ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก ฉักกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๖. วิวาทมูลสูตร
๔. ปหานสัญญา
๕. วิราคสัญญา
๖. นิโรธสัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นส่วนแห่งวิชชา
วิชชาภาคิยสูตรที่ ๕ จบ
๖. วิวาทมูลสูตร
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งวิวาท
[๓๖] ภิกษุทั้งหลาย มูลเหตุแห่งวิวาท ๖ ประการนี้
มูลเหตุแห่งวิวาท ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ ภิกษุใดเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ ภิกษุ
นั้นไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา ไม่มีความเคารพ
ไม่มีความยำเกรงในธรรม ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์
และไม่ทำสิกขาให้บริบูรณ์ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพ
ไม่มีความยำเกรงในศาสดา ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง
ในธรรม ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์ และไม่ทำสิกขา
ให้บริบูรณ์ ย่อมก่อวิวาทให้เกิดขึ้นในสงฆ์ ซึ่งเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่สุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์แก่คน
หมู่มาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งวิวาทเช่นนี้
ภายในหรือภายนอก เธอทั้งหลายพึงพยายามเพื่อละมูลเหตุแห่ง
วิวาทที่เป็นบาปภายในหรือภายนอกนั้นแล ถ้าเธอทั้งหลายไม่
พิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งวิวาทเช่นนี้ภายในหรือภายนอก เธอทั้งหลาย
พึงปฏิบัติเพื่อให้มูลเหตุแห่งวิวาทที่เป็นบาปนั้นแลไม่ยืดเยื้อต่อไป
การละมูลเหตุแห่งวิวาทที่เป็นบาปนั้นย่อมมีได้ และมูลเหตุแห่งวิวาท
ที่เป็นบาปนั้น ย่อมไม่ยืดเยื้อต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๖. วิวาทมูลสูตร
๒. เป็นผู้ลบหลู่ ตีเสมอ ฯลฯ
๓. เป็นผู้ริษยา มีความตระหนี่ ฯลฯ
๔. เป็นผู้โอ้อวด มีมายา ฯลฯ
๕. เป็นผู้มีความปรารถนาชั่วเป็นมิจฉาทิฏฐิ๑ ฯลฯ
๖. เป็นผู้ยึดมั่นทิฏฐิของตน มีความถือรั้น สละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ยาก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใด เป็นผู้ยึดมั่นทิฏฐิของตน มีความถือรั้น
สละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ยาก ภิกษุนั้นย่อมไม่มีความเคารพ ไม่มีความ
ยำเกรงแม้ในศาสดา ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงแม้
ในธรรม ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงแม้ในพระสงฆ์ และไม่
ทำสิกขาให้บริบูรณ์ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มี
ความยำเกรงในศาสดา ฯลฯ และไม่ทำสิกขาให้บริบูรณ์ ย่อมก่อการ
วิวาทให้เกิดขึ้นในสงฆ์ ซึ่งเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อ
ไม่ใช่สุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อไม่
เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งวิวาทเช่นนี้ ทั้งภายในหรือ
ภายนอก เธอทั้งหลายพึงพยายามเพื่อละมูลเหตุแห่งวิวาทที่เป็น
บาปนั้นแลทั้งภายในหรือภายนอกนั้น ถ้าเธอทั้งหลายไม่พิจารณา
เห็นมูลเหตุแห่งวิวาทเช่นนี้ ทั้งภายในหรือภายนอก เธอทั้งหลาย
พึงปฏิบัติเพื่อให้มูลเหตุแห่งวิวาทที่เป็นบาปนั้นแลไม่ยืดเยื้อต่อไป
การละมูลเหตุแห่งวิวาทที่เป็นบาปนั้นแลย่อมมีได้ และมูลเหตุแห่ง
วิวาทที่เป็นบาปนั้น ย่อมไม่ยืดเยื้อต่อไป
ภิกษุทั้งหลาย มูลเหตุแห่งวิวาท ๖ ประการ นี้แล
วิวาทมูลสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เป็นมิจฉาทิฏฐิ หมายถึงเป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคลประเภทนัตถิกวาทะ (ลัทธิที่ถือว่าทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล)
อเหตุกวาทะ (ลัทธิที่ถือว่าไม่มีเหตุปัจจัยเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย) และอกิริยวาทะ (ลัทธิที่ถือว่า
การกระทำทุกอย่างไม่มีผล ทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่วก็ไม่ได้ชั่ว เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกฎแห่งกรรม) (องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๓๖/๑๑๗) และดู ที.สี. (แปล) ๙/๑๖๕/๕๓, ๑๖๗/๕๔,๑๗๓/๕๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๗. ทานสูตร
๗. ทานสูตร
ว่าด้วยองค์แห่งทักษิณาทาน
[๓๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น อุบาสิกาชื่อนันทมาตา ชาวเมือง
เวฬุกัณฑกะ ถวายทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ ในหมู่ภิกษุมีพระสารีบุตรและ
พระโมคคัลลานะเป็นประธาน พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นอุบาสิกาชื่อนันทมาตา
ชาวเมืองเวฬุกัณฑกะนั้นแล้ว จึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
อุบาสิกาชื่อนันทมาตาชาวเมืองเวฬุกัณฑกะนั้น ถวายทานอันประกอบด้วยองค์ ๖
ในหมู่ภิกษุมีสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นประธาน
ทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ เป็นอย่างไร
คือ ฝ่ายทายก(ผู้ให้)มีองค์ ๓ ประการ ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) มีองค์ ๓ ประการ
องค์ ๓ ประการ ของทายก อะไรบ้าง คือ
ทายกในธรรมวินัยนี้
๑. ก่อนให้ก็มีใจดี
๒. กำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส
๓. ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน
นี้คือองค์ ๓ ประการ ของทายก
องค์ ๓ ประการ ของปฏิคาหก อะไรบ้าง คือ
ปฏิคาหกในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ
๒. เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ
๓. เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ
นี้คือองค์ ๓ ประการ ของปฏิคาหก
องค์ ๓ ประการ ของทายก องค์ ๓ ประการ ของปฏิคาหก มีด้วยประการฉะนี้
ภิกษุทั้งหลาย ทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๗. ทานสูตร
ภิกษุทั้งหลาย การกำหนดประมาณบุญแห่งทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖
อย่างนี้ว่า ‘ห้วงบุญ ห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำความสุขมาให้ มีอารมณ์ดีเลิศ๑
มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ’ มิใช่ทำได้ง่าย แท้จริง ห้วงบุญ ห้วงกุศลแห่งทักษิณานั้นถึงการนับว่า
‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้’
เปรียบเหมือนการกำหนดปริมาณของน้ำในมหาสมุทรว่า ‘น้ำมีปริมาณเท่านี้
อาฬหกะ น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑๐๐ อาฬหกะ น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑,๐๐๐ อาฬหกะ
หรือน้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ อาฬหกะ’ มิใช่ทำได้ง่าย แท้จริง น้ำในมหาสมุทร
นั้นถึงการนับว่า ‘เป็นห้วงน้ำใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้’ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย การกำหนดประมาณบุญแห่งทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖
อย่างนี้ว่า ‘ห้วงบุญ ห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำความสุขมาให้ มีอารมณ์ดีเลิศ
มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ’ มิใช่ทำได้ง่าย แท้จริง ห้วงบุญ ห้วงกุศลของทักษิณานั้น ถึงการนับว่า
‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้’ ฉันนั้น
ทายก ก่อนให้ก็มีใจดี
เมื่อกำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส
ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน
นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ๒
ปฏิคาหกผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย
คือ ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ
ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ
ย่อมเป็นเขตที่สมบูรณ์แห่งการให้

เชิงอรรถ :
๑ มีอารมณ์ดีเลิศ ในที่นี้หมายถึงให้กามคุณ ๕ ประการ มีรูปเป็นต้นที่เลิศ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๑/๓๔๘)
๒ ยัญ ในที่นี้หมายถึงทาน หรือเครื่องไทยธรรม (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๐/๓๔๑, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๗/๑๑๘) และดู
ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๓๐๕/๒๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๘. อัตตการีสูตร
ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วยตนเอง
ถวายทานด้วยมือตนเอง
ยัญนั้นย่อมมีผลมาก
เพราะตน (ทายกผู้ให้ทาน) และเพราะผู้อื่น (ปฏิคาหก)
เป็นบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ มีศรัทธา
มีใจพ้นแล้ว๑บูชายัญอย่างนี้
ย่อมเข้าถึงโลกที่ปราศจากความเบียดเบียนเป็นสุข
ทานสูตรที่ ๗ จบ
๘. อัตตการีสูตร
ว่าด้วยอัตตการ
[๓๘] ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
‘ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีอัตตการ
(มีตนเป็นตัวการ) ไม่มีปรการ๒(มีสิ่งอื่นเป็นตัวการ)’
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เราไม่เคยได้เห็นไม่เคยได้ฟังคำของบุคคล
ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้เลย ก็บุคคลเมื่อก้าวไปข้างหน้าเองได้ ถอยกลับ
เองได้ ไฉนจึงจักกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีอัตตการ ไม่มีปรการ’ พราหมณ์
ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร อารัพภธาตุ๓มีอยู่หรือไม่”

เชิงอรรถ :
๑ มีใจพ้นแล้ว หมายถึงมีใจพ้นจากความตระหนี่ลาภเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๗/๑๑๘)
๒ พราหมณ์พูดตามลัทธิมักขลิโคศาลที่ถือว่าสัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์ หรือเศร้าหมองเอง ไม่ใช่ตัวเองเป็นตัวการ
และไม่ใช่เพราะสิ่งอื่นเป็นตัวการ ดู ที.สี. (แปล) ๙/๑๖๘/๕๔-๕๖, ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๖ คำว่า อัตตการ
และปรการนี้ บางทีใช้ในความหมายเดียวกับสยังกตา ปรังกตา ดู สํ.นิ. ๑๖/๑๗/๑๙, สํ.นิ.อ. ๒/๑๗/๔๐
๓ อารัพภธาตุ หมายถึงความเพียรริเริ่มในการทำความดี เป็นธรรมเครื่องป้องกันถีนมิทธะ(ความหดหู่และ
เซื่องซึม)มิให้เกิดขึ้นและกำจัดถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๘/๑๑๘, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๓๘-๔๑/
๑๓๓) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๕/๒๒๕, องฺ.เอกก. (แปล) ๒๐/๑๘/๔ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๘. อัตตการีสูตร
พราหมณ์กราบทูลว่า “มี ท่านพระโคดม”
“เมื่อมีอารัพภธาตุ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเพียรริเริ่มยังมีปรากฏอยู่หรือไม่”
“ยังมีปรากฏ ท่านพระโคดม”
“พราหมณ์ การที่เมื่อมีอารัพภธาตุ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเพียรริเริ่มยังมี
ปรากฏอยู่ นี้แลคืออัตตการ นี้แลคือปรการของสัตว์ทั้งหลาย’
พราหมณ์ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร นิกกมธาตุมีอยู่หรือไม่ ฯลฯ ปรักกมธาตุ
มีอยู่หรือไม่ ฯลฯ ถามธาตุมีอยู่หรือไม่ ฯลฯ ธิติธาตุมีอยู่หรือไม่ ฯลฯ อุปักกมธาตุ๑
มีอยู่หรือไม่ ฯลฯ”
“มี ท่านพระโคดม”
“พราหมณ์ เมื่อมีอุปักกมธาตุ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความพยายามยังมีปรากฏอยู่
หรือไม่”
“ยังมีปรากฏ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ การที่เมื่อมีอุปักกมธาตุ สัตว์ทั้งหลายผู้มี
ความพยายามยังมีปรากฏอยู่ นี้แลคืออัตตการ นี้แลคือปรการของสัตว์ทั้งหลาย
พราหมณ์ เราไม่เคยได้เห็นไม่เคยได้ฟังคำของบุคคลผู้มีวาทะอย่างนี้ ผู้มีทิฏฐิ
อย่างนี้เลย ก็บุคคลเมื่อก้าวไปข้างหน้าเองได้ ถอยกลับเองได้ ไฉนจึงจักกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ไม่มีอัตตการ ไม่มีปรการ”
พราหมณ์กราบทูลว่า ‘ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ฯลฯ ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
อัตตการีสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ นิกกมธาตุ หมายถึงสภาวะที่พากเพียรออกจากความเกียจคร้าน
ปรักกมธาตุ หมายถึงสภาวะที่บากบั่นรุดไปข้างหน้าไม่หยุดหย่อน
ถามธาตุ หมายถึงสภาวะที่มีพลังเข้มแข็ง
ธิติธาตุ หมายถึงสภาวะที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
อุปักกมธาตุ หมายถึงสภาวะที่มีความพยายาม
ธาตุทั้งหมดนี้เป็นชื่อของ วิริยะ ที่มีอาการต่างกัน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๘/๑๑๘, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๓๘-
๔๑/๑๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๙. นิทานสูตร
๙. นิทานสูตร
ว่าด้วยเหตุให้เกิดกรรม
[๓๙] ภิกษุทั้งหลาย เหตุให้เกิดกรรม(ชั่ว) ๓ ประการนี้
เหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภะ(ความอยากได้)เป็นเหตุให้เกิดกรรม
๒. โทสะ(ความคิดประทุษร้าย)เป็นเหตุให้เกิดกรรม
๓. โมหะ(ความหลง)เป็นเหตุให้เกิดกรรม
ภิกษุทั้งหลาย อโลภะไม่เกิดขึ้นเพราะโลภะ แท้จริง โลภะเท่านั้นเกิดขึ้นเพราะ
โลภะ
อโทสะไม่เกิดขึ้นเพราะโทสะ แท้จริง โทสะเท่านั้นเกิดขึ้นเพราะโทสะ
อโมหะไม่เกิดขึ้นเพราะโมหะ แท้จริง โมหะเท่านั้นเกิดขึ้นเพราะโมหะ
เทวดา มนุษย์ หรือแม้สุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ปรากฏเพราะกรรมที่เกิดจาก
โลภะ เพราะกรรมที่เกิดจากโทสะ และเพราะกรรมที่เกิดจากโมหะ
แท้จริงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน แดนเปรต หรือแม้ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง
ย่อมปรากฏเพราะกรรมที่เกิดจากโลภะ เพราะกรรมที่เกิดจากโทสะ และเพราะกรรม
ที่เกิดจากโมหะ
ภิกษุทั้งหลาย เหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เหตุให้เกิดกรรม (ดี) ๓ ประการนี้
เหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อโลภะ(ความไม่อยากได้)เป็นเหตุให้เกิดกรรม
๒. อโทสะ(ความไม่คิดประทุษร้าย)เป็นเหตุให้เกิดกรรม
๓. อโมหะ(ความไม่หลง)เป็นเหตุให้เกิดกรรม
ภิกษุทั้งหลาย โลภะไม่เกิดขึ้นเพราะอโลภะ แท้จริง อโลภะเท่านั้นเกิดขึ้นเพราะ
อโลภะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๑๐. กิมมิลสูตร
โทสะไม่เกิดขึ้นเพราะอโทสะ แท้จริง อโทสะเท่านั้นเกิดขึ้นเพราะอโทสะ
โมหะไม่เกิดขึ้นเพราะอโมหะ แท้จริง อโมหะเท่านั้นเกิดขึ้นเพราะอโมหะ
นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน แดนเปรต หรือแม้ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ปรากฏ
เพราะกรรมที่เกิดจากอโลภะ เพราะกรรมที่เกิดจากอโทสะ และเพราะกรรมที่เกิด
จากอโมหะ
แท้จริง เทวดา มนุษย์ทั้งหลาย หรือแม้สุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏ
เพราะกรรมที่เกิดจากอโลภะ เพราะกรรมที่เกิดจากอโทสะ และเพราะกรรมที่เกิด
จากอโมหะ
ภิกษุทั้งหลาย เหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการนี้แล
นิทานสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. กิมมิลสูตร
ว่าด้วยท่านพระกิมมิละ
[๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าไผ่ เขตเมืองกิมมิลา ครั้งนั้น
ท่านพระกิมมิละเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ
เป็นเหตุปัจจัยให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กิมมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้
๑. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา
๒. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๑๐. กิมมิลสูตร
๓. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์
๔. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา
๕. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในความไม่ประมาท
๖. อยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในปฏิสันถาร
กิมมิละ นี้แล เป็นเหตุปัจจัยให้สัทธรรมไม่ดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคต
ปรินิพพานแล้ว”
ท่านกิมมิละทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุปัจจัยให้
พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กิมมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้
๑. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในศาสดา
๒. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในธรรม
๓. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในสงฆ์
๔. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในสิกขา
๕. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในความไม่ประมาท
๖. อยู่อย่างมีความเคารพ มีความยำเกรงในปฏิสันถาร
กิมมิละ นี้แล เป็นเหตุปัจจัยให้สัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคต
ปรินิพพานแล้ว”
กิมมิลสูตรที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๑๑. ทารุกขันธสูตร
๑๑. ทารุกขันธสูตร
ว่าด้วยกองฟืน
[๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ๑ เขตกรุงราชคฤห์
ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรลงจากภูเขา
คิชฌกูฏ พร้อมด้วยภิกษุจำนวนมาก ได้เห็นกองฟืนใหญ่ในที่แห่งหนึ่ง จึงถามภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นกองฟืนใหญ่โน้นหรือไม่”
ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “เห็น ผู้มีอายุ”
ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย
๑. ภิกษุผู้มีฤทธิ์ บรรลุความชำนาญทางใจ เมื่อต้องการ พึงน้อมจิตถึง
กองฟืนโน้นว่า ‘ดิน’ ก็ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะที่กองฟืนโน้นมี
ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน)อยู่ ซึ่งภิกษุผู้มีฤทธิ์ บรรลุความชำนาญทางใจ
จะพึงอาศัยน้อมจิตถึงกองฟืนโน้นว่า ‘ดิน’
๒. ภิกษุผู้มีฤทธิ์ บรรลุความชำนาญทางใจ เมื่อต้องการ พึงน้อมจิต
ถึงกองฟืนโน้นว่า ‘น้ำ’ ฯลฯ
๓. ภิกษุผู้มีฤทธิ์ บรรลุความชำนาญทางใจ เมื่อต้องการ พึงน้อมจิต
ถึงกองฟืนโน้นว่า ‘ไฟ’ ฯลฯ
๔. ภิกษุผู้มีฤทธิ์ บรรลุความชำนาญทางใจ เมื่อต้องการ พึงน้อมจิต
ถึงกองฟืนโน้นว่า ‘ลม’ ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ คิชฌกูฏ มี ๒ ความหมาย คือ (๑) มีความหมายว่า ยอดแร้ง เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงแร้ง
(๒) มีความหมายว่า ยอดคล้ายแร้ง เพราะมียอดคล้ายศีรษะของแร้ง (วิ.อ. ๑/๘๔/๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๑๒. นาคิตสูตร
๕. ภิกษุผู้มีฤทธิ์ บรรลุความชำนาญทางใจ เมื่อต้องการพึงน้อมจิตถึง
กองฟืนโน้นว่า ‘งาม’ ฯลฯ
๖. ภิกษุผู้มีฤทธิ์ บรรลุความชำนาญทางใจ เมื่อต้องการ พึงน้อมจิต
ถึงกองฟืนโน้นว่า ‘ไม่งาม’ ก็ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะที่
กองฟืนโน้นมีอสุภธาตุ๑อยู่ ซึ่งภิกษุผู้มีฤทธิ์ บรรลุความชำนาญ
ทางใจ จะพึงอาศัยน้อมจิตถึงกองฟืนโน้นว่า ‘ไม่งาม’
ทารุกขันธสูตรที่ ๑๑ จบ
๑๒. นาคิตสูตร๒
ว่าด้วยท่านพระนาคิตะ
[๔๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์แคว้นโกศลชื่ออิจฉานังคละ เล่ากันว่าคราวนั้น
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ราวป่าชื่ออิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ
อิจฉานังคละ
พวกพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละได้ทราบข่าวว่า “ท่านผู้เจริญ
ข่าวว่าพระสมณโคดมศากยบุตรทรงออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จถึงบ้าน
อิจฉานังคละ ประทับอยู่ที่ราวป่าชื่ออิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ
อิจฉานังคละ ท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์
เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ฯลฯ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก ฯลฯ การได้พบพระ
อรหันต์เช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”

เชิงอรรถ :
๑ อสุภธาตุ หมายถึงสภาวะที่ผุพัง มีสีไม่น่ายินดี (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๑/๑๑๙)
๒ ดู ปัญจกนิบาต ข้อ ๓๐ หน้า ๔๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๑๒. นาคิตสูตร
ครั้นคืนนั้นผ่านไป พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละ จึงพากันถือเอา
ของเคี้ยวของฉันเป็นอันมากเข้าไปถึงราวป่าชื่ออิจฉานังคละ ได้ยืนชุมนุมกันส่งเสียง
อื้ออึงที่ซุ้มประตูด้านนอก
สมัยนั้นแล ท่านพระนาคิตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค พระผู้มี
พระภาคได้รับสั่งเรียกท่านพระนาคิตะมาตรัสถามว่า “นาคิตะ คนพวกไหนส่งเสียง
อื้ออึงอยู่นั้น คล้ายพวกชาวประมงแย่งปลากัน”
ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์และคหบดี
ชาวบ้านอิจฉานังคละเหล่านั้นพากันถือเอาของเคี้ยวของฉันเป็นอันมากมายืนชุมนุม
กันอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอกเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแลไม่ได้
ตามความปรารถนา ไม่ได้โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบากซึ่งเนกขัมมสุข ปวิเวกสุข
อุปสมสุข สัมโพธสุขที่เราได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้
ผู้นั้นชื่อว่ายินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอนหลับ และสุขที่อิงอาศัยลาภสักการะ
และการสรรเสริญ”
ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาค
ผู้สุคตจงทรงรับ บัดนี้เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคจะทรงรับ พระองค์จักเสด็จไป
ทางใด ๆ พราหมณ์ คหบดีชาวนิคม และชาวชนบทก็จักหลั่งไหลไปทางนั้น ๆ เปรียบ
เหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงมา น้ำย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
พระผู้มีพระภาคทรงมีศีลและปัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแลไม่ได้
ตามความปรารถนา ไม่ได้โดยไม่ยาก ไม่ได้โดยไม่ลำบากซึ่งเนกขัมมสุข ปวิเวกสุข
อุปสมสุข สัมโพธสุขที่เราได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้
ผู้นั้นชื่อว่ายินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอนหลับ และสุขที่อิงอาศัยลาภสักการะ
และการสรรเสริญ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค ๑๒. นาคิตสูตร
นาคิตะ
๑. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ในเสนาสนะใกล้หมู่บ้าน มีสมาธิ
นั่งอยู่ เรามีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ คนวัดจักรบกวนท่านผู้นี้
หรือสมณุทเทส๑จักทำให้ท่านเคลื่อนจากสมาธิ’ เพราะเหตุนั้น เรา
จึงไม่ยินดีการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านของภิกษุนั้น
๒. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร นั่งโงกง่วงอยู่ในป่า เรา
มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ ท่านผู้นี้จักบรรเทาความลำบากคือการ
หลับนี้ แล้วมนสิการความกำหนดหมายว่าป่าเป็นเอกัคคตารมณ์’
เพราะเหตุนั้น เราจึงยินดีการอยู่ในป่าของภิกษุนั้น
๓. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ไม่มีสมาธินั่งอยู่ในป่า
เรามีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ ท่านผู้นี้จักตั้งจิตที่ไม่เป็นสมาธิ
ให้เป็นสมาธิ หรือจักตามรักษาจิตที่เป็นสมาธิไว้’ เพราะเหตุนั้น
เราจึงยินดีการอยู่ในป่าของภิกษุนั้น
๔. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร มีสมาธินั่งอยู่ในป่า
เรามีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ ท่านผู้นี้จักเปลื้องจิตที่ยังไม่หลุดพ้น
ให้หลุดพ้น๒ หรือว่าจักตามรักษาจิตที่หลุดพ้นแล้วไว้ได้’ เพราะ
เหตุนั้น เราจึงยินดีการอยู่ในป่าของภิกษุนั้น
๕. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน ได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร เธอพอใจลาภสักการะและ
การสรรเสริญนั้น ละทิ้งการหลีกเร้น ละทิ้งเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ หรือเข้ามารวมกันอยู่ยังหมู่บ้าน ตำบล และ

เชิงอรรถ :
๑ สมณุทเทส หมายถึงสามเณร (วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๓๐/๕๔๐)
๒ หมายถึงให้หลุดพ้นด้วยวิมุตติ ๕ ประการ มีตทังควิมุตติ เป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๒/๑๑๙, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
๓/๔๒/๑๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. เทวตาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เมืองหลวง’ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่ยินดีการอยู่ในเสนาสนะใกล้หมู่
บ้านของภิกษุนั้น
๖. เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร เธอสลัดลาภสักการะ
และการสรรเสริญนั้น ไม่ละทิ้งการหลีกเร้น ไม่ละทิ้งเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ’ เพราะเหตุนั้น เราจึงยินดีการ
อยู่ในป่าของภิกษุนั้น
อนึ่ง สมัยใด เราเดินทางไกล ไม่เห็นใครข้างหน้าหรือข้างหลัง สมัยนั้น เราย่อม
มีความผาสุก โดยที่สุด แม้ด้วยการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ”
นาคิตสูตรที่ ๑๒ จบ
เทวตาวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เสขสูตร ๒. ปฐมอปริหานสูตร
๓. ทุติยอปริหานสูตร ๔. มหาโมคคัลลานสูตร
๕. วิชชาภาคิยสูตร ๖. วิวาทมูลสูตร
๗. ทานสูตร ๘. อัตตการีสูตร
๙. นิทานสูตร ๑๐. กิมมิลสูตร
๑๑. ทารุกขันธสูตร ๑๒. นาคิตสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑. นาคสูตร
๕. ธัมมิกวรรค
หมวดว่าด้วยพระธัมมิกะ
๑. นาคสูตร
ว่าด้วยนาค๑
[๔๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง
อันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ครั้นเสด็จกลับจาก
บิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์
มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจักเข้าไปยังปราสาทมิคารมาตา ณ บุพพารามวิหาร
เพื่อพักกลางวัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ได้เสด็จเข้าไปยังปราสาท
ของมิคารมาตา ณ บุพพารามวิหาร ต่อมาในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก
จากที่หลีกเร้น ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจัก
เข้าไปยังท่าน้ำปุพพโกฏฐกะเพื่อสรงน้ำ” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ ได้เสด็จเข้าไปยังท่าน้ำ
ปุพพโกฏฐกะเพื่อสรงน้ำ ครั้นแล้ว เสด็จขึ้นมามีจีวรผืนเดียวผึ่งพระวรกายอยู่
สมัยนั้น พระเศวตกุญชร๒ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ขึ้นจากท่าน้ำปุพพโกฏฐกะ
เพราะเสียงดนตรีใหญ่ที่เขาตีประโคม เหล่าชนเห็นช้างนั้นแล้วจึงกล่าวชมอย่างนี้ว่า
“นาคของพระราชาช่างงามยิ่งนัก นาคของพระราชาช่างน่าดู นาคของพระราชา
ช่างน่าเลื่อมใส นาคของพระราชามีอวัยวะสมบูรณ์”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ‘นาค’ มีความหมาย ๓ นัย คือ (๑) หมายถึงผู้ไม่ทำความชั่วทางกาย วาจา และใจที่เป็นเหตุแห่ง
ความเศร้าหมองมีทุกข์เป็นวิบาก (๒) หมายถึงผู้ไม่ถึงอคติ ๔ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจราคะ โทสะ โมหะ
มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจ วิจิกิจฉา และอนุสัย (๓) หมายถึงไม่หวนกลับมาหากิเลสที่ละได้แล้ว (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๓/
๑๒๑) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๐/๒๓๘, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๗/๑๔๕-๑๔๖,๑๐๒/๓๔๘,๑๓๙/๔๔๘
๒ หมายถึงช้างเผือก แปลจากคำว่า “นาโค” ในจำนวนศัพท์ที่เป็นชื่อของช้าง ๑๐ ศัพท์ คือ กุญฺชโร วารโณ
หตฺถี มาตงฺโค ทฺวิรโท คโช นาโค ทฺวิโป อิโภ ทนฺตี (อภิธา.คาถาที่ ๓๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑. นาคสูตร
เมื่อมหาชนกล่าวชมอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายี๑ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนทั้งหลายเห็นช้างเชือกใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์เท่านั้น
หรือ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาค น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ นาค น่าอัศจรรย์จริง’
หรือว่าเห็นสัตว์ชนิดอื่นที่ใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาค
น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ นาค น่าอัศจรรย์จริง’
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุทายี คนทั้งหลายเห็นช้างเชือกใหญ่ สูง
มีอวัยวะสมบูรณ์ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาค น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ นาค
น่าอัศจรรย์จริง’ บ้าง เห็นม้าตัวใหญ่ สูง ฯลฯ เห็นโคตัวใหญ่ สูง ฯลฯ เห็นงูตัวใหญ่
ยาว ฯลฯ เห็นต้นไม้ใหญ่ สูง ฯลฯ เห็นมนุษย์ผู้มีร่างกายใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์
จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาค น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ นาค น่าอัศจรรย์จริง’ บ้าง
อุทายี แต่เราเรียกบุคคลผู้ไม่ทำความชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ ในโลกนี้
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดา
และมนุษย์นั้นว่า ‘นาค”
ท่านพระอุทายีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘อุทายี เราเรียกบุคคลผู้ไม่ทำความชั่ว
ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่
สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ว่า ‘นาค”
ท่านพระอุทายีได้กราบทูลต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
ขออนุโมทนาภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วนี้ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
ข้าพระองค์ได้สดับมาจากพระองค์ผู้เป็นพระอรหันต์ว่า
มนุษย์ทั้งหลายนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นมนุษย์
ทรงฝึกพระองค์แล้ว๒ มีพระทัยตั้งมั่นแล้ว
ผู้ทรงดำเนินไปในทางประเสริฐ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงพระกาฬุทายีเถระผู้บรรลุปฏิสัมภิทา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๓/๑๒๑)
๒ ทรงฝึกพระองค์แล้ว หมายถึงทรงฝึกฝนพระองค์ในฐานะ ๖ ประการ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น
ทางกาย ทางใจ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๓/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๔๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑. นาคสูตร
ผู้ทรงยินดีในความสงบแห่งจิต๑
ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง๒
แม้เทวดาทั้งหลายก็นอบน้อมพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ทรงก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวงได้
ทรงบรรลุนิพพานซึ่งเป็นทางออกจากป่าคือกิเลส
ผู้ทรงยินดีในเนกขัมมะ๓
ผู้หลุดพ้นแล้ว เหมือนทองคำที่พ้นจากหิน
พระองค์ผู้ทรงพระนามว่านาค รุ่งเรืองล่วงสรรพสัตว์
เหมือนภูเขาหิมพานต์ที่สูงกว่าภูเขาลูกอื่น ๆ
พระองค์ผู้ทรงพระนามว่านาคอันเป็นพระนามจริง
ที่ยอดเยี่ยมกว่าเทวดาผู้มีนามว่านาคทุกจำพวก
ข้าพระองค์จักประกาศพระองค์ผู้ทรงพระนามว่านาค
เพราะพระองค์ไม่ทรงทำความชั่ว
พระองค์ผู้ทรงพระนามว่านาค
ทรงมีโสรัจจะและอวิหิงสาเป็นเท้าหน้าทั้งสอง
ทรงมีตบะและพรหมจรรย์ เป็นเท้าหลังทั้งสอง
ทรงเป็นดุจช้างตัวประเสริฐ
ทรงมีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาขาว
มีสติเป็นคอ มีปัญญาเป็นเศียร
มีการสอดส่องธรรมเป็นปลายงวง
มีธรรมเครื่องเผากิเลสเป็นท้อง มีวิเวกเป็นหาง

เชิงอรรถ :
๑ ยินดีในความสงบแห่งจิต หมายถึงยินดีในความสงบแห่งจิตที่ระงับนิวรณ์ ๕ ได้ด้วยปฐมฌาน ระงับ
วิตกวิจารได้ด้วยทุติยฌาน ระงับปีติได้ด้วยตติยฌาน ระงับสุขและทุกข์ได้ด้วยจตุตถฌาน (องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๔๓/๑๒๒)
๒ ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง หมายถึงรู้ยิ่ง กำหนดรู้ ละ เจริญ ทำให้แจ้ง และเข้าถึงธรรมทั้งปวง คือ ขันธ์ ๕
อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๓/๑๒๒)
๓ เนกขัมมะ หมายถึงบรรพชา สมาบัติ และอริยมรรค เพราะเป็นเครื่องออกจากกาม ๒ ประเภท คือกิเลสกาม
และวัตถุกาม (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๓/๑๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑. นาคสูตร
พระองค์ผู้ทรงมีฌาน ทรงยินดีลมอัสสาสะปัสสาสะ๑
ทรงมีจิตตั้งมั่นดีภายใน
ดำเนินไปก็ทรงมีจิตตั้งมั่น ประทับยืนก็ทรงมีจิตตั้งมั่น
บรรทมก็ทรงมีจิตตั้งมั่น ประทับนั่งก็ทรงมีจิตตั้งมั่น
ทรงสำรวมแล้วในทวารทั้งปวง
นี้เป็นสมบัติของพระองค์ผู้ทรงพระนามว่านาค
พระองค์ผู้ทรงพระนามว่านาค
เสวยแต่สิ่งที่ไม่มีโทษ ไม่เสวยสิ่งที่มีโทษ
ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มแล้ว
ทรงเว้นการสะสม
ทรงตัดสังโยชน์เครื่องผูกพันน้อยใหญ่ทั้งปวงได้
จะเสด็จไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไม่มีความห่วงใยเสด็จไปในที่นั้น ๆ
ดอกบัวขาว มีกลิ่นหอม
น่ารื่นรมย์ใจ เกิดในน้ำ
เจริญในน้ำ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ ฉันใด
พระองค์ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ทรงอุบัติดีแล้วในโลก เป็นพระพุทธเจ้าในโลก
แต่ไม่ติดอยู่กับโลก
เหมือนดอกบัวหลวงไม่เปียกน้ำ ฉะนั้น
ไฟกองใหญ่ลุกโชนโชติช่วง
ย่อมดับเพราะหมดเชื้อ ฉันใด
พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อสังขารทั้งหลายสงบระงับไปแล้ว
ชาวโลกก็เรียกกันว่าทรงนิพพานแล้ว
ข้ออุปมาที่ให้รู้เนื้อความชัดแจ้งนี้

เชิงอรรถ :
๑ ลมอัสสาสะปัสสาสะ ในที่นี้หมายถึงผลสมาบัติ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๓/๑๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๒. มิคสาลาสูตร
อันวิญญูชนทั้งหลายแสดงไว้แล้ว
พระอรหันต์ทั้งหลายผู้เป็นมหานาค
จักรู้แจ้งพระองค์ผู้ทรงพระนามว่านาค
ที่ท่านผู้เป็นนาคแสดงไว้แล้ว
พระองค์ผู้ทรงพระนามว่านาค
ทรงปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ
ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ
เมื่อทรงละสรีระ จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน”
นาคสูตรที่ ๑ จบ

๒. มิคสาลาสูตร๑
ว่าด้วยอุบาสิกาชื่อมิคสาลา
[๔๔] ครั้งนั้นในเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร๒
แล้วเข้าไปยังที่อยู่ของมิคสาลาอุบาสิกา นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ลำดับนั้นแล
มิคสาลาอุบาสิกาได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียน
ถามท่านดังนี้ว่า
“ท่านอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ‘คน ๒ คน คือ คนหนึ่ง
ประพฤติพรหมจรรย์ อีกคนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้มีคติเสมอเหมือนกัน
ในสัมปรายภพ’ จะพึงรู้ได้อย่างไร ท่านผู้เจริญ บิดาของดิฉันชื่อว่าปุราณะ เป็นผู้
ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล งดเว้นจากเมถุน๓ซึ่งเป็นธรรมของชาวบ้าน

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๗๕/๑๖๗
๒ คำว่า ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้ พระอานนท์มิได้นุ่งสบง มิใช่ว่าพระอานนท์
ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยกายส่วนบน แต่คำว่า ครองอันตรวาสก หมายถึงท่านผลัดเปลี่ยนสบงหรือ
ขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ คำว่า ถือบาตรและจีวร หมายถึงถือบาตรด้วยมือถือจีวรด้วยกาย คือห่มจีวร
แล้วอุ้มบาตรนั่นเอง (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, ที.ม.อ. ๑๕๓/๑๔๓, ม.มู.อ. ๑/๖๓/๑๖๓,ขุ.อุ.อ. ๖/๖๕)
๓ เมถุน หมายถึงอสัทธรรมซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาทของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด
เป็นกิจที่ต้องทำในที่ลับ ต้องทำกันสองต่อสอง ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๕๕/๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๒. มิคสาลาสูตร
ท่านถึงแก่กรรมแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่าเป็นสกทาคามีบุคคลเกิดใน
หมู่เทพชั้นดุสิต
เพื่อนรักของบิดาดิฉัน ชื่อว่าอิสิทัตตะ ถึงไม่ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ถือ
สทารสันโดษ(ยินดีด้วยภรรยาของตน) แม้เขาถึงแก่กรรมแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรง
พยากรณ์ว่าเป็นสกทาคามีบุคคลเกิดในหมู่เทพชั้นดุสิต ท่านอานนท์ ธรรมนี้ที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ‘คน ๒ คน คือ คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ อีกคน
หนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้มีคติเสมอเหมือนกันในสัมปรายภพ’ จะพึงรู้ได้
อย่างไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “น้องหญิง ข้อนี้พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ไว้
แล้วอย่างนี้เหมือนกัน”
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์รับบิณฑบาต ณ ที่อยู่ของมิคสาลาอุบาสิกาแล้ว
ลุกจากอาสนะหลีกไป ครั้นในเวลาหลังภัตตาหาร ท่านพระอานนท์กลับจาก
บิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์ครอง
อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังที่อยู่ของมิคสาลาอุบาสิกา นั่งบนอาสนะที่
ปูลาดไว้ ลำดับนั้นแล นางได้เข้าไปหาข้าพระองค์ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ถามข้าพระองค์ว่า
‘ท่านอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ‘คน ๒ คน คือ คนหนึ่ง
ประพฤติพรหมจรรย์ อีกคนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้มีคติเสมอเหมือนกัน
ในสัมปรายภพ’ จะพึงรู้ได้อย่างไร ท่านผู้เจริญ บิดาของดิฉันชื่อปุราณะ เป็นผู้
ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล งดเว้นจากเมถุนซึ่งเป็นธรรมของชาวบ้าน
ท่านถึงแก่กรรมแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่าเป็นสกทาคามีบุคคลเกิดใน
หมู่เทพชั้นดุสิต
เพื่อนรักของบิดาดิฉัน ชื่อว่าอิสิทัตตะ ถึงไม่ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ถือ
สทารสันโดษ แม้เขาถึงแก่กรรมแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ว่าเป็น
สกทาคามีบุคคลเกิดในหมู่เทพชั้นดุสิต


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๒. มิคสาลาสูตร
ท่านอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ‘คน ๒ คน คือคนหนึ่ง
ประพฤติพรหมจรรย์ อีกคนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้มีคติเสมอ
เหมือนกันในสัมปรายภพ’ จะพึงรู้ได้อย่างไร’ เมื่อมิคสาลาอุบาสิกากล่าวอย่างนี้แล้ว
ข้าพระองค์จึงตอบว่า ‘น้องหญิง ข้อนี้พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ไว้แล้วอย่างนี้
เหมือนกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ในเรื่องญาณเป็นเครื่องกำหนดรู้อินทรีย์
แก่กล้าและอินทรีย์อ่อนของบุคคล ใครกันเล่าคือ มิคสาลาอุบาสิกาผู้เขลา ไม่ฉลาด
ไม่หลักแหลม มีปัญญาทึบ และใครกันเล่า คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีวิสัยที่ไม่มี
อะไรขัดขวางได้๑
อานนท์ บุคคล ๖ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้งดเว้นจากบาป มีการอยู่ร่วมเป็นสุข
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายย่อมยินดียิ่งด้วยการอยู่ร่วมกัน บุคคลนั้น
ไม่ทำกิจด้วยการฟัง ไม่ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต และไม่ได้แทง
ตลอดดีด้วยทิฏฐิ ไม่ได้วิมุตติตามเวลาอันควร๒ หลังจากตายแล้ว
เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว
ไม่ถึงความเจริญ
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้งดเว้นจากบาป มีการอยู่ร่วมเป็นสุข
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายย่อมยินดียิ่งด้วยการอยู่ร่วมกัน บุคคลนั้น
ทำกิจด้วยการฟัง ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
และได้วิมุตติตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้วเขาย่อมไปทางเจริญ
ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

เชิงอรรถ :
๑ เนื้อความพระดำรัสนี้ พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์จะแสดงให้เห็นว่าการที่จะเปรียบเทียบตัดสินหรือวัด
คุณสมบัติของบุคคลด้านการกำหนดรู้อินทรีย์แก่กล้าหรืออ่อนนั้น มิใช่วิสัยของมิคสาลาอุบาสิกา หรือ
สามัญชนผู้ปราศจากญาณทั่วไป แต่เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีญาณวิสัยที่ไม่มีอะไรขัดขวางได้เท่านั้น
(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๔/๑๒๕)
๒ ไม่ได้วิมุตติตามเวลาอันควร หมายถึงไม่ได้ปีติและปราโมทย์ที่เกิดจากการฟังธรรมตามกาลอันควร
(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๔/๑๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๒. มิคสาลาสูตร
บุคคลผู้ถือประมาณ๑ย่อมถือประมาณข้อนั้นว่า ‘ธรรมแม้ของบุคคลนี้ก็คือ
ธรรมของอีกคนหนึ่งนั่นแล บรรดาบุคคล ๒ คนนั้น เพราะเหตุไร คนหนึ่งจึงเลว
คนหนึ่งจึงดี’ แท้จริง การถือประมาณของผู้ถือประมาณเหล่านั้น เป็นไปเพื่อมิใช่
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน
บรรดาบุคคล ๒ คนนั้น บุคคลใดเป็นผู้งดเว้นจากบาป มีการอยู่ร่วมเป็นสุข
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายย่อมยินดียิ่งด้วยการอยู่ร่วมกัน บุคคลนั้นทำกิจด้วยการฟัง
ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และได้วิมุตติตามเวลาอันควร
บุคคลนี้ดีกว่า และประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้นโน้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
บุคคลนี้หยั่งลงสู่อริยภูมิ ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้นอกจากตถาคต เพราะเหตุนั้นแล
เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ชอบถือประมาณในบุคคล และอย่าถือประมาณในบุคคล
เพราะบุคคลผู้ถือประมาณในบุคคล ย่อมทำลายคุณวิเศษของตน ส่วนเราหรือผู้
เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธและถือตัว และบางครั้งบางคราว
โลภธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่เขา บุคคลนั้นไม่ทำกิจด้วยการฟัง ไม่ทำ
กิจด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และไม่ได้วิมุตติ
ตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้วเขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไป
ทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธและถือตัว และบางครั้งบางคราว
โลภธรรมย่อมเกิดขึ้นแก่เขา บุคคลนั้นทำกิจด้วยการฟัง ทำกิจ
ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิและได้วิมุตติตามเวลา
อันควร หลังจากตายแล้วเขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม
ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม
บุคคลผู้ถือประมาณ ย่อมถือประมาณในข้อนั้นว่า ฯลฯ ส่วนเราหรือผู้เหมือน
เราพึงถือประมาณในบุคคลได้

เชิงอรรถ :
๑ ถือประมาณ ในที่นี้หมายถึงเปรียบเทียบตัดสินหรือจัดคุณสมบัติ หรือคุณธรรมด้านเดียวกันระหว่างบุคคล
หนึ่งกับอีกบุคคลหนึ่งว่า ใครมีคุณน้อย ใครมีคุณมากที่สุด (เทียบ องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๔/๑๒๕, องฺ.ทสก.อ.
๓/๗๕/๓๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๒. มิคสาลาสูตร
๕. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธและถือตัว และบางครั้งบางคราว
วจีสังขาร๑ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา บุคคลนั้นไม่ทำกิจด้วยการฟัง ไม่ทำ
กิจด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และไม่ได้วิมุตติ
ตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้วเขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ
ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ
๖. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธและถือตัว และบางครั้งบางคราว
วจีสังขารย่อมเกิดขึ้นแก่เขา บุคคลนั้นทำกิจด้วยการฟัง ทำกิจด้วย
ความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และได้วิมุตติตามเวลา
อันควร หลังจากตายแล้วเขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม
ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม
อานนท์ บุคคลผู้ถือประมาณย่อมถือประมาณในข้อนั้นว่า ‘ธรรมแม้ของบุคคล
นี้ก็คือธรรมของอีกคนหนึ่งนั่นแล บรรดาบุคคล ๒ คนนั้น เพราะเหตุไร คนหนึ่ง
จึงเลว คนหนึ่งจึงดี’ แท้จริงการถือประมาณของผู้ถือประมาณเหล่านั้น เป็นไปเพื่อ
มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน
บรรดาบุคคล ๒ คนนั้น บุคคลใดเป็นผู้มักโกรธและถือตัว บางครั้งบางคราว
วจีสังขารย่อมเกิดขึ้นแก่เขา บุคคลนั้นทำกิจด้วยการฟัง ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต
แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และได้วิมุตติตามเวลาอันควร บุคคลนี้ดีกว่าและประณีตกว่า
บุคคลที่กล่าวข้างต้นโน้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนี้หยั่งลงสู่อริยภูมิ ใครเล่า
จะพึงรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ชอบ
ถือประมาณในบุคคล และอย่าถือประมาณในบุคคล เพราะบุคคลผู้ถือประมาณใน
บุคคล ย่อมทำลายคุณวิเศษของตน ส่วนเราหรือผู้เหมือนเราพึงถือประมาณใน
บุคคลได้
ในเรื่องญาณเป็นเครื่องกำหนดรู้อินทรีย์แก่กล้า และอินทรีย์อ่อนของบุคคล
ใครกันเล่า คือมิคสาลาอุบาสิกาผู้เขลา ไม่ฉลาด ไม่หลักแหลม มีปัญญาทึบ และ
ใครกันเล่า คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีวิสัยที่ไม่มีอะไรขัดขวางได้

เชิงอรรถ :
๑ วจีสังขาร หมายถึงการสนทนาปราศรัย (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๔/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๓. อิณสูตร
อานนท์ บุคคล ๖ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
บุรุษชื่อว่าปุราณะเป็นผู้ประกอบด้วยศีลเช่นใด บุรุษชื่อว่าอิสิทัตตะก็เป็นผู้
ประกอบด้วยศีลเช่นนั้น บุรุษชื่อว่าปุราณะจะได้รู้แม้คติของบุรุษชื่อว่าอิสิทัตตะ
ในโลกนี้ ก็หามิได้ บุรุษชื่อว่าอิสิทัตตะเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นใด บุรุษชื่อว่า
ปุราณะก็เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นนั้น บุรุษชื่อว่าอิสิทัตตะจะได้รู้แม้คติของบุรุษ
ชื่อว่าปุราณะในโลกนี้ก็หามิได้
อานนท์ บุคคล ๒ คนนี้แล เป็นผู้ต่ำกว่ากันด้วยองค์คุณคนละอย่าง อย่างนี้แล
มิคสาลาสูตรที่ ๒ จบ
๓. อิณสูตร
ว่าด้วยความเป็นหนี้
[๔๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความยากจนเป็นทุกข์ของ
กามโภคีบุคคล๑ในโลก”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้หนี้
แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ครั้นกู้หนี้แล้ว ย่อมใช้ดอกเบี้ย แม้การใช้
ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ครั้นใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ให้ดอกเบี้ยตาม
กำหนดเวลา พวกเจ้าหนี้ย่อมตามทวงเขา แม้การตามทวงก็เป็นทุกข์ของกามโภคี-
บุคคลในโลก”

เชิงอรรถ :
๑ กามโภคีบุคคล หมายถึงผู้บริโภคกามคุณ คือ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕/๒๙๓, องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๔๕/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๓. อิณสูตร
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ เมื่อถูกเจ้าหนี้ทวง ยังไม่ให้ พวกเจ้าหนี้
ย่อมติดตาม แม้การถูกติดตามก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ติดตามทัน ยังไม่ทันให้
พวกเจ้าหนี้ย่อมจองจำเขา แม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย แม้ความยากจนก็เป็นทุกข์ของ
กามโภคีบุคคลในโลก แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก แม้การใช้
ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ของกามโภคี-
บุคคลในโลก แม้การถูกติตตามก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก แม้การถูกจอง
จำก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก ด้วยประการฉะนี้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคน ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม
ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญา
ในกุศลธรรม บุคคลนี้เราก็เรียกว่า เป็นคนจนเข็ญใจยากไร้ในอริยวินัย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนั้นนั่นแลผู้เป็นคนจนเข็ญใจยากไร้ เมื่อไม่มีศรัทธาใน
กุศลธรรม เมื่อไม่มีหิริในกุศลธรรม เมื่อไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม เมื่อไม่มีวิริยะ
ในกุศลธรรม เมื่อไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติกายทุจริต ประพฤติ
วจีทุจริต ประพฤติมโนทุจริต
เรากล่าวว่าการประพฤติทุจริตเช่นนี้ของเขา เป็นการกู้หนี้
เพราะการปกปิดกายทุจริตเป็นเหตุ เขาจึงตั้งความปรารถนาอันชั่วว่า ‘ขอชน
เหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’ ดำริว่า ‘ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’ พูดว่า ‘ขอชนเหล่าอื่น
อย่ารู้เราเลย’ พยายามด้วยกายว่า ‘ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’
เพราะการปกปิดวจีทุจริตเป็นเหตุ เขาจึงตั้งความปรารถนาอันชั่ว ฯลฯ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๓. อิณสูตร
เพราะการปกปิดมโนทุจริตเป็นเหตุ เขาจึงตั้งความปรารถนาชั่วว่า ‘ขอชนเหล่า
อื่นอย่ารู้เราเลย’ ดำริว่า “ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’ พูดว่า ‘ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้
เราเลย’ พยายามด้วยกายว่า ‘ขอชนเหล่าอื่นอย่ารู้เราเลย’
เรากล่าวว่าการปกปิดทุจริตเป็นเหตุนั้น เป็นการใช้ดอกเบี้ย
เพื่อนพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รักได้กล่าวกับบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุนี้เป็นผู้
ทำอย่างนี้ เป็นผู้ประพฤติอย่างนี้’
เรากล่าวว่าการถูกว่ากล่าวเช่นนี้ของเขา เป็นการทวงหนี้
บาปอกุศลวิตกที่ประกอบด้วยวิปปฏิสาร(ความร้อนใจ) ย่อมครอบงำบุคคล
นั้นผู้ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่เรือนว่าง
เรากล่าวว่าการถูกบาปอกุศลวิตกครอบงำเช่นนี้ของเขา เป็นการถูกติดตาม
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนั้นนั่นแล เป็นคนจนเข็ญใจยากไร้ ครั้นประพฤติ
กายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต และประพฤติมโนทุจริต หลังจากตายแล้วย่อมถูก
จองจำในเรือนจำคือนรก หรือในเรือนจำคือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นเรือนจำอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ร้ายกาจอย่างนี้ เป็นทุกข์
อย่างนี้ และทำอันตรายแก่การบรรลุนิพพานซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
อย่างนี้ เหมือนเรือนจำคือนรก หรือเรือนจำคือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนี้เลย
ความยากจน และการกู้หนี้
เราเรียกว่าเป็นทุกข์ในโลก
คนจนเมื่อกู้หนี้ใช้สอยอยู่ ย่อมเดือดร้อน
เพราะการไม่ใช้คืนนั้น พวกเจ้าหนี้จึงติดตามเขา
เขาย่อมเข้าถึงการถูกจองจำ
การถูกจองจำนั้นแลเป็นทุกข์ของหมู่ชนผู้ปรารถนากาม
ในอริยวินัย ก็เช่นเดียวกัน
ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๓. อิณสูตร
ไม่มีโอตตัปปะ พอกพูนบาปกรรม
ทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
ปรารถนาว่า ‘ชนทั้งหลายอย่ารู้จักเรา’
ผู้นั้นย่อมดิ้นรนพอกพูนบาปกรรม
ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในที่นั้นๆ บ่อยๆ
เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม
รู้การทำชั่วของตนอยู่ เป็นคนจน
กู้หนี้ใช้สอยอยู่ ย่อมเดือดร้อน
ลำดับนั้น ความดำริเกิดแต่วิปปฏิสารก่อทุกข์ทางใจ
ย่อมติตตามเขาทั้งในบ้านหรือในป่า
เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม รู้การทำชั่วของตนอยู่
ย่อมไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานหรือถูกจองจำในนรก
ส่วนนักปราชญ์ผู้ทำจิตให้เลื่อมใส
ให้ทานด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายที่ได้มาโดยชอบธรรม
ย่อมพ้นจากการจองจำที่เป็นทุกข์นั้น
เขาเป็นผู้ถือชัยชนะในประโยชน์ทั้งสอง
ของผู้มีศรัทธาอยู่ครองเรือน
คือ ประโยชน์เกื้อกูลในภพนี้ และสุขในภพหน้า
บุญคือการบริจาคของคฤหัสถ์นั้น ย่อมเพิ่มพูน
อนึ่ง ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นในอริยวินัย
มีจิตประกอบด้วยหิริ มีโอตตัปปะ
มีปัญญา และสำรวมในศีล
เราเรียกผู้นั้นแลว่า ‘ผู้มีชีวิตเป็นสุขในอริยวินัย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๓. อิณสูตร
เขาได้สุขที่ไม่อิงอามิส๑
อุเบกขา๒ตั้งมั่น ละนิวรณ์ ๕ ประการได้
ปรารภความเพียรเป็นนิตย์
บรรลุฌานทั้งหลายมีเอกัคคตาจิตปรากฏ
มีปัญญารักษาตน มีสติ รู้ชัดเหตุนั้นตามความเป็นจริง
ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง๓
จิตย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะไม่ถือมั่นโดยสิ้นเชิง
หากว่าเขามีจิตหลุดพ้นโดยชอบ
เป็นผู้คงที่ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งภวสังโยชน์
มีญาณหยั่งรู้ว่า ‘วิมุตติของเราไม่กำเริบ๔’
ญาณนั่นแลป็นญาณชั้นเยี่ยม
ญาณนั่นแลเป็นสุขอันยอดเยี่ยม
ญาณนั้นไม่มีความโศก ปราศจากธุลี
มีความเกษมสูงสุดกว่าความไม่มีหนี้
อิณสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สุขที่ไม่อิงอามิส หมายถึงสุขในปฐมฌาน ทุติยฌาน และตติยฌาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๕/๑๒๗)
๒ อุเบกขา ในที่นี้หมายถึงอุเบกขาในจตุตถฌาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๕/๑๒๗)
๓ ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง หมายถึงพระนิพพาน สังโยชน์ทั้งปวง ได้แก่ (๑) กามราคะ
(ความกำหนัดในกาม) (๒) ปฏิฆะ(ความขัดใจ) (๓) มานะ(ความถือตัว) (๔) ทิฏฐิ(ความเห็นผิด) (๕) วิจิกิจฉา
(ความลังเลสงสัย) (๖) สีลัพพตปรามาส(ความถือมั่นศีลพรต) (๗) ภวราคะ(ความติดใจปรารถนาในภพ)
(๘) อิสสา(ความริษยา) (๙) มัจฉริยะ(ความตระหนี่) (๑๐) อวิชชา(ความไม่รู้แจ้ง) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๕/๑๒๗,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๔๕-๔๘/๑๔๑)
๔ หมายถึงมีปัจจเวกขณญาณหยั่งรู้ว่ามัคควิมุตติ หรือผลวิมุตติไม่กำเริบ เพราะไม่มีกิเลสที่ก่อความกำเริบ
คือราคะเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๕/๑๒๗,องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๔๕-๔๘/๑๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๔. มหาจุนทสูตร
๔. มหาจุนทสูตร
ว่าด้วยพระมหาจุนทะ๑
[๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาจุนทะอยู่ ณ นิคมชื่อว่าสัญชาติ ในแคว้นเจตี สมัย
นั้นแล ท่านพระมหาจุนทะเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุ
เหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหาจุนทะจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ในพระธรรมวินัยนี้ พวกภิกษุผู้ประกอบธรรม๒รุกรานพวก
ภิกษุผู้เพ่งฌานว่า “ภิกษุเหล่านี้ เพ่ง พินิจ ยึด หน่วงฌานอยู่ว่า ‘พวกเราเป็น
ผู้เพ่งฌาน พวกเราเป็นผู้เพ่งฌาน’ ภิกษุเหล่านี้เพ่งฌานทำไม เพ่งฌานเพื่ออะไร
เพ่งฌานเพราะเหตุไร”
พวกภิกษุผู้ประกอบธรรม ไม่เลื่อมใสในพวกภิกษุผู้เพ่งฌานนั้น และพวกภิกษุ
ผู้เพ่งฌานก็ไม่เลื่อมใสในพวกภิกษุผู้ประกอบธรรมนั้น ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่
คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกภิกษุผู้เพ่งฌานรุกรานพวกภิกษุผู้ประกอบธรรมว่า
“ภิกษุเหล่านี้คิดว่า ‘พวกเราเป็นผู้ประกอบธรรม พวกเราเป็นผู้ประกอบธรรม’ เป็น
ผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิต
ไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ ภิกษุเหล่านี้ประกอบธรรมทำไม
ประกอบธรรมเพื่ออะไร ประกอบธรรมเพราะเหตุไร”
พวกภิกษุผู้เพ่งฌานไม่เลื่อมใสในพวกภิกษุผู้ประกอบธรรมนั้น และพวกภิกษุ
ผู้ประกอบธรรมก็ไม่เลื่อมใสในพวกภิกษุผู้เพ่งฌานนั้น ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คน


เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงพระมหาจุนทะผู้เป็นน้องชายของพระธรรมเสนาบดี (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๖/๑๒๘)
๒ ภิกษุผู้ประกอบธรรม ในที่นี้หมายถึงพระธรรมกถึก (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๖/๑๒๘)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๔. มหาจุนทสูตร
หมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข แก่
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พวกภิกษุผู้ประกอบธรรมสรรเสริญพวกภิกษุผู้ประกอบธรรมเท่านั้น ไม่สรรเสริญ
พวกภิกษุผู้เพ่งฌาน พวกภิกษุผู้ประกอบธรรมไม่เลื่อมใสในพวกภิกษุผู้เพ่งฌานนั้น
และพวกภิกษุผู้เพ่งฌานก็ไม่เลื่อมใสในพวกภิกษุผู้ประกอบธรรมนั้น ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อ
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พวกภิกษุผู้เพ่งฌานสรรเสริญพวกภิกษุผู้เพ่งฌานเท่านั้น ไม่สรรเสริญพวกภิกษุ
ผู้ประกอบธรรม และพวกภิกษุผู้เพ่งฌานไม่เลื่อมใสในพวกภิกษุผู้ประกอบธรรมนั้น
และพวกภิกษุผู้ประกอบธรรมก็ไม่เลื่อมใสในพวกภิกษุผู้เพ่งฌานนั้น ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อ
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์แก่คน หมู่มาก เพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
‘พวกเราทั้งหลายเมื่อเป็นผู้ประกอบธรรม จักสรรเสริญพวกภิกษุผู้เพ่งฌาน’ ท่าน
ทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้ถูกต้องอมตธาตุ
ด้วยกาย เป็นอัจฉริยบุคคล หาได้ยากในโลก
เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเมื่อเป็น
ผู้เพ่งฌาน จักสรรเสริญพวกภิกษุผู้ประกอบธรรม’ ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียก
อย่างนี้แล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้รู้แจ้ง เห็นอัตถบทอันลึกซึ้ง๑ด้วย
ปัญญานั้น เป็นอัจฉริยบุคคล หาได้ยากในโลก
มหาจุนทสูตรที่ ๔ จบ


เชิงอรรถ :
๑ อัตถบทอันลึกซึ้ง หมายถึงข้อความที่มีขันธ์ ธาตุ และอายตนะ เป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๖/๑๒๘)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๕. ปฐมสันทิฏฐิกสูตร
๕. ปฐมสันทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตนเอง สูตรที่ ๑
[๔๗] ครั้งนั้น โมฬิยสีวกปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ‘ธรรมอันผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วย
ตนเอง ธรรมอันผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตนเอง’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอันผู้
ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล๑ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา
ในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ย่อมมีด้วยเหตุเพียงไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีวกะ ถ้าอย่างนั้น เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้
ท่านพึงพยากรณ์เรื่องนั้นตามสมควรแก่ท่าน สีวกะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร
ท่านรู้ชัดโลภะที่มีอยู่ภายในว่า ‘โลภะมีอยู่ภายในเรา’ รู้ชัดโลภะที่ไม่มีอยู่ภายในว่า
‘โลภะไม่มีอยู่ภายในเรา’ หรือไม่”
สีวกปริพาชกกราบทูลว่า “รู้ชัด พระพุทธเจ้าข้า”
“สีวกะ การที่ท่านรู้ชัดโลภะที่มีอยู่ภายในว่า ‘โลภะมีอยู่ภายในเรา’ รู้ชัดโลภะที่
ไม่มีอยู่ภายในว่า ‘โลภะไม่มีอยู่ภายในเรา’ อย่างนี้แลคือธรรมอันผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ฯลฯ
สีวกะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ท่านรู้ชัดโทสะที่มีอยู่ภายใน ฯลฯ โมหะ
ที่มีอยู่ภายใน ฯลฯ ธรรมที่ประกอบด้วยโลภะที่มีอยู่ภายใน ฯลฯ ธรรมที่ประกอบ
ด้วยโทสะที่มีอยู่ภายใน ฯลฯ รู้ชัดธรรมที่ประกอบด้วยโมหะที่มีอยู่ในภายในว่า
‘ธรรมที่ประกอบด้วยโมหะที่มีอยู่ภายในเรา’ รู้ชัดธรรมที่ประกอบด้วยโมหะที่ไม่มีอยู่
ภายในว่า ‘ธรรมที่ประกอบด้วยโมหะไม่มีอยู่ภายในเรา’ หรือไม่”
สีวกปริพาชกกราบทูลว่า “รู้ชัด พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ฉักกนิบาต ข้อ ๑๐ หน้า ๔๒๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๖. ทุติยสันทิฏฐิกสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีวกะ การที่ท่านรู้ชัดธรรมที่ประกอบด้วยโมหะที่มี
อยู่ภายในว่า ‘ธรรมที่ประกอบด้วยโมหะมีอยู่ภายในเรา’ รู้ชัดธรรมที่ประกอบด้วย
โมหะที่ไม่มีอยู่ภายในว่า ‘ธรรมที่ประกอบด้วยโมหะไม่มีอยู่ภายในเรา’ อย่างนี้แล
คือธรรมอันผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู
ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
สีวกปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้
ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ปฐมสันทิฏฐิกสูตรที่ ๕ จบ
๖. ทุติยสันทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตนเอง สูตรที่ ๒
[๔๘] ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่า ‘ธรรมอันผู้ปฏิบัตพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
ธรรมอันผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตนเอง’ ข้าแต่ท่านพระโคดม ธรรมอันผู้ปฏิบัติพึง
เห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน
อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ย่อมมีด้วยเหตุเพียงไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้
ท่านพึงพยากรณ์เรื่องนั้นตามสมควรแก่ท่าน พราหมณ์ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร
ท่านรู้ชัดราคะที่มีอยู่ภายในว่า ‘ราคะมีอยู่ภายในเรา’ รู้ชัดราคะที่ไม่มีอยู่ภายในว่า
‘ราคะไม่มีอยู่ภายในเรา’ หรือไม่”
พราหมณ์กราบทูลว่า “รู้ชัด พระพุทธเจ้าข้า”
“พราหมณ์ การที่ท่านรู้ชัดราคะที่มีอยู่ภายในว่า ‘ราคะมีอยู่ภายในเรา’ รู้ชัด
ราคะที่ไม่มีอยู่ภายในว่า ‘ราคะไม่มีอยู่ภายในเรา’ อย่างนี้แลคือ ธรรมอันผู้ปฏิบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๗. เขมสูตร
พึงเห็นชัดด้วยตนเอง ฯลฯ พราหมณ์ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ท่านรู้ชัดโทสะที่มี
อยู่ภายใน ฯลฯ โมหะที่มีอยู่ภายใน ฯลฯ เหตุเครื่องประทุษร้ายทางกายที่มีอยู่
ภายใน ฯลฯ เหตุเครื่องประทุษร้ายทางวาจาที่มีอยู่ภายใน ฯลฯ รู้ชัดเหตุเครื่อง
ประทุษร้ายทางใจที่มีอยู่ภายในว่า ‘เหตุเครื่องประทุษร้ายทางใจมีอยู่ภายในเรา’
รู้ชัดเหตุเครื่องประทุษร้ายทางใจที่ไม่มีอยู่ภายในว่า ‘เหตุเครื่องประทุษร้ายทางใจ
ไม่มีอยู่ภายในเรา’ หรือไม่”
พราหมณ์กราบทูลว่า “รู้ชัด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ การที่ท่านรู้ชัดเหตุเครื่องประทุษร้าย
ทางใจที่มีอยู่ภายในว่า ‘เหตุเครื่องประทุษร้ายทางใจมีอยู่ภายในเรา’ รู้ชัดเหตุเครื่อง
ประทุษร้ายทางใจที่ไม่มีอยู่ภายในว่า ‘เหตุเครื่องประทุษร้ายทางใจไม่มีอยู่ภายในเรา’
อย่างนี้แลคือ ธรรมอันผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียก
ให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
พราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ทุติยสันทิฏฐิกสูตรที่ ๖ จบ
๗. เขมสูตร
ว่าด้วยพระเขมะ
[๔๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระเขมะและท่านพระสุมนะ
อยู่ที่ป่าอันธวัน เขตกรุงสาวัตถี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร ท่านพระเขมะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๗. เขมสูตร
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำ๑เสร็จแล้ว ปลงภาระ๒ได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน๓โดยลำดับแล้ว
สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ๔ ภิกษุนั้นไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ผู้ที่
ประเสริฐกว่าเรามีอยู่’ ว่า ‘ผู้ที่เสมอกับเรามีอยู่’ หรือว่า ‘ผู้ที่ด้อยกว่าเรามีอยู่”
เมื่อท่านพระเขมะกราบทูลแล้วอย่างนี้ พระศาสดาทรงพอพระทัย ลำดับนั้น
ท่านพระเขมะรู้ว่า ‘พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา’ จึงลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วหลีกไป
ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระเขมะหลีกไปไม่นาน ท่านพระสุมนะได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน
โดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นไม่มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘ผู้ที่ประเสริฐกว่าเราไม่มี’ ว่า ‘ผู้ที่เสมอกับเราไม่มี’ หรือว่า ‘ผู้ที่ด้อย
กว่าเราไม่มี”
เมื่อท่านพระสุมนะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ลำดับนั้น
ท่านพระสุมนะรู้ว่า ‘พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา’ จึงลุกจากอาสนะถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วหลีกไป
ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระเขมะและท่านพระสุมนะหลีกไปไม่นาน พระผู้มี
พระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรทั้งหลาย
พยากรณ์อรหัตตผลอย่างนี้ กล่าวแต่เนื้อความ และไม่น้อมตนเข้าไปหา ส่วน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ปัญจกนิบาต ข้อ ๕๖ (อุปัชฌายสูตร) หน้า ๙๘ ในเล่มนี้
๒ ภาระ ในที่นี้หมายถึงภาระคือขันธ์ ภาระคือกิเลส และภาระคืออภิสังขาร (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๙/๑๒๘)
๓ ประโยชน์ตน ในที่นี้หมายถึงพระอรหัตตผล ที่เรียกว่า ประโยชน์ตน เพราะมีนัย ๓ ประการ คือ (๑) เพราะ
เกี่ยวข้องกับโยนิโสมนสิการของตน (๒) เพราะไม่ละตนโดยนับเนื่องในสันดานของตน (๓) เพราะเป็นประโยชน์
สูงสุดสำหรับตน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๙/๑๒๘)
๔ รู้โดยชอบ หมายถึงรู้อริยสัจ ๔ มีทุกข์เป็นต้นตามความเป็นจริง ด้วยมัคคปัญญา (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๔๙/
๑๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๘. อินทริยสังวรสูตร
โมฆบุรุษ บางพวกในธรรมวินัยนี้ เหมือนจะร่าเริงกล่าวพยากรณ์อรหัตตผลอยู่ เขา
เหล่านั้นย่อมถึงความคับแค้นในภายหลัง
พระขีณาสพทั้งหลาย
ไม่น้อมตนเข้าไปเปรียบเทียบกับบุคคลที่ดีกว่า
ไม่น้อมตนเข้าไปเปรียบเทียบกับบุคคลที่ด้อยกว่า
ไม่น้อมตนเข้าไปเปรียบเทียบกับบุคคลที่เสมอกัน
มีชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
เป็นผู้หลุดพ้นจากสังโยชน์ทั้งปวงเที่ยวไปอยู่
เขมสูตรที่ ๗ จบ
๘. อินทริยสังวรสูตร
ว่าด้วยอินทรียสังวร๑
[๕๐] ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออินทรียสังวรไม่มี ศีลของบุคคลผู้มีอินทรียสังวร-
วิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อศีลไม่มี สัมมาสมาธิของบุคคลผู้มีศีลวิบัติ ชื่อว่า
มีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะ๒ของบุคคลผู้มีสัมมา-
สมาธิวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาและ
วิราคะ๓ของบุคคลผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อนิพพิทา
และวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะ๔ของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติ ชื่อว่ามี
เหตุถูกขจัดแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงการปิดกั้น การคุ้มครอง สำรวมระวังทวารทั้ง ๖ (ที.ม.อ. ๓๖๕/๓๕๑)
๒ ยถาภูตญาณทัสสนะ หมายถึงตรุณวิปัสสนาญาณ คือ วิปัสสนาที่ยังอ่อนกำลัง เป็นความรู้ขั้วต่อที่ตัดแยก
ระหว่างความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล ยังไม่ใช่ความรู้ขั้นสูดท้าย (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๐/๑๒๙)
๓ นิพพิทา หมายถึงพลววิปัสสนา วิราคะ หมายถึงอริยมรรค (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๐/๑๒๙)
๔ วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นความรู้ขั้นสุดท้าย แยกอธิบายว่า วิมุตติ หมายถึงอรหัตตผลหรือพระสัพพัญญุต-
ญาณ ญาณทัสสนะ หมายถึงปัจจเวกขณญาณ คือญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวนมรรคผล กิเลสที่
ละได้และนิพพาน (องฺ.ติก.อ. ๒/๗๕/๒๒๖, ๑๐๔/๒๕๗, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๐/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๙. อานันทสูตร
เมื่ออินทรียสังวรไม่มี ศีลของบุคคลผู้มีอินทรียสังวรวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูก
ขจัดแล้ว ฯลฯ วิมุตติญาณทัสนะของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติ ชื่อว่ามีเหตุถูก
ขจัดแล้ว เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบวิบัติแล้ว สะเก็ด เปลือก กระพี้ แม้แก่นของ
ต้นไม้นั้น ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ ฉันนั้น
เมื่ออินทรียสังวรมี ศีลของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรียสังวร ชื่อว่ามีเหตุ
สมบูรณ์ เมื่อศีลมี สัมมาสมาธิของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อสัมมาสมาธิมี ยถาภูตญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิ ชื่อว่า
มีเหตุสมบูรณ์ เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมี นิพพิทาและวิราคะของบุคคลผู้สมบูรณ์
ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อนิพพิทาและวิราคะมี วิมุตติ-
ญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาและวิราคะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออินทรียสังวรมี ศีลของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรียสังวร
ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ฯลฯ วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาและ
วิราคะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ สะเก็ด เปลือก
กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้นย่อมถึงความสมบูรณ์
อินทริยสังวรสูตรที่ ๘ จบ
๙. อานันทสูตร
ว่าด้วยคุณธรรมของพระอานนท์
[๕๑] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนา
ปราศัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนถาม
ท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร ภิกษุได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟัง ธรรมที่ภิกษุนั้นเคยฟังแล้วไม่ถึง
ความเลอะเลือน ธรรมที่ภิกษุนั้นเคยสัมผัสด้วยใจมาก่อน ปรากฏแก่เธอ และภิกษุ
นั้นย่อมรู้ธรรมที่ยังไม่เคยรู้ด้วยเหตุเท่าไรหนอ”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านอานนท์ เป็นพหูสูต เฉพาะท่านอานนท์เท่านั้น
ที่จะอธิบายเนื้อความแห่งภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๙. อานันทสูตร
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ท่านสารีบุตร ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
ผมจักกล่าว” ท่านพระสารีบุตรรับคำแล้ว ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยา-
กรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ เธอแสดงธรรม
ตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร บอกธรรมตามที่ตนได้
สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร สาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมา
ตามที่ตนได้เรียนมาโดยพิสดาร ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่
ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา อยู่จำพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุเถระผู้เป็นพหูสูต
เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาอยู่ เข้าไปหาภิกษุเถระเหล่านั้นใน
เวลาที่สมควร แล้วสอบถาม ไต่ถามว่า ‘พระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความ
แห่งพระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร’ ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย
ทำข้อที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่าย และบรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลาย
อย่างแก่ภิกษุนั้น ท่านสารีบุตร ภิกษุได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟัง ธรรมที่ภิกษุนั้นเคย
ฟังแล้ว ย่อมไม่ถึงความเลอะเลือน ธรรมที่ภิกษุนั้นเคยสัมผัสด้วยใจมาก่อน ปรากฏ
แก่เธอ และภิกษุนั้นรู้ธรรมที่ยังไม่เคยรู้ชัดด้วยเหตุเท่านี้แล”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่าน
อานนท์ ได้กล่าวไว้ดีแล้ว พวกผมจะทรงจำท่านอานนท์ว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม
๖ ประการนี้ เพราะท่านอานนท์
๑. เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ
ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ
๒. แสดงธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดย
พิสดาร
๓. บอกธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
๔. สาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาโดยพิสดาร
๕. ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา
ตามที่ตนได้เรียนมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑๐. ขัตติยสูตร
๖. อยู่จำพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุเถระผู้เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์
ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เข้าไปหาภิกษุเถระเหล่านั้นตาม
กาลอันควร แล้วสอบถามไต่ถามว่า ‘พระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร
เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร’ ภิกษุเหล่านั้น ย่อมเปิด
เผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ทำข้อที่เข้าใจยากให้เข้าโดยง่าย และบรรเทา
ความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น”
อานันทสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. ขัตติยสูตร
ว่าด้วยความประสงค์ของกษัตริย์
[๕๒] ครั้งนั้น ชาณุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม กษัตริย์ทั้งหลายมีความประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจ
อะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กษัตริย์ทั้งหลายมีความประสงค์โภคทรัพย์ นิยม
ปัญญา มั่นใจในกำลังทหาร ต้องการได้เป็นเจ้าแผ่นดิน มีความเป็นใหญ่เป็นที่สุด”
ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลถามว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายมี
ความประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด”
“พราหมณ์ทั้งหลายมีความประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในมนตร์
ต้องการบูชายัญ มีพรหมโลกเป็นที่สุด”
“ข้าแต่ท่านพระโคดม คหบดีทั้งหลายมีความประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจ
อะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด”
“คหบดีทั้งหลายมีความประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในศิลปะ
ต้องการการงาน มีการงานที่ทำเสร็จแล้วเป็นที่สุด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑๐. ขัตติยสูตร
“ข้าแต่ท่านพระโคดม สตรีทั้งหลายมีความประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจ
อะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด”
“สตรีทั้งหลายมีความประสงค์บุรุษ นิยมเครื่องประดับ มั่นใจในบุตร ไม่ต้องการ
หญิงอื่นร่วมสามี มีความเป็นใหญ่ในบ้านเป็นที่สุด”
“ข้าท่านแต่พระโคดม โจรทั้งหลายมีความประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจอะไร
ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด”
“พราหมณ์ โจรทั้งหลายมีความประสงค์การลักทรัพย์ผู้อื่น นิยมที่เร้นลับ มั่นใจ
ในศัสตรา ต้องการที่มืด มีผู้อื่นไม่เห็นเป็นที่สุด”
“ข้าแต่ท่านพระโคดม สมณะทั้งหลายมีความประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจ
อะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด”
“สมณะทั้งหลายมีความประสงค์ขันติและโสรัจจะ นิยมปัญญา มั่นใจในศีล
ต้องการความไม่มีกิเลสเครื่องกังวล มีนิพพานเป็นที่สุด”
ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ ท่านพระโคดมทรงทราบความประสงค์ ความนิยม ความมั่นใจ
ความต้องการ และสิ่งอันเป็นที่สุด แม้แห่งกษัตริย์ทั้งหลาย ฯลฯ แม้แห่งพราหมณ์
ทั้งหลาย ฯลฯ แม้แห่งคหบดีทั้งหลาย ฯลฯ แม้แห่งสตรีทั้งหลาย ฯลฯ แม้แห่งโจร
ทั้งหลาย ฯลฯ ท่านพระโคดมทรงทราบความประสงค์ ความนิยม ความมั่นใจ
ความต้องการและสิ่งอันเป็นที่สุด แม้แห่งสมณะทั้งหลาย ข้าแต่ท่านพระโคดม
ภาษิตของท่านพระโคดม ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำ
ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ขัตติยสูตรที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑๑. อัปปมาทสูตร
๑๑. อัปปมาทสูตร
ว่าด้วยความไม่ประมาท
[๕๓] ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือ
ไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า มีอยู่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญทำให้
มากแล้ว ย่อมยึดถือไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ใน
ภพหน้า มีอยู่”
พราหมณ์ทูลถามว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญ
ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในภพนี้ และ
ประโยชน์ในภพหน้าเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ธรรมอย่างหนึ่งคือความไม่ประมาท
ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ใน
ภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า
เปรียบเหมือนรอยเท้าชนิดใดของสัตว์ทั้งหลายผู้สัญจรไปบนแผ่นดิน รอยเท้า
เหล่านั้นทั้งหมดย่อมถึงความรวมลงในร้อยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง ชาวโลกกล่าวว่า
เป็นเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะรอยเท้าช้างเป็นรอยเท้าใหญ่ ฉันใด
ธรรมอย่างหนึ่งคือความไม่ประมาทที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือไว้
ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน
เปรียบเหมือนกลอนชนิดใดชนิดหนึ่งแห่งเรือนยอด กลอนเหล่านั้นทั้งหมด
ย่อมโน้มน้อมรวมเข้าหายอดเรือน ยอดเรือน ชาวโลกกล่าวว่าเป็นเลิศกว่ากลอน
เหล่านั้น ฉันใด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑๑. อัปปมาทสูตร
ธรรมอย่างหนึ่งคือความไม่ประมาทที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ฯลฯ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน
เปรียบเหมือนบุคคลผู้เกี่ยวหญ้า เกี่ยวหญ้าแล้วก็จับที่ยอดสลัดลงฟาดไป
เคาะไป ฉันใด ธรรมอย่างหนึ่งคือความไม่ประมาทที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ฯลฯ
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เปรียบเหมือนเมื่อพวงผลมะม่วงถูกตัดที่ขั้ว ผลมะม่วงลูกใดลูกหนึ่งที่ติดอยู่
กับขั้ว ผลมะม่วงเหล่านั้นทั้งหมดย่อมเป็นของติดไปกับขั้ว ฉันใด
ธรรมอย่างหนึ่งคือความไม่ประมาทที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ฯลฯ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน
เปรียบเหมือนพระราชาผู้ปกครองประเทศเล็ก ๆ พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง
พระราชาเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นผู้ขึ้นตรงต่อพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิ
ชาวโลกกล่าวว่าเป็นเลิศกว่าพระราชาเหล่านั้น ฉันใด
ธรรมอย่างหนึ่งคือความไม่ประมาท ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ฯลฯ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน
เปรียบเหมือนแสงสว่างชนิดใดชนิดหนึ่งแห่งดวงดาว แสงสว่างเหล่านั้นทั้งหมด
ไม่ถึงส่วนที่สิบหกแห่งแสงสว่างของดวงจันทร์ แสงสว่างของดวงจันทร์ ชาวโลก
กล่าวว่าเป็นเลิศกว่าแสงสว่างแห่งดวงดาวเหล่านั้น ฉันใด
ธรรมอย่างหนึ่ง คือ ความไม่ประมาทที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือ
ไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน
พราหมณ์ ธรรมอย่างหนึ่งคือความไม่ประมาทที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมยึดถือไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองคือ ประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า”
พราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดม ชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดม ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ
ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จนตลอดชีวิต”
อัปปมาทสูตรที่ ๑๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑๒. ธัมมิกสูตร
๑๒. ธัมมิกสูตร
ว่าด้วยท่านพระธัมมิกะ
[๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ๑ เขตกรุงราชคฤห์
สมัยนั้น ท่านพระธัมมิกะเป็นเจ้าอาวาส อยู่ในอาวาส ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบท
ทั้งหมด ทราบว่า ท่านพระธัมมิกะด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีพวกภิกษุ
อาคันตุกะด้วยวาจา และภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นเมื่อถูกท่านพระธัมมิกะด่า บริภาษ
เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีด้วยวาจา จึงหลีกไป ไม่อยู่ ละทิ้งอาวาส
ครั้งนั้น พวกอุบาสกและอุบาสิกาชาวชาติภูมิชนบทมีความคิดดังนี้ว่า “พวกเรา
ได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร
แต่พวกภิกษุอาคันตุกะก็หลีกไป ไม่อยู่ ละทิ้งอาวาส อะไรหนอเป็นเหตุปัจจัยให้
พวกภิกษุอาคันตุกะหลีกไป ไม่อยู่ ละทิ้งอาวาส”
ต่อมา พวกอุบาสกและอุบาสิกาชาวชาติภูมิชนบทคิดกันว่า “ท่านพระธัมมิกะ
นี้เอง ด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีภิกษุอาคันตุกะด้วยวาจา และภิกษุ
อาคันตุกะเหล่านั้นเมื่อถูกท่านพระธัมมิกะด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสี
ด้วยวาจา จึงหลีกไป ไม่อยู่ ละทิ้งอาวาส ทางที่ดีพวกเราพึงช่วยกันขับไล่ท่าน
พระธัมมิกะให้หนีไป” จึงเข้าไปหาท่านพระธัมมิกะถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับท่านพระ
ธัมมิกะดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธัมมิกะจงหลีกไปจากอาวาสนี้ ท่าน
ไม่ควรอยู่ในอาวาสนี้”
ภายหลังต่อมา ท่านพระธัมมิกะได้จากอาวาสนั้นไปสู่อาวาสอื่น ทราบว่า แม้ที่
อาวาสนั้น ท่านพระธัมมิกะก็ด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีพวกภิกษุ
อาคันตุกะด้วยวาจา และภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นเมื่อถูกท่านพระธัมมิกะด่า บริภาษ
เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีด้วยวาจา หลีกไป ไม่อยู่ ละทิ้งอาวาส
ครั้งนั้น พวกอุบาสกและอุบาสิกาชาวชาติภูมิชนบทมีความคิดดังนี้ว่า “พวกเรา
ได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร


เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ฉักกนิบาต ข้อ ๔๑ (ทารุกขันธสูตร) หน้า ๔๙๓ ในเล่มนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑๒. ธัมมิกสูตร
แต่พวกภิกษุอาคันตุกะก็หลีกไป ไม่อยู่ ละทิ้งอาวาส อะไรหนอเป็นเหตุปัจจัยให้พวก
ภิกษุอาคันตุกะหลีกไป ไม่อยู่ ละทิ้งอาวาส”
พวกอุบาสกและอุบาสิกาชาวชาติภูมิชนบทคิดกันว่า “ท่านพระธัมมิกะนี้เอง
ด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีพวกภิกษุอาคันตุกะด้วยวาจา และภิกษุ
อาคันตุกะเหล่านั้นเมื่อถูกท่านพระธัมมิกะด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสี
ด้วยวาจา จึงหลีกไป ไม่อยู่ ละทิ้งอาวาส ทางที่ดี พวกเราพึงช่วยกันขับไล่ท่าน
พระธัมมิกะให้หนีไป” จึงเข้าไปหาท่านพระธัมมิกะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกับท่านพระ
ธัมมิกะดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธัมมิกะจงหลีกไปจากอาวาสนี้ ท่าน
ไม่ควรอยู่ในอาวาสนี้”
ภายหลังต่อมา ท่านพระธัมมิกะได้จากอาวาสแม้นั้นไปสู่อาวาสอื่น ทราบว่า
แม้ที่อาวาสนั้น ท่านพระธัมมิกะก็ด่า บริภาษ เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีพวกภิกษุ
อาคันตุกะด้วยวาจา และภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น เมื่อถูกท่านพระธัมมิกะด่า บริภาษ
เบียดเบียน ทิ่มแทง เสียดสีด้วยวาจา ก็หลีกไป ไม่อยู่ ละทิ้งอาวาส
ครั้งนั้น พวกอุบาสกและอุบาสิกาชาวชาติภูมิชนบทมีความคิดดังนี้ว่า “พวกเรา
ได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร
แต่พวกภิกษุอาคันตุกะหลีกไป ไม่อยู่ ละทิ้งอาวาส อะไรหนอเป็นเหตุปัจจัยให้พวก
ภิกษุอาคันตุกะหลีกไป ไม่อยู่ ละทิ้งอาวาส”
ต่อมา พวกอุบาสกและอุบาสิกาชาวชาติภูมิชนบทคิดกันว่า “ฯลฯ ทางที่ดี
พวกเราพึงช่วยกันขับไล่ท่านพระธัมมิกะให้หลีกไปจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิ
ชนบททั้งหมด” จึงเข้าไปหาพระธัมมิกะถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวกับท่านพระธัมมิกะดังนี้
ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระธัมมิกะจงหลีกไปจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติ-
ภูมิทั้งหมด”
ครั้งนั้น ท่านพระธัมมิกะได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราถูกพวกอุบาสกและอุบาสิกา
ชาวชาติภูมิชนบทขับไล่ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่งในชาติภูมิชนบททั้งหมด บัดนี้เรา
จักไปที่ไหนหนอ” ครั้งนั้น ท่านพระธัมมิกะได้มีความคิดว่า “ทางที่ดี เราควรจะ
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑๒. ธัมมิกสูตร
ลำดับนั้น ท่านพระธัมมิกะถือบาตรและจีวรหลีกไปทางกรุงราชคฤห์ ไปถึงกรุง
ราชคฤห์และภูเขาคิชฌกูฏโดยลำดับ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า “พราหมณ์ธัมมิกะ
เชิญเถิด ท่านมาจากไหนหรือ”
ท่านพระธัมมิกะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ถูกพวกอุบาสก
และอุบาสิกาชาวชาติภูมิชนบทขับไล่ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง ในชาติภูมิชนบท
ทั้งหมด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ธัมมิกะ จะมีประโยชน์อะไรแก่เธอด้วยการ
อยู่ในชาติภูมิชนบทนี้ ควรแล้วที่เธอถูกขับไล่ให้ออกจากอาวาสนั้น ๆ แล้วมาใน
สำนักของเรา เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าทางทะเล จับนกที่ค้นหาฝั่งแล้ว ออกเรือ
เดินทางไปยังสมุทร เมื่อเดินเรือไปไม่เห็นฝั่ง พวกเขาก็ปล่อยนกค้นหาฝั่ง มันบินไป
ทางทิศตะวันออก บินไปทางทิศตะวันตก บินไปทางทิศเหนือ บินไปทางทิศใต้
บินขึ้นสูง บินไปทางทิศเฉียง ถ้ามันเห็นฝั่งอยู่ใกล้ ก็บินเข้าไปหาฝั่งทีเดียว แต่ถ้า
มันไม่เห็นฝั่งอยู่ใกล้ มันก็จะกลับมายังเรือนั้น ฉันใด พราหมณ์ธัมมิกะ เธอถูกขับไล่
ให้ออกจากอาวาสนั้น ๆ แล้วมายังสำนักของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เรื่องเคยมีมาแล้ว ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะของพระเจ้าโกรัพยะมี ๕ กิ่ง มีร่ม
เงาเย็น น่ารื่นรมย์ใจ ก็ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ มีกิ่งก้านแผ่ไปถึง ๑๒ โยชน์ มีราก
แผ่ไปได้ ๕ โยชน์ มีผลใหญ่เหมือนกระทะหุงข้าวสารได้อาฬหกะหนึ่ง มีผลอร่อย
เหมือนรวงผึ้งเล็ก ซึ่งไม่มีโทษ พระราชาเสวยผลไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะกิ่งหนึ่งพร้อม
กับนางสนม หมู่ทหารบริโภคกิ่งหนึ่ง ชาวนิคมและชาวชนบทบริโภคกิ่งหนึ่ง สมณ-
พราหมณ์บริโภคกิ่งหนึ่ง เนื้อและนกกินกิ่งหนึ่ง ไม่มีใครหวงแหนผลของต้นไทรใหญ่
ชื่อสุปติฏฐะไว้ และไม่มีใคร ๆ แย่งชิงผลของกันและกัน ต่อมาบุรุษคนหนึ่งบริโภคผล
ของต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะพอแก่ความต้องการแล้วหักกิ่งหลีกไป
ครั้งนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะมีความคิดดังนี้ว่า “ท่าน
ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏหนอ คนชั่วนี้บริโภคผลของต้นไทรใหญ่ชื่อ
สุปติฏฐะจนพอแก่ความต้องการแล้วหักกิ่งหลีกไป ทำอย่างไร ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ
จะไม่พึงออกผลต่อไป” หลังจากนั้น ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะไม่ได้ออกผลอีกต่อไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑๒. ธัมมิกสูตร
ครั้นต่อมา พระเจ้าโกรัพยะเสด็จเข้าไปหาท้าวสักกะจอมเทพถึงที่ประทับได้ทูล
ท้าวสักกะว่า “ขอเดชะ ท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์พึงทราบเถิดว่า ต้นไทรใหญ่ชื่อ
สุปติฏฐะไม่ออกผล” ทีนั้นท้าวสักกะจอมเทพทรงบันดาลให้มีลมฝนอย่างแรงพัด
โค่นต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะล้มลง ทำให้มีรากขึ้นเบื้องบนด้วยฤทธิ์ ลำดับนั้น เทวดา
ผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะเป็นทุกข์ เสียใจ ได้ยืนร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่
ณ ที่สมควร
ภายหลัง ท้าวสักกะจอมเทพเข้าไปหาเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะ
ถึงที่อยู่แล้วถามว่า “เทวดา ทำไมหนอเธอจึงเป็นทุกข์ เสียใจ ยืนร้องไห้น้ำตานอง
หน้าอยู่ ณ ที่สมควร”
เทวดานั้นทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะลมฝนอย่างแรงพัดโค่นที่อยู่
ของข้าพระองค์ล้มลง ทำให้มีรากขึ้นเบื้องบน พระเจ้าข้า”
“เทวดา ก็เมื่อเธอดำรงอยู่ในรุกขธรรม (ธรรมที่เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้พึง
ประพฤติ) แล้ว ลมฝนอย่างแรงได้พัดมาโค่นที่อยู่ของเธอล้มลง ทำให้มีรากขึ้นเบื้อง
บนได้อย่างไร”
เทวดาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ ดำรง
อยู่ในรุกขธรรมเป็นอย่างไร”
“เทวดา หมู่คนในโลกนี้ ผู้ต้องการรากย่อมนำรากของต้นไม้ไป ผู้ต้องการ
เปลือกย่อมนำเปลือกไป ผู้ต้องการใบย่อมนำใบไป ผู้ต้องการดอกย่อมนำดอกไป
ผู้ต้องการผลย่อมนำผลไป แต่เทวดาไม่พึงดีใจหรือเสียใจเพราะการกระทำนั้น ๆ
เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ดำรงอยู่ในรุกขธรรมเป็นอย่างนี้แล”
“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ไม่ดำรงอยู่ในรุกขธรรมเป็นแน่ ลมฝน
อย่างแรงจึงได้พัดโค่นที่อยู่ของข้าพระองค์ให้ล้มลง ทำให้มีรากขึ้นเบื้องบน”
“เทวดา ถ้าเธอพึงดำรงอยู่ในรุกขธรรม ที่อยู่ของเธอก็จะพึงมีเหมือนกาลก่อน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์จะดำรงอยู่ในรุกขธรรม ขอให้ที่อยู่ของข้า
พระองค์จงมีเหมือนกาลก่อนเถิด”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑๒. ธัมมิกสูตร
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงบันดาลให้มีลมฝนอย่างแรงพัดต้นไทรใหญ่
ชื่อสุปติฏฐะให้กลับตั้งขึ้นดังเดิมด้วยฤทธิ์ ต้นไทรใหญ่ชื่อสุปติฏฐะได้มีเปลือกมีราก
ตั้งอยู่ดังเดิม ฉันใด
พราหมณ์ธัมมิกะ อุบาสกอุบาสิกาชาวชาติภูมิชนบททั้งหลาย ได้ขับไล่เธอ
ผู้ตั้งอยู่ในสมณธรรมให้ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่งในชาติภูมิชนบททั้งหมดฉันนั้น
เหมือนกัน”
ท่านพระธัมมิกะทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมณะดำรงอยู่ในสมณธรรม
เป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ธัมมิกะ สมณะในธรรมวินัยนี้ไม่ด่า
ตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ ไม่เสียดสีตอบบุคคลผู้เสียดสีอยู่ ไม่ประหารตอบบุคคลผู้ประหาร
อยู่ พราหมณ์ธัมมิกะ สมณะดำรงอยู่ในสมณธรรมเป็นอย่างนี้แล”
ท่านพระธัมมิกะทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอุบาสกชาวชาติภูมิ
ชนบท ได้ขับไล่ข้าพระองค์ผู้ไม่ดำรงอยู่ในสมณธรรมให้ออกจากอาวาสทั้ง ๗ แห่ง
ในชาติภูมิชนบททั้งหมด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ธัมมิกะ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีครูชื่อสุเนตตะ
เป็นเจ้าลัทธิผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดง
ธรรมแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความเป็นผู้เกิดในพรหมโลก สาวกเหล่าใดเมื่อครูสุเนตตะ
แสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้เกิดในพรหมโลกอยู่ ไม่ทำจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้น
หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสาวกเหล่าใด เมื่อครู
สุเนตตะแสดงธรรมเพื่อความเป็นผู้เกิดในพรหมโลกอยู่ ได้ทำจิตให้เลื่อมใส สาวก
เหล่านั้นหลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เรื่องเคยมีมาแล้ว มีครูชื่อมูคปักขะ ฯลฯ มีครูชื่ออรเนมิ ฯลฯ มีครูชื่อ
กุททาลกะ ฯลฯ มีครูชื่อหัตถิปาละ ฯลฯ มีครูชื่อโชติปาละ เป็นเจ้าลัทธิผู้
ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรมเพื่อ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑๒. ธัมมิกสูตร
ความเป็นผู้เกิดในพรหมโลก สาวกเหล่าใด เมื่อครูโชติปาละแสดงธรรมเพื่อความ
เป็นผู้เกิดในพรหมโลกอยู่ ไม่ทำจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นหลังจากตายแล้วได้
ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสาวกเหล่าใด เมื่อครูโชติปาละแสดงธรรม
เพื่อความเป็นผู้เกิดในพรหมโลกอยู่ ได้ทำจิตให้เลื่อมใส สาวกเหล่านั้นหลังจากตายแล้ว
ได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
พราหมณ์ธัมมิกะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ผู้ใดมีจิตถูกโทสะประทุษร้าย
พึงด่า บริภาษ ครูทั้ง ๖ นี้ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย
มีบริวารหลายร้อยคน พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้นพึงประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
หรือไม่”
ท่านพระธรรมิกกราบทูลว่า “พึงประสพ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ธัมมิกะ ผู้ใดมีจิตถูกโทสะประทุษร้าย
พึงด่า พึงบริภาษครูทั้ง ๖ นี้ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม
ทั้งหลาย มีบริวารหลายร้อยคน พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้นพึงประสพสิ่งที่มิใช่บุญ
เป็นอันมาก ผู้ใดมีจิตถูกโทสะประทุษร้าย พึงด่า บริภาษบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ๑
คนเดียว ผู้นั้นย่อมประสพสิ่งที่มิใช่บุญมากกว่าบุคคลผู้ด่า บริภาษครูทั้ง ๖ นั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราไม่กล่าวว่าการขุดโค่นคุณความดีของตนเช่นนี้ จะมี
ภายนอกศาสนานี้ เหมือนการด่า การบริภาษเพื่อนพรหมจารี
พราหมณ์ธัมมิกะ เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเรา
จักไม่ประทุษร้ายในเพื่อนพรหมจารีผู้เสมอตน’
พราหมณ์ธัมมิกะ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
ครูทั้ง ๖ ผู้มียศ ได้รับยกย่องว่าเป็นเจ้าลัทธิในอดีต
คือครูสุเนตตะ ครูมูคปักขะ ครูอรเนมิ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันซึ่งมีชื่อว่า ‘ผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ’ บ้าง
‘ผู้มาสู่พระสัทธรรม’ บ้าง ‘ผู้ประกอบด้วยญาณของพระเสขะ’ บ้าง ‘ผู้ประกอบด้วยวิชชาของพระเสขะ’ บ้าง
‘ผู้เข้าถึงกระแสธรรม’ บ้าง ‘ผู้มีปัญญาแทงตลอด’ บ้าง ‘ผู้ยืนจรดประตูอมตะ’ บ้าง (องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๖๘/
๔๐๒, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๔/๑๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค ๑๒. ธัมมิกสูตร
ครูกุททาลกะ ครูหัตถิปาลมาณพ
และครูโชติปาละผู้เป็นพราหมณ์ปุโรหิต
ของพระราชา ๗ พระองค์ เป็นเจ้าของโค
ท่านเหล่านั้น เป็นผู้หมดกลิ่นสาบ๑
มุ่งมั่นในกรุณา ล่วงพ้นกามสังโยชน์
คลายกามราคะเสียได้
เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกแล้ว
แม้สาวกหลายร้อยคนของครูเหล่านั้น
ก็เป็นผู้หมดกลิ่นสาบ มุ่งมั่นในกรุณา
ล่วงพ้นกามสังโยชน์ คลายกามราคะเสียได้
เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกแล้ว
นรชนใด มีความดำริทางใจถูกโทสะประทุษร้ายแล้ว
บริภาษท่านผู้เป็นฤๅษีทั้งหลายภายนอกศาสนา
ผู้ปราศจากความกำหนัด มีจิตตั้งมั่นแล้ว
นรชนนั้นย่อมประสพสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก
ส่วนนรชนใดมีความดำริทางใจถูกโทสะประทุษร้ายแล้ว
บริภาษภิกษุผู้เป็นพุทธสาวกมีทิฏฐิสมบูรณ์รูปเดียว
นรชนนี้ย่อมประสพสิ่งที่ไม่ใช่บุญ
มากกว่าผู้บริภาษครูเหล่านั้น
นรชนไม่พึงเสียดสีท่านผู้มีความดี ผู้ละทิฏฐิ๒ได้แล้ว
เราเรียกบุคคลผู้มีอินทรีย์ ๕ ที่ยังอ่อน

เชิงอรรถ :
๑ กลิ่นสาบ ในที่นี้หมายถึงความโกรธ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๔/๑๓๔)
๒ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๔/๑๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. ธัมมิกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
คือ ศรัทธา สติ วิริยะ สมถะ และวิปัสสนา
ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย
ว่าเป็นบุคคลที่ ๗๑ แห่งอริยสงฆ์
นรชนใดเบียดเบียนทำร้ายบุคคลเช่นนั้น
ผู้เป็นภิกษุในกาลก่อน
นรชนนั้นชื่อว่าทำร้ายตนเอง
บั่นรอนอรหัตตผลในภายหลัง
ส่วนนรชนใดรักษาตน
นรชนนั้นชื่อว่าเป็นผู้รักษาตนในภายนอก
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตไม่พึงขุดโค่นคุณความดีของตน
พึงรักษาตนทุกเมื่อเถิด
ธัมมิกสูตรที่ ๑๒ จบ
ธัมมิกวรรคที่ ๕ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. นาคสูตร ๒. มิคสาลาสูตร
๓. อิณสูตร ๔. มหาจุนทสูตร
๕. ปฐมสันทิฏฐิกสูตร ๖. ทุติยสันทิฏฐิกสูตร
๗. เขมสูตร ๘. อินทริยสังวรสูตร
๙. อานันทสูตร ๑๐. ขัตติยสูตร
๑๑. อัปปมาทสูตร ๑๒. ธัมมิกสูตร

ปฐมปัณณาสก์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ บุคคลที่ ๗ หมายถึงพระสกทาคามี โดยนับจากพระอรหันต์ลงมา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๔/๑๓๔, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
๓/๕๔/๑๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร
๒. ทุติยปัณณาสก์
๖. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
๑. โสณสูตร
ว่าด้วยพระโสณะ
[๕๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
สมัยนั้น ท่านพระโสณะอยู่ที่ป่าสีตวัน เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระโสณะ
หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดเกิดความคิดคำนึงในจิตดังนี้ว่า “ในบรรดาพระสาวกของพระผู้มี
พระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้น
จากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นเล่า ทรัพย์สมบัติในตระกูลของเรามีอยู่ เราอาจใช้
สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ ทางที่ดี เราควรบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
ใช้สอยทรัพย์สมบัติ และบำเพ็ญบุญ๑”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิตของ
ท่านพระโสณะ จึงทรงหายไปจากภูเขาคิชฌกูฏ มาปรากฏพระองค์ที่ป่าสีตวัน
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้๒

เชิงอรรถ :
๑ ท่านพระโสณะปรารภความเพียรหนักเกินไปโดยเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก และเมื่อเปลี่ยนมาใช้วิธีคลาน
จงกรม เข่าและฝ่ามือก็แตกเป็นแผลอีก จึงมีจิตฟุ้งซ่านท้อแท้ว่า “ถ้าเราเป็นบุคคลประเภทอุคฆฏิตัญญู
(ผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลัน) วิปจิตัญญู (ผู้รู้เมื่อขยายความ) เนยยะ (ผู้ที่พอจะแนะนำได้) จิตของเราพึงหลุดพ้น
จากกิเลสได้เป็นแน่ แต่เราคงเป็นบุคคลประเภทปทปรมะ (ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง) จิตของเราจึงไม่หลุดพ้น”
(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๕) และดู วิ.ม. ๕/๒๔๓/๔
๒ พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ หมายถึงตั่ง เตียง แผ่นกระดาน แผ่นหิน หรือกองทรายที่ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรปูลาด
ไว้เพื่อเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคที่จะเสด็จมาให้โอวาท แก้อารมณ์กัมมัฏฐานถึงที่อยู่ของตน ถ้าหา
อาสนะนั้นไม่ได้ จะใช้ใบไม้เก่า ๆ ปูลาดก็ได้ โดยลาดสังฆาฏิไว้บน นี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับภิกษุ
นักปฏิบัติ ในที่นี้จึงหมายถึงพุทธอาสน์นั้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๕,อ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๕/๑๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร
แม้ท่านพระโสณะก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสกับท่านพระโสณะดังนี้ว่า
“โสณะ เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด มีความคิดคำนึงในจิตดังนี้ว่า ‘ในบรรดา
พระสาวกของพระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิต
ของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นเล่า ทรัพย์สมบัติในตระกูล
ของเรามีอยู่ เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ ทางที่ดี เราควรบอกคืน
สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ’ มิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เมื่อครั้งที่เธอ
อยู่ครองเรือนนั้น เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดีดพิณมิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอตึงเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอหย่อนเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป ขึงอยู่ในระดับที่พอเหมาะ พิณของเธอมีเสียงใช้
การได้หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “ใช้การได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โสณะ เช่นเดียวกัน ความเพียรที่ปรารภเกินไป
ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร
เกียจคร้าน ฉะนั้น เธอจงตั้งความเพียรให้พอดี จงปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน๑ และจง
ถือเอานิมิต๒ในความเสมอกันนั้น”
ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว
ทรงหายไปจากป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะมาปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ครั้นต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน
และถือเอานิมิตในความเสมอกันนั้น ได้หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำ๓เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๔” ท่านพระโสณะ
ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า อินทรีย์ ในคำว่า ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน นั้น หมายถึงอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ
และปัญญา ที่พระผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานต้องปรับให้เสมอกัน กล่าวคือ (๑) ปรับศรัทธากับปัญญาให้
เสมอกัน เพราะถ้าศรัทธามากกว่าปัญญาบุคคลก็จะเลื่อมใสจนเกินไป หรือเลื่อมใสในเหตุที่ไม่น่าเลื่อมใส
ถ้าปัญญามากกว่าศรัทธา บุคคลก็จะหนักไปข้างอวดดีเป็นเหมือนโรคดื้อยารักษาให้หายยาก ถ้าธรรมทั้งสอง
เสมอกัน บุคคลจะเลื่อมใสในเหตุที่น่าเลื่อมใส (๒) ปรับสมาธิกับวิริยะให้เสมอกัน เพราะถ้าสมาธิมากกว่า
วิริยะ ความเกียจคร้านจะครอบงำ เนื่องจากสมาธิเป็นฝ่ายเดียวกันกับความเกียจคร้าน ถ้าวิริยะมากกว่า
สมาธิ ความฟุ้งซ่านจะครอบงำ เนื่องจากวิริยะเป็นฝ่ายเดียวกันกับความกันฟุ้งซ่าน ดังนั้น สมาธิที่ประกอบ
ควบคู่กับวิริยะ จิตจะไม่ตกไปในฝ่ายความเกียจคร้าน วิริยะที่ประกอบควบคู่กับสมาธิ จิตจะไม่ตกไป
ในฝ่ายความฟุ้งซ่าน
แต่สำหรับ สติ นั้น พระผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานควรบำเพ็ญให้มีพลังทุกที่ทุกเวลา ดุจเกลือ จำต้องมีใน
กับข้าวทุกอย่าง ดุจอำมาตย์ผู้ชำนาญการ จำต้องปรารถนาในราชการทุกอย่าง (เทียบ วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๔,
องฺ. ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๖, วิสุทธิ. ๑/๖๒/๑๔๐-๑๔๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๓)
๒ ถือเอานิมิต ในที่นี้หมายถึงเพิ่มพูนให้สมถนิมิต วิปัสสนานิมิต มัคคนิมิต และผลนิมิตเกิดขึ้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/
๕๕/๑๓๖, สารัตถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๓)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ปัญจกนิบาต ข้อ ๕๖ (อุปัชฌายสูตร) หน้า ๙๘ ในเล่มนี้
๔ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมัคคญาณเพื่อความสิ้น
กิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า การบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ. ๒๔๓/๒๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร
ครั้งนั้น ท่านพระโสณะผู้ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ทาง
ที่ดี เราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วพยากรณ์อรหัตตผลในสำนัก
พระผู้มีพระภาคเถิด” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ย่อมน้อมไป๑ในฐานะ ๖ ประการ๒ คือ
๑. น้อมไปในเนกขัมมะ
๒. น้อมไปในปวิเวก
๓. น้อมไปในความไม่เบียดเบียน
๔. น้อมไปในความสิ้นตัณหา
๕. น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน
๖. น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง
บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้อาศัยคุณเพียง
ศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่ จึงน้อมไปในเนกขัมมะ’ แต่ข้อนี้ไม่พึงเห็นอย่างนั้น
เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตน
ยังจะต้องทำกิจอะไรอีก หรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว๓ ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะ
เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะเพราะสิ้นโทสะ เพราะ
ปราศจากโทสะ ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะเพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า น้อมไป แปลจากบาลีว่า ‘อธิมุตฺโต’ หมายถึง ‘ปฏิวิชฺฌิตฺวา ปจฺจกฺขํ กตฺวา _โต’ แปลว่า “แทงตลอด
แล้ว ทำให้ประจักษ์ชัดแล้ว ดำรงอยู่” (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๗)
๒ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุ ๖ ประการเป็นคำใช้แทนอรหัตตผล ที่มีชื่อเรียกว่า เนกขัมมะ เพราะออกไป
จากกิเลสทั้งปวงได้ ที่มีชื่อเรียกว่า ปวิเวก เพราะสงัดจากกิเลสทั้งหลาย ที่มีชื่อเรียกว่า ความไม่เบียด
เบียนกัน (อัพยาบาท) เพราะไม่มีความเบียดเบียน ที่มีชื่อเรียกว่า ความสิ้นตัณหา (ตัณหักขยะ) เพราะ
เกิดขึ้นในที่สุดแห่งการสิ้นตัณหา ที่มีชื่อเรียกว่า ความสิ้นอุปาทาน (อุปาทานักขยะ) เพราะเกิดขึ้น
ในที่สุดแห่งการสิ้นอุปาทาน ที่มีชื่อเรียกว่า ความไม่ลุ่มหลง (อสัมโมหะ) เพราะปราศจากความลุ่มหลง
(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๗)
๓ หมายถึงไม่เห็นว่าจะต้องทำกิจ ๔ อย่าง มีปริญญากิจ (หน้าที่กำหนดรู้ทุกข์) เป็นต้น (ดูรายละเอียดในเชิง
อรรถข้อ ๕๖ หน้า ๙๘) และไม่เห็นว่าจะต้องเพิ่มพูนกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เคยทำมาก่อนอีก (องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๕๕/๑๓๗, ขุ.เถร.อ. ๖๔๔/๒๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร
บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้ต้องการลาภ
สักการะและการสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมไปในปวิเวก๑’ ‘แต่ข้อนี้ก็ไม่พึงเห็นอย่างนั้น
เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตน
ยังจะต้องทำกิจอะไรอีก หรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมน้อมไปในปวิเวกเพราะสิ้น
ราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปในปวิเวก เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจาก
โทสะ ย่อมน้อมไปในปวิเวกเพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้ถือสีลัพพต-
ปรามาส๒เป็นสาระเป็นแน่ จึงน้อมไปในความไม่เบียดเบียน’ แต่ข้อนี้ก็ไม่พึงเห็น
อย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่เห็นว่าตนยังจะต้องทำกิจอะไรอีก หรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมน้อมไปใน
ความไม่เบียดเบียนเพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปในความไม่
เบียดเบียนเพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมน้อมความไม่เบียดเบียน
เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมน้อมไปในความสิ้นตัณหา
เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปในความสิ้นตัณหา เพราะสิ้น
โทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมน้อมไปในความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นโมหะ เพราะ
ปราศจากโมหะ
บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมน้อมไปในความสิ้นอุปาทาน
เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปความสิ้นอุปาทานเพราะสิ้น
โทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมน้อมไปในความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นโมหะ
เพราะปราศจากโมหะ
บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมน้อมไปในความไม่ลุ่มหลง
เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปในความไม่ลุ่มหลงเพราะสิ้น

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความว่า “ท่านรูปนี้ต้องการลาภสักการะและการสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมไปในวิเวก” นี้ อรรถกถา
อธิบายขยายความว่า “ท่านรูปนี้ต้องการลาภสักการะและการสรรเสริญเป็นแน่ จึงพยากรณ์พระอรหัตต-
ผลอย่างนี้ว่า ‘เราน้อมไปในปวิเวก” (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๗)
๒ สีลัพพตปรามาส คือความยึดถือว่าบุคคลบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีล และวัตร (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร
โทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมน้อมไปในความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นโมหะ เพราะ
ปราศจากโมหะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ารูปารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางตา มาปรากฏ
ทางตาของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ รูปารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำ
จิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคง
หนักแน่น และภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
ถ้าสัททารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
ถ้าคันธารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
ถ้ารสารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
ถ้าโผฏฐัพพารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ฯลฯ
แม้ถ้าธรรมารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางใจ มาปรากฏทางใจของภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้น
ได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น
และภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
จิตของพระขีณาสพผู้น้อมไปในเนกขัมมะ
น้อมไปในปวิเวก น้อมไปในความไม่เบียดเบียน
น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน
น้อมไปในความสิ้นตัณหา และน้อมไปในความไม่ลุ่มหลง
ย่อมหลุดพ้นโดยชอบเพราะเห็นความเกิดแห่งอายตนะ๑
ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับหลุดพ้นโดยชอบ
ย่อมไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว
ทั้งไม่มีกิจที่จะต้องทำอีก
ภูเขาหินแท่งทึบย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งมวล

เชิงอรรถ :
๑ รวมถึงความดับแห่งอายตนะด้วย (วิ.อ. ๓/๒๔๓-๒๔๔/๑๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๔/๓๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๒. ผัคคุณสูตร
ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์
ย่อมทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉันนั้น
จิตของผู้คงที่นั้นเป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไร
เพราะท่านผู้คงที่พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น๑
โสณสูตรที่ ๑ จบ
๒. ผัคคุณสูตร
ว่าด้วยพระผัคคุณะอาพาธ
[๕๖] สมัยนั้นแล ท่านพระผัคคุณะ อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น
ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระผัคคุณะ
อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มี
พระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะถึงที่อยู่เถิด
พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยพระอาการดุษณี
ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น๒เสด็จเข้าไปหาท่าน
พระผัคคุณะถึงที่อยู่ ท่านพระผัคคุณะได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล
จึงลุกขึ้นจากเตียง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระผัคคุณะว่า “อย่าเลย
ผัคคุณะ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะที่ภิกษุอื่นปูลาดไว้ยังมีอยู่ เราจักนั่งบน
อาสนะนั้น” พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้ตรัสถามท่าน
พระผัคคุณะดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ความเกิดดับของจิตนั้น” แปลตามนัย องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๘ แต่ใน ขุททกนิกาย แปลว่า
“ความเสื่อมไปแห่งอารมณ์นั้น” ตามนัย ขุ.เถร.อ. ๒/๖๔๔/๒๖๓ ดู วิ.ม. ๕/๒๔๓/๔-๕, ขุ.เถร. (แปล)
๒๖/๖๔๐-๖๔๔/๔๕๐
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๗ (โสปปสูตร) หน้า ๔๓๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๒. ผัคคุณสูตร
“ผัคคุณะ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลา ไม่กำเริบ
หรืออาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ๑”
ท่านพระผัคคุณะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สบาย
จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการ
กำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงใช้เหล็กแหลมที่คมแทงศีรษะ ฉันใด ลมอันแรงกล้า
ก็เสียดแทงศีรษะของข้าพระองค์ ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่
ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบ
ปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรง พึงใช้เชือกหนังที่เหนียวรัดที่ศีรษะ ฉันใด ความ
เจ็บปวดในศีรษะของข้าพระองค์ก็มีประมาณยิ่งฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบาย
จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการ
กำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญพึงใช้มีดแล่เนื้อที่คม
กรีดท้อง ฉันใด ลมอันแรงกล้าก็เสียดแทงท้องของข้าพระองค์ ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น
ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรง ๒ คนพึงจับแขนคนที่อ่อนแอกว่าคนละข้าง ย่างให้
ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง ฉันใด ความเร่าร้อนในกายของข้าพระองค์ก็มีมากยิ่งฉันนั้น
เหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่
กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ๒
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้ท่านพระผัคคุณะเห็นชัด ชวนใจ
ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากพุทธอาสน์จากไป

เชิงอรรถ :
๑ ดู สํ.สฬา. ๑๘/๗๔/๖๖
๒ ดู ม.มู. ๑๒/๓๗๘/๓๓๙-๓๔๐, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๗/๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๒. ผัคคุณสูตร
ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้มรณภาพ
แล้ว ในเวลามรณภาพ อินทรีย์๑ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ต่อมา ท่านพระอานนท์เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน
ท่านพระผัคคุณะได้มรณภาพแล้ว และในเวลามรณภาพอินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก”
อานิสงส์การฟังธรรม
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ อินทรีย์ของผัคคุณภิกษุจักไม่ผ่องใสได้
อย่างไร แรกทีเดียวจิตของผัคคุณภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์
(สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕ ประการ แต่เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของผัคคุณภิกษุ
จึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ
อานนท์ การฟังธรรมตามกาล การพิจารณาเนื้อความตามกาลมีอานิสงส์ ๖
ประการนี้
อานิสงส์ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ประการ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอได้เห็นตถาคต ตถาคต
แสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของ
เธอจึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ นี้เป็นอานิสงส์
ประการที่ ๑ ในการฟังธรรมตามกาล
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ประการ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้
เห็นสาวกของตถาคต สาวกของตถาคตแสดงธรรมที่มีความงามใน

เชิงอรรถ :
๑ อินทรีย์ ในที่นี้หมายถึงอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๖/๑๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๒. ผัคคุณสูตร
เบื้องต้น มีความงามในท่านกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน
แก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงหลุดพ้นจาก
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ ในการ
ฟังธรรมตามกาล
๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ประการ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นตถาคต ทั้งไม่ได้
เห็นสาวกของตถาคต แต่ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจ
ซึ่งธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา เมื่อเธอตรึก
ตามตรองตามเพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ได้
เรียนมา จิตของเธอจึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ
นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ ในการพิจารณาเนื้อความตามกาล
๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ประการ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ-
กิเลสอันยอดเยี่ยม๑ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอได้เห็นตถาคต
ตถาคตย่อมแสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน
ท่ามกลาง ฯลฯ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน
แก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงน้อมไปในธรรม
เป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔
ในการฟังธรรมตามกาล
๕. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ประการ แต่จิตของเธอไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
อันยอดเยี่ยม ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นตถาคต
แต่เธอได้เห็นสาวกของตถาคต สาวกของตถาคตแสดงธรรมที่มี
ความงามในเบื้องต้น ฯลฯ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์
ครบถ้วนแก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงน้อมไป

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๖/๑๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๓. ฉฬภิชาติสูตร
ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์
ประการที่ ๕ ในการฟังธรรมตามกาล
๖. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ประการ แต่จิตของเธอไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
อันยอดเยี่ยม ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นทั้งตถาคต
ทั้งไม่ได้เห็นสาวกของตถาคต แต่เธอตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตาม
ด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา เมื่อเธอ
ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา
ตามที่ตนได้เรียนมา จิตของเธอจึงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่ง
อุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๖ ในการพิจารณา
เนื้อความตามกาล
อานนท์ การพิจารณาเนื้อความตามกาลมีอานิสงส์ ๖ ประการนี้แล
ผัคคุณสูตรที่ ๒ จบ
๓. ฉฬภิชาติสูตร
ว่าด้วยอภิชาติ๑ ๖ จำพวก
[๕๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณะ กัสสปะบัญญัติอภิชาติ ๖ จำพวก คือ
๑. บัญญัติกัณหาภิชาติ (ชาติดำ)
๒. บัญญัตินีลาภิชาติ (ชาติเขียว)
๓. บัญญัติโลหิตาภิชาติ (ชาติแดง)

เชิงอรรถ :
๑ อภิชาติ ในที่นี้หมายถึงการกำหนดหมายชนเป็นชั้น เป็นกลุ่ม เช่นหมู่คนที่ประพฤติอย่างนี้ ๆ กำหนดเรียก
อย่างนี้ ๆ (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๗) หรือหมายถึงชาติกำเนิด (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๗/๑๓๙, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๗/
๑๕๐) และดู ที.สี. (แปล) ๙/๑๖๘/๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๓. ฉฬภิชาติสูตร
๔. บัญญัติหลิททาภิชาติ (ชาติเหลือง)
๕. บัญญัติสุกกาภิชาติ (ชาติขาว)
๖. บัญญัติปรมสุกกาภิชาติ (ชาติขาวยิ่ง)
ปูรณะ กัสสปะบัญญัติคนฆ่าแพะ คนฆ่าสุกร พรานนก พรานเนื้อ ชาวประมง
โจร เพชฌฆาต เจ้าหน้าที่เรือนจำ หรือคนทำงานที่โหดร้ายอื่น ๆ ว่าเป็นกัณหาภิชาติ
บัญญัติพวกภิกษุผู้โน้มเอียงไปในฝ่ายดำ หรือพวกกัมมวาทะ กิริยวาทะอื่น ๆ
ว่าเป็นนีลาภิชาติ
บัญญัตินิครนถ์ผู้ใช้ผ้าผืนเดียวว่าเป็นโลหิตาภิชาติ
บัญญัติคฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว หรือสาวกของอเจลก๑ว่าเป็นหลิททาภิชาติ
บัญญัติอาชีวกหรืออาชีวิกาว่าเป็นสุกกาภิชาติ
บัญญัติเจ้าลัทธิชื่อว่า นันทวัจฉโคตร เจ้าลัทธิชื่อกิสสังกิจจโคตร เจ้าลัทธิ
ชื่อมักขลิโคสาลว่าเป็นปรมสุกกาภิชาติ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณะ กัสสปะบัญญัติอภิชาติ ๖ ประการนี้ไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ การที่ปูรณะ กัสสปะบัญญัติอภิชาติ ๖
ประการนี้ไว้ ชาวโลกทั้งปวงเห็นคล้อยตามด้วยหรือ”
พระอานนท์กราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ คนทั้งหลายบังคับบุรุษยากจน ขัดสน
เข็ญใจ ผู้ไม่ปรารถนาส่วนเนื้อว่า ‘แน่ะบุรุษผู้เจริญ ท่านพึงกินเนื้อนี้ และต้องให้
ค่าเนื้อ’ ฉันใด ปูรณะ กัสสปะก็ฉันนั้นเหมือนกัน บัญญัติอภิชาติ ๖ ประการนี้
สำหรับสมณพราหมณ์เหล่านั้นไว้ โดยที่ชาวโลกทั้งปวงก็ไม่ยอมรับ เหมือนคนพาล
ไม่เฉียบแหลม ไม่รู้หลักการบัญญัติ ไม่ฉลาด
อานนท์ เราก็บัญญัติอภิชาติ ๖ ประการไว้ ขอเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว”

เชิงอรรถ :
๑ สาวกของอเจลก หมายถึงสาวกของอาชีวก (นักบวชเปลือย) ซึ่งถือตัวว่าตนมีจิตขาวสะอาดบริสุทธิ์กว่า
พวกนิครนถ์และยกย่องผู้ที่ให้ปัจจัยแก่ตนว่าประเสริฐกว่าพวกนิครนถ์เช่นกัน (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๗/๑๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๓. ฉฬภิชาติสูตร
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อานนท์ อภิชาติ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นกัณหาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ
๕. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว
๖. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นสุกกาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว
บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูล
นายพราน ตระกูลช่างสาน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนขนขยะ ซึ่งเป็นตระกูล
ยากจน มีข้าวน้ำและสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของ
กินและเครื่องนุ่งห่มได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความ
เจ็บป่วยมาก ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอกหรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว
น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป
และเขายังประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต๑ นรก
บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ฯลฯ
มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่อง
ประทีป แต่เขาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต หลังจากตายแล้วจึงไป
เกิดในสุคติโลกสวรรค์
บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ อบาย ทุคติ วินิบาต ทั้ง ๓ คำนี้เป็นไวพจน์ของนรก (องฺ.เอกก.อ. ๑/๔๓/๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๓. ฉฬภิชาติสูตร
บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ฯลฯ
และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย เขาโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาผู้บวชแล้วอย่างนี้ ละนิวรณ์ ๕
ประการอันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔
ประการ๑ เจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ๒ ตามความเป็นจริงแล้ว บรรลุนิพพานที่ไม่ดำ
ไม่ขาว
บุคคลเป็นกัณหาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล
ตระกูลพราหมณมหาสาล ตระกูลคหบดีมหาศาล ซึ่งเป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์
มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าว
เปลือกมาก๓ และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก มักได้ข้าว
น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แต่เขา
ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก
บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมดำ เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ฯลฯ
มักได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่อง

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ม. ๑๐/๓๗๒-๓๗๔/๒๔๘-๒๔๙, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๓๕๕/๓๐๖, ๓๗๔/๓๑๙
๒ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑, องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๕๗-๑๖๓/๔๐๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๔๖๖-๔๗๑/๓๕๘-๓๖๑
๓ มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ในที่นี้หมายถึงมีทรัพย์คือโคเป็นต้น และมีปุพพัณณชาติ ได้แก่ ธัญญชาติ
๗ ชนิด คือ (๑) ข้าวเปลือก (๒) ข้าวเจ้า (๓) หญ้ากับแก้ (๔) ข้าวละมาน (๕) ลูกเดือย (๖) ข้าวเหนียว
(๗) ข้าวละมาน ตลอดถึงมีอปรัณณชาติ ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังอาหารมากมาย
(วิ.อ. ๑/๑๐๔/๓๖๘, สารตฺถ.ฏีกา ๒/๑๐๔/๑๗๖, สํ.สฬา.อ. ๑/๑๑๔/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๔. อาสวสูตร
ประทีป และเขายังประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต หลังจากตายแล้ว
จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง คือตระกูลขัตติยมหาศาล
ตระกูลพราหมณมหาศาล ตระกูลคหบดีมหาศาล ซึ่งเป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์
มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าว
เปลือกมาก และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก เขาโกน
ผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาผู้บวช
แล้วอย่างนี้ ละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา
มีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔ ประการ เจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ ตามความ
เป็นจริงแล้ว บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาวอย่างนี้
บุคคลเป็นสุกกาภิชาติ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว เป็นอย่างนี้แล
อานนท์ อภิชาติ ๖ ประการนี้แล
ฉฬภิชาติสูตรที่ ๓ จบ
๔. อาสวสูตร
ว่าด้วยอาสวธรรม๑
[๕๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการสังวร๒
๒. ละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการใช้สอย

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ม. ๑๐/๑๔๒/๗๓, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๒๑/๓๔๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖-๕๘๗
๒ สังวร เป็นชื่อของสติ หมายถึงการระวัง การปิด การกั้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๘/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๔. อาสวสูตร
๓. ละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยความอดกลั้น
๔. ละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเว้น
๕. ละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการบรรเทา๑
๖. ละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเจริญ
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการสังวร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว๒ เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวร
ในจักขุนทรีย์อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะ๓และความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อม
ไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้สำรวมด้วยการ
สังวรในโสตินทรีย์ ... ฆานินทรีย์ ... ชิวหินทรีย์ ... กายินทรีย์ ... เป็นผู้สำรวมด้วย
การสังวรในมนินทรีย์อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้นก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความ
คับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการสังวร
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการใช้สอย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยจีวรเพียงเพื่อป้องกัน
ความหนาว ความร้อน เหลือบยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน

เชิงอรรถ :
๑ ดู อปัสเสนธรรม ๔ ประการ ใน องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๐/๔๐, ที.ปา ๑๑/๓๐๘/๒๐๐, ที.ปา.อ. ๓๐๘/๒๐๔
๒ โดยแยบคาย ในที่นี้หมายถึงโดยอุบายหรือแนวทาง ได้แก่ พิจารณาเห็นโทษของการไม่สำรวมจักขุนทรีย์
เป็นต้น เช่น พิจารณาเปรียบเทียบว่าการถูกทิ่มแทงด้วยหลาวเหล็กแดงอันร้อนลุกโชน ยังดีกว่าการไม่
พิจารณาแล้วเกิดอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ในรูปเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๘/๑๓๙)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ปัญจกนิบาต ข้อ ๒๐๐ (นิสสารณียสูตร) หน้า ๓๔๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๔. อาสวสูตร
เพื่อปกปิดอวัยวะที่น่าละอาย พิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันบิณฑบาต ไม่ใช่เพื่อ
เล่น ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา๑ ไม่ใช่เพื่อประดับ๒ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง๓ แต่เพื่อกายนี้ดำรง
อยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยคิดเห็นว่า ‘โดยอุบายนี้เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่
เกิดขึ้น ความดำรงอยู่แห่งชีวิต ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา’
พิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยเสนาสนะเพื่อป้องกันความหนาว ความร้อน
เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพื่อบรรเทาอันตรายที่เกิด
จากฤดู และยินดีในการหลีกเร้น พิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยคิลานปัจจัย-
เภสัชชบริขาร๔ เพื่อบรรเทาเวทนาที่เกิดจากอาพาธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อไม่มี
ความเบียดเบียนเป็นที่สุด๕ ซึ่งเมื่อเธอไม่ใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้นก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอใชัสอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความ
คับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการใช้สอย
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยความอดกลั้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้อดทนต่อความหนาว
ความร้อน ความหิว กระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน

เชิงอรรถ :
๑ เพื่อความมัวเมา หมายถึงความถือตัว ความลำพองตน ความทะนงตน ความเห่อเหิม ในที่นี้หมายถึง
ความถือตัวว่ามีกำลังเหมือนนักมวยปล้ำ ความถือตัวเพราะมานะ และความถือตัวว่าเป็นชาย (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
๓/๕๘/๑๕๕) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๔๕/๕๕๐
๒ เพื่อประดับ ในที่นี้หมายถึงเพื่อให้ร่างกายอ้วนพีอวบอิ่มเหมือนหญิงแพศยา (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๕๘/๑๕๕,
วิสุทธิ. ๑/๑๘/๓๓)
๓ เพื่อตกแต่ง ในที่นี้หมายถึงเพื่อประเทืองผิวให้งดงามเหมือนหญิงนักฟ้อน (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๕๘/๑๕๕,
วิสุทธิ. ๑/๑๘/๓๓)
๔ คำว่า คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร แยกอธิบายความหมายดังนี้ ยาที่ชื่อว่า คิลานปัจจัย เพราะเป็นเครื่อง
ปราบโรค ที่ชื่อว่า เภสัช เพราะเป็นวัตถุที่หมออนุญาตให้ใช้ได้ และที่ชื่อว่า บริขาร เพราะเป็นสัมภาระ
เครื่องนำชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๗, วิสุทฺธิ ๑/๑๘/๓๖)
๕ เพื่อไม่มีความเบียดเบียนเป็นที่สุด หมายถึงเพื่อไม่ให้มีความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/
๑๕๗, วิสุทธิ. ๑/๑๘/๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๔. อาสวสูตร
เป็นผู้อดกลั้นต่อคำหยาบ คำส่อเสียด ต่อเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายเป็นทุกข์
กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิตได้ ซึ่งเมื่อเธอไม่อดกลั้นอยู่
อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธออดกลั้นอยู่ อาสวะ
และความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยความอดกลั้น
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเว้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นช้างดุร้าย เว้นม้าดุร้าย
เว้นโคดุร้าย เว้นสุนัขดุร้าย เว้นงู หลัก ตอ สถานที่มีหนาม หลุม เหว บ่อน้ำครำ
บ่อโสโครก และพิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นสถานที่ไม่ควรนั่ง สถานที่ไม่ควร
เที่ยวไป และมิตรชั่ว ที่เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายลงความเห็นว่าเป็นฐานะที่เป็น
บาปเสีย ซึ่งเมื่อเธอไม่เว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นก็จะพึง
เกิดขึ้น เมื่อเธอเว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มีแก่เธอ
ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเว้น
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการบรรเทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ
บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป พิจารณาโดยแยบคายแล้ว
ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับบาป
อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้น
ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งเมื่อเธอไม่บรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอบรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อม
ไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการบรรเทา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๔. อาสวสูตร
ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเจริญ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเจริญสติสัมโพชฌงค์ที่อาศัย
วิเวก๑ อาศัยวิราคะ (ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ (ความดับ) น้อมไปในการสละ
พิจารณาโดยแยบคายแล้วเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญวิริยสัมโพชฌงค์
ฯลฯ เจริญปีติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญสมาธิ-
สัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
น้อมไปในการสละ ซึ่งเมื่อเธอไม่เจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นย่อมไม่มี
แก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภิกษุละอาสวะที่จะพึงละได้ด้วยการเจริญ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของที่เขา
นำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญ
อันยอดเยี่ยมของโลก
อาสวสูตรที่ ๔ จบ


เชิงอรรถ :
๑ วิเวก ในที่นี้หมายถึงวิเวก (ความสงัด) ๕ ประการ คือ (๑) วิกขัมภนวิเวก (สงัดด้วยการข่มไว้ คือการสงัด
จากกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น) (๒) ตทังควิเวก (สงัด
ด้วยองค์นั้น ๆ คือ สงัดจากกิเลสด้วยธรรมที่เป้นคู่ปรับหรือธรรมที่ตรงกันข้าม เช่น สงัดจากสักกายทิฏฐิ
ด้วยความรู้ที่กำหนดแยกนามรูปออกได้ เป็นการสงัดชั่วคราวในกรณีนั้น ๆ) (๓) สมุจเฉทวิเวก (สงัดด้วย
การตัดขาดคือสงัดจากกิเลสได้เด็ดขาดด้วยโลกุตตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ๆ) (๔) ปัสสัทธิวิเวก (สงัด
ด้วยการสงบระงับ คืออาศัยโลกุตตรมรรค สงัดจากกิเลสได้เด็ดขาดบรรลุโลุกตตรผล กิเลสเป็นอันสงบ
ระงับไปหมดแล้วไม่ต้องขวนขวายเพื่อสงัดอีกในขณะแห่งผลนั้น ๆ) (๕) นิสสรณวิเวก (สงัดด้วยการสลัด
ออกได้ คือสงัดจากกิเลสได้หมดสิ้น ดำรงอยู่ในภาวะที่กิเลสสงัดแล้วยั่งยืนตลอดไป) ได้แก่ อมตธาตุคือ
นิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๒/๑๐)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๕. ทารุกัมมิกสูตร
๕. ทารุกัมมิกสูตร
ว่าด้วยคหบดีชื่อทารุกัมมิกะ
[๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คิญชกาวสถาราม ครั้งนั้น คหบดี
ชื่อว่าทารุกัมมิกะ๑ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามดังนี้ว่า
“คหบดี ทานประจำตระกูลท่านยังให้อยู่หรือ”
คหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานประจำตระกูลข้าพระองค์ยัง
ให้อยู่ ทั้งทานนั้นข้าพระองค์ให้ในภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตตมรรค
ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “คหบดี ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นกามโภคี
อยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร ใช้สอยผงแก่นจันทน์จากแคว้นกาสี ทัดทรง
ดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ พึงรู้ข้อนี้ได้ยากว่า
‘เหล่านี้คือพระอรหันต์ เหล่านี้คือท่านผู้บรรลุอรหัตตมรรค’
คหบดี
๑. ถ้าภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า
พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิต
กวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียน
ด้วยเหตุนั้น ถ้าภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว
ไม่โลเล ไม่ปากกล้า ไม่พูดพร่ำเพรื่อ มีสติมั่นคง มีสัมปชัญญะ
มีจิตตั้งมั่น มีจิตแน่วแน่ สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น
พึงได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ทารุกัมมิกะ หมายถึงอุบาสกผู้ประกอบอาชีพขายฟืน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๙/๑๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๕. ทารุกัมมิกสูตร
๒. ถ้าภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น
พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน
ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
๓. ถ้าภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็น
อย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
เป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับ
การสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
๔. ถ้าภิกษุผู้รับนิมนต์ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น
พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าภิกษุรับนิมนต์ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ
เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
๕. ถ้าภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็น
อย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับ
การสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
๖. ถ้าภิกษุผู้ทรงคหบดีจีวร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า
พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิต
กวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียน
ด้วยเหตุนั้น ถ้าแม้ภิกษุผู้ทรงคหบดีจีวร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว
ไม่โลเล ไม่ปากกล้า ไม่พูดพร่ำเพรื่อ มีสติมั่นคง มีสัมปชัญญะ
มีจิตตั้งมั่น มีจิตแน่วแน่ สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น
พึงได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
คหบดี เชิญท่านถวายสังฆทานเถิด เมื่อท่านถวายสังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส
หลังจากตายแล้วท่านจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
คหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักถวายสังฆทานตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไป”
ทารุกัมมิกสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
ว่าด้วยท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร
[๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง
พาราณสี สมัยนั้นแล ภิกษุเถระจำนวนมากกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันอาหาร
เสร็จแล้ว นั่งประชุมสนทนาอภิธัมมกถาอยู่ในโรงฉัน๑ทราบว่า ในที่ประชุมนั้น
เมื่อภิกษุผู้เป็นเถระกำลังสนทนาอภิธัมมกถากันอยู่ ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรก็พูด
สอดขึ้นในระหว่าง
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโกฏฐิกะได้กล่าวกับท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรว่า
“เมื่อภิกษุผู้เป็นเถระกำลังสนทนาอภิธัมมกถากันอยู่ ท่านจิตตหัตถิสารีบุตรพูดสอด
ขึ้นในระหว่าง ขอให้ท่านจิตตหัตถิสารีบุตรรอคอยจนกว่าภิกษุผู้เป็นเถระจะสนทนา
กันจบ”
เมื่อท่านพระมหาโกฏฐิกะกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกภิกษุผู้เป็นสหายของท่าน
พระจิตตหัตถิสารีบุตรได้กล่าวกับท่านมหาโกฏฐิกะว่า “แม้ท่านพระมหาโกฏฐิกะก็
อย่ารุกรานท่านจิตตหัตถิสารีบุตร เพราะท่านจิตตหัตถิสาริบุตรเป็นบัณฑิต และ
ท่านสามารถกล่าวอภิธัมมกถากับภิกษุผู้เป็นเถระได้”
ท่านพระมหาโกฏฐิกะได้กล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ทราบวาระจิต
ของผู้อื่นพึงรู้ข้อนี้ได้ยาก คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้สงบเสงี่ยม อ่อนน้อม เรียบร้อย ตลอด
เวลาที่ยังอาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารีผู้ดำรงอยู่ในฐานะ
เป็นครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่ แต่เมื่อใด เขาหลีกไปจากพระศาสดา
หลีกไปจากเพื่อนพรหมจารีซึ่งดำรงอยู่ในฐานะเป็นครู เมื่อนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ฉักกนิบาต ข้อ ๒๘ (ทุติยสมยสูตร) หน้า ๔๖๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
เขาคลุกคลี๑อยู่กับเหล่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ และสาวกของเดียรถีย์ เมื่อ
เขาคลุกคลีอยู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบโอ้อวด ราคะจึง
รบกวนจิตเขา เขาถูกราคะรบกวนจิตแล้ว ย่อมบอกคืนสิกขากลับ
มาเป็นคฤหัสถ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนโคที่เคยกินข้าวกล้า
ถูกเขาผูกไว้ด้วยเชือกหรือขังไว้ในคอก ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘บัดนี้ โคตัวที่เคยกินข้าวกล้านี้จักไม่ลงกินข้าวกล้าอีก’ ผู้นั้นชื่อว่า
กล่าวถูกต้องหรือ ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น แต่เป็นไปได้
ที่โคที่เคยกินข้าวกล้าตัวนั้นพึงดึงเชือกขาดหรือแหกคอกแล้วลงไป
กินข้าวกล้าอีก ฉันใด ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สงบเสงี่ยม อ่อนน้อม เรียบร้อย ตลอด
เวลาที่ยังอาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารีผู้ดำรงอยู่ในฐานะ
เป็นครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่ แต่เมื่อใด เขาหลีกไปจากพระศาสดา
หลีกไปจากเพื่อนพรหมจารีซึ่งดำรงอยู่ในฐานะเป็นครู เมื่อนั้น
เขาคลุกคลีอยู่กับเหล่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ และสาวกของเดียรถีย์ เมื่อ
เขาคลุกคลีอยู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบโอ้อวด ราคะจึง
รบกวนจิตเขา เขาถูกราคะรบกวนจิตแล้ว ย่อมบอกคืนสิกขากลับ
มาเป็นคฤหัสถ์
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุ
ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เขา
กล่าวว่า ‘เราได้ปฐมฌาน’ แต่ยังคลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ฯลฯ
ย่อมบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบ
เหมือนฝนลูกเห็บ ตกที่ทางใหญ่สี่แพร่ง พึงทำฝุ่นให้หายไป

เชิงอรรถ :
๑ คลุกคลี ในที่นี้หมายถึงคลุกคลี ๕ อย่าง คือ (๑) คลุกคลีด้วยการฟัง (๒) คลุกคลีด้วยการพบเห็น
(๓) คลุกคลีด้วยการสนทนาปราศรัย (๔) คลุกคลีด้วยการใช้สอยรวมกัน (๕) คลุกคลีทางกาย (องฺ.ฉกฺก.
อ. ๓/๖๐/๑๔๔, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๖๐/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
ปรากฏเป็นทางลื่น ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ ฝุ่นจักไม่ปรากฏที่
ทางใหญ่สี่แพร่งโน้นอีก’ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือ ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น แต่เป็นไปได้ที่มนุษย์ โค หรือสัตว์เลี้ยง
พึงเหยียบน้ำที่ทางใหญ่สี่แพร่งโน้น หรือลมและแดดพึงแผดเผา
ให้แห้ง เมื่อเป็นเช่นนั้นฝุ่นก็พึงปรากฏอีกได้ ฉันใด ผู้มีอายุทั้งหลาย
บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สงัดจากกามและ
อกุสลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข
อันเกิดจากวิเวกอยู่ เขากล่าวว่า ‘เราได้ปฐมฌาน’ แต่ยังคลุกคลีอยู่
กับพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน
มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มี
วิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เขากล่าวว่า ‘เราได้
ทุติยฌาน’ แต่ยังคลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมบอกคืน
สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนฝนลูก
เห็บตกลงที่บึงใหญ่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม พึงยังหอยโข่ง หอยกาบ
ก้อนกรวด และกระเบื้องถ้วยให้หมดไป ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘บัดนี้ หอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด และกระเบื้องถ้วย จักไม่
ปรากฏในบึงโน้นอีก’ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือ ผู้มีอายุทั้งหลาย
ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น แต่เป็นไปได้ที่มนุษย์ โค และสัตว์เลี้ยงพึง
ดื่มน้ำในบึงโน้น หรือลมแดดพึงแผดเผาให้แห้งไป เมื่อเป็นเช่นนั้น
หอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด และกระเบื้องถ้วยก็พึงปรากฏได้อีก
ฉันใด ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสใน
ภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เขากล่าวว่า ‘เราได้ทุติยฌาน’ แต่ยัง
คลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติ-
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะ
ทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เขากล่าวว่า
‘เราได้ตติยฌาน’ แต่ยังคลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมบอก
คืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือน
อาหารที่ค้างคืน ไม่พึงยังบุรุษผู้ชอบบริโภคอาหารที่ประณีตให้ยินดีได้
ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ บุรุษโน้นจักไม่ชอบใจอาหารอีกแน่
‘ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือ ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น
แต่เป็นไปได้ที่อาหารอื่นจักไม่ยังบุรุษโน้นผู้ชอบบริโภคอาหารที่ประณีต
ให้ยินดีได้ตลอดเวลาที่รสอาหารนั้นจักดำรงอยู่ในร่างกายของเขา
แต่เมื่อใด รสอาหารนั้นจักหมดไป เมื่อนั้น อาหารนั้นก็พึงยังเขาให้
ยินดีอีกได้ ฉันใด ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญ
ว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เขากล่าวว่า ‘เราได้ตติยฌาน’
แต่คลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์
๕. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและ
โทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติ
บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เขากล่าวว่า ‘เราได้จตุตถฌาน’ แต่ยัง
คลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์ ผู้มีอายุ เปรียบเหมือนห้วงน้ำใกล้ภูเขาไม่มีลม ปราศจาก
คลื่น ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ คลื่นจักไม่ปรากฏที่ห้วงน้ำ
โน้นอีก’ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือ ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ไม่เป็น
เช่นนั้น แต่เป็นไปได้ที่ลมฝนอันแรงกล้าพึงพัดมาจากทิศตะวันออก
ทำให้เกิดคลื่นที่ห้วงน้ำนั้น ลมฝนที่พัดมาจากทิศตะวันตก ฯลฯ
ทิศเหนือ ฯลฯ ทิศใต้ ก็พึงทำให้เกิดคลื่นที่ห้วงน้ำนั้นได้ ฉันใด
ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
ละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุ
จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เขา
กล่าวว่า ‘เราได้จตุตถฌาน’ แต่ยังคลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ย่อม
บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
๖. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง จึงบรรลุ
เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิตอยู่ เขากล่าวว่า ‘เราได้เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิต’
แต่ยังคลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ เมื่อ
เขาคลุกคลีอยู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบพูดคุย ราคะจึง
รบกวนจิตเขา เขาถูกราคะรบกวนจิตแล้วย่อมบอกคืนสิกขากลับ
มาเป็นคฤหัสถ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพระราชา หรือ
มหาอำมาตย์ของพระราชา ยกกองทัพ ๔ เหล่า เดินทางไกลไป
พักแรมอยู่ที่แนวป่าแห่งหนึ่ง ในแนวป่านั้น เสียงจักจั่นเรไรพึงเงียบ
ไปเพราะเสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงพลเดินเท้า เสียงกึกก้อง
แห่งกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ และพิณ ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้
เสียงจักจั่นเรไรจักไม่ปรากฏที่แนวป่าโน้นอีก’ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกต้อง
หรือผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น แต่เป็นไปได้ที่ เมื่อใด
พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เสด็จหลีกไปจากแนวป่านั้น
เมื่อนั้น เสียงจักจั่นเรไร ก็พึงปรากฏได้อีก ฉันใด ผู้มีอายุทั้งหลาย
บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะไม่มนสิการ
ถึงนิมิตทั้งปวง บรรลุเจโตสมาธิอยู่ เขากล่าวว่า ‘เราได้เจโตสมาธิ
อันไม่มีนิมิต’ แต่ยังคลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์
สาวกของเดียรถีย์ เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์
ชอบพูดคุย ราคะจึงรบกวนจิตเขา เขาถูกราคะรบกวนจิตแล้ว
ย่อมบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์”
ต่อมา ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ พวกภิกษุ
ผู้เป็นสหายของจิตตหัตถิสารีบุตรได้เข้าไปหาท่านพระมหาโกฏฐิกะถึงที่อยู่แล้วถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
“ท่านพระมหาโกฏฐิกะกำหนดรู้ใจบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรด้วยใจว่า ‘บุรุษชื่อจิตต-
หัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์’ หรือเทวดาทั้งหลายแจ้งเนื้อความนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บุรุษชื่อว่า
จิตตหัตถิสารีบุตร เป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์”
ท่านพระมหาโกฏฐิกะกล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กำหนดรู้ใจบุรุษ
ชื่อว่าจิตตหัตถิสารีบุตรด้วยใจว่า ‘เป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักบอกคืน
สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์’ แม้เทวดาก็บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้า”
ลำดับนั้น พวกภิกษุผู้เป็นสหายของบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรได้พากันเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ
และได้บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่นานนัก บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตร
จักระลึกถึงคุณแห่งเนกขัมมะได้”
ต่อมา ไม่นานนัก จิตตหัตถิสารีบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อจิตตหัตถิสารีบุตรได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว
ไม่นาน หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท๑ มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก
ได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๒อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่กุลบุตรทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ประมาท ในที่นี้หมายถึงไม่ละสติในกัมมัฏฐาน (ม.ม.อ. ๒/๘๒/๘๐)
๒ ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล หรืออริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมรรคพรหมจรรย์ (องฺ.ทุก.อ.
๒/๕/๗, ม.มู.อ. ๒/๘๒/๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๗. มัชเฌสูตร
ผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์
ทั้งหลาย
หัตถิสารีปุตตสูตรที่ ๖ จบ
๗. มัชเฌสูตร
ว่าด้วยส่วนท่ามกลาง
[๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง
พาราณสี สมัยนั้นแล เมื่อภิกษุเถระจำนวนมากกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉัน
อาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกันที่โรงฉัน ได้สนทนากันขึ้นในระหว่างว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในติสสเมตเตยยปัญหานิทเทส๑ปารายนวรรคว่า
ผู้ใดรู้ชัดซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา๒
เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นมหาบุรุษ
ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัด๓ในโลกนี้ได้
เมื่อภิกษุทั้งหลายถามกันอย่างนี้ว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ส่วนสุดด้านหนึ่ง คือ
อะไร ส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง คืออะไร ท่ามกลาง คืออะไร เครื่องร้อยรัด คืออะไร”

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๔๗/๕๓๒,๑๐๔๙/๕๓๓, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๙/๗๓,๑๑/๗๙
๒ มันตา หมายถึงปัญญา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ความไม่หลงงมงาย (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๕) และดู
ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๙/๗๓,๑๑/๗๙ ประกอบ
๓ เครื่องร้อยรัด ในที่นี้หมายถึงตัณหา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๕) และดู ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑/๘๒ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๗. มัชเฌสูตร
ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ผัสสะ๑เป็น
ส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดผัสสะ๒เป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง ความดับผัสสะ๓อยู่ท่ามกลาง
ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหาย่อมร้อยรัดผัสสะและเหตุเกิดผัสสะนั้นไว้
เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งในธรรมที่ควร
รู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควร
กำหนดรู้ ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย อดีตเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง
ปัจจุบันอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหาย่อมร้อยรัดอดีต
อนาคต และปัจจุบันนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งในธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควร
รู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย สุขเวทนาเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดอีก
ด้านหนึ่ง อทุกขมสุขเวทนาอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหา
ย่อมร้อยรัดสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนานั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้น
แห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่
ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุด
แห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”

เชิงอรรถ :
๑ ผัสสะ หมายถึงอัตภาพนี้ (อัตภาพปัจจุบัน) เพราะเกิดขึ้นด้วยอำนาจผัสสะ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๕)
๒ เหตุเกิดผัสสะ หมายถึงอัตภาพในอนาคตที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยคือกรรมที่เคยทำไว้ในอัตภาพปัจจุบัน
(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๕)
๓ ความดับผัสสะ หมายถึงนิพพาน ที่ชื่อว่าอยู่ท่ามกลางระหว่างอัตภาพปัจจุบันกับอัตภาพอนาคต เพราะ
เป็นธรรมที่ตัดตัณหาอันเป็นเครื่องร้อยรัดอัตภาพทั้งสองนั้นได้ และเป็นธรรมที่แยกอัตภาพทั้งสองนั้นให้
อยู่คนละส่วนกัน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๗. มัชเฌสูตร
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย นามเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง รูปเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณ๑
อยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหาย่อมร้อยรัดนาม รูป และ
วิญญาณนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่ง
ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้
ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อายตนะภายนอก ๖
เป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะ
ตัณหาย่อมร้อยรัดอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ และวิญญาณนั้นไว้
เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง
กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้
ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย สักกายะ๒เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดสักกายะเป็นส่วนสุดอีก
ด้านหนึ่ง ความดับสักกายะอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหา
ย่อมร้อยรัดสักกายะ เหตุเกิดสักกายะ และความดับสักกายะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิด
ขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรม
ที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุด
แห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”

เชิงอรรถ :
๑ วิญญาณ ในที่นี้หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ ที่ชื่อว่าอยู่ท่ามกลางระหว่างนามกับรูปนั้น เพราะวิญญาณเป็น
ตัวก่อปัจจัยให้เกิดรูปกับนาม (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๗)
๒ สักกายะ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏะ ๓ คือ กิเลส กรรม วิบาก ที่เกี่ยวข้องในกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ หรือ
หมายถึงอุปาทานขันธ์ (ดูรายละเอียดในเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๔ หน้า ๔๓๓)
เหตุเกิดสักกายะ หมายถึงสมุทัยสัจ ได้แก่ ตัณหา
ความดับสักกายะ หมายถึงนิโรธสัจ ได้แก่ นิพพาน (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๖, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๑/๑๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๗. มัชเฌสูตร
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุเถระทั้งหลายว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเราเที่ยวพยากรณ์ตามปฏิภาณของตน มาเถิด พวกเรา
จักพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเนื้อความนี้ให้ทรงทราบ พระผู้มี
พระภาคจักทรงพยากรณ์แก่พวกเรา พวกเราก็จักทรงจำไว้ตามที่พระผู้มีพระภาค
ทรงพยากรณ์นั้น
ภิกษุเถระทั้งหลายรับคำของภิกษุนั้นแล้ว ลำดับนั้น ภิกษุเถระทั้งหลายได้
พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลคำสนทนาทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
คำของใครหนอกล่าวได้ไพเราะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหมดกล่าวดีแล้วตามเหตุนั้น ๆ
แต่ข้อความที่เรามุ่งกล่าวไว้ในติสสเมตเตยยปัญหานิทเทส ปารายนวรรคว่า
ผู้ใดรู้ชัดซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นมหาบุรุษ
ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้
เธอทั้งหลาย จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ผัสสะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดผัสสะเป็นส่วนสุดอีก
ด้านหนึ่ง ความดับผัสสะอยู่ท่ามกลาง ตัณหาจัดเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะตัณหา
ย่อมร้อยรัดผัสสะ และเหตุเกิดผัสสะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้น ๆ ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่ารู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่ง
ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน”
มัชเฌสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
ว่าด้วยญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคล
[๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของแคว้นโกศลชื่อทัณฑกัปปกะ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้
ทรงแวะลงจากหนทาง ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง
และภิกษุเหล่านั้นได้พากันเข้าไปสู่นิคมชื่อทัณฑกัปปกะ เพื่อแสวงหาที่พัก
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์พร้อมด้วยภิกษุจำนวนมาก ได้ไปยังแม่น้ำอจิรวดี
เพื่อสรงน้ำ ครั้นสรงน้ำเสร็จแล้ว ได้ขึ้นมานุ่งผ้าผืนเดียวยืนผึ่งตัวอยู่ ลำดับนั้น
ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์แล้วถามว่า “ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาค
ทรงกำหนดรู้เหตุทั้งหมดด้วยพระทัยแล้วหรือ จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า ‘เทวทัต
จะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ดำรงอยู่ตลอดกัป แก้ไขไม่ได้’ หรือว่าพระผู้มีพระภาค
ทรงกำหนดรู้เหตุบางอย่างเท่านั้น จึงได้ทรงพยากรณ์พระเทวทัตเช่นนี้”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ผู้มีอายุ ข้อนี้พระผู้มีพระภาคได้พยากรณ์ไว้
อย่างนี้แล”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์พร้อมด้วยภิกษุจำนวนมากได้ไปยังแม่น้ำอจิรวดี
เพื่อสรงน้ำ ครั้นสรงน้ำเสร็จแล้ว ได้ขึ้นมานุ่งผ้าผืนเดียวยืนผึ่งตัวอยู่ ลำดับนั้น
ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้ามาหาข้าพระองค์แล้วถามว่า ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรง
กำหนดรู้เหตุทั้งหมดด้วยพระทัยแล้วหรือ จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า ‘เทวทัตจะ
ต้องเกิดในอบาย ตกนรก ดำรงอยู่ตลอดกัป แก้ไขไม่ได้ หรือว่าพระผู้มีพระภาค
ทรงกำหนดรู้เหตุบางอย่างเท่านั้น จึงได้ทรงพยากรณ์พระเทวทัตเช่นนี้’ เมื่อภิกษุนั้น
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับภิกษุรูปนั้นว่า ‘ผู้มีอายุ ข้อนี้พระผู้มี
พระภาคได้ทรงพยากรณ์ไว้อย่างนี้แล”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุรูปนั้นคงเป็นภิกษุใหม่ บวชได้ไม่นาน
หรือว่าเป็นภิกษุเถระ แต่โง่เขลา ไม่เฉียบแหลม เพราะข้อที่เราพยากรณ์ว่าเป็นหนึ่ง
จักเป็นสองได้อย่างไร อานนท์ เราไม่เห็นบุคคลอื่นแม้คนหนึ่ง ซึ่งเรากำหนดรู้เหตุ
ทั้งหมดด้วยใจแล้ว จึงพยากรณ์อย่างนี้เหมือนเทวทัตเลย ตราบใดเราเห็นธรรมฝ่าย
ขาวของเทวทัตแม้เท่ารอยเจาะแห่งปลายขนทราย ตราบนั้นเราก็ไม่พยากรณ์เทวทัตว่า
‘เทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ดำรงอยู่ตลอดกัป แก้ไขไม่ได้’ แต่เมื่อเราไม่เห็น
ธรรมฝ่ายขาวของเทวทัตแม้เท่ารอยเจาะแห่งปลายขนทราย เมื่อนั้นเราจึงพยากรณ์
เทวทัตนั้นว่า ‘เทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ดำรงอยู่ตลอดกัป แก้ไขไม่ได้’
อานนท์ เปรียบเหมือนหลุมคูถ ลึกชั่วคน เต็มด้วยคูถเสมอขอบปากหลุม
บุรุษพึงตกลงไปที่หลุมคูถนั้นจมมิดศีรษะ บุรุษบางคนหวังประโยชน์ หวังเกื้อกูล
หวังความปลอดภัย ใคร่จะยกเขาขึ้นจากหลุมคูถนั้น จึงเข้ามาหา เขาเดินรอบหลุม
คูถนั้นอยู่ ก็ไม่เห็นอวัยวะที่ไม่เปื้อนคูถ แม้เท่ารอยเจาะแห่งปลายขนทรายซึ่งพอจะ
จับยกขึ้นมาได้ ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อใดไม่ได้เห็นธรรมฝ่ายขาวของ
เทวทัตแม้เท่ารอยเจาะแห่งปลายขนทรายเลย เมื่อนั้น เราจึงพยากรณ์เทวทัตว่า
‘เทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ดำรงอยู่ตลอดกัป แก้ไขไม่ได้’ ถ้าเธอทั้งหลาย
พึงฟังตถาคต เราจักจำแนกญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคล”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลที่สมควร
ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลที่สมควรที่พระผู้มีพระภาคจะทรงจำแนกญาณเป็นเครื่อง
รู้อินทรีย์ของบุคคล ภิกษุทั้งหลายได้สดับจากพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อานนท์
๑. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดี ของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมของบุคคลนี้แลหายไป
อกุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน แต่กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
กุศลมูลนั้น กุศลธรรมของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อม
ต่อไปเป็นธรรมดาด้วยประการฉะนี้’ เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่ไม่หัก
ไม่เน่า ไม่ถูกลมแดดแผดเผา ที่คัดพันธุ์ไว้๑ เก็บไว้อย่างดี ซึ่งบุคคล
ปลูกไว้ในที่ดินอันพรวนดีแล้วในนาดี เธอทราบไหมว่า ‘เมล็ดพืช
เหล่านี้จักเจริญงอกงามไพบูลย์”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แล มีอยู่’
สมัยต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมของบุคคลนี้แล
หายไป อกุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน แต่กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะ
กุศลมูลนั้น กุศลธรรมของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา
ด้วยประการฉะนี้’ ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึง
รู้ญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัยกัน
เกิดขึ้นต่อไป อย่างนี้แล
๒. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมของบุคคลนี้แลหายไป
กุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะ
อกุศลมูลนั้น อกุศลมูลของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อม***
ต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้’ เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่
ไม่หัก ไม่เน่า ไม่ถูกลมและแดดแผดเผา ที่คัดพันธุ์ไว้ เก็บไว้อย่างดี
ซึ่งบุคคลปลูกไว้บนศิลาแท่งทึบ เธอทราบไหมว่า ‘เมล็ดพืชเหล่านี้
จักไม่เจริญงอกงามไพบูลย์”

เชิงอรรถ :

๑ คัดพันธุ์ไว้ หมายถึงพืชที่เขาเก็บเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ไว้ อีกนัยหนึ่ง หมายถึงพืชที่เกิดในเดือนสารทะ
คือ ฤดูใบไม้ร่วง (สาราทานีติ สรทมาเส วา นิพฺพตฺตานิ) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๒/๑๔๘, องฺ.ฉกฺก. ฏีกา
๓/๖๒/๑๖๕-๑๖๖)

*** ตรวจสอบกับฉบับจริงที่เป็นเล่มหนังสือแล้ว ข้อความส่วนนี้ในเว็บธัมมโชติตรงกับฉบับมหาจุฬาฯ (ปกสีฟ้า) ที่เป็นหนังสือทุกตัวอักษร

แต่ในฉบับมหามกุฏฯ (ปกสีน้ำตาล) เป็น "จักเป็นผู้เสื่อม" ซึ่งต่างจากฉบับของมหาจุฬาฯ ที่เป็น "จักเป็นผู้ไม่เสื่อม"

ถ้าจะวิเคราะห์ว่าข้อความในฉบับไหนน่าจะเหมาะสมกว่ากัน ถ้าดูในส่วนเปรียบเทียบตอนท้ายที่ว่า "เมล็ดพืชเหล่านี้ จักไม่เจริญงอกงามไพบูลย์" ก็จะเห็นว่าความหมายตรงกับ "จักเป็นผู้เสื่อม" ในฉบับมหามกุฏฯ

และถ้าดูในตอนท้ายของข้อเดียวกันในหน้าถัดไปของฉบับมหาจุฬาฯ เอง ที่ว่า "แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะอกุศลมูลนั้น อกุศลธรรมของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา" ก็จะเห็นชัดเจนว่าข้อความที่ถูกต้องควรเป็น "จักเป็นผู้เสื่อม" ตามฉบับของมหามกุฎฯ - หมายเหตุโดยธัมมโชติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่” สมัย
ต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมของบุคคลนี้แลหาย
ไปแล้ว กุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะ
อกุศลมูลนั้น อกุศลธรรมของเขาจักปรากฏ บุคคลนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา
ด้วยประการอย่างนี้’ ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจ
จึงรู้ญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัย
กันเกิดขึ้นต่อไปอย่างนี้แล
๓. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ธรรมขาวแม้เท่ารอยเจาะแห่งปลาย
ขนทรายของบุคคลนี้ก็ไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำ
อย่างเดียว หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’
เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่หัก เน่า ถูกลมและแดดแผดเผา ซึ่งบุคคล
ปลูกไว้ในดินซึ่งพรวนดีแล้วในนาดี เธอทราบไหมว่า ‘เมล็ดพืช
เหล่านี้จักไม่เจริญงอกงามไพบูลย์”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัย
ต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ธรรมขาวแม้เท่ารอยเจาะแห่ง
ปลายขนทรายของบุคคลนี้ก็ไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำอย่างเดียว
หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึง
รู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล
กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไปอย่างนี้แล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์สามารถที่จะบัญญัติบุคคลอีก ๓ จำพวกที่มีส่วน
เหมือนกับบุคคล ๓ จำพวกนี้หรือหนอ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เราสามารถ
๔. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมของบุคคลนี้หายไปแล้ว
อกุศลธรรมเกิดขึ้นมาแทน กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ แม้กุศล-
มูลนั้นก็ถึงความถอนขึ้นทั้งหมด บุคคลนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็น
ธรรมดา ด้วยประการฉะนี้’ เปรียบเหมือนถ่านไฟที่ลุกโพลงรุ่งโรจน์
โชติช่วง ซึ่งบุคคลวางไว้บนศิลาก้อนใหญ่ เธอทราบไหมว่า ‘ถ่านไฟ
เหล่านี้จักไม่ลุกลาม ขยายกว้างออกไป”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เปรียบเหมือนเมื่อพระอาทิตย์ตกไปในเวลา
เย็น เธอทราบไหมว่า ‘ความสว่างหายไป ความมืดปรากฏขึ้น”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนในเวลารับ
ประทานอาหารในเวลาเที่ยงคืน เธอทราบไหมว่า ‘ความสว่างหายไป ความมืด
ปรากฏขึ้น”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัย
ต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมของบุคคลนี้หายไปแล้ว
อกุศลธรรมปรากฏขึ้น แต่กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ แม้กุศลมูลนั้นก็ถึงความ
ถอนขึ้นทั้งหมด บุคคลคนนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้’
ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ญาณเป็นเครื่องรู้
อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไป
อย่างนี้แล
๕. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมของบุคคลนี้หายไปแล้ว
กุศลธรรมปรากฏขึ้น แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ แม้
อกุศลมูลนั้นก็ถึงความถอนขึ้นทั้งหมด บุคคลนี้ก็จักเป็นผู้ไม่เสื่อม
ต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้’ เปรียบเหมือนถ่านไฟที่
ลุกโพลง รุ่งโรจน์ โชติช่วง ซึ่งบุคคลวางไว้บนกองหญ้าแห้ง หรือบน
กองไม้แห้ง เธอทราบไหมว่า ‘ถ่านไฟเหล่านี้จักลุกลามขยายกว้าง
ออกไป”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เปรียบเหมือนเมื่อพระอาทิตย์กำลังขึ้นมาใน
เวลารุ่งอรุณ เธอทราบไหมว่า ‘ความมืดหายไป ความสว่างปรากฏขึ้น”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนในเวลารับ
ประทานอาหารในเวลาเที่ยงวัน เธอทราบไหมว่า ‘ความมืดหายไป ความสว่าง
ปรากฏขึ้น”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัย
ต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมของบุคคลนี้หาย
ไปแล้ว กุศลธรรมปรากฏขึ้น แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ แม้อกุศลมูลนั้น
ก็ถึงความถอนขึ้นทั้งหมด บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยประการ
อย่างนี้’ ตถาคตกำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ญาณ
เป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น
ต่อไปอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
๖. เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลบางคนในโลกนี้แม้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรม
ก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัยต่อมา เรากำหนดใจ
ด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมแม้เท่ารอยเจาะแห่ง
ปลายขนทรายของบุคคลนี้ก็ไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยธรรมที่ไม่
มีโทษ เป็นธรรมฝ่ายขาวอย่างเดียว จักปริพพานในปัจจุบัน
แน่นอน’ เปรียบเหมือนถ่านไฟที่เย็น ดับแล้ว ซึ่งบุคคลวางไว้บน
กองหญ้าแห้ง หรือบนกองไม้แห้ง เธอทราบไหมว่า ‘ถ่านไฟนี้จักไม่
ลุกลามขยายกว้างออกไป”
ท่านพระอานนท์ทูลรับว่า “ทราบ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เช่นเดียวกัน เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
บางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า ‘กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้แลมีอยู่’ สมัย
ต่อมา เรากำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘อกุศลธรรมแม้เท่ารอยเจาะแห่ง
ปลายขนทรายของบุคคลนี้ก็ไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยธรรมที่ไม่มีโทษ เป็นธรรม
ฝ่ายขาวอย่างเดียว จักปรินิพพานในปัจจุบันแน่นอน กำหนดใจด้วยใจจึงรู้บุคคล
อย่างนี้แล กำหนดใจด้วยใจจึงรู้ญาณเป็นเครื่องรู้อินทรีย์ของบุคคลอย่างนี้แล กำหนด
ใจด้วยใจจึงรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไปอย่างนี้แล
อานนท์ บรรดาบุคคล ๖ จำพวกนั้น บุคคล ๓ จำพวกแรก คือ คนหนึ่งเป็น
ผู้ไม่เสื่อมเป็นธรรมดา คนหนึ่งเป็นผู้เสื่อมเป็นธรรมดา อีกคนหนึ่งเกิดในอบาย
และตกนรก บรรดาบุคคล ๖ จำพวกนั้น บุคคล ๓ จำพวกหลัง คือ คนหนึ่งเป็น
ผู้เสื่อมเป็นธรรมดา คนหนึ่งเป็นผู้ไม่เสื่อมเป็นธรรมดา อีกคนหนึ่งจักปรินิพพาน
เป็นธรรมดา”
ปุริสินทริยญาณสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
๙. นิพเพธิกสูตร
ว่าด้วยธรรมบรรยาย๑ชำแรกกิเลส
[๖๓] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายเป็นเหตุชำแรกกิเลสแก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบรรยายที่เป็นเหตุชำแรกกิเลสนั้น อะไรบ้าง คือ
๑. เธอทั้งหลายพึงทราบกาม เหตุเกิดแห่งกาม ความต่างกันแห่งกาม
วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกาม
๒. เธอทั้งหลายพึงทราบเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความต่างกันแห่ง
เวทนา วิบากแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งเวทนา
๓. เธอทั้งหลายพึงทราบสัญญา เหตุเกิดแห่งสัญญา ความต่างกันแห่ง
สัญญา วิบากแห่งสัญญา ความดับแห่งสัญญา ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งสัญญา
๔. เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความต่างกันแห่ง
อาสวะ วิบากแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งอาสวะ
๕. เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างกันแห่ง
กรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งกรรม
๖. เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างกันแห่ง
ทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ
แห่งทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกาม เหตุเกิด
แห่งกาม ความต่างกันแห่งกาม วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ข้อปฏิบัติให้
ถึงความดับแห่งกาม’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ บรรยาย แปลจาก ปริยาย ศัพท์ มีความหมาย ๓ นัย คือ (๑) หมายถึงเทศนา - ดู ม.มู. ๑๒/๒๐๕/๑๗๕
(๒) หมายถึงวาระ - ดู ม.อุ. ๑๔/๓๙๘/๓๔๔ (๓) หมายถึงเหตุ - ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๑๖๔/๑๓๖ (วิ.อ.
๑/๓/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า กามคุณ ๕ ประการนี้ คือ
๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
ภิกษุทั้งหลาย แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่เรียกว่ากาม สิ่งเหล่านี้ เรียกว่ากามคุณ๑
ในอริยวินัย
[พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์นี้ต่อไปอีกว่า]
สังกัปปราคะ๒ของบุรุษชื่อว่ากาม
อารมณ์ที่วิจิตรทั้งหลายในโลกไม่ชื่อว่ากาม
สังกัปปราคะของบุรุษชื่อว่ากาม
อารมณ์ที่วิจิตรทั้งหลายในโลก
ตั้งอยู่ตามสภาพของตนเท่านั้น
แต่ธีรชนทั้งหลายย่อมกำจัดความพอใจ
ในอารมณ์ที่วิจิตรเหล่านั้นได้๓

เชิงอรรถ :
๑ กามคุณ แยกอธิบายว่า ที่ชื่อว่า กาม เพราะมีความหมายว่าเป็นสิ่งที่บุคคลพึงใคร่ ที่ชื่อว่า คุณ เพราะมี
ความหมายว่า ผูกพันไว้ ร้อยรัดไว้ ดุจคำว่า “อนฺตํ อนฺตคุณํ” (ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก - ที.ม.๑๐/๓๗๗/๒๕๑,ม.มู.
๑๒/๑๑๐/๗๙, ขุ.ขุ.๒๕/๓/๒ และดุจคำว่า “กยิรา มาลาคุเณ พหู” (ช่างดอกไม้พึงร้อยพวงมาลัยไว้เป็น
จำนวนมาก - ขุ.ธ.๒๕/๕๓/๒๖ (องฺ.ฉกฺก.อ.๓/๖๓/๑๔๘)
๒ สังกัปปราคะ หมายถึงความกำหนัดที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจความดำริในวัตถุมีรูปที่งดงามเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๖๓/๑๔๘, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๖๓/๗๐) สังกัปปราคะ นี้เป็นชื่อเรียกกิเลสกามอีกชื่อหนึ่งในจำนวนชื่อเรียก
กาม ๑๘ ชื่อ ดู ขุ.ชา.๒๗/๓๙/๑๘๘, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑/๒, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘/๖๖-๖๗
๓ สํ.สํ. ๑๕/๓๔/๒๖, อภิ.ก. ๓๗/๕๑๓/๓๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
เหตุเกิดแห่งกาม เป็นอย่างไร
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกาม
ความต่างกันแห่งกาม เป็นอย่างไร
คือ กามในรูปเป็นอย่างหนึ่ง กามในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง กามในกลิ่นเป็น
อย่างหนึ่ง กามในรสเป็นอย่างหนึ่ง กามในโผฏฐัพพะเป็นอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่า
ความต่างกันแห่งกาม
วิบากแห่งกาม เป็นอย่างไร
คือ การที่บุคคลผู้ใคร่อยู่ ทำอัตภาพที่เกิดจากความใคร่นั้น ๆ ให้เกิดขึ้น
จะเป็นส่วนแห่งบุญหรือไม่เป็นส่วนแห่งบุญก็ตาม นี้เรียกว่า วิบากแห่งกาม
ความดับแห่งกาม เป็นอย่างไร
คือ เพราะผัสสะดับ กามจึงดับ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกาม ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดกามอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งกามอย่างนี้
รู้ชัดความต่างกันแห่งกามอย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งกามอย่างนี้ รู้ชัดความดับแห่งกาม
อย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกามอย่างนี้ เธอจึงรู้ชัดพรหมจรรย์ที่เป็น
เหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับแห่งกามนี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกาม ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งกาม’
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบเวทนา ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งเวทนา’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า เวทนา๑ ๓ ประการนี้ คือ
๑. สุขเวทนา (ความรู้สึกสุข)
๒. ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์)
๓. อทุกขสุขมเวทนา (ความรู้สึกเฉย ๆ)
เหตุเกิดแห่งเวทนา เป็นอย่างไร
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งเวทนา
ความต่างกันแห่งเวทนา เป็นอย่างไร
คือ สุขเวทนาที่เจืออามิสก็มี สุขเวทนาที่ไม่เจืออามิสก็มี ทุกขเวทนาที่เจือ
อามิสก็มี ทุกขเวทนาที่ไม่เจืออามิสก็มี อทุกขสุขเวทนาที่เจืออามิสก็มี อทุกขสุข-
เวทนาที่ไม่เจืออามิสก็มี นี้เรียกว่า ความต่างกันแห่งเวทนา
วิบากแห่งเวทนา เป็นอย่างไร
คือ การที่บุคคลผู้รู้สึกอยู่ ทำอัตภาพที่เกิดจากเวทนานั้น ๆ ให้เกิดขึ้น จะเป็น
ส่วนแห่งบุญหรือไม่เป็นส่วนแห่งบุญก็ตาม นี้เรียกว่า วิบากแห่งเวทนา
ความดับแห่งเวทนา เป็นอย่างไร
คือ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดเวทนาอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งเวทนา
อย่างนี้ รู้ชัดความต่างกันแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ชัด
ความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ เธอจึง
รู้ชัพรหมจรรย์ที่เป็นเหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับแห่งเวทนานี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบเวทนา ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งเวทนา’
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบสัญญา ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งสัญญา’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา.๑๑/๓๐๕/๑๙๔,๓๕๓/๒๔๔, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๗๐/๓๐๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า สัญญา๑ ๖ ประการนี้ คือ
๑. รูปสัญญา (กำหนดหมายรูป)
๒. สัททสัญญา (กำหนดหมายเสียง)
๓. คันธสัญญา (กำหนดหมายกลิ่น)
๔. รสสัญญา (กำหนดหมายรส)
๕. โผฏฐัพพสัญญา (กำหนดหมายโผฏฐัพพะ)
๖. ธัมมสัญญา (กำหนดหมายธรรมารมณ์)
เหตุเกิดแห่งสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งสัญญา
ความต่างกันแห่งสัญญา เป็นอย่างไร
คือ สัญญาในรูปเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในกลิ่น
เป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในรสเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในโผฏฐัพพะเป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในธรรมเป็นอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่า ความต่างกันแห่งสัญญา
วิบากแห่งสัญญา เป็นอย่างไร
คือ เรากล่าวว่าสัญญา ‘มีคำพูดเป็นผล (เพราะว่า) บุคคลกำหนดหมายอย่างใด
ก็พูดไปอย่างนั้นว่า ‘เรามีสัญญาอย่างนี้’ นี้เรียกว่า วิบากแห่งสัญญา
ความดับแห่งสัญญา เป็นอย่างไร
คือ เพราะผัสสะดับ สัญญาจึงดับ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสัญญาได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดสัญญาอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งสัญญา
อย่างนี้ รู้ชัดความต่างกันแห่งสัญญาอย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งสัญญาอย่างนี้ รู้ชัด
ความดับแห่งสัญญาอย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสัญญาอย่างนี้ เธอจึง
รู้ชัดพรหมจรรย์ที่เป็นเหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับแห่งสัญญานี้

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา.๑๑/๓๒๓/๒๑๕, ม.อุ.๑๔/๓๐๕/๒๗๙, อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๑๕๔/๑๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบสัญญา ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งสัญญา’
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งอาสวะ’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า อาสวะ๑ ๓ ประการนี้ คือ
๑. กามาสวะ (อาสวะคือกาม)
๒. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
๓. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)
เหตุเกิดแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร
คือ อวิชชาเป็นเหตุเกิดแห่งอาสวะ
ความต่างกันแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร
คือ อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่นรกก็มี อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่กำเนิดสัตว์
ดิรัจฉานก็มี อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่แดนเปรตก็มี อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่มนุษยโลก
ก็มี อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่เทวโลกก็มี นี้เรียกว่า ความต่างกันแห่งอาสวะ
วิบากแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร
คือ การที่บุคคลมีอวิชชา ย่อมยังอัตภาพที่เกิดจากอวิชชานั้น ๆ ให้เกิดขึ้น จะ
เป็นส่วนแห่งบุญหรือไม่เป็นส่วนแห่งบุญก็ตาม นี้เรียกว่า วิบากแห่งอาสวะ
ความดับแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร
คือ เพราะอวิชชาดับ อาสวะจึงดับ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๒. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดอาสวะอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งอาสวะ
อย่างนี้ รู้ชัดความต่างกันแห่งอาสวะอย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งอาสวะอย่างนี้ รู้ชัด

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ม.๑๐/๑๔๒/๗๓, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๒๑/๓๔๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖-๕๘๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
ความดับแห่งอาสวะอย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะอย่างนี้ เธอ
จึงรู้ชัดพรหมจรรย์ที่เป็นเหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับอาสวะนี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งอาสวะ’
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งกรรม’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า เรากล่าวเจตนาว่าเป็นตัวกรรม บุคคล
คิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ
เหตุเกิดแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม
ความต่างกันแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ กรรมที่พึงเสวยในนรกก็มี กรรมที่พึงเสวยในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี
กรรมที่พึงเสวยในแดนเปรตก็มี กรรมที่พึงเสวยในมนุษยโลกก็มี กรรมที่พึงเสวยใน
เทวโลกก็มี นี้เรียกว่า ความต่างกันแห่งกรรม
วิบากแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ เรากล่าววิบากแห่งกรรมว่ามี ๓ ประการ คือ
๑. กรรมที่พึงเสวยในปัจจุบัน
๒. กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพถัดไป
๓. กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพต่อ ๆ ไป๑
นี้เรียกว่า วิบากแห่งกรรม
ความดับแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ เพราะผัสสะดับ กรรมจึงดับ

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่พึงเสวยในปัจจุบัน เรียกว่า ทิฏฐเวทนียกรรม กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพถัดไปเรียกว่า อุปปัชช-
เวทนียกรรม กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพต่อ ๆ ไป เรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม (องฺ.เอกาทสก. (แปล)
๒๔/๒๑๗/๓๕๗, อภิ.ก.๓๗/๖๓๕/๓๘๕, ๘๙๐-๘๙๑/๕๐๖-๕๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๙. นิพเพธิกสูตร
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรมได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดกรรมอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งกรรมอย่างนี้
รู้ชัดความต่างกันแห่งกรรมอย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งกรรมอย่างนี้ รู้ชัดความดับแห่ง
กรรมอย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ เธอจึงรู้ชัดพรหมจรรย์
ที่เป็นเหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับกรรมนี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งกรรม’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความ
ต่างกันแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ
แห่งทุกข์’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า แม้ชาติ (ความเกิด) ก็เป็นทุกข์ แม้ชรา (ความแก่) ก็เป็น
ทุกข์ แม้มรณะ (ความตาย) ก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ (ความโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ)
ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) อุปายาส (ความคับแค้นใจ) ก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
เหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
ความต่างกันแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ทุกข์มากก็มี ทุกข์น้อยก็มี ทุกข์ที่คลายช้าก็มี ทุกข์ที่คลายเร็วก็มี นี้เรียกว่า
ความต่างกันแห่งทุกข์
วิบากแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกทุกข์ใดครอบงำ มีจิตถูกทุกข์ใดกลุ้มรุม ย่อม
เศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความเลอะเลือน หรือบุคคลถูกทุกข์
ใดครอบงำ มีจิตถูกทุกข์ใดกลุ้มรุมแล้วย่อมหาเหตุเปลื้องทุกข์ในภายนอกว่า ‘ใครจะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑๐. สีหนาทสูตร
รู้บทเดียวหรือสองบทเพื่อดับทุกข์นี้ได้’ เรากล่าวว่าทุกข์นั้นมีความหลงเป็นผล หรือ
มีการแสวงหาเปลื้องทุกข์ภายนอกเป็นผล นี้เรียกว่า วิบากแห่งทุกข์
ความดับแห่งทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ เพราะตัณหาดับ ทุกข์จึงดับ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดทุกข์อย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งทุกข์อย่างนี้
รู้ชัดความต่างกันแห่งทุกข์อย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งทุกข์อย่างนี้ รู้ชัดความดับแห่งทุกข์
อย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์อย่างนี้ เธอจึงรู้ชัดพรหมจรรย์ที่เป็น
เหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับทุกข์นี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความ
ต่างกันแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์’
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบรรยายที่เป็นเหตุชำแรกกิเลสนี้นั้น เป็นอย่างนี้แล
นิพเพธิกสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. สีหนาทสูตร๑
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท
[๖๔] ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๖ ประการนี้ ที่ตถาคตมีแล้วเป็น
เหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท๒

เชิงอรรถ :
๑ ดูมหาสีหนาทสูตร (ม.มู. ๑๒/๑๔๘/๑๐๗-๑๑๐, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๑/๔๓)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๕ ปัญจกนิบาต ข้อ ๑๑ (อนุสสุตสูตร) หน้า ๑๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑๐. สีหนาทสูตร
กำลังของตถาคต ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะในโลกนี้
ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะ
โดยเป็นอฐานะตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคต
อาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักร
ในบริษัท
๒. ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และ
ปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัด
วิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันโดย
ฐานะโดยเหตุตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคต
อาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักร
ในบริษัท
๓. ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง๑ ความผ่องแผ้ว๒ แห่งฌาน วิโมกข์
สมาธิ และสมาบัติ๓ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และ
สมาบัติตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง
ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการ
ออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติตามความเป็นจริง นี้เป็น

เชิงอรรถ :
๑ ความเศร้าหมอง ในที่นี้หมายถึงธรรมฝ่ายเสื่อมได้แก่กาม วิตก วิจาร และปีติ เป็นต้น ที่เป็นอุปสรรค
ต่อการเจริญฌานตามลำดับขั้นของผู้ที่มีฌานยังไม่คล่องแคล่ว (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙, องฺ.ทสก.ฏีกา
๓/๒๑/๓๙๒) และดู องฺ.นวก. ๒๓/๔๑/๓๖๒-๓๖๙
๒ ความผ่องแผ้ว ในที่นี้หมายถึงธรรมฝ่ายเจริญ ได้แก่ การสงัดจากกาม การระงับวิตกวิจาร การจางคลาย
ไปแห่งปีติ เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณต่อการเจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไปของผู้ที่มีฌานคล่องแคล่ว (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/
๓๒๙, องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒๑/๓๙๒) และดู องฺ.นวก. ๒๓/๔๑/๓๖๒-๓๖๙
๓ ในคำว่า “ฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ” นี้ ฌาน หมายถึงฌาน ๔ (ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
จตุตถฌาน) (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ ๘ มีข้อว่า ‘ผู้มีรูป มองเห็นรูปทั้งหลาย’
เป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, องฺ.อฏฺ_ก. ๒๓/๑๑๙/๒๘๙ สมาธิ หมายถึง
สมาธิ ๓ คือ สวิตักกสวิจารสมาธิ (สมาธิที่มีทั้งวิตกและวิจาร) อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มี
วิตกมีเพียงวิจาร) อวิตักกาวิจารสมาธิ (สมาธิที่มีทั้งวิตกและวิจาร) (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู ขุ.ป.
๓๑/๔๓/๕๐ สมาบัติ หมายถึงอนุปุพพสมาบัติ ๙ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ๑
(องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู องฺ.นวก. ๒๓/๓๒/๓๓๖, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๒๘/๕๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑๐. สีหนาทสูตร
กำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือ
สีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๔. ตถาคตระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง
ฯลฯ ตถาคตระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป
และชีวประวัติ อย่างนี้ การที่ตถาคตระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ
๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ตถาคตระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ นี้เป็นกำลังของตถาคต
ที่ตถาคต อาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักร ในบริษัท
๕. ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อัน
บริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ฯลฯ นี้เป็น
กำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสี
หนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท
๖. ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน การที่ตถาคต
ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นกำลังของ
ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท
ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๖ ประการนี้แล ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
ภิกษุทั้งหลาย บรรดากำลังของตถาคต ๖ ประการนั้น
หากชนเหล่าอื่นเข้ามาหาตถาคตถามปัญหาถึงญาณรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ
และอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความเป็นจริง ตถาคตเมื่อถูกถามย่อมพยากรณ์ญาณ
รู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความเป็นจริงแก่ชนเหล่านั้น
ตามที่ตถาคตรู้แจ้งญาณรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะและอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความ
เป็นจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค ๑๐. สีหนาทสูตร
หากชนเหล่าอื่นเข้ามาหาตถาคตถามปัญหาถึงญาณรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือ
กรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันโดยฐานะโดยเหตุ ตามความเป็นจริง
ตถาคตเมื่อถูกถามย่อมพยากรณ์ญาณรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต
อนาคต และปัจจุบันโดยฐานะโดยเหตุตามความเป็นจริงแก่ชนเหล่านั้นตามที่ตถาคต
รู้แจ้งญาณรู้ชัดวิบากแห่งการยึดกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบันโดยฐานะ
โดยเหตุตามความเป็นจริง
หากชนเหล่าอื่นเข้ามาหาตถาคตถามปัญหาถึงญาณรู้ชัดความเศร้าหมอง
ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์
สมาธิ และสมาบัติตามความเป็นจริง ตถาคตเมื่อถูกถามย่อมพยากรณ์ญาณรู้ชัด
ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการ
ออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ ตามความเป็นจริงแก่ชนเหล่านั้นตามที่
ตถาคตรู้แจ้งญาณรู้ชัดความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิและ
สมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติตามความเป็นจริง
หากชนเหล่าอื่นเข้ามาหาตถาคตถามปัญหาถึงญาณรู้ชัดความระลึกชาติก่อนได้
ตามความเป็นจริง ตถาคตเมื่อถูกถามย่อมพยากรณ์ญาณรู้ชัดความระลึกชาติก่อน
ได้ตามความเป็นจริงแก่ชนเหล่านั้นตามที่ตถาคตรู้แจ้งญาณรู้ชัดความระลึกชาติก่อน
ได้ตามความเป็นจริง
หากชนเหล่าอื่นเข้ามาหาตถาคตถามปัญหาถึงญาณรู้ชัดการจุติและการเกิดของ
หมู่สัตว์ตามความเป็นจริง ตถาคตเมื่อถูกถามย่อมพยากรณ์ญาณรู้ชัดการจุติและ
การเกิดของหมู่สัตว์ตามความเป็นจริงแก่ชนเหล่านั้นตามที่ตถาคตรู้แจ้งญาณรู้ชัด
การจุติและการเกิดของหมู่สัตว์ตามความเป็นจริง
หากชนเหล่าอื่นเข้ามาหาตถาคตถามปัญหาถึงญาณรู้ชัดความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ตามความเป็นจริง ตถาคตเมื่อถูกถามย่อมพยากรณ์ญาณรู้ชัดความสิ้นอาสวะตาม
ความเป็นจริงแก่ชนเหล่านั้นตามที่ตถาคตรู้แจ้งญาณรู้ชัดความสิ้นอาสวะตาม
ความเป็นจริง
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความ
เป็นจริงนั้น เป็นของบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็น
สมาธิ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และ
ปัจจุบันโดยฐานะโดยเหตุตามความเป็นจริงนั้น เป็นของบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ
ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ
และสมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัตินั้น เป็นของบุคคล
ผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดความระลึกชาติก่อนได้ตามความเป็นจริงนั้น เป็นของ
บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดจุติและการเกิดของหมู่สัตว์ตามความเป็นจริงนั้น เป็น
ของบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
เรากล่าวว่า ญาณรู้ชัดความสิ้นอาสวะทั้งหลายตามความเป็นจริงนั้น เป็นของ
บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ไม่กล่าวว่า เป็นของบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย สมาธิเป็นมรรค๑ อสมาธิเป็นกุมมรรค๒ ด้วยประการฉะนี้แล
สีหนาทสูตรที่ ๑๐ จบ
มหาวรรคที่ ๖ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โสณสูตร ๒. ผัคคุณสูตร
๓. ฉฬภิชาติสูตร ๔. อาสวสูตร
๕. ทารุกัมมิกสูตร ๖. หัตถิสารีปุตตสูตร
๗. มัชเฌสูตร ๘. ปุริสินทริยญาณสูตร
๙. นิพเพธิกสูตร ๑๐. สีหนาทสูตร


เชิงอรรถ :
๑ มรรค ในที่นี้หมายถึงอุบายแห่งการบรรลุญาณทั้งหลาย ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๔/๑๕๐-
๑๕๑) และดู อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๒๐๖/๑๗๔,๔๘๖/๓๗๑
๒ กุมมรรค ในที่นี้หมายถึงมิจฉามรรคกล่าวคือทางผิดจากการบรรลุญาณทั้งหลาย ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ (เห็น
ผิด) มิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด) มิจฉาวาจา (เจรจาผิด) มิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด) มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด)
มิจฉาวายามะ (พยายามผิด) มิจฉาสติ (ระลึกผิด) มิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๔/๑๕๐-
๑๕๑) และดู อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๙๓๖/๕๘๖,๙๕๖/๖๑๒-๖๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๑. อนาคามิผลสูตร
๗. เทวตาวรรค
หมวดว่าด้วยเทวดา

๑. อนาคามิผลสูตร
ว่าด้วยอนาคามิผล
[๖๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อนาคามิผลได้ ธรรม๑ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความไม่มีศรัทธา ๒. ความไม่มีหิริ
๓. ความไม่มีโอตตัปปะ ๔. ความเกียจคร้าน
๕. ความหลงลืมสติ ๖. ความมีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อนาคามิผลได้
ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้งอนาคามิผลได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความไม่มีศรัทธา ๒. ความไม่มีหิริ
๓. ความไม่มีโอตตัปปะ ๔. ความเกียจคร้าน
๕. ความหลงลืมสติ ๖. ความมีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้ง
อนาคามิผลได้
อนาคามิผลสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๓๒๘,๑๓๒๙/๓๓๒, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๐๐/๕๖๓, ๙๖๐/๕๖๕,๙๒๘/๕๘๑,๙๓๐/
๕๘๒,๙๓๒/๕๘๔,๙๓๕/๕๘๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๒. อรหัตตสูตร
๒. อรหัตตสูตร
ว่าด้วยอรหัตตผล
[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ถีนะ (ความหดหู่) ๒. มิทธะ (ความเซื่องซึม)
๓. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) ๔. กุกกุจจะ (ความร้อนใจ)
๕. อัสสัทธิยะ (ความไม่มีศรัทธา) ๖. ปมาทะ (ความประมาท)

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้งอรหัตตผลได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ถีนะ ๒. มิทธะ
๓. อุทธัจจะ ๔. กุกกุจจะ
๕. อัสสัทธิยะ ๖. ปมาทะ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
อรหัตตสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๓. มิตตสูตร
๓. มิตตสูตร
ว่าด้วยมิตร
[๖๗] ภิกษุทั้งหลาย
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว เสพ คบ เข้าไปนั่ง
ใกล้มิตรชั่ว และประพฤติตามมิตรชั่วเหล่านั้นอยู่ จักบำเพ็ญอภิสามาจาริกธรรม๑ให้
บริบูรณ์ได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
เสขธรรม๒ให้บริบูรณ์ได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญศีล
ทั้งหลาย๓ให้บริบูรณ์ได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุไม่บำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์แล้ว จักละกามราคะ
รูปราคะ หรืออรูปราคะได้
ภิกษุทั้งหลาย
เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้มิตรดี
และประพฤติตามมิตรดีเหล่านั้นอยู่ จักบำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์ได้
เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญอภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญเสขธรรม
ให้บริบูรณ์ได้
เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญศีลทั้งหลายให้
บริบูรณ์ได้
เป็นไปได้ที่ภิกษุบำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์แล้ว จักละกามราคะ รูปราคะ
หรืออรูปราคะได้
มิตตสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑,๒,๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑,๒,๓ ปัญจกนิบาต ข้อ ๒๑ หน้า ๒๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๔. สังคณิการามสูตร
๔. สังคณิการามสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
[๖๘] ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่๑ ยินดีการคลุกคลี
ด้วยหมู่ ประกอบความชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ เป็นผู้ชอบคณะ๒
ยินดีในคณะ ประกอบความยินดีในคณะ จักยินดีในปวิเวก๓ตาม
ลำพังได้
๒. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ยินดีในปวิเวกตามลำพังจักถือเอานิมิต
แห่งจิต๔ได้
๓. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ถือเอานิมิตแห่งจิต จักบำเพ็ญสัมมาทิฏฐิ๕
ให้บริบูรณ์ได้
๔. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่บำเพ็ญสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
สัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ได้
๕. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่บำเพ็ญสัมมาสมาธิ๖ให้บริบูรณ์แล้ว จักละ
สังโยชน์ได้
๖. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ยังละสังโยชน์ไม่ได้แล้ว จักทำให้แจ้งนิพพานได้
ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีการคลุกคลี
ด้วยหมู่ ไม่ประกอบความชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ชอบคณะ

เชิงอรรถ :
๑ คลุกคลีด้วยหมู่ หมายถึงคลุกคลีด้วยหมู่คณะของตน (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๖๘-๖๙/๑๗๔)
๒ ชอบคณะ (คณาราโม) หมายถึงชอบคลุกคลีกับคนทั่วไป (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๖๘-๖๙/๑๗๔)
๓ ปวิเวก ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก (ความสงัดทางกาย) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๘/๑๕๑)
๔ นิมิตแห่งจิต หมายถึงอาการซึ่งเป็นนิมิตแห่งสมาธิและวิปัสสนา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๖๘/๑๕๑)
๕ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ปัญจกนิบาต ข้อ ๒๑ หน้า ๒๔ ในเล่มนี้
๖ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ปัญจกนิบาต ข้อ ๒๑ หน้า ๒๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๕. เทวตาสูตร
ไม่ยินดีในคณะ ไม่ประกอบความยินดีในคณะ จักยินดีในปวิเวก
ตามลำพังได้
๒. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ยินดีในปวิเวกตามลำพัง จักถือเอานิมิตแห่งจิตได้
๓. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ถือเอานิมิตแห่งจิต จักบำเพ็ญสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์
ได้
๔. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้บำเพ็ญสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
สัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ได้
๕. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้บำเพ็ญสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์แล้ว จักละสังโยชน์ได้
๖. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ละสังโยชน์ได้แล้ว จักทำให้แจ้งนิพพานได้
สังคณิการามสูตรที่ ๔ จบ
๕. เทวตาสูตร
ว่าด้วยเทวดาแสดงธรรม
[๖๙] ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่ง
รัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม
แก่ภิกษุ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
๓. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้ว่าง่าย
๖. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร(มิตรดี)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๕. เทวตาสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ
เมื่อเทวดานั้นได้กราบทูลดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้นเทวดานั้น
ทราบว่า ‘พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา’ จึงถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้วหายไป
ณ ที่นั้นแล
ครั้นคืนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าว
กับเราดังนี้ว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่
ภิกษุ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
๒. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
๓. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้ว่าง่าย
๖. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม
แก่ภิกษุ’
ภิกษุทั้งหลาย เทวดานั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงไหว้เราทำประทักษิณแล้ว
หายไป ณ ที่นั้นแล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบชัดเนื้อความแห่ง
พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๕. เทวตาสูตร
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา สรรเสริญความเป็นผู้มี
ความเคารพในพระศาสดา ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีความเคารพ
ในศาสดาให้มีความเคารพในพระศาสดา ทั้งประกาศคุณที่มีอยู่จริง
ของภิกษุเหล่าอื่นผู้มีความเคารพในศาสดาตามกาลอันควร
๒. ตนเองเป็นผู้มีความมีเคารพในพระธรรม ฯลฯ
๓. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา ฯลฯ
๕. ตนเองเป็นผู้ว่าง่าย ฯลฯ
๖. ตนเองเป็นผู้มีกัลยาณมิตร สรรเสริญความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีกัลยาณมิตรให้เป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ทั้งประกาศคุณที่มีอยู่จริงของภิกษุเหล่าอื่นผู้มีกัลยาณมิตรตามกาล
อันควร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบชัดเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้โดยย่อ ได้โดยพิสดารอย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร ดีละ ดีละ เป็นการดีที่เธอรู้เนื้อความแห่ง
คำที่เรากล่าวไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้
สารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในศาสดา สรรเสริญความเป็นผู้มีความ
เคารพในศาสดา ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีความเคารพในพระ
ศาสดาให้มีความเคารพในศาสดา ทั้งประกาศคุณที่มีจริงของภิกษุ
เหล่าอื่นผู้มีความเคารพในพระศาสดาตามกาลอันควร
๒. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในธรรม ฯลฯ
๓. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในสงฆ์ ฯลฯ
๔. ตนเองเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา ฯลฯ
๕. ตนเองเป็นผู้ว่าง่าย ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๖. สมาธิสูตร
๖. ตนเองเป็นผู้มีกัลยาณมิตร สรรเสริญความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่มีกัลยาณมิตรให้เป็นผู้มีกัลยาณมิตร
ทั้งประกาศคุณที่มีจริงของภิกษุเหล่าอื่นผู้มีกัลยาณมิตร ตามกาล
อันควร
สารีบุตร บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร
อย่างนี้แล”
เทวตาสูตรที่ ๕ จบ
๖. สมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิ
[๗๐] ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นมีสมาธิที่ไม่สงบ๑ มีสมาธิที่ไม่ประณีต
มีสมาธิที่ไม่ได้ด้วยความสงบระงับ มีสมาธิที่ไม่มีภาวะเป็นหนึ่ง
ผุดขึ้น๒ จักแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลาย
คนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ๓ ใช้อำนาจทางกายไป
จนถึงพรหมโลกได้
๒. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจักได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์
และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือ
มนุษย์ได้
๓. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจักกำหนดรู้จิตของสัตว์และบุคคลอื่นได้ด้วย
จิตของตน คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ ฯลฯ หรือจิตไม่หลุดพ้น
ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้นได้

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิที่ไม่สงบ หมายถึงสมาธิที่ไม่สงบจากกิเลสที่เป็นข้าศึกทั้งหลาย (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๗๐/๑๕๒)
๒ สมาธิที่ไม่มีภาวะเป็นหนึ่งผุดขึ้น หมายถึงสมาธิที่ไม่ชื่อว่า เอโกทิ อันเป็นสมาธิระดับทุติยฌานซึ่ง
ปราศจากวิตก วิจาร มีแต่ปีติและสุขเกิดจากสมาธิ (เทียบ วิ.อ. ๑/๑๑/๑๔๓-๑๔๔)
๓ ฯลฯ ที่ปรากฏในสูตรนี้ ดูความเต็มใน ปัญจกนิบาต ข้อ ๒๘ หน้า ๓๙-๔๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๖. สักขิภัพพสูตร
๔. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจักระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติ
บ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะ
ทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ได้
๕. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจักเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ฯลฯ
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมได้
๖. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอัน
ไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบันได้
ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นมีสมาธิที่สงบ มีสมาธิที่ประณีต มีสมาธิที่ได้ด้วย
ความสงบระงับ มีสมาธิที่มีภาวะที่เป็นหนึ่งผุดขึ้น จักแสดงฤทธิ์ได้
หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดง
เป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกได้
๒. เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นจักได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียง
มนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ได้
๓. เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นจักกำหนดรู้จิตของสัตว์และบุคคลอื่นได้ด้วยจิต
ของตน คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ ฯลฯ หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้
ว่าจิตไม่หลุดพ้นได้
๔. เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นจักระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไป
และชีวประวัติอย่างนี้ได้
๕. เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นจักเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำ
และชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมได้
๖. เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญายิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้
สมาธิสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๗. สักขิภัพพสูตร
๗. สักขิภัพพสูตร
ว่าด้วยความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัด
[๗๑] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้ไม่อาจ
บรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อมีเหตุ๑
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เหล่านี้คือธรรมฝ่ายเสื่อม’
๒. ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เหล่านี้คือธรรมฝ่ายคงที่’
๓. ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เหล่านี้คือธรรมฝ่ายคุณวิเศษ’
๔. ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เหล่านี้คือธรรมฝ่ายชำแรกกิเลส๒’
๕. เป็นผู้ไม่ทำความเคารพ๓
๖. เป็นผู้ไม่ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ๔
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่อาจบรรลุ
ความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อมีเหตุ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ปัญจกนิบาต ข้อ ๒๓ (อุปกิเลสสูตร) หน้า ๒๘ ในเล่มนี้
๒ ธรรมฝ่ายเสื่อม หมายถึงสมาธิที่ยังมีนิวรณ์ ๕ เกิดขึ้นในปฐมฌาน หรือยังมีสัญญามนสิการที่ประกอบ
ด้วยกามเกิดขึ้นอยู่
ธรรมฝ่ายคงที่ หมายถึงสมาธิของบุคคลผู้มีมิจฉาสติ คือความยินดี พอใจ ติดใจ หยุดอยู่เพียงแค่ปฐม-
ฌานนั้น ไม่เสื่อม ไม่เจริญ เพราะเข้าใจว่าปฐมฌานละเอียดแล้ว ประณีตแล้ว
ธรรมฝ่ายคุณวิเศษ หมายถึงสมาธิที่คล่องแคล่วเกิดขึ้นในปฐมฌาน แต่มีมนสิการถึงทุติยฌานว่าไม่มีวิตก
มีสัญญามนสิการคอยตักเตือนเพื่อให้บรรลุทุติยฌาน จึงออกจากปฐมฌาน
ธรรมฝ่ายชำแรกกิเลส หมายถึงสมาธิที่มีสัญญามนสิการประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ ตักเตือนเพื่อทำให้
แจ้งนิพพาน (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๗๑-๗๔/๑๗๕-๑๗๖, วิสุทธิ. ๑/๓๙/๙๔-๙๖) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๗๙๙/
๕๑๑-๕๑๒
๓ ไม่ทำความเคารพ ในที่นี้หมายถึงไม่ทำให้ดี กล่าวคือ ไม่เอื้อเฟื้อเอาใจใส่ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๗๑/๑๕๒)
๔ ไม่ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ หมายถึงไม่ประพฤติธรรมที่เป็นอุปการะ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๗๑/๑๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๘. พลสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้อาจบรรลุความ
เป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อมีเหตุ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เหล่านี้คือธรรมฝ่ายเสื่อม’
๒. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เหล่านี้คือธรรมฝ่ายคงที่’
๓. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เหล่านี้คือธรรมฝ่ายคุณวิเศษ’
๔. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เหล่านี้คือธรรมฝ่ายชำแรกกิเลส’
๕. เป็นผู้ทำความเคารพ
๖. เป็นผู้ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้อาจบรรลุความ
เป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อมีเหตุ
สักขิภัพพสูตรที่ ๗ จบ
๘. พลสูตร
ว่าด้วยความมีกำลังในสมาธิ
[๗๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้ไม่อาจ
บรรลุความมีกำลังในสมาธิได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่ฉลาดในการเข้าสมาธิ๑
๒. เป็นผู้ไม่ฉลาดในการให้สมาธิตั้งอยู่ได้
๓. เป็นผู้ไม่ฉลาดในการออกจากสมาธิ
๔. เป็นผู้ไม่ทำความเคารพ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒,๓,๔ ฉักกนิบาต ข้อ ๒๔ (หิมวันตสูต) หน้า ๔๕๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๙. ปฐมตัชฌานสูตร
๕. เป็นผู้ไม่ทำให้ติดต่อ
๖. เป็นผู้ไม่ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่อาจบรรลุ
ความมีกำลังในสมาธิได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้อาจบรรลุความมี
กำลังในสมาธิได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิ
๒. เป็นผู้ฉลาดในการให้สมาธิตั้งอยู่ได้
๓. เป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ
๔. เป็นผู้ทำความเคารพ
๕. เป็นผู้ทำให้ติดต่อ
๖. เป็นผู้ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้อาจบรรลุความ
มีกำลังในสมาธิได้
พลสูตรที่ ๘ จบ
๙. ปฐมตัชฌานสูตร
ว่าด้วยการบรรลุปฐมฌาน สูตรที่ ๑
[๗๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจบรรลุปฐม-
ฌานอยู่ได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
๒. พยาบาท (ความคิดร้าย)
๓. ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค ๑๐. ทุติยตัชฌานสูตร
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
๕. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
๖. ไม่เห็นโทษในกามทั้งหลายด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจบรรลุปฐมฌาน
อยู่ได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว จึงอาจบรรลุปฐมฌานอยู่ได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามฉันทะ
๒. พยาบาท
๓. ถีนมิทธะ
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ
๕. วิจิกิจฉา
๖. เห็นโทษในกามทั้งหลายด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจบรรลุปฐมฌาน
อยู่ได้
ปฐมตัชฌานสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. ทุติยตัชฌานสูตร
ว่าด้วยการบรรลุปฐมฌาน สูตรที่ ๒
[๗๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจบรรลุ
ปฐมฌานอยู่ได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามวิตก (ความตรึกในทางกาม)
๒. พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท)
๓. วิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๗. เทวตาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๔. กามสัญญา (ความกำหนดหมายในทางกาม)
๕. พยาบาทสัญญา (ความกำหนดหมายในทางพยาบาท)
๖. วิหิงสาสัญญา (ความกำหนดหมายในทางเบียดเบียน)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจบรรลุปฐม
ฌานอยู่ได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว จึงอาจบรรลุปฐมฌานอยู่ได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามวิตก ๒. พยาบาทวิตก
๓. วิหิงสาวิตก ๔. กามสัญญา
๕. พยาบาทสัญญา ๖. วิหิงสาสัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจบรรลุปฐมฌาน
อยู่ได้
ทุติยตัชฌานสูตรที่ ๑๐ จบ
เทวตาวรรคที่ ๗ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อนาคามิผลสูตร ๒. อรหัตตสูตร
๓. มิตตสูตร ๔. สังคณิการามสูตร
๕. เทวตาสูตร ๖. สมาธิสูตร
๗. สักขิภัพพสูตร ๘. พลสูตร
๙. ปฐมตัชฌานสูตร ๑๐. ทุติยตัชฌานสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๘. อรหัตตวรรค ๑. ทุกขสูตร
๘. อรหัตตวรรค
หมวดว่าด้วยอรหัตตผล
๑. ทุกขสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้อยู่เป็นทุกข์
[๗๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖
ประการ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เดือดร้อน๑ คับแค้นใจ เร่าร้อน๒ในภพนี้แล หลังจาก
ตายแล้ว พึงหวังได้ทุคติ๓
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามวิตก ๒. พยาบาทวิตก
๓. วิหิงสาวิตก ๔. กามสัญญา
๕. พยาบาทสัญญา ๖. วิหิงสาสัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นทุกข์
เดือดร้อน คับแค้นใจ เร่าร้อนในภพนี้แล หลังจากตายแล้ว พึงหวังได้ทุคติ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่เดือดร้อน
ไม่คับแค้นใจ ไม่เร่าร้อนในภพนี้แล หลังจากตายแล้ว พึงหวังได้สุคติ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม)
๒. อพยาบาทวิตก (ความตรึกปลอดจากพยาบาท)
๓. อวิหิงสาวิตก (ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน)
๔. เนกขัมมสัญญา (ความกำหนดหมายปลอดจากกาม)

เชิงอรรถ :
๑,๒,๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑,๒,๓ ปัญจกนิบาต ข้อ ๓ (ทุกขสูตร) หน้า ๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๘. อรหัตตวรรค ๒. อรหัตตสูตร
๕. อพยาบาทสัญญา (ความกำหนดหมายปลอดจากพยาบาท)
๖. อวิหิงสาสัญญา (ความกำหนดหมายปลอดจากการเบียดเบียน)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นสุข
ไม่เดือดร้อน ไม่คับแค้นใจ ไม่เร่าร้อนในภพนี้แล หลังจากตายแล้ว พึงหวังได้สุคติ
ทุกขสูตรที่ ๑ จบ
๒. อรหัตตสูตร
ว่าด้วยอรหัตตผล
[๗๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มานะ (ความถือตัว)
๒. โอมานะ (ความถือตัวว่าด้อยกว่าเขา)
๓. อติมานะ (ความดูหมิ่นเขา)
๔. อธิมานะ (ความเข้าใจผิด)
๕. ถัมภะ (ความหัวดื้อ)
๖. อตินิปาตะ (ความดูหมิ่นตนเองว่าเป็นคนเลว)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้งอรหัตตผลได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มานะ ๒. โอมานะ
๓. อติมานะ ๔. อธิมานะ
๕. ถัมภะ ๖. อตินิปาตะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
อรหัตตสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๘. อรหัตตวรรค ๓. อุตตริมนุสสธัมมสูตร
๓. อุตตริมนุสสธัมมสูตร
ว่าด้วยญาณทัสสนะที่ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์
[๗๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ๑ อันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์๒ได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความหลงลืมสติ
๒. ความไม่มีสัมปชัญญะ
๓. ความไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๔. ความไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
๕. การหลอกลวง๓
๖. การพูดป้อยอ๔
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้งญาณ-
ทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ อันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้งญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถ อันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความหลงลืมสติ
๒. ความไม่มีสัมปชัญญะ

เชิงอรรถ :
๑ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ หมายถึงมหัคคตโลกุตตรปัญญา (ปัญญาชั้นโลกุตตระที่ถึงความ
เป็นใหญ่) อันประเสริฐ บริสุทธิ์ สูงสุด สามารถกำจัดกิเลสได้ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๘/๓๕๐) อีกนัยหนึ่ง
หมายถึงญาณทัสสนะที่วิเศษสามารถที่จะทำความเป็นอริยะ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ (อริยภาวํ กาตุํ สมตฺถํ
�าณทสฺสนวิเสสํ, จตฺตาโร มคฺเค จตฺตาริ ผลานิ) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๗๗/๑๕๓)
๒ ธรรมของมุนษย์ ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๔๕/๕๑)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ปัญจกนิบาต ข้อ ๘๓ (กุหกสูตร) หน้า ๑๕๑ ในเล่มนี้
๔ การพูดป้อยอ ในที่นี้หมายถึงการพูดป้อยอมุ่งหวังลาภสักการะและชื่อเสียง (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๗๗/๑๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๘. อรหัตตวรรค ๔. สุขโสมนัสสสูตร
๓. ความไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์
๔. ความไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
๕. การหลอกลวง
๖. การพูดป้อยอ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้งญาณ-
ทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ อันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้
อุตตริมนุสสธัมมสูตรที่ ๓ จบ
๔. สุขโสมนัสสสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้มีสุขโสมนัส
[๗๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้มากด้วย
สุขโสมนัสอยู่ในปัจจุบันทีเดียว และเป็นผู้ปรารภเหตุแห่งความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ยินดีในธรรม
๒. เป็นผู้ยินดีในภาวนา
๓. เป็นผู้ยินดีในการละ
๔. เป็นผู้ยินดีในปวิเวก
๕. เป็นผู้ยินดีในความไม่พยาบาท
๖. เป็นผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เป็นเครื่องเนิ่นช้า๑
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้มากด้วย
สุขโสมนัสอยู่ในปัจจุบันทีเดียว และเป็นผู้ปรารภเหตุแห่งความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
สุขโสมนัสสสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่ไม่เป็นเครื่องเนิ่นช้า ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๗๘/๑๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๘. อรหัตตวรรค ๕. อธิคมสูตร
๕. อธิคมสูตร
ว่าด้วยการบรรลุกุศลธรรม
[๗๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้ไม่อาจ
บรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ หรือทำกุศลธรรมที่ได้บรรลุแล้วให้เจริญได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่ฉลาดในความเจริญ๑
๒. เป็นผู้ไม่ฉลาดในความเสื่อม๒
๓. เป็นผู้ไม่ฉลาดในอุบาย๓
๔. ไม่สร้างฉันทะ๔เพื่อบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
๕. ไม่รักษากุศลธรรมที่ได้บรรลุแล้ว
๖. ไม่ทำกุศลธรรมให้ถึงพร้อมด้วยการทำติดต่อ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่อาจบรรลุ
กุศลธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ หรือทำกุศลธรรมที่ได้บรรลุแล้วให้เจริญได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้อาจบรรลุกุศลธรรม
ที่ยังไม่ได้บรรลุ หรือทำกุศลธรรมที่ได้บรรลุแล้วให้เจริญได้

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ฉลาดในความเจริญ ในที่นี้หมายถึงไม่ฉลาดในเหตุให้เกิดกุศลธรรมและอกุศลธรรม กล่าวคือ ไม่รู้ว่า
‘เมื่อมนสิการถึงธรรมทั้งหลายอย่างนี้ กุศลธรรมย่อมเจริญ หรือเมื่อมนสิการถึงธรรมทั้งหลายอย่างนี้
อกุศลธรรมย่อมเจริญ’ (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๗๙/๑๗๗-๑๗๘)
๒ ไม่ฉลาดในความเสื่อม ในที่นี้หมายถึงไม่ฉลาดในเหตุเสื่อมแห่งกุศลและอกุศล (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๗๙/๑๗๘)
๓ ไม่ฉลาดในอุบาย ในที่นี้หมายถึงไม่มีปัญญาหยั่งรู้เหตุที่เกิดขึ้น ในเมื่อมีกิจรีบด่วนหรือภัยเกิดขึ้น ก็ไม่มี
ปัญญาที่จะแก้ไขได้ (เทียบ องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๗๙/๑๗๘)
๔ ฉันทะ ในที่นี้หมายถึงกัตตุกัมยตาฉันทะ(ความพอใจคือความเป็นผู้ใคร่จะทำ) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๗๙/๑๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๘. อรหัตตวรรค ๖. มหัตตสูตร
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ฉลาดในความเจริญ
๒. เป็นผู้ฉลาดในความเสื่อม
๓. เป็นผู้ฉลาดในอุบาย
๔. สร้างฉันทะเพื่อบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
๕. รักษากุศลธรรมที่ได้บรรลุแล้ว
๖. ทำกุศลธรรมให้ถึงพร้อมด้วยการทำติดต่อ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้อาจบรรลุ
กุศลธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ หรือทำกุศลธรรมที่ได้บรรลุแล้วให้เจริญได้
อธิคมสูตรที่ ๕ จบ
๖. มหัตตสูตร
ว่าด้วยการบรรลุความเป็นใหญ่
[๘๐] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ไม่นานนัก ย่อม
บรรลุความเป็นใหญ่ ความไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มากด้วยแสงสว่าง๑
๒. เป็นผู้มากด้วยความเพียร
๓. เป็นผู้มากด้วยความปลาบปลื้ม๒

เชิงอรรถ :
๑ แสงสว่าง ในที่นี้หมายถึงญาณ(ความรู้) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๘๐/๑๕๔)
๒ ความปลาบปลื้ม ในที่นี้หมายถึงปีติและปราโมทย์ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๘๐/๑๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๘. อรหัตตวรรค ๗. ปฐมนิรยสูตร
๔. เป็นผู้มากด้วยความไม่สันโดษ๑
๕. เป็นผู้ไม่ทอดธุระ
๖. ทำความเพียรให้ยิ่งขึ้นในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ไม่นานนัก ย่อมบรรลุ
ความเป็นใหญ่ ความไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย
มหัตตสูตรที่ ๖ จบ
๗. ปฐมนิรยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดในนรก สูตรที่ ๑
[๘๑] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๒. เป็นผู้ลักทรัพย์
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ๔. เป็นผู้พูดเท็จ
๕. เป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว ๖. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๓. เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม

เชิงอรรถ :
๑ ไม่สันโดษ ในที่นี้หมายถึงไม่สันโดษพอใจหยุดอยู่เพียงแค่ในกุศลธรรมทั้งหลายที่มีอยู่แล้ว แต่ยังทำ
ความเพียรยิ่งขึ้นในกุศลธรรมทั้งหลาย (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๘๐/๑๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๘. อรหัตตวรรค ๘. ทุติยนิรยสูตร
๔. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
๕. เป็นผู้ไม่มีความปรารถนาชั่ว
๖. เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ปฐมนิรยสูตรที่ ๗ จบ
๘. ทุติยนิรยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดในนรก สูตรที่ ๒
[๘๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้พูดเท็จ ๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด
๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ ๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ
๕. เป็นผู้มักโลภ ๖. เป็นผู้มีความคะนอง
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
๒. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
๓. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
๔. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๘. อรหัตตวรรค ๙. อัคคธัมมสูตร
๕. เป็นผู้ไม่มักโลภ
๖. เป็นผู้ไม่มีความคะนอง
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ทุติยนิรยสูตรที่ ๘ จบ
๙. อัคคธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมชั้นเลิศ
[๘๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้ไม่อาจทำ
ให้แจ้งอรหัตตผลอันเป็นธรรมชั้นเลิศได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ไม่มีหิริ
๓. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้เกียจคร้าน
๕. เป็นผู้มีปัญญาทราม ๖. เป็นผู้ห่วงใยกายและชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่อาจทำให้
แจ้งอรหัตตผลอันเป็นธรรมชั้นเลิศได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้อาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลอันเป็นธรรมชั้นเลิศได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีหิริ
๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร
๕. เป็นผู้มีปัญญา ๖. เป็นผู้ไม่ห่วงใยกายและชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้อาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลอันเป็นธรรมชั้นเลิศได้
อัคคธัมมสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๘. อรหัตตวรรค ๑๐. รัตติทิวสสูตร
๑๐. รัตติทิวสสูตร
ว่าด้วยวันและคืน
[๘๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เมื่อกลางวันหรือ
กลางคืนผ่านไป พึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความ
เจริญเลย
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มักมาก มีความคับแค้นใจ ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้
๒. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา
๓. เป็นผู้ทุศีล
๔. เป็นผู้เกียจคร้าน
๕. เป็นผู้หลงลืมสติ
๖. เป็นผู้มีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เมื่อกลางวันหรือ
กลางคืนผ่านไป พึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มี
ความเจริญเลย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เมื่อกลางวันหรือกลางคืน
ผ่านไป พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่มักมาก ไม่มีความคับแค้นใจ สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้
๒. เป็นผู้มีศรัทธา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๘. อรหัตตวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๓. เป็นผู้มีศีล
๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร
๕. เป็นผู้มีสติ
๖. เป็นผู้มีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เมื่อกลางวันหรือ
กลางคืนผ่านไป พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความ
เสื่อมเลย
รัตติทิวสสูตรที่ ๑๐ จบ
อรหัตตวรรคที่ ๘ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ทุกขสูตร ๒. อรหัตตสูตร
๓. อุตตริมนุสสธัมมสูตร ๔. สุขโสมนัสสสูตร
๕. อธิคมสูตร ๖. มหัตตสูตร
๗. ปฐมนิรยสูตร ๘. ทุติยนิรยสูตร
๙. อัคคธัมมสูตร ๑๐. รัตติทิวสสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๙. สีติวรรค ๑. สีติภาวสูตร
๙. สีติวรรค
หมวดว่าด้วยสีติภาวะ๑
๑. สีติภาวสูตร
ว่าด้วยสีติภาวะ
[๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖
ประการ เป็นผู้ไม่อาจทำให้แจ้งสีติภาวะ(สภาวะที่เย็น)อันยอดเยี่ยม
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ไม่ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม๒
๒. ไม่ประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง๓
๓. ไม่ทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง๔
๔. ไม่วางจิตในสมัยที่ควรวาง๕
๕. น้อมไปในธรรมที่เลว
๖. ยินดียิ่งในสักกายทิฏฐิ๖

เชิงอรรถ :
๑ สีติภาวะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน หรือธรรมเครื่องระงับกิเลส (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๘๕/๑๗๙)
๒ สมัยที่ควรข่ม หมายถึงขณะที่จิตมีฟุ้งซ่านเพราะบำเพ็ญเพียรมากเกินไป เป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๘๕/๑๕๔)
๓ สมัยที่ควรประคอง หมายถึงขณะที่จิตตกอยู่ในความเกียจคร้าน เพราะมีความเพียรย่อหย่อน เป็นต้น
(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๘๕/๑๕๔)
๔ สมัยที่ควรให้ร่าเริง หมายถึงขณะที่จิตดำเนินสม่ำเสมอ ขณะที่จิตปราศจากความยินดีไม่ดำเนินไปในภาวนา
เพราะมีความพยายามด้วยปัญญาน้อย หรือขณะที่จิตไม่บรรลุสุขคือความสงบ
อนึ่ง เมื่อทำจิตให้ร่าเริง ภิกษุต้องพิจารณาสังเวควัตถุมีชาติเป็นต้น (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๘๕/๑๗๙)
๕ สมัยที่ควรวาง หมายถึงขณะที่จิตดำเนินดี คือหยั่งลงสู่ภาวนาวิธีที่ถูกต้อง (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๘๕/๑๕๕)
๖ ดูรายละเอียดในเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๑๒ หน้า ๖๓๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๙. สีติวรรค ๒. อาวรณตาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่อาจทำให้แจ้ง
สีติภาวะอันยอดเยี่ยม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้อาจทำให้แจ้ง
สีติภาวะอันยอดเยี่ยม
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม
๒. ประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง
๓. ทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง
๔. วางจิตในสมัยที่ควรวาง
๕. น้อมไปในธรรมที่ประณีต
๖. ยินดียิ่งในนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้อาจทำให้แจ้ง
สีติภาวะอันยอดเยี่ยม
สีติภาวสูตรที่ ๑ จบ
๒. อาวรณตาสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น
[๘๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่
ก็ไม่อาจก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม๑ในกุศลธรรมทั้งหลายได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ปัญจกนิบาต ข้อ ๑๕๑ หน้า ๒๔๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๙. สีติวรรค ๒. อาวรณตาสูตร
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกรรมเป็นเครื่องกั้น๑
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น๒
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีวิบากเป็นเครื่องกั้น๓
๔. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา
๕. เป็นผู้ไม่มีฉันทะ
๖. เป็นผู้มีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่
ก็ไม่อาจก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ฟังสัทธรรมอยู่ อาจก้าว
ลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกรรมเป็นเครื่องกั้น
๒. เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น
๓. เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยความเป็นผู้มีวิบากเป็นเครื่องกั้น
๔. เป็นผู้มีศรัทธา
๕. เป็นผู้มีฉันทะ
๖. เป็นผู้มีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ฟังสัทธรรมอยู่ อาจ
ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้
อาวรณตาสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กรรมเป็นเครื่องกั้น ในที่นี้หมายถึงอนันตริยกรรม ๕ คือ (๑) มาตุฆาต (ฆ่ามารดา) (๒) ปิตุฆาต (ฆ่า
บิดา) (๓) อรหันตฆาต(ฆ่าพระอรหันต์) (๔) โลหิตุปบาท(ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงให้พระโลหิตห้อขึ้นไป)
(๕) สังฆเภท (ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน) (อง.ฉกฺก.อ. ๓/๘๖/๑๕๕)
๒ กิเลสเป็นเครื่องกั้น ในทีนี้หมายถึงนิยตมิจฉาทิฏฐิ (ได้แก่ลัทธิที่มีความเชื่อว่าสัตว์ วิญญาณ หรือชีวาตมัน
มีความเที่ยงแท้ไม่ดับสลาย) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๘๖/๑๕๕)
๓ วิบากเป็นเครื่องกั้น ในที่นี้หมายถึงอกุสลวิปากปฏิสนธิ (การถือปฏิสนธิเพราะผลแห่งอกุศลกรรม) หรือ
อเหตุกปฏิสนธิ (การถือปฏิสนธิโดยปราศจากเหตุ) ในกุศลวิบากอยู่ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๘๖/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๙. สีติวรรค ๓. โวโรปิตสูตร
๓. โวโรปิตสูตร
ว่าด้วยผู้ฆ่า
[๘๗] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่
ก็ไม่อาจก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้ฆ่ามารดา
๒. เป็นผู้ฆ่าบิดา
๓. เป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์
๔. เป็นผู้มีจิตคิดประทุษร้ายทำพระโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น
๕. เป็นผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน
๖. เป็นผู้มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นคนเซอะ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็ไม่
อาจก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ฟังสัทธรรมอยู่ อาจก้าว
ลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้ไม่ฆ่ามารดา
๒. เป็นผู้ไม่ฆ่าบิดา
๓. เป็นผู้ไม่ฆ่าพระอรหันต์
๔. เป็นผู้ไม่มีจิตคิดประทุษร้ายทำพระโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น
๕. เป็นผู้ไม่ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน
๖. เป็นผู้มีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่เป็นคนเซอะ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ฟังสัทธรรมอยู่
อาจก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้
โวโรปิตสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๙. สีติวรรค ๔. สุสสูสติสูตร
๔. สุสสูสติสูตร
ว่าด้วยการฟังด้วยดี
[๘๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่
ก็ไม่อาจก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
เมื่อบุคคลอื่นแสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้
๑. ไม่ตั้งใจฟังด้วยดี
๒. ไม่เงี่ยโสตสดับ
๓. ไม่ตั้งใจใฝ่รู้
๔. ถือเอาแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
๕. ทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์
๖. ประกอบด้วยอนนุโลมิกขันติ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่
ก็ไม่อาจก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ฟังสัทธรรมอยู่ อาจเพื่อ
ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
เมื่อบุคคลอื่นแสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้
๑. ตั้งใจฟังด้วยดี
๒. เงี่ยโสตสดับ
๓. ตั้งใจใฝ่รู้
๔. ถือเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๙. สีติวรรค ๕. อัปปหายสูตร
๕. ทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
๖. ประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ๑
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ฟังสัทธรรมอยู่
อาจก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้
สุสสูสติสูตรที่ ๔ จบ
๕. อัปปหายสูตร
ว่าด้วยธรรมที่บุคคลยังละไม่ได้
[๘๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
ทิฏฐิสัมปทา๒ได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นอัตตา)
๒. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
๓. สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต)
๔. ราคะเป็นเหตุไปสู่อบาย
๕. โทสะเป็นเหตุไปสู่อบาย
๖. โมหะเป็นเหตุไปสู่อบาย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๖ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
ทิฏฐิสัมปทาได้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๖ ประการได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้งทิฏฐิ-
สัมปทาได้

เชิงอรรถ :
๑ อนุโลมิกขันติ ในที่นี้หมายถึงข้อพินิจที่เกื้อกูลแก่การบรรลุอริยสัจ ๔ หรือเหมาะแก่คำสอน (องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๘๘-๘๙/๑๕๕) ขันติ ในที่นี้หมายถึงปัญญา หรือวิปัสสนาญาณ มิใช่หมายถึงความอดทน (เทียบ ขุ.ป.
๓๑/๓๖/๔๔๔,อภิ.วิ.อ. ๗๖๘/๔๔๐)
๒ ทิฏฐิสัมปทา ในที่นี้หมายถึงโสดาปัตติมรรค (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๘๘-๘๙/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๙. สีติวรรค ๖. ปหีนสูตร
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สักกายทิฏฐิ
๒. วิจิกิจฉา
๓. สีลัพพตปรามาส
๔. ราคะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย
๕. โทสะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย
๖. โมหะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๖ ประการนี้ได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้งทิฏฐิ-
สัมปทาได้
อัปปหายสูตรที่ ๕ จบ
๖. ปหีนสูตร
ว่าด้วยธรรมที่บุคคลละได้
[๙๐] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ๑ละ
ได้แล้ว
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สักกายทิฏฐิ
๒. วิจิกิจฉา
๓. สีลัพพตปรามาส
๔. ราคะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย
๕. โทสะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย
๖. โมหะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิละได้แล้ว
ปหีนสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ” ในสูตรที่ ๖-๑๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ฉักกนิบาต ข้อ ๕๔ (ธัมมิกสูตร) หน้า
๕๓๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๙. สีติวรรค ๘. ปฐมอภัพพัฏฐานสูตร
๗. อภัพพสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่อาจให้ธรรมเกิดขึ้น
[๙๑] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ไม่อาจให้ธรรม ๖
ประการเกิดขึ้นได้
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สักกายทิฏฐิ
๒. วิจิกิจฉา
๓. สีลัพพตปรามาส
๔. ราคะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย
๕. โทสะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย
๖. โมหะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ไม่อาจให้ธรรม ๖ ประการนี้
แลเกิดขึ้นได้
อภัพพสูตรที่ ๗ จบ
๘. ปฐมอภัพพัฏฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ สูตรที่ ๑
[๙๒] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ ๖ ประการนี้
ฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
๑. เป็นผู้ไม่อาจอยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา
๒. เป็นผู้ไม่อาจอยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม
๓. เป็นผู้ไม่อาจอยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๙. สีติวรรค ๙. ทุติยอภัพพัฏฐานสูตร
๔. เป็นผู้ไม่อาจอยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา
๕. เป็นผู้ไม่อาจกลับมาสู่เหตุที่ไม่ควรเข้าถึง๑
๖. เป็นผู้ไม่อาจให้ภพที่ ๘๒ เกิดขึ้นได้
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ ๖ ประการนี้แล
ปฐมอภัพพัฏฐานสูตรที่ ๘ จบ
๙. ทุติยอภัพพัฏฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ สูตรที่ ๒
[๙๓] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ ๖ ประการนี้
ฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
๑. เป็นผู้ไม่อาจยึดถือสังขารว่าเป็นของเที่ยง
๒. เป็นผู้ไม่อาจยึดถือสังขารว่าเป็นสุข
๓. เป็นผู้ไม่อาจยึดถือธรรมว่าเป็นอัตตา
๔. เป็นผู้ไม่อาจทำอนันตริยกรรม๓
๕. เป็นผู้ไม่อาจเชื่อความบริสุทธิ์โดยถือมงคลตื่นข่าว๔
๖. เป็นผู้ไม่อาจแสวงหาเขตบุญนอกศาสนานี้
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ ๖ ประการนี้แล
ทุติยอภัพพัฏฐานสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เหตุที่ไม่ควรเข้าถึง ในที่นี้หมายถึงเวร ๕ ได้แก่ (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ เสพของ
มึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท) และทิฏฐิ ๖๒ ประการ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๙๒-๙๕/
๑๕๕) ดู ที.สี. (แปล) ๙/๒๘-๑๔๖/๑๑-๔๖ ประกอบ
๒ ภพที่ ๘ หมายถึงปฏิสนธิที่ ๘ ในชั้นกามาวจร (ผู้ได้โสดาบันจะถือปฏิสนธิไม่เกิน ๗ ครั้ง) (องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๙๒-๙๕/๑๕๕)
๓ ดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๔๑/๕๙๕, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๘๖/๑๕๕
๔ ถือมงคลตื่นข่าว หมายถึงถือว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นมงคล (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๙๒-๙๕/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๙. สีติวรรค ๑๑. จตุตถอภัพพัฏฐานสูตร
๑๐. ตติยอภัพพัฏฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ สูตรที่ ๓
[๙๔] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ ๖ ประการนี้
ฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
๑. เป็นผู้ไม่อาจฆ่ามารดา
๒. เป็นผู้ไม่อาจฆ่าบิดา
๓. เป็นผู้ไม่อาจฆ่าพระอรหันต์
๔. เป็นผู้ไม่อาจมีจิตคิดประทุษร้ายทำพระโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น
๕. เป็นผู้ไม่อาจทำลายสงฆ์ให้แตกกัน
๖. เป็นผู้ไม่อาจนับถือศาสดาอื่น
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ ๖ ประการนี้แล
ตติยอภัพพัฏฐานสูตรที่ ๑๐ จบ
๑๑. จตุตถอภัพพัฏฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ สูตรที่ ๔
[๙๕] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ ๖ ประการนี้
ฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
๑. เป็นผู้ไม่อาจยึดถือสุขและทุกข์ที่ตนเองทำไว้๑
๒. เป็นผู้ไม่อาจยึดถือสุขและทุกข์ที่ผู้อื่นทำไว้
๓. เป็นผู้ไม่อาจยึดถือสุขและทุกข์ที่ตนเองและผู้อื่นทำไว้

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงไม่อาจยึดถือสุขและทุกข์ตามอำนาจทิฏฐิของตนได้ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๙๕/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๙. สีติวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๔. เป็นผู้ไม่อาจยึดถือสุขและทุกข์ที่เกิดขึ้นเองและตนเองไม่ได้ทำไว้
๕. เป็นผู้ไม่อาจยึดถือสุขและทุกข์ที่เกิดขึ้นเอง และผู้อื่นไม่ได้ทำไว้
๖. เป็นผู้ไม่อาจยึดถือสุขและทุกข์ที่เกิดขึ้นเอง ที่ตนเอง และผู้อื่นไม่ได้
ทำไว้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าเหตุและธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากเหตุอันบุคคลผู้
ถึงพร้อมด้วยทิฏฐินั้นเห็นได้ดี
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ ๖ ประการนี้แล
จตุตถอภัพพัฏฐานสูตรที่ ๑๑ จบ
สีติวรรคที่ ๙ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สีติภาวสูตร ๒. อาวรณตาสูตร
๓. โวโรปิตสูตร ๔. สุสสูสติสูตร
๕. อัปปหายสูตร ๖. ปหีนสูตร
๗. อภัพพสูตร ๘. ปฐมอภัพพัฏฐานสูตร
๙. ทุติยอภัพพัฏฐานสูตร ๑๐. ตติยอภัพพัฏฐานสูตร
๑๑. จตุตถอภัพพัฏฐานสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑๐. อานิสังสวรรค ๒. อานิสังสสูตร
๑๐. อานิสังสวรรค
หมวดว่าด้วยอานิสงส์
๑. ปาตุภาวสูตร
ว่าด้วยเหตุปรากฏ
[๙๖] ภิกษุทั้งหลาย เหตุปรากฏ ๖ ประการ หาได้ยากในโลก
เหตุปรากฏ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความปรากฏแห่งตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หาได้ยากในโลก
๒. บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ หาได้ยากในโลก
๓. บุคคลผู้เกิดขึ้นในถิ่นอริยะ๑ หาได้ยากในโลก
๔. ความมีอินทรีย์ไม่บกพร่อง หาได้ยากในโลก
๕. ความไม่โง่เขลา ความไม่เป็นคนเซอะ หาได้ยากในโลก
๖. ความพอใจในกุศลธรรม หาได้ยากในโลก
ภิกษุทั้งหลาย เหตุปรากฏ ๖ ประการนี้แล หาได้ยากในโลก
ปาตุภาวสูตรที่ ๑ จบ
๒. อานิสังสสูตร
ว่าด้วยอานิสงส์แห่งโสดาปัตติผล
[๙๗] ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการทำให้แจ้งโสดาปัตติผล ๖ ประการนี้
อานิสงส์ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มีความแน่นอนในสัทธรรม๒
๒. มีความไม่เสื่อมเป็นธรรมดา
๓. ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ไม่มีความทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ถิ่นอริยะ หมายถึงมัชฌิมประเทศ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๙๖-๙๗/๑๕๖)
๒ สัทธรรม ในที่นี้หมายถึงศาสนา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๙๖-๙๗/๑๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑๐. อานิสังสวรรค ๓. อนิจจสูตร
๔. ประกอบด้วยอสาธารณญาณ๑
๕. เห็นเหตุได้ดี
๖. เห็นธรรมที่เกิดขึ้นจากเหตุได้ดี
ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการทำให้แจ้งโสดาปัตติผล ๖ ประการนี้แล
อานิสังสสูตรที่ ๒ จบ
๓. อนิจจสูตร
ว่าด้วยความเป็นของไม่เที่ยง
[๙๘] ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นของเที่ยง จัก
ประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ๒ได้
๒. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ จักก้าวลงสู่
สัมมัตตนิยาม๓ได้
๓. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งโสดา-
ปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผลได้
ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยง จัก
ประกอบด้วยอนุโลมิกขันติได้

เชิงอรรถ :
๑ อสาธารณญาณ หมายถึงญาณที่ไม่ทั่วไปสำหรับปุถุชน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๙๖-๙๗/๑๕๖)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๘๘ (สุสสูสติสูตร) หน้า ๖๑๔ ในเล่มนี้
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ปัญจกนิบาต ข้อ ๑๕๑ หน้า ๒๔๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑๐. อานิสังสวรรค ๕. อนัตตสูตร
๒. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ จักก้าวลงสู่สัมมัตต-
นิยามได้
๓. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผลได้
อนิจจสูตรที่ ๓ จบ
๔. ทุกขสูตร
ว่าด้วยความเป็นทุกข์
[๙๙] ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นสุข
ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงว่าเป็นทุกข์
ฯลฯ
ทุกขสูตรที่ ๔ จบ
๕. อนัตตสูตร
ว่าด้วยความเป็นอนัตตา
[๑๐๐] ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมว่าเป็นอัตตา
ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมทั้งปวงว่าเป็นอนัตตา
ฯลฯ
อนัตตสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑๐. อานิสังสวรรค ๖. นิพพานสูตร
๖. นิพพานสูตร
ว่าด้วยนิพพาน
[๑๐๑] ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นนิพพานว่าเป็นทุกข์ จัก
ประกอบด้วยอนุโลมิกขันติได้
๒. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ จักก้าวลงสู่
สัมมัตตนิยามได้
๓. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ก้าวลงสู่สมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งโสดา-
ปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผลได้
ภิกษุทั้งหลาย
๑. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นนิพพานว่าเป็นสุข จักประกอบด้วย
อนุโลมิกขันติได้
๒. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ จักก้าวลงสู่สัมมัตต-
นิยามได้
๓. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม จักทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผลได้
นิพพานสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑๐. อานิสังสวรรค ๘. อุกขิตตาสิกสูตร
๗. อนวัฏฐิตสูตร
ว่าด้วยความไม่มั่นคง
[๑๐๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอานิสงส์ ๖ ประการ สามารถ
ทำเขตไม่จำกัด๑ในสังขารทั้งปวงแล้วทำอนิจจสัญญาให้ปรากฏได้
อานิสงส์ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุพิจารณาเห็นว่า
๑. สังขารทั้งปวงจักปรากฏว่าเป็นของไม่มั่นคง
๒. ใจของเราจักไม่ยินดีในโลกทั้งปวง
๓. ใจของเราจักออกไปจากโลกทั้งปวง
๔. ใจของเราจักน้อมไปสู่นิพพาน
๕. สังโยชน์ทั้งหลายของเราจักถึงการละได้
๖. เราจักเป็นผู้ประกอบด้วยสามัญญะ๒ อันยอดเยี่ยม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอานิสงส์ ๖ ประการนี้แล สามารถทำเขต
ไม่จำกัดในสังขารทั้งปวงแล้วทำอนิจจสัญญาให้ปรากฏได้
อนวัฏฐิตสูตรที่ ๗ จบ
๘. อุกขิตตาสิกสูตร
ว่าด้วยนิพพิทาสัญญาเหมือนเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบขึ้น
[๑๐๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอานิสงส์ ๖ ประการ สามารถ
ทำเขตไม่จำกัดในสังขารทั้งปวงแล้วทำทุกขสัญญาให้ปรากฏได้
อานิสงส์ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุพิจารณาเห็นว่า
๑. นิพพิทาสัญญา(ความกำหนดหมายความเบื่อหน่าย)ในสังขารทั้งปวง
จักปรากฏแก่เราเหมือนเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบขึ้น

เชิงอรรถ :
๑ ทำเขตไม่จำกัด หมายถึงทำเขตไม่จำกัดอย่างนี้ว่า “สังขารประมาณเท่านี้ ไม่เที่ยง นอกนี้จะชื่อว่าไม่เที่ยง
ก็หามิได้” (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๐๒/๑๕๖)
๒ สามัญญะ ในทีนี้หมายถึงความเป็นสมณะ ได้แก่ อริยมรรค (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๐๒/๑๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑๐. อานิสังสวรรค ๙. อตัมมยสูตร
๒. ใจของเราจักออกไปจากโลกทั้งปวง
๓. เราจักมีปกติเห็นสันติในนิพพาน
๔. อนุสัยของเราจักถึงการเพิกถอน
๕. เราจักทำตามหน้าที่
๖. เราจักมีเมตตาบำรุงพระศาสดา๑
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอานิสงส์ ๖ ประการนี้แล สามารถทำเขต
ไม่จำกัดในสังขารทั้งปวงแล้วทำทุกขสัญญาให้ปรากฏได้
อุกขิตตาสิกสูตรที่ ๘ จบ
๙. อตัมมยสูตร
ว่าด้วยอตัมมยะ๒
[๑๐๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอานิสงส์ ๖ ประการ สามารถ
ทำเขตไม่จำกัดในธรรมทั้งปวงแล้วทำอนัตตสัญญาให้ปรากฏได้
อานิสงส์ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุพิจารณาเห็นว่า
๑. เราจักเป็นอตัมมยะ
๒. อหังการ๓ของเราจักดับไป

เชิงอรรถ :
๑ พระเสขบุคคล ๗ จำพวก ย่อมบำรุงรับใช้พระตถาคตด้วยเมตตา ส่วนพระขีณาสพได้ผ่านการบำรุงรับใช้
พระศาสดาแล้ว (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๐๓/๑๕๖)
๒ อตัมมยะ (ไม่มีตัมมยะ) ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัณหาและทิฏฐิ คำว่า ตัมมยะ เป็นชื่อเรียกตัณหาและทิฏฐิ
(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๐๔/๑๕๖)
๓ อหังการ หมายถึงทิฏฐิที่มีความยึดถือว่าเป็นเรา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๐๔/๑๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑๐. อานิสังสวรรค ๑๐. ภวสูตร
๓. มมังการ๑ของเราจักดับไป
๔. เราจักเป็นผู้ประกอบด้วยอสาธารณญาณ๒
๕. เราจักเป็นผู้เห็นเหตุได้ดี
๖. เราจักเป็นผู้เห็นธรรมที่เกิดขึ้นจากเหตุได้ดี
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอานิสงส์ ๖ ประการนี้แล สามารถทำเขต
ไม่จำกัดในธรรมทั้งปวงแล้วทำอนัตตสัญญาให้ปรากฏได้
อตัมมยสูตรที่ ๙ จบ
๑๐ ภวสูตร
ว่าด้วยภพและสิกขา
[๑๐๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรละภพ ๓ ประการนี้ ควรศึกษาในสิกขา
๓ ประการ
ภพ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามภพ (ภพที่เป็นกามาวจร)
๒. รูปภพ (ภพที่เป็นรูปาวจร)
๓. อรูปภพ (ภพที่เป็นอรูปาวจร)
นี้คือภพ ๓ ประการที่ภิกษุควรละ
สิกขา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อธิสีลสิกขา (สิกขาคือศีลอันยิ่ง)
๒. อธิจิตตสิกขา (สิกขาคือจิตอันยิ่ง)

เชิงอรรถ :
๑ มมังการ หมายถึงตัณหา คือความทะยานอยากว่าเป็นของเรา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๐๔/๑๕๖)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๗ (อานิสังสสูตร) หน้า ๖๒๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑๐. อานิสังสวรรค ๑๑. ตัณหาสูตร
๓. อธิปัญญาสิกขา (สิกขาคือปัญญาอันยิ่ง)
นี้คือสิกขา ๓ ประการที่ภิกษุควรศึกษา
ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุละภพ ๓ ประการนี้ได้ และศึกษาสิกขา ๓ ประการ
นี้ได้ เราจึงเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ตัดตัณหาได้แล้ว ถอนสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แล้วเพราะละมานะได้โดยชอบ๑’
ภวสูตรที่ ๑๐ จบ
๑๑. ตัณหาสูตร
ว่าด้วยตัณหาและมานะ
[๑๐๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรละตัณหา ๓ ประการ และควรละมานะ ๓
ประการ
ตัณหา๒ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามตัณหา (ความทะยานอยากในกามธาตุ)
๒. รูปตัณหา (ความทะยานอยากในรูปธาตุ)
๓. อรูปตัณหา (ความทะยานอยากในอรูปธาตุ)
นี้คือตัณหา ๓ ประการที่ภิกษุควรละ
มานะ๓ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มานะ (ความถือตัวว่าเสมอเขา)
๒. โอมานะ (ความถือตัวว่าด้อยกว่าเขา)

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงตัดตัณหาได้เด็ดขาดด้วยโลกุตตรมรรค ถอนสังโยชน์ ๑๐ ประการได้ ทำให้วัฏฏทุกข์หยุดการ
หมุนได้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๗/๓๙๘) และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๗๗/๒๕๘,๒๕๗/๓๘๗ ประกอบ
๒ ดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๗/๕๗๓
๓ ดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๗๘-๘๘๑/๕๕๗-๕๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑๐. อานิสังสวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๓. อติมานะ (ความถือตัวว่าดีกว่าเขา)
นี้คือมานะ ๓ ประการที่ภิกษุควรละ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุละตัณหา ๓ ประการนี้ได้ และละมานะ ๓ ประการ
นี้ได้ เราจึงเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ตัดตัณหาได้แล้ว ถอนสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แล้วเพราะละมานะได้โดยชอบ’
ตัณหาสูตรที่ ๑๑ จบ
อานิสังสวรรคที่ ๑๐ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปาตุภาวสูตร ๒. อานิสังสสูตร
๓. อนิจจสูตร ๔. ทุกขสูตร
๕. อนัตตสูตร ๖. นิพพานสูตร
๗. อนวัฏฐิตสูตร ๘. อุกขิตตาสิกสูตร
๙. อตัมมยสูตร ๑๐. ภวสูตร
๑๑. ตัณหาสูตร

ทุติยปัณณาสก์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๑. ติกวรรค ๑. ราคสูตร
๑๑. ติกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมหมวดละ ๓
๑. ราคสูตร
ว่าด้วยราคะ
[๑๐๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ราคะ (ความกำหนัด)
๒. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
๓. โมหะ (ความหลง)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุควรเจริญอสุภะ๑เพื่อละราคะ
๒. ภิกษุควรเจริญเมตตา๒เพื่อละโทสะ
๓. ภิกษุควรเจริญปัญญา๓เพื่อละโมหะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้แล
ราคสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อสุภะ หมายถึงอสุภกัมมัฏฐาน คืออารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจที่พิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่น
ให้เห็นสภาวะที่ไม่งาม มี ๑๐ ประการ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๐๗/๑๕๗) และดูรายละเอียดประกอบใน วิสุทฺธิ.
๑/๑๐๒-๑๒๒/๑๙๔-๒๑๔
๒ เมตตา หมายถึงเมตตากัมมัฏฐาน อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจที่ปรารถนาให้เขามีความสุข (องฺ.ฉกฺก.
อ. ๓/๑๐๗/๑๕๗)
๓ ปัญญา หมายถึงมัคคปัญญาพร้อมทั้งวิปัสสนา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๐๗/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๑. ติกวรรค ๓. วิตักกสูตร
๒. ทุจจริตสูตร
ว่าด้วยทุจริต
[๑๐๘] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กายทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยกาย)
๒. วจีทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยวาจา)
๓. มโนทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยใจ)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุควรเจริญกายสุจริต(ความประพฤติชอบด้วยกาย)เพื่อละกาย
ทุจริต
๒. ภิกษุควรเจริญวจีสุจริต(ความประพฤติชอบด้วยวาจา)เพื่อละวจีทุจริต
๓. ภิกษุควรเจริญมโนสุจริต(ความประพฤติชอบด้วยใจ)เพื่อละมโนทุจริต
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้แล
ทุจจริตสูตรที่ ๒ จบ
๓. วิตักกสูตร
ว่าด้วยวิตก
[๑๐๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามวิตก (ความตรึกในทางกาม)
๒. พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท)
๓. วิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๑. ติกวรรค ๔. สัญญาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุควรเจริญเนกขัมมวิตก(ความตรึกปลอดจากกาม)เพื่อละกามวิตก
๒. ภิกษุควรเจริญอพยาบาทวิตก(ความตรึกปลอดจากพยาบาท)เพื่อ
ละพยาบาทวิตก
๓. ภิกษุควรเจริญอวิหิงสาวิตก(ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน)
เพื่อละวิหิงสาวิตก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้แล
วิตักกสูตรที่ ๓ จบ
๔. สัญญาสูตร
ว่าด้วยสัญญา
[๑๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามสัญญา (ความกำหนดหมายในทางกาม)
๒. พยาปาทสัญญา (ความกำหนดหมายในทางพยาบาท)
๓. วิหิงสาสัญญา (ความกำหนดหมายในทางเบียดเบียน)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุควรเจริญเนกขัมมสัญญา(ความกำหนดหมายปลอดจากกาม)
เพื่อละกามสัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๑. ติกวรรค ๕. ธาตุสูตร
๒. ภิกษุควรเจริญอพยาปาทสัญญา(ความกำหนดหมายปลอดจาก
พยาบาท)เพื่อละพยาปาทสัญญา
๓. ภิกษุควรเจริญอวิหิงสาสัญญา(ความกำหนดหมายปลอดจากการ
เบียดเบียน)เพื่อละวิหิงสาสัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้แล
สัญญาสูตรที่ ๔ จบ
๕. ธาตุสูตร
ว่าด้วยธาตุ
[๑๑๑] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามธาตุ (ธาตุคือกาม)
๒. พยาปาทธาตุ (ธาตุคือพยาบาท)
๓. วิหิงสาธาตุ (ธาตุคือความเบียดเบียน)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุควรเจริญเนกขัมมธาตุ(ธาตุคือความปลอดจากกาม)เพื่อละ
กามธาตุ
๒. ภิกษุควรเจริญอพยาปาทธาตุ(ธาตุคือความปลอดจากพยาบาท)
เพื่อละพยาปาทธาตุ
๓. ภิกษุควรเจริญอวิหิงสาธาตุ(ธาตุคือความปลอดจากการเบียดเบียน)
เพื่อละวิหิงสาธาตุ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้แล
ธาตุสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๑. ติกวรรค ๖. อัสสาทสูตร
๖. อัสสาทสูตร
ว่าด้วยอัสสาททิฏฐิ๑
[๑๑๒] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อัสสาททิฏฐิ
๒. อัตตานุทิฏฐิ๒
๓. มิจฉาทิฏฐิ๓
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุควรเจริญอนิจจสัญญา (ความกำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่ง
สังขาร) เพื่อละอัสสาททิฏฐิ
๒. ภิกษุควรเจริญอนัตตสัญญา (ความกำหนดหมายรู้ความเป็นอนัตตา
แห่งธรรมทั้งปวง) เพื่อละอัตตานุทิฏฐิ
๓. ภิกษุควรเจริญสัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ)เพื่อละมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้แล
อัสสาทสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง (คือเห็นว่า อัตตา(ชีวาตมัน)และโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงอยู่
ตลอดไป เช่นเห็นว่า คน และสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือมนัส เป็น
ธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นต่อไป จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๑๒/๑๕๗)
๒ หมายถึงสักกายทิฏฐิที่มีวัตถุ ๒๐ ประการ (๑) เห็นรูปเป็นอัตตา (๒) เห็นอัตตามีรูป (๓) เห็นรูปในอัตตา
(๔) เห็นรูปในรูป (๕) เห็นเวทนาเป็นอัตตา (๖) เห็นอัตตามีเวทนา (๗) เห็นเวทนาในอัตตา (๘) เห็นอัตตา
ในเวทนา (๙) เห็นสัญญาเป็นอัตตา (๑๐) เห็นอัตตามีสัญญา (๑๑) เห็นสัญญาในอัตตา (๑๒) เห็นอัตตา
ในสัญญา (๑๓) เห็นสังขารเป็นอัตตา (๑๔) เห็นอัตตามีสังขาร (๑๕) เห็นสังขารในอัตตา (๑๖) เห็นอัตตา
ในสังขาร (๑๗) เห็นวิญญาณเป็นอัตตา (๑๘)เห็นอัตตามีวิญญาณ (๑๙) เห็นวิญญาณในอัตตา (๒๐) เห็น
อัตตาในวิญญาณ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๑๒/๑๕๗) และดู สํ.ข.๑๗/๑๕๕/๑๔๙, ขุ.ม.อ.๑๒/๑๕๘
๓ หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๑๒/๑๕๗) และดู ที.สี. (แปล) ๙/๒๘-๑๔๖/๑๑-๔๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๑. ติกวรรค ๗. อรติสูตร
๗. อรติสูตร
ว่าด้วยอรติ
[๑๑๓] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อรติ (ความไม่ยินดี)
๒. วิหิงสา (ความเบียดเบียน)
๓. อธัมมจริยา๑ (การประพฤติอธรรม)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุควรเจริญมุทิตา(ความยินดี)เพื่อละอรติ
๒. ภิกษุควรเจริญอวิหิงสา(ความไม่เบียดเบียน)เพื่อละวิหิงสา
๓. ภิกษุควรเจริญธัมมจริยา(ความประพฤติธรรม)เพื่อละอธัมมจริยา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้แล
อรติสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อธัมมจริยา ในทีนี้หมายถึงการประพฤติอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ คือ (๑) ปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์)
(๒) อทินนาทาน (ลักทรัพย์) (๓) กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) (๔) มุสาวาท (พูดเท็จ)
(๕) ปิสุณวาจา (พูดส่อเสียด) (๖) ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) (๗) สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ) (๘) อภิชฌา
(เพ่งเล็งอยากได้ของเขา) (๙) พยาบาท (คิดร้าย) (๑๐) มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๑๓/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๑. ติกวรรค ๙. โทวจัสสตาสูตร
๘. สันตุฏฐิตาสูตร
ว่าด้วยสันตุฏฐิตา
[๑๑๔] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อสันตุฏฐิตา (ความไม่สันโดษ)
๒. อสัมปัชชัญญะ (ความไม่มีสัมปชัญญะ)
๓. มหิจฉตา (ความปรารถนามาก)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุควรเจริญสันตุฏฐิตา(ความสันโดษ)เพื่อละอสันตุฏฐิตา
๒. ภิกษุควรเจริญสัมปชัญญะ(ความมีสัมปชัญญะ)เพื่อละอสัมปชัญญะ
๓. ภิกษุควรเจริญอัปปิจฉตา(ความปรารถนาน้อย)เพื่อละมหิจฉตา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้แล
สันตุฏฐิตาสูตรที่ ๘ จบ
๙. โทวจัสสตาสูตร
ว่าด้วยความเป็นผู้ว่ายาก
[๑๑๕] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ว่ายาก
๒. ความเป็นผู้มีปาปมิตร (มิตรชั่ว)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๑. ติกวรรค ๑๐. อุทธัจจสูตร
๓. ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุควรเจริญความเป็นผู้ว่าง่ายเพื่อละความเป็นผู้ว่ายาก
๒. ภิกษุควรเจริญความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร(มิตรดี)เพื่อละความเป็นผู้
มีปาปมิตร
๓. ภิกษุควรเจริญอานาปานสติ(สติกำหนดลมหายใจเข้าออก)เพื่อละ
ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้แล
โทวจัสสตาสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. อุทธัจจสูตร
ว่าด้วยอุทธัจจะ
[๑๑๖] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
๒. อสังวร (ความไม่สำรวม)
๓. ปมาทะ (ความประมาท)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๑. ติกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุควรเจริญสมถะ(ความสงบแห่งจิต)เพื่อละอุทธัจจะ
๒. ภิกษุควรเจริญสังวร(ความสำรวม)เพื่อละอสังวร
๓. ภิกษุควรเจริญอัปปมาทะ(ความไม่ประมาท)เพื่อละปมาทะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ เพื่อละธรรม ๓ ประการนี้แล
อุทธัจจสูตรที่ ๑๐ จบ
ติกวรรคที่ ๑๑ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ราคสูตร ๒. ทุจจริตสูตร
๓. วิตักกสูตร ๔. สัญญาสูตร
๕. ธาตุสูตร ๖. อัสสาทสูตร
๗. อรติสูตร ๘. สันตุฏฐิตาสูตร
๙. โทวจัสสตาสูตร ๑๐. อุทธัจจสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๒. สามัญวรรค ๑. กายานุปัสสีสูตร
๑๒. สามัญญวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมทั่วไป
๑. กายานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยผู้ควรเจริญกายานุปัสสนา
[๑๑๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการ
ไม่ได้ ก็ไม่อาจพิจารณาเห็นกายในกายอยู่
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ชอบการงาน๑
๒. ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
๓. ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๖. ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจพิจารณาเห็นกาย
ในกายอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว จึงอาจพิจารณาเห็นกายใน
กายอยู่
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย

เชิงอรรถ :
๑ การงาน หมายถึงการทำจีวร เย็บปะจีวร ทำถลกบาตร อังสะ ประคตเอว ผ้ากรองน้ำ การทำเชิงบาตร
ผ้าเช็ดเท้า ไม้กวาด เป็นต้น (องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๘๙/๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๒. สามัญวรรค ๒. ธัมมานุปัสสีสูตร
๓. ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๖. ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจพิจารณาเห็นกาย
ในกายอยู่
กายานุปัสสีสูตรที่ ๑ จบ
๒. ธัมมานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยผู้ควรเจริญธรรมานุปัสสนา
[๑๑๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจพิจารณา
เห็นกายในกายอันเป็นภายในอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นภายนอกอยู่ ฯลฯ
พิจารณาเห็นกายในกายอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจพิจารณาเห็นเวทนา
ในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอันเป็นภายในอยู่ ฯลฯ
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอันเป็นภายนอกอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นเวทนา
ในเวทนาทั้งหลายอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจพิจารณาเห็นจิตใน
จิตอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอันเป็นภายในอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอัน
เป็นภายนอกอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้ ก็ไม่อาจพิจารณาเห็นธรรมใน
ธรรมทั้งหลายอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอันเป็นภายในอยู่ ฯลฯ
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอันเป็นภายนอกอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมใน
ธรรมทั้งหลายอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๒. สามัญวรรค ๒. ธัมมานุปัสสีสูตร
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ชอบการงาน
๒. ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
๓. ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. ความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่
๕. ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๖. ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจพิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว จึงอาจพิจารณาเห็นธรรมใน
ธรรมทั้งหลายอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ชอบการงาน
ฯลฯ
๖. ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจพิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่
ธัมมานุปัสสีสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ๑๒. สามัญวรรค ๔-๒๓. ภัลลิกาทิสูตร
๓. ตปุสสสูตร
ว่าด้วยตปุสสคหบดี
[๑๑๙] ภิกษุทั้งหลาย ตปุสสคหบดีประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้
เชื่อมั่นในตถาคต๑ เห็นอมตธรรม ทำให้แจ้งอมตธรรมอยู่
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพุทธเจ้า
๒. ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในธรรม
๓. ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในสงฆ์
๔. อริยศีล
๕. อริยญาณ
๖. อริยวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย ตปุสสคหบดีประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้เชื่อมั่น
ในตถาคต เห็นอมตธรรม ทำให้แจ้งอมตธรรมอยู่
ตปุสสสูตรที่ ๓ จบ

๔-๒๓. ภัลลิกาทิสูตร
ว่าด้วยภัลลิกคหบดีเป็นต้น
[๑๒๐-๑๓๙] ภิกษุทั้งหลาย ภัลลิกคหบดี ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ
ฯลฯ สุทัตตอนาถบิณฑิกคหบดี ฯลฯ จิตตคหบดีชาวเมืองมัจฉิกาสัณฑ์ ฯลฯ
หัตถกคหบดีชาวเมืองอาฬวี ฯลฯ เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ฯลฯ อุคค-
คหบดีชาวเมืองเวสาลี ฯลฯ อุคคตคหบดี ฯลฯ สูรอัมพัฏฐคหบดี ฯลฯ หมอชีวก
โกมารภัจจ์ ฯลฯ นกุลปิตาคหบดี ฯลฯ ตวกัณณิกคหบดี ฯลฯ ปูรณคหบดี ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ เป็นผู้เชื่อมั่นในตถาคต หมายถึงมีจิตตั้งมั่นดีหมดความสงสัยในพระคุณของพระพุทธเจ้า (องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๑๑๙-๑๒๑/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ราคเปยยาล
อิสิทัตตคหบดี ฯลฯ สันธานคหบดี ฯลฯ วิชัยคหบดี ฯลฯ วัชชิยมหิตคหบดี ฯลฯ
เมณฑกคหบดี ฯลฯ วาเสฏฐอุบาสก ฯลฯ อริฏฐอุบาสก ฯลฯ สาทัตตอุบาสก
ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้เชื่อมั่นในตถาคต เห็นอมตธรรม ทำให้แจ้ง
อมตธรรมอยู่
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพุทธเจ้า
๒. ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในธรรม
๓. ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในสงฆ์
๔. อริยศีล
๕. อริยญาณ
๖. อริยวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย สาทัตตอุบาสกประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้
เชื่อมั่นในตถาคต เห็นอมตธรรม ทำให้แจ้งอมตธรรมอยู่
ภัลลิกาทิสูตรที่ ๔-๒๓ จบ

ราคเปยยาล
[๑๔๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๖
ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทัสสนานุตตริยะ(การเห็นอันยอดเยี่ยม)
๒. สวนานุตตริยะ(การฟังอันยอดเยี่ยม)
๓. ลาภานุตตริยะ(การได้อันยอดเยี่ยม)
๔. สิกขานุตตริยะ(การศึกษาอันยอดเยี่ยม)
๕. ปาริจริยานุตตริยะ(การบำรุงอันยอดเยี่ยม)
๖. อนุสสตานุตตริยะ(การระลึกอันยอดเยี่ยม)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ราคเปยยาล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๖ ประการนี้แล เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๑)
[๑๔๑] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๖ ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ
ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พุทธานุสสติ(การระลึกถึงพระพุทธเจ้า)
๒. ธัมมานุสสติ(การระลึกถึงพระธรรม)
๓. สังฆานุสสติ(การระลึกถึงพระสงฆ์)
๔. สีลานุสสติ(การระลึกถึงศีล)
๕. จาคานุสสติ(การระลึกถึงการบริจาค)
๖. เทวตานุสสติ(การระลึกถึงเทวดา)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๖ ประการนี้แล เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๒)
[๑๔๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๖ ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ
ธรรม ๖ ประการ๑ อะไรบ้าง คือ
๑. อนิจจสัญญา
๒. อนิจเจ ทุกขสัญญา
๓. ทุกเข อนัตตสัญญา
๔. ปหานสัญญา
๕. วิราคสัญญา
๖. นิโรธสัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๖ ประการนี้แล เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๓)
[๑๔๓ - ๑๖๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๖ ประการ เพื่อกำหนด
รู้ราคะ
... เพื่อความสิ้นราคะ
... เพื่อละราคะ
... เพื่อความสิ้นไปแห่งราคะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ฉักกนิบาต ข้อ ๓๕ (วิชชาภาคิยสูตร) หน้า ๔๘๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ราคเปยยาล
... เพื่อความเสื่อมไปแห่งราคะ
... เพื่อความคลายไปแห่งราคะ
... เพื่อความดับไปแห่งราคะ
... เพื่อความสละราคะ
... เพื่อความสละคืนราคะ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเจริญธรรม ๖ ประการนี้แล เพื่อความสละคืนราคะ
(๔-๑๐)
[๑๗๐ - ๖๔๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๖ ประการ เพื่อรู้ยิ่ง
โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
... เพื่อกำหนดรู้โทสะ
... เพื่อความสิ้นโทสะ
... เพื่อละโทสะ
... เพื่อความสิ้นไปแห่งโทสะ
... เพื่อความเสื่อมไปแห่งโทสะ
... เพื่อความคลายไปแห่งโทสะ
... เพื่อความดับไปแห่งโทสะ
... เพื่อความสละโทสะ
... เพื่อความสละคืนโทสะ ... โมหะ (ความหลง) ... โกธะ(ความโกรธ) ...
อุปนาหะ (ความผูกโกรธ) ... มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) ปฬาสะ(ความตีเสมอ) ...
อิสสา(ความริษยา) ... มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ... มายา(มารยา) ...
สาเถยยะ(ความโอ้อวด )... ถัมภะ(ความหัวดื้อ) ... สารัมภะ (ความแข่งดี) ... มานะ
(ความถือตัว) ... อติมานะ(ความดูหมิ่นเขา) ... มทะ(ความมัวเมา) ... ปมาทะ(ความ
ประมาท) ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๖ ประการนี้แล เพื่อความสละคืนปมาทะ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิตของ
พระผู้มีพระภาคแล (๔๑-๕๐๑)
ราคเปยยาล จบ
ฉักกนิบาต จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๔๔ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎกที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก ฉักกนิบาต จบ





eXTReMe Tracker