ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๓. สัปปุริสสูตร

ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เพราะการได้นั้น ธรรมคือโลภะย่อม
ไม่ถึงความสิ้นไป ธรรมคือโทสะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป หรือธรรมคือโมหะย่อมไม่
ถึงความสิ้นไป แม้ถ้าภิกษุไม่เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม
เธอก็เป็นผู้ควรบูชา ควรสรรเสริญ ในหมู่ภิกษุนั้น’ เพราะการได้นั้น สัตบุรุษนั้น
จึงทำข้อปฏิบัติเท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๖)
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษเป็นพหูสูต ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเป็น
พหูสูต ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่เป็นพหูสูต’ เพราะความเป็นพหูสูตนั้น อสัตบุรุษ
นั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เพราะความเป็นพหูสูต ธรรมคือโลภะ
ย่อมไม่ถึงความสิ้นไป ธรรมคือโทสะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป หรือธรรมคือโมหะย่อม
ไม่ถึงความสิ้นไป แม้ถ้าภิกษุไม่เป็นพหูสูต แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควร
แก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เธอก็เป็นผู้ควรบูชา ควรสรรเสริญ
ในหมู่ภิกษุนั้น’ เพราะความเป็นพหูสูตนั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำข้อปฏิบัติเท่านั้นไว้ใน
ภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๗)
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษเป็นผู้ทรงจำวินัย ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เรา
เป็นผู้ทรงจำวินัย ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่เป็นผู้ทรงจำวินัย’ เพราะความเป็นผู้ทรง
จำวินัยนั้น อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เพราะความเป็นผู้ทรงจำวินัยนั้น
ธรรมคือโลภะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป ธรรมคือโทสะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป หรือ
ธรรมคือโมหะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป แม้ถ้าภิกษุไม่เป็นผู้ทรงจำวินัย แต่เป็นผู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๓. สัปปุริสสูตร

ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เธอก็เป็นผู้ควรบูชา
ควรสรรเสริญ ในหมู่ภิกษุนั้น’ เพราะความเป็นผู้ทรงจำวินัยนั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำ
ข้อปฏิบัติเท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๘)
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษเป็นพระธรรมกถึก ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เรา
เป็นพระธรรมกถึก ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่เป็นพระธรรมกถึก’ เพราะความเป็น
พระธรรมกถึกนั้น อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เพราะความเป็นพระธรรมกถึก ธรรม
คือโลภะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป ธรรมคือโทสะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป หรือธรรมคือ
โมหะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป แม้ถ้าภิกษุไม่เป็นพระธรรมกถึก แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เธอก็เป็นผู้ควรบูชา ควรสรรเสริญ
ในหมู่ภิกษุนั้น’ เพราะความเป็นพระธรรมกถึกนั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำข้อปฏิบัติ
เท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๙)
[๑๐๗] อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ย่อมพิจารณา
เห็นดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่เป็นผู้ถือการอยู่
ป่าเป็นวัตร’ เพราะความเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนั้น อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เพราะความเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
ธรรมคือโลภะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป ธรรมคือโทสะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป หรือ
ธรรมคือโมหะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป แม้ถ้าภิกษุไม่เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร แต่
เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เธอก็เป็นผู้
ควรบูชา ควรสรรเสริญ ในหมู่ภิกษุนั้น’ เพราะความเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนั้น
สัตบุรุษนั้นจึงทำข้อปฏิบัติเท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๓. สัปปุริสสูตร

อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษเป็นผู้ถือการทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ย่อมพิจารณา
เห็นดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ถือการทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่เป็นผู้
ถือการทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร’ เพราะความเป็นผู้ถือการทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรนั้น
อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เพราะความเป็นผู้ถือการทรงผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร ธรรมคือโลภะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป ธรรมคือโทสะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป
หรือธรรมคือโมหะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป แม้ถ้าภิกษุไม่เป็นผู้ถือการทรงผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม
เธอก็เป็นผู้ควรบูชา ควรสรรเสริญ ในหมู่ภิกษุนั้น’ เพราะความเป็นผู้ถือการทรง
ผ้าบังสุกุลเป็นวัตรนั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำข้อปฏิบัติเท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๑๑)
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษเป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ย่อม
พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้
ไม่เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร’ เพราะความเป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาต
เป็นวัตรนั้น อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เพราะความเป็นผู้ถือการเที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตร ธรรมคือโลภะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป ธรรมคือโทสะย่อมไม่ถึง
ความสิ้นไป หรือธรรมคือโมหะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป แม้ถ้าภิกษุไม่เป็นผู้ถือการ
เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ
ประพฤติตามธรรม เธอก็เป็นผู้ควรบูชา ควรสรรเสริญ ในหมู่ภิกษุนั้น’ เพราะ
ความเป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรนั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำข้อปฏิบัติเท่านั้นไว้
ในภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๓. สัปปุริสสูตร

อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษเป็นผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็น
ดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่เป็นผู้ถือการอยู่
โคนไม้เป็นวัตร’ เพราะความเป็นผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตรนั้น อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน
ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เพราะความเป็นผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร
ธรรมคือโลภะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป ธรรมคือโทสะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป หรือ
ธรรมคือโมหะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป แม้ถ้าภิกษุไม่เป็นผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร
แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เธอก็เป็นผู้
ควรบูชา ควรสรรเสริญ ในหมู่ภิกษุนั้น’ เพราะความเป็นผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็น
วัตรนั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำข้อปฏิบัติเท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๑๓)
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษเป็นผู้ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร ฯลฯ เป็นผู้ถือ
การอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร ฯลฯ เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร ฯลฯ เป็นผู้ถือการอยู่
ในเสนาสนะที่เขาจัดให้เป็นวัตร ฯลฯ เป็นผู้ถือการฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร
อสัตบุรุษนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ถือการฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร
ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่เป็นผู้ถือการฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร’ เพราะความเป็น
ผู้ถือการฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตรนั้น อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เพราะความเป็นผู้ถือการฉัน ณ
อาสนะเดียวเป็นวัตร ธรรมคือโลภะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป ธรรมคือโทสะย่อมไม่ถึง
ความสิ้นไป หรือธรรมคือโมหะย่อมไม่ถึงความสิ้นไป แม้ถ้าภิกษุไม่เป็นผู้ถือการฉัน
ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ
ประพฤติตามธรรม เธอก็เป็นผู้ควรบูชา ควรสรรเสริญ ในหมู่ภิกษุนั้น’ เพราะ
ความเป็นผู้ถือการฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตรนั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำข้อปฏิบัติ
เท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๑๔-๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๓. สัปปุริสสูตร

สมาบัติ ๘ ประการ

[๑๐๘] อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ อสัตบุรุษนั้นย่อม
พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ได้ปฐมฌานสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่เป็น
ผู้ได้ปฐมฌานสมาบัติ’ เพราะปฐมฌานสมาบัตินั้น อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘แม้เพราะปฐมฌานสมาบัติ พระผู้มี
พระภาคจึงตรัสอตัมมยตา๑ไว้ เพราะชนทั้งหลายเข้าใจกันด้วยเหตุใด ๆ เหตุนั้น ๆ
ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่เข้าใจกันนั้น’ เพราะปฐมฌานสมาบัตินั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำ
อตัมมยตาเท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๑๙)
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป อสัตบุรุษบรรลุทุติยฌาน
มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ
อยู่ อสัตบุรุษนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ได้จตุตถฌานสมาบัติ
ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่เป็นผู้ได้จตุตถฌานสมาบัติ’ เพราะจตุตถฌานสมาบัตินั้น
อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘แม้เพราะจตุตถฌานสมาบัติ พระผู้มี
พระภาคจึงตรัสอตัมมยตาไว้ เพราะชนทั้งหลายเข้าใจกันด้วยเหตุใด ๆ เหตุนั้น ๆ
ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่เข้าใจกันนั้น’ เพราะจตุตถฌานสมาบัตินั้น สัตบุรุษนั้นจึง
ทำอตัมมยตาเท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๒๐-๒๒)


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๓. สัปปุริสสูตร

อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตต-
สัญญาโดยประการทั้งปวง อสัตบุรุษบรรลุอากาสานัญจายตนะ โดยกำหนดว่า
‘อากาศหาที่สุดมิได้’ อยู่ เธอย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ได้อากาสานัญ-
จายตนสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ’ เพราะ
อากาสานัญจายตนสมาบัตินั้น อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘แม้เพราะอากาสานัญจายตนสมาบัติ
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอตัมมยตาไว้ เพราะชนทั้งหลายเข้าใจกันด้วยเหตุใด ๆ
เหตุนั้น ๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่เข้าใจกันนั้น’ เพราะอากาสานัญจายตนสมาบัติ
นั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำอตัมมยตาเท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๒๓)
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนะ โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่ เธอย่อม
พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้
ไม่เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติ’ เพราะวิญญาณัญจายตนสมาบัตินั้น
อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘แม้เพราะวิญญาณัญจายตนสมาบัติ
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอตัมมยตาไว้ เพราะชนทั้งหลายเข้าใจกันด้วยเหตุใด ๆ
เหตุนั้น ๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่เข้าใจกันนั้น’ เพราะวิญญาณัญจายตนสมาบัติ
นั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำอตัมมยตาเท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๒๔)
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษก้าวล่วงวิญญาณณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง
บรรลุอากิญจัญญายตนะ โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ เธอย่อมพิจารณาเห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๓. สัปปุริสสูตร

ดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่เป็นผู้ได้
อากิญจัญญายตนสมาบัติ’ เพราะอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น อสัตบุรุษนั้น
จึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘แม้เพราะอากิญจัญญายตนสมาบัติ
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอตัมมยตาไว้ เพราะชนทั้งหลายเข้าใจกันด้วยเหตุใด ๆ
เหตุนั้น ๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่เข้าใจกันนั้น’ เพราะอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น
สัตบุรุษนั้นจึงทำอตัมมยตาเท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๒๕)
อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่ เธอย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ได้
เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่เป็นผู้ได้เนวสัญญานา-
สัญญายตนสมาบัติ’ เพราะเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัตินั้น อสัตบุรุษนั้น
จึงยกตน ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของอสัตบุรุษ
ส่วนสัตบุรุษย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘แม้เพราะเนวสัญญานาสัญญายตน-
สมาบัติ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอตัมมยตาไว้ เพราะชนทั้งหลายเข้าใจกันด้วย
เหตุใด ๆ เหตุนั้น ๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่เข้าใจกันนั้น’ เพราะเนวสัญญา-
นาสัญญายตนสมาบัตินั้น สัตบุรุษนั้นจึงทำอตัมมยตาเท่านั้นไว้ในภายใน แล้วไม่
ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมของสัตบุรุษ (๒๖)
อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง
บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายของสัตบุรุษ
นั้นจึงสิ้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้แลย่อมไม่ถือตัวกับใคร ๆ ไม่ถือตัวในที่ไหน ๆ และ
ไม่ถือตัวด้วยเหตุไร ๆ (๒๗)”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

สัปปุริสสูตรที่ ๓ จบ

๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรเสพและธรรมที่ไม่ควรเสพ

[๑๐๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายที่ควรเสพ๑
และไม่ควรเสพแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังธรรมบรรยายนั้น จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวกายสมาจาร(ความประพฤติทางกาย) ไว้ ๒ ประการ
คือ
๑. กายสมาจารที่ควรเสพ
๒. กายสมาจารที่ไม่ควรเสพ
กายสมาจารทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นกายสมาจารที่ตรงข้ามกันและกัน


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เรากล่าววจีสมาจาร(ความประพฤติทางวาจา) ไว้ ๒ ประการ คือ
๑. วจีสมาจารที่ควรเสพ
๒. วจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ
วจีสมาจารทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นวจีสมาจารที่ตรงข้ามกันและกัน
เรากล่าวมโนสมาจาร(ความประพฤติทางใจ) ไว้ ๒ ประการ คือ
๑. มโนสมาจารที่ควรเสพ
๒. มโนสมาจารที่ไม่ควรเสพ
มโนสมาจารทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นมโนสมาจารที่ตรงข้ามกันและกัน
เรากล่าวจิตตุปบาท(ความเกิดขึ้นแห่งจิต) ไว้ ๒ ประการ คือ
๑. จิตตุปบาทที่ควรเสพ
๒. จิตตุปบาทที่ไม่ควรเสพ
จิตตุปบาททั้ง ๒ ประการนั้นเป็นจิตตุปบาทที่ตรงข้ามกันและกัน
เรากล่าวการได้สัญญาไว้ ๒ ประการ คือ
๑. การได้สัญญาที่ควรเสพ
๒. การได้สัญญาที่ไม่ควรเสพ
การได้สัญญาทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นการได้สัญญาที่ตรงข้ามกัน
และกัน
เรากล่าวการได้ทิฏฐิไว้ ๒ ประการ คือ
๑. การได้ทิฏฐิที่ควรเสพ
๒. การได้ทิฏฐิที่ไม่ควรเสพ
การได้ทิฏฐิทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นการได้ทิฏฐิที่ตรงข้ามกันและกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เรากล่าวการได้อัตภาพไว้ ๒ ประการ คือ
๑. การได้อัตภาพที่ควรเสพ
๒. การได้อัตภาพที่ไม่ควรเสพ
การได้อัตภาพทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นการได้อัตภาพที่ตรงข้ามกันและกัน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบเนื้อความแห่งธรรมบรรยายที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดารนี้ โดยพิสดารอย่างนี้
คือ
[๑๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวกาย
สมาจารไว้ ๒ ประการ คือ
๑. กายสมาจารที่ควรเสพ
๒. กายสมาจารที่ไม่ควรเสพ
กายสมาจารทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นกายสมาจารที่ตรงข้ามกันและกัน’
เพราะทรงอาศัยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้เช่นนั้น
เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
กายสมาจารเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นใด อกุศลธรรม
เสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น กายสมาจารเช่นนี้ควรเสพ พระพุทธเจ้าข้า

กายสมาจาร ๒ ประการ

[๑๑๑] เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม
เสื่อมลง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนหยาบช้า มีฝ่ามือ
เปื้อนเลือด ชอบฆ่าสัตว์ ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เจ้าของไม่ได้ให้ คือถือเอาทรัพย์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ที่อยู่ในบ้านหรือในป่า
ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ด้วยความเป็นขโมย และเป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือเป็นผู้
ละเมิดจารีตในหญิงที่อยู่ในปกครองของมารดา หญิงที่อยู่ในปกครองของบิดา
หญิงที่อยู่ในปกครองของมารดาและบิดา หญิงที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย
หญิงที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว หญิงที่อยู่ในปกครองของญาติ หญิงที่อยู่
ในปกครองของตระกูล หญิงที่มีธรรมคุ้มครอง หญิงที่มีสามี หญิงที่มีสินไหมติด
ตัวอยู่ โดยที่สุดแม้หญิงที่ชายคล้องพวงดอกไม้หมั้นไว้
เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ
และศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
เป็นผู้ละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ คือไม่ถือเอาทรัพย์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ที่อยู่ในบ้านหรือในป่า ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ด้วยความ
เป็นขโมย เป็นผู้ละ เว้นขาดจากการประพฤิตผิดในกาม คือเป็นผู้ไม่ละเมิดจารีต
ในหญิงที่อยู่ในปกครองของมารดา หญิงที่อยู่ในปกครองของบิดา หญิงที่อยู่ใน
ปกครองของมารดาและบิดา หญิงที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย หญิงที่อยู่ใน
ปกครองของพี่สาวน้องสาว หญิงที่อยู่ในปกครองของญาติ หญิงที่อยู่ในปกครอง
ของตระกูล หญิงที่มีธรรมคุ้มครอง หญิงที่มีสามี หญิงที่มีสินไหมติดตัวอยู่ โดย
ที่สุดแม้หญิงที่ชายคล้องพวงดอกไม้หมั้นไว้
เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นนี้ อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น
พระพุทธเจ้าข้า
พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวกายสมาจาร
ไว้ ๒ ประการ คือ
๑. กายสมาจารที่ควรเสพ
๒. กายสมาจารที่ไม่ควรเสพ
กายสมาจารทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นกายสมาจารที่ตรงข้ามกันและกัน’ นั่น
เพระอาศัยเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววจีสมาจารไว้
๒ ประการ คือ
๑. วจีสมาจารที่ควรเสพ
๒. วจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ
วจีสมาจารทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นวจีสมาจารที่ตรงข้ามกันและกัน’ เพราะ
ทรงอาศัยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้เช่นนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลเสพวจีสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น
กุศลธรรมเสื่อมลง วจีสมาจารเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคลเสพวจีสมาจารเช่นใด
อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น วจีสมาจารเช่นนี้ควรเสพ พระพุทธเจ้าข้า

วจีสมาจาร ๒ ประการ

[๑๑๒] เมื่อบุคคลเสพวจีสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม
เสื่อมลง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่
ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขา
อ้างเป็นพยาน ซักถามว่า ‘พ่อคุณ เชิญเถิด ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคล
นั้นไม่รู้ ก็พูดว่า ‘รู้’ หรือรู้ก็พูดว่า ‘ไม่รู้’ ไม่เห็นก็พูดว่า ‘เห็น’ หรือเห็นก็พูดว่า
‘ไม่เห็น’ เขาพูดเท็จทั้งที่รู้ เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง
เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง๑ เป็นผู้พูดส่อเสียด คือฟังจากข้างนี้แล้ว
ไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้ว มาบอกข้างนี้ เพื่อ
ทำลายคนหมู่โน้น ยุยงคนที่สามัคคีกัน ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน ชื่นชมยินดี
เพลิดเพลินต่อผู้ที่แตกแยกกัน พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน เป็นผู้พูด
คำหยาบ คือกล่าวแต่คำที่หยาบคาย เผ็ดร้อน หยาบคายร้ายกาจแก่ผู้อื่น


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

กระทบกระทั่งผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ
พูดไม่ถูกเวลา พูดคำไม่จริง พูดไม่อิงประโยชน์ พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย
พูดคำที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ตามกาลอันไม่สมควร
เมื่อบุคคลเสพวจีสมาจารเช่นนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อบุคคลเสพวจีสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จได้แล้วคือ
อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่
ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยาน ซักถามว่า ‘พ่อคุณ เชิญเถิด ท่านรู้
สิ่งใดจงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคลนั้นไม่รู้ก็พูดว่า ‘ไม่รู้’ หรือรู้ ก็พูดว่า ‘รู้’ ไม่เห็นก็พูดว่า
‘ไม่เห็น’ หรือเห็นก็พูดว่า ‘เห็น’ เขาไม่พูดเท็จทั้งที่รู้ เพราะตนเป็นเหตุบ้าง
เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ละการพูด
ส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดส่อเสียดได้แล้ว ฟังจากข้างนี้แล้ว ไม่ไปบอกข้างโน้น
เพื่อทำลายคนหมู่นี้ ฟังจากข้างโน้นแล้ว ไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น
เป็นผู้สมานคนที่แตกแยกกัน หรือส่งเสริมคนที่มีประโยชน์ร่วมกัน มีความสามัคคี
เป็นที่ชื่นชม ยินดีในความสามัคคี รื่นเริงในสามัคคีธรรม เป็นผู้กล่าววาจาก่อให้
เกิดความสามัคคี ละการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดคำหยาบได้แล้ว วาจาใด
ไร้โทษ เสนาะโสต น่ารัก จับใจ เป็นถ้อยคำของชาวเมือง คนส่วนใหญ่ชอบใจ
คนส่วนใหญ่พอใจ ก็กล่าววาจาเช่นนั้น ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูด
เพ้อเจ้อได้แล้ว พูดถูกเวลา พูดจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย กล่าว
วาจาเป็นหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีต้นมีปลาย ประกอบด้วยประโยชน์ตามกาลอัน
สมควร๑
เมื่อบุคคลเสพวจีสมาจารเช่นนี้ อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น
พระพุทธเจ้าข้า


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววจีสมาจารไว้
๒ ประการ คือ
๑. วจีสมาจารที่ควรเสพ
๒. วจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ
วจีสมาจารทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นวจีสมาจารที่ตรงข้ามกันและกัน’ นั่น
เพราะอาศัยเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวมโนสมาจารไว้
๒ ประการ คือ
๑. มโนสมาจารที่ควรเสพ
๒. มโนสมาจารที่ไม่ควรเสพ
มโนสมาจารทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นมโนสมาจารที่ตรงข้ามกันและกัน’ เพราะ
ทรงอาศัยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้เช่นนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลเสพมโนสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น
กุศลธรรมเสื่อมลง มโนสมาจารเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อเสพมโนสมาจารเช่นใด
อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น มโนสมาจารเช่นนี้ควรเสพ พระพุทธเจ้าข้า

มโนสมาจาร ๒ ประการ

[๑๑๓] เมื่อบุคคลเสพมโนสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม
เสื่อมลง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา คือเพ่งเล็ง
อยากได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น
จะพึงเป็นของเรา’ เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า
จงถูกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศไป หรืออย่าได้มี’๑


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เมื่อบุคคลเสพมโนสมาจารเช่นนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อบุคคลเสพมโนสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา คือ
ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ
ของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’ เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์
เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความทุกข์ มีความสุข รักษาตนเถิด’๑
เมื่อบุคคลเสพมโนสมาจารเช่นนี้ อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น
พระพุทธเจ้าข้า
พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวมโนสมาจารไว้
๒ ประการ คือ
๑. มโนสมาจารที่ควรเสพ
๒. มโนสมาจารที่ไม่ควรเสพ
มโนสมาจารทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นมโนสมาจารที่ตรงข้ามกันและกัน’ นั่น
เพราะอาศัยเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสไว้

จิตตุปบาท ๒ ประการ

[๑๑๔] พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว
จิตตุปบาทไว้ ๒ ประการ คือ
๑. จิตตุปบาทที่ควรเสพ
๒. จิตตุปบาทที่ไม่ควรเสพ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

จิตตุปบาททั้ง ๒ ประการนั้นเป็นจิตตุปบาทที่ตรงข้ามกันและกัน’ เพราะ
ทรงอาศัยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้เช่นนั้น
เมื่อบุคคลเสพจิตตุปบาทเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
จิตตุปบาทเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคลเสพจิตตุปบาทเช่นใด อกุศลธรรม
เสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น จิตตุปบาทเช่นนี้ควรเสพ พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อบุคคลเสพจิตตุปบาทเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา มีจิตสหรคต
ด้วยอภิชฌาอยู่ เป็นผู้ปองร้ายเขา มีจิตสหรคตด้วยพยาบาทอยู่ เป็นผู้มีความ
เบียดเบียน มีจิตสหรคตด้วยความเบียดเบียนอยู่
เมื่อบุคคลเสพจิตตุปบาทเช่นนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อบุคคลเสพจิตตุปบาทเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา มีจิตไม่
สหรคตด้วยอภิชฌาอยู่ เป็นผู้ไม่พยาบาท มีจิตสหรคตด้วยความไม่พยาบาทอยู่
เป็นผู้ไม่เบียดเบียนอยู่ มีจิตสหรคตด้วยความไม่เบียดเบียนอยู่
เมื่อบุคคลเสพจิตตุปบาทเช่นนี้ อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น
พระพุทธเจ้าข้า
พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวจิตตุปบาทไว้
๒ ประการ คือ
๑. จิตตุปบาทที่ควรเสพ
๒. จิตตุปบาทที่ไม่ควรเสพ
จิตตุปบาททั้ง ๒ ประการนั้นเป็นจิตตุปบาทที่ตรงข้ามกันและกัน’ นั่น
เพราะอาศัยเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

การได้สัญญา ๒ ประการ

[๑๑๕] พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการ
ได้สัญญาไว้ ๒ ประการ คือ
๑. การได้สัญญาที่ควรเสพ
๒. การได้สัญญาที่ไม่ควรเสพ
การได้สัญญาทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นการได้สัญญาที่ตรงข้ามกันและกัน’
เพราะทรงอาศัยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้เช่นนั้น
เมื่อบุคคลเสพการได้สัญญาเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม
เสื่อมลง การได้สัญญาเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคลเสพการได้สัญญา
เช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น การได้สัญญาเช่นนี้ควรเสพ
พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อบุคคลเสพการได้สัญญาเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม
เสื่อมลง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา มีสัญญาสหรคตด้วย
อภิชฌาอยู่ เป็นผู้พยาบาท มีสัญญาสหรคตด้วยพยาบาทอยู่ เป็นผู้มีความเบียดเบียน
มีสัญญาสหรคตด้วยความเบียดเบียนอยู่
เมื่อบุคคลเสพการได้สัญญาเช่นนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อบุคคลเสพการได้สัญญาเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรม
เจริญขึ้น
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มากด้วยอภิชฌา มีสัญญาสหรคตด้วย
อนภิชฌาอยู่ เป็นผู้ไม่พยาบาท มีสัญญาสหรคตด้วยความไม่พยาบาทอยู่ เป็นผู้
ไม่มีความเบียดเบียน มีสัญญาสหรคตด้วยความไม่เบียดเบียนอยู่
เมื่อบุคคลเสพการได้สัญญาเช่นนี้ อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น
พระพุทธเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการได้สัญญาไว้
๒ ประการ คือ
๑. การได้สัญญาที่ควรเสพ
๒. การได้สัญญาที่ไม่ควรเสพ
การได้สัญญาทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นการได้สัญญาที่ตรงข้ามกันและกัน’ นั่น
เพราะอาศัยเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสไว้

การได้ทิฏฐิ ๒ ประการ

[๑๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการ
ได้ทิฏฐิไว้ ๒ ประการ คือ
๑. การได้ทิฏฐิที่ควรเสพ
๒. การได้ทิฏฐิที่ไม่ควรเสพ
การได้ทิฏฐิทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นการได้ทิฏฐิที่ตรงข้ามกันและกัน’ เพราะ
ทรงอาศัยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้เช่นนั้น
เมื่อบุคคลเสพการได้ทิฏฐิเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
การได้ทิฏฐิเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคลเสพการได้ทิฏฐิเช่นใด อกุศลธรรม
เสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น การได้ทิฏฐิเช่นนี้ควรเสพ พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อบุคคลเสพการได้ทิฏฐิเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงที่เซ่นสรวงแล้วก็ไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่
ทำดีทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ สัตว์ที่
เป็นโอปปาติกะ๑ ก็ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และ
โลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก‘๒


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เมื่อบุคคลเสพการได้ทิฏฐิเช่นนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อบุคคลเสพการได้ทิฏฐิเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรม
เจริญขึ้น
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล
ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงที่เซ่นสรวงแล้วมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำ
ชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมีอยู่
สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็มีอยู่ในโลก’
เมื่อบุคคลเสพการได้ทิฏฐิเช่นนี้ อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น
พระพุทธเจ้าข้า
พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการได้ทิฏฐิ
ไว้ ๒ ประการ คือ
๑. การได้ทิฏฐิที่ควรเสพ
๒. การได้ทิฏฐิที่ไม่ควรเสพ
การได้ทิฏฐิทั้ง ๒ ประการนั้น เป็นการได้ทิฏฐิที่ตรงข้ามกันและกัน’ นั่น
เพราะอาศัยเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสไว้

การได้อัตภาพ ๒ ประการ

[๑๑๗] พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการ
ได้อัตภาพไว้ ๒ ประการ คือ
๑. การได้อัตภาพที่ควรเสพ
๒. การได้อัตภาพที่ไม่ควรเสพ
การได้อัตภาพทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นการได้อัตภาพที่ตรงข้ามกันและกัน’
เพราะทรงอาศัยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้เช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เมื่อบุคคลเสพการได้อัตภาพเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
การได้อัตภาพเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคลเสพการได้อัตภาพเช่นใด อกุศลธรรม
เสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น การได้อัตภาพเช่นนี้ควรเสพ พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อบุคคลเสพการได้อัตภาพเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม
เสื่อมลง
คือ เมื่อบุคคลยังการได้อัตภาพ อันมีความเบียดเบียนให้เกิดขึ้น เพราะการ
ได้อัตภาพอันมีความเบียดเบียนยังไม่สิ้นสุดลง อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อบุคคลเสพการได้อัตภาพเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรม
เจริญขึ้น
คือ เมื่อบุคคลยังการได้อัตภาพ อันไม่มีความเบียดเบียนให้เกิดขึ้น เพราะ
การได้อัตภาพอันไม่มีความเบียดเบียนสิ้นสุดลงแล้ว อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรม
เจริญขึ้น
พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการได้อัตภาพ
ไว้ ๒ ประการ คือ
๑. การได้อัตภาพที่ควรเสพ
๒. การได้อัตภาพที่ไม่ควรเสพ
การได้อัตภาพทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นการได้อัตภาพที่ตรงข้ามกันและกัน’ นั่น
เพราะอาศัยเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสไว้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบเนื้อความแห่งธรรมบรรยายที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดารนี้ โดยพิสดารอย่างนี้
[๑๑๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร เธอรู้เนื้อความแห่ง
ธรรมบรรยายที่เรากล่าวไว้โดยย่อ ไม่ชี้แจงเนื้อความให้พิสดารนี้ โดยพิสดารได้
อย่างนี้ ถูกต้องแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวกายสมาจารไว้ ๒ ประการ คือ
๑. กายสมาจารที่ควรเสพ
๒. กายสมาจารที่ไม่ควรเสพ
กายสมาจารทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นกายสมาจารที่ตรงข้ามกันและกัน’
เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
กายสมาจารเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นใด อกุศลธรรม
เสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น กายสมาจารเช่นนี้ควรเสพ
เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนหยาบช้า มีฝ่ามือ
เปื้อนเลือด ชอบฆ่าสัตว์ ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของไม่ได้ให้ คือถือเอาทรัพย์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ที่อยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่า
ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ด้วยความเป็นขโมย และเป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือเป็น
ผู้ละเมิดจารีตในหญิงที่อยู่ในปกครองของมารดา หญิงที่อยู่ในปกครองของบิดา
หญิงที่อยู่ในปกครองของมารดาและบิดา หญิงที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย
หญิงที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว หญิงที่อยูในปกครองของญาติ หญิงที่อยู่
ในปกครองของตระกูล หญิงที่มีธรรมคุ้มครอง หญิงที่มีสามี หญิงที่มีสินไหมติด
ตัวอยู่ โดยที่สุดแม้หญิงที่ชายคล้องพวงดอกไม้หมั้นไว้
เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ
และศัสตราวุธแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์อยู่ เป็นผู้ละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ คือ
ไม่ถือเอาทรัพย์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ที่อยู่ในบ้านหรือในป่า ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

ด้วยความเป็นขโมย เป็นผู้ละ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือเป็นผู้ไม่
ละเมิดจารีตในหญิงที่อยู่ในปกครองของมารดา หญิงที่อยู่ในปกครองของบิดา
หญิงที่อยู่ในปกครองของมารดาและบิดา หญิงที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย
หญิงที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว หญิงที่อยู่ในปกครองของญาติ หญิงที่อยู่
ในปกครองของตระกูล หญิงที่มีธรรมคุ้มครอง หญิงที่มีสามี หญิงที่มีสินไหม
ติดตัวอยู่ โดยที่สุดแม้หญิงที่ชายคล้องพวงดอกไม้หมั้นไว้
สารีบุตร เมื่อบุคคลเสพกายสมาจารเช่นนี้ อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรม
เจริญขึ้น
เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวกายสมาจารไว้ ๒ ประการ คือ
๑. กายสมาจารที่ควรเสพ
๒. กายสมาจารที่ไม่ควรเสพ
กายสมาจารทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นกายสมาจารที่ตรงข้ามกันและกัน’ นั่น
เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววจีสมาจารไว้ ๒ ประการ ฯลฯ
เรากล่าวมโนสมาจารไว้ ๒ ประการ ฯลฯ
เรากล่าวจิตตุปบาทไว้ ๒ ประการ ฯลฯ
เรากล่าวการได้สัญญาไว้ ๒ ประการ ฯลฯ
เรากล่าวการได้ทิฏฐิไว้ ๒ ประการ ฯลฯ
เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการได้อัตภาพไว้ ๒ ประการ คือ
๑. การได้อัตภาพที่ควรเสพ
๒. การได้อัตภาพที่ไม่ควรเสพ
การได้อัตภาพทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นการได้อัตภาพที่ตรงข้ามกันและกัน’
เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เมื่อบุคคลเสพการได้อัตภาพเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
การได้อัตภาพเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคลเสพการได้อัตภาพเช่นใด อกุศลธรรม
เสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น การได้อัตภาพเช่นนี้ควรเสพ
เมื่อบุคคลเสพการได้อัตภาพเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม
เสื่อมลง
คือ เมื่อบุคคลยังการได้อัตภาพที่มีความเบียดเบียนให้เกิดขึ้น เพราะการ
ได้อัตภาพที่มีความเบียดเบียนยังไม่สิ้นสุดลง อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม
เสื่อมลง
เมื่อบุคคลเสพการได้อัตภาพเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรม
เจริญขึ้น
คือ เมื่อบุคคลยังการได้อัตภาพที่ไม่มีความเบียดเบียนให้เกิดขึ้น เพราะการ
ได้อัตภาพที่ไม่มีความเบียดเบียนสิ้นสุดลงแล้ว อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรม
เจริญขึ้น
เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการได้อัตภาพไว้ ๒ ประการ คือ
๑. การได้อัตภาพที่ควรเสพ
๒. การได้อัตภาพที่ไม่ควรเสพ
การได้อัตภาพทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นการได้อัตภาพที่ตรงข้ามกันและกัน’ นั่น
เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
สารีบุตร เธอพึงเห็นเนื้อความแห่งธรรมบรรยายที่เรากล่าวไว้โดยย่อ ไม่
ชี้แจงเนื้อความให้พิสดารนี้ โดยพิสดารอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

อายตนะ ๑๒ ประการ

[๑๑๙] สารีบุตร เรากล่าวรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาไว้ ๒ ประการ คือ
๑. รูปที่ควรเสพ
๒. รูปที่ไม่ควรเสพ
เรากล่าวเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูไว้ ๒ ประการ คือ
๑. เสียงที่ควรเสพ
๒. เสียงที่ไม่ควรเสพ
เรากล่าวกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกไว้ ๒ ประการ คือ
๑. กลิ่นที่ควรเสพ
๒. กลิ่นที่ไม่ควรเสพ
เรากล่าวรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นไว้ ๒ ประการ คือ
๑. รสที่ควรเสพ
๒. รสที่ไม่ควรเสพ
เรากล่าวโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายไว้ ๒ ประการ คือ
๑. โผฏฐัพพะที่ควรเสพ
๒. โผฏฐัพพะที่ไม่ควรเสพ
เรากล่าวธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจไว้ ๒ ประการ คือ
๑. ธรรมารมณ์ที่ควรเสพ
๒. ธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบเนื้อความแห่งธรรมบรรยายนี้ที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความไว้โดยพิสดาร โดยพิสดาร
อย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวรูปที่พึงรู้แจ้ง
ทางตาไว้ ๒ ประการ คือ
๑. รูปที่ควรเสพ
๒. รูปที่ไม่ควรเสพ’
เพราะทรงอาศัยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้เช่นนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลเสพรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นใด อกุศลธรรม
เจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคล
เสพรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น รูปที่พึงรู้
แจ้งทางตาเช่นนี้ควรเสพ
พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาไว้
๒ ประการ คือ
๑. รูปที่ควรเสพ
๒. รูปที่ไม่ควรเสพ’
นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ ข้าพระองค์จึงกล่าวไว้
พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวเสียงที่พึงรู้แจ้ง
ทางหู ฯลฯ
เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูเช่นนี้
ควรเสพ ฯลฯ
กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกเช่นนี้
ควรเสพ ฯลฯ
รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นเช่นนี้
ควรเสพ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้ง
ทางกายเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวธรรมารมณ์ที่พึงรู้
แจ้งทางใจไว้ ๒ ประการ คือ
๑. ธรรมารมณ์ที่ควรเสพ
๒. ธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ’
เพราะทรงอาศัยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้เช่นนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลเสพธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ไม่ควรเสพ
และเมื่อบุคคลเสพธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศล
ธรรมเจริญขึ้น ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ควรเสพ
พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวธรรมารมณ์ที่พึงรู้
แจ้งทางใจไว้ ๒ ประการคือ
๑. ธรรมารมณ์ที่ควรเสพ
๒. ธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ’
นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสไว้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบเนื้อความแห่งธรรมบรรยายนี้ที่พระผู้
มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร โดยพิสดารอย่างนี้”
[๑๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร เธอรู้เนื้อความแห่ง
ธรรมบรรยายที่เรากล่าวไว้โดยย่อ ไม่ชี้แจงเนื้อความให้พิสดารนี้ โดยพิสดาร
อย่างนี้ว่า ‘เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาไว้
๒ ประการ คือ
๑. รูปที่ควรเสพ
๒. รูปที่ไม่ควรเสพ’
เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

สารีบุตร เมื่อบุคคลเสพรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น
กุศลธรรมเสื่อมลง รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคลเสพรูปที่
พึงรู้แจ้งทางตาเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น รูปที่พึงรู้แจ้ง
ทางตาเช่นนี้ควรเสพ
เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาไว้ ๒ ประการ คือ
๑. รูปที่ควรเสพ
๒. รูปที่ไม่ควรเสพ’
นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
ฯลฯ เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูเช่นนี้
ควรเสพ ฯลฯ
... กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก
เช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
... รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นเช่นนี้ควร
เสพ ฯลฯ
... โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้ง
ทางกายเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจไว้ ๒
ประการ คือ
๑. ธรรมารมณ์ที่ควรเสพ
๒. ธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ’
เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
สารีบุตร เมื่อบุคคลเสพธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น
กุศลธรรมเสื่อมลง
ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคลเสพธรรมารมณ์
ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น ธรรมารมณ์ที่พึงรู้
แจ้งทางใจเช่นนี้ควรเสพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจไว้ ๒
ประการ คือ
๑. ธรรมารมณ์ที่ควรเสพ
๒. ธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ’
นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
สารีบุตร เธอพึงเห็นเนื้อความแห่งธรรมบรรยายที่เรากล่าวไว้โดยย่อนี้ โดย
พิสดารอย่างนี้
[๑๒๑] สารีบุตร เรากล่าวจีวรไว้ ๒ ชนิด คือ
๑. จีวรที่ควรเสพ
๒. จีวรที่ไม่ควรเสพ ฯลฯ
เรากล่าวบิณฑบาตไว้ ๒ ชนิด คือ
๑. บิณฑบาตที่ควรเสพ
๒. บิณฑบาตที่ไม่ควรเสพ ฯลฯ
เรากล่าวเสนาสนะไว้ ๒ ชนิด คือ
๑. เสนาสนะที่ควรเสพ
๒. เสนาสนะที่ไม่ควรเสพ ฯลฯ
เรากล่าวหมู่บ้านไว้ ๒ ชนิด คือ
๑. หมู่บ้านที่ควรเสพ
๒. หมู่บ้านที่ไม่ควรเสพ ฯลฯ
เรากล่าวนิคมไว้ ๒ ชนิด คือ
๑. นิคมที่ควรเสพ
๒. นิคมที่ไม่ควรเสพ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เรากล่าวนครไว้ ๒ ชนิด คือ
๑. นครที่ควรเสพ
๒. นครที่ไม่ควรเสพ ฯลฯ
เรากล่าวชนบทไว้ ๒ ชนิด คือ
๑. ชนบทที่ควรเสพ
๒. ชนบทที่ไม่ควรเสพ ฯลฯ
เรากล่าวบุคคลไว้ ๒ จำพวก คือ
๑. บุคคลที่ควรเสพ
๒. บุคคลที่ไม่ควรเสพ ฯลฯ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบเนื้อความแห่งธรรมบรรยายนี้
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร โดยพิสดารอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวจีวรไว้ ๒ ชนิด คือ
๑. จีวรที่ควรเสพ
๒. จีวรที่ไม่ควรเสพ’
เพราะทรงอาศัยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้เช่นนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อภิกษุเสพจีวรเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น
กุศลธรรมเสื่อมลง จีวรเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อภิกษุเสพจีวรเช่นใด อกุศลธรรม
เสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น จีวรเช่นนี้ควรเสพ
พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวจีวรไว้ ๒ ชนิด คือ
๑. จีวรที่ควรเสพ
๒. จีวรที่ไม่ควรเสพ’
นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

ฯลฯ บิณฑบาตเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ บิณฑบาตเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
... เสนาสนะเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ เสนาสนะเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
... หมู่บ้านเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ หมู่บ้านเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
... นิคมเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ นิคมเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
... นครเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ นครเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
... ชนบทเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ ชนบทเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวบุคคลไว้ ๒ จำพวก
คือ
๑. บุคคลที่ควรเสพ
๒. บุคคลที่ไม่ควรเสพ’
นั่น เพราะทรงอาศัยเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้เช่นนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลเสพบุคคลเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น
กุศลธรรมเสื่อมลง บุคคลเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อเสพบุคคลเช่นใด อกุศลธรรม
เสื่อมลง กุศลธรรมเจริญขึ้น บุคคลเช่นนี้ควรเสพ
พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวบุคคลไว้ ๒ จำพวก
คือ
๑. บุคคลที่ควรเสพ
๒. บุคคลที่ไม่ควรเสพ’
นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสไว้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบเนื้อความแห่งธรรมบรรยายนี้ที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร โดยพิสดารอย่างนี้
[๑๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร เธอทราบเนื้อความ
แห่งธรรมบรรยายที่เรากล่าวโดยย่อ ไม่ชี้แจงเนื้อความให้พิสดารนี้ โดยพิสดาร
อย่างนี้ ถูกต้องแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวจีวรไว้ ๒ ชนิด คือ
๑. จีวรที่ควรเสพ
๒. จีวรที่ไม่ควรเสพ’
เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
สารีบุตร เมื่อภิกษุเสพจีวรเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
จีวรเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อภิกษุเสพจีวรเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศลธรรม
เจริญขึ้น จีวรเช่นนี้ควรเสพ
เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวจีวรไว้ ๒ ชนิด คือ
๑. จีวรที่ควรเสพ
๒. จีวรที่ไม่ควรเสพ’
นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
... บิณฑบาตเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ บิณฑบาตเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
... เสนาสนะเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ เสนาสนะเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
... หมู่บ้านเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ หมู่บ้านเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
... นิคมเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ นิคมเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
... ชนบทเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ ชนบทเช่นนี้ควรเสพ ฯลฯ
เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวบุคคลไว้ ๒ จำพวก คือ
๑. บุคคลที่ควรเสพ
๒. บุคคลที่ไม่ควรเสพ’
เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
สารีบุตร เมื่อบุคคลเสพบุคคลเช่นใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง
บุคคลเช่นนี้ไม่ควรเสพ และเมื่อบุคคลเสพบุคคลเช่นใด อกุศลธรรมเสื่อมลง กุศล
ธรรมเจริญขึ้น บุคคลเช่นนี้ควรเสพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]
๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร

เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘สารีบุตร เรากล่าวบุคคลไว้ ๒ จำพวก คือ
๑. บุคคลที่ควรเสพ
๒. บุคคลที่ไม่ควรเสพ’
นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
สารีบุตร เธอพึงเห็นเนื้อความแห่งธรรมบรรยายที่เรากล่าวแล้วโดยย่อนี้
โดยพิสดารอย่างนี้
[๑๒๓] สารีบุตร แม้ถ้ากษัตริย์ทั้งปวงพึงรู้ทั่วถึงอรรถแห่งธรรมบรรยาย ที่
เรากล่าวโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ ความรู้นั่นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่กษัตริย์แม้ทั้งปวงตลอดกาลนาน
แม้ถ้าพราหมณ์ทั้งปวง ...
แม้ถ้าแพศย์ทั้งปวง ...
แม้ถ้าศูทรทั้งปวงพึงรู้ทั่วถึงอรรถแห่งธรรมบรรยายที่เรากล่าวโดยย่อนี้ได้โดย
พิสดารอย่างนี้ ความรู้นั่นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ศูทร
ทั้งปวงตลอดกาลนาน
สารีบุตร แม้ถ้าโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ตลอดทั้งเทวดาและมนุษย์ พึงรู้ทั่วถึงอรรถแห่งธรรมบรรยายที่เรา
กล่าวโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ ความรู้นั่นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ตลอดทั้งเทวดาและมนุษย์ตลอดกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรมีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๕. พหุธาตุกสูตร

๕. พหุธาตุกสูตร
ว่าด้วยธาตุมากอย่าง

[๑๒๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภัย๑ทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจาก
บัณฑิต อุปัททวะ๒ทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต
อุปสรรค๓ทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต
ภัยทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต อุปัททวะ
ทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต อุปสรรคทั้งปวงที่เกิดขึ้น
ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต เปรียบเหมือนไฟที่ลุกลามจากเรือนไม้อ้อ
หรือเรือนหญ้า ไหม้แม้เรือนยอดที่เขาโบกทั้งภายในและภายนอก ลมพัดเข้าไม่ได้
มีบานประตูปิดมิดชิด หน้าต่างปิดสนิท ฉะนั้น
คนพาลมีภัย บัณฑิตไม่มีภัย คนพาลมีอุปัททวะ บัณฑิตไม่มีอุปัททวะ
คนพาลมีอุปสรรค บัณฑิตไม่มีอุปสรรค ภัยไม่มีจากบัณฑิต อุปัททวะไม่มีจาก
บัณฑิต อุปสรรคไม่มีจากบัณฑิต๔


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๕. พหุธาตุกสูตร

เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็น
บัณฑิต”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอ จึงควรเรียกว่า
‘ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญาเครื่องไตร่ตรอง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เพราะภิกษุเป็นผู้ฉลาดในธาตุ ฉลาดใน
อายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท และฉลาดในฐานะและอฐานะ อานนท์ ด้วย
เหตุมีประมาณเท่านี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญาเครื่องไตร่ตรอง”

ผู้ฉลาดในธาตุ

[๑๒๕] ท่านพระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ธาตุ ๑๘ ประการนี้ คือ
๑. จักขุธาตุ (ธาตุคือจักขุประสาท)
๒. รูปธาตุ (ธาตุคือรูปารมณ์)
๓. จักขุวิญญาณธาตุ (ธาตุคือจักขุวิญญาณ)
๔. โสตธาตุ (ธาตุคือโสตประสาท)
๕. สัททธาตุ (ธาตุคือสัททารมณ์)
๖. โสตวิญญาณธาตุ (ธาตุคือโสตวิญญาณ)
๗. ฆานธาตุ (ธาตุคือฆานประสาท)
๘. คันธธาตุ (ธาตุคือคันธารมณ์)
๙. ฆานวิญญาณธาตุ (ธาตุคือฆานวิญญาณ)
๑๐. ชิวหาธาตุ (ธาตุคือชิวหาประสาท)
๑๑. รสธาตุ (ธาตุคือรสารมณ์)
๑๒. ชิวหาวิญญาณธาตุ (ธาตุคือชิวหาวิญญาณ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๕. พหุธาตุกสูตร

๑๓. กายธาตุ (ธาตุคือกายประสาท)
๑๔. โผฏฐัพพธาตุ (ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์)
๑๕. กายวิญญาณธาตุ (ธาตุคือกายวิญญาณ)
๑๖. มโนธาตุ (ธาตุคือมโน)
๑๗. ธัมมธาตุ (ธาตุคือธรรมารมณ์)
๑๘. มโนวิญญาณธาตุ (ธาตุคือมโนวิญญาณ)
อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นธาตุ ๑๘ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า
‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” (๑)
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบรรยายอื่นอีกไหม ที่ควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาด
ในธาตุ”
“อานนท์ มีธาตุ ๖ ประการนี้ คือ

๑. ปฐวีธาตุ ๒. อาโปธาตุ
๓. เตโชธาตุ ๔. วาโยธาตุ
๕. อากาสธาตุ ๖. วิญญาณธาตุ

อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นธาตุ ๖ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า
‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” (๒)
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบรรยายอื่นอีกไหม ที่ควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาด
ในธาตุ”
“อานนท์ มีธาตุ ๖ ประการนี้ คือ
๑. สุขธาตุ (ธาตุคือสุข)
๒. ทุกขธาตุ (ธาตุคือทุกข์)
๓. โสมนัสสธาตุ (ธาตุคือโสมนัส)
๔. โทมนัสสธาตุ (ธาตุคือโทมนัส)
๕. อุเปกขาธาตุ (ธาตุคืออุเบกขา)
๖. อวิชชาธาตุ (ธาตุคืออวิชชา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๕. พหุธาตุกสูตร

อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นธาตุ ๖ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า
‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” (๓)
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบรรยายอื่นอีกไหม ที่ควรเรียกว่า ‘ภิกษุ
ผู้ฉลาดในธาตุ”
“อานนท์ มีธาตุ ๖ ประการ คือ
๑. กามธาตุ (ธาตุคือกาม)
๒. เนกขัมมธาตุ (ธาตุคือเนกขัมมะ)
๓. พยาบาทธาตุ (ธาตุคือพยาบาท)
๔. อพยาบาทธาตุ (ธาตุคืออพยาบาท)
๕. วิหิงสาธาตุ (ธาตุคือวิหิงสา)
๖. อวิหิงสาธาตุ (ธาตุคืออวิหิงสา)
อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นธาตุ ๖ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า
‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” (๔)
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบรรยายอื่นอีกไหม ที่ควรเรียกว่า ‘ภิกษุ
ผู้ฉลาดในธาตุ”
“อานนท์ มีธาตุ ๓ ประการนี้ คือ
๑. กามธาตุ (ธาตุคือกามารมณ์)
๒. รูปธาตุ (ธาตุคือรูปารมณ์)
๓. อรูปธาตุ (ธาตุคืออรูปารมณ์)
อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นธาตุ ๓ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า
‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” (๕)
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบรรยายอื่นอีกไหม ที่ควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาด
ในธาตุ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๕. พหุธาตุกสูตร

“อานนท์ มีธาตุ ๒ ประการนี้ คือ
๑. สังขตธาตุ (ธาตุคือสังขตธรรม)
๒. อสังขตธาตุ (ธาตุคืออสังขตธรรม)
อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นธาตุ ๒ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า
‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” (๖)

ผู้ฉลาดในอายตนะ

[๑๒๖] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร จึงควรเรียกว่า
‘ภิกษุผู้ฉลาดในอายตนะ”
“อานนท์ อายตนะภายในและภายนอก อย่างละ ๖ ประการนี้ คือ

๑. จักขุ(ตา)คู่กับรูป ๒. โสตะ(หู)คู่กับสัททะ(เสียง)
๓. ฆานะ(จมูก)คู่กับคันธะ(กลิ่น) ๔. ชิวหา(ลิ้น)คู่กับรส
๕. กายคู่กับโผฏฐัพพะ ๖. มโน(ใจ)คู่กับธรรมารมณ์

อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นอายตนะภายในและภายนอก อย่างละ
๖ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในอายตนะ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้
ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท”
“อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ‘เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะ
สิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๕. พหุธาตุกสูตร

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
แต่เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้‘๑
อานนท์ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในปฏิจจ
สมุปบาท”


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๕. พหุธาตุกสูตร

ผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ

[๑๒๗] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร จึงควรเรียกว่า
‘ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ”
“อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้๑ที่บุคคลผู้ถึงพร้อม
ด้วยทิฏฐิ๒พึงยึดถือสังขารไร ๆ โดยความเป็นสภาวะเที่ยง แต่เป็นไปได้๓ ที่ปุถุชน๔
พึงยึดถือสังขารไร ๆ โดยความเป็นสภาวะเที่ยง’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงยึดถือสังขารไร ๆ โดย
ความเป็นสุข แต่เป็นไปได้ที่ปุถุชนพึงยึดถือสังขารไร ๆ โดยความเป็นสุข’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงยึดถือธรรมไร ๆ โดย
ความเป็นอัตตา แต่เป็นไปได้ที่ปุถุชนพึงยึดถือธรรมไร ๆ โดยความเป็นอัตตา’
[๑๒๘] รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงฆ่ามารดา แต่
เป็นไปได้ที่ปุถุชนพึงฆ่ามารดา’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงฆ่าบิดา แต่เป็นไปได้ที่
ปุถุชนพึงฆ่าบิดา’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงฆ่าพระอรหันต์ แต่เป็น
ไปได้ที่ปุถุชนพึงฆ่าพระอรหันต์’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงมีจิตคิดประทุษร้าย ทำ
ร้ายตถาคตให้ห้อเลือด แต่เป็นไปได้ที่ปุถุชนพึงมีจิตประทุษร้าย ทำร้ายตถาคตให้
ห้อเลือด’


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๕. พหุธาตุกสูตร

รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงทำลายสงฆ์ แต่เป็นไปได้
ที่ปุถุชนพึงทำลายสงฆ์’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงนับถือศาสดาอื่น แต่เป็น
ไปได้ที่ปุถุชนพึงนับถือศาสดาอื่น’
[๑๒๙] รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์พึง
เสด็จอุบัติพร้อมกันในโลกธาตุเดียวกัน๑ แต่เป็นไปได้ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์เดียว พึงเสด็จอุบัติในโลกธาตุเดียว’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจักรพรรดิ ๒ พระองค์พึงเสด็จอุบัติพร้อมกัน
ในโลกธาตุเดียวกัน แต่เป็นไปได้ที่พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์เดียวพึงเสด็จอุบัติใน
โลกธาตุเดียว‘๒
[๑๓๐] รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่สตรีพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่
เป็นไปได้ที่บุรุษพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่สตรีพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่เป็นไปได้ที่บุรุษพึง
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่สตรีพึงครองความเป็นท้าวสักกะ ฯลฯ เป็นมาร ฯลฯ
เป็นพรหม แต่เป็นไปได้ที่บุรุษพึงครองความเป็นท้าวสักกะ ฯลฯ เป็นมาร ฯลฯ
เป็นพรหม’
[๑๓๑] รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่กายทุจริตจะพึงเกิดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ แต่เป็นไปได้ที่กายทุจริตจะพึงเกิดผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่า
พอใจ’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่วจีทุจริต ฯลฯ เป็นไปไม่ได้ที่มโนทุจริตจะพึงเกิดผล
ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แต่เป็นไปได้ที่วจีทุจริต ฯลฯ แต่เป็นไปได้ที่
มโนทุจริตจะพึงเกิดผล ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ’


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๕. พหุธาตุกสูตร

รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่กายสุจริตจะพึงเกิดผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่
ไม่น่าพอใจ แต่เป็นไปได้ที่กายสุจริตจะพึงเกิดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่วจีสุจริต ฯลฯ เป็นไปไม่ได้ที่มโนสุจริตจะพึงเกิดผลที่
ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ แต่เป็นไปได้ที่วจีสุจริต ฯลฯ แต่เป็น
ไปได้ที่มโนสุจริต จะพึงเกิดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อม๑ด้วยกายทุจริต หลังจาก
ตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความเพียบพร้อมด้วยกายทุจริตเป็น
เหตุเป็นปัจจัย แต่เป็นไปได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยกายทุจริต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความเพียบพร้อมด้วยกายทุจริต
เป็นเหตุเป็นปัจจัย’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยวจีทุจริต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความเพียบพร้อมด้วยวจีทุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัย
แต่เป็นไปได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยวจีทุจริต ฯลฯ แต่เป็นไปได้ที่บุคคลผู้เพียบ
พร้อมด้วยมโนทุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เพราะความเพียบพร้อมด้วยมโนทุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัย’
รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยกายสุจริต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความเพียบพร้อมด้วยกายสุจริต
เป็นเหตุเป็นปัจจัย แต่เป็นไปได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยกายสุจริต หลังจากตาย
แล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความเพียบพร้อมด้วยกายสุจริตเป็นเหตุ
เป็นปัจจัย’


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๕. พหุธาตุกสูตร

รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยวจีสุจริต ฯลฯ เป็นไปไม่ได้
ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยมโนสุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความเพียบพร้อมด้วยมโนสุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย
แต่เป็นไปได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยวจีสุจริต ฯลฯ แต่เป็นไปได้ที่บุคคลผู้
เพียบพร้อมด้วยมโนสุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะ
ความเพียบพร้อมด้วยมโนสุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัย’๑
อานนท์ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ
และอฐานะ’
[๑๓๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ไว้ว่าชื่อ
พหุธาตุกะ๒บ้าง ชื่อจตุปริวัฏฏะ๓บ้าง ชื่อธัมมาทาสะ๔บ้าง ชื่ออมตทุนทุภี๕บ้าง ชื่อ
อนุตตรสังคามวิชยะ๖บ้าง”


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๖. อิสิคิลิสูตร

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

พหุธาตุกสูตรที่ ๕ จบ

๖. อิสิคิลิสูตร
ว่าด้วยภูเขาอิสิคิลิ

[๑๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลิ เขตกรุงราชคฤห์ ณ
ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นภูเขาเวภาระ
นั่นไหม”
ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภูเขาเวภาระนั่น มีชื่อเป็นอย่างหนึ่ง มีบัญญัติเป็นอย่างหนึ่ง
เธอทั้งหลายเห็นภูเขาปัณฑวะนั่นไหม”
“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“แม้ภูเขาปัณฑวะนั่น มีชื่อเป็นอย่างหนึ่ง มีบัญญัติเป็นอย่างหนึ่ง
เธอทั้งหลายเห็นภูเขาเวปุลละนั่นไหม”
“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“แม้ภูเขาเวปุลละนั่น มีชื่อเป็นอย่างหนึ่ง มีบัญญัติเป็นอย่างหนึ่ง
เธอทั้งหลายเห็นภูเขาคิชฌกูฏนั่นไหม”
“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“แม้ภูเขาคิชฌกูฏนั่น มีชื่อเป็นอย่างหนึ่ง มีบัญญัติเป็นอย่างหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๖. อิสิคิลิสูตร

เธอทั้งหลายเห็นภูเขาอิสิคิลินี้ไหม”
“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย แต่ภูเขาอิสิคิลินี้นั่น มีชื่อเช่นนี้ มีบัญญัติเช่นนี้
เรื่องเคยมีมาแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลิ
นี้มานาน พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นกำลังเข้าไปสู่ภูเขานี้ ประชาชนเห็น แต่
พอท่านเข้าไปแล้ว ประชาชนไม่เห็น ประชาชนทั้งหลายเห็นเหตุดังกล่าวนั้น จึง
พูดกันอย่างนี้ว่า ‘ภูเขานี้กลืนกินฤาษีเหล่านี้’ ภูเขานี้จึงปรากฏชื่อว่า อิสิคิลิ อิสิคิลิ
ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย เราจักบอก ระบุ แสดงชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น จงใส่ใจให้ดี เรา
จักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
[๑๓๔] “ภิกษุทั้งหลาย พระอริฏฐปัจเจกสัมพุทธเจ้า ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขา
อิสิคิลินี้มานานแล้ว พระอุปริฏฐปัจเจกสัมพุทธเจ้า ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มา
นานแล้ว พระตครสิขีปัจเจกสัมพุทธเจ้า ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มานานแล้ว
พระยสัสสีปัจเจกสัมพุทธเจ้า ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มานานแล้ว พระสุทัสสน
ปัจเจกสัมพุทธเจ้า ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มานานแล้ว พระปิยทัสสีปัจเจก
สัมพุทธเจ้า ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มานานแล้ว พระคันธารปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มานานแล้ว พระปิณโฑลปัจเจกสัมพุทธเจ้า ได้อาศัยอยู่
ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มานานแล้ว พระอุปาสภปัจเจกสัมพุทธเจ้า ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขา
อิสิคิลินี้มานานแล้ว พระนิถปัจเจกสัมพุทธเจ้า ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มานาน
แล้ว พระตถปัจเจกสัมพุทธเจ้า ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มานานแล้ว พระสุตวา
ปัจเจกสัมพุทธเจ้า ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มานานแล้ว พระภาวิตัตตปัจเจก
สัมพุทธเจ้า ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มานานแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๖. อิสิคิลิสูตร

[๑๓๕] เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังเราผู้ประกาศชื่อ
ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่มีธรรมเป็นสาระกว่าสรรพสัตว์
ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความอยากได้
บรรลุพระสัมโพธิญาณเฉพาะตน
ผู้ปราศจากลูกศรคือตัณหา สูงกว่านรชน ดังต่อไปนี้
พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้สิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ
คือ อริฏฐพุทธะ ๑ อุปริฏฐพุทธะ ๑ ตครสิขีพุทธะ ๑
ยสัสสีพุทธะ ๑ สุทัสสนพุทธะ ๑ ปิยทัสสีพุทธะ ๑
คันธารพุทธะ ๑ ปิณโฑลพุทธะ ๑ อุปาสภพุทธะ ๑
นิถพุทธะ ๑ ตถพุทธะ ๑
สุตวาพุทธะ ๑ ภาวิตัตตพุทธะ ๑
สุมภพุทธะ ๑ สุภพุทธะ ๑ เมถุลพุทธะ ๑
อัฏฐมพุทธะ ๑ อัสสุเมฆพุทธะ ๑ อนิฆพุทธะ ๑
สุทาฐพุทธะ ๑ พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มีอานุภาพมาก
คือ หิงคูพุทธะ ๑ หิงคพุทธะ ๑
พระมุนีชื่อชาลีมี ๒ องค์ และพระอัฏฐกพุทธะ ๑
โกสัลลพุทธะ ๑ อถพุทธะ ๑ สุพาหุพุทธะ ๑
อุปเนมิสพุทธะ ๑ เนมิสพุทธะ ๑ สันตจิตตพุทธะ ๑
สัจจพุทธะ ๑ ตถพุทธะ ๑ วิรชพุทธะ ๑
ปัณฑิตพุทธะ ๑ กาฬพุทธะ ๑ อุปกาฬพุทธะ ๑
วิชิตพุทธะ ๑ ชิตพุทธะ ๑ อังคพุทธะ ๑
ปังคพุทธะ ๑ คุติจฉิตพุทธะ ๑
ปัสสีพุทธะผู้ละอุปธิอันเป็นมูลแห่งทุกข์ได้ ๑
อปราชิตพุทธะผู้ชนะมารและพลมาร ๑
สัตถาพุทธะ ๑ ปวัตตาพุทธะ ๑ สรภังคพุทธะ ๑
โลมหังสพุทธะ ๑ อุจจังคมายพุทธะ ๑ อสิตพุทธะ ๑
อนาสวพุทธะ ๑ มโนมยพุทธะ ๑
พันธุมาพุทธะผู้ตัดขาดมานะได้ ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๖. อิสิคิลิสูตร

ตทาธิมุตตพุทธะ ๑ วิมลพุทธะ ๑ เกตุมาพุทธะ ๑
เกตุมพราคพุทธะ ๑ มาตังคพุทธะ ๑ อริยพุทธะ ๑
อัจจุตพุทธะ ๑ อัจจุตคามพุทธะ ๑ พยามกพุทธะ ๑
สุมังคลพุทธะ ๑ ทัพพิลพุทธะ ๑ สุปติฏฐิตพุทธะ ๑
อสัยหพุทธะ ๑ เขมาภิรตพุทธะ ๑ โสรตพุทธะ ๑
ทุรันนยพุทธะ ๑ สังฆพุทธะ ๑ อุชชยพุทธะ ๑
พระมุนีองค์หนึ่งชื่อว่า สัยหะ ผู้มีความเพียร ไม่ต่ำทราม ๑
พระปัจเจกพุทธะพระนามว่า อานันทะ (๔ องค์)
พระนามว่า นันทะ (๔ องค์) พระนามว่า
อุปนันทะ (๔ องค์) รวม ๑๒ องค์
และภารทวาชพุทธะผู้ทรงพระวรกายในภพสุดท้าย ๑
โพธิพุทธะ ๑ มหานามพุทธะ ๑ อุตตรพุทธะ ๑
เกสีพุทธะ ๑ สิขีพุทธะ ๑ สุนทรพุทธะ ๑
ภารทวาชพุทธะ ๑ ติสสพุทธะ ๑
อุปติสสพุทธะ ผู้ตัดกิเลสเครื่องผูกในภพได้ ๑
อุปสีทรีพุทธะ ๑ และสีทรีพุทธะ ผู้ตัดตัณหาได้ ๑
มังคลพุทธะ ผู้ปราศจากราคะ ๑
อุสภพุทธะ ผู้ตัดข่ายอันเป็นมูลแห่งทุกข์ ๑ อุปณีตพุทธะ
ได้บรรลุบทอันสงบ ๑ อุโปสถพุทธะ ๑ สุนทรพุทธะ ๑
สัจจนามพุทธะ ๑
เชตพุทธะ ๑ ชยันตพุทธะ ๑ ปทุมพุทธะ ๑
อุปปลพุทธะ ๑ ปทุมุตตรพุทธะ ๑ รักขิตพุทธะ ๑
ปัพพตพุทธะ ๑ มานัตถัทธพุทธะ ๑ โสภิตพุทธะ ๑
วีตราคพุทธะ ๑ กัณหพุทธะ ผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว ๑
พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มีอานุภาพมากเหล่านี้
และอื่น ๆ ผู้สิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๗. มหาจัตตารีสกสูตร

เธอทั้งหลายจงไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
ผู้ล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้องทั้งปวงได้แล้ว
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้มีคุณอันหาประมาณมิได้
ผู้ปรินิพพานแล้วเถิด”

อิสิคิลิสูตรที่ ๖ จบ

๗. มหาจัตตารีสกสูตร
ว่าด้วยธรรมบรรยายชื่อมหาจัตตารีสกะ

[๑๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิ๑อันเป็นอริยะ๒ ที่มีอุปนิสะ๓บ้าง
มีปริขาร๔บ้าง แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังสัมมาสมาธิอันเป็นอริยะนั้น
จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) อันเป็นอริยะ ที่มีอุปนิสะ มีปริขาร เป็น
อย่างไร
คือ สัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ) สัมมาวาจา(เจรจาชอบ)
สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ) สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ(พยายาม


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๗. มหาจัตตารีสกสูตร

ชอบ) สัมมาสติ(ระลึกชอบ) สภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียว แวดล้อมด้วยองค์ ๗ นี้
เราเรียกว่า ‘สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ ที่มีอุปนิสะ’ บ้าง เรียกว่า ‘สัมมาสมาธิ
อันเป็นอริยะ มีปริขาร’ บ้าง
บรรดาองค์ ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า๑
สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรู้ชัดมิจฉาทิฏฐิ๒ว่า ‘เป็นมิจฉาทิฏฐิ’ รู้ชัดสัมมาทิฏฐิว่า ‘เป็น
สัมมาทิฏฐิ’ ความรู้ของภิกษุนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ
มิจฉาทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ ความเห็นว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวง
ที่เซ่นสรวงแล้วไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี
โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะก็ไม่มี
สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็ไม่มีในโลก’๓ นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ เรากล่าวสัมมาทิฏฐิว่ามี ๒ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
๒. สัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์
แห่งมรรค


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๗. มหาจัตตารีสกสูตร

สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ เป็นอย่างไร
คือ ความเห็นว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงที่
เซ่นสรวงแล้วมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี
มารดามีคุณ บิดามีคุณ สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติ
ชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็มีอยู่ในโลก’
นี้เป็นสัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
สัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค
เป็นอย่างไร
คือ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฏฐิ
องค์แห่งมรรคของภิกษุผู้มีจิตไกลจากข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ เพียบพร้อมด้วย
อริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้เป็นสัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็น
โลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฏฐิ ยัง
สัมมาทิฏฐิให้ถึงพร้อม ความพยายามของภิกษุนั้น เป็นสัมมาวายามะ ภิกษุนั้น
มีสติ ละมิจฉาทิฏฐิ มีสติเข้าถึงสัมมาทิฏฐิอยู่ สติของภิกษุนั้นเป็นสัมมาสติ
ธรรม ๓ นี้ คือ (๑) สัมมาทิฏฐิ (๒) สัมมาวายามะ (๓) สัมมาสติ ย่อม
ห้อมล้อมคล้อยตามสัมมาทิฏฐิของภิกษุนั้นไป ด้วยประการฉะนี้
[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า
สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรู้ชัดมิจฉาสังกัปปะว่า ‘เป็นมิจฉาสังกัปปะ’ รู้ชัดสัมมาสังกัปปะว่า
‘เป็นสัมมาสังกัปปะ’ ความรู้ของภิกษุนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ
มิจฉาสังกัปปะ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในกาม ความดำริในความพยาบาท ความดำริในการเบียดเบียน
นี้เป็นมิจฉาสังกัปปะ
สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๗. มหาจัตตารีสกสูตร

คือ เรากล่าวสัมมาสังกัปปะว่ามี ๒ ได้แก่
๑. สัมมาสังกัปปะที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
๒. สัมมาสังกัปปะอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็น
องค์แห่งมรรค
สัมมาสังกัปปะที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท ความ
ดำริในการไม่เบียดเบียน นี้เป็นสัมมาสังกัปปะที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้
ผลคืออุปธิ
สัมมาสังกัปปะอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่ง
มรรค เป็นอย่างไร
คือ ความตรึก ความวิตก ความดำริ ความแน่วแน่ ความแนบแน่น
ความปักใจ ความปรุงแต่งคำ ของภิกษุผู้มีจิตไกลจากข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้
เพียบพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้เป็นสัมมาสังกัปปะอันเป็นอริยะ
ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อ
ละมิจฉาสังกัปปะ ยังสัมมาสังกัปปะให้ถึงพร้อม ความพยายามของภิกษุนั้นเป็น
สัมมาวายามะ ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาสังกัปปะ มีสติเข้าถึงสัมมาสังกัปปะอยู่
สติของภิกษุนั้นเป็นสัมมาสติ ธรรม ๓ นี้ คือ (๑) สัมมาทิฏฐิ (๒) สัมมาวายามะ
(๓) สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อมคล้อยตามสัมมาสังกัปปะของภิกษุนั้นไป ด้วยประการ
ฉะนี้
[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า
สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรู้ชัดมิจฉาวาจาว่า ‘เป็นมิจฉาวาจา’ รู้ชัดสัมมาวาจาว่า ‘เป็น
สัมมาวาจา’ ความรู้ของภิกษุนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ
มิจฉาวาจา เป็นอย่างไร
คือ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ นี้เป็น
มิจฉาวาจา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๗. มหาจัตตารีสกสูตร

สัมมาวาจา เป็นอย่างไร
คือ เรากล่าวสัมมาวาจาว่ามี ๒ ได้แก่
๑. สัมมาวาจาที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
๒. สัมมาวาจาอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์
แห่งมรรค
สัมมาวาจาที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูด
ส่อเสียด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการ
พูดเพ้อเจ้อ นี้เป็นสัมมาวาจาที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
สัมมาวาจาอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค
เป็นอย่างไร
คือ การงด การเว้น การเว้นขาด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากวจีทุจริต ๔
ของภิกษุผู้มีจิตไกลจากข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ เพียบพร้อมด้วยอริยมรรค
เจริญอริยมรรคอยู่ นี้เป็นสัมมาวาจาอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ
เป็นองค์แห่งมรรค ภิกษุย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาวาจา ยังสัมมาวาจาให้ถึงพร้อม
อยู่ ความพยายามของภิกษุนั้นเป็นสัมมาวายามะ ภิกษุนั้นมีสติ ละมิจฉาวาจา
มีสติเข้าถึงสัมมาวาจาอยู่ สติของภิกษุนั้นเป็นสัมมาสติ ธรรม ๓ นี้ คือ
(๑) สัมมาทิฏฐิ (๒) สัมมาวายามะ (๓) สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อมคล้อยตาม
สัมมาวาจาของภิกษุนั้นไป ด้วยประการฉะนี้
[๑๓๙] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า
สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรู้ชัดมิจฉากัมมันตะว่า ‘เป็นมิจฉากัมมันตะ’ รู้ชัดสัมมากัมมันตะว่า
‘เป็นสัมมากัมมันตะ’ ความรู้ของภิกษุนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๗. มหาจัตตารีสกสูตร

มิจฉากัมมันตะ เป็นอย่างไร
คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม นี้เป็นมิจฉากัมมันตะ
สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร
คือ เรากล่าวสัมมากัมมันตะว่ามี ๒ ได้แก่
๑. สัมมากัมมันตะที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
๒. สัมมากัมมันตะอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็น
องค์แห่งมรรค
สัมมากัมมันตะที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการ
ลักทรัพย์ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม นี้เป็นสัมมากัมมันตะ
ที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
สัมมากัมมันตะอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์
แห่งมรรค เป็นอย่างไร
คือ การงด การเว้น การเว้นขาด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากกายทุจริต ๓
ของภิกษุผู้มีจิตไกลจากข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ เพียบพร้อมด้วยอริยมรรค
เจริญอริยมรรคอยู่ นี้เป็นสัมมากัมมันตะอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ
เป็นองค์แห่งมรรค ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉากัมมันตะ ยังสัมมากัมมันตะ
ให้ถึงพร้อม ความพยายามของเธอนั้นเป็นสัมมาวายามะ ภิกษุนั้นมีสติละ
มิจฉากัมมันตะ มีสติเข้าถึงสัมมากัมมันตะอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ
ธรรม ๓ นี้ คือ (๑) สัมมาทิฏฐิ (๒) สัมมาวายามะ (๓) สัมมาสติ ย่อม
ห้อมล้อมคล้อยตามสัมมากัมมันตะของภิกษุนั้นไป ด้วยประการฉะนี้
[๑๔๐] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า
สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรู้ชัดมิจฉาอาชีวะว่า ‘เป็นมิจฉาอาชีวะ’ รู้ชัดสัมมาอาชีวะว่า ‘เป็น
สัมมาอาชีวะ’ ความรู้ของภิกษุนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๗. มหาจัตตารีสกสูตร

มิจฉาอาชีวะ เป็นอย่างไร
คือ การพูดหลอกลวง การเลียบเคียง การหว่านล้อม การพูดและเล็ม
การใช้ลาภต่อลาภ นี้เป็นมิจฉาอาชีวะ
สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร
คือ เรากล่าวสัมมาอาชีวะว่ามี ๒ ได้แก่
๑. สัมมาอาชีวะที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
๒. สัมมาอาชีวะอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์
แห่งมรรค
สัมมาอาชีวะที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ
นี้เป็นสัมมาอาชีวะ ที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
สัมมาอาชีวะอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์
แห่งมรรค เป็นอย่างไร
คือ การงด การเว้น การเว้นขาด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากมิจฉาอาชีวะ
ของภิกษุผู้มีจิตไกลจากข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ เพียบพร้อมด้วยอริยมรรค
เจริญอริยมรรคอยู่ นี้เป็นสัมมาอาชีวะอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ
เป็นองค์แห่งมรรค ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาอาชีวะ ยังสัมมาอาชีวะให้
ถึงพร้อม ความพยายามของภิกษุนั้นเป็นสัมมาวายามะ ภิกษุนั้นมีสติละ
มิจฉาอาชีวะ มีสติเข้าถึงสัมมาอาชีวะอยู่ สติของภิกษุนั้นเป็นสัมมาสติ ธรรม
๓ นี้ คือ (๑) สัมมาทิฏฐิ (๒) สัมมาวายามะ (๓) สัมมาสติ
ย่อมห้อมล้อมคล้อยตามสัมมาอาชีวะของภิกษุนั้นไป ด้วยประการฉะนี้
[๑๔๑] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า
สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า เป็นอย่างไร
คือ ผู้มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะก็มีพอเหมาะ ผู้มีสัมมาสังกัปปะ สัมมา
วาจาก็มีพอเหมาะ ผู้มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะก็มีพอเหมาะ ผู้มีสัมมากัมมันตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๗. มหาจัตตารีสกสูตร

สัมมาอาชีวะก็มีพอเหมาะ ผู้มีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะก็มีพอเหมาะ ผู้มี
สัมมาวายามะ สัมมาสติก็มีพอเหมาะ ผู้มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิก็มีพอเหมาะ
ผู้มีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะก็มีพอเหมาะ ผู้มีสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติก็มี
พอเหมาะ
ภิกษุทั้งหลาย พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ผู้ประกอบ
ด้วยองค์ ๑๐ (แม้ในบรรดาองค์เหล่านั้น บาปอกุศลธรรมเป็นอเนกไปปราศแล้ว
ย่อมถึงความบริบูรณ์ด้วยภาวนาโดยสัมมาญาณะ) ด้วยประการฉะนี้
[๑๔๒] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า
สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า เป็นอย่างไร
คือ สัมมาทิฏฐิ ย่อมทำลายมิจฉาทิฏฐิได้ และบาปอกุศลธรรมเป็นอเนก
อันมีมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ก็เป็นอันถูกสัมมาทิฏฐินั้นทำลายแล้ว กุศลธรรมเป็น
อเนกอันมีสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย ย่อมถึงความเจริญเต็มที่
สัมมาสังกัปปะ ย่อมทำลายมิจฉาสังกัปปะได้ ...
สัมมาวาจา ย่อมทำลายมิจฉาวาจาได้ ...
สัมมากัมมันตะ ย่อมทำลายมิจฉากัมมันตะได้ ...
สัมมาอาชีวะ ย่อมทำลายมิจฉาอาชีวะได้ ...
สัมมาวายามะ ย่อมทำลายมิจฉาวายามะได้ ...
สัมมาสติ ย่อมทำลายมิจฉาสติได้ ...
สัมมาสมาธิ ย่อมทำลายมิจฉาสมาธิได้ ...
สัมมาญาณะ ย่อมทำลายมิจฉาญาณะได้ ...
สัมมาวิมุตติ ย่อมทำลายมิจฉาวิมุตติได้ และบาปอกุศลธรรมเป็นอเนก อัน
มีมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัย ก็เป็นอันถูกสัมมาวิมุตตินั้นทำลายแล้ว กุศลธรรมเป็น
อเนกอันมีสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย ย่อมถึงความเจริญเต็มที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๗. มหาจัตตารีสกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เราจึงประกาศธรรมบรรยายชื่อว่ามหาจัตตารีสกะฝ่ายกุศล
๒๐ ประการ ฝ่ายอกุศล ๒๐ ประการ ที่สมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลกยังประกาศไม่ได้ไว้ ด้วยประการฉะนี้
[๑๔๓] ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเข้าใจธรรม
บรรยายชื่อว่ามหาจัตตารีสกะ๑นี้ ว่าตนควรติเตียน หรือคัดค้าน คำกล่าวเช่นนั้น
และคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมา ๑๐ ประการนี้ของสมณะหรือพราหมณ์นั้น จะเป็น
เหตุให้ถูกตำหนิได้ในปัจจุบันทีเดียว คือ
๑. ถ้าท่านผู้เจริญติเตียนสัมมาทิฏฐิ ท่านผู้เจริญก็ต้องบูชาสรรเสริญ
สมณพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
๒. ถ้าท่านผู้เจริญติเตียนสัมมาสังกัปปะ ท่านผู้เจริญก็ต้องบูชา
สรรเสริญสมณพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาสังกัปปะ
๓. ถ้าท่านผู้เจริญติเตียนสัมมาวาจา ฯลฯ
๔. ถ้าท่านผู้เจริญติเตียนสัมมากัมมันตะ ...
๕. ถ้าท่านผู้เจริญติเตียนสัมมาอาชีวะ ...
๖. ถ้าท่านผู้เจริญติเตียนสัมมาวายามะ ...
๗. ถ้าท่านผู้เจริญติเตียนสัมมาสติ ...
๘. ถ้าท่านผู้เจริญติเตียนสัมมาสมาธิ ...
๙. ถ้าท่านผู้เจริญติเตียนสัมมาญาณะ ...
๑๐. ถ้าท่านผู้เจริญติเตียนสัมมาวิมุตติ ท่านผู้เจริญก็ต้องบูชาสรรเสริญ
สมณพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง พึงเข้าใจธรรม
บรรยายชื่อว่ามหาจัตตารีสกะนี้ ว่าตนควรติเตียนหรือควรคัดค้าน คำกล่าวเช่นนั้น
และคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมา ๑๐ ประการนี้ของสมณะหรือพราหมณ์นั้น จะเป็น
เหตุให้ถูกตำหนิได้ในปัจจุบันทีเดียว


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

ภิกษุทั้งหลาย แม้พวกวัสสะและพวกภัญญะชาวโอกกลชนบท ผู้เป็น
อเหตุกวาทะ๑ อกิริยวาทะ๒ นัตถิกวาทะ๓ เหล่านั้น ก็ยังเข้าใจธรรมบรรยายชื่อ
ว่ามหาจัตตารีสกะ ว่าไม่ควรติเตียน ไม่ควรคัดค้าน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะกลัวการนินทา การว่าร้าย และการแข่งดี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาจัตตารีสกสูตรที่ ๗ จบ

๘. อานาปานัสสติสูตร
ว่าด้วยวิธีเจริญอานาปานสติ

[๑๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมาตา ใน
บุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี พร้อมด้วยพระสาวกผู้เป็นเถระ มีชื่อเสียงหลายรูป
ด้วยกัน คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ
ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากัปปินะ ท่านพระ
มหาจุนทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และพระสาวก
ผู้เป็นเถระที่มีชื่อเสียงรูปอื่น ๆ
ก็สมัยนั้น พระเถระทั้งหลายสั่งสอน พร่ำสอน๔ภิกษุใหม่ทั้งหลาย คือ
ภิกษุผู้เป็นเถระบางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกสั่งสอน


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

พร่ำสอนภิกษุ ๒๐ รูปบ้าง บางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๓๐ รูปบ้าง
บางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๔๐ รูปบ้าง ฝ่ายภิกษุใหม่เหล่านั้น ผู้อันภิกษุ
ผู้เป็นเถระสั่งสอน พร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางกว่าที่ตนรู้
มาก่อน
[๑๔๕] ก็สมัยนั้น ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ คืนดวงจันทร์เต็มดวง ใน
วันปวารณา พระผู้มีพระภาคทรงมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับนั่ง ณ ที่กลางแจ้ง
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่ จึงได้รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เรายินดีปฏิปทานี้ เรามีใจยินดีปฏิปทานี้ เพราะเหตุนั้น
เธอทั้งหลายในธรรมวินัยนี้จงปรารภความเพียร๑เพื่อถึงธรรมที่ตนยังไม่ถึง๒ เพื่อ
บรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ตนยังไม่ทำให้แจ้งให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด
เราจักรออยู่ในกรุงสาวัตถีนี้แหละ จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน อันเป็น
เดือนที่มีดอกโกมุท”
ภิกษุชาวชนบทได้ฟังข่าวว่า “ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคจักทรงรออยู่ใน
กรุงสาวัตถีนั้น จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน อันเป็นเดือนที่มีดอกโกมุท”
จึงพากันหลั่งไหลมายังกรุงสาวัตถี เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ฝ่ายภิกษุผู้เป็นเถระเหล่านั้นก็พากันสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุใหม่เพิ่มประมาณ
มากขึ้น คือ ภิกษุผู้เป็นเถระบางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

บางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๒๐ รูปบ้าง บางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ
๓๐ รูปบ้าง บางพวกสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุ ๔๐ รูปบ้าง และภิกษุใหม่เหล่านั้น
ผู้อันภิกษุผู้เป็นเถระสั่งสอน พร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางกว่า
ที่ตนรู้มาก่อน
[๑๔๖] ก็สมัยนั้น ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ คืนดวงจันทร์เต็มดวง อันเป็น
วันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นเดือนที่มีดอกโกมุท พระผู้มีพระภาคทรงมีภิกษุ
สงฆ์แวดล้อม ประทับนั่ง ณ ที่กลางแจ้ง ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดู
ภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่ จึงได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ไม่สนทนากัน บริษัทนี้เงียบเสียงสนทนากัน ดำรง
อยู่ในสารธรรมอันบริสุทธิ์ ภิกษุสงฆ์บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ควรแก่ของ
ที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ภิกษุสงฆ์นี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เขา
ถวายของน้อยแต่มีผลมาก และถวายของมากก็ยิ่งมีผลมากขึ้น ภิกษุสงฆ์นี้เป็นเช่น
เดียวกันกับบริษัทที่ชาวโลกยากจะได้พบเห็น ภิกษุสงฆ์นี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัท
ที่แม้คนผู้เอาเสบียงคล้องบ่าควรเดินทางไปเป็นโยชน์ ๆ เพื่อพบเห็น
[๑๔๗] ภิกษุทั้งหลาย ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน
โดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว๒ หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ในภิกษุสงฆ์นี้
ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้เป็นอนาคามี เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์๓ ๕ จะ
เกิดเป็นโอปปาติกะ๔ จะปรินิพพานในโลกนั้น ๆ ไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา
ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้เป็นสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์๑ ๓ และเพราะทำ
ราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบาง จะกลับมายังโลกนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วทำ
ที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้เป็นโสดาบัน๒ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ ไม่มีทางตกต่ำ๓
มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๔ในวันข้างหน้า ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอิทธิบาท ๔ อยู่ ใน
ภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุเช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอินทรีย์ ๕ อยู่ ...
เจริญพละ ๕ อยู่ ... เจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียร
ในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ อยู่ ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่
ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญเมตตาอยู่ ในภิกษุสงฆ์
นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญกรุณาอยู่ ...


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญมุทิตาอยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรใน
การเจริญอุเบกขาอยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอสุภสัญญาอยู่ ...
มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอนิจจสัญญาอยู่ ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้
เช่นนั้นอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญ
อานาปานสติอยู่ อานาปานสติที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก อานาปานสติที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน
๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์
๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชาและ
วิมุตติให้บริบูรณ์
[๑๔๘] อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง๑ก็ดี นั่ง
ขัดสมาธิ๒ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๓ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก๔

อานาปานสติ ๑๖ ขั้น๕

๑. เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

๒. เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
๓. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
๔. สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
๕. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติ หายใจออก’
๖. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุข หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุข หายใจออก’
๗. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจออก’
๘. สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขาร หายใจออก’
๙. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิต หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิต หายใจออก’
๑๐. สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิง หายใจออก’
๑๑. สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่น หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่น หายใจออก’
๑๒. สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิต หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิต หายใจออก’
๑๓. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

๑๔. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก’
๑๕. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไป หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไป หายใจออก’
๑๖. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก’
ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
[๑๔๙] อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ได้ คือ
๑. สมัยใด ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เรากล่าวลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้ว่า
เป็นกายชนิดหนึ่งในบรรดากายทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ
โทมนัสในโลกอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

๒. สมัยใดภิกษุสำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติ หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุข หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุข หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขาร หายใจออก’
สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มีความเพียร มี
สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจเข้า
ลมหายใจออกเป็นอย่างดีนี้ว่า เป็นเวทนาชนิดหนึ่งในบรรดาเวทนาทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มี
ความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่
๓. สมัยใด ภิกษุสำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิต หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิต หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่น หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่น หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิต หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิต หายใจออก’
สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เราไม่บอกอานาปานสติแก่ภิกษุผู้หลงลืม ไม่มี
สัมปชัญญะ เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มี
ความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

๔. สมัยใด ภิกษุสำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไป หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไป หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก’
สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มี
สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เธอเห็นการละอภิชฌาและ
โทมนัสด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุ
จึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่
ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
จึงทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ได้

สติปัฏฐาน ๔

[๑๕๐] สติปัฏฐาน ๔ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ คือ
๑. สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ สมัยนั้น ภิกษุนั้นมีสติ
ตั้งมั่น ไม่หลงลืม สมัยใด ภิกษุมีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม สมัยนั้น
สติสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความระลึกได้)
ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

๒. ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสติอย่างนั้น ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการ
พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้น
ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
สมัยนั้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
คือความเลือกเฟ้นธรรม) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น
ภิกษุชื่อว่าเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธัมมวิจย-
สัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๓. ภิกษุนั้นค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง
ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียร ไม่ย่อ
หย่อน สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
คือความเพียร) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อ
ว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อม
ถึงความเจริญเต็มที่
๔. สมัยใด ปีติที่ปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร
แล้ว สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
คือความอิ่มใจ) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุ
ชื่อว่าเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุ
ย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๕. เมื่อภิกษุมีจิตเกิดปีติ กายและจิตย่อมสงบ สมัยใด ภิกษุมีจิต
เกิดปีติ กายและจิตย่อมสงบ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบจิต) ย่อมเป็น
อันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๖. เมื่อภิกษุมีกายสงบแล้ว มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น สมัยใด เมื่อ
ภิกษุมีกายสงบ มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น สมัยนั้น สมาธิ
สัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความตั้งใจมั่น) ย่อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๗. ภิกษุนั้นเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี สมัยใด
ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี สมัยนั้น
อุเบกขาสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความมีใจ
เป็นกลาง) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า
เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุ
ย่อมถึงความเจริญเต็มที่
[๑๕๑] ภิกษุทั้งหลาย
๑. สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ... พิจารณา
เห็นจิตในจิต ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร
มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ สมัยนั้น
ภิกษุนั้นมีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม สมัยใด ภิกษุมีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม
สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น
ภิกษุชื่อว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุ
ย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๒. ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสติอย่างนั้น ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการ
พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่
ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยนั้น
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุ
ชื่อว่าเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๓. ภิกษุนั้นค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
เป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อนแล้ว สมัยใด ภิกษุย่อม
ค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาปรารภ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

ความเพียรไม่ย่อหย่อน สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอัน
ภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๔. ปีติอันปราศจากอามิส เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยใด
ปีติอันปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยนั้น
ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า
เจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึง
ความเจริญเต็มที่
๕. เมื่อภิกษุมีจิตเกิดปีติ กายและจิตย่อมสงบ สมัยใด เมื่อภิกษุมี
จิตเกิดปีติ กายและจิตย่อมสงบ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญปัสสัทธิ-
สัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึง
ความเจริญเต็มที่
๖. เมื่อภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น สมัยใด
เมื่อภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น สมัยนั้น
สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อ
ว่าเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุ
ย่อมถึงความเจริญเต็มที่
๗. ภิกษุนั้นเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้อย่างดี สมัยใด
ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้อย่างดี สมัยนั้น
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุ
ชื่อว่าเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของ
ภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่
ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
จึงทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๘. อานาปานัสสติสูตร

โพชฌงค์ ๗

[๑๕๒] โพชฌงค์ ๗ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก(ความสงัด) อาศัยวิราคะ
(ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ(ความดับ) อันน้อมไปเพื่อความ
ปล่อยวาง
๒. เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ...
๓. เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ...
๔. เจริญปีติสัมโพชฌงค์ ...
๕. เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ...
๖. เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ...
๗. เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
อันน้อมไปเพื่อความปล่อยวาง
ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
จึงทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
อานาปานัสสติสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๙. กายคตาสติสูตร

๙. กายคตาสติสูตร
ว่าด้วยวิธีเจริญกายคตาสติ

[๑๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูปกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกันในหอฉัน ได้เกิดการสนทนากันขึ้น
ในระหว่างการประชุมว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสกายคตาสติที่
ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้วว่า มีผลมาก มีอานิสงส์มาก”
เรื่องนี้มีเพียงเท่านี้ที่ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันค้างไว้ ครั้นเวลาเย็น พระผู้มี
พระภาคทรงออกจากที่ทรงหลีกเร้น เสด็จเข้าไปยังหอฉัน ประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เวลานี้ เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่ง
ประชุมกันในหอฉัน ได้เกิดการสนทนากันขึ้นในระหว่างการประชุมว่า ‘ท่านผู้มี
อายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ ทรงเห็น
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสกายคตาสติที่ภิกษุเจริญ ทำให้
มากแล้วว่า มีผลมาก มีอานิสงส์มาก’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้ที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้พูดค้างไว้ ก็พอดีพระผู้
มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
[๑๕๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“กายคตาสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๙. กายคตาสติสูตร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่ง
ขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร๑ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก‘๒
ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ ย่อมละความ
ดำริที่สับสน อันอาศัยเรือน๓ได้ เพราะละความดำริที่สับสนนั้นได้ จิตอันเป็นไป
ภายในกายนั้นเท่านั้น ย่อมดำรงคงที่ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ภิกษุชื่อว่า
เจริญกายคตาสติแม้ด้วยอาการอย่างนี้ (๑)
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่า ‘เราเดิน’
เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า ‘เรายืน’
เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า ‘เรานั่ง’
เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า ‘เรานอน’
เธอดำรงกายอยู่โดยอิริยาบถใด ๆ ก็รู้ชัดกายที่ดำรงอยู่โดยอิริยาบถนั้น ๆ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๙. กายคตาสติสูตร

ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ ย่อมละความ
ดำริที่สับสน อันอาศัยเรือนได้ เพราะละความดำริที่สับสนนั้นได้ จิตที่เป็นไป
ภายในกายเท่านั้น ย่อมดำรงคงที่ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ภิกษุชื่อว่าเจริญ
กายคตาสติแม้ด้วยอาการอย่างนี้ (๒)
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ
ทำความรู้สึกตัวในการแลดู การเหลียวดู
ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก
ทำความรู้สึกตัวในการครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร
ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว
ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ
ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง
ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ ย่อมละความ
ดำริที่สับสน อันอาศัยเรือนได้ เพราะละความดำริที่สับสนนั้นได้ จิตที่เป็นไป
ภายในกายเท่านั้น ย่อมดำรงคงที่ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ภิกษุชื่อว่าเจริญ
กายคตาสติแม้ด้วยอาการอย่างนี้ (๓)
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่
ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ
ว่า ‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต๑
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด
หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๙. กายคตาสติสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ถุงมีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่าง ๆ คือ ข้าวสาลี
ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร คนตาดีเปิดถุงนั้นออก
พิจารณาเห็นว่า ‘นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลือง
นี้เป็นงา นี้เป็นข้าวสาร’ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้
ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า ‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ
เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ใส้ใหญ่ ใส้น้อย
อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย
น้ำมูก ไขข้อ มูตร’
ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ ย่อมละความ
ดำริที่สับสน อันอาศัยเรือนได้ เพราะละความดำริที่สับสนนั้นได้ จิตที่เป็นไป
ภายในกายเท่านั้น ย่อมดำรงคงที่ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ภิกษุชื่อว่าเจริญ
กายคตาสติแม้ด้วยอาการอย่างนี้ (๔)
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ โดย
ความเป็นธาตุว่า ‘ในกายนี้ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’
คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญ ฆ่าโคแล้วแบ่งอวัยวะออกเป็น
ส่วน ๆ นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณา
เห็นกายนี้ ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า ‘ในกายนี้ มีธาตุดิน
ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’
ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ ย่อมละความ
ดำริที่สับสน อันอาศัยเรือนได้ เพราะละความดำริที่สับสนนั้นได้ จิตที่เป็นไป
ภายในกายเท่านั้น ย่อมดำรงคงที่ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ภิกษุชื่อว่าเจริญ
กายคตาสติแม้ด้วยอาการอย่างนี้ (๕)
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งตายแล้ว ๑ วัน ตาย
แล้ว ๒ วัน หรือตายแล้ว ๓ วัน เป็นศพขึ้นอืด ศพเขียวคล้ำ ศพมีน้ำเหลืองเยิ้ม
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณากายนี้เข้าไปเปรียบเทียบว่า ‘แม้กายนี้
ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๙. กายคตาสติสูตร

ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ ย่อมละความ
ดำริที่สับสน อันอาศัยเรือนได้ เพราะละความดำริที่สับสนนั้นได้ จิตที่เป็นไป
ภายในกายเท่านั้น ย่อมดำรงคงที่ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ภิกษุชื่อว่าเจริญ
กายคตาสติแม้ด้วยอาการอย่างนี้ (๖)
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งถูกกาจิกกิน แร้งทึ้งกิน
นกตระกรุมจิกกิน สุนัขกัดกิน สุนัขจิ้งจอกกัดกิน หรือสัตว์เล็ก ๆ หลายชนิดกัด
กินอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณากายนี้เข้าไปเปรียบเทียบว่า
‘แม้กายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’
ภิกษุผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ภิกษุชื่อว่าเจริญกายคตาสติแม้ด้วยอาการอย่างนี้ (๗)
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นโครงกระดูก มีเนื้อ
และเลือด มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ฯลฯ เป็นโครงกระดูก ไม่มีเนื้อ แต่ยังมี
เลือดเปื้อนเปรอะ มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ฯลฯ เป็นโครงกระดูก ไม่มีเนื้อและเลือด
แต่ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ฯลฯ เป็นโครงกระดูก ไม่มีเอ็นรึงรัดแล้ว กระจุย
กระจายไปในทิศใหญ่ทิศเฉียง คือ กระดูกมืออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทาง
ทิศหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกขาอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่
ทางทิศหนึ่ง กระดูกสันหลังอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูก
ก้านคออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกคออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกฟันอยู่ทางทิศหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางทิศหนึ่ง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น
เหมือนกัน พิจารณากายนี้เข้าไปเปรียบเทียบว่า ‘แม้กายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มี
ลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’
ภิกษุผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ภิกษุชื่อว่าเจริญกายคตาสติแม้ด้วยอาการ
อย่างนี้ (๘-๑๑)
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูสี
ขาวเหมือนสีสังข์ ฯลฯ เป็นกระดูกกองอยู่ด้วยกันเกินกว่า ๑ ปี ฯลฯ เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๙. กายคตาสติสูตร

กระดูกผุป่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณากายนี้
เข้าไปเปรียบเทียบว่า ‘แม้กายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้น
ความเป็นอย่างนั้นไปได้‘๑
ภิกษุผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ภิกษุชื่อว่าเจริญกายคตาสติแม้ด้วยอาการอย่างนี้
(๑๒-๑๔)
[๑๕๕] อีกประการหนึ่ง ภิกษุสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้ให้
ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของ
ร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง พนักงานสรงสนาน หรือลูกมือ
พนักงานสรงสนานผู้ชำนาญ เทผงถูตัวลงในภาชนะสัมฤทธิ์แล้ว เอาน้ำประพรมให้
ติดเป็นก้อน ก้อนถูตัวนั้นที่มียางซึมไปจับ ก็ติดกันหมด ไม่กระจายออก แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม ด้วยปีติและสุขอันเกิดจาก
วิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่
ถูกต้อง
ภิกษุผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ภิกษุชื่อว่าเจริญกายคตาสติแม้ด้วยอาการ
อย่างนี้ (๑๕)
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่
เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่
ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง ห้วงน้ำเป็นวังวน
ไม่มีทางที่กระแสน้ำจะไหลเข้าได้ทั้งด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ด้านเหนือ และ
ด้านใต้ ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่กระแสน้ำเย็นพุ่งขึ้นจากห้วงน้ำนั้น แล้วทำ
ห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่นเอิบอาบ เนืองนองไปด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนไหนของห้วงน้ำนั้น
ที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม
ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๙. กายคตาสติสูตร

ภิกษุผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ภิกษุชื่อว่าเจริญกายคตาสติแม้ด้วยอาการ
อย่างนี้ (๑๖)
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ฯลฯ อยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม
ด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่ายกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่
ถูกต้อง เปรียบเหมือนในกออุบล กอปทุม หรือกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม
หรือดอกบุณฑริกบางเหล่าที่เกิดเจริญเติบโตในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ มีน้ำ
หล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตั้งแต่ยอดถึงเหง้า
ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้
ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอัน
ไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง
ภิกษุผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ภิกษุชื่อว่าเจริญกายคตาสติแม้ด้วยอาการ
อย่างนี้ (๑๗)
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน
ภิกษุจึงบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้
ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนบุรุษ
นั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของ
ร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง๑
ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ ย่อมละความ
ดำริที่สับสน อันอาศัยเรือนได้ เพราะละความดำริที่สับสนนั้นได้ จิตที่เป็นไปภาย
ในกายเท่านั้น ย่อมดำรงคงที่ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ภิกษุชื่อว่าเจริญ
กายคตาสติแม้ด้วยอาการอย่างนี้ (๑๘)


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๙. กายคตาสติสูตร

[๑๕๖] ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว
กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นส่วนแห่งวิชชา๑ย่อมเป็นภาวนาที่หยั่งลงในจิตของ
ภิกษุนั้น มหาสมุทรอันผู้ใดผู้หนึ่งสัมผัสด้วยใจแล้ว แม่น้ำน้อยสายใดสายหนึ่งที่
ไหลไปสู่สมุทรย่อมปรากฏภายในจิตของผู้นั้น แม้ฉันใด กายคตาสติอันภิกษุรูปใด
รูปหนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นส่วนแห่งวิชชา
ย่อมเป็นภาวนาที่หยั่งลงในจิตของภิกษุนั้น๒ ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่เจริญ ไม่ทำให้มากแล้ว
มารย่อมได้ช่อง ได้อารมณ์๓ของภิกษุนั้น เปรียบเหมือนบุรุษเหวี่ยงก้อนศิลาหนัก
ไปที่กองดินเปียก เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ก้อนศิลาหนักนั้น
จะพึงจมลงในกองดินเปียกนั้นได้ไหม”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่เจริญ
ไม่ทำให้มากแล้ว มารย่อมได้ช่อง ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
เปรียบเหมือนไม้แห้งสนิท ต่อมา บุรุษนำไปทำเป็นไม้สีไฟ ด้วยหวังว่า
‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ
บุรุษนั้นใช้ไม้ที่แห้งสนิทโน้นมาทำเป็นไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่เจริญ
ไม่ทำให้มากแล้ว มารย่อมได้ช่อง ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
เปรียบเหมือนหม้อน้ำว่างเปล่า ที่เขาตั้งไว้บนเครื่องรอง ต่อมา บุรุษถือเอา
หม้อน้ำนั้นมาทำเป็นเครื่องตักน้ำ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ
บุรุษนั้นจะพึงตักน้ำได้ไหม”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๙. กายคตาสติสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่
เจริญ ไม่ทำให้มากแล้ว มารย่อมได้ช่อง ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
[๑๕๗] ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว
มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
เปรียบเหมือนบุรุษโยนกลุ่มด้ายเบา ๆ ลงบนแผ่นกระดานเรียบ ที่ทำด้วยไม้
แก่นล้วน เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษนั้นพึงโยนกลุ่มด้าย
เบา ๆ นั้นลงบนแผ่นกระดานเรียบที่ทำด้วยไม้แก่นล้วนได้ไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ
ทำให้มากแล้ว มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
เปรียบเหมือนไม้สดมียาง ต่อมา บุรุษนำไปทำเป็นไม้สีไฟ ด้วยหวังว่า
‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ
บุรุษนั้นเอาไม้สดที่มียางโน้นมาทำไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ
ทำให้มากแล้ว มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
เปรียบเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบปาก พอที่กาจะดื่มได้ ที่
เขาตั้งไว้บนเครื่องรอง ต่อมา บุรุษถือเอาหม้อน้ำนั้นมาทำเป็นเครื่องตักน้ำ เธอ
ทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษนั้นจะพึงตักน้ำได้ไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ
ทำให้มากแล้ว มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ของภิกษุนั้น
[๑๕๘] ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว
ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วย
ปัญญาอันยิ่งใด ๆ เมื่อมีสติเป็นเหตุ ย่อมถึงความเป็นผู้ประจักษ์ชัดในธรรมที่ควร
ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น ๆ ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๙. กายคตาสติสูตร

เปรียบเหมือนหม้อน้ำ มีน้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบปาก พอที่กาจะดื่มได้ ที่
เขาตั้งไว้บนเครื่องรอง บุรุษผู้มีกำลังพึงเขย่าหม้อน้ำนั้นโดยวิธีใด ๆ น้ำนั้นจะพึง
ไหลมาโดยวิธีนั้น ๆ ได้ไหม”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ
ทำให้มากแล้ว ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมที่ควร
ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เมื่อมีสติเป็นเหตุ ย่อมถึงความเป็นผู้ประจักษ์ชัด
ในธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น ๆ ได้
เปรียบเหมือนสระโบกขรณีสี่เหลี่ยม ในพื้นที่ราบที่เขาพูนคันไว้ มีน้ำเต็ม
เปี่ยมเสมอขอบปาก พอที่การจะดื่มได้ บุรุษผู้มีกำลังเจาะคันสระโบกขรณีนั้นโดย
วิธีใด ๆ น้ำนั้นจะพึงไหลมาโดยวิธีนั้น ๆ ได้ไหม”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นเหมือนกัน กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ
ทำให้มากแล้ว ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมที่ควร
ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เมื่อมีสติเป็นเหตุ ย่อมถึงความเป็นผู้ประจักษ์ชัด
ในธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น ๆ ได้
เปรียบเหมือนรถที่เขาเทียมม้าอาชาไนย มีแส้เสียบไว้ในระหว่างม้าทั้งสอง
จอดอยู่บนพื้นที่เรียบตรงทางใหญ่ ๔ แยก นายสารถีผู้ฝึกม้า เป็นอาจารย์ขับขี่
ผู้ชำนาญ ขึ้นรถนั้นแล้ว มือซ้ายจับเชือก มือขวาจับแส้ พึงขับรถไปยังที่ปรารถนาได้
แม้ฉันใด กายคตาสติก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว
เธอน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญา
อันยิ่งใด ๆ เมื่อมีสติเป็นเหตุ ย่อมถึงความเป็นผู้ประจักษ์ชัดในธรรมที่ควรทำให้
แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น ๆ ได้
[๑๕๙] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกายคตาสติอันภิกษุปฏิบัติ เจริญ ทำให้มาก
ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ตั้งไว้เนือง ๆ สั่งสมแล้ว ปรารภเสมอดีแล้ว
เธอพึงหวังอานิสงส์ ๑๐ ประการนี้ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๙. กายคตาสติสูตร

๑. เป็นผู้อดกลั้นต่อความไม่ยินดีและความยินดีได้ ไม่ถูกความไม่ยินดี
ครอบงำ ย่อมครอบงำความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นแล้วได้
๒. เป็นผู้อดกลั้นต่อภัยและความหวาดกลัวได้ ไม่ถูกภัยและความ
หวาดกลัวครอบงำ ย่อมครอบงำภัยและความหวาดกลัวที่เกิดขึ้น
แล้วได้
๓. เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ต่อการถูกเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย
รบกวน ต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆ เป็นผู้อดกลั้นเวทนา
อันมีในร่างกายที่เกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี
ไม่น่าพอใจ พรากชีวิตได้
๔. เป็นผู้ได้ฌาน ๔ ซึ่งเป็นอาภิเจตสิก๑ เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขใน
ปัจจุบัน เป็นผู้ได้ตามความปรารถนาโดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก
๕. บรรลุวิธีแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคน
ก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏ ฯลฯ ใช้
อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
๖. ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ (๑) เสียงทิพย์ (๒) เสียงมนุษย์
ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ
๗. กำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นและบุคคลอื่น คือ จิตมีราคะก็รู้ชัดว่า
‘จิตมีราคะ’ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากราคะ’
จิตมีโทสะ ... หรือจิตปราศจากโทสะ ...
จิตมีโมหะ ... หรือจิตปราศจากโมหะ...
จิตหดหู่ ... หรือจิตฟุ้งซ่าน ...


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๙. กายคตาสติสูตร

จิตเป็นมหัคคตะ๑ ... หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะ ...
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ... หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ...
จิตเป็นสมาธิ ... หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ...
จิตหลุดพ้นก็รู้ชัดว่า ‘จิตหลุดพ้น’ หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ชัดว่า
‘จิตไม่หลุดพ้น’
๘. ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ
ย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และ
ชีวประวัติอย่างนี้
๙. เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ
ย่อมรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
๑๐. เพราะอาสวะสิ้นไป ย่อมทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ๒ ปัญญาวิมุตติ๓
อันไม่มีอาสวะ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน๔
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกายคตาสติอันภิกษุปฏิบัติ เจริญ ทำให้มาก ทำให้เป็น
ดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ตั้งไว้เนือง ๆ สั่งสมแล้ว ปรารภเสมอดีแล้ว เธอพึงหวัง
อานิสงส์ ๑๐ ประการนี้ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

กายคตาสติสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

๑๐. สังขารูปปัตติสูตร
ว่าด้วยการเกิดขึ้นแห่งสังขาร
ปฏิปทาอันให้สำเร็จความปรารถนา

[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดขึ้นแห่งสังขารแก่
เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
[๑๖๑] “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา
ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา
ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความ
เป็นผู้อยู่ร่วมกับขัตติยมหาศาล’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น
สังขารและวิหารธรรม๑เหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อ
ความเกิดขึ้นในขัตติยมหาศาลนั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในขัตติยมหาศาลนั้น
[๑๖๒] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา
ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา
ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความ
เป็นผู้อยู่ร่วมกับพราหมณมหาศาล ฯลฯ หรือพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับคหบดี


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

มหาศาล’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรม
เหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในคหบดี
มหาศาลนั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในคหบดีมหาศาลนั้น
[๑๖๓] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล
ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า
‘เทพชั้นจาตุมหาราชมีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขมาก’ ภิกษุนั้นมี
ความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับเทพชั้นจาตุมหาราช’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขาร
และวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิด
ขึ้นในเทพชั้นจาตุมหาราชนั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพชั้น
จาตุมหาราชนั้น
[๑๖๔] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล
ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า
‘เทพชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทพชั้นยามา ฯลฯ เทพชั้นดุสิต ฯลฯ เทพชั้นนิมมานรดี
ฯลฯ หรือเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีมีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขมาก’
ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงถึงความ
เป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น
สังขารและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความ
เกิดขึ้นในเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพชั้นปรนิมมิต
วสวัตดีนั้น
[๑๖๕] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล
ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า
‘สหัสสพรหมมีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขมาก’ สหัสสพรหมน้อมจิต
แผ่ไปตลอด ๑,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในชั้นสหัสสพรหมนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ เปรียบเหมือนบุรุษมีนัยน์ตาดี วางผลละหุ่งผลหนึ่งไว้ในมือแล้ว
พิจารณาดู แม้ฉันใด สหัสสพรหมก็ฉันนั้นเหมือนกัน น้อมจิตแผ่ไปตลอด ๑,๐๐๐
โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในชั้นสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่
ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงถึงความ
เป็นผู้อยู่ร่วมกับสหัสสพรหม’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและ
วิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้น
ในชั้นสหัสสพรหมนั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นสหัสสพรหมนั้น
[๑๖๖] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล
ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า
‘ทวิสหัสสพรหม ฯลฯ ติสหัสสพรหม ฯลฯ จตุสหัสสพรหม ฯลฯ หรือ
ปัญจสหัสสพรหมมีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขมาก’ ปัญจสหัสสพรหม
ย่อมน้อมจิตแผ่ไปตลอด ๕,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในชั้น
ปัญจสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ เปรียบเหมือนบุรุษมีนัยน์ตาดี วางผล
ละหุ่ง ๕ ผลไว้ในมือแล้วพิจารณาดู แม้ฉันใด ปัญจสหัสสพรหมก็ฉันนั้นเหมือนกัน
น้อมจิตแผ่ไปตลอด ๕,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วใน
ชั้นปัญจสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับปัญจสหัสสพรหม’
เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอ
เจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นปัญจสหัสสพรหมนั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นปัญจสหัสส-
พรหมนั้น
[๑๖๗] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล
ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า
‘ทสสหัสสพรหมมีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขมาก’ ทสสหัสสพรหม
น้อมจิตแผ่ไปตลอด ๑๐,๐๐๐ โลกธาตุ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในชั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

ทสสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์แปดเหลี่ยม
งามโชติช่วง อันเขาเจียระไนดีแล้ว วางไว้แล้วบนผ้ากัมพลเหลือง ย่อมส่องแสง
เรืองไพโรจน์ แม้ฉันใด ทสสหัสสพรหมก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมน้อมจิตแผ่ไป
ตลอด ๑๐,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในชั้นทสสหัสสพรหมนั้น
ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว
เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับทสสหัสสพรหม’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น
เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นทสสหัสสพรหมนั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นทสสหัสส-
พรหมนั้น
[๑๖๘] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล
ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า
‘สตสหัสสพรหมมีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขเป็นกำลัง’ สตสหัสส-
พรหมน้อมจิตแผ่ไปตลอด ๑๐๐,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วใน
ชั้นสตสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ เปรียบเหมือนแท่งทองชมพูนุทที่เขา
หลอมด้วยความชำนาญดีในเบ้าของช่างทองผู้ฉลาดแล้ววางไว้บนผ้ากัมพลเหลือง
ย่อมส่องแสงเรืองไพโรจน์ แม้ฉันใด สตสหัสสพรหมก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมน้อม
จิตแผ่ไป๑ ตลอด ๑๐๐,๐๐๐ โลกธาตุอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในชั้น
สตสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ
หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับสตสหัสสพรหม’ เธอตั้งจิตนั้น
อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้
มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นสตสหัสสพรหมนั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในชั้นสตสหัสส-
พรหมนั้น


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

[๑๖๙] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล
ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า
‘เทพชั้นอาภา ฯลฯ เทพชั้นปริตตาภา ฯลฯ เทพชั้นอัปปมาณาภา ฯลฯ หรือ
เทพชั้นอาภัสสรามีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุขเป็นกำลัง’ ภิกษุนั้นมี
ความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับเทพชั้นอาภัสสรา’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและ
วิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นใน
พรหมชั้นอาภัสสรานั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในพรหมชั้น
อาภัสสรานั้น
[๑๗๐] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล
ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า
‘เทพชั้นสุภา ฯลฯ เทพชั้นปริตตสุภา ฯลฯ เทพชั้นอัปปมาณสุภา ฯลฯ หรือ
เทพชั้นสุภกิณหามีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพชั้น
สุภกิณหานั้น
[๑๗๑] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล
ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า
‘เทพชั้นเวหัปผลา ฯลฯ เทพชั้นอวิหา ฯลฯ เทพชั้นอตัปปา ฯลฯ เทพชั้นสุทัสสา
ฯลฯ เทพชั้นสุทัสสี ฯลฯ หรือเทพชั้นอกนิฏฐามีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส
มีความสุขเป็นกำลัง’ ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจาก
ตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพชั้นอกนิฏฐา’ เธอตั้งจิตนั้น
อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น สังขารและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้
มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพชั้นอกนิฏฐานั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพชั้น
อกนิฏฐานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] ๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

[๑๗๒] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล
ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า
‘เทพผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภูมิมีอายุยืน ดำรงอยู่นาน มีความสุขมาก’ ภิกษุ
นั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็น
ผู้อยู่ร่วมกับเทพผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภูมิ’ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพผู้เข้าถึง
อากาสานัญจายตนภูมินั้น
[๑๗๓] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล
ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า
‘เทพผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภูมิมีอายุยืน ดำรงอยู่นาน มีความสุขมาก’ ภิกษุ
นั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็น
ผู้อยู่ร่วมกับเทพผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภูมิ’ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพผู้เข้าถึง
วิญญาณัญจายตนภูมินั้น
[๑๗๔] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล
ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา ภิกษุนั้นได้ฟังว่า
‘เทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภูมิ ฯลฯ เทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
มีอายุยืน ดำรงอยู่นาน มีความสุขมาก’ ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพผู้เข้าถึง
เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ’ เธอตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น
สังขารและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นไปเพื่อ
ความเกิดขึ้นในเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภูมินั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย มรรคนี้ ปฏิปทานี้ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นในเทพผู้เข้าถึง
เนวสัญญานาสัญญายตนภูมินั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

[๑๗๕] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา
ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยสุตะ ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา
ภิกษุนั้นมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เพราะอาสวะสิ้นไป เราพึงทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
เพราะอาสวะสิ้นไป ภิกษุนั้นจึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ย่อมไม่เกิดในภพไหน ๆ อีก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

สังขารูปปัตติสูตรที่ ๑๐ จบ
อนุปทวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อนุปทสูตร ๒. ฉวิโสธนสูตร
๓. สัปปุริสสูตร ๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร
๕. พหุธาตุกสูตร ๖. อิสิคิลิสูตร
๗. มหาจัตตารีสกสูตร ๘. อานาปานัสสติสูตร
๙. กายคตาสติสูตร ๑๐. สังขารูปปัตติสูตร

เกิดขึ้นในวันเพ็ญ ๒ วันเพ็ญ
คราวที่ดวงจันทร์บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน
พระผู้มีพระภาคทรงปรารภเป็นธรรมอันมิใช่กิจของพระองค์
รวมกันขึ้นเป็นวรรคอันสำคัญชื่อว่าอนุปทวรรคที่ ๒
มีพระธรรมเทศนาอันประเสริฐที่ชนเป็นอันมากเสพแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๑. จูฬสุญญตสูตร

๓. สุญญตวรรค
หมวดว่าด้วยสุญญตา
๑. จูฬสุญญตสูตร
ว่าด้วยสุญญตา สูตรเล็ก

[๑๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมาตา ใน
บุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเวลาเย็น ท่านพระอานนท์ออกจากที่หลีกเร้น
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร๑ ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิคมของ
เจ้าศากยะชื่อนครกะ แคว้นสักกะ ณ ที่นั้น ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะ
พระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘อานนท์ ปัจจุบันนี้ เราอยู่ด้วยสุญญตาวิหารธรรม๒
โดยมาก ข้อนี้ข้าพระองค์ได้สดับมาดีแล้ว รับมาดีแล้ว ใส่ใจไว้ดีแล้ว ทรงจำไว้
ดีแล้วหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกต้อง อานนท์ ข้อนั้นเธอสดับมาดีแล้ว รับมาดี
แล้ว ใส่ใจไว้ดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว ทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้ เราอยู่ด้วยสุญญตา-
วิหารธรรมโดยมาก เปรียบเหมือนปราสาทของมิคารมาตาหลังนี้ ว่างจากช้าง โค
ม้า และลา ว่างจากทองและเงิน ว่างจากการชุมนุมของสตรีและบุรุษ ไม่ว่างอยู่
อย่างเดียวคือภิกษุสงฆ์เท่านั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ใส่ใจความ
สำคัญว่าบ้าน ไม่ใส่ใจความสำคัญว่ามนุษย์ ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะความสำคัญว่าป่า
จิตของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปในความสำคัญว่าป่า


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๑. จูฬสุญญตสูตร

ภิกษุนั้น รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ในความสำคัญว่าป่านี้ ไม่มีความกระวนกระวาย
เพราะอาศัยความสำคัญว่าบ้าน ไม่มีความกระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญ
ว่ามนุษย์ มีอยู่เพียงความกระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่าป่าอย่างเดียว’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่าบ้าน’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่ามนุษย์’
รู้ชัดว่า ‘ไม่ว่างอยู่อย่างเดียว คือ ความสำคัญว่าป่าเท่านั้น’ ด้วยอาการอย่างนี้
เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในความสำคัญนั้น
รู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในความสำคัญนั้นว่า ‘สิ่งที่ยังมีอยู่นี้มีอยู่’
อานนท์ การก้าวเข้าสู่สุญญตา(ความว่าง)ตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน
บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น เป็นอย่างนี้
[๑๗๗] อีกประการหนึ่ง ภิกษุไม่ใส่ใจความสำคัญว่ามนุษย์ ไม่ใส่ใจความ
สำคัญว่าป่า ใส่ใจอยู่อย่างเดียว คือ ความสำคัญว่าแผ่นดินเท่านั้น จิตของเธอ
จึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปในความสำคัญว่าแผ่นดิน เปรียบเหมือน
หนังโคที่เขาขึงดีแล้วด้วยหลักตั้งร้อย เป็นของปราศจากรอยย่น แม้ฉันใด ภิกษุก็
ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ใส่ใจถึงความลุ่ม ๆ ดอน ๆ แห่งแผ่นดินนี้ซึ่งมีแม่น้ำลำธาร
เต็มไปด้วยตอหนาม มีภูเขาและพื้นที่ไม่สม่ำเสมอทั้งหมด ใส่ใจอยู่อย่างเดียว คือ
ความสำคัญว่าแผ่นดินเท่านั้น จิตของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไป
ในความสำคัญว่าแผ่นดิน
ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ในความสำคัญว่าแผ่นดินนี้ ไม่มีความกระวนกระวาย
เพราะอาศัยความสำคัญว่ามนุษย์ ไม่มีความกระวนกระวายเพราะอาศัยความ
สำคัญว่าป่า มีอยู่เพียงความกระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่าแผ่นดิน
อย่างเดียว’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่ามนุษย์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๑. จูฬสุญญตสูตร

รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่าป่า’
รู้ชัดว่า ‘ไม่ว่างอยู่อย่างเดียว คือ ความสำคัญว่าแผ่นดินเท่านั้น’ ด้วย
อาการอย่างนี้ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในความสำคัญนั้น
รู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในความสำคัญนั้นว่า ‘สิ่งที่ยังมีอยู่นี้มีอยู่’
อานนท์ การก้าวเข้าสู่สุญญตาตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน บริสุทธิ์
ของภิกษุนั้น เป็นอย่างนี้
[๑๗๘] อีกประการหนึ่ง ภิกษุไม่ใส่ใจความสำคัญว่าป่า ไม่ใส่ใจความสำคัญ
ว่าแผ่นดิน ใส่ใจอยู่อย่างเดียว คือ ความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะเท่านั้น จิต
ของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปในความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะ
ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ในความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะนี้ ไม่มีความ
กระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่าป่า ไม่มีความกระวนกระวายเพราะอาศัย
ความสำคัญว่าแผ่นดิน มีอยู่เพียงความกระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่า
อากาสานัญจายตนะอย่างเดียว’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่าป่า’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่าแผ่นดินเท่านั้น’
รู้ชัดว่า ‘ไม่ว่างอยู่อย่างเดียว คือ ความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะเท่านั้น’
ด้วยอาการอย่างนี้ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในความสำคัญ
นั้น
รู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในความสำคัญนั้นว่า ‘สิ่งที่ยังมีอยู่นี้มีอยู่’
อานนท์ การก้าวเข้าสู่สุญญตาตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน บริสุทธิ์
ของภิกษุนั้น เป็นอย่างนี้
[๑๗๙] อีกประการหนึ่ง ภิกษุไม่ใส่ใจความสำคัญว่าแผ่นดิน ไม่ใส่ใจ
ความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะ ใส่ใจอยู่อย่างเดียว คือ ความสำคัญว่า
วิญญาณัญจายตนะเท่านั้น จิตของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปใน
ความสำคัญว่าวิญญาณัญจายตนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๑. จูฬสุญญตสูตร

ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ในความสำคัญว่าวิญญาณัญจายตนะนี้ ไม่มีความ
กระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่าแผ่นดิน ไม่มีความกระวนกระวายเพราะ
อาศัยความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะ มีอยู่เพียงความกระวนกระวายเพราะ
อาศัยความสำคัญว่าวิญญาณัญจายตนะอย่างเดียว’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่าแผ่นดิน’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะ’
รู้ชัดว่า ‘ไม่ว่างอยู่อย่างเดียว คือ ความสำคัญว่าวิญญาณัญจายตนะเท่านั้น’
ด้วยอาการอย่างนี้ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในความสำคัญ
นั้น
รู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในความสำคัญนั้นว่า ‘สิ่งที่ยังมีอยู่นี้มีอยู่’
อานนท์ การก้าวเข้าสู่สุญญตาตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน บริสุทธิ์
ของภิกษุนั้น เป็นอย่างนี้
[๑๘๐] อีกประการหนึ่ง ภิกษุไม่ใส่ใจความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะ
ไม่ใส่ใจความสำคัญว่าวิญญาณัญจายตนะ ใส่ใจอยู่อย่างเดียว คือ ความสำคัญว่า
อากิญจัญญายตนะเท่านั้น จิตของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปใน
ความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะ
ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ในความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะนี้ ไม่มีความ
กระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะ ไม่มีความ
กระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่าวิญญาณัญจายตนะ มีอยู่เพียงความ
กระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะอย่างเดียว’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะ’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่าวิญญาณัญจายตนะ’
รู้ชัดว่า ‘ไม่ว่างอยู่อย่างเดียว คือ ความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะเท่านั้น’
ด้วยอาการอย่างนี้ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในความสำคัญ
นั้น
รู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในความสำคัญนั้นว่า ‘สิ่งที่ยังมีอยู่นี้มีอยู่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๑. จูฬสุญญตสูตร

อานนท์ การก้าวเข้าสู่สุญญตาตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน บริสุทธิ์
ของภิกษุนั้น เป็นอย่างนี้
[๑๘๑] อีกประการหนึ่ง ภิกษุไม่ใส่ใจความสำคัญว่าวิญญาณัญจายตนะ ไม่
ใส่ใจความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะ ใส่ใจอยู่อย่างเดียว คือ ความสำคัญว่า
เนวสัญญานาสัญญายตนะเท่านั้น จิตของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และ
น้อมไปในความสำคัญว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ในความสำคัญว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ ไม่มี
ความกระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่าวิญญาณัญจายตนะ ไม่มีความ
กระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะ มีอยู่เพียงความ
กระวนกระวายเพราะอาศัยความสำคัญว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะอย่างเดียว’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่าวิญญาณัญจายตนะ’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะ’
รู้ชัดว่า ‘ไม่ว่างอยู่อย่างเดียว คือ ความสำคัญว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ
เท่านั้น’ ด้วยอาการอย่างนี้ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ใน
ความสำคัญนั้น
รู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในความสำคัญนั้นว่า ‘สิ่งที่ยังมีอยู่นี้มีอยู่’
อานนท์ การก้าวเข้าสู่สุญญตาตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน บริสุทธิ์
ของภิกษุนั้น เป็นอย่างนี้
[๑๘๒] อีกประการหนึ่ง ภิกษุไม่ใส่ใจความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะ ไม่
ใส่ใจความสำคัญว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ใส่ใจอยู่อย่างเดียว คือ เจโตสมาธิ
อันไม่มีนิมิต๑เท่านั้น จิตของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปใน
เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๑. จูฬสุญญตสูตร

ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ในเจโตสมาธินี้ ไม่มีความกระวนกระวายเพราะ
อาศัยความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะ ไม่มีความกระวนกระวายเพราะอาศัย
ความสำคัญว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ มีอยู่เพียงความกระวนกระวาย คือ
ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ ที่อาศัยกายนี้เท่านั้น เพราะมีชีวิตเป็นปัจจัย’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะ’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากความสำคัญว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ’
รู้ชัดว่า ‘ไม่ว่างอยู่อย่างเดียว คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ ที่อาศัยกายนี้
เท่านั้น เหตุมีชีวิตเป็นปัจจัย’ ด้วยอาการอย่างนี้ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้น
ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้น
รู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นว่า ‘สิ่งที่ยังมีอยู่นี้มีอยู่’
อานนท์ การก้าวเข้าสู่สุญญตาตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน บริสุทธิ์
ของภิกษุนั้น เป็นอย่างนี้
[๑๘๓] อานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุไม่ใส่ใจความสำคัญว่าอากิญจัญญา-
ยตนะ ไม่ใส่ใจความสำคัญว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ใส่ใจอยู่อย่างเดียว คือ
เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตเท่านั้น จิตของเธอจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปใน
เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต
ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตนี้ ยังถูกปัจจัยปรุงแต่งจูงใจได้
แต่สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งจูงใจได้นั้นไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา’ เมื่อภิกษุ
นั้นรู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตจึงหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ในญาณนี้ไม่มีความกระวนกระวายเพราะอาศัย
กามาสวะ ในญาณนี้ไม่มีความกระวนกระวายเพราะอาศัยภวาสวะ ในญาณนี้ไม่มี
ความกระวนกระวายเพราะอาศัยอวิชชาสวะ มีอยู่เพียงความกระวนกระวาย คือ
ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ ที่อาศัยกายนี้เท่านั้น เพราะมีชีวิตเป็นปัจจัย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๑. จูฬสุญญตสูตร

รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากกามาสวะ’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากภวาสวะ’
รู้ชัดว่า ‘ความสำคัญนี้ว่างจากอวิชชาสวะ’
รู้ชัดว่า ‘ไม่ว่างอยู่อย่างเดียว คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ ที่อาศัยกายนี้
เท่านั้น เพราะมีชีวิตเป็นปัจจัย’ ด้วยอาการอย่างนี้ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่าง
นั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้น
รู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นว่า ‘สิ่งที่ยังมีอยู่นี้มีอยู่’
อานนท์ การก้าวเข้าสู่สุญญตาตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน บริสุทธิ์
ยอดเยี่ยมอย่างยิ่งของภิกษุนั้น เป็นอย่างนี้
[๑๘๔] อานนท์ ในอดีต สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เข้าถึง
สุญญตา๑อันบริสุทธิ๒ยอดเยี่ยมอยู่ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดก็ได้เข้าถึง
สุญญตาอันบริสุทธิ์ยอดเยี่ยมนี้เท่านั้นอยู่
ในอนาคต สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งจักเข้าถึงสุญญตาอัน
บริสุทธิ์ยอดเยี่ยมอยู่ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดก็จักเข้าถึงสุญญตาอัน
บริสุทธิ์ยอดเยี่ยมนี้เท่านั้นอยู่
ในปัจจุบัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมเข้าถึงสุญญตาอัน
บริสุทธิ์ยอดเยี่ยมอยู่ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมเข้าถึงสุญญตาอัน
บริสุทธิ์ยอดเยี่ยมนี้เท่านั้นอยู่
อานนท์ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า ‘เราจักเข้าถึงสุญญตา
อันบริสุทธิ์ยอดเยี่ยมอยู่”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬสุญญตสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๒. มหาสุญญตสูตร

๒. มหาสุญญตสูตร
ว่าด้วยสุญญตา สูตรใหญ่

[๑๘๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์
แคว้นสักกะ ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงเที่ยวบิณฑบาตในกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว
เสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว จึงเสด็จเข้าไปยัง
วิหารของเจ้ากาฬเขมกศากยะ เพื่อทรงพักผ่อนในเวลากลางวัน สมัยนั้น ในวิหาร
ของเจ้ากาฬเขมกศากยะ มีเสนาสนะที่เขาจัดไว้เป็นอันมาก พระผู้มีพระภาคทอด
พระเนตรเห็นเสนาสนะที่เขาจัดไว้เป็นอันมากแล้ว มีพระดำริอย่างนี้ว่า “ในวิหาร
ของเจ้ากาฬเขมกศากยะ เขาจัดเสนาสนะไว้เป็นอันมาก ในที่นี้มีภิกษุอยู่จำนวน
มากหรือหนอ”
[๑๘๖] สมัยนั้น ท่านพระอานนท์กับภิกษุจำนวนมากกำลังตัดเย็บจีวรอยู่ใน
วิหารของเจ้าฆฏายศากยะ ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น
แล้วเสด็จเข้าไปยังวิหารของเจ้าฆฏายศากยะ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้
แล้วได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ในวิหารของเจ้ากาฬเขมก
ศากยะ เขาจัดเสนาสนะไว้เป็นอันมาก ที่นั่นมีภิกษุอยู่จำนวนมากหรือ”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวิหารของเจ้ากาฬ
เขมกศากยะนั่น มีภิกษุอยู่จำนวนมาก สมัยที่เป็นจีวรกาลของข้าพระองค์ทั้งหลาย
ก็กำลังดำเนินไปอยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ ภิกษุผู้พอใจการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบคณะ ยินดีคณะ บันเทิงอยู่
ในคณะ ไม่งามเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๒. มหาสุญญตสูตร

เป็นไปไม่ได้๑ที่ภิกษุผู้พอใจการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่
คณะ ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบคณะ ยินดีคณะ
บันเทิงอยู่ในคณะ จักเป็นผู้ได้เนกขัมมสุข๒ ปวิเวกสุข๓ อุปสมสุข๔ สัมโพธิสุข๕
ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก
เป็นไปได้๖ที่ภิกษุผู้หลีกออกจากคณะ อยู่ตามลำพังผู้เดียว พึงหวังเนกขัมมสุข
ปวิเวกสุข อุปสมสุข สัมโพธิสุข จักเป็นผู้ได้สุขนั้น ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก
โดยไม่ลำบาก
เป็นไปไม่ได้ที่ภิกษุผู้พอใจการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบคณะ ยินดีคณะ บันเทิงอยู่
ในคณะ จักบรรลุเจโตวิมุตติ๗ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย๘ อันน่ายินดี หรือโลกุตตรมรรค
ซึ่งมิได้เกิดขึ้นตามสมัย๙ อันไม่กำเริบได้
เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้หลีกออกจากคณะ อยู่ตามลำพังผู้เดียว พึงหวังบรรลุ
เจโตวิมุตติ ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย อันน่ายินดี หรือโลกุตตรมรรค ซึ่งมิได้เกิดขึ้น
ตามสมัย อันไม่กำเริบ๑๐


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๒. มหาสุญญตสูตร

อานนท์ เราไม่พิจารณาเห็นรูปอื่นแม้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ไม่เกิดโสกะ
(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความไม่สบายกาย) โทมนัส
(ความไม่สบายใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) เพราะรูปตามที่บุคคลกำหนัด
ยินดีกันแล้วแปรผันและเป็นอย่างอื่นเลย
[๑๘๗] อานนท์ ก็วิหารธรรมนี้แลที่ตถาคตตรัสรู้แล้วในที่นั้นคือ ตถาคต
เข้าสุญญตา๑ในภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่ ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เข้ามา
หาตถาคตผู้มีโชค อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ในที่นั้น ตถาคตย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก๒
โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ เป็นผู้สิ้นสุด
จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้ทำการเจรจาที่เกี่ยวเนื่อง
ด้วยการชักชวนเท่านั้น ในบริษัทนั้นโดยแท้
อานนท์ เพราะเหตุนั้น ถ้าภิกษุ แม้หวังว่า ‘เราพึงเข้าสุญญตาใน
ภายในอยู่’ ภิกษุนั้นพึงตั้งจิตไว้ในภายใน ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้มีธรรมเอกผุดขึ้น
ตั้งจิตให้มั่น
[๑๘๘] ภิกษุตั้งจิตไว้ในภายใน ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้มีธรรมเอกผุดขึ้น
ตั้งจิตให้มั่น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุ
ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ... บรรลุทุติยฌาน ...
บรรลุตติยฌาน ... บรรลุจตุตถฌาน ...
ภิกษุตั้งจิตไว้ในภายใน ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้มีธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตให้มั่น
เป็นอย่างนี้
ภิกษุนั้นใส่ใจสุญญตาในภายใน เมื่อเธอใส่ใจสุญญตาในภายใน จิตจึงไม่แล่นไป
ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น และไม่น้อมไปในสุญญตาในภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุ
ย่อมรู้ชัดสุญญตานั้นที่มีอยู่อย่างนี้ว่า ‘เมื่อเราใส่ใจสุญญตาในภายใน จิตจึง
ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น และไม่น้อมไปในสุญญตาในภายใน’


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๒. มหาสุญญตสูตร

ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในสุญญตาในภายในนั้น ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุนั้นใส่ใจสุญญตาในภายนอก ฯลฯ
ภิกษุนั้นใส่ใจสุญญตาในภายในและในภายนอก ฯลฯ
ภิกษุนั้นใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอใส่ใจอาเนญชสมาบัติ๑ จิตจึงไม่แล่นไป
ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น และไม่น้อมไปในอาเนญชสมาบัติ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุ
ย่อมรู้ชัดอาเนญชสมาบัตินั้นที่มีอยู่อย่างนี้ว่า ‘เมื่อเราใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตจึง
ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น และไม่น้อมไปในอาเนญชสมาบัติ’
ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสัมปชัญญะ๒ในอาเนญชสมาบัตินั้นได้ ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุนั้นตั้งจิตไว้ในภายใน ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้มีธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิต
ให้มั่นในสมาธินิมิตในเบื้องต้นนั้นแล ภิกษุนั้นใส่ใจสุญญตาในภายใน เมื่อเธอใส่
ใจสุญญตาในภายใน จิตจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปในสุญญตาในภายใน
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดสุญญตานั้นที่มีอยู่อย่างนี้ว่า ‘เมื่อเราใส่ใจสุญญตา
ในภายใน จิตจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปในสุญญตาในภายใน’
ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในสุญญตาในภายในนั้น ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุนั้นใส่ใจสุญญตาในภายนอก ฯลฯ
ภิกษุนั้นใส่ใจสุญญตาในภายในและในภายนอก ฯลฯ
ภิกษุนั้นใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตจึงแล่นไป เลื่อมใส
ตั้งมั่น และน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอาเนญช
สมาบัตินั้นที่มีอยู่อย่างนี้ว่า ‘เมื่อเราใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตจึงแล่นไป เลื่อมใส
ตั้งมั่น และน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ’
ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในอาเนญชสมาบัติ ด้วยอาการอย่างนี้
[๑๘๙] อานนท์ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรม๓อย่างนี้ จิตย่อมน้อมไป
เพื่อการเดินจงกรม ภิกษุนั้นจึงเดินจงกรมด้วยหวังว่า ‘บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัส จักครอบงำเราผู้เดินจงกรมอยู่อย่างนี้ไม่ได้’


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๒. มหาสุญญตสูตร

ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะ๑ในการเดินจงกรมนั้น ด้วยอาการอย่างนี้
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการยืน ภิกษุนั้นจึง
ยืนด้วยหวังว่า ‘บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัส จักครอบงำเราผู้ยืนอยู่
แล้วอย่างนี้ไม่ได้’
ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการยืนนั้น ด้วยอาการอย่างนี้
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการนั่ง ภิกษุนั้นจึง
นั่งด้วยหวังว่า ‘บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัส จักครอบงำเราผู้นั่งอยู่แล้ว
อย่างนี้ไม่ได้’
ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการนั่งนั้น ด้วยอาการอย่างนี้
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการนอน ภิกษุนั้น
จึงนอนด้วยหวังว่า ‘บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัส จักครอบงำเราผู้นอน
อยู่อย่างนี้ไม่ได้’
ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการนอนนั้น ด้วยอาการอย่างนี้
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการพูด เธอใส่ใจว่า
‘เราจักไม่พูดเรื่องเห็นปานนี้ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์
เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน
เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม
เรื่องเมือง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ
เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและ
ความเสื่อม๒ ซึ่งเป็นเรื่องเลวทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของ
พระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน
ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการพูดนั้น ด้วยอาการอย่างนี้


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๒. มหาสุญญตสูตร

ภิกษุนั้นใส่ใจว่า ‘เราจักพูดเรื่องเห็นปานนี้ คือ เรื่องความมักน้อย เรื่อง
ความสันโดษ เรื่องความสงัด เรื่องความไม่คลุกคลีกัน เรื่องการปรารภความเพียร
เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ‘๑ ซึ่งเป็น
เรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นสัปปายะแก่ความเป็นไปแห่งจิต๒ เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง
เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน
ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการพูดนั้น ด้วยอาการอย่างนี้
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการตรึก ภิกษุนั้น
ใส่ใจว่า ‘เราจักไม่ตรึกในวิตกเห็นปานนี้ คือ กามวิตก(ความตรึกในกาม)
พยาบาทวิตก(ความตรึกในพยาบาท) วิหิงสาวิตก(ความตรึกในการเบียดเบียน)
ซึ่งเป็นวิตกเลวทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่
ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน’
ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการตรึกนั้น ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุนั้นใส่ใจว่า ‘เราจักตรึกในวิตกเห็นปานนี้ คือ เนกขัมมวิตก(ความตรึก
ที่จะออกจากกาม) อพยาบาทวิตก(ความตรึกในการไม่พยาบาท) อวิหิงสาวิตก
(ความตรึกในการไม่เบียดเบียน) ซึ่งเป็นวิตกของพระอริยะ เป็นเครื่องนำออก ที่
นำออกเพื่อความสิ้นทุกข์ โดยชอบแก่บุคคลผู้ทำตาม’
ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการตรึกนั้น ด้วยอาการอย่างนี้


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๒. มหาสุญญตสูตร

[๑๙๐] อานนท์ กามคุณ ๕ ประการนี้
กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ...
๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ...
๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ...
๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
อานนท์ กามคุณ ๕ ประการนี้
ภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนเนือง ๆ ว่า ‘ข้อที่จิตฟุ้งขึ้นในเพราะกามคุณ
๕ นี้ ซึ่งเกิดขึ้นในกามคุณอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง
มีอยู่แก่เราหรือ’ หากภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ข้อที่จิตฟุ้งขึ้นในกามคุณ
๕ นี้ซึ่งเกิดขึ้นในกามคุณอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง มี
อยู่แก่เรา’ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดข้อที่จิตฟุ้งขึ้นนั้น อย่างนี้ว่า ‘ฉันทราคะ๑
ในกามคุณ ๕ นี้ เรายังละไม่ได้’
ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะ๒ในฉันทราคะในกามคุณ ๕ นี้ ที่ยังละ
ไม่ได้นั้น ด้วยอาการอย่างนี้
แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ข้อที่จิตฟุ้งขึ้นในเพราะกามคุณ
๕ นี้ซึ่งเกิดขึ้นในกามคุณอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่งไม่มี
แก่เราเลย’ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ข้อที่จิตฟุ้งขึ้นนั้น อย่างนี้ว่า ‘ฉันทราคะ
ในกามคุณ ๕ นี้ เราละได้แล้ว’


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๒. มหาสุญญตสูตร

ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในฉันทราคะในกามคุณ ๕ นี้ ที่ละได้แล้วนั้น
ด้วยอาการอย่างนี้
[๑๙๑] อานนท์ อุปาทานขันธ์ ๕ นี้ เป็นธรรมที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็น
ทั้งความเกิดและความดับว่า ‘อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดแห่งรูป อย่างนี้ความ
ดับแห่งรูป
อย่างนี้เวทนา ฯลฯ
อย่างนี้สัญญา ฯลฯ
อย่างนี้สังขาร ฯลฯ
อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่ง
วิญญาณ’๑
ภิกษุนั้นผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่
ย่อมละอัสมิมานะ๒ในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัด
อัสมิมานะที่ละได้แล้วนั้น อย่างนี้ว่า ‘อัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ เราละได้
แล้ว’
ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ ที่ละได้
แล้วนั้น ด้วยอาการอย่างนี้
ธรรมเหล่านี้๓ เนื่องมาจากกุศลโดยส่วนเดียว ไกลจากข้าศึก เป็นโลกุตตระ
อันมารผู้มีบาปหยั่งลงไม่ได้
อานนท์ เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ สาวกพิจารณาเห็นอำนาจ
ประโยชน์อะไร จึงควรติดตามศาสดาอย่างใกล้ชิด”


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๒. มหาสุญญตสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาค
เป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่จะทรงอธิบาย
เนื้อความแห่งพระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังจากพระผู้มีพระภาค
แล้วจักทรงจำไว้”
[๑๙๒] “อานนท์ สาวกไม่ควรติดตามศาสดาเพียงเพื่อฟังสุตะ เคยยะ และ
เวยยากรณะ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะธรรมทั้งหลายอันเธอทั้งหลายสดับ ทรงจำ คล่องปาก เพ่งพินิจ
ด้วยจิต รู้แจ้งแทงตลอดดีแล้ว สิ้นกาลช้านาน แต่สาวกก็ควรติดตามศาสดา
อย่างใกล้ชิด เพื่อฟังเรื่องเห็นปานนี้ คือ เรื่องความมักน้อย เรื่องความสันโดษ
เรื่องความสงัด เรื่องความไม่คลุกคลีกัน เรื่องการปรารภความเพียร เรื่องศีล
เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลา
กิเลสอย่างยิ่ง เป็นสัปปายะแก่ความเป็นไปแห่งจิต เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดย
ส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และ
เพื่อนิพพาน
อานนท์ เมื่อเป็นเช่นนั้น อุปัทวะของอาจารย์จึงมีได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น
อุปัทวะของศิษย์จึงมีได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์จึงมีได้
[๑๙๓] อุปัทวะของอาจารย์ เป็นอย่างไร
คือ ศาสดา๑บางคนในโลกนี้ พักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้
ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อศาสดานั้นหลีกออก
อยู่อย่างนั้น พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา
เมื่อพราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว ศาสดานั้น


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๒. มหาสุญญตสูตร

ย่อมยินดีความหมกมุ่น ถึงความอยากได้ จะเวียนกลับมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
ศาสดานี้เราเรียกว่าอาจารย์มีอุปัทวะ ด้วยอุปัทวะของอาจารย์ บาปอกุศลธรรม
อันเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก
เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป ก็ได้ฆ่าศาสดานั้น
อานนท์ อุปัทวะของอาจารย์ เป็นอย่างนี้
[๑๙๔] อุปัทวะของศิษย์ เป็นอย่างไร
คือ สาวกของศาสดานั้น เมื่อเพิ่มพูนความสงัดตามศาสดานั้น จึงพักอยู่
ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง
และลอมฟาง เมื่อสาวกนั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคม
และชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท
พากันเข้าไปหาแล้ว สาวกนั้นย่อมยินดีความหมกมุ่น ถึงความอยากได้ จะเวียน
กลับมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก สาวกนี้เราเรียกว่าศิษย์มีอุปัทวะ ด้วยอุปัทวะของ
ศิษย์ บาปอกุศลธรรมอันเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป ก็ได้ฆ่าสาวกนั้น
อานนท์ อุปัทวะของศิษย์ เป็นอย่างนี้
[๑๙๕] อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นอย่างไร
คือ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง
ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้
มีพระภาค ตถาคตนั้นย่อมพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อตถาคตนั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น
พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพราหมณ์
และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว ตถาคตนั้นย่อมไม่ยินดี
ความหมกมุ่น ไม่ถึงความอยากได้ ไม่เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
ส่วนสาวกของตถาคตผู้ศาสดานั้น เมื่อเพิ่มพูนความสงัดตามตถาคตผู้ศาสดา
พระองค์นั้น ย่อมพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๒. มหาสุญญตสูตร

ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อสาวกนั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น
พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท ย่อมพากันเข้าไปหา เมื่อพราหมณ์
และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว สาวกนั้นย่อมยินดี
ความหมกมุ่น ถึงความอยากได้ จะกลับเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก สาวกนี้
เราเรียกว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์มีอุปัทวะ ด้วยอุปทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์
บาปอกศุลธรรมอันเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติชราและมรณะต่อไป ก็ได้ฆ่าสาวกนั้น
อานนท์ อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นอย่างนี้
อานนท์ บรรดาอุปัทวะทั้ง ๓ ประการนั้น อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้
มีวิบากเป็นทุกข์ มีวิบากเผ็ดร้อนกว่าอุปัทวะของอาจารย์และอุปัทวะของศิษย์ เป็น
ไปเพื่อความตกต่ำ
[๑๙๖] อานนท์ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงประพฤติต่อเราด้วยวัตรของ
มิตรเถิด อย่าประพฤติต่อเราด้วยวัตรของศัตรูเลย ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์
เกื้อกูลและเพื่อความสุขแก่เธอทั้งหลาย ตลอดกาลนาน
สาวกทั้งหลายย่อมประพฤติต่อศาสดาด้วยวัตรของศัตรู ไม่ประพฤติด้วย
วัตรของมิตร เป็นอย่างไร
คือ ศาสดาในธรรมวินัยนี้เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์ อาศัยความ
เอ็นดู จึงแสดงธรรมสอนสาวกทั้งหลายว่า ‘เรื่องนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและ
เพื่อความสุขแก่เธอทั้งหลาย’ สาวกของศาสดานั้นกลับไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้
และยังหลีกเลี่ยงที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน๑
สาวกทั้งหลายย่อมประพฤติต่อศาสดาด้วยวัตรของศัตรู ไม่ประพฤติด้วยวัตร
ของมิตร เป็นอย่างนี้
สาวกทั้งหลายย่อมประพฤติต่อศาสดาด้วยวัตรของมิตร ไม่ประพฤติด้วย
วัตรของศัตรู เป็นอย่างไร


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

คือ ศาสดาในธรรมวินัยนี้เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์ อาศัยความ
เอ็นดู จึงแสดงธรรมสอนสาวกว่า ‘เรื่องนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อ
ความสุขแก่เธอทั้งหลาย’ สาวกของศาสดานั้นก็ตั้งใจฟัง ตั้งใจเพื่อจะรู้ และไม่
หลีกเลี่ยงที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน
สาวกทั้งหลายย่อมประพฤติต่อศาสดาด้วยวัตรของมิตร ไม่ประพฤติด้วยวัตร
ของศัตรู เป็นอย่างนี้
อานนท์ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงเรียกร้องเราเพื่อเป็นมิตรเถิด อย่า
เรียกร้องเราเพื่อเป็นศัตรูเลย ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อความสุข
แก่เธอทั้งหลาย ตลอดกาลนาน
อานนท์ เราจักไม่ประคับประคองเธอทั้งหลาย เหมือนช่างหม้อประคับ
ประคองภาชนะดินดิบที่ยังดิบอยู่ เราจักกล่าวข่มแล้วข่มอีก จักกล่าวยกย่องแล้ว
ยกย่องอีก บุคคลใดมีแก่นสาร๑ บุคคลนั้นจักดำรงอยู่”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาสุญญตสูตรที่ ๒ จบ

๓. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
ว่าด้วยอัจฉริยัพภูตธรรมของพระพุทธองค์

[๑๙๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกันในหอฉัน ได้เกิดการสนทนากันขึ้น
ในระหว่างการประชุมว่า


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมี
ฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าในอดีต ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัด
ปปัญจธรรม๑ได้แล้ว ทรงตัดตอแห่งวัฏฏะ๒ ครอบงำวัฏฏะ ล่วงทุกข์ทั้งปวง
ได้แล้ว ทรงทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น มีพระชาติอย่างนี้เพราะ
เหตุนี้บ้าง มีพระนามอย่างนี้เพราะเหตุนี้บ้าง ทรงมีโคตรตระกูลอย่างนี้เพราะเหตุนี้
บ้าง ทรงมีศีลอย่างนี้๓เพราะเหตุนี้บ้าง ทรงมีธรรมอย่างนี้๔เพราะเหตุนี้บ้าง ทรง
มีปัญญาอย่างนี้๕เพราะเหตุนี้บ้าง ทรงมีวิหารธรรมอย่างนี้๖เพราะเหตุนี้บ้าง ทรงมี
วิมุตติอย่างนี๗เพราะเหตุนี้บ้าง”
เมื่อภิกษุเหล่านั้นสนทนากันอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับภิกษุ
เหล่านั้นว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระตาถคตทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ และประกอบด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ”
เรื่องนี้แลที่ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันค้างไว้
[๑๙๘] ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จไปที่
หอฉัน ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ แล้วได้รับสั่งเรียกภิกษุเหล่านั้นมา
ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร
พูดเรื่องอะไรค้างไว้”


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่ง
ประชุมกันในหอฉัน สนทนากันในระหว่างการประชุมว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ทรง
ระลึกถึงพระพุทธเจ้าในอดีต ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดปปัญจธรรมได้แล้ว ทรงตัด
ตอแห่งวัฏฏะ ครอบงำวัฏฏะ ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว จักทรงทราบว่า ‘พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้น มีพระชาติอย่างนี้เพราะเหตุนี้บ้าง มีพระนามอย่างนี้ ... มี
โคตรตระกูลอย่างนี้ ... ทรงมีศีลอย่างนี้ ... ทรงมีธรรมอย่างนี้ ... ทรงมีปัญญา
อย่างนี้ ... ทรงมีวิหารธรรมอย่างนี้ ... ทรงมีวิมุตติอย่างนี้เพราะเหตุนี้บ้าง’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายสนทนากันอย่างนี้แล้ว ท่าน
พระอานนท์ได้กล่าวกับข้าพระองค์ทั้งหลายว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคต
ทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ และประกอบด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ’ เรื่องนี้แลที่ข้าพระองค์ทั้งหลายสนทนากันค้างไว้ ก็พอดีพระผู้มี
พระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”

ธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๒๐ ประการ

[๑๙๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า
“อานนท์ เพราะเหตุนั้น เธอจงอธิบายธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของ
ตถาคตให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไปเถิด”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
๑. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
พระโพธิสัตว์๑มีสติสัมปชัญญะ ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต’ แม้
ข้อที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้
ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของ
พระผู้มีพระภาค


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

๒. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ จึงสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต’
แม้ข้อที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้
ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของ
พระผู้มีพระภาค
[๒๐๐] ๓. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
พระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตจนตลอดอายุ’ แม้ข้อที่พระ
โพธิสัตว์สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตตลอดอายุนี้ ข้าพระองค์ก็จำได้
ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค
๔. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะตลอดตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตจน
ถึงลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา’ แม้ข้อที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ
ตลอดตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตจนถึงลงสู่พระครรภ์ของพระมารดานี้
ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของ
พระผู้มีพระภาค
[๒๐๑] ๕. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เวลาที่พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต๑แล้วลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้นในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เกินกว่าเทวานุภาพของเทวดา
ทั้งหลาย แม้ในช่องว่างระหว่างโลกซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด
หรือที่ที่ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
ส่องแสงไปไม่ถึง ก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้น
เกินกว่าเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย เพราะแสงสว่างนั้น สัตว์
ทั้งหลายที่เกิดในที่นั้น ๆ จึงรู้จักกันและกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดใน


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

ที่นี้เหมือนกัน’ และ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุ๑นี้ สั่นสะเทือน
เลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ ก็ปรากฏขึ้นในโลก
เกินกว่าเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์
ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มี
พระภาค
[๒๐๒] ๖. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา เทพบุตร ๔ องค์๒
เข้าไปอารักขาพระโพธิสัตว์นั้นประจำทั้ง ๔ ทิศ ด้วยตั้งใจว่า ‘มนุษย์
หรืออมนุษย์ใด ๆ อย่าได้เบียดเบียนพระโพธิสัตว์หรือพระมารดา
ของพระโพธิสัตว์เลย’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็น
ธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค
[๒๐๓] ๗. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดา
มีปกติทรงศีล คือ เว้นจากปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) เว้น
จากอทินนาทาน(การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้) เว้นจาก
กาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติผิดในกาม) เว้นจากมุสาวาท(การ
พูดเท็จ) เว้นจากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน(การเสพของมึนเมา
คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท)’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้
ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของ
พระผู้มีพระภาค


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

๘. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของ
พระองค์ไม่ทรงมีความรู้สึกทางกามารมณ์ เป็นผู้ที่บุรุษผู้มีจิต
กำหนัดใด ๆ ไม่สามารถล่วงเกินได้’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระ
องค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มี
พระภาค
๙. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของ
พระองค์ทรงได้กามคุณ ๕ เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรอ
อยู่ด้วยกามคุณ ๕’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็น
ธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค
[๒๐๔] ๑๐. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของ
พระองค์ไม่ทรงมีความเจ็บป่วยใด ๆ ทรงมีความสุข ไม่ลำบาก
พระวรกาย มองเห็นพระโพธิสัตว์อยู่ภายในพระครรภ์ มีอวัยวะ
สมบูรณ์ มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง
เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม
ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว
สีเหลือง สีแดง สีขาว หรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน คนตาถึงหยิบ
แก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณารู้ว่า ‘นี้คือ แก้วไพฑูรย์
อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใส
เป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว
หรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน’ แม้ฉันใด เวลาที่พระโพธิสัตว์ลงสู่
พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความ
เจ็บป่วยใด ๆ ทรงมีความสุข ไม่ลำบากพระวรกาย มองเห็น
พระโพธิสัตว์อยู่ภายในพระครรภ์มีอวัยวะสมบูรณ์ มีอินทรีย์
ไม่บกพร่อง ฉันนั้นเหมือนกัน’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำ
ได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

[๒๐๕] ๑๑. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาของพระองค์สวรรคต
ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่า
เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค
๑๒. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
พระมารดาของพระโพธิสัตว์ไม่ประสูติพระโอรสเหมือนสตรีทั่วไปซึ่ง
จะคลอดลูกหลังจากตั้งครรภ์ได้ ๙ เดือน หรือ ๑๐ เดือน
ส่วนพระมารดาของพระโพธิสัตว์ประสูติพระโอรสเมื่อทรงพระครรภ์
ครบ ๑๐ เดือนเท่านั้น’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่า
เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค
๑๓. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
พระมารดาของพระโพธิสัตว์ไม่ประสูติพระโอรสเหมือนสตรีทั่วไปซึ่ง
จะนั่งคลอดหรือนอนคลอดก็ได้ ส่วนพระมารดาของพระโพธิสัตว์
ประทับยืนประสูติเท่านั้น’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้
ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค
๑๔. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา ในตอน
แรกเทพทั้งหลายจะทำพิธีต้อนรับ หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของ
มนุษย์’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค
[๒๐๖] ๑๕. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา ยังไม่ทัน
สัมผัสแผ่นดิน เทพบุตร ๔ องค์ช่วยกันประคองพระโพธิสัตว์
ไปไว้เบื้องพระพักตร์ของพระมารดาแล้วกราบทูลว่า ‘โปรดพอ
พระทัยเถิดพระเทวี พระราชโอรสของพระองค์ที่เสด็จอุบัติขึ้นเป็น
ผู้มีศักดิ์ใหญ่’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรม
อันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

๑๖. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา เสด็จ
ออกอย่างบริสุทธิ์แท้ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำเมือก เลือด หรือสิ่ง
ไม่สะอาดใด ๆ จึงเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจด
เปรียบเหมือนแก้วมณีที่บุคคลวางไว้ในผ้ากาสิกพัสตร์ ย่อมไม่
ทำให้ผ้ากาสิกพัสตร์แปดเปื้อน ถึงผ้ากาสิกพัสตร์ก็ไม่ทำให้แก้ว
มณีแปดเปื้อน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะสิ่งทั้งสองเป็นของบริสุทธิ์หมดจด แม้ฉันใด เวลาที่
พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา ย่อมประสูติ
อย่างบริสุทธิ์แท้ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำเมือก เลือด หรือสิ่งไม่
สะอาดใด ๆ เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจด ฉันนั้นเหมือนกัน’ แม้ข้อที่
ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคย
ปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค
๑๗. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา มีธารน้ำ
ปรากฏในอากาศ ๒ สาย คือ ธารน้ำเย็น และธารน้ำอุ่น
เพื่อชำระล้างพระโพธิสัตว์และพระมารดา’ แม้ข้อที่ ฯลฯ นี้ ข้า
พระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้
มีพระภาค
[๒๐๗] ๑๘. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ครู่หนึ่ง ประทับยืนอย่างมั่นคงด้วย
พระบาททั้งสองที่เสมอกันบนพื้นปฐพี ทรงผินพระพักตร์ไปทาง
ทิศเหนือ เสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว ขณะที่หมู่เทวดากั้นเศวตฉัตร
ตามเสด็จ ทอดพระเนตรไปยังทิศทั้งปวง แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจา
(พูดอย่างองอาจ)ว่า ‘เราคือผู้เลิศของโลก เราคือผู้เจริญที่สุดของ
โลก เราคือผู้ประเสริฐที่สุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป’ แม้ข้อนี้ ฯลฯ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็น
ธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค
๑๙. ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภาคว่า ‘อานนท์
เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา แสงสว่าง
เจิดจ้าหาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
เกินกว่าเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย แม้ในช่องว่างระหว่างโลก
ซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด หรือที่ที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ส่องแสงไปไม่ถึง ก็มีแสงสว่างเจิดจ้า
หาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้นเกินกว่าเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย
เพราะแสงสว่างนั้น สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในที่นั้น ๆ จึงรู้จักกันและ
กันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’ และ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุนี้
สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ ก็
ปรากฏขึ้นในโลก เกินกว่าเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย‘๑ แม้ข้อที่
ฯลฯ นี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคย
ปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค”
[๒๐๘] ๒๐. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้นแล เธอจงจำ
ธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของตถาคตนี้ไว้เถิด ในเรื่องนี้
เวทนาของตถาคตย่อมปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏถึง
ความดับไป สัญญาของตถาคตย่อมปรากฏเกิดขึ้น ... วิตกของ
ตถาคตย่อมปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏถึงความดับไป
อานนท์ เธอจงจำธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของตถาคตนี้ไว้เถิด”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อที่เวทนาของพระ
ผู้มีพระภาคย่อมปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏถึงความดับไป สัญญาของ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]
๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร

พระผู้มีพระภาคย่อมปรากฏเกิดขึ้น ... วิตกของพระผู้มีพระภาคย่อมปรากฏเกิดขึ้น
ปรากฏตั้งอยู่ ปรากฏถึงความดับไปนี้ ข้าพระองค์ก็จำได้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์
ไม่เคยปรากฏ ของพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า”
ท่านพระอานนท์ได้กล่าวคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ภิกษุเหล่านั้น
มีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิตของท่านพระอานนท์ ดังนี้แล

อัจฉริยัพภูตธัมมสูตรที่ ๓ จบ

๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร
ว่าด้วยอัจฉริยธรรมของพระพักกุลเถระ

[๒๐๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระพักกุละพักอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่ออเจลกัสสปะ ผู้เป็นสหายเก่าของท่าน
พระพักกุละเมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ เข้าไปหาท่านพระพักกุละถึงที่อยู่ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าว
กับท่านพระพักกุละว่า “ท่านพักกุละ ท่านบวชมานานเท่าไรแล้ว”
ท่านพระพักกุละตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ เราบวชมา ๘๐ พรรษาแล้ว”
“ตลอดเวลา ๘๐ พรรษานั้น ท่านเสพเมถุนธรรม๑ มากี่ครั้ง ขอรับ”
“กัสสปะผู้มีอายุ ท่านไม่ควรถามเราอย่างนี้ว่า ‘ตลอดเวลา ๘๐ พรรษานั้น
ท่านเสพเมถุนธรรมมากี่ครั้ง ขอรับ’ แต่ท่านควรถามเราอย่างนี้ว่า ‘ก็ตลอดเวลา
๘๐ พรรษานี้ กามสัญญาเคยเกิดขึ้นกับท่านกี่ครั้ง’
[๒๑๐] ท่านผู้มีอายุ เมื่อเราบวชมาตลอดเวลา ๘๐ พรรษา เราไม่รู้สึก
เลยว่ากามสัญญาเคยเกิดขึ้น”


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]
๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร

“ข้อที่ท่านพักกุละไม่รู้สึกเลยว่ามีกามสัญญาเคยเกิดขึ้นตลอดเวลา ๘๐ พรรษานี้
ข้าพเจ้าจะจำไว้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของท่านพักกุละ” (๑)
“ท่านผู้มีอายุ เมื่อเราบวชมาตลอดเวลา ๘๐ พรรษา เราไม่รู้สึกเลยว่า
พยาบาทสัญญา ... วิหิงสาสัญญาเคยเกิดขึ้น”
“ข้อที่ท่านพักกุละไม่รู้สึกเลยว่าพยาบาทสัญญา ... วิหิงสาสัญญาเคยเกิด
ขึ้นตลอดเวลา ๘๐ พรรษานี้ ข้าพเจ้าจะจำไว้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคย
ปรากฏ ของท่านพักกุละ” (๒-๓)
“ท่านผู้มีอายุ เมื่อเราบวชมาตลอดเวลา ๘๐ พรรษา เราไม่รู้สึกเลยว่า
กามวิตกเคยเกิดขึ้น”
“ข้อที่ท่านพักกุละไม่รู้สึกเลยว่ากามวิตกเคยเกิดขึ้น ตลอดเวลา ๘๐ พรรษานี้
ข้าพเจ้าจะจำไว้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของท่านพักกุละ” (๔)
“ท่านผู้มีอายุ เมื่อเราบวชมาตลอดเวลา ๘๐ พรรษา เราไม่รู้สึกเลยว่ามี
พยาบาทวิตก ... วิหิงสาวิตกเคยเกิดขึ้น”
“ข้อที่ท่านพักกุละไม่รู้สึกเลยว่าวิหิงสาวิตกเคยเกิดขึ้น ตลอดเวลา ๘๐ พรรษานี้
ข้าพเจ้าจะจำไว้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของท่านพักกุละ” (๕-๖)
[๒๑๑] “ท่านผู้มีอายุ เมื่อเราบวชมาตลอดเวลา ๘๐ พรรษา เราไม่รู้สึก
ยินดีคหบดีจีวรเลย”
“ข้อที่ท่านพักกุละไม่รู้สึกยินดีคหบดีจีวรเลย ตลอดเวลา ๘๐ พรรษานี้
ข้าพเจ้าจะจำไว้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของท่านพักกุละ” (๗)
“ท่านผู้มีอายุ เมื่อเราบวชมาตลอดเวลา ๘๐ พรรษา เราไม่รู้จักการใช้มีด
ตัดผ้าเป็นจีวรเลย ...” (๘)
“... เราไม่รู้จักการใช้เข็มเย็บจีวรเลย
... ไม่รู้จักการใช้เครื่องย้อมย้อมจีวรเลย
... ไม่รู้จักการเย็บจีวรที่ไม้สดึงเลย
... ไม่รู้จักการจัดทำจีวรของเพื่อนพรหมจารีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]
๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร

... ไม่รู้สึกยินดีกับกิจนิมนต์เลย
... ไม่รู้สึกเลยว่าเคยเกิดความคิดอย่างนี้ว่า ‘ขอใคร ๆ พึงนิมนต์เราเถิด’
... ไม่รู้จักการนั่งในละแวกบ้านเลย
... ไม่รู้จักการฉันในละแวกบ้านเลย
... ไม่รู้จักการถือนิมิตแห่งมาตุคามโดยอนุพยัญชนะ๑เลย
... ไม่รู้จักการแสดงธรรมแก่มาตุคามโดยที่สุดแม้คาถาสี่บาทเลย
... ไม่รู้จักการเข้าไปสู่สำนักของภิกษุณีเลย
... ไม่รู้จักการแสดงธรรมแก่ภิกษุณีเลย
... ไม่รู้จักการแสดงธรรมแก่สิกขมานาเลย
... ไม่รู้จักการแสดงธรรมแก่สามเณรีเลย
... ไม่รู้จักการให้บรรพชาเลย
... ไม่รู้จักการให้อุปสมบทเลย
... ไม่รู้จักการให้นิสัยเลย
... ไม่รู้จักการใช้สามเณรเป็นอุปัฏฐากเลย
... ไม่รู้จักการสรงน้ำในเรือนไฟเลย
... ไม่รู้จักการใช้จุรณสรงน้ำเลย
... ไม่รู้จักยินดีการนวดเฟ้นตัวของเพื่อนพรหมจารีเลย
... ไม่รู้จักอาพาธอันเคยเกิดขึ้นแล้วโดยที่สุดแม้ชั่วขณะรีดนมโคเสร็จเลย
... ไม่รู้จักฉันยาโดยที่สุดแม้เท่าชิ้นสมอเลย
... ไม่รู้จักการนั่งพิงพนักพิงเลย
... ไม่รู้จักการนอนเลย”
“ข้อที่ท่านพักกุละไม่รู้จักการนอนตลอดเวลา ๘๐ พรรษานี้ ข้าพเจ้าจะจำไว้ว่า
เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของท่านพักกุละ” (๙-๓๓)


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]
๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร

“ท่านผู้มีอายุ เมื่อเราบวชมาตลอดเวลา ๘๐ พรรษา เราไม่รู้จักการ
จำพรรษาในเสนาสนะใกล้บ้านเลย”
“ข้อที่ท่านพักกุละไม่รู้จักการจำพรรษาในเสนาสนะใกล้บ้านตลอดเวลา ๘๐
พรรษานี้ ข้าพเจ้าจะจำไว้ว่า เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของท่าน
พักกุละ” (๓๔)
“ท่านผู้มีอายุ เราเป็นผู้มีกิเลส ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้น ๗ วันเท่านั้น
ในวันที่ ๘ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล”
“ข้อที่ท่านพักกุละเป็นผู้มีกิเลส ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้น ๗ วันเท่านั้น
ในวันที่ ๘ ก็ได้บรรลุอรหัตตผลนี้ ข้าพเจ้าจะจำไว้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่
เคยปรากฏ ของท่านพักกุละ” (๓๕)
[๒๑๒] “ท่านพักกุละ ขอให้ข้าพเจ้าได้บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย
นี้เถิด”
อเจลกัสสปะได้บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้แล้ว เมื่อบวชแล้วไม่นาน
หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก ก็
ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
จึงเป็นอันว่า ท่านพระกัสสปะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์
ทั้งหลาย
สมัยต่อมา ท่านพระพักกุละถือลูกดาลเข้าไปยังวิหารทุก ๆ หลัง แล้วกล่าว
อย่างนี้ว่า “นิมนต์ท่านผู้มีอายุออกมาเถิด นิมนต์ท่านผู้มีอายุออกมาเถิด วันนี้
จักเป็นวันปรินิพพานของเรา”
ท่านพระกัสสปะกล่าวว่า “ข้อที่ท่านพักกุละถือลูกดาลเข้าไปยังวิหารทุก ๆ หลัง
แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘นิมนต์ท่านผู้มีอายุออกมาเถิด นิมนต์ท่านผู้มีอายุออกมาเถิด
วันนี้จักเป็นวันปรินิพพานของเรา’ เราทั้งหลายจะจำไว้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์
ไม่เคยปรากฏ ของท่านพักกุละ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๕. ทันตภูมิสูตร

ครั้งนั้น ท่านพระพักกุละนั่งปรินิพพานในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ท่านพระกัสสปะ
กล่าวว่า “ข้อที่ท่านพักกุละนั่งปรินิพพานในท่ามกลางภิกษุสงฆ์นี้ เราทั้งหลายจะ
จำไว้ว่าเป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ของท่านพักกุละ” ดังนี้แล

พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทันตภูมิสูตร
ว่าด้วยภูมิของผู้ได้รับการฝึกแล้ว

[๒๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น สมณุทเทสชื่ออจิรวตะ อยู่ในกระท่อมใกล้ป่า ครั้งนั้น
พระราชกุมารนามว่าชยเสน๑ทรงดำเนินเล่นไปโดยลำดับ เข้าไปหาอจิรวตะ
สมณุทเทสถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน
แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
ชยเสนราชกุมารได้รับสั่งกับอจิรวตะ สมณุทเทสว่า “ท่านอัคคิเวสสนะ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ พึงบรรลุจิตเตกัคคตา(สภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียว)ได้’ จริงหรือ”
อจิรวตะ สมณุทเทสถวายพระพรว่า “พระราชกุมาร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึง
บรรลุจิตเตกัคคตาได้”
“ดีละ ขอท่านอัคคิเวสสนะโปรดแสดงธรรมตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้ศึกษา
มาแก่ข้าพเจ้าเถิด”
“พระราชกุมาร อาตมภาพไม่สามารถแสดงธรรมแก่พระองค์ตามที่ได้สดับมา
ตามที่ได้ศึกษามา เพราะถ้าอาตมภาพจะแสดงธรรมแก่พระองค์ตามที่ได้สดับมา
ตามที่ได้ศึกษามา แต่พระองค์ไม่ทรงทราบอรรถแห่งภาษิตของอาตมภาพ ข้อนั้น
จะเป็นความยาก จะเป็นความลำบากแก่อาตมภาพ”


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๕. ทันตภูมิสูตร

“ขอท่านอัคคิเวสสนะโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้
ศึกษามา บางทีข้าพเจ้าอาจทราบอรรถแห่งภาษิตของท่านอัคคิเวสสนะก็ได้”
“พระราชกุมาร อาตมภาพจะแสดงธรรมแก่พระองค์ตามที่ได้สดับมา ตามที่
ได้ศึกษามา ถ้าพระองค์ทรงทราบอรรถแห่งภาษิตของอาตมภาพได้ นั่นแหละเป็น
ความดี ถ้าไม่ทรงทราบ ขอพระองค์พึงดำรงอยู่ในภาวะของพระองค์เถิด อย่าได้
ซักถามอาตมภาพในธรรมนั้นให้ยิ่งขึ้นไปเลย”
“ขอท่านอัคคิเวสสนะโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้
ศึกษามา ถ้าข้าพเจ้าทราบอรรถแห่งภาษิตของท่านอัคคิเวสสนะได้ นั่นเป็นความดี
ถ้าไม่ทราบ ข้าพเจ้าจะดำรงตนอยู่ในภาวะของตน ข้าพเจ้าจักไม่ซักถามท่าน
อัคคิเวสสนะในธรรมนั้นให้ยิ่งขึ้นไป”
[๒๑๔] ลำดับนั้น อจิรวตะ สมณุทเทสได้แสดงธรรมแก่ชยเสนราชกุมาร
ตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้ศึกษามา เมื่ออจิรวตะ สมณุทเทสกล่าวอย่างนั้นแล้ว
ชยเสนราชกุมารได้ตรัสว่า “ท่านอัคคิเวสนะผู้เจริญ เป็นไปไม่ได้ที่ภิกษุผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงบรรลุจิตเตกัคคตาได้”
ต่อจากนั้น ชยเสนราชกุมารทรงประกาศความเป็นไปไม่ได้แก่อจิรวตะ
สมณุทเทส ทรงลุกขึ้นจากที่ประทับแล้วเสด็จจากไป
ครั้งนั้น เมื่อชยเสนราชกุมารเสด็จจากไปแล้วไม่นาน อจิรวตะ สมณุทเทสได้
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ
ที่สมควร ได้กราบทูลเรื่องที่ได้สนทนาปราศรัยกับชยเสนราชกุมารทั้งหมดนั้นแด่
พระผู้มีพระภาค
เมื่ออจิรวตะ สมณุทเทสกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้ว่า
“อัคคิเวสสนะ ชยเสนราชกุมารพึงได้ประโยชน์จากข้อความนั้นในภาษิตของเธอนี้
แต่ที่ไหน เป็นไปไม่ได้ที่ชยเสนราชกุมาร ผู้ยังอยู่ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม
ถูกกามวิตกรุมเร้า ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ยังขวนขวายในการแสวงหา
กามอยู่ จักทรงรู้ ทรงเห็น หรือทรงทำให้แจ้งจิตเตกัคคตาที่บุคคลพึงรู้ พึงเห็น
พึงบรรลุ พึงทำให้แจ้ง ด้วยเนกขัมมะ๑ได้


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๕. ทันตภูมิสูตร

[๒๑๕] อัคคิเวสสนะ ช้างที่ควรฝึกคู่หนึ่ง ม้าที่ควรฝึกคู่หนึ่ง หรือโคที่ควร
ฝึกคู่หนึ่ง ที่ผู้ฝึกฝึกดีแล้ว หัดดีแล้ว (กับ) ช้างที่ควรฝึกอีกคู่หนึ่ง ม้าที่ควรฝึก
อีกคู่หนึ่ง หรือโคที่ควรฝึกอีกคู่หนึ่ง ที่เขาไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดเลย เธอเข้าใจความ
ข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ช้างที่ควรฝึก ม้าที่ควรฝึก หรือโคที่ควรฝึก คู่ที่ผู้ฝึกฝึกดีแล้ว
หัดดีแล้ว นั่นแหละ จะเรียนรู้เหตุการณ์ที่ผู้ฝึกฝึกแล้ว พึงสำเร็จภูมิที่ผู้ฝึกฝึกแล้ว
ได้ไหม”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ส่วนช้างที่ควรฝึก ม้าที่ควรฝึก หรือโคที่ควรฝึก คู่ที่เขาไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัด
แล้วเหล่านั้นนั่นแหละ จะเรียนรู้เหตุการณ์ที่ผู้ฝึกฝึกแล้ว จะสำเร็จภูมิที่ผู้ฝึกฝึกแล้ว
เหมือนช้างที่ควรฝึก ม้าที่ควรฝึก หรือโคที่ควรฝึก คู่ที่ผู้ฝึกฝึกดีแล้ว หัดดีแล้ว
เหล่านั้นได้ไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“อัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ที่ชยเสนราชกุมารผู้ยังอยู่
ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกรุมเร้า ถูกความเร่าร้อนเพราะกาม
แผดเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากามอยู่ จักทรงรู้ ทรงเห็น หรือทรงทำให้
แจ้งจิตเตกัคคตาที่บุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงบรรลุ พึงทำให้แจ้ง ด้วยเนกขัมมะได้
[๒๑๖] อัคคิเวสสนะ มีภูเขาใหญ่อยู่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม สหาย ๒ คน
ออกจากบ้านหรือนิคมนั้นแล้วจูงมือกันเข้าไปยังที่ที่ภูเขาตั้งอยู่ สหายคนหนึ่งยืนอยู่
ที่เชิงภูเขาเบื้องล่าง สหายคนหนึ่งขึ้นไปบนภูเขา สหายคนที่ยืนอยู่ที่เชิงภูเขาเบื้อง
ล่างจึงกล่าวกับสหายผู้ยืนอยู่บนภูเขานั้นอย่างนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ท่านยืนอยู่บนภูเขา
นั้น มองเห็นอะไรบ้าง’ สหายผู้ยืนอยู่บนภูเขานั้นตอบอย่างนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เรา
ยืนอยู่บนภูเขาแล้ว ย่อมมองเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าไม้อันน่ารื่นรมย์ ภูมิ
ประเทศอันน่ารื่นรมย์ และสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์’
สหายผู้ยืนอยู่ที่เชิงภูเขาเบื้องล่างนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เป็นไปไม่ได้
ที่ท่านยืนอยู่บนภูเขาแล้วจะพึงมองเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าไม้อันน่ารื่นรมย์ ภูมิ
ประเทศอันน่ารื่นรมย์ และสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ได้’ สหายผู้ยืนอยู่บนภูเขา จึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๕. ทันตภูมิสูตร

ลงมายังเชิงภูเขาเบื้องล่างแล้วจูงแขนสหายคนนั้นให้ขึ้นไปบนภูเขาลูกนั้น ให้พัก
เหนื่อยครู่หนึ่งแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ท่านยืนอยู่บนภูเขานั้น มอง
เห็นอะไรบ้าง’ สหายคนนั้นตอบว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เรายืนอยู่บนภูเขาแล้ว ย่อมมอง
เห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าไม้อันน่ารื่นรมย์ ภูมิประเทศอันน่ารื่นรมย์ และสระ
โบกขรณีอันน่ารื่นรมย์’
สหายผู้ที่ขึ้นไปก่อนแล้วนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เรารู้คำที่ท่านกล่าว
แล้วอย่างนี้บัดนี้เองว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เป็นไปไม่ได้ที่ท่านยืนอยู่บนภูเขาแล้ว
จะพึงมองเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าไม้อันน่ารื่นรมย์ ภูมิประเทศอันน่ารื่นรมย์
และสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ได้’ และสหายผู้ขึ้นไปทีหลังนั้นกล่าวว่า ‘เรารู้คำที่
ท่านกล่าวอย่างนี้บัดนี้เหมือนกันว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เรายืนอยู่บนภูเขาแล้ว ย่อมมอง
เห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าไม้อันน่ารื่นรมย์ ภูมิประเทศอันน่ารื่นรมย์ และสระ
โบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ได้’
สหายผู้ที่ขึ้นไปก่อนแล้วนั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ความเป็นจริง เรา
ถูกภูเขาใหญ่ลูกนี้กั้นไว้ จึงมองไม่เห็นสิ่งที่ควรเห็น’
อัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ที่ชยเสนราชกุมาร ผู้ถูก
กองอวิชชาใหญ่ยิ่งกว่าภูเขาลูกนั้นกั้นไว้ ปิดบังไว้ รึงรัดไว้ ห่อหุ้มไว้ ยังอยู่
ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกรุมเร้า ถูกความเร่าร้อนเพราะกาม
แผดเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากาม จักทรงรู้ ทรงเห็น หรือทรงทำให้แจ้ง
ซึ่งธรรมที่บุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงบรรลุ พึงทำให้แจ้งด้วยเนกขัมมะได้
อัคคิเวสสนะ ถ้าเธอพึงอธิบายอุปมา ๒ ข้อนี้ให้แจ่มแจ้งแก่ชยเสน
ราชกุมารได้ ชยเสนราชกุมารจะพึงเลื่อมใสเธออย่างน่าอัศจรรย์ และชยเสน
ราชกุมารผู้เลื่อมใสแล้ว จะพึงแสดงอาการของบุคคลผู้เลื่อมใสแก่เธอ”
อจิรวตะ สมณุทเทสกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
จักอธิบายอุปมา ๒ ข้อนี้ที่น่าอัศจรรย์ ที่ข้าพระองค์ยังไม่เคยได้สดับมาก่อน
ให้แจ่มแจ้งแก่ชยเสนราชกุมาร เหมือนพระผู้มีพระภาคได้อย่างไรเล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๕. ทันตภูมิสูตร

[๒๑๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ กษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษก๑แล้ว รับสั่งเรียกพรานผู้ชำนาญป่าที่ช้างอาศัยอยู่มาแล้วตรัสว่า ‘มา
เถิดพ่อพรานช้างเพื่อนยาก ท่านจงขี่ช้างหลวงเข้าไปยังดงช้าง เห็นช้างป่าแล้ว
จงคล้องมันผูกไว้ที่คอช้างหลวงเถิด’ พรานป่าผู้เป็นควาญช้าง รับพระราชโองการ
แล้ว จึงขี่ช้างหลวงเข้าไปยังดงช้าง เห็นช้างป่าแล้ว จึงคล้องมันผูกไว้ที่คอช้างหลวง
ช้างหลวงจึงนำช้างป่านั้นออกมาสู่ที่กลางแจ้งได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ช้างป่าจึงมา
อยู่กลางแจ้ง ความจริงช้างป่าทั้งหลายยังห่วงถิ่นคือดงช้างอยู่ พรานป่าผู้เป็น
ควาญช้างจึงกราบทูลเรื่องนี้แด่กษัตราธิราชว่า ‘ขอเดชะ ช้างป่าของพระองค์มาอยู่
ที่กลางแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า’
ลำดับนั้น กษัตราธิราชจึงรับสั่งเรียกควาญช้างมาตรัสว่า ‘มาเถิดพ่อ
ควาญช้าง ท่านจงฝึกช้างป่า จงไปเพื่อแก้ไขปกติของสัตว์ป่า แก้ไขความสับสน
ของสัตว์ป่า และแก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจและความเร่าร้อนใจ
ของสัตว์ป่า เพื่อให้ช้างป่านั้นยินดีในแดนบ้าน ให้เพลิดเพลินในปกติที่มนุษย์
ต้องการเถิด’
ควาญช้างรับพระราชโองการแล้ว จึงฝังเสาตะลุงใหญ่ลงในแผ่นดิน ล่ามคอ
ช้างป่าไว้อย่างมั่นคง เพื่อแก้ไขปกติของสัตว์ป่า แก้ไขความสับสนของสัตว์ป่า
และแก้ไขความกระวนกระวาย ความลำบากใจและความเร่าร้อนใจของสัตว์ป่า
เพื่อให้ช้างป่านั้นยินดีในแดนบ้าน ให้เพลิดเพลินในปกติที่มนุษย์ต้องการ ควาญช้าง
ร้องเรียกช้างป่านั้นด้วยคำไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นภาษาของชาวเมือง
คนส่วนมากรักใคร่พอใจ เพราะช้างป่าถูกควาญช้างร้องเรียกอยู่ด้วยคำไม่มีโทษ
ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นภาษาของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจเห็นปานนั้น
ช้างจึงตั้งใจฟัง ตั้งใจเพื่อจะเรียนรู้ ควาญช้างจึงเพิ่มอาหาร คือหญ้าและน้ำให้
ช้างนั้นยิ่งขึ้น


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๕. ทันตภูมิสูตร

อัคคิเวสสนะ เพราะช้างป่ารับอาหาร คือหญ้าและน้ำของควาญช้าง ควาญ
ช้างจึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ ช้างป่าจักดำรงชีพอยู่ได้ละ’ จึงให้ช้างป่านั้น
ฝึกยิ่งขึ้นด้วยสั่งว่า ‘รับไป พ่อ วางลง พ่อ’ เพราะช้างหลวงทำตามคำสั่ง
รับทำตามโอวาทของควาญช้างในการรับและการวาง ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นฝึกยิ่ง
ขึ้นด้วยสั่งว่า ‘เดินไป พ่อ ถอยกลับ พ่อ’ เพราะช้างหลวงทำตามคำสั่ง รับทำ
ตามโอวาทของควาญช้างในการเดินไปและการถอยกลับ ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นฝึก
ยิ่งขึ้นด้วยสั่งว่า ‘ยืนขึ้น พ่อ หมอบลง พ่อ’ เพราะช้างหลวงทำตามคำสั่ง รับ
ทำตามโอวาทของควาญช้างในการยืนและการหมอบ ควาญช้างจึงให้ช้างนั้นฝึกยิ่ง
ขึ้นจนถึงขั้นที่ชื่อว่าอาเนญชะ(ไม่หวั่นไหว)คือผูกโล่ใหญ่ไว้ที่งวงช้างนั้น จัดบุรุษถือหอกซัด
นั่งบนคอช้าง จัดบุรุษถือหอกซัดหลายคนยืนล้อมรอบ ส่วนควาญช้างถือของ้าวยาว
ยืนอยู่ข้างหน้า ช้างนั้นได้รับการฝึกถึงขั้นอาเนญชะอยู่ จึงไม่ขยับเท้าหน้า ไม่ขยับ
เท้าหลัง ไม่เขยื้อนกายไปข้างหน้า ไม่เขยื้อนกายไปข้างหลัง ไม่โคลงหัว ไม่กระดิกหู
ไม่เหวี่ยงงา ไม่แกว่งหาง ไม่ขยับงวง เป็นช้างหลวงผู้อดทนต่อการถูกหอกทิ่มแทง
ถูกดาบฟัน ถูกลูกศรเสียบแทง และถูกเครื่องประหารของศัตรูอื่น อดทนต่อเสียง
อึกกระทึกแห่งกลองศึก มโหระทึก สังข์ และกลองเล็ก กำจัดนิสัยดื้อรั้นทุกอย่าง
และหมดพยศ จึงนับว่า ‘เป็นช้างสมควรแก่พระราชา อันพระราชาควรใช้สอย
เป็นองค์สมบัติของพระราชา’ แม้ฉันใด
[๒๑๘] อัคคิเวสสนะ ตถาคต๑ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล อุบัติขึ้นมาในโลกนี้
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ๒ ไปดี
รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค๓ ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อม
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ด้วยตนเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มี
ความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด๔ ประกาศพรหมจรรย์๕ พร้อมทั้ง


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๕. ทันตภูมิสูตร

อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน
(คนผู้เกิดภายหลัง) ในตระกูลใดตระกูลหนึ่งได้สดับธรรมนั้นแล้ว เกิดศรัทธาใน
ตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็นทาง
มาแห่งธุลี การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี
เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’
ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผม
และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต๑ ด้วยเหตุเพียง
เท่านี้แล เขาชื่อว่าเป็นอริยสาวก อยู่ในที่แจ้ง ความจริง เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลายยังห่วงถิ่นคือกามคุณ ๕ อยู่ ตถาคตจึงแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า
‘มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อม
ด้วยอาจาระและโคจร จงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่
ในสิกขาบททั้งหลาย’
อัคคิเวสสนะ เพราะอริยสาวกเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์
เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน
ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายได้ ตถาคตจึงแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ‘มาเถิด ภิกษุ
เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ฯลฯ
[๒๑๙] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ นี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต เป็น
เครื่องทอนปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร
มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๕. ทันตภูมิสูตร

พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
อัคคิเวสสนะ ควาญช้างฝังเสาตะลุงใหญ่ลงในแผ่นดิน ล่ามคอช้างป่าไว้อย่าง
มั่นคง เพื่อแก้ไขปกติของสัตว์ป่า แก้ไขความสับสนของสัตว์ป่า และแก้ไขความ
กระวนกระวาย ความลำบากใจและความเร่าร้อนใจของสัตว์ป่า เพื่อให้ช้างป่านั้น
ยินดีในแดนบ้าน ให้เพลิดเพลินในปกติที่มนุษย์ต้องการ แม้ฉันใด อริยสาวกก็
ฉันนั้นเหมือนกัน ชื่อว่าผูกใจไว้แล้วกับสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อแก้ไขปกติที่ยังผูกพัน
อยู่กับเรือน๑ แก้ไขความสับสนที่ยังผูกพันอยู่กับเรือน แก้ไขความกระวนกระวาย
ความลำบากใจและความเร่าร้อนใจที่ผูกพันอยู่กับเรือน เพื่อบรรลุญายธรรม๒ เพื่อ
ทำให้แจ้งนิพพาน
[๒๒๐] ตถาคตจึงแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ‘มาเถิดภิกษุ เธอจงพิจารณา
เห็นกายในกายอยู่เถิด แต่อย่าตรึกถึงวิตกที่เกี่ยวข้องกับกายเลย
จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เถิด ฯลฯ
จงพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เถิด ...
จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เถิด แต่อย่าตรึกถึงวิตกที่เกี่ยวข้อง
กับธรรมเลย
เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุนั้นย่อมบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน
มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ ฯลฯ
บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้า
หมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไป
เพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒
ชาติบ้าง ฯลฯ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค] ๕. ทันตภูมิสูตร

[๒๒๑] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ
ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม
จิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจาก
กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’
รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ภิกษุนั้นเป็นผู้อดทน คือ มีชาติของผู้อดกลั้นต่อความหนาว ความร้อน
ความหิว ความกระหาย ต่อสัมผัสอันเกิดจากเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์
เลื้อยคลานทั้งหลาย ต่อถ้อยคำที่กล่าวร้าย ถ้อยคำที่ใส่ร้าย ต่อทุกขเวทนากล้า
อย่างหนัก เผ็ดร้อน อันมีในสรีระที่เกิดขึ้นแล้ว ต่อความไม่สำราญ ต่อความ
ไม่ชอบใจ พอจะคร่าชีวิตได้ ภิกษุนั้นกำจัดราคะ โทสะ โมหะทั้งปวงและกำจัด
กิเลสเพียงดังน้ำฝาดได้แล้ว เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ
ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก๑
[๒๒๒] อัคคิเวสสนะ ถ้าช้างหลวงแก่ที่ควาญช้างยังไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัด ล้ม
ลง(ตาย) ย่อมถึงการนับว่า ‘ช้างหลวงแก่ล้มอย่างไม่ได้ฝึก’
ถ้าช้างหลวงรุ่นกลาง ฯลฯ


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker