ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๐๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

เมื่อผมถามท่านว่า ‘ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกังขา-
วิตรณวิสุทธิหรือ’ ท่านก็ตอบผมว่า ‘ข้อนี้หามิได้’
... เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ’ ...
... เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ’ ...
เมื่อผมถามท่านว่า ‘ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อญาณ-
ทัสสนวิสุทธิหรือ’ ท่านก็ตอบผมว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่ออะไรกันเล่า”
“ท่านผู้มีอายุ ผมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่ออนุปาทา-
ปรินิพพาน๑”
“สีลวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“จิตตวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”

เชิงอรรถ :
๑ อนุปาทาปรินิพพาน หมายถึงปรินิพพานที่หาปัจจัยปรุงแต่งมิได้ แต่ในที่นี้ พระเถระหมายเอาสภาวะ
เป็นที่สุด เป็นเงื่อนปลาย เป็นที่จบการประพฤติพรหมจรรย์ของท่านผู้ถืออปัจจยปรินิพพาน (ม.มู.อ.
๒/๒๕๘/๖๓-๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

“ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“ญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“ธรรมนอกจากธรรมเหล่านี้ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
พระปุณณมันตานีบุตรตอบว่า “ข้อนี้ หามิได้ ท่านผู้มีอายุ”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ เมื่อผมถามท่านว่า ‘สีลวิสุทธิ
เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ท่านก็ตอบผมว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’
เมื่อผมถามท่านว่า ‘จิตตวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ท่านก็ตอบ
ผมว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’
... ‘ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ...
... ‘กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ...
... ‘มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ...
... ‘ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ...
เมื่อผมถามท่านว่า ‘ญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ท่าน
ก็ตอบว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’
เมื่อผมถามท่านว่า ‘ธรรมนอกจากธรรมเหล่านี้ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’
ท่านก็ตอบผมว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’
(เมื่อเป็นเช่นนี้) จะพึงเห็นเนื้อความของคำที่ท่านกล่าวแล้วนี้ได้อย่างไร”
[๒๕๘] ท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ ถ้าพระผู้มี
พระภาคทรงบัญญัติสีลวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่าพึงบัญญัติธรรมที่
ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ถ้าทรงบัญญัติจิตตวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่าพึงบัญญัติธรรม
ที่ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

ถ้าทรงบัญญัติทิฏฐิวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่าพึงบัญญัติธรรมที่
ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ถ้าทรงบัญญัติกังขาวิตรณวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่าพึงบัญญัติ
ธรรมที่ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ถ้าทรงบัญญัติมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่า
พึงบัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ถ้าทรงบัญญัติปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่า
พึงบัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ถ้าทรงบัญญัติญาณทัสสนวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่าพึง
บัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ท่านผู้มีอายุ ถ้าธรรมนอกจากธรรมเหล่านี้ จักเป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว
ปุถุชนก็จะพึงปรินิพพาน เพราะว่าปุถุชนเว้นจากธรรมเหล่านี้ ผมจะเปรียบเทียบ
ให้ท่านฟัง คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ย่อมเข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วย
อุปมาโวหาร

เปรียบเทียบวิสุทธิด้วยรถ ๗ ผลัด

[๒๕๙] ท่านผู้มีอายุ เปรียบเหมือนพระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังประทับอยู่ที่
กรุงสาวัตถี มีพระราชกรณียกิจด่วนบางประการเกิดขึ้นที่เมืองสาเกต และใน
ระหว่างกรุงสาวัตถีกับเมืองสาเกตนั้นจะต้องต่อรถถึงเจ็ดผลัด
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จออกจากกรุงสาวัตถี ทรงรถพระที่นั่งผลัด
ที่หนึ่ง ที่ประตูพระราชวัง เสด็จไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สอง
จึงทรงสละรถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่ง ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สอง เสด็จไปถึงรถ
พระที่นั่งผลัดที่ ๓
จึงทรงสละรถพระที่นั่งผลัดที่สอง ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สาม เสด็จไปถึงรถ
พระที่นั่งผลัดที่สี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

จึงทรงสละรถพระที่นั่งผลัดที่สาม ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ เสด็จไปถึงรถ
พระที่นั่งผลัดที่ห้า
จึงทรงสละรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า เสด็จไปถึงรถ
พระที่นั่งผลัดที่หก
จึงทรงสละรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่หก เสด็จไปถึงรถ
พระที่นั่งผลัดที่เจ็ด
จึงทรงสละรถพระที่นั่งผลัดที่หก ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด เสด็จไปถึงประตู
เมืองสาเกตด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด
ถ้าพวกมิตรอำมาตย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์จะพึงทูลถามพระองค์ว่า ‘ขอเดชะ
มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จจากกรุงสาวัตถีถึงประตูเมืองสาเกตด้วยรถพระที่นั่งผลัด
นี้ผลัดเดียวหรือ’
ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะตรัสตอบอย่างไร จึงจะจัดว่าตรัสตอบ
อย่างถูกต้อง”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะต้องตรัส
ตอบอย่างนี้ จึงจัดว่าตรัสตอบอย่างถูกต้อง คือตรัสว่า ‘เมื่อฉันกำลังอยู่ใน
กรุงสาวัตถีนั้น มีกรณียกิจด่วนบางประการเกิดขึ้นในเมืองสาเกต ระหว่างกรุง
สาวัตถีกับเมืองสาเกตนั้น จะต้องใช้รถถึงเจ็ดผลัด
ครั้งนั้นแล ฉันออกจากกรุงสาวัตถีขึ้นรถผลัดที่หนึ่ง ที่ประตูวัง ไปถึงรถผลัด
ที่สอง สละรถผลัดที่หนึ่ง ขึ้นรถผลัดที่สอง ไปถึงรถผลัดที่สาม สละรถผลัดที่สอง
ขึ้นรถผลัดที่สาม ไปถึงรถผลัดที่สี่ สละรถผลัดที่สาม ขึ้นรถผลัดที่สี่ ไปถึงรถผลัด
ที่ห้า สละรถผลัดที่สี่ ขึ้นรถผลัดที่ห้า ไปถึงรถผลัดที่หก สละรถผลัดที่ห้า ขึ้นรถ
ผลัดที่หก ไปถึงรถผลัดที่เจ็ด สละรถผลัดที่หก ขึ้นรถผลัดที่เจ็ด ไปถึงประตูเมือง
สาเกตด้วยรถผลัดที่เจ็ด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะต้องตรัสตอบอย่างนี้แล จึงจัดว่าตรัสตอบ
อย่างถูกต้อง”
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
สีลวิสุทธิมีจิตตวิสุทธิเป็นเป้าหมาย จิตตวิสุทธิมีทิฏฐิวิสุทธิเป็นเป้าหมาย ทิฏฐิวิสุทธิ
มีกังขาวิตรณวิสุทธิเป็นเป้าหมาย กังขาวิตรณวิสุทธิมีมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
เป็นเป้าหมาย มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิมีปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นเป้าหมาย
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิมีญาณทัสสนวิสุทธิเป็นเป้าหมาย ญาณทัสสนวิสุทธิมี
อนุปาทาปรินิพพานเป็นเป้าหมาย
ท่านผู้มีอายุ ผมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่ออนุปาทา-
ปรินิพพานโดยแท้”

พระเถระทั้ง ๒ รูปกล่าวสรรเสริญคุณของกันและกัน

[๒๖๐] เมื่อท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร
จึงถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ท่านชื่ออะไร และเพื่อนพรหมจารีรู้จักท่านว่าอย่างไร”
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ผมชื่อว่าปุณณะ แต่เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายรู้จักผมว่า มันตานีบุตร”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏปัญหา
อันลึกซึ้งที่ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเลือกเฟ้น นำมากล่าวแก้ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง
ตามเยี่ยงอย่างพระสาวกผู้ได้สดับแล้ว รู้ทั่วถึงคำสอนของพระศาสดาโดยถ่องแท้
จะพึงกล่าวแก้ฉะนั้น เป็นลาภอย่างมากของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย เพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายได้ดีแล้ว ที่ได้พบเห็น ได้นั่งใกล้ท่านปุณณมันตานีบุตร แม้หากเพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายจะเทิดทูนท่านปุณณมันตานีบุตรไว้บนศีรษะเหมือนเทริดผ้า จึงจะ
ได้พบเห็น ได้นั่งใกล้ แม้ข้อนั้นก็นับว่าเป็นลาภมากของท่านเหล่านั้น ท่านเหล่านั้น
ได้ดีแล้ว อนึ่ง นับว่าเป็นลาภอย่างมากของผมด้วย ผมได้ดีแล้วด้วย ที่ได้พบเห็น
ได้นั่งใกล้ท่านปุณณมันตานีบุตร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระปุณณมันตานีบุตรจึงถามว่า
“ท่านผู้มีอายุ ท่านชื่ออะไร และเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายรู้จักท่านว่าอย่างไร”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ผมชื่อว่าอุปติสสะ แต่เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายรู้จักผมว่า ‘สารีบุตร”
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ผมกำลังพูดอยู่กับท่าน
ผู้เป็นสาวก ผู้ทรงคุณคล้ายกับพระบรมศาสดา มิได้ทราบเลยว่า ‘ท่านชื่อว่า
สารีบุตร’ ถ้าผมทราบว่า ‘ท่านชื่อสารีบุตร’ คำเปรียบเทียบเท่านี้ คงไม่จำเป็น
สำหรับกระผม น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ปัญหาอันลึกซึ้งที่ท่านสารีบุตร
เลือกเฟ้นมาถามแล้วด้วยปัญญาอันลึกซึ้งตามอย่างพระสาวกผู้ได้สดับแล้ว รู้ทั่วถึง
คำสอนของพระบรมศาสดาโดยถ่องแท้จะพึงถามฉะนั้น เป็นลาภอย่างมากของ
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายได้ดีแล้วที่ได้พบเห็น ได้นั่งใกล้
ท่านพระสารีบุตร แม้หากเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายจะเทิดทูนท่านพระสารีบุตรไว้
บนศีรษะเหมือนเทริดผ้า จึงจะได้พบเห็น ได้นั่งใกล้ แม้ข้อนั้นก็เป็นลาภอย่างมาก
ของท่านเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นได้ดีแล้ว อนึ่ง นับว่าเป็นลาภอย่างมากของผมด้วย
ผมได้ดีแล้วด้วย ที่ได้พบเห็น ได้นั่งใกล้ท่านสารีบุตร”
พระมหานาคทั้ง ๒ รูปนั้นต่างชื่นชมภาษิตของกันและกัน ดังนี้แล

รถวินีตสูตรที่ ๔ จบ

๕. นิวาปสูตร
ว่าด้วยเหยื่อล่อเนื้อ

[๒๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย นายพรานเนื้อมิได้ปลูกหญ้าไว้สำหรับฝูงเนื้อด้วยคิดว่า ‘เมื่อ
ฝูงเนื้อกินหญ้าที่เราปลูกไว้นี้จะมีอายุยั่งยืน มีผิวพรรณดี มีชีวิตอยู่ยืนนาน’ ที่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

นายพรานเนื้อปลูกหญ้าไว้สำหรับฝูงเนื้อด้วยมีความประสงค์ว่า ‘ฝูงเนื้อที่เข้ามาสู่ทุ่งหญ้า
ที่เราปลูกไว้นี้แล้วจักลืมตัวกินหญ้า เมื่อเข้ามาแล้วลืมตัวกินหญ้าก็จักเผลอตัว เมื่อ
เผลอตัวก็จักเลินเล่อ เมื่อเลินเล่อก็จักถูกเราทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านี้’

ฝูงเนื้อที่ถูกนายพรานจับ

[๒๖๒] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาฝูงเนื้อเหล่านั้น เนื้อฝูงที่ ๑ เข้าไปสู่ทุ่งหญ้า
ที่นายพรานปลูกไว้แล้วลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อเข้าไปแล้วลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็เผลอตัว
เมื่อเผลอตัวก็เลินเล่อ เมื่อเลินเล่อก็ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบใน
ทุ่งหญ้านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูงที่ ๑ นั้นก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อ
ไปได้
[๒๖๓] ภิกษุทั้งหลาย เนื้อฝูงที่ ๒ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๑
ที่เข้าไปในทุ่งหญ้าของนายพรานเนื้อ ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อเข้าไปแล้วลืมตัวกิน
หญ้าอยู่ก็เผลอตัว เมื่อเผลอตัวก็เลินเล่อ เมื่อเลินเล่อก็ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ
ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูงที่ ๑ ก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจ
ของนายพรานเนื้อไปได้ ทางที่ดี เราควรงดกินหญ้าโดยสิ้นเชิง เมื่องดกินหญ้า
ที่เป็นภัยแล้ว ควรหลีกไปอยู่ตามราวป่า’ แล้วจึงงดกินหญ้าโดยสิ้นเชิง เมื่องดกิน
หญ้าที่เป็นภัยแล้ว ก็หลีกไปอยู่ตามราวป่า ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนซึ่งเป็น
เวลาที่หญ้าและน้ำหมดสิ้นแล้ว ฝูงเนื้อฝูงนั้นก็มีร่างกายซูบผอม เมื่อมีร่างกาย
ซูบผอม กำลังเรี่ยวแรงก็หมดไป เมื่อกำลังเรี่ยวแรงหมดไป จึงพากันกลับมาสู่
ทุ่งหญ้าที่นายพรานนั้นปลูกไว้อีก เนื้อฝูงนั้นพากันเข้าไปในทุ่งหญ้านั้น ลืมตัวกินหญ้าอยู่
เมื่อเข้าไปแล้วลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็เผลอตัว เมื่อเผลอตัวก็เลินเล่อ เมื่อเลินเล่อก็ถูก
นายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เนื้อฝูงที่ ๒
ก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้
[๒๖๔] ภิกษุทั้งหลาย เนื้อฝูงที่ ๓ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๑
เข้าไปในทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูงที่ ๑ ก็ไม่รอด
พ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้ และเนื้อฝูงที่ ๒ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

‘เนื้อฝูงที่ ๑ เข้าไปสู่ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูงที่ ๑
ก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้ ทางที่ดี พวกเราควรงดกินหญ้า
โดยสิ้นเชิง เมื่องดกินหญ้าที่เป็นภัยแล้ว ควรหลีกไปอยู่ตามราวป่า’ จึงงดกินหญ้า
โดยสิ้นเชิง เมื่องดกินหญ้าที่เป็นภัยแล้ว ก็หลีกไปอยู่ตามราวป่า ครั้นถึงเดือน
สุดท้ายแห่งฤดูร้อนซึ่งเป็นเวลาที่หญ้าและน้ำหมดสิ้น เนื้อฝูงนั้นมีร่างกายซูบผอม
เมื่อมีร่างกายซูบผอม กำลังเรี่ยวแรงก็หมดไป เมื่อกำลังเรี่ยวแรงหมดไป จึงพากัน
กลับมาสู่ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้นอีก เนื้อฝูงนั้นพากันเข้าไปสู่ทุ่งหญ้านั้น
ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อเข้าไปแล้วลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็เผลอตัว เมื่อเผลอตัวก็เลิ่นเล่อ
เมื่อเลินเล่อก็ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้
แม้เนื้อฝูงที่ ๒ นั้นก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานไปได้ ทางที่ดี พวกเรา
ควรซุ่มอาศัยอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ครั้นแล้วเราจะไม่เข้าไป
สู่ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น จักไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อไม่เข้าไปแล้วไม่
ลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็จักไม่เผลอตัว เมื่อไม่เผลอตัวก็จักไม่เลินเล่อ เมื่อไม่เลินเล่อก็
จักไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น’ แล้วจึงเข้าไปซุ่ม
อาศัยอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ครั้นซุ่มอาศัยอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งหญ้า
นั้นแล้วก็ไม่เข้าไปสู่ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อไม่
เข้าไปในทุ่งหญ้านั้นไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็ไม่เผลอตัว เมื่อไม่เผลอตัวก็ไม่เลินเล่อ
เมื่อไม่เลินเล่อก็ไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น นายพรานเนื้อกับบริวารมีความคิดว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๓
นี้เป็นสัตว์ฉลาดเหมือนมีฤทธิ์ ไม่ใช่สัตว์ธรรมดา จึงกินหญ้าที่ปลูกไว้นี้ได้ เราไม่รู้
ทั้งทางมาและทางไปของพวกมัน ทางที่ดี พวกเราควรเอาไม้มาขัดเป็นตาข่ายล้อม
รอบทุ่งหญ้าที่ปลูกไว้นี้ บางทีเราจะพบที่อยู่ของเนื้อฝูงที่ ๓ ในที่ซึ่งเราจะไปจับพวก
มันได้’ พวกเขาจึงช่วยกันเอาไม้มาขัดเป็นตาข่ายล้อมรอบทุ่งหญ้าที่ปลูกไว้นั้น
นายพรานเนื้อกับบริวารก็ได้พบที่อยู่ของเนื้อฝูงที่ ๓ ในที่ซึ่งเขาไปจับพวกมันได้แล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เนื้อฝูงที่ ๓ นั้นก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

ฝูงเนื้อที่ถูรอดมือนายพราน

[๒๖๕] ภิกษุทั้งหลาย เนื้อฝูงที่ ๔ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่าเนื้อฝูงที่ ๑
ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้เนื้อฝูงที่ ๑ ก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้
และเนื้อฝูงที่ ๒ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูง
ที่ ๑ นั้นก็ไม่รอกพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้ ทางที่ดี พวกเราควรงด
กินหญ้า โดยสิ้นเชิง เมื่องดกินหญ้าที่เป็นภัยแล้ว ก็หลีกไปอยู่ตามราวป่า’
แล้วจึงงดกินหญ้า โดยสินเชิง ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เนื้อฝูงที่ ๒ นั้นก็ไม่รอด
พ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้
อนึ่ง เนื้อฝูงที่ ๓ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็น
เช่นนี้ ‘เนื้อฝูงที่ ๑ นั้นก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานไปได้ และเนื้อฝูงที่ ๒
คิดเห็นร่วมกกันอย่างนี้ว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูงที่ ๑ นั้นก็ไม่รอด
พ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้ ทางที่ดี เราควรงดกินหญ้าโดยสิ้นเชิง เมื่อ
งดกินหญ้าที่เป็นภัยแล้ว ก็หลีกไปอยู่ตามราวป่า’ แล้วจึงงดกินหญ้าโดยสิ้นเชิง ฯลฯ
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เนื้อฝูงที่ ๒ นั้นก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้
ทางที่ดี พวกเราควรซุ่มอาศัยอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ครั้นแล้ว
เราจะไม่เข้าไปยังทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น จะไม่ลืมตัวกินหญ้า เมื่อไม่เข้าไปแล้ว
ไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็จักไม่เผลอตัว เมื่อไม่เผลอตัวก็จักไม่เลินเล่อ เมื่อไม่เลินเล่อ
ก็จักไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น’ แล้วจึงเข้าไปซุ่ม
อาศัยอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ครั้นซุ่มอาศัยอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งหญ้า
นั้นแล้วไม่เข้าไปสู่ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อไม่
เข้าไปยังทุ่งหญ้านั้น ไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็ไม่เผลอตัว เมื่อไม่เผลอตัวก็ไม่เลินเล่อ
เมื่อไม่เลินเล่อก็ไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น
ครั้งนั้น นายพรานเนื้อกับบริวารมีความคิดว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๓ นี้เป็นสัตว์ฉลาด
เหมือนมีฤทธิ์ ไม่ใช่สัตว์ธรรมดา ฯลฯ นายพรานเนื้อกับบริวารก็ได้พบที่อยู่ของ
เนื้อฝูงที่ ๓ ในที่ซึ่งเขาจะไปจับพวกมันได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เนื้อฝูงที่ ๓ นั้นก็ไม่
รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้ ทางที่ดี พวกเราควรอาศัยอยู่ในที่ซึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

นายพรานเนื้อกับบริวารไปไม่ถึง ครั้นแล้วไม่ควรเข้าไปยังทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อ
ปลูกไว้นั้น เมื่อไม่ลืมตัวกินหญ้าก็จักไม่เผลอตัว เมื่อไม่เผลอตัวก็จักไม่เลินเล่อ
เมื่อไม่เลินเล่อก็จักไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น’ แล้ว
จึงซุ่มอาศัยอยู่ในที่ซึ่งนายพรานเนื้อกับบริวารไปไม่ถึง ครั้นซุ่มอาศัยอยู่ในที่นั้นแล้ว
ก็ไม่เข้าไปยังทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อไม่เข้าไป
ยังทุ่งหญ้านั้นไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็ไม่เผลอตัว เมื่อไม่เผลอตัวก็จักไม่เลินเล่อ เมื่อไม่
เลินเล่อก็จักไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พรานเนื้อกับบริวารคิดเห็นว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๔ นี้เป็นสัตว์
ฉลาดเหมือนมีฤทธิ์ ไม่ใช่สัตว์ธรรมดา จึงกินหญ้าที่ปลูกไว้นี้ได้ อนึ่ง เราไม่ทราบ
ทางมาและทางไปของพวกมันเลย ทางที่ดี พวกเราควรเอาไม้มาขัดเป็นตาข่าย
ล้อมรอบทุ่งหญ้าที่ปลูกไว้โดยรอบ บางทีเราจะพบที่อยู่ของเนื้อฝูงที่ ๔ ในที่ซึ่ง
เราจะไปจับพวกมันได้’ พวกเขาจึงเอาไม้มาขัดเป็นตาข่ายล้อมรอบทุ่งหญ้าที่ปลูกไว้
นั้น แต่ก็ไม่พบที่อยู่ของเนื้อฝูงที่ ๔ ในที่ซึ่งตนจะไปจับเอา ครั้งนั้น นายพรานเนื้อ
กับบริวารจึงคิดตกลงใจว่า ‘ถ้าเราจักขืนรบกวนเนื้อฝูงที่ ๔ ให้ตกใจ เนื้อเหล่านั้น
ที่ถูกเราทำให้ตกใจแล้วก็จะพลอยทำให้เนื้อฝูงอื่น ๆ ตกใจไปด้วย ฝูงเนื้อทั้งหลายคง
จะไปจากทุ่งหญ้าที่ปลูกไว้จนหมดสิ้น ทางที่ดี พวกเราควรวางเฉยในเนื้อฝูงที่ ๔ เสีย
เถิด’ นายพรานเนื้อกับบริวารก็วางเฉยเนื้อฝูงที่ ๔ เสีย เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูงที่ ๔
จึงรอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้
[๒๖๖] ภิกษุทั้งหลาย เราจะเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจเนื้อความได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในคำเปรียบเทียบนั้น มีคำอธิบายดังต่อไปนี้
คำว่า ทุ่งหญ้า นั้นเป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕
คำว่า นายพรานเนื้อ นั้นเป็นชื่อของมารผู้มีบาป
คำว่า บริวารของนายพรานเนื้อ นั้นเป็นชื่อของบริวารของมาร
คำว่า ฝูงเนื้อ นั้นเป็นชื่อของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

เปรียบเทียบนักบวชกับฝูงเนื้อ

[๒๖๗] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์พวก
ที่ ๑ เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิสแล้วลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕
เมื่อเข้าไปหากามคุณ ๕ นั้น ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็มัวเมา เมื่อมัวเมาก็ประมาท
เมื่อประมาทก็ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ ๕ นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้
สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ นั้นก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่ ๑ ว่า เปรียบเหมือนเนื้อฝูง
ที่ ๑ นั้น
[๒๖๘] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่ ๒ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า
‘สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิสแล้ว
ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ เมื่อเข้าไปหากามคุณ ๕ นั้นแล้วลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕
ก็มัวเมา เมื่อมัวเมาก็ประมาท เมื่อประมาทก็ถูกมารทำอะไร ๆ ตามใจชอบใน
กามคุณ ๕ นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ นั้นก็ไม่พ้นจาก
อำนาจของมารได้ ทางที่ดี พวกเราควรงดบริโภคกามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิสโดย
สิ้นเชิง เมื่องดบริโภคที่เป็นภัยแล้ว ควรหลีกไปอยู่ในราวป่า’ แล้วจึงงดบริโภค
กามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิสโดยสิ้นเชิง เมื่องดบริโภคที่เป็นภัยแล้วก็หลีกไปอยู่ตาม
ราวป่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีผักดองเป็นอาหารบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นอาหารบ้าง
มีลูกเดือยเป็นอาหารบ้าง มีกากข้าวเป็นอาหารบ้าง มีสาหร่ายเป็นอาหารบ้าง
มีรำเป็นอาหารบ้าง มีข้าวตังเป็นอาหารบ้าง มีกำยานเป็นอาหารบ้าง มีหญ้าเป็น
อาหารบ้าง มีมูลโคเป็นอาหารบ้าง มีเหง้าไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารบ้าง บริโภค
ผลไม้ที่หล่นเอง ดำรงอัตภาพอยู่ในราวป่านั้น ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนซึ่ง
เป็นเวลาที่อาหาร(ป่า)และน้ำหมดสิ้น เธอเหล่านั้นก็มีร่างกายซูบผอม เมื่อมีร่างกาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

ซูบ ผอม กำลังเรี่ยวแรงก็หมดไป เมื่อกำลังเรี่ยวแรงหมดไป เจโตวิมุตติ๑ก็เสื่อม
เมื่อเจโตวิมุตติเสื่อมแล้ว พวกเธอก็กลับหันหน้าเข้าหากามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิส
นั้นอีก เมื่อเข้าไปหาแล้วลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็มัวเมา เมื่อมัวเมาก็ประมาท
เมื่อประมาทก็ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ ๕ นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้
แม้สมณพราหมณ์พวกที่ ๒ นั้น ก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่ ๒ นี้เปรียบเหมือนเนื้อฝูงที่ ๒ นั้น
[๒๖๙] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่ ๓ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า
‘สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ นั้น ก็
ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ และสมณพราหมณ์พวกที่ ๒ คิดเห็นร่วมกันอย่าง
นี้ว่า ‘สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ นั้น
ก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ ทางที่ดี พวกเราควรงดบริโภคกามคุณ ๕ อันเป็น
โลกามิสโดยสิ้นเชิง เมื่องดบริโภคที่เป็นภัยแล้ว ควรหลีกไปอยู่ตามราวป่า’ แล้ว
จึงงดบริโภคกามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิสโดยสิ้นเชิง เมื่องดบริโภคที่เป็นภัยแล้วก็
หลีกไปอยู่ตามราวป่า เธอเหล่านั้นมีผักดองเป็นอาหารบ้าง ฯลฯ บริโภคผลไม้ที่
หล่นเองดำรงอัตภาพอยู่ในราวป่านั้น ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนซึ่งเป็นเวลา
ที่อาหารและน้ำหมดสิ้น เธอเหล่านั้นก็มีร่างกายซูบผอม เมื่อมีร่างกายซูบผอม
กำลังเรี่ยวแรงก็หมดไป เมื่อกำลังเรี่ยวแรงหมดไป เจโตวิมุตติก็เสื่อม เมื่อเจโตวิมุตติ
เสื่อมแล้ว พวกเธอก็กลับหันหน้าเข้าหากามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิสนั้นอีก เมื่อ
เข้าไปหาแล้วลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็มัวเมา เมื่อมัวเมาก็ประมาท เมื่อประมาท
ก็ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ ๕ นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้สมณ-
พราหมณ์พวกที่ ๒ นั้นก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ ทางที่ดี พวกเรา ควรจะ
เข้าไปอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิสนั้น ครั้นอาศัยอยู่ใกล้ ๆ

เชิงอรรถ :
๑ เจโตวิมุตติ ในที่นี้หมายถึงเพียงอัธยาศัย คือ การสละทรัพย์ ละการครองเรือนแล้วออกมาอยู่ป่า (ม.มู.อ.
๒/๒๖๘/๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

แล้วก็ไม่เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิส ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕
เมื่อไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็จะไม่มัวเมา เมื่อไม่มัวเมาก็จะไม่ประมาท เมื่อ
ไม่ประมาทก็จะไม่ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ ๕ นั้น’ จึงอาศัยอยู่ใกล้ ๆ
กามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิสนั้น ครั้นอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กามคุณ ๕
แล้วไม่เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิส ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕
เมื่อไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็ไม่มัวเมา เมื่อไม่มัวเมาก็ไม่ประมาท เมื่อไม่
ประมาทก็ไม่ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณนั้น แต่สมณพราหมณ์
เหล่านั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด
ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตาย
แล้วตถาคตเกิดอีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคต
เกิดอีกและไม่เกิดอีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิด
อีกก็มิใช่’ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่ ๓ นั้นก็ไม่พ้นจากอำนาจของ
มารไปได้
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าสมณพราหมณ์พวกที่ ๓ นี้เปรียบเหมือนเนื้อฝูง
ที่ ๓ นั้น
[๒๗๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่ ๔ มีความคิดเห็นร่วมกัน
อย่างนี้ว่า ‘สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่ ๑
นั้น ก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ และสมณพราหมณ์พวกที่ ๒ มีความคิด
เห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า ‘สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณ-
พราหมณ์พวกที่ ๑ นั้น ก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ ทางที่ดี พวกเราควร
งดบริโภคกามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิสโดยสิ้นเชิง เมื่องดบริโภคที่เป็นภัยแล้ว
ควรหลีกไปอยู่ตามราวป่า เธอเหล่านั้นงดเว้นจากกามคุณ ๕ ที่เป็นโลกามิส
โดยสิ้นเชิง ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้สมณพราหมณ์พวกที่ ๒ นั้นก็ไม่พ้นจาก
อำนาจของมารไปได้
อนึ่ง สมณพราหมณ์พวกที่ ๓ มีความคิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า ‘สมณพราหมณ์
พวกที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ นั้นก็ไม่พ้นจากอำนาจ
ของมารไปได้ และสมณพราหมณ์พวกที่ ๒ มีความคิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า
‘สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ นั้นก็ไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

พ้นจากอำนาจของมารไปได้ ทางที่ดี พวกเราควรงดบริโภคกามคุณ ๕ อันเป็น
โลกามิสโดยสิ้นเชิง เมื่องดบริโภคที่เป็นภัยแล้ว ควรหลีกไปอยู่ตามราวป่า เธอ
เหล่านั้นงดบริโภคกามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิส ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้
สมณพราหมณ์พวกที่ ๒ นั้นก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ ทางที่ดี พวกเรา
ควรจะเข้าไปอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิส ครั้นอาศัย
อยู่ใกล้ ๆ กามคุณ ๕ แล้วก็ไม่เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิส
ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ เมื่อไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็ไม่มัวเมา เมื่อไม่
มัวเมาก็ไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็ไม่ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ
๕ นั้น’ แล้วจึงอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิสนั้น ครั้นอาศัย
อยู่ใกล้ ๆ กามคุณ ๕ แล้วก็ไม่เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิส
ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ เมื่อไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็ไม่มัวเมา เมื่อไม่
มัวเมาก็ไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็ไม่ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ
๕ นั้น แต่สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกเที่ยง ฯลฯ หรือหลัง
จากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้
สมณพราหมณ์พวกที่ ๓ นั้นก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ ทางที่ดี พวกเรา
ควรอาศัยอยู่ในที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง ครั้นอาศัยอยู่ในที่นั้นแล้วก็ไม่
เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิส ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ เมื่อ
ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็ไม่มัวเมา เมื่อไม่มัวเมาก็ไม่ประมาท เมื่อไม่
ประมาทก็ไม่ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ ๕ นั้น’ แล้วจึงอาศัยอยู่
ในที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง ครั้นอาศัยในที่นั้นแล้วไม่เข้าไปหากามคุณ ๕
ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิสนั้น ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ เมื่อไม่ลืมตัวบริโภค
กามคุณ ๕ ก็ไม่มัวเมา เมื่อไม่มัวเมาก็ไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็ไม่ถูกมารทำ
อะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ ๕ ซึ่งเป็นโลกามิสนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณ-
พราหมณ์พวกที่ ๔ นั้น จึงพ้นจากอำนาจของมารไปได้
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าสมณพราหมณ์พวกที่ ๔ นี้เปรียบเหมือนเนื้อฝูงที่ ๔ นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

แดนที่มารตามไปไม่ถึง

[๒๗๑] ที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ได้ทำมารให้
ตาบอด๑ คือ ทำลายดวงตาของมารเสียอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาป
มองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ฯลฯ ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข’ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ฯลฯ ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป
ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมารเสียอย่างไม่มี
ร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตต-
สัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า
‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายดวงตา
ของมารเสียอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’

เชิงอรรถ :
๑ ทำมารให้ตาบอด หมายถึงภิกษุนั้นมิได้ทำลายนัยน์ตาของมาร แต่จิตของภิกษุผู้เข้าถึงฌานที่เป็นบาทของ
วิปัสสนาอาศัยอารมณ์นี้เป็นไป (เกิดดับ) เหตุนั้น มารจึงไม่สามารถมองเห็น ทำลายดวงตาของมารเสีย
อย่างไม่มีร่องรอย หมายถึงทำลายโดยที่นัยน์ตาของมารไม่มีทาง หมดหนทาง ไม่มีที่พึ่ง ปราศจาก
อารมณ์โดยปริยายนี้ ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น หมายถึงโดยปริยายนั่นเอง มารจึงไม่สามารถมอง
เห็นร่างคือญาณของภิกษุผู้เข้าฌานซึ่งเป็นบาทของวิปัสสนานั้นด้วยมังสจักษุของตนได้ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๑/๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ เราเรียกภิกษุนี้ว่า
‘ฯลฯ ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ฯลฯ
ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ฯลฯ ถึงการที่มารใจ
บาปมองไม่เห็น’
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดย
ประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ก็เพราะเห็นด้วยปัญญา เธอ
ย่อมมีอาสวะสิ้นไป เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายดวงตา
ของมารเสียอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น และข้ามพ้นตัณหา
อันเป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกได้แล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

นิวาปสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปาสราสิสูตร
ว่าด้วยกองบ่วงดักสัตว์

[๒๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง
อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุเป็นจำนวนมากเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวกับ
ท่านพระอานนท์ว่า “ท่านพระอานนท์ เป็นเวลานานมากแล้วที่พวกกระผมไม่ได้
สดับธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ขอโอกาสให้พวกกระผมได้สดับ
ธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงไปที่อาศรมของรัมมก-
พราหมณ์ ก็จักได้สดับธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เสด็จกลับจาก
บิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มา
ตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะไปพักกลางวันที่ปราสาทของมิคารมาตาใน
บุพพาราม”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จพร้อมกับ
ท่านพระอานนท์ไปพักกลางวันที่ปราสาทของมิคารมาตาในบุพพาราม ครั้นในเวลา
เย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นแล้วตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า
“มาเถิด อานนท์ เราจักไปสรงน้ำที่ท่าบุพพโกฏฐกะ”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว

มารยาทในการประชุม

[๒๗๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ได้ไปสรงน้ำ
ที่ท่าบุพพโกฏฐกะแล้ว เสด็จขึ้น(จากท่า)ทรงครองจีวรผืนเดียวประทับยืนผึ่งพระ
วรกายอยู่ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อาศรมของรัมมกพราหมณ์อยู่ไม่ไกล ทั้งเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ และน่าเลื่อมใส
ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์ เพื่อทรงอนุเคราะห์เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพแล้วได้เสด็จเข้าไปยังอาศรมของรัมมก-
พราหมณ์
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากนั่งสนทนาธรรมีกถาอยู่ในอาศรมของรัมมกพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคประทับยืนนอกซุ้มประตู ทรงรอคอยให้ภิกษุสนทนากันจบ
เสียก่อน ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าการสนทนาจบลงแล้ว จึงทรงกระแอม
แล้วเคาะบานประตู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตูรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์แล้วประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วจึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้
เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้ อะไรที่เธอทั้งหลาย
สนทนากันค้างอยู่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ปรารภพระผู้มีพระภาคแล้วสนทนาธรรมีกถาค้างอยู่ พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จ
มาถึง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตร
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาประชุมสนทนาธรรมีกถากันนั้นเป็นเรื่อง
สมควร เธอทั้งหลายผู้มาประชุมกันมีกิจที่ควรทำ ๒ ประการ คือ (๑) การ
สนทนาธรรม (๒) การเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ๑

การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

[๒๗๔] ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหามี ๒ อย่าง คือ (๑) การแสวงหาที่
ประเสริฐ (๒) การแสวงหาที่ไม่ประสริฐ
การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดายังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด
เป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความแก่เป็นธรรมดายังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็น
ธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็น
ธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็น
ธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความ

เชิงอรรถ :
๑ การสนทนาธรรม หมายถึงสนทนาเรื่องกถาวัตถุ ๑๐ ประการ การเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ หมายถึง
การเข้าฌานสมาบัติ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๓/๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหา
สิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก
ภิกษุทั้งหลาย หากเธอทั้งหลายถามว่า
อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา
คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน
เรียกว่าสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ๑
ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยัง
แสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่อีก
อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา
ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาเหล่านั้น
เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความแก่เป็น
ธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่อีก
อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน
เรียกว่าสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาเหล่านั้น
เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความเจ็บไข้เป็น
ธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่อีก
อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา
ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาเหล่านั้น
เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความตายเป็น
ธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาอยู่อีก

เชิงอรรถ :
๑ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ ประการ (คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) (ม.มู.อ. ๒/๒๗๔/๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา
คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา
ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็น
ธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเอง
มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่อีก
อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา
คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา
ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็น
ธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเอง
มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก
นี้คือการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

การแสวงหาที่ประเสริฐ

[๒๗๕] การแสวงหาที่ประเสริฐ เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษใน
สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มีธรรมอื่น
ยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
ตนเองมีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความแก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเจ็บไข้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
ตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
ตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าโศก
เป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และ
เกษมจากโยคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมอง
เป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า
และเกษมจากโยคะ
นี้คือการแสวงหาที่ประเสริฐ
[๒๗๖] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนเราเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ตนเองมี
ความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมี
ความแก่เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมี
ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเอง
มีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเอง
มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล
ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็น
ธรรมดาอยู่นั่นแล
เราจึงคิดอย่างนี้ว่า ‘เรามีความเกิดเป็นธรรมดา ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความ
เกิดเป็นธรรมดาอยู่อีก’ เรามีความแก่เป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
... มีความตายเป็นธรรมดา ... มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ... มีความเศร้าหมอง
เป็นธรรมดา ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก’ ทางที่ดี
เราเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาแล้ว
ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแล้ว
ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความแก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
แล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเจ็บไข้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความตายเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
แล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เราเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าโศก
เป็นธรรมดาแล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า
และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมอง
เป็นธรรมดาแล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า
และเกษมจากโยคะ

พุทธประวัติตอนบำเพ็ญสมาบัติ
ในสำนักอาฬารดาบส๑

[๒๗๗] ภิกษุทั้งหลาย ในกาลต่อมา เรายังหนุ่มแน่น แข็งแรง มีเกศา
ดำสนิท อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระราชมารดาและพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้
ผนวช มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่ม
ผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อผนวชแล้วก็แสวงหาว่าอะไร
เป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้
เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วกล่าวว่า ‘ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนา
จะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่าน
อยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
ตามแบบอาจารย์ของตน เข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้
ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณ-
วาทะ๒และเถรวาทะ๓ได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า
‘อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า
‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร
ยังรู้ ยังเห็นธรรมนี้อย่างแน่นอน’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๒๗-๓๒๙/๓๙๕-๓๙๙,๔๗๕-๔๗๙/๖๐๐-๖๐๗ และดูข้อ ๓๗๑ หน้า ๔๕๕ ในเล่มนี้
๒ ญาณวาทะ หมายถึงลัทธิที่ว่า ข้าพเจ้ารู้ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๗/๗๙)
๓ เถรวาทะ หมายถึงลัทธิที่ว่า ข้าพเจ้าเป็นใหญ่ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๗/๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะ
ท่านประกาศธรรมนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ
เพียงเท่าไร’
เมื่อเราถามอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงประกาศอากิญจัญญายตน-
สมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีศรัทธา
แม้เราก็มีศรัทธา มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ
มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อาฬารดาบส
กาลามโคตรเท่านั้นที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร
เท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญเพียร เพื่อทำให้แจ้ง
ธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน เราก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะ
ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้หรือ’
อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้แล’
(เราจึงกล่าวว่า) ‘ท่านกาลามะ แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอัน
ยิ่งเองเข้าถึงอยู่ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’
(อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า
พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะข้าพเจ้าประกาศว่า
‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใด ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ข้าพเจ้าก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า
ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ข้าพเจ้าทราบธรรมใด ท่านก็ทราบ
ธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด ข้าพเจ้าก็ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นเช่นใด
ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด ข้าพเจ้าก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ เราทั้งสอง
จะอยู่ร่วมกันบริหารคณะนี้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ภิกษุทั้งหลาย อาฬารดาบส กาลามโคตร ทั้งที่เป็นอาจารย์ของเรา ก็ยกย่อง
เราผู้เป็นศิษย์ให้เสมอกับตน และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดี ด้วยประการอย่างนี้
แต่เราคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึง
อากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

ในสำนักอุทกดาบส

[๒๗๘] ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทาง
อันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตร
แล้วกล่าวว่า ‘ท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อน
ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
ตามแบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้
ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณ-
วาทะและเถรวาทะได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า
‘อุทกดาบส รามบุตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้
แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อุทกดาบส รามบุตรยังรู้ยังเห็น
ธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่าน
ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียง
เท่าไร’
เมื่อเราถามอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงประกาศเนวสัญญานาสัญญายตน-
สมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีศรัทธา แม้เรา
ก็มีศรัทธา มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ มิใช่แต่
อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้น
ที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มี
ปัญญา ทางที่ดี เราควรเริ่มบำเพ็ญเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อุทกดาบส รามบุตร
ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน เราก็
ได้ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่าน
ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ’
อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า
ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’
(เราจึงกล่าวว่า) ‘แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’
(อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า
พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะ(ข้าพเจ้า)รามะประกาศ
ว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรม
นั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
รามะก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้น รามะทราบธรรมใด ท่านก็ทราบ
ธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด รามะก็ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่ารามะเป็นเช่นใด ท่านก็
เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด รามะก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ ท่านจงบริหารคณะนี้’
ภิกษุทั้งหลาย อุทกดาบส รามบุตรทั้งที่เป็นเพื่อนพรหมจารีของเรา ก็ยกย่อง
เราไว้ในฐานะอาจารย์ และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดี ด้วยประการอย่างนี้ แต่เรา
คิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบ
ระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงเนวสัญญานา-
สัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

ตรัสรู้สัจธรรม

[๒๗๙] ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทาง
อันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธโดย
ลำดับ ได้ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่า
น่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

อยู่โดยรอบ เราจึงคิดว่า ‘ภูมิประเทศเป็นที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจ
มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ
เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญเพียร’ เราจึงนั่ง ณ ที่
นั้นด้วยคิดว่า ‘ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร’
[๒๘๐] ภิกษุทั้งหลาย เราเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษใน
สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มี
ธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความแก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเจ็บไข้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษม
จากโยคะ
เราเองมีความตายเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษม
จากโยคะ
เราเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าโศก
เป็นธรรมดาแล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีธรรมอื่น
ยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความ
เศร้าหมองเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง
ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
ทั้งญาณทัสสนะได้เกิดแก่เราว่า ‘วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ทรงมีความขวนขวายน้อย

[๒๘๑] ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ธรรม๑ที่เราได้บรรลุแล้วนี้
ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด
บัณฑิต(เท่านั้น)จึงจะรู้ได้ ส่วนหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย๒ ยินดีในอาลัย
เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะที่หมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลิน
ในอาลัยนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท
ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง
ความสลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึง
แสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า
แก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา’
อนึ่งเล่า คาถาอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้ที่ไม่เคยสดับมาก่อน ได้ปรากฏแก่เราว่า
‘บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุด้วยความลำบาก
เพราะธรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส๓ ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต
ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๗/๑๑, ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๓๗/๔๐๗
๒ อาลัย คือกามคุณ ๕ ที่สัตว์พัวพัน ยินดี เพลิดเพลิน (วิ.อ. ๓/๗/๑๓) เป็นชื่อเรียกกิเลส ๒ อย่าง คือ
กามคุณ ๕ และตัณหาวิจริต ๑๐๘ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๑/๘๒, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗/๑๘๔) ดู อภิ.วิ. (แปล)
๓๕/๙๗๓-๙๗๖/๖๒๒-๖๓๓
๓ พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึง อนิจฺจํ(ไม่เที่ยง) ทุกฺขํ(เป็นทุกข์) อนตฺตา(เป็นอนัตตา) อสุภํ(ไม่งาม)
อันทวนกระแสแห่งธรรมมีความเที่ยง เป็นต้น ในพระวินัยปิฎกหมายถึงพาเข้าถึงนิพพาน (ม.มู.อ.
๒/๒๘๑/๘๔, วิ.อ. ๓/๗/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

สหัมบดีพรหมอาราธนาแสดงธรรม

[๒๘๒] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราพิจารณาดังนี้ จิตก็น้อมไปเพื่อความขวนขวาย
น้อย มิได้น้อมไปเพื่อแสดงธรรม
ครั้งนั้น สหัมบดีพรหมทราบความดำริในใจของเราด้วยใจของตน จึงได้มี
ความรำพึงว่า ‘ท่านผู้เจริญ โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะพินาศหนอ เพราะ
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย
มิได้น้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม’
ลำดับนั้น สหัมบดีพรหมอันตรธานจากพรหมโลกมาปรากฏ ณ เบื้องหน้าเรา
เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น แล้วห่มอุตตราสงค์
เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือมาทางที่เราอยู่ ได้กล่าวกับเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตเจ้าได้โปรดแสดงธรรม
เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย๑มีอยู่ สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้
สดับธรรม สัตว์เหล่านั้นจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรม‘๒
สหัมบดีพรหมได้ทูลอาราธนาดังนี้ แล้วได้ทูลเป็นคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
พรหมนิคมคาถา
‘ในกาลก่อน ธรรมที่ไม่บริสุทธิ์
อันคนที่มีมลทิน๓คิดค้นไว้ ปรากฏในแคว้นมคธ
พระองค์โปรดเปิดประตูอมตธรรมนั้นเถิด
ขอสัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ปราศจากมลทิน ได้ตรัสรู้แล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาดี มีพระสมันตจักษุ
บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีธุลีในดวงตาน้อย หมายถึงมีธุลีคือราคะ โทสะ โมหะเบาบางคือเล็กน้อย ปิดบังดวงตาคือปัญญา
(ม.มู.อ. ๒/๒๘๒/๘๕, วิ.อ. ๓/๘-๙/๑๔-๑๕)
๒ เหตุการณ์นี้เป็นที่มาแห่งพิธีอาราธนาพระสงฆ์แสดงธรรม (ดู ขุ.พุทธ. ๓๓/๑/๔๓๕)
๓ คนที่มีมลทิน ในที่นี้หมายถึงครูทั้ง ๖ (วิ.อ. ๓/๘/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

พระองค์ผู้หมดความเศร้าโศกแล้ว
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน ฉันนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ผู้ชนะสงคราม๑ ผู้นำหมู่๒ ผู้ไม่มีหนี้๓
ขอพระองค์โปรดลุกขึ้นเสด็จจาริกไปในโลก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดแสดงธรรม
เพราะสัตว์ทั้งหลายจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรม’

เวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว๔

[๒๘๓] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เรารับคำทูลอาราธนาของพรหม และเพราะ
ความมีกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ๕ เมื่อตรวจดูโลกด้วยพุทธ-
จักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตา๖น้อย มีธุลีในดวงตามาก มีอินทรีย์
แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก
บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัว บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็น
สิ่งไม่น่ากลัว

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ชนะสงคราม หมายถึงชนะเทวบุตรมาร มัจจุมาร และกิเลสมาร (ม.มู.อ. ๒/๒๘๒/๘๗)
๒ ผู้นำหมู่ หมายถึงสามารถนำสัตว์ข้ามที่กันดารคือชาติ(ความเกิด) และสามารถเป็นผู้นำของหมู่สัตว์คือ
เวไนยสัตว์ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๒/๘๗)
๓ ผู้ไม่มีหนี้ หมายถึงไม่มีหนี้คือกามฉันทะ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๒/๘๗)
๔ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๖๙/๓๙-๔๐, วิ.ม. (แปล) ๔/๙/๑๔, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๓/๒๐๒, อภิ.ก.
๓๗/๘๕๖/๔๙๐
๕ พุทธจักษุ หมายถึง
(๑) อินทริยปโรปริยัตติญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้
ว่าสัตว์นั้น ๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีความ
พร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่
(๒) อาสยานุสยญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย ความมุ่งหมาย สภาพจิตที่นอนเนื่องอยู่ (ม.มู.อ.
๒/๒๘๓/๘๗, วิ.อ. ๓/๙/๑๕) และดู ขุ.ป. ๓๑/๑๑๑-๑๑๕/๑๒๔-๑๒๘)
๖ ดวงตา ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๓/๘๗, วิ.อ. ๓/๙/๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก
บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ และมีน้ำหล่อเลี้ยงไว้
ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ
ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่พ้นน้ำ
ไม่แตะน้ำ แม้ฉันใด
เราเมื่อตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย
มีธุลีในดวงตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม
สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัว
บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งไม่น่ากลัว๑ ฉันนั้น
ลำดับนั้น เราจึงได้กล่าวคาถาตอบสหัมบดีพรหมว่า
‘พรหม สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท
จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เรามิได้ปิดประตูอมตธรรมสำหรับสัตว์เหล่านั้น
แต่เรารู้สึกว่าเป็นการยากลำบาก
จึงไม่คิดจะแสดงธรรมอันประณีต
ที่เราคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์’
ครั้งนั้น สหัมบดีพรหมทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอกาสเพื่อจะ
แสดงธรรมแล้ว’ จึงถวายอภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้วได้หายไปจากที่นั้น

เชิงอรรถ :
๑ นอกจากบัวจมอยู่ในน้ำ บัวอยู่เสมอน้ำ บัวพ้นน้ำ ๓ เหล่านี้ อรรถกถาได้กล่าวถึงบัวเหล่าที่ ๔ คือ บัว
ที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำเป็นอาหารของปลาและเต่า ซึ่งมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แล้วแบ่งบุคคลเป็น ๔ เหล่า (ตามที่
ปรากฏ ใน องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๓/๒๐๒, อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๕/๑๔๒,๑๔๘-๑๕๑/๑๘๗) คือ (๑) อุคฆฏิตัญญู
(๒) วิปจิตัญญู (๓) เนยยะ (๔) ปทปรมะ แล้วเปรียบอุคฆฏิตัญญู เป็นเหมือนบัวพ้นน้ำที่พอต้องแสง
อาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้ เปรียบวิปจิตัญญู เป็นเหมือนบัวอยู่เสมอน้ำที่จะบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเนยยะ
เป็นเหมือนบัวจมอยู่ในน้ำที่จะขึ้นมาบานในวันที่ ๓ ส่วนปทปรมะ เปรียบเหมือนบัวที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำ ไม่
มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นอาหารของปลาและเต่า
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุอันเป็นเหมือนกออุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงว่า
หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตาเบาบางมีประมาณเท่านี้ หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตามากมีประมาณเท่านี้ และใน
หมู่ประชาทั้ง ๒ นั้น อุคฆฏิตัญญูบุคคลมีประมาณเท่านี้ (ที.ม.อ. ๖๙/๖๔-๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๙/๑๙๒-
๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ทรงรำพึงถึงผู้ควรรับธรรมเทศนา

[๒๘๔] ภิกษุทั้งหลาย เราดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’ แล้วดำริต่อไปว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้ เป็น
บัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในดวงตาน้อยมานาน ทางที่ดี เราควร
แสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’
ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละได้ ๗ วันแล้ว’
อนึ่ง เราก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตร ทำกาละได้ ๗
วันแล้ว’ จึงดำริว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่ง
ใหญ่๑แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน’
เราจึงดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้
ฉับพลัน’ จึงดำริต่อไปว่า ‘อุทกดาบส รามบุตรนี้ เป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม
มีปัญญา มีธุลีในดวงตาน้อยมานาน ทางที่ดี เราควรแสดงธรรมแก่อุทกดาบส
รามบุตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’
ลำดับนั้น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้’
อนึ่ง เราก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละ
เมื่อวานนี้’ จึงดำริว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่
แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน’
เราจึงดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’
จึงดำริว่า ‘ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก ที่ได้เฝ้าปรนนิบัติเราผู้มุ่งบำเพ็ญ

เชิงอรรถ :
๑ มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่ หมายถึงมีความเสื่อมมาก เพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุ
เพราะเกิดในอักขณะ คือ อาฬารดาบส ตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุทกดาบส ตายไปเกิดใน
เนวสัญญานาสัญญายตนภพ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๔/๙๔, วิ.อ. ๓/๑๐/๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เพียร ทางที่ดี เราควรแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน’ แล้วดำริต่อไปว่า ‘บัดนี้
ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ’ ก็ได้เห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เขตกรุงพาราณสี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เราพักอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาตามความต้องการแล้ว
จึงหลีกจาริกไปทางกรุงพาราณสี

ทรงพบอุปกาชีวก

[๒๘๕] ภิกษุทั้งหลาย อาชีวกชื่ออุปกะได้พบเราผู้กำลังเดินทางไกล ณ ระหว่าง
แม่น้ำคยากับต้นโพธิพฤกษ์ ได้ถามเราว่า ‘อาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก
ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน
หรือท่านชอบใจธรรมของใคร’
เมื่ออุปกาชีวกถามอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวคาถาตอบอุปกาชีวกว่า
‘เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง๑ รู้ธรรมทั้งปวง๒
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง๓ ละธรรมทั้งปวง๔ได้สิ้นเชิง
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา ตรัสรู้ยิ่งเอง
แล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า
เราไม่มีอาจารย๕ เราไม่มีผู้เสมอเหมือน
เราไม่มีผู้ทัดเทียมในโลกกับทั้งเทวโลก
เพราะเราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม
เราผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
เป็นผู้เยือกเย็น ดับกิเลสในโลกได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๒ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๓ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๔ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๕ เราไม่มีอาจารย์ ในที่นี้หมายถึงไม่มีอาจารย์ในระดับโลกุตตรธรรม (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เราจะไปเมืองหลวงของชาวกาสี ประกาศธรรมจักร
ตีกลองอมตธรรมไปในโลกอันมีความมืดมน‘๑
อุปกาชีวกกล่าวว่า ‘อาวุโส ท่านสมควรเป็นพระอนันตชินะตามที่ท่านประกาศ’
เราจึงกล่าวตอบเป็นคาถาว่า
‘ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา
อุปกะ เราชนะความชั่วได้แล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าพระชินะ’
เมื่อเรากล่าวอย่างนั้นแล้ว อุปกาชีวกจึงกล่าวว่า ‘อาวุโส ควรจะเป็นอย่างนั้น’
โคลงศีรษะแล้วเดินสวนทางหลีกไป

ทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์

[๒๘๖] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น เราจาริกไปโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตน-
มฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ได้เข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ถึงที่อยู่ ภิกษุปัญจวัคคีย์
เห็นเราเดินมาแต่ไกล จึงนัดหมายกันและกันว่า ‘อาวุโส พระสมณโคดมนี้ เป็น
ผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา
พวกเราไม่พึงกราบไหว้ ไม่พึงลุกรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์ แต่จะจัด
อาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง’
เราเข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ลืมข้อนัดหมายของตน บางพวก
ต้อนรับเราแล้วรับบาตรและจีวร บางพวกปูลาดอาสนะ บางพวกจัดหาน้ำล้างเท้า
แต่ภิกษุปัญจวัคคีย์เรียกเราโดยออกนามและใช้คำว่า ‘อาวุโส‘๒

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๑/๑๗, ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๔๑/๔๑๒, อภิ.ก. ๓๗/๔๐๕/๒๔๕-๒๔๖
๒ อาวุโส แปลว่า ผู้มีอายุ เดิมใช้เป็นคำเรียกกันเป็นสามัญ คือ ภิกษุผู้แก่กว่าเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าหรือ
ภิกษุผู้อ่อนกว่าเรียกภิกษุผู้แก่กว่าก็ได้ (ที.ม.อ. ๒/๒๑๖/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราจึงห้ามภิกษุปัญญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าเรียกตถาคตโดยออกชื่อและใช้คำว่า ‘อาวุโส’ ตถาคต
เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอน
อมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน
ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่า
กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กล่าวกับเราว่า ‘อาวุโสโคดม
แม้ด้วยจริยานั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ บัดนี้ พระองค์
เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้เล่า’
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราจึงได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ได้เป็นคนมักมาก ไม่ได้คลายความเพียร ไม่ได้เวียนมา
เพื่อความเป็นคนมักมาก ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เธอทั้งหลาย
จงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลาย
เมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็น
ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’
แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวกับเราว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๒ เราก็ได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวกับเราว่า ‘อาวุโสโคดม แม้ด้วย
จริยานั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ บัดนี้ พระองค์เป็นผู้มักมาก
คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุญาณทัสสนะที่
ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้เล่า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังจำได้หรือไม่ว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยกล่าวในกาลก่อนแต่นี้’
ภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวว่า ‘ถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อน พระพุทธเจ้าข้า’
เราจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ
เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม
เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์
ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
โดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’
เราสามารถทำให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว เรากล่าวสอนภิกษุ ๒ รูป
ภิกษุ ๓ รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง ๖ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุ ๓ รูปนำมา
เรากล่าวสอนภิกษุ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง ๖ ฉันบิณฑบาต
ที่ภิกษุ ๒ รูปนำมา๑
ต่อมา ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่เราสั่งสอนและพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ เป็นผู้มีความเกิด
เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาด้วยตนแล้ว จึงแสวงหา
นิพพานที่ไม่มีความเกิด อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ได้บรรลุนิพพาน
ที่ไม่มีความเกิด อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว
เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
ด้วยตนแล้ว จึงแสวงหานิพพานที่ไม่มีความแก่ อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอด
เยี่ยม ได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความแก่ อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว
เป็นผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา ฯลฯ
เป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา ฯลฯ
เป็นผู้มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๒๗-๓๔๒/๓๙๕-๔๑๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมอง
เป็นธรรมดาด้วยตนแล้ว จึงแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง อันเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง อันเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว
อนึ่ง ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นมาว่า ‘วิมุตติของพวกเรา
ไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป’
[๒๘๗] ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้
กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
กามคุณมี ๕ ประการนี้
สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มี
ปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณ-
พราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารใจบาปทำอะไร ๆ ได้
ตามใจชอบ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เปรียบเทียบนักบวชกับฝูงเนื้อ

ภิกษุทั้งหลาย เนื้อป่าที่ติดบ่วง นอนทับบ่วง พึงทราบว่า ‘เป็นสัตว์ที่ถึง
ความเสื่อม ความพินาศ ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบ’ เมื่อนาย
พรานเนื้อเดินเข้ามา ก็หนีไปไม่ได้ตามปรารถนา แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์
พวกใดพวกหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มี
ปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า
‘สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารใจบาปทำอะไร ๆ
ได้ตามใจชอบ’ แต่สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่
ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้
บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อม ความพินาศ
ไม่ถูกมารใจบาปทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบ’
เนื้อป่าที่ไม่ติดบ่วง นอนทับบ่วง พึงทราบว่า ‘เป็นสัตว์ไม่ถึงความเสื่อม
ไม่ถึงความพินาศ ไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบ’ เมื่อนายพราน
เนื้อเดินเข้ามา ก็หนีไปได้ตามปรารถนา แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์พวกใด
พวกหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญา
เครื่องสลัดออก๑ ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณ-
พราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อม ไม่ถึงความพินาศ ไม่ถูกมารใจบาป
ทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบ’
อนึ่ง เนื้อป่าเมื่อเที่ยวไปตามป่าใหญ่ ย่อมวางใจเดิน ยืน นั่ง นอน ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะไม่ได้พบกับนายพรานเนื้อ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและ
สุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือทำลายดวงตาของ
มารอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ในที่นี้หมายถึงปัจจเวกขณญาณ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๗/๑๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข’ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป
ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอย
ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘อากาศ
หาที่สุดมิได้’ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมาร
อย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดย
ประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ก็เพราะเห็นด้วยปัญญา เธอ
ย่อมมีอาสวะสิ้นไป เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

บาปมองไม่เห็นเพราะทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอย’ เป็นผู้ข้ามพ้น
ตัณหาอันข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ในโลกได้ ย่อมวางใจ เดิน ยืน นั่ง นอน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่ได้ดำเนินอยู่ในทางของมารใจบาป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

ปาสราสิสูตรที่ ๖ จบ

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยรอยเท้าช้าง สูตรเล็ก

[๒๘๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อชาณุสโสณิออกจาก
กรุงสาวัตถีด้วยรถคันใหญ่ที่เทียมด้วยลาซึ่งมีเครื่องประดับทุกอย่างล้วนเป็นสีขาว
ในเวลาเที่ยงวัน ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้เห็นปริพาชกชื่อปิโลติกะเดินมาแต่ไกล
ครั้นเห็นแล้วได้กล่าวกับปิโลติกปริพาชกอย่างนี้ว่า “นี่แน่ะ ท่านวัจฉายนะผู้เจริญ
มาจากไหนแต่ยังวัน๑”
ปิโลติกปริพาชกตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากสำนักของพระสมณ-
โคดมนั่นแล”
“ท่านวัจฉายนะ เห็นจะเข้าใจความเฉียบแหลมแห่งปัญญาของพระสมณโคดมว่า
พระองค์เป็นบัณฑิต หรืออย่างไร”
“ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าเป็นใครเล่าจึงจักรู้ความเฉียบแหลมแห่งปัญญาของ
พระสมณโคดมได้ แม้ผู้ที่จะรู้ความเฉียบแหลมแห่งปัญญาของพระสมณโคดมได้ ก็
พึงเป็นเช่นพระสมณโคดมโดยแน่แท้”

เชิงอรรถ :
๑ แต่ยังวัน ในที่นี้หมายถึงเวลาช่วงเช้า (ม.มู.อ. ๒/๒๘๘/๑๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

“ท่านวัจฉายนะสรรเสริญพระสมณโคดมด้วยการสรรเสริญอย่างยิ่ง”
“ข้าพเจ้าจักไม่สรรเสริญพระสมณโคดมอย่างไรเล่า เพราะพระสมณโคดมผู้เจริญ
นั้น ใคร ๆ ก็สรรเสริญเยินยอแล้วทีเดียวว่า ‘เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย”
“ท่านวัจฉายนะเห็นอำนาจประโยชน์อะไรเล่า จึงเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระสมณ-
โคดมถึงเพียงนี้”
ปิโลติกปริพาชกตอบว่า “ท่านผู้เจริญ เหตุไฉนข้าพเจ้าจึงเป็นผู้เลื่อมใสอย่าง
ยิ่งในพระสมณโคดมถึงอย่างนี้ พรานช้างผู้ฉลาดจะพึงเข้าไปในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง
และเห็นรอยเท้าช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง ในป่าเป็นที่อยู่ของช้างนั้น เขา
ตัดสินใจได้ว่า ‘ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ’ แม้ฉันใด ข้าพเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อ
ได้เห็นรอย ๔ รอย ในพระสมณโคดมแล้ว ก็ตัดสินใจได้ว่า ‘พระผู้มีพระภาค
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’

รอยของพระตถาคต

[๒๘๙] รอย ๔ รอย อะไรบ้าง คือ
๑. ข้าพเจ้าเห็นขัตติยบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ เป็นผู้ละเอียดอ่อน
โต้ตอบวาทะของผู้อื่นได้ประหนึ่งยิงขนเนื้อทราย ขัตติยบัณฑิต
เหล่านั้นดูเหมือนว่าเที่ยวทำลายทิฏฐิทั้งหลาย(ของผู้อื่น)ด้วยปัญญา
(ของตน) พอได้สดับมาว่า ‘พระสมณโคดมจักเสด็จเที่ยวไปยังหมู่
บ้าน หรือนิคมชื่อโน้น’ ก็พากันคิดผูกปัญหาด้วยตั้งใจว่า ‘พวกเรา
จักเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ หากพระสมณโคดมนั้น
ถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ พวกเราจักยกวาทะ๑
อย่างนี้ขึ้นแก่พระองค์ แม้หากพระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถาม

เชิงอรรถ :
๑ วาทะ ในที่นี้หมายถึงการกล่าวโทษ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๙/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

แล้วอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ พวกเราก็จักยกวาทะอย่างนี้ขึ้นถาม
พระองค์’ ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้นได้สดับว่า ‘พระสมณโคดมเสด็จเที่ยว
ไปยังหมู่บ้าน หรือนิคมชื่อโน้นแล้ว’ ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระสมณ-
โคดมถึงที่ประทับ พระสมณโคดมก็ทรงชี้แจงให้ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้น
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้น
ผู้อันพระสมณโคดมทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้ว ก็ไม่ถามปัญหากับท่านพระสมณโคดมอีกเลย
แล้วจักยกวาทะขึ้นแก่พระสมณโคดมนั้นได้อย่างไรเล่า ที่แท้ย่อมพากัน
ยอมเป็นสาวก๑ของพระสมณโคดมนั่นแล
เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นรอยที่ ๑ นี้ในพระสมณโคดมแล้ว ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจได้ว่า
‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
๒. ข้าพเจ้าเห็นพราหมณบัณฑิตบางพวก ฯลฯ
๓. ข้าพเจ้าเห็นคหบดีบัณฑิตบางพวก ฯลฯ
๔. ข้าพเจ้าเห็นสมณบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ เป็นผู้ละเอียดอ่อน
โต้ตอบวาทะของผู้อื่นได้ประหนึ่งว่ายิงขนเนื้อทราย สมณบัณฑิต
เหล่านั้นดูเหมือนว่าเที่ยวทำลายทิฏฐิทั้งหลาย(ของผู้อื่น)ด้วยปัญญา
(ของตน) พอได้สดับว่า ‘พระสมณโคดมจักเสด็จเที่ยวไปยังหมู่บ้าน
หรือนิคมชื่อโน้น’ ก็พากันคิดผูกปัญหาด้วยตั้งใจว่า ‘พวกเราจัก
เข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ หากพระสมณโคดมนั้น
ถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ พวกเราจักยกวาทะ
อย่างนี้ขึ้นแก่พระองค์ แม้หากพระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เป็นสาวก ในที่นี้หมายถึงเป็นสาวกด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๙/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

อย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ พวกเราก็จักยกวาทะอย่างนี้ขึ้นแก่พระองค์’
สมณบัณฑิตเหล่านั้นได้สดับว่า ‘พระสมณโคดมเสด็จเที่ยวไปยัง
หมู่บ้าน หรือนิคมชื่อโน้นแล้ว’ ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
ถึงที่ประทับ พระสมณโคดมก็ทรงชี้แจงให้สมณบัณฑิตเหล่านั้นเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา สมณบัณฑิตเหล่านั้นผู้อัน
พระสมณโคดมทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ก็ไม่ถามปัญหากับท่านพระสมณโคดมอีกเลย แล้ว
จักยกวาทะขึ้นแก่พระสมณโคดมนั้นได้อย่างไรเล่า ที่แท้ย่อมพากัน
ทูลขอโอกาสกับพระสมณโคดมนั้น เพื่อออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต พระสมณโคดมก็ทรงประทานบรรพชาแก่สมณบัณฑิต
เหล่านั้น สมณบัณฑิตเหล่านั้นผู้ได้รับบรรพชาจากพระสมณโคดม
ในอนาคาริยวินัยนั้นแล้ว หลีกออก(จากหมู่) ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์
ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน สมณบัณฑิตเหล่านั้นจึงพากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
เราทั้งหลายเป็นผู้ไม่สูญเสียเลยแม้แต่น้อย เราทั้งหลายเป็นผู้ไม่
สูญเสียเลยแม้แต่น้อย เพราะว่าในกาลก่อน เราทั้งหลาย ทั้งที่ไม่
เป็นสมณะเลยก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพราหมณ์เลยก็
ปฏิญญาว่าเป็นพราหมณ์ ไม่เป็นพระอรหันต์เลยก็ปฏิญญาว่าเป็น
พระอรหันต์ บัดนี้ พวกเราเป็นสมณะแล้ว บัดนี้ พวกเราเป็น
พราหมณ์แล้ว บัดนี้ พวกเราเป็นพระอรหันต์แล้ว’
เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นรอยที่ ๔ นี้ในพระสมณโคดมแล้ว ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจได้
ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

ท่านผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นรอยทั้ง ๔ เหล่านี้ในพระสมณโคดมแล้ว
ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจได้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระ
ธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
[๒๙๐] เมื่อปิโลติกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ชาณุสโสณิพราหมณ์ทำผ้าห่ม
เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้วเปล่งวาจา ๓
ครั้งว่า
“ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทำอย่างไรหนอ เราจะได้พบพระสมณโคดมนั้นสักครั้งหนึ่ง ทำอย่างไรจึงจะ
ได้สนทนาปราศรัย(กับพระสมณโคดม)บ้าง”
ครั้งนั้น ชาณุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลเล่าเรื่องที่สนทนากับปิโลติกปริพาชกตามที่กล่าวมาแล้วทั้งปวงแด่พระผู้มี
พระภาค
เมื่อชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ
ชาณุสโสณิพราหมณ์ว่า
“พราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ข้อความเปรียบเทียบด้วยรอยเท้าช้างยังมิได้
บริบูรณ์โดยพิสดาร ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวข้อความเปรียบเทียบ
ด้วยรอยเท้าช้างที่บริบูรณ์โดยพิสดาร”
ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

เกียรติคุณของพระตถาคตเปรียบกับรอยเท้าช้าง

[๒๙๑] “พราหมณ์ อุปมาเหมือนพรานช้างจะพึงเข้าไปสู่ป่าเป็นที่อยู่ของช้าง
และเห็นรอยเท้าช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้างในป่าเป็นที่อยู่ของช้างนั้น พรานช้าง
ผู้ฉลาดย่อมไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะยังมีช้างพังทั้งหลายชื่อว่าวามนิกา(พังค่อม)ที่มีรอยเท้าใหญ่ ในป่าเป็นที่อยู่
ของช้าง รอยเท้านี้จะพึงเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้น
พรานช้างนั้นตามรอยเท้าช้างนั้นไป เมื่อตามรอยเท้าช้างนั้นไปก็เห็นรอยเท้า
ช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง และที่ที่ถูกเสียดสีในที่สูงในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง
พรานช้างผู้ฉลาดก็ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะยังมีช้างพังทั้งหลายชื่อว่าอุจจากาฬาริกา(พังโย่งมีขนายดำแดง) ที่มีรอยเท้าใหญ่
ในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง รอยเท้านี้จะพึงเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้น
พรานช้างนั้นตามรอยเท้าช้างนั้นไป เมื่อตามรอยเท้าช้างนั้นไปก็เห็นรอยเท้า
ช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง ที่ที่ถูกเสียดสีในที่สูง และที่ที่งาแซะขาดในที่สูงใน
ป่าเป็นที่อยู่ของช้าง พรานช้างผู้ฉลาดก็ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะช้างพังทั้งหลายชื่อว่าอุจจากเณรุกา(พังโย่งมีขนายตูม) ที่มี
รอยเท้าใหญ่ ในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง รอยเท้านี้จะพึงเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้น
พรานช้างนั้นตามรอยเท้าช้างนั้นไป เมื่อตามรอยเท้านั้นไปก็เห็นรอยเท้าช้าง
ขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง ที่ที่ถูกเสียดสีในที่สูง ที่ที่งาแซะขาดในที่สูง และกิ่งไม้
หักในที่สูง และเห็นช้างนั้นที่โคนต้นไม้ ที่กลางแจ้ง เดินอยู่ ยืนอยู่ หมอบ หรือ
นอนอยู่ เขาจึงตัดสินใจว่า ‘ช้างตัวนี้เองเป็นช้างใหญ่ตัวนั้น’ แม้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง
โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึก
ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตนั้นรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยตนเองแล้วจึงประกาศ
ให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน(คนผู้เกิดภายหลัง)ในตระกูลใด
ตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นได้ฟังธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาในตถาคต เมื่อมี
ศรัทธาย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็นทางแห่งธุลี การ
บวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด’ ต่อมา เขาละทิ้งกอง
โภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาว-
พัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

สิกขาและสาชีพของภิกษุ

[๒๙๒] เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ๑
เสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย คือ
๑. ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของ
ที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
๓. ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์
เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม๒อันเป็นกิจของชาวบ้าน
๔. ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์
มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
๕. ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไป
บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มา
บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคน

เชิงอรรถ :
๑ สิกขา หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา แต่ในที่นี้หมายเอาอธิสีลสิกขา
สาชีพ หมายถึงสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ร่วมกัน ผู้ดำเนินชีวิตร่วมกัน มี
ความประพฤติเสมอกัน (ม.มู.อ. ๒/๒๙๒/๑๑๓) และดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๕/๓๓, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๙/๒๓๕
๒ เมถุนธรรม หมายถึงการร่วมประเวณี การร่วมสังวาส กล่าวคือการเสพอสัทธรรมอันเป็นประเวณีของ
ชาวบ้านมีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ เป็นการกระทำของคนที่เป็นคู่ ๆ (วิ.มหา. ๑/๕๕/๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดี เพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
๖. ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
๗. ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน
มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์เหมาะแก่เวลา
[๒๙๓] ๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม๑และภูตคาม๒
๙. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลา
วิกาล๓
๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการ
ละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้
ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ๔
๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

เชิงอรรถ :
๑ พืชคาม หมายถึงพืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้ว ยังสามารถงอกขึ้นได้อีก (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖,
ที.สี.อ. ๑/๑๑/๗๘)
๒ ภูตคาม หมายถึงของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่มี ๕ ชนิด คือ ที่เกิดจากเหง้า เช่นกระชาย,
เกิดจากต้น เช่น โพ, เกิดจากตา เช่น อ้อย, เกิดจากยอด เช่น ผักชี, เกิดจากเมล็ด เช่น ข้าว (ม.มู.อ.
๒/๒๙๓/๑๑๖, ที.สี.อ. ๑/๑๑/๗๘)
๓ ฉันในเวลาวิกาล คือ เวลาที่ห้ามไว้เฉพาะแต่ละเรื่อง เวลาวิกาลในที่นี้หมายถึงผิดเวลาที่กำหนดไว้
คือตั้งแต่หลังเที่ยงวันจนถึงเวลาอรุณขึ้น (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖, ที.สี.อ. ๑/๑๐/๗๕)
๔ ธัญญาหารดิบ ในที่นี้หมายถึงธัญชาติ ๗ ชนิด คือ (๑) ข้าวสาลี (๒) ข้าวเปลือก (๓) ข้าวเหนียว
(๔) ข้าวละมาน (๕) ข้าวฟ่าง (๖) ลูกเดือย (๗) หญ้ากับแก้ (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่นา และที่ดิน
๒๒. เว้นขาดจากการรับทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่อง
ตวงวัด
๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
๒๖. เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว
การปล้น และการขู่กรรโชก
[๒๙๔] ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง
เธอไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที นกมีปีกจะบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกของมันเป็น
ภาระบินไป แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย
และบิณฑบาตพออิ่มท้อง เธอจะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที ภิกษุนั้นประกอบ
ด้วยอริยสีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษภายใน
[๒๙๕] ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
ความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น) และโทมนัส(ความทุกข์ใจ)ครอบงำได้
จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทาง
จมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์
ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวม
แล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษา
มนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
ภิกษุประกอบด้วยอริยอินทรียสังวรนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสภายใน
ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การหลับ
การตื่น การพูด การนิ่ง
[๒๙๖] ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยสันโดษ อริยอินทรีย-
สังวร และอริยสติสัมปชัญญะนี้แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้
ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์๑ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
ภิกษุนั้นละอภิชฌาในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา
ละพยาบาทและความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาทและความมุ่งร้าย ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์
จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ)ได้แล้ว เป็นผู้
ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบในภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

รอยพระบาทของพระตถาคต

[๒๙๗] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตและ
เป็นเหตุทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ข้อนี้เราเรียกว่า
‘ตถาคตบท๒‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต๓‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต๔‘บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่
ด่วนตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๐๗ (มหาสติปัฏฐานสูตร) หน้า ๑๐๒ ในเล่มนี้
๒ ตถาคตบท หมายถึงทางแห่งญาณ หรือร่องรอยแห่งญาณของพระตถาคต ได้แก่ ฐานที่ญาณเหยียบแล้ว
กล่าวคือ ฌานทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นพื้นฐานแห่งญาณชั้นสูง ๆ ขึ้นไปของพระตถาคต (ม.มู.อ.
๒/๒๙๗/๑๒๕)
๓ ตถาคตนิเสวิต หมายถึงฐานที่ซี่โครงคือญาณของพระตถาคตเสียดสีแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๒๙๗/๑๒๕)
๔ ตถาคตรัญชิต หมายถึงฐานที่พระเขี้ยวแก้วคือญาณของพระตถาคตกระทบแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๒๙๗/๑๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติ
ดีแล้ว’
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานที่มีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ฯลฯ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข’ ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ฯลฯ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้
ปฏิบัติดีแล้ว’
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ข้อนี้เรา
เรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกก็
ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม
เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้
ปฏิบัติดีแล้ว’
[๒๙๘] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑ ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ฯลฯ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ แม้ข้อนี้เราเรียกว่า
‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ด่วน
ตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรม
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม
จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล้ว แม้ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต‘บ้าง
‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาค เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
[๒๙๙] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุ
นั้นน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ แม้ข้อนี้เราก็เรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต’
บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกที่ยังไม่ด่วนตัดสินใจก็ตัดสินใจได้เลยว่า ‘พระผู้มี
พระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
เมื่อภิกษุนั้นรู้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และ
อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
แม้ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต’บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกจึงตัดสินใจได้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวก
ของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ข้อความเปรียบเทียบ
ด้วยรอยเท้าช้างเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารแล้ว”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระ
โคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของ
ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า
‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง
สรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

จูฬหัตถิปโทปมสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยรอยเท้าช้าง สูตรใหญ่
เปรียบเทียบอริยสัจกับรอยเท้าช้าง

[๓๐๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้ง
หลายมากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารี-
บุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายผู้เที่ยวไปบนแผ่นดิน รอยเท้า
เหล่านั้นทั้งหมดรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างชาวโลกกล่าวว่า ‘เป็นยอดของ
รอยเท้าเหล่านั้น เพราะรอยเท้าช้างเป็นรอยเท้าขนาดใหญ่’ แม้ฉันใด กุศลธรรม
ทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน นับเข้าในอริยสัจ ๔
อริยสัจ ๔ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
[๓๐๑] ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕
ประการ เป็นทุกข์
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ๒. เวทนูปาทานขันธ์
๓. สัญญูปาทานขันธ์ ๔. สังขารูปาทานขันธ์
๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
รูปูปาทานขันธ์ อะไรบ้าง คือ
มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

มหาภูตรูป ๔ อะไรบ้าง คือ
๑. ปฐวีธาตุ ๒. อาโปธาตุ
๓. เตโชธาตุ ๔. วาโยธาตุ

ปฐวีธาตุ

[๓๐๒] ปฐวีธาตุ เป็นอย่างไร
คือ ปฐวีธาตุภายในก็มี ปฐวีธาตุภายนอกก็มี
ปฐวีธาตุภายใน เป็นอย่างไร
คือ อุปาทินนกรูป๑ภายในที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ
ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ
พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรืออุปาทินนกรูป
ภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ นี้เรียกว่า
‘ปฐวีธาตุภายใน’
ปฐวีธาตุภายใน และปฐวีธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นปฐวีธาตุนั่นเอง บัณฑิตควร
เห็นปฐวีธาตุนั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ บัณฑิตครั้นเห็นปฐวีธาตุนั้นตามความเป็น
จริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ และทำจิตให้คลาย
กำหนัดจากปฐวีธาตุ
เวลาที่อาโปธาตุภายนอกกำเริบย่อมจะมีได้ ในเวลานั้น ปฐวีธาตุภายนอก
จะอันตรธานไป ปฐวีธาตุภายนอกซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นยังปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความ
สิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา

เชิงอรรถ :
๑ อุปาทินนกรูป หมายถึงรูปมีกรรมเป็น สมุฏฐาน คำนี้เป็นชื่อของรูปที่ดำรงอยู่ภายในสรีระ ที่ยึดถือ
จับต้อง ลูบคลำได้ เช่น ผม ขน ฯลฯ อาหารใหม่ อาหารเก่า คำนี้กำหนดจำแนกหมายเอาปฐวีธาตุภายใน
แต่สำหรับอาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน พึงทราบความพิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค
(ม.มู.อ. ๒/๓๐๒/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

ไฉนกายซึ่งตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อยนี้ที่ถูกตัณหาเข้าไปยึดถือว่า ‘เรา’ ว่า ‘ของเรา’ ว่า
‘เรามีอยู่’ จักไม่ปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา และมีความแปรผันไปเป็นธรรมดาเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นก็ไม่มี
ความยึดถือในปฐวีธาตุภายในนี้
หากชนเหล่าอื่นจะด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนภิกษุนั้น ภิกษุนั้น
รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ทุกขเวทนาอันเกิดจากโสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ทุกขเวทนา
นั้นอาศัยเหตุจึงเกิดขึ้นได้ ไม่อาศัยเหตุก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไร
จึงเกิดขึ้นได้ ทุกขเวทนาอาศัยผัสสะจึงเกิดขึ้นได้’ ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่า ‘ผัสสะ
ไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง’
จิตของภิกษุนั้นย่อมดิ่งไป ย่อมผ่องใส ดำรงมั่นและน้อมไปในอารมณ์คือธาตุนั่นแล
หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้นด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่
น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือ ด้วยการทำร้ายด้วยฝ่ามือบ้าง การทำร้ายด้วยก้อนดินบ้าง
การทำร้ายด้วยท่อนไม้บ้าง การทำร้ายด้วยศัสตราบ้าง ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กาย
นี้เป็นที่รองรับการทำร้ายด้วยฝ่ามือบ้าง การทำร้ายด้วยก้อนดินบ้าง การทำร้าย
ด้วยท่อนไม้บ้าง การทำร้ายด้วยศัสตราบ้าง’ อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ใน
พระโอวาทที่อุปมาด้วยเลื่อย๑ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย หากพวกโจรผู้ประพฤติต่ำทราม
จะพึงใช้เลื่อยที่มีที่จับ ๒ ข้าง เลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้มีใจคิดร้ายแม้ในพวกโจรนั้น
ก็ไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น’ อนึ่ง ความเพียร
ที่เราเริ่มทำแล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่เราตั้งไว้แล้วจักไม่หลงลืม กายที่เราทำให้สงบ
แล้วจักไม่กระวนกระวาย จิตที่เราทำให้ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่ คราวนี้ต่อให้
มีการทำร้ายด้วยฝ่ามือ การทำร้ายด้วยก้อนดิน การทำร้ายด้วยท่อนไม้ หรือการ
ทำร้ายด้วยศัสตราที่กายนี้ก็ตาม เราก็จะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้
ให้จงได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๒๓๒ (กกจูปมสูตร) หน้า ๒๔๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่
อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้ ภิกษุนั้นย่อมสลดหดหู่ใจ
เพราะเหตุนั้นว่า ‘ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ
การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึก
ถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้’ หญิงสะใภ้เห็น
พ่อผัวแล้วย่อมสลดหดหู่ใจ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อระลึกถึง
พระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอัน
อาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้ ย่อมสลดหดหู่ใจเพราะเหตุนั้นว่า ‘ไม่เป็นลาภ
ของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ
ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้
อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้’
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม
และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมดำรงอยู่ได้ด้วยดี
ภิกษุนั้นย่อมพอใจเพราะเหตุนั้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอน
ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างมากแล้ว

อาโปธาตุ

[๓๐๓] อาโปธาตุ เป็นอย่างไร
คือ อาโปธาตุภายในก็มี อาโปธาตุภายนอกก็มี
อาโปธาตุภายใน เป็นอย่างไร
คือ อุปาทินนกรูปภายในที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ มีความ
เอิบอาบ ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน
น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรืออุปาทินนกรูปภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน
เป็นของเอิบอาบ มีความเอิบอาบ นี้เรียกว่า อาโปธาตุภายใน
อาโปธาตุภายในและอาโปธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นอาโปธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึงเห็น
อาโปธาตุนั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นอาโปธาตุนั้นตามความเป็นจริงด้วย
ปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ และทำจิตให้คลายกำหนัด
จากอาโปธาตุ
เวลาที่อาโปธาตุภายนอกกำเริบย่อมจะมีได้ อาโปธาตุภายนอกนั้นย่อมพัดพา
บ้านไปบ้าง นิคมไปบ้าง เมืองไปบ้าง ชนบทไปบ้าง บางส่วนของชนบทไปบ้าง
เวลาที่น้ำในมหาสมุทรลึกลงไป ๑๐๐ โยชน์บ้าง ๒๐๐ โยชน์บ้าง ๓๐๐
โยชน์บ้าง ๔๐๐ โยชน์บ้าง ๕๐๐ โยชน์บ้าง ๖๐๐ โยชน์บ้าง ๗๐๐ โยชน์บ้าง
ย่อมจะมีได้
เวลาที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ ๗ ชั่วลำตาลบ้าง ๖ ชั่วลำตาลบ้าง ๕ ชั่ว
ลำตาลบ้าง ๔ ชั่วลำตาลบ้าง ๓ ชั่วลำตาลบ้าง ๒ ชั่วลำตาลบ้าง ๑ ชั่วลำตาลบ้าง
ย่อมจะมีได้
เวลาที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ ๗ ชั่วบุรุษบ้าง ๖ ชั่วบุรุษบ้าง ๕ ชั่วบุรุษบ้าง
๔ ชั่วบุรุษบ้าง ๓ ชั่วบุรุษบ้าง ๒ ชั่วบุรุษบ้าง ๑ ชั่วบุรุษบ้าง ย่อมจะมีได้
เวลาที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่กึ่งชั่วบุรุษบ้าง ประมาณเพียงสะเอวบ้าง ประมาณ
เพียงเข่าบ้าง ประมาณเพียงข้อเท้าบ้าง ย่อมจะมีได้
เวลาที่น้ำในมหาสมุทรไม่มีพอเปียกข้อนิ้วมือ ก็ย่อมจะมีได้
อาโปธาตุภายนอกซึ่งมีมากถึงเพียงนั้น ยังปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความ
สิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา
ไฉนกายซึ่งตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อยที่ถูกตัณหาเข้าไปยึดถือว่า ‘เรา’ ว่า ‘ของเรา’ ว่า
‘เรามีอยู่’ จักไม่ปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา และมีความแปรผันไปเป็นธรรมดาเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นก็ไม่
มีความยึดถือในอาโปธาตุภายนอกนี้ ฯลฯ เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึก
ถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมดำรงอยู่
ได้ด้วยดี ภิกษุนั้นย่อมพอใจเพราะเหตุนั้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำ
ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมากแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

เตโชธาตุ

[๓๐๔] เตโชธาตุ เป็นอย่างไร
คือ เตโชธาตุภายในก็มี เตโชธาตุภายนอกก็มี
เตโชธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไร
คือ อุปาทินนกรูปภายใน ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน มีความ
เร่าร้อน ได้แก่ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำร่างกายให้อบอุ่น ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำ
ร่างกายให้ทรุดโทรม ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำร่างกายให้เร่าร้อน ธรรมชาติที่เป็น
เครื่องย่อยสิ่งที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และลิ้มรสแล้ว หรืออุปาทินนกรูป
ภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน มีความเร่าร้อน นี้เรียกว่า
เตโชธาตุภายใน
เตโชธาตุภายใน และเตโชธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นเตโชธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึง
เห็นเตโชธาตุนั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ บัณฑิตครั้นเห็นเตโชธาตุนั้นตามความเป็น
จริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ และทำจิตให้คลาย
กำหนัดจากเตโชธาตุ
เวลาที่เตโชธาตุภายนอกกำเริบย่อมจะมีได้ เตโชธาตุภายนอกนั้นย่อมไหม้
บ้านบ้าง นิคมบ้าง นครบ้าง ชนบทบ้าง บางส่วนของชนบทบ้าง เตโชธาตุ
ภายนอกนั้น(ลาม)มาถึงหญ้าสด หนทาง ภูเขา น้ำ หรือภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์แล้ว
เมื่อไม่มีเชื้อ ย่อมดับไปเอง เวลาที่ชนทั้งหลายแสวงหาไฟด้วยขนไก่บ้าง ด้วยการ
ขูดหนังบ้าง ย่อมจะมีได้
เตโชธาตุภายนอกซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นยังปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไป
เป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา
ไฉนกายซึ่งตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อยที่ถูกตัณหาเข้าไปยึดถือว่า ‘เรา’ ว่า ‘ของเรา’ ว่า
‘เรามีอยู่’ จักไม่ปรากฏ เป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

เป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดาเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นก็ไม่มีความ
ยึดถือในเตโชธาตุภายนอกนี้ ฯลฯ เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระ
ธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมดำรงอยู่ได้
ด้วยดี ภิกษุนั้นย่อมพอใจเพราะเหตุนั้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำตาม
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมากแล้ว

วาโยธาตุ

[๓๐๕] วาโยธาตุ เป็นอย่างไร
คือ วาโยธาตุภายในก็มี วาโยธาตุภายนอกก็มี
วาโยธาตุภายใน เป็นอย่างไร
คือ อุปาทินนกรูปภายใน ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา มีความ
พัดไปมา ได้แก่ ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้
ลมที่แล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรืออุปาทินนกรูป
ภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา มีความพัดไปมา นี้เรียกว่า
วาโยธาตุภายใน
วาโยธาตุภายในและวาโยธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นวาโยธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึง
เห็นวาโยธาตุนั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ บัณฑิตครั้นเห็นวาโยธาตุนั้นตามความเป็นจริง
ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ และทำจิตให้คลายกำหนัด
จากวาโยธาตุ
เวลาที่วาโยธาตุภายนอกกำเริบย่อมจะมีได้ วาโยธาตุภายนอกนั้นย่อมพัดพา
บ้านไปบ้าง นิคมไปบ้าง นครไปบ้าง ชนบทไปบ้าง บางส่วนของชนบทไปบ้าง
เวลาที่ชนทั้งหลายแสวงหาลมด้วยพัดใบตาลบ้าง ด้วยพัดสำหรับพัดไฟบ้าง
ในเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน แม้ในที่ชายคา หญ้าทั้งหลายก็ไม่ไหว ย่อมจะมีได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

วาโยธาตุภายนอกซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นยังปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไป
เป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ไฉนกาย
ซึ่งตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อยนี้ที่ถูกตัณหาเข้าไปยึดถือว่า ‘เรา’ ว่า ‘ของเรา’ ว่า ‘เรา
มีอยู่’ จักไม่ปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดาเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นก็ไม่มีความ
ยึดถือในวาโยธาตุภายนอกนี้
หากชนเหล่าอื่นจะด่า บริภาษ เกี้ยวกราด เบียดเบียนภิกษุนั้น ภิกษุนั้น
รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ทุกขเวทนาอันเกิดจากโสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ทุกขเวทนา
นั้นอาศัยเหตุจึงเกิดขึ้นได้ ไม่อาศัยเหตุก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไรจึง
เกิดขึ้นได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะจึงเกิดขึ้นได้’ ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่า ‘ผัสสะเป็น
ของไม่เที่ยง เวทนาเป็นของไม่เที่ยง สัญญาเป็นของไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็น
ของไม่เที่ยง วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง’ จิตของภิกษุนั้นย่อมดิ่งไป ย่อมผ่องใส
ดำรงมั่นและน้อมไปในอารมณ์คือธาตุนั่นแล

ผู้ทำตามพระโอวาท

หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้นด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่
น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือ การทำร้ายด้วยฝ่ามือบ้าง การทำร้ายด้วยก้อนดินบ้าง
การทำร้ายด้วยท่อนไม้บ้าง การทำร้ายด้วยศัสตราบ้าง ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
‘กายนี้มีสภาพเป็นที่รองรับการทำร้ายด้วยฝ่ามือบ้าง การทำร้ายด้วยก้อนดินบ้าง
การทำร้ายด้วยท่อนไม้บ้าง การทำร้ายด้วยศัสตราบ้าง’ อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสไว้ในพระโอวาทที่อุปมาด้วยเลื่อย๑ ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย หากพวกโจรผู้ประพฤติ
ต่ำทราม จะพึงใช้เลื่อยที่มีที่จับ ๒ ข้างเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้มีใจคิดร้ายแม้ใน

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๒๓๒ (กกจูปมสูตร) หน้า ๒๔๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

พวกโจรนั้น ก็ไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น’ อนึ่ง
ความเพียรที่เราปรารภแล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่เราตั้งไว้แล้วจักไม่หลงลืม กายที่
เราทำให้สงบแล้วจักไม่กระวนกระวาย จิตที่เราทำให้ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่
คราวนี้ ต่อให้มีการทำร้ายด้วยฝ่ามือ การทำร้ายด้วยก้อนดิน การทำร้ายด้วย
ท่อนไม้ หรือการทำร้ายด้วยศัสตราที่กายนี้ก็ตาม เราก็จะทำตามคำสั่งสอนของ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ให้จงได้
เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์
อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้ ภิกษุนั้นย่อมสลดหดหู่ใจ
เพราะเหตุนั้นว่า ‘ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ
การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และ
ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้’ หญิงสะใภ้
เห็นพ่อผัวแล้วย่อมสลดหดหู่ใจ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อระลึก
ถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขา
อันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้ ย่อมสลดหดหู่ใจเพราะเหตุนั้นว่า ‘ไม่เป็นลาภ
ของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ
ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้
อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้’
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม
และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ได้ด้วยดี
ภิกษุนั้นย่อมพอใจเพราะเหตุนั้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำตามคำสั่ง
สอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างมากแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

ปฏิจจสมุปปันนธรรม

[๓๐๖] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยไม้ เถาวัลย์ หญ้า และดินเหนียว
มาประกอบเข้ากันจึงนับว่า ‘เรือน’ แม้ฉันใด อากาศอาศัยกระดูก เอ็น เนื้อ
และหนังมาประกอบเข้าด้วยกันจึงนับว่า ‘รูป’ ฉันนั้น
หากจักษุที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย รูปที่เป็นอายตนะภายนอกไม่มา
สู่คลองจักษุ ทั้งความใส่ใจอันเกิดจากจักษุและรูปนั้นก็ไม่มี วิญญาณส่วนที่เกิด
จากจักษุและรูปนั้นก็ไม่ปรากฏ
หากจักษุที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย รูปที่เป็นอายตนะภายนอกมาสู่
คลองจักษุ แต่ความใส่ใจอันเกิดจากจักษุและรูปนั้นไม่มี วิญญาณส่วนที่เกิดจาก
จักษุและรูปนั้นก็ไม่ปรากฏ
แต่เมื่อใด จักษุที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย รูปที่เป็นอายตนะภายนอก
มาสู่คลองจักษุ ทั้งความใส่ใจอันเกิดจากจักษุและรูปก็มี เมื่อนั้น วิญญาณส่วนที่
เกิดจากจักษุและรูปนั้น ย่อมปรากฏด้วยอาการอย่างนี้
รูปแห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในรูปูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือรูป) เวทนา
แห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในเวทนูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือเวทนา) สัญญาแห่ง
สภาพอย่างนั้นจัดเข้าในสัญญูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือสัญญา) สังขารแห่ง
สภาพอย่างนั้นจัดเข้าในสังขารูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือสังขาร) วิญญาณแห่ง
สภาพอย่างนั้นจัดเข้าในวิญญาณูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ) ภิกษุนั้น
ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘การรวบรวม การประชุม และหมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้มีได้ด้วยประการอย่างนี้’
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ‘ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท
ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท’ อุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้ ชื่อว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี
ความหมกมุ่นฝังใจในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัด
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจใน
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ชื่อว่าทุกขนิโรธ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่า
ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมากแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

หากโสตะที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ...
หากฆานะที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ...
หากชิวหาที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ...
หากกายที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ...
หากมโนที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ธรรมารมณ์ที่เป็นอายตนะ
ภายนอกไม่มาสู่คลองมโน ทั้งความใส่ใจอันเกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นก็ไม่มี
วิญญาณส่วนที่เกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นก็ไม่ปรากฏ
หากมโนที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ธรรมารมณ์ที่เป็นอายตนะภาย
นอกมาสู่คลองมโน แต่ความใส่ใจอันเกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นไม่มี วิญญาณ
ส่วนที่เกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นก็ไม่ปรากฏ
แต่เมื่อใด มโนที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลายธรรมารมณ์ที่เป็นอายตนะ
ภายนอกมาสู่คลองมโน ทั้งความใส่ใจอันเกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นก็มี เมื่อนั้น
วิญญาณส่วนที่เกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้น ย่อมปรากฏด้วยอาการอย่างนี้
รูปแห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในรูปูปาทานขันธ์ เวทนาแห่งสภาพอย่างนั้นจัด
เข้าในเวทนูปาทานขันธ์ สัญญาแห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในสัญญูปาทานขันธ์
สังขารทั้งหลายแห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในสังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณแห่งสภาพ
อย่างนั้นจัดเข้าในวิญญาณูปาทานขันธ์ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘การรวบรวม
การประชุม และหมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้มีได้ด้วยประการอย่างนี้’
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ‘ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท
ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท’ อุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้ ชื่อว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี
หมกมุ่นฝังใจในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัดความ
กำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในอุปาทาน-
ขันธ์ ๕ ประการนี้ ชื่อว่าทุกขนิโรธ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำตาม
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างมากแล้ว”
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิต
ของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล

มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

๙. มหาสาโรปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยแก่นไม้ สูตรใหญ่
กิ่งและใบแห่งพรหมจรรย์

[๓๐๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ เมื่อ
พระเทวทัตจากไปแล้วไม่นาน ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัต
ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้นทำ
ลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญ
นั้น เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้
ไม่มีชื่อเสียง มีศักดิ์น้อย’ เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงมัวเมา
ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้น
ไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ เปลือก และสะเก็ดไป
เข้าใจกิ่งและใบว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง
ท่านผู้นี้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่น
ยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ เปลือก และสะเก็ดไป เข้าใจกิ่งและใบว่า
‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป อนึ่ง กิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

แก่เขา’ แม้ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส อุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำ
ลาภสักการะและความสรรเสริญนั้นให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้
ไม่มีชื่อเสียง มีศักดิ์น้อย’ เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงมัวเมา
ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า ผู้ยึดเอากิ่งและใบแห่งพรหมจรรย์และ
ถึงความพอใจด้วยกิ่งและใบแห่งพรหมจรรย์นั้น

สะเก็ดแห่งพรหมจรรย์

[๓๐๘] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภ
สักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้
สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีศีล มีกัลยาณธรรม
ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม’ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขา
จึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ เปลือกไป เข้าใจสะเก็ดว่า
‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้
ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ต้องการแก่นไม้
เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้าม
แก่นไม้ กระพี้ และเปลือกไป เข้าใจสะเก็ดว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจที่เขา
จะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา’ แม้ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้
ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสครอบงำแล้ว
ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่ง
กองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญ
ให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ปลื้มใจ และมีความ
รู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่ม
ผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่
ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์
แห่งศีลนั้น เขาจึงมีความปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่ง
ศีลนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ เป็นผู้
ทุศีล มีบาปธรรม’ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท
เมื่อประมาทแล้วย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า ผู้ยึดเอาสะเก็ดแห่งพรหมจรรย์และถึง
ความพอใจด้วยสะเก็ดแห่งพรหมจรรย์นั้น

เปลือกแห่งพรหมจรรย์

[๓๐๙] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภ
สักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจ และมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีล
ให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์
แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความ
สมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจและ
มีความรู้สึกสมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรา
มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์แน่วแน่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตแปรผัน’
เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาท
ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ และกระพี้ไป เข้าใจเปลือกว่า
‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้
ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ต้องการแก่นไม้
เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้าม
แก่นไม้และกระพี้ไป เข้าใจเปลือกว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจที่เขาจะต้อง
ใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา’ แม้ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์
ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น
นี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น
เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง
เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภ
สักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่
ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่
ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว
และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะความ
สมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์
แน่วแน่ ส่วนภิกษุนอกนี้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตแปรผัน’ เพราะความสมบูรณ์แห่ง
สมาธินั้น เขาจึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า ผู้ยึดเอาเปลือกแห่งพรหมจรรย์และถึง
ความพอใจด้วยเปลือกแห่งพรหมจรรย์นั้น

กระพี้แห่งพรหมจรรย์

[๓๑๐] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภ
สักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้
สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์
แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ
แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำญาณทัสสนะ๑ ให้สำเร็จ เพราะญาณทัสสนะนั้น
เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า
‘เรารู้ เราเห็นอยู่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่รู้ ไม่เห็นอยู่’ เพราะญาณทัสสนะนั้น
เขาจึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ไป เข้าใจกระพี้ว่า ‘แก่นไม้’
จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่รู้จักแก่นไม้
กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะ
แสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไป เข้าใจ
กระพี้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์
แก่เขา’ แม้ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส อุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น
ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้
สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์
แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัวและไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทแล้วย่อมทำ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ

เชิงอรรถ :
๑ ญาณทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงอภิญญา ๕ ประการ [คือ (๑) อิทธิวิธิ ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
(๒)ทิพพโสต ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์ (๓) เจโตปริยญาณ ญาณที่ทำให้กำหนดใจคนอื่นได้ (๔) ปุพเพนิวาสา-
นุสสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ (๕) ทิพพจักขุ ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์] (ม.มู.อ. ๒/๓๑๐/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่
ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำญาณทัสสนะให้สำเร็จ เพราะญาณทัสสนะนั้น
เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า
‘เรารู้ เราเห็นอยู่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่รู้ ไม่เห็นอยู่’ เพราะญาณทัสสนะนั้น
เขาจึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า ผู้ยึดเอากระพี้แห่งพรหมจรรย์ และถึง
ความพอใจด้วยกระพี้แห่งพรหมจรรย์นั้น

แก่นแห่งพรหมจรรย์

[๓๑๑] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำ
อย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภ
สักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่มัวเมา
ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น
เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่ง
สมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึก
ยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาท
ย่อมทำญาณทัสสนะให้สำเร็จ เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

ยังไม่สมหวัง เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะญาณ-
ทัสสนะนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำ
อสมยวิโมกข์๑ให้สำเร็จ เป็นไปไม่ได้เลย๒ที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากอสมยวิมุตตินั้น
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป บุรุษผู้มีตาดี
เห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด
กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป และกิจที่เขาจะต้อง
ใช้แก่นไม้ทำจักสำเร็จประโยชน์แก่เขา’ แม้ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความ
ทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์
ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้
เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึก
ยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท
เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น
เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึง
ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว
และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความ
สมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความ
สมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น

เชิงอรรถ :
๑ อสมยวิโมกข์ หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ คือ อริยมรรค ๔ สามัญญผล ๔ และนิพพาน ๑ (ม.มู.อ.
๒/๓๑๑/๑๓๙) และดู ขุ.ป. ๓๑/๔๗๘/๓๖๑
๒ เป็นไปไม่ได้เลย หมายถึงปฏิเสธฐานะ(เหตุ) และปฏิเสธโอกาส(ปัจจัย) ที่ให้เป็นไปได้ (องฺ.เอกก.อ.
๑/๒๖๘/๔๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำญาณทัสสนะให้
สำเร็จ เพราะญาณทัสนะนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะญาณ-
ทัสสนะนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงไม่มัวเมา
ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำอสมยวิโมกข์ให้สำเร็จ เป็นไป
ไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากอสมยวิมุตตินั้น
ภิกษุทั้งหลาย ดังพรรณนามาฉะนี้ พรหมจรรย์นี้จึงมิใช่มีลาภสักการะและความ
สรรเสริญเป็นอานิสงส์(ผลที่มุ่งหมาย) มิใช่มีความสมบูรณ์แห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่
มีความสมบูรณ์แห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่พรหมจรรย์
นี้มีเจโตวิมุตติอันไม่กำเริบเป็นเป้าหมาย เป็นแก่น เป็นที่สุด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาสาโรปมสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. จูฬสาโรปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยแก่นไม้ สูตรเล็ก

[๓๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อปิงคลโกจฉะเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน
แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม สมณพราหมณ์เหล่านี้ เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็น
คณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติว่าเป็นคนดี คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

ปูรณะ กัสสปะ๑ มักขลิ โคสาล๒ อชิตะ เกสกัมพล๓ ปกุธะ กัจจายนะ๔
สัญชัย เวลัฏฐบุตร๕ นิครนถ์ นาฏบุตร๖ สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดรู้อย่าง
ชัดเจนตามปฏิญญาของตน ๆ หรือทุกคนไม่รู้อย่างชัดเจนเลย หรือว่าบางพวกรู้
อย่างชัดเจน บางพวกไม่รู้อย่างชัดเจน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าเลย พราหมณ์ ข้อที่ว่าสมณพราหมณ์
พวกนั้นทั้งหมดรู้อย่างชัดเจน ตามปฏิญญาของตน ๆ หรือทุกคนไม่รู้อย่างชัดเจน
เลย หรือว่าบางพวกรู้อย่างชัดเจน บางพวกไม่รู้อย่างชัดเจนนั้น จงงดไว้เถิด เรา
จักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ปิงคลโกจฉพราหมณ์ทูลสนองรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ปูรณะ เป็นชื่อของเขา เหตุที่มีชื่ออย่างนั้นเพราะเขาเป็นทาสคนที่ครบร้อยพอดี คำว่า กัสสปะ
เป็นชื่อโคตร รวมทั้งชื่อและโคตรเรียกว่า ปูรณกัสสปะ (ที.สี.อ. ๑/๑๕๑/๑๓๐, ม.มู.อ. ๒/๓๑๒/๑๔๐)
๒ คำว่า มักขลิ เป็นชื่อที่ ๑ ของเขา เหตุที่มีชื่ออย่างนั้นเพราะเขาเป็นคนถือหม้อน้ำมันเดินตามทางที่มี
เปือกตม มักจะได้รับคำเตือนจากนายว่า มา ขลิ (อย่าลื่นนะ) คำว่า โคสาล เป็นชื่อที่ ๒ เพราะเขาเกิด
ในโรงโค (ที.สี.อ. ๑/๑๕๒/๑๓๑, ม.มู.อ. ๒/๓๑๒/๑๔๐)
๓ คำว่า อชิตะ เป็นชื่อของเขา และได้ชื่อว่าเกสกัมพล ก็เพราะนุ่งห่มผ้าที่ทำด้วยผมของมนุษย์ (ที.สี.อ.
๑/๑๕๓/๑๓๑, ม.มู.อ. ๒/๓๑๒/๑๔๑)
๔ คำว่า ปกุธะ เป็นชื่อของเขา คำว่า กัจจายนะ เป็นชื่อโคตรเรียกรวมทั้งชื่อและโคตรว่า ปกุธกัจจายนะ
(ที.สี.อ. ๑/๑๕๔/๑๓๒, ม.มู.อ. ๒/๓๑๒/๑๔๑)
๕ คำว่า สัญชัย เป็นชื่อของเขา คำว่า เวลัฏฐบุตร เป็นชื่อที่ ๒ เพราะเป็นบุตรของช่างสาน (ที.สี.อ.
๑/๑๕๕/๑๓๒, ม.มู.อ. ๒/๓๑๒/๑๔๑)
๖ คำว่า นิครนถ์ เป็นชื่อของเขา ที่มีชื่ออย่างนั้นเพราะเขามักกล่าวว่า ‘เราไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด’ คำว่า นาฏบุตร
เป็นอีกชื่อหนึ่งของเขา เพราะเขาเป็นบุตรของนักฟ้อน (ที.สี.อ. ๑/๑๕๖/๑๓๒, ม.มู.อ. ๒/๓๑๒/๑๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

บุคคลผู้แสวงหาแก่นไม้

[๓๑๓] “พราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวง
หาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้
เปลือก และสะเก็ดไป เข้าใจกิ่งและใบว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป บุรุษผู้มีตาดี
เห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด
กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ เปลือก และสะเก็ดไป
เข้าใจกิ่งและใบว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จ
ประโยชน์แก่เขา’
[๓๑๔] อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่
เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ และเปลือกไป
เข้าใจสะเก็ดว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ท่านผู้นี้ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการ
แก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมอง
ข้ามแก่นไม้ กระพี้ และเปลือกไป เข้าใจสะเก็ดว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจ
ที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา’
[๓๑๕] อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่
เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ และกระพี้ไป เข้าใจ
เปลือกว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ท่านผู้นี้ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้
ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่
กลับมองข้ามแก่นไม้ และกระพี้ไป เข้าใจเปลือกว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจ
ที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา’
[๓๑๖] อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่
เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ไป เข้าใจกระพี้ว่า ‘แก่นไม้’
จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่รู้จักแก่นไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะ
แสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ไป
เข้าใจกระพี้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จ
ประโยชน์แก่เขา’
[๓๑๗] อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่
เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป บุรุษผู้มีตาดี
เห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่ง
และใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้น
ไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป และกิจที่เขาจะต้อง
ใช้แก่นไม้ทำจักสำเร็จประโยชน์แก่เขา’ แม้ฉันใด

กิ่งและใบแห่งพรหมจรรย์

[๓๑๘] พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศรัทธา
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์
อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวช
แล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและ
ความสรรเสริญนั้น เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะลาภสักการะและ
ความสรรเสริญนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ
ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่มีชื่อเสียง มีศักดิ์น้อย’ อนึ่ง เขาไม่สร้างฉันทะ ไม่พยายาม
เพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่ง และประณีตกว่าลาภสักการะและความสรรเสริญ
ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย อุปมาเหมือนบุรุษนั้นผู้ต้องการแก่นไม้
เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้าม
แก่นไม้ กระพี้ เปลือก และสะเก็ดไป เข้าใจกิ่งและใบว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป
และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด บุคคลนี้ตถาคต
เรียกว่า มีอุปมาฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

สะเก็ดแห่งพรหมจรรย์

[๓๑๙] บุคคลบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วย
คิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
ครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร
การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะ
และความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
ปลื้มใจ และมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขา
จึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่ง
และประณีตกว่าลาภสักการะและความสรรเสริญ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน
ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น
เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงยกตน
ข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม’
อนึ่ง เขาไม่สร้างฉันทะ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่า
ความสมบูรณ์แห่งศีล ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย อุปมาเหมือน
บุรุษนั้นผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่น
ยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ และเปลือกไป เข้าใจสะเก็ดว่า ‘แก่นไม้’
จึงถากนำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด
บุคคลนี้ตถาคตเรียกว่า มีอุปมาฉันนั้น

เปลือกแห่งพรหมจรรย์

[๓๒๐] บุคคลบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า
‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ ... ครอบงำแล้ว ฯลฯ การทำที่สุดแห่งกองทุกข์
ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น
เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ปลื้มใจ และมีความรู้สึกยังไม่
สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง
เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าลาภสักการะ
และความสรรเสริญ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำ
ความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

ความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่น อันยิ่งและประณีตกว่า
ความสมบูรณ์แห่งศีล ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อม
ทำความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึง
ปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงยกตน
ข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์แน่วแน่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้มีจิตไม่ตั้งมั่น
มีจิตแปรผัน’ เขาไม่สร้างฉันทะ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและ
ประณีตกว่าความสมบูรณ์แห่งสมาธิ ทั้งเป็นผู้ประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย อุปมา
เหมือนบุรุษนั้นผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่ง
มีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ และกระพี้ไป เข้าใจเปลือกว่า ‘แก่นไม้’ จึงถาก
นำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด บุคคลนี้
ตถาคตเรียกว่า มีอุปมาฉันนั้น

กระพี้แห่งพรหมจรรย์

[๓๒๑] บุคคลบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า
‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ ... ครอบงำแล้ว ฯลฯ การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น
นี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น
เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ปลื้มใจ และมีความรู้สึกยังไม่
สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่ง และประณีตกว่า
ลาภสักการะและความสรรเสริญ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย
เขาย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึง
ปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่น อันยิ่งและ
ประณีตกว่าความสมบูรณ์แห่งศีล ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย
เขาย่อมทำความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น
เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่น
อันยิ่งและประณีตกว่าความสมบูรณ์แห่งสมาธิ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน
ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำญาณทัสสนะให้สำเร็จ เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงปลื้ม
ใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรารู้
เราเห็นอยู่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่รู้ ไม่เห็นอยู่’ อนึ่ง เขาไม่สร้างฉันทะ ไม่
พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ ทั้งเป็นผู้มี
ความประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย อุปมาเหมือนบุรุษนั้นผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะ
แสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ไป
เข้าใจกระพี้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จ
ประโยชน์แก่เขา ฉันใด บุคคลนี้ตถาคตเรียกว่า มีอุปมาฉันนั้น

แก่นแห่งพรหมจรรย์

[๓๒๒] บุคคลบางพวกในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วย
คิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
ครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร
การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะ
และความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
ปลื้มใจ และมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรม
เหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าลาภสักการะและความสรรเสริญ ทั้งเป็นผู้มีความ
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความ
สมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อ
ทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าความสมบูรณ์แห่งศีล ทั้งเป็นผู้มีความ
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ
เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ
พยายาม เพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าความสมบูรณ์แห่งสมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำญาณทัสสนะให้สำเร็จ
เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะญาณ-
ทัสสนะนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้
แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่
ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย
[๓๒๓] ธรรมอันยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุ
ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งและ
ประณีตกว่าญาณทัสสนะ
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานที่มีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ... อยู่ แม้ธรรม
ข้อนี้ก็ยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตต-
สัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า
‘อากาศหาที่สุดมิได้’ แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ ฯลฯ เพราะล่วง
วิญญาณัญจายตนฌานได้โดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่
โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ ฯลฯ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการ
ทั้งปวง ภิกษุบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งและประณีต
กว่าญาณทัสสนะ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง
ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายของเธอ
ย่อมสิ้นไป แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ
เหล่านี้เป็นธรรมอันยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

[๓๒๔] อุปมาเหมือนบุรุษนั้นผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่
เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป และกิจ
ที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักสำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด บุคคลนี้ตถาคตเรียกว่า
มีอุปมาฉันนั้น
พราหมณ์ ดังพรรณนามาฉะนี้ พรหมจรรย์นี้จึงมิใช่มีลาภสักการะและความ
สรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์แห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความ
สมบูรณ์แห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ พรหมจรรย์นี้มี
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบเป็นเป้าหมาย เป็นแก่น เป็นที่สุด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปิงคลโกจฉพราหมณ์ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

จูฬสาโรปมสูตรที่ ๑๐ จบ
โอปัมมวรรค ที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กกจูปมสูตร ๒. อลคัททูปมสูตร
๓. วัมมิกสูตร ๔. รถวินีตสูตร
๕. นิวาปสูตร ๖. ปาสราสิสูตร
๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร
๙. มหาสาโรปมสูตร ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

๔. มหายมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดใหญ่

๑. จูฬโคสิงคสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในโคสิงคสาลวัน สูตรเล็ก

[๓๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำหนักอิฐในบ้านชื่อนาทิกะ
สมัยนั้น ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละ อยู่ที่ป่าโคสิงค-
สาลวัน ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปยัง
ป่าโคสิงคสาลวัน
นายทายบาล(ผู้รักษาป่า) ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล แล้วได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระสมณะ ท่านอย่าเข้าไปในป่านี้เลย ในป่านี้มีกุลบุตร
(พระเถระ) ๓ ท่าน ซึ่งเป็นผู้มุ่งประโยชน์ตนอยู่ ท่านอย่าได้รบกวนกุลบุตรทั้ง ๓ นั้นเลย”
เมื่อนายทายบาลกราบทูลพระผู้มีพระภาคอยู่นั้น ท่านพระอนุรุทธะได้ยินแล้ว
จึงได้บอกกับนายทายบาลว่า “นายทายบาล ท่านอย่าได้ห้ามพระผู้มีพระภาคเลย
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้ว”
ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะได้เข้าไปหาท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมิละถึงที่
อยู่ แล้วได้บอกว่า “รีบไปกันเถิดท่าน รีบไปกันเถิดท่าน พระผู้มีพระภาคผู้เป็น
พระศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้ว”
ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละได้ต้อนรับพระผู้มี
พระภาค รูปหนึ่งรับบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่ง
ตั้งน้ำล้างพระบาท พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ครั้นล้าง
พระบาทแล้ว ท่านทั้ง ๓ รูปนั้นได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่าน
พระกิมิละว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

[๓๒๖] “อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ เธอทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยัง
พอเป็นอยู่ได้หรือ๑ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ”
ท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ยังสบายดี ยังพอเป็นอยู่ได้ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต”
“เธอทั้งหลายยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนม
กับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่หรือ”
“ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่
วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่
พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำ
นมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่ได้อย่างไร”
“ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ
เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่กับเพื่อนพรหมจารีเช่นนี้’ ข้าพระองค์ตั้งมั่นเมตตากายกรรม
ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม และตั้งมั่นเมตตามโนกรรม๒ในท่านเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรเก็บความนึกคิดของตน
แล้วประพฤติตามอำนาจความนึกคิดของท่านเหล่านี้’ ข้าพระองค์ก็เก็บความนึกคิด
ของตนแล้วประพฤติตามอำนาจความนึกคิดของท่านเหล่านี้ กายของข้าพระองค์
ทั้งหลายต่างกันก็จริง แต่ความนึกคิดดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ท่านพระนันทิยะ ฯลฯ แม้ท่านพระกิมิละก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส แม้ข้าพระองค์ก็มีความคิดอย่างนี้ว่า
‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่กับเพื่อนพรหมจารีเช่นนี้’
ข้าพระองค์ตั้งมั่นเมตตากายกรรม ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม และตั้งมั่นเมตตามโนกรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๗๔/๖๖, องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๖/๕๔๐
๒ ดูเทียบ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๑๑/๔๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

ในท่านเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราควรเก็บความนึกคิดของตนแล้ว ประพฤติตามอำนาจความนึกคิดของท่าน
เหล่านี้’ ข้าพระองค์ก็เก็บความนึกคิดของตน แล้วประพฤติตามอำนาจความนึกคิด
ของท่านเหล่านี้ กายของข้าพระองค์ทั้งหลายต่างกันก็จริง แต่ความนึกคิดดูเหมือน
เป็นอันเดียวกัน
ข้าพระองค์ทั้งหลายยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน ยังเป็น
เหมือนน้ำนมกับน้ำ มองกันและกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่อย่างนี้แล
พระพุทธเจ้าข้า”
[๓๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ
เธอทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่หรือ”
ท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลาย
เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ได้อย่างไร”
“ขอประทานวโรกาส บรรดาข้าพระองค์ทั้งหลาย รูปใดกลับจากบิณฑบาต
จากหมู่บ้านก่อน รูปนั้นก็ปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ตั้งถาดสำรับไว้ รูปใด
กลับจากบิณฑบาตจากหมู่บ้านทีหลัง ถ้ามีบิณฑบาตที่เหลือจากฉัน หากประสงค์
ก็ฉัน หากไม่ประสงค์ก็เททิ้งบนพื้นที่ปราศจากของเขียว หรือเทลงในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์
รูปนั้นเก็บอาสนะ เก็บน้ำฉันน้ำใช้ เก็บถาดสำรับ กวาดโรงอาหาร รูปใดเห็น
หม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หรือหม้อน้ำชำระว่างเปล่า รูปนั้นก็นำไปตั้งไว้ ถ้าเหลือ
วิสัยของท่าน ก็กวักมือเรียกรูปที่ ๒ มาช่วยกันยกนำไปตั้งไว้ ข้าพระองค์
ทั้งหลายไม่เปล่งวาจาเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย และทุก ๕ วัน ข้าพระองค์ทั้งหลาย
นั่งสนทนาธรรมีกถาตลอดคืนยังรุ่ง ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

ธรรมเครื่องอยู่อย่างผาสุก

[๓๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่
อย่างผาสุกที่เธอทั้งหลายผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้
ได้บรรลุแล้ว มีอยู่หรือ”
ท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์
ทั้งหลายสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร
ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือญาณทัสสนะที่
ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุก
ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ได้บรรลุแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ
วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้
บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ”
“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ข้าพระองค์
ทั้งหลายบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มี
วิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่
อย่างผาสุกอย่างอื่น ที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรม
เป็นเครื่องอยู่นั้น”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ
วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้บรรลุ
เพื่อก้าวล่วง และเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ”
“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะปีติจางคลายไป ข้าพระองค์
ทั้งหลายมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ นี้คือญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุก
อย่างอื่นที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น
พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ
วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้บรรลุ
เพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ”
“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส
และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือญาณทัสสนะที่ประเสริฐ
อันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่
ข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น
พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ
วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้บรรลุ
เพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ”
“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา
ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุอากาสานัญ-
จายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวังนี้คือ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่าง
ผาสุกอย่างอื่นที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่อง
อยู่อย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ
วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้
บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดย
ประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า
‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง ฯลฯ เพราะล่วงวิญญาณัญจายตน-
ฌานโดยประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดย
กำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง ฯลฯ เพราะล่วงอากิญจัญญายตน-
ฌานโดยประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
อยู่ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่ง
กว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น พระพุทธเจ้าข้า”
[๓๒๙] “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่
ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่าง
อื่นที่เธอทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ”
“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
โดยประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นด้วย
ปัญญา อาสวะของข้าพระองค์ทั้งหลายย่อมสิ้นไปตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่
อย่างผาสุกอย่างอื่นที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรม
เป็นเครื่องอยู่นั้น พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระองค์ทั้งหลายยังไม่พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่น ที่ยิ่งหรือประณีตกว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่
อย่างผาสุกนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุก
อย่างอื่น ที่ยิ่งหรือประณีตกว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกนี้ หามีไม่”
[๓๓๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระอนุรุทธะ ท่าน
พระนันทิยะ และท่านพระกิมิละเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจาก
อาสนะเสด็จจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละตามส่งเสด็จพระ
ผู้มีพระภาค ครั้นกลับจากที่นั้นแล้ว ท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมิละได้กล่าว
กับท่านพระอนุรุทธะว่า “ท่านอนุรุทธะประกาศคุณวิเศษใดของพวกกระผม จนถึง
ความสิ้นอาสวะ ในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พวกกระผมได้บอกคุณวิเศษ
นั้นแก่ท่านอนุรุทธะอย่างนั้นหรือว่า ‘พวกเราได้วิหารสมาบัติเหล่านี้และเหล่านี้๑”
ท่านพระอนุรุทธะกล่าวว่า “พวกท่านมิได้บอกแก่กระผมอย่างนี้ว่า ‘พวกเราได้
วิหารสมาบัติเหล่านี้และเหล่านี้’ แต่กระผมกำหนดจิตของพวกท่านด้วยจิตของ
กระผมแล้วรู้ได้ว่า ‘ท่านเหล่านี้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้และเหล่านี้’ แม้พวกเทวดา
ก็ได้บอกเนื้อความข้อนี้แก่กระผมว่า ‘ท่านเหล่านี้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้และเหล่านี้’
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหา กระผมจึงทูลตอบเนื้อความนั้น”

เทวดาสรรเสริญพระเถระทั้ง ๓ รูป

[๓๓๑] ยักษ์ชื่อทีฆปรชนเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นลาภของชาววัชชี ประชาชนชาววัชชีได้ดีแล้ว
ที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ และกุลบุตร ๓ ท่านนี้
คือ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละก็มาพักอยู่”
เทพชั้นภุมมะได้ฟังเสียงของยักษ์ชื่อทีฆปรชนแล้วได้ประกาศ(ต่อไป)ว่า “ท่าน
ผู้เจริญทั้งหลาย เป็นลาภของชาววัชชี ประชาชนชาววัชชีได้ดีแล้ว ที่พระตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ และกุลบุตร ๓ ท่านนี้ คือ ท่าน
พระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละก็มาพักอยู่”

เชิงอรรถ :
๑ เหล่านี้และเหล่านี้ ในที่นี้หมายถึงโลกิยธรรมมีปฐมฌานเป็นต้น และโลกุตตรธรรม (ม.มู.อ. ๒/๓๓๐/๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

เทพชั้นจาตุมหาราชได้ฟังเสียงของเทพชั้นภุมมะแล้ว ... เทพชั้นดาวดึงส์ ...
เทพชั้นยามา ... เทพชั้นดุสิต ... เทพชั้นนิมมานรดี ... เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ...
เทพที่นับเข้าในหมู่พรหมได้ฟังเสียงของเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว ได้ประกาศ
(ต่อไป)ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เป็นลาภของชาววัชชี ประชาชนชาววัชชีได้ดีแล้ว
ที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ และกุลบุตร ๓ ท่านนี้
คือ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละก็มาพักอยู่”
โดยขณะเพียงครู่หนึ่งนั้น ท่าน(พระเถระ)เหล่านั้นได้เป็นผู้ที่เทพทั้งหลาย
รู้จักกันจนถึงพรหมโลกด้วยประการอย่างนี้

การปฏิบัติดีของพระสงฆ์เป็นประโยชน์แก่มหาชน

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ทีฆะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ทีฆะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น
กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากตระกูลใด ถ้าตระกูลนั้นมีจิต
เลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข
แก่ตระกูลนั้นตลอดกาลนาน
กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากวงศ์ตระกูลใด ถ้าวงศ์
ตระกูลนั้นเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อ
ความสุขแก่วงศ์ตระกูลนั้นตลอดกาลนาน
กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากหมู่บ้านใด ถ้าหมู่บ้าน
นั้นมีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อ
ความสุขแก่หมู่บ้านนั้นตลอดกาลนาน
กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากนิคมใด ถ้านิคมนั้นมีจิต
เลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข
แก่นิคมนั้นตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากนครใด ถ้านครนั้นมีจิต
เลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข
แก่นครนั้นตลอดกาลนาน
กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากชนบทใด ถ้าชนบทนั้น
มีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความ
สุขแก่ชนบทนั้นตลอดกาลนาน
ถ้ากษัตริย์ทั้งมวลมีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไป
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่กษัตริย์ทั้งมวลตลอดกาลนาน
ถ้าพราหมณ์ทั้งมวล ...
ถ้าแพศย์ทั้งมวล ...
ถ้าศูทรทั้งมวลมีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อ
ประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ศูทรทั้งมวลตลอดกาลนาน
ถ้ามนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์มีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึง
เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ตลอดกาลนาน
ทีฆะ ท่านจงเห็นเถิด กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ปฏิบัติก็เพียงเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ยักษ์ชื่อทีฆปรชนมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬโคสิงคสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

๒. มหาโคสิงคสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในโคสิงคสาลวัน สูตรใหญ่
ป่างามด้วยภิกษุมีคุณสมบัติเช่นไร

[๓๓๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน พร้อมด้วยพระเถระ
ผู้เป็นพระสาวกที่มีชื่อเสียงหลายรูป คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหา
โมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระ
อานนท์ และพระเถระผู้เป็นพระสาวกที่มีชื่อเสียงรูปอื่น ๆ
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะออกจากที่หลีกเร้น๑ ในเวลาเย็น เข้าไป
หาท่านพระมหากัสสปะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกับท่านพระมหากัสสปะว่า “เราไป
กันเถิด ท่านกัสสปะ เราจักเข้าไปหาท่านสารีบุตรถึงที่อยู่เพื่อฟังธรรม”
ท่านพระมหากัสสปะรับคำแล้ว ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่าน
พระมหากัสสปะ และท่านพระอนุรุทธะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม
ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ และ
ท่านพระอนุรุทธะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม จึงเข้าไปหาท่าน
พระเรวตะถึงที่อยู่ แล้วกล่าวกับท่านพระเรวตะว่า “ท่านเรวตะ ท่านสัตบุรุษเหล่า
โน้นกำลังเข้าไปหาท่านสารีบุตรเพื่อฟังธรรม เราไปกันเถิด ท่านเรวตะ เราจัก
เข้าไปหาท่านสารีบุตรเพื่อฟังธรรม”
ท่านพระเรวตะรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะและท่าน
พระอานนท์เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๘๑ (สัลเลขสูตร) หน้า ๗๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

[๓๓๓] ท่านพระสารีบุตรได้เห็นท่านพระเรวตะและท่านพระอานนท์กำลัง
เดินมาแต่ไกล แล้วได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า “ท่านอานนท์ จงมาเถิด ท่าน
อานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค ได้มาดีแล้ว
ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่ง
ทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วย
ภิกษุเช่นไร”

ทรรศนะของพระอานนท์

ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต
ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ๑ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงาม
ในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์
บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ และแทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
ภิกษุนั้นแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและพยัญชนะที่เรียบง่ายและต่อเนื่องไม่
ขาดสายเพื่อถอนอนุสัย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระเรวตะ

[๓๓๔] เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าว
กับท่านพระเรวตะว่า “ท่านเรวตะ ท่านอานนท์ตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้
เราขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรี
แจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ
ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”

เชิงอรรถ :
๑ พหูสูต หมายถึงได้ศึกษาเล่าเรียนนวังคสัตถุศาสน์ (คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙) มาครบถ้วนโดยบาลี
และอนุสนธิ ทรงสุตะ หมายถึงสามารถทรงจำนวังคสัตถุศาสน์นั้นไว้ได้แม่นยำ แม้เวลาผ่านไป ๑๐ ปี ๒๐ ปี
ก็ไม่ลืมเลือน เมื่อถูกถาม ก็สามารถตอบได้ สั่งสมสุตะ หมายถึงจดจำนวังคสัตถุศาสน์นั้นไว้ได้จนขึ้นใจ
ดุจรอยขีดที่หินคงอยู่ไม่ลบเลือน ฉะนั้น (ม.มู.อ. ๒/๓๓๓/๑๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความ
หลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับ
ใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา๑ เพิ่มพูนเรือนว่าง ท่าน
สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระอนุรุทธะ

[๓๓๕] เมื่อท่านพระเรวตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับ
ท่านพระอนุรุทธะว่า “ท่านอนุรุทธะ ท่านเรวตะตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้
เราขอถามท่านอนุรุทธะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่าน
อนุรุทธะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”
ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ย่อมตรวจดู
โลกธาตุ๒ ๑,๐๐๐ โลกธาตุด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ บุรุษผู้มีตาดีขึ้นปราสาท
อันโอ่อ่าชั้นบน จะพึงมองดูวงกลมแห่งกงล้อจำนวน ๑,๐๐๐ ได้ แม้ฉันใด ภิกษุ
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระมหากัสสปะ

[๓๓๖] เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับ
ท่านพระมหากัสสปะว่า “ท่านกัสสปะ ท่านอนุรุทธะตอบตามปฏิภาณของตน
บัดนี้ เราขอถามท่านกัสสปะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่าน
กัสสปะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖๕ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๕๗ ในเล่มนี้
๒ โลกธาตุ ในที่นี้หมายถึงโลกธาตุขนาดเล็กที่เรียกว่าสหัสสีโลกธาตุ ประกอบด้วยจักรวาล ๑,๐๐๐ จักรวาล
๑,๐๐๐ โลกธาตุ = ๑,๐๐๐,๐๐๐ จักรวาล (๑,๐๐๐ โลกธาตุ x ๑,๐๐๐ จักรวาล) (ม.มู.อ. ๒/๓๓๕/๑๖๑,
องฺ.ติก.อ. ๒/๘๑/๒๓๔) และดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๘/๑๑, องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๑/๓๐๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

ท่านพระมหากัสสปะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ตนเอง
อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ตนเองเที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือ
ไตรจีวรเป็นวัตร ตนเองเป็นผู้มักน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย
ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สันโดษ ตนเองเป็นผู้สงัด
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สงัด ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ไม่คลุกคลี ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ปรารภความเพียร ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และ
กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วย
ปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ตนเองเป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ตนเอง
เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์
ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระมหาโมคคัลลานะ

[๓๓๗] เมื่อท่านพระมหากัสสปะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้
กล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า “ท่านโมคคัลลานะ ท่านมหากัสสปะตอบตาม
ปฏิภาณของตน บัดนี้ ผมขอถามท่านมหาโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงค-
สาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น
กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุ
เช่นไร”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุ ๒ รูปในพระ
ธรรมวินัยนี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ รูปนั้น ถามปัญหากันและกันแล้ว
ย่อมแก้กันเองไม่หยุดพัก และธรรมีกถาของเธอทั้ง ๒ นั้นก็ดำเนินต่อไป ท่าน
สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

ทรรศนะของพระสารีบุตร

[๓๓๘] ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า
“ท่านสารีบุตร พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้ ผมขอถามท่าน
สารีบุตรในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง
ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงค-
สาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ทำจิต
ให้อยู่ในอำนาจ(ของตน) และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหาร-
สมาบัติ๑ใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหาร-
สมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วย
วิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น หีบผ้าของพระ
ราชาหรือราชมหาอำมาตย์ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมแล้วเป็นสีต่าง ๆ พระราชาหรือ
ราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเช้า ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเช้า หวังจะ
ห่มผ้าคู่ใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเที่ยง หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเย็น
ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเย็น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำจิตให้อยู่ในอำนาจ
(ของตน) และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า
ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง
ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น
ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันพึงงาม
ด้วยภิกษุเช่นนี้”

เชิงอรรถ :
๑ วิหารสมาบัติ ในที่นี้หมายถึงสมาบัติเป็นเครื่องอยู่อันเป็นโลกียะ หรือเป็นโลกุตตระ (ม.มู.อ. ๒/๓๓๘/๑๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

ทรงรับรองทรรศนะของพระเถระทั้งหมด

[๓๓๙] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นว่า “ท่านทั้งหลาย
พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน พวกเราไปกันเถิด พวกเราจักเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจักกราบทูลเนื้อความนี้แด่พระองค์ พระผู้มี-
พระภาคจักทรงตอบแก่เราทั้งหลายอย่างใด พวกเราก็จักทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างนั้น”
ท่านเหล่านั้น รับคำแล้ว จากนั้น ท่านเหล่านั้นก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ท่านเรวตะ ท่านอานนท์ เข้าไป
หาข้าพระองค์ถึงที่อยู่เพื่อฟังธรรม ข้าพระองค์ได้เห็นท่านเรวตะและท่านอานนท์
กำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวกับท่านอานนท์ว่า ‘ท่านอานนท์ จงมาเถิด
ท่านอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค ได้มาดี
แล้ว ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบาน
สะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวันจะ
พึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านอานนท์ได้ตอบ
ข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ ฯลฯ
เพื่อถอนอนุสัย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร อานนท์เมื่อจะตอบอย่างถูก
ต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่าอานนท์เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟัง
มากซึ่งธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน
ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อานนท์นั้นแสดงธรรมแก่บริษัท
๔ ด้วยบทและพยัญชนะที่เรียบง่ายและต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพื่อถอนอนุสัย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

[๓๔๐] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลต่อไปว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่าน
อานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านเรวตะว่า ‘ท่านเรวตะ ท่าน
อานนท์ตอบตามปฏิภาณของตน ผมขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงค-
สาลวันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น
กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’
เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านเรวตะได้ตอบข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น
หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร เรวตะเมื่อจะตอบอย่างถูกต้อง
ก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า เรวตะเป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วใน
ความหลีกเร้น หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง”
[๓๔๑] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านเรวตะ
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านอนุรุทธะว่า ‘ท่านอนุรุทธะ ท่าน
เรวตะตอบตามปฏิภาณของตน ฯลฯ ท่านอนุรุทธะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วย
ภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านอนุรุทธะได้ตอบข้าพระองค์ว่า
‘ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ ด้วย
ตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ บุรุษผู้มีตาดีขึ้นปราสาทอันโออ่าชั้นบน จะพึงมองดู
วงกลมแห่งกงล้อจำนวน ๑,๐๐๐ ได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจ
ดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ท่านสารีบุตร
ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร อนุรุทธะเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า อนุรุทธะย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

[๓๔๒] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านอนุรุทธะ
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านมหากัสสปะว่า ‘ท่านกัสสปะ ท่าน
อนุรุทธะตอบตามปฏิภาณของตน เราขอถามท่านมหากัสสปะในข้อนั้นว่า ‘ฯลฯ
ท่านกัสสปะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าว
อย่างนี้แล้ว ท่านมหากัสสปะได้ตอบข้าพระองค์ว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระ
ธรรมวินัยนี้ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็น
วัตร ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ฯลฯ ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ฯลฯ
ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร ฯลฯ ตนเองเป็นผู้มักน้อย ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สันโดษ
ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สงัด ฯลฯ ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี ฯลฯ ตนเองเป็นผู้ปรารภ
ความเพียร ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ฯลฯ
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็น
ผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุ
เช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร กัสสปะเมื่อจะตอบอย่างถูกต้อง
ก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า กัสสปะนั้น ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ
คุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ตนเองถือไตรจีวรเป็น
วัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร ตนเองเป็นผู้มักน้อย
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สันโดษ ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง
ความเป็นผู้สงัด ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ไม่
คลุกคลี ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้
ปรารภความเพียร ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง
ความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญ
คุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ-
ญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ”
[๓๔๓] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านมหากัสสปะ
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านมหาโมคคัลลานะว่า ‘ท่านโมคคัลลานะ
ท่านมหากัสสปะตอบตามปฏิภาณของตน เราขอถามท่านโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า
‘ฯลฯ ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระ
องค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านมหาโมคคัลลานะได้ตอบข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร
ภิกษุ ๒ รูปในพระธรรมวินัยนี้กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ รูปนั้นถามปัญหากัน
และกัน แล้วย่อมแก้กันเองไม่หยุดพัก และธรรมีกถาของเธอทั้ง ๒ นั้นก็ดำเนินต่อไป
ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร โมคคัลลานะเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า โมคคัลลานะเป็นธรรมกถึก”
[๓๔๔] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลังจากนั้น ข้าพระองค์ได้
กล่าวกับท่านสารีบุตรว่า ‘ท่านสารีบุตร พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน
บัดนี้ ผมขอถามท่านสารีบุตรในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่าน
สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้
แล้ว ท่านสารีบุตรได้ตอบข้าพระองค์ว่า ‘ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
ทำจิตให้อยู่ในอำนาจ(ของตน)และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่
ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะ
อยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น หีบผ้า
ของพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมเป็นสีต่าง ๆ พระราชาหรือ
ราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเช้า ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเช้า หวังจะ
ห่มผ้าคู่ใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเที่ยง หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเย็น ก็
ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเย็น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำจิตให้อยู่ใน
อำนาจ(ของตน)และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด
ในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดใน
เวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด
ในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงค-
สาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ โมคคัลลานะ สารีบุตรเมื่อตอบอย่าง
ถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า สารีบุตรทำจิตให้อยู่ในอำนาจ(ของตน)และไม่
ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วย
วิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วย
วิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วย
วิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น”

ป่างามด้วยความเพียร

[๓๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “คำของใครหนอเป็นสุภาษิต พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร คำของเธอทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยเหตุ
นั้น ๆ แต่เธอทั้งหลายจงฟังคำของเรา หากมีคำถามว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวันจะพึง
งามด้วยภิกษุเช่นไร’ เราจักตอบว่า ‘สารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้กลับจากบิณฑบาต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์๑ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๒ ว่า
‘จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น (และ)ไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด
เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น’ สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาโคสิงคสูตรที่ ๒ จบ

๓. มหาโคปาลสูตร
ว่าด้วยคนเลี้ยงโค สูตรใหญ่
เหตุแห่งความไม่เจริญ๓

[๓๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระ
ผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้ไม่
สามารถเลี้ยงฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้
องค์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง
คือ นายโคบาลในโลกนี้
๑. ไม่รู้รูปโค ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะโค
๓. ไม่กำจัดไข่ขาง ๔. ไม่ปกปิดแผล

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๓ ข้อ ๑๐๗ (มหาสติปัฏฐานสูตร) หน้า ๑๐๒ ในเล่มนี้
๓ ดูเทียบ องฺ.เอกาทสก. (แปล) ๒๔/๑๗/๔๓๒-๔๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

๕. ไม่สุมไฟ ๖. ไม่รู้ท่าน้ำ
๗. ไม่รู้ว่าโคดื่มน้ำแล้ว ๘. ไม่รู้ทาง
๙. ไม่ฉลาดในที่หากิน ๑๐. รีดนมไม่ให้เหลือ
๑๑. ไม่บูชาโคผู้๑ทั้งหลายที่เป็นพ่อโค เป็นจ่าฝูง ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่สามารถจะเลี้ยง
ฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นผู้ไม่สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้
ธรรม ๑๑ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. ไม่รู้รูป ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะ
๓. ไม่กำจัดไข่ขาง ๔. ไม่ปกปิดแผล
๕. ไม่สุมไฟ ๖. ไม่รู้ท่าน้ำ
๗. ไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว ๘. ไม่รู้ทาง
๙. ไม่ฉลาดในโคจร ๑๐. รีดนมไม่ให้เหลือ
๑๑. ไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

[๓๔๗] ภิกษุไม่รู้รูป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดรูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นจริงว่า ‘มหา-
ภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔’ ภิกษุเป็นผู้ไม่รู้รูป เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ไม่บูชาโคผู้ หมายถึงไม่ให้อาหารอย่างดี ไม่ประดับด้วยของหอม ไม่คล้องพวงมาลัย ไม่สวมปลอกเงิน
ปลอกทองที่เขาของโคจ่าฝูง และในเวลากลางคืน ก็ไม่ติดไฟแล้วให้นอนใต้เพดานผ้า โคจ่าฝูงเมื่อไม่ได้รับ
การเอาใจใส่เช่นนั้น จึงไม่รักษา ไม่ป้องกันอันตรายให้แก่ฝูงโค (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๗/๓๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุไม่ฉลาดในลักษณะ๑ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘คนพาลมีกรรมเป็น
ลักษณะ บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ’ ภิกษุไม่ฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่กำจัดไข่ขาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด
ไม่ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ... รับวิหิงสาวิตก
ที่เกิดขึ้น ... รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้
สิ้นสุด ไม่ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ภิกษุไม่กำจัดไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่ปกปิดแผล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วรวบถือ๒ แยกถือ๓ ไม่ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมในจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียง
ทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้ง
ธรรมารมณ์ทางใจแล้วรวบถือ แยกถือ ไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่
สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษา
มนินทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุไม่ปกปิดแผล เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ฉลาดในลักษณะ หมายถึงคนพาลและบัณฑิตมีกรรมเป็นเครื่องหมายเหมือนกัน แต่ต่างกันที่คนพาลมี
อกุศลกรรมเป็นเครื่องหมาย บัณฑิตมีกุศลกรรมเป็นเครื่องหมาย (ม.มู.อ. ๒/๓๔๗/๑๖๙)
๒ รวบถือ หมายถึงมองภาพด้านเดียว คือมองภาพรวมโดยเห็นเป็นหญิงหรือชาย เห็นว่ารูปสวย เสียง
ไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา ด้วยอำนาจฉันทราคะ (อภิ.สงฺ.อ.
๑๓๕๒/๔๕๖-๔๕๗)
๓ แยกถือ หมายถึงมองภาพ ๒ ด้าน คือมองแยกแยะเป็นส่วน ๆ ไปด้วยอำนาจกิเลส เช่น เห็นมือเท้า
ว่าสวยหรือไม่สวย เห็นอาการยิ้มแย้ม หัวเราะ การพูด การเหลียวซ้ายแลขวาว่าน่ารักหรือไม่น่ารัก ถ้า
เห็นว่าสวยน่ารักก็เกิดอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) ถ้าเห็นว่าไม่สวย ไม่น่ารัก ก็เกิดอนิฏฐารมณ์
(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/๔๕๖-๔๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุไม่สุมไฟ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่แสดงธรรมตามที่ฟังมาแล้ว ตามที่เล่าเรียนมาแล้ว
แก่คนอื่น ๆ โดยพิสดาร ภิกษุไม่สุมไฟ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่รู้ท่าน้ำ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม
ทรงวินัย ทรงมาติกาตามเวลาสมควร ไม่สอบสวนไต่ถามว่า “พุทธพจน์นี้เป็น
อย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านผู้คงแก่เรียนเหล่านั้นไม่เปิด
เผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ไม่ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้ง่าย และไม่บรรเทา
ความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น ภิกษุไม่รู้ท่าน้ำ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ไม่ได้ความปลาบปลื้ม
อิงธรรม ไม่ได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วซึ่ง
ผู้อื่นแสดงอยู่ ภิกษุไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่รู้ทาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้อริยมรรคมีองค์ ๘ ตามความเป็นจริง ภิกษุไม่
รู้ทาง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่ฉลาดในโคจร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดสติปัฏฐาน ๔ ประการตามความเป็นจริง๑ ภิกษุ
ไม่ฉลาดในโคจร เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ไม่รู้สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ในที่นี้หมายถึงไม่รู้ว่า ‘สติปัฏฐานอย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหน
เป็นโลกุตตระ’ เมื่อไม่รู้ก็จะน้อมญาณของตนเข้าไปในฐานที่ละเอียด แล้วปักใจอยู่ในสติปัฏฐานที่เป็น
โลกิยะเท่านั้น จึงไม่สามารถให้สติปัฏฐานส่วนที่เป็นโลกุตตระเกิดขึ้นได้ (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๗/๓๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุรีดนมไม่ให้เหลือ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้จักประมาณเพื่อจะรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่พวกคหบดีผู้มีศรัทธาปวารณานำไปถวายเฉพาะ ภิกษุ
รีดนมไม่ให้เหลือ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น
สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตา-
มโนกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลังในเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ภิกษุไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู
เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่
สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้
[๓๔๘] นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้สามารถจะเลี้ยง
ฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้
องค์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง
คือ นายโคบาลในโลกนี้

๑. รู้รูปโค ๒. ฉลาดในลักษณะโค
๓. กำจัดไข่ขาง ๔. ปกปิดแผล
๕. สุมไฟ ๖. รู้ท่าน้ำ
๗. รู้ว่าโคดื่มน้ำแล้ว ๘. รู้ทาง
๙. ฉลาดในที่หากิน ๑๐. รีดนมให้เหลือ
๑๑. บูชาโคผู้ทั้งหลายที่เป็นพ่อโค เป็นจ่าฝูง ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล จึงเป็นผู้สามารถจะเลี้ยง
ฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นผู้สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้
ธรรม ๑๑ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. รู้รูปโค ๒. ฉลาดในลักษณะ
๓. กำจัดไข่ขาง ๔. ปกปิดแผล
๕. สุมไฟ ๖. รู้ท่าน้ำ
๗. รู้ว่ธรรมที่ดื่มแล้ว ๘. รู้ทาง
๙. ฉลาดในโคจร ๑๐. รีดนมให้เหลือ
๑๑. บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น
สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

[๓๔๙] ภิกษุรู้รูป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดรูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นจริงว่า
‘มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔’ ภิกษุรู้รูป เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘คนพาลมีกรรมเป็นลักษณะ
บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ’ ภิกษุฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุกำจัดไข่ขาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด
ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ... ไม่รับวิหิงสาวิตก
ที่เกิดขึ้น ... ไม่รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้
สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ภิกษุกำจัดไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุปกปิดแผล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมในจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียง
ทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์
ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุปกปิดแผลเป็นอย่างนี้แล
ภิกษุสุมไฟ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้แสดงธรรมที่ฟังมาแล้ว ตามที่เล่าเรียนมาแล้วแก่คน
อื่น ๆ โดยพิสดาร ภิกษุสุมไฟ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรู้ท่าน้ำ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต ผู้เรียนจบคัมภีร์
ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาตามเวลาสมควร สอบสวนไต่ถามว่า “พุทธพจน์
นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านผู้คงแก่เรียนเหล่านั้น
ย่อมเปิดเผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย และ
บรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น ภิกษุรู้ท่าน้ำ เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ได้ความปลาบปลื้ม
อิงธรรม ได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วซึ่งผู้
อื่นแสดงอยู่ ภิกษุรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุรู้ทาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้อริยมรรคมีองค์ ๘ ตามความเป็นจริง ภิกษุรู้ทาง
เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุฉลาดในโคจร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดสติปัฏฐาน ๔ ประการ ตามความเป็นจริง
ภิกษุฉลาดในโคจร เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรีดนมให้เหลือ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักประมาณเพื่อจะรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่พวกคหบดีผู้มีศรัทธาปวารณานำไปถวายเฉพาะ ภิกษุ
รีดนมให้เหลือ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตา-
มโนกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลังในเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ภิกษุบูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู
เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้สามารถ
ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาโคปาลสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๔. จูฬโคปาลสูตร

๔. จูฬโคปาลสูตร
ว่าด้วยคนเลี้ยงโค สูตรเล็ก
นายโคบาลผู้ไม่ฉลาด

[๓๕๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมืองอุกกเจลา
แคว้นวัชชี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวแคว้นมคธ เป็นคนโง่มา
แต่กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน มิได้พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้น
แห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่
ที่มิใช่ท่า ครั้งนั้น ฝูงโคว่ายเข้าไปในวังน้ำวนกลางแม่น้ำคงคา ถึงความพินาศใน
แม่น้ำนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะนายโคบาลชาวแคว้นมคธนั้น เป็นคนโง่มาแต่
กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน มิได้พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่ง
แม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่ที่มิใช่ท่า
แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ฉลาด
ในโลกนี้ ไม่ฉลาดในโลกหน้า ไม่ฉลาดในธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร๑ ไม่ฉลาด

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๓๕๐/๑๗๔) อีกนัยหนึ่ง หมายถึง
มาร ๕ จำพวก คือ (๑) กิเลสมาร (๒) ขันธมาร (๓) อภิสังขารมาร (๔) เทวปุตตมาร (๕) มัจจุมาร (ม.มู.ฏีกา
๒/๓๕๐/๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๔. จูฬโคปาลสูตร

ในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร๑ ไม่ฉลาดในธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ไม่ฉลาด
ในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ชนเหล่าใดเข้าใจถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง ควรเชื่อ ความเข้าใจของชนเหล่านั้นจักเป็นไป
เพื่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน

นายโคบาลผู้ฉลาด

[๓๕๑] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวแคว้นมคธ เป็น
คนฉลาดมาแต่กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน พิจารณาฝั่งนี้
และฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ
สถานที่ที่เป็นท่า นายโคบาลนั้นต้อนเหล่าโคที่เป็นจ่าฝูงซึ่งเป็นผู้นำฝูงให้ข้ามไปก่อน
โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่า
โคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ให้ข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึง
ฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่าโคหนุ่มสาวให้ข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัด
กระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่าลูกโคที่มีกำลังน้อย
ให้ข้ามไป โคเหล่านั้นก็ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้นลอยไปตามเสียงโค
ที่เป็นแม่ แม้ลูกโคนั้นก็ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะนายโคบาลชาวแคว้นมคธนั้นเป็นคนฉลาดมาแต่กำเนิด ในสารท-
สมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโค
ให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่ที่ใช่ท่า ฉันใด สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ [คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑] (ม.มู.อ.
๒/๓๕๐/๑๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๔. จูฬโคปาลสูตร

ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร
ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุ
ชนเหล่าใดเข้าใจถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง
ควรเชื่อ ความเข้าใจของชนเหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน

ฝูงโคข้ามถึงฝั่งโดยสวัสดี

[๓๕๒] ภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคผู้ที่เป็นจ่าฝูง เป็นผู้นำฝูงว่ายตัดกระแสแม่น้ำ
คงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพก็ฉันนั้น
เหมือนกัน อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๒ ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว๓ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ก็
ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
เหล่าโคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นโอปปาติกะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะโอรัมภาคิย-
สังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไปจึงปรินิพพานในพรหมโลกนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลก
นั้นอีก ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
เหล่าโคหนุ่มและโคสาวว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นสกทาคามี ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะสังโยชน์ ๓
ประการสิ้นไป (และ) เพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง จึงกลับมาสู่โลกนี้อีก
ครั้งเดียว ก็จะทำให้ดีที่สุดแห่งทุกข์ได้ ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดย
สวัสดี

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๘ (มูลปริยายสูตร) หน้า ๑๑ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๘ (มูลปริยายสูตร) หน้า ๑๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๔. จูฬโคปาลสูตร

เหล่าลูกโคที่มีกำลังน้อยว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นโสดาบัน๑ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะสังโยชน์๒ ๓
ประการสิ้นไป จึงไม่มีทางตกต่ำ๓มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๔ ในวันข้างหน้า
ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้นลอยไปตามเสียงโคที่เป็นแม่ ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา
ข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่เป็น
ธัมมานุสารี๕ และที่เป็นสัทธานุสารี๖ ก็ชื่อว่า จักว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้
โดยสวัสดี
ภิกษุทั้งหลาย เราแลเป็นผู้ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า ฉลาดใน
เตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดใน
เตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ชนเหล่าใด
จักเข้าใจถ้อยคำของเรานั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง ควรเชื่อ ความเข้าใจของชน
เหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

เชิงอรรถ :
๑-๔ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๓,๑-๒ ข้อ ๖๗ (วัตถูปมสูตร) หน้า ๕๘-๕๙ ในเล่มนี้
๕ ธัมมานุสารี หมายถึงผู้แล่นไปตามธรรม ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล มีปัญญาแก่กล้า บรรลุผล
แล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ(ผู้บรรลุธรรมด้วยความเห็นถูกต้อง) (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ.
๓/๑๔/๑๖๒, ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)
๖ สัทธานุสารี คือ ผู้แล่นไปตามศรัทธาท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลมีสัทธาแก่กล้า บรรลุผลแล้ว
กลายเป็นสัทธาวิมุต(ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา) เรียกว่า มัคคสมังคีบุคคลชั้นต้น (ปฐมมัคคสมังคี) หรือ
ผู้พรั่งพร้อมด้วยโสดาปัตติมรรค (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒, ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

“โลกนี้และโลกหน้าตถาคตผู้รู้ได้ประกาศไว้ดีแล้ว
ตถาคตผู้ตรัสรู้เอง ทราบชัดโลกทั้งปวงทั้งที่มารไปถึงได้
และที่มัจจุราชไปถึงไม่ได้ ด้วยความรู้ยิ่ง
จึงได้เปิดประตูแห่งอมตะ๑
เพื่อให้ถึงนิพพานอันเป็นแดนเกษม
กระแสแห่งมารผู้มีใจบาปตถาคตตัดได้แล้ว
กำจัดได้แล้ว กำราบได้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์
ปรารถนาธรรมอันเป็นแดนเกษม๒เถิด”

จูฬโคปาลสูตรที่ ๔ จบ

๕. จูฬสัจจกสูตร
ว่าด้วยสัจจกะ นิครนถบุตร สูตรเล็ก
อนุสาสนีของพระพุทธเจ้า

[๓๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี
ในสมัยนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรอาศัยอยู่ในกรุงเวสาลี เป็นนักโต้วาทะ พูดยกตน
ว่าเป็นบัณฑิต ชนจำนวนมากยกย่องว่าเป็นผู้มีลัทธิดี เขากล่าวปราศรัยในที่ชุมชน
ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ประตูแห่งอมตะ หมายถึงอริยมรรค (ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)
๒ ธรรมอันเป็นแดนเกษม หมายถึงอรหัตตผล (ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

“สมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ ผู้ปฏิญญาตน
ว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อโต้ตอบวาทะกับเรา แล้วจะไม่พึงประหม่า
ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ เราไม่เห็นเลยแม้แต่คนเดียว
หากเราโต้ตอบวาทะกับต้นเสาที่ไม่มีจิตใจ แม้ต้นเสานั้นโต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้อง
ประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงมนุษย์เลย”
ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงเวสาลี สัจจกะ นิครนถบุตรเดินเที่ยวเล่นอยู่ในกรุงเวสาลีได้เห็น
ท่านพระอัสสชิเดินอยู่แต่ไกล จึงเข้าไปหา ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ถามว่า “ท่านพระอัสสชิ พระ
สมณโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระสมณโคดมที่เป็นไปใน
พวกสาวกโดยส่วนมากเป็นอย่างไร”
ท่านพระอัสสชิตอบว่า “อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวก
ทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคที่เป็นไปในสาวกทั้งหลายโดย
ส่วนมากเป็นอย่างนี้ว่า ‘รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลาย
ไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่อัตตา เวทนาไม่ใช่อัตตา สัญญาไม่ใช่อัตตา
สังขารทั้งหลายไม่ใช่อัตตา วิญญาณไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา’ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้
และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคที่เป็นไปในสาวกทั้งหลาย โดยส่วนมากเป็นอย่างนี้”
สัจจกะ นิครนถบุตรกล่าวว่า “ท่านพระอัสสชิ ข้าพเจ้าได้ฟังว่าพระสมณโคดม
มีวาทะอย่างนี้ ชื่อว่าฟังเรื่องที่ผิด ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะพบพระสมณโคดมนั้น
และสนทนากันสักครั้ง ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะปลดเปลื้องพระสมณโคดมจาก
ทิฏฐิชั่วนั้นได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

สัจจกะ นิครนถบุตรชวนเจ้าลิจฉวีไปฟังการโต้วาทะ

[๓๕๔] สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ พระองค์ ทรงประชุมกันอยู่ใน
หอประชุมด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรเข้าไปหาเจ้าลิจฉวี
เหล่านั้น แล้วได้กล่าวกับเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นอย่างนี้ว่า
“ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้
ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดมจักยืนยันตามคำที่
พระอัสสชิซึ่งเป็นพระสาวกรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงยืนยันแล้วแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักฉุด
กระชากลากพระสมณโคดมไปมาด้วยคำต่อคำ ให้เป็นเหมือนบุรุษผู้มีกำลังจับแกะ
มีขนยาวที่ขนแล้วฉุดกระชากลากไปมาฉะนั้น หรือให้เป็นเหมือนคนงานในโรงสุรา
ซึ่งกำลังวางเสื่อลำแพนสำหรับรองแป้งสุราผืนใหญ่ในห้วงน้ำลึกแล้วจับที่มุมลาก
ฟาดไปฟาดมาฉะนั้น ข้าพเจ้าจักสลัดฟัดฟาดพระสมณโคดมด้วยคำต่อคำ ให้เป็น
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังซึ่งเป็นนักเลงจับถ้วยที่หูแล้วสลัดฟัดฟาดไปมาฉะนั้น ข้าพเจ้า
จักเล่นงานพระสมณโคดมเหมือนนักกีฬาเล่นกีฬาซักป่าน ให้เป็นเหมือนช้างที่มีวัย
ล่วง ๖๐ ปี ลงสู่สระโบกขรณีที่มีน้ำลึกแล้วเล่นกีฬาซักป่านฉะนั้น ขอเจ้าลิจฉวี
ทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนา
กับพระสมณโคดม”
บรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “พระสมณโคดมจักกล่าว
แย้งถ้อยคำของท่านสัจจกะได้อย่างไร ที่แท้ ท่านสัจจกะกลับจะกล่าวแย้งถ้อยคำของ
พระสมณโคดม”
บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านสัจจกะเป็นอะไร จึงกล่าวแย้งพระดำรัสของ
พระผู้มีพระภาคได้ ที่แท้ พระผู้มีพระภาคกลับจะทรงกล่าวแย้งถ้อยคำของท่านสัจจกะ”
ครั้งนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรมีเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ พระองค์ห้อมล้อม
ได้เข้าไปยังกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

[๓๕๕] สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกำลังจงกรมอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง ครั้งนั้น
สัจจกะ นิครนถบุตรเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรมแล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ
บัดนี้ พระสมณโคดมอยู่ ณ ที่ไหน พวกข้าพเจ้าปรารถนาจะพบพระสมณโคดม
พระองค์นั้น”
ภิกษุเหล่านั้นจึงตอบว่า “อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จเข้าไป
สู่ป่ามหาวันประทับพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง”
ลำดับนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีจำนวนมากเข้าไปสู่ป่ามหาวัน
ถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร แม้เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร บางพวกทูลปราศรัยแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประนมมือ
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตน ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร

ปัญหาของสัจจกะ นิครนถบุตร

[๓๕๖] สัจจกะ นิครนถบุตรครั้นนั่งแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าพเจ้าขอถามท่านพระโคดมสักหน่อยหนึ่ง ถ้าท่านพระโคดมจะเปิดโอกาสที่จะ
ตอบปัญหาแก่ข้าพเจ้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านประสงค์จะถามปัญหาใด
ก็ถามเถิด”
“ท่านพระโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร คำสั่งสอนของท่านพระโคดมที่เป็น
ไปในพระสาวกทั้งหลาย โดยส่วนมากเป็นอย่างไร”
“เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเราที่เป็นไปในสาวก
ทั้งหลายโดยส่วนมากเป็นอย่างนี้ว่า ‘รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่อัตตา เวทนาไม่ใช่อัตตา
สัญญาไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลายไม่ใช่อัตตา วิญญาณไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลาย
ทั้งปวงไม่ใช่อัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา’ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้
และคำสั่งสอนของเราที่เป็นไปในสาวกทั้งหลายโดยส่วนมากเป็นอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

“ท่านพระโคดม ขอให้ข้าพเจ้าแสดงอุปมาถวาย”
“ขอเชิญท่านแสดงอุปมาเถิด”
“ท่านพระโคดม พืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
พืชพันธุ์ไม้เหล่านั้นทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน อยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญ
งอกงามไพบูลย์ได้ หรือการงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลต้องทำด้วยกำลัง การ
งานเหล่านั้นทั้งหมดบุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้ แม้ฉันใด
บุรุษบุคคลนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีรูปเป็นอัตตา มีเวทนาเป็นอัตตา มีสัญญาเป็น
อัตตา มีสังขารเป็นอัตตา มีวิญญาณเป็นอัตตา ต้องดำรงอยู่ในรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ จึงจะประสบบุญหรือบาปได้”
“อัคคิเวสสนะ ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา เวทนาเป็นอัตตา
ของเรา สัญญาเป็นอัตตาของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา วิญญาณเป็น
อัตตาของเรามิใช่หรือ”
“ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนั้นจริง และหมู่ชนเป็นอันมากก็กล่าว
อย่างนั้นว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา เวทนาเป็นอัตตาของเรา สัญญาเป็นอัตตา
ของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา วิญญาณเป็นอัตตาของเรามิใช่หรือ”
“อัคคิเวสสนะ หมู่ชนเป็นอันมากจักช่วยอะไรท่านได้ เชิญท่านยืนยันคำของ
ท่านเถิด”
“ท่านพระโคดม เป็นความจริง ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา
เวทนาเป็นอัตตาของเรา สัญญาเป็นอัตตาของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา
วิญญาณเป็นอัตตาของเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

ทรงย้อนถามสัจจกะ นิครนถบุตรด้วยอุปมา

[๓๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ ถ้าอย่างนั้น เราจักสอบ
ถามท่านในข้อนี้แล ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านควรตอบอย่างนั้น ท่านเข้าใจความ
ข้อนั้นว่าอย่างไร พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก๑แล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิ-
โกศล หรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่งแคว้นมคธ มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า
ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ ในพระราชอาณาเขตของพระองค์
มิใช่หรือ”
สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้
รับมูรธาภิเษกแล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่ง
แคว้นมคธ มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควร
เนรเทศ ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ แม้แต่คณะผู้ปกครองเหล่านี้ คือ เจ้าวัชชี
เจ้ามัลละก็มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ
ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ทำไมพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่งแคว้นมคธจะไม่มี
อำนาจเล่า พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วนั้น ต้องมีอำนาจแน่ และ
ควรจะมีอำนาจ”
“อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า
‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ นั้น ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า ‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด
อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรก็นิ่งเสีย
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “อัคคิเวสสนะ
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ นั้น
ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า ‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย’ หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ มูรธาภิเษก ในที่นี้หมายถึงพิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในการพระราชพิธีราชาภิเษก (พจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หน้า ๖๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรก็นิ่งเป็นครั้งที่ ๒
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรว่า “อัคคิเวสสนะ บัดนี้
ท่านจงตอบ ไม่ใช่เวลาที่ท่านจะนิ่ง ผู้ใดถูกตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุถึง ๓
ครั้งแล้วไม่ตอบ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็น ๗ เสี่ยงในที่นั้นนั่นเอง”
ขณะนั้น ยักษ์วชิรปาณี๑ถือกระบองเพชรมีไฟลุกโชติช่วงยืนอยู่ในอากาศ
เบื้องบนสัจจกะ นิครนถบุตรคิดว่า
“หากสัจจกะ นิครนถบุตรนี้ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาอันชอบธรรม
ถึง ๓ ครั้งแต่ไม่ยอมตอบ เราจะทุบศีรษะของเขาให้แตกเป็น ๗ เสี่ยง ณ ที่นี้แล”
พระผู้มีพระภาคกับสัจจกะ นิครนถบุตรเท่านั้นที่มองเห็นยักษ์วชิรปาณีนั้น
ในทันใดนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรตกใจกลัวจนขนพองสยองเกล้า แสวงหาพระผู้มี
พระภาคเป็นที่ต้านทาน เป็นที่ป้องกัน เป็นที่พึ่ง ได้กราบทูลว่า “พระโคดมผู้เจริญ
ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจะตอบ ณ บัดนี้”

หลักไตรลักษณ์

[๓๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า
‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการ๒เถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในเวทนานั้นว่า
‘เวทนาของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”

เชิงอรรถ :
๑ ยักษ์วชิรปาณี ในที่นี้หมายถึงท้าวสักกเทวราช (ม.มู.อ. ๒/๓๕๗/๑๘๕)
๒ มนสิการ ในที่นี้หมายถึงการพิจารณาไตร่ตรองแล้วทรงจำไว้ในใจ (ม.มู.อ. ๒/๓๕๘/๑๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สัญญาเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในสัญญานั้นว่า
‘สัญญาของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในสังขาร
ทั้งหลายเหล่านั้นว่า ‘สังขารทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่าง
นี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วิญญาณเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในวิญญาณนั้นว่า
‘วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูป
เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขารทั้งหลาย
ฯลฯ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร วิญญาณ เที่ยง หรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืน
ทุกข์แล้ว ยังพิจารณาเห็นทุกข์ว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’
ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์ได้เอง หรือจะทำทุกข์ให้สิ้นไปแล้วจึงอยู่ มีบ้างหรือ”
“จะพึงมีได้อย่างไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ”
“อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านติดทุกข์
เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังพิจารณาเห็นทุกข์ว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น
นั่นเป็นอัตตาของเรามิใช่หรือ”
“จะไม่มีอย่างไรได้ ข้อนี้ต้องเป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”

สัจจกะ นิครนถบุตรยอมจำนน

[๓๕๙] “อัคคิเวสสนะ บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้
ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่งในป่า มีต้นตรง กำลังรุ่น
ยังไม่ออกปลี เขาจึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคนต้น แล้วตัดยอด ลิดใบออก เขาไม่พบ
แม้แต่กระพี้ แล้วจะพบแก่นได้จากที่ไหน แม้ฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกเรา
ซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนในถ้อยคำของตนเอง ก็เปล่า ว่าง แพ้ไปเอง ท่านได้กล่าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

ปราศรัยนี้ในที่ชุมชนในกรุงเวสาลีว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
เป็นคณาจารย์ ที่ปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โต้ตอบวาทะกับ
เราแล้วจะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้
เราไม่เห็นเลยแม้แต่คนเดียว หากเราโต้ตอบวาทะกับต้นเสาที่ไม่มีจิตใจ แม้เสานั้น
โต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง
มนุษย์เลย’
อัคคิเวสสนะ หยาดเหงื่อของท่านบางหยาด หยดจากหน้าผากลงไปยัง
ผ้าห่มแล้วตกลงที่พื้น ส่วนหยาดเหงื่อในกายของเราในบัดนี้ไม่มีเลย”
ดังนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเปิดพระวรกายอันมีพระฉวีวรรณดุจทองคำในที่
ชุมชนนั้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรถึงกับนั่งนิ่ง เก้อเขิน
คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
[๓๖๐] ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีนามว่าทุมมุขะเห็นว่า สัจจกะ นิครนถบุตรนั่งนิ่ง
เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ท่านพระโคดม ขอให้ข้าพเจ้าแสดงอุปมาถวาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ทุมมุขะ ขอเชิญท่านแสดงอุปมาเถิด”
เจ้าลิจฉวีนั้นกราบทูลว่า “ในที่ใกล้บ้านหรือนิคม มีสระโบกขรณีอยู่สระหนึ่ง
ในสระนั้นมีปูอยู่ตัวหนึ่ง พวกเด็กชายหญิงเป็นจำนวนมากออกจากบ้านหรือนิคมนั้น
ไปถึงสระโบกขรณีนั้นแล้วก็ลงไปจับปูขึ้นจากน้ำ วางไว้บนบก ปูนั้นส่ายก้ามไปทางใด
เด็กเหล่านั้นก็คอยต่อย ตี ทุบก้ามปูนั้นด้วยไม้บ้าง ด้วยกระเบื้องบ้าง เมื่อปูนั้น
ก้ามหักหมดแล้ว ก็ไม่อาจลงสู่สระโบกขรณีนั้นเหมือนก่อนได้ แม้ฉันใด ทิฏฐิที่เป็น
เสี้ยนหนาม ที่เข้าใจผิด และที่กวัดแกว่งบางอย่างของสัจจกะ นิครนถบุตร ถูกพระองค์
หัก โค่น ลบ ล้างเสียแล้ว บัดนี้ สัจจกะ นิครนถบุตรก็จะไม่มาใกล้พระองค์เพื่อ
โต้วาทะอีก ฉันนั้นเหมือนกัน”
เมื่อเจ้าลิจฉวีนามว่าทุมมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรจึงพูดว่า
“เจ้าทุมมุขะ ท่านหยุดเถิด หยุดเถิด ท่านพูดมากนัก ข้าพเจ้าไม่ได้พูดกับท่าน
ข้าพเจ้าพูดกับท่านพระโคดมต่างหาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

พระสาวกผู้ปฏิบัติตามคำสอน

[๓๖๑] (สัจจกะ นิครนถบุตร) ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็กราบทูลว่า “ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ คำพูดนี้เป็นของข้าพเจ้าและของพวกสมณพราหมณ์เหล่าอื่น
หยุดไว้ก่อน ถ้อยคำนั้นอาจเป็นแต่คำเพ้อเจ้อ พูดเพ้อกันไป
ด้วยเหตุเพียงเท่าไร สาวกของท่านพระโคดมจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอน
ทำถูกตามโอวาท หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้อง
เชื่อใครอีกในคำสอนของศาสดา(ของตน)”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์
นั้นทั้งหมด คือ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารอย่างใด
อย่างหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล สาวกของเราจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูก
ตามโอวาท หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใคร
อีกในคำสอนของศาสดา(ของตน)”
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันตขีณาสพ
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์
ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ”
“อัคคิเวสสนะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์นั้นทั้งหมด คือ รูปอย่าง
ใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือ
ละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอัน
ชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เห็นเวทนา
อย่างใดอย่างหนึ่ง ... เห็นสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... เห็นสังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

... เห็นวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ จึงหลุดพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็น
อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ
ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ประกอบด้วยคุณอันยอดเยี่ยม ๓ ประการ คือ
๑. ความเห็นอันยอดเยี่ยม
๒. ข้อปฏิบัติอันยอดเยี่ยม
๓. ความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยม
เมื่อมีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตว่า
‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว๑ ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตรัสรู้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงฝึกพระองค์แล้ว๒ ทรงแสดงธรรมเพื่อฝึกตน พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงสงบแล้ว๓ ทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นทรงข้ามพ้นแล้ว๔ ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ข้ามพ้น พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นปรินิพพานแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน”

สัจจกะ นิครนถบุตรถวายภัตตาหาร

[๓๖๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรได้กราบ
ทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น เป็นคนคะนอง
วาจา ได้เข้าใจพระดำรัสของท่านพระโคดมว่า ‘ตนสามารถรุกรานได้ด้วยถ้อยคำ
ของตน’ บุรุษมาปะทะช้างซับมันเข้าก็ดี พบกองไฟที่กำลังลุกโชนก็ดี พบงูพิษที่มี
พิษร้ายก็ดี ยังพอเอาตัวรอดได้บ้าง แต่พอมาพบท่านพระโคดมเข้าแล้ว ไม่มีใคร
เอาตัวรอดได้เลย ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น เป็นคนคะนองวาจา ได้เข้าใจ

เชิงอรรถ :
๑ ตรัสรู้ หมายถึงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙)
๒ ฝึกพระองค์ หมายถึงปราศจากกิเลส (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙, ม.มู.ฏีกา ๒/๓๖๑/๒๕๕)
๓ สงบ หมายถึงสงบระงับกิเลสทั้งปวงได้ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙)
๔ ข้ามพ้น หมายถึงข้ามพ้นโอฆะ ๔ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

พระดำรัสของท่านพระโคดมว่า ‘ตนสามารถรุกรานได้ด้วยถ้อยคำของตน’ ขอท่าน
พระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับนิมนต์เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
[๓๖๓] ลำดับนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรง
รับนิมนต์แล้ว จึงบอกพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า “เจ้าลิจฉวีทั้งหลายโปรดฟังข้าพเจ้า
ข้าพเจ้านิมนต์ท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไว้แล้วเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น พวกท่าน
จะนำอาหารใดมาเพื่อข้าพเจ้า จงเลือกอาหารที่ควรแก่ท่านพระโคดมเถิด”
เมื่อล่วงราตรีแล้ว เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นได้นำภัตตาหารประมาณ ๕๐๐ สำรับ
ไปให้แก่สัจจกะ นิครนถบุตร เขาจึงให้จัดของเคี้ยวของฉันอันประณีต ในอาราม
ของตนเสร็จแล้วจึงให้ทูลบอกเวลาแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
เวลานี้เป็นเวลาอันควร ภัตตาหารจัดเตรียมสำเร็จแล้ว”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรงครองอันตรวาสกถือ
บาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังอารามของสัจจกะ นิครนถบุตร แล้วประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว จากนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรได้นำของขบฉันอันประณีต
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้อิ่มหนำด้วยมือตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาค
เสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรจึงเลือกนั่ง ณ ที่
สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่าแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ขอบุญและ
ผลบุญในทานครั้งนี้ จงมีเพื่อความสุขแก่ทายกทั้งหลายเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ บุญและผลบุญในทานนี้อาศัย
ทักขิไณยบุคคลที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะเช่นกับท่าน จักมีแก่ทายกทั้งหลาย
บุญและผลบุญในทานนี้อาศัยทักขิไณยบุคคลที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะเช่นกับเรา
จักมีแก่ท่าน”

จูฬสัจจกสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

๖. มหาสัจจกสูตร
ว่าด้วยสัจจกะ นิครนถบุตร สูตรใหญ่

[๓๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร มีพระพุทธประสงค์จะเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ขณะนั้น
สัจจกะ นิครนถบุตร เดินเที่ยวเล่นอยู่ ได้เข้าไปที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
ท่านพระอานนท์ได้เห็นสัจจกะ นิครนถบุตรเดินมาแต่ไกล จึงกราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัจจกะ นิครนถบุตรนี้เป็นนักโต้วาทะ พูดยกตน
ว่าเป็นบัณฑิต ชนจำนวนมากยอมยกว่าเป็นผู้มีลัทธิดี เขาปรารถนาจะติเตียน
พระพุทธเจ้า ปรารถนาจะติเตียนพระธรรม และปรารถนาจะติเตียนพระสงฆ์ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคประทับนั่งสักครู่หนึ่งเถิด”
พระผู้มีพระภาคจึงประทับอยู่บนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว
ขณะนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรเข้าไปถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้ว
ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ปัญหาของสัจจกะ นิครนถบุตร

[๓๖๕] “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งหมั่นประกอบ
กายภาวนา๑อยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบจิตตภาวนา๒ไม่ สมณพราหมณ์พวกนั้น

เชิงอรรถ :
๑ กายภาวนา หมายถึงวิปัสสนาภาวนา (ภาวนาข้อที่ ๒ ในภาวนา ๒) คือการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความ
รู้แจ้งตามความเป็นจริง แต่สัจจกะ นิครนถบุตรกล่าวหมายเอาอัตตกิลมถานุโยคของพวกนิครนถ์ (ม.มู.อ.
๒/๓๖๕/๑๙๒)
๒ จิตตภาวนา หมายถึงสมถภาวนา (ภาวนาข้อที่ ๑ ในภาวนา ๒) คือการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ
(ฝึกสมาธิ) (ม.มู.อ. ๒/๓๖๕/๑๙๒) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๕๒/๒๔๒, องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๓๒/๗๖, องฺ.ปญฺจก.
(แปล) ๒๒/๗๙/๑๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

ย่อมประสบทุกขเวทนาทางกาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลถูกทุกขเวทนาทาง
กายกระทบเข้าแล้ว ความขัดยอกขาจักมีบ้าง หทัยจักแตกบ้าง เลือดอุ่นจักพลุ่ง
ออกจากปากบ้าง จักถึงความมีจิตฟุ้งซ่านจนเป็นบ้าบ้าง จิตอันหมุนไปตามกายของ
ผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจกาย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่ได้อบรมจิต มีสมณ-
พราหมณ์พวกหนึ่ง หมั่นประกอบจิตตภาวนาอยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบกายภาวนาไม่
สมณพราหมณ์พวกนั้นย่อมประสบทุกขเวทนาทางจิต เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อ
บุคคลถูกทุกขเวทนาทางจิตกระทบเข้าแล้ว ความขัดยอกขาจักมีบ้าง หทัยจักแตก
บ้าง เลือดอุ่นจักพลุ่งออกจากปากบ้าง จักถึงความมีจิตฟุ้งซ่านจนเป็นบ้าบ้าง
กายที่หมุนไปตามจิตของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจจิต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
ไม่ได้อบรมกาย
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีความคิดว่า ‘หมู่สาวกของท่านพระโคดม
หมั่นประกอบจิตตภาวนาอยู่โดยแท้ แต่หาหมั่นประกอบกายภาวนาอยู่ไม่”
[๓๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านได้ฟังกายภาวนา
มาอย่างไร”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ท่านนันทะ
วัจฉโคตร ท่านกิสะ สังกิจจโคตร ท่านมักขลิ โคสาล ก็ท่านเหล่านี้เป็นอเจลก
(ประพฤติเปลือยกาย) เป็นคนไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป
เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำ
เจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปาก
ภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหาร
คร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์
ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย
ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มี
แมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่ม
ยาดอง เขารับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒
หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗
คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหาร
ที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภค
ภัตตาหารตามวาระ ๑๕ วันต่อมื้อ๑เช่นนี้อยู่ ด้วยประการอย่างนี้บ้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ บุคคลเหล่านั้นเลี้ยงตนด้วยภัต
เพียงเท่านั้นอย่างเดียวหรือ”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ
บางทีท่านเหล่านั้นเคี้ยวของควรเคี้ยวอย่างดี บริโภคโภชนะอย่างดี ลิ้มของลิ้มอย่างดี
ดื่มน้ำอย่างดี ให้ร่างกายนี้มีกำลัง เจริญ อ้วนพีขึ้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ บุคคลเหล่านั้นละทุกกรกิริยาที่
ประพฤติมาก่อนแล้วบำรุงกายนี้ในภายหลัง เมื่อเป็นอย่างนั้น กายนี้ก็มีความ
เจริญและความเสื่อมไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามอีกว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านได้ฟังจิตตภาวนามาอย่างไร”
สัจจกะ นิครนถบุตรถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามในจิตตภาวนา ไม่อาจทูล
ตอบได้

กายภาวนาและจิตตภาวนา

[๓๖๗] ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรว่า “อัคคิ-
เวสสนะ กายภาวนาที่ประพฤติมาก่อนซึ่งท่านอบรมแล้วนั้นไม่ใช่กายภาวนาที่ถูก
ต้องในอริยวินัย ท่านยังไม่รู้จักแม้กายภาวนา จะรู้จักจิตตภาวนาได้อย่างไร
บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต และบุคคลผู้ได้อบรมกาย ผู้ได้อบรมจิต
มีได้ด้วยวิธีใด ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าววิธีนั้น”

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๑๕๕ (มหาสีหนาทสูตร) หน้า ๑๕๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

สัจจกะ นิครนถบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
[๓๖๘] “บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น ถูกสุขเวทนากระทบแล้ว
มีความยินดียิ่งนักในสุขเวทนา และถึงความเป็นผู้ยินดียิ่งนักในสุขเวทนา สุขเวทนา
นั้นของเขาย่อมดับไป เพราะสุขเวทนาดับไป ทุกขเวทนาจึงเกิดขึ้น เขาถูกทุกข-
เวทนากระทบเข้าแล้ว ก็เศร้าโศก เสียใจ รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงใหล
สุขเวทนานั้นแม้ที่เกิดขึ้นแก่เขาแล้ว ก็ครอบงำจิตอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย
ทุกขเวทนาแม้ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ครอบงำจิตอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิต สุขเวทนา
และทุกขเวทนาทั้ง ๒ ฝ่ายที่เกิดขึ้นแก่ปุถุชนคนใดคนหนึ่งอย่างนี้ ก็ครอบงำจิตอยู่
เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิต
อัคคิเวสสนะ บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต เป็นอย่างนี้
[๓๖๙] บุคคลผู้ได้อบรมกาย ได้อบรมจิต เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับแล้ว มีสุขเวทนาเกิดขึ้น ถูกสุขเวทนา
กระทบเข้าแล้ว ไม่มีความยินดียิ่งนักในสุขเวทนาและไม่ถึงความเป็นผู้ยินดียิ่งนักใน
สุขเวทนา สุขเวทนานั้นของเขาย่อมดับไป เพราะสุขเวทนาดับไป ทุกขเวทนาจึง
เกิดขึ้น เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก ไม่เสียใจ ไม่รำพัน ไม่ตีอก
คร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล สุขเวทนานั้นแม้ที่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกแล้ว ก็ไม่
ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมกาย ทุกขเวทนาแม้ที่เกิดขึ้นแล้วก็ครอบงำ
จิตอยู่ไม่ได้ เพราะเหตุที่ได้อบรมจิต สุขเวทนาและทุกขเวทนาทั้ง ๒ ฝ่ายที่เกิด
ขึ้นแก่อริยสาวกผู้ใดผู้หนึ่งอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมกาย
เพราะเหตุที่ได้อบรมจิต
อัคคิเวสสนะ บุคคลผู้ได้อบรมกาย ได้อบรมจิต เป็นอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

[๓๗๐] สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า “เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าเลื่อมใส
ท่านพระสมณโคดม เพราะท่านพระสมณโคดมได้อบรมกายแล้ว ได้อบรมจิตแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านนำวาจานี้มาพูดกระทบกระ
เทียบกับเราโดยแท้ แต่เราจะบอกแก่ท่าน เมื่อใดเราโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จิตของเรา
นั้นจะถูกสุขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำอยู่ หรือจะถูกทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำอยู่”
สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า “สุขเวทนาที่เกิดขึ้นซึ่งพอจะครอบงำจิตตั้ง
อยู่ หรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นซึ่งพอจะครอบงำจิตตั้งอยู่ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระสมณ-
โคดมผู้เจริญโดยแท้”
[๓๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ ทำไมเวทนาทั้ง ๒ นั้นจะ
ไม่พึงมีแก่เรา เราจะเล่าให้ฟัง ก่อนการตรัสรู้ เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้
ได้มีความคิดว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด๑ เป็นทางแห่งธุลี๒ การบวช
เป็นทางปลอดโปร่ง๓ การที่ผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์
ให้บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเถิด’

เชิงอรรถ :
๑ การอยู่ครองเรือนชื่อว่าเป็นเรื่องอึดอัด เพราะไม่มีเวลาว่างเพื่อจะทำกุศลกรรม แม้เรือนจะมีเนื้อที่
กว้างขวางถึง ๖๐ ศอก มีบริเวณภายในบ้านตั้ง ๑๐๐ โยชน์ มีคนอยู่อาศัยเพียง ๒ คน คือ สามี
ภรรยา ก็ยังถือว่าอึดอัด เพราะมีความห่วงกังวลกันและกัน (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)
๒ ชื่อว่าเป็นทางแห่งธุลี เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่น ราคะ เป็นต้น
(ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)
๓ นักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้วและเทพวิมาน ซึ่งมีประตูหน้าต่างมิดชิด ก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง
เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใด ๆ เลย (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

พุทธประวัติตอนบำเพ็ญสมาบัติ
ในสำนักอาฬารดาบส

อัคคิเวสสนะ ในกาลต่อมา เรายังหนุ่มแน่น แข็งแรง มีเกศาดำสนิท
อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระราชมารดาและพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้ผนวช มี
พระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อผนวชแล้วก็แสวงหาว่าอะไรเป็น
กุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหา
อาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วกล่าวว่า
‘ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่าน
อยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
เอง ตามแบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้
ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณ-
วาทะ๑และเถรวาทะ๒ได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า
‘อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เรา
ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร
ยังรู้ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะ
ท่านประกาศธรรมนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ
เพียงเท่าไร’
เมื่อเราถามอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงประกาศอากิญจัญญายตน-
สมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีศรัทธา

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๓ ข้อ ๒๗๗ (ปาสราสิสูตร) หน้า ๓๐๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

แม้เราก็มีศรัทธา มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ
มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อาฬาร-
ดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร
เท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญเพียร เพื่อทำให้แจ้ง
ธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน เราก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญายิ่งเองเข้าถึงอยู่
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะ
ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วย
เหตุเพียงเท่านี้หรือ’
อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เราประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า
ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’
(เราจึงกล่าวว่า) ‘ท่านกาลามะ แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญายิ่ง
เองเข้าถึงอยู่ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’
(อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า
พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะข้าพเจ้าประกาศว่า
‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ข้าพเจ้าก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเข้าถึงอยู่’
ข้าพเจ้าทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด ข้าพเจ้าก็ทราบ
ธรรมนั้น เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด
ข้าพเจ้าก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ เราทั้ง ๒ จะอยู่ร่วมกันบริหารคณะนี้’
อัคคิเวสสนะ อาฬารดาบส กาลามโคตร ทั้งที่เป็นอาจารย์ของเรา ก็ยกย่อง
เราผู้เป็นศิษย์ให้เสมอกับตน และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดี ด้วยประการอย่างนี้
แต่เราคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึง
อากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

ในสำนักอุทกดาบส

[๓๗๒] อัคคิเวสสนะ เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทาง
อันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตร
แล้วกล่าวว่า ‘ท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อน
ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ตาม
แบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้ธรรมนั้น
ได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณวาทะและ
เถรวาทะได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า ‘อุทกดาบส
รามบุตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อุทกดาบส รามบุตรยังรู้ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่าง
แน่นอน’
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่าน
ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร’
เมื่อเราถามอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงประกาศเนวสัญญานาสัญญายตน-
สมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีศรัทธา แม้
เราก็มีศรัทธา มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ มิใช่
แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตร
เท่านั้นที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีปัญญา
แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรเริ่มบำเพ็ญเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อุทกดาบส
รามบุตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน
เราก็ได้ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่าน
ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียง
เท่านี้หรือ’
อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า
ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

(เราจึงกล่าวว่า) ‘แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’
(อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า
พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะ(ข้าพเจ้า)รามะประกาศว่า
‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
รามะก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ รามะ
ทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด รามะก็ทราบธรรมนั้น
เป็นอันว่ารามะเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด รามะก็เป็นเช่นนั้น
มาเถิด บัดนี้ ท่านจงบริหารคณะนี้’
อัคคิเวสสนะ อุทกดาบส รามบุตรทั้งที่เป็นเพื่อนพรหมจารีของเรา ก็ยังยกย่อง
เราไว้ในฐานะอาจารย์ และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดีด้วยประการอย่างนี้ แต่เรา
คิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อ
สงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงเนวสัญญา-
นาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

ตรัสรู้สัจธรรม

[๓๗๓] อัคคิเวสสนะ เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทาง
อันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธโดย
ลำดับ ได้ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่า
น่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจร-
คามอยู่โดยรอบ เราจึงคิดว่า ‘ภูมิประเทศเป็นที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจ
มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ
เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญเพียร’ เราจึงนั่ง ณ ที่
นั้นด้วยคิดว่า ‘ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

อุปมา ๓ ข้อ

[๓๗๔] อัคคิเวสสนะ ครั้งนั้น อุปมา ๓ ข้อ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรา
ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้ปรากฏแก่เรา คือ
เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่แช่อยู่ในน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า
‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มียางซึ่งแช่
อยู่ในน้ำมาทำไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ไม่ได้ พระโคดมผู้เจริญ”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“พระโคดมผู้เจริญ เพราะไม้สดนั้นมียาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่
ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า”
“อัคคิเวสสนะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมี
กายและจิตยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ
อย่างเด็ดขาดในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนาที่
กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้
การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ
เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๑ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้
ปรากฏแก่เรา
[๓๗๕] เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่วางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมา
ทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มียางซึ่งวาง
อยู่บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ไม่ได้ พระโคดมผู้เจริญ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“พระโคดมผู้เจริญ เพราะไม้ยังสดและมียาง แม้จะวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ
บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า”
“อัคคิเวสสนะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
แม้มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ
อย่างเด็ดขาดในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนาที่
กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้
การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ
เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๒ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้
ปรากฏแก่เรา
[๓๗๖] เปรียบเหมือนไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำมา
ทำเป็นไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้ที่แห้งสนิทซึ่ง
วางอยู่บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ได้ พระโคดมผู้เจริญ”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“พระโคดมผู้เจริญ เพราะไม้แห้งสนิท ทั้งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ”
“อัคคิเวสสนะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มี
กายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่
ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลายได้อย่างเด็ดขาด
ในภายในแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง
หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิด
ขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๓ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้
ปรากฏแก่เรา
อัคคิเวสสนะ นี้คืออุปมา ๓ ข้ออันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยิน
มาก่อน ได้ปรากฏแก่เรา

การบำเพ็ญทุกกรกิริยา

[๓๗๗] อัคคิเวสสนะ เรานั้นมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกดฟันด้วยฟัน
ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน’ เรานั้นก็กดฟันด้วยฟัน
ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เมื่อเราทำดังนั้น เหงื่อก็
ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง คนที่แข็งแรงจับคนที่อ่อนแอกว่าที่ศีรษะหรือที่คอแล้ว
บีบคั้นรัดไว้ให้แน่น แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดัน
เพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
[๓๗๘] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌาน
อันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก
เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทาง
หูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ลมที่ช่างทองสูบอยู่มีเสียงดังอู้ ๆ แม้ฉันใด เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทางหูทั้ง ๒
ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมอันแรงกล้า
ก็เสียดแทงศีรษะ คนที่แข็งแรงใช้เหล็กที่แหลมคมแทงศีรษะ แม้ฉันใด เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู ลมอันแรงกล้า
ก็เสียดแทงศีรษะ ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีทุกขเวทนา
ในศีรษะอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรงใช้เชือกหนังที่เหนียวขันศีรษะ แม้ฉันใด เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหูก็มีทุกขเวทนา
ในศีรษะอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมอันแรงกล้า
ก็บาดในช่องท้อง คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญพึงใช้มีดแล่เนื้อที่คมกรีดท้อง
แม้ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทาง
ช่องหู ก็มีลมอันแรงกล้าบาดในช่องท้อง ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความ
กระวนกระวายในร่างกายอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรง ๒ คนจับแขนคนที่อ่อนแอ
กว่าคนละข้างย่างให้ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด๑ เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้า
และลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความกระวนกระวายใน
ร่างกายอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เทวดาทั้งหลายเห็นเราแล้วก็พากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมสิ้นพระชนม์
แล้ว’ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมยังมิได้สิ้นพระชนม์ แต่กำลังจะสิ้น
พระชนม์’ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมยังไม่สิ้นพระชนม์ ทั้งจะไม่สิ้น
พระชนม์ พระสมณโคดมจะเป็นพระอรหันต์ การอยู่เช่นนี้นั้นเป็นวิหารธรรม๒ ของ
ท่านผู้เป็นพระอรหันต์’
[๓๗๙] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรปฏิบัติด้วย
การอดอาหารทุกอย่าง’ ขณะนั้น เทวดาทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าได้ปฏิบัติด้วยการอดอาหารทุกอย่าง ถ้าท่านจักปฏิบัติด้วย
การอดอาหารทุกอย่าง ข้าพเจ้าทั้งหลายจะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขนของท่าน
ท่านจะได้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น’ เราจึงมีความดำริว่า ‘เราปฏิญญาว่า
จะต้องอดอาหารทุกอย่าง แต่เทวดาเหล่านี้จะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขน
ของเรา เราจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น การปฏิญญานั้นก็จะพึงเป็นมุสาแก่เรา’
เราจึงกล่าวห้ามเทวดาเหล่านั้นว่า ‘อย่าเลย’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๗/๘๑
๒ วิหารธรรม ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ กล่าวคือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ อันเป็นโลกิยะ (ดูประกอบ
ใน องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๔๑/๓๖๐-๓๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

[๓๘๐] อัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกินอาหารให้
น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อใน
เมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง’ เราจึงกินอาหาร
น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อใน
เมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง เมื่อเรากินอาหาร
ให้น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อ
ในเมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง’ กายก็ซูบผอมมาก
อวัยวะน้อยใหญ่ของเราจึงเป็นเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมากหรือเถาวัลย์ที่มีข้อดำ เนื้อ
สะโพกก็ลีบเหมือนกีบเท้าอูฐ กระดูกสันหลังก็ผุดเป็นหนามเหมือนเถาวัลย์ ซี่โครง
ทั้ง ๒ ข้างขึ้นสะพรั่ง เหมือนกลอนศาลาเก่า ดวงตาทั้ง ๒ ข้างก็ลึกเข้าไปในเบ้าตา
เหมือนดวงดาวปรากฏอยู่ในบ่อน้ำลึก หนังบนศีรษะก็เหี่ยวหดเหมือนลูกน้ำเต้าที่
เขาตัดมาขณะยังดิบต้องลมและแดดเข้าก็เหี่ยวหดไป เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยนั้น
เราคิดว่า ‘จะลูบพื้นท้อง’ ก็จับถึงกระดูกสันหลัง คิดว่า ‘จะลูบกระดูกสันหลัง’ ก็จับ
ถึงพื้นท้อง เพราะพื้นท้องของเราแนบติดจนถึงกระดูกสันหลัง เราคิดว่า ‘จะถ่าย
อุจจาระหรือถ่ายปัสสาวะ’ ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้น เมื่อจะให้กายสบายบ้าง จึงใช้
ฝ่ามือลูบตัว ขนทั้งหลายที่มีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อย
มนุษย์ทั้งหลายเห็นเราแล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมดำไป’ บางพวกก็
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมไม่ดำเพียงแต่คล้ำไป’ บางพวกก็กล่าวว่า ‘ไม่ดำ
ไม่คล้ำ เพียงแต่พร้อยไป’ เรามีผิวพรรณบริสุทธิ์ เปล่งปลั่ง เพียงแต่เสียผิวไป
เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยเท่านั้น
[๓๘๑] อัคคิเวสสนะ เรานั้นมีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งในอดีตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะความ
เพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่ง ในอนาคตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะ
ความเพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือพราหมณ์
เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้น
เพราะความเพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป แต่เราก็ยัง
มิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วย
ทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางอื่นที่จะตรัสรู้บ้างไหม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

เราจึงมีความดำริว่า ‘เราจำได้อยู่ เมื่อคราวงานของท้าวสักกาธิบดีซึ่งเป็น
พระราชบิดา เรานั่งอยู่ใต้ต้นหว้าอันร่มเย็น ได้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ทางนั้นพึงเป็นทางแห่ง
การตรัสรู้หรือหนอ’ เรามีความรู้แจ้งที่ตามระลึกด้วยสติว่า ‘ทางนั้นเป็นทางแห่งการ
ตรัสรู้’ เราจึงมีความดำริว่า ‘เรากลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
หรือ’ เราก็ดำริว่า ‘เราไม่กลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายเลย’
[๓๘๒] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริต่อไปว่า ‘เราผู้มีกายซูบผอมมาก
อย่างนี้ จะบรรลุความสุขนั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายเลย ทางที่ดี เราควรกินอาหารหยาบ
คือข้าวสุกและขนมกุมมาส’ เราก็กินอาหารหยาบคือข้าวสุกและขนมกุมมาส ครั้งนั้น
ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่เฝ้าบำรุงเราด้วยหวังว่า ‘พระสมณโคดมบรรลุธรรมใด จักบอก
ธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย’ เมื่อใด เรากินอาหารหยาบ คือข้าวสุกและขนมกุมมาส
เมื่อนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น ก็เบื่อหน่ายจากไปด้วยเข้าใจว่า ‘พระสมณโคดมมักมาก
คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว’

ฌาน ๔ และวิชชา ๓

[๓๘๓] อัคคิเวสสนะ เรากินอาหารหยาบให้ร่างกายมีกำลัง สงัดจากกาม
และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิด
จากวิเวกอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป เราบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มี
ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เพราะปีติจางคลายไป เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’
แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้นก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว เราบรรลุ
จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิด
ขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๖ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker