ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๑. อนุพุทธสูตร

พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ปฐมปัณณาสก์
๑. ภัณฑคามวรรค
หมวดว่าด้วยพุทธกิจในภัณฑคาม
๑. อนุพุทธสูตร
ว่าด้วยการตรัสรู้ธรรมเป็นเหตุสิ้นภพ

[๑] ข้าพเจ้า๑ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภัณฑคาม แคว้นวัชชี ณ ที่นั้นแล
พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดธรรม ๔ ประการ เราและเธอ
ทั้งหลายจึงเที่ยวเร่ร่อนไป๒ตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
ธรรม ๔ ประการ๓ อะไรบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๒.ปปติตสูตร

๑. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๒. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๓. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๔. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ
เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราถอนภวตัณหา
ได้แล้ว ภวเนตติ๑สิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ธรรมเหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
และวิมุตติอันยอดเยี่ยมพระโคดมผู้มียศตรัสรู้แล้ว
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกธรรม
แก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง
พระศาสดาทรงทำที่สุดแห่งทุกข์
มีจักษุ ปรินิพพาน๒แล้ว

อนุพุทธสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปปติตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ตกจากธรรมวินัย

[๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการ เราเรียกว่า ‘ผู้ตกไปจากธรรมวินัยนี้’


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๒.ปปติตสูตร

ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยอริยศีล เรียกว่า ‘ผู้ตกไปจากธรรมวินัยนี้’
๒. บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยอริยสมาธิ เรียกว่า ‘ผู้ตกไปจากธรรมวินัยนี้’
๓. บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยอริยปัญญา เรียกว่า ‘ผู้ตกไปจากธรรมวินัยนี้’
๔. บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยอริยวิมุตติ เรียกว่า ‘ผู้ตกไปจากธรรมวินัยนี้’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เราเรียกว่า
‘ผู้ตกไปจากธรรมวินัยนี้’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เราเรียกว่า ‘ผู้ไม่ตกไป๑
จากธรรมวินัยนี้’
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ประกอบด้วยอริยศีล เรียกว่า ‘ผู้ไม่ตกไปจากธรรมวินัยนี้’
๒. บุคคลผู้ประกอบด้วยอริยสมาธิ เรียกว่า ‘ผู้ไม่ตกไปจากธรรมวินัยนี้’
๓. บุคคลผู้ประกอบด้วยอริยปัญญา เรียกว่า ‘ผู้ไม่ตกไปจากธรรมวินัยนี้’
๔. บุคคลผู้ประกอบด้วยอริยวิมุตติ เรียกว่า ‘ผู้ไม่ตกไปจากธรรมวินัยนี้’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เราเรียกว่า ‘ผู้
ไม่ตกไปจากธรรมวินัยนี้’
ผู้เคลื่อนจากธรรมวินัย๒นี้ย่อมตกไป
ผู้ตกไปและกำหนัดเพราะราคะต้องกลับมา๓อีก
เมื่อทำกิจที่ควรทำ ยินดีสิ่งที่ควรยินดี
จะบรรลุสุขด้วยสุข๔

ปปติตสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๓. ปฐมขตสูตร

๓. ปฐมขตสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ตนถูกกำจัด สูตรที่ ๑

[๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็น
อสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย
มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพ๑สิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง กล่าวสรรเสริญผู้ควรติเตียน
๒. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง กล่าวติเตียนผู้ควรสรรเสริญ
๓. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง แสดงความเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส
๔. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการนี้แล ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน
และประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย ไม่ถูก
ผู้รู้ติเตียน และประสพบุญเป็นอันมาก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียน
๒. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญ
๓. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส
๔. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว แสดงความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการนี้แล ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย
ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพบุญเป็นอันมาก


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๔.ทุติยขตสูตร

ผู้ใดกล่าวสรรเสริญผู้ควรติเตียน
หรือกล่าวติเตียนผู้ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมความผิดไว้ด้วยปาก
ย่อมไม่ประสพความสุขเพราะความผิดนั้น
การปราชัยด้วยทรัพย์ในการเล่นการพนัน
จนหมดตัวนี้ เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย
แต่การที่บุคคลมีใจประทุษร้ายในบุคคล
ที่ดำเนินไปดีแล้วนี้เท่านั้น เป็นความผิดมากกว่า
บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจอันชั่วติเตียนพระอริยะ
ย่อมเข้าถึงนรกสิ้น ๑๓๖,๐๐๐ นิรัพพุทกัป๑
กับอีก ๕ อัพพุทกัป

ปฐมขตสูตรที่ ๓ จบ

๔. ทุติยขตสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ตนถูกกำจัด สูตรที่ ๒

[๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็น
อสัตบุรุษ ปฏิบัติผิดในบุคคล ๔ จำพวก ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย
มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ปฏิบัติผิดในมารดา ย่อม
บริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน
และประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
๒. คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ปฏิบัติผิดในบิดา ฯลฯ
๓. คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ปฏิบัติผิดในตถาคต ฯลฯ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๔.ทุติยขตสูตร

๔. คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ปฏิบัติผิดในสาวกของตถาคต
ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้
ติเตียน และประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ปฏิบัติผิดในบุคคล ๔
จำพวกนี้แล ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน
และประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ปฏิบัติชอบในบุคคล ๔
จำพวก ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย ไม่ถูก
ผู้รู้ติเตียน และประสพบุญเป็นอันมาก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ปฏิบัติชอบในมารดา ย่อม
บริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย ไม่
ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพบุญเป็นอันมาก
๒. บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ปฏิบัติชอบในบิดา ฯลฯ
๓. บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ปฏิบัติชอบในตถาคต ฯลฯ
๔. บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ปฏิบัติชอบในสาวกของตถาคต
ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย
ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพบุญเป็นอันมาก
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ปฏิบัติชอบในบุคคล ๔
จำพวกนี้แล ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย
ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพบุญเป็นอันมาก
นรชนผู้ปฏิบัติผิดในมารดาบิดา
ตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือสาวกของตถาคตนั้น
ย่อมประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
เพราะการไม่ประพฤติธรรมในมารดาบิดานั้น
บัณฑิตทั้งหลายจึงติเตียนนรชนนั้นในโลกนี้แล
เขาจากโลกนี้ไปแล้วจึงไปสู่อบาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๕.อนุโสตสูตร

ส่วนนรชนผู้ปฏิบัติชอบในมารดาบิดา
ตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือสาวกของตถาคตนั้น
ย่อมประสพบุญเป็นอันมาก
เพราะการประพฤติธรรมในมารดาบิดานั้น
บัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญนรชนนั้นในโลกนี้แล
เขาจากโลกนี้ไปแล้วจึงบันเทิงในสวรรค์

ทุติยขตสูตรที่ ๔ จบ

๕. อนุโสตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ไปตามกระแส

[๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏ
อยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ

๑. บุคคลผู้ไปตามกระแส ๒. บุคคลผู้ไปทวนกระแส
๓. บุคคลผู้มีภาวะตั้งมั่น ๔. บุคคลผู้ลอยบาปข้าม๒ถึงฝั่ง
ดำรงอยู่บนบก๓

บุคคลผู้ไปตามกระแส เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เสพกาม๔และทำบาปกรรม๕ นี้เรียกว่าบุคคลผู้ไป
ตามกระแส


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๕.อนุโสตสูตร

บุคคลผู้ไปทวนกระแส เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เสพกามและไม่ทำบาปกรรม แม้มีทุกข์ทางกาย
และทุกข์ทางใจ ร้องไห้น้ำตานองหน้า ก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
นี้เรียกว่าบุคคลผู้ไปทวนกระแส
บุคคลผู้มีภาวะตั้งมั่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕
ประการสิ้นไป เป็นโอปปาติกะ๑ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับจากโลกนั้นอีก
นี้เรียกว่าบุคคลผู้มีภาวะตั้งมั่น
บุคคลผู้ลอยบาปข้ามถึงฝั่งดำรงอยู่บนบก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เรียกว่าบุคคลผู้ลอย
บาปข้ามถึงฝั่งดำรงอยู่บนบก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ในโลกนี้ชนผู้ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย
ยังไม่ปราศจากราคะ บริโภคกามตามปกติ
ถูกตัณหาครอบงำ เข้าถึงชาติและชราเสมอ
ชื่อว่าผู้ไปตามกระแส
เพราะเหตุนั้นแล บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์
มีสติตั้งมั่นในโลกนี้ ไม่เสพกามและไม่ทำบาปกรรม
แม้มีทุกข์ก็ยังละกามได้
บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นนักปราชญ์นั้นว่า
ผู้ไปทวนกระแส


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๖.อัปปัสสุตสูตร

นรชนผู้ละกิเลส ๕ ประการได้
มีสิกขาบริบูรณ์ เป็นผู้ไม่เสื่อมแน่นอน
ถึงความเชี่ยวชาญในจิต๑ มีอินทรีย์ตั้งมั่น
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า ผู้มีภาวะตั้งมั่น
บุคคลผู้ประกอบด้วยญาณกำจัดธรรมทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลให้สิ้นไปไม่เหลืออยู่
เป็นผู้ถึงเวท อยู่จบพรหมจรรย์
ถึงที่สุดแห่งโลก บัณฑิตเรียกว่าผู้ถึงฝั่ง๒

อนุโสตสูตรที่ ๕ จบ

๖. อัปปัสสุตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีสุตะน้อย

[๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏ
อยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๓ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีสุตะน้อยทั้งไม่เข้าถึงสุตะ
๒. บุคคลผู้มีสุตะน้อย แต่เข้าถึงสุตะ
๓. บุคคลผู้มีสุตะมาก แต่ไม่เข้าถึงสุตะ
๔. บุคคลผู้มีสุตะมากทั้งเข้าถึงสุตะ
บุคคลผู้มีสุตะน้อยทั้งไม่เข้าถึงสุตะ เป็นอย่างไร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๖.อัปปัสสุตสูตร

คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีสุตะ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ๑น้อย ทั้งเขาก็หารู้อรรถ๒รู้ธรรม๓แห่งสุตะ
น้อยนั้นแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ บุคคลผู้มีสุตะน้อยทั้งไม่เข้าถึงสุตะ
เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีสุตะน้อย แต่เข้าถึงสุตะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีสุตะ คือ สุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละน้อย แต่
เขารู้อรรถรู้ธรรมแห่งสุตะน้อยนั้นแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลผู้มีสุตะ
น้อย แต่เข้าถึงสุตะ เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีสุตะมาก แต่ไม่เข้าถึงสุตะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีสุตะ คือ สุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละมาก
แต่เขาหารู้อรรถรู้ธรรมแห่งสุตะมากนั้น แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ บุคคล
ผู้มีสุตะมาก แต่ไม่เข้าถึงสุตะ เป็นอย่างนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๖.อัปปัสสุตสูตร

บุคคลผู้มีสุตะมากทั้งเข้าถึงสุตะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีสุตะ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละมาก ทั้งเขาก็รู้อรรถรู้ธรรมแห่งสุตะมากนั้น
แล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลผู้มีสุตะมากทั้งเข้าถึงสุตะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ถ้าบุคคลมีสุตะน้อย ทั้งไม่ตั้งมั่นในศีล
บัณฑิตทั้งหลายย่อมติเตียนเขา
ทั้งในด้านศีลและสุตะ
ถ้าบุคคลแม้มีสุตะน้อย แต่ตั้งมั่นดีในศีล
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในด้านศีล
แต่สุตะของเขาไม่สมบูรณ์
ถ้าบุคคลแม้มีสุตะมาก แต่ไม่ตั้งมั่นในศีล
บัณฑิตทั้งหลายย่อมติเตียนเขาในด้านศีล
แต่สุตะของเขาสมบูรณ์
ถ้าบุคคลมีสุตะมาก ทั้งตั้งมั่นดีในศีล
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขา
ทั้งในด้านศีลและสุตะ
ใครเล่าจะสามารถติเตียนเขาผู้มีสุตะมาก
ทรงธรรม มีปัญญา เป็นพุทธสาวก
ผู้เป็นเหมือนแท่งทองชมพูนุท๑
แม้เทวดาและมนุษย์ก็สรรเสริญเขา
ถึงพรหมก็สรรเสริญเขา

อัปปัสสุตสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๗. โสภณสูตร

๗. โสภณสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ทำหมู่ให้งาม

[๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ ผู้เฉียบแหลม
ได้รับคำแนะนำดี แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ย่อมทำหมู่ให้งาม
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
ในธรรมวินัยนี้
๑. ภิกษุผู้เฉียบแหลม ได้รับคำแนะนำดี แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมทำหมู่ให้งาม
๒. ภิกษุณี ฯลฯ
๓. อุบาสก ฯลฯ
๔. อุบาสิกาผู้เฉียบแหลม ได้รับคำแนะนำดี แกล้วกล้า เป็นพหูสูต
ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมทำหมู่ให้งาม
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลผู้เฉียบแหลม ได้รับคำแนะนำดี แกล้วกล้า
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมทำหมู่ให้งาม
บุคคลผู้เฉียบแหลม แกล้วกล้า เป็นพหูสูต
ทรงธรรม และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
เรียกว่าผู้ทำหมู่ให้งาม
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ภิกษุณีผู้เป็นพหูสูต
อุบาสกผู้มีศรัทธา และอุบาสิกาผู้มีศรัทธา๑
ชนเหล่านี้แลย่อมทำหมู่ให้งาม
ชนเหล่านี้แลชื่อว่าสังฆโสภณ

โสภณสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๘.เวสารัชชสูตร

๘. เวสารัชชสูตร
ว่าด้วยญาณเป็นเหตุให้แกล้วกล้า

[๘] ภิกษุทั้งหลาย เวสารัชชญาณ (ญาณเป็นเหตุให้แกล้วกล้า) ๔ ประการนี้
ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้ปฏิญญา(ยืนยัน)ฐานะที่องอาจ๑ บันลือสีหนาท๒ ประกาศ
พรหมจักร๓ในบริษัท๔
เวสารัชชญาณของตถาคต ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า “สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ
ในโลกจักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุผลในธรรมนั้นว่า ‘ท่านปฏิญญา
ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านก็ยังไม่รู้” เราเมื่อไม่
เห็นนิมิตแม้นี้จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่
๒. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า “สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ
ในโลกจักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุผลในธรรมนั้นว่า ‘ท่านปฏิญญา
ว่าเป็นพระขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่านก็ยังไม่สิ้นไป” เราเมื่อไม่
เห็นนิมิตแม้นี้จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๘.เวสารัชชสูตร

๓. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า “สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ
ในโลกจักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุผลในธรรมนั้นว่า ‘อันตรายิก-
ธรรม๑ที่ท่านกล่าวไว้ไม่อาจก่ออันตรายแก่ผู้เสพได้จริง” เราเมื่อไม่
เห็นนิมิตแม้นี้จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่
๔. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า “สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ
ในโลกจักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุผลในธรรมนั้นว่า ‘ท่านแสดงธรรม
เพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่สำเร็จเพื่อความสิ้นทุกข์
โดยชอบแก่ผู้ทำตามได้จริง” เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้จึงถึงความเกษม
ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่
ภิกษุทั้งหลาย เวสารัชชญาณ ๔ ประการนี้แลที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
วาทะเหล่าใดที่สมณะหรือพราหมณ์
ตระเตรียมไว้แพร่หลาย
วาทะเหล่านั้นมาถึงตถาคตผู้แกล้วกล้า
ผู้ล่วงวาทะได้ย่อมไม่มีผล๒
สัตว์ทั้งหลายย่อมนมัสการตถาคต
ผู้เพียบพร้อมด้วยโลกุตตรธรรมทั้งหมด
ผู้ประกาศธรรมจักรครอบคลุมทั้งหมด
ผู้อนุเคราะห์สัตว์ทุกจำพวก
ผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์
ผู้ถึงฝั่งแห่งภพเช่นนั้น

เวสารัชชสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๙.ตัณหุปปาทสูตร

๙. ตัณหุปปาทสูตร
ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งตัณหา

[๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย มีเหตุเกิดแห่งตัณหา ๔ ประการ
นี้ ที่ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นได้
มีเหตุเกิดแห่งตัณหา ๔ ประการ๑ อะไรบ้าง คือ
๑. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุ ย่อมเกิดเพราะจีวรเป็นเหตุ
๒. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุ ย่อมเกิดเพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ
๓. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุ ย่อมเกิดเพราะเสนาสนะเป็นเหตุ
๔. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุ ย่อมเกิดเพราะปัจจัยที่ดีและดีกว่า๒
ภิกษุทั้งหลาย มีเหตุเกิดแห่งตัณหา ๔ ประการนี้แลที่ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่
่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นได้
บุคคลมีตัณหาเป็นเพื่อน
เที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏ
ที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น๓
ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น
มีสติสัมปชัญญะอยู่

ตัณหุปปาทสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๑๐.โยคสูตร

๑๐. โยคสูตร
ว่าด้วยโยคะ

[๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย โยคะ (กิเลสที่ผูกมัดสัตว์ไว้ในภพ)
๔ ประการนี้
โยคะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามโยคะ ๒. ภวโยคะ
๓. ทิฏฐิโยคะ ๔. อวิชชาโยคะ
กามโยคะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ๑ โทษ๒ และ
เครื่องสลัดกามทั้งหลายออกไปตามความเป็นจริง เมื่อเขาไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ
คุณ โทษ และเครื่องสลัดกามทั้งหลายออกไปตามความเป็นจริง ความกำหนัด
เพราะกาม ความเพลิดเพลินเพราะกาม ความเยื่อใยเพราะกาม ความหมกมุ่น
เพราะกาม ความกระหายเพราะกาม ความเร่าร้อนเพราะกาม ความติดเพราะกาม
ความอยากเพราะกามย่อมเกิดขึ้นในกามทั้งหลาย๓ นี้เรียกว่า กามโยคะ
กามโยคะ เป็นอย่างนี้
ภวโยคะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และ
เครื่องสลัดภพทั้งหลายออกไปตามความเป็นจริง เมื่อเขาไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ
คุณ โทษ และเครื่องสลัดภพทั้งหลายออกไปตามความเป็นจริง ความกำหนัดเพราะ
ภพ ความเพลิดเพลินเพราะภพ ความเยื่อใยเพราะภพ ความหมกมุ่นเพราะภพ
ความกระหายเพราะภพ ความเร่าร้อนเพราะภพ ความติด เพราะภพ ความอยาก
เพราะภพย่อมเกิดขึ้นในภพทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภวโยคะ
กามโยคะและภวโยคะ เป็นอย่างนี้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๑๐.โยคสูตร

ทิฏฐิโยคะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และ
เครื่องสลัดทิฏฐิทั้งหลายออกไปตามความเป็นจริง เมื่อเขาไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ
คุณ โทษ และเครื่องสลัดทิฏฐิทั้งหลายออกไปตามความเป็นจริง ความกำหนัดเพราะ
ทิฏฐิ ความเพลิดเพลินเพราะทิฏฐิ ความเยื่อใยเพราะทิฏฐิ ความหมกมุ่นเพราะทิฏฐิ
ความกระหายเพราะทิฏฐิ ความเร่าร้อนเพราะทิฏฐิ ความติดเพราะทิฏฐิ ความ
อยากเพราะทิฏฐิย่อมเกิดขึ้นในทิฏฐิทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทิฏฐิโยคะ
กามโยคะ ภวโยคะ และทิฏฐิโยคะ เป็นอย่างนี้
อวิชชาโยคะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และ
เครื่องสลัดผัสสายตนะ ๖ ประการออกไปตามความเป็นจริง เมื่อเขาไม่รู้ชัดซึ่ง
ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และเครื่องสลัดผัสสายตนะ ๖ ประการออกไป
ตามความเป็นจริง ความไม่รู้ ความไม่หยั่งรู้ย่อมเกิดขึ้นในผัสสายตนะ ๖ ประการ
นี้เรียกว่า อวิชชาโยคะ
กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ และอวิชชาโยคะ เป็นอย่างนี้
บุคคลผู้ประกอบด้วยบาปอกุศลธรรมที่ทำจิตให้เศร้าหมอง ทำให้เกิดในภพ
ใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นผล มีชาติ ชรา และมรณะต่อไปอีก
เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ผู้ไม่มีความเกษม(ปลอด)จากโยคะ๑
ภิกษุทั้งหลาย โยคะ ๔ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ความพรากจากโยคะ ๔ ประการนี้
ความพรากจากโยคะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความพรากจากกามโยคะ ๒. ความพรากจากภวโยคะ
๓. ความพรากจากทิฏฐิโยคะ ๔. ความพรากจากอวิชชาโยคะ
ความพรากจากกามโยคะ เป็นอย่างไร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค ๑๐.โยคสูตร

คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และ
เครื่องสลัดกามทั้งหลายออกไปตามความเป็นจริง เมื่อเขารู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ
คุณ โทษ และเครื่องสลัดกามทั้งหลายออกไปตามความเป็นจริง ความกำหนัดเพราะ
กาม ความเพลิดเพลินเพราะกาม ความเยื่อใยเพราะกาม ความหมกมุ่นเพราะกาม
ความกระหายเพราะกาม ความเร่าร้อนเพราะกาม ความติดเพราะกาม ความอยาก
เพราะกามย่อมไม่เกิดขึ้นในกามทั้งหลาย นี้เรียกว่า ความพรากจากกามโยคะ
ความพรากจากกามโยคะ เป็นอย่างนี้
ความพรากจากภวโยคะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และ
เครื่องสลัดภพทั้งหลายออกไปตามความเป็นจริง เมื่อเขารู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ
คุณ โทษ และเครื่องสลัดภพทั้งหลายออกไปตามความเป็นจริง ความกำหนัดเพราะ
ภพ ความเพลิดเพลินเพราะภพ ความเยื่อใยเพราะภพ ความหมกมุ่นเพราะภพ
ความกระหายเพราะภพ ความเร่าร้อนเพราะภพ ความติดเพราะภพ ความอยาก
เพราะภพย่อมไม่เกิดขึ้นในภพทั้งหลาย นี้เรียกว่า ความพรากจากภวโยคะ
ความพรากจากกามโยคะและความพรากจากภวโยคะ เป็นอย่างนี้
ความพรากจากทิฏฐิโยคะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และ
เครื่องสลัดทิฏฐิทั้งหลายออกไปตามความเป็นจริง เมื่อเขารู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ
คุณ โทษ และเครื่องสลัดทิฏฐิทั้งหลายออกไปตามความเป็นจริง ความกำหนัดเพราะ
ทิฏฐิ ความเพลิดเพลินเพราะทิฏฐิ ความเยื่อใยเพราะทิฏฐิ ความหมกมุ่นเพราะทิฏฐิ
ความกระหายเพราะทิฏฐิ ความเร่าร้อนเพราะทิฏฐิ ความติดเพราะทิฏฐิ ความอยาก
เพราะทิฏฐิย่อมไม่เกิดขึ้นในทิฏฐิทั้งหลาย นี้เรียกว่า ความพรากจากทิฏฐิโยคะ
ความพรากจากกามโยคะ ความพรากจากภวโยคะ และความพรากจากทิฏฐิโยคะ
เป็นอย่างนี้
ความพรากจากอวิชชาโยคะ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และ
เครื่องสลัดผัสสายตนะ ๖ ประการออกไปตามความเป็นจริง เมื่อเขารู้ชัดซึ่งความเกิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๑.ภัณฑคามวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ความดับ คุณ โทษ และเครื่องสลัดผัสสายตนะ ๖ ประการออกไปตามความเป็นจริง
ความไม่รู้ ความไม่หยั่งรู้ย่อมไม่เกิดขึ้นในผัสสายตนะ ๖ ประการ นี้เรียกว่า
ความพรากจากอวิชชาโยคะ
ความพรากจากกามโยคะ ความพรากจากภวโยคะ ความพรากจากทิฏฐิโยคะ
และความพรากจากอวิชชาโยคะ เป็นอย่างนี้
บุคคลผู้พรากจากบาปอกุศลธรรมที่ทำจิตให้เศร้าหมอง ทำให้เกิดในภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นผล มีชาติ ชรา และมรณะต่อไปอีก เพราะเหตุ
นั้น จึงเรียกว่า ผู้มีความเกษมจากโยคะ
ภิกษุทั้งหลาย ความพรากจากโยคะ ๔ ประการนี้แล
สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยกามโยคะ
ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ และอวิชชาโยคะ
ถึงชาติและมรณะอยู่เป็นประจำ ย่อมไปสู่สังสารวัฏ
ส่วนสัตว์เหล่าใดกำหนดรู้กามโยคะ
และภวโยคะโดยประการทั้งปวง
ถอนทิฏฐิโยคะและคลายอวิชชาออกได้
สัตว์เหล่านั้นแลย่อมพรากจากโยคะทั้งปวง
ล่วงพ้นโยคะ เป็นมุนี๑

โยคสูตรที่ ๑๐ จบ
ภัณฑคามวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อนุพุทธสูตร ๒. ปปติตสูตร
๓. ปฐมขตสูตร ๔. ทุติยขตสูตร
๕. อนุโสตสูตร ๖. อัปปัสสุตสูตร
๗. โสภณสูตร ๘. เวสารัชชสูตร
๙. ตัณหุปปาทสูตร ๑๐. โยคสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.จรวรรค ๑.จรสูตร

๒. จรวรรค
หมวดว่าด้วยอิริยาบถเดิน
๑. จรสูตร
ว่าด้วยอิริยาบถเดิน

[๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากามวิตก (ความตรึกในทาง
กาม) พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท) หรือวิหิงสาวิตก (ความตรึกใน
ทางเบียดเบียน) เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังเดิน และภิกษุยินดีวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา
ไม่ทำให้หมดสิ้นไป ไม่ทำให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้กำลังเดิน ผู้เป็นอย่างนี้๑ไม่มี
ความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนต่อ
เนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังยืน และ
ภิกษุยินดีวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้หมดสิ้นไป ไม่ทำให้ถึงความไม่มี
ภิกษุแม้กำลังยืน ผู้เป็นอย่างนี้ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราก็เรียกว่า ‘ผู้
เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังนั่ง และ
ภิกษุยินดีวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้หมดสิ้นไป ไม่ทำให้ถึงความไม่มี
ภิกษุแม้กำลังนั่ง ผู้เป็นอย่างนี้ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราก็เรียกว่า ‘ผู้
เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังนอน ตื่นอยู่
และภิกษุยินดีวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้หมดสิ้นไป ไม่ทำให้ถึงความไม่มี
ภิกษุแม้กำลังนอน ตื่นอยู่ ผู้เป็นอย่างนี้ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราก็เรียกว่า
‘ผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังเดิน และ
ภิกษุไม่ยินดีวิตกนั้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.จรวรรค ๑.จรสูตร

กำลังเดิน ผู้เป็นอย่างนี้๑ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร
อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังยืน และ
ภิกษุไม่ยินดีวิตกนั้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้
กำลังยืน ผู้เป็นอย่างนี้มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราก็เรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร
อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังนั่ง และ
ภิกษุไม่ยินดีวิตกนั้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้
กำลังนั่ง ผู้เป็นอย่างนี้มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราก็เรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร
อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป’
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้
กำลังนอน ตื่นอยู่ และภิกษุไม่ยินดีวิตกนั้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ทำ
ให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้กำลังนอน ตื่นอยู่ ผู้เป็นอย่างนี้มีความเพียร มีโอตตัปปะ
เราก็เรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป”
ถ้าภิกษุใดผู้กำลังเดิน ยืน
นั่ง หรือนอนนึกถึงอกุศลวิตก
ที่เกี่ยวเนื่องกับการครองเรือน
ภิกษุนั้นชื่อว่าเดินทางผิด
หมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เป็นเหตุแห่งความหลง
ภิกษุเช่นนี้ไม่สามารถบรรลุสัมโพธิญาณ๒อันสูงสุดได้
ภิกษุใดผู้กำลังเดิน ยืน
นั่ง หรือนอนให้วิตกสงบ
ยินดีในธรรมเป็นที่ระงับวิตก
ภิกษุเช่นนั้นสามารถบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุดได้

จรสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.จรวรรค ๒. สีลสูตร

๒. สีลสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีศีล

[๑๒] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์
สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์๑ เพียบพร้อมด้วยอาจาระ๒และโคจร๓ มีปกติเห็น
ภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายเถิด เมื่อเธอทั้งหลาย
มีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์ สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อม
ด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย จะมีกิจอะไรที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอีกเล่า
ถ้าภิกษุผู้กำลังเดินอยู่ ปราศจากอภิชฌา (เพ่งเล็งอยากได้ของเขา) พยาบาท
(ความคิดร้าย) ละถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้ง
ซ่านและร้อนใจ) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)ได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน
มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่ เป็นสมาธิ
ภิกษุแม้กำลังเดินอยู่ ผู้เป็นอย่างนี้มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภ
ความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป’


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.จรวรรค ๓.ปธานสูตร

ถ้าภิกษุผู้กำลังยืน ฯลฯ
ถ้าภิกษุผู้กำลังนั่ง ...
ถ้าภิกษุผู้กำลังนอน ตื่นอยู่ ปราศจากอภิชฌา พยาบาท ละถีนมิทธะ
อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉาได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม
มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่ เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังนอน ตื่นอยู่
ผู้เป็นอย่างนี้มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราก็เรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศ
กายและใจต่อเนื่องตลอดไป
ภิกษุควรเดินสำรวม ยืนสำรวม
นั่งสำรวม นอนสำรวม
คู้เข้าสำรวม เหยียดออกสำรวม
พิจารณาความเกิดและความดับแห่งธรรมขันธ์๑
ทั่วภูมิเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นต่ำ
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกภิกษุเช่นนั้น
ผู้ศึกษาข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ความสงบใจ
มีสติอยู่ทุกเมื่อว่า ‘ผู้อุทิศกายและใจต่อเนื่อง’

สีลสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปธานสูตร
ว่าด้วยสัมมัปปธาน

[๑๓] ภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน (ความเพียรชอบ) ๔ ประการนี้
สัมมัปปธาน ๔ ประการ๒ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.จรวรรค ๔.สังวรสูตร

๒. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ความดำรงอยู่ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่ง
กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ ประการนี้แล
พระขีณาสพเหล่านั้นมีสัมมัปปธาน
ครอบงำบ่วงมาร๑ได้ อันกิเลสไม่อาศัย
ถึงฝั่งแห่งชาติและมรณะ
ท่านเหล่านั้นชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร
เป็นผู้ยินดี ไม่มีความหวั่นไหว
และล่วงพ้นซึ่งกองพลมารทั้งหมด ถึงสุข๒แล้ว

ปธานสูตรที่ ๓ จบ

๔. สังวรสูตร
ว่าด้วยสังวรปธาน

[๑๔] ภิกษุทั้งหลาย ปธาน (ความเพียร) ๔ ประการนี้
ปธาน ๔ ประการ๓ อะไรบ้าง คือ
๑. สังวรปธาน (เพียรระวัง) ๒. ปหานปธาน (เพียรละ)
๓. ภาวนาปธาน (เพียรเจริญ) ๔. อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษา)


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.จรวรรค ๔.สังวรสูตร

สังวรปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ๑ ไม่แยกถือ๒ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อความสำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌา (เพ่งเล็งอยากได้ของเขา) และโทมนัส (ความทุกข์ใจ) ครอบงำได้ จึงรักษา
จักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ
ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุ
ให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความ
สำรวมในมนินทรีย์ นี้เรียกว่า สังวรปธาน
ปหานปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ยินดีกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ยินดีพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่ยินดีวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น
ฯลฯ ไม่ยินดีบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ทำให้ถึงความไม่มี นี้เรียกว่า ปหานปธาน
ภาวนาปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสติสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือ
ความระลึกได้) ที่อาศัยวิเวก๓ อาศัยวิราคะ๓ อาศัยนิโรธ๓ น้อมไปในโวสสัคคะ เจริญ
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเฟ้นธรรม) ... เจริญวิริย-
สัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเพียร) ... เจริญปีติสัมโพชฌงค์ (ธรรม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๒.จรวรรค ๕. ปัญญัตติสูตร

เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความอิ่มใจ) ... เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์
แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบใจ) ... เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์
แห่งการตรัสรู้คือความตั้งจิตมั่น) ... เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความวางใจเป็นกลาง) ที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ นี้เรียกว่า ภาวนาปธาน
อนุรักขนาปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ตามรักษาสมาธินิมิตที่ชัดดีซึ่งเกิดขึ้นแล้ว คือ อัฏฐิก-
สัญญา (กำหนดหมายซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูกหรือกระดูกท่อน) ปุฬุวก-
สัญญา (กำหนดหมายซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด) วินีลกสัญญา (กำหนด
หมายซากศพที่มีสีเขียวคล่ำคละด้วยสีต่าง ๆ) วิปุพพกสัญญา (กำหนดหมายซาก
ศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ตามที่ที่แตกปริออก) วิจฉิททกสัญญา (กำหนดหมาย
ซากศพที่ขาดจากกันเป็น ๒ ท่อน) อุทธุมาตกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่เน่า
พองขึ้นอืด) นี้เรียกว่า อนุรักขนาปธาน
ภิกษุทั้งหลาย ปธาน ๔ ประการนี้แล
ปธาน ๔ ประการนี้ คือ
สังวรปธาน ปหานปธาน
ภาวนาปธาน และอนุรักขนาปธาน
พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ทรงแสดงไว้แล้ว
ที่เป็นเหตุให้ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ผู้มีความเพียร ถึงความสิ้นทุกข์

สังวรสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปัญญัตติสูตร
ว่าด้วยการบัญญัติสิ่งที่เลิศ

[๑๕] ภิกษุทั้งหลาย บัญญัติสิ่งที่เลิศ ๔ ประการนี้
บัญญัติสิ่งที่เลิศ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๒.จรวรรค ๖.โสขุมมสูตร

๑. บรรดาสัตว์ผู้มีอัตภาพใหญ่ ราหูผู้เป็นจอมอสูรเป็นเลิศ
๒. บรรดากามโภคีบุคคล๑ พระเจ้ามันธาตุเป็นเลิศ
๓. บรรดาบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ มารผู้มีบาปเป็นเลิศ
๔. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวโลกกล่าวว่าเป็นเลิศใน
โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์
ภิกษุทั้งหลาย บัญญัติสิ่งที่เลิศ ๔ ประการนี้แล
บรรดาสัตว์ผู้มีอัตภาพใหญ่
ราหูผู้เป็นจอมอสูรเป็นเลิศ
บรรดากามโภคีบุคคล พระเจ้ามันธาตุเป็นเลิศ
บรรดาบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ มารเป็นเลิศ
พระพุทธเจ้าผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ ด้วยยศ
ชาวโลกกล่าวว่าเป็นเลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ทั่วภูมิเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นต่ำ

ปัญญัตติสูตรที่ ๕ จบ

๖. โสขุมมสูตร
ว่าด้วยโสขุมมญาณ

[๑๖] ภิกษุทั้งหลาย โสขุมมญาณ๒(ญาณเป็นเครื่องกำหนดรู้ลักษณะละเอียด)
๔ ประการนี้
โสขุมมญาณ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๒.จรวรรค ๖.โสขุมมสูตร

๑. เป็นผู้ประกอบด้วยรูปโสขุมมญาณ๑ ไม่เห็นรูปโสขุมมญาณอื่น
ที่ยิ่งกว่าหรือประณีตกว่ารูปโสขุมมญาณนั้น และไม่ปรารถนา
รูปโสขุมมญาณอย่างอื่นที่ยิ่งกว่าหรือประณีตกว่ารูปโสขุมมญาณนั้น
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยเวทนาโสขุมมญาณ ไม่เห็นญาณอื่นที่ยิ่งกว่าหรือ
ประณีตกว่าเวทนาโสขุมมญาณนั้น และไม่ปรารถนาเวทนาโสขุมม-
ญาณอย่างอื่นที่ยิ่งกว่าหรือประณีตกว่าเวทนาโสขุมมญาณนั้น
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยสัญญาโสขุมมญาณ ไม่เห็นญาณอื่นที่ยิ่งกว่าหรือ
ประณีตกว่าสัญญาโสขุมมญาณนั้น และไม่ปรารถนาสัญญาโสขุมม-
ญาณอย่างอื่นที่ยิ่งกว่าหรือประณีตกว่าสัญญาโสขุมมญาณนั้น
๔. เป็นผู้ประกอบด้วยสังขารโสขุมมญาณ ไม่เห็นสังขารโสขุมมญาณอื่น
ที่ยิ่งกว่าหรือประณีตกว่าสังขารโสขุมมญาณนั้น และไม่ปรารถนา
สังขารสขุมมญาณอย่างอื่นที่ยิ่งกว่าหรือประณีตกว่าสังขารโสขุมม-
ญาณนั้น
ภิกษุทั้งหลาย โสขุมมญาณ ๔ ประการนี้แล
ภิกษุใดรู้ความละเอียดแห่งรูปขันธ์
รู้แดนเกิดแห่งเวทนาขันธ์
รู้เหตุเกิดและที่ดับแห่งสัญญาขันธ์
รู้สังขารขันธ์โดยความเป็นของไม่เที่ยง๒
เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
ภิกษุนั้นแลเห็นชอบ สงบ
ยินดีในสันติบท๓ ชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร
ธำรงร่างกายชาติสุดท้ายไว้

โสขุมมสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๒.จรวรรค ๘.ทุติยอคติสูตร

๗. ปฐมอคติสูตร
ว่าด้วยอคติ สูตรที่ ๑

[๑๗] ภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ๑ (ความลำเอียง) ๔ ประการนี้
การถึงอคติ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลย่อมถึง
๑. ฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะชอบ) ๒. โทสาคติ (ลำเอียงเพราะชัง)
๓. โมหาคติ (ลำเอียงเพราะหลง) ๔. ภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว)
ภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้แล
บุคคลใดละเมิดความชอบธรรม
เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อม
ดุจดวงจันทร์ข้างแรมฉะนั้น

ปฐมอคติสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุติยอคติสูตร
ว่าด้วยอคติ สูตรที่ ๒

[๑๘] ภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้
การไม่ถึงอคติ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลย่อมไม่ถึง
๑. ฉันทาคติ ๒. โทสาคติ
๓. โมหาคติ ๔. ภยาคติ
ภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๒.จรวรรค ๙. ตติยอคติสูตร

บุคคลใดไม่ละเมิดความชอบธรรม
เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
ยศของบุคคลนั้นย่อมบริบูรณ์
ดุจดวงจันทร์ข้างขึ้นฉะนั้น

ทุติยอคติสูตรที่ ๘ จบ

๙. ตติยอคติสูตร
ว่าด้วยอคติ สูตรที่ ๓

[๑๙] ภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้
การถึงอคติ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลย่อมถึง
๑. ฉันทาคติ ๒. โทสาคติ
๓. โมหาคติ ๔. ภยาคติ
ภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้
การไม่ถึงอคติ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลย่อมไม่ถึง
๑. ฉันทาคติ ๒. โทสาคติ
๓. โมหาคติ ๔. ภยาคติ
ภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้แล
บุคคลใดละเมิดความชอบธรรม
เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อม
ดุจดวงจันทร์ข้างแรมฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๒.จรวรรค ๑๐.ภัตตุทเทสกสูตร

ส่วนบุคคลใดไม่ละเมิดความชอบธรรม
เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
ยศของบุคคลนั้นย่อมบริบูรณ์
ดุจดวงจันทร์ข้างขึ้นฉะนั้น

ตติยอคติสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ภัตตุทเทสกสูตร๑
ว่าด้วยพระภัตตุทเทสกะเลวและดี

[๒๐] ภิกษุทั้งหลาย พระภัตตุทเทสกะ๒ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
พระภัตตุทเทสกะย่อมถึง
๑. ฉันทาคติ ๒. โทสาคติ
๓. โมหาคติ ๔. ภยาคติ
ภิกษุทั้งหลาย พระภัตตุทเทสกะผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อม
ดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย พระภัตตุทเทสกะผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรง
อยู่ในสวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
พระภัตตุทเทสกะย่อมไม่ถึง
๑. ฉันทาคติ ๒. โทสาคติ
๓. โมหาคติ ๔. ภยาคติ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๒.จรวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ภิกษุทั้งหลาย พระภัตตุทเทสกะผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อม
ดำรงอยู่ในสวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย
ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เคารพธรรม ถึงอคติ
เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
บุคคลเช่นนี้ เราเรียกว่าผู้เป็นขยะในบริษัท
สมณะผู้รู้กล่าวไว้แล้วอย่างนี้แล
เพราะเหตุนั้นแล บุคคลผู้ดำรงอยู่ในธรรม
ไม่ทำบาป ไม่ถึงอคติ
เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
เป็นสัตบุรุษที่น่าสรรเสริญ
บุคคลเช่นนี้ เราเรียกว่าผู้ผุดผ่องในบริษัท
สมณะผู้รู้กล่าวไว้แล้วอย่างนี้แล

ภัตตุทเทสกสูตรที่ ๑๐ จบ
จรวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จรสูตร ๒. สีลสูตร
๓. ปธานสูตร ๔. สังวรสูตร
๕. ปัญญัตติสูตร ๖. โสขุมมสูตร
๗. ปฐมอคติสูตร ๘. ทุติยอคติสูตร
๙. ตติยอคติสูตร ๑๐. ภัตตุทเทสกสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๑.ปฐมอุรุเวลสูตร

๓. อุรุเวลวรรค
หมวดว่าด้วยพุทธกิจในตำบลอุรุเวลา

๑. ปฐมอุรุเวลสูตร
ว่าด้วยพุทธกิจในตำบลอุรุเวลา สูตรที่ ๑

[๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อแรกตรัสรู้ เราอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำ
เนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เรานั้นหลีกเร้นอยูในที่สงัด ได้เกิดความรำพึงขึ้นมา
อย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราพึงสักการะ เคารพ
อาศัยสมณะหรือพราหมณ์คนไหนหนอแลอยู่’ ดังนี้
เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่น
อยู่เพื่อความบริบูรณ์แห่งสีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์
อื่นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์
เทวดา และมนุษย์ที่มีศีลสมบูรณ์กว่าเรา ที่เราจะพึงสักการะ เคารพ อาศัยอยู่
เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่ เพื่อความบริบูรณ์
แห่งสมาธิขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ ฯลฯ
เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่ เพื่อความบริบูรณ์
แห่งปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ ฯลฯ
เราพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่ เพื่อความบริบูรณ์
แห่งวิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นในโลกพร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และ
มนุษย์ที่มีวิมุตติสมบูรณ์กว่าเรา ที่เราจะพึงสักการะ เคารพ อาศัยอยู่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๑.ปฐมอุรุเวลสูตร

เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรจะสักการะ เคารพ อาศัยธรรมที่เรา
ตรัสรู้แล้วนั่นแลอยู่’
ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมกำหนดรู้ความรำพึงด้วยใจ หายตัวจากพรหม-
โลกมาปรากฏต่อหน้าเราเปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
ครั้นแล้วท้าวเธอห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกเข่าด้านขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือ
มาทางเรา ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ ข้าแต่
พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าในอดีตทรงสักการะ เคารพ อาศัยธรรมอยู่ พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตจักสักการะ เคารพ อาศัยธรรมอยู่ แม้พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจจุบันก็ขอจงสักการะ เคารพ อาศัยธรรมอยู่เถิด’
ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
‘พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต
และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจจุบัน
ผู้ขจัดความโศกของสัตว์เป็นจำนวนมากให้พินาศไป
ทุกพระองค์ล้วนเคารพพระสัทธรรมอยู่
นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นแล กุลบุตรผู้ใฝ่ประโยชน์
มุ่งหวังความเป็นใหญ่
ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พึงเคารพพระสัทธรรม’
ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกล่าวคาถาประพันธ์นี้แล้วจึงไหว้เรา ทำ
ประทักษิณแล้วหายไปในที่นั้นเอง ภิกษุทั้งหลาย การที่เราทราบการเชื้อเชิญของพรหม
และสักการะ เคารพ อาศัยธรรมที่เราตรัสรู้แล้วนั่นแลอยู่ เป็นการสมควรแก่เรา
แต่เมื่อใดสงฆ์ประกอบด้วยความเป็นใหญ่๑ เมื่อนั้นเราก็มีความเคารพในสงฆ์”

ปฐมอุรุเวลสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๒.ทุติยอุรุเวลสูตร

๒. ทุติยอุรุเวลสูตร
ว่าด้วยพุทธกิจในตำบลอุรุเวลา สูตรที่ ๒

[๒๒] “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อแรกตรัสรู้ เราอาศัยอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้
ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้นแล พราหมณ์จำนวนมากเป็นผู้แก่ ผู้เฒ่า
ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัย เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร๑ ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ท่านพระโคดม
พวกข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณโคดมไม่อภิวาท ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่
ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัย หรือไม่เชื้อเชิญให้นั่ง ท่านพระโคดม เรื่องที่
พวกข้าพเจ้าได้ทราบมานั้นจริงทีเดียว เพราะท่านพระโคดมไม่อภิวาท ไม่ลุกรับพวก
พราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัย หรือไม่เชื้อเชิญให้นั่ง การที่ท่าน
พระโคดมทำเช่นนั้นไม่สมควรเลย’
เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ท่านเหล่านี้ไม่รู้จักเถระหรือธรรมที่ทำให้เป็นเถระ’
ถึงแม้นับแต่เกิดมา บุคคลจะเป็นคนแก่มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี แต่เขา
พูดไม่ถูกเวลา พูดคำไม่จริง พูดไม่อิงประโยชน์ พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย
พูดคำไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่
เหมาะแก่เวลา เขาย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นเถระผู้โง่เขลา’ โดยแท้
ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็ก ยังเป็นหนุ่มรุ่นเยาว์ มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความ
เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย แต่เขาพูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิงประโยชน์ พูดอิง
ธรรม พูดอิงวินัย พูดคำมีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์
เหมาะแก่เวลา เขาย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นเถระ๒ผู้ฉลาด’ โดยแท้
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ทำให้เป็นเถระ ๔ ประการนี้
ธรรมที่ทำให้เป็นเถระ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๒.ทุติยอุรุเวลสูตร

๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลายที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ๑
๓. เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง๒ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๔. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ทำให้เป็นเถระ ๔ ประการนี้แล”
บุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
มีความดำริไม่มั่นคงเหมือนมฤค
ยินดีในอสัทธรรม กล่าวคำไร้สาระเป็นอันมาก
มีความเห็นต่ำทราม ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
ย่อมห่างไกลจากความเป็นผู้มั่นคง
ส่วนบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
มีสุตะ มีปฏิภาณ ประกอบอยู่ในธรรมที่มั่นคง
ย่อมเห็นแจ้งอรรถแห่งอริยสัจด้วยมรรคปัญญา
ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง๓ ไม่มีกิเลสเกาะยึดไว้
มีปฏิภาณ ละความเกิดและความตายได้แล้ว
เพียบพร้อมด้วยพรหมจรรย์


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๓.โลกสูตร

เราเรียกภิกษุผู้ไม่มีอาสวะว่า ‘เถระ’
เราเรียกภิกษุนั้นว่า ‘เถระ’ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย

ทุติยอุรุเวลสูตรที่ ๒ จบ

๓. โลกสูตร
ว่าด้วยโลก

[๒๓] ภิกษุทั้งหลาย โลก๑ตถาคตตรัสรู้๒แล้ว ตถาคตพรากจากโลก ตถาคต
ตรัสรู้เหตุเกิดแห่งโลก ตถาคตละเหตุเกิดแห่งโลกแล้ว ตถาคตตรัสรู้ความดับแห่ง
โลก ตถาคตทำให้ประจักษ์ซึ่งความดับแห่งโลก ตถาคตตรัสรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งโลก ตถาคตบำเพ็ญข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับแห่งโลกแล้ว
เพราะตถาคตตรัสรู้รูปที่ได้เห็น๓ เสียงที่ได้ฟัง๔ อารมณ์ที่ได้ทราบ๕ ธรรมารมณ์
ที่รู้แจ้ง๖ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ถึง แสวงหา ตรองตามด้วยใจทั้งหมด ฉะนั้น
ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตตรัสรู้ในราตรีใด ปรินิพพานในราตรีใด ในระหว่างนี้ย่อมภาษิต
กล่าว แสดงออกซึ่งคำใด คำนั้นทั้งหมดเป็นจริงอย่างนั้นแล ไม่เป็นอย่างอื่น ฉะนั้น
ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตกล่าวอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ก็กล่าวอย่างนั้น ฉะนั้น
ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๓.โลกสูตร

เพราะตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ แผ่อำนาจไปใน
โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ ฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต‘๑
บุคคลใดรู้แจ้งโลกทั้งปวง
ตามความเป็นจริงทั้งหมด
พรากจากโลกทั้งปวง
ไม่มีกิเลสสั่งสมอยู่ในโลกทั้งปวง
บุคคลนั้นแลครอบงำอารมณ์ได้ทั้งหมด
เป็นนักปราชญ์ ปลดเปลื้องกิเลสที่ร้อยรัดได้ทั้งหมด
บรรลุนิพพานที่มีความสงบอย่างยิ่ง
ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
บุคคลนี้สิ้นอาสวะ เป็นพุทธะ๒
ไม่มีทุกข์ ตัดความสงสัยได้
บรรลุความสิ้นกรรมทั้งปวง
หลุดพ้นเพราะสิ้นอุปธิกิเลส
บุคคลนั้นเป็นผู้มีโชค ตรัสรู้
เปรียบเหมือนราชสีห์ที่ยอดเยี่ยม
ประกาศพรหมจักรแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก
เพราะเหตุนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ที่ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ๓ มาประชุมกัน
นมัสการพระองค์ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงแกล้วกล้า


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๔.กาฬการามสูตร

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนมัสการพระพุทธเจ้านั้น
ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงแกล้วกล้าด้วยการสรรเสริญว่า
เป็นผู้ฝึกตนที่ประเสริฐสุดในหมู่ผู้ฝึกตนทั้งหลาย
เป็นฤๅษีผู้สงบกว่าผู้สงบทั้งหลาย
เป็นผู้หลุดพ้นที่ยอดเยี่ยมกว่าผู้หลุดพ้นทั้งหลาย
เป็นผู้ข้ามพ้นที่ประเสริฐกว่าผู้ข้ามพ้นทั้งหลาย
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่มีบุคคลที่เปรียบเทียบกับพระองค์ได้

โลกสูตรที่ ๓ จบ

๔. กาฬการามสูตร
ว่าด้วยพุทธกิจในกาฬการาม

[๒๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กาฬการาม เขตเมืองสาเกต
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง
ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดา และมนุษย์ถึง แสวงหา ตรองตามด้วยใจนั้นเราก็รู้
รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งที่ชาวโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ถึง แสวงหา ตรองตามด้วยใจนั้นเราก็รู้แล้ว ตถาคตรู้แจ้งรูปที่ได้
เห็นเป็นต้นนั้น อารมณ์๑นั้นไม่ปรากฏในตถาคต
รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ชาว
โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ถึง แสวงหา ตรองตามด้วยใจนั้นเรากล่าวว่า ‘ไม่รู้’ คำนั้นของ
เราพึงเป็นคำเท็จ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๔. กาฬการามสูตร

รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ฯลฯ นั้น
เราพึงกล่าวว่า ‘ทั้งรู้และไม่รู้’ แม้คำนั้นพึงเป็นคำเท็จเช่นเดียวกัน
รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ฯลฯ นั้น
เราพึงกล่าวว่า ‘รู้ก็มิใช่ ไม่รู้ก็มิใช่’ คำนั้นพึงเป็นโทษแก่เรา
ตถาคตเห็นรูปที่ควรเห็นแล้ว แต่ไม่สำคัญว่าได้เห็น ไม่สำคัญว่าไม่ได้เห็น ไม่
สำคัญว่าต้องได้เห็น ไม่สำคัญว่าเป็นผู้เห็น ฟังเสียงที่ควรฟังแล้ว แต่ไม่สำคัญว่า
ได้ฟัง ไม่สำคัญว่าไม่ได้ฟัง ไม่สำคัญว่าต้องได้ฟัง ไม่สำคัญว่าเป็นผู้ฟัง ทราบอารมณ์
ที่ควรทราบแล้ว แต่ไม่สำคัญว่าได้ทราบ ไม่สำคัญว่าไม่ได้ทราบ ไม่สำคัญว่าต้อง
ได้ทราบ ไม่สำคัญว่าเป็นผู้ทราบ รู้แจ้งธรรมารมณ์ที่ควรรู้แจ้งแล้ว แต่ไม่สำคัญว่า
ได้รู้แจ้ง ไม่สำคัญว่าไม่ได้รู้แจ้ง ไม่สำคัญว่าต้องได้รู้แจ้ง ไม่สำคัญว่าเป็นผู้รู้แจ้ง
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้คงที่เช่นนั้นแลในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง
อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง เรากล่าวว่า ‘บุคคลอื่นผู้คงที่๑ยิ่งกว่าหรือ
ประณีตกว่าตถาคตผู้คงที่นั้น ไม่มี’
รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ
ที่คนเหล่าอื่นหมกมุ่นแล้ว สำคัญกันว่าจริง
ตถาคตเป็นผู้คงที่ในรูปเป็นต้นเหล่านั้น
ที่สำรวมระวังดีแล้วด้วยพระองค์เอง
ไม่ปักใจเชื่อว่าจริงหรือเท็จ
เราเห็นลูกศรคือทิฏฐินี้ก่อนแล้ว
จึงรู้เห็นลูกศรคือทิฏฐินั้น
ที่หมู่สัตว์หมกมุ่นแล้ว ข้องอยู่อย่างนั้น
แต่ตถาคตทั้งหลายไม่มีความหมกมุ่น

กาฬการามสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.อุรุเวลวรรค ๖.กุหสูตร

๕. พรหมจริยสูตร
ว่าด้วยการประพฤติพรหมจรรย์

[๒๕] ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตประพฤติพรหมจรรย์นี้มิใช่เพื่อจะลวงคน มิใช่
เพื่อเกลี้ยกล่อมคน มิใช่เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและชื่อเสียง มิใช่เพื่อ
อานิสงส์คือการอวดอ้างวาทะ มิใช่เพื่อให้คนรู้ว่า ‘คนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้’
แท้จริง ตถาคตประพฤติพรหมจรรย์นี้เพื่อสำรวมระวัง เพื่อละ เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อดับทุกข์
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์
ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นแต่โบราณ
ทำให้สัตว์ถึงพระนิพพานเพื่อสำรวมระวัง เพื่อละ
หนทางนี้ท่านผู้ใหญ่
ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ดำเนินไปตามแล้ว
อนึ่ง เหล่าชนผู้ปฏิบัติตามแนวทาง
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

พรหมจริยสูตรที่ ๕ จบ

๖. กุหสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้หลอกลวง

[๒๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดหลอกลวง กระด้าง ประจบ ชอบวางท่า
อวดดี มีจิตไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าไม่ใช่ผู้นับถือเรา ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้
และย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ส่วนภิกษุเหล่าใดไม่หลอก
ลวง ไม่ประจบ เป็นนักปราชญ์ ไม่กระด้าง มีจิตตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นแลชื่อว่า
ผู้นับถือเรา ไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ และถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ใน
ธรรมวินัยนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๗. สันตุฏฐิสูตร

พวกภิกษุผู้หลอกลวง กระด้าง
ประจบ ชอบวางท่า อวดดี
และมีจิตไม่ตั้งมั่น ย่อมไม่งอกงามในธรรม
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว
ส่วนภิกษุที่ไม่หลอกลวง ไม่ประจบ
เป็นนักปราชญ์ ไม่กระด้าง
และมีจิตตั้งมั่นดี ย่อมงอกงามในธรรม
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว

กุหสูตรที่ ๖ จบ

๗. สันตุฏฐิสูตร
ว่าด้วยความสันโดษด้วยปัจจัย ๔

[๒๗] ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัย ๔ อย่างนี้มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
ปัจจัย ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. บรรดาจีวร บังสุกุลจีวร(ผ้าที่ได้มาจากกองฝุ่น) มีค่าน้อย หาได้ง่าย
และไม่มีโทษ
๒. บรรดาโภชนะ ปิณฑิยาโลปโภชนะ (โภชนะคือคำข้าวที่ได้มาด้วย
กำลังปลีแข้ง) มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
๓. บรรดาเสนาสนะ รุกขมูลเสนาสนะ (อยู่อาศัยโคนไม้) มีค่าน้อย
หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
๔. บรรดายารักษาโรค ปูติมุตตเภสัช (ยาดองน้ำมูตรเน่า) มีค่าน้อย
หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
ปัจจัย ๔ อย่างนี้แลมีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยที่มีค่าน้อยและหาได้ง่าย นี้
เราจึงกล่าวว่า ‘เป็นองค์ประกอบแห่งความเป็นสมณะอย่างหนึ่ง’ ของภิกษุนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๘.อริยวังสสูตร

จิตของภิกษุผู้สันโดษด้วยปัจจัย
ที่มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
ย่อมไม่มีความคับแค้น ไม่ติดขัดทั่วทิศ
เพราะปรารภจีวร โภชนะ เสนาสนะ และยารักษาโรค
และธรรมที่เหมาะแก่ความเป็นสมณะ
ที่ภิกษุนั้นกล่าวไว้แล้ว
อันภิกษุผู้สันโดษ ไม่ประมาท บรรลุแล้ว

สันตุฏฐิสูตรที่ ๗ จบ

๘. อริยวังสสูตร
ว่าด้วยอริยวงศ์

[๒๘] ภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์๑ ๔ ประการนี้รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กันมานาน รู้กัน
ว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูกลบล้าง จักไม่ถูกลบล้าง
ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
อริยวงศ์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สันโดษ๒ด้วยจีวรตามแต่จะได้ กล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวร
ตามแต่จะได้ ไม่แสวงหาอันไม่สมควรเพราะจีวรเป็นเหตุ ไม่ได้จีวร
ก็ไม่กระวนกระวาย ครั้นได้แล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง
มองเห็นโทษ๓ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยอยู่ และไม่ยกตน
ข่มผู้อื่นเพราะความสันโดษด้วยจีวรตามแต่จะได้นั้น ภิกษุใดขยัน


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๘.อริยวังสสูตร

ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคงในความสันโดษด้วยจีวร
ตามแต่จะได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ
เป็นของเก่า
๒. สันโดษด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้ กล่าวสรรเสริญความสันโดษ
ด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้ ไม่แสวงหาอันไม่สมควรเพราะบิณฑบาต
เป็นเหตุ ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่กระวนกระวาย ครั้นได้แล้วก็ไม่ติดใจ
ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง มองเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก
ฉันอยู่ และไม่ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความสันโดษด้วบิณฑบาตตาม
แต่จะได้นั้น ภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง
ในความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้
ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ เป็นของเก่า
๓. สันโดษด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้ กล่าวสรรเสริญความสันโดษ
ด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้ ไม่แสวงหาอันไม่สมควรเพราะเสนาสนะ
เป็นเหตุ ไม่ได้เสนาสนะก็ไม่กระวนกระวาย ครั้นได้แล้วก็ไม่ติดใจ
ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง มองเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก
ใช้สอยอยู่ และไม่ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความสันโดษด้วยเสนาสนะ
ตามแต่จะได้นั้น ภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติ
มั่นคงในความสันโดษด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า
ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ เป็นของเก่า
๔. มีภาวนาเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในภาวนา มีปหานะ (การละ) เป็นที่
รื่นรมย์ ยินดีในปหานะ และไม่ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความเป็นผู้มี
ภาวนาเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในภาวนา เพราะความเป็นผู้มีปหานะ
เป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในปหานะนั้น ภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มี
สัมปชัญญะ มีสติมั่นคงในภาวนาและปหานะ ภิกษุนี้เราเรียกว่า
ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ เป็นของเก่า
ภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ ๔ ประการนี้แลรู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กัน
มานาน รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง
ไม่ถูกลบล้าง จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๙.ธัมมปทสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยอริยวงศ์ ๔ ประการนี้ แม้จะอยู่ในทิศ
ตะวันออก ก็ครอบงำความไม่ยินดีได้ ความไม่ยินดีครอบงำเธอไม่ได้ แม้จะอยู่ใน
ทิศตะวันตก ... แม้จะอยู่ในทิศเหนือ ... แม้จะอยู่ในทิศใต้ ก็ครอบงำความไม่ยินดีได้
ความไม่ยินดีครอบงำเธอไม่ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเป็นนักปราชญ์ ชื่อว่า
เป็นผู้ครอบงำความไม่ยินดีและความยินดีได้
ความไม่ยินดีครอบงำนักปราชญ์๑ ไม่ได้
ความไม่ยินดีครอบงำนักปราชญ์ไม่ได้
แต่นักปราชญ์ครอบงำความไม่ยินดีได้
เพราะนักปราชญ์ชื่อว่าผู้ครอบงำความไม่ยินดี
ราคะหรือโทสะอะไร
จะปิดกั้นบุคคลผู้บรรเทากิเลสแล้ว
ผู้ละกรรมทุกอย่างได้เด็ดขาด
ใครเล่าจะสามารถติเตียนเขา
ผู้เป็นเหมือนแท่งทองชมพูนุท
แม้เทวดาและมนุษย์ก็สรรเสริญเขา
ถึงพรหมก็สรรเสริญเขา

อริยวังสสูตรที่ ๘ จบ

๙. ธัมมปทสูตร
ว่าด้วยธรรมบท

[๒๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบท๒ ๔ ประการนี้ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กันมานาน
รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูกลบล้าง
จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
ธรรมบท ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๑๐.ปริพพาชกสูตร

๑. อนภิชฌา (ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา) เป็นธรรมบทที่รู้กันว่า
ล้ำเลิศ รู้กันมานาน รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบ
ล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูกลบล้าง จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูก
สมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
๒. อพยาบาท (ความไม่คิดร้าย) เป็นธรรมบท ...
๓. สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) เป็นธรรมบท ...
๔. สัมมาสมาธิ (ความตั้งจิตมั่นชอบ) เป็นธรรมบทที่รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กัน
มานาน รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคย
ถูกลบล้าง ไม่ถูกลบล้าง จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้
รู้คัดค้าน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบท ๔ ประการนี้แลที่รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กันมานาน รู้กัน
ว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูกลบล้าง
จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
บุคคลพึงเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่
มีจิตไม่พยาบาท มีสติ
มีจิตแน่วแน่ ตั้งมั่นดีอยู่ภายใน

ธัมมปทสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ปริพพาชกสูตร
ว่าด้วยปริพาชก

[๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ สมัยนั้นแล ปริพาชกหลายท่านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกัน อาศัยอยู่ใน
ปริพาชการาม ริมฝั่งแม่น้ำสิปปินี คือ อันนภารปริพาชก วธรปริพาชก สกุลุทายี-
ปริพาชก และปริพาชกท่านอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกัน ครั้นในเวลาเย็น
พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น๑ เข้าไปยังปริพาชการาม ริมฝั่งแม่น้ำสิปปินี
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ตรัสกับปริพาชกเหล่านั้นดังนี้ว่า


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๑๐.ปริพพาชกสูตร

“ปริพาชกทั้งหลาย ธรรมบท ๔ ประการนี้ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กันมานาน รู้กัน
ว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูกลบล้าง
จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
ธรรมบท ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อนภิชฌาเป็นธรรมบทที่รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กันมานาน รู้กันว่าเป็น
อริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูก
ลบล้าง จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
๒. อพยาบาทเป็นธรรมบท ฯลฯ
๓. สัมมาสติเป็นธรรมบท ฯลฯ
๔. สัมมาสมาธิเป็นธรรมบทที่รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กันมานาน รู้กันว่าเป็น
อริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูก
ลบล้าง จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
ปริพาชกทั้งหลาย ธรรมบท ๔ ประการนี้แลที่รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กันมานาน
รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูกลบล้าง
จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจักบอกคืน๑อนภิชฌาที่เป็นธรรมบทนั้นแล้ว
บัญญัติบุคคลผู้มีอภิชฌา มีราคะแรงกล้าในกามทั้งหลายว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์’
ในเรื่องนั้นเราพึงกล่าวกับบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้ที่ถูกบัญญัติว่าเป็นสมณะหรือ
พราหมณ์นั้นจงมา จงกล่าว จงพูด เราจักดูอานุภาพของเขา’ เป็นไปไม่ได้เลยที่
บุคคลนั้นจักบอกคืนอนภิชฌาที่เป็นธรรมบทแล้ว บัญญัติบุคคลผู้มีอภิชฌา มีราคะ
แรงกล้าในกามทั้งหลายว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์
บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจักบอกคืนอพยาบาทที่เป็นธรรมบทนั้นแล้ว
บัญญัติบุคคลผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งจิตชั่วร้ายว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์’
ในเรื่องนั้นเราพึงกล่าวกับบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้ที่ถูกบัญญัติว่าเป็นสมณะหรือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค ๑๐.ปริพพาชกสูตร

พราหมณ์นั้นจงมา จงกล่าว จงพูด เราจักดูอานุภาพของเขา’ เป็นไปไม่ได้เลยที่
บุคคลนั้นจักบอกคืนอพยาบาทที่เป็นธรรมบทแล้ว บัญญัติบุคคลผู้มีจิตพยาบาท
มีความดำริแห่งจิตชั่วร้ายว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์
บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจักบอกคืนสัมมาสติที่เป็นธรรมบทนั้นแล้ว
บัญญัติบุคคลผู้หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์’ ในเรื่อง
นั้นเราพึงกล่าวกับบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้ที่ถูกบัญญัติว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์นั้น
จงมา จงกล่าว จงพูด เราจักดูอานุภาพของเขา’ เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลนั้นจัก
บอกคืนสัมมาสติที่เป็นธรรมบทแล้ว บัญญัติบุคคลผู้มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ
ว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์
บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจักบอกคืนสัมมาสมาธิที่เป็นธรรมบทนั้นแล้ว
บัญญัติบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่งว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์’ ในเรื่อง
นั้นเราพึงกล่าวกับบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้ที่ถูกบัญญัติว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์
นั้นจงมา จงกล่าว จงพูด เราจักดูอานุภาพของเขา’ เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลนั้น
จักบอกคืนสัมมาสมาธิที่จัดเป็นธรรมบทแล้ว บัญญัติบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิต
กวัดแกว่งว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์
บุคคลใดสำคัญธรรมบท ๔ ประการนี้ว่าควรติเตียน ควรคัดค้าน บุคคลนั้น
ย่อมได้รับฐานะ๑ ๔ ประการ พร้อมทั้งเหตุคล้อยตามวาทะไม่ชอบธรรม ที่น่าติเตียน
ในปัจจุบัน
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าติเตียน คัดค้านอนภิชฌาที่จัดเป็นธรรมบท ก็ชื่อว่าเป็นผู้บูชา
สรรเสริญสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีอภิชฌา มีราคะแรงกล้าในกาม
ทั้งหลาย
๒. ถ้าติเตียน คัดค้านอพยาบาทที่จัดเป็นธรรมบท ก็ชื่อว่าเป็นผู้บูชา
สรรเสริญสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งจิต
ชั่วร้าย


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๓.อุรุเวลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๓. ถ้าติเตียน คัดค้านสัมมาสติที่จัดเป็นธรรมบท ก็ชื่อว่าเป็นผู้บูชา
สรรเสริญสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ
๔. ถ้าติเตียน คัดค้านสัมมาสมาธิที่จัดเป็นธรรมบท ก็ชื่อว่าเป็นผู้
บูชาสรรเสริญสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
บุคคลใดสำคัญธรรมบท ๔ ประการนี้ว่าควรติเตียน ควรคัดค้าน บุคคลนั้น
ย่อมได้รับฐานะ ๔ ประการพร้อมทั้งเหตุคล้อยตามวาทะไม่ชอบธรรม ที่น่าติเตียน
ในปัจจุบัน ปริพาชกชื่อวัสสะและภัญญะ ผู้อยู่ในอุกกลชนบท เป็นอเหตุกวาทะ๑
อกิริยวาทะ๒ นัตถิกวาทะ๓ สำคัญธรรมบท ๔ ประการนี้ว่าไม่ควรติเตียน ไม่ควร
คัดค้าน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกลัวการนินทา การกระทบกระทั่ง และการ
กล่าวให้ร้าย”
บุคคลผู้ไม่พยาบาท
มีสติทุกเมื่อ มีจิตตั้งมั่นดีภายใน
ผู้ศึกษาในธรรมเป็นเครื่องกำจัดอภิชฌา
เราเรียกว่า ผู้ไม่ประมาท

ปริพพาชกสูตรที่ ๑๐ จบ
อุรุเวลวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมอุรุเวลสูตร ๒. ทุติยอุรุเวลสูตร
๓. โลกสูตร ๔. กาฬการามสูตร
๕. พรหมจริยสูตร ๖. กุหสูตร
๗. สันตุฏฐิสูตร ๘. อริยวังสสูตร
๙. ธัมมปทสูตร ๑๐. ปริพพาชกสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๒. สังคหสูตร

๔. จักกวรรค
หมวดว่าด้วยจักร
๑. จักกสูตร
ว่าด้วยจักร ๔ ประการ

[๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย จักร๑ ๔ ประการนี้เป็นเหตุให้
เทวดาและมนุษย์ผู้ประกอบแล้วเป็นไปได้ และถึงความเป็นใหญ่ ความไพบูลย์ใน
โภคะทั้งหลายต่อกาลไม่นานนัก
จักร ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ (การอยู่ในถิ่นที่ดี)
๒. สัปปุริสูปัสสยะ (การสมาคมกับสัตบุรุษ)
๓. อัตตสัมมาปณิธิ (การตั้งตนไว้ชอบ)
๔. ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว)
จักร ๔ ประการนี้แลเป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์ผู้ประกอบแล้วเป็นไปได้ และ
ถึงความเป็นใหญ่ ความไพบูลย์ในโภคะทั้งหลายต่อกาลไม่นานนัก
ข้าวเปลือก ทรัพย์ ยศ ชื่อเสียง
และความสุขย่อมหลั่งไหลมาสู่นรชน
ผู้อยู่ในถิ่นที่ดี ผูกไมตรีกับอริยชน
สมบูรณ์ด้วยการตั้งตนไว้ชอบ ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว

จักกสูตรที่ ๑ จบ

๒. สังคหสูตร
ว่าด้วยสังคหวัตถุ

[๓๒] ภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ (ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว) ๔ ประการนี้
สังคหวัตถุ ๔ ประการ๒ อะไรบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๔.จักกวรรค ๓.สีหสูตร

๑. ทาน (การให้)
๒. เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก)
๓. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์)
๔. สมานัตตตา (การวางตนสม่ำเสมอ)
ภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้แล
ทาน เปยยวัชชะ อัตถจริยาในโลกนี้
และสมานัตตตาในธรรมนั้น ๆ ตามสมควร
สังคหธรรมเหล่านี้แลช่วยอุ้มชูโลก
เหมือนลิ่มสลักที่ยึดคุมรถซึ่งแล่นไปไว้ได้ฉะนั้น
ถ้าไม่พึงมีธรรมเหล่านี้ มารดาหรือบิดา
ก็ไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะบุตรเป็นเหตุ
แต่เพราะบัณฑิตเล็งเห็นความสำคัญของสังคหธรรมเหล่านี้
ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านั้นจึงถึงความเป็นใหญ่
และเป็นผู้น่าสรรเสริญ

สังคหสูตรที่ ๒ จบ

๓. สีหสูตร
ว่าด้วยพญาราชสีห์

[๓๓] ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาเย็น พญาราชสีห์ออกจากที่อาศัย บิดกาย
ชำเลืองดูรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ บันลือสีหนาท ๓ ครั้งแล้วหลีกไปหาเหยื่อ โดยมาก
สัตว์ดิรัจฉานที่ได้ฟังพญาราชสีห์บันลือสีหนาทย่อมถึงความกลัว หวาดหวั่น และ
สะดุ้ง สัตว์พวกที่อาศัยอยู่ในโพรงก็หลบเข้าโพรง พวกที่อยู่ในน้ำก็ดำลงในน้ำ พวกที่
อยู่ในป่าก็หนีเข้าป่า พวกสัตว์ปีกก็บินขึ้นสู่อากาศ พญาช้างที่ถูกล่ามไว้ด้วยเครื่อง
ผูกคือเชือกหนังที่มั่นคงแข็งแรง ในหมู่บ้าน ตำบล และเมืองหลวง ก็ตัดทำลาย
เครื่องผูกเหล่านั้น ตกใจกลัว ถ่ายมูตรและกรีส๑ หนีไปทางใดทางหนึ่ง บรรดา
สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย พญาราชสีห์เป็นสัตว์มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีศักดิ์มากอย่างนี้
มีอานุภาพมากอย่างนี้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๔.จักกวรรค ๓.สีหสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดตถาคต๑อุบัติในโลก เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง
โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก ผู้ที่ควร
ฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค๒ แสดงธรรมว่า ‘สักกายะ๓เป็นอย่างนี้ สักกายสมุทัย (เหตุเกิด
สักกายะ) เป็นอย่างนี้ สักกายนิโรธ (ความดับสักกายะ) เป็นอย่างนี้ สักกายนิโรธ-
คามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับสักกายะ) เป็นอย่างนี้’ เมื่อนั้นเทวดาพวกที่มี
อายุยืน มีวรรณะ มีสุขมาก สถิตอยู่ในวิมานสูงเป็นเวลานาน ฟังธรรมเทศนา
ของตถาคตแล้ว โดยมากย่อมถึงความกลัว หวาดหวั่น สะดุ้งว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย
ทราบมาว่า พวกเราเป็นผู้ไม่เที่ยง แต่ได้สำคัญตนว่า ‘เที่ยง’ เป็นผู้ไม่ยั่งยืน แต่ได้
สำคัญตนว่า ‘ยั่งยืน’ เป็นผู้ไม่คงที่ แต่ได้สำคัญตนว่า ‘คงที่’ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
พวกเราเป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงที่ เกี่ยวเนื่องอยู่ในสักกายะ” ดังนี้ บรรดา
ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก ตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีศักดิ์มากอย่างนี้ มี
อานุภาพมากอย่างนี้ อย่างนั้นเหมือนกัน
เมื่อใดพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา
หาบุคคลเปรียบเทียบมิได้๔ ตรัสรู้ยิ่งแล้ว


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๔.อัคคัปปสาทสูตร

ประกาศธรรมจักร คือ
สักกายะ เหตุเกิดสักกายะ ความดับสักกายะ
และอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ให้ถึงความดับทุกข์
แก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก
เมื่อนั้นเทวดาที่มีอายุยืน มีวรรณะ มียศ
หวาดหวั่น ฟังคำของตถาคต
ผู้เป็นอรหันต์ หลุดพ้นแล้ว ผู้คงที่
ได้ถึงความสะดุ้งดุจเนื้อกลัวราชสีห์
ด้วยคิดว่า ‘ท่านผู้เจริญ ทราบว่า
พวกเราเป็นผู้ไม่เที่ยง ยังไม่ก้าวล่วงสักกายะ’

สีหสูตรที่ ๓ จบ

๔. อัคคัปปสาทสูตร
ว่าด้วยความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ

[๓๔] ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ๔ ประการนี้
ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า มีสองเท้า มีสี่เท้า หรือมีเท้ามากก็ตาม มี
รูปหรือไม่มีรูปก็ตาม มีสัญญา ไม่มีสัญญา หรือมีสัญญาก็ไม่ใช่
ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ตาม มีประมาณเท่าใด ตถาคตอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าเรากล่าวว่าเลิศกว่าสัตว์มีประมาณเท่านั้น บุคคลผู้เลื่อมใส
ในพระพุทธเจ้าชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่
บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
๒. ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งมีประมาณเท่าใด อริยมรรคมีองค์ ๘ เรา
กล่าวว่าเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้เลื่อมใสในอริยมรรคมีองค์ ๘
ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใส
ในสิ่งที่เลิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๔.อัคคัปปสาทสูตร

๓. ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งหรือธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งมีประมาณ
เท่าใด วิราคะ (ความคลายกำหนัด) คือ ความสร่างความเมา
ความดับความกระหาย ความถอนอาลัย ความตัดวัฏฏะ ความ
สิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับทุกข์ นิพพาน๑เรา
กล่าวว่าเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้เลื่อมใสในวิราคธรรม ชื่อว่า
เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่ง
ที่เลิศ
๔. หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด พระสงฆ์สาวกของตถาคต
ได้แก่ พระอริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล๒ พระสงฆ์สาวกของ
พระผู้มีพระภาคนี้เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของ
ต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอด
เยี่ยมของโลก เรากล่าวว่าเลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น บุคคลผู้
เลื่อมใสในสงฆ์ ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมี
แก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ๔ ประการนี้แล
บุญที่เลิศ คือ อายุ วรรณะ
ยศ เกียรติ สุข และพละ
ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้เลื่อมใส
ผู้รู้ธรรมที่เลิศโดยความเป็นธรรมที่เลิศ
ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ
ซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลชั้นเยี่ยม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๕.วัสสการสูตร

ผู้เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศ
อันเป็นที่คลายความกำหนัด
เป็นที่สงบระงับ นำสุขมาให้
ผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ
ซึ่งเป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ให้ทานในท่านผู้เลิศ
นักปราชญ์ผู้ตั้งมั่นในธรรมที่เลิศ
ให้ทานแก่ท่านผู้เลิศ
เกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมถึงความเป็นผู้เลิศ๑ บันเทิงอยู่

อัคคัปปสาทสูตรที่ ๔ จบ

๕. วัสสการสูตร
ว่าด้วยวัสสการพราหมณ์

[๓๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อ
กระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น วัสสการพราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งแคว้น
มคธเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม พวกข้าพเจ้าบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
ว่าเป็นมหาบุรุษผู้มีปัญญามาก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลในโลกนี้
๑. เป็นพหูสูตแห่งเรื่องที่ฟังนั้น ๆ รู้เนื้อความแห่งภาษิตนั้น ๆ ว่า ‘นี้
เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้’


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๕.วัสสการสูตร

๒. มีสติ ระลึกถึงสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้
๓. เป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำของคฤหัสถ์
๔. ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา อันเป็นอุบายในการงานที่
จะต้องช่วยกันทำนั้น ๆ สามารถทำได้ สามารถจัดได้
ข้าแต่ท่านพระโคดม พวกข้าพเจ้าบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
นี้แลว่าเป็นมหาบุรุษผู้มีปัญญามาก ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าข้าพเจ้าพึงยินดี ขอ
ท่านพระโคดมทรงยินดีตามข้าพเจ้า ถ้าข้าพเจ้าพึงคัดค้าน ขอท่านพระโคดมทรง
คัดค้านตามข้าพเจ้าด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เราไม่ยินดีตาม แต่ไม่คัดค้านท่าน เรา
บัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่าเป็นมหาบุรุษผู้มีปัญญามาก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลในโลกนี้
๑. ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก ให้คนหมู่
มากตั้งอยู่ในอริยธรรมที่ควรรู้ คือ ความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม
ความเป็นผู้มีกุศลธรรม
๒. ปรารถนาจะตรึกตรองเรื่องใด ก็ตรึกตรองเรื่องนั้น ไม่ปรารถนาจะ
ตรึกตรองเรื่องใด ก็ไม่ตรึกตรองเรื่องนั้น ปรารถนาจะดำริเรื่องใด
ก็ดำริเรื่องนั้น ไม่ปรารถนาจะดำริเรื่องใด ก็ไม่ดำริเรื่องนั้น ถึงความ
เชี่ยวชาญในจิตในแนวทางแห่งการตรึกตรองทั้งหลาย
๓. เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๔. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้น
ไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
พราหมณ์ เราไม่ยินดีตาม แต่ไม่คัดค้านท่านเลย เราบัญญัติบุคคลผู้
ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลว่าเป็นมหาบุรุษผู้มีปัญญามาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๕.วัสสการสูตร

วัสสการพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ ท่านพระโคดมตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนัก พวกข้าพเจ้าจะทรงจำท่านพระโคดมไว้
ว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ว่า แท้ที่จริง ท่านพระโคดมทรงปฏิบัติ
เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก ให้คนหมู่มากตั้งอยู่ในอริยธรรมที่
ควรรู้ คือ ความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม ท่านพระโคดมทรง
ปรารถนาจะตรึกตรองเรื่องใด ก็ตรึกตรองเรื่องนั้น ไม่ทรงปรารถนาจะตรึกตรอง
เรื่องใด ก็ไม่ทรงตรึกตรองเรื่องนั้น ทรงปรารถนาจะดำริเรื่องใด ก็ดำริเรื่องนั้น
ไม่ทรงปรารถนาจะดำริเรื่องใด ก็ไม่ดำริเรื่องนั้น ทรงถึงความเชี่ยวชาญในจิตใน
แนวทางแห่งการตรึกตรองทั้งหลาย ทรงได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องอยู่
เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ทรงทำให้
แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ท่านกล่าววาจาแสดงความเห็นด้วยใน
เรื่องนี้ และเราจักเฉลยแก่ท่านว่า แท้ที่จริง เราปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก ให้คนหมู่มากตั้งอยู่ในอริยธรรมที่ควรรู้ คือ ความเป็นผู้มี
กัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม ก็เราปรารถนาจะตรึกตรองเรื่องใด ก็ตรึก
ตรองเรื่องนั้น ไม่ปรารถนาจะตรึกตรองเรื่องใด ก็ไม่ตรึกตรองเรื่องนั้น ปรารถนา
จะดำริเรื่องใด ก็ดำริเรื่องนั้น ไม่ปรารถนาจะดำริเรื่องใด ก็ไม่ดำริเรื่องนั้น ถึงความ
เชี่ยวชาญในจิตในแนวทางแห่งการตรึกตรองทั้งหลาย เราได้ฌาน ๔ อันมีใน จิตยิ่ง
ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วย ปัญญาอัน
ยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
บุคคลผู้รู้แจ้งทางปลดเปลื้องสรรพสัตว์
จากบ่วงแห่งมัจจุราช ประกาศธรรมที่ควรรู้
ที่เกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์
อนึ่ง ชนจำนวนมากเลื่อมใส
เพราะเห็นหรือได้ฟังข่าวของบุคคลใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๔.จักกวรรค ๖.โทณสูตร

เราเรียกบุคคลนั้น
ผู้ฉลาดในธรรมที่เป็นทางและมิใช่ทาง
ผู้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ เป็นพุทธะ๑
ธำรงชาติสุดท้ายว่า เป็นมหาบุรุษ

วัสสการสูตรที่ ๕ จบ

๖. โทณสูตร
ว่าด้วยโทณพราหมณ์

[๓๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จทางไกลระหว่างเมืองอุกกัฏฐะ๒กับเมือง
เสตัพยะ โทณพราหมณ์ก็ได้เดินทางไกลระหว่างเมืองอุกกัฏฐะกับเมืองเสตัพยะ ได้
เห็นรอยกงจักรมีซี่กำตั้งพันซี่ มีกง มีดุมครบ มีส่วนประกอบครบทุกอย่างที่รอย
พระบาทของพระผู้มีพระภาค ได้มีความคิดว่า “ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ รอยเท้าเหล่านี้คงไม่ใช่รอยเท้ามนุษย์” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลง
ข้างทางประทับนั่งที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ทรงคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะ
หน้า ลำดับนั้น โทณพราหมณ์เดินตามรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาค ได้เห็น
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง มีพระอาการกิริยาน่าพอใจ น่าเลื่อมใส
มีพระอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ บรรลุการฝึกและความสงบยอดเยี่ยม๓ ทรงฝึกตน
แล้ว คุ้มครองแล้ว สำรวมอินทรีย์ ผู้ชื่อว่านาคะ๔ ครั้นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านผู้เจริญเป็นเทวดาใช่หรือไม่”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๔.จักกวรรค ๖.โทณสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เราไม่ใช่เทวดา พราหมณ์”
โทณพราหมณ์ทูลถามว่า “ท่านผู้เจริญ เป็นคนธรรพ์ใช่หรือไม่”
“เราไม่ใช่คนธรรพ์ พราหมณ์”
“ท่านผู้เจริญ เป็นยักษ์ใช่หรือไม่”
“เราไม่ใช่ยักษ์ พราหมณ์”
“ท่านผู้เจริญ เป็นมนุษย์ใช่หรือไม่”
“เราไม่ใช่มนุษย์ พราหมณ์”
โทณพราหมณ์ทูลถามว่า “ท่านเมื่อถูกถามว่า ‘ท่านผู้เจริญเป็นเทวดาใช่หรือไม่’
ก็ตอบว่า ‘เราไม่ใช่เทวดา พราหมณ์’ เมื่อถูกถามว่า ‘ท่านผู้เจริญเป็นคนธรรพ์
ใช่หรือไม่’ ก็ตอบว่า ‘เราไม่ใช่คนธรรพ์ พราหมณ์’ เมื่อถูกถามว่า ‘ท่านผู้เจริญ
เป็นยักษ์ใช่หรือไม่’ ก็ตอบว่า ‘เราไม่ใช่ยักษ์ พราหมณ์’ เมื่อถูกถามว่า ‘ท่านผู้เจริญ
เป็นมนุษย์ใช่หรือไม่’ ก็ตอบว่า ‘เราไม่ใช่มนุษย์ พราหมณ์’ ถ้าอย่างนั้น ท่าน
เป็นอะไรกันแน่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เราพึงเป็นเทวดา เพราะยังละ
อาสวะเหล่าใดไม่ได้ แต่อาสวะเหล่านั้นเราละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อ
ไปไม่ได้ เราพึงเป็นคนธรรพ์ เพราะยังละอาสวะเหล่าใดไม่ได้ ... พึงเป็นยักษ์ ...
พึงเป็นมนุษย์ เพราะยังละอาสวะเหล่าใดไม่ได้ แต่อาสวะเหล่านั้นเราละได้เด็ดขาด
แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
พราหมณ์ เราเกิดเจริญเติบโตในโลก แต่อยู่เหนือโลก ไม่แปดเปื้อนด้วยโลก
เหมือนดอกอุบล (บัวเขียว) ดอกปทุม (บัวหลวง) ดอกปุณฑริก (บัวขาว) เกิดเจริญ
เติบโตในน้ำ แต่อยู่เหนือน้ำ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำฉะนั้น ท่านจงจำเราไว้ว่า ‘เป็น
พระพุทธเจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๗.อปริหานิยสูตร

อาสวะทั้งหลายที่เป็นเหตุให้เกิดเป็นเทวดา
หรือเป็นคนธรรพ์ผู้เที่ยวไปในอากาศ
เป็นเหตุให้ถึงความเป็นยักษ์
และความเป็นมนุษย์ ได้สิ้นไปแล้ว
ถูกเรากำจัดแล้ว ทำให้หมดเครื่องผูกพันแล้ว
ดอกปุณฑริกที่งดงาม
ย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำฉันใด
เราก็ย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยโลกฉันนั้น
พราหมณ์ เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า

โทณสูตรที่ ๖ จบ

๗. อปริหานิยสูตร
ว่าด้วยอปริหานิยธรรม

[๓๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ไม่อาจเสื่อม๑
ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพานแน่แท้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สมบูรณ์ด้วยศีล
๒. คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๓. รู้จักประมาณในการบริโภค
๔. ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ
ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อม
ด้วยอาจาระและโคจรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีล เป็นอย่างนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๗.อปริหานิยสูตร

ภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ๑ ย่อม
ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ซึ่ง
เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึง
รักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรู้จักประมาณในการบริโภค เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น
ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้
แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์
พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า “เราจักกำจัดเวทนาเก่าและจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และการอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา” ภิกษุรู้จัก
ประมาณในการบริโภค เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นเหตุขัดขวางด้วยการ
จงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นเหตุขัดขวางด้วยการ
จงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี นอนดุจราชสีห์โดยข้างเบื้องขวา
ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้นตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี
ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นเหตุขัดขวางด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอด
ปัจฉิมยามแห่งราตรี ภิกษุประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ เป็นอย่างนี้แล๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ไม่อาจเสื่อม ชื่อว่า
อยู่ใกล้นิพพานแน่แท้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๘.ปฏิลีนสูตร

ภิกษุตั้งอยู่ในศีล สำรวมอินทรีย์
รู้จักประมาณในการบริโภค
ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ
มีความเพียรอยู่อย่างนี้
ไม่เกียจคร้านตลอดคืนและวัน
ชื่อว่าบำเพ็ญกุศลธรรม
เพื่อบรรลุสภาวะอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท
หรือมีปกติเห็นภัยในความประมาท
ไม่อาจเสื่อม ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพานแน่แท้

อปริหานิยสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปฏิลีนสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้หลีกเร้น

[๓๘] ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกภิกษุว่า ผู้มีปัจเจกสัจจะ๑อันบรรเทาได้ ผู้มี
การแสวงหาอันสละได้ดี ผู้มีกายสังขารอันระงับได้ ผู้หลีกเร้น
ภิกษุผู้มีปัจเจกสัจจะอันบรรเทาได้ เป็นอย่างไร
คือ ปัจเจกสัจจะเป็นอันมาก เช่น เห็นว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง โลก
มีที่สุดบ้าง โลกไม่มีที่สุดบ้าง ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็นคน
ละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก
หลังจากตายแล้วตถาคต๒เกิดอีกและไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิด
อีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ เหล่านั้นทั้งหมดของสมณะและพราหมณ์จำนวนมาก


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๘.ปฏิลีนสูตร

อันภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรเทาได้ กำจัดได้ สละได้ คลายได้ ปล่อยวางได้ ละได้
สละคืนได้ ภิกษุผู้มีปัจเจกสัจจะอันบรรเทาได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุผู้มีการแสวงหาอันสละได้ดี เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละการใฝ่หากาม๑ ละการแสวงหาภพ๒ ระงับการ
แสวงหาพรหมจรรย์ได้๓ ภิกษุผู้มีการแสวงหาอันสละได้ดี เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุผู้มีกายสังขารอันระงับได้๔ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัส
ดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ภิกษุผู้มีกายสังขารอันระงับได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุผู้หลีกเร้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอัสมิมานะ๕ได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคนเหมือนต้น
ตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ภิกษุผู้หลีกเร้น เป็นอย่างนี้แล
เราเรียกภิกษุว่า ผู้มีปัจเจกสัจจะอันบรรเทาได้ ผู้มีการแสวงหาอันสละได้ดี
ผู้มีกายสังขารอันระงับได้ ผู้หลีกเร้น ด้วยประการฉะนี้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๙.อุชชยสูตร

การใฝ่หากาม การแสวงหาภพ
และการแสวงหาพรหมจรรย์
อันภิกษุในธรรมวินัยนี้สละได้เด็ดขาดแล้ว
การยึดถือว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้จริงอันเป็นพื้นฐานแห่งทิฏฐิ
ภิกษุถอนขึ้นแล้วด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุผู้คลายกำหนัดได้ทั้งหมด
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
ชื่อว่าสละคืนการแสวงหา
ถอนรากฐานแห่งทิฏฐิได้
ภิกษุนั้นแลเป็นผู้สงบ
มีสติ สงบระงับ ไม่พ่ายแพ้
ชื่อว่าเป็นพุทธะ เพราะละมานะได้
เราเรียกว่า ผู้หลีกเร้น

ปฏิลีนสูตรที่ ๘ จบ

๙. อุชชยสูตร
ว่าด้วยปัญหาของอุชชยพราหมณ์

[๓๙] สมัยนั้น อุชชยพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “แม้ท่านพระโคดมเองก็ทรงสรรเสริญยัญของพวก
ข้าพเจ้าหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เราไม่ได้สรรเสริญยัญไปเสียทุกอย่าง และ
เราก็ไม่ได้ติเตียนยัญไปเสียทั้งหมด เราไม่สรรเสริญยัญที่มีกิริยา๑ คือ ยัญที่มีการฆ่า
โค ๑ ยัญที่มีการฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่มีการฆ่าไก่ สุกร ๑ ยัญที่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๙.อุชชยสูตร

ได้รับความเดือดร้อน ๑ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระอรหันต์หรือท่านผู้บรรลุ
อรหัตตมรรคย่อมไม่เกี่ยวข้องกับยัญที่มีกิริยาอย่างนั้น
พราหมณ์ แต่เราสรรเสริญยัญที่ไม่มีกิริยา คือ นิจทาน๑ และอนุกูลยัญ๒ คือ
ยัญที่ไม่มีการฆ่าโค ๑ ยัญที่ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่ไม่มีการฆ่าไก่ สุกร ๑
ยัญที่ไม่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ได้รับความเดือดร้อน ๑ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระ
อรหันต์หรือท่านผู้บรรลุอรหัตตมรรคย่อมเกี่ยวข้องกับยัญที่ไม่มีกิริยาอย่างนี้”
มหายัญที่มีกิริยามากเหล่านั้น คือ
อัสวเมธ บุรุษเมธ สัมมาปาสะ
วาชเปยยะ นิรัคคละ๓ ไม่มีผลมาก
พระอริยะผู้ปฏิบัติชอบ แสวงหาคุณยิ่งใหญ่
ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับยัญ
ที่มีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ต่าง ๆ
แต่พระอริยะผู้ปฏิบัติชอบ แสวงหาคุณยิ่งใหญ่
ย่อมเกี่ยวข้องกับยัญที่ไม่มีกิริยา
เอื้ออำนวยประโยชน์ ประชาชนบูชาทุกเมื่อ
และไม่มีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ต่าง ๆ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค ๑๐.อุทายิสูตร

นักปราชญ์พึงบูชายัญนี้ที่มีผลมาก
เพราะเมื่อบูชายัญอย่างนี้
ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่ว
ยัญย่อมแพร่หลาย และเทวดาก็เลื่อมใส

อุชชยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อุทายิสูตร
ว่าด้วยปัญหาของอุทายิพราหมณ์

[๔๐] ครั้งนั้นแล อุทายิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “แม้ท่านพระโคดมก็ทรงสรรเสริญยัญของพวก
ข้าพระองค์หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เราไม่ได้สรรเสริญยัญไปเสียทุกอย่าง
และเราก็ไม่ได้ติเตียนยัญไปเสียทั้งหมด เราไม่สรรเสริญยัญ๑ที่มีกิริยา คือ ยัญที่มี
การฆ่าโค ๑ ยัญที่มีการฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่มีการฆ่าไก่ สุกร ๑ ยัญที่ทำให้สัตว์
ต่าง ๆ ได้รับความเดือดร้อน ๑ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระอรหันต์หรือท่านผู้
บรรลุอรหัตตมรรคย่อมไม่เกี่ยวข้องกับยัญที่มีกิริยาอย่างนั้น
พราหมณ์ แต่เราสรรเสริญยัญที่ไม่มีกิริยา คือ นิจทานและอนุกูลยัญ คือ
ยัญที่ไม่มีการฆ่าโค ๑ ยัญที่ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่ไม่มีการฆ่าไก่ สุกร ๑
ยัญที่ไม่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ได้รับความเดือดร้อน ๑ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระ
อรหันต์หรือท่านผู้บรรลุอรหัตตมรรคย่อมเกี่ยวข้องกับยัญที่ไม่มีกิริยาอย่างนี้”
ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ สำรวมระวัง
ย่อมเกี่ยวข้องกับยัญ๒ที่จัดเตรียมไว้อย่างดี
ไม่มีกิริยา เหมาะสมกับเวลาเช่นนั้น


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๔.จักกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ท่านผู้รู้ผู้ฉลาดในบุญ
มีกิเลสเปรียบเหมือนหลังคาอันเปิดแล้ว
ล่วงเลยตระกูลและคติ๑ในโลก
ย่อมสรรเสริญยัญชนิดนี้
ถ้าบุคคลทำการบูชาในปกติทาน
หรือในมตกทานตามสมควร
มีจิตเลื่อมใส บูชาในนาที่ดี
คือท่านพรหมจารีทั้งหลาย
ยัญที่บุคคลบูชาดีแล้ว
เซ่นสรวงดีแล้ว สมบูรณ์ดี
ทำไว้ในทักขิไณยบุคคล
ยัญย่อมแพร่หลาย และเทวดาก็เลื่อมใส
บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ มีศรัทธา๒
มีใจพ้นแล้ว๓ บูชายัญอย่างนี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่ปราศจากความเบียดเบียน เป็นสุข

อุทายิสูตรที่ ๑๐ จบ
จักกวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จักกสูตร ๒. สังคหสูตร
๓. สีหสูตร ๔. อัคคัปปสาทสูตร
๕. วัสสการสูตร ๖. โทณสูตร
๗. อปริหานิยสูตร ๘. ปฏิลีนสูตร
๙. อุชชยสูตร ๑๐. อุทายิสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๑.สมาธิภาวนาสูตร

๕. โรหิตัสสวรรค
หมวดว่าด้วยโรหิตัสสเทพบุตร
๑. สมาธิภาวนาสูตร
ว่าด้วยสมาธิภาวนา

[๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา๑ ๔ ประการนี้
สมาธิภาวนา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุข
ในปัจจุบัน
๒. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณ-
ทัสสนะ
๓. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ
๔. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้น
อาสวะ
สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขใน
ปัจจุบัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มี
วิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุ
ทุติยฌานมีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่
ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ
อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุ
จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ สมาธิภาวนานี้ที่
บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๑.สมาธิภาวนาสูตร

สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ๑
เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มนสิการถึงอาโลกสัญญา (ความกำหนดหมายในแสง
สว่าง) อธิษฐานทิวาสัญญา (ความกำหนดหมายว่ากลางวัน) ว่า กลางคืนเหมือน
กลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน มีใจสงัดไม่มีเครื่องร้อยรัด อบรมจิตให้สว่าง๒อยู่
สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ
สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ
เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนา
ที่ดับไป รู้แจ้งสัญญาที่เกิดขึ้น ... รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้น รู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่
ดับไป สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ
สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ
เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีปกติเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทาน
ขันธ์ ๕ อยู่ว่า “รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็น
อย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งเวทนา
เป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่ง
สัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้
ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้” สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อม
เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ
ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ก็คำนี้เรากล่าวไว้ในปุณณกปัญหาในปารายนวรรค หมายถึง
ข้อความนี้ว่า


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๒. ปัฐหพยากรณสูตร

บุคคลใดรู้สิ่งสูงต่ำ๑ในโลก๒
ไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้หวั่นไหว๓ในโลกไหน ๆ๔
เรากล่าวว่า บุคคลเป็นผู้สงบ๕
ไม่มีควันคือความโกรธ
ไม่มีกิเลสกระทบจิต ไม่มีความหวัง
ข้ามพ้นชาติและชราได้แล้ว

สมาธิภาวนาสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปัญหพยากรณสูตร
ว่าด้วยวิธีการตอบปัญหา

[๔๒] ภิกษุทั้งหลาย การตอบปัญหา ๔ ประการนี้
การตอบปัญหา ๔ ประการ๖ อะไรบ้าง คือ
๑. เอกังสพยากรณียปัญหา (ปัญหาที่ควรตอบโดยนัยเดียว)
๒. วิภัชชพยากรณียปัญหา (ปัญหาที่ควรแยกตอบ)
๓. ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา (ปัญหาที่ควรตอบโดยย้อนถาม)
๔. ฐปนียปัญหา (ปัญหาที่ควรงดตอบ)
ภิกษุทั้งหลาย การตอบปัญหา ๔ ประการนี้แล
(๑) ตอบโดยนัยเดียว (๒) แยกตอบ
(๓) ตอบโดยย้อนถาม (๔) งดตอบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๓.ปฐมโกธครุสูตร

อนึ่ง บัณฑิตเรียกภิกษุผู้รู้ความเหมาะสม๑
ในฐานะแห่งปัญหานั้น ๆ ว่า
เป็นผู้ฉลาดในปัญหาทั้ง ๔
บุคคลเช่นนั้น ใคร ๆ เทียบได้ยาก
เอาชนะได้ยาก เป็นคนลึกซึ้ง ให้แพ้ได้ยาก
และฉลาดในประโยชน์ทั้งสอง
คือ ด้านเจริญและด้านเสื่อม
บัณฑิตย่อมเว้นด้านเสื่อม ถือเอาด้านเจริญ
ธีรชนเพราะรู้จักประโยชน์
ชาวโลกจึงเรียกว่า “บัณฑิต”

ปัญหพยากรณสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปฐมโกธครุสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มักโกรธ สูตรที่ ๑

[๔๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มักโกรธ ไม่เคารพสัทธรรม
๒. บุคคลผู้มักลบหลู่ ไม่เคารพสัทธรรม
๓. บุคคลผู้เห็นแก่ลาภ ไม่เคารพสัทธรรม
๔. บุคคลผู้เห็นแก่สักการะ ไม่เคารพสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๔. ทุติยโกธครุสูตร

๑. บุคคลผู้เคารพสัทธรรม ไม่มักโกรธ
๒. บุคคลผู้เคารพสัทธรรม ไม่มักลบหลู่
๓. บุคคลผู้เคารพสัทธรรม ไม่เห็นแก่ลาภ
๔. บุคคลผู้เคารพสัทธรรม ไม่เห็นแก่สักการะ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ภิกษุผู้มักโกรธ มักลบหลู่
เห็นแก่ลาภและเห็นแก่สักการะ
ย่อมไม่งอกงามในธรรม
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
ส่วนภิกษุผู้เคารพสัทธรรม
ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ย่อมงอกงามในธรรม
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว

ปฐมโกธครุสูตรที่ ๓ จบ

๔. ทุติยโกธครุสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มักโกรธ สูตรที่ ๒

[๔๔] ภิกษุทั้งหลาย อสัทธรรม ๔ ประการนี้
อสัทธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มักโกรธ ไม่เคารพสัทธรรม
๒. ความเป็นผู้มักลบหลู่ ไม่เคารพสัทธรรม
๓. ความเป็นผู้เห็นแก่ลาภ ไม่เคารพสัทธรรม
๔. ความเป็นผู้เห็นแก่สักการะ ไม่เคารพสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย อสัทธรรม ๔ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย สัทธรรม ๔ ประการนี้
สัทธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๕.โรหิตัสสสูตร

๑. ความเป็นผู้เคารพสัทธรรม ไม่เป็นผู้มักโกรธ
๒. ความเป็นผู้เคารพสัทธรรม ไม่เป็นผู้มักลบหลู่
๓. ความเป็นผู้เคารพสัทธรรม ไม่เป็นผู้เห็นแก่ลาภ
๔. ความเป็นผู้เคารพสัทธรรม ไม่เป็นผู้เห็นแก่สักการะ
ภิกษุทั้งหลาย สัทธรรม ๔ ประการนี้แล
ภิกษุผู้มักโกรธ มักลบหลู่
เห็นแก่ลาภและเห็นแก่สักการะ
ย่อมไม่งอกงามในสัทธรรม
เหมือนพืชที่หว่านไว้ในนาไม่ดี
ส่วนภิกษุผู้เคารพสัทธรรม
ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ย่อมงอกงามในธรรม
เหมือนต้นไม้งอกงามเพราะยางเหนียวฉะนั้น

ทุติยโกธครุสูตรที่ ๔ จบ

๕. โรหิตัสสสูตร
ว่าด้วยโรหิตัสสเทพบุตร

[๔๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น โรหิตัสสเทพบุตรเมื่อราตรี๑ผ่านไป
มีวรรณะงามยิ่ง ทำพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์สามารถหรือหนอที่จะทรงรู้ ทรงเห็น หรือ
ทรงถึงที่สุดแห่งโลก๒ที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติด้วยการไป”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๕.โรหิตัสสสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด
ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป”
โรหิตัสสเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลก
ที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป”
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เป็นฤๅษีชื่อโรหิตัสสะ
เป็นบุตรของผู้ใหญ่บ้าน มีฤทธิ์ เหาะได้ ความเร็วของข้าพระองค์นั้นเปรียบได้กับ
นายขมังธนู ผู้ยิงธนูแม่นยำ ศึกษามาดีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญ ฝึกซ้อมมาดี พึงยิงลูกศร
เบาให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่ยากฉะนั้น การย่างเท้าแต่ละก้าวของ
ข้าพระองค์เปรียบได้กับระยะทางจากทะเลด้านตะวันออกถึงทะเลด้านตะวันตกฉะนั้น
ความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เราจักถึงที่สุดแห่งโลกด้วยการไป’ เกิดแก่ข้าพระองค์นั้น
ผู้เพียบพร้อมด้วยความเร็วและการย่างเท้าอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
นั้นแลเว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
การหลับ และการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย มีอายุ ๑๐๐ ปี ดำรงชีพอยู่ได้ตั้ง ๑๐๐
ปี ดำเนินไปได้ตั้ง ๑๐๐ ปี ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกก็ตายเสียก่อนในระหว่างทาง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
เรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย
ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่
ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป เราไม่กล่าวว่า
การที่บุคคลยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
อนึ่ง เราบัญญัติโลก๑ ความเกิดแห่งโลก๒ ความดับแห่งโลก๓ และข้อปฏิบัติ
ให้ถึงความดับแห่งโลก๔ ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจนี้เอง”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๖.ทุติยโรหิตัสสสูตร

ไม่ว่าในเวลาไหน ที่สุดแห่งโลก
ใครก็ถึงไม่ได้ด้วยการไป
และเมื่อยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก
ย่อมไม่มีการเปลื้องตนจากทุกข์
เพราะเหตุนั้นแล ผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี
ถึงที่สุดแห่งโลก อยู่จบพรหมจรรย์
สงบระงับ รู้ที่สุดแห่งโลก
ย่อมไม่หวังทั้งโลกนี้และโลกหน้า

โรหิตัสสสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยโรหิตัสสสูตร
ว่าด้วยโรหิตัสสเทพบุตร สูตรที่ ๒

[๔๖] ครั้นราตรีนั้นผ่านไปแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย คืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป โรหิตัสสเทพบุตรมีวรรณะงามยิ่ง
ทำพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ถาม
เราดังนี้ว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์สามารถหรือหนอที่จะทรงรู้ ทรงเห็น หรือทรง
ถึงที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติด้วยการไป ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเทพบุตรกล่าวอย่างนี้ เราจึงได้กล่าวกับเขาว่า
เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่
อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว
โรหิตัสสเทพบุตรได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
เรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย
ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เป็นฤๅษีชื่อโรหิตัสสะ
เป็นบุตรของผู้ใหญ่บ้าน มีฤทธิ์ เหาะได้ ความเร็วของข้าพระองค์นั้นเปรียบได้กับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๖.ทุติยโรหิตัสสสูตร

นายขมังธนูผู้ยิงธนูแม่นยำ ศึกษามาดีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญ ฝึกซ้อมมาดี พึงยิงลูกศรเบา
ให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่ยากฉะนั้น การย่างเท้าแต่ละก้าวของข้าพระองค์
เปรียบได้กับระยะทางจากทะเลด้านตะวันออกถึงทะเลด้านตะวันตกฉะนั้น ความ
ปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เราจักถึงที่สุดแห่งโลกด้วยการไป’ เกิดแก่ข้าพระองค์นั้นผู้
เพียบพร้อมด้วยความเร็วและการย่างเท้าอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
นั้นแลเว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
การหลับ และการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย มีอายุ ๑๐๐ ปี ดำรงชีพอยู่ได้ตั้ง ๑๐๐
ปี ดำเนินไปได้ตั้ง ๑๐๐ ปี ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกก็ตายเสียก่อนในระหว่างทาง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
เรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย
ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขา
กล่าวอย่างนี้ เราจึงกล่าวกับเทพบุตรนั้นดังนี้ว่า
เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า
‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป และเราไม่กล่าวว่าการที่บุคคลยังไม่ถึง ที่สุด
แห่งโลกจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
อนึ่ง เราบัญญัติโลก ความเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และข้อปฏิบัติให้
ถึงความดับแห่งโลก ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจนี้เอง”
ไม่ว่าในเวลาไหน ที่สุดแห่งโลก
ใครก็ถึงไม่ได้ด้วยการไป
และเมื่อยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก
ย่อมไม่มีการเปลื้องตนจากทุกข์
เพราะเหตุนั้นแล ผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี
ถึงที่สุดแห่งโลก อยู่จบพรหมจรรย์
สงบระงับ รู้ที่สุดแห่งโลก
ย่อมไม่หวังทั้งโลกนี้และโลกหน้า

ทุติยโรหิตัสสสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๗.สุวิทูรสูตร

๗. สุวิทูรสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่อยู่ห่างไกลกันเหลือเกิน

[๔๗] ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่อยู่ห่างไกลกันเหลือเกิน ๔ อย่างนี้
สิ่งที่อยู่ห่างไกลกันเหลือเกิน ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. ท้องฟ้ากับแผ่นดิน นี้เป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลกันเหลือเกินอย่างที่ ๑
๒. ฝั่งนี้กับฝั่งโน้นของทะเล นี้เป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลกันเหลือเกินอย่างที่ ๒
๓. จุดที่ดวงอาทิตย์ขึ้นกับจุดที่ดวงอาทิตย์ตก นี้เป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลกัน
เหลือเกินอย่างที่ ๓
๔. ธรรมของสัตบุรุษ(คนดี)กับธรรมของอสัตบุรุษ(คนชั่ว) นี้เป็นสิ่งที่อยู่
ห่างไกลกันเหลือเกินอย่างที่ ๔
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่อยู่ห่างไกลกันเหลือเกิน ๔ อย่างนี้แล
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า
ฟ้ากับดินอยู่ไกลกัน
ฝั่ง(ทั้งสอง)ของทะเลอยู่ไกลกัน
จุดที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกก็อยู่ไกลกัน
บัณฑิตกล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษ
กับธรรมของอสัตบุรุษอยู่ไกลยิ่งกว่านั้น
สมาคมของสัตบุรุษยั่งยืนนาน
ดำรงอยู่ตราบนานเท่านาน
ส่วนสมาคมของอสัตบุรุษย่อมจืดจางเร็ว
เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษ
จึงห่างไกลจากธรรมของอสัตบุรุษ

สุวิทูรสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๘. วิสาขสูตร

๘. วิสาขสูตร
ว่าด้วยการแสดงธรรมของวิสาขปัญจาลิบุตร

[๔๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านวิสาขปัญจาลิบุตรชี้แจง
ให้ภิกษุทั้งหลายในหอฉันเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ด้วยวาจาชาวเมืองที่
สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้ เกี่ยวเนื่องกับนิพพาน ไม่อิงอาศัย
วัฏฏะ ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นเข้าไปยังหอฉัน
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ใครหนอชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายในหอฉันเห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา ด้วยวาจาชาวเมืองที่สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้
เกี่ยวเนื่องกับนิพพาน ไม่อิงอาศัยวัฏฏะ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้จริญ ท่านวิสาขปัญจาลิบุตร
ชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายในหอฉันเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ด้วยวาจาชาว
เมืองที่สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้ เกี่ยวเนื่องกับนิพพาน ไม่
อิงอาศัยวัฏฏะ”
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านวิสาขปัญจาลิบุตรดังนี้ว่า “ดีจริง
ดีจริง วิสาขะ ดีเหลือเกินที่เธอชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ด้วยวาจาชาวเมืองที่สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้ เกี่ยวเนื่องกับ
นิพพาน ไม่อิงอาศัยวัฏฏะ”
บุคคลผู้ไม่พูด
ชนทั้งหลายย่อมไม่รู้ว่าเป็นคนพาลหรือบัณฑิต
ส่วนบุคคลผู้ที่พูด
ชนทั้งหลายย่อมรู้ว่าเป็นผู้แสดงอมตธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๙.วิปัลลาสสูตร

บุคคลพึงประกาศ เชิดชู
ยกย่องธรรม๑ซึ่งเป็นธงชัยของฤๅษี
ฤๅษีทั้งหลายมีสุภาษิตเป็นธงชัย
ธรรมเป็นธงชัยของฤๅษี

วิสาขสูตรที่ ๘ จบ

๙. วิปัลลาสสูตร
ว่าด้วยวิปลาส

[๔๙] ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส๒ จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการนี้
สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง
๒. สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
๓. สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาสในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็น
อัตตา
๔. สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาสในสิ่งที่ไม่งามว่างาม
ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้
สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า
ไม่เที่ยง
๒. สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่า
เป็นทุกข์


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๙.วิปัลลาสสูตร

๓. สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาสในสิ่งที่เป็นอนัตตา
ว่าเป็นอนัตตา
๔. สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาสในสิ่งที่ไม่งามว่า
ไม่งาม
ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการ
นี้แล
เหล่าสัตว์ผู้ถูกมิจฉาทิฏฐิทำลาย
มีจิตซัดส่าย สำคัญผิด
หมายรู้ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง
หมายรู้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
หมายรู้ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา
หมายรู้ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม
สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าติดอยู่ในเครื่องประกอบของมาร
ไม่มีความเกษมจากโยคะ
ประสบกับความเกิดและความตาย
ท่องเที่ยวไปสู่สังสารวัฏ
ก็ในกาลใดพระพุทธเจ้า
ผู้จุดประกายให้แสงสว่าง เสด็จอุบัติขึ้นในโลก
ในกาลนั้นพระองค์ย่อมประกาศธรรม๑นี้
ที่ให้สัตว์ถึงความดับทุกข์
สัตว์เหล่านั้นผู้มีปัญญา
ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
กลับได้ความคิดเป็นของตนเอง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๑๐.อุปักกิเลสสูตร

ได้เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง
ได้เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์
ได้เห็นสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอนัตตา
ได้เห็นสิ่งที่ไม่งามว่าเป็นของไม่งาม
ยึดถือสัมมาทิฏฐิ พ้นทุกข์ทั้งหมดได้

วิปัลลาสสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อุปักกิเลสสูตร
ว่าด้วยสิ่งมัวหมอง

[๕๐] ภิกษุทั้งหลาย สิ่งมัวหมองที่เป็นเหตุให้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มัวหมอง
ไม่ส่องแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ๔ ประการนี้
สิ่งมัวหมอง ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เมฆเป็นสิ่งมัวหมอง ที่เป็นเหตุให้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มัวหมอง
ไม่ส่องแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง
๒. หมอกเป็นสิ่งมัวหมอง ที่เป็นเหตุให้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มัวหมอง
ไม่ส่องแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง
๓. ควันและฝุ่นละอองเป็นสิ่งมัวหมอง ที่เป็นเหตุให้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
มัวหมอง ไม่ส่องแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง
๔. ราหูผู้เป็นจอมอสูรเป็นสิ่งมัวหมอง ที่เป็นเหตุให้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
มัวหมอง ไม่ส่องแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งมัวหมองที่เป็นเหตุให้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มัวหมอง ไม่
ส่องแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ๔ ประการนี้แล
เช่นเดียวกันแล อุปกิเลสที่เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมัวหมอง ไม่สง่า
ไม่ผ่องใส ไม่รุ่งเรือง ๔ ประการนี้
อุปกิเลส ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค ๑๐.อุปักกิเลสสูตร

๑. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งดื่มสุราและเมรัย ไม่เว้นขาดจากการดื่ม
สุราและเมรัย นี้เป็นอุปกิเลสที่เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
มัวหมอง ไม่สง่า ไม่ผ่องใส ไม่รุ่งเรือง ประการที่ ๑
๒. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเสพเมถุนธรรม ไม่เว้นขาดจากการเสพ
เมถุนธรรม นี้เป็นอุปกิเลสที่เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์มัวหมอง ไม่สง่า
ไม่ผ่องใส ไม่รุ่งเรือง ประการที่ ๒
๓. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งยินดีทองและเงิน ไม่เว้นขาดจากการรับทอง
และเงิน นี้เป็นอุปกิเลสที่เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์มัวหมอง ไม่สง่า
ไม่ผ่องใส ไม่รุ่งเรือง ประการที่ ๓
๔. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งดำเนินชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ไม่เว้นขาดจาก
มิจฉาชีพ นี้เป็นอุปกิเลสที่เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์มัวหมอง ไม่
สง่า ไม่ผ่องใส ไม่รุ่งเรือง ประการที่ ๔
ภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสที่เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมัวหมอง ไม่สง่า
ไม่ผ่องใส ไม่รุ่งเรือง ๔ ประการนี้แล
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
ถูกราคะและโทสะปกคลุม
ถูกอวิชชาหุ้มห่อ ยินดีรูปที่น่ารัก
ดื่มสุราและเมรัย เสพเมถุน
เป็นคนมืดบอด ยินดีทองและเงิน
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
ดำเนินชีวิตด้วยมิจฉาชีพ
พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์
ตรัสอุปกิเลสที่เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
มัวหมอง ไม่สง่า ไม่ผ่องใส
เป็นที่รู้กันว่าไม่บริสุทธิ์
มีธุลี ถูกความมืดปกคลุม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์]
๕.โรหิตัสสวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

เป็นทาสแห่งตัณหา ถูกตัณหาชักนำ
ให้อัตภาพหยาบเจริญเติบโต
ย่อมยินดีการเกิดใหม่

อุปักกิเลสสูตรที่ ๑๐ จบ
โรหิตัสสวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สมาธิภาวนาสูตร ๒. ปัญหพยากรณสูตร
๓. ปฐมโกธครุสูตร ๔. ทุติยโกธครุสูตร
๕. โรหิตัสสสูตร ๖. ทุติยโรหิตัสสสูตร
๗. สุวิทูรสูตร ๘. วิสาขสูตร
๙. วิปัลลาสสูตร ๑๐. อุปักกิเลสสูตร

ปฐมปัณณาสก์ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๑. ปฐมปุญญาภิสันทสูตร

๒. ทุติยปัณณาสก์
๑. ปุญญาภิสันทวรรค
หมวดว่าด้วยห้วงบุญกุศล
๑. ปฐมปุญญาภิสันทสูตร
ว่าด้วยห้วงบุญกุศล สูตรที่ ๑

[๕๑] (เหตุเกิดที่เมืองสาวัตถี) ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศล๑ ๔ ประการนี้
นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อ
เกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ห้วงบุญกุศล ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุใช้สอยจีวรของทายกใด บรรลุเจโตสมาธิที่ประมาณไม่ได้อยู่
ห้วงบุญกุศลของทายกนั้น ประมาณไม่ได้ นำสุขมาให้ เป็นไป
เพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
๒. ภิกษุฉันบิณฑบาตของทายกใด ฯลฯ
๓. ภิกษุใช้สอยเสนาสนะของทายกใด ฯลฯ
๔. ภิกษุบริโภคคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารของทายกใด บรรลุเจโตสมาธิ
ที่ประมาณไม่ได้อยู่ ห้วงบุญกุศลของทายกนั้นประมาณไม่ได้ นำสุข
มาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์
เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศล ๔ ประการนี้แลนำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้
อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๑. ปฐมปุญญาภิสันทสูตร

การที่จะกำหนดประมาณบุญของอริยสาวกผู้ประกอบด้วยห้วงบุญกุศล ๔ ประการ
นี้ว่า “ห้วงบุญกุศลมีประมาณเท่านี้นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็น
ผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ” ดังนี้
ไม่ใช่จะทำได้ง่าย แท้จริง ห้วงบุญกุศลนี้ย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นกองบุญใหญ่ ที่
นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้เลย’
การกำหนดประมาณของน้ำในมหาสมุทรว่า “น้ำมีปริมาณเท่านี้อาฬหกะ
น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑๐๐ อาฬหกะ น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑,๐๐๐ อาฬหกะ หรือน้ำมี
ปริมาณเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ อาฬหกะ” ดังนี้ ไม่ใช่จะทำได้ง่าย แท้จริง ประมาณ
ของน้ำในมหาสมุทรนั้น ย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นห้วงน้ำใหญ่ ที่นับไม่ได้ ประมาณ
ไม่ได้เลย’ แม้ฉันใด
การที่จะกำหนดประมาณบุญของอริยสาวกผู้ประกอบด้วยห้วงบุญกุศล ๔ ประการ
นี้ว่า “ห้วงบุญกุศลมีประมาณเท่านี้นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุข
เป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ”
ดังนี้ ไม่ใช่จะทำได้ง่าย แท้จริง ห้วงบุญกุศลนี้ย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นกองบุญใหญ่
ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้เลย’ ฉันนั้นเหมือนกันแล
แม่น้ำหลายสายคับคั่งไปด้วยหมู่ปลา
ไหลบ่าไปยังมหาสมุทรอันเป็นที่ขังน้ำขนาดใหญ่
ประมาณไม่ได้ มีสิ่งที่น่ากลัวมาก๑
เป็นแหล่งรัตนะชั้นเยี่ยมฉันใด
สายธารแห่งบุญย่อมหลั่งไหลไปสู่นรชนผู้เป็นบัณฑิต
ผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน ที่นั่ง และเครื่องปูลาด
เปรียบเหมือนแม่น้ำคือห้วงน้ำไหลไปยังมหาสมุทรฉันนั้น๒

ปฐมปุญญาภิสันทสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๒.ทุติยปุญญาภิสันทสูตร

๒. ทุติยปุญญาภิสันทสูตร
ว่าด้วยห้วงบุญกุศล สูตรที่ ๒

[๕๒] ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศล ๔๑ อย่างนี้นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้
อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ
ห้วงบุญกุศล ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวใน
พระพุทธเจ้าว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชา
และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง
ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค”๒ ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศล ประการที่ ๑
นี้นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผลให้เกิดในสวรรค์
เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
๒. อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า
“พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึง
เห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล๓ ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม
เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศล
ประการที่ ๒ นี้นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล
ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ
๓. อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า
“พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๒.ทุติยปุญญาภิสันทสูตร

ถูกทาง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็น
นาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก” ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศลประการ
ที่ ๓ นี้นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดใน
สวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
๔. อริยสาวกประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ๑ ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง
ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ
เป็นไปเพื่อสมาธิ ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศลประการที่ ๔ นี้นำสุข
มาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์
เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศล ๔ ประการนี้แลนำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้
อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ
ผู้ใดมีศรัทธาในตถาคตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
มีศีลงาม เป็นศีลที่พระอริยะชอบใจ(และ)สรรเสริญ
มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง๒
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน
ชีวิตของเขาก็ไม่สูญเปล่า
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาเมื่อระลึกถึง
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรหมั่นประกอบ
ศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส๓และการเห็นธรรม๔

ทุติยปุญญาภิสันทสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๓.ปฐมสังวาสสูตร

๓. ปฐมสังวาสสูตร
ว่าด้วยการอยู่ร่วมกัน สูตรที่ ๑

[๕๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จทางไกลระหว่างเมืองมธุรากับเมือง
เวรัญชา คหบดีและคหปตานีเป็นจำนวนมากก็ได้เดินทางไกลระหว่างเมืองมธุรา
กับเมืองเวรัญชา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลงข้างทาง ประทับนั่งที่โคนต้นไม้
ต้นหนึ่ง คหบดีและคหปตานีเหล่านั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งที่โคนต้นไม้
ต้นหนึ่ง จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ
ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับคหบดีและคหปตานีเหล่านั้นดังนี้ว่า
คหบดีและคหปตานี การอยู่ร่วมกัน ๔ ประการนี้
การอยู่ร่วมกัน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สามีผีอยู่ร่วมกับภรรยาผี
๒. สามีผีอยู่ร่วมกับภรรยาเทวดา
๓. สามีเทวดาอยู่ร่วมกับภรรยาผี
๔. สามีเทวดาอยู่ร่วมกับภรรยาเทวดา
สามีผีอยู่ร่วมกับภรรยาผี เป็นอย่างไร
คือ สามีในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ
เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย๑อันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้ทุศีล มีธรรม
เลวทราม มีใจถูกความตระหนี่อันเป็นมลทินครอบงำ ด่าและติเตียนสมณพราหมณ์
อยู่ครองเรือน แม้ภรรยาของเขาก็เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
พูดเท็จ เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้ทุศีล
มีธรรมเลวทราม มีใจถูกความตระหนี่อันเป็นมลทินครอบงำ ด่าและติเตียนสมณ
พราหมณ์ อยู่ครองเรือน สามีผีอยู่ร่วมกับภรรยาผี เป็นอย่างนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๓.ปฐมสังวาสสูตร

สามีผีอยู่ร่วมกับภรรยาเทวดา เป็นอย่างไร
คือ สามีในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็น
เหตุแห่งความประมาท เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม มีใจถูกความตระหนี่อันเป็น
มลทินครอบงำ ด่าและติเตียนสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน ส่วนภรรยาของเขา
เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติ
ผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและ
เมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจาก
ความตระหนี่อันเป็นมลทิน ไม่ด่าและไม่ติเตียนสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน
สามีผีอยู่ร่วมกับภรรยาเทวดา เป็นอย่างนี้แล
สามีเทวดาอยู่ร่วมกับภรรยาผี เป็นอย่างไร
คือ สามีในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้น
ขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการเสพของ
มึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน ไม่ด่าและไม่ติเตียนสมณพราหมณ์ อยู่
ครองเรือน ส่วนภรรยาของเขาเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม มีใจถูกความตระหนี่
อันเป็นมลทินครอบงำ ด่าและติเตียนสมณพราหมณ์ สามีเทวดาอยู่ร่วมกับภรรยาผี
เป็นอย่างนี้แล
สามีเทวดาอยู่ร่วมกับภรรยาเทวดา เป็นอย่างไร
คือ สามีในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เว้นขาดจากการเสพของ
มึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน ไม่ด่าและไม่ติเตียนสมณพราหมณ์ แม้
ภรรยาของเขาก็เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมา
คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจ
ปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน ไม่ด่าและไม่ติเตียนสมณพราหมณ์ สามีเทวดา
อยู่ร่วมกับภรรยาเทวดา เป็นอย่างนี้แล
คหบดีและคหปตานี การอยู่ร่วมกัน ๔ อย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๓.ปฐมสังวาสสูตร

สามีและภรรยาทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นผู้ทุศีล
ตระหนี่ ชอบด่าว่าสมณพราหมณ์
ชื่อว่าเป็นผีมาอยู่ร่วมกัน
สามีเป็นผู้ทุศีล
ตระหนี่ ชอบด่าว่าสมณพราหมณ์
ส่วนภรรยาเป็นผู้มีศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ๑ ปราศจากความตระหนี่
ภรรยานั้นชื่อว่าเป็นเทวดาอยู่ร่วมกับสามีผี
สามีเป็นผู้มีศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่
ส่วนภรรยาเป็นผู้ทุศีล
ตระหนี่ ชอบด่าว่าสมณพราหมณ์
ภรรยานั้นชื่อว่าเป็นผีอยู่ร่วมกับสามีเทวดา
ส่วนสามีและภรรยาทั้ง ๒ ฝ่าย
เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
สำรวมระวัง ดำเนินชีวิตโดยธรรม
เจรจาคำไพเราะอ่อนหวานต่อกัน
มีความเจริญรุ่งเรือง มีความผาสุก
มีความประพฤติเสมอกันทั้ง ๒ ฝ่าย
รักใคร่ ไม่คิดร้ายต่อกัน
ทั้ง ๒ ฝ่ายประพฤติธรรมในโลกนี้
มีศีลและวัตรเสมอกัน เสวยอารมณ์ที่น่าใคร่
ย่อมเพลิดเพลินบันเทิงใจในเทวโลก

ปฐมสังวาสสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๔.ทุติยสังวาสสูตร

๔. ทุติยสังวาสสูตร
ว่าด้วยการอยู่ร่วมกัน สูตรที่ ๒

[๕๔] ภิกษุทั้งหลาย การอยู่ร่วมกัน ๔ ประการนี้
การอยู่ร่วมกัน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สามีผีอยู่ร่วมกับภรรยาผี
๒. สามีผีอยู่ร่วมกับภรรยาเทวดา
๓. สามีเทวดาอยู่ร่วมกับภรรยาผี
๔. สามีเทวดาอยู่ร่วมกับภรรยาเทวดา
สามีผีอยู่ร่วมกับภรรยาผี เป็นอย่างไร
คือ สามีในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูด
ส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท เป็น
มิจฉาทิฏฐิ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม มีใจถูกความตระหนี่อันเป็นมลทินครอบงำ
ด่าและติเตียนสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน แม้ภรรยาของเขาก็เป็นผู้ฆ่าสัตว์
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม
มีใจถูกความตระหนี่อันเป็นมลทินครอบงำ ด่าและติเตียนสมณพราหมณ์ อยู่ครอง
เรือน สามีผีอยู่ร่วมกับภรรยาผี เป็นอย่างนี้แล
สามีผีอยู่ร่วมกับภรรยาเทวดา เป็นอย่างไร
คือ สามีในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ มีใจถูกความตระหนี่อันเป็น
มลทินครอบงำ ด่าและติเตียนสมณพราหมณ์อยู่ครองเรือน ส่วนภรรยาของเขา
เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติ
ผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการ
พูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตไม่พยาบาท
เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็น
มลทิน ไม่ด่าและไม่ติเตียนสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน สามีผีอยู่ร่วมกับภรรยา
เทวดา เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๔.ทุติยสังวาสสูตร

สามีเทวดาอยู่ร่วมกับภรรยาผี เป็นอย่างไร
คือ สามีในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาด
จากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากความ
ตระหนี่อันเป็นมลทิน ไม่ด่าและไม่ติเตียนสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน ส่วนภรรยา
ของเขา เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีใจถูกความตระหนี่อันเป็นมลทินครอบงำ ด่าและติเตียน
สมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน สามีเทวดาอยู่ร่วมกับภรรยาผี เป็นอย่างนี้แล
สามีเทวดาอยู่ร่วมกับภรรยาเทวดา เป็นอย่างไร
คือ สามีในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีใจปราศจากความ
ตระหนี่อันเป็นมลทิน ไม่ด่าและไม่ติเตียนสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน แม้ภรรยา
ของเขาก็เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ไม่ด่าและไม่ติเตียนสมณพราหมณ์
สามีเทวดาอยู่ร่วมกับภรรยาเทวดา เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย การอยู่ร่วมกัน ๔ ประการนี้แล
สามีและภรรยาทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นผู้ทุศีล
ตระหนี่ ชอบด่าว่าสมณพราหมณ์
ชื่อว่าเป็นผีมาอยู่ร่วมกัน
สามีเป็นผู้ทุศีล
ตระหนี่ ชอบด่าว่าสมณพราหมณ์
ส่วนภรรยาเป็นผู้มีศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่
ภรรยานั้นชื่อว่าเป็นเทวดาอยู่ร่วมกับสามีผี
สามีเป็นผู้มีศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่
ส่วนภรรยาเป็นผู้ทุศีล
ตระหนี่ ชอบด่าว่าสมณพราหมณ์
ภรรยานั้นชื่อว่าเป็นผีอยู่ร่วมกับสามีเทวดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๕.ปฐมสมชีวีสูตร

สามีและภรรยาทั้ง ๒ ฝ่าย
เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
สำรวมระวัง ดำเนินชีวิตโดยธรรม
เจรจาคำไพเราะอ่อนหวานต่อกัน
มีความเจริญรุ่งเรือง มีความผาสุก
มีความประพฤติเสมอกันทั้ง ๒ ฝ่าย
รักใคร่ ไม่คิดร้ายต่อกัน
ทั้ง ๒ ฝ่ายประพฤติธรรมในโลกนี้
มีศีลและวัตรเสมอกัน เสวยอารมณ์ที่น่าใคร่
ย่อมเพลิดเพลินบันเทิงใจในเทวโลก

ทุติยสังวาสสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมสมชีวีสูตร
ว่าด้วยผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอกัน สูตรที่ ๑

[๕๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เภสกฬามฤคทายวัน เขตกรุงสุงสุมารคีระ๑
แคว้นภัคคะ ครั้นในเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนกุลปิตาคหบดี ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว
ลำดับนั้น นกุลปิตาคหบดีและนกุลมาตาคหปตานี๒พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับแต่เวลาที่ข้าพระองค์นำนกุลมาตาคหปตานีมา
ข้าพระองค์ไม่เคยคิดที่จะประพฤตินอกใจนกุลมาตาคหปตานี ไหนเลยจะประพฤติ
นอกใจด้วยกายเล่า พวกข้าพระองค์ปรารถนาที่จะพบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๖. ทุติยสมชีวีสูตร

แม้นกุลมาตาคหปตานีก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ นับแต่เวลาที่นกุลปิตาคหบดีหนุ่มนำหม่อมฉันผู้ยังเป็นสาวมา หม่อมฉัน
ไม่เคยคิดที่จะประพฤตินอกใจนกุลปิตาคหบดี ไหนเลยจะประพฤตินอกใจด้วยกาย
เล่า พวกข้าพระองค์ปรารถนาที่จะพบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดีและคหปตานี ถ้าสามีและภรรยาทั้ง ๒ ฝ่าย
หวังจะพบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ทั้ง ๒ ฝ่ายพึงมีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอ
กัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน สามีและภรรยาทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นย่อมได้
พบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า”
สามีและภรรยาทั้ง ๒ ฝ่าย
เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
สำรวมระวัง ดำเนินชีวิตโดยธรรม
เจรจาคำไพเราะอ่อนหวานต่อกัน
มีความเจริญรุ่งเรือง มีความผาสุก
มีความประพฤติเสมอกันทั้ง ๒ ฝ่าย
รักใคร่ ไม่คิดร้ายต่อกัน
ทั้ง ๒ ฝ่าย ประพฤติธรรมในโลกนี้
มีศีลและวัตรเสมอกัน เสวยอารมณ์ที่น่าใคร่
ย่อมเพลิดเพลินบันเทิงใจในเทวโลก

ปฐมสมชีวีสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยสมชีวีสูตร
ว่าด้วยผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอกัน สูตรที่ ๒

[๕๖] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสามีและภรรยาทั้ง ๒ ฝ่ายหวังที่จะพบกันทั้งในชาตินี้
และชาติหน้า ทั้ง ๒ ฝ่ายพึงมีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน
มีปัญญาเสมอกัน สามีและภรรยาทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นย่อมได้พบกันทั้งในชาตินี้และ
ชาติหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๗.สุปปวาสาสูตร

สามีและภรรยาทั้ง ๒ ฝ่าย
เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
สำรวมระวัง ดำเนินชีวิตโดยธรรม
เจรจาคำไพเราะอ่อนหวานต่อกัน
มีความเจริญรุ่งเรือง มีความผาสุก
มีความประพฤติเสมอกันทั้ง ๒ ฝ่าย
รักใคร่ ไม่คิดร้ายต่อกัน
ทั้ง ๒ ฝ่ายประพฤติธรรมในโลกนี้
มีศีลและวัตรเสมอกัน เสวยอารมณ์ที่น่าใคร่
ย่อมเพลิดเพลินบันเทิงใจในเทวโลก

ทุติยสมชีวีสูตรที่ ๖ จบ

๗. สุปปวาสาสูตร
ว่าด้วยสุปปวาสาโกฬิยธิดา

[๕๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนิคมของโกฬิยราชสกุล ชื่อ
ปัชชเนละ แคว้นโกฬิยะ๑ ครั้นในเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของสุปปวาสาโกฬิยธิดา ประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ลำดับนั้น สุปปวาสาโกฬิยธิดาได้นำของขบฉันอัน
ประณีตประเคนพระผู้มีพระภาคให้อิ่มหนำด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวย
เสร็จ ทรงวางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว สุปปวาสาโกฬิยธิดาจึงนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับสุปปวาสาโกฬิยธิดาดังนี้ว่า
สุปปวาสา อริยสาวิกาผู้ให้โภชนะชื่อว่าให้ฐานะ ๔ ประการแก่ปฏิคาหก
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อายุ ๒. วรรณะ
๓. สุขะ ๔. พละ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๗.สุปปวาสาสูตร

ครั้นให้อายุแล้วย่อมมีส่วนได้อายุอันเป็นทิพย์หรืออันเป็นของมนุษย์ ครั้นให้
วรรณะแล้วย่อมมีส่วนได้วรรณะอันเป็นทิพย์หรืออันเป็นของมนุษย์ ครั้นให้สุขะแล้ว
ย่อมมีส่วนได้สุขะอันเป็นทิพย์หรืออันเป็นของมนุษย์ ครั้นให้พละแล้วย่อมมีส่วนได้
พละอันเป็นทิพย์หรืออันเป็นของมนุษย์
สุปปวาสา อริยสาวิกาผู้ให้โภชนะชื่อว่าให้ฐานะ ๔ ประการนี้แก่ปฏิคาหก
ทักษิณาคือโภชนะที่อริยสาวิกาให้
ซึ่งปรุงอย่างดี สะอาด ประณีต สมบูรณ์ด้วยรส
ชื่อว่าให้ในท่านผู้ปฏิบัติตรง
ประกอบพร้อมด้วยกิริยามารยาท๑ ถึงความเป็นใหญ่๒
ทักษิณานั้นเชื่อมต่อบุญกับบุญ
เป็นทักษิณามีผลมาก
ที่พระพุทธเจ้าผู้รู้แจ้งโลกทรงสรรเสริญ
ชนผู้ระลึกถึงยัญ๓เช่นนั้น
เกิดความยินดี เที่ยวไปในโลก
กำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งรากเหง้า
ไม่ถูกใครนินทา ย่อมเข้าถึงฐานะคือสวรรค์

สุปปวาสาสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๙.โภชนสูตร

๘. สุทัตตสูตร
ว่าด้วยสุทัตตคหบดี

[๕๘] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดี
ดังนี้ว่า
คหบดี อริยสาวกผู้ให้โภชนะชื่อว่าให้ฐานะ๑ ๔ ประการแก่ปฏิคาหก
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อายุ ๒. วรรณะ
๓. สุขะ ๔. พละ
ครั้นให้อายุแล้วย่อมมีส่วนได้อายุอันเป็นทิพย์หรืออันเป็นของมนุษย์ ครั้นให้
วรรณะแล้ว ฯลฯ ครั้นให้สุขะแล้ว ฯลฯ ครั้นให้พละแล้วย่อมมีส่วนได้พละอันเป็น
ทิพย์หรืออันเป็นของมุนษย์
คหบดี อริยสาวก ผู้ให้โภชนะชื่อว่าให้ฐานะ ๔ ประการนี้แก่ปฏิคาหก
ผู้ให้โภชนะโดยเคารพตามเวลาอันควร
แก่ท่านผู้สำรวม บริโภคโภชนะที่ผู้อื่นให้
ชื่อว่าเพิ่มให้ฐานะ ๔ ประการ คือ
อายุ วรรณะ สุขะ และพละ
นรชนผู้ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศในที่ที่ตนเกิด

สุทัตตสูตรที่ ๘ จบ

๙. โภชนสูตร
ว่าด้วยทายกผู้ให้โภชนะ

[๕๙] ภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะชื่อว่าให้ฐานะ ๔ ประการแก่ปฏิคาหก


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค ๑๐.คิหิสามีจิสูตร

ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อายุ ๒. วรรณะ
๓. สุขะ ๔. พละ
ครั้นให้อายุแล้วย่อมมีส่วนได้อายุอันเป็นทิพย์หรืออันเป็นของมนุษย์ ครั้นให้
วรรณะแล้ว ฯลฯ ครั้นให้สุขะแล้ว ฯลฯ ครั้นให้พละแล้วย่อมมีส่วนได้พละอัน
เป็นทิพย์หรืออันเป็นของมนุษย์
ภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะชื่อว่าให้ฐานะ ๔ ประการแก่ปฏิคาหก
ผู้ให้โภชนะโดยเคารพตามเวลาอันควร
แก่ท่านผู้สำรวม บริโภคโภชนะที่ผู้อื่นให้
ชื่อว่าเพิ่มให้ฐานะ ๔ ประการ คือ
อายุ วรรณะ สุขะ และพละ
นรชนผู้ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศในที่ที่ตนเกิด

โภชนสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. คิหิสามีจิสูตร
ว่าด้วยการปฏิบัติปฏิปทาที่เหมาะสมแก่คฤหัสถ์

[๖๐] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดี
ดังนี้ว่า
คหบดี อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทาที่
เหมาะสมแก่คฤหัสถ์ ที่เป็นเหตุให้ได้ยศ เป็นไปเพื่อให้เกิดในสวรรค์
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๑.ปุญญาภิสันทวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑. บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร
๒. บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยบิณฑบาต
๓. บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยเสนาสนะ
๔. บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร
คหบดี อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทาที่
เหมาะสมแก่คฤหัสถ์ ที่เป็นเหตุให้ได้ยศ เป็นไปเพื่อให้เกิดในสวรรค์
บัณฑิตทั้งหลายบำรุงท่านผู้มีศีล ผู้ปฏิบัติชอบ
ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค
ชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทาที่เหมาะสมแก่คฤหัสถ์
บุญย่อมเจริญยิ่งแก่บัณฑิตเหล่านั้น
ทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน
เขาครั้นทำกรรมดีงามแล้ว
ย่อมเข้าถึงฐานะคือสวรรค์

คิหิสามีจิสูตรที่ ๑๐ จบ
ปุญญาภิสันทวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมปุญญาภิสันทสูตร ๒. ทุติยปุญญาภิสันทสูตร
๓. ปฐมสังวาสสูตร ๔. ทุติยสังวาสสูตร
๕. ปฐมสมชีวีสูตร ๖. ทุติยสมชีวีสูตร
๗. สุปปวาสาสูตร ๘. สุทัตตสูตร
๙. โภชนสูตร ๑๐. คิหิสามีจิสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๑.ปัตตกัมมสูตร

๒. ปัตตกัมมวรรค
หมวดว่าด้วยกรรมอันสมควร
๑. ปัตตกัมมสูตร
ว่าด้วยกรรมอันสมควร

[๖๑] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดี
ดังนี้ว่า
คหบดี ธรรม ๔ ประการนี้เป็นสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยาก
ในโลก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ขอโภคะจงเกิดขึ้นแก่เราพร้อมกับความชอบธรรม๑ นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๑ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๒. เราได้โภคทรัพย์พร้อมกับความชอบธรรมแล้ว ขอยศ๒จงเฟื่องฟู
แก่เราพร้อมด้วยญาติ มิตร สหาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ที่
น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๓. เราได้โภคทรัพย์พร้อมกับความชอบธรรม ได้ยศพร้อมด้วยญาติ
มิตร สหายแล้ว ขอเราจงมีชีวิตอยู่นาน รักษาอายุให้ยั่งยืน นี้เป็น
ธรรมประการที่ ๓ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยาก
ในโลก
๔. เราได้โภคทรัพย์พร้อมกับความชอบธรรม ได้ยศพร้อมด้วยญาติ
มิตร สหาย มีชีวิตอยู่นาน รักษาอายุให้ยั่งยืนแล้ว หลังจากตาย


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๑.ปัตตกัมมสูตร

แล้ว ขอให้เราเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ที่
น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
คหบดี ธรรม ๔ ประการนี้แลเป็นสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้
ยากในโลก
คหบดี ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ธรรม ๔ ประการนี้แลที่น่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา)
๒. สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล)
๓. จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการเสียสละ)
๔. ปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา)
สัทธาสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้มีศรัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า “แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดย
ชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควร
ฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค” นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา
สีลสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เว้นขาด
จากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เรียกว่า
สีลสัมปทา
จาคสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มี
จาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ทาน
และการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๑.ปัตตกัมมสูตร

ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลมีใจถูกอภิชฌาวิสมโลภะ๑ครอบงำอยู่ ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่
ยินดีสิ่งที่ควรทำ เมื่อทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีสิ่งที่ควรทำ ย่อมเสื่อมจากยศและ
ความสุข บุคคลมีใจถูกพยาบาท (ความคิดร้าย) ครอบงำอยู่ ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
ไม่ยินดีสิ่งที่ควรทำ เมื่อทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีสิ่งที่ควรทำ ย่อมเสื่อมจากยศ
และความสุข มีใจถูกถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ครอบงำอยู่ ย่อมทำสิ่งที่
ไม่ควรทำ ไม่ยินดีสิ่งที่ควรทำ เมื่อทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีสิ่งที่ควรทำ ย่อมเสื่อม
จากยศและความสุข มีใจถูกอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) ครอบงำอยู่
มีใจถูกวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ครอบงำอยู่ ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีสิ่งที่
ควรทำ เมื่อทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีสิ่งที่ควรทำ ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข
อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า ‘อภิชฌาวิสมโลภะทำให้จิตเศร้าหมอง’ จึงละอภิชฌา-
วิสมโลภะที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย รู้ว่า ‘พยาบาททำให้จิตเศร้าหมอง’ จึงละ
พยาบาทที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย รู้ว่า ‘ถีนมิทธะทำให้จิตเศร้าหมอง’ จึงละ
ถีนมิทธะที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย รู้ว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจะทำให้จิตเศร้าหมอง’ จึง
ละอุทธัจจกุกกุจจะที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย รู้ว่า ‘วิจิกิจฉาทำให้จิตเศร้าหมอง’
จึงละวิจิกิจฉาที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย
เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่า ‘อภิชฌาวิสมโลภะทำให้จิตเศร้าหมอง’ จึงละอภิชฌา-
วิสมโลภะที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย รู้ว่า ‘พยาบาททำให้จิตเศร้าหมอง’ ... รู้ว่า
‘ถีนมิทธะทำให้จิตเศร้าหมอง’ ... รู้ว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจะทำให้จิตเศร้าหมอง’ ... รู้ว่า
‘วิจิกิจฉาทำให้จิตเศร้าหมอง’ จึงละวิจิกิจฉาที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย เมื่อนั้นอริย-
สาวกนี้ชื่อว่ามีปัญญามาก มีปัญญากว้างขวาง มองเห็นแนวทาง สมบูรณ์ด้วย
ปัญญา นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา
คหบดี ธรรม ๔ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อได้ธรรม ๔ ประการนี้แล ที่น่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๑.ปัตตกัมมสูตร

อริยสาวกนั้นแลชื่อว่าทำกรรมอันสมควร ๔ ประการด้วยโภคทรัพย์ที่หามา
ได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ
ประกอบด้วยธรรม๑ ได้มาโดยธรรม๒
กรรมอันสมควร ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมบำรุงตนเอง มารดา บิดา บุตร ภรรยา
ทาส กรรมกร คนรับใช้ มิตร และอำมาตย์ให้เป็นสุข บริหารให้
เป็นสุขโดยชอบด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม
ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะที่ ๑ ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึงโดย
สมควร ใช้สอยตามเหตุ
๒. อริยสาวกย่อมป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟ น้ำ พระราชา โจร
คนที่ไม่ชอบกัน หรือจากทายาทด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วย
ความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อ
ต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม ทำตนให้ปลอดภัย
นี้เป็นฐานะที่ ๒ ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึงโดยสมควร ใช้สอย
ตามเหตุ
๓. อริยสาวกย่อมทำพลี๓ ๕ อย่าง คือ ญาติพลี อติถิพลี ปุพพเปตพลี
ราชพลี เทวตาพลีด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วย
ธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะที่ ๓ ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึง
โดยสมควร ใช้สอยตามเหตุ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๑.ปัตตกัมมสูตร

๔. อริยสาวกบำเพ็ญทักษิณาที่มีผลสูงขึ้นไป๑ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี๒
มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์๓ ไว้ในสมณพราหมณ์ผู้เว้นขาดจาก
ความมัวเมาและความประมาท ผู้ดำรงมั่นอยู่ในขันติและโสรัจจะ
ฝึกอบรมตน ทำตนให้สงบ ทำตนให้ดับเย็นสนิท๔ด้วยโภคทรัพย์
ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง
อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะ
ที่ ๔ ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึงโดยสมควร ใช้สอยตามเหตุ
คหบดี อริยสาวกนั้นชื่อว่าทำกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ด้วยโภคทรัพย์ที่
หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ
ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม โภคทรัพย์ของใครก็ตาม หมดสิ้นไปเพราะ
กรรมอื่นนอกจากกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ โภคทรัพย์เหล่านี้ เราเรียกว่า
ถึงแล้วโดยไม่ใช่เหตุ ถึงโดยไม่สมควร ใช้สอยตามเหตุอันไม่ควร ส่วนโภคทรัพย์
ของใครก็ตาม หมดสิ้นไปเพราะกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ โภคทรัพย์เหล่านี้
เราเรียกว่า ถึงแล้วโดยเหตุ ถึงโดยสมควร ใช้สอยตามเหตุ
นรชนผู้จะต้องตายเมื่อคำนึงถึงว่า
‘โภคทรัพย์ทั้งหลายเราได้บริโภคแล้ว
คนที่ควรเลี้ยงเราได้เลี้ยงแล้ว
อันตรายทั้งหลายเราได้ข้ามพ้นแล้ว
ทักษิณาที่มีผลสูงขึ้นไปเราได้ให้แล้ว
และพลีกรรม ๕ อย่างเราได้ทำแล้ว


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๒.อานัณยสูตร

ท่านผู้มีศีล สำรวมระวัง
ประพฤติพรหมจรรย์เราได้บำรุงแล้ว
ประโยชน์ที่บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือนปรารถนา
เราก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
กรรมที่ไม่ก่อความเดือดร้อนในภายหลังเราได้ทำแล้ว’
ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยธรรม๑
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในชาตินี้เอง
เขาตายไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์

ปัตตกัมมสูตรที่ ๑ จบ

๒. อานัณยสูตร
ว่าด้วยสุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้

[๖๒] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดี
ดังนี้ว่า
คหบดี สุข ๔ ประการนี้คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม๒พึงได้รับตามกาล ตามสมัย
สุข ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อัตถิสุข (สุขเกิดจากความมีทรัพย์)
๒. โภคสุข (สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์)
๓. อานัณยสุข๓ (สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้)
๔. อนวัชชสุข (สุขเกิดจากความประพฤติที่ไม่มีโทษ)


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๒.อานัณยสูตร

อัตถิสุข เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความหมั่นเพียร เก็บรวบรวม
ด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม เขาได้รับสุข
โสมนัสว่า ‘เรามีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วย
น้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม’ นี้เรียกว่า
อัตถิสุข
โภคสุข เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้ใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วย
ความหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม
ได้มาโดยธรรม เขาได้รับสุขโสมนัสว่า ‘เราใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญด้วย
โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบ
เหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม’ นี้เรียกว่า โภคสุข
อานัณยสุข เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้ไม่เป็นหนี้ใคร ไม่ว่าจะน้อยหรือมากก็ตาม เขาได้รับสุข
โสมนัสว่า ‘เราไม่เป็นหนี้ใคร ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก’ นี้เรียกว่า อานัณยสุข
อนวัชชสุข เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษ วจีกรรมที่ไม่
มีโทษ และมโนกรรมที่ไม่มีโทษ เขาได้รับสุขโสมนัสว่า ‘เราประกอบด้วยกายกรรม
ที่ไม่มีโทษ วจีกรรมที่ไม่มีโทษ มโนกรรมที่ไม่มีโทษ’ นี้เรียกว่า อนวัชชสุข
คหบดี คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามพึงได้รับสุข ๔ ประการนี้แลตามกาล ตามสมัย
นรชนผู้จะต้องตาย
รู้สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้
ระลึกถึงสุขเกิดจากความมีทรัพย์
เสวยสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์
ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญา


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๓.พรหมสูตร

ผู้มีปัญญาดีเห็นชัดอยู่อย่างนี้ย่อมรู้ส่วนทั้ง ๒ ว่า
สุขแม้ทั้ง ๓ นี้มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖
แห่งสุขเกิดจากความประพฤติอันไม่มีโทษ

อานัณยสูตรที่ ๒ จบ

๓. พรหมสูตร๑
ว่าด้วยสกุลที่มีพรหม

[๖๓] ภิกษุทั้งหลาย บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุล
นั้นชื่อว่ามีพรหม บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามี
บุรพาจารย์ บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีบุรพเทพ
บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีอาหุไนยบุคคล
คำว่า “พรหม” นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา คำว่า “บุรพาจารย์” นี้เป็นชื่อ
ของมารดาบิดา คำว่า “บุรพเทพ” นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา คำว่า “อาหุไนยบุคคล”
นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา๒ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก
บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตร
มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์ประชา
ท่านเรียกว่าพรหม บุรพาจารย์
และอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงนมัสการ
และสักการะมารดาบิดานั้นด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน
การอบกลิ่น การให้อาบน้ำ และการชำระเท้า


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๕.รูปสูตร

เพราะการปรนนิบัติมารดาบิดานั้นแล
บัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง
เขาตายไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์

พรหมสูตรที่ ๓ จบ

๔. นิรยสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้เกิดในนรก

[๖๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ฆ่าสัตว์ ๒. ลักทรัพย์
๓. ประพฤติผิดในกาม ๔. พูดเท็จ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์
การพูดเท็จ และการคบหาภรรยาของผู้อื่น
เรากล่าวว่าเป็นกรรมเศร้าหมอง
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญเลย

นิรยสูตรที่ ๔ จบ

๕. รูปสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ถือรูปเป็นประมาณ

[๖๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๕.รูปสูตร

๑. บุคคลผู้ถือรูปเป็นประมาณ เลื่อมใสในรูป
๒. บุคคลผู้ถือเสียงเป็นประมาณ เลื่อมใสในเสียง
๓. บุคคลผู้ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ๑ เลื่อมใสในความเศร้าหมอง
๔. บุคคลผู้ถือธรรมเป็นประมาณ เลื่อมใสในธรรม
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ชนเหล่าใดถือประมาณในรูป
และชนเหล่าใดคล้อยไปตามเสียง
ชนเหล่านั้นชื่อว่าตกอยู่ในอำนาจของฉันทราคะ๒
ย่อมไม่รู้จักบุคคลนั้น คือ
บุคคลนั้นแลเป็นคนเขลา ไม่รู้คุณภายในของเขา
และไม่เห็นข้อปฏิบัติภายนอกของเขา
ถูกห้อมล้อมไว้โดยรอบ ย่อมถูกเสียงชักนำไป
อนึ่ง บุคคลผู้ไม่รู้คุณภายใน๓
แต่เห็นข้อปฏิบัติภายนอก๔
มองแต่ผลในภายนอก๕
ย่อมถูกเสียงชักนำไป
ส่วนบุคคลที่รู้คุณภายใน
และเห็นแจ้งข้อปฏิบัติภายนอก
เห็นธรรมปราศจากเครื่องกั้น
ย่อมไม่ถูกเสียงชักนำไป

รูปสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๗.อหิราชสูตร

๖. สราคสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีราคะ

[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีราคะ ๒. บุคคลผู้มีโทสะ
๓. บุคคลผู้มีโมหะ ๔. บุคคลผู้มีมานะ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ชนทั้งหลายผู้กำหนัดมาก
ในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด
เพลิดเพลินอย่างยิ่งในรูปที่น่ารัก
เป็นสัตว์ต่ำทราม ถูกโมหะ (ความหลง) หุ้มห่อไว้
ย่อมทำให้เครื่องผูกพันเจริญขึ้น
เป็นคนไม่ฉลาด ทำอกุศลกรรมที่เกิดจากราคะบ้าง
เกิดจากโทสะบ้าง เกิดจากโมหะบ้าง
ที่มีแต่ความคับแค้น เพิ่มทุกข์อยู่ร่ำไป
สัตว์ที่ถูกอวิชชา (ความไม่รู้) หุ้มห่อไว้
เป็นผู้มืดบอด ปราศจากจักษุคือปัญญา
มีสภาวะเหมือนธรรมทั้งหลายที่มีอยู่
ย่อมไม่สำคัญว่าเราทั้งหลายก็มีสภาวะเหมือนอย่างนั้น

สราคสูตรที่ ๖ จบ

๗. อหิราชสูตร
ว่าด้วยตระกูลพญางู

[๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งในเขตกรุงสาวัตถีถูกงูกัด


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๗.อหิราชสูตร

ถึงแก่มรณภาพ ลำดับนั้น ภิกษุหลายรูปพากันไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งในเขตกรุงสาวัตถีถูกงูกัดถึงแก่มรณภาพ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นคงจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตให้
ตระกูลพญางู ๔ ตระกูล เพราะถ้าเธอแผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู ๔ ตระกูล
เธอก็จะไม่ถูกงูกัดถึงแก่มรณภาพ
ตระกูลพญางู ๔ ตระกูล อะไรบ้าง คือ
๑. ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักษ์ ๒. ตระกูลพญางูชื่อเอราปถะ
๓. ตระกูลพญางูชื่อฉัพยาบุตร ๔. ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมกะ
ภิกษุนั้นคงจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู ๔ ตระกูลนี้ เพราะถ้าเธอแผ่
เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู เธอก็จะไม่ถูกงูกัดถึงแก่มรณภาพ
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู ๔ ตระกูลนี้
เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน”
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูวิรูปักษ์
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูเอราปถะ
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูฉัพยาบุตร
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูกัณหาโคตมกะ
เราขอมีเมตตาต่อสัตว์ไม่มีเท้า
เราขอมีเมตตาต่อสัตว์สองเท้า
เราขอมีเมตตาต่อสัตว์สี่เท้า
เราขอมีเมตตาต่อสัตว์หลายเท้า
สัตว์ไม่มีเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์สองเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์สี่เท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์หลายเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๘. เทวทัตตสูตร

ขอสรรพสัตว์ที่มีลมหายใจ
ขอสรรพสัตว์ที่ยังมีชีวิตทั้งมวล
จงประสพกับความเจริญ
ความเลวร้ายอย่าได้มาแผ้วพานสัตว์ใด ๆ เลย
พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีพระคุณหาประมาณมิได้
พระสงฆ์มีพระคุณหาประมาณมิได้ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมงป่อง ตะขาบ
แมงมุม ตุ๊กแก หนูมีคุณพอประมาณ
เราทำการรักษา ทำการป้องกันไว้แล้ว ขอหมู่สัตว์ผู้มีชีวิตทั้งหลายจงหลีก
ไป เรานั้นขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗
พระองค์๑

อหิราชสูตรที่ ๗ จบ

๘. เทวทัตตสูตร
ว่าด้วยพระเทวทัต

[๖๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ณ ที่นั้น เมื่อพระเทวทัตหลีกไปไม่นานนัก พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสปรารภพระเทวทัตว่า “ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและชื่อเสียง
เกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อม
ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อม
เหมือนต้นกล้วยเผล็ดผลเพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ
ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อม
เหมือนต้นไผ่ตกขุยเพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ
ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อม
เหมือนไม้อ้อออกดอกเพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความพินาศ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๙.ปธานสูตร

ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความเสื่อม
เหมือนแม่ม้าอัสดร๑ตั้งครรภ์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ”
สักการะย่อมฆ่าบุรุษชั่ว
เหมือนผลกล้วยฆ่าต้นกล้วย
ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ดอกอ้อฆ่าต้นอ้อ
ลูกม้าอัสดรฆ่าแม่ม้าฉะนั้น

เทวทัตตสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปธานสูตร๒
ว่าด้วยปธาน

[๖๙] ภิกษุทั้งหลาย ปธาน (ความเพียร) ๔ ประการนี้
ปธาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สังวรปธาน (เพียรระวัง) ๒. ปหานปธาน (เพียรละ)
๓. ภาวนาปธาน (เพียรเจริญ) ๔. อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษา)
สังวรปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคอง
จิตมุ่งมั่นเพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่า สังวรปธาน
ปหานปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคอง
จิตมุ่งมั่นเพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า ปหานปธาน
ภาวนาปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคอง
จิตมุ่งมั่นเพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่า ภาวนาปธาน


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๑๐.อธัมมิกสูตร

อนุรักขนาปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคอง
จิตมุ่งมั่นเพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่ง
กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า อนุรักขนาปธาน
ภิกษุทั้งหลาย ปธาน ๔ ประการนี้แล
ปธาน ๔ ประการนี้ คือ
สังวรปธาน ปหานปธาน
ภาวนาปธาน และอนุรักขนาปธาน
พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ทรงแสดงไว้แล้ว
ที่เป็นเหตุให้ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ผู้มีความเพียรถึงความสิ้นทุกข์

ปธานสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อธัมมิกสูตร
ว่าด้วยพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมและผู้ตั้งอยู่ในธรรม

[๗๐] ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาที่พระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม๑ แม้พวกข้าราชการ
ก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวกข้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้พราหมณ์และคหบดี
ก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และคหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้ชาวนิคมและชาว
ชนบทก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทไม่ตั้งอยู่ในธรรม ดวงจันทร์
และดวงอาทิตย์ก็โคจร(หมุน)ไปไม่สม่ำเสมอ เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรไป
ไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็โคจรไปไม่สม่ำเสมอ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรโคจรไปไม่
สม่ำเสมอ คืนและวันก็หมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันหมุนเวียนไปไม่


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค ๑๐.อธัมมิกสูตร

สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและครึ่งเดือนก็หมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ เมื่อเดือนหนึ่งและ
ครึ่งเดือนหมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปีก็หมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ เมื่อฤดู
และปีหมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ ลมก็พัดไปไม่สม่ำเสมอ พัดไปผิดทางไม่สม่ำเสมอ
เมื่อลมพัดไปไม่สม่ำเสมอ พัดไปผิดทางไม่สม่ำเสมอ พวกเทวดาก็ขัดเคืองใจ
เมื่อพวกเทวดาขัดเคืองใจ ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ข้าวกล้าทั้งหลายก็ออกรวงสุกไม่พร้อมกัน
ภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายบริโภคข้าวกล้าที่สุกไม่พร้อมกันย่อมมีอายุ
น้อย ๑ มีผิวพรรณไม่ดี ๑ มีกำลังไม่ดี ๑ มีความเจ็บป่วยมาก ๑
ในเวลาที่พระราชาตั้งอยู่ในธรรม แม้พวกข้าราชการก็ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวก
ข้าราชการตั้งอยู่ในธรรม แม้พราหมณ์และคหบดีก็ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์
และคหบดีตั้งอยู่ในธรรม แม้ชาวนิคมและชาวชนบทก็ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อชาวนิคม
และชาวชนบทตั้งอยู่ในธรรม ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็โคจรไปสม่ำเสมอ เมื่อ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรไปสม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็โคจรไปสม่ำเสมอ
เมื่อหมู่ดาวนักษัตรโคจรไปสม่ำเสมอ คืนและวันก็หมุนเวียนไปสม่ำเสมอ เมื่อคืน
และวันหมุนเวียนไปสม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและครึ่งเดือนก็หมุนเวียนไปสม่ำเสมอ
เมื่อเดือนหนึ่งและครึ่งเดือนหมุนเวียนไปสม่ำเสมอ ฤดูและปีก็หมุนเวียนไปสม่ำเสมอ
เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไปสม่ำเสมอ ลมก็พัดไปสม่ำเสมอ พัดไปถูกทางสม่ำเสมอ
เมื่อลมพัดไปสม่ำเสมอ พัดไปถูกทางสม่ำเสมอ พวกเทวดาก็ไม่ขัดเคืองใจ เมื่อ
พวกเทวดาไม่ขัดเคืองใจ ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล
ข้าวกล้าทั้งหลายก็ออกรวงสุกพร้อมกัน
ภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายบริโภคข้าวกล้าสุกพร้อมกันย่อมมีอายุยืน ๑
มีผิวพรรณผ่องใส ๑ มีกำลัง ๑ มีความเจ็บป่วยน้อย ๑
เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๒.ปัตตกัมมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์
เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง
โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง
ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข๑

อธัมมิกสูตรที่ ๑๐ จบ
ปัตตกัมมวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปัตตกัมมสูตร ๒. อานัณยสูตร
๓. พรหมสูตร ๔. นิรยสูตร
๕. รูปสูตร ๖. สราคสูตร
๗. อหิราชสูตร ๘. เทวทัตตสูตร
๙. ปธานสูตร ๑๐. อธัมมิกสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๓.อปัณณกวรรค ๒.สัมมาทิฏฐิสูตร

๓. อปัณณกวรรค
หมวดว่าด้วยข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด
๑. ปธานสูตร
ว่าด้วยความเพียรเป็นเหตุสิ้นอาสวะ

[๗๑] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมปฏิบัติปฏิปทา
ที่ไม่ผิด และชื่อว่าได้สร้างเหตุเพื่อความสิ้นอาสวะ๑
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. มีศีล ๒. เป็นพหูสูต
๓. ปรารภความเพียร ๔. มีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมปฏิบัติปฏิปทา
ที่ไม่ผิด และชื่อว่าได้สร้างเหตุเพื่อความสิ้นอาสวะ

ปธานสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัมมาทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นเหตุสิ้นอาสวะ

[๗๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมปฏิบัติปฏิปทา
ที่ไม่ผิด และชื่อว่าได้สร้างเหตุเพื่อความสิ้นอาสวะ
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม)
๒. อพยาบาทวิตก (ความตรึกปลอดจากพยาบาท)
๓. อวิหิงสาวิตก (ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน)
๔. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๓.อปัณณกวรรค ๓.สัปปุริสสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมปฏิบัติปฏิปทา
ที่ไม่ผิด และชื่อว่าได้สร้างเหตุเพื่อความสิ้นอาสวะ

สัมมาทิฏฐิสูตรที่ ๒ จบ

๓. สัปปุริสสูตร
ว่าด้วยธรรมของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ

[๗๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการพึงทราบว่า เป็น
อสัตบุรุษ
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อสัตบุรุษในโลกนี้ถึงไม่มีใครถามก็เปิดเผยข้อเสียหายของบุคคลอื่นได้
ไม่จำเป็นต้องพูดถึงอสัตบุรุษผู้ถูกถามเลย และอสัตบุรุษผู้ถูกถาม
ก็ตอบปัญหาทันที ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว กล่าวถึงข้อเสีย
ของบุคคลอื่นอย่างละเอียดเต็มที่ นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ’
๒. อสัตบุรุษถึงถูกใครถามก็ไม่เปิดเผยข้อดีของบุคคลอื่น ไม่จำเป็น
ต้องพูดถึงอสัตบุรุษผู้ไม่ถูกถามเลย และอสัตบุรุษผู้ถูกถามก็ตอบ
ปัญหาอ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวสรรเสริญข้อดีของบุคคลอื่น
ไม่ละเอียดเต็มที่ นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ’
๓. อสัตบุรุษถึงถูกใครถามก็ไม่เปิดเผยข้อเสียของตน ไม่จำเป็นต้อง
พูดถึงอสัตบุรุษผู้ไม่ถูกถาม และอสัตบุรุษผู้ถูกถามก็ตอบปัญหา
อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวถึงข้อเสียของตนไม่ละเอียดเต็มที่
นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นอสัตบุรษ’
๔. อสัตบุรุษถึงไม่ถูกใครถามก็เปิดเผยข้อดีของตน ไม่จำเป็นต้อง
พูดถึงอสัตบุรุษผู้ถูกถาม และอสัตบุรุษผู้ถูกถามก็รีบตอบปัญหา
ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว กล่าวสรรเสริญข้อดีของตนอย่าง
ละเอียดเต็มที่ นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลพึงทราบว่า เป็น
อสัตบุรุษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๓.อปัณณกวรรค ๓.สัปปุริสสูตร

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการพึงทราบว่า เป็น
สัตบุรุษ
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัตบุรุษในโลกนี้ถึงถูกใครถามก็ไม่เปิดเผยข้อเสียของบุคคลอื่น ไม่
จำเป็นต้องพูดถึงสัตบุรุษผู้ไม่ถูกถาม และสัตบุรุษผู้ถูกถามก็ตอบ
ปัญหาอ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวถึงข้อเสียของบุคคลอื่นอย่าง
ไม่ละเอียดเต็มที่ นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ’
๒. สัตบุรุษถึงไม่ถูกใครถามก็เปิดเผยข้อดีของบุคคลอื่น ไม่จำเป็นต้อง
พูดถึงสัตบุรุษผู้ถูกถาม และสัตบุรุษผู้ถูกถามก็รีบตอบปัญหาไม่
อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว กล่าวสรรเสริญข้อดีของบุคคลอื่น
อย่างละเอียดเต็มที่ นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ’
๓. สัตบุรุษถึงไม่ถูกใครถามก็เปิดเผยข้อเสียของตน ไม่จำเป็นต้องพูด
ถึงสัตบุรุษผู้ถูกถาม และสัตบุรุษผู้ถูกถามก็รีบตอบปัญหาไม่
อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว กล่าวข้อเสียของตนอย่างละเอียดเต็มที่
นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ’
๔. สัตบุรุษถึงถูกใครถามก็ไม่เปิดเผยข้อดีของตน ไม่จำเป็นต้องพูด
ถึงสัตบุรุษผู้ไม่ถูกถาม และสัตบุรุษผู้ถูกถามก็รีบตอบปัญหา
อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวสรรเสริญข้อดีของตนอย่างไม่
ละเอียดเต็มที่ นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลพึงทราบว่า เป็น
สัตบุรุษ
ภิกษุทั้งหลาย หญิงสะใภ้มีความละอายและเกรงกลัวมากในแม่สามี พ่อสามี
สามี รวมถึงพวกทาส กรรมกร และคนรับใช้ ตลอดช่วงเวลาคืนหนึ่งหรือวันหนึ่ง
ที่นางถูกนำมา(สู่ตระกูลสามี) สมัยต่อมา เพราะอาศัยอยู่จนคุ้นเคย จึงกล่าวกับ
แม่สามี พ่อสามี แม้กระทั่งสามีว่า ‘หลีกไป พวกท่านจะรู้เรื่องอะไรเล่า’ แม้ฉันใด
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตลอดช่วงเวลาคืนหนึ่งหรือวัน
หนึ่งที่เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เธอยังมีความละอาย มีความเกรงกลัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๓.อปัณณกวรรค ๕. ทุติยอัคคสูตร

มากในเหล่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รวมถึงพวกคนวัดและสมณุทเทส๑
สมัยต่อมา เพราะอาศัยอยู่รวมกันจนคุ้นเคย เธอกล่าวกับอาจารย์ แม้กระทั่ง
อุปัชฌาย์อย่างนี้ว่า ‘หลีกไป พวกท่านจะรู้เรื่องอะไรเล่า’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจัก
มีใจเหมือนหญิงสะใภ้ที่มาอยู่ใหม่’ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล

สัปปุริสสูตรที่ ๓ จบ

๔. ปฐมอัคคสูตร
ว่าด้วยธรรมอันเลิศ สูตรที่ ๑

[๗๔] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเลิศ ๔ ประการนี้
ธรรมอันเลิศ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศีลอันเลิศ ๒. สมาธิอันเลิศ
๓. ปัญญาอันเลิศ ๔. วิมุตติอันเลิศ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเลิศ ๔ ประการนี้แล

ปฐมอัคคสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยอัคคสูตร
ว่าด้วยธรรมอันเลิศ สูตรที่ ๒

[๗๕] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเลิศ๒ ๔ ประการนี้
ธรรมอันเลิศ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปอันเลิศ ๒. เวทนาอันเลิศ
๓. สัญญาอันเลิศ ๔. ภพอันเลิศ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเลิศ ๔ ประการนี้แล

ทุติยอัคคสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๓.อปัณณกวรรค ๖.กุสินารสูตร

๖. กุสินารสูตร
ว่าด้วยพุทธกิจในกรุงกุสินารา

[๗๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ระหว่างต้นรังทั้งคู่ ในสาลวันของ
เจ้ามัลละ ซึ่งเป็นทางเข้ากรุงกุสินารา ในสมัยเป็นที่ปรินิพพาน ณ ที่นั้นแล
พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูล
รับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงใน
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) เธอทั้งหลาย
จงถามเถิด อย่าได้มีความเดือดร้อนใจภายหลังว่า ‘พระศาสดาประทับอยู่ตรงหน้า
ของเราทั้งหลาย เราทั้งหลายยังไม่สามารถทูลถามพระผู้มีพระภาคต่อหน้าได้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ...
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลง
ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา เธอทั้งหลายจงถามเถิด
อย่าได้มีความเดือดร้อนใจภายหลังว่า ‘พระศาสดาประทับอยู่ตรงหน้าของเราทั้งหลาย
เราทั้งหลายก็ยังไม่สามารถทูลถามพระผู้มีพระภาคต่อหน้าได้”
แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุเหล่านั้นก็ยังพากันนิ่งอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เป็นได้ที่เธอทั้งหลายไม่ถามเพราะความเคารพในพระศาสดา แม้เพื่อนจงบอกแก่
เพื่อนเถิด” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ ลำดับนั้น
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ข้าพระองค์เลื่อมใส
อย่างนี้ว่า ‘ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุแม้แต่รูปเดียวไม่มีความสงสัยหรือเคลือบแคลงใน
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๓.อปัณณกวรรค ๗. อจินเตยยสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธอกล่าวเพราะความเลื่อมใส ในเรื่องนี้
ตถาคตเองก็มีความรู้เหมือนกันว่า ‘ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุแม้แต่รูปเดียวไม่มีความ
สงสัยหรือเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา’
อานนท์ ในจำนวนภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุผู้มีคุณธรรมชั้นต่ำสุด๑ เป็นโสดาบัน
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๒ในวันข้างหน้า”

กุสินารสูตรที่ ๖ จบ

๗. อจินเตยยสูตร
ว่าด้วยอจินไตย

[๗๗] ภิกษุทั้งหลาย อจินไตย (เรื่องไม่ควรคิด) ๔ ประการนี้บุคคลไม่ควรคิด
ใครคิดพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ความเดือดร้อน
อจินไตย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พุทธวิสัย๓ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๒. ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน
๓. วิบากแห่งกรรม ๔. ความคิดเรื่องโลก๔
ภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้บุคคลไม่ควรคิด ใครคิดพึงมีส่วนแห่ง
ความเป็นบ้า ความเดือดร้อน

อจินเตยยสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๓.อปัณณกวรรค ๘.ทักขิณสูตร

๘. ทักขิณสูตร
ว่าด้วยความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา

[๗๘] ภิกษุทั้งหลาย ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา๑(ของทำบุญ) ๔ ประการนี้
ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก(ผู้ให้) แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก(ผู้รับ)
๒. ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
๓. ทักษิณาที่ไม่บริสุทธิ์ ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก
๔. ทักษิณาที่บริสุทธิ์ ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก
ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร
คือ ทายกในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรม
เลวทราม ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างนี้แล
ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก เป็นอย่างไร
คือ ทายกในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มี
กัลยาณธรรม ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก เป็นอย่าง
นี้แล
ทักษิณาที่ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร
คือ ทายกในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม แม้ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มี
ธรรมเลวทราม ทักษิณาที่ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างนี้แล
ทักษิณาที่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร
คือ ทายกในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม แม้ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มี
กัลยาณธรรม ทักษิณาที่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ ประการนี้แล

ทักขิณสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๓.อปัณณกวรรค ๙. วณิชชสูตร

๙. วณิชชสูตร
ว่าด้วยเหตุให้การค้าขายขาดทุนหรือได้กำไร

[๗๙] สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบ
การค้าขายขาดทุน อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบการ
ค้าขายไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้
ประกอบการค้าขายได้กำไรตามที่ประสงค์ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคน
ในโลกนี้ประกอบการค้าขายได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้เข้าไปหา
สมณะหรือพราหมณ์ปวารณาว่า ‘ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าต้องการปัจจัย นิมนต์
บอกเถิด’ แต่เขากลับไม่ถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้น
กลับมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาประกอบการค้าขายใด ๆ ก็ย่อมขาดทุน
บุคคลบางคนในโลกนี้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ปวารณาว่า ‘ท่านผู้เจริญ
พระคุณเจ้าต้องการปัจจัย นิมนต์บอกเถิด’ แต่เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ไม่ตรง
ตามที่สมณะหรือพราหมณ์ประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้
เขาจะประกอบการค้าขายใดๆ ก็ไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์
บุคคลบางคนในโลกนี้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ปวารณาว่า ‘ท่านผู้เจริญ
พระคุณเจ้าต้องการปัจจัย นิมนต์บอกเถิด’ เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ตามที่
สมณะหรือพราหมณ์ประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้
เขาจะประกอบการค้าขายใดๆ ก็ได้กำไรตามที่ประสงค์
บุคคลบางคนในโลกนี้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ปวารณาว่า ‘ท่านผู้เจริญ
พระคุณเจ้าต้องการปัจจัย นิมนต์บอกเถิด’ เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ยิ่งกว่าที่
สมณะหรือพราหมณ์ประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้
เขาจะประกอบการค้าขายใด ๆ ก็ได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๓.อปัณณกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

สารีบุตร นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบการค้าขาย
ขาดทุน และไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบการค้าขายได้กำไรตาม
ที่ประสงค์ และได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์”

วณิชชสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. กัมโพชสูตร
ว่าด้วยเหตุให้มาตุคามไปแคว้นกัมโพชะไม่ได้

[๘๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้มาตุคาม(สตรี)นั่งในสภา
ไม่ได้ ทำงานใหญ่ไม่ได้ ไปแคว้นกัมโพชะก็ไม่ได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ มาตุคามเป็นคนมักโกรธ ชอบริษยา
ตระหนี่ ไม่มีปัญญา
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้มาตุคามนั่งในสภาไม่ได้ ทำงานใหญ่ไม่ได้ ไปแคว้น
กัมโพชะก็ไม่ได้”

กัมโพชสูตรที่ ๑๐ จบ
อปัณณกวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปธานสูตร ๒. สัมมาทิฏฐิสูตร
๓. สัปปุริสสูตร ๔. ปฐมอัคคสูตร
๕. ทุติยอัคคสูตร ๖. กุสินารสูตร
๗. อจินเตยยสูตร ๘. ทักขิณสูตร
๙. วณิชชสูตร ๑๐. กัมโพชสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค ๒. มุสาวาทสูตร

๔. มจลวรรค
หมวดว่าด้วยสมณะผู้ไม่หวั่นไหว
๑. ปาณาติปาตสูตร
ว่าด้วยผู้ฆ่าสัตว์และผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์

[๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๒. เป็นผู้ลักทรัพย์
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ๔. เป็นผู้พูดเท็จ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๓. เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

ปาณาติปาตสูตรที่ ๑ จบ

๒. มุสาวาทสูตร
ว่าด้วยผู้พูดเท็จและผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ

[๘๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค ๓.อวัณณารหสูตร

ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้พูดเท็จ ๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด
๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ ๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
๒. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
๓. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
๔. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

มุสาวาทสูตรที่ ๒ จบ

๓. อวัณณารหสูตร
ว่าด้วยผู้กล่าวสรรเสริญผู้ควรติเตียนและผู้กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียน

[๘๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ๑ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง กล่าวสรรเสริญผู้ควรติเตียน
๒. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง กล่าวติเตียนผู้ควรสรรเสริญ
๓. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง แสดงความเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส
๔. ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค ๔. โกธครุสูตร

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ๑ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียน
๒. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญ
๓. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควร
เลื่อมใส
๔. พิจารณา ไตร่ตรองแล้ว แสดงความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

อวัณณารหสูตรที่ ๓ จบ

๔. โกธครุสูตร
ว่าด้วยผู้มักโกรธและผู้ไม่มักโกรธ

[๘๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่
ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้มักโกรธ ไม่เคารพสัทธรรม
๒. เป็นผู้มักลบหลู่ ไม่เคารพสัทธรรม
๓. เป็นผู้เห็นแก่ลาภ ไม่เคารพสัทธรรม
๔. เป็นผู้เห็นแก่สักการะ ไม่เคารพสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค ๕.ตโมตมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้เคารพสัทธรรม ไม่มักโกรธ
๒. เป็นผู้เคารพสัทธรรม ไม่มักลบหลู่
๓. เป็นผู้เคารพสัทธรรม ไม่เห็นแก่ลาภ
๔. เป็นผู้เคารพสัทธรรม ไม่เห็นแก่สักการะ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

โกธครุสูตรที่ ๔ จบ

๕. ตโมตมสูตร
ว่าด้วยผู้มืดมาและมืดไป

[๘๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มืดมาและมืดไป ๒. บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป
๓. บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป ๔. บุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป
บุคคลผู้มืดมาและมืดไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูลช่างสาน
ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนเทขยะ เป็นตระกูลยากจน มีข้าว
น้ำและสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของกินและเครื่อง
นุ่งห่มได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความเจ็บป่วยมาก
ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป และเขายัง
ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก บุคคลผู้มืดมาและมืดไป เป็นอย่างนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค ๕.ตโมตมสูตร

บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูลช่างสาน
ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนเทขยะ เป็นตระกูลยากจน มีข้าว
น้ำและสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของกินและเครื่อง
นุ่งห่มได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความเจ็บป่วยมาก
ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แต่เขา
ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูล
พราหมณมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล๑ เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก
มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติ
มากมาย และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ได้ข้าว น้ำ
ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แต่
เขาประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูล
พราหมณมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มี
โภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติ
มากมาย และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ได้ข้าว น้ำ
ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค ๖.โอณโตณตสูตร

และเขาก็ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์ บุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ตโมตมสูตรที่ ๕ จบ

๖. โอณโตณตสูตร
ว่าด้วยผู้ต่ำมาและต่ำไป

[๘๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ต่ำมาและต่ำไป ๒. บุคคลผู้ต่ำมาแต่สูงไป
๓. บุคคลผู้สูงมาแต่ต่ำไป ๔. บุคคลผู้สูงมาและสูงไป
บุคคลผู้ต่ำมาและต่ำไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ฯลฯ๒
และเขายังประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หลังจากตายแล้วย่อมเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลผู้ต่ำมาและต่ำไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้ต่ำมาแต่สูงไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดมาในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ฯลฯ๒
แต่เขาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดใน
สุคติโลก สวรรค์ บุคคลผู้ต่ำมาแต่สูงไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้สูงมาแต่ต่ำไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ฯลฯ๒
แต่เขาประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลผู้สูงมาแต่ต่ำไป เป็นอย่างนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค ๗.ปุตตสูตร

บุคคลผู้สูงมาและสูงไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ฯลฯ๑
และเขาก็ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์ บุคคลผู้สูงมาและสูงไป เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

อณโตณตสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปุตตสูตร
ว่าด้วยสมณะผู้ไม่หวั่นไหวเหมือนพระราชโอรสองค์พี่

[๘๗] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว๒
๒. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก๓(บัวขาว)
๓. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม๔(บัวหลวง)
๔. บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ
บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นเสขะ ดำเนินตามข้อปฏิบัติ ปรารถนาผลที่ยอด
เยี่ยมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอยู่เหมือนพระราชโอรสองค์พี่ของพระราชามหา-
กษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว แม้ยังไม่ได้รับการอภิเษกก็ไม่ทรงหวั่นไหว บุคคล
เป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค ๗.ปุตตสูตร

บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน แต่เธอไม่ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘
ด้วยนามกายอยู่ บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน และเธอได้สัมผัสวิโมกข์ ๘
ด้วยนามกายอยู่ บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีคนขอร้องเท่านั้นจึงใช้สอยจีวรมาก ไม่มีใครขอร้อง
ย่อมใช้สอยจีวรแต่น้อย มีคนขอร้องเท่านั้นจึงฉันบิณฑบาตมาก ไม่มีใครขอร้องย่อม
ฉันบิณฑบาตแต่น้อย มีคนขอร้องเท่านั้นจึงใช้สอยเสนาสนะมาก ไม่มีใครขอร้อง
ย่อมใช้สอยเสนาสนะแต่น้อย มีคนขอร้องเท่านั้นจึงบริโภคคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร
มาก ไม่มีใครขอร้องย่อมบริโภคคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารแต่น้อย และเพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันย่อมแสดงออกทางกาย วาจา และใจต่อเธอเป็นกิริยา
ที่น่าชอบใจเป็นส่วนมาก ที่ไม่น่าชอบใจเป็นส่วนน้อย น้อมนำเข้าไปแต่สิ่งที่น่าชอบใจ
เท่านั้น สิ่งที่ไม่น่าชอบใจมีน้อย เวทนาที่มีดีเป็นสมุฏฐานก็ดี มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน
ก็ดี มีลมเป็นสมุฏฐานก็ดี เกิดเพราะสันนิบาตก็ดี เกิดเพราะฤดูแปรผันก็ดี เกิดเพราะ
การบริหารไม่สม่ำเสมอก็ดี เกิดเพราะความแก่ก็ดี เกิดเพราะผลกรรมก็ดี ส่วนมาก
ย่อมไม่เกิดแก่เธอ เธอมีความเจ็บไข้น้อย จึงเป็นผู้ได้ฌาน ๔๑ อันมีในจิตยิ่ง๒ ซึ่งเป็น
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึง
อยู่ในปัจจุบัน บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค ๘.สังโยชนสูตร

บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงผู้ใดว่า ‘เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่
สมณะ’ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงเรานั่นแลว่า ‘เป็นสมณะผู้
ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ’ เพราะเรามีคนขอร้องเท่านั้นจึงใช้สอยจีวรมาก ไม่มีใคร
ขอร้องย่อมใช้สอยจีวรแต่น้อย มีคนขอร้องเท่านั้นจึงฉันบิณฑบาตมาก ไม่มีใคร
ขอร้องย่อมฉันบิณฑบาตแต่น้อย มีคนขอร้องเท่านั้นจึงใช้สอยเสนาสนะมาก ไม่มี
ใครขอร้องย่อมใช้สอยเสนาสนะแต่น้อย มีคนขอร้องเท่านั้นจึงบริโภคคิลานปัจจัย-
เภสัชชบริขารมาก ไม่มีใครขอร้องย่อมบริโภคคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารแต่น้อย
และพวกภิกษุที่อยู่ด้วยกันย่อมแสดงออกทางกาย วาจา และใจต่อเราเป็นกิริยาที่
น่าชอบใจเป็นส่วนมาก ที่ไม่น่าชอบใจเป็นส่วนน้อย น้อมนำเข้าไปแต่สิ่งที่น่าชอบใจ
เท่านั้น สิ่งที่ไม่น่าชอบใจมีน้อย เวทนาที่มีดีเป็นสมุฏฐานก็ดี มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน
ก็ดี มีลมเป็นสมุฏฐานก็ดี เกิดเพราะสันนิบาตก็ดี เกิดเพราะฤดูแปรผันก็ดี เกิดเพราะ
การบริหารไม่สม่ำเสมอก็ดี เกิดเพราะความแก่ก็ดี เกิดเพราะผลกรรมก็ดี ส่วนมาก
ย่อมไม่เกิดแก่เรา เรามีความเจ็บไข้น้อย จึงเป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็น
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ทำให้
แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงผู้ใดว่า ‘เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนใน
หมู่สมณะ’ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงเรานั้นแลว่า ‘เป็นสมณะผู้
ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ปุตตสูตรที่ ๗ จบ

๘. สังโยชนสูตร
ว่าด้วยผู้สิ้นสังโยชน์

[๘๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค ๘.สังโยชนสูตร

๑. บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว
๒. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก
๓. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม
๔. บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ
บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๑ในวันข้างหน้า บุคคลเป็นสมณะผู้
ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป
เพราะราคะโทสะและโมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว ก็จะทำที่สุดแห่ง
ทุกข์ได้ บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ
สิ้นไป จะปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก บุคคลเป็นสมณะ
เหมือนดอกปทุม เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียด
อ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

สังโยชนสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ

[๘๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว
๒. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก
๓. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม
๔. บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ
บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) มีสัมมาสังกัปปะ (ดำริ
ชอบ) มีสัมมาวาจา (เจรจาชอบ) มีสัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) มีสัมมาอาชีวะ
(เลี้ยงชีพชอบ) มีสัมมาวายามะ (พยายามชอบ) มีสัมมาสติ (ระลึกชอบ) มี
สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา
มีสัมมากัมมันตะ มีสัมมาอาชีวะ มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ
มีสัมมาญาณะ (รู้ชอบ) มีสัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ) แต่เธอไม่ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘
ด้วยนามกายอยู่ บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ มีสัมมาญาณะ มีสัมมาวิมุตติ
และเธอสัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกายอยู่ บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็น
อย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีคนขอร้องเท่านั้นจึงใช้สอยจีวรมาก ไม่มีใครขอร้อง
ย่อมใช้สอยจีวรแต่น้อย ฯลฯ๑


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค ๑๐.ขันธสูตร

บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงผู้ใดว่า ‘เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนใน
หมู่สมณะ’ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงเรานั้นแลว่า ‘เป็นสมณะผู้
ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ’ (เพราะเรามีคนขอร้องเท่านั้นจึงใช้สอยจีวรมาก ไม่มีใคร
ขอร้องย่อมใช้สอยจีวรแต่น้อย ฯลฯ)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

สัมมาทิฏฐิสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ขันธสูตร
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์

[๙๐] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว๑
๒. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก๒
๓. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม๓
๔. บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ๔
บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตมรรค ปรารถนาผลที่
ยอดเยี่ยมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕
ว่า ‘รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนา


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๔.มจลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

เป็นดังนี้ ... สัญญาเป็นดังนี้ ... สังขารเป็นดังนี้ ... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิด
ขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้’ แต่เธอไม่ได้สัมผัสวิโมกข์
๘ ด้วยนามกายอยู่ บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕
ว่า ‘รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนา
เป็นดังนี้ ... สัญญาเป็นดังนี้ ... สังขารเป็นดังนี้ ... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้น
แห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้’ และเธอได้สัมผัสวิโมกข์ ๘
ด้วยนามกายอยู่ บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีคนขอร้องเท่านั้นจึงใช้สอยจีวรมาก ไม่มีใครขอร้อง
ย่อมใช้สอยจีวรแต่น้อย ฯลฯ บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงผู้ใดว่า
‘เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ’ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึง
เรานั้นแลว่า ‘เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ’ เพราะเรามีคนขอร้องเท่านั้น
จึงใช้สอยจีวรมาก ไม่มีใครขอร้องย่อมใช้สอยจีวรแต่น้อย ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ขันธสูตรที่ ๑๐ จบ
มจลวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปาณาติปาตสูตร ๒. มุสาวาทสูตร
๓. อวัณณารหสูตร ๔. โกธครุสูตร
๕. ตโมตมสูตร ๖. โอณโตณตสูตร
๗. ปุตตสูตร ๘. สังโยชนสูตร
๙. สัมมาทิฏฐิสูตร ๑๐. ขันธสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๑.อสุรสูตร

๕. อสุรวรรค
หมวดว่าด้วยบุคคลเหมือนอสูรและเทวดา
๑. อสุรสูตร
ว่าด้วยบุคคลเหมือนอสูรและเทวดา

[๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏ
อยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเหมือนอสูร มีบริวารเหมือนอสูร
๒. บุคคลเหมือนอสูร มีบริวารเหมือนเทวดา
๓. บุคคลเหมือนเทวดา มีบริวารเหมือนอสูร
๔. บุคคลเหมือนเทวดา มีบริวารเหมือนเทวดา
บุคคลเหมือนอสูร มีบริวารเหมือนอสูร เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม แม้พวกพ้องของเขาก็
เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม บุคคลเหมือนอสูร มีบริวารเหมือนอสูร เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเหมือนอสูร มีบริวารเหมือนเทวดา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม แต่พวกพ้องของเขาเป็น
ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม๑ บุคคลเหมือนอสูร มีบริวารเหมือนเทวดา เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเหมือนเทวดา มีบริวารเหมือนอสูร เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พวกพ้องของเขา เป็น
ผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม บุคคลเหมือนเทวดา มีบริวารเหมือนอสูร เป็นอย่างนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๒. ปฐมสมาธิสูตร

บุคคลเหมือนเทวดา มีบริวารเหมือนเทวดา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม แม้พวกพ้องของเขาก็
เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม บุคคลเหมือนเทวดา มีบริวารเหมือนเทวดา เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

อสุรสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปฐมสมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิ สูตรที่ ๑

[๙๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความสงบแห่งจิตภายใน๒ แต่ไม่ได้ความ
เห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง๓
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง แต่
ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภาใน
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายในและไม่ได้ความเห็น
แจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้ง
ธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ปฐมสมาธิสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๓.ทุติยสมาธิสูตร

๓. ทุติยสมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิ สูตรที่ ๒

[๙๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความสงบแห่งจิตภายใน แต่ไม่ได้ความเห็น
แจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง แต่
ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายในและไม่ได้ความเห็น
แจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้ง
ธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายใน แต่ไม่ได้ความ
เห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ควรตั้งมั่นในความสงบแห่งจิตภายใน แล้วทำ
ความเพียรเพื่อความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง สมัยต่อมา บุคคลนั้นจึงได้
ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
บุคคลผู้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง แต่ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน
ควรตั้งมั่นในความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง แล้วทำความเพียรเพื่อความสงบ
แห่งจิตภายใน สมัยต่อมา บุคคลนั้นจึงได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
และได้ความสงบแห่งจิตภายใน
บุคคลผู้ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายในและไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญา
อันยิ่ง ควรทำความพอใจ๑ ความพยายาม๒ ความอุตสาหะ๓ ความขะมัก


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๔.ตติยสมาธิสูตร

เขม้น๑ ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรมเหล่า
นั้นเถิด บุคคลนั้นทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรมเหล่านั้น
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอยให้มีประมาณยิ่ง
สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น ๆ
สมัยต่อมา บุคคลนั้นจึงได้ความสงบแห่งจิตภายในและความเห็นแจ้งธรรมด้วย
ปัญญาอันยิ่ง
บุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
ควรตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้วทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ทุติยสมาธิสูตรที่ ๓ จบ

๔. ตติยสมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิ สูตรที่ ๓

[๙๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความสงบแห่งจิตภายใน แต่ไม่ได้ความเห็น
แจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง แต่
ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายในและไม่ได้ความเห็น
แจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๔.ตติยสมาธิสูตร

๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้ง
ธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายใน แต่ไม่ได้ความ
เห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง พึงเข้าไปหาบุคคลผู้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญา
อันยิ่ง เรียนถามอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ พึงมองสังขารอย่างไร พิจารณาสังขาร
อย่างไร เห็นแจ้งสังขารอย่างไร’ บุคคลผู้ถูกถามนั้น ย่อมตอบเขาตามที่เห็นตาม
ที่รู้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ พึงมองสังขารอย่างนี้ พิจารณาสังขารอย่างนี้ เห็นแจ้งสังขาร
อย่างนี้’ สมัยต่อมา บุคคลนั้นจึงได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้ง
ธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
บุคคลผู้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง แต่ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน
พึงเข้าไปหาบุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายใน เรียนถามอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ
พึงตั้งจิตไว้อย่างไร น้อมจิตไปอย่างไร ทำจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งผุดขึ้นอย่างไร
ชักจูงจิตให้เป็นสมาธิได้อย่างไร’ บุคคลผู้ถูกถามนั้น ย่อมตอบเขาตามที่เห็นตามที่
รู้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ พึงตั้งจิตไว้อย่างนี้ น้อมจิตไปอย่างนี้ ทำจิตให้มีอารมณ์เป็น
หนึ่งผุดขึ้นอย่างนี้ ชักจูงจิตให้เป็นสมาธิอย่างนี้’ สมัยต่อมา บุคคลนั้นจึงได้ความ
เห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งและได้ความสงบแห่งจิตภายใน
บุคคลผู้ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายในและไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญา
อันยิ่ง พึงเข้าไปหาบุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้งธรรม
ด้วยปัญญาอันยิ่ง เรียนถามอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ พึงตั้งจิตไว้อย่างไร น้อมจิต
ไปอย่างไร ทำจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งผุดขึ้นอย่างไร ชักจูงจิตให้เป็นสมาธิได้อย่างไร
พึงมองสังขารอย่างไร พิจารณาสังขารอย่างไร เห็นแจ้งสังขารอย่างไร’ บุคคลผู้
ถูกถามนั้น ย่อมตอบเขาตามที่เห็นตามที่รู้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ พึงตั้งจิตไว้อย่างนี้
น้อมจิตไปอย่างนี้ ทำจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งผุดขึ้นอย่างนี้ ชักจูงจิตให้เป็นสมาธิ
อย่างนี้ พึงมองสังขารอย่างนี้ พิจารณาสังขารอย่างนี้ เห็นแจ้งสังขารอย่างนี้’
สมัยต่อมา บุคคลนั้นจึงได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วย
ปัญญาอันยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๕. ฉวาลาตสูตร

บุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
ควรตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้วทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ตติยสมาธิสูตรที่ ๔ จบ

๕. ฉวาลาตสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนท่อนไม้ที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า

[๙๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
๒. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง
๓. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
๔. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เราเรียกว่า
เป็นเหมือนท่อนไม้ที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ไฟไหม้ทั้งสองข้าง ตรงกลางเปื้อนคูถ ย่อม
ไม่อำนวยประโยชน์เป็นเครื่องเรือน๑ ทั้งไม่อำนวยประโยชน์เป็นอุปกรณ์ในป่า๒
ในบุคคล ๒ จำพวกแรกของบุคคล ๔ จำพวกเหล่านั้นข้างต้นนี้ บุคคลผู้
ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองงามกว่าและประณีตกว่า
ในบุคคล ๓ จำพวกแรก บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติ
เพื่อเกื้อกูลผู้อื่นงามกว่าและประณีตกว่า
ในบุคคล ๔ จำพวก บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล
ผู้อื่น เป็นเลิศ ประเสริฐที่สุด เป็นประธาน สูงสุด ยิ่งใหญ่ที่สุด


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๖. ราควินยสูตร

เปรียบเหมือนนมสดจากแม่โค นมส้มจากนมสด เนยข้นจากนมส้ม เนยใส
จากเนยข้น ยอดเนยใสจากเนยใส๑ ยอดเนยใส ชาวโลกถือว่าเป็นเลิศในบรรดา
นมสดเป็นต้นนั้น ฉันใด
บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อ
เกื้อกูลผู้อื่นเป็นเลิศ ประเสริฐสุด เป็นประธาน สูงสุด ยิ่งใหญ่ที่สุด ฉันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ฉวาลาตสูตรที่ ๕ จบ

๖. ราควินยสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ

[๙๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
๒. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง
๓. บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
๔. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ แต่ไม่ชักชวน
ผู้อื่นเพื่อกำจัดราคะ ตนเองเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นเพื่อกำจัด
โทสะ ตนเองเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นเพื่อกำจัดโมหะ
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ แต่ชักชวนผู้
อื่นเพื่อกำจัดราคะ ตนเองเป็นผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ แต่ชักชวนผู้อื่นเพื่อกำจัด


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๗.ขิปปนิสันติสูตร

โทสะ ตนเองเป็นผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ แต่ชักชวนผู้อื่นเพื่อกำจัดโมหะ
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะและไม่ชักชวน
ผู้อื่นเพื่อกำจัดราคะ ตนเองเป็นผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะและไม่ชักชวนผู้อื่นเพื่อ
กำจัดโทสะ ตนเองเป็นผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะและไม่ชักชวนผู้อื่นเพื่อกำจัดโมหะ
บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะและชักชวนผู้อื่น
เพื่อกำจัดราคะ ตนเองเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะและชักชวนผู้อื่นเพื่อกำจัดโทสะ
ตนเองเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะและชักชวนผู้อื่นเพื่อกำจัดโมหะ บุคคลผู้ปฏิบัติ
เพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ราควินยสูตรที่ ๖ จบ

๗. ขิปปนิสันติสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้รู้ได้เร็ว

[๙๗] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
๒. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง
๓. บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
๔. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๗.ขิปปนิสันติสูตร

บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้สามารถรู้ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ทรงจำธรรม
ที่ฟังแล้วจำไว้ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม๑ แต่หามีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ อันประกอบด้วย
วาจาชาวเมืองที่สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้ไม่ ทั้งไม่ชี้แจงให้
เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจ ให้สดชื่นร่าเริง บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อ
เกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่สามารถรู้ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ทรงจำ
ธรรมที่ฟังแล้วไว้ ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ หารู้อรรถรู้ธรรมแล้ว
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ แต่มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำอ่อนหวาน อัน
ประกอบด้วยวาจาชาวเมืองที่สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้ ทั้ง
ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ ให้สดชื่นร่าเริง บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่
ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่สามารถรู้ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ทรงจำ
ธรรมที่ฟังแล้วไว้ ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ หารู้อรรถรู้ธรรมแล้ว
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ และหามีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ อัน
ประกอบด้วยวาจาชาวเมืองที่สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้ไม่ ทั้ง
ไม่ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตน
เองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๙.สิกขาปทสูตร

บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้สามารถรู้ได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย ทรงจำธรรม
ที่ฟังแล้วไว้ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม และมีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ อันประกอบด้วย
วาจาชาวเมืองที่สละสลวย ไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้ ทั้งชี้แจงให้เพื่อน
พรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล
ผู้อื่น เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ขิปปนิสันติสูตรที่ ๗ จบ

๘. อัตตหิตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง

[๙๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
๒. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง
๓. บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
๔. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

อัตตหิตสูตรที่ ๘ จบ

๙. สิกขาปทสูตร
ว่าด้วยสิกขาบทเป็นเหตุให้เกื้อกูลและไม่เกื้อกูล

[๙๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๙.สิกขาปทสูตร

๑. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
๒. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง
๓. บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
๔. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลในโลกนี้ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้
งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้
งดเว้นจากการลักทรัพย์ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม แต่ไม่
ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการ
พูดเท็จ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเท็จ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการ
เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้
งดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท บุคคล
ผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ไม่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ แต่ชักชวนผู้อื่นให้
งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ตนเองเป็นผู้ไม่เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุรา
และเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท แต่ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการเสพของ
มึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล
ผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ไม่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์และไม่ชักชวน
ผู้อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ตนเองเป็นผู้ไม่เว้นขาดจากการเสพของมึนเมา
คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทและไม่ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการ
เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติ
เพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๑๐.โปตลิยสูตร

บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์และชักชวนผู้
อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์และชักชวนผู้อื่น
ให้งดเว้นจากการลักทรัพย์ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามและ
ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการ
พูดเท็จและชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเท็จ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการเสพ
ของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทและชักชวนผู้อื่นให้งดเว้น
จากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท บุคคลผู้
ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

สิกขาปทสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. โปตลิยสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อโปตลิยะ

[๑๐๐] สมัยนั้นแล ปริพาชกชื่อโปตลิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรื่องนี้กับโปตลิยปริพาชกดังนี้ว่า
“โปตลิยะ บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล แต่ไม่กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล แต่ไม่กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๑๐.โปตลิยสูตร

๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาลและไม่กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาลและกล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล
โปตลิยะ บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
โปตลิยะ บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ ท่านชอบใจบุคคลจำพวกไหนว่างามกว่า
และประณีตกว่า”
โปตลิยปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม บุคคล ๔ จำพวกนี้มี
ปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล แต่ไม่กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล แต่ไม่กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาลและไม่กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาลและกล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล
ข้าแต่ท่านพระโคดม บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค ๑๐.โปตลิยสูตร

บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ ข้าพระองค์ชอบใจบุคคลผู้ไม่กล่าวติเตียนผู้ควร
ติเตียนตามความเป็นจริง เหมาะแก่กาล ไม่กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตาม
ความเป็นจริง เหมาะแก่กาลนี้ เป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะอุเบกขานี้เป็นธรรมที่งดงามยิ่งนัก”
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า “โปตลิยะ บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง ฯลฯ บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาลและกล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง เหมาะแก่กาลนี้
เป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมคือความเป็นผู้รู้จัก
กาลนี้งดงามยิ่งนัก”
โปตลิยปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม บุคคล ๔ จำพวกนี้มี
ปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล แต่ไม่กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็น
จริง เหมาะแก่กาล
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล แต่ไม่กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาลและไม่กล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาลและกล่าวสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง
เหมาะแก่กาล
ข้าแต่ท่านพระโคดม บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๒.ทุติยปัณณาสก์]
๕.อสุรวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ข้าแต่ท่านพระโคดม บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ ข้าพระองค์ชอบใจบุคคล
ผู้กล่าวติเตียนผู้ควรติเตียนตามความเป็นจริง เหมาะแก่กาล และกล่าวสรรเสริญ
ผู้ควรสรรเสริญตามความเป็นจริง เหมาะแก่กาลนี้ เป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมคือความเป็นผู้รู้จักกาลนี้งดงามยิ่งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม
ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดโดยตั้งใจว่า ‘คนมี
ตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์
เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

โปตลิยสูตรที่ ๑๐ จบ
อสุรวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อสุรสูตร ๒. ปฐมสมาธิสูตร
๓. ทุติยสมาธิสูตร ๔. ตติยสมาธิสูตร
๕. ฉวาลาตสูตร ๖. ราควินยสูตร
๗. ขิปปนิสันติสูตร ๘. อัตตหิตสูตร
๙. สิกขาปทสูตร ๑๐. โปตลิยสูตร

ทุติยปัณณาสก์ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๑.วลาหกวรรค ๑. ปฐมวลาหกสูตร

๓. ตติยปัณณาสก์
๑. วลาหกวรรค
หมวดว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนเมฆ
๑. ปฐมวลาหกสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนเมฆ สูตรที่ ๑

[๑๐๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย เมฆ ๔ ชนิดนี้
เมฆ ๔ ชนิด๑ อะไรบ้าง คือ
๑. เมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก
๒. เมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม
๓. เมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก
๔. เมฆที่คำรามและให้ฝนตก
ภิกษุทั้งหลาย เมฆ ๔ ชนิดนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเปรียบเหมือนเมฆ ๔ จำพวกนี้
มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก
๒. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม
๓. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก
๔. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๑.วลาหกวรรค ๒. ทุติยวลาหกสูตร

บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบพูด แต่ไม่ทำ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำราม
แต่ไม่ให้ฝนตก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนเมฆที่
คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบทำ แต่ไม่พูด บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ให้
ฝนตก แต่ไม่คำราม เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือน
เมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่พูดและไม่ทำ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำราม
และไม่ให้ฝนตก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนเมฆที่ไม่
คำรามและไม่ให้ฝนตก
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบพูดและชอบทำ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่
คำรามและให้ฝนตก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนเมฆ
ที่คำรามและให้ฝนตก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนเมฆ ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ปฐมวลาหกสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทุติยวลาหกสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนเมฆ สูตรที่ ๒

[๑๐๒] ภิกษุทั้งหลาย เมฆ ๔ ชนิดนี้
เมฆ ๔ ชนิด อะไรบ้าง คือ
๑. เมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก ๒. เมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม
๓. เมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก ๔. เมฆที่คำรามและให้ฝนตก
ภิกษุทั้งหลาย เมฆ ๔ ชนิดนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๑.วลาหกวรรค ๒. ทุติยวลาหกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเปรียบเหมือนเมฆ ๔ จำพวกนี้
มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก
๒. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม
๓. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก
๔. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ แต่เขาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)’ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำราม แต่ไม่ให้
ฝนตก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนเมฆที่คำราม แต่
ไม่ให้ฝนตก
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ แต่เขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ บุคคลเปรียบ
เหมือนเมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคล
ประเภทนี้ว่าเหมือนเมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ
คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ และเขาไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าว
เปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๑.วลาหกวรรค ๓. กุมภสูตร

บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ และเขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ บุคคลเปรียบ
เหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้
ว่าเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนเมฆ ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ทุติยวลาหกสูตรที่ ๒ จบ

๓. กุมภสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนหม้อ

[๑๐๓] ภิกษุทั้งหลาย หม้อ ๔ ชนิดนี้
หม้อ ๔ ชนิด๑ อะไรบ้าง คือ
๑. หม้อเปล่าแต่ปิดฝา ๒. หม้อเต็มแต่เปิดฝา
๓. หม้อเปล่าและเปิดฝา ๔. หม้อเต็มและปิดฝา
ภิกษุทั้งหลาย หม้อ ๔ ชนิดนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเปรียบเหมือนหม้อ ๔ จำพวกนี้
มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเปล่าแต่ปิดฝา
๒. บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเต็มแต่เปิดฝา
๓. บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเปล่าและเปิดฝา
๔. บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเต็มและปิดฝา


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๑.วลาหกวรรค ๓. กุมภสูตร

บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเปล่าแต่ปิดฝา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่น่าเลื่อมใส แต่เขา
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเปล่าแต่ปิดฝา เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหม้อเปล่าแต่ปิดฝา
บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเต็มแต่เปิดฝา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่ไม่น่าเลื่อมใส แต่เขา
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเต็มแต่เปิดฝา เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหม้อเต็มแต่เปิดฝา
บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเปล่าและเปิดฝา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่ไม่น่าเลื่อมใส และเขา
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเปล่าและเปิดฝา เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหม้อเปล่าและเปิดฝา
บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเต็มและปิดฝา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่น่าเลื่อมใส และเขา
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเต็มและปิดฝา เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหม้อเต็มและปิดฝา
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนหม้อ ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

กุมภสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]
๑. วลาหกวรรค ๔. อุทกรหทสูตร

๔. อุทกรหทสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำ

[๑๐๔] ภิกษุทั้งหลาย ห้วงน้ำ ๔ ชนิดนี้
ห้วงน้ำ ๔ ชนิด๑ อะไรบ้าง คือ
๑. ห้วงน้ำตื้นแต่เงาลึก ๒. ห้วงน้ำลึกแต่เงาตื้น
๓. ห้วงน้ำตื้นและเงาตื้น ๔. ห้วงน้ำลึกและเงาลึก
ภิกษุทั้งหลาย ห้วงน้ำ ๔ ชนิดนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำ ๔ จำพวกนี้แล
มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำตื้นแต่เงาลึก
๒. บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกแต่เงาตื้น
๓. บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำตื้นและเงาตื้น
๔. บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกและเงาลึก
บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำตื้นแต่เงาลึก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่น่าเลื่อมใส แต่เขาไม่
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำตื้นแต่เงาลึก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนห้วงน้ำตื้นแต่เงาลึก
บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกแต่เงาตื้น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่ไม่น่าเลื่อมใส แต่เขา


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]
๑. วลาหกวรรค ๕. อัมพสูตร

รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกแต่เงาตื้น เป็นอย่างนี้แล เรากล่าว
เปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนห้วงน้ำลึกแต่เงาตื้น
บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำตื้นและเงาตื้น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่ไม่น่าเลื่อมใส และเขา
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำตื้นและเงาตื้น เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนห้วงน้ำตื้นและเงาตื้น
บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกและเงาลึก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่น่าเลื่อมใส และเขา
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกและเงาลึก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนห้วงน้ำลึกและเงาลึก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำ ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

อุทกรหทสูตรที่ ๔ จบ

๕. อัมพสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนมะม่วง

[๑๐๕] ภิกษุทั้งหลาย มะม่วง ๔ ชนิดนี้
มะม่วง ๔ ชนิด๑ อะไรบ้าง คือ
๑. มะม่วงดิบแต่ผิวสุก ๒. มะม่วงสุกแต่ผิวดิบ
๓. มะม่วงดิบและผิวดิบ ๔. มะม่วงสุกและผิวสุก
ภิกษุทั้งหลาย มะม่วง ๔ ชนิดนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]
๑. วลาหกวรรค ๕. อัมพสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วง ๔ จำพวกนี้
มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงดิบแต่ผิวสุก
๒. บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกแต่ผิวดิบ
๓. บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงดิบและผิวดิบ
๔. บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกและผิวสุก
บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงดิบแต่ผิวสุก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่น่าเลื่อมใส แต่เขา
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงดิบแต่ผิวสุก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนมะม่วงดิบแต่ผิวสุก
บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกแต่ผิวดิบ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่ไม่น่าเลื่อมใส แต่เขา
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกและผิวดิบ เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนมะม่วงสุกแต่ผิวดิบ
บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงดิบและผิวดิบ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่ไม่น่าเลื่อมใส และเขา
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงดิบและผิวดิบ เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนมะม่วงดิบและผิวดิบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]
๑. วลาหกวรรค ๗. มูสิกสูตร

บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกและผิวสุก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่น่าเลื่อมใส และเขา
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกและผิวสุก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนมะม่วงสุกและผิวสุก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วง ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

อัมพสูตรที่ ๕ จบ

๖. ( )๑
๗. มูสิกสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนหนู

[๑๐๗] ภิกษุทั้งหลาย หนู ๔ ชนิดนี้
หนู ๔ ชนิด๒ อะไรบ้าง คือ
๑. หนูขุดรูแต่ไม่อยู่ ๒. หนูอยู่แต่ไม่ขุดรู
๓. หนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ ๔. หนูขุดรูและอยู่
ภิกษุทั้งหลาย หนู ๔ ชนิดนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเปรียบเหมือนหนู ๔ จำพวกมีปรากฏ
อยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๒ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูแต่ไม่อยู่
๒. บุคคลเปรียบเหมือนหนูอยู่แต่ไม่ขุดรู
๓. บุคคลเปรียบเหมือนหนูไม่ขุดรูและไม่อยู่
๔. บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูและอยู่


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]
๑. วลาหกวรรค ๗. มูสิกสูตร

บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูแต่ไม่อยู่ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ แต่เขาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือน
หนูขุดรูแต่ไม่อยู่ เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหนูขุดรู
แต่ไม่อยู่
บุคคลเปรียบเหมือนหนูอยู่แต่ไม่ขุดรู เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ แต่เขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือน
หนูอยู่แต่ไม่ขุดรู เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหนูอยู่
แต่ไม่ขุดรู
บุคคลเปรียบเหมือนหนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ และเขาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ บุคคลเปรียบ
เหมือนหนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือน
หนูไม่ขุดรูและไม่อยู่
บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูและอยู่ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ และเขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ บุคคลเปรียบเหมือน
หนูขุดรูและอยู่ เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหนูขุดรู
และอยู่
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนหนู ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

มูสิกสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]
๑. วลาหกวรรค ๘. พลิวัททสูตร

๘. พลิวัททสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนโคผู้

[๑๐๘] ภิกษุทั้งหลาย โคผู้ ๔ ชนิดนี้
โคผู้ ๔ ชนิด๑ อะไรบ้าง คือ
๑. โคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงตน แต่ไม่ข่มเหงโคฝูงอื่น
๒. โคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงอื่น แต่ไม่ข่มเหงโคฝูงตน
๓. โคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงตนและข่มเหงโคฝูงอื่น
๔. โคผู้ที่ไม่ข่มเหงโคฝูงตนและไม่ข่มเหงโคฝูงอื่น
ภิกษุทั้งหลาย โคผู้ ๔ ชนิดนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ ๔ จำพวก
มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงตน แต่ไม่ข่มเหงโคฝูงอื่น
๒. บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงอื่น แต่ไม่ข่มเหงโคฝูงตน
๓. บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงตนและข่มเหงโคฝูงอื่น
๔. บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ที่ไม่ข่มเหงโคฝูงตนและไม่ข่มเหงโคฝูงอื่น
บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงตน แต่ไม่ข่มเหงโคฝูงอื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้ชนในบริษัทของตนหวาดกลัว แต่ไม่ทำให้ชน
ในบริษัทของผู้อื่นหวาดกลัว บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงตน แต่ไม่
ข่มเหงโคฝูงอื่น เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนโคผู้ที่
ข่มเหงโคฝูงตน แต่ไม่ข่มเหงโคฝูงอื่น
บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงอื่น แต่ไม่ข่มเหงโคฝูงตน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้ชนในบริษัทของผู้อื่นหวาดกลัว แต่ไม่ทำให้
ชนในบริษัทของตนหวาดกลัว บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงอื่น แต่ไม่
ข่มเหงโคฝูงตน เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนโคผู้ที่
ข่มเหงโคฝูงอื่น แต่ไม่ข่มเหงโคฝูงตน


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๑.วลาหกวรรค ๙.รุกขสูตร

บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงตนและข่มเหงโคฝูงอื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้ชนในบริษัทของตนหวาดกลัวและทำให้ชนในบริษัท
ของผู้อื่นหวาดกลัว บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงตนและข่มเหงโคฝูงอื่น
เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนโคผู้ที่ข่มเหงโคฝูงตน
และข่มเหงโคฝูงอื่น
บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ที่ไม่ข่มเหงโคฝูงตนและไม่ข่มเหงโคฝูงอื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ทำให้ชนในบริษัทของตนหวาดกลัวและไม่ทำให้ชน
ในบริษัทของผู้อื่นหวาดกลัว บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ที่ไม่ข่มเหงโคฝูงตนและไม่
ข่มเหงโคฝูงอื่น เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนโคผู้ที่ไม่
ข่มเหงโคฝูงตนและไม่ข่มเหงโคฝูงอื่น
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนโคผู้ ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

พลิวัททสูตรที่ ๘ จบ

๙. รุกขสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้

[๑๐๙] ภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ ๔ ชนิดนี้
ต้นไม้ ๔ ชนิด๑ อะไรบ้าง คือ
๑. ต้นไม้เนื้ออ่อนและมีต้นไม้เนื้ออ่อน๒แวดล้อม
๒. ต้นไม้เนื้ออ่อน แต่มีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม
๓. ต้นไม้เนื้อแข็ง แต่มีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม
๔. ต้นไม้เนื้อแข็งและมีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม
ภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ ๔ ชนิดนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๑.วลาหกวรรค ๙.รุกขสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้ ๔ จำพวก
มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อนและมีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม
๒. บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อน แต่มีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม
๓. บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้อแข็ง แต่มีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม
๔. บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้อแข็งและมีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม
บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อนและมีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม แม้บริษัทของเขาก็
เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อนและมีต้นไม้เนื้ออ่อน
แวดล้อม เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อน
และมีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม
บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อน แต่มีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม แต่บริษัทของเขาเป็นผู้มีศีล
มีกัลยาณธรรม บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อน แต่มีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม
เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อน แต่มีต้นไม้
เนื้อแข็งแวดล้อม
บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้อแข็ง แต่มีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่บริษัทของเขาเป็นผู้ทุศีล
มีธรรมเลวทราม บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้อแข็ง แต่มีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม
เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนต้นไม้เนื้อแข็ง แต่มีต้นไม้
เนื้ออ่อนแวดล้อม
บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้อแข็งและมีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม แม้บริษัทของเขาก็
เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้อแข็งและมีต้นไม้เนื้อแข็ง
แวดล้อม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๑.วลาหกวรรค ๑๐.อาสีวิสสูตร

เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนต้นไม้เนื้อแข็ง
และมีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้ ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

รุกขสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อาสีวิสสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษ

[๑๑๐] ภิกษุทั้งหลาย อสรพิษ ๔ จำพวกนี้
อสรพิษ ๔ จำพวก๑ อะไรบ้าง คือ
๑. อสรพิษมีพิษแล่น แต่พิษไม่ร้าย
๒. อสรพิษมีพิษร้าย แต่พิษไม่แล่น
๓. อสรพิษมีพิษแล่นและพิษร้าย
๔. อสรพิษมีพิษไม่แล่นและพิษไม่ร้าย
ภิกษุทั้งหลาย อสรพิษ ๔ จำพวกนี้แล
ในทำนองเดียวกัน บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษ ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่
ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษมีพิษแล่น แต่พิษไม่ร้าย
๒. บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษมีพิษร้าย แต่พิษไม่แล่น
๓. บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษมีพิษแล่นและพิษร้าย
๔. บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษมีพิษไม่แล่นและพิษไม่ร้าย
บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษมีพิษแล่น แต่พิษไม่ร้าย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โกรธอยู่บ่อย ๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่คงอยู่นาน
บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษมีพิษแล่น แต่พิษไม่ร้าย เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนอสรพิษมีพิษแล่น แต่พิษไม่ร้าย


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๑.วลาหกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษมีพิษร้าย แต่พิษไม่แล่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่โกรธบ่อยนัก แต่ความโกรธของเขานั้นคงอยู่นาน
บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษมีพิษร้าย แต่พิษไม่แล่น เป็นอย่างนี้แล เรากล่าว
เปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนอสรพิษมีพิษร้าย แต่พิษไม่แล่น
บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษมีพิษแล่นและพิษร้าย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โกรธอยู่บ่อย ๆ และความโกรธของเขาก็คงอยู่นาน
บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษมีพิษแล่นและพิษร้าย เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนอสรพิษมีพิษแล่นและพิษร้าย
บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษมีพิษไม่แล่นและพิษไม่ร้าย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่โกรธบ่อยนักและความโกรธของเขานั้นก็ไม่คงอยู่
นาน บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษมีพิษไม่แล่นและพิษไม่ร้าย เป็นอย่างนี้แล เรา
กล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนอสรพิษมีพิษไม่แล่นและพิษไม่ร้าย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษ ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่
ในโลก

อาสีวิสสูตรที่ ๑๐ จบ
วลาหกวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมวลาหกสูตร ๒. ทุติยวลาหกสูตร
๓. กุมภสูตร ๔. อุทกรหทสูตร
๕. อัมพสูตร ๖. (ไม่ปรากฏชื่อสูตร)
๗. มูสิกสูตร ๘. พลิวัททสูตร
๙. รุกขสูตร ๑๐. อาสีวิสสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๒.เกสิวรรค ๑.เกสิสูตร

๒. เกสิวรรค
หมวดว่าด้วยเกสีสารถีผู้ฝึกม้า
๑. เกสิสูตร
ว่าด้วยเกสีสารถีผู้ฝึกม้า

[๑๑๑] ครั้งนั้นแล เกสีสารถีผู้ฝึกม้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามเกสีสารถีผู้ฝึก
ม้าดังนี้ว่า
“เกสี ท่านนั่นแล เขารู้กันทั่วไปว่าเป็นสารถีผู้ฝึกม้า ก็ท่านฝึกม้าที่ควรฝึกได้
อย่างไร”
เกสีสารถีผู้ฝึกม้าทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ฝึกม้าที่ควรฝึก
ด้วยวิธีแบบสุภาพ๑บ้าง วิธีแบบรุนแรง๒บ้าง วิธีทั้งแบบสุภาพและแบบรุนแรงบ้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปอีกว่า “เกสี ถ้าม้าที่ควรฝึกของท่านฝึกไม่ได้
ด้วยวิธีแบบสุภาพ วิธีแบบรุนแรง วิธีทั้งแบบสุภาพและแบบรุนแรง ท่านจะทำกับ
มันอย่างไร”
เกสีสารถีผู้ฝึกม้าทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าม้าที่ควรฝึกของ
ข้าพระองค์ฝึกไม่ได้ด้วยวิธีแบบสุภาพ วิธีแบบรุนแรง วิธีทั้งแบบสุภาพแและแบบ
รุนแรง ข้าพระองค์จะฆ่ามันเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้าพระองค์คิดว่า
ความเสียหายอย่าได้มีแก่สำนักอาจารย์ของเราเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระ
ผู้มีพระภาคเป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงฝึกบุรุษ
ที่ควรฝึกอย่างไร”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]๒.เกสิวรรค ๑.เกสิสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เกสี เราฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ด้วยวิธีแบบสุภาพบ้าง
วิธีแบบรุนแรงบ้าง วิธีทั้งแบบสุภาพแและแบบรุนแรงบ้าง
บรรดาวิธี ๓ อย่างนั้น ต่อไปนี้เป็นถ้อยคำในวิธีแบบสุภาพ คือ กายสุจริตเป็น
อย่างนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นอย่างนี้ วจีสุจริตเป็นอย่างนี้ วิบากแห่งวจีสุจริต
เป็นอย่างนี้ มโนสุจริตเป็นอย่างนี้ วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นอย่างนี้ เทวดาเป็น
อย่างนี้ มนุษย์เป็นอย่างนี้
ต่อไปนี้เป็นถ้อยคำในวิธีแบบรุนแรง คือ กายทุจริตเป็นอย่างนี้ วิบากแห่ง
กายทุจริตเป็นอย่างนี้ วจีทุจริตเป็นอย่างนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นอย่างนี้ มโน-
ทุจริตเป็นอย่างนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นอย่างนี้ นรกเป็นอย่างนี้ กำเนิดสัตว์
ดิรัจฉานเป็นอย่างนี้ แดนเปรตเป็นอย่างนี้
ต่อไปนี้เป็นถ้อยคำในวิธีทั้งแบบสุภาพแและแบบรุนแรง คือ กายสุจริตเป็น
อย่างนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นอย่างนี้ กายทุจริตเป็นอย่างนี้ วิบากแห่งกาย-
ทุจริตเป็นอย่างนี้ วจีสุจริตเป็นอย่างนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นอย่างนี้ วจีทุจริต
เป็นอย่างนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นอย่างนี้ มโนสุจริตเป็นอย่างนี้ วิบากแห่งมโน
สุจริตเป็นอย่างนี้ มโนทุจริตเป็นอย่างนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นอย่างนี้ เทวดา
เป็นอย่างนี้ มนุษย์เป็นอย่างนี้ นรกเป็นอย่างนี้ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นอย่างนี้
แดนเปรตเป็นอย่างนี้”
เกสีสารถีผู้ฝึกม้าทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุรุษผู้ที่ควรฝึกได้
ของพระองค์ฝึกไม่ได้ด้วยวิธีแบบสุภาพ วิธีแบบรุนแรง วิธีทั้งแบบสุภาพแและแบบ
รุนแรง พระผู้มีพระภาคจะทำกับเขาอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เกสี ถ้าบุรุษผู้ที่ควรฝึกได้ของเราฝึกไม่ได้ด้วย
วิธีแบบสุภาพ วิธีแบบรุนแรง วิธีทั้งแบบสุภาพแและแบบรุนแรง เราก็ฆ่าเขาเสีย”
เกสีสารถีผู้ฝึกม้าทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การฆ่าสัตว์ไม่สมควรแก่
พระผู้มีพระภาคเลย ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสอย่างนี้ว่า ‘เราก็จะฆ่าเขาเสีย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๒.เกสิวรรค ๒.ชวสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เกสี ความจริงการฆ่าสัตว์ไม่สมควรแก่ตถาคต
แต่บุรุษผู้ที่ควรฝึกใด ฝึกไม่ได้ด้วยวิธีแบบสุภาพ วิธีแบบรุนแรง วิธีทั้งแบบสุภาพ
และแบบรุนแรง ตถาคตย่อมกำหนดบุรุษนั้นว่าไม่ควรว่ากล่าวสั่งสอน เพื่อน
พรหมจารีผู้รู้ต่างกำหนดว่าเขาเป็นผู้ไม่ควรว่ากล่าวสั่งสอน เกสี เพราะข้อที่ว่า
ตถาคตย่อมกำหนดบุรุษนั้นว่าไม่ควรว่ากล่าวสั่งสอน แม้เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ต่าง
กำหนดว่าเขาเป็นผู้ไม่ควรว่ากล่าวสั่งสอน ดังนี้นั้นถือว่าเป็นการฆ่าในอริยวินัย”
เกสีสารถีผู้ฝึกม้ากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่ตถาคตกำหนดผู้นั้น
ว่าเป็นผู้ไม่ควรว่ากล่าวสั่งสอน แม้เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ก็กำหนดว่าเขาเป็นผู้ไม่ควร
ว่ากล่าวสั่งสอน ชื่อว่าเป็นการฆ่าอย่างดีแน่นอน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระ
ผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย
ประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้
หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ขอ
ถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

เกสิสูตรที่ ๑ จบ

๒. ชวสูตร
ว่าด้วยความว่องไวของม้าต้นและของภิกษุ

[๑๑๒] ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔
ประการย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้
องค์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความซื่อตรง ๒. ความว่องไว
๓. ความอดทน ๔. ความสงบเสงี่ยม
ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ
นี้แลย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๒.เกสิวรรค ๓.ปโตทสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควร
แก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความซื่อตรง ๒. ความว่องไว
๓. ความอดทน ๔. ความสงบเสงี่ยม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก

ชวสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปโตทสูตร
ว่าด้วยปฏักของสารถี

[๑๑๓] ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ๔ ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
ม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ๔ ประเภท อะไรบ้าง คือ
๑. ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้พอเห็นเงาปฏัก๑ก็หวาดหวั่น
สำนึกว่า ‘วันนี้ สารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำการอะไรหนอ เราจัก
สนองเขาอย่างไร’ ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้ เป็นอย่าง
นี้แล ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีประเภทที่ ๑ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก
๒. ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้เห็นเงาปฏักก็ไม่หวาดหวั่น ไม่
สำนึก แต่เมื่อถูกแทงด้วยปฏักที่ขุมขนจึงหวาดหวั่น สำนึกว่า
‘วันนี้ สารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำการอะไรหนอ เราจะสนองเขา
อย่างไร’ ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล ม้า
อาชาไนยพันธุ์ดีประเภทที่ ๒ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๒.เกสิวรรค ๓.ปโตทสูตร

๓. ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้เห็นเงาปฏักก็ไม่หวาดหวั่น ไม่
สำนึก แม้จะถูกแทงด้วยปฏักที่ขุมขนก็ยังไม่หวาดหวั่น ไม่
สำนึก แต่เมื่อถูกแทงด้วยปฏักถึงผิวหนังจึงหวาดหวั่น สำนึกว่า
‘วันนี้ สารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำการอะไรหนอ เราจะสนองเขา
อย่างไร’ ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล ม้า
อาชาไนยพันธุ์ดีประเภทที่ ๓ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก
๔. ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้เห็นเงาปฏักก็ไม่
หวาดหวั่น ไม่สำนึก แม้จะถูกแทงด้วยปฏักที่ขุมขนก็ไม่หวาดหวั่น ไม่สำนึก
แม้จะถูกแทงด้วยปฏักถึงผิวหนังก็ไม่หวาดหวั่น ไม่สำนึก แต่เมื่อ
ถูกแทงด้วยปฏักถึงกระดูกจึงหวาดหวั่น สำนึกว่า ‘วันนี้ สารถี
ผู้ฝึกม้าจักให้เราทำการอะไรหนอ เราจะสนองเขาอย่างไร’ ม้า
อาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล ม้าอาชาไนย
พันธุ์ดีประเภทที่ ๔ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ๔ ประเภทนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ๔ จำพวกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล
มีปรากฏอยู่ในโลก
บุรุษอาชาไนย ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ฟังข่าวว่า ‘ในหมู่บ้านหรือ
ตำบลโน้น สตรีหรือบุรุษประสบทุกข์หรือตาย’ เขาสลดใจ
สำนึกตัวเพราะฟังข่าวนั้น จึงเริ่มบำเพ็ญเพียรโดยแยบคาย อุทิศ
กายและใจ ทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งทั่ว
ถึงด้วยปัญญา เรากล่าวเปรียบบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้ว่าเหมือน
ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีเห็นเงาปฏักก็หวาดหวั่น สำนึก บุรุษอาชาไนย
ผู้เจริญบางคนในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ
ประเภทที่ ๑ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก
๒. บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ไม่ได้ฟังข่าวว่า ‘ในหมู่บ้าน
หรือตำบลโน้น สตรีหรือบุรุษประสบทุกข์หรือตาย’ แต่เขาเห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๒.เกสิวรรค ๓.ปโตทสูตร

สตรีหรือบุรุษประสบทุกข์หรือตายด้วยตัวเองเลยทีเดียว เขาสลดใจ
สำนึกตัวเพราะเห็นเหตุการณ์นั้น จึงเริ่มบำเพ็ญเพียรโดยแยบคาย
อุทิศกายและใจ ทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็น
แจ้งทั่วถึงด้วยปัญญา เรากล่าวเปรียบบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้ว่า
เหมือนม้าอาชาไนยพันธุ์ดีที่ถูกแทงด้วยปฏักจึงหวาดหวั่น สำนึก
บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล บุรุษอาชาไนย
ผู้เจริญประเภทที่ ๒ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก
๓. บุรุษอาชาไนยบางคนในโลกนี้ไม่ได้ฟังข่าวว่า ‘ในหมู่บ้านหรือ
ตำบลชื่อโน้น สตรีหรือบุรุษประสบทุกข์หรือตาย’ ไม่ได้เห็นสตรี
หรือบุรุษประสบทุกข์หรือตายด้วยตัวเอง แต่ญาติหรือสาโลหิต๑
ของเขาประสบทุกข์หรือตาย เขาสลดใจ สำนึกตัวเพราะเหตุการณ์
นั้น จึงเริ่มบำเพ็ญเพียรโดยแยบคาย อุทิศกายและใจ ทำให้แจ้ง
ปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งทั่วถึงด้วยปัญญา เรา
กล่าวเปรียบบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้ว่าเหมือนม้าอาชาไนยพันธุ์ดี
ที่ถูกแทงด้วยปฏักถึงผิวหนังจึงหวาดหวั่น สำนึก บุรุษอาชาไนย
ผู้เจริญบางคนในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ
ประเภทที่ ๓ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก
๔. บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ไม่ได้ฟังข่าวว่า ‘ในหมู่บ้านหรือ
ตำบลโน้น สตรีหรือบุรุษประสบทุกข์หรือตาย’ ไม่ได้เห็นสตรีหรือ
บุรุษประสบทุกข์หรือตายด้วยตัวเอง ทั้งญาติหรือสาโลหิตของเขา
ก็ไม่ได้ประสบทุกข์หรือตาย แต่ตัวเขาเองประสบเวทนาทั้งหลาย
อันมีในร่างกายเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี
ไม่น่าพอใจ พรากชีวิต เขาสลดใจ สำนึกตัวเพราะประสบทุกข์นั้น
จึงเริ่มบำเพ็ญเพียรโดยแยบคาย อุทิศกายและใจ ทำให้แจ้ง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๒.เกสิวรรค ๔.นาคสูตร

ปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งทั่วถึงด้วยปัญญา เรา
กล่าวเปรียบบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้ว่าเหมือนม้าอาชาไนยพันธุ์ดี
ที่ถูกแทงด้วยปฏักจนถึงกระดูกจึงหวาดหวั่น สำนึก บุรุษอาชาไนย
ผู้เจริญ บางคนในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ
ประเภทที่ ๔ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ปโตทสูตรที่ ๓ จบ

๔. นาคสูตร
ว่าด้วยองค์ของช้างต้น

[๑๑๔] ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการย่อม
เป็นช้างควรแก่พระราชา ควรเป็นช้างต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้
องค์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ช้างของพระราชาในโลกนี้
๑. เป็นสัตว์เชื่อฟัง ๒. เป็นสัตว์ฆ่าได้
๓. เป็นสัตว์อดทนได้ ๔. เป็นสัตว์ไปได้
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์เชื่อฟัง เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ตั้งใจ ใฝ่ใจ สำรวมใจ เงี่ยหูฟังเหตุการณ์ที่
ควาญช้างให้ทำคือเหตุการณ์ที่เคยทำหรือไม่เคยทำ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์เชื่อฟัง
เป็นอย่างนี้แล
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ฆ่าได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ฆ่าช้างบ้าง ฆ่าควาญช้างบ้าง
ฆ่าม้าบ้าง ฆ่าคนขี่ม้าบ้าง ทำลายรถบ้าง ฆ่าพลรถบ้าง ฆ่าพลเดินเท้าบ้าง ช้าง
ของพระราชาเป็นสัตว์ฆ่าได้ เป็นอย่างนี้แล
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนได้ เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๒.เกสิวรรค ๔.นาคสูตร

คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว อดทนต่อการประหารด้วย
หอก ดาบ ลูกศร ง้าว เสียงกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ และมโหระทึกที่กระหึ่ม ช้าง
ของพระราชาเป็นสัตว์อดทนได้ เป็นอย่างนี้แล
ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไปได้ เป็นอย่างไร
คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ไปสู่ทิศที่ควาญช้างไสไป คือ ทิศที่เคยไปหรือ
ทิศที่ไม่เคยไปได้โดยเร็วพลัน ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไปได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการนี้แลย่อม
เป็นช้างควรแก่พระราชา ควรเป็นช้างต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่
การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้เชื่อฟัง ๒. เป็นผู้ฆ่าได้
๓. เป็นผู้อดทน ๔. เป็นผู้ไปได้
ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟัง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ตั้งใจ ใฝ่ใจ สำรวมใจ เงี่ยโสตลงฟังธรรม ในเมื่อผู้
อื่นแสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟัง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ฆ่าได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ยินดีกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ยินดีพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ทำ
ให้ถึงความไม่มี ไม่ยินดีวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ทำ
ให้ถึงความไม่มี ภิกษุเป็นผู้ฆ่าได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้อดทนได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว
กระหาย ต่อการถูกเหลือบยุง แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายรบกวน ต่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๒.เกสิวรรค ๕.ฐานสูตร

ถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆ เป็นผู้อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิด
ขึ้นแล้วเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิต
ภิกษุเป็นผู้อดทนได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ไปได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมไปสู่ทิศที่ไม่เคยไปตลอดกาลยาวนานนี้ คือ
ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความ
คลายกำหนัด ความดับทุกข์ นิพพาน ภิกษุเป็นผู้ไปได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก

นาคสูตรที่ ๔ จบ

๕. ฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะแห่งความเสื่อมและความเจริญ

[๑๑๕] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ๑ ๔ ประการนี้
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจและเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย
๒. ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
๓. ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจ แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย
๔. ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจและเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
บรรดาฐานะ ๔ ประการนั้น ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจและเมื่อทำย่อมเป็น
ไปเพื่อความฉิบหาย บัณฑิตย่อมรู้ว่าฐานะนี้ไม่ควรทำทั้ง ๒ ส่วน คือ รู้ว่าไม่ควร
ทำทั้งส่วนที่เป็นฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจ และรู้ว่าไม่ควรทำทั้งส่วนที่เป็นฐานะ
ที่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย บัณฑิตย่อมรู้ว่าฐานะนี้ไม่ควรทำทั้ง ๒ ส่วน


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๒.เกสิวรรค ๖. อัปปมาทสูตร

บรรดาฐานะ ๔ ประการนั้น ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่เมื่อทำย่อม
เป็นไปเพื่อประโยชน์ พึงทราบคนพาลและบัณฑิตในเรื่องกำลังของบุรุษ ความเพียร
ของบุรุษ และความบากบั่นของบุรุษ คนพาลย่อมไม่เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ฐานะนี้
ที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็จริง แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์” เขาย่อมไม่ทำ
ฐานะนั้น เมื่อไม่ทำจึงเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ส่วนบัณฑิตย่อมเห็นประจักษ์ดังนี้ว่า
“ฐานะนี้ที่ให้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็จริง แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์” เขา
ย่อมทำฐานะนั้น เมื่อทำจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์
บรรดาฐานะ ๔ ประการนั้น ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจ แต่เมื่อทำย่อมเป็นไป
เพื่อความฉิบหาย พึงทราบคนพาลและบัณฑิตในเรื่องกำลังของบุรุษ ความเพียร
ของบุรุษ และความบากบั่นของบุรุษ คนพาลย่อมไม่เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ฐานะนี้
ที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจก็จริง แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย” เขาย่อมทำฐานะ
นั้น แต่เมื่อทำจึงเป็นไปเพื่อความฉิบหาย ส่วนบัณฑิตย่อมเห็นประจักษ์ดังนี้ว่า
“ฐานะนี้ที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจก็จริง แต่เมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย” เขาไม่
ทำฐานะนั้น เมื่อไม่ทำจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์
บรรดาฐานะ ๔ ประการนั้น ฐานะที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจ และเมื่อทำย่อม
เป็นไปเพื่อประโยชน์ บัณฑิตย่อมรู้ว่าฐานะนี้ควรทำทั้ง ๒ ส่วน คือ รู้ว่าควรทำ
ทั้งส่วนที่เป็นฐานะที่ให้ทำสิ่งที่น่าพอใจ และรู้ว่าควรทำทั้งส่วนที่เป็นฐานะที่เมื่อทำ
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ บัณฑิตย่อมรู้ว่าฐานะนี้ควรทำทั้ง ๒ ส่วน
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้แล

ฐานสูตรที่ ๕ จบ

๖. อัปปมาทสูตร
ว่าด้วยความไม่ประมาท

[๑๑๖] ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอควรทำความไม่ประมาทโดยฐานะ ๔ ประการ
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๒.เกสิวรรค ๗.อารักขสูตร

๑. จงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต และอย่าประมาทในการละ
กายทุจริตบำเพ็ญกายสุจริตนั้น
๒. จงละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต และอย่าประมาทในการละวจี
ทุจริตบำเพ็ญวจีสุจริตนั้น
๓. จงละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต และอย่าประมาทในการละ
มโนทุจริตบำเพ็ญมโนสุจริตนั้น
๔. จงละมิจฉาทิฏฐิ บำเพ็ญสัมมาทิฏฐิ และอย่าประมาทในการละ
มิจฉาทิฏฐิบำเพ็ญสัมมาทิฏฐินั้น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละวจีทุจริต
บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต ละมิจฉาทิฏฐิ บำเพ็ญสัมมาทิฏฐิ
เมื่อนั้นเธอย่อมไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในวันข้างหน้า

อัปปมาทสูตรที่ ๖ จบ

๗. อารักขสูตร
ว่าด้วยสติเครื่องรักษา

[๑๑๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจ
โดยสมควรแก่ตนในฐานะ ๔ ประการ
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
พึงทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตนว่า
๑. จิตของเราอย่ากำหนัดในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด
๒. จิตของเราอย่าขัดเคืองในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความขัดเคือง
๓. จิตของเราอย่าหลงในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความหลง
๔. จิตของเราอย่ามัวเมาในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความมัวเมา
ในกาลใด จิตของภิกษุไม่กำหนัดในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัดเพราะ
ปราศจากความกำหนัด จิตไม่ขัดเคืองในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความขัดเคืองเพราะ
ปราศจากความขัดเคือง จิตไม่หลงในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความหลงเพราะปราศจาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๒.เกสิวรรค ๘. สังเวชนียสูตร

ความหลง จิตไม่มัวเมาในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความมัวเมา เพราะปราศจากความ
มัวเมา ในกาลนั้น ภิกษุนั้นย่อมไม่หวาดผวา ไม่หวั่นไหว ไม่สะทกสะท้าน ไม่ถึง
ความสะดุ้ง และไม่หลงเชื่อแม้เพราะถ้อยคำของสมณะเป็นเหตุ

อารักขสูตรที่ ๗ จบ

๘. สังเวชนียสูตร๑
ว่าด้วยสังเวชนียสถาน

[๑๑๘] ภิกษุทั้งหลาย สังเวชนียสถาน๒ ๔ แห่งนี้เป็นสถานที่ที่กุลบุตรผู้มี
ศรัทธา ควรไปดู
สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง อะไรบ้าง คือ
๑. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดูด้วยระลึกว่า “ตถาคต
ประสูติในที่นี้”
๒. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดูด้วยระลึกว่า “ตถาคต
ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้”
๓. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดูด้วยระลึกว่า “ตถาคต
ทรงประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมในที่นี้”
๔. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดูด้วยระลึกว่า “ตถาคต
เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้”
ภิกษุทั้งหลาย สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้แลเป็นสถานที่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธา
ควรไปดู

สังเวชนียสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๒.เกสิวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๙. ปฐมภยสูตร
ว่าด้วยภัยภายใน สูตรที่ ๑

[๑๑๙] ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้
ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ชาติภัย (ภัยเกิดเพราะความเกิด)
๒. ชราภัย (ภัยเกิดเพราะความแก่)
๓. พยาธิภัย (ภัยเกิดเพราะความเจ็บไข้)
๔. มรณภัย (ภัยเกิดเพราะความตาย)
ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล

ปฐมภยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยภยสูตร
ว่าด้วยภัยภายนอก สูตรที่ ๒

[๑๒๐] ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้
ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อัคคีภัย (ภัยเกิดจากไฟ) ๒. อุทกภัย (ภัยเกิดจากน้ำ)
๓. ราชภัย (ภัยเกิดจากพระราชา) ๔. โจรภัย (ภัยเกิดจากโจร)
ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล

ทุติยภยสูตรที่ ๑๐ จบ
เกสิวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เกสิสูตร ๒. ชวสูตร
๓. ปโตทสูตร ๔. นาคสูตร
๕. ฐานสูตร ๖. อัปปมาทสูตร
๗. อารักขสูตร ๘. สังเวชนียสูตร
๙. ปฐมภยสูตร ๑๐. ทุติยภยสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๑.อัตตานุวาทสูตร

๓. ภยวรรค
หมวดว่าด้วยภัย
๑. อัตตานุวาทสูตร
ว่าด้วยอัตตานุวาทภัย

[๑๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้
ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อัตตานุวาทภัย๑ ๒. ปรานุวาทภัย๒
๓. ทัณฑภัย๓ ๔. ทุคติภัย๔
อัตตานุวาทภัย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ก็ถ้าเราพึงประพฤติชั่วด้วย
กาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ ไฉนเราจะติเตียนตัวเราเองโดยศีล
ไม่ได้” เขากลัวภัยที่เกิดจากการติเตียนตนเอง จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต
ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์
นี้เรียกว่า อัตตานุวาทภัย
ปรานุวาทภัย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ก็ถ้าเราพึงประพฤติชั่วด้วย
กาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ ไฉนคนอื่นจะติเตียนเราโดยศีล
ไม่ได้” เขากลัวภัยที่เกิดจากผู้อื่นติเตียน จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละ
วจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์
นี้เรียกว่า ปรานุวาทภัย


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๑.อัตตานุวาทสูตร

ทัณฑภัย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นพระราชารับสั่งให้จับโจรผู้มักประพฤติชั่วแล้ว
ให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิด คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้
ตะบองบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง
ตัดทั้งหูและจมูกบ้าง ทำให้เป็นภาชนะสำหรับรองหม้อน้ำข้าวบ้าง ทำให้เกลี้ยง
เกลาเหมือนสังข์บ้าง ทำให้มีปากเหมือนปากราหูบ้าง ทำให้มีพวงมาลัยไฟบ้าง
ทำให้มือมีไฟลุกโชติช่วงบ้าง ทำให้เป็นเกลียวหนังเนื้อทรายบ้าง ทำให้นุ่งหนังตน
เองเหมือนนุ่งผ้าขี้ริ้วบ้าง ทำให้ยืนกวางบ้าง ทำให้เหมือนเนื้อติดเบ็ดบ้าง ทำให้
เป็นชิ้นเท่ากหาปณะบ้าง ทำให้เป็นที่รับน้ำด่างบ้าง ทำให้หมุนเหมือนกลอนเหล็ก
บ้าง ทำให้เป็นตั่งที่ทำด้วยฟางบ้าง ราดด้วยน้ำมันร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง
ให้นอนหงายบนหลาวทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่บ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง
เขามีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะกรรมชั่วเช่นใดเป็นเหตุ พระราชาจึงรับสั่งให้จับ
โจรผู้มักประพฤติชั่วแล้วให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิด คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัด
ศีรษะด้วยดาบบ้าง” ก็ถ้าเราเองพึงทำกรรมชั่วเช่นนั้น พระราชาพึงรับสั่งให้จับเรา
แล้วให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิดอย่างนี้ คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัดศีรษะด้วย
ดาบบ้าง เขากลัวทัณฑภัย ไม่เที่ยวแย่งชิงสิ่งของของคนอื่น นี้เรียกว่า ทัณฑภัย
ทุคติภัย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ผลของกายทุจริตในภพหน้า
เป็นผลเลวทราม (เป็นทุกข์) ผลของวจีทุจริตในภพหน้าเป็นผลเลวทราม ผลของ
มโนทุจริตในภพหน้าเป็นผลเลวทราม ก็ถ้าเราพึงประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่ว
ด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ ความชั่วบางอย่างนั้นพึงเป็นเหตุให้เราหลังจากตาย
แล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก” เขากลัวต่อทุคติภัยจึงละกายทุจริต
บำเพ็ญกายสุจริต ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต
บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เรียกว่า ทุคติภัย
ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล

อัตตานุวาทสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๓.ภยวรรค ๒.อูมิภยสูตร

๒. อูมิภยสูตร
ว่าด้วยภัยจากคลื่น

[๑๒๒] ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ที่คนลงไปในน้ำพึงประสบ
ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อูมิภัย (ภัยจากคลื่น) ๒. กุมภีลภัย (ภัยจากจระเข้)
๓. อาวัฏฏภัย (ภัยจากน้ำวน) ๔. สุสุกาภัย (ภัยจากปลาร้าย)
ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แลที่คนลงไปในน้ำพึงประสบ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ที่กุลบุตรบางคนใน
โลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้พึงประสบ
ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อูมิภัย ๒. กุมภีลภัย
๓. อาวัฏฏภัย ๔. สุสุกาภัย
อูมิภัย เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
“เราถูกชาติ (ความเกิด) ชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะ (ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ)
อุปายาส (ความคับแค้นใจ) ครอบงำ ตกอยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอ
การทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุดจะพึงปรากฏ” เพื่อนพรหมจารีตักเตือนพร่ำสอน
เธอผู้บวชแล้วนั้นว่า “เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้ พึงแลดูอย่างนี้
พึงเหลียวดูอย่างนี้ พึงคู้เข้าอย่างนี้ พึงเหยียดออกอย่างนี้ พึงครองสังฆาฏิ บาตร
และจีวรอย่างนี้” เธอคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ มีแต่ตักเตือนพร่ำสอน
ผู้อื่น ก็ภิกษุเหล่านี้มีอายุคราวลูก คราวหลานของเรายังจะมาตักเตือนพร่ำสอน”
เธอขุ่นเคืองไม่พอใจ บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวอูมิภัย
บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า อูมิภัย นี้เป็นชื่อเรียกความโกรธและ
ความคับแค้นใจ นี้เรียกว่า อูมิภัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๓.ภยวรรค ๒.อูมิภยสูตร

กุมภีลภัย เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
“เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตกอยู่ใน
กองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอการทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุดจะพึง
ปรากฏ” เพื่อนพรหมจารีตักเตือนพร่ำสอนเธอผู้บวชแล้วนั้นว่า “สิ่งนี้เธอพึงฉัน
สิ่งนี้เธอไม่พึงฉัน สิ่งนี้เธอพึงบริโภค สิ่งนี้เธอไม่พึงบริโภค สิ่งนี้เธอพึงลิ้ม สิ่งนี้
เธอไม่พึงลิ้ม สิ่งนี้เธอพึงดื่ม สิ่งนี้เธอไม่พึงดื่ม สิ่งเป็นกัปปิยะ๑เธอพึงฉัน สิ่ง
เป็นอกัปปิยะ๒เธอไม่พึงฉัน สิ่งเป็นกัปปิยะเธอพึงบริโภค สิ่งเป็นอกัปปิยะเธอไม่พึง
บริโภค สิ่งเป็นกัปปิยะเธอพึงลิ้ม สิ่งเป็นอกัปปิยะเธอไม่พึงลิ้ม สิ่งเป็นกัปปิยะเธอ
พึงดื่ม สิ่งเป็นอกัปปิยะเธอไม่พึงดื่ม เธอพึงฉันในเวลา เธอไม่พึงฉันนอกเวลา
เธอพึงบริโภคในเวลา เธอไม่พึงบริโภคนอกเวลา เธอพึงลิ้มในเวลา เธอไม่พึงลิ้มนอก
เวลา เธอพึงดื่มในเวลา เธอไม่พึงดื่มนอกเวลา” เธอคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อน
เราเป็นคฤหัสถ์ เคี้ยวกินสิ่งที่เราต้องการ ไม่เคี้ยวกินสิ่งที่เราไม่ต้องการ บริโภค
สิ่งที่เราต้องการ ไม่บริโภคสิ่งที่เราไม่ต้องการ ลิ้มสิ่งที่เราต้องการ ไม่ลิ้มสิ่งที่เรา
ไม่ต้องการ ดื่มสิ่งที่เราต้องการ ไม่ดื่มสิ่งที่เราไม่ต้องการ กินทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะ
และสิ่งเป็นอกัปปิยะ บริโภคทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ ลิ้มทั้งสิ่งเป็น
กัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ ดื่มทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ กินทั้งในเวลา
และนอกเวลา บริโภคทั้งในเวลาและนอกเวลา ลิ้มทั้งในเวลาและนอกเวลา ดื่มทั้ง
ในเวลาและนอกเวลา สิ่งใดที่ประณีตไม่ว่าจะเป็นของเคี้ยวหรือของบริโภคที่คหบดีผู้
มีศรัทธาถวายแก่เราทั้งในเวลาและนอกเวลา ภิกษุเหล่านี้ทำเหมือนปิดปากแม้ใน
สิ่งของเหล่านั้น” เธอขัดเคือง ไม่พอใจ บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ นี้เรียก
ว่า ภิกษุผู้กลัวกุมภีลภัยบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า กุมภีลภัย นี้
เป็นชื่อเรียกความเป็นคนเห็นแก่ปากท้อง นี้เรียกว่า กุมภีลภัย


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์] ๓.ภยวรรค ๒.อูมิภยสูตร

อาวัฏฏภัย เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
“เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตก
อยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอการทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุด
จะพึงปรากฏ” เธอบวชอยู่อย่างนี้ ในเวลาเช้าครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือตำบล ไม่รักษากาย วาจา ใจ มีสติไม่ตั้งมั่น
ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นคหบดีหรือบุตรคหบดีในหมู่บ้านหรือตำบลนั้น เอิบอิ่ม
พรั่งพร้อม บำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕ คิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์
เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม บำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕ โภคทรัพย์ในตระกูลของเราก็มี
อยู่พร้อม เราสามารถที่จะใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญได้ ทางที่ดี เราบอกคืน
สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญ” เธอบอกคืนสิกขากลับมา
เป็นคฤหัสถ์ นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวอาวัฏฏภัยบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า
อาวัฏฏภัย นี้เป็นชื่อเรียกกามคุณ ๕ นี้เรียกว่า อาวัฏฏภัย
สุสุกาภัย เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
“เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตก
อยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอการทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุด
จะพึงปรากฏ” เธอบวชอยู่อย่างนี้ ในเวลาเช้าครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือตำบล ไม่รักษากาย วาจา ใจ มีสติไม่ตั้งมั่น ไม่
สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นมาตุคาม(สตรี)ในหมู่บ้านหรือตำบลนั้นนุ่งไม่เรียบร้อย
หรือห่มไม่เรียบร้อย ราคะรบกวนจิตของเธอเพราะเห็นมาตุคามนุ่งไม่เรียบร้อยหรือ
ห่มไม่เรียบร้อย เธอมีจิตฟุ้งซ่านเพราะราคะ จึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวสุสุกาภัยบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า สุสุกาภัย
นี้เป็นชื่อเรียกมาตุคาม นี้เรียกว่า สุสุกาภัย
ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แลที่กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้พึงประสบ

อูมิภยสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๓.ปฐมนานากรณสูตร

๓. ปฐมนานากรณสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ทำให้บุคคลต่างกัน สูตรที่ ๑

[๑๒๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวก๑อยู่
เขาชอบใจปฐมฌานนั้น ติดใจปฐมฌานนั้น และถึงความปลื้มใจ
กับปฐมฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในปฐมฌานนั้น น้อมใจไปใน
ปฐมฌานนั้น ชอบอยู่กับปฐมฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อ
ตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นหมู่พรหม
พวกเทวดาชั้นหมู่พรหมมีอายุประมาณ ๑ กัป๒ คนที่เป็นปุถุชน
ดำรงอยู่ในชั้นหมู่พรหมนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนด
อายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง ไปสู่กำเนิดสัตว์
ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค
ดำรงอยู่ในชั้นหมู่พรหมนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนด
อายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพานในภพนั้นแล นี้แล
เป็นความแปลกกัน เป็นความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้ต่างกัน
ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อคติ (การตาย)
และอุบัติ(การเกิด)ยังมีอยู่
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติย-
ฌานมีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น๓ ไม่มีวิตก


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๓. ปฐมนานากรณสูตร

ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดจากสมาธิอยู่ เขาชอบใจทุติยฌานนั้น
ติดใจทุติยฌานนั้น และถึงความปลื้มใจกับทุติยฌานนั้น เขา
ดำรงอยู่ในทุติยฌานนั้น น้อมใจไปในทุติยฌานนั้น ชอบอยู่กับ
ทุติยฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็น
ผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นอาภัสสระ พวกเทวดาชั้นอาภัสสระ
มีอายุประมาณ ๒ กัป คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระ
นั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้น
หมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดน
เปรตบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระ
นั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้น
หมดไปแล้วปรินิพพานในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลกกัน
เป็นความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้
ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติ
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะ
ทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เขาชอบใจ
ตติยฌานนั้น ติดใจตติยฌานนั้น และถึงความปลื้มใจกับตติยฌาน
นั้น เขาดำรงอยู่ในตติยฌานนั้น น้อมใจไปในตติยฌานนั้น
ชอบอยู่กับตติยฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง
ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นสุภกิณหะ พวกเทวดาชั้น
สุภกิณหะมีอายุประมาณ ๔ กัป คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้น
สุภกิณหะนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดา
เหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง
ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้น
สุภกิณหะนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดา
เหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพานในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลก
กัน เป็นความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวก
ผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๔.ทุติยนานากรณสูตร

๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส
และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เขาชอบใจจตุตถฌานนั้น ติดใจ
จตุตถฌานนั้นและถึงความปลื้มใจกับจตุตถฌานนั้น เขาดำรงอยู่
ในจตุตถฌานนั้น น้อมใจไปในจตุตถฌานนั้น ชอบอยู่กับจตุตถ-
ฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพวกเทวดาชั้นเวหัปผละ พวกเทวดาชั้นเวหัปผละมีอายุ
ประมาณ ๕๐๐ กัป คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นเวหัปผละนั้น
จนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้น
หมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดน
เปรตบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นเวหัปผละ
นั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้น
หมดไปแล้วปรินิพพานในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลกกัน
เป็นความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้
ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ปฐมนานากรณสูตรที่ ๓ จบ

๔. ทุติยนานากรณสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ทำให้บุคคลต่างกัน สูตรที่ ๒

[๑๒๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
เขาพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณที่มีอยู่ในปฐมฌานนั้นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เสียดแทง
เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคับแค้น เบียดเบียน ไม่เชื่อฟัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๕.ปฐมเมตตาสูตร

ต้องแตกสลายไป ว่างเปล่า ไม่อยู่ในอำนาจ หลังจากตายแล้ว เขา
ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นสุทธาวาส การเข้า
ถึงนี้ไม่ใช่มีอยู่ทั่วไปกับปุถุชนทั้งหลาย
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน
ฯลฯ
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติ-
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ฯลฯ
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและ
โทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ เขาพิจารณา
เห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ที่มีอยู่ในจตุตถฌานนั้นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เสียดแทง
เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคับแค้น เบียดเบียน ไม่เชื่อฟัง
ต้องแตกสลายไป ว่างเปล่า ไม่อยู่ในอำนาจ หลังจากตายแล้ว เขา
ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นสุทธาวาส การเข้า
ถึงนี้ไม่ใช่มีอยู่ทั่วไปกับปุถุชนทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ทุติยนานากรณสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมเมตตาสูตร
ว่าด้วยผู้มีเมตตาจิต สูตรที่ ๑

[๑๒๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน๑ ทิศเบื้องล่าง๒ ทิศเฉียง๓


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๕.ปฐมเมตตาสูตร

แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ๑ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
อย่างนี้ เขาชอบใจเมตตาฌานนั้น ติดใจเมตตาฌานนั้น และถึง
ความปลื้มใจกับเมตตาฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในเมตตาฌานนั้น
น้อมใจไปในเมตตาฌานนั้น ชอบอยู่กับเมตตาฌานนั้นโดยมาก
ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดา
ชั้นหมู่พรหม พวกเทวดาชั้นหมู่พรหมมีอายุประมาณ ๑ กัป คน
ที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นหมู่พรหมนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลา
ที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง
ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของ
พระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นหมู่พรหมนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะ
เวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพาน
ในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลกกัน เป็นความแตกต่างกัน
เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้มีกรุณาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยกรุณาจิตอันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
อย่างนี้ เขาชอบใจกรุณาฌานนั้น ติดใจกรุณาฌานนั้น และถึง
ความปลื้มใจกับกรุณาฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในกรุณาฌานนั้น
น้อมใจไปในกรุณาฌานนั้น ชอบอยู่กับกรุณาฌานนั้นโดยมาก
ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดา
ชั้นอาภัสสระ พวกเทวดาชั้นอาภัสสระมีอายุประมาณ ๒ กัป
คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๕.ปฐมเมตตาสูตร

เวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง
ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของ
พระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะ
เวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพาน
ในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลกกัน เป็นความแตกต่างกัน
เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้มีมุทิตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยมุทิตาจิตอันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
อย่างนี้ เขาชอบใจมุทิตาฌานนั้น ติดใจมุทิตาฌานนั้น และถึง
ความปลื้มใจกับมุทิตาฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในมุทิตาฌานนั้น
น้อมใจไปในมุทิตาฌานนั้น ชอบอยู่กับมุทิตาฌานนั้นโดยมาก
ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดา
ชั้นสุภกิณหะ พวกเทวดาชั้นสุภกิณหะมีอายุประมาณ ๔ กัป
คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นสุภกิณหะนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะ
เวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง
ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของ
พระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นสุภกิณหะนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะ
เวลากำหนดที่เป็นอายุของเทวดาเหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพาน
ในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลกกัน เป็นความแตกต่างกัน
เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๖.ทุติยเมตตาสูตร

ไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่อย่างนี้ เขาชอบใจอุเบกขาฌานนั้น ติดใจ
อุเบกขาฌานนั้น และถึงความปลื้มใจกับอุเบกขาฌานนั้น เขา
ดำรงอยู่ในอุเบกขาฌานนั้น น้อมใจไปในอุเบกขาฌานนั้น ชอบ
อยู่กับอุเบกขาฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง
ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นเวหัปผละ พวกเทวดาชั้น
เวหัปผละมีอายุประมาณ ๕๐๐ กัป คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในชั้น
เวหัปผละนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดา
เหล่านั้นหมดไปแล้วไปสู่นรกบ้าง ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง
ไปสู่แดนเปรตบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้น
เวหัปผละนั้นจนสิ้นอายุ ให้ระยะเวลาที่เป็นกำหนดอายุของเทวดา
เหล่านั้นหมดไปแล้วปรินิพพานในภพนั้นแล นี้แลเป็นความแปลก
กัน เป็นความแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวก
ผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ปฐมเมตตาสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยเมตตาสูตร
ว่าด้วยผู้มีเมตตาจิต สูตรที่ ๒

[๑๒๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
อย่างนี้ เขาพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๗.ปฐมตถาคตอัจฉริยสูตร

สังขาร วิญญาณที่มีอยู่ในเมตตาจิตนั้น โดยความไม่เที่ยง เป็น
ทุกข์ เสียดแทง เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคับแค้น
เบียดเบียน ไม่เชื่อฟัง ต้องแตกสลายไป ว่างเปล่า ไม่อยู่ใน
อำนาจ หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
พวกเทวดาชั้นสุทธาวาส การเข้าถึงนี้ไม่ใช่มีอยู่ทั่วไปกับปุถุชน
ทั้งหลาย
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้มีกรุณาจิต ฯลฯ
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้มีมุทิตาจิต ฯลฯ
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่
ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
อย่างนี้ เขาพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณที่มีอยู่ในอุเบกขาจิตนั้นโดยความไม่เที่ยง เป็น
ทุกข์ เสียดแทง เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคับแค้น
เบียดเบียน ไม่เชื่อฟัง ต้องแตกสลายไป ว่างเปล่า ไม่อยู่ในอำนาจ
หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดา
ชั้นสุทธาวาส การเข้าถึงนี้ไม่ใช่มีอยู่ทั่วไปกับปุถุชนทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ทุติยเมตตาสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปฐมตถาคตอัจฉริยสูตร
ว่าด้วยเหตุอัศจรรย์ของพระตถาคต สูตรที่ ๑

[๑๒๗] ภิกษุทั้งหลาย เหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๗.ปฐมตถาคตอัจฉริยสูตร

๑. เมื่อพระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต มีสติสัมปชัญญะ เสด็จลง
สู่พระครรภ์ของพระมารดา แสงสว่างโอฬารประมาณไม่ได้ เกิน
เลยอานุภาพของเทวดาทั้งหลายย่อมปรากฏขึ้นในโลกพร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดา และมนุษย์ แม้แต่โลกันตริกนรกซึ่งเปิดตลอด ไม่มีอะไร
ปิดกั้น มืดมิด มองไม่เห็นอะไร๑ ที่แสงสว่างแห่งดวงจันทร์และ
ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ยังส่องไป
ไม่ถึง แต่แสงสว่างโอฬารประมาณไม่ได้ ล่วงเลยอานุภาพของ
เทวดาทั้งหลายย่อมปรากฏในโลกันตริกนรกนั้น แม้พวกสัตว์ที่
เกิดในโลกันตริกนรกนั้นจำกันและกันได้เพราะแสงสว่างนั้นว่า
“ท่านผู้เจริญ ทราบว่า สัตว์แม้เหล่าอื่นที่เกิดในที่นี้มีอยู่” นี้เป็น
เหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๑ ย่อมปรากฏเพราะความ
ปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. เมื่อพระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ประสูติจากพระครรภ์ของพระ
มารดา ฯลฯ นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ย่อม
ปรากฏเพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๓. เมื่อตถาคตทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯลฯ นี้เป็นเหตุ
อัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๓ ย่อมปรากฏเพราะความปรากฏ
ของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๔. เมื่อตถาคตทรงประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยม แสงสว่างโอฬาร
ประมาณไม่ได้ เกินเลยอานุภาพของเทวดาทั้งหลายย่อมปรากฏ
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ แม้แต่โลกันตริกนรก
ซึ่งเปิดตลอด ไม่มีอะไรปิดกั้น มืดมิด มองไม่เห็นอะไร ที่แสงสว่าง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๘. ทุติยตถาคตอัจฉริยสูตร

แห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมาก
อย่างนี้ยังส่องไปไม่ถึง แต่แสงสว่างโอฬาร ประมาณไม่ได้ ล่วง
เลยอานุภาพของเทวดาทั้งหลายย่อมปรากฏในโลกันตริกนรกนั้น
แม้พวกสัตว์ที่เกิดในโลกันตริกนรกนั้นจำกันและกันได้เพราะแสง
สว่างนั้นว่า “ท่านผู้เจริญ ทราบว่า สัตว์แม้เหล่าอื่นที่เกิดในที่นี้
มีอยู่” นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ภิกษุทั้งหลาย เหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แลย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ปฐมตถาคตอัจฉริยสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุติยตถาคตอัจฉริยสูตร
ว่าด้วยเหตุอัศจรรย์ของพระตถาคต สูตรที่ ๒

[๑๒๘] ภิกษุทั้งหลาย เหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. หมู่สัตว์ผู้ยังหมกมุ่นในอาลัย ยินดีในอาลัย๑ บันเทิงในอาลัย เมื่อ
ตถาคตแสดงธรรมที่ไม่มีอาลัยก็ตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งใจ
ใฝ่รู้ นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๑ ย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. หมู่สัตว์ผู้ยังหมกมุ่นในความถือตัว ยินดีในความถือตัว บันเทิงใน
ความถือตัว เมื่อตถาคตแสดงธรรมที่กำจัดความถือตัวก็ตั้งใจฟัง
ด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งใจใฝ่รู้ นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ
ประการที่ ๒ ย่อมปรากฏเพราะความปรากฏของตถาคตอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้า


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๙.อานันทอัจฉริยสูตร

๓. หมู่สัตว์ผู้ยังหมกมุ่นในความไม่สงบ ยินดีในความไม่สงบ บันเทิง
ในความไม่สงบ เมื่อตถาคตแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบ
ก็ตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งใจใฝ่รู้ นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคย
ปรากฏประการที่ ๓ ย่อมปรากฏเพราะความปรากฏของตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๔. หมู่สัตว์ผู้ยังตกอยู่ในอวิชชาเป็นผู้มืดบอด ถูกอวิชชาหุ้มห่อ เมื่อ
ตถาคตแสดงธรรมที่กำจัดอวิชชา ก็ตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ
ตั้งใจใฝ่รู้ นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แลย่อมปรากฏ
เพราะความปรากฏของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทุติยตถาคตอัจฉริยสูตรที่ ๘ จบ

๙. อานันทอัจฉริยสูตร
ว่าด้วยความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์

[๑๒๙] ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะ๑ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้มีอยู่ใน
อานนท์
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าภิกษุบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้าอานนท์
แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจยินดี
ภิกษุบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๒. ถ้าภิกษุณีบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุณีบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุณีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค ๑๐.จักกวัตติอัจฉริยสูตร

๓. ถ้าอุบาสกบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสกบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสกบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๔. ถ้าอุบาสิกาบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แลมีอยู่ในอานนท์

อานันทอัจฉริยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. จักกวัตติอัจฉริยสูตร๑
ว่าด้วยความเป็นอัจฉริยะของพระเจ้าจักรพรรดิ

[๑๓๐] ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้มีอยู่ใน
พระเจ้าจักรพรรดิ
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าขัตติยบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในขัตติยบริษัทนั้น
แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี ขัตติยบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๒. ถ้าพราหมณบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็
มีใจยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในพราหมณ-
บริษัทนั้น แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี พราหมณบริษัท
ยังไม่เต็มอิ่ม เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๓. ถ้าคหบดีบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในคหบดีบริษัท
นั้น แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี คหบดีบริษัทยังไม่
เต็มอิ่ม เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๓.ภยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๔. ถ้าสมณบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในสมณบริษัทนั้น
แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี สมณบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แลมีอยู่ในพระเจ้า
จักรพรรดิ
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการก็ฉันนั้นเหมือน
กันแลมีอยู่ในอานนท์
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าภิกษุบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้าอานนท์
แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจยินดี
ภิกษุบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๒. ถ้าภิกษุณีบริษัท ฯลฯ
๓. ถ้าอุบาสกบริษัท ฯลฯ
๔. ถ้าอุบาสิกาบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แลมีอยู่ในอานนท์

จักกวัตติอัจฉริยสูตรที่ ๑๐ จบ
ภยวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัตตานุวาทสูตร ๒. อูมิภยสูตร
๓. ปฐมนานากรณสูตร ๔. ทุติยนานากรณสูตร
๕. ปฐมเมตตาสูตร ๖. ทุติยเมตตาสูตร
๗. ปฐมตถาคตอัจฉริยสูตร ๘. ทุติยตถาคตอัจฉริยสูตร
๙. อานันทอัจฉริยสูตร ๑๐. จักกวัตติอัจฉริยสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๑. สังโยชนสูตร

๔. ปุคคลวรรค
หมวดว่าด้วยบุคคล
๑. สังโยชนสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ละสังโยชน์ได้

[๑๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏ
อยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ยังละโอรัมภาคิยสังโยชน์๑(สังโยชน์เบื้องต่ำ)
ไม่ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่
เป็นปัจจัยให้ได้ภพ๒ไม่ได้
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ แต่ยังละสังโยชน์
ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้
ภพไม่ได้
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ และละสังโยชน์ที่
เป็นปัจจัยแห่งการเกิดได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์ที่เป็น
ปัจจัยแห่งการเกิดได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพได้
บุคคลจำพวกไหนยังละโอรัมภาคิยสังโยชน์ไม่ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัย
แห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้
คือ พระสกทาคามี บุคคลนี้แลยังละโอรัมภาคิยสังโยชน์ไม่ได้ ละสังโยชน์ที่
เป็นปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๒.ปฏิภาณสูตร

บุคคลจำพวกไหนละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็น
ปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้
คือ พระอนาคามีผู้มุ่งหน้าไปสู่อกนิฏฐภพ บุคคลนี้แลละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้
แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้
บุคคลจำพวกไหนละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่ง
การเกิดได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้
คือ พระอนาคามีผู้ปรินิพพานในระหว่าง บุคคลนี้แลละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้
ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้
บุคคลจำพวกไหนละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่ง
การเกิดได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพได้
คือ พระอรหันต์ผู้หมดกิเลส บุคคลนี้แลละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์
ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพได้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

สังโยชนสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปฏิภาณสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ตอบได้ถูกต้อง

[๑๓๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ตอบได้ถูกต้อง แต่ไม่รวดเร็ว๒
๒. บุคคลผู้ตอบได้รวดเร็ว แต่ไม่ถูกต้อง๓


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๓. อุคฆฏิตัญญูสูตร

๓. บุคคลผู้ตอบได้ถูกต้องและรวดเร็ว
๔. บุคคลผู้ตอบได้ไม่ถูกต้องและไม่รวดเร็ว
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ปฏิภาณสูตรที่ ๒ จบ

๓. อุคฆฏิตัญญูสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้เข้าใจได้ฉับพลัน

[๑๓๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. อุคฆฏิตัญญู๒ (ผู้เข้าใจได้ฉับพลัน)
๒. วิปจิตัญญู๓ (ผู้เข้าใจต่อเมื่อขยายความ)
๓. เนยยะ๔ (ผู้ที่พอจะแนะนำได้)
๔. ปทปรมะ๕ (ผู้ที่สอนให้รู้ได้เพียงตัวบทคือพยัญชนะ)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

อุคฆฏิตัญญูสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๕.สาวัชชสูตร

๔. อุฏฐานผลสูตร
ว่าด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียร

[๑๓๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียร แต่ไม่ดำรงชีพ
ด้วยผลแห่งกรรม
๒. บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลแห่งกรรม แต่ไม่ดำรงชีพด้วยผลแห่ง
ความขยันหมั่นเพียร
๓. บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียรและดำรงชีพด้วย
ผลแห่งกรรม
๔. บุคคลผู้ไม่ดำรงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียรและไม่ดำรงชีพ
ด้วยผลแห่งกรรม๒
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

อุฏฐานผลสูตรที่ ๔ จบ

๕. สาวัชชสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีแต่โทษ

[๑๓๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๓ ไหนบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๕.สาวัชชสูตร

๑. บุคคลผู้มีแต่โทษ๑ ๒. บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนมาก๒
๓. บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนน้อย๓ ๔. บุคคลผู้ไม่มีโทษ๔
บุคคลผู้มีแต่โทษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรม (การกระทำทางกาย) ที่มีโทษ
ประกอบด้วยวจีกรรม (การกระทำทางวาจา) ที่มีโทษ ประกอบด้วยมโนกรรม (การ
กระทำทางใจ) ที่มีโทษ บุคคลผู้มีแต่โทษ เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนมาก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มี
โทษเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยวจีกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มีโทษเป็นส่วนน้อย
ประกอบด้วยมโนกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มีโทษเป็นส่วนน้อย บุคคลผู้มีโทษ
เป็นส่วนมาก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนน้อย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มี
โทษเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยวจีกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษเป็นส่วนน้อย
ประกอบด้วยมโนกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษเป็นส่วนน้อย บุคคลผู้มีโทษ
เป็นส่วนน้อย เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้ไม่มีโทษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วย
วจีกรรมที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยมโนกรรมที่ไม่มีโทษ บุคคลผู้ไม่มีโทษ เป็นอย่าง
นี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

สาวัชชสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๗.ทุติยสีลสูตร

๖. ปฐมสีลสูตร
ว่าด้วยศีล สูตรที่ ๑

[๑๓๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ไม่บำเพ็ญสมาธิ
ให้บริบูรณ์ และไม่บำเพ็ญปัญญาให้บริบูรณ์๑
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ แต่ไม่บำเพ็ญสมาธิ
ให้บริบูรณ์ และไม่บำเพ็ญปัญญาให้บริบูรณ์๒
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ และบำเพ็ญสมาธิ
ให้บริบูรณ์ แต่ไม่บำเพ็ญปัญญาให้บริบูรณ์๓
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ บำเพ็ญสมาธิให้
บริบูรณ์และบำเพ็ญปัญญาให้บริบูรณ์๔
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ปฐมสีลสูตรที่ ๖ จบ

๗. ทุติยสีลสูตร
ว่าด้วยศีล สูตรที่ ๒

[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เคารพในศีล ไม่ถือศีลเป็นใหญ่ ไม่
เคารพในสมาธิ ไม่ถือสมาธิเป็นใหญ่ และไม่เคารพในปัญญา
ไม่ถือปัญญาเป็นใหญ่


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๘. นิกกัฏฐสูตร

๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เคารพในศีล ถือศีลเป็นใหญ่ แต่ไม่เคารพ
ในสมาธิ ไม่ถือสมาธิเป็นใหญ่ และไม่เคารพในปัญญา ไม่ถือ
ปัญญาเป็นใหญ่
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้เคารพในศีล ถือศีลเป็นใหญ่ และเคารพ
ในสมาธิ ถือสมาธิเป็นใหญ่ แต่ไม่เคารพในปัญญา ไม่ถือ
ปัญญาเป็นใหญ่
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้เคารพในศีล ถือศีลเป็นใหญ่ เคารพในสมาธิ
ถือสมาธิเป็นใหญ่ และเคารพในปัญญา ถือปัญญาเป็นใหญ่
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ทุติยสีลสูตรที่ ๗ จบ

๘. นิกกัฏฐสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีกายและจิตออก

[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีกายออก แต่มีจิตยังไม่ออก๑
๒. บุคคลผู้มีกายยังไม่ออก แต่มีจิตออก
๓. บุคคลผู้มีกายยังไม่ออกและมีจิตยังไม่ออก
๔. บุคคลผู้มีกายออกและมีจิตออก
บุคคลผู้มีกายออก แต่มีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่ง๒และป่าทึบ๓
เธอตรึกถึงกามวิตก(ความตรึกในทางกาม)บ้าง พยาบาทวิตก (ความตรึกในทาง
พยาบาท)บ้าง วิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน)บ้าง บุคคลผู้มีกายออก
แต่มีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค ๙.ธัมมกถิกสูตร

บุคคลผู้มีกายยังไม่ออก แต่มีจิตออก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ
เลย แต่เธอตรึกถึงเนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม)บ้าง อพยาบาทวิตก
(ความตรึกปลอดจากพยาบาท)บ้าง อวิหิงสาวิตก (ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน)
บ้าง บุคคลผู้มีกายยังไม่ออก แต่มีจิตออก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีกายยังไม่ออกและมีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ
และเธอตรึกถึงกามวิตกบ้าง พยาบาทวิตกบ้าง วิหิงสาวิตกบ้าง บุคคลผู้มีกายยัง
ไม่ออกและมีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีกายออกและมีจิตออก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ
และเธอตรึกถึงเนกขัมมวิตกบ้าง อพยาบาทวิตกบ้าง อวิหิงสาวิตกบ้าง บุคคลผู้มี
กายออกและมีจิตออก เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

นิกกัฏฐสูตรที่ ๘ จบ

๙. ธัมมกถิกสูตร
ว่าด้วยธรรมกถึก

[๑๓๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมกถึก ๔ จำพวกนี้
ธรรมกถึก ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. ธรรมกถึกบางรูปในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมน้อยและไม่มีประโยชน์
ทั้งหมู่ผู้ฟังก็ไม่ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรม-
กถึกจำพวกนี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังประเภทนี้
๒. ธรรมกถึกบางรูปในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมน้อย แต่มีประโยชน์ และ
หมู่ผู้ฟังก็ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึก
จำพวกนี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังประเภทนี้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๔.ปุคคลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๓. ธรรมกถึกบางรูปในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมมาก แต่ไม่มีประโยชน์ และ
หมู่ผู้ฟังก็ไม่ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึก
จำพวกนี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังประเภทนี้
๔. ธรรมกถึกบางรูปในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมมากและมีประโยชน์ และ
หมู่ผู้ฟังก็ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึก
จำพวกนี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังประเภทนี้
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมกถึก ๔ จำพวกนี้แล

ธัมมกถิกสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. วาทีสูตร
ว่าด้วยนักพูด

[๑๔๐] ภิกษุทั้งหลาย นักพูด ๔ จำพวกนี้
นักพูด ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. นักพูดที่จนด้านอรรถ แต่ไม่จนด้านพยัญชนะ
๒. นักพูดที่จนด้านพยัญชนะ แต่ไม่จนด้านอรรถ
๓. นักพูดที่จนทั้งด้านอรรถและด้านพยัญชนะ
๔. นักพูดที่ไม่จนทั้งด้านอรรถและด้านพยัญชนะ
นักพูด ๔ จำพวกนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุ(นักพูด)ผู้ประกอบด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ประการ
จะพึงจนทั้งด้านอรรถหรือด้านพยัญชนะ

วาทีสูตรที่ ๑๐ จบ
ปุคคลวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สังโยชนสูตร ๒. ปฏิภาณสูตร
๓. อุคฆฏิตัญญูสูตร ๔. อุฏฐานผลสูตร
๕. สาวัชชสูตร ๖. ปฐมสีลสูตร
๗. ทุติยสีลสูตร ๘. นิกกัฏฐสูตร
๙. ธัมมกถิกสูตร ๑๐. วาทีสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๕.อาภาวรรค ๓.อาโลกสูตร

๕. อาภาวรรค
หมวดว่าด้วยแสงสว่าง
๑. อาภาสูตร
ว่าด้วยแสงสว่าง

[๑๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย แสงสว่าง ๔ ประการนี้
แสงสว่าง ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. แสงสว่างแห่งดวงจันทร์ ๒. แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์
๓. แสงสว่างแห่งไฟ ๔. แสงสว่างแห่งปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย แสงสว่าง ๔ ประการนี้แล
บรรดาแสงสว่าง ๔ ประการนี้ แสงสว่างแห่งปัญญาเป็นเลิศ

อาภาสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปภาสูตร
ว่าด้วยรัศมี

[๑๔๒] ภิกษุทั้งหลาย รัศมี ๔ ประการนี้
รัศมี ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รัศมีแห่งดวงจันทร์ ๒. รัศมีแห่งดวงอาทิตย์
๓. รัศมีแห่งไฟ ๔. รัศมีแห่งปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย รัศมี ๔ ประการนี้แล
บรรดารัศมี ๔ ประการนี้ รัศมีแห่งปัญญาเป็นเลิศ

ปภาสูตรที่ ๒ จบ

๓. อาโลกสูตร
ว่าด้วยความสว่าง

[๑๔๓] ภิกษุทั้งหลาย ความสว่าง ๔ ประการนี้
ความสว่าง ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๕.อาภาวรรค ๕. ปัชโชตสูตร

๑. ความสว่างแห่งดวงจันทร์ ๒. ความสว่างแห่งดวงอาทิตย์
๓. ความสว่างแห่งไฟ ๔. ความสว่างแห่งปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ความสว่าง ๔ ประการนี้แล
บรรดาความสว่าง ๔ ประการนี้ ความสว่างแห่งปัญญาเป็นเลิศ

อาโลกสูตรที่ ๓ จบ

๔. โอภาสสูตร
ว่าด้วยความสว่างไสว

[๑๔๔] ภิกษุทั้งหลาย ความสว่างไสว ๔ ประการนี้
ความสว่างไสว ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความสว่างไสวแห่งดวงจันทร์ ๒. ความสว่างไสวแห่งดวงอาทิตย์
๓. ความสว่างไสวแห่งไฟ ๔. ความสว่างไสวแห่งปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ความสว่างไสว ๔ ประการนี้แล
บรรดาความสว่างไสว ๔ ประการนี้ ความสว่างไสวแห่งปัญญาเป็นเลิศ

โอภาสสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปัชโชตสูตร
ว่าด้วยความรุ่งเรือง

[๑๔๕] ภิกษุทั้งหลาย ความรุ่งเรือง ๔ ประการนี้
ความรุ่งเรือง ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความรุ่งเรืองแห่งดวงจันทร์ ๒. ความรุ่งเรืองแห่งดวงอาทิตย์
๓. ความรุ่งเรืองแห่งไฟ ๔. ความรุ่งเรืองแห่งปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ความรุ่งเรือง ๔ ประการนี้แล
บรรดาความรุ่งเรือง ๔ ประการนี้ ความรุ่งเรืองแห่งปัญญาเป็นเลิศ

ปัชโชตสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๕.อาภาวรรค ๗.ทุติยกาลสูตร

๖. ปฐมกาลสูตร
ว่าด้วยกาล สูตรที่ ๑

[๑๔๖] ภิกษุทั้งหลาย กาล ๔ ประการนี้
กาล ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การฟังธรรมตามกาล๑ ๒. การสนทนาธรรม๒ตามกาล
๓. ความสงบใจตามกาล ๔. ความเห็นแจ้งตามกาล
ภิกษุทั้งหลาย กาล ๔ ประการนี้แล

ปฐมกาลสูตรที่ ๖ จบ

๗. ทุติยกาลสูตร
ว่าด้วยกาล สูตรที่ ๒

[๑๔๗] ภิกษุทั้งหลาย กาล ๔ ประการนี้ที่บุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้หมุน
เวียนไปตามโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะตามลำดับ
กาล ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การฟังธรรมตามกาล ๒. การสนทนาธรรมตามกาล
๓. ความสงบใจตามกาล ๔. ความเห็นแจ้งตามกาล
กาล ๔ ประการนี้แลที่บุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้หมุนเวียนไปตามโดยชอบ
ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะตามลำดับ
เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงบนยอดภูเขา น้ำไหลไปตามที่ลุ่มทำให้ซอกเขา
ลำธาร และห้วยเต็ม ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มแล้วทำให้หนองเต็ม หนองเต็ม
แล้วทำให้บึงเต็ม บึงเต็มแล้วทำให้แม่น้ำน้อยเต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้ว ทำให้แม่น้ำ
ใหญ่เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้วก็ทำให้มหาสมุทรเต็ม แม้ฉันใด


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๕.อาภาวรรค ๙. สุจริตสูตร

กาล ๔ ประการนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่บุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้หมุนเวียน
ไปตามโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะตามลำดับ

ทุติยกาลสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุจจริตสูตร
ว่าด้วยทุจริต

[๑๔๘] ภิกษุทั้งหลาย วจีทุจริต ๔ ประการนี้
วจีทุจริต ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มุสาวาท (พูดเท็จ) ๒. ปิสุณาวาจา (พูดส่อเสียด)
๓. ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) ๔. สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ)
ภิกษุทั้งหลาย วจีทุจริต ๔ ประการนี้แล

ทุจจริตสูตรที่ ๘ จบ

๙. สุจริตสูตร
ว่าด้วยสุจริต

[๑๔๙] ภิกษุทั้งหลาย วจีสุจริต ๔ ประการนี้
วจีสุจริต ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัจจวาจา (พูดจริง) ๒. อปิสุณาวาจา (พูดไม่ส่อเสียด)
๓. สัณหวาจา (พูดอ่อนหวาน) ๔. มันตภาสา๑ (พูดด้วยปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย วจีสุจริต ๔ ประการนี้แล

สุจริตสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓.ตติยปัณณาสก์]
๕.อาภาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๐. สารสูตร
ว่าด้วยสารธรรม

[๑๕๐] ภิกษุทั้งหลาย สารธรรม (ธรรมที่เป็นแก่นสาร) ๔ ประการนี้
สารธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สีลสารธรรม๑ (ธรรมที่เป็นแก่นสารคือศีล)
๒. สมาธิสารธรรม (ธรรมที่เป็นแก่นสารคือสมาธิ)
๓. ปัญญาสารธรรม (ธรรมที่เป็นแก่นสารคือปัญญา)
๔. วิมุตติสารธรรม (ธรรมที่เป็นแก่นสารคือวิมุตติ)
ภิกษุทั้งหลาย สารธรรม ๔ ประการนี้แล

สารสูตรที่ ๑๐ จบ
อาภาวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อาภาสูตร ๒. ปภาสูตร
๓. อาโลกสูตร ๔. โอภาสสูตร
๕. ปัชโชตสูตร ๖. ปฐมกาลสูตร
๗. ทุติยกาลสูตร ๘. ทุจจริตสูตร
๙. สุจริตสูตร ๑๐. สารสูตร

ตติยปัณณาสก์ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑. อินทริยวรรค ๒. สัทธาพลสูตร

๔. จตุตถปัณณาสก์
๑. อินทริยวรรค
หมวดว่าด้วยอินทรีย์
๑. อินทริยสูตร
ว่าด้วยอินทรีย์

[๑๕๑] ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๔ ประการนี้
อินทรีย์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัทธินทรีย์ (อินทรีย์คือศรัทธา)
๒. วิริยินทรีย์ (อินทรีย์คือวิริยะ)
๓. สมาธินทรีย์ (อินทรีย์คือสมาธิ)
๔. ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์คือปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๔ ประการนี้แล

อินทริยสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัทธาพลสูตร
ว่าด้วยสัทธาพละ

[๑๕๒] ภิกษุทั้งหลาย พละ (กำลัง) ๔ ประการนี้
พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัทธาพละ (กำลังคือศรัทธา)
๒. วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ)
๓. สมาธิพละ (กำลังคือสมาธิ)
๔. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล

สัทธาพลสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑. อินทริยวรรค ๕.ปฏิสังขานพลสูตร

๓. ปัญญาพลสูตร
ว่าด้วยปัญญาพละ

[๑๕๓] ภิกษุทั้งหลาย พละ (กำลัง) ๔ ประการนี้
พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา)
๒. วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ)
๓. อนวัชชพละ (กำลังคือกรรมที่ไม่มีโทษ)
๔. สังคหพละ (กำลังคือการสงเคราะห์)
ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล

ปัญญาพลสูตรที่ ๓ จบ

๔. สติพลสูตร
ว่าด้วยสติพละ

[๑๕๔] ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้
พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สติพละ (กำลังคือสติ)
๒. สมาธิพละ (กำลังคือสมาธิ)
๓. อนวัชชพละ (กำลังคือกรรมที่ไม่มีโทษ)
๔. สังคหพละ (กำลังคือการสงเคราะห์)
ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล

สติพลสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฏิสังขานพลสูตร
ว่าด้วยปฏิสังขานพละ

[๑๕๕] ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้
พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค ๖. กัปปสูตร

๑. ปฏิสังขานพละ (กำลังคือการพิจารณา)
๒. ภาวนาพละ (กำลังคือการเจริญ)
๓. อนวัชชพละ (กำลังคือกรรมที่ไม่มีโทษ)
๔. สังคหพละ (กำลังคือการสงเคราะห์)
ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล

ปฏิสังขานพลสูตรที่ ๕ จบ

๖. กัปปสูตร
ว่าด้วยกัป

[๑๕๖] ภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป ๔ ประการนี้
อสงไขยกัป ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ในเวลาที่สังวัฏฏกัป๑ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้
หลายปี จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือ
จำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
๒. ในเวลาที่สังวัฏฏฐายีกัป๒ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า
จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐
ปี หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค ๗.โรคสูตร

๓. ในเวลาที่วิวัฏฏกัป๑ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวน
เท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี
หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
๔. ในเวลาที่วิวัฏฏฐายีกัป๒ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า
จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐
ปี หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
ภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป ๔ ประการนี้แล

กัปปสูตรที่ ๖ จบ

๗. โรคสูตร
ว่าด้วยโรค

[๑๕๗] ภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้
โรค ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. โรคทางกาย ๒. โรคทางใจ
สัตว์ผู้อ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางกายตลอดระยะเวลา ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง ๓ ปี
บ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง
แม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้าง ยังพอมีอยู่ แต่สัตว์ผู้จะกล่าวอ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางใจ
ตลอดระยะเวลาแม้ครู่เดียว หาได้โดยยาก ยกเว้นท่านผู้หมดกิเลสแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้
โรค ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นคนมักมาก คับแค้น ไม่สันโดษด้วยจีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค ๘. ปริหานิสูตร

๒. เธอเมื่อมักมาก คับแค้น ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ ย่อมตั้งความปรารถนา
ชั่วเพื่อไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่น เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง
๓. เธอวิ่งเต้น ขวนขวาย พยายามเพื่อไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่น เพื่อให้ได้
ลาภสักการะและชื่อเสียง
๔. เธอเข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย นั่งกล่าวธรรม กลั้นอุจจาระและ
ปัสสาวะเพื่อให้เขานับถือ
ภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้แล
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายในธรรมวินัยนี้พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราจักไม่
เป็นคนมักมาก ไม่เป็นคนมีจิตคับแค้น ไม่เป็นคนไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ เราจักไม่ตั้งความปรารถนาชั่ว
เพื่อให้คนอื่นรู้จัก เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง เราจักไม่วิ่งเต้น ไม่ขวนขวาย
ไม่พยายามเพื่อให้คนอื่นรู้จัก เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง เราจักอดทนต่อ
ความหนาว ความร้อน ความหิวกระหาย ต่อการถูกเหลือบ ยุง ลม แดด
และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายรบกวน ต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆจักเป็นผู้
อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด
เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิต”
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล

โรคสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปริหานิสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุเสื่อม

[๑๕๘] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔
ประการอยู่ในตน พึงแน่ใจได้เลยว่า จะเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมี
ธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความเสื่อม
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค ๙.ภิกขุนีสูตร

๑. ความเป็นผู้มีราคะหนา
๒. ความเป็นผู้มีโทสะหนา
๓. ความเป็นผู้มีโมหะหนา
๔. ไม่มีปัญญาจักษุ๑ในเรื่องที่ควรและไม่ควรอันลึกซึ้ง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔
ประการนี้อยู่ในตน พึงแน่ใจได้ว่า จะเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมี
ธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความเสื่อม
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔
ประการอยู่ในตน พึงแน่ใจได้ว่า จะไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมีธรรม
๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีความเสื่อม
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีราคะเบาบาง
๒. ความเป็นผู้มีโทสะเบาบาง
๓. ความเป็นผู้มีโมหะเบาบาง
๔. มีปัญญาจักษุในเรื่องที่ควรและไม่ควรอันลึกซึ้ง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔
ประการนี้อยู่ในตน พึงแน่ใจได้ว่า ไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมีธรรม
๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีความเสื่อม

ปริหานิสูตรที่ ๘ จบ

๙. ภิกขุนีสูตร
ว่าด้วยภิกษุณี

[๑๕๙] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น
ภิกษุณีรูปหนึ่ง เรียกชายคนหนึ่งมาบอกว่า “พ่อหนุ่มผู้เจริญ มานี่ ท่านจงเข้าไปหา
พระคุณเจ้าอานนท์ถึงที่อยู่ กราบเท้าท่านด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา เรียนว่า


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค ๙.ภิกขุนีสูตร

‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุณีชื่อนี้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก นางขอกราบเท้า
พระคุณเจ้าอานนท์’ และจงเรียนอย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส ขอ
พระคุณเจ้าอานนท์ได้โปรดอนุเคราะห์เข้าไปหาภิกษุณีนั้นยังสำนักของภิกษุณีด้วยเถิด”
บุรุษนั้นรับคำแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ได้เรียนท่านพระอานนท์ว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุณีชื่อนี้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก นางขอกราบเท้า
พระคุณเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า” และเรียนอย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอ
โอกาส ขอพระคุณเจ้าอานนท์ได้โปรดอนุเคราะห์ เข้าไปหาภิกษุณีนั้นยังสำนักของ
ภิกษุณีด้วยเถิด”
ท่านพระอานนท์รับโดยดุษณีภาพ
ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร๑ เข้าไปหา
ภิกษุณีนั้นยังสำนักของภิกษุณี ภิกษุณีนั้นเห็นท่านพระอานนท์มาแต่ไกล นอนคลุม
ศีรษะอยู่บนเตียง
ลำดับนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระอานนท์เข้าไปหาภิกษุณีนั้นถึงที่อยู่ นั่งบน
อาสนะที่ปูลาดไว้ ได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า
“น้องหญิง กายนี้เกิดขึ้นเพราะอาหาร บุคคลอาศัยอาหาร๒แล้วพึงละอาหาร๓เสีย
กายนี้เกิดขึ้นเพราะตัณหา บุคคลอาศัยตัณหา๔แล้วพึงละตัณหา๕เสีย กายนี้เกิดขึ้น
เพราะมานะ บุคคลอาศัยมานะแล้วพึงละมานะเสีย กายนี้เกิดขึ้นเพราะเมถุนและการ
ฆ่าปัจจัยแห่งเมถุนด้วยอริยมรรค พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค ๙.ภิกขุนีสูตร

น้องหญิง เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะอาหาร บุคคล
อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย‘ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
น้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น
ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่ฉันเพียงเพื่อความดำรงอยู่
ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์
พรหมจรรย์โดยคิดเห็นว่า ‘เราจักกำจัดเวทนาเก่าและจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และความอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา’ เธออาศัย
อาหารแล้วภายหลังจึงละอาหารเสียได้
น้องหญิง ข้อที่เรากล่าวว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะอาหาร บุคคลอาศัย
อาหารแล้วพึงละอาหารเสีย‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
น้องหญิง เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะตัณหา บุคคลอาศัย
ตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสีย‘ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น น้องหญิง
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังข่าวว่า ‘ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ๑ ปัญญาวิมุตติ๒อันไม่มี
อาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เธอมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เมื่อไรหนอ แม้เราก็จักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มี
อาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เธออาศัยตัณหา
แล้วภายหลังจึงละตัณหาเสียได้
น้องหญิง ข้อที่เรากล่าวว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะตัณหา บุคคลอาศัย
ตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสีย‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
น้องหญิง เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะมานะ บุคคลอาศัย
มานะแล้วพึงละมานะเสีย‘ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น น้องหญิง
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังข่าวว่า ‘ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มี
อาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เธอมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘ก็ท่านผู้มีอายุนั้นทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ไฉนเราจักทำให้แจ้ง
บ้างไม่ได้’ เธออาศัยมานะแล้วภายหลังจึงละมานะเสียได้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค ๑๐.สุคตวินยสูตร

น้องหญิง ข้อที่เรากล่าวว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะมานะ บุคคลอาศัยมานะ
แล้วพึงละมานะเสีย‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
น้องหญิง กายนี้เกิดขึ้นเพราะเมถุนและการฆ่าปัจจัยแห่งเมถุนด้วยอริยมรรค
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว”
ลำดับนั้นแล ภิกษุณีนั้นลุกจากเตียง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลง
แทบเท้าของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ได้เรียนท่านพระอานนท์ว่า “ข้าแต่ท่าน
ผู้เจริญ ดิฉันเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินไปแล้ว ขอพระคุณเจ้า
อานนท์โปรดยกโทษให้ดิฉันผู้ทำอย่างนี้ เพื่อให้สำรวมระวังต่อไป”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ช่างเถอะ น้องหญิง เธอเป็นคนเขลา คนหลง
ไม่ฉลาด จึงได้ล่วงเกินไปแล้ว เมื่อเธอผู้ทำอย่างนี้ เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว
ทำคืนตามธรรม เรายกโทษให้เธอ น้องหญิง การที่บุคคลเห็นโทษแล้วทำคืนตาม
ธรรม สำรวมระวังต่อไปนี้เป็นความเจริญในอริยวินัย”

ภิกขุนีสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. สุคตวินยสูตร
ว่าด้วยพระสุคตและวินัยของพระสุคต

[๑๖๐] ภิกษุทั้งหลาย พระสุคต๑หรือวินัยของพระสุคต เมื่อดำรงอยู่ในโลก
พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก๒ เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พระสุคต คือใคร
คือ ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค ๑๐.สุคตวินยสูตร

ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค๑ ภิกษุทั้งหลาย นี้คือพระสุคต
วินัยของพระสุคต เป็นอย่างไร
คือ พระสุคตนั้นย่อมทรงแสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน
ท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและ
พยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ภิกษุทั้งหลาย นี้คือวินัยของพระสุคต
ภิกษุทั้งหลาย พระสุคตหรือวินัยของพระสุคต เมื่อดำรงอยู่ในโลกอย่างนี้
พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลคนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ธรรม ๔ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. เล่าเรียนสูตรที่เล่าเรียนกันมาผิดลำดับโดยบทพยัญชนะที่ สืบทอด
กันมาไม่ดี๒ แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาไม่ดี ก็เป็น
การสืบทอดขยายความไม่ดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไป
เพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม
๒. เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมเครื่องทำความเป็นผู้ว่ายาก ไม่
อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมประการที่ ๒
ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม
๓. เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์๓ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ไม่
ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป สูตร
ก็ขาดรากฐาน ไม่มีที่พึ่งอาศัย นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็น
ไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค ๑๐.สุคตวินยสูตร

๔. เป็นเถระ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโอกกมน-
ธรรม๑ ทอดธุระ๒ในปวิเวก๓ ไม่ปรารภความเพียร๔ เพื่อถึงธรรม
ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยัง
ไม่ได้ทำให้แจ้ง หมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุผู้เป็นเถระ
เหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน
เป็นผู้นำในโอกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก ไม่ปรารภความ
เพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อ
ทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อม
เป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไป
แห่งสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ
ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. เล่าเรียนสูตรที่เล่าเรียนกันมาดีโดยบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดี
แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดีก็เป็นการสืบทอดขยาย
ความดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น
ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๑.อินทริยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๒. เป็นคนว่าง่าย ประกอบด้วยธรรรมเครื่องทำความเป็นผู้ว่าง่าย
อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อม
เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
๓. เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป
สูตรก็ไม่ขาดรากฐาน มีที่พึ่งอาศัย นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อม
เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
๔. เป็นเถระ เป็นผู้ไม่มักมาก เป็นผู้ไม่ย่อหย่อน หมดธุระใน
โอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรม
ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยัง
ไม่ได้ทำให้แจ้ง หมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุผู้เป็นเถระ
เหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็เป็นผู้ไม่มักมาก เป็นผู้ไม่ย่อหย่อน
หมดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้
แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อมเป็น
ไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่
เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม

สุคตวินยสูตรที่ ๑๐ จบ
อินทริยวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อินทริยสูตร ๒. สัทธาพลสูตร
๓. ปัญญาพลสูตร ๔. สติพลสูตร
๕. ปฏิสังขานพลสูตร ๖. กัปปสูตร
๗. โรคสูตร ๘. ปริหานิสูตร
๙. ภิกขุนีสูตร ๑๐. สุคตวินยสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค ๒.วิตถารสูตร

๒. ปฏิปทาวรรค
หมวดว่าด้วยปฏิปทา
๑. สังขิตตสูตร
ว่าด้วยปฏิปทาโดยย่อ

[๑๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔๑ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบากและรู้ได้ช้า)
๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว)
๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า)
๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติสะดวกและรู้ได้เร็ว)
ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล

สังขิตตสูตรที่ ๑ จบ

๒. วิตถารสูตร
ว่าด้วยปฏิปทาโดยพิสดาร

[๑๖๒] ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า ย่อมเสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากราคะเป็นประจำบ้าง โดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมเสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโทสะเป็นประจำบ้าง โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมเสวยทุกขโทมนัส


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค ๒.วิตถารสูตร

ที่เกิดจากโมหะเป็นประจำบ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์
วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์๑ย่อมปรากฏอ่อน เพราะอินทรีย์
๕ ประการนี้ปรากฏอ่อน เธอจึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้า นี้เรียกว่า
ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา
ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า ย่อมเสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากราคะเป็นประจำบ้าง โดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมเสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโทสะเป็นประจำบ้าง โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมเสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโมหะเป็นประจำบ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์
วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมปรากฏแก่กล้า เพราะอินทรีย์
๕ ประการนี้ปรากฏแก่กล้า เธอจึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะเร็ว นี้เรียกว่า
ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โดยปกติเป็นคนไม่มีราคะกล้า จึงไม่เสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากราคะเป็นประจำบ้าง โดยปกติเป็นคนไม่มีโทสะกล้า จึงไม่เสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโทสะเป็นประจำบ้าง โดยปกติเป็นคนไม่มีโมหะกล้า จึงไม่เสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโมหะเป็นประจำบ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์
วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมปรากฏอ่อน เพราะอินทรีย์ ๕
ประการนี้ปรากฏอ่อน เธอจึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้า นี้เรียกว่า
สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค ๓.อสุภสูตร

สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โดยปกติเป็นคนไม่มีราคะกล้า จึงไม่เสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากราคะเป็นประจำบ้าง โดยปกติเป็นคนไม่มีโทสะกล้า จึงไม่เสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโทสะเป็นประจำบ้าง โดยปกติเป็นคนไม่มีโมหะกล้า จึงไม่เสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโมหะเป็นประจำบ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์
วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมปรากฏแก่กล้าเพราะอินทรีย์
๕ ประการนี้ปรากฏแก่กล้า เธอจึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะเร็ว นี้เรียกว่า
สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล

วิตถารสูตรที่ ๒ จบ

๓. อสุภสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นความไม่งามในกาย

[๑๖๓] ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นความไม่งามในกาย มีสัญญา (ความจำได้
หมายรู้)ว่าปฏิกูลในอาหาร มีสัญญาว่าไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง พิจารณาเห็น
ความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่ เธอมีมรณสัญญาที่ตั้งมั่นดีภายใน เธอเข้าไปอาศัย
เสกขพละ ๕ ประการนี้อยู่ คือ สัทธาพละ (กำลังคือศรัทธา) หิริพละ (กำลังคือหิริ)
โอตตัปปพละ (กำลังคือโอตตัปปะ) วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ) ปัญญาพละ (กำลัง
คือปัญญา) และอินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์ (อินทรีย์คือศรัทธา)
วิริยินทรีย์ (อินทรีย์คือวิริยะ) สตินทรีย์ (อินทรีย์คือสติ) สมาธินทรีย์ (อินทรีย์
คือสมาธิ) ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์คือปัญญา) ย่อมปรากฏอ่อน เพราะอินทรีย์ ๕
ประการนี้ปรากฏอ่อน เธอจึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้า นี้เรียกว่า
ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค ๓.อสุภสูตร

ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นความไม่งามในกาย มีสัญญาว่าปฏิกูล
ในอาหาร มีสัญญาว่าไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
ในสังขารทั้งปวงอยู่ เธอมีมรณสัญญาที่ตั้งมั่นดีภายใน เธอเข้าไปอาศัยเสกขพละ ๕
ประการนี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ แต่
อินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์
ปัญญินทรีย์ย่อมปรากฏแก่กล้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้ปรากฏแก่กล้า เธอ
จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะเร็ว นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตกวิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุ
บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร
มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า
“ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข” เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัส
ดับไปก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
อยู่ ภิกษุเข้าไปอาศัยเสกขพละ ๕ ประการนี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปป-
พละ วิริยพละ ปัญญาพละ แต่อินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์
วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมปรากฏอ่อน เพราะอินทรีย์
๕ ประการนี้ปรากฏอ่อน เธอจึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้า นี้เรียกว่า
สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา
สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุ
ปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่
เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค ๔. ปฐมขมสูตร

ไปก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ เธอเข้าไปอาศัยเสกขพละ ๕ ประการ
นี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ และอินทรีย์
๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์
ย่อมปรากฏแก่กล้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้ปรากฏแก่กล้า เธอจึงบรรลุ
คุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะเร็ว นี้เรียกว่า สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล

อสุภสูตรที่ ๓ จบ

๔. ปฐมขมสูตร
ว่าด้วยปฏิปทาที่อดทน สูตรที่ ๑

[๑๖๔] ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อักขมา ปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ไม่อดทน)
๒. ขมา ปฏิปทา๑ (ข้อปฏิบัติที่อดทน)
๓. ทมา ปฏิปทา๒ (ข้อปฏิบัติที่ข่มใจ)
๔. สมา ปฏิปทา๓ (ข้อปฏิบัติที่ระงับ)
อักขมา ปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ด่าโต้ตอบคนที่ด่า โกรธตอบคนที่โกรธ เถียงโต้
ตอบคนที่เถียง นี้เรียกว่า อักขมา ปฏิปทา
ขมา ปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ด่าโต้ตอบคนที่ด่า ไม่โกรธตอบคนที่โกรธ ไม่
เถียงโต้ตอบคนที่เถียง นี้เรียกว่า ขมา ปฏิปทา


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค ๕.ทุติยขมสูตร

ทมา ปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ๑ ไม่แยกถือ๒ ย่อม
ปฏิบัติเพื่อความสำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศล-
ธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวม
จักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ทางกาย ... รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความ
สำรวมในมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ นี้เรียกว่า
ทมา ปฏิปทา
สมา ปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ยินดีกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สงบ
ทำให้หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ยินดีพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ... ไม่ยินดี
วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ... ไม่ยินดีบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา
ทำให้สงบ ทำให้หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี นี้เรียกว่า สมา ปฏิปทา
ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล

ปฐมขมสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยขมสูตร
ว่าด้วยปฏิปทาที่อดทน สูตรที่ ๒

[๑๖๕] ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อักขมา ปฏิปทา ๒. ขมา ปฏิปทา
๓. ทมา ปฏิปทา ๔. สมา ปฏิปทา


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค ๕.ทุติยขมสูตร

อักขมา ปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว
กระหาย ต่อการถูกเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายรบกวน
ต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆ เป็นผู้ไม่อดกลั้นเวทนาทั้งหลาย อันมีในร่างกาย
ที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พราก
ชีวิต นี้เรียกว่า อักขมา ปฏิปทา
ขมา ปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว
กระหาย ต่อการถูกเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายรบกวน
ต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆ เป็นผู้อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกาย
ที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พราก
ชีวิต นี้เรียกว่า ขมา ปฏิปทา
ทมา ปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์
ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ นี้เรียกว่า ทมา ปฏิปทา
สมา ปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ยินดีกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สงบ
ทำให้หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ยินดีพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ... ไม่ยินดี
วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ... ไม่ยินดีบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา
ทำให้สงบ ทำให้หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี นี้เรียกว่า สมา ปฏิปทา
ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล

ทุติยขมสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค ๗.มหาโมคคัลลานสูตร

๖. อุภยสูตร
ว่าด้วยปฏิปทาที่มีลักษณะเหมือนกันทั้ง ๒ ส่วน

[๑๖๖] ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบากและรู้ได้ช้า)
๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว)
๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า)
๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติสะดวกและรู้ได้เร็ว)
บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนั้น ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิปทานี้บัณฑิต
กล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำทั้ง ๒ ส่วน คือ ต่ำเพราะการปฏิบัติลำบากและต่ำเพราะรู้
ได้ช้า ปฏิปทานี้บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำทั้ง ๒ ส่วน
บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนั้น ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิปทานี้บัณฑิต
กล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำเพราะปฏิบัติลำบาก
บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนั้น สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิปทานี้บัณฑิต
กล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำเพราะรู้ได้ช้า
บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนั้น สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิปทานี้บัณฑิต
กล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติประณีตทั้ง ๒ ส่วน คือ ประณีตเพราะปฏิบัติสะดวกและ
ประณีตเพราะรู้ได้เร็ว ปฏิปทานี้บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติประณีตทั้ง ๒ ส่วน
ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล

อุภยสูตรที่ ๖ จบ

๗. มหาโมคคัลลานสูตร
ว่าด้วยปฏิปทาที่เป็นเหตุให้จิตของพระมหาโมคคัลลานะหลุดพ้น

[๑๖๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่
อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่
สมควร ได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค ๘. สารีปุตตสูตร

ท่านโมคคัลลานะ ปฏิปทา ๔ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ผู้มีอายุ ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล
บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ เพราะอาศัยปฏิปทาข้อไหน จิตของท่านจึง
หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน
ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านสารีบุตร ปฏิปทา ๔ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ผู้มีอายุ ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล
บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ เพราะอาศัยทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา๑ จิต
ของผมจึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

มหาโมคคัลลานสูตรที่ ๗ จบ

๘. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยปฏิปทาที่เป็นเหตุให้จิตของพระสารีบุตรหลุดพ้น

[๑๖๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึง
ที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ
ที่สมควร ได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า
ท่านสารีบุตร ปฏิปทา ๔ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค ๙.สสังขารสูตร

๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ผู้มีอายุ ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล
บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ เพราะอาศัยปฏิปทาข้อไหน จิตของท่านจึง
หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านโมคคัลลานะ ปฏิปทา ๔ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ผู้มีอายุ ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล
บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ เพราะอาศัยสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา๑ จิต
ของผมจึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

สารีปุตตสูตรที่ ๘ จบ

๙. สสังขารสูตร
ว่าด้วยผู้เป็นสสังขารปรินิพพายีในปัจจุบัน

[๑๖๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสสังขารปรินิพพายี๒ในปัจจุบัน
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นสสังขารปรินิพพายีหลังจากตายแล้ว


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค ๙.สสังขารสูตร

๓. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นอสังขารปรินิพพายี๑ในปัจจุบัน
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นอสังขารปรินิพพายีหลังจากตายแล้ว
บุคคลเป็นสสังขารปรินิพพายีในปัจจุบัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นความไม่งามในกาย มีสัญญา (ความจำ
ได้หมายรู้)ว่าปฏิกูลในอาหาร มีสัญญาว่าไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง พิจารณา
เห็นความไม่เที่ยงในสงสารทั้งปวงอยู่ เธอมีมรณสัญญาที่ตั้งมั่นดีอยู่ภายใน เธอเข้า
ไปอาศัยเสกขพละ ๕ ประการนี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ
ปัญญาพละ และอินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์
สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมปรากฏแก่กล้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้ปรากฏ
แก่กล้า เธอจึงเป็นสสังขารปรินิพพายีในปัจจุบัน บุคคลเป็นสสังขารปรินิพพายีใน
ปัจจุบัน เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสสังขารปรินิพพายีหลังจากตายแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นความไม่งามในกาย มีสัญญาว่าปฏิกูล
ในอาหาร มีสัญญาว่าไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
ในสงสารทั้งปวงอยู่ และเธอมีมรณสัญญาที่ตั้งมั่นดีภายใน เธอเข้าไปอาศัยเสกขพละ
๕ ประการนี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ
แต่อินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์
ปัญญินทรีย์ ย่อมปรากฏอ่อน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้ปรากฏอ่อน เธอจึง
เป็นสสังขารปรินิพพายีหลังจากตายแล้ว บุคคลเป็นสสังขารปรินิพพายีหลังจากตายแล้ว
เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นอสังขารปรินิพพายีในปัจจุบัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุ
ปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่
เพราะปีติจางคลายไป ภิกษมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค ๑๐.ยุคนัทธสูตร

ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่๑ เธอเข้าไปอาศัยเสกขพละ ๕ ประการนี้
อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละย่อมปรากฏแก่กล้า
เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้ปรากฏแก่กล้า เธอจึงเป็นอสังขารปรินิพพายีในปัจจุบัน
บุคคลเป็นอสังขารปรินิพพายีในปัจจุบัน เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นอสังขารปรินิพพายีหลังจากตายแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ฯลฯ อยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่เพราะปีติจาง
คลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน
ฯลฯ อยู่ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุ
บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่๑ เธอเข้าไปอาศัยเสกขพละ ๕ ประการ นี้อยู่ คือ
สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ แต่อินทรีย์ ๕ ประการ
นี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ย่อม
ปรากฏอ่อน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้ปรากฏอ่อน เธอจึงเป็นอสังขารปรินิพพายี
หลังจากตายแล้ว บุคคลเป็นอสังขารปรินิพพายีหลังจากตายแล้ว เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

สสังขารสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ยุคนัทธสูตร
ว่าด้วยการเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป

[๑๗๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ณ
ที่นั้นแล ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุ
เหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีเปิดเผยการบรรลุ
อรหัตตผล ในสำนักของเราด้วยมรรค ๔ ประการโดยประการทั้งปวง หรือมรรคใด
มรรคหนึ่งบรรดามรรค ๔ ประการนี้
ผู้ใดก็ตาม จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีเปิดเผยการบรรลุอรหัตตผลในสำนักของ
เราด้วยมรรค ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๒.ปฏิปทาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญวิปัสสนาอันมีสมถะนำหน้า เมื่อเธอเจริญ
วิปัสสนาอันมีสมถะนำหน้า มรรคย่อมเกิด เธอเสพ เจริญ ทำให้
มากซึ่งมรรค เมื่อเธอเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อม
ละสังโยชน์ได้ อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นสุดไป
๒. ภิกษุเจริญสมถะอันมีวิปัสสนานำหน้า เมื่อเธอเจริญสมถะอันมี
วิปัสสนานำหน้า มรรคย่อมเกิด เธอเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่ง
มรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละ
สังโยชน์ได้ อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นสุดไป
๓. ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป เมื่อเธอเจริญสมถะและ
วิปัสสนาควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิด เธอเสพ เจริญ ทำให้มาก
ซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อม
ละสังโยชน์ได้ อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นสุดไป
๔. ภิกษุมีใจถูกอุทธัจจะในธรรมกั้นไว้ในเวลาที่จิตตั้งมั่น สงบภายใน
มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ มรรคก็เกิดขึ้นแก่เธอ เธอ
เสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ ทำให้มาก
ซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นสุดไป
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีเปิดเผยการบรรลุ
อรหัตตผลในสำนักของเราด้วยมรรค ๔ ประการโดยประการทั้งปวง หรือมรรคใด
มรรคหนึ่งบรรดามรรค ๔ ประการนี้

ยุคนัทธสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฏิปทาวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สังขิตตสูตร ๒. วิตถารสูตร
๓. อสุภสูตร ๔. ปฐมขมสูตร
๕. ทุติยขมสูตร ๖. อุภยสูตร
๗. มหาโมคคัลลานสูตร ๘. สารีปุตตสูตร
๙. สสังขารสูตร ๑๐. ยุคนัทธสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๑.เจตนาสูตร

๓. สัญเจตนิยวรรค
หมวดว่าด้วยความจงใจ
๑. เจตนาสูตร
ว่าด้วยเจตนา

[๑๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกาย๑มีอยู่ สุขทุกข์ภายใน
ย่อมเกิดขึ้น เพราะกายสัญเจตนา๒เป็นเหตุ เมื่อวาจามีอยู่ สุขทุกข์ภายในย่อมเกิดขึ้น
เพราะวจีสัญเจตนาเป็นเหตุ หรือเมื่อใจมีอยู่ สุขทุกข์ภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะ
มโนสัญเจตนาเป็นเหตุ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
บุคคลปรุงแต่งกายสังขาร๓อันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นด้วยตนเองบ้าง
บุคคลอื่นปรุงแต่งกายสังขารของบุคคลนั้นอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นแก่บุคคล
นั้นบ้าง บุคคลรู้สึกตัว ปรุงแต่งกายสังขารอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นบ้าง
บุคคลไม่รู้สึกตัว ปรุงแต่งกายสังขารอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นบ้าง
บุคคลปรุงแต่งวจีสังขาร๔อันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นด้วยตนเองบ้าง
บุคคลอื่นปรุงแต่งวจีสังขารของบุคคลนั้นอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นแก่บุคคล
นั้นบ้าง บุคคลรู้สึกตัว ปรุงแต่งวจีสังขารอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นบ้าง
บุคคลไม่รู้สึกตัว ปรุงแต่งวจีสังขารอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นบ้าง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๑.เจตนาสูตร

บุคคลปรุงแต่งมโนสังขาร๑อันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นด้วยตนเองบ้าง
บุคคลอื่นปรุงแต่งมโนสังขารของบุคคลนั้นอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นแก่บุคคล
นั้นบ้าง บุคคลรู้สึกตัว ปรุงแต่งมโนสังขารอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นบ้าง
บุคคลไม่รู้สึกตัว ปรุงแต่งมโนสังขารอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นบ้าง
อวิชชาย่อมตกไปตามธรรมเหล่านี้ แต่เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ
กายอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นจึงไม่มี วาจาอันเป็นปัจจัยให้
สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นจึงไม่มี ใจอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้น
แก่บุคคลนั้นจึงไม่มี เขต ฯลฯ วัตถุ ฯลฯ อายตนะ ฯลฯ อธิกรณะ๒อันเป็นปัจจัย
ให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงไม่มี
ภิกษุทั้งหลาย ความได้อัตภาพ ๔ ประการ๓นี้
ความได้อัตภาพ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของตนดำเนินไป มิใช่สัญเจตนาของ
ผู้อื่นดำเนินไป
๒. ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของผู้อื่นดำเนินไป มิใช่สัญเจตนา
ของตนดำเนินไป
๓. ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของตนและสัญเจตนาของผู้อื่นดำเนินไป
๔. ความได้อัตภาพที่มิใช่สัญเจตนาของตนและมิใช่สัญเจตนาของผู้
อื่นดำเนินไป
ภิกษุทั้งหลาย ความได้อัตภาพ ๔ ประการนี้แล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๑.เจตนาสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบชัดเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ตรัส
ไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า บรรดาความได้อัตภาพ ๔ ประการนั้น ความได้
อัตภาพที่สัญเจตนาของตนดำเนินไป มิใช่สัญเจตนาของผู้อื่นดำเนินไป นี้คือการจุติ
จากกายนั้นของสัตว์เหล่านั้น มีได้เพราะสัญเจตนาของตนเป็นเหตุ ความได้
อัตภาพที่สัญเจตนาของผู้อื่นดำเนินไป มิใช่สัญเจตนาของตนดำเนินไป นี้คือการจุติ
จากกายนั้นของสัตว์เหล่านั้น มีได้เพราะสัญเจตนาของผู้อื่นเป็นเหตุ ความได้
อัตภาพที่สัญเจตนาของตนและสัญเจตนาของผู้อื่นดำเนินไป นี้คือการจุติจากกาย
นั้นของสัตว์เหล่านั้น มีได้เพราะสัญเจตนาของตนและสัญเจตนาของผู้อื่นเป็นเหตุ
ความได้อัตภาพที่มิใช่สัญเจตนาของตนและมิใช่สัญเจตนาของผู้อื่นดำเนินไปนี้พึงเห็น
เทวดาพวกไหนที่ดำเนินไปด้วยอัตภาพนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สารีบุตร พึงเห็นเทวดาทั้งหลายผู้เข้าถึงชั้น
เนวสัญญานาสัญญายตนะ ด้วยอัตภาพนั้น”
ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุ
เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้จุติจากกายนั้นแล้วเป็นอาคามีกลับมาสู่ความเป็น
อย่างนี้ และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้จุติจากกายนั้นแล้วเป็น
อนาคามีผู้ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ยังละโอรัมภาคิย-
สังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ)ไม่ได้ แต่บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ในปัจจุบัน
เขาชอบใจเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ติดใจเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น
และถึงความปลื้มใจกับเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในเนวสัญญา-
นาสัญญายตนฌานนั้น น้อมใจไปในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ชอบอยู่กับ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความ
เป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เขาจุติจากชั้นนั้นแล้ว
เป็นอาคามีกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้๑


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๒.วิภัตติสูตร

บุคคลบางคนในโลกนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญา-
ยตนฌานอยู่ในปัจจุบัน เขาชอบใจ พอใจเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นและถึง
ความปลื้มใจกับเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในเนวสัญญา-
นาสัญญายตนฌานนั้น น้อมใจไปในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ชอบอยู่กับ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความ
เป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เขาจุติจากชั้นนั้นแล้ว
เป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้๑
สารีบุตร นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้จุติจากกายนั้นแล้ว
เป็นอาคามี กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกใน
โลกนี้จุติจากกายนั้นแล้ว เป็นอนาคามีไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้”

เจตนาสูตรที่ ๑ จบ

๒. วิภัตติสูตร
ว่าด้วยการจำแนกปฏิสัมภิทา

[๑๗๒] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ท่าน
ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ท่านทั้งหลาย เราอุปสมบทได้กึ่งเดือนได้ทำให้แจ้งซึ่งอัตถปฏิสัมภิทา (ปัญญา
แตกฉานในอรรถ๒) โดยเหตุ โดยพยัญชนะ เราจะบอก๓ แสดง๔ บัญญัติ๕ กำหนด๖


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๒.วิภัตติสูตร

เปิดเผย๑ จำแนก๒ ทำให้ง่าย๓ซึ่งอัตถปฏิสัมภิทานั้นโดยวิธีต่าง ๆ ผู้มีความสงสัย
หรือเคลือบแคลงพึงถาม เราพอใจที่จะตอบข้อสงสัย พระศาสดาของเราทั้งหลาย
ผู้ทรงฉลาดดีในธรรมทั้งหลาย ประทับอยู่ต่อหน้าเราทั้งหลายแล้ว
เราอุปสมบทได้กึ่งเดือนได้ทำให้แจ้ง ธัมมปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในธรรม)
โดยเหตุ โดยพยัญชนะ เราจะบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่ายซึ่งธัมมปฏิสัมภิทานั้นโดยวิธีต่าง ๆ ผู้มีความสงสัยหรือเคลือบแคลงพึงถาม
เราพอใจที่จะตอบข้อสงสัย พระศาสดาของเราทั้งหลาย ผู้ทรงฉลาดดีในธรรมทั้ง
หลาย ประทับอยู่ต่อหน้าเราทั้งหลายแล้ว
เราอุปสมบทได้กึ่งเดือนได้ทำให้แจ้งนิรุตติปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ)
โดยเหตุ โดยพยัญชนะ เราจะบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำ
ให้ง่ายซึ่งนิรุตติปฏิสัมภิทานั้นโดยวิธีต่าง ๆ ผู้มีความสงสัยหรือเคลือบแคลงพึงถาม
เราพอใจที่จะตอบข้อสงสัย พระศาสดาของเราทั้งหลายผู้ทรงฉลาดดีในธรรมทั้งหลาย
ประทับอยู่ต่อหน้าเราทั้งหลายแล้ว
เราอุปสมบทได้กึ่งเดือนได้ทำให้แจ้งปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานใน
ปฏิภาณ) โดยเหตุ โดยพยัญชนะ เราจะบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งปฏิภาณปฏิสัมภิทานั้นโดยวิธีต่าง ๆ ผู้มีความสงสัยหรือ
เคลือบแคลงพึงถาม เราพอใจที่จะตอบข้อสงสัย พระศาสดาของเราทั้งหลายผู้ทรง
ฉลาดดีในธรรมทั้งหลายประทับอยู่ต่อหน้าเราทั้งหลายแล้ว

วิภัตติสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๔.อานันทสูตร

๓. มหาโกฏฐิตสูตร
ว่าด้วยพระมหาโกฏฐิตะ

[๑๗๓] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโกฏฐิตะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่
ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ๑ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่น๒
ยังมีอยู่หรือ๓”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุ อย่ากล่าวอย่างนั้น”
ท่านพระมหาโกฏฐิตะถามว่า “ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไป
ไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นไม่มีอยู่หรือ๔”
“ผู้มีอายุ อย่ากล่าวอย่างนั้น”
“ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่น
ทั้งมีอยู่และไม่มีอยู่หรือ๕”
“ผู้มีอายุ อย่ากล่าวอย่างนั้น”
“ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่น
มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ๖”
“ผู้มีอายุ อย่ากล่าวอย่างนั้น”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๔.อานันทสูตร

ท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวว่า “เมื่อผมถามว่า ‘ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖
ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นยังมีอยู่หรือ’ ท่านตอบว่า ‘อย่ากล่าว
อย่างนั้น’ เมื่อผมถามว่า ‘เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ
อะไรอื่นไม่มีอยู่หรือ’ ท่านก็ตอบว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น’ เมื่อผมถามว่า ‘เพราะ
ผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นทั้งมีอยู่และไม่มีอยู่หรือ’
ท่านก็ตอบว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น’ เมื่อผมถามว่า ‘เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการ
ดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นมีอยู่ก็มิใช่ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ’ ท่านก็ตอบว่า อย่า
กล่าวอย่างนั้น’ ก็คำที่ท่านกล่าวแล้วนี้จะทราบความหมายได้อย่างไร”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวตอบว่า “ผู้มีอายุ เมื่อบุคคลกล่าวว่า ‘เพราะผัสสายตนะ
๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นยังมีอยู่หรือ’ ชื่อว่าคิดปรุงแต่งสิ่งที่ไม่
ควรคิดปรุงแต่ง เมื่อบุคคลกล่าวว่า ‘เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือ
ด้วยวิราคะ อะไรอื่นไม่มีอยู่หรือ’ ชื่อว่าคิดปรุงแต่งสิ่งที่ไม่ควรคิดปรุงแต่ง เมื่อบุคคล
กล่าวว่า ‘เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นทั้งมีอยู่
และไม่มีอยู่หรือ ชื่อว่าคิดปรุงแต่สิ่งที่ไม่ควรคิดปรุงแต่ง เมื่อบุคคลกล่าวว่า ‘เพราะ
ผัสสายตนะ ๖ ประการ ดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็
มิใช่หรือ’ ชื่อว่าคิดปรุงแต่งสิ่งที่ไม่ควรคิดปรุงแต่ง ผู้มีอายุ ปปัญจธรรม๑(สิ่งที่คิด
ปรุงแต่ง) ย่อมดำเนินไปตราบเท่าที่ผัสสายตนะ ๖ ดำเนินไป ผัสสายตนะ ๖ ก็
ดำเนินไปตราบเท่าที่ปปัญจธรรมดำเนินไป ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการ
ดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ ปปัญจธรรมจึงดับสนิท ระงับไป”

มหาโกฏฐิตสูตรที่ ๓ จบ

๔. อานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์

[๑๗๔] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปหาท่านพระมหาโกฏฐิตะถึงที่อยู่
ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ถามท่านพระมหาโกฏฐิตะดังนี้ว่า


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๔.อานันทสูตร

“ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่น
ยังมีอยู่หรือ”
ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า “ผู้มีอายุ อย่ากล่าวอย่างนั้น”
ท่านพระอานนท์ถามว่า “เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วย
วิราคะ อะไรอื่นไม่มีอยู่หรือ”
“ผู้มีอายุ อย่ากล่าวอย่างนั้น”
“ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่น
ทั้งมีอยู่ และไม่มีอยู่หรือ”
“ผู้มีอายุ อย่ากล่าวอย่างนั้น”
“ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่น
มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ”
“ผู้มีอายุ อย่ากล่าวอย่างนั้น”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “เมื่อผมถามว่า ‘ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖
ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นยังมีอยู่หรือ’ ท่านตอบว่า ‘อย่ากล่าว
อย่างนั้น’ เมื่อผมถามว่า ‘เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ
อะไรอื่นไม่มีอยู่หรือ’ ท่านก็ตอบว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น’ เมื่อผมถามว่า ‘เพราะ
ผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นทั้งมีอยู่และไม่มีอยู่หรือ’
ท่านก็ตอบว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น’ เมื่อผมถามว่า ‘เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการ
ดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ’ ท่านก็ตอบว่า ‘อย่า
กล่าวอย่างนั้น’ ผู้มีอายุ ก็คำที่ท่านกล่าวแล้วนี้จะทราบความหมายได้อย่างไร”
ท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวว่า “ผู้มีอายุ เมื่อบุคคลกล่าวว่า ‘เพราะผัสสายตนะ
๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นยังมีอยู่หรือ’ ชื่อว่าคิดปรุงแต่งสิ่งที่ไม่
ควรคิดปรุงแต่ง เมื่อบุคคลกล่าวว่า ‘เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วย
วิราคะ อะไรอื่นไม่มีอยู่หรือ’ ชื่อว่าคิดปรุงแต่งสิ่งที่ไม่ควรคิดปรุงแต่ง เมื่อบุคคล
กล่าวว่า ‘เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นทั้งมีอยู่
และไม่มีอยู่หรือ’ ชื่อว่าคิดปรุงแต่งสิ่งที่ไม่ควรคิดปรุงแต่ง เมื่อบุคคลกล่าวว่า ‘เมื่อ
ผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นมีอยู่ก็มิใช่ไม่มีอยู่ก็มิใช่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๕.อุปวาณสูตร

ชื่อว่าคิดปรุงแต่งสิ่งที่ไม่ควรคิดปรุงแต่ง ท่านผู้มีอายุ ปปัญจธรรมย่อมดำเนินไป
ตราบเท่าที่ผัสสายตนะ ๖ ประการดำเนินไป ผัสสายตนะ ๖ ประการก็ดำเนินไป
ตราบเท่าที่ปปัญจธรรมดำเนินไป ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไป
ไม่เหลือด้วยวิราคะ ปปัญจธรรมจึงดับสนิท ระงับไป”

อานันทสูตรที่ ๔ จบ

๕. อุปวาณสูตร
ว่าด้วยพระอุปวาณะ

[๑๗๕] ครั้งนั้นแล ท่านพระอุปวาณะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้
ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยวิชชาหรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุ ไม่ใช่อย่างนี้”
ท่านพระอุปวาณะกล่าวว่า “ท่านสารีบุตร บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วย
จรณะหรือ”
“ผู้มีอายุ ไม่ใช่อย่างนี้”
“ท่านสารีบุตร บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยวิชชาและจรณะหรือ”
“ผู้มีอายุ ไม่ใช่อย่างนี้”
“ท่านสารีบุตร บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยเหตุนอกจากวิชชาและจรณะหรือ”
“ผู้มีอายุ ไม่ใช่อย่างนี้”
ท่านพระอุปวาณะกล่าวว่า “เมื่อผมถามว่า ‘ท่านสารีบุตร บุคคลทำที่สุด
แห่งทุกข์ได้ด้วยวิชชาหรือ’ ท่านตอบว่า ‘ไม่ใช่อย่างนี้’ เมื่อผมถามว่า “บุคคลทำ
ที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยจรณะหรือ’ ท่านก็ตอบว่า ‘ไม่ใช่อย่างนี้’ เมื่อผมถามว่า
‘บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยวิชชาและจรณะหรือ’ ท่านก็ตอบว่า ‘ไม่ใช่อย่างนี้’
เมื่อผมถามว่า ‘บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยเหตุนอกจากวิชชาและจรณะหรือ’
ท่านก็ตอบว่า ‘ไม่ใช่อย่างนี้’ ผู้มีอายุ ก็บุคคลทำที่สุดแห่งทุกข์ได้อย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๖. อายาจนสูตร

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ถ้าบุคคลจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยวิชชาแล้ว ก็จัก
มีความยึดมั่นถือมั่นทำที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าบุคคลจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยจรณะแล้ว
ก็จักมีความยึดมั่นถือมั่นทำที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าบุคคลจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยวิชชา
และจรณะแล้ว ก็จักมีความยึดมั่นถือมั่นทำที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าบุคคลจักทำที่สุดแห่ง
ทุกข์ด้วยเหตุนอกจากวิชชาและจรณะแล้ว ปุถุชนก็จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะ
ปุถุชนไม่มีวิชชาและจรณะ ผู้มีอายุ บุคคลผู้มีจรณะวิบัติย่อมไม่รู้ไม่เห็นตามความ
เป็นจริง บุคคลผู้ประกอบด้วยจรณะย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อรู้เห็นตาม
ความเป็นจริงย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”

อุปวาณสูตรที่ ๕ จบ

๖. อายาจนสูตร
ว่าด้วยความปรารถนาโดยชอบ

[๑๗๖] “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบพึงปรารถนา
อย่างนี้ว่า ‘ขอให้เราเป็นเช่นกับพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเถิด’ สารีบุตร
และโมคคัลลานะนี้เป็นบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานของภิกษุสาวกของเรา
ภิกษุณีผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบพึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ขอให้เราเป็น
เช่นกับภิกษุณีเขมาและภิกษุณีอุบลวรรณาเถิด’ ภิกษุณีเขมาและภิกษุณีอุบลวรรณา
นี้เป็นบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานแห่งภิกษุณีสาวิกาของเรา
อุบาสกผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบพึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ขอให้เรา
เป็นเช่นกับจิตตคหบดีและหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีเถิด’ จิตตคหบดีและหัตถก-
อุบาสกชาวเมืองอาฬวีนี้เป็นบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานแห่งอุบาสกสาวกของเรา
อุบาสิกาผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบพึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ขอให้
เราเป็นเช่นกับอุบาสิกาขุชชุตตราและอุบาสิกาเวฬุกัณฏกีนันทมาตาเถิด’ อุบาสิกา
ขุชชุตตราและอุบาสิกาเวฬุกัณฏกีนันทมาตานี้เป็นบรรทัดฐาน เป็นมาตรฐานของ
อุบาสิกาสาวิกาของเรา”

อายาจนสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๓. สัญเจตนิยวรรค ๗. ราหุลสูตร

๗. ราหุลสูตร
ว่าด้วยพระราหุล

[๑๗๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ราหุล ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) ทั้งภายในและภายนอกเป็นแต่สักว่าปฐวีธาตุเท่านั้น
พึงเห็นธรรมชาตินั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เพราะเห็นธรรมชาตินั้นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่าย คลายกำหนัดในปฐวีธาตุ
อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) ทั้งภายในและภายนอกก็เป็นแต่สักว่าอาโปธาตุเท่านั้น
พึงเห็นธรรมชาตินั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เพราะเห็นธรรมชาตินั้นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่าย คลายกำหนัดในอาโปธาตุ
เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ทั้งภายในและภายนอกก็เป็นแต่สักว่าเตโชธาตุเท่านั้น พึง
เห็นธรรมชาตินั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เพราะเห็นธรรมชาตินั้นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่าย คลายกำหนัดในเตโชธาตุ
วาโยธาตุ (ธาตุลม) ทั้งภายในและภายนอกก็เป็นแต่สักว่าวาโยธาตุเท่านั้น
พึงเห็นธรรมชาตินั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เพราะเห็นธรรมชาตินั้นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่าย คลายกำหนัดในวาโยธาตุ
ราหุล เพราะพิจารณาเห็นว่า ในธาตุ ๔ นี้ ไม่มีอัตตา ไม่เกี่ยวกับอัตตา
ภิกษุนี้ชื่อว่าตัดตัณหาได้แล้ว ถอนสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะ
ละมานะได้โดยชอบ”

ราหุลสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๘.ชัมพาลีสูตร

๘. ชัมพาลีสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้เปรียบด้วยบ่อน้ำใหญ่

[๑๗๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุเจโตวิมุตติอันสงบอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่
เธอมนสิการถึงสักกายนิโรธ๑ เมื่อเธอมนสิการถึงสักกายนิโรธ
จิตย่อม ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น ไม่น้อมไปในสักกายนิโรธ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุนั้นไม่พึงได้รับสักกายนิโรธ ภิกษุทั้งหลาย
บุรุษใช้มือที่เปื้อนยางเหนียวจับกิ่งไม้ มือของเธอพึงเกี่ยวจับติด
กับกิ่งไม้นั้นฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรลุเจโตวิมุตติอัน
สงบอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เธอมนสิการถึงสักกายนิโรธ เมื่อเธอ
มนสิการถึงสักกายนิโรธ จิตย่อมไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น
ไม่น้อมไปใน สักกายนิโรธ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุนั้นแลไม่พึงได้รับ
สักกายนิโรธ
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุเจโตวิมุตติอันสงบอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่
เธอมนสิการถึงสักกายนิโรธ เมื่อเธอมนสิการถึงสักกายนิโรธ จิต
ย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น น้อมไปในสักกายนิโรธ เมื่อเป็น
เช่นนั้น ภิกษุนั้นพึงได้รับสักกายนิโรธ ภิกษุทั้งหลาย บุรุษใช้
มือที่สะอาดจับกิ่งไม้ มือของเธอไม่พึงเกี่ยวจับติดกิ่งไม้นั้นฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรลุเจโตวิมุตติอันสงบอย่างใดอย่าง
หนึ่งอยู่ เธอมนสิการถึงสักกายนิโรธ เมื่อเธอมนสิการถึงสักกาย-
นิโรธ จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น น้อมไปในสักกายนิโรธ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุนั้นแลพึงได้รับสักกายนิโรธ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๘.ชัมพาลีสูตร

๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุเจโตวิมุตติอันสงบอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่
เธอมนสิการถึงการทำลายอวิชชา เมื่อเธอมนสิการถึงการทำลาย
อวิชชา จิตย่อมไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น ไม่น้อมไปใน
การทำลายอวิชชา เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุนั้นไม่พึงได้รับการ
ทำลายอวิชชา ภิกษุทั้งหลาย บ่อน้ำใหญ่มีอายุหลายปี บุรุษ
ปิดทางไหลเข้าของบ่อน้ำนั้นเสียและเปิดทางไหลออกไว้ ทั้งฝนก็
ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล เมื่อเป็นเช่นนั้น บ่อน้ำใหญ่นั้นก็ไม่พึงมี
น้ำล้นขอบออกไปได้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรลุเจโต-
วิมุตติอันสงบอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เธอมนสิการถึงการทำลาย
อวิชชา เมื่อเธอมนสิการถึงการทำลายอวิชชา จิตย่อมไม่แล่นไป
ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น ไม่น้อมไปในการทำลายอวิชชา เมื่อเป็น
เช่นนั้น ภิกษุนั้นแลไม่พึงได้รับการทำลายอวิชชา
๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุเจโตวิมุตติอันสงบอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่
เธอมนสิการถึงการทำลายอวิชชา เมื่อเธอมนสิการถึงการทำลาย
อวิชชา จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น น้อมไปในการทำลาย
อวิชชา เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุนั้นพึงได้รับการทำลายอวิชชา
ภิกษุทั้งหลาย บ่อน้ำใหญ่มีอายุหลายปี บุรุษเปิดทางไหลเข้า
ของบ่อน้ำนั้นและปิดทางไหลออกไว้ ทั้งฝนก็ตกเพิ่มตามฤดูกาล
เมื่อเป็นเช่นนั้น บ่อน้ำใหญ่นั้นพึงมีน้ำล้นขอบออกไปได้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรลุเจโตวิมุตติอันสงบอย่างใดอย่าง
หนึ่งอยู่ เธอมนสิการถึงการทำลายอวิชชา เมื่อเธอมนสิการถึง
การทำลายอวิชชา จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น น้อมไปใน
การทำลายอวิชชา เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุนั้นแลพึงได้รับการทำลาย
อวิชชา
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก

ชัมพาลีสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๙. นิพพานสูตร

๙. นิพพานสูตร
ว่าด้วยนิพพาน

[๑๗๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่นิพพาน
ในปัจจุบัน”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านอานนท์ สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ไม่ทราบชัด
ตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นหานภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายเสื่อม)’ ไม่ทราบชัด
ตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นฐิติภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายดำรง)’ ไม่ทราบชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นวิเสสภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายวิเศษ)’ ไม่ทราบชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘นี้เป็นนิพเพธภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายชำแรกกิเลส)’ ท่านอานนท์
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่นิพพานในปัจจุบัน”
ท่านพระอานนท์ถามว่า “ท่านสารีบุตร อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวก
ในโลกนี้นิพพานในปัจจุบัน”
พระสารีบุตรตอบว่า “ท่านอานนท์ สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ทราบชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นหานภาคิยสัญญา’ ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็น
ฐิติภาคิยสัญญา’ ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นวิเสสภาคิยสัญญา’ ทราบ
ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นนิพเพธภาคิยสัญญา’ ท่านอานนท์ นี้แลเป็นเหตุ
เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้นิพพานในปัจจุบัน”

นิพพานสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๓. สัญเจตนิยวรรค ๑๐. มหาปเทสสูตร

๑๐. มหาปเทสสูตร๑
ว่าด้วยมหาปเทส

[๑๘๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อานันทเจดีย์๒ โภคนคร ณ
ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมหาปเทส๓ ๔ ประการนี้ เธอทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสเรื่องว่า
“ภิกษุทั้งหลาย มหาปเทส ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าได้สดับรับ
มาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย
นี้เป็นสัตถุสาสน์’ เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้าน
คำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี๔แล้ว
พึงสอบดูในสูตร เทียบดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น
สอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า
นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์
นั้นแน่นอน และภิกษุนี้รับมาผิด’ เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าได้
สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็น
วินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’ เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๑๐.มหาปเทสสูตร

คัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี
แล้วพึงสอบดูในสูตร เทียบดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น
สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า
นี้เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นแน่นอน และภิกษุนี้รับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำ
มหาปเทสประการที่ ๑ นี้ไว้
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมีสงฆ์
อยู่พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับรับ
มาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’
เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น
พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้วพึงสอบดูในสูตร เทียบดู
ในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้นสอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบ
เข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่ดำรัสของพระ
ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแน่นอน และ
สงฆ์นั้นรับมาผิด’ เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้น
สงฆ์อยู่พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับ
รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็น
สัตถุสาสน์’ เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำ
กล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึง
สอบดูในสูตร เทียบดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้นสอบ
ลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้เป็น
ดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แน่นอน และสงฆ์นั้นรับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทส
ประการที่ ๒ นี้ไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค ๑๐.มหาปเทสสูตร

๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมีภิกษุผู้
เป็นเถระอยู่จำนวนมาก เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์๑ ทรงธรรม๒
ทรงวินัย๓ ทรงมาติกา๔ ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระ
เหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์’ เธอ
ทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึง
เรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตร เทียบดู
ในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้นสอบลงในสูตรก็ไม่ได้
เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่ดำรัสของ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแน่นอน
และพระเถระเหล่านั้นรับมาผิด’ เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมี
ภิกษุผู้เป็นเถระอยู่จำนวนมาก เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรง
ธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้า
พระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’
เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึง
เรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้วพึงสอบดูในสูตร เทียบดูใน
วินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้นสอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้าใน
วินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้เป็นดำรัสของพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแน่นอน และพระเถระเหล่านั้น
รับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทสประการที่ ๓ นี้ไว้
๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมีภิกษุผู้
เป็นเถระอยู่รูปหนึ่ง เป็นพหูสูต เรียนจบคมภีร์ ทรงธรรม ทรง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๓.สัญเจตนิยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

วินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูป
นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์’ เธอทั้งหลายยังไม่
พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและ
พยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตร เทียบดูในวินัย
ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้นสอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าใน
วินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแน่นอน และพระเถระรูปนั้น
รับมาผิด’ เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมี
ภิกษุผู้เป็นเถระอยู่รูปหนึ่ง เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม
ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระ
รูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’ เธอทั้งหลาย
ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบท
และพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตร เทียบดูในวินัย
ถ้า บทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้าใน
วินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้เป็นดำรัสของพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแน่นอน และพระเถระรูปนั้น
รับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทสประการที่ ๔ นี้ไว้
ภิกษุทั้งหลาย มหาปเทส ๔ ประการนี้แล”

มหาปเทสสูตรที่ ๑๐ จบ
สัญเจตนิยวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เจตนาสูตร ๒. วิภัตติสูตร
๓. มหาโกฏฐิตสูตร ๔. อานันทสูตร
๕. อุปวาณสูตร ๖. อายาจนสูตร
๗. ราหุลสูตร ๘. ชัมพาลีสูตร
๙. นิพพานสูตร ๑๐. มหาปเทสสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๑.โยธาชีวสูตร

๔. โยธาชีววรรค
หมวดว่าด้วยองค์ประกอบของนักรบอาชีพ
๑. โยธาชีวสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของนักรบอาชีพ

[๑๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพผู้ประกอบด้วย
องค์ ๔ ประการย่อมคู่ควรแก่พระราชา เหมาะแก่พระราชา ถึงการนับได้ว่าเป็น
ราชองครักษ์โดยแท้
องค์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
นักรบอาชีพในโลกนี้
๑. ฉลาดในฐานะ ๒. ยิงลูกศรได้ไกล
๓. ยิงไม่พลาด ๔. ทำลายกายขนาดใหญ่ได้
ภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพผู้ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการนี้แลย่อมคู่ควรแก่
พระราชา เหมาะแก่พระราชา ถึงการนับว่าเป็นราชองครักษ์โดยแท้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การ
ทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ฉลาดในฐานะ ๒. ยิงลูกศรได้ไกล
๓. ยิงไม่พลาด ๔. ทำลายกายขนาดใหญ่ได้
ภิกษุฉลาดในฐานะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีศีล ฯลฯ๑ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุชื่อว่าฉลาดในฐานะ เป็นอย่างนี้แล


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๒. ปาฏิโภคสูตร

ภิกษุยิงลูกศรได้ไกล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต
และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือ
ใกล้ก็ตาม ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เรา
ไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใด
อย่างหนึ่ง ... สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
ไกลหรือใกล้ก็ตาม ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ภิกษุชื่อว่ายิงลูกศรได้ไกล เป็นอย่างนี้แล๑
ภิกษุยิงไม่พลาด เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา’ ภิกษุชื่อว่ายิงไม่พลาด เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทำลายกายขนาดใหญ่ได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำลายกองอวิชชาใหญ่ได้ ภิกษุชื่อว่าทำลายกายขนาด
ใหญ่ได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก”

โยธาชีวสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปาฏิโภคสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ไม่มีใครประกันได้

[๑๘๒] ภิกษุทั้งหลาย ไม่มีใครเลย ไม่ว่าจะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร
พรหม หรือใคร ๆ ในโลกที่จะประกันธรรม ๔ ประการ
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๓.สุตสูตร

๑. ไม่มีใครเลย ไม่ว่าจะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลกที่จะประกันสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาว่า ‘ไม่แก่’
๒. ไม่มีใครเลย ไม่ว่าจะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลกที่จะประกันสิ่งที่มีความเจ็บเป็นธรรมดาว่า ‘ไม่เจ็บ’
๓. ไม่มีใครเลย ไม่ว่าจะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลกที่จะประกันสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาว่า
ไม่ตาย’
๔. ไม่มีใครเลย ไม่ว่าจะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลกที่จะประกันผลแห่งกรรมชั่วที่เศร้าหมอง ให้เกิด
ในภพใหม่ มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นผล มีชาติ ชรา และ
มรณะต่อไปว่า ‘ไม่บังเกิด’
ภิกษุทั้งหลาย ไม่มีใครเลย ไม่ว่าจะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลกที่จะประกันธรรม ๔ ประการนี้แล

ปาฏิโภคสูตรที่ ๒ จบ

๓. สุตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ได้ฟัง

[๑๘๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้
เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสสการพราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์
แห่งแคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระโคดม ข้าพเจ้ามีวาทะ๑อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าว
ถึงสิ่งที่ตนเห็นว่า ‘เราได้เห็นอย่างนี้’ ย่อมไม่มีโทษเพราะการพูดนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าว


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๓.สุตสูตร

ถึงสิ่งที่ตนได้ฟังว่า ‘เราได้ฟังอย่างนี้’ ย่อมไม่มีโทษเพราะการพูดนั้น ผู้ใดผู้หนึ่ง
กล่าวถึงสิ่งที่ตนรู้ว่า ‘เราได้รู้อย่างนี้’ ย่อมไม่มีโทษเพราะการพูดนั้น ผู้ใดผู้หนึ่ง
กล่าวถึงสิ่งที่ตนรู้แจ้งว่า ‘เราได้รู้แจ้งอย่างนี้’ ย่อมไม่มีโทษเพราะการพูดนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เราไม่กล่าวว่า ‘ทุกสิ่งที่ได้เห็นเป็นสิ่ง
ควรกล่าว’ และไม่กล่าวว่า ‘ทุกสิ่งที่ได้เห็นเป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’ เราไม่กล่าวว่า
‘ทุกสิ่งที่ได้ฟังเป็นสิ่งควรกล่าว’ และไม่กล่าวว่า ‘ทุกสิ่งที่ได้ฟังเป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’
เราไม่กล่าวว่า ‘ทุกสิ่งที่ได้ทราบเป็นสิ่งควรกล่าว’ และไม่กล่าวว่า ‘ทุกสิ่งที่ได้ทราบ
เป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’ เราไม่กล่าวว่า ‘ทุกสิ่งที่รู้แจ้งเป็นสิ่งควรกล่าว’ และไม่กล่าวว่า
‘ทุกสิ่งที่รู้แจ้งเป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’
พราหมณ์ เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใดที่ได้เห็น อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม
เสื่อมไป เรากล่าวว่า ‘สิ่งที่ได้เห็นเช่นนี้เป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’ แต่เมื่อบุคคลกล่าวถึง
สิ่งใดที่ได้เห็น อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวว่า ‘สิ่งที่ได้เห็นเช่นนี้
เป็นสิ่งควรกล่าว’
เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใดที่ได้ฟัง อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรา
กล่าวว่า ‘สิ่งที่ได้ฟังเช่นนี้เป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’ แต่เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใดที่ได้ฟัง
อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวว่า ‘สิ่งที่ได้ฟังเช่นนี้เป็นสิ่งควรกล่าว’
เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใดที่ได้ทราบ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป
เรากล่าวว่า ‘สิ่งที่ได้ทราบเช่นนี้ เป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’ แต่เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใด
ที่ได้ทราบ อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวว่า ‘สิ่งที่ได้ทราบเช่นนี้
เป็นสิ่งควรกล่าว’
เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใดที่รู้แจ้ง อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรา
กล่าวว่า ‘สิ่งที่รู้แจ้งเช่นนี้ เป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’ แต่เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใดที่รู้แจ้ง
อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวว่า ‘สิ่งที่รู้แจ้งเช่นนี้เป็นสิ่งควรกล่าว”
ครั้งนั้นแล วัสสการพราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธชื่นชม ยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วลุกจากที่นั่งจากไป

สุตสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๔.อภยสูตร

๔. อภยสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้กลัวตายและผู้ไม่กลัวความตาย

[๑๘๔] ครั้งนั้นแล ชานุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระพุทธเจ้ามีวาทะ๑อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สัตว์
ผู้มีความตายเป็นธรรมดาชื่อว่าไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตายย่อมไม่มี”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บุคคลผู้มีความตายเป็นธรรมดากลัว
ถึงความสะดุ้งต่อความตายมีอยู่ และบุคคลผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่กลัว ไม่
ถึงความสะดุ้งต่อความตายก็มีอยู่
บุคคลผู้มีความตายเป็นธรรมดากลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจาก
ความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความ
เร่าร้อน ไม่ปราศจากความอยากในกามทั้งหลาย โรคหนักบางอย่างกระทบเขาเข้า
เมื่อเขาถูกโรคหนักบางอย่างกระทบเข้าจึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘กามอันเป็นที่รัก
จักละเราไปหนอ และเราก็จักละกามอันเป็นที่รักไป’ เขาย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร
ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความเลอะเลือน นี้แลคือบุคคลผู้มีความตายเป็นธรรมดา
กลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
ยังมีอีก บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจาก
ความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความ
เร่าร้อน ไม่ปราศจากความอยากในกามทั้งหลาย โรคหนักบางอย่างกระทบเขาเข้า
เมื่อเขาถูกโรคหนักบางอย่างกระทบเข้าจึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘กายอันเป็นที่รัก
จักละเราไปหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักไป’ เขาย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร
ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความเลอะเลือน นี้แลคือบุคคลผู้มีความตายเป็นธรรมดากลัว
ถึงความสะดุ้งต่อความตาย


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๔.อภยสูตร

ยังมีอีก บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ยังไม่ได้ทำความดีไว้ ยังไม่ได้สร้างกุศลไว้
ไม่ได้ทำที่ป้องกันสิ่งน่ากลัว ทำแต่ความชั่ว ทำแต่กรรมหยาบช้า และทำแต่กรรม
เศร้าหมอง โรคหนักบางอย่างกระทบเขาเข้า เมื่อเขาถูกโรคหนักบางอย่างกระทบเข้า
จึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เรายังไม่ได้ทำความดีไว้หนอ ยังไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำ
ที่ป้องกันสิ่งน่ากลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่กรรมหยาบช้า ทำแต่กรรมเศร้าหมอง
เราตายแล้วจะไปสู่คติของผู้ไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำที่ป้องกันสิ่ง
น่ากลัว ทำแต่ความชั่ว ทำแต่กรรมหยาบช้า ทำแต่กรรมเศร้าหมองนั้น’ เขาย่อม
เศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความเลอะเลือน นี้แลคือบุคคลผู้
มีความตายเป็นธรรมดากลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
ยังมีอีก บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีความสงสัย๑เคลือบแคลงใจ ไม่ถึง
ความตกลงใจในสัทธรรม โรคหนักบางอย่างกระทบเขาเข้า เมื่อเขาถูกโรคหนัก
บางอย่างกระทบเข้าจึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เรามีความสงสัยเคลือบแคลงใจ ไม่ถึง
ความตกลง ใจในสัทธรรมหนอ’ เขาย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ
ถึงความเลอะเลือน นี้แลคือบุคคลผู้มีความตายเป็นธรรมดากลัว ถึงความสะดุ้งต่อ
ความตาย
พราหมณ์ บุคคลผู้มีความตายเป็นธรรมดา ๔ จำพวกนี้แลกลัว ถึงความ
สะดุ้งต่อความตาย
บุคคลผู้มีความตายเป็นธรรมดาไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ
ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจาก
ความอยากในกามทั้งหลาย โรคหนักบางอย่างกระทบเขาเข้า เมื่อเขาถูกโรคหนักบาง
อย่างกระทบเข้าก็ไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘กามอันเป็นที่รักจักละเราไปหนอ และเรา


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๔.อภยสูตร

ก็จักละกามอันเป็นที่รักไป’ เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก
คร่ำครวญ ไม่ถึงความเลอะเลือน นี้แลคือบุคคลผู้มีความตายเป็นธรรมดาไม่กลัว
ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
ยังมีอีก บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจาก
ความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน
ปราศจากความอยากในกามทั้งหลาย โรคหนักบางอย่างกระทบเขาเข้า เมื่อเขาถูก
โรคหนักบางอย่างกระทบเข้าก็ไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า “กายอันเป็นที่รักจักละเราไป
หนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักไป” เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร
ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความเลอะเลือน” นี้แลคือบุคคลผู้มีความตายเป็นธรรมดา
ไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
ยังมีอีก บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่ได้ทำความชั่วไว้ ไม่ได้ทำกรรมหยาบ
ช้าไว้ ไม่ได้ทำกรรมเศร้าหมองไว้ ทำแต่ความดี ทำแต่กุศล และทำที่ป้องกันสิ่ง
น่ากลัว โรคหนักบางอย่างกระทบเขาเข้า เมื่อเขาถูกโรคหนักบางอย่างกระทบเข้า
จึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราไม่ได้ทำความชั่วหนอ ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้
ทำกรรมเศร้าหมอง ทำแต่ความดี ทำแต่กุศล และทำที่ป้องกันสิ่งน่ากลัวไว้ เรา
ตายแล้วจะไปสู่คติของผู้ไม่ได้ทำความชั่วไว้ ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ทำแต่ความดี
ทำแต่กุศล และทำที่ป้องกันสิ่งน่ากลัวไว้นั้น’ เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ
ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความเลอะเลือน นี้แลคือบุคคลผู้มีความตาย
เป็นธรรมดาไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
ยังมีอีก บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีความสงสัยเคลือบแคลงใจ ถึงความ
ตกลงใจในสัทธรรม โรคหนักบางอย่างกระทบเขาเข้า เมื่อเขาถูกโรคหนักบางอย่าง
กระทบเข้าจึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราไม่มีความสงสัย ไม่เคลือบแคลงใจถึงความ
ตกลงใจในสัทธรรม’ เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ
ไม่ถึงความเลอะเลือน นี้แลคือบุคคลผู้มีความตายเป็นธรรมดาไม่กลัว ไม่ถึงความ
สะดุ้งต่อความตาย
พราหมณ์ บุคคลผู้มีความตายเป็นธรรมดา ๔ จำพวกนี้แลไม่กลัว ไม่ถึง
ความสะดุ้งต่อความตาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๕.สมณสัจจสูตร

ชานุสโสณิพราหมณ์ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่าน
พระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ๑ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ไว้ว่าเป็น
อุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

อภยสูตรที่ ๔ จบ

๕. สมณสัจจสูตร
ว่าด้วยสัจจะที่เป็นเหตุให้ไม่สำคัญตนว่าเป็นสมณะ

[๑๘๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ปริพาชกผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน คือ อันนภาระ วรธร
สกุลุทายี และปริพาชกที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ อาศัยอยู่ที่อารามของปริพาชก ริมฝั่ง
แม่น้ำสัปปินี
ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น๒ เข้าไปยังอาราม
ของปริพาชก ริมฝั่งแม่น้ำสัปปินี
ขณะนั้นแล ปริพาชกผู้เป็นอัญเดียรถีย์เหล่านั้นกำลังประชุมสนทนาเรื่องนี้ว่า
“สัจจะของพราหมณ์เป็นอย่างนี้ สัจจะของพราหมณ์เป็นอย่างนี้”
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาปริพาชกทั้งหลายถึงที่พำนัก ประทับ
นั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้ตรัสถามปริพาชกเหล่านั้นว่า “ปริพาชกทั้งหลาย
บัดนี้พวกท่านนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เรื่องอะไรที่พวกท่านสนทนา
กันค้างไว้”
ปริพาชกทั้งหลายทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ณ สถานที่นี้ พวกข้าพเจ้า
มาชุมนุมกันตั้งประเด็นสนทนากันเรื่องนี้ว่า ‘สัจจะของพราหมณ์เป็นอย่างนี้ สัจจะ
ของพราหมณ์เป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปริพาชกทั้งหลาย สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการนี้
อันเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๕.สมณสัจจสูตร

สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พราหมณ์๑ในธรรมวินัยนี้ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สัตว์ทั้งปวงไม่ควร
ถูกฆ่า’ พราหมณ์เมื่อกล่าวอย่างนี้ ชื่อว่าพูดจริง ไม่ใช่พูดเท็จ
เพราะการพูดนั้น เขาจึงไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นสมณะ’ ไม่สำคัญตน
ว่า ‘เป็นพราหมณ์’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา’
ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้เสมอเขา’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้ด้อย
กว่าเขา’ และเขารู้สัจจะในข้อปฏิบัตินั้น จึงปฏิบัติเพื่อความเอ็นดู
อนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย
๒. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘กาม๒ทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มี
ความแปรผันไปเป็นธรรมดา’ พราหมณ์เมื่อพูดอย่างนี้ ชื่อว่าพูด
จริง ไม่ใช่พูดเท็จ เพราะการพูดนั้น เขาจึงไม่สำคัญตนว่า ‘เป็น
สมณะ’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นพราหมณ์’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็น
ผู้ประเสริฐกว่าเขา’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้เสมอเขา’ ไม่สำคัญตน
ว่า ‘เป็นผู้ด้อยกว่าเขา’ และเขารู้สัจจะในข้อปฏิบัตินั้น จึงปฏิบัติ
เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกามทั้หลาย
๓. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ภพ๓ทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มี
ความแปรผันไปเป็นธรรมดา’ พราหมณ์เมื่อพูดอย่างนี้ ชื่อว่าพูด
จริง ไม่ใช่พูดเท็จ เพราะการพูดนั้น เขาจึงไม่สำคัญตนว่า ‘เป็น
สมณะ’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นพราหมณ์’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็น
ผู้ประเสริฐกว่าเขา’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้เสมอเขา’ ไม่สำคัญตน
ว่า ‘เป็นผู้ด้อยกว่าเขา’ และเขารู้สัจจะในข้อปฏิบัตินั้น จึงปฏิบัติ
เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับภพทั้งหลาย


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๖.อุมมัคคสูตร

๔. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีเรา๑เป็นที่กังวลของใคร ๆ ในที่
ไหน ๆ และไม่มีผู้อื่น๒เป็นที่กังวลของเราในที่ไหน ๆ‘๓ พราหมณ์
เมื่อพูดอย่างนี้ ชื่อว่าพูดจริง ไม่ใช่พูดเท็จ เพราะการพูดนั้น เขา
จึงไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นสมณะ’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นพราหมณ์’
ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้
เสมอเขา’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้ด้อยกว่าเขา’ และเขารู้สัจจะ
ในข้อปฏิบัตินั้น จึงปฏิบัติปฏิปทาที่ไม่ให้กังวล
ปริพาชกทั้งหลาย สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการนี้แล อันเราทำให้แจ้งด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม”

สมณสัจจสูตรที่ ๕ จบ

๖. อุมมัคคสูตร
ว่าด้วยผู้มีปัญญาใฝ่รู้

[๑๘๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไรชักนำมา และบุคคลย่อมลุอำนาจ
อะไรที่เกิดขึ้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาใฝ่รู้๔ของเธอดีนัก ปฏิภาณดีนัก
สอบถามเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ‘โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไรชักนำมา
และบุคคลย่อมลุอำนาจอะไรที่เกิดขึ้นหรือ”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๖.อุมมัคคสูตร

ภิกษุกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ โลกอันจิตนำไป อันจิตชักนำมา และบุคคล
ย่อมลุอำนาจจิตที่เกิดขึ้น”
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกว่าเป็นพหูสูต
เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ด้วยเหตุเพียงไรหนอ บุคคลจึงเป็น
พหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาใฝ่รู้ของเธอดีนัก ปฏิภาณดีนัก
สอบถามเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกว่าเป็นพหูสูต
เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึง
เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรมหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ เราแสดงธรรมเป็นอันมาก คือ สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ถ้าแม้ภิกษุ
รู้อรรถ รู้ธรรมแห่งคาถา ๔ บาทแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม๑ ก็ควรเรียกว่า
เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม”
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้ว ได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกว่าผู้สดับ
มีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล
บุคคลจึงเป็นผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาใฝ่รู้ของเธอดีนัก ปฏิภาณดีนัก
สอบถามเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกว่าผู้สดับ
มีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคล
จึงเป็นผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลสหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๗.วัสสการสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปอีกว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘นี้ทุกข์ นี้
ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วย
ปัญญา บุคคลผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส เป็นอย่างนี้แล”
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกว่าเป็น
บัณทิต มีปัญญามาก เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ
บุคคลจึงเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาใฝ่รู้ของเธอดีนัก ปฏิภาณดีนัก
สอบถามเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกว่าเป็นบัณฑิต
มีปัญญามาก เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็น
บัณฑิต มีปัญญามากหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ บุคคลในธรรมวินัยนี้เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก
ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเพื่อเบียดเบียน ๒
ฝ่าย เมื่อคิด ย่อมคิดเกื้อกูลตนเอง เกื้อกูลผู้อื่น เกื้อกูล ๒ ฝ่าย และเกื้อกูล
ชาวโลกทั้งหมดทีเดียว บุคคลเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นอย่างนี้แล”

อุมมัคคสูตรที่ ๖ จบ

๗. วัสสการสูตร
ว่าด้วยวัสสการพราหมณ์

[๑๘๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อ
กระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสสการพราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่ง
แคว้นมคธเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์]
๔. โยธาชีววรรค ๗.วัสสการสูตร

“ข้าแต่ท่านพระโคดม อสัตบุรุษ๑จะพึงรู้จักอสัตบุรุษได้หรือว่าบุคคลนี้เป็น
อสัตบุรุษ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า
บุคคลนี้เป็นอสัตบุรุษ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้”
วัสสการพราหมณ์ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม อสัตบุรุษจะพึงรู้จัก
สัตบุรุษได้หรือว่าบุคคลนี้เป็นสัตบุรุษ”
“พราหมณ์ แม้ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่าบุคคลนี้เป็นสัตบุรุษ ก็เป็น
เรื่องที่เป็นไปไม่ได้”
“ข้าแต่ท่านพระโคดม สัตบุรุษ๒พึงรู้จักสัตบุรุษได้หรือว่าบุคคลนี้เป็นสัตบุรุษ”
“พราหมณ์ ข้อที่สัตบุรุษพึงรู้จักสัตบุรุษว่าบุคคลนี้เป็นสัตบุรุษ เป็นเรื่องที่
เป็นไปได้”
“ข้าแต่ท่านพระโคดม สัตบุรุษพึงรู้จักอสัตบุรุษได้หรือว่าบุคคลนี้เป็นอสัตบุรุษ”
“พราหมณ์ แม้ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่าบุคคลนี้เป็นอสัตบุรุษ ก็
เป็นเรื่องที่เป็นไปได้”
วัสสการพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ ท่านพระโคดมตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า ‘ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า
บุคคลนี้เป็นอสัตบุรุษ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า
บุคคลนี้เป็นสัตบุรุษ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า
บุคคลนี้เป็นสัตบุรุษ ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แม้ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า
บุคคลนี้เป็นอสัตบุรุษ ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้’
ข้าแต่ท่านพระโคดม สมัยหนึ่ง ในบริษัทของโตเทยยพราหมณ์ พวกบริษัท
กล่าวติเตียนผู้อื่นว่า ‘พระเจ้าเอเฬยยะนี้ผู้เลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตร ทรงเป็น


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๗.วัสสการสูตร

ผู้โง่เขลา และทรงทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ คือ ทรงไหว้ ทรงลุกรับ ทรง
ทำอัญชลีกรรมและสามีจิกรรมในสมณรามบุตร แม้พวกข้าราชบริพารของพระเจ้า
เอเฬยยะนี้ คือ ยมกะ โมคคัลละ อุคคะ นาวินากี คันธัพพะ และอัคคิเวสสะ
ผู้เลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตรเป็นผู้โง่เขลา ทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ คือ
ไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรมและสามีจิกรรมในสมณรามบุตร ส่วนโตเทยยพราหมณ์
แนะนำบริษัทเหล่านั้นโดยนัยนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
พระเจ้าเอเฬยยะเป็นบัณฑิต ทรงสามารถพิจารณาเห็นประโยชน์ยิ่งกว่าผู้สามารถ
พิจารณาเห็นประโยชน์อย่างยิ่งในกิจที่ควรทำและที่ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรกล่าว
และที่ควรกล่าวอันยิ่ง พวกบริวารรับว่า เป็นอย่างนั้น ท่านผู้เจริญ พระเจ้า
เอเฬยยะเป็นบัณฑิต ทรงสามารถพิจารณาเห็นประโยชน์ยิ่งกว่าผู้สามารถพิจารณา
เห็นประโยชน์อย่างยิ่งในกิจที่ควรทำและที่ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรกล่าวและที่ควร
กล่าวอันยิ่ง’
โตเทยยพราหมณ์กล่าวต่อไปว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เพราะสมณรามบุตร
เป็นผู้ฉลาดกว่าพระเจ้าเอเฬยยะ เป็นผู้สามารถพิจารณาเห็นประโยชน์ยิ่งกว่า ฉะนั้น
พระเจ้าเอเฬยยะจึงเลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตรและทรงทำความเคารพอย่างยิ่งเห็น
ปานนี้ คือ ทรงไหว้ ทรงลุกรับ ทรงทำอัญชลีกรรมและสามีจิกรรมในสมณรามบุตร
ท่านผู้เจริญทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พวกข้าราชบริพารของพระเจ้า
เอเฬยยะ คือ ยมกะ โมคคัลละ อุคคะ นาวินากี คันธัพพะ อัคคิเวสสะ เป็นบัณฑิต
สามารถพิจารณาเห็นประโยชน์ยิ่งกว่าผู้สามารถพิจารณาเห็นประโยชน์อย่างยิ่งใน
กิจที่ควรทำและที่ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรกล่าวและที่ควรกล่าวอันยิ่ง พวกบริวาร
รับว่า เป็นอย่างนั้น ท่านผู้เจริญ พวกข้าราชบริพารของพระเจ้าเอเฬยยะ คือ ยมกะ
โมคคัลละ อุคคะ นาวินากี คันธัพพะ อัคคิเวสสะ เป็นบัณฑิตสามารถพิจารณา
เห็นประโยชน์ยิ่งกว่าผู้สามารถพิจารณาเห็นประโยชน์อย่างยิ่งในกิจที่ควรทำและที่
ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรกล่าวและที่ควรกล่าวอันยิ่ง’
โตเทยยพราหมณ์กล่าวต่อไปว่า ‘เพราะสมณรามบุตรเป็นบัณฑิตยิ่งกว่าพวก
ข้าราชบริพารผู้เป็นบัณฑิตของพระเจ้าเอเฬยยะ เป็นผู้สามารถพิจารณาเห็นประโยชน์
ยิ่งกว่าผู้สามารถพิจารณาเห็นประโยชน์อย่างยิ่งในกิจที่ควรทำและที่ควรทำอันยิ่ง ใน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๘.อุปกสูตร

คำที่ควรกล่าวและที่ควรกล่าวอันยิ่ง ฉะนั้น พวกข้าราชบริพารของพระเจ้าเอเฬยยะ
จึงเลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตรและทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ คือ ไหว้
ลุกรับ ทำอัญชลีกรรมและสามีจิกรรมในสมณรามบุตร
ข้าแต่ท่านพระโคดม น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่านพระโคดมตรัสเรื่องนี้
ไว้ดียิ่งนักว่า ‘ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่าบุคคลนี้เป็นอสัตบุรุษ เป็นเรื่องที่
เป็นไปไม่ได้ แม้ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่าบุคคลนี้เป็นสัตบุรุษ ก็เป็นเรื่อง
ที่เป็นไปไม่ได้ ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่าบุคคลนี้เป็นสัตบุรุษ เป็นเรื่องที่เป็น
ไปได้ แม้ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่าบุคคลนี้เป็นอสัตบุรุษ ก็เป็นเรื่องที่เป็น
ไปได้’ ข้าแต่ท่านพระโคดม บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอทูลลากลับ เพราะมีกิจ
มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด
พราหมณ์”
ครั้งนั้นแล วัสสการพราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธชื่นชม ยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วลุกจากที่นั่งจากไป

วัสสการสูตรที่ ๗ จบ

๘. อุปกสูตร
ว่าด้วยอุปกมัณฑิกาบุตร

[๑๘๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ครั้งนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตร๑เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะ๒อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่ง
กล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อกล่าวติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่ให้กุศลกรรมเกิดขึ้นโดยประการ
ทั้งปวง เมื่อไม่ให้กุศลกรรมเกิดขึ้นโดยประการทั้งปวง ย่อมถูกติเตียนกล่าวโทษ”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๘.อุปกสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุปกะ ถ้าบุคคลกล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อเขากล่าว
ติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่ให้กุศลกรรมเกิดขึ้น เมื่อไม่ให้กุศลกรรมเกิดขึ้น ย่อมถูกติเตียน
กล่าวโทษ ท่านนั่นแล กล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อท่านกล่าวติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่ให้
กุศลกรรมเกิดขึ้น เมื่อไม่ให้กุศลกรรมเกิดขึ้น ย่อมถูกติเตียนกล่าวโทษ”
อุปกมัณฑิกาบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลพึงจับปลาที่พอ
ผุดขึ้นเท่านั้นด้วยแหใหญ่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พอกล่าวขึ้น
เท่านั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงจับด้วยบ่วงคือวาทะอันใหญ่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุปกะ เราบัญญัติไว้ว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ บท พยัญชนะ
และธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้นประมาณมิได้ว่า ‘นี้เป็นอกุศลแม้เพราะเหตุนี้’
อนึ่ง เราบัญญัติไว้ว่า ‘อกุศลนี้นั่นแลควรละเสีย’ บท พยัญชนะ และธรรมเทศนา
ของตถาคตในข้อนั้นประมาณมิได้ว่า ‘อกุศลนี้ควรละเสียแม้เพราะเหตุนี้’
อนึ่ง เราบัญญัติไว้ว่า ‘นี้เป็นกุศล’ บท พยัญชนะ และธรรมเทศนาของตถาคต
ในข้อนั้นประมาณมิได้ว่า ‘นี้เป็นกุศลแม้เพราะเหตุนี้’ อนึ่ง เราบัญญัติไว้ว่า ‘กุศลนี้
นั่นแลควรเจริญ’ บท พยัญชนะ และธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้นประมาณมิได้ว่า
‘กุศลนี้ควรเจริญแม้เพราะเหตุนี้”
ลำดับนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตรชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุก
จากที่นั่งถวายอภิวาททำประทักษิณ๑แล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้กราบทูลการสนทนากับพระผู้มีพระภาคทั้งหมดแด่พระเจ้า
แผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร
ครั้นเมื่ออุปกมัณฑิกาบุตรกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตรกริ้ว ไม่ทรงพอพระทัย ได้ตรัสกับอุปกมัณฑิกาบุตรว่า “เจ้าเด็ก
ลูกชาวนาเกลือนี้อวดดี ปากกล้า บังอาจ จักสำคัญพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่าควรรุกราน เจ้าอุปกะจงไปเสีย จงพินาศไป อย่ามาให้เรา
เห็นหน้าอีก”

อุปกสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๑๐.อุโปสถสูตร

๙. สัจฉิกรณียสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรทำให้แจ้ง

[๑๘๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ๔ ประการนี้
ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ๔ ประการ๑ อะไรบ้าง คือ
๑. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยกาย๒ ๒. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยสติ๓
๓. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยจักษุ๔ ๔. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญา๕
ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยกาย เป็นอย่างไร
คือ วิโมกข์ ๘ ควรทำให้แจ้งด้วยกาย
ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยสติ เป็นอย่างไร
คือ ปุพเพนิวาส ควรทำให้แจ้งด้วยสติ
ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยจักษุ เป็นอย่างไร
คือ การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ควรทำให้แจ้งด้วยจักษุ
ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญา เป็นอย่างไร
คือ ความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญา๖
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ๔ ประการนี้แล

สัจฉิกรณียสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อุโปสถสูตร
ว่าด้วยทรงสรรเสริญภิกษุในวันอุโบสถ

[๑๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคาร-
มาตา ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค ๑๐.อุโปสถสูตร

แวดล้อม ประทับนั่งในวันอุโบสถนั้น ทรงตรวจดูภิกษุสงฆ์ผู้นิ่งเงียบ รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เงียบ ปราศจากเสียงสนทนา บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในสาระ๑
ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเหมือนบริษัทหาได้ยากแม้เพื่อจะเห็นในโลก ภิกษุสงฆ์นี้
บริษัทนี้ก็เป็นเหมือนบริษัทผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควร
แก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ภิกษุสงฆ์นี้
บริษัทนี้ก็เป็นเหมือนบริษัทที่เขาถวายของน้อยก็มีผลมาก ที่เขาถวายของมากก็มี
ผลมากยิ่งขึ้น ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้ก็เหมือนบริษัทที่แม้จะต้องเดินทางไปดูเป็น
ระยะทางหลายโยชน์ต้องมีเสบียงทางไปด้วยก็ควรไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์นี้เห็นปานนี้ คือ
ในภิกษุสงฆ์นี้
๑. มีภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นเทวดาอยู่๒
๒. มีภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นพรหมอยู่๓
๓. มีภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นอเนญชาอยู่๔
๔. มีภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นอริยะอยู่
ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นเทวดา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ฯลฯ อยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะปีติจาง
คลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน
ฯลฯ อยู่ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุ
บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่๕ ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นเทวดา เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นพรหม เป็นอย่างไร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๔.โยธาชีววรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ...
ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน๑ ทิศเบื้องล่าง๒ ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่
ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่
๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่ว
ทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นพรหม เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นอเนญชา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่
มนสิการนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนด
ว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ เพราะล่วง
วิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า
‘ไม่มีอะไร’ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญา-
นาสัญญายตนฌานอยู่ ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นอเนญชา เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นอริยะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกข-
นิโรธคามินีปฏิปทา’ ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นอริยะ เป็นอย่างนี้แล”

อุโปสถสูตรที่ ๑๐ จบ
โยธาชีววรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โยธาชีวสูตร ๒. ปาฏิโภคสูตร
๓. สุตสูตร ๔. อภยสูตร
๕. สมณสัจจสูตร ๖. อุมมัคคสูตร
๗. วัสสการสูตร ๘. อุปกสูตร
๙. สัจฉิกรณียสูตร ๑๐. อุโปสถสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๑.โสตานุคตสูตร

๕. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
๑. โสตานุคตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เข้าถึงโสตประสาท

[๑๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการแห่ง
ธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ๑ อัน
บุคคลพึงหวังได้๒
อานิสงส์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม
เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้นเป็นภาวะเข้าถึงโสตประสาท
คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ เธอหลงลืมสติ๓ เมื่อตายไป
จะไปเกิดในหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ
แก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น สติเกิดขึ้นช้า๔ ต่อมา เธอระลึกได้
จึงบรรลุคุณวิเศษ๕เร็วพลัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการ
ที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ
แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๑.โสตานุคตสูตร

๒. ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น
ของภิกษุนั้นเป็นภาวะเข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง
ตลอดดีด้วยทิฏฐิ เธอหลงลืมสติ เมื่อตายไป จะไปเกิดในหมู่เทพ
หมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มี
ความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทาง
จิต แสดงธรรมแก่หมู่เทพ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘นี้คือธรรม
วินัยที่เราเคยประพฤติพรหมจรรย์’ สติเกิดขึ้นช้า ต่อมา เธอ
ระลึกได้ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาดในเสียงกลอง เขาเดินทางไกล พึงได้
ยินเสียงกลอง เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า ‘ใช่เสียง
กลองหรือไม่หนอ’ ที่แท้ เขาพึงถึงความตกลงใจว่า ‘เป็นเสียง
กลองแน่นอน’ ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒
แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง
ตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้
๓. ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น
ของภิกษุนั้นเป็นภาวะเข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง
ตลอดดีด้วยทิฏฐิ เธอหลงลืมสติ เมื่อตายไป จะไปเกิดในหมู่เทพ
หมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความ
สุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางจิตก็ไม่
ได้แสดงธรรมแก่หมู่เทพ แต่เทพบุตรแสดงธรรมในหมู่เทพ เธอมี
ความคิดอย่างนี้ว่า ‘นี้คือธรรมวินัยที่เราเคยประพฤติพรหมจรรย์’
สติเกิดขึ้นช้า ต่อมา เธอระลึกได้ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกล พึงได้ยิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๑.โสตานุคตสูตร

เสียงสังข์ เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า ‘ใช่เสียง
สังข์หรือไม่หนอ’ ที่แท้ เขาพึงถึงความตกลงใจว่า ‘เป็นเสียง
สังข์แน่นอน’ ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓
แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง
ตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้
๔. ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น
ของภิกษุนั้นเป็นภาวะเข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง
ตลอดดีด้วยทิฏฐิ เธอหลงลืมสติ เมื่อตายไป จะไปเกิดในหมู่
เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้
มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญ
ทางจิตก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่หมู่เทพ แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดง
ธรรมแก่หมู่เทพ แต่เทพบุตรผู้เป็นโอปปาติกะ๑เตือนเทพบุตร ผู้
เป็นโอปปาติกะว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านระลึกถึงธรรมวินัยที่พวก
เราเคยประพฤติพรหมจรรย์มาได้ไหม’ เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ระลึกได้
ระลึกได้ ท่านผู้นิรทุกข์’ สติเกิดขึ้นช้า ต่อมา เธอระลึกได้ จึง
บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
เปรียบเหมือนสหาย ๒ คนผู้เคยเล่นฝุ่นด้วยกันมาพบกันบาง
ครั้งบางคราวในที่บางแห่ง คนหนึ่งพึงกล่าวกับอีกคนหนึ่งอย่างนี้
ว่า ‘สหาย ท่านระลึกถึงกรรมนี้ได้บ้างไหม’ เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ระลึกได้ ระลึกได้ สหาย’ ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์
ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก
ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้
ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการนี้แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท
คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้

โสตานุคตสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๒.ฐานสูตร

๒. ฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะที่พึงรู้ด้วยฐานะ

[๑๙๒] “ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้อันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยฐานะ ๔
ประการ
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน
ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่ ผู้มี
ปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่
๒. ความบริสุทธิ์พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ และความบริสุทธิ์นั้นแลพึงรู้ได้
โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการ
หารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่
๓. กำลังพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้
ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่
๔. ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้
ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแล
พึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้
ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่‘ เพราะอาศัยเหตุอะไร เรา
จึงกล่าวไว้เช่นนั้น
คือ บุคคลในโลกนี้เมื่ออยู่ร่วมกัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีปกติทำให้ขาด
ทำให้ทะลุ ทำให้ด่าง ทำให้พร้อย ไม่ทำต่อเนื่อง ไม่ประพฤติต่อเนื่องในศีลทั้งหลาย
ตลอดกาลนานแล ท่านผู้นี้เป็นผู้ทุศีล ไม่ใช่เป็นผู้มีศีล’
อนึ่ง บุคคลในโลกนี้เมื่ออยู่ร่วมกัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีปกติไม่ทำให้ขาด
ไม่ทำให้ทะลุ ไม่ทำให้ด่าง ไม่ทำให้พร้อย มีปกติทำต่อเนื่อง ประพฤติต่อเนื่องใน
ศีลทั้งหลายตลอดกาลนานแล ท่านผู้นี้เป็นผู้มีศีล ไม่ใช่เป็นผู้ทุศีล’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๒.ฐานสูตร

ข้อที่เรากล่าวว่า ‘ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้
ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘ความบริสุทธิ์พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ และความบริสุทธิ์
นั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการ
หารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่‘ เพราะอาศัยเหตุอะไร
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
คือ บุคคลในโลกนี้เมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัว
เป็นอย่างหนึ่ง พูดกับคนสองคนเป็นอย่างหนึ่ง พูดกับคนสามคนเป็นอย่างหนึ่ง
พูดกับคนหลายคนเป็นอย่างหนึ่ง ท่านผู้นี้พูดคราวหลังต่างไปจากพูดคราวก่อน
ท่านผู้นี้มีถ้อยคำไม่บริสุทธิ์ หามีถ้อยคำบริสุทธิ์ไม่’
อนึ่ง บุคคลในโลกนี้เมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัว
เป็นอย่างไร พูดกับคนสองคน สามคน หลายคนก็อย่างนั้น ท่านผู้นี้พูดคราวหลัง
ก็ไม่ต่างจากพูดคราวก่อน ท่านผู้นี้มีถ้อยคำบริสุทธิ์ หามีถ้อยคำไม่บริสุทธิ์ไม่’
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘ความบริสุทธิ์พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ และความบริสุทธิ์นั้นแล
พึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
เรากล่าวเช่นนี้แลว่า ‘กำลังพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้
ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่‘ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง
กล่าวไว้เช่นนั้น
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประสบความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือ
ความเสื่อมเพราะโรค ย่อมไม่พิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ‘โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนี้เอง
การได้อัตภาพนี้เป็นอย่างนั้นในโลกสันนิวาสตามความเป็นจริง ในการได้อัตภาพตาม
ความเป็นจริง โลกธรรม ๘ คือ (๑) ได้ลาภ (๒) เสื่อมลาภ (๓) ได้ยศ (๔) เสื่อมยศ
(๕) นินทา (๖) สรรเสริญ (๗) สุข (๘) ทุกข์ หมุนเวียนไปตามโลก และโลกก็

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๒.ฐานสูตร

หมุนเวียนไปตามโลกธรรม ๘’ บุคคลนั้นประสบความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์
หรือความเสื่อมเพราะโรค ย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึง
ความเลอะเลือน
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ประสบความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือ
ความเสื่อมเพราะโรค ย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ‘โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนี้เอง
การได้อัตภาพนี้เป็นอย่างนั้นในโลกสันนิวาสตามความเป็นจริง ในการได้อัตภาพ
ตามความเป็นจริง โลกธรรม ๘ คือ (๑) ได้ลาภ (๒) เสื่อมลาภ (๓) ได้ยศ
(๔) เสื่อมยศ (๕) นินทา (๖) สรรเสริญ (๗) สุข (๘) ทุกข์ หมุนเวียนไปตามโลก
และโลกก็หมุนเวียนไปตามโลกธรรม ๘’ บุคคลนั้นประสบความเสื่อมญาติ ความ
เสื่อมโภคทรัพย์ หรือความเสื่อมเพราะโรค ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร
ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความเลอะเลือน
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘กำลังพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ได้
โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแล
พึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้
ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่‘ เพราะอาศัยเหตุอะไร เรา
จึงกล่าวไว้เช่นนั้น
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีการ
แสวงหาปัญหา๑อย่างไร เตรียมปัญหา๒อย่างไร และถามปัญหาอย่างไร ท่านผู้นี้
มีปัญญาทราม ไม่ใช่มีปัญญา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้ไม่อ้างบทที่มี
ความหมาย ลึกซึ้ง สงบ ประณีต ที่สามัญชนคาดไม่ถึง ละเอียด อันบัณฑิตพึงรู้ได้
ท่านผู้นี้กล่าวธรรมอันใด ก็ไม่สามารถจะบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๒.ฐานสูตร

จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นทั้งโดยย่อหรือโดยพิสดาร ท่านผู้นี้มี
ปัญญาทราม ไม่ใช่มีปัญญา’
บุคคลเมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีการแสวงหาปัญหาอย่างไร
ฯลฯ ท่านผู้นี้มีปัญญาทราม ไม่ใช่มีปัญญา’ เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีตาดียืนอยู่
ริมฝั่งห้วงน้ำ พึงเห็นปลาตัวเล็ก ๆ ผุดอยู่ เขาพึงทราบอย่างนี้ว่า ‘ปลาตัวนี้มี
กิริยาผุดเป็นอย่างไร ทำให้เกิดคลื่นเพียงไหน และมีความเร็วเพียงไร ปลานี้ตัวเล็ก
ไม่ใช่ตัวไหญ่’ ฉะนั้น
ส่วนบุคคลในโลกนี้เมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีการแสวงหา
ปัญหาอย่างไร เตรียมปัญหาอย่างไร และถามปัญหาอย่างไร ท่านผู้นี้มีปัญญา
ไม่ใช่มีปัญญาทราม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้ อ้างบทที่มีความหมาย
ลึกซึ้ง สงบ ประณีต สามัญชนคาดไม่ถึง ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ได้ และท่านผู้นี้
กล่าวธรรมใด ก็สามารถที่จะบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่ายซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นทั้งโดยย่อหรือโดยพิสดาร ท่านผู้นี้มีปัญญา ไม่
ใช่มีปัญญาทราม”
บุคคลเมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้แสวงหาปัญหาอย่างไร ฯลฯ
ท่านผู้นี้มีปัญญา ไม่ใช่มีปัญญาทราม’ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ริมฝั่ง
ห้วงน้ำ พึงเห็นปลาตัวใหญ่ผุดอยู่ เขาพึงทราบอย่างนี้ว่า ‘ปลาตัวนี้มีกิริยาผุด
เป็นอย่างไร ทำให้เกิดคลื่นเพียงไหน และมีความเร็วเพียงไร ปลานี้ตัวใหญ่ ไม่ใช่
ตัวเล็กฉะนั้น
ข้อที่เรากล่าวว่า “ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้
ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้แลอันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยฐานะ ๔ ประการนี้”

ฐานสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๓.ภัททิยสูตร

๓. ภัททิยสูตร๑
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีพระนามว่าภัททิยะ

[๑๙๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่าภัททิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ทราบมาว่า ‘พระสมณโคดมทรงมีมายา
ย่อมรู้มายาที่เป็นเหตุให้สาวกของพวกอัญเดียรถีย์กลับใจ’ สาวกอัญเดียรถีย์เหล่านั้น
พากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมทรงมีมายา ทรงรู้มายาที่เป็นเหตุให้สาวกของ
พวกอัญเดียรถีย์กลับใจ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกเขากล่าวตามที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ ไม่ได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่เป็นจริงหรือ ย่อมพยากรณ์ธรรม
สมควรแก่ธรรม และการคล้อยตามวาทะอันชอบแก่เหตุไร ๆ ย่อมไม่มาถึงฐานะอัน
ควรติเตียนหรือ แท้จริง ข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาเถิด ภัททิยะ ท่าน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๓.ภัททิยสูตร

ภัททิยะ เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ‘ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรม
เหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์’ เมื่อนั้นท่านควรละ(ธรรมเหล่านั้น)เสีย
ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ โลภะ (ความอยากได้) เมื่อเกิดขึ้น
ภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล”
ภัททิยลิจฉวีทูลว่า “ไม่เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภัททิยะ ก็บุรุษบุคคลผู้มีโลภะนี้ถูกโลภะครอบงำ
มีจิตถูกโลภะกลุ้มรุม ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูด
เท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่ไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนานบ้างหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) ฯลฯ
โมหะ (ความหลง) ฯลฯ๑ สารัมภะ (การแข่งดี) เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อม
เกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล”
“ไม่เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ก็บุรุษบุคคลผู้มีสารัมภะนี้ถูกสารัมภะครอบงำ มีจิตถูกสารัมภะ
กลุ้มรุม ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวน
ผู้อื่นเพื่อสิ่งที่ไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานบ้างหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล”
“เป็นอกุศล พระพุทธเจ้าข้า”
“เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ”
“เป็นธรรมที่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า”
“เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ”
“เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียน พระพุทธเจ้าข้า”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๓.ภัททิยสูตร

“ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์หรือไม่ หรือท่านมีความเข้าใจในเรื่องนี้ว่าอย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไป
เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ข้าพระองค์มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภัททิยะ เพราะเหตุนี้แล เราจึงได้กล่าวไว้ว่า มาเถิด
ภัททิยะ ท่าน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ภัททิยะ เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า
‘ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ที่
บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์’ เมื่อนั้น ท่าน
ควรละ(ธรรมเหล่านั้น)เสีย เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น มาเถิด ภัททิยะ ท่าน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๓.ภัททิยสูตร

อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
ภัททิยะ เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ‘ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรม
เหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์
แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข’ เมื่อนั้นท่านควรเข้าถึง(ธรรมเหล่านั้น)อยู่เถิด
ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อโลภะ (ความไม่อยากได้) เมื่อ
เกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล”
“เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ก็บุรุษบุคคลผู้ไม่มีโลภะนี้ ไม่ถูกโลภะครอบงำ มีจิตไม่ถูกโลภะ
กลุ้มรุม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้
อื่นเพื่อสิ่งที่เกื้อกูล เพื่อสุข ตลอดกาลนานบ้างหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย)
ฯลฯ อโมหะ (ความไม่หลง) ฯลฯ๑ อสารัมภะ (ความไม่แข่งดี) เมื่อเกิดขึ้นภายใน
บุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล”
“เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ก็บุรุษบุคคลผู้ไม่มีสารัมภะนี้ไม่ถูกสารัมภะครอบงำ มีจิตไม่ถูก
สารัมภะกลุ้มรุม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น ไม่พูดเท็จ
ชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนานบ้างหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๓.ภัททิยสูตร

“ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็น
อกุศล”
“เป็นกุศล พระพุทธเจ้าข้า”
“เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ”
“เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า”
“เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ”
“เป็นธรรมที่ผู้รู้สรรเสริญ พระพุทธเจ้าข้า”
“ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขหรือไม่
หรือท่านมีความเข้าใจในเรื่องนี้ว่าอย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไป
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข ข้าพระองค์มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภัททิยะ เพราะเหตุนี้แล เราจึงได้กล่าวไว้ว่า มาเถิด
ภัททิยะ ท่าน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ภัททิยะ เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า
‘ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้
ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข’ เมื่อนั้นท่านควรเข้า
ถึง(ธรรมเหล่านั้น)อยู่เถิด เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๓.ภัททิยสูตร

ภัททิยะ ชนเหล่าใดในโลกเป็นคนสงบ เป็นสัตบุรุษ ชนเหล่านั้นย่อมชักชวน
สาวกอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงมา จงกำจัดโลภะเสียเถิด เมื่อกำจัดโลภะได้
จักไม่ทำกรรมอันเกิดแต่โลภะด้วยกาย วาจา ใจ จงกำจัดโทสะเสียเถิด เมื่อกำจัด
โทสะได้ จักไม่ทำกรรมอันเกิดแต่โทสะด้วยกาย วาจา ใจ จงกำจัดโมหะเสียเถิด
เมื่อกำจัดโมหะได้ จักไม่ทำกรรมอันเกิดแต่โมหะด้วยกาย วาจา ใจ จงกำจัดความ
แข่งดีเสียเถิด เมื่อกำจัดความแข่งดีได้ จักไม่ทำกรรมอันเกิดแต่ความแข่งดีด้วยกาย
วาจา ใจ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภัททิยลิจฉวีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น
ไปจนตลอดชีวิต”
“ภัททิยะ เราได้กล่าวชักชวนท่านอย่างนี้ว่า ‘ขอท่านจงมาเป็นสาวกของเรา
เถิด เราจักเป็นศาสดาของท่านหรือ”
“ไม่ใช่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวตู่เราผู้มีวาทะอย่างนี้ บอกอย่างนี้
ด้วยถ้อยคำอันไม่แน่นอน เป็นคำเปล่า คำเท็จ คำไม่จริงว่า ‘สมณโคดมมีมายา
รู้มายาที่เป็นเหตุให้สาวกของพวกอัญเดียรถีย์มานับถือ’ ดังนี้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ดีนัก มายาที่เป็นเหตุให้
กลับใจนี้งามนัก ถ้าญาติสาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์จะพึงกลับใจด้วยมายา
ที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่บรรดาญาติพี่น้องอัน
เป็นที่รักของข้าพระองค์ตลอดกาลนาน ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจด้วยมายา
ที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่กษัตริย์ทั้งปวง
ตลอดกาลนาน ถ้าแม้พราหมณ์ทั้งปวง ... แพศย์ทั้งปวง ... ศูทรทั้งปวงจะพึง
กลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ ข้อนี้พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ศูทร
ทั้งปวงตลอดกาลนาน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๔.สาปุคิยาสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภัททิยะ คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นอย่างนั้น ภัททิยะ
คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นอย่างนี้ ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุ
ให้กลับใจเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่กษัตริย์ตลอดกาลนาน ถ้าแม้พราหมณ์ทั้งปวง ... แพศย์ทั้งปวง ...
ศูทรทั้งปวงจะพึงกลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้
กุศลธรรมเกิดขึ้น ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ศูทรทั้งปวงตลอดกาลนาน
ถ้าแม้โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดา และมนุษย์จะพึงกลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้เพื่อละอกุศลธรรม
เพื่อให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์
ตลอดกาลนาน
ภัททิยะ ถ้าแม้พวกผู้มั่งคั่งเหล่านี้จะพึงกลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้
เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่
ผู้มั่งคั่งเหล่านี้ตลอดกาลนาน ถ้าผู้มั่งคั่งเหล่านี้ตั้งใจ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผู้เป็น
มนุษย์ธรรมดา”

ภัททิยสูตรที่ ๓ จบ

๔. สาปุคิยาสูตร
ว่าด้วยโกฬิยบุตรชาวสาปุคิยนิคม

[๑๙๔] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ในนิคมของโกฬิยราชสกุลชื่อสาปุคะ แคว้น
โกฬิยะ๑ ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชาวสาปุคิยนิคม๒จำนวนมากเข้าไปหาท่านพระ
อานนท์ถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับโกฬิยบุตร
ชาวสาปุคิยนิคมดังนี้ว่า


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๔.สาปุคิยาสูตร

“ท่านพยัคฆปัชชะ๑ทั้งหลาย องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ (ความบริสุทธิ์) ๔
ประการพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระ
องค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและ
ปริเทวะ (ความเศร้าโศกและความคร่ำครวญ) เพื่อดับทุกข์ (ความทุกข์กาย) และ
โทมนัส (ความทุกข์ใจ) เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ
๒. องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ
๓. องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ
๔. องค์ความเพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ

องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล ฯลฯ๒ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
นี้เรียกว่า สีลปาริสุทธิ
ความพอใจ๓ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่
ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในสีลปาริสุทธินั้นว่า ‘เราจักยังสีลปาริสุทธิเห็นปานนั้น
ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองสีลปาริสุทธิที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้น ๆ
ด้วยปัญญา’ ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย นี้เรียกว่า องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ๔ บรรลุจตุตถฌานอยู่ นี้เรียกว่า
จิตตปาริสุทธิ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๔.สาปุคิยาสูตร

ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่
ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในจิตตปาริสุทธินั้นว่า ‘เราจักบำเพ็ญจิตตปาริสุทธิ
เห็นปานนั้นที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองจิตตปาริสุทธิที่บริบูรณ์
ไว้ในฐานะนั้น ๆ ด้วยปัญญา’ ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย นี้เรียกว่า องค์ความ
เพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกข-
นิโรธคามินีปฏิปทา’ นี้เรียกว่า ทิฏฐิปาริสุทธิ
ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย
สติสัมปชัญญะในทิฏฐิปาริสุทธินั้นว่า ‘เราจักบำเพ็ญทิฏฐิปาริสุทธิเห็นปานนั้นที่ยังไม่
บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองทิฏฐิปาริสุทธิ์ที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ
ด้วยปัญญา’ ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย นี้เรียกว่า องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกนี้แลเป็นผู้ประกอบองค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ ประกอบ
องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ ประกอบองค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิแล้ว
ย่อมคลายจิตในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด๑ ย่อมเปลื้องจิตในธรรมเป็นที่ตั้ง
แห่งความเปลื้องแล้วย่อมถูกต้องสัมมาวิมุตติ๒ นี้เรียกว่า วิมุตติปาริสุทธิ
ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่
ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในวิมุตติปาริสุทธินั้นว่า ‘เราจักบำเพ็ญวิมุตติปาริสุทธิ
เห็นปานนั้นที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองวิมุตติปาริสุทธิที่บริบูรณ์
ไว้ในฐานะนั้น ๆ ด้วยปัญญา’ ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย นี้เรียกว่า องค์ความ
เพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๕.วัปปสูตร

ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ ๔ ประการนี้แล
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัส
ไว้ชอบแล้วเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อ
ดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน”

สาปุคิยาสูตรที่ ๔ จบ

๕. วัปปสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่าวัปปะ

[๑๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุง
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล เจ้าวัปปศากยะ๑สาวกนิครนถ์เสด็จเข้าไปหาท่าน
พระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ทรงไหว้แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะได้กล่าวกับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ดังนี้ว่า
“เจ้าวัปปะ บุคคลในโลกนี้พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย วาจา ใจ เพราะอวิชชา
สำรอกไป วิชชาเกิดขึ้น ท่านเห็นฐานะอันเป็นเหตุให้อาสวะที่เป็นปัจจัยแห่งทุกข-
เวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพหรือไม่”
เจ้าวัปปะตรัสว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเห็นฐานะนั้น คือ บุคคลในโลก
นี้พึงทำบาปกรรมไว้ในปางก่อนซึ่งยังให้ผลไม่หมด อาสวะทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่ง
ทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพที่มีบาปกรรมนั้นเป็นเหตุ” ท่านพระ
มหาโมคคัลลานะกับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์สนทนาเรื่องค้างไว้เท่านี้
ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปยังหอฉัน
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ตรัสถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า
“โมคคัลลานะ บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร และเรื่อง
อะไรที่พวกเธอสนทนากันค้างไว้”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๕.วัปปสูตร

ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทาน
วโรกาส ข้าพระองค์ได้กล่าวกับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ว่า ‘วัปปะ บุคคล
ในโลกนี้พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย วาจา ใจ เพราะอวิชชาสำรอกไป วิชชาเกิดขึ้น
ท่านเห็นฐานะอันเป็นเหตุให้อาสวะที่เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาซึ่งจะพึงไปตามบุคคลใน
สัมปรายภพนั้นหรือไม่’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ เจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์
ได้กล่าวกับข้าพระองค์ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเห็นฐานะนั้น คือ ถ้าบุคคลทำ
บาปกรรมไว้ในปางก่อนซึ่งยังให้ผลไม่หมด อาสวะทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่งเวทนาจะ
พึงไปตามบุคคลผู้มีบาปกรรมนั้นเป็นเหตุในสัมปรายภพ’ เรื่องนี้แลที่ข้าพระองค์
กับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์สนทนาค้างไว้ ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง
พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ดังนี้ว่า
“วัปปะ ถ้าท่านจะพึงยอมรับข้อที่ควรยอมรับและคัดค้านข้อที่ควรคัดค้านต่อเรา
และท่านไม่รู้ความหมายแห่งภาษิตของเราข้อใด ท่านพึงซักถามเราในข้อนั้นยิ่งขึ้น
ไปว่า ‘พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร’ เราพึง
สนทนากันในเรื่องนี้ได้”
เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักยอมรับ
ข้อที่ควรยอมรับและจักคัดค้านข้อที่ควรคัดค้านต่อพระผู้มีพระภาค อนึ่ง ข้าพระองค์
ไม่รู้ความหมายแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคข้อใด ข้าพระองค์จักซักถามพระผู้มี
พระภาคในข้อนั้นยิ่งขึ้นไปว่า ‘พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้
เป็นอย่างไร’ ขอเราจงสนทนากันในเรื่องนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วัปปะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อาสวะ
เหล่าใดที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน๑ เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางกายเป็นปัจจัย เมื่อ
บุคคลเว้นขาดจากการกระทำทางกายแล้ว อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน
ย่อมไม่มีแก่เขา เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๕.วัปปสูตร

ข้อปฏิบัติที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกมาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ท่านย่อมเห็นฐานะ
ที่เป็นเหตุให้อาสวะที่เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาซึ่งจะพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้น
หรือไม่”
เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วัปปะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อาสวะ
เหล่าใดที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางวาจาเป็นปัจจัย เมื่อ
บุคคลเว้นขาดจากการกระทำทางวาจาแล้ว อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน
ย่อมไม่มีแก่เขา เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้คือ
ข้อปฎิบัติที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกมาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ท่านย่อมเห็นฐานะ
อันเป็นเหตุให้อาสวะที่เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาซึ่งจะพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้น
หรือไม่”
เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วัปปะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อาสวะ
เหล่าใดที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางใจเป็นปัจจัย เมื่อบุคคล
เว้นขาดจากการกระทำทางใจแล้ว อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน ย่อมไม่มี
แก่เขา เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้คือข้อ
ปฏิบัติที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ท่านย่อมเห็นฐานะอัน
เป็นเหตุให้อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาซึ่งจะพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพ
นั้นหรือไม่”
เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วัปปะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อาสวะ
เหล่าใดที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะอวิชชาสำรอกไป
วิชชาเกิดขึ้น อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อนย่อมไม่มีแก่เขา เขาไม่ทำกรรม
ใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้คือข้อปฏิบัติที่ทำให้กิเลสสิ้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๕.วัปปสูตร

ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม
เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ท่านย่อมเห็นฐานะอันเป็นเหตุให้อาสวะที่
เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้นหรือไม่”
เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วัปปะ ภิกษุมีจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว
ย่อมบรรลุธรรมเป็นเครื่องอยู่เนืองนิตย์ ๖ ประการ เธอเห็นรูปทางตาแล้วไม่ดีใจ๑
ไม่เสียใจ๒ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่ดีใจ
ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ เธอเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด๓ ย่อม
รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด’ เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า
‘เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด’ ย่อมรู้ชัดว่า ‘หลังจากตายแล้ว เวทนาทั้งปวงที่
ไม่น่าเพลิดเพลินไม่น่ายินดีในโลกนี้จักสงบเย็นลง’
วัปปะ เงาปรากฏเพราะอาศัยต้นไม้ ครั้งนั้น บุรุษถือจอบและตะกร้ามา เขาตัด
ต้นไม้นั้นที่โคน ครั้นแล้วขุดคุ้ยเอารากขึ้น ตัดไม่ให้เหลือแม้ขนาดเท่าต้นแฝก เขา
ตัดต้นไม้นั้นเป็นท่อนๆ ทำให้เป็นซีก ๆ แล้วผึ่งลมและแดด ครั้นผึ่งลมและแดด
แห้งแล้ว เผาทำให้เป็นขี้เถ้า โปรยในที่มีลมพัดจัดหรือลอยในแม่น้ำอันมีกระแสเชี่ยว
เมื่อเป็นเช่นนั้น เงาที่ปรากฏเพราะอาศัยต้นไม้ที่ถูกตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาล
ที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมได้บรรลุธรรม
เป็นเครื่องอยู่เนืองนิตย์ ๖ ประการ เธอเห็นรูปทางตาแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๖.สาฬหสูตร

มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น
... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ เธอเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า
‘เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด’ เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า ‘เรา
เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด’ ย่อมรู้ชัดว่า ‘หลังจากตายแล้ว เวทนาทั้งปวงที่ไม่น่า
เพลิดเพลินไม่น่ายินดีในโลกนี้จักสงบเย็นลง”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษต้องการกำไร เลี้ยงลูกม้าไว้ขาย
แต่ไม่ได้กำไร ซ้ำยังต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบากใจยิ่งขึ้นไป แม้ฉันใด
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ต้องการกำไร เข้าคบหานิครนถ์ผู้โง่ก็ไม่ได้กำไร
ทั้งเหน็ดเหนื่อย ลำบากใจยิ่งขึ้นไป ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์นี้จักโปรย
ความเลื่อมใสในพวกนิครนถ์ผู้โง่เสียในที่ลมพัดจัดหรือลอยเสียในแม่น้ำอันมีกระแสเชี่ยว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาค
ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า ‘คนมี
ตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระ
สงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

วัปปสูตรที่ ๕ จบ

๖. สาฬหสูตร
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสาฬหะ

[๑๙๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่าสาฬหะและพระนามว่าอภัยเสด็จ
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
เจ้าสาฬหลิจฉวีได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๖.สาฬหสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติการข้ามโอฆะ๑เพราะเหตุ
๒ อย่าง คือ (๑) เพราะสีลวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งศีล) เป็นเหตุ (๒) เพราะการ
เกลียดตบะ๒ เป็นเหตุ ส่วนในธรรมวินัยนี้พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สาฬหะ เรากล่าวสีลวิสุทธิแลว่า ‘เป็นองค์แห่ง
สมณธรรมอย่างหนึ่ง’ สมณพราหมณ์เหล่าใดถือการเกลียดตบะเป็นวาทะ๓ ถือการ
เกลียดตบะเป็นสาระ ยึดมั่นการเกลียดตบะอยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่สามารถ
ข้ามโอฆะได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความ
ประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจไม่บริสุทธิ์ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์
สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อญาณทัสสนะ๔ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม๕
เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะข้ามแม่น้ำ พึงถือผึ่งอันคมเข้าไปสู่ป่า เขาพบต้นรัง
ใหญ่ในป่านั้นลำต้นตรง ยังเป็นไม้อ่อน๖ ไม่มีที่ตำหนิ เขาพึงตัดที่โคน ตัดที่ปลาย
ครั้นแล้วลิดกิ่งและใบเรียบร้อยดี ถากด้วยผึ่ง เกลาด้วยมีด ขุดเป็นร่อง ขัดด้วย
ลูกหินแล้วปล่อยลงแม่น้ำ
สาฬหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษนั้นจะข้ามแม่น้ำนั้นไปได้หรือไม่”
เจ้าสาฬหลิจฉวีกราบทูลว่า “ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
เจ้าสาฬหลิจฉวีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะต้นรังนั้นเขาแต่ง
เกลี้ยงเกลาในภายนอก แต่ภายในไม่เรียบร้อย บุรุษนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ไม้รังจะ
ต้องจมและบุรุษนั้นจักถึงความพินาศ พระพุทธเจ้าข้า”


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๖.สาฬหสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สาฬหะ ข้อนี้ฉันใด สมณพราหมณ์เหล่าใดถือ
การเกลียดตบะเป็นวาทะ ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ยึดมั่นการเกลียดตบะอยู่
สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่สามารถข้ามโอฆะได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมี
ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีความ
ประพฤติทางใจไม่บริสุทธิ์ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อ
ญาณทัสสนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ฉันนั้นเหมือนกัน
ส่วนพราหมณ์เหล่าใดไม่ถือการเกลียดตบะเป็นวาทะ ไม่ถือการเกลียดตบะ
เป็นสาระ ไม่ยึดมั่นการเกลียดตบะอยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นสามารถข้ามโอฆะได้
อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทาง
วาจาบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นควรเพื่อญาณทัสสนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม
เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะข้ามแม่น้ำ พึงถือผึ่งอันคมเข้าไปสู่ป่า เขาพบต้นรัง
ใหญ่ในป่านั้น ลำต้นตรง ยังเป็นไม้อ่อน ไม่มีที่ตำหนิ เขาพึงตัดที่โคน ตัดที่ปลาย
ครั้นแล้วลิดกิ่งและใบเรียบร้อยดี ถากด้วยผึ่ง เกลาด้วยมีด ขีดแต่งด้วยสิ่ว ทำภายใน
ให้เรียบร้อย ขุดเป็นร่อง ขัดด้วยลูกหิน ทำให้เป็นเรือ ติดกรรเชียงและหางเสือแล้ว
ปล่อยลงแม่น้ำ
สาฬหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษนั้นจะข้ามแม่น้ำได้หรือไม่”
เจ้าสาฬหลิจฉวีกราบทูลว่า “ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
เจ้าสาฬหลิจฉวีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะต้นรังนั้นเขาแต่ง
เกลี้ยงเกลาดีในภายนอก และภายในก็เรียบร้อยดี ทำเป็นเรือ ติดกรรเชียงและ
หางเสือ บุรุษนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า เรือจักไม่จม บุรุษนั้นจักถึงฝั่งได้โดยสวัสดี”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สาฬหะ ข้อนี้ฉันใด สมณพราหมณ์เหล่าใดไม่ถือ
การเกลียดตบะเป็นวาทะ ไม่ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ไม่ยึดมั่นการเกลียดตบะ
อยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นสามารถข้ามโอฆะได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๖.สาฬหสูตร

ความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ มีความประพฤติ
ทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อญาณทัสสนะ
เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ฉันนั้นเหมือนกันแล
สาฬหะ เปรียบเหมือนนักรบอาชีพถึงแม้จะรู้กระบวนลูกศรเป็นอันมาก แต่
เขาจะชื่อว่าเป็นนักรบ คู่ควรแก่พระราชา เหมาะแก่พระราชา ถึงการนับว่าเป็น
ราชองครักษ์โดยแท้ด้วยองค์ ๓ ประการ
องค์ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ยิงลูกศรได้ไกล ๒. ยิงไม่พลาด
๓. ทำลายกายขนาดใหญ่ได้

สาฬหะ นักรบอาชีพยิงลูกศรได้ไกลแม้ฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิก็ฉันนั้น
อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิพิจารณาเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ
ปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้
ก็ตามด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็น
นั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใด
อย่างหนึ่ง ... สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ... พิจารณาเห็นวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลว
หรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตามด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่น
ไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
สาฬหะ นักรบอาชีพยิงไม่พลาดฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิก็ฉันนั้น
อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
สาฬหะ นักรบอาชีพทำลายกายขนาดใหญ่ได้ฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมา-
วิมุตติก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาวิมุตติทำลายกองอวิชชาใหญ่ได้”

สาฬหสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๗.มัลลิกาเทวีสูตร

๗. มัลลิกาเทวีสูตร
ว่าด้วยพระนางมัลลิกาเทวี

[๑๙๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถปิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระนางมัลลิกาเทวีเสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้
มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดูและเป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์๑ ขัดสนโภคะ๒
ต่ำศักดิ์๓
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว
ไม่น่าดู แต่เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีรูปงาม น่าดู น่า
เลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก๔ แต่เป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ
ต่ำศักดิ์
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีรูปงาม น่าดู น่า
เลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก และเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
สูงศักดิ์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มัลลิกา มาตุคามบางคนในโลกนี้เป็นผู้โกรธ มาก
ไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวแม้เล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด
กระด้างกระเดื่อง แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ เธอไม่ให้
ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๗.มัลลิกาเทวีสูตร

และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ และมีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ
ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น กีดกัน ตัดรอน ผูกความริษยา ถ้า
มาตุคามนั้นจุติจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อม
เป็นผู้มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู และเป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ
ต่ำศักดิ์
มาตุคามบางคนในโลกนี้เป็นผู้โกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าว
แม้เล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง แสดงอาการ
โกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ แต่เธอให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องประทีปแก่สมณะ
หรือพราหมณ์ และไม่มีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้
และการบูชาของผู้อื่น ไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ถ้าเธอจุติจาก
อัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณไม่
งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์
มาตุคามบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่า
กล่าวแม้มากก็ไม่ขัดเคืองใจ ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง
ไม่แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ แต่เธอไม่ให้ทาน คือ ข้าว
น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และ
เครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ และมีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ
ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น กีดกัน ตัดรอน ผูกความริษยา ถ้า
เธอจุติจากอัตภาพนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใด ๆ ย่อมเป็น
ผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก แต่เป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์
ขัดสน โภคะ ต่ำศักดิ์
มาตุคามบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่า
กล่าวแม้มากก็ไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง
ไม่แสดงอาการโกรธความขัดเคืองและความไม่พอใจ เธอให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า
ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องประทีป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๗.มัลลิกาเทวีสูตร

แก่สมณะหรือพราหมณ์ และไม่มีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ
การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น ไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ถ้าเธอ
จุติจากอัตภาพนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใด ๆ ย่อมเป็นผู้มี
รูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก และเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก
มีโภคะมาก สูงศักดิ์
มัลลิกา นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว
ไม่น่าดู และเป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ ต่ำศักดิ์
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู
แต่เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส
มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก แต่เป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ ต่ำศักดิ์
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส
มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก และเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระนางมัลลิกาเทวีได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในชาติอื่น ชะรอยหม่อมฉันจะเป็นคนโกรธ
มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวเล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด
กระด้างกระเดื่อง แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ ในชาตินี้
หม่อมฉันจึงมีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู
แต่ในชาติอื่นหม่อมฉันคงได้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์
ในชาตินี้หม่อมฉันจึงเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
ในชาติอื่นหม่อมฉันคงจะไม่มีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ
การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น ไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ในชาตินี้
หม่อมฉันจึงเป็นผู้สูงศักดิ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็นางกษัตริย์บ้าง นางพราหมณีบ้าง
นางคหปตานีบ้างมีอยู่ในราชสกุลนี้ หม่อมฉันได้ดำรงความเป็นใหญ่เหนือหญิง
เหล่านั้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หม่อมฉันจักไม่โกรธ ไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๘.อัตตันตปสูตร

ถึงจะถูกว่ากล่าวมากก็จักไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้าง
กระเดื่อง ไม่แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ และจักให้ทาน คือ
ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และ
เครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ จักไม่มีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ
ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น จักไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ริษยา
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก
ฯลฯ๑ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

มัลลิกาเทวีสูตรที่ ๗ จบ

๘. อัตตันตปสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน

[๑๙๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ ประเภท๒ไหนบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้

๑. เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
๒. เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
๓. เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้
เดือดร้อน
๔. เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้
เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบใน
การทำผู้อื่นให้เดือดร้อน


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๘.อัตตันตปสูตร

บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน
เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบันเทียว
บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
เป็นอย่างไร
คือ คนเปลือยบางคนในโลกนี้ไร้มารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา
เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่รับภิกษาที่เขาแบ่งไว้ก่อน ไม่รับภิกษาที่เขาเจาะจงทำไว้
ไม่ยินดีกิจนิมนต์ ไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากกระเช้า ไม่รับภิกษา
คร่อมธรณีประตู ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้ ไม่รับภิกษาคร่อมสาก ไม่รับภิกษาที่
คนสองคนบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงที่กำลังให้
ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงที่คลอเคลียคน ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่
รับภิกษาในที่ที่รับเลี้ยงดูลูกสุนัข ไม่รับภิกษาในที่ที่แมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่รับ
ปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำหมักดอง เขารับภิกษาเฉพาะที่
เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียว รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยา
อัตภาพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ หรือรับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว
๗ คำ เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษา
ในถาดน้อย ๒ ใบบ้าง ฯลฯ เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อย ๗ ใบบ้าง
กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันเดียวบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้ ๒ วันบ้าง ฯลฯ กิน
อาหารที่เก็บ ค้างไว้ ๗ วันบ้าง เขาหมั่นประกอบในการบริโภคที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือน
เช่นนี้อยู่
คนเปลือยนั้นกินผักดองเป็นอาหารบ้าง กินข้าวฟ่างเป็นอาหารบ้าง กินลูก
เดือยเป็นอาหารบ้าง กินกากข้าวเป็นอาหารบ้าง กินยาง๑เป็นอาหารบ้าง กินรำ
เป็นอาหารบ้าง กินข้าวตังเป็นอาหารบ้าง กินกำยานเป็นอาหารบ้าง กินหญ้าเป็น
อาหารบ้าง กินมูลโคเป็นอาหารบ้าง กินเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหารบ้าง กิน
ผลไม้ที่หล่นเยียวยาอัตภาพ เขานุ่งห่มผ้าป่านบ้าง นุ่งห่มผ้าแกมกันบ้าง นุ่งห่ม
ผ้าห่อศพบ้าง นุ่งห่มผ้าบังสุกุลบ้าง นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้บ้าง นุ่งห่มหนังเสือบ้าง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๘.อัตตันตปสูตร

นุ่งห่มหนังเสือที่มีเล็บติดอยู่บ้าง นุ่งห่มคากรองบ้าง นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรองบ้าง
นุ่งห่มผ้าผลไม้ กรองบ้าง นุ่งห่มผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง นุ่งห่มผ้ากัมพลทำ
ด้วยขนสัตว์ร้ายบ้าง นุ่งห่มผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง ถอนผมและหนวด หมั่น
ประกอบการถอนผมและหนวดบ้าง ยืนอย่างเดียวปฏิเสธการนั่งบ้าง นั่งกระโหย่ง
ประกอบความเพียรด้วยการนั่งกระโหย่งบ้าง นอนบนหนาม สำเร็จการนอนบน
หนามบ้าง อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง หมั่นประกอบการลงน้ำบ้าง เขาหมั่นประกอบ
การทำร่างกายให้เดือดร้อนหลายวิธีดังกล่าวมานี้อยู่ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้
ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร เป็นนายพรานนก เป็น
นายพรานเนื้อ เป็นชาวประมง เป็นโจร เป็นเพชฌฆาต เป็นคนฆ่าโค เป็นผู้คุม
หรือเป็นผู้ทำกรรมอันหยาบช้าชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้ทำ
ผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และ
เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นพระราชามหากษัตริย์ได้รับมูรธาภิเษก หรือว่า
เป็นพราหมณมหาศาล เขาให้สร้างสัณฐาคารใหม่ทางทิศตะวันออกแห่งพระนคร
แล้วโกนผมและหนวด นุ่งหนังสัตว์มีเล็บ ชโลมกายด้วยเนยและน้ำมัน เกาหลัง
ด้วยเขามฤค เข้าไปสู่สัณฐาคารใหม่พร้อมด้วยมเหสีและพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิต
เขาสำเร็จการนอนบนพื้นอันปราศจากการปูลาดไว้ด้วยมูลโคสด พระราชาให้พระ
ชนม์ชีพเป็นไปด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๑ ของแม่โคตัวหนึ่งที่มีลูกอ่อน พระมเหสี
ให้พระชนม์ชีพเป็นไปด้วยนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๒ พราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิตให้อัตภาพเป็น
ไปด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๓ พระราชาทรงบูชาไฟด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๔
ลูกโคให้อัตภาพเป็นไปด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชานั้นตรัสอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย
จงฆ่าโคเท่านี้ จงฆ่าลูกโคผู้เท่านี้ จงฆ่าลูกโคเมียเท่านี้ จงฆ่าแพะเท่านี้ จงฆ่าแกะ
เท่านี้เพื่อบูชายัญ (จงฆ่าม้าเท่านี้เพื่อบูชายัญ) จงตัดต้นไม้เท่านี้เพื่อทำเสา จงเกี่ยว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๘.อัตตันตปสูตร

หญ้าคาเท่านี้เพื่อบังและลาด’ แม้เหล่าชนทั้งที่เป็นทาส เป็นคนรับใช้ เป็นคนงาน
ของพระราชานั้นก็ย่อมสะดุ้งต่ออาชญา สะดุ้งต่อภัย มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้
ทำการงานอยู่ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบใน
การทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่น
ให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลนั้นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว
ดับร้อน เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐอยู่ในปัจจุบันเทียว
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นมาในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
ตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก
ผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยตนเองแล้ว
ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น๑ มีความงามในท่ามกลาง๒
และมีความงามในที่สุด๓ ประกาศพรหมจรรย์๔ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๘.อัตตันตปสูตร

คหบดีหรือบุตรคหบดีผู้เกิดภายหลังในตระกูลใดตระกูลหนึ่งฟังธรรมนั้นแล้ว
ได้ศรัทธาในตถาคต ได้ศรัทธาแล้วพิจารณาเห็นว่า ‘ฆราวาส(การอยู่ครองเรือน)
คับแคบ๑ เป็นทางมาแห่งธุลี๒ บรรพชาปลอดโปร่ง๓ การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะ
ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ที่ขัดแล้วนี้มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี
เราควรจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’
สมัยต่อมา เขาได้ละกองโภคทรัพย์น้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่แล้ว
ปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ๔เสมอกับภิกษุทั้งหลาย
ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความ
เอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของ
ที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
เป็นผู้ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ คือ ประพฤติพรหมจรรย์๕
เว้นห่างไกลอสัทธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๘.อัตตันตปสูตร

เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำ
เป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่ไปบอก
ฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลาย
ฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลิน
ต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
เป็นผู้ละเว้นขาดจากคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ
เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิง
ประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด
ประกอบด้วยประโยชน์เหมาะแก่เวลา
ภิกษุนั้นเป็นผู้เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม ฉันมื้อเดียว ไม่ฉัน
ตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล๑ เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง
ประโคมดนดรี และดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ
ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่ง
การแต่งตัว เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่ เว้นขาดจากการรับทองและเงิน เว้นขาดจาก
การรับธัญญาหารดิบ๒ เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ เว้นขาด
จากการรับไก่และสุกร เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา เว้นขาดจากการ
รับเรือกสวนไร่นาและที่ดิน เว้นขาดจากการรับทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
เว้นขาดจากการซื้อขาย เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วย
เครื่องตวงวัด เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง เว้น
ขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การปล้น และการขู่
กรรโชก


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๘.อัตตันตปสูตร

ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป
ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที เหมือนนกบินไป ณ ที่ใดๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ เธอ
ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์อย่างนี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน
ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมใน
จักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู
... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้ง
ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์
ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ เธอผู้ประกอบด้วยอริยอินทรีย-
สังวรอย่างนี้ จึงชื่อว่าเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน
ภิกษุนั้นเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การ
เหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน
การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง
การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง
ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร และอริยสติสัมปชัญญะ
พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ที่แจ้ง
ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้วก็นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย
ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา) ในโลก
แล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือ
พยาบาท (ความคิดร้าย) มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ชำระ
จิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
ถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ
อยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
วิจิกิจฉา เธอครั้นละนิวรณ์เหล่านี้ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ เป็นเครื่องทอนกำลัง
ปัญญาแล้ว สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌานอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค ๘.อัตตันตปสูตร

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม
จิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒
ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐
ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐
ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด
สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล
มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพ
โน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์
และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อนได้หลาย
ชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม
จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำ และชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่
ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็น
ชอบและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะ
ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและ เกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึง
หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้
ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๙.ตัณหาสูตร

เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์๑
แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็น
ผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล
และบุคคลนั้นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน
เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐอยู่ในปัจจุบันเทียว
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก”

อัตตันตปสูตรที่ ๘ จบ

๙. ตัณหาสูตร
ว่าด้วยตัณหา

[๑๙๙] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป
ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่ง
เหมือนกลุ่มด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่
ให้ล่วงพ้นอบาย๒ ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป ซ่านไป เกาะเกี่ยว
อยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่งเหมือนกลุ่มด้าย
อันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้น
อบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้ นั้นเป็นอย่างไร
คือ ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้อาศัยขันธปัญจก๓ภายใน


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๙.ตัณหาสูตร

ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้อาศัยขันธปัญจกภายนอก
ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายใน อะไรบ้าง คือ

๑. เมื่อมีตัณหาว่า ‘เราเป็น’
๒. ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนี้’ จึงมี
๓. ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนั้น’ จึงมี
๔. ตัณหาว่า ‘เราเป็นโดยประการอื่น’ จึงมี
๕. ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้เที่ยง’ จึงมี
๖. ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้ไม่เที่ยง’ จึงมี
๗. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็น’ จึงมี
๘. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้’ จึงมี
๙. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้น’ จึงมี
๑๐. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่น’ จึงมี
๑๑. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นบ้าง’ จึงมี
๑๒. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้บ้าง’ จึงมี
๑๓. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้นบ้าง’ จึงมี
๑๔. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่นบ้าง’ จึงมี
๑๕. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็น’ จึงมี
๑๖. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนี้’ จึงมี
๑๗. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนั้น’ จึงมี
๑๘. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นโดยประการอื่น’ จึงมี

นี้คือตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายใน
ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายนอก อะไรบ้าง คือ

๑. เมื่อมีตัณหาว่า ‘เราเป็นด้วยขันธปัญจกนี้’
๒. ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๓. ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๔. ตัณหาว่า ‘เราเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๕. ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้เที่ยงด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๖. ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้ไม่เที่ยงด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๙.ตัณหาสูตร

๗. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๘. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๙. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๑๐. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๑๑. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี
๑๒. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี
๑๓. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี
๑๔. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี
๑๕. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๑๖. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๑๗. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๑๘. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี

นี้คือตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายนอก
ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ
อาศัยขันธปัญจกภายนอก ด้วยประการฉะนี้ รวมเรียกว่า ตัณหาวิจริต ๓๖ ประการ
ตัณหาวิจริตเห็นปานนี้ ที่เป็นอดีต ๓๖ ประการ อนาคต ๓๖ ประการ ปัจจุบัน
๓๖ ประการ รวมเป็นตัณหาวิจริต๑ ๑๐๘ ด้วยประการฉะนี้
ภิกษุทั้งหลาย ตัณหานี้นั้นแล เช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป ซ่านไป
เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่งเหมือนกลุ่มด้าย
อันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้นอบาย
ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้”

ตัณหาสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๑๐.เปมสูตร

๑๐. เปมสูตร
ว่าด้วยความรักและความชัง

[๒๐๐] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ย่อมเกิด
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ความรักเกิดเพราะความรัก ๒. ความชังเกิดเพราะความรัก
๓. ความรักเกิดเพราะความชัง ๔. ความชังเกิดเพราะความชัง

ความรักเกิดเพราะความรัก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลในโลกนี้เป็นผู้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของบุคคล คนอื่นๆ
ประพฤติต่อบุคคลที่รักนั้นด้วยอาการที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ บุคคลนั้นมี
ความคิดอย่างนี้ว่า ‘คนอื่น ๆ ประพฤติต่อบุคคลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ของเราด้วยอาการที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ’ เขาจึงเกิดความรักในคนเหล่านั้น
ความรักเกิดเพราะความรัก เป็นอย่างนี้แล
ความชังเกิดเพราะความรัก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลในโลกนี้เป็นผู้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของบุคคล คนอื่น ๆ
ประพฤติต่อบุคคลที่รักนั้นด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ
บุคคลนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘คนอื่น ๆ ประพฤติต่อบุคคลที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจของเราด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ’ เขาจึงเกิด
ความชังในคนเหล่านั้น ความชังเกิดเพราะความรัก เป็นอย่างนี้แล
ความรักเกิดเพราะความชัง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลในโลกนี้เป็นผู้ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจของบุคคล
คนอื่นๆ ก็ประพฤติต่อบุคคลที่ชังนั้นด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่
น่าพอใจ บุคคลนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘คนอื่น ๆ ประพฤติต่อบุคคลที่ไม่น่าปรารถนา
ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจของเราด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ’
เขาจึงเกิดความรักในคนเหล่านั้น ความรักเกิดเพราะความชัง เป็นอย่างนี้แล
ความชังเกิดเพราะความชัง เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๑๐.เปมสูตร

คือ บุคคลในโลกนี้เป็นผู้ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจของบุคคล
คนอื่น ๆ ก็ประพฤติต่อคนที่ชังนั้นด้วยอาการที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
บุคคลนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘คนอื่นๆ ประพฤติต่อคนที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่
ไม่น่าพอใจของเราด้วยอาการที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ’ เขาจึงเกิดความชัง
ในบุคคลเหล่านั้น ความชังเกิดเพราะความชัง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเกิด
สมัยใด ภิกษุสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ
อยู่ สมัยนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความรัก ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความชังที่
เกิดเพราะความรักย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความชังย่อมไม่มีแก่
ภิกษุนั้น แม้ความชังที่เกิดเพราะความชังย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น
สมัยใด เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะ
ปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายบรรลุ
ตติยฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน
แล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ สมัยนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความรัก
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความชังที่เกิดเพราะความรักย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้
ความรักที่เกิดเพราะความชังย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น แม้ความชังที่เกิดเพราะความชัง
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น
สมัยใด ภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
สมัยนั้น แม้ความรักที่เกิดเพราะความรักเป็นอันภิกษุนั้นละได้เด็ดขาด ตัด
รากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ความชังที่เกิดเพราะความรักเป็นอันภิกษุนั้นละได้เด็ดขาด ตัด
รากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ความรักที่เกิดเพราะความชังเป็นอันภิกษุนั้นละได้เด็ดขาด ตัด
รากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ แม้ความชังที่เกิดเพราะความชังเป็นอันภิกษุนั้นละได้เด็ดขาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๑๐.เปมสูตร

ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า ไม่ยึดถือ๑ ไม่โต้ตอบ๒ ไม่บังหวนควัน๓ ไม่
ลุกโพลง๔ ไม่ถูกไฟไหม้๕
ภิกษุชื่อว่ายึดถือ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็น
อัตตาว่ามีรูป พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในรูป พิจารณา
เห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีเวทนา พิจารณาเห็นเวทนา
ในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในเวทนา พิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตา
พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีสัญญา พิจารณาเห็นสัญญาในอัตตา หรือพิจารณาเห็น
อัตตาในสัญญา พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็น
อัตตาว่ามีสังขาร พิจารณาเห็นสังขารในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในสังขาร
พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ
พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ ภิกษุชื่อว่ายึดถือ
เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าไม่ยึดถือ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่เห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตาว่ามีรูป
ไม่เห็นรูปในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในรูป ไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ไม่
เห็นอัตตาว่ามีเวทนา ไม่เห็นเวทนาในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในเวทนา ไม่เห็น
สัญญาโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตาว่ามีสัญญา ไม่เห็นสัญญาในอัตตา หรือ
ไม่เห็นอัตตาในสัญญา ไม่เห็นสังขารโดยความเป็นอัตตา ไม่เห็นอัตตาว่ามีสังขาร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๑๐.เปมสูตร

ไม่เห็นสังขารในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาในสังขาร ไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็น
อัตตา ไม่เห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในอัตตา หรือไม่เห็นอัตตาใน
วิญญาณ ภิกษุชื่อว่าไม่ยึดถือ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าโต้ตอบ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ด่าโต้ตอบคนที่ด่า โกรธตอบคนที่โกรธ เถียงโต้ตอบ
คนที่ถียง ภิกษุชื่อว่าโต้ตอบ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าไม่โต้ตอบ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ด่าโต้ตอบคนที่ด่า ไม่โกรธตอบคนที่โกรธ ไม่
เถียงโต้ตอบคนที่ถียง ภิกษุชื่อว่าไม่โต้ตอบ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าบังหวนควัน เป็นอย่างไร
คือ เมื่อมีตัณหาว่า ‘เราเป็น’ ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนี้’ จึงมี ตัณหาว่า
‘เราเป็นอย่างนั้น’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราเป็นโดยประการอื่น’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราเป็น
ผู้เที่ยง’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้ไม่เที่ยง’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็น’ จึงมี
ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้น’ จึงมี ตัณหาว่า
“เราพึงเป็นโดยประการอื่น’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นบ้าง’ จึงมี ตัณหาว่า
‘เราพึงเป็นอย่างนี้บ้าง” จึงมี ตัณหาว่า “เราพึงเป็นอย่างนั้นบ้าง” จึงมี ตัณหาว่า
“เราพึงเป็นโดยประการอื่นบ้าง’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราจักเป็น’ จึงมี ตัณหาว่า
‘เราจักเป็นอย่างน’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนั้น’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราจัก
เป็นโดยประการอื่น’ จึงมี ภิกษุชื่อว่าบังหวนควัน เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าไม่บังหวนควัน เป็นอย่างไร
คือ เมื่อไม่มีตัณหาว่า ‘เราเป็น’ ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนี้’ จึงไม่มี ตัณหาว่า
‘เราเป็นอย่างนั้น’ จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราเป็นโดยประกอบอื่น’ จึงไม่มี ตัณหาว่า
‘เราเป็นผู้เที่ยง” จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้ไม่เที่ยง’ จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราพึง
เป็น’ จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้’ จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้น’
จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่น’ จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นบ้าง’
จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้บ้าง’ จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้นบ้าง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๕.มหาวรรค ๑๐.เปมสูตร

จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่นบ้าง’ จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราจักเป็น’
จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนี้’ จึงไม่มี ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนั้น’ จึงไม่มี
ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นโดยประการอื่น’ จึงไม่มี ภิกษุชื่อว่าไม่บังหวนควัน เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าลุกโพลง เป็นอย่างไร
คือ เมื่อมีตัณหาว่า ‘เราเป็นด้วยขันธปัญจกนี้’ ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนี้ด้วย
ขันธปัญจกนี้’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ตัณหาว่า
‘เราเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้เที่ยงด้วย
ขันธปัญจกนี้’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้ไม่เที่ยงด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ตัณหาว่า
‘เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้’
จึงมี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการนั้นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เรา
พึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจก
นี้บ้าง’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี ตัณหาว่า
‘เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างอื่น
ด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ตัณหาว่า
‘เราจักเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนั้นด้วย
ขันธปัญจกนี้’ จึงมี ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
ภิกษุชื่อว่าลุกโพลง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าไม่ลุกโพลง เป็นอย่างไร
คือ เมื่อไม่มีตัณหาว่า “เราเป็นด้วยขันธปัญจกนี้” ตัณหาว่า “เราเป็น
อย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้” จึงไม่มี ตัณหาว่า “เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้”
จึงไม่มี ตัณหาว่า “เราเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้” จึงไม่มี ตัณหาว่า
“เราเป็นผู้เที่ยงด้วยขันธปัญจกนี้” จึงไม่มี ตัณหาว่า “เราเป็นผู้ไม่เที่ยงด้วย
ขันธปัญจกนี้” จึงไม่มี ตัณหาว่า “เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้” จึงไม่มี ตัณหาว่า
“เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้” จึงไม่มี ตัณหาว่า “เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วย
ขันธปัญจกนี้” จึงไม่มี ตัณหาว่า “เราพึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์]
๕.มหาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

จึงไม่มี ตัณหาว่า “เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง” จึงไม่มี ตัณหาว่า “เราพึงเป็น
อย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง” จึงไม่มี ตัณหาว่า “เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจก
นี้บ้าง” จึงไม่มี ตัณหาว่า “เราพึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง” จึงไม่มี
ตัณหาว่า “เราจักเป็นด้วยขันธปัญจกนี้” จึงไม่มี ตัณหาว่า “เราจักเป็นอย่างนี้
ด้วยขันธปัญจกนี้” จึงไม่มีตัณหาว่า “เราจักเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้” จึงไม่มี
ตัณหาว่า “เราจักเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้” จึงไม่มี ภิกษุชื่อว่าไม่
ลุกโพลง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าถูกไฟไหม้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ยังละอัสมิมานะไม่ได้เด็ดขาด ยังไม่ได้ตัดรากถอนโคน
ให้เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้ ภิกษุชื่อว่าถูกไฟไหม้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าไม่ถูกไฟไหม้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอัสมิมานะได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคนเหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ภิกษุชื่อว่าไม่ถูกไฟไหม้ เป็นอย่างนี้แล


เปมสูตรที่ ๑๐ จบ
มหาวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โสตานุคตสูตร ๒. ฐานสูตร
๓. ภัททิยสูตร ๔. สาปุคิยาสูตร
๕. วัปปสูตร ๖. สาฬหสูตร
๗. มัลลิกาเทวีสูตร ๘. อัตตันตปสูตร
๙. ตัณหาสูตร ๑๐. เปมสูตร

จตุตถปัณณาสก์ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๑.สัปปุริสวรรค ๑. สิกขาปทสูตร

๕. ปัญจมปัณณาสก์
๑. สัปปุริสวรรค
หมวดว่าด้วยสัตบุรุษ
๑. สิกขาปทสูตร
ว่าด้วยสิกขาบท

[๒๐๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษ๑และ
อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ จักแสดงสัตบุรุษ๒และสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษแก่เธอ
ทั้งหลาย๓ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูด
เท็จ เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท บุคคลนี้เรียกว่า
อสัตบุรุษ
อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ ตนเอง
เป็นผู้ลักทรัพย์และชักชวนผู้อื่นให้ลักทรัพย์ ตนเองเป็นผู้ประพฤติผิดในกามและ
ชักชวนผู้อื่นให้ประพฤติผิดในกาม ตนเองเป็นผู้พูดเท็จและชักชวนผู้อื่นให้พูดเท็จ
ตนเองเป็นผู้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทและชักชวน
ผู้อื่นให้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท บุคคลนี้เรียก
ว่า อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๑.สัปปุริสวรรค ๒.อัสสัทธสูตร

สัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจาก
การลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการ
พูดเท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความ
ประมาท บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ
สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่น
ให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์และชักชวนผู้อื่นให้
งดเว้นจากการลักทรัพย์ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามและชักชวน
ผู้อื่นให้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จและ
ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเท็จ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมา
คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทและชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการเสพ
ของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ
ที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ

สิกขาปทสูตรที่ ๑ จบ

๒. อัสสัทธสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่มีศรัทธาและผู้มีศรัทธา

[๒๐๒] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษและอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ
จักแสดงสัตบุรุษและสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสเรื่องนี้ว่า
อสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ มีสุตะ
น้อย๑ เป็นผู้เกียจคร้าน หลงลืมสติ มีปัญญาทราม บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๑.สัปปุริสวรรค ๓.สัตตกัมมสูตร

อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ไม่มีศรัทธาและชักชวนผู้อื่นให้ไม่มีศรัทธา
ตนเองเป็นผู้ไม่มีหิริและชักชวนผู้อื่นให้ไม่มีหิริ ตนเองเป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะและชักชวน
ผู้อื่นให้ไม่มีโอตตัปปะ ตนเองเป็นผู้มีสุตะน้อยและชักชวนผู้อื่นให้มีสุตะน้อย ตนเอง
เป็นผู้เกียจคร้านและชักชวนผู้อื่นให้เกียจคร้าน ตนเองหลงลืมสติและชักชวนผู้อื่นให้
หลงลืมสติ ตนเองมีปัญญาทรามและชักชวนผู้อื่นให้มีปัญญาทราม บุคคลนี้เรียกว่า
อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ
สัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ เป็นพหูสูต
ปรารภความเพียร มีสติ มีปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ
สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้มีศรัทธาและชักชวนผู้อื่นให้มีศรัทธา
ตนเองเป็นผู้มีหิริและชักชวนผู้อื่นให้มีหิริ ตนเองเป็นผู้มีโอตตัปปะและชักชวนผู้อื่น
ให้มีโอตตัปปะ ตนเองเป็นพหูสูตและชักชวนผู้อื่นให้เป็นพหูสูต ตนเองมีสติตั้งมั่น
และชักชวนผู้อื่นให้มีสติตั้งมั่น ตนเองเป็นผู้มีปัญญาและชักชวนผู้อื่นให้มีปัญญา
บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ

อัสสัทธสูตรที่ ๒ จบ

๓. สัตตกัมมสูตร
ว่าด้วยกรรม ๗ ประการ

[๒๐๓] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษและอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ
จักแสดงสัตบุรุษและสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ๑


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๑.สัปปุริสวรรค ๓.สัตตกัมมสูตร

อสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ
พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ
อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ ตนเอง
เป็นผู้ลักทรัพย์และชักชวนผู้อื่นให้ลักทรัพย์ ตนเองเป็นผู้ประพฤติผิดในกามและชัก
ชวนผู้อื่นให้ประพฤติผิดในกาม ตนเองเป็นผู้พูดเท็จและชักชวนผู้อื่นให้พูดเท็จ ตน
เองเป็นผู้พูดส่อเสียดและชักชวนผู้อื่นให้พูดส่อเสียด ตนเองเป็นผู้พูดคำหยาบและ
ชักชวนผู้อื่นให้พูดคำหยาบ ตนเองเป็นผู้พูดเพ้อเจ้อและชักชวนผู้อื่นให้พูดเพ้อเจ้อ
บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ
สัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจาก
การลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูด
เท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เป็นผู้
เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ
สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่น
ให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์และชักชวนผู้อื่นให้
งดเว้นจากการลักทรัพย์ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามและชักชวน
ผู้อื่นให้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จและ
ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเท็จ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียดและ
ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดส่อเสียด ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
และชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดคำหยาบ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูด
เพ้อเจ้อและชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษที่
ยิ่งกว่าสัตบุรุษ

สัตตกัมมสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๑.สัปปุริสวรรค ๔. ทสกัมมสูตร

๔. ทสกัมมสูตร
ว่าด้วยกรรม ๑๐ ประการ

[๒๐๔] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษและอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ
จักแสดงสัตบุรุษและสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ๑
อสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ๒ เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
เป็นผู้มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ
อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ๒
ตนเองเป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขาและชักชวนผู้อื่นให้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ตนเอง
เป็นผู้มีจิตพยาบาทและชักชวนผู้อื่นให้มีจิตพยาบาท ตนเองเป็นมิจฉาทิฏฐิและ
ชักชวนผู้อื่นให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ
สัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๒ เป็นผู้ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้ของเขา เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ
สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่น
ให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๒ ตนเองเป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขาและชักชวน
ผู้อื่นให้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ตนเองเป็นผู้มีจิตไม่พยาบาทและชักชวนผู้อื่นให้มี
จิตไม่พยาบาท ตนเองเป็นสัมมาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้เป็นสัมมาทิฏฐิ บุคคลนี้
เรียกว่า สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ

ทสกัมมสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๑.สัปปุริสวรรค ๕.อัฏฐังคิกสูตร

๕. อัฏฐังคิกสูตร
ว่าด้วยมรรคมีองค์ ๘

[๒๐๕] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษและอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ
จักแสดงสัตบุรุษและสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
ฯลฯ๑
อสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) มีมิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด)
มีมิจฉาวาจา (เจรจาผิด) มีมิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด) มีมิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด)
มีมิจฉาวายามะ (พยายามผิด) มีมิจฉาสติ (ระลึกผิด) มีมิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด)
บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ
อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉา-
ทิฏฐิ ตนเองเป็นผู้มีมิจฉาสังกัปปะและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉาสังกัปปะ ตนเองเป็น
ผู้มีมิจฉาวาจาและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉาวาจา ตนเองเป็นผู้มีมิจฉากัมมันตะและ
ชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉากัมมันตะ ตนเองเป็นผู้มีมิจฉาอาชีวะและชักชวนผู้อื่นให้มี
มิจฉาอาชีวะ ตนเองเป็นผู้มีมิจฉาวายามะและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉาวายามะ ตนเอง
เป็นผู้มีมิจฉาสติและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉาสติ ตนเองเป็นผู้มีมิจฉาสมาธิและชัก
ชวนผู้อื่นให้มีมิจฉาสมาธิ บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ
สัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) มีสัมมาสังกัปปะ (ดำริ
ชอบ) มีสัมมาวาจา (เจรจาชอบ) มีสัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) มีสัมมาอาชีวะ (เลี้ยง
ชีพชอบ) มีสัมมาวายามะ (พยายามชอบ) มีสัมมาสติ (ระลึกชอบ) มีสัมมาสมาธิ
(ตั้งจิตมั่นชอบ) บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๑.สัปปุริสวรรค ๖. ทสมัคคสูตร

สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมา-
ทิฏฐิ ตนเองเป็นผู้มีสัมมาสังกัปปะและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมาสังกัปปะ ตนเองเป็น
ผู้มีสัมมาวาจาและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมาวาจา ตนเองเป็นผู้มีสัมมากัมมันตะและ
ชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมากัมมันตะ ตนเองเป็นผู้มีสัมมาอาชีวะและชักชวนผู้อื่นให้มี
สัมมาอาชีวะ ตนเองเป็นผู้มีสัมมาวายามะและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมาวายามะ ตนเอง
เป็นผู้มีสัมมาสติและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมาสติ ตนเองเป็นผู้มีสัมมาสมาธิและชักชวน
ผู้อื่นให้มีสัมมาสมาธิ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ

อัฏฐังคิกสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทสมัคคสูตร
ว่าด้วยมรรค ๑๐ ประการ

[๒๐๖] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษและอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ
จักแสดงสัตบุรุษและสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
ฯลฯ๑
อสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ๒ มีมิจฉาญาณะ มีมิจฉา-
วิมุตติ บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ
อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉา-
ทิฏฐิ ฯลฯ๒ ตนเองเป็นผู้มีมิจฉาญาณะและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉาญาณะ ตนเอง
เป็นผู้มีมิจฉาวิมุตติและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉาวิมุตติ บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษที่
ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัฐจมปัณณาสก์]
๑. สัปปุริสวรรค ๗. ปฐมปาปธัมมสูตร

สัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ๑ มีสัมมาญาณะ มี
สัมมาวิมุตติ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ
สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมา-
ทิฏฐิ ฯลฯ๑ ตนเองเป็นผู้มีสัมมาญาณะและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมาญาณะ ตนเอง
เป็นผู้มีสัมมาวิมุตติและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมาวิมุตติ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษที่ยิ่ง
กว่าสัตบุรุษ

ทสมัคคสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปฐมปาปธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมชั่วและธรรมดี สูตรที่ ๑

[๒๐๗] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงคนชั่วและคนชั่วที่ยิ่งกว่าคนชั่ว จักแสดง
คนดีและคนดีที่ยิ่งกว่าคนดี๒ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ๓
คนชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ๔ เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า
คนชั่ว
คนชั่วที่ยิ่งกว่าคนชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ๔
ตนเองเป็นมิจฉาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า คนชั่วที่ยิ่ง
กว่าคนชั่ว


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๑.สัปปุริสวรรค ๘. ทุติยปาปธัมมสูตร

คนดี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๑ เป็นสัมมาทิฏฐิ
บุคคลนี้เรียกว่า คนดี
คนดีที่ยิ่งกว่าคนดี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่น
ให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๑ ตนเองเป็นสัมมาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้เป็น
สัมมาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า คนดีที่ยิ่งกว่าคนดี

ปฐมปาปธัมมสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุติยปาปธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมชั่วและธรรมดี สูตรที่ ๒

[๒๐๘] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงคนชั่วและคนชั่วที่ยิ่งกว่าคนชั่ว จักแสดง
คนดีและคนดีที่ยิ่งกว่าคนดีแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ๒
คนชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ๓ มีมิจฉาญาณะ(รู้ผิด) มี
มิจฉาวิมุตติ(หลุดพ้นผิด) บุคคลนี้เรียกว่า คนชั่ว
คนชั่วที่ยิ่งกว่าคนชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉา-
ทิฏฐิ ฯลฯ๓ ตนเองเป็นผู้มีมิจฉาญาณะและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉาญาณะ ตนเองเป็น
ผู้มีมิจฉาวิมุตติและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉาวิมุตติ บุคคลนี้เรียกว่า คนชั่วที่ยิ่งกว่าคนชั่ว
คนดี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ๓ มีสัมมาญาณะ มี
สัมมาวิมุตติ บุคคลนี้เรียกว่า คนดี


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัฐจมปัณณาสก์]
๑. สัปปุริสวรรค ๙. ตติยปาปธัมมสูตร

คนดีที่ยิ่งกว่าคนดี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมา-
ทิฏฐิ ฯลฯ๑ ตนเองเป็นผู้มีสัมมาญาณะและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมาญาณะ ตนเอง
เป็นผู้มีสัมมาวิมุตติและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมาวิมุตติ บุคคลนี้เรียกว่า คนดีที่ยิ่งกว่า
คนดี

ทุติยปาปธัมมสูตรที่ ๘ จบ

๙. ตติยปาปธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมชั่วและธรรมดี สูตรที่ ๓

[๒๐๙] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงบุคคลผู้มีธรรมชั่วและบุคคลผู้มีธรรมชั่วที่
ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมชั่ว จักแสดงบุคคลผู้มีธรรมดีและบุคคลผู้มีธรรมดีที่ยิ่งกว่า
บุคคลผู้มีธรรมดีแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ๒
บุคคลผู้มีธรรมชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ๓ เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า
บุคคลผู้มีธรรมชั่ว
บุคคลผู้มีธรรมชั่วที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ๓
ตนเองเป็นมิจฉาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้มี
ธรรมชั่วที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมชั่ว
บุคคลผู้มีธรรมดี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๓ เป็นสัมมาทิฏฐิ
บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้มีธรรมดี


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัฐจมปัณณาสก์]
๑. สัปปุริสวรรค ๑๐. จตุตถปาปธัมมสูตร

บุคคลผู้มีธรรมดีที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมดี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่น
ให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๑ ตนเองเป็นสัมมาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้มีธรรมดีที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมดี

ตติยปาปธัมมสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. จตุตถปาปธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมชั่วและธรรมดี สูตรที่ ๔

[๒๑๐] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงบุคคลผู้มีธรรมชั่วและบุคคลผู้มีธรรมชั่วที่
ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมชั่ว จักแสดงบุคคลผู้มีธรรมดีและบุคคลผู้มีธรรมดีที่ยิ่งกว่า
บุคคลผู้มีธรรมดี แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ๒
บุคคลผู้มีธรรมชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ๓ มีมิจฉาญาณะ มีมิจฉา-
วิมุตติ บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้มีธรรมชั่ว
บุคคลผู้มีธรรมชั่วที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉา-
ทิฏฐิ ฯลฯ๓ ตนเองเป็นผู้มีมิจฉาญาณะและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉาญาณะ ตนเอง
เป็นผู้มีมิจฉาวิมุตติและชักชวนผู้อื่นให้มีมิจฉาวิมุตติ บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้มี
ธรรมชั่วที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมชั่ว
บุคคลผู้มีธรรมดี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ๓ มีสัมมาญาณะ
มีสัมมาวิมุตติ บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้มีธรรมดี


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์] ๒.โสภณวรรค ๑.ปริสาสูตร

บุคคลผู้มีธรรมดีที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมดี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ๑ ตนเองเป็นผู้มีสัมมาญาณะและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมาญาณะ ตนเองเป็นผู้มี
สัมมาวิมุตติและชักชวนผู้อื่นให้มีสัมมาวิมุตติ บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้มีธรรมดีที่ยิ่ง
กว่าบุคคลผู้มีธรรมดี

จตุตถปาปธัมมสูตรที่ ๑๐ จบ
สัปปุริสวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สิกขาปทสูตร ๒. อัสสัทธสูตร
๓. สัตตกัมมสูตร ๔. ทสกัมมสูตร
๕. อัฏฐังคิกสูตร ๖. ทสมัคคสูตร
๗. ปฐมปาปธัมมสูตร ๘. ทุติยปาปธัมมสูตร
๙. ตติยปาปธัมมสูตร ๑๐. จตุตถปาปธัมมสูตร

๒. โสภณวรรค
หมวดว่าด้วยผู้ทำบริษัทให้งาม
๑. ปริสาสูตร
ว่าด้วยบริษัท

[๒๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้เป็นผู้
ประทุษร้ายบริษัท
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ

๑. ภิกษุผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม
๒. ภิกษุณีผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์] ๒.โสภณวรรค ๒. ทิฏฐิสูตร

๓. อุบาสกผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม
๔. อุบาสิกาผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม

ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลเป็นผู้ประทุษร้ายบริษัท
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้เป็นผู้ทำบริษัทให้งาม
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ

๑. ภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
๒. ภิกษุณีผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
๓. อุบาสกผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
๔. อุบาสิกาผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม

ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลเป็นผู้ทำบริษัทให้งาม

ปริสาสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยทิฏฐิ

[๒๑๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้ ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กายทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยกาย)
๒. วจีทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยวาจา)
๓. มโนทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยใจ)
๔. มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด)

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๒.โสภณวรรค ๓.อกตัญญุตาสูตร

๑. กายสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยกาย)
๒. วจีสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยวาจา)
๓. มโนสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยใจ)
๔. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

ทิฏฐิสูตรที่ ๒ จบ

๓. อกตัญญุตาสูตร
ว่าด้วยความเป็นผู้ไม่รู้คุณและความเป็นผู้รู้คุณ

[๒๑๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กายทุจริต ๒. วจีทุจริต
๓. มโนทุจริต ๔. อกตัญญุตา อกตเวทิตา๑

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กายสุจริต ๒. วจีสุจริต
๓. มโนสุจริต ๔. กตัญญุตา กตเวทิตา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่
ในสวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

อกตัญญุตาสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๒.โสภณวรรค ๕. ปฐมมัคคสูตร

๔. ปาณาติปาตีสูตร
ว่าด้วยผู้ฆ่าสัตว์และผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์

[๒๑๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๒. เป็นผู้ลักทรัพย์
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ๔. เป็นผู้พูดเท็จ
ฯลฯ๑

๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๓. เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
ฯลฯ๑

ปาณาติปาตีสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมมัคคสูตร
ว่าด้วยมรรค สูตรที่ ๑

[๒๑๕] ฯลฯ๑
๑. มีมิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) ๒. มีมิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด)
๓. มีมิจฉาวาจา (เจรจาผิด) ๔. มีมิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด)
ฯลฯ๑
๑. มีสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. มีสัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. มีสัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. มีสัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
ฯลฯ๑

ปฐมมัคคสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๒.โสภณวรรค ๗.ปฐมโวหารปถสูตร

๖. ทุติยมัคคสูตร
ว่าด้วยมรรค สูตรที่ ๒

[๒๑๖] ฯลฯ๑
๑. มีมิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด) ๒. มีมิจฉาวายามะ (พยายามผิด)
๓. มีมิจฉาสติ (ระลึกผิด) ๔. มีมิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด)
ฯลฯ๑

๑. มีสัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๒. มีสัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๓. มีสัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๔. มีสัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)
ฯลฯ๑

ทุติยมัคคสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปฐมโวหารปถสูตร
ว่าด้วยครรลองแห่งโวหาร สูตรที่ ๑

[๒๑๗] ฯลฯ๑
๑. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าได้เห็น
๒. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ฟังว่าได้ฟัง
๓. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าได้ทราบ
๔. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าได้รู้
ฯลฯ๑

๑. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าไม่ได้เห็น
๒. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ฟังว่าไม่ได้ฟัง
๓. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าไม่ได้ทราบ
๔. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าไม่ได้รู้
ฯลฯ๑

ปฐมโวหารปถสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๒.โสภณวรรค ๙. อหิริกสูตร

๘. ทุติยโวหารปถสูตร
ว่าด้วยครรลองแห่งโวหาร สูตรที่ ๒

[๒๑๘] ฯลฯ๑
๑. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้เห็นว่าไม่ได้เห็น
๒. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ฟังว่าไม่ได้ฟัง
๓. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ทราบว่าไม่ได้ทราบ
๔. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้รู้ว่าไม่ได้รู้
ฯลฯ๑

๑. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้เห็นว่าได้เห็น
๒. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ฟังว่าได้ฟัง
๓. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ทราบว่าได้ทราบ
๔. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้รู้ว่าได้รู้
ฯลฯ๑

ทุติยโวหารปถสูตรที่ ๘ จบ

๙. อหิริกสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่มีหิริและผู้มีหิริ

[๒๑๙] ฯลฯ๑
๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ทุศีล
๓. เป็นผู้ไม่มีหิริ ๔. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ
ฯลฯ๑

๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีศีล
๓. เป็นผู้มีหิริ ๔. เป็นผู้มีโอตตัปปะ
ฯลฯ๑

อหิริกสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๒.โสภณวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๐. ทุสสีลสูตร
ว่าด้วยผู้ทุศีลและผู้มีศีล

[๒๒๐] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ทุศีล
๓. เป็นผู้เกียจคร้าน ๔. เป็นผู้มีปัญญาทราม
ฯลฯ๑

๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีศีล
๓. เป็นผู้ปรารภความเพียร ๔. เป็นผู้มีปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

ทุสสีลสูตรที่ ๑๐ จบ
โสภณวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปริสาสูตร ๒. ทิฏฐิสูตร
๓. อกตัญญุตาสูตร ๔. ปาณาติปาตีสูตร
๕. ปฐมมัคคสูตร ๖. ทุติยมัคคสูตร
๗. ปฐมโวหารปถสูตร ๘. ทุติยโวหารปถสูตร
๙. อหิริกสูตร ๑๐. ทุสสีลสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๓.ทุจจริตวรรค ๒. ทิฏฐิสูตร

๓. ทุจจริตวรรค
หมวดว่าด้วยทุจริตและสุจริต
๑. ทุจจริตสูตร
ว่าด้วยทุจริตและสุจริต

[๒๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย วจีทุจริต ๔ ประการนี้
วจีทุจริต ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. มุสาวาท (พูดเท็จ) ๒. ปิสุณาวาจา (พูดส่อเสียด)
๓. ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) ๔. สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ)

ภิกษุทั้งหลาย วจีทุจริต ๔ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย วจีสุจริต ๔ ประการนี้
วจีสุจริต ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัจจวาจา (พูดจริง) ๒. อปิสุณาวาจา (พูดไม่ส่อเสียด)
๓. สัณหวาจา (พูดอ่อนหวาน) ๔. มันตภาสา๑ (พูดด้วยปัญญา)

ภิกษุทั้งหลาย วจีสุจริต ๔ ประการนี้แล

ทุจจริตสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยทิฏฐิ

[๒๒๒] ภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ประกอบด้วย
ธรรม ๔ ประการย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้
ติเตียนและประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๓.ทุจจริตวรรค ๓.อกตัญญุตาสูตร

๑. กายทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยกาย)
๒. วจีทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยวาจา)
๓. มโนทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยใจ)
๔. มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด)

ภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการนี้แลย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน
และประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย ไม่ถูก
ผู้รู้ติเตียนและประสพบุญเป็นอันมาก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กายสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยกาย)
๒. วจีสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยวาจา)
๓. มโนสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยใจ)
๔. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการนี้แลย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย ไม่
ถูกผู้รู้ติเตียนและประสพบุญเป็นอันมาก

ทิฏฐิสูตรที่ ๒ จบ

๓. อกตัญญุตาสูตร
ว่าด้วยความเป็นผู้ไม่รู้คุณและความเป็นผู้รู้คุณ

[๒๒๓] ภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ประกอบด้วย
ธรรม ๔ ประการย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้
ติเตียนและประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๓.ทุจจริตวรรค ๕. ปฐมมัคคสูตร

๑. กายทุจริต ๒. วจีทุจริต
๓. มโนทุจริต ๔. อกตัญญุตา อกตเวทิตา๑
ฯลฯ๒

๑. กายสุจริต ๒. วจีสุจริต
๓. มโนสุจริต ๔. กตัญญุตา กตเวทิตา
ฯลฯ๒

อกตัญญุตาสูตรที่ ๓ จบ

๔. ปาณาติปาตีสูตร
ว่าด้วยผู้ฆ่าสัตว์และผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์

[๒๒๔] ฯลฯ๒
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๒. เป็นผู้ลักทรัพย์
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ๔. เป็นผู้พูดเท็จ
ฯลฯ๒

๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๓. เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
ฯลฯ๒

ปาณาติปาตีสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมมัคคสูตร
ว่าด้วยมรรค สูตรที่ ๑

[๒๒๕] ฯลฯ๒
๑. มีมิจฉาทิฏฐิ ๒. มีมิจฉาสังกัปปะ
๓. มีมิจฉาวาจา ๔. มีมิจฉากัมมันตะ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๓.ทุจจริตวรรค ๗.ปฐมโวหารปถสูตร

ฯลฯ๑
๑. มีสัมมาทิฏฐิ ๒. มีสัมมาสังกัปปะ
๓. มีสัมมาวาจา ๔. มีสัมมากัมมันตะ
ฯลฯ๑

ปฐมมัคคสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยมัคคสูตร
ว่าด้วยมรรค สูตรที่ ๒

[๒๒๖] ฯลฯ๑
๑. มีมิจฉาอาชีวะ ๒. มีมิจฉาวายามะ
๓. มีมิจฉาสติ ๔. มีมิจฉาสมาธิ
ฯลฯ๑

๑. มีสัมมาอาชีวะ ๒. มีสัมมาวายามะ
๓. มีสัมมาสติ ๔. มีสัมมาสมาธิ
ฯลฯ๑

ทุติยมัคคสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปฐมโวหารปถสูตร๒
ว่าด้วยครรลองแห่งโวหาร สูตรที่ ๑

[๒๒๗] ฯลฯ๑
๑. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าได้เห็น
๒. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ฟังว่าได้ฟัง
๓. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าได้ทราบ
๔. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าได้รู้
ฯลฯ๑


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๓.ทุจจริตวรรค ๘. ทุติยโวหารปถสูตร

๑. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าไม่ได้เห็น
๒. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ฟังว่าไม่ได้ฟัง
๓. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าไม่ได้ทราบ
๔. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าไม่ได้รู้
ฯลฯ๑

ปฐมโวหารปถสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุติยโวหารปถสูตร๒
ว่าด้วยครรลองแห่งโวหาร สูตรที่ ๒

[๒๒๘] ฯลฯ๑
๑. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้เห็นว่าไม่ได้เห็น
๒. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ฟังว่าไม่ได้ฟัง
๓. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ทราบว่าไม่ได้ทราบ
๔. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้รู้ว่าไม่ได้รู้
ฯลฯ๑

๑. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้เห็นว่าได้เห็น
๒. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ฟังว่าได้ฟัง
๓. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้ทราบว่าได้ทราบ
๔. เป็นผู้กล่าวสิ่งที่ได้รู้ว่าได้รู้
ฯลฯ๑

ทุติยโวหารปถสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๓.ทุจจริตวรรค ๑๐.ทุปปัญญสูตร

๙. อหิริกสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่มีหิริและผู้มีหิริ

[๒๒๙] ฯลฯ๑
๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ทุศีล
๓. เป็นผู้ไม่มีหิริ ๔. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ
ฯลฯ๑

๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีศีล
๓. เป็นผู้มีหิริ ๔. เป็นผู้มีโอตตัปปะ
ฯลฯ๑

อหิริกสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุปปัญญสูตร
ว่าด้วยผู้มีปัญญาทรามและผู้มีปัญญา

[๒๓๐] ฯลฯ๑
๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ทุศีล
๓. เป็นผู้เกียจคร้าน ๔. เป็นผู้มีปัญญาทราม
ฯลฯ๑

๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีศีล
๓. เป็นผู้ปรารภความเพียร ๔. เป็นผู้มีปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการนี้แลย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย ไม่ถูก
ผู้รู้ติเตียนและประสพบุญเป็นอันมาก

ทุปปัญญสูตรที่ ๑๐ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๓.ทุจจริตวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๑. กวิสูตร
ว่าด้วยกวี

[๒๓๑] ภิกษุทั้งหลาย กวี ๔ จำพวกนี้
กวี ๔ จำพวก ไหนบ้าง คือ

๑. จินตากวี๑ ๒. สุตกวี๒
๓. อัตถกวี๓ ๔. ปฏิภาณกวี๔

ภิกษุทั้งหลาย กวี ๔ จำพวกนี้แล

กวิสูตรที่ ๑๑ จบ
ทุจจริตวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ทุจจริตสูตร ๒. ทิฏฐิสูตร
๓. อกตัญญุตาสูตร ๔. ปาณาติปาตีสูตร
๕. ปฐมมัคคสูตร ๖. ทุติยมัคคสูตร
๗. ปฐมโวหารปถสูตร ๘. ทุติยโวหารปถสูตร
๙. อหิริกสูตร ๑๐. ทุปปัญญสูตร
๑๑. กวิสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๔.กัมมวรรค ๑.สังขิตตสูตร

๔. กัมมวรรค
หมวดว่าด้วยกรรม
๑. สังขิตตสูตร
ว่าด้วยกรรมและวิบากแห่งกรรมโดยย่อ

[๒๓๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำ
ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
กรรม ๔ ประการ๑ อะไรบ้าง คือ

๑. กรรมดำ๒มีวิบากดำ๓
๒. กรรมขาวมีวิบากขาว๔
๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว
๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว๕ เป็นไปเพื่อ
ความสิ้นกรรม

ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม

สังขิตตสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์] ๔.กัมมวรรค ๒.วิตถารสูตร

๒. วิตถารสูตร
ว่าด้วยกรรมและวิบากแห่งกรรมโดยพิสดาร

[๒๓๓] ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กรรมดำมีวิบากดำ
๒. กรรมขาวมีวิบากขาว
๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว
๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อ
ความสิ้นกรรม

กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่ง๑กายสังขาร๒ที่มีความเบียดเบียน๓ ปรุงแต่ง
วจีสังขาร๔ที่มีความเบียดเบียน และปรุงแต่งมโนสังขาร๕ที่มีความเบียดเบียน เขา
ครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่มีความเบียดเบียน
ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่มีความ
เบียดเบียนกระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียนเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว
เหมือนพวกสัตว์นรก นี้เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์] ๔.กัมมวรรค ๒.วิตถารสูตร

กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่ง
วจีสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียนและปรุงแต่งมโนสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน เขา
ครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่ไม่มีความเบียดเบียน
ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่ไม่มีความ
เบียดเบียนกระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว
เหมือนพวกเทวดา๑ชั้นสุภกิณหะ นี้เรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว
กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มี
ความเบียดเบียนบ้าง ปรุงแต่งวจีสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความ
เบียดเบียนบ้าง และปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียน
บ้าง เขาครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความ
เบียดเบียนบ้าง ผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูก
ต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง เขา
ถูกผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างกระทบเข้าย่อมเสวย
เวทนาที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง มีสุขและทุกข์ระคนกัน
เหมือนมนุษย์ เทวดาบางพวก๒ และวินิปาติกะ๓บางพวก นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำ
และขาวมีวิบากทั้งดำและขาว
กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ
สิ้นกรรม เป็นอย่างไร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๔.กัมมวรรค ๓.โสณกายนสูตร

คือ บรรดากรรมเหล่านั้น เจตนา๑เพื่อละกรรมดำที่มีวิบากดำ เจตนาเพื่อ
ละกรรมขาวที่มีวิบากขาว และเจตนาเพื่อละกรรมทั้งดำและขาวที่มีวิบากทั้งดำ
และขาว นี้เรียกว่า กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไป
เพื่อความสิ้นกรรม
ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม

วิตถารสูตรที่ ๒ จบ

๓. โสณกายนสูตร
ว่าด้วยมาณพชื่อโสณกายนะ

[๒๓๔] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อสิขาโมคคัลลานะ๒เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ หลายวันมาแล้ว โสณกายนมาณพ๓ไปหาข้าพเจ้า
ถึงที่อยู่ได้กล่าวว่า ‘พระสมณโคดมทรงบัญญัติกรรมทั้งปวงว่าเป็นอกิริยะ๔ ก็เมื่อ
บัญญัติกรรมทั้งปวงว่าเป็นอกิริยะ ชื่อว่ากล่าวความขาดสูญแห่งโลก ข้าแต่พระ
โคดมผู้เจริญ โลกนี้มีกรรมเป็นสภาพ ดำรงอยู่ได้ด้วยการก่อกรรมมิใช่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เราไม่รู้สึกว่าได้เห็นโสณกายนมาณพเลย
ที่ไหนจะได้กล่าวปราศรัยอย่างนี้เล่า กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญา
อันยิ่งเองแล้วจึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๔.กัมมวรรค ๓.โสณกายนสูตร

กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กรรมดำมีวิบากดำ
๒. กรรมขาวมีวิบากขาว
๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว
๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อ
ความสิ้นกรรม

กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่ง
วจีสังขารที่มีความเบียดเบียน และปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียน เขาครั้น
ปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่มีความเบียดเบียนย่อมถูก
ต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่มีความเบียดเบียน
กระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียน เป็นทุกข์โดยส่วนเดียวเหมือนพวก
สัตว์นรก นี้เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ
กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่ง
วจีสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน และปรุงแต่งมโนสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน
เขาครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่ไม่มีความเบียดเบียน
ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่ไม่มีความ
เบียดเบียนกระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว
เหมือนพวกเทวดาชั้นสุภกิณหะ นี้เรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว
กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มี
ความเบียดเบียนบ้าง ปรุงแต่งวจีสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความ
เบียดเบียนบ้าง และปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียน
บ้าง เขาครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียน
บ้าง ผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างย่อมถูกต้องบุคคลผู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๔.กัมมวรรค ๔. ปฐมสิกขาปทสูตร

เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง เขาถูกผัสสะที่มี
ความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างกระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่มี
ความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง มีสุขและทุกข์ระคนกันเหมือนมนุษย์
เทวดาบางพวกและวินิปาติกะบางพวก นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำ
และขาว
กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ
สิ้นกรรม เป็นอย่างไร
คือ บรรดาเจตนาเหล่านั้น เจตนาเพื่อละกรรมดำที่มีวิบากดำ เจตนาเพื่อละ
กรรมขาวที่มีวิบากขาว และเจตนาเพื่อละกรรมทั้งดำและขาวที่มีวิบากทั้งดำและขาว
นี้เรียกว่า กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ
สิ้นกรรม
พราหมณ์ กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึง
ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม”

โสณกายนสูตรที่ ๓ จบ

๔. ปฐมสิกขาปทสูตร
ว่าด้วยสิกขาบท สูตรที่ ๑

[๒๓๕] ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กรรมดำมีวิบากดำ
๒. กรรมขาวมีวิบากขาว
๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว
๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อ
ความสิ้นกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๔.กัมมวรรค ๕.ทุติยสิกขาปทสูตร

กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ เป็นผู้ลักทรัพย์ เป็นผู้ประพฤติผิด
ในกาม เป็นผู้พูดเท็จ เป็นผู้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความ
ประมาท นี้เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ
กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจากการ
ลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
เป็นผู้เว้นขาดจากเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้
เรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว
กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มี
ความเบียดเบียนบ้าง ฯลฯ๑ นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว
กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ
สิ้นกรรม เป็นอย่างไร
คือ บรรดาเจตนาเหล่านั้น เจตนาเพื่อละกรรมดำ ที่มีวิบากดำ ฯลฯ๑ นี้เรียกว่า
กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม
ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
แล้วจึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม

ปฐมสิกขาปทสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยสิกขาปทสูตร
ว่าด้วยสิกขาบท สูตรที่ ๒

[๒๓๖] ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันรู้ยิ่ง
เองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๔.กัมมวรรค ๕.ทุติยสิกขาปทสูตร

กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กรรมดำมีวิบากดำ
๒. กรรมขาวมีวิบากขาว
๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว
๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อ
ความสิ้นกรรม

กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่ามารดา เป็นผู้ฆ่าบิดา เป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์
มีจิตประทุษร้ายต่อพระตถาคตยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน นี้เรียก
ว่า กรรมดำมีวิบากดำ
กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจาก
การลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูด
เท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เป็นผู้
เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตไม่พยาบาท มีความ
เห็นชอบ นี้เรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว
กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มี
ความเบียดเบียนบ้าง ฯลฯ๑ นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว
กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ
สิ้นกรรม เป็นอย่างไร
คือ บรรดากรรมเหล่านั้น เจตนาเพื่อละกรรมดำที่มีวิบากดำ ฯลฯ๑ นี้เรียกว่า
กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม
ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม

ทุติยสิกขาปทสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๔.กัมมวรรค ๖.อริยมัคคสูตร

๖. อริยมัคคสูตร
ว่าด้วยอริยมรรค

[๒๓๗] ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
แล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กรรมดำมีวิบากดำ
๒. กรรมขาวมีวิบากขาว
๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว
๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อ
ความสิ้นกรรม

กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียน ฯลฯ๑ นี้
เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ
กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ฯลฯ๑
นี้เรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว
กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มี
ความเบียดเบียนบ้าง ฯลฯ๑ นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว
กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ
สิ้นกรรม เป็นอย่างไร
คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มี
วิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม
ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม

อริยมัคคสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๔.กัมมวรรค ๗. โพชฌังคสูตร

๗. โพชฌังคสูตร
ว่าด้วยโพชฌงค์

[๒๓๘] ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
แล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กรรมดำมีวิบากดำ
๒. กรรมขาวมีวิบากขาว
๓. กรรมทั้งดำและขาว มีวิบากทั้งดำและขาว
๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อ
ความสิ้นกรรม

กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียน ฯลฯ๑ นี้
เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ
กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ฯลฯ๑
นี้เรียกว่ากรรมขาวมีวิบากขาว
กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มี
ความเบียดเบียนบ้าง ฯลฯ๑ นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว
กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ
สิ้นกรรม เป็นอย่างไร
คือ สติสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความระลึกได้) ธัมมวิจย-
สัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเฟ้นธรรม) วิริยสัมโพชฌงค์ (ธรรม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์] ๔.กัมมวรรค ๘.สาวัชชสูตร

เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเพียร) ปีติสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
คือความอิ่มใจ) ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความสงบกาย
ระงับใจ) สมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความตั้งจิตมั่น) อุเปกขา-
สัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความวางใจเป็นกลาง) นี้เรียกว่า กรรม
ทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม
ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม

โพชฌังคสูตรที่ ๗ จบ

๘. สาวัชชสูตร
ว่าด้วยกรรมและทิฏฐิที่มีโทษ

[๒๓๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กายกรรมที่มีโทษ ๒. วจีกรรมที่มีโทษ
๓. มโนกรรมที่มีโทษ ๔. ทิฏฐิที่มีโทษ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กายกรรมที่ไม่มีโทษ ๒. วจีกรรมที่ไม่มีโทษ
๓. มโนกรรมที่ไม่มีโทษ ๔. ทิฏฐิที่ไม่มีโทษ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

สาวัชชสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๔.กัมมวรรค ๙. อัพยาปัชฌสูตร

๙. อัพยาปัชฌสูตร
ว่าด้วยกรรมและทิฏฐิที่ไม่มีความเบียดเบียน

[๒๔๐] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กายกรรมที่มีความเบียดเบียน
๒. วจีกรรมที่มีความเบียดเบียน
๓. มโนกรรมที่มีความเบียดเบียน
๔. ทิฏฐิที่มีความเบียดเบียน

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กายกรรมที่ไม่มีความเบียดเบียน
๒. วจีกรรมที่ไม่มีความเบียดเบียน
๓. มโนกรรมที่ไม่มีความเบียดเบียน
๔. ทิฏฐิที่ไม่มีความเบียดเบียน

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่
ในสวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

อัพยาปัชฌสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๔.กัมมวรรค ๑๐.สมณสูตร

๑๐. สมณสูตร
ว่าด้วยสมณะ

[๒๔๑] ภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ มี
ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่น๑ว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาท๒
โดยชอบเถิด
สมณะที่ ๑ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไปจึงเป็นพระโสดาบัน
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๓ในวันข้างหน้า นี้เป็นสมณะที่ ๑
สมณะที่ ๒ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไปและเพราะราคะ โทสะ
โมหะเบาบาง จึงเป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้ครั้งเดียวเท่านั้นก็จะทำที่สุดแห่ง
ทุกข์ได้ นี้เป็นสมณะที่ ๒
สมณะที่ ๓ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป จึงเป็น
โอปปาติกะ๔ ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอย่างแน่นอน นี้เป็น
สมณะที่ ๓


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๔.กัมมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

สมณะที่ ๔ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นสมณะที่ ๔
ภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓และสมณะที่ ๔ มีใน
ธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาทโดยชอบเถิด

สมณสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. สัปปุริสานิสังสสูตร
ว่าด้วยอานิสงส์ที่พึงได้จากสัตบุรุษ

[๒๔๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยสัตบุรุษแล้วพึงหวังได้๑อานิสงส์ ๔ ประการ
อานิสงส์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เจริญด้วยอริยศีล ๒. เจริญด้วยอริยสมาธิ
๓. เจริญด้วยอริยปัญญา ๔. เจริญด้วยอริยวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยสัตบุรุษแล้วพึงหวังได้อานิสงส์ ๔ ประการนี้

สัปปุริสานิสังสสูตรที่ ๑๑ จบ
กัมมวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สังขิตตสูตร ๒. วิตถารสูตร
๓. โสณกายนสูตร ๔. ปฐมสิกขาปทสูตร
๕. ทุติยสิกขาปทสูตร ๖. อริยมัคคสูตร
๗. โพชฌังคสูตร ๘. สาวัชชสูตร
๙. อัพยาปัชฌสูตร ๑๐. สมณสูตร
๑๑. สัปปุริสานิสังสสูตร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๕.อาปัตติภยวรรค ๑.สังฆเภทกสูตร

๕. อาปัตติภยวรรค
หมวดว่าด้วยอาปัตติภัย
๑. สังฆเภทกสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ทำลายสงฆ์

[๒๔๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
อธิกรณ์๑ระงับแล้วหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อธิกรณ์นั้นจะระงับแต่ที่
ไหน สัทธิวิหาริกชื่อว่าพาหิยะของท่านพระอนุรุทธะมุ่งจะทำลายสงฆ์ฝ่ายเดียว เมื่อ
พระพาหิยะยังยืนยันอยู่อย่างนั้น ท่านพระอนุรุทธะก็ยังไม่พูดอะไรสักคำเดียว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เมื่อไร อนุรุทธะจะจัดการชำระอธิกรณ์ใน
ท่ามกลางสงฆ์ อธิกรณ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้น เธอทั้งหลายกับสารีบุตรและโมคคัลลานะ
จะต้องชำระอธิกรณ์ทั้งหมดนั้นให้ระงับไปมิใช่หรือ
อานนท์ ภิกษุผู้เลวทรามเมื่อเล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๔ ประการนี้ จึงยินดี
การทำลายสงฆ์
อำนาจประโยชน์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุผู้เลวทรามในธรรมวินัยนี้เป็นคนทุศีล๒ มีธรรมเลวทราม ไม่
สะอาด๓ มีความประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๕.อาปัตติภยวรรค ๑.สังฆเภทกสูตร

สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารีแต่ปฏิญญาว่า
เป็นพรหมจารี๑ เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ๒
เธอคิดกังวลอย่างนี้ว่า ‘ถ้าพวกภิกษุจักรู้ว่า เราเป็นคนทุศีล มี
ธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการ
งานปกปิด ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี
แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือน
หยากเยื่อ จักพร้อมใจกันทำลายเราเสีย๓ แต่ถ้าแตกแยกกัน
จักทำลายเราไม่ได้’ ภิกษุผู้เลวทรามเมื่อเล็งเห็นอำนาจประโยชน์
ที่ ๑ นี้จึงยินดีการทำลายสงฆ์
๒. ภิกษุผู้เลวทรามเป็นมิจฉาทิฏฐิ ประกอบด้วยอันตัคคาหิกทิฏฐิ๔
เธอคิดกังวลอย่างนี้ว่า ‘ถ้าพวกภิกษุจักรู้ว่า เราเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ประกอบด้วยอันตัคคาหิกทิฏฐิ จักพร้อมใจกันทำลายเราเสีย
แต่ถ้าแตกแยกกัน จักทำลายเราไม่ได้’ ภิกษุผู้เลวทราม เมื่อ
เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ที่ ๒ นี้ จึงยินดีการทำลายสงฆ์
๓. ภิกษุผู้เลวทรามเป็นผู้มีมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เธอ
คิดกังวลอย่างนี้ว่า ‘ถ้าพวกภิกษุจักรู้ว่า เราเป็นผู้มีมิจฉาอาชีวะ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัฐจมปัณณาสก์]
๕.อาปัตติภยวรรค ๒. อาปัตติภยสูตร

เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ จักพร้อมใจกันทำลายเราเสีย แต่ถ้า
แตกแยกกันจักทำลายเราไม่ได้’ ภิกษุผู้เลวทรามเมื่อเล็งเห็นอำนาจ
ประโยชน์ที่ ๓ นี้ จึงยินดีการทำลายสงฆ์
๔. ภิกษุผู้เลวทรามปรารถนาลาภสักการะและชื่อเสียง เธอคิดกังวล
อย่างนี้ว่า ‘ถ้าพวกภิกษุจักรู้ว่า เราปรารถนาลาภสักการะและ
ชื่อเสียง จักพร้อมใจกันไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา
เรา แต่ถ้าแตกแยกกันจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา’
ภิกษุผู้เลวทราม เมื่อเล็งเห็นอำนาจประโยชน์ที่ ๔ นี้ จึงยินดีการ
ทำลายสงฆ์
อานนท์ ภิกษุผู้เลวทราม เมื่อเล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๔ ประการนี้แล
จึงยินดีการทำลายสงฆ์”

สังฆเภทกสูตรที่ ๑ จบ

๒. อาปัตติภยสูตร
ว่าด้วยอาปัตติภัย

[๒๔๔] ภิกษุทั้งหลาย อาปัตติภัย (ภัยที่เกิดจากการต้องอาบัติ) ๔ ประการนี้
อาปัตติภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูปเข้าไปตั้งสัญญาในอาบัติปาราชิกทั้งหลายว่า
เป็นภัยอย่างแรงกล้า การเข้าไปตั้งสัญญาของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น
พึงหวังได้ว่า ‘ผู้ยังไม่ต้องอาบัติปาราชิกก็จักไม่ต้อง หรือผู้ต้องแล้ว
จักทำคืนตามสมควรแก่ธรรม๑’ เปรียบเหมือนพวกราชบุรุษจับ
โจรผู้ประพฤติชั่วได้แล้วแสดงแก่พระราชาด้วยกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ
ชายผู้นี้เป็นโจรผู้ประพฤติชั่วต่อพระองค์ ขอพระองค์จงลงพระ
ราชอาญาแก่เขา’ พระราชาจึงรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลายจงไป
จงใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนี้เอาแขนไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้วโกนผม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๕.อาปัตติภยวรรค ๒.อาปัตติภยสูตร

นำตระเวนไปตามถนนและตรอกพร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์เสียงดัง
น่ากลัว นำออกทางประตูด้านทิศใต้แล้วตัดศีรษะทางด้านทิศใต้
แห่งพระนคร’ พวกราชบุรุษใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนั้นเอาแขนไพล่
หลังอย่างแน่นหนาแล้วโกนผม นำตระเวนไปตามถนนและตรอก
พร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์เสียงดังน่ากลัว นำออกทางประตูด้าน
ทิศใต้แล้วตัดศีรษะทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร ในที่นั้นมีชายคน
หนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควร กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ชายผู้นี้
ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน จนต้องถูกตัดศีรษะ พวกราชบุรุษจึงจับ
ใช้เชือกเหนียวมัดแขนไพล่หลังอย่างแน่นหนา โกนผม นำตระเวน
ไปตามถนนและตรอกพร้อมกับ แกว่งบัณเฑาะว์เสียงดังน่ากลัว
นำออกทางประตูด้านทิศใต้แล้วตัดศีรษะทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร
เขาไม่ควรทำกรรมชั่วร้ายเช่นนี้จนต้องถูกตัดศีรษะเลย’
๒. ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูปเข้าไปตั้งสัญญาในอาบัติสังฆาทิเสสทั้งหลาย
ว่าเป็นภัยอย่างแรงกล้า การเข้าไปตั้งสัญญาของภิกษุหรือภิกษุณี
นั้นพึงหวังได้ว่า ‘ผู้ยังไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสก็จักไม่ต้อง หรือผู้
ต้องแล้วจักทำคืนตามสมควรแก่ธรรม๑’ เปรียบเหมือนชายนุ่งผ้าดำ
สยายผม ห้อยสากไว้ที่คอ เข้าไปในกลุ่มชนแล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควร
แก่การห้อยสาก ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้า
จะทำสิ่งนั้น’ ในที่นั้น มีชายคนหนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควร กล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชายผู้นี้ได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน
ควรแก่การห้อยสาก เขานุ่งผ้าดำ สยายผม ห้อยสากไว้ที่คอ
เข้าไปในกลุ่มชนแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้า


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๕.อาปัตติภยวรรค ๒.อาปัตติภยสูตร

ได้กระทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสาก ท่านทั้งหลาย
พอใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำสิ่งนั้น เขาไม่ควรทำกรรมชั่ว
น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสากเช่นนั้นเลย’
๓. ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูปเข้าไปตั้งสัญญาในอาบัติปาจิตตีย์ทั้งหลายว่า
เป็นภัยอย่างแรงกล้า การเข้าไปตั้งสัญญาของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น
พึงหวังได้ว่า ‘ผู้ยังไม่ต้องอาบัติปาจิตตีย์ก็จักไม่ต้อง หรือผู้ต้อง
แล้วจักทำคืนตามสมควรแก่ธรรม๑’ เปรียบเหมือนชายผู้นุ่งผ้าดำ
สยายผม ห้อยห่อขี้ม้าไว้ที่คอ เข้าไปในกลุ่มชนแล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควรแก่การ
ห้อยห่อขี้ม้า ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำ
สิ่งนั้น’ ในที่นั้น มีชายคนหนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควร กล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชายผู้นี้ได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควรแก่
การห้อยห่อขี้ม้า เขานุ่งผ้าดำ สยายผม ห้อยห่อขี้ม้าไว้ที่คอ เข้า
ไปในกลุ่มชนแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้า
ได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควรแก่การห้อยห่อขี้ม้า ท่านทั้งหลาย
พอใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำสิ่งนั้น เขาไม่ควรทำกรรม
ชั่ว ควรแก่การห้อยห่อขี้ม้าเช่นนั้นเลย’
๔. ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูปเข้าไปตั้งสัญญาในอาบัติปาฏิเทสนียะ
ทั้งหลายว่าเป็นภัยอย่างแรงกล้า การเข้าไปตั้งสัญญาของภิกษุ
หรือภิกษุณีนั้นพึงหวังได้ว่า ‘ผู้ยังไม่ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะก็จัก
ไม่ต้อง หรือ ผู้ต้องแล้วจักทำคืนตามสมควรแก่ธรรม๑’ เปรียบ
เหมือนชายผู้นุ่ง ผ้าดำ สยายผม เข้าไปในกลุ่มชนแล้วพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน
ควรตำหนิ ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๕.อาปัตติภยวรรค ๓.สิกขานิสังสสูตร

สิ่งนั้น’ ในที่นั้น มีชายคนหนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควรกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญ ชายผู้นี้ได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน เขานุ่งผ้าดำ
สยายผม เข้าไปในกลุ่มชนแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้ง
หลาย ข้าพเจ้า ได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควรตำหนิ ท่านทั้ง
หลายพอใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำสิ่งนั้น เขาไม่ควร
ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควรตำหนิเช่นนั้นเลย’
ภิกษุทั้งหลาย อาปัตติภัย ๔ ประการนี้แล

อาปัตติภยสูตรที่ ๒ จบ

๓. สิกขานิสังสสูตร
ว่าด้วยพรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์

[๒๔๕] ภิกษุทั้งหลาย เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้มีสิกขาเป็นอานิสงส์ มี
ปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย
พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์ เป็นอย่างไร
คือ อภิสมาจาริกสิกขา๑ เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้เพื่อ
ความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสแล้ว
อภิสมาจาริกสิกขาเราบัญญัติแล้วแก่สาวกเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสแล้วด้วยโดยวิธีใดๆ สาวกนั้นไม่ทำสิกขานั้น
ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
โดยวิธีนั้น ๆ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๕.อาปัตติภยวรรค ๓.สิกขานิสังสสูตร

อีกอย่างหนึ่ง อาทิพรหมจริยกสิกขา๑เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความ
สิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบทุกประการ อาทิพรหมจริยกสิกขาเราบัญญัติแล้วแก่สาวก
ทั้งหลายเพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบทุกประการโดยวิธีใดๆ สาวกนั้นไม่ทำ
สิกขานั้นให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ทั้งหลายโดยวิธีนั้น ๆ พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์ เป็นอย่างนี้แล
พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอด เป็นอย่างไร
คือ ธรรมทั้งหลาย๒เราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้เพื่อความสิ้น
ไปแห่งทุกข์โดยชอบทุกประการ ธรรมทั้งหลายเราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลายเพื่อ
ความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบทุกประการโดยวิธีใด ๆ ธรรมทั้งหลายนั้นสาวกพิจารณา
ด้วยปัญญาโดยวิธีนั้น ๆ พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอด เป็นอย่างนี้แล
พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่น เป็นอย่างไร
คือ ธรรมทั้งหลายเราแสดงแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้เพื่อความสิ้นไปแห่ง
ทุกข์โดยชอบทุกประการ ธรรมทั้งหลายเราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความ
สิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบทุกประการโดยวิธีใด ๆ ธรรมทั้งหลายนั้นเป็นธรรมอันวิมุตติ
ถูกต้องแล้วโดยวิธีนั้น ๆ พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่น เป็นอย่างนี้แล
พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตย เป็นอย่างไร
คือ สติภิกษุตั้งไว้ดีภายในว่า ‘เราจักบำเพ็ญอภิสมาจาริกสิกขาที่ยังไม่บริบูรณ์
ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์อภิสมาจาริกสิกขาที่บริบูรณ์แล้วด้วยปัญญาในฐานะ
นั้น ๆ’ บ้าง สติที่ภิกษุตั้งไว้ดีภายในว่า ‘เราจักบำเพ็ญอาทิพรหมจริยกสิกขาที่ยัง
ไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์อาทิพรหมจริยกสิกขาที่บริบูรณ์แล้วด้วย
ปัญญาในฐานะนั้น ๆ’ บ้าง สติที่ภิกษุตั้งไว้ดีภายในว่า ‘เราจักพิจารณาธรรมที่เรา


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๕.อาปัตติภยวรรค ๔. เสยยาสูตร

ไม่ได้พิจารณาด้วยปัญญา หรือจักอนุเคราะห์ธรรมที่เราพิจารณาแล้วด้วยปัญญาใน
ฐานะนั้น ๆ’ บ้าง สติที่ภิกษุตั้งไว้ดีภายในว่า ‘เราจักถูกต้องธรรมที่เราไม่ได้ถูกต้อง
ด้วยวิมุตติ หรือจักอนุเคราะห์ธรรมที่เราถูกต้องแล้วด้วยปัญญาในฐานะนั้น ๆ’ บ้าง
พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตย เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เรากล่าวว่า ‘เราประพฤติพรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์
มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้

สิกขานิสังสสูตรที่ ๓ จบ

๔. เสยยาสูตร
ว่าด้วยการนอน

[๒๔๖] ภิกษุทั้งหลาย การนอน ๔ ประการนี้
การนอน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. นอนอย่างคนตาย๑ ๒. นอนอย่างคนบริโภคกาม
๓. นอนอย่างราชสีห์ ๔. นอนอย่างตถาคต

นอนอย่างคนตาย เป็นอย่างไร
คือ ส่วนมากคนตายนอนหงาย นี้เรียกว่า นอนอย่างคนตาย
นอนอย่างคนบริโภคกาม เป็นอย่างไร
คือ ส่วนมากคนบริโภคกามย่อมนอนตะแคงซ้าย นี้เรียกว่า นอนอย่างคน
บริโภคกาม
นอนอย่างราชสีห์ เป็นอย่างไร
คือ พญาราชสีห์ย่อมสำเร็จการนอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า สอดหาง
เข้าในระหว่างโคนขา มันตื่นขึ้นยืดกายส่วนหน้าแล้วเหลียวดูกายส่วนหลัง ถ้ามัน
เห็นกายผิดแปลกหรือไม่ปกติอย่างไรไป มันย่อมเสียใจด้วยเหตุนั้น แต่ถ้าไม่เห็น
อะไรผิดปกติ มันย่อมดีใจ นี้เรียกว่า นอนอย่างราชสีห์


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๕.อาปัตติภยวรรค ๖.ปัญญาวุฑฒิสูตร

นอนอย่างตถาคต เป็นอย่างไร
คือ ตถาคตในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ๑ บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มี
สุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่า นอนอย่างตถาคต
ภิกษุทั้งหลาย การนอน ๔ ประการนี้แล

เสยยาสูตรที่ ๔ จบ

๕. ถูปารหสูตร
ว่าด้วยถูปารหบุคคล

[๒๔๗] ภิกษุทั้งหลาย ถูปารหบุคคล๒ ๔ จำพวกนี้
ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ

๑. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคล
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคล
๓. สาวกของพระตถาคต เป็นถูปารหบุคคล
๔. พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นถูปารหบุคคล

ภิกษุทั้งหลาย ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกนี้แล

ถูปารหสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปัญญาวุฑฒิสูตร
ว่าด้วยความเจริญด้วยปัญญา

[๒๔๘] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญด้วยปัญญา
ธรรม ๔ ประการ๓ อะไรบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๕.อาปัตติภยวรรค ๘. ปฐมโวหารสูตร

๑. สัปปุริสสังเสวะ (การคบหาสัตบุรุษ)
๒. สัทธัมมัสสวนะ (การฟังสัทธรรม)
๓. โยนิโสมนสิการ (การมนสิการโดยแยบคาย)
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม)

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญด้วยปัญญา

ปัญญาวุฑฒิสูตรที่ ๖ จบ

๗. พหุการสูตร
ว่าด้วยธรรมมีอุปการะมาก

[๒๔๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการย่อมมีอุปการะมากแก่มนุษย์
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัปปุริสสังเสวะ ๒. สัทธัมมัสสวนะ
๓. โยนิโสมนสิการ ๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมมีอุปการะมากแก่มนุษย์

พหุการสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปฐมโวหารสูตร๑
ว่าด้วยโวหาร สูตรที่ ๑

[๒๕๐] ภิกษุทั้งหลาย อนริยโวหาร๒ ๔ ประการนี้
อนริยโวหาร ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าได้เห็น
๒. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้ฟังว่าได้ฟัง
๓. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าได้ทราบ
๔. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าได้รู้
ภิกษุทั้งหลาย อนริยโวหาร ๔ ประการนี้แล

ปฐมโวหารสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๕.อาปัตติภยวรรค ๑๐.ตติยโวหารสูตร

๙. ทุติยโวหารสูตร๑
ว่าด้วยโวหาร สูตรที่ ๒

[๒๕๑] ภิกษุทั้งหลาย อริยโวหาร ๔ ประการนี้
อริยโวหาร ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้เห็นว่าไม่ได้เห็น
๒. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้ฟังว่าไม่ได้ฟัง
๓. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้ทราบว่าไม่ได้ทราบ
๔. การกล่าวสิ่งที่ไม่ได้รู้ว่าไม่ได้รู้

ภิกษุทั้งหลาย อริยโวหาร ๔ ประการนี้แล

ทุติยโวหารสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ตติยโวหารสูตร๒
ว่าด้วยโวหาร สูตรที่ ๓

[๒๕๒] ภิกษุทั้งหลาย อนริยโวหาร ๔ ประการนี้
อนริยโวหาร ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. การกล่าวสิ่งที่ได้เห็นว่าไม่ได้เห็น
๒. การกล่าวสิ่งที่ได้ฟังว่าไม่ได้ฟัง
๓. การกล่าวสิ่งที่ได้ทราบว่าไม่ได้ทราบ
๔. การกล่าวสิ่งที่ได้รู้ว่าไม่ได้รู้

ภิกษุทั้งหลาย อนริยโวหาร ๔ ประการนี้แล

ตติยโวหารสูตรที่ ๑๐ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๕.อาปัตติภยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๑. จตุตถโวหารสูตร๑
ว่าด้วยโวหาร สูตรที่ ๔

[๒๕๓] ภิกษุทั้งหลาย อริยโวหาร ๔ ประการนี้
อริยโวหาร ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. การกล่าวสิ่งที่ได้เห็นว่าได้เห็น
๒. การกล่าวสิ่งที่ได้ฟังว่าได้ฟัง
๓. การกล่าวสิ่งที่ได้ทราบว่าได้ทราบ
๔. การกล่าวสิ่งที่ได้รู้ว่าได้รู้

ภิกษุทั้งหลาย อริยโวหาร ๔ ประการนี้แล

จตุตถโวหารที่ ๑๑ จบ
อาปัตติภยวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สังฆเภทกสูตร ๒. อาปัตติภยสูตร
๓. สิกขานิสังสสูตร ๔. เสยยาสูตร
๕. ถูปารหสูตร ๖. ปัญญาวุฑฒิสูตร
๗. พหุการสูตร ๘. ปฐมโวหารสูตร
๙. ทุติยโวหารสูตร ๑๐. ตติยโวหารสูตร
๑๑. จตุตถโวหารสูตร

ปัญจมปัณณาสก์ จบบริบูรณ์


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๖.อภิญญาวรรค ๑.อภิญญาสูตร

๖. อภิญญาวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมที่รู้ยิ่ง
๑. อภิญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่รู้ยิ่ง

[๒๕๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรกำหนดรู้ก็มี
๒. ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรละก็มี
๓. ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรให้เจริญก็มี
๔. ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรทำให้แจ้งก็มี

ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรกำหนดรู้ เป็นอย่างไร
คือ อุปาทานขันธ์ ๕ นี้เรียกว่า ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรกำหนดรู้
ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรละ เป็นอย่างไร
คือ อวิชชาและภวตัณหา นี้เรียกว่า ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรละ
ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรให้เจริญ เป็นอย่างไร
คือ สมถะและวิปัสสนา๑ นี้เรียกว่า ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรให้เจริญ
ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรทำให้แจ้ง เป็นอย่างไร
คือ วิชชาและวิมุตติ นี้เรียกว่า ธรรมที่บุคคลรู้ยิ่งแล้วควรทำให้แจ้ง
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แล

อภิญญาสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๖.อภิญญาวรรค ๒. ปริเยสนาสูตร

๒. ปริเยสนาสูตร
ว่าด้วยการแสวงหา

[๒๕๕] ภิกษุทั้งหลาย อนริยปริเยสนา๑ ๔ ประการนี้
อนริยปริเยสนา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้

๑. ตนเองเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดาย่อมแสวงหาแต่สิ่งที่มีความ
แก่เป็นธรรมดา
๒. ตนเองเป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาย่อมแสวงหาแต่สิ่งที่มีความ
เจ็บไข้เป็นธรรมดา
๓. ตนเองเป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดาย่อมแสวงหาแต่สิ่งที่มีความ
ตายเป็นธรรมดา
๔. ตนเองเป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาย่อมแสวงหาแต่สิ่งที่มี
ความเศร้าหมองเป็นธรรมดา

ภิกษุทั้งหลาย อนริยปริเยสนา ๔ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย อริยปริเยสนา ๔ ประการนี้
อริยปริเยสนา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้

๑. ตนเองเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา รู้โทษในสิ่งที่มีความแก่เป็น
ธรรมดาแล้วย่อมแสวงหานิพพานอันไม่มีความแก่ซึ่งเป็นแดนเกษม
จากโยคะที่ยอดเยี่ยม
๒. ตนเองเป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา รู้โทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้
เป็นธรรมดาแล้วย่อมแสวงหานิพพานอันไม่มีความเจ็บไข้ซึ่งเป็น
แดนเกษมจากโยคะที่ยอดเยี่ยม


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๖.อภิญญาวรรค ๔.มาลุงกยปุตตสูตร

๓. ตนเองเป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา รู้โทษในสิ่งที่มีความตาย
เป็นธรรมดาแล้วย่อมแสวงหานิพพานอันไม่มีความตายซึ่งเป็นแดน
เกษมจากโยคะที่ยอดเยี่ยม
๔. ตนเองเป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา รู้โทษในสิ่งที่มีความ
เศร้าหมองเป็นธรรมดาแล้วย่อมแสวงหานิพพานอันไม่มีความ
เศร้าหมองซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะที่ยอดเยี่ยม

ภิกษุทั้งหลาย อริยปริเยสนา ๔ ประการนี้แล

ปริเยสนาสูตรที่ ๒ จบ

๓. สังคหวัตถุสูตร
ว่าด้วยสังคหวัตถุ

[๒๕๖] ภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ (ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว) ๔ ประการนี้
สังคหวัตถุ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ทาน (การให้)
๒. เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก)
๓. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์)
๔. สมานัตตตา (การวางตนสม่ำเสมอ)

ภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้แล

สังคหวัตถุสูตรที่ ๓ จบ

๔. มาลุงกยปุตตสูตร
ว่าด้วยพระมาลุงกยบุตร

[๒๕๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุงกยบุตรเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดง
ธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้วพึงหลีกออกไปอยู่ผู้เดียว ไม่
ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๖.อภิญญาวรรค ๔.มาลุงกยปุตตสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาลุงกยบุตร บัดนี้เราจะกล่าวกับพวกภิกษุหนุ่ม
อย่างไร ในเมื่อเธอเป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ขอฟังโอวาทของตถาคตโดยย่อ”
พระมาลุงกยบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมโดยย่อ ข้า
พระองค์จะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคได้บ้าง ข้าพระองค์
จะพึงเป็นทายาทแห่งพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคได้บ้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาลุงกยบุตร มีเหตุเกิดแห่งตัณหา ๔ ประการนี้
ที่ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดขึ้นได้
มีเหตุเกิดแห่งตัณหา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะจีวรเป็นเหตุ
๒. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ
๓. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะเสนาสนะเป็นเหตุ
๔. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะปัจจัยที่ดีและดีกว่า๑

มาลุงกยบุตร มีเหตุเกิดแห่งตัณหา ๔ ประการนี้แล ที่ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่
ภิกษุย่อมเกิดขึ้นได้
เมื่อใดแล ภิกษุละตัณหาได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูก
ตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุนี้เรา
เรียกว่า ตัดตัณหาได้แล้ว ถอนสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละ
มานะได้โดยชอบ”
ลำดับนั้นแล ท่านพระมาลุงกยบุตรอันพระผู้มีพระภาคทรงสอนด้วยโอวาท
นี้แล้วลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป
ต่อมา ท่านพระมาลุงกยบุตรหลีกออกไป อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท๒ มีความเพียร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์] ๖.อภิญญาวรรค ๕.กุลสูตร

อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๑อันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำ
กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” จึงเป็นอันว่าท่าน
พระมาลุงกยบุตรได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย

มาลุงกยบุตรสูตรที่ ๔ จบ

๕. กุลสูตร
ว่าด้วยตระกูล

[๒๕๘] ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้ว
ย่อมดำรงอยู่ได้ไม่นานเพราะเหตุ ๔ ประการ หรือเหตุใดเหตุหนึ่งบรรดาเหตุ ๔
ประการนั้น
เหตุ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายไป
๒. ไม่ซ่อมแซมพัสดุที่เก่าคร่ำคร่า
๓. ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
๔. ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีลให้เป็นใหญ่ในเรือน

ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้วย่อม
ดำรงอยู่ได้ไม่นานเพราะเหตุ ๔ ประการนี้ หรือเหตุใดเหตุหนึ่งบรรดาเหตุ ๔
ประการนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้วย่อม
ดำรงอยู่ได้นานเพราะเหตุ ๔ ประการ หรือเหตุใดเหตุหนึ่งบรรดาเหตุ ๔ ประการนั้น
เหตุ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๖.อภิญญาวรรค ๖. ปฐมอาชานียสูตร

๑. แสวงหาพัสดุที่หายไป
๒. ซ่อมแซมพัสดุที่เก่าคร่ำคร่า
๓. รู้จักประมาณในการบริโภค
๔. ตั้งสตรีหรือบุรุษผู้มีศีลให้เป็นใหญ่ในเรือน

ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้วย่อม
ดำรงอยู่ได้นานเพราะเหตุ ๔ ประการนั้น หรือเหตุใดเหตุหนึ่งบรรดาเหตุ ๔ ประการนั้น

กุลสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปฐมอาชานียสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของม้าอาชาไนย สูตรที่ ๑

[๒๕๙] ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔
ประการย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้
องค์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาในโลกนี้

๑. สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ๒. สมบูรณ์ด้วยกำลัง
๓. สมบูรณ์ด้วยเชาว์ (ฝีเท้า) ๔. สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง

ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ
นี้แลย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อม
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ๑ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ๒. สมบูรณ์ด้วยกำลัง
๓. สมบูรณ์ด้วยเชาว์ ๔. สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัฐจมปัณณาสก์]
๖. อภิญญาวรรค ๗. ทุติยอาชานียสูตร

ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีศีล ฯลฯ๑ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปรารภความเพียรอยู่เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศล
ธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้
ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัย-
เภสัชชบริขาร ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก

ปฐมอาชานียสูตรที่ ๖ จบ

๗. ทุติยอาชานียสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของม้าอาชาไนย สูตรที่ ๒

[๒๖๐] ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔
ประการย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้
องค์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาในโลกนี้

๑. สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ๒. สมบูรณ์ด้วยกำลัง
๓. สมบูรณ์ด้วยเชาว์ ๔. สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัฐจมปัณณาสก์]
๖. อภิญญาวรรค ๗. ทุติยอาชานียสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ
นี้แลย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อม
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ๑ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ๒. สมบูรณ์ด้วยกำลัง
๓. สมบูรณ์ด้วยเชาว์ ๔. สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง

ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีศีล ฯลฯ๒ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปรารภความเพียรอยู่เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศล
ธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัย
เภสัชชบริขาร ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ๒ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก

ทุติยอาชานียสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๗.กัมมปถวรรค ๙.อรัญญสูตร

๘. พลสูตร
ว่าด้วยพละ

[๒๖๑] ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้
พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. วิริยพละ ๒. สติพละ
๓. สมาธิพละ ๔. ปัญญาพละ

ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล

พลสูตรที่ ๘ จบ

๙. อรัญญสูตร
ว่าด้วยธรรมของภิกษุผู้ควรอยู่ป่าและไม่ควรอยู่ป่า

[๒๖๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ไม่ควรอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ๑
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุ

๑. ประกอบด้วยกามวิตก (ความตรึกในทางกาม)
๒. ประกอบด้วยพยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท)
๓. ประกอบด้วยวิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน)
๔. มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นคนเซอะ๒

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ไม่ควรอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๗.กัมมปถวรรค ๑๐. กัมมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ควรอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุ

๑. ประกอบด้วยเนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม)
๒. ประกอบด้วยอพยาบาทวิตก (ความตรึกปลอดจากพยาบาท)
๓. ประกอบด้วยอวิหิงสาวิตก (ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน)
๔. มีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่เป็นคนเซอะ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ควรอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ

อรัญญสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. กัมมสูตร
ว่าด้วยกรรมและทิฏฐิที่มีโทษ

[๒๖๓] ภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ประกอบด้วย
ธรรม ๔ ประการย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้
ติเตียนและประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กายกรรมที่มีโทษ ๒. วจีกรรมที่มีโทษ
๓. มโนกรรมที่มีโทษ ๔. ทิฏฐิที่มีโทษ

ภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการนี้แลย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน
และประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย ไม่ถูก
ผู้รู้ติเตียนและประสพบุญเป็นอันมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๗.กัมมปถวรรค ๑.ปาณาติปาตีสูตร

ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กายกรรมที่ไม่มีโทษ ๒. วจีกรรมที่ไม่มีโทษ
๓. มโนกรรมที่ไม่มีโทษ ๔. ทิฏฐิที่ไม่มีโทษ

ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการนี้แลย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย ไม่
ถูกผู้รู้ติเตียนและย่อมประสพบุญเป็นอันมาก

กัมมสูตรที่ ๑๐ จบ
อภิญญาวรรคที่ ๖ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อภิญญาสูตร ๒. ปริเยสนาสูตร
๓. สังคหวัตถุสูตร ๔. มาลุงกยปุตตสูตร
๕. กุลสูตร ๖. ปฐมอาชานียสูตร
๗. ทุติยอาชานียสูตร ๘. พลสูตร
๙. อรัญญสูตร ๑๐. กัมมสูตร

๗. กัมมปถวรรค
หมวดว่าด้วยกรรมบถ
๑. ปาณาติปาตีสูตร
ว่าด้วยผู้ฆ่าสัตว์และผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์

[๒๖๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๒. ชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์
๓. เป็นผู้พอใจการฆ่าสัตว์ ๔. กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๗.กัมมปถวรรค ๒. อทินนาทายีสูตร

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๓. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๔. กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

ปาณาติปาตีสูตรที่ ๑ จบ

๒. อทินนาทายีสูตร
ว่าด้วยผู้ลักทรัพย์และผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์

[๒๖๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้ลักทรัพย์ ๒. ชักชวนผู้อื่นให้ลักทรัพย์
๓. เป็นผู้พอใจการลักทรัพย์ ๔. กล่าวสรรเสริญการลักทรัพย์

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๗.กัมมปถวรรค ๓.มิจฉาจารีสูตร

ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๒. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการลักทรัพย์
๓. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการลักทรัพย์
๔. กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการลักทรัพย์

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

อทินนาทายีสูตรที่ ๒ จบ

๓. มิจฉาจารีสูตร
ว่าด้วยผู้ประพฤติผิดในกามและผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม

[๒๖๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้ประพฤติผิดในกาม
๒. ชักชวนผู้อื่นให้ประพฤติผิดในกาม
๓. เป็นผู้พอใจการประพฤติผิดในกาม
๔. กล่าวสรรเสริญการประพฤติผิดในกาม

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๒. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๓. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๗.กัมมปถวรรค ๕. ปิสุณวาจาสูตร

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

มิจฉาจารีสูตรที่ ๓ จบ

๔. มุสาวาทีสูตร
ว่าด้วยผู้พูดเท็จและผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ

[๒๖๗] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้พูดเท็จ ๒. ชักชวนผู้อื่นให้พูดเท็จ
๓. เป็นผู้พอใจการพูดเท็จ ๔. กล่าวสรรเสริญการพูดเท็จ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
๒. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเท็จ
๓. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดเท็จ
๔. กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการพูดเท็จ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

มุสาวาทีสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปิสุณวาจาสูตร
ว่าด้วยผู้พูดส่อเสียดและผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด

[๒๖๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๗.กัมมปถวรรค ๖.ผรุสวาจาสูตร

ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้พูดส่อเสียด ๒. ชักชวนผู้อื่นให้พูดส่อเสียด
๓. เป็นผู้พอใจการพูดส่อเสียด ๔. กล่าวสรรเสริญการพูดส่อเสียด

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
๒. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
๓. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดส่อเสียด
๔. กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการพูดส่อเสียด

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

ปิสุณวาจาสูตรที่ ๕ จบ

๖. ผรุสวาจาสูตร
ว่าด้วยผู้พูดคำหยาบและผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ

[๒๖๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้พูดคำหยาบ ๒. ชักชวนผู้อื่นให้พูดคำหยาบ
๓. เป็นผู้พอใจการพูดคำหยาบ ๔. กล่าวสรรเสริญการพูดคำหยาบ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่
ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๗.กัมมปถวรรค ๗. สัมผัปปลาปสูตร

ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
๒. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๓. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๔. กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการพูดคำหยาบ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

ผรุสวาจาสูตรที่ ๖ จบ

๗. สัมผัปปลาปสูตร
ว่าด้วยผู้พูดเพ้อเจ้อและผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ

[๒๗๐] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ ๒. ชักชวนผู้อื่นให้พูดเพ้อเจ้อ
๓. เป็นผู้พอใจการพูดเพ้อเจ้อ ๔. กล่าวสรรเสริญการพูดเพ้อเจ้อ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
๒. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๓. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๔. กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

สัมผัปปลาปสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัฐจมปัณณาสก์]
๗. กัมมปถวรรค ๙. พยาปันนจิตตสูตร

๘. อภิชฌาลุสูตร
ว่าด้วยผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขาและผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา

[๒๗๑] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๒. ชักชวนผู้อื่นให้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๓. เป็นผู้พอใจความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๔. กล่าวสรรเสริญความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๒. ชักชวนผู้อื่นให้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๓. เป็นผู้พอใจความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๔. กล่าวสรรเสริญความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

อภิชฌาลุสูตรที่ ๘ จบ

๙. พยาปันนจิตตสูตร
ว่าด้วยผู้มีจิตพยาบาทและผู้มีจิตไม่พยาบาท

[๒๗๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัฐจมปัณณาสก์]
๗. กัมมปถวรรค ๑๐. มิจฉาทิฏฐิสูตร

ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้มีจิตพยาบาท
๒. ชักชวนผู้อื่นให้มีจิตพยาบาท
๓. เป็นผู้พอใจความมีจิตพยาบาท
๔. กล่าวสรรเสริญความมีจิตพยาบาท

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท
๒. ชักชวนผู้อื่นให้มีจิตไม่พยาบาท
๓. เป็นผู้พอใจความมีจิตไม่พยาบาท
๔. กล่าวสรรเสริญความมีจิตไม่พยาบาท

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

พยาปันนจิตตสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. มิจฉาทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิและผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ

[๒๗๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ
๒. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
๓. เป็นผู้พอใจความเป็นมิจฉาทิฏฐิ
๔. กล่าวสรรเสริญความเป็นมิจฉาทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัฐจมปัณณาสก์]
๘. ราคเปยยาล ๑. สติปัฏฐานสูตร

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ตนเองเป็นสัมมาทิฏฐิ
๒. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
๓. เป็นผู้พอใจความเป็นสัมมาทิฏฐิ
๔. กล่าวสรรเสริญความเป็นสัมมาทิฏฐิ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้

มิจฉาทิฏฐิสูตรที่ ๑๐ จบ
กัมมปถวรรคที่ ๗ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปาณาติปาตีสูตร ๒. อทินนาทายีสูตร
๓. มิจฉาจารีสูตร ๔. มุสาวาทีสูตร
๕. ปิสุณวาจาสูตร ๖. ผรุสวาจาสูตร
๗. สัมผัปปลาปสูตร ๘. อภิชฌาลุสูตร
๙. พยาปันนจิตตสูตร ๑๐. มิจฉาทิฏฐิสูตร

๘. ราคเปยยาล
๑. สติปัฏฐานสูตร
ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้ยิ่งราคะ

[๒๗๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๔ ประการ
เพื่อรู้ยิ่งราคะ (ความกำหนัด)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๘.ราคเปยยาล ๒. สัมมัปปธานสูตร

ธรรม ๔ ประการ๑ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ...
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ...
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ

กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๔ ประการนี้เพื่อรู้ยิ่งราคะ

สติปัฏฐานสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัมมัปปธานสูตร
ว่าด้วยการเจริญสัมมัปปธานเพื่อรู้ยิ่งราคะ

[๒๗๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๔ ประการเพื่อรู้ยิ่งราคะ
ธรรม ๔ ประการ๒ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
๒. สร้างฉันทะ... เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. สร้างฉันทะ... เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญ
เต็มที่แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๔ ประการนี้เพื่อรู้ยิ่งราคะ

สัมมัปปธานสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๘.ราคเปยยาล ๔-๓๐.ปริญญาทิสูตร

๓. อิทธิปาทสูตร
ว่าด้วยการเจริญอิทธิบาทเพื่อรู้ยิ่งราคะ

[๒๗๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๔ ประการเพื่อรู้ยิ่งราคะ
ธรรม ๔ ประการ๑ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิด
จากฉันทะและความเพียรสร้างสรรค์)
๒. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิด
จากวิริยะและความเพียรสร้างสรรค์)
๓. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิด
จากจิตตะและความเพียรสร้างสรรรค์)
๔. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่
เกิดจากวิมังสาและความเพียรสร้างสรรค์)

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๔ ประการนี้เพื่อรู้ยิ่งราคะ

อิทธิปาทสูตรที่ ๓ จบ

๔-๓๐. ปริญญาทิสูตร
ว่าด้วยการเจริญธรรมเพื่อกำหนดรู้ราคะเป็นต้น

[๒๗๗ - ๓๐๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๔ ประการเพื่อกำหนด
รู้ราคะ

... เพื่อความสิ้นราคะ
... เพื่อละราคะ
... เพื่อความสิ้นไปแห่งราคะ
... เพื่อความเสื่อมไปแห่งราคะ
... เพื่อความคลายไปแห่งราคะ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕.ปัฐจมปัณณาสก์]
๘.ราคเปยยาล ๓๑-๕๑๐. โทสอภิญญาทิสูตร

... เพื่อความดับไปแห่งราคะ
... เพื่อความสละราคะ
... เพื่อความสละคืนราคะ ...

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๔ ประการนี้เพื่อความสละคืนราคะ ฯลฯ

ปริญญาทิสูตรที่ ๔-๓๐ จบ

๓๑-๕๑๐. โทสอภิญญาทิสูตร
ว่าด้วยการเจริญธรรมเพื่อรู้ยิ่งโทสะเป็นต้น

[๓๐๔ - ๗๘๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๔ ประการนี้เพื่อรู้ยิ่งโทสะ
(ความคิดประทุษร้าย)

... เพื่อกำหนดรู้โทสะ
... เพื่อความสิ้นโทสะ
... เพื่อละโทสะ
... เพื่อความสิ้นไปแห่งโทสะ
... เพื่อความเสื่อมไปแห่งโทสะ
... เพื่อความคลายไปแห่งโทสะ
... เพื่อความดับไปแห่งโทสะ
... เพื่อความสละโทสะ
... เพื่อความสละคืนโทสะ ...โมหะ (ความหลง) ... โกธะ (ความโกรธ) ... อุปนาหะ
(ความผูกโกรธ ) ... มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน) ... ปลาสะ (ความตีเสมอ) ... อิสสา
(ความริษยา) ... มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ... มายา (มารยา) ... สาเถยยะ (ความ
โอ้อวด) ... ถัมภะ (ความหัวดื้อ) ... สารัมภะ (ความแข่งดี) ... มานะ (ความถือตัว)
... อติมานะ (ความดูหมิ่น) ... มทะ (ความมัวเมา) ... ปมาทะ (ความประมาท) ...

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญธรรม ๔ ประการนี้เพื่อความสละคืนปมาทะ

โทสอภิญญาทิสูตร ๓๑-๕๑๐ จบ
ราคเปยยาล จบ

จตุกกนิบาต จบ


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จบ





eXTReMe Tracker