ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก อัฏฐก นวกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๑.ปฐมปิยสูตร

พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปัณณาสก์
๑. ธนวรรค
หมวดว่าด้วยอริยทรัพย์
๑. ปฐมปิยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้เป็นที่รัก สูตรที่ ๑

[๑] ข้าพเจ้า๑ ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึง
ได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้ และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้หมายถึง พระอานนท์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๑.ปฐมปิยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่
พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มุ่งลาภ ๒. เป็นผู้มุ่งสักการะ
๓. เป็นผู้มุ่งชื่อเสียง ๔. เป็นผู้ไม่มีหิริ (ความอายบาป)
๕. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ (ความกลัวบาป)
๖. เป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว ๗. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็น
ที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ
เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เป็นผู้ไม่มุ่งลาภ ๒. เป็นผู้ไม่มุ่งสักการะ
๓. เป็นผู้ไม่มุ่งชื่อเสียง ๔. เป็นผู้มีหิริ
๕. เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๖. เป็นผู้มักน้อย
๗. เป็นสัมมาทิฏฐิ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นทื่
พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ปฐมปิยสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๒.ทุติยปิยสูตร
๒. ทุติยปิยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้เป็นที่รัก สูตรที่ ๒
[๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เป็นผู้มุ่งลาภ ๒. เป็นผู้มุ่งสักการะ
๓. เป็นผู้มุ่งชื่อเสียง ๔. เป็นผู้ไม่มีหิริ
๕. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๖. เป็นผู้มีความริษยา
๗. เป็นผู้มีความตระหนี่

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ
เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เป็นผู้ไม่มุ่งลาภ ๒. เป็นผู้ไม่มุ่งสักการะ
๓. เป็นผู้ไม่มุ่งชื่อเสียง ๔. เป็นผู้มีหิริ
๕. เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๖. เป็นผู้ไม่มีความริษยา
๗. เป็นผู้ไม่มีความตระหนี่

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่
พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ทุติยปิยสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๓.สังขิตตพลสูตร
๓. สังขิตตพลสูตร
ว่าด้วยพละโดยย่อ
[๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี ฯลฯ๑
ภิกษุทั้งหลาย พละ (กำลัง) ๗ ประการนี้
พละ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัทธาพละ (กำลังคือศรัทธา)
๒. วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ)
๓. หิริพละ (กำลังคือหิริ)
๔. โอตตัปปพละ (กำลังคือโอตตัปปะ)
๕. สติพละ (กำลังคือสติ)
๖. สมาธิพละ (กำลังคือสมาธิ)
๗. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา)

ภิกษุทั้งหลาย พละ ๗ ประการนี้แล
ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตมีพละ ๗ ประการนี้ คือ
สัทธาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ
สติพละ สมาธิพละ และปัญญาพละ
ย่อมอยู่อย่างเป็นสุข

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในข้อ ๑ (ปฐมปิยสูตร) หน้า ๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๔.วิตถตพลสูตร
เลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย
เห็นแจ้งอรรถด้วยปัญญา๑
ความหลุดพ้นแห่งใจย่อมมีได้
เหมือนความดับไปแห่งประทีป ฉะนั้น
สังขิตตพลสูตรที่ ๓ จบ

๔. วิตถตพลสูตร๒
ว่าด้วยพละโดยพิสดาร
[๔] ภิกษุทั้งหลาย พละ ๗ ประการนี้
พละ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัทธาพละ ๒. วิริยพละ
๓. หิริพละ ๔. โอตตัปปพละ
๕. สติพละ ๖. สมาธิพละ
๗. ปัญญาพละ

สัทธาพละ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

เชิงอรรถ :
๑ เลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย หมายถึงพิจารณาเห็นธรรมคืออริยสัจ ๔
เห็นแจ้งอรรถด้วยปัญญา หมายถึงเห็นแจ้งสัจธรรมด้วยปัญญาในอริยมรรค (องฺ.สตฺตก.อ.๓/๑-๕/๑๕๙)
๒ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๑/๒๒๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๑๖, องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒/๒-๕, ๑๔/๑๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๔.วิตถตพลสูตร
โดยชอบ ฯลฯ๑ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า๒ เป็นพระ
ผู้มีพระภาค‘๓ นี้เรียกว่า สัทธาพละ
วิริยพละ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปรารภความเพียร๔ เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อ
ให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง๕ มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลายอยู่ นี้เรียกว่า วิริยพละ
หิริพละ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต ละอายต่อการประกอบบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่า หิริพละ
โอตตัปปพละ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต
วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการประกอบบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่า
โอตตัปปพละ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๒๙ (อักขณสูตร) หน้า ๒๗๖ ในเล่มนี้
๒ ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เอง และทรงสอนผู้อื่นให้รู้ตาม
๓ ชื่อว่า พระผู้มีพระภาค เพราะ (๑) ทรงมีโชค (๒) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (๓) ทรงประกอบด้วยภคธรรม
๖ ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน โลกุตตรธรรม ยศ สิริ ความสำเร็จประโยชน์ตามต้องการ
และความเพียร) (๔) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (๕) ทรงเสพอริยธรรม (๖) ทรงคายตัณหาในภพทั้งสาม
(๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (๘) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (๙) ทรงมีส่วนแห่งปัจจัย ๔ เป็นต้น
(ตามนัย วิ.อ.๑/๑/๑๐๓-๑๑๘, สารตฺถ.ฏีกา ๑/๒๗๐, วิสุทธิ. ๑/๑๒๔-๑๔๕/๒๑๕-๒๓๒)
๔ ปรารภความเพียรในที่นี้หมายถึงทำความเพียรทางกายและทางใจไม่ย่อหย่อน (องฺ.เอกก.อ. ๑/๓๙๔/๔๔๐,
องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒/๑)
๕ มีความเข้มแข็ง ในที่นี้หมายถึงมีกำลังความเพียร (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒/๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๔.วิตถตพลสูตร
สติพละ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่อง
รักษาตน๑อย่างยิ่ง ระลึกถึงสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้ นี้เรียกว่า สติพละ
สมาธิพละ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ๒ บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์
ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่า สมาธิพละ
ปัญญาพละ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ๓ ชำแรกกิเลสให้ถึงความ
สิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ปัญญาพละ
ภิกษุทั้งหลาย พละ ๗ ประการนี้แล
ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตมีพละ ๗ ประการนี้ คือ
สัทธาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ
สติพละ สมาธิพละ และปัญญาพละ
ย่อมอยู่อย่างเป็นสุข

เชิงอรรถ :
๑ สติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน (เนปกฺก) เป็นชื่อของปัญญาที่เป็นอุปการะแก่สติ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔/๔)
๒ ดูความเต็มในสัตตกนิบาต ข้อ ๕๓ (นันทมาตาสูตร) หน้า ๙๕ ในเล่มนี้
๓ ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ แยกอธิบายดังนี้ คือ
ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็น ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาปัญญา และมัคคปัญญา
ความเกิดและความดับ ในที่นี้หมายถึงความเกิดและความดับแห่งเบญจขันธ์ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา
สังขาร และวิญญาณ
อันเป็นอริยะ ในที่นี้หมายถึงบริสุทธิ์อยู่ห่างไกลจากกิเลสทั้งหลายด้วยวิกขัมภนปหานะ (การละด้วยการ
ข่มไว้) และด้วยสมุจเฉทปหานะ (การละด้วยการตัดขาด) (องฺ.ปญฺจก.อ.๓/๒/๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๕.สังขิตตธนสูตร
เลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย
เห็นแจ้งอรรถด้วยปัญญา
ความหลุดพ้นแห่งใจย่อมมีได้
เหมือนความดับไปแห่งประทีป ฉะนั้น
วิตถตพลสูตรที่ ๔ จบ

๕. สังขิตตธนสูตร
ว่าด้วยอริยทรัพย์โดยย่อ
[๕] ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้
ทรัพย์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัทธาธนะ(ทรัพย์คือศรัทธา) ๒. สีลธนะ (ทรัพย์คือศีล)
๓. หิริธนะ (ทรัพย์คือหิริ) ๔. โอตตัปปธนะ (ทรัพย์คือโอตตัปปะ)
๕. สุตธนะ (ทรัพย์คือสุตะ) ๖. จาคธนะ (ทรัพย์คือจาคะ)
๗. ปัญญาธนะ (ทรัพย์คือปัญญา)

ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล
ผู้ใดจะเป็นสตรี หรือบุรุษก็ตาม
มีทรัพย์ ๗ ประการนี้ คือ สัทธาธนะ
สีลธนะ หิริธนะ โอตตัปปธนะ
สุตธนะ จาคธนะ และปัญญาธนะ
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นคนไม่ขัดสน’
ชีวิตของเขาก็ไม่สูญเปล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๖.วิตถตธนสูตร
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา
เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ควรหมั่นประกอบศรัทธา ศีล
ความเลื่อมใสและการเห็นธรรม๑
สังขิตตธนสูตรที่ ๕ จบ

๖. วิตถตธนสูตร๒
ว่าด้วยอริยทรัพย์โดยพิสดาร
[๖] ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้
ทรัพย์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัทธาธนะ ๒. สีลธนะ
๓. หิริธนะ ๔. โอตตัปปธนะ
๕. สุตธนะ ๖. จาคธนะ
๗. ปัญญาธนะ

สัทธาธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของ
ตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ฯลฯ๓ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ นี้เรียกว่า
สัทธาธนะ

เชิงอรรถ :
๑ การเห็นธรรม ในที่นี้หมายถึงเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๒/๓๔๙)
และ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๕๒/๘๗
๒ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑, องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๔๗/๗๖
๓ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๒๙ (อักขณสูตร) หน้า ๒๗๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๖.วิตถตธนสูตร
สีลธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๑ เป็นผู้เว้นขาด
จากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย๒อันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เรียกว่า
สีลธนะ
หิริธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต ละอายต่อการประกอบบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่า หิริธนะ
โอตตัปปธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต
วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการประกอบบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่า
โอตตัปปธนะ
สุตธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นพหูสูต ทรงสุตะ๓ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมาก
ซึ่งธรรมทั้งหลายที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงาม

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มและความพิสดารในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๔๑ (สังขิตตุโปสถสูตร) หน้า ๓๐๓-๓๐๔ ในเล่มนี้
๒ สุราและเมรัย หมายถึงสุรา ๕ อย่าง คือ (๑) สุราแป้ง (๒) สุราขนม (๓) สุราข้าวสุก (๔) สุราใส่เชื้อ
(๕) สุราผสมเครื่องปรุง และเมรัย ๕ อย่าง คือ (๑) เครื่องดองดอกไม้ (๒) เครื่องดองผลไม้ (๓) เครื่องดอง
น้ำอ้อย (๔) เครื่องดองผสมเครื่องปรุง (๕) เครื่องดองน้ำผึ้ง (ขุ.ขุ.อ. ๒/๑๗-๑๘)
ส่วนใน องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๗๙/๖๙, องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๑๗๙/๖๖ อธิบายว่า เมรัยมี ๔ อย่าง กล่าวคือ
ไม่มีเครื่องดองผสมเครื่องปรุง
คำว่า ‘เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย’ อาจแปลได้อีกว่า ‘เว้นขาดจากการเสพสุรา
เมรัยและของมึนเมา’ ตามนัยนี้คือ ‘ตทุภยเมว (สุราเมรยํ) มทนียฏฺเฐน มชฺชํ, ยํ วา ปน�ฺ�มฺปิ กิ�ฺจิ
มทนียํ’ แปลว่า สุราและเมรัยทั้งสองนั้นแหละ เป็นของมึนเมา เพราะเป็นเหตุให้เมา และยังมีสิ่งอื่นอีกที่
เป็นของมึนเมา (ขุ.ขุ.อ. ๒/๑๘)
๓ สุตะ ในที่นี้หมายถึงนวังคสัตถุศาสน์ คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ คือ (๑)สุตตะ ได้แก่ อุภโตวิภังค์
นิทเทส ขันธกะ ปริวาร พระสูตรในสุตตนิบาต และพุทธวจนะอื่น ๆ ที่มีชื่อว่าสุตตะ หรือสุตตันตะ
(๒) เคยยะ ได้แก่ ความที่มีร้อยแก้ว และร้อยกรองผสมกัน หมายถึงพระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะ
สคาถวรรค ในสังยุตตนิกาย (๓) เวยยากรณะ ได้แก่ ความร้อยแก้วล้วน หมายเอาอภิธรรมปิฎกทั้งหมด
พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพระพุทธพจน์อื่นใดที่ไม่จัดเข้าในองค์ ๘ ข้อที่เหลือ (๔) คาถา ได้แก่ ความ
ร้อยกรองล้วน หมายเอาธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาตที่ไม่มีชื่อว่าเป็นสูตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๖.วิตถตธนสูตร
ในที่สุด๑ ประกาศพรหมจรรย์๒พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์๓ครบถ้วน
ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ๔ นี้เรียกว่า สุตธนะ
จาคธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม๕ ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทาน
อยู่ครองเรือน นี้เรียกว่า จาคธนะ

เชิงอรรถ :
(๕) อุทาน ได้แก่ พระคาถาที่ทรงเปล่งด้วยพระทัยอันสหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตด้วยญาณพร้อมทั้ง
ข้อความอันประกอบอยู่ด้วย รวมเป็นพระสูตร ๘๒ สูตร (๖) อิติวุตตกะ ได้แก่ พระสูตร ๑๑๐ สูตรที่
ตรัสโดยนัยว่า “วุตฺตํ เหตํ ภควตา” (๗) ชาตกะ ได้แก่ ชาดก ๕๕๐ เรื่อง มีอปัณณกชาดก เป็นต้น
(๘) อัพภูตธรรม ได้แก่ พระสูตรที่ว่าด้วยเหตุอัศจรรย์ทุกสูตร เช่นที่ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความเป็น
อัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้ มีอยู่ในอานนท์” ดังนี้ เป็นต้น (๙) เวทัลละ ได้แก่ พระสูตรแบบถาม
ตอบซึ่งผู้ถามได้ทั้งความรู้และความพอใจถามต่อๆ ไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร
สักกปัญหสูตร สังขารภาชนิยสูตร และมหาปุณณมสูตร (องฺ.จตุกฺก.อ.๒/๖/๒๘๒, วิ.อ.๑/๒๖) และดู
องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๖/๙-๑๑, องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๗๓/๑๒๓
๑ มีความงามในเบื้องต้น หมายถึงศีล มีความงามในท่ามกลาง หมายถึงอริยมรรค และ มีความงาม
ในที่สุด หมายถึงพระนิพพาน (ที.สี.อ. ๑/๑๙๐/๑๕๙)
๒ พรหมจรรย์ หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย ๑๐ ประการ คือ ทาน (การให้) เวยยาวัจจะ (การ
ขวนขวายช่วยเหลือ) ปัญจสีละ (ศีลห้า) อัปปมัญญา (การประพฤติพรหมวิหารอย่างไม่มีขอบเขต)
เมถุนวิรัติ (การงดเว้นจากการเสพเมถุน) สทารสันโดษ (ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน) วิริยะ (ความเพียร)
อุโปสถังคะ (องค์อุโบสถ) อริยมรรค (ทางอันประเสริฐ) และศาสนา (พระพุทธศาสนา) ในที่นี้หมายถึงศาสนา
(ที.สี.อ. ๑/๑๙๐/๑๖๐-๑๖๒)
๓ บริสุทธิ์ หมายถึงไม่มีสิ่งเป็นโทษที่จะต้องนำออก บริบูรณ์ หมายถึงเต็มที่แล้วโดยไม่ต้องนำไปเพิ่มอีก
(ตามนัย วิ.อ. ๑/๑/๑๒๑)
๔ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ หมายถึงรู้แจ้งธรรมโดยผลและเหตุด้วยปัญญา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๒/๓๐๐)
๕ มีฝ่ามือชุ่ม หมายถึงมีมือล้างสะอาดแล้วด้วยน้ำคือศรัทธา ถ้าคนไม่มีศรัทธาแม้จะล้างถึง ๗ ครั้งก็ชื่อว่า
มีมือยังไม่ได้ล้าง มีมือสกปรก แต่คนมีศรัทธา แม้มีมือสกปรกก็ชื่อว่ามีมือสะอาดแล้ว (องฺ.ติก.อ. ๒/๔๒/
๑๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๖.วิตถตธนสูตร
ปัญญาธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา ฯลฯ๑
ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ปัญญาธนะ
ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล
ผู้ใดจะเป็นสตรี หรือบุรุษก็ตาม
มีทรัพย์ ๗ ประการนี้ คือ สัทธาธนะ
สีลธนะ หิริธนะ โอตตัปปธนะ
สุตธนะ จาคธนะ และปัญญาธนะ
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นคนไม่ขัดสน’
ชีวิตของเขาก็ไม่สูญเปล่า
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา
เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ควรหมั่นประกอบศรัทธา ศีล
ความเลื่อมใสและการเห็นธรรม

วิตถตธนสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในข้อ ๔ (วิตถตพลสูตร) หน้า ๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๗.อุคคสูตร
๗. อุคคสูตร
ว่าด้วยมหาอำมาตย์ชื่ออุคคะ
[๗] ครั้งนั้น ราชมหาอำมาตย์ชื่ออุคคะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร๑ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่มิคารเศรษฐีผู้เป็น
หลานของโรหณเศรษฐีนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์มากถึงเพียงนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุคคะ มิคารเศรษฐีผู้เป็นหลานของโรหณเศรษฐี
เป็นผู้มั่งคั่งเพียงไร มีทรัพย์มากเท่าไร มีโภคทรัพย์มากเท่าไร”
อุคคมหาอำมาตย์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เขามีทองแสนหนึ่ง ไม่จำ
ต้องกล่าวถึงเงิน”๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อุคคะ ทรัพย์นั้นมีอยู่จริง เรามิได้กล่าวว่า ทรัพย์นั้น
ไม่มี แต่ทรัพย์นั้นแลเป็นของทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร และทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
อุคคะ ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล เป็นของไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร และ
ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
ทรัพย์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัทธาธนะ ๒. สีลธนะ
๓. หิริธนะ ๔. โอตตัปปธนะ
๕. สุตธนะ ๖. จาคธนะ
๗. ปัญญาธนะ

อุคคะ ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล เป็นของไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร และ
ทายาทผู้ไม่ที่เป็นรัก

เชิงอรรถ :
๑ ที่สมควร (เอกมนฺตํ) ในที่นี้หมายถึงที่เหมาะสมเว้นโทษ ๖ ประการ คือ (๑) ไกลเกินไป (๒) ใกล้เกินไป
(๓) อยู่เหนือลม (๔) อยู่สูงเกินไป (๕) อยู่ตรงหน้าเกินไป (๖) อยู่ข้างหลังเกินไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๖/๑๕)
๒ เงิน ในที่นี้หมายถึงเครื่องเงิน เช่น ถ้วย โถ โอ ชาม ขันน้ำ และเครื่องปูลาด เป็นต้น (องฺ.สตฺตก.อ.
๓/๗/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๘.สัญโญชนสูตร
ผู้ใดจะเป็นสตรี หรือบุรุษก็ตาม
มีทรัพย์ ๗ ประการนี้ คือ สัทธาธนะ
สีลธนะ หิริธนะ โอตตัปปธนะ
สุตธนะ จาคธนะ และปัญญาธนะ
ผู้นั้นแลเป็นคนมีทรัพย์มาก
ใคร ๆ ไม่พึงชนะได้ทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา
เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ควรหมั่นประกอบศรัทธา ศีล
ความเลื่อมใสและการเห็นธรรม
อุคคสูตรที่ ๗ จบ

๘. สัญโญชนสูตร
ว่าด้วยสังโยชน์๑
[๘] ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ (กิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ) ๗ ประการนี้
สังโยชน์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. อนุนยสังโยชน์๒ (สังโยชน์คือความยินดี)
๒. ปฏิฆสังโยชน์ (สังโยชน์คือความยินร้าย)
๓. ทิฏฐิสังโยชน์ (สังโยชน์คือความเห็นผิด)
๔. วิจิกิจฉาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความลังเลสงสัย)
๕. มานสังโยชน์ (สังโยชน์คือความถือตัว)
๖. ภวราคสังโยชน์ (สังโยชน์คือความติดใจในภพ)
๗. อวิชชาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความไม่รู้แจ้ง)

ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ ๗ ประการนี้แล

สัญโญชนสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา ๑๑/๓๓๒/๒๒๓, สํ.ม. ๑๙/๑๘๐-๑๘๑/๕๖-๕๗, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๓/๒๑, อภิ.วิ. (แปล)
๓๕/๙๔๐/๕๙๒,๙๔๙/๖๐๖)
๒ อนุนยสังโยชน์ หมายถึงกามราคสังโยชน์ (องฺ.สตฺตก.อ.๓/๘/๑๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค ๙.ปหานสูตร
๙. ปหานสูตร
ว่าด้วยการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละสังโยชน์
[๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์ ๗
ประการ
ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดอนุนยสังโยชน์
๒. ... ปฏิฆสังโยชน์
๓. ... ทิฏฐิสังโยชน์
๔. ... วิจิกิจฉาสังโยชน์
๕. ... มานสังโยชน์
๖. ... ภวราคสังโยชน์
๗. ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดอวิชชาสังโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์ ๗ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุละอนุนยสังโยชน์ได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้ ละปฏิฆสังโยชน์ได้เด็ดขาด ฯลฯ ทิฏฐิสังโยชน์ ฯลฯ วิจิกิจฉาสังโยชน์ ฯลฯ
มานสังโยชน์ ฯลฯ ภวราคสังโยชน์ ฯลฯ ละอวิชชาสังโยชน์ได้เด็ดขาด ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เมื่อนั้น เราจึงเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ตัดตัณหาได้แล้ว ถอนสังโยชน์
ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้วเพราะละมานะได้โดยชอบ‘๑

ปหานสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงตัดตัณหาได้เด็ดขาดด้วยโลกุตตรมรรค ถอนสังโยชน์ ๑๐ ประการได้ ทำให้วัฏฏทุกข์หยุดการ
หมุนได้ และคำว่า “เพราะละมานะได้” แปลจากบาลีว่า “มานาภิสมยา” ตามนัย วิ.อ. ๑/๙๗ ใช้ใน
ความหมายว่า ‘ละ’ ดังนั้น จึงมีความหมายว่า เพราะรู้ยิ่งคือเห็นและละมานะ ๙ ประการได้ (ม.มู.อ.๑/๒๗/
๙๕, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๗/๓๙๘) และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๗๗/๒๔๙, ๒๕๗/๓๗๔, องฺ.ฉกฺก. (แปล)
๒๒/๑๐๕/๖๒๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๑.ธนวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๑๐. มัจฉริยสูตร
ว่าด้วยมัจฉริยะ
[๑๐] ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ ๗ ประการนี้
สังโยชน์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. อนุนยสังโยชน์ ๒. ปฏิฆสังโยชน์
๓. ทิฏฐิสังโยชน์ ๔. วิจิกิจฉาสังโยชน์
๕. มานสังโยชน์ ๖. อิสสาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความริษยา)

๗. มัจฉริยสังโยชน์ (สังโยชน์คือความตระหนี่)
ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ ๗ ประการนี้แล
มัจฉริยสูตรที่ ๑๐ จบ
ธนวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมปิยสูตร ๒. ทุติยปิยสูตร
๓. สังขิตตพลสูตร ๔. วิตถตพลสูตร
๕. สังขิตตธนสูตร ๖. วิตถตธนสูตร
๗. อุคคสูตร ๘. สัญโญชนสูตร
๙. ปหานสูตร ๑๐. มัจฉริยสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๑.ปฐมอนุสยสูตร
๒. อนุสยวรรค
หมวดว่าด้วยอนุสัย

๑. ปฐมอนุสยสูตร
ว่าด้วยอนุสัย สูตรที่ ๑
[๑๑] ภิกษุทั้งหลาย อนุสัย๑ (กิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน) ๗ ประการนี้
อนุสัย ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กามราคานุสัย (อนุสัยคือความกำหนัดในกาม)
๒. ปฏิฆานุสัย (อนุสัยคือความยินร้าย)
๓. ทิฏฐานุสัย (อนุสัยคือความเห็นผิด)
๔. วิจิกิจฉานุสัย (อนุสัยคือความลังเลสงสัย)
๕. มานานุสัย (อนุสัยคือความถือตัว)
๖. ภวราคานุสัย (อนุสัยคือความติดใจในภพ)
๗. อวิชชานุสัย (อนุสัยคือความไม่รู้แจ้ง)

ภิกษุทั้งหลาย อนุสัย ๗ ประการนี้แล

ปฐมอนุสยสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๒/๒๒๓, สํ.ม. ๑๙/๑๗๖/๕๕, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๔๙/๖๐๕-๖๐๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๒.ทุติยอนุสยสูตร
๒. ทุติยอนุสยสูตร
ว่าด้วยอนุสัย สูตรที่ ๒
[๑๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดอนุสัย
๗ ประการ
ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดอนุสัย ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดกามราคานุสัย
๒. ... ปฏิฆานุสัย
๓. ... ทิฏฐานุสัย
๔. ... วิจิกิจฉานุสัย
๕. ... มานานุสัย
๖. ... ภวราคานุสัย
๗. ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดอวิชชานุสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัดอนุสัย ๗ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุละกามราคานุสัยได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้ ละปฏิฆานุสัยได้เด็ดขาด ฯลฯ ทิฏฐานุสัย ฯลฯ วิจิกิจฉานุสัย ฯลฯ มานานุสัย
ฯลฯ ภวราคานุสัย ฯลฯ ละอวิชชานุสัยได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
เมื่อนั้น ภิกษุนี้เราจึงเรียกว่า ‘ตัดตัณหาได้แล้ว ถอนสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุด
แห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ’
ทุติยอนุสยสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๓.กุลสูตร
๓. กุลสูตร๑
ว่าด้วยตระกูลที่ภิกษุไม่ควรเข้าไปหาและควรเข้าไปหา
[๑๓] ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ ภิกษุยังไม่เคย
เข้าไปหา ก็ไม่ควรเข้าไปหา หรือเข้าไปหาแล้ว ก็ไม่ควรนั่งใกล้
องค์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ตระกูล
๑. ต้อนรับด้วยความไม่เต็มใจ
๒. ไหว้ด้วยความไม่เต็มใจ
๓. ให้อาสนะด้วยความไม่เต็มใจ
๔. ปกปิดของที่มีอยู่
๕. มีของมาก แต่ถวายน้อย
๖. มีของประณีต แต่ถวายของเศร้าหมอง
๗. ถวายโดยไม่เคารพ ไม่ถวายโดยเคารพ
ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล ภิกษุยังไม่เคยเข้า
ไปหา ก็ไม่ควรเข้าไปหา หรือเข้าไปหาแล้ว ก็ไม่ควรนั่งใกล้
ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ ภิกษุยังไม่เคยเข้าไปหา
ควรเข้าไปหา หรือเข้าไปหาแล้ว ควรนั่งใกล้
องค์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ตระกูล
๑. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
๒. ไหว้ด้วยความเต็มใจ
๓. ให้อาสนะด้วยความเต็มใจ
๔. ไม่ปกปิดของที่มีอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ดูนวกนิบาต ข้อ ๑๗ (กุลสูตร) หน้า ๔๖๕-๔๖๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๔.ปุคคลสูตร
๕. มีของมาก ก็ถวายมาก
๖. มีของประณีต ก็ถวายของประณีต
๗. ถวายโดยเคารพ ไม่ถวายโดยไม่เคารพ
ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล ภิกษุยังไม่เคยเข้า
ไปหา ควรเข้าไปหา หรือเข้าไปหาแล้ว ควรนั่งใกล้
กุลสูตรที่ ๓ จบ

๔. ปุคคลสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
[๑๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้๑ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ของโลก
บุคคล ๗ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. ท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุต๒ ๒. ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต๓
๓. ท่านผู้เป็นกายสักขี๔ ๔. ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ๕

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๑๕๐/๙๑, ๓๓๒/๒๒๓, ม.ม. ๑๓/๑๘๒/๑๕๕, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๖/๒๙, อภิ.ปุ. (แปล)
๓๖/๑๕/๑๔๘,๒๐๘/๒๒๙-๒๓๑
๒ ท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน) หมายถึงท่านผู้หลุดพ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติ
และหลุดพ้นจากนามกายด้วยอริยมรรค ได้แก่ พระอรหันต์ผู้บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐาน ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘
ด้วยนามกาย ได้เจโตวิมุตติขั้นอรูปสมาบัติ และสิ้นอาสวะเพราะเห็นด้วยปัญญา เป็นพระอรหันต์ผู้ได้
ปัญญาวิมุตติ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๐, องฺ.นวก.อ. ๓/๔๕/๓๑๖)
๓ ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา) หมายถึงพระอรหันต์ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาล้วนๆ มิได้สัมผัส
วิโมกข์ ๘ แต่สิ้นอาสวะเพราะเห็นด้วยปัญญา (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑)
๔ ท่านผู้เป็นกายสักขี (ผู้เป็นพยานในนามกาย) หมายถึงท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย และอาสวะ
บางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา ได้แก่ พระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไป จนถึงท่านผู้ปฏิบัติ
เพื่อบรรลุพระอรหัตที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑)
๕ ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ (ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ) หมายถึงท่านผู้เข้าใจอริยสัจถูกต้องและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไป
เพราะเห็นด้วยปัญญา ได้แก่ พระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไปจนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อพระอรหัตที่มี
ปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑))

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๕.อุทกูปมาสูตร
๕. ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต๑ ๖. ท่านผู้เป็นธัมมานุสารี๒
๗. ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี๓
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่
ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ปุคคลสูตรที่ ๔ จบ

๕. อุทกูปมาสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้เปรียบด้วยคนตกน้ำ๔
[๑๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เปรียบด้วยคนตกน้ำ ๗ จำพวก มีปรากฏอยู่
ในโลก
บุคคล ๗ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ จมแล้วครั้งเดียว ก็ยังจมอยู่นั่นเอง
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นแล้วจมลงอีก
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นแล้วหยุดอยู่
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นแล้วเหลียวมองดู
๕. บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นแล้วข้ามไป

เชิงอรรถ :
๑ ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา) หมายถึงท่านผู้เข้าใจอริยสัจถูกต้อง ได้แก่ พระอริยบุคคล
ผู้บรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไป จนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระอรหัตที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (องฺ.
สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒)
๒ ท่านผู้เป็นธัมมานุสารี (ผู้แล่นไปตามธรรม) หมายถึงพระอริยบุคคลผู้บำเพ็ญอริยมรรค ดำรงอยู่ใน
โสดาปัตติมรรค กำลังปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลมีปัญญาแก่กล้าเป็นตัวนำ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒)
๓ ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี (ผู้แล่นไปตามศรัทธา) หมายถึงท่านผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติมรรค กำลังปฏิบัติเพื่อ
บรรลุโสดาปัตติผล มีศรัทธาแก่กล้าเป็นตัวนำ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒)
๔ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๓/๑๔๗,๒๐๓/๒๒๗-๒๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๕.อุทกูปมาสูตร
๖. บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นแล้วได้ที่พึ่ง
๗. บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นแล้วข้ามไปถึงฝั่ง เป็นผู้ลอยบาปอยู่
บนบก
บุคคลผู้จมลงครั้งเดียว ก็ยังจมอยู่นั่นเอง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำโดยส่วนเดียว๑
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้จมลงครั้งเดียว ก็ยังจมอยู่นั่นเอง เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วจมลงอีก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โผล่ขึ้นมาแล้ว ได้แก่ มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย
มีหิริดี ... มีโอตตัปปะดี ... มีวิริยะดี ... มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ศรัทธา
ของเขานั้นไม่คงอยู่กับที่ ไม่เจริญ เสื่อมไปฝ่ายเดียว หิริของเขานั้น ... โอตตัปปะ
ของเขานั้น ... วิริยะของเขานั้น ... ปัญญาของเขานั้นไม่คงอยู่กับที่ ไม่เจริญ เสื่อมไป
ฝ่ายเดียว ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วจมลงอีก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วหยุดอยู่ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โผล่ขึ้นมาแล้ว ได้แก่ มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย
มีหิริดี ... มีโอตตัปปะดี ... มีวิริยะดี ... มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย และศรัทธา
ของเขานั้นไม่เสื่อม ไม่เจริญ คงอยู่กับที่ หิริของเขานั้น ... โอตตัปปะของเขานั้น ...
วิริยะของเขานั้น ... ปัญญาของเขานั้นไม่เสื่อม ไม่เจริญ คงอยู่กับที่ ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วหยุดอยู่ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ อกุศลธรรมฝ่ายดำโดยส่วนเดียว ในที่นี้หมายถึงนิยตมิจฉาทิฏฐิ ได้แก่ ลัทธินัตถิกวาทะ (ลัทธิที่ถือว่า
ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล) อเหตุกวาทะ (ลัทธิที่ถือว่าไม่มีเหตุปัจจัยเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย)
และอกิริยวาทะ (ลัทธิที่ถือว่าการกระทำทุกอย่างไม่มีผล ทำดีก็ไม่ได้ดีทำชั่วก็ไม่ได้ชั่ว (เป็นความเห็นที่
ปฏิเสธกฎแห่งกรรม) (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๕/๑๖๒, องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๑๕/๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๕.อุทกูปมาสูตร
บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วเหลียวมองดู เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โผล่ขึ้นมาแล้ว ได้แก่มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย
มีหิริดี ... มีโอตตัปปะดี ... มีวิริยะดี ... มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย และเพราะ
สังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป เขาจึงเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิ๑ในวันข้างหน้า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วเหลียวมองดู เป็น
อย่างนี้แล
บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วข้ามไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โผล่ขึ้นมาแล้ว ได้แก่มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย
มีหิริดี ... มีโอตตัปปะดี ... มีวิริยะดี ... มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย และเพราะ
สังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป เพราะราคะ โทสะและโมหะเบาบาง เขาจึงเป็นสกทาคามี
มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โผล่ขึ้น
แล้วข้ามไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วได้ที่พึ่ง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โผล่ขึ้นมาแล้ว ได้แก่มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย
มีหิริดี ... มีโอตตัปปะดี ... มีวิริยะดี ... มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย และเพราะ
สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป เขาจึงเป็นโอปปาติกะ๒ ปรินิพพานในภพชั้น
สุทธาวาสนั้น ไม่กลับมาจากโลกนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วได้ที่พึ่ง
เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรคเบื้องสูง ๓ ประการ (คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค)
(องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗/๒๔๒, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๘๗/๒๓๕, สารตฺถ.ฏีกา ๑/๒๑/๕๕๙)
๒ โอปปาติกะ คือสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น เทวดา
และสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑/๑๗๑/๑๔๙) ในที่นี้หมายถึงโอปปาติกะที่ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ
ได้เป็นพระอริยบุคคลชั้นอนาคามีไปเกิดในสุทธาวาส ๕ ชั้น มีชั้นอวิหาเป็นต้น แล้วดำรงภาวะอยู่ในชั้น
นั้น ๆ ปรินิพพานสิ้นกิเลสอยู่ในสุทธาวาสนั่นเอง ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๖/๓๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๖.อนิจจานุปัสสีสูตร
บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วข้ามไปถึงฝั่ง เป็นผู้ลอยบาปอยู่บนบก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โผล่ขึ้นมาแล้ว ได้แก่มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย
มีหิริดี... มีโอตตัปปะดี... มีวิริยะดี... มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย และเขาทำให้
แจ้งเจโตวิมุตติ๑ ปัญญาวิมุตติ๒ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอัน
ยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วข้ามไปถึงฝั่ง เป็นผู้
ลอยบาปอยู่บนบก เป็นอย่างนี้แล๓
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เปรียบด้วยคนตกน้ำ ๗ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
อุทกูปมาสูตรที่ ๕ จบ

๖. อนิจจานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
[๑๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ของโลก
บุคคล ๗ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีสัญญาว่า
ไม่เที่ยง รู้ว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ
สม่ำเสมอ ไม่ขาดระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เขาทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง

เชิงอรรถ :
๑ เจโตวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิตซึ่งเป็นผลแห่งสมาธิ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๘๘/
๖๒)
๒ ปัญญาวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยการกำจัดอวิชชาได้ซึ่งเป็นผลแห่งปัญญา (องฺ.ทุก.อ.
๒/๘๘/๖๒)
๓ คำว่า “โผล่ขึ้น” ในสูตรนี้ หมายถึงมีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ และปัญญา บุคคลจำพวกที่ ๗ นี้
หมายถึงผู้ข้ามโอฆะคือกิเลสทั้งปวงได้ ดำรงตนอยู่บนบกคือนิพพาน (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๕/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๖.อนิจจานุปัสสีสูตร
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๑ ผู้ควร
แก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควร
แก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีสัญญาว่า
ไม่เที่ยง รู้ว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ
สม่ำเสมอ ไม่ขาดระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เขามีปัญญาหยั่งรู้ความสิ้น
อาสวะและความสิ้นชีวิต ไม่ก่อนไม่หลังกัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น
บุคคลจำพวกที่ ๒ ผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ
ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีสัญญาว่า
ไม่เที่ยง รู้ว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ
สม่ำเสมอ ไม่ขาดระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ
๕ ประการสิ้นไป เขาจึงเป็นอันตราปรินิพพายี๑ ภิกษุทั้งหลาย
นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๓ ผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของ
ต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอด
เยี่ยมของโลก

เชิงอรรถ :
๑ อันตราปรินิพพายี หมายถึงพระอนาคามีผู้ปรินิพพานในระหว่าง คือเกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้ว
อายุยังไม่ถึงกึ่งของอายุผู้เกิดในชั้นสุทธาวาสก็ปรินิพพานเสียในระหว่าง แต่ละชั้นมี ๓ จำพวก เช่นในชั้น
อวิหามีอายุ ๑,๐๐๐ กัป มี ๓ จำพวก ดังนี้ คือ
พวกที่ ๑ บรรลุพระอรหัตตผลในวันที่เกิด ถ้าไม่บรรลุในวันที่เกิดได้ก็บรรลุไม่เกินภายใน ๑๐๐ กัป
พวกที่ ๒ เมื่อไม่สามารถบรรลุพระอรหัตตผลในวันที่เกิดหรือบรรลุภายใน ๑๐๐ กัปได้ ก็บรรลุภายใน
๒๐๐ กัป
พวกที่ ๓ เมื่อไม่สามารถบรรลุพระอรหัตตผลภายใน ๒๐๐ กัปได้ ก็บรรลุไม่เกินภายใน ๔๐๐ กัป
ส่วนในสุทธาวาสชั้นอื่น ๆ คือ ชั้นอตัปปาที่มีอายุ ๒,๐๐๐ กัป ชั้นสุทัสสาที่มีอายุ ๔,๐๐๐ กัป ชั้นสุทัสสี
ที่มีอายุ ๘,๐๐๐ กัป ชั้นอกนิฏฐาที่มีอายุ ๑๖,๐๐๐ กัป ก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ (องฺ.ติก.อ.๒/๘๘/๒๔๓) และ
ดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๐๒๗/๖๗๓-๖๗๔ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๖.อนิจจานุปัสสีสูตร
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ จึงเป็นอุปหัจจปรินิพพายี๑ ฯลฯ
๕. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ จึงเป็นอสังขารปรินิพพายี๒ ฯลฯ
๖. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ จึงเป็นสสังขารปรินิพพายี๓ ฯลฯ
๗. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีสัญญาว่า
ไม่เที่ยง รู้ว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ
สม่ำเสมอ ไม่ขาดระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ
๕ ประการสิ้นไป เขาจึงเป็นอุทธังโสตอกนิฏฐคามี๔ ภิกษุทั้งหลาย
นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๗ ผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่
ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอัน
ยอดเยี่ยมของโลก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ของโลก

อนิจจานุปัสสีสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อุปหัจจปรินิพพายี หมายถึงพระอนาคามีผู้เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้ว มีอายุพ้นกึ่งจึงปรินิพพาน
(องฺ.ติก.อ. ๒/๘๘/๒๔๓) เช่น ในชั้นอวิหาซึ่งมีอายุ ๑,๐๐๐ กัป พระอนาคามีจำพวกนี้มีอายุพ้นกึ่งคือ
พ้น ๕๐๐ กัปแล้วจึงปรินิพพาน ส่วนในสุทธาวาสชั้นอื่นที่เหลือซึ่งมีอายุแตกต่างกันไปก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้
๒ อสังขารปรินิพพายี หมายถึงพระอนาคามีผู้บรรลุพระอรหัตปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียรมาก (องฺ.ติก.อ.
๒/๘๘/๒๔๓)
๓ สสังขารปรินิพพายี หมายถึงพระอนาคามีผู้เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งบรรลุพระอรหัตปรินิพพาน
โดยต้องใช้ความเพียรมาก (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๘/๒๔๓)
๔ อุทธังโสตอกนิฏฐคามี หมายถึงพระอนาคามีผู้มีกระแสสูงขึ้นไปจนถึงชั้นอกนิฏฐภพคือเกิดในสุทธา-
วาสภพใดภพหนึ่งแล้วก็จะเกิดเลื่อนต่อไปจนถึงชั้นอกนิฏฐภพ แล้วจึงปรินิพพานในภพนั้น (องฺ.ติก.อ. ๒/
๘๘/๒๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๘.อนัตตานุปัสสีสูตร
๗. ทุกขานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้พิจารณาเห็นความเป็นทุกข์
[๑๗] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ฯลฯ๑ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
บุคคล ๗ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความเป็นทุกข์ มีสัญญา
ว่าเป็นทุกข์ รู้ว่าเป็นทุกข์ในสังขารทั้งปวงอยู่
ฯลฯ
ทุกขานุปัสสีสูตรที่ ๗ จบ

๘. อนัตตานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้พิจารณาเห็นความเป็นอนัตตา
[๑๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
บุคคล ๗ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความเป็นอนัตตา มีสัญญา
ว่าเป็นอนัตตา รู้ว่าเป็นอนัตตาในสังขารทั้งปวงอยู่
ฯลฯ

อนัตตานุปัสสีสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องหมาย “ฯลฯ” ที่ปรากฏในข้อ ๑๗-๑๘ ดูความเต็มในข้อ ๑๖ (อนิจจานุปัสสีสูตร) หน้า ๒๔-๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๙.นิพพานสูตร
๙. นิพพานสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้พิจารณาเห็นความเป็นสุขในนิพพาน
[๑๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
บุคคล ๗ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความเป็นสุข มีสัญญาว่า
เป็นสุข รู้ว่าเป็นสุขในนิพพานอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ สม่ำเสมอ ไม่ขาด
ระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เขาทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มี
อาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๑ ผู้ควรแก่ของที่
เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความเป็นสุข มีสัญญาว่า
เป็นสุข รู้ว่าเป็นสุขในนิพพานอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ สม่ำเสมอ ไม่ขาด
ระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เขามีปัญญาหยั่งรู้ความสิ้นอาสวะ และความ
สิ้นชีวิต ไม่ก่อนไม่หลังกัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๒
ผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความเป็นสุข มีสัญญาว่า
เป็นสุข รู้ว่าเป็นสุขในนิพพานอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ สม่ำเสมอ ไม่ขาด
ระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป เขา
จึงเป็นอันตราปรินิพพายี ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๓
ผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ จึงเป็นอุปหัจจปรินิพพายี ฯลฯ
๕. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ จึงเป็นอสังขารปรินิพพายี ฯลฯ
๖. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ จึงเป็นสสังขารปรินิพพายี๑ ฯลฯ
๗. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความเป็นสุข มีสัญญาว่า
เป็นสุข รู้ว่าเป็นสุขในนิพพานอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ สม่ำเสมอ ไม่ขาด
ระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป เขาจึง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๒๕ และเชิงอรรถที่ ๑-๔ หน้า ๒๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค ๑๐.นิททสวัตถุสูตร
เป็นอุทธังโสตอกนิฏฐคามี ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๗
ผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
นิพพานสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. นิททสวัตถุสูตร
ว่าด้วยนิททสวัตถุ
[๒๐] ภิกษุทั้งหลาย นิททสวัตถุ๑ (เหตุให้ได้ชื่อว่าผู้ไม่มีอายุ ๑๐ ปี) ๗ ประการนี้
นิททสวัตถุ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานสิกขา๒ และได้ความรัก
ในการสมาทานสิกขาต่อไป๓
๒. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการใคร่ครวญธรรม๔ และได้ความรัก
ในการใคร่ครวญธรรมต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า นิททสวัตถุ นี้ แปลว่า ธรรมที่เป็นเหตุให้ชื่อว่า “นิททสะ” แปลว่า มีอายุไม่ถึง ๑๐ ปี คำนี้เป็นคำที่
พวกเดียรถีย์ใช้เรียกนิครนถ์ผู้ประพฤติพรหมจรรย์กำหนด ๑๒ ปี ถ้าตายลง เมื่อถึง ๑๐ ปี เรียกผู้นั้นว่า
“นิททสะ” คือ เมื่อมาเกิดอีกจะมีอายุไม่ถึง ๑๐ ปี และอาจไม่ถึง ๙ ปี ๑ ปี แต่พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำนี้
หมายถึงพระขีณาสพในความหมายว่า “ไม่มีการเกิดอีก” ไม่ว่าจะเกิดมาเพียงวันเดียวหรือครู่เดียว โดยมี
เงื่อนไขว่าผู้นั้นต้องเพียบพร้อมด้วยธรรม ๗ ประาร ส่วนเวลาประพฤติพรหมจรรย์มากน้อยไม่สำคัญ
ดู ข้อ ๔๒-๔๓ หน้า ๖๒-๖๖ ในเล่มนี้ประกอบด้วย (องฺ.สตฺตก.อ. ๓๒๐/๑๖๔-๑๖๕, ที.ปา.อ. ๓/๓๓๑/
๒๓๘) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๑/๒๒๒
๒ สมาทานสิกขา ในที่นี้หมายถึงการบำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาให้บริบูรณ์ และถูกต้อง
(องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๐/๑๖๕, องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๒๐/๑๙๒)
๓ ต่อไป ในที่นี้หมายถึงกาลเวลาแห่งการบำเพ็ญที่ต่อเนื่องกันไม่ขาดระยะ มิได้หมายถึงภพในอนาคต
(องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๐/๑๖๕, องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๒๐/๑๙๒)
๔ การใคร่ครวญธรรม แปลจากบาลีว่า “ธมฺมนิสนฺติ” หมายถึงการเพ่งพินิจพิจารณาเห็นธรรม โดยความ
เป็นสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ดังนั้น คำว่า “ธมฺมนิสนฺติ” นี้จึงเป็นชื่อของวิปัสสนา (ความ
เห็นแจ้ง) (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๐/๑๖๕, องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๒๐/๑๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒.อนุสยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๓. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการกำจัดความอยาก๑ และได้ความ
รักในการกำจัดความอยากต่อไป
๔. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการหลีกเร้น และได้ความรักในการ
หลีกเร้นต่อไป
๕. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการปรารภความเพียร และได้ความรัก
ในการปรารภความเพียรต่อไป
๖. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน๒ และได้
ความรักในสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนต่อไป
๗. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิ๓และได้ความรัก
ในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิต่อไป
ภิกษุทั้งหลาย นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล
นิททสวัตถุสูตรที่ ๑๐ จบ
อนุสยวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมอนุสยสูตร ๒. ทุติยอนุสยสูตร
๓. กุลสูตร ๔. ปุคคลสูตร
๕. อุทกูปมาสูตร ๖. อนิจจานุปัสสีสูตร
๗. ทุกขานุปัสสีสูตร ๘. อนัตตานุปัสสีสูตร
๙. นิพพานสูตร ๑๐. นิททสวัตถุสูตร


เชิงอรรถ :
๑ การกำจัดความอยาก หมายถึงการกำจัดหรือการข่มตัณหาได้ด้วยอำนาจของภังคานุปัสสนาญาณ
(ญาณอันตามเห็นความสลาย) (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๐/๑๖๕, องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๒๐/๑๙๒) หรือด้วยอำนาจ
วิปัสสนาญาณมีวิราคานุปัสสนาเป็นต้น (ที.ปา.ฏีกา ๓๓๑/๓๒๖)
๒ สติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน ในที่นี้หมายถึงสติและเนปักกปัญญากล่าวคือสติและสัมปชัญญะ (องฺ.สตฺตก.อ.
๓/๒๐/๑๖๕, องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๒๐/๑๙๓)
๓ ในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิ แปลจากบาลีว่า ทิฏฺฐิปฏิเวเธ หมายถึงมัคคทัสสนะ (การเห็นมรรค) กล่าว
คือ การเห็นแจ้งด้วยมัคคสัมมาทิฏฐิ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๐/๑๖๕, องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๒๐/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๑.สารันททสูตร
๓. วัชชิสัตตกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรม ๗ ประการของชาววัชชี๑
๑. สารันททสูตร
ว่าด้วยการแสดงอปริหานิยธรรมที่สารันททเจดีย์
[๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สารันททเจดีย์๒ เขตกรุงเวสาลี
ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีหลายองค์ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นดังนี้ว่า
“เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม๓ ๗ ประการแก่ท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญ๔ อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง
๒. พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกัน
เลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีพึงทำ
๓. พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่
บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นในวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม๕

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ม.๑๐/๑๓๔/๖๖-๖๘ (มหาปรินิพพานสูตร)
๒ สารันททเจดีย์ หมายถึงสถานที่เป็นที่อยู่ของยักษ์ชื่อสารันททะ หรือหมายถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรง
ทำนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๑/๑๖๖)
๓ อปริหานิยธรรม หมายถึงธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดความเจริญโดยส่วนเดียว ไม่มีความเสื่อม มี ๒ ประเภท
คือ ราชอปริหานิยธรรม และภิกขุอปริหานิยธรรม (ที.ม.อ. ๒/๑๓๔-๑๓๖/๑๑๖-๑๒๘)
๔ ความเจริญ ในที่นี้หมายถึงความเจริญด้วยคุณธรรมมีศีลเป็นต้น (ที.ม.อ. ๒/๑๓๖/๑๒๖)
๕ วัชชีธรรมที่วางไว้เดิม หมายถึงประเพณีที่สืบต่อกันมานาน เช่น จับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโจร ผู้จับจะไม่
สอบสวนเอง แต่จะส่งให้ฝ่ายสอบสวน ฝ่ายสอบสวนสืบสวนแล้วรู้ว่าไม่ใช่ก็ปล่อย ถ้ายังสงสัยก็ส่งต่อขึ้นไป
ตามลำดับชั้น บางกรณีอาจส่งถึงเสนาบดี บางกรณีอาจส่งถึงพระราชาเพื่อทรงวินิจฉัย (ที.ม.อ.๒/๑๓๔/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๒.วัสสการสูตร
๔. พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจ้าวัชชีผู้มี
พระชนมายุมากของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่า
เป็นสิ่งควรรับฟัง
๕. พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรีหรือกุลกุมารีให้อยู่
ร่วมด้วย
๖. พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ใน
แคว้นวัชชีของชาววัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชา
อันชอบธรรมที่เคยให้ เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป
๗. พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกันพระอรหันต์
ทั้งหลายโดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยัง
ไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา และท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุก’
พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่พวกเจ้าวัชชียังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่”
สารันททสูตรที่ ๑ จบ

๒. วัสสการสูตร
ว่าด้วยวัสสการพราหมณ์๑
[๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น
พระราชาแห่งแคว้นมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์จะ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ม. ๑๐/๑๓๑-๑๓๕/๖๕-๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๒.วัสสการสูตร
เสด็จไปปราบแคว้นวัชชี รับสั่งว่า “เราจะโค่นล้มพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์๑มากอย่างนี้
มีอานุภาพ๒มากอย่างนี้ ให้พินาศย่อยยับ”๓
พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร จึงรับสั่งเรียก
วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธมาตรัสว่า “มาเถิด พราหมณ์ ท่านจงไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า แล้วทูลถามถึง
พระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์
อยู่สำราญตามคำของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาแห่งแคว้นมคธ พระนาม
ว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ขอกราบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร
ทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญ’ และท่านจงกราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาแห่ง
แคว้นมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์จะเสด็จไปปราบแคว้น
วัชชี มีรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘เราจะโค่นล้มพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมาก
อย่างนี้ ให้พินาศย่อยยับ’ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างไร ท่านพึงจำ
คำพยากรณ์นั้นให้ดีแล้วมาบอกเรา เพราะว่าพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ตรัสคำเท็จ”
วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธ ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิ
บุตร ขอกราบพระยุคลบาทของพระโคดมด้วยพระเศียร ทูลถามถึงพระสุขภาพ
ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ
พระราชาแห่งแคว้นมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์จะเสด็จไป

เชิงอรรถ :
๑ ฤทธิ์ ในที่นี้หมายถึงความพร้อมเพรียงกัน (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๒/๑๗๐)
๒ อานุภาพ ในที่นี้หมายถึงการได้รับการศึกษาฝึกฝนศิลปะต่าง ๆ เช่น ศิลปะการฝึกช้างเป็นต้น (องฺ.สตฺตก.อ.
๓/๒๒/๑๗๐)
๓ ให้พินาศย่อยยับ ในที่นี้หมายถึงทำให้ไม่มี ให้ถึงความไม่เจริญ และให้ถึงความเสื่อมไปแห่งญาติ (องฺ.สตฺตก.อ.
๓/๒๒/๑๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๒.วัสสการสูตร
ปราบแคว้นวัชชี มีรับสั่งอย่างนี้ว่า ''เราจะโค่นล้มพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้
มีอานุภาพมากอย่างนี้ ให้พินาศย่อยยับ”
สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ยืนถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ เบื้องพระ
ปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า
“อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกัน
มากครั้ง”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนือง
นิตย์ ประชุมกันมากครั้ง”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง''
''อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียง
กันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีพึงทำ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม
พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีพึงทำ”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และ
พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีพึงทำ''
'' อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้าง
สิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นในวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม”๑
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้
บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นในวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว
ถือปฏิบัติมั่นในวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม""

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๕ สัตตกนิบาต ข้อ ๒๑ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๒.วัสสการสูตร
''อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจ้าวัชชี
ผู้มีพระชนมายุมากของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่ควร
รับฟัง”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีสักการะ เคารพ
นับถือ บูชาเจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมากของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่าน
เหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมาก
ของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่ควรรับฟัง''
''อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรีหรือกุลกุมารี
ให้อยู่ร่วมด้วย”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรี
หรือกุลกุมารีให้อยู่ร่วมด้วย”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรีหรือกุลกุมารีให้อยู่ร่วมด้วย''
“อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์
ในแคว้นวัชชีของชาววัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอันชอบธรรม
ที่เคยให้ เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีสักการะ เคารพ
นับถือ บูชาเจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลย
การบูชาอันชอบธรรมที่เคยให้ เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาว
วัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอันชอบธรรมที่เคยให้ เคย
กระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป''

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๒.วัสสการสูตร
'' อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกัน
พระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มา
พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุก”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีจัดการรักษา คุ้มครอง
ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรม ด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่
ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุก”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลายโดย
ชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา
และท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุก”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้น
มคธว่า “พราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันททเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ได้แสดง
อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้แก่พวกเจ้าวัชชี พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗
ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้นมคธกราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระ
โคดม พวกเจ้าวัชชีมีอปริหานิยธรรมแม้เพียงประการเดียว ก็พึงหวังได้แต่ความ
เจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ไม่จำต้องกล่าวว่ามีครบทั้ง ๗ ประการ
ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร
ไม่ควรทำสงครามกับพวกเจ้าวัชชี นอกจากจะใช้วิธีปรองดองทางการทูต หรือไม่ก็
ทำให้แตกสามัคคีกัน ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าอย่างนั้น บัดนี้ ข้าพระองค์ขอ
ทูลลากลับ เพราะมีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
จากนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้นมคธมีใจยินดี ชื่นชมพระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคลุกจากที่นั่งแล้วจากไป
วัสสการสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๓.ปฐมสัตตกสูตร
๓. ปฐมสัตตกสูตร
ว่าด้วยอปริหานิยธรรม ๗ ประการ๑ สูตรที่ ๑
[๒๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้น
พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง
อปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจัก
กล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และ
พร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์พึงทำ
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังไม่บัญญัติสิ่งที่เรามิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่เราบัญญัติ
ไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นในสิกขาบทที่บัญญัติไว้
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู๒
บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และสำคัญถ้อยคำของ
ท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหาก่อให้เกิดภพใหม่ ที่เกิดขึ้นแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ม. ๑๐/๑๓๖-๑๔๐/๖๙-๗๒
๒ เป็นเถระในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มีความมั่นคง(ถิรภาวะ)ในพระศาสนาไม่หวนคืนไปสู่เพศคฤหัสถ์อีกประกอบ
ด้วยคุณธรรมที่ให้เป็นพระเถระคือศีลเป็นต้น รัตตัญญู เป็นตำแหน่งเอตทัคคะที่พระอัญญาโกณฑัญญะ
ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้า มีความหมายว่ารู้ราตรีนาน คือบวช รู้แจ้งธรรม และเป็นพระขีณาสพก่อน
พระสาวกทั้งหลาย (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๘๘/๑๒๒, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๓/๑๗๔, องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๒๓/๒๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๔.ทุติยสัตตกสูตร
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเป็นผู้มุ่งหวังเสนาสนะป่า
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุตั้งสติมั่นไว้ในภายในว่า ‘ทำอย่างไร เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้มีศีลงามที่ยังไม่มา ขอให้มา และท่านที่มาแล้ว พึงอยู่อย่างผาสุก’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่”
ปฐมสัตตกสูตรที่ ๓ จบ

๔. ทุติยสัตตกสูตร
ว่าด้วยอปริหานิยธรรม ๗ ประการ สูตรที่ ๒
[๒๔] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่เธอ
ทั้งหลาย ฯลฯ๑
อปริหานิยธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการงาน๒ ไม่ยินดีในการงาน ไม่หมั่นประกอบ
ความเป็นผู้ชอบการงาน
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย๓ ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องหมาย “ฯลฯ” ที่ปรากฏในตอนต้นข้อความของข้อ ๒๔-๒๗ นี้ ดูความเต็มในข้อ ๒๓ (ปฐมสัตตกสูตร)
หน้า ๓๗ ในเล่มนี้
๒ ไม่ชอบการงาน ในที่นี้หมายถึงการหยุดพักทำกิจมีการทำจีวร ประคตเอว ผ้ากรองน้ำ ไม้กวาด และผ้า
เช็ดเท้า หรืองานก่อสร้างต่าง ๆ เช่นก่อสร้างวิหารเป็นต้น ที่เป็นเหตุให้ละเลยต่อการบำเพ็ญคันถธุระและ
วิปัสสนาธุระ หันมามุ่งบำเพ็ญสมณธรรม (ที.ม.อ. ๒/๑๓๗/๑๒๘, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๔/๑๗๖ - ๑๗๗,
องฺ.ฉกฺก. ฏีกา ๓/๑๔-๑๕/๑๑๘)
๓ ไม่ชอบการพูดคุย ในที่นี้หมายถึงไม่มุ่งสนทนาเรื่องนอกธรรมวินัย เช่น เรื่องบุรุษ สตรี เป็นต้น แต่
สนทนาเรื่องธรรม ถามปัญหา ตอบปัญหาเกี่ยวกับธรรมวินัย พูดน้อย พูดมีที่จบ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า
ภิกษุผู้นั่งประชุม มีหน้าที่ ๒ อย่าง คือ (๑) สนทนาธรรม (๒) เป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ (ที.ม.อ. ๒/๑๓๗/๑๒๘,
องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๔/๑๗๗) และดู ม.มู. ๑๒/๒๗๓/๒๓๕, องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๒๒/๔๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๕.ตติยสัตตกสูตร
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ๑ ฯลฯ
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ฯลฯ
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่มีความปรารถนาชั่ว ไม่ตกไปสู่อำนาจของความ
ปรารถนาชั่ว
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังไม่มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบ
เท่าที่ภิกษุยังไม่ถึงความหยุดชงักเสียในระหว่างเพียงเพราะได้บรรลุ
คุณวิเศษชั้นต่ำ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
ทุติยสัตตกสูตรที่ ๔ จบ

๕. ตติยสัตตกสูตร
ว่าด้วยอปริหานิยธรรม ๗ ประการ สูตรที่ ๓
[๒๕] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่เธอ
ทั้งหลาย ฯลฯ
อปริหานิยธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบ
เท่าที่ภิกษุยังมีศรัทธา๒

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ชอบการนอนหลับ ในที่นี้หมายถึงจะยืนก็ตาม จะเดินก็ตาม จะนั่งก็ตาม จะมีจิตตกภวังค์เพราะร่างกาย
เจ็บป่วยก็ตาม ก็ไม่ถูกถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ครอบงำ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๔/๑๗๗) และดู ม.มู.
๑๒/๓๘๗/๓๔๕ (มหาสัจจกสูตร) ประกอบ
๒ ศรัทธา มี ๔ ประการ คือ (๑) อาคมนียะ (ศรัทธาของพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพื่อพระสัพพัญญุตญาณ)
(๒) อธิคมะ (ศรัทธาของพระอริยบุคคล) (๓) ปสาทะ (ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์)
(๔) โอกัปปนะ (ศรัทธาอย่างมั่นคง) แต่ในที่นี้หมายถึงปสาทะและโอกัปปนะเท่านั้น (ที.ม.อ.๒/๑๓๘/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๖.โพชฌังคสูตร
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบ
เท่าที่ภิกษุยังมีหิริ
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังมีโอตตัปปะ
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเป็นพหูสูต๑
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังปรารภความเพียร
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังมีสติตั้งมั่น
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังมีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
ตติยสัตตกสูตรที่ ๕ จบ

๖. โพชฌังคสูตร
ว่าด้วยโพชฌงค์ที่เป็นอปริหานิยธรรม
[๒๖] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่เธอ
ทั้งหลาย ฯลฯ
อปริหานิยธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเจริญสติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือ
ความระลึกได้)

เชิงอรรถ :
๑ พหูสูต มี ๒ ประการ คือ (๑) ปริยัตติพหูสูต (แตกฉานในพระไตรปิฎก) (๒) ปฏิเวธพหูสูต (บรรลุสัจจะ
ทั้งหลาย) แต่ในที่นี้หมายถึงปริยัตติพหูสูต (ที.ม.อ. ๒/๑๓๘/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๖.โพชฌังคสูตร
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
คือความเฟ้นธรรม)
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือ
ความเพียร)
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเจริญปีติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือ
ความอิ่มใจ)
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
คือความสงบกายสงบใจ)
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือ
ความตั้งจิตมั่น)
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
คือความวางใจเป็นกลาง)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
โพชฌังคสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๗.สัญญาสูตร
๗. สัญญาสูตร
ว่าด้วยสัญญาที่เป็นอปริหานิยธรรม
[๒๗] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่เธอ
ทั้งหลาย ฯลฯ
อปริหานิยธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบ
เท่าที่ภิกษุยังเจริญอนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่ง
สังขาร)
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบ
เท่าที่ภิกษุยังเจริญอนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็นอนัตตา
แห่งธรรมทั้งปวง)
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบ
เท่าที่ภิกษุยังเจริญอสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย)
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบ
เท่าที่ภิกษุยังเจริญอาทีนวสัญญา (กำหนดหมายโทษทุกข์ของกาย
อันมีความเจ็บไข้ต่างๆ)
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบ
เท่าที่ภิกษุยังเจริญปหานสัญญา (กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตก
และบาปธรรมทั้งหลาย)
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบ
เท่าที่ภิกษุยังเจริญวิราคสัญญา (กำหนดหมายวิราคะว่าเป็นธรรม
ละเอียดประณีต)
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบ
เท่าที่ภิกษุยังเจริญนิโรธสัญญา (กำหนดหมายนิโรธว่าเป็นธรรม
ละเอียดประณีต)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๘.ปฐมปริหานิสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
สัญญาสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปฐมปริหานิสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุแห่งความเสื่อม สูตรที่ ๑
[๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้
เป็นเสขะ
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
๓. ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๖. ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
๗. กิจที่สงฆ์จะต้องทำมีอยู่ในสงฆ์ ภิกษุผู้เป็นเสขะไม่เห็นประจักษ์ในกิจนั้น
อย่างนี้ว่า ‘พระเถระผู้เป็นรัตตัญญู บวชมานาน เป็นผู้รับภาระมีอยู่
ในสงฆ์ ท่านเหล่านั้นจักปรากฏด้วยกิจนั้น‘๑ จึงต้องขวนขวายด้วย
ตนเอง

เชิงอรรถ :
๑ ท่านเหล่านั้นจักปรากฏด้วยกิจนั้น หมายถึงท่านจะรับภาระหน้าที่ตามสมควรแก่ภาวะของท่านเอง
(องฺ.สตฺตก.อ.๓/๒๘/๑๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๙.ทุติยปริหานิสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้
เป็นเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้
เป็นเสขะ
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ไม่ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย
๓. ความเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๖. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
๗. กิจที่สงฆ์จะต้องทำมีอยู่ในสงฆ์ ภิกษุผู้เป็นเสขะเห็นประจักษ์ในกิจ
นั้นอย่างนี้ว่า ‘พระเถระผู้เป็นรัตตัญญู บวชมานาน เป็นผู้รับภาระมีอยู่ในสงฆ์ ท่าน
เหล่านั้นจักปรากฏด้วยกิจนั้น’ จึงไม่ต้องขวนขวายด้วยตนเอง
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้
เป็นเสขะ
ปฐมปริหานิสูตรที่ ๘ จบ

๙. ทุติยปริหานิสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุแห่งความเสื่อม สูตรที่ ๒
[๒๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ละเลยการเยี่ยมเยียนภิกษุ
๒. ทอดทิ้งการฟังสัทธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๙.ทุติยปริหานิสูตร
๓. ไม่ศึกษาในอธิศีล๑
๔. ไม่มีความเลื่อมใสมากในภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นนวกะ และผู้เป็นมัชฌิมะ๒
๕. ฟังธรรมอย่างคอยคิดโต้แย้งเพ่งโทษ
๖. แสวงหาผู้รับทักษิณานอกศาสนานี้
๗. ทำอุปการะนอกศาสนาก่อน๓
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่อุบาสก
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่ละเลยการเยี่ยมเยียนภิกษุ
๒. ไม่ทอดทิ้งการฟังสัทธรรม
๓. ศึกษาในอธิศีล
๔. มีความเลื่อมใสมากในภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นนวกะ และผู้เป็นมัชฌิมะ
๕. ฟังธรรมอย่างไม่คอยคิดโต้แย้งเพ่งโทษ
๖. ไม่แสวงหาผู้รับทักษิณานอกศาสนานี้
๗. ทำอุปการะในศาสนานี้ก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่อุบาสก
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
อุบาสกใดละเลยการเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน
ทอดทิ้งการฟังอริยธรรม ไม่ศึกษาในอธิศีล

เชิงอรรถ :
๑ อธิศีล ในที่นี้หมายถึงศีล ๕ และศีล ๑๐ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๙/๑๗๘)
๒ ผู้เป็นเถระ หมายถึงพระผู้มีระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่นับว่าเป็นพระผู้ใหญ่คือมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้น
ไปและทรงจำพระปาติโมกข์ได้
ผู้เป็นนวกะ หมายถึงพระใหม่มีระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่นับว่ายังใหม่มีพรรษาต่ำกว่า ๕ ที่ยังต้อง
ถือนิสสัย
ผู้เป็นมัชฌิมะ หมายถึงพระระดับกลางมีพรรษาตั้งแต่ครบ ๕ แต่ยังไม่ถึง ๑๐ (เทียบ วิ.อ. ๑/๔๕/๒๕๓)
๓ ทำอุปการะนอกศาสนาก่อน หมายถึงให้เครื่องไทยธรรมแก่เดียรถีย์ก่อนแล้วจึงถวายแก่ภิกษุในภายหลัง
(องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๒๙/๑๗๘) และดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๗๕/๒๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๑๐. วิปัตติสูตร
ไม่มีความเลื่อมใสยิ่งขึ้นในภิกษุทั้งหลาย
ปรารถนาฟังสัทธรรมอย่างคอยคิดโต้แย้ง
แสวงหาผู้รับทักษิณานอกศาสนานี้
และทำอุปการะนอกศาสนาก่อน
อุบาสกนั้นผู้เสพธรรม ๗ ประการ
อันเป็นเหตุแห่งความเสื่อมที่เราแสดงดีแล้วนี้แล
ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม
ส่วนอุบาสกใดไม่ละเลยการเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน
ไม่ทอดทิ้งการฟังอริยธรรม ศึกษาในอธิศีล
มีความเลื่อมใสยิ่งขึ้นในภิกษุทั้งหลาย
ปรารถนาฟังสัทธรรมอย่างไม่คอยคิดโต้แย้ง
ไม่แสวงหาผู้รับทักษิณานอกศาสนานี้
และทำอุปการะในศาสนานี้ก่อน
อุบาสกนั้นผู้เสพธรรม ๗ ประการ
อันไม่เป็นเหตุแห่งความเสื่อมที่เราแสดงดีแล้วนี้แล
ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม
ทุติยปริหานิสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. วิปัตติสูตร
ว่าด้วยวิบัติและสมบัติของอุบาสก
[๓๐] ภิกษุทั้งหลาย วิบัติของอุบาสก ๗ ประการนี้ ฯลฯ๑
ภิกษุทั้งหลาย สมบัติของอุบาสก ๗ ประการนี้ ฯลฯ
วิปัตติสูตรที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องหมาย “ฯลฯ” ที่ปรากฏในข้อ ๓๐-๓๑ ดูความเต็มในข้อ ๒๙ (ทุติยปริหานิสูตร) หน้า ๔๔-๔๕
ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค ๑๑.ปราภวสูตร
๑๑. ปราภวสูตร
ว่าด้วยความเสื่อมและความเจริญของอุบาสก
[๓๑] ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมของอุบาสก ๗ ประการนี้ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญของอุบาสก ๗ ประการนี้
ความเจริญของอุบาสก ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่ละเลยการเยี่ยมเยียนภิกษุ
๒. ไม่ทอดทิ้งการฟังสัทธรรม
๓. ศึกษาในอธิศีล
๔. มีความเลื่อมใสมากในภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นนวกะ และผู้เป็นมัชฌิมะ
๕. ฟังธรรมอย่างไม่คอยคิดโต้แย้งเพ่งโทษ
๖. ไม่แสวงหาผู้รับทักษิณานอกศาสนานี้
๗. ทำอุปการะในศาสนานี้ก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญของอุบาสก ๗ ประการนี้แล
อุบาสกใดละเลยการเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน
ทอดทิ้งการฟังอริยธรรม ไม่ศึกษาในอธิศีล
ไม่มีความเลื่อมใสยิ่งขึ้นในภิกษุทั้งหลาย
ปรารถนาฟังสัทธรรมอย่างคอยคิดโต้แย้ง
แสวงหาผู้รับทักษิณานอกศาสนานี้
และทำอุปการะนอกศาสนาก่อน
อุบาสกนั้นผู้เสพธรรม ๗ ประการ
อันเป็นเหตุแห่งความเสื่อมที่เราแสดงดีแล้วนี้แล
ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๓.วัชชิสัตตกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ส่วนอุบาสกใดไม่ละเลยการเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน
ไม่ทอดทิ้งการฟังอริยธรรม ศึกษาในอธิศีล
มีความเลื่อมใสยิ่งขึ้นในภิกษุทั้งหลาย
ปรารถนาฟังสัทธรรมอย่างไม่คอยคิดโต้แย้ง
ไม่แสวงหาผู้รับทักษิณานอกศาสนานี้
และทำอุปการะในศาสนานี้ก่อน
อุบาสกนั้นผู้เสพธรรม ๗ ประการ
อันไม่เป็นเหตุแห่งความเสื่อมที่เราแสดงดีแล้วนี้แล
ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม
ปราภวสูตรที่ ๑๑ จบ
วัชชิสัตตกวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สารันททสูตร ๒. วัสสการสูตร
๓. ปฐมสัตตกสูตร ๔. ทุติยสัตตกสูตร
๕. ตติยสัตตกสูตร ๖. โพชฌังคสูตร
๗. สัญญาสูตร ๘. ปฐมปริหานิสูตร
๙. ทุติยปริหานิสูตร ๑๐. วิปัตติสูตร
๑๑. ปราภวสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๑.อัปปมาทคารวสูตร
๔. เทวตาวรรค
หมวดว่าด้วยเทวดา
๑. อัปปมาทคารวสูตร
ว่าด้วยความเคารพในความไม่ประมาท
[๓๒] ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๑ เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่ง
รัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
๓. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้มีความเคารพในสมาธิ
๖. ความเป็นผู้มีความเคารพในความไม่ประมาท
๗. ความเป็นผู้มีความเคารพในปฏิสันถาร๒
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่
ภิกษุ”

เชิงอรรถ :
๑ ราตรีผ่านไป ในที่นี้หมายถึงปฐมยาม (ยามแรก) กำหนดเวลา ๔ ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา ๑๘ นาฬิกา ถึง ๒๒
นาฬิกาแห่งราตรีผ่านไป กำลังอยู่ในช่วงมัชฌิมยาม (ยามท่ามกลาง) คือ กำลังอยู่ในช่วงเวลา ๒๒ นาฬิกา
ถึง ๒ นาฬิกาของวันใหม่ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๑-๒๒/๑๐๘) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๓๒/๔๗๘
๒ ปฏิสันถาร ในที่นี้หมายถึงการต้อนรับ มี ๒ อย่าง คือ (๑) อามิสปฏิสันถาร (การต้อนรับด้วยอามิส)
(๒) ธัมมปฏิสันถาร (การต้อนรับด้วยธรรม) (องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๕๓/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๑.อัปปมาทคารวสูตร
เมื่อเทวดานั้นได้กราบทูลดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้นเทวดานั้นรู้
ว่า ‘พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา’ จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ๑
แล้วหายไป ณ ที่นั้นแล
ครั้นคืนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่
สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
๓. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้มีความเคารพในสมาธิ
๖. ความเป็นผู้มีความเคารพในความไม่ประมาท
๗. ความเป็นผู้มีความเคารพในปฏิสันถาร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่
ภิกษุ
ภิกษุทั้งหลาย เทวดานั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงไหว้เรา ทำประทักษิณแล้วหาย
ไป ณ ที่นั้นแล

เชิงอรรถ :
๑ ทำประทักษิณ หมายถึงเดินเวียนขวาโดยการประนมมือเวียนไปทางขวาตามเข็มนาฬิกา ๓ รอบ มีผู้ที่ตน
เคารพอยู่ทางขวา เสร็จแล้วหันหน้าไปทางผู้ที่ตนเคารพ เดินถอยหลังจนสุดสายตา จนมองไม่เห็นผู้ที่ตน
เคารพแล้วคุกเข่าลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ (การกราบด้วยอวัยวะทั้ง ๕ อย่าง ลงกับพื้น คือ กราบ
เอาเข่าทั้งสอง มือทั้งสอง และศีรษะ (หน้าผาก) จรดลงกับพื้น) แล้วลุกขึ้นเดินจากไป (วิ.อ. ๑/๑๕/๑๗๖-
๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๒.หิรีคารวสูตร
ภิกษุมีความเคารพในศาสดา
มีความเคารพในธรรม
มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสงฆ์
มีความเคารพในสมาธิ มีความเพียร
มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา
มีความเคารพในความไม่ประมาท
มีความเคารพในปฏิสันถาร
เป็นผู้ไม่ควรเสื่อม ดำรงอยู่ใกล้นิพพานทีเดียว
อัปปมาทคารวสูตรที่ ๑ จบ

๒. หิรีคารวสูตร
ว่าด้วยความเคารพในหิริ
[๓๓] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้แล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
๓. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้มีความเคารพในสมาธิ
๖. ความเป็นผู้มีความเคารพในหิริ (ความอายบาป)
๗. ความเป็นผู้มีความเคารพในโอตตัปปะ (ความกลัวบาป)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๓.ปฐมโสวจัสสตาสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่
ภิกษุ
ภิกษุทั้งหลาย เทวดานั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงไหว้เราทำประทักษิณแล้วหายไป
ณ ที่นั้นแล
ภิกษุมีความเคารพในศาสดา
มีความเคารพในธรรม
มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสงฆ์
มีความเคารพในสมาธิ มีความเพียร
มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา
ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ
มีความยำเกรง มีความเคารพ
เป็นผู้ไม่ควรเสื่อม ดำรงอยู่ใกล้นิพพานทีเดียว
หิรีคารวสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปฐมโสวจัสสตาสูตร
ว่าด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย สูตรที่ ๑
[๓๔] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่ง ฯลฯ๑
ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
๓. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องหมาย “ฯลฯ” ในข้อ ๓๔-๓๕ ดูความเต็มในข้อ ๓๒ (อัปปมาทคารวสูตร) หน้า ๔๙ ในวรรคเดียวกันนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๔.ทุติยโสวจัสสตาสูตร
๔. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้มีความเคารพในสมาธิ
๖. ความเป็นผู้ว่าง่าย
๗. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร (มิตรดี)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่
ภิกษุ
ภิกษุทั้งหลาย เทวดานั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงไหว้เรา ทำประทักษิณแล้วหายไป
ณ ที่นั้นแล
ภิกษุมีความเคารพในศาสดา
มีความเคารพในธรรม
มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสงฆ์
มีความเคารพในสมาธิ มีความเพียร
มีความเคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา
มีกัลยาณมิตร เป็นผู้ว่าง่าย
มีความยำเกรง มีความเคารพ
เป็นผู้ไม่ควรเสื่อม ดำรงอยู่ใกล้นิพพานทีเดียว
ปฐมโสวจัสสตาสูตรที่ ๓ จบ

๔. ทุติยโสวจัสสตาสูตร
ว่าด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย สูตรที่ ๒
[๓๕] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่ง ฯลฯ ได้กล่าว
กับเราดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม
แก่ภิกษุ
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๔.ทุติยโสวจัสสตาสูตร
๓. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้มีความเคารพในสมาธิ
๖. ความเป็นผู้ว่าง่าย
๗. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่
ภิกษุ
ภิกษุทั้งหลาย เทวดานั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงไหว้เรา ทำประทักษิณแล้วหาย
ไป ณ ที่นั้นแล
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา สรรเสริญความเป็นผู้มี
ความเคารพในพระศาสดา ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีความเคารพ
ในพระศาสดาให้มีความเคารพในพระศาสดา ทั้งประกาศคุณที่มี
จริงของภิกษุเหล่าอื่นผู้มีความเคารพในพระศาสดาตามกาลอันควร
๒. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม ฯลฯ
๓. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา ฯลฯ
๕. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในสมาธิ ฯลฯ
๖. ตนเองเป็นผู้ว่าง่าย ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๔.ทุติยโสวจัสสตาสูตร
๗. ตนเองเป็นผู้มีกัลยาณมิตร สรรเสริญความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีกัลยาณมิตรให้เป็นผู้มีกัลยาณมิตร ทั้ง
ประกาศคุณที่มีจริงของภิกษุเหล่าอื่นผู้มีกัลยาณมิตรตามกาลอันควร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร ดีจริง สารีบุตร เธอรู้ชัดเนื้อความ
แห่งภาษิตที่เรากล่าวไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้
สารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในศาสดา สรรเสริญความเป็นผู้มีความ
เคารพในศาสดา ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีความเคารพในศาสดา
ให้มีความเคารพในศาสดา ทั้งประกาศคุณที่มีจริงของภิกษุเหล่าอื่น
ผู้มีความเคารพในศาสดาตามกาลอันควร
๒. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในธรรม ฯลฯ
๓. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในสงฆ์ ฯลฯ
๔. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา ฯลฯ
๕. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในสมาธิ ฯลฯ
๖. ตนเองเป็นผู้ว่าง่าย ฯลฯ
๗. ตนเองเป็นผู้มีกัลยาณมิตร สรรเสริญความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีกัลยาณมิตรให้เป็นผู้มีกัลยาณมิตร ทั้ง
ประกาศคุณที่มีจริงของภิกษุเหล่าอื่นผู้มีกัลยาณมิตรตามกาลอันควร
สารีบุตร เธอพึงทราบเนื้อความแห่งภาษิตที่เรากล่าวไว้โดยย่อนี้ได้โดย
พิสดารอย่างนี้เถิด
ทุติยโสวจัสสตาสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๕.ปฐมมิตตสูตร
๕. ปฐมมิตตสูตร
ว่าด้วยองค์แห่งมิตร สูตรที่ ๑
[๓๖] ภิกษุทั้งหลาย มิตรประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ เป็นผู้ควรเสพ
องค์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก
๒. ทำสิ่งที่ทำได้ยาก
๓. อดทนถ้อยคำที่อดทนได้ยาก
๔. เปิดเผยความลับแก่เพื่อน
๕. ปิดความลับของเพื่อน
๖. ไม่ทอดทิ้งในยามวิบัติ
๗. เมื่อเพื่อนสิ้นโภคสมบัติก็ไม่ดูหมิ่น
ภิกษุทั้งหลาย มิตรประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล เป็นผู้ควรเสพ
มิตรย่อมให้สิ่งที่ให้ได้ยาก ทำสิ่งที่ทำได้ยาก
อดทนคำหยาบแม้ที่อดทนได้ยาก
เปิดเผยความลับแก่เพื่อน ปิดความลับของเพื่อน
ไม่ทอดทิ้งในยามวิบัติ
เมื่อเพื่อนสิ้นโภคสมบัติก็ไม่ดูหมิ่น
ในโลกนี้ ฐานะเหล่านี้มีอยู่ในบุคคลใด
บุคคลนั้นจัดว่าเป็นมิตร
ผู้ต้องการจะคบมิตร ควรคบมิตรเช่นนั้น

ปฐมมิตตสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๖.ทุติยมิตตสูตร
๖. ทุติยมิตตสูตร
ว่าด้วยองค์แห่งมิตร สูตรที่ ๒
[๓๗] ภิกษุทั้งหลาย มิตรประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ เป็นผู้ควรเสพ ควรคบ
ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้จะถูกขับไล่ก็ตาม
องค์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. เป็นที่รักเป็นที่พอใจ๑ ๒. เป็นที่เคารพ
๓. เป็นที่ยกย่อง ๔. เป็นนักพูด๒
๕. เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ๓ ๖. เป็นผู้พูดถ้อยคำลึกซึ้งได้๔
๗. ไม่ชักนำในอฐานะ๕

ภิกษุทั้งหลาย มิตรประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล เป็นผู้ควรเสพ ควรคบ
ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้จะถูกขับไล่ก็ตาม

เชิงอรรถ :
๑ เป็นที่รักเป็นที่พอใจ ในที่นี้หมายถึงมีลักษณะแห่งกัลยาณมิตร ๘ ประการ คือ (๑) มีศรัทธา คือ เชื่อการ
ตรัสรู้ของพระตถาคต เชื่อกรรมและผลของกรรม (๒) มีศีล คือ เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ เป็นที่นับถือของ
สัตว์ทั้งหลาย (๓) มีสุตะ คือ กล่าวถ้อยคำที่ลึกซึ้งที่สัมปยุตด้วยสัจจะและปฏิจจสมุปบาท (๔) มีจาคะ คือ
ปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ (๕) มีความเพียร คือ ปรารภความเพียรในการปฏิบัติ
เพื่อเกื้อกูลแก่ตนและเกื้อกูลแก่ผู้อื่น (๖) มีสติ คือ มีสติตั้งมั่น (๗) มีสมาธิ คือ มีจิตตั้งมั่นไม่ฟุ้งซ่าน
(๘) มีปัญญา คือ รู้อย่างไม่วิปริต ใช้สติพิจารณาคติแห่งกุศลธรรมและอกุศลธรรม รู้สิ่งที่เกื้อกูลและสิ่งไม่
เกื้อกูลแห่งสัตว์ทั้งหลายด้วยปัญญาตามความเป็นจริง มีจิตเป็นหนึ่งในอารมณ์นั้นด้วยสมาธิ เว้นสิ่งที่ไม่
เกื้อกูล ประกอบสิ่งที่เกื้อกูลด้วยความเพียร (องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๓๗-๔๓/๒๐๓)
๒ เป็นนักพูด ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้ฉลาดในการใช้คำพูด (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๓๗/๑๗๙)
๓ อดทนต่อถ้อยคำ ในที่นี้หมายถึงปฏิบัติตามโอวาทที่ท่านให้แล้ว (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๓๗/๑๗๙)
๔ ถ้อยคำลึกซึ้ง หมายถึงเรื่องเกี่ยวกับฌาน วิปัสสนา มรรค ผล และนิพพาน (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๓๗/๑๗๙)
๕ ไม่ชักนำในอฐานะ หมายถึงป้องกันไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล มีคติเป็นทุกข์ แต่ชักชวนให้
ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลมีคติเป็นสุข (เทียบ องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๓๗/๒๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๗.ปฐมปฏิสัมภิทาสูตร
มิตรเป็นที่รัก เป็นที่เคารพ เป็นที่ยกย่อง
เป็นนักพูด เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ
พูดถ้อยคำลึกซึ้งได้ ไม่ชักนำในอฐานะ
ในโลกนี้ ฐานะเหล่านี้มีอยู่ในบุคคลใด
บุคคลนั้นจัดว่าเป็นมิตรผู้มุ่งประโยชน์และอนุเคราะห์
ผู้ต้องการจะคบมิตร ควรคบมิตรเช่นนั้น
แม้จะถูกขับไล่ก็ตาม
ทุติยมิตตสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปฐมปฏิสัมภิทาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้บรรลุปฏิสัมภิทา สูตรที่ ๑
[๓๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ไม่นานนัก ก็จะ
ทำให้แจ้งปฏิสัมภิทา๑ ๔ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘จิตของเรานี้หดหู่’
๒. รู้ชัดจิตท้อแท้ภายใน๒ ตามความเป็นจริงว่า ‘จิตของเราท้อแท้ภายใน’
๓. รู้ชัดจิตฟุ้งซ่านไปภายนอก๓ ตามความเป็นจริงว่า ‘จิตของเราฟุ้งซ่าน
ไปภายนอก’
๔. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า เวทนาปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏ
ดับไป

เชิงอรรถ :
๑ ดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๗๑๘-๗๓๑/๔๕๙-๔๖๕,๗๔๖-๗๔๗/๔๗๕,๘๐๐/๕๑๓
๒ จิตท้อแท้ภายใน ในที่นี้หมายถึงจิตที่ตกอยู่ในถีนมิทธะ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๓๘/๑๗๙)
๓ จิตฟุ้งซ่านไปภายนอก ในที่นี้หมายถึงจิตที่ฟุ้งซ่านไปในกามคุณ ๕ ประการ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๓๘/๑๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๘.ทุติยปฏิสัมภิทาสูตร
๕. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สัญญาปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏ
ดับไป
๖. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า วิตกปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏ
ดับไป
๗. กำหนดดี มนสิการดี ทรงจำดี แทงตลอดดีด้วยปัญญาซึ่งนิมิตใน
ธรรมที่เป็นสัปปายะและอสัปปายะ๑ ที่เลวและประณีต ที่มีส่วนดำ
และขาว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ไม่นานนัก ก็จะทำให้
แจ้งปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่
ปฐมปฏิสัมภิทาสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุติยปฏิสัมภิทาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้บรรลุปฏิสัมภิทา สูตรที่ ๒
[๓๙] ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ จึงทำให้แจ้ง
ปฏิสมภิทา ๔ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ในธรรมวินัยนี้ สารีบุตร
๑. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘จิตของเรานี้หดหู่’
๒. รู้ชัดจิตท้อแท้ภายในตามความเป็นจริงว่า ‘จิตของเราท้อแท้ภายใน’
๓. รู้ชัดจิตฟุ้งซ่านไปภายนอกตามความเป็นจริงว่า ‘จิตของเราฟุ้งซ่าน
ไปภายนอก’

เชิงอรรถ :
๑ นิมิตในธรรมที่เป็นสัปปายะและอสัปปายะ หมายถึงเหตุในธรรมที่เป็นอุปการะและที่ไม่เป็นอุปการะ
(องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๓๘/๑๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๙.ปฐมวสสูตร
๔. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า เวทนาปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏ
ดับไป
๕. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สัญญาปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏ
ดับไป
๖. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า วิตกปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏ
ดับไป
๗. กำหนดดี มนสิการดี ทรงจำดี แทงตลอดดีด้วยปัญญาซึ่งจิตในธรรม
ที่เป็นสัปปายะและอสัปปายะ ที่เลวและประณีต ที่มีส่วนดำและขาว
ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล จึงทำให้แจ้ง
ปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่
ทุติยปฏิสัมภิทาสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปฐมวสสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้จิตตกอยู่ในอำนาจ สูตรที่ ๑
[๔๐] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมทำจิตไว้ใน
อำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ
๒. เป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ๑
๓. เป็นผู้ฉลาดในการให้สมาธิตั้งอยู่ได้๒
๔. เป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ๓
๕. เป็นผู้ฉลาดในความพร้อมแห่งสมาธิ๔

เชิงอรรถ :
๑ ฉลาดในการเข้าสมาธิ หมายถึงฉลาดเลือกอาหารและฤดูที่เหมาะแก่การเจริญสมาธิ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๔/
๑๐๙) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๒๔/๔๕๕
๒ ฉลาดในการให้สมาธิตั้งอยู่ได้ หมายถึงสามารถรักษาสมาธิให้ดำรงอยู่ได้นาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๔/๑๐๙)
๓ ฉลาดในการออกจากสมาธิ หมายถึงกำหนดเวลาที่จะออกจากสมาธิได้ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๔/๑๐๙)
๔ ฉลาดในความพร้อมแห่งสมาธิ หมายถึงสามารถทำสมาธิจิตให้มีความร่าเริงได้ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๔/๑๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๑๐.ทุติยวสสูตร
๖. เป็นผู้ฉลาดในอารมณ์แห่งสมาธิ๑
๗. เป็นผู้ฉลาดในอภินิหารแห่งสมาธิ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมทำจิตไว้ในอำนาจ
และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต
ปฐมวสสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยวสสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้จิตตกอยู่ในอำนาจ สูตรที่ ๒
[๔๑] ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมทำจิต
ไว้ในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ในธรรมวินัยนี้ สารีบุตร
๑. เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ
๒. เป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ
๓. เป็นผู้ฉลาดในการให้สมาธิตั้งอยู่ได้
๔. เป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ
๕. เป็นผู้ฉลาดในความพร้อมแห่งสมาธิ
๖. เป็นผู้ฉลาดในอารมณ์แห่งสมาธิ
๗. เป็นผู้ฉลาดในอภินิหารแห่งสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมทำจิตไว้ใน
อำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต
ทุติยวสสูตรที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ฉลาดในอารมณ์แห่งสมาธิหมายถึงฉลาดในการเว้นธรรมที่ไม่เป็นอุปการะแก่สมาธิแล้วเลือกเจริญแต่ธรรม
ที่เป็นสัปปายะ และเป็นอุปการะโดยรู้ว่า ‘นี้คืออารมณ์ที่เป็นนิมิต (เครื่องหมาย) สำหรับให้จิตกำหนด นี้คือ
อารมณ์ที่เป็นไตรลักษณ์’ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๔/๑๐๙)
๒ ฉลาดในอภินิหารแห่งสมาธิ หมายถึงฉลาดในการเจริญสมาธิในชั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และ
จตุตถฌาน ตามลำดับจนเกิดความชำนาญแล้วเข้าสมาธิชั้นสูงขึ้นไป (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๔/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๑๑.ปฐมนิททสสูตร
๑๑. ปฐมนิททสสูตร
ว่าด้วยนิททสวัตถุ สูตรที่ ๑
[๔๒] ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวร๑เข้าไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “การเที่ยวบิณฑบาต
ในกรุงสาวัตถียังเช้านัก ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก”
ครั้นแล้วจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็น
ที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่าง
การประชุมว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกท่านผู้นั้นว่า ‘นิททสภิกษุ'๒
ท่านพระสารีบุตรไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า “เราจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้
มีพระภาค” ท่านพระสารีบุตรครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต
หลังจากฉันจากอาหารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรเข้าไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘การเที่ยวบิณฑบาต
ในกรุงสาวัตถียังเช้านัก ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก’
ครั้นแล้วจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็น
ที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร” นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้พระสารีบุตรมิได้นุ่งสบง มิใช่พระสารีบุตร
ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยกายส่วนบน แต่คำว่า “ครองอันตรวาสก” หมายถึงท่านผลัดเปลี่ยนสบง หรือ
ขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ คำว่า “ถือบาตรและจีวร” หมายถึงถือบาตรด้วยมือ ถือจีวรด้วยกาย คือห่มจีวร
แล้วอุ้มบาตรนั่นเอง (เทียบ วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, ที.ม.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓, ม.มู.อ. ๑/๖๓/๑๖๓, ขุ.อุ.อ. ๖/๖๕)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๒๐ (นิททสวัตถุสูตร) หน้า ๒๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๑๑.ปฐมนิททสสูตร
ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่างการประชุมว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่าน
ผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกท่านผู้นั้นว่า
‘นิททสภิกษุ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของ
อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า ‘เราจักรู้ชัดเนื้อความ
แห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจหรือหนอที่จะ
บัญญัตินิททสภิกษุไว้ในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สารีบุตร ไม่อาจเลยที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้
ในธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล เราทำ
ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงประกาศไว้
นิททสวัตถุ ๗ ประการ๑ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานสิกขา และได้ความรักใน
การสมาทานสิกขาต่อไป
๒. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการใคร่ครวญธรรม และได้ความรัก
ในการใคร่ครวญธรรมต่อไป
๓. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการกำจัดความอยาก และได้ความรัก
ในการกำจัดความอยากต่อไป
๔. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการหลีกเร้น และได้ความรักในการ
หลีกเร้นต่อไป
๕. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการปรารภความเพียร และได้ความ
รักในการปรารภความเพียรต่อไป
๖. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน และได้
ความรักในสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ ดูนิททสวัตถุสูตร สัตตกนิบาต ข้อ ๒๐ หน้า ๒๙-๓๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๑๒.ทุติยนิททสสูตร
๗. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิ และได้ความ
รักในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิต่อไป
สารีบุตร นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
จึงประกาศไว้
ภิกษุประกอบด้วยนิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติพรหมจรรย์
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๒๔ ปี ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติพรหม
จรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๓๖ ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติ
พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๔๘ ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ'
ปฐมนิททสสูตรที่ ๑๑ จบ

๑๒. ทุติยนิททสสูตร
ว่าด้วยนิททสวัตถุ สูตรที่ ๒
[๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้นแล
เวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปยังกรุงโกสัมพี
เพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “การเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพียังเช้านัก
ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก” ครั้นแล้วจึงเข้าไปยัง
อารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็น
ที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่าง
การประชุมว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกท่านผู้นั้นว่า “นิททสภิกษุ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค ๑๒.ทุติยนิททสสูตร
ท่านพระอานนท์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า “เราจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้
มีพระภาค” ท่านพระอานนท์ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพี กลับจากบิณฑบาต
หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรเข้าไปยังกรุงโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘การเที่ยวบิณฑบาต
ในกรุงโกสัมพียังเช้านัก ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชก’ ครั้นแล้วจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้นแล
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่างการประชุมว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียก
ท่านผู้นั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คัดค้าน
ภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า ‘เราจักรู้ชัด
เนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจหรือหนอ
ที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อานนท์ ไม่อาจเลยที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ใน
ธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล เราทำ
ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงประกาศไว้
นิททสวัตถุ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีหิริ
๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๔. เป็นพหูสูต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔.เทวตาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๕. เป็นผู้ปรารภความเพียร ๖. เป็นผู้มีสติ
๗. เป็นผู้มีปัญญา
อานนท์ นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
จึงประกาศไว้
ภิกษุประกอบด้วยนิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล หากประพฤติพรหมจรรย์
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติ
พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๒๔ ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’
หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๓๖ ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า
‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๔๘ ปี ก็ควรเรียก
ภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ'
ทุติยนิททสสูตรที่ ๑๑ จบ
เทวตาวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัปปมาทคารวสูตร ๒. หิริคารวสูตร
๓. ปฐมโสวจัสสตาสูตร ๔. ทุติยโสวจัสสตาสูตร
๕. ปฐมมิตตสูตร ๖. ทุติยมิตตสูตร
๗. ปฐมปฏิสัมภิทาสูตร ๘. ทุติยปฏิสัมภิทาสูตร
๙. ปฐมวสสูตร ๑๐. ทุติยวสสูตร
๑๑. ปฐมนิททสสูตร ๑๒. ทุติยนิททสสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๑.สัตตวิญญาณัฏฐิติสูตร
๕. มหายัญญวรรค
หมวดว่าด้วยมหายัญ
๑. สัตตวิญญาณัฏฐิติสูตร๑
ว่าด้วยวิญญาณฐิติ ๗ ประการ
[๔๔] ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ๒ (ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ) ๗ ประการนี้
วิญญาณฐิติ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มีสัตว์ผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์บางพวก เทวดา
บางพวก๓ และวินิปาติกะบางพวก๔ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๑
๒. มีสัตว์ผู้มีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ เทวดาชั้น
พรหมกายิกา๕เกิดในปฐมฌานภูมิ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๒
๓. มีสัตว์ผู้มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน คือ เทวดาชั้น
อาภัสสระ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๓
๔. มีสัตว์ผู้มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ เทวดาชั้น
สุภกิณหะ (เทวดาที่เต็มไปด้วยความงาม) นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๔

เชิงอรรถ :
๑ ที.ม. ๑๐/๑๒๗/๖๑-๖๒, ที.ปา. ๑๑/๓๓๒/๒๒๒-๒๒๓, ๓๕๗/๒๕๘-๒๕๙, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๓/๒๘๙
๒ วิญญาณฐิติ หมายถึงที่ตั้งแห่งปฏิสนธิวิญญาณ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๔๔-๔๕/๑๘๐)
๓ เทวดาบางพวก หมายถึงเทพในสวรรค์ชั้นกามาวาจรภูมิ ๖ คือ (๑) ชั้นจาตุมหาราช (๒) ชั้นดาวดึงส์
(๓) ชั้นยาม (๔) ชั้นดุสิต (๕) ชั้นนิมมานรดี (๖) ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (ที.ม.อ. ๒/๑๒๗/๑๐๙, ขุ.จู.อ.
๘๓/๕๗)
๔ วินิปาติกะบางพวก หมายถึงพวกเวมานิกเปรตที่พ้นจากอบายภูมิ ๔ มียักษิณีผู้เป็นมารดาของอุตตระ
ยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระ ยักษิณีผู้เป็นมิตรของผุสสะ ร่างกายของเปรตเหล่านี้แตกต่างกัน คือ มีทั้ง
อ้วน ผอม เตี้ย สูง มีผิวขาว ผิวดำ ผิวสีทอง และสีนิล มีลักษณะ มีสัญญาต่างกัน ด้วย ติเหตุกะ ทุเหตุกะ
และอเหตุกะ เหมือนของมนุษย์ เวมานิกเปรตเหล่านี้ไม่มีศักดิ์มากเหมือนพวกเทวดา บางพวกได้รับทุกข์
ในข้างแรม ได้รับสุขในข้างขึ้น แต่เวมานิกเปรตที่เป็นติเหตุกะสามารถบรรลุธรรมได้ ดุจการบรรลุธรรมของ
ยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระ เป็นต้น (ที.ม.อ. ๒/๑๒๗/๑๐๙, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๔๔-๔๕/๑๘๐, ขุ.จู.อ.
๘๓/๕๗)
๕ เทวดาชั้นพรหมกายิกา หมายถึงพรหมชั้นปฐมฌานภูมิ (ระดับปฐมฌาน) ๓ ชั้น คือ (๑) พรหมปาริสัชชา
(พวกบริษัทบริวารมหาพรหม) (๒) พรหมปโรหิตา (พวกปุโรหิตมหาพรหม) (๓) มหาพรหมา (พวกท้าว
มหาพรหม) (ที.ม.อ. ๒/๑๒๗/๑๐๙-๑๑๐, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๔๔-๔๕/๑๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๒.สมาธิปริกขารสูตร
๕. มีสัตว์ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน๑ อยู่โดยกำหนดว่า ‘อากาศ
หาที่สุดมิได้’ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่มนสิการ-
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๕
๖. มีสัตว์ผู้ล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌาน๒ อยู่โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’
นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๖
๗. มีสัตว์ผู้ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌาน๓ อยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ นี้เป็น
วิญญาณฐิติที่ ๗
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ ๗ ประการนี้แล
สัตตวิญญาณัฏฐิติสูตรที่ ๑ จบ

๒. สมาธิปริกขารสูตร๔
ว่าด้วยบริขารแห่งสมาธิ
[๔๕] ภิกษุทั้งหลาย บริขารแห่งสมาธิ๕ ๗ ประการนี้
บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)

เชิงอรรถ :
๑ อากาสานัญจายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดอากาศคือช่องว่างอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ ๑
ของอรูปฌาน ๔ (ที.สี.อ. ๑/๔๑๔/๓๐๘)
๒ วิญญาณัญจายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ ๒ ของ
อรูปฌาน ๔ (ที.สี.อ. ๑/๔๑๔/๓๐๘)
๓ อากิญจัญญายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดภาวะอันไม่มีอะไร(ความว่าง)เป็นอารมณ์ ฌานนี้เรียกอีก
อย่างหนึ่งว่า สัญญัคคะ (ที่สุดแห่งสัญญา) เพราะเป็นภาวะสุดท้ายของการมีสัญญา กล่าวคือ ผู้บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานแล้ว ขั้นต่อไปจะเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้างเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง
(ที.สี.อ. ๑/๔๑๔/๓๐๘)
๔ ดูเทียบ ที.ม. ๑๐/๒๙๐/๑๘๖, ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑, ม.อุ.๑๔/๑๓๖/๑๒๑, สํ.ม.๑๙/๒๘/๑๖
๕ บริขารแห่งสมาธิ หมายถึงองค์ประกอบของมรรคสมาธิ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๔๔-๔๕/๑๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๓.ปฐมอัคคิสูตร
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
ภิกษุทั้งหลาย สภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียวซึ่งมีองค์ ๗ ประการนี้แวดล้อม
เรียกว่า ‘อริยสัมมาสมาธิที่มีอุปนิสะ‘๑ บ้าง ว่า ‘อริยสัมมาทิฏฐิที่มีบริขาร’ บ้าง
สมาธิปริกขารสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปฐมอัคคิสูตร
ว่าด้วยไฟ สูตรที่ ๑
[๔๖] ภิกษุทั้งหลาย อัคคิ (ไฟ) ๗ ประการนี้
อัคคิ ๗ ประการ๒ อะไรบ้าง คือ

๑. ราคัคคิ (ไฟคือราคะ)
๒. โทสัคคิ (ไฟคือโทสะ)
๓. โมหัคคิ (ไฟคือโมหะ)
๔. อาหุเนยยัคคิ (ไฟคืออาหุไนยบุคคล)
๕. คหปตัคคิ (ไฟคือคหบดี)
๖. ทักขิเณยยัคคิ (ไฟคือทักขิไณยบุคคล)
๗. กัฏฐัคคิ (ไฟที่เกิดจากไม้)

ภิกษุทั้งหลาย อัคคิ ๗ ประการนี้แล
ปฐมอัคคิสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อุปนิสะ หมายถึงอุปนิสสัยในที่นี้ได้แก่หมวดธรรมที่เป็นเหตุทำหน้าที่ร่วมกัน (ที.ม.อ. ๒/๒๙๐/
๒๕๗, ๒๙๐/๒๖๗)
๒ ราคะโทสะ และโมหะ ที่เรียกว่า อัคคิ เพราะมีความหมายว่า ตามเผาผลาญ อาหุเนยยัคคิ แยกอธิบาย
ดังนี้ คือ อาหุเนยยะ + อัคคิ คำว่า อาหุเนยยะ มาจาก อาหุนะ หมายถึงเครื่องสักการะ บุคคลผู้ควรแก่
เครื่องสักการะ เรียกว่า อาหุไนยบุคคล คือมารดาบิดา ที่เรียกว่า อัคคิ เพราะเป็นเหตุให้บุตรผู้ปฏิบัติผิด
ต่อตนต้องถูกเผาไหม้ในนรกได้ คหปตัคคิ แยกเป็น คหปติ + อัคคิ คำว่า คหบดี หมายถึงเจ้าของเรือนผู้
ให้ที่นอน เสื้อผ้า เครื่องประดับ ที่เรียกว่า อัคคิ เพราะเป็นเหตุให้มาตุคามผู้ประพฤตินอกใจตน ต้องถูก
เผาไหม้ในนรก ทักขิเณยยัคคิ แยกเป็น ทักขิเณยยะ + อัคคิ คำว่า ทักขิเณยยะ มาจากคำว่า ทักขิณา
หมายถึงปัจจัย ๔ บุคคลผู้ควรแแก่ปัจจัย ๔ เรียกว่า ทักขิไณยบุคคล คือภิกษุสงฆ์ ที่เรียกว่า อัคคิ เพราะ
เป็นเหตุให้คฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติผิด เช่น ด่า บริภาษ ต้องถูกเผาไหม้ในนรก เป็นต้น กัฏฐัคคิ หมายถึงไฟที่เกิด
จากไม้แห้ง (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๔๖/๑๘๒-๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๔.ทุติยอัคคิสูตร
๔. ทุติยอัคคิสูตร
ว่าด้วยไฟ สูตรที่ ๒
[๔๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล อุคคตสรีรพราหมณ์ตระเตรียม
มหายัญ โคผู้ ๕๐๐ ตัวถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลัก เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ
ลูกโคผู้ ๕๐๐ ตัวถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลักเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ ลูกโคตัวเมีย
๕๐๐ ตัวถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลักเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ แพะ ๕๐๐ ตัวถูกนำ
เข้าไปผูกไว้ที่หลักเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ แกะ ๕๐๐ ตัวถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลัก
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ
ครั้งนั้นแล อุคคตสรีรพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า ‘การก่อไฟ การปัก
หลักบูชายัญ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ แม้เราก็ได้สดับมาว่า ‘การก่อไฟ
การปักหลักบูชายัญ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ อุคคตสรีรพราหมณ์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่าน
พระโคดม ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า ‘การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ แม้เราก็ได้สดับมาว่า ‘การก่อไฟ
การปักหลักบูชายัญ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”
พราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้อความทั้งหมดของท่านพระโคดมและ
ของข้าพเจ้าย่อมสมกัน”
เมื่ออุคคตสรีรพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับ
อุคคตสรีรพราหมณ์ดังนี้ว่า “พราหมณ์ ท่านไม่ควรถามพระตถาคตอย่างนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๔.ทุติยอัคคิสูตร
‘ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า ‘การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก’ แต่ควรถามพระตถาคตอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้า
ประสงค์จะก่อไฟ ประสงค์จะปักหลักบูชายัญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดตักเตือน
โปรดพร่ำสอนข้าพเจ้าถึงข้อที่จะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาล
นานเถิด”
ลำดับนั้น อุคคตสรีรพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าประสงค์จะก่อไฟ ประสงค์จะปักหลักบูชายัญ ขอท่าน
พระโคดมโปรดตักเตือน โปรดพร่ำสอนข้าพเจ้าถึงข้อที่จะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อ
สุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนานเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ
ก่อนที่จะบูชายัญ ย่อมเงื้อศัสตรา ๓ ชนิด ที่เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์
เป็นผล
ศัสตรา ๓ ชนิด อะไรบ้าง คือ
๑. ศัสตราทางกาย
๒. ศัสตราทางวาจา
๓. ศัสตราทางใจ
บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ก่อนที่จะบูชายัญ ย่อมคิดอย่างนี้ว่า
‘ต้องฆ่าโคผู้เท่านี้ตัวเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ ต้องฆ่าลูกโคผู้เท่านี้ตัวเพื่อประโยชน์แก่
การบูชายัญ ต้องฆ่าลูกโคตัวเมียเท่านี้ตัวเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ ต้องฆ่าแพะ
เท่านี้ตัวเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ ต้องฆ่าแกะเท่านี้ตัวเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ’
เขาคิดว่า ‘จะทำบุญ’ แต่กลับทำสิ่งที่มิใช่บุญ คิดว่า ‘จะทำกุศล’ แต่กลับทำอกุศล
คิดว่า ‘จะแสวงหาทางสุคติ’ แต่กลับแสวงหาทางทุคติ พราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ
ปักหลักบูชายัญ ก่อนที่จะบูชายัญ ย่อมเงื้อศัสตราทางใจชนิดที่ ๑ นี้ ที่เป็นอกุศล
มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นผล
บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ก่อนที่จะบูชายัญ ย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ต้องฆ่าโคผู้เท่านี้ตัวเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ ต้องฆ่าลูกโคผู้เท่านี้ตัวเพื่อประโยชน์แก่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๔.ทุติยอัคคิสูตร
การบูชายัญ ต้องฆ่าลูกโคตัวเมียเท่านี้ตัวเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ ต้องฆ่าแพะ
เท่านี้ตัวเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ ต้องฆ่าแกะเท่านี้ตัวเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ’
เขาคิดว่า ‘จะทำบุญ’ แต่กลับทำสิ่งที่มิใช่บุญ คิดว่า ‘จะทำกุศล’ แต่กลับทำอกุศล
คิดว่า ‘จะแสวงหาทางสุคติ’ แต่กลับแสวงหาทางทุคติ พราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ
ปักหลักบูชายัญ ก่อนที่จะบูชายัญ ย่อมเงื้อศัสตราทางวาจาชนิดที่ ๒ นี้ที่เป็นอกุศล
มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นผล
บุคคลเมื่อจะก่อไฟปักหลักบูชายัญ ก่อนที่จะบูชายัญ ตนเองลงมือฆ่าโคผู้
ก่อนเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ ตนเองลงมือฆ่าลูกโคผู้ก่อนเพื่อประโยชน์แก่การ
บูชายัญ ตนเองลงมือฆ่าลูกโคตัวเมียก่อนเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ ตนเองลงมือ
ฆ่าแพะก่อนเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ ตนเองลงมือฆ่าแกะก่อนเพื่อประโยชน์แก่
การบูชายัญ เขาคิดว่า ‘จะทำบุญ’ แต่กลับทำสิ่งที่มิใช่บุญ คิดว่า ‘จะทำกุศล’ แต่กลับ
ทำอกุศล คิดว่า ‘จะแสวงหาทางสุคติ’ แต่กลับแสวงหาทางทุคติ พราหมณ์ บุคคล
เมื่อจะก่อไฟปักหลักบูชายัญ ก่อนที่จะบูชายัญ ย่อมเงื้อศัสตราทางกายชนิดที่ ๓ นี้
ที่เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นผล
พราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟปักหลักบูชายัญ ก่อนที่จะบูชายัญ ย่อมเงื้อ
ศัสตรา ๓ ชนิดนี้แล ที่เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นผล
พราหมณ์ อัคคิ(ไฟ) ๓ ประการนี้ เป็นสิ่งที่ควรละ ควรเว้น ไม่ควรเสพ
อัคคิ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ราคัคคิ (ไฟคือราคะ)
๒. โทสัคคิ (ไฟคือโทสะ)
๓. โมหัคคิ (ไฟคือโมหะ)
เพราะเหตุไร ราคัคคินี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรละ ควรเว้น ไม่ควรเสพ
เพราะบุคคลผู้มีราคะ ถูกราคะครอบงำ มีจิตถูกราคะกลุ้มรุม ย่อมประพฤติ
ทุจริตทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจ หลังจากตายแล้ว
เขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น ราคัคคินี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรละ ควรเว้น
ไม่ควรเสพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๔.ทุติยอัคคิสูตร
เพราะเหตุไร โทสัคคินี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรละ ควรเว้น ไม่ควรเสพ
เพราะบุคคลผู้มีโทสะ ถูกโทสะครอบงำ มีจิตถูกโทสะกลุ้มรุม ย่อมประพฤติ
ทุจริตทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจ หลังจากตายแล้ว
เขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น โทสัคคินี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรละ
ควรเว้น ไม่ควรเสพ
เพราะเหตุไร โมหัคคินี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรละ ควรเว้น ไม่ควรเสพ
เพราะบุคคลผู้มีโมหะ ถูกโมหะครอบงำ มีจิตถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมประพฤติ
ทุจริตทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจ หลังจากตายแล้ว
เขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น โมหัคคินี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรละ ควรเว้น
ไม่ควรเสพ
พราหมณ์ อัคคิ ๓ ประการนี้แล เป็นสิ่งที่ควรละ ควรเว้น ไม่ควรเสพ
พราหมณ์ อัคคิ ๓ ประการนี้ เป็นสิ่งที่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
แล้วบริหารให้เป็นสุขโดยชอบ
อัคคิ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อาหุเนยยัคคิ
๒. คหปตัคคิ
๓. ทักขิเณยยัคคิ
อาหุเนยยัคคิ เป็นอย่างไร
คือ บุตรในโลกนี้มีมารดาหรือบิดา นี้เรียกว่า อาหุเนยยัคคิ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะบุตรเกิดมาจากมารดาบิดานี้ ฉะนั้น อาหุเนยยัคคินี้ จึงเป็นผู้ที่
ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ
คหปตัคคิ เป็นอย่างไร
คือ คหบดีในโลกนี้มีบุตร ภรรยา ทาส คนใช้ หรือกรรมกร นี้เรียกว่า
คหปตัคคิ ฉะนั้น คหปตัคคินี้ จึงเป็นผู้ที่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหาร
ให้เป็นสุขโดยชอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๔.ทุติยอัคคิสูตร
ทักขิเณยยัคคิ เป็นอย่างไร
คือ สมณพราหมณ์ผู้เว้นขาดจากความมัวเมาและประมาท ตั้งมั่นอยู่ในขันติ
และโสรัจจะ ฝึกตนได้เป็นหนึ่ง ทำตนให้สงบได้เป็นหนึ่ง ทำตนให้ดับเย็นได้เป็นหนึ่ง
นี้เรียกว่า ทักขิเนยยัคคิ ฉะนั้น ทักขิเณยยัคคินี้ จึงเป็นผู้ที่ควรสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา แล้วบริหารให้เป็นสุขโดยชอบ
พราหมณ์ อัคคิ ๓ ประการนี้แล เป็นสิ่งที่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
แล้วบริหารให้เป็นสุขโดยชอบ
ส่วนกัฏฐัคคินี้ ต้องจุดตามกาลอันควร ต้องคอยดูตามกาลอันควร ต้องคอย
ดับตามกาลอันควร ต้องคอยเก็บตามกาลอันควร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุคคตสรีรพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ฯลฯ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ข้าพระองค์จะปล่อยโคผู้ ๕๐๐ ตัว ให้ชีวิตพวกมัน จะปล่อย
ลูกโคผู้ ๕๐๐ ตัว ให้ชีวิตพวกมัน จะปล่อยลูกโคตัวเมีย ๕๐๐ ตัว ให้ชีวิตพวกมัน
จะปล่อยแพะ ๕๐๐ ตัว ให้ชีวิตพวกมัน จะปล่อยแกะ ๕๐๐ ตัว ให้ชีวิตพวกมัน
พวกมันจะกินหญ้าสด ดื่มน้ำเย็นและรับลมเย็น”

ทุติยอัคคิสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๖.ทุติยสัญญาสูตร
๕. ปฐมสัญญาสูตร
ว่าด้วยสัญญา๑ สูตรที่ ๑
[๔๘] ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๗ ประการนี้ ที่ภิกษุเจริญทำให้มาก๒แล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ๓ มีอมตะเป็นที่สุด
สัญญา ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. อสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย)
๒. มรณสัญญา (กำหนดหมายความตายที่จะต้องมาถึงเป็นธรรมดา)
๓. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา (กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร)
๔. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา (กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง)
๕. อนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
๖. อนิจเจ ทุกขสัญญา (กำหนดหมายความเป็นทุกข์ในความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
๗. ทุกเข อนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็นอนัตตาในความเป็นทุกข์)

ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๗ ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
ปฐมสัญญาสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยสัญญาสูตร
ว่าด้วยสัญญา สูตรที่ ๒
[๔๙] ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๗ ประการนี้ ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
สัญญา ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อสุภสัญญา ๒. มรณสัญญา
๓. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา ๔. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๕๖/๑๒๓
๒ เจริญ หมายถึงบำเพ็ญสิ่งที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นให้เจริญขึ้นและตามรักษาสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วให้มีอยู่ตลอดไป
(องฺ.เอกก. อ. ๑/๕๔-๕๕/๖๓, ๔๑๘/๔๔๘, ๔๕๓/๔๖๙
ทำให้มาก หมายถึงทำบ่อย ๆ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๖๐๐-๖๑๑/๔๘๐)
๓ อมตะ หมายถึงพระนิพพาน (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๔๘-๔๙/๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๖.ทุติยสัญญาสูตร
๕. อนิจจสัญญา ๖. อนิจเจ ทุกขสัญญา
๗. ทุกเข อนัตตสัญญา
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๗ ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘อสุภสัญญาที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด‘ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง
กล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า ภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอสุภสัญญาอยู่
โดยมาก จิตย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่ออกไปรับการร่วมเมถุนธรรม
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่เข้าไปในไฟ
ย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่คลี่ออก ฉันใด ภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอสุภ-
สัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่ออกไปรับการร่วมเมถุน
ธรรม ฉันนั้นเหมือนกันแล อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอสุภสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมไหลไปตามการ
ร่วมเมถุนธรรม ความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า ‘อสุภ-
สัญญา เรามิได้เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายจึงไม่มีแก่เรา
ภาวนาพละ(กำลังคือภาวนา) ของเรายังไม่ถึงที่’ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัด
ในอสุภสัญญานั้น
แต่ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอสุภสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหดกลับ
งอกลับ หมุนกลับ ไม่ออกไปรับการร่วมเมถุนธรรม อุเบกขาหรือความเป็นของ
ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า ‘อสุภสัญญา เราเจริญดีแล้ว คุณวิเศษ
ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายจึงมีแก่เรา ภาวนาพละของเราถึงที่แล้ว’ เพราะฉะนั้น
ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัดในอสุภสัญญานั้น
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า “‘อสุภสัญญาที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด’' (๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๖.ทุติยสัญญาสูตร
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘มรณสัญญาที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด‘ เพราะอาศัยเหตุอะไร
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า ภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยมรณสัญญา
อยู่โดยมาก จิตย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่ออกไปรับความติดใจในชีวิต
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่เข้าไปในไฟ
ย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่คลี่ออก ฉันใด ภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วย
มรณสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่ออกไปรับความติดใจ
ในชีวิต ฉันนั้นเหมือนกันแล อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยมรณสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมไหลไปตามความ
ติดใจในชีวิต ความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า ‘มรณสัญญา
เรามิได้เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายจึงไม่มีแก่เรา ภาวนาพละของ
เรายังไม่ถึงที่’ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัดในมรณสัญญานั้น
แต่ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยมรณสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหดกลับ งอกลับ
หมุนกลับ ไม่ออกไปรับความติดใจในชีวิต อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อม
ตั้งอยู่ ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า ‘มรณสัญญา เราเจริญดีแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและ
เบื้องปลายจึงมีแก่เรา ภาวนาพละของเราถึงที่แล้ว’ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้
ชัดในมรณสัญญานั้น
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘'มรณสัญญาที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด'’ (๒)
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘อาหาเร ปฏิกูลสัญญาที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด‘ เพราะอาศัย
เหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๖.ทุติยสัญญาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า ภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอาหาเร ปฏิกูล-
สัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่ออกไปรับตัณหาในรส
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่เข้าไปในไฟ
ย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่คลี่ออก ฉันใด ภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอาหาเร
ปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่ออกไปรับตัณหาในรส
ฉันนั้นเหมือนกันแล อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอาหาเร ปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมไหลไป
ตามตัณหาในรส ความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า ‘อาหาเร
ปฏิกูลสัญญา เรามิได้เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายจึงไม่มีแก่เรา
ภาวนาพละของเรายังไม่ถึงที่’ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัดในอาหาเร ปฏิกูล-
สัญญานั้น
แต่ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอาหาเร ปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อม
หดกลับ งอกลับ ฯลฯ ตัณหาในรส อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า ‘อาหาเร ปฏิกูลสัญญา เราเจริญดีแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้น
และเบื้องปลายจึงมีแก่เรา ภาวนาพละของเราถึงที่แล้ว’ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็น
ผู้รู้ชัดในอาหาเร ปฏิกูลสัญญานั้น
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ' ‘อาหาเร ปฏิกูลสัญญาที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด'’ (๓)
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า '‘สัพพโลเก อนภิรตสัญญาที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด'’ เพราะอาศัยเหตุ
อะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า ภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยสัพพโลเก
อนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่ออกไปรับความ
วิจิตรของโลก อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขา
ใส่เข้าไปในไฟ ย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่คลี่ออก ฉันใด ภิกษุมีใจที่อบรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๖.ทุติยสัญญาสูตร
แล้วด้วยสัพพโลเก อนภิตรสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ
ไม่ออกไปรับความวิจิตรของโลก ฉันนั้นเหมือนกันแล อุเบกขาหรือความเป็นของ
ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยสัพพโลเก อนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมไหล
ไปตามความวิจิตรของโลก ความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า
‘สัพพโลเก อนภิรตสัญญา เรามิได้เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย
จึงไม่มีแก่เรา ภาวนาพละของเรายังไม่ถึงที่’ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัดใน
สัพพโลเก อนภิรตสัญญานั้น
แต่ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยสัพพโลเก อนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อม
หดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่ออกไปรับความวิจิตรของโลก อุเบกขาหรือความเป็น
ของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า ‘สัพพโลเก อนภิรตสัญญา เราเจริญ
ดีแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายจึงมีแก่เรา ภาวนาพละของเราถึงที่แล้ว’
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัดในสัพพโลเก อนภิรตสัญญานั้น
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘'สัพพโลเก อนภิรตสัญญาที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด’' (๔)
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า '‘อนิจจสัญญาที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด’' เพราะอาศัยเหตุอะไร
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า ภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญาอยู่
โดยมาก จิตย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่ออกไปรับลาภสักการะและชื่อเสียง
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่เข้าไปในไฟ
ย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่คลี่ออก ฉันใด ภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วย
อนิจจสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหดกลับ งอกลับ หมุนกลับ ไม่ออกไปรับลาภ
สักการะและชื่อเสียง ฉันนั้นเหมือนกันแล อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อม
ตั้งอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๖.ทุติยสัญญาสูตร
ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมไหลไปตามลาภ
สักการะและชื่อเสียง ความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า
‘อนิจจสัญญา เรามิได้เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายจึงไม่มีแก่เรา
ภาวนาพละของเรายังไม่ถึงที่’ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัดในอนิจจสัญญานั้น
แต่ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหดกลับ
งอกลับ หมุนกลับ ไม่ออกไปรับลาภสักการะและชื่อเสียง อุเบกขาหรือความเป็น
ของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า ‘อนิจจสัญญา เราเจริญดีแล้ว คุณวิเศษ
ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายจึงมีแก่เรา ภาวนาพละของเราถึงที่แล้ว’ เพราะฉะนั้น
ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัดในอนิจจสัญญานั้น
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘อนิจจสัญญาที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด’ (๕)
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘อนิจเจ ทุกขสัญญาที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อม
มีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด’ เพราะอาศัยเหตุอะไร
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า ภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอนิจเจ ทุกขสัญญา
อยู่โดยมาก สัญญาในความเฉื่อยชา ในความเกียจคร้าน ในความท้อถอย ในความ
ประมาท ในการไม่ประกอบความเพียร และในการไม่พิจารณาปรากฏว่าเป็นภัยอัน
ร้ายแรงเหมือนเพชฌาตผู้เงื้อดาบขึ้น
ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอนิจเจ ทุกขสัญญาอยู่โดยมาก สัญญาในความ
เฉื่อยชา ในความเกียจคร้าน ในความท้อถอย ในความประมาท ในการไม่ประกอบ
ความเพียร และในการไม่พิจารณาไม่ปรากฏว่าเป็นภัยอันร้ายแรงเหมือนเพชฌฆาต
ผู้เงื้อดาบขึ้น ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า ‘อนิจเจ ทุกขสัญญา เรามิได้เจริญแล้ว คุณวิเศษ
ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายจึงไม่มีแก่เรา ภาวนาพละของเรายังไม่ถึงที่’ เพราะฉะนั้น
ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัดในอนิจเจ ทุกขสัญญานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๖.ทุติยสัญญาสูตร
แต่ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยอนิจเจ ทุกขสัญญาอยู่โดยมาก สัญญาใน
ความเฉื่อยชา ในความเกียจคร้าน ในความท้อถอย ในความประมาท ในการ
ไม่ประกอบความเพียร และในการไม่พิจารณาปรากฏว่าเป็นภัยอันร้ายแรง เหมือน
เพชฌฆาตผู้เงื้อดาบขึ้น ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า อนิจเจ ทุกขสัญญา เราเจริญดีแล้ว
คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายจึงมีแก่เรา ภาวนาพละของเราถึงที่แล้ว’ เพราะ
ฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัดในอนิจเจ ทุกขสัญญานั้น
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘อนิจเจ ทุกขสัญญาที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด’ (๖)
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘ทุกเข อนัตตสัญญาที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด’ เพราะอาศัย
เหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า ภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยทุกเข อนัตต-
สัญญาอยู่โดยมาก มีใจปราศจากอหังการ มมังการ และมานะ๑ในร่างกายที่มีวิญญาณนี้
และในนิมิตภายนอกทั้งปวง ก้าวล่วงมานะ๒ สงบแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว๓
ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยทุกเข อนัตตสัญญาอยู่โดยมาก มีใจไม่ปราศจาก
อหังการ มมังการ และมานะในร่างกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตภายนอกทั้งปวง
ไม่ก้าวล่วงมานะ ไม่สงบ ไม่หลุดพ้นแล้ว ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า ‘ทุกเข อนัตตสัญญา
เรามิได้เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายจึงไม่มีแก่เรา ภาวนาพละของ
เรายังไม่ถึงที่’ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัดในทุกเข อนัตตสัญญานั้น

เชิงอรรถ :
๑ อหังการ หมายถึงทิฏฐิที่มีความยึดถือว่าเป็นเรา
มมังการ หมายถึงตัณหา คือความทะยานอยากว่าเป็นของเรา
มานะ หมายถึงมานะ ๙ ประการ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๔๘/๑๘๔) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๘/๕๐๘, อภิ.วิ.
(แปล) ๓๕/๙๖๒/๖๑๖-๖๑๗
๒ ก้าวล่วงมานะ แปลจากบาลีว่า ‘วิธาสมติกฺกนฺตํ’ วิธ ศัพท์ มีความหมาย ๓ นัย คือ (๑) หมายถึงส่วน
(ดู อภิ.สงฺ. ๓๔/๕๘๔/๑๖๘) (๒) หมายถึงประการ (ดู สํ.ส. ๑๕/๙๕/๖๑) (๓) หมายถึงมานะ (ดู อภิ.วิ. ๓๕/
๑๒๐/๔๔๘) ในที่นี้หมายถึงมานะ ๓ ประการ คือ (๑) ความถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (๒) ความถือตัวว่า
เสมอเขา (๓) ความถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๔๙/๒๑๑)
๓ หลุดพ้นดีแล้ว หมายถึงหลุดพ้นด้วยวิมุตติ ๕ ประการ มีตทังควิมุตติ เป็นต้น (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๔๘-๔๙/
๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๗.เมถุนสูตร
แต่ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยทุกเข อนัตตสัญญาอยู่โดยมาก มีใจปราศจาก
อหังการ มมังการ และมานะ ในร่างกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตภายนอกทั้งปวง
ก้าวล่วงมานะ สงบแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า ‘ทุกเข อนัตตสัญญา
เราเจริญดีแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายจึงมีแก่เรา ภาวนาพละของเรา
ถึงที่แล้ว’ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัดในทุกเข อนัตตสัญญานั้น
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘ทุกเข อนัตตสัญญาที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด’ (๗)
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๗ ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
ทุติยสัญญาสูตรที่ ๖ จบ

๗. เมถุนสูตร
ว่าด้วยเมถุนสังโยค
[๕๐] ครั้งนั้นแล ชาณุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ท่านพระโคดมยังปฏิญญาว่าตนเป็นพรหมจารีอยู่หรือ”๑
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง
พึงกล่าวถึงผู้ใดผู้หนึ่งว่า ‘เขาประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย

เชิงอรรถ :
๑ สาเหตุที่พราหมณ์ทูลถามเช่นนี้ เพราะคิดว่า ‘พราหมณ์ เมื่อจะเรียนเวทยังต้องประพฤติพรหมจรรย์ใช้
ระยะเวลาถึง ๔๘ ปีเลย แต่พระสมณโคดมเคยอยู่ครองเรือน อภิรมย์ในปราสาท ๓ หลัง ท่ามกลางเหล่า
นางฟ้อนนางรำ แล้วไฉนบัดนี้จึงมาพูดว่าตนประพฤติพรหมจรรย์’ ทั้งนี้เพราะยึดติดรูปแบบกฎเกณฑ์
และเวลาการประพฤติพรหมจรรย์ตามลัทธิอื่น ดู ข้อ ๔๒-๔๓ หน้า ๖๒-๖๖ ในเล่มนี้ประกอบ(องฺ.สตฺตก.
อ. ๓/๕๐/๑๘๔-๑๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๗.เมถุนสูตร
บริสุทธิ์ บริบูรณ์’ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงเรานั้นแล เพราะเรา
ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย บริสุทธิ์ บริบูรณ์”๑
พราหมณ์ทูลถามว่า “ ท่านพระโคดม อะไรเล่าชื่อว่าเป็นความขาด ความทะลุ
ความด่าง ความพร้อยแห่งพรหมจรรย์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
๑. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารีอย่าง
ถูกต้อง ไม่ประพฤติกิจสองต่อสอง๒ กับมาตุคาม แต่ยังยินดีการ
ลูบไล้ การขัดถู การให้อาบน้ำ และการนวดฟั้นของมาตุคาม
เขาชอบใจ ติดใจ และถึงความปลื้มใจกับการทำเช่นนั้น แม้นี้ก็ชื่อว่า
เป็นความขาด ความทะลุ ความด่าง และความพร้อยแห่งพรหมจรรย์
พราหมณ์ ผู้นี้เราเรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วย
เมถุนสังโยค ย่อมไม่หลุดพ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่)
มรณะ (ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ)
ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความ
คับแค้นใจ) เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจากทุกข์
๒. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารีอย่าง
ถูกต้อง ไม่ประพฤติกิจสองต่อสองกับมาตุคาม ทั้งไม่ยินดีการลูบไล้
การขัดถู การให้อาบน้ำ และการนวดฟั้นของมาตุคาม แต่ยัง
สัพยอก๓ เล่นหัว๔ หัวเราะร่ากับมาตุคาม ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ การที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบอย่างนี้มีนัยให้รู้ว่า ‘ตลอดระยะเวลา ๖ ปีที่พระองค์บำเพ็ญเพียรในขณะที่
ยังมีกิเลสอยู่นั้น แม้เพียงแต่ความคิดคำนึงถึงความสุขในราชสมบัติ หรือความพรั่งพร้อมด้วยนางฟ้อนใน
ปราสาทนั้น มิได้เกิดขึ้นแก่พระองค์เลยแม้แต่น้อย’ ซึ่งเป็นพระดำรัสตอบที่สามารถสยบพราหมณ์ได้ ดุจ
การใช้มนตร์จับงูเห่า และดุจการใช้เท้าเหยียบที่คอหอยศัตรู ฉะนั้น (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๐/๑๘๕)
๒ กิจสองต่อสอง ในที่นี้หมายถึงกิจที่คนสองคนซึ่งมีความรักใคร่กำหนัดหมกมุ่นเหมือนกันทำร่วมกัน เป็น
ชื่อของเมถุนธรรมที่เป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาทของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบมีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจ
ที่ต้องทำในที่ลับ (วิ.อ. ๑/๓๙/๒๓๑, ๕๕/๒๗๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๐/๑๘๕, องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๕๐-๕๑/๒๑๑)
และดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๓๙/๒๘, ๕๕/๔๒
๓ สัพยอก ในที่นี้หมายถึงพูดเรื่องน่าหัวเราะ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๐/๑๘๕)
๔ เล่นหัว ในที่นี้หมายถึงการพูดล้อเล่น (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๐/๑๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๗.เมถุนสูตร
๓. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งไม่สัพยอก เล่นหัว
หัวเราะร่ากับมาตุคาม แต่ยังเพ่งจ้องตามาตุคาม ฯลฯ
๔. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งไม่เพ่งจ้องตามาตุคาม
แต่ยังฟังเสียงของมาตุคามผู้หัวเราะ ผู้พูด ผู้ขับร้อง หรือผู้ร้องไห้
อยู่นอกฝาหรือนอกกำแพง ฯลฯ
๕. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งไม่ฟังเสียงของมาตุคาม
ผู้หัวเราะ ผู้พูด ผู้ขับร้อง หรือผู้ร้องไห้อยู่นอกฝาหรือนอกกำแพง
แต่ยังคอยนึกถึงการที่เคยหัวเราะพูดจาเล่นหัวกับมาตุคาม ฯลฯ
๖. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งไม่คอยนึกถึงการที่
เคยหัวเราะพูดจาเล่นหัวกับมาตุคาม แต่ยังดูคหบดีหรือบุตรคหบดี
ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ ฯลฯ
๗. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งไม่ดูคหบดีหรือบุตร
คหบดีผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ แต่ยัง
ประพฤติพรหมจรรย์ปรารถนาเป็นเทพเจ้าหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล
วัตร ตบะหรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง’
เขาชอบใจ ติดใจ และถึงความปลื้มใจกับการทำเช่นนั้น แม้นี้ก็
ชื่อว่าเป็นความขาด ความทะลุ ความด่าง และความพร้อยแห่ง
พรหมจรรย์ พราหมณ์ ผู้นี้เราเรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ไม่
บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่หลุดพ้นจากชาติ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า
ไม่หลุดพ้นจากทุกข์
พราหมณ์ ตราบใด เรายังเห็นเมถุนสังโยค ๗ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ในตนที่ยังละไม่ได้ ตราบนั้น เราก็ยังไม่ยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ
อันยอดเยี่ยมในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๘.สังโยคสูตร
สมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ แต่เมื่อใดเราไม่เห็นเมถุนสังโยค ๗ ประการนี้
อย่างใดอย่างหนึ่งในตนที่ยังละไม่ได้ เมื่อนั้นเราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมา-
สัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า ‘วิมุตติ
ของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ย่อมไม่มี’
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ฯลฯ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เมถุนสูตรที่ ๗ จบ

๘. สังโยคสูตร
ว่าด้วยความเกี่ยวข้องและความไม่เกี่ยวข้อง
[๕๑] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยาย๑เรื่องความเกี่ยวข้องและ
ความไม่เกี่ยวข้องแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุ
เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมบรรยายเรื่องความเกี่ยวข้องและความไม่เกี่ยวข้อง เป็นอย่างไร
คือ สตรีย่อมกำหนด
๑. ความเป็นสตรีภายในตน ๒. กิริยาของสตรี
๓. ท่าทางของสตรี๒ ๔. ความไว้ตัวของสตรี

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า บรรยาย ในคำว่า ธรรมบรรยาย นี้แปลจาก ปริยาย ศัพท์ ซึ่งมีความหมาย ๓ นัย คือ (๑) หมายถึง
เทศนา (ดู ม.มู. ๑๒/๒๐๕/๑๗๕, องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๖๓/๓๙๐) (๒) หมายถึงวาระ (ดู ม.อุ. ๑๔/๒๙๘/๓๔๔)
(๓) หมายถึงเหตุ (ดู วิ.มหา. ๑/๑๖๔/๙๕) ในที่นี้หมายถึงเหตุ (วิ.อ. ๑/๓/๑๒๖, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๑/๑๘๕)
๒ ท่าทางของสตรี หมายถึงมรรยาทต่าง ๆ เช่น การนุ่ง การห่ม เป็นต้น (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๑/๑๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๘.สังโยคสูตร
๕. ความพอใจของสตรี ๖. เสียงของสตรี
๗. เครื่องประดับของสตรี
เธอย่อมติดใจยินดียิ่งในความเป็นสตรีภายในตนเป็นต้นนั้น
เธอผู้ติดใจยินดียิ่งในความเป็นสตรีภายในตนเป็นต้นนั้น ย่อมกำหนด

๑. ความเป็นบุรุษภายนอก ๒. กิริยาของบุรุษ
๓. ท่าทางของบุรุษ ๔. ความไว้ตัวของบุรุษ
๕. ความพอใจของบุรุษ ๖. เสียงของบุรุษ
๗. เครื่องประดับของบุรุษ

เธอย่อมติดใจยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายนอกเป็นต้นนั้น เธอผู้ติดใจยินดียิ่ง
ในความเป็นบุรุษภายนอกเป็นต้นนั้น ย่อมมุ่งหวังการเกี่ยวข้องภายนอกและมุ่งหวัง
สุขและโสมนัสที่จะเกิดขึ้นเพราะการเกี่ยวข้องนั้นเป็นปัจจัย สัตว์ทั้งหลายผู้ยินดียิ่ง
ในความเป็นสตรี ย่อมเป็นผู้เกี่ยวข้องกับบุรุษทั้งหลาย สตรีล่วงพ้นความเป็นสตรีไปไม่ได้
อย่างนี้แล
บุรุษย่อมกำหนด

๑. ความเป็นบุรุษภายในตน ๒. กิริยาของบุรุษ
๓. ท่าทางของบุรุษ ๔. ความไว้ตัวของบุรุษ
๕. ความพอใจของบุรุษ ๖. เสียงของบุรุษ
๗. เครื่องประดับของบุรุษ

เขาย่อมติดใจยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายในตนเป็นต้นนั้น
เขาผู้ติดใจยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายในตนเป็นต้นนั้น ย่อมกำหนด

๑. ความเป็นสตรีภายนอก ๒. กิริยาของสตรี
๓. ท่าทางของสตรี ๔. ความไว้ตัวของสตรี
๕. ความพอใจของสตรี ๖. เสียงของสตรี
๗. เครื่องประดับของสตรี


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๘.สังโยคสูตร
เขาย่อมติดใจยินดียิ่งในความเป็นสตรีภายนอกเป็นต้นนั้น เขาผู้ติดใจยินดียิ่ง
ในความเป็นสตรีภายนอกเป็นต้นนั้น ย่อมมุ่งหวังการเกี่ยวข้องภายนอกและมุ่งหวัง
สุขและโสมนัสที่จะเกิดขึ้นเพราะการเกี่ยวข้องนั้นเป็นปัจจัย สัตว์ทั้งหลายผู้ยินดียิ่ง
ในความเป็นบุรุษ ย่อมเป็นผู้เกี่ยวข้องกับสตรีทั้งหลาย บุรุษล่วงพ้นความเป็นบุรุษไป
ไม่ได้ อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ความเกี่ยวข้องเป็นอย่างนี้แล
ความไม่เกี่ยวข้อง เป็นอย่างไร
คือ สตรีย่อมไม่กำหนด

๑. ความเป็นสตรีภายในตน ๒. กิริยาของสตรี
๓. ท่าทางของสตรี ๔. ความไว้ตัวของสตรี
๕. ความพอใจของสตรี ๖. เสียงของสตรี
๗. เครื่องประดับของสตรี

เธอย่อมไม่ติดใจไม่ยินดียิ่งในความเป็นสตรีภายในตนเป็นต้นนั้น
เธอผู้ไม่ติดใจไม่ยินดียิ่งในความเป็นสตรีในภายในตนเป็นต้นนั้น ย่อมไม่กำหนด

๑. ความเป็นบุรุษภายนอก ๒. กิริยาของบุรุษ
๓. ท่าทางของบุรุษ ๔. ความไว้ตัวของบุรุษ
๕. ความพอใจของบุรุษ ๖. เสียงของบุรุษ
๗. เครื่องประดับของบุรุษ

เธอย่อมไม่ติดใจไม่ยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายนอกเป็นต้นนั้น เธอผู้ไม่ติดใจ
ไม่ยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายนอกเป็นต้นนั้น ย่อมไม่มุ่งหวังการเกี่ยวข้องภายนอก
และไม่มุ่งหวังสุขและโสมนัสที่จะเกิดขึ้นเพราะการเกี่ยวข้องนั้นเป็นปัจจัย สัตว์ทั้งหลาย
ผู้ไม่ยินดียิ่งในความเป็นสตรี ย่อมเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องกับบุรุษทั้งหลาย สตรีล่วงพ้น
ความเป็นสตรีไปได้ อย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๘.สังโยคสูตร
บุรุษย่อมไม่กำหนด

๑. ความเป็นบุรุษภายในตน ๒. กิริยาของบุรุษ
๓. ท่าทางของบุรุษ ๔. ความไว้ตัวของบุรุษ
๕. ความพอใจของบุรุษ ๖. เสียงของบุรุษ
๗. เครื่องประดับของบุรุษ

เขาย่อมไม่ติดใจไม่ยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายในตนเป็นต้นนั้น
เขาผู้ไม่ติดใจไม่ยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายในตนเป็นต้นนั้น ย่อมไม่กำหนด

๑. ความเป็นสตรีภายนอก ๒. กิริยาของสตรี
๓. ท่าทางของสตรี ๔. ความไว้ตัวของสตรี
๕. ความพอใจของสตรี ๖. เสียงของสตรี
๗. เครื่องประดับของสตรี

เขาย่อมไม่ติดใจไม่ยินดียิ่งในความเป็นสตรีภายนอกเป็นต้นนั้น เขาผู้ไม่ติดใจไม่
ยินดียิ่งในความเป็นสตรีภายนอกเป็นต้นนั้น ย่อมไม่มุ่งหวังการเกี่ยวข้องภายนอกและ
ไม่มุ่งหวังสุขและโสมนัสที่จะเกิดขึ้นเพราะการเกี่ยวข้องนั้นเป็นปัจจัย สัตว์ทั้งหลายผู้
ไม่ยินดียิ่งในความเป็นบุรุษ ย่อมเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องกับสตรีทั้งหลาย บุรุษล่วงพ้นความ
เป็นบุรุษไปได้ อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ความไม่เกี่ยวข้อง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบรรยายเรื่องความเกี่ยวข้องและความไม่เกี่ยวข้อง เป็น
อย่างนี้แล
สังโยคสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๙.ทานมหัปผลสูตร
๙. ทานมหัปผลสูตร
ว่าด้วยทานที่มีผลมากและทานที่ไม่มีผลมาก
[๕๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ฝั่งสระคัคคราโบกขรณี เขต
กรุงจัมปา ครั้งนั้นแล อุบาสกชาวกรุงจัมปาจำนวนมากเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึง
ที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลายได้ฟังธรรมีกถาต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคผ่าน
มานานแล้ว ขอให้เราทั้งหลายได้ฟังธรรมีกถาของพระผู้มีพระภาคเถิด”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายควรมา
ในวันอุโบสถเถิด จะได้ฟังธรรมีกถาในสำนักของพระผู้มีพระภาคแน่นอน” อุบาสก
ชาวกรุงจัมปารับคำแล้วลุกจากที่นั่ง อภิวาท ทำประทักษิณแล้วจากไป
ครั้นถึงวันอุโบสถ อุบาสกชาวกรุงจัมปาได้พากันไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่
อภิวาทแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ต่อจากนั้น ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยอุบาสก
ชาวกรุงจัมปาเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้ไหม ทานชนิดเดียวกันที่บุคคลบางคนในโลกนี้
ถวายแล้วไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก แต่ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ถวายแล้วกลับมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีได้ สารีบุตร ทานชนิดเดียวกันที่บุคคล
บางคนในโลกนี้ถวายแล้วไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก แต่ที่บุคคลบางคนในโลกนี้
ถวายแล้วกลับมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทานชนิดเดียวกันที่
บุคคลบางคนในโลกนี้ถวายแล้ว ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก อะไรหนอแล
เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทานชนิดเดียวกันที่บุคคลบางคนในโลกนี้ถวายแล้วกลับมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๙.ทานมหัปผลสูตร
“สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ให้ทานอย่างมีใจเยื่อใย ให้ทานอย่างมีจิต
ผูกพัน ให้ทานอย่างมุ่งหวังสั่งสมบุญ ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เราละโลกนี้ไปแล้วจัก
บริโภคผลทานนี้’ เขาจึงให้ทานนั้น คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ สารีบุตร
เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ควรให้ทานเช่นนั้นหรือไม่”
“ควรให้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร ในการให้ทานเช่นนั้น บุคคลผู้ให้ทานอย่างมีใจเยื่อใย ให้ทานอย่างมี
จิตผูกพัน ให้ทานอย่างมุ่งหวังสั่งสมบุญ ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เราละโลกนี้ไปแล้วจัก
บริโภคผลทานนี้’ เขาให้ทานนั้นแล้ว หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดร่วมกับพวก
เทวดาชั้นจาตุมหาราช เขาให้กรรมนั้นสิ้นไป ให้ฤทธิ์นั้นสิ้นไป ให้ยศนั้นสิ้นไป
ให้ความเป็นใหญ่นั้นสิ้นไป เป็นผู้ยังต้องมา คือมาสู่ความเป็นอย่างนี้”
“สารีบุตร ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ให้ทานอย่างไม่มีใจเยื่อใย ให้ทานอย่าง
ไม่มีจิตผูกพัน ให้ทานอย่างไม่มุ่งหวังสั่งสมบุญ มิใช่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เราละโลกนี้
ไปแล้วจักบริโภคผลทานนี้’ แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘การให้ทานเป็นการดี‘ฯลฯ”
“สารีบุตร ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ให้ทานอย่างไม่มีใจเยื่อใย ให้ทาน
อย่างไม่มีจิตผูกพัน ให้ทานอย่างไม่มุ่งหวังสั่งสมบุญ มิใช่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เราละ
โลกนี้ไปแล้วจักบริโภคผลทานนี้’ ทั้งมิใช่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘การให้ทานเป็นการดี’
แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย เคยให้ทาน เคยทำทาน เราไม่ควร
ให้วงศ์ตระกูลเก่าแก่เสื่อมเสียไป’ ฯลฯ”
“สารีบุตร ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งมิใช่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘บิดา
มารดา ปู่ย่า ตายาย เคยให้ทาน เคยทำทาน เราไม่ควรให้วงศ์ตระกูลเก่าแก่เสื่อม
เสียไป’ แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เราหุงหากินเองได้ ชนเหล่านี้หุงหากินเองไม่ได้ การ
ที่เราหุงหากินเองได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ผู้หุงหากินเองไม่ได้ ไม่ควร’ ฯลฯ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๙.ทานมหัปผลสูตร
“สารีบุตร ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งมิใช่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เราหุง
หากินเองได้ ชนเหล่านี้หุงหากินเองไม่ได้ การที่เราหุงหากินเองได้ จะไม่ให้ทานแก่
ชนเหล่านี้ผู้หุงหากินเองไม่ได้ ไม่ควร’ แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เราให้ทานและจำแนก
ทานนี้ เหมือนเหล่าฤาษีในปางก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี
เวสสามิตตฤาษี ยมคัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสป-
ฤาษี และภคุฤาษี ได้บูชามหายัญ๑แล้ว ฉะนั้น’ ฯลฯ”
“สารีบุตร ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งมิใช่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เราจัก
ให้ทานและจำแนกทานนี้เหมือนเหล่าฤาษีในปางก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี
วามเทวฤาษี เวสสามิตตฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี
วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี ได้บูชามหายัญแล้ว’ แต่ให้ทานด้วยคิดว่า
‘เมื่อเราให้ทานนี้ จิตย่อมผ่องใส จะเกิดความชื่นชม โสมนัส ฯลฯ”
“สารีบุตร ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ทั้งมิใช่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เมื่อเรา
ให้ทานนี้ จิตย่อมผ่องใส จะเกิดความชื่นชม โสมนัส’ แต่ให้ทานเป็นเครื่องประดับจิต
ปรุงแต่งจิต เขาจึงให้ทานนั้น คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้
ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ สารีบุตร เธอเข้าใจเรื่องนั้น
อย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ควรให้ทานเช่นนั้นหรือไม่”
“ควรให้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร ในการให้ทานเช่นนั้น บุคคลผู้ให้ทานอย่างไม่มีใจเยื่อใย ให้ทาน
อย่างไม่มีจิตผูกพัน ให้ทานอย่างไม่มุ่งหวังสั่งสมบุญ มิใช่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เราละ
โลกนี้ไปแล้วจักบริโภคผลทานนี้’ มิใช่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘การให้ทานเป็นการดี’ มิใช่
ให้ทานด้วยคิดว่า ‘บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย เคยให้ทาน เคยทำทาน เราไม่ควรให้
วงศ์ตระกูลเก่าแก่เสื่อมเสียไป’ มิใช่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เราหุงหากินเองได้ ชนเหล่านี้

เชิงอรรถ :
๑ มหายัญในที่นี้หมายถึงการตระเตรียมมหาทานซึ่งประกอบไปด้วยอาหารและเภสัชต่าง ๆ มีเนยใส เนยข้น
นมส้ม น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๒/๑๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๑๐.นันทมาตาสูตร
หุงหากินเองไม่ได้ การที่เราหุงหากินเองได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ผู้หุงหากินเอง
ไม่ได้ ไม่ควร’ มิใช่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เราจักให้ทานและจำแนกทานนี้เหมือนเหล่า
ฤาษีในปางก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตตฤาษี ยมทัคคิฤาษี
อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษีและภคุฤาษี ได้บูชามหายัญ
แล้ว’ ทั้งมิใช่ให้ทานด้วยคิดว่า ‘เมื่อเราให้ทานนี้ จิตย่อมผ่องใส จะเกิดความชื่นชม
โสมนัส’ แต่ให้ทานเป็นเครื่องประดับจิต ปรุงแต่งจิต เขาจึงให้ทานนั้น หลังจาก
ตายแล้ว ย่อมไปเกิดร่วมกับพวกเทวดาชั้นพรหมกายิกา๑ เขาให้กรรมนั้นสิ้นไป
ให้ฤทธิ์นั้นสิ้นไป ให้ยศนั้นสิ้นไป ให้ความเป็นใหญ่นั้นสิ้นไป เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา
คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้
สารีบุตร นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทานชนิดเดียวกัน ที่บุคคลบางคนในโลกนี้
ให้แล้วไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทานชนิดเดียวกัน
ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ถวายแล้วกลับมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”
ทานมหัปผลสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. นันทมาตาสูตร
ว่าด้วยอริยธรรมของนันทมาตาอุบาสิกา
[๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลานะ จาริกไปในทักขิณาคีรี
ชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ สมัยนั้นแล ในเวลาใกล้รุ่ง นันทมาตาอุบาสิกา
ชาวเมืองเวฬุกัณฏกะ๒ลุกขึ้นสวดปารายนสูตร๓เป็นทำนองสรภัญญะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๕ สัตตกนิบาต ข้อ ๔๔ หน้า ๖๗ ในเล่มนี้
๒ ที่มีชื่อว่า เวฬุกัณฏกะ เพราะเป็นเมืองที่ถูกสร้างกำแพงล้อมรอบโดยใช้ไม้ไผ่ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๓/๑๘๗)
๓ ที่ชื่อว่า ปารายนะ เพราะนำไปสู่ฝั่งคือนิพพาน (องฺ.สตฺตก.อ.๓/๕๓/๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๑๐.นันทมาตาสูตร
ท้าวเวสวัณมหาราชมีกรณียกิจบางอย่าง เสด็จจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ ได้สดับ
เสียงของนันทมาตาที่กำลังสวดปารายนสูตรเป็นทำนองสรภัญญะ ได้ประทับยืนสดับ
จนสวดจบ
ครั้นนันทมาตาอุบาสิกาสวดปารายนสูตรเป็นทำนองสรภัญญะจบแล้วก็นิ่งอยู่
ท้าวเวสวัณมหาราชทรงทราบว่านันทมาตาอุบาสิกาสวดจบ จึงอนุโมทนาว่า
“ดีละ น้องหญิง ดีละ น้องหญิง”
“ท่านผู้มีพักตร์ผ่องใสนี้คือใคร”
“เราคือเวสวัณมหาราช พี่ชายของเธอ”
“ท่านผู้มีพักตร์ผ่องใส ดีละ ถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยายที่ดิฉันสวดนี้จงเป็น
เครื่องต้อนรับท่าน”
“ดีละ น้องหญิง นั่นแหละจงเป็นเครื่องต้อนรับเรา พรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์มีท่านพระ
สารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประธาน ยังไม่ทันฉันอาหารเช้า จักมาถึง
เมืองเวฬุกัณฏกะ เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์นั้นอุทิศทักษิณาทานแก่เรา การทำอย่างนี้
จักเป็นเครื่องต้อนรับเรา”
ครั้นคืนนั้นผ่านไป นันทมาตาอุบาสิกาได้จัดของขบฉันอย่างดีไว้ในนิเวศน์ของตน
ลำดับนั้นแล ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประธาน
ยังไม่ทันฉันอาหารเช้า ก็ได้เดินทางมาถึงเมืองเวฬุกัณฏกะ นันทมาตาอุบาสิกาจึง
เรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า “มานี่ พ่อหนุ่ม เธอจงไปยังอารามบอกภัตตกาล(เวลา
ฉันอาหาร)แก่ภิกษุสงฆ์ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารในนิเวศน์ของคุณแม่
นันทมาตาอุบาสิกาเสร็จแล้ว”
บุรุษนั้นรับคำแล้วก็ไปยังอารามบอกภัตตกาลแก่ภิกษุสงฆ์ว่า “ท่านผู้เจริญ
ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารในนิเวศน์ของคุณแม่นันทมาตาอุบาสิกาเสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประธาน
ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของนันทมาตาอุบาสิกาแล้วนั่ง
บนอาสนะที่ปูลาดไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๑๐.นันทมาตาสูตร
ลำดับนั้นแล นันทมาตาอุบาสิกาได้อังคาส๑ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและ
ท่านพระโมคคัลลานะเป็นประธานให้อิ่มหนำสำราญด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต
ด้วยมือตนเอง
เมื่อท่านพระสารีบุตรฉันเสร็จวางมือจากบาตร นันทมาตาอุบาสิกาจึงนั่ง ณ
ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า ท่านพระสารีบุตรได้ถามนันทมาตาอุบาสิกาว่า
“นันทมาตา ใครบอกการมาของภิกษุสงฆ์แก่เธอ”
นันทมาตาอุบาสิกาตอบว่า
๑. “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาสเจ้าค่ะ ในเวลาใกล้รุ่ง ดิฉันลุกขึ้นสวดปารายนสูตร
เป็นทำนองสรภัญญะจบแล้วได้นิ่งอยู่ ขณะนั้น ท้าวเวสวัณมหาราชทรงทราบว่า
ดิฉันสวดจบแล้ว จึงอนุโมทนาว่า ‘ดีละ น้องหญิง ดีละ น้องหญิง’' ดิฉันจึงถามว่า
‘ท่านผู้มีพักตร์ผ่องใสนี้คือใคร’ ท้าวเวสวัณตอบว่า ‘เราคือเวสวัณมหาราช พี่ชาย
ของเธอ’ ดิฉันกล่าวว่า ‘ท่านผู้มีพักตร์ผ่องใส ดีละ ถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยายที่ดิฉัน
สวดนี้จงเป็นเครื่องต้อนรับท่าน’ ท้าวเวสวัณตอบว่า ‘ดีละ น้องหญิง นั่นแหละจงเป็น
เครื่องต้อนรับเรา พรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็น
ประธาน ยังไม่ทันฉันอาหารเช้า จักมาถึงเมืองเวฬุกัณฏกะ เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์
นั้นอุทิศทักษิณาทานแก่เรา การทำอย่างนี้จักเป็นเครื่องต้อนรับเรา’ ท่านผู้เจริญ
ขอบุญอันมีผลมากในทานนี้จงอำนวยผลเพื่อความสุขแด่ท้าวเวสวัณมหาราชเถิด”
“นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่เธอเจรจากันต่อหน้าท้าว
เวสวัณมหาราชผู้เป็นเทพบุตรมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีศักดิ์มากอย่างนี้”
๒. “ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน มิใช่มีเท่านี้
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน แม้อย่างอื่นยังมีอยู่ ขอโอกาสเจ้าค่ะ
ดิฉันมีบุตรคนเดียวชื่อนันทะ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ พระราชาได้กดขี่ ข่มเหงฆ่าเธอ
เพราะสาเหตุเพียงนิดเดียว เมื่อเด็กนั้นถูกจับแล้วก็ตาม กำลังถูกจับก็ตาม ถูกฆ่า
แล้วก็ตาม กำลังถูกฆ่าก็ตาม ถูกประหารแล้วก็ตาม กำลังถูกประหารก็ตาม ดิฉัน
ไม่รู้สึกว่าจิตจะหวั่นไหวเลย”

เชิงอรรถ :
๑ อังคาส เป็นคำภาษาเขมรที่นำมาใช้เป็นคำกริยาในภาษาไทยหมายถึงถวายอาหารพระ เลี้ยงพระ แปลจาก
คำว่า สนฺตปฺเปสิ ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายเล่ม (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค ๑๐.นันทมาตาสูตร
“นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ แม้เพียงจิตตุปบาทเธอก็ทำให้
บริสุทธิ์ได้”
๓. “ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน มิใช่มีเท่านี้
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน แม้อย่างอื่นยังมีอยู่ ขอโอกาสเจ้าค่ะ
สามีของดิฉันตายแล้วไปเกิดเป็นยักษ์ตนหนึ่ง มาปรากฏตัวอย่างเดิมให้ดิฉันเห็น ดิฉัน
ไม่รู้สึกว่าจิตจะหวั่นไหวเพราะเหตุนั้นเลย”
“นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ แม้เพียงจิตตุปบาทเธอก็ทำให้
บริสุทธิ์ได้”
๔. “ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน มิใช่มีเท่านี้
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน แม้อย่างอื่นยังมีอยู่ ขอโอกาสเจ้าค่ะ
นับแต่เวลาที่สามีหนุ่มนำดิฉันผู้ยังเป็นสาวมา ดิฉันไม่เคยคิดที่จะประพฤตินอกใจ
สามีเลย ไหนเลย จะประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า”
“นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ แม้เพียงจิตตุปบาทเธอก็ทำให้
บริสุทธิ์ได้”
๕. “ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน มิใช่มีเท่านี้
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน แม้อย่างอื่นยังมีอยู่ ขอโอกาสเจ้าค่ะ
เมื่อดิฉันแสดงตนเป็นอุบาสิกาแล้ว ไม่รู้สึกว่าได้จงใจล่วงละเมิดสิกขาบทเลย”
“นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ แม้เพียงจิตตุปบาทเธอก็ทำให้
บริสุทธิ์ได้”
๖. “ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน มิใช่มีเท่านี้
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน แม้อย่างอื่นยังมีอยู่ ขอโอกาสเจ้าค่ะ
ดิฉันยังหวังว่า เราจะต้องสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มี
วิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุ
ทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติ สัมปชัญญะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕.มหายัญญวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ
อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุ
จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่”
“นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ”
๗. “ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน มิใช่มีเท่านี้
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน แม้อย่างอื่นก็ยังมีอยู่ บรรดาสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ดิฉันไม่เห็นสังโยชน์อะไรในตน
เองที่ยังละไม่ได้”
“นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ”
ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้ชี้แจงให้นันทมาตาอุบาสิกาเห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา ลุกจากอาสนะแล้วจากไป
นันทมาตาสูตรที่ ๑๐ จบ
มหายัญญวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สัตตวิญญาณัฏฐิติสูตร ๒. สมาธิปริกขารสูตร
๓. ปฐมอัคคิสูตร ๔. ทุติยอัคคิสูตร
๕. ปฐมสัญญาสูตร ๖. ทุติยสัญญาสูตร
๗. เมถุนสูตร ๘. สังโยคสูตร
๙. ทานมหัปผลสูตร ๑๐. นันทมาตาสูตร

ปัณณาสก์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๑.อัพยากตสูตร
๖. อัพยากตวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องที่ไม่พยากรณ์
๑. อัพยากตสูตร
ว่าด้วยเรื่องที่ไม่พยากรณ์
[๕๔] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระอริยสาวกผู้ได้สดับ
ไม่เกิดความลังเลสงสัยในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุ เพราะทิฏฐิ๑ดับไป อริยสาวกผู้ได้สดับจึงไม่
เกิดความลังเลสงสัยในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์ คือ
๑. ทิฏฐินี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต๒เกิดอีก’ ทิฏฐินี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก’ ทิฏฐินี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต
เกิดอีกและไม่เกิดอีก’ ทิฏฐินี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’
ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่รู้ชัดทิฏฐิ๓ ไม่รู้ชัดเหตุเกิดทิฏฐิ ไม่รู้ชัด
ความดับทิฏฐิ ไม่รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทิฏฐิ ทิฏฐินั้นย่อม
เจริญแก่เขา เขาย่อมไม่หลุดพ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่)
มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ)
ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความ
คับแค้นใจ) เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจากทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๔/๑๘๙)
๒ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่นๆ ใช้มาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า
อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงสัตว์ (เทียบ ที.สี.อ. ๑/๖๕/๑๐๘, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๔/๑๘๙)
๓ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงโสดาปัตติมรรค (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๔/๑๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๑.อัพยากตสูตร
ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับย่อมรู้ชัดทิฏฐิ รู้ชัดเหตุเกิดทิฏฐิ รู้ชัด
ความดับทิฏฐิ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทิฏฐิ ทิฏฐิของอริยสาวก
นั้นย่อมดับไป เขาย่อมหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์
อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ย่อมไม่พยากรณ์ว่า
‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีก’ ไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก
และไม่เกิดอีก’ ไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’
อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นผู้ไม่พยากรณ์
ในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์เป็นธรรมดาอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับ
รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ย่อมไม่หวาดหวั่น ไม่หวั่นไหว ไม่สะทก-
สะท้าน ไม่สะดุ้ง ในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์ คือ
๒. ตัณหานี้ว่า๑ ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก‘ฯลฯ
๓. สัญญานี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ฯลฯ
๔. ความเข้าใจนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ฯลฯ
๕. ความปรุงแต่งนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก‘ฯลฯ
๖. อุปาทานนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ฯลฯ
๗. วิปปฏิสาร (ความเดือดร้อนใจ)นี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิด
อีก’ วิปปฏิสารนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก’ วิปปฏิสาร
นี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก’ วิปปฏิสาร
นี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีก
ก็มิใช่’
ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่รู้ชัดวิปปฏิสาร ไม่รู้ชัดเหตุเกิดวิปปฏิสาร
ไม่รู้ชัดความดับวิปปฏิสาร ไม่รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับวิปปฏิสาร
วิปปฏิสารนั้นย่อมเจริญแก่เขา เขาย่อมไม่หลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้น
จากทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ‘ตัณหา สัญญา ความเข้าใจ ความปรุงแต่ง อุปาทาน วิปปฏิสาร‘ทั้ง ๖ คำนี้ เกิดขึ้นเพราะอาศัยทิฏฐิ
(มิจฉาทิฏฐิ) (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๔/๑๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๒.ปุริสคติสูตร
ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับย่อมรู้ชัดวิปปฏิสาร รู้ชัดเหตุเกิด
วิปปฏิสาร รู้ชัดความดับวิปปฏิสาร รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ
วิปปฏิสาร วิปปฏิสารของอริยสาวกนั้นย่อมดับไป เขาย่อมหลุดพ้น
จากชาติ ฯลฯ เรากล่าวว่า ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ อริยสาวกผู้
ได้สดับ รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ย่อมไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตเกิดอีก ฯลฯ ไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต
เกิดอีกก็มิใช่ ไม่เกิดอีกก็มิใช่’
อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นผู้ไม่พยากรณ์
ในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์เป็นธรรมดาอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับ
รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ย่อมไม่หวาดหวั่น ไม่หวั่นไหว ไม่สะทกสะท้าน
ไม่สะดุ้ง ในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์
ภิกษุ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อริยสาวกผู้ได้สดับไม่เกิดความลังเลสงสัยในเรื่อง
ที่ไม่ควรพยากรณ์
อัพยากตสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปุริสคติสูตร
ว่าด้วยคติของบุรุษ
[๕๕] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงคติ๑ของบุรุษ ๗ ประการ และอนุปาทา-
ปรินิพพาน เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
คติของบุรุษ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า “ถ้ากรรม๒ไม่มีแล้ว
อัตภาพของเราก็ไม่พึงมี ถ้ากรรม๓จักไม่มี อัตภาพของเราก็จักไม่มี

เชิงอรรถ :
๑ คติ ในที่นี้หมายถึงญาณคติ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๕/๑๙๐)
๒ กรรม ในที่นี้หมายถึงกรรมที่ทำให้เกิดในอัตภาพอดีตชาติ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๕/๑๙๐)
๓ กรรม ในที่นี้หมายถึงกรรมที่ทำให้เกิดในอัตภาพต่อไป (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๕/๑๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๒.ปุริสคติสูตร
เราย่อมละเบญจขันธ์ที่มีอยู่เป็นอยู่ได้” ย่อมได้อุเบกขา เธอไม่ติดใจในภพ๑
ไม่ติดใจในสมภพ๒ เห็นทางที่สงบอย่างยิ่ง๓ ด้วยปัญญาอันชอบ เธอยัง
มิได้ทำให้แจ้งทางที่สงบนั้นโดยประการทั้งปวง ยังมิได้ละมานานุสัย
(อนุสัยคือความถือตัว)โดยประการทั้งปวง ยังมิได้ละภวราคานุสัย
(อนุสัยคือความติดใจในภพ)โดยประการทั้งปวง ยังมิได้ละอวิชชานุสัย
(อนุสัยคืออวิชชา)โดยประการทั้งปวง เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ
สิ้นไป เธอจึงเป็นอันตราปรินิพพายี๔ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อช่างตีแผ่น
เหล็กที่ถูกเผาตลอดวัน สะเก็ดร่อนออกแล้วดับไป แม้ฉันใด ภิกษุ
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า “ถ้ากรรมไม่มีแล้ว
อัตภาพของเราก็ไม่พึงมี ถ้ากรรมจักไม่มี อัตภาพของเราก็จักไม่มี
เราย่อมละเบญจขันธ์ที่มีอยู่เป็นอยู่ได้” ย่อมได้อุเบกขา เธอไม่
ติดใจในภพ ไม่ติดใจในสมภพ เห็นทางที่สงบอย่างยิ่งด้วยปัญญา
อันชอบ เธอยังมิได้ทำให้แจ้งทางที่สงบนั้นโดยประการทั้งปวง ยังมิได้
ละมานานุสัยโดยประการทั้งปวง ยังมิได้ละภวราคานุสัยโดยประการ
ทั้งปวง ยังมิได้ละอวิชชานุสัยโดยประการทั้งปวง เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป เธอจึงเป็นอันตราปรินิพพายี
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า “ถ้ากรรมไม่มีแล้ว
อัตภาพของเราก็ไม่พึงมี ถ้ากรรมจักไม่มี อัตภาพของเราก็จักไม่มี
เราย่อมละเบญจขันธ์ที่มีอยู่เป็นอยู่ได้” ย่อมได้อุเบกขา เธอไม่
ติดใจในภพ ไม่ติดใจในสมภพ เห็นทางที่สงบอย่างยิ่งด้วยปัญญา
อันชอบ ยังมิได้ทำให้แจ้งทางที่สงบนั้นโดยประการทั้งปวง ยังมิได้
ละมานานุสัยโดยประการทั้งปวง ยังมิได้ละภวราคานุสัยโดยประการ
ทั้งปวง ยังมิได้ละอวิชชานุสัยโดยประการทั้งปวง เพราะสังโยชน์

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ติดใจในภพ ในที่นี้หมายถึงไม่ติดใจในขันธ์ ๕ ในอดีตด้วยตัณหาและทิฏฐิ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๕/๑๙๐)
๒ ไม่ติตใจในสมภพ ในที่นี้หมายถึงไม่ติดใจในขันธ์ ๕ ในอนาคต (องฺ.สตฺตก.อ.๓/๕๕/๑๙๐)
๓ ทางที่สงบอย่างยิ่ง ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๕/๑๙๐)
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๑๖ หน้า ๒๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๒.ปุริสคติสูตร
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป เธอจึงเป็นอันตราปรินิพพายี ภิกษุ
ทั้งหลาย เมื่อช่างตีแผ่นเหล็กที่ถูกเผาตลอดวัน สะเก็ดร่อนกระเด็น
ออกแล้วดับไป แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปฏิบัติด้วยคิดอย่าง
นี้ว่า ถ้ากรรมไม่มีแล้ว อัตภาพของเราก็ไม่พึงมี ฯลฯ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป เธอจึงเป็นอันตราปรินิพพายี
๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า ถ้ากรรมไม่มีแล้ว อัตภาพ
ของเราก็ไม่พึงมี ฯลฯ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
เธอจึงเป็นอันตราปรินิพพายี ภิกษุทั้งหลาย เมื่อช่างตีแผ่นเหล็ก
ที่ถูกเผาตลอดวัน สะเก็ดร่อนกระเด็นออกตกลงไม่ถึงพื้นแล้วดับไป
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า ถ้า
กรรมไม่มีแล้ว อัตภาพของเราก็ไม่พึงมี ฯลฯ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป เธอจึงเป็นอันตราปรินิพพายี
๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า ถ้ากรรมไม่มีแล้ว
อัตภาพของเราก็ไม่พึงมี ฯลฯ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ
สิ้นไป เธอจึงเป็นอุปหัจจปรินิพพายี๑ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อช่างตี
แผ่นเหล็กที่ถูกเผาตลอดวัน สะเก็ดร่อนกระเด็นออกตกลงถึงพื้น
แล้วดับไป แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปฏิบัติด้วยคิดอย่าง
นี้ว่า ถ้ากรรม ไม่มีแล้ว อัตภาพของเราก็ไม่พึงมี ฯลฯ เพราะ
สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป เธอจึงเป็นอุปหัจจปรินิพพายี
๕. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า ถ้ากรรมไม่มีแล้ว อัตภาพ
ของเราก็ไม่พึงมี ฯลฯ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
เธอจึงเป็นอสังขารปรินิพพายี๒ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อช่างตีแผ่นเหล็ก
ที่ถูกเผาตลอดวัน สะเก็ดร่อนกระเด็นออกแล้วตกลงที่กองหญ้าหรือ
กองไม้เล็กๆ ทำให้เกิดไฟบ้าง ทำให้เกิดควันบ้าง ไหม้กองหญ้า
หรือกองไม้เล็กๆ นั้นให้หมดไปแล้วจึงดับไปเพราะหมดเชื้อ แม้ฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๑๖ หน้า ๒๖ ในเล่มนี้ และดู องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๖๓/๑๔๑
๒ อสังขารปรินิพพายี ดูเชิงอรรถที่ ๒ สัตตกนิบาต ข้อ ๑๖ หน้า ๒๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๒.ปุริสคติสูตร
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า ถ้ากรรมไม่มีแล้ว
อัตภาพของเราก็ไม่พึงมี ฯลฯ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ
สิ้นไป เธอจึงเป็นอสังขารปรินิพพายี
๖. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า ถ้ากรรมไม่มีแล้ว อัตภาพ
ของเราก็ไม่พึงมี ฯลฯ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
เธอจึงเป็นสสังขารปรินิพพายี๑ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อช่างตีแผ่นเหล็ก
ที่ถูกเผาตลอดวัน สะเก็ดร่อนกระเด็นออกแล้วตกลงที่กองหญ้าหรือ
กองไม้เขื่องๆ ทำให้เกิดไฟบ้าง ทำให้เกิดควันบ้าง ไหม้กองหญ้า
หรือกองไม้เขื่องๆ นั้นให้หมดไปแล้วจึงดับไปเพราะหมดเชื้อ แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า ถ้ากรรมไม่มีแล้ว
อัตภาพของเราก็ไม่พึงมี ฯลฯ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ
สิ้นไป เธอจึงเป็นสสังขารปรินิพพายี
๗. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า “ถ้ากรรมไม่มีแล้ว
อัตภาพของเราก็ไม่พึงมี ถ้ากรรมจักไม่มี อัตภาพของเราก็จักไม่มี
เราย่อมละเบญจขันธ์ที่มีอยู่เป็นอยู่ได้” ย่อมได้อุเบกขา เธอไม่ติดใจ
ในภพ ไม่ติดใจในสมภพ เห็นทางที่สงบอย่างยิ่งด้วยปัญญาอันชอบ
เธอยังมิได้ทำให้แจ้งทางที่สงบนั้นโดยประการทั้งปวง ยังมิได้ละ
มานานุสัยโดยประการทั้งปวง ยังมิได้ละภวราคานุสัยโดยประการ
ทั้งปวง ยังมิได้ละอวิชชานุสัยโดยประการทั้งปวง เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป เธอจึงเป็นอุทธังโสตอกนิฏฐคามี๒ ภิกษุ
ทั้งหลาย เมื่อช่างตีแผ่นเหล็กที่ถูกเผาตลอดวัน สะเก็ดร่อนกระเด็น
ออกแล้วตกลงที่กองหญ้าหรือกองไม้ใหญ่ๆ ทำให้เกิดไฟบ้าง
ทำให้เกิดควันบ้าง ไหม้กองหญ้าหรือกองไม้นั้นให้หมดไปไหม้กอไม้บ้าง
ไหม้ป่าไม้บ้าง ครั้นแล้วจึงลามมาถึงยอดหญ้าสด ปลายทาง
ยอดภูเขา ริมน้ำ หรือภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์แล้วจึงดับไปเพราะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๓ สัตตกนิบาต ข้อ ๑๖ หน้า ๒๖ ในเล่มนี้ และดู องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๖๓/๑๔๒
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๔ สัตตกนิบาต ข้อ ๑๖ หน้า ๒๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๓.ติสสพรหมสูตร
หมดเชื้อ แม้ฉันใด ภิกษุ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า
ถ้ากรรมไม่มีแล้ว อัตภาพของเราก็ไม่พึงมี ฯลฯ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป เธอจึงเป็นอุทธังโสตอกนิฏฐคามี
ภิกษุทั้งหลาย คติของบุรุษ ๗ ประการนี้แล
อนุปาทาปรินิพพาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า “ถ้ากรรมไม่มีแล้ว อัตภาพ
ของเราก็ไม่พึงมี ถ้ากรรมจักไม่มี อัตภาพของเราก็จักไม่มี เราย่อมละเบญจขันธ์ที่มี
อยู่เป็นอยู่ได้” ย่อมได้อุเบกขา เธอไม่ติดใจในภพ ไม่ติดใจในสมภพ เห็นทางที่สงบ
อย่างยิ่งด้วยปัญญาอันชอบ เธอทำให้แจ้งทางที่สงบนั้นโดยประการทั้งปวง ละมานานุสัย
โดยประการทั้งปวงได้ ละภวราคานุสัยโดยประการทั้งปวงได้ ละอวิชชานุสัยโดย
ประการทั้งปวงได้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไปด้วย ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เรียกว่า อนุปาทาปรินิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย คติของบุรุษ ๗ ประการ และอนุปาทาปรินิพพานเป็นอย่างนี้แล
ปุริสคติสูตรที่ ๒ จบ

๓. ติสสพรหมสูตร
ว่าด้วยติสสพรหม๑
[๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น
เมื่อราตรีผ่านไป๒ เทวดา ๒ องค์มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วภูเขา
คิชฌกูฏ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงพรหมผู้เคยบวชเป็นภิกษุสัทธิวิหาริกของท่านพระมหาโมคคัลลานะ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๖/๑๙๑)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๓๒ หน้า ๔๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๓.ติสสพรหมสูตร
เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุณี
เหล่านี้๑หลุดพ้นแล้ว”
เทวดาอีกองค์หนึ่งกราบทูลว่า “ภิกษุณีเหล่านี้หลุดพ้นดีแล้ว เพราะไม่มี
อุปาทานขันธ์๒เหลืออยู่”
เทวดา ๒ องค์นั้นได้กราบทูลดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้นเทวดา
๒ องค์นั้นทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
ทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นแล
ครั้นคืนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดา ๒ องค์มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างไปทั่วภูเขาคิชฌกูฏ เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
เทวดาองค์หนึ่งได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุณีเหล่านี้
หลุดพ้นแล้ว’ เทวดาอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า ‘ภิกษุณีเหล่านี้หลุดพ้นดีแล้ว เพราะไม่มี
อุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ เทวดา ๒ องค์นั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงไหว้เรา ทำประทักษิณ
แล้วหายไป ณ ที่นั้นแล”

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุณีเหล่านี้ ในที่นี้มายถึงเหล่าภิกษุณี ๕๐๐ รูปที่เป็นบริวารของมหาปชาบดีภิกษุณี (องฺ.สตฺตก.อ.
๓/๕๖/๑๙๑)
๒ อุปาทานขันธ์ มาจาก อุปาทาน+ขันธ์ แยกอธิบายความหมายได้ดังนี้ (๑ อุปาทาน แปลว่า ความถือมั่น
(อุป=มั่น+อาทาน=ถือ) มีความหมายหลายนัย เช่น หมายถึงชื่อของราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕
(ปญฺจกามคุณิกราคสฺเสตํ อธิวจนํ-สํ.ข.อ. ๒/๑/๑๖, อภิ.สงฺ.อ. ๑๒๑๙/๔๔๒) บ้าง หมายถึงความถือมั่น
ด้วยอำนาจตัณหามานะและทิฏฐิ (ตามนัย สํ.ข.อ. ๒/๖๓/๓๐๘) บ้าง (๒) ขันธ์ แปลว่ากอง (ตสฺส ขนฺธสฺส)
ราสิอาทิวเสน อตฺโถ เวทิตพฺโพ-อภิ.สงฺ.อ. ๕/๑๙๒) ดังนั้น อุปาทานขันธ์ จึงหมายถึงกองอันเป็นอารมณ์
แห่งความถือมั่น (อุปาทานานํ อารมฺมณภูตา ขนฺธา = อุปาทานกฺขนฺธา - สํ.ข.ฏีกา ๒๒/๒๕๔) และดู ที.ปา.
๑๑/๓๑๑/๒๐๔, ๓๑๕/๒๐๘, สํ.สฬา. ๑๘/๓๒๘/๒๗๗, สํ.ม. ๑๙/๑๗๙/๕๖
เมื่อนำองค์ธรรมคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มารวมกับอุปาทานขันธ์ เช่น วิ�ฺญาณู-
ปาทานกฺขนฺโธ จึงแปลได้ว่า “กองอันเป็นอารมณ์แห่งความถือมั่นคือวิญญาณ” ตามนัย อภิ.สงฺ.อ. ๕/๑๙๒
ว่า วิญฺญาณเมว ขนฺโธ = วิญฺญาณกฺขนฺโธ (กองคือวิญญาณ)
อนึ่ง เมื่อกล่าวโดยสรุป อุปาทานขันธ์ หมายถึงทุกข์ ตามบาลีว่า “สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา
ทุกฺขา” แปลว่า “ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์” (ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๙, ขุ.ป. ๓๑/๓๓/๓๐-๔๑,
อภิ.วิ.อ. ๒๐๒/๑๗๗, วิสุทธิ.๒/๕๐๕/๑๒๒) และดู อภิ.วิ (แปล) ๓๕/๒๐๒/๑๖๖ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๓.ติสสพรหมสูตร
สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งอยู่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค ได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “เทวดาเหล่าไหนมีญาณอย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลือ
อยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า
‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่”
สมัยนั้นแล ภิกษุชื่อติสสะมรณภาพได้ไม่นานก็เข้าถึงพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง แม้ใน
พรหมโลกนั้น พวกพรหมก็รู้จักท่านอย่างนี้ว่า “ติสสพรหม มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก”
ลำดับนั้นท่านพระมหาโมคคัลลานะได้หายจากภูเขาคิชฌกูฏไปปรากฏที่พรหม-
โลกนั้น เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ติสสพรหมได้เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะกำลังมาแต่ไกล จึงกล่าวกับท่าน
อย่างนี้ว่า “นิมนต์เข้ามาเถิด ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ขอต้อนรับ นาน ๆ
ท่านจะมีเวลามา ณ ที่นี้ นิมนต์นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้เถิด”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ฝ่ายติสสพรหมได้อภิวาท
ท่านแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้กล่าวดังนี้ว่า “ติสสะ เทวดา
เหล่าไหนมีญาณอย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์
เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่”
“ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เหล่าเทวดาชั้นพรหมกายิกา๑มีญาณอย่างนี้ใน
บุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่
มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่'
“ติสสะ เหล่าเทวดาชั้นพรหมกายิกาทั้งหมดเลยหรือที่มีญาณอย่างนี้ในบุคคล
ผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มี
อุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่''
“มิใช่เลย ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ที่เหล่าเทวดาชั้นพรหมกายิกาทั้งหมด
มีญาณอย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’
หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๕ สัตตกนิบาต ข้อ ๔๔ หน้า ๖๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๓.ติสสพรหมสูตร
ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เหล่าเทวดาชั้นพรหมกายิกาผู้ยินดีด้วยอายุที่เป็น
ของพรหม ยินดีด้วยวรรณะที่เป็นของพรหม ยินดีด้วยสุขที่เป็นของพรหม ยินดีด้วย
ยศที่เป็นของพรหม ยินดีด้วยความเป็นใหญ่ที่เป็นของพรหม ไม่รู้ชัดอุบายเป็น
เครื่องสลัดออกที่ยิ่งขึ้นไปตามความเป็นจริง เทวดาเหล่านั้นไม่มีญาณอย่างนี้ในบุคคล
ผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มี
อุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’
ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ส่วนเหล่าเทวดาชั้นพรหมกายิกาผู้ไม่ยินดีด้วย
อายุที่เป็นของพรหม ไม่ยินดีด้วยวรรณะที่เป็นของพรหม ไม่ยินดีด้วยสุขที่เป็นของ
พรหม ไม่ยินดีด้วยยศที่เป็นของพรหม ไม่ยินดีด้วยความเป็นใหญ่ที่เป็นของพรหม
รู้ชัดซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกที่ยิ่งขึ้นไปตามความเป็นจริง เทวดาเหล่านั้นมีญาณ
อย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือใน
บุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’
ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นอุภโตภาควิมุต๑ เทวดา
เหล่านั้นย่อมรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นอุภโตภาควิมุต กายของท่านจัก
ดำรงอยู่เพียงใด เหล่าเทวดาและมนุษย์จักเห็นท่านเพียงนั้น แต่เมื่อท่านมรณภาพไป
เหล่าเทวดาและมนุษย์จักไม่เห็นท่าน’ เทวดาเหล่านั้นมีญาณอย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมี
อุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์
เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’
ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นปัญญาวิมุต เทวดาเหล่านั้น
ย่อมรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นปัญญาวิมุต กายของท่านจักดำรงอยู่เพียงใด

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “อุภโตภาควิมุต ปัญญาวิมุต กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุต ธัมมานุสารี” ที่ปรากฏในติสสพรหม-
สูตรนี้ ดูความหมายในเชิงอรรถที่ ๒,๓,๔,๕ หน้า ๒๐ และในเชิงอรรถที่ ๑,๒ หน้า ๒๑ ในเล่มนี้ และดู
องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๖/๒๙-๓๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สันตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๓.ติสสพรหมสูตร
เหล่าเทวดาและมนุษย์จักเห็นท่านเพียงนั้น แต่เมื่อท่านมรณภาพไป เหล่าเทวดาและ
มนุษย์จักไม่เห็นท่าน’ เทวดาเหล่านั้นมีญาณอย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์
เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า
‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’
ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นกายสักขี เทวดาเหล่านั้น
ย่อมรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นกายสักขี เป็นการดีถ้าท่านผู้นี้ใช้สอย
เสนาสนะที่สมควร คบกัลยาณมิตร อบรมอินทรีย์ พึงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์
ยอดเยี่ยม๑อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
โดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เทวดาเหล่านั้นมีญาณ
อย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือ
ในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’
ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นทิฏฐิปัตตะ ฯลฯ
ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นสัทธาวิมุต ฯลฯ
ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นธัมมานุสารี เทวดาเหล่า
นั้นย่อมรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นธัมมานุสารี เป็นการดี ถ้าท่านผู้นี้ใช้
สอยเสนาสนะที่สมควร คบกัลยาณมิตร อบรมอินทรีย์ พึงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์
ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
โดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เทวดาเหล่านั้นมีญาณ
อย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือ
ในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่”

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลหรืออริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมัคคพรหมจรรย์ (องฺ.ทุก.อ.
๒/๕/๗, ม.ม.อ. ๒/๘๒/๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๓.ติสสพรหมสูตร
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของติสสพรหม
แล้วได้หายจากพรหมโลกไปปรากฏที่ภูเขาคิชฌกูฏ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงถ้อยคำสนทนาปราศรัย
กับติสสพรหมทั้งหมด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ ติสสพรหมไม่ได้แสดงบุคคลที่ ๗ ผู้มี
ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันหานิมิตมิได้๑แก่เธอหรือ”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาล
ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงบุคคลที่ ๗ ผู้มีธรรม
เป็นเครื่องอยู่อันหานิมิตมิได้ ภิกษุทั้งหลายฟังจากพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า “โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยบรรลุเจโตสมาธิอันหานิมิตมิได้ เพราะไม่
มนสิการถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ เทวดาเหล่านั้นย่อมรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้
บรรลุเจโตสมาธิอันหานิมิตมิได้ เพราะไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ เป็นการดี
ถ้าท่านผู้นี้ใช้สอยเสนาสนะที่สมควร คบกัลยาณมิตร อบรมอินทรีย์ พึงทำให้แจ้ง
ซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือน บวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
โมคคัลลานะ เทวดาเหล่านั้นมีญาณอย่างนี้แล ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์
เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า
‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่”
ติสสพรหมสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันหานิมิตมิได้ ในที่นี้หมายถึงพลววิปัสสนาสมาธิ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๖/๑๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๔.สีหเสนาปติสูตร
๔. สีหเสนาปติสูตร
ว่าด้วยสีหเสนาบดี
[๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเองได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ถ้าอย่างนั้น เราจะย้อนถามท่านในปัญหานั้น
ท่านพึงตอบปัญหานั้นตามที่ท่านชอบใจ สีหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ
ในกรุงเวสาลีนี้ มีคน ๒ คน คนหนึ่งไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ
อีกคนหนึ่งมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ
สีหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ พระอรหันต์เมื่อจะอนุเคราะห์ พึงอนุเคราะห์
ใครก่อน ระหว่างคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ กับคนมีศรัทธา
เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันต์เมื่อจะอนุเคราะห์ จักอนุเคราะห์คนไม่มี
ศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษก่อนได้อย่างไร พระอรหันต์เมื่อจะ
อนุเคราะห์ พึงอนุเคราะห์คนมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอก่อน
แน่แท้”
“สีหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ พระอรหันต์เมื่อจะเข้าไปหา พึงเข้าไปหา
ใครก่อน ระหว่างคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ กับคนมีศรัทธา
เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันต์เมื่อจะเข้าไปหา จักเข้าไปหาคนไม่มีศรัทธา
ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษก่อนได้อย่างไร พระอรหันต์เมื่อจะเข้าไปหา พึงเข้า
ไปหาคนมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอก่อนแน่แท้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๔.สีหเสนาปติสูตร
“สีหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ พระอรหันต์เมื่อจะรับทาน พึงรับทาน
ของใครก่อน ระหว่างคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ กับคนมี
ศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันต์เมื่อจะรับทาน จักรับทานของคนไม่มี
ศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษก่อนได้อย่างไร พระอรหันต์เมื่อจะรับทาน
พึงรับทานของคนมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอก่อนแน่แท้”
“สีหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ พระอรหันต์เมื่อจะแสดงธรรม พึงแสดง
ธรรมแก่ใครก่อน ระหว่างคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ กับคน
มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันต์เมื่อจะแสดงธรรม จักแสดงธรรมแก่คน
ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษก่อนได้อย่างไร พระอรหันต์เมื่อจะ
แสดงธรรม พึงแสดงธรรมแก่คนมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอก่อน
แน่แท้”
“สีหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ กิตติศัพท์อันงามของใครหนอควรขจรไป
ระหว่างคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ กับคนมีศรัทธา เป็น
ทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิตติศัพท์อันงามของคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว
ชอบด่าบริภาษจักขจรไปได้อย่างไร กิตติศัพท์อันงามของคนมีศรัทธา เป็นทานบดี
ยินดีให้ทานสม่ำเสมอเท่านั้นพึงขจรไป”
“สีหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ ใครกันเล่าระหว่างคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่
ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ กับคนมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอเข้า
ไปยังบริษัทใดๆ จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัท
ก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม พึงเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไปยังบริษัทนั้นๆ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๔.สีหเสนาปติสูตร
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ เข้าไป
ยังบริษัทใดๆ จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม
สมณบริษัทก็ตาม จักเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไปยังบริษัทนั้นๆ ได้อย่างไร
คนมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ เข้าไปยังบริษัทใดๆ จะเป็นขัตติย-
บริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม พึงเป็น
ผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไปยังบริษัทนั้นๆ”
“สีหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ ใครกันเล่าระหว่างคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่
ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ กับคนมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ
หลังจากตายแล้ว พึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว ชอบด่าบริภาษ
หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ได้อย่างไร คนมีศรัทธา เป็นทานบดี
ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ หลังจากตายแล้ว พึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๖ ประการพระผู้มีพระภาค
ตรัสบอกแล้ว ในผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๖ ประการนั้น ข้าพระองค์ไม่เพียงแต่
เชื่อพระผู้มีพระภาคเท่านั้น แต่ยังทราบอีกด้วย ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี
พระอรหันต์เมื่อจะอนุเคราะห์ ย่อมอนุเคราะห์ข้าพระองค์ก่อน ข้าพระองค์เป็นทายก
เป็นทานบดี พระอรหันต์เมื่อจะเข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาข้าพระองค์ก่อน ข้าพระองค์
เป็นทายก เป็นทานบดี พระอรหันต์เมื่อจะรับทาน ย่อมรับทานของข้าพระองค์ก่อน
ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี พระอรหันต์เมื่อจะแสดงธรรม ย่อมแสดงธรรม
แก่ข้าพระองค์ก่อน ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี กิตติศัพท์อันงามของ
ข้าพระองค์ขจรไปแล้วว่า ‘สีหะเสนาบดี เป็นการกบุคคล เป็นผู้อุปัฏฐากพระสงฆ์’
ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี เข้าไปยังบริษัทใดๆ จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตาม
พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่เก้อเขินเข้าไปยังบริษัทนั้นๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๕.อรักเขยยสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๖ ประการพระผู้มีพระภาค
ตรัสบอกแล้ว ในผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๖ ประการนั้น ข้าพระองค์ไม่เพียงแต่
เชื่อพระผู้มีพระภาคเท่านั้น แต่ยังทราบอีกด้วย ส่วนผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
ประการที่ ๗ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอกข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘สีหะ ทายก ทานบดี
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ ข้าพระองค์ยังไม่ทราบ แต่ในข้อนี้
ข้าพระองค์เชื่อพระผู้มีพระภาค”
“ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น สีหะ ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น สีหะ คือ ทายก ทานบดี
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
สีหเสนาปติสูตรที่ ๔ จบ

๕. อรักเขยยสูตร
ว่าด้วยฐานะที่พระตถาคตไม่ต้องรักษา
[๕๘] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้ ที่ตถาคตไม่ต้องรักษา และตถาคต
ไม่ถูกติเตียนด้วยฐานะ ๓ ประการ
ฐานะ ๔ ประการที่ตถาคตไม่ต้องรักษา อะไรบ้าง คือ
๑. ตถาคตมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ไม่มีกายทุจริตที่จะต้อง
รักษาว่า ‘คนอื่นอย่าได้รู้กรรมนี้ของเรา’
๒. ตถาคตมีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่มีวจีทุจริตที่จะต้อง
รักษาว่า ‘คนอื่นอย่าได้รู้กรรมนี้ของเรา’
๓. ตถาคตมีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ ไม่มีมโนทุจริตที่จะต้องรักษาว่า
‘คนอื่นอย่าได้รู้กรรมนี้ของเรา’
๔. ตถาคตมีอาชีวะบริสุทธิ์ ไม่มีมิจฉาอาชีวะ(เลี้ยงชีพผิด)ที่จะต้องรักษาว่า
‘คนอื่นอย่าได้รู้กรรมนี้ของเรา’
นี้คือฐานะ ๔ ประการที่ตถาคตไม่ต้องรักษา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๕.อรักเขยยสูตร
ตถาคตไม่ถูกติเตียนด้วยฐานะ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตถาคตมีธรรมที่กล่าวไว้ดีแล้ว เราไม่เห็นนิมิต๑นี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์
เทวดา พรหม หรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุผล
ในธรรมนั้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ ท่านจึงมิใช่เป็นผู้มีธรรมที่กล่าวไว้
ดีแล้ว’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นั้น จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว
แกล้วกล้าอยู่๒
๒. เราได้บัญญัติไว้ดีแล้วซึ่งข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพานโดยวิธีที่สาวกทั้งหลาย
ของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ในปัจจุบัน เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา พรหม
หรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุผลในธรรมนั้นว่า
แม้เพราะเหตุนี้ ท่านมิได้บัญญัติไว้ดีแล้วซึ่งข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพาน
โดยวิธีที่สาวกทั้งหลายของท่านปฏิบัติตามแล้ว ย่อมทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ฯลฯ’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นั้น จึงถึง
ความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่
๓. สาวกบริษัทของเราหลายร้อย ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
ฯลฯ เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา พรหม หรือ
ใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุผลในธรรมนั้นว่า
แม้เพราะเหตุนี้ สาวกบริษัทหลายร้อยของท่าน มิได้ทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นั้น
จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่
ตถาคตไม่ถูกติเตียนด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการที่ตถาคตไม่ต้องรักษา และตถาคตไม่ถูก
ติเตียนด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล
อรักเขยยสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ นิมิต ในที่นี้หมายถึงธรรม คือเมื่อแสดงธรรม พระองค์ก็ไม่เห็นธรรมที่กล่าวไม่ดีแม้สักบทหนึ่ง และหมาย
ถึงบุคคล คือ พระองค์ไม่เห็นบุคคลแม้สักคนเดียวที่อุปัฏฐากพระองค์แล้วยังดิ้นรนกล่าวอยู่ว่า ‘ท่านกล่าว
ธรรมชั่ว ท่านกล่าวธรรมไม่ดี’ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๘/๑๙๒)
๒ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๘/๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๖.กิมิลสูตร
๖. กิมิลสูตร
ว่าด้วยพระกิมิละ๑
[๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าไผ่ เขตกรุงกิมิลา ครั้งนั้น ท่านพระ
กิมิละเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมไม่ดำรง
อยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กิมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว เหล่าภิกษุ
ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้
๑. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา
๒. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม
๓. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์
๔. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา
๕. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสมาธิ
๖. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในความไม่ประมาท
๗. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในปฏิสันถาร
กิมิละ นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัทธรรมดำรงอยู่ได้ไม่นาน ในเมื่อตถาคต
ปรินิพพานแล้ว”
ท่านพระกิมิละทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็น
ปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กิมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว เหล่าภิกษุ
ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๔๐/๔๙๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๗.สัตตธัมมสูตร
๑. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในศาสดา
๒. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในธรรม
๓. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในสงฆ์
๔. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในสิกขา
๕. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในสมาธิ
๖. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในความไม่ประมาท
๗. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในปฏิสันถาร
กิมิละ นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคต
ปรินิพพานแล้ว”
กิมิลสูตรที่ ๖ จบ

๗. สัตตธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรม ๗ ประการที่เป็นเหตุให้บรรลุวิมุตติ
[๖๐] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ไม่นานนัก ก็จะ
ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญา
อันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีศีล
๓. เป็นพหูสูต ๔. เป็นผู้หลีกเร้น
๕. เป็นผู้ปรารภความเพียร ๖. เป็นผู้มีสติ
๗. เป็นผู้มีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ไม่นานนัก ก็จะทำ
ให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญา
อันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
สัตตธัมมสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๘.จปลายมานสูตร
๘. จปลายมานสูตร
ว่าด้วยอุบายแก้ความง่วง
[๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬามิคทายวัน เขตกรุง
สุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ สมัยนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ กำลังนั่งง่วงอยู่
ที่หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นท่าน
พระมหาโมคคัลลานะกำลังนั่งง่วงอยู่ ใกล้หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ แล้วได้ทรงหายไปจากป่าเภสกลามิคทายวัน
เขตกรุงสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ ไปปรากฏต่อหน้าท่านพระมหาโมคคัลลานะใกล้
หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือ
คู้แขนเข้า ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้๑แล้ว ได้ตรัสกับท่าน
พระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า “เธอง่วงหรือ โมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ โมคคัลลานะ”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
๑. เมื่อเธอมีสัญญาอยู่อย่างไร ความง่วงนั้น ย่อมครอบงำเธอได้ เธออย่า
ได้มนสิการถึงสัญญานั้น อย่าได้ทำสัญญานั้นให้มาก เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น
จะละความง่วงนั้นได้
๒. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงตรึกตรองพิจารณา
ธรรมตามที่ได้สดับมา ได้เล่าเรียนมา เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วง
นั้นได้

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ หมายถึง พุทธอาสน์ คือ ตั่ง เตียง แผ่นกระดาน แผ่นหิน หรือกองทรายที่ภิกษุผู้
บำเพ็ญเพียรปูลาดไว้เพื่อเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคที่จะเสด็จมาให้โอวาท ถ้าหาอาสนะอย่างนั้นไม่ได้
จะใช้ใบไม้แห้งปูลาดก็ได้ โดยลาดสังฆาฏิไว้บน นี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร (องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๕๕/๑๓๕, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๕/๑๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๘.จปลายมานสูตร
๓. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงสาธยายธรรมตาม
ที่ได้สดับมา ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วง
นั้นได้
๔. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงยอนช่องหูทั้ง ๒ ข้าง
ใช้มือบีบนวดตัว เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วงนั้นได้
๕. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงลุกขึ้นยืน ใช้น้ำลูบตา
เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตร เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความ
ง่วงนั้นได้
๖. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงมนสิการถึงอาโลก-
สัญญา(ความกำหนดหมายแสงสว่าง) ตั้งสัญญาว่าเป็นกลางวันไว้ คือกลางวัน
อย่างไร กลางคืนก็อย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันก็อย่างนั้น มีใจเปิดเผย
ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตให้โปร่งใส เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วงนั้นได้
๗. ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น ยังละความง่วงนั้นไม่ได้ เธอพึงอธิษฐานจงกรม
กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ภายใน มีใจไม่คิดไปภายนอก
เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้น จะละความง่วงนั้นได้
ถ้าเมื่อเธออยู่อย่างนั้น เธอยังละความง่วงนั้นไม่ได้ ก็พึงสำเร็จสีหไสยา(การ
นอนดุจราชสีห์)โดยตะแคงข้างขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำอุฏฐาน-
สัญญา(กำหนดหมายว่าจะลุกขึ้น)ไว้ในใจ พอตื่น ก็รีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า‘เราจักไม่
ประกอบความสุขในการนอน ไม่ประกอบความสุขในการเอกเขนก ไม่ประกอบ
ความสุขในการหลับ’ โมคคัลลานะ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ชูงวง๑
เข้าไปยังตระกูล’ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑งวง ในที่นี้หมายถึงมานะ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๖๑/๑๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๘.จปลายมานสูตร
โมคคัลลานะ ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปยังตระกูล และในตระกูลก็มีกิจที่จะต้องทำ
หลายอย่าง ทำให้ผู้คนไม่ใส่ใจถึงภิกษุผู้มาถึงแล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุจึงมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เดี๋ยวนี้ ใครกันนะยุยงให้เราแตกกับตระกูลนี้ เดี๋ยวนี้ คนเหล่านี้
เบื่อหน่ายเรา’ ดังนั้น เธอจึงมีความเก้อเขินเพราะไม่ได้อะไร เมื่อเก้อเขิน จึงมีความ
ฟุ้งซ้าน เมื่อฟุ้งซ่าน จึงมีความไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตจึงห่างจากสมาธิ
โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่กล่าว
ถ้อยคำที่เป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน’ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
โมคคัลลานะ เมื่อมีถ้อยคำที่เป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน ก็จำต้องพูดมาก เมื่อมี
การพูดมาก ความฟุ้งซ่านจึงมี เมื่อฟุ้งซ่าน จึงมีความไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม
จิตจึงห่างจากสมาธิ
โมคคัลลานะ เราไม่สรรเสริญการคลุกคลีกับคนทั้งปวง เราจะไม่สรรเสริญ
การคลุกคลีโดยประการทั้งปวงเลยก็หาไม่ คือ เราไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยหมู่ชน
ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่เราสรรเสริญการคลุกคลีด้วยเสนาสนะที่มีเสียงน้อย
มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับ
ของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ว่าโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่าไรหนอ
ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด๑ มีความ----------------------------------------

--
๑มีความสำเร็จสูงสุด หมายถึงเข้าถึงนิพพาน (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๐/๓๘๓) และดู องฺ.เอกาทสก. (แปล)
๒๔/๑๐/๔๐๖ ภิกษุผู้ชื่อว่า มีความสำเร็จสูงสุด เพราะไม่มีธรรมที่กำเริบอีกและไม่มีสภาวะที่ต้องเสื่อมอีก
ชื่อว่า มีความเกษมจากโยคะสูงสุด เพราะปลอดภัยจากโยคกิเลส ๔ ประการได้อย่างสิ้นเชิง ชื่อว่า
ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด เพราะการประพฤตินั้นจะไม่เสื่อมอีกเนื่องจากอยู่จบมัคคพรหมจรรย์แล้ว
ชื่อว่า มีที่สุดอันสูงสุด เพราะมีความสิ้นสุดคือการประพฤติมัคคพรหมจรรย์ และทำที่สุดวัฏฏทุกข์ได้
(องฺ.สตฺตก.ฏีกา ๓/๖๖๑/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๘.จปลายมานสูตร
เกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด ประเสริฐกว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับมาว่า ธรรม
ทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ภิกษุได้สดับมาอย่างนั้นว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ภิกษุ
นั้นย่อมรู้ชัดธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ชัดธรรมทั้งปวงแล้ว จึงกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว จึงเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สุขเวทนา
ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในเวทนา
เหล่านั้นอยู่ พิจารณาเห็นความคลายไปในเวทนาเหล่านั้นอยู่ พิจารณาเห็นความดับ
ไปในเวทนาเหล่านั้นอยู่ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาเหล่านั้นอยู่ เมื่อพิจารณา
เห็นความไม่เที่ยงในเวทนาเหล่านั้นอยู่ พิจารณาเห็นความคลายไปในเวทนาเหล่านั้นอยู่
พิจารณาเห็นความดับไปในเวทนาเหล่านั้นอยู่ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนา
เหล่านั้นอยู่ เธอก็ไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง
ก็ปรินิพพานเฉพาะตน๑ เธอย่อมรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจ
ที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
โมคคัลลานะ ว่าโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้น
เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
จปลายมานสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ปรินิพพานเฉพาะตน ในที่นี้หมายถึงดับกิเลสได้เอง (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๖๑/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๙.เมตตสูตร
๙. เมตตสูตร
ว่าด้วยการเจริญเมตตาจิต
[๖๒] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย คำว่า บุญ นี้ เป็นชื่อ
ของความสุข เราย่อมรู้ชัดว่าบุญที่เราทำแล้วตลอดกาลนาน มีผลที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ อันเราเสวยมาแล้วตลอดกาลนาน เราเจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี
ไม่ได้กลับมาสู่โลกนี้อีกตลอด ๗ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๑ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกเสื่อม
เราเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกเจริญ เราเข้าถึงพรหมวิมานอันว่างเปล่า
ภิกษุทั้งหลาย ในพรหมวิมานนั้น เราเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นผู้
ครอบงำ ไม่ใช่ถูกใครๆ ครอบงำ เป็นผู้เห็นแน่นอน๒ มีอำนาจ เราได้เป็นท้าวสักกะ
ผู้เป็นจอมเทพถึง ๓๖ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา
มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต เป็นผู้ชนะสงคราม มีชนบทที่ถึงความมั่นคง
ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ ตั้งหลายร้อยครั้ง เรานั้นมีรัตนะ ๗ ประการนี้๓ คือ

๑. จักรแก้ว ๒. ช้างแก้ว
๓. ม้าแก้ว ๔. มณีแก้ว
๕. นางแก้ว ๖. คหบดีแก้ว
๗. ขุนพลแก้ว

เราเคยมีบุตรมากกว่าพันคน ล้วนแต่เป็นคนกล้าหาญชาญชัย ย่ำยีข้าศึกได้
เรานั้นปกครองแผ่นดินนี้อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต โดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา
ไม่ต้องใช้ศัสตรา

เชิงอรรถ :
๑ สังวัฏฏกัป คือ กัปฝ่ายเสื่อม ช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป คือ กัปฝ่ายเจริญ ได้แก่ ช่วงระยะ
เวลาที่โลกกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ (ตามนัย วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘)
๒ เห็นแน่นอน หมายถึงเห็นเหตุการณ์อดีต อนาคต และปัจจุบันได้อย่างชัดเจนด้วยอภิญญาญาณ (องฺ.
สตฺตก.ฏีกา ๓/๖๒/๒๒๔)
๓ ดู ที.ม. ๑๐/๒๔๓-๒๕๑/๑๕๐-๑๕๔ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๙.เมตตสูตร
จงดูวิบากแห่งบุญกุศล
ของบุคคลผู้แสวงหาความสุข
ภิกษุทั้งหลาย เราเจริญเมตตาจิตมา ๗ ปี
ไม่มาสู่โลกนี้อีกตลอด ๗ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป
เมื่อโลกเสื่อม เราเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ
เมื่อโลกเจริญ เราเข้าถึงพรหมวิมานอันว่างเปล่า
ในกาลนั้น เราเป็นมหาพรหมผู้มีอำนาจถึง ๗ ครั้ง
เป็นท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ เสวยเทพสมบัติ ๓๖ ครั้ง
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็นใหญ่แห่งชนชาวชมพูทวีป
เป็นกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษก เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์
ปกครองปฐพีมณฑลนี้โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา
สั่งสอนคนในปฐพีมณฑลนั้นโดยธรรมสม่ำเสมอ ไม่ผลุนผลัน
ครั้นได้ครองราชสมบัติในปฐพีมณฑลนี้โดยธรรมแล้ว
ได้เกิดในตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
เพียบพร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ
ที่อำนวยความประสงค์ได้ทุกอย่าง
ฐานะนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงสงเคราะห์โลก ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
เหตุที่เขาเรียกว่า เจ้าแผ่นดิน ก็เพราะเป็นใหญ่
เราเป็นพระราชาผู้เรืองเดช
มีทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมากมาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๑๐.ภริยาสูตร
มีฤทธิ์ มียศ เป็นใหญ่แห่งชนชาวชมพูทวีป
ใครเล่า ได้ฟังแล้วจะไม่เลื่อมใส แม้ชนชั้นกัณหาภิชาติ๑
เพราะฉะนั้นแล ผู้มุ่งประโยชน์ มุ่งความเป็นใหญ่
เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พึงเคารพสัทธรรมเถิด
เมตตสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ภริยาสูตร
ว่าด้วยภรรยา
[๖๓] ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตร
และจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอนาถบิณฑิกคหบดี แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์
ที่ปูลาดไว้แล้ว สมัยนั้นแล ในนิเวศน์ของอนาถบิณฑิกคหบดี มีเหล่ามนุษย์ส่งเสียง
ดังอื้ออึง อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า
“คหบดี เหตุไรหนอ เหล่ามนุษย์ในนิเวศน์ของท่านจึงส่งเสียงดังอื้ออึง เหมือน
ชาวประมงแย่งปลากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางสุชาดานี้ ข้าพระองค์พามาจากตระกูลมั่งคั่ง เป็น
สะใภ้ในเรือน นางไม่เชื่อฟังแม่ผัว ไม่เชื่อฟังพ่อผัว ไม่เชื่อฟังสามี แม้แต่พระผู้มี
พระภาค นางก็ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกนางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนมา
ตรัสว่า “มานี่ สุชาดา” นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสกับนางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ กัณหาภิชาติ หมายถึงบุคคลที่เกิดในตระกูลต่ำ ๕ ตระกูล คือ (๑) ตระกูลจัณฑาล (๒) ตระกูลช่างสาน
(๓) ตระกูลนายพราน (๔) ตระกูลช่างรถ (๕) ตระกูลคนขนขยะซึ่งเป็นตระกูลที่ยากจน (องฺ.ฉกฺก. (แปล)
๒๒/๕๗/๕๔๓-๕๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๑๐.ภริยาสูตร
สุชาดา ภรรยา ๗ จำพวกนี้
ภรรยา ๗ จำพวกไหนบ้าง คือ

๑. ภรรยาดุจเพชฌฆาต ๒. ภรรยาดุจนางโจร
๓. ภรรยาดุจนายหญิง ๔. ภรรยาดุจมารดา
๕. ภรรยาดุจพี่สาวน้องสาว ๖. ภรรยาดุจเพื่อน
๗. ภรรยาดุจทาสี

สุชาดา ภรรยา ๗ จำพวกนี้แล
บรรดาภรรยา ๗ จำพวกนั้น เธอเป็นภรรยาจำพวกไหน
นางสุชาดากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันไม่เข้าใจความหมาย
แห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้อย่างพิสดาร ขอประทานวโรกาส
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน โดยวิธีที่หม่อมฉันจะเข้าใจ
ความหมายแห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้อย่างพิสดาร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สุชาดา ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสดังนี้ว่า
ภรรยาใดคิดประทุษร้าย ไม่เกื้อกูลอนุเคราะห์
ยินดีต่อชายเหล่าอื่น ดูหมิ่นสามี
เป็นหญิงที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์ พยายามฆ่าสามี
ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจเพชฌฆาต
ภรรยาใดมุ่งจะยักยอกทรัพย์แม้มีจำนวนน้อย
ที่สามีประกอบศิลปกรรม พาณิชยกรรม และกสิกรรมได้มา
ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจนางโจร
ภรรยาใดไม่สนใจการงาน เกียจคร้าน กินจุ
หยาบคาย ดุร้าย มักพูดคำชั่วหยาบ
ข่มขี่สามีผู้ขยันหมั่นเพียร
ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจนายหญิง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๑๐.ภริยาสูตร
ภรรยาใดเป็นผู้เกื้อกูลอนุเคราะห์ทุกเมื่อ
คอยทะนุถนอมสามี เหมือนมารดาคอยทะนุถนอมบุตร
รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้
ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจมารดา
ภรรยาใดเป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว
มีความเคารพในสามีของตน
มีใจละอายต่อบาป ประพฤติคล้อยตามอำนาจสามี
ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจพี่สาวน้องสาว
ภรรยาใดเห็นสามีแล้วชื่นชมยินดี
เหมือนเพื่อนเห็นเพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา
เป็นหญิงมีตระกูล มีศีล มีวัตรปฏิบัติต่อสามี
ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจเพื่อน
ภรรยาใดถูกสามีขู่จะฆ่าจะเฆี่ยนตี ก็ไม่โกรธ สงบเสงี่ยม
ไม่คิดขุ่นเคืองสามี อดทนได้
ไม่โกรธ ประพฤติคล้อยตามอำนาจสามี
ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจทาสี
ภรรยาใดในโลกนี้ ที่เรียกว่า ภรรยาดุจเพชฌฆาต
ภรรยาดุจนางโจร และภรรยาดุจนายหญิง
ภรรยานั้น เป็นผู้ทุศีล หยาบคาย ไม่เอื้อเฟื้อ
เมื่อตายไป ย่อมไปสู่นรก
ส่วนภรรยาใดในโลกนี้ ที่เรียกว่า ภรรยาดุจมารดา
ภรรยาดุจพี่สาวน้องสาว
ภรรยาดุจเพื่อน ภรรยาดุจทาสี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๑๑.โกธนสูตร
ภรรยานั้น เพราะเป็นผู้ตั้งอยู่ในศีล
ยินดีและสำรวมมานาน
เมื่อตายไป ย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์
สุชาดา ภรรยา ๗ จำพวกนี้แล
บรรดาภรรยา ๗ จำพวกนั้น เธอเป็นภรรยาจำพวกไหน
นางสุชาดากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันไว้ว่า เป็นภรรยาดุจทาสี”
ภริยาสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. โกธนสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มักโกรธ
[๖๔] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
ย่อมมาถึงบุคคลผู้มักโกรธ จะเป็นสตรี หรือบุรุษก็ตาม
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ‘ขอให้เจ้าคนนี้มีผิว
พรรณทรามเถิด’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรู
มีผิวพรรณงาม ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธ
ครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้อาบน้ำดีแล้ว ไล้ทาดีแล้ว ตัดผม
โกนหนวดแล้วนุ่งผ้าขาวก็จริง แต่บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำนั้น
ก็เป็นคนมีผิวพรรณทรามอยู่นั่นเอง นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ที่ศัตรู
มุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
๒. ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ‘ขอให้เจ้าคนนี้นอน
เป็นทุกข์เถิด’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรู
นอนสบาย ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ
โกรธจัดนี้ แม้นอนอยู่บนเตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย ลาดด้วยพรม
ขนสัตว์ ลาดด้วยเครื่องลาดมีลายรูปดอกไม้ มีเครื่องลาดหนังชะมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๑๑.โกธนสูตร
เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้างก็จริง แต่บุคคลผู้
ถูกความโกรธครอบงำนั้น ก็นอนเป็นทุกข์ อยู่นั่นเอง นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๒ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
๓. ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ‘ขอให้เจ้าคนนี้ อย่าได้
มีความเจริญเลย’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้
ศัตรูมีความเจริญ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธ
ครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้ได้ความเสื่อมก็เข้าใจว่า ‘ตนได้ความเจริญ’
แม้ได้ความเจริญก็เข้าใจว่า ‘ตนได้ความเสื่อม’ ธรรมเหล่านี้เป็น
ข้าศึกต่อกันและกัน ที่บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำนั้นยึดถือแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน นี้เป็นธรรมประการ
ที่ ๓ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
๔. ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ‘ขอให้เจ้าคนนี้เป็นคน
ไม่มีโภคทรัพย์เถิด’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้
ศัตรูมีโภคทรัพย์ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธ
ครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม
ได้มาโดยธรรมก็จริง แต่พระราชาก็รับสั่งให้ริบโภคทรัพย์ของบุคคล
ผู้ถูกความโกรธครอบงำ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ที่ศัตรูมุ่งหมาย
ที่ศัตรูพึงทำ
๕. ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ‘ขอให้เจ้าคนนี้เป็น
คนไม่มียศเถิด’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรู
มียศ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ
โกรธจัดนี้ แม้มียศที่ได้มาด้วยความไม่ประมาทก็จริง แต่บุคคลผู้
ถูกความโกรธครอบงำก็เสื่อมจากยศนั้น นี้เป็นธรรมประการที่ ๕
ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
๖. ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ‘ขอให้เจ้าคนนี้เป็น
คนไม่มีมิตรเถิด’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๑๑.โกธนสูตร
มีมิตร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ
โกรธจัดนี้ แม้มีมิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิต๑ก็จริง แต่คน
เหล่านั้นก็พากันหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำนั้นไปห่างไกล
นี้เป็นธรรมประการที่ ๖ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
๗. ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ‘ขอให้เจ้าคนนี้
หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเถิด’ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูไปสู่สุคติ ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ โกรธจัดนี้ ประพฤติทุจริต
ทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจ หลังจาก
ตายแล้ว ย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๗ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ ย่อมมา
ถึงบุคคลผู้มักโกรธ จะเป็นสตรี หรือบุรุษก็ตาม
บุคคลผู้มักโกรธนั้น
มีผิวพรรณทราม นอนเป็นทุกข์
ได้ความเจริญแล้ว ก็ยังถึงความเสื่อม
บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ
ทำการเข่นฆ่าทางกาย วาจา
ย่อมประสบความเสื่อมทรัพย์

เชิงอรรถ :
๑ อำมาตย์ หมายถึงเพื่อนที่รักกันมาก (สุหัชชา) สามารถปรึกษาหารือกันได้ทุกเรื่อง ทุกโอกาส
ญาติ หมายถึงบิดามารดาของสามีและเครือญาติฝ่ายบิดามารดาของสามี หรือบิดามารดาของภรรยาและ
เครือญาติฝ่ายบิดามารดาของภรรยา
สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ ปู่ หรือตา ย่า หรือยาย บิดาหรือมารดา บุตรหรือธิดา
พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว (เทียบ องฺ.ติก.อ. ๒/๗๖/๒๒๗, องฺ.ทสก.อ. ๓/๗๑/๓๕๘, องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๗๑-
๗๔/๔๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๑๑.โกธนสูตร
บุคคลผู้มัวเมาด้วยความมัวเมาเพราะโกรธ
ย่อมถึงความเสื่อมยศ
ญาติมิตรและสหาย ย่อมหลีกเว้นบุคคลผู้มักโกรธ
ความโกรธก่อความเสียหาย
ความโกรธทำจิตให้กำเริบ
บุคคลผู้มักโกรธย่อมไม่รู้ภัยที่เกิดจากภายใน
บุคคลผู้โกรธย่อมไม่รู้อรรถ
บุคคลผู้โกรธย่อมไม่เห็นธรรม
ความโกรธครอบงำนรชนในกาลใด
ความมืดย่อมมีในกาลนั้น
บุคคลผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย
ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว
เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้
บุคคลผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยาก๑ก่อน
เหมือนไฟแสดงควันก่อน
ความโกรธเกิดขึ้นในกาลใด
คนทั้งหลายย่อมโกรธในกาลนั้น
บุคคลผู้โกรธไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
ไม่มีคำพูดที่น่าเคารพ
บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำไม่มีความสว่างแม้แต่น้อย
กรรมเหล่าใดห่างไกลจากธรรม เป็นเหตุให้เดือดร้อน
เราจักบอกกรรมเหล่านั้น
เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ

เชิงอรรถ :
๑ ความเก้อยาก ในที่นี้หมายถึงความทุศีล อาการที่ล่วงละเมิดสิกขาบท โดยไม่รู้สึกละอาย ไม่ยอมรับ ทั้งยัง
รุกรานสงฆ์ว่า ‘ท่านเห็น ท่านได้ยินหรือว่าข้าพเจ้าทำผิดอะไร พวกท่านยกอาบัติอะไรขึ้นปรับข้าพเจ้า’
(เทียบ องฺ.ทสก.อ. ๓/๓๑/๓๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค ๑๑.โกธนสูตร
บุคคลผู้โกรธ ฆ่าบิดาก็ได้
บุคคลผู้โกรธ ฆ่ามารดาก็ได้
บุคคลผู้โกรธ ฆ่าพราหมณ์๑ก็ได้
บุคคลผู้โกรธ ฆ่าปุถุชนก็ได้
ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตามองโลกนี้
เป็นผู้มีกิเลสหนา โกรธขึ้นมา
ย่อมฆ่าแม้มารดาผู้ให้ชีวิตนั้น
สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ
เพราะตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง
ผู้โกรธหมกมุ่นในรูปต่างๆ๒ ย่อมฆ่าตนเองเพราะเหตุต่างๆ
คือฆ่าตนเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษตายบ้าง
ใช้เชือกผูกคอตายบ้าง กระโดดลงในซอกเขาตายบ้าง
คนเหล่านั้นเมื่อทำกรรม
อันมีแต่ความเสื่อมและทำลายตน ก็ไม่รู้สึก
ความเสื่อมเกิดจากความโกรธ
ตามที่กล่าวมา ความโกรธนี้ เป็นบ่วงแห่งมัจจุ
มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย โดยรูปของความโกรธ
พึงตัดความโกรธนั้นด้วยทมะ (ความข่มใจ)
คือปัญญา๓ ความเพียร๔และทิฏฐิ๕

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพระอรหันตขีณาสพ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๖๔/๑๙๗)
๒ รูปต่างๆ ในที่นี้หมายถึงอารมณ์ต่างๆ (องฺ.สตฺตก.อ.๓/๖๔/๑๙๗)
๓ ปัญญา ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาปัญญา (องฺ.สตฺตก.อ.๓/๖๔/๑๙๗)
๔ ความเพียร ในที่นี้หมายถึงความเพียรทางกายและจิตอันประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญา (องฺ.สตฺตก.อ.
๓/๖๔/๑๙๗)
๕ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัมมาทิฏฐิที่เป็นองค์แห่งอริยมรรค (องฺ.สตฺตก.อ.๓/๖๔/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖.อัพยากตวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่าง
พึงศึกษาในธรรมเหมือนอย่างนั้น
เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า
‘ขอความเป็นผู้เก้อยากอย่าได้มีแก่เราทั้งหลาย’
บุคคลผู้ปราศจากความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ
ปราศจากความโลภ ไม่มีความริษยา
ฝึกฝนตนแล้ว ละความโกรธได้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน
โกธนสูตรที่ ๑๑ จบ
อัพยากตวรรคที่ ๖ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัพยากตสูตร ๒. ปุริสคติสูตร
๓. ติสสพรหมสูตร ๔. สีหเสนาปติสูตร
๕. อรักเขยยสูตร ๖. กิมิลสูตร
๗. สัตตธัมมสูตร ๘. จปลายมานสูตร
๙. เมตตสูตร ๑๐. ภริยาสูตร
๑๑. โกธนสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๑.หิริโอตัปปสูตร
๗. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
๑. หิริโอตตัปปสูตร
ว่าด้วยผลแห่งหิริและโอตตัปปะ
[๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อหิริและโอตตัปปะไม่มี
อินทรียสังวรของบุคคลผู้มีหิริและโอตตัปปะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อ
อินทรียสังวรไม่มี ศีลของบุคคลผู้มีอินทรียสังวรวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อ
ศีลไม่มี สัมมาสมาธิของบุคคลผู้มีศีลวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อสัมมาสมาธิ
ไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาและวิราคะของบุคคลผู้มียถาภูตญาณทัสสนะ-
วิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อนิพพิทาและวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของ
บุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ที่มีกิ่งและใบวิบัติแล้ว สะเก็ด เปลือก กระพี้ แม้แก่นของ
ต้นไม้นั้น ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อหิริและโอตตัปปะ
ไม่มี อินทรียสังวรของบุคคลผู้มีหิริและโอตตัปปะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว ฯลฯ
วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อหิริและโอตตัปปะมี อินทรียสังวรของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วย
หิริและโอตตัปปะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่ออินทรียสังวรมี ศีลของบุคคลผู้สมบูรณ์
ด้วยอินทรียสังวร ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อศีลมี สัมมาสมาธิของบุคคลผู้สมบูรณ์
ด้วยศีล ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสัมมาสมาธิมี ยถาภูตญาณทัสสนะของบุคคลผู้
สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมี นิพพิทา
และวิราคะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อ
นิพพิทาและวิราคะมี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาและวิราคะ
ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๒.สัตตสุริยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ สะเก็ด เปลือก กระพี้ แม้แก่นของ
ต้นไม้นั้น ย่อมถึงความบริบูรณ์ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อหิริและโอตตัปปะมี
อินทรียสังวรของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ฯลฯ
วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาและวิราคะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
ฉันนั้นเหมือนกัน”
หิริโอตตัปปสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัตตสุริยสูตร
ว่าด้วยดวงอาทิตย์ ๗ ดวง
[๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพปาลีวัน เขตกรุงเวสาลี ณ ที่นั้นแล
พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็น
ข้อกำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
ภิกษุทั้งหลาย ขุนเขาสิเนรุ ยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ กว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์
หยั่งลงในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว ฝนไม่ตกหลายปี หลายร้อยปี
หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่ตก พีชคาม ภูตคาม และติณชาติที่ใช้เข้ายา
ป่าไม้ใหญ่ ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้ ฉันใด
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นข้อ
กำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒
ปรากฏ เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ แม่น้ำน้อย หนองน้ำทุกแห่ง ระเหย
เหือดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๒.สัตตสุริยสูตร
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ
เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆ คือ คงคา ยมนา อจิรวดี สรภู
มหี ทุกแห่ง ระเหย เหือดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ
เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ แหล่งน้ำใหญ่ๆ ที่เป็นแดนไหลมารวมกันของแม่
น้ำใหญ่ๆ เหล่านี้ คือ สระอโนดาด สระสีหปปาตะ สระรถการะ สระกัณณมุณฑะ
สระกุณาลา สระฉัททันต์ สระมันทากินี ทุกแห่ง ระเหย เหือดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ
เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรลึก ๑๐๐ โยชน์ก็ดี ๒๐๐ โยชน์
ก็ดี ๓๐๐ โยชน์ก็ดี ๔๐๐ โยชน์ก็ดี ๕๐๐ โยชน์ก็ดี ๖๐๐ โยชน์ก็ดี ๗๐๐ โยชน์ก็ดี
งวดลงเหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วต้นตาลก็มี ๖ ชั่วต้นตาลก็มี ๕ ชั่วต้นตาลก็มี ๔ ชั่ว
ต้นตาลก็มี ๓ ชั่วต้นตาลก็มี ๒ ชั่วต้นตาลก็มี ชั่วต้นตาลเดียวก็มี เหลืออยู่เพียง
๗ ชั่วคน ๖ ชั่วคน ๕ ชั่วคน ๔ ชั่วคน ๓ ชั่วคน ๒ ชั่วคน ชั่วคนเดียว ชั่วครึ่ง
คนเพียงเอว เพียงเข่า เพียงแค่ข้อเท้า ภิกษุทั้งหลาย น้ำในมหาสมุทรยังเหลืออยู่
เพียงในรอยเท้าโคในที่นั้น ๆ เปรียบเหมือนในฤดูแล้ง เมื่อฝนเม็ดใหญ่ ๆ ตกลงมา
น้ำเหลืออยู่ในรอยเท้าโคในที่นั้น ๆ ฉะนั้นเพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำใน
มหาสมุทรแม้เพียงข้อนิ้วก็ไม่มี ฉันใด
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ
เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมีกลุ่มควัน
พวยพุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลาย นายช่างหม้อเผาหม้อที่เขาปั้นดีแล้ว ย่อมมีกลุ่มควัน
พวยพุ่งขึ้น ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้
และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๒.สัตตสุริยสูตร
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ
เพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุ เกิดไฟลุกโชน
มีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน เมื่อแผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่
เปลวไฟถูกลมพัดขึ้นไปจนถึงพรหมโลก เมื่อขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาไหม้ กำลังพินาศ
ถูกกองเพลิงใหญ่เผาทั่วตลอดแล้ว ยอดเขาแม้ขนาด ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐
โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ย่อมพังทะลาย เมื่อแผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขา
สิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ ขี้เถ้าและเขม่าย่อมไม่ปรากฏ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเนยใสหรือ
น้ำมันถูกไฟเผาผลาญอยู่ ขี้เถ้าและเขม่าย่อมไม่ปรากฏ ฉันใด เมื่อแผ่นดินใหญ่นี้
และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ ขี้เถ้าและเขม่า ก็ย่อมไม่ปรากฏ ฉันนั้น
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็น
ข้อกำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง
ในข้อนั้น ใครเล่า ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ใครเล่า ชื่อว่าเป็นผู้เชื่อว่า ‘แผ่นดินใหญ่นี้
และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญ พินาศ ไม่เหลืออยู่’ นอกจากอริยสาวกผู้มีบทอัน
เห็นแล้ว๑
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ครูชื่อสุเนตตะ๒ เป็นเจ้าลัทธิผู้ปราศจาก
ความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย
เพื่อความเป็นผู้เกิดร่วมกับเทวดาชั้นพรหมโลก และเมื่อครูสุเนตตะแสดงธรรมเพื่อ
ความเป็นผู้เกิดร่วมกับเทวดาชั้นพรหมโลก เหล่าสาวกผู้รู้ชัดคำสอนอย่างดียิ่ง
หลังจากตายแล้ว ได้ไปเกิดในสุคติพรหมโลก ส่วนเหล่าสาวกผู้ไม่รู้ชัดคำสอน
อย่างดียิ่ง หลังจากตายแล้ว บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับเทวดาชั้นนิมมานรดี บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับเทวดาชั้นดุสิต
บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับเทวดาชั้นจาตุมหาราช บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับขัตติย

เชิงอรรถ :-
๑ ผู้มีบทอันเห็นแล้ว ในที่นี้หมายถึงพระอริยสาวกผู้เป็นโสดาบัน (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๖๖/๑๙๙)
๒ ดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๔/๕๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๒.สัตตสุริยสูตร
มหาศาล บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับพราหมณมหาศาล บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับ
คหบดีมหาศาล๑
ครั้งนั้นแล ครูสุเนตตะได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘การที่เรามีคติในสัมปรายภพ
เสมอเหมือนกับเหล่าสาวก ไม่สมควรเลย ทางที่ดี เราควรเจริญเมตตาให้ยิ่งขึ้น’
ต่อจากนั้น ครูสุเนตตะได้เจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี แล้วไม่มาสู่โลกนี้ตลอด
๗ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป ภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกเสื่อม ครูสุเนตตะเข้าถึงพรหม
โลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกเจริญครูสุเนตตะเข้าถึงพรหมวิมานอันว่างเปล่า
ภิกษุทั้งหลาย ในพรหมวิมานนั้น ครูสุเนตตะเป็นพรหม เป็นมหาพรหม
เป็นผู้ครอบงำ ไม่ใช่ถูกใครๆ ครอบงำ เป็นผู้เห็นแน่นอน มีอำนาจ ครูสุเนตตะได้
เป็นท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมเทพถึง ๓๖ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม
เป็นธรรมราชา มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต เป็นผู้ชนะสงคราม มีชนบทที่ถึง
ความมั่นคง ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ ตั้งหลายร้อยครั้ง ครูสุเนตตะเคยมี
บุตรมากกว่าพันคน ล้วนแต่เป็นคนกล้าหาญชาญชัย ย่ำยีข้าศึกได้ ครูสุเนตตะนั้น
ปกครองแผ่นดินนี้อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต โดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้อง
ใช้ศัสตรา
ภิกษุทั้งหลาย ครูสุเนตตะนั้นเป็นผู้มีอายุยืนนานอย่างนี้ เป็นผู้ดำรงอยู่ได้นาน
อย่างนี้ แต่ก็ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เราจึงกล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจากทุกข์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดธรรม ๔ ประการ
ธรรม ๔ ประการ๒ อะไรบ้าง คือ
๑. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล
๒. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ

เชิงอรรถ :
๑ มหาศาล หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก คือ ขัตติยมหาศาลมีราชทรัพย์ ๑๐๐-๑,๐๐๐ โกฏิ พราหมณมหาศาล
มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ (ที.ม.อ. ๒/๒๑๐/๑๙๓)
๒ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑/๑-๒, อภิ.ก. ๓๗/๒๘๑/๑๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๓.นคโรปมสูตร
๓. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา
๔. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ
เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราถอนภวตัณหา
ได้แล้ว ภวเนตติ๑สิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
พระโคดมผู้มียศตรัสรู้ธรรมเหล่านี้ คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติอันยอดเยี่ยม
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกธรรม
แก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง
พระศาสดาผู้มีพระจักษุ๒ทรงทำที่สุดแห่งทุกข์ ปรินิพพาน๓แล้ว
สัตตสุริยสูตรที่ ๒ จบ

๓. นคโรปมสูตร
ว่าด้วยธรรมเปรียบด้วยเครื่องป้องกันนคร
[๖๗] ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนคร(เมืองชายแดน)ของพระราชา
เป็นนครที่ป้องกันไว้ดีด้วยเครื่องป้องกันนคร ๗ ประการ และได้อาหาร ๔ อย่าง
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ในกาลนั้น เราจึงเรียกปัจจันต-
นครของพระราชานี้ว่า ศัตรูหมู่ปัจจามิตรภายนอกทำอะไรไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ภวเนตติ เป็นชื่อของตัณหา หมายถึงเชือกผูกสัตว์ไว้ในภพ (ภวรชฺชุ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑/๒๗๙)
๒ จักษุ ในที่นี้หมายถึงจักษุ ๕ คือ (๑) จักษุ (ตาเนื้อ) (๒) ทิพพจักษุ (ตาทิพย์) (๓) ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา)
(๔) พุทธจักษุ (ตาพระพุทธเจ้า) (๕) สมันตจักษุ (ตาเห็นรอบ) (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๖๖/๑๙๙)
๓ ปรินิพพาน ในที่นี้หมายถึงดับกิเลสได้สิ้นเชิง (ที.ม.อ. ๒/๑๘๖/๑๖๙, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑/๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๓.นคโรปมสูตร
ปัจจันตนครชื่อว่าป้องกันดีด้วยเครื่องป้องกันนคร ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ปัจจันตนครของพระราชามีเสาระเนียดขุดหลุมฝังลึกไว้เป็นอย่างดี
ไม่หวั่นไหว ไม่คลอนแคลน ปัจจันตนครของพระราชาชื่อว่าป้อง
กันดี เพื่อคุ้มกันภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ด้วยเครื่อง
ป้องกันนครประการที่ ๑ นี้
๒. ปัจจันตนครของพระราชามีคูลึกและกว้าง ปัจจันตนครของพระราชา
ชื่อว่าป้องกันดีเพื่อคุ้มกันภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ด้วยเครื่องป้องกันนครประการที่ ๒ นี้
๓. ปัจจันตนครของพระราชามีทางเดินได้รอบ ทั้งสูงและกว้าง ปัจจันต
นครของพระราชาชื่อว่าป้องกันดี เพื่อคุ้มกันภัยภายในและป้องกัน
อันตรายภายนอก ด้วยเครื่องป้องกันนครประการที่ ๓ นี้
๔. ปัจจันตนครของพระราชามีการสะสมอาวุธไว้มาก ทั้งที่เป็นอาวุธ
แหลมยาวและอาวุธมีคม ปัจจันตนครของพระราชาชื่อว่าป้องกันดี
เพื่อคุ้มกันภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ด้วยเครื่อง
ป้องกันนครประการที่ ๔ นี้
๕. ปัจจันตนครของพระราชามีกองพลตั้งอาศัยอยู่มาก คือ พลช้าง พล
ม้า พลรถ พลธนู หน่วยเชิญธง หน่วยจัดกระบวนทัพ หน่วยพลาธิ-
การ หน่วยเสนาธิการ หน่วยจู่โจม หน่วยทหารหาญ หน่วยกล้าตาย
หน่วยทหารเกราะหนัง หน่วยทหารทาส ปัจจันตนครของพระราชา
ชื่อว่าป้องกันดี เพื่อคุ้มกันภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ด้วยเครื่องป้องกันนครประการที่ ๕ นี้
๖. ปัจจันตนครของพระราชามีทหารยามฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา
คอยกันคนที่ไม่รู้จักไม่ให้เข้าไป ให้คนที่รู้จักเข้าไป ปัจจันตนครของ
พระราชาชื่อว่าป้องกันดี เพื่อคุ้มกันภัยภายในและป้องกันอันตราย
ภายนอก ด้วยเครื่องป้องกันนครประการที่ ๖ นี้
๗. ปัจจันตนครของพระราชามีกำแพงสูงและกว้าง พร้อมด้วยป้อมก่ออิฐ
ถือปูนดี ปัจจันตนครของพระราชาชื่อว่าป้องกันดี เพื่อคุ้มกันภัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๓.นคโรปมสูตร
ภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ด้วยเครื่องป้องกันนครประการ
ที่ ๗ นี้
อาหาร ๔ อย่างที่ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
อะไรบ้าง คือ
๑. ปัจจันตนครของพระราชานี้ มีการสะสมหญ้า ไม้ และน้ำไว้มาก
เพื่อความอุ่นใจ เพื่อความไม่สะดุ้งกลัว เพื่อความอยู่ผาสุกของ
ประชาชนภายใน และเพื่อป้องกันอันตรายภายนอก
๒. ปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมข้าวสาลี และข้าวเหนียว
ไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ เพื่อความไม่สะดุ้งกลัว เพื่อความอยู่ผาสุก
ของประชาชนภายใน และเพื่อป้องกันอันตรายภายนอก
๓. ปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมอปรัณณชาติ คือ งา ถั่วเขียว
ถั่วทอง ไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ เพื่อความไม่สะดุ้งกลัว เพื่อความ
อยู่ผาสุกของประชาชนภายใน และเพื่อป้องกันอันตรายภายนอก
๔. ปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมเภสัช คือ เนยใส เนยข้น
น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เกลือ ไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ เพื่อความไม่
สะดุ้งกลัว เพื่อความอยู่ผาสุกของประชาชนภายใน และเพื่อป้องกัน
อันตรายภายนอก
ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างนี้แล ที่ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก
ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนครของพระราชาเป็นนครป้องกันไว้ดี ด้วย
เครื่องป้องกันนคร ๗ ประการนี้ และได้อาหาร ๔ ประการนี้ตามความปรารถนา
ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ในกาลนั้น เราจึงเรียกปัจจันตนครของพระราชานี้ว่า
ศัตรูหมู่ปัจจามิตรภายนอกทำอะไรไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน ในกาลใด อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม
๗ ประการ และได้ฌาน ๔ ประการ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๓.นคโรปมสูตร
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ในกาลนั้น เราจึงเรียกอริย-
สาวกนี้ว่า มารมีบาปก็ทำอะไรไม่ได้
อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อริยสาวกเป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ๑ เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค’ เปรียบเหมือนปัจจันตนครของพระราชา มี
เสาระเนียดขุดหลุมฝังลึกไว้เป็นอย่างดี ไม่หวั่นไหว ไม่คลอนแคลน
เพื่อคุ้มกันภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกเป็นผู้มีศรัทธาเหมือนเสาระเนียด ย่อมละอกุศล เจริญ
กุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์
อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการที่ ๑ นี้
๒. อริยสาวกเป็นผู้มีหิริ คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ละอายต่อการประกอบบาปอกุศลธรรม เปรียบเหมือนปัจจันตนคร
ของพระราชา มีคูลึกและกว้าง เพื่อคุ้มกันภัยภายในและป้องกัน
อันตรายภายนอก ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีหิริเหมือนคู
ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ
บริหารตนให้บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการ
ที่ ๒ นี้
๓. อริยสาวกเป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการประกอบบาปอกุศลธรรม เปรียบเหมือน
ปัจจันตนครของพระราชา มีทางเดินได้รอบ ทั้งสูงและกว้าง เพื่อ
คุ้มกันภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกผู้มีโอตตัปปะเหมือนทางเดินรอบกำแพง ย่อมละอกุศล

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๒๙ (อักขณสูตร) หน้า ๒๗๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๓.นคโรปมสูตร
เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้
บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการที่ ๓ นี้
๔. อริยสาวกเป็นพหูสูต ฯลฯ๑ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ เปรียบเหมือน
ปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมอาวุธไว้มาก ทั้งที่เป็นอาวุธ
แหลมยาวและอาวุธมีคม เพื่อคุ้มกันภัยภายในและป้องกัน
อันตรายภายนอก ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีสุตะเหมือนอาวุธ
ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ
บริหารตนให้บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการที่ ๔ นี้
๕. อริยสาวกเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศล
ธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระใน
กุศลธรรมทั้งหลายอยู่ เปรียบเหมือนปัจจันตนครของพระราชา มี
กองพลตั้งอาศัยอยู่มาก คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู หน่วย
เชิญธง หน่วยจัดกระบวนทัพ หน่วยพลาธิการ หน่วยเสนาธิการ
หน่วยจู่โจม หน่วยทหารหาญ หน่วยกล้าตาย หน่วยทหาร
เกราะหนัง หน่วยทหารทาส เพื่อคุ้มกันภัยภายในและป้องกันอันตราย
ภายนอก ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกมีความเพียรเหมือนกองทัพ
ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ
บริหารตนให้บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการที่ ๕ นี้
๖. อริยสาวกเป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติปัญญาเครื่องรักษาตน
อย่างยิ่ง ระลึกถึงสิ่งที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ เปรียบเหมือนปัจจันต-
นครของพระราชา มีทหารยามฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา คอยกัน
คนที่ไม่รู้จักไม่ให้เข้าไป ให้คนที่รู้จักเข้าไป เพื่อคุ้มกันภัยภายใน
และป้องกันอันตรายภายนอก ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีสติ
เหมือนทหารยาม ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในสัตตกนิบาต ข้อ ๖ หน้า ๑๐-๑๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๗.มหาวรรค ๓.นคโรปมสูตร
ธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วย
สัทธรรมประการที่ ๖ นี้
๗. อริยสาวกก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วย
ปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ
ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เปรียบเหมือนปัจจันตนคร
ของพระราชา มีกำแพงสูงและกว้าง พร้อมด้วยป้อมก่ออิฐถือปูนดี
เพื่อคุ้มกันภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกถึงพร้อมด้วยปัญญาเหมือนป้อมที่ก่ออิฐถือปูนดี ย่อมละ
อกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหาร
ตนให้บริสุทธิ์ อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรมประการที่ ๗ นี้
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้
ฌาน ๔ ประการ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ที่อริยสาวก
ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก อะไรบ้าง คือ
๑. อริยสาวกสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌาน
ฯลฯ๑ เพื่อความอุ่นใจ เพื่อความไม่สะดุ้งกลัว เพื่อความอยู่ผาสุก
ของตน เพื่อก้าวลงสู่นิพพาน เปรียบเหมือนปัจจันตนครของ
พระราชา มีการสะสมหญ้า ไม้ และน้ำไว้มากเพื่อความอุ่นใจ เพื่อ
ความไม่สะดุ้งกลัว เพื่อความอยู่ผาสุกของประชาชนภายใน และเพื่อ
ป้องกันอันตรายภายนอก
๒. อริยสาวก เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ๒
เพื่อความอุ่นใจ เพื่อความไม่สะดุ้งกลัว เพื่อความอยู่ผาสุกของตน
เพื่อก้าวลงสู่นิพพาน เปรียบเหมือนปัจจันตนครของพระราชามีการ
สะสมข้าวสาลีและข้าวเหนียวไว้มากเพื่อความอุ่นใจ เพื่อความไม่
สะดุ้งกลัว เพื่อความอยู่ผาสุกของประชาชนภายใน และเพื่อ
ป้องกันอันตรายภายนอก

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๑ หน้า ๒๒๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๑๔๑ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker