ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๐๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. มูลปริยายวรรค
หมวดว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรม
๑. มูลปริยายสูตร
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรม

[๑] ข้าพเจ้า๑ ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคนไม้รังใหญ่ในสุภควัน เขตเมือง
อุกกัฏฐา ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า "ภิกษุ
ทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง๒แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว"
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้ หมายถึงพระอานนท์
๒ คำว่า มูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง แปลจากคำว่า สพฺพธมฺมมูลปริยาย มีอธิบายเฉพาะคำดังนี้ คำว่า มูล
ในที่นี้หมายถึงเหตุที่ไม่ทั่วไป คำว่า เหตุ (ปริยาย) หมายถึงเทศนา เหตุ และวาระ แต่ในที่นี้หมายถึงเหตุ
หรือเทศนา คำว่า ธรรมทั้งปวง หมายถึงปริยัติ อริยสัจ สมาธิ ปัญญา ปกติ สภาวะ สุญญตา ปุญญะ
อาบัติ และเญยยะเป็นต้น แต่ในที่นี้หมายถึงสภาวะ ดังนั้นคำว่า มูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง จึงหมายถึง
เทศนาว่าด้วยเหตุให้เกิดสภาวะทั้งปวง (ม.มู.อ. ๑/๑/๑๘-๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๑ ว่าด้วยปุถุชน

[๒] “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน๑ในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ๒
ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้พบสัตบุรุษ๓ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำใน
ธรรมของสัตบุรุษ หมายรู้ปฐวี๔(ดิน)โดยความเป็นปฐวี ครั้นหมายรู้ปฐวีโดย
ความเป็นปฐวี๕แล้ว กำหนดหมายซึ่งปฐวี๖ กำหนดหมายในปฐวี กำหนดหมาย
นอกปฐวี๗ กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ยินดีปฐวี๘

เชิงอรรถ :
๑ ปุถุชน หมายถึงคนที่ยังมีกิเลสหนา ที่เรียกเช่นนี้เพราะบุคคลประเภทนี้ยังมีเหตุก่อให้เกิดกิเลสอย่างหนา
นานัปการ ปุถุชนมี ๒ ประเภท คือ (๑) อันธปุถุชน คนที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิต (๒) กัลยาณ-
ปุถุชน คนที่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิตแล้ว (ม.มู.อ. ๑/๒/๒๒, ที.สี.อ. ๑/๗/๕๘-๕๙)
๒ พระอริยะ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวก ที่ชื่อว่าพระอริยะ เพราะเป็นผู้
ไกลจากกิเลส ไม่ดำเนินไปในทางเสื่อม ดำเนินไปแต่ในทางเจริญ เป็นผู้ที่ชาวโลกและเทวโลกควรดำเนินตาม
(ม.มู.อ. ๑/๒/๒๒)
๓ สัตบุรุษ โดยทั่วไป หมายถึงคนกตัญญูกตเวที เป็นนักปราชญ์ เป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้มีความภักดีมั่นคง
กระทำการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยความเต็มใจ แต่ในที่นี้ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า
และพระพุทธสาวก (ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๗๘-๗๙/๖๐๘, ม.มู.อ. ๑/๒/๒๒)
๔ ปฐวี มี ๔ ชนิด คือ (๑) ลักขณปฐวี เป็นสิ่งที่แข็งกระด้าง หยาบเฉพาะตนในตัวมันเอง (๒) สสัมภารปฐวี
เป็นส่วนแห่งอวัยวะมีผมเป็นต้น และวัตถุภายนอกมีโลหะเป็นต้น พร้อมทั้งคุณสมบัติมีสีเป็นต้น
(๓) อารัมมณปฐวี เป็นปฐวีธาตุที่นำมากำหนดเป็นอารมณ์ของปฐวีกสิณ นิมิตตปฐวี ก็เรียก
(๔) สัมมติปฐวี เป็นปฐวีธาตุที่ปฐวีเทวดามาเกิดในเทวโลกด้วยอำนาจปฐวีกสิณและฌาน ในที่นี้ ปฐวี
หมายถึงทั้ง ๔ ชนิด (ม.มู.อ. ๑/๒/๒๗)
๕ หมายรู้ปฐวีโดยความเป็นปฐวี ในที่นี้หมายถึงหมายรู้แผ่นดินนั้นด้วยสัญญาที่วิปริต คือกำหนดให้ต่าง
ออกไปจากความเป็นจริงโดยประการต่าง ๆ ด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ที่มีกำลัง
(ม.มู.อ. ๑/๒/๒๘)
๖ กำหนดหมายซึ่งปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิว่า 'เราเป็นดิน ดินเป็นของเรา,
คนอื่นเป็นดิน ดินเป็นของคนอื่น หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจตัณหา ให้เกิดฉันทราคะ
ติดใจในผมเป็นต้นจนถึงตั้งความปรารถนาว่า 'ด้วยศีลหรือพรหมจรรย์นี้ ขอให้เรามีผมนุ่มดำสนิทดี,
กำหนดหมายด้วยอำนาจมานะว่า 'เราดีกว่า เราเสมอกัน หรือเราด้อยกว่า' และกำหนดหมายด้วยอำนาจ
ทิฏฐิ คือ ยึดมั่นว่าผมเป็นชีวะ โดยนัยว่า 'ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น' (ม.มู.อ. ๑/๒/๒๘-๓๐)
๗ กำหนดหมายในปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิว่า "มีเราอยู่ในดิน หรือเรามีปลิโพธิในดิน
มีผู้อื่นอยู่ในดิน หรือผู้อื่นมีปลิโพธในดิน" ตามนัยที่ว่า 'พิจารณาเห็นอัตตาในรูปเป็นต้น (ดู ขุ.ป.
๓๑/๓๑๖/๒๑๐) กำหนดหมายนอกปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิว่า ตนหรือคนอื่นพร้อม
ทั้งสรรพสิ่งล้วนแต่เกิดจากดินแต่มิใช่ดินตามลัทธิพรหมัณฑวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าโลกเกิดจากพรหม) ลัทธิ
อณุกวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าโลกประกอบด้วยอณู) หรือลัทธิอิสสรวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างโลก)
แล้วเกิดตัณหา มานะในตน และบุคคลอื่นตลอดถึงสรรพสิ่งนั้น (ม.มู.อ. ๑/๒/๓๐,ม.มู.ฏีกา ๑/๒/๙๒-๙๓)
๘ ยินดีปฐวี หมายถึงเพลิดเพลินยินดีติดใจปฐวีด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ความยินดีปฐวีนั่นเอง ชื่อว่ายินดี
ทุกข์ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า 'ผู้ใดยินดีปฐวีธาตุ ผู้นั้นยินดีทุกข์
ผู้ใดยินดีทุกข์ ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์' (ม.มู.อ. ๑/๒/๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้๑’
หมายรู้อาโป(น้ำ)โดยความเป็นอาโป ครั้นหมายรู้อาโปโดยความเป็นอาโปแล้ว
กำหนดหมายซึ่งอาโป กำหนดหมายในอาโป กำหนดหมายนอกอาโป กำหนด
หมายอาโปว่าเป็นของเรา ยินดีอาโป
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้เตโช(ไฟ)โดยความเป็นเตโช ครั้นหมายรู้เตโชโดยความเป็นเตโชแล้ว
กำหนดหมายซึ่งเตโช กำหนดหมายในเตโช กำหนดหมายนอกเตโช กำหนด
หมายเตโชว่าเป็นของเรา ยินดีเตโช
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้วาโย(ลม)โดยความเป็นวาโย ครั้นหมายรู้วาโยโดยความเป็นวาโยแล้ว
กำหนดหมายซึ่งวาโย กำหนดหมายในวาโย กำหนดหมายนอกวาโย กำหนด
หมายวาโยว่าเป็นของเรา ยินดีวาโย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

เชิงอรรถ :
๑ไม่ได้กำหนดรู้ หมายถึงไม่ได้กำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ ประการ คือ (๑) ญาตปริญญา ได้แก่ รู้ว่า ‘นี้เป็น
ปฐวีธาตุภายใน นี้เป็นปฐวีธาตุภายนอก นี้เป็นลักษณะ กิจ เหตุเกิด และที่เกิดแห่งปฐวีธาตุ’ หรือได้แก่
กำหนดนามและรูป (๒) ตีรณปริญญา ได้แก่ พิจารณาเห็นว่า ‘ปฐวีธาตุมีอาการ ๔๐ คือ อาการไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นโรค’ เป็นต้น หรือได้แก่ พิจารณากลาปะ (ความเป็นกลุ่มก้อน)เป็นต้น พิจารณาอนุโลมญาณ
เป็นที่สุด (๓) ปหานปริญญา ได้แก่ เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนั้นแล้ว จึงละฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วย
อำนาจความพอใจ) ในปฐวีธาตุด้วยอรหัตตผล หรือได้แก่ ญาณในอริยมรรค
เพราะปริญญา ๓ ประการนี้ไม่มีแก่ปุถุชน เขาจึงกำหนดหมายและยินดีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ
และวาโยธาตุ (ม.มู.อ. ๑/๒/๓๑-๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

[๓] หมายรู้ภูต๑โดยความเป็นภูต ครั้นหมายรู้ภูตโดยความเป็นภูตแล้ว
กำหนดหมายซึ่งภูต กำหนดหมายในภูต กำหนดหมายนอกภูต กำหนดหมายภูต
ว่าเป็นของเรา ยินดีภูต
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้เทวดาโดยความเป็นเทวดา ครั้นหมายรู้เทวดาโดยความเป็นเทวดาแล้ว
กำหนดหมายซึ่งเทวดา กำหนดหมายในเทวดา กำหนดหมายนอกเทวดา กำหนด
หมายเทวดาว่าเป็นของเรา ยินดีเทวดา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้ปชาบดี๒ โดยความเป็นปชาบดี ครั้นหมายรู้ปชาบดีโดยความเป็น
ปชาบดีแล้ว กำหนดหมายซึ่งปชาบดี กำหนดหมายในปชาบดี กำหนดหมายนอก
ปชาบดี กำหนดหมายปชาบดีว่าเป็นของเรา ยินดีปชาบดี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้พรหมโดยความเป็นพรหม ครั้นหมายรู้พรหมโดยความเป็นพรหมแล้ว
กำหนดหมายซึ่งพรหม กำหนดหมายในพรหม กำหนดหมายนอกพรหม กำหนด
หมายพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

เชิงอรรถ :
๑ ภูต หมายถึงขันธ์ ๕ อมนุษย์ ธาตุ สิ่งที่มีอยู่ พระขีณาสพ สัตว์ และต้นไม้เป็นต้น แต่ในที่นี้หมายถึงสัตว์
ทั้งหลายผู้อยู่ต่ำกว่าชั้นจาตุมหาราช (ม.มู.อ. ๑/๓/๓๔)๔)
๒ ปชาบดี หมายถึงผู้ยิ่งใหญ่กว่าปชาคือหมู่สัตว์ ได้แก่ มารชื่อว่า ปชาบดี เพราะปกครองเทวโลกชั้นปรนิม-
มิตวสวัตดี (ม.มู.อ. ๑/๓/๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

หมายรู้อาภัสสรพรหมโดยความเป็นอาภัสสรพรหม ครั้นหมายรู้อาภัสสร-
พรหมโดยความเป็นอาภัสสรพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งอาภัสสรพรหม กำหนด
หมายในอาภัสสรพรหม กำหนดหมายนอกอาภัสสรพรหม กำหนดหมายอาภัสสร-
พรหมว่าเป็นของเรา ยินดีอาภัสสรพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้สุภกิณหพรหมโดยความเป็นสุภกิณหพรหม ครั้นหมายรู้สุภกิณห-
พรหมโดยความเป็นสุภกิณหพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งสุภกิณหพรหม กำหนด
หมายในสุภกิณหพรหม กำหนดหมายนอกสุภกิณหพรหม กำหนดหมายสุภกิณห-
พรหมว่าเป็นของเรา ยินดีสุภกิณหพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้เวหัปผลพรหมโดยความเป็นเวหัปผลพรหม ครั้นหมายรู้เวหัปผล-
พรหมโดยความเป็นเวหัปผลพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งเวหัปผลพรหม กำหนด
หมายในเวหัปผลพรหม กำหนดหมายนอกเวหัปผลพรหม กำหนดหมายเวหัปผล-
พรหมว่าเป็นของเรา ยินดีเวหัปผลพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้อภิภูสัตว์๑ โดยความเป็นอภิภูสัตว์ ครั้นหมายรู้อภิภูสัตว์โดยความ
เป็นอภิภูสัตว์แล้ว กำหนดหมายซึ่งอภิภูสัตว์ กำหนดหมายในอภิภูสัตว์ กำหนด
หมายนอกอภิภูสัตว์ กำหนดหมายอภิภูสัตว์ว่าเป็นของเรา ยินดีอภิภูสัตว์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้

เชิงอรรถ :
๑ อภิภูสัตว์ กับ อสัญญีสัตว์ เป็นไวพจน์ของกันและกัน หมายถึงสัตว์ผู้ไม่มีสัญญา สถิตอยู่ในชั้นเดียวกับ
เวหัปผลพรหม บังเกิดด้วยอิริยาบถใดก็สถิตอยู่ด้วยอิริยาบถนั้นตราบสิ้นอายุขัย (ม.มู.อ. ๑/๓/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

[๔] หมายรู้อากาสานัญจายตนพรหมโดยความเป็นอากาสานัญจายตน-
พรหม ครั้นหมายรู้อากาสานัญจายตนพรหมโดยความเป็นอากาสานัญจายตน-
พรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งอากาสานัญจายตนพรหม กำหนดหมายใน
อากาสานัญจายตนพรหม กำหนดหมายนอกอากาสานัญจายตนพรหม กำหนด
หมายอากาสานัญจายตนพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีอากาสานัญจายตนพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'
หมายรู้วิญญาณัญจายตนพรหมโดยความเป็นวิญญาณัญจายตนพรหม ครั้น
หมายรู้วิญญาณัญจายตนพรหมโดยความเป็นวิญญาณัญจายตนพรหมแล้ว
กำหนดหมายซึ่งวิญญาณัญจายตนพรหม กำหนดหมายในวิญญาณัญจายตนพรหม
กำหนดหมายนอกวิญญาณัญจายตนพรหม กำหนดหมายวิญญาณัญจายตนพรหม
ว่าเป็นของเรา ยินดีวิญญาณัญจายตนพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'
หมายรู้อากิญจัญญายตนพรหมโดยความเป็นอากิญจัญญายตนพรหม ครั้น
หมายรู้อากิญจัญญายตนพรหมโดยความเป็นอากิญจัญญายตนพรหมแล้ว กำหนด
หมายซึ่งอากิญจัญญายตนพรหม กำหนดหมายในอากิญจัญญายตนพรหม
กำหนดหมายนอกอากิญจัญญายตนพรหม กำหนดหมายอากิญจัญญายตนพรหม
ว่าเป็นของเรา ยินดีอากิญจัญญายตนพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'
หมายรู้เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมโดยความเป็นเนวสัญญานาสัญญายตน-
พรหม ครั้นหมายรู้เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมโดยความเป็นเนวสัญญา-
นาสัญญายตนพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม กำหนด
หมายในเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม กำหนดหมายนอกเนวสัญญา-
นาสัญญายตนพรหม กำหนดหมายเนวสัญญานาสัญญายตนพรหมว่าเป็นของเรา
ยินดีเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
[๕] หมายรู้รูปที่ตนเห็น๑โดยความเป็นรูปที่ตนเห็น ครั้นหมายรู้รูปที่ตนเห็น๑
โดยความเป็นรูปที่ตนเห็นแล้ว กำหนดหมายซึ่งรูปที่ตนเห็น กำหนดหมายในรูป
ที่ตนเห็น กำหนดหมายนอกรูปที่ตนเห็น กำหนดหมายรูปที่ตนเห็นว่าเป็นของเรา
ยินดีรูปที่ตนเห็น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้เสียงที่ตนได้ยิน๒โดยความเป็นเสียงที่ตนได้ยิน ครั้นหมายรู้เสียงที่ตน
ได้ยินโดยความเป็นเสียงที่ตนได้ยินแล้ว กำหนดหมายซึ่งเสียงที่ตนได้ยิน กำหนด
หมายในเสียงที่ตนได้ยิน กำหนดหมายนอกเสียงที่ตนได้ยิน กำหนดหมายเสียงที่
ตนได้ยินว่าเป็นของเรา ยินดีเสียงที่ตนได้ยิน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้อารมณ์ที่ตนทราบ๓โดยความเป็นอารมณ์ที่ตนทราบ ครั้นหมายรู้
อารมณ์ที่ตนทราบโดยความเป็นอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว กำหนดหมายซึ่งอารมณ์
ที่ตนทราบ กำหนดหมายในอารมณ์ที่ตนทราบ กำหนดหมายนอกอารมณ์ที่ตน
ทราบ กำหนดหมายอารมณ์ที่ตนทราบว่าเป็นของเรา ยินดีอารมณ์ที่ตนทราบ

เชิงอรรถ :
๑ รูปที่ตนเห็น หมายถึงสิ่งที่ตนเห็นทางมังสจักขุ หรือทิพพจักขุ คำนี้เป็นชื่อแห่งรูปายตนะ (ม.มู.อ. ๑/๕/๔๐)
๒ เสียงที่ตนได้ยิน หมายถึงสิ่งที่ตนฟังทางมังสโสตะ หรือทิพพโสตะ คำนี้เป็นชื่อแห่งสัททายตนะ
(ม.มู.อ. ๑/๕/๔๑)
๓ อารมณ์ที่ตนทราบ หมายถึงอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว และรู้แล้วจึงรับเอา คือ เข้าไปกระทบรับเอา มีคำ
อธิบายว่า ที่ตนรู้แจ้งแล้วเพราะการกระทบกันและกันระหว่างอินทรีย์กับอารมณ์ทั้งหลาย คำนี้เป็นชื่อแห่ง
คันธายตนะ รสายตนะ และโผฏฐัพพายตนะ (ม.มู.อ. ๑/๕/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง๑โดยความเป็นอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ครั้นหมายรู้
อารมณ์ที่ตนรู้แจ้งโดยความเป็นอารมณ์ที่ตนรู้แจ้งแล้ว กำหนดหมายซึ่งอารมณ์ที่
ตนรู้แจ้ง กำหนดหมายในอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง กำหนดหมายนอกอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง
กำหนดหมายอารมณ์ที่ตนรู้แจ้งว่าเป็นของเรา ยินดีอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
[๖] หมายรู้ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกันโดยความเป็นอัน
เดียวกัน ครั้นหมายรู้ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกันโดยความเป็นอัน
เดียวกันแล้ว กำหนดหมายซึ่งความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
กำหนดหมายในความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน กำหนดหมายนอก
ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน กำหนดหมายความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติ
เป็นอันเดียวกันว่าเป็นของเรา ยินดีความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้ความที่กามจิตต่างกันโดยความเป็นของต่างกัน ครั้นหมายรู้ความที่
กามจิตต่างกันโดยความเป็นของต่างกันแล้ว กำหนดหมายซึ่งความที่กามจิตต่างกัน
กำหนดหมายในความที่กามจิตต่างกัน กำหนดหมายนอกความที่กามจิตต่างกัน
กำหนดหมายความที่กามจิตต่างกันว่าเป็นของเรา ยินดีความที่กามจิตต่างกัน

เชิงอรรถ :
๑ อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง หมายถึงอารมณ์ที่ตนรู้แจ้งทางใจ คำนี้เป็นชื่อแห่งอายตนะที่เหลือ อีกอย่างหนึ่ง
เป็นชื่อแห่งธรรมารมณ์ แต่ในที่นี้ได้เฉพาะอารมณ์ที่นับเนื่องในกายของตน (ม.มู.อ. ๑/๕/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้สักกายะ๑ทั้งปวงโดยความเป็นสักกายะทั้งปวง ครั้นหมายรู้สักกายะ
ทั้งปวงโดยความเป็นสักกายะทั้งปวงแล้ว กำหนดหมายซึ่งสักกายะทั้งปวง กำหนด
หมายในสักกายะทั้งปวง กำหนดหมายนอกสักกายะทั้งปวง กำหนดหมายสักกายะ
ทั้งปวงว่าเป็นของเรา ยินดีสักกายะทั้งปวง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้นิพพาน๒โดยความเป็นนิพพาน ครั้นหมายรู้นิพพานโดยความเป็น
นิพพานแล้ว กำหนดหมายซึ่งนิพพาน กำหนดหมายในนิพพาน กำหนดหมาย
นอกนิพพาน กำหนดหมายนิพพานว่าเป็นของเรา ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๑ ว่าด้วยปุถุชน จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๒ ว่าด้วยเสขบุคคล

[๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดยังเป็นเสขบุคคล๑ ไม่ได้บรรลุอรหัตตผล
ปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวี
โดยความเป็นปฐวี๒ ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว อย่ากำหนดหมายซึ่งปฐวี
อย่ากำหนดหมายในปฐวี อย่ากำหนดหมายนอกปฐวี อย่ากำหนดหมายปฐวีว่า
เป็นของเรา อย่ายินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาควรกำหนดรู้’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ...
พรหม ... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน ...
ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว อย่ากำหนดหมายซึ่งนิพพาน อย่า
กำหนดหมายในนิพพาน อย่ากำหนดหมายนอกนิพพาน อย่ากำหนดหมาย
นิพพานว่าเป็น ของเรา อย่ายินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาควรกำหนดรู้’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๒ ว่าด้วยเสขบุคคล จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๓ ว่าด้วยพระขีณาสพ

[๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น
ภวสังโยชน์๒แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี
ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี
ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขากำหนดรู้แล้ว’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม ...
อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน ...
ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขากำหนดรู้แล้ว’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๓ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๔ ว่าด้วยพระขีณาสพ

[๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น
ภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี
ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี
ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากราคะ เนื่องจากราคะสิ้นไป’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม ...
อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม ...
เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์ที่
ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน ...
ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากราคะ เนื่องจากราคะสิ้นไป’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๔ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๕ ว่าด้วยพระขีณาสพ

[๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น
ภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี
ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี
ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโทสะ เนื่องจากโทสะสิ้นไป’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม
... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโทสะ เนื่องจากโทสะสิ้นไป’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๕ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๖ ว่าด้วยพระขีณาสพ

[๑๑] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น
ภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี
ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี
ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโมหะ เนื่องจากโมหะสิ้นไป’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม
... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโมหะ เนื่องจากโมหะสิ้นไป’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๖ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๗ ว่าด้วยพระตถาคต๑

[๑๒] ภิกษุทั้งหลาย แม้ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้ยิ่งปฐวีโดย
ความเป็นปฐวี ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี
ไม่กำหนดหมายในปฐวี ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะตถาคตกำหนดรู้ปฐวีนั้นแล้ว’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม
... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะตถาคตกำหนดรู้นิพพานนั้นแล้ว’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๗ ว่าด้วยพระตถาคต จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๘ ว่าด้วยพระตถาคต

[๑๓] ภิกษุทั้งหลาย แม้ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้ยิ่งปฐวีโดย
ความเป็นปฐวี ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี
ไม่กำหนดหมายในปฐวี ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของ
เรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะรู้ว่า ‘ความเพลิดเพลินเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ เพราะมีภพ ชาติจึงมี สัตว์
ผู้เกิดแล้วต้องแก่ ต้องตาย’ เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘ตถาคตตรัสรู้อนุตตร-
สัมมาสัมโพธิญาณ เพราะสิ้นตัณหา คลายตัณหา ดับตัณหา สละตัณหา สลัดทิ้ง
ตัณหาโดยประการทั้งปวง’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม
... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะรู้ว่า ‘ความเพลิดเพลินเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ เพราะมีภพ ชาติจึงมี
สัตว์ผู้เกิดแล้วต้องแก่ ต้องตาย’ เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘ตถาคตตรัสรู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะสิ้นตัณหา คลายตัณหา ดับตัณหา สละตัณหา
สลัดทิ้งตัณหาโดยประการทั้งปวง”

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๘ ว่าด้วยพระตถาคต จบ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมิได้มีใจยินดีชื่นชม๑พระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มูลปริยายสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัพพาสวสูตร
ว่าด้วยอุบายกำจัดอาสวะทั้งปวง

[๑๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงเหตุแห่งการปิดกั้นอาสวะ๒ทั้งปวงแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัส
แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ มิได้มีใจยินดีชื่นชม หมายถึงภิกษุเหล่านั้นไม่รู้คือไม่เข้าใจเนื้อความของพระสูตรนี้ เหตุยังมีมานะทิฏฐิ
มาก เพราะมัวเมาในปริยัติ และเพราะพระภาษิตนั้นลึกซึ้งด้วยนัยที่ ๑ คือ ปุถุชน จนถึงนัยที่ ๘ คือ
พระตถาคต ท่านเหล่านั้นจึงไม่รู้แจ้งอรรถแห่งพระพุทธพจน์ จึงมิได้มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตนั้น ภายหลัง
ได้สดับโคตมกสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสที่โคตมกเจดีย์แล้ว จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมทั้ง
ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย (ม.มู.อ. ๑/๑๓/๖๒-๖๕)
๒ อาสวะ หมายถึงกิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่าง ๆ
มี ๔ อย่าง คือ (๑) กามาสวะ อาสวะคือกาม (๒) ภวาสวะ อาสวะคือภพ (๓) ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ
(๔) อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา (ตามนัย อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖-๕๘๗) แต่พระสูตรจัดเป็น ๓
เพราะสงเคราะห์ทิฏฐาสวะเข้าในภวาสวะ (ม.มู.อ. ๑/๑๔/๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

[๑๕] “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้ ผู้เห็น เราไม่
กล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้ไม่รู้ ผู้ไม่เห็น เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้
ผู้เห็นอะไร (คือ)ผู้รู้ ผู้เห็นโยนิโสมนสิการ๑ และอโยนิโสมนสิการ๒ เมื่อภิกษุมนสิการ
โดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่
เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด
ย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
[๑๖] ภิกษุทั้งหลาย อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยทัสสนะ๓ก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการสังวร๔ก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการใช้สอยก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการอดกลั้นก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเว้นก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการบรรเทาก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเจริญก็มี

อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ

[๑๗] อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรม
ของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่รู้ทั่วถึง
ธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ เขาเมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควร
มนสิการ เมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร
มนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควรมนสิการ

เชิงอรรถ :
๑ โยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย โดยถูกทาง กล่าวคือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ
การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็น
อนัตตา หรือโดยสัจจานุโลมิกญาณ (ม.มู.อ. ๑/๑๕/๗๑)
๒ อโยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยไม่ถูกอุบาย โดยไม่ถูกทาง กล่าวคือการทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่
เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา หรือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ
การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจถึงความคิดโดยนัยที่กลับกันกับสัจธรรม (ม.มู.อ. ๑/๑๕/๗๑)
๓ ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ม.มู.อ. ๑/๒๑/๘๑, ม.มู.ฏีกา ๑/๑๖/๑๙๐)
๔ สังวร เป็นชื่อของสติ หมายถึงการระวังการปิดการกั้น (ม.มู. ฏีกา ๑/๑๖/๑๙๑) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล)
๒๒/๕๘/๕๔๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนมนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อปุถุชนมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะ๑ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ภวาสวะ๒ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วย่อมเจริญ
และอวิชชาสวะ๓ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เหล่านี้คือธรรมที่
ไม่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนมนสิการ
ธรรมที่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนไม่มนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อปุถุชนมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป เหล่านี้คือธรรม
ที่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนไม่มนสิการ
เพราะปุถุชนนั้นมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควร
มนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมเจริญ
[๑๘] ปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า ‘ในอดีตกาลยาวนาน
เราได้มีแล้ว หรือมิได้มีแล้วหนอ เราได้เป็นอะไรมาหนอ เราได้เป็นอย่างไรมาหนอ
เราได้เป็นอะไรแล้วจึงมาเป็นอะไรอีกหนอ ในอนาคตกาลยาวนาน เราจักมีหรือจัก
ไม่มีหนอ เราจักเป็นอะไรหนอ เราจักเป็นอย่างไรหนอ เราจักเป็นอะไรแล้วไปเป็น
อะไรอีกหนอ’ หรือว่าบัดนี้ มีความสงสัยภายในตน ปรารภปัจจุบันกาลกล่าวว่า
‘เรามีอยู่หรือไม่หนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาจากไหนหนอ
และเขาจักไปไหนกันหนอ’

เชิงอรรถ :
๑ กามาสวะ หมายถึงความกำหนัดในกามคุณ ๕ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔)
๒ ภวาสวะ หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูปภพและอรูปภพ ความติดใจในฌานที่สหรคต
ด้วยสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ รวมทั้งทิฏฐาสวะ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔)
๓ อวิชชาสวะ หมายถึงความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

[๑๙] เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ ทิฏฐิ(ความเห็นผิด)
อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาทิฏฐิ ๖ ก็เกิดขึ้น คือ
๑. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘อัตตาของเรามีอยู่’
๒. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘อัตตาของเราไม่มี’
๓. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักอัตตาได้ด้วยอัตตา’
๔. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักสิ่งที่ไม่ใช่อัตตาได้ด้วยอัตตา’
๕. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักอัตตาได้ด้วยสิ่งที่ไม่ใช่อัตตา’
๖. อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิเกิดมีแก่ผู้นั้น อย่างนี้ว่า ‘อัตตาของเรานี้ใด เป็นผู้กล่าว
เป็นผู้รู้ เสวยผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วในอารมณ์นั้น ๆ อัตตาของเรา
นี้นั้นเป็นสภาวะที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
จักดำรงอยู่เสมอด้วยสิ่งที่แน่นอน’
ข้อนี้เราเรียกว่า ทิฏฐิ ได้แก่ ป่าทึบคือทิฏฐิ ทางกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม
คือทิฏฐิ ความเดือดร้อนคือทิฏฐิ กิเลสเครื่องผูกพันสัตว์คือทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ‘ปุถุชนผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ผู้ยังไม่ได้สดับ
ย่อมไม่พ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) ย่อมไม่พ้นจากทุกข์’
[๒๐] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดใน
ธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึง
ธรรมที่ควรมนสิการ รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ อริยสาวกนั้นเมื่อรู้ทั่วถึงธรรม
ที่ควรมนสิการ เมื่อรู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร
มนสิการ มนสิการถึงแต่ธรรมที่ควรมนสิการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิด
ขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ
และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เหล่านี้คือธรรมที่ไม่
ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ
ธรรมที่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกมนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่
เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมเสื่อมไป และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
เหล่านี้คือธรรมที่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกมนสิการ
เพราะอริยสาวกนั้น ไม่มนสิการถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ มนสิการถึงธรรม
ที่ควรมนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่
เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
[๒๑] อริยสาวกนั้นมนสิการโดยแยบคายว่า ‘นี้ทุกข์(สภาวะที่ทนได้ยาก) นี้
ทุกขสมุทัย(เหตุเกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)’ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการโดยแยบคายอย่างนี้
สังโยชน์ ๓ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ(ความเห็นว่าเป็นตัวของตน) (๒) วิจิกิจฉา(ความ
ลังเลสงสัย) (๓) สีลัพพตปรามาส(ความถือมั่นศีลและวัตร) ย่อมสิ้นไป
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร

[๒๒] อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคาย เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรใน
จักขุนทรีย์๑อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อม
ไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วย
การสังวรในโสตินทรีย์อยู่ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วย
การสังวรในฆานินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม
ด้วยการสังวรในชิวหินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม
ด้วยการสังวรในกายินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม
ด้วยการสังวรในมนินทรีย์อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่
ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร

อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย

[๒๓] อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยจีวรเพียงเพื่อป้องกัน
ความหนาว ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน
เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะที่ก่อให้เกิดความละอาย

เชิงอรรถ :
๑ จักขุนทรีย์ หมายถึงจักขุที่เป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป ๔ นับเนื่องในอัตภาพ ที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้
เคยกระทบ กำลังกระทบ จักกระทบ หรือพึงกระทบ (อภิ.สงฺ.(แปล) ๓๔/๕๙๗/๑๙๑) ที่ชื่อว่า จักขุนทรีย์
เพราะทำหน้าที่เป็นใหญ่ในจักขุทวาร (อภิ.วิ.อ. ๒/๒๑๙/๑๓๔) โสตินทรีย์เป็นต้นก็มีนัยเช่นเดียวกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันบิณฑบาตไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความ
มัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ๑ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง๒ แต่เพียงเพื่อกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้
ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า
'โดยอุบายนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความ
ดำรงอยู่แห่งชีวิต ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา' แล้วจึงบริโภค
อาหาร
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยเสนาสนะเพียงเพื่อป้องกันความหนาว
ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทา
อันตรายที่เกิดจากฤดู และเพื่อความยินดีในการหลีกเร้น
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร๓ เพียงเพื่อบรรเทา
เวทนาที่เกิดจากอาพาธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และเพื่อไม่มีความเบียดเบียนเป็นที่สุด
ซึ่งเมื่อเธอไม่ใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น
เมื่อเธอใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วย
อาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย

เชิงอรรถ :
๑ เพื่อประดับ ในที่นี้หมายถึงเพื่อให้ร่างกายอ้วนพี อวบอิ่มเหมือนหญิงแพศยา (ม.มู.ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๑,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๕, วิสุทฺธิ. ๑/๑๘/๓๓)
๒ เพื่อตกแต่ง ในที่นี้หมายถึงเพื่อประเทืองผิวให้งดงาม เหมือนหญิงนักฟ้อน มุ่งถึงความมีผิวพรรณงาม (ม.มู.
ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๑, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๕, วิสุทฺธิ. ๑/๑๘/๓๓)
๓ คิลานปัจจัยเภสัชบริชาร คือเภสัช ๕ ชนิด ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐,
สารตฺถ.ฏีกา ๒/๒๙๐/๓๙๓)
เป็นสิ่งสัปปายะสำหรับภิกษุผู้เจ็บไข้ จัดว่าเป็นบริขาร คือบริวารของชีวิต ดุจกำแพงล้อมพระนคร
เพราะคอยป้องกันรักษาไม่ให้อาพาธที่จะบั่นรอนชีวิตได้ช่องเกิดขึ้น และเป็นสัมภาระของชีวิต คอยประคับ
ประคองชีวิตให้ดำรงอยู่นาน (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐-๔๑, ม.มู.อ. ๑/๑๙๑/๓๙๗, ม.มู.ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๓)
เป็นเครื่องป้องกันโรค บำบัดโรคที่ให้เกิดทุกขเวทนา เนื่องจากธาตุกำเริบให้หายไป (สารตฺถ.ฏีกา
๒/๒๙๐/๓๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น

[๒๔] อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้อดทนต่อความหนาว
ความร้อน ความหิว ความกระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์
เลื้อยคลาน เป็นผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำหยาบ คำส่อเสียด เป็นผู้อดกลั้นต่อเวทนา
ทั้งหลายอันมีในร่างกาย เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ
พรากชีวิตได้ ซึ่งเมื่อเธอไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธออดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น

อาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น

[๒๕] อาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นช้างดุร้าย เว้นม้าดุร้าย
เว้นโคดุร้าย เว้นสุนัขดุร้าย เว้นงู หลัก ตอ สถานที่มีหนาม หลุม เหว บ่อน้ำครำ
บ่อโสโครก และพิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นสถานที่ที่ไม่ควรนั่ง สถานที่ไม่ควร
เที่ยวไป และมิตรชั่วที่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายลงความเห็นว่าเป็นฐานะที่เป็นบาปเสีย
ซึ่งเมื่อเธอไม่เว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น
เมื่อเธอเว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วย
อาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าอาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา

[๒๖] อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ
บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป พิจารณาโดยแยบคาย
แล้วไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับ
บาปอกุศลธรรม๑ที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้ถึง
ความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งเมื่อเธอไม่บรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอบรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา

อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ

[๒๗] อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์๒ ที่
อาศัยวิเวก๓(ความสงัด) อาศัยวิราคะ(ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ(ความดับ)
น้อมไปในการสละ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ
เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปีติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

เชิงอรรถ :
๑ บาปอกุศลธรรม หมายถึงสภาวธรรมที่เป็นอกุศล มี ๖ ประการ คือ (๑) ญาติวิตก ความตรึกถึง
ญาติ (๒) ชนบทวิตก ความตรึกถึงบ้านตัวเอง (๓) อมรวิตก ความตรึกที่มีทิฏฐิซัดส่ายไม่แน่นอน
(๔) ปรานุททยตาปฏิสังยุตวิตก ความตรึกเรื่องอนุเคราะห์ผู้อื่น (๕) ลาภสักการสิโลกปฏิสังยุตวิตก
ความตรึกถึงลาภสักการะและสรรเสริญ (๖) อนวิญญัติปฏิสังยุตวิตก ความตรึกเรื่องเกรงผู้อื่นจะดูหมิ่น
(ม.มู.อ. ๑/๒๖/๙๐)
๒ สัมโพชฌงค์ หมายถึงธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ มี ๗ ประการ คือ (๑) สติ ความระลึกได้
(๒) ธัมมวิจยะ ความเลือกเฟ้นธรรม (๓) วิริยะ ความเพียร (๔) ปีติ ความอิ่มใจ (๕) ปัสสัทธิ ความสงบ
กายสงบใจ (๖) สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น (๗) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง
แต่ละข้อมีสัมโพชฌงค์ต่อท้ายเช่น สติสัมโพชฌงค์ (ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑,๓๕๗/๒๕๘, อภิ.วิ.(แปล)
๓๕/๔๖๘/๓๕๙, ม.มู,อ. ๑/๒๗/๙๑-๙๒)
๓ วิเวก ในที่นี้หมายถึงวิเวก ๕ ประการ คือ (๑) วิกขัมภนวิเวก(ความสงัดด้วยการข่มไว้) (๒) ตทังควิเวก
(ความสงัดด้วยองค์นั้น ๆ) (๓) สมุจเฉทวิเวก(ความสงัดด้วยการตัดขาด) (๔) ปัสสัทธิวิเวก(ความสงัด
ด้วยการสงบระงับ) (๕) นิสสรณวิเวก(ความสงัดด้วยการสลัดออกได้) (ม.มู.อ. ๑/๒๗/๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

ฯลฯ เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่อาศัยวิเวก อาศัย
วิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ซึ่งเมื่อไม่เจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อน
ที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ
[๒๘] ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยทัสสนะ อาสวะ
เหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยทัสสนะ อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละ
ด้วยการสังวร อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการสังวร อาสวะ
เหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยการใช้สอย อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว
ด้วยการใช้สอย อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยการอดกลั้น อาสวะเหล่านั้น
เป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการอดกลั้น อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วย
การเว้น อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการเว้น อาสวะเหล่าใด
ที่ภิกษุใดต้องละด้วยการบรรเทา อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว
ด้วยการบรรเทา อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยการเจริญ อาสวะเหล่านั้นเป็น
อาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการเจริญ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรอาสวะทั้งปวงอยู่
ตัดตัณหาได้แล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้
โดยชอบ๑”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

สัพพาสวสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

๓. ธัมมทายาทสูตร
ว่าด้วยทายาทแห่งธรรม

[๒๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้พระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเรา อย่าเป็นอามิส-
ทายาทเลย เรามีความเอ็นดูในพวกเธออยู่ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ สาวกทั้งหลาย
ของเราจะพึงเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท’ หากเธอทั้งหลายเป็นอามิส-
ทายาทของเรา ไม่เป็นธรรมทายาท เพราะข้อนั้น เธอทั้งหลายจะพึงถูกวิญญูชน
ทั้งหลายติเตียนว่า ‘สาวกของพระศาสดาเป็นอามิสทายาทอยู่ ไม่เป็นธรรมทายาท’
แม้เราก็จะพึงถูกวิญญูชนทั้งหลายติเตียนว่า ‘สาวกของพระศาสดาเป็นอามิสทายาทอยู่
ไม่เป็นธรรมทายาท’ หากเธอทั้งหลายจะพึงเป็นธรรมทายาทของเรา ไม่เป็น
อามิสทายาท เพราะข้อนั้น เธอทั้งหลายจะไม่พึงถูกวิญญูชนทั้งหลายติเตียนว่า
‘สาวกของพระศาสดาเป็นธรรมทายาทอยู่ ไม่เป็นอามิสทายาท’ แม้เราก็จะไม่พึง
ถูกวิญญูชนทั้งหลายติเตียนว่า ‘สาวกของพระศาสดาเป็นอามิสทายาทอยู่ ไม่เป็น
ธรรมทายาท’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด
อย่าเป็นอามิสทายาทเลย เพราะเราก็มีความเอ็นดูในเธอทั้งหลายอยู่ว่า ‘ทำ
อย่างไรหนอ สาวกทั้งหลายของเราจะพึงเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท’
[๓๐] ภิกษุทั้งหลาย หากเราจะพึงเป็นผู้ฉันเสร็จห้ามภัตเรียบร้อยแล้ว
สิ้นสุดภัตกิจ มีความสุขตามความต้องการแล้ว แต่บิณฑบาตของเรายังมีเหลือ
จะต้องทิ้ง ในเวลานั้น ภิกษุ ๒ รูปถูกความหิวและความอ่อนเพลียครอบงำพากันมา
เราควรกล่าวกับภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้ฉันเสร็จ
ห้ามภัตเรียบร้อยแล้ว สิ้นสุดภัตกิจ มีความสุขตามความต้องการแล้ว แต่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

บิณฑบาตนี้ของเรายังมีเหลือจะต้องทิ้ง หากเธอทั้งหลายประสงค์ ก็จงฉันเถิด
หากเธอทั้งหลายจะไม่ฉัน บัดนี้ เราจะทิ้งลงบนพื้นที่ปราศจากของสดเขียว หรือ
เทลงในน้ำที่ปราศจากตัวสัตว์’ ภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งมีความคิดอย่างนี้ว่า
‘พระผู้มีพระภาคได้เสวยเสร็จห้ามภัตเรียบร้อยแล้ว สิ้นสุดภัตกิจ มีความสุขตาม
ความต้องการแล้ว แต่บิณฑบาตของพระผู้มีพระภาคนี้ ยังมีเหลือจะต้องทิ้ง หาก
เราจะไม่ฉัน บัดนี้ พระผู้มีพระภาคก็จะทรงทิ้งลงบนพื้นที่ปราศจากของสดเขียว
หรือทรงเทลงในน้ำที่ปราศจากตัวสัตว์ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเรา อย่าเป็นอามิสทายาทเลย’ บิณฑบาตนี้
เป็นอามิสอย่างหนึ่ง ทางที่ดี เราจะไม่ฉันบิณฑบาตนี้แล้วให้วันคืนผ่านพ้นไปอย่างนี้
ด้วยความหิวและความอ่อนเพลียนี้แล’ เธอจึงไม่ฉันบิณฑบาตนั้น แล้วให้วันคืน
นั้นผ่านพ้นไปอย่างนี้ ด้วยความหิวและความอ่อนเพลียนั้นแล
ลำดับนั้น ภิกษุรูปที่ ๒ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้เสวย
เสร็จห้ามภัตเรียบร้อยแล้ว สิ้นสุดภัตกิจ มีความสุขตามความต้องการแล้ว แต่
บิณฑบาตของพระผู้มีพระภาคนี้ยังมีเหลือจะต้องทิ้ง หากเราจะไม่ฉัน บัดนี้ พระผู้มี
พระภาคก็จะทรงทิ้งลงบนพื้นที่ปราศจากของสดเขียว หรือทรงเทลงในน้ำที่ปราศจาก
ตัวสัตว์ ทางที่ดี เราควรฉันบิณฑบาตนี้บรรเทาความหิวและความอ่อนเพลีย
แล้วให้วันคืนผ่านพ้นไปอย่างนี้’ เธอจึงฉันบิณฑบาตนั้นบรรเทาความหิวและความ
อ่อนเพลียแล้วให้วันคืนนั้นผ่านพ้นไปอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ (รูปที่ ๒) นั้นฉันบิณฑบาตนั้นบรรเทาความหิวและความ
อ่อนเพลียแล้วให้วันคืนนั้นผ่านพ้นไปอย่างนี้ แต่ภิกษุรูปแรกนั้นก็ยังเป็นผู้ควรบูชา
และสรรเสริญกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะการไม่ฉันบิณฑบาตของภิกษุรูปแรกนั้น
จักเป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ขัดเกลา เลี้ยงง่าย ปรารภความเพียร สิ้น
กาลนาน เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด อย่าเป็นอามิส-
ทายาทเลย เพราะเราก็มีความเอ็นดูในเธอทั้งหลายอยู่ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ สาวก
ทั้งหลายของเราจะพึงเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว พระสุคตครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว
ก็เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

ความไม่สนใจศึกษาวิเวก

[๓๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ท่านพระสารีบุตร ได้เรียก
ภิกษุทั้งหลายในวิหารนั้นมากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้น
รับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุ
เท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก๑ สาวกทั้งหลายไม่สนใจศึกษา
วิเวก ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลาย
สนใจศึกษาวิเวก”
ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกลเพื่อจะทราบ
เนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของท่านพระสารีบุตร พวกกระผมขอโอกาส ขอท่าน
พระสารีบุตรได้โปรดแสดงเนื้อความแห่งภาษิตนั้นเถิด เพื่อภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฟัง
แล้วจะทรงจำไว้ได้”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายไม่สนใจศึกษาวิเวก เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้สนใจศึกษาวิเวก ไม่ละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า
ควรละ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน๒ เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม๓ ทอดธุระ๔

เชิงอรรถ :
๑ วิเวก(ความสงัด) ในที่นี้หมายถึงวิเวก ๓ ประการ คือ (๑) กายวิเวก สงัดกาย (๒) จิตตวิเวก สงัดจิต
(๓) อุปธิวิเวก สงัดกิเลส (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๐๙)
๒ ย่อหย่อน หมายถึงยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งสอนหย่อนยาน (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๑๐, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
๓ โวกกมนธรรม ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ ประการ คือ (๑) กามฉันทะ(ความพอใจในกาม) (๒) พยาบาท
(ความคิดร้าย) (๓) ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
(๕) วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๑๐, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
๔ ทอดธุระ ในที่นี้หมายถึงไม่บำเพ็ญอุปธิวิเวกให้บริบูรณ์, อนึ่ง หมายถึงทอดทิ้งหน้าที่ในวิเวก ๓ ประการ
คือ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๑๐, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

ในปวิเวก๑ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ๒ ๓
ประการ คือ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดาประทับ
อยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายไม่สนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ
ที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลายไม่ละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ และ
เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๓ ว่า ‘สาวกทั้งหลายเป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน
เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก’ ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้ควรถูก
ติเตียนโดยฐานะ ๓ ประการนี้ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นมัชฌิมะ ฯลฯ
ภิกษุผู้ป็นนวกะเป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ ๓ ประการ คือ เป็นผู้ควรถูก
ติเตียนโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลาย
ไม่สนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลายไม่ละ
ธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๓ ว่า
‘สาวกทั้งหลายเป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ทอดธุระ
ในปวิเวก’ ภิกษุผู้เป็นนวกะเป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ ๓ ประการนี้
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่านี้แล เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก
สาวกทั้งหลายชื่อว่าไม่สนใจศึกษาวิเวก

ความสนใจศึกษาวิเวก

[๓๒] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่
อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายสนใจศึกษาวิเวก เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่าง
มีวิเวก สาวกทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้สนใจศึกษาวิเวก ละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดา
ตรัสว่า ควรละ ไม่เป็นผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ปวิเวก หมายถึงอุปธิวิเวก คือสภาวะอันเป็นที่ตั้งที่ทรงไว้แห่งทุกข์ ได้แก่ กาม กิเลส เบญจขันธ์ และ
อภิสังขาร กล่าวคือนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
๒ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุ แท้จริง คำว่า ‘ฐานะ’ มีความหมาย ๔ นัย คือ (๑) อิสสริยะ (ตำแหน่ง,
ความเป็นใหญ่) (๒) ฐิติ (เป้าหมาย,ที่ตั้ง) (๓) ขณะ(กาล) (๔) การณะ (เหตุ) ในที่นี้หมายถึงเหตุ (ม.มู.อ.
๑/๓๑/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

ไม่ทอดธุระในปวิเวก บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้ควรสรรเสริญโดย
ฐานะ ๓ ประการ คือ เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดา
ประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายสนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะ
ที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลายละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ เป็นผู้
ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๓ ว่า ‘สาวกทั้งหลายไม่เป็นผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน
ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ไม่ทอดธุระในปวิเวก’ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็น
มัชฌิมะ ฯลฯ ภิกษุผู้เป็นนวกะเป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะ ๓ ประการ คือ
เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายสนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลาย
ละธรรมทั้งหลาย ที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๓
ว่า ‘สาวกทั้งหลาย ไม่เป็นผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม
ไม่ทอดธุระในปวิเวก’ ภิกษุผู้เป็นนวกะเป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะ ๓ ประการนี้
ด้วยเหตุเท่านี้แล เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายชื่อว่าสนใจ
ศึกษาวิเวก

มัชฌิมาปฏิปทา

[๓๓] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาธรรมเหล่านั้น โลภะและโทสะเป็นบาป
มัชฌิมาปฏิปทามีอยู่เพื่อละโลภะและโทสะ เป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้
เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน๑
มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อ
สงบระคือ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คืออะไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)

เชิงอรรถ :
๑ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๓/๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

นี้แล คือ มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไป
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาธรรมเหล่านั้น โกธะ(ความโกรธ) อุปนาหะ
(ความผูกโกรธ) เป็นบาป มัชฌิมาปฏิปทามีอยู่เพื่อละโกธะและอุปนาหะ เป็น
ปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน
มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) ปฬาสะ(ความตีเสมอ) ...
อิสสา(ความริษยา) มัจฉริยะ(ความตระหนี่) ...
มายา(มารยา) สาเถยยะ(ความโอ้อวด) ...
ถัมภะ(ความหัวดื้อ) สารัมภะ(ความแข่งดี) ...
มานะ(ความถือตัว) อติมานะ(ความดูหมิ่นเขา) ...
มทะ(ความมัวเมา) และปมาทะ(ความประมาท) เป็นบาป มัชฌิมาปฏิปทา
มีอยู่เพื่อละมทะและปมาทะ เป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไป
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อ
สงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คืออะไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แล คือ มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไป
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิต
ของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล

ธัมมทายาทสูตรที่ ๓ จบ

๔. ภยเภรวสูตร
ว่าด้วยความขลาดกลัว

[๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อชาณุสโสณิเข้าไปเฝ้าพระผู้
มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม กุลบุตรทั้งหลายมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เจาะจงท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเป็นหัวหน้าของกุลบุตรเหล่านั้น เป็นผู้มี
อุปการะมาก เป็นผู้แนะนำให้ถือตาม ชุมชนนั้นถือเอาแบบอย่างท่านพระโคดมหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พราหมณ์ ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น กุลบุตรทั้งหลายมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเจาะจงเรา
เราเป็นหัวหน้าของพวกเขา เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้แนะนำให้ถือตาม ชุมชน
นั้นถือเอาแบบอย่างเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม เสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ๑ อยู่ลำบาก ทำวิเวก๒ได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์
ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิ๓ให้หวาดหวั่น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พราหมณ์ ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ อยู่ลำบาก ทำวิเวกได้ยาก
ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้
สมาธิให้หวาดหวั่น”

เหตุสะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า ๑๖ ประการ

[๓๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เมื่อก่อน เราเป็นโพธิสัตว์
ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความดำริว่า ‘เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ อยู่
ลำบาก ทำวิเวกได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำ
จิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิให้หวาดหวั่น’ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีกายกรรมไม่บริสุทธิ์
ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์ พระอริยะ๔เหล่าใดมีกายกรรมบริสุทธิ์
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดา
พระอริยะเหล่านั้น’

เชิงอรรถ :
๑ ป่าโปร่ง (อร�ฺ�) หมายถึงป่าอยู่นอกเสาเขตเมืองออกไปอย่างน้อยชั่ว ๕๐๐ ลูกธนู ป่าทึบ (วนปตฺถ)
หมายถึงสถานที่ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย เลยเขตหมู่บ้านไป (ม.มู.อ. ๑/๓๔/๑๒๑, องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๑/๓๐)
๒ วิเวก ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก(สงัดกาย) (ม.มู.อ. ๑/๓๔/๑๒๒, องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๙/๓๗๐)
๓ สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ (ม.มู.อ. ๑/๓๔/๑๒๒, องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๙/๓๗๐)
๔ พระอริยะ ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวก (ม.มู.อ. ๑/๓๕/๑๒๓) และดูเทียบเชิงอรรถ
ข้อ ๒ หน้า ๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์นั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้มีความปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑)
[๓๖] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้มีวจีกรรมไม่บริสุทธิ์ ฯลฯ มีมโนกรรมไม่บริสุทธิ์ ฯลฯ มีการ
เลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีการเลี้ยง
ชีพไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มี
การเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ พระอริยะเหล่าใดมีการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์นั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๒-๓-๔)
[๓๗] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีความกำหนัดกล้าในกามคุณทั้งหลาย
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญ
เหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษ
ของตนคือมีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น และมีความกำหนัดกล้าในกามคุณ
ทั้งหลาย ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น ไม่มีความกำหนัด
กล้าในกามคุณทั้งหลาย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เรามิใช่เป็นผู้มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น พระอริยะเหล่าใดไม่มีปกติเพ่ง
เล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ไม่มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
นั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๕)
[๓๘] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีจิตวิบัติ มีความดำริชั่วร้าย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความ
ขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีจิตวิบัติและมีความดำริชั่วร้าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีจิตวิบัติ มิใช่มีความดำริชั่วร้าย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีจิตเมตตา พระอริยะเหล่าใดมีจิตเมตตา เข้า
อาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีจิตเมตตานั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๖)
[๓๙] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งถูกถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) กลุ้มรุมแล้ว เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อม
ประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือการถูก
ถีนมิทธะกลุ้มรุม ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม เข้าอาศัยเสนาสนะอัน
เงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ พระอริยะเหล่าใด
เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๗)
[๔๐] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาด
อันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือเป็นผู้ฟุ้งซ่านและมีจิตไม่สงบ ส่วนเรา
มิใช่เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มิใช่มีจิตไม่สงบ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้มีจิตสงบแล้ว พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้มีจิตสงบ เข้า
อาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีจิตสงบนั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

[๔๑] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้เคลือบแคลงสงสัย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญ‘เหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็น
อกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเคลือบแคลงสงสัย ส่วนเรามิใช่เป็นผู้
เคลือบแคลงสงสัย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้
ข้ามพ้นความเคลือบแคลงสงสัยแล้ว พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยแล้ว
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยนั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๙)
[๔๒] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็น
อกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือการยกตนข่มผู้อื่น ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ยกตนข่ม
ผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ไม่ยกตนข่ม
ผู้อื่น พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ไม่ยกตนข่มผู้อื่นนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๐)
[๔๓] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้สะดุ้งกลัวและมักขลาด เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและ
ความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความสะดุ้งกลัวและมักขลาด
ส่วนเรามิใช่เป็นผู้สะดุ้งกลัวและมักขลาด เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่า
โปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ปราศจากความขนพองสยองเกล้า พระอริยะเหล่าใดเป็น
ผู้ปราศจากความขนพองสยองเกล้า เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปราศจากความสะดุ้งกลัวนั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๑)
[๔๔] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบ
สงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความ
กลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความปรารถนา
ลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ปรารถนาลาภสักการะและความ
สรรเสริญ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีความ
ปรารถนาน้อย พระอริยะเหล่าใดมีความปรารถนาน้อย เข้าอาศัยเสนาสนะอัน
เงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๒)
[๔๕] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้เกียจคร้าน ปราศจากความเพียร เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้เกียจคร้าน
ปราศจากความเพียร ส่วนเรามิใช่เป็นผู้เกียจคร้าน มิใช่ปราศจากความเพียร
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ปรารภความเพียร๑
พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้ปรารภความเพียร เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’

เชิงอรรถ :
๑ ปรารภความพียร ในที่นี้หมายถึงมีความเพียรที่บริบูรณ์ และมีความเพียรที่ประคับประคองไว้สม่ำเสมอ
ไม่หย่อนนัก ไม่ตึงนัก ไม่ให้จิตปรุงแต่งภายใน ไม่ให้ฟุ้งซ่านภายนอก คำว่า ความเพียร ในที่นี้หมายเอา
ทั้ง ความเพียรทางกาย เช่น เพียรพยายามทางกายตลอดคืนและวัน ดุจในประโยคว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน” (อภิ.วิ.(แปล)
๓๕/๕๑๙/๓๙๑) และ ความเพียรทางจิต เช่น เพียรพยายามผูกจิตไว้ด้วยการกำหนดสถานที่เป็นต้น ดุจ
ในประโยคว่า “เราจะไม่ออกจากถ้ำนี้จนกว่าจิตของเราจะหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน”
(องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๘/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปรารภความเพียรนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๓)
[๔๖] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งขาดสติสัมปชัญญะ(ความระลึกได้และความรู้ตัว) เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบ
ความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้
ขาดสติสัมปชัญญะ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ขาดสติสัมปชัญญะ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบ
สงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีสติมั่นคง พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้มีสติมั่นคง
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระ
อริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีสติมั่นคงนั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๔)
[๔๗] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือ
ป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้มีจิตไม่ตั้ง
มั่นและมีจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตไม่ดิ้นรนกวัดแกว่ง
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือ
ป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธินั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๕)
[๔๘] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาด
อันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ส่วนเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

มิใช่เป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญา เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา เข้าอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญานั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๖)

เหตุสะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า ๑๖ ประการ จบ

[๔๙] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรอยู่ในเสนาสนะ
เช่นนี้ คือ อารามเจดีย์ วนเจดีย์ รุกขเจดีย์๑อันน่าสะพรึงกลัว น่าขนพองสยองเกล้า
ในราตรีที่กำหนดรู้กันว่าวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ด้วยหวังว่า
‘เราจะได้เห็นความน่ากลัวและความขลาด’ ต่อมา เราได้อยู่ในเสนาสนะและราตรี
ดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อเราอยู่ในเสนาสนะนั้น สัตว์ป่ามา นกยูงทำไม้ให้ตกลงมา
หรือลมพัดเศษใบไม้ให้ตกลงมา เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ความกลัวและความขลาด
นี้นั้นย่อมเกิดขึ้นแน่นอน’ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘เพราะเหตุไร เราจึงหวังเฉพาะ
แต่เรื่องความกลัวอยู่อย่างเดียว ทางที่ดี เราควรจะกำจัดความกลัวและความขลาด
ที่เกิดขึ้นแก่เราในอิริยาบถที่เราเป็นอยู่นั้น ๆ เสีย’ เมื่อเรากำลังจงกรมอยู่ ความกลัว
และความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่ยืน ไม่นั่ง ไม่นอน จะจงกรมอยู่ จนกว่า
จะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้ เมื่อเรายืนอยู่ ความกลัวและความขลาด
เกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่จงกรม ไม่นั่ง ไม่นอน จะยืนอยู่จนกว่าจะกำจัดความกลัว
และความขลาดนั้นได้ เมื่อเรานั่งอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะ
ไม่นอน ไม่ยืน ไม่จงกรม จะนั่งอยู่ จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้
เมื่อเรานอนอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่นั่ง ไม่ยืน ไม่จงกรม
จะนอนอยู่จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้

เชิงอรรถ :
๑ อารามเจดีย์ หมายถึงสถานที่ที่งดงามด้วยไม้ดอกและไม้ผล ที่เรียกว่า เจดีย์ เพราะเป็นสถานที่กระทำให้
วิจิตร ทำให้น่าบูชา วนเจดีย์ หมายถึงชายป่าที่ต้องนำเครื่องพลีกรรมไปสังเวย ป่าสุภควันและป่าที่ตั้งศาล
เป็นที่สถิตของเทวดาเป็นต้น รุกขเจดีย์ หมายถึงต้นไม้ใหญ่ที่คนเคารพบูชาใกล้ปากทางเข้าหมู่บ้าน
หรือนิคมเป็นต้น โดยเข้าใจว่าเป็นที่อยู่ของเทวดาผู้มีฤทธิ์ (ม.มู.อ. ๑/๔๙/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

สัตว์ผู้ไม่ลุ่มหลง

[๕๐] พราหมณ์ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเข้าใจกลางคืนแท้ ๆ ว่าเป็น
กลางวัน เข้าใจกลางวันแท้ ๆ ว่าเป็นกลางคืน เรากล่าวการมีความเข้าใจเช่นนี้
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ด้วยความหลง ส่วนเราเข้าใจกลางคืนแท้ ๆ ว่าเป็น
กลางคืน เข้าใจกลางวันแท้ ๆ ว่าเป็นกลางวัน บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องควร
กล่าวกับเราว่า ‘สัตว์ผู้ไม่มีความหลงได้อุบัติแล้วในโลก เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’
[๕๑] พราหมณ์ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน สติก็มั่นคงไม่ฟั่นเฟือน
กายสงบระงับไม่กระสับกระส่าย จิตเป็นสมาธิมีอารมณ์แน่วแน่ เรานั้นสงัดจากกาม
และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจาก
วิเวกอยู่๑ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะ
ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่๒
เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ
ตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข‘๓ เพราะ
ละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มี
ทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่๔

วิชชา ๓

[๕๒] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๕ ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นจึง
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง

เชิงอรรถ :
๑-๔ ที.สี.(แปล) ๙/๔๑๓/๑๗๘
๕ กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) หมายถึงกิเลสเพียงดังเนินคือราคะ โทสะ โมหะ มลทิน หรือเปือกตม ในที่
บางแห่ง หมายถึงพื้นที่เป็นเนินตามที่พูดกันว่า เนินโพธิ์ เนินเจดีย์ เป็นต้น แต่ในที่นี้ ท่านพระสารีบุตร
ประสงค์เอากิเลสอย่างเผ็ดร้อนนานัปการว่า กิเลสเพียงดังเนิน (ม.มู.อ. ๑/๕๗/๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๑เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่อ
อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ
จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้
เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เราบรรลุ
วิชชาที่ ๑ นี้ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัด
ความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น
[๕๓] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นจึง
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด พวกเขา
หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์’ เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ คือ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม
กรรมอย่างนี้แล เราบรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ ในมัชฌิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สังวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเสื่อม คือช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเจริญ
คือช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังฟื้นขึ้นมาใหม่ (วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

[๕๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๒ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป‘๓ เราบรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น
[๕๕] พราหมณ์ บางคราวท่านอาจมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘แม้วันนี้ พระโคดม
ยังไม่เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเข้าอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ’ ท่านไม่ควรเห็นอย่างนั้น เราเห็น
อำนาจประโยชน์ ๒ ประการ คือ (๑) การอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของตน
(๒) การอนุเคราะห์ชุมชนผู้เกิดในภายหลัง จึงเข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ”

เชิงอรรถ :
๑ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลส จบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจ
ที่จะต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ได้ ชื่อว่า อเสขบุคคล (ม.มู.อ. ๑/๕๔/๑๓๘,
ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)
๒ กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำให้แจ้ง
ซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ม.มู.อ. ๑/๕๔/๑๓๘, ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)
๓ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความหมดสิ้น
แห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า การบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ม.มู.อ.
๑/๕๔/๑๓๘, ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

ชาณุสโสณิเป็นพุทธมามกะ

[๕๖] ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดมได้อนุเคราะห์ชุมชน
ผู้เกิดในภายหลังนี้แล้ว เหมือนอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์ฉะนั้น
ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน
พระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี
ตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

ภยเภรวสูตรที่ ๔ จบ

๕. อนังคณสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บุคคล ๔ ประเภท

[๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลาย
มากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้
กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคล ๔ ประเภทนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ ประเภท ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน๑แต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน๒’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้
๒ ตน ในที่นี้หมายถึงจิตตสันดาน (ม.มู.อ. ๑/๕๗/๑๕๑,๖๕/๑๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

๒. บุคคลบางคนเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’
๓. บุคคลบางคนเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’
๔. บุคคลบางคนเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ บรรดาบุคคล ๒ ประเภท
ที่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ บรรดาบุคคล ๒ ประเภท
ที่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัด
ตามความเป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ บรรดาบุคคล ๒ ประเภท
ที่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ บรรดาบุคคล ๒ ประเภท
ที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’
[๕๘] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้
ถามท่านพระสารีบุตรอย่างนี้ว่า “ท่านสารีบุตร อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่
บรรดาบุคคล ๒ ประเภทผู้มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิต
กล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’ แต่อีกบุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’
และอะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่บรรดาบุคคล ๒ ประเภทผู้ไม่มีกิเลสเพียงดัง
เนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’ แต่อีกบุคคลหนึ่ง
บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

[๕๙] ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น
บุคคลผู้มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนิน
ภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่ทำความพอใจให้เกิดขึ้น จักไม่พยายาม
จักไม่ปรารภความเพียรเพื่อละกิเลสเพียงดังเนินนั้น เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ
มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตเศร้าหมองตายไป เปรียบเหมือนภาชนะสำริดที่เขานำมา
จากร้านตลาด หรือจากตระกูลช่างทองมีฝุ่นและสนิมจับเกรอะกรัง เจ้าของจะไม่พึง
ใช้สอยและไม่ขัดสีภาชนะสำริดนั้น ซ้ำยังเก็บมันไว้ในที่ที่มีฝุ่นละอองฉะนั้น เมื่อเป็น
เช่นนั้น ต่อมา ภาชนะสำริดนั้นพึงเป็นของเศร้าหมองถูกสนิมจับยิ่งขึ้น”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “อย่างนั้นหรือ ท่านผู้มีอายุ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้มีกิเลสเพียง
ดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวัง
ข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่ทำความพอใจให้เกิดขึ้น จักไม่พยายาม จักไม่ปรารภความเพียร
เพื่อละกิเลสเพียงดังเนินนั้น เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลสเพียงดังเนิน
มีจิตเศร้าหมองตายไป
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลผู้มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักทำความ
พอใจให้เกิดขึ้น จักพยายาม จักปรารภความเพียรเพื่อละกิเลสเพียงดังเนินนั้น
เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตไม่เศร้าหมอง
ตายไป เปรียบเหมือนภาชนะสำริดที่เขานำมาจากร้านตลาด หรือจากตระกูลช่างทอง
มีฝุ่นและสนิมจับเกรอะกรัง เจ้าของจะพึงใช้สอยและขัดสีภาชนะสำริดนั้น ทั้งไม่
เก็บมันไว้ในที่ที่มีฝุ่นละอองฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ต่อมาภาชนะสำริดนั้นพึงเป็นของ
บริสุทธิ์ผ่องใส”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “อย่างนั้นหรือ ท่านผู้มีอายุ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้มีกิเลสเพียง
ดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

คือเขาจักทำความพอใจให้เกิดขึ้น จักพยายาม จักปรารภความเพียรเพื่อละกิเลส
เพียงดังเนินนั้น เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิต
ไม่เศร้าหมองตายไป
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและไม่รู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักมนสิการ
สุภนิมิต(เครื่องหมายว่างาม) เพราะมนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักครอบงำจิตได้ เขาจัก
เป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตเศร้าหมองตายไป เปรียบเหมือน
ภาชนะสำริดที่เขานำมาจากร้านตลาด หรือจากตระกูลช่างทอง เป็นของบริสุทธิ์ผ่องใส
แต่เจ้าของไม่ได้ใช้สอย ทั้งไม่ขัดสีภาชนะสำริดนั้น ซ้ำยังเก็บมันไว้ในที่ที่มีฝุ่นละออง
ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ต่อมาภาชนะสำริดนั้นพึงเป็นของเศร้าหมอง สนิมจับได้”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “อย่างนั้นหรือ ท่านผู้มีอายุ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้ไม่มีกิเลส
เพียงดังเนินและไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’
พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักมนสิการสุภนิมิต เพราะมนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจัก
ครอบงำจิตได้ เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตเศร้า
หมองตายไป
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่
มนสิการสุภนิมิต เพราะไม่มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักไม่ครอบงำจิต เขาจักเป็น
ผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตไม่เศร้าหมองตายไป
เปรียบเหมือนภาชนะสำริดที่เขานำมาจากร้านตลาด หรือจากตระกูลช่างทองเป็นของ
บริสุทธิ์ผ่องใส เจ้าของใช้สอยและขัดสีภาชนะสำริดนั้น ทั้งไม่เก็บมันไว้ในที่ที่มีฝุ่นละออง
ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ต่อมา ภาชนะสำริดนั้นพึงเป็นของบริสุทธิ์ผ่องใสยิ่งนัก”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “อย่างนั้นหรือ ท่านผู้มีอายุ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้ไม่มีกิเลส
เพียงดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวัง
ข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่มนสิการสุภนิมิต เพราะไม่มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักไม่
ครอบงำจิต เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตไม่
เศร้าหมองตายไป
ท่านโมคคัลลานะ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่บรรดาบุคคล ๒ ประเภทผู้มี
กิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’ แต่
อีกบุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’ และนี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ที่บรรดาบุคคล ๒ ประเภทผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิต
กล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’ แต่อีกบุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’

กิเลสเพียงดังเนิน

[๖๐] ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ท่านกล่าวว่า ‘กิเลส
เพียงดังเนิน กิเลสเพียงดังเนิน’ คำว่า ‘กิเลสเพียงดังเนิน’ นั่นเป็นชื่อของอะไรหนอ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ คำว่า ‘กิเลสเพียงดังเนิน’ นี้ เป็น
ชื่อของอิจฉาวจร๑ ที่เป็นบาปอกุศล
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เรา
เป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงรู้ว่า เราต้องอาบัติแล้ว’ แต่เป็นไปได้ที่
ภิกษุทั้งหลายพึงรู้ว่า ภิกษุนั้นต้องอาบัติแล้ว ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น
เพราะคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายรู้ว่า เราเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว’ ความโกรธและความไม่
แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน

เชิงอรรถ :
๑ อิจฉาวจร หมายถึงการประพฤติตนในทางต่ำทรามตามอำนาจความปรารถนา (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๕, ม.มู.
ฏีกา ๑/๖๐/๓๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เรา
เป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุทั้งหลายพึงโจทเราในที่ลับเฉพาะ ไม่พึงโจทในท่ามกลางสงฆ์
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุทั้งหลายพึงโจทภิกษุนั้นในท่ามกลางสงฆ์ ไม่พึงโจทในที่ลับเฉพาะ
ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายโจทเราในท่าม
กลางสงฆ์ ไม่โจทในที่ลับเฉพาะ’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่า
กิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เรา
เป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุผู้เสมอกัน๑ พึงโจทเรา ภิกษุผู้ไม่เสมอกันไม่พึงโจทเรา’
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ไม่เสมอกันพึงโจทภิกษุนั้น ภิกษุผู้เสมอกันไม่โจทภิกษุนั้น ดังนั้น
ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุผู้ไม่เสมอกันโจทเรา แต่ภิกษุผู้
เสมอกันไม่โจทเรา’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอพระศาสดาทรงซักถามเฉพาะเราบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย ไม่ทรงซักถามภิกษุอื่น แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย’ แต่เป็น
ไปได้ที่พระศาสดา พึงทรงซักถามภิกษุอื่นบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย ไม่ทรงซักถามภิกษุนั้นบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘พระศาสดาทรงซักถาม
ภิกษุอื่นบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ไม่ทรงซักถามเราบ่อย ๆ
แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้
ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอภิกษุทั้งหลายแวดล้อมเราเท่านั้นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร
ไม่แวดล้อมภิกษุอื่นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุ
ทั้งหลายพึงแวดล้อมภิกษุอื่นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร ไม่แวดล้อมภิกษุ

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุผู้เสมอกัน หมายถึงภิกษุผู้ต้องอาบัติโจทภิกษุผู้ต้องอาบัติข้อเดียวกัน (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

นั้นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น
เพราะคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายแวดล้อมภิกษุอื่นอย่างหนาแน่นแล้วเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร
ไม่แวดล้อมเราอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่น
ทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่า กิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้อาสนะที่ดีเลิศ๑ น้ำที่ดีเลิศ๒ บิณฑบาตที่ดีเลิศ๓ ใน
โรงฉัน ภิกษุอื่นไม่พึงได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ บิณฑบาตที่ดีเลิศในโรงฉัน’
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นพึงได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ บิณฑบาตที่ดีเลิศในโรงฉัน
ภิกษุนั้นไม่ได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ บิณฑบาตที่ดีเลิศในโรงฉัน ดังนั้น ภิกษุนั้น
ก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ
บิณฑบาตที่ดีเลิศในโรงฉัน เราไม่ได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ บิณฑบาตที่ดีเลิศ
ในโรงฉัน’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นฉันในโรงฉันเสร็จแล้วพึงได้อนุโมทนา ภิกษุอื่นฉันในโรงฉัน
เสร็จแล้วไม่พึงได้อนุโมทนา’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นฉันในโรงฉันเสร็จแล้วพึงได้อนุโมทนา
ภิกษุนั้นฉันในโรงฉันเสร็จแล้วไม่พึงได้อนุโมทนา ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ
ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นฉันในโรงฉันเสร็จแล้วได้อนุโมทนา เราฉันในโรงฉัน
เสร็จแล้วไม่ได้อนุโมทนา’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลส
เพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ภิกษุอื่นไม่

เชิงอรรถ :
๑ อาสนะที่ดีเลิศ หมายถึงที่นั่งหัวแถว (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๗)
๒ น้ำที่ดีเลิศ หมายถึงน้ำทักษิณา (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๗)
๓ บิณฑบาตที่ดีเลิศ หมายถึงบิณฑบาตที่ถวายแก่พระเถระผู้เป็นประธานในสงฆ์ (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

พึงได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นพึงได้แสดง
ธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ภิกษุนั้นไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่
ในอาราม ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นได้
แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม เราไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
ผู้อยู่ในอาราม’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้แสดงธรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ฯลฯ
พึงได้แสดงธรรมแก่อุบาสกทั้งหลาย ฯลฯ พึงได้แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลาย
ภิกษุอื่นไม่พึงได้แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุ
อื่นพึงได้แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ภิกษุนั้นไม่ได้แสดงธรรม
แก่อุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น
เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นได้แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม เราไม่ได้
แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลาย ผู้อยู่ในอาราม’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่น
ทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอภิกษุทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราเท่านั้น ไม่พึง
สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุทั้งหลายพึงสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา ภิกษุอื่น ไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น
ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายสักการะ เคารพ
นับถือ บูชาภิกษุอื่น ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา’ ความโกรธ
และความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่า กิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอภิกษุณีทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราเท่านั้น ฯลฯ
อุบาสกทั้งหลาย ฯลฯ อุบาสิกาทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราเท่านั้น
ไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น’ แต่เป็นไปได้ที่อุบาสิกาทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น
ดังนั้น ภิกษุนั้น ก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘อุบาสิกาทั้งหลายสักการะ
เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา’ ความโกรธ
และความไม่แช่มชื่น ทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้จีวรอันประณีต ภิกษุอื่นไม่พึงได้จีวรอันประณีต’ แต่
เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นพึงได้จีวรอันประณีต ภิกษุนั้นไม่ได้จีวรอันประณีต ดังนั้น
ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นได้จีวรอันประณีต เราไม่ได้
จีวรอันประณีต’ ความโกรธ และความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
“โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้บิณฑบาตอันประณีต ฯลฯ เสนาสนะอันประณีต ฯลฯ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต ภิกษุอื่นไม่พึงได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต’
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นพึงได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต ภิกษุนั้นไม่ได้คิลาน-
ปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า
‘ภิกษุอื่นได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต เราไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอัน
ประณีต’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
ท่านผู้มีอายุ คำว่า ‘กิเลสเพียงดังเนิน’ นี้ เป็นชื่อแห่งอิจฉาวจรทั้งหลายที่
เป็นบาปอกุศล

อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศล

[๖๑] ท่านผู้มีอายุ อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละ
ไม่ได้ ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่ แม้ว่าภิกษุนั้นจะเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร มีเสนาสนะ
อันสงัด ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร ครองจีวรเศร้าหมองก็ตาม เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายก็ไม่สักการะ เคารพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

นับถือ บูชาภิกษุนั้นเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศล
เหล่านั้นที่ภิกษุนั้นยังละไม่ได้ ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่ ภาชนะสำริดที่เขานำมา
จากร้านตลาดหรือจากตระกูลช่างทอง เป็นของบริสุทธิ์ผ่องใส พวกเจ้าของพึงใส่ซากงู
ซากสุนัข หรือซากศพมนุษย์จนเต็มภาชนะสำริดนั้น ปิดด้วยภาชนะสำริดใบอื่นแล้ว
นำไปยังร้านตลาด คนเห็นภาชนะสำริดนั้นแล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
สิ่งที่ท่านนำไปนี้คืออะไร ดูเหมือนจะเป็นของที่น่าพอใจอย่างยิ่ง’ เขาลุกขึ้นเปิดภาชนะ
สำริดนั้นดู ความไม่พอใจ ความเป็นของปฏิกูล และความเป็นของน่ารังเกียจจึงเกิดขึ้น
พร้อมกับการเห็นซากงูเป็นต้นนั้น แม้คนที่หิวก็ไม่ต้องการจะบริโภค ไม่ต้องกล่าว
ถึงคนที่บริโภคอิ่มแล้ว แม้ฉันใด อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละไม่ได้ ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่ แม้ภิกษุนั้นจะเป็นผู้อยู่ป่า
เป็นวัตร มีเสนาสนะอันสงัด ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก
นุ่มห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ครองจีวรเศร้าหมองก็ตาม เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายก็
ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุรูปนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอิจฉาวจร
ที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่ภิกษุรูปนั้นยังละไม่ได้ ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่
[๖๒] อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว
ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่ แม้เธอจะอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน รับนิมนต์ ครองจีวร
ของคหบดีก็ตาม เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายก็สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเธอ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะอิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นภิกษุรูปนั้นละได้แล้ว ยังปรากฏ
และเล่าขานกันอยู่ ภาชนะสำริดที่เขานำมาจากร้านตลาดหรือจากตระกูลช่างทอง
เป็นของบริสุทธิ์ผ่องใส เจ้าของใส่ข้าวสุกแห่งข้าวสาลีทั้งหลาย ที่เลือกของสกปรก
ออกแล้วใส่แกงและกับข้าวหลายอย่างจนเต็มภาชนะสำริดนั้นปิดด้วยภาชนะสำริด
ใบอื่นแล้วนำไปยังร้านตลาด คนเห็นภาชนะสำริดนั้นแล้วพึงพูดอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้
เจริญ สิ่งที่ท่านนำไปนี้คืออะไร ดูเหมือนจะเป็นของที่น่าพอใจอย่างยิ่ง’ เขาลุกขึ้น
เปิดภาชนะสำริดนั้นดู ความพอใจ ความเป็นของไม่น่าปฏิกูล และความเป็นของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

ไม่น่ารังเกียจจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการเห็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีนั้น แม้คนที่บริโภคอิ่ม
แล้วก็ต้องการบริโภค ไม่ต้องกล่าวถึงคนที่หิวเลย แม้ฉันใด อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศล
เหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่
แม้เธอจะอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน รับนิมนต์ ครองจีวรของคหบดีก็ตาม เพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายก็สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเธอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอิจฉาวจร
ที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่ภิกษุรูปนั้นละได้แล้ว ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่”

อุปมาด้วยบุตรช่างทำรถ

[๖๓] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าว
กับท่านพระสารีบุตรว่า “ท่านสารีบุตร อุปมาปรากฏขึ้นแก่กระผม”
ท่านพระสารีบุตร จึงกล่าวว่า “ท่านมหาโมคคัลลานะ ขอให้อุปมาปรากฏขึ้น
แก่ท่าน ท่านจงกล่าวอุปมานั้นเถิด๑”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ สมัยหนึ่งกระผมอยู่
ในเขตกรุงราชคฤห์ซึ่งมีภูเขาล้อมดุจคอกวัว ครั้นในเวลาเช้า กระผมครองอันตร-
วาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นบุตรช่างทำรถชื่อ
สมีติถากกงล้อรถอยู่ อาชีวกผู้เป็นบุตรของนายปัณฑุ ซึ่งเป็นช่างทำรถคนเก่ายืน
อยู่ใกล้นายสมีติ ครั้งนั้น อาชีวกนั้นได้เกิดความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ
ขอบุตรของช่างทำรถชื่อสมีตินี้พึงถากส่วนโค้ง ส่วนคดและกระพี้แห่งกงล้อนี้ออกเสีย
เมื่อเป็นเช่นนี้ กงล้อนี้ก็จะหมดโค้ง หมดคด หมดกระพี้ มีแต่แก่นล้วน ๆ’ บุตร
ของช่างทำรถชื่อสมีติก็ถากส่วนโค้ง ส่วนคดและกระพี้แห่งกงล้อนั้นได้เหมือนอย่าง
ที่อาชีวกนั้นมีความคิดขึ้นในใจ ครั้งนั้น อาชีวกนั้นได้เปล่งวาจาแสดงความดีใจว่า
‘นายสมีติถากเหมือนรู้ใจ’
อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลเหล่าใดไม่มีศรัทธาต้องการที่จะมีชีวิตอยู่
(ในโลกนี้) ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต มิใช่ด้วยศรัทธา เป็นคนโอ้อวด มีมารยา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๖๙/๒๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

หลอกลวง ฟุ้งซ่าน ถือตน กลับกลอก ปากกล้า ไม่สำรวมวาจา ไม่คุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ทั้งหลาย๑ ไม่รู้ประมาณในการบริโภค ไม่ประกอบความเพียรในธรรม
เป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใส่ใจสมณธรรม ไม่มีความเคารพอย่างหนักแน่นใน
สิกขา เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก
เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน ขาดสติสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิต
หมุนไปผิด เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ท่านสารีบุตรถาก(กิเลส) ด้วยธรรมบรรยาย
นี้เหมือนรู้ใจของบุคคลเหล่านั้น
อนึ่ง กุลบุตรเหล่าใดมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่โอ้อวด ไม่มี
มารยา ไม่หลอกลวง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตน ไม่กลับกลอก ไม่ปากกล้า สำรวมวาจา
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรใน
ธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ใส่ใจในสมณธรรม มีความเคารพอย่างหนักแน่น
ในสิกขา ไม่เป็นผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ไม่
ทอดธุระในปวิเวก ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจ มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ
มีจิตมั่นคง มีจิตแน่วแน่ ไม่เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา กุลบุตรเหล่านั้นฟังธรรม-
บรรยายนี้ของท่านพระสารีบุตร เหมือนหนึ่งว่าจะดื่มจะกลืนไว้ด้วยวาจาและใจว่า
‘ดีจริงหนอ ท่านผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรผู้เป็นเพื่อนพรหมจารี ทำให้เราทั้งหลาย
ออกจากอกุศลธรรมแล้วให้ดำรงอยู่ในกุศลธรรม สตรีสาวหรือบุรุษหนุ่มชอบแต่งตัว
ชำระสระเกล้าแล้วได้ดอกอุบล ดอกมะลิ หรือดอกลำดวน ประคองไว้ด้วยมือ
ทั้ง ๒ แล้วยกขึ้นวางไว้เหนือเศียรเกล้า แม้ฉันใด กุลบุตรเหล่านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่หลอกลวง ไม่
ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตน ไม่กลับกลอก ไม่ปากกล้า สำรวมวาจา คุ้มครองทวารใน
อินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย หมายถึงไม่สำรวมกรรมทวาร (คือ กาย วาจา ใจ) ในอินทรีย์ ๖
คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (ม.มู.อ. ๑/๖๓/๑๖๔) และดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๖๗/๒๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร

อย่างต่อเนื่อง ใส่ใจในสมณธรรม มีความเคารพอย่างหนักแน่นในสิกขา ไม่เป็น
ผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ไม่ทอดธุระในปวิเวก
ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจ มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตมั่นคง มีจิต
แน่วแน่ ไม่เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ได้ฟังธรรมบรรยายนี้ของท่านพระสารีบุตรแล้ว
เหมือนหนึ่งว่าจะดื่มจะกลืนไว้ด้วยวาจาและใจว่า ‘ดีจริงหนอ ท่านผู้เจริญ ท่าน
พระสารีบุตรผู้เป็นเพื่อนพรหมจารีทำให้เราทั้งหลายออกจากอกุศลธรรมแล้วให้
ดำรงอยู่ในกุศลธรรม”
พระอัครสาวกทั้ง ๒ นั้นต่างชื่นชมภาษิตของกันและกัน ดังนี้แล

อนังคณสูตรที่ ๕ จบ

๖. อากังเขยยสูตร๑
ว่าด้วยความหวัง ๑๗ ประการ

[๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่ จง
สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร๒อยู่ จงเป็น
ผู้เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๗๑/๑๕๖
๒ คำว่า อาจาระ หมายถึงความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา และทางใจ ความสำรวมระวังในศีลทั้งปวง
และความที่ภิกษุไม่เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาอาชีวะที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ คำว่า โคจร หมายถึงการไม่เที่ยว
ไปยังสถานที่ไม่ควรเที่ยวไป เช่น ที่อยู่ของหญิงแพศยา การไม่คลุกคลีกับบุคคลที่ไม่สมควรคลุกคลีด้วย
เช่น พระราชา การไม่คบหากับตระกูลที่ไม่สมควรคบหา เช่น ตระกูลที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส
ภิกษุผู้ประกอบด้วยอาจาระและโคจรดังกล่าวมานี้ ชื่อว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร (อภิ.วิ.
(แปล) ๓๕/๕๑๓-๕๑๔/๓๘๘-๓๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร

[๖๕] ภิกษุทั้งหลาย
๑. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ
และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย’ ภิกษุนั้นพึงทำศีล
ให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหิน
ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา๑ เพิ่มพูนเรือนว่าง๒
๒. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบ
ธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
๓. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของชนเหล่าใด ขอสักการะของชน
เหล่านั้น พึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์
หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
๔. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘ญาติสาโลหิต๓เหล่าใดผู้ล่วงลับไปแล้ว มีจิต
เลื่อมใส ระลึกถึงเราอยู่ ขอการระลึกถึงเราของญาติสาโลหิต
เหล่านั้นพึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์
หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง

เชิงอรรถ :
๑ วิปัสสนา หมายถึงอนุปัสสนา ๗ ประการ คือ (๑) อนิจจานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง)
(๒) ทุกขานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความเป็นทุกข์) (๓) อนัตตานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความไม่มีตัวตน)
(๔) นิพพิทานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความน่าเบื่อหน่าย) (๕) วิราคานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความคลาย
กำหนัด) (๖) นิโรธานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความดับกิเลส) (๗) ปฏินิสสัคคานุปัสสนา (พิจารณาเห็น
ความสลัดทิ้งกิเลส) (ม.มู.อ. ๑/๖๕/๑๖๙)
๒ เพิ่มพูนเรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการเรียนกัมมัฏฐาน คือ สมถะและวิปัสสนา เข้าไปสู่เรือนว่างนั่ง
พิจารณาอยู่ตลอดคืนและวัน แล้วบำเพ็ญอธิจิตตสิกขาด้วยสมถกัมมัฏฐาน บำเพ็ญอธิปัญญาสิกขาด้วย
วิปัสสนากัมมัฏฐาน (ม.มู.อ. ๑/๖๔/๑๖๙-๑๗๐, องฺ.ทสก.อ. ๓/๗๑/๓๕๗)
๓ ญาติ หมายถึงบิดามารดาของสามี หรือบิดามารดาของภรรยาและเครือญาติของทั้ง ๒ ฝ่าย
สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ ปู่หรือตา เป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๖๕/๑๗๒, ม.มู.ฏีกา
๑/๖๕/๓๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร

[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย
๕. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงข่มความไม่ยินดี(ในกุศลธรรม) และ
ความยินดี(ในกามคุณ ๕) อนึ่ง ความไม่ยินดี ไม่พึงครอบงำเรา
เราพึงครอบงำย่ำยีความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นอยู่’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
๖. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเอาชนะความขลาดกลัว อนึ่ง ความ
ขลาดกลัวไม่พึงครอบงำเรา เราพึงเอาชนะ ครอบงำ ย่ำยีความ
ขลาดกลัวที่เกิดขึ้นอยู่’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ
เพิ่มพูนเรือนว่าง
๗. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงได้ฌาน ๔ ซึ่งเป็นอภิเจตสิก๑ เป็น
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูน
เรือนว่าง
๘. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงบรรลุวิโมกข์ที่สงบ เป็นอรูปฌาน
เพราะก้าวล่วงรูปาวจรฌานด้วยนามกาย’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
[๖๗] ภิกษุทั้งหลาย
๙. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นพระโสดาบัน๒ เพราะสังโยชน์๓ ๓

เชิงอรรถ :
๑ อภิเจตสิก หมายถึงอุปจารสมาธิ (ม.มู.อ. ๑/๖๖/๑๗๓)
๒ โสดาบัน หมายถึงผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘
(อภิ.ปญฺจ.อ. ๓๑/๕๓ ดูประกอบใน สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๐๐๑/๔๙๕)
๓ สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ
(๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพตปรามาส (๔) กามฉันทะหรือกามราคะ (๕) พยาบาทหรือปฏิฆะ (๖) รูปราคะ
(๗) อรูปราคะ (๘) มานะ (๙) อุทธัจจะ (๑๐) อวิชชา
๕ ข้อต้นชื่อโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ข้อหลังชื่ออุทธัมภาคิยสังโยชน์ พระโสดาบันละสังโยชน์ ๓
ข้อต้นได้ พระสกทาคามีทำสังโยชน์ที่ ๔ และที่ ๕ ให้เบาบาง พระอนาคามีละสังโยชน์ ๕ ข้อต้นได้หมด
พระอรหันต์ละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ ข้อ (องฺ.ทสก.(แปล) ๒๔/๑๓/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร

ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ๑ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิ๒ในวันข้างหน้า’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ
เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๐. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์
๓ ประการสิ้นไป (และ)เพราะทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบาง
กลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว แล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้’ ภิกษุนั้น
พึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน
ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๑. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นโอปปาติกะ๓ เพราะโอรัมภาคิย-
สังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในพรหมโลกนั้น ไม่ต้อง
กลับมาจากโลกนั้นอีก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูน
เรือนว่าง
[๖๘] ภิกษุทั้งหลาย
๑๒. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงบรรลุวิธีแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ
คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้
แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง และภูเขา
ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดิน
เหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบน
แผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้
ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้’ ภิกษุนั้นพึง
ทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีทางตกต่ำ หมายถึงไม่ตกไปในอบาย ๔ คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน แดนเปรต และพวกอสูร
(องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗/๒๔๒)
๒ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (องฺ.ติก.อ.
๒/๘๗/๒๔๒, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๘๗/๒๓๕)
๓ โอปปาติกะ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น
เทวดาและสัตว์นรกเป็นต้น (เทียบ ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙) แต่ในที่นี้หมายถึงพระอนาคามีที่เกิดใน
สุทธาวาส (ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์) ๕ ชั้น มีชั้นอวิหาเป็นต้น แล้วดำรงภาวะอยู่ในชั้นนั้น ๆ ปรินิพพานสิ้น
กิเลสในสุทธาวาสนั่นเอง ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗-๘๘/๒๔๒-๒๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร

๑๓. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ (๑) เสียงทิพย์
(๒) เสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๔. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นและบุคคลอื่น
คือ จิตมีราคะก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีราคะ’ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ชัด
ว่า ‘จิตปราศจากราคะ’ จิตมีโทสะก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโทสะ’ หรือจิต
ปราศจากโทสะก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’ จิตมีโมหะก็รู้ชัดว่า
‘จิตมีโมหะ’ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’
จิตหดหู่ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหดหู่’ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’
จิตเป็นมหัคคตะ๑ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’ หรือจิตไม่เป็น
มหัคคตะก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ชัด
ว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’ หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่มี
จิตอื่นยิ่งกว่า’ จิตเป็นสมาธิก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’ หรือจิตไม่
เป็นสมาธิก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’ จิตหลุดพ้นก็รู้ชัดว่า ‘จิต
หลุดพ้น’ หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’ ภิกษุนั้น
พึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๕. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑
ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐
ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง
๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอด
สังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง
ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๒เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้นเรา
มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และ
มีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น
เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์
และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เราระลึก

เชิงอรรถ :
๑ มหัคคตะ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจรและชั้นอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่มกิเลสได้
และหมายถึงฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๒/๙๒)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร

ชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติอย่างนี้’
ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๖. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้ง
ชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์
อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า
‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้าย
พระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑
แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าว
ร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความ
เห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ
ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่าง
จากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
[๖๙] ภิกษุทั้งหลาย
๑๗. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ๒ ปัญญาวิมุตติ๓
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึง

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อว่า อบาย เพราะปราศจากความงอกงาม คือความเจริญหรือความสุข ชื่อว่า ทุคติ เพราะเป็นคติ
คือเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ชื่อว่า วินิบาต เพราะเป็นสถานที่ตกไปของหมู่สัตว์ที่ทำความชั่ว ชื่อว่า นรก เพราะ
ปราศจากความยินดี เหตุเป็นที่ไม่มีความสบายใจ (ม.มู.อ. ๑/๑๕๓/๓๕๘)
๒ เจโตวิมุตติ หมายถึงสมาธิที่สัมปยุตด้วยอรหัตตผล ที่ชื่อว่า เจโตวิมุตติ เพราะพ้นจากราคะ(ที่เป็น
ปฏิปักขธรรมโดยตรง แต่มิได้หมายความว่าจะระงับบาปธรรมอื่นไม่ได้ ดู ม.มู.ฏีกา ๑/๖๙/๓๓๔) ในที่นี้
หมายถึงความหลุดพ้นด้วยมีสมถกัมมัฏฐานเป็นพื้นฐาน (ม.มู.อ. ๑/๖๙/๑๗๗, เทียบ องฺ.ทุก.อ. ๒/๘๘/๖๒)
๓ ปัญญาวิมุตติ หมายถึงปัญญาที่สหรคตด้วยอรหัตตผลนั้น ที่ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ เพราะหลุดพ้นจาก
อวิชชา(ที่เป็นปฏิปักขธรรมโดยตรง แต่มิได้หมายความว่าจะระงับบาปธรรมอื่นไม่ได้ ดู ม.มู.ฏีกา ๑/๖๙/
๓๓๔) ในที่นี้หมายถึงความหลุดพ้นด้วยมีวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นพื้นฐาน (ม.มู.อ. ๑/๖๙/๑๗๗, เทียบ
องฺ.ทุก.อ. ๒/๘๘/๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

อยู่ในปัจจุบัน’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรม
เครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นประโยชน์จึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงมีศีลสมบูรณ์
มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่ จงสำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาใน
สิกขาบททั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

อากังเขยยสูตรที่ ๖ จบ

๗. วัตถูปมสูตร
ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยผ้า

[๗๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมผ้าจะพึงนำผ้าที่สกปรก เปรอะเปื้อน ใส่ลงในน้ำย้อมสี
คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้าผืนนั้นจะพึงเป็นผ้าที่ย้อมได้ไม่ดี มีสี
ไม่สดใส ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผ้าผืนนั้นเป็นผ้าที่ไม่สะอาด แม้ฉันใด เมื่อจิต
เศร้าหมอง ทุคติ๑ก็เป็นอันหวังได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ช่างย้อมผ้า จะพึงนำผ้าที่สะอาด

เชิงอรรถ :
๑ ทุคติ มี ๒ อย่าง คือ (๑) ปฏิปัตติทุคติ หมายถึงคติคือการปฏิบัติชั่วด้วยอำนาจกิเลสแบ่งเป็น ๒ อย่าง
ได้แก่ อาคาริยปฏิปัตติทุคติ คือทุคติของคฤหัสถ์ผู้มีจิตเศร้าหมองฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติอกุศล-
กรรมบถ ๑๐ และอนาคาริยปฏิปัตติทุคติ คือคติของบรรพชิตผู้มีจิตเศร้าหมอง ตะเกียกตะกายทำลายสงฆ์
ทำลายเจดีย์ประพฤติอนาจาร (๒) คติทุคติ หมายถึงคติหรือภูมิเป็นที่ไปอันเป็นทุกข์แบ่งเป็น ๒ อย่าง
ได้แก่ อาคาริยทุคติ คือคติของคฤหัสถ์ผู้ตายแล้วไปเกิดในนรกบ้าง กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัย
บ้าง และอนาคาริยทุคติ คือทุคติของบรรพชิตผู้มรณภาพแล้ว ไปเกิดในนรกเป็นต้น เป็นสมณยักษ์ เป็น
สมณเปรต มีกายลุกโชติช่วงเพราะผ้าสังฆาฏิเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๗๐/๑๘๐, ม.มู.ฏีกา ๑/๗๐/๑๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

หมดจด ใส่ลงในน้ำย้อมสี คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้าผืนนั้น
จะพึงเป็นผ้าที่ย้อมได้ดี มีสีสดใส ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผ้าผืนนั้นเป็นผ้าที่สะอาด
แม้ฉันใด เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติ๑ก็เป็นอันหวังได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

อุปกิเลสแห่งจิต ๑๖ ชนิด

[๗๑] ภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลส๒แห่งจิต อะไรบ้าง คือ
๑. อภิชฌาวิสมโลภะ(ความโลภไม่สม่ำเสมอคือความเพ่งเล็งอยากได้
สิ่งของของผู้อื่น) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

๒. พยาบาท(ความคิดปองร้ายผู้อื่น) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๓. โกธะ(ความโกรธ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๔. อุปนาหะ(ความผูกโกรธ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๕. มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๖. ปฬาสะ(ความตีเสมอ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๗. อิสสา(ความริษยา) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

เชิงอรรถ :
๑ สุคติ มี ๒ อย่าง คือ (๑) ปฏิปัตติสุคติ หมายถึงคติ คือการปฏิบัติดีด้วยจิตบริสุทธิ์แบ่งเป็น ๒ อย่าง ได้แก่
อาคาริยปฏิปัตติสุคติ มีจิตบริสุทธิ์งดเว้นจากการฆ่าสัตว์บ้าง จากการลักทรัพย์บ้าง บำเพ็ญกุศลกรรมบถ
๑๐ ให้บริบูรณ์ อนาคาริยปฏิปัตติสุคติ คือสุคติของบรรพชิตผู้มีจิตบริสุทธิ์ รักษาปาริสุทธิศีล ๔ ให้บริสุทธิ์
สมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ เรียนกัมมัฏฐานในอารมณ์ ๓๘ ประการ กระทำกสิณบริกรรม ทำฌาณสมาบัติให้
เกิดขึ้น เจริญโสดาปัตติมรรค ฯลฯ อนาคามิมรรค (๒) คติสุคติ หมายถึงคติหรือภูมิเป็นที่ไปอันเป็นสุข
แบ่งเป็น ๒ อย่าง ได้แก่ อาคาริยสุคติ คือสุคติของคฤหัสถ์ผู้ตายแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์ที่มีชาติตระกูลสูง
มั่งคั่งด้วยทรัพย์ เพียบพร้อมด้วยเกียรติยศบ้าง เป็นเทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่บ้าง และอนาคาริยสุคติ คือคติ
ของบรรพชิตผู้มรณภาพแล้วไปเกิดในตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ และตระกูลคหบดี หรือไปเกิดใน
กามาวจรเทวโลก ๖ ชั้นบ้าง ในพรหมโลก ๑๐ ชั้น ในสุทธาวาสภูมิ ๕ ชั้น หรือในอรูปพรหม ๔ ชั้นบ้าง
(ม.มู.อ. ๑/๗๐/๑๘๐)
๒ อุปกิเลส หมายถึงกิเลสที่จรมาด้วยอำนาจโลภะ โทสะ และโมหะ แล้วทำจิตเดิม(ภวังคจิต)ที่แม้ปกติก็
บริสุทธิ์อยู่แล้วให้ต้องเศร้าหมอง (ม.มู.อ. ๑/๗๑/๑๘๑, อง.เอกก.อ. ๑/๔๙/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

๘. มัจฉริยะ(ความตระหนี่) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๙. มายา(มารยา) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๐. สาเถยยะ(ความโอ้อวด) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๑. ถัมภะ(ความหัวดื้อ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๒. สารัมภะ(ความแข่งดี) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๓. มานะ(ความถือตัว) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๔. อติมานะ(ความดูหมิ่นเขา) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๕. มทะ(ความมัวเมา) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๖. ปมาทะ(ความประมาท) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

[๗๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นรู้ชัดดังนี้ว่า
‘อภิชฌาวิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘พยาบาท เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละพยาบาทอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘โกธะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละโกธะอันเป็นอุปกิเลส
แห่งจิตได้ ... ‘อุปนาหะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอุปนาหะอันเป็นอุปกิเลส
แห่งจิตได้ ... ‘มักขะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมักขะอันเป็นอุปกิเลสแห่ง
จิตได้ ... ‘ปฬาสะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละปฬาสะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ...
‘อิสสา เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอิสสาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มัจฉริยะ
เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมัจฉริยะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มายา เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมายาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘สาเถยยะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละสาเถยยะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘ถัมภะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละถัมภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘สารัมภะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละสารัมภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มานะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมานะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘อติมานะ เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอติมานะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มทะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมทะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้
ภิกษุนั้นรู้ชัดดังนี้ว่า ‘ปมาทะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละปมาทะอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้
[๗๓] ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ภิกษุรู้ชัดดังนี้ว่า
‘อภิชฌาวิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘พยาบาท เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละพยาบาทอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘โกธะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละโกธะอันเป็นอุปกิเลส
แห่งจิตได้ ... ‘อุปนาหะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอุปนาหะอันเป็นอุปกิเลส
แห่งจิตได้ ... ‘มักขะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมักขะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้
... ‘ปฬาสะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละปฬาสะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ...
‘อิสสา เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอิสสาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มัจฉริยะ
เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมัจฉริยะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มายา เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมายาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘สาเถยยะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละสาเถยยะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘ถัมภะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละถัมภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘สารัมภะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละสารัมภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มานะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมานะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘อติมานะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอติมานะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มทะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมทะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้
ภิกษุผู้รู้ชัดดังนี้ว่า ‘ปมาทะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละปมาทะอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้
[๗๔] ในกาลนั้น ภิกษุนั้นจะมีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่
ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค‘๑ จะมีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระธรรมว่า ‘พระธรรมเป็น
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบ
ด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’ และ
จะมีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้
ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ
๘ บุคคล๒ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอัน
ยอดเยี่ยมของโลก’
[๗๕] เพราะเหตุที่ภิกษุนั้นสละ คาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งส่วนแห่งกิเลสได้แล้ว
เธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ ความรู้แจ้งธรรม และความปราโมทย์อันประกอบด้วย
ธรรมว่า ‘เรามีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า’ เมื่อเธอมีปราโมทย์แล้ว ปีติ
ย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข
จิตย่อมตั้งมั่น ...‘เรามีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระธรรม’ เธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ
ความรู้แจ้งธรรม และความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรมว่า ‘เรามีความเลื่อมใส
แน่วแน่ในพระสงฆ์’ เมื่อเธอมีปราโมทย์แล้ว ปีติย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ
เธอมีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอรู้ว่า ‘เพราะเราสละ
คาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งส่วนแห่งกิเลสได้แล้ว’ จึงได้ความรู้แจ้งอรรถ ความ
รู้แจ้งธรรม และความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อเธอมีปราโมทย์แล้ว ปีติ
ย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข
จิตย่อมตั้งมั่น

เชิงอรรถ :
๑ วิ.อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘, องฺ.ทุก.(แปล) ๒๐/๖๔/๒๔๗
๒ ๘ บุคคล ได้แก่ (๑) บุคคลผู้เป็นพระโสดาบัน (๒) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
(๓) บุคคลผู้เป็นพระสกทาคามี (๔) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล
(๕) บุคคลผู้เป็นพระอนาคามี (๖) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล
(๗) บุคคลผู้เป็นพระอรหันต์ (๘) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
(อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๒๐๗/๒๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

[๗๖] ภิกษุนั้นมีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ แม้ว่าเธอฉัน
อาหารบิณฑบาตข้าวสาลีที่เลือกของสกปรกออกแล้ว มีแกงมีกับข้าวหลายอย่าง
การฉันบิณฑบาตของภิกษุนั้น ไม่เป็นอันตรายแก่มรรคและผลเลย ผ้าที่สกปรก
เปรอะเปื้อน จะเป็นผ้าที่สะอาด หมดจดได้ เพราะอาศัยน้ำใสสะอาด หรือทองคำ
จะเป็นทองคำบริสุทธิ์ผุดผ่องได้เพราะอาศัยเบ้าหลอม แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ แม้ว่าเธอฉันอาหารบิณฑบาตข้าว
สาลีที่เลือกของสกปรกออกแล้ว มีแกงมีกับข้าวหลายอย่าง การฉันบิณฑบาตของ
ภิกษุนั้น ไม่เป็นอันตรายแก่มรรคและผลเลย
[๗๗] ภิกษุนั้นมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ...
ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าใน
ที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ฯลฯ มีมุทิตาจิต ฯลฯ มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑
... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไป
ตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มี
ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
[๗๘] ภิกษุนั้นรู้ชัดว่า ‘สิ่งนี้มีอยู่ สิ่งที่เลวมีอยู่ สิ่งที่ประณีตมีอยู่ ธรรม
เครื่องสลัดออกจากกิเลส๑ ที่ยิ่งกว่าสัญญานี้๒ก็มีอยู่’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิต
ย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า
‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๓ ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว๔ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๕’ ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้อาบ
สะอาดแล้วด้วยการอาบสะอาดในภายใน”

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเครื่องสลัดออกจากกิเลส ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ม.มู.อ. ๑/๗๘/๑๘๙)
๒ สัญญา ในที่นี้หมายถึงพรหมวิหารสัญญา (ม.มู.อ. ๑/๗๘/๑๘๙)
๓-๕ ดูเชิงอรรถที่ ๑ - ๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

การอาบน้ำในพระศาสนา

[๗๙] ในสมัยนั้น พราหมณ์ชื่อสุนทริกภารทวาชะนั่งอยู่ไม่ไกลจากพระผู้มี-
พระภาค ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดมเสด็จไปยังแม่น้ำพาหุกาเพื่อ
สรงน้ำหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ แม่น้ำพาหุกาจะมีประโยชน์อะไร
แม่น้ำพาหุกาจักทำอะไรได้”
สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม คนจำนวนมากถือ
กันว่า แม่น้ำพาหุกาให้ความบริสุทธิ์ได้ คนจำนวนมากถือกันว่า แม่น้ำพาหุกา
เป็นบุญสถาน อนึ่ง คนจำนวนมากลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า
“คนพาลมีกรรมชั่ว แม้จะไปยังแม่น้ำพาหุกา
ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี
ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี เป็นประจำ ก็ยังบริสุทธิ์ไม่ได้
แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ แม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้
จะพึงชำระคนผู้มีเวร ผู้ทำกรรมหยาบช้า ผู้มีกรรมชั่วนั้น
ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย
ผัคคุณฤกษ์๑ เป็นฤกษ์ดีทุกเมื่อสำหรับผู้บริสุทธิ์
อุโบสถเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ทุกเมื่อสำหรับผู้บริสุทธิ์
วัตรปฏิบัติสมบูรณ์ทุกเมื่อสำหรับผู้บริสุทธิ์ มีกรรมสะอาด

เชิงอรรถ :
๑ ผัคคุณฤกษ์ หมายถึงงานนักขัตฤกษ์ประจำเดือน ๔ ที่พราหมณ์ถือว่าผู้ที่ชำระหรืออาบน้ำวันข้างขึ้น
เดือน ๔ ได้ชื่อว่าชำระบาปที่ทำมาแล้วตลอดปีได้ (ม.มู.อ. ๑/๗๙/๑๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

พราหมณ์ ท่านจงอาบน้ำในศาสนาของเรานี้เถิด
ท่านจงทำความปลอดภัยในสัตว์ทั้งปวงเถิด
ถ้าท่านไม่พูดเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์
ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ มีความเชื่อ
ไม่ตระหนี่ ท่านจะไปยังท่าน้ำคยาทำไม
แม้การดื่มน้ำจากท่าน้ำคยาจักมีประโยชน์อะไรแก่ท่าน”

สุนทริกพราหมณ์เป็นพระอรหันต์

[๘๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดม
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วย
ตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของ
ท่านพระโคดมเถิด”
สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี-
พระภาคแล้ว ไม่นานก็จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและ
ใจอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
ท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ดังนี้แล

วัตถูปมสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

๘. สัลเลขสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส

[๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระมหาจุนทะออกจากที่
หลีกเร้น๑ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทิฏฐิหลายประการในโลกเกี่ยวกับอัตตวาทะ๒บ้าง
เกี่ยวกับโลกวาทะ๓บ้าง เมื่อภิกษุมนสิการเพียงเบื้องต้น ก็ละสลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้น
ได้อย่างนั้นหรือ”
[๘๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จุนทะ มีทิฏฐิหลายประการในโลกเกี่ยวกับ
อัตตวาทะบ้าง เกี่ยวกับโลกวาทะบ้าง เมื่อภิกษุเห็นอารมณ์เป็นที่เกิดขึ้น เป็นที่
หมักหมม และเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งทิฏฐิเหล่านั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
อันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ก็ละ
สลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้นได้

รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔

จุนทะ เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรม
ทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ที่หลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงผลสมาบัติชั้นสูงสุด (ม.มู.อ. ๑/๘๑/๑๙๔)
๒ อัตตวาทะ หมายถึงมิจฉาทิฏฐิที่ปรารภอัตตา เช่น เห็นว่ารูปเป็นอัตตาเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๘๑/๑๙๔)
๓ โลกวาทะ หมายถึงมิจฉาทิฏฐิที่ปรารภโลก เช่น เห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยงเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๘๑/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

ภิกษุนั้น พึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือ
ปฐมฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรา
กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันในอริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ บรรลุ
ทุติยฌานซึ่งมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ ภิกษุนั้นพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วย
ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือทุติยฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่อง
ขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันใน
อริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้มีอุเบกขา มี
สติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญ
ว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรม
เครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือตติยฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา
กิเลสในอริยวินัย แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันในอริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะ
อุเบกขาอยู่ เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’
ธรรมคือจตุตถฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่
เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันในอริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดย
กำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรม
เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคืออากาสานัญจายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็น
ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบใน
ปัจจุบันในอริยวินัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

เป็นไปได้ที่เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบางรูป
ในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุด
มิได้’ เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือ
วิญญาณัญจายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย
แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบในอริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบางรูป
ในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ เธอพึง
มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือ
อากิญจัญญายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย
แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบในอริยวินัย
จุนทะ เป็นไปได้ที่เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บางรูปในธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ เธอพึงมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรา
กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบในอริยวินัย

ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส

[๘๓] จุนทะ ในการเบียดเบียนกันเป็นต้นนี้ เธอทั้งหลายควรทำความ
ขัดเกลากิเลส คือ เธอทั้งหลายควรทำความขัดเกลากิเลสโดยคิดว่า ‘ชนเหล่าอื่น
จักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักฆ่าสัตว์ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการฆ่าสัตว์’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักลักทรัพย์ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการลักทรัพย์’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจัก
ประพฤติพรหมจรรย์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

... ‘ชนเหล่าอื่นจักพูดเท็จ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการพูดเท็จ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักพูดส่อเสียด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการพูด
ส่อเสียด’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักพูดคำหยาบ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการพูด
คำหยาบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักพูดเพ้อเจ้อ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการพูด
เพ้อเจ้อ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจัก
ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีจิตพยาบาท ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีจิตพยาบาท’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความเห็นผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความเห็นชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความดำริผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความดำริชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักเจรจาผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเจรจาชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีการกระทำผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีการกระทำชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีการเลี้ยงชีพผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีการเลี้ยง
ชีพชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความพยายามผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
พยายามชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความระลึกผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
ระลึกชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีการตั้งจิตมั่นผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีการตั้งจิต
มั่นชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีมิจฉาญาณะ(ความรู้ผิด) ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
รู้ชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีมิจฉาวิมุตติ(ความหลุดพ้นผิด) ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมี
ความหลุดพ้นชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักถูกความหดหู่และเซื่องซึมครอบงำ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลาย
จักปราศจากความหดหู่และเซื่องซึม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีจิตฟุ้งซ่าน ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีจิตไม่ฟุ้งซ่าน’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความสงสัย ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักข้ามพ้นความสงสัย’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความโกรธ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีความโกรธ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักผูกโกรธ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ผูกโกรธ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักลบหลู่คุณท่าน ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ลบหลู่คุณท่าน’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักตีเสมอ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ตีเสมอ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความริษยา ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีความริษยา’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความตระหนี่ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีความตระหนี่’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักโอ้อวด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่โอ้อวด’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีมารยา ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีมารยา’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักดื้อรั้น ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ดื้อรั้น’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักถือตัวจัด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ถือตัวจัด’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักว่ายาก ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักว่าง่าย’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีมิตรชั่ว ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีมิตรดี’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักประมาท ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ประมาท’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักไม่มีศรัทธา ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีศรัทธา’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักไม่มีความละอายบาป ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
ละอายบาป’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักไม่มีความเกรงกลัวบาป ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
เกรงกลัวบาป’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีการได้ยินได้ฟังน้อย ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีการได้ยิน
ได้ฟังมาก’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักเกียจคร้าน ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักปรารภความเพียร’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีสติหลงลืม ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีสติตั้งมั่น’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีปัญญาทราม ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักสมบูรณ์ด้วยปัญญา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

เธอทั้งหลาย ควรทำความขัดเกลากิเลสด้วยความคิดว่า ‘ชนเหล่าอื่นจักยึดติด
ถือมั่นทิฏฐิของตน สลัดทิ้งได้ยาก ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิ
ของตน สลัดทิ้งได้ง่าย’
[๘๔] จุนทะ เรากล่าวว่า ‘แม้จิตตุปบาทก็มีอุปการะมากในกุศลธรรม
ทั้งหลาย ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการกระทำด้วยกายและพูดด้วยวาจา’ เพราะฉะนั้น
ในเรื่องนี้ เธอทั้งหลายควรมีความคิดว่า ‘ชนเหล่าอื่นจักเบียดเบียนกัน ในเรื่องนี้
เราทั้งหลายจักไม่เบียดเบียนกัน’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักฆ่าสัตว์ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการฆ่าสัตว์’ ฯลฯ
เธอทั้งหลายควรมีความคิดว่า ‘ชนเหล่าอื่นจักยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน สลัดทิ้ง
ได้ยาก ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน สลัดทิ้งได้ง่าย’

ทางหลีกเลี่ยงความชั่ว

[๘๕] จุนทะ ทางที่ขรุขระจะพึงมีทางที่ราบเรียบอื่นเพื่อใช้เป็นทางหลีกเลี่ยง
อนึ่ง ท่าน้ำที่ขรุขระจะพึงมีท่าน้ำที่ราบเรียบอื่นเพื่อใช้เป็นทางหลีกเลี่ยง แม้ฉันใด
ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เบียดเบียน
เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ฆ่าสัตว์
เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ลักทรัพย์
เจตนางดเว้นจากการไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับ
บุคคลผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดเท็จ
เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดส่อเสียด
เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดคำหยาบ
เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดเพ้อเจ้อ
ความไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้
เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

ความไม่พยาบาท เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีจิตพยาบาท
สัมมาทิฏฐิ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความเห็นผิด๑
สัมมาสังกัปปะ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความดำริผิด
สัมมาวาจา เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เจรจาผิด
สัมมากัมมันตะ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีการกระทำผิด
สัมมาอาชีวะ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีการเลี้ยงชีพผิด
สัมมาวายามะ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความพยายามผิด
สัมมาสติ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความระลึกผิด
สัมมาสมาธิ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีการตั้งจิตมั่นผิด
สัมมาญาณะ(ความรู้ชอบ) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความรู้ผิด
สัมมาวิมุตติ(ความหลุดพ้นชอบ) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความ
หลุดพ้นผิด
ความเป็นผู้ปราศจากความหดหู่และเซื่องซึม เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคล
ผู้ถูกความหดหู่และเซื่องซึมครอบงำ
ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
ความเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัย เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความสงสัย
ความไม่โกรธ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มักโกรธ
ความไม่ผูกโกรธ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ผูกโกรธ
ความไม่ลบหลู่คุณท่าน เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ลบหลู่คุณท่าน
ความไม่ตีเสมอ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ตีเสมอ
ความไม่ริษยา เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความริษยา
ความไม่ตระหนี่ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ตระหนี่
ความไม่โอ้อวด เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้โอ้อวด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๗๕/๓๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

ความไม่มีมารยา เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีมารยา
ความไม่ดื้อรั้น เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ดื้อรั้น
ความไม่ถือตัวจัด เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ถือตัวจัด
ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ว่ายาก
ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีมิตรชั่ว
ความไม่ประมาท เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ประมาท
สัทธา (ศรัทธา) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา
หิริ(ความละอายบาป) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ไม่มีความละอายบาป
โอตตัปปะ(ความเกรงกลัวบาป) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ไม่เกรง
กลัวบาป
พาหุสัจจะ(ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคล
ผู้ได้ยินได้ฟังน้อย
การปรารภความเพียร เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เกียจคร้าน
ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีสติหลงลืม
ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีปัญญาทราม
ความเป็นผู้ไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ง่าย เป็นทาง
หลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ยาก
[๘๖] จุนทะ อกุศลธรรมทั้งหมดเป็นธรรมนำบุคคลไปสู่ความเสื่อม (แต่)
กุศลธรรมทั้งหมดเป็นธรรมนำบุคคลไปสู่ความเจริญ แม้ฉันใด ความไม่เบียดเบียน
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นทางเพื่อความเจริญสำหรับบุคคลผู้เบียดเบียน
เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นทางเพื่อความเจริญสำหรับบุคคลผู้ฆ่าสัตว์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นทางเพื่อความเจริญสำหรับบุคคลผู้ลักทรัพย์
ฯลฯ
ความเป็นผู้ไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ง่าย เป็นทางเพื่อ
ความเจริญสำหรับบุคคลผู้ยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ยาก

อุบายเพื่อความดับสนิท

[๘๗] จุนทะ เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลนั้นตนเองจมอยู่ในเปือกตมลึก จักยก
บุคคลอื่นผู้จมอยู่ในเปือกตมลึกขึ้นได้
เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นตนเองไม่จมอยู่ในเปือกตมลึก จักยกบุคคลอื่นผู้มอยู่ใน
เปือกตมลึกขึ้นได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลนั้นตนเองไม่ฝึกตน ไม่แนะนำตน ไม่ดับสนิท จักฝึก
สอนผู้อื่น แนะนำผู้อื่น ช่วยให้ผู้อื่นดับสนิทได้
เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นตนเองฝึกตน แนะนำตน ดับสนิท จักฝึกผู้อื่น แนะนำ
ผู้อื่น ช่วยให้ผู้อื่นดับสนิทได้ แม้ฉันใด ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้เบียดเบียน
เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ฆ่าสัตว์
เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้
ลักทรัพย์
เจตนางดเว้นจากการไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับ
บุคคลผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้พูดเท็จ
เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้
พูดส่อเสียด
เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้
พูดคำหยาบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้
พูดเพ้อเจ้อ
ความไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับ
บุคคลผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
ความไม่พยาบาท เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีจิตพยาบาท
สัมมาทิฏฐิ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความเห็นผิด
สัมมาสังกัปปะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความดำริผิด
สัมมาวาจา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้เจรจาผิด
สัมมากัมมันตะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีการกระทำผิด
สัมมาอาชีวะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีการเลี้ยงชีพผิด
สัมมาวายามะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความพยายามผิด
สัมมาสติ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความระลึกผิด
สัมมาสมาธิ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีการตั้งจิตมั่นผิด
สัมมาญาณะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความรู้ผิด
สัมมาวิมุตติ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความหลุดพ้นผิด
ความเป็นผู้ปราศจากความหดหู่และเซื่องซึม เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับ
บุคคลผู้ถูกความหดหู่และเซื่องซึมครอบงำ
ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
ความเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัย เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มี
ความสงสัย
ความไม่โกรธ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มักโกรธ
ความไม่ผูกโกรธ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ผูกโกรธ
ความไม่ลบหลู่คุณท่าน เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ลบหลู่
คุณท่าน
ความไม่ตีเสมอ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ตีเสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

ความไม่ริษยา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความริษยา
ความไม่ตระหนี่ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ตระหนี่
ความไม่โอ้อวด เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้โอ้อวด
ความไม่มีมารยา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีมารยา
ความไม่ดื้อรั้น เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ดื้อรั้น
ความไม่ถือตัวจัด เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ถือตัวจัด
ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ว่ายาก
ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีมิตรชั่ว
ความไม่ประมาท เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ประมาท
สัทธา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา
หิริ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ไม่มีความละอายบาป
โอตตัปปะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ไม่เกรงกลัวบาป
พาหุสัจจะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ได้ยินได้ฟังน้อย
การปรารภความเพียร เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้เกียจคร้าน
ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีสติหลงลืม
ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีปัญญา
ทราม
ความเป็นผู้ไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ง่าย เป็นทางเพื่อ
ความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ยาก
[๘๘] จุนทะ เราได้แสดงเหตุแห่งธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส เหตุแห่ง
จิตตุปบาท เหตุแห่งการหลีกเลี่ยง เหตุแห่งการไปสู่ความเจริญ (และ)เหตุแห่ง
ความดับสนิทไว้แล้วด้วยประการอย่างนี้ เราผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล เอื้อเอ็นดู
อนุเคราะห์สาวกทั้งหลาย ได้ทำกิจที่ควรทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

จุนทะ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจเถิด อย่าประมาท
อย่าได้เดือดร้อนในภายหลังเลย นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะมีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

พระผู้มีพระภาคตรัสบท ๔๔ บท ทรงแสดงสนธิ ๕
พระสูตรนี้ชื่อสัลเลขสูตรลุ่มลึกเปรียบด้วยสาคร
สัลเลขสูตรที่ ๘ จบ

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยความเห็นชอบ

[๘๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลาย
มากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึง
ได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีคนกล่าวกันว่า ‘สัมมาทิฏฐิ๑ สัมมาทิฏฐิ’ ด้วยเหตุ
อะไรบ้าง พระอริยสาวกจึงชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอัน
แน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกล ก็เพื่อจะรู้ทั่วถึง
เนื้อความแห่งภาษิตนั้น ในสำนักของท่านพระสารีบุตร พวกกระผมขอโอกาส
ขอท่านพระสารีบุตรจงอธิบายเนื้อความแห่งภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลาย
ได้ฟังคำอธิบายของท่านแล้วจักทรงจำไว้ได้”

เชิงอรรถ :
๑ สัมมาทิฏฐิ มี ๒ อย่าง คือ (๑) โลกิยสัมมาทิฏฐิ หมายถึงกัมมัสสกตาญาณ (ญาณหยั่งรู้ว่าสัตว์มีกรรม
เป็นของตน) และสัจจานุโลมิกญาณ (ญาณหยั่งรู้โดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ) (๒) โลกุตตร-
สัมมาทิฏฐิ หมายถึงปัญญาที่ประกอบด้วยอริยมรรค และอริยผล ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ
(ม.มู.อ. ๑/๘๙/๒๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่าน
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า

เรื่องอกุศลและกุศล

“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่ง
อกุศล รู้ชัดกุศลและรากเหง้าแห่งกุศล เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวก
ก็ชื่อว่า มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่
พระสัทธรรมนี้
อกุศล เป็นอย่างไร รากเหง้าแห่งอกุศล เป็นอย่างไร กุศล เป็นอย่างไร
รากเหง้าแห่งกุศล เป็นอย่างไร
อกุศล เป็นอย่างไร

คือ การฆ่าสัตว์ เป็นอกุศล
การลักทรัพย์ เป็นอกุศล
การประพฤติผิดในกาม เป็นอกุศล
การพูดเท็จ เป็นอกุศล
การพูดส่อเสียด เป็นอกุศล
การพูดคำหยาบ เป็นอกุศล
การพูดเพ้อเจ้อ เป็นอกุศล
การเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นอกุศล
การคิดปองร้ายผู้อื่น เป็นอกุศล
มิจฉาทิฏฐิ เป็นอกุศล
นี้เรียกว่า อกุศล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

รากเหง้าแห่งอกุศล เป็นอย่างไร
คือ โลภะ(ความโลภ) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล
โทสะ(ความคิดประทุษร้าย) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล
โมหะ(ความหลง) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล
นี้เรียกว่า รากเหง้าแห่งอกุศล
กุศล เป็นอย่างไร

คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นกุศล
การไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นกุศล
การไม่ปองร้ายผู้อื่น เป็นกุศล
สัมมาทิฏฐิ เป็นกุศล
นี้เรียกว่า กุศล

รากเหง้าแห่งกุศล เป็นอย่างไร
คือ อโลภะ(ความไม่โลภ) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล
อโทสะ(ความไม่คิดประทุษร้าย) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล
อโมหะ(ความไม่หลง) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล
นี้เรียกว่า รากเหง้าแห่งกุศล
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่งอกุศลอย่างนี้ รู้ชัดกุศลและ
รากเหง้าแห่งกุศลอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือราคะ)
บรรเทาปฏิฆานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือปฏิฆะ) ถอนทิฏฐานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

คือทิฏฐิ)และมานานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือมานะ)ที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการ
ทั้งปวง ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องอาหาร

[๙๐] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก
ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาหาร
เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งอาหาร๑ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อาหาร เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอาหาร เป็นอย่างไร ความดับแห่งอาหาร
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร เป็นอย่างไร
คือ อาหาร ๔ ชนิดนี้ ย่อมมีเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว
หรือเพื่ออนุเคราะห์เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด
อาหาร ๔ ชนิด อะไรบ้าง คือ
๑. กวฬิงการาหาร(อาหารคือคำข้าว) หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
๒. ผัสสาหาร(อาหารคือการสัมผัส)
๓. มโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือความจงใจ)
๔. วิญญาณาหาร(อาหารคือวิญญาณ)

เชิงอรรถ :
๑ ความดับแห่งอาหาร จะปรากฏได้ก็ต่อเมื่อดับตัณหาที่เป็นปัจจัยแห่งอาหารทั้งที่เป็นอุปาทินนกะและ
อนุปาทินนกะได้ กล่าวคือ เมื่อเหตุดับไปโดยประการทั้งปวง แม้ผลก็ย่อมดับไปโดยประการทั้งปวง (ม.มู.อ.
๑/๙๐/๒๒๘, ม.มู.ฏีกา ๑/๙๐/๓๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เพราะตัณหาเกิด เหตุเกิดแห่งอาหารจึงมี
เพราะตัณหาดับ ความดับแห่งอาหารจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ___๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา___๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ___๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ___๘. สัมมาสมาธิ

นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหารได้
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งอาหาร
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหารอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทา
ปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการทั้งปวง
ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องสัจจะ

[๙๑] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก
ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดทุกข์(สภาวะที่ทน
ได้ยาก) ทุกขสมุทัย(เหตุเกิดทุกข์) ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่า
มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

ทุกข์ เป็นอย่างไร ทุกขสมุทัย เป็นอย่างไร ทุกขนิโรธ เป็นอย่างไร ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา เป็นอย่างไร
ทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพราก
จากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทาน-
ขันธ์๑ ๕ เป็นทุกข์ นี้เรียกว่า ทุกข์
ทุกขสมุทัย เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด
มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา(ความทะยานอยากในกาม)
ภวตัณหา (ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่) วิภวตัณหา(ความทะยานอยากไม่เป็น
นั่นเป็นนี่) นี้เรียกว่า ทุกขสมุทัย
ทุกขนิโรธ เป็นอย่างไร
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

เชิงอรรถ :
๑ อุปาทานขันธ์ หมายถึงอุปาทาน + ขันธ์ คำว่า อุปาทาน แปลว่า ความถือมั่น (อุป = มั่น + อาทาน = ถือ)
หมายถึงชื่อของราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕ บ้าง (ดู สํ.ข.อ. ๒/๑/๑๖, อภิ.สงฺ.อ. ๑๒๑๙/๔๔๒) หมาย
ถึงความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา มานะ และทิฏฐิบ้าง (ดู สํ.ข.อ. ๒/๖๓/๓๐๘) หมายถึงตัณหาบ้าง (ดู ม.มู.อ.
๑/๑๔๑/๓๓๐) คำว่า ขันธ์ แปลว่า กอง (ตามนัย อภิ.สงฺ.อ. ๕/๑๙๒) ดังนั้น อุปาทานขันธ์ จึงหมายถึง
“กองอันเป็นอารมณ์แห่งความถือมั่น” ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๔,
ขุ.ป. ๓๑/๓๓/๔๐-๔๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๐๒/๑๖๖, อภิ.วิ.อ. ๒๐๒/๑๑๗, สํ.ข.ฏีกา ๒๒/๒๕๔, วิสุทฺธิ.
๒/๕๐๕/๑๒๒ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอน
ทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาได้แล้ว ทำ
วิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องชราและมรณะ

[๙๒] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก
ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชราและมรณะ
เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับแห่งชราและมรณะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งชราและมรณะ เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามี
สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ชราและมรณะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ เป็นอย่างไร ความ
ดับแห่งชราและมรณะ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ เป็น
อย่างไร
ชรา เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมี
หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของ
เหล่าสัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า ชรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

มรณะ เป็นอย่างไร
คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย
กล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความ
ขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ จากหมู่สัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า มรณะ
ชราและมรณะดังกล่าวมาแล้ว นี้เรียกว่า ชราและมรณะ
เพราะชาติเกิด เหตุเกิดแห่งชราและมรณะจึงมี
เพราะชาติดับ ความดับแห่งชราและมรณะจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับ
แห่งชราและมรณะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะอย่างนี้ เมื่อนั้น
ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องชาติ

[๙๓] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ๑ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชาติ เหตุเกิด
แห่งชาติ ความดับแห่งชาติ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ เมื่อนั้น แม้ด้วย
เหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ชาติ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งชาติ เป็นอย่างไร ความดับแห่งชาติ เป็นอย่างไร
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ เป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๙๒ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ
ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ นี้
เรียกว่า ชาติ
เพราะภพเกิด เหตุเกิดแห่งชาติจึงมี
เพราะภพดับ ความดับแห่งชาติจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ ความดับแห่งชาติ และข้อ
ปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง
ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามี
สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องภพ

[๙๔] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดภพ เหตุเกิด
แห่งภพ ความดับแห่งภพ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ เมื่อนั้น แม้ด้วย
เหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ภพ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งภพ เป็นอย่างไร ความดับแห่งภพ เป็นอย่างไร
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ เป็นอย่างไร
ภพ ๓ เหล่านี้ คือ
๑. กามภพ (ภพที่เป็นกามาวจร)
๒. รูปภพ (ภพที่เป็นรูปาวจร)
๓. อรูปภพ (ภพที่เป็นอรูปาวจร)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เพราะอุปาทานเกิด เหตุเกิดแห่งภพจึงมี
เพราะอุปาทานดับ ความดับแห่งภพจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับแห่งภพ และข้อปฏิบัติ
ให้ถึงความดับแห่งภพอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ
เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ
มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องอุปาทาน

[๙๕] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอุปาทาน เหตุ
เกิดแห่งอุปาทาน ความดับแห่งอุปาทาน และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อุปาทาน เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอุปาทาน เป็นอย่างไร ความดับแห่ง
อุปาทาน เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน เป็นอย่างไร
อุปาทาน ๔ ประการนี้ คือ
๑. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม)
๒. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ)
๓. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและวัตร)
๔. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา)
เพราะตัณหาเกิด เหตุเกิดแห่งอุปาทานจึงมี
เพราะตัณหาดับ ความดับแห่งอุปาทานจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอุปาทาน เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ความดับแห่ง
อุปาทาน และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทานอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละ
ราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียง
เท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องตัณหา

[๙๖] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดตัณหา เหตุ
เกิดแห่งตัณหา ความดับแห่งตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ตัณหา เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งตัณหา เป็นอย่างไร ความดับแห่งตัณหา
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา เป็นอย่างไร
ตัณหา ๖ ประการนี้ คือ

๑. รูปตัณหา (ความทะยานอยากในรูป)
๒. สัททตัณหา (ความทะยานอยากในเสียง)
๓. คันธตัณหา (ความทะยานอยากในกลิ่น)
๔. รสตัณหา (ความทะยานอยากในรส)
๕. โผฏฐัพพตัณหา (ความทะยานอยากในโผฏฐัพพะ)
๖. ธัมมตัณหา (ความทะยานอยากในธรรมารมณ์)

เพราะเวทนาเกิด เหตุเกิดแห่งตัณหาจึงมี
เพราะเวทนาดับ ความดับแห่งตัณหาจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับแห่งตัณหา
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดย
ประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องเวทนา

[๙๗] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดเวทนา เหตุ
เกิดแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
เวทนา เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งเวทนา เป็นอย่างไร ความดับแห่งเวทนา
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา เป็นอย่างไร
เวทนา ๖ ประการนี้ คือ

๑. จักขุสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา)
๒. โสตสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู)
๓. ฆานสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางจมูก)
๔. ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางลิ้น)
๕. กายสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกาย)
๖. มโนสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางใจ)

เพราะผัสสะเกิด เหตุเกิดแห่งเวทนาจึงมี
เพราะผัสสะดับ ความดับแห่งเวทนาจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดย
ประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ใน
ธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องผัสสะ

[๙๘] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดผัสสะ เหตุ
เกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งผัสสะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ผัสสะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งผัสสะ เป็นอย่างไร ความดับแห่งผัสสะ เป็น
อย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ เป็นอย่างไร
ผัสสะ ๖ ประการนี้ คือ

๑. จักขุสัมผัส (สัมผัสทางตา)
๒. โสตสัมผัส (สัมผัสทางหู)
๓. ฆานสัมผัส (สัมผัสทางจมูก)
๔. ชิวหาสัมผัส (สัมผัสทางลิ้น)
๕. กายสัมผัส (สัมผัสทางกาย)
๖. มโนสัมผัส (สัมผัสทางใจ)

เพราะอายตนะ ๖ เกิด เหตุเกิดแห่งผัสสะจึงมี
เพราะอายตนะ ๖ ดับ ความดับแห่งผัสสะจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดผัสสะ เหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งผัสสะ และ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการ
ทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวก
ก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระ
สัทธรรมนี้”

เรื่องอายตนะ

[๙๙] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอายตนะ ๖
ประการ เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการ ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการ
เป็นอย่างไร ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร
อายตนะ ๖ ประการนี้ คือ
๑. จักขวายตนะ (อายตนะคือตา)
๒. โสตายตนะ (อายตนะคือหู)
๓. ฆานายตนะ (อายตนะคือจมูก)
๔. ชิวหายตนะ (อายตนะคือลิ้น)
๕. กายายตนะ (อายตนะคือกาย)
๖. มนายตนะ (อายตนะคือใจ)
เพราะนามรูปเกิด เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เพราะนามรูปดับ ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอายตนะ ๖ ประการ เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖
ประการ ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่ง
อายตนะ ๖ ประการ อย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ
เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ
มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องนามรูป

[๑๐๐] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดนามรูป
เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับแห่งนามรูป และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
นามรูป เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งนามรูป เป็นอย่างไร ความดับแห่งนามรูป
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป เป็นอย่างไร
เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่า นาม มหาภูตรูป ๔ (ได้แก่
ดิน น้ำ ลม ไฟ) และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ (อุปาทายรูป ๒๔) นี้เรียกว่า รูป
นามและรูปดังกล่าวนี้ เรียกว่า นามรูป
เพราะวิญญาณเกิด เหตุเกิดแห่งนามรูปจึงมี
เพราะวิญญาณดับ ความดับแห่งนามรูปจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดนามรูป เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับแห่งนามรูป
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูปอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย
โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องวิญญาณ

[๑๐๑] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดวิญญาณ
เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
วิญญาณ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งวิญญาณ เป็นอย่างไร ความดับแห่ง
วิญญาณ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ เป็นอย่างไร
วิญญาณ ๖ ประการนี้ คือ

๑. จักขุวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา)
๒. โสตวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู)
๓. ฆานวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางจมูก)
๔. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น)
๕. กายวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางกาย)
๖. มโนวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางใจ)

เพราะสังขารเกิด เหตุเกิดแห่งวิญญาณจึงมี
เพราะสังขารดับ ความดับแห่งวิญญาณจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่ง
วิญญาณ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย
โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องสังขาร

[๑๐๒] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดสังขาร เหตุ
เกิดแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
สังขาร เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งสังขาร เป็นอย่างไร ความดับแห่งสังขาร
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร เป็นอย่างไร
สังขาร ๓ ประการนี้ คือ
๑. กายสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งกาย)
๒. วจีสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งวาจา)
๓. จิตตสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งใจ)
เพราะอวิชชาเกิด เหตุเกิดแห่งสังขารจึงมี
เพราะอวิชชาดับ ความดับแห่งสังขารจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดสังขาร เหตุเกิดแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขารอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย
โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องอวิชชา

[๑๐๓] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอวิชชา เหตุ
เกิดแห่งอวิชชา ความดับแห่งอวิชชา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อวิชชา เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอวิชชา เป็นอย่างไร ความดับแห่งอวิชชา
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา เป็นอย่างไร
ความไม่รู้ในทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งทุกข์ นี้เรียกว่า อวิชชา
เพราะอาสวะเกิด เหตุเกิดแห่งอวิชชาจึงมี
เพราะอาสวะดับ ความดับแห่งอวิชชาจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับแห่งอวิชชา
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย
โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องอาสวะ

[๑๐๔] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็น
เหตุชี้บอกว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาสวะ๑
เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อาสวะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร ความดับแห่งอาสวะ
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร
อาสวะ ๓ ประการนี้ คือ
๑. กามาสวะ (อาสวะคือกาม)
๒. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
๓. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)
เพราะอวิชชาเกิด เหตุเกิดแห่งอาสวะจึงมี
เพราะอวิชชาดับ ความดับแห่งอาสวะจึงมี

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๔ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๑๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ___๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา___๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ___๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ___๘. สัมมาสมาธิ

นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทา
ปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการทั้งปวง
ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้นแล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิต
ของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล

สัมมาทิฏฐิสูตร ที่ ๙ จบ

ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ใน ๖ บทที่กล่าวว่า เป็นอย่างไร
คือ ทุกข์ ชราและมรณะ อุปาทาน อายตนะ ๖ นามรูป วิญญาณ
ใน ๔ บทที่กล่าวว่า เป็นอย่างไร
คือ ชาติ ตัณหา เวทนา อวิชชาเป็นที่ ๔
ใน ๕ บท ที่กล่าวว่า เป็นอย่างไร
คือ อาหาร ภพ ผัสสะ สังขาร อาสวะเป็นที่ ๕
๖ ประการ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว
๔ ประการ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าก็กล่าวแล้ว
๕ ประการ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าก็กล่าวแล้ว
และบทแห่งสังขารทั้งปวงมี ๑๕ บท ดังกล่าวมานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร๑
ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สูตรใหญ่

[๑๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาสธัมมะ
แคว้นกุรุ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสเรื่องนี้ว่า

อุทเทส

[๑๐๖] “ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียว๒ เพื่อความบริสุทธิ์ของ
เหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม๓
เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน๔ ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูความพิสดารใน ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๗๒-๔๐๕/๓๐๑-๓๔๐
๒ ทางสายเดียว ในที่นี้มีความหมาย ๔ นัย คือ (๑) ทางที่บุคคลผู้ละการเกี่ยวข้องกับหมู่คณะไปประพฤติ
ธรรมอยู่แต่ผู้เดียว (๒) ทางสายเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้เกิดขึ้น เป็นทางของบุคคลผู้เดียว คือ
พระผู้มีพระภาค (๓) ข้อปฏิบัติในศาสนาเดียว คือพระพุทธศาสนา (๔) ทางดำเนินไปสู่จุดหมายเดียว
คือ พระนิพพาน (ที.ม.อ. ๒/๓๗๓/๓๕๙, ม.มู.อ. ๑/๑๐๖/๒๔๔)
๓ ญายธรรม หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. ๒/๒๑๔/๑๙๗, ม.มู.อ. ๑/๑๐๖/๒๕๑)
๔ สติปัฏฐาน แปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ หรือการปฏิบัติมีสติเป็นประธาน (ที.ม.อ. ๒/๓๗๓/๓๖๘,
ม.มู.อ. ๑/๑๐๖/๒๕๓, อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๓๕๕-๓๘๙/๓๐๖-๓๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

อุทเทส จบ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
กายานุปัสสนา
(การพิจารณากาย)
หมวดลมหายใจเข้าออก

[๑๐๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปอยู่ในป่า ไปอยู่ที่โคนไม้ หรือที่เรือนว่าง๑ นั่งคู้บัลลังก์๒
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๓ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’

เชิงอรรถ :
๑ เรือนว่าง หมายถึงที่ที่สงัด คือ เสนาสนะ ๗ อย่าง เว้นป่า และโคนไม้ ได้แก่ (๑) ภูเขา (๒) ซอกเขา
(๓)ถ้ำในภูเขา (๔) ป่าช้า (๕) ป่าละเมาะ (๖) ที่โล่งแจ้ง (๗) ลอมฟาง (ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๒๐/๒๔๘,
อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๕๐๘/๒๙๔)
๒ นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งพับขาเข้าหากันทั้ง ๒ ข้าง เรียกว่า นั่งขัดสมาธิ (วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๕, วิสุทฺธิ.
๑/๒๙๕)
๓ ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติมุ่งตรงต่อกัมมัฏฐาน (วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๕, วิสุทฺธิ. ๑/๒๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร๑ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
ภิกษุทั้งหลาย ช่างกลึง หรือลูกมือช่างกลึงผู้มีความชำนาญ
เมื่อชักเชือกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกยาว’
เมื่อชักเชือกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกสั้น’ แม้ฉันใด
ภิกษุ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๒อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก๓อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุเกิด (แห่งลมหายใจ) ในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับ

เชิงอรรถ :
๑ ระงับกายสังขาร หมายถึงผ่อนคลายลมหายใจหยาบให้ละเอียดขึ้นไปโดยลำดับจนถึงขั้นที่จะต้องพิสูจน์ว่า
มีลมหายใจอยู่หรือไม่ เปรียบเหมือนเสียงเคาะระฆังครั้งแรกจะมีเสียงดังกังวานแล้วแผ่วลงจนถึงเงียบหาย
ไปในที่สุด (วิสุทฺธิ. ๑/๒๙๙-๓๐๒)
๒ กายภายใน ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของตน (ที.ม.อ. ๒/๓๗๔/๓๗๙, ม.มู.อ. ๑/๑๐๗/๒๖๕)
๓ กายภายนอก ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๒/๓๗๔/๓๗๙, ม.มู.อ. ๑/๑๐๗/๒๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

(แห่งลมหายใจ)ในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับ
(แห่งลมหายใจ)ในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดลมหายใจเข้าออก จบ

กายานุปัสสนา
หมวดอิริยาบถ

[๑๐๘] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุ
เมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่า ‘เราเดิน’
เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า ‘เรายืน’
เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า ‘เรานั่ง’
เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า ‘เรานอน’
ภิกษุนั้น เมื่อดำรงกายอยู่โดยอาการใด ๆ ก็รู้ชัดกายที่ดำรงอยู่โดยอาการนั้น ๆ
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑อยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดอิริยาบถ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

กายานุปัสสนา
หมวดสัมปชัญญะ

[๑๐๙] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุ
ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ
ทำความรู้สึกตัวในการแลดู การเหลียวดู
ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก
ทำความรู้สึกตัวในการครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด
การนิ่ง
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑อยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดสัมปชัญญะ จบ

กายานุปัสสนา
หมวดสิ่งปฏิกูล

[๑๑๐] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่
ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไป
ด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า

เชิงอรรถ :
๑ พิจารณาเห็นกายภายใน หมายถึงพิจารณาเห็นอิริยาบถย่อยในกายของตนด้วยสัมปชัญญะ ๔ ประการ
คือ (๑) สาตถกสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่ามีประโยชน์) (๒) สัปปายสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่าเป็นสัปปายะ) (๓) โคจร-
สัมปชัญญะ(รู้ชัดว่าเป็นโคจร) (๔) อสัมโมหสัมปชัญญะ(รู้ชัดโดยไม่หลง) (ที.ม.อ. ๒/๓๗๖/๓๘๓, ม.มู.อ.
๑/๑๐๙/๒๖๙-๒๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต๑ หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก
ไขข้อ มูตร’
ภิกษุทั้งหลาย ถุงมีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่าง ๆ คือ ข้าวสาลี
ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร คนตาดีเปิดถุงยาวนั้นออก
พิจารณาเห็นว่า ‘นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลือง
นี้เป็นเมล็ดงา นี้เป็นข้าวสาร แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็น
กายนี้ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้ มีผม ขน ฯลฯ ไขข้อ มูตร’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่๒ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดสิ่งปฏิกูล จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

กายานุปัสสนา
หมวดธาตุ

[๑๑๑] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่
ตามที่ดำรงอยู่โดยความเป็นธาตุว่า ‘ในกายนี้มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้มีความชำนาญ ครั้นฆ่าโคแล้ว
แบ่งอวัยวะออกเป็นส่วน ๆ นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น
เหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่โดยความเป็นธาตุว่า
‘ในกายนี้มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดธาตุ จบ

กายานุปัสสนา
หมวดป่าช้า ๙ หมวด

[๑๑๒] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
๑. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งตายแล้ว ๑ วัน ตาย
แล้ว ๒ วัน หรือตายแล้ว ๓ วัน เป็นศพขึ้นอืด ศพเขียวคล้ำ
ศพมีน้ำเหลืองเยิ้ม แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบ
ให้เห็นฉันนั้นเหมือนกันว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๒. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งถูกกาจิกกิน แร้งทึ้งกิน
นกตะกรุมจิกกิน สุนัขกัดกิน สุนัขจิ้งจอกกัดกิน หรือสัตว์เล็ก ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

หลายชนิดกัดกินอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบ
ให้เห็นฉันนั้นเหมือนกันว่า ‘ถึงกายนี้ ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๓. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ยังมีเนื้อ
และเลือด มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ฯลฯ
๔. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ไม่มีเนื้อ
แต่ยังมีเลือดเปื้อนเปรอะ มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ฯลฯ
๕. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ไม่มีเลือด
และเนื้อแต่ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ฯลฯ
๖. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ไม่มีเอ็น
รึงรัด กระจุยกระจายไปในทิศใหญ่ ทิศเฉียง คือ กระดูกมืออยู่
ทางทิศหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกขาอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกหลัง
อยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่
ทางทิศหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกคออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกฟัน
อยู่ทางทิศหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางทิศหนึ่ง แม้ฉันใด ภิกษุนั้น
นำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นฉันนั้นเหมือนกันว่า ‘ถึงกายนี้
ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็น
อย่างนั้นไปได้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๗. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกสีขาว
เหมือนสีสังข์ แม้ฉันใด ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๘. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกกองอยู่
ด้วยกันเกินกว่า ๑ ปี แม้ฉันใด ฯลฯ
๙. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นกระดูกผุป่นเป็นชิ้น
เล็กชิ้นน้อย แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็น
ฉันนั้นเหมือนกันว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือ
พิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดป่าช้า ๙ หมวด จบ
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

[๑๑๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อเสวยสุขเวทนา(ความรู้สึกสุข) ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนา’
๒. เมื่อเสวยทุกขเวทนา(ความรู้สึกทุกข์) ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนา’
๓. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา(ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข) ก็รู้ชัดว่า
‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๔. เมื่อเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส๑ ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่มี
อามิส’
๕. เมื่อเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่ไม่
มีอามิส’
๖. เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่มี
อามิส’
๗. เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนา
ที่ไม่มีอามิส’
๘. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขม-
สุขเวทนาที่มีอามิส’
๙. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวย
อทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายใน๒อยู่ พิจารณาเห็น
เวทนาในเวทนาทั้งหลายภายนอก๓อยู่ หรือพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในเวทนาทั้งหลายอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิด
ทั้งธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘เวทนามีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างนี้แล

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

[๑๑๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีราคะ’
๒. จิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากราคะ’
๓. จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโทสะ’
๔. จิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’
๕. จิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโมหะ’
๖. จิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’
๗. จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหดหู่’
๘. จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’
๙. จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’
๑๐. จิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’
๑๑. จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’
๑๒. จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า’
๑๓. จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’
๑๔. จิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’
๑๕. จิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหลุดพ้นแล้ว’
๑๖. จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอก
อยู่ หรือพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็น
เหตุเกิดในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรม
เป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘จิตมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างนี้แล

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หมวดนิวรณ์

[๑๑๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕
ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ ประการอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อกามฉันทะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘กามฉันทะภายในของเรามีอยู่’
หรือเมื่อกามฉันทะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘กามฉันทะภายในของเรา
ไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และกามฉันทะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. เมื่อพยาบาทภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘พยาบาทภายในของเรามีอยู่’
หรือเมื่อพยาบาทภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘พยาบาทภายในของเรา
ไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งพยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น และพยาบาทที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๓. เมื่อถีนมิทธะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ถีนมิทธะภายในของเรามีอยู่’
หรือเมื่อถีนมิทธะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘ถีนมิทธะภายในของเรา
ไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น และถีนมิทธะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๔. เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจะภายใน
ของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘อุทธัจจ-
กุกกุจจะภายในของเราไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่ยัง
ไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละอุทธัจจกุกกุจจะที่
เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และอุทธัจจกุกกุจจะที่
ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. เมื่อวิจิกิจฉาภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘วิจิกิจฉาภายในของเรามีอยู่’
หรือเมื่อวิจิกิจฉาภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘วิจิกิจฉาภายในของเรา
ไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และวิจิกิจฉาที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน
ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ ประการอยู่
อย่างนี้แล

หมวดนิวรณ์ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

หมวดขันธ์

[๑๑๖] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการอยู่
อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์
๕ ประการอยู่ว่า
๑. รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็น
อย่างนี้
๒. เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งเวทนาเป็นอย่างนี้
๓. สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสัญญาเป็นอย่างนี้
๔. สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสังขารเป็นอย่างนี้
๕. วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความ
ดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน
ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมภายใน หมายถึงขันธ์ ๕ ของตน (ที.ม.อ. ๒/๓๘๓/๓๙๘, ม.มู.อ. ๑/๑๑๖/๓๐๓)
๒ ธรรมภายนอก หมายถึงขันธ์ ๕ ของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๒/๓๘๓/๓๙๘, ม.มู.อ. ๑/๑๑๖/๓๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์
๕ ประการอยู่ อย่างนี้แล

หมวดขันธ์ จบ

หมวดอายตนะ

[๑๑๗] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ ประการ และอายตนะภายนอก ๖ ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ ประการ
และอายตนะภายนอก ๖ ประการอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. รู้ชัดตา รู้ชัดรูป และสังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้ง ๒ นั้นเกิดขึ้น
ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกมีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. รู้ชัดหู รู้ชัดเสียง ฯลฯ
๓. รู้ชัดจมูก รู้ชัดกลิ่น ฯลฯ
๔. รู้ชัดลิ้น รู้ชัดรส ฯลฯ
๕. รู้ชัดกาย รู้ชัดโผฏฐัพพะ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๖. รู้ชัดใจ รู้ชัดธรรมารมณ์ และสังโยชน์ใดอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้ง
๒ นั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่
เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้น
แล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่
เกิดขึ้นต่อไปอีกมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย
ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ ประการ
และอายตนะภายนอก ๖ ประการอยู่ อย่างนี้แล

หมวดอายตนะ จบ

หมวดโพชฌงค์

[๑๑๘] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ ประการอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อสติสัมโพชฌงค์๑ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘สติสัมโพชฌงค์ภายใน
ของเรามีอยู่’ หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘สติ-
สัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มี’ ความเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๒๗ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๒๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญ
บริบูรณ์แห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๓. เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๔. เมื่อปีติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๕. เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๖. เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๗. เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุเบกขาสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในไม่มี ก็
รู้ชัดว่า ‘อุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่ง
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และความเจริญบริบูรณ์แห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ ประการอยู่
อย่างนี้แล

หมวดโพชฌงค์ จบ
ภาณวารที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

หมวดสัจจะ

[๑๑๙] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์’
๒. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขสมุทัย’
๓. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ’
๔. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’

ทุกขสัจจนิทเทส๑

[๑๒๐] ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพราก
จากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
[๑๒๑] ชาติ เป็นอย่างไร
คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ
ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ
นี้เรียกว่า ชาติ
[๑๒๒] ชรา เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนัง
เหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่า
สัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า ชรา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๙๐-๒๐๕/๑๖๓-๑๗๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

[๑๒๓] มรณะ เป็นอย่างไร
คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย
กล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความ
ขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ จากหมู่สัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า มรณะ
[๑๒๔] โสกะ เป็นอย่างไร
คือ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความแห้งผากภายใน
ความแห้งกรอบภายในของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)ผู้ที่ถูก
เหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า โสกะ
[๑๒๕] ปริเทวะ เป็นอย่างไร
คือ ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะ
ที่ร้องไห้ ภาวะที่คร่ำครวญของผู้ที่ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)
ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า ปริเทวะ
[๑๒๖] ทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่
สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดแต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า ทุกข์
[๑๒๗] โทมนัส เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ
เป็นทุกข์ อันเกิดแต่มโนสัมผัส นี้เรียกว่า โทมนัส
[๑๒๘] อุปายาส เป็นอย่างไร
คือ ความแค้น ความคับแค้น ภาวะที่แค้น ภาวะที่คับแค้นของผู้ที่ประกอบ
ด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ
นี้เรียกว่า อุปายาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

[๑๒๙] การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไปร่วม การมาร่วม การประชุมร่วม การอยู่ร่วมกับอารมณ์อันไม่เป็นที่
ปรารถนา ไม่เป็นที่รักใคร่ ไม่เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ปรารถนา
แต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ผาสุก ไม่ปรารถนาความเกษมจากโยคะของ
เขา นี้เรียกว่า การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์
[๑๓๐] การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไม่ไปร่วม การไม่มาร่วม การไม่ประชุมร่วม การไม่อยู่ร่วมกับอารมณ์
อันเป็นที่ปรารถนา เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น
รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาความ
เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะของเขา เช่น มารดา
บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว มิตร อำมาตย์หรือญาติสาโลหิต นี้เรียกว่า
การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์
[๑๓๑] การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ เหล่าสัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า
‘ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้มีความเกิดเป็นธรรมดา หรือขอความเกิดอย่าได้มาถึงเรา
เลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการ
เป็นทุกข์
เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอ
ขอเราอย่าได้มีความแก่เป็นธรรมดา หรือขอความแก่อย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้
ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์
เหล่าสัตว์ผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ... เหล่าสัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ...
เหล่าสัตว์ผู้มีความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส
และความคับแค้นเป็นธรรมดา ต่างก็เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอ
ขอเราอย่าได้เป็นผู้มีความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัสและ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ความคับแค้นเป็นธรรมดาเลย และขอความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์
ความโทมนัสและความคับแค้นอย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความ
ปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์
[๑๓๒] ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ๑ ๕ ประการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ รูปูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือรูป) เวทนูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์
คือเวทนา) สัญญูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือสัญญา) สังขารูปาทานขันธ์
(อุปาทานขันธ์คือสังขาร) และวิญญาณูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
เหล่านี้เรียกว่า ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการเป็นทุกข์
นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ

สมุทยสัจจนิทเทส

[๑๓๓] ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด
มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
ก็ตัณหานี้แหละเมื่อเกิดขึ้น เกิดที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ปิยรูปสาตรูปนี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ปิยรูปสาตรูปนี้
ก็อะไร เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุนี้ เมื่อตั้งอยู่
ก็ตั้งอยู่ที่จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนนี้
รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... กลิ่น
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพะเป็น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๑ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธรรมารมณ์เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็เกิด
ที่ธรรมารมณ์นี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธรรมารมณ์นี้
จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... ฆานวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ชิวหาวิญญาณเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ... กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนวิญญาณ
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้ง
อยู่ที่มโนวิญญาณนี้
จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
... ฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหา
นี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจาก
โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจาก
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่
ที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้
รูปสัญญา(ความหมายรู้รูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททสัญญา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... คันธสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสสัญญา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมสัญญา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้ง
อยู่ที่ธัมมสัญญานี้
รูปสัญเจตนา(ความจงใจในรูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททสัญเจตนา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสสัญเจตนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
ธัมมสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญเจตนานี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมสัญเจตนานี้
รูปตัณหา(ความทะยานอยากในรูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททตัณหา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... คันธตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสตัณหาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมตัณหาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมตัณหานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่
ธัมมตัณหานี้
รูปวิตก(ความตรึกถึงรูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททวิตกเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ... คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก �... ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิตกนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิตกนี้
รูปวิจาร(ความตรองถึงรูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททวิจารเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ... คันธวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสวิจารเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมวิจารเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิจารนี้
นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ

นิโรธสัจจนิทเทส

[๑๓๔] ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหา
ก็ตัณหานี้เมื่อละ ละที่ไหน เมื่อดับ ดับที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ปิยรูปสาตรูปนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่ปิยรูปสาตรูปนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ก็อะไร เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่มโนนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนนี้
รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... กลิ่น
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพะเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ... ธรรมารมณ์เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่
ธรรมารมณ์นี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธรรมารมณ์นี้
จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... ฆานวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ชิวหาวิญญาณเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ... กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนวิญญาณเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนวิญญาณนี้
จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
... ฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหา
นี้เมื่อละ ก็ละที่มโนสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจาก
โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจาก
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับ
ที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

รูปสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
... คันธสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
โผฏฐัพพสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมสัญญานี้
รูปสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมสัญเจตนาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมสัญเจตนานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมม-
สัญเจตนานี้
รูปตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
... คันธตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
โผฏฐัพพตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมตัณหานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมตัณหานี้
รูปวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้
เมื่อละ ก็ละที่ธัมมวิตกนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมวิตกนี้
รูปวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
คันธวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพ-
วิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้
เมื่อละ ก็ละที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมวิจารนี้
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

มัคคสัจจนิทเทส

[๑๓๕] ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ใน
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริ
ในการไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา เป็นอย่างไร
คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนา
งดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร
คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เจตนางด
เว้นจากการประพฤติผิดในกาม นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วย
สัมมาอาชีวะ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต
มุ่งมั่นเพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม
ปรารภ ความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว สร้าง
ฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อทำกุศลธรรมที่ยัง
ไม่เกิดให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งกุศลธรรมที่
เกิดขึ้นแล้ว๑ นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ
สัมมาสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา
และโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ นี้เรียกว่า สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุ
ทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มี

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.เอกก. (แปล) ๒๐/๓๙๔-๓๙๗/๔๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

แต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่า
สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
[๑๓๖] ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างนี้แล

หมวดสัจจะ จบ
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ

อานิสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔

[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย
๑. บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ ปี พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน
๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลือ
อยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๒. ๗ ปี จงยกไว้๑ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือ
เมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๓. ๖ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๔. ๕ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๔ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๕. ๔ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๖. ๓ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๗. ๒ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๘. ๑ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ เดือน พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

เชิงอรรถ :
๑ ๗ ปี จงยกไว้ หมายถึงอย่าว่าแต่จะเจริญสติปัฏฐานใช้ระยะเวลา ๗ ปีเลย แม้เจริญเพียง ๖ ปี ลดลง
มาตามลำดับถึง ๗ วัน ก็สามารถบรรลุอรหัตตผล หรืออนาคามิผลได้ (ที.ม.อ. ๒/๔๐๔/๔๒๒, ม.มู.อ.
๑/๑๓๗/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๙. ๗ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๐. ๖ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๑. ๕ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๔ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๒. ๔ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๓. ๓ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๔. ๒ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๕. ๑ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอดครึ่งเดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๖. ครึ่งเดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ วัน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
รวมพระสูตรที่มีในวรรค

[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของ
เหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม
เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ เราอาศัยทางสาย
เดียวนี้แล้วจึงกล่าวคำดังพรรณนามาฉะนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาสติปัฏฐานสูตรที่ ๑๐ จบ
มูลปริยายวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มูลปริยายสูตร___๒. สัพพาสวสูตร
๓. ธัมมทายาทสูตร___๔. ภยเภรวสูตร
๕. อนังคณสูตร___๖. อากังเขยยสูตร
๗. วัตถูปมสูตร___๘. สัลเลขสูตร
๙. สัมมาทิฏฐิสูตร___๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ขอท่านทั้งหลายจงฟังพระสูตรอันมีนัยต่าง ๆ
เป็นธรรมชาติไม่แก่ ไม่ตาย ให้บรรลุอมตธรรม
แสดงไขทั้งมรรคและผล อันบรรเทาทุกข์
มีประโยชน์เกื้อกูล ก่อให้เกิดมหารสหลายพันนัย
อันนำมาซึ่งปีติมากมาย ทำความเร่าร้อนเพราะไฟ ๓ ชนิด
(ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ) ให้ดับสูญ
เหมือนวสุธาราหลั่งชโลมดับร้อนแห่งพื้นพสุธาฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

พระสูตรอันประเสริฐสุดท้าย(แห่งวรรค)
ประดุจโอสถอันกำจัดพยาธิคือกิเลส มีรสหวานละมุน
ก่อให้เกิดความยินดีอันใหญ่หลวงแก่เหล่าเทวดาและหมู่มนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ประดิษฐานไว้แล้ว
อนึ่ง พระสูตรที่ชื่อเวยยากรณะ
(องค์คุณหนึ่งของนวังคสัตถุศาสน์)
ท่านก็ประดิษฐานไว้ถึง ๒๕๐ สูตร
เพื่อทดสอบเหล่าสมณศากยบุตร
ขอท่านทั้งหลายเหล่าอื่นจากผู้ที่กล่าวแล้วนั้น
จงมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ชมเชยพระสูตร
อันมีความบันเทิงเป็นส่วนสุด
ในวรรคอันแสดงหนทางปฏิบัติต่าง ๆ โดยลำดับเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

๒. สีหนาทวรรค
หมวดว่าด้วยการบันลือสีหนาท
๑. จูฬสีหนาทสูตร
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท สูตรเล็ก
สมณะ ๔ จำพวก

[๑๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่
ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔๑ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง เธอทั้งหลายจงบันลือ
สีหนาท๒โดยชอบอย่างนี้แล
[๑๔๐] เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก(เจ้าลัทธิอื่น)ในโลกนี้ จะพึง
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘อะไรเล่าเป็นความมั่นใจของพวกท่าน อะไรเป็นพลังใจของพวกท่าน

เชิงอรรถ :
๑ สมณะที่ ๑ หมายถึงพระโสดาบันผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า สมณะที่ ๒ หมายถึงพระสกทาคามี ผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการ
มีราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง กลับมาสู่โลกมนุษย์คราวเดียวแล้วจะตรัสรู้ได้ สมณะที่ ๓ หมายถึงพระ-
อนาคามี ผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ เกิดในภูมิชั้นสุทธาวาสแล้ว จะนิพพานในภูมินั้น สมณะ
ที่ ๔ หมายถึงพระอรหันต์ ผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน (ม.มู.อ. ๑/๑๓๙/๓๒๓-๓๒๔)
๒ บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงการประกาศอย่างอาจหาญของภิกษุผู้กล่าวว่า “สมณะเหล่านี้มีในธรรมวินัย
นี้เท่านั้น” ชื่อว่าการบันลือที่ประเสริฐคือการบันลือสีหนาทที่ไม่มีความเกรงกลัว ไม่ติดขัด เพราะเจ้าลัทธิ
อื่นไม่สามารถคัดค้านได้ (ม.มู.อ. ๑/๑๓๙/๓๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

พวกท่านพิจารณาเห็นอย่างไรในตนจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัย
นี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่
๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้
ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย มีธรรม ๔ ประการที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้
ทรงเห็น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว ซึ่งเรา
ทั้งหลายพิจารณาเห็น(ว่ามี)ในตน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ใน
ธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ใน
ธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจาก
สมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเลื่อมใสในศาสดา
๒. ความเลื่อมใสในธรรม
๓. ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
๔. ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรมร่วมกันเป็นที่รักเป็นที่พอใจ
ของเราทั้งหลาย
ธรรม ๔ ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น ทรงเป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว ซึ่งเราทั้งหลายพิจารณาเห็น
(ว่ามี)ในตนจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒
มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’
[๑๔๑] เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้ใดเป็น
ศาสดาของพวกเรา แม้พวกเราก็มีความเลื่อมใสในศาสดานั้น อะไรเป็นธรรมของ
พวกเรา แม้พวกเราก็มีความเลื่อมใสในธรรมนั้น ข้อใดเป็นศีลของพวกเรา แม้พวก
เราก็เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลนั้น แม้ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรม
ร่วมกัน ก็เป็นที่รักเป็นที่พอใจของพวกเรา ในข้อนี้มีความแปลกกันอย่างไร มีความ
มุ่งหมายอย่างไร และมีการกระทำต่างกันอย่างไร ระหว่างพวกท่านกับพวกเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้
ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย จุดมุ่งหมาย๑มีอย่างเดียว หรือมีหลายอย่าง’ พวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายมีอย่างเดียวเท่านั้น
ไม่มีหลายอย่าง’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีราคะ
(ความกำหนัด) หรือผู้ปราศจากราคะ’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจากราคะ
มิใช่สำหรับผู้มีราคะ’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีโทสะ
(ความคิดประทุษร้าย) หรือผู้ปราศจากโทส’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะ
ตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจาก
โทสะ มิใช่สำหรับผู้มีโทสะ’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีโมหะ
(ความหลง) หรือผู้ปราศจากโมหะ’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูก
ต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจากโมหะ
มิใช่สำหรับผู้มีโมหะ’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีตัณหา
(ความทะยานอยาก) หรือผู้ปราศจากตัณหา’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะ
ตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ปราศจากตัณหา มิใช่สำหรับผู้มีตัณหา’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มี
อุปาทาน(ความยึดมั่น) หรือผู้ปราศจากอุปาทาน’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อ
จะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ปราศจากอุปาทาน มิใช่สำหรับผู้มีอุปาทาน’

เชิงอรรถ :
๑ จุดมุ่งหมาย ในที่นี้หมายถึงจุดหมายของความเลื่อมใส ซึ่งแต่ละลัทธิต่างก็มีจุดหมายที่แตกต่างกันไป
และมีเพียงจุดมุ่งหมายเดียวเท่านั้น เช่น พวกพราหมณ์ก็มีพรหมโลกเป็นจุดมุ่งหมาย พวกดาบสก็มี
อาภัสสรพรหมเป็นจุดมุ่งหมาย แต่ในพุทธศาสนานี้มีจุดมุ่งหมายเดียว คืออรหัตตผล (ม.มู.อ. ๑/๑๔๐/๓๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้รู้แจ้ง
หรือผู้ไม่รู้แจ้ง’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า
‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้รู้แจ้ง มิใช่สำหรับผู้ไม่รู้แจ้ง’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ยินดียินร้าย หรือผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย
มิใช่สำหรับผู้ยินดียินร้าย’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้พอใจ
ในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า หรือผู้พอใจ
ในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า’ พวก
อัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้น
เป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้พอใจในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอัน
ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า มิใช่สำหรับผู้พอใจในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรม
อันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า’

ทิฏฐิ ๒

[๑๔๒] ภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิ ๒ ประการนี้ คือ (๑) ภวทิฏฐิ๑ (๒) วิภวทิฏฐิ๒
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งยึดติด เข้าถึง เกาะติดภวทิฏฐิ สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ยินร้ายต่อวิภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งยึดติด เข้าถึง เกาะติดวิภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า
เป็นผู้ยินร้ายต่อภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่รู้ชัดความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดทิฏฐิ ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริง

เชิงอรรถ :
๑ ภวทิฏฐิ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง (ม.มู.อ. ๑/๑๔๒/๓๓๐)
๒ วิภวทิฏฐิ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๒/๓๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ มีตัณหา
มีอุปาทาน เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง เป็นผู้ยินดียินร้าย พอใจในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ยินดีในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า เรากล่าวว่า ‘พวกเขาไม่พ้นจากชาติ(ความเกิด)
ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ)
ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) ไม่พ้น
จากทุกข์’ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และอุบายเครื่องสลัดทิฏฐิ ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ปราศจาก
ตัณหา ไม่มีอุปาทาน เป็นผู้รู้แจ้ง เป็นผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เป็นผู้พอใจในธรรมอัน
ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า เรากล่าวว่า ‘พวกเขา
พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส พ้นจากทุกข์’

อุปาทาน ๔

[๑๔๓] ภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ ประการนี้
อุปาทาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม)
๒. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ)
๓. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและวัตร)
๔. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา)

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง๑ แต่พวกเขา
ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติ
ความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่รู้

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง หมายถึงปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหมดกล่าวความรอบรู้ คือความ
ข้ามพ้นอุปาทานทั้งสิ้น’ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๓/๓๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

ฐานะ ๓ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้
อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติ
ความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวก
เขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้
กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์
เหล่านั้นไม่รู้ฐานะ ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญา
ลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
โดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่
บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา
ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติ
ความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่รู้
ฐานะ ๑ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้
อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้
สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสใดในศาสดา ความเลื่อมใสใดในธรรม ความ
เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใดในศีลทั้งหลาย ความเป็นที่รักเป็นที่พอใจใดในหมู่สหธรรมิก ข้อนั้น
ทั้งหมดเราไม่กล่าวว่า ดำเนินไปชอบในธรรมวินัยเห็นปานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะข้อนั้นเป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ผิดแล้ว ประกาศไว้ไม่
ถูกต้อง ไม่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ พระสัมมา-
สัมพุทธเจ้ามิได้ประกาศไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

[๑๔๔] ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิญญาวาทะ
ว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง จึงบัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน๑ ความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ความรอบรู้สีลัพพตุ-
ปาทาน และความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ความเลื่อมใสใดในศาสดา ความเลื่อมใสใด
ในธรรม ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใดในศีลทั้งหลาย ความเป็นที่รักเป็นที่พอใจใด
ในหมู่สหธรรมิก ข้อนั้นทั้งหมดเรากล่าวว่า ดำเนินไปชอบในธรรมวินัยเห็นปานนี้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นเป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ถูกต้องแล้ว
ประกาศไว้ถูกต้องแล้ว เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว

หลักปฏิจจสมุปบาทเริ่มต้นด้วยอุปาทาน

[๑๔๕] ภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ ประการนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไร
เป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
อุปาทาน ๔ ประการนี้ มีตัณหาเป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด
มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด
ตัณหาเล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไร
เป็นแดนเกิด
ตัณหา มีเวทนาเป็นต้นเหตุ มีเวทนาเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนา
เป็นแดนเกิด
เวทนานี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
เวทนา มีผัสสะเป็นต้นเหตุ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะ
เป็นแดนเกิด

เชิงอรรถ :
๑ บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน หมายถึงทรงบัญญัติความรอบรู้การละ การล่วงพ้นกามุปาทานด้วย
อรหัตตมรรค บัญญัติความรอบรู้อุปาทาน ๓ นอกนี้ด้วยโสดาปัตติมรรค (ม.มู.อ. ๑/๑๔๔/๓๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๙ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker