ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎกที่ ๐๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย มหาวรรค
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. มหาปทานสูตร
ว่าด้วยพระประวัติของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์
เรื่องเกี่ยวกับปุพเพนิวาส

[๑] ข้าพเจ้า๑ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กเรริกุฎี๒ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้ว
นั่งประชุมกันที่หอนั่งใกล้กเรริมณฑป๓ สนทนาธรรมอันเกี่ยวกับปุพเพนิวาส๔ว่า
“ปุพเพนิวาสมีได้เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้หมายถึงพระอานนท์ (ที.สี.อ.
๑/๒๖)
๒ กเรริกุฎี เป็นชื่อของกุฎีใหญ่หลังหนึ่งในพระเชตวัน ในบรรดากุฎีใหญ่ ๔ หลัง คือ (๑) กเรริกุฎี (๒) โกสัมพ-
กุฎี (๓) คันธกุฎี (๔) สฬลฆรกุฎี ที่ชื่อว่ากเรริกุฎี เพราะตั้งอยู่ใกล้กเรริมณฑป (ที.ม.อ. ๑/๑)
๓ กเรริมณฑป หมายถึงเรือนยอดสี่เหลี่ยมที่สร้างด้วยไม้กุ่มน้ำ ตั้งอยู่ระหว่างพระคันธกุฎีกับหอนั่ง หอนั่ง
แปลจากคำว่า กเรริมณฺฑลมาเฬ ในที่นี้หมายถึงศาลาสำหรับนั่ง (นิสีทนสาลา) เป็นศาลาทรงกลมที่สร้าง
ย่อส่วนจากเรือนยอด ไม่มีฝา บางทีคำว่า มณฺฑลมาฬ ท่านใช้รวมถึงบริเวณพระคันธกุฎี กเรริกุฎีและหอนั่ง
(ที.ม.ฏีกา ๑/๑)
๔ ปุพเพนิวาส หมายถึงชีวิตในชาติก่อน คือการสืบต่อของขันธ์ที่เคยเป็นอยู่ในชาติก่อนอาจ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง (ที.ม.อ.๑/๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

[๒] พระผู้มีพระภาคทรงสดับคำสนทนาของภิกษุเหล่านั้นด้วยทิพพโสตธาตุ
อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปที่หอนั่งใกล้กเรริมณฑป
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เรื่องอะไร
ที่เธอทั้งหลายสนทนากันค้างไว้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้น จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาต ภายหลัง
ฉันอาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกันที่หอนั่งใกล้กเรริมณฑป สนทนาธรรมอันเกี่ยวกับ
ปุพเพนิวาสว่า ‘ปุพเพนิวาสมีได้เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ’ เรื่องนี้แลที่ข้าพระองค์ทั้งหลาย
สนทนากันค้างไว้ ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
[๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายต้องการจะฟัง
ธรรมีกถาอันเกี่ยวกับปุพเพนิวาสหรือไม่”
พวกภิกษุทูลตอบว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ถึงกาลอันสมควรที่พระ
ผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมีกถาอันเกี่ยวกับปุพเพนิวาส ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจาก
พระผู้มีพระภาคแล้วจะได้ทรงจำไว้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจัก
กล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
[๔] “ภิกษุทั้งหลาย นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๙๑ กัป พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก นับจากกัปนี้ถอยหลังไป
๓๑ กัป พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ได้เสด็จอุบัติขึ้น
ในโลก ในกัปที่ ๓๑ นั้นเอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า
เวสสภู ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในภัทรกัป๑นี้เอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม

เชิงอรรถ :
๑ กัทรกัป คือ กัปที่เจริญหรือดีงาม เนื่องจากเป็นกัปเดียวที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติถึง ๕ พระองค์ ในที่นี้
หมายถึงกัปปัจจุบันนี้ (ที.ม.อ. ๔/๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

ว่าโกนาคมนะ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้เสด็จ
อุบัติขึ้นในโลก บัดนี้ เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้อุบัติขึ้นมาในโลกใน
ภัทรกัปนี้เช่นกัน
[๕] พระวิปัสสีพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้า พระเวสสภูพุทธเจ้า มีพระชาติเป็น
กษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมน-
พุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า๑ มีพระชาติเป็นพราหมณ์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูล
พราหมณ์ บัดนี้ เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชาติเป็นกษัตริย์ ได้อุบัติขึ้น
ในตระกูลกษัตริย์
[๖] พระวิปัสสีพุทธเจ้า มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ พระสิขีพุทธเจ้า มีพระ
โคตรว่าโกณฑัญญะ พระเวสสภูพุทธเจ้า มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ พระกกุสันธ-
พุทธเจ้า มีพระโคตรว่ากัสสปะ พระโกนาคมนพุทธเจ้า มีพระโคตรว่ากัสสปะ
พระกัสสปพุทธเจ้า มีพระโคตรว่ากัสสปะ บัดนี้ เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีโคตรว่าโคตมะ
[๗] พระวิปัสสีพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ ๘๐,๐๐๐ ปี พระสิขีพุทธเจ้า
มีพระชนมายุประมาณ ๗๐,๐๐๐ ปี พระเวสสภูพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ
๖๐,๐๐๐ ปี พระกกุสันธพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ ๔๐,๐๐๐ ปี พระโกนา-
คมนพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ ๓๐,๐๐๐ ปี พระกัสสปพุทธเจ้า มีพระชนมายุ
ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ปี บัดนี้ เรามีอายุเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีอายุยืนก็เพียง ๑๐๐ ปี
หรือเกินไปอีกเล็กน้อย
[๘] พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นแคฝอย๒ พระสิขีพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควง
ต้นมะม่วง พระเวสสภูพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นสาละ พระกกุสันธพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นซึก

เชิงอรรถ :
๑ ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปในพระสูตรนี้ จะใช้คำว่า “พระวิปัสสีพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้า พระเวสสภูพุทธเจ้า
พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า“ แทนวลีว่า “พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เป็นต้น
๒ ที่ควงต้นแคฝอย หมายถึงภายใต้บริเวณร่มแคฝอย(ที.ม.อ.๘/๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

พระโกนาคมนพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นมะเดื่อ พระกัสสปพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นไทร
บัดนี้ เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นอัสสัตถะ๑
[๙] พระวิปัสสีพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก๒เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระขัณฑะ
และพระติสสะ พระสิขีพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระอภิภู
และพระสัมภวะ พระเวสสภูพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่
พระโสณะและพระอุตตระ พระกกุสันธพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ
ได้แก่ พระวิธูระและพระสัญชีวะ พระโกนาคมนพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก
เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระภิยโยสะและพระอุตตระ พระกัสสปพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระ
อัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระติสสะและพระภารทวาชะ บัดนี้ เรามีคู่พระ
อัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ
[๑๐] พระวิปัสสีพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวก๓ ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ
๑๖๘,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ๔
พระสิขีพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๗๐,๐๐๐ รูป พระสาวกที่เข้า
ประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
พระเวสสภูพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ
๘๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๗๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๖๐,๐๐๐ รูป พระสาวก
ที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ

เชิงอรรถ :
๑ ต้นอัสสัตถะ ในที่นี้หมายถึงต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ กล่าวคือพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ตรัสรู้ ณ ควงต้นไม้
ใด ๆ ต้นนั้น ๆเรียกว่า โพธิ์ (ขุ.อป. ๓๓/๒๓/๕๗๐,ขุ.พุทฺธวํส. ๓๓/๑-๑๘/๔๓๑, ที.ม.อ. ๘/๑๐-๑๑)
๒ พระอัครสาวก คือ พระสาวกชั้นยอด เพราะมีคุณสมบัติพิเศษกว่าพระสาวกอื่นทั้งหมด พระพุทธเจ้า
แต่ละพระองค์มีพระอัครสาวก ๒ องค์ พระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าของเรา คือ (๑) พระสารีบุตรเถระ
เลิศทางปัญญา (๒) พระมหาโมคคัลลานเถระ เลิศทางมีฤทธิ์มาก (ที.ม.อ.๙/๑๑-๑๒)
๓ การประชุมพระสาวก ในที่นี้หมายถึงการประชุมสงฆ์ ที่ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ (๑) ภิกษุผู้เข้า
ประชุมทั้งหมดมีพระพุทธเจ้าเป็นอุปัชฌาย์ (๒) ภิกษุผู้เข้าประชุมทั้งหมดมีบาตรและมีจีวรเกิดจากฤทธิ์
(๓) ภิกษุผู้เข้าประชุมทั้งหมดเข้าประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย (๔) วันประชุมตรงกับวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ
พระศาสดาทรงแสดงอุโบสถ (โอวาทปาติโมกข์) ด้วยพระองค์เอง (ที.ม.อ.๑๐/๑๒)
๔ พระขีณาสพ หมายถึงผู้สิ้นอาสวะ ๔ คือ (๑) กามาสวะ (อาสวะคือกาม) (๒) ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
(๓) ทิฏฐาสวะ (อาสวะคือทิฏฐิ) (๔) อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา) (ที.ปา.อ. ๑๑๖/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

พระกกุสันธพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๔๐,๐๐๐ รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
พระโกนาคมนพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๓๐,๐๐๐ รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
พระกัสสปพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
บัดนี้ เรามีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป พระสาวกที่
เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
[๑๑] พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีภิกษุอโสกะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก
พระสิขีพุทธเจ้ามีภิกษุเขมังกรเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก พระเวสสภูพุทธเจ้ามี
ภิกษุอุปสันตะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก พระกกุสันธพุทธเจ้ามีภิกษุวุฑฒิชะ
เป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก พระโกนาคมนพุทธเจ้ามีภิกษุโสตถิชะเป็นอุปัฏฐาก
เป็นอัครอุปัฏฐาก พระกัสสปพุทธเจ้ามีภิกษุสัพพมิตตะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก
บัดนี้ เรามีภิกษุอานนท์เป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก
[๑๒] พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีพระเจ้าพันธุมาเป็นพระบิดา พระนางพันธุมดีเทวี
เป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดีเป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา
พระสิขีพุทธเจ้ามีพระเจ้าอรุณะเป็นพระบิดา พระนางปภาวดีเทวีเป็นพระมารดา
ผู้ให้กำเนิด กรุงอรุณวดีเป็นราชธานีของพระเจ้าอรุณะ
พระเวสสภูพุทธเจ้ามีพระเจ้าสุปปติตะเป็นพระบิดา พระนางยสวดีเทวีเป็น
พระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงอโนมะเป็นราชธานีของพระเจ้าสุปปติตะ
พระกกุสันธพุทธเจ้ามีพราหมณ์อัคคิทัตเป็นพระบิดา นางพราหมณีวิสาขา
เป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด สมัยนั้น ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าเขมะ กรุงเขมวดี
เป็นราชธานีของพระเจ้าเขมะ
พระโกนาคมนพุทธเจ้ามีพราหมณ์ยัญญทัตเป็นพระบิดา นางพราหมณีอุตตรา
เป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด สมัยนั้น ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าโสภะ กรุงโสภวดี
เป็นราชธานีของพระเจ้าโสภะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

พระกัสสปพุทธเจ้ามีพราหมณ์พรหมทัตเป็นพระบิดา นางพราหมณีธนวดีเป็น
พระมารดาผู้ให้กำเนิด สมัยนั้น ได้มีพระราชาทรงพระนามว่ากิงกี กรุงพาราณสี
เป็นราชธานีของพระเจ้ากิงกี
บัดนี้ เรามีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดา พระนางมายาเทวีเป็นพระมารดา
ผู้ให้กำเนิด กรุงกบิลพัสดุ์เป็นราชธานี” พระผู้มีพระภาคผู้สุคตได้ตรัสเรื่องนี้แล้ว
จึงเสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร
[๑๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นได้สนทนาเรื่อง
ที่ค้างไว้ต่อไปดังนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่พระตถาคต
ทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมาก ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล
ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้า๑ได้แล้ว ผู้ตัดทาง๒ได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะ๓
ได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์๔ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ
คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนาม
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีธรรม๕อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมี
ปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่๖
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น๗
อย่างนี้’

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ได้แก่ กิเลส ๓ คือ (๑) ตัณหา (๒) มานะ (๓) ทิฏฐิ หรือกิเลสวัฏฏะ (วงจรกิเลส)
(ที.ม.อ. ๑๓/๒๐)
๒ ทาง คือ ทางแห่งกุศลกรรม (กรรมดี) และ อกุศลกรรม (กรรมชั่ว) หรือ กรรมวัฏฏะ (วงจรกรรม) (ที.ม.อ.
๑๓/๒๐)
๓ วัฏฏะ หมายถึงสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด (ที.ม.อ. ๑๑๖/๑๐๒)
๔ ทุกข์ ในที่นี้หมายถึงวิปากวัฏฏะ (วงจรวิบาก) (ที.ม.อ. ๑๓/๒๐)
๕ ธรรม ในที่นี้หมายถึงสมาธิ ทั้งมรรคสมาธิ ผลสมาธิ โลกิยสมาธิ และโลกุตตรสมาธิ (ที.ม.อ. ๑๓/๒๐)
๖ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ ในที่นี้หมายถึงนิโรธสมาบัติ (ที.ม.อ. ๑๓/๒๐)
๗ ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น ในที่นี้หมายถึงวิมุตติ ๕ ประการ คือ (๑) วิกขัมภนวิมุตติ (๒) ตทังควิมุตติ
(๓) สมุจเฉทวิมุตติ (๔) ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ (๕) นิสสรณวิมุตติ (ที.ม.อ. ๑๓/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

ท่านผู้มีอายุ เป็นอย่างไรหนอ เพราะพระตถาคตทรงมีปัญญาแทงตลอด
ธรรมธาตุนี้ จึงเป็นเหตุให้ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว
ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวง
ได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการ
ประชุมพระสาวกว่า 'แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้หรือ'
หรือเพราะเหล่าเทวดาได้กราบทูลความข้อนี้แด่พระตถาคต จึงเป็นเหตุให้ทรง
ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้า
ได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ
พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า
'แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีล
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้' ภิกษุเหล่านั้นสนทนาเรื่องค้างไว้
เท่านี้
[๑๔] ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากการหลีกเร้น๑เข้าไปยังหอ
นั่งใกล้กเรริมณฑป ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ การหลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงผลสมาบัติ (ที.ม.อ. ๑๔/๒๑, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๓๐/๓๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร
เรื่องอะไรที่เธอทั้งหลายสนทนากันค้างไว้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นจึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ข้าพระองค์
ทั้งหลายได้สนทนาเรื่องที่ค้างไว้ต่อไปดังนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ ที่พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมาก ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทาง
ได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร
พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรง
มีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’
ท่านผู้มีอายุ เป็นอย่างไรหนอ เพราะพระตถาคตทรงมีปัญญาแทงตลอด
ธรรมธาตุนี้ จึงเป็นเหตุให้ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว
ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวง
ได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการ
ประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้หรือ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

หรือเพราะเหล่าเทวดาได้กราบทูลความข้อนี้แด่พระตถาคต จึงเป็นเหตุให้ทรง
ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้า
ได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ
พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมี
พระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’ เรื่องนี้แลที่พวกข้าพระองค์สนทนาค้างไว้
ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า’
[๑๕] พระผู้มีพระภาคตรัส “เพราะตถาคตมีปัญญาแทงตลอดธรรมธาตุนี้
จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรม
เครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุม
พระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’
แม้เหล่าเทวดาก็ได้บอกความข้อนี้แก่ตถาคต จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทาง
ได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม
พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
พระประวัติของพระวิปัสสีพุทธเจ้า

เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตร
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมี
ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรม
เป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายต้องการจะฟังธรรมีกถาอันเกี่ยวกับปุพเพนิวาส
นอกเหนือจากนี้อีกหรือไม่”
พวกภิกษุทูลตอบว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ถึงกาลอันสมควรที่พระ
ผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมีกถาอันเกี่ยวกับปุพเพนิวาสนอกจากนี้อีก ภิกษุทั้งหลาย
ได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคแล้วจะได้ทรงจำไว้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจัก
กล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

พระประวัติของพระวิปัสสีพุทธเจ้า

[๑๖] “ภิกษุทั้งหลาย นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๙๑ กัป พระวิปัสสีพุทธเจ้า
ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์
มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ มีพระชนมายุประมาณ ๘๐,๐๐๐ ปี ตรัสรู้ที่ควงต้น
แคฝอย ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระขัณฑะและพระติสสะ
มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ ๑๖๘,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ
๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง
ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอโสกะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก มีพระเจ้า
พันธุมาเป็นพระบิดา พระนางพันธุมดีเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดี
เป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ

กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ๑

[๑๗] ๑. ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีโพธิสัตว์๒ ทรงมีสติสัมปชัญญะตลอด
ตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตจนถึงเสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา
ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๑๘] ๒. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตเสด็จ
ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้
ปรากฏขึ้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของ
เหล่าเทพ แม้ในช่องว่างระหว่างโลกซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด
หรือที่ที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
ส่องแสงไปไม่ถึง ก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้น
ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ เพราะแสงสว่างนั้น เหล่าสัตว์ที่เกิด
ในที่นั้น ๆ จึงรู้จักกันและกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’
และ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุ๓ นี้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่าง
เจิดจ้าหาประมาณมิได้ก็ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของ
เหล่าเทพ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๑๙] ๓. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา เทพบุตร ๔ องค์๔เข้าไปอารักขาประจำทั้ง ๔ ทิศด้วย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๒๐๐-๒๐๗/๑๖๙-๑๗๓
๒ โพธิสัตว์ หมายถึงผู้บำเพ็ญมรรค ๔ เพื่อบรรลุโพธิ (ที.ม.อ. ๑๗/๒๑)
๓ คำว่า “๑๐ สหัสสีโลกธาตุ” บางทีใช้ว่า โลกธาตุ ดังที่ปรากฏในมหาสมยสูตร (บาลี) ข้อ ๓๓๑/๒๑๖ ตอนหนึ่ง
ว่า “ทสหิ จ โลกธาตูหิ เทวตา” หมายถึงเหล่าเทวดาจาก ๑๐ โลกธาตุ อนึ่ง ๑๐ โลกธาตุ ในที่นี้เท่ากับ
หมื่นจักรวาล ซึ่งตรงกับ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุ ในพระสูตรนี้ (ที.ม.อ. ๓๓/๒๙๓) และดูรายละเอียดใน องฺ.ติก.
(แปล) ๒๐/๘๑/๓๐๕-๓๐๗
๔ เทพบุตร ๔ องค์ ในที่นี้หมายถึงท้าวมหาราช ๔ องค์ คือ (๑) ท้าวธตรฐ จอมคนธรรพ์ครองทิศตะวันออก
(๒) ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ครองทิศใต้ (๓) ท้าววิรูปักษ์ จอมนาคครองทิศตะวันตก (๔) ท้าวเวสวัณ
จอมยักษ์ครองทิศเหนือ (ที.ม.อ. ๒๙๔/๒๖๐, ที.ม.ฏีกา ๑๙/๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ

ตั้งใจว่า ‘มนุษย์หรืออมนุษย์ใด ๆ อย่าได้เบียดเบียนพระโพธิสัตว์
หรือพระมารดาของพระโพธิสัตว์เลย’ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๐] ๔. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา พระมารดามีปกติทรงศีล คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นจากการ
ประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการเสพของ
มึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ข้อนี้เป็น
กฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๑] ๕. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความรู้สึกทาง
กามารมณ์ เป็นผู้ที่บุรุษผู้มีจิตกำหนัดใด ๆ ไม่สามารถล่วงเกินได้
ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๒] ๖. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา พระมารดาของพระองค์ทรงได้กามคุณ ๕ เอิบอิ่ม
พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ข้อนี้เป็นกฎ
ธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๓] ๗. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความเจ็บป่วยใด ๆ
ทรงมีความสุข ไม่ลำบากพระวรกาย มองเห็นพระโพธิสัตว์
อยู่ภายในพระครรภ์ มีพระอวัยวะสมบูรณ์ มีพระอินทรีย์ไม่
บกพร่อง ภิกษุทั้งหลาย เหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตาม
ธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้
สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาว หรือสีนวล ร้อยอยู่
ข้างใน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณารู้ว่า
‘นี้ คือ แก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไน
ดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง
ขาว หรือสีนวล ร้อยอยู่ข้างใน’ ฉันใด เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ

พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความ
เจ็บป่วยใด ๆ ทรงมีความสุข ไม่ลำบากพระวรกาย มองเห็น
พระโพธิสัตว์อยู่ภายในพระครรภ์ มีพระอวัยวะสมบูรณ์ มีพระอินทรีย์
ไม่บกพร่อง ฉันนั้นเหมือนกัน ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๔] ๘. มีกฎธรรมดาดังนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดา
ของพระองค์สวรรคตไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ข้อนี้เป็นกฎธรรมดา
ในเรื่องนี้
[๒๕] ๙. มีกฎธรรมดาดังนี้ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ไม่ประสูติพระโอรส
เหมือนสตรีทั่วไปที่จะคลอดลูกหลังจากตั้งครรภ์ได้ ๙ เดือนหรือ
๑๐ เดือน ส่วนพระมารดาของพระโพธิสัตว์ประสูติพระโอรสเมื่อ
ทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือนเท่านั้น ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาใน
เรื่องนี้
[๒๖] ๑๐. มีกฎธรรมดาดังนี้ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ ไม่ประสูติพระโอรส
เหมือนสตรีทั่วไปซึ่งจะนั่งคลอดหรือนอนคลอดก็ได้ ส่วนพระมารดา
ของพระโพธิสัตว์ประทับยืนประสูติเท่านั้น ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาใน
เรื่องนี้
[๒๗] ๑๑. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา ในตอนแรกเหล่าเทพจะทำพิธีต้อนรับ หลังจากนั้น
เป็นหน้าที่ของมนุษย์ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๘] ๑๒. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา ยังไม่ทันสัมผัสแผ่นดิน เทพบุตร ๔ องค์ช่วยกันประคอง
พระโพธิสัตว์ไปไว้เบื้องพระพักตร์ของพระมารดาแล้วกราบทูลว่า
‘โปรดพอพระทัยเถิด พระเทวี พระราชโอรสของพระองค์ที่เสด็จ
อุบัติขึ้นเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่’ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๙] ๑๓. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา เสด็จออกโดยง่าย ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ เมือก เลือด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ

หรือสิ่งไม่สะอาดใด ๆ เป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ ภิกษุทั้งหลาย เหมือน
แก้วมณีที่บุคคลวางไว้ในผ้ากาสิกพัสตร์ ย่อมไม่ทำให้ผ้ากาสิกพัสตร์
แปดเปื้อน ถึงผ้ากาสิกพัสตร์ก็ไม่ทำให้แก้วมณีแปดเปื้อน ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะสิ่งทั้งสองเป็นของสะอาดบริสุทธิ์ ฉันใด เวลา
ที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา เสด็จออกโดยง่าย
ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ เมือก เลือด หรือสิ่งไม่สะอาดใด ๆ เป็นผู้
สะอาดบริสุทธิ์ ฉันนั้นเหมือนกัน ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๓๐] ๑๔. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา มีธารน้ำปรากฏในอากาศ ๒ สาย คือ ธารน้ำเย็นและ
ธารน้ำอุ่น เพื่อชำระล้างพระโพธิสัตว์และพระมารดา ข้อนี้เป็นกฎ
ธรรมดาในเรื่องนี้
[๓๑] ๑๕. มีกฎธรรมดาดังนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ครู่หนึ่ง ทรงยืนได้
อย่างมั่นคงด้วยพระบาททั้งสองที่เสมอกัน ทรงผินพระพักตร์ไปทาง
ทิศเหนือ ทรงดำเนินไป ๗ ก้าว ขณะที่หมู่เทวดากั้นเศวตฉัตรตาม
เสด็จ ทอดพระเนตรไปยังทิศต่าง ๆ แล้ว ทรงเปล่งพระอาสภิวาจา
(วาจาอย่างองอาจ)ว่า ‘เราคือผู้เลิศของโลก เราคือผู้เจริญที่สุด
ของโลก เราคือผู้ประเสริฐที่สุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก’ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๓๒] ๑๖. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้นในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณ-
พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ แม้ใน
ช่องว่างระหว่างโลกซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด หรือที่ที่ดวงจันทร์
และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ส่องแสงไปไม่ถึง
ก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้น ล่วงเทวานุภาพของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

เหล่าเทพ เพราะแสงสว่างนั้น เหล่าสัตว์ที่เกิดในที่นั้น ๆ จึงรู้จักกัน
และกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’ และ ๑๐ สหัสสี-
โลกธาตุนี้สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณ
มิได้ ก็ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ ข้อนี้เป็นกฎ
ธรรมดาในเรื่องนี้

ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ๑

[๓๓] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระวิปัสสีราชกุมารประสูติแล้ว พวกอำมาตย์
ได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมาว่า ‘ขอเดชะ พระราชโอรสของพระองค์ประสูติแล้ว
โปรดทอดพระเนตรเถิด’ พระเจ้าพันธุมาได้ทอดพระเนตรวิปัสสีราชกุมาร แล้วรับสั่ง
ให้เชิญพราหมณ์โหราจารย์มาตรัสว่า ‘พราหมณ์โหราจารย์ จงทำนายวิปัสสีราช-
กุมาร’
พวกพราหมณ์โหราจารย์เห็นพระวิปัสสีราชกุมารแล้วได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมา
ว่า ‘ขอเดชะ โปรดพอพระทัยเถิด พระราชโอรสของพระองค์ที่เสด็จอุบัติขึ้นเป็นผู้มี
ศักดิ์ใหญ่ นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐของพระองค์ผู้ได้พระราชโอรสเช่นนี้อยู่ในราชตระกูล
เพราะพระราชกุมารนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ที่เป็นเหตุให้
มหาบุรุษมีคติ๒ ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต
ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว
๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว
(๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส
มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๕๘/๘๙-๙๐, ที.ปา. ๑๑/๑๙๙-๒๐๐/๑๒๓-๑๒๕, ม.มู. ๑๓/๑๘๖/๓๖๘-๓๗๐
๒ คติ มีความหมายหลายนัย คือ (๑) ที่ที่สัตว์จะไปเกิด (๒) อัธยาศัย (๓) ที่พึ่ง (๔) ความสำเร็จ ในที่นี้
หมายถึงความสำเร็จ คือบรรลุผลตามจุดหมาย (ที.ม.อ. ๓๓/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม
ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาคร
เป็นขอบเขต
๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลส๑ในโลก
[๓๔] ขอเดชะ พระราชกุมารนี้ ทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒
ประการ อะไรบ้าง ที่เป็นเหตุให้มหาบุรุษมีคติ ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต
ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว
๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว
(๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส
มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น
วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม
ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาคร
เป็นขอบเขต
๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก
[๓๕] คือ พระราชกุมารนี้
๑. มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ข้อที่พระราชกุมารมีฝ่าพระบาทราบ
เสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒. พื้นฝ่าพระบาททั้งสองของพระราชกุมารนี้ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ
๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง ข้อที่

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสในที่นี้หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ตัณหาที่ปิดกั้นกุศลธรรม (ที.ม.อ. ๓๔/๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

พื้นฝ่าพระบาททั้งสองของพระราชกุมารนี้ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ
๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่างนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๓. มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป ข้อที่พระราชกุมารมีส้นพระบาทยื่น
ยาวออกไปนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๔. มีพระองคุลียาว ข้อที่พระราชกุมารมีพระองคุลียาวนี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๕. มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม ข้อที่พระราชกุมารมีพระหัตถ์
และพระบาทอ่อนนุ่มนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๖. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย
ข้อที่พระราชกุมารมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลี
จดกันเป็นรูปตาข่ายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๗. มีข้อพระบาทสูง ข้อที่พระราชกุมารมีข้อพระบาทสูงนี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๘. มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย ข้อที่พระราชกุมารมีพระชงฆ์เรียว
ดุจแข้งเนื้อทรายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๙. เมื่อประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุ
ด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้ ข้อที่พระราชกุมารเมื่อประทับยืน
ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์
ทั้งสองได้นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๐. มีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝักเร้นอยู่ในฝัก ข้อที่พระราชกุมารมีพระคุยหฐาน
เร้นอยู่ในฝักนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๑. มีพระฉวีสีทอง มีพระฉวีเปล่งปลั่งดุจทองคำ ข้อที่พระราชกุมาร
มีพระฉวีสีทอง มีพระฉวีเปล่งปลั่งดุจทองคำนี้ เป็นลักษณะมหา-
บุรุษของมหาบุรุษนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

๑๒. มีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้ ข้อที่พระ
ราชกุมารมีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้นี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๓. มีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียว ข้อที่พระราช
กุมารมีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียวนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๔. มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวา
ดังกุณฑลสีครามเข้มดังดอกอัญชัน ข้อที่พระราชกุมารมีพระโลม
ชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวาดังกุณฑล
สีครามเข้มดังดอกอัญชันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๕. มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม ข้อที่พระราชกุมารมีพระวรกาย
ตั้งตรงดุจกายพรหมนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๖. มีพระมังสะในที่ ๗ แห่ง๑ เต็มบริบูรณ์ ข้อที่พระราชกุมารมี
พระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของ
มหาบุรุษนั้น
๑๗. มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ ข้อที่
พระราชกุมารมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของ
ราชสีห์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๘. มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน ข้อที่พระราชกุมารมีร่องพระ
ปฤษฎางค์เต็มเสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๙. มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลของต้นไทร พระวรกาย
สูงเท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูง
พระวรกาย ข้อที่พระราชกุมารมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจ

เชิงอรรถ :
๑ ที่ ๗ แห่ง ในที่นี้ คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง หลังพระบาททั้ง ๒ ข้าง พระอังสะทั้ง ๒ ข้าง และลำพระศอ
(ที.ม.อ. ๓๕/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

ปริมณฑลของต้นไทร พระวรกายสูงเท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑
วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูงพระวรกายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
ของมหาบุรุษนั้น
๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด ข้อที่พระราชกุมารมีลำพระศอ
กลมเท่ากันตลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๑. มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี ข้อที่พระราชกุมารมีเส้น
ประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดีนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของ
มหาบุรุษนั้น
๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ข้อที่พระราชกุมารมีพระหนุดุจคางราชสีห์นี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ข้อที่พระราชกุมารมีพระทนต์ ๔๐ ซี่นี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ข้อที่พระราชกุมารมีพระทนต์เรียบ
เสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่างกัน ข้อที่พระราชกุมารมีพระทนต์ไม่ห่างกันนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๖. มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม ข้อที่พระราชกุมารมีพระเขี้ยวแก้วขาว
งามนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ยาว ข้อที่พระราชกุมารมีพระชิวหาใหญ่ยาวนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก
ข้อที่พระราชกุมารมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้อง
ของนกการเวกนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๙. มีพระเนตรดำสนิท ข้อที่พระราชกุมารมีพระเนตรดำสนิทนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

๓๐. มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด ข้อที่พระราชกุมาร
มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
ของมหาบุรุษนั้น
๓๑. มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่น ข้อที่
พระราชกุมารมีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือน
ปุยนุ่นนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ข้อที่พระราชกุมารมี
พระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
ของมหาบุรุษนั้น
[๓๖] ขอเดชะ พระราชกุมารนี้ทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะมหาบุรุษ ๓๒
ประการนี้ ที่เป็นเหตุให้มหาบุรุษมีคติ ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต
ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว
๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว
(๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส
มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น
วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม
ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาคร
เป็นขอบเขต
๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระ-
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
เหตุที่ทรงได้พระสมญาว่าวิปัสสี

เหตุที่ทรงได้พระสมญาว่าวิปัสสี

[๓๗] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาโปรดให้พวกพราหมณ์โหราจารย์นุ่งห่มผ้าใหม่
ทรงเลี้ยงดูให้อิ่มหนำด้วยสิ่งที่ต้องการทุกอย่าง แล้วรับสั่งให้ตั้งพี่เลี้ยงนางนม
แก่พระวิปัสสีราชกุมาร คือ หญิงพวกหนึ่งให้พระราชกุมารเสวยน้ำนม พวกหนึ่ง
ให้ทรงสนาน พวกหนึ่งคอยอภิบาล พวกหนึ่งคอยอุ้ม
ตั้งแต่ประสูติพระวิปัสสีราชกุมาร พวกราชบุรุษก็คอยกั้นเศวตฉัตรถวายทั้ง
กลางวันและกลางคืนด้วยตั้งใจว่า ‘ความหนาว ความร้อน หญ้า ละออง หรือน้ำค้าง
อย่าได้เบียดเบียนพระราชกุมาร’
ตั้งแต่ประสูติพระวิปัสสีราชกุมาร ก็ทรงกลายเป็นที่รัก เป็นที่เจริญใจของ
ชนเป็นอันมาก เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม หรือดอกบุณฑริก เป็นที่รัก
เป็นที่เจริญใจของชนเป็นอันมาก ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมารทรงเป็นที่รัก เป็นที่
เจริญใจของชนเป็นอันมาก ฉันนั้นเหมือนกัน นัยว่า พระวิปัสสีราชกุมารนั้นได้รับ
การผลัดเปลี่ยนกันอุ้มใส่สะเอวอยู่เสมอ ๆ
[๓๘] ตั้งแต่ประสูติพระวิปัสสีราชกุมาร ทรงเป็นผู้มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม
ไพเราะอ่อนหวานกลมกล่อมจับใจ หมู่นกการเวกที่ภูเขาหิมพานต์ เป็นสัตว์มีสำเนียง
ไพเราะอ่อนหวานกลมกล่อมจับใจ ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมาร ก็เป็นผู้มีพระสุรเสียง
ดุจเสียงพรหมไพเราะอ่อนหวานกลมกล่อมจับใจ ฉันนั้นเหมือนกัน
[๓๙] ตั้งแต่ประสูติพระวิปัสสีราชกุมาร ทรงมีทิพยจักษุอันเกิดจากวิบากกรรม
ที่เป็นเหตุให้มองเห็นไกลได้ตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน
[๔๐] ตั้งแต่ประสูติพระวิปัสสีราชกุมาร ทรงเพ่งดูไม่กะพริบพระเนตร
พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์แลดูไม่กะพริบตา ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมาร ทรงเพ่งดูไม่
กะพริบพระเนตร ฉันนั้นเหมือนกัน จึงเกิดมีพระสมญาว่า ‘วิปัสสี วิปัสสี‘’
[๔๑] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาประทับในศาลตัดสินคดี ทรงให้พระวิปัสสีราช-
กุมารประทับบนพระเพลา ขณะทรงพิจารณาคดี นัยว่า พระวิปัสสีราชกุมารประทับ
นั่งบนพระเพลาของพระชนกในศาลตัดสินคดีนั้น ทรงวินิจฉัยให้คดีดำเนินไปด้วยพระญาณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนชรา

เพราะคำเล่าลือว่า ‘พระราชกุมารวินิจฉัยให้คดีดำเนินไปด้วยพระญาณ’ มีปริมาณ
มากขึ้น จึงเกิดมีพระสมญาว่า ‘วิปัสสี วิปัสสี’
[๔๒] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาโปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลัง สำหรับพระ
วิปัสสีราชกุมาร หลังหนึ่งสำหรับประทับในฤดูฝน หลังหนึ่งสำหรับประทับใน
ฤดูหนาว หลังหนึ่งสำหรับประทับในฤดูร้อน โปรดให้บำรุงพระราชกุมารด้วย
กามคุณ ๕ พระวิปัสสีราชกุมารทรงได้รับการบำรุงบำเรอด้วยดนตรีที่ไม่ปะปนด้วย
บุรุษในปราสาทสำหรับประทับในฤดูฝน ไม่ได้เสด็จลงมาชั้นล่างปราสาทตลอด ๔ เดือน

ภาณวารที่ ๑ จบ

เทวทูต ๔
คนชรา

[๔๓] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเวลาล่วงไปหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระ
วิปัสสีราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะ
คันงาม ๆ เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ กราบทูลว่า
‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด
เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’
พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จประพาสอุทยาน พร้อมด้วย
ยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
[๔๔] ขณะที่เสด็จประพาสอุทยาน พระวิปัสสีราชกุมารได้ทอดพระเนตรเห็น
ชายชราผู้มีซี่โครงคดเหมือนกลอนประตู หลังงองุ้ม เดินถือไม้เท้างก ๆ เงิ่น ๆ
กระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘สหายสารถี
ชายคนนี้ถูกใครทำอะไรให้ เส้นผมและร่างกายของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนชรา

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนชรา’
‘ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา เพราะเวลานี้เขาจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’
‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที
พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี
ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่าความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มี
ความแก่’
[๔๕] ต่อมา พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้เรียกนายสารถีมาแล้วตรัสถามว่า
‘พ่อสารถีคนดี ราชกุมารยินดีในอุทยานหรือไม่ พอใจในอุทยานหรือไม่’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ พระราชกุมารไม่ทรงยินดีในพระอุทยาน ไม่ทรง
พอพระทัยในพระอุทยาน’
ท้าวเธอตรัสถามว่า ‘ขณะเที่ยวชมอุทยาน ราชกุมารพบเห็นอะไรหรือ’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขณะที่เสด็จประพาสพระอุทยาน พระราชกุมารได้ทอด
พระเนตรเห็นชายชรา ผู้มีซี่โครงคดเหมือนกลอนประตู หลังงองุ้ม เดินถือไม้เท้า
งก ๆ เงิ่น ๆ กระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น จึงตรัสถามข้าพระองค์ว่า
‘สหายสารถี ชายคนนี้ถูกใครทำอะไรให้ เส้นผมและร่างกายของเขาจึงไม่เหมือนของ
คนอื่นๆ’
ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนชรา’
‘ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา เพราะเวลานี้เขาจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนเจ็บ

‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระราชกุมาร
เสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่า
ความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่’ พระเจ้าข้า

คนเจ็บ

[๔๖] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า ‘ขออย่าให้วิปัสสีกุมารไม่ยอม
ครองราชย์เลย อย่าได้ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเลย คำทำนายของพราหมณ์
โหราจารย์อย่าได้เป็นจริงเลย’ จึงรับสั่งให้บำรุงบำเรอพระวิปัสสีราชกุมารด้วย
กามคุณ ๕ มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อว่าพระวิปัสสีราชกุมารจะอยู่ครองราชย์ จะไม่
เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์
จะผิดพลาด
พระวิปัสสีราชกุมารทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕
ในพระราชฐานนั้น เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระวิปัสสี-
ราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะ
คันงาม ๆ เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ กราบทูลว่า
‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด
เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’ พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จ
ประพาสอุทยาน พร้อมด้วยยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
[๔๗] เมื่อเสด็จประพาสอุทยานอีก พระวิปัสสีราชกุมารได้ทอดพระเนตร
เห็นคนเจ็บทนทุกข์ ป่วยหนัก นอนทุรนทุรายจมกองอุจจาระปัสสาวะของตน
คนอื่นต้องช่วยกันพยุงให้กินอาหาร จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘สหายสารถี ชายคนนี้ถูก
ใครทำอะไรให้ นัยน์ตาทั้งคู่และศีรษะของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนเจ็บ

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนเจ็บ’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนเจ็บ’
‘ผู้นี้ชื่อว่าคนเจ็บ เพราะเขาหายจากความเจ็บป่วยนั้นได้อย่างยากเย็น พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องเจ็บป่วยเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’
‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องเจ็บป่วยเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที
พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี
ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่าความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่
ความเจ็บ’
[๔๘] ต่อมา พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้เรียกนายสารถีมาแล้ว ตรัสถามว่า
‘พ่อสารถีคนดี ราชกุมารยินดีในอุทยานหรือไม่ พอใจในอุทยานหรือไม่’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ พระราชกุมารไม่ทรงยินดีในพระอุทยาน ไม่ทรง
พอพระทัยในพระอุทยาน’
ท้าวเธอตรัสถามว่า ‘ขณะเที่ยวชมอุทยาน ราชกุมารพบเห็นอะไรหรือ’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขณะที่เสด็จประพาสพระอุทยาน พระราชกุมารได้ทอด
พระเนตรเห็นคนเจ็บทนทุกข์ ป่วยหนัก นอนทุรนทุรายจมกองอุจจาระปัสสาวะ
ของตนคนอื่นต้องช่วยกันพยุงให้กินอาหาร จึงตรัสถามข้าพระองค์ว่า ‘สหายสารถี
ชายคนนี้ถูกใครทำอะไรให้ นัยน์ตาทั้งคู่และศีรษะของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’
ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนเจ็บ’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนเจ็บ’
‘ผู้นี้ชื่อว่าคนเจ็บ เพราะเขาหายจากความเจ็บป่วยนั้นได้อย่างยากเย็น พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องป่วยเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนตาย

‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องเจ็บป่วยเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระราชกุมาร
เสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่า
ความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่ ความเจ็บ’ พระเจ้าข้า’

คนตาย

[๔๙] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า ‘ขออย่าให้วิปัสสีกุมารไม่ยอม
ครองราชย์เลย อย่าได้ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเลย คำทำนายของพราหมณ์
โหราจารย์อย่าได้เป็นจริงเลย’ จึงรับสั่งให้บำรุงบำเรอพระวิปัสสีราชกุมารด้วย
กามคุณ ๕ มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อว่าพระวิปัสสีราชกุมารจะอยู่ครองราชย์ จะไม่
เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์
จะผิดพลาด
พระราชกุมารทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ใน
พระราชฐานนั้น เมื่อเวลาล่วงไปหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระวิปัสสีราชกุมาร
รับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะคันงาม ๆ
เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ กราบทูลว่า
‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด
เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’ พระราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จประพาส
อุทยาน พร้อมด้วยยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
[๕๐] เมื่อพระวิปัสสีราชกุมารเสด็จประพาสอุทยานอีก ได้ทอดพระเนตรเห็น
หมู่ชนประชุมกันและกำลังประดับคานหามด้วยผ้าหลากสี จึงตรัสถามนายสารถีว่า
‘สหายสารถี หมู่ชนประชุมกันและประดับคานหามด้วยผ้าหลากสีไว้ทำไม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนตาย

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย’
พระวิปัสสีราชกุมารรับสั่งว่า ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทาง
คนตายนั้น’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถไปทางคนตายนั้น
พระราชกุมารทอดพระเนตรคนตาย จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘ทำไม เขาจึง
ชื่อว่าคนตาย’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย เพราะเวลานี้มารดาบิดาหรือ
ญาติสาโลหิตอื่น ๆ จะไม่ได้พบเห็นเขาอีก ตัวเขาก็จะไม่ได้พบเห็นมารดาบิดาหรือ
ญาติสาโลหิตอื่น ๆ อีก พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระมารดา พระบิดา หรือพระ
ประยูรญาติอื่น ๆ จะไม่ได้พบเห็นเรา แม้เราก็จะไม่ได้พบเห็นพระมารดา พระบิดา
หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ กระนั้นหรือ’
‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า
พระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ จะไม่ทรงพบเห็นพระองค์
แม้พระองค์ก็จะไม่ทรงพบเห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที
พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี
ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่าความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มี
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย’
[๕๑] ต่อมา พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้เรียกนายสารถีมาแล้วตรัสถามว่า
‘พ่อสารถีคนดี ราชกุมารยินดีในอุทยานหรือไม่ พอใจในอุทยานหรือไม่’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ พระราชกุมารไม่ทรงยินดีในพระอุทยาน
ไม่ทรงพอพระทัยในพระอุทยานครั้งนี้เลย’
ท้าวเธอตรัสถามว่า ‘ขณะที่เที่ยวชมอุทยาน ราชกุมารพบเห็นอะไรหรือ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนตาย

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขณะที่เสด็จประพาสพระอุทยาน พระราชกุมาร ได้ทอด
พระเนตรเห็นหมู่ชนประชุมกันและกำลังประดับคานหามด้วยผ้าหลากสี จึงตรัสถาม
ข้าพระองค์ว่า ‘สหายสารถี หมู่ชนประชุมกันและกำลังประดับคานหามด้วยผ้า
หลากสีไว้ทำไม’
ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย’
พระราชกุมารรับสั่งว่า ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทางคนตายนั้น’
ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถไปทางคนตายนั้น
พระราชกุมารทอดพระเนตรคนตาย จึงตรัสถามข้าพระองค์ว่า ‘ทำไม เขาจึง
ชื่อว่าคนตาย’
ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย เพราะเวลานี้มารดาบิดาหรือ
ญาติสาโลหิตอื่น ๆ จะไม่ได้พบเห็นเขาอีก ตัวเขาก็จะไม่ได้พบเห็นมารดาบิดาหรือ
ญาติสาโลหิตอื่น ๆ อีก พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระมารดา พระบิดา หรือ
พระประยูรญาติอื่น ๆ จะไม่ได้พบเห็นเรา แม้เราก็จะไม่ได้พบเห็นพระมารดา
พระบิดา หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ กระนั้นหรือ’
‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า
พระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ จะไม่ทรงพบเห็นพระองค์
แม้พระองค์ก็จะไม่ทรงพบเห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระราชกุมาร
เสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่า
ความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย’
พระเจ้าข้า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] บรรพชิต

บรรพชิต

[๕๒] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า ‘ขออย่าให้วิปัสสีกุมารไม่ยอม
ครองราชย์เลย อย่าได้ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเลย คำทำนายของพราหมณ์
โหราจารย์อย่าได้เป็นจริงเลย’ จึงรับสั่งให้บำรุงบำเรอพระวิปัสสีราชกุมารด้วย
กามคุณ ๕ มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อว่าพระวิปัสสีราชกุมารจะอยู่ครองราชย์ จะไม่เสด็จ
ออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์จะ
ผิดพลาด
พระวิปัสสีราชกุมารทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕
ในพระราชฐานนั้น เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระวิปัสสีราช-
กุมารรับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะคันงาม ๆ
เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ กราบทูลว่า
‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด
เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’ พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จ
ประพาสอุทยานพร้อมด้วยยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
[๕๓] พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จประพาสอุทยานอีก ได้ทอดพระเนตรเห็น
บุรุษศีรษะโล้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘สหายสารถี ชายคนนี้
ถูกใครทำอะไรให้ ทั้งศีรษะและเครื่องนุ่งห่มของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าบรรพชิต’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าบรรพชิต’
‘ผู้นั้นชื่อว่าบรรพชิต เพราะการประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติ
สม่ำเสมอเป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญเป็นความดี การไม่
เบียดเบียนเป็นความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี พระเจ้าข้า’
‘บรรพชิตนี้ดีแท้ เพราะการประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอ
เป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็น
ความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทาง
บรรพชิตนั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] มหาชนออกบวชตามเสด็จ

นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถไปทางบรรพชิตนั้น
ครั้นแล้ว พระราชกุมารได้ตรัสถามบรรพชิตว่า ‘สหาย ท่านทำอะไร ศีรษะ
และเครื่องนุ่งห่มของท่านจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’
บรรพชิตนั้นทูลตอบว่า ‘ขอถวายพระพร อาตมภาพชื่อว่าบรรพชิต’
‘ท่านชื่อว่าบรรพชิตหรือ’
‘ขอถวายพระพร อาตมภาพชื่อว่าบรรพชิต เพราะการประพฤติธรรมเป็น
ความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญ
เป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี’

พระโพธิสัตว์เสด็จออกผนวช

[๕๔] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระวิปัสสีราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถี
มาตรัสว่า ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น เธอจงนำรถกลับเข้าเมือง เราจักโกนผมและ
หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตในอุทยานนี้’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที ส่วนพระวิปัสสี
ราชกุมารทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจาก
พระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตที่อุทยานนั้นนั่นเอง

มหาชนออกบวชตามเสด็จ

[๕๕] มหาชนในกรุงพันธุมดีประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้ทราบข่าวว่า
พระวิปัสสีราชกุมารทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จ
ออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จึงคิดว่า ‘พระธรรมวินัยและการบรรพชาที่
พระวิปัสสีราชกุมารได้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จ
ออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทราม คนระดับพระวิปัสสี
ราชกุมาร ยังทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออก
จากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตได้ ทำไมพวกเราจักบวชบ้างไม่ได้เล่า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้พากันโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตตามเสด็จพระวิปัสสีโพธิสัตว์ พระวิปัสสี-
โพธิสัตว์ ทรงมีบริษัทนั้นแวดล้อม เสด็จจาริกไปในหมู่บ้าน นิคม ชนบท(แคว้น)
และราชธานีทั้งหลาย
[๕๖] ต่อมา พระวิปัสสีโพธิสัตว์ประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด๑ ทรงมี
พระรำพึงอย่างนี้ว่า ‘การที่เราอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะอย่างนี้หาเป็นการสมควรไม่
ทางที่ดี เราควรหลีกออกจากหมู่อยู่เพียงลำพัง’ ต่อมา พระวิปัสสีโพธิสัตว์เสด็จ
หลีกออกจากหมู่ประทับอยู่ผู้เดียว บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูป ได้แยกไปทางหนึ่ง
พระวิปัสสีโพธิสัตว์ก็เสด็จไปอีกทางหนึ่ง

พระโพธิสัตว์ตรัสรู้๒

[๕๗] ต่อมา พระวิปัสสีโพธิสัตว์ประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงมีพระรำพึง
อย่างนี้ว่า ‘สัตว์โลกนี้ถึงความคับแค้น จึงเกิด แก่ ตาย จุติและอุบัติ ก็บุคคลผู้ไม่รู้
อุบายสลัดออกจากทุกข์ คือ ชรา(ความแก่)มรณะ(ความตาย)นี้ เมื่อไร จึงจะพ้นจาก
ทุกข์คือชรามรณะนี้ได้’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ชรามรณะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
ชรามรณะจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อชาติ(ความเกิด)มี ชรามรณะจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’
เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อภพ(ความมี
ความเป็น)มี ชาติจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’

เชิงอรรถ :
๑ ที่สงัด หมายถึงกายวิเวก หลีกเร้น หมายถึงจิตตวิเวก (ที.ม.ฏีกา. ๕๗/๕๘)
๒ ดูเทียบ สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๔/๑๐-๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ภพจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย ภพจึงมี’
เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่ออุปาทาน
(ความยึดมั่นถือมั่น)มี ภพจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี อุปาทานจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
อุปาทานจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อตัณหา(ความอยาก)มี อุปาทานจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ตัณหาจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
ตัณหาจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อเวทนา(ความรู้สึก)มี ตัณหาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี เวทนาจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
เวทนาจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อผัสสะ(สัมผัส)มี เวทนาจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ผัสสะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
ผัสสะจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
สฬายตนะ (อายตนะ ๖)มี ผัสสะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี สฬายตนะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
สฬายตนะจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อนามรูป(นามธรรมและรูปธรรม)มี สฬายตนะจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย
สฬายตนะจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี นามรูปจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
นามรูปจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อวิญญาณ(ความรู้แจ้งอารมณ์)มี นามรูปจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป
จึงมี’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี วิญญาณจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
วิญญาณจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อนามรูปมี วิญญาณจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี‘๑
[๕๘] จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘วิญญาณนี้ย่อมหมุนกลับมาจากนามรูป
เท่านั้น ไม่เลยไปกว่านั้น เพราะความหมุนกลับเพียงแค่นี้ สัตว์โลกจึงเกิดบ้าง
แก่บ้าง ตายบ้าง จุติบ้าง อุบัติบ้าง ความเป็นไปนั้น คือ

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย___วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย___นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย___สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย___ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย___เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย___ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย___อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย___ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย___ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย___ชรา มรณะ โสกะ(ความโศก) ปริเทวะ
(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย)
โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส
(ความคับแค้นใจ) จึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ ด้วยประการฉะนี้’

[๕๙] ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่พระโพธิสัตว์๒ ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคย
สดับมาก่อนว่า ‘สมุทัย สมุทัย (ความเกิด ความเกิด)’

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความตอนนี้ ใน สํ.นิ. ๑๖/๔/๗ มีเนื้อความบาลีว่า สงฺขาเรสุ โข สติวิญฺญาณํ โหติ สงฺขาราปจฺจยา
วิญฺญาณํ ส่วนในที่นี้มีเนื้อความบาลีว่า นามรูเป โข สติ วิญฺญาณํ โหติ นามรูปปจฺจยา วิญฺญาณํ
อรรถกถาอธิบายข้อความตอนนี้ไว้ว่า ความจริงน่าจะใช้คำว่า เมื่อสังขารมี วิญญาณจึงมี เมื่อ
อวิชชามี สังขารจึงมี แต่การรู้แจ้งนี้ ไม่ต้องอาศัยความสืบต่อแห่งอวิชชาและสังขารซึ่งเป็นอดีตภพ เพราะ
มหาบุรุษ (พระโพธิสัตว์) อยู่กับเหตุการณ์ปัจจุบัน (ที.ม.อ. ๕๗/๕๖, ที.ม.ฏีกา ๕๗/๖๐)
๒ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๕/๒๒, สํ. สฬา. (แปล) ๑๘/๒๗๓/๓๐๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

[๖๐] จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ชรามรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ
ชรามรณะจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะจึงไม่มี เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ชาติจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชาติจึงดับ’
เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อภพไม่มี
ชาติจึงไม่มี เพราะภพดับ ชาติจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ภพจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ภพจึงดับ’
เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่ออุปาทานไม่มี
ภพจึงไม่มี เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เพราะอะไรดับ
อุปาทานจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ตัณหา
จึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
เวทนาไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี เวทนาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ เวทนา
จึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
ผัสสะไม่มี เวทนาจึงไม่มี เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ผัสสะ
จึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
สฬายตนะไม่มี ผัสสะจึงไม่มี เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ
สฬายตนะจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะอะไรดับ นามรูป
จึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
วิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับ
วิญญาณจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อนามรูปไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ’
[๖๑] จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘ทางเพื่อความตรัสรู้ เราได้บรรลุแล้ว คือ

เพราะนามรูปดับ___วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ___นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ___สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ___ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ___เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ___ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ___อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ___ภพจึงดับ
เพราะภพดับ___ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ___ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสจึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ ด้วยประการฉะนี้’

[๖๒] ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ในธรรมทั้งหลายที่ไม่
เคยสดับมาก่อนว่า ‘นิโรธ นิโรธ (ความดับ ความดับ)’
[๖๓] จากนั้น ทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทาน-
ขันธ์ ๕ อยู่ว่า “รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูป
เป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่ง
เวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม

แห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้
ความดับแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ
เป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้‘๑
เมื่อทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่
ไม่นานนัก จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น’

ภาณวารที่ ๒ จบ

ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม๒

[๖๔] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีพระรำพึงดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราควรแสดงธรรม’ แต่ทรงพระดำริว่า ‘ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก
รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่ใช่วิสัยตรรกะ ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ก็แลหมู่
ประชานี้ เป็นผู้รื่นรมย์ในอาลัย๓ ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย สำหรับหมู่ประชา
ผู้รื่นรมย์ในอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะอันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก
กล่าวคือ หลักอิทัปปัจจยตา๔ หลักปฏิจจสมุปบาท๕ ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็น
ได้ยากนัก กล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้น
ตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้ง
ต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบาก
เปล่าแก่เรา’
[๖๕] อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถา(คาถาอันน่าอัศจรรย์)เหล่านี้ที่ไม่ทรงสดับมา
ก่อนได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระวิปัสสีพุทธเจ้าว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๔๑/๖๙
๒ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๗/๑๑-๑๒, ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๘๑/๓๐๕
๓ อาลัย คือกามคุณ ๕ ที่สัตว์พัวพันยินดีเพลิดเพลิน (วิ.อ. ๓/๗/๑๓) เป็นชื่อเรียกกิเลส ๒ อย่างคือกามคุณ ๕
และตัณหาวิจริต ๑๐๘ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗/๑๘๔)
๔ อิทัปปัจจยตา แปลว่า ความที่สิ่งนี้อาศัยสิ่งนี้เกิดขึ้น หมายถึงสภาวธรรมอันเป็นปัจจัยแห่งชราและมรณะ
เป็นต้น เป็นชื่อหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท (สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒๑/๓๘, สํ.นิ.อ. ๒/๒๐/๔๖-๔๗)
๕ ปฏิจจสมุปบาท หมายถึงสภาวธรรมที่เป็นปัจจัย และสภาวธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นอันเป็นกระบวน
การทางปัจยภาพ (causality) ซึ่งเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่อย่างนั้น แม้ว่าพระตถาคตจะเสด็จอุบัติขึ้นหรือไม่
ก็ตาม เช่น ชรามรณะมี เพราะชาติเป็นปัจจัย (สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒๑/๓๘, สํ.นิ.อ. ๒/๒๐/๔๖-๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
อนัจฉริยคาถา

อนัจฉริยคาถา

บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรม
ที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก เพราะธรรมนี้
ไม่ใช่ธรรมที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นธรรมพาทวนกระแส๑ ละเอียด ลึกซึ้ง
รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ
ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้๒
เมื่อทรงพิจารณาดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อจะประทับอยู่เฉย มิได้น้อมไปเพื่อ
จะทรงแสดงธรรม
[๖๖] ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งกำหนดรู้พระรำพึงของพระวิปัสสี
พุทธเจ้าด้วยใจจึงคิดว่า “ท่านผู้เจริญ โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะพินาศหนอ
เพราะพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปเพื่อจะประทับอยู่เฉย มิได้น้อมพระทัย
ไปเพื่อจะทรงแสดงธรรม จึงได้หายตัวไปจากพรหมโลกมาปรากฏเฉพาะพระพักตร์
ของพระวิปัสสีพุทธเจ้า เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
แล้วจึงห่มผ้าเฉวียงบ่า คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือไปทางพระวิปัสสี
พุทธเจ้าแล้วได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม
ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมเถิด ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง๓
สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่
พระพุทธเจ้าข้า’
[๖๗] เมื่อท้าวมหาพรหมกราบทูลอาราธนาอย่างนี้ พระวิปัสสีพุทธเจ้าจึงได้
ตรัสกับท้าวมหาพรหมดังนี้ว่า ‘พรหม แม้เราเองก็มีความดำริว่า ‘ทางที่ดีเราควร
แสดงธรรม’ แต่ก็มาคิดว่า ‘ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก

เชิงอรรถ :
๑ พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึงพาเข้าถึงพระนิพพาน (วิ.อ. ๓/๗/๑๔)
๒ วิ.ม. (แปล) ๔/๗/๑๑
๓ ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง หมายถึงผู้มีธุลี คือ ราคะ โทสะ โมหะ เพียงเล็กน้อยในดวงตาคือปัญญา (ที.ม.อ.
๖๖/๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] อนัจฉริยคาถา

สงบ ประณีต ไม่ใช่วิสัยตรรกะ ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ก็แลหมู่ประชานี้ เป็นผู้
รื่นรมย์ในอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย สำหรับหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ใน
อาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะอันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ
หลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก
กล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา
วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้น
ก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา’
อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่ไม่เคยสดับมาก่อนได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่เราว่า
บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรม
ที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก เพราะธรรมนี้
ไม่ใช่ธรรมที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นธรรมพาทวนกระแส๑ ละเอียด ลึกซึ้ง
รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ
ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้’
เมื่อเราพิจารณาดังนี้ ใจก็น้อมไปเพื่อจะอยู่เฉย มิได้น้อมไปเพื่อจะแสดงธรรม’
[๖๘] แม้ครั้งที่ ๒ ท้าวมหาพรหมได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตโปรดแสดง
ธรรมเถิด ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะ
ไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า’ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ท้าวมหาพรหมได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ว่า ‘ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมเถิด
ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม
เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลก

พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลก

[๖๙] ครั้งนั้น พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงทราบคำอาราธนาของท้าวมหาพรหม
และทรงอาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์ ได้ทรงตรวจดูโลกด้วยพระพุทธจักษุ๑ เมื่อทรง
ตรวจโลกด้วยพระพุทธจักษุได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง ผู้มีธุลี
ในดวงตามาก ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า๒ ผู้มีอินทรีย์อ่อน ผู้มีอาการดี๓ ผู้มีอาการทราม
สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก ควรสั่งสอน ไม่ควรสั่งสอน บางพวกมักเห็น
ปรโลกและโทษ๔ว่าน่ากลัว บางพวกไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัว
ในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก
บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำและน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่พ้นน้ำ ไม่แตะน้ำ ฉันใด
พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้ทรงตรวจดูโลกด้วยพระพุทธจักษุ ครั้นทรงตรวจโลกด้วย
พระพุทธจักษุได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง ผู้มีธุลีในดวงตามาก
ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย

เชิงอรรถ :
๑ พระพุทธจักษุ หมายถึงอินทริยปโรปริยัติญาณ คือปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์
ทั้งหลาย คือ รู้ว่า สัตว์นั้น ๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย
มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่ และอาสยานุสยญาณ คือปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย ความมุ่งหมาย สภาพจิต
ที่นอนอยู่ (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑๑๑/๑๗๒-๑๗๓, ที.ม.อ. ๖๙/๖๔)
๒ มีอินทรีย์แก่กล้า หมายถึงมีอินทรีย์ ๕ บริบูรณ์ คือ (๑) สัทธา (ความเชื่อ) (๒) วิริยะ (ความเพียร)
(๓) สติ (ความระลึกได้) (๔) สมาธิ (ความตั้งจิตมั่น) (๕) ปัญญา (ความรู้ทั่ว) (ที.ม.อ. ๖๙/๖๔)
๓ มีอาการดี หมายถึงมีความโน้มเอียงไปในทางดี เช่น มีศรัทธา เป็นต้น ส่วนอาการทรามมีลักษณะตรงข้าม
(ที.ม.อ. ๖๙/๖๔)
๔ โทษ ในที่นี้ ได้แก่ กิเลส ทุจริต อภิสังขาร และกรรมนำไปเกิดในภพ (ที.ม.อ. ๖๙/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลก

สอนให้รู้ได้ยาก ควรสั่งสอน ไม่ควรสั่งสอน บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัว
บางพวกไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัว๑ ฉันนั้น
[๗๐] ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมทราบพระรำพึงของพระวิปัสสีพุทธเจ้าด้วยใจ
จึงได้กราบทูลด้วยคาถาทั้งหลายว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาดี มีพระสมันตจักขุ๒
บุรุษผู้ยืนบนยอดภูเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม๓
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำ ได้ชัดเจน ฉันนั้น๔
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ผู้ชนะสงคราม๕ ผู้นำหมู่๖ ผู้ไม่มีหนี๗

เชิงอรรถ :
๑ นอกจากบัวจมอยู่ใต้น้ำ บัวอยู่เสมอน้ำ บัวพ้นน้ำ ๓ เหล่านี้ อรรถกถาได้กล่าวถึงบัวเหล่าที่ ๔ คือบัวที่มี
โรคยังไม่พ้นน้ำ เป็นอาหารของปลาและเต่า ซึ่งมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แล้วแบ่งบุคคลเป็น ๔ เหล่า (ตามที่ปรากฏใน
องฺ.จตุกฺก. (แปล) (๒๑/๑๓๓/๒๐๒, อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๔๘-๑๕๑/๑๘๖-๑๘๗) คือ (๑) อุคฆฏิตัญญู
(๒) วิปจิตัญญู (๓) เนยยะ (๔) ปทปรมะ แล้วเปรียบอุคฆฏิตัญญู เป็นเหมือนบัวพ้นน้ำ ที่พอต้องแสง
อาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้ เปรียบวิปจิตัญญู เป็นเหมือนบัวอยู่เสมอน้ำที่จะบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเนยยะ
เป็นเหมือนบัวจมอยู่ในน้ำที่จะขึ้นมาบานในวันที่ ๓ ส่วนปทปรมะ เปรียบเหมือนบัวที่มีโรค ยังไม่พ้นน้ำ
ไม่มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นอาหารของปลาและเต่า
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุอันเป็นเหมือนกออุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงว่า
หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง มีประมาณเท่านี้ หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตามากมีประมาณเท่านี้ และใน
หมู่ประชาทั้ง ๒ นั้น อุคฆฏิตัญญูบุคคลมีประมาณเท่านี้ (ที.ม.อ. ๖๙/๖๕, สารตฺถ. ฏีกา ๓/๙/๑๙๒-๑๙๓)
๒ พระสมันตจักขุ หมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต)
(ที.ม.อ. ๗๐/๖๖)
๓ ปราสาทคือธรรม ในที่นี้หมายถึงปัญญา หรือโลกุตตรธรรม (ที.ม.อ. ๗๐/๖๖, ที.ม.ฏีกา. ๗๐/๘๐)
๔ ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๐
๕ ชนะสงคราม หมายถึงชนะเทวปุตตมาร (มารคือเทพบุตร) มัจจุมาร (มารคือความตาย) และกิเลสมาร
(มารคือกิเลส) ได้แล้ว (ที.ม.อ. ๗๐/๖๗)
๖ ผู้นำหมู่ หมายถึงสามารถนำเวไนยสัตว์ข้ามทางกันดารคือชาติเป็นต้นได้ (ที.ม.อ. ๗๐/๖๗)
๗ หนี้ ในที่นี้หมายถึงกามฉันทะ (ความพอใจในกาม) (ที.ม.อ. ๗๐/๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คู่พระอัครสาวก

ขอพระองค์โปรดลุกขึ้น เสด็จจาริกไปในโลก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมเถิด
เพราะผู้รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่๑’
[๗๑] เมื่อท้าวมหาพรหมกราบทูลอย่างนี้ พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้ตรัสกับ
ท้าวมหาพรหมนั้นด้วยพระคาถาว่า
“สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดจะฟัง
จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เราได้เปิดประตูแห่งอมตะ๒
แก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว
ท่านพรหม เพราะเราสำคัญว่าจะลำบาก
จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีตคล่องแคล่วในหมู่มนุษย์
ขณะนั้น ท้าวมหาพรหมได้ทราบว่า ‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้ทรงประทานโอกาส
เพื่อจะทรงแสดงธรรมแล้ว’ จึงถวายอภิวาทกระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง

คู่พระอัครสาวก

[๗๒] ภิกษุทั้งหลาย ต่อมา พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพระดำริว่า ‘เราจะพึง
แสดงธรรมแก่ใครก่อน ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’ แล้วทรงพระดำริต่อไปว่า
‘พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ อาศัยอยู่ในกรุงพันธุมดี
ราชธานี เป็นคนเฉลียวฉลาด หลักแหลม มีธุลีในดวงตาเบาบางมานาน ทางที่ดี
เราพึงแสดงธรรมแก่เธอทั้งสองก่อน เธอทั้งสองจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’
[๗๓] พระวิปัสสีพุทธเจ้า ทรงหายไปจากควงต้นโพธิ์มาปรากฏที่เขมมฤคทายวัน
ในกรุงพันธุมดีราชธานี เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ได้รับสั่งเรียกคนเฝ้าสวนมาตรัสว่า ‘มานี่เถิด นายทายบาล เธอจงเข้าไปยังกรุง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๘๒/๓๐๖-๓๐๗, สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๗๒/๒๓๒
๒ ประตูแห่งอมตะ หมายถึงอริยมรรคที่เป็นทางแห่งอมตะคือพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๗๑/๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คู่พระอัครสาวก

พันธุมดีราชธานี บอกราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะว่า
‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน
มีพระประสงค์จะพบท่านทั้งสอง’
นายทายบาลทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี กราบทูล
แก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบอกบุตรปุโรหิตชื่อติสสะดังนี้ว่า ‘พระวิปัสสี
พุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน มีพระประสงค์
จะพบท่านทั้งสอง’
[๗๔] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ สั่งให้บุรุษ
เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ แล้วขึ้นยานพาหนะคันงามออกจากกรุงพันธุมดีราชธานี
พร้อมกับยานพาหนะคันงาม ๆ ติดตามอีกหลายคัน ขับตรงไปยังเขมมฤคทายวัน
จนสุดทางที่ยานพาหนะจะเข้าไปได้ แล้วลงจากยานเดินตรงเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสี
พุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๗๕] พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถา๑แก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะ
และบุตรปุโรหิตชื่อติสสะเหล่านั้น คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๒
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)
เมื่อทรงทราบว่า พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะมีจิต
ควรบรรลุธรรม อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิก

เชิงอรรถ :
๑ อนุปุพพิกถา หมายถึงธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟัง
ให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์ (ที.สี.อ. ๒๙๘/๒๕๐)
๒ แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คู่พระอัครสาวก

ธรรมเทศนา๑ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุ
ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตร
ปุโรหิตชื่อติสสะ ณ อาสนะนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา‘เหมือนผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
[๗๖] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะเห็นธรรมแล้ว
บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว หมดความสงสัยแล้วปราศจาก
ความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น๒ ในคำสอนของพระศาสดา
ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มี
พระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงพระ
ผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมเป็นสรณะ และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบท
ในสำนักของพระผู้มีพระภาค’
[๗๗] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ ได้การบรรพชา
ได้การอุปสมบทในสำนักของพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้น
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง
ของสังขารและอานิสงส์ในนิพพาน จิตของพระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตร
ปุโรหิตชื่อติสสะอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

เชิงอรรถ :
๑ สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็น
ด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับแนะนำจากผู้อื่น ตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก
(วิ.อ. ๓/๒๙๓/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.อ. ๒๙๘/๒๕๐)
๒ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หมายถึงไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยแนะนำพร่ำสอนในคำสอนของพระศาสนา ไม่ได้หมายถึง
ว่า ไม่ต้องเชื่อใคร (อปรปฺปจฺจโย =ไม่มีใครอื่นอีกเป็นปัจจัย) (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๘/๒๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] มหาชนออกบวช

มหาชนออกบวช

[๗๘] ภิกษุทั้งหลาย มหาชนในกรุงพันธุมดีราชธานีประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน
ได้ทราบข่าวว่า ‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน
พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ โกนผมและหนวด นุ่งห่ม
ผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากพระราชวังและเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักพระวิปัสสี-
พุทธเจ้า’ จึงคิดกันว่า ‘พระธรรมวินัยและการบรรพชาที่พระราชโอรสพระนามว่า
ขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจาก
พระราชวังและเรือนบวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทราม คนระดับพระราชโอรส
พระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ออกจากพระราชวังและเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ ทำไม พวกเราจักบวชบ้างไม่ได้เล่า’
มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน จึงชักชวนกันออกจากกรุงพันธุมดีราชธานี ไปยัง
เขมมฤคทายวันเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสีพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร
[๗๙] พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถาแก่ชนเหล่านั้น คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา
เมื่อทรงทราบว่าชนเหล่านั้น มีจิตควรบรรลุ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ชน
๘๔,๐๐๐ เหล่านั้น ณ ที่นั่งนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๒๖/๓๒-๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
บรรพชิตรุ่นแรกที่บวชตามเสด็จบรรลุธรรม

[๘๐] ชนเหล่านั้นเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
หมดความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อ
ผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค’
[๘๑] มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้การบรรพชาได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของสังขาร
และอานิสงส์ในนิพพาน จิตของภิกษุเหล่านั้นอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

บรรพชิตรุ่นแรกที่บวชตามเสด็จบรรลุธรรม

[๘๒] ภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตประมาณ ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้นได้ทราบข่าวว่า
‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน กำลัง
ทรงแสดงธรรม’ จึงพากันไปยังเขมมฤคทายวัน กรุงพันธุมดีเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสี-
พุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๘๓] พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถาแก่บรรพชิตเหล่านั้น คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา
เมื่อทรงทราบว่า บรรพชิตเหล่านั้นมีจิตควรบรรลุธรรม อ่อน ปราศจาก
นิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

ทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจาก
มลทิน ได้เกิดขึ้นแก่บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เหมือนผ้าขาว
สะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
[๘๔] บรรพชิตเหล่านั้นเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว หมดความสงสัยแล้ว ไม่มีความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ว่า ‘ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้ง โดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี
จักเห็นรูปได้’ พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและ
พระสงฆ์เป็นสรณะ และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาค’
[๘๕] บรรพชิตประมาณ ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ได้การบรรพชาได้การ
อุปสมบทในสำนักพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้นเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของ
สังขารและอานิสงส์ในนิพพาน จิตของภิกษุเหล่านั้นอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจง
ให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลม
ใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะ
ไม่ถือมั่น

ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

[๘๖] ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น มีภิกษุอยู่ประมาณ ๑๖๘,๐๐๐ รูปในกรุง
พันธุมดีราชธานี ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีพุทธเจ้าประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มี
พระรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เวลานี้ ในกรุงพันธุมดีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง ๑๖๘,๐๐๐ รูป
ทางที่ดีเราควรประกาศให้ภิกษุทั้งหลายรู้ทั่วกันว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกัน
๒ รูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความ
งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะ
ไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ แต่เมื่อเวลาล่วงไป ทุก ๆ
๖ ปี เธอทั้งหลายควรกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’
[๘๗] ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง ทราบพระรำพึงของพระวิปัสสีพุทธเจ้า
ด้วยใจได้หายตัวไปจากพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระวิปัสสีพุทธเจ้า
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ท้าวมหาพรหมนั้น ห่มผ้า
เฉวียงบ่า ประนมมือน้อมไปทางพระวิปัสสีพุทธเจ้าได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระ
ผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น เวลานี้
ในกรุงพันธุมดีราชธานีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง ๑๖๘,๐๐๐ รูป พระองค์โปรด
ทรงอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อเกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรม
มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด จงประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมี
เหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์
ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่’ ข้าพระองค์จักหาวิธีให้ภิกษุทั้งหลายกลับมายัง
กรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์ เมื่อล่วงไปทุก ๆ ๖ ปี พระพุทธเจ้าข้า’
เมื่อท้าวมหาพรหมกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงถวายอภิวาทพระวิปัสสีพุทธเจ้า
กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง
[๘๘] ครั้นในเวลาเย็น พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จออกจากที่หลีกเร้น รับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เราหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ณ ที่นี้ ได้มี
ความรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เวลานี้ ในกรุงพันธุมดีราชธานีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง
๑๖๘,๐๐๐ รูป ทางที่ดีเราควรประกาศให้ภิกษุทั้งหลายรู้ทั่วกันว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์
ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่า
ไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้น
จะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ แต่เมื่อเวลา
ล่วงไปทุก ๆ ๖ ปี เธอทั้งหลายควรกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดง
ปาติโมกข์’
ต่อมา ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง ทราบความรำพึงของเราด้วยใจแล้วได้หายตัว
จากพรหมโลกมาปรากฏเฉพาะหน้าเรา เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือ
คู้แขนเข้า ฉะนั้น ท้าวมหาพรหมนั้นห่มผ้าเฉวียงบ่า ประนมมือน้อมมาทางที่เราอยู่
ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต
เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น เวลานี้ ในกรุงพันธุมดีราชธานีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง
๑๖๘,๐๐๐ รูป พระองค์โปรดทรงอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์
ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่า
ไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้น
จะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่’ ข้าพระองค์
จักหาวิธีให้ภิกษุทั้งหลายกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์ เมื่อเวลา
ล่วงไปทุก ๆ ๖ ปี พระพุทธเจ้าข้า’
เมื่อท้าวมหาพรหมนั้นได้กล่าวอย่างนี้แล้ว จึงถวายอภิวาทเรากระทำประทักษิณ
แล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง
ภิกษุทั้งหลาย เราประกาศให้รู้ทั่วกันว่า ‘เธอทั้งหลาย จงจาริกไปเพื่อเกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป
จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงาม
ในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟัง
ธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ แต่เมื่อเวลาล่วงไปทุก ๆ ๖ ปี
เธอทั้งหลายควรกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’ ภิกษุส่วนมาก
ได้จาริกไปตามชนบท โดยวันเดียวเท่านั้น
[๘๙] สมัยนั้น ในชมพูทวีปมีอาวาสอยู่ ๘๔,๐๐๐ แห่ง เมื่อเวลาล่วงไป ๑ ปี
เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เวลาล่วงไป ๑ ปีแล้ว บัดนี้ยัง
เหลือเวลา ๕ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๕ ปี พวกท่านพึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี
เพื่อแสดงปาติโมกข์’
เมื่อเวลาล่วงไป ๒ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๒ ปีแล้ว บัดนี้ยังเหลือเวลา ๔ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๔ ปี พวกท่าน
พึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’
เมื่อเวลาล่วงไป ๓ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๓ ปีแล้ว บัดนี้ยังเหลือเวลา ๓ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๓ ปี พวกท่าน
พึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’
เมื่อเวลาล่วงไป ๔ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๔ ปีแล้ว บัดนี้ยังเหลือเวลา ๒ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๒ ปี พวกท่าน
พึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’
เมื่อเวลาล่วงไป ๕ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๕ ปีแล้ว บัดนี้ยังเหลือเวลา ๑ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๑ ปี พวกท่าน
พึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์

เมื่อเวลาล่วงไป ๖ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๖ ปีแล้ว บัดนี้ถึงเวลาแล้ว พวกท่านพึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี
เพื่อแสดงปาติโมกข์’
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น บางพวกเดินทางไปด้วยฤทธิ์ ด้วยอานุภาพของตน
บางพวกเดินทางไปด้วยฤทธิ์ ด้วยอานุภาพของเทวดา เพียงวันเดียวเท่านั้น พากัน
เข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์

ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์

[๙๐] ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงปาติโมกข์๑ ในที่ประชุมสงฆ์
ที่กรุงพันธุมดีราชธานีนั้นดังนี้
‘ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
การไม่ทำบาป๒ทั้งปวง
การทำกุศล๓ให้ถึงพร้อม
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ปาติโมกข์ ในที่นี้มิได้หมายถึงอาณาปาติโมกข์ (ประมวลพุทธบัญญัติที่ทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา ได้แก่
อาทิพรหมจริยกสิกขา ที่มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน) แต่หมายถึงโอวาทปาติโมกข์
ซึ่งประกอบด้วยคาถา ๓ คาถามี ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา เป็นต้น ที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงแสดงเอง
(ที.ม.อ. ๙๐/๗๖, วิ.อ. ๑/๑๙/๑๙๐-๑๙๒)
๒ บาป หมายถึงกรรมที่มีโทษซึ่งสหรคตด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวง (ที.ม.ฏีกา ๙๐/๙๒)
๓ กุศล หมายถึงกุศลที่เป็นไปในภูมิ ๔ (ที.ม.อ. ๙๐/๗๖, ที.ม.ฏีกา ๙๐/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา

การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น
การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย’๑

คำกราบทูลของเทวดา

[๙๑] ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ควงต้นราชสาละ ป่าสุภควัน
กรุงอุกกัฏฐะ ขณะที่เรานั้นหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีความรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เทวโลก
ชั้นสุทธาวาสที่เราไม่เคยอยู่มาเลยตลอดกาลนานนี้ ไม่ใช่ใคร ๆ จะเข้าถึงได้โดยง่าย
ยกเว้นเหล่าเทพชั้นสุทธาวาส ทางที่ดี เราควรไปหาเหล่าเทพชั้นสุทธาวาส’ จึงได้
หายไปจากควงต้นราชสาละนั้นไปปรากฏในเหล่าเทพชั้นอวิหาอย่างรวดเร็ว เหมือนบุรุษ
ผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๙๑ กัป พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติ
เป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ มีพระ
ชนมายุประมาณ ๘๐,๐๐๐ ปี ตรัสรู้ที่ควงต้นแคฝอย ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่
ที่เจริญ ได้แก่พระขัณฑะและพระติสสะ มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑
มีภิกษุ ๑๖๘,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ
๘๐,๐๐๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุ
อโสกะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก มีพระเจ้าพันธุมาเป็นพระบิดา พระนาง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ธ. ๒๕/๑๘๓-๑๘๕/๔๙-๕๐, ขุ.อุ. ๒๕/๓๖/๑๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา

พันธุมดีเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดีเป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา
การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบรรพชาของพระองค์
เป็นอย่างนี้ การบำเพ็ญเพียรของพระองค์เป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์เป็น
อย่างนี้ การแสดงธรรมจักรของพระองค์เป็นอย่างนี้ พวกข้าพระองค์ประพฤติ
พรหมจรรย์ในพระวิปัสสีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเราถึง
ที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๓๑ กัป พระสิขีพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ
พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสิขีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดี
ในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้ ในกัปที่ ๓๑ นั้นเอง พระเวสสภูพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้น
ในโลก ฯลฯ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระเวสสภูพุทธเจ้า คลายความ
กำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้ ในภัทรกัปนี้เอง พระกกุสันธพุทธเจ้า
พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ พวกข้า
พระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า
พระกัสสปพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้
นิรทุกข์ ในภัทรกัปนี้เอง บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จ
อุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตร
ว่าโคตมะ มีพระชนมายุเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีอายุยืนก็เพียง ๑๐๐ ปี หรือเกินไปอีก
เล็กน้อย๑ ตรัสรู้ที่ควงต้นอัสสัตถะ ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่เจริญ ได้แก่
พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ
๑,๒๕๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอานนท์เป็น

เชิงอรรถ :
๑ เกินไปอีกเล็กน้อย ในที่นี้หมายถึงคนมีอายุยืนเกิน ๑๐๐ ปี สมัยพุทธกาล ได้แก่ พระมหากัสสปะ
พระอานนท์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี นางวิสาขา พราหมณ์โปกขรสาติ พราหมณ์พรหมายุ พราหมณ์เสละ
พราหมณ์พาวรี ทุกท่านมีอายุ ๑๒๐ ปี พระอนุรุทธะมีอายุ ๑๕๐ ปี พระพากุละมีอายุ ๑๖๐ ปี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา

อุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก๑ มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดา พระนางมายาเทวี
เป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด มีกรุงกบิลพัสดุ์เป็นราชธานี การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบรรพชาของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบำเพ็ญเพียรของ
พระองค์เป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การแสดงธรรมจักรของ
พระองค์เป็นอย่างนี้ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค คลายความ
กำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
[๙๒] ครั้งนั้น เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหา ได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นอตัปปา
ถึงที่อยู่ ...
เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหาและชั้นอตัปปา ได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นสุทัสสา
ถึงที่อยู่ ...
เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา และชั้นสุทัสสา ได้เข้าไปหา
เหล่าเทพชั้นสุทัสสีถึงที่อยู่ ...
ครั้งนั้น เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา และชั้นสุทัสสี
ได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นอกนิฏฐาถึงที่อยู่ ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวน
หลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
เทวดาเหล่านั้นได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นับจากกัปนี้
ถอยหลังไป ๙๑ กัป พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์
ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ มีพระชนมายุประมาณ
๘๐,๐๐๐ ปี ตรัสรู้ที่ควงต้นแคฝอย ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่
พระขัณฑะและพระติสสะ มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ
๑๖๘,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอโสกะเป็นอุปัฏฐาก

เชิงอรรถ :
๑ ในปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ บางคราวพระนาคสมาละ บางคราวพระ-
นาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวจุนทะ สมณุทเทส บางคราวพระสาคตะ
บางคราว พระเมฆิยะ (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา

เป็นอัครอุปัฏฐาก มีพระเจ้าพันธุมาเป็นพระบิดา พระนางพันธุมดีเทวีเป็น
พระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดีเป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา การเสด็จออก
มหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบรรพชาของพระองค์เป็นอย่างนี้
การบำเพ็ญเพียรของพระองค์เป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์เป็นอย่างนี้
การแสดงธรรมจักรของพระองค์เป็นอย่างนี้ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์
ในพระวิปัสสีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๓๑ กัป พระสิขีพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก
ฯลฯ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสิขีพุทธเจ้า คลายความกำหนัด
ยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ ในกัปที่ ๓๑ นั้นเอง พระเวสสภูพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ
พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระเวสสภูพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดี
ในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ ในภัทรกัปนี้เอง พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสป-
พุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระ
กกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า คลายความกำหนัด
ยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
[๙๓] ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามา
หาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ ในภัทรกัปนี้เอง บัดนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ทรงสรุปพระธรรมเทศนา

อุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตร
ว่าโคตมะ มีพระชนมายุเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีอายุยืนก็เพียง ๑๐๐ ปี หรือเกินไปอีก
เล็กน้อย ตรัสรู้ที่ควงต้นอัสสัตถะ ทรงมีคู่อัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระสารีบุตร
และพระโมคคัลลานะ มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป พระสาวก
ที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอานนท์เป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก
มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดา พระนางมายาเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด มีกรุง
กบิลพัสดุ์เป็นราชธานี การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์เป็นอย่างนี้
การบรรพชาของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบำเพ็ญเพียรของพระองค์เป็นอย่างนี้
การตรัสรู้ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การแสดงธรรมจักรของพระองค์เป็นอย่างนี้
พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค คลายความกำหนัดยินดี
ในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’

ทรงสรุปพระธรรมเทศนา

[๙๔] ภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตมีปัญญาแทงตลอดธรรมธาตุดังกล่าวมานี้
จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรม
เครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุม
พระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ทรงสรุปพระธรรมเทศนา

แม้เหล่าเทวดาก็บอกเรื่องนั้นให้ทราบ จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทาง
ได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม
พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตร
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีธรรม
เป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็น
เครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

มหาปทานสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

๒. มหานิทานสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นต้นเหตุใหญ่

ปฏิจจสมุปบาท๑

[๙๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุชื่อกัมมาสธัมมะ
แคว้นกุรุ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง๒ สุดจะ
คาดคะเนได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนกับว่าเป็นธรรมง่าย ๆ
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ อย่าพูดอย่างนั้น อานนท์
ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง สุดจะคาดคะเนได้ ก็เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจปฏิจจ-
สมุปบาทนี้ หมู่สัตว์จึงยุ่งเหมือนขอดด้ายของช่างหูก เป็นปมนุงนังเหมือนกระจุกด้าย
เหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ข้ามพ้นอบาย๓ ทุคติ วินิบาตและสงสาร
[๙๖] อานนท์ เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมีหรือ’
ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’ ควรตอบว่า
‘เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ชาติจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ภพจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ภพจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๖๐/๑๑๓
๒ ลึกซึ้ง หมายถึงลึกซึ้งโดยอาการ ๔ คือ (๑) อรรถ (ผล) (๒) ธรรม (เหตุ) (๓) เทศนา (วิธีการแสดง)
(๔) ปฏิเวธ (การบรรลุ) (ที.ม.อ. ๙๕/๙๐)
๓ อบาย หมายถึงภาวะหรือที่อันปราศจากความเจริญ ๔ คือ (๑) นรก (๒) กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน (๓) แดน
เปรต (๔) อสุรกาย (ที.ม.อ ๙๕/๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’
ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะตัณหาเป็น
ปัจจัย อุปาทานจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย เวทนาจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย นามรูปจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้า
ถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
นามรูปจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้า
ถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี‘ควรตอบว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย
วิญญาณจึงมี’
[๙๗] ด้วยเหตุดังนี้แล

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย___วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย___นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย___ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย___เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย___ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย___อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย___ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย___ชาติจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ ด้วยประการฉะนี้
[๙๘] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่ชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าชาติ คือ ชาติ
เพื่อความเป็นเทพของพวกเทพ เพื่อความเป็นคนธรรพ์ของพวกคนธรรพ์ เพื่อความ
เป็นยักษ์ของพวกยักษ์ เพื่อความเป็นภูตของพวกภูต เพื่อความเป็นมนุษย์ของพวก
มนุษย์ เพื่อความเป็นสัตว์สี่เท้าของพวกสัตว์สี่เท้า เพื่อความเป็นสัตว์ปีกของพวก
สัตว์ปีก เพื่อความเป็นสัตว์เลื้อยคลานของพวกสัตว์เลื้อยคลาน ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ
ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง ก็ถ้าชาติไม่ได้มีเพื่อความเป็นอย่างนั้นของสรรพสัตว์พวกนั้น ๆ
เมื่อชาติไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะชาติดับไป ชรามรณะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งชราและมรณะ ก็คือชาตินั่นเอง
[๙๙] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่ภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าภพ คือ กามภพ
รูปภพ หรืออรูปภพ ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อภพไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะภพดับไป ชาติจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งชาติ ก็คือภพนั่นเอง
[๑๐๐] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าอุปาทาน คือ
กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) ทิฏฐุปาทาน(ความยึดมั่นในทิฏฐิ) สีลัพพตุปาทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

(ความยึดมั่นในศีลพรต) หรืออัตตวาทุปาทาน(ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา) ไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออุปาทานไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
อุปาทานดับไป ภพจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งภพ ก็คืออุปาทานนั่นเอง
[๑๐๑] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่ตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าตัณหา
คือ รูปตัณหา(อยากได้รูป) สัททตัณหา(อยากได้เสียง) คันธตัณหา(อยากได้กลิ่น)
รสตัณหา(อยากได้รส) โผฏฐัพพตัณหา(อยากได้โผฏฐัพพะ) และธัมมตัณหา (อยากได้
ธรรมารมณ์) ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะตัณหาดับไป อุปาทานจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งอุปาทาน ก็คือตัณหานั่นเอง
[๑๐๒] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่เวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าเวทนา คือ
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัส เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส
เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส และเวทนาที่เกิดจาก
มโนสัมผัส ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะเวทนาดับไป ตัณหาจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งตัณหา ก็คือเวทนานั่นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

[๑๐๓] อานนท์ ด้วยเหตุดังนี้แล

เพราะอาศัยเวทนา___ตัณหาจึงมี
เพราะอาศัยตัณหา___ปริเยสนา (การแสวงหา) จึงมี
เพราะอาศัยปริเยสนา___ลาภะ (การได้) จึงมี
เพราะอาศัยลาภะ___วินิจฉยะ (การกำหนด) จึงมี
เพราะอาศัยวินิจฉยะ___ฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความพอใจ) จึงมี
เพราะอาศัยฉันทราคะ___อัชโฌสานะ (ความหมกมุ่นฝังใจ) จึงมี
เพราะอาศัยอัชโฌสานะ___ปริคคหะ (การยึดถือครอบครอง) จึงมี
เพราะอาศัยปริคคหะ___มัจฉริยะ (ความตระหนี่) จึงมี
เพราะอาศัยมัจฉริยะ___อารักขะ (ความหวงกั้น) จึงมี
เพราะอารักขะเป็นเหตุ___บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิด
ขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา
การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท
การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูด
ส่อเสียด และการพูดเท็จ

[๑๐๔] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอารักขะเป็นเหตุ บาปอกุศล-
ธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ
การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูดส่อเสียด และการ
พูดเท็จ’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อารักขะเป็นเหตุ บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิด
ขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูด
ขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูดส่อเสียด และการพูดเท็จ ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าอารักขะ
ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออารักขะไม่มีโดยประการทั้งปวง
เพราะอารักขะดับไป บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก จะเกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือ
ศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูด
ส่อเสียด และการพูดเท็จได้หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เกิดขึ้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ และปัจจัย
แห่งบาปอกุศลธรรมเป็นอเนกที่เกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ
การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูดส่อเสียด และการ
พูดเท็จ ก็คืออารักขะนั่นเอง
[๑๐๕] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยมัจฉริยะ อารักขะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยมัจฉริยะ อารักขะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้ามัจฉริยะไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อมัจฉริยะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
มัจฉริยะดับไป อารักขะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งอารักขะ ก็คือมัจฉริยะนั่นเอง
[๑๐๖] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยปริคคหะ มัจฉริยะ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยปริคคหะ มัจฉริยะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าปริคคหะ
ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อปริคคหะไม่มีโดยประการทั้งปวง
เพราะปริคคหะดับไป มัจฉริยะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งมัจฉริยะ ก็คือปริคคหะนั่นเอง
[๑๐๗] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยอัชโฌสานะ ปริคคหะ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยอัชโฌสานะ ปริคคหะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าอัชโฌสานะ
ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออัชโฌสานะไม่มีโดยประการทั้งปวง
เพราะอัชโฌสานะดับไป ปริคคหะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งปริคคหะ ก็คืออัชโฌสานะนั่นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

[๑๐๘] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยฉันทราคะ อัชโฌสานะ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยฉันทราคะ อัชโฌสานะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้า
ฉันทราคะไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อฉันทราคะไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะฉันทราคะดับไป อัชโฌสานะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งอัชโฌสานะ ก็คือฉันทราคะนั่นเอง
[๑๐๙] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยวินิจฉยะ ฉันทราคะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยวินิจฉยะ ฉันทราคะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าวินิจฉยะไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อวินิจฉยะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
วินิจฉยะดับไป ฉันทราคะจะปรากฏได้หรือ''
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งฉันทราคะ ก็คือวินิจฉยะนั่นเอง
[๑๑๐] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยลาภะ วินิจฉยะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยลาภะ วินิจฉยะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าลาภะไม่ได้มีแก่
ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อลาภะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะลาภะ
หมดไป วินิจฉยะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งวินิจฉยะ ก็คือลาภะนั่นเอง
[๑๑๑] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยปริเยสนา ลาภะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยปริเยสนา ลาภะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าปริเยสนาไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อปริเยสนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
ปริเยสนาดับไป ลาภะจะปรากฏได้หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งลาภะ ก็คือปริเยสนานั่นเอง
[๑๑๒] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนา
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยตัณหา ปริเยสนาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าตัณหา คือ
กามตัณหา๑ ภวตัณหา๒ และวิภวตัณหา๓ ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง
เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะตัณหาดับไป ปริเยสนาจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งปริเยสนา ก็คือตัณหานั่นเอง
อานนท์ ธรรม ๒ อย่างนี้ ทั้ง ๒ ส่วน๔ รวมลงเป็นอย่างเดียวกับเวทนา
ด้วยประการฉะนี้
[๑๑๓] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่ผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าผัสสะ คือ จักขุ-
สัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัสไม่ได้มีแก่
ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อผัสสะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะผัสสะดับไป
เวทนาจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งเวทนา ก็คือผัสสะนั่นเอง

เชิงอรรถ :
๑ กามตัณหา (ความทะยานอยากในกาม) ในที่นี้หมายถึงราคะที่เนื่องด้วยกามคุณ ๕ (ที.ปา.อ.๓๐๕/๑๘๒)
๒ ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) ในที่นี้หมายถึงราคะในรูปภพและอรูปภพ, ราคะที่ประกอบด้วย
สัสสตทิฏฐิ (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒)
๓ วิภวตัณหา (ความทะยานอยากในวิภพ) ในที่นี้หมายถึงราคะที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒)
๔ ธรรม ๒ อย่างนี้ ทั้ง ๒ ส่วน ในที่นี้หมายถึงตัณหา ๒ ประการ ได้แก่ (๑) วัฏฏมูลตัณหา ตัณหาที่เป็นมูล
ในวัฏฏะ หมายถึงตัณหาที่เป็นปัจจัยของอุปาทาน (๒) สมุทาจารตัณหา ตัณหาที่ฟุ้งขึ้น หมายถึงตัณหา
ที่ท่านกล่าวว่า เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนาจึงมี เป็นต้น (ที.ม.อ. ๑๑๒/๙๘, ที.ม.ฏีกา ๑๑๒/๑๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

[๑๑๔] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่นามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ดังต่อไปนี้ การบัญญัตินามกาย๑
ต้องพร้อมด้วยอาการ๒ เพศ๓ นิมิต๔ อุทเทส๕ เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทส
นั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสแต่ชื่อในรูปกายจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัติรูปกายต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการ
กระทบในนามกายจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัตินามกายและรูปกายต้องพร้อมด้วย
อาการ เพศ นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี
การสัมผัสแต่ชื่อจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัตินามรูปต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี ผัสสะจะปรากฏ
ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งผัสสะ ก็คือนามรูปนั่นเอง
[๑๑๕] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่วิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าวิญญาณ
จักไม่หยั่งลงในท้องมารดา นามรูปจะก่อตัวขึ้นในท้องมารดาได้หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ นามกาย หมายถึงนามขันธ์ ๔ คือ (๑) เวทนาขันธ์ (๒) สัญญาขันธ์ (๓) สังขารขันธ์ (๔) วิญญาณขันธ์
(ที.ม.อ. ๑๑๔/๙๙)
๒ อาการ หมายถึงอากัปกิริยาของนามขันธ์แต่ละอย่างที่สำแดงออกมา (ที.ม.ฏีกา. ๑๑๔/๑๒๓)
๓ เพศ หมายถึงลักษณะที่บ่งบอกหรือใช้เป็นเครื่องอนุมานถึงนามขันธ์แต่ละอย่าง (ที.ม.ฏีกา ๑๑๔/๑๒๓)
๔ นิมิต หมายถึงเครื่องหมายแสดงถึงลักษณะเฉพาะของนามขันธ์แต่ละอย่าง (ที.ม.ฏีกา. ๑๑๔/๑๒๓)
๕ อุทเทส หมายถึงคำอธิบายเกี่ยวกับนามขันธ์แต่ละอย่าง เช่น เป็นสิ่งที่ไม่ใช่รูป เป็นสิ่งที่รับรู้ได้ (ที.ม.ฏีกา.
๑๑๔/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องมารดาแล้วล่วงเลยไป
นามรูปจักบังเกิดขึ้นเพื่อความเป็นอย่างนี้ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็ถ้าวิญญาณเด็กชายหรือเด็กหญิงผู้เยาว์วัยจัก
ขาดความสืบต่อ นามรูปจักเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งนามรูป ก็คือวิญญาณนั่นเอง
[๑๑๖] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่นามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้า
วิญญาณจักไม่ได้อาศัยนามรูป ชาติ ชรา มรณะ และความเกิดขึ้นแห่งทุกขสมุทัย
จะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งวิญญาณ ก็คือนามรูปนั่นเอง
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล วิญญาณและนามรูปจึงเกิด แก่ ตาย จุติหรืออุบัติ
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่เป็นเพียงชื่อ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่ใช้ตาม
ความหมาย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำบัญญัติ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีแต่สื่อ
ความเข้าใจ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ วัฏฏะจึงเป็นไป ความเป็นอย่างนี้ย่อมปรากฏ
โดยการบัญญัติ๑ คือ นามรูปย่อมเป็นไปพร้อมกับวิญญาณ เพราะต่างก็เป็นปัจจัย
ของกันและกัน

เชิงอรรถ :
๑ความเป็นอย่างนี้ย่อมปรากฏโดยการบัญญัติ หมายถึงขันธ์ ๕ เป็นเพียงชื่อที่บัญญัติขึ้น (ที.ม.อ. ๑๑๖/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] บัญญัติอัตตา

บัญญัติอัตตา

[๑๑๗] อานนท์ บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตา ย่อมบัญญัติด้วยความเห็น
กี่อย่าง
บุคคล
๑. เมื่อจะบัญญัติอัตตาที่มีขนาดจำกัด มีรูป ย่อมบัญญัติว่า ‘อัตตา
ของเรามีขนาดจำกัด มีรูป’
๒. เมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมบัญญัติว่า ‘อัตตา
ของเรามีขนาดไม่จำกัด มีรูป’
๓. เมื่อจะบัญญัติอัตตาที่มีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมบัญญัติว่า ‘อัตตา
ของเรามีขนาดจำกัด ไม่มีรูป’
๔. เมื่อจะบัญญัติอัตตาที่มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมบัญญัติว่า
‘อัตตาของเรามีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป’
[๑๑๘] ในความเห็น ๔ อย่างนั้น บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดจำกัด
มีรูป ย่อมบัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะในชาตินี้ หรือบัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล
หรือมีความเห็นว่า ‘เราจักทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพ
เที่ยง’ อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาที่มีอยู่ มีขนาดจำกัด มีรูป ย่อมติดตาม
มาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมบัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือบัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล หรือมีความเห็นว่า ‘เราจักทำ
อัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ อานนท์ การลงความเห็น
ว่าอัตตาที่มีอยู่ มีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น
จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมบัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือบัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล หรือมีความเห็นว่า ‘เราจักทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ไม่บัญญัตอัตตา

อัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ อานนท์ การลงความเห็น
ว่าอัตตาที่มีอยู่ มีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น
จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมบัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือบัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล หรือมีความเห็นว่า ‘เราจักทำ
อัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ อานนท์ การลงความ
เห็นว่าอัตตา ที่มีอยู่ มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้
ฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้
อานนท์ บุคคลเมื่อบัญญัติอัตตา ย่อมบัญญัติด้วยความเห็น ๔ อย่างนี้แล”

ไม่บัญญัติอัตตา

[๑๑๙] “อานนท์ บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยความเห็น
กี่อย่าง
บุคคล
๑. เมื่อไม่บัญญัติอัตตาที่มีขนาดจำกัด มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่า
‘อัตตาของเรามีขนาดจำกัด มีรูป’
๒. เมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่า
‘อัตตาของเรามีขนาดไม่จำกัด มีรูป’
๓. เมื่อไม่บัญญัติอัตตาที่มีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่า
‘อัตตาของเรามีขนาดจำกัด ไม่มีรูป’
๔. เมื่อไม่บัญญัติอัตตาที่มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่า
‘อัตตาของเรา มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป’
[๑๒๐] ในความเห็น ๔ อย่างนั้น บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดจำกัด
มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะในชาตินี้ หรือไม่บัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล
หรือไม่มีความเห็นว่า ‘เราจักทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ความเห็นว่าเป็นอัตตา

สภาพเที่ยง’ การลงความเห็นว่าอัตตาที่มีอยู่มีขนาดจำกัด มีรูป ย่อมไม่ติดตามมา
ด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือไม่บัญญัติว่าเป็นสภาพที่มีอยู่ตลอดกาล หรือไม่มีความเห็นว่า ‘เราจัก
ทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ การลงความเห็นว่า
อัตตาที่มีอยู่ มีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมไม่ติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น
จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือไม่บัญญัติว่าเป็นสภาพที่มีอยู่ตลอดกาล หรือไม่มีความเห็นว่า ‘เราจัก
ทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ การลงความเห็นว่า
อัตตาที่มีอยู่มีขนาดจำกัดไม่มีรูป ย่อมไม่ติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น จึงควร
กล่าวไว้
บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือไม่บัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล หรือไม่มีความเห็นว่า ‘เราจัก
ทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ การลงความเห็นว่า
อัตตาที่มีอยู่ มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่ติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น
จึงควรกล่าวไว้
อานนท์ บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยความเห็น ๔ อย่างนี้แล”

ความเห็นว่าเป็นอัตตา

[๑๒๑] “อานนท์ บุคคลเมื่อเห็นว่ามีอัตตา ย่อมเห็นด้วยความเห็น กี่อย่าง
บุคคลเมื่อเห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ย่อมเห็นว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’
หรือเห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา (เพราะ) อัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์’ หรือ
เห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์ก็มิใช่ อัตตาของเรา
ยังเสวยอารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ความเห็นว่าเป็นอัตตา

[๑๒๒] อานนท์ ในความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็น
อัตตาของเรา’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ผู้มีอายุ เวทนามี ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา
ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา บรรดาเวทนา ๓ อย่างนี้ เธอเห็นเวทนาอย่าง
ไหนว่าเป็นอัตตา’
ในคราวที่อัตตาเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา
คงเสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น ในคราวที่อัตตาเสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยสุข-
เวทนาและอทุกขมสุขเวทนา คงเสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น ในคราวที่อัตตาเสวย
อทุกขมสุขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยสุขเวทนาและทุกขเวทนา คงเสวยแต่อทุกขมสุข-
เวทนาเท่านั้น
[๑๒๓] อานนท์ แม้สุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิด
มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา
มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุ
ปัจจัยเกิด มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไป
เป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัย
ปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิด มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อบุคคลเสวยสุขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า ‘นี้เป็นอัตตาของเรา’ เมื่อ
สุขเวทนานั้นดับ จึงมีความเห็นว่า ‘อัตตาของเราดับไปแล้ว’ เมื่อบุคคลเสวยทุกข-
เวทนา ย่อมมีความเห็นว่า ‘นี้เป็นอัตตาของเรา’ เมื่อทุกขเวทนานั้นดับ จึงมีความ
เห็นว่า ‘อัตตาของเราดับไปแล้ว’ เมื่อบุคคลเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมมีความ
เห็นว่า ‘นี้เป็นอัตตาของเรา’ เมื่ออทุกขมสุขเวทนานั้นดับ จึงมีความเห็นว่า ‘อัตตา
ของเราดับไปแล้ว’
ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’ เมื่อเห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา
ย่อมเห็นอัตตา ไม่เที่ยง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และมีความ
เสื่อมไปเป็นธรรมดา ในปัจจุบัน เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ความเห็นว่าเป็นอัตตา

[๑๒๔] อานนท์ ในความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาไม่ใช่
อัตตาของเรา (เพราะ) อัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ในรูปขันธ์
ซึ่งไม่มีการเสวยอารมณ์ จะมีความรู้สึกว่า ‘เป็นเรา’ เกิดขึ้นได้หรือไม่”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เกิดขึ้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา เพราะอัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์
[๑๒๕] อานนท์ ในความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาไม่ใช่
อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์ก็มิใช่ อัตตาของเรายังเสวย
อารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ผู้มี
อายุ ก็เพราะเวทนาจะต้องดับไปทั้งหมดทั้งสิ้นไม่มีเหลือ เมื่อไม่มีเวทนา เพราะ
เวทนาดับไป โดยประการทั้งปวงยังจะมีความรู้สึกว่า ‘เป็นเรา’ ได้หรือไม่
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์
ก็มิใช่ อัตตาของเรายังเสวยอารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’
[๑๒๖] อานนท์ ภิกษุใดไม่เห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ไม่เห็นการเสวยอารมณ์
ว่าเป็นอัตตา และไม่เห็นว่า ‘อัตตาของเรายังต้องเสวยอารมณ์ เพราะว่าอัตตาของ
เรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’ ภิกษุนั้นเมื่อเห็นอย่างนี้ย่อมไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก
และเมื่อไม่ถือมั่นย่อมไม่สะทกสะท้าน เมื่อไม่สะทกสะท้านย่อมดับได้เฉพาะตน๑
ย่อมรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจ
อื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า
‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นไม่สมควร ผู้ใดกล่าว

เชิงอรรถ :
๑ ย่อมดับได้เฉพาะตน หมายถึงดับกิเลสได้ด้วยตนเอง (ที.ม.อ. ๑๒๖/๑๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิญญาณฐิติ ๗ ประการ

กับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้น อย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นก็ไม่สมควร ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้น อย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต
เกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นก็ไม่สมควร ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้น อย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ’ การกล่าวของผู้นั้นก็ไม่สมควร
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชื่อ คำที่เป็นเพียงชื่อ ความหมาย คำที่ใช้ตาม
ความหมาย บัญญัติ คำบัญญัติ ความเข้าใจ สื่อความเข้าใจ วัฏฏะยังเป็นไปอยู่
ตลอดกาลเพียงใด วัฏฏะย่อมหมุนไปตลอดกาลเพียงนั้น
ภิกษุชื่อว่าหลุดพ้นแล้วเพราะรู้ยิ่งวัฏฏะนั้น ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้หลุดพ้นแล้ว
เพราะรู้ยิ่งวัฏฏะนั้นว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘พระอรหันต์ย่อมไม่รู้ไม่เห็น’ การกล่าวของ
ผู้นั้นก็ไม่สมควร’

วิญญาณฐิติ ๗ ประการ
(ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ)

[๑๒๗] อานนท์ วิญญาณฐิติ๑ ๗ ประการ และอายตนะ ๒ ประการนี้
วิญญาณฐิติ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์
เทพบางพวก๒ และวินิปาติกะบางพวก๓ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๒/๒๒๒-๒๒๓, ๓๕๗/๒๕๘-๒๕๙, องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๒๔/๔๘๑-๔๘๒
๒ เทพบางพวก หมายถึงพวกเทพในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ คือ (๑) ชั้นจาตุมหาราช (๒) ชั้นดาวดึงส์
(๓) ชั้นยามา (๔) ชั้นดุสิต (๕) ชั้นนิมมานรดี (๖) ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (ที.ม.อ. ๑๒๗/๑๐๙)
๓ วินิปาติกะบางพวก ในที่นี้หมายถึงยักษิณีและเวมานิกเปรตที่พ้นจากอบายภูมิ ๔ (ที.ม.อ. ๑๒๗/๑๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิญญาณฐิติ ๗ ประการ

๒. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ
พวกเทพชั้นพรหมกายิกา๑เกิดในปฐมฌานและเหล่าสัตว์ผู้เกิดใน
อบาย ๔ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๒
๓. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน คือ
พวกเทพชั้นอาภัสสระ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๓
๔. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ
พวกเทพชั้นสุภกิณหะ (เทพที่เต็มไปด้วยความงดงาม) นี้เป็น
วิญญาณฐิติที่ ๔
๕. มีสัตว์ทั้งหลายผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า
‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๕
๖. มีสัตว์ทั้งหลายผู้ล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุด
มิได้’ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๖
๗. มีสัตว์ทั้งหลายผู้ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ นี้เป็น
วิญญาณฐิติที่ ๗
อายตนะ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อสัญญีสัตตายตนะ (อายตนะของสัตว์ผู้ไม่มีสัญญา) นี้เป็นอายตนะ
ที่ ๑
๒. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (อายตนะของสัตว์ผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มี
สัญญาก็มิใช่) นี้เป็นอายตนะที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑พวกเทพชั้นพรหมกายิกา หมายถึงพรหมชั้นปฐมฌาน ๓ ชั้น คือ (๑) พรหมปาริสัชชา (พวกบริษัทบริวาร
มหาพรหม) (๒) พรหมปุโรหิตา (พวกปุโรหิตมหาพรหม) (๓) มหาพรหมา (พวกท้าวมหาพรหม) (ที.ม.อ.
๑๒๓/๑๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิญญาณฐิติ ๗ ประการ

[๑๒๘] อานนท์ ในวิญญาณฐิติ ๗ ประการนั้น วิญญาณฐิติที่ ๑ ว่า สัตว์
ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์บางพวก เทพบางพวกและ
วินิปาติกะบางพวก ผู้ที่รู้วิญญาณฐิตินั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ รู้โทษของ
วิญญาณฐิตินั้น และรู้อุบายสลัดออกจากวิญญาณฐิตินั้น เขาควรจะเพลิดเพลินใน
วิญญาณฐิตินั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ วิญญาณฐิติที่ ๗ ว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ล่วง
วิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยประการ
ทั้งปวงโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร” ผู้ที่รู้วิญญาณฐิตินั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ
รู้โทษของวิญญาณฐิตินั้น และรู้อุบายสลัดออกจากวิญญาณฐิตินั้น เขาควรจะเพลิดเพลิน
ในวิญญาณฐิตินั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ ในอายตนะ ๒ ประการนั้น อายตนะที่ ๑
คือ อสัญญีสัตตายตนะ ผู้ที่รู้อสัญญีสัตตายตนะนั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ
รู้โทษของอสัญญีสัตตายตนะนั้น และรู้อุบายสลัดออกจากอสัญญีสัตตายตนะนั้น
เขาควรจะเพลิดเพลินในอสัญญีสัตตายตนะนั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ อายตนะที่ ๒ คือ เนวสัญญานาสัญญา-
ยตนะ ผู้ที่รู้เนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ รู้โทษของ
เนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น และรู้อุบายสลัดออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น
เขาควรจะเพลิดเพลินในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้นอยู่อีกหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิโมกข์ ๘ ประการ

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุผู้รู้ถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ
ของวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ และอุบายสลัดออกจากวิญญาณฐิติ ๗ และ
อายตนะ ๒ นี้ตามความเป็นจริง ย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น๑ภิกษุนี้เราเรียกว่า
ผู้เป็นปัญญาวิมุต๒

วิโมกข์ ๘ ประการ

[๑๒๙] อานนท์ วิโมกข์๓ ๘ ประการนี้
วิโมกข์ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีรูป เห็นรูปทั้งหลาย๔ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๑
๒. บุคคลผู้มีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก๕ นี้เป็น
วิโมกข์ประการที่ ๒
๓. บุคคลผู้น้อมใจไปว่า ‘งาม‘๖ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๓
๔. บุคคลบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศ
หาที่สุดมิได้’ อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๔

เชิงอรรถ :
๑ หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น หมายถึงไม่ถือมั่นในอุปาทาน ๔ คือ (๑) กามุปาทาน (ความถือมั่นในกาม)
(๒) ทิฏฐุปาทาน (ความถือมั่นในทิฏฐิ) (๓) สีลัพพตุปาทาน (ความถือมั่นในศีลพรต) (๔) อัตตวาทุปาทาน
(ความถือมั่นในวาทะว่ามีอัตตา) (ที.ม.อ. ๑๒๘/๑๑๒)
๒ ผู้เป็นปัญญาวิมุต หมายถึงหลุดพ้นด้วยกำลังปัญญา โดยไม่ได้บรรลุสมาธิชั้นสูงคือวิโมกข์ ๘ (ที.ม.ฏีกา
๑๒๘/๑๔๔)
๓ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, ๓๕๘/๒๗๑-๒๗๒, ม.ม. ๑๓/๒๔๘/๒๒๓, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๖/๓๖๘-
๓๖๙
๔ มีรูป หมายถึงได้รูปฌานโดยเจริญกสิณที่กำหนดวัตถุในกายของตน เช่น สีผม เห็นรูปทั้งหลาย หมายถึง
เห็นรูปฌาน ๔ (ที.ม.อ. ๑๒๙/๑๑๒-๑๑๓)
๕ เห็นรูปทั้งหลายภายนอก หมายถึงเห็นรูปทั้งหลายมีนีลกสิณเป็นต้นด้วยญาณจักขุ (ที.ม.อ. ๑๒๙/๑๑๒-
๑๑๓)
๖ ผู้น้อมใจไปว่างาม หมายถึงผู้เจริญวัณณกสิณ กำหนดสีที่งาม (ที.ม.อ. ๑๒๙/๑๑๒-๑๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิโมกข์ ๘ ประการ

๕. บุคคลล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่
นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๕
๖. บุคคลล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ นี้เป็นวิโมกข์
ประการที่ ๖
๗. บุคคลล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๗
๘. บุคคลล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
สัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๘
อานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการนี้แล
[๑๓๐] อานนท์ ภิกษุผู้เข้าวิโมกข์ ๘ ประการนี้ โดยอนุโลมบ้าง โดยปฏิโลมบ้าง
ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลมบ้าง เข้าหรือออกได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามชนิด
สมาบัติที่ต้องการ และตามระยะเวลาที่ต้องการ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้
เราเรียกว่า ผู้เป็นอุภโตภาควิมุต๑อานนท์ อุภโตภาควิมุตติอย่างอื่นที่ดีกว่าหรือประณีต
กว่าอุภโตภาควิมุตตินี้ ไม่มี”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

มหานิทานสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ว่าด้วยมหาปรินิพพาน

๓. มหาปรินิพพานสูตร

ว่าด้วยมหาปรินิพพาน

[๑๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น
พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์จะเสด็จไป
ปราบแคว้นวัชชี รับสั่งว่า “เราจะโค่นล้มพวกวัชชีผู้มีฤทธิ์๑มากอย่างนี้ มีอานุภาพ๒
มากอย่างนี้ ให้พินาศย่อยยับ๓”
[๑๓๒] พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร รับสั่ง
เรียกวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธมาตรัสว่า “มาเถิด พราหมณ์ ท่านจง
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า แล้วทูลถาม
ถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์
อยู่สำราญตามคำของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนาม
ว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ขอกราบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร
ทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญ’ และจงกราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาแห่งแคว้น
มคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์จะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี
มีรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘เราจะโค่นล้มพวกวัชชีผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้
ให้พินาศย่อยยับ’ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างไร ท่านพึงจำคำ
พยากรณ์นั้นให้ดีแล้วมาบอกเรา เพราะว่าพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ตรัสคำเท็จ๔”

เชิงอรรถ :
๑ ฤทธิ ในที่นี้หมายถึงความพร้อมเพรียงกัน (ที.ม.อ.๑๓๑/๑๑๕)
๒ อานุภาพ ในที่นี้หมายถึงการได้รับการศึกษาฝึกฝนศิลปะต่าง ๆ เช่น ศิลปะเรื่องช้าง (ที.ม.อ.๑๓๑/๑๑๕)
๓ ให้พินาศย่อยยับ ในที่นี้หมายถึงทำให้ไม่มี ให้ถึงความไม่เจริญ และให้ถึงความเสื่อมไปแห่งญาติ เป็นต้น
(ที.ม.อ.๑๓๑/๑๑๕)
๔ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๒๒/๓๒-๓๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ราชอปริหานิยธรรม

วัสสการพราหมณ์

[๑๓๓] วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธ ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ขึ้นยานพาหนะคันงาม ๆ ออกจากกรุงราชคฤห์พร้อมด้วย
ยานพาหนะคันงาม ๆ ติดตามอีกหลายคันไปยังภูเขาคิชฌกูฏ จนสุดทางที่ยานพาหนะ
จะเข้าไปได้ ลงจากยานพาหนะเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน จึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ขอกราบพระยุคลบาทของพระโคดมด้วยพระเศียร ทูลถาม
ถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์
อยู่สำราญ พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์
จะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี มีรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘เราจะโค่นล้มพวกวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก
อย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ให้พินาศย่อยยับ”

ราชอปริหานิยธรรม

[๑๓๔] สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ยืนถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ
เบื้องพระปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า
๑. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุม
กันมากครั้ง”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
‘พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
ประชุมกันมากครั้ง”
๒. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อม
เพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีจะพึงทำ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกัน
ประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีจะพึงทำ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ราชอปริหานิยธรรม

“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และ
พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีจะพึงทำ”
๓. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้
ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม๑”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้
บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว
ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม”
๔. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
เจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมากของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็น
สิ่งควรรับฟัง”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ
นับถือ บูชาเจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมากของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้น
ว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมาก
ของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง”
๕. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรี หรือกุลกุมารี
ให้อยู่ร่วมด้วย”

เชิงอรรถ :
๑ วัชชีธรรมที่วางไว้เดิม หมายถึงประเพณีที่สืบต่อกันมานาน เช่น จับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโจร ผู้จับจะไม่
สอบสวนเอง แต่จะส่งให้ฝ่ายสอบสวน ฝ่ายสอบสวนสืบสวนแล้วรู้ว่าไม่ใช่ก็ปล่อย ถ้ายังสงสัยก็ส่งต่อขึ้นไป
ตามลำดับชั้น บางกรณีอาจส่งถึงเสนาบดี บางกรณีอาจส่งถึงพระราชาเพื่อทรงวินิจฉัย (ที.ม.อ. ๑๓๔/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ราชอปริหานิยธรรม

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจ
กุลสตรี หรือกุลกุมารีให้อยู่ร่วมด้วย”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรี หรือกุลกุมารีให้อยู่ร่วมด้วย”
๖. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
เจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอัน
ชอบธรรมที่เคยให้เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ
นับถือ บูชาเจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลย
การบูชาอันชอบธรรมที่เคยให้เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชี
ทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอันชอบธรรมที่เคยให้เคยกระทำต่อ
เจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
๗. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกัน
พระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มา
พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุกในแว่นแคว้น”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีจัดการรักษา
คุ้มครอง ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร
พระอรหันต์ที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุกใน
แว่นแคว้น”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลาย
โดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้น
ของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุกในแว่นแคว้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

[๑๓๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์
แคว้นมคธว่า “พราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันทเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ได้แสดง
อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ แก่พวกเจ้าวัชชี พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญ
อย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเลยตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗
ประการนี้อยู่และใส่ใจอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธ
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พวกเจ้าวัชชีมีอปริหานิยธรรมแม้เพียง
ข้อเดียวก็พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเลย ไม่จำต้องกล่าวว่า
มีครบทั้ง ๗ ประการ ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ไม่ควรทำสงครามกับพวกเจ้าวัชชี นอกจากจะใช้วิธี
ปรองดองทางการทูต หรือไม่ก็ทำให้แตกสามัคคีกัน ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าอย่างนั้น
บัดนี้ ข้าพระองค์ขอทูลลากลับ เพราะมีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
จากนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้นมคธมีใจยินดีชื่นชมพระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งจากไป

ภิกขุอปริหานิยธรรม๑

[๑๓๖] เมื่อวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธจากไปไม่นาน พระผู้มี
พระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงไปนิมนต์ภิกษุที่เข้า
มาพักอยู่ในกรุงราชคฤห์ทุกรูปให้มาประชุมกันที่หอฉัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว นิมนต์ภิกษุที่เข้ามาพักอยู่ในกรุง
ราชคฤห์ทุกรูปให้มาประชุมกันที่หอฉันแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๒๓-๒๗/๓๗-๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงกำหนดเวลาที่สมควร
ณ บัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงลุกจากพุทธอาสน์ เสด็จเข้าไปยังหอฉัน
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญ๑อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิก
ประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะพึงทำ
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่บัญญัติสิ่งที่เรามิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่ง
ที่เราได้บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แล้ว
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระ
เป็นรัตตัญญู๒ บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และ
สำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง

เชิงอรรถ :
๑ ความเจริญ ในที่นี้หมายถึงความเจริญด้วยคุณธรรมมีศีลเป็นต้น (ที.ม.อ. ๑๓๖/๑๒๖)
๒ เป็นเถระ ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มีความมั่นคง (ถิรภาวะ) ในพระศาสนา ไม่หวนคืนไปสู่เพศคฤหัสถ์อีก ประกอบ
ด้วยคุณธรรมที่ให้เป็นพระเถระคือศีลเป็นต้น รัตตัญญู เป็นตำแหน่งเอตทัคคะที่พระอัญญาโกณฑัญญะ
ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้ามีความหมายว่ารู้ราตรีนาน คือบวชรู้แจ้งธรรม และเป็นพระขีณาสพก่อน
พระสาวกทั้งหลาย (ที.ม.อ. ๑๓๖/๑๒๖, ที.ม.ฏีกา ๑๓๖/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหาก่อให้เกิดภพใหม่
ที่เกิดขึ้นแล้ว
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้มุ่งหวังเสนาสนะป่า
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งสติไว้ในภายในว่า ‘ทำอย่างไร เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลงามที่ยังไม่มา พึงมา ท่านที่มาแล้ว
พึงอยู่อย่างผาสุก’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการงาน๑ ไม่ยินดีการงาน ไม่หมั่น
ประกอบความเป็นผู้ชอบการงาน
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย๒ ไม่ยินดีการพูดคุย
ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการพูดคุย

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ชอบการงาน ในที่นี้หมายถึงไม่เพลิดเพลินอยู่ด้วยการทำงาน เช่น การทำจีวร การทำผ้ากรองน้ำ
จนไม่มีเวลาบำเพ็ญสมณธรรม เช่น ถ้าท่านรู้จักแบ่งเวลา ถึงเวลาเรียนก็เข้าเรียน ถึงเวลาสวดมนต์ก็สวด
ถึงเวลาเจริญภาวนาก็เจริญ ไม่ถือว่า ชอบการงาน (ที.ม.อ. ๑๓๗/๑๒๘)
๒ ไม่ชอบการพูดคุย หมายถึงไม่ชอบพูดคุยเรื่องนอกธรรมนอกวินัยตลอดทั้งวัน เช่น เรื่องผู้หญิง ถ้า
สนทนาธรรมเพื่อแก้ปัญหา ไม่ถือว่า ชอบการพูดคุย (ที.ม.อ. ๑๓๗/๑๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดีการนอนหลับ
ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีการ
คลุกคลีด้วยหมู่ ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการคลุกคลี
ด้วยหมู่
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่มีความปรารถนาชั่ว ไม่ตกไปสู่อำนาจ
ของความปรารถนาชั่ว
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่ถึงความหยุดชะงักในระหว่างเพียงเพราะบรรลุ
คุณวิเศษชั้นต่ำ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีศรัทธา๑

เชิงอรรถ :
๑ ศรัทธา แปลว่าความเชื่อ มี ๔ อย่างคือ (๑) อาคมนียะ (ศรัทธาของพระโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญเพื่อ
พระสัพพัญญุตญาณ) (๒) อธิคมะ (ศรัทธาของพระอริยบุคคล) (๓) ปสาทะ (ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม
และพระสงฆ์) (๔) โอกัปปนะ (ศรัทธาอย่างมั่นคง) แต่ในที่นี้หมายถึงปสาทะและโอกัปปนะเท่านั้น (ที.ม.อ.
๑๓๘/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีหิริ
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีโอตตัปปะ
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นพหูสูต๑
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังปรารภความเพียร๒
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีสติตั้งมั่น
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๓๙] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญสติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความระลึกได้)
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้คือการเฟ้นธรรม)

เชิงอรรถ :
๑ พหูสูต แปลว่า ผู้ฟังมามาก มี ๒ อย่าง คือ (๑) ปริยัตติพหูสูต (แตกฉานในพระไตรปิฎก) (๒) ปฏิเวธ-
พหูสูต (บรรลุสัจจะทั้งหลาย) พหูสูตในที่นี้หมายถึงปริยัตติพหูสูต (ที.ม.อ. ๑๓๘/๑๓๐)
๒ ปรารภความเพียร หมายถึงบำเพ็ญเพียรทั้งทางกายทั้งทางจิต ความเพียรทางกาย คือ เว้นการคลุกคลี
ด้วยหมู่คณะ เป็นอยู่โดดเดี่ยว ความเพียรทางจิต คือ บรรเทาความฟุ้งซ่านแห่งจิต (ที.ม.อ. ๑๓๘/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความเพียร)
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญปีติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความอิ่มใจ)
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบใจ)
๖. ภิกษุพึงหวังได้ แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความตั้งจิตมั่น)
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้คือความวางใจเป็นกลาง)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๔๐] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่
เที่ยงแห่งสังขาร)
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็น
อนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งาม
แห่งกาย)
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอาทีนวสัญญา (กำหนดหมายทุกข์โทษ
ของกายอันมีความเจ็บไข้ต่าง ๆ)
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญปหานสัญญา (กำหนดหมายเพื่อละ
อกุศลวิตกและบาปธรรมทั้งหลาย)
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญวิราคสัญญา(กำหนดหมายวิราคะว่าเป็น
ธรรมละเอียดประณีต)
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญนิโรธสัญญา (กำหนดหมายนิโรธว่าเป็น
ธรรมละเอียดประณีต)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๔๑] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรมอีกหมวดหนึ่งแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งมั่นเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ๑

เชิงอรรถ :
๑ ในที่แจ้งและในที่ลับ ในที่นี้หมายถึงทั้งต่อหน้าและลับหลัง (ที.ม.อ. ๑๔๑/๑๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งมั่นเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจารี
ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจารี ทั้งใน
ที่แจ้งและในที่ลับ
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีการบริโภคโดยไม่แบ่งแยกลาภทั้งหลายอัน
ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม โดยที่สุดแม้เพียงบิณฑบาต
(อาหารในบาตร) บริโภคร่วมกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีล
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท๑
ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอริยทิฏฐิอันเป็นธรรมเครื่องนำออกเพื่อ
ความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๖ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๖ ประการนี้อยู่”

เชิงอรรถ :
๑เป็นไท ในที่นี้หมายถึงไม่เป็นทาสของตัณหา (ที.ม.อ. ๑๔๑/๑๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

[๑๔๒] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ทรงแสดงธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะ
อย่างนี้ สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรม
โดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิ
เป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน
ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
[๑๔๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในกรุง
ราชคฤห์ รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
อัมพลัฏฐิกาวันกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุ
สงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงอัมพลัฏฐิกาวัน ประทับอยู่ที่พระตำหนักหลวงในอัมพลัฏฐิกาวัน
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค เมื่อประทับอยู่ที่พระตำหนักหลวงในอัมพลัฏฐิกาวัน
ทรงแสดงธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้
สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีล
เป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้น
โดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
[๑๔๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในอัมพ-
ลัฏฐิกาวัน รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
เมืองนาฬันทากัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงเมืองนาฬันทา ประทับอยู่ที่ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาฬันทานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาท

ท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาท๑

[๑๔๕] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี
และย่อมไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่น ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่า
พระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจา (วาจาอย่างองอาจ)
อย่างสูง เธอถือเอาด้านเดียว บันลือสีหนาทว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือ
พราหมณ์ผู้อื่น ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค’
สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ในอดีตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรม
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
ท่านพระสารีบุตรทูลตอบว่า “หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ในอนาคตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจักทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จักทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีปัญญา
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”

เชิงอรรถ :
๑ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๗๘/๒๓๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาท

“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอกำหนดรู้ใจเราผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้
ด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีศีลอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่อง
อยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร ก็ในเรื่องนี้ เธอไม่มีเจโตปริยญาณ๑ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้น บัดนี้ ไฉนเธอกล่าวอาสภิวาจา
เธอถือเอาด้านเดียวบันลือสีหนาทว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใส
พระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่น
ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค”
[๑๔๖] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงแม้ว่า
ข้าพระองค์จะไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต
และปัจจุบัน แต่ข้าพระองค์ก็รู้วิธีการอนุมาน เปรียบเหมือนเมืองชายแดนของ
พระเจ้าแผ่นดินมีรากฐานมั่นคง มีกำแพงแข็งแรง มีป้อมค่ายแข็งแรง มีประตูเดียว
นายประตูของเมืองนั้นเป็นคนเฉลียวฉลาด หลักแหลม ห้ามคนที่ไม่รู้จัก อนุญาตให้
คนที่รู้จักเข้าไปได้ เขาเดินสำรวจดูหนทางตามลำดับรอบเมืองนั้น ไม่เห็นรอยต่อ
หรือช่องกำแพงโดยที่สุดแม้เพียงที่ที่พอแมวลอดออกได้ เขาย่อมรู้ว่า ‘สัตว์ใหญ่
ทุกชนิดเมื่อจะเข้าหรือออกเมืองนี้ ก็จะเข้าหรือออกทางประตูนี้เท่านั้น’ แม้ฉันใด
วิธีการอนุมานก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตกาล ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ

เชิงอรรถ :
๑ เจโตปริยญาณ หมายถึงปรีชากำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ คือ รู้ใจผู้อื่น อ่านความคิดของเขาได้ เช่นรู้ว่าเขากำลัง
คิดอะไรอยู่ ใจเขาเศร้าหมองหรือผ่องใส เป็นต้น (ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๒/๘๐-๘๑, ๔๗๖/๒๐๘-๒๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
โทษของคนทุศีล ๕ ประการ

ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตาม
ความเป็นจริง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอนาคตกาล ก็จักทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้า
หมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗
ตามความเป็นจริง จักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาค-
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตาม
ความเป็นจริง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระพุทธเจ้าข้า”
[๑๔๗] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ในปาวาริกัมพวัน เขตเมือง
นาฬันทา ทรงแสดงธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะ
อย่างนี้ สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดย
มีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิ
เป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน
ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

โทษของคนทุศีล ๕ ประการ๑

[๑๔๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในเมือง
นาฬันทา รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
ปาฏลิคามกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุ-
สงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงปาฏลิคาม พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามได้ทราบว่า
“พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงปาฏลิคาม” จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๕/๙๗-๙๘, ขุ.อุ. ๒๕/๗๖/๒๐๙-๒๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
โทษของคนทุศีล ๕ ประการ

พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคโปรดทรงรับเรือนพักแรมของพวกข้าพระองค์
ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับ
นิมนต์แล้วจึงลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณเข้าไป
ยังเรือนพักแรมแล้ว ปูเครื่องลาดทั่วเรือนพักแรมแล้ว ปูลาดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ
ตามประทีปน้ำมันไว้ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้า
พระองค์ได้ปูเครื่องลาดทั่วเรือนพักแรมแล้ว ปูลาดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีป
น้ำมันไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังเรือนพักแรม ทรงล้างพระบาทแล้วเสด็จเข้าสู่เรือน
พักแรม ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
ฝ่ายภิกษุสงฆ์ล้างเท้าแล้ว เข้าสู่เรือนพักแรม นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันตก
ผินหน้าไปทางทิศตะวันออกอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระผู้มีพระภาค
ส่วนอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามล้างเท้าแล้ว เข้าสู่เรือนพักแรม นั่งพิงฝา
ด้านทิศตะวันออก ผินหน้าไปทางทิศตะวันตกอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค
[๑๔๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม
มาตรัสว่า “คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษ ๕ ประการนี้
โทษ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมถึงความเสื่อมโภคทรัพย์
เป็นอันมาก ซึ่งมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษประการที่ ๑
แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๒. กิตติศัพท์อันชั่วของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติย่อมกระฉ่อนไป นี้เป็น
โทษประการที่ ๒ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
อานิสงส์ของคนมีศีล ๕ ประการ

๓. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติจะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัท
ก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัท
ก็ตาม ย่อมไม่แกล้วกล้า เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นโทษประการที่ ๓
แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๔. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมหลงลืมสติตาย นี้เป็นโทษประการ
ที่ ๔ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๕. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก นี้เป็นโทษประการที่ ๕ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
“คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษ ๕ ประการนี้แล

อานิสงส์ของคนมีศีล ๕ ประการ

[๑๕๐] คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้
อานิสงส์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมมีโภคทรัพย์เป็นอันมาก
ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่ง
ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๒. กิตติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมขจรไป
นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๓. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็น
ขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม
สมณบริษัทก็ตาม ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๔. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมไม่หลงลืมสติตาย นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร

๕. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ แห่งศีลสมบัติของ
บุคคลผู้มีศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล๑
[๑๕๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาเกือบตลอดคืน ทรงส่งกลับด้วยพระดำรัสว่า “คหบดี
ทั้งหลาย ราตรีผ่านไปมากแล้ว๒ ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ
บัดนี้เถิด” อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามทูลรับสนองพระดำรัสแล้วลุกจากที่นั่ง
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป เมื่ออุบาสกอุบาสิกา
ชาวปาฏลิคามเหล่านั้นจากไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังเรือนว่าง

การสร้างเมืองปาฏลีบุตร๓

[๑๕๒] สมัยนั้น มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
สร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี เทวดาจำนวนมากจับจองที่เป็นพัน ๆ
แห่ง ในปาฏลิคาม จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ ย่อมน้อมไป
เพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่จับจอง จิตของพระราชาและราช-
มหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ปานกลาง ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์
ปานกลางจับจอง จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์น้อย ย่อมน้อมไป
เพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยจับจอง๔

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๑๓/๓๕๕-๓๕๖
๒ ราตรีผ่านไปมากแล้ว หมายถึงเกือบจะสว่างนั่นเอง (ที.ม.อ. ๑๕๑/๑๔๐-๑๔๑)
๓ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๖/๑๐๐-๑๐๑
๔ ทราบว่า เทวดาเหล่านี้ เข้าสิงในร่างของคนผู้เชี่ยวชาญวิชาดูพื้นที่ แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น บอกว่า
ควรจะสร้างบ้านเมืองที่นั้นที่นี้ ด้วยประสงค์จะให้พระราชาและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีศักดิ์ปานกลาง
มีศักดิ์น้อยใกล้ชิดกับตน และทำสักการะสมควรแก่ตน (วิ.อ. ๓/๒๘๖/๑๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร

พระผู้มีพระภาคทรงเห็นเทวดาจำนวนมากเหล่านั้น พากันจับจองที่เป็น
พัน ๆ แห่ง ในปาฏลิคาม ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ครั้นในเวลาเช้า
เมื่อเสด็จลุกขึ้น รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า “อานนท์ ใครจะสร้าง
เมืองในปาฏลิคาม”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะ
ชาวแคว้นมคธกำลังจะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาว
แคว้นมคธ จะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี เหมือนได้ปรึกษา
กับพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว ณ ที่นี้ เราได้เห็นเทวดาจำนวนมากพากันจับจองที่
เป็นพัน ๆ แห่ง ในปาฏลิคาม ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ จิตของ
พระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่
เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่จับจอง จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ปานกลาง
ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ปานกลางจับจอง จิตของพระราชา
และราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์น้อย ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มี
ศักกดิ์น้อยจับจอง ตราบใดที่ยังเป็นแดนที่อารยชนติดต่อกันอยู่ ตราบใดที่ยังเป็นเส้น
ทางค้าขาย ตราบนั้น เมืองปาฏลีบุตรนี้ยังจะเป็นเมืองชั้นเยี่ยม เป็นย่านการค้าอยู่
ต่อไป แต่เมืองปาฏลีบุตรนั้นจะมีอันตราย ๓ อย่าง คือ อันตรายจากไฟ อันตราย
จากน้ำ หรืออันตรายจากการแตกความสามัคคี”
[๑๕๓] ต่อมา มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหาร
ของพวกข้าพระองค์ในวันนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร

เมื่อมหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธทราบพระอาการ
ที่พระผู้พระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงเข้าไปยังที่พักของตน สั่งให้จัดเตรียมของขบฉัน
อันประณีตไว้ในที่พักของตนแล้วให้คนไปกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร๑
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังที่พักของมหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์
วัสสการะชาวแคว้นมคธ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว มหาอำมาตย์
ทั้งสองได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน
ให้อิ่มหนำด้วยมือของตน ๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จวางพระหัตถ์จากบาตร
มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธเลือกที่นั่ง ณ ที่สมควรที่
ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า
“บัณฑิตอยู่ในที่ใด เลี้ยงดูท่านผู้มีศีล
ผู้สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ ในที่ที่ตนอยู่นั้น
พึงอุทิศทักษิณา๒แก่เหล่าเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้น
เทวดาเหล่านั้นอันเขาบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบ
อันเขานับถือแล้ว ย่อมนับถือเขาตอบ
จากนั้นย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตนั้นเป็นการตอบแทน
ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก๓
ดังนั้น ผู้ที่เทวดาอนุเคราะห์แล้ว
ย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ”

เชิงอรรถ :
๑ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เป็นสำนวนแสดงประเพณีในการเข้าบ้าน นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้ พระผู้มี
พระภาคมิได้ทรงนุ่งสบง ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยพระวรกายส่วนบน ครองอันตรวาสก หมายถึง
พระผู้มีพระภาคทรงผลัดเปลี่ยนสบงหรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ ถือบาตรและจีวร หมายถึงทรงถือ
บาตรด้วยพระหัตถ์ ทรงถือจีวรด้วยพระวรกาย คือ ห่มจีวรอุ้มบาตรนั่นเอง(วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, ที.ม.อ.
๑๕๓/๑๔๓, ที.ม.ฏีกา ๑๕๓/๑๗๑)
๒ พึงอุทิศทักษิณา หมายถึงพึงให้ส่วนบุญ (ที.ม.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓)
๓ บุตรผู้เกิดแต่อก หมายถึงบุตรที่มารดาเลี้ยงดูให้เจริญอยู่แนบอก (ที.ม.อ. ๑๔๓/๑๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร

ครั้นทรงอนุโมทนาแก่มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้น
มคธด้วยพระคาถาเหล่านี้ ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป
[๑๕๔] ลำดับนั้น มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ ด้วยคิดว่า “ประตูที่ท่านพระสมณ-
โคดมเสด็จออกไปในวันนี้จะมีชื่อว่าประตูพระโคดม ท่าที่พระองค์เสด็จข้ามแม่น้ำ
คงคาจะมีชื่อว่าท่าพระโคดม”
ต่อมา ประตูที่พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจึงได้มีชื่อว่า ประตูพระโคดม คราวนั้น
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปใกล้แม่น้ำคงคา เวลานั้น แม่น้ำคงคาเต็มเสมอฝั่ง
นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ คนทั้งหลายผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวกเที่ยวหาเรือ
บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรง
หายไปจากฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคาไปปรากฏที่ฝั่งโน้น เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรคนเหล่านั้นผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวก
เที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
“คนพวกหนึ่งกำลังสร้างสะพาน๑
ข้ามสระ๒ใหญ่ โดยมิให้แปดเปื้อนด้วยโคลนตม
ขณะที่คนอีกพวกหนึ่งกำลังผูกทุ่นอยู่
ชนผู้ฉลาดได้ข้ามพ้นไปแล้ว”

ภาณวารที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องอริยสัจ ๔ ประการ

เรื่องอริยสัจ ๔ ประการ๑

[๑๕๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด
อานนท์ เราจะเข้าไปยังโกฏิคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโกฏิคาม ประทับอยู่ที่โกฏิคามนั้น
รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ ประการ เราและเธอ
ทั้งหลายจึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๒. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขสมุทยอริยสัจ เราและเธอทั้งหลาย
จึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๓. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายจึง
เที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๔. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราและ
เธอทั้งหลายจึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ เราและเธอ
ทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขสมุทยอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอด
ทุกขนิโรธอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
เราและเธอทั้งหลายถอนภวตัณหาได้แล้ว ภวเนตติ๒สิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”๓

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๗/๑๐๓-๑๐๔, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๐๙๑/๖๐๕
๒ ภวเนตติ หมายถึงตัณหานำไปสู่ภพ ตัณหาประดุจเชือกซึ่งสามารถนำสัตว์ออกจากภพไปสู่ภพ (ที.ม.อ.
๑๕๕/๑๔๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑/๒๗๙)
๓ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑/๑-๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
เราและเธอทั้งหลาย จึงท่องเที่ยวไป
ในชาตินั้น ๆ ตลอดกาลยาวนาน
แต่เพราะได้เห็นอริยสัจ ๔
เราและเธอทั้งหลายจึงถอนภวเนตติได้
ตัดรากเหง้าแห่งทุกข์ได้เด็ดขาด
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ที่โกฏิคาม ทรงแสดงธรรมีกถา
เป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมีลักษณะ
อย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจาก
อาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๑

[๑๕๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในโกฏิคาม
รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังนาทิกคามกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่เสด็จถึงนาทิกคาม ประทับอยู่ที่พระตำหนักอิฐ ในนาทิกคาม
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๐๐๔-๑๐๐๖/๕๐๕-๕๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุสาฬหะที่มรณภาพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
ภิกษุณีนันทาที่มรณภาพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสกสุทัตตะที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสิกาสุชาดาที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสกกกุธะที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสกการฬิมภะ ฯลฯ อุบาสกนิกฏะ ฯลฯ อุบาสกกฏิสสหะ ฯลฯ
อุบาสกตุฏฐะ ฯลฯ อุบาสกสันตุฏฐะ ฯลฯ อุบาสกภฏะ ฯลฯ
อุบาสกสุภฏะที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
[๑๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุสาฬหะ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุณีนันทาเป็นโอปปาติกะ๑ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกสุทัตตะเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะ
ราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่ภพนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
อุบาสิกาสุชาดาเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๒ในวันข้างหน้า
อุบาสกกกุธะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก

เชิงอรรถ :
๑ โอปปาติกะ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพ เช่น
เทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙) แต่ในที่นี้หมายถึงพระอนาคามีที่เกิดในภพชั้นสุทธาวาส
(ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์) ๕ ชั้นมีชั้นอวิหา เป็นต้น แล้วดำรงภาวะอยู่ในชั้นนั้น ๆ ปรินิพพานสิ้นกิเลสใน
ภพชั้นสุทธาวาสนั่นเอง ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗-๘๘/๒๘๒-๒๘๓)
๒ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (ที.ม.อ.
๑๗๕/๑๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

อุบาสกการฬิมภะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกนิกฏะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกกฏิสสหะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกตุฏฐะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกสันตุฏฐะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกภฏะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกสุภฏะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกในนาทิกคามอีก ๕๐ คน ดับชีพแล้วเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกในนาทิกคามอีก ๙๖ คน ดับชีพแล้วเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์
๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว
ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
อุบาสกในนาทิกคามอีก ๕๑๐ คน ดับชีพแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์
๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม

หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม

[๑๕๘] อานนท์ ข้อที่บุคคลเกิดเป็นมนุษย์แล้วดับชีพนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่เมื่อผู้นั้น ๆ ดับชีพแล้ว พวกเธอเข้ามาหาตถาคตถามเรื่องนั้น นั่นเป็นการรบกวน
ตถาคต ฉะนั้น เราจะแสดงหลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม๑เป็นเครื่องมือให้อริยสาวก
มีไว้ เมื่อประสงค์ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิด
ในนรก หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดใน
แดนเปรต หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระ
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
[๑๕๙] หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม เป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้ เมื่อ
ประสงค์ ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก
หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดน
เปรต หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระ
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า‘ คือ
อะไร
คือ พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า “แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จ
ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็น
ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค”
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า “พระธรรม
เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล๒ ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้า
มาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”

เชิงอรรถ :
๑ แว่นธรรม หมายถึงธรรมเป็นเครื่องส่องดูตนเองจนสามารถพยากรณ์ตนได้ ในที่นี้ ได้แก่ อริยมรรคญาณ
(ที.ม.ฏีกา ๑๕๘/๑๗๕) ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๗๔/๖๖, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๕๒/๘๖
๒ ไม่ประกอบด้วยกาล หมายถึงให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส
บรรลุเมื่อใด ก็ได้รับผลเมื่อนั้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๔/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม

๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า “พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติ
ถูกต้อง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขา
นำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก”
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ๑ ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง
ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิ
ครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
อานนท์ นี้แล คือหลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรมเป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้
เมื่อประสงค์ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก
หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดนเปรต
หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ในตำหนักอิฐในนาทิกคามนั้น ทรงแสดง
ธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมี
ลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้น
โดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
[๑๖๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนาทิกคาม รับสั่งเรียกท่าน
พระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังกรุงเวสาลีกัน” ท่านพระ-
อานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
เสด็จถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่อัมพปาลีวัน๒รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ศีลที่พระอริยะชอบใจ หมายถึงศีลที่ประกอบด้วยมรรคและผล ในที่นี้หมายถึงความสำรวมทุกชนิด
(ที.ม.อ. ๑๕๙/๑๔๖, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๒/๓๔๙)
๒ อัมพปาลีวัน หมายถึงสวนมะม่วงของหญิงคณิกาชื่ออัมพปาลี ซึ่งถวายเป็นที่พักแด่สงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธาน (ที.ม.อ. ๑๖๐/๑๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงมีสติสัมปชัญญะ นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับเธอ
ทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุผู้มีสติ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ
ทำความรู้สึกตัวในการแลดู การเหลียวดู
ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก
ทำความรู้สึกตัวในการครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด
การนิ่ง
ภิกษุผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงมีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับ
เธอทั้งหลาย”๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๑๔/๗๑๓, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๕๕/๒๗๗, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๖๘/๒๑๑-๒๑๒,
องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๗๔/๓๙๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
นางอัมพปาลีคณิกา

นางอัมพปาลีคณิกา๑

[๑๖๑] นางอัมพปาลีคณิกาทราบว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงเวสาลี
ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของเรา” ลำดับนั้น นางอัมพปาลีคณิกาให้จัดเตรียมยาน
พาหนะคันงาม ๆ ขึ้นยานพาหนะคันงาม ๆ ออกจากกรุงเวสาลีพร้อมด้วยยานพาหนะ
คันงาม ๆ ติดตามอีกหลายคัน ตรงไปยังสวนของตน จนสุดทางที่ยานพาหนะ
จะเข้าไปได้ ลงจากยานพาหนะเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางอัมพปาลีคณิกาเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
จากนั้น นางอัมพปาลีคณิกาผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
เมื่อนางทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่ง
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป
พวกเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลีได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงเวสาลี
ประทับอยู่ที่อัมพปาลีวัน จึงสั่งให้จัดเตรียมยานพาหนะคันงาม ๆ เสด็จขึ้นยานพาหนะ
คันงาม ๆ ออกจากกรุงเวสาลีพร้อมด้วยยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
ในบรรดาเจ้าลิจฉวีนั้น บางพวกดำล้วน คือ ใช้สีดำ ทรงผ้าสีดำ ทรงเครื่อง
ประดับสีดำ บางพวกเหลืองล้วน คือ ใช้สีเหลือง ทรงผ้าสีเหลือง ทรงเครื่อง
ประดับสีเหลือง บางพวกแดงล้วน คือ ใช้สีแดง ทรงผ้าสีแดง ทรงเครื่องประดับ
สีแดง บางพวกขาวล้วน คือ ใช้สีขาว ทรงผ้าสีขาว ทรงเครื่องประดับสีขาว
นางอัมพปาลีคณิกาใช้เพลากระทบเพลา ล้อกระทบล้อ แอกกระทบแอกรถ
กับพวกเจ้าลิจฉวีหนุ่ม ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๘-๒๘๙/๑๐๕-๑๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] นางอัมพปาลีคณิกา

พวกเจ้าลิจฉวีตรัสถามว่า “อัมพปาลี เหตุไร เธอจึงใช้เพลากระทบเพลา
ล้อกระทบล้อ แอกกระทบแอกรถกับพวกเจ้าลิจฉวีหนุ่ม ๆ เล่า”
นางอัมพปาลีทูลตอบว่า “ข้าแต่พระลูกเจ้า เพราะหม่อมฉันทูลนิมนต์พระผู้มี
พระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ให้ทรงรับภัตตาหารในวันพรุ่งนี้”
พวกเจ้าลิจฉวีตรัสว่า “เธอจงให้ภัตตาหารมื้อนี้(แลก)กับเงิน ๑๐๐,๐๐๐ เถิด”
นางอัมพปาลีทูลว่า “แม้พวกท่านจะยกกรุงเวสาลีพร้อมทั้งแว่นแคว้นให้
หม่อมฉัน กระนั้นหม่อมฉันก็ไม่ยอมให้ภัตตาหารมื้อสำคัญ”
ทันใดนั้น พวกเจ้าลิจฉวีทรงดีดพระองคุลีพร้อมตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย
นางอัมพปาลีชนะพวกเรา นางลวงพวกเรา” แล้วเสด็จไปยังอัมพปาลีวัน
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นพวกเจ้าลิจฉวีเสด็จมาแต่ไกล จึงรับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ไม่เคยเห็นพวกเทพชั้นดาวดึงส์ จงดู
พวกเจ้าลิจฉวี จงเปรียบพวกเจ้าลิจฉวีกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์”
พวกเจ้าลิจฉวีเสด็จไปด้วยยานพาหนะจนสุดทางที่ยานพาหนะจะเข้าไปได้
จึงเสด็จลงจากยานพาหนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พวกเจ้าลิจฉวีเห็นชัด ชวนใจให้อยาก
รับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
พวกเจ้าลิจฉวีผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
โปรดรับภัตตาหารของพวกข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรารับนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ของนาง
อัมพปาลีไว้แล้ว”
พวกเจ้าลิจฉวีทรงดีดพระองคุลีพร้อมตรัสว่า “นางอัมพปาลีชนะพวกเรา
นางลวงพวกเรา” จากนั้น พวกเจ้าลิจฉวีต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มี
พระภาค เสด็จลุกจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ
แล้วจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] นางอัมพปาลีคณิกา

[๑๖๒] ครั้นคืนนั้นผ่านไป นางอัมพปาลีคณิกา สั่งให้จัดเตรียมของขบฉัน
อันประณีตไว้ในสวนของตน ให้คนไปกราบทูลเวลาแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังที่พักของนางอัมพปาลีคณิกา ประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาด
ไว้แล้ว
นางอัมพปาลีคณิกาได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยมือตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จวางพระหัตถ์
จากบาตร นางอัมพปาลีคณิกาจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอมอบถวาย
สวนแห่งนี้แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน”
พระผู้มีพระภาคทรงรับสวนแล้ว จึงทรงชี้แจงให้นางอัมพปาลีคณิกาเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัมพปาลีวัน เขตกรุงเวสาลี ทรงแสดง
ธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมี
ลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้น
โดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม

ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม๑

[๑๖๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในอัมพ-
ปาลีวันแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะไป
ยังเวฬุวคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเวฬุวคาม ประทับอยู่ในเวฬุวคามนั้น รับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจำพรรษารอบกรุง
เวสาลีตามที่ที่มีเพื่อน ตามที่ที่มีคนเคยพบเห็นกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกัน ส่วนเรา
จะจำพรรษาในเวฬุวคามนี้”
พวกภิกษุทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจำพรรษารอบกรุงเวสาลีตามที่ที่มีเพื่อน
ตามที่ที่มีคนเคยพบเห็นกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกัน ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงจำ
พรรษาในเวฬุวคามนั้น
[๑๖๔] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษา ได้เกิดอาการพระประชวร
อย่างรุนแรงมีทุกขเวทนา๒อย่างแสนสาหัสจวนเจียนจะปรินิพพาน พระองค์ทรงมี
สติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นไม่พรั่นพรึงทรงพระดำริว่า “การที่เราไม่บอกผู้อุปัฏฐาก
ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานนั้น ไม่เหมาะแก่เรา ทางที่ดี เราควรใช้ความเพียร๓
ขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่ต่อไป”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ความเพียรขับไล่อาการพระประชวรนั้น
ทรงดำรงชีวิตสังขารอยู่ อาการพระประชวรจึงสงบ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหายจาก
พระประชวร หายจากพระอาการไข้ไม่นาน ได้เสด็จออกจากพระวิหารไปประทับนั่ง
บนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วในร่มเงาพระวิหาร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๗๕/๒๒๒-๒๒๓
๒ ทุกขเวทนา ในที่นี้หมายถึงความรู้สึกเจ็บปวด เป็นอาการของทุกข์ในไตรลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นได้แม้แก่ผู้ที่เป็น
พระอรหันต์ มิใช่ทุกข์ในปฏิจจสมุปบาทหรือในอริยสัจ พระผู้มีพระภาคทรงข่มทุกขเวทนานี้ด้วยความเพียร
(ที.ม.อ. ๑๖๔/๑๔๘-๑๔๙)
๓ ความเพียร ในที่นี้มี ๒ อย่าง คือ (๑) ความเพียรที่เป็นบุพภาค ได้แก่ การบริกรรมผลสมาบัติ (๒) ความเพียร
ที่ประกอบด้วยผลสมาบัติ (ที.ม.อ. ๑๖๔/๑๔๙, ที.ม.ฏีกา ๑๖๔/๑๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม

ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ
ข้าพระองค์ได้เห็นพระสุขภาพของพระองค์แล้ว ได้เห็นพระองค์ทรงอดทนต่อทุกข-
เวทนาแล้ว ทำให้ร่างกายของข้าพระองค์อ่อนเปลี้ยประดุจคนเมา ข้าพระองค์รู้สึก
มืดทุกด้าน แม้ธรรม๑ ก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์อีกแล้ว เพราะพระอาการไข้ของ
พระผู้มีพระภาค แต่ข้าพระองค์ก็ยังเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า ‘พระผู้มีพระภาคจะยัง
ไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ปรารภภิกษุสงฆ์แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใด
อย่างหนึ่ง”
[๑๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังได้อะไรในเรา
อีกเล่า ธรรมที่เราแสดงแล้วไม่มีในไม่มีนอก๒ ในเรื่องธรรมทั้งหลาย ตถาคตไม่มี
อาจริยมุฏฐิ๓ ผู้ที่คิดว่า เราเท่านั้น จักเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ต่อไป หรือว่า ภิกษุสงฆ์
จะต้องยึดเราเท่านั้นเป็นหลัก ผู้นั้นจะต้องปรารภภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นแน่ แต่ตถาคตไม่คิดว่า เราเท่านั้น จักเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ต่อไป หรือว่า
ภิกษุสงฆ์จะต้องยึดเราเท่านั้นเป็นหลัก แล้วทำไมตถาคตจะต้องปรารภภิกษุสงฆ์
กล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งอีกเล่า บัดนี้ เราเป็นผู้ชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาลมานาน
ผ่านวัยมามาก เรามีวัย ๘๐ ปี ร่างกายของตถาคตประหนึ่งแซมด้วยไม้ไผ่ ยังเป็น
ไปได้ ก็เหมือนกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ฉะนั้น ร่างกายของตถาคตสบาย
ขึ้นก็เพราะในเวลาที่ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทุกอย่าง และ
เพราะดับเวทนาบางอย่างได้เท่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น (ที.ม.อ. ๑๖๔/๑๔๙)
๒ ไม่มีในไม่มีนอก หมายถึงไม่แบ่งเป็น ๒ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นการแบ่งธรรมหรือแบ่งบุคคล(ผู้ฟัง) เช่น ผู้ที่คิดว่า
เราจะไม่แสดงธรรมประมาณเท่านี้แก่บุคคลอื่น ซึ่งว่าทำธรรมให้มีใน แต่จะแสดงธรรมประเภทเท่านี้
แก่บุคคลอื่น ชื่อว่าทำธรรมให้มีนอก ส่วนผู้ที่คิดว่า เราจะแสดงแก่บุคคลนี้ ชื่อว่าทำบุคคลให้มีใน ไม่แสดง
แก่บุคคลอื่น ชื่อว่าทำบุคคลให้มีนอก (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๔๙)
๓ อาจริยมุฏฐิ แปลว่า กำมือของอาจารย์ อธิบายว่า มือที่กำไว้ ใช้เรียกอาการของอาจารย์ภายนอก
พระพุทธศาสนาที่หวงวิชา ไม่ยอมบอกแก่ศิษย์ขณะที่ตนเองยังหนุ่ม แต่จะบอกแก่ศิษย์ที่ตนรัก ขณะที่ตน
ใกล้จะตายเท่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงถือตามคติเช่นนี้ (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม

อานนท์ เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ๑ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มี
สิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอ่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้๒
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรม
เป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล
อานนท์ ภิกษุเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ว่าจะในบัดนี้หรือเมื่อเราล่วงไปแล้ว จะเป็น
ผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง
ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุเหล่านั้นจักอยู่ในความเป็นผู้เลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้ใคร่ต่อ
การศึกษา”๓

คามกัณฑ์ ในมหาปรินิพพานสูตร จบบริบูรณ์
ภาณวารที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ว่าด้วยนิมิตโอภาส

ว่าด้วยนิมิตโอภาส๑

[๑๖๖] ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเสวย
พระกระยาหารเสร็จแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจง
ถือผ้านิสีทนะ(ผ้ารองนั่ง) เราจะเข้าไปพักกลางวันที่ปาวาลเจดีย์”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ถือผ้านิสีทนะตามเสด็จพระผู้มี
พระภาคไปทางเบื้องพระปฤษฎางค์
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ท่าน
พระอานนท์ปูลาดถวาย ท่านพระอานนท์ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร
[๑๖๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์
น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น
ที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป๒ หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น
ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคต
เมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป” เมื่อพระผู้มีพระภาค
ทรงทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะ
รู้ทันจึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่
ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ทั้งนี้เป็นเพราะ
ท่านพระอานนท์ถูกมารดลใจ
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๘๒๒/๓๘๕-๓๘๖, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗๐/๓๗๒
๒ กัป ในที่นี้หมายถึงอายุกัป คือช่วงอายุของคนแต่ละยุค ในยุคของพระพุทธเจ้าของเรา อายุกัปของคน =
๑๐๐ ปี (ที.ม.อ. ๑๖๗/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มารกราบทูลให้ปรินิพพาน

แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์
น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น
ที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น
ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคต
เมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป” เมื่อพระผู้มีพระภาคทรง
ทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะรู้ทัน
จึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป
เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” เพราะท่านพระอานนท์ถูกมารดลใจ
จากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ไปเถิดอานนท์
เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้วนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง
ในที่ไม่ไกล

มารกราบทูลให้ปรินิพพาน

[๑๖๘] ครั้นเมื่อท่านพระอานนท์จากไปไม่นาน มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคต
โปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่
ภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า
ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มารกราบทูลให้ปรินิพพาน

ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท๑ ที่เกิดขึ้น
ให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ ภิกษุทั้งหลาย
ผู้สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า เป็นพหูสูต
ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายได้
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่ภิกษุณีทั้งหลายผู้สาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ
ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตน แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ ภิกษุณี
ทั้งหลายผู้สาวิกาของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม
เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้
ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่อุบาสกทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ

เชิงอรรถ :
๑ ปรัปวาท ในที่นี้หมายถึงวาทะ หรือลัทธิต่าง ๆ ของเจ้าลัทธิอื่นนอกพระพุทธศาสนา (ที.ม.ฏีกา ๓๗๔/๓๗๕,
ขุ.ม.อ.๓๑/๒๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มารกราบทูลให้ปรินิพพาน

ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ อุบาสก
ทั้งหลายผู้สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม
เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ได้แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่อุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ
ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ อุบาสิกา
ทั้งหลายผู้สาวิกาของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม
เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้
ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่พรหมจรรย์๑ ของเรายังไม่บริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนพรหมจรรย์ คือ คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นที่รวมลงในไตรสิกขา
(ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงปลงพระชนมายุสังขาร

มั่นคงดี กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ก็เวลานี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคบริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกัน
โดยมาก มั่นคงดี กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด
เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค’
เมื่อมารทูลอาราธนาอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตอบมารผู้มีบาปดังนี้ว่า
“มารผู้มีบาป ท่านจงอย่ากังวล๑เลย อีกไม่นาน การปรินิพพานของตถาคตจะมี
จากนี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน”

ทรงปลงพระชนมายุสังขาร

[๑๖๙] เวลานั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงปลงพระ
ชนมายุสังขาร๒แล้ว ณ ปาวาลเจดีย์ เมื่อพระองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขารแล้ว
ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุงแรงน่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็
ดังกึกก้อง ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้น จึงทรงเปล่งพระอุทานในเวลานั้น
ดังนี้ว่า
“พระมุนีละกรรมทั้งที่ชั่งได้และที่ชั่งไม่ได้
อันเป็นเหตุก่อกำเนิด เป็นเครื่องปรุงแต่งภพได้แล้ว
ยินดีในภายใน มีใจมั่นคง
ทำลายกิเลสที่เกิดในตนได้
เหมือนนักรบทำลายเกราะได้ฉะนั้น”๓

เชิงอรรถ :
๑ คำนี้แปลจากคำว่า “อปฺโปสฺสุกฺโก” ซึ่งตามรูปศัพท์แปลกันว่า ขวนขวายน้อย (ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙)
๒ ปลงพระชนมายุสังขาร หมายถึงสลัดปัจจัยเครื่องปรุงแต่งอายุ คือ ตกลงพระทัยว่าจะปรินิพพาน (ที.ม.อ.
๑๖๙/๑๕๙)
๓ ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗๐/๓๗๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ๘ ประการ

เหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ๘ ประการ๑

[๑๗๐] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริง แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริง ๆ
น่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้อง อะไรหนอแลเป็นเหตุ
อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ แผ่นดินไหวครั้งนี้
รุนแรงจริง แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริง ๆ น่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า
ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้อง อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแผ่นดิน
ไหวอย่างรุนแรง พระพุทธเจ้าข้า”
[๑๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้
ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
เหตุปัจจัย ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มหาปฐพีนี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ
เวลาที่ลมพายุพัดแรงย่อมทำให้น้ำกระเพื่อม น้ำที่กระเพื่อม
ย่อมทำให้แผ่นดินไหวตาม นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๑ ที่ทำ
ให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๒. สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ มีความชำนาญทางจิต หรือเทพ
ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ได้เจริญปฐวีสัญญานิดหน่อย แต่เจริญ
อาโปสัญญาจนหาประมาณมิได้ จึงทำให้แผ่นดินนี้ไหวสั่นสะเทือน
เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๒ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว
อย่างรุนแรง
๓. คราวที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต
เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือน
เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๓ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว
อย่างรุนแรง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗๐/๓๗๖-๓๗๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บริษัท ๘ จำพวก

๔. คราวที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุ
ปัจจัยประการที่ ๔ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๕. คราวที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แผ่นดินนี้ก็ไหว
สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๕ ที่ทำให้เกิด
แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๖. คราวที่ตถาคตประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมให้เป็นไป แผ่นดินนี้
ก็ไหวสั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๖ ที่ทำให้
เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๗. คราวที่ตถาคตมีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขาร แผ่นดินนี้ก็ไหว
สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๗ ที่ทำให้เกิด
แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๘. คราวที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แผ่นดินนี้
ก็ไหวสั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๘ ที่ทำให้
เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
อานนท์ เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้แล ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง

บริษัท ๘ จำพวก๑

[๑๗๒] อานนท์ บริษัท ๘ จำพวกนี้
บริษัท ๘ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. ขัตติยบริษัท (ชุมนุมกษัตริย์)
๒. พราหมณบริษัท (ชุมนุมพราหมณ์)
๓. คหบดีบริษัท (ชุมนุมคหบดี)
๔. สมณบริษัท (ชุมนุมสมณะ)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๗/๒๒๙, ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๕๑/๑๕๐, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๙/๓๗๑-๓๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บริษัท ๘ จำพวก

๕. จาตุมหาราชบริษัท (ชุมนุมเทพชั้นจาตุมหาราช)
๖. ดาวดึงสบริษัท (ชุมนุมเทพชั้นดาวดึงส์)
๗. มารบริษัท (ชุมนุมมาร)
๘. พรหมบริษัท (ชุมนุมพรหม)
อานนท์ เราจำได้ว่า เคยเข้าไปหาขัตติยบริษัทหลายร้อยครั้ง ทั้งเคยนั่งพูดคุย
และสนทนาในขัตติยบริษัทนั้น กษัตริย์เหล่านั้นมีวรรณะเช่นใด เราก็มีวรรณะเช่นนั้น
กษัตริย์เหล่านั้นมีเสียงเช่นใด เราก็มีเสียงเช่นนั้น เราชี้แจงให้กษัตริย์เหล่านั้นเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา และเมื่อเรากำลังพูดอยู่ ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้กำลังพูดอยู่นี้เป็นใคร
เป็นเทพหรือเป็นมนุษย์’ ครั้นชี้แจงให้กษัตริย์เหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วหายไป และเมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้ที่หายไปแล้วนี้เป็นใคร เป็นเทพ
หรือเป็นมนุษย์’
อานนท์ เราจำได้ว่า เคยเข้าไปหาพราหมณบริษัทหลายร้อยครั้ง ฯลฯ
คหบดีบริษัท ฯลฯ สมณบริษัท ฯลฯ จาตุมหาราชบริษัท ฯลฯ ดาวดึงสบริษัท ฯลฯ
มารบริษัท ฯลฯ
อานนท์ เราจำได้ว่า เคยเข้าไปหาพรหมบริษัทหลายร้อยครั้ง ทั้งเคยนั่งพูดคุย
และสนทนาในพรหมบริษัทนั้น พรหมเหล่านั้นมีวรรณะเช่นใด เราก็มีวรรณะเช่นนั้น
พรหมเหล่านั้นมีเสียงเช่นใด เราก็มีเสียงเช่นนั้น เราชี้แจงให้พรหมเหล่านั้นเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา และเมื่อเรากำลังพูดอยู่ ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้กำลังพูดอยู่นี้เป็นใคร
เป็นเทพหรือเป็นมนุษย์’ ครั้นชี้แจงให้พรหมเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วก็หายไป และเมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้ที่หายไปแล้วนี้เป็นใคร เป็นเทพ
หรือเป็นมนุษย์’
อานนท์ บริษัท ๘ จำพวกนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] อภิภายตนะ ๘ ประการ

อภิภายตนะ ๘ ประการ

[๑๗๓] อานนท์ อภิภายตนะ ๘ ประการนี้
อภิภายตนะ๑ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน๒ เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดเล็ก
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๑
๒. บุคคลหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดใหญ่
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๒
๓. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน๓ เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดเล็ก
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๓
๔. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดใหญ่
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๔
๕. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่เขียว
มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม เปรียบเหมือนดอก
ผักตบที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม ฉันใด
หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้ง ๒ ด้าน
ที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม ฉันใด บุคคล
หนึ่งมีอรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลาย
ภายนอกที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม

เชิงอรรถ :
๑ อภิภายตนะ หมายถึงเหตุครอบงำเหตุที่มีอิทธิพล ได้แก่ญาณหรือฌานที่เป็นเหตุครอบงำนิวรณ์ ๕ และ
อารมณ์ทั้งหลาย คำนี้มาจาก อภิภู + อายตนะ ที่ชื่อว่า อภิภู เพราะครอบงำอารมณ์ และที่ชื่อว่าอายตนะ
เพราะเป็นที่เกิดความสุขอันวิเศษแก่พระโยคีทั้งหลาย เพราะเป็นมนายตนะ และธัมมายตนะ (ที.ม.อ. ๑๗๓/
๑๖๔, องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๕/๒๗๐, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๖๑-๖๕/๓๐๒) และ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๘/๒๒๙-๒๓๐,
ม.ม. ๑๓/๒๔๙/๒๒๔-๒๒๕, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๕/๓๖๗-๓๖๘, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๙/๗๑
๒ มีรูปสัญญาภายใน หมายถึงจำได้หมายรู้รูปภายในโดยการบริกรรมรูปภายใน (ที.ม.อ. ๑๗๓/๑๖๔)
๓ มีอรูปสัญญาภายใน หมายถึงเว้นจากสัญญาในบริกรรมในรูปภายใน (ที.ม.อ. ๑๗๓/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] อภิภายตนะ ๘ ประการ

ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็น
อภิภายตนะประการที่ ๕
๖. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่เหลือง
มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม เปรียบเหมือน
ดอกกรรณิการ์ที่เหลือง มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสี
เหลืองเข้ม ฉันใด หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อ
ละเอียดทั้ง ๒ ด้านที่เหลือง มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง
มีสีเหลืองเข้ม ฉันใด บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่เหลือง มีสีเหลือง เปรียบ
ด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๖
๗. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่แดง
มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม เปรียบเหมือนดอก
ชบาที่แดง มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ฉันใด หรือ
เปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้ง ๒ ด้านที่แดง
มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ฉันใด บุคคลหนึ่งมี
อรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก
ที่แดง มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ครอบงำรูป
เหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะ
ประการที่ ๗
๘. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่ขาว
มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม เปรียบเหมือนดาว
ประกายพรึกที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ฉันใด
หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้ง ๒ ด้าน
ที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ฉันใด บุคคลหนึ่ง
มีอรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก
ที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ครอบงำรูป
เหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะ
ประการที่ ๘
อานนท์ อภิภายตนะ ๘ ประการนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] วิโมกข์ ๘ ประการ

วิโมกข์ ๘ ประการ

[๑๗๔] อานนท์ วิโมกข์๑ ๘ ประการนี้
วิโมกข์ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีรูปเห็นรูปทั้งหลาย นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๑
๒. บุคคลผู้มีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก นี้เป็น
วิโมกข์ประการที่ ๒
๓. บุคคลผู้น้อมใจไปว่า ‘งาม’ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๓
๔. บุคคลบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศหา
ที่สุดมิได‘’ อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๔
๕. บุคคลล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่
นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๕
๖. บุคคลล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ นี้เป็นวิโมกข์
ประการที่ ๖
๗. บุคคลล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๗
๘. บุคคลล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๘
อานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๑๒๙ หน้า ๗๕ ในเล่มนี้ และดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, ม.ม. ๑๓/๒๔๘/๒๒๓-๒๒๔, องฺ.อฏฺฐก.
(แปล) ๒๓/๖๖/๓๖๘-๓๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ทรงเล่าเรื่องมาร

ทรงเล่าเรื่องมาร๑

[๑๗๕] อานนท์ สมัยหนึ่ง เมื่อแรกตรัสรู้ เราพักอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ที่ตำบลอุรุเวลา มารผู้มีบาปได้เข้ามาหาเรายืน ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพาน
ในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มี
พระภาค’
เมื่อมารกล่าวอย่างนี้ เราตอบว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบ
เท่าที่ภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า
ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติ
ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อย
โดยชอบธรรมไม่ได้
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่ภิกษุณีทั้งหลายผู้สาวิกาของเรา
ยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว
แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรม
มีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่อุบาสกทั้งหลายผู้สาวกของเรา
ยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม
ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์
ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้
ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่อุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของ
เรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ข้อ ๑๖๘ หน้า ๑๑๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ทรงเล่าเรื่องมาร

ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์
ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได
ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่พรหมจรรย์ของเรายังไม่บริบูรณ์
กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี กระทั่งเทพและมนุษย์ทั้งหลาย
ประกาศได้ดีแล้ว
[๑๗๖] อานนท์ วันนี้เมื่อกี้นี้เอง มารผู้มีบาปได้เข้ามาหาเราที่ปาวาลเจดีย์
ยืน ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพาน
ของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ
ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ ภิกษุทั้งหลาย
ผู้สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า เป็นพหูสูต
ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายได้
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่ภิกษุณีทั้งหลายผู้สาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ทรงเล่าเรื่องมาร

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่อุบาสกทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่อุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของเรา ยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ
ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิด
ขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ อุบาสิกาทั้งหลาย
ผู้สาวิกาของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า เป็น
พหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียน
กับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายได้
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่พรหมจรรย์ของเรายังไม่บริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก
มั่นคงดี กระทั่งเทพและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคบริบูรณ์ กว้างขวาง
แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี กระทั่งเทพและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
[๑๗๗] อานนท์ เมื่อมารบอกอย่างนี้ เราได้ตอบมารผู้มีบาปดังนี้ว่า ‘มาร
ผู้มีบาป ท่านจงอย่ากังวลเลย อีกไม่นาน การปรินิพพานของตถาคตจะมี จากนี้
ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน’
อานนท์ วันนี้ เมื่อกี้นี้เอง เรามีสติสัมปชัญญะดี ปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
พระอานนท์กราบทูลอาราธนา

พระอานนท์กราบทูลอาราธนา

[๑๗๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้
มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพ
อยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คน
หมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าเลย อานนท์ อย่ามาวิงวอนตถาคตเลย บัดนี้
ไม่ใช่เวลาที่จะวิงวอนตถาคต’
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคต
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า “อานนท์ เธอเชื่อความตรัสรู้ของตถาคตหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เชื่อ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็เมื่อเธอเชื่อ ไฉน ยังแค่นไค้ตถาคตถึง ๓ ครั้งเล่า”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาเฉพาะ
พระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า อานนท์ อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว
ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดี ผู้นั้น
เมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ
ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว
ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอเชื่อหรือ อานนท์”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เชื่อ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงแสดงอานุภาพของอิทธิบาท ๔ ประการ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เหตุนั้นแล อานนท์ เรื่องนี้จึงเป็นความบกพร่อง
ของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ๑ เมื่อตถาคตทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทำโอภาสที่
ชัดเจนแม้อย่างนี้ เธอก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่วิงวอนตถาคตว่า ‘ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป
เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะ
ห้ามเธอเพียง ๒ ครั้ง พอครั้งที่ ๓ ตถาคตจะรับนิมนต์ เหตุนี้แหละ เรื่องนี้จึงเป็น
ความบกพร่องของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ

ทรงแสดงอานุภาพของอิทธิบาท ๔ ประการ

[๑๗๙] อานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล
เรียกเธอมากล่าวว่า ‘อานนท์ กรุงราชคฤห์น่ารื่นรมย์ ภูเขาคิชฌกูฏน่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่
ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดี ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป
หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว
ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง
พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป๒’ เมื่อตถาคตทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทำโอภาส
ที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ เธอก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่วิงวอนตถาคตว่า ‘ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป
เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะ
ห้ามเธอเพียง ๒ ครั้ง พอครั้งที่ ๓ ตถาคตจะรับนิมนต์ เหตุนั้นแหละ อานนท์
เรื่องนี้จึงเป็นความบกพร่องของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ

เชิงอรรถ :
๑ ที่ตรัสว่า เรื่องนี้จึงเป็นความบกพร่องของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ มิใช่ตรัสเพื่อจะทรงตำหนิ
แต่ตรัสเพื่อเป็นเหตุบรรเทาความเศร้าโศกของพระอานนท์ (ที.ม.อ. ๑๗๙/๑๖๗)
๒ ดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๖๒๓/๓๗๘-๓๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงแสดงอานุภาพของอิทธิบาท ๔ ประการ

[๑๘๐] อานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคตมนิโครธ เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ
เราอยู่ที่เหวทิ้งโจร เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ เราอยู่ที่ถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระ
เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ เราอยู่ที่กาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ
เราอยู่ที่เงื้อมสัปปโสณฑิกะ ในสีตวัน เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ เราอยู่ที่ตโปทาราม
เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ เราอยู่ที่เวฬุวันสถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ
เราอยู่ที่ชีวกัมพวัน เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ เราอยู่ที่มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขตกรุง
ราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล เราได้เรียกเธอมากล่าวว่า ‘อานนท์ กรุงราชคฤห์น่ารื่นรมย์
ภูเขาคิชฌกูฏน่ารื่นรมย์ โคตมนิโครธน่ารื่นรมย์ เหวทิ้งโจรน่ารื่นรมย์ ถ้ำสัตตบรรณ
ข้างภูเขาเวภาระน่ารื่นรมย์ กาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิน่ารื่นรมย์ เงื้อมสัปปโสณฑิกะ
ในสีตวันน่ารื่มรมย์ ตโปทารามน่ารื่นรมย์ เวฬุวันสถานที่ให้เหยื่อกระแตน่ารื่นรมย์
ชีวกัมพวันน่ารื่นรมย์ มัททกุจฉิมฤคทายวันน่ารื่นรมย์ อานนท์ อิทธิบาท ๔ ผู้ใด
ผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว
สั่งสมแล้ว ปรารภดี ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป
อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว
ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป
หรือเกินกว่า ๑ กัป’ เมื่อตถาคตทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้
เธอก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่วิงวอนตถาคตว่า ‘ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพ
อยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ต่อไปตลอดกัป เพื่อประโยชน์
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะห้ามเธอเพียง
๒ ครั้ง พอครั้งที่ ๓ ตถาคตจะรับนิมนต์ เหตุนั้นแหละ อานนท์ เรื่องนี้จึงเป็น
ความบกพร่องของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ
[๑๘๑] อานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่อุเทนเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ณ ที่นั้นแล
เราได้เรียกเธอมากล่าวว่า ‘อานนท์ กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์
อานนท์ อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้
เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดี ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงแสดงอานุภาพของอิทธิบาท ๔ ประการ

ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อ
มุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป เมื่อตถาคตทำนิมิตที่ชัดแจ้ง
ทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ เธอก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่วิงวอนตถาคตว่า ‘ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่
ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต
ตถาคตจะห้ามเธอเพียง ๒ ครั้ง พอครั้งที่ ๓ ตถาคตจะรับนิมนต์ เหตุนั้นแหละ
อานนท์ เรื่องนี้จึงเป็นความบกพร่องของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ
[๑๘๒] อานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคตมกเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ฯลฯ เราอยู่
ที่สัตตัมพเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ฯลฯ เราอยู่ที่พหุปุตตเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ฯลฯ
เราอยู่ที่สารันททเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ฯลฯ เราอยู่ที่ปาวาลเจดีย์ วันนี้เมื่อกี้เอง
ณ ปาวาลเจดีย์ เราได้เรียกเธอมากล่าวว่า ‘อานนท์ กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทน-
เจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์
น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์ อานนท์ อิทธิบาท ๔
ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว
สั่งสมแล้ว ปรารภดี ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป
อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว
ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป
หรือเกินกว่า ๑ กัป’ เมื่อตถาคตทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ เธอก็
ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่วิงวอนตถาคตว่า ‘ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่
ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะห้ามเธอเพียง ๒ ครั้ง
พอครั้งที่ ๓ ตถาคตจะรับนิมนต์ เหตุนั้นแหละ อานนท์ เรื่องนี้จึงเป็นความ
บกพร่องของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงแสดงอานุภาพของอิทธิบาท ๔ ประการ

[๑๘๓] อานนท์ เราเคยบอกเธอไว้ก่อนมิใช่หรือว่า ความพลัดพราก ความ
ทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี ฉะนั้น
จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น มีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
มีความแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นไปไม่ได้ที่จะปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นจงอย่าแตก
สลายไปเลย ตถาคตสละ คลาย ปล่อย ละ วางสิ่งนั้นได้แล้ว ปลงอายุสังขารแล้ว
วาจาที่ตถาคตกล่าวไว้ว่า ‘อีกไม่นาน การปรินิพพานของตถาคตจะมี จากนี้ไปอีก
๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพานเป็นวาจาที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกแล้ว‘จึงเป็นไปไม่ได้
ที่ตถาคตจะกลับคืนคำเพราะต้องการมีอายุอยู่ต่อไป มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยท่านพระอานนท์เสด็จเข้าไปยังกูฏาคาร-
ศาลา ป่ามหาวันแล้ว จึงรับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “ไปเถิด อานนท์
เธอจงไปนิมนต์ให้ภิกษุเท่าที่อาศัยอยู่ในกรุงเวสาลีมาประชุมกัน ณ หอฉัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จึงนิมนต์ภิกษุทุกรูปเท่าที่อาศัยอยู่
ในกรุงเวสาลี มาประชุมกัน ณ หอฉันแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงกำหนดเวลาที่สมควร
ณ บัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”๑
[๑๘๔] จากนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไป ณ หอฉัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์
ที่ปูลาดไว้แล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย(เพราะฉะนั้น)
ธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อความรู้ยิ่ง เธอทั้งหลายพึงเรียน เสพ เจริญ ทำให้มาก
ด้วยดีโดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไป
เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๐/๑๔๘-๑๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] สังเวชนียธรรม

ธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อความรู้ยิ่ง เธอทั้งหลายพึงเรียน เสพ เจริญ
ทำให้มากด้วยดีโดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้น
พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คืออะไร
คือ

๑. สติปัฏฐาน ๔___๒. สัมมัปปธาน ๔
๓. อิทธิบาท ๔___๔. อินทรีย์ ๕
๕. พละ ๕___๖. โพชฌงค์ ๗
๗. อริยมรรคมีองค์ ๘”

ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้แล คือ ธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อความรู้ยิ่ง เธอทั้งหลาย
พึงเรียน เสพ เจริญ ทำให้มากด้วยดีโดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงตั้งอยู่ได้นาน ดำรง
อยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อ
อนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

สังเวชนียธรรม
(ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช)

[๑๘๕] จากนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด อีกไม่นาน
การปรินิพพานของตถาคตจะมี จากนี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่
โง่ ฉลาด มั่งมี และยากจน ล้วนต้องตาย๑
ชีวิตของสัตว์เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๘๗/๓๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
การทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง

เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง สุกบ้าง ดิบบ้าง
ซึ่งล้วนมีความแตกสลายเป็นที่สุด”
พระสุคตศาสดาได้ตรัสพระคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“วัยของเราแก่หง่อม
ชีวิตของเราเหลือน้อย เราจะจากพวกเธอไป
เราทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว
พวกเธอจงอย่าประมาท มีสติ มีศีลบริสุทธิ์
มีความดำริมั่นคงดี รักษาจิตของตนไว้
ผู้ที่ไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัยนี้
ละการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”๑

ภาณวารที่ ๓ จบ

การทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง

[๑๘๖] ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและ
จีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลัง
เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง๒ รับสั่งเรียก
ท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ การเห็นกรุงเวสาลีครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของ
ตถาคต มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังภัณฑุคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.สุ. ๒๕/๕๘๔/๔๕
๒ อย่างช้างมอง หมายถึงทรงหันพระองค์กลับหลังอย่างที่พญาช้างมอง คือ พญาช้างไม่อาจจะเอี้ยวคอ
มองข้างหลัง ต้องหันกลับทั้งตัวฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น เพราะพระอัฏฐิก้านพระศอเป็นชิ้นเดียวกัน
ไม่มีข้อต่อจึงไม่อาจจะเอี้ยวพระศอมองข้างหลังได้ แต่จะไม่เหมือนกับช้างมอง เพราะมีพุทธานุภาพ จึงทำ
ให้แผ่นดินนี้หมุนไปเหมือนกับแป้น (กุลาลจกฺกํ) โดยทำพระผู้มีพระภาคให้มีหน้าตรงต่อกรุงเวสาลี (ที.ม.อ.
๑๘๖/๑๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
การทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง

พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงภัณฑุคาม ประทับอยู่ที่
ภัณฑุคามนั้น รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดธรรม ๔ ประการ เราและเธอทั้งหลาย
จึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๒. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๓. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๔. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราและเธอ
ทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดอริย-
ปัญญา เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราและเธอทั้งหลายถอน
ภวตัณหาได้แล้ว ภวเนตติสิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก๑”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ อันยอดเยี่ยม
ธรรมเหล่านี้ พระโคดมผู้มียศตรัสรู้แล้ว
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกธรรม
แก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง
พระศาสดา ทรงทำที่สุดแห่งทุกข์
มีพระจักษุ ปรินิพพานแล้ว๒”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๑๕๕ หน้า ๙๙ ในเล่มนี้ และดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑/๑-๒
๒ ปรินิพพาน ในที่นี้หมายถึงดับกิเลสได้สิ้นเชิง (ที.ม.อ. ๑๘๖/๑๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มหาปเทส ๔ ประการ

ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ที่ภัณฑุคาม ทรงแสดงธรรมีกถา
เป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมีลักษณะ
อย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจาก
อาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

มหาปเทส ๔ ประการ
(ข้ออ้างที่สำคัญ)

[๑๘๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในภัณฑุคาม
แล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
หัตถีคามกัน” ... “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังอัมพคามกัน” ... “มาเถิด
อานนท์ เราจะเข้าไปยังชัมพุคามกัน” ... “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังโภค-
นครกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโภคนคร ประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์ในโภคนคร รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงมหาปเทส ๔ ประการนี้
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
[๑๘๘] ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าได้สดับ
รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็น
วินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’ เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึง
คัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้น
ให้ดี๑แล้ว พึงสอบดูในสูตร เทียบดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะ

เชิงอรรถ :
๑ พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี หมายถึงการเรียนที่สามารถรู้ว่า ตรงนี้แสดงบาลีไว้ ตรงนี้แสดง
อรรถาธิบายไว้ ตรงนี้แสดงอนุสนธิไว้ ตรงนี้แสดงเบื้องต้นและเบื้องปลายไว้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๘๐/๔๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มหาปเทส ๔ ประการ

เหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลง
สันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
แน่นอน และภิกษุนี้รับมาผิด‘เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย
ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้า
ในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้เป็นพระดำรัสของพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และภิกษุนี้รับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลาย
พึงจำมหาปเทสประการที่ ๑ นี้ไว้
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมีสงฆ์
อยู่พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับมา
เฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’
เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น
พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตร
เทียบดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็
ไม่ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่พระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และสงฆ์นั้นรับมาผิด’
เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลง
ในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้เป็น
พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และสงฆ์นั้น
รับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทสประการที่ ๒ นี้ไว้
๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมีภิกษุผู้
เป็นพระเถระอยู่จำนวนมาก เป็นพหูสูต เรียนคัมภีร์๑ ทรงธรรม๒
ทรงวินัย๓ ทรงมาติกา๔ ข้าพเจ้าได้สดับมาเฉพาะหน้าพระเถระ

เชิงอรรถ :
๑ คัมภีร์ หมายถึงนิกาย ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย
(องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘)
๒ ธรรม หมายถึงพระสุตตันตปิฎกและอภิธัมมปิฎก (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๒๐/๑๑๓)
๓ วินัย หมายถึงพระวินัยปิฎก (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘)
๔ มาติกา หมายถึงมาติกา ๒ คือ ภิกขุวิภังค์ และภิกขุนีวิภังค์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มหาปเทส ๔ ประการ

เหล่านั้นว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’ เธอ
ทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น
พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตร
เทียบดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้
เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่พระดำรัสของ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และพระเถระเหล่านั้นรับมา
ผิด’ เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น
สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า
“นี้เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และ
พระเถระเหล่านั้นรับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทส
ประการที่ ๓ นี้ไว้
๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมีภิกษุผู้
เป็นเถระอยู่รูปหนึ่งเป็นพหูสูต เรียนคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า
‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’ เธอทั้งหลายยังไม่
พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและ
พยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตร เทียบดูในวินัย
ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าใน
วินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่พระดำรัสของพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และพระเถระรูปนั้นรับมาผิด’ เธอ
ทั้งหลายพึงทิ้งเสีย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตร
ก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้เป็นพระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และพระเถระรูปนั้นรับ
มาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทสประการที่ ๔ นี้ไว้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทส ๔ ประการนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องนายจุนทกัมมารบุตร(บุตรช่างทอง)

ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์ในโภคนคร ทรงแสดง
ธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิ
มีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดย
ชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

เรื่องนายจุนทกัมมารบุตร๑ (บุตรช่างทอง)

[๑๘๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ตามความพอพระทัยใน
โภคนครแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไป
ยังกรุงปาวากัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ต่อมา พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงกรุงปาวา ประทับอยู่ที่อัมพวันของนายจุนทกัมมารบุตร
เขตกรุงปาวา
เมื่อนายจุนทกัมมารบุตรได้ทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงปาวา
ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของเรา’ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นายจุนทกัมมารบุตรเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น นายจุนทกัมมารบุตรผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง
ให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลม
ใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์
ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.อุ. ๒๕/๗๕/๒๑๔-๒๑๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องนายจุนทกัมมารบุตร(บุตรช่างทอง)

เมื่อนายจุนทกัมมารบุตร ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุก
จากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป นายจุนทกัมมารบุตรได้เตรียมของขบฉันอันประณีตและ
สูกรมัททวะ๑ จำนวนเพียงพอไว้ในนิเวศน์ของตน ให้คนไปกราบทูลเวลาแด่พระผู้มีพระภาค
ว่า “ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายจุนทกัมมารบุตร ประทับนั่งบนพุทธอาสน์
ที่ปูลาดไว้แล้ว รับสั่งเรียกนายจุนทกัมมารบุตรมาตรัสว่า “จุนทะ ท่านจงประเคน
สูกรมัททวะที่เตรียมไว้แก่เรา ประเคนของขบฉันอย่างอื่นที่เตรียมไว้แก่ภิกษุสงฆ์
เขาทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ประเคนสูกรมัททวะที่เตรียมไว้แด่พระผู้มีพระภาค
ประเคนของขบฉันอย่างอื่นที่เตรียมไว้แด่ภิกษุสงฆ์
ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกนายจุนทกัมมารบุตรมาตรัสว่า “จุนทะ
สูกรมัททวะที่เหลือเธอจงฝังลงในหลุม เรายังไม่เห็นใครในโลก พร้อมเทวโลก มารโลก
พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาหรือมนุษย์ ที่บริโภคสูกร-
มัททวะนั้นแล้วจะย่อยได้ด้วยดี นอกจากตถาคต”
นายจุนทกัมมารบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ฝังสูกรมัททวะที่เหลือลงในหลุม
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นายจุนทกัมมารบุตรเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับ
เอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป

เชิงอรรถ :
๑ สูกรมัททวะ ความหมายตามมติของเกจิอาจารย์ ๓ พวก คือ
๑. หมายถึงปวัตตมังสะ เนื้อสุกรหนุ่ม
๒. หมายถึงข้าวสุกอ่อน ที่ปรุงด้วยนมสด นมส้ม เนยใส เปรียง เนยแข็ง และถั่ว
๓. หมายถึงวิธีปรุงอาหารชนิดหนึ่ง
(ที.ม.อ. ๑๘๙/๑๗๒, ขุ.อุ.อ. ๗๕/๔๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] รับสั่งขอน้ำดื่ม

[๑๙๐] หลังจากพระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารของนายจุนทกัมมารบุตร
ได้เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรง ลงพระบังคนหนักเป็นโลหิต๑ ทรงมีทุกข-
เวทนาอย่างแสนสาหัส จวนเจียนจะปรินิพพาน พระองค์ทรงมีสติสัมปชัญญะ
ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาเหล่านั้นไว้ไม่พรั่นพรึง รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า
“มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังกรุงกุสินารากัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว
ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีพระปรีชา
เสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว
ทรงพระประชวรอย่างแสนสาหัส
จวนเจียนจะปรินิพพาน
เมื่อพระศาสดาเสวยสูกรมัททวะแล้ว
ได้เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรง
ลงพระบังคนหนักตรัสว่า
‘เราจะไปยังกรุงกุสินารากัน’

รับสั่งขอน้ำดื่ม

[๑๙๑] ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแวะลงข้างทางเสด็จเข้าไปยังควงไม้ต้นหนึ่ง
รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอช่วยปูสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้น
เราเหน็ดเหนื่อยจะนั่งพัก” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วปูสังฆาฏิซ้อนกัน
๔ ชั้น พระผู้มีพระภาคประทับบนอาสนะที่ท่านพระอานนท์ปูลาดถวายไว้ รับสั่งเรียก
ท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอช่วยไปนำน้ำดื่มมา เรากระหายจะดื่มน้ำ”
เมื่อพระผู้มีพระภาครับสั่งอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม เพิ่งข้ามไป เมื่อกี้นี้
น้ำนั้นมีน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำ

เชิงอรรถ :
๑ แปลจากคำว่า โลหิตปกฺขนฺทิกา ในอรรถกถาอธิบายว่า เป็นอาการของโรคที่ถ่ายเป็นเลือดตลอดเวลา
(ที.ม.อ. ๑๙๐/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] รับสั่งขอน้ำดื่ม

กกุธาอยู่ไม่ไกลแค่นี้เอง มีน้ำใส จืดสนิท เย็นสะอาด มีท่าเทียบน่ารื่นรมย์ ขอพระ
ผู้มีพระภาคเสด็จไปทรงดื่มและสรงสนานพระวรกายในแม่น้ำกกุธานี้เถิด”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
เธอช่วยไปนำน้ำดื่มมา เรากระหายจะดื่มน้ำ” แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอานนท์ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม
เพิ่งข้ามไป เมื่อกี้นี้ น้ำนั้นมีน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำกกุธาอยู่ไม่ไกลแค่นี้เอง มีน้ำใส จืดสนิท เย็นสะอาด
มีท่าเทียบน่ารื่นรมย์ ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จไปทรงดื่มและสรงสนานพระวรกาย
ในแม่น้ำกกุธานี้เถิด”
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
เธอช่วยไปนำน้ำดื่มมา เรากระหายจะดื่มน้ำ” ท่านพระอานนท์จึงทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว ถือบาตรเดินเข้าไปยังลำธารนั้น ขณะนั้น ลำธารนั้น มีน้ำน้อย
ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป แต่เมื่อท่านพระอานนท์เข้าไปใกล้ก็กลับใสสะอาด
ไม่ขุ่น ไหลไป ท่านพระอานนท์จึงคิดว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคต
ทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ลำธารนี้มีน้ำน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำขุ่นเป็นตมไหลไป
เมื่อเราเข้ามาใกล้ ก็กลับใสสะอาด ไม่ขุ่น ไหลไป จึงใช้บาตรตักน้ำแล้วเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
เดี๋ยวนี้เอง ลำธารนั้นมีน้ำน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป เมื่อข้าพระองค์
เดินเข้าไปใกล้ ก็กลับใสสะอาด ไม่ขุ่น ไหลไป ขอพระผู้มีพระภาคทรงดื่มน้ำเถิด
ขอพระสุคตทรงดื่มน้ำเถิด” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดื่มน้ำแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

[๑๙๒] ก็สมัยนั้น โอรสเจ้ามัลละพระนามว่าปุกกุสะ๑ เป็นสาวกของ
อาฬารดาบส กาลามโคตร เดินทางไกลจากกรุงกุสินาราไปกรุงปาวา เห็นพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ที่ควงไม้ต้นหนึ่ง ครั้นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ บรรพชิตทั้งหลายย่อมอยู่ด้วย
ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันสงบอย่างยิ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องมีอยู่ว่า อาฬารดาบส
กาลามโคตร เดินทางไกลแวะลงข้างทางที่ควงไม้ต้นหนึ่งในที่ไม่ไกล เวลานั้นเกวียน
ตั้ง ๕๐๐ เล่มได้ผ่านท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร ติด ๆ กันไป
ขณะนั้น บุรุษคนหนึ่งกำลังเดินตามหลังหมู่เกวียนมาเข้าไปหาท่านอาฬารดาบส
กาลามโคตรถึงที่อยู่แล้ว ได้ถามท่านอาฬารดาบสดังนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ท่านเห็นเกวียน ๕๐๐ เล่ม ผ่านไปบ้างหรือไม่’
ท่านอาฬารดาบสตอบว่า ‘เราไม่เห็นเลย ผู้มีอายุ’
‘ท่านได้ยินเสียงหรือไม่’
‘เราไม่ได้ยิน ผู้มีอายุ’
‘ท่านคงหลับกระมัง’
‘เราไม่ได้หลับ ผู้มีอายุ‘
‘ท่านยังมีสัญญาอยู่หรือ’
‘เรายังมีอยู่ ผู้มีอายุ’
‘ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ (แต่) ไม่ได้เห็นเกวียนตั้ง ๕๐๐ เล่ม ที่ผ่านติด ๆ กันไป
ทั้งไม่ได้ยินเสียง ก็ผ้าทาบของท่านเปรอะเปื้อนฝุ่นธุลีบ้างไหม’
‘เป็นอย่างนั้น ผู้มีอายุ’

เชิงอรรถ :
๑ ขณะนั้นเจ้าปุกกุสะประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าเพชรพลอย ซึ่งถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของพวกเจ้ามัลละ
ที่มีการผลัดเปลี่ยนกันครองราชย์ตามวาระ ส่วนผู้ที่ยังไม่ถึงวาระจะประกอบอาชีพทางการค้า (ที.ม.อ.
๑๙๒/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

บุรุษนั้นมีความคิดดังนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ บรรพชิต
ทั้งหลายย่อมอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อันสงบอย่างยิ่ง ดังที่ท่านอาฬารดาบส ผู้ยังมี
สัญญาตื่นอยู่ (แต่) ไม่เห็นเกวียนตั้ง ๕๐๐ เล่ม ที่ผ่านติด ๆ กันไป ทั้งไม่ได้ยินเสียง’
เขาประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่งในท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วจากไป”
[๑๙๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามปุกกุสะว่า “ปุกกุสะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่า
อย่างไร อย่างไหนทำได้ยากกว่ากัน เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน (ระหว่าง) ผู้ยังมีสัญญา
ตื่นอยู่ ไม่เห็นเกวียนตั้ง ๕๐๐ เล่มที่ผ่านติด ๆ กันไป ทั้งไม่ได้ยินเสียง กับผู้ที่
ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ก็ไม่ได้เห็น
และไม่ได้ยินเสียง”
ปุกกุสะทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียน ๕๐๐ เล่ม ๖๐๐ เล่ม
๗๐๐ เล่ม ๘๐๐ เล่ม ๙๐๐ เล่ม ๑,๐๐๐ เล่ม ฯลฯ เกวียน ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม
จะเปรียบกันได้อย่างไร แท้จริง ผู้ที่ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก
ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ก็ไม่ได้เห็นและไม่ได้ยินเสียง อย่างนี้แหละทำได้ยากกว่าและ
เกิดขึ้นได้ยากกว่า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปุกกุสะ คราวหนึ่ง เราพักอยู่ที่โรงกระเดื่อง เขตกรุง
อาตุมา เวลานั้น ฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนา ๒ คนพี่น้อง
และโคงาน ๔ ตัว ถูกฟ้าผ่าใกล้โรงกระเดื่อง ขณะนั้น หมู่มหาชนในกรุงอาตุมา
ออกไปมุงดูชาวนา ๒ คนพี่น้องและโคงาน ๔ ตัวที่ถูกฟ้าผ่า เราออกจากโรง
กระเดื่อง จงกรมอยู่ที่กลางแจ้งใกล้ประตูโรงกระเดื่อง บุรุษคนหนึ่งออกมาจากหมู่
มหาชนเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ได้ไหว้เรา ยืน ณ ที่สมควร เราได้ถามบุรุษนั้นดังนี้ว่า
‘ผู้มีอายุ หมู่มหาชนนั่นชุมนุมกันทำไม’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เดี๋ยวนี้เอง ขณะที่ฝนกำลังตก
ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนา ๒ คนพี่น้องและโคงาน ๔ ตัวถูกฟ้าผ่า
หมู่มหาชนชุมนุมกันเพราะเหตุนี้ ท่านไปอยู่เสียที่ไหนเล่า’
เราตอบว่า ‘เราก็อยู่ที่นี้แหละ’
บุรุษนั้นถามว่า ‘ท่านเห็นหรือไม่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

เราตอบว่า ‘เราไม่เห็นเลย ผู้มีอายุ’
บุรุษนั้นถามว่า ‘ท่านได้ยินเสียงหรือไม่’
เราตอบว่า ‘เราไม่ได้ยิน ผู้มีอายุ’
บุรุษนั้นถามว่า ‘ท่านคงหลับกระมัง’
เราตอบว่า ‘เราไม่ได้หลับ ผู้มีอายุ’
บุรุษนั้นถามว่า ‘ท่านยังมีสัญญาอยู่หรือ’
เราตอบว่า ‘เรายังมีอยู่ ผู้มีอายุ’
บุรุษนั้นถามว่า ‘ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ ขณะฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก
ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ไม่ได้เห็นและไม่ได้ยินเสียงเลยหรือ’
เราตอบว่า ‘เป็นอย่างนั้น ผู้มีอายุ’
บุรุษนั้นมีความคิดดังนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
บรรพชิตทั้งหลายย่อมอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อันสงบอย่างยิ่ง ดังที่ท่านสมณะ
ผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ก็ไม่เห็นและ
ไม่ได้ยินเสียงเลย ‘ เขาประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่งในเรา กระทำประทักษิณแล้ว
จากไป”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปุกกุสะ มัลลบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอโปรยความเลื่อมใสที่มีในอาฬาร-
ดาบส กาลามโคตร ไปตามกระแสลมที่พัดแรง หรือลอยในแม่น้ำกระแสเชี่ยว พระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบ
เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืดโดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมกับ
พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็น
อุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ปุกกุสะ มัลลบุตร

[๑๙๔] ลำดับนั้น ปุกกุสะ มัลลบุตร รับสั่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า
“พนาย เธอช่วยนำผ้าเนื้อละเอียดสีทองน่าใช้คู่หนึ่ง (๒ ผืน) ของเรามา” บุรุษนั้น
รับคำแล้ว นำคู่ผ้าเนื้อละเอียดสีทองน่าใช้คู่นั้นมาให้
จากนั้น ปุกกุสะ มัลลบุตร ได้น้อมคู่ผ้าเนื้อละเอียดสีทองน่าใช้คู่นั้นเข้าไป
ถวายพระผู้มีพระภาคพร้อมกับกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดรับคู่ผ้าเนื้อละเอียดสีทองน่าใช้คู่นี้ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปุกกุสะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้เราครองผืนหนึ่ง
อีกผืนหนึ่งให้อานนท์ครอง”
ปุกกุสะ มัลลบุตร ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ถวายให้พระผู้มีพระภาคทรง
ครองผืนหนึ่ง ถวายให้ท่านพระอานนท์ครองอีกผืนหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ปุกกุสะ มัลลบุตร เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น ปุกกุสะ มัลลบุตร ผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา ลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป
[๑๙๕] เมื่อปุกกุสะ มัลลบุตรจากไปไม่นาน ท่านพระอานนท์ได้น้อมคู่ผ้า
เนื้อละเอียดสีทองน่าใช้คู่นั้นเข้าไปคลุมพระวรกายของพระผู้มีพระภาค พอท่านพระ
อานนท์น้อมเข้าไปคลุมพระวรกายของพระผู้มีพระภาค ผ้านั้นปรากฏสีเปล่งปลั่ง
เหมือนถ่านไฟที่ปราศจากเปลว
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ยิ่งนัก๑ คู่ผ้าเนื้อละเอียดสีทองน่าใช้คู่นี้ พอข้าพระองค์น้อมเข้าไปคลุมพระวรกาย
ของพระผู้มีพระภาค ปรากฏสีเปล่งปลั่งเหมือนถ่านไฟที่ปราศจากเปลว”

เชิงอรรถ :
๑ พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก หมายถึงพระฉวีวรรณผุดผ่องใน ๒ คราวนั้นเกิดจาก
เหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) อาหารพิเศษ (๒) โสมนัสอย่างแรงกล้า (ที.ม.อ. ๑๙๕/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ปุกกุสะ มัลลบุตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่งอยู่ใน ๒ คราว
กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่งอยู่ใน ๒ คราว อะไรบ้าง คือ
๑. ในราตรีที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒. ในราตรีที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
อานนท์ กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่งอยู่ใน ๒ คราวนี้แล
ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ตถาคตจะปรินิพพานในระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ในสาลวัน
ของมัลละ อันเป็นทางเข้า (ด้านทิศใต้) กรุงกุสินารา มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
แม่น้ำกกุธากัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ปุกกุสะน้อมถวายผ้าสีทองเนื้อละเอียดคู่หนึ่ง
พอพระศาสดาทรงครองผ้าคู่นั้น
มีพระฉวีวรรณดั่งทอง งดงามนัก
[๑๙๖] ต่อมา พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จเข้าไปยัง
แม่น้ำกกุธา เสด็จลงสรงในแม่น้ำกกุธา ทรงดื่มแล้วเสด็จขึ้นไปยังอัมพวัน รับสั่งเรียก
ท่านพระจุนทกะมาตรัสว่า “จุนทกะ เธอช่วยปูสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้น เราเหน็ดเหนื่อย
จะนอนพัก”
ท่านพระจุนทกะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ปูสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้น พระผู้มี
พระภาคทรงสำเร็จสีหไสยา๑ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อม
พระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงกำหนดพระทัยพร้อมจะเสด็จลุกขึ้น ส่วนท่าน
พระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคในที่นั้น

เชิงอรรถ :
๑ สีหไสยา หมายถึงนอนอย่างราชสีห์ นอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กำหนดใจถึง
การลุกขึ้น (ที.ม.ฏีกา ๑๙๘/๒๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ปุกกุสะ มัลลบุตร

พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดา
ผู้ทรงเข้าถึงสภาวะตามความเป็นจริง
หาผู้ใดในโลกเสมอเหมือนมิได้
เสด็จถึงแม่น้ำกกุธา ที่มีน้ำใส จืดสนิท สะอาด
ลงสรงแล้วจึงทรงคลายเหน็ดเหนื่อย
พระบรมศาสดาผู้ทรงพร่ำสอนแจกแจงธรรม
ในพระศาสนานี้ เป็นผู้แสวงหาคุณใหญ่
ครั้นสรงสนานและทรงดื่มน้ำแล้ว
ก็เสด็จนำหน้าหมู่ภิกษุไปยังอัมพวัน
รับสั่งภิกษุชื่อจุนทกะมาตรัสว่า
'เธอช่วยปูสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้นให้เป็นที่นอนพักแก่เรา'
ท่านพระจุนทกะรูปนั้น ผู้ได้รับการฝึกมาดีแล้ว
พอได้รับคำสั่งก็รีบปูสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้น
พระศาสดาบรรทมแล้ว ทรงหายเหน็ดเหนื่อย
ฝ่ายท่านพระจุนทกะ ก็นั่งเฝ้าเฉพาะพระพักตร์อยู่ในที่นั้น
[๑๙๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า
"อานนท์ อาจมีใครทำให้นายจุนทกัมมารบุตรร้อนใจว่า 'จุนทะ การที่พระตถาคตเสวย
บิณฑบาตของท่านเป็นมื้อสุดท้ายแล้วปรินิพพาน ท่านจะไม่ได้อานิสงส์ ความดีงาม
ก็จะได้โดยยาก'
อานนท์ เธอพึงช่วยบรรเทาความร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตรอย่างนี้ว่า
'ผู้มีอายุจุนทะ การที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นมื้อสุดท้ายแล้วปรินิพพาน
ท่านจะได้รับอานิสงส์ ความดีงามก็จะได้โดยง่าย เรื่องนี้เราได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์
พระผู้มีพระภาค และจำได้ว่า 'บิณฑบาต ๒ คราว มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน
มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า ยิ่งกว่าบิณฑบาตอื่น ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เสด็จไปยังควงไม้สาละคู่

บิณฑบาต ๒ คราว อะไรบ้าง คือ
๑. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสส-
นิพพานธาตุ
บิณฑบาต ๒ คราวนี้มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่า มีอานิสงส์
มากกว่า ยิ่งกว่าบิณฑบาตอื่น ๆ’
กรรมที่จุนทกัมมารบุตรสั่งสมไว้เป็นไปเพื่ออายุ เป็นไปเพื่อวรรณะ เป็นไปเพื่อสุขะ
เป็นไปเพื่อยศ เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อความเป็นใหญ่’
อานนท์ เธอพึงช่วยบรรเทาความร้อนใจของจุนทกัมมารบุตรอย่างนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
“ผู้ให้ย่อมเพิ่มพูนบุญ
ผู้สำรวมย่อมไม่ก่อเวร
ส่วนผู้ฉลาดย่อมละกรรมชั่วได้
ผู้นั้นดับได้แล้วเพราะสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ”๑

ภาณวารที่ ๔ จบ

เสด็จไปยังควงไม้สาละทั้งคู่

[๑๙๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า
“มาเถิด อานนท์ เราจะข้ามไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญญวดี ตรงสาลวันของพวก
เจ้ามัลละอันเป็นทางเข้ากรุงกุสินารากัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญญวดี
ตรงสาลวันของพวกเจ้ามัลละ อันเป็นทางเข้ากรุงกุสินารา แล้วรับสั่งเรียกท่าน
พระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอช่วยตั้งเตียง๒ ระหว่างต้นสาละทั้งคู่หันด้าน
ศีรษะไปทางทิศเหนือ เราเหน็ดเหนื่อยจะนอนพัก” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนอง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.อุ. ๒๕/๗๕/๒๑๗-๒๑๙
๒ เตียง ในที่นี้หมายถึงเตียงสำหรับพักผ่อนของพวกเจ้ามัลละ ที่มีอยู่ในสาลวันนั่นเอง (ที.ม.อ. ๑๙๘/๑๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เสด็จไปยังควงไม้สาละคู่

พระดำรัสแล้วตั้งเตียงระหว่างต้นสาละทั้งคู่หันด้านพระเศียรไปทางทิศเหนือ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อน
พระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ
เวลานั้น ต้นสาละทั้งคู่ผลิดอกนอกฤดูกาลบานสะพรั่งเต็มต้น ดอกสาละ
เหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายตกต้องพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต
ดอกมณฑารพอันเป็นทิพย์ก็ร่วงหล่นจากอากาศโปรยปรายตกต้องพระสรีระของ
พระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต จุรณแห่งจันทน์อันเป็นทิพย์ก็ร่วงหล่นจากอากาศ
โปรยปรายตกต้องพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต ดนตรีทิพย์ก็บรรเลง
ในอากาศเพื่อบูชาพระตถาคต ทั้งสังคีตทิพย์ก็บรรเลงในอากาศเพื่อบูชาพระตถาคต
[๑๙๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
ต้นสาละทั้งคู่ผลิดอกนอกฤดูกาลบานสะพรั่งเต็มต้น ดอกสาละเหล่านั้นร่วงหล่น
โปรยปรายตกต้องสรีระของตถาคตเพื่อบูชาตถาคต ดอกมณฑารพอันเป็นทิพย์ก็
ร่วงหล่นจากอากาศโปรยปรายตกต้องสรีระของตถาคตเพื่อบูชาตถาคต จุรณแห่ง
จันทน์อันเป็นทิพย์ก็ร่วงหล่นจากอากาศโปรยปรายตกต้องสรีระของตถาคตเพื่อบูชา
ตถาคต ดนตรีทิพย์ก็บรรเลงในอากาศเพื่อบูชาตถาคต ทั้งสังคีตทิพย์ก็บรรเลง
ในอากาศเพื่อบูชาตถาคต ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะเพียงเท่านี้ก็หาไม่ ผู้ใดไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก หรืออุบาสิกา เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตาม
ธรรม๑อยู่ ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยการบูชาอย่าง
ยอดเยี่ยม ฉะนั้น อานนท์ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจะเป็นผู้ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่’ อานนท์ เธอทั้งหลายพึง
สำเหนียกอย่างนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึงการปฏิบัติหลักเบื้องต้นมีศีลเป็นต้น ให้สอดคล้องกับโลกุตตรธรรม
ปฏิบัติชอบ หมายถึงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้นเอง ปฏิบัติตามธรรม หมายถึงการประพฤติหลัก
เบื้องต้นให้สมบูรณ์ (ที.ม.อ. ๑๙๙/๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องพระอุปวาณเถระ

เรื่องพระอุปวาณเถระ

[๒๐๐] เวลานั้น ท่านพระอุปวาณะยืนถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคอยู่ตรง
พระพักตร์ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งท่านพระอุปวาณะให้ถอยไปด้วยพระดำรัสว่า
“ภิกษุ เธอจงหลบไป อย่ายืนตรงหน้าเรา”
ท่านพระอานนท์มีความดำริดังนี้ว่า “ท่านพระอุปวาณะนี้เคยเป็นอุปัฏฐากเฝ้า
ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคมานาน ถึงกระนั้น ในปัจฉิมกาลพระผู้มีพระภาคตรัสสั่งให้
ท่านพระอุปวาณะถอยไปด้วยพระดำรัสว่า ‘ภิกษุ เธอจงหลบไป อย่ายืนตรงหน้าเรา’
อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ท่านพระอุปวาณะ
ถอยไปด้วยพระดำรัสว่า ‘ภิกษุ เธอจงหลบไป อย่ายืนตรงหน้าเรา”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ท่านพระอุปวาณะนี้เคยเป็นอุปัฏฐากเฝ้าใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคมานาน
ถึงกระนั้น ในปัจฉิมกาลพระผู้มีพระภาครับสั่งให้ท่านพระอุปวาณะถอยไปด้วย
พระดำรัสว่า ‘ภิกษุ เธอจงหลบไป อย่ายืนตรงหน้าเรา’ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไร
เป็นปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ท่านอุปวาณะถอยไปด้วยพระดำรัสว่า ‘ภิกษุ
เธอจงหลบไป อย่ายืนตรงหน้าเรา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เทพโดยมากใน ๑๐ โลกธาตุ
มาประชุมกันเพื่อจะเยี่ยมตถาคต สวนสาลวันของพวกเจ้ามัลละอันเป็นทางเข้า
กรุงกุสินารานี้ มีเนื้อที่ ๑๒ โยชน์โดยรอบที่ที่พวกเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่ ไม่ได้เบียดเสียด
กันอยู่แม้เท่าปลายขนเนื้อทรายจดลงได้ก็ไม่มี พวกเทพจะโทษว่า พวกเรามาไกล
ก็เพื่อจะเห็นพระตถาคต มีเพียงครั้งคราวที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะ
เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ พระตถาคตจะปรินิพพาน ภิกษุ
ผู้มีศักดิ์ใหญ่รูปนี้ยืนบังอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์พระผู้มีพระภาค (ทำให้) พวกเราไม่ได้
เฝ้าพระตถาคตในปัจฉิมกาล”
[๒๐๑] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พวกเทวดาเป็นอย่างไร คิดกันอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ มีเทวดาบางพวกเป็นผู้กำหนดแผ่นดิน
ขึ้นบนอากาศ๑ สยายผมประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคน
เท้าขาด เพ้อรำพันว่า ‘พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย
จักษุของโลกจักด่วนอันตรธานไปแล้ว’
มีเทวดาบางพวกเป็นผู้กำหนดแผ่นดินขึ้นบนแผ่นดิน๒ สยายผมประคองแขน
ร้องไห้คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคนเท้าขาด เพ้อรำพันว่า ‘พระผู้มี
พระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกจักด่วนอันตรธาน
ไปแล้ว’
ส่วนพวกเทวดาที่ไม่มีราคะ มีสติสัมปชัญญะก็อดกลั้นได้ว่า สังขารทั้งหลาย
ไม่เที่ยง เหล่าสัตว์จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้”

สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล

[๒๐๒] ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน
ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาในทิศทั้งหลายมาเฝ้าพระตถาคต ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ย่อมได้พบ ได้ใกล้ชิดภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจ ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จ
ล่วงลับไป ข้าพระองค์ทั้งหลายจะไม่ได้พบ ไม่ได้ใกล้ชิดภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่
เจริญใจ (อีก)”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้เป็นสถานที่ (เป็น
ศูนย์รวม) ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู
สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง อะไรบ้าง คือ
๑. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู ด้วยระลึกว่า ‘ตถาคต
ประสูติในที่นี้’

เชิงอรรถ :
๑ กำหนดแผ่นดินขึ้นบนอากาศ หมายถึงเนรมิตแผ่นดินขึ้นบนอากาศ (ที.ม.อ. ๒๐๑/๑๘๗)
๒ กำหนดแผ่นดินขึ้นบนแผ่นดิน หมายถึงเนรมิตแผ่นดินขึ้นบนแผ่นดินปกติ เพราะแผ่นดินปกติหยาบไม่
สามารถจะรองรับเทวดาซึ่งมีร่างกายละเอียดได้ (ที.ม.อ. ๒๐๑/๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องคำถามพระอานนท์

๒. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู ด้วยระลึกว่า ‘ตถาคต
ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้’
๓. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู ด้วยระลึกว่า ‘ตถาคต
ทรงประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมในที่นี้’
๔. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู ด้วยระลึกว่า ‘ตถาคต
ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้’
อานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้เป็นสถานที่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู๑
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีศรัทธาจะมาดู ด้วยระลึกว่า ‘ตถาคต
ประสูติ ในที่นี้’ ... ว่า ‘ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมสัมโพธิญาณในที่นี้’ ... ว่า ‘ตถาคต
ประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมในที่นี้’ ... ว่า ‘ตถาคตได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้’
อานนท์ ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งจาริกไปยังเจดีย์จักมีจิตเลื่อมใสตายไป ชนเหล่านั้น
ทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

เรื่องคำถามพระอานนท์

[๒๐๓] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พวกข้าพระองค์จะปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่าดู”
“เมื่อจำต้องดู จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
“อย่าพูดด้วย”
“เมื่อจำต้องพูด จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
“ต้องตั้งสติ๒ ไว้”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๑๘/๑๘๐
๒ ตั้งสติ ในที่นี้หมายถึงการควบคุมจิตให้คิดต่อสตรีในทางที่ดีงาม เช่น รู้สึกว่าเป็นแม่ในสตรีที่อยู่ในวัยแม่
รู้สึกว่าเป็นพี่สาวน้องสาวในสตรีที่อยู่ในวัยพี่สาวน้องสาว รู้สึกว่าเป็นลูกสาวในสตรีที่อยู่ในวัยสาว (ที.ม.อ.
๒๐๓/๑๘๙-๑๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องคำถามพระอานนท์

[๒๐๔] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พวกข้าพระองค์จะปฏิบัติต่อพระสรีระ
ของพระตถาคตอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พวกเธออย่ากังวลเพื่อบูชาสรีระของตถาคต
จงพยายาม ขวนขวายทำหน้าที่ของตนเองเถิด อย่าประมาทในหน้าที่ของตน
มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่เถิด กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิต พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต
คหบดีผู้เป็นบัณฑิต ผู้เลื่อมใสในตถาคต จะทำการบูชาสรีระของตถาคตเอง”
[๒๐๕] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พวกเขาพึงปฏิบัติต่อพระสรีระของพระ
ตถาคตอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พึงปฏิบัติต่อสรีระของตถาคตเหมือนอย่างที่
พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพของพระเจ้าจักรพรรดินั่นแหละ”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพของพระเจ้า
จักรพรรดิอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พวกเขาใช้ผ้าใหม่ห่อพระบรมศพของพระเจ้า
จักรพรรดิเสร็จแล้วจึงห่อด้วยสำลีบริสุทธิ์ แล้วจึงห่อด้วยผ้าใหม่อีกชั้นหนึ่ง ทำโดย
วิธีนี้จนห่อพระบรมศพของพระเจ้าจักพรรดิด้วยผ้าและสำลีได้ ๑,๐๐๐ ชั้น แล้วอัญเชิญ
พระบรมศพลงในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ใช้รางเหล็กอีกอันหนึ่งครอบแล้ว ทำ
จิตกาธานด้วยไม้หอมล้วน แล้วถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าจักรพรรดิ สร้าง
สถูปของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง อานนท์ พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพ
ของพระเจ้าจักรพรรดิ อย่างนี้แล
พวกเขาพึงปฏิบัติต่อสรีระของตถาคตเหมือนอย่างที่พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพ
พระเจ้าจักรพรรดิ พึงสร้างสถูปของตถาคตไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง ชนเหล่าใดจักยก
ระเบียบดอกไม้ ของหอม หรือจุรณ จักอภิวาท หรือจักทำจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้น
การกระทำนั้นจักเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ชนเหล่านั้นตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ถูปารหบุคคล

ถูปารหบุคคล๑

[๒๐๖] อานนท์ ถูปารหบุคคล (ผู้ควรสร้างสถูปถวาย) ๔ จำพวกนี้
ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นถูปารหบุคคล
๒. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นถูปารหบุคคล
๓. พระสาวกของพระตถาคตเป็นถูปารหบุคคล
๔. พระเจ้าจักรพรรดิเป็นถูปารหบุคคล
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจ
ประโยชน์ อะไร
คือ ชนเป็นอันมากทำจิตให้เลื่อมใสด้วยคิดว่า ‘นี้เป็นสถูปของพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น’ พวกเขาทำจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้น หลังจาก
ตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น
ถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ อะไร
คือ ชนเป็นอันมากทำจิตให้เลื่อมใสด้วยคิดว่า ‘นี้เป็นสถูปของพระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขาทำจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้น หลังจากตายแล้วจะไป
เกิดในสุคติโลกสวรรค์ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจ
ประโยชน์ข้อนี้แล
พระสาวกของพระตถาคตเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์
อะไร
คือ ชนเป็นอันมากทำจิตให้เลื่อมใสด้วยคิดว่านี้เป็นสถูปของพระสาวกของ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขาทำจิตให้เลื่อมใสใน
สถูปนั้น หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ พระสาวกของพระตถาคตนั้น
เป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อง.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๔๗/๓๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์

พระเจ้าจักรพรรดิเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ อะไร
คือ ชนเป็นอันมากทำจิตให้เลื่อมใสด้วยคิดว่า นี้เป็นพระสถูปของพระธรรม-
ราชาผู้ทรงธรรมพระองค์นั้น พวกเขาทำจิตให้เลื่อมใสในพระสถูปนั้น หลังจากตาย
แล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ พระเจ้าจักรพรรดิเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัย
อำนาจประโยชน์ข้อนี้แล
อานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกนี้แล”

เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์

[๒๐๗] เวลานั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่พระวิหาร๑ ยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชร
ร้องไห้อยู่ว่า “เรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำ แต่พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์
เราจะปรินิพพานเสียแล้ว”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “อานนท์ไปไหน”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระอานนท์เข้าไปยังพระ
วิหาร ยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชรร้องไห้อยู่ว่า ‘เรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำ
แต่พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์เราจะปรินิพพานเสียแล้ว”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจงไป
บอกอานนท์ตามคำเราว่า ‘ท่านอานนท์ พระศาสดารับสั่งหาท่าน”
ภิกษุรูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่
บอกว่า “ท่านอานนท์ พระศาสดารับสั่งหาท่าน”
ท่านพระอานนท์รับคำแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ วิหาร ในที่นี้หมายถึงพลับพลา (มณฺฑลมาล) (ที.ม.อ. ๒๐๗/๑๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระอานนท์ดังนี้ว่า “อย่าเลย อานนท์ เธออย่า
เศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย เราบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ‘ความพลัดพราก
ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี
ฉะนั้น จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น มีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
ล้วนแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นไปไม่ได้ที่จะปรารถนาว่า ‘ขอสิ่งนั้นอย่าเสื่อมสลาย
ไปเลย’ เธออุปัฏฐากตถาคตมาช้านาน ด้วยเมตตากายกรรม อันเกื้อกูล ให้เกิดสุข
เสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีประมาณ ด้วยเมตตาวจีกรรม อันเกื้อกูล ให้เกิดสุข
เสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีประมาณ ด้วยเมตตามโนกรรม อันเกื้อกูล ให้เกิดสุข
เสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีประมาณ อานนท์ เธอได้ทำบุญไว้แล้ว จงประกอบ
ความเพียรเข้าเถิด เธอจะเป็นผู้สิ้นอาสวะโดยเร็ว”
[๒๐๘] จากนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุผู้อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใน
อดีตกาล ที่จัดว่าเป็นผู้อุปัฏฐากผู้ยอดเยี่ยมก็เหมือนอานนท์ของเรานี้เอง
ภิกษุผู้อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใน
อนาคตกาล ที่จัดว่าเป็นอุปัฏฐากผู้ยอดเยี่ยมก็เหมือนอานนท์ของเรานี้เอง
อานนท์เป็นบัณฑิต อานนท์มีปัญญาหลักแหลม ย่อมรู้ว่า ‘นี้เป็นเวลา
ของภิกษุที่จะเข้าเฝ้าพระตถาคต นี้เป็นเวลาของภิกษุณี นี้เป็นเวลาของอุบาสก
นี้เป็นเวลาของอุบาสิกา นี้เป็นเวลาของพระราชา นี้เป็นเวลาของราชมหาอำมาตย์
นี้เป็นเวลาของเดียรถีย์ นี้เป็นเวลาของสาวกเดียรถีย์’
[๒๐๙] ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะ ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้ มีอยู่
ในอานนท์
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าภิกษุบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้าอานนท์
แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจยินดี
ภิกษุบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์

๒. ถ้าภิกษุณีบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุณีบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุณีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๓. ถ้าอุบาสกบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้าอานนท์
แสดงธรรมในอุบาสกบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจยินดี
อุบาสกบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๔. ถ้าอุบาสิกาบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี
ถ้าอานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรม
ก็มีใจยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ใน
อานนท์๑
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้มีอยู่ในพระเจ้า
จักรพรรดิ
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าขัตติยบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในขัตติยบริษัทนั้น
แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี ขัตติยบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๒. ถ้าพราหมณบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็
มีใจยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในพราหมณ-
บริษัทนั้น แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี พราหมณบริษัท
ยังไม่เต็มอิ่ม เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๓. ถ้าคหบดีบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มี
ใจยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในคหบดีบริษัทนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๒๙/๑๙๗-๑๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์

แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี คหบดีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๔. ถ้าสมณบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในสมณบริษัทนั้น
แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี สมณบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ในพระเจ้า
จักรพรรดิ
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีอยู่ในอานนท์
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าภิกษุบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๒. ถ้าภิกษุณีบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุณีบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุณีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๓. ถ้าอุบาสกบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสกบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสกบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๔. ถ้าอุบาสิกาบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะ ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ใน
อานนท์”๑

เชิงอรรถ :
๑ดู องฺ.จตุกฺก (แปล) ๒๑/๑๓๐/๑๙๘-๑๙๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ทรงแสดงมหาสุทัสสนสูตร

ทรงแสดงมหาสุทัสสนสูตร๑

[๒๑๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคอย่าได้ปรินิพพานใน
เมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่งเช่นนี้ เมืองใหญ่เหล่าอื่นยังมีอยู่ เช่น กรุงจัมปา
กรุงราชคฤห์ กรุงสาวัตถี เมืองสาเกต กรุงโกสัมพี กรุงพาราณสี ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด ขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล
คหบดีมหาศาล๒ผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มากในเมืองเหล่านั้น ท่าน
เหล่านั้นจะทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น อย่าพูดอย่างนั้นว่า
‘กุสินาราเป็นเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่ง’
อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ามหาสุทัสสนะ
ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็น
ขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
กรุงกุสินารานี้มีนามว่ากรุงกุสาวดี ได้เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ด้านทิศ
ตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑๒ โยชน์ ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้าง ๗ โยชน์
กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น เศรษฐกิจดี
เหมือนกับกรุงอาฬกมันทา ซึ่งเป็นราชธานีของทวยเทพที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก
มียักษ์หนาแน่น เศรษฐกิจดี อานนท์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่อึกทึกครึกโครม
เพราะเสียง ๑๐ ชนิด ทั้งวันทั้งคืน ได้แก่ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง
เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคมดนตรี และเสียงว่า
‘ท่านทั้งหลายโปรดบริโภค ดื่ม เคี้ยวกิน’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๒๔๑-๒๔๒ หน้า ๑๘๑ ในเล่มนี้
๒ มหาศาล หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก ขัตติยมหาศาลมีพระราชทรัพย์ ๑๐๐-๑,๐๐๐ โกฏิ พราหมณมหาศาล
มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ (ที.ม.อ. ๒๑๐/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
การถวายอภิวาทของเจ้ามัลละ

ไปเถิด อานนท์ เธอจงเข้าไปกรุงกุสินาราแจ้งแก่เจ้ามัลละทั้งหลายผู้ครอง
กรุงกุสินาราว่า ‘วาเสฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรี
วันนี้ ท่านทั้งหลายจงรีบออกไป จงรีบออกไป จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า
‘พระตถาคตปรินิพพานในเขตบ้านเมืองของพวกเรา พวกเรา (กลับ) ไม่ได้เฝ้าพระตถาคต
เป็นครั้งสุดท้าย” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ครองอันตรวาสกถือ
บาตรและจีวรเข้าไปยังกรุงกุสินาราเพียงผู้เดียว

การถวายอภิวาทของเจ้ามัลละ

[๒๑๑] ขณะนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารา กำลังประชุมกันอยู่ที่
สัณฐาคารด้วยราชกิจบางอย่าง ท่านพระอานนท์เข้าไปที่สัณฐาคารของพวกเจ้ามัลละ
ถวายพระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่ง
ราตรีวันนี้ ท่านทั้งหลายจงรีบออกไป จงรีบออกไป จะได้ไม่เสียพระทัยในภายหลังว่า
‘พระตถาคตปรินิพพานในเขตบ้านเมืองของพวกเรา พวกเรา(กลับ)ไม่ได้เฝ้าพระ
ตถาคตเป็นครั้งสุดท้าย’
พวกเจ้ามัลละ โอรส๑ สุณิสา และปชาบดีของพวกเจ้ามัลละพอสดับคำของ
ท่านพระอานนท์ ทรงเศร้าเสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยโทมนัส บางพวกสยายพระเกศา
ทรงประคองพระพาหา กันแสงคร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคนเท้าขาด
ทรงเพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย
จักษุของโลกจักด่วนอันตรธานไป’
จากนั้น พวกเจ้ามัลละ โอรส สุณิสา และปชาบดีของพวกเจ้ามัลละ ทรงเศร้า
เสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยโทมนัสต่างพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ที่สาลวันซึ่งเป็น
ทางเข้ากรุงกุสินาราของพวกเจ้ามัลละ
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดดังนี้ว่า “ถ้าเราจะให้เจ้ามัลละทั้งหลายผู้ครองกรุง
กุสินาราถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทีละองค์ ๆ จะถวายอภิวาทไม่ทั่วกัน ราตรี
จะสว่างก่อน ทางที่ดี เราควรให้ได้ถวายอภิวาทตามลำดับตระกูล โดยกราบทูลว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละมีชื่อนี้พร้อมโอรส ชายา บริษัท และอำมาตย์

เชิงอรรถ :
๑โอรส หมายถึงบุตรที่มารดาเลี้ยงดูให้เจริญอยู่บนอก (เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด) (ที.ม.อ. ๑๕๓/๑๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องสุภัททปริพาชก

ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร” แล้วจึงจัดให้เจ้า
มัลละทั้งหลายผู้ครองกรุงกุสินาราถวายอภิวาทตามลำดับตระกูล โดยกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละมีชื่อนี้พร้อมโอรส ชายา บริษัท และอำมาตย์
ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร” ด้วยวิธีนี้ ท่าน
พระอานนท์สามารถจัดให้เจ้ามัลละทั้งหลายถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคได้เสร็จชั่ว
เวลาปฐมยามเท่านั้น

เรื่องสุภัททปริพาชก

[๒๑๒] สมัยนั้น สุภัททปริพาชกอาศัยอยู่ในกรุงกุสินารา ได้ทราบว่า
“พระสมณโคดมจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้” เขาคิดดังนี้ว่า “เราได้ฟัง
คำของพวกปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า
‘พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นในโลกเป็นครั้งคราว’ พระสมณ-
โคดมจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ก็เรายังมีความสงสัยอยู่ เราเลื่อมใส
ท่านพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมจะแสดงธรรมให้เราละความสงสัย
นี้ได้’ จึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ที่สาลวันซึ่งเป็นทางเข้ากรุงกุสินาราของพวกเจ้า
มัลละได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ ข้าพเจ้าได้ฟังคำของพวก
ปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘พระตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นในโลกเป็นครั้งคราว’ พระสมณโคดมจะ
ปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ข้าพเจ้ายังมีความสงสัยอยู่ ข้าพเจ้าเลื่อมใส
พระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมจะแสดงธรรมให้ข้าพเจ้าละความสงสัยนี้ได้’
ขอโอกาสให้ข้าพเจ้าได้เฝ้าพระสมณโคดมเถิด”
เมื่อสุภัททปริพาชกกล่าวอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ตอบว่า “อย่าเลย สุภัททะ
ผู้มีอายุ ท่านอย่ารบกวนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงเหน็ดเหนื่อย”
แม้ครั้งที่ ๒ สุภัททปริพาชกก็กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องสุภัททปริพาชก

แม้ครั้งที่ ๓ สุภัททปริพาชกก็กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์
ข้าพเจ้าได้ฟังคำของพวกปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์
พูดกันว่า ‘พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นในโลกเป็นครั้งคราว’
พระสมณโคดมจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ข้าพเจ้ายังมีความสงสัยอยู่
ข้าพเจ้าเลื่อมใสพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมจะแสดงธรรมให้ข้าพเจ้า
ละความสงสัยนี้ได้’ ขอโอกาสให้ข้าพเจ้าได้เฝ้าพระสมณโคดมเถิด”
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์ก็กล่าวกับสุภัททปริพาชกดังนี้ว่า “อย่าเลย
สุภัททะผู้มีอายุ ท่านอย่ารบกวนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงเหน็ดเหนื่อย”
[๒๑๓] พระผู้มีพระภาคทรงได้ยินถ้อยคำของท่านพระอานนท์เจรจากับ
สุภัททปริพาชก จึงรับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อย่าห้ามสุภัททะเลย
อานนท์ ให้สุภัททะเข้ามาหาตถาคต เขาจะถามปัญหาบางอย่างกับเรา เขาจะถาม
เพื่อหวังความรู้เท่านั้น ไม่หวังรบกวนเรา อนึ่ง เมื่อเราตอบสิ่งที่ถาม เขาจะรู้ได้ทันที”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับสุภัททปริพาชกดังนี้ว่า “ไปเถิดสุภัททะ
ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคประทานโอกาสแก่ท่าน”
สุภัททปริพาชกจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัย
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ
เป็นอาจารย์ มีชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ประชาชนยกย่องกันว่าเป็นคนดี
ได้แก่ ปูรณะ กัสสปะ มักขลิ โคศาล อชิตะ เกสกัมพล ปกุธะ กัจจายนะ สัญชัย
เวลัฏฐบุตร นิครนถ์ นาฏบุตร เจ้าลัทธิเหล่านั้นทั้งหมดรู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือ
ไม่ได้รู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สุภัททะ อย่าเลย เรื่องที่เธอถามว่า ‘เจ้าลัทธิ
เหล่านั้นทั้งหมดรู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือไม่รู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือบางพวกรู้
บางพวกไม่รู้’ อย่าได้สนใจเลย เราจะแสดงธรรมแก่เธอ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจะกล่าว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องสุภัททปริพาชก

สุภัททปริพาชกทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
[๒๑๔] “สุภัททะ ในธรรมวินัยที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๑
ย่อมไม่มีสมณะที่ ๒ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๓ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๔๑ ในธรรมวินัยที่มี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมมีสมณะที่ ๑ ย่อมมีสมณะที่ ๒ ย่อมมีสมณะที่ ๓ ย่อมมี
สมณะที่ ๔ สุภัททะ ในธรรมวินัยนี้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรม
วินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
เท่านั้น สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลายผู้รู้
ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์
ทั้งหลาย
สุภัททะ เราบวชขณะอายุ ๒๙ ปี
แสวงหาว่าอะไร คือกุศล
เราบวชมาได้ ๕๐ ปีกว่า
ยังไม่มีแม้สมณะที่ ๑ ภายนอกธรรมวินัยนี้
ผู้อาจแสดงธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
ไม่มีสมณะที่ ๒ ไม่มีสมณะที่ ๓ ไม่มีสมณะที่ ๔ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลาย
ผู้รู้ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์
ทั้งหลาย”
[๒๑๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ สุภัททปริพาชกได้กราบทูลว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ในที่นี้ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี
และพระอรหันต์ ตามลำดับ (ที.ม.อ. ๒๑๔/๑๙๖) และดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๘๗๕/๔๙๗-๔๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องสุภัททปริพาชก

ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิด
ของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจัก
เห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น
สรณะ และข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สุภัททะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ประสงค์จะบรรพชา
ประสงค์จะอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือนล่วงไป
เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชา จะให้อุปสมบทเป็นภิกษุได้ อนึ่ง ในเรื่องนี้เราคำนึงถึง
ความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย”
สุภัททปริพาชกกราบทูลว่า “หากผู้ที่เคยเป็นอัญเดียรถีย์ประสงค์จะบรรพชา
ประสงค์จะอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือน
ล่วงไป เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชา จะให้อุปสมบทเป็นภิกษุได้ ข้าพระองค์จัก
ขออยู่ปริวาส ๔ ปี หลังจาก ๔ ปีล่วงไป เมื่อภิกษุพอใจ ก็จงให้บรรพชา จงให้
อุปสมบทเป็นภิกษุเถิด”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้สุภัททะบวช”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ในขณะนั้น สุภัททปริพาชกจึง
กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านพระอานนท์ เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว
ที่พระศาสดาทรงแต่งตั้งท่านโดยมอบหมายให้บรรพชาอันเตวาสิก๑ ในที่เฉพาะพระ
พักตร์”

เชิงอรรถ :
๑ ความนี้แปลมาจากคำว่า อนฺเตวาสิกาภิเสเกน อภิสิตฺตา หมายถึงการที่อาจารย์แต่งตั้งศิษย์ในสำนักให้
บวชลูกศิษย์แทนตน ซึ่งเป็นจารีตของลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา ถือเป็นเกียรติยศที่ใคร ๆ ก็อยากได้
สุภัททะ ถือตามจารีตนี้กล่าวยกย่องท่านพระอานนท์ (ที.ม.อ. ๒๑๕/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

สุภัททปริพาชก ได้การบรรพชาได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค
แล้วแล เมื่อท่านสุภัททะได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปอยู่ผู้เดียว
ไม่ประมาทมีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่๑ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม
อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
จึงเป็นอันว่าท่านสุภัททะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ท่านได้เป็นสักขิสาวก๒ องค์สุดท้ายของพระผู้มีพระภาค

ภาณวารที่ ๕ จบ

พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

[๒๑๖] ต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
บางทีพวกเธออาจจะคิดว่า ‘ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา’
ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอ
ทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย
อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป ภิกษุไม่ควรเรียกกันและกันด้วยวาทะว่า ‘อาวุโส‘๓
เหมือนดังที่เรียกกันตอนนี้ ภิกษุผู้แก่กว่าพึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือตระกูล
โดยวาทะว่า ‘อาวุโส’ ก็ได้ ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ‘ภันเต’ หรือ

เชิงอรรถ :
๑ อุทิศกายและใจอยู ในที่นี้หมายถึงมุ่งที่จะบรรลุอรหัตตผล โดยไม่ห่วงอาลัยต่อร่างกายและชีวิตของตน
(ที.ม.อ. ๒๐๔/๑๙๐, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๓)
๒ สักขิสาวก แปลว่า พระสาวกที่ทันเห็นองค์พระพุทธเจ้า มี ๓ พวก คือ (๑) ผู้บรรพชาอุปสมบท เรียน
กัมมัฏฐาน บรรลุอรหัตตผลเมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ (๒) ผู้ได้บรรพชาอุปสมบท เมื่อ
พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ต่อมาได้เรียนกัมมัฏฐานและบรรลุอรหัตตผล (๓) ผู้ได้เรียนกัมมัฏฐาน
เมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ พระสุภัททะจัดอยู่ในพวกที่ ๑ (ที.ม.อ. ๒๑๕/๑๙๘) ดูเทียบ ที.สี.
(แปล) ๙/๔๐๕/๑๗๔, ม.ม. ๑๓/๒๒๒/๑๙๕-๑๙๖, สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๙๖/๒๘๑
๓ อาวุโส แปลว่า ผู้มีอายุ เดิมใช้เป็นคำเรียกกันเป็นสามัญ คือ ภิกษุผู้แก่กว่าใช้เรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าหรือ
ภิกษุผู้อ่อนกว่า ใช้เรียกภิกษุผู้แก่กว่าก็ได้ (ที.ม.อ. ๓๑๖/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

‘อายัสมา’ ก็ได้ อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบท
เล็กน้อย๑เสียบ้างก็ถอนได้ อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่
ภิกษุฉันนะ”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พรหมทัณฑ์ เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ภิกษุฉันนะพึงพูดได้ตามต้องการ
แต่ภิกษุไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนพร่ำสอนเธอ”
[๒๑๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) เธอทั้งหลายจงถามเถิด
จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า ‘พระศาสดายังอยู่ต่อหน้า เราไม่กล้าทูลถามในที่เฉพาะ
พระพักตร์” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายตรัสว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา เธอทั้งหลายจงถามเถิด จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า
พระศาสดายังอยู่ต่อหน้า เราไม่กล้าทูลถามในที่เฉพาะพระพักตร์”

เชิงอรรถ :
๑ สิกขาบทเล็กน้อย พระสังคีติกาจารย์ในที่ประชุมสังคายนาครั้งแรกมีความเห็นต่างกันเป็น ๕ พวก คือ
พวกที่ ๑ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ ๒ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ ๓ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท
อื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ ๔ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒
สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ ๕ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒
ปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ในบรรดาความเห็นเหล่านี้ ไม่มีความเห็นใดได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์ ฉะนั้น ที่ประชุมจึงมีมติ
ไม่ให้ถอน (วิ.จู. (แปล) ๗/๔๔๑/๓๘๒, ที.ม.อ. ๒๑๖/๒๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าเธอทั้งหลายไม่กล้าถามเพราะความเคารพในศาสดา ก็ขอให้ภิกษุผู้เป็นเพื่อนบอก
(ความสงสัย) แก่ภิกษุผู้เป็นเพื่อนให้(ถาม) ก็ได้๑ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้
ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ ข้าพระองค์เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ว่า แม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มี
ความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือใน
ปฏิปทา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธอกล่าวเพราะความเลื่อมใส แต่ตถาคตมี
ญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ดีว่า ในภิกษุสงฆ์นั้น แม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มีความสงสัย
หรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา
ในจำนวนภิกษุ ๕๐๐ รูป ภิกษุผู้มีคุณธรรมขั้นต่ำสุด เป็นพระโสดาบัน๒ ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๓
[๒๑๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด๔” นี้เป็นพระปัจฉิมวาจา
ของพระตถาคต

เชิงอรรถ :
๑ อรรถกถากล่าวเสริมความให้เต็มว่า “เราจะกล่าวกับภิกษุเพียงรูปเดียว ภิกษุทั้งหมดได้ฟังแล้วก็จักหาย
สงสัย” (ที.ม.อ. ๒๑๗/๒๐๑)
๒ พระโสดาบัน ในที่นี้ทรงหมายถึงท่านพระอานนท์ (ที.ม.อ. ๒๑๗/๒๐๑)
๓ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๖/๑๒๑-๑๒๒
๔ พระพุทธพจน์บทนี้ แสดงให้เห็นว่า ทรงย่อพระพุทโธวาทที่ทรงประกาศตลอดเวลา ๔๕ ปี ลงในบทว่า
ความไม่ประมาทเพียงบทเดียว (ที.ม.อ. ๒๑๘/๒๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องพุทธปรินิพพาน

เรื่องพุทธปรินิพพาน๑

[๒๑๙] ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน
ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้า
จตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌาน ทรงเข้าอากาสานัญจายตนสมาบัติ ออกจาก
อากาสานัญจายตนสมาบัติ ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ออกจากวิญญาณัญ-
จายตนสมาบัติ ทรงเข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
ขณะนั้น ท่านพระอานนท์เรียนถามท่านพระอนุรุทธะดังนี้ว่า “ท่านอนุรุทธะ
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วหรือ”
ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า “ท่านอานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคยังไม่
ปรินิพพาน ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่”
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ทรงเข้า
เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ทรงเข้า
อากิญจัญญายตนสมาบัติ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติ ทรงเข้าวิญญาณัญ-
จายตนสมาบัติ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ทรงเข้าอากาสานัญจายตน-
สมาบัติ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติ ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจาก
จตุตถฌาน ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจาก
ทุติยฌาน ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจาก
ทุติยฌาน ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจาก
จตุตถฌานแล้วได้เสด็จดับขันธปรินิพพานในลำดับถัดมา
[๒๒๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหว
อย่างรุนแรงน่ากลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้องขึ้นพร้อมกับการ
เสด็จดับขันธปรินิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘๖/๒๕๙-๒๖๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องพุทธปรินิพพาน

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวคาถานี้
ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
“สรรพสัตว์จะต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก
พระศาสดาผู้หาใครเปรียบเทียบไม่ได้ในโลก
ผู้เข้าถึงสภาวะตามความเป็นจริง ผู้บรรลุพลธรรม๑
ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเช่นนี้ ก็ยังปรินิพพาน”
[๒๒๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท้าวสักกะจอมเทพ
กล่าวคาถานี้ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
“สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความสงบแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข”๒
[๒๒๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านพระอนุรุทธะ
กล่าวคาถาเหล่านี้ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
“ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ของพระผู้มีพระภาคผู้มีพระทัยมั่นคง ผู้คงที่ ไม่มีแล้ว
พระมุนีผู้ไม่หวั่นไหว ทรงมุ่งใฝ่สันติ ปรินิพพานเสียแล้ว
พระองค์ผู้มีพระทัยไม่หดหู่
ทรงอดกลั้นเวทนาได้ มีพระทัยหลุดพ้นแล้ว
ดุจดวงประทีปที่เคยโชติช่วงดับไปฉะนั้น”

เชิงอรรถ :
๑ บรรลุพลธรรม หมายถึงมีพระกำลังอันเกิดจากฌาน ๑๐ ที่เรียกว่า ทสพลญาณ หรือตถาคตพละ (ที.ม.อ.
๒๒๐/๒๐๒)
๒ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘๖/๒๖๑, สํ.นิ. ๑๖/๑๔๓/๑๘๕, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๑๖๘/๕๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องพุทธปรินิพพาน

[๒๒๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านพระอานนท์
กล่าวคาถานี้ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
“เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระอาการอันล้ำเลิศทุกอย่าง๑ปรินิพพานแล้ว
ได้เกิดเหตุอัศจรรย์น่ากลัว ขนพองสยองเกล้า”
[๒๒๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว บรรดาภิกษุเหล่านั้น
พวกที่ยังมีราคะ พากันประคองแขนคร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคน
เท้าขาด เพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย
จักษุของโลกด่วนอันตรธานไปแล้ว” ส่วนภิกษุผู้ไม่มีราคะ มีสติสัมปชัญญะ ก็อดกลั้น
ได้ว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เหล่าสัตว์จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้”
[๒๒๕] ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะเตือนภิกษุทั้งหลายว่า “อย่าเลย ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเคย
ตรัสสอนไว้มิใช่หรือว่า ความพลัดพราก ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่าง
อื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี ฉะนั้น จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนใน
สังขารนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น มีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่งล้วนแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นไป
ไม่ได้ที่จะปรารถนาว่า ‘ขอสิ่งนั้นอย่าเสื่อมสลายไปเลย’ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
พวกเทวดากำลังตำหนิอยู่”
ท่านพระอานนท์ถามว่า “ท่านอนุรุทธะ พวกเทวดาเป็นอย่างไร ทำใจได้หรือ”
ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า “ท่านอานนท์ มีเทวดาบางพวกเป็นผู้กำหนดแผ่นดิน
ขึ้นบนอากาศ สยายผม ประคองแขน ร้องไห้คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา
เหมือนคนเท้าขาด เพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคต
ด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกด่วนอันตรธานไปแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ มีพระอาการอันล้ำเลิศทุกอย่าง หมายถึงทรงมีเหตุอันล้ำเลิศทุกอย่างมีศีลเป็นต้น (ที.ม.อ. ๒๒๓/๒๐๓,
ที.ม.ฏีกา ๒๒๓/๒๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บูชาพระพุทธสรีระ

มีเทวดาบางพวกเป็นผู้กำหนดแผ่นดินขึ้นบนแผ่นดิน สยายผม ประคองแขน
ร้องไห้คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมาเหมือนคนเท้าขาด ฯลฯ”
ส่วนเทวดาที่ไม่มีราคะ มีสติสัมปชัญญะก็อดกลั้นได้ว่า “สังขารทั้งหลายไม่
เที่ยงหนอ เหล่าสัตว์จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้”
ท่านพระอนุรุทธะกับท่านพระอานนท์ให้เวลาผ่านไปด้วยการแสดงธรรมีกถา
ตลอดคืนยันรุ่ง
[๒๒๖] ต่อมา ท่านพระอนุรุทธะสั่งท่านพระอานนท์ว่า “ไปเถิด อานนท์ผู้มี
อายุ ท่านจงเข้าไปยังกรุงกุสินารา แจ้งแก่เจ้ามัลละทั้งหลายผู้ครองกรุงกุสินาราว่า
‘วาเสฏฐะทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดเวลา
ที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ท่านพระอานนท์รับคำแล้ว ตอนเช้าจึงครองอันตรวาสกถือ
บาตรและจีวรเข้าไปยังกรุงกุสินาราเพียงผู้เดียว
ขณะนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารากำลังประชุมกันอยู่ที่สัณฐาคารเกี่ยว
กับเรื่องปรินิพพาน ท่านพระอานนท์เข้าไปที่สัณฐาคารของพวกเจ้ามัลละแล้วถวาย
พระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ขอท่านทั้งหลาย
จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
พวกเจ้ามัลละ โอรส สุณิสา และปชาบดีของพวกเจ้ามัลละ พอได้สดับ
ข่าว(จาก)ท่านพระอานนท์อย่างนี้แล้ว ทรงโศกเสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยโทมนัส
บางพวกสยายพระเกศา ทรงประคองพระพาหา ทรงกันแสงคร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือก
ไปมา เหมือนคนเท้าขาด ทรงเพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคต
ด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกด่วนอันตรธานไปแล้ว”

บูชาพระพุทธสรีระ

[๒๒๗] ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารารับสั่งข้าราชบริพารว่า
“พนาย ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงเตรียมของหอมระเบียบดอกไม้และเครื่องดนตรี
ทุกอย่างที่มีในกรุงกุสินาราไว้ให้พร้อม” แล้วทรงถือเอาของหอมระเบียบดอกไม้
เครื่องดนตรีทุกอย่างและผ้า ๕๐๐ คู่ เสด็จเข้าไปยังสาลวันของพวกเจ้ามัลละซึ่งเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บูชาพระพุทธสรีระ

ทางเข้าเมือง ตรงไปยังพระพุทธสรีระแล้ว ทรงสักการะ เคารพ นบนอบ บูชา
พระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอก
ไม้และของหอม ทรงดาดเพดานผ้า ตกแต่งมณฑลมาลาอาสน์ ให้วันนั้นหมด
ไปด้วยกิจกรรมอย่างนี้
ต่อมา พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราทรงดำริว่า “วันนี้เย็นเกินไป ที่จะ
ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาค พรุ่งนี้เราจึงค่อยถวายพระเพลิง”
จากนั้นก็ทรงสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยการ
ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอม ทรงดาดเพดานผ้า
ตกแต่งมณฑลมาลาอาสน์ ให้เวลาวันที่ ๒ วันที่ ๓ วันที่ ๔ วันที่ ๕ วันที่ ๖ หมดไป
พอถึงวันที่ ๗ พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราทรงดำริว่า “เราสักการะ
เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง
ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอม จะอัญเชิญ (พระสรีระ) ไปทางทิศใต้
ของเมือง เสร็จแล้วจึงถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาคข้างนอกพระนคร
ทางทิศใต้”
[๒๒๘] ในวันนั้น ประมุขเจ้ามัลละ ๘ องค์ สรงสนานพระเศียรแล้วทรง
พระภูษาใหม่ ด้วยตั้งพระทัยว่า “พวกเราจะอัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาคขึ้น”
แต่ไม่อาจจะยกขึ้นได้
พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราจึงตรัสถามท่านพระอนุรุทธะว่า “ท่านพระ
อนุรุทธะ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้ประมุขเจ้ามัลละ ๘ องค์นี้
ทรงสรงสนานพระเศียรแล้วทรงพระภูษาใหม่ ด้วยตั้งพระทัยว่า ‘พวกเราจะอัญเชิญ
พระสรีระของพระผู้มีพระภาคขึ้น’ แต่ไม่อาจจะยกขึ้นได้”
ท่านพระอนุรุทธะถวายพระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย มหาบพิตรมีพระประสงค์
อย่างหนึ่ง พวกเทวดามีความประสงค์อีกอย่างหนึ่ง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บูชาพระพุทธสรีระ

พวกเจ้ามัลละตรัสถามว่า “พวกเทวดามีความประสงค์อย่างไร พระคุณเจ้า”
ท่านพระอนุรุทธะถวายพระพรว่า “มหาบพิตรมีพระประสงค์ว่า เราจะสักการะ
เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม
ดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอม จะอัญเชิญ (พระสรีระ) ไปทางทิศใต้ของเมือง
เสร็จแล้วจึงถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาคข้างนอกพระนครทางทิศใต้
แต่พวกเทวดามีความประสงค์ว่า ‘พวกเราจะสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระ
สรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้
และของหอมอันเป็นทิพย์ จะอัญเชิญ(พระสรีระ) ไปทางทิศเหนือของเมือง แล้วอัญเชิญ
เข้าสู่เมืองทางประตูด้านทิศเหนือ อัญเชิญผ่านใจกลางเมืองแล้วออกทางประตูด้าน
ทิศตะวันออก เสร็จแล้วจึงถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาคที่มกุฏพันธน-
เจดีย์๑ของพวกเจ้ามัลละ ทางทิศตะวันออกของเมือง”
พวกเจ้ามัลละตรัสว่า “ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเทวดาเถิด
พระคุณเจ้า”
[๒๒๙] ก็ในเวลานั้น ทั่วกรุงกุสินารากระทั่งซอกเรือน ท่อน้ำทิ้งและกองขยะ
ดารดาษไปด้วยดอกมณฑารพ อย่างต่ำสูงถึงเข่า พวกเทวดาและพวกเจ้ามัลละพา
กันสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ
ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอมทั้งที่เป็นของทิพย์และที่เป็นของ
มนุษย์ อัญเชิญ(พระสรีระ)ไปทางทิศเหนือของเมืองแล้วเข้าสู่เมืองทางประตูด้าน
ทิศเหนือ อัญเชิญผ่านใจกลางเมืองไปออกทางประตูด้านทิศตะวันออก เสร็จแล้วจึง
ประดิษฐาน พระสรีระของพระผู้มีพระภาค ณ มกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ
ทางทิศตะวันออกของเมือง
[๒๓๐] จากนั้น พวกเจ้ามัลละได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “พวก
ข้าพเจ้าจะพึงปฏิบัติต่อพระสรีระของพระตถาคต อย่างไร พระคุณเจ้า”

เชิงอรรถ :
๑ มกุฏพันธนเจดีย์ เป็นชื่อเรียกศาลามงคลซึ่งเป็นสถานที่ประดับเครื่องทรงพระวรกายของพวกเจ้ามัลละ
ในพระราชพิธีราชาภิเษก ที่เรียกว่า เจดีย์ เพราะเป็นสถานที่ควรเคารพยำเกรง (ที.ม.อ. ๒๒๘/๒๐๔,
ที.ม.ฏีกา ๒๒๘/๒๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บูชาพระพุทธสรีระ

ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “มหาบพิตรพึงปฏิบัติต่อพระสรีระของ
พระตถาคต เหมือนอย่างที่พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพของพระเจ้าจักรพรรดิ
นั่นแหละ”
พวกเจ้ามัลละตรัสถามว่า “พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพของพระเจ้า
จักรพรรดิอย่างไร พระคุณเจ้า”
ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “พวกเขาใช้ผ้าใหม่ห่อพระบรมศพของ
พระเจ้าจักรพรรดิเสร็จแล้ว จึงห่อด้วยสำลีบริสุทธิ์ แล้วจึงห่อด้วยผ้าใหม่อีกชั้นหนึ่ง
ทำโดยวิธีนี้ จนห่อพระบรมศพของพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าและสำลีได้ ๑,๐๐๐ ชั้น
แล้วอัญเชิญพระบรมศพลงในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ใช้รางเหล็กอีกอันหนึ่ง
ครอบแล้ว ทำจิตกาธานด้วยไม้หอมล้วน แล้วถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้า
จักรพรรดิ สร้างพระสถูปของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง พวกท่านพึง
ปฏิบัติต่อพระสรีระของพระตถาคต เหมือนอย่างที่พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพ
ของพระเจ้าจักรพรรดิ พึงสร้างพระสถูปของพระตถาคตไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง
ชนเหล่าใดจักยกระเบียบดอกไม้ ของหอม หรือจุรณ จักถวายอภิวาท หรือจักทำจิต
เลื่อมใสในพระสถูปนั้น การกระทำนั้นจักเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ชนเหล่านั้น
ตลอดกาลนาน”
ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารารับสั่งข้าราชบริพารว่า “ท่าน
ทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงเตรียมสำลีบริสุทธิ์ไว้ให้พร้อม” จากนั้นทรงใช้ผ้า
ใหม่ห่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาค เสร็จแล้วจึงห่อด้วยสำลีบริสุทธิ์ แล้วจึงห่อ
ด้วยผ้าใหม่อีกชั้นหนึ่ง ทำโดยวิธีดังนี้ จนห่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยผ้า
และสำลีได้ ๑,๐๐๐ ชั้น แล้วอัญเชิญพระสรีระลงในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ใช้ราง
เหล็กอีกอันหนึ่งครอบแล้ว ทำจิตกาธานด้วยไม้หอมล้วน แล้วอัญเชิญพระสรีระ
ของพระผู้มีพระภาคขึ้นสู่จิตกาธาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องพระมหากัสสปเถระ

เรื่องพระมหากัสสปเถระ๑

[๒๓๑] สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ
๕๐๐ รูป เดินทางไกลจากกรุงปาวาไปยังกรุงกุสินารา ขณะที่ท่านพระมหากัสสปะ
แวะลงข้างทางนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง พอดีมีอาชีวกคนหนึ่งถือดอกมณฑารพจากกรุง
กุสินารา เดินสวนทางจะไปกรุงปาวา ท่านพระมหากัสสปะเห็นอาชีวกนั้นกำลัง
เดินมาแต่ไกล จึงถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ท่านรู้ข่าวพระศาสดาของพวกเราบ้างไหม”
เขาตอบว่า “เรารู้ข่าว ท่านพระสมณโคดมปรินิพพานได้ ๗ วันเข้าวันนี้
เราถือดอกมณฑารพดอกนี้มาจากที่ปรินิพพานนั้น”
บรรดาภิกษุเหล่านั้น ผู้ที่ยังมีราคะ บางพวกประคองแขน คร่ำครวญ
ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคนเท้าขาด เพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วน
ปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกด่วนอันตรธานไปแล้ว”
ส่วนภิกษุผู้ไม่มีราคะ มีสติสัมปชัญญะก็อดกลั้นได้ว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
เหล่าสัตว์จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้”
[๒๓๒] สมัยนั้น มีภิกษุผู้บวชตอนแก่ชื่อสุภัททะ นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้น
ได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ อย่าเศร้าโศก อย่า
คร่ำครวญเลย พวกเรารอดพ้นแล้วจากมหาสมณะรูปนั้น ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา
อยู่ว่า ‘สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอ’ บัดนี้ เราปรารถนาสิ่งใด
ก็จักทำสิ่งนั้น พวกเราไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่ทำสิ่งนั้น”
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปะเรียกภิกษุทั้งหลายมาตักเตือนว่า “อย่าเลย
ท่านผู้มีอายุ อย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย พระผู้มีพระภาคตรัสสอนไว้ก่อน
อย่างนี้ว่า ‘ความพลัดพราก ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของ
รักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี ฉะนั้น จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้ สิ่งที่
เกิดขึ้น มีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ล้วนแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นไปไม่ได้ที่จะ
ปรารถนาว่า ‘ขอสิ่งนั้นอย่าเสื่อมสลายไปเลย”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๔๓๗/๓๗๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

[๒๓๓] สมัยนั้น ประมุขเจ้ามัลละ ๔ องค์ ทรงสนานพระเศียรแล้วทรง
พระภูษาใหม่ ด้วยตั้งพระทัยว่า “พวกเราจะจุดไฟที่จิตกาธานของพระผู้มีพระภาค”
แต่ไม่อาจจะจุดไฟให้ติดได้
ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราตรัสถามท่านพระอนุรุทธะว่า
“ท่านอนุรุทธะ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้ประมุขเจ้ามัลละ
๔ องค์นี้ ผู้ทรงสนานพระเศียรแล้วทรงพระภูษาใหม่ด้วยตั้งพระทัยว่า ‘พวกเราจะ
จุดไฟที่จิตกาธานของพระผู้มีพระภาค’ แต่ไม่อาจจะจุดไฟให้ติดได้เล่า”
ท่านพระอนุรุทธะถวายพระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย พวกเทวดามีความประสงค์
อีกอย่างหนึ่ง”
พวกเจ้ามัลละตรัสถามว่า “พวกเทวดามีความประสงค์อย่างไร พระคุณเจ้า”
ท่านพระอนุรุทธะถวายพระพรว่า “พวกเทวดามีความประสงค์ว่า ‘ท่านพระ
มหากัสสปะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เดินทางไกลจากกรุง
ปาวามายังกรุงกุสินารา จิตกาธานของพระผู้มีพระภาคจะยังไม่ลุกโพลง ตราบเท่า
ที่ท่านพระมหากัสสปะยังไม่ได้ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้า”
พวกเจ้ามัลละตรัสว่า “ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเทวดาเถิด
พระคุณเจ้า”
[๒๓๔] ต่อมา ท่านพระมหากัสสปะเข้าไปยังมกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ
ในกรุงกุสินารา ถึงจิตกาธานของพระผู้มีพระภาค ห่มจีวรเฉวียงบ่าประนมมือกระทำ
ประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบเปิดผ้าคลุมทางพระบาท ถวายอภิวาทพระยุคลบาท
ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นก็ห่มจีวรเฉวียงบ่า
ประนมมือทำประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบ ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มี
พระภาคด้วยเศียรเกล้า เมื่อท่านพระมหากัสสปะและภิกษุ ๕๐๐ รูป ถวายอภิวาท
เสร็จ จิตกาธานของพระผู้มีพระภาคได้ติดไฟลุกโพลงขึ้นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

[๒๓๕] เมื่อพระเพลิงไหม้พระสรีระของพระผู้มีพระภาค พระอวัยวะ คือ
พระฉวี (ผิวนอก) พระจัมมะ(หนัง) พระมังสา(เนื้อ) พระนหารู(เอ็น) หรือพระลสิกา
(ไขข้อหรือ ไขกระดูก) ไม่ปรากฏเถ้า ไม่ปรากฏเขม่าเลย คงเหลืออยู่แต่พระสรีระเท่านั้น
เปรียบเหมือนเมื่อไฟไหม้เนยใสและน้ำมัน ก็ไม่ปรากฏเถ้า ไม่ปรากฏเขม่า ฉันใด
เมื่อพระเพลิงไหม้พระสรีระของพระผู้มีพระภาค พระอวัยวะ คือ พระฉวี พระจัมมะ
พระมังสา พระนหารู หรือพระลสิกา ไม่ปรากฏเถ้า ไม่ปรากฏเขม่า คงเหลืออยู่แต่
พระสรีระ๑เท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน และบรรดาผ้า ๕๐๐ คู่นั้น มีเพียง ๒ ผืน
เท่านั้นที่ถูกไฟไหม้ คือ ผืนในสุดกับผืนนอกสุด ก็เมื่อพระเพลิงไหม้พระสรีระของ
พระผู้มีพระภาคแล้วแล ท่อน้ำไหลหลั่งมาจากอากาศดับจิตกาธานของพระผู้มีพระภาค
น้ำพุ่งขึ้นจากไม้สาละดับจิตกาธานของพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุง
กุสินาราดับจิตกาธานของพระผู้มีพระภาคด้วยน้ำหอมล้วน ๆ ต่อจากนั้น เจ้ามัลละ
ผู้ครองกรุงกุสินาราได้จัดกำลังพลหอกไว้รอบสัณฐาคารล้อมด้วยกำแพงธนู๒ (ป้องกัน
พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาค) แล้วสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระ
ของพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และ
ของหอมตลอด ๗ วัน

เชิงอรรถ :
๑ พระสรีระ ในที่นี้หมายถึงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า (ที.ม.อ. ๒๓๕/๒๑๒)
๒ ในการอารักขาพระบรมสารีริกธาตุซึ่งประดิษฐานบนสัณฐาคารนั้น พวกเจ้ามัลละได้ทรงจัดวางกำลัง
อารักขาไว้เป็นชั้น ๆ โดยรอบ ดังนี้
๑. ทรงจัดวางกำลังพลหอกที่เรียกว่า สัตติบัญชร ไว้รอบสัณฐานคารซึ่งจัดเป็นกองกำลังรอบในสุด
๒. ทรงจัดวางกำแพงธนูที่เรียกว่า ธนูปราการ ถัดออกมาจากกำลังพลหอก
ธนูปราการ (กำแพงธนู) ประกอบด้วย
๒.๑ พลช้าง (ให้ยืนแถวชิดกันจนกระพองจดกระพอง)
๒.๒ พลม้า (ให้ยืนแถวชิดกันจนคอจดคอ)
๒.๓ พลรถ (ให้จอดแถวชิดกันจนดุมจดดุม)
๒.๔ พลราบ (ให้ยืนแถวชิดกันจนแขนจดแขน)
๒.๕ พลธนู (ให้ยืนแถวถือธนูขัดกันและกัน) ซึ่งจัดเป็นกองกำลังอารักขารอบนอกสุด
(ที.ม.อ. ๒๓๕/๒๑๔, ที.ม.ฏีกา ๒๓๕/๒๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
แจกพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

แจกพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

[๒๓๖] พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้ทรง
สดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพานในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้า
มัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มีพระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์
จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรม
สารีริกธาตุและทำการฉลอง”
พวกเจ้าลิจฉวีผู้ครองกรุงเวสาลี ได้ทรงสดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
ในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระ
บรมสารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”
พวกเจ้าศากยะชาวกบิลพัสดุ์ ได้ทรงสดับว่า “พระผู้พระภาคปรินิพพานใน
กรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงเป็นพระญาติผู้ประเสริฐที่สุดของพวกเรา พวกเราควรจะได้รับส่วนแบ่ง
พระบรมสารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”
พวกเจ้าถูลีผู้ครองกรุงอัลลกัปปะ ได้ทรงสดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
ในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”
พวกเจ้าโกลิยะผู้ครองกรุงรามคาม ได้ทรงสดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
ในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”
พราหมณ์ผู้ครองกรุงเวฏฐทีปกะ ได้สดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
ในกรุงกุสินารา” จึงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “แม้พระผู้มี
พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ เราเป็นพราหมณ์ เราก็ควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
แจกพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงปาวา ได้ทรงสดับว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
ในกรุงกุสินารา จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “แม้พระผู้มี
พระภาคเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”
เมื่อทูตจากเมืองต่าง ๆ กราบทูลอย่างนี้ พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารา
ได้ตรัสตอบกับหมู่คณะทูตเหล่านั้นดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพานในเขตบ้าน
เมืองของเรา พวกเราจะไม่ให้ส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ”
[๒๓๗] เมื่อพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราได้ตรัสอย่างนี้ โทณพราหมณ์
ได้กล่าวกับหมู่คณะทูตเหล่านั้นดังนี้ว่า
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
โปรดฟังคำชี้แจงของข้าพเจ้าหน่อยหนึ่งเถิด
พระพุทธเจ้าของพวกเราทรงถือหลักขันติธรรม
ไม่ควรที่จะประหัตประหารกัน
เพราะส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุคคล
ขอให้ทุกฝ่ายพร้อมใจกัน
แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน
พระสถูปจะได้แพร่กระจายไปยังทิศต่าง ๆ
มีประชาชนจำนวนมาก
ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ”
[๒๓๘] หมู่คณะทูตเหล่านั้นตอบว่า “ท่านพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านนั่นแหละ
จงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่า ๆ กันให้เรียบร้อย”
โทณพราหมณ์รับคำแล้ว แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่า ๆ กัน
ให้เรียบร้อยแล้ว จึงได้กล่าวกับหมู่คณะทูตเหล่านั้นดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
โปรดให้ทะนานนี้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะสร้างพระสถูปบรรจุทะนาน(ตุมพะ)และทำ
การฉลอง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
บูชาพระบรมธาตุและสร้างพระสถูป

พวกเขาจึงได้มอบทะนานให้โทณพราหมณ์
พวกเจ้าโมริยะผู้ครองกรุงปิปผลิวันได้ทรงสดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
ในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”
พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราตอบว่า “(บัดนี้) ไม่มีส่วนแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุ พระบรมสารีริกธาตุได้แบ่งกันหมดแล้ว พวกท่านจงนำเอาพระอังคาร
(เถ้า)ไปจากที่นี้เถิด”
พวกทูตเหล่านั้น จึงนำเอาพระอังคารไปจากที่นั้น

บูชาพระบรมธาตุและสร้างพระสถูป

[๒๓๙] เวลานั้น พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร
ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงราชคฤห์ พวก
เจ้าลิจฉวีผู้ครองกรุงเวสาลี ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการ
ฉลองในกรุงเวสาลี พวกเจ้าศากยะชาวกบิลพัสดุ์ ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรม
สารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงกบิลพัสดุ์ พวกเจ้าถูลีผู้ครองกรุงอัลลกัปปะ
ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงอัลลกัปปะ พวกเจ้า
โกลิยะผู้ครองกรุงรามคาม ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการ
ฉลองในกรุงรามคาม พราหมณ์ผู้ครองกรุงเวฏฐทีปกะ สร้างพระสถูปบรรจุพระ
บรมสารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงเวฏฐทีปกะ พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงปาวา
ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงปาวา พวกเจ้า
มัลละผู้ครองกรุงกุสินารา ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการ
ฉลองในกรุงกุสินารา แม้โทณพราหมณ์ก็สร้างพระสถูปบรรจุทะนานและทำการฉลอง
พวกเจ้าโมริยะผู้ครองกรุงปิปผลิวัน ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระอังคารและทำการฉลอง
ในกรุงปิปผลิวัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
บูชาพระบรมธาตุและสร้างพระสถูป

รวมเป็นพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๘ แห่ง พระสถูปที่บรรจุทะนาน
เป็นแห่งที่ ๙ และพระสถูปที่บรรจุพระอังคารเป็นแห่งที่ ๑๐ การแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุและการสร้างพระสถูปเคยมีมาแล้วอย่างนี้
[๒๔๐] พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระจักษุ
ซึ่งเป็นบุคคลประเสริฐสุดมี ๘ ทะนาน
ประชาชนบูชากันอยู่ในชมพูทวีป ๗ ทะนาน
พระราชาเผ่านาคบูชาอยู่ในรามคาม ๑ ทะนาน
เทพชั้นดาวดึงส์บูชาพระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่ง
ส่วนพระเขี้ยวแก้วอีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ในคันธารบุรี
อีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ
อีกองค์หนึ่ง พระราชาเผ่านาคบูชาอยู่
ด้วยพระเดชแห่งพระบรมสารีริกธาตุนั้น
แผ่นดินใหญ่นี้ประดับด้วยนักพรตผู้ประเสริฐ
พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระจักษุนี้
ชื่อว่าอันสาธุชนสักการะกันดีแล้ว
พระพุทธเจ้าพระองค์ใด
อันจอมเทพ จอมนาค และจอมคนบูชาแล้ว
อันจอมมนุษย์ผู้ประเสริฐสุดบูชาแล้วเหมือนกัน
ท่านทั้งหลายจงประนมมือไหว้พระบรมสารีริกธาตุองค์นั้นๆ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นบุคคลหาได้ยาก
โดยใช้เวลาถึง ๑๐๐ กัป
พระทนต์ ๔๐ องค์ พระเกศา และพระโลมาทั้งหมด
เหล่าเทพนำไปองค์ละองค์(บูชา)สืบๆ กันไปในจักรวาล

มหาปรินิพพานสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] กุสาวดีราชธานี

๔. มหาสุทัสสนสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ามหาสุทัสสนะ

[๒๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
ในสมัยครั้งหนึ่ง เมื่อใกล้จะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ระหว่าง
ไม้สาละทั้งคู่ ณ สาลวันของพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราซึ่งเป็นทางเข้ากรุงกุสินารา
ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี
พระภาคอย่าได้ปรินิพพานในเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่งนี้ เมืองใหญ่เหล่าอื่น
ยังมีอยู่ เช่น กรุงจัมปา กรุงราชคฤห์ กรุงสาวัตถี เมืองสาเกต กรุงโกสัมพี
กรุงพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด ขัตติยมหาศาล
พราหมณมหาศาล คหบดีมหาศาล ผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มาก
ในเมืองเหล่านั้น ท่านเหล่านี้จะทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต”
[๒๔๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น อย่าพูด
อย่างนั้นว่า ‘กุสินาราเป็นเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่ง’

กุสาวดีราชธานี

อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีกษัตราธิราชพระนามว่ามหาสุทัสสนะผู้ได้รับ
มูรธาภิเษกแล้วทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ
มีพระราชอาณาจักรมั่นคง กรุงกุสินารานี้มีนามว่ากุสาวดี ได้เป็นราชธานีของ
พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑๒ โยชน์
ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้าง ๗ โยชน์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรือง
มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น เศรษฐกิจดี เหมือนกับกรุงอาฬกมันทาซึ่ง
เป็นราชธานีของทวยเทพที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก มียักษ์หนาแน่น เศรษฐกิจดี
อานนท์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่อึกทึกครึกโครมเพราะเสียง ๑๐ ชนิดทั้งวันทั้งคืน
ได้แก่ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง
เสียงกังสดาล เสียงประโคมดนตรี และเสียงว่า ‘ท่านทั้งหลายโปรดบริโภค ดื่ม
เคี้ยวกิน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] กุสาวดีราชธานี

กรุงกุสาวดีราชธานี มีกำแพงล้อม ๗ ชั้น ได้แก่ (๑) กำแพงทอง (๒) กำแพงเงิน
(๓) กำแพงแก้วไพฑูรย์ (๔) กำแพงแก้วผลึก (๕) กำแพงแก้วโกเมน (๖) กำแพงแก้ว
บุษราคัม (๗) กำแพงทำด้วยรัตนะทุกอย่าง มีประตู ๔ สี ได้แก่ (๑) ประตูทอง
(๒) ประตูเงิน (๓) ประตูแก้วไพฑูรย์ (๔) ประตูแก้วผลึก แต่ละประตูมีเสาระเนียด
ปักไว้ประตูละ ๗ ต้น ได้แก่ (๑) เสาทอง (๒) เสาเงิน (๓) เสาแก้วไพฑูรย์
(๔) เสาแก้วผลึก (๕) เสาแก้วโกเมน (๖) เสาแก้วบุษราคัม (๗) เสาทำด้วยรัตนะ
ทุกอย่าง แต่ละเสาวัดโดยรอบ ๓ ชั่วบุรุษ ฝังลึก ๓ ชั่วบุรุษ สูง ๑๒ ชั่วบุรุษ๑
กรุงกุสาวดีราชธานีมีต้นตาลล้อม ๗ แถว ได้แก่ ต้นตาลทอง ๑ แถว ต้นตาลเงิน
๑ แถว ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ ๑ แถว ต้นตาลแก้วผลึก ๑ แถว ต้นตาลแก้วโกเมน
๑ แถว ต้นตาลแก้วบุษราคัม ๑ แถว ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ๑ แถว
ต้นตาลทองมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ต้นตาลเงินมีลำต้นเป็นเงิน ใบและ
ผลเป็นทอง ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ มีลำต้นเป็นแก้วไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก
ต้นตาลแก้วผลึก มีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็นแก้วไพฑูรย์ ต้นตาลแก้วโกเมน
มีลำต้นเป็นแก้วโกเมน ใบและผลเป็นแก้วบุษราคัม ต้นตาลแก้วบุษราคัม มีลำต้น
เป็นแก้วบุษราคัม ใบและผลเป็นแก้วโกเมน ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง มีลำต้น
ทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
แถวต้นตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้
เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรีเครื่องห้า๒ ที่บุคคลปรับเสียงดี ประโคมดีแล้ว บรรเลง
โดยผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้มฉันใด แถวต้น
ตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม
ฉันนั้น สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง
ตามเสียงแถวต้นตาลยามต้องลมเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ชั่วบุรุษ ในที่นี้หมายถึงชื่อมาตราวัดโบราณ ๑ ชั่วบุรุษเท่ากับ ๕ ศอก (ที.ม.อ. ๒๔๑-๒๔๒/๒๒๕)
๒ ดนตรีเครื่องห้า คือ (๑) อาตฏะ กลองที่หุ้มหนังหน้าเดียว (เช่น กลองยาว) (๒) วิตฏะ กลองหุ้มทั้ง ๒ หน้า
(เช่น ตะโพน) (๓) อาตฏวิตฏะ กลองหุ้มหนังโดยรอบ(เช่น บัณเฑาะว์) (๔) สุสิระ เครื่องเป่า(เช่น ปี่และสังข์)
(๕)ฆนะเครื่องประโคม (เช่น ฉาบฉิ่ง) (ที.ม.อ. ๒๔๒/๒๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] จักรแก้ว

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ๑
จักรแก้ว

[๒๔๓] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ
และฤทธิ์(ความสำเร็จ) ๔ ประการ
แก้ว ๗ ประการ อะไรบ้าง
คือ ในเรื่องแก้ว ๗ ประการนี้
๑. เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษา
อุโบสถ เสด็จขึ้นสู่ปราสาทหลังงาม ปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ซึ่งมีกำ ๑,๐๐๐ ซี่
มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะทอดพระเนตรแล้ว
ทรงดำริว่า ‘เราได้ฟังเรื่องนี้ว่า ‘กษัตราธิราชพระองค์ใด ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
ทรงสนานพระเศียรในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษาอุโบสถ เสด็จขึ้นสู่ปราสาทหลังงาม
จะปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบ
ทุกอย่าง กษัตราธิราชพระองค์นั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ’ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
กระมัง”
[๒๔๔] ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงลุกจากที่ประทับ ทรงพระภูษา
เฉวียงบ่า พระหัตถ์ซ้ายทรงจับพระเต้าทอง พระหัตถ์ขวาทรงชูจักรแก้วขึ้น ตรัสว่า
‘จักรแก้วอันประเสริฐจงหมุนไป จงได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่’ ทันใดนั้น จักรแก้วหมุนไป
ทางทิศตะวันออก ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรม
พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วหยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์
ในทิศตะวันออก พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า
พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์
โปรดประทานพระบรมราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๘๕-๘๗/๕๒-๕๔, ม.อุ. ๑๔/๒๕๖-๒๕๙/๒๒๓-๒๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] จักรแก้ว

ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจง
ครอบครองราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อ
ท้าวเธอ
จากนั้น จักรแก้วหมุนไปยังมหาสมุทรทิศตะวันออก แล้วกลับเวียนไปทางทิศใต้
ฯลฯ หมุนไปยังมหาสมุทรทิศใต้แล้วกลับเวียนไปทางทิศตะวันตก ฯลฯ หมุนไปยัง
มหาสมุทรทิศตะวันตก แล้วกลับเวียนไปทางทิศเหนือ ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินี-
เสนาได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้ว
หยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือพากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูล
อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ ราชสมบัติ
ของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระบรมราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’
ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า “พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจง
ครอบครองราชสมบัติไปตามเดิมเถิด”
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ
[๒๔๕] ครั้งนั้น จักรแก้วได้ปราบปรามแผ่นดินมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต
อย่างราบคาบ เสร็จแล้วหมุนกลับยังกรุงกุสาวดีราชธานี มาปรากฏแก่พระเจ้ามหา
สุทัสสนะที่พระทวารภายในพระราชวัง ณ หน้ามุขที่ทรงวินิจฉัยราชกิจ ทำภายใน
พระราชวังของท้าวเธอให้สว่างไสว จักรแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่
พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] ม้าแก้ว

ช้างแก้ว

[๒๔๖] ๒. ช้างแก้วซึ่งเป็นช้างเผือก เป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ มีฤทธิ์ เหาะไป
ในอากาศได้ เป็นพญาช้างตระกูลอุโบสถ๑ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ท้าวเธอ
ทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัย ด้วยพระดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญ พาหนะคือช้าง
ถ้าได้นำไปฝึก จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท้’ ทันใดนั้น ช้างแก้วเชือกนั้นได้รับการ
ฝึกหัดเหมือนช้างอาชาไนยพันธุ์ดีตระกูลคันธหัตถี ซึ่งได้รับการฝึกหัดดีแล้วตลอด
กาลนาน อานนท์ เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรงทดสอบช้างแก้วเชือกนั้น โดยเสด็จ
ขึ้นทรงเวลาเช้าแล้วเสด็จเลียบไปตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จ
กลับกรุงกุสาวดีราชธานีทันเสวยพระกระยาหารเช้า ช้างแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้
ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

ม้าแก้ว

[๒๔๗] ๓. ม้าแก้วซึ่งเป็นม้าขาว ศีรษะดำ มีขนปกดุจหญ้าปล้อง มีฤทธิ์
เหาะไปในอากาศได้ ชื่อพญาม้าวลาหก ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ท้าวเธอ
ทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัย ด้วยพระดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญ พาหนะคือม้า
ถ้าได้นำไปฝึก จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท‘’ ทันใดนั้น ม้าแก้วตัวนั้นได้รับการ
ฝึกหัด เหมือนม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ซึ่งได้รับการฝึกหัดดีแล้วตลอดกาลนาน อานนท์
เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรงทดสอบม้านั้น โดยเสด็จขึ้นทรงเวลาเช้าแล้วเสด็จ
เลียบไปตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับกรุงกุสาวดีราชธานี
ทันเสวยพระกระยาหารเช้า ม้าแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้า
มหาสุทัสสนะ

เชิงอรรถ :
๑ พญาช้างตระกูลอุโบสถ ในที่นี้หมายถึงช้างมงคลตระกูล ๑ ในบรรดา ๑๐ ตระกูล คือ (๑) กาฬวกหัตถี
(สีดำ) (๒) คังไคยหัตถี (สีเหมือนน้ำไหล) (๓) ปัณฑรหัตถี (สีขาวดังเขาไกรลาส) (๔) ตามพหัตถี (สีทองแดง)
(๕) ปิงคลหัตถี (สีทองอ่อนดังสีตาแมว) (๖) คันธหัตถี (สีไม้กฤษณา มีกลิ่นตัวหอม) (๗) มังคลหัตถี
(สีนิลอัญชัน มีกิริยาท่าทางเดินงดงาม) (๘) เหมหัตถี (สีเหลืองดั่งทอง) (๙) อุโบสถหัตถี (สีทองคำ)
(๑๐) ฉัททันตหัตถี (กายสีขาวบริสุทธิ์ดังสีเงินยวง แต่ปากและเท้าสีแดง) (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.๒๕๒๕) ในช้างมงคล ๑๐ ตระกูลนี้ ช้างอุโบสถประเสริฐที่สุด (ที.ม.อ. ๒๔๖/๒๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] คหบดีแก้ว

มณีแก้ว

[๒๔๘] ๔. มณีแก้วซึ่งเป็นแก้วไพฑูรย์งามบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ มีแปด
เหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกแวววาวได้สัดส่วน แสงสว่างของมณีแก้วดวงนั้น มีรัศมี
แผ่ซ่านออกรอบ ๆ ประมาณ ๑ โยชน์ อานนท์ เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรง
ทดสอบมณีแก้วดวงนั้น ทรงให้หมู่จตุรงคินีเสนาผูกสอดเกราะแล้วทรงยกมณีแก้ว
นั้นขึ้นเป็นยอดธง เสด็จไปประทับยืนในที่มืดยามราตรี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ
สำคัญว่าเป็นเวลากลางวัน จึงทำการงานด้วยแสงสว่างแห่งมณีแก้วนี้ มณีแก้วที่
ทรงคุณวิเศษเห็นปานนั้น ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

นางแก้ว

[๒๔๙] ๕. นางแก้วซึ่งเป็นสตรีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่อง
ยิ่งนัก ไม่สูงนัก ไม่เตี้ยนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก งดงามเกิน
ผิวพรรณหญิงมนุษย์ แต่ไม่ถึงผิวพรรณทิพย์ กายของนางแก้วนั้นสัมผัสอ่อนนุ่มดุจ
ปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย มีร่างกายอบอุ่นในฤดูหนาว เย็นในฤดูร้อน กลิ่นจันทน์หอมฟุ้ง
ออกจากกาย กลิ่นอุบลหอมฟุ้งออกจากปากของนาง นางตื่นก่อนนอนทีหลัง
คอยฟังว่าจะรับสั่งให้ทำอะไร ประพฤติต้องพระทัย ทูลแต่คำอันชวนให้รัก นางไม่
เคยประพฤตินอกพระทัยของท้าวเธอแม้ทางใจ ไหนเลยจะประพฤตินอกพระทัย
ทางกาย นางแก้วผู้ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

คหบดีแก้ว

[๒๕๐] ๖. คหบดีแก้วซึ่งเป็นผู้มีตาทิพย์ อันเกิดจากผลกรรม ซึ่งสามารถ
เห็นขุมทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ เขาเข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะแล้ว
กราบทูลอย่างนี้ว่า “ขอเดชะ พระองค์โปรดอย่ากังวลพระทัยเลย ข้าพระพุทธเจ้า
จะจัดการเรื่อง(ขุม)ทรัพย์ให้สำเร็จเป็นพระราชทรัพย์ของพระองค์” อานนท์ เรื่องมี
มาว่า ท้าวเธอทรงเคยทดสอบคหบดีแก้วมาแล้ว โดยเสด็จลงเรือลัดกระแสน้ำไป
กลางแม่น้ำคงคาตรัสกับคหบดีแก้วดังนี้ว่า ‘คหบดี เราต้องการเงินและทอง’ เขา
กราบทูลว่า ‘มหาราชเจ้า ถ้าเช่นนั้น โปรดเทียบเรือที่ริมตลิ่งด้านหนึ่ง’ ท้าวเธอ
ตรัสว่า ‘คหบดี เราต้องการเงินและทองที่นี่’ ทันใดนั้น คหบดีแก้วจึงเอามือทั้งสอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
ทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการ

จุ่มลงไปในน้ำแล้วยกหม้อที่เต็มด้วยเงินและทองขึ้นมากราบทูลท้าวเธอดังนี้ว่า
‘มหาราชเจ้า เท่านี้ก็เพียงพอ เท่านี้เป็นอันทำแล้ว เท่านี้เป็นอันบูชาแล้ว’ ท้าวเธอ
ตรัสอย่างนี้ว่า ‘เท่านี้ก็เพียงพอ เท่านี้เป็นอันทำแล้ว เท่านี้เป็นอันบูชาแล้ว’ คหบดี
แก้วผู้ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

ปริณายกแก้ว

[๒๕๑] ๗. ปริณายกแก้วซึ่งเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญาสามารถทำให้
พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จเข้าไป ณ ที่ควรเสด็จไป ให้เสด็จหลีกไปยังสถานที่ที่ควร
เสด็จหลีกไป หรือให้ทรงยับยั้ง ณ สถานที่ที่ควรยับยั้ง ได้ปรากฏแก่ท้าวเธอ
เขาเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า “ขอเดชะ พระองค์โปรดอย่า
กังวลพระทัยเลย ข้าพระพุทธเจ้าจะถวายคำปรึกษา” ปริณายกแก้ว ผู้ทรงคุณวิเศษ
เห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการนี้

ทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการ

[๒๕๒] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ (ความสำเร็จ)
๔ ประการ
ฤทธิ์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พระเจ้ามหาสุทัสสนะมีพระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวี
ผุดผ่องยิ่งนักเกินกว่าคนอื่น ท้าวเธอทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ประการ
ที่ ๑ นี้
๒. พระเจ้ามหาสุทัสสนะมีพระชนมายุยืนยาวนานเกินกว่าคนอื่น
ท้าวเธอทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ประการที่ ๒ นี้
๓. พระเจ้ามหาสุทัสสนะมีพระโรคาพาธน้อย มีความทุกข์น้อย
ทรงมีไฟธาตุทำงานสม่ำเสมอยิ่งกว่าคนอื่น คือไม่เย็นนักและไม่
ร้อนนัก ท้าวเธอทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ประการที่ ๓ นี้
๔. พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของพราหมณ์
และคหบดีทั้งหลาย อานนท์ บิดาเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของบุตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี

ทั้งหลาย ฉันใด ท้าวเธอทรงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของพราหมณ์
และคหบดีทั้งหลาย ฉันนั้น อนึ่ง พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของท้าวเธอ อานนท์ บุตรทั้งหลาย เป็นที่รัก
เป็นที่ชอบใจของบิดา ฉันใด พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ก็เป็น
ที่รัก เป็นที่ชอบใจของท้าวเธอ ฉันนั้น อานนท์ เรื่องมีมาว่า
ท้าวเธอเสด็จประพาสพระราชอุทยานพร้อมด้วยหมู่จตุรงคินีเสนา
พวกพราหมณ์และคหบดีเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะกราบทูลว่า
‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์อย่าเพิ่งด่วนเสด็จไป พวกข้า
พระพุทธเจ้าจะได้เฝ้านาน ๆ’ ท้าวเธอตรัสกับสารถีว่า ‘เธอ
อย่ารีบขับรถไป เราจะได้เห็นพวกพราหมณ์และคหบดีนาน ๆ’
ท้าวเธอทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ประการที่ ๔ นี้
อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการนี้

ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี

[๒๕๓] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราน่าจะขุดสระโบกขรณี มีระยะห่างกันสระละ ๑๐๐ ชั่วธนู ที่ระหว่างต้นตาลเหล่านี้’
แล้วรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณี มีระยะห่างกันสระละ ๑๐๐ ชั่วธนู ที่ระหว่างต้นตาล
เหล่านั้น สระโบกขรณีเหล่านั้นก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด ได้แก่ (๑) อิฐทอง (๒) อิฐเงิน
(๓) อิฐแก้วไพฑูรย์ (๔) อิฐแก้วผลึก
สระโบกขรณีเหล่านั้น แต่ละสระมีบันได ๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ
(๑) บันไดทอง (๒) บันไดเงิน (๓) บันไดแก้วไพฑูรย์ (๔) บันไดแก้วผลึก บันไดทอง
มีลูกกรงทำด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน บันไดเงินมีลูกกรงทำด้วยเงิน
ราวและหัวเสาทำด้วยทอง บันไดแก้วไพฑูรย์มีลูกกรงทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ราวและ
หัวเสาทำด้วยแก้วผลึก บันไดแก้วผลึกมีลูกกรงทำด้วยแก้วผลึก ราวและหัวเสา
ทำด้วยแก้วไพฑูรย์ สระโบกขรณีเหล่านั้น มีรั้วล้อม ๒ ชั้น คือ (๑) รั้วทอง (๒) รั้วเงิน
รั้วทองมีเสาทำด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน รั้วเงินมีเสาทำด้วยเงิน ราวและ
หัวเสาทำด้วยทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ในสระโบกขรณีเหล่านี้ ทางที่ดี เราน่า
จะให้ปลูกไม้ดอกเช่นนี้ คือ อุบล ปทุม โกมุท บุณฑริก อันผลิดอกได้ทุกฤดูกาลไว้
เพื่อมอบให้แก่ทุก ๆ คน ไม่ให้ต้องกลับมือเปล่า’ จึงรับสั่งให้ปลูกไม้ดอกเช่นนี้ คือ
อุบล ปทุม โกมุท บุณฑริก อันผลิดอกได้ทุกฤดูกาลไว้ เพื่อมอบให้แก่ทุก ๆ คน
ไม่ให้ต้องกลับมือเปล่า
[๒๕๔] ต่อมา พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ที่ขอบสระโบกขรณี
เหล่านี้ ทางที่ดี เราน่าจะตั้งเจ้าหน้าที่นหาปกะประจำไว้ ให้ทำหน้าที่เชื้อเชิญผู้
มาแล้ว ๆ ให้อาบน้ำ’ จึงทรงตั้งเจ้าหน้าที่นหาปกะประจำไว้ที่ขอบสระโบกขรณีเหล่านั้น
ให้ทำหน้าที่เชื้อเชิญผู้มาแล้ว ๆ ให้อาบน้ำ
จากนั้น ท้าวเธอทรงดำริดังนี้ว่า ‘ที่ขอบสระโบกขรณีเหล่านี้ ทางที่ดี เราน่า
จะจัดสิ่งของให้ทานเช่นนี้ คือ ข้าวสำหรับผู้ต้องการข้าว น้ำสำหรับผู้ต้องการน้ำ
ผ้าสำหรับผู้ต้องการผ้า ยานสำหรับผู้ต้องการยาน ที่นอนสำหรับผู้ต้องการที่นอน
สตรีสำหรับผู้ต้องการสตรี เงินสำหรับผู้ต้องการเงิน ทองสำหรับผู้ต้องการทอง’
จึงทรงจัดสิ่งของให้ทานเช่นนี้คือ ข้าวสำหรับผู้ต้องการข้าว น้ำสำหรับผู้ต้องการน้ำ
ผ้าสำหรับผู้ต้องการผ้า ยานสำหรับผู้ต้องการยาน ที่นอนสำหรับผู้ต้องการที่นอน
สตรีสำหรับผู้ต้องการสตรี เงินสำหรับผู้ต้องการเงิน ทองสำหรับผู้ต้องการทองไว้ที่
ขอบสระโบกขรณีเหล่านั้น
[๒๕๕] อานนท์ ครั้งนั้น พวกพราหมณ์และคหบดีถือเอาทรัพย์สมบัติเป็น
อันมาก เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า
ทรัพย์สมบัติมากมายนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้านำมาถวายเฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระ
บาทเท่านั้น ขอพระองค์ทรงรับไว้ด้วยเถิด’
ท้าวเธอตรัสว่า ‘อย่าเลย ท่านทั้งหลายนำทรัพย์สมบัติมากมายนี้มาเพื่อเรา
ด้วยพลีอันชอบธรรม สิ่งนี้จงเป็นของพวกท่าน(ต่อไป)เถิด และจงนำกลับไปให้
มากกว่านี้’
เมืองท้าวเธอทรงปฏิเสธ พวกเขาจึงหลีกไปอยู่ ณ ที่สมควรแล้วปรึกษาหารือ
กันอย่างนี้ว่า ‘การที่พวกเราจะนำทรัพย์สมบัติเหล่านี้กลับคืนไปยังเรือนของตนอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี

นั้นไม่สมควร ทางที่ดี พวกเราควรช่วยกันสร้างพระราชนิเวศน์ถวายพระเจ้ามหา
สุทัสสนะ’ จึงพากันเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ
มหาราชเจ้า พวกข้าพระพุทธเจ้าจะช่วยกันสร้างพระราชนิเวศน์ถวายใต้ฝ่าละอองธุลี
พระบาท’
ท้าวเธอทรงรับด้วยพระอาการดุษณี
[๒๕๖] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระราชดำริของพระเจ้า
มหาสุทัสสนะ จึงมีเทวบัญชาเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาตรัสว่า ‘มาเถิด สหาย
วิสสุกรรม เธอจงไปสร้างพระนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาท ถวายพระเจ้ามหาสุทัสสนะ’
วิสสุกรรมเทพบุตรทูลรับเทวบัญชาแล้ว อันตรธานจากภพดาวดึงส์ไปปรากฏ
ณ เบื้องพระพักตร์ของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น กราบทูลพระเจ้ามหาสุทัสสนะดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า
จะเนรมิตพระราชนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาทถวายพระองค์’
ท้าวเธอทรงรับด้วยพระอาการดุษณี
วิสสุกรรมเทพบุตรได้เนรมิตพระราชนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาทถวายพระเจ้า
มหาสุทัสสนะ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑ โยชน์ ด้านทิศเหนือและ
ทิศใต้กว้างกึ่งโยชน์ มีฐานสูงกว่า ๓ ชั่วบุรุษ ก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด คือ (๑) อิฐทอง
(๒) อิฐเงิน (๓) อิฐแก้วไพฑูรย์ (๔) อิฐแก้วผลึก
ธรรมปราสาทมีเสา ๘๔,๐๐๐ ต้น แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) เสาทอง
(๒) เสาเงิน (๓) เสาแก้วไพฑูรย์ (๔) เสาแก้วผลึก ปูด้วยแผ่นกระดาน ๔ ชนิด คือ
(๑) กระดานทอง (๒) กระดานเงิน (๓) กระดานแก้วไพฑูรย์ (๔) กระดานแก้วผลึก
ธรรมปราสาทมีบันได ๒๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) บันไดทอง
(๒) บันไดเงิน (๓) บันไดแก้วไพฑูรย์ (๔) บันไดแก้วผลึก บันไดทองมีลูกกรงทำด้วย
ทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน บันไดเงินมีลูกกรงทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วย
ทอง บันไดแก้วไพฑูรย์มีลูกกรงทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ราวและหัวเสาทำด้วยแก้วผลึก
บันไดแก้วผลึกมีลูกกรงทำด้วยแก้วผลึก ราวและหัวเสาทำด้วยแก้วไพฑูรย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] สวนตาล

ธรรมปราสาทมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) เรือน
ยอดทอง (๒) เรือนยอดเงิน (๓) เรือนยอดแก้วไพฑูรย์ (๔) เรือนยอดแก้วผลึก
ในเรือนยอดทองตั้งบัลลังก์เงินไว้ ในเรือนยอดเงินตั้งบัลลังก์ทองไว้ ในเรือนยอดแก้ว
ไพฑูรย์ตั้งบัลลังก์งาไว้ ในเรือนยอดแก้วผลึกตั้งบัลลังก์แก้วบุษราคัมไว้ ที่ใกล้ประตู
เรือนยอดทองตั้งต้นตาลเงิน ซึ่งมีลำต้นเป็นเงิน ใบและผลเป็นทอง ที่ใกล้ประตู
เรือนยอดเงินตั้งต้นตาลทอง ซึ่งมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ที่ใกล้ประตู
เรือนยอดแก้วไพฑูรย์ตั้งต้นตาลแก้วผลึก ซึ่งมีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็น
แก้วไพฑูรย์ ที่ประตูเรือนยอดแก้วผลึกตั้งต้นตาลแก้วไพฑูรย์ ซึ่งมีลำต้นเป็นแก้ว
ไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก

สวนตาล

[๒๕๗] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราน่าจะให้
สร้างสวนตาลทองคำไว้ที่ใกล้ประตูเรือนยอดมหาวิยูหะ๑ สำหรับนั่งพักผ่อนกลางวัน’
จึงรับสั่งให้สร้างสวนตาลทองคำไว้ที่ใกล้ประตูเรือนยอดมหาวิยูหะ สำหรับทรงนั่ง
พักผ่อนกลางวัน
ธรรมปราสาทมีรั้วล้อม ๒ ชั้น คือ (๑) รั้วทอง (๒) รั้วเงิน รั้วทองมีเสาทำ
ด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน รั้วเงินมีเสาทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วยทอง
[๒๕๘] ธรรมปราสาทมีข่ายกระดิ่งแวดล้อม ๒ ชั้น คือ ข่ายทองชั้นหนึ่ง
ข่ายเงินชั้นหนึ่ง ข่ายทองมีกระดิ่งเงิน ข่ายเงินมีกระดิ่งทอง ข่ายกระดิ่งเหล่านั้นยาม
เมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรี
เครื่องห้า ที่บุคคลปรับเสียงดีประโคมดีแล้ว บรรเลงโดยผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียง
ไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันใด ข่ายกระดิ่งเหล่านั้น ยามเมื่อ
ต้องลมเกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ มหาวิยูหะ เป็นชื่อเรือนยอดหลังใหญ่ที่ทำด้วยเงิน (ที.ม.อ. ๒๖๐/๒๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] สระธรรมโบกขรณี

สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานีมีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง
ตามเสียงกระดิ่งยามที่ต้องลมเหล่านั้น ธรรมปราสาทที่สร้างเสร็จแล้ว มองดูได้ยาก
เพราะมีแสงสะท้อนบาดตา อานนท์ ในสารทกาลคือเดือนท้ายฤดูฝน เมื่ออากาศ
แจ่มใสไร้เมฆหมอก ดวงอาทิตย์ส่องนภากาศ มองดูได้ยากเพราะมีแสงสะท้อนบาดตา
ฉันใด ธรรมปราสาทที่สร้างเสร็จแล้ว ก็มองดูได้ยากเพราะมีแสงสะท้อนบาดตา
ฉันนั้น

สระธรรมโบกขรณี

[๒๕๙] อานนท์ ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราน่าจะให้สร้างสระชื่อธรรมโบกขรณีไว้เบื้องหน้าธรรมปราสาท’ จึงรับสั่งให้สร้าง
สระธรรมโบกขรณีไว้เบื้องหน้าธรรมปราสาท ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว
๑ โยชน์ ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้างกึ่งโยชน์ สระธรรมโบกขรณีก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด
คือ (๑) อิฐทอง (๒) อิฐเงิน (๓) อิฐแก้วไพฑูรย์ (๔) อิฐแก้วผลึก
สระธรรมโบกขรณีมีบันได ๒๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) บันไดทอง
(๒) บันไดเงิน (๓) บันไดแก้วไพฑูรย์ (๔) บันไดแก้วผลึก บันไดทองมีลูกกรงทำ
ด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน บันไดเงินมีลูกกรงทำด้วยเงิน ราวและหัวเสา
ทำด้วยทอง บันไดแก้วไพฑูรย์มีลูกกรงทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ราวและหัวเสาทำด้วย
แก้วผลึก บันไดแก้วผลึกมีลูกกรงทำด้วยแก้วผลึก ราวและหัวเสาทำด้วยแก้ว
ไพฑูรย์
สระธรรมโบกขรณีมีรั้วล้อม ๒ ชั้น คือ (๑) รั้วทอง (๒) รั้วเงิน รั้วทองมีเสาทำ
ด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน รั้วเงินมีเสาทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วยทอง
สระธรรมโบกขรณีมีต้นตาลล้อม ๗ แถว คือ ต้นตาลทอง ๑ แถว ต้นตาลเงิน
๑ แถว ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ ๑ แถว ต้นตาลแก้วผลึก ๑ แถว ต้นตาลแก้วโกเมน
๑ แถว ต้นตาลแก้วบุษราคัม ๑ แถว ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ๑ แถว
ต้นตาลทองมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ต้นตาลเงินมีลำต้นเป็นเงิน ใบและ
ผลเป็นทอง ต้นตาลแก้วไพฑูรย์มีลำต้นเป็นแก้วไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] ทรงเจริญฌานสมาบัติ

ต้นตาลแก้วผลึกมีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็นแก้วไพฑูรย์ ต้นตาลแก้ว
โกเมนมีลำต้นเป็นแก้วโกเมน ใบและผลเป็นแก้วบุษราคัม ต้นตาลแก้วบุษราคัมมี
ลำต้นเป็นแก้วบุษราคัม ใบและผลเป็นแก้วโกเมน ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
มีลำต้นทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
แถวต้นตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้
เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรีเครื่องห้า ที่บุคคลปรับเสียงดีประโคมดีแล้ว บรรเลงโดย
ผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันใด แถวต้นตาล
เหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันนั้น
สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง ตามเสียง
แถวต้นตาลยามต้องลมเหล่านั้น
เมื่อธรรมปราสาทและสระธรรมโบกขรณีสร้างสำเร็จแล้ว พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ได้ทรงเลี้ยงสมณพราหมณ์ทั้งหลายให้เอิบอิ่มด้วยสมณบริขารและพราหมณบริขาร
ตามที่ต้องการทุกอย่างแล้ว เสด็จขึ้นสู่ธรรมปราสาท

ภาณวารที่ ๑ จบ

ทรงเจริญฌานสมาบัติ

[๒๖๐] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘เหตุที่เรามี
ฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ในเวลานี้ เป็นผลเป็นวิบากแห่งกรรมอะไรหนอ’
ทรงดำริดังนี้ว่า เหตุที่เรามีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ในเวลานี้
เป็นผลเป็นวิบากแห่งกรรม ๓ อย่าง คือ (๑) การให้ (๒) การข่มใจ (๓) การสำรวม
แล้วจึงเสด็จเข้าไปยังเรือนยอดมหาวิยูหะ ประทับยืนที่พระทวาร ทรงเปล่งพระอุทานว่า
‘กามวิตกเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด
พยาบาทวิตกเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด
วิหิงสาเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] ทรงเจริญฌานสมาบัติ

[๒๖๑] อานนท์ จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จเข้าไปในเรือนยอด
มหาวิยูหะ ประทับนั่งบนบัลลังก์ทอง ทรงสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
แล้วทรงบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก๑ วิจาร ปีติ และสุขเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกและ
วิจารสงบระงับ ทรงบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง
ผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย ทรงบรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ
สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส
และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ทรงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์
เพราะอุเบกขาอยู่
[๒๖๒] จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงออกจากเรือนยอดมหาวิยูหะเสด็จ
เข้าไปยังเรือนยอดทอง ประทับนั่งบนบัลลังก์เงิน ทรงมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑
... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน๒ ทิศเบื้องล่าง๓ ทิศเฉียง๔ แผ่ไป
ตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ๕
ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ทรงมีกรุณาจิต ฯลฯ
ทรงมีมุทิตาจิต ฯลฯ
ทรงมีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

เชิงอรรถ :
๑ วิตก ในที่นี้หมายถึงการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือการปักจิตลงสู่อารมณ์ เป็นองค์ ๑ ในองค์ฌาน ๕ มิใช่
วิตกในคำว่า กามวิตก (ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท) วิหิงสาวิตก
(ความตรึกในทางเบียดเบียน) (ที.สี.อ. ๙๖/๑๑๒)
๒ ทิศเบื้องบน หมายถึงเทวโลก (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
๓ ทิศเบื้องล่าง หมายถึงนรกและนาค (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
๔ ทิศเฉียง หมายถึงทิศย่อยของทิศใหญ่หรือทิศรอง (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
๕ มหัคคตะ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจรและอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่มกิเลสได้
และหมายถึง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๒/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
ทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมืองเป็นต้น

ทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมืองเป็นต้น

[๒๖๓] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุง
กุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง ทรงมีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาทเป็น
ที่ประทับ ทรงมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็นที่ประทับ
ทรงมีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา บัลลังก์แก้ว
บุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย
ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดงทั้ง ๒ ข้าง ทรงมีช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง
มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถ
เป็นช้างทรง ทรงมีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วย
ตาข่ายทอง มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง ทรงมีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนัง
ราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง
มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถ
พระที่นั่ง ทรงมีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด ทรงมีสตรี ๘๔,๐๐๐ นาง
มีพระนางสุภัททาเทวีเป็นอัครมเหสี ทรงมีคหบดี ๘๔,๐๐๐ คน มีคหบดีแก้วเป็น
หัวหน้า ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายกแก้วเป็นหัวหน้า
ทรงมีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัวที่พร้อมจะให้น้ำนม จนสามารถเอาภาชนะรองรับได้
ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดีรวม
๘๔,๐๐๐ โกฏิ ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐
สำรับ
[๒๖๔] อานนท์ สมัยนั้น ช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง มาสู่ที่เฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ทั้งเช้าและเย็น ท้าวเธอทรงดำริดังนี้ว่า ‘ช้างของเราทั้ง ๘๔,๐๐๐ ช้างนี้มาหาเรา
ทั้งเช้าและเย็น ทางที่ดี ควรให้ช้างของเรา ๔๒,๐๐๐ ช้างมาหาเรา ๑๐๐ ปี ต่อครั้ง’
จึงรับสั่งเรียกปริณายกแก้วมาตรัสว่า “สหายปริณายกแก้ว ช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] พระนางสุภัททาเทวีเข้าเฝ้า

มาหาเราทั้งเช้าและเย็น อย่ากระนั้นเลย ควรให้ช้าง ๔๒,๐๐๐ ช้างมาหาเรา ๑๐๐ ปี
ต่อครั้งเถิด’
ปริณายกแก้วทูลรับสนองพระบรมราชโองการ
ต่อมา ช้าง ๔๒,๐๐๐ ช้าง มาสู่ที่เฝ้าของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ๑๐๐ ปี ต่อครั้ง

พระนางสุภัททาเทวีเข้าเฝ้า

[๒๖๕] อานนท์ ครั้นล่วงไปหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระนางสุภัททา-
เทวีทรงดำริดังนี้ว่า ‘นานแล้วที่เราได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทางที่ดี เราควร
เข้าเฝ้าพระองค์อีก‘จึงรับสั่งเรียกพระสนมมาตรัสว่า “มาเถิด เธอทั้งหลาย
จงอาบน้ำสระผม ห่มผ้าสีเหลือง นานแล้วที่เราได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เราจะ
ไปเข้าเฝ้าพระองค์อีก’
พวกพระสนมทูลรับสนองพระราชเสาวนีย์แล้วอาบน้ำสระผม ห่มผ้าสีเหลือง
เข้าไปเฝ้าพระนางสุภัททาเทวีถึงที่ประทับ
ทีนั้น พระนางสุภัททาเทวีรับสั่งเรียกปริณายกแก้วมาตรัสว่า ‘พ่อปริณายกแก้ว
ท่านจงจัดหมู่จาตุรงคินีเสนาให้พร้อม นานแล้วที่เราได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ
เราจะไปเข้าเฝ้าพระองค์อีก’
ปริณายกแก้วทูลรับสนองพระราชเสาวนีย์แล้ว จัดหมู่จาตุรงคินีเสนาไว้ให้
เรียบร้อย กราบทูลพระนางสุภัททาเทวีดังนี้ว่า “ขอเดชะพระเทวี ข้าพระพุทธเจ้าจัด
หมู่จตุรงคินีเสนาพร้อมแล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด
พระเจ้าข้า’
จากนั้น พระนางสุภัททาเทวีพร้อมด้วยหมู่จตุรงคินีเสนาและพระสนม ได้เสด็จ
เข้าไปยังธรรมปราสาทขึ้นสู่ธรรมปราสาทเข้าไปยังเรือนยอดมหาวิยูหะ ประทับยืน
เหนี่ยวบานพระทวารเรือนยอดมหาวิยูหะอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] พระนางสุภัททาเทวีเข้าเฝ้า

ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสดับเสียง จึงทรงดำริดังนี้ว่า ‘เสียง
อะไรหนอ เหมือนเสียงของหมู่มหาชน’ จึงเสด็จออกจากเรือนยอดมหาวิยูหะ
ทอดพระเนตรเห็นพระนางสุภัททาเทวีประทับยืนเหนี่ยวบานพระทวารอยู่ จึงตรัส
กับพระนางสุภัททาเทวีดังนี้ว่า ‘เทวี เธอหยุดอยู่ที่นั่นแหละ อย่าเข้ามาเลย’ รับสั่ง
เรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘พ่อผู้เจริญ มาทางนี้ พ่อจงนำบัลลังก์ทองจาก
เรือนยอดมหาวิยูหะไปตั้งในสวนตาลทอง’
ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เชิญบัลลังก์ทองจากเรือนยอดมหา-
วิยูหะไปตั้งไว้ในสวนตาลทอง จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสำเร็จสีหไสยาโดย
พระปรัศว์เบื้องขวา ซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ
[๒๖๖] อานนท์ ลำดับนั้น พระนางสุภัททาเทวีทรงดำริดังนี้ว่า ‘พระอินทรีย์
ของพระเจ้ามหาสุทัสสนะผ่องใสยิ่งนัก พระฉวีวรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท้าวเธออย่าได้
สวรรคตเลย’ จึงกราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ พระองค์ทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง
มีกรุงกุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง โปรดทรงพอพระทัยเมืองเหล่านี้ โปรดทรง
เยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาท
เป็นที่ประทับ โปรดทรงพอพระทัยปราสาทเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง
พระชนม์เถิด ทรงทรงมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็นที่ประทับ
โปรดทรงพอพระทัยเรือนยอดเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด
ทรงมีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา บัลลังก์แก้ว
บุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย
ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดงทั้ง ๒ ข้าง โปรดทรงพอพระทัย
บัลลังก์เหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง
มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถ
เป็นช้างทรง โปรดทรงพอพระทัยช้างเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง
พระชนม์เถิด ทรงมีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

ตาข่ายทอง มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง โปรดทรงพอพระทัยม้าเหล่านี้ โปรดทรง
เยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์
หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่อง
ประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถพระที่นั่ง
โปรดทรงพอพระทัยราชรถเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมี
แก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด โปรดทรงพอพระทัยแก้วเหล่านี้ โปรดทรง
เยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีสตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีนางแก้วเป็นหัวหน้า
โปรดทรงพอพระทัยสตรีเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมี
คหบดี ๘๔,๐๐๐ คน มีคหบดีแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงพอพระทัยคหบดีเหล่านี้
โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์
มีปริณายกแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงพอพระทัยกษัตริย์เหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยใน
การดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ที่พร้อมจะให้น้ำนมจนสามารถ
เอาภาชนะรองรับได้ โปรดทรงพอพระทัยโคนมเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง
พระชนม์เถิด ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อ
ดีรวม ๘๔,๐๐๐ โกฏิ โปรดทรงพอพระทัยผ้าเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง
พระชนม์เถิด ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐
สำรับ โปรดทรงพอพระทัยสำรับพระกระยาหารเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง
พระชนม์เถิด’

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

[๒๖๗] อานนท์ เมื่อพระนางสุภัททาเทวี กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้ามหา
สุทัสสนะได้ตรัสตอบดังนี้ว่า ‘เทวี เธอพูดทักทายเราด้วยสิ่งอันน่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจมาช้านาน แต่มาครั้งสุดท้าย เธอทักทายเราด้วยสิ่งอันไม่น่าปรารถนา
ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจเลย’ พระนางสุภัททาเทวีทูลถามว่า ‘หม่อมฉันจะกราบทูล
อย่างไรเล่า จึงจะพอพระทัย เพคะ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

ท้าวเธอตรัสว่า 'เทวี เธอจงทักทายเราอย่างนี้ว่า 'ขอเดชะ ความพลัดพราก
ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี
พระองค์อย่าสวรรคตทั้งที่ทรงมีความอาลัยอยู่เลย เพราะการสวรรคตของผู้ยังมีความ
อาลัยเป็นทุกข์ การสวรรคตของผู้ยังมีความอาลัยบัณฑิตติเตียน พระองค์ทรงมี
เมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุงกุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง โปรดทรงละความ
พอพระทัยเมืองเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีปราสาท
๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาทเป็นที่ประทับ โปรดทรงละความพอพระทัยปราสาท
เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง
มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็นที่ประทับ โปรดทรงละความพอพระทัยเรือนยอดเหล่านี้
โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็น
บัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา บัลลังก์แก้วบุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์
ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี
มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดงทั้ง ๒ ข้าง โปรดทรงละความพอพระทัยในบัลลังก์เหล่านี้
โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ๘๔,๐๐๐ ช้าง มีเครื่อง
ประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถเป็นช้างทรง
โปรดทรงละความพอพระทัยช้างเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด
ทรงมีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง
มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง โปรดทรงละความพอพระทัยม้าเหล่านี้ โปรดอย่า
ทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนัง
ราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง
มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถ
พระที่นั่ง โปรดทรงละความพอพระทัยราชรถเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการ
ดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด โปรดทรงละ
ความพอพระทัยแก้วเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมี
สตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีพระนางสุภัททาเทวีเป็นอัครมเหสี โปรดทรงละความพอพระทัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

สตรีเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีคหบดี ๘๔,๐๐๐ คน
มีคหบดีแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงละความพอพระทัยคหบดีเหล่านี้ โปรดอย่าทรง
เยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายก-
แก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงละความพอพระทัยกษัตริย์เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย
ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ที่พร้อมจะให้น้ำนมจนสามารถ
เอาภาชนะรองรับได้ โปรดทรงละความพอพระทัยโคนมเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย
ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี
และผ้ากัมพลเนื้อดีรวม ๘๔,๐๐๐ โกฏิ โปรดทรงละความพอพระทัยผ้าเหล่านี้
โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมา
ถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐ สำรับ โปรดทรงละความพอพระทัยสำรับพระกระยาหาร
เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด’
[๒๖๘] อานนท์ เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะตรัสอย่างนี้ พระนางสุภัททา-
เทวีทรงพระกันแสงหลั่งพระอัสสุชล ทรงเช็ดพระอัสสุชลแล้ว ได้กราบทูลพระเจ้า
มหาสุทัสสนะดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ความพลัดพราก ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยน
เป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี พระองค์อย่าสวรรคตทั้งที่ทรงมี
อาลัยอยู่เลย เพราะการสวรรคตของผู้ยังมีความอาลัยเป็นทุกข์ การสวรรคตของผู้
ยังมีความอาลัยบัณฑิตติเตียน พระองค์ทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุง
กุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง โปรดทรงละความพอพระทัยเมืองเหล่านี้ โปรดอย่า
ทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาท
เป็นที่ประทับ โปรดทรงละความพอพระทัยปราสาทเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย
ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็น
ที่ประทับ โปรดทรงละความพอพระทัยเรือนยอดเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการ
ดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน
บัลลังก์งา บัลลังก์แก้วบุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดง
ทั้ง ๒ ข้าง โปรดทรงละความพอพระทัยบัลลังก์เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย
ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง
คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถเป็นช้างทรง โปรดทรงละความ
พอพระทัยช้างเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีม้า
๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาม้า
วลาหกเป็นม้าทรง โปรดทรงละความพอพระทัยม้าเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย
ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หุ้มด้วย
หนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับทอง
มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถพระที่นั่ง โปรดทรงละความ
พอพระทัยราชรถเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีแก้ว
๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด โปรดทรงละความพอพระทัยแก้วเหล่านี้
โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีสตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีนางแก้ว
เป็นหัวหน้า โปรดทรงละความพอพระทัยสตรีเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการ
ดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีคหบดี ๘๔,๐๐๐ คน มีคหบดีแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรง
ละความพอพระทัยคหบดีเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด
ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายกแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรง
ละความพอพระทัยกษัตริย์เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด
ทรงมีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ที่พร้อมจะให้น้ำนมจนสามารถเอาภาชนะรองรับได้
โปรดทรงละความพอพระทัยโคนมเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระ
ชนม์เถิด ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดี
รวม ๘๔,๐๐๐ โกฏิ โปรดทรงละความพอพระทัยผ้าเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย
ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น
๘๔,๐๐๐ สำรับ โปรดทรงละความพอพระทัยสำรับพระกระยาหารเหล่านี้ โปรดอย่า
ทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระผู้มีพระภาคทรงสรุปพระธรรมเทศนา

พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จสู่พรหมโลก

[๒๖๙] อานนท์ ต่อจากนั้นไม่นาน พระเจ้ามหาสุทัสสนะก็ได้สวรรคต ท้าวเธอ
ทรงมีความรู้สึกขณะใกล้จะสวรรคตเหมือนคหบดีหรือบุตรคหบดี ผู้บริโภคโภชนะที่
ชอบใจและก็ย่อมเมาในรสอาหาร ฉะนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะ เมื่อสวรรคตแล้ว
ได้ไปเกิดในสุคติพรหมโลก
อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงเล่นอย่างเด็กอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงดำรง
ตำแหน่งอุปราช ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงครองราชย์อยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงดำรงเพศคฤหัสถ์
ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในธรรมปราสาท ๘๔,๐๐๐ ปี เพราะทรงเจริญพรหมวิหาร
๔ ประการ หลังจากสวรรคตแล้วจึงไปเกิดในพรหมโลก

พระผู้มีพระภาคทรงสรุปพระธรรมเทศนา

[๒๗๐] อานนท์ เธอคงเห็นอย่างนี้ว่า ‘พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ในสมัยนั้น
คงจะเป็นคนอื่นแน่’ แต่ไม่พึงเห็นอย่างนั้น เราเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะในสมัยนั้น
เรามีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุงกุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง มีปราสาท
๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาทเป็นที่อยู่ มีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอด
มหาวิยูหะเป็นที่อยู่ มีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน
บัลลังก์งา บัลลังก์แก้วบุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด
ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดง
ทั้ง ๒ ข้าง มีช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วย
ตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถเป็นช้างทรง มีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่อง
ประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง มีราชรถ
๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง
หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระผู้มีพระภาคทรงสรุปพระธรรมเทศนา

มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถพระที่นั่ง มีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด
มีสตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีพระนางสุภัททาเทวีเป็นอัครมเหสี มีคหบดี ๘๔,๐๐๐ คน
มีคหบดีแก้วเป็นหัวหน้า มีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายกแก้ว
เป็นหัวหน้า มีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ที่พร้อมจะให้น้ำนมจนสามารถเอาภาชนะ
รองรับได้ มีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดีรวม
๘๔,๐๐๐ โกฏิ มีสำรับอาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐ สำรับ
[๒๗๑] บรรดาเมือง ๘๔,๐๐๐ เมือง ในสมัยนั้น เราอยู่ครอบครองเมือง
เดียวเท่านั้น คือ กรุงกุสาวดีราชธานี ปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ เราอยู่ในปราสาท
หลังเดียวเท่านั้น คือ ธรรมปราสาท เรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง เราอยู่ในเรือนยอด
หลังเดียวเท่านั้น คือ เรือนยอดมหาวิยูหะ บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ บัลลังก์ที่เรา
ใช้สอย คือ บัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา หรือบัลลังก์แก้วบุษราคัม บัลลังก์ใด
บัลลังก์หนึ่งเท่านั้น ช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง ช้างที่เราขี่เชือกเดียวเท่านั้น คือ พญาช้าง
ตระกูลอุโบสถ ม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า ม้าที่เราขี่ตัวเดียวเท่านั้น คือ พญาม้าวลาหก
ราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน ราชรถที่เราใช้คันเดียวเท่านั้น คือ เวชยันต์ราชรถ สตรี
๘๔,๐๐๐ นาง นางกษัตริย์หรือนางแพศย์คนเดียวเท่านั้นที่ปรนนิบัติเรา ผ้า
๘๔,๐๐๐ โกฏิ ผ้าที่เรานุ่งมีเพียงคู่เดียวเท่านั้น จะเป็นผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้าย
เนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี หรือผ้ากัมพลเนื้อดีก็ตาม สำรับอาหาร ๘๔,๐๐๐ สำรับ
สำรับอาหารที่เราบริโภคเพียงสำรับเดียวเท่านั้น คือ ข้าวสุกทะนานหนึ่งเป็นอย่างมาก
พร้อมด้วยกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น
[๒๗๒] ดูเถิด อานนท์ สังขารเหล่านั้นทั้งปวงล่วงลับดับไป ผันแปรไปแล้ว
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนอย่างนี้แล สังขารทั้งหลาย
ไม่น่ายินดีอย่างนี้แล อานนท์ ข้อนี้จึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรจะหลุด
พ้นไปจากสังขารทั้งปวงโดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระผู้มีพระภาคทรงสรุปพระธรรมเทศนา

อานนท์ เรารู้ว่า การที่เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม
เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ได้ทอดทิ้งสรีระไว้ ณ สถานที่นี้ถึง ๖ ครั้งแล้ว
การทอดทิ้งสรีระครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๗ อานนท์ เราไม่เห็นสถานที่อื่นใด ในโลกพร้อม
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ที่ตถาคตจะทอดทิ้งสรีระเป็นครั้งที่ ๘ เลย”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
พระคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความสงบแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข”

มหาสุทัสสนสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร]
ทรงพยากรณ์ชาวบ้านนาทิกคามเป็นต้น

๕. ชนวสภสูตร
ว่าด้วยชนวสภยักษ์
ทรงพยากรณ์ชาวบ้านนาทิกคามเป็นต้น

[๒๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ตำหนักอิฐ ในนาทิกคาม ได้ทรงพยากรณ์
เหล่าชนผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย(อุบาสกอุบาสิกา) ที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว ในแคว้น
รอบ ๆ คือ แคว้นกาสี แคว้นโกศล แคว้นวัชชี แคว้นมัลละ แคว้นเจตี แคว้น
วังสะ แคว้นกุรุ แคว้นปัญจาละ แคว้นมัจฉะ และแคว้นสุรเสนะ ในเรื่องการอุบัติ๑ว่า
“คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐ คน
ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว เป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในโลกนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๙๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ
โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับ
ดับชีพไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ
มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
[๒๗๔] ชาวบ้านนาทิกคามผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยได้ฟังข่าวว่า “พระผู้มี
พระภาคได้ทรงพยากรณ์เหล่าชนผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว
ในแคว้นรอบ ๆ คือ แคว้นกาสี แคว้นโกศล แคว้นวัชชี แคว้นมัลละ แคว้นเจตี
แคว้นวังสะ แคว้นกุรุ แคว้นปัญจาละ แคว้นมัจฉะ และแคว้นสุรเสนะ ในเรื่องการ
อุบัติว่า ‘คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า
๕๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว เป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในโลกนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก

เชิงอรรถ :
๑ อุบัติ ในที่นี้หมายถึงญาณคติ (การเกิดขึ้นแห่งมรรคญาณ) เพราะมีสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป และ
หมายถึงบุญที่ให้เกิดเป็นเทพชั้นใดชั้นหนึ่ง (ที.ม.อ. ๒๗๓-๒๗๕/๒๔๘, ที.ม.ฏีกา ๒๗๓-๒๗๕/๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร]
ทรงพยากรณ์ชาวบ้านนาทิกคามเป็นต้น

ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๙๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว
เป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะ
เบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับ
ดับชีพไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ
มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
เพราะเหตุนั้นแล ชาวบ้านนาทิกคามผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยจึงมีใจยินดี
เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส เพราะได้ฟังคำพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค
[๒๗๕] ท่านพระอานนท์ได้ฟังข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์
เหล่าชนผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว ในแคว้นรอบ ๆ คือ แคว้น
กาสี แคว้นโกศล แคว้นวัชชี แคว้นมัลละ แคว้นเจตี แคว้นวังสะ แคว้นกุรุ แคว้น
ปัญจาละ แคว้นมัจฉะ และแคว้นสุรเสนะ ในเรื่องการอุบัติว่า ‘คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น
คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย
ที่ล่วงลับดับชีพไปแล้วเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในโลกนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๙๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ
โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
เพราะเหตุนั้นแล ชาวบ้านนาทิกคามผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยจึงมีใจยินดี เบิกบานใจ
เกิดปีติและโสมนัส เพราะได้ฟังคำพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร]
คำกราบทูลเลียบเคียงของพระอานนท์

คำกราบทูลเลียบเคียงของพระอานนท์

[๒๗๖] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ มีความคิดดังนี้ว่า “มีชาวมคธเหล่านี้
จำนวนมากเป็นผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยและเป็นรัตตัญญูซึ่งล่วงลับดับชีพไปแล้ว แต่
เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ชาวอังคะและชาวมคธผู้เลื่อมใสในพระพุทธ
เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์ ผู้รักษาศีลให้บริบูรณ์ที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว
เหล่านั้น แคว้นอังคะและแคว้นมคธจึงดูประหนึ่งว่าว่างจากชาวอังคะและชาวมคธ ผู้เคย
บำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว การพยากรณ์คนเหล่านั้นพึงให้สำเร็จประโยชน์
ได้(คือ)คนจำนวนมากพึงเลื่อมใส จากนั้นจะไปสู่สุคติภูมิ
อนึ่ง พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแห่งแคว้นมคธ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเกื้อกูลพวกพราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท ทราบว่า
ชาวบ้านพากันสรรเสริญอยู่ว่า ‘พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงปกครองให้พวกเราอยู่เป็นสุข สวรรคตแล้ว’ พวกเราอยู่อย่างผาสุก
ในแว่นแคว้นของพระองค์ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม อนึ่ง พระเจ้าแผ่นดิน
พระองค์นั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์
และทรงรักษาศีลให้บริบูรณ์’ และทราบว่าชาวบ้านพูดกันอย่างนี้ว่า ‘แม้จนกระทั่ง
เวลาจะสวรรคต พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแห่งแคว้นมคธก็ยังทรงสรรเสริญพระผู้มี
พระภาคอยู่จนสวรรคต พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ท้าวเธอ ผู้สวรรคตไปแล้ว
การพยากรณ์ท้าวเธอพึงให้สำเร็จประโยชน์ได้ คือ ชนจำนวนมากพึงเลื่อมใส จากนั้น
จะไปสู่สุคติภูมิ พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ในแคว้นมคธ ทำไมพระองค์จึงไม่ทรงพยากรณ์
ชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว ในเรื่องการอุบัติที่พระองค์
ได้ตรัสรู้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับ
ดับชีพไปแล้วในการอุบัติ พวกชาวมคธจะพึงน้อยใจว่า ‘ไฉน พระผู้มีพระภาคจึง
ไม่ทรงพยากรณ์ชาวมคธเหล่านั้น”
[๒๗๗] ท่านพระอานนท์ปรารภชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย พิจารณา
ถึงเหตุนี้อยู่ในที่สงัดเพียงลำพัง พอใกล้สว่าง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร]
คำกราบทูลเลียบเคียงของพระอานนท์

ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า ‘พระผู้มีพระภาค ได้ทรงพยากรณ์เหล่าชนผู้เคย
บำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว ในแคว้นรอบ ๆ คือ แคว้นกาสี แคว้นโกศล
แคว้นวัชชี แคว้นมัลละ แคว้นเจตี แคว้นวังสะ แคว้นกุรุ แคว้นปัญจาละ แคว้นมัจฉะ
และแคว้นสุรเสนะ ในเรื่องการอุบัติว่า ‘คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว
เป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในโลกนั้นไม่หวน
กลับมาจากโลกนั้นอีก
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๙๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ
โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
เพราะเหตุนั้นแล ชาวบ้านนาทิกคามผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย จึงมีใจยินดี
เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส เพราะได้ฟังคำพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีชาวมคธเหล่านี้จำนวนมากเป็นผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย
และเป็นรัตตัญญูซึ่งล่วงลับดับชีพไปแล้ว แต่เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์
ชาวอังคะและชาวมคธผู้เลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์
ผู้รักษาศีลให้บริบูรณ์ ที่ได้ล่วงลับดับชีพไปแล้วเหล่านั้น แคว้นอังคะและแคว้นมคธ
จึงดูประหนึ่งว่าว่างจากชาวอังคะและชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพ
ไปแล้ว การพยากรณ์คนเหล่านั้น พึงให้สำเร็จประโยชน์ได้ (คือ) คนจำนวนมากพึง
เลื่อมใส จากนั้นจะไปสู่สุคติภูมิ
อนึ่ง พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแห่งแคว้นมคธ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเกื้อกูลพวกพราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท ทราบว่า
ชาวบ้านพากันสรรเสริญอยู่ว่า ‘พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงปกครองให้พวกเราอยู่เป็นสุข สวรรคตแล้ว พวกเราอยู่อย่างผาสุก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร]
คำกราบทูลเลียบเคียงของพระอานนท์

ในแว่นแคว้นของพระองค์ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม อนึ่ง พระเจ้าแผ่นดิน
พระองค์นั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์
และทรงรักษาศีลให้บริบูรณ์’ และทราบว่าชาวบ้านพูดกันอย่างนี้ว่า ‘แม้จนกระทั่ง
เวลาจะสวรรคต พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแห่งแคว้นมคธก็ยังทรงสรรเสริญพระผู้มี
พระภาคอยู่จนสวรรคต’ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ท้าวเธอ ผู้สวรรคตไปแล้ว
การพยากรณ์ท้าวเธอพึงให้สำเร็จประโยชน์ได้ คือ คนจำนวนมากพึงเลื่อมใส
จากนั้นจะไปสู่สุคติภูมิ พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ในแคว้นมคธ ทำไมพระองค์จึงไม่ทรง
พยากรณ์ชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้วในเรื่องการอุบัติที่
พระองค์ได้ตรัสรู้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย
ที่ล่วงลับดับชีพไปแล้วในเรื่องการอุบัติ พวกชาวมคธจะพึงน้อยใจว่า ‘ไฉน พระผู้มี
พระภาคจึงไม่ทรงพยากรณ์ชาวมคธเหล่านั้น”
ท่านพระอานนท์ กราบทูลเลียบเคียงปรารภชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย
ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทแล้ว กระทำ
ประทักษิณจากไป
[๒๗๘] เมื่อท่านพระอานนท์จากไปไม่นาน ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาค
ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนาทิกคามเพื่อบิณฑบาต
เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทรงล้างพระบาท
เสด็จเข้าไปในตำหนักอิฐ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ทรงตั้งพระทัย
เพ่งพิจารณาเหตุการณ์ทุกอย่าง ปรารภชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย ด้วยพระ
ดำริว่า “เราจะรู้คติและอภิสัมปรายภพของชาวมคธเหล่านั้นว่า ‘ผู้เจริญเหล่านั้น
มีคติเป็นอย่างไร และมีอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร” แล้วได้ทรงเห็นชาวมคธผู้เคย
บำรุงพระรัตนตรัยว่า “ผู้เจริญเหล่านั้น มีคติเป็นอย่างไร และมีอภิสัมปรายภพเป็น
อย่างไร” ครั้นในเวลาเย็น เสด็จออกจากการหลีกเร้น ออกจากตำหนักอิฐ ประทับ
นั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วในร่มเงาพระวิหาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] ชนวสภยักษ์

[๒๗๙] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงมีพระอาการอันสงบ สีพระพักตร์ผุดผ่องยิ่งนัก
เพราะพระอินทรีย์ผ่องใส วันนี้พระองค์คงประทับอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อันสงบ
เป็นแน่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุที่เธอปรารภชาวมคธผู้เคยบำรุง
พระรัตนตรัย พูดเลียบเคียงเฉพาะหน้าเราแล้ว ลุกจากอาสนะจากไป เราเที่ยวไป
ยังนาทิกคามเพื่อบิณฑบาต เมื่อกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
ล้างเท้าเข้าไปยังตำหนักอิฐ นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ตั้งจิตเพ่งพิจารณาเหตุการณ์
ทุกอย่างปรารภชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยด้วยคิดว่า ‘เราจะรู้คติและอภิ-
สัมปรายภพของชาวมคธเหล่านั้นว่า ‘ผู้เจริญเหล่านั้น มีคติเป็นอย่างไรและมี
อภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร’ อานนท์ ตถาคตได้เห็นชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย
แล้วว่า ‘ผู้เจริญเหล่านั้นมีคติเป็นอย่างไร และมีอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร’

ชนวสภยักษ์

[๒๘๐] อานนท์ ทันใดนั้น ยักษ์ที่ไม่ปรากฏตัว เปล่งเสียงให้ได้ยินว่า
‘ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ชื่อชนวสภะ๑ ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ชื่อ
ชนวสภะ’ อานนท์ ชื่อชนวสภะนี้ เธอรู้จัก (หรือ) เคยได้ยินมาก่อนหรือไม่”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชื่อชนวสภะนี้ ข้าพระองค์
ไม่รู้จัก (และ)ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่พอข้าพระองค์ได้ยินชื่อชนวสภะเท่านั้น ขนก็
ลุกชูชัน จึงคิดว่า ‘ผู้ที่ได้นามว่า ‘ชนวสภะ’ นี้คงไม่ใช่ยักษ์ชั้นต่ำเป็นแน่”

เชิงอรรถ :
๑ชนวสภะ แปลว่าผู้เจริญที่สุดในหมู่ชน เพราะเป็นผู้นำประชาชนฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค
แล้วบรรลุพระโสดาบัน จำนวน ๑๑๐,๐๐๐ คน ยักษ์นี้ คือ พระเจ้าพิมพิสาร (ที.ม.อ. ๒๘๐/๒๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] ชนวสภยักษ์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ขณะที่มีเสียงดังขึ้น ยักษ์มีผิวพรรณผุดผ่อง
ยิ่งนัก ปรากฏขึ้นต่อหน้าเรา ยักษ์นั้นเปล่งเสียงให้ได้ยินอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ‘ข้าแต่
พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์คือพิมพิสาร ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์คือพิมพิสาร
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๗ ที่ข้าพระองค์เข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับท้าวเวสวัณมหาราช
จุติจากสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชนี้แล้ว สามารถไปเกิดเป็นพระราชาในโลกมนุษย์
ข้าพระองค์จุติจากเทวโลก ๗ ครั้ง
จากมนุษยโลก ๗ ครั้ง
รวมเวลาท่องเที่ยวอยู่ ๑๔ ครั้ง
รู้จักภพที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อน
[๒๘๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีทางตกต่ำ ทราบดีถึงความไม่
ตกต่ำมาช้านาน ข้าพระองค์ตั้งความปรารถนาไว้เพื่อเป็นพระสกทาคามี๑”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “การที่ชนวสภยักษ์ประกาศว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีทางตกต่ำ ทราบดีถึงความไม่ตกต่ำมาช้านาน’ และประกาศว่า
‘ตั้งความปรารถนาไว้เพื่อเป็นพระสกทาคามีเช่นนี้ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
ก็อะไรเล่าที่เป็นเหตุทำให้ชนวสภยักษ์ทราบดีว่า จะบรรลุคุณวิเศษอันยิ่งใหญ่เห็น
ปานนี้ได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ชนวสภยักษ์ประกาศว่า ‘ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์มิได้เว้นจากคำสอนของพระองค์เลย ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์มิได้เว้น
จากคำสอนของพระองค์เลย นับตั้งแต่วันที่ข้าพระองค์เลื่อมใสพระผู้มีพระภาค
อย่างมากเป็นต้นมา ข้าพระองค์ไม่มีทางตกต่ำ ทราบดีถึงความไม่ตกต่ำมาช้านาน
และตั้งความปรารถนาไว้เพื่อเป็นพระสกทาคามี ดังจะกราบทูลให้ทรงทราบ ข้าพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ตั้งความปรารถนาไว้เพื่อเป็นพระสกทาคามี ในที่นี้หมายถึงเริ่มบำเพ็ญวิปัสสนา อยู่ด้วยความอุตสาหะ
อย่างนี้ว่า ‘เราจักรู้แจ้งในวันนี้ เราจักรู้แจ้งในวันนี้ทีเดียว’ (ที.ม.อ. ๒๘๑/๒๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] เทวสภา

ได้รับบัญชาจากท้าวเวสวัณมหาราช ให้ไปเฝ้าท้าววิรุฬหกมหาราชด้วยธุระอย่างหนึ่ง
ระหว่างทางได้พบพระผู้มีพระภาคซึ่งกำลังเสด็จเข้าไปยังตำหนักอิฐ ประทับอยู่
ทรงตั้งพระทัยเพ่งพิจารณาเหตุการณ์ทุกอย่าง ปรารภชาวมคธผู้เคยบำรุงพระ
รัตนตรัยด้วยทรงพระดำริว่า ‘เราจะรู้คติและอภิสัมปรายภพของชาวมคธเหล่านั้นว่า
‘ผู้เจริญเหล่านั้น มีคติเป็นอย่างไรและมีอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร’ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ที่ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ท้าวเวสวัณ
มหาราชผู้กล่าวอยู่ในบริษัทนั้นว่า ‘ชาวมคธผู้เจริญเหล่านั้น มีคติเป็นอย่างไรและ
มีอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร’ ข้าพระองค์จึงมีความคิดดังนี้ว่า ‘เราจักเฝ้าพระผู้มี
พระภาค และจักกราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ’ เหตุ ๒ ประการนี้แล ที่ทำให้ข้าพระองค์
ได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

เทวสภา

[๒๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหลายวันมาแล้ว ในคืนเพ็ญวันอุโบสถ
๑๕ ค่ำ อันเป็นวันเข้าพรรษา พวกเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธัมมา-
เทวสภา มีเทพบริษัทมากมายนั่งอยู่โดยรอบ ท้าวจาตุมหาราชประทับอยู่ในทิศ
ทั้ง ๔ คือ
๑. ทิศตะวันออกมีท้าวธตรฐมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไป
ทางทิศตะวันตก มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า
๒. ทิศใต้มีท้าววิรุฬหกมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศ
เหนือ มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า
๓. ทิศตะวันตกมีท้าววิรูปักษ์มหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไป
ทางทิศตะวันออก มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า
๔. ทิศเหนือมีท้าวเวสวัณมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทาง
ทิศใต้ มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] เทวสภา

เมื่อครั้งที่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา มีเทพบริษัท
มากมายนั่งอยู่โดยรอบ มีท้าวจาตุมหาราชประทับอยู่ในทิศทั้ง ๔ นี้เป็นธรรมเนียม
ในการนั่งของท้าวจาตุมหาราช ข้างหลังถัดออกมาเป็นที่นั่งของข้าพระองค์ทั้งหลาย
เทพเหล่านั้นประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคแล้ว เดี๋ยวนี้เกิดในสวรรค์
ชั้นดาวดึงส์ รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ นัยว่า ด้วยเหตุนั้น พวกเทพ
ชั้นดาวดึงส์จึงมีใจยินดี เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส กล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลาย
หมู่เทพเจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง๑’
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความเลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์
ทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายพวกเทพชั้นดาวดึงส์
มีพระอินทร์เป็นประธาน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม
เมื่อเห็นเทพเหล่าใหม่ ผู้มีวรรณะและยศ
ผู้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต ซึ่งมา ณ ที่นี้(ด้วย)
ก็พากันบันเทิงใจนัก
เทพเหล่านั้นเป็นสาวก
ของพระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน๒
ทั้งหมดเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ
รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นในที่นี้
ด้วยวรรณะ ยศ และอายุ

เชิงอรรถ :
๑ หมู่เทพเจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง หมายความว่าในสมัยที่คนทำความดีมาก เทวโลกทั้ง ๖ ชั้น
จะเต็มบริบูรณ์ อบายจะว่าง แต่ในสมัยที่คนทำความชั่วมาก อบายจะเต็มบริบูรณ์ เทวโลกจะว่าง (ที.ม.อ.
๒๙๔/๒๖๒-๒๖๓)
๒ พระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้า (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๖/๕๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] เทวสภา

พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน
ครั้นเห็นเหตุนี้แล้วพากันเพลิดเพลิน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นัยว่า เพราะเหตุนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์จึงมีใจยินดี
เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส สุดจะประมาณได้ กล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลาย หมู่เทพ
เจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล แม้ท้าวจาตุมหาราชได้รับคำบอกเล่าเรื่องที่
เป็นเหตุให้พวกเทพชั้นดาวดึงส์ต้องมานั่งประชุมคิดพิจารณากันในสุธัมมาเทวสภาแล้ว
ก็ยังดำเนินการในเรื่องนั้นอยู่ ทั้งได้รับคำแนะนำที่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ตามพร่ำสอน
เฉพาะแล้ว ก็ทรงดำเนินการในเรื่องนั้นอยู่ และต่างยังคงประทับยืนอยู่ ณ ที่ประทับ
ของตน ๆ ไม่ยอมจากไป
ท้าวจาตุมหาราชเหล่านั้น
ได้รับคำบอกแล้ว ทั้งได้รับคำแนะนำแล้ว
จึงมีพระทัยผ่องใส ประทับยืนสงบอยู่
ณ ที่ประทับของตน ๆ
[๒๘๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล ได้เกิดแสงสว่างเจิดจ้าขึ้นทาง
ทิศเหนือ ปรากฏโอภาส เกินเทวานุภาพของเทพทั้งหลาย ทีนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ
รับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย มีนิมิตที่สังเกตได้
(คือ) แสงสว่างเกิดขึ้น โอภาสปรากฏขึ้น พระพรหมก็จะปรากฏองค์ขึ้น เพราะ
การที่แสงสว่างเกิดขึ้น โอภาสปรากฏขึ้นนี้ จัดเป็นบุพนิมิตแห่งการปรากฏของ
พระพรหม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] เรื่องสุนังกุมารพรหม

เมื่อมีนิมิตที่สังเกตได้
พระพรหมก็จะปรากฏองค์ขึ้น
เพราะโอภาสอันเจิดจ้ายิ่ง
เป็นนิมิตแห่งพระพรหม

เรื่องสนังกุมารพรหม

[๒๘๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์นั่งบนที่นั่ง
ของตน ๆ กล่าวว่า ‘พวกเราจักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึงจะไป’
แม้ท้าวจาตุมหาราชประทับบนที่ประทับของตน ๆ ก็กล่าวว่า ‘พวกเราจักรู้
โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึงจะไป’ พวกเทพชั้นดาวดึงส์สดับเรื่องนี้แล้ว
นั่งสงบอยู่มีความคิดตรงกันว่า ‘พวกเราจักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏ
แล้วจึงจะไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์
พระองค์ทรงเนรมิตอัตภาพให้หยาบปรากฏขึ้น เพราะรูปร่างปกติของพรหมไม่อาจ
ปรากฏในคลองจักษุของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวก
เทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ ร่างกายที่เป็น
ทองคำ ย่อมงดงามเกินร่างกายมนุษย์ ฉันใด เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวก
เทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ ฉันนั้น
เหมือนกัน เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ในเทพบริษัทนั้น
เทพบางองค์ไม่ไหว้ ไม่ต้อนรับ ไม่เชิญด้วยอาสนะ ทั้งหมดพากันนั่งขัดสมาธิ
ประนมมือนิ่งอยู่ด้วยดำริว่า ‘บัดนี้ สนังกุมารพรหมจะประทับนั่งบนบัลลังก์ของเทพ
ที่พระองค์ปรารถนา’
สนังกุมารพรหมประทับนั่งบนบัลลังค์ของเทพองค์ใด เทพองค์นั้นได้ความยินดี
อย่างยิ่ง ได้โสมนัสอย่างยิ่ง กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วเพิ่งจะครองราชย์
ทรงได้ความยินดีอย่างยิ่ง ได้ความโสมนัสอย่างยิ่ง ฉันใด สนังกุมารพรหมประทับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] เสียงของสนังกุมารพรหม

นั่งบนบัลลังก์ของเทพองค์ใด เทพองค์นั้นก็ได้ความยินดีอย่างยิ่ง ได้ความโสมนัส
อย่างยิ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน จากนั้น สนังกุมารพรหมทรงเนรมิตอัตภาพให้หยาบ
เป็นรูปร่างกุมารเช่นกับปัญจสิขเทพบุตร ปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ แล้วเหาะ
ขึ้นอากาศนั่งขัดสมาธิในอากาศบนที่ว่างกลางอากาศ เหมือนบุรุษมีกำลังนั่งขัดสมาธิ
บนบัลลังก์ที่ปูลาดไว้ดีแล้ว หรือบนพื้นที่ราบเรียบเสมอกันฉะนั้น ทรงทราบความ
เลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว จึงทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายพวกเทพชั้นดาวดึงส์
มีพระอินทร์เป็นประธาน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม
เมื่อเห็นเทพเหล่าใหม่ ผู้มีวรรณะและมียศ
ผู้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต ซึ่งมา ณ ที่นี้(ด้วย)
ก็พากันบันเทิงใจนัก
เทพเหล่านั้นเป็นสาวก
ของพระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน
ทั้งหมดเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ
รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นในที่นี้
ด้วยวรรณะ ยศ และอายุ
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน
ครั้นเห็นเหตุนี้แล้ว พากันเพลิดเพลิน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม’

เสียงของสนังกุมารพรหม

[๒๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้ ขณะที่
สนังกุมารพรหมตรัสเนื้อความนี้มีเสียงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ (๑) แจ่มใส
(๒) ชัดเจน (๓) นุ่มนวล (๔) ชวนฟัง (๕) กลมกล่อม (๖) ไม่พร่า (๗) ลึกซึ้ง (๘) กังวาน
สนังกุมารพรหมเปล่งเสียงให้รู้กันเฉพาะในบริษัทเท่านั้น เสียงของสนังกุมารพรหมนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] เสียงของสนังกุมารพรหม

ไม่ได้ดังออกไปภายนอกบริษัท ผู้มีเสียงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการเช่นนี้เรียกว่า
‘มีเสียงเหมือนเสียงพรหม’
ครั้งนั้น สนังกุมารพรหมเนรมิตอัตภาพเป็นรูปเนรมิต ๓๓ องค์ ประทับนั่ง
บนบัลลังก์ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ทุกบัลลังก์ รับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มา
ตรัสว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ก็พระผู้มีพระภาค
พระองค์นี้ ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์
ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเพียงไร
เหล่าชนผู้เจริญผู้ถึงพระพุทธเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็น
สรณะ รักษาศีลให้บริบูรณ์ หลังจากตายไป บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นนิมมานรดี
บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดุสิต บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
พวกเทพชั้นยามา บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์ บางพวก
ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นจาตุมหาราช พวกที่ยังกายให้บริบูรณ์ซึ่งต่ำ
กว่าเขาทั้งหลาย ย่อมไปเพิ่มจำนวนหมู่เทพคนธรรพ์’
[๒๘๖] สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้ ขณะที่สนังกุมารพรหมตรัสเนื้อ
ความนี้มีเสียงดัง พวกเทพเข้าใจเสียงของสนังกุมารพรหมว่า ‘ผู้ที่นั่งบนบัลลังก์ของ
เรากับผู้พูดเป็นคนเดียวกัน
(พระโบราณาจารย์กล่าวว่า)
เมื่อสนังกุมารพรหมผู้เดียวกล่าว
รูปเนรมิตทุกรูปก็กล่าว
เมื่อสนังกุมารพรหมนิ่ง
รูปเนรมิตทุกรูปก็นิ่ง
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] การเจริญอิทธิบาท ๔ ประการ

สำคัญสนังกุมารพรหมว่า
‘ผู้ที่นั่งบนบัลลังก์ของเรากับผู้พูดเป็นคนเดียวกัน’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล สนังกุมารพรหมกลับคืนตนเป็นผู้เดียว
ประทับนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ของท้าวสักกะจอมเทพ รับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์
มาตรัสว่า

การเจริญอิทธิบาท ๔ ประการ

[๒๘๗] ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติ
อิทธิบาท ๔ ประการนี้ แม้ที่ทรงบัญญัติไว้อย่างดี ก็เพียงเพื่อเพิ่มพูนความสำเร็จ
เพื่อให้ชำนาญในเรื่องความสำเร็จ เพื่อพลิกแพลงให้เกิดความสำเร็จ
อิทธิบาท ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญอิทธิบาท คือฉันทสมาธิปธานสังขาร๑ (สมาธิที่เกิดจากฉันทะ
และความเพียรสร้างสรรค์)
๒. เจริญอิทธิบาท คือวิริยสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจากวิริยะ
และความเพียรสร้างสรรค์)
๓. เจริญอิทธิบาท คือจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจากจิตตะ
และความเพียรสร้างสรรค์)
๔. เจริญอิทธิบาท คือวิมังสาสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจาก
วิมังสาและความเพียรสร้างสรรค์)๒

เชิงอรรถ :
๑ ปธานสังขาร ได้แก่สังขารซึ่งเป็นประธาน เป็นชื่อหนึ่งของสัมมัปปธานที่ให้สำเร็จกิจ ๔ ประการ คือ
(๑) สังวรปธาน (๒) ปหานปธาน (๓) ภาวนาปธาน (๔) อนุรักขนาปธาน (ที.ม.อ. ๒๘๗/๒๕๒-๒๕๓)
๒ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๕๗-๑๖๓/๔๐๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] วิธีการบรรลุโอกาส ๓ ประการ

พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงบัญญัติอิทธิบาท ๔ ประการนี้แล เพื่อเพิ่มพูนความสำเร็จ เพื่อให้ชำนาญ
ในเรื่องความสำเร็จ เพื่อพลิกแพลงให้เกิดความสำเร็จ
ท่านผู้เจริญ ในอดีตกาลได้มีสมณะหรือพราหมณ์พวกหนึ่งได้อิทธิวิธญาณ
หลายอย่าง เพราะเจริญ เพราะเพิ่มพูนอิทธิบาท ๔ ประการนี้ ในอนาคตกาลจักมี
สมณะหรือพราหมณ์พวกหนึ่งได้อิทธิวิธญาณหลายอย่าง เพราะเจริญ เพราะเพิ่ม
พูนอิทธิบาท ๔ ประการนี้ ในปัจจุบันก็มีสมณะหรือพราหมณ์พวกหนึ่งได้อิทธิ-
วิธญาณหลายอย่าง เพราะเจริญ เพราะเพิ่มพูนอิทธิบาท ๔ ประการนี้ พวกเทพ
ชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญไม่เห็นฤทธิ์และอานุภาพเช่นนี้ของเราหรือ’
พวกเทพชั้นดาวดึงส์กราบทูลว่า ‘เห็น พระเจ้าข้า’
สนังกุมารพรหมตรัสว่า ‘เรามีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้
ก็เพราะเจริญ เพราะเพิ่มพูนอิทธิบาท ๔ ประการนี้เหมือนกัน’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว จึงรับสั่งเรียก
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า

วิธีการบรรลุโอกาส ๓ ประการ

[๒๘๘] ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้วิธีการบรรลุ
โอกาส๑ (ช่องว่าง) ๓ ประการ ก็เพียงเพื่อให้ถึงความสุข

เชิงอรรถ :
๑โอกาส ในที่นี้หมายถึงภาวะที่ปลอดจากกิเลสต่าง ๆ ได้แก่ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑
และอรหัตตมรรค แต่ละภาวะก็ปลอดจากกิเลสต่างกัน เช่น ปฐมฌานปลอดจากนิวรณ์ ๕ จตุตถฌาน
ปลอดจากสุขและทุกข์ วิธีการบรรลุโอกาสที่ ๑ หมายถึงการบรรลุปฐมฌาน วิธีการบรรลุโอกาสที่ ๒
หมายถึงการบรรลุจตุตถฌาน วิธีการบรรลุโอกาสที่ ๓ หมายถึงการบรรลุอรหัตตมรรค (ที.ม.อ. ๒๘๘/
๒๕๕, องฺ.นวก.ฏีกา. ๓/๓๗/๓๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] วิธีการบรรลุโอกาส ๓ ประการ

วิธีการบรรลุโอกาส ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ยังเกี่ยวข้องด้วยกาม เกี่ยวข้องด้วยอกุศล-
ธรรมอยู่ ต่อมาเขาฟังธรรมของพระอริยะ มนสิการโดย
แยบคาย๑ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เขาอาศัยการฟังธรรม
ของพระอริยะ อาศัยการมนสิการโดยแยบคาย อาศัยการปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม ไม่เกี่ยวข้องด้วย
อกุศลธรรม สุขย่อมเกิดขึ้น โสมนัสยิ่งกว่าสุขย่อมเกิดขึ้น
แก่เขาผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม ไม่เกี่ยวข้องด้วยอกุศลธรรม
ท่านผู้เจริญ ความปราโมทย์ เกิดจากความเบิกบานใจ แม้ฉันใด
สุขย่อมเกิดขึ้น โสมนัสยิ่งกว่าสุขย่อมเกิดขึ้น (จากความบันเทิงใจ)
แก่เขาผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม ไม่เกี่ยวข้องด้วยอกุศลธรรมอยู่
ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้วิธีการบรรลุโอกาสที่ ๑ นี้
เพื่อให้ถึงความสุข
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้มีกายสังขาร๒อย่างหยาบยังไม่สงบระงับ
มีวจีสังขาร๓อย่างหยาบยังไม่สงบระงับ มีจิตตสังขาร๔อย่าง
หยาบยังไม่สงบระงับ ต่อมา เขาฟังธรรมของพระอริยะ
มนสิการโดยแยบคาย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เขาอาศัย
การฟังธรรมของพระอริยะ อาศัยการมนสิการโดยแยบคาย
อาศัยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม กายสังขารอย่างหยาบ

เชิงอรรถ :
๑ มนสิการโดยแยบคาย หมายถึงการคิดถูกวิธี (อุปายมนสิการ) และการคิดถูกทาง (ปถมนสิการ) (ที.ม.อ.
๒๘๘/๒๕๔)
๒ กายสังขาร แปลว่าสภาพปรุงแต่งกาย คือ ลมหายใจเข้า-ออก (ที.ม.อ. ๒๘๘/๒๕๕, ที.ม.ฏีกา ๒/๒๘๘/
๒๖๔)
๓ วจีสังขาร แปลว่าสภาพปรุงแต่งวาจา คือ วิตก วิจาร (ที.ม.อ. ๒๘๘/๒๕๕, ที.ม.ฏีกา ๒/๒๘๘/๒๖๔)
๔ จิตตสังขาร แปลว่าสภาพปรุงแต่งจิต คือ เวทนา สัญญา (ที.ม.อ. ๒๘๘/๒๕๕, ที.ม.ฏีกา ๒/๒๘๘/๒๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] วิธีการบรรลุโอกาส ๓ ประการ

ย่อมสงบระงับ วจีสังขารอย่างหยาบย่อมสงบระงับ จิตตสังขาร
อย่างหยาบย่อมสงบระงับ เพราะกายสังขารอย่างหยาบสงบ
ระงับ วจีสังขารอย่างหยาบย่อมสงบระงับ จิตตสังขารอย่าง
หยาบย่อมสงบระงับ สุขย่อมเกิดขึ้น โสมนัสยิ่งกว่าสุขย่อม
เกิดขึ้นแก่เขา ท่านผู้เจริญ ความปราโมทย์เกิดจากความ
เบิกบานใจ แม้ฉันใด ท่านผู้เจริญ เพราะกายสังขารอย่างหยาบ
สงบระงับ เพราะวจีสังขารอย่างหยาบสงบระงับ เพราะจิตต-
สังขารอย่างหยาบสงบระงับ สุขย่อมเกิดขึ้น โสมนัสยิ่งกว่าสุข
ย่อมเกิดขึ้น ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้วิธีการบรรลุโอกาส
ที่ ๒ นี้ เพื่อให้ถึงความสุข
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นกุศล’
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ ไม่รู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งมีโทษ’ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้เป็นสิ่งไม่มีโทษ’ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่ง
ควรเสพ’ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งไม่ควรเสพ’
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งเลว’ ไม่รู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งประณีต’ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้เป็นสิ่งดำ สิ่งขาว และสิ่งมีส่วนเปรียบ๑’ ต่อมาเขาฟังธรรม
ของพระอริยะ มนสิการโดยแยบคาย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่
ธรรม เขาอาศัยการฟังธรรมของพระอริยะ อาศัยการมนสิการ
โดยแยบคาย อาศัยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อม
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นกุศล’ ย่อมรู้ชัดตามความเป็น
จริงว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่ง
มีโทษ’ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งไม่มีโทษ’ ย่อม

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งมีส่วนเปรียบ ในที่นี้หมายถึงสิ่งทั้งหลาย ยกเว้นนิพพานเรียกว่า สิ่งมีส่วนเปรียบ (ที.ม.อ. ๒๘๘/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] สติปัฏฐาน ๔ ประการ

รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งควรเสพ’ ย่อมรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งไม่ควรเสพ’ ย่อมรู้ชัดตามความเป็น
จริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งเลว’ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่ง
ประณีต’ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งดำ สิ่งขาว
และสิ่งมีส่วนเปรียบ’ เมื่อเขารู้เห็นอย่างนี้ ย่อมละอวิชชาได้
วิชชาย่อมเกิดขึ้น เพราะอวิชชาดับลง เพราะวิชชาเกิดขึ้น สุข
ย่อมเกิดขึ้น โสมนัสยิ่งกว่าสุขย่อมเกิดขึ้น ท่านผู้เจริญ ความ
ปราโมทย์เกิดจากความเบิกบานใจ แม้ฉันใด เพราะอวิชชาดับลง
เพราะวิชชาเกิดขึ้น สุขย่อมเกิดขึ้น โสมนัส ยิ่งกว่าสุขย่อมเกิดขึ้น
ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้วิธีการบรรลุโอกาส
ที่ ๓ นี้ เพื่อให้ถึงความสุข
ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ-
เจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้วิธีการบรรลุโอกาส ๓ ประการนี้แล เพื่อให้ถึงความสุข’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว จึงตรัสต่อไปว่า

สติปัฏฐาน ๔ ประการ

[๒๘๙] ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มี
พระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติ
สติปัฏฐาน ๔ ประการนี้ แม้ที่ทรงบัญญัติไว้อย่างดี ก็เพียงเพื่อให้บรรลุกุศลธรรม
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ภิกษุนั้นเมื่อพิจารณา
เห็นกายในกายภายในอยู่ ย่อมตั้งจิตมั่นโดยชอบ ย่อมผ่องใส
โดยชอบในกายานุปัสสนานั้น ภิกษุนั้นตั้งจิตมั่นโดยชอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] สติปัฏฐาน ๔ ประการ

ผ่องใสโดยชอบในกายานุปัสสนานั้นแล้ว ก็ย่อมบังเกิดมีญาณ-
ทัสสนะ๑ในกายอื่นภายนอก
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายในอยู่ มีความเพียร
มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ภิกษุ
นั้นเมื่อพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายในอยู่ ย่อมตั้ง
จิตมั่นโดยชอบ ย่อมผ่องใสโดยชอบในเวทนานุปัสสนานั้น ภิกษุ
นั้นตั้งจิตมั่นโดยชอบ ผ่องใสโดยชอบในเวทนานุปัสสนานั้นแล้ว
ก็ย่อมบังเกิดมีญาณทัสสนะในเวทนาอื่นภายนอก
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ภิกษุนั้นเมื่อพิจารณา
เห็นจิตในจิตภายในอยู่ ย่อมตั้งจิตมั่นโดยชอบ ย่อมผ่องใสโดย
ชอบในจิตตานุปัสสนานั้น ภิกษุนั้นตั้งจิตมั่นโดยชอบ ผ่องใส
โดยชอบในจิตตานุปัสสนานั้นแล้วก็ย่อมบังเกิดมีญาณทัสสนะ
ในจิตอื่นภายนอก
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ มีความเพียร
มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ภิกษุ
นั้นเมื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ ย่อมตั้ง
จิตมั่นโดยชอบ ย่อมผ่องใสโดยชอบในธัมมานุปัสสนานั้น ภิกษุ
นั้นตั้งจิตมั่นโดยชอบ ผ่องใสโดยชอบในธัมมานุปัสสนานั้นแล้ว
ก็ย่อมบังเกิดมีญาณทัสสนะในธรรมอื่นภายนอก

เชิงอรรถ :
๑ ญาณทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงความรู้และความเห็นตามความเป็นจริง อาจเรียกว่า มรรคญาณ ผลญาณ
สัพพัญญุตญาณ ปัจจเวกขณญาณ หรือวิปัสสนาญาณ ก็ได้ (ที.สี.อ. ๒๓๔/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้แล เพื่อให้บรรลุ
กุศลธรรม’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว จึงตรัสต่อไปว่า

บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ๑

[๒๙๐] ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติบริขารแห่ง
สมาธิ๒ ๗ ประการนี้ แม้ที่ทรงบัญญัติอย่างดี ก็เพียงเพื่อความเจริญ เพื่อความ
บริบูรณ์แห่งสัมมาสมาธิ
บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)___๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)___๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)___๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย สภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียวซึ่งมีองค์ ๗ ประการนี้แวดล้อม
เรียกว่า ‘อริยสัมมาสมาธิที่มีอุปนิสะ๓’ บ้าง ว่า ‘อริยสัมมาสมาธิที่มีบริขาร’ บ้าง
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้มีสัมมาทิฏฐิ จึงมีสัมมาสังกัปปะ ผู้มีสัมมาสังกัปปะ
จึงมีสัมมาวาจา ผู้มีสัมมาวาจา จึงมีสัมมากัมมันตะ ผู้มีสัมมากัมมันตะ จึงมี
สัมมาอาชีวะ ผู้มีสัมมาอาชีวะ จึงมีสัมมาวายามะ ผู้มีสัมมาวายามะ จึงมีสัมมาสติ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๒๘/๒๘, องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๔๕/๖๘
๒ บริขารแห่งสมาธิ ในที่นี้หมายถึงบริวาร หรือองค์ประกอบของมรรคสมาธิ (ที.ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗, องฺ.สตฺตก
อ. ๓/๔๔-๔๕/๑๘๒)
๓ อุปนิสะ หมายถึงอุปนิสัย ในที่นี้ได้แก่หมวดธรรมที่เป็นเหตุทำหน้าที่ร่วมกัน (ที.ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗, ที.ม.ฏีกา
๒๙๐/๒๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ

ผู้มีสัมมาสติ จึงมีสัมมาสมาธิ ผู้มีสัมมาสมาธิ จึงมีสัมมาญาณะ ผู้มีสัมมาญาณะ
จึงมีสัมมาวิมุตติ
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงองค์ธรรมใดว่า
‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล๑ ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้
เฉพาะตน’ ประตูแห่งอมตะจึงจะชื่อว่าเปิดแล้ว บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าว
ถึงองค์ธรรมที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้แลว่า
‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้
เฉพาะตน’ ประตูแห่งอมตะจึงจะชื่อว่าเปิดแล้ว
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชนเหล่าใดประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว
ในพระพุทธ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ประกอบด้วย
ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ชนเหล่านี้
เป็นโอปปาติกะ เป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำ(ให้ตั้งอยู่)ในธรรมแล้ว เป็นชาว
มคธ มีจำนวนมากกว่า ๒,๔๐๐,๐๐๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า อนึ่ง ในชนจำนวนนั้น ผู้ที่เป็นพระสกทา-
คามีก็มีอยู่
ข้าพเจ้ากลัวการพูดเท็จจึงไม่อาจคิดคำนวณว่า
‘ในจำนวนนั้น เหล่าชนนอกนี้๒
เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ๓ (นั้นด้วยหรือไม่)’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๕๘ หน้า ๑๐๓ ในเล่มนี้
๒ เหล่าชนนอกนี หมายถึงพระอนาคามี (ที.ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗)
๓ เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ หมายถึงบังเกิดแล้วด้วยส่วนแห่งบุญ (ที. ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ

[๒๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว เมื่อสนัง-
กุมารพรหมตรัสเนื้อความนี้อยู่ ท้าวเวสวัณมหาราชทรงดำริอย่างนี้ว่า ‘น่าอัศจรรย์
จริง ไม่เคยปรากฏ จักมีพระศาสดาผู้ยิ่งเช่นนี้ จักมีการแสดงธรรมที่ยิ่งเช่นนี้
จักปรากฏการบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งเช่นนี้’ ลำดับนั้น สนังกุมารพรหม ทรงทราบ
พระดำริของท้าวเวสวัณมหาราชด้วยพระทัย จึงตรัสกับท้าวเวสวัณมหาราชดังนี้ว่า
‘เวสวัณมหาราชผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ในอดีตกาลก็ได้มีพระศาสดาผู้ยิ่ง
เช่นนี้ ได้มีการแสดงธรรมที่ยิ่งเช่นนี้ ได้ปรากฏการบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งเช่นนี้ ถึงใน
อนาคตกาลก็จักมีพระศาสดาผู้ยิ่งเช่นนี้ จักมีการแสดงธรรมที่ยิ่งเช่นนี้ จักปรากฏ
การบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งเช่นนี้’
[๒๙๒] สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้แก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว
ท้าวเวสวัณมหาราชทรงนำเนื้อความนี้ที่ได้ทรงสดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ของ
สนังกุมารพรหมผู้ตรัสแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสบอกแก่บริษัทของพระองค์
ชนวสภยักษ์นำเนื้อความนี้ที่ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ของท้าวเวสวัณมหาราชที่
ตรัสแก่บริษัทของพระองค์มากราบทูลแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ทรง
สดับรับเนื้อความนี้มาเฉพาะหน้าของชนวสภยักษ์ด้วย ทรงรู้แจ้งด้วยพระองค์เองด้วย
แล้วตรัสบอกแก่ท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ได้สดับรับเนื้อความนั้นมาเฉพาะ
พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคแล้วบอกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย
พรหมจรรย์๑นี้นั้น จึงบริบูรณ์กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี กระทั่ง
เทพและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้’

ชนวสภสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เทวสภา

๖. มหาโควินทสูตร
ว่าด้วยมหาโควินทพราหมณ์

[๒๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
ครั้งนั้น ปัญจสิขะ คันธรรพบุตร เมื่อราตรีผ่านไป๑มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างไปทั่วภูเขาคิชฌกูฏ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์จะขอกราบทูลข้อความที่ได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพวกเทพชั้นดาวดึงส์
แด่พระผู้มีพระภาค” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เชิญบอกเราเถิด ปัญจสิขะ”

เทวสภา๒

[๒๙๔] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ
หลายวันมาแล้ว ในคืนเพ็ญวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันปวารณา พวกเทพชั้น
ดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา มีเทพบริษัทมากมายนั่งอยู่โดยรอบ
ท้าวจาตุมหาราชประทับอยู่ในทิศทั้ง ๔ คือ
๑. ทิศตะวันออกมีท้าวธตรฐมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไป
ทางทิศตะวันตก มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า
๒. ทิศใต้มีท้าววิรุฬหกมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทาง
ทิศเหนือ มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า
๓. ทิศตะวันตกมีท้าววิรูปักษ์มหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไป
ทางทิศตะวันออก มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า
๔. ทิศเหนือมีท้าวเวสวัณมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทาง
ทิศใต้ มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า

เชิงอรรถ :
๑ เมื่อราตรีผ่านไป หมายถึงปฐมยาม คือยามที่หนึ่งผ่านไป (ในคืนหนึ่งแบ่งเป็น ๓ ยาม ยามละ ๔ ชั่วโมง
เรียก ปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม ตามลำดับ) (ที.ม.อ. ๒๙๓/๒๕๙)
๒ ดูเทียบข้อ ๒๘๒ หน้า ๒๑๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เทวสภา

เมื่อครั้งที่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา มีพวก
เทพบริษัทมากมายนั่งอยู่โดยรอบ มีท้าวจาตุมหาราชประทับอยู่ในทิศทั้ง ๔ นี้เป็น
ธรรมเนียมในการนั่งของท้าวจาตุมหาราช ข้างหลังถัดออกมาเป็นที่นั่งของข้าพระองค์
ทั้งหลาย
เทพเหล่านั้นประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคแล้ว เดี๋ยวนี้เกิดในสวรรค์
ชั้นดาวดึงส์ รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ นัยว่า ด้วยเหตุนั้น พวกเทพ
ชั้นดาวดึงส์จึงมีใจยินดี เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัสว่า ‘ท่านทั้งหลาย หมู่เทพ
เจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง๑’
[๒๙๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความ
เลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ จึงทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเทพชั้นดาวดึงส์
มีพระอินทร์เป็นประธาน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม
เมื่อเห็นเทพเหล่าใหม่ผู้มีวรรณะและยศ
ผู้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต ซึ่งมา ณ ที่นี้ (ด้วย)
ก็พากันบันเทิงใจนัก
เทพเหล่านั้นเป็นสาวก
ของพระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน
ทั้งหมดเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ
รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นในที่นี้
ด้วยวรรณะ ยศ และอายุ
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน
ครั้นเห็นเหตุนี้แล้วพากันเพลิดเพลิน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นัยว่า เพราะเหตุนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์จึงมีใจยินดี
เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส สุดจะประมาณได้ กล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลาย หมู่เทพ
เจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒๘๒ หน้า ๒๑๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

[๒๙๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบ
ความเลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ จึงรับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ท่านปรารถนาจะฟังพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไหม’ พวกเทพชั้นดาวดึงส์กราบทูลว่า ‘พวก
ข้าพระองค์ปรารถนาจะฟังพระคุณตามความเป็นจริงของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
พระเจ้าข้า’ ทีนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระคุณตามความเป็นจริง
๘ ประการ ของพระผู้มีพระภาคแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ว่า
‘เทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
๑. ตราบเท่าที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรง
ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อ
อนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น
(ใครอื่น)นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๒. พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะ
พึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู
ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เราไม่เคยเห็น
พระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงแสดงธรรมที่ควร
น้อมเข้ามาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น)
นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๓. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นกุศล’
ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า
‘นี้เป็นสิ่งมีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งไม่มีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งควรเสพ’ ‘นี้เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

สิ่งไม่ควรเสพ’ ‘นี้เป็นสิ่งเลว’ ‘นี้เป็นสิ่งประณีต’ ‘นี้เป็นสิ่งดำ
สิ่งขาวและสิ่งมีส่วนเปรียบ’ เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบ
ด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงบัญญัติธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล
เป็นสิ่งมีโทษ เป็นสิ่งไม่มีโทษ เป็นสิ่งควรเสพ เป็นสิ่งไม่ควรเสพ
เป็นสิ่งเลว เป็นสิ่งประณีต เป็นสิ่งดำ สิ่งขาว และสิ่งมีส่วน
เปรียบอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น)
นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๔. ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรง
บัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติ
ย่อมเหมาะสมกัน น้ำจากแม่น้ำคงคากับน้ำจากแม่น้ำยมุนา
ย่อมกลมกลืนกันได้ เข้ากันได้ แม้ฉันใด ข้อปฏิบัติที่ให้ถึง
พระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว
แก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติย่อมเหมาะสมกัน
ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วย
องค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงบัญญัติข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานอย่างนี้
ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น
๕. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงได้พระเสขะทั้งหลายผู้ยังต้อง
ปฏิบัติและพระขีณาสพทั้งหลายผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้วเป็น
พระสหาย (แต่) ไม่ทรงติดท่านเหล่านั้น ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรม
ที่ยินดีการอยู่ผู้เดียว เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วย
องค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมที่ยินดีการอยู่ผู้เดียว
อย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจาก
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๖. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีลาภเกิดขึ้นมากมาย ทรงมี
คำสรรเสริญเกิดขึ้นแพร่หลาย เห็นจะเทียบกับกษัตริย์ทั้งหลาย
ผู้มีพระสิริโฉมสง่าน่ารัก แต่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสวย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

พระกระยาหารอย่างปราศจากความมัวเมา เราไม่เคยเห็นพระ
ศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ เสวยพระกระยาหาร
อย่างปราศจากความมัวเมาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้
เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๗. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงทำ
อย่างนั้น ทรงมีปกติทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น
จึงชื่อว่าเป็นผู้ทรงมีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงทำอย่างนั้น ทรงมีปกติ
ทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น๑ เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบ
ด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ ผู้ทรงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อย่างนี้
ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น
๘. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงข้ามความสงสัย ปราศจาก
ความแคลงใจ ผู้จบสิ้นความดำริด้วยอาทิพรหมจรรย์อันเป็นไป
ตามอัชฌาสัย เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณ
แม้เช่นนี้ ผู้ทรงข้ามความสงสัย ปราศจากความแคลงใจ จบสิ้น
ความดำริด้วยอาทิพรหมจรรย์อันเป็นไปตามอัชฌาสัยอย่างนี้
ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น’
[๒๙๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระคุณตาม
ความเป็นจริง ๘ ประการนี้ของพระผู้มีพระภาคแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ นัยว่า
เพราะการประกาศนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์ครั้นสดับพระคุณตามความเป็นจริง ๘
ประการของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงมีใจยินดี เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส
สุดจะประมาณได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในจำนวนเทพเหล่านั้น เทพบางเหล่ากล่าวอย่างนี้ว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๔ พระองค์
และทรงแสดงธรรมเหมือนพระผู้มีพระภาคเถิดหนอ (เพราะ) การเสด็จอุบัติขึ้นและ

เชิงอรรถ :
๑ คำนี้แปลมาจากคำบาลีว่า ยถาวาที ตถาการี ยถาการี ตถาวาที หมายถึงมีปกติตรัสอย่างที่ทรงทำ
และทรงทำอย่างที่ตรัส (ที.ม.อ. ๒๙๖/๒๖๙) และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๓/๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

การแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’
เทพบางเหล่ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๔ พระองค์ จงยกไว้ก่อนเถิด ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก
๓ พระองค์ และทรงแสดงธรรมเหมือนพระผู้มีพระภาคเถิดหนอ(เพราะ)การเสด็จอุบัติขึ้น
และการแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คน
หมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’
เทพบางเหล่ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓
พระองค์ จงยกไว้ก่อนเถิด ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๒ พระองค์
และทรงแสดงธรรมเหมือนพระผู้มีพระภาคเถิดหนอ (เพราะ) การเสด็จอุบัติขึ้นและ
การแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’
[๒๙๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพวกเทพชั้นดาวดึงส์กล่าวอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพตรัสแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ดังนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
นั่นไม่ใช่ฐานะ๑ ไม่ใช่โอกาส ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์จะเสด็จ
อุบัติขึ้นในโลกธาตุเดียวกัน๒ ไม่ก่อนไม่หลัง (พร้อมกัน) ฐานะอย่างนี้มีไม่ได้เลย
ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ขอให้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีโรคาพาธน้อย
ดำรงอยู่ยิ่งยืนนานเถิดหนอ (เพราะ) การที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงดำรงอยู่
ยิ่งยืนนานจะเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์
ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล แม้ท้าวจาตุมหาราชได้รับคำบอกเล่าเรื่องที่
เป็นเหตุให้พวกเทพชั้นดาวดึงส์ต้องมานั่งประชุมคิดพิจารณากันในสุธัมมาเทวสภาแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ใช่ฐานะ หมายถึงเหตุการณ์ที่มีไม่ได้หรือเป็นไปไม่ได้ (ที.ม.อ. ๒๙๘/๒๗๑)
๒ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๒๙/๑๑๕, องฺ.เอกก. (แปล) ๒๐/๒๗๗/๓๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เรื่องสนังกุมารพรหม

ก็ยังดำเนินการในเรื่องนั้นอยู่ ทั้งได้รับคำแนะนำที่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ตามพร่ำสอน
เฉพาะแล้ว ก็ทรงดำเนินการในเรื่องนั้นอยู่ และต่างยังคงประทับยืนอยู่ ณ ที่ประทับ
ของตน ๆ ไม่ยอมจากไป
ท้าวจาตุมหาราชเหล่านั้น
ได้รับคำบอกแล้ว ทั้งได้รับคำแนะนำแล้ว
จึงมีพระทัยผ่องใส ประทับยืนสงบอยู่
ณ ที่ประทับของตน ๆ
[๒๙๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล ได้เกิดแสงสว่างเจิดจ้าขึ้นทางทิศเหนือ
ปรากฏโอภาสเกินเทวานุภาพของเทพทั้งหลาย ทีนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียก
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย มีนิมิตที่สังเกตได้ (คือ) แสงสว่าง
เกิดขึ้น โอภาสปรากฏขึ้น พระพรหมก็จะปรากฏองค์ขึ้น เพราะการที่แสงสว่างเกิดขึ้น
โอภาสปรากฏขึ้นนี้ จัดเป็นบุพนิมิตแห่งการปรากฏของพระพรหม’
เมื่อมีนิมิตที่สังเกตได้
พระพรหมก็จะปรากฏองค์ขึ้น
เพราะโอภาสอันเจิดจ้ายิ่ง
เป็นนิมิตแห่งพระพรหม

เรื่องสนังกุมารพรหม๑

[๓๐๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์นั่งอยู่บน
อาสนะของตน ๆ กล่าวว่า ‘พวกเราจักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึง
จะไป’ แม้ท้าวจาตุมหาราชประทับนั่งอยู่บนที่ประทับของตน ๆ ก็กล่าวว่า ‘พวกเรา
จักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึงจะไป’ พวกเทพชั้นดาวดึงส์สดับเรื่องนี้
แล้วเข้าฌานสงบอยู่ด้วยคิดว่า ‘พวกเราจักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึง
จะไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์
พระองค์ทรงเนรมิตอัตภาพให้หยาบปรากฏขึ้น เพราะรูปร่างปกติของพรหมไม่อาจ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๒๘๔ หน้า ๒๑๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เรื่องสนังกุมารพรหม

ปรากฏในคลองจักษุของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวก
เทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ ร่างกายที่เป็น
ทองคำ ย่อมงดงามเกินร่างกายมนุษย์ ฉันใด เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวก
เทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ ฉันนั้น
เหมือนกัน เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ในเทพบริษัทนั้น
เทพบางองค์ไม่ไหว้ ไม่ต้อนรับ ไม่เชิญด้วยอาสนะ ทั้งหมดพากันนั่งขัดสมาธิ
ประนมมือนิ่งอยู่ด้วยคิดว่า ‘บัดนี้ สนังกุมารพรหมจะประทับนั่งบนบัลลังก์ของเทพ
ที่พระองค์ปรารถนา’
สนังกุมารพรหมประทับนั่งบนบัลลังก์ของเทพองค์ใด เทพองค์นั้นได้
ความยินดีอย่างยิ่ง ได้ความโสมนัสอย่างยิ่ง ผู้กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
เพิ่งจะได้ครองราชย์ ทรงได้ความยินดีอย่างยิ่ง ได้ความโสมนัสอย่างยิ่ง ฉันใด
สนังกุมารพรหมประทับนั่งบนบัลลังก์ของเทพองค์ใด เทพองค์นั้นก็ได้ความยินดี
อย่างยิ่ง ได้ความโสมนัสอย่างยิ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน จากนั้น เมื่อสนังกุมารพรหม
ทรงทราบความเลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ก็ทรงหายตัวแล้วอนุโมทนาด้วยคาถา
เหล่านี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเทพชั้นดาวดึงส์
มีพระอินทร์เป็นประธาน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม
เมื่อเห็นเทพเหล่าใหม่ผู้มีวรรณะและยศ
ผู้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต ซึ่งมา ณ ที่นี้ (ด้วย)
ก็พากันบันเทิงใจนัก
เทพเหล่านั้นเป็นสาวก
ของพระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน
ทั้งหมดเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ
รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นในที่นี้
ด้วยวรรณะ ยศ และอายุ
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน
ครั้นเห็นเหตุนี้แล้วพากันเพลิดเพลิน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

เสียงของสนังกุมารพรหม

[๓๐๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้ ขณะที่
สนังกุมารพรหมตรัสเนื้อความนี้มีเสียงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ (๑) แจ่มใส
(๒) ชัดเจน (๓) นุ่มนวล (๔) ชวนฟัง (๕) กลมกล่อม (๖) ไม่พร่า (๗) ลึกซึ้ง
(๘) กังวาน สนังกุมารพรหมเปล่งเสียงให้รู้กันเฉพาะในบริษัทเท่านั้น เสียงของ
สนังกุมารพรหมนั้นไม่ได้ดังออกไปภายนอกบริษัท ผู้มีเสียงประกอบด้วยองค์ ๘
ประการอย่างนี้เรียกว่า ‘มีเสียงเหมือนเสียงพรหม’’
ครั้งนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ทูลสนังกุมารพรหมดังนี้ว่า ‘ขอโอกาสเถิด
ท่านท้าวมหาพรหม พวกเราทราบเนื้อความนี้แล้วจึงเบิกบานใจ อนึ่ง ท้าวสักกะ
จอมเทพได้ตรัสพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการของพระผู้มีพระภาคไว้ พวก
เราทราบแล้วก็เบิกบานใจ’

พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ๑

[๓๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น สนังกุมารพรหมได้ตรัสกับท้าวสักกะ
จอมเทพดังนี้ว่า ‘ขอโอกาสเถิด ท่านจอมเทพ เราก็ควรได้ฟังพระคุณตามความ
เป็นจริง ๘ ประการของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นบ้าง’ ท้าวสักกะจอมเทพทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว ทรงประกาศพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการแก่สนังกุมารพรหมว่า
‘ท้าวมหาพรหมผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร’’
๑. ตราบเท่าที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรง
ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อ
อนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดา
และมนุษย์ทั้งหลายในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น)
นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๒๙๖ หน้า ๒๒๙ ในเล่มนี้
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

๒. พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะ
พึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู
ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เราไม่เคยเห็น
พระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงแสดงธรรมที่ควร
น้อมเข้ามาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น)
นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๓. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นกุศล’
ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า
‘นี้เป็นสิ่งมีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งไม่มีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งควรเสพ’ ‘นี้เป็น
สิ่งไม่ควรเสพ’ ‘นี้เป็นสิ่งเลว’ ‘นี้เป็นสิ่งประณีต’ ‘นี้เป็นสิ่งดำ
เป็นสิ่งขาว และเป็นสิ่งไม่มีสิ่งเปรียบ’ เราไม่เคยเห็นพระศาสดา
ผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ ผู้ทรงบัญญัติธรรมเป็นกุศล
เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่มีโทษ เป็นสิ่งไม่มีโทษ เป็นสิ่งควรเสพ
เป็นสิ่งไม่ควรเสพ เป็นสิ่งเลว เป็นสิ่งประณีต เป็นสิ่งดำ
เป็นสิ่งขาว และเป็นสิ่งไม่มีสิ่งเปรียบอย่างนี้ในอดีตกาลเลย
ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น
๔. ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรง
บัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติ
ย่อมเหมาะสมกัน เปรียบเหมือนน้ำจากแม่น้ำคงคากับน้ำจาก
แม่น้ำยมุนาย่อมกลมกลืนกันได้ เข้ากันได้ แม้ฉันใด ข้อปฏิบัติ
ที่ให้ถึงพระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้
ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติย่อมเหมาะ
สมกัน ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบ
ด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงบัญญัติข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพาน
อย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจาก
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

๕. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงได้พระเสขะทั้งหลายผู้ยังต้อง
ปฏิบัติและพระขีณาสพทั้งหลายผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้วเป็น
พระสหาย (แต่) ไม่ทรงติดท่านเหล่านั้น ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรม
ที่ยินดีการอยู่ผู้เดียว เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วย
องค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมที่ยินดีการอยู่ผู้เดียว
อย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจาก
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๖. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีลาภเกิดขึ้นมากมาย ทรงมี
คำสรรเสริญเกิดขึ้นแพร่หลาย เห็นจะเทียบกับกษัตริย์ทั้งหลาย
ผู้มีพระสิริโฉมสง่าน่ารัก แต่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสวยพระ
กระยาหารอย่างปราศจากความมัวเมา เราไม่เคยเห็นพระศาสดา
ผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ เสวยพระกระยาหารอย่าง
ปราศจากความมัวเมาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็
ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๗. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงทำ
อย่างนั้น ทรงมีปกติทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น
จึงชื่อว่าเป็นผู้ทรงมีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงทำอย่างนั้น ทรงมี
ปกติทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบ
ด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอย่างนี้
ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น
๘. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงข้ามความสงสัย ปราศจาก
ความแคลงใจ ผู้จบสิ้นความดำริด้วยอาทิพรหมจรรย์ อันเป็น
ไปตามอัชฌาสัย เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์
คุณแม้เช่นนี้ ผู้ทรงข้ามความสงสัย ปราศจากความแคลงใจ
จบสิ้นความดำริด้วยอาทิพรหมจรรย์อันเป็นไปตามอัชฌาสัย
อย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจาก
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เรื่องโควินทพราหมณ์

[๓๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระคุณตาม
ความเป็นจริง ๘ ประการนี้ของพระผู้มีพระภาคแก่สนังกุมารพรหมแล้ว นัยว่า
เพราะการประกาศนั้น สนังกุมารพรหมครั้นทรงสดับพระคุณตามความเป็นจริง ๘
ประการของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงมีพระทัยยินดี เบิกบาน เกิดปีติและโสมนัส
จากนั้น สนังกุมารพรหมทรงเนรมิตอัตภาพให้หยาบเป็นกุมารรูปเช่นกับ
ปัญจสิขะ คันธรรพบุตร ปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ แล้วเหาะขึ้นบนอากาศ
ประทับนั่งขัดสมาธิในอากาศ บนที่ว่างกลางอากาศเหมือนบุรุษมีกำลังนั่งขัดสมาธิ
บนบัลลังก์ที่ปูลาดไว้ดีแล้ว หรือบนพื้นที่ราบเรียบเสมอกันฉะนั้น แล้วรับสั่งเรียก
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า

เรื่องโควินทพราหมณ์

[๓๐๔] ‘เทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นผู้มีปัญญามากมานานเพียงไร
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาพระองค์หนึ่งพระนามว่า
ทิสัมบดี พราหมณ์ชื่อว่าโควินทะ๑เป็นปุโรหิตของพระเจ้าทิสัมบดี พระราชกุมาร
พระนามว่าเรณุเป็นราชบุตรของพระเจ้าทิสัมบดี มาณพชื่อว่าโชติปาละเป็นบุตรของ
โควินทพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น บุคคลเหล่านี้คือ พระราชบุตรเรณุ โชติปาลมาณพ
และกษัตริย์อีก ๖ พระองค์รวมเป็น ๘ คน ได้เป็นสหายกัน ครั้นเมื่อวันคืนผ่านไป
โควินทพราหมณ์ได้ดับชีพ ครั้นโควินทพราหมณ์ดับชีพแล้ว พระเจ้าทิสัมบดีทรงเพ้อ
รำพันว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โควินทพราหมณ์ได้ดับชีพเสียในเวลาที่เรามอบ
ราชกิจทั้งปวงไว้แล้ว (เรา) เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕’
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีตรัสอย่างนั้น พระราชบุตรเรณุ
กราบทูลพระเจ้าทิสัมบดีดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อโควินทพราหมณ์
ได้ดับชีพ ขอพระองค์อย่าทรงเพ้อรำพันให้มากไปเลย ยังมีโชติปาลมาณพ บุตรของ
โควินทพราหมณ์ เป็นผู้ฉลาดกว่าบิดา และสามารถเล็งเห็นอรรถคดีได้ดีกว่าบิดา

เชิงอรรถ :
๑ โควินทะ ไม่ใช่ชื่อตัว เป็นชื่อตำแหน่ง หรือฐานันดรศักดิ์ของผู้ดำรงตำแหน่งปุโรหิต เช่นเดียวกับชาณุสโสณิ
(ที.ม.อ. ๓๐๔/๒๗๓) ดู ม.มู.อ. ๑/๓๔/๑๙ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เรื่องมหาโควินทะ

ของเขาเสียอีกยัง เขาสามารถถวายคำปรึกษาอรรถคดีอย่างที่บิดาของเขาได้ถวายคำ
ปรึกษา’
พระเจ้าทิสัมบดีตรัสถามว่า ‘อย่างนั้นหรือ ลูก’
พระราชบุตรเรณุทูลตอบว่า ‘อย่างนั้น พระเจ้าข้า’

เรื่องมหาโควินทะ

[๓๐๕] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ลำดับนั้น พระเจ้าทิสัมบดีรับสั่งเรียกราชบุรุษ
คนหนึ่งมาตรัสว่า ‘มานี่พ่อหนุ่ม เธอจงเข้าไปหาโชติปาลมาณพถึงที่อยู่ บอกกับ
โชติปาลมาณพอย่างนี้ว่า ‘ขอให้โชติปาลมาณพมีความสุข ความเจริญ พระเจ้าทิสัมบดี
รับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า พระเจ้าทิสัมบดีมีพระราชประสงค์จะพบท่าน’
ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เข้าไปหาโชติปาลมาณพถึงที่อยู่
บอกเขาดังนี้ว่า ‘ขอให้ท่านโชติปาลมาณพมีความสุข ความเจริญ พระเจ้าทิสัมบดี
รับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า พระเจ้าทิสัมบดีมีพระราชประสงค์จะพบท่าน’
โชติปาลมาณพรับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าทิสัมบดีถึงที่ประทับ ได้กราบทูล
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ให้ทรงระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่
สมควร พระเจ้าทิสัมบดีได้ตรัสกับโชติปาลมาณพดังนี้ว่า ‘ท่านโชติปาลมาณพ
จงให้คำปรึกษาเราเถิด อย่าปฏิเสธการให้คำปรึกษาเราเลย เราจะแต่งตั้งท่านให้
ดำรงตำแหน่งแทนบิดา จะทำพิธีอภิเษกไว้ในตำแหน่งโควินทพราหมณ’ โชติปาลมาณพ
ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระเจ้าทิสัมบดีทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกโชติปาลมาณพไว้
ในตำแหน่งโควินทะ ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนบิดา
โชติปาลมาณพผู้ได้รับอภิเษกแต่งตั้งในตำแหน่งแทนบิดา ได้ถวายคำปรึกษา
อรรถคดีที่บิดาเคยถวายคำปรึกษา ถวายคำปรึกษาอรรถคดีที่บิดาไม่เคยถวายคำ
ปรึกษา จัดแจงการงานที่บิดาเคยจัดแจง จัดแจงการงานที่บิดาไม่เคยจัดแจง
ชาวบ้านจึงเรียกโชติปาลมาณพว่า ‘ท่านโควินทพราหมณ์ผู้เจริญ ท่านโควินท-
พราหมณ์ผู้เจริญ’ เพราะเหตุนี้แหละ โชติปาลมาณพจึงเกิดมีสมญาว่า ‘โควินทะ
มหาโควินทะ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] การแบ่งราชสมบัติ

การแบ่งราชสมบัติ

[๓๐๖] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าเฝ้า
กษัตริย์ ๖ พระองค์ถึงที่ประทับแล้ว กราบทูลกษัตริย์ ๖ พระองค์นั้นดังนี้ว่า
‘ขอเดชะฝ่าพระบาท พระเจ้าทิสัมบดีทรงชรา ทรงแก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยไป
โดยลำดับ ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิต ข้อที่พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการจะพึงอภิเษก
พระราชบุตรเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้วนั้นเป็นไป
ได้แน่นอน ขอท่านผู้เจริญเสด็จมาเถิด จงพากันไปเข้าเฝ้าพระราชบุตรเรณุถึงที่
ประทับแล้ว กราบทูลอย่างนี้ว่า ‘พวกหม่อมฉันเป็นพระสหายที่รัก ที่ถูกพระทัย
ที่โปรดปรานของท่านเรณุ เมื่อท่านเรณุเป็นสุข พวกหม่อมฉันก็เป็นสุขด้วย เมื่อท่าน
เรณุเป็นทุกข์ พวกหม่อมฉันก็เป็นทุกข์ด้วย พระเจ้าทิสัมบดีทรงชรา ทรงแก่เฒ่า
ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิต ข้อที่พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ
จะพึงอภิเษกท่านเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้วนั้นเป็น
ไปได้แน่นอน ถ้าท่านเรณุได้ครองราชย์ ขอจงทรงแบ่งราชสมบัติให้พวกหม่อมฉันบ้าง’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นทรงรับคำของมหาโควินทพราหมณ์แล้วเข้าไปเฝ้า
ราชบุตรเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘พวกหม่อมฉันเป็นสหายที่รัก ที่ถูก
พระทัย ที่โปรดปรานของท่านเรณุ เมื่อท่านเรณุเป็นสุข พวกหม่อมฉันก็เป็นสุขด้วย
เมื่อท่านเรณุเป็นทุกข์ พวกหม่อมฉันก็เป็นทุกข์ด้วย พระเจ้าทิสัมบดีทรงชรา ทรงแก่เฒ่า
ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิต ข้อที่พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ
จะพึงอภิเษกท่านเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้วนั้น
เป็นไปได้แน่นอน ถ้าท่านเรณุได้ครองราชย์ ขอจงทรงแบ่งราชสมบัติให้พวกหม่อมฉัน
บ้าง’ พระราชบุตรเรณุตรัสตอบว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ในแว่นแคว้นของเรา
ใครอื่นเล่าจะพึงมีความสุขนอกจากท่านทั้งหลาย ถ้าหม่อมฉันได้ครองราชย์ก็จะ
แบ่งราชสมบัติให้ท่านทั้งหลาย’
[๓๐๗] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมาครั้นวันคืนผ่านไป พระเจ้าทิสัมบดีสวรรคต
เมื่อท้าวเธอสวรรคต อำมาตย์ผู้สำเร็จราชการได้อภิเษกราชบุตรเรณุขึ้นเป็นพระเจ้า
แผ่นดิน ราชบุตรเรณุได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม
ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] การแบ่งราชสมบัติ

ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้ากษัตริย์ ๖ พระองค์นั้นถึงที่ประทับ
ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ พระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้ว พระราชบุตรเรณุได้รับ
อภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วย
กามคุณ ๕ ก็ใครเล่าจะรู้ว่ากามารมณ์เป็นเหตุให้หลงมัวเมา ขอพระองค์เสด็จ
มาเถิด ขอจงไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเรณุถึงที่ประทับแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘พระเจ้า
ทิสัมบดีสวรรคตแล้ว ท่านเรณุได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังทรงระลึกถึง
พระดำรัสนั้นได้อยู่หรือพระเจ้าข้า’
[๓๐๘] กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นทรงรับคำของท่านมหาโควินทพราหมณ์แล้ว
เข้าไปเฝ้าพระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘พระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้ว
ท่านเรณุได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังทรงระลึกถึงพระดำรัสนั้นได้อยู่หรือ
พระเจ้าข้า’
พระเจ้าเรณุตรัสตอบว่า ‘ท่านผู้เจริญ เรายังระลึกถึงคำนั้นได้อยู่ ใครหนอจะ
สามารถแบ่งมหาปฐพีนี้ซึ่งทางทิศเหนือผายออกและทางทิศใต้สอบเข้าเหมือนส่วนหน้า
ของเกวียน ให้เป็นส่วนแบ่งอย่างดี ๗ ส่วนเท่า ๆ กัน’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ กราบทูลว่า ‘จะมีใครอื่นอีกเล่าที่สามารถแบ่งได้
นอกจากมหาโควินทพราหมณ์ พระเจ้าข้า’
ลำดับนั้น พระเจ้าเรณุรับสั่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘มาเถิด ท่าน
ผู้เจริญ จงเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ถึงที่อยู่แล้วบอกว่า ‘พระเจ้าเรณุรับสั่ง
เรียกหาท่าน’
ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ถึงที่อยู่
บอกว่า ‘พระเจ้าเรณุรับสั่งหาท่าน ขอรับ’
ท่านมหาโควินทพราหมณ์รับคำแล้ว ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้ทูล
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ให้ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร
พระเจ้าเรณุตรัสกับท่านมหาโควินทพราหมณ์ดังนี้ว่า ‘มาเถิด ท่านโควินทะ
จงแบ่งมหาปฐพีนี้ซึ่งทางทิศเหนือผายออกและทางทิศใต้สอบเข้าเหมือนส่วนหน้าของ
เกวียน ให้เป็นส่วนแบ่งอย่างดี ๗ ส่วนเท่า ๆ กัน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] การแบ่งราชสมบัติ

ท่านมหาโควินทพราหมณ์ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว แบ่งมหาปฐพีนี้
ซึ่งทางทิศเหนือผายออกและทางทิศใต้สอบเข้าเหมือนส่วนหน้าของเกวียน ให้เป็น
ส่วนแบ่งอย่างดี ๗ ส่วนเท่า ๆ กัน สถาปนารัฐ(อาณาจักร)ทั้งหมดให้มีลักษณะ
เหมือนส่วนหน้าของเกวียน ทราบว่าในเนื้อที่เหล่านั้น ชนบท(มหาอาณาจักร)ของ
พระเจ้าเรณุอยู่ตรงกลางรัฐทั้งหมดนั้น (คือ)
[๓๐๙] ท่าน(มหา)โควินทะให้สร้างเมืองหลวงเหล่านี้ไว้ (คือ)
ให้สร้างกรุงทันตปุระ เป็นเมืองหลวงของรัฐกาลิงคะ
ให้สร้างกรุงโปตนะ เป็นเมืองหลวงของรัฐอัสสกะ
ให้สร้างกรุงมาหิสสติ เป็นเมืองหลวงของรัฐอวันตี
ให้สร้างกรุงโรรุกะ เป็นเมืองหลวงของรัฐโสวีรานะ
ให้สร้างกรุงมิถิลา เป็นเมืองหลวงของรัฐวิเทหะ
ให้สร้างกรุงจัมปา เป็นเมืองหลวงของรัฐอังคะ
ให้สร้างกรุงพาราณสี เป็นเมืองหลวงของรัฐกาสี
[๓๑๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ครั้งนั้น กษัตริย์ ๖ พระองค์ มีพระทัยยินดี
ด้วยลาภส่วนของพระองค์ มีพระดำริสำเร็จบริบูรณ์ว่า ‘สิ่งใดที่เราอยากได้ สิ่งใดที่
เราหวัง สิ่งใดที่เราประสงค์ สิ่งใดที่เราปรารถนาอย่างยิ่ง สิ่งนั้นเราได้แล้ว’
พระเจ้าสัตตภู พระเจ้าพรหมทัต
พระเจ้าเวสสภู พระเจ้าภรตะ
พระเจ้าเรณุ พระเจ้าธตรฐ ๒ พระองค์
รวมพระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์
ในเวลานั้นมี ๗ พระองค์๑

ภาณวารที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
กิตติคุณของมหาโควินทพราหมณ์

กิตติคุณของมหาโควินทพราหมณ์

[๓๑๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์เสด็จเข้าไป
หาท่านโควินทพราหมณ์ถึงที่อยู่ ได้ตรัสดังนี้ว่า ‘ขอท่านโควินทพราหมณ์จงเป็นสหาย
ที่รัก ที่ชอบใจ ที่โปรดปรานของพวกเราดังที่ท่านโควินทะเป็นสหายที่รัก ที่ชอบใจ
ที่โปรดปรานของพระเจ้าเรณุ ขอจงให้คำปรึกษาพวกเรา อย่าปฏิเสธการให้คำปรึกษา
พวกเราเลย’
มหาโควินทพราหมณ์ทูลรับสนองพระราชดำรัสของกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์
เหล่านั้นผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์ถวายคำปรึกษาเกี่ยวกับราชกิจแด่กษัตราธิราช
ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ๗ พระองค์ ที่ตนต้องถวายคำปรึกษา และบอกมนตร์แก่
พราหมณมหาศาล ๗ คน และพราหมณ์นหาดก๑ ๗๐๐ คน
[๓๑๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ครั้นต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์มี
กิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระ
พรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’
ครั้งนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีความดำริดังนี้ว่า ‘เรามีกิตติศัพท์อันงาม
ขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้ สามารถ
สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ แต่เราไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคย
สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย เราได้สดับคำของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า
ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌาน๒
ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหม สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’
ทางที่ดี เราควรหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่สัก ๔ เดือน’

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์นหาดก ในที่นี้หมายถึงพราหมณ์ที่สำเร็จการศึกษา และได้ผ่านพิธีอาบน้ำเสร็จแล้ว (พ้นจากอา
ศรมที่ ๑ คือพรหมจารีแล้วเข้าสู่อาศรมที่ ๒ คือคฤหัสถ์ ตามคติของพราหมณ์ (ที.ม.อ. ๓๑๑/๒๗๖)
๒ กรุณาฌาน หมายถึงฌานที่ประกอบด้วยวิหารธรรม ๔ ประการ อันบุคคลเจริญโดยมีกรุณาเป็นตัวนำ
(ที.ม.อ. ๓๑๗/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
กิตติคุณของมหาโควินทพราหมณ์

[๓๑๓] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้า
พระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ข้าพระองค์มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมอง
เห็นพระพรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ข้าพระองค์
ไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคยสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย แต่
ข้าพระองค์ได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์
พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็น
พระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได‘’ ข้าพระองค์ปรารถนาจะ
หลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่สัก ๔ เดือนในฤดูฝน ใคร ๆ ไม่พึงเข้าไปหาข้าพระองค์
ยกเว้นคนที่นำอาหารไปให้คนเดียวเท่านั้น’
พระเจ้าเรณุรับสั่งว่า ‘โควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’
[๓๑๔] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้า
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ข้าพระองค์มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมอง
เห็นพระพรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ แต่ข้าพระองค์
ไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคยสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย แต่
ข้าพระองค์ได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์
พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็น
พระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ข้าพระองค์ปรารถนาจะ
หลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ใคร ๆ ไม่พึงเข้าไปหา
ข้าพระองค์ ยกเว้นคนที่นำอาหารไปให้คนเดียวเท่านั้น’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘โควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร
ณ บัดนี้เถิด’
[๓๑๕] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปหา
พราหมณมหาศาล ๗ คน และพราหมณ์นหาดก ๗๐๐ คนแล้วจึงได้กล่าวดังนี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินท-
พราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
กิตติคุณของมหาโควินทพราหมณ์

พระพรหมได้’ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคยสนทนาปราศรัยกับ
พระพรหมเลย แต่ข้าพเจ้าได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์
และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานตลอด ๔ เดือนใน
ฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหมได้สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ถ้าอย่างนั้น
พวกท่านจงสาธยายมนตร์ตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร
และจงบอกมนตร์แก่กันและกัน ข้าพเจ้าปรารถนาจะหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่
ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ใคร ๆ ไม่พึงเข้าไปหาข้าพเจ้า ยกเว้นคนที่นำอาหารไปให้
คนเดียวเท่านั้น’
พวกพราหมณมหาศาลและพวกพราหมณ์นหาดกกล่าวว่า ‘ท่านโควินทะ
ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’
[๓๑๖] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปหา
ภรรยาผู้มีฐานะเท่ากัน ๔๐ คน ถึงที่อยู่ได้กล่าวดังนี้ว่า ‘นางผู้เจริญ ฉันมีกิตติศัพท์
อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้
สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ฉันไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่
เคยสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย แต่ฉันได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่
ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้น เพ่งกรุณาฌาน
ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับ
พระพรหมได้’ ฉันปรารถนาจะหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน
ใคร ๆ ไม่พึงเข้าไปหาฉัน ยกเว้นคนที่นำอาหารไปให้คนเดียวเท่านั้น’
ภรรยาเหล่านั้นกล่าวว่า ‘ท่านโควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร
ณ บัดนี้เถิด’
[๓๑๗] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านโควินทพราหมณ์จึงให้สร้าง
สัณฐาคารหลังใหม่ทางทิศตะวันออกแห่งเมืองแล้วหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่
ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ไม่มีใคร ๆ เข้าไปหา นอกจากคนนำอาหารไปให้
คนเดียวเท่านั้น ครั้นเวลาล่วงไป ๔ เดือนแล้ว ท่านมหาโควินทพราหมณ์เกิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] การสนทนากับพระพรหม

ความระอาท้อแท้ว่า ‘เราได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และ
ผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนใน
ฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้ แต่เรายัง
ไม่เห็นพระพรหม ทั้งไม่ได้สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย’

การสนทนากับพระพรหม

[๓๑๘] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานั้น สนังกุมารพรหมทราบความคิดคำนึง
ของท่านมหาโควินทพราหมณ์ด้วยใจ ทรงหายไปจากพรหมโลกมาปรากฏเฉพาะหน้า
ท่านมหาโควินทพราหมณ์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
ท่านมหาโควินทพราหมณ์เกิดความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้า เพราะเห็นรูปที่
ไม่เคยเห็น ครั้นมหาโควินทพราหมณ์เกิดความหวาดสะดุ้งขนพองสยองเกล้าแล้ว
ได้กราบทูลสนังกุมารพรหมด้วยคาถาว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใคร
จึงมีวรรณะ ยศ และสิริ
ข้าพเจ้าไม่รู้จักท่านจึงขอถามว่า
ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้อย่างไร’
สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า
‘เทพทั้งปวงรู้จักเราดีว่า
เป็นกุมารตลอดกาลอยู่ในพรหมโลก
ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด โควินทะ’
ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลด้วยคาถาว่า
‘ข้าพเจ้าถวายของมีค่าเหล่านี้
คือ อาสนะ น้ำดื่ม น้ำมันทาเท้า
น้ำตาลเคี่ยว แด่พระพรหม
ขอท่านผู้เจริญจงรับของมีค่าของข้าพเจ้าเถิด‘๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๓๒/๔๗๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] การสนทนากับพระพรหม

สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า
‘ท่านโควินทะ เรายอมรับของมีค่าของท่าน
ที่ท่านพูดถึง เราให้โอกาสท่านแล้ว
จงถามเรื่องใด ๆ ก็ได้ที่ท่านปรารถนาจะถาม
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบันและเพื่อสุขในอนาคต’
[๓๑๙] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีความคิดดังนี้ว่า
‘สนังกุมารพรหมให้โอกาสแล้ว เราควรถามประโยชน์ในปัจจุบันหรือประโยชน์ใน
อนาคตกับท่านอย่างไหนหนอ’ คิดต่อไปอีกว่า ‘เราเป็นผู้ฉลาดเรื่องประโยชน์ใน
ปัจจุบัน แม้ชนเหล่าอื่นก็ถามประโยชน์ในปัจจุบันกับเรา ทางที่ดี เราควรถามถึง
ประโยชน์ในอนาคตกับสนังกุมารพรหม’ จึงกราบทูลสนังกุมารพรหมด้วยพระคาถาว่า
‘ข้าพเจ้ามีความสงสัยจะขอถามท่านสนังกุมารพรหม
ผู้ไม่มีความสงสัยในปัญหาที่ผู้อื่นสงสัยว่า
สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมอะไร ศึกษาอยู่ในธรรมอะไร
จึงจะถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะได้’
สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
‘พราหมณ์ ในหมู่มนุษย์
สัตว์ผู้ละความยึดถือว่าเป็นของเรา
เป็นผู้อยู่ผู้เดียว ผู้น้อมใจไปในกรุณา
ผู้ไม่มีกลิ่นชั่วร้าย เว้นจากเมถุน
สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมนี้ และศึกษาอยู่ในธรรมนี้
จึงจะถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะได้’
[๓๒๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย มหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘คำของท่าน
ที่ว่า ‘ละความยึดถือว่าเป็นของเรา’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลกนี้ละทิ้ง
กองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และละเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ คำของท่านที่ว่า ‘ละความยึดถือว่า
เป็นของเรา’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] การสนทนากับพระพรหม

คำของท่านที่ว่า ‘เป็นผู้อยู่ผู้เดียว’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลกนี้
อาศัยเสนาสนะอันสงัดคือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง
ลอมฟาง’ คำของท่านที่ว่า ‘เป็นผู้อยู่ผู้เดียว’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้
คำของท่านที่ว่า ‘ผู้น้อมใจไปในกรุณา’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลก
นี้มีกรุณาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยกรุณาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่’ คำของ
ท่านที่ว่า ‘ผู้น้อมใจไปในกรุณา’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้
อนึ่ง เมื่อท่านผู้เจริญ พูดถึงกลิ่นชั่วร้ายอยู่ ข้าพเจ้าไม่รู้จัก(กลิ่นนั้น)’
มหาโควินทพราหมณ์ทูลถามด้วยคาถาว่า
‘ข้าแต่พรหม บรรดามนุษย์
พวกไหนมีกลิ่นชั่วร้าย
ข้าพเจ้าไม่รู้จักพวกนั้น
ขอท่านผู้เป็นปราชญ์ จงบอกมาในที่นี้เถิด
อะไรร้อยรัด หมู่สัตว์จึงเหม็นเน่าคลุ้ง
ต้องไปอบาย ปิดพรหมโลกแล้ว’
สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า
‘โกธะ (ความโกรธ) โมสวัชชะ (การพูดเท็จ)
นิกติ (การโกง) โทพภะ (การประทุษร้ายมิตร)
กทริยตา๑(ความตระหนี่) อติมานะ (ความดูหมิ่น)
อุสุยา (ความริษยา) อิจฉา (ความปรารถนา)
วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ปรเหฐนา (การเบียดเบียนผู้อื่น)
โลภะ (ความอยากได้) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)

เชิงอรรถ :
๑ กทริยตา ในที่นี้หมายถึงความตระหนี่จัด (ที.ม.อ. ๓๒๐/๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] ถวายบังคมลาพระเจ้าเรณุ

มทะ (ความมัวเมา) โมหะ (ความหลง)
สัตว์ผู้ประกอบด้วยกิเลสเหล่านี้
จัดว่าเป็นผู้มีกลิ่นชั่วร้าย
ต้องไปอบาย ปิดพรหมโลกแล้ว’
มหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘เมื่อท่านผู้เจริญตรัสบอกกลิ่นชั่วร้าย
ข้าพเจ้าจึงรู้จัก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ สนังกุมารพรหมตรัสว่า
‘โควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’

ถวายบังคมลาพระเจ้าเรณุ

[๓๒๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้า
พระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘บัดนี้ ขอได้โปรดแสวงหาปุโรหิตคนอื่น
ผู้จะถวายคำปรึกษาราชกิจแด่พระองค์เถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ปรารถนาจะ
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหม
ตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์
จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
(ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลด้วยคาถาว่า)
‘ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลา
พระเจ้าเรณุผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ขอพระองค์ทรงทราบพระราชกิจ
ข้าพระองค์ไม่ยินดีในตำแหน่งปุโรหิต’
(พระเจ้าเรณุตรัสตอบด้วยคาถาว่า)
‘ถ้าท่านยังพร่องด้วยสิ่งที่น่าปรารถนา
เราจะเพิ่มให้เต็ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] ถวายบังคมลาพระเจ้าเรณุ

ผู้ใดเบียดเบียนท่าน
เราผู้เป็นเจ้าแผ่นดินจะห้ามผู้นั้นเอง
(ท่านมหาโควินทพราหมณ์ทูลตอบว่า)
‘ข้าพระองค์ไม่พร่องด้วยสิ่งที่น่าปรารถนา
ไม่มีใครเบียดเบียนข้าพระองค์
แต่เพราะได้ฟังคำของผู้ไม่ใช่มนุษย์
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีการอยู่ครองเรือน’
(พระเจ้าเรณุตรัสถามว่า)
‘ท่านผู้ไม่ใช่มนุษย์มีวรรณะอย่างไร
บอกอะไรซึ่งท่านฟังแล้ว
ยอมทอดทิ้งทั้งเหย้าเรือนของพวกเรา
ทั้งพวกเราและชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น’
(ท่านมหาโควินทพราหมณ์ทูลตอบว่า)
‘เมื่อข้าพระองค์อยู่เพียงลำพัง
เมื่อก่อนต้องการจะเซ่นสรวงบูชา
จึงสุมไฟให้ลุกโพลงด้วยใบหญ้าคา
ทันใดนั้น สนังกุมารพรหมผู้เป็นพรหมตลอดกาล
มาจากพรหมโลกปรากฏแก่ข้าพระองค์
พระพรหมตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์
เพราะได้ฟังคำตอบ
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในการอยู่ครองเรือน’
(พระเจ้าเรณุตรัสถามว่า)
‘ท่านโควินทะ ข้าพเจ้าเชื่อคำที่ท่านบอก
ท่านฟังคำของผู้ไม่ใช่มนุษย์แล้ว
จะประพฤติเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์

เราจะประพฤติตามท่าน ท่านโควินทะเป็นครูของเรา
พวกเราจักประพฤติให้บริสุทธิ์
ตามคำสั่งสอนของท่านโควินทะ
เหมือนแก้วไพฑูรย์ไม่มีฝ้า ไร้ราคี งดงาม ฉะนั้น’
(พระเจ้าเรณุตรัสว่า) ‘ถ้าท่านโควินทะจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เราก็
จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตบ้าง ท่านมีคติใด เราก็จะมีคตินั้นด้วย’

ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์

[๓๒๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้า
กษัตริย์ ๖ พระองค์ถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘บัดนี้ ขอได้โปรดแสวงหา
ปุโรหิตคนอื่นผู้จะถวายคำปรึกษาราชกิจแด่พระองค์เถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์
ปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่ว
ร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้
ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
ลำดับนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ทรงเลี่ยงไปด้านหนึ่ง ทรงคิดกันว่า
‘ธรรมดาพราหมณ์เหล่านี้มักอยากได้ทรัพย์ ทางที่ดี เราควรเกลี้ยกล่อมมหาโควินท-
พราหมณ์ด้วยทรัพย์’ แล้วเสด็จเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ ตรัสอย่างนี้ว่า
‘ในราชอาณาจักรทั้ง ๗ นี้ มีทรัพย์สมบัติมากพอ เราจะขนมาให้ตามที่ท่าน
ต้องการ’
ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘อย่าเลย พระเจ้าข้า ทรัพย์ของ
ข้าพระองค์นี้มีมากพอกับทรัพย์ของพระองค์ ข้าพระองค์จะทอดทิ้งทรัพย์ทั้งสิ้นออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่า ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหม
ตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์
จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
ลำดับนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ทรงเลี่ยงไปด้านหนึ่ง ทรงคิดกันว่า ‘ธรรมดา
พราหมณ์เหล่านี้มักอยากได้สตรี ทางที่ดี เราควรเกลี้ยกล่อมมหาโควินทพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์

ด้วยสตรี’ แล้วเสด็จเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ ตรัสอย่างนี้ว่า ‘ในราชอาณาจักร
ทั้ง ๗ นี้ มีสตรีมากมาย เราจะนำสตรีมาให้ตามที่ท่านต้องการ’
ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘อย่าเลย พระเจ้าข้า ข้าพระองค์มี
ภรรยาฐานะเท่ากันถึง ๔๐ คน ข้าพระองค์จะทอดทิ้งภรรยาทุก ๆ คน ออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก
กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
[๓๒๓] กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าท่านโควินทะจะออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต พวกเราก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตบ้าง ท่านมีคติใด
พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’
ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า
‘หากพระองค์จะทรงละสิ่งที่น่าปรารถนา
อันเป็นที่ข้องอยู่ของปุถุชน
ขอจงปรารภความเพียร
ทรงประกอบด้วยกำลังขันติ เจริญให้มั่นอยู่
ทางนี้เป็นทางตรง ไม่มีทางอื่นดีกว่า
นี้เป็นพระสัทธรรมที่สัตบุรุษรักษาไว้
เพื่อไปเกิดในพรหมโลก’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านมหาโควินทะขอจงรอคอยสัก
๗ ปีเมื่อเวลาล่วง ๗ ปี พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด
พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’
ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา
๗ ปี นานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึง ๗ ปี ก็ใครจะ
รู้(ชะตา)ชีวิตได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำ
กุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่น
ชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัด
ได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์

กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก
๖ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๕ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๔ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอย
สัก ๓ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๒ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๑ ปี เมื่อเวลาล่วงไป
๑ ปี พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคติ
นั้นด้วย’
ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา
๑ ปีนานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึง ๑ ปี ก็ใครจะรู้ชีวิต
ได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล
ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้าย
ที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้
ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก
๗ เดือน เมื่อเวลาล่วง ๗ เดือน พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมี
คติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’
ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา ๗ เดือน
นานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึง ๗ เดือน ก็ใครจะรู้ชีวิต
ได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล
ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่น
ชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัด
ได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก
๖ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๕ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๔ เดือน ฯลฯ
ขอจงรอคอยสัก ๓ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๒ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก
๑ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสักกึ่งเดือน เมื่อเวลาล่วงไปกึ่งเดือน พวกเราจะออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
บอกลาพราหมณมหาศาลเป็นต้น

ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา
กึ่งเดือนนานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึงกึ่งเดือน ก็ใครจะรู้
ชีวิตได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล
ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้าย
ที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้
ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก ๗ วัน
พอให้พวกเราสั่งสอนเรื่องราชกิจกับบุตรและพี่ชายน้องชายของตน ๆ เสียก่อน เมื่อ
เวลาล่วงไป ๗ วัน พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเรา
ก็จะมีคตินั้นด้วย’
ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา ๗ วัน
ไม่นานเกินไป ข้าพระองค์จักรอคอยสัก ๗ วัน’

บอกลาพราหมณมหาศาลเป็นต้น

[๓๒๔] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปหา
พราหมณมหาศาล ๗ คน และพราหมณ์นหาดก ๗๐๐ คน ถึงที่อยู่ แล้วบอกว่า
‘บัดนี้ พวกท่านจงแสวงหาอาจารย์อื่นผู้จะสอนมนตร์แก่พวกท่าน เราปรารถนา
จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เราได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก
กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก เราจะออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต’
พวกพราหมณมหาศาลและพราหมณ์นหาดกกล่าวว่า ‘ท่านโควินทะ อย่าออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเลย บรรพชามีศักดิ์น้อยและมีลาภน้อย ความเป็น
พราหมณ์มีศักดิ์ใหญ่และมีลาภมาก’ ท่านมหาโควินทพราหมณ์ตอบว่า ‘พวกท่าน
อย่าพูดอย่างนี้ว่า ‘บรรพชามีศักดิ์น้อยและมีลาภน้อย ความเป็นพราหมณ์มีศักดิ์
ใหญ่และมีลาภมาก’ ใครกันเล่าที่มีศักดิ์ใหญ่กว่าหรือมีลาภมากกว่าเรา เวลานี้เรา
เป็นเหมือนพระราชาของพระราชาทั้งหลาย เป็นเหมือนพระพรหมของพวกพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
มหาโควินทพราหมณ์ออกบวช

เป็นเหมือนเทวดาของพวกคหบดี เราจะทอดทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต ด้วยว่าเราได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้น
ไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก เราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’
พวกพราหมณมหาศาลและพราหมณ์นหาดกกล่าวว่า ‘ถ้าท่านโควินทะจะ
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แม้พวกเราก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’

บอกลาภรรยา

[๓๒๕] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไป
หาภรรยาผู้มีฐานะเท่ากันทั้ง ๔๐ คนถึงที่อยู่ แล้วบอกว่า ‘น้องหญิงทั้งหลาย
น้องหญิงคนใดปรารถนาจะกลับไปยังตระกูลแห่งญาติของตนก็กลับได้ หรือจะหาสามี
ใหม่ก็ได้ ฉันปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพราะว่าฉันได้ฟังเรื่องกลิ่น
ชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัด
ได้ง่ายนัก ฉันจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’
ภรรยาเหล่านั้นกล่าวว่า ‘ท่านเท่านั้นที่เป็นญาติของพวกดิฉันผู้ต้องการญาติ
เป็นสามีของพวกดิฉันผู้ต้องการสามี ถ้าท่านจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
พวกดิฉันก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วย ท่านมีคติใด พวกดิฉันก็จะมีคติ
นั้นด้วย’

มหาโควินทพราหมณ์ออกบวช

[๓๒๖] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อเวลาล่วงไป ๗ วัน ท่านมหาโควินท-
พราหมณ์โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อท่านบวชแล้ว ได้มีผู้โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตตามอีกจำนวนมาก ได้แก่ กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ๗
พระองค์ พราหมณมหาศาล ๗ คน พราหมณ์นหาดก ๗๐๐ คน ภรรยาผู้มีฐานะ
เท่ากันทั้ง ๔๐ คน กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีและหญิงรับใช้อีกหลายพันคน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

ได้ทราบว่า ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีบริษัทนั้นแวดล้อม จาริกไปในหมู่บ้าน
นิคมและราชธานีทั้งหลาย เมื่อท่านเข้าไปยังหมู่บ้านหรือนิคมใด ก็เป็นเหมือน
พระราชาของพระราชาทั้งหลาย เป็นเหมือนพระพรหมของพวกพราหมณ์ เป็น
เหมือนเทวดาของพวกคหบดีในหมู่บ้านหรือนิคมนั้น เวลานั้น ชาวบ้านผู้พลาดพลั้ง
หรือลื่นหกล้มพากันพูดอย่างนี้ว่า ‘ขอนอบน้อมแด่ท่านมหาโควินทพราหมณ์
ขอนอบน้อมแด่ท่านปุโรหิตของพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๗ พระองค์’

เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

[๓๒๗] มหาโควินทพราหมณ์มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุก
หมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีกรุณาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยกรุณาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีมุทิตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยมุทิตาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มหาโควินทพราหมณ์แสดงหนทางแห่งความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมใน
พรหมโลกแก่เหล่าสาวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

[๓๒๘] สมัยนั้น เหล่าสาวกของมหาโควินทพราหมณ์ผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด๑
หลังจากตายไป ไปเกิดในสุคติพรหมโลก ส่วนเหล่าสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด๒
หลังจากตายไป บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นนิมมานรดี บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้
อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นดุสิต บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นยามา
บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์ บางพวกเข้าถึงความเป็น
ผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นจาตุมหาราช ผู้ที่ได้รับผลอย่างต่ำกว่าเขาทั้งหมด ได้เป็น
หมู่คนธรรพ์
การบวชของกุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมด จึงไม่เป็นโมฆะ ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร
ด้วยประการฉะนี้แล”
[๓๒๙] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงระลึกถึง
เรื่องนั้นได้อยู่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ปัญจสิขะ เรายังระลึกได้ สมัยนั้น เราเป็น
มหาโควินทพราหมณ์ ได้แสดงทางแห่งความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมในพรหมโลกแก่
สาวกเหล่านั้น แต่พรหมจรรย์นั้นไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อไปเกิด
ในพรหมโลกเท่านั้น
ส่วนพรหมจรรย์ของเรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อ
คลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
พรหมจรรย์ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น คืออะไร

เชิงอรรถ :
๑ ผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด หมายถึงผู้ได้สมาบัติ ๘ และอภิญญา ๖ (ที.ม.อ. ๓๒๘/๒๘๕)
๒ ผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด หมายถึงผู้ไม่รู้สมาบัติแม้เพียงอย่างเดียว (ที.ม.อ. ๓๒๘/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)___๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)___๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ___๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)___๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

ปัญจสิขะ นี้แลคือพรหมจรรย์ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
[๓๓๐] ปัญจสิขะ เหล่าสาวกของเราผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด ทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เหล่าสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด บางพวกเป็นโอปปาติกะ
เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจาก
โลกนั้นอีก บางพวกเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และ
เพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
บางพวกเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า การบวชของกุลบุตรเหล่านี้ทั้งหมด จึงไม่
เป็นโมฆะ ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร ด้วยประการฉะนี้แล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมีใจยินดี ชื่นชม
อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ
ประทักษิณแล้วหายไปจากที่นั้นเอง

มหาโควินทสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]
ว่าด้วยการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา

๗. มหาสมยสูตร
ว่าด้วยการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา

[๓๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน๑ เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้น
สักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์
มีเหล่าเทวดาจำนวนมากจาก ๑๐ โลกธาตุมาประชุมกันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค
และเยี่ยมภิกษุสงฆ์
เทพชั้นสุทธาวาส ๔ องค์ ได้มีความดำริดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้
ประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
ประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ มีเหล่าเทวดาจำนวนมากจาก ๑๐
โลกธาตุมาประชุมกัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคและเยี่ยมภิกษุสงฆ์ ทางที่ดี เราก็ควร
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกล่าวคาถาองค์ละคาถาในสำนักพระผู้มีพระภาค”
[๓๓๒] ลำดับนั้น เทพเหล่านั้นหายไปจากเทวโลกชั้นสุทธาวาสมาปรากฏ
ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า
ฉะนั้น ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร เทพองค์หนึ่งได้กล่าว
คาถานี้ว่า
“การประชุมครั้งใหญ่ในป่าใหญ่
มีหมู่เทพมาประชุมกัน
พวกเราพากันมายังธรรมสมัย๒นี้
ก็เพื่อได้เยี่ยมสงฆ์ผู้ไม่พ่ายแพ้”

เชิงอรรถ :
๑ ป่ามหาวัน เป็นป่าที่เกิดเองตามธรรมชาติ อยู่ติดกับเทือกเขาหิมาลัย (ที.ม.อ. ๓๓๑/๒๘๗)
๒ ธรรมสมัย ในที่นี้หมายถึงสถานที่ที่ประชุมเพื่อฟังธรรม (ที.ม.อ. ๓๓๒/๒๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]
ว่าด้วยการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา

จากนั้น เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้น
มีจิตมั่นคง ทำจิตของตน ๆ ให้ตรง
ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์ไว้
เหมือนสารถีผู้กุมบังเหียนขับรถม้าไป”
เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า
“ภิกษุเหล่านั้นตัดกิเลสดังตะปู๑
ตัดกิเลสดังลิ่มสลัก ถอนกิเลสดังเสาเขื่อนได้แล้ว
เป็นผู้ไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์
เป็นผู้ปราศจากมลทิน เที่ยวไป
เป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ๒ทรงฝึกดีแล้ว
เหมือนช้างหนุ่ม ฉะนั้น”
เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า
“เหล่าชนผู้นับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
จักไม่ไปสู่อบายภูมิ ครั้นละกายมนุษย์แล้ว
จักทำให้หมู่เทพเจริญเต็มที่”๓

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสดังตะปู ในที่นี้หมายถึงราคะ โทสะ และโมหะ กิเลสดังลิ่มสลัก และกิเลสดังเสาเขื่อน ก็มีนัยเช่น
เดียวกัน (ที.ม.อ. ๓๓๒/๒๙๖)
๒ มีพระจักษุ หมายถึงมีพระจักษุ ๕ คือ ๑. มังสจักขุ (ตาเนื้อ) ๒. ทิพพจักขุ (ตาทิพย์) ๓. ปัญญาจักขุ
(ตาปัญญา) ๔. พุทธจักขุ (ตาพระพุทธเจ้า) ๕. สมันตจักขุ (ตาเห็นรอบ) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑/๕๕, ที.ม.อ.
๑๘๖/๑๖๙, ๓๓๔/๓๐๐)
๓ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๓๗/๔๙-๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

การประชุมของเทวดา

[๓๓๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเทวดาจำนวนมากใน ๑๐ โลกธาตุประชุมกันเพื่อเยี่ยมตถาคตและ
ภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งหลายในอดีตกาล ที่มาประชุมกัน ครั้งที่มีจำนวนสูงสุดก็เท่ากับพวกเทวดาของ
เรานี้เองที่มาประชุมกันในบัดนี้ พวกเทวดาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอนาคตกาลที่มาประชุมกัน ครั้งที่มีจำนวนสูงสุดก็เท่ากับ
พวกเทวดาของเรานี้เองที่มาประชุมกันในบัดนี้ เราจักบอกชื่อของหมู่เทพ จักระบุ
ชื่อของหมู่เทพ จักแสดงชื่อของหมู่เทพ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุ
เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
[๓๓๔] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“เรา๑จะกล่าวเป็นคาถา
เหล่าภุมมเทวดาอาศัยอยู่ในที่ใด
เหล่าภิกษุก็อาศัยอยู่ในที่นั้น
ภิกษุเหล่าใดอาศัยซอกเขา
มีจิตมุ่งมั่น มีจิตตั้งมั่น
พวกเธอมีจำนวนมากเร้นอยู่ เหมือนราชสีห์
ข่มความขนพองสยองเกล้าได้
มีจิตสะอาด หมดจดผ่องใส ไม่ขุ่นมัว
พระศาสดาทรงทราบว่ามีภิกษุกว่า ๕๐๐ รูป
ผู้อยู่ในป่า ในเขตกรุงกบิลพัสดุ์

เชิงอรรถ :
๑ เรา ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีพระภาค (ที.ม.อ. ๓๓๔/๒๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

จึงรับสั่งเรียกพระสาวกผู้ยินดีในศาสนามาตรัสว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย หมู่เทพมุ่งมากันแล้ว
พวกเธอจงรู้จักเทพเหล่านั้น’
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พากันทำความเพียร๑’
จึงมีญาณอันเป็นเหตุให้เห็นพวกอมนุษย์ปรากฏขึ้น
ภิกษุบางพวก เห็นอมนุษย์ ๑๐๐ ตน
บางพวกเห็น ๑,๐๐๐ ตน
บางพวกเห็น ๗๐,๐๐๐ ตน
บางพวกเห็น ๑๐๐,๐๐๐ ตน
บางพวกเห็นมากมายไม่มีที่สิ้นสุด
อมนุษย์อยู่กระจายไปทั่วทุกทิศ
พระศาสดาผู้มีพระจักษุ
ทรงทราบเหตุทั้งหมด ทรงกำหนดแล้ว
จึงรับสั่งเรียกพระสาวกผู้ยินดีในศาสนามาตรัสว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย หมู่เทพมุ่งมากันแล้ว
เธอทั้งหลายจงรู้จักหมู่เทพเหล่านั้น
เราจะบอกเธอทั้งหลายด้วยวาจาตามลำดับ
[๓๓๕] ยักษ์ ๗,๐๐๐ ตน ที่เป็นภุมมเทวดาอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง๒
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ทำความเพียร ในที่นี้หมายถึงการเข้าผลสมาบัติ (ที.ม.อ. ๓๔๓/๓๐๙)
๒ มีความรุ่งเรือง หมายถึงประกอบด้วยอานุภาพ (ที.ม.อ. ๓๔๑/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

ยักษ์ ๖,๐๐๐ ตนอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
มีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ยักษ์ ๓,๐๐๐ ตนอยู่ที่ภูเขาสาตาคีรี
มีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ยักษ์เหล่านั้นรวมเป็น ๑๖,๐๐๐ ตน
มีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ยักษ์ ๕๐๐ ตนอยู่ที่ภูเขาเวสสามิต
มีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
กุมภีรยักษ์ผู้รักษากรุงราชคฤห์อยู่ที่ภูเขาเวปุลละ
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

[๓๓๖] ท้าวธตรฐปกครองทิศตะวันออก
เป็นหัวหน้าของพวกคนธรรพ์
เป็นมหาราชผู้มียศ
แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก
ต่างมีพลังมาก(และ)มีชื่อว่าอินทะ
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ท้าววิรุฬหกปกครองทิศใต้
เป็นหัวหน้าของพวกกุมภัณฑ์
เป็นมหาราชผู้มียศ
แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก
ต่างมีพลังมาก(และ)มีชื่อว่าอินทะ
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ท้าววิรูปักษ์ปกครองทิศตะวันตก
เป็นหัวหน้าของพวกนาค
เป็นมหาราชผู้มียศ
แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก
ต่างมีพลังมาก(และ)มีชื่อว่าอินทะ
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

ท้าวกุเวรปกครองทิศเหนือ
เป็นหัวหน้าของพวกยักษ์
เป็นมหาราชผู้มียศ
แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก
ต่างมีพลังมาก (และ)มีชื่อว่าอินทะ
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ท้าวธตรฐอยู่ทางทิศตะวันออก
ท้าววิรุฬหกอยู่ทางทิศใต้
ท้าววิรูปักษ์อยู่ทางทิศตะวันตก
ท้าวกุเวรอยู่ทางทิศเหนือ
ท้าวจาตุมหาราชนั้น
มีแสงสว่างส่องไปโดยรอบทั่วทั้ง ๔ ทิศ
สถิตอยู่ในป่า เขตกรุงกบิลพัสดุ์
[๓๓๗] พวกผู้รับใช้ของท้าวจาตุมหาราชเหล่านั้น
เป็นพวกมีมายา หลอกลวง โอ้อวดก็มาด้วย
พวกผู้รับใช้ที่มีมายา คือ
กุเฏณฑุ เวเฏณฑุ วิฏู วิฏุฏะ
จันทนะ กามเสฏฐะ กินนุฆัณฑุ และ นิฆัณฑุก็มาด้วย
ปนาทะ โอปมัญญะ มาตลิผู้เป็นเทพสารถี
จิตตเสนะ๑ นโฬราชะ ชโนสภะ ปัญจสิขะ

เชิงอรรถ :
๑ จิตตเสนะ เป็นชื่อเทวบุตรพวกคนธรรพ์ ๓ องค์ คือ (๑) จิตตะ (๒) เสนะ (๓) จิตตเสนะ (ที.ม.ฏีกา
๓๓๗/๓๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

ติมพรุ (คันธรรพเทวราชา)
และสุริยวัจฉสา (คันธรรพเทวธิดา) ก็มาด้วย
เทวราชเหล่านั้นและคนธรรพ์อื่น ๆ ที่มาพร้อมเทวราช
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
[๓๓๘] อนึ่ง หมู่นาคที่อยู่ในสระนาภสะ
และที่อยู่ในกรุงเวสาลีมาพร้อมด้วยพวกนาคตัจฉกะ
นาคกัมพลและนาคอัสดรก็มาด้วย
และนาคที่อยู่ในท่าปายาคะก็มาพร้อมด้วยหมู่ญาติ
นาคผู้อยู่ในแม่น้ำยมุนา
และนาคที่เกิดในตระกูลธตรฐผู้มียศก็มา
พญาช้างเอราวัณก็มายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เหล่าครุฑผู้เป็นทิพย์ มีนัยน์ตาบริสุทธิ์
ผู้สามารถจับนาคราชได้ฉับพลัน
ผู้บินมาทางอากาศถึงท่ามกลางป่า
มีชื่อว่าจิตรสุบรรณ
เวลานั้น พวกนาคราชไม่มีความหวาดกลัว
(เพราะ) พระพุทธเจ้าทรงกระทำให้ปลอดภัยจากครุฑ
นาคกับครุฑเจรจากันด้วยวาจาอันไพเราะ
ต่างมีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
[๓๓๙] อสูรพวกที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร
เป็นผู้พ่ายแพ้ต่อพระอินทร์ผู้ถือวชิราวุธ
อสูรเหล่านั้นมีฤทธิ์ มียศ
เป็นพี่น้องของท้าววาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

พวกอสูรกาลกัญชะมีร่างน่ากลัวมาก
พวกอสูรทานเวฆสะ อสูรเวปจิตติ
อสูรสุจิตติ อสูรปหาราทะ
และพญามารนมุจีก็มาด้วย
บุตรของพลิอสูร ๑๐๐ ตนที่ชื่อว่าเวโรจนะ
ทุกตนต่างสวมเกราะเข้มแข็งเข้าไปใกล้ราหูจอมอสูร
แล้วกล่าวว่า ‘ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน
บัดนี้ ถึงเวลาที่ท่านควรเข้าไป
สู่ป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย’
[๓๔๐] เวลานั้น เทพ (๑๐ หมู่) คือ
อาโป ปฐวี เตโช วาโย
วรุณะ วารุณะ โสมะ ยสสะ
เมตตาและกรุณา๑ เป็นผู้มียศก็มาด้วย
เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก
ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เทพ (๑๐ หมู่) คือ
เวณฑู สหลี และเทพ ๒ หมู่ คือ อสมะ และยมะก็มา
เทพผู้อาศัยพระจันทร์ มีพระจันทร์นำหน้ามา

เชิงอรรถ :
๑ เมตตาและกรุณา หมายถึงเหล่าเทพที่เกิดด้วยอำนาจเมตตาฌานและกรุณาฌานที่เคยบำเพ็ญมา (ที.ม.อ.
๓๔๐/๓๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

เทพผู้อาศัยพระอาทิตย์ มีพระอาทิตย์นำหน้ามา
เทพพวกมันทวลาหกะ๑ มีพระนักษัตรนำหน้ามา
พระอินทร์ผู้เป็นท้าวสักกะ
ผู้เป็นท้าวปุรินททะ๒ ท้าววาสวะ
ประเสริฐกว่าเหล่าเทพวสุ๓ก็มา
เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก
ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เทพอีก (๑๐ หมู่) คือ
สหภู ผู้รุ่งเรืองดังเปลวไฟ
อริฏฐกะ โรชะ ผู้มีรัศมีดังสีดอกผักตบ
วรุณะ สหธรรม อัจจุตะ อเนชกะ
สุเลยยะ รุจิระ และวาสวเนสีก็มา
เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก
ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง

เชิงอรรถ :
๑ เทพพวกมันทวลาหกะ ในที่นี้หมายถึงเทพ ๓ องค์ คือ (๑) วาตวลาหกเทพบุตร (๒) อัพภวลาหกเทพบุตร
(๓) อุณหวลาหกเทพบุตร (ที.ม.อ. ๓๓๙/๓๐๕)
๒ ปุรินททะ ตามคติของฮินดูเป็นชื่อหนึ่งของพระอินทร์ แปลว่า ผู้ทำลายเมือง (ปุรททะ) ตามคติพุทธศาสนา
เป็นชื่อหนึ่งของพระอินทร์ แปลว่า ผู้ให้ทานในกาลก่อน (ปุเร ทานํ ททาตีติ ปุรินฺทโท) (T.W. Rhys Davids
and William Stede P. 469)
๓ เทพวสุ หมายถึงเทพเจ้าแห่งทรัพย์ (T.W.Rhys Davids and William Stede P. 605)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เทพอีก (๑๐ หมู่) คือ
สมานะ มหาสมานะ มานุสะ
มานุสุตตมะ ขิฑฑาปทูสิกะ มโนปทูสิกะ
หริ โลหิตวาสี ปารคะ และมหาปารคะผู้มียศก็มา
เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก
ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เทพอีก (๑๐ หมู่) คือ
สุกกะ กรุมหะ อรุณะ เวฆนสะ
โอทาตคัยหะผู้เป็นหัวหน้า วิจักขณะ
สทามัตตะ หารคชะ มิสสกะผู้มียศ
และปชุนนเทวราชผู้บันดาลฝนให้ตกทั่วทุกทิศก็มา
เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก
ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เทพอีก (๑๐ หมู่) คือ
เทพพวกเขมิยะ เทพชั้นดุสิต เทพชั้นยามา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

เทพพวกกัฏฐกะ๑ผู้มียศ เทพพวกลัมพีตกะ
เทพพวกลามเสฏฐะ เทพพวกโชติ อาสวะ๒
เทพชั้นนิมมานรดี และเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีก็มา
เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก
ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เทพทั้งหมด ๖๐ หมู่
ล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก มาแล้วตามกำหนด
ชื่อหมู่เทพและเทพพวกอื่น
ผู้มีผิวพรรณและชื่อเช่นนั้นก็มา (ด้วยคิด)ว่า
‘พวกเราจะเข้าพบพระนาคะ๓
ผู้ไม่มีการเกิด ไม่มีกิเลสดังตะปู
ผู้ข้ามโอฆะ๔ได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
ผู้พ้นโอฆะได้แล้ว ล่วงพ้นธรรมดำ
ดังดวงจันทร์พ้นจากเมฆฉะนั้น
[๓๔๑] สุพรหมและปรมัตตพรหม
ผู้เป็นบุตร๕ของพระผู้ทรงฤทธิ์๖ก็มาด้วย
สนังกุมารพรหมและติสสพรหมก็มายังป่าที่ประชุม

เชิงอรรถ :
๑ กัฏฐกะ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กถกะ (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๗)
๒ อาสวะ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อาสา (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๗)
๓ พระนาคะ เป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า เพราะไม่ทำความชั่ว (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๗)
๔ โอฆะ หมายถึงโอฆะ ๔ คือ (๑) กาม (๒) ภพ (๓) ทิฏฐิ (๔) อวิชชา (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๗)
๕ บุตร ในที่นี้หมายถึงพุทธบุตรผู้ที่เป็นอริยสาวกผู้เป็นพรหม (ที.ม.อ. ๓๔๑/๓๐๘)
๖ พระผู้ทรงฤทธิ์ หมายถึงพระพุทธเจ้า (ที.ม.อ. ๓๔๑/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

ท้าวมหาพรหม ๑,๐๐๐ องค์ ปกครองพรหมโลก
ท้าวมหาพรหมนั้น อุบัติขึ้นในพรหมโลก
มีความรุ่งเรือง มีกายใหญ่ มียศก็มา
มีพรหม ๑๐ องค์ ผู้เป็นใหญ่กว่าพรหม ๑,๐๐๐ องค์
มีอำนาจเฉพาะองค์ละอย่างก็มา
มหาพรหมชื่อหาริตะ มีบริวารห้อมล้อม
มาอยู่ท่ามกลางพรหม ๑,๐๐๐ องค์นั้น’
[๓๔๒] เมื่อเสนามารมาถึง
พระศาสดาได้ตรัสกับพวกเทพทั้งหมดเหล่านั้น
พร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหมผู้ประชุมกันอยู่
จงดูความโง่เขลาของกัณหมาร
มหาเสนามารได้ส่งเสนามารไป
ในที่ประชุมใหญ่ของเหล่าเทพด้วยคำว่า
“พวกท่านจงไปจับหมู่เทพผูกไว้
พวกท่านจงผูกไว้ด้วยราคะเถิด
จงล้อมไว้ทุกด้าน
ใคร ๆ อย่าได้ปล่อยให้ผู้ใดหลุดพ้นไป”
แล้วก็เอาฝ่ามือตบแผ่นดินทำเสียงน่ากลัว
(แต่) ในเวลานั้น ไม่อาจ ทำให้ใครตกอยู่ในอำนาจได้
จึงกลับไปทั้งที่เกรี้ยวโกรธ
เหมือนเมฆฝนที่บันดาลให้ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฉะนั้น
[๓๔๓] พระศาสดาผู้มีพระจักษุ
ทรงทราบเหตุทั้งหมด ทรงกำหนดแล้ว
จึงรับสั่งเรียกพระสาวกผู้ยินดีในศาสนามาตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

‘ภิกษุทั้งหลาย เสนามารมุ่งมากันแล้ว
พวกเธอจงรู้จักพวกเขา’
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พากันทำความเพียร
เสนามารหลีกไปจากเหล่าภิกษุผู้ปราศจากราคะ
ไม่อาจแม้ทำขนของภิกษุเหล่านั้นให้ไหวได้
(พญามารกล่าวสรรเสริญว่า)
‘หมู่พระสาวกของพระพุทธเจ้า
ชนะสงครามแล้วทั้งสิ้น ล่วงพ้นความหวาดกลัว
มียศปรากฏอยู่ในหมู่ชน
บันเทิงอยู่กับภูต๑ทั้งหลาย”

มหาสมยสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ว่าด้วยปัญญาของท้าวสักกะ

๘. สักกปัญหสูตร
ว่าด้วยปัญหาของท้าวสักกะ

[๓๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละที่ภูเขาเวทิยกะ ทางทิศเหนือ
ของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุงราชคฤห์
แคว้นมคธ
เวลานั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงเกิดความขวนขวายเพื่อจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ทรงมีความดำริดังนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่
ณ ที่ไหนหนอ” ทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ที่ภูเขา
เวทิยกะ ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก
แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ จึงรับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า “ท่านผู้
นิรทุกข์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละที่ภูเขาเวทิยกะ ทางทิศเหนือ
ของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุงราชคฤห์
แคว้นมคธ ทางที่ดี ชาวเราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้น”
พวกเทพชั้นดาวดึงส์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
[๓๔๕] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตร๑มา
ตรัสว่า “พ่อปัญจสิขะ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละที่ภูเขาเวทิยกะ
ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุง
ราชคฤห์ แคว้นมคธ ทางที่ดี ชาวเราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

เชิงอรรถ :
๑ ปัญจสิขะ คันธรรพบุตร เป็นเทพบุตรองค์หนึ่งในพวกคนธรรพ์ ซึ่งเป็นบริวารของท้าวธตรฐมหาราช และ
เป็นผู้รับใช้พระทศพล สามารถเข้าเฝ้าทูลถามปัญหา ขอสดับพระธรรมเทศนาได้ทุกขณะที่ต้องการ ท้าวสักกะ
จอมเทพจึงชวนท่านไปพร้อมกันเพื่อจะได้ทูลขอพระวโรกาสกะพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามปัญหาต่อไป
(ที.ม.อ. ๓๔๕/๓๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ว่าด้วยปัญญาของท้าวสักกะ

ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้วถือพิณสีเหลืองดังผลมะตูม
ตามเสด็จท้าวสักกะจอมเทพมา
[๓๔๖] ต่อมา ท้าวสักกะจอมเทพ ผู้มีเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์แวดล้อม มีปัญจสิขะ
คันธรรพบุตรนำเสด็จ ได้ทรงหายตัวจาก(ภพ)ชั้นดาวดึงส์ไปปรากฏอยู่ที่ภูเขาเวทิยกะ
ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขน
ออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
เวลานั้น ภูเขาเวทิยกะและหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์สว่างไสวยิ่งนัก ด้วย
เทวานุภาพของเหล่าเทพ ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงรอบ ๆ กล่าวกันอย่างนี้ว่า “วันนี้
ภูเขาเวทิยกะถูกไฟเผาไหม้ลุกโชติช่วง ทำไมหนอ วันนี้ ภูเขาเวทิยกะและหมู่บ้าน
พราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์จึงสว่างไสวยิ่งนักเล่า” พากันตกใจขนพองสยองเกล้า
[๓๔๗] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมา
ตรัสว่า “ปัญจสิขะ ตถาคตทรงเข้าฌาน๑ ทรงพอพระทัยในฌาน ระหว่างที่พระองค์
ประทับหลีกเร้นอยู่ คนเช่นเรายากที่จะเข้าไปเฝ้าได้ ทางที่ดี พ่อควรทำให้พระองค์
ทรงพอพระทัยก่อน หลังจากนั้น พวกเราจึงควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงถือพิณสีเหลืองดังผลมะ-
ตูมเข้าไปจนถึงถ้ำอินทสาละแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร คะเนดูว่า “ระยะเท่านี้พระผู้
มีพระภาคประทับอยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นักจากเรา และทรงได้ยินเสียงของเรา”

เชิงอรรถ :
๑ เข้าฌาน หมายถึงการเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่ ในที่นี้มุ่งถึงฌาน ๒ คือ (๑) อารัมมณูปนิชฌาน
(การเพ่งอารมณ์ ได้แก่ สมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔) (๒) ลักขณูปนิชฌาน(การเพ่งลักษณะ
ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล) (ที.ม.อ. ๓๔๗/๓๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร]
เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร

เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร

[๓๔๘] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้บรรเลงพิณสีเหลือง
ดังผลมะตูมและกล่าวคาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธ เกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม
เกี่ยวเนื่องด้วยพระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ว่า
“แม่ภัททาสุริยวัจฉสา๑
ฉันขอกราบท่านติมพรุบิดาของเธอ
โดยเหตุที่เธอเกิดมางดงาม ทำให้ฉันปลื้มใจ
เหมือนสายลมย่อมเป็นที่ปรารถนาของผู้มีเหงื่อ
หรือเหมือนน้ำเป็นที่ปรารถนาของผู้กระหาย
เธอผู้ไฉไลเป็นที่รักของฉัน
ดุจธรรมเป็นที่รักของพระอรหันต์
เธอจงช่วยดับความเร่าร้อน๒
เหมือนช่วยวางยาคนไข้ผู้กระสับกระส่าย
เหมือนให้อาหารแก่ผู้หิว
หรือเหมือนใช้น้ำดับไฟที่กำลังลุกอยู่
ขอให้ฉันได้ซบลงจดถันและอุทรของเธอ
เหมือนช้างที่ร้อนจัดในคราวร้อน
หยั่งลงสู่สระโบกขรณีมีน้ำเย็น
ระคนด้วยละอองเกสรดอกปทุม
ฉันมึนงงเพราะ(เห็น)ช่วงขาที่งามสมส่วน
ไม่รับรู้เหตุการณ์ (อะไรๆ)
เหมือนช้างเหลือขอเพราะถือว่าเราชนะได้แล้ว๓

เชิงอรรถ :
๑สุริยวัจฉสา เป็นชื่อของเทพธิดา ผู้มีสิริโฉมงดงามทั่วสรรพางค์ มีรัศมีอ่อน ๆ เปล่งออกจากร่างกายดุจ
แสงอ่อนของดวงอาทิตย์ยามทอแสง (ที.ม.อ. ๓๔๘/๓๑๖)
๒ความเร่าร้อน ในที่นี้หมายถึงความเร่าร้อนเพราะไฟคือราคะ (ที.ม.อ. ๓๔๘/๓๑๖)
๓เราชนะได้แล้ว หมายถึงไม่อยู่ในอำนาจของแหลนและหอกซัด (ที.ม.อ. ๓๔๘/๓๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร]
เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร

ฉันมีใจจดจ่อที่เธอ ไม่อาจกลับใจที่แปรผันไป
เหมือนปลาที่กลืนเบ็ดเข้าไป
นางผู้เจริญ เธอจงเอาขาซ้ายกระหวัดฉันไว้
เธอผู้มีดวงตาหยาดเยิ้มจงกระหวัดฉันไว้เถิด
เธอผู้งดงามจงสวมกอดฉันไว้
สิ่งนี้คือสิ่งที่ฉันปรารถนายิ่งนัก
ความใคร่ของฉันต่อเธอผู้มีผมงามสลวย
ถึงมีน้อยก็เกิดผลมาก
เหมือนทักษิณาที่ถวายแด่พระอรหันต์
นางผู้งดงามทั่วสรรพางค์
บุญที่ฉันได้ทำไว้ในพระอรหันต์ผู้คงที่นั้น
จงอำนวยผลแก่ฉันพร้อมกับเธอ
นางผู้งดงามทั่วสรรพางค์
บุญที่ฉันได้ทำไว้ในปฐพีมณฑลนี้
จงอำนวยผลแก่ฉันพร้อมกับเธอ
แม่(ภัททา)สุริยวัจฉสา ฉันใฝ่ฝันหาเธอ
เหมือนพระสมณศากยบุตรผู้ทรงเข้าฌานอยู่ผู้เดียว
ผู้มีปัญญาครองตน มีสติ
เป็นมุนี แสวงหาอมตธรรม
แม่คุณคนงาม ถ้าฉันได้อยู่ร่วมกับเธอ ก็จะพึงชื่นชม
เหมือนพระมุนีบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุดพึงชื่นชมฉะนั้น
หากท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งดาวดึงส์
จะประทานพรแก่ฉัน
ฉันก็จะต้องเลือกเอาเธอเป็นแน่
ความปรารถนาของฉันมั่นคงอยู่อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร]
เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร

แม่คุณผู้เฉลียวฉลาด
ฉันขอน้อมไหว้บิดาของเธอผู้มีธิดางามเช่นนี้
ดุจต้นสาละที่ผลิดอกใหม่ ๆ ฉะนั้น”
[๓๔๙] เมื่อปัญจสิขะ คันธรรพบุตรกราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสกับปัญจสิขะ คันธรรพบุตรดังนี้ว่า “ปัญจสิขะ เสียงสายพิณของท่านเทียบได้กับ
เสียงขับร้อง และเสียงขับร้องเทียบได้กับเสียงสายพิณ เสียงสายพิณของท่านไม่เกิน
เสียงขับร้อง และเสียงขับร้องก็ไม่เกินเสียงสายพิณ คาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธ
เกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม เกี่ยวเนื่องด้วยพระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และ
เกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ ท่านประพันธ์ไว้เมื่อไร”
ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้
ประพันธ์คาถาเหล่านี้ไว้ เมื่อสมัยที่พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ใต้ต้น
อชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น ข้าพระองค์หลงรัก
ภัททาสุริยวัจฉสา ธิดาของท้าวติมพรุคันธรรพราช แต่นางรักผู้อื่นคือหลงรักสิขัณฑี
บุตรของมาตลีสังคาหกเทพบุตร เมื่อข้าพระองค์ไม่ได้นางด้วยวิธีหนึ่งจึงถือเอาพิณสี
เหลืองดังผลมะตูมเข้าไปยังนิเวศน์ของท้าวติมพรุคันธรรพราช แล้วบรรเลงพิณขึ้น
กล่าวคาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธ เกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม เกี่ยวเนื่องด้วย
พระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ว่า
‘แม่ภัททาสุริยวัจฉสา
ฉันขอกราบท่านติมพรุบิดาของเธอ
โดยเหตุที่เธอเกิดมางดงาม ทำให้ฉันปลื้มใจ
ฯลฯ
แม่คุณผู้เฉลียวฉลาด
ฉันขอน้อมไหว้บิดาของเธอผู้มีธิดางามเช่นนี้
ดุจต้นสาละที่ผลิตดอกใหม่ ๆ ฉะนั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ท้าวสักกะจอมเทพเข้าเฝ้า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ นางภัททาสุริยวัจฉสา
กล่าวตอบว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ฉันไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์
เป็นแต่เคยได้ยินเมื่อเข้าไปฟ้อนในสุธัมมาเทวสภาของเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์เท่านั้น
เนื่องจากท่านได้กล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้ ก็จงมาสมาคมกับพวกเรา
ณ บัดนี้’ ข้าพระองค์จึงได้ร่วมสมาคมกับนางและไม่ใช่ครั้งนี้เท่านั้น หลังจากนั้นมา
ข้าพระองค์ก็ได้สมาคมกันอีก”

ท้าวสักกะจอมเทพเข้าเฝ้า

[๓๕๐] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีความดำริดังนี้ว่า “ปัญจสิขะ
คันธรรพบุตร ได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคก็ทรงปราศรัย
กับปัญจสิขะ” จึงรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมาตรัสว่า “ปัญจสิขะ พ่อจง
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะ
จอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ พร้อมด้วยบริษัท ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของ
พระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร”
ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
ตามรับสั่งว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะ จอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ พร้อมด้วย
บริษัท ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร’
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปัญจสิขะ ขอให้ท้าวสักกะ จอมเทพพร้อมด้วย
อำมาตย์ พร้อมด้วยบริษัทจงมีความสุขเถิด เพราะว่ามีพวกเทวดา มนุษย์ อสูร
นาค คนธรรพ์ และสัตว์เหล่าอื่นอีกจำนวนมากต่างก็ปรารถนาความสุข”
[๓๕๑] พระตถาคตทั้งหลายย่อมประทานพรแก่เทพผู้มีศักดิ์ใหญ่เช่นนี้อย่าง
นี้แล ท้าวสักกะ จอมเทพผู้อันพระผู้มีพระภาคได้ประทานพรแล้ว เสด็จเข้าไปยังถ้ำ
อินทสาละของพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร แม้พวกเทพ
ชั้นดาวดึงส์ก็เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่
สมควร แม้ปัญจสิขะ คันธรรพบุตร ก็เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ท้าวสักกะจอมเทพเข้าเฝ้า

เวลานั้น ถ้ำอินทสาละซึ่งมีพื้นไม่สม่ำเสมอก็สม่ำเสมอ ที่คับแคบก็กลับ
กว้างขวาง ความมืดในถ้ำหายไป เกิดความสว่างขึ้นเพราะเทวานุภาพของเหล่าเทพ
[๓๕๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท้าวสักกะ จอมเทพดังนี้ว่า “นี้เป็น
เหตุน่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏที่ท้าวโกสีย์ มีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก
เสด็จมาถึงที่นี้ได้”
ท้าวสักกะ จอมเทพกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนา
จะมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคตั้งนานแล้ว แต่มัวสาละวนด้วยกิจหน้าที่ของพวกเทพชั้น
ดาวดึงส์ จึงไม่สามารถมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาค
ประทับอยู่ที่สลฬาคาร เขตกรุงสาวัตถี ข้าพระองค์ได้ไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อจะเฝ้า
พระองค์ แต่ขณะนั้นพระองค์ประทับเข้าสมาธิอยู่ มีนางปริจาริกาของท้าวเวสวัณ
มหาราชชื่อว่าภุชคีคอยอุปัฏฐาก นางยืนประนมมือถวายนมัสการอยู่ ขณะนั้น
ข้าพระองค์กล่าวกับนางว่า ‘น้องหญิง เธอจงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคตามคำ
ของเราว่า ‘ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์พร้อมด้วยบริษัท ขอถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้
นางตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค
พระองค์ท่านทรงหลีกเร้นเพียงลำพัง’ ข้าพระองค์จึงสั่งว่า ‘น้องหญิง ถ้าอย่างนั้น
คราวที่พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธิ เธอจงถวายอภิวาทพระองค์ตามคำของ
เราว่า ‘ท้าวสักกะ จอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์พร้อมด้วยบริษัท ขอถวายอภิวาท
พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร’ นางได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
หรือไม่ พระองค์ทรงระลึกถึงคำของนางได้อยู่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอไหว้เราแล้ว เราระลึกถึงคำของเธอได้ และเรา
ออกจากสมาธิเพราะเสียงล้อรถของพระองค์”
ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพวกเทพ
ผู้เกิดในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ก่อนกว่าพวกข้าพระองค์ว่า ‘คราวที่พระตถาคตอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก หมู่เทพเจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง’
ข้อนี้ข้าพระองค์ได้เห็นประจักษ์แล้วว่า เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จอุบัติขึ้นในโลก หมู่เทพเจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

เรื่องโคปกเทพบุตร

[๓๕๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกรุงกบิลพัสดุ์นี้ ได้มีศากยธิดานามว่าโคปิกา
ผู้เลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์ ผู้รักษาศีล๑ให้
บริบูรณ์ หน่ายความรู้สึกเป็นหญิง อบรมความรู้สึกเป็นชาย๒ หลังจากตายแล้วไป
เกิดในสุคติโลกสวรรค์ ได้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ได้เป็นบุตรของข้าพระองค์
ในที่นั้นพวกเทพรู้จักเธออย่างนี้ว่า ‘โคปกเทพบุตร’ ภิกษุอื่นอีก ๓ รูปประพฤติ
พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ไปเกิดในหมู่คนธรรพ์ซึ่งเป็นชั้นต่ำ พวกคนธรรพ์นั้น
เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ มาสู่ที่บำรุงบำเรอของข้า
พระองค์ โคปกเทพบุตรกล่าวเตือนพวกคนธรรพ์ผู้มายังที่บำรุงบำเรอของข้าพระองค์ว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พวกท่านหันหน้าไปทางไหน๓ ทั้งที่ได้ฟังพระธรรมของพระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว เราเป็นหญิงเลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม
เลื่อมใสในพระสงฆ์ รักษาศีลให้บริบูรณ์ หน่ายความรู้สึกเป็นหญิง อบรมความรู้สึก
เป็นชาย หลังจากตายแล้วมาเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ได้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์
เป็นบุตรของท้าวสักกะจอมเทพ ในที่นี้พวกเทพรู้จักเราอย่างนี้ว่า ‘โคปกเทพบุตร’
ส่วนพวกท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค มาเกิดในหมู่คนธรรพ์ซึ่งเป็น
ชั้นต่ำ พวกเราได้เห็นผู้ร่วมประพฤติธรรมที่มาเกิดในหมู่คนธรรพ์ซึ่งเป็นชั้นต่ำ
นับว่าได้เห็นรูปที่ไม่น่าดูเลย’ เมื่อพวกคนธรรพ์ ๓ ตน ถูกโคปกเทพบุตรตักเตือน
มีเทพ๔ ๒ องค์ กลับได้สติในปัจจุบันทันทีแล้วไปเกิดในพรหมโลกชั้นพรหมปุโรหิตา
ส่วนเทพอีกองค์หนึ่งยังคงอยู่ในกามภพ

เชิงอรรถ :
๑ ศีล ในที่นี้หมายถึงศีล ๕ (ที.ม.อ. ๓๕๓/๓๒๑)
๒ หน่ายความรู้สึกเป็นหญิง อบรมความรู้สึกเป็นชาย หมายถึงอาการที่ไม่ได้เกิดจากภาวะผิดปกติด้าน
ความรู้สึก แต่เกิดจากความปรารถนาจะบำเพ็ญบารมีให้สูงขึ้น เนื่องจากเพศหญิงไม่อาจบรรลุปัจเจกโพธิ-
ญาณและสัมมาสัมโพธิญาณได้ (ที.ม.อ. ๓๕๓/๓๒๑)
๓ หันหน้าไปทางไหน หมายถึงใจลอยหรือนอนหลับในขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเฉพาะหน้า (ที.ม.อ.
๓๕๓/ ๓๒๒)
๔ เทพ ในที่นี้หมายถึงคนธรรพ์ (ที.ม.อ. ๓๕๓/๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

[๓๕๔] โคปกเทพบุตรกล่าวว่า
‘เรามีนามว่า ‘โคปิกา’
เป็นอุบาสิกาของพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
เราเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระพุทธ พระธรรม
และมีจิตเลื่อมใสบำรุงพระสงฆ์
เพราะความดีของพระธรรมของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทีเดียว
เราได้เป็นบุตรของท้าวสักกะ มีอานุภาพมาก
มีความรุ่งเรืองมาก มาเกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์
แม้ในที่นี้พวกเทพรู้จักเราว่า ‘โคปกเทพบุตร’
เราได้มาเห็นพวกภิกษุผู้เป็นสาวกของพระโคดม
ผู้เกิดอยู่ในหมู่คนธรรพ์
ซึ่งเราเคยเห็นมาแล้ว เมื่อครั้งเป็นมนุษย์
ยังได้เคยปรนนิบัติเท้า๑ ในเรือนของตน
แล้วอุปัฏฐากด้วยข้าวและน้ำ
ท่านเหล่านี้หันหน้าไปทางไหน
จึงไม่ได้รับพระธรรมของพระพุทธเจ้า
พระธรรมที่วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
แม้เราก็เข้าไปหาพวกท่านได้ฟังสุภาษิตของพระอริยเจ้า
ได้เป็นบุตรของท้าวสักกะ มีอานุภาพมาก
มีความรุ่งเรืองมาก มาเกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์
ส่วนพวกท่านเข้าไปนั่งใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม

เชิงอรรถ :
๑ ปรนนิบัติเท้า หมายถึงการอุปัฏฐาก เช่น การล้างเท้า การนวดเท้า และการทาเท้า (ที.ม.อ. ๓๕๔/๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

แต่กลับมาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำ
การเกิดของพวกท่านไม่สมควร
เราได้มาเห็นผู้ร่วมประพฤติธรรม
มาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำนับว่าได้เห็นรูปที่ไม่น่าดูเลย
พวกท่านมาเกิดในหมู่คนธรรพ์
ยังต้องมาสู่ที่บำรุงบำเรอของพวกเทพ
ขอให้ท่านจงดูความวิเศษอันนี้ของเราผู้อยู่ครองเรือนเถิด
เราเป็นหญิง แต่วันนี้เป็นเทพบุตร
ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์’
คนธรรพ์พวกนั้นพร้อมกันมาพบโคปกเทพบุตร
ถูกเทพบุตรผู้เป็นสาวกของพระโคดมตักเตือนแล้ว
จึงเกิดความสังเวชว่า
‘เอาเถิด พวกเราจะเพียรพยายาม
อย่าได้เป็นคนรับใช้ของผู้อื่นอีกเลย’
บรรดาคนธรรพ์เหล่านั้น
คนธรรพ์ ๒ ตนระลึกถึงคำสอนของพระโคดมได้
จึงได้เริ่มตั้งความเพียร หน่ายความคิดในภพนี้
เห็นโทษในกาม ตัดกามสังโยชน์๑และกามพันธน์๒
อันเป็นโยคะที่ละได้ยากของมารผู้มีบาป
ก้าวล่วงเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์
เพราะตัดกามคุณอันมีอยู่เสียได้
ประดุจช้างตัดบ่วงบาศได้

เชิงอรรถ :
๑ กามสังโยชน์ หมายถึงกามราคะ ซึ่งมีชื่อต่าง ๆ เช่น ฉันทะ ราคะ ฉันทราคะ (ที.ม.ฏีกา ๓๕๔/๓๑๔)
๒ กามพันธน์ หมายถึงกามราคะ ซึ่งมีชื่อต่าง ๆ เช่น โยคะ คันถะ (ที.ม.อ. ๓๕๔/๓๒๔) และดูเทียบ ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๒/๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

เทพทั้งหมดพร้อมทั้งพระอินทร์และพระปชาบดี
เข้าไปนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา
ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้กล้า ปราศจากราคะ
กำลังบำเพ็ญธรรมที่ปราศจากความกำหนัด๑
ได้ก้าวล่วงเทพพวกนั้นที่นั่งอยู่
ท้าววาสวะผู้เป็นใหญ่กว่าเทพ
ทอดพระเนตรเทพเหล่านั้น
ท่ามกลางหมู่เทพแล้วทรงสังเวชว่า
‘เทพเหล่านั้นมาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำกว่า
เวลานี้กลับก้าวล่วงพวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้’
โคปกเทพบุตรนั้นพิจารณาถ้อยคำของท้าวสักกะ
ผู้ทรงเกิดความสังเวชแล้วกราบทูลท้าววาสวะว่า
‘มีพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นจอมคนอยู่ในมนุษยโลก
ทรงครอบงำกามเสียได้ พระนามว่าพระศากยมุนี
เทพพวกนั้นเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นผู้เสื่อมจากสติ๒ถูกข้าพระองค์ตักเตือนแล้วจึงกลับได้สติ’
บรรดาท่านทั้ง ๓ เหล่านั้น
ผู้หนึ่งคงเกิดในหมู่คนธรรพ์อยู่ในภพนี้
อีก ๒ ท่านดำเนินตามทางสัมโพธิ๓
เพราะเป็นผู้มีจิตมั่นคง ย่อมเย้ยเทวโลก๔ได้

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่ปราศจากความกำหนัด ในที่นี้หมายถึงอนาคามิมรรค (ที.ม.อ. ๓๕๔/๓๒๔)
๒ สติ ในที่นี้ได้แก่ฌาน (ที.ม.อ. ๓๕๔/๓๒๔)
๓ ทางสัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงอนาคามิมรรค (ที.ม.อ. ๓๕๔/๓๒๔)
๔ เย้ยเทวโลก หมายถึงคนธรรพ์ ๒ ตนพอได้อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิแล้วก็ทำให้เป็นบาท เพื่อให้
บรรลุสัมโพธิ แล้วจักไม่เวียนกลับมาในภพภูมิที่ต่ำอีกต่อไป (ที.ม.อ.๓๕๔/ ๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

การประกาศธรรมในศาสนานี้เป็นเช่นนี้
ไม่มีพระสาวกรูปไหนจะสงสัยอะไร
ในการประกาศธรรมนั้นเลย
พวกข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระชินพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นจอมคน ทรงข้ามโอฆะได้
ทรงตัดความสงสัยได้แล้ว
บรรดาคนธรรพ์ ๓ ตนนั้น
๒ ตนรู้ธรรมอันใดของพระองค์แล้ว
ถึงความเป็นผู้วิเศษไปเกิดในหมู่พรหมชั้นพรหมปุโรหิตา
บรรลุคุณวิเศษแล้ว
ท่านผู้นิรทุกข์ ขอประทานวโรกาส
ถึงพวกข้าพระองค์ก็มาเพื่อบรรลุธรรมนั้น
หากพระผู้มีพระภาคทรงประทานวโรกาส
ก็จะขอทูลถามปัญหา”
[๓๕๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “ท้าวสักกะทรงเป็นผู้
บริสุทธิ์มาช้านาน จะตรัสถามปัญหากับเรา ก็จะตรัสถามทุกอย่างที่ประกอบด้วย
ประโยชน์ จะไม่ตรัสถามปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และท้าวเธอจะทรงเข้า
ใจที่เราตอบได้ฉับพลันเทียว”
[๓๕๖] จากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท้าวสักกะจอมเทพเป็นพระคาถาว่า
“วาสวะ พระองค์ทรงปรารถนาสิ่งใดไว้ในพระทัย
ก็โปรดถามปัญหานั้นกับอาตมภาพเถิด
อาตมภาพจะแก้ปัญหานั้นให้ถึงที่สุดแด่พระองค์”

ภาณวารที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

[๓๕๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานพระวโรกาสแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ
ได้ทูลถามปัญหาข้อที่ ๑ นี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกเทพ มนุษย์ อสูร
นาค คนธรรพ์ และสัตว์เหล่าอื่นอีกจำนวนมากต่างก็มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘ขอพวกเราจงเป็นผู้ไม่มีเวร จงเป็นผู้ไม่ถูกลงโทษ จงเป็นผู้ไม่มีศัตรู จงเป็นผู้ไม่ถูก
เบียดเบียน จงเป็นผู้ไม่จองเวรกันอยู่เถิด’ แต่เพราะมีอะไรเป็นเครื่องผูกมัดเล่า
พวกเขาจึงยังคงมีเวร ถูกลงโทษ มีศัตรู ถูกเบียดเบียน ยังจองเวรกันอยู่” ท้าวเธอ
ได้ทูลถามปัญหาอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ พวกเทพ มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์
และสัตว์เหล่าอื่นอีกจำนวนมาก ต่างมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ขอพวกเราจงเป็น
ผู้ไม่มีเวร จงเป็นผู้ไม่ถูกลงโทษ จงเป็นผู้ไม่มีศัตรู จงเป็นผู้ไม่ถูกเบียดเบียน จงเป็น
ผู้ไม่จองเวรกันอยู่เถิด’ แต่เพราะมีอิสสา(ความริษยา) และมัจฉริยะ(ความตระหนี่)
เป็นเครื่องผูกมัด พวกเขาจึงยังคงมีเวร ถูกลงโทษ มีศัตรู ถูกเบียดเบียน จองเวร
กันอยู่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้วเพราะได้ฟังการตรัส
ตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
[๓๕๘] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อิสสาและมัจฉริยะ
มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมี
อะไร จึงมีอิสสาและมัจฉริยะ เมื่อไม่มีอะไร จึงไม่มีอิสสาและมัจฉริยะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ อิสสาและมัจฉริยะ มีอารมณ์อันเป็น
ที่รักและไม่เป็นที่รักเป็นต้นเหตุ มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักเป็นเหตุเกิด
มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักเป็นกำเนิด มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่
รักเป็นแดนเกิด เมื่อมีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก จึงมีอิสสาและมัจฉริยะ
เมื่อไม่มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก จึงไม่มีอิสสาและมัจฉริยะ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

ท้าวเธอทูลถามว่า “อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก มีอะไรเป็นต้นเหตุ
มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีอารมณ์
อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักมีฉันทะ๑
เป็นต้นเหตุ มีฉันทะเป็นเหตุเกิด มีฉันทะเป็นกำเนิด มีฉันทะเป็นแดนเกิด เมื่อมี
ฉันทะจึงมีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีฉันทะจึงไม่มีอารมณ์อันเป็นที่
รักและไม่เป็นที่รัก”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ฉันทะมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็น
กำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีฉันทะ เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีฉันทะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ฉันทะมีวิตก๒เป็นต้นเหตุ มีวิตกเป็นเหตุเกิด
มีวิตกเป็นกำเนิด มีวิตกเป็นแดนเกิด เมื่อมีวิตกจึงมีฉันทะ เมื่อไม่มีวิตกจึงไม่
มีฉันทะ”
ท้าวเธอทูลถามว่า “วิตกมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็น
กำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีวิตก เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีวิตก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “วิตกมีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา๓เป็นต้นเหตุ
มีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นเหตุเกิด มีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นกำเนิด มีแง่

เชิงอรรถ :
๑ ฉันทะ แปลว่าความพอใจ แต่ในที่นี้หมายถึงความไม่รู้จักอิ่มคือตัณหา มี ๕ อย่างคือ (๑) ปริเยสนฉันทะ
(ความไม่อิ่มในการแสวงหา) (๒) ปฏิลาภฉันทะ (ความไม่อิ่มในการได้มา) (๓) ปริโภคฉันทะ (ความไม่อิ่ม
ในการใช้สอย) (๔) สันนิธิฉันทะ (ความไม่อิ่มในการกักตุน) (๕) วิสัชชนฉันทะ (ความไม่อิ่มในการจ่ายทรัพย์)
(ที.ม.อ. ๓๓๘/๓๓๕-๓๓๖)
๒ วิตก แปลว่าการตรึก การไตร่ตรอง ในที่นี้หมายถึงการตรึกเพื่อการตัดสิน ๒ อย่าง คือ (๑) ตัณหาวินิจฉัย
(การตัดสินด้วยอำนาจตัณหา) (๒) ทิฏฐิวินิจฉัย (การตัดสินด้วยอำนาจทิฏฐิ) (ที.ม.อ. ๓๕๘/๓๓๖)
๓ แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา แยกอธิบายตามศัพท์ได้ดังนี้ แง่ต่าง แปลจากคำว่า สงฺขา คือส่วนต่าง ๆ
หมายถึงส่วนต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา ปปัญจะ หมายถึงปปัญจธรรม ซึ่งแปลว่า ธรรมเครื่องเนิ่นช้า
ได้แก่ ตัณหาวิจริต ๑๐๘ มานะ ๙ และทิฏฐิ ๖๒ ซึ่งเป็นเหตุให้มีความประมาทมัวเมา มีความประมาท
มัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว ในความไม่มีโรค และในชีวิต ปปัญจสัญญา หมายถึงสัญญา(ความกำหนดหมาย)
ที่ประกอบด้วยปปัญจธรรม คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ แต่ในที่นี้หมายเอาเพียงตัณหาเท่านั้น
ดังนั้น คำว่า “แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา” จึงหมายถึงการคิดปรุงแต่งอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยอำนาจตัณหา
มานะ และทิฏฐิของตน ๆ จึงเกิดแง่ต่าง ๆ หรือมุมมองที่แตกต่างกันทั้ง ๆ ที่คิดเรื่องเดียวกัน (ที.ม.อ. ๓๕๘/
๓๓๖, ที.ม.ฏีกา ๓๕๘/๓๒๑-๓๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องเวทนากัมมัฏฐาน

ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นแดนเกิด เมื่อมีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาจึงมีวิตก เมื่อไม่มี
แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาจึงไม่มีวิตก”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่า
ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติอันสมควรและดำเนินไปสู่ความดับแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา”

เรื่องเวทนากัมมัฏฐาน

[๓๕๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ เรากล่าวโสมนัสไว้ ๒ อย่าง
คือ โสมนัสที่ควรเสพและโสมนัสที่ไม่ควรเสพ กล่าวโทมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ โทมนัส
ที่ควรเสพและโทมนัสที่ไม่ควรเสพ และกล่าวอุเบกขาไว้ ๒ อย่าง คือ อุเบกขาที่ควร
เสพและอุเบกขาที่ไม่ควรเสพ
[๓๖๐] เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโสมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ
โสมนัสที่ควรเสพและโสมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้
เช่นนั้น
บรรดาโสมนัส ๒ อย่างนั้น โสมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโสมนัสนี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ โสมนัสเช่นนี้เป็น
โสมนัสที่ไม่ควรเสพ๑
บรรดาโสมนัส ๒ อย่างนั้น โสมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโสมนัสนี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ โสมนัสเช่นนี้เป็น
โสมนัสที่ควรเสพ๒
ในโสมนัส๓นั้น โสมนัสใดมีวิตก มีวิจาร๔ และโสมนัสใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร๕
บรรดาโสมนัส ๒ อย่างนั้น โสมนัสที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า’

เชิงอรรถ :
๑ โสมนัสที่ไม่ควรเสพ หมายถึงโสมนัสที่อาศัยกามคุณ เป็นไปทางทวาร ๖ (ที.ม.อ. ๓๖๐/๓๔๐)
๒ โสมนัสที่ควรเสพ หมายถึงโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจเนกขัมมะ วิปัสสนา อนุสสติ และปฐมฌานเป็นต้น
(ที.ม.อ. ๓๖๐/๓๔๐)
๓ โสมนัส ในที่นี้หมายถึงโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ (ที.ม.อ. ๓๖๐/๓๔๐)
๔ โสมนัสมีวิตกมีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโสมนัสที่เกิดขึ้นอำนาจปฐมฌาน (ที.ม.อ. ๓๖๐/๓๔๐)
๕ โสมนัสไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจทุติยฌานและตติยฌาน (ที.ม.อ.
๓๖๐/๓๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องเวทนากัมมัฏฐาน

ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโสมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ โสมนัสที่ควรเสพ
และโสมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
[๓๖๑] เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโทมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ
โทมนัสที่ควรเสพและโทมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้
เช่นนั้น
บรรดาโทมนัส ๒ อย่างนั้น โทมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโทมนัสนี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ โทมนัสเช่นนี้เป็น
โทมนัสที่ไม่ควรเสพ
บรรดาโทมนัส ๒ อย่างนั้น โทมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโทมนัสนี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ โทมนัสเช่นนี้เป็น
โทมนัสที่ควรเสพ
ในโทมนัสนั้น โทมนัสใดมีวิตก มีวิจาร๑ และโทมนัสใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร๒
บรรดาโทมนัส ๒ อย่างนั้น โทมนัสที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโทมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ โทมนัสที่ควรเสพ
และโทมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
[๓๖๒] เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวอุเบกขาไว้ ๒ อย่าง คือ
อุเบกขาที่ควรเสพและอุเบกขาที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้
เช่นนั้น
บรรดาอุเบกขา ๒ อย่างนั้น อุเบกขาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพอุเบกขานี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ อุเบกขาเช่นนี้เป็น
อุเบกขาที่ไม่ควรเสพ

เชิงอรรถ :
๑ โทมนัสมีวิตกมีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโทมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจปฐมฌานและทุติยฌาน (ที.ม.อ. ๓๖๑/๓๔๒)
๒ โทมนัสไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโทมนัสที่เกิดขึ้นโดยตรง (ที.ม.อ. ๓๖๑/๓๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ปาติโมกขสังวร

บรรดาอุเบกขา ๒ อย่างนั้น อุเบกขาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพอุเบกขานี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ อุเบกขาเช่นนี้เป็น
อุเบกขาที่ควรเสพ
ในอุเบกขานั้น อุเบกขาใดมีวิตก มีวิจาร๑ และอุเบกขาใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร๒
บรรดาอุเบกขา ๒ อย่างนั้น อุเบกขาที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า’
ข้อที่เรากล่าวไว้ว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวอุเบกขาไว้ ๒ อย่าง คือ อุเบกขาที่
ควรเสพและอุเบกขาที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
[๓๖๓] จอมเทพ ภิกษุปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ
อันสมควร และดำเนินไปสู่ความดับแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการ
ตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

ปาติโมกขสังวร๓
(สำรวมในปาติโมกข์)

[๓๖๔] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติ
อย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมในปาติโมกข์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ เรากล่าวกายสมาจาร(ความประพฤติ
ทางกาย) ไว้ ๒ อย่าง คือ กายสมาจารที่ควรเสพและกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ

เชิงอรรถ :
๑ อุเบกขามีวิตกมีวิจาร ในที่นี้หมายถึงอุเบกขาที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจปฐมฌาน (ที.ม.อ. ๓๖๒/๓๔๗)
๒ อุเบกขาไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ในที่นี้หมายถึงอุเบกขาที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจทุติยฌานและตติยฌานเป็นต้น
(ที.ม.อ. ๓๖๒/๓๔๗)
๓ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๑๐-๑๑๑/๙๖-๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ปาติโมกขสังวร

กล่าววจีสมาจาร(ความประพฤติทางวาจา)ไว้ ๒ อย่างคือ วจีสมาจารที่ควรเสพ
และวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ และกล่าวปริเยสนา(การแสวงหา)ไว้ ๒ อย่างคือ
ปริเยสนาที่ควรเสพและปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวกายสมาจารไว้ ๒ อย่างคือ
กายสมาจารที่ควรเสพ และกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง
กล่าวไว้เช่นนั้น
บรรดากายสมาจาร ๒ อย่างนั้น กายสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพ
กายสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’
กายสมาจารเช่นนี้เป็นกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ
บรรดากายสมาจาร ๒ อย่างนั้น กายสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพ
กายสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’
กายสมาจารเช่นนี้เป็นกายสมาจารที่ควรเสพ
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวกายสมาจารไว้ ๒ อย่าง คือ กาย-
สมาจารที่ควรเสพและกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าววจีสมาจารไว้ ๒ อย่าง คือ วจี-
สมาจารที่ควรเสพและวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้
เช่นนั้น
บรรดาวจีสมาจาร ๒ อย่างนั้น วจีสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพ
วจีสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’
วจีสมาจารเช่นนี้เป็นวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ
บรรดาวจีสมาจาร ๒ อย่างนั้น วจีสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพวจี-
สมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’
วจีสมาจารเช่นนี้เป็นวจีสมาจารที่ควรเสพ
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าววจีสมาจารไว้ ๒ อย่าง คือ วจีสมาจาร
ที่ควรเสพและวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวปริเยสนาไว้ ๒ อย่าง คือ ปริเยสนา
ที่ควรเสพและปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร

บรรดาปริเยสนา ๒ อย่างนั้น ปริเยสนาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพปริเยสนา
นี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ ปริเยสนานี้เป็น
ปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ
บรรดาปริเยสนา ๒ อย่างนั้น ปริเยสนาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพปริเยสนา
นี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ ปริเยสนาเช่นนี้
เป็นปริเยสนาที่ควรเสพ
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวปริเยสนาไว้ ๒ อย่าง คือ ปริเยสนาที่
ควรเสพและปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
จอมเทพ ภิกษุปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมในปาติโมกข์”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น’
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัส
ตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

อินทริยสังวร๑
(สำรวมอินทรีย์)

[๓๖๕] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติ
อย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ เรากล่าวรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาไว้
๒ อย่าง คือ รูปที่ควรเสพ๒และรูปที่ไม่ควรเสพ กล่าวเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูไว้
๒ อย่าง คือ เสียงที่ควรเสพและเสียงที่ไม่ควรเสพ กล่าวกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๑๙/๑๐๕-๑๐๖
๒ คำว่า เสพ มีความหมายตามบริบท เช่น เสพรูป หมายถึงเห็นรูป เสพเสียง หมายถึงฟังเสียง เสพกลิ่น
หมายถึงดมกลิ่น เสพรส หมายถึงลิ้มรส เสพโผฏฐัพพะ หมายถึงถูกต้องโผฏฐัพพะ เสพธรรมารมณ์
หมายถึงนึกถึงธรรมารมณ์ (ที.ม.อ. ๓๖๕/๓๕๑-๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร

ไว้ ๒ อย่างคือ กลิ่นที่ควรเสพและกลิ่นที่ไม่ควรเสพ กล่าวรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น
ไว้ ๒ อย่างคือ รสที่ควรเสพและรสที่ไม่ควรเสพ กล่าวโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย
ไว้ ๒ อย่างคือ โผฏฐัพพะที่ควรเสพและโผฏฐัพพะที่ไม่ควรเสพ กล่าวธรรมารมณ์
ที่พึงรู้แจ้งทางใจไว้ ๒ อย่างคือ ธรรมารมณ์ที่ควรเสพและธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท้าวสักกะจอมเทพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า ‘เมื่อบุคคลเสพรูปที่พึงรู้
แจ้งทางตาเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง
รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นนี้เป็นรูปที่ไม่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา
เช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น รูปที่พึงรู้แจ้ง
ทางตาเช่นนี้เป็นรูปที่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูเช่นใด ฯลฯ เมื่อ
บุคคลเสพกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกเช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น
เช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายเช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพ
ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด’ อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรม
ทั้งหลายเสื่อมลง ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ เป็นธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ
เมื่อบุคคลเสพธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง
กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ เป็นธรรมารมณ์ที่
ควรเสพ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้แล จึงไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้
หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
[๓๖๖] ท้าวสักกะจอมเทพชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์
ทั้งหมด มีวาทะ(หลักการ)อย่างเดียวกัน มีศีล(ข้อปฏิบัติ)อย่างเดียวกัน มีฉันทะ
(ลัทธิ) อย่างเดียวกัน มีอัชโฌสานะ๑(จุดหมาย)อย่างเดียวกัน หรือหนอ”

เชิงอรรถ :
๑ อัชโฌสานะ ในที่นี้หมายถึงมีที่สุดอย่างเดียวกัน(เอกปริโยสานา) มีข้อตกลงร่วมกัน(สมานนิฏฐานา) (ที.ม.อ.
๓๖๖/๓๕๓, ที.ม.ฏีกา ๓๖๖/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีวาทะ
อย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะ
อย่างเดียวกัน”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์
ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน
ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ โลกมีธาตุหลากหลาย๑ มีธาตุต่างกัน
ในโลกที่มีธาตุหลากหลายมีธาตุต่างกันนั้น เหล่าสัตว์ยึดมั่นธาตุใด ๆ อยู่ ก็ย่อมยึด
มั่นธาตุนั้น ๆ ด้วยเรี่ยวแรงและความยึดมั่นอยู่ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่าง
เดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีความ
สำเร็จสูงสุด๒มีความเกษมจากโยคะสูงสุด๓ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด๔ มีที่สุด
อันสูงสุด๕หรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีความ
สำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มี
ที่สุดอันสูงสุด”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์
ทั้งหมด จึงไม่มีความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”

เชิงอรรถ :
๑ มีธาตุหลากหลาย ได้แก่ มีอัชฌาสัย คือนิสัยใจคอความนิยมต่างกัน เช่น เมื่อคนหนึ่งอยากเดิน อีกคนหนึ่ง
อยากยืน เมื่อคนหนึ่งอยากยืน อีกคนหนึ่งอยากนอน (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
๒ มีความสำเร็จสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพ้นความพินาศคือกิเลส (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
๓ ความเกษมจากโยคะสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
๔ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ในที่นี้หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
๕ ที่สุดอันสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ ภิกษุทั้งหลายผู้หลุดพ้นเพราะสิ้น
ตัณหาเท่านั้นจึงจะมีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมดจึงไม่มี
ความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด
ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัส
ตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
[๓๖๗] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ความหวั่นไหวเป็นโรค ความหวั่นไหว
เป็นหัวฝี ความหวั่นไหวเป็นลูกศร ความหวั่นไหวฉุดคร่าบุรุษนี้ไปเพื่อบังเกิดใน
ภพนั้น ๆ ฉะนั้น บุรุษนี้จึงถึงฐานะสูงบ้างต่ำบ้าง๑
ปัญหาที่ข้าพระองค์ไม่ได้แม้โอกาสจะถามในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอก
พระธรรมวินัยนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบแก่ข้าพระองค์แล้ว และได้ทรงถอน
ลูกศรคือความสงสัยและความเคลือบแคลงที่นอนเนื่องมานานของข้าพระองค์ด้วย”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ทรงจำได้หรือไม่ว่าปัญหา
ข้อนี้ได้ตรัสถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นมาบ้างแล้ว”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ยังจำได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ท่านเหล่านั้นตอบว่าอย่างไร หากไม่หนักพระทัย
เชิญพระองค์ตรัสเถิด”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ณ สถานที่ที่มีพระผู้มีพระภาค หรือผู้เปรียบดังพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ หม่อมฉันไม่หนักใจเลย พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ฐานะสูงบ้างต่ำบ้าง ในที่นี้หมายถึงภพภูมิต่าง ๆ เช่น พรหมโลกสูงกว่าเทวโลก เทวโลกสูงกว่า
มนุษยโลก และมนุษยโลกสูงกว่าอบายภูมิ (ที.ม.อ. ๓๖๗/๓๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เชิญพระองค์ตรัสเถิด จอมเทพ”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ที่เข้าใจว่า ‘เป็นผู้
อยู่ป่า อยู่ในเสนาสนะอันสงัด’ แล้วถามปัญหาเหล่านี้ ท่านเหล่านั้น เมื่อถูกถาม
ก็ตอบไม่ได้กลับย้อนถามข้าพระองค์ว่า ‘ท่านชื่ออะไร’ เมื่อถูกย้อนถาม ข้าพระองค์
จึงตอบว่า ‘เราชื่อท้าวสักกะจอมเทพ’ ท่านเหล่านั้นก็ยังถามต่อไปอีกว่า ‘ท่านทำ
กรรมอะไรจึงถึงฐานะอันนี้เล่า’ ข้าพระองค์จึงแสดงธรรม๑ตามที่ได้ฟังที่ได้เรียนมา
ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า ‘พวกเราได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ
และท้าวเธอได้ตรัสตอบปัญหาที่พวกเราถาม’ ท่านเหล่านั้นยอมเป็นสาวกของ
ข้าพระองค์ ส่วนข้าพระองค์ไม่ยอมเป็นสาวกของท่านเหล่านั้น แต่(บัดนี้)ข้าพระองค์
เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๒”

เรื่องการได้โสมนัส

[๓๖๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ยังทรงจำการได้
ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้ก่อนแต่นี้ได้หรือไม่”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ยังจำการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ก่อนแต่นี้ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พระองค์ยังทรงจำการได้ความยินดี การได้โสมนัส
เช่นนี้ก่อนแต่นี้ได้ว่าอย่างไร”

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงวัตตบท ได้แก่ ข้อที่ถือปฏิบัติประจำที่ทำให้มฆมาณพได้เป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มี ๗ อย่าง คือ (๑) มาตาเปติภโร (เลี้ยงมารดาบิดา) (๒) กุเลเชฏฺฐาปจายี (เคารพผู้ใหญ่ในตระกูล)
(๓) สณฺหวาโจ (พูดคำสุภาพอ่อนหวาน) (๔) อปิสุณวาโจ หรือ เปสุเณยฺยปฺปหายี (ไม่พูดส่อเสียด
พูดสมานสามัคคี) (๕) ทานสํวิภาครโต หรือ มจฺเฉรวินโย (ยินดีในการแจกทาน ปราศจากความตระหนี่)
(๖) สจฺจวาโจ (มีวาจาสัตย์) (๗) อโกธโน หรือ โกธาภิภู (ไม่โกรธ ระงับความโกรธได้) (ที.ม.อ. ๓๖๓/๓๔๘)
๒ ดูคำอธิบายใน สกฺกวตฺถุ ธมฺมปทฏฺฐกถา ฉฏฺโฐ ภาโค สุขวคฺควณฺณนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

ท้าวเธอกราบทูลว่า“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อครั้งเกิด
สงครามระหว่างเทพกับอสูรถึงขั้นรบประชิด ในสงครามนั้นพวกเทพชนะ พวกอสูร
พ่ายแพ้ เมื่อข้าพระองค์ชนะสงครามจึงมีความคิดว่า ‘บัดนี้พวกเทพในเทวโลกจะ
บริโภคโอชา (รส) ๒ ประการ คือ ทิพยโอชาและอสูรโอชา’ การได้ความยินดี
การได้โสมนัสของข้าพระองค์นั้นเป็นทางมาแห่งทัณฑาวุธ เป็นทางมาแห่งศัสตราวุธ
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็น
ไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ส่วนการได้ความยินดี การได้โสมนัสของข้าพระองค์ เพราะได้ฟังธรรมของพระผู้มี
พระภาคนั้น ไม่เป็นทางมาแห่งทัณฑาวุธ ไม่เป็นทางมาแห่งศัสตราวุธ เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง
เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”
[๓๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ทรงพิจารณาเห็น
อำนาจประโยชน์๑อะไร จึงทรงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้”
ท้าวเธอกราบทูลว่า “ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๖ ประการ
จึงได้ประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๑ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์เกิดเป็นเทพดำรงอยู่ในที่นี้๒
ข้าพระองค์กลับได้อายุเพิ่มขึ้นอีก
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๒ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์จุติจากกายทิพย์
ละอายุของอมนุษย์ เป็นผู้ไม่หลง
จะเข้าสู่ครรภ์ในตระกูลที่ข้าพระองค์มีใจยินดี’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

เชิงอรรถ :
๑ อำนาจประโยชน์ หมายถึงเหตุ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๒๐๑/๗๔)
๒ ในที่นี หมายถึงในถ้ำอินทสาละ (ที.ม.ฏีกา ๓๖๙/๓๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๓ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์นั้นยินดีในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาไม่ลุ่มหลง
ข้าพระองค์มีสัมปชัญญะ
มีสติอยู่โดยชอบธรรม๑’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๔ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์ประพฤติโดยชอบธรรมก็จักมีสัมโพธิ๒
ข้าพระองค์จะรู้ทั่วถึง๓อยู่
นั่นแหละจะเป็นที่สุดของข้าพระองค์๔’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๕ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์จุติจากกายมนุษย์
ละอายุของมนุษย์แล้ว จักเกิดเป็นเทพอีก
ข้าพระองค์จะเป็นผู้สูงสุดในเทวโลก’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๖ นี้แลว่า
‘เทพเหล่านั้นชั้นอกนิฏฐภพ
เป็นผู้ประณีตกว่า เป็นผู้มียศ

เชิงอรรถ :
๑ โดยชอบธรรม หมายถึงโดยสมควรแก่ความเป็นพระอริยสาวก (ที.ม.ฏีกา ๓๖๙/๑๔๔)
๒ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงสกทาคามิมรรค (ที.ม.อ. ๓๖๙/๓๕๕)
๓ จะรู้ทั่วถึง หมายถึงปรารถนาจะบรรลุคุณวิเศษที่ยังไม่บรรลุ (ที.ม.ฏีกา ๓๖๙/๓๔๔)
๔ นั่นแหละจะเป็นที่สุดของข้าพระองค์ หมายถึงไม่มีการเกิดในมนุษยโลกอีกต่อไป (ที.ม.ฏีกา ๓๖๙/๓๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

ในภพสุดท้ายที่ดำเนินไปอยู่
อกนิฏฐภพนั้นจะเป็นที่อยู่ของข้าพระองค์’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๖ ประการนี้แล จึงประกาศการได้
ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
[๓๗๐] ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด
มีความสงสัยเคลือบแคลง
เที่ยวแสวงหาพระตถาคตอยู่สิ้นกาลนาน
ข้าพระองค์เข้าไปหาสมณะ
ที่เข้าใจว่าเป็นผู้อยู่เงียบสงบ
สำคัญว่า ‘เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า’
ท่านเหล่านั้นเมื่อถูกถามว่า
ความสำเร็จเป็นอย่างไร
ความไม่สำเร็จเป็นอย่างไร
ก็ไม่สามารถตอบในเรื่องมรรคและปฏิปทาได้
เมื่อท่านเหล่านั้นรู้ว่า
ข้าพระองค์เป็นท้าวสักกะมาจากเทวโลก
ก็พากันถามข้าพระองค์ว่า
‘ท่านทำกรรมอะไรจึงถึงฐานะนี้เล่า’
ข้าพระองค์จึงแสดงธรรมแก่ท่านเหล่านั้น
ตามที่ได้ฟังมาในหมู่ชน
ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านั้นว่า
พวกเราได้เห็นท้าววาสวะแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

เมื่อข้าพระองค์นั้นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ข้ามความสงสัยแล้ว
ข้าพระองค์นั้นหมดความหวาดกลัว
ในวันนี้ ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ข้าพระองค์ขอถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงกำจัดลูกศรคือตัณหาได้
ไม่มีบุคคลเปรียบเทียบได้ ทรงเป็นพระมหาวีระ
ทรงเป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์กับพวกเทพ
กระทำความนอบน้อมอันใดแก่พระพรหม
ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์
จักถวายความนอบน้อมอันนั้นแด่พระองค์
ขอพระวโรกาสทำการนอบน้อมแด่พระองค์
พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่ตรัสรู้
ทรงเป็นพระศาสดาที่ยอดเยี่ยม
ไม่มีบุคคลใดทั้งในโลกและเทวโลก
มาเปรียบเทียบกับพระองค์ได้”
[๓๗๑] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตร
มาตรัสว่า “พ่อปัญจสิขะ เธอมีคุณมากแก่เรา ที่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงพอ
พระทัยก่อน เธอทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยก่อนแล้ว ภายหลัง พวกเราจึงได้
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะตั้งเธอไว้ในตำแหน่งของบิดา
เธอจะเป็นเจ้าแห่งคนธรรพ์ เราจะยกนางภัททาสุริยวัจฉสาให้เธอ เพราะว่านางเป็น
ผู้ที่เธอปรารถนาอย่างยิ่ง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ท้าวสักกะจอมเทพได้ธรรมจักษุ

ท้าวสักกะจอมเทพได้ธรรมจักษุ

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงใช้พระหัตถ์ตบปฐพี ทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า
“ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
อนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว ธรรมจักษุอันปราศจาก
ธุลีคือกิเลสปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพและแก่เทวดาอื่นอีก
๘๐,๐๐๐ องค์ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับ
ไปเป็นธรรมดา” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพอัญเชิญมาทูล
ถามแล้ว ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น เวยยากรณภาษิตนี้จึงมีชื่อว่า “สักกปัญหา”

สักกปัญหสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] อุทเทส

๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
การเจริญสติปัฏฐาน๑สูตรใหญ่

[๓๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาสธัมมะ
แคว้นกุรุ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

อุทเทส

[๓๗๓] “ภิกษุทั้งหลาย ทาง๒นี้เป็นทางเดียว๓ เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม๔ เพื่อทำให้
แจ้งนิพพาน ทางนี้คือสติปัฏฐาน๕ ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๐๕/๑๐๑, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๖๗/๒๑๐-๒๑๑, อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๓๕๕-๓๘๙/๓๐๖-๓๒๗
๒ ทาง หมายถึงทางดำเนินไปสู่พระนิพพาน หรือ ทางที่ผู้ต้องการพระนิพพานควรดำเนินไป (ที.ม.อ.
๓๗๑/๓๖๑)
๓ ทางเดียว หมายถึง (๑) เป็นทางที่บุคคลผู้ละการเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ ไปประพฤติธรรมอยู่แต่ผู้เดียว
(๒) เป็นทางสายเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้เกิดขึ้น เป็นทางของบุคคลผู้เดียว คือ พระผู้มีพระภาค
เพราะทรงทำให้เกิดขึ้น (๓) เป็นทางปฏิบัติในศาสนาเดียวคือพระพุทธศาสนา (๔) เป็นทางดำเนินไปสู่จุด
หมายเดียว คือพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๓๗๓/๓๕๙)
๔ ญายธรรม หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. ๒๑๔/๑๙๗)
๕ สติปัฏฐานแปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ หรือการปฏิบัติมีสติเป็นประธาน (ที.ม.อ. ๓๗๓/๓๖๘, ม.มู.อ.
๑/๑๐๖/๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มี
สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

อุทเทส จบ

กายานุปัสสนา
(การพิจารณากาย)
หมวดลมหายใจเข้าออก

[๓๗๔] ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง๑ก็ดี นั่งคู้บัลลังก์๒
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๓ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’

เชิงอรรถ :
๑ เรือนว่าง หมายถึงที่ที่สงัด คือเสนาสนะ ๗ อย่าง เว้นป่า และโคนไม้ ได้แก่ (๑) ภูเขา (๒) ซอกเขา
(๓) ถ้ำ (๔) ป่าช้า (๕) ป่าชัฏ (๖) ที่แจ้ง (๗) ลอมฟาง ดูข้อ ๓๒๐ หน้า ๒๔๘ ในเล่มนี้
๒ นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งขัดสมาธิ (วิสุทฺธิ. ๑/๒๑๘/๒๙๕)
๓ ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติมุ่งตรงต่อกัมมัฏฐาน (วิสุทฺธิ. ๑/๒๑๘/๒๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร๑ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
ภิกษุทั้งหลาย ช่างกลึง หรือลูกมือช่างกลึงผู้มีความชำนาญ เมื่อชักเชือกยาว
ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกยาว’ เมื่อชักเชือกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกสั้น’ แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก‘๒
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๓อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก๔อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิด (แห่งลมหายใจ) ในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับ (แห่ง
ลมหายใจ) ในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับ
(แห่งลมหายใจ) ในกายอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ระงับการสังขาร หมายถึงผ่อนคลายลมหายใจหยาบให้ละเอียดขึ้นไปโดยลำดับจนถึงขั้นที่จะต้องพิสูจน์ว่า
มีลมหายใจอยู่หรือไม่ เปรียบเหมือนเสียงเคาะระฆังครั้งแรกจะมีเสียงดังกังวานแล้วแผ่วลงจนถึงเงียบหาย
ไปในที่สุด (วิสุทฺธิ. ๑/๒๒๐/๒๙๙-๓๐๒)
๒ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๕๕-๑๕๙/๑๓๘
๓ กายภายใน ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของตน (ที.ม.อ. ๓๗๔/๓๗๙)
๔ กายภายนอก ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๘๔/๓๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดลมหายใจเข้าออก จบ

กายานุปัสสนา
หมวดอิริยาบถ

[๓๗๕] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่า ‘เราเดิน’
เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า ‘เรายืน’
เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า ‘เรานั่ง’
หรือเมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า ‘เรานอน’
ภิกษุนั้น เมื่อดำรงกายอยู่โดยอาการใด ๆ ก็รู้ชัดกายที่ดำรงอยู่โดยอาการนั้น ๆ
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็นกายใน
กายภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือ
พิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดอิริยาบถ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

กายานุปัสสนา
หมวดสัมปชัญญะ

[๓๗๖] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ
ทำความรู้สึกตัวในการแลดู การเหลียวดู
ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก
ทำความรู้สึกตัวในการครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑ อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘การมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดสัมปชัญญะ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

กายานุปัสสนา
หมวดมนสิการสิ่งปฏิกูล

[๓๗๗] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่
ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไป
ด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต๑
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด
ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น
น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’
ภิกษุทั้งหลาย ถุงมีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่าง ๆ คือ ข้าวสาลี
ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร คนตาดีเปิดถุงยาวนั้นออก
พิจารณาเห็นว่า ‘นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลือง
นี้เป็นเมล็ดงา นี้เป็นข้าวสาร’ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้
ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า วักกะ โบราณแปลว่า “ม้าม” และแปล คำว่า ปิหกะ ว่า “ไต” แต่ในที่นี้ แปลคำวักกะ ว่า “ไต”
และแปลคำปิหกะ ว่า “ม้าม” อธิบายว่า ไต ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูกสะบ้า
ของเด็ก ๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจ
แล้วแยกออกห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๔๓-๔๔) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ แปล
“วักกะ” ว่า “ไต” และให้บทนิยามของ“ไต” ไว้ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูก
สันหลัง ทำหน้าที่ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ” แปล “ปิหกะ” ว่า “ม้าม” และให้บทนิยามไว้ว่า
“อวัยวะภายในร่างกายริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลืองและ
สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย”, Buddhadatta Mahathera, A. Concise Pali-English Dictionary; Rhys
Davids. T.W. Pali-English Dictionary, ให้ความหมายของคำว่า “วักกะ” ตรงกันว่า หมายถึง “ไต”
(Kidney)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด
ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น
น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้น มีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดมนสิการสิ่งปฏิกูล จบ

กายานุปัสสนา
หมวดมนสิการธาตุ

[๓๗๘] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่
ตามที่ดำรงอยู่โดยความเป็นธาตุว่า ‘ในกายนี้ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้มีความชำนาญ ครั้นฆ่าโคแล้ว
แบ่งอวัยวะออกเป็นส่วน ๆ นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น
เหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า
‘ในกายนี้ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’

เชิงอรรถ :
๑ กายภายใน ในที่นี้หมายถึงอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นในกายของตน (ที.ม.อ. ๓๗๗/๓๘๔)
๒ กายภายนอก ในที่นี้หมายถึงอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นในกายของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๗๗/๓๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกายภาย
นอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรม
เป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็น
ทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดมนสิการธาตุ จบ

กายานุปัสสนา
หมวดป่าช้า ๙ หมวด

[๓๗๙] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
๑. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งตายแล้ว ๑ วัน ตายแล้ว
๒ วัน หรือตายแล้ว ๓ วัน เป็นศพขึ้นอืด ศพเขียวคล้ำ ศพมี
น้ำเหลืองเยิ้ม แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้
เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วง
พ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๒. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งถูกกาจิกกิน นกตะกรุม
จิกกิน แร้งทึ้งกิน สุนัขกัดกิน สุนัขจิ้งจอกกัดกิน หรือสัตว์เล็ก ๆ
หลายชนิดกัดกินอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบ
เทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น
ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๓. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกยังมีเนื้อ
และเลือด มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไป
เปรียบเทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๔. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกไม่มีเนื้อ
แต่ยังมีเลือดเปื้อนเปรอะ มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำ
กายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น
มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๕. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกไม่มี
เลือดและเนื้อ แต่ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำ
กายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น
มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๖. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกไม่มีเอ็น
รึงรัดแล้ว กระจุยกระจายไปในทิศใหญ่ ทิศเฉียง คือ กระดูก
มืออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่
ทางทิศหนึ่ง กระดูกขาอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางทิศ
หนึ่ง กระดูกหลังอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกหน้าอกอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกไหล่อยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกคออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูก
คางอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกฟันอยู่ทางทิศหนึ่ง กะโหลกศีรษะ
อยู่ทางทิศหนึ่ง แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบ
ให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น
ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๗. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกสีขาว
เหมือนสีสังข์ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้
เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วง
พ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกายภาย
นอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรม
เป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็น
ทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๘. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกกอง
อยู่ด้วยกันเกินกว่า ๑ ปี แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไป
เปรียบเทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๙. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นกระดูกผุป่นเป็นชิ้น
เล็กชิ้นน้อย แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้
เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วง
พ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] เวทนานุปัสสนา

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดป่าช้า ๙ หมวด จบ
กายานุปัสสนา จบ

เวทนานุปัสสนา
(การพิจารณาเวทนา)

[๓๘๐] ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เมื่อเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนา’
เมื่อเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนา’
เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา’
เมื่อเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส’
เมื่อเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส’
เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส’
เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส’
เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่
มีอามิส’
เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา
ที่ไม่มีอามิส’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] จิตตานุปัสสนา

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็น
เวทนาในเวทนาทั้งหลายภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในเวทนาทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘เวทนามีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างนี้แล

เวทนานุปัสสนา จบ

จิตตานุปัสสนา
(การพิจารณาจิต)

[๓๘๑] ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

จิตมีราคะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีราคะ’
จิตปราศจากราคะ ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากราคะ’
จิตมีโทสะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโทสะ’
จิตปราศจากโทสะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’
จิตมีโมหะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโมหะ’
จิตปราศจากโมหะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’

เชิงอรรถ :
๑ เวทนาทั้งหลายภายใน หมายถึงสุขเวทนาเป็นต้นของตน (ที.ม.อ. ๓๘๐/๓๙๐, ม.มู.อ. ๑/๑๑๓/๒๙๖)
๒ เวทนาทั้งหลายภายนอก หมายถึงสุขเวทนาเป็นต้นของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๘๐/๓๙๐, ม.มู.อ. ๑/๑๑๓/๒๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] จิตตานุปัสสนา

จิตหดหู่___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหดหู่’
จิตฟุ้งซ่าน___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’
จิตเป็นมหัคคตะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’
จิตไม่เป็นมหัคคตะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’
จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า’
จิตเป็นสมาธิ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’
จิตไม่เป็นสมาธิ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’
จิตหลุดพ้นแล้ว___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหลุดพ้นแล้ว’
จิตไม่หลุดพ้น___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิต
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรม
เป็นเหตุเกิดในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่ หรือพิจารณาเห็น
ทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘จิตมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างนี้แล

จิตตานุปัสสนา จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ธัมมานุปัสสนา
(การพิจารณาธรรม)
หมวดนิวรณ์

[๓๘๒] ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อกามฉันทะ (ความพอใจในกาม) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘กามฉันทะภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อกามฉันทะภายใน
ไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘กามฉันทะภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้น
แห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
การละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และกามฉันทะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น
๒. เมื่อพยาบาท (ความคิดร้าย) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘พยาบาท
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อพยาบาทภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘พยาบาทภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งพยาบาทที่ยัง
ไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละพยาบาทที่
เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และพยาบาทที่ละ
ได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๓. เมื่อถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘ถีนมิทธะภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อถีนมิทธะภายในไม่มีอยู่
ก็รู้ชัดว่า ‘ถีนมิทธะภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่ง
ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละ
ถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ถีนมิทธะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น
๔. เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘อุทธัจจกุกกุจจะภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะ
ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจะภายในของเราไม่มีอยู่’
การเกิดขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และอุทธัจจกุกกุจจะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้น
ต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. เมื่อวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘วิจิกิจฉา
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อวิจิกิจฉาภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘วิจิกิจฉาภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่
เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้น
แล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และวิจิกิจฉาที่ละได้แล้ว
จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน
ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ อยู่
อย่างนี้แล

หมวดนิวรณ์ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ธัมมานุปัสสนา
หมวดขันธ์

[๓๘๓] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์๑ ๕ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕
อยู่ว่า
๑. ‘รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูป
เป็นอย่างนี้
๒. เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งเวทนาเป็นอย่างนี้
๓. สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสัญญาเป็นอย่างนี้
๔. สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสังขารเป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ อุปาทานขันธ์ มาจากอุปาทาน + ขันธ์ แยกอธิบายความหมายได้ดังนี้ (๑) อุปาทาน แปลว่า ความถือมั่น
(อุป=มั่น+อาทาน=ถือ) มีความหมายหลายนัย เช่น หมายถึงชื่อของราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕
(ปญฺจกามคุณิกราคสฺเสตํ อธิวจนํ -สํ.ข.อ. ๒/๑/๑๖, อภิ.สงฺ.อ. ๑๒๑๙/๔๔๒) บ้าง หมายถึงความถือมั่น
ด้วยอำนาจตัณหามานะและทิฏฐิ (ตามนัย สํ.ข.อ. ๒/๖๓/๓๐๘) บ้าง (๒) ขันธ์ แปลว่า กอง (ตสฺส ขนฺธสฺส)
ราสิอาทิวเสน อตฺโถ เวทิตพฺโพ -อภิ. สงฺ.อ. ๕/๑๙๒) ดังนั้น อุปาทานขันธ์ จึงหมายถึง กองอันเป็น
อารมณ์แห่งความถือมั่น (อุปาทานานํ อารมฺมณภูตา ขนฺธา = อุปาทานกฺขนฺธา) (สํ.ข. ฏีกา ๒๒/๒๕๔)
และดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๔,๓๑๕/๒๐๘, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๒๘/๓๔๖, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๗๙/๑๐๕
เมื่อนำองค์ธรรม คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มารวมกับอุปาทานขันธ์ เช่น วิญฺญาณู-
ปาทานกฺขนฺโธ จึงแปลได้ว่า “กองอันเป็นอารมณ์แห่งความถือมั่นคือวิญญาณ” ตามนัย อภิ.สงฺ.อ.
๕/๑๙๒ ว่า วิญฺญาณเมว ขนฺโธ = วิญฺญาณกฺขนฺโธ (กองวิญญาณ)
อนึ่ง เมื่อกล่าวโดยสรุป อุปาทานขันธ์ หมายถึงทุกข์ ตามบาลีว่า “สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา
ทุกฺขา” แปลว่า ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ (ม.อุ.๑๔/๓๗๓/๓๑๙,ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๓,
อภิ.วิ.อ. ๒๐๒/๑๗๗, วิสุทฺธิ. ๒/๕๐๕/๑๒๒) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๐๒/๑๖๖ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

๕. วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความ
ดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้ง
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕
อยู่ อย่างนี้แล

หมวดขันธ์ จบ

ธัมมานุปัสสนา
หมวดอายตนะ

[๓๘๔] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ และ
อายตนะภายนอก ๖ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. รู้ชัดตา รู้ชัดรูป สังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้งสองนั้นเกิดขึ้น
ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลายภายใน หมายถึงขันธ์ ๕ ของตน (ที.ม.อ. ๓๘๓/๓๙๘)
๒ ธรรมทั้งหลายภายนอก หมายถึงขันธ์ ๕ ของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๘๓/๓๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไป
อีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. รู้ชัดหู รู้ชัดเสียง สังโยชน์ใดอาศัยหูและเสียงทั้งสองนั้นเกิดขึ้น
ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไป
อีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๓. รู้ชัดจมูก รู้ชัดกลิ่น สังโยชน์ใดอาศัยจมูกและกลิ่นทั้งสองนั้น
เกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่
เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิด
ขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้ว
จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๔. รู้ชัดลิ้น รู้ชัดรส สังโยชน์ใดอาศัยลิ้นและรสทั้งสองนั้นเกิดขึ้น
ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไป
อีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. รู้ชัดกาย รู้ชัดโผฏฐัพพะ สังโยชน์ใดอาศัยกายและโผฏฐัพพะ
ทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่
ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิด
ขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้ว
จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๖. รู้ชัดใจ รู้ชัดธรรมารมณ์ สังโยชน์ใดอาศัยใจและธรรมารมณ์
ทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่
เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละ
ได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย
ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖
และอายตนะภายนอก ๖ อยู่ อย่างนี้แล

หมวดอายตนะ จบ

ธัมมานุปัสสนา
หมวดโพชฌงค์

[๓๘๕] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘สติสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้
ชัดว่า ‘สติสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และความเจริญบริบูรณ์แห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ธัมมวิจย-
สัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในของเรา
ไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น
มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่ง
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น
๓. เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘วิริยสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้
ชัดว่า ‘วิริยสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่ง
วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และความเจริญบริบูรณ์แห่งวิริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๔. เมื่อปีติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ปีติสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อปีติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่
ก็รู้ชัดว่า ‘ปีติสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้น
แห่งปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และความเจริญบริบูรณ์แห่งปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ปัสสัทธิ-
สัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งปัสสัทธิ-
สัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๖. เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘สมาธิสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่
ก็รู้ชัดว่า ‘สมาธิสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้น
แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว
มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๗. เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุเบกขา-
สัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์
ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่
มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งอุเบกขา-
สัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน
ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ อยู่
อย่างนี้แล

หมวดโพชฌงค์ จบ
ภาณวารที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ธัมมานุปัสสนา
หมวดสัจจะ

[๓๘๖] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์’
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขสมุทัย’
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ’
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’

ทุกขสัจจนิทเทส

[๓๘๗] ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ชาติ (ความเกิด) เป็นทุกข์ ชรา (ความแก่) เป็นทุกข์ มรณะ (ความตาย)
เป็นทุกข์ โสกะ (ความโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย)
โทมนัส (ความทุกข์ใจ) อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นทุกข์ การประสบกับ
อารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์
การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์๑ ๕ เป็นทุกข์๒

เชิงอรรถ :
๑ อภิ.วิ.อ. ๒๐๒/๑๗๗
๒ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๔/๑๔, ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๑/๘๖, ม.อุ.๑๔/๓๗๓/๓๑๗, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์๑ ๕ เป็นทุกข์๒
[๓๘๘] ชาติ เป็นอย่างไร
คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิด
เฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ชาติ๑
[๓๘๙] ชรา เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนัง
เหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่า
สัตว์นั้น ๆ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ชรา๒
[๓๙๐] มรณะ เป็นอย่างไร
คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย
กล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความ
ขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า มรณะ๓
[๓๙๑] โสกะ เป็นอย่างไร
คือ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความแห้งผากภายใน
ความแห้งกรอบภายใน ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่
ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๓/๘๘, ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๗, สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒/๔, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๐, อภิ.วิ. (แปล)
๓๕/๒๓๕/๒๒๑
๒ ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๒/๘๗, ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๗, สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒/๔,๒๗/๕๓,๒๘/๕๕,๓๓/๗๐, ขุ.ป.
(แปล) ๓๑/๓๓/๕๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๓๖/๒๒๒
๓ ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๒/๘๘, ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๘, สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒/๔,๒๗/๕๓,๒๘/๕๕,๓๓/๗๐, ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๔๑/๑๕๐, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๓๖/๒๒๒
๔ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๔/๑๕๕,๙๗/๒๙๘, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๖, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๐, อภิ.วิ. (แปล)
๓๕/๒๓๗/๑๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

[๓๙๒] ปริเทวะ เป็นอย่างไร
คือ ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่
ร้องไห้ ภาวะที่คร่ำครวญ ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)
ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ปริเทวะ๑
[๓๙๓] ทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่
สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดจากกายสัมผัส
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกข์๒
[๓๙๔] โทมนัส เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ
เป็นทุกข์อันเกิดจากมโนสัมผัส
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า โทมนัส๓
[๓๙๕] อุปายาส เป็นอย่างไร
คือ ความแค้น ความคับแค้น ภาวะที่แค้น ภาวะที่คับแค้น ของผู้ประกอบ
ด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง(หรือ)ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อุปายาส๔

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๔/๑๕๕,๙๗/๒๙๘, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๖, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/
๒๓๘/๒๒๓
๒ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑, อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๕๕๙/๑๖๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๓๙/๒๒๓
๓ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑, อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๔๑๗/๑๒๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๔๐/๒๒๓
๔ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๔๑/๒๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

[๓๙๖] การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไปร่วม การมาร่วม การประชุมร่วม การอยู่ร่วมกับอารมณ์อันไม่
เป็นที่ปรารถนา ไม่เป็นที่รักใคร่ ไม่เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์
ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ผาสุก ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่มีความเกษม
จากโยคะของเขา
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์๑
[๓๙๗] การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไม่ไปร่วม การไม่มาร่วม การไม่ประชุมร่วม การไม่อยู่ร่วมกับอารมณ์
อันเป็นที่ปรารถนา เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น
รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือกับบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาความ
เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะของเขา เช่น มารดา
บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว มิตร อำมาตย์หรือญาติสาโลหิต
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์๒
[๓๙๘] การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ เหล่าสัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า
‘ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้มีความเกิดเป็นธรรมดา หรือขอความเกิดอย่าได้มาถึง
เราเลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑
๒ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์
เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ฯลฯ
เหล่าสัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา ฯลฯ
เหล่าสัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ฯลฯ
เหล่าสัตว์ผู้มีความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและ
ความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ต่างก็เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอ
ขอเราอย่าได้เป็นผู้มีความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ
และความคับแค้นใจเป็นธรรมดาเลย และขอความโศก ความคร่ำครวญ ความ
ทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้ไม่พึง
สำเร็จได้ตามความปรารถนา
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์๑
[๓๙๙] โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป) เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือ
เวทนา) สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา) สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์
คือสังขาร) วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ

เชิงอรรถ :
๑ ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๘, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

สมุทยสัจจนิทเทส

[๔๐๐] ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหานี้เป็นเหตุเกิดขึ้นในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เป็นเหตุ
เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
ก็ตัณหานี้แหละเมื่อเกิดขึ้น เกิดที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูป๑ใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ปิยรูปสาตรูปนี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ปิยรูปสาตรูปนี้
อะไรเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุนี้ เมื่อตั้งอยู่
ก็ตั้งอยู่ที่จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ฯลฯ ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโน
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนนี้
รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่รูปนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่
ที่รูปนี้ เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กลิ่นเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รส
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธรรมารมณ์
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธรรมารมณ์นี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่
ที่ธรรมารมณ์นี้
จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุวิญญาณนี้
เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่จักขุวิญญาณนี้ โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ฆานวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ชิวหาวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป

เชิงอรรถ :
๑ ปิยรูปสาตรูป หมายถึงสภาวะที่น่ารักน่าชื่นใจ เป็นส่วนอิฏฐารมณ์ที่เป็นเหตุให้เกิดตัณหา (อภิ.วิ.อ. ๒๐๓/
๑๑๙-๑๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ในโลก ฯลฯ กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนวิญญาณเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่
ที่มโนวิญญาณนี้
จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุสัมผัสนี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่จักขุสัมผัสนี้ โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆาน-
สัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหา
นี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่
เวทนาซึ่งเกิดจากจักขุสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่เวทนาซึ่งเกิดจากจักขุสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากฆาน-
สัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิด
จากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่เวทนาซึ่งเกิดจาก
มโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้
รูปสัญญา (ความกำหนดหมายรู้รูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด
ก็เกิดที่รูปสัญญานี้ เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่รูปสัญญานี้ สัททสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ คันธสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมสัญญาเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมม-
สัญญานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

รูปสัญเจตนา (ความจำนงในรูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด
ก็เกิดที่รูปสัญเจตนานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่รูปสัญเจตนานี้ สัททสัญเจตนาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสสัญเจตนา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธัมมสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญเจตนานี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมสัญเจตนานี้
รูปตัณหา(ความอยากได้รูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิด
ที่รูปตัณหานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่รูปตัณหานี้ สัททตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ฯลฯ คันธตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ฯลฯ โผฏฐัพพตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมตัณหานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมตัณหานี้
รูปวิตก(ความตรึกถึงรูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็เกิดที่
รูปวิตกนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่รูปวิตกนี้ สัททวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิตกนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิตกนี้
รูปวิจาร (ความตรองถึงรูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็เกิดที่
รูปวิจารนี้ เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่รูปวิจารนี้ สัททวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
คันธวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ตัณหานี้ เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิจารนี้๑
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๔/๕๓-๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

นิโรธสัจจนิทเทส

[๔๐๑] ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ความดับกิเลสไม่เหลือด้วยวิราคะ ความปล่อยวาง ความสละคืน ความพ้น
ความไม่ติด
ก็ตัณหานี้เมื่อละ ละที่ไหน เมื่อดับ ดับที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ปิยรูปสาตรูปนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่ปิยรูปสาตรูปนี้
อะไรเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุนี้ เมื่อดับก็ดับที่
จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่มโนนี้ เมื่อดับก็ดับที่มโนนี้
รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่รูปนี้
เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กลิ่นเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธรรมารมณ์เป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธรรมารมณ์นี้ เมื่อดับก็ดับที่ธรรมารมณ์นี้
จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุวิญญาณนี้
เมื่อดับ ก็ดับที่จักขุวิญญาณนี้ โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆาน-
วิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ชิวหาวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ฯลฯ กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนวิญญาณนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุสัมผัสนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่จักขุสัมผัสนี้ โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานสัมผัสเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ฯลฯ ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กายสัมผัสเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ฯลฯ มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อละก็ละที่
มโนสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่
เวทนาอันเกิดจากจักขุสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่เวทนาอันเกิดจากจักขุสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่
เกิดจากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่เวทนาอันเกิดจาก
มโนสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่เวทนาอันเกิดจากมโนสัมผัสนี้
รูปสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปสัญญานี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่รูปสัญญานี้ สัททสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ คันธสัญญาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพสัญญา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ
ก็ละที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมสัญญานี้
รูปสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปสัญเจตนานี้
เมื่อดับ ก็ดับที่รูปสัญเจตนานี้ สัททสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ฯลฯ โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมสัญเจตนาเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ธัมมสัญเจตนานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่
ธัมมสัญเจตนานี้
รูปตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปตัณหานี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่รูปตัณหานี้ สัททตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ คันธตัณหาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพตัณหา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ
ก็ละที่ธัมมตัณหานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมตัณหานี้
รูปวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปวิตกนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่รูปวิตกนี้ สัททวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ธัมมวิตกนี้
เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมวิตกนี้
รูปวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปวิจารนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่รูปวิจารนี้ สัททวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ คันธวิจารเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ฯลฯ รสวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพวิจารเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ
ก็ละที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อดับก็ดับที่ธัมมวิจารนี้๑
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๕/๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

มัคคสัจจนิทเทส

[๔๐๒] ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)___๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)___๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ___๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)___๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ ความรู้ในทุกข์ (ความทุกข์) ความรู้ในทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์)
ความรู้ในทุกขนิโรธ (ความดับแห่งทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ
ให้ถึงความดับแห่งทุกข์)
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริใน
การไม่เบียดเบียน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูด
ส่อเสียด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการ
พูดเพ้อเจ้อ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการถือเอา
สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยสัมมา-
อาชีวะ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
๒. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่
แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ
สัมมาสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก
มีวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใส
ภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
๓. เพราะปีติจางคลายไป มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่
และเสวยสุขด้วยกาย (นามกาย) บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย
กล่าวสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ๑
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
[๔๐๓] ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายใน๒อยู่
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอก๓อยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ม.อุ. ๑๔/๓๗๕/๓๑๙-๓๒๑, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๖/๕๕-๕๖, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๔๘๗/๓๗๑-๓๗๒
๒ ธรรมทั้งหลายภายใน หมายถึงอริยสัจ ๔ ของตน (ที.ม.อ. ๔๐๓/๔๒๑)
๓ ธรรมทั้งหลายภายนอก หมายถึงอริยสัจ ๔ ของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๔๐๓/๔๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร]
อานิสสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่
อย่างนี้แล

หมวดสัจจะ จบ
ธัมมานุปัสสนา จบ

อานิสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ

[๔๐๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ ปี พึงหวัง
ได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทาน
เหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๗ ปีจงยกไว้๑บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ ปี พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๖ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ ปี พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๕ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๔ ปี พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี

เชิงอรรถ :
๑ ๗ ปีจงยกไว้ หมายถึงอย่าว่าแต่จะเจริญสติปัฏฐาน ๗ ปีเลย แม้เจริญเพียง ๖ ปี ... ๕ ปี ... ๗ วัน
ก็สามารถบรรลุอรหัตตผล หรือ อนาคามิผลได้ (ที.ม.อ. ๔๐๔/๔๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร]
อานิสสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ

๔ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ ปี พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๓ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ ปี พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๒ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ ปี พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๑ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๗ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๖ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๔ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๓ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร]
อานิสสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ

๒ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๑ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอดครึ่งเดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
ภิกษุทั้งหลาย ครึ่งเดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ วัน
พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมี
อุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
[๔๐๕] ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำ
ให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ เราอาศัยทางเดียวนี้แล้ว
จึงกล่าวคำดังพรรณนามาฉะนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

มหาสติปัฏฐานสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] เรื่องเจ้าปายาสิ

๑๐. ปายาสิสูตร
ว่าด้วยเจ้าปายาสิ

[๔๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระกุมารกัสสปะกำลังจาริกอยู่ในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงเมืองเสตัพยะของชาวโกศล พักอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียด
ทางทิศเหนือเมืองเสตัพยะ สมัยนั้น เจ้าปายาสิปกครองเมืองเสตัพยะ ซึ่งมีประชากร
และสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร และน้ำ หญ้าอุดมสมบูรณ์ มีพระราชทรัพย์
ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย๑

เรื่องเจ้าปายาสิ

[๔๐๗] สมัยนั้น เจ้าปายาสิมีความเห็นชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า “แม้เพราะเหตุนี้
โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์๒ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี” พราหมณ์
และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะได้ฟังข่าวว่า “ท่านสมณกุมารกัสสปะ ผู้เป็นสาวกของ
พระสมณโคดมกำลังจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ
๕๐๐ รูป ถึงเมืองเสตัพยะโดยลำดับ กำลังพักอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียดทางทิศเหนือเมือง
เสตัพยะ ท่านสมณกุมารกัสสปะนั้น มีชื่อเสียงดีงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘เป็นผู้ฉลาด
เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต กล่าวถ้อยคำไพเราะ ปฏิภาณดี เป็นผู้เจริญและ
เป็นพระอรหันต์ การได้เห็นพระอรหันต์เช่นนั้นเป็นการดีแท้’ จากนั้น พราหมณ์และ
คหบดีชาวเมืองเสตัพยะออกจากเมืองเสตัพยะ เดินรวมกันเป็นหมู่เป็นคณะมุ่งหน้า
ไปทางทิศเหนือสู่ป่าไม้สีเสียด

เชิงอรรถ :
๑ พรหมไทย ในที่นี้หมายถึงการให้อันประเสริฐ คือ สิ่งที่พระราชทานแล้ว จักไม่ยึดกลับคืนมาอีก (ที.สี.อ.
๒๒๙/๒๒๑)
๒ โอปปาติกสัตว์ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไป ไม่ทิ้งซากศพไว้
เช่น เทวดาและสัตว์นรก (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] เรื่องเจ้าปายาสิ

[๔๐๘] ขณะนั้น เจ้าปายาสิทรงพักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้นบน
ทรงเห็นพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะ ซึ่งออกจากเมืองเสตัพยะเดินรวมกัน
เป็นหมู่เป็นคณะมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือสู่ป่าไม้สีเสียด จึงทรงเรียกมหาดเล็กมาตรัส
ถามว่า “มหาดเล็ก เหตุใด พราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะจึงออกจากเมือง
เสตัพยะเดินรวมกันเป็นหมู่เป็นคณะมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือสู่ป่าไม้สีเสียด”
มหาดเล็กทูลตอบว่า “ฝ่าพระบาท ท่านสมณกุมารกัสสปะ ผู้เป็นสาวกของ
พระสมณโคดมกำลังจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ
๕๐๐ รูป ถึงเมืองเสตัพยะโดยลำดับ พักอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียดทางทิศเหนือเมือง
เสตัพยะ ท่านสมณกุมารกัสสปะนั้น มีชื่อเสียงดีงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘เป็นผู้ฉลาด
เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต กล่าวถ้อยคำไพเราะ ปฏิภาณดี เป็นผู้เจริญ
และเป็นพระอรหันต์ พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นจักเข้าไปหาท่านสมณกุมารกัสสปะ
รูปนั้น”
เจ้าปายาสิรับสั่งว่า “มหาดเล็ก ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหาพราหมณ์
และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะถึงที่อยู่ บอกกับพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะ
อย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย เจ้าปายาสิรับสั่งว่า ‘ให้พวกท่านรอ เจ้าปายาสิจะเสด็จ
เข้าไปหาท่านสมณกุมารกัสสปะด้วย’ ครั้งก่อน ท่านสมณกุมารกัสสปะชี้แจงให้
พราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะผู้โง่ ไม่ฉลาดได้รู้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี
โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี มหาดเล็ก แท้จริง โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”
มหาดเล็กทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาพราหมณ์และคหบดีชาวเมือง
เสตัพยะถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย
เจ้าปายาสิรับสั่งว่า ‘ให้พวกท่านรอ เจ้าปายาสิจะเสด็จเข้าไปหาท่านสมณกุมาร-
กัสสปะด้วย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร]
อุปมาด้วยดวงจันทร์และดวงอาทิตย์

[๔๐๙] ลำดับนั้น เจ้าปายาสิแวดล้อมด้วยพราหมณ์และคหบดีชาวเมือง
เสตัพยะ เสด็จเข้าไปหาท่านพระกุมารกัสสปะถึงที่อยู่ ณ ป่าไม้สีเสียด ได้ทรงสนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร
ฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะ บางพวกกราบท่านพระกุมารกัสสปะแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร บางพวกสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน
กับท่านพระกุมารกัสสปะแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประนมมือไปทางที่ท่าน
พระกุมารกัสสปะอยู่แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและตระกูลแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร บางพวกนั่งนิ่งเฉย ณ ที่สมควร

นัตถิกวาทะ
ความเห็นว่าไม่มี

[๔๑๐] ลำดับนั้น เจ้าปายาสิครั้นประทับ ณ ที่สมควรแล้วจึงตรัสกับท่าน
พระกุมารกัสสปะดังนี้ว่า “ท่านกัสสปะ โยมมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
ท่านพระกุมารกัสสปะถวายพระพรว่า “บพิตร อาตมภาพ ไม่เคยเห็น หรือได้
ยินบุคคลผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ ทำไมพระองค์จึงตรัสอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’

อุปมาด้วยดวงจันทร์และดวงอาทิตย์

[๔๑๑] บพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพขอถวายพระพรถามพระองค์ใน
เรื่องนี้ โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย พระองค์เข้าพระทัยเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ
“ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มีในโลกนี้หรือโลกอื่น เป็นเทพหรือเป็นมนุษย์”
“ท่านกัสสปะ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มีในโลกอื่น มิใช่มีในโลกนี้ เป็นเทพ
มิใช่เป็นมนุษย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร]
อุปมาด้วยดวงจันทร์และดวงอาทิตย์

“บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”
[๔๑๒] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของโยมในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอา
สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) ต่อมา
พวกเขาป่วย ได้รับทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก เมื่อโยมรู้ว่า ‘เวลานี้ พวกเขายัง
ไม่หายป่วย’ จึงเข้าไปเยี่ยมแล้วสั่งอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์
พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วจะไป
เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต (หรือ)นรก’ พวกท่านเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าหาก
คำของสมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นจริง พวกท่านหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต (หรือ)นรก ถ้าพวกท่านหลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต (หรือ)นรกจริง ก็ขอให้กลับมาบอกเราบ้างว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี
โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ พวกท่านเท่านั้นพอเป็นที่
เชื่อถือไว้วางใจของเรา สิ่งที่พวกท่านเห็นก็เช่นเดียวกับสิ่งที่เราเห็นเอง’ คนเหล่านั้น
รับคำของโยมแล้ว แต่ไม่กลับมาบอก ไม่ส่งข่าวมาบอก ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุ
ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยโจร

อุปมาด้วยโจร๑

[๔๑๓] “บพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพขอถวายพระพรถามพระองค์ในเรื่องนี้
โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย พระองค์เข้าพระทัยเรื่องนั้นว่าอย่างไร พวกราชบุรุษ
ของพระองค์ในโลกนี้จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่พระองค์ว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็น
โจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญาแก่โจรนี้ตามพระประสงค์เถิด’
ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนี้
เอาแขนไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้วโกนศีรษะ นำตระเวนจากถนนหนึ่งไปสู่ถนนหนึ่ง
จากสี่แยกหนึ่งไปสู่สี่แยกหนึ่ง พร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์เสียงดัง น่ากลัวนำออกทาง
ประตูด้านทิศใต้ตัดศีรษะที่ตะแลงแกงทางทิศใต้แห่งเมือง’ ราชบุรุษทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว ใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนั้นเอาแขนไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้วโกนศีรษะ
นำตระเวนจากถนนหนึ่งไปสู่ถนนหนึ่ง จากสี่แยกหนึ่งไปสู่สี่แยกหนึ่ง พร้อมกับ
แกว่งบัณเฑาะว์เสียงดังน่ากลัว นำออกไปทางประตูด้านทิศใต้แล้วให้นั่งที่ตะแลงแกง
ทางทิศใต้แห่งเมือง โจรจะได้รับการผ่อนผันจากเพชฌฆาตตามคำขอที่ว่า ‘ขอให้
ท่านเพชฌฆาตโปรดรอจนกว่าข้าพเจ้าจะได้ไปแจ้งแก่มิตรอำมาตย์ หรือญาติสาโลหิตใน
บ้านโน้นหรือนิคมโน้น แล้วจะกลับมา’ กระนั้นหรือ หรือว่าเพชฌฆาตจะพึงตัดศีรษะ
โจรผู้กำลังอ้อนวอนอยู่เล่า”
“ท่านกัสสปะ โจรไม่ควรได้รับการผ่อนผันจากเพชฌฆาตตามคำขอที่ว่า ‘ขอให้
ท่านเพชฌฆาตโปรดรอจนกว่าข้าพเจ้าจะได้ไปแจ้งแก่มิตรอำมาตย์ หรือญาติสาโลหิต
ในบ้านโน้นหรือนิคมโน้นแล้วจะกลับมา’ ที่แท้ เพชฌฆาตพึงตัดศีรษะโจรผู้กำลังอ้อนวอน
อยู่นั่นแหละ”
“บพิตร โจรนั้นเป็นมนุษย์ยังไม่ได้รับการผ่อนผันจากเพชฌฆาตที่เป็นมนุษย์
ตามคำขอที่ว่า ‘ขอให้ท่านเพชฌฆาตโปรดรอจนกว่าข้าพเจ้าจะได้ไปแจ้งแก่มิตรอำมาตย์
หรือญาติสาโลหิตในบ้านโน้นหรือนิคมโน้นแล้วจะกลับมา’ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต
ของพระองค์ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๗๐/๑๕๓, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๔๔/๓๖๑-๓๖๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยโจร

พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท
เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต (หรือ)นรก จะได้รับ
ผ่อนผันจากนายนิรยบาลตามคำขอที่ว่า ‘ขอให้นายนิรยบาลโปรดรอจนกว่าข้าพเจ้า
จะได้ไปแจ้งแก่เจ้าปายาสิว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ หรือ บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์นี้แล
จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรม
ที่ทำดีและทำชั่วมี”
[๔๑๔] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของโยมในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจาก
การฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาด
จากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิต
ไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ต่อมาพวกเขาป่วย ได้รับทุกขเวทนา
เป็นไข้หนัก เมื่อโยมรู้ว่า ‘เวลานี้ พวกเขายังไม่หายป่วย’ จึงเข้าไปเยี่ยมแล้วสั่ง
อย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาด
จากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์’ พวกท่านเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยบุรุษในหลุมอุจจาระ

เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาด
จากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าหากคำของสมณพราหมณ์
พวกนั้นเป็นจริง พวกท่านหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ถ้าพวกท่าน
หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์จริง ก็ขอให้กลับมาบอกเราบ้างว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ พวกท่าน
เท่านั้นพอเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของเรา สิ่งที่พวกท่านเห็นก็เช่นเดียวกับสิ่งที่เรา
เห็นเอง’ คนเหล่านั้นรับคำของโยมแล้ว แต่ไม่กลับมาบอก ไม่ส่งข่าวมาบอกท่าน
กัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

อุปมาด้วยบุรุษในหลุมอุจจาระ

[๔๑๕] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เปรียบ
เหมือนบุรุษจมลงในหลุมอุจจาระมิดศีรษะ เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่ง
ราชบุรุษว่า ‘พวกท่านจงช่วยกันยกบุรุษนั้นขึ้นจากหลุมอุจจาระ’ พวกราชบุรุษทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พึงช่วยกันยกบุรุษนั้นขึ้นมาจากหลุมอุจจาระ ถ้าพระองค์จะพึง
รับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงเอาซี่ไม้ไผ่ขูดอุจจาระออกจากร่างกายของบุรุษนั้นให้หมด’
พวกราชบุรุษทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พึงเอาซี่ไม้ไผ่ขูดอุจจาระออกจากร่างกาย
ของบุรุษนั้นให้หมด ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงเอาดินสีเหลืองขัด
สีร่างกายของบุรุษนั้นสัก ๓ ครั้ง’ พวกราชบุรุษทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เอาดิน
สีเหลืองขัดสีร่างกายของบุรุษนั้น ๓ ครั้ง ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจง
เอาน้ำมันชโลมบุรุษนั้นแล้วลูบไล้ด้วยจุรณ๑อย่างดีให้ผุดผ่องสัก ๓ ครั้ง’ พวกราชบุรุษ
พึงเอาน้ำมันชโลมบุรุษนั้นแล้วลูบไล้ด้วยจุรณอย่างดีให้ผุดผ่อง ๓ ครั้ง ถ้าพระองค์
จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงตัดผมและโกนหนวดบุรุษนั้น’ พวกราชบุรุษพึงตัดผม

เชิงอรรถ :
๑ จุรณ ในที่นี้หมายถึงเครื่องหอมที่เป็นผงละเอียดอาจทำเป็นก้อนเก็บไว้ใช้ได้ทุกเวลา (ที.ม.อ. ๓๗๙/๓๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยบุรุษในหลุมอุจจาระ

และโกนหนวดของบุรุษนั้น ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงนำพวงดอกไม้
เครื่องลูบไล้และผ้าราคาแพงไปให้บุรุษนั้น’ พวกราชบุรุษพึงนำพวงดอกไม้ เครื่อง
ลูบไล้ และผ้าราคาแพงไปให้บุรุษนั้น ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงเชิญ
บุรุษนั้นขึ้นปราสาทบำรุงบำเรอด้วยกามคุณ ๕’ พวกราชบุรุษพึงเชิญบุรุษนั้นขึ้น
ปราสาทบำรุงบำเรอด้วยกามคุณ ๕
บพิตร พระองค์เข้าพระทัยเรื่องนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้น อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว
ตัดผมและโกนหนวดอย่างดี สวมพวงดอกไม้และเครื่องประดับแล้ว นุ่งผ้าขาว
อยู่ปราสาทชั้นดี เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรอด้วยกามคุณ ๕ ยังต้องการ
จะดำลงในหลุมอุจจาระนั้นอีกหรือ”
“ไม่เป็นเช่นนั้น ท่านกัสสปะ”
“เพราะเหตุไร จึงไม่เป็นเช่นนั้น”
“ท่านกัสสปะ เพราะหลุมอุจจาระไม่สะอาด คือ พึงเป็นสิ่งทั้งไม่สะอาด ทั้งนับว่า
ไม่สะอาด ทั้งมีกลิ่นเหม็น ทั้งนับว่ามีกลิ่นเหม็น ทั้งน่ารังเกียจ ทั้งนับว่าน่ารังเกียจ
ทั้งน่าเกลียด ทั้งนับว่าน่าเกลียด”
“บพิตร มนุษย์ก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ คือสำหรับพวกเทพ พวกมนุษย์ เป็นผู้
ไม่สะอาด ทั้งนับว่าไม่สะอาด เป็นผู้มีกลิ่นเหม็น ทั้งนับว่ามีกลิ่นเหม็น เป็นผู้น่า
รังเกียจ ทั้งนับว่าน่ารังเกียจ เป็นผู้น่าเกลียด ทั้งนับว่าน่าเกลียด กลิ่นมนุษย์ย่อม
ฟุ้งไปในหมู่เทพตลอด ๑๐๐ โยชน์ ก็(ถ้า)มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของพระองค์
ผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาด
จากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของ
ของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ พวกเขาหลังจากตายแล้วก็ไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์ แล้วจะกลับมาทูลพระองค์ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์
มีผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ หรือ บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของ
พระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยบุรุษในหลุมอุจจาระ

[๔๑๖] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของโยมในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจาก
การฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุรา
และเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ต่อมา พวกเขาป่วย ได้รับทุกขเวทนา
เป็นไข้หนัก เมื่อโยมรู้ว่า ‘เวลานี้พวกเขายังไม่หายป่วย’ จึงเข้าไปเยี่ยมแล้วสั่งอย่างนี้ว่า
‘ท่านทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้
เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาด
จากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมา
คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท หลังจากตายไปแล้วจะไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์อยู่ร่วมกับเทพชั้นดาวดึงส์’ ท่านทั้งหลาย เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการประพฤติผิด
ในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอัน
เป็นเหตุแห่งความประมาท ถ้าหากคำของสมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นจริง พวกท่าน
หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อยู่ร่วมกับเทพชั้นดาวดึงส์ ถ้าพวกท่าน
หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์จริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยเทพชั้นดาวดึงส์

ก็ขอให้กลับมาบอกเราบ้างว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ พวกท่านเท่านั้นพอเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของเรา สิ่งที่
พวกท่านเห็นก็เช่นเดียวกับสิ่งที่เราเห็นเอง’ คนเหล่านั้นรับคำของโยมแล้ว แต่ไม่
กลับมาบอก ไม่ส่งข่าวมาบอก ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”

อุปมาด้วยเทพชั้นดาวดึงส์

[๔๑๗] “บพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพขอถวายพระพรถามพระองค์
ในเรื่องนี้ โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย ๑๐๐ ปีของมนุษย์เท่ากับคืนและวันหนึ่ง
ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้นเป็น ๑ เดือน ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้น
เป็น ๑ ปี ๑,๐๐๐ ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นประมาณอายุของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ มิตร
อำมาตย์ ญาติสาโลหิตของพระองค์ ผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือ
เอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการ
พูดเท็จ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์ หากพวก
เขาคิดอย่างนี้ว่า ‘รอเวลาให้พวกเราเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรอด้วยกามคุณ
๕ ที่เป็นทิพย์สัก ๒-๓ วันก่อน จึงค่อยไปกราบทูลเจ้าปายาสิว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ พวกเขาพึงกลับ
มากราบทูลพระองค์ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่ง
กรรมที่ทำดีและทำชั่วมี‘ หรือ บพิตร”
“ไม่เป็นเช่นนั้น ท่านกัสสปะ ที่จริง พวกเราคงตายไปนานแล้ว แต่ใครเล่า
บอกท่านกัสสปะว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีอยู่’ หรือว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีอายุ
ยืนเท่านี้’ พวกเราไม่เชื่อท่านกัสสปะว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีอยู่’ หรือว่า ‘พวกเทพ
ชั้นดาวดึงส์มีอายุยืนเท่านี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยคนตาบอดแต่กำเนิด

อุปมาด้วยคนตาบอดแต่กำเนิด๑

[๔๑๘] “บพิตร เปรียบเหมือนคนตาบอดแต่กำเนิดไม่อาจเห็นรูปสีดำและ
รูปสีขาว ไม่อาจเห็นรูปสีเขียว ไม่อาจเห็นรูปสีเหลือง ไม่อาจเห็นรูปสีแดง ไม่อาจ
เห็นรูปสีแดงฝาง ไม่อาจเห็นรูปที่เรียบและรูปที่ขรุขระ ไม่อาจเห็นรูปดวงดาว
ไม่อาจเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เขาจะพึงพูดอย่างนี้ว่า
‘รูปสีดำและรูปสีขาวไม่มี คนที่เห็นรูปสีดำและรูปสีขาวก็ไม่มี
รูปสีเขียวไม่มี คนที่เห็นรูปสีเขียวก็ไม่มี
รูปสีเหลืองไม่มี คนที่เห็นรูปสีเหลืองก็ไม่มี
รูปสีแดงไม่มี คนที่เห็นรูปสีแดงก็ไม่มี
รูปสีแดงฝางไม่มี คนที่เห็นรูปสีแดงฝางก็ไม่มี
รูปที่เรียบและรูปที่ขรุขระไม่มี คนที่เห็นรูปที่เรียบและรูปที่ขรุขระก็ไม่มี
รูปดวงดาวไม่มี คนที่เห็นรูปดวงดาวก็ไม่มี
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ไม่มี คนที่เห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ไม่มี
บพิตร คนนั้นเมื่อจะพูดว่า ‘เราไม่รู้สิ่งนั้น ไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งนั้น
จึงไม่มี’ ชื่อว่าพูดถูกหรือไม่”
“ไม่ถูก ท่านกัสสปะ เพราะ
รูปสีดำและรูปสีขาวมี คนที่เห็นรูปสีดำและรูปสีขาวก็มี
รูปสีเขียวมี คนที่เห็นรูปสีเขียวก็มี
รูปสีเหลืองมี คนที่เห็นรูปสีเหลืองก็มี
รูปสีแดงมี คนที่เห็นรูปสีแดงก็มี
รูปสีแดงฝางมี คนที่เห็นรูปสีแดงฝางก็มี
รูปที่เรียบและรูปที่ขรุขระมี คนที่เห็นรูปที่เรียบและรูปที่ขรุขระก็มี
รูปดวงดาวมี คนที่เห็นรูปดวงดาวก็มี
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มี คนที่เห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็มี

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.ม. ๑๓/๔๖๖/๔๕๘-๔๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] ปมาด้วยคนตาบอดแต่กำเนิด

ท่านกัสสปะ คนนั้นเมื่อจะพูดว่า ‘เราไม่รู้สิ่งนั้น ไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น
สิ่งนั้นจึงไม่มี’ ชื่อว่าพูดไม่ถูก”
“บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกับคนที่ตาบอดแต่กำเนิดนั่นแหละ ที่ตรัสกับ
อาตมภาพอย่างนี้ว่า ‘ก็ใครเล่า บอกท่านกัสสปะว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์มี’ หรือว่า
‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีอายุยืนเท่านี้’ พวกเราไม่เชื่อท่านกัสสปะว่า ‘พวกเทพชั้น
ดาวดึงส์มี’ หรือว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีอายุยืนเท่านี้’ บพิตร คนจะเห็นโลกอื่นได้
ด้วยตาเนื้อดังที่พระองค์ทรงเข้าพระทัยไม่ได้ สมณพราหมณ์ผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด
ในป่าใหญ่ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ทำตาทิพย์ให้บริสุทธิ์
ย่อมเห็นโลกนี้โลกอื่น ตลอดถึงเหล่าโอปปาติกสัตว์ได้ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เกิน
กว่าตาของมนุษย์ คนไม่อาจจะเห็นโลกอื่นได้ด้วยตาเนื้อดังที่พระองค์ทรงเข้าพระทัย
บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”
[๔๑๙] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ โยมเห็นสมณพราหมณ์ในโลกนี้ ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
อยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักความสุข เกลียดความทุกข์ จึงคิดอย่างนี้ว่า
‘ถ้าท่านสมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านี้พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘เมื่อพวกเรา
ตายจากโลกนี้แล้ว คุณความดีจะปรากฏ’ ท่านเหล่านี้คงดื่มยาพิษ ใช้ศัสตรา
ฆ่าตัวตาย ผูกคอตาย หรือกระโดดเหวตาย แต่เพราะท่านเหล่านั้นไม่ทราบ
อย่างนี้ว่า ‘เมื่อพวกเราตายจากโลกนี้แล้ว คุณความดีจะปรากฏ’ ฉะนั้น ท่านเหล่านั้น
จึงอยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักความสุข เกลียดความทุกข์ ท่านกัสสปะ นี้แล
เป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยสตรีมีครรภ์

อุปมาด้วยสตรีมีครรภ์

[๔๒๐] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคย
มีมาแล้ว พราหมณ์คนหนึ่งมีภรรยา ๒ คน บุตรของภรรยาคนหนึ่งมีอายุ ๑๐ ปี
หรือ ๑๒ ปี ภรรยาอีกคนหนึ่ง มีครรภ์ใกล้จะคลอด ต่อมาพราหมณ์เสียชีวิตลง
ชายหนุ่มพูดกับแม่เลี้ยงดังนี้ว่า ‘คุณแม่ ทรัพย์ ธัญชาติ เงินหรือทอง ทั้งหมดล้วน
เป็นของฉัน แม่ไม่มีส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัตินี้ โปรดมอบมรดกของพ่อแก่ฉัน’
เมื่อชายหนุ่มกล่าวอย่างนี้ นางพราหมณีนั้นกล่าวกับชายหนุ่มนั้นดังนี้ว่า
‘ลูกเอ๋ย เจ้าจงรอจนกว่าแม่จะคลอด ถ้าเด็กที่เกิดมาเป็นชาย เขาจะได้รับส่วนแบ่ง
ครึ่งหนึ่ง ถ้าเด็กที่เกิดมาเป็นหญิง เขาจะเป็นผู้รับใช้ของเจ้า’
แม้ครั้งที่ ๒ ชายหนุ่มก็พูดกับแม่เลี้ยงอีกว่า ‘คุณแม่ ทรัพย์ ธัญชาติ เงิน
หรือทอง ทั้งหมดล้วนเป็นของฉัน แม่ไม่มีส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัตินี้ โปรดมอบ
มรดกของพ่อแก่ฉัน’ แม้ครั้งที่ ๒ นางพราหมณีก็กล่าวกับชายหนุ่มนั้นอีกว่า ‘ลูกเอ๋ย
เจ้าจงรอจนกว่าแม่จะคลอด ถ้าเด็กที่เกิดมาเป็นชาย เขาจะได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง
ถ้าเด็กที่เกิดมาเป็นหญิง เขาจะเป็นผู้รับใช้ของเจ้า’
แม้ครั้งที่ ๓ ชายหนุ่มก็พูดกับแม่เลี้ยงอีกว่า ‘คุณแม่ ทรัพย์ ธัญชาติ เงิน
หรือทอง ทั้งหมดล้วนเป็นของฉัน แม่ไม่มีส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัตินี้ โปรดมอบ
มรดกของพ่อแก่ฉัน’
ลำดับนั้น นางพราหมณีถือมีดเข้าไปในห้องแล้วแหวะท้องด้วยคิดว่า ‘เราอยากรู้
ว่าลูกในครรภ์เป็นชายหรือเป็นหญิง’ ได้ทำลายตนเอง ชีวิตลูกในครรภ์ และทรัพย์
สมบัติ (ที่จะพึงได้)จนพินาศ บพิตร นางพราหมณีผู้โง่ ไม่ฉลาด เมื่อแสวงหามรดก
โดยวิธีที่ไม่แยบคาย ได้ถึงความพินาศไปแล้ว ฉันใด พระองค์ผู้โง่ ไม่ฉลาด
เมื่อแสวงหาโลกอื่นโดยวิธีที่ไม่แยบคายจักถึงความพินาศ ฉันนั้น
บพิตร สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ไม่เหมือนนางพราหมณีผู้โง่
ไม่ฉลาด เมื่อแสวงหามรดกโดยวิธีที่ไม่แยบคายได้ถึงความพินาศแล้ว คือ เขาไม่เร่ง
อายุที่ยังไม่สิ้นให้สิ้นไป แต่รอให้อายุสิ้นไปเอง เพราะว่าชีวิตของสมณพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยสตรีมีครรภ์

ผู้ฉลาด มีศีล มีกัลยาณธรรม เป็นชีวิตที่มีประโยชน์ สมณพราหมณ์ผู้มีศีล
มีกัลยาณธรรม ดำรงชีวิตอยู่นานเพียงใด ก็ย่อมประสบบุญมาก และปฏิบัติเพื่อ
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพียงนั้น บพิตร ด้วยเหตุแห่ง
พระดำรัสของพระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี
โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”
[๔๒๑] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ พวกราชบุรุษของโยมในโลกนี้ จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่
โยมว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็นโจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญา
แก่โจรนี้ตามพระประสงค์เถิด’ โยมสั่งพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่าน
จงจับบุรุษนี้ใส่หม้อทั้งเป็นแล้วปิดปากหม้อ รัดด้วยหนังสด พอกด้วยดินเหนียว
ให้หนา ยกขึ้นตั้งเตาแล้วติดไฟ’ พวกราชบุรุษรับคำของโยมแล้วจึงจับบุรุษนั้น
ใส่หม้อทั้งเป็นแล้วปิดปากหม้อ รัดด้วยหนังสด พอกด้วยดินเหนียวให้หนา ยกขึ้น
ตั้งเตาแล้วติดไฟ เมื่อโยมรู้ว่า ‘บุรุษนั้นเสียชีวิตแล้ว’ จึงให้ยกหม้อนั้นลง กะเทาะ
ดินเหนียวออกแล้วค่อย ๆ เปิดปากหม้อ ตรวจดูว่า ‘บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะ
(วิญญาณ)ของบุรุษนั้นออกมาบ้าง’ แต่พวกเราไม่เห็นชีวะของเขาออกมาเลย ท่าน
กัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยคนหลับฝัน

อุปมาด้วยคนหลับฝัน

[๔๒๒] “บพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพขอถวายพระพรถามพระองค์
ในเรื่องนี้ โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย พระองค์ทรงเคยบรรทมกลางวัน ทรงสุบิน
เห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ พื้นที่อันน่ารื่นรมย์ และสระโบกขรณีอันน่า
รื่นรมย์บ้างไหม”
“ท่านกัสสปะ โยมเคยหลับกลางวัน ฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่า
รื่นรมย์ พื้นที่อันน่ารื่นรมย์ และสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์”
“ในขณะที่ทรงสุบินนั้น มีหญิงค่อม หญิงเตี้ย นางภูษามาลาหรือเด็กสาว
คอยดูแลพระองค์อยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ ในขณะที่ฝันนั้น มีหญิงค่อม หญิงเตี้ย นางภูษามาลาหรือเด็ก
สาวคอยดูแลโยมอยู่”
“หญิงเหล่านั้นเห็นชีวะของพระองค์เข้า-ออกอยู่ หรือไม่”
“ท่านกัสสปะ หญิงเหล่านั้นไม่เห็นชีวะของโยมเข้า-ออกอยู่เลย”
“บพิตร หญิงเหล่านั้นมีชีวิตอยู่แท้ ๆ ยังไม่เห็นชีวะเข้า-ออกของพระองค์ผู้ยังทรง
พระชนม์อยู่ พระองค์จะทรงเห็นชีวะเข้า-ออกของคนผู้สิ้นชีวิตไปแล้วได้อย่างไรเล่า
บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”
[๔๒๓] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยก้อนเหล็กร้อน

“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ พวกราชบุรุษของโยมในโลกนี้จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่
โยมว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็นโจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญา
แก่โจรนี้ตามพระประสงค์เถิด’ โยมสั่งพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่าน
จงเอาตาชั่งมาชั่งบุรุษนี้ทั้งเป็นแล้ว ใช้เชือกมัดให้ขาดใจตาย เอาตาชั่งชั่งอีกครั้งหนึ่ง’
พวกราชบุรุษรับคำของโยมแล้วจึงเอาตาชั่งไปชั่งบุรุษนั้นทั้งเป็นแล้ว ใช้เชือกมัดให้
ขาดใจตาย เอาตาชั่งชั่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อบุรุษนั้นยังมีชีวิตอยู่ ร่างกายนี้มีน้ำหนักเบา
อ่อนนุ่ม และปรับตัวได้ง่ายกว่า แต่เมื่อบุรุษนั้นสิ้นชีวิตแล้ว ร่างกายมีน้ำหนักมาก
แข็งกระด้าง และปรับตัวได้ยากกว่า ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจ
อย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำ
ดีและทำชั่วไม่มี”

อุปมาด้วยก้อนเหล็กร้อน

[๔๒๔] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เปรียบ
เหมือนคนเอาตาชั่งชั่งก้อนเหล็กที่เผาไว้ตลอดวัน ติดไฟลุกโพลง ต่อมาใช้ตาชั่ง
ชั่งก้อนเหล็กนั้นขณะเย็นสนิท เมื่อไรก้อนเหล็กนั้นจะมีน้ำหนักเบากว่า อ่อนกว่า
และดัดง่ายกว่า คือเมื่อติดไฟลุกโพลงอยู่หรือว่าเมื่อเย็นสนิทแล้ว”
“ท่านกัสสปะ เมื่อก้อนเหล็กนั้นมีไฟ มีลม ติดไฟลุกโพลงอยู่จะมีน้ำหนัก
เบากว่า อ่อนกว่าและดัดได้ง่ายกว่า แต่เมื่อก้อนเหล็กนั้นไม่มีไฟ ไม่มีลม เย็นสนิท
จะมีน้ำหนักมากกว่า แข็งกระด้างกว่าและดัดได้ยากกว่า”
“บพิตร เช่นเดียวกันนั่นแหละ เมื่อร่างกายนี้ยังมีอายุ มีไออุ่นและมีวิญญาณ
จะมีน้ำหนักเบากว่า อ่อนนุ่มกว่า และปรับตัวได้ง่ายกว่า แต่เมื่อร่างกายนี้ไม่มีอายุ
ไม่มีไออุ่นและไม่มีวิญญาณ จะมีน้ำหนักมากกว่า แข็งกระด้างกว่า และปรับตัวได้
ยากกว่า บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยก้อนเหล็กร้อน

[๔๒๕] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ พวกราชบุรุษของโยมในโลกนี้ จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่
โยมว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็นโจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญา
แก่โจรนี้ ตามพระประสงค์เถิด’ โยมสั่งพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่าน
จงฆ่าบุรุษนี้ อย่าให้ผิว หนัง เอ็น กระดูก และเยื่อในกระดูกช้ำ บางทีพวกเราจะได้
เห็นชีวะของบุรุษนั้นออกมาบ้าง’ พวกราชบุรุษรับคำของโยมแล้วจึงฆ่าบุรุษนั้น
ไม่ให้ผิว หนัง เอ็น กระดูก และเยื่อในกระดูกช้ำ เมื่อบุรุษนั้นใกล้ตาย โยมสั่งว่า
‘พวกท่านจงผลักให้เขานอนหงาย บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะของบุรุษนั้นออกมาบ้าง’
เมื่อราชบุรุษผลักให้เขานอนหงาย พวกเราก็ไม่ได้เห็นชีวะของเขาออกมาเลย โยมจึง
สั่งอีกว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงพลิกให้เขานอนคว่ำ...’ ‘...ให้เขานอนตะแคงข้างหนึ่ง...’
‘...ให้นอนตะแคงอีกข้างหนึ่ง...’ ‘...จงพยุงให้ลุกขึ้น...’ ‘...จับศีรษะกดลง...’ ‘...ใช้ฝ่า
มือทุบ...’ ‘...ใช้ก้อนดินทุบ...’ ‘...ใช้ท่อนไม้ทุบ...’ ‘...ใช้ศัสตราทุบ..’ ‘...ลากมาลากไป
ลากไปลากมา บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะของบุรุษนั้นออกมาบ้าง’ พวกราชบุรุษ
ลากบุรุษนั้นมาลากบุรุษนั้นไป ลากไปลากมา พวกเราก็ไม่เห็นชีวะของเขาเลย
ตาของเขาก็เหมือนเดิม รูปก็รูปเดิม ๆ แต่ตานั้นไม่รับรู้รูปนั้น หูของเขาก็หูเดิม
เสียงก็เสียงเดิม ๆ แต่หูนั้นไม่รับรู้เสียงนั้น จมูกของเขาก็จมูกเดิม กลิ่นก็กลิ่นเดิม ๆ
แต่จมูกนั้นไม่รับรู้กลิ่นนั้น ลิ้นของเขาก็ลิ้นเดิม รสก็รสเดิม ๆ แต่ลิ้นนั้นไม่รับรู้รสนั้น
กายของเขาก็กายเดิม โผฏฐัพพะก็โผฏฐัพพะเดิม ๆ แต่กายนั้นไม่รับรู้โผฏฐัพพะนั้น
ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยการเป่าสังข์

อุปมาด้วยการเป่าสังข์

[๔๒๖] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว คนเป่าสังข์คนหนึ่งนำสังข์ไปยังปัจจันตชนบท เข้าไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ยืนอยู่กลางหมู่บ้านเป่าสังข์ขึ้น ๓ ครั้ง วางสังข์ไว้ที่พื้นดินแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ลำดับนั้น ชาวปัจจันตชนบทแตกตื่นว่า ‘ท่านทั้งหลาย นั้นเสียงใครกัน
น่าพอใจ น่ารักใคร่ น่าหลงใหล น่าติดใจ ไพเราะอย่างนี้’ จึงพากันล้อมคนเป่าสังข์
ถามว่า ‘พ่อคุณ นั่นเสียงใครกัน น่าพอใจ น่ารักใคร่ น่าหลงใหล น่าติดใจ ไพเราะ
อย่างนี้’
คนเป่าสังข์ตอบว่า ‘ท่านทั้งหลาย นี้เป็นเสียงสังข์ น่าพอใจ น่ารักใคร่
น่าหลงใหล น่าติดใจ ไพเราะอย่างนี้’
ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้นจับสังข์นั้นให้หงายขึ้นแล้วสั่งว่า ‘พูดซิพ่อสังข์ พูดซิ
พ่อสังข์’ สังข์นั้นก็ไม่ส่งเสียง พวกเขาจับสังข์ให้คว่ำหน้าลง ... จับสังข์ให้ตะแคงข้าง
หนึ่ง ... จับสังข์ให้ตะแคงอีกข้างหนึ่ง ... ยกสังข์ให้สูงขึ้น ... วางสังข์ให้ต่ำลง ... ใช้ฝ่ามือ
เคาะ ... ใช้ก้อนดินเคาะ .... ใช้ท่อนไม้เคาะ ... ใช้ศัสตราเคาะ ... ลากมาลากไป
ลากไปลากมา แล้วสั่งว่า ‘พูดซิพ่อสังข์ พูดซิพ่อสังข์’ สังข์นั้นก็ไม่ส่งเสียง
คนเป่าสังข์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ชาวปัจจันตชนบทเหล่านี้ช่างโง่เขลาจริง
ไฉนจึงแสวงหาเสียงสังข์โดยไม่ถูกวิธีอย่างนี้เล่า’ ขณะที่ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้น
กำลังมุงดูอยู่ เขาจึงหยิบสังข์ขึ้นมาเป่า ๓ ครั้งแล้วถือสังข์เดินไป
ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้นพูดกันว่า ‘ท่านทั้งหลาย เมื่อสังข์นี้มีคน มีความ
พยายาม และมีลมจึงส่งเสียงได้ เมื่อสังข์นี้ไม่มีคน ไม่มีความพยายาม และไม่มีลม
ก็ส่งเสียงไม่ได้’
บพิตร เช่นเดียวกันนั่นแหละ เมื่อกายนี้ยังมีอายุ มีไออุ่นและมีวิญญาณ จึงก้าว
ไปได้ ถอยกลับได้ ยืนได้ นั่งได้ นอนได้ เห็นรูปทางตาได้ ฟังเสียงทางหูได้ ดมกลิ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยการเป่าสังข์

ทางจมูกได้ ลิ้มรสทางลิ้นได้ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายได้ รู้ธรรมารมณ์ทางใจได้
แต่เมื่อกายนี้ไม่มีอายุ ไม่มีไออุ่น และไม่มีวิญญาณ กายนี้จึงก้าวไปไม่ได้ ถอยกลับ
ไม่ได้ ยืนไม่ได้ นั่งไม่ได้ นอนไม่ได้ เห็นรูปทางตาไม่ได้ ฟังเสียงทางหูไม่ได้ ดมกลิ่น
ทางจมูกไม่ได้ ลิ้มรสทางลิ้นไม่ได้ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายไม่ได้ หรือรู้ธรรมารมณ์
ทางใจไม่ได้ บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”

ภาณวารที่ ๑ จบ

[๔๒๗] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี’
บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ พวกราชบุรุษของโยมในโลกนี้ จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่
โยมว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็นโจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญา
แก่โจรนี้ตามพระประสงค์เถิด’ โยมสั่งพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่าน
จงเชือดผิวของบุรุษนี้ บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะของเขาบ้าง’ พวกเขาจึงเชือดผิว
ของบุรุษนั้น พวกเราก็ไม่ได้ไม่เห็นชีวะของเขาเลย โยมจึงสั่งอีกว่า ‘ถ้าเช่นนั้น
พวกท่านจงเถือหนัง ...’ ... ‘... แล่เนื้อ ...’ ... ‘... ตัดเอ็น ...’ ... ‘... ตัดกระดูก ...’ ...
‘ตัดเยื่อในกระดูกของเขา บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะของเขาบ้าง’ พวกเขาตัดเยื่อใน
กระดูกของบุรุษนั้น พวกเราก็ไม่ได้เห็นชีวะของเขาเลย ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่
ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยชฏิลผู้บูชาไฟ

อุปมาด้วยชฎิลผู้บูชาไฟ

[๔๒๘] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว มีชฎิลผู้บูชาไฟคนหนึ่งอาศัยอยู่ในกุฎีใบไม้ ณ ชายป่า เวลานั้น หมู่เกวียน
หมู่หนึ่งพักอยู่ในที่ใกล้อาศรมของชฎิลนั้น ๑ คืนแล้วจากไป ต่อมาชฎิลผู้บูชาไฟมี
ความคิดดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรเข้าไปในสถานที่ที่หมู่เกวียนนั้นพักอยู่ บางทีจะได้
อุปกรณ์ใช้สอยในที่นั้นบ้าง จึงลุกขึ้นแต่เช้าตรงเข้าไปที่ที่หมู่เกวียนพำนัก พบเด็ก
อ่อนถูกทิ้งนอนหงายอยู่ที่นั้น คิดว่า ‘การที่เราผู้เป็นมนุษย์มาพบเด็ก แล้วจะปล่อย
ให้เด็กเสียชีวิตไปก็ไม่เหมาะ ทางที่ดี เราควรพาเขาไปอาศรมแล้วชุบเลี้ยงให้เจริญเติบโต’
จึงพาเด็กนั้นไปชุบเลี้ยงจนเจริญเติบโต เมื่อเด็กนั้นอายุได้ ๑๐ ปี หรือ ๑๒ ปี
ชฎิลบูชาไฟคนนั้นมีธุระอย่างหนึ่งในเมืองจึงสั่งเด็กนั้นว่า ‘ลูก พ่อจะไปในเมือง
เจ้าพึงบูชาไฟอย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึงก่อไฟบูชา’
เมื่อสั่งเด็กแล้วได้ไปในเมือง ขณะที่เด็กกำลังเล่นอยู่ไฟเกิดดับ เด็กนึกขึ้นได้ว่า
‘พ่อสั่งเราไว้ว่า ‘เจ้าพึงบูชาไฟ อย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึง
ก่อไฟบูชา’ ทางที่ดี เราควรก่อไฟบูชา’ จึงเอามีดถากไม้สีไฟด้วยเข้าใจว่า ‘บางทีจะได้
ไฟบ้าง’ แต่ไม่ได้ไฟเลย จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก ... ๓ ซีก... ๔ ซีก ... ๕ ซีก ...
๑๐ ซีก ... ๒๐ ซีก ... แล้วสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ครั้นสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วก็นำ
มาโขลกในครก ครั้นโขลกในครกแล้วก็โปรยในที่มีลมแรงด้วยเข้าใจว่า ‘บางทีจะได้
ไฟบ้าง’ แต่เขาก็ไม่ได้ไฟเลย
ต่อมา ชฎิลผู้บูชาไฟทำธุระในเมืองเสร็จแล้วจึงกลับมาอาศรมของตน ได้ถาม
เด็กนั้นว่า ‘ลูกเอ๋ย ไฟของเจ้าไม่ดับบ้างเลยหรือ’
เด็กนั้นตอบว่า ‘พ่อครับ ผมมัวเล่นอยู่ตรงนี้ ไฟก็ดับเสีย’ พอนึกขึ้นได้ว่า
‘พ่อสั่งไว้ว่า ‘เจ้าพึงบูชาไฟ อย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึง
ก่อไฟบูชา’ ทางที่ดี เราควรก่อไฟบูชา ผมจึงเอามีดถากไม้สีไฟด้วยคิดว่า ‘บางทีจะ
ได้ไฟบ้าง’ แต่ไม่ได้ไฟเลย จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก ... ๓ ซีก ... ๔ ซีก ... ๕ ซีก
... ๑๐ ซีก ... ๒๐ ซีก ... แล้วสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ครั้นสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วก็
นำมาโขลกในครก ครั้นโขลกในครกแล้วก็โปรยในที่มีลมแรงด้วยเข้าใจว่า ‘บางทีจะได้
ไฟบ้าง’ แต่ไม่ได้ไฟเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยนายกองเกวียน ๒ คน

ลำดับนั้น ชฎิลผู้บูชาไฟคนนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เด็กคนนี้ช่างโง่ไม่ฉลาดเอา
เสียเลย หาไฟโดยไม่ถูกวิธีจะได้อย่างไรเล่า’ เมื่อเด็กนั้นกำลังดูอยู่ จึงหยิบไม้สีไฟมา
สีให้เกิดไฟแล้วบอกกับเด็กนั้นดังนี้ว่า ‘ลูกเอ๋ย เขาติดไฟกันอย่างนี้ ไม่เหมือนเจ้าที่โง่
ไม่ฉลาดหาไฟโดยไม่ถูกวิธี’
บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกันทรงโง่เขลา ไม่ฉลาดนั่นแหละ แสวงหาโลกหน้า
โดยไม่ถูกวิธี พระองค์โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่น
นั้นอย่าได้เกิดมีแก่พระองค์เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนานเลย”
[๔๒๙] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมไม่อาจสละทิฏฐิชั่วนี้ได้
พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระราชานอกอาณาจักร ทรงรู้จักโยมอย่างนี้ว่า ‘เจ้าปายาสิ
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ หากโยมสละทิฏฐิชั่วนี้ จะมีคนว่าโยมได้ว่า
‘เจ้าปายาสินี้ช่างโง่ ไม่ฉลาด ยึดถือแต่สิ่งผิด ๆ’ โยมจะถือทิฏฐินั้นต่อไปเพราะความ
โกรธ เพราะความลบหลู่ เพราะความแข่งดี”

อุปมาด้วยนายกองเกวียน ๒ คน

[๔๓๐] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว มีพ่อค้าเกวียนหมู่ใหญ่มีเกวียนประมาณ ๑,๐๐๐ เล่ม เดินทางจากแคว้น
ทางทิศตะวันออกไปยังแคว้นทางทิศตะวันตก ขณะเมื่อเดินทางไป หญ้า ฟืน น้ำ ใบ
ไม้สดได้หมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว ในหมู่เกวียนนั้นมีนายกองเกวียน ๒ คน คุมเกวียน
คนละ ๕๐๐ เล่ม นายกองเกวียนทั้ง ๒ คนนั้นได้ปรึกษากันว่า ‘กองเกวียนนี้เป็น
หมู่ใหญ่มีเกวียน ๑,๐๐๐ เล่ม เวลาที่พวกเราเดินทางรวมกันไป หญ้า ฟืน น้ำ ใบไม้
สดหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว ทางที่ดีพวกเราควรแยกกองเกวียนนี้ออกเป็น ๒ กลุ่ม
คือ แยกเป็นกลุ่มละ ๕๐๐ เล่ม’ จึงตกลงแยกกันเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละ ๕๐๐ เล่ม
นายกองเกวียนคนหนึ่งบรรทุกหญ้า ฟืน และน้ำเป็นอันมากขับเกวียนล่วงหน้าไปก่อน
เมื่อไปได้ ๒-๓ วันได้พบบุรุษผิวดำนัยน์ตาแดงสะพายแล่งธนู ทัดดอกโกมุท มีผ้า
และผมเปียกปอน ขับรถคันงามมีล้อเปื้อนตมสวนทางมา จึงถามว่า ‘ท่านมาจากไหน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยนายกองเกวียน ๒ คน

บุรุษนั้นตอบว่า ‘เรามาจากที่โน้น’
นายกองเกวียนถามว่า ‘ท่านจะไปไหน’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘เราจะไปที่โน้น’
นายกองเกวียนถามว่า ‘หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมากใช่ไหม’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘ใช่ครับ หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมาก หนทางมีน้ำ
ชุ่มฉ่ำ มีหญ้า ฟืนและน้ำมากมาย พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่าเสียเถิด
เกวียนเบาท่านจะเดินทางได้เร็วขึ้น วัวก็ไม่ต้องลำบาก’
ลำดับนั้น นายกองเกวียนเรียกพวกขับเกวียนมาบอกว่า ‘บุรุษนี้บอกว่า
‘หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมาก หนทางมีน้ำชุ่มฉ่ำ มีหญ้า ฟืน และน้ำ
มากมาย พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่าเสียเถิด เกวียนเบาท่านจะเดินทาง
ได้เร็วขึ้น วัวก็ไม่ต้องลำบาก’ พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่า จงขับเกวียนเบา
ไปเถิด’
พวกขับเกวียนรับคำของนายกองเกวียนแล้วทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่า ขับเกวียน
เบาไป แต่ก็มิได้พบเห็นหญ้า ฟืนหรือน้ำแม้ในที่พักกองเกวียนแห่งแรก แห่งที่ ๒
แห่งที่ ๓ แห่งที่ ๔ แห่งที่ ๕ แห่งที่ ๖ แห่งที่ ๗ ก็ไม่พบ จึงถึงความวอดวายด้วยกัน
มนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในกองเกวียนนั้นถูกอมนุษย์คือยักษ์จับกินเสียทั้งหมดเหลือแต่
กระดูก
ต่อมา เมื่อนายกองเกวียนคณะที่ ๒ รู้สึกว่า เวลานี้กองเกวียนคณะแรกได้
ออกเดินทางไปนานแล้ว จึงบรรทุกหญ้า ฟืน และน้ำเป็นอันมากแล้วขับเกวียนไป
เมื่อไปได้ ๒-๓ วันได้พบบุรุษผิวดำนัยน์ตาแดงสะพายแล่งธนู ทัดดอกโกมุท มีผ้า
และผมเปียกปอน ขับรถคันงามมีล้อเปื้อนตมสวนทางมา จึงถามว่า ‘ท่านมา
จากไหน’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘เรามาจากที่โน้น’
นายกองเกวียนถามว่า ‘ท่านจะไปไหน’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘เราจะไปที่โน้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยนายกองเกวียน ๒ คน

นายกองเกวียนถามว่า ‘หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมากใช่ไหม’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘ใช่ครับ หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมาก หนทางมีน้ำ
ชุ่มฉ่ำ มีหญ้า ฟืนและน้ำมากมาย พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่าเสียเถิด
เกวียนเบาท่านจะเดินทางได้เร็วขึ้น วัวก็ไม่ต้องลำบาก’
ลำดับนั้น นายกองเกวียนเรียกพวกขับเกวียนมาบอกว่า ‘บุรุษนี้บอกว่า
‘หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมาก หนทางมีน้ำชุ่มฉ่ำ มีหญ้า ฟืน และน้ำ
มากมาย พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่าเสียเถิด เกวียนเบาท่านจะเดินทางได้
เร็วขึ้น วัวก็ไม่ต้องลำบาก’ ท่านทั้งหลาย บุรุษผู้นี้ไม่ใช่มิตรหรือญาติสาโลหิตของ
พวกเรา พวกเราจะเชื่อเขาได้อย่างไร พวกท่านไม่ควรทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่า จงขับ
กองเกวียนไปพร้อมกับสิ่งของตามที่นำมาเถิด พวกเราจะไม่ทิ้งของเก่า’
พวกขับเกวียนรับคำของนายกองเกวียนแล้ว ขับเกวียนไปพร้อมกับสิ่งของตาม
ที่นำมา พวกเขาไม่พบเห็นหญ้า ฟืน หรือน้ำในที่พักกองเกวียนแห่งแรก แห่งที่ ๒
แห่งที่ ๓ แห่งที่ ๔ แห่งที่ ๕ แห่งที่ ๖ แห่งที่ ๗ ก็ไม่พบเลย เห็นแต่กอง
เกวียน(คณะแรก)ที่ถึงความวอดวาย และเห็นมนุษย์และสัตว์เลี้ยงในกองเกวียนนั้น
ซึ่งถูกอมนุษย์คือยักษ์จับกินเสียทั้งหมดเหลือแต่กระดูก
ลำดับนั้น นายกองเกวียนจึงเรียกพวกขับเกวียนมาบอกว่า ‘นี้คือหมู่เกวียน
(คณะแรก)นั้นได้ถึงความวอดวาย ทั้งนี้เพราะนายกองเกวียนผู้นำเป็นคนโง่เขลา
ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงทิ้งสิ่งของที่มีประโยชน์น้อยในกองเกวียนของเราแล้ว จงขนเอา
สิ่งของที่มีประโยชน์มากในกองเกวียนนี้ไป’
พวกขับเกวียนรับคำของนายกองเกวียนแล้ว ทิ้งสิ่งของที่มีประโยชน์น้อยในเกวียน
ของตน ขนเอาสิ่งของที่มีประโยชน์มากในหมู่เกวียนนั้น เดินทางข้ามทางกันดารไป
ได้โดยสวัสดิภาพ ทั้งนี้เพราะนายกองเกวียนผู้นำเป็นคนฉลาด
บพิตร พระองค์ทรงโง่เขลา ไม่ฉลาด ทรงแสวงหาโลกอื่นโดยไม่ถูกวิธี จะถึง
ความพินาศ ก็เช่นเดียวกับนายกองเกวียนคนแรกนั้นแหละ พวกคนที่เข้าใจว่าทิฏฐิ
ของพระองค์ควรฟัง ควรเชื่อถือเหล่านั้น ก็จะถึงความพินาศเหมือนกัน ฉะนั้น
พระองค์โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่นนั้นอย่าได้เกิด
มีแก่พระองค์เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยคนทูนห่ออุจจาระ

[๔๓๑] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมไม่อาจสละทิฏฐิชั่วนี้ได้
พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระราชานอกอาณาจักรทรงรู้จักโยมอย่างนี้ว่า ‘เจ้าปายาสิ
ทรงมีวาทะอย่างนี้ ทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์
ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ หากโยมสละทิฏฐิชั่วนี้ จะมีคนว่า
โยมได้ว่า ‘เจ้าปายาสินี้ช่างโง่เขลา ไม่ฉลาด ยึดถือแต่สิ่งผิด ๆ’ โยมจะถือทิฏฐินั้น
ต่อไป เพราะความโกรธ เพราะความลบหลู่ เพราะความแข่งดี”
อุปมาด้วยคนทูนห่ออุจจาระ
[๔๓๒] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว มีบุรุษผู้เลี้ยงสุกรคนหนึ่งออกจากหมู่บ้านของตนไปยังหมู่บ้านอื่น เห็น
อุจจาระแห้งจำนวนมากที่เขาทิ้งไว้ในบ้านนั้น จึงมีความคิดดังนี้ว่า ‘อุจจาระแห้ง
มากมายที่เขาทิ้งนี้เป็นอาหารของสุกรของเรา ทางที่ดี เราควรนำอุจจาระแห้ง
ไปจากที่นี้’ จึงปูผ้าห่มลงแล้วโกยเอาอุจจาระแห้งจำนวนมาก ผูกเป็นห่อทูนเดินไป
ในระหว่างทาง เขาถูกฝนห่าใหญ่นอกฤดูกาล ตกรดเปรอะเปื้อนไปด้วยอุจจาระ
ตั้งแต่ศีรษะจดปลายเล็บ(เท้า) ทูนเอาห่ออุจจาระที่ล้นไหลเดินไป
ชาวบ้านเห็นเขาจึงถามว่า ‘ท่านบ้าหรือเปล่า เสียจริตหรือเปล่า ทำไมจึง
เปรอะเปื้อนด้วยอุจจาระตั้งแต่ศีรษะจดปลายเล็บ ทูนห่ออุจจาระที่ล้นไหลอยู่เล่า’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘พวกท่านต่างหากที่บ้า พวกท่านต่างหากที่เสียจริต ความจริง
อุจจาระเป็นอาหารของสุกรของเรา’
บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกับบุรุษผู้ทูนห่ออุจจาระเดินไปนั่นแหละ พระองค์
โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่นนั้นอย่าได้เกิดมีแก่
พระองค์เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนานเลย”
[๔๓๓] “ท่านกัสสปะพูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมไม่อาจสละทิฏฐิชั่วนี้ได้ พระเจ้า
ปเสนทิโกศลหรือพระราชานอกอาณาจักรรู้จักโยมอย่างนี้ว่า ‘เจ้าปายาสิทรงมีวาทะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยนักเลงสกา

อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ หากโยมสละทิฏฐิชั่วนี้จะมีคนว่าโยมได้ว่า ‘เจ้าปายาสิ
นี้ช่างโง่เขลาไม่ฉลาด ยึดถือแต่สิ่งผิด ๆ’ โยมจะถือทิฏฐินั้นต่อไป เพราะความโกรธ
เพราะความลบหลู่ เพราะความแข่งดี”

อุปมาด้วยนักเลงสกา

[๔๓๔] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว มีนักเลงสกา ๒ คนกำลังเล่นสกา คนหนึ่งกลืนเบี้ยที่จะทำให้แพ้ลูกแล้ว
ลูกเล่า อีกคนหนึ่งเห็นเช่นนั้นจึงพูดว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ท่านชนะอยู่ฝ่ายเดียว จงคืนลูกสกา
แก่เราบ้าง เราจะเซ่นบูชา’ นักเลงสกาคนนั้นรับคำแล้วมอบลูกสกาคืน ต่อมานัก
เลงสกาคนที่ ๒ เอายาพิษทาลูกสกาแล้วบอกว่า ‘มาเถิด เพื่อน เราจักเล่นสกา
กันต่อ’ นักเลงสกาคนแรกรับคำแล้ว
แม้ครั้งที่ ๒ นักเลงสกาทั้ง ๒ ก็เล่นสกากันต่อ แม้ครั้งที่ ๒ นักเลงสกาคนแรก
ก็ยังกลืนเบี้ยที่จะทำให้แพ้ลูกแล้วลูกเล่า นักเลงสกาคนที่ ๒ เห็นนักเลงคนแรก
กลืนเบี้ยที่จะทำให้แพ้ลูกแล้วลูกเล่า แม้ครั้งที่ ๒ จึงได้พูดกับนักเลงสกาดังนี้ว่า
‘คนกลืนลูกสกาเคลือบยาพิษ
อย่างแรงกล้าก็ยังไม่รู้ตัว
เฮ้ย เจ้านักเลงชั่ว เจ้าจงกลืนเข้าไป
พิษร้ายแรงจักออกฤทธิ์แก่เจ้าภายหลัง‘๑
บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกับนักเลงสกานั่นแหละ โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด
ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่นนั้นอย่าได้เกิดมีแก่พระองค์เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์
ตลอดกาลนานเลย”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๑/๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยคนหอบเปลือกป่าน

[๔๓๕] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมไม่อาจสละทิฏฐิชั่วนี้ได้
พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระราชานอกอาณาจักรรู้จักโยมอย่างนี้ว่า ‘เจ้าปายาสิมี
วาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ หากโยมสละทิฏฐิชั่วนี้ จะมีคนว่าโยมได้ว่า
‘เจ้าปายาสินี้ช่างโง่เขลา ไม่ฉลาด ยึดถือแต่สิ่งผิด ๆ’ โยมจะยึดถือทิฏฐินั้นต่อไป
เพราะความโกรธ เพราะความลบหลู่ เพราะความแข่งดี”

อุปมาด้วยคนหอบเปลือกป่าน

[๔๓๖] ท่านพระกุมารกัสสปะถวายพระพรว่า “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพ
จะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่ง
ถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมีมาแล้ว ณ เมืองแห่งหนึ่ง สหายผู้หนึ่งเรียก
สหายมาบอกว่า ‘มาเถิด เพื่อน เราจะเข้าไปยังเมืองนั้น บางทีจะได้ทรัพย์ในเมืองนั้น
บ้าง’ สหายคนที่ ๒ รับคำของเพื่อนแล้ว พากันเข้าไปยังชนบทถึงถนนในหมู่บ้าน
แห่งหนึ่ง เห็นเปลือกป่านที่เขาทิ้งไว้มากมายในที่นั้น สหายคนแรกบอกสหายคน
ที่ ๒ ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เขาทิ้งเปลือกป่านไว้มากมาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงผูกเปลือก
ป่านไป ๑ มัด เราจะผูกอีก ๑ มัด เรา ๒ คนจะช่วยกันขนเปลือกป่านไป’ สหาย
คนที่ ๒ รับคำแล้วผูกเปลือกป่าน ๑ มัด แล้ว ต่างช่วยกันหอบเปลือกป่านเข้าไป
ยังถนนในหมู่บ้านอีกสายหนึ่ง ได้เห็นด้ายป่านที่เขาทิ้งไว้มากมายในที่นั้น สหาย
คนแรกจึงบอกสหายอีกคนหนึ่งว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เราจะปรารถนาเปลือกป่านไปเพื่อ
อะไร นี้ด้ายป่านที่เขาทิ้งไว้มากมาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงทิ้งมัดเปลือกป่านเสียเถิด
เราก็จะทิ้งเหมือนกัน เรามาช่วยกันนำมัดด้ายป่านไปเถิด’ สหายคนที่ ๒ ตอบว่า
‘เพื่อนเอ๋ย เราหอบมัดเปลือกป่านนี้มาตั้งไกล อีกทั้งมัดไว้เรียบร้อยดีแล้ว เราจะไม่
ทิ้งล่ะ ท่านจงทราบเถิด’
ลำดับนั้น สหายคนแรกทิ้งมัดเปลือกป่านแล้วนำมัดด้ายป่าน
สหายทั้งสองพากันเข้าไปยังถนนในหมู่บ้านอีกสายหนึ่ง ได้เห็นผ้าป่านที่เขา
ทิ้งไว้มากมายในที่นั้น สหายคนแรกจึงบอกสหายอีกคนหนึ่งว่า ‘เราจะปรารถนา
เปลือกป่านและด้ายป่านไปเพื่ออะไร นี้ผ้าป่านที่เขาทิ้งไว้มากมาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยคนหอบเปลือกป่าน

ทิ้งมัดเปลือกป่านเสีย เราก็จะทิ้งมัดด้ายป่านเหมือนกัน พวกเรามาช่วยกันนำมัดผ้า
ป่านไปเถิด’ สหายคนที่ ๒ ตอบว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เราหอบมัดเปลือกป่านนี้มาตั้งไกล
อีกทั้งมัดไว้เรียบร้อยดีแล้ว เราจะไม่ทิ้งล่ะ ท่านจงทราบเถิด’
ลำดับนั้น สหายคนแรกทิ้งมัดด้ายป่านแล้วนำมัดผ้าป่านไป
สหายทั้งสองพากันเข้าไปยังถนนในหมู่บ้านอีกสายหนึ่ง ได้เห็นเปลือกไม้โขมะ
ที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ด้ายเปลือกไม้โขมะที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ผ้าเปลือกไม้
โขมะ ที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ลูกฝ้ายที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ด้ายฝ้ายที่เขาทิ้งไว้
มากมาย ฯลฯ ผ้าฝ้ายที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ เหล็กที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ
โลหะ๑ที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ดีบุกที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ สำริดที่เขาทิ้งไว้
มากมาย ฯลฯ เงินที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ทองที่เขาทิ้งไว้มากมายในที่นั้น สหาย
คนแรกจึงบอกสหายอีกคนหนึ่งว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เราจะปรารถนาเปลือกป่าน ด้ายป่าน
ผ้าป่าน เปลือกไม้โขมะ ด้ายเปลือกไม้โขมะ ผ้าเปลือกไม้โขมะ ลูกฝ้าย ด้ายฝ้าย
ผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก สำริด หรือเงินไปเพื่ออะไรกัน นี้ทองที่เขาทิ้งไว้มากมาย
ท่านจงทิ้งมัดเปลือกป่านเสียเถิด เราก็จะทิ้งห่อเงินเหมือนกัน พวกเรามาช่วยกัน
นำห่อทองไปเถิด’ สหายคนที่ ๒ ตอบว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เราหอบมัดเปลือกป่านนี้มา
ตั้งไกล อีกทั้งมัดไว้เรียบร้อยดีแล้ว เราจะไม่ทิ้งล่ะ ท่านจงทราบเถิด’
ลำดับนั้น สหายคนแรกทิ้งห่อเงินแล้วนำห่อทองไป
สหายทั้งสองพากันเข้าไปยังหมู่บ้านของตน ๆ ในบรรดาสหายทั้ง ๒ คนนั้น
คนที่หอบมัดเปลือกป่านไป ไม่ได้รับความชื่นชมยินดีจากมารดาบิดา ไม่ได้รับความ
ชื่นชมยินดีจากบุตรภรรยา ไม่ได้รับความชื่นชมยินดีจากมิตรอำมาตย์ อีกทั้งไม่ได้
รับความสุขโสมนัสที่เกิดจากการหอบเปลือกป่านนั้น ส่วนสหายอีกคนหนึ่งที่นำห่อ
ทองไป ได้รับความชื่นชมยินดีจากมารดาบิดา ได้รับความชื่นชมยินดีจากบุตรภรรยา
ได้รับความชื่นชมยินดีจากมิตรอำมาตย์ อีกทั้งได้รับความสุขโสมนัสที่เกิดจากการนำ
ห่อทองนั้น

เชิงอรรถ :
๑ โลหะ ในที่นี้หมายถึงทองแดง (ที.ม.อ. ๔๓๖/๔๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] ว่าด้วยยัญพิธี

บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกับบุรุษผู้ขนมัดเปลือกป่านไม่เกื้อกูลนั่นแหละ พระองค์
โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่นนั้นอย่าได้เกิดมีแก่พระองค์
เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานเลย”

เจ้าปายาสิทรงรับสรณคมน์

[๔๓๗] เจ้าปายาสิตรัสว่า “เพียงอุปมาโวหารข้อแรกของท่านกัสสปะเท่านั้น
โยมก็พอใจอย่างยิ่งแล้ว แต่อยากจะฟังปฏิภาณในการตอบปัญหาที่วิจิตรเหล่านี้
จึงทำทีโต้แย้งท่านกัสสปะไปเท่านั้นเอง ภาษิตของท่านกัสสปะชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ภาษิตของท่านกัสสปะชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านกัสสปะประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย
ประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ โยมขอถึงพระผู้มี
พระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านกัสสปะโปรดจำโยมว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต โยมปรารถนาจะบูชา
มหายัญ ขอท่านกัสสปะโปรดชี้แจงวิธีบูชามหายัญอันเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่
่โยมตลอดกาลนานเถิด”

ว่าด้วยยัญพิธี

[๔๓๘] ท่านพระกุมารกัสสปะถวายพระพรว่า “บพิตร ยัญที่มีการฆ่าโค ๑
ยัญที่มีการฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่มีการฆ่าไก่ สุกร ๑ ยัญที่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ได้รับ
ความเดือดร้อน ๑ และผู้รับ(ยัญ) ก็เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ มีมิจฉาสังกัปปะ มี
มิจฉาวาจา มีมิจฉากัมมันตะ มีมิจฉาอาชีวะ มีมิจฉาสติ มีมิจฉาสมาธิ เช่นนี้ ไม่มี
ผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ไม่มีความแพร่หลายมาก
เปรียบเหมือนชาวนาถือเมล็ดพืชและไถไปป่าแล้วหว่านเมล็ดพืชที่หัก เน่า ถูกลม
แดดแผดเผาแล้ว ลีบ ยังไม่สุกดีลงในนาไร่ที่ไม่ดี มีพื้นที่ไม่เหมาะ ไม่แผ้วถางตอและ
หนามให้หมดไป ทั้งฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล เมล็ดพืชเหล่านั้นจะเจริญงอกงามไพบูลย์
หรือ ชาวนาจะได้รับผลอันไพบูลย์หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] เรื่องอุตตรมาณพ

เจ้าปายาสิตรัสตอบว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านกัสสปะ”
ท่านพระกุมารกัสสปะถวายพระพรว่า “บพิตร ยัญที่มีการฆ่าโค ๑ ยัญที่
มีการฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่มีการฆ่าไก่ สุกร ๑ ยัญที่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ได้รับ
ความเดือดร้อน ๑ และผู้รับ(ยัญ)ก็เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ มีมิจฉาสังกัปปะ มีมิจฉาวาจา
มีมิจฉากัมมันตะ มีมิจฉาอาชีวะ มีมิจฉาวายามะ มีมิจฉาสติ มีมิจฉาสมาธิเช่นนี้
ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความเจริญรุ่งเรืองมากไม่มีความแพร่หลาย
มาก” ส่วนยัญที่ไม่มีการฆ่าโค ๑ ยัญที่ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่ไม่มีการฆ่าไก่
สุกร ๑ ยัญที่ไม่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ได้รับความเดือดร้อน ๑ และผู้รับก็เป็นผู้มี
สัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา มีสัมมากัมมันตะ มีสัมมาอาชีวะ
มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิเช่นนี้ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
มีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก เปรียบเหมือนชาวนาถือเมล็ดพืชและ
ไถไปป่าแล้วหว่านเมล็ดพืชที่ไม่หัก ไม่เน่า ไม่ถูกลมแดดแผดเผา มีเมล็ดสุกดีลงใน
นาไร่ที่ดีมีพื้นที่เหมาะ แผ้วถางตอและหนามให้หมดไป ทั้งฝนก็ตกตามฤดูกาล
พืชเหล่านั้นจะเจริญงอกงามไพบูลย์ หรือชาวนาจะได้รับผลอันไพบูลย์หรือ”
เจ้าปายาสิตรัสตอบว่า “เป็นอย่างนั้น ท่านกัสสปะ”
ท่านพระกุมารกัสสปะถวายพระพรว่า “ยัญที่ไม่มีการฆ่าโค ๑ ยัญที่ไม่มีการ
ฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่ไม่มีการฆ่าไก่ สุกร ๑ ยัญที่ไม่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ได้รับความ
เดือนร้อน ๑ และผู้รับก็เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา
มีสัมมากัมมันตะ มีสัมมาอาชีวะ มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิเช่นนี้
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความเจริญรุ่งเรืองมากมีความแพร่หลายมาก”

เรื่องอุตตรมาณพ

[๔๓๙] ต่อมา เจ้าปายาสิทรงเริ่มให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า
คนเดินทาง วณิพก และพวกยาจก แต่ในทานนั้นท้าวเธอประทานโภชนะเห็นปานนี้
คือ ปลายข้าวมีน้ำผักดองเป็นกับ ได้ประทานผ้าเนื้อหยาบมีชายขอดเป็นปม ๆ ในการ
ให้ทานนั้น มีอุตตรมาณพเป็นเจ้าหน้าที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] เรื่องอุตตรมาณพ

อุตตรมาณพให้ทานแล้วอุทิศอย่างนี้ว่า “ด้วยผลทานนี้ ข้าพเจ้าขออยู่ร่วมกับ
เจ้าปายาสิในโลกนี้เท่านั้น อย่าได้อยู่ร่วมกันอีกในโลกหน้าเลย”
เจ้าปายาสิทรงสดับว่า “ทราบว่า อุตตรมาณพให้ทานแล้วอุทิศอย่างนี้ว่า
‘ด้วยผลทานนี้ ข้าพเจ้าขออยู่ร่วมกับเจ้าปายาสิในโลกนี้เท่านั้น อย่าได้อยู่ร่วมกัน
อีกในโลกหน้าเลย’ ต่อมาพระองค์ จึงรับสั่งให้เรียกอุตตรมาณพมาตรัสถามว่า
“พ่ออุตตระ เธอให้ทานแล้วอุทิศอย่างนี้ว่า ‘ด้วยผลทานนี้ ข้าพเจ้าขออยู่ร่วมกับ
เจ้าปายาสิในโลกนี้เท่านั้น อย่าได้อยู่ร่วมกันอีกในโลกหน้าเลย’ จริงหรือ”
อุตตรมาณพกราบทูลว่า “จริงอย่างนั้น กระหม่อม”
เจ้าปายาสิตรัสถามว่า “พ่ออุตตระ ก็เพราะเหตุใด เธอให้ทานแล้วจึงอุทิศ
อย่างนี้ว่า ‘ด้วยผลทานนี้ ฯลฯ อย่าได้อยู่ร่วมกันอีกในโลกหน้าเลย’ พวกเรา
ต้องการบุญ หวังผลทานจริง ๆ มิใช่หรือ”
อุตตรมาณพกราบทูลว่า “ในทานของพระองค์ยังมีการประทานโภชนะเห็น
ปานนี้ คือปลายข้าวมีน้ำผักดองเป็นกับ ซึ่งพระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะถูกต้องแม้
ด้วยพระบาท ไฉนจะเสวยเล่า อนึ่ง ผ้าก็เนื้อหยาบมีชายขอดเป็นปม ๆ ซึ่งพระองค์
ไม่ทรงปรารถนาจะถูกต้องแม้ด้วยพระบาท ไฉนจะทรงนุ่งห่มเล่า พระองค์ทรงเป็น
ที่รัก เป็นที่พอใจของพวกข้าพระองค์ พวกข้าพระองค์จะชักจูงผู้ซึ่งเป็นที่รักเป็นที่
พอใจไป ด้วยสิ่งที่ไม่น่าพอใจได้อย่างไรเล่า”
เจ้าปายาสิตรัสว่า “พ่ออุตตระ ถ้าอย่างนั้น เธอจงจัดเตรียมโภชนะชนิดเดียว
กับที่เราบริโภค จงจัดเตรียมผ้าชนิดเดียวกับที่เรานุ่งห่ม”
อุตตรมาณพทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จัดเตรียมโภชนะชนิดเดียวกับที่เจ้า
ปายาสิเสวย และจัดเตรียมผ้าชนิดเดียวกับที่เจ้าปายาสิทรงนุ่งห่ม
[๔๔๐] ต่อมา เพราะเหตุที่เจ้าปายาสิทรงให้ทานโดยไม่เคารพ ไม่ทรง
ให้ทานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ ทรงให้ทานโดยความไม่นอบน้อม แต่ทรงให้ทาน
อย่างโยนทิ้ง หลังจากถึงชีพิตักษัยแล้วจึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้น
จาตุมหาราช๑ คือ ได้วิมานว่างเปล่าชื่อเสรีสกวิมาน’ ส่วนอุตตรมาณพผู้เป็น

เชิงอรรถ :
๑ เข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นจาตุมหาราช ในที่นี้หมายถึงไปเกิดเป็นบริวารของท้าวเวสวัณ-
มหาราช (ขุ.วิ. (แปล) ๒๖/๑๒๔๘/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] ปายาสิเทพบุตร

เจ้าหน้าที่ในการให้ทานของเจ้าปายาสินั้น ให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน
เอง ให้ทานโดยความนอบน้อม ไม่ใช่ให้ทานอย่างโยนทิ้ง หลังจากตายแล้ว
ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์

ปายาสิเทพบุตร

[๔๔๑] สมัยต่อมา ท่านพระควัมปติไปพักกลางวัน ณ เสรีสกวิมานที่ว่าง
เปล่าอยู่เนือง ๆ ลำดับนั้น ปายาสิเทพบุตรเข้าไปหาท่านพระควัมปติถึงที่อยู่ไหว้
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ท่านพระควัมปติถามปายาสิเทพบุตรว่า “ท่านเป็นใคร”
ปายาสิเทพบุตรตอบว่า “ข้าพเจ้าคือเจ้าปายาสิ ขอรับ”
ท่านพระควัมปติถามว่า “ท่านเป็นผู้มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ จริงหรือ”
ปายาสิเทพบุตรตอบว่า “จริงขอรับ ข้าพเจ้าเคยมีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’
แต่พระผู้เป็นเจ้ากุมารกัสสปะได้ชี้นำให้ข้าพเจ้าออกจากทิฏฐิชั่วนั้นแล้ว”
ท่านพระควัมปติถามว่า “ก็อุตตรมาณพผู้เป็นเจ้าหน้าที่ในการให้ทานของท่าน
ไปเกิดที่ไหน”
ปายาสิเทพบุตรตอบว่า “อุตตรมาณพผู้เป็นเจ้าหน้าที่ในการให้ทานของข้าพเจ้า
ให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานโดยความนอบน้อม ไม่ใช่ให้ทาน
อย่างโยนทิ้ง หลังจากตายแล้ว ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้น
ดาวดึงส์ ส่วนข้าพเจ้าให้ทานโดยไม่เคารพ ไม่ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานโดย
ความไม่นอบน้อม ให้ทานอย่างโยนทิ้ง หลังจากตายแล้วเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วม
กับพวกเทพชั้นจาตุมหาราช คือ ได้วิมานว่างเปล่าชื่อเสรีสกวิมาน ท่านควัมปติ
ขอรับ ขอท่านจงไปมนุษยโลกประกาศอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย จงให้ทานโดยเคารพ
ให้ทานด้วยมือของตนเอง ให้ทานโดยความนอบน้อม อย่าให้ทานอย่างโยนทิ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

เจ้าปายาสิทรงให้ทานโดยไม่เคารพ ไม่ทรงให้ทานด้วยมือของพระองค์เอง ทรงให้
ทานโดยความไม่นอบน้อม ทรงให้ทานอย่างโยนทิ้ง หลังจากถึงชีพิตักษัยแล้วได้เข้า
ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นจาตุมหาราช คือ ได้วิมานว่างเปล่าชื่อ
เสรีสกวิมาน ส่วนอุตตรมาณพผู้เป็นเจ้าหน้าที่ในการให้ทานของเจ้าปายาสินั้นให้
ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานโดยความนอบน้อม ไม่ใช่ให้ทาน
อย่างโยนทิ้ง หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้น
ดาวดึงส์”
ต่อมา เมื่อท่านพระควัมปติกลับมาสู่มนุษยโลกแล้วได้ประกาศอย่างนี้ว่า
‘ท่านทั้งหลาย จงให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานโดยความ
นอบน้อม อย่าให้ทานอย่างโยนทิ้ง เจ้าปายาสิทรงให้ทานโดยไม่เคารพ ไม่ทรงให้
ทานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ ทรงให้ทานโดยไม่นอบน้อม ทรงให้ทานอย่างโยนทิ้ง
หลังจากถึงชีพิตักษัยแล้วเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นจาตุมหาราช
คือ ได้วิมานว่างเปล่าชื่อเสรีสกวิมาน ส่วนอุตตรมาณพผู้เป็นเจ้าหน้าที่ในการให้ทาน
ของเจ้าปายาสิให้ทานโดยความเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานโดยความ
นอบน้อม ไม่ใช่ให้ทานอย่างโยนทิ้ง หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ได้อยู่
ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์”

ปายาสิสูตรที่ ๑๐ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มหาปทานสูตร___๒. มหานิทานสูตร
๓. มหาปรินิพพานสูตร ___๔. มหาสุทัสสนสูตร
๕. ชนวสภสูตร___๖. มหาโควินทสูตร
๗. มหาสมยสูตร___๘. สักกปัญหสูตร
๙. มหาสติปัฏฐานสูตร___๑๐. ปายาสิสูตร

เรียกว่ามหาวรรค

มหาวรรค จบ


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎกที่ ๐๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค จบ





eXTReMe Tracker