติดีงาม จึงได้เสวยทุกข์เผ็ดร้อนอย่างยิ่งเช่นนี้
[๗๖๓] เปรตผู้เป็นราชบุตรนั้นเสวยทุกข์เป็นอันมากในนรกหลายแสนปี
จุติจากนรกแล้วมาเกิดเป็นเปรตชื่อขุปปิปาสหตะ๑
[๗๖๔] นรชนทราบถึงโทษ
ซึ่งเกิดมีด้วยอำนาจความเมาในความเป็นใหญ่อย่างนี้แล้ว
พึงละความเมาในความเป็นใหญ่เสีย
แล้วประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ
[๗๖๕] ผู้มีปัญญา มีความเคารพในพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระสงฆ์
เป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญในปัจจุบันนี่แหละ
เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสวรรค์
ราชปุตตเปตวัตถุที่ ๗ จบ

๘. คูถขาทกเปตวัตถุ
เรื่องเปรตกินคูถ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๗๖๖] ท่านเป็นใครหนอ โผล่ขึ้นจากหลุมคูถ ยืนเศร้าสร้อยอยู่
ท่านคงทำกรรมชั่วไว้โดยไม่ต้องสงสัย
จะร้องครวญครางอื้ออึงไปทำไมเล่า

เชิงอรรถ :
๑ เปรตผู้มีแต่ความหิวกระหายตลอดเวลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๘. คูถขาทกเปตวัตถุ
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๗๖๗] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๗๖๘] ท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรท่านจึงได้รับทุกข์เช่นนี้
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๗๖๙] ได้มีภิกษุรูปหนึ่งอยู่ประจำในวัดของข้าพเจ้า
มักริษยา ตระหนี่ตระกูล ผูกขาดในเรือนของข้าพเจ้า
มีใจกระด้าง มักด่าว่า(ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย)
[๗๗๐] ข้าพเจ้าเชื่อคำของท่าน ได้ด่าว่าภิกษุทั้งหลาย
เพราะผลกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๗๗๑] ภิกษุผู้คุ้นเคยกับตระกูลของท่านไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
มีปัญญาทราม มรณภาพแล้วไปสู่คติไหนหนอ
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๗๗๒] ข้าพเจ้ายืนอยู่บนกระหม่อมศีรษะของเปรต
ซึ่งเคยเป็นภิกษุผู้ทำกรรมชั่วนั้นแหละ
และภิกษุนั้นไปเกิดเป็นเปรตผู้ปรนนิบัติของข้าพเจ้าเอง
[๗๗๓] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชนเหล่าอื่นถ่ายสิ่งใดลงไป
สิ่งนั้นเป็นอาหารของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าเองถ่ายสิ่งใดลงไป
เปรตซึ่งเคยเป็นภิกษุนั้นก็อาศัยสิ่งนั้นเลี้ยงชีพ
คูถขาทกเปตวัตถุที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๙. คูถขาทกเปติวัตถุ
๙. คูถขาทกเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตกินคูถ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามนางเปรตตนหนึ่งว่า)
[๗๗๔] เธอเป็นใครหนอ โผล่ขึ้นจากหลุมคูถ ยืนเศร้าสร้อยอยู่
เธอคงทำกรรมชั่วไว้โดยไม่ต้องสงสัย
จะร้องครวญครางอื้ออึงไปทำไมเล่า
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๗๗๕] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๗๗๖] เธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร เธอจึงได้รับทุกข์เช่นนี้
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๗๗๗] ได้มีภิกษุรูปหนึ่งอยู่ประจำในวัดของดิฉัน
มักริษยา ตระหนี่ตระกูล ผูกขาดในเรือนของดิฉัน
มีใจกระด้าง มักด่าว่า(ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย)
[๗๗๘] ดิฉันเชื่อคำของท่าน ได้ด่าว่าภิกษุทั้งหลาย
เพราะผลกรรมนั้นดิฉันจึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๗๗๙] ภิกษุผู้คุ้นเคยกับตระกูลของเธอไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
มีปัญญาทราม มรณภาพแล้วไปสู่คติไหนหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๐. คณเปตวัตถุ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๗๘๐] ดิฉันยืนอยู่บนกระหม่อมศีรษะของเปรต
ซึ่งเคยเป็นภิกษุผู้ทำกรรมชั่วนั้นแหละ
และภิกษุนั้นไปเกิดเป็นเปรตผู้ปรนนิบัติของดิฉันเอง
[๗๘๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชนเหล่าอื่นถ่ายสิ่งใดลงไป
สิ่งนั้นเป็นอาหารของดิฉัน
และดิฉันเองถ่ายสิ่งใดลงไป
เปรตซึ่งเคยเป็นภิกษุนั้นก็อาศัยสิ่งนั้นเลี้ยงชีพ
คูถขาทกเปติวัตถุที่ ๙ จบ

๑๐. คณเปตวัตถุ
เรื่องเปรตคณะหนึ่ง
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเปรตทั้งหลายว่า)
[๗๘๒] พวกท่านเปลือยกาย มีร่างกายผ่ายผอม
มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ซูบผอม
มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น มีซี่โครงผุดขึ้น
ท่านผู้นิรทุกข์ พวกท่านเปลือยกายเป็นใครกันหนอ
(เปรตทั้งหลายตอบว่า)
[๗๘๓] พระคุณเจ้าผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าเป็นเปรตตกยาก
เกิดในยมโลก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[๗๘๔] พวกท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรท่านทั้งหลายจึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๐. คณเปตวัตถุ
(เปรตเหล่านั้นตอบว่า)
[๗๘๕] เมื่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้เป็นเหมือนท่าน้ำซึ่งไม่มีใครหวงห้าม
พวกข้าพเจ้า(มีความตระหนี่)จึงเก็บทรัพย์เพียงครึ่งมาสกไว้
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ก็ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน (ให้ทาน)
[๗๘๖] พวกข้าพเจ้ากระหายน้ำ จึงเข้าไปใกล้แม่น้ำ
แม่น้ำกลับกลายเป็นว่างเปล่าไป
ในเวลาร้อน พวกข้าพเจ้าเข้าไปใกล้ร่มไม้
ร่มไม้กลับกลายเป็นแดดไป
[๗๘๗] ทั้งลมก็ร้อนเหมือนไฟ พัดฟุ้งเผาพวกข้าพเจ้าไป
พระคุณเจ้าผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าสมควรเสวยทุกข์อันมีความ
กระหายเป็นต้นนี้ และทุกข์อย่างอื่นที่หนักกว่านั้น
[๗๘๘] อนึ่งพวกข้าพเจ้าหิวโหย อยากอาหาร
พากันเดินทางไปหลายโยชน์
ก็ไม่ได้อาหารเลย จึงพากันกลับมา
พวกข้าพเจ้าช่างมีบุญน้อยเสียจริงหนอ
[๗๘๙] พระคุณเจ้าผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าหิวโหยอิดโรย
เป็นลมล้มสลบลงที่พื้นดิน บางครั้งล้มหงายกลิ้งไป
บางครั้งก็ล้มคว่ำ
[๗๙๐] อนึ่งพวกข้าพเจ้านั้นสลบล้มอยู่ที่พื้นดินนั้นเอง
หน้าอกและศีรษะก็กระทบกันและกัน
พวกข้าพเจ้าช่างมีบุญน้อยเสียจริงหนอ
[๗๙๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าควรจะเสวยทุกข์
มีความกระหายเป็นต้นนี้ และทุกข์อย่างอื่นที่หนักกว่านั้น
เพราะเมื่อไทยธรรมมีอยู่ ก็ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๑. ปาฏลิปุตตเปตวัตถุ
[๗๙๒] อนึ่ง พวกข้าพเจ้านั้นจากเปตโลกนี้ไปแล้ว
ได้กำเนิดเป็นมนุษย์
จักรู้ความประสงค์ของผู้ขอ สมบูรณ์ด้วยศีล
และทำกุศลให้มากเป็นแน่
คณเปตวัตถุที่ ๑๐ จบ

๑๑. ปาฏลิปุตตเปตวัตถุ
เรื่องหญิงชาวเมืองปาฏลีบุตรสนทนากับเปรต
(เวมานิกเปรตตนหนึ่งได้กล่าวกับหญิงมนุษย์คนหนึ่งว่า)
[๗๙๓] สัตว์นรกบางพวก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย
หรือแม้มนุษย์ และเทวดาเธอก็ได้เห็นแล้ว
ผลกรรมของตนเธอก็ได้เห็นด้วยตนเอง
เราจักนำเธอไปส่งยังเมืองปาฏลีบุตรซึ่งไม่มีใครหวงห้าม
เธอไปที่เมืองนั้นแล้วจงทำกุศลกรรมเถิด
(เมื่อหญิงนั้นได้ฟังแล้ว มีความปลื้มใจ จึงกล่าวตอบว่า)
[๗๙๔] เทวดาผู้ควรบูชา ท่านเป็นผู้มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ดิฉัน
ดิฉันจะทำตามคำของท่าน
ท่านเป็นอาจารย์ของดิฉัน
[๗๙๕] สัตว์นรกบางพวก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย
หรือแม้มนุษย์ และเทวดาดิฉันก็ได้เห็นแล้ว
ผลกรรมของตนดิฉันก็ได้เห็นเองแล้ว
ดิฉันจะทำบุญให้มาก
ปาฏลิปุตตเปตวัตถุที่ ๑๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๒. อัมพวนเปตวัตถุ
๑๒. อัมพวนเปตวัตถุ
เรื่องเปรตเฝ้าสวนมะม่วง
(พวกพ่อค้าได้ถามเวมานิกเปรตตนหนึ่งว่า)
[๗๙๖] สระโบกขรณีของท่านนี้แสนจะน่ารื่นรมย์
มีพื้นราบเรียบ มีท่าน้ำงดงาม มีน้ำมาก
มีดอกไม้บานสะพรั่ง ขวักไขว่ด้วยหมู่ภมร
ท่านได้สระโบกขรณีเป็นที่เจริญใจนี้มาอย่างไร
[๗๙๗] สวนมะม่วงของท่านนี้แสนจะน่ารื่นรมย์
กำลังเผล็ดผล มีดอกบานสพรั่ง ขวักไขว่ไปด้วยหมู่ภมร
นำความสุขมาให้ ทุกฤดูกาล
ท่านได้วิมานนี้มาอย่างไร
(เวมานิกเปรตนั้นตอบว่า)
[๗๙๘] ข้าพเจ้าได้สวนมะม่วงมีร่มเงาเย็นน่ารื่นรมย์ใจในที่นี้
เพราะทานที่ธิดาของข้าพเจ้าถวายมะม่วงสุก
น้ำ ข้าวยาคูแล้วอุทิศให้
(ธิดาของเปรตนั้นบอกลูกของตนเองว่า)
[๗๙๙] ขอลูกจงดูผลแห่งทาน ความข่มใจ
และความสำรวมที่เห็นผลทันตาอย่างนี้
แม่เป็นสาวใช้ มาเป็นลูกสะใภ้เป็นใหญ่ในเรือนในตระกูลของลูก
(ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาทรงเห็นนางมีญาณแก่กล้า จึงแผ่รัศมีไปแสดง
พระองค์ให้ปรากฏดุจประทับยืนอยู่เฉพาะหน้า แล้วได้ตรัสคาถานี้ว่า)
สิ่งที่ไม่น่าชอบใจย่อมครอบงำผู้ประมาทโดยอาการที่น่าชอบใจ
สิ่งที่ไม่น่ารักย่อมครอบงำผู้ประมาทโดยอาการที่น่ารัก
และสิ่งที่เป็นทุกข์ย่อมครอบงำผู้ประมาทได้โดยอาการที่เป็นสุข
อัมพวนเปตวัตถุที่ ๑๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๔. โภคสังหรเปตวัตถุ
๑๓. อักขรุกขเปตวัตถุ
เรื่องอักขรุกขเปรต
(ภุมเทวดาตนหนึ่งเตือนอุบาสกคนหนึ่งว่า)
[๘๐๐] ทายกให้สิ่งใด ผลจะเป็นสิ่งนั้นก็หาไม่
เพราะฉะนั้นบุคคลพึงให้ทานเถิด
ครั้นให้ทานแล้ว ย่อมข้ามพ้นทุกข์และความพินาศทั้งสอง
ย่อมประสบสุขทั้งสอง๑ เพราะทานนั้น
ท่านจงตื่นเถิด อย่าได้ประมาทเลย
อักขรุกขเปตวัตถุที่ ๑๓ จบ

๑๔. โภคสังหรเปตวัตถุ
เรื่องเปรตรวบรวมโภคะ
(เวลากลางคืน หญิงเปรต ๔ ตน ถูกทุกข์ครอบงำ จึงพากันร้องไห้รำพึงรำพัน
ด้วยเสียงดังอย่างน่ากลัวว่า)
[๘๐๑] พวกเรารวบรวมโภคทรัพย์ไว้โดยชอบธรรมบ้าง
ไม่ชอบธรรมบ้าง
แต่คนอื่น ๆ พากันใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น
พวกเรากลับได้รับทุกข์๒
โภคสังหรเปตวัตถุที่ ๑๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คือ สุขในภพนี้และภพหน้า ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น (ขุ.เป.อ. ๘๐๐/๒๙๘)
๒ เหตุที่เปรตเหล่านั้นได้รับทุกข์ เพราะรวบรวมโภคะไว้มากโดยทางทุจริต แล้วไม่นำไปทำประโยชน์แก่
ใคร ตายไปแล้วมาเกิดเป็นเปรต ร้องโหยหวน เสียดายทรัพย์เมื่อเห็นผู้อื่นใช้สอยทรัพย์ของตน (ขุ.เป.อ.
๘๐๑/๓๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๖. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
๑๕. เสฏฐิปุตตเปตวัตถุ
เรื่องเปรตเศรษฐีบุตร
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาที่เปรต ๔ ตนเริ่มจะกล่าวตนละคาถาให้
บริบูรณ์ว่า)
[๘๐๒] เมื่อพวกเราหมกไหม้อยู่ในนรก ๖ หมื่นปีครบถ้วนบริบูรณ์
เมื่อไรจักมีความสิ้นสุด
[๘๐๓] ความสิ้นสุดไม่มี ความสิ้นสุดจะมีที่ไหน
ความสิ้นสุดจักไม่ปรากฏ
เพื่อนยาก เพราะเราและท่านได้ทำกรรมชั่วไว้อย่างนั้น
[๘๐๔] พวกเรา เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ไม่ให้ของที่มีอยู่
จึงมีชีวิตเป็นอยู่อย่างลำบาก
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ พวกเราไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน
[๘๐๕] เรานั้นจากเปตโลกนี้ไปแล้ว ได้เกิดเป็นมนุษย์
จักรู้ความประสงค์ของผู้ขอ สมบูรณ์ด้วยศีล
ทำกุศลให้มากเป็นแน่
เสฏฐิปุตตเปตวัตถุที่ ๑๕ จบ

๑๖. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
เรื่องเปรตถูกค้อนต่อยศีรษะ
(วันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระ ลงจากภูเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นเปรตตนหนึ่ง
จึงซักถามด้วยคาถาว่า)
[๘๐๖] เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือ จึงวิ่งไปมาเหมือนเนื้อที่วิ่งพล่าน
ท่านคงทำกรรมชั่วไว้โดยไม่ต้องสงสัย
จะมาร้องครวญครางอื้ออึงไปทำไมเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] ๑๖. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๘๐๗] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำบาปกรรมไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
[๘๐๘] ค้อนเหล็กจำนวน ๖๐,๐๐๐ ลูก
ตกมาตีกระหม่อมศีรษะของข้าพเจ้า
(พระเถระถามว่า)
[๘๐๙] ท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรท่านจึงต้องได้รับทุกข์เช่นนี้
[๘๑๐] อนึ่ง ค้อนเหล็กจำนวน ๖๐,๐๐๐ ลูก
ตกมาตีกระหม่อมศีรษะของท่าน เพราะผลกรรมอะไร
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๘๑๑] ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งนามว่าสุเนตร
อบรมอินทรีย์แล้ว ผู้ไม่เกิดความกลัวแต่ที่ไหน
นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
[๘๑๒] ข้าพเจ้าได้ดีดก้อนกรวด ทำลายกระหม่อมของท่าน
เพราะผลกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องได้รับทุกข์เช่นนี้
[๘๑๓] ค้อนเหล็กจำนวน ๖๐,๐๐๐ ลูก
ตกมาตีกระหม่อมศีรษะของข้าพเจ้า
(พระเถระกล่าวว่า)
[๘๑๔] บุรุษชั่ว เพราะความสาสมแก่เหตุของท่าน
ค้อนเหล็กจำนวน ๖๐,๐๐๐ ลูก
จึงตกมาตีกระหม่อมศีรษะของท่าน
สัฏฐิกูฏเปตวัตถุที่ ๑๖ จบ
มหาวรรคที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค] รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรค
รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ ๒. เสรีสกเปตวัตถุ
๓. นันทกเปตวัตถุ ๔. เรวตีเปตวัตถุ
๕. อุจฉุเปตวัตถุ ๖. กุมารเปตวัตถุ
๗. ราชปุตตเปตวัตถุ ๘. คูถขาทกเปตวัตถุ
๙. คูถขาทกเปติวัตถุ ๑๐. คณเปตวัตถุ
๑๑. ปาฏลิปุตตเปตวัตถุ ๑๒. อัมพวนเปตวัตถุ
๑๓. อักขรุกขเปตวัตถุ ๑๔. โภคสังหรเปตวัตถุ
๑๕. เสฏฐิปุตตเปตวัตถุ ๑๖. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ

รวม ๑๖ เรื่อง ท่านจัดไว้เป็นหนึ่งวรรค

รวมวรรคที่มีในเรื่องเปรต คือ

๑. อุรวรรค ๒. อุพพริวรรค
๓. จูฬวรรค ๔. มหาวรรค

รวม ๕๑ เรื่อง ๔ ภาณวาร

เปตวัตถุ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑. สุภูติเถรคาถา
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เถรคาถา
________________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคออรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
นิทานคาถา
เชิญท่านทั้งหลายสดับคาถาซึ่งนำเข้าไปหาประโยชน์
ของท่านผู้อบรมตนได้ ผู้เป็นเช่นราชสีห์แยกเขี้ยว
ร้องคำรามอยู่ที่ซอกเขา
ท่านมีชื่อ วงศ์ตระกูล มีธรรมเป็นเครื่องอยู่
และมีจิตอันน้อมไปในธรรมตามที่ปรากฏ
เป็นผู้มีปัญญา อยู่อย่างไม่เกียจคร้าน
เห็นแจ่มแจ้ง บรรลุนิพพานแล้วในเสนาสนะอันสงัดนั้น ๆ
เมื่อเล็งเห็นผลอันเลิศแห่งหน้าที่ที่ได้ทำเสร็จแล้ว
จึงได้กล่าวข้อความนี้ไว้

๑. เอกกนิบาต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. สุภูติเถรคาถา
ภาษิตของพระสุภูติเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุภูติเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑] ฝนเอ๋ย กุฎีของเราสบาย มุงบังมิดชิดดี
จงตกตามสบายเถิด จิตเราหลุดพ้น ตั้งมั่นดีแล้ว
เราปรารภความเพียรอยู่ จงตกลงมาเถิดฝน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๔. ปุณณเถรคาถา
๒. มหาโกฏฐิตเถรคาถา
ภาษิตของพระมหาโกฏฐิตเถระ
ทราบว่า ท่านพระโกฏฐิตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒] ภิกษุสงบ งดเว้นจากการทำชั่ว พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลายได้เหมือนลมพัดใบไม้ให้ร่วงหล่นไป

๓. กังขาเรวตเถรคาถา
ภาษิตของพระกังขาเรวตเถระ
ทราบว่า ท่านพระกังขาเรวตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓] เชิญท่านดูพระปัญญาของพระตถาคตทั้งหลาย
ผู้ประทานแสงสว่างและประทานดวงตา๑
ย่อมชื่อว่าทรงกำจัดความสงสัย
ของเหล่าเวไนยสัตว์ ผู้พากันมาเฝ้าเสียได้
เหมือนแสงไฟที่เจิดจ้าในเวลาค่ำคืน

๔. ปุณณเถรคาถา
ภาษิตของพระปุณณเถระ
ทราบว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔] บุคคลพึงสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลาย
ผู้มีปัญญาชี้แนะแต่ประโยชน์ถ่ายเดียว
เพราะสัตบุรุษ๒ทั้งหลายเป็นปราชญ์ ไม่ประมาท
เห็นประจักษ์แจ้งด้วยปัญญา ได้บรรลุประโยชน์อันใหญ่หลวง
ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก ละเอียดและสุขุม

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญา (ขุ.เถร.อ. ๑/๓/๕๐)
๒ คนดี (ขุ.เถร.อ. ๑/๔/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๗. ภัลลิยเถรคาถา
๕. ทัพพเถรคาถา
ภาษิตของพระทัพพเถระ
ทราบว่า ท่านพระทัพพเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๕] พระทัพพะผู้ฝึกได้ยาก ถูกพระศาสดาผู้ฝึกทรงฝึกแล้ว
เป็นผู้สันโดษ๑ ปราศจากความสงสัย ชนะกิเลสได้แล้ว
ปราศจากความขลาดกลัว มีจิตคงที่ ดับสนิทแล้ว

๖. สีตวนิยเถรคาถา
ภาษิตของพระสีตวนิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระสีตวนิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๖] ภิกษุผู้เข้าไปสู่ป่าสีตวันแล้ว
ย่อมเป็นผู้โดดเดี่ยว สันโดษ มีจิตตั้งมั่น
ชนะกิเลสได้แล้ว ปราศจากความขนพองสยองเกล้า
มีปัญญา เจริญกายคตาสติ๒

๗. ภัลลิยเถรคาถา
ภาษิตของพระภัลลิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระภัลลิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๗] ผู้ที่ขจัดเสนาพญามัจจุราช๓ได้ เหมือนกระแสน้ำหลาก
พัดพังทลายสะพานไม้อ้อซึ่งไม่มีกำลังต้านทาน
นับว่าเป็นผู้ชนะกิเลส ปราศจากความขลาดกลัว
ฝึกตนดีแล้ว มีจิตคงที่ ดับสนิทแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ยินดีสิ่งของเท่าที่ตนมีอยู่ (ขุ.เถร.อ. ๑/๕/๖๙)
๒ กำหนดกายเป็นอารมณ์ (ขุ.เถร.อ. ๑/๖/๖๙)
๓ ความแก่ ความเจ็บ และความตาย (ขุ.เถร.อ. ๑/๗/๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑๐. ปุณณมาสเถรคาถา
๘. วีรเถรคาถา
ภาษิตของพระวีรเถระ
ทราบว่า ท่านพระวีรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๘] พระวีรเถระผู้ฝึกได้ยาก ถูกพระศาสดาผู้ฝึกทรงฝึกแล้ว
เป็นผู้สันโดษ ปราศจากความสงสัย ชนะกิเลสได้แล้ว
ปราศจากความขนพองสยองเกล้า มีจิตคงที่ ดับสนิทแล้ว

๙. ปิลินทวัจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระปิลินทวัจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๙] การที่เราได้มายังสำนักพระผู้มีพระภาคนี้เป็นการมาดีแล้ว
ไม่ไร้ประโยชน์ การที่เราได้คิดไว้ว่า จะฟังธรรมในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคแล้วบวชนี้เป็นความคิดไม่เลวเลย
เพราะเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกธรรมอันประเสริฐทั้งหลาย
เราได้บรรลุธรรมนั้นแล้ว

๑๐. ปุณณมาสเถรคาถา
ภาษิตของพระปุณณมาสเถระ
ทราบว่า ท่านพระปุณณมาสเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๐] ผู้ที่บรรลุความรู้สูงสุด๑ เป็นผู้สงบระงับ สำรวมตนแล้ว
ไม่ข้องติดในธรรมทั้งหลายทั้งปวง
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งโลก๒
นับว่าได้กำจัดความเพ่งเล็งคือตัณหาในโลกนี้และโลกหน้าเสียได้
ปฐมวรรค จบ

เชิงอรรถ :
๑ บรรลุนิพพานด้วยมรรคญาณ (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๐/๘๐)
๒ อุปาทานขันธ์ ๕ (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๐/๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๒. มหาวัจฉเถรคาถา
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. พระสุภูติเถระ ๒. พระมหาโกฏฐิตเถระ
๓. พระกังขาเรวตเถระ ๔. พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
๕. พระทัพพบุตรเถระ ๖. พระสีตวนิยเถระ
๗. พระภัลลิยเถระ ๘. พระวีรเถระ
๙. พระปิลินทวัจฉเถระ ๑๐. พระปุณณมาสเถระ

๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. จูฬวัจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระจูฬวัจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระจูฬวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๑] ภิกษุที่มากด้วยความปราโมทย์ในธรรม
อันพระพุทธเจ้าทรงประกาศแล้ว
พึงบรรลุสันตบท๑อันเป็นธรรมเข้าไปสงบระงับสังขาร เป็นสุข

๒. มหาวัจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระมหาวัจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระมหาวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๒] ภิกษุมีพลังปัญญา สมบูรณ์ด้วยศีลและข้อปฏิบัติ
มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ
ฉันอาหารพออยู่ได้ ปราศจากราคะ๒
พึงรอเวลาเป็นที่ดับขันธปรินิพพานในพระศาสนานี้

เชิงอรรถ :
๑ นิพพาน (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๑/๘๔)
๒ ความกำหนัดในกามคุณ (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๒/๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๕. กุณฑธานเถรคาถา
๓. วนวัจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระวนวัจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระวนวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๓] ภูเขาหินหลากหลายมีสีดังเมฆครื้ม งามเรืองรอง
แหล่งน้ำเย็นใสสะอาด ดารดาษด้วยแมลงค่อมทอง๑
ช่างชวนให้เรารื่นรมย์ใจเสียจริง

๔. วนวัจฉเถรสามเณรคาถา
ภาษิตของสามเณรของพระวนวัจฉเถระ
ทราบว่าสามเณรของท่านพระวนวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๔] พระอุปัชฌาย์ได้กล่าวกับเราว่า
สีวกะ เราจะไปจากที่นี่ กายเราอยู่บ้าน (แต่)ใจเราอยู่ป่า
แม้ลุกไม่ไหว เราก็จะไป ผู้รู้แจ้งหาข้องอยู่ไม่

๕. กุณฑธานเถรคาถา
ภาษิตของพระกุณฑธานเถระ
ทราบว่า ท่านพระกุณฑธานเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๕] ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พึงละสังโยชน์เบื้องสูง ๕
พึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุผู้ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง๒ ๕ ประการได้แล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้ามโอฆะ๓ได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ จำพวกแมลงทับ (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๓/๘๙)
๒ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๕/๑๐๐)
๓ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา (ขุ.เถร.อ. ๑/๑๕/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๘. สิงคาลเถรคาถา
๖. เพลัฏฐสีสเถรคาถา
ภาษิตของพระเพลัฏฐสีสเถระ
ทราบว่า ท่านพระเพลัฏฐสีสเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๖] โคอาชาไนย เจริญเต็มที่เทียมไถแล้ว
ย่อมลากไถไปได้โดยไม่ลำบาก ฉันใด
เราเมื่อได้ความสุข ปราศจากอามิส๑เจือปนแล้ว
วันคืนทั้งหลาย ย่อมผ่านพ้นเราไปโดยไม่ยาก ฉันนั้น

๗. ทาสกเถรคาถา
ภาษิตของพระทาสกเถระ
ทราบว่า ท่านพระทาสกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๗] เมื่อใด บุคคลผู้ถูกความง่วงเหงาครอบงำบริโภคมาก
ชอบแต่นอนกลิ้งเกลือกไปมา
เมื่อนั้น เขาย่อมมีปัญญาเฉื่อยชา ชอบเข้าห้องเป็นอาจิณ
เหมือนสุกรอ้วนที่เขาขุนด้วยเศษอาหาร (นอนกลิ้งเกลือกไปมา)

๘. สิงคาลเถรคาถา
ภาษิตของพระสิงคาลเถระ
ทราบว่า ท่านพระสิงคาลเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๘] ภิกษุอยู่ในป่าเภสกฬาวัน พิจารณาแผ่นดินคืออัตภาพนี้
ด้วยเข้าใจว่า เป็นกระดูกล้วน เป็นอารมณ์
ย่อมชื่อว่าเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า
เราเข้าใจว่า ท่านรูปนั้นเห็นจะละกามราคะได้เร็วพลันแน่แท้

เชิงอรรถ :
๑ ความสุขจากผลสมาบัติที่ไม่เจือด้วยอามิส ๓ คือ อามิสคือกาม อามิสคือโลก อามิสคือวัฏฏะ
(ขุ.เถร.อ. ๑/๑๖/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรค
๙. กุฬเถรคาถา
ภาษิตของพระกุฬเถระ
ทราบว่า ท่านพระกุฬเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๑๙] พวกคนไขน้ำก็ทำหน้าที่ไขน้ำ
พวกช่างทำศรก็ดัดลูกศร
พวกช่างไม้ก็ถากไม้
พวกมีวัตรดีก็ฝึกตน

๑๐. อชิตเถรคาถา
ภาษิตของพระอชิตเถระ
ทราบว่า ท่านพระอชิตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๐] เราไม่มีความกลัวตาย
ไม่มีความเยื่อใยในชีวิต
เราจะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
ละทิ้งร่างกายเราไป
ทุติยวรรค จบ

รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระจูฬวัจฉเถระ ๒. พระมหาวัจฉเถระ
๓. พระวนวัจฉเถระ ๔. พระสีวกเถระ
๕. พระกุณฑธานเถระ ๖. พระเพลัฏฐสีสเถระ
๗. พระทาสกเถระ ๘. พระสิงคาลเถระ
๙. พระกุฬเถระ ๑๐. พระอชิตเถระ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๓. โคสาลเถรคาถา
๓. ตติยวรรค
หมวดที่ ๓
๑. นิโครธเถรคาถา
ภาษิตของนิโครธเถระ
ทราบว่า ท่านพระนิโครธเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๑] เราไม่กลัวภัย
พระศาสดาของเราทั้งหลายทรงเฉียบแหลมในอมตธรรม
ภิกษุทั้งหลายย่อมดำเนินตามหนทางที่ไม่มีภัย

๒. จิตตกเถรคาถา
ภาษิตของพระจิตตกเถระ
ทราบว่า ท่านพระจิตตกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๒] นกยูงทั้งหลาย มีขนคอเขียวงดงาม มีหงอนสวย
ร้องเซ็งแซ่อยู่ในป่าการวี
นกยูงเหล่านั้นพากันร้องเซ็งแซ่ในยามมีลมหนาวเจือฝน
ย่อมกระตุ้นเตือนผู้เจริญฌานซึ่งหลับอยู่ให้ตื่นขึ้น

๓. โคสาลเถรคาถา
ภาษิตของพระโคสาลเถระ
ทราบว่า ท่านพระโคสาลเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๓] เราฉันข้าวมธุปายาส๑ ใต้พุ่มไผ่
พิจารณาถึงความเกิดและความเสื่อมของขันธ์ทั้งหลายโดยเคารพ
จะกลับไปสู่สานุบรรพตที่เราเคยอยู่ แล้วเพิ่มพูนวิเวกต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมสด เจือด้วยของหวานมี น้ำผึ้งเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๑/๒๓/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. อภัยเถรคาถา
๔. สุคันธเถรคาถา
ภาษิตของพระสุคันธเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุคันธเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๔] ภิกษุบวชยังไม่ทันครบพรรษา
มองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
บรรลุวิชชา๑ ๓ แล้ว
ได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

๕. นันทิยเถรคาถา
ภาษิตของพระนันทิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระนันทิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๕] มารผู้มีกรรมหยาบช้าและมีชาติเลวทราม
ท่านเบียดเบียนภิกษุผู้มีจิตบรรลุอรหัตตผล
สว่างไสวด้วยญาโณภาส๒เป็นนิตย์เช่นนั้น
จะได้รับทุกข์มหันต์

๖. อภัยเถรคาถา
ภาษิตของพระอภัยเถระ
ทราบว่า ท่านพระอภัยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๖] เพราะเราได้ฟังวาจาสุภาษิตของพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์
จึงได้รู้แจ้งธรรมอันละเอียดยิ่ง
ดุจบุคคลยิงปลายขนทรายด้วยลูกศร

เชิงอรรถ :
๑ ระลึกชาติได้, ตาทิพย์, สิ้นอาสวะ (ขุ.เถร.อ. ๑/๒๔/๑๒๔)
๒ อรหัตตมรรคญาณ (ขุ.เถร.อ. ๑/๒๕/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑๐. อุตติยเถรคาถา
๗. โลมสกังคิยเถรคาถา
ภาษิตของพระโลมสกังคิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระโสมสกังคิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๗] เราจะใช้อกฝ่าหญ้าแพรก หญ้าคา หญ้าดอกเลา หญ้าแฝก
หญ้ามุงกระต่าย และหญ้าปล้องเพิ่มพูนวิเวก

๘. ชัมพุคามิกปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระชัมพุคามิกบุตรเถระ
ทราบว่า ท่านพระชัมพุคามิกบุตรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๘] ท่านยังขวนขวายประดับตกแต่งด้วยเสื้อผ้าอยู่หรือไม่
ยังยินดีประดับประดาร่างกายอยู่หรือไม่
ท่านทำกลิ่นศีลให้ขจรขจายไปอยู่หรือไม่
คนทุศีลนอกนี้ไม่อาจทำกลิ่นศีลให้ขจรขจายไปได้

๙. หาริตเถรคาถา
ภาษิตของพระหาริตเถระ
ทราบว่า พระหาริตเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๒๙] หาริตะ เธอจงยกตนขึ้น เธอจงทำจิตให้ตรง
เหมือนช่างศรดัดศรให้ตรง แล้วทำลายอวิชชาเสีย

๑๐. อุตติยเถรคาถา
ภาษิตของพระอุตติยเถระ
ทราบว่า ท่านพระอุตติยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๐] เมื่ออาพาธเกิดขึ้นแก่เรา เราก็ได้สติว่า
อาพาธเกิดแก่เราแล้ว เวลานี้เราไม่ควรประมาท
ตติยวรรค จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๒. สุปปิยเถรคาถา
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระนิโครธเถระ ๒. พระจิตตกเถระ
๓. พระโคสาลเถระ ๔. พระสุคันธเถระ
๕. พระนันทิยเถระ ๖. พระอภัยเถระ
๗. พระโลมสกังคิยเถระ ๘. พระชัมพุคามิกบุตรเถระ
๙. พระหาริตเถระ ๑๐. พระอุตติยเถระ

๔. จตุตถวรรค
หมวดที่ ๔
๑. คหุรตีริยเถรคาถา
ภาษิตของคหุรตีริยเถระ
ทราบว่า ท่านพระคหุรตีริยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๑] บุคคลถูกเหลือบและยุงกัดในป่าใหญ่
พึงเป็นผู้มีสติอดกลั้นในอันตรายนั้น
เหมือนช้างในสงคราม

๒. สุปปิยเถรคาถา
ภาษิตของพระสุปปิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุปปิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๒] บุคคลผู้มีความชรา
เพียรเผาผลาญกิเลสอยู่
พึงบรรลุนิพพานอันปราศจากความแก่
ปราศจากอามิส
เป็นธรรมสงบเกษมจากโยคะ (และ)ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๕. สามัญญกานิเถรคาถา
๓. โสปากเถรคาถา
ภาษิตของพระโสปากเถระ
ทราบว่า ท่านพระโสปากเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๓] บุคคลมีอัธยาศัยประกอบด้วยเมตตา
ในบุตรคนเดียวที่น่ารัก ฉันใด
ภิกษุพึงมีอัธยาศัยประกอบด้วยเมตตา
ในสัตว์ทั้งปวงในที่ทุกแห่ง ฉันนั้น

๔. โปสิยเถรคาถา
ภาษิตของพระโปสิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระโปสิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๔] หญิงเหล่านี้ไม่เข้าใกล้เป็นการดี
แต่พอเข้าใกล้ ก็จักก่อความพินาศให้เนืองนิตย์
เราออกจากป่ามาสู่บ้าน จากนั้นก็เข้าไปยังเรือน
เราชื่อโปสิยะ ไม่บอกลาใคร ลุกจากเตียงหลีกหนีไป

๕. สามัญญกานิเถรคาถา
ภาษิตของพระสามัญญกานิเถระ
ทราบว่า ท่านพระสามัญญกานิเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๕] บุคคลผู้ต้องการนิรามิสสุข
ประพฤติให้สมควรแก่การได้ความสุขนั้น ย่อมได้ความสุข
ผู้บำเพ็ญอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางสายตรง
ไม่คดเคี้ยว เพื่อบรรลุอมตบท๑
ย่อมได้เกียรติคุณและเจริญยศ

เชิงอรรถ :
๑ ธาตุที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง (ขุ.เถร.อ. ๑/๓๕/๑๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๘. ควัมปติเถรคาถา
๖. กุมาปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระกุมาบุตรเถระ
ทราบว่า ท่านพระกุมาบุตรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๖] การฟังเป็นความดี
การประพฤติตนเป็นคนมักน้อยเป็นความดี
การปฏิบัติเพื่อละกามคุณ ๕ ทุกเมื่อเป็นความดี
การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความดี
การปฏิบัติตามโอวาทโดยเคารพเป็นความดี
กิจมีการฟังเป็นต้นเป็นเครื่องหมายความเป็นสมณะผู้หมดความกังวล

๗. กุมาปุตตเถรสหายกเถรคาถา
ภาษิตของพระกุมาบุตรสหายกเถระ
ทราบว่า ท่านพระกุมาบุตรเถรสหายกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๗] ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่สำรวมจิต ท่องเที่ยวไปตามชนบทต่าง ๆ
ย่อมทำสมาธิคลาดเคลื่อน
การท่องเที่ยวไปยังแว่นแคว้นจะช่วยอะไรได้เล่า
เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงกำจัดความแข่งดี
ไม่พึงให้มิจฉาวิตกและกิเลสมีตัณหาเป็นต้นครอบงำ เจริญฌาน

๘. ควัมปติเถรคาถา
ภาษิตของพระควัมปติเถระ
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญพระควัมปติเถระด้วยพระคาถาดังนี้ว่า
[๓๘] เทวดาทั้งหลายพากันนอบน้อมพระควัมปติ
ผู้ห้ามแม่น้ำสรภูให้หยุดไหลได้ด้วยฤทธิ์
ไม่ติดอยู่ในกิเลสและตัณหาไร ๆ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งอะไรทั้งสิ้น
ข้ามกิเลสเครื่องข้องทั้งหมดเสียได้
เป็นมหามุนี ผู้บรรลุนิพพานแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรค
๙. ติสสเถรคาถา
ภาษิตของพระติสสเถระ
ทราบว่า ท่านพระติสสเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๓๙] ภิกษุพึงมีสติพยายามละกามราคะ
เหมือนคนพยายามใช้ศัสตรา
ตัดเครื่องประหารที่ชื่อว่าโอมัฏฐะ
เมื่อศีรษะถูกไฟไหม้

๑๐. วัฑฒมานเถรคาถา
ภาษิตของพระวัฑฒมานเถระ
ทราบว่า ท่านพระวัฑฒมานเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๐] ภิกษุพึงมีสติพยายามละภวราคะ
เหมือนคนพยายามใช้ศัสตรา
ตัดเครื่องประหารที่ชื่อว่าโอมัฏฐะ
เมื่อศีรษะถูกไฟไหม้
จตุตถวรรค จบ

รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พระคหุรตีริยเถระ ๒. พระสุปปิยเถระ
๓. พระโสปากเถระ ๔. พระโปสิยเถระ
๕. พระสามัญญกานิเถระ ๖. พระกุมาบุตรเถระ
๗. พระกุมาบุตรเถรสหายกเถระ ๘. พระควัมปติเถระ
๙. พระติสสเถระ ๑๐. พระวัฑฒมานเถระ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๓. สุมังคลเถรคาถา
๕. ปัญจมวรรค
หมวดที่ ๕
๑. สิริวัฑฒเถรคาถา
ภาษิตของพระสิริวัฑฒเถระ
ทราบว่า ท่านพระสิริวัฑฒเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๑] ภิกษุผู้เป็นบุตรของพระพุทธองค์ผู้คงที่ หาผู้เสมอเหมือนมิได้
ไปเข้าฌานอยู่ตามซอกเขา เหมือนสายฟ้าแลบส่องลอดเข้าไป
ตามช่องเขาที่ชื่อเวภาระและปัณฑวะ

๒. ขทิรวนิยเถรคาถา
ภาษิตของพระขทิรวนิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระขทิรวนิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๒] สามเณรจาละ สามเณรอุปจาละ สามเณรสีสูปจาละ
พวกเธอครองสติมั่นคงอยู่หรือเปล่า
หลวงลุง๑ของพวกเธอ ผู้เปรียบเหมือนนายขมังธนู
ผู้สามารถยิงทะลวงปลายขนทรายได้
เพราะมีปัญญาหลักแหลมว่องไวรู้แจ้งตลอดมาถึงแล้ว

๓. สุมังคลเถรคาถา
ภาษิตของพระสุมังคลเถระ
ทราบว่า ท่านพระสุมังคลเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๓] เราพ้นดีแล้ว พ้นแล้วด้วยดี
พ้นดีแล้วจากการหลังค่อม ๓ กรณี คือ

เชิงอรรถ :
๑ พระสารีบุตรเถระ (ขุ.เถร.อ. ๑/๔๒/๑๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๕. รมณียวิหารีเถรคาถา
จากการเกี่ยวข้าว การไถนา และการถางหญ้า
แม้ว่างานเกี่ยวหญ้าเป็นต้น จะมีอยู่ในที่ใกล้ ๆ นี้ก็ตาม
แต่ก็ไม่เหมาะ ไม่ควรแก่เราทั้งสิ้น
เพียรเพ่งเถิด สุมังคละ จงเผาเถิด สุมังคละ
เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เถิด สุมังคละ

๔. สานุเถรคาถา
ภาษิตของพระสานุเถระ
ทราบว่า ท่านพระสานุเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๔] โยมแม่ ชนทั้งหลายร่ำไห้ถึงคนที่ตายไปแล้ว
หรือยังมีชีวิตอยู่ (แต่)หาไม่พบ
โยมแม่ โยมยังแลเห็นอาตมามีชีวิตอยู่
ทำไมจึงร่ำไห้ถึงอาตมาเล่า โยมแม่

๕. รมณียวิหารีเถรคาถา
ภาษิตของพระรมณียวิหารีเถระ
ทราบว่า ท่านพระรมณียวิหารีเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๕] ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าว่า
เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยทัศนะ๑
เพราะพลั้งพลาดแล้วสามารถตั้งตนได้
เหมือนโคอาชาไนยเจริญเต็มที่
พลาดล้มแล้วลุกขึ้นยืนใหม่ได้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความเห็นชอบ (ขุ.เถร.อ. ๑/๔๕/๑๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑. เอกกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๘. สัญชยเถรคาถา
๖. สมิทธิเถรคาถา
ภาษิตของพระสมิทธิเถระ
ทราบว่า ท่านพระสมิทธิเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๖] เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา
มีสติปัญญาเจริญ มีจิตมั่นคงดีแล้ว
เจ้ามารร้ายเอ๋ย เจ้าจงบันดาลรูปแปลกประหลาดต่าง ๆ ตามใจ
ชอบเถิด แต่จะไม่อาจทำให้เราสะทกสะท้านได้เลย

๗. อุชชยเถรคาถา
ภาษิตของพระอุชชยเถระ
ทราบว่า ท่านพระอุชชยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๗] ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ทรงแกล้วกล้า
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์
พระองค์ทรงหลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งมวล
ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในพระโอวาทของพระองค์
จึงอยู่อย่างผู้ปราศจากอาสวกิเลส

๘. สัญชยเถรคาถา
ภาษิตของพระสัญชยเถระ
ทราบว่า ท่านพระสัญชยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[๔๘] ตั้งแต่เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ความดำริอันต่ำทราม ประกอบด้วยโทษ
ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๓๒๐ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker