ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

พระสุตตันตปิฎก
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๕. ทุติยสารีปุตตสูตร

ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร เพราะประกอบด้วย
ธรรมเท่าไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงพยากรณ์หมู่สัตว์นี้ว่า ‘เป็นโสดาบัน ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุ เพราะประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
พระผู้มีพระภาคจึงทรงพยากรณ์หมู่สัตว์นี้ว่า ‘เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มี
ความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า ‘
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
ผู้มีอายุ เพราะประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรง
พยากรณ์หมู่สัตว์นี้ว่า ‘เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิในวันข้างหน้า”

ปฐมสารีปุตตสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยสารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตร สูตรที่ ๒

[๑๐๐๑] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระสารีบุตร
ดังนี้ว่า “สารีบุตร ที่เรียกว่า ‘องค์เครื่องบรรลุโสดา องค์เครื่องบรรลุโสดา’ องค์
เครื่องบรรลุโสดา เป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๕. ทุติยสารีปุตตสูตร

ท่านพระสารีบุตรทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัปปุริสสังเสวะ (การ
คบหาสัตบุรุษ) เป็นองค์เครื่องบรรลุโสดา สัทธัมมัสสวนะ (การฟังพระสัทธรรม)
เป็นองค์เครื่องบรรลุโสดา โยนิโสมนสิการ (การมนสิการโดยแยบคาย) เป็นองค์
เครื่องบรรลุโสดา ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม) เป็นองค์
เครื่องบรรลุโสดา”
“ดีละ ดีละ สารีบุตร สัปปุริสสังเสวะเป็นองค์เครื่องบรรลุโสดา สัทธัมมัสสวนะ
เป็นองค์เครื่องบรรลุโสดา โยนิโสมนสิการเป็นองค์เครื่องบรรลุโสดา ธัมมานุธัมม-
ปฏิปัตติเป็นองค์เครื่องบรรลุโสดา
สารีบุตร ที่เรียกว่า ‘โสดา โสดา’ โสดา เป็นอย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ

นี้แลเป็นโสดา”
“ดีละ ดีละ สารีบุตร อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นโสดา
สารีบุตรที่เรียกว่า ผู้บรรลุโสดาคือใคร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผู้ใดประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ผู้นี้เรียกว่า
ผู้บรรลุโสดา ท่านผู้นี้ มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้”
“ดีละ ดีละ สารีบุตร ผู้ใดประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ผู้นี้เรียกว่า
ผู้บรรลุโสดา ท่านผู้นี้ มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้”

ทุติยสารีปุตตสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๖. ถปติสูตร

๖. ถปติสูตร
ว่าด้วยช่างไม้

[๑๐๐๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า “พระ
ผู้มีพระภาคทรงมีจีวรสำเร็จแล้ว ล่วง ๓ เดือน ก็จักเสด็จจาริกไป”
สมัยนั้น ช่างไม้ชื่ออิสิทัตตะและปุราณะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านส่วยชื่อสาธุกะด้วย
กรณียกิจบางอย่าง ได้ทราบข่าวว่า “ภิกษุจำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มี
พระภาคด้วยหวังว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงมีจีวรสำเร็จแล้ว ล่วงไป ๓ เดือน ก็จัก
เสด็จจาริกไป”
ต่อมา ช่างไม้ชื่ออิสิทัตตะและปุราณะได้จัดบุรุษเฝ้าหนทางไว้สั่งว่า “พ่อมหา
จำเริญ เมื่อใด ท่านเห็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา เมื่อนั้น
ท่านก็พึงบอกพวกเรา” บุรุษนั้นเฝ้าอยู่ได้ ๒-๓ วัน ก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จ
มาแต่ไกล จึงเข้าไปหาช่างไม้ชื่ออิสิทัตตะและปุราณะถึงที่อยู่แล้วบอกดังนี้ว่า “ท่าน
ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังเสด็จมา ขอท่าน
ทั้งหลายจงทราบเวลาอันสมควรในบัดนี้เถิด”
ลำดับนั้น ช่างไม้ชื่ออิสิทัตตะและปุราณะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปทางเบื้องพระปฤษฎางค์ ขณะนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงแวะข้างทางเสด็จเข้าไปยังโคนไม้แห่งหนึ่ง แล้วประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ช่างไม้ชื่ออิสิทัตตะและปุราณะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อใด ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบข่าวพระผู้มีพระ
ภาคว่า ‘จักเสด็จจาริกจากกรุงสาวัตถีไป (ตามเมืองต่าง ๆ) ในแคว้นโกศล’ เมื่อนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายน้อยใจและเสียใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักห่างเราทั้งหลายไป’ เมื่อใด
ได้ทราบข่าวว่า ‘ได้เสด็จจาริกจากกรุงสาวัตถีไป (ตามเมืองต่าง ๆ) ในแคว้น
โกศลแล้ว’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายก็น้อยใจและเสียใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้
ห่างเราทั้งหลายไป’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๖. ถปติสูตร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง เมื่อใด ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบข่าวพระผู้มีพระ
ภาคว่า ‘จักเสด็จจาริกจากแคว้นโกศลไปยังแคว้นมัลละ’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์
ทั้งหลายน้อยใจและเสียใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักห่างเราทั้งหลายไป’ แต่เมื่อใด
ได้ทราบข่าวว่า ‘ได้เสด็จจาริกจากแคว้นโกศลไปยังแคว้นมัลละแล้ว’ เมื่อนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายก็น้อยใจและเสียใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้ห่างเราทั้งหลายไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง เมื่อใด ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบข่าว
พระผู้มีพระภาคว่า ‘จักเสด็จจาริกจากแคว้นมัลละไปยังแคว้นวัชชี’ เมื่อนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายน้อยใจและเสียใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักห่างเราทั้งหลายไป’
เมื่อใด ได้ทราบข่าวว่า ‘ได้เสด็จจาริกจากแคว้นมัลละไปยังแคว้นวัชชีแล้ว’ เมื่อนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายก็น้อยใจและเสียใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้ห่างเราทั้งหลายไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง เมื่อใด ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบข่าวพระผู้มี
พระภาคว่า ‘จักเสด็จจาริกจากแคว้นวัชชีไปแคว้นกาสี’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์
ทั้งหลายน้อยใจและเสียใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักห่างเราทั้งหลายไป’ เมื่อใด
ได้ทราบข่าวว่า ‘ได้เสด็จจาริกจากแคว้นวัชชีไปยังแคว้นกาสีแล้ว’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์
ทั้งหลายก็น้อยใจและเสียใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้ห่างเราทั้งหลายไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง เมื่อใด ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบข่าวพระผู้มี
พระภาคว่า ‘จักเสด็จจาริกจากแคว้นกาสีไปแคว้นมคธ’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย
น้อยใจและเสียใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักห่างเราทั้งหลายไป’ เมื่อใด ได้ทราบข่าวว่า
‘ได้เสด็จจาริกจากแคว้นกาสีไปยังแคว้นมคธแล้ว’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายก็
น้อยใจและเสียใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้ห่างเราทั้งหลายไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง เมื่อใด ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบข่าวพระผู้มีพระ
ภาคว่า ‘จักเสด็จจาริกจากแคว้นมคธมาแคว้นกาสี’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ปลื้มใจและดีใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักอยู่ใกล้เราทั้งหลาย’ เมื่อใด ได้ทราบข่าวว่า
‘ได้เสด็จจาริกจากแคว้นมคธมาแคว้นกาสีแล้ว’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายก็
ปลื้มใจและดีใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้อยู่ใกล้เราทั้งหลาย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๖. ถปติสูตร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง เมื่อใด ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบข่าวพระผู้มีพระ
ภาคว่า ‘จักเสด็จจาริกจากแคว้นกาสีมาแคว้นวัชชี’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ปลื้มใจและดีใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักอยู่ใกล้เราทั้งหลาย’ เมื่อใด ได้ทราบข่าวว่า
‘ได้เสด็จจาริกจากแคว้นกาสีมาแคว้นวัชชีแล้ว’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายก็
ปลื้มใจและดีใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้อยู่ใกล้เราทั้งหลาย’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง เมื่อใด ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบข่าวพระผู้มีพระ
ภาคว่า ‘จักเสด็จจาริกจากแคว้นวัชชีมาแคว้นมัลละ’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ปลื้มใจและดีใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักอยู่ใกล้เราทั้งหลาย’ เมื่อใด ได้ทราบข่าวว่า
‘ได้เสด็จจาริกจากแคว้นวัชชีมาแคว้นมัลละแล้ว’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ก็ปลื้มใจและดีใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้อยู่ใกล้เราทั้งหลาย’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง เมื่อใด ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบข่าวพระผู้มี
พระภาคว่า ‘จักเสด็จจาริกจากแคว้นมัลละมาแคว้นโกศล’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์
ทั้งหลายปลื้มใจและดีใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักอยู่ใกล้เราทั้งหลาย’ เมื่อใด ได้
ทราบข่าวว่า ‘ได้เสด็จจาริกจากแคว้นมัลละมาแคว้นโกศลแล้ว’ เมื่อนั้น ข้าพระ
องค์ทั้งหลายก็ปลื้มใจและดีใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้อยู่ใกล้เราทั้งหลาย’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อใด ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบข่าวพระผู้มีพระภาค
ว่า ‘จักเสด็จจาริกจาก (เมืองต่าง ๆ ใน) แคว้นโกศลมากรุงสาวัตถี’ เมื่อนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายปลื้มใจและดีใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคจักอยู่ใกล้ข้าพระองค์ทั้งหลาย’
เมื่อใด ได้ทราบข่าวว่า ‘ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตกรุงสาวัตถี’ เมื่อนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายก็ปลื้มใจและดีใจมากว่า ‘พระผู้มี
พระภาคได้อยู่ใกล้เราทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ช่างไม้ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น การอยู่ครองเรือน
ในโลกนี้คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี ส่วนบรรพชาปลอดโปร่ง ท่านทั้งหลายอย่า
ได้ประมาทเลย”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความคับแคบอื่นที่คับแคบกว่า และที่นับว่าเป็น
ความคับแคบกว่าความคับแคบนี้ของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีอยู่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๖. ถปติสูตร

“ช่างไม้ทั้งหลาย ความคับแคบอื่นที่คับแคบกว่า และที่นับว่าเป็นความคับ
แคบกว่าความคับแคบนี้ของท่านทั้งหลาย เป็นอย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อใด พระเจ้าปเสนทิโกศล
มีพระราชประสงค์จะเสด็จไปพระราชอุทยาน เมื่อนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายต้อง
กำหนดช้างทรงของพระเจ้าปเสนทิโกศล แล้วทูลเชิญให้พระชายาทั้งหลายซึ่งเป็นที่
สิเนหาโปรดปรานของพระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่งเบื้องหน้าพระพักตร์พระองค์หนึ่ง
เบื้องพระปฤษฎางค์พระองค์หนึ่ง กลิ่นของพระชายาเหล่านั้นเปรียบเหมือนกลิ่น
ของนางราชกัญญาผู้ลูบไล้ด้วยของหอมดังขวดน้ำหอมที่เปิดในขณะนั้น อนึ่ง การ
สัมผัสกายของพระชายาเหล่านั้น ก็เป็นเหมือนการสัมผัสกายของนางราชกัญญา
ผู้ดำรงอยู่ในความสุข ดังปุยนุ่น หรือปุยฝ้าย เมื่อนั้น ทั้งช้าง ทั้งพระชายาเหล่านั้น
ทั้งพระราชา ข้าพระองค์ทั้งหลายก็ต้องเฝ้าระวังรักษา แต่ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่
รู้สึกว่าจะให้ความคิดเลว ๆ เกิดขึ้นในพระชายาเหล่านั้นได้เลย นี้แลคือความคับแคบ
อื่นที่คับแคบกว่า และที่นับว่าเป็นความคับแคบกว่าความคับแคบนี้ของข้าพระองค์
ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าข้า”
“ช่างไม้ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น การอยู่ครองเรือนในโลกนี้จึงคับแคบ เป็น
ทางมาแห่งธุลี ส่วนบรรพชาปลอดโปร่ง ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาทเลย อริย-
สาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่
นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว
มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ทาน
และการแจกทาน อยู่ครองเรือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๔๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๗. เวฬุทวาเรยยสูตร

ช่างไม้ทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นโสดาบัน
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ช่างไม้ทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
อนึ่ง ไทยธรรมทุกอย่างในตระกูล เป็นของไม่แบ่งแยกกับท่านผู้มีศีล๑ มีธรรม
อันงาม ท่านทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ชาวโกศลมีจำนวนเท่าไร
ท่านทั้งหลายก็เฉลี่ยแบ่งปันให้เท่า ๆ กัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นลาภของข้าพระองค์ทั้งหลาย ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ได้ดีแล้วที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบชัดอย่างนี้”

ถปติสูตรที่ ๖ จบ

๗. เวฬุทวาเรยยสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์และคหบดีชาวเวฬุทวารคาม

[๑๐๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ของชาวโกศลชื่อเวฬุทวาระ พวกพราหมณ์และ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๗. เวฬุทวาเรยยสูตร

คหบดีชาวเวฬุทวารคามได้ฟังข่าวว่า “พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวช
จากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จ
ถึงเวฬุทวารคามโดยลำดับ ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์
เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก
ผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระ
พุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เอง
แล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความ
งามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด และทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ
และพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้เป็น
ความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวเวฬุทวารคามเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางพวกก็ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก
ก็สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกก็ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็ประกาศ
ชื่อและโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นิ่งเฉยแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พากันกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม
ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความปรารถนา มีความพอใจ มีความประสงค์อย่างนี้ ๆ ว่า
‘ขอเราทั้งหลายพึงอยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร พึงใช้สอยผงแก่นจันทน์
จากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ พึงยินดีทองและเงิน
หลังจากตายแล้วพึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ทั้งหลายพึงอยู่ครองเรือน
นอนเบียดเสียดบุตร ฯลฯ พึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยวิธีใด ขอท่านพระ
โคดมโปรดแสดงธรรมด้วยวิธีนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้มีความปรารถนา มีความ
พอใจ มีความประสงค์อย่างนั้น ๆ เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๗. เวฬุทวาเรยยสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย เราจักแสดงธรรม
บรรยายที่ควรน้อมเข้ามาในตนแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว” พราหมณ์และคหบดีชาวเวฬุทวารคามเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัส
แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
ธรรมบรรยายที่ควรน้อมเข้ามาในตน เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข
เกลียดทุกข์ ข้อที่บุคคลพึงปลงชีวิตเราผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยาก
ตาย รักสุขเกลียดทุกข์นั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา
อนึ่ง ข้อที่เราพึงปลงชีวิตผู้อื่น ผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย
รักสุขเกลียดทุกข์นั้น ก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น
สิ่งใดไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก ไม่
เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา
เราจะนำสิ่งนั้นไปผูกมัดกับผู้อื่นได้อย่างไร’ อริยสาวกนั้นพิจารณา
อย่างนี้แล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เองด้วย ชักชวนผู้อื่น
ให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วย กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการ
ฆ่าสัตว์ด้วย กายสมาจารนี้ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์ทั้ง ๓
ส่วนดังที่กล่าวมานี้
๒. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงถือเอาสิ่งของของเราที่เราไม่
ให้ด้วยอาการขโมยนั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา
อนึ่ง ข้อที่เราพึงถือเอาสิ่งของของผู้อื่นที่เขาไม่ให้ด้วยอาการขโมยนั้น
ก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่
เป็นที่พอใจของเรา สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของ
ผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา เราจะนำสิ่งนั้น
ไปผูกมัดกับผู้อื่นได้อย่างไร’ อริยสาวกนั้นพิจารณาอย่างนี้
แล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์เองด้วย ชักชวนผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๗. เวฬุทวาเรยยสูตร

ให้งดเว้นจากการลักทรัพย์ด้วย กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจาก
การลักทรัพย์ด้วย กายสมาจารนี้ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์
ทั้ง ๓ ส่วนดังที่กล่าวมานี้
๓. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงประพฤติล่วงภรรยาของเรา
ข้อนั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา อนึ่ง ข้อที่เราพึง
ประพฤติล่วงภรรยาของผู้อื่นนั้น ก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ
แม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา สิ่งนั้น
ก็ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่
เป็นที่พอใจของเรา เราจะนำสิ่งนั้นไปผูกมัดกับผู้อื่นได้อย่างไร’
อริยสาวกนั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกามเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการ
ประพฤติผิดในกามด้วย กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการ
ประพฤติผิดในกามด้วย กายสมาจารนี้ของอริยสาวกนั้นย่อม
บริสุทธิ์ทั้ง ๓ ส่วนดังที่กล่าวมานี้
๔. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงทำลายประโยชน์ของเรา
ด้วยการพูดเท็จนั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา อนึ่ง
ข้อที่เราพึงทำลายประโยชน์ของผู้อื่นด้วยการพูดเท็จ ข้อนั้นก็ไม่
เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็น
ที่พอใจของเรา สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น
สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา เราจะนำสิ่งนั้นไปผูก
มัดกับผู้อื่นได้อย่างไร’ อริยสาวกนั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว เป็น
ผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจาก
การพูดเท็จด้วย กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการพูดเท็จด้วย
วจีสมาจารนี้ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ส่วนดังที่กล่าวมานี้
๕. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงยุยงเราให้แตกจากมิตรด้วย
การพูดส่อเสียดนั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา
อนึ่ง ข้อที่เราพึงยุยงผู้อื่นให้แตกจากมิตรด้วยการพูดส่อเสียด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๗. เวฬุทวาเรยยสูตร

ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น ฯลฯ วจีสมาจาร
นี้ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ส่วนดังที่กล่าวมานี้
๖. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงพูดกับเราด้วยคำหยาบนั้น
ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา อนึ่ง ข้อที่เราพึงพูดกับผู้อื่น
ด้วยคำหยาบนั้น ก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น
สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ฯลฯ วจีสมาจารนี้
ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ส่วนดังที่กล่าวมานี้
๗. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงพูดกับเราด้วยการพูด
เพ้อเจ้อ ไร้ประโยชน์นั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา
อนึ่ง ข้อที่เราพึงพูดกับผู้อื่นด้วยการพูดเพ้อเจ้อ ไร้ประโยชน์นั้น
ก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รักไม่
เป็นที่พอใจของเรา สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น
สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา เราจะนำสิ่งนั้นไปผูกมัด
กับผู้อื่นได้อย่างไร’ อริยสาวกนั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว เป็นผู้
เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจาก
การพูดเพ้อเจ้อด้วย กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการพูดเพ้อ
เจ้อด้วย วจีสมาจารนี้ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์ทั้ง ๓
ส่วนดังที่กล่าวมานี้
อริยสาวกนั้น
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญอัน
ยอดเยี่ยมของโลก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๘. ปฐมคิญชกาวสถสูตร

๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง
ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ
เป็นไปเพื่อสมาธิ
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย เมื่อใด อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗
ประการนี้ ด้วยฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความหวัง ๔ ประการนี้ เมื่อนั้น อริยสาวก
นั้นเมื่อหวัง พึงพยากรณ์ตนเองว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว
มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน ไม่มี
ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์และคหบดีชาวเวฬุทวารคาม
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระ
โคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ข้าพระองค์ทั้งหลายขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

เวฬุทวาเรยยสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปฐมคิญชกาวสถสูตร
ว่าด้วยธรรมบรรยายที่พระตำหนักอิฐ สูตรที่ ๑

[๑๐๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระตำหนักอิฐ ในหมู่บ้านญาติกะ๑
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
สาฬหภิกษุมรณภาพแล้ว คติของท่านเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร
นันทาภิกษุณีมรณภาพแล้ว คติของนางเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร
สุทัตตอุบาสกถึงแก่กรรมแล้ว คติของเขาเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร
สุชาดาอุบาสิกาถึงแก่กรรมแล้ว คติของนางเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๘. ปฐมคิญชกาวสถสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ สาฬหภิกษุมรณภาพแล้วทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ในปัจจุบัน นันทาภิกษุณีมรณภาพแล้วไปเกิดเป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น
ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป สุทัตต-
อุบาสกถึงแก่กรรมแล้วได้เป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป
และบรรเทาราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางได้ มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำ
ที่สุดแห่งทุกข์ได้ สุชาดาอุบาสิกาถึงแก่กรรมแล้วได้เป็นโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓
ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
อานนท์ ไม่น่าอัศจรรย์เลยที่บุคคลเกิดเป็นมนุษย์แล้วตายไป หากเมื่อบุคคล
นั้น ๆ ตายไป เธอทั้งหลายจักเข้ามาสอบถามเรื่องนี้กับเรา ก็จะพึงเป็นความ
ลำบากแก่ตถาคต เพราะฉะนั้น เราจักแสดงธรรมบรรยายชื่อธรรมาทาส (แว่น
ส่องธรรม) ที่พระอริยสาวกผู้ประกอบแล้ว เมื่อหวังก็พึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรา
มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ
และวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิในวันข้างหน้า’
ธรรมบรรยายชื่อธรรมาทาสที่พระอริยสาวกผู้ประกอบแล้ว เมื่อหวังพึง
พยากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิ
แห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน ไม่มี
ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า‘ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๙. ทุติยคิญชกาวสถสูตร

อานนท์ นี้แลคือธรรมบรรยายชื่อธรรมาทาส ที่พระอริยสาวกผู้ประกอบแล้ว
เมื่อหวังก็พึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว
มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน ไม่มี
ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

ปฐมคิญชกาวสถสูตรที่ ๘ จบ

(พระสูตรทั้ง ๓ สูตรมีเหตุเกิดอย่างเดียวกัน)

๙. ทุติยคิญชกาวสถสูตร
ว่าด้วยธรรมบรรยายที่พระตำหนักอิฐ สูตรที่ ๒

[๑๐๐๕] ท่านพระอานนท์นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อโสกภิกษุมรณภาพแล้ว คติของเธอเป็นอย่างไร
อภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร อโสกาภิกษุณีมรณภาพแล้ว ฯลฯ อโสกอุบาสก
ถึงแก่กรรมแล้ว ฯลฯ อโสกาอุบาสิกาถึงแก่กรรมแล้ว คติของนางเป็นอย่างไร
อภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ อโสกภิกษุมรณภาพแล้ว ทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ฯลฯ
(เนื้อเรื่องก็อย่างเดียวกับการพยากรณ์ปัญหาข้างต้น)
อานนท์ นี้แล คือ ธรรมบรรยายชื่อธรรมาทาส ที่อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว
เมื่อหวังก็พึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว
มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน ไม่มี
ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

ทุติยคิญชกาวสถสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค ๑๐. ตติยคิญชกาวสถสูตร

๑๐. ตติยคิญชกาวสถสูตร
ว่าด้วยธรรมบรรยายที่พระตำหนักอิฐ สูตรที่ ๓

[๑๐๐๖] ท่านพระอานนท์นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กกุฏอุบาสกในหมู่บ้านญาติกะถึงแก่กรรมแล้ว
คติของเขาเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร กฬิภอุบาสกในหมู่บ้านญาติกะ
ฯลฯ นิกตอุบาสกในหมู่บ้านญาติกะ ฯลฯ กฏิสสหอุบาสกในหมู่บ้านญาติกะ ...
ตุฏฐอุบาสกในหมู่บ้านญาติกะ ... สันตุฏฐอุบาสกในหมู่บ้านญาติกะ ... ภัทท-
อุบาสกในหมู่บ้านญาติกะ ... สุภัททอุบาสกในหมู่บ้านญาติกะถึงแก่กรรมแล้ว
คติของเขาเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ กกุฏอุบาสกถึงแก่กรรมแล้วไปเกิดเป็น
โอปปาติกะ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในภพนั้น ไม่
หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก กฬิภอุบาสก ฯลฯ นิกตอุบาสก ... กฏิสสหอุบาสก ...
ตุฏฐอุบาสก ... สันตุฏฐอุบาสก ... สุภัททอุบาสก ... ภัททอุบาสกถึงแก่กรรมแล้ว
ไปเกิดเป็นโอปปาติกะ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพาน
ในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
(อุบาสกทุกคนพึงทำให้มีคติอย่างเดียวกัน)
อานนท์ อุบาสกกว่า ๕๐ คนในหมู่บ้านญาติกะถึงแก่กรรมแล้วไปเกิดเป็น
โอปปาติกะ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในภพนั้นไม่
หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก อุบาสกกว่า ๙๐ คนในหมู่บ้านญาติกะถึงแก่กรรมแล้ว
ได้เป็นสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และบรรเทาราคะ โทสะ โมหะ
ให้เบาบางได้ กลับมาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ อุบาสกกว่า
๕๐๐-๖๐๐ คนในหมู่บ้านญาติกะถึงแก่กรรมแล้วได้เป็นโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓
ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
อานนท์ ไม่น่าอัศจรรย์เลยที่บุคคลเกิดเป็นมนุษย์แล้วตายไป หากเมื่อบุคคล
นั้นตายไป เธอทั้งหลายจักเข้ามาสอบถามเรื่องนี้กับเรา ก็จะพึงเป็นความลำบากแก่
ตถาคต เพราะเหตุนั้น เราจักแสดงธรรมบรรยายชื่อธรรมาทาส(แว่นส่องธรรม)
ที่อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว เมื่อหวังก็พึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๑. เวฬุทวารวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาต
สิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวัน
ข้างหน้า’
ธรรมบรรยายชื่อธรรมาทาส ที่อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว เมื่อหวังก็พึง
พยากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิ
แห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน ไม่มี
ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
อานนท์ นี้แล คือ ธรรมบรรยายชื่อธรรมาทาส ที่อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว
เมื่อหวังก็พึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว
มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน ไม่มี
ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

ตติยคิญชกาวสถสูตรที่ ๑๐ จบ
เวฬุทวารวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จักกวัตติราชสูตร ๒. พรหมจริโยคธสูตร
๓. ทีฆาวุอุปาสกสูตร ๔. ปฐมสารีปุตตสูตร
๕. ทุติยสารีปุตตสูตร ๖. ถปติสูตร
๗. เวฬุทวาเรยยสูตร ๘. ปฐมคิญชกาวสถสูตร
๙. ทุติยคิญชกาวสถสูตร ๑๐. ตติยคิญชกาวสถสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๒. ราชการามวรรค ๑. สหัสสภิกขุนีสังฆสูตร

๒. ราชการามวรรค
หมวดว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่ราชการาม
๑. สหัสสภิกขุนีสังฆสูตร
ว่าด้วยภิกษุณีสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป

[๑๐๐๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราชการาม เขตกรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุณีสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า
“ภิกษุณีทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นโสดาบัน
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
ภิกษุณีทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นโสดาบัน
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

สหัสสภิกขุนีสังฆสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๒. ราชการามวรรค ๒. พราหมณสูตร

๒. พราหมณสูตร
ว่าด้วยข้อบัญญัติของพราหมณ์

[๑๐๐๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติ
อุทยคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความเจริญ) พวกเขาย่อมชักชวนสาวกอย่าง
นี้ว่า ‘มาเถิดพ่อมหาจำเริญ ท่านจงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เดินบ่ายหน้าไปทางทิศปราจีน
อย่าหลีกบ่อ เหว ตอที่มีหนาม หลุมคูถ บ่อโสโครก ท่านตกลงไปในที่ใด ก็
พึงรอความตายในที่นั้นแล ด้วยอุบายอย่างนี้ หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์’
ภิกษุทั้งหลาย ข้อบัญญัติของพราหมณ์เหล่านั้น เป็นทางไปของคนโง่ เป็น
ทางไปของคนหลง ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่
เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่
เป็นไปเพื่อนิพพาน ส่วนในอริยวินัย เราก็บัญญัติอุทยคามินีปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่ายอย่างที่สุด เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อ
รู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
อุทยคามินีปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายอย่างที่สุด ฯลฯ เพื่อ
นิพพานนั้น เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๒. ราชการามวรรค ๓. อานันทเถรสูตร

ภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือ อุทยคามินีปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายอย่าง
ที่สุด เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”

พราหมณสูตรที่ ๒ จบ

๓. อานันทเถรสูตร
ว่าด้วยพระอานนทเถระ

[๑๐๐๙] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตร
ออกจากที่หลีกเร้นแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอ
เป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระ
อานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ เพราะละธรรมเท่าไร เพราะประกอบด้วยธรรมเท่าไร
หมู่สัตว์นี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงพยากรณ์ว่า ‘เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มี
ความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ผู้มีอายุ เพราะละธรรม ๔ ประการ เพราะประกอบ
ด้วยธรรม ๔ ประการ หมู่สัตว์นี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงพยากรณ์ว่า ‘เป็นพระ
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
๑. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสเช่นใดในพระพุทธเจ้า หลังจาก
ตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่
เลื่อมใสเช่นนั้นในพระพุทธเจ้าหามีแก่ปุถุชนนั้นไม่ ส่วนอริยสาวก
ผู้ได้สดับ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวเช่นใดใน
พระพุทธเจ้า หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวเช่นนั้นในพระพุทธเจ้าย่อมมีแก่อริย-
สาวกนั้นว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๒. ราชการามวรรค ๓. อานันทเถรสูตร

๒. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสเช่นใดในพระธรรม หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสเช่น
นั้นในพระธรรมหามีแก่ปุถุชนนั้นไม่ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ
ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวเช่นใดในพระธรรม
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ความเลื่อมใสอัน
ไม่หวั่นไหวเช่นนั้นในพระธรรมย่อมมีแก่พระอริยสาวกนั้นว่า
‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ฯลฯ อัน
วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’
๓. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสเช่นใดในพระสงฆ์ หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสเช่น
นั้นในพระสงฆ์หามีแก่ปุถุชนนั้นไม่ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ
ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวเช่นใดในพระสงฆ์
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวเช่นนั้นในพระสงฆ์ย่อมมีแก่อริยสาวกนั้นว่า ‘พระ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนา
บุญอันยอดเยี่ยมของโลก’
๔. ประกอบด้วยความเป็นผู้ทุศีลเช่นใด หลังจากตายแล้ว จะไป
เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความเป็นผู้ทุศีลเช่นนั้นหามี
แก่ปุถุชนนั้นไม่ ส่วนอริยสาวกผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะ
ชอบใจเช่นใด หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิเช่นนั้น
ย่อมมีแก่อริยสาวกนั้น
อาวุโส เพราะละธรรม ๔ ประการนี้ เพราะประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้
หมู่สัตว์นี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงพยากรณ์ว่า ‘เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มี
ความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

อานันทเถรสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกายมหาวารวรรค[๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๒. ราชการามวรรค ๕. ทุคคติวินิปาตภยสูตร

๔. ทุคคติภยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ให้พ้นภัยคือทุคติ

[๑๐๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วย
ธรรม ๔ ประการ ย่อมพ้นภัยคือทุคติทั้งปวง
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ย่อมพ้นภัยคือ
ทุคติทั้งปวง”

ทุคคติภยสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุคคติวินิปาตภยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ให้พ้นภัยคือทุคติและวินิบาต

[๑๐๑๑] “ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมพ้น
ภัยคือทุคติและวินิบาตทั้งปวง
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๒. ราชการามวรรค ๖. ปฐมมิตตามัจจสูตร

๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ย่อมพ้นภัยคือ
ทุคติและวินิบาตทั้งปวง”

ทุคคติวินิปาตภยสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปฐมมิตตามัจจสูตร
ว่าด้วยการชักชวนมิตรอำมาตย์ สูตรที่ ๑

[๑๐๑๒] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนเหล่าใด และคน
เหล่าใดจะเป็นมิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิตก็ตาม ให้ความสำคัญคำที่ควรรับฟัง
เธอทั้งหลายพึงชักชวนคนเหล่านั้นให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในองค์เครื่องบรรลุโสดา๑
๔ ประการ
องค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เธอทั้งหลายพึงชักชวนให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอัน
ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. เธอทั้งหลายพึงชักชวนให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอัน
ไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. เธอทั้งหลายพึงชักชวนให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอัน
ไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. เธอทั้งหลายพึงชักชวนให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในศีลที่พระอริยะ
ชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๒. ราชการามวรรค ๗. ทุติยมิตตามัจจสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนเหล่าใด และคนเหล่าใดจะเป็น
มิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิตก็ตาม ให้ความสำคัญคำที่ควรรับฟัง เธอทั้งหลาย
พึงชักชวนคนเหล่านั้นให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้”

ปฐมมิตตามัจจสูตรที่ ๖ จบ

๗. ทุติยมิตตามัจจสูตร
ว่าด้วยการชักชวนมิตรอำมาตย์ สูตรที่ ๒

[๑๐๑๓] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนเหล่าใด และคน
เหล่าใดจะเป็นมิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิตก็ตาม ให้ความสำคัญคำที่ควรรับฟัง
เธอทั้งหลายพึงชักชวนคนเหล่านั้นให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในองค์เครื่องบรรลุโสดา
๔ ประการ
องค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เธอทั้งหลายพึงชักชวนให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอัน
ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
ภิกษุทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน)
อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) วาโยธาตุ (ธาตุลม) อาจ
กลายเป็นอย่างอื่นได้ แต่อริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ไม่พึงแปรเป็นอย่างอื่นได้เลย
ในเรื่องนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแปรเป็นอย่างอื่น คือ อริยสาวก
ผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าจักไปเกิด
ในนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือภูมิแห่งเปรต
๒. เธอทั้งหลายพึงชักชวนให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอัน
ไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. เธอทั้งหลายพึงชักชวนให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอัน
ไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๒. ราชการามวรรค ๘. ปฐมเทวจาริกสูตร

๔. เธอทั้งหลายพึงชักชวนให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในศีลที่พระอริยะ
ชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ
เตโชธาตุ วาโยธาตุ อาจกลายเป็นอย่างอื่นได้ แต่อริยสาวกผู้
ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่พึงแปรเป็นอย่างอื่นได้เลย
ในเรื่องนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแปรเป็นอย่างอื่น คือ อริยสาวก
ผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ จักไปเกิดในนรก กำเนิด
สัตว์ดิรัจฉาน หรือภูมิแห่งเปรต
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนเหล่าใด และคนเหล่าใดจะเป็น
มิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิตก็ตาม ให้ความสำคัญคำที่ควรรับฟัง เธอทั้งหลาย
พึงชักชวนคนเหล่านั้นให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้”

ทุติยมิตตามัจจสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปฐมเทวจาริกสูตร
ว่าด้วยการจาริกในเทวโลก สูตรที่ ๑

[๑๐๑๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้หายตัวจากพระเชตวันไปปรากฏบนสวรรค์
ชั้นดาวดึงส์เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ลำดับนั้น
เทพชั้นดาวดึงส์จำนวนมากเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว
ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกับเทพเหล่านั้นดังนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
๑. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ เป็นความดี เพราะการประกอบด้วยความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าเป็นเหตุ สัตว์บางพวกในโลกนี้
หลังจากตายแล้วจึงจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๒. ราชการามวรรค ๙. ทุติยเทวจาริกสูตร

๒. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. การประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไป
เพื่อสมาธิ เป็นความดี เพราะประกอบด้วยศีลที่พระอริยะ
ชอบใจ สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วจึงจะไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์”
เทพเหล่านั้นกล่าวว่า “ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์
๑. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ เป็นความดี เพราะการประกอบด้วยความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าเป็นเหตุ สัตว์บางพวกในโลกนี้
หลังจากตายแล้วจึงจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
๒. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. การประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ เป็นความดี เพราะการประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ
เป็นเหตุ สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วจึงจะไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์”

ปฐมเทวจาริกสูตรที่ ๘ จบ

๙. ทุติยเทวจาริกสูตร
ว่าด้วยการจาริกในเทวโลก สูตรที่ ๒

[๑๐๑๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้หายตัวจากพระเชตวันไปปรากฏบนสวรรค์
ชั้นดาวดึงส์เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ลำดับนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๒. ราชการามวรรค ๙. ทุติยเทวจาริกสูตร

เทพชั้นดาวดึงส์จำนวนมากเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว
ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกับเทพเหล่านั้นดังนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
๑. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ เป็นความดี เพราะการประกอบด้วยความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าเป็นเหตุ สัตว์บางพวกในโลกนี้
หลังจากตายแล้วจึงได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
๒. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. การประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไป
เพื่อสมาธิ เป็นความดี เพราะการประกอบด้วยศีลที่พระอริยะ
ชอบใจเป็นเหตุ สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วจึงได้ไป
เกิดในสุคติโลกสวรรค์”
เทพเหล่านั้นกล่าวว่า “ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์
๑. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ เป็นความดี เพราะการประกอบด้วยความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าเป็นเหตุ สัตว์บางพวกในโลกนี้
หลังจากตายแล้วจึงได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
๒. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกายมหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๒. ราชการามวรรค ๑๐. ตติยเทวจาริกสูตร

๔. การประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไป
เพื่อสมาธิ เป็นความดี เพราะการประกอบด้วยศีลที่พระอริยะ
ชอบใจเป็นเหตุ สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วจึงได้ไป
เกิดในสุคติโลกสวรรค์”

ทุติยเทวจาริกสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ตติยเทวจาริกสูตร
ว่าด้วยการจาริกในเทวโลก สูตรที่ ๓

[๑๐๑๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหายพระองค์จากพระเชตวันไปปรากฏ
บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
ลำดับนั้น เทพชั้นดาวดึงส์จำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเทพเหล่านั้นดังนี้ว่า
“ท่านทั้งหลาย
๑. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ เป็นความดี เพราะการประกอบด้วยความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าเป็นเหตุ สัตว์บางพวกในโลกนี้
จึงเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิในวันข้างหน้า
๒. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. การประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไป
เพื่อสมาธิ เป็นความดี เพราะการประกอบด้วยศีลที่พระอริยะ
ชอบใจเป็นเหตุ สัตว์บางพวกในโลกนี้จึงเป็นโสดาบัน ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกายมหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๒. ราชการามวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

เทพเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
๑. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค เป็นความดี เพราะการประกอบด้วยความเลื่อมใสอัน
ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าเป็นเหตุ หมู่สัตว์นี้จึงเป็นโสดาบัน
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
๒. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. การประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. การประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไป
เพื่อสมาธิ เป็นความดี เพราะการประกอบด้วยศีลที่พระอริยะ
ชอบใจเป็นเหตุ หมู่สัตว์นี้จึงเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มี
ความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

ตติยเทวจาริกสูตรที่ ๑๐ จบ
ราชการามวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สหัสสภิกขุนีสังฆสูตร ๒. พราหมณสูตร
๓. อานันทเถรสูตร ๔. ทุคคติภยสูตร
๕. ทุคคติวินิปาตภยสูตร ๖. ปฐมมิตตามัจจสูตร
๗. ทุติยมิตตามัจจสูตร ๘. ปฐมเทวจาริกสูตร
๙. ทุติยเทวจาริกสูตร ๑๐. ตติยเทวจาริกสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๑. ปฐมมหานามสูตร

๓. สรณานิวรรค
หมวดว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่าสรณานิ
๑. ปฐมมหานามสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ สูตรที่ ๑

[๑๐๑๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์
แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กรุงกบิลพัสดุ์นี้มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก
มีถนนคับแคบ หม่อมฉันนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคหรือภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจ
เวลาเย็น เข้าไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ พบเห็นช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง เกวียนบ้าง
ผู้คนบ้าง ที่พลุกพล่านขวักไขว่ สมัยนั้น หม่อมฉันลืมสติปรารภพระผู้มีพระภาค
พระธรรม และพระสงฆ์ หม่อมฉันคิดว่า ‘หากเราถึงแก่กรรมในเวลานี้ คติของเรา
จะเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพจะเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าทรงกลัวเลย มหาบพิตร อย่าทรงกลัวเลย
มหาบพิตร การสวรรคตของพระองค์จักไม่เลวทราม กาลกิริยาก็จักไม่เลวทราม
มหาบพิตร จิตของผู้ใดผู้หนึ่งที่ได้เจริญด้วยศรัทธา ที่ได้เจริญด้วยศีล ที่ได้เจริญ
ด้วยสุตะ ที่ได้เจริญด้วยจาคะ และที่ได้เจริญด้วยปัญญามาเป็นเวลานาน กายนี้
ของผู้นั้นคุมกันเป็นรูปร่างที่ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากมารดาบิดา
เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมกุมมาส๑ ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอัน
แตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา กาบ้าง แร้งบ้าง นกตะกรุมบ้าง สุนัขบ้านบ้าง
สุนัขจิ้งจอกบ้าง สัตว์หลายชนิดบ้าง ย่อมกัดกินกายนี้ ส่วนจิตของผู้นั้นที่ได้เจริญ
ด้วยศรัทธา ฯลฯ และที่ได้เจริญด้วยปัญญามาเป็นเวลานาน ย่อมสูงขึ้นไปจนถึง
บรรลุคุณวิเศษ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๒.ทุติยมหานามสูตร

มหาบพิตร บุรุษดำลงในห้วงน้ำลึกแล้วทุบหม้อเนยใสหรือหม้อน้ำมัน ก้อน
กรวดหรือกระเบื้องหม้อนั้นพึงจมลง ส่วนเนยใสหรือน้ำมันในหม้อนั้นพึงลอยขึ้น
เหนือน้ำ แม้ฉันใด จิตของผู้ใดผู้หนึ่งที่ได้เจริญด้วยศรัทธา ฯลฯ และที่ได้เจริญ
ด้วยปัญญามาเป็นเวลานาน กายนี้ของผู้นั้นคุมกันเป็นรูปร่างที่ประกอบขึ้น
จากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากมารดาบิดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมกุมมาส
ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา กาบ้าง
แร้งบ้าง นกตะกรุมบ้าง สุนัขบ้านบ้าง สุนัขจิ้งจอกบ้าง สัตว์หลายชนิดบ้าง
ย่อมกัดกินกายนี้ ส่วนจิตของผู้นั้นที่ได้เจริญด้วยศรัทธา ฯลฯ และที่ได้เจริญด้วย
ปัญญามาเป็นเวลานาน ย่อมสูงขึ้นไปจนถึงบรรลุคุณวิเศษ แต่จิตของพระองค์ที่ได้
เจริญด้วยศรัทธา ฯลฯ และที่ได้เจริญด้วยปัญญามาเป็นเวลานานก็ฉันนั้นเหมือนกัน
อย่าทรงกลัวเลย มหาบพิตร อย่าทรงกลัวเลย มหาบพิตร การสวรรคตของพระองค์
จักไม่เลวทราม กาลกิริยาก็จักไม่เลวทราม”

ปฐมมหานามสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทุติยมหานามสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ สูตรที่ ๒

[๑๐๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์
แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กรุงกบิลพัสดุ์นี้ มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก
มีถนนคับแคบ หม่อมฉันนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคหรือภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจ
เวลาเย็น เข้าไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ พบเห็นช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง เกวียนบ้าง
ผู้คนบ้าง ที่พลุกพล่านขวักไขว่ สมัยนั้น หม่อมฉันลืมสติปรารภพระผู้มีพระภาค
พระธรรม และพระสงฆ์ หม่อมฉันคิดว่า ‘หากเราพึงถึงแก่กรรมในเวลานี้ คติ
ของเราจะเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพจะเป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๓. โคธสักกสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าทรงกลัวเลย มหาบพิตร อย่าทรงกลัวเลย
มหาบพิตร การสวรรคตของพระองค์จักไม่เลวทราม กาลกิริยาก็จักไม่เลวทราม
มหาบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมน้อมไปสู่นิพพาน โน้ม
ไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
มหาบพิตร เปรียบเหมือนต้นไม้ที่น้อมไปทางทิศปราจีน โน้มไปทางทิศปราจีน
โอนไปทางทิศปราจีน ต้นไม้นั้นเมื่อถูกตัดโคนจะล้มไปทางไหน”
“จะล้มไปทางที่ต้นไม้น้อมไป โน้มไป โอนไป พระพุทธเจ้าข้า”
“มหาบพิตร อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน อริยสาวกผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๔ ประการนี้ย่อมน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน”

ทุติยมหานามสูตรที่ ๒ จบ

๓. โคธสักกสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่าโคธา

[๑๐๑๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงกบิลพัสดุ์
ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเสด็จเข้าไปหาเจ้าศากยะพระนามว่า
โคธาถึงที่ประทับแล้วได้ตรัสถามเจ้าศากยะพระนามว่าโคธานั้นดังนี้ว่า “โคธา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๓. โคธสักกสูตร

พระองค์ทรงทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเท่าไรว่า ‘เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
เจ้าโคธาศากยะตรัสตอบว่า “มหานามะ หม่อมฉันทราบบุคคลผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๓ ประการว่า ‘เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง
คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญอัน
ยอดเยี่ยมของโลก’
มหานามะ หม่อมฉันทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้ว่า ‘เป็น
พระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
มหานามะ ส่วนพระองค์ทรงทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเท่าไรว่า ‘เป็น
พระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
“โคธา หม่อมฉันทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า ‘เป็นพระ
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๓. โคธสักกสูตร

๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
โคธา หม่อมฉันทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ว่า ‘เป็น
พระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
“ช้าก่อน มหานามะ ช้าก่อน มหานามะ พระผู้มีพระภาคเท่านั้นพึงทรง
ทราบบุคคลนั้นว่าประกอบหรือไม่ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้”
“มาเถิด โคธา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเรื่องนี้”
ลำดับนั้น เจ้ามหานามศากยะและเจ้าโคธาศากยะเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ
ภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร เจ้ามหานามศากยะ
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์เข้าไปหาเจ้าโคธาศากยะแล้วถามว่า ‘โคธา พระองค์ทรงทราบบุคคลผู้
ประกอบด้วยธรรมเท่าไรว่า ‘เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่
จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถามอย่างนี้แล้ว เจ้าโคธาศากยะได้ตรัส
ตอบว่า ‘มหานามะ หม่อมฉันทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการว่า ‘เป็น
พระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง
คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญ
อันยอดเยี่ยมของโลก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๓. โคธสักกสูตร

หม่อมฉันทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้ว่า ‘เป็นพระโสดาบัน
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’ ส่วนพระองค์ทรง
ทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเท่าไรว่า ‘เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มี
ความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเจ้าโคธาศากยะตรัสถามอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้
ตอบเจ้าโคธาศากยะดังนี้ว่า ‘โคธา หม่อมฉันทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการว่า ‘เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิใน
วันข้างหน้า’
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
โคธา หม่อมฉันทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ว่า ‘เป็นพระ
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ตอบอย่างนี้แล้ว เจ้าโคธาศากยะได้
ตรัสว่า ‘ช้าก่อน มหานามะ ช้าก่อน มหานามะ พระผู้มีพระภาคเท่านั้นพึงทรง
ทราบบุคคลนั้นว่าประกอบหรือไม่ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุการณ์๑บางอย่างเกิดขึ้นในพระธรรมวินัยนี้ โดย
ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายพระผู้มีพระภาค อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายภิกษุสงฆ์ ข้าพระองค์


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๓. โคธสักกสูตร

เป็นฝ่ายพระผู้มีพระภาคเท่านั้น ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นผู้
เลื่อมใสอย่างนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในพระธรรมวินัยนี้ โดย
ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายพระผู้มีพระภาค อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์
ข้าพระองค์เป็นฝ่ายพระผู้มีพระภาคเท่านั้น ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์
ว่าเป็นผู้เลื่อมใสอย่างนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในพระธรรมวินัยนี้ โดย
ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายพระผู้มีพระภาค อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์
และอุบาสกทั้งหลาย ข้าพระองค์เป็นฝ่ายพระผู้มีพระภาคเท่านั้น ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นผู้เลื่อมใสอย่างนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในพระธรรมวินัยนี้ โดย
ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายพระผู้มีพระภาค อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์
อุบาสก และอุบาสิกาทั้งหลาย ข้าพระองค์เป็นฝ่ายพระผู้มีพระภาคเท่านั้น
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นผู้เลื่อมใสอย่างนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในพระธรรมวินัยนี้ โดย
ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายพระผู้มีพระภาค อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์
อุบาสก อุบาสิกา ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อม
ทั้งสมณพรามหณ์ เทวดาและมนุษย์ ข้าพระองค์เป็นฝ่ายพระผู้มีพระภาคเท่านั้น
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นผู้เลื่อมใสอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสกับเจ้าโคธาว่า “มหาบพิตร พระองค์จะตรัสอะไรกับเจ้า
มหานามศากยะผู้มีวาทะอย่างนี้”
เจ้าโคธาศากยะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้กล่าว
อะไร ๆ กับเจ้ามหานามศากยะผู้มีวาทะอย่างนี้เลย นอกจากกัลยาณธรรม นอกจาก
กุศลธรรม”

โคธสักกสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๔. ปฐมสรณานิสักกสูตร

๔. ปฐมสรณานิสักกสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่าสรณานิ๑ สูตรที่ ๑

[๑๐๒๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงกบิลพัสดุ์
สมัยนั้น เจ้าศากยะพระนามว่าสรณานิสวรรคตแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรง
พยากรณ์ท้าวเธอว่า “เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิในวันข้างหน้า” ได้ยินว่า ณ ที่นั้น เจ้าศากยะหลายพระองค์มาประชุมพร้อม
กันต่างตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ท่านทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ บัดนี้ใครเล่า ณ ที่นี้จักไม่เป็นพระโสดาบัน เพราะเจ้าสรณานิศากยะ
สวรรคตแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ท้าวเธอว่า ‘เป็นโสดาบัน ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’ แต่เจ้าสรณานิศากยะถึง
ความท้อแท้ในสิกขา เสวยน้ำจัณฑ์”
ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดัง
นี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เจ้าสรณานิศากยะสวรรคตแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ท้าวเธอว่า ‘เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’ ได้ยินว่า ณ ที่นั้น เจ้าศากยะหลายพระ
องค์มาประชุมพร้อมกันต่างตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า ‘ท่านทั้งหลาย
น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ บัดนี้ใครเล่า ณ ที่นี้จักไม่เป็นพระโสดาบัน
เพราะเจ้าสรณานิศากยะสวรรคตแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ท้าวเธอว่า
‘เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’ แต่
เจ้าสรณานิศากยะถึงความท้อแท้ในสิกขา เสวยน้ำจัณฑ์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร อุบาสกผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม และ
พระสงฆ์เป็นสรณะตลอดกาลนาน จะถึงความตกต่ำได้อย่างไร บุคคลเมื่อจะกล่าว
ให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงอุบาสกนั้นใดว่า ‘เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๔. ปฐมสรณานิสักกสูตร

เป็นสรณะตลอดกาลนาน’ บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง ก็พึงกล่าวถึงเจ้าศากยะ
พระนามว่าสรณานิว่า ‘เป็นอุบาสก ผู้ทรงถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
เป็นสรณะตลอดกาลนาน’ พระองค์จะถึงความตกต่ำได้อย่างไร
มหาบพิตร บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม
ฯลฯ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
มีหาสปัญญา (ปัญญาร่าเริง) มีชวนปัญญา (ปัญญาแล่นไป)
และถึงพร้อมด้วยวิมุตติ เขาทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ในปัจจุบัน แม้บุคคลนี้ก็พ้นจากนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภูมิ
แห่งเปรต อบาย ทุคติ และวินิบาต
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม
ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ มีหาสปัญญา มีชวนปัญญา แต่ไม่
ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ เขาจึงเป็นโอปปาติกะ เพราะโอรัมภาคิย-
สังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวน
กลับมาจากโลกนั้นอีก แม้บุคคลนี้ก็พ้นจากนรก กำเนิดสัตว์
ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต อบาย ทุคติ และวินิบาต
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๔. ปฐมสรณานิสักกสูตร

ฯลฯ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
ไม่มีหาสปัญญา ไม่มีชวนปัญญา ทั้งไม่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ
เขาจึงเป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว ก็จะทำ
ที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป เพราะ
บรรเทาราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางได้ แม้บุคคลนี้ก็พ้นจากนรก
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต อบาย ทุคติ และวินิบาต
๔. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม
ฯลฯ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นในพระสงฆ์ ฯลฯ
ไม่มีหาสปัญญา ไม่มีชวนปัญญา ทั้งไม่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ
เขาจึงเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป
แม้บุคคลนี้ก็พ้นจากนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต
อบาย ทุคติ และวินิบาต
๕. ไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ฯลฯ
ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ ไม่มี
หาสปัญญา ไม่มีชวนปัญญา ทั้งไม่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ แต่เขา
มีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์
ปัญญินทรีย์ และธรรมทั้งหลายที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อม
ควรแก่การพิจารณาด้วยปัญญาโดยประมาณ แม้บุคคลนี้ก็ไม่ไป
สู่นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต อบาย ทุคติ และ
วินิบาต
๖. ไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ฯลฯ
ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ ไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๕. ทุติยสรณานิสักกสูตร

หาสปัญญา ไม่มีชวนปัญญา ทั้งไม่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ แต่เขา
มีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ และเขามี
ศรัทธาพอประมาณ ความรักพอประมาณในพระตถาคต แม้
บุคคลเหล่านี้ก็ไม่ไปสู่นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต
อบาย ทุคติ และวินิบาต
มหาบพิตร แม้หากต้นสาละใหญ่เหล่านี้พึงรู้จักคำสุภาษิต คำทุพภาษิต
อาตมภาพก็จะพยากรณ์ต้นสาละใหญ่เหล่านี้ว่า ‘เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มี
ความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเจ้าสรณานิศากยะ
เลย เพราะเจ้าสรณานิศากยะได้สมาทานสิกขาบทในเวลาจะสวรรคต”

ปฐมสรณานิสักกสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยสรณานิสักกสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่าสรณานิ สูตรที่ ๒

[๑๐๒๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงกบิลพัสดุ์
สมัยนั้น เจ้าศากยะพระนามว่าสรณานิสวรรคตแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรง
พยากรณ์ท้าวเธอว่า “เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิในวันข้างหน้า” ได้ยินว่า ณ ที่นั้น เจ้าศากยะหลายพระองค์มาประชุม
พร้อมกัน ต่างตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ท่านทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ บัดนี้ใครเล่า ณ ที่นี้จักไม่เป็นพระโสดาบัน เพราะเจ้า
สรณานิศากยะสวรรคตแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ท้าวเธอว่า ‘เป็น
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’ แต่เจ้า
สรณานิศากยะมิได้ทรงบำเพ็ญสิกขาให้บริบูรณ์”
ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เจ้าสรณานิศากยะสวรรคตแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๕. ทุติยสรณานิสักกสูตร

พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ท้าวเธอว่า ‘เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’ ได้ยินว่า ณ ที่นั้น เจ้าศากยะหลาย
พระองค์มาประชุมพร้อมกัน ต่างตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า ‘ท่านทั้งหลาย
น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ บัดนี้ใครเล่า ณ ที่นี้จักไม่เป็นพระโสดาบัน เพราะ
เจ้าสรณานิศากยะสวรรคตแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ท้าวเธอว่า ‘เป็น
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’ แต่เจ้า
สรณานิศากยะมิได้ทรงบำเพ็ญสิกขาให้บริบูรณ์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร อุบาสกผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม และ
พระสงฆ์เป็นสรณะตลอดกาลนาน จะถึงความตกต่ำได้อย่างไร บุคคลเมื่อจะกล่าว
ให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงอุบาสกนั้นใดว่า ‘เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม และ
พระสงฆ์เป็นสรณะตลอดกาลนาน’ บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงเจ้า
สรณานิศากยะว่า ‘เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะตลอด
กาลนาน’ พระองค์จะถึงความตกต่ำได้อย่างไร
มหาบพิตร บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้มั่นคง เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ เป็นผู้
มั่นคง เลื่อมใสยิ่งในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ
มีหาสปัญญา มีชวนปัญญา และถึงพร้อมด้วยวิมุตติ เขาย่อม
ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน แม้บุคคลนี้
ก็พ้นจากนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต อบาย ทุคติ
และวินิบาต
๒. เป็นผู้มั่นคง เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ เป็นผู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๕. ทุติยสรณานิสักกสูตร

มั่นคง เลื่อมใสยิ่งในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ
มีหาสปัญญา มีชวนปัญญา แต่ไม่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ เพราะ
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป เขาจึงเป็นพระอนาคามี
ผู้อันตราปรินิพพายี เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี
เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี เป็นพระอนาคามีผู้
สสังขารปรินิพพายี เป็นพระอนาคามีผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี
แม้บุคคลนี้ก็พ้นจากนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต
อบาย ทุคติ และวินิบาต
๓. เป็นผู้มั่นคง เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ เป็นผู้
มั่นคง เลื่อมใสยิ่งในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ ไม่มี
หาสปัญญา ไม่มีชวนปัญญา ทั้งไม่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ เขาจึง
เป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป เพราะ
บรรเทาราคะ โทสะ และโมหะให้เบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้ง
เดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้บุคคลนี้ก็พ้นจากนรก กำเนิด
สัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต อบาย ทุคติ และวินิบาต
๔. เป็นผู้มั่นคง เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ เป็นผู้
มั่นคง เลื่อมใสยิ่งในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ ไม่มี
หาสปัญญา ไม่มีชวนปัญญา ทั้งไม่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ เขาจึง
เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิในวันข้างหน้า เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป แม้บุคคล
นี้ก็พ้นจากนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต อบาย ทุคติ
และวินิบาต
๕. เป็นผู้มั่นคง เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้า ฯลฯ ในพระธรรม ฯลฯ
ในพระสงฆ์ ฯลฯ ไม่มีหาสปัญญา ไม่มีชวนปัญญา ทั้งไม่ถึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๕. ทุติยสรณานิสักกสูตร

พร้อมด้วยวิมุตติ แต่เขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ
ปัญญินทรีย์ และธรรมทั้งหลายที่ตถาคตประกาศ ย่อมควรแก่
การพิจารณาด้วยปัญญาโดยประมาณ แม้บุคคลนี้ก็ไม่ไปสู่นรก
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต อบาย ทุคติ และวินิบาต
๖. เป็นผู้มั่นคง เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้า ฯลฯ ในพระธรรม ฯลฯ
ในพระสงฆ์ ฯลฯ ไม่มีหาสปัญญา ไม่มีชวนปัญญา ทั้งไม่ถึง
พร้อมด้วยวิมุตติ แต่เขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ
ปัญญินทรีย์ และเขามีศรัทธาพอประมาณ มีความรักพอ
ประมาณในพระตถาคต แม้บุคคลนี้ก็ไม่ไปสู่นรก กำเนิด
สัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต อบาย ทุคติ และวินิบาต
มหาบพิตร เปรียบเหมือนนาไม่ดี พื้นดินเสีย ไม่ได้ถอนตอ พืชก็หัก เน่าเสีย
ถูกลมและแดดทำลาย ไม่มีแก่นสาร เก็บไว้ไม่ดี ถึงฝนก็ตกลงมาไม่ดี พืชเหล่า
นั้นจะเจริญงอกงามเติบโตได้หรือไม่”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“มหาบพิตร อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น ธรรมในศาสนานี้ที่กล่าวไม่ดี
ประกาศไม่ดี ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่ใช่พระสัมมาสัม
พุทธเจ้าประกาศ อาตมภาพกล่าวถึงเรื่องนี้ในเพราะนาไม่ดี และสาวกก็เป็น
ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมในธรรมนั้นอยู่
อาตมภาพกล่าวถึงเรื่องนี้ในเพราะพืชไม่ดี
มหาบพิตร เปรียบเหมือนนาดี พื้นดินดี ถอนตอแล้ว พืชก็ไม่หัก ไม่เน่าเสีย
ไม่ถูกลมและแดดทำลาย มีแก่นสาร เก็บไว้ดี และฝนก็ตกลงมาดี พืชเหล่านั้นจะ
เจริญงอกงามเติบโตได้หรือไม่”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“มหาบพิตร อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น ธรรมในศาสนานี้ที่กล่าวดี
ประกาศดี นำสัตว์ออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๖. ปฐมอานาถปิณฑิกสูตร

ประกาศ อาตมภาพกล่าวถึงเรื่องนี้ในเพราะนาดี และสาวกก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมในธรรมนั้นอยู่ อาตมภาพกล่าว
ถึงเรื่องนี้ในเพราะพืชดี ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเจ้าสรณานิศากยะเลย เพราะเจ้า
สรณานิศากยะได้ทรงบำเพ็ญสิกขาให้บริบูรณ์ในเวลาจะสวรรคต”

ทุติยสรณานิสักกสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปฐมอนาถปิณฑิกสูตร
ว่าด้วยอนาถบิณฑิกคหบดี สูตรที่ ๑

[๑๐๒๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า “มาเถิด พ่อมหาจำเริญ เจ้าจง
เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ กราบเท้าทั้งสองของท่านด้วยเศียรเกล้าตามคำ
ของเราว่า ‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก
ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของพระคุณท่านด้วยเศียรเกล้า’ และเจ้าจงกราบเรียนอย่าง
นี้ว่า ‘ขอท่านพระสารีบุตรโปรดอนุเคราะห์เข้าไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกคหบดีถึง
นิเวศน์ด้วยเถิด”
บุรุษนั้นรับคำแล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบเรียนท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านอนาถ-
บิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของพระคุณ
ท่านด้วยเศียรเกล้า และฝากมากราบเรียนอย่างนี้ว่า ‘ขอท่านพระสารีบุตรโปรด
อนุเคราะห์เข้าไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกคหบดีถึงนิเวศน์ด้วยเถิด”
ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร มี
ท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี นั่ง
บนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้วถามท่านอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านยัง
สบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการ
ทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๖. ปฐมอานาถปิณฑิกสูตร

ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีตอบว่า “กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนา
มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ
ขอรับ”
“คหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
๑. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสเช่นใดในพระพุทธเจ้า หลังจากตาย
แล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใส
เช่นนั้นในพระพุทธเจ้า ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีความ
เลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ก็เมื่อท่าน
พิจารณาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้นว่ามี
อยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน
๒. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสเช่นใดในพระธรรม หลังจากตาย
แล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใส
เช่นนั้นในพระธรรม ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสไว้ดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’ ก็เมื่อท่าน
พิจารณาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมนั้นว่ามีอยู่
ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน
๓. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสเช่นใดในพระสงฆ์ หลังจากตาย
แล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใส
เช่นนั้นในพระสงฆ์ ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระ
ภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก’ ก็
เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์นั้น
ว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน
๔. ประกอบด้วยความเป็นผู้ทุศีลเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความเป็นผู้ทุศีลเช่นนั้น ย่อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๖. ปฐมอานาถปิณฑิกสูตร

ไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ
เป็นไปเพื่อสมาธิ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นศีลที่พระอริยะชอบใจ
นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน
๕. ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาทิฏฐิเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน
เพราะท่านมีสัมมาทิฏฐิ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาทิฏฐินั้น
ว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน
๖. ประกอบด้วยมิจฉาสังกัปปะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสังกัปปะเช่นนั้น ย่อม
ไม่มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมาสังกัปปะ ก็เมื่อท่านพิจารณา
เห็นสัมมาสังกัปปะนั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไป
โดยพลัน
๗. ประกอบด้วยมิจฉาวาจาเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวาจาเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน
เพราะท่านมีสัมมาวาจา ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาวาจานั้นว่า
มีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน
๘. ประกอบด้วยมิจฉากัมมันตะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉากัมมันตะเช่นนั้น ย่อมไม่
มีแก่ท่าน เพราะท่านมีสัมมากัมมันตะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็น
สัมมากัมมันตะนั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไป
โดยพลัน
๙. ประกอบด้วยมิจฉาอาชีวะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาอาชีวะเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน
เพราะท่านมีสัมมาอาชีวะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาอาชีวะ
นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๖. ปฐมอานาถปิณฑิกสูตร

๑๐. ประกอบด้วยมิจฉาวายามะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวายามะเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน
เพราะท่านมีสัมมาวายามะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาวายามะ
นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน
๑๑. ประกอบด้วยมิจฉาสติเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสติเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน
เพราะท่านมีสัมมาสติ ก็ท่านพิจารณาเห็นสัมมาสตินั้นว่ามีอยู่ในตน
เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน
๑๒. ประกอบด้วยมิจฉาสมาธิเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสมาธิเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน
เพราะท่านมีสัมมาสมาธิ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาสมาธิ
นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน
๑๓. ประกอบด้วยมิจฉาญาณะเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาญาณะเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน
เพราะท่านมีสัมมาญาณะ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาญาณะ
นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน
๑๔. ประกอบด้วยมิจฉาวิมุตติเช่นใด หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวิมุตติเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะท่าน
มีสัมมาวิมุตติ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นสัมมาวิมุตติ
นั้นว่ามีอยู่ในตน เวทนาก็จะสงบระงับไปโดยพลัน”
ขณะนั้น เวทนาของท่านอนาถบิณฑิกคหบดีได้สงบระงับไปโดยพลัน ท่าน
อนาถบิณฑิกคหบดีอังคาสท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์ด้วยอาหารที่เขา
จัดไว้สำหรับตนแล้ว จึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า เมื่อท่านพระ
สารีบุตรฉันเสร็จวางมือจากบาตรแล้วจึงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๗. ทุติยอนาถปิณฑิกสูตร

“ผู้ใดมีศรัทธาในพระตถาคตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
มีศีลอันงามที่พระอริยะชอบใจ(และ)สรรเสริญ
มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง๑
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน
ชีวิตของเขาก็ไม่สูญเปล่า
เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา
เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ควรหมั่นประกอบศรัทธา ศีล
ความเลื่อมใส๒ และการเห็นธรรม๓”
ครั้นท่านพระสารีบุตรอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้แล้ว ก็ลุกจากอาสนะจากไป
ต่อมา ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
เธอมาจากที่ไหนแต่ยังวัน”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกล่าว
สอนท่านอนาถบิณฑิกคหบดีด้วยโอวาทนี้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ สารีบุตร
เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ได้จำแนกองค์เครื่องบรรลุโสดาด้วยอาการ ๑๐ อย่าง”

ปฐมอนาถปิณฑิกสูตรที่ ๖ จบ

๗. ทุติยอนาถปิณฑิกสูตร
ว่าด้วยอนาถบิณฑิกคหบดี สูตรที่ ๒

[๑๐๒๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า “มาเถิด พ่อมหาจำเริญ เจ้าจง


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๗. ทุติยอนาถปิณฑิกสูตร

เข้าไปหาท่านพระอานนท์ กราบเท้าทั้งสองของท่านด้วยเศียรเกล้าตามคำของเราว่า
‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่าน
ขอกราบเท้าทั้งสองของพระคุณท่านด้วยเศียรเกล้า’ และเจ้าจงกราบเรียนอย่างนี้ว่า
‘ขอท่านพระอานนท์โปรดอนุเคราะห์เข้าไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกคหบดีถึงนิเวศน์
ด้วยเถิด”
บุรุษนั้นรับคำของท่านอนาถบิณฑิกคหบดีแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึง
ที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบเรียนท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า
“พระคุณเจ้าผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอ
กราบเท้าทั้งสองของพระคุณท่านด้วยเศียรเกล้า และฝากมากราบเรียนอย่างนี้ว่า
‘ขอท่านพระอานนท์โปรดอนุเคราะห์เข้าไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกคหบดีถึงนิเวศน์
ด้วยเถิด”
ท่านพระอานนท์รับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไป
ยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้วถามอนาถ-
บิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกข-
เวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ”
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีตอบว่า “กระผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกข-
เวทนามีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่
ปรากฏขอรับ”
“คหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมสะดุ้ง
หวาดหวั่น กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้
๑. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ก็เมื่อเขาพิจารณา
เห็นความไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้านั้นว่ามีอยู่ในตน ย่อมสะดุ้ง
หวาดหวั่น กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า
๒. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระธรรม ก็เมื่อเขาพิจารณา
เห็นความไม่เลื่อมใสในพระธรรมนั้นว่ามีอยู่ในตน ย่อมสะดุ้ง
หวาดหวั่น กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๗. ทุติยอนาถปิณฑิกสูตร

๓. ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ ก็เมื่อเขาพิจารณาเห็น
ความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์นั้นว่ามีอยู่ในตน ย่อมสะดุ้ง หวาดหวั่น
กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า
๔. ประกอบด้วยความทุศีล ก็เมื่อเขาพิจารณาเห็นความทุศีลนั้นว่า
มีอยู่ในตน ย่อมสะดุ้ง หวาดหวั่น กลัวความตายที่จะมาถึง
ภายหน้า
คหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมสะดุ้ง
หวาดหวั่น กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า
อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมไม่สะดุ้ง ไม่หวาด
หวั่น ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ พระอริยสาวกผู้ได้สดับในพระธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเลื่อมใสอันไม่ หวั่นไหว
ในพระพุทธเจ้านั้นว่ามีอยู่ในตน ย่อมไม่สะดุ้ง ไม่หวาดหวั่น
ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ‘พระธรรม
เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้
เฉพาะตน’ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว
ในพระธรรมนั้นว่ามีอยู่ในตน ย่อมไม่สะดุ้ง ไม่หวาดหวั่น ไม่
กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญ
อันยอดเยี่ยมของโลก’ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเลื่อมใส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๘. ปฐมภยเวรูปสันตสูตร

อันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์นั้นว่ามีอยู่ในตน ย่อมไม่สะดุ้ง ไม่
หวาดหวั่น ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ ก็เมื่อท่านพิจารณาเห็นศีลที่พระอริยะชอบใจนั้นว่ามีอยู่ในตน
ย่อมไม่สะดุ้ง ไม่หวาดหวั่น ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า
คหบดี พระอริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมไม่สะดุ้ง
ไม่หวาดหวั่น ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงภายหน้า
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีกล่าวว่า “ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ผมไม่กลัว ผม
จักกล่าวอะไร เพราะผม
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญ
อันยอดเยี่ยมของโลก’
๔. สิกขาบทเหล่าใดซึ่งสมควรแก่คฤหัสถ์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้
ผมยังไม่เห็นสิกขาบทเหล่านั้นในตนสักข้อว่าขาดไป”
“คหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว โสดาปัตติผลท่านทำให้แจ้งแล้ว”

ทุติยอนาถปิณฑิกสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปฐมภยเวรูปสันตสูตร
ว่าด้วยอริยสาวกระงับภัยเวร สูตรที่ ๑

[๑๐๒๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคหบดีผู้นั่ง ณ ที่สมควรว่า
“คหบดี เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการได้แล้ว ประกอบด้วยองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๘. ปฐมภยเวรูปสันตสูตร

เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ และเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรม๑ด้วยปัญญาแล้ว
เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นเมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว
มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาต
สิ้นแล้ว เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย จึงประสบภัยเวรที่
เป็นไปในปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง เสวยทุกข์โทมนัส
ทางใจบ้าง บุคคลผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์แล้ว ย่อมระงับภัย
เวรนั้นได้อย่างนี้
๒. บุคคลผู้ลักทรัพย์ ฯลฯ
๓. บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ
๔. บุคคลผู้พูดเท็จ ฯลฯ
๕. บุคคลผู้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความ
ประมาท เพราะการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุ
แห่งความประมาทเป็นปัจจัย จึงประสบภัยเวรที่เป็นไปใน
ปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง เสวยทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง
บุคคลผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็น
เหตุแห่งความประมาทแล้ว ย่อมระงับภัยเวรนั้นได้อย่างนี้
อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้
อริยสาวกประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๘. ปฐมภยเวรูปสันตสูตร

๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
อริยสาวกประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้
อริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญา เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้มนสิการโดยแยบคายด้วยดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาท
คือ เมื่อเหตุ (มีอวิชชาเป็นต้น) นี้มี ผล (มีสังขารเป็นต้น)นี้จึงมี เพราะสหชาตปัจจัย
นี้เกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ คือ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
ฯลฯ
ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ด้วยประการฉะนี้
เพราะอวิชชาดับไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ
ฯลฯ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ด้วยประการฉะนี้
อริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญา เป็นอย่างนี้แล
เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้ ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุ
โสดา ๔ ประการนี้ และเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญาแล้ว เมื่อนั้น
อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่ พึงพยายากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มี
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาต
สิ้นแล้ว เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวัน
ข้างหน้า”๑

ปฐมภยเวรูปสันตสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค ๑๐. นันทกลิจฉวิสูตร

๙. ทุติยภยเวรูปสันตสูตร
ว่าด้วยอริยสาวกระงับภัยเวร สูตรที่ ๒

[๑๐๒๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้ ประกอบด้วย
องค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้ และเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญา
แล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นเมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว
มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้น
แล้ว เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

ทุติยภยเวรูปสันตสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. นันทกลิจฉวิสูตร
ว่าด้วยมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวี ชื่อนันทกะ

[๑๐๒๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวี ชื่อนันทกะ เข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสถามมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวี ชื่อนันทกะดังนี้ว่า
“นันทกะ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นโสดาบัน ไม่มี
ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๓. สรณานิวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
นันทกะ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นโสดาบัน ไม่มี
ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
อนึ่ง อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วย
อายุทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบด้วยวรรณะทั้งที่เป็นทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบด้วยสุขทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็น
ผู้ประกอบด้วยยศทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็น
ใหญ่ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์
นันทกะ ก็เราได้ฟังสมณะหรือพราหมณ์อื่น จึงกล่าวเรื่องนั้นหามิได้ แต่เรา
รู้เอง เห็นเอง ทราบเอง จึงกล่าวเรื่องนั้น”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว บุรุษคนหนึ่งได้กล่าวกับมหาอำมาตย์
ของเจ้าลิจฉวี ชื่อนันทกะว่า “ถึงเวลาอาบน้ำแล้ว ขอรับ” มหาอำมาตย์ของ
เจ้าลิจฉวี ชื่อนันทกะกล่าวว่า “นาย บัดนี้ เรายังไม่ต้องการอาบน้ำภายนอก
ต้องการอาบน้ำภายใน คือความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค”

นันทกลิจฉวิสูตรที่ ๑๐ จบ
สรณานิวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมมหานามสูตร ๒. ทุติยมหานามสูตร
๓. โคธสักกสูตร ๔. ปฐมสรณานิสักกสูตร
๕. ทุติยสรณานิสักกสูตร ๖. ปฐมอนาถปิณฑิกสูตร
๗. ทุติยอนาถปิณฑิกสูตร ๘. ปฐมภยเวรูปสันตสูตร
๙. ทุติยภยเวรูปสันตสูตร ๑๐. นันทกลิจฉวิสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๔. ปุญญาภิสันทวรรค ๑. ปฐมปุญญาภิสันทสูตร

๔. ปุญญาภิสันทวรรค
หมวดว่าด้วยห้วงบุญกุศล
๑. ปฐมปุญญาภิสันทสูตร
ว่าด้วยห้วงบุญกุศล สูตรที่ ๑

[๑๐๒๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศล๑ ๔ ประการนี้ นำสุข
มาให้
ห้วงบุญกุศล ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ประการที่ ๑
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ‘พระธรรม
เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้
เฉพาะตน’ นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ประการที่ ๒
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นนาบุญอัน
ยอดเยี่ยมของโลก’ นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ประการที่ ๓
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ประการที่ ๔
ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ ๔ ประการนี้”

ปฐมปุญญาภิสันทสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๔. ปุญญาภิสันทวรรค ๓. ตติยปุญญาภิสันทสูตร

๒. ทุติยปุญญาภิสันทสูตร
ว่าด้วยห้วงบุญกุศล สูตรที่ ๒

[๑๐๒๘] “ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ ๔ ประการนี้
ห้วงบุญกุศล ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ประการที่ ๑
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว
มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ทาน
และการแจกทาน อยู่ครองเรือน นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้
ประการที่ ๔
ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ ๔ ประการนี้”

ทุติยปุญญาภิสันทสูตรที่ ๒ จบ

๓. ตติยปุญญาภิสันทสูตร
ว่าด้วยห้วงบุญกุศล สูตรที่ ๓

[๑๐๒๙] “ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ ๔ ประการนี้
ห้วงบุญกุศล ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๔. ปุญญาภิสันทวรรค ๔. ปฐมเทวปทสูตร

ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ประการที่ ๑
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้ง
ความเกิด และความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึง
ความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ประการ
ที่ ๔
ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ ๔ ประการนี้”

ตติยปุญญาภิสันทสูตรที่ ๓ จบ

๔. ปฐมเทวปทสูตร
ว่าด้วยเทวบท สูตรที่ ๑

[๑๐๓๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เทวบท (ข้อปฏิบัติของเทพ) ของเทพ๑ ทั้งหลาย ๔ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่บริสุทธิ์ เพื่อความผ่องแผ้วของ
สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ผ่องแผ้ว
เทวบท ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ นี้เป็นเทวบทของเทพทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๔. ปุญญาภิสันทวรรค ๕. ทุติยเทวปทสูตร

บริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่บริสุทธิ์ เพื่อความผ่องแผ้วของ
สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ผ่องแผ้วประการที่ ๑
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
นี้เป็นเทวบทของเทพทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของ
สัตว์ทั้งหลาย ผู้ไม่บริสุทธิ์ เพื่อความผ่องแผ้วของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้ไม่ผ่องแผ้วประการที่ ๔
ภิกษุทั้งหลาย เทวบทของเทพทั้งหลาย ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ
ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่บริสุทธิ์ เพื่อความผ่องแผ้วของสัตว์ทั้งหลายผู้
ไม่ผ่องแผ้ว”

ปฐมเทวปทสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยเทวปทสูตร
ว่าด้วยเทวบท สูตรที่ ๒

[๑๐๓๑] “ภิกษุทั้งหลาย เทวบทของเทพทั้งหลาย ๔ ประการนี้ ย่อมเป็น
ไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่บริสุทธิ์ เพื่อความผ่องแผ้วของสัตว์
ทั้งหลายผู้ไม่ผ่องแผ้ว
เทวบท ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ อริยสาวกนั้นพิจารณาดังนี้ว่า ‘อะไรหนอเป็นเทวบท
ของเทพทั้งหลาย’ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เราได้ยินในบัดนี้ว่า
เทพทั้งหลายมีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง เราก็มิได้
เบียดเบียนใคร ๆ ไม่ว่าผู้สะดุ้งหรือมั่นคง เราเป็นผู้ประกอบ
ด้วยธรรมคือเทวบทอยู่แน่แท้ นี้เป็นเทวบทของเทพทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๔. ปุญญาภิสันทวรรค ๖. เทวสภาคสูตร

ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่บริสุทธิ์ เพื่อความ
ผ่องแผ้วของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ผ่องแผ้วประการที่ ๑
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ อริยสาวกนั้นพิจารณาดังนี้ว่า ‘อะไรหนอเป็นเทวบท
ของเทพทั้งหลาย’ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เราได้ยินในบัดนี้ว่า
เทพทั้งหลายมีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง เราก็มิได้
เบียดเบียนใคร ๆ ไม่ว่าผู้สะดุ้งหรือมั่นคง เราเป็นผู้ประกอบ
ด้วยธรรมคือ เทวบทอยู่แน่แท้’ นี้เป็นเทวบทของเทพทั้งหลาย
ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่บริสุทธิ์ เพื่อ
ความผ่องแผ้วของสัตว์ทั้งหลาย ผู้ไม่ผ่องแผ้วประการที่ ๔
ภิกษุทั้งหลาย เทวบทของเทพทั้งหลาย ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ
ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่บริสุทธิ์ เพื่อความผ่องแผ้วของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้ไม่ผ่องแผ้ว”

ทุติยเทวปทสูตรที่ ๕ จบ

๖. เทวสภาคสูตร
ว่าด้วยผู้มีธรรมมาสู่เทวสภา

[๑๐๓๒] “ภิกษุทั้งหลาย เทพทั้งหลายปลื้มใจกล่าวถึงบุคคลผู้ประกอบด้วย
ธรรม ๔ ประการ ซึ่งมาในที่ประชุม(ของเทพ)
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ เทพทั้งหลายผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๔. ปุญญาภิสันทวรรค ๗. มหานามสูตร

ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า จุติจากภพนี้แล้ว ไปเกิดในภพนั้น
คิดว่า ‘พวกเราประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวเช่นใด
ในพระพุทธเจ้า จึงจุติจากภพนั้นแล้ว มาเกิดในที่นี้ แม้อริยสาวก
ผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวเช่นนั้นในพระพุทธเจ้า
ก็ไปเกิดในสำนักเทพทั้งหลาย ได้รับคำเชื้อเชิญว่ามาเถิด
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ เทพทั้งหลายผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ จุติ
จากภพนี้แล้ว ไปเกิดในภพนั้นคิดว่า ‘พวกเราประกอบด้วยศีล
ที่พระอริยะชอบใจเช่นใด จุติจากภพนั้นแล้ว มาเกิดในที่นี้ แม้
อริยสาวกผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจเช่นนั้น ก็ไปเกิด
ในสำนักของเทพทั้งหลาย ได้รับคำเชื้อเชิญว่ามาเถิด’
ภิกษุทั้งหลาย เทพทั้งหลายปลื้มใจ กล่าวถึงบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการนี้ ซึ่งมาในที่ประชุม(ของเทพ)”

เทวสภาคสูตรที่ ๖ จบ

๗. มหานามสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ

[๑๐๓๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุง
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงชื่อว่า
เป็นอุบาสก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร บุคคลถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ถึงพระธรรมเป็นสรณะ และถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลจึง
ชื่อว่าเป็นอุบาสก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๔. ปุญญาภิสันทวรรค ๗. มหานามสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยศีล”
“มหาบพิตร อุบาสกเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์
เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ และเว้นขาดจากการ
เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยศรัทธา”
“มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของ
ตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ด้วยเหตุเพียง
เท่านี้ อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยจาคะ”
“มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้
ทานและการแจกทาน อยู่ครองเรือน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยจาคะ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึง
พร้อมด้วยปัญญา”
“มหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึง
ความสิ้นทุกข์โดยชอบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อุบาสกจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา”

มหานามสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๔. ปุญญาภิสันทวรรค ๙. กาฬิโคธสูตร

๘. วัสสสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยฝนตก

[๑๐๓๔] “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกบนยอดภูเขา น้ำนั้นไหลไป
ตามที่ลุ่ม ทำซอกเขา ลำธาร และห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มแล้ว
ทำหนองให้เต็ม หนองเต็มแล้ว ทำบึงให้เต็ม บึงเต็มแล้ว ทำแม่น้ำน้อยให้เต็ม
แม่น้ำน้อยเต็มแล้ว ทำแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้ว ก็ทำมหาสมุทรให้เต็ม
แม้ฉันใด ธรรมเหล่านี้ของอริยสาวก คือ ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า
ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์
และศีลที่พระอริยะชอบใจ ไหลไปถึงฝั่งแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน”

วัสสสูตรที่ ๘ จบ

๙. กาฬิโคธสูตร
ว่าด้วยพระนางสากิยานีพระนามว่ากาฬิโคธา

[๑๐๓๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุง
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก
ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของพระนางสากิยานีพระนามว่ากาฬิโคธา
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว พระนางกาฬิโคธาสากิยานีเสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสกับพระนางกาฬิโคธาสากิยานีดังนี้ว่า
“โคธา อริยสาวิกาผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นโสดาบัน ไม่มี
ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวิกาในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า “แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๔. ปุญญาภิสันทวรรค ๑๐. นันทิยสักกสูตร

๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว
มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ทาน
และการแจกทาน อยู่ครองเรือน
โคธา อริยสาวิกาผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นโสดาบัน ไม่มี
ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
พระนางกาฬิโคธาสากิยานีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ องค์เครื่อง
บรรลุโสดา ๔ ประการนี้ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ธรรม(คือองค์เครื่องบรรลุโสดา)
เหล่านั้นมีอยู่ในหม่อมฉัน และหม่อมฉันก็เห็นธรรมเหล่านั้น เพราะว่าหม่อมฉัน
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
อนึ่ง ไทยธรรมทุกอย่างในตระกูล เป็นของไม่แบ่งแยกกับท่านผู้มีศีล มีธรรม
อันงาม”
“โคธา เป็นลาภของเธอ เธอได้ดีแล้ว โสดาปัตติผลเธอทำให้แจ้งแล้ว”

กาฬิโคธาสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. นันทิยสักกสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะ

[๑๐๓๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุง
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะเสด็จเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๔. ปุญญาภิสันทวรรค ๑๐. นันทิยสักกสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอริยสาวกใด ไม่มีองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ
โดยประการทั้งปวง พระอริยสาวกนั้นชื่อว่าอยู่ด้วยความประมาทหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นันทิยะ บุคคลใด ไม่มีองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔
ประการ โดยประการทั้งปวง เราเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นผู้เหินห่าง ตั้งอยู่ในฝ่าย
ปุถุชน อนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท และอยู่ด้วยความไม่ประมาท
โดยวิธีใด ท่านจงฟัง จงใส่ใจวิธีนั้นให้ดี เราจักกล่าว” เจ้านันทิยศากยะทูล
รับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
“นันทิยะ อริยสาวกผู้อยู่ด้วยความประมาท เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ อริยสาวกพอใจด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว
ในพระพุทธเจ้านั้น ไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไปเพื่อความสงัดในกลางวัน
เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน เมื่ออริยสาวกเป็นผู้ประมาทอยู่อย่างนี้
ย่อมไม่มีปราโมทย์ เมื่อไม่มีปราโมทย์ ก็ไม่มีปีติ เมื่อไม่มีปีติ
ก็ไม่มีปัสสัทธิ เมื่อไม่มีปัสสัทธิ ก็อยู่เป็นทุกข์ จิตของผู้มีทุกข์
ย่อมไม่ตั้งมั่น เมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ธรรมทั้งหลายก็ไม่ปรากฏ
เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ จึงนับว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความ
ประมาทโดยแท้
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ อริยสาวกพอใจด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจนั้น ไม่พยายาม
ให้ยิ่งขึ้นไปเพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน
เมื่ออริยสาวกเป็นผู้ประมาทอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีปราโมทย์ เมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๔. ปุญญาภิสันทวรรค ๑๐. นันทิยสักกสูตร

ไม่มีปราโมทย์ ก็ไม่มีปีติ เมื่อไม่มีปีติ ก็ไม่มีปัสสัทธิ เมื่อไม่มี
ปัสสัทธิ ก็อยู่เป็นทุกข์ จิตของผู้มีทุกข์ย่อมไม่ตั้งมั่น เมื่อจิตไม่
ตั้งมั่น ธรรมทั้งหลายก็ไม่ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ
จึงนับว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทโดยแท้
นันทิยะ อริยสาวกผู้อยู่ด้วยความประมาท เป็นอย่างนี้แล
อริยสาวกผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ อริยสาวกไม่พอใจด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว
ในพระพุทธเจ้านั้น พยายามให้ยิ่งขึ้นไปเพื่อความสงัดในกลางวัน
เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน เมื่ออริยสาวกเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่
อย่างนี้ ปราโมทย์ย่อมเกิด เมื่อปราโมทย์เกิดแล้ว ปีติย่อมเกิด
เมื่อใจมีปีติ กายย่อมระงับ ผู้มีกายระงับย่อมเสวยสุข จิตของ
ผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่น ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ
เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ จึงนับว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่
ประมาทโดยแท้
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ อริยสาวกไม่พอใจด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ พยายาม
ให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน
เมื่ออริยสาวกเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่อย่างนี้ ปราโมทย์ย่อมเกิด
เมื่อปราโมทย์เกิดแล้ว ปีติย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมระงับ
ผู้มีกายระงับย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น เมื่อจิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๔. ปุญญาภิสันทวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ตั้งมั่น ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ
จึงนับว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทโดยแท้
นันทิยะ อริยสาวกผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท เป็นอย่างนี้แล”

นันทิยสักกสูตรที่ ๑๐ จบ
ปุญญาภิสันทวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมปุญญาภิสันทสูตร ๒. ทุติยปุญญาภิสันทสูตร
๓. ตติยปุญญาภิสันทสูตร ๔. ปฐมเทวปทสูตร
๕. ทุติยเทวปทสูตร ๖. เทวสภาคสูตร
๗. มหานามสูตร ๘. วัสสสูตร
๙. กาฬิโคธสูตร ๑๐. นันทิยสักกสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๕. สคาถกปุญญภิสันทวรรค ๑. ปฐมอภิสันทสูตร

๕. สคาถกปุญญาภิสันทวรรค
หมวดว่าด้วยห้วงบุญกุศลที่มีคาถาปน
๑. ปฐมอภิสันทสูตร
ว่าด้วยห้วงบุญกุศล สูตรที่ ๑

[๑๐๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ ๔
ประการนี้
ห้วงบุญกุศล ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ประการที่ ๑
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ประการที่ ๔
ห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ ๔ ประการนี้
การที่จะกำหนดประมาณบุญของอริยสาวกผู้ประกอบด้วยห้วงบุญกุศล ๔
ประการนี้ว่า ‘ห้วงบุญกุศลมีประมาณเท่านี้ นำสุขมาให้’ ดังนี้ ไม่ใช่จะทำได้ง่าย
แท้ที่จริง ห้วงบุญกุศลนี้ย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณ
ไม่ได้เลย’
การที่จะกำหนดปริมาณของน้ำในมหาสมุทรว่า ‘น้ำมีปริมาณเท่านี้อาฬหกะ๑
น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑๐๐ อาฬหกะ น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑,๐๐๐ อาฬหกะ หรือ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๕. สคาถกปุญญภิสันทวรรค ๑. ปฐมอภิสันทสูตร

น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ อาฬหกะ’ ดังนี้ ไม่ใช่จะทำได้ง่าย แท้ที่จริง
ปริมาณของน้ำในมหาสมุทรนั้นย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นห้วงน้ำใหญ่ที่นับไม่ได้
ประมาณไม่ได้เลย’ แม้ฉันใด
การที่จะกำหนดประมาณบุญของอริยสาวกผู้ประกอบด้วยห้วงบุญกุศล ๔
ประการนี้ว่า ‘ห้วงบุญกุศลมีประมาณเท่านี้ นำสุขมาให้’ ดังนี้ ไม่ใช่จะทำได้ง่าย
แท้ที่จริง ห้วงบุญกุศลนี้ย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณ
ไม่ได้เลย’ ฉันนั้นเหมือนกัน
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา-
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“แม่น้ำหลายสายคับคั่งไปด้วยหมู่ปลา
ไหลบ่าไปยังมหาสมุทร อันเป็นที่ขังน้ำขนาดใหญ่
ประมาณไม่ได้ มีสิ่งที่น่ากลัวมาก๑
เป็นแหล่งรัตนะชั้นเยี่ยม ฉันใด
สายธารแห่งบุญย่อมหลั่งไหลไปสู่นรชน
ผู้เป็นบัณฑิต ผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า
ที่นอน ที่นั่ง และเครื่องปูลาด
เปรียบเหมือนแม่น้ำคือห้วงน้ำไหลไปยังมหาสมุทร ฉันนั้น”๒

ปฐมอภิสันทสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๕. สคาถกปุญญภิสันทวรรค ๒. ทุติยอภิสันทสูตร

๒. ทุติยอภิสันทสูตร
ว่าด้วยห้วงบุญกุศล สูตรที่ ๒

[๑๐๓๘] “ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ ๔ ประการนี้
ห้วงบุญกุศล ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ประการที่ ๑
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว
มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ทาน
และการแจกทาน อยู่ครองเรือน นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้
ประการที่ ๔
ห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ ๔ ประการนี้
การที่จะกำหนดประมาณบุญของอริยสาวกผู้ประกอบด้วยห้วงบุญกุศล ๔
ประการนี้ว่า ‘ห้วงบุญกุศลมีประมาณเท่านี้นำสุขมาให้’ ดังนี้ ไม่ใช่จะทำได้ง่าย
แท้ที่จริง ห้วงบุญกุศลนี้ย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณ
ไม่ได้เลย’
แม่น้ำใหญ่เหล่านี้ คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู
แม่น้ำมหี ย่อมไหลเรื่อยไปที่ปากน้ำใด การที่จะกำหนดปริมาณของน้ำที่ปากน้ำ
นั้นว่า ‘น้ำมีปริมาณเท่านี้อาฬหกะ น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑๐๐ อาฬหกะ น้ำมี
ปริมาณเท่านี้ ๑,๐๐๐ อาฬหกะ หรือน้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ อาฬหกะ’ ดังนี้
ไม่ใช่จะทำได้ง่าย แท้ที่จริง ปริมาณของน้ำในมหาสมุทรนั้นย่อมถึงการนับว่า
‘เป็นห้วงน้ำใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้เลย’ แม้ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๕. สคาถกปุญญภิสันทวรรค ๓. ตติยอภิสันทสูตร

การที่จะกำหนดประมาณบุญของอริยสาวกผู้ประกอบด้วยห้วงบุญกุศล ๔
ประการนี้ว่า ‘ห้วงบุญกุศลมีประมาณเท่านี้ นำสุขมาให้’ ดังนี้ ไม่ใช่จะทำได้ง่าย
แท้ที่จริง ห้วงบุญกุศลนี้ย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณ
ไม่ได้เลย’ ฉันนั้นเหมือนกัน”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา-
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“แม่น้ำหลายสายคับคั่งไปด้วยหมู่ปลา
ไหลบ่าไปยังมหาสมุทร อันเป็นที่ขังน้ำขนาดใหญ่
ประมาณไม่ได้ มีสิ่งที่น่ากลัวมาก๑
เป็นแหล่งรัตนะชั้นเยี่ยม ฉันใด
สายธารแห่งบุญย่อมหลั่งไหลไปสู่นรชน
ผู้เป็นบัณฑิต ผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า
ที่นอน ที่นั่ง และเครื่องปูลาด
เปรียบเหมือนแม่น้ำคือห้วงน้ำไหลไปยังมหาสมุทร ฉันนั้น”

ทุติยอภิสันทสูตรที่ ๒ จบ

๓. ตติยอภิสันทสูตร
ว่าด้วยห้วงบุญกุศล สูตรที่ ๓

[๑๐๓๙] “ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ ๔ ประการนี้
ห้วงบุญกุศล ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’ นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ประการที่ ๑
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๕. สคาถกปุญญภิสันทวรรค ๔. ปฐมมหัทธนสูตร

๔. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
เห็นทั้งความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส
ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้
ประการที่ ๔
ห้วงบุญกุศลนำสุขมาให้ ๔ ประการนี้แล
การที่จะกำหนดประมาณบุญของอริยสาวกผู้ประกอบด้วยห้วงบุญกุศล ๔
ประการนี้ว่า ‘ห้วงบุญกุศลมีประมาณเท่านี้ นำสุขมาให้’ ดังนี้ ไม่ใช่จะทำได้ง่าย
แท้ที่จริง ห้วงบุญกุศลนี้ย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณ
ไม่ได้เลย”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา-
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“ผู้ใดต้องการบุญ ตั้งอยู่ในกุศล
ย่อมเจริญมรรคเพื่อบรรลุอมตะ
ผู้นั้นบรรลุธรรมอันเป็นสาระ ยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นไป
ย่อมไม่หวั่นไหวเมื่อมัจจุราชมาถึง”

ตติยอภิสันทสูตรที่ ๓ จบ

๔. ปฐมมหัทธนสูตร
ว่าด้วยผู้มีธรรมเป็นผู้มีทรัพย์มาก สูตรที่ ๑

[๑๐๔๐] “ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เรา
กล่าวว่า ‘เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มียศใหญ่’
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๕. สคาถกปุญญภิสันทวรรค ๖. สุทธกสูตร

๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เรากล่าวว่า
‘เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มียศใหญ่”

ปฐมมหัทธนสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยมหัทธนสูตร
ว่าด้วยผู้มีธรรมเป็นผู้มีทรัพย์มาก สูตรที่ ๒

[๑๐๔๑] “ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เรา
กล่าวว่า ‘เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มียศใหญ่’
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เรากล่าวว่า
‘เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มียศใหญ่”

ทุติยมหัทธนสูตรที่ ๕ จบ

๖. สุทธกสูตร
ว่าด้วยองค์คุณล้วนของพระโสดาบัน

[๑๐๔๒] “ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็น
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๕. สคาถกปุญญภิสันทวรรค ๗. นันทิยสูตร

ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นโสดาบัน
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

สุทธกสูตรที่ ๖ จบ

๗. นันทิยสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะ

[๑๐๔๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงกบิลพัสดุ์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะผู้ประทับนั่ง ณ
ที่สมควรว่า “มหาบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็น
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๕. สคาถกปุญญภิสันทวรรค ๘. ภัททิยสูตร

๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
มหาบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นโสดาบัน ไม่
มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

นันทิยสูตรที่ ๗ จบ

๘. ภัททิยสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่าภัททิยะ

[๑๐๔๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงกบิลพัสดุ์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเจ้าศากยะพระนามว่าภัททิยะผู้ประทับนั่ง ณ ที่
สมควรว่า “มหาบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นโสดาบัน
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ฯลฯ
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ
มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

ภัททิยสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๕. สคาถกปุญญภิสันทวรรค ๑๐. อังคสูตร

๙. มหานามสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ

[๑๐๔๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงกบิลพัสดุ์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะผู้ประทับนั่ง ณ ที่
สมควรว่า “มหาบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นโสดาบัน
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ
มหาบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นโสดาบัน ไม่
มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

มหานามสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อังคสูตร
ว่าด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา

[๑๐๔๖] “ภิกษุทั้งหลาย องค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้
องค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ (การคบหาสัตบุรุษ)
๒. สัทธัมมัสสวนะ (การฟังพระสัทธรรม)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๕. สคาถกปุญญภิสันทวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๓. โยนิโสมนสิการ (การมนสิการโดยแยบคาย)
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม)
ภิกษุทั้งหลาย องค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้”

อังคสูตรที่ ๑๐ จบ
สคาถกปุญญาภิสันทวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมอภิสันทสูตร ๒. ทุติยอภิสันทสูตร
๓. ตติยอภิสันทสูตร ๔. ปฐมมหัทธนสูตร
๕. ทุติยมหัทธนสูตร ๖. สุทธกสูตร
๗. นันทิยสูตร ๘. ภัททิยสูตร
๙. มหานามสูตร ๑๐. อังคสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๖. สัปปัญญวรรค ๑. สคาถกสูตร

๖. สัปปัญญวรรค
หมวดว่าด้วยผู้มีปัญญา
๑. สคาถกสูตร
ว่าด้วยตรัสองค์คุณของพระโสดาบันที่มีคาถา

[๑๐๔๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วย
ธรรม ๔ ประการ เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ
ในวันข้างหน้า
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นโสดาบัน
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา-
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“ผู้ใดมีศรัทธาในพระตถาคตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
มีศีลอันงามที่พระอริยะชอบใจ(และ)สรรเสริญ
มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน
ชีวิตของเขาก็ไม่สูญเปล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๖. สัปปัญญวรรค ๒. วัสสังวุตถสูตร

เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา
เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ควรหมั่นประกอบศรัทธา ศีล
ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม”๑

สคาถกสูตรที่ ๑ จบ

๒. วัสสังวุตถสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้อยู่จำพรรษาในกรุงสาวัตถี

[๑๐๔๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอยู่จำพรรษาในกรุง
สาวัตถีแล้ว ไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์โดยลำดับด้วยกรณียกิจบางอย่าง พวกเจ้าศากยะ
ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ทรงสดับข่าวว่า ภิกษุรูปหนึ่งอยู่จำพรรษาในกรุงสาวัตถีมาถึง
กรุงกบิลพัสดุ์แล้ว จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้นถึงที่อยู่ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ
ที่สมควร ได้ตรัสถามภิกษุนั้นดังนี้ว่า
“ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่มีพระโรคาพาธ และมีพระพลานามัยแข็งแรง
อยู่หรือ”
ภิกษุนั้นถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคไม่มี
พระโรคาพาธ และมีพระพลานามัยแข็งแรงอยู่”
“ท่านผู้เจริญ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะไม่มีโรคาพาธ และมีพลานามัย
แข็งแรงอยู่หรือ”
“มหาบพิตร แม้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะก็ไม่มีโรคาพาธ และมี
พลานามัยแข็งแรงอยู่”
“ท่านผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ไม่มีโรคาพาธ และมีพลานามัยแข็งแรงอยู่หรือ”
“มหาบพิตร แม้ภิกษุสงฆ์ก็ไม่มีโรคาพาธ และมีพลานามัยแข็งแรงอยู่”
“ท่านผู้เจริญ ระหว่างพรรษานี้ อะไร ๆ ที่ท่านได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะ
พระพักตร์พระผู้มีพระภาค มีอยู่หรือ”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๖. สัปปัญญวรรค ๓. ธัมมทินนสูตร

“มหาบพิตร อาตมภาพได้ฟังมา ได้รับเรื่องนี้มาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มี
พระภาคว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน มีจำนวนน้อย ที่แท้
ภิกษุผู้เป็นโอปปาติกะจักนิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก เพราะ
โอรัมภาคิยสังโยชน์(สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕ ประการสิ้นไป มีจำนวนมากกว่า’
อีกเรื่องหนึ่ง ที่อาตมภาพได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโอปปาติกะเพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป
จักนิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก มีจำนวนน้อย ที่แท้ภิกษุผู้เป็น
สกทาคามีเพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะบรรเทาราคะ โทสะ และ
โมหะให้เบาบาง มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ มีจำนวน
มากกว่า’
อีกเรื่องหนึ่ง อาตมภาพได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นสกทาคามีเพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะ
บรรเทาราคะ โทสะ และโมหะให้เบาบาง มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จักทำ
ที่สุดแห่งทุกข์ได้ มีจำนวนน้อยกว่า ที่แท้ภิกษุผู้เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มี
ความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป
มีจำนวนมากกว่า”

วัสสังวุตถสูตรที่ ๒ จบ

๓. ธัมมทินนสูตร
ว่าด้วยธัมมทินนอุบาสก

[๑๐๔๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เขตกรุงพาราณสี ครั้งนั้น ธัมมทินนอุบาสกพร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ คน เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์
เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอพระผู้มีพระภาคโปรดโอวาท โปรดพร่ำสอน
สิ่งนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๖. สัปปัญญวรรค ๓. ธัมมทินนสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ธัมมทินนะ เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียก
อย่างนี้ว่า ‘พระสูตรเหล่าใดที่พระตถาคตตรัสแล้ว ลึกซึ้ง มีเนื้อความลุ่มลึก เป็น
โลกุตตระ ประกอบด้วยความว่าง เราจักเข้าถึงพระสูตรเหล่านั้นตลอดกาลอยู่’
ธัมมทินนะ ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่ข้าพระองค์ทั้งหลายยังอยู่ครองเรือน นอนเบียด
เสียดบุตร ใช้สอยผงแก่นจันทน์จากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และ
เครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงิน จะเข้าถึงพระสูตรที่พระตถาคตตรัสแล้ว ลึกซึ้ง มี
เนื้อความลุ่มลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยความว่าง ตลอดกาลอยู่นั้น มิใช่ทำ
ได้ง่าย ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมอันยิ่งแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ใน
สิกขาบททั้ง ๕ เถิด”
“ธัมมทินนะ เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลาย
๑. จักประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. จักประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. จักประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. จักประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ’
ธัมมทินนะ ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ องค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการใดที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงแล้ว ธรรม(คือองค์เครื่องบรรลุโสดา)เหล่านั้นมีอยู่ในข้าพระองค์ทั้งหลาย
และข้าพระองค์ทั้งหลาย เห็นชัดธรรมเหล่านั้น เพราะข้าพระองค์ทั้งหลาย
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๖. สัปปัญญวรรค ๔. คิลานสูตร

๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ”
“ธัมมทินนะ เป็นลาภของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายได้ดีแล้ว โสดาปัตติ-
ผลท่านทั้งหลายทำให้แจ้งแล้ว”

ธัมมทินนสูตรที่ ๓ จบ

๔. คิลานสูตร
ว่าด้วยอุบาสกป่วย

[๑๐๕๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุง
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มี
พระภาค ด้วยหวังว่า “พระผู้มีพระภาคทรงมีจีวรสำเร็จแล้ว ล่วงไป ๓ เดือนก็
จักเสด็จจาริกไป”
เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้ทรงทราบข่าวอย่างนั้นเหมือนกัน ลำดับนั้น
ท้าวเธอเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ
ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทราบข่าวอย่างนี้ว่า ‘ได้ทราบว่า ภิกษุ
จำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า ‘พระผู้มีพระภาค
ทรงมีจีวรสำเร็จแล้ว ล่วงไป ๓ เดือนก็จักเสด็จจาริกไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันยังไม่ได้ทราบข่าว ไม่ได้รับเรื่องนี้มาเฉพาะ
พระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อุบาสกผู้มีปัญญา๑ พึงกล่าวสอนอุบาสกผู้มีปัญญา
ซึ่งป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก”
“มหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญาพึงปลอบใจอุบาสกผู้มีปัญญาซึ่งป่วย ได้รับทุกข์
เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการว่า


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๖. สัปปัญญวรรค ๔. คิลานสูตร

‘จงเบาใจเถิดท่านผู้มีอายุ ท่าน
๑. มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. มีศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ’
มหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญาครั้นปลอบใจอุบาสกผู้มีปัญญาซึ่งป่วย ได้รับ
ทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการนี้แล้ว พึงถามว่า
‘ท่านยังมีความห่วงใยมารดาบิดาอยู่หรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘ผมยังมีความห่วงใย
มารดาบิดาอยู่’ อุบาสกนั้นพึงกล่าวว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ผู้มีความตายเป็นธรรมดา
ถึงแม้ท่านจักทำความห่วงใยมารดาบิดาก็จักตายเหมือนกัน ถึงแม้ท่านจะไม่ทำ
ความห่วงใยมารดาบิดาก็จักตายเหมือนกัน เอาเถิด ขอท่านจงละความห่วงใย
มารดาบิดาของท่านเสีย’
ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผมละความห่วงใยมารดาบิดาของผมแล้ว’ อุบาสกนั้น
พึงถามเขาว่า ‘ท่านยังมีความห่วงใยบุตรและภริยาอยู่หรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘ผมยัง
มีความห่วงใยบุตรและภริยาอยู่’ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกับเขาว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ผู้มี
ความตายเป็นธรรมดา ถึงแม้ท่านจักทำความห่วงใยบุตรและภริยาก็จักตายเหมือน
กัน ถึงแม้ท่านจักไม่ทำความห่วงใยบุตรและภริยาก็จักตายเหมือนกัน เอาเถิด
ขอท่านจงละความห่วงใยบุตรและภริยาของท่านเสีย’
ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผมละความห่วงใยบุตรและภริยาของผมแล้ว’ อุบาสก
นั้นพึงถามเขาว่า ‘ท่านยังมีความห่วงใยกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์อยู่หรือ’ ถ้า
เขาตอบว่า ‘ผมยังมีความห่วงใยกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์อยู่’ อุบาสกนั้นพึง
กล่าวว่า ‘ท่าน กามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่าและประณีตกว่ากามอันเป็นของมนุษย์
เอาเถิด ขอท่านจงพรากจิตออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว น้อมจิตไปในหมู่
เทพชั้นจาตุมหาราชเถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๖. สัปปัญญวรรค ๕. โสตาปัตติผลสูตร

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผมพรากจิตออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว ผม
น้อมจิตไปในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว’ อุบาสกนั้นพึงกล่าวว่า ‘ท่าน หมู่เทพ
ชั้นดาวดึงส์ยังดีกว่าและประณีตกว่าหมู่เทพชั้นจาตุมหาราช เอาเถิด ขอท่านจง
พรากจิตออกจากหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว น้อมจิตไปในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด’
ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผมพรากจิตออกจากหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว ผม
น้อมจิตไปในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์แล้ว’ อุบาสกนั้นพึงกล่าวว่า ‘หมู่เทพชั้นยามายังดี
กว่าและประณีตกว่าหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ หมู่เทพชั้นดุสิต ฯลฯ หมู่เทพชั้น
นิมมานรดี ฯลฯ หมู่เทพชั้นปรินิมมิตวสวัตดี ฯลฯ พรหมโลกยังดีกว่าและ
ประณีตกว่าหมู่เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เอาเถิด ขอท่านจงพรากจิตออกจากหมู่
เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว น้อมจิตไปในพรหมโลกเถิด’
ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผมพรากจิตออกจากหมู่เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว
ผมน้อมจิตไปในพรหมโลกแล้ว’ อุบาสกนั้นพึงกล่าวว่า ‘ท่าน แม้พรหมโลกก็ไม่เที่ยง
ไม่ยั่งยืน นับเนื่องด้วยสักกายะ๑ เอาเถิด ขอท่านจงพรากจิตออกจากพรหมโลกแล้ว
นำจิตเข้าไปในสักกายนิโรธ(ความดับกายของตน)เถิด’
ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผมพรากจิตออกจากพรหมโลกแล้ว ผมนำจิตเข้าไป
ในสักกายนิโรธอยู่แล้ว’
มหาบพิตร อุบาสกผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้กับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ
อาตมภาพไม่กล่าวว่าแตกต่างอะไรกันเลย คือ หลุดพ้นด้วยวิมุตติเหมือนกัน”

คิลานสูตรที่ ๔ จบ

๕. โสตาปัตติผลสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล

[๑๐๕๑] “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๖. สัปปัญญวรรค ๘. อรหัตตผลสูตร

ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ (การคบหาสัตบุรุษ)
๒. สัทธัมมัสสวนะ (การฟังพระสัทธรรม)
๓. โยนิโสมนสิการ (การมนสิการโดยแยบคาย)
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป
เพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล”

โสตาปัตติผลสูตรที่ ๕ จบ

๖. สกทาคามิผลสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล

[๑๐๕๒] “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง
ฯลฯ
ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล”

สกทาคามิผลสูตรที่ ๖ จบ

๗. อนาคามิผลสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล

[๑๐๕๓] ... ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล”

อนาคามิผลสูตรที่ ๗ จบ

๘. อรหัตตผลสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล

[๑๐๕๔] ... ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล”

อรหัตตผลสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๖. สัปปัญญวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๙. ปัญญาปฏิลาภสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งปัญญา

[๑๐๕๕] ... ย่อมเป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งปัญญา”

ปัญญาปฏิลาภสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ปัญญาวุฑฒิสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา

[๑๐๕๖] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา”

ปัญญาวุฑฒิสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. ปัญญาเวปุลลสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญา

[๑๐๕๗] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญา”

ปัญญาเวปุลลสูตรที่ ๑๑ จบ
สัปปัญญวรรคที่ ๖ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สคาถกสูตร ๒. วัสสังวุตถสูตร
๓. ธัมมทินนสูตร ๔. คิลานสูตร
๕. โสตาปัตติผลสูตร ๖. สกทาคามิผลสูตร
๗. อนาคามิผลสูตร ๘. อรหัตตผลสูตร
๙. ปัญญาปฏิลาภสูตร ๑๐. ปัญญาวุฑฒิสูตร
๑๑. ปัญญาเวปุลลสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๗. มหาปัญญวรรค ๓. วิปุลปัญญาสูตร

๗. มหาปัญญวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามาก
๑. มหาปัญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามาก

[๑๐๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้
ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญามาก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ ๒. สัทธัมมัสสวนะ
๓. โยนิโสมนสิการ ๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็น
ไปเพื่อความมีปัญญามาก”

มหาปัญญาสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปุถุปัญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาแน่น

[๑๐๕๙] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญาแน่น”

ปุถุปัญญาสูตรที่ ๒ จบ

๓. วิปุลปัญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาไพบูลย์

[๑๐๖๐] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญาไพบูลย์”

วิปุลปัญญาสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๗. มหาปัญญวรรค ๘. สีฆปัญญาสูตร

๔. คัมภีรปัญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาลึกซึ้ง

[๑๐๖๑] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญาลึกซึ้ง”

คัมภีรปัญญาสูตรที่ ๔ จบ

๕. อัปปมัตตปัญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาหาประมาณมิได้

[๑๐๖๒] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญาหาประมาณมิได้”

อัปปมัตตปัญญาสูตรที่ ๕ จบ

๖. ภูริปัญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาดุจแผ่นดิน

[๑๐๖๓] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญาดุจแผ่นดิน”

ภูริปัญญาสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปัญญาพาหุลสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาหลากหลาย

[๑๐๖๔] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญาหลากหลาย”

ปัญญาพาหุลสูตรที่ ๗ จบ

๘. สีฆปัญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาเร็ว

[๑๐๖๕] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญาเร็ว”

สีฆปัญญาสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๗. มหาปัญญวรรค ๑๓. นิพเพธิกปัญญาสูตร

๙. ลหุปัญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาฉับพลัน

[๑๐๖๖] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญาฉับพลัน”

ลหุปัญญาสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. หาสปัญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาร่าเริง

[๑๐๖๗] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญาร่าเริง”

หาสปัญญาสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. ชวนปัญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาแล่นไป

[๑๐๖๘] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญาแล่นไป”

ชวนปัญญาสูตรที่ ๑๑ จบ

๑๒. ติกขปัญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญากล้า

[๑๐๖๙] ... ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญากล้า”

ติกขปัญญาสูตรที่ ๑๒ จบ

๑๓. นิพเพธิกปัญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญาชำแรกกิเลส

[๑๐๗๐] “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญาชำแรกกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๑. โสตาปัตติสังยุต]
๗. มหาปัญญวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ ๒. สัทธัมมัสสวนะ
๓. โยนิโสมนสิการ ๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็น
ไปเพื่อความมีปัญญาชำแรกกิเลส”

นิพเพธิกปัญญาสูตรที่ ๑๓ จบ
มหาปัญญวรรคที่ ๗ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มหาปัญญาสูตร ๒. ปุถุปัญญาสูตร
๓. วิปุลปัญญาสูตร ๔. คัมภีรปัญญาสูตร
๕. อัปปมัตตปัญญาสูตร ๖. ภูริปัญญาสูตร
๗. ปัญญาพาหุลสูตร ๘. สีฆปัญญาสูตร
๙. ลหุปัญญาสูตร ๑๐. หาสปัญญาสูตร
๑๑. ชวนปัญญาสูตร ๑๒. ติกขปัญญาสูตร
๑๓. นิพเพธิกปัญญาสูตร

โสตาปัตติสังยุตที่ ๑๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑. สมาธิวรรค ๒. ปฏิสัลลานสูตร

๑๒. สัจจสังยุต
๑. สมาธิวรรค
หมวดว่าด้วยสมาธิ
๑. สมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิ

[๑๐๗๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุผู้
มีสมาธิย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง
รู้ชัดอะไรตามความเป็นจริง
คือ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ
(ความดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับทุกข์)’
เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุผู้มีสมาธิย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

สมาธิสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปฏิสัลลานสูตร
ว่าด้วยผู้หลีกเร้น

[๑๐๗๒] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงประกอบความเพียรในการหลีกเร้น
ภิกษุผู้หลีกเร้นย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง
รู้ชัดอะไรตามความเป็นจริง
คือ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกข-
นิโรธคามินีปฏิปทา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑. สมาธิวรรค ๓. ปฐมกุลปุตตสูตร

เธอทั้งหลายจงประกอบความเพียรในการหลีกเร้น ภิกษุผู้หลีกเร้นย่อมรู้ชัด
ตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฏิสัลลานสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปฐมกุลปุตตสูตร
ว่าด้วยกุลบุตร สูตรที่ ๑

[๑๐๗๓] “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาลได้ออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ กุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมดได้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบก็เพื่อรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการตามความเป็นจริง กุลบุตรเหล่าใด
เหล่าหนึ่งในอนาคตกาลจักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ กุลบุตรเหล่านั้น
ทั้งหมดจักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบก็เพื่อรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการ
ตามความเป็นจริง กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาลย่อมออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตโดยชอบ กุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมดย่อมออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
โดยชอบก็เพื่อรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการตามความเป็นจริง
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาลได้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบ ฯลฯ กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาลจักออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ฯลฯ กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาลย่อมออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ กุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมดย่อมออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบก็เพื่อรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการนี้ตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฐมกุลปุตตสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑. สมาธิวรรค ๕. ปฐมสมณพราหมณสูตร

๔. ทุติยกุลปุตตสูตร
ว่าด้วยกุลบุตร สูตรที่ ๒

[๑๐๗๔] “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาลออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ได้รู้แจ้งตามความเป็นจริง กุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมดได้
รู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการตามความเป็นจริง กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ จักรู้แจ้งตามความเป็นจริง กุลบุตรเหล่านั้น
ทั้งหมดจักรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการตามความเป็นจริง กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ในปัจจุบันกาลออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ย่อมรู้แจ้งตามความเป็นจริง
กุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมดย่อมรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการตามความเป็นจริง
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา-
อริยสัจ
กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาลออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ได้รู้แจ้งตามความเป็นจริง ฯลฯ กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล ออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ จักรู้แจ้ง ฯลฯ กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่งใน
ปัจจุบันกาล ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ย่อมรู้แจ้งตามความเป็นจริง
กุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมดย่อมรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการนี้ตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ทุติยกุลปุตตสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมสมณพราหมณสูตร
ว่าด้วยสมณพราหมณ์ สูตรที่ ๑

[๑๐๗๕] “ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล
ได้รู้แจ้งตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดได้รู้แจ้งอริยสัจ ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑. สมาธิวรรค ๖. ทุติยสมณพราหมณสูตร

ประการตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล
จักรู้แจ้งตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดจักรู้แจ้งอริยสัจ ๔
ประการตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาล
ย่อมรู้แจ้งตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมรู้แจ้งอริยสัจ
๔ ประการตามความเป็นจริง
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาลได้รู้แจ้งตามความเป็นจริง ฯลฯ
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาลจักรู้แจ้ง ฯลฯ สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาลย่อมรู้แจ้งตามความเป็นจริง สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการนี้ตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้ เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฐมสมณพราหมณสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยสมณพราหมณสูตร
ว่าด้วยสมณพราหมณ์ สูตรที่ ๒

[๑๐๗๖] “ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล
ได้ประกาศสิ่งที่ตนรู้แจ้งแล้วตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
ทั้งหมดได้ประกาศอริยสัจ ๔ ประการว่าเป็นสิ่งที่ตนรู้แจ้งแล้วตามความเป็นจริง
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาลจักประกาศสิ่งที่ตนรู้แจ้งแล้ว
ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดจักประกาศอริยสัจ ๔
ประการว่าเป็นสิ่งที่ตนรู้แจ้งแล้วตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาล ย่อมประกาศสิ่งที่ตนรู้แจ้งแล้วตามความเป็นจริง สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมประกาศอริยสัจ ๔ ประการว่าเป็นสิ่งที่ตนรู้แจ้ง
แล้วตามความเป็นจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑. สมาธิวรรค ๗. วิตักกสูตร

อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาลได้ประกาศสิ่งที่ตนรู้แจ้งแล้ว
ตามความเป็นจริง ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาลจัก
ประกาศ ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาลย่อมประกาศ
ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมประกาศอริยสัจ ๔ ประการนี้ว่า
เป็นสิ่งที่ตนรู้แจ้งแล้วตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อประกาศสิ่งที่
ตนรู้แจ้งแล้วตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ทุติยสมณพราหมณสูตรที่ ๖ จบ

๗. วิตักกสูตร
ว่าด้วยการตรึกถึงอริยสัจ

[๑๐๗๗] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าตรึกถึงถึงบาปอกุศลวิตก คือ
๑. กามวิตก (ความตรึกในทางกาม)
๒. พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท)
๓. วิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน)
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะวิตกเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไป
เพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อ
สงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเมื่อจะตรึก พึงตรึกว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้
ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะความตรึกเหล่านี้มีประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ ย่อมเป็น
ไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑. สมาธิวรรค ๘. จินตสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อตรึกว่า ‘นี้ทุกข์
ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

วิตักกสูตรที่ ๗ จบ

๘. จินตสูตร
ว่าด้วยการคิดเรื่องอริยสัจ

[๑๐๗๘] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าคิดเป็นบาปอกุศลจิตว่า ‘โลกเที่ยง
หรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด ชีวะ๑กับสรีระเป็นอย่างเดียว
กัน หรือชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคต๒เกิดอีก หรือ
หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก
หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะความคิดนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไป
เพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อ
สงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
เธอทั้งหลายเมื่อจะคิด พึงคิดว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกข-
นิโรธคามินีปฏิปทา’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะความคิดนี้มีประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อคิดว่า ‘นี้ทุกข์
ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

จินตสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑. สมาธิวรรค ๑๐. ติรัจฉานกถาสูตร

๙. วิคคาหิกกถาสูตร
ว่าด้วยการกล่าวทุ่มเถียงแก่งแย่งกัน

[๑๐๗๙] “ภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายก็อย่ากล่าวทุ่มเถียงแก่งแย่งกันว่า
‘ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ แต่ผมรู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่าน
ปฏิบัติผิด แต่ผมปฏิบัติถูก คำพูดของผมมีประโยชน์ แต่คำพูดของท่านไม่มี
ประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อน ท่านกลับพูดภายหลัง คำที่ควรพูดภายหลัง ท่าน
กลับพูดก่อน เรื่องที่ท่านเคยชินได้ผันแปรไปแล้ว ผมจับผิดคำพูดของท่านได้แล้ว
ผมข่มท่านได้แล้ว ถ้าท่านมีความสามารถ ก็จงหาทางแก้คำพูดหรือเปลื้องตนให้
พ้นผิดเถิด๑
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการกล่าวเช่นนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไป
เพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อ
สงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
เธอทั้งหลายเมื่อจะกล่าวพึงกล่าวว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ ฯลฯ
เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรว่า ...”

วิคคาหิกกถาสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ติรัจฉานกถาสูตร
ว่าด้วยติรัจฉานกถา

[๑๐๘๐] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากล่าวติรัจฉานกถา๒ ซึ่งมีหลาย
อย่าง คือ (๑) ราชกถา เรื่องพระราชา (๒) โจรกถา เรื่องโจร (๓) มหามัตตกถา


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑. สมาธิวรรค ๑๐. ติรัจฉานกถาสูตร

เรื่องมหาอำมาตย์ (๔) เสนากถา เรื่องกองทัพ (๕) ภยกถา เรื่องภัย (๖) ยุทธกถา
เรื่องการรบ (๗) อันนกถา เรื่องข้าว (๘) ปานกถา เรื่องน้ำ (๙) วัตถกถา เรื่องผ้า
(๑๐) สยนกถา เรื่องที่นอน (๑๑) มาลากถา เรื่องพวงดอกไม้ (๑๒) คันธกถา
เรื่องของหอม (๑๓) ญาติกถา เรื่องญาติ (๑๔) ยานกถา เรื่องยาน (๑๕) คามกถา
เรื่องบ้าน (๑๖) นิคมกถา เรื่องนิคม (๑๗) นครกถา เรื่องเมือง (๑๘) ชนปทกถา
เรื่องชนบท (๑๙) อิตถีกถา เรื่องสตรี (๒๐) ปุริสกถา เรื่องบุรุษ (๒๑) สูรกถา
เรื่องคนกล้าหาญ (๒๒) วิสิขากถา เรื่องตรอก (๒๓) กุมภัฏฐานกถา เรื่องท่าน้ำ
(๒๔) ปุพพเปตกถา เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว (๒๕) นานัตตกถา เรื่องเบ็ดเตล็ด
(๒๖) โลกักขายิกะ เรื่องโลก (๒๗) สมุททักขายิกะ เรื่องทะเล (๒๘) อิติภวาภวกถา
เรื่องความเจริญและความเสื่อม๑
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะติรัจฉานกถานี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็น
ไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไป
เพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเมื่อจะกล่าวพึงกล่าวว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะถ้อยคำนี้มีประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อกล่าวว่า ‘นี้
ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ติรัจฉานกถาสูตรที่ ๑๐ จบ
สมาธิวรรคที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑. สมาธิวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สมาธิสูตร ๒. ปฏิสัลลานสูตร
๓. ปฐมกุลปุตตสูตร ๔. ทุติยกุลปุตตสูตร
๕. ปฐมสมณพราหมณสูตร ๖. ทุติยสมณพราหมณสูตร
๗. วิตักกสูตร ๘. จินตสูตร
๙. วิคคาหิกกถาสูตร ๑๐. ติรัจฉานกถาสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค ๑. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค
หมวดว่าด้วยการประกาศพระธรรมจักร
๑. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร๑
ว่าด้วยการประกาศพระธรรมจักร

[๑๐๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง
พาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ ประการ บรรพชิตไม่พึงเสพ
ที่สุด ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามสุขัลลิกานุโยค (การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย)
เป็นธรรมอันทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของ
พระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
๒. อัตตกิลมถานุโยค (การประกอบความเดือดร้อนแก่ตน) เป็นทุกข์
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
มัชฌิมาปฏิปทาไม่เอียงเข้าใกล้ที่สุด ๒ ประการนี้ที่ตถาคตได้ตรัสรู้ อันเป็น
ปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน
มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้ อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิด
ญาน เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค ๑. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

นี้คือมัชฌิมาปฏิปทานั้นที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาที่ก่อให้เกิดจักษุ
ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขอริยสัจ คือ แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความ
แก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความเจ็บก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ ความประสบสิ่ง
อันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนา
สิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขสมุทยอริยสัจ คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบ
ด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ คือ
กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วย
วิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชา
เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า
‘นี้ทุกขอริยสัจ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขอริยสัจนี้
ควรกำหนดรู้’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขอริยสัจนี้
เราได้กำหนดรู้แล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชา
เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า
‘นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค ๑. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขสมุทย-
อริยสัจ นี้ควรละ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขสมุทย-
อริยสัจ นี้เราละได้แล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชา
เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า
‘นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขนิโรธอริยสัจ
นี้ควรทำให้แจ้ง’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว
แก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขนิโรธอริยสัจนี้เราได้ทำให้แจ้ง
แล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชา
เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า
‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ’ จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิด
ขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้
ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ควรเจริญ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทาอริยสัจนี้เราได้เจริญแล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย ญาณทัสสนะ(ความรู้เห็น) ตามความเป็นจริงของเราในอริยสัจ
๔ ประการนี้ มีวน ๓ รอบ มี ๑๒ อาการอย่างนี้ยังไม่หมดจดดีตราบใด เรา
ก็ยังไม่ยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ตราบนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค ๑. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดญาณทัสสนะตามความเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔
ประการนี้ มีวน ๓ รอบ มี ๑๒ อาการอย่างนี้หมดจดดีแล้ว เมื่อนั้นเราจึงยืนยันได้
ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ญาณทัสสนะ
เกิดขึ้นแก่เราว่า ‘ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพ
ใหม่ไม่มีอีก’
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์มีใจยินดี
ต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณะ๑อยู่ ธรรมจักษุ๒อันปราศจากธุลี
ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ทวยเทพชั้น
ภุมมะกระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยมพระผู้มีพระภาคทรงให้เป็นไป
แล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร
พรหม หรือใคร ๆ ในโลกให้หมุนกลับไม่ได้๓”
ทวยเทพชั้นจาตุมหาราชสดับเสียงของทวยเทพชั้นภุมมะแล้วได้กระจายข่าวต่อ
ไปว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยมพระผู้มีพระภาคทรงให้เป็นไปแล้ว ณ ป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลกให้หมุนกลับไม่ได้”
ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ สดับเสียงของทวยเทพชั้นจาตุมหาราชแล้วได้กระจาย
ข่าวต่อไป ฯลฯ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค ๒. ตถาคตสูตร

ทวยเทพชั้นยามา ฯลฯ
ทวยเทพชั้นดุสิต ฯลฯ
ทวยเทพชั้นนิมมานรดี ฯลฯ
ทวยเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ
ทวยเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมสดับเสียงของทวยเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว
ก็กระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยมพระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร
พรหม หรือใคร ๆ ในโลกให้หมุนกลับไม่ได้”
เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลกด้วย
ประการฉะนี้
ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ก็สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างอันเจิดจ้าหาประมาณมิได้
ก็ปรากฏในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย
โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” ดังนั้น คำว่า
“อัญญาโกณฑัญญะ” นี้จึงได้เป็นชื่อของพระโกณฑัญญะนั่นแล

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่ ๑ จบ

๒. ตถาคตสูตร
ว่าด้วยพระตถาคต

[๑๐๘๒] “ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้น
แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่ตถาคตทั้งหลายในธรรมทั้งหลายที่
ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘นี้ทุกขอริยสัจ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่ตถาคตทั้งหลายในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกข-
อริยสัจนี้ควรกำหนดรู้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค ๒. ตถาคตสูตร

จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่ตถาคตทั้งหลายในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกข-
อริยสัจนี้ตถาคตทั้งหลายได้กำหนดรู้แล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชา
เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่ตถาคตทั้งหลายในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟัง
มาก่อนว่า ‘นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่ตถาคตทั้งหลายในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า “ทุกข-
สมุทยอริยสัจนี้ควรละ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่ตถาคตทั้งหลายในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า “ทุกข-
สมุทยอริยสัจนี้ตถาคตทั้งหลายละได้แล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชา
เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่ตถาคตทั้งหลายในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟัง
มาก่อนว่า ‘นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่ตถาคตทั้งหลายในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกข-
นิโรธอริยสัจนี้ควรทำให้แจ้ง’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่ตถาคตทั้งหลายในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกข-
นิโรธอริยสัจนี้ตถาคตทั้งหลายได้ทำให้แจ้งแล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชา
เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่ตถาคตทั้งหลายในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟัง
มาก่อนว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ’
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่ตถาคตทั้งหลายในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกข-
นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ควรเจริญ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค ๓. ขันธสูตร

จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่ตถาคตทั้งหลายในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ‘ทุกข-
นิโรธคามินีปฏิปทานี้ ตถาคตทั้งหลายได้เจริญแล้ว”

ตถาคตสูตรที่ ๒ จบ

๓. ขันธสูตร
ว่าด้วยอุปาทานขันธ์

[๑๐๘๓] “ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ควรกล่าวได้ว่า ทุกขอริยสัจนั้น ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ
ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด
มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้
เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ
ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค ๔. อัชฌัตติกายตนสูตร

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ขันธสูตรที่ ๓ จบ

๔. อัชฌัตติกายตนสูตร
ว่าด้วยอายตนะภายใน

[๑๐๘๔] “ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ควรกล่าวได้ว่า ทุกขอริยสัจนั้น ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ ประการ
อายตนะภายใน ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. จักขวายตนะ (อายตนะคือตา)
ฯลฯ
๖. มนายตนะ (อายตนะคือใจ)
นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ
ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความความเพลิดเพลินและความ
กำหนัด มีปกติให้เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา
วิภวตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค ๕. ปฐมธารณสูตร

ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
อริยสัจ ๔ ประการนี้
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

อัชฌัตติกายตนสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมธารณสูตร
ว่าด้วยการทรงจำอริยสัจ สูตรที่ ๑

[๑๐๘๕] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำอริยสัจ ๔ ประการที่เรา
แสดงไว้แล้วเถิด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำอริยสัจ ๔ ประการที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงไว้แล้ว”
“ภิกษุ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ประการที่เราแสดงไว้แล้ว อย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำทุกขอริยสัจที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงไว้แล้วเป็นข้อที่ ๑ ทรงจำทุกขสมุทยอริยสัจที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้ว
เป็นข้อที่ ๒ ทรงจำทุกขนิโรธอริยสัจที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วเป็นข้อที่ ๓
ทรงจำทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วเป็นข้อที่ ๔
ข้าพระองค์ทรงจำอริยสัจ ๔ ประการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้ว อย่างนี้แล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค ๖. ทุติยธารณสูตร

“ดีละ ดีละ ภิกษุ ดีแท้ ภิกษุ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ประการที่เราแสดงไว้แล้ว
เราแสดงทุกขอริยสัจเป็นข้อที่ ๑ เธอก็จงทรงจำไว้อย่างนั้น เราแสดงทุกข-
สมุทยอริยสัจเป็นข้อที่ ๒ เธอก็จงทรงจำไว้อย่างนั้น เราแสดงทุกขนิโรธอริยสัจ
เป็นข้อที่ ๓ เธอก็จงทรงจำไว้อย่างนั้น เราแสดงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
เป็นข้อที่ ๔ เธอก็จงทรงจำไว้อย่างนั้น เธอจงทรงจำอริยสัจ ๔ ประการที่เรา
แสดงไว้แล้ว อย่างนี้แล
ภิกษุ เพราะเหตุนั้น เธอพึงทำความเพียรเพื่อทรงจำว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฐมธารณสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยธารณสูตร
ว่าด้วยการทรงจำอริยสัจ สูตรที่ ๒

[๑๐๘๖] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำอริยสัจ ๔ ประการที่เรา
แสดงไว้แล้วเถิด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำอริยสัจ ๔ ประการที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงไว้แล้ว”
“ภิกษุ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ประการที่เราแสดงไว้แล้ว อย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำทุกขอริยสัจที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงไว้แล้วเป็นข้อที่ ๑ เป็นไปไม่ได้เลยที่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘นี้ไม่ใช่ทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้แล้ว เราจัก
บอกคืนทุกขอริยสัจนั้นแล้วบัญญัติทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ เป็นอย่างอื่น’ ข้าพระองค์
ทรงจำทุกขสมุทยอริยสัจ ฯลฯ ข้าพระองค์ทรงจำทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วเป็นข้อที่ ๔ เป็นไปไม่ได้เลยที่สมณะหรือ
พราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งพึงกล่าวว่า ‘นี้ไม่ใช่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ ที่
พระสมณโคดมทรงแสดงไว้แล้ว เราจักบอกคืนทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นแล้ว
บัญญัติทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ เป็นอย่างอื่น’ ข้าพระองค์ทรงจำ
อริยสัจ ๔ ประการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้ว อย่างนี้แล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค ๗. อวิชชาสูตร

“ดีละ ดีละ ภิกษุ ดีแท้ ภิกษุ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ประการที่เราแสดงไว้แล้ว
เราแสดงทุกขอริยสัจเป็นข้อที่ ๑ เธอก็จงทรงจำไว้อย่างนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งพึงกล่าวว่า ‘นี้ไม่ใช่ทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ ที่พระสมณโคดม
ทรงแสดงไว้แล้ว เราจักบอกคืนทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ นั้นแล้วบัญญัติทุกขอริยสัจ
ข้อที่ ๑ เป็นอย่างอื่น’ เราแสดงทุกขสมุทยอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ
เราแสดงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นข้อที่ ๔ เธอก็จงทรงจำไว้อย่างนั้น เป็น
ไปไม่ได้เลยที่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งพึงกล่าวว่า ‘นี้ไม่ใช่ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกคืนทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทาอริยสัจ ๔ นั้นแล้วบัญญัติทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔
เป็นอย่างอื่น’ เธอจงทรงจำอริยสัจ ๔ ประการที่เราแสดงไว้แล้ว อย่างนี้แล
ภิกษุ เพราะเหตุนั้น เธอพึงทำความเพียรเพื่อทรงจำว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ทุติยธารณสูตรที่ ๖ จบ

๗. อวิชชาสูตร
ว่าด้วยอวิชชา

[๑๐๘๗] ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ‘อวิชชา อวิชชา’ อวิชชาเป็นอย่างไร
และด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงชื่อว่า ‘ตกอยู่ในอวิชชา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย
ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า ‘อวิชชา’
และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลจึงชื่อว่า ‘ตกอยู่ในอวิชชา’
ภิกษุ เพราะเหตุนั้น เธอพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์
ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

อวิชชาสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค ๙. สังกาสนสูตร

๘. วิชชาสูตร
ว่าด้วยวิชชา

[๑๐๘๘] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ‘วิชชา วิชชา’ วิชชาเป็นอย่างไร และด้วยเหตุเพียงเท่าไร
บุคคลจึงชื่อว่า ‘มีวิชชา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย
ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า ‘วิชชา’ และ
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลจึงชื่อว่า ‘มีวิชชา’
ภิกษุ เพราะเหตุนั้น เธอพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์
ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

วิชชาสูตรที่ ๘ จบ

๙. สังกาสนสูตร
ว่าด้วยการจำแนกอริยสัจ

[๑๐๘๙] “ภิกษุทั้งหลาย คำที่เราบัญญัติไว้ว่า ‘นี้ทุกขอริยสัจ’ ในคำบัญญัตินั้น
เมื่อจะขยายความว่า ‘นี้ชื่อว่าทุกขอริยสัจ แม้เพราะเหตุนี้’ อักษร พยัญชนะ
และการจำแนก ไม่มีที่สิ้นสุด คำที่เราบัญญัติว่า ‘นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ’ ฯลฯ
คำที่เราบัญญัติว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ’ ในคำบัญญัตินั้น เมื่อจะ
ขยายความว่า ‘นี้ชื่อว่าทุกขนิโรธคามินี้ปฏิปทาอริยสัจ แม้เพราะเหตุนี้’ อักษร
พยัญชนะ และการจำแนก ไม่มีที่สิ้นสุด
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

สังกาสนสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๐. ตถสูตร
ว่าด้วยสิ่งจริงแท้

[๑๐๙๐] “ภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๔ อย่างนี้ เป็นของแท้ ไม่ผิด ไม่เป็น
อย่างอื่น
สิ่ง ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
ข้อที่ว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ เป็น
ของแท้ ไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น
ภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๔ อย่างนี้ เป็นของแท้ ไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ตถสูตรที่ ๑๐ จบ
ธัมมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ๒. ตถาคตสูตร
๓. ขันธสูตร ๔. อัชฌัตติกายตนสูตร
๕. ปฐมธารณสูตร ๖. ทุติยธารณสูตร
๗. อวิชชาสูตร ๘. วิชชาสูตร
๙. สังกาสนสูตร ๑๐. ตถสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๓. โกฏิคามวรรค ๑. ปฐมโกฏิคามสูตร

๓. โกฏิคามวรรค
หมวดว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่โกฏิคาม
๑. ปฐมโกฏิคามสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่โกฏิคาม สูตรที่ ๑

[๑๐๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกฏิคาม แคว้นวัชชี
ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ ประการ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยวเร่ร่อนไป๑
ตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายจึง
เที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๒. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขสมุทยอริยสัจ ฯลฯ
๓. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ
๔. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราและ
เธอทั้งหลายจึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ เราได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกข-
สมุทยอริยสัจ เราได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธอริยสัจ เราได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกข-
นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราถอนภวตัณหาได้แล้ว ภวเนตติ๒สิ้นไปแล้ว บัดนี้
ภพใหม่ไม่มีอีก”๓
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา-
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๓. โกฏิคามวรรค ๒. ทุติยโกฏิคามสูตร

“เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ประการตามความเป็นจริง
เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยวเร่ร่อนไป
ในชาตินั้น ๆ ตลอดกาลยาวนาน
อริยสัจ ๔ ประการนี้เราและเธอทั้งหลายเห็นแล้ว
ภวเนตติเราถอนได้แล้ว รากเหง้าแห่งทุกข์เราตัดขาดแล้ว
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”

ปฐมโกฏิคามสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทุติยโกฏิคามสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่โกฏิคาม สูตรที่ ๒

[๑๐๙๒] “ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่รู้ชัด
ตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ไม่จัดว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือไม่จัดว่าเป็น
พราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้นย่อมไม่รู้แจ้งประโยชน์แห่งความเป็น
สมณะหรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ด้วยตนเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดตามความเป็น
จริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่านั้น จัดว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และจัดว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์
ทั้งท่านเหล่านั้นย่อมรู้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะและประโยชน์แห่งความ
เป็นพราหมณ์ด้วยตนเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา-
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“ชนเหล่าใดไม่รู้ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์
ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้เสื่อมจากเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ไม่ควรที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๓. โกฏิคามวรรค ๔. อรหันตสูตร

ส่วนชนเหล่าใดรู้ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์
ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ควรที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ไม่เป็นผู้เข้าถึงชาติและชรา”๑

ทุติยโกฏิคามสูตรที่ ๒ จบ

๓. สัมมาสัมพุทธสูตร
ว่าด้วยเหตุให้เรียกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

[๑๐๙๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
อริยสัจ ๔ ประการนี้
เพราะเรารู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการนี้ตามความเป็นจริง ชาวโลกจึงเรียกตถาคต
ว่า ‘พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

สัมมาสัมพุทธสูตรที่ ๓ จบ

๔. อรหันตสูตร
ว่าด้วยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

[๑๐๙๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาลได้
ตรัสรู้ตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดได้ตรัสรู้


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๓. โกฏิคามวรรค ๕. อาสวักขยสูตร

อริยสัจ ๔ ประการตามความเป็นจริง แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใด
เหล่าหนึ่งในอนาคตกาลจักตรัสรู้ตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งหมดเหล่านั้นจักตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการตามความเป็นจริง แม้พระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาลย่อมตรัสรู้ตามความเป็นจริง พระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดย่อมตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการตามความ
เป็นจริง

อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาลได้ตรัสรู้ตามความ
เป็นจริง ฯลฯ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาลจักตรัสรู้
ฯลฯ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาลย่อมตรัสรู้
ตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดย่อมตรัสรู้
อริยสัจ ๔ ประการนี้ตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

อรหันตสูตรที่ ๔ จบ

๕. อาสวักขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นอาสวะ

[๑๐๙๕] “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นอาสวะของผู้รู้ ผู้เห็น มิได้กล่าว
ความสิ้นอาสวะของผู้ไม่รู้ ผู้ไม่เห็น
ความสิ้นอาสวะของผู้รู้ ผู้เห็นอะไร
คือ ความสิ้นอาสวะของผู้รู้ ผู้เห็นว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ความสิ้นอาสวะของผู้รู้ ผู้เห็น อย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๓. โกฏิคามวรรค ๗. ตถสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิทา”

อาสวักขยสูตรที่ ๕ จบ

๖. มิตตสูตร
ว่าด้วยการชักชวนมิตรให้รู้อริยสัจ

[๑๐๙๖] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนเหล่าใด และคน
เหล่าใดจะเป็นมิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิตก็ตาม ให้ความสำคัญคำที่ควรรับฟัง
เธอทั้งหลายพึงชักชวนคนเหล่านั้นให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในการรู้อริยสัจ ๔ ประการ
ตามความเป็นจริง

อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนเหล่าใด และคนเหล่าใดจะเป็นมิตร อำมาตย์
ญาติ สาโลหิตก็ตาม ให้ความสำคัญคำที่ควรรับฟัง เธอทั้งหลายพึงชักชวนคน
เหล่านั้นให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในการรู้อริยสัจ ๔ ประการนี้ตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

มิตตสูตรที่ ๖ จบ

๗. ตถสูตร
ว่าด้วยสิ่งจริงแท้

[๑๐๙๗] “ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๓. โกฏิคามวรรค ๙. ปริญเญยยสูตร

อริยสัจ ๔ ประการนี้ เป็นของแท้ ไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น ฉะนั้น จึงเรียกว่า
‘อริยสัจ’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ตถสูตรที่ ๗ จบ

๘. โลกสูตร
ว่าด้วยพระตถาคตเป็นอริยะในโลก

[๑๐๙๘] “ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
พระตถาคตเป็นอริยะในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่
สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ฉะนั้น จึงเรียกว่า ‘อริยสัจ’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

โลกสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปริญเญยยสูตร
ว่าด้วยอริยสัจที่ควรกำหนดรู้

[๑๐๙๙] “ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
อริยสัจ ๔ ประการนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๓. โกฏิคามวรรค ๑๐. ควัมปติสูตร

บรรดาอริยสัจ ๔ ประการนี้ อริยสัจที่ควรกำหนดรู้ก็มี อริยสัจที่ควรละก็มี
อริยสัจที่ควรทำให้แจ้งก็มี อริยสัจที่ควรเจริญก็มี
อริยสัจที่ควรกำหนดรู้ อะไรบ้าง คือ
ทุกขอริยสัจควรกำหนดรู้ ทุกขสมุทยอริยสัจควรละ ทุกขนิโรธอริยสัจควร
ทำให้แจ้ง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจควรเจริญ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปริญเญยยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ควัมปติสูตร
ว่าด้วยพระควัมปติ

[๑๑๐๐] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระหลายรูปอยู่ ณ เมืองสหชนิยะ แคว้นเจตี
สมัยนั้น เมื่อภิกษุผู้เถระหลายรูปกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จ
แล้ว นั่งประชุมกันที่โรงกลม ได้สนทนากันขึ้นในระหว่างว่า “ท่านทั้งหลาย ผู้ใด
เห็นทุกข์ ผู้นั้นชื่อว่าเห็นทุกขสมุทัยบ้าง เห็นทุกขนิโรธบ้าง เห็นทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทาบ้าง”
เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระควัมปติเถระได้กล่าวกับ
ภิกษุทั้งหลายดังนี้ว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ผมได้ฟัง ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระ
ผู้มีพระภาคว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นชื่อว่าเห็นทุกขสมุทัยบ้าง เห็น
ทุกขนิโรธบ้าง เห็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาบ้าง ผู้ใดเห็นทุกขสมุทัย ผู้นั้น
ชื่อว่าเห็นทุกข์บ้าง เห็นทุกขนิโรธบ้าง เห็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาบ้าง ผู้ใด
เห็นทุกขนิโรธ ผู้นั้นชื่อว่าเห็นทุกข์บ้าง เห็นทุกขสมุทัยบ้าง เห็นทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทาบ้าง ผู้ใดเห็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นทุกข์บ้าง เห็น
ทุกขสมุทัยบ้าง เห็นทุกขนิโรธบ้าง”

ควัมปติสูตรที่ ๑๐ จบ
โกฏิคามวรรคที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๓. โกฏิคามวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมโกฏิคามสูตร ๒. ทุติยโกฏิคามสูตร
๓. สัมมาสัมพุทธสูตร ๔. อรหันตสูตร
๕. อาสวักขยสูตร ๖. มิตตสูตร
๗. ตถสูตร ๘. โลกสูตร
๙. ปริญเญยยสูตร ๑๐. ควัมปติสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๔. สีสปาวนวรรค ๑. สีสปาวนสูตร

๔. สีสปาวนวรรค
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่สีสปาวัน
๑. สีสปาวนสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่สีสปาวัน

[๑๑๐๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงหยิบใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบขึ้นมา แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ใบประดู่ลาย
๒-๓ ใบที่เราหยิบขึ้นมากับใบที่อยู่บนต้น อย่างไหนจะมากกว่ากัน” ลำดับนั้น
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ใบที่อยู่บนต้นไม้นั้นแลมากกว่า ใบประดู่ลาย ๒-๓
ใบที่พระองค์ทรงหยิบขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วแต่มิได้บอกเธอทั้งหลายก็มีมากเหมือนกัน
เพราะเหตุไร เราจึงมิได้บอก
เพราะสิ่งนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ
ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น เรา
จึงมิได้บอก
สิ่งอะไรเล่าที่เราบอกแล้ว
คือ เราได้บอกว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’
เพราะเหตุไร เราจึงบอก
เพราะสิ่งนี้มีประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพิ่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
เพราะเหตุนั้น เราจึงบอก
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

สีสปาวนสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๔. สีสปาวนวรรค ๓. ทัณฑสูตร

๒. ขทิรปัตตสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยใบตะเคียน

[๑๑๐๒] “ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรา
ยังไม่รู้แจ้งทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริง แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้’
เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลจะพึงกล่าวว่า ‘เราจักใช้ใบตะเคียน ใบทองหลาง หรือ
ใบมะขามป้อมห่อน้ำหรือห่อใบตาลนำไป’ แม้ฉันใด เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลจะพึง
กล่าวว่า ‘เราไม่ได้รู้แจ้งทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความ
เป็นจริง แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้’ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
แต่เป็นไปได้ที่บุคคลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราได้รู้แจ้งทุกขอริยสัจ ทุกข-
สมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริง
แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้’
เป็นไปได้ที่บุคคลจะพึงกล่าวว่า ‘เราจักใช้ใบบัว ใบทองกวาว หรือใบย่านทราย
ห่อน้ำหรือห่อใบตาลนำไป’ แม้ฉันใด เป็นไปได้ที่บุคคลจะพึงกล่าวว่า ‘เราได้รู้แจ้ง
ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริง แล้วจักทำ
ที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้’ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ขทิรปัตตสูตรที่ ๒ จบ

๓. ทัณฑสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยท่อนไม้

[๑๑๐๓] “ภิกษุทั้งหลาย ท่อนไม้ที่ขว้างไปบนอากาศ บางคราวเอาโคนลงมา
บางคราวเอาตรงกลางลงมา บางคราวเอาปลายลงมา แม้ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้มี
อวิชชาปิดกั้น มีตัณหาโยงใยจึงแล่นไป ท่องเที่ยวไป บางคราวจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น
บางคราวจากโลกอื่นมาสู่โลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๔. สีสปาวนวรรค ๔. เจลสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ประการ
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ทัณฑสูตรที่ ๓ จบ

๔. เจลสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยผ้าที่ถูกไฟไหม้

[๑๑๐๔] “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อผ้าถูกไฟไหม้หรือศีรษะถูกไฟไหม้ ควรทำอย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อผ้าถูกไฟไหม้หรือศีรษะถูกไฟไหม้ ควรทำความ
พอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติ
และสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น
พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย ควรวางเฉย ไม่ควรใส่ใจถึงผ้าที่ถูกไฟไหม้หรือศีรษะที่ถูกไฟ
ไหม้ ควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการ
ที่ยังไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริง
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

เจลสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๔. สีสปาวนวรรค ๖. ปาณสูตร

๕. สัตติสตสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยผู้ถูกหอก ๑๐๐ เล่มทิ่มแทง

[๑๑๐๕] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนใคร ๆ พึงกล่าวกับบุรุษผู้มีอายุ ๑๐๐
ปี มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปีว่า ‘มาเถิด พ่อมหาจำเริญ ชนทั้งหลายจักใช้หอก ๑๐๐ เล่ม
ทิ่มแทงท่านในเวลาเช้า ใช้หอก ๑๐๐ เล่มทิ่มแทงในเวลาเที่ยง ใช้หอก ๑๐๐
เล่มทิ่มแทงในเวลาเย็น ท่านนั้นถูกหอกทิ่มแทงวันละ ๓๐๐ เล่ม มีอายุ ๑๐๐ ปี
มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี เมื่อล่วงไป ๑๐๐ ปี ก็จักรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการที่ยังไม่ได้รู้แจ้ง
กุลบุตรผู้เห็นประโยชน์ควรยอมรับข้อเสนอนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะสงสารนี้มีเบื้องต้นกับเบื้องปลายกำหนดรู้ไม่ได้ เบื้องต้นและที่สุดแห่ง
การประหารด้วยหอก การประหารด้วยดาบ การประหารด้วยหลาว และการ
ประหารด้วยขวานย่อมไม่ปรากฏ อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่
กล่าวว่าการรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการ มีได้พร้อมกับทุกข์และโทมนัส แต่เรากล่าวว่า
การรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการมีได้พร้อมกับสุขและโสมนัสเท่านั้น
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

สัตติสตสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปาณสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยหลาวเสียบสัตว์

[๑๑๐๖] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษพึงตัดหญ้า ท่อนไม้ กิ่งไม้ และ
ใบไม้ในชมพูทวีปนี้มารวมกันเป็นกองเดียวกัน ครั้นรวมเป็นกองเดียวกันแล้ว พึงทำ
ให้เป็นหลาว ครั้นทำให้เป็นหลาวแล้ว พึงเสียบสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในมหาสมุทร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๔. สีสปาวนวรรค ๗. ปฐมสุริยสูตร

เข้าที่หลาวขนาดใหญ่ เสียบสัตว์ขนาดกลางที่มีอยู่ในมหาสมุทรเข้าที่หลาวขนาด
กลาง เสียบสัตว์ขนาดเล็กที่มีอยู่ในมหาสมุทรเข้าที่หลาวขนาดเล็ก สัตว์ขนาดเขื่อง
ในมหาสมุทรยังไม่ทันหมด หญ้า ท่อนไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ในชมพูทวีปนี้พึงหมด
สิ้นไปเสียก่อน
ภิกษุทั้งหลาย การที่จะเสียบสัตว์ขนาดเล็กในมหาสมุทรซึ่งมีมากกว่าสัตว์
ขนาดเขื่องนั้นเข้าที่หลาว มิใช่ทำได้ง่าย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะตัวมันมีขนาดเล็ก อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น อบายก็ใหญ่นัก
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ หลุดพ้นจากอบายที่ใหญ่อย่างนั้นแล้ว ย่อมรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปาณสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปฐมสุริยสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยดวงอาทิตย์ สูตรที่ ๑

[๑๑๐๗] “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์กำลังจะอุทัย ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมา
ก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด สัมมาทิฏฐิก็ฉันนั้นเหมือน เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต
เพื่อความตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ ภิกษุผู้มีสัมมาทิฏฐิพึงหวังได้ว่าจักรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฐมสุริยสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๔. สีสปาวนวรรค ๙. อินทขีลสูตร

๘. ทุติยสุริยสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยดวงอาทิตย์ สูตรที่ ๒

[๑๑๐๘] “ภิกษุทั้งหลาย ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบ
ใด ความสว่างไสวเจิดจ้าก็ยังไม่ปรากฏตราบนั้น เวลานั้นมีแต่ความมืดมนอนธการ
กลางวัน และกลางคืนไม่ปากฏ เดือนและกึ่งเดือนไม่ปรากฏ ฤดูและปีก็ไม่ปรากฏ
แต่เมื่อใด ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้น ความสว่างไสว
เจิดจ้า ย่อมปรากฏ เวลานั้นไม่มีความมืดมนอนธการ กลางวันและกลางคืนก็ปรากฏ
เดือนและกึ่งเดือนก็ปรากฏ ฤดูและปีก็ปรากฏ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้นในโลกตราบใด
ความสว่างไสวเจิดจ้าก็ยังไม่ปรากฏตราบนั้น เวลานั้นมีแต่ความมืดมนอนธการ
การบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก การ
ทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ ประการ ก็ยังไม่มี
แต่เมื่อใด ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก เมื่อนั้น ความ
สว่างไสวเจิดจ้าก็ปรากฏ เวลานั้นไม่มีความมืดมนอนธการ การบอก การแสดง
การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก การทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔
ประการก็ย่อมมี ฉันนั้นเหมือนกัน
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ทุติยสุริยสูตรที่ ๘ จบ

๙. อินทขีลสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยเสาเขื่อนที่ปักไว้ลึก

[๑๑๐๙] “ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ สมณะหรือพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๔. สีสปาวนวรรค ๙. อินทขีลสูตร

เหล่านั้นย่อมมองหน้า๑ของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นด้วยคิดว่า ‘ท่านผู้นี้เมื่อรู้
ก็รู้จริง เมื่อเห็น ก็เห็นจริง’
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายเป็นของเบา มักลอยไปตามลม
วางไว้บนพื้นอันราบเรียบ ลมทางทิศตะวันออกพัดปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายนั้นไปทางทิศ
ตะวันตก ลมทางทิศตะวันตกพัดไปทางทิศตะวันออก ลมทางทิศเหนือพัดไปทาง
ทิศใต้ ลมทางทิศใต้พัดไปทางทิศเหนือ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะปุยฝ้ายเป็นของเบา อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมมองหน้าของสมณะ
หรือพราหมณ์เหล่าอื่นด้วยคิดว่า ‘ท่านผู้นี้เมื่อรู้ ก็รู้จริง เมื่อเห็น ก็เห็นจริง’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ประการ
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
ไม่ต้องมองหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นด้วยคิดว่า ‘ท่านผู้นี้เมื่อรู้ ก็รู้จริง
เมื่อเห็น ก็เห็นจริง’
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเสาเหล็กหรือเสาเขื่อนมีลำต้นปักไว้ลึก ฝังไว้ดี
ไม่ไหว ไม่โยก แม้หากพายุฝนพัดมาจากทิศตะวันออกอย่างรุนแรงก็ไม่สั่น
ไม่สะเทือน ไม่สะท้าน แม้หากพายุฝนพัดมาจากทิศตะวันตก ฯลฯ แม้หากพายุ
ฝนพัดมาจากทิศเหนือ ฯลฯ แม้หากพายุฝนพัดมาจากทิศใต้อย่างรุนแรงก็ไม่สั่น
ไม่สะเทือน ไม่สะท้าน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเสาเหล็กหรือเสาเขื่อนมีลำต้นปักไว้ลึก ฝังไว้ดี อุปมานี้ฉันใด อุปไมย
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๔. สีสปาวนวรรค ๑๐. วาทัตถิกสูตร

‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ไม่ต้อง
มองหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นด้วยคิดว่า ‘ท่านผู้นี้เมื่อรู้ ก็รู้จริง เมื่อเห็น
ก็เห็นจริง’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเห็นอริยสัจ ๔ ประการดีแล้ว
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

อินทขีลสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. วาทัตถิกสูตร
ว่าด้วยสมณพราหมณ์ผู้ต้องการโต้วาทะ

[๑๑๑๐] “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์
ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ แม้หากสมณะหรือพราหมณ์ผู้ต้องการวาทะ
แสวงหาวาทะ มาจากทิศตะวันออกด้วยคิดว่า ‘จักโต้วาทะกับภิกษุนั้น’ เป็นไปไม่ได้
เลยที่ภิกษุรูปนั้นจักสะทกสะท้านหรือหวั่นไหวต่อสมณะหรือพราหมณ์นั้นด้วยสหธรรม๑
แม้หากสมณะหรือพราหมณ์ผู้ต้องการวาทะ แสวงหาวาทะ มาจากทิศตะวันตก
ฯลฯ แม้หากสมณะหรือพราหมณ์ผู้ต้องการวาทะ แสวงหาวาทะ มาจากทิศเหนือ
ฯลฯ แม้หากสมณะหรือพราหมณ์ผู้ต้องการวาทะ แสวงหาวาทะมาจากทิศใต้ด้วย
คิดว่า ‘จักโต้วาทะกับภิกษุนั้น’ เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุรูปนั้นจักสะทกสะท้านหรือ
หวั่นไหวต่อสมณะหรือพราหมณ์นั้นด้วยสหธรรม
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเสาหินยาว ๑๖ ศอก เสาหินนั้นมีลำต้นปักลง
ไปข้างล่าง ๘ ศอก อยู่ข้างบน ๘ ศอก แม้หากพายุฝนพัดมาจากทิศตะวันออก
อย่างรุนแรงก็ไม่สั่น ไม่สะเทือน ไม่สะท้าน แม้หากพายุฝนพัดมาจากทิศตะวันตก


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๔. สีสปาวนวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ฯลฯ แม้หากพายุฝนพัดมาจากทิศเหนือ ฯลฯ แม้หากพายุฝนพัดมาจากทิศใต้
อย่างรุนแรงก็ไม่สั่น ไม่สะเทือน ไม่สะท้าน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเสาหินมีลำต้นปักไว้ลึก ฝังไว้ดี อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ แม้หากสมณะหรือพราหมณ์ต้องการวาทะ แสวงหาวาทะ มาจากทิศ
ตะวันออกด้วยคิดว่า ‘จักโต้วาทะกับภิกษุนั้น’ เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุรูปนั้นจักสะทก
สะท้านหรือหวั่นไหวต่อสมณะหรือพรหมณ์นั้นด้วยสหธรรม แม้หากสมณะหรือ
พราหมณ์ต้องการวาทะ แสวงหาวาทะ มาจากทิศตะวันตก ฯลฯ แม้หากสมณะ
หรือพราหมณ์ต้องการวาทะ แสวงหาวาทะ มาจากทิศเหนือ ฯลฯ แม้หากสมณะ
หรือพราหมณ์ผู้ต้องการวาทะ แสวงหาวาทะมาจากทิศใต้ด้วยคิดว่า ‘จักโต้วาทะ
กับภิกษุนั้น’ เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุรูปนั้นจักสะทกสะท้าน หรือหวั่นไหวต่อสมณะ
หรือพราหมณ์นั้นด้วยสหธรรม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเห็นอริยสัจ ๔ ประการดีแล้ว
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

วาทัตถิกสูตรที่ ๑๐ จบ
สีสปาวนวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สีสปาวนสูตร ๒. ขทิรปัตตสูตร
๓. ทัณฑสูตร ๔. เจลสูตร
๕. สัตติสตสูตร ๖. ปาณสูตร
๗. ปฐมสุริยสูตร ๘. ทุติยสุริยสูตร
๙. อินทขีลสูตร ๑๐. วาทัตถิกสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๕. ปปาตวรรค ๑. โลกจินตาสูตร

๕. ปปาตวรรค
หมวดว่าด้วยเหวคือสังสารวัฏ
๑. โลกจินตาสูตร
ว่าด้วยการคิดเรื่องโลก

[๑๑๑๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้
เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว บุรุษคนหนึ่งออกจากกรุงราชคฤห์
เข้าไปยังสระโบกขรณีชื่อสุมาคธาด้วยตั้งใจว่า ‘จักคิดเรื่องโลก’ แล้วนั่งคิดเรื่องโลก
อยู่ริมสระโบกขรณีชื่อสุมาคธา เขาได้เห็นกองทัพ ๔ เหล่าเข้าไปสู่ก้านบัวที่ริม
สระโบกขรณีชื่อสุมาคธาแล้วคิดดังนี้ว่า ‘เราชื่อว่าเป็นคนบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน เห็นสิ่ง
ที่ไม่มีในโลก’ ต่อมา เขาเข้าไปยังเมืองบอกแก่หมู่มหาชนว่า ‘ท่านทั้งหลาย
ข้าพเจ้าเป็นคนบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน เห็นสิ่งที่ไม่มีในโลก’
หมู่มหาชนถามว่า ‘ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นบ้าอย่างไร มีจิตฟุ้งซ่านอย่างไร
และอะไรที่ท่านเห็นแล้วแต่ไม่มีในโลก’
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จะเล่าให้ฟัง ข้าพเจ้าออกจากกรุงราชคฤห์เข้าไปยังสระ
โบกขรณีชื่อสุมาคธาด้วยตั้งใจว่า ‘จักคิดเรื่องโลก’ แล้วนั่งคิดเรื่องโลกอยู่ริมสระ
โบกขรณีชื่อสุมาคธา ข้าพเจ้าได้เห็นกองทัพ ๔ เหล่าเข้าไปสู่ก้านบัวที่ริมสระโบกขรณี
ชื่อสุมาคธา ข้าพเจ้าเป็นบ้าอย่างนี้ มีจิตฟุ้งซ่านอย่างนี้ และสิ่งนี้ที่ข้าพเจ้าเห็น
แล้วแต่ไม่มีในโลก’
‘บุรุษผู้เจริญ ท่านเป็นคนบ้าแน่ มีจิตฟุ้งซ่านแน่ และสิ่งนี้ที่ท่านเห็นแล้วแต่
ไม่มีในโลก’
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นได้เห็นสิ่งนั้นจริงทีเดียว ไม่ใช่ไม่จริง
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกัน
ในสงครามนั้น พวกเทวดาชนะ พวกอสูรพ่ายแพ้ พวกอสูรที่พ่ายแพ้กลัวแล้วพา
กันเข้าสู่บุรีอสูรทางก้านบัวทำจิตของเทวดาทั้งหลายให้งงงวยอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๕. ปปาตวรรค ๒. ปปาตสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายอย่าคิดเรื่องโลกว่า ‘โลกเที่ยง หรือ
โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือ
ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก หรือหลังจากตาย
แล้วตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก หรือหลังจาก
ตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะความคิดนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไป
เพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อ
สงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
เธอทั้งหลายเมื่อจะคิด พึงคิดว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะความคิดนี้มีประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’

โลกจินตาสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปปาตสูตร
ว่าด้วยเหวคือสังสารวัฏ

[๑๑๑๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “มาเถิด
ภิกษุทั้งหลาย เราจักเข้าไปยังยอดเขากั้นเขตแดนเพื่อพักผ่อนกลางวัน”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ต่อมา พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุจำนวนมากเสด็จเข้าไปยังยอดเขากั้นเขตแดน ภิกษุรูปหนึ่งได้แลเห็นเหวใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๕. ปปาตวรรค ๒. ปปาตสูตร

บนยอดเขากั้นเขตแดน จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เหวนี้ใหญ่หนอ เหวนี้ใหญ่จริงหนอ เหวอื่นที่ใหญ่กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้มีอยู่หรือ
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เหวอื่นที่ใหญ่และน่ากลัวกว่าเหวนี้มีอยู่ ภิกษุ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหวอื่นที่ใหญ่กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้ เป็นอย่างไร”
“ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่รู้ชัดตามความเป็น
จริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิทา’ สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่านั้นย่อมยินดียิ่งในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชาติ ยินดียิ่งในสังขารทั้ง
หลายที่เป็นไปเพื่อชรา ยินดียิ่งในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อมรณะ ยินดียิ่งในสังขาร
ทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นผู้ยินดียิ่งแล้วในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชาติ
ผู้ยินดียิ่งแล้วในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชรา ผู้ยินดียิ่งแล้วในสังขารทั้งหลายที่
เป็นไปเพื่อมรณะ ผู้ยินดียิ่งแล้วในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อโสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาส ย่อมปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชาติบ้าง ย่อมปรุง
แต่งสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชราบ้าง ย่อมปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อ
มรณะบ้าง ย่อมปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสบ้าง
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นครั้นปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชาติก็ดี
ครั้นปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชราก็ดี ครั้นปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็น
ไปเพื่อมรณะก็ดี ครั้นปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อโสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสก็ดี ย่อมตกไปสู่เหวคือชาติบ้าง ตกไปสู่เหวคือชราบ้าง ตก
ไปสู่เหวคือมรณะบ้าง ตกไปสู่เหวคือโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสบ้าง
เรากล่าวว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส และชื่อว่าไม่พ้นจากทุกข์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๕. ปปาตวรรค ๓. มหาปริฬาหสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดตามความเป็น
จริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อม
ไม่ยินดียิ่งในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชาติ ไม่ยินดียิ่งในสังขารทั้งหลายที่เป็นไป
เพื่อชรา ไม่ยินดียิ่งในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อมรณะ ไม่ยินดียิ่งในสังขารทั้ง
หลายที่เป็นไปเพื่อโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมไม่ปรุงแต่ง
สังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชาติบ้าง ไม่ปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชราบ้าง
ไม่ปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อมรณะบ้าง ไม่ปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็น
ไปเพื่อโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสบ้าง
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นครั้นไม่ปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชาติก็ดี
ครั้นไม่ปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชราก็ดี ครั้นไม่ปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย
ที่เป็นไปเพื่อมรณะก็ดี ครั้นไม่ปรุงแต่งสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อโสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสก็ดี ย่อมไม่ตกไปสู่เหวคือชาติบ้าง ไม่ตกไปสู่เหวคือชราบ้าง
ไม่ตกไปสู่เหวคือมรณะบ้าง ไม่ตกไปสู่เหวคือโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสบ้าง เรากล่าวว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมพ้นจากชาติ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส และชื่อว่าพ้นจากทุกข์’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปปาตสูตรที่ ๒ จบ

๓. มหาปริฬาหสูตร
ว่าด้วยนรกชื่อมหาปริฬาหะ

[๑๑๑๓] “ภิกษุทั้งหลาย นรกชื่อมหาปริฬาหะ (มีความเร่าร้อนมาก) มีอยู่
ในนรกนั้น บุคคลเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งทางตาได้ แต่เห็นได้เฉพาะรูปที่ไม่น่า
ปรารถนา ไม่เห็นรูปที่น่าปรารถนา เห็นได้เฉพาะรูปที่ไม่น่าใคร่ ไม่เห็นรูปที่น่าใคร่
เห็นได้เฉพาะรูปที่ไม่น่าพอใจ ไม่เห็นรูปที่น่าพอใจ ฟังเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งทางหู
ได้ ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะอย่างใดอย่างหนึ่งทางกายได้ ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์
อย่างใดอย่างหนึ่งทางใจได้ แต่รู้แจ้งได้เฉพาะธรรมารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่รู้
แจ้งธรรมารมณ์ที่น่าปรารถนา รู้แจ้งได้เฉพาะธรรมารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่รู้แจ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๕. ปปาตวรรค ๓. มหาปริฬาหสูตร

ธรรมารมณ์ที่น่าใคร่ รู้แจ้งได้เฉพาะธรรมารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์
ที่น่าพอใจ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเร่าร้อนนั้นมากหนอ ความเร่าร้อนนั้นมาก
จริงหนอ ความเร่าร้อนอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความเร่าร้อนนี้มีอยู่หรือ
พระพุทธเจ้าข้า”
“ความเร่าร้อนอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความเร่าร้อนนี้มีอยู่ ภิกษุ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเร่าร้อนอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความ
เร่าร้อนนี้ เป็นอย่างไร”
“ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่รู้ชัดตามความเป็น
จริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นผู้ยินดียิ่งแล้วในสังขารทั้งหลาย ที่เป็นไปเพื่อชาติ
ฯลฯ ผู้ยินดียิ่งแล้ว ฯลฯ ย่อมปรุงแต่ง ฯลฯ ครั้นปรุงแต่งแล้ว ย่อมเร่าร้อน
เพราะความเร่าร้อนคือชาติบ้าง ย่อมเร่าร้อนเพราะความเร่าร้อนคือชราบ้าง ย่อม
เร่าร้อนเพราะความเร่าร้อนคือมรณะบ้าง ย่อมเร่าร้อนเพราะความเร่าร้อนคือโสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสบ้าง เรากล่าวว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
และชื่อว่าไม่พ้นจากทุกข์’
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดตามความเป็น
จริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ยินดียิ่งในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชาติ
ฯลฯ ผู้ไม่ยินดียิ่งแล้ว ฯลฯ ย่อมไม่ปรุงแต่ง ฯลฯ ครั้นไม่ปรุงแต่งแล้ว ย่อมไม่
เร่าร้อนเพราะความเร่าร้อนคือชาติบ้าง ย่อมไม่เร่าร้อนเพราะความเร่าร้อนคือ
ชราบ้าง ย่อมไม่เร่าร้อนเพราะความเร่าร้อนคือมรณะบ้าง ย่อมไม่เร่าร้อนเพราะ
ความเร่าร้อนคือโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสบ้าง เรากล่าวว่า
‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาส และชื่อว่าพ้นจากทุกข์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๕. ปปาตวรรค ๔. กูฏาคารสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

มหาปริฬาหสูตรที่ ๓ จบ

๔. กูฏาคารสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยเรือนยอด

[๑๑๑๔] “ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรา
ยังไม่รู้แจ้งทุกขอริยสัจ ฯลฯ ไม่รู้แจ้งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความ
เป็นจริง แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้’
เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลจะพึงกล่าวว่า ‘เรายังไม่ได้สร้างเรือนชั้นล่าง แล้วจัก
ต่อชั้นบนแห่งเรือนยอด’ แม้ฉันใด เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลจะพึงกล่าวว่า ‘เรายัง
ไม่รู้แจ้งทุกขอริยสัจ ฯลฯ ไม่รู้แจ้งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริง
แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้’ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
แต่เป็นไปได้ที่บุคคลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราได้รู้แจ้งทุกขอริยสัจ ฯลฯ ได้
รู้แจ้งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริง แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์โดย
ชอบได้’
เป็นไปได้ที่บุคคลจะพึงกล่าวว่า ‘เราได้สร้างเรือนชั้นล่างแล้ว จักต่อชั้นบนแห่ง
เรือนยอด’ แม้ฉันใด เป็นไปได้ที่บุคคลจะพึงกล่าวว่า ‘เราได้รู้แจ้งทุกขอริยสัจ ฯลฯ
ได้รู้แจ้งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริง’ แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์
โดยชอบได้’ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

กูฏาคารสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๕. ปปาตวรรค ๕. วาลสูตร

๕. วาลสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยปลายขนทราย

[๑๑๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ได้เห็นลิจฉวีกุมารจำนวนมากฝึกยิงลูกศรอยู่ใน
สัณฐาคารให้เข้าทางช่องดาลเล็ก ๆ จากที่ไกล ติดต่อกันได้ ไม่ผิดพลาด จึงคิดดังนี้
ว่า “ลิจฉวีกุมารเหล่านี้ฝึกแล้วหนอ ฝึกดีแล้วหนอ ที่ยิงลูกศรให้เข้าทางช่องดาล
เล็ก ๆ จากที่ไกล ติดต่อกันได้ ไม่ผิดพลาด”
ท่านพระอานนท์ ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงเวสาลีแล้ว กลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ
ประทานวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ได้เห็นลิจฉวีกุมารจำนวนมากฝึกยิงลูกศรอยู่ในสัณฐาคาร
ให้เข้าทางช่องดาลเล็ก ๆ จากที่ไกล ติดต่อกันได้ ไม่ผิดพลาด จึงคิดดังนี้
ว่า ‘ลิจฉวีกุมารเหล่านี้ฝึกแล้วหนอ ฝึกดีแล้วหนอ ที่ยิงลูกศรให้เข้าทางช่องดาล
เล็ก ๆ จากที่ไกล ติดต่อกันได้ ไม่ผิดพลาด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ
ผู้ที่ยิงลูกศรให้เข้าทางช่องดาลเล็ก ๆ จากที่ไกล ติดต่อกันได้ ไม่ผิดพลาด หรือผู้ที่
ใช้ปลายขนทรายซึ่งแบ่งเป็น ๗ เสี่ยง แทงเข้าที่ปลายขนทราย อย่างไหนทำได้ยาก
กว่าหรือเกิดได้ยากกว่ากัน”
“ผู้ที่ใช้ปลายขนทรายซึ่งแบ่งเป็น ๗ เสี่ยง แทงเข้าที่ปลายขนทรายนี้แล ทำ
ได้ยากกว่า และเกิดได้ยากกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ ที่แท้เหล่าชนผู้แทงตลอดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ ชื่อว่าแทงตลอดสิ่งที่แทงตลอดได้ยากกว่า
อานนท์ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็น
จริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

วาลสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๕. ปปาตวรรค ๖. อันธการสูตร

๖. อันธการสูตร
ว่าด้วยความมืดคือสังสารวัฏ

[๑๑๑๖] “ภิกษุทั้งหลาย โลกันตนรกมีแต่ความทุกข์มืดมนอนธการ มัวเป็น
หมอก สัตว์ในนรกนั้นไม่ได้รับประโยชน์จากแสงสว่างของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความมืดนั้นมากหนอ ความมืดนั้นมากจริงหนอ ความมืดอื่น
ที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความมืดนี้มีอยู่หรือ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุ ความมืดอย่างอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความมืดนี้มีอยู่”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความมืดอย่างอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความมืดนี้
เป็นอย่างไร”
“ภิกษุ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้
ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นยินดียิ่งในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชาติ ฯลฯ
ผู้ยินดียิ่งแล้ว ฯลฯ ย่อมปรุงแต่ง ฯลฯ ครั้นปรุงแต่งแล้ว ย่อมตกไปสู่ความมืด
คือชาติบ้าง ตกไปสู่ความมืดคือชราบ้าง ตกไปสู่ความมืดคือมรณะบ้าง ตกไปสู่
ความมืดคือโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสบ้าง เรากล่าวว่า ‘สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาส และชื่อว่าไม่พ้นจากทุกข์’
ภิกษุ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่
ยินดียิ่งในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อชาติ ฯลฯ ผู้ไม่ยินดียิ่งแล้ว ฯลฯ ย่อมไม่
ปรุงแต่ง ฯลฯ ครั้นไม่ปรุงแต่งแล้ว ย่อมไม่ตกไปสู่ความมืดคือชาติบ้าง ไม่ตกไป
สู่ความมืดคือชราบ้าง ไม่ตกไปสู่ความมืดคือมรณะบ้าง ไม่ตกไปสู่ความมืดคือโสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสบ้าง เรากล่าวว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
และชื่อว่าพ้นจากทุกข์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๕. ปปาตวรรค ๗. ปฐมฉิคคฬยุคสูตร

ภิกษุ เพราะเหตุนั้น เธอพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

อันธการสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปฐมฉิคคฬยุคสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยแอกมีรูเดียว สูตรที่ ๑

[๑๑๑๗] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษพึงโยนแอกที่มีรูเดียวลงไปใน
มหาสมุทร ในมหาสมุทรนั้นมีเต่าตาบอดอยู่ตัวหนึ่ง มันโผล่ขึ้นมา ๑๐๐ ปีต่อครั้ง
เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เต่าตาบอดโผล่ขึ้นมา ๑๐๐ ปีต่อครั้ง
จะสอดคอเข้าไปในแอกที่มีรูเดียวโน้นได้บ้างหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเวลาล่วงเลยไปนาน บางครั้งบางคราวมันก็จะ
สอดคอเข้าไปในแอกนั้นได้แน่”
“ภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอดนั้น เมื่อโผล่ขึ้นมา ๑๐๐ ปีต่อครั้ง จะสอดคอ
เข้าไปในแอกที่มีรูเดียวโน้นยังเร็วกว่า แต่เราไม่กล่าวว่าคนพาลผู้ตกไปสู่วินิบาต
คราวเดียวแล้วกลับได้เป็นมนุษย์อีก (จะเร็วกว่านั้น)
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะในวินิบาตนั้นไม่มีการประพฤติธรรม การประพฤติชอบ การทำกุศล
และการทำบุญ ในวินิบาตนั้นมีแต่การเคี้ยวกินกันเอง การเคี้ยวกินผู้มีกำลังน้อยกว่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะไม่ได้เห็นอริยสัจ ๔ ประการ
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฐมฉิคคฬยุคสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๕. ปปาตวรรค ๙. ปฐมสิเนรุปัพพตราชสูตร

๘. ทุติยฉิคคฬยุคสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยแอกมีรูเดียว สูตรที่ ๒

[๑๑๑๘] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาปฐพีนี้เนื่องเป็นอันเดียวกัน
บุรุษพึงโยนแอกที่มีรูเดียวลงบนมหาปฐพีนั้น ลมทางทิศตะวันออกพัดแอกนั้นไป
ทางทิศตะวันตก ลมทางทิศตะวันตกพัดไปทางทิศตะวันออก ลมทางทิศเหนือพัด
ไปทางทิศใต้ ลมทางทิศใต้พัดไปทางทิศเหนือ บนมหาปฐพีนั้นมีเต่าตาบอดอยู่ตัว
หนึ่ง มันโผล่ขึ้นมา ๑๐๐ ปีต่อครั้ง เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
เต่าตาบอดโผล่ขึ้นมา ๑๐๐ ปีต่อครั้ง จะสอดคอเข้าไปในแอกที่มีรูเดียวโน้นได้
บ้างหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่เต่าตาบอดนั้นโผล่ขึ้นมา ๑๐๐ ปีต่อครั้ง จะ
สอดคอเข้าไปในแอกที่มีรูเดียวโน้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน การได้ความเป็น
มนุษย์ก็ยาก การที่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกก็ยาก การที่
ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วรุ่งเรืองในโลกก็ยาก บัดนี้เต่านั้นได้ความเป็นมนุษย์
นี้แล้ว ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก และธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศแล้วก็รุ่งเรืองในโลก
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ทุติยฉิคคฬยุคสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปฐมสิเนรุปัพพตราชสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยขุนเขาสิเนรุ สูตรที่ ๑

[๑๑๑๙] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษพึงเก็บก้อนหินขนาดเมล็ดถั่วเขียว
๗ ก้อนของขุนเขาสิเนรุ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ก้อนหินขนาด
เมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่บุรุษนั้นเก็บมากับขุนเขาสิเนรุ อย่างไหนจะมากกว่ากัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๕. ปปาตวรรค ๑๐. ทุติยสิเนรุปัพพตราชสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาสิเนรุนี้แลมากกว่า ก้อนหินขนาดเมล็ดถั่วเขียว
๗ ก้อนที่บุรุษนั้นเก็บมามีเพียงเล็กน้อย ก้อนหินขนาดเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่
บุรุษนั้นเก็บมา เมื่อเทียบกับขุนเขาสิเนรุแล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือ
ไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้เป็น
อริยสาวกใดรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ทุกข์ที่หมดสิ้นไปของบุคคลผู้เป็นอริยสาวกนั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ผู้รู้ยิ่ง มีมากกว่า
ที่เหลืออยู่ มีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับกองทุกข์ซึ่งมีอยู่ก่อนที่หมดสิ้นไปแล้ว
คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว อย่างมากมีได้เพียง ๗ ชาติ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฐมสิเนรุปัพพตราชสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยสิเนรุปัพพตราชสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยขุนเขาสิเนรุ สูตรที่ ๒

[๑๑๒๐] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนขุนเขาสิเนรุหมดสิ้นไป เหลือก้อนหิน
ขนาดเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อน เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ขุนเขา
สิเนรุที่หมดสิ้นไปกับก้อนหินขนาดเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่เหลืออยู่ อย่างไหนจะ
มากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาสิเนรุที่หมดสิ้นไปนี้แลมากกว่า ก้อนหินขนาด
เมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่เหลืออยู่ มีเพียงเล็กน้อย ก้อนหินขนาดเมล็ดถั่วเขียว ๗
ก้อนที่ยังเหลืออยู่ เมื่อเทียบกับขุนเขาสิเนรุที่หมดสิ้นไปแล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบ
เคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้เป็น
อริยสาวกใดรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ทุกข์ที่หมดสิ้นไปของบุคคลผู้เป็นอริยสาวกนั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ผู้รู้ยิ่ง มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๕. ปปาตวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

มากกว่า ที่เหลืออยู่ มีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับกองทุกข์ซึ่งมีอยู่ก่อนที่หมด
สิ้นไปแล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว อย่างมากมีได้
เพียง ๗ ชาติ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ทุติยสิเนรุปัพพตราชสูตรที่ ๑๐ จบ
ปปาตวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โลกจินตาสูตร ๒. ปปาตสูตร
๓. มหาปริฬาหสูตร ๔. กูฏาคารสูตร
๕. วาลสูตร ๖. อันธกาลสูตร
๗. ปฐมฉิคคฬยุคสูตร ๘. ทุติยฉิคคฬยุคสูตร
๙. ปฐมสิเนรุปัพพตราชสูตร ๑๐. ทุติยสิเนรุปัพพตราชสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๖. อภิสมยวรรค ๒. โปกขรณีสูตร

๖. อภิสมยวรรค
หมวดว่าด้วยการรู้ยิ่ง
๑. นขสิขสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยฝุ่นที่ปลายเล็บ

[๑๑๒๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ปลายพระนขาช้อนฝุ่นขึ้นมาเล็กน้อย
แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจ
ความข้อนั้นว่าอย่างไร ฝุ่นเล็กน้อยนี้ที่เราใช้ปลายเล็บช้อนขึ้นมา กับแผ่นดินใหญ่นี้
อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า
ฝุ่นที่พระองค์ทรงใช้ปลายพระนขาช้อนขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย ฝุ่นเล็กน้อยที่พระองค์
ทรงใช้ปลายพระนขาช้อนขึ้นมา เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว คำนวณไม่ได้
เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้เป็นอริยสาวกใดรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ ทุกข์ที่หมดสิ้นไปของ
บุคคลผู้เป็นอริยสาวกนั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ผู้รู้ยิ่ง มีมากกว่า ที่เหลืออยู่ มี
ประมาณน้อย เมื่อเทียบกับกองทุกข์ซึ่งมีอยู่ก่อนที่หมดสิ้นไปแล้ว คำนวณไม่ได้
เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว อย่างมากมีได้เพียง ๗ ชาติ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

นขสิขสูตรที่ ๑ จบ

๒. โปกขรณีสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยน้ำในสระโบกขรณี

[๑๑๒๒] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสระโบกขรณียาว ๕๐ โยชน์ กว้าง
๕๐ โยชน์ สูง ๕๐ โยชน์ เต็มด้วยน้ำเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ บุรุษใช้ปลายหญ้าคา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๖. อภิสมยวรรค ๓. ปฐมสัมเภชชสูตร

จุ่มน้ำขึ้นจากสระโบกขรณีนั้น เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร น้ำที่
บุรุษใช้ปลายหญ้าคาจุ่มขึ้นมากับน้ำในสระโบกขรณี อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในสระโบกขรณีนี้แลมากกว่า น้ำที่บุรุษใช้ปลาย
หญ้าคาจุ่มขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย น้ำที่บุรุษใช้ปลายหญ้าคาจุ่มขึ้นมา เมื่อเทียบกับ
น้ำในสระโบกขรณีแล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ เธอทั้งหลายพึง
ทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

โปกขรณีสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปฐมสัมเภชชสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยน้ำที่ไหลมาบรรจบกัน สูตรที่ ๑

[๑๑๒๓] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่เหล่านี้ คือ แม่น้ำคงคา
แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหี ไหลมาบรรจบกัน ณ ที่ใด บุรุษ
ช้อนน้ำ ๒-๓ หยดขึ้นมาจากที่นั้น เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
น้ำ ๒-๓ หยดที่บุรุษนั้นช้อนขึ้นมากับน้ำที่ไหลมาบรรจบกัน อย่างไหนจะมาก
กว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำที่ไหลมาบรรจบกันนี้แลมากกว่า น้ำ ๒-๓ หยด
ที่บุรุษนั้นช้อนขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย น้ำ ๒-๓ หยดที่บุรุษนั้นช้อนขึ้นมา เมื่อ
เทียบกับน้ำที่ไหลมาประจบกันแล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึง
ส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ เธอทั้งหลายพึง
ทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฐมสัมเภชชสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๖. อภิสมยวรรค ๕. ปฐมมหาปฐวีสูตร

๔. ทุติยสัมเภชชสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยน้ำที่ไหลมาบรรจบกัน สูตรที่ ๒

[๑๑๒๔] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่เหล่านี้ คือ แม่น้ำคงคา
แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหี ไหลมาบรรจบกัน ณ ที่ใด
น้ำในที่นั้นพึงหมดสิ้นไป เหลือน้ำอยู่ ๒-๓ หยด เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อ
นั้นว่าอย่างไร น้ำที่ไหลมาบรรจบกันซึ่งหมดสิ้นไป กับน้ำ ๒-๓ หยดที่เหลืออยู่
อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำที่ไหลมาบรรจบกันซึ่งหมดสิ้นไปนี้แลมากกว่า น้ำ
๒-๓ หยดที่เหลืออยู่มีเพียงเล็กน้อย น้ำ ๒-๓ หยดที่เหลืออยู่ เมื่อเทียบกับน้ำ
ที่ไหลมาบรรจบกันซึ่งหมดสิ้นไปแล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่
ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ เธอทั้ง
หลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา”

ทุติยสัมเภชชสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมมหาปฐวีสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยแผ่นดินใหญ่ สูตรที่ ๑

[๑๑๒๕] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษพึงเก็บก้อนดินขนาดเมล็ดกระเบา
๗ ก้อนจากแผ่นดินใหญ่ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ก้อนดินขนาด
เมล็ดกระเบา ๗ ก้อนที่บุรุษนั้นเก็บมากับแผ่นดินใหญ่นี้ อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า ก้อนดินขนาดเมล็ดกระเบา
๗ ก้อนที่บุรุษนั้นเก็บมามีเพียงเล็กน้อย ก้อนดินขนาดเมล็ดกระเบา ๗ ก้อนที่
บุรุษนั้นเก็บมา เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้
หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ เธอทั้งหลายพึง
ทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฐมมหาปฐวีสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๖. อภิสมยวรรค ๗. ปฐมมหาสมุททสูตร

๖. ทุติยมหาปฐวีสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยแผ่นดินใหญ่ สูตรที่ ๒

[๑๑๒๖] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแผ่นดินใหญ่พึงหมดสิ้นไป เหลือแต่
ก้อนดินขนาดเมล็ดกระเบาอยู่ ๗ ก้อน เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
แผ่นดินใหญ่ที่หมดสิ้นไปกับก้อนดินขนาดเมล็ดกระเบา ๗ ก้อนที่เหลืออยู่ อย่างไหน
จะมากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่ที่หมดสิ้นไปนี้แลมากกว่า ก้อนดินขนาด
เมล็ดกระเบา ๗ ก้อนที่ยังเหลืออยู่มีเพียงเล็กน้อย ก้อนดินขนาดเมล็ดกระเบา ๗
ก้อนที่เหลืออยู่ เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่ที่หมดสิ้นไปแล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียง
กันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ เธอทั้งหลาย
พึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา”

ทุติยมหาปฐวีสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปฐมมหาสมุททสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยน้ำในมหาสมุทร สูตรที่ ๑

[๑๑๒๗] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษพึงช้อนน้ำในมหาสมุทรขึ้นมา ๒-
๓ หยด เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร น้ำ ๒-๓ หยดที่บุรุษนั้น
ช้อนขึ้นมากับน้ำในมหาสมุทร อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในมหาสมุทรนี้แลมากกว่า น้ำ ๒-๓ หยดที่บุรุษ
ช้อนขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย น้ำ ๒-๓ หยดที่บุรุษนั้นช้อนขึ้นมา เมื่อเทียบกับน้ำ
ในมหาสมุทรแล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ เธอทั้งหลาย
พึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฐมมหาสมุททสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๖. อภิสมยวรรค ๙. ปฐมปัพพตูปมสูตร

๘. ทุติยมหาสมุททสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยน้ำในมหาสมุทร สูตรที่ ๒

[๑๑๒๘] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนน้ำในมหาสมุทรพึงหมดสิ้นไป เหลือ
น้ำอยู่ ๒-๓ หยด เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร น้ำในมหาสมุทร
ที่หมดสิ้นไป กับน้ำ ๒-๓ หยดที่ยังเหลืออยู่ อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในมหาสมุทรที่หมดสิ้นไปนี้แลมากกว่า น้ำ ๒-๓
หยดที่เหลืออยู่มีเพียงเล็กน้อย น้ำ ๒-๓ หยดที่เหลืออยู่ เมื่อเทียบกับน้ำใน
มหาสมุทรที่หมดสิ้นไปแล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ เธอทั้งหลาย
พึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ทุติยมหาสมุททสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปฐมปัพพตูปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยขุนเขาหิมพานต์ สูตรที่ ๑

[๑๑๒๙] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษพึงเก็บก้อนหินขนาดเมล็ดผักกาด
๗ ก้อนของขุนเขาหิมพานต์ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ก้อนหิน
ขนาดเมล็ดผักกาด ๗ ก้อน ที่บุรุษนั้นเก็บมากับขุนเขาหิมพานต์ อย่างไหนจะมาก
กว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาหิมพานต์นี้แลมากกว่า ก้อนหินขนาดเมล็ด
ผักกาด ๗ ก้อนที่บุรุษเก็บมา มีเพียงเล็กน้อย ก้อนหินขนาดเมล็ดผักกาด ๗
ก้อนที่บุรุษนั้นเก็บมา เมื่อเทียบกับขุนเขาหิมพานต์แล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียง
กันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ เธอทั้งหลาย
พึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ปฐมปัพพตูปมสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๖. อภิสมยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๐. ทุติยปัพพตูปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยขุนเขาหิมพานต์ สูตรที่ ๒

[๑๑๓๐] “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนขุนเขาหิมพานต์พึงหมดสิ้นไป เหลือ
แต่ก้อนหินขนาดเมล็ดผักกาดอยู่ ๗ ก้อน เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่า
อย่างไร ขุนเขาหิมพานต์ที่หมดสิ้นไป กับก้อนหินขนาดเมล็ดผักกาด ๗ ก้อนที่เหลือ
อยู่ อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาหิมพานต์ที่หมดสิ้นไปนี้แลมากกว่า ก้อนหิน
ขนาดเมล็ดผักกาด ๗ ก้อนที่ยังเหลืออยู่ เมื่อเทียบกับขุนเขาหิมพานต์ที่หมดสิ้น
ไปแล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้เป็น
อริยสาวกใดรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
ทุกข์ที่หมดสิ้นไปของบุคคลผู้เป็นอริยสาวกนั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ผู้รู้ยิ่ง มีมากกว่า
ที่เหลืออยู่ มีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับกองทุกข์ซึ่งมีอยู่ก่อนที่หมดสิ้นไปแล้ว
คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว อย่างมากมีได้เพียง ๗ ชาติ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ทุติยปัพพตูปมสูตรที่ ๑๐ จบ
อภิสมยวรรคที่ ๖ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. นขสิขสูตร ๒. โปกขรณีสูตร
๓. ปฐมสัมเภชชสูตร ๔. ทุติยสัมเภชชสูตร
๕. ปฐมมหาปฐวีสูตร ๖. ทุติยมหาปฐวีสูตร
๗. ปฐมมหาสมุททสูตร ๘. ทุติยมหาสมุททสูตร
๙. ปฐมปัพพตูปมสูตร ๑๐. ทุติยปัพพตูปมสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๗. ปฐมอามกธัญญเปยยาลวรรค ๒. ปัจจันตสูตร

๗. ปฐมอามกธัญญเปยยาลวรรค
หมวดว่าด้วยอามกธัญญเปยยาลที่ ๑
๑. อัญญตรสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่กลับมาเกิดนอกจากมนุษย์

[๑๑๓๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ปลายพระนขาช้อนฝุ่นขึ้นมาเล็กน้อย
แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญ
ความข้อนั้นว่าอย่างไร ฝุ่นเล็กน้อยที่เราใช้ปลายเล็บช้อนขึ้นมากับแผ่นดินใหญ่นี้
อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า
ฝุ่นที่พระองค์ทรงใช้ปลายพระนขาช้อนขึ้นมา ฝุ่นเล็กน้อยที่พระองค์ทรงใช้ปลาย
พระนขาช้อนขึ้นมา เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบเคียงกันไม่ได้
หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ทั้งหลายที่กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์
มีเพียงเล็กน้อย ส่วนสัตว์ที่กลับมาเกิดนอกจากมนุษย์มีจำนวนมากกว่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะไม่ได้เห็นอริยสัจ ๔ ประการ
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

อัญญตรสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปัจจันตสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่กลับมาเกิดในปัจจันตชนบท

[๑๑๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ปลายพระนขาช้อนฝุ่นขึ้นมาเล็กน้อย
แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๗. ปฐมอามกธัญญเปยยาลวรรค ๔. สุราเมรยสูตร

ความข้อนั้นว่าอย่างไร ฝุ่นเล็กน้อยนี้ที่เราใช้ปลายเล็บช้อนขึ้นมากับแผ่นดินใหญ่นี้
อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า
ฝุ่นที่พระองค์ทรงใช้ปลายพระนขาช้อนขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย ฝุ่นเล็กน้อยที่พระองค์
ทรงใช้ปลายพระนขาช้อนขึ้นมา เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว คำนวณไม่ได้
เทียบเคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท
มีเพียงเล็กน้อย ส่วนสัตว์ที่กลับมาเกิดในปัจจันตชนบทในหมู่ชาวมิลักขะผู้โง่เขลา
มีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

ปัจจันตสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปัญญาสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่มีปัญญาจักษุ

[๑๑๓๓] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่ประกอบด้วย
ปัญญาจักษุ อย่างประเสริฐ มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ตกอยู่ในอวิชชา ลุ่มหลง
มีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

ปัญญาสูตรที่ ๓ จบ

๔. สุราเมรยสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการดื่มสุราและเมรัย

[๑๑๓๔] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการดื่ม
น้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่
เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทมีจำนวน
มากกว่า ฯลฯ

สุราเมรยสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๗. ปฐมอามกธัญญเปยยาลวรรค ๙. พรหมัญญสูตร

๕. โอทกสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เกิดในน้ำ

[๑๑๓๕] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เกิดบนบกมีจำนวน
น้อย ส่วนสัตว์ที่เกิดในน้ำมีจำนวนมากกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯลฯ

โอทกสูตรที่ ๕ จบ

๖. มัตเตยยสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เกื้อกูลแก่มารดา

[๑๑๓๖] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เกื้อกูลแก่มารดา
มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เกื้อกูลแก่มารดามีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

มัตเตยยสูตรที่ ๖ จบ

๗. เปตเตยยสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เกื้อกูลแก่บิดา

[๑๑๓๗] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เกื้อกูลแก่บิดา
มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เกื้อกูลแก่บิดามีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

เปตเตยยสูตรที่ ๗ จบ

๘. สามัญญสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เกื้อกูลแก่สมณะ

[๑๑๓๘] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เกื้อกูลแก่สมณะ
มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เกื้อกูลแก่สมณะมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

สามัญญสูตรที่ ๘ จบ

๙. พรหมัญญสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เกื้อกูลแก่พราหมณ์

[๑๑๓๙] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เกื้อกูลแก่พราหมณ์
มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เกื้อกูลแก่พราหมณ์มีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

พรหมัญญสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๗. ปฐมอามกธัญญเปยยาลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๐. ปจายิกสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่อ่อนน้อมต่อผู้เจริญ

[๑๑๔๐] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่อ่อนน้อมต่อบุคคล
ผู้เจริญที่สุดในตระกูลมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่อ่อนน้อมต่อบุคคลผู้เจริญที่สุดใน
ตระกูลมีจำนวนมากกว่า”

ปจายิกสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฐมอามกธัญญเปยยาลวรรคที่ ๗ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัญญตรสูตร ๒. ปัจจันตสูตร
๓. ปัญญาสูตร ๔. สุราเมรยสูตร
๕. โอทกสูตร ๖. มัตเตยยสูตร
๗. เปตเตยยสูตร ๘. สามัญญสูตร
๙. พรหมัญญสูตร ๑๐. ปจายิกสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๘. ทุติยอามกธัญญเปยยาลวรรค ๔. มุสาวาทสูตร

๘. ทุติยอามกธัญญเปยยาลวรรค
หมวดว่าด้วยอามกธัญญเปยยาลที่ ๒
๑. ปาณาติปาตสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์

[๑๑๔๑] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการฆ่า
สัตว์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์มีจำนวนมากกว่า ข้อนั้น
เพราะเหตุไร ฯลฯ

ปาณาติปาตสูตรที่ ๑ จบ

๒. อทินนาทานสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการลักทรัพย์

[๑๑๔๒] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการลัก
ทรัพย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการลักทรัพย์มีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

อทินนาทานสูตรที่ ๒ จบ

๓. กาเมสุมิจฉาจารสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม

[๑๑๔๓] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกามมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
มีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

กาเมสุมิจฉาจารสูตรที่ ๓ จบ

๔. มุสาวาทสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการพูดเท็จ

[๑๑๔๔] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการพูด
เท็จมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการพูดเท็จมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

มุสาวาทสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๘. ทุติยอามกธัญญเปยยาลวรรค ๘. พีชคามสูตร

๕. เปสุญญสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากคำส่อเสียด

[๑๑๔๕] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากคำส่อ
เสียดมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากคำส่อเสียดมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

เปสุญญสูตรที่ ๕ จบ

๖. ผรุสวาจาสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากคำหยาบ

[๑๑๔๖] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากคำหยาบ
มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากคำหยาบมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

ผรุสวาจาสูตรที่ ๖ จบ

๗. สัมผัปปลาปสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ

[๑๑๔๗] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากคำเพ้อ
เจ้อมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

สัมผัปปลาปสูตรที่ ๗ จบ

๘. พีชคามสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม

[๑๑๔๘] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการ
พรากพืชคามและภูตคามมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการพรากพืชคาม
และภูตคามมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

พีชคามสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๘. ทุติยอามกธัญญเปยยาลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๙. วิกาลโภชนสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

[๑๑๔๙] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการ
บริโภคอาหารในเวลาวิกาลมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการบริโภค
อาหารในเวลาวิกาลมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

วิกาลโภชนสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. คันธวิเลปนสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากของหอมและเครื่องลูบไล้

[๑๑๕๐] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการ
ทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ของหอมและเครื่องประทินผิวอันเป็น
ลักษณะแห่งการแต่งตัวมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ผู้ไม่งดเว้นจากการทัดทรง ประดับ
ตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประทินผิว อันเป็นลักษณะแห่ง
การแต่งตัว มีจำนวนมากกว่า”

คันธวิเลปนสูตรที่ ๑๐ จบ
ทุติยอามกธัญญเปยยาลวรรคที่ ๘ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปาณาติปาตสูตร ๒. อทินนาทานสูตร
๓. กาเมสุมิจฉาจารสูตร ๔. มุสาวาทสูตร
๕. เปสุญญสูตร ๖. ผรุสวาจาสูตร
๗. สัมผัปปลาปสูตร ๘. พีชคามสูตร
๙. วิกาลโภชนสูตร ๑๐. คันธวิเลปนสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๙. ตติยอามกธัญญเปยยาลวรรค ๓. ชาตรูปรชตสูตร

๙. ตติยอามกธัญญเปยยาลวรรค
หมวดว่าด้วยอามกธัญญเปยยาลที่ ๓
๑. นัจจคีตสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ฯ

[๑๑๕๑] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการ
ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลมีจำนวนน้อย
ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นอัน
เป็นข้าศึกแก่กุศลมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

นัจจคีตสูตรที่ ๑ จบ

๒. อุจจาสยนสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่

[๑๑๕๒] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจาก
ที่นอนสูงใหญ่มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่มีจำนวนมาก
กว่า ฯลฯ

อุจจาสยนสูตรที่ ๒ จบ

๓. ชาตรูปรชตสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการรับทองและเงิน

[๑๑๕๓] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการรับ
ทองและเงินมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการรับทองและเงินมีจำนวนมาก
กว่า ฯลฯ

ชาตรูปรชตสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๙. ตติยอามกธัญญเปยยาลวรรค ๗. ทาสีทาสสูตร

๔. อามกธัญญสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ

[๑๑๕๔] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการรับ
ธัญญาหารดิบมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบมี
จำนวนมากกว่า ฯลฯ

อามกธัญญสูตรที่ ๔ จบ

๕. อามกมังสสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ

[๑๑๕๕] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการรับ
เนื้อดิบมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

อามกมังสสูตรที่ ๕ จบ

๖. กุมาริกสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

[๑๑๕๖] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการรับ
สตรีและกุมารีมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารีมีจำนวน
มากกว่า ฯลฯ

กุมาริกสูตรที่ ๖ จบ

๗. ทาสีทาสสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย

[๑๑๕๗] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการรับ
ทาสหญิงและทาสชายมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและ
ทาสชายมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

ทาสีทาสสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๙. ตติยอามกธัญญเปยยาลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๘. อเชฬกสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ

[๑๑๕๘] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการรับ
แพะและแกะมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการรับแพะและแกะมีจำนวน
มากกว่า ฯลฯ

อเชฬกสูตรที่ ๘ จบ

๙. กุกกุฏสูกรสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร

[๑๑๕๙] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการรับ
ไก่และสุกรมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการรับไก่และสุกรมีจำนวนมาก
กว่า ฯลฯ

กุกกุฏสูกรสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. หัตถิควัสสสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า ฯ

[๑๑๖๐] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการรับ
ช้าง โค ม้า และลามีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า
และลามีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

หัตถิควัสสสูตรที่ ๑๐ จบ

ตติยอามกธัญญเปยยาลวรรคที่ ๙ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. นัจจคีตสูตร ๒. อุจจาสยนสูตร
๓. ชาตรูปรชตสูตร ๔. อามกธัญญสูตร
๕. อามกมังสสูตร ๖. กุมาริกสูตร
๗. ทาสีทาสสูตร ๘. อเชฬกสูตร
๙. กุกกุฏสูกรสูตร ๑๐. หัตถิควัสสสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑๐. จตุตถอามกธัญญเปยยาลวรรค ๓. ทูเตยยสูตร

๑๐. จตุตถอามกธัญญเปยยาลวรรค
หมวดว่าด้วยอามกธัญญเปยยาลที่ ๔
๑. เขตตวัตถุสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่นา และที่ดิน

[๑๑๖๑] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการรับ
เรือกสวน ไร่นา และที่ดินมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการรับเรือกสวน
ไร่นา และที่ดินมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

เขตตวัตถุสูตรที่ ๑ จบ

๒. กยวิกกยสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการซื้อการขาย

[๑๑๖๒] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการซื้อ
ขายมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการซื้อขายมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

กยวิกกยสูตรที่ ๒ จบ

๓. ทูเตยยสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทน ฯ

[๑๑๖๓] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการทำ
หน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสารมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการทำ
หน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสารมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

ทูเตยยสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑๐. จตุตถอามกธัญญเปยยาลวรรค ๖-๑๑. เฉทนาทิสูตร

๔. ตุลากูฏสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ฯ

[๑๑๖๔] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการโกง
ด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัดมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาด
จากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัดมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

ตุลากูฏสูตรที่ ๔ จบ

๕. อุกโกฏนสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการรับสินบน ฯ

[๑๑๖๕] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจากการรับ
สินบน การล่อลวง และการตลบตะแลงมีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจาก
การรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลงมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

อุกโกฏนสูตรที่ ๕ จบ

๖-๑๑. เฉทนาทิสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เว้นขาดจากการตัดเป็นต้น

[๑๑๖๖-๑๑๗๑] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่เว้นขาดจาก
การตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การปล้น และการกรรโชกมี
จำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่ไม่เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิง
วิ่งราว การปล้น และการกรรโชกมีจำนวนมากกว่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะไม่ได้เห็นอริยสัจ ๔ ประการ
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๖๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑๐. จตุตถอามกธัญญเปยยาลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

เฉทนาทิสูตรที่ ๖-๑๑ จบ
จตุตถอามกธัญญเปยยาลวรรคที่ ๑๐ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เขตตวัตถุสูตร ๒. กยวิกกยสูตร
๓. ทูเตยยสูตร ๔. ตุลากูฏสูตร
๕. อุกโกฏนสูตร ๖. เฉทนสูตร
๗. วธนสูตร ๘. พันธนสูตร
๙. วิปราโมสสูตร ๑๐. อาโลปสูตร
๑๑. สหสาการสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑๑. ปัญจคติเปยยาลวรรค ๒. มนุสสจุติติรัจฉานสูตร

๑๑. ปัญจคติเปยยาลวรรค
หมวดว่าด้วยปัญจคติเปยยาล
๑. มนุสสจุตินิรยสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในนรก

[๑๑๗๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ปลายพระนขาช้อนฝุ่นขึ้นมาเล็กน้อย
แล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจ
ความข้อนั้นว่าอย่างไร ฝุ่นเล็กน้อยนี้ที่เราใช้ปลายเล็บช้อนขึ้นมา กับแผ่นดินใหญ่นี้
อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า
ฝุ่นที่พระองค์ทรงใช้ปลายพระนขาช้อนขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย ฝุ่นเล็กน้อยที่พระองค์
ทรงใช้ปลายพระนขาช้อนขึ้นมา เมื่อเทียบกับแผ่นใหญ่แล้ว คำนวณไม่ได้ เทียบ
เคียงกันไม่ได้ หรือไม่ถึงส่วนเสี้ยว”
“ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากมนุษย์กลับมาเกิดใน
หมู่มนุษย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากมนุษย์แล้วไปเกิดในนรกมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

มนุสสจุตินิรยสูตรที่ ๑ จบ

๒. มนุสสจุติติรัจฉานสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน

[๑๑๗๓] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากมนุษย์กลับ
มาเกิดในหมู่มนุษย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากมนุษย์แล้วไปเกิดในกำเนิดสัตว์
ดิรัจฉานมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

มนุสสจุติติรัจฉานสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑๑. ปัญจคติเปยยาลวรรค ๑๙-๒๑. ติรัจฉานมนุสสนิรยาทิสูตร

๓. มนุสสจุติเปตติวิสยสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในภูมิแห่งเปรต

[๑๑๗๔] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ทั้งหลายที่จุติจาก
มนุษย์แล้วกลับมาเกิดในหมู่มนุษย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากมนุษย์แล้วไป
เกิดในภูมิแห่งเปรตมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

มนุสสจุติเปตติวิสยสูตรที่ ๓ จบ

๔-๖. มนุสสจุติเทวนิรยาทิสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดาและเกิดในนรกเป็นต้น

[๑๑๗๕-๑๑๗๗] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจาก
มนุษย์แล้วไปเกิดในหมู่เทวดามีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในนรก
ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในภูมิแห่งเปรตมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

มนุสสจุติเทวนิรยาทิสูตรที่ ๔-๖ จบ

๗-๙. เทวจุตินิรยาทิสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่จุติจากเทวดาไปเกิดในนรกเป็นต้น

[๑๑๗๘-๑๑๘๐] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากเทวดา
มาเกิดในหมู่เทวดามีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากเทวดาไปเกิดในนรก ฯลฯ
เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในภูมิแห่งเปรตมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

เทวจุตินิรยาทิสูตรที่ ๗-๙ จบ

๑๐-๑๒. เทวมนุสสนิรยสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่จุติจากเทวดามาเกิดเป็นมนุษย์และเกิดในนรก ฯ

[๑๑๘๑-๑๑๘๓] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากเทวดา
มาเกิดในหมู่มนุษย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากเทวดาไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิด
ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในภูมิแห่งเปรตมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

เทวมนุสสนิรยสูตรที่ ๑๐-๑๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑๑. ปัญจคติเปยยาลวรรค ๑๙-๒๑. ติรัจฉานมนุสสนิรยาทิสูตร

๑๓-๑๕. นิรยมนุสสนิรยาทิสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่จุติจากนรกมาเกิดเป็นมนุษย์และเกิดในนรกเป็นต้น

[๑๑๘๔-๑๑๘๖] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากนรก
มาเกิดในหมู่มนุษย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากนรกกลับมาเกิดในนรก ฯลฯ
เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในภูมิแห่งเปรตมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

นิรยมนุสสนิรยาทิสูตรที่ ๑๓-๑๕ จบ

๑๖-๑๘. นิรยเทวนิรยาทิสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่จุติจากนรกไปเกิดเป็นเทวดาและเกิดในนรกเป็นต้น

[๑๑๘๗-๑๑๘๙] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากนรก
ไปเกิดในหมู่เทวดามีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากนรกกลับมาเกิดในนรก ฯลฯ
เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในภูมิแห่งเปรตมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

นิรยเทวนิรยาทิสูตรที่ ๑๖-๑๘ จบ

๑๙-๒๑. ติรัจฉานมนุสสนิรยาทิสูตร
ว่าด้วยสัตว์ดิรัจฉานที่จุติมาเกิดเป็นมนุษย์และเกิดในนรกเป็นต้น

[๑๑๙๐-๑๑๙๒] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากกำเนิด
สัตว์ดิรัจฉานมาเกิดในหมู่มนุษย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
ไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในภูมิแห่งเปรตมีจำนวน
มากกว่า ฯลฯ

ติรัจฉานมนุสสนิรยาทิสูตรที่ ๑๙-๒๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑๑. ปัญจคติเปยยาลวรรค ๓๐. เปตติเทวเปตติวิสยสูตร

๒๒-๒๔. ติรัจฉานเทวนิรยาทิสูตร
ว่าด้วยสัตว์ดิรัจฉานที่จุติไปเกิดเป็นเทวดาและเกิดในนรกเป็นต้น

[๑๑๙๓-๑๑๙๕] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจาก
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานไปเกิดในหมู่เทวดามีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากกำเนิดสัตว์
ดิรัจฉานไปเกิดในนรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในภูมิแห่ง
เปรตมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

ติรัจฉานเทวนิรยาทิสูตรที่ ๒๒-๒๔ จบ

๒๕-๒๗. เปตติมนุสสนิรยาทิสูตร
ว่าด้วยเปรตที่จุติมาเกิดเป็นมนุษย์และเกิดในนรกเป็นต้น

[๑๑๙๖-๑๑๙๘] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากภูมิ
แห่งเปรตมาเกิดในหมู่มนุษย์มีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากภูมิแห่งเปรตไปเกิดใน
นรก ฯลฯ เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ เกิดในภูมิแห่งเปรตมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

เปตติมนุสสนิรยาทิสูตรที่ ๒๕-๒๗ จบ

๒๘-๒๙. เปตติเทวนิรยาทิสูตร
ว่าด้วยเปรตที่จุติไปเกิดเป็นเทวดาและเกิดในนรกเป็นต้น

[๑๑๙๙-๑๒๐๐] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากภูมิ
แห่งเปรตไปเกิดในหมู่เทวดามีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากภูมิแห่งเปรตไปเกิดใน
นรกมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากภูมิแห่งเปรตไปเกิดใน
หมู่เทวดามีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากภูมิแห่งเปรตไปเกิดในกำเนิดสัตว์
ดิรัจฉานมีจำนวนมากกว่า ฯลฯ

เปตติเทวนิรยาทิสูตรที่ ๒๘-๒๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑๑. ปัญจคติเปยยาล ๓๐. เปตติเทวเปตติวิสยสูตร วรรครวมพระสูตรที่มีในวรรค

๓๐. เปตติเทวเปตติวิสยสูตร
ว่าด้วยเปรตที่จุติไปเกิดเป็นเทวดาและเกิดในภูมิแห่งเปรต

[๑๒๐๑] “ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากภูมิแห่งเปรต
ไปเกิดในหมู่เทวดามีจำนวนน้อย ส่วนสัตว์ที่จุติจากภูมิแห่งเปรตกลับมาเกิดในภูมิ
แห่งเปรตมีจำนวนมากกว่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ประการ
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ทุกขอริยสัจ ๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

เปตติเทวเปตติวิสยสูตรที่ ๓๐ จบ
ปัญจคติเปยยาลวรรคที่ ๑๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มนุสสจุตินิรยสูตร ๒. มนุสสจุติติรัจฉานสูตร
๓. มนุสสจุติเปตติวิสยสูตร ๔-๖. มนุสสจุติเทวนิรยาทิสูตร
๗-๙. เทวจุตินิรยาทิสูตร ๑๐-๑๒. เทวมนุสสนิรยสูตร
๑๓-๑๕. นิรยมนุสสนิรยาทิสูตร ๑๖-๑๘. นิรยเทวนิรยาทิสูตร
๑๙-๒๑. ติรัจฉานมนุสสนิรยาทิสูตร ๒-๒๔. ติรัจฉานเทวนิรยาทิสูตร
๒๕-๒๗. เปตติมนุสสนิรยาทิสูตร ๒๘-๒๙. เปตติเทวนิรยาทิสูตร
๓๐. เปตติเทวเปตติวิสยสูตร

สัจจสังยุตที่ ๑๒ จบ มหาวรรคที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๒. สัจจสังยุต]
๑๑. ปัญจคติเปยยาล รวมสังยุตที่มีในมหาวารวรรค

รวมสังยุตที่มีในมหาวารวรรคนี้ คือ

๑. มัคคสังยุต ๒. โพชฌังคสังยุต
๓. สติปัฏฐานสังยุต ๔. อินทริยสังยุต
๕. สัมมัปปธานสังยุต ๖. พลสังยุต
๗. อิทธิปาทสังยุต ๘. อนุรุทธสังยุต
๙. ฌานสังยุต ๑๐. อานาปานสังยุต
๑๑. โสตาปัตติสังยุต ๑๒. สัจจสังยุต

มหาวารวรรคสังยุต จบ
สังยุตตนิกาย จบบริบูรณ์


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎกที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค จบ





eXTReMe Tracker