ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๙-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
พราหมณ์โสณทัณฑะประกาศตนเป็นอุบาสก

[๓๒๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์แล้ว พราหมณ์
โสณทัณฑะจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่
ท่านพระโคดม ถ้าข้าพระองค์อยู่ในท่ามกลางบริษัทจะลุกจากที่นั่งไปกราบท่านพระ
โคดม ก็จะถูกบริษัทดูหมิ่นเพราะเหตุนั้นได้ ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศ
จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศข้าพระองค์จึงมีโภคสมบัติ ถ้าข้าพระองค์อยู่ใน
ท่ามกลางบริษัทจะประนมมือ ขอท่านพระโคดมทรงทราบว่านั่นแทนการลุกจาก
ที่นั่ง(ไปต้อนรับ) ถ้าข้าพระองค์อยู่ในท่ามกลางบริษัทจะแก้ผ้าโพกศีรษะออก ขอ
ท่านพระโคดมทรงทราบว่านั่นแทนการกราบด้วยเศียรเกล้า ถ้าข้าพระองค์อยู่ใน
ยานพาหนะจะลงไปกราบท่านพระโคดม บริษัทก็จะดูหมิ่นเพราะเหตุนั้นได้ ผู้ถูก
บริษัทดูหมิ่นจะเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศจะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศข้าพระองค์จึงมี
โภคสมบัติ ถ้าข้าพระองค์อยู่ในยานพาหนะจะยกปฏักขึ้น ขอท่านพระโคดมทรง
ทราบว่านั่นแทนการลงจากยานพาหนะ(ไปต้อนรับ) ถ้าข้าพระองค์อยู่ในยานพาหนะ
จะลดร่มลง ขอท่านพระโคดมทรงทราบว่านั่นแทนการกราบด้วยเศียรเกล้า”
[๓๒๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้พราหมณ์โสณทัณฑะเห็น
ชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้
สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไป

โสณทัณฑสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต

๕. กูฏทันตสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อกูฏทันตะ

เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต

[๓๒๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชาวมคธชื่อขาณุมัต ประทับอยู่ใน
สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะปกครองหมู่บ้าน
ขาณุมัต ซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดม
สมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จ
ให้เป็นพรหมไทย (ส่วนพิเศษ)
ในเวลานั้น พราหมณ์กูฏทันตะกำลังเตรียมพิธีบูชามหายัญ โคเพศผู้ ลูกโค
เพศผู้ ลูกโคเพศเมีย แพะ และแกะอย่างละ ๗๐๐ ตัว ถูกนำเข้าไปผูกที่หลักเพื่อ
ฆ่าบูชายัญ
[๓๒๔] พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัตได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณ-
โคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธ
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ
ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อัน
งามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลกและหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เอง
แล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน
ท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและ
พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความ
ดีอย่างแท้จริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต

[๓๒๕] ต่อมา พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ออกจากหมู่บ้าน
ขาณุมัตเดินรวมกันเป็นหมู่ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา
[๓๒๖] ขณะนั้น พราหมณ์กูฏทันตะพักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้นบน
มองเห็นพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัตออกจากหมู่บ้านขาณุมัต เดินรวมกัน
เป็นหมู่ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาถามว่า “พ่ออำมาตย์
พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ออกจากหมู่บ้านขาณุมัต เดินรวมกันเป็นหมู่
ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกาทำไมกัน”
[๓๒๗] อำมาตย์ที่ปรึกษาตอบว่า “ท่านขอรับ พระสมณโคดมเป็นศากยบุตร
เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ในสวน
อัมพลัฏฐิกาใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่าง
นี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระ
องค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี
ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ คนเหล่านั้นพากันไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น”
[๓๒๘] ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะคิดว่า ‘เราได้ยินมาว่า พระสมณโคดม
ทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ ส่วนเราไม่รู้เลย แต่ปรารถนา
จะบูชามหายัญ ทางที่ดี เราควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมแล้วทูลถามยัญสมบัติ ๓
ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖’
[๓๒๙] พราหมณ์กูฏทันตะจึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาสั่งว่า “พ่ออำมาตย์
ถ้าอย่างนั้นท่านจงไปหาพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ครั้นแล้วจงบอกอย่าง
นี้ว่า ท่านขอรับ พราหมณ์กูฏทันตะพูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน
พราหมณ์กูฏทันตะจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย”
อำมาตย์ที่ปรึกษารับคำของพราหมณ์กูฏทันตะแล้วเข้าไปหาพราหมณ์และ
คหบดีชาวบ้านขาณุมัต ครั้นแล้วก็บอกว่า “ท่านขอรับ พราหมณ์กูฏทันตะพูดว่า ขอ
ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน พราหมณ์กูฏทันตะจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์กูฏทันตะ

ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์กูฏทันตะ

[๓๓๐] เวลานั้น พราหมณ์หลายร้อยคนพักอยู่ในหมู่บ้านขาณุมัต เพราะตั้ง
ใจจะบริโภคมหายัญของพราหมณ์กูฏทันตะ พอได้ฟังว่า ‘พราหมณ์กูฏทันตะจักไป
เข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย’ จึงพากันไปหาพราหมณ์กูฏทันตะ
[๓๓๑] ครั้นเข้าไปหาแล้วถามว่า “ท่านกูฏทันตะจักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
จริงหรือ”
พราหมณ์กูฏทันตะตอบว่า “ใช่ เราคิดจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม”
พวกพราหมณ์ห้ามว่า “ท่านกูฏทันตะอย่าได้ไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เลย ท่านกูฏทันตะไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เกียรติยศของท่านกูฏทันตะจะเสื่อมเสีย เกียรติยศของพระสมณโคดมจะเจริญ
รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ท่านกูฏทันตะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระ
สมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านกูฏทันตะ เพราะว่า ท่านกูฏทันตะเป็นผู้มี
ชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ
ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ ท่านกูฏทันตะจึง
ไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่าน
กูฏทันตะ
อนึ่ง ท่านกูฏทันตะเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯ เป็นผู้คงแก่
เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์
และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะ
มหาบุรุษ ฯลฯ เป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม
มีกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ
ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ฯลฯ เป็นผู้มีวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำ
อ่อนหวานอย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ เป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่
ชน สอนมนตร์แก่มาณพ ๓๐๐ คน เหล่ามาณพผู้ต้องการมนตร์จำนวนมากจาก
ทิศทางต่างชนบท พากันมาเรียนมนตร์ในสำนักของท่านกูฏทันตะ ฯลฯ ท่าน
กูฏทันตะเป็นคนแก่คนเฒ่าเป็นผู้ใหญ่ มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะแสดงพระพุทธคุณ

มาก ส่วนพระสมณโคดมเป็นคนหนุ่ม บวชแต่ยังหนุ่ม ฯลฯ ท่านกูฏทันตะเป็นผู้ที่
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธและพราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม ฯลฯ ท่านกูฏทันตะปกครองหมู่บ้านขาณุมัต ซึ่งมีประชากรและสัตว์
เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย ด้วยเหตุนี้
ท่านกูฏทันตะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะ
เสด็จมาหาท่านกูฏทันตะ”

พราหมณ์กูฏทันตะแสดงพระพุทธคุณ

[๓๓๒] เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พราหมณ์กูฏทันตะได้กล่าวว่า “ท่าน
ทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกท่านโปรดฟังเราบ้าง เรานี่แหละควรไปเข้าเฝ้าท่านพระ
โคดม ท่านพระโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา ได้ทราบว่า พระสมณโคดมทรงเป็นผู้มี
พระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอด
เจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้
ท่านพระโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดม
ท่านทั้งหลาย ข่าวว่า พระสมณโคดมทรงละพระประยูรญาติผนวชแล้ว ฯลฯ
ทรงสละทรัพย์สินเงินทองมากมายทั้งที่ฝังอยู่ในพื้นดินและในอากาศผนวชเแล้ว ฯลฯ
พระสมณโคดมกำลังหนุ่มแน่นมีพระเกศาดำสนิท ทรงพระเจริญอยู่ในปฐมวัยเสด็จ
ออกจากพระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ เมื่อพระชนกพระชนนีไม่ทรง
ปรารถนา(จะให้เสด็จออกผนวช) มีน้ำพระเนตรชุ่มพระพักตร์ทรงกันแสงอยู่ พระ
สมณโคดมทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุแล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระ
ราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ พระสมณโคดมมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มี
พระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็น
ยากนัก ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีอริยศีล มีศีลที่เป็นกุศล ประกอบด้วยศีลที่เป็น
กุศล ฯลฯ มีพระวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน อย่าง
ชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ ทรงเป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่ชนมากมาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะแสดงพระพุทธคุณ

ฯลฯ ทรงสิ้นกามราคะไม่ประดับตกแต่ง ฯลฯ ทรงเป็นกรรมวาที กิริยวาที ไม่ทรง
มุ่งร้ายต่อพราหมณ์ ฯลฯ ผนวชแล้วจากตระกูลสูงคือขัตติยตระกูลอันบริสุทธิ์ ฯลฯ
ผนวชแล้วจากตระกูลมั่งคั่งมีทรัพย์มากมีโภคะมาก ฯลฯ ประชาชนต่างบ้านต่าง
เมืองพากันมาทูลถามปัญหาพระสมณโคดม ฯลฯ ทวยเทพหลายพันองค์ถวายชีวิต
ถึงพระสมณโคดมเป็นที่พึ่ง ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีพระกิตติศัพท์อันงามขจรไป
อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี
ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ฯลฯ พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะ
มหาบุรุษ ๓๒ ประการ ฯลฯ ทรงมีปกติตรัสเชื้อเชิญ ตรัสผูกมิตรไมตรีอ่อนหวาน
ไม่ทรงสยิ้วพระพักตร์ ทรงเบิกบาน มักตรัสทักทายก่อน ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่
บริษัท ๔๑ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ เทวดาและมนุษย์มาก
มายเลื่อมใสพระสมณโคดม ฯลฯ พวกอมนุษย์ย่อมไม่เบียดเบียนมนุษย์ในหมู่บ้าน
หรือนิคมที่พระสมณโคดมทรงพำนักอยู่ ฯลฯ พระสมณโคดมทรงเป็นหัวหน้า ทรง
เป็นคณาจารย์ ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าเจ้าลัทธิอื่น ๆ ไม่ทรง
รุ่งเรืองพระยศเหมือนพวกสมณพราหมณ์ที่รุ่งเรืองยศ ที่แท้ทรงรุ่งเรืองพระยศ
เพราะทรงมีวิชชาและจรณะอันยอดเยี่ยม ฯลฯ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ
พร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสี ข้าราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึง
พระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งพระราชโอรส พระ
มเหสี ข้าราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ
พราหมณ์โปกขรสาติ พร้อมทั้งบุตร ภรรยา ข้าราชการ และหมู่อำมาตย์ต่างมอบ
ชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ พระสมณโคดมทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสารจอม
ทัพมคธทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่พระเจ้า
ปเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่
พราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ในที่นี้หมายถึง ผู้เข้าเฝ้าโดยทั่วไป มีอยู่ ๔ จำพวก คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัทและ
สมณบริษัท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

พระสมณโคดมเสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา
ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านทั้งหลาย สมณพราหมณ์ที่มาสู่เขตหมู่บ้านของเราจัดว่า
เป็นแขกของเรา ซึ่งพวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และนอบน้อม พระ
สมณโคดมเสด็จมาถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้
หมู่บ้านขาณุมัต พระสมณโคดมจึงจัดเป็นแขกของเราที่พวกเราควรสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา และนอบน้อม ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ พระสมณโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา
เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม เราทราบพระคุณของพระสมณโคดมเพียง
เท่านี้ แต่พระสมณโคดมไม่ใช่ว่าจะมีพระคุณเพียงเท่านี้ แท้จริงแล้ว พระสมณโคดม
มีพระคุณนับประมาณมิได้”
[๓๓๓] เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะกล่าวอย่างนี้ พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า
“ท่านกูฏทันตะกล่าวยกย่องพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากท่านพระโคดมพระองค์
นั้นจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ก็สมควรอยู่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะไปเข้า
เฝ้า แม้จะต้องขนเสบียงไปก็ควร”
พราหมณ์กูฏทันตะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกเราทั้งหมดจักไปเข้าเฝ้าพระ
สมณโคดมด้วยกัน”

เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

[๓๓๔] ต่อมา พราหมณ์กูฏทันตะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่พากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ครั้น
สนทนาพอคุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร ฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวบ้าน
ขาณุมัต บางพวกกราบพระผู้มีพระภาค บางพวกสนทนา บางพวกไหว้ไปทางพระ
ผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและตระกูล บางพวกนิ่งเฉย แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๓๓๕] พราหมณ์กูฏทันตะนั่งลงกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ยิน
มาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖ ส่วน
ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดม
โปรดแสดงยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖ แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

[๓๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจ
ให้ดี เราจะแสดง” พราหมณ์กูฏทันตะทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราชทรง
เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ต่อมา
ท้าวเธอประทับอยู่ตามลำพังทรงคิดคำนึงว่า ‘เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของ
มนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดีเราพึง
บูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’
[๓๓๗] ท้าวเธอจึงรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมารับสั่งว่า ‘พราหมณ์ วันนี้
เราพักอยู่ตามลำพังเกิดความคิดคำนึงขึ้นว่า เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของ
มนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดี เราพึง
บูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน พราหมณ์ เรา
ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญที่จะอำนวย
ประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’
[๓๓๘] เมื่อท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ‘บ้านเมือง
ของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม มีการเบียดเบียน โจรยังปล้นบ้าน ปล้นนิคม ปล้น
เมืองหลวง ดักจี้ในทางเปลี่ยว เมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม พระองค์จะโปรดให้
ฟื้นฟูพลีกรรมขึ้นก็จะชื่อว่าทรงกระทำสิ่งที่ไม่สมควร พระองค์มีพระราชดำริอย่าง
นี้ว่า ‘เราจักปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจร ด้วยการประหาร จองจำ ปรับไหม
ตำหนิโทษ หรือเนรเทศ’ อย่างนี้ไม่ใช่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง เพราะ
ว่า โจรที่เหลือจากที่กำจัดไปแล้วจักมาเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ในภายหลังได้
แต่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง ต้องอาศัยวิธีการต่อไปนี้ คือ
๑. ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารให้แก่พลเมืองผู้
ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของ
พระองค์
๒. ขอให้พระองค์พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นใน
พาณิชยกรรมในบ้านเมืองของพระองค์
๓. ขอให้พระองค์พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่
ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

พลเมืองเหล่านั้นจักขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียน
บ้านเมืองของพระองค์ และจักมีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองก็จะอยู่
ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนจะชื่นชมยินดีต่อกัน มีความ
สุขกับครอบครัว๑ อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน’
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำของพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ได้พระราชทาน
พันธุ์พืชและอาหารแก่พลเมืองที่ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์
พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม พระราชทานอาหาร
และเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์ พลเมืองเหล่านั้น
ขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ และ
ได้มีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการ
เบียดเบียน ประชาชนต่างชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้อง
ปิดประตูบ้าน
ต่อมา ท้าวเธอรับสั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า ‘ท่านผู้เจริญ เรา
ได้กำจัดเสี้ยนหนามคือโจรจนหมดสิ้นด้วยวิธีการของท่าน และได้มีกองราชทรัพย์
อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชน
ต่างชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน เรา
ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญที่จะอำนวย
ประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’
[๓๓๙] พราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้
เชิญเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์
โปรดรับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราช-
อาณาเขตของพระองค์ โปรดรับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ใน
ชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ และโปรดรับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ใน
นิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอพวกท่านผู้เจริญจงร่วมมือกับเราเพื่อ
อำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’

เชิงอรรถ :
๑ ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก (อุเร ปุตฺเต นจฺเจนฺตา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ อย่าง

พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้วรับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมือง
ที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้เชิญอำมาตย์
ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้
เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์
และรับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของ
พระองค์มาปรึกษาว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอพวก
ท่านผู้เจริญจงร่วมมือกับเราเพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’ คนเหล่า
นั้นกราบทูลว่า ‘ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิด ตอนนี้เป็นเวลาบูชายัญ’ บุคคล ๔
พวกนี้ที่เห็นชอบตามพระราชดำริ จัดเป็นองค์ประกอบของยัญนั้น

คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ อย่าง

[๓๔๐] พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่าง คือ
๑. ทรงมีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ถือ
ปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน
ตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. ทรงมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก
ดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
๓. ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร
เต็มท้องพระคลัง
๔. ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า๑ อยู่ใน
ระเบียบวินัย คอยรับพระบัญชา มีพระบรมเดชานุภาพดังจะ
เผาผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ
๕. ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก๒ ทรงเป็นทานบดี๓ มิได้ทรง
ปิดประตู๔ ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า
คนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนือง ๆ

เชิงอรรถ :
๑ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า
๒ ผู้ที่ไม่ใช่มีเพียงศรัทธาอย่างเดียว แต่เป็นผู้ที่สามารถบริจาคได้ด้วย (ที.สี.อ. ๓๔๐/๒๖๗)
๓ ผู้เป็นนายแห่งทาน ไม่ใช่เป็นทาสหรือเป็นสหายของทาน กล่าวคือ ตนเองใช้สอยตามมีตามเกิด แต่
บริจาคของดีของประณีตให้แก่คนอื่น (ที.สี.อ. ๓๔๐/๒๖๗)
๔ มิได้ปิดประตู (อนาวฏทฺวาโร) หมายถึง ไม่ทรงตระหนี่ แต่ยินดีต้อนรับคนอนาถาตลอดเวลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร] ยัญพิธี ๓ ประการ

๖. ทรงรู้เรื่องราวที่ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มาก
๗. ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุดมุ่ง
หมายแห่งภาษิตนี้ ๆ
๘. ทรงเป็นบัณฑิตมีพระปรีชาสามารถดำริเรื่องราวในอดีต อนาคต
และปัจจุบันได้
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่างดังกล่าวนี้ ซึ่งถือ
เป็นองค์ประกอบแห่งยัญนั้นโดยแท้

คุณลักษณะของพราหมณ์ปุโรหิต ๔ อย่าง

[๓๔๑] พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่าง คือ
๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้
เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์
เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและ
ไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ๑
๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
๔. เป็นบัณฑิตมีปัญญาเฉียบแหลมลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดา
พราหมณ์ผู้รับการบูชา
พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่างดังกล่าวนี้ ซึ่งถือเป็นองค์
ประกอบแห่งยัญนั้นโดยแท้

ยัญพิธี ๓ ประการ

[๓๔๒] ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตแสดงยัญพิธี ๓ ประการถวายแด่พระเจ้า
มหาวิชิตราชก่อนจะทรงบูชายัญว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถ ๒ และ ๓ ในหน้า ๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ

๑. เมื่อพระองค์ปรารถนาจะทรงบูชามหายัญก็ไม่ควรทำความเดือด
ร้อนพระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราจักสิ้นเปลือง
๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อน
พระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเรากำลังสิ้นเปลืองไป
๓. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญแล้วก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระ
ทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราได้สิ้นเปลืองไปแล้ว
พราหมณ์ปุโรหิตแสดงยัญพิธี ๓ ประการดังกล่าวนี้ถวายแด่พระเจ้ามหา-
วิชิตราชก่อนจะทรงบูชายัญ

พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ

[๓๔๓] ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตขจัดความเดือดร้อนพระทัยของพระเจ้า
มหาวิชิตราชเพราะผู้รับทานด้วยอาการ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ คือ
๑. ทั้งพวกที่ฆ่าสัตว์ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ จักพากันมา
สู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ฆ่าสัตว์
จักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวก
ที่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรง
อนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๒. ทั้งพวกที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ทั้งพวกที่เว้นขาด
จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักพากันมาสู่พิธี
บูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ถือเอา
สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระ
องค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรง
อนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๓. ทั้งพวกที่ประพฤติผิดในกาม ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกาม จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ

บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ประพฤติผิดในกามจักได้รับผล
กรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาด
จากการประพฤติผิดในกามเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๔. ทั้งพวกที่กล่าวคำเท็จ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเท็จ
จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น
พวกที่กล่าวคำเท็จจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรง
เจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเท็จเท่านั้นแล้ว
ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้
เลื่อมใสในภายในเถิด
๕. ทั้งพวกที่กล่าวคำส่อเสียด ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำ
ส่อเสียด จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒
พวกนั้น พวกที่กล่าวคำส่อเสียดจักได้รับผลกรรมของเขาเอง
ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำ
ส่อเสียดเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และ
ทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๖. ทั้งพวกที่กล่าวคำหยาบ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ
จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น
พวกที่กล่าวคำหยาบจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์
ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบเท่านั้น
แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้
เลื่อมใสในภายในเถิด
๗. ทั้งพวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำ
เพ้อเจ้อจักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒
พวกนั้น พวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอ
พระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเพ้อ
เจ้อเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรง
ทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

๘. ทั้งพวกที่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ทั้งพวกที่ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น
พวกที่เพ่งเล็งอยากได้ของเขาจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอ
พระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระ
ทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๙. ทั้งพวกที่มีจิตพยาบาท ทั้งพวกที่ไม่มีจิตพยาบาท จักพากันมา
สู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่มีจิต
พยาบาทจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจง
เฉพาะพวกที่ไม่มีจิตพยาบาทเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๐. ทั้งพวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทั้งพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จักพากันมาสู่
พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่เป็น
มิจฉาทิฏฐิจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจง
เฉพาะพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
พราหมณ์ปุโรหิตขจัดความเดือดร้อนพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชเพราะ
ผู้รับทาน ด้วยอาการ ๑๐ อย่างนี้ก่อนจะทรงบูชายัญ

พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

[๓๔๔] ต่อมา พราหมณ์ปุโรหิตได้กราบทูลชี้แจงให้เห็นชัด ชักชวนให้อยาก
รับเอาไปปฏิบัติ เร้าพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้จะทรงบูชามหายัญให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้สดชื่นร่าเริงด้วยอาการ ๑๖ อย่าง คือ
๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครอง
เมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

เห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครอง
เมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบ
ตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา
และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญอำมาตย์
ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชา
มหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มี
ใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญ
อำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว
โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๓. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญพราหมณ์
มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชา
มหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มี
ใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญ
พราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว
โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่ง
ที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญเห็น
ปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญคหบดีผู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรง
ทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรง
อนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นกษัตริย์
ผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ไม่ทรง
ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่จะถูก
คัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูลว่า ถึงกระนั้น ก็ยังทรง
บูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้มีพระชาติกำเนิด
ดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดี
ตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้าง
ถึงชาติตระกูล โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรง
บูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส
ในภายในเถิด
๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์มีพระรูปไม่งดงาม
ไม่น่าดู ไม่น่าเลื่อมใส พระฉวีวรรณไม่ผุดผ่องดุจพรหม ไม่มี
พระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นไม่ยากเลย ถึง
กระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะ
เหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์มี
พระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจ
พรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

๗. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นกษัตริย์
ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้อง
พระคลัง ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น
อยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะ
พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มี
พืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง โปรดทรงทราบตามนี้เถิด
ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๘. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงมีกองทหาร
ที่เข้มแข็งประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัย
คอยรับพระบัญชา ไม่ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผา
ผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยัง
ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใคร
ตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงมีกองทหารที่
เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัย คอย
รับพระบัญชา ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญ
ข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด
ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๙. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงมีพระราช
ศรัทธา ไม่ทรงเป็นทายก ไม่ทรงเป็นทานบดี ทรงปิดประตูไว้
ไม่ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง
วณิพก และยาจก ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

เห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดย
ธรรม เพราะพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก ทรง
เป็นทานบดี มิได้ทรงปิดประตู ทรงเป็นดุจโรงทานของ
สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรง
บำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนือง ๆ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอ
พระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๐. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงรู้เรื่องราวที่
ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มาก ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยัง
ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงรู้เรื่องราวที่ถ่ายทอด
สืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มากโปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระ
องค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัย
ให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงทราบความ
หมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุดมุ่งหมายแห่งภาษิต
นี้ ๆ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่
แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะ
พระองค์ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้
คือจุดมุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ ๆ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด
ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นบัณฑิต
ไม่ทรงเฉียบแหลม ไม่ทรงมีพระปรีชาสามารถ ไม่สามารถจะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

ทรงดำริอรรถที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ ถึงกระนั้น
พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็
ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็น
บัณฑิตเฉียบแหลม ทรงมีพระปรีชาสามารถ ทรงสามารถที่จะ
ดำริ อรรถที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ โปรดทรงทราบ
ตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา
และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๓. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์
ไม่ใช่เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ไม่ใช่ผู้ถือ
ปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่จะถูกคัดค้าน
ตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรง
บูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็น
ผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์
ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้าง
ถึงชาติตระกูล โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา
ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสใน
ภายในเถิด
๑๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์
ไม่ใช่ผู้คงแก่เรียน ไม่ทรงจำมนตร์ ไม่รู้จบไตรเพท พร้อมทั้ง
นิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์
ไม่ใช่ผู้รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ไม่ใช่ผู้ชำนาญโลกายตศาสตร์และ
ลักษณะมหาบุรุษ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็น
ปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม
เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษร-
ศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญ
โลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด
ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์
ไม่ใช่ผู้มีศีล ไม่มีศีลที่เจริญ ไม่ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ถึงกระนั้น
พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็
ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของ
พระองค์เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ โปรด
ทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรง
อนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์
ไม่ใช่บัณฑิตผู้เฉลียวฉลาดมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ใน
บรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชา
มหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้
เฉลียวฉลาด มีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์
ผู้รับการบูชา โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา
ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส
ในภายในเถิด
พราหมณ์ปุโรหิตได้กราบทูลชี้แจงให้เห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้จะทรงบูชามหายัญให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมพระทัยให้สดชื่นร่าเริงด้วยอาการ ๑๖ อย่างเหล่านี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

[๓๔๕] ในยัญนั้นไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่
ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น แม้
เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของพระเจ้ามหาวิชิตราชก็ไม่ถูกลงอาชญา ไม่
มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำบริกรรม แท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้
ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่งที่ปรารถนาเท่านั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้อง
ทำ ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และ
น้ำอ้อยเท่านั้น
[๓๔๖] ต่อมา พวกเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวก
อำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวกพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ใน
นิคมและอยู่ในชนบท พวกคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พากันนำ
ทรัพย์จำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาวิชิตราช กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้นำทรัพย์จำนวนมากนี้มาเพื่อพระองค์ ขอพระองค์ทรง
รับไว้เถิด’
ท้าวเธอตรัสว่า ‘อย่าเลย ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราเองได้รวบรวมทรัพย์
สินจำนวนมากมาจากภาษีอากรอันชอบธรรม ทรัพย์ที่พวกท่านนำมาก็จงเป็น
ของพวกท่านเถิด และพวกท่านจงนำทรัพย์จากที่นี่ไปเพิ่มอีก’
คนเหล่านั้นเมื่อถูกปฏิเสธ จึงจากไปปรึกษาหารือกันว่า ‘การที่พวกเราจะ
รับทรัพย์สินเหล่านี้กลับคืนไปยังบ้านเมืองของตนอีกนั้นไม่เป็นการสมควรเลย พระ
เจ้ามหาวิชิตราชกำลังทรงบูชามหายัญ เอาเถอะพวกเรามาร่วมบูชายัญโดยเสด็จ
พระราชกุศลกันเถิด’
[๓๔๗] ต่อมา พวกเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญ
ทานทางทิศตะวันออกแห่งหลุมยัญ พวกอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ใน
ชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศใต้แห่งหลุมยัญ พวกพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคม
และอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศตะวันตกแห่งหลุมยัญ พวกคหบดีผู้มั่งคั่งที่
อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศเหนือแห่งหลุมยัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

แม้ในยัญของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร
และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อ
เบียดเบียนสัตว์อื่น แม้เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของเจ้าผู้ครองเมือง
เป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ถูกลงอาชญา ไม่มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำบริกรรม
แท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่งที่ปรารถนา
เท่านั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้องทำ ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน
เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเท่านั้น
บุคคล ๔ พวกเห็นชอบตามพระราชดำริ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบ
ด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่าง พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ อย่าง และ
ยัญพิธีอีก ๓ ประการ จึงรวมเรียกว่า ยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖”
[๓๔๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พวกพราหมณ์ได้ส่งเสียงอื้ออึงว่า
“โอ ! ยัญ โอ ! ยัญสมบัติ” ส่วนพราหมณ์กูฏทันตะนั่งนิ่ง
ทันใดนั้น พวกพราหมณ์ได้ถามพราหมณ์กูฏทันตะว่า “เหตุใด ท่านกูฏทันตะ
จึงไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องเล่า”
พราหมณ์กูฏทันตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะไม่ชื่นชมสุภาษิต
ของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องก็หาไม่ แม้ผู้ไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระ
สมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้อง ศีรษะของเขาจะแตก ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าก็ยังรู้สึก
อย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เราได้สดับมาอย่างนี้ หรือว่า เรื่องนี้
ควรเป็นอย่างนี้ แต่พระองค์ตรัสว่า เหตุอย่างนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในกาลนั้น เรื่องเช่น
นี้ได้มีแล้วในกาลนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า พระสมณโคดมทรงเป็นพระเจ้ามหาวิชิตราช
ผู้เป็นเจ้าของแห่งยัญในครั้งโน้นเสียเอง หรือพระองค์ทรงเป็นพราหมณ์ปุโรหิต
ผู้อำนวยการบูชายัญนั้นแน่นอน” ทูลถามว่า “ท่านพระโคดมย่อมทรงทราบแจ้งชัด
หรือว่า ผู้บูชายัญหรือผู้อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น หลังจากตายแล้วไปบังเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เรารู้แจ้งชัดว่า ผู้บูชายัญหรือผู้
อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น หลังจากตายแล้วไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ สมัย
นั้นเราได้(เกิด)เป็นพราหมณ์ปุโรหิตผู้อำนวยการบูชายัญนั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร] ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน

ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน

[๓๔๙] พราหมณ์กูฏทันตะทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีก
หรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่า
ยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ นิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะ
จงบรรพชิตผู้มีศีล นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มี
ผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม อะไรคือเหตุ อะไรคือปัจจัย ให้นิตยทานที่ทำ
สืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่
มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุ
อรหัตตมรรคย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น เพราะในยัญนั้นยังปรากฏว่ามีการประหาร
ด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้นพระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรค
จึงไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น ส่วนนิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล
นั้น พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรคจึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ได้ เพราะใน
ยัญนั้นไม่ปรากฏว่ามีการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้นพระ
อรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรคจึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้
นิตยทานที่ทำสืบกันมานั้น ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มี
ผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
[๓๕๐] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้
ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ
มีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกันมานี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน

เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยัญของบุคคลผู้สร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์ผู้มา
จากทิศทั้ง ๔ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์
มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกัน
มานี้”
[๓๕๑] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้
ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ
มีองค์ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมาและกว่าวิหารทานนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยัญของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใส ถึงพระพุทธเจ้า
พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการ
ตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ
๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา และกว่าวิหารทานนี้”
[๓๕๒] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์
และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์
ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน และกว่าสรณคมน์นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “การที่บุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท
ทั้งหลาย คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการถือเอา
สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เจตนา
เป็นเหตุเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและ
เมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียม
น้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการมี องค์ประกอบ ๑๖ กว่า
นิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน และกว่าสรณคมน์นี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะประกาศตนเป็นอุบาสก

[๓๕๓] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์
และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์
ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน กว่าสรณคมน์ และกว่า
สิกขาบทเหล่านี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตร
มาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่
นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญ
ที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌาน
อยู่ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่า
ยัญที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ นี้เป็นยัญซึ่งใช้
ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้ว
ก่อน ๆ ฯลฯ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๑’ นี้แลเป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการ
ตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ พราหมณ์
ไม่มียัญสมบัติอื่น ๆ ที่จะดียิ่งกว่าหรือประณีตกว่ายัญสมบัตินี้อีกแล้ว”

พราหมณ์กูฏทันตะประกาศตนเป็นอุบาสก

[๓๕๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์กูฏทันตะได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม
ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่ม
แจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทาง

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๐-๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะบรรลุโสดาปัตติผล

แก่ผู้หลงทางหรือตามประทีบในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์
นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต
ข้าพระองค์ได้ปล่อยโคเพศผู้ ลูกโคเพศผู้ ลูกโคเพศเมีย แพะ แกะ อย่างละ ๗๐๐
ตัว ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้นจงได้กินหญ้าเขียวสด ได้ดื่มน้ำเย็น
กระแสลมอ่อน ๆ จงพัดถูกตัวสัตว์เหล่านั้นเถิด”

พราหมณ์กูฏทันตะบรรลุโสดาปัตติผล

[๓๕๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศเรื่อง
ทาน เรื่องศีล เรื่องสวรรค์ เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม และ
อานิสงส์ในการออกบวชแก่พราหมณ์กูฏทันตะ เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์กูฏทันตะ
มีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบานผ่องใส จึงทรงประกาศ
สามุกกังสิกเทศนา๑ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลีคือกิเลส
ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่พราหมณ์กูฏทันตะบนที่นั่งนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้า
ขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
[๓๕๖] ครั้นพราหมณ์กูฏทันตะเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม
หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีก ในหลัก
คำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ขอท่านพระโคดมพร้อมกับ
ภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
[๓๕๗] ทีนั้น พราหมณ์กูฏทันตะทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์
แล้ว จึงลุกจากที่นั่ง กราบพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป ครั้นล่วง
ราตรีนั้น เขาได้สั่งให้จัดของขบฉันอย่างประณีตไว้ในโรงพิธีบูชายัญของตน แล้ว
ให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนาหรือทูลถาม (ที.สี.อ. ๒๙๘/๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะบรรลุโสดาปัตติผล

[๓๕๘] ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จไปยังโรงพิธีบูชายัญของพราหมณ์กูฏทันตะพร้อมกับภิกษุสงฆ์แล้วประทับนั่ง
บนอาสนะที่ปูไว้
จากนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
ทรงวางพระหัตถ์ พราหมณ์กูฏทันตะจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พราหมณ์กูฏทันตะเห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไป

กูฏทันตสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] เรื่องพราหมณทูต

๖. มหาลิสูตร
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีชื่อมหาลิ

เรื่องพราหมณทูต

[๓๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี เวลานั้น พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธจำนวนมากมีธุระพักอยู่ในกรุง
เวสาลี พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้นได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณ-
โคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา
ในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า
ฯลฯ๑ การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
[๓๖๐] ต่อมา พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปยัง
กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน สมัยนั้นท่านพระนาคิตะเป็นพระพุทธอุปัฏฐาก๒
พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปหาท่านพระนาคิตะแล้วเรียนถาม
ว่า “ท่านพระนาคิตะ เวลานี้ท่านพระโคดมนั้นประทับอยู่ที่ไหน พวกเราต้องการ
เข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น”
ท่านพระนาคิตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้ไม่ใช่เวลาเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่”
พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้นจึงนั่ง(รอ) ณ ที่สมควรที่พระวิหาร
นั้นเองด้วยหวังว่า ‘พวกเราได้เข้าเฝ้าท่านพระโคดมก่อนจึงจะไป’

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในอัมพัฏฐสูตร ข้อ ๒๕๕
๒ ครั้งปฐมโพธิกาลไม่มีพระพุทธอุปัฏฐากประจำ ฉะนั้น บางคราวท่านพระนาคสมาละทำหน้าที่ บางคราว
ท่านพระนาคิตะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระอุปวาณะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระสุนักขัตตะทำหน้าที่
บางคราว สามเณรจุนทะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระสาคตะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระเมฆิยะทำ
หน้าที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] เรื่องเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี

เรื่องเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี

[๓๖๑] ฝ่ายเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่เสด็จ
เข้าไปหาท่านพระนาคิตะที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน ทรงกราบท่านพระนาคิตะ
แล้วประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ทรงถามว่า “ท่านพระนาคิตะ เวลานี้พระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน โยมต้องการเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ท่านพระนาคิตะตอบว่า “ถวายพระพร มหาลิ เวลานี้ไม่ใช่เวลาเข้าเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่”
เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีจึงประทับนั่ง(รอ) ณ ที่สมควรที่พระวิหารนั้นเองด้วยหวังว่า
‘เราได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจึงจะไป’
[๓๖๒] ต่อมา สามเณรสีหะ๑ เข้าไปหาท่านพระนาคิตะ กราบท่านพระ
นาคิตะแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรเรียนถามว่า “ข้าแต่ท่านพระกัสสปะผู้เจริญ พวก
พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธจำนวนมากเข้ามาที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาค แม้เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่ก็เสด็จมา
ที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอโอกาสเถิด ขอรับ ขอให้หมู่ชนนั้นได้เข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคบ้าง”
ท่านพระนาคิตะตอบว่า “สีหะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ”
สามเณรสีหะรับคำของท่านพระนาคิตะแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
กราบพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธจำนวนมากเข้ามาที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระผู้มี
พระภาค แม้เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่ก็เสด็จมา
ที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอ
ให้หมู่ชนนั้นได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ สามเณรสีหะเป็นหลานชายของท่านพระนาคิตะ (ที.สี.อ. ๓๖๒/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร]
สมาธิที่ภิกษุเจริญ(บำเพ็ญ)เฉพาะส่วน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงปูอาสนะไว้ในร่มเงาวิหาร”
สามเณรสีหะทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วไปจัดอาสนะใน
ร่มเงาพระวิหาร
[๓๖๓] ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร ไปประทับนั่งบน
อาสนะที่สามเณรสีหะจัดไว้ในร่มเงาพระวิหาร ลำดับนั้น พราหมณทูตชาวโกศลและ
ชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาคพอ
คุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร
[๓๖๔] ฝ่ายเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทรงกราบพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่งอยู่ ณ ที่สมควร
กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหลายวันมาแล้ว เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตร
เข้าไปพบข้าพระองค์แล้วบอกว่า ‘มหาลิ ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่ใกล้ชิดพระผู้มี
พระภาคไม่นานเพียง ๓ ปี ได้เห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
แต่ไม่ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดที่เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้
ยินนั้นมีจริงหรือไม่มีจริง”

สมาธิที่ภิกษุเจริญเฉพาะส่วน

[๓๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ เสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้
ใคร่ พาใจให้กำหนัดที่เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มี”
เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย
ทำให้เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้
กำหนัด ซึ่งมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มีนั้น”
[๓๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิ
เฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก
แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
เมื่อเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิ
เพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่ได้ยินเสียงทิพย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร]
สมาธิที่ภิกษุเจริญ(บำเพ็ญ) ๒ ส่วน

... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้
ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๓๖๗] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศใต้ ฯลฯ ในทิศตะวันตก ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ
ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อัน
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์ ...
ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์ ...
เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่ได้ยินเสียง
ทิพย์ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่
เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๓๖๘] มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียง
ทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูป
ทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้
ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์ ... เธอจึง
ได้ยินแต่เสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่ได้เห็นรูปทิพย์ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พา
ใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้
ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๓๖๙] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้
ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศใต้ ฯลฯ ในทิศตะวันตก
ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิ
เพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิ
เฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่
เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์ ... เธอจึงได้ยินแต่เสียงทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศ
เบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เห็นรูปทิพย์ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร]
สมาธิที่ภิกษุเจริญ(บำเพ็ญ) ๒ ส่วน

เฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศ
เบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๓๗๐] มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูป
ทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ในทิศตะวันออก
เมื่อเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศ
ตะวันออก เธอจึงได้เห็นรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้
ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก
[๓๗๑] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้
เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ในทิศใต้
ฯลฯ ในทิศตะวันตก ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง
เมื่อเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นทั้งรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศ
เบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง เธอจึงได้เห็นรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ใน
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิทั้ง ๒
ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้
กำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง
มหาลิ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินเสียงทิพย์อัน
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ซึ่งมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มีนั้น”
[๓๗๒] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประพฤติ
พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค๑ คงจะมุ่งบรรลุสมาธิภาวนาทั้งสองนั้นเป็นแน่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาลิ ไม่ใช่ภิกษุจะประพฤติพรหมจรรย์ในเราเพียง
เพื่อบรรลุสมาธิภาวนาทั้งสองนี้เท่านั้น แท้จริง ยังมีธรรมอื่นที่ดีกว่าและประณีต
กว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค หมายถึง การบวชประพฤติธรรมในศาสนาของ
พระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] อริยมรรคมีองค์ ๘

อริยผล ๔

[๓๗๓] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมที่ดีกว่า
และประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคมุ่งจะบรรลุนั้นคือ
อะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นโสดาบัน เพราะ
ละสังโยชน์๑ได้ ๓ อย่าง ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๒ ในวันข้าง
หน้า ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุเป็นสกทาคามี เพราะละสังโยชน์ได้ ๓ อย่าง บรรเทา
ราคะโทสะและโมหะให้เบาบางได้ มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์
ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุไปบังเกิดเป็นโอปปาติกะ๓ เพราะละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ ๕
อย่าง ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก ธรรมนี้แลดีกว่าและ
ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ธรรมนี้แลดีกว่าและ
ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
มหาลิ ธรรมเหล่านี้แลทั้งดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ใน
เรามุ่งจะบรรลุ”

อริยมรรคมีองค์ ๘

[๓๗๔] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทาง มีข้อ
ปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้นอยู่หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ สังโยชน์หมายถึง กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ อย่างคือ สักกายทิฏฐิ , วิจิกิจฉา,
สีลัพพตปรามาส,กามฉันทะหรือกามราคะ, พยาบาทหรือปฏิฆะ, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ,
อวิชชา [องฺ.ทสก. ๒๔/๑๓/๑๔]
๒ สัมโพธิ ในที่นี้หมายเอา มรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) [ที.สี.อ.
๓๗๓/๒๘๑]
๓ เป็นโอปปาติกะ ในที่นี้หมายถึงไปเกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] เรื่องนักบวช ๒ รูป

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ มีทาง มีข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม
เหล่านั้นอยู่”
[๓๗๕] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทางเป็นอย่างไร
ข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐเหล่านี้คือ สัมมา
ทิฏฐิ(เห็นชอบ), สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ), สัมมาวาจา(เจรจาชอบ), สัมมา
กัมมันตะ(กระทำชอบ), สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ), สัมมาวายามะ(พยายามชอบ),
สัมมาสติ(ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นชอบ) นี้แลคือทาง นี้คือข้อปฏิบัติ
เพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้น

เรื่องนักบวช ๒ รูป

[๓๗๖] มหาลิ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี มีนักบวช ๒
รูป คือ มัณฑิยปริพาชกและชาลิยปริพาชก ซึ่งเป็นศิษย์ของพวกทารุปัตติกะ
(นักบวชผู้นิยมใช้บาตรไม้)เข้าไปหาเรา สนทนากับเราพอคุ้นเคยดีแล้วยืนอยู่ ณ ที่
สมควร ถามเราว่า ‘ท่านพระโคดม ชีวะ๑ กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะ
กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
[๓๗๗] เราตอบว่า ‘ผู้มีอายุ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจะบอก’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นรับคำของเราแล้ว เราจึงกล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ ตถาคตอุบัติขึ้นมา
ในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๒ (พึงนำข้อความเต็มใน
สามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้) ผู้มีอายุ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล
ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะ
กล่าวว่า ‘ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’

เชิงอรรถ :
๑ ชีวะ ในที่นี้หมายถึง วิญญาณอมตะหรือ อาตมัน (Soul) [อภิ.ป�จ.อ.๑/๑/๑๒๙]
๒ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒ และควรดูเทียบต่อไปจนถึงข้อ ๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] เรื่องนักบวช ๒ รูป

เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ผู้มีอายุ
ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือ
ว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือ
ที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรที่จะกล่าวว่า ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’๑
เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้
ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะ
กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรที่จะกล่าวว่า ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ จึงไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่าง
เดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ดังนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีมีใจยินดีชื่นชมภาษิตของ
พระผู้มีพระภาคแล้วแล

มหาลิสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๗. ชาลิยสูตร] เรื่องนักบวช ๒ รูป

๗. ชาลิยสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อชาลิยะ

เรื่องนักบวช ๒ รูป

[๓๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี มี
นักบวช ๒ รูป คือ มัณฑิยปริพาชกและชาลิยปริพาชก ซึ่งเป็นศิษย์ของพวก
ทารุปัตติกะ(นักบวชผู้นิยมใช้บาตรไม้) เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค สนทนากับพระ
ผู้มีพระภาคพอคุ้นเคยแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่าน
พระโคดม ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
[๓๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้มีอายุ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจ
ให้ดี เราจะบอก”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๑ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ใน
ที่นี้) ผู้มีอายุ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล
ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าว
ว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลตอบว่า “ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า
ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒ อนึ่ง ชาลิยสูตรนี้มีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกับมหาลิ
สูตรตอนปลาย (ข้อ ๓๗๖-๓๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๗. ชาลิยสูตร] เรื่องนักบวช ๒ รูป

ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ผู้มีอายุ
ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือ
ว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลตอบว่า “ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละ
หรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละ
อย่างกัน”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลตอบว่า “ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า
ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
[๓๘๐] ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ผู้มีอายุ
ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือ
ว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลตอบว่า “ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ จึงไม่กล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้น มีใจยินดีต่างชื่นชม
ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

ชาลิยสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร] เรื่องอเจลกัสสปะ

๘. มหาสีหนาทสูตร
ว่าด้วยการบันลืออย่างองอาจดังพญาราชสีห์

เรื่องอเจลกัสสปะ

[๓๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กัณณกถล มฤคทายวัน เขตเมือง
อุชุญญา ครั้งนั้น อเจลกัสสปะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค สนทนากับพระองค์พอคุ้น
เคยแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า
‘พระสมณโคดมทรงตำหนิตบะทุกชนิด ทรงคัดค้านและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า
เป็นผู้มีอาชีวะเศร้าหมองโดยส่วนเดียว’ สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระ
สมณโคดมทรงตำหนิตบะทุกชนิด ทรงคัดค้านและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่าเป็น
ผู้มีอาชีวะเศร้าหมองโดยส่วนเดียว’ ชื่อว่าพูดตรงตามที่ท่านพระโคดมตรัสไว้ ไม่
ชื่อว่ากล่าวตู่ท่านพระโคดมด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่าเป็นผู้พูดอย่างสมเหตุสมผลหรือ
ไม่มีบ้างหรือที่คำเล่าลืออันชอบธรรมนั้นจะเป็นเหตุที่ควรตำหนิได้ เพราะพวก
ข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่ท่านพระโคดมเลย”
[๓๘๒] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กัสสปะ สมณพราหมณ์ที่กล่าวว่า
‘พระสมณโคดมทรงตำหนิตบะทุกชนิด ทรงคัดค้านและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า
เป็นผู้มีอาชีวะเศร้าหมองโดยส่วนเดียว’ ไม่ถือว่าพูดตรงตามที่เราพูด ทั้งไม่ถือว่า
กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ด้วยอาศัยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เราจึงเห็นบุคคลผู้
บำเพ็ญตบะบางคนในโลกนี้มีอาชีวะเศร้าหมอง หลังจากตายแล้ว ไปบังเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรกก็มี ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ก็มี
[๓๘๓] ด้วยอาศัยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เราเห็นบุคคลผู้บำเพ็ญ
ตบะบางคนในโลกนี้อยู่เป็นทุกข์เพราะบุญน้อย หลังจากตายแล้วไปบังเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรกก็มี ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ก็มี เรารู้การมา การไป การจุติ
และการบังเกิดของคนเหล่านั้นตามความเป็นจริงอย่างนี้ ไฉนเราจักตำหนิตบะ
ทุกชนิด หรือคัดค้านและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า เป็นผู้มีอาชีวะเศร้าหมองโดย
ส่วนเดียวเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการไล่เลียงสอบสวน

[๓๘๔] กัสสปะ มีสมณพราหมณ์บางพวกเป็นบัณฑิต ทรงภูมิปัญญา มักโต้
แย้ง มีท่าทางดังขมังธนู พวกเขาดูเหมือนจะกำจัดทิฏฐิได้ด้วยปัญญา สมณพราหมณ์
เหล่านั้นมีทรรศนะตรงกับเราในบางเรื่อง ไม่ตรงกันกับเราในบางเรื่อง บางประเด็นที่
พวกเขาว่าดี แม้เราก็ว่าดี บางประเด็นที่พวกเขาว่าไม่ดี แม้เราก็ว่าไม่ดี บางประเด็น
ที่พวกเขาว่าดี แต่เราว่าไม่ดี บางประเด็นที่พวกเขาว่าไม่ดี แต่เราว่าดี
บางประเด็นที่เราว่าดี สมณพราหมณ์พวกอื่นก็ว่าดี บางประเด็นที่เราว่าไม่ดี
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็ว่าไม่ดี บางประเด็นที่เราว่าดี สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับ
ว่าไม่ดี บางประเด็นที่เราว่าไม่ดี สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับว่าดี

ว่าด้วยการไล่เลียงสอบสวน

[๓๘๕] กัสสปะ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ผู้มีอายุ เรื่องที่ทำให้พวกเรามีวัตรปฏิบัติไม่ตรงกันจงงดไว้ แต่ในเรื่องที่ตรงกัน
วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวน เปรียบเทียบศาสดากับศาสดา หมู่สาวกกับหมู่สาวก
ว่า ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นอกุศลก็จัดว่าเป็นอกุศล ที่มีโทษก็จัดว่ามีโทษ
ที่ไม่ควรเสพก็จัดว่าไม่ควรเสพ ที่ไม่ประเสริฐก็จัดว่าไม่ประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายชั่วก็
จัดว่าเป็นฝ่ายชั่ว ใครเล่าที่ละธรรมเหล่านี้ได้เด็ดขาด พระสมณโคดมหรือว่า
คณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’
[๓๘๖] กัสสปะ เป็นไปได้ที่วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นอกุศลก็จัดว่าเป็นอกุศล ที่มีโทษก็จัดว่า
มีโทษ ที่ไม่ควรเสพก็จัดว่าไม่ควรเสพ ที่ไม่ประเสริฐก็จัดว่าไม่ประเสริฐ และที่เป็น
ฝ่ายชั่วก็จัดว่าเป็นฝ่ายชั่ว พระสมณโคดมละธรรมเหล่านี้ได้เด็ดขาด หรือว่า
คณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’ ในเรื่องนั้นวิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวน
อย่างนี้ โดยมากจะสรรเสริญพวกเราฝ่ายเดียวเท่านั้น
[๓๘๗] ยังมีอีก กัสสปะ วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนพวกเรา เปรียบ
เทียบศาสดากับศาสดา หมู่สาวกกับหมู่สาวกว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็น
กุศลก็จัดว่าเป็นกุศล ที่ไม่มีโทษก็จัดว่าไม่มีโทษ ที่ควรเสพก็จัดว่าควรเสพ ที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการไล่เลียงสอบสวน

ประเสริฐก็จัดว่าประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายดีก็จัดว่าเป็นฝ่ายดี ใครเล่าที่สมาทาน
ประพฤติธรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน พระสมณโคดมหรือว่าคณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่น
กันแน่’
[๓๘๘] กัสสปะ เป็นไปได้ที่วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นกุศลก็จัดว่าเป็นกุศล ที่ไม่มีโทษก็จัดว่า
ไม่มีโทษ ที่ควรเสพก็จัดว่าควรเสพ ที่ประเสริฐก็จัดว่าประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายดีก็จัด
ว่าเป็นฝ่ายดี พระสมณโคดมสมาทานประพฤติธรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน หรือว่า
คณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’ ในเรื่องนั้น วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวน
อย่างนี้ โดยมากจะสรรเสริญพวกเราฝ่ายเดียวเท่านั้น
[๓๘๙] ยังมีอีก กัสสปะ วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนพวกเรา เปรียบ
เทียบศาสดากับศาสดา หมู่สาวกกับหมู่สาวกว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็น
อกุศลก็จัดว่าเป็นอกุศล ที่มีโทษก็จัดว่ามีโทษ ที่ไม่ควรเสพก็จัดว่าไม่ควรเสพ ที่ไม่
ประเสริฐ ก็จัดว่าไม่ประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายชั่วก็จัดว่าเป็นฝ่ายชั่ว ใครเล่าที่ละธรรม
เหล่านี้ได้เด็ดขาด หมู่สาวกของพระสมณโคดมหรือว่าหมู่สาวกของคณาจารย์ผู้
เจริญเหล่าอื่นกันแน่’
[๓๙๐] กัสสปะ เป็นไปได้ที่วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นอกุศลก็จัดว่าเป็นอกุศล ที่มีโทษก็จัดว่า
มีโทษ ที่ไม่ควรเสพก็จัดว่าไม่ควรเสพ ที่ไม่ประเสริฐก็จัดว่าไม่ประเสริฐ และที่เป็น
ฝ่ายชั่วก็จัดว่าเป็นฝ่ายชั่ว หมู่สาวกของพระสมณโคดมละธรรมเหล่านี้ได้เด็ดขาด
หรือว่าหมู่สาวกของคณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’ ในเรื่องนั้น วิญญูชนเมื่อซักไซ้
ไล่เลียงสอบสวนอย่างนี้ โดยมากจะสรรเสริญพวกเราฝ่ายเดียวเท่านั้น
[๓๙๑] ยังมีอีก กัสสปะ วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนพวกเรา เปรียบ
เทียบศาสดากับศาสดา หมู่สาวกกับหมู่สาวกว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็น
กุศลก็จัดว่าเป็นกุศล ที่ไม่มีโทษก็จัดว่าไม่มีโทษ ที่ควรเสพก็จัดว่าควรเสพ ที่
ประเสริฐก็จัดว่าประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายดีก็จัดว่าเป็นฝ่ายดี ใครเล่าที่สมาทาน
ประพฤติธรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน หมู่สาวกของพระสมณโคดมหรือว่าหมู่สาวกของ
คณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะ

[๓๙๒] กัสสปะ เป็นไปได้ที่วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นกุศลก็จัดว่าเป็นกุศล ที่ไม่มีโทษก็จัดว่า
ไม่มีโทษ ที่ควรเสพก็จัดว่าควรเสพ ที่ประเสริฐก็จัดว่าประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายดีก็จัด
ว่าเป็นฝ่ายดี หมู่สาวกของพระสมณโคดมสมาทานประพฤติธรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน
หรือว่าหมู่สาวกของคณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’ ในเรื่องนั้น วิญญูชนเมื่อซักไซ้
ไล่เลียงสอบสวนอย่างนี้ โดยมากจะสรรเสริญพวกเราฝ่ายเดียวเท่านั้น

อริยมรรคมีองค์ ๘

[๓๙๓] กัสสปะ มีทาง มีข้อปฏิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติตามจะรู้เองเห็นเองว่า ‘พระ
สมณโคดมตรัสถูกเวลา ตรัสคำจริง ตรัสอิงประโยชน์ ตรัสอิงธรรม ตรัสอิงวินัย’
กัสสปะ อะไรคือทาง อะไรคือข้อปฏิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติตามจะรู้เองเห็นเองว่า ‘พระ
สมณโคดมตรัสถูกเวลา ตรัสคำจริง ตรัสอิงประโยชน์ ตรัสอิงธรรม ตรัสอิงวินัย’
มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ), สัมมาสังกัปปะ(ดำริ
ชอบ), สัมมาวาจา(เจรจาชอบ), สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ), สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพ
ชอบ), สัมมาวายามะ(พยายามชอบ), สัมมาสติ(ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ(ตั้งจิต
มั่นชอบ) กัสสปะ นี้แลคือทาง คือข้อปฏิบัติที่ผู้ปฏิบัติตามจะรู้เองเห็นเองว่า พระ
สมณโคดมตรัสถูกเวลา ตรัสคำจริง ตรัสอิงประโยชน์ ตรัสอิงธรรม ตรัสอิงวินัย”

ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะ

[๓๙๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อเจลกัสสปะกราบทูลว่า “ท่านพระ
โคดม การบำเพ็ญตบะที่นับว่าเป็นสามัญคุณ๑ และเป็นพรหมัญคุณ๒ ของ
สมณพราหมณ์แม้เหล่านี้ คือ เป็นอเจลก(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท
เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับ
อาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึง สมณกรรม ได้แก่การบำเพ็ญตบะ อันเป็นสิ่งที่ทำให้ความเป็นสมณะสมบูรณ์ ตามความเข้าใจ
ของคนยุคนั้น (ที.สี.อ. ๓๙๔/๒๙๒)
๒ หมายถึง พราหมณกรรม ได้แก่ข้อปฏิบัติที่ทำให้เป็นพราหมณ์โดยสมบูรณ์ ตามความเข้าใจของคนยุค
นั้น (ที.สี.อ. ๓๙๔/๒๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะ

อาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่
รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลัง
บริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่
รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่
เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่
ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง รับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว
รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยัง
ชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาด
น้อย ๒ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน
กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือ๑การบริโภค
อาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อ
[๓๙๕] การบำเพ็ญตบะที่นับว่าเป็นสามัญคุณและพรหมัญคุณของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้น คือ กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือย
เป็นอาหาร กินกากข้าวเป็นอาหาร กินยางเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กิน
รำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็นอาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กิน
โคมัยเป็นอาหาร กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ
[๓๙๖] การบำเพ็ญตบะที่นับว่าเป็นสามัญคุณและพรหมัญคุณของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้น คือ นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่ม
ผ้าบังสุกุล นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้า
คากรอง๒ นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์
นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า ถอนผมและหนวด คือ ถือการถอน
ผมและหนวด ยืนอย่างเดียวไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่ง คือ ถือการเดินกระโหย่ง
(เหยียบพื้นไม่เต็มเท้า) นอนบนหนาม นอนบนแผ่นกระดาน นอนบนเนินดิน นอน
ตะแคงข้างเดียว เอาฝุ่นคลุกตัว อยู่กลางแจ้ง นั่งบนอาสนะตามที่ปูไว้ บริโภคคูถ
คือ ถือการบริโภคคูถ ไม่ดื่มน้ำเย็น คือถือการไม่ดื่มน้ำเย็น อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง
คือถือการลงอาบน้ำ”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ถือ ในที่นี้ แปลจากบาลีว่า อนุโยคมนุยุตฺต ซึ่งหมายถึง การยึดมั่นในวัตรปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
๒ ผ้าที่ถักทอด้วยหญ้าคา เป็นผ้าที่พวกฤๅษีใช้นุ่งห่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะที่ไร้ประโยชน์

ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะที่ไร้ประโยชน์

[๓๙๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นอเจลก
ไม่มีมารยาท เลียมือ ฯลฯ ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อเช่นนี้ สีล-
สัมปทา จิตสัมปทา หรือปัญญาสัมปทาก็ยังไม่เป็นอันสมณพราหมณ์นั้นอบรมทำ
ให้แจ้ง ที่แท้ เขายังห่างไกลจากสามัญคุณและพรหมัญคุณ ต่อเมื่อภิกษุเจริญเมตตา
จิตอันไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่า
สมณะบ้าง ว่าพราหมณ์๑ บ้าง
แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นผู้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร
ฯลฯ กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินผลไม้หล่นยังชีพ สีลสัมปทา จิตสัมปทา
หรือปัญญาสัมปทาก็ยังไม่เป็นอันสมณพราหมณ์นั้นอบรมทำให้แจ้ง ที่แท้ เขายัง
ห่างไกลจากสามัญคุณและพรหมัญคุณ ต่อเมื่อภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวรไม่มี
ความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้น
ไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่าสมณะบ้าง ว่า
พราหมณ์บ้าง
แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นผู้นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน ฯลฯ อาบน้ำวัน
ละ ๓ ครั้ง คือถือการลงอาบน้ำ สีลสัมปทา จิตสัมปทา หรือปัญญาสัมปทาก็ยังไม่
เป็นอันสมณพราหมณ์นั้นอบรมทำให้แจ้ง ที่แท้ เขายังห่างไกลจากสามัญคุณและ
พรหมัญคุณ ต่อเมื่อภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่าสมณะบ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง”
[๓๙๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อเจลกัสสปะกราบทูลว่า “ท่าน
พระโคดม สามัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อที่สามัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็น
กิจที่ทำได้ยากเป็นเรื่องปกติในโลก แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นอเจลก ไม่มีมารยาท

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์ ในที่นี้ หมายถึงพระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะที่ไร้ประโยชน์

เลียมือ ฯลฯ ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อเช่นนี้ ถ้าสามัญคุณหรือ
พรหมัญคุณ ซึ่งถือว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากแสนยากจักมีได้ด้วยการปฏิบัติเล็ก ๆ
น้อย ๆ และด้วยการบำเพ็ญตบะดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ‘สามัญคุณเป็น
กิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก’
เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดีแม้กระทั่งนางกุมภทาสีก็อาจจะทำสามัญคุณ
และพรหมัญคุณนั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘เอาเถอะ เราจะเป็นอเจลก ไม่มีมารยาท เลีย
มือ ฯลฯ ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อเช่นนี้’
เพราะสามัญคุณหรือพรหมัญคุณจักได้ชื่อว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากแสนยาก ก็ต่อ
เมื่อได้เว้นจากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึง
ควรกล่าวว่า ‘สามัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก’ หาก
ภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุนี้เราเรียกว่าสมณะบ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง
แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นผู้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร
ฯลฯ กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินผลไม้หล่นยังชีพ ถ้าสามัญคุณหรือ
พรหมัญคุณ ซึ่งถือว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากแสนยาก จักมีได้ด้วยการปฏิบัติเล็ก ๆ
น้อย ๆ และด้วยการบำเพ็ญตบะดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ‘สามัญคุณเป็น
กิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก’
เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดี แม้กระทั่งนางกุมภทาสีก็อาจจะทำสามัญคุณ
และพรหมัญคุณนั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘เอาเถอะ เราจะกินผักดองเป็นอาหาร กิน
ข้าวฟ่างเป็นอาหาร ฯลฯ กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินผลไม้หล่นยังชีพ’
เพราะสามัญคุณหรือพรหมัญคุณจักได้ชื่อว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากแสนยาก ก็ต่อ
เมื่อได้เว้นจากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึง
ควรกล่าวว่า ‘สามัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก’ หาก
ภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุนี้เราเรียกว่าสมณะบ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะที่ไร้ประโยชน์

แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นผู้นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน ฯลฯ อาบน้ำวัน
ละ ๓ ครั้ง คือถือการลงอาบน้ำ ถ้าสามัญคุณหรือพรหมัญคุณซึ่งถือว่าเป็นกิจที่ทำ
ได้ยากแสนยาก จักมีได้ด้วยการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และด้วยการบำเพ็ญตบะ
ดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ‘สามัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็น
กิจที่ทำได้ยาก’
เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดี แม้กระทั่งนางกุมภทาสี ก็อาจจะทำสามัญคุณ
และพรหมัญคุณนั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘เอาเถอะ เราจะนุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้า
แกมกัน ฯลฯ อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือถือการลงอาบน้ำ’
เพราะสามัญคุณหรือพรหมัญคุณจักได้ชื่อว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากแสนยาก ก็ต่อ
เมื่อได้เว้นจากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึง
ควรกล่าวว่า ‘สามัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก’ หาก
ภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุนี้เราเรียกว่าสมณะบ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง”
[๓๙๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อเจลกัสสปะกราบทูลว่า “ท่าน
พระโคดม สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อที่สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้
ยากเป็นเรื่องปกติในโลก แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นอเจลก ไม่มีมารยาท เลียมือ
ฯลฯ ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อเช่นนี้ ถ้าสมณะหรือพราหมณ์ซึ่งถือ
ว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยากแสนยากจักมีได้ด้วยการปฏิบัติเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ และด้วยการ
บำเพ็ญตบะดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์
เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’
เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดีแม้กระทั่งนางกุมภทาสีก็อาจรู้จักสมณะและ
พราหมณ์นั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘ผู้นี้เป็นอเจลก ไม่มีมารยาท เลียมือ ฯลฯ ถือการ
บริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อเช่นนี้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะที่ไร้ประโยชน์

เพราะสมณะหรือพราหมณ์จักได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยากแสนยาก ก็ต่อเมื่อได้เว้น
จากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึงควรกล่าวว่า
‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’ หากภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่
มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่า สมณะ
บ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง
แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นผู้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร
ฯลฯ กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินผลไม้หล่นยังชีพ ถ้าสมณะหรือพราหมณ์
ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยากแสนยากจักมีได้ด้วยการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และด้วยการ
บำเพ็ญตบะดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์
เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’
เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดีแม้กระทั่งนางกุมภทาสีก็อาจรู้จักสมณะและ
พราหมณ์นั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘ผู้นี้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร
ฯลฯ กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินผลไม้หล่นยังชีพ’
เพราะสมณะหรือพราหมณ์จักได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยากแสนยาก ก็ต่อเมื่อได้เว้น
จากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึงควรกล่าวว่า
‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’ หากภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่าสมณะ
บ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง
แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นผู้นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน ฯลฯ อาบน้ำ
วันละ ๓ ครั้ง คือถือการลงอาบน้ำ ถ้าสมณะหรือพราหมณ์ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก
แสนยาก จักมีได้ด้วยการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และด้วยการบำเพ็ญตบะดังกล่าวนี้
แล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นต้น

เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดีแม้กระทั่งนางกุมภทาสีก็อาจรู้จักสมณะและ
พราหมณ์นั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘ผู้นี้นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน ฯลฯ อาบน้ำ
วันละ ๓ ครั้ง คือถือการลงอาบน้ำ’
เพราะสมณะหรือพราหมณ์จักได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยากแสนยาก ก็ต่อเมื่อได้เว้น
จากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึงควรกล่าวว่า
‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’ หากภิกษุเจริญเมตตาจิตอัน
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ทำให้รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่า
สมณะบ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง”

ความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นต้น

[๔๐๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อเจลกัสสปะทูลถามว่า “ท่านพระ
โคดม สีลสัมปทานั้นเป็นอย่างไร จิตสัมปทานั้นเป็นอย่างไร ปัญญาสัมปทานั้นเป็น
อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กัสสปะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล มี
อาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย สมบูรณ์ด้วย
สติสัมปชัญญะ(และ)เป็นผู้สันโดษ
[๔๐๑] ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละ
เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู
มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ข้อนี้จัดเป็นสีลสัมปทาของภิกษุอย่างหนึ่ง ฯลฯ
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากการสำรวมในศีล
เลย เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกเป็นพระราชา กำจัดข้าศึกได้แล้ว ย่อม
ไม่ประสบภัยอันตรายจากข้าศึกเลย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอริยสีลขันธ์อย่างนี้ ย่อม
เสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน กัสสปะ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล นี้
แลเป็นสีลสัมปทา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยทรงบันลืออย่างองอาจดังพญาราชสีห์

ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุ
จตุตถฌานอยู่ นี้แลเป็นจิตสัมปทา
เมื่อมีจิตเป็นสมาธิอย่างนี้ ฯลฯ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ๑ รู้ชัด
ว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป นี้แลเป็นปัญญาสัมปทา
กัสสปะ สีลสัมปทา จิตสัมปทา และปัญญาสัมปทาอย่างอื่นที่ยอดเยี่ยม
กว่าและประณีตกว่าสีลสัมปทา จิตสัมปทา และปัญญาสัมปทานี้ไม่มีอีกแล้ว

ว่าด้วยทรงบันลืออย่างองอาจดังพญาราชสีห์

[๔๐๒] กัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดเรื่องศีล กล่าวสรรเสริญศีล
มากมาย ศีลอันยอดเยี่ยมมีเท่าไร เรายังไม่เห็นผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนั้น จะไป
หาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า ที่แท้ เราผู้เดียวเป็นผู้ล้ำเลิศในศีลอันยอดเยี่ยม คือ
อธิศีล
กัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดเรื่องตบะที่กีดกันกิเลส กล่าวสรรเสริญ
ตบะที่กีดกันกิเลสมากมาย ตบะที่กีดกันกิเลสอย่างยอดเยี่ยมมีเท่าไร เรายังไม่เห็น
ผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนั้น จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า ที่แท้ เราผู้เดียว
เป็นผู้ล้ำเลิศในตบะที่กีดกันกิเลสอันยอดเยี่ยม คืออธิเชคุจฉะ
กัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดเรื่องปัญญา กล่าวสรรเสริญปัญญาไว้
มากมาย ปัญญาอันยอดเยี่ยมมีเท่าไร เรายังไม่เห็นผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนั้น
จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า ที่แท้ เราผู้เดียวเป็นผู้ล้ำเลิศในปัญญาอันยอด
เยี่ยม คืออธิปัญญา
กัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดเรื่องความหลุดพ้น กล่าวสรรเสริญ
ความหลุดพ้นไว้มากมาย ความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยมมีเท่าไร เรายังไม่เห็นผู้จะ
ทัดเทียมเราได้ในเรื่องนั้น จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า ที่แท้ เราผู้เดียวเป็นผู้
ล้ำเลิศในเรื่องความหลุดพ้น คืออธิวิมุตติ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยทรงบันลืออย่างองอาจดังพญาราชสีห์

[๔๐๓] กัสสปะ เป็นไปได้ที่พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์จะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระ
สมณโคดมทรงบันลือสีหนาท๑ แต่ทรงบันลือในเรือนว่างเท่านั้น ไม่ทรงบันลือใน
บริษัท๒เลย’ ท่านพึงบอกพวกเขาว่า ‘พวกท่านอย่ากล่าวอย่างนั้น พระสมณโคดม
ทรงบันลือสีหนาทและทรงบันลือในบริษัทด้วย’
กัสสปะ เป็นไปได้ที่พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์จะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณ-
โคดมทรงบันลือสีหนาทและทรงบันลือในบริษัท แต่ไม่ทรงบันลืออย่างองอาจ’ ท่าน
พึงบอกพวกเขาว่า ‘พวกท่านอย่ากล่าวอย่างนั้น พระสมณโคดมทรงบันลือสีหนาท
และทรงบันลือในบริษัท พร้อมทั้งทรงบันลืออย่างองอาจด้วย’
กัสสปะ เป็นไปได้ที่พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์จะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณ-
โคดมทรงบันลือสีหนาทและทรงบันลือในบริษัท พร้อมทั้งทรงบันลืออย่างองอาจ
แต่เทวดาและมนุษย์ไม่ได้ทูลถามปัญหา ฯลฯ และเทวดาและมนุษย์ทูลถามปัญหา
แต่พระองค์ก็ทรงตอบไม่ได้ ฯลฯ และพระองค์ทรงตอบได้ แต่ก็ทำให้ผู้ถามพอใจไม่ได้
ฯลฯ และพระองค์ทรงทำให้ผู้ถามพอใจได้ แต่พวกเขาก็ไม่สนใจฟัง ฯลฯ และพวก
เขาสนใจฟัง แต่ก็ไม่เลื่อมใส ฯลฯ และพวกเขาเลื่อมใสแต่ก็ไม่แสดงออก ฯลฯ และ
พวกเขาแสดงออก แต่ก็ไม่ปฏิบัติตาม ฯลฯ และพวกเขาปฏิบัติตาม แต่ก็ไม่ชื่นชม
ยินดี’ ท่านพึงบอกพวกเขาว่า ‘พวกท่านอย่ากล่าวอย่างนั้น พระสมณโคดมทรง
บันลือสีหนาท ทรงบันลือในบริษัทและทรงบันลืออย่างองอาจ เทวดาและมนุษย์พา
กันทูลถามปัญหา พระองค์ทรงตอบได้ พระองค์ทรงทำให้ผู้ถามพอใจได้ พวกเขาก็
สนใจฟัง ฟังแล้วก็เลื่อมใส เลื่อมใสแล้วก็แสดงออก แสดงออกแล้วก็ปฏิบัติตาม
เมื่อปฏิบัติตามต่างก็ชื่นชมยินดี’

เชิงอรรถ :
๑ ทรงบันลือสีหนาท หมายถึง คำพูดที่ตรัสด้วยท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะทรง
มั่นพระทัยในศีล สมาธิ ปัญญาของพระองค์ (ที.สี.ฏีกา ๑/๔๐๓/๔๓๒)
๒ บริษัท ในที่นี้หมายถึง กลุ่มของบุคคลหลายสถานะที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อต้องการจะฟังพระธรรม-
เทศนา มี ๘ กลุ่มคือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมหาราชิกาบริษัท
ตาวติงสบริษัท มารบริษัท และพรหมบริษัท (ม.มู. ๑๒/๑๕๑/๑๑๒, ที.สี.อ. ๔๐๓/๒๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการอยู่ปริวาสของเดียรถีย์

ว่าด้วยการอยู่ปริวาสของเดียรถีย์

[๔๐๔] กัสสปะ ครั้งหนึ่งเราอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ เพื่อน
พรหมจารีคนหนึ่งของท่านในกรุงราชคฤห์ชื่อนิโครธปริพาชก ได้ถามปัญหาเรื่อง
ตบะที่กีดกันกิเลสอย่างยอดเยี่ยม เมื่อเราตอบคำถาม เขาก็ปลื้มใจเป็นอย่างมาก”
อเจลกัสสปะทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีใครเล่าที่ฟังธรรมของพระผู้มี
พระภาคแล้วจะไม่ปลื้มใจ แม้ข้าพระองค์ได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเองแล้วก็ยัง
ปลื้มใจเป็นอย่างมาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดย
ตั้งใจว่า ผู้มีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้
อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
[๔๐๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ประสงค์จะ
บรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส๑ ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือน
ล่วงไปแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ อนึ่ง ในเรื่องนี้เรา
คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย”
เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ประสงค์จะ
บรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือน
ล่วงไปแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ ข้าพระองค์จักขออยู่
ปริวาส ๔ ปี หลังจาก ๔ ปีล่วงไปแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็น
ภิกษุ”

เชิงอรรถ :
๑ ปริวาสในพระสูตรนี้เรียกว่า ติตถิยปริวาส ได้แก่ ข้อบังคับนักบวชนอกพระพุทธศาสนาที่หันมาเลื่อมใส
พระธรรมวินัยแล้วประสงค์จะบวชเป็นภิกษุ ให้ขอปริวาสต่อสงฆ์ แล้วดำรงตนอย่างสามเณรครบ ๔ เดือน
จนสงฆ์พอใจจึงจะขออุปสมบทเป็นภิกษุได้ (ที.สี.อ. ๔๐๕/๒๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการอยู่ปริวาสของเดียรถีย์

อเจลกัสสปะได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค เมื่อบวชแล้ว
ไม่นาน จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มุ่งมั่นพระนิพพานอยู่ ไม่นาน
นักก็ทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์๑ อันยอดเยี่ยม ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือน
ไปบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า
‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๒ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
จึงเป็นอันว่า ท่านพระกัสสปะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระ
อรหันต์ทั้งหลาย

มหาสีหนาทสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
เรื่องโปฏฐปาทปริพาชก

๙. โปฏฐปาทสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อโปฏฐปาทะ

เรื่องโปฏฐปาทปริพาชก

[๔๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ในสมัยนั้น โปฏฐปาทปริพาชกพร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่
ใหญ่ประมาณ ๓,๐๐๐ รูป พักอยู่ในพระราชอุทยานของพระนางมัลลิกา ชื่อเอกสาลกะ
ที่จัดไว้เพื่อเป็นที่ประกาศลัทธิ รายล้อมด้วยต้นมะพลับ เช้าวันนั้น พระผู้มีพระภาค
ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต
[๔๐๗] พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า ‘ยังเช้าเกินไปที่จะเที่ยวบิณฑบาตในกรุง
สาวัตถี ทางที่ดี เราควรเข้าไปหาโปฏฐปาทปริพาชกในพระราชอุทยานของพระ
นางมัลลิกา ชื่อเอกสาลกะ ที่จัดไว้เพื่อเป็นที่ประกาศลัทธิ’ จึงเสด็จเข้าไปที่พระ
ราชอุทยานของพระนางมัลลิกาชื่อเอกสาลกะ ที่จัดไว้เพื่อเป็นที่ประกาศลัทธิ๑
[๔๐๘] เวลานั้น โปฏฐปาทปริพาชกกำลังนั่งสนทนาด้วยเสียงดังอื้ออึงอยู่กับ
ปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ถึงเดรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่อง
มหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่อง
ที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม
เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่อง
ท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ
และความเสื่อม

เชิงอรรถ :
๑ เหตุการณ์ในพระสูตรนี้บอกให้ทราบถึงสภาพทางสังคมในสมัยพุทธกาลอย่างหนึ่ง คือ สมัยนั้นคนชอบ
แสวงหาความรู้ ใครต้องการแสดงทรรศนะของตนก็สามารถไปแสดงในศาลาถกแถลงที่จัดไว้ อีกทั้ง
ยืนยันว่า การประกาศธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า มิใช่ว่าพระองค์จะทรงวางท่าทีเป็นปรปักษ์กับนักบวช
ต่างลัทธิ (ที.สี.อ. ๔๐๖/๓๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยอภิญญานิโรธ

[๔๐๙] โปฏฐปาทปริพาชกเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลจึงห้ามบริษัท
ของตนว่า “ท่านทั้งหลายโปรดเงียบหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง พระสมณโคดมกำลัง
เสด็จมา พระองค์โปรดเสียงเบา ตรัสสรรเสริญเสียงเบา บางทีเมื่อพระองค์ทรง
ทราบว่าบริษัทเสียงเบา อาจจะเสด็จเข้ามาก็ได้” เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ปริพาชก
เหล่านั้นจึงได้เงียบ
[๔๑๐] ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาโปฏฐปาทปริพาชก โปฏฐปาท-
ปริพาชกจึงทูลเชิญว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้ามาเถิด
ขอรับเสด็จพระผู้มีพระภาค นาน ๆ พระองค์จะมีเวลาเสด็จมาที่นี่ ขอพระผู้มี
พระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ส่วนโปฏฐปาทปริพาชกก็เลือกนั่ง
ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า “โปฏฐปาทะ เวลา
นี้พวกท่านนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้”

ว่าด้วยอภิสัญญานิโรธ๑

[๔๑๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ โปฏฐปาทปริพาชกกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องที่พวกข้าพระองค์สนทนากันในวลานี้ของดไว้ก่อน เรื่อง
นี้พระองค์จะทรงสดับเมื่อใดก็ได้ในภายหลัง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อน ๆ พวก
สมณพราหมณ์ผู้มีลัทธิต่างกันได้มาชุมนุมกันที่ศาลาถกแถลง๒ ตั้งประเด็นสนทนา
กันเรื่องอภิสัญญานิโรธว่า ‘ท่านทั้งหลาย อภิสัญญานิโรธ คืออะไร’ ในบรรดา
สมณพราหมณ์เหล่านั้น บางพวกเสนอว่า ‘สัญญาของคนไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย เกิดดับ
ไปเอง เวลาที่เกิดสัญญา คนก็มีความจำ เมื่อสัญญาดับ คนก็จำอะไรไม่ได้’ พวก
หนึ่งเสนอประเด็นเรื่องอภิสัญญานิโรธไว้อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ หัวข้อสนทนาว่าด้วยการดับของสัญญา ซึ่งในอรรถกถาแก้เป็นจิตตนิโรธหรือความดับจิต อันเป็นการดับ
ชั่วคราว (ที.สี.อ. ๔๑๑/๓๐๔-๓๐๕)
๒ ศัพท์บาลีว่า โกตุหลศาลา อรรถกถาแก้ว่า ไม่มีศาลาที่มีชื่ออย่างนี้โดยเฉพาะ แต่เป็นสถานที่
ที่สมณพราหมณ์ผู้เป็นเดียรถีย์ต่างพวกมาแสดงทรรศนะตามลัทธิของตน (ที.สี.อ. ๔๑๑/๓๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

สมณพราหมณ์อีกคนหนึ่งเสนอว่า ‘ท่านทั้งหลาย เรื่องนั้นไม่ถูก เพราะสัญญา
เป็นอัตตา(ตัวตน)ของคนที่เวียนเข้าเวียนออก เวลาที่สัญญาเป็นอัตตาเวียนเข้า คนก็
มีความจำ เมื่อสัญญาเป็นอัตตาเวียนออก คนก็จำอะไรไม่ได้’ พวกหนึ่งเสนอ
ประเด็นเรื่องอภิสัญญานิโรธไว้อย่างนี้
สมณพราหมณ์อีกคนหนึ่งเสนอว่า ‘ท่านทั้งหลาย เรื่องนั้นก็ไม่ถูก เพราะมี
สมณพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก สามารถบันดาลสัญญาของคนให้เข้าไป
หรือให้ออกไปก็ได้ เวลาที่บันดาลให้สัญญาเข้าไป คนก็มีความจำ เมื่อบันดาลให้สัญญา
ออกไป คนก็จำอะไรไม่ได้’ พวกหนึ่งเสนอประเด็นเรื่องอภิสัญญานิโรธไว้อย่างนี้
สมณพราหมณ์อีกคนหนึ่งเสนอว่า ‘ท่านทั้งหลาย เรื่องนั้นก็ไม่ถูก เพราะมี
เทวดาผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก สามารถบันดาลสัญญาของคนให้เข้าไปหรือให้ออก
ไปก็ได้ เวลาที่บันดาลให้สัญญาเข้าไป คนก็มีความจำ เมื่อบันดาลให้สัญญาออกไป
คนก็จำอะไรไม่ได้’ พวกหนึ่งเสนอประเด็นเรื่องอภิสัญญานิโรธไว้อย่างนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคว่า ‘ผู้ฉลาดในธรรม
เหล่านี้ ต้องเป็นพระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตเท่านั้น’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระ
ผู้มีพระภาคทรงฉลาดรอบรู้ในเรื่องอภิสัญญานิโรธนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อภิสัญญานิโรธเป็นอย่างไรหนอแล”

ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

[๔๑๒] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ บรรดาสมณพราหมณ์
เหล่านั้น ความเห็นของพวกที่กล่าวว่า ‘สัญญาของคนไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยเกิดดับ
ไปเอง’ นั้นผิดตั้งแต่แรกทีเดียว เพราะเหตุไร เพราะสัญญาของคนมีเหตุมีปัจจัย
เกิดก็มี ดับก็มี สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา๑ก็มี สัญญาอีกอย่างหนึ่ง
ดับเพราะการศึกษาก็มี

เชิงอรรถ :
๑ สิกขา การศึกษา การสำเหนียก หรือข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรม มี ๓ อย่างคือ อธิสีลสิกขา (การ
ศึกษาอบรมในเรื่องศีล) อธิจิตตสิกขา (การศึกษาอบรมในเรื่องจิต เรียกง่าย ๆ ว่าสมาธิ) และอธิปัญญา-
สิกขา (การศึกษาอบรมในเรื่องปัญญา) เป็นเหตุใหัสัญญาดับและเกิดได้ เช่น พอจิตบรรลุปฐมฌาน
กามสัญญาก็ดับไป สัจสัญญาอันละเอียดมีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกก็เกิดขึ้นมาแทน (ที.สี.อ. ๔๑๓/๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

[๔๑๓] การศึกษาเป็นอย่างไร โปฏฐปาทะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตร
มาใส่ไว้ที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ เมื่อภิกษุนั้นพิจารณา
เห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้ว ย่อมเกิดความเบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ
เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อม
ตั้งมั่น ภิกษุนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก
วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ กามสัญญา (ความจำได้หมายรู้เรื่องกาม) ของ
เธอ ที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญา๑อันละเอียดมีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะเกิด
ขึ้นแทน สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการ
ศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอัน
เกิดจากสมาธิอยู่ สัจสัญญาอันละเอียดมีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกที่มีอยู่ก่อนจะดับไป
สัจสัญญาอันละเอียดมีปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะเกิดขึ้นแทน สัญญาอย่างหนึ่ง
เกิดเพราะการศึกษา สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการ
ศึกษาอย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขามีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขามี
สติ อยู่เป็นสุข สัจสัญญาอันละเอียดมีปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิที่มีอยู่ก่อนจะดับไป
สัจสัญญาอันละเอียดมีสุขอันเกิดจากอุเบกขาจะเกิดขึ้นแทน สัญญาอย่างหนึ่งเกิด
เพราะการศึกษา สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษา
อย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป
ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

เชิงอรรถ :
๑ สัจสัญญา คือความสำคัญหรือความรู้สึกว่ามีปีติและสุขเป็นต้น ที่ชื่อว่าสัจสัญญา เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
(ที.สี.อ. ๔๑๓/๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

สัจสัญญาอันละเอียดมีสุขอันเกิดจากอุเบกขาที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญาอัน
ละเอียดที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขจะเกิดขึ้นแทน สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา
สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน๑ โดยกำหนดว่า
อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง รูปสัญญาที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญาอันละเอียดประกอบ
ด้วยอากาสานัญจายตนฌานจะเกิดขึ้นแทน ภิกษุนั้นมีสัจสัญญาอันละเอียดประกอบ
ด้วยอากาสานัญจายตนฌานในตอนนั้น สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา
สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน๒ โดยกำหนดว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ สัจสัญญาอัน
ละเอียดประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญา
อันละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานจะเกิดขึ้นแทน ภิกษุนั้นมีสัจสัญญา
อันละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานในตอนนั้น สัญญาอย่างหนึ่งเกิด
เพราะการศึกษา สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษา
อย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน๓ โดยกำหนดว่า ไม่มีอะไร สัจสัญญาอันละเอียด
ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญาอันละเอียด
ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌานจะเกิดขึ้นแทน ภิกษุนั้นมีสัจสัญญาอันละเอียด
ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌานในตอนนั้น สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา
สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ฌานที่กำหนดอากาศคือช่องว่างอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ ๑ ของอรูปฌา ๔
๒ ฌานที่กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ ๒ ของอรูปฌาน ๔
๓ ฌานที่กำหนดภาวะอันไม่มีอะไร (ความว่าง) เป็นอารมณ์ อากิญจัญญายตนฌาน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
สัญญัคคะ (ที่สุดแห่งสัญญา) เพราะเป็นภาวะสุดท้ายของการมีสัญญา กล่าวคือ ผู้บรรลุอากิญจัญ-
ญายตนฌานแล้ว ขั้นต่อไปจะเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง เข้าถึงสัญญานิโรธบ้าง (ที.สี.อ.
๔๑๔/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

[๔๑๔] โปฏฐปาทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ที่ยังมีสกสัญญา๑ เธอออกจาก
ปฐมฌานเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานเข้าตติยฌาน จนถึงอากิญจัญญายตน-
ฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญาโดยลำดับ เมื่อเธออยู่ในอากิญจัญญายตนฌานอันเป็น
ที่สุดแห่งสัญญา เกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ว่า ‘เมื่อเรายังคิดอยู่ไม่ดีเลย ไม่คิดเสียจะ
ดีกว่า ถ้าเรายังคิดยังคำนึง สัญญาเหล่านี้ (ที่เราได้มาแล้ว)จะพึงดับ สัญญาอื่นที่
หยาบจะเกิดขึ้นแทน ทางที่ดีเราไม่ควรคิดและไม่ควรคำนึง’ เธอจึงไม่คิดไม่คำนึง
เมื่อเธอไม่คิดไม่คำนึง สัญญานั้นจึงดับไป สัญญาอื่นที่หยาบก็ไม่เกิดขึ้น เธอจึงบรรลุ
นิโรธ โปฏฐปาทะ การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุผู้มีความรู้ตัวโดยลำดับ ย่อมมี
ได้ด้วยอาการอย่างนี้
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุ
ผู้มีความรู้สึกตัวโดยลำดับเช่นนี้ ท่านเคยได้ยินมาก่อนบ้างหรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ไม่เคยได้ยินเลย พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เพิ่งรู้ทั่วถึง
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วเดี๋ยวนี้เองว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ที่ยังมี
สกสัญญา เธอออกจากปฐมฌานเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานเข้าตติยฌาน
จนถึงอากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญาโดยลำดับ เมื่อเธออยู่ใน
อากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญา เกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ว่า ‘เมื่อ
เรายังคิดอยู่ไม่ดีเลย ไม่คิดเสียจะดีกว่า ถ้าเรายังคิดยังคำนึง สัญญาเหล่านี้ (ที่เรา
ได้มาแล้ว)จะพึงดับ สัญญาอื่นที่หยาบจะเกิดขึ้นแทน ทางที่ดีเราไม่ควรคิดและไม่
ควรคำนึง’ เธอจึงไม่คิดไม่คำนึง เมื่อเธอไม่คิดไม่คำนึง สัญญานั้นจึงดับไป สัญญา
อื่นที่หยาบก็ไม่เกิดขึ้น เธอจึงบรรลุนิโรธ การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุผู้มี
ความรู้สึกตัวโดยลำดับ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เป็นอย่างนั้น โปฏฐปาทะ”
[๔๑๕] เขาทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติอากิญจัญญายตนฌาน
อันเป็นที่สุดแห่งสัญญาไว้อย่างเดียวหรือบัญญัติไว้หลายอย่าง พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ความสำคัญว่าเป็นของตน, นึกว่าเป็นของตนเอง (ที.สี.อ. ๔๑๔/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ เราบัญญัติอากิญจัญญายตนฌาน
อันเป็นที่สุดแห่งสัญญาไว้อย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี”
เขาทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติอากิญจัญญายตนฌานอันเป็น
ที่สุดแห่งสัญญาไว้อย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี โดยวิธีใดบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ เราบัญญัติอากิญจัญญายตนฌาน
อันเป็นที่สุดแห่งสัญญาไว้โดยวิธีที่พระโยคาวจรจะบรรลุนิโรธได้ ดังนั้นเราจึงบัญญัติ
อากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญาอย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี”
[๔๑๖] เขาทูลถามว่า “สัญญาเกิดขึ้นก่อนญาณ หรือว่าญาณเกิดขึ้นก่อน
สัญญา๑ หรือว่าทั้งสัญญาและญาณเกิดขึ้นพร้อมกัน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ สัญญาเกิดขึ้นก่อนญาณ เพราะมี
สัญญาเกิดขึ้นจึงมีญาณเกิดขึ้น ภิกษุย่อมรู้อย่างนี้ว่า ‘เพราะสัญญาเป็นปัจจัย ญาณ
จึงเกิดขึ้นแก่เรา’ โปฏฐปาทะ ท่านพึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญาเกิดขึ้นก่อน
ญาณ เพราะมีสัญญาเกิดขึ้นจึงมีญาณเกิดขึ้น”

ว่าด้วยสัญญากับอัตตา

[๔๑๗] โปฏฐปาทปริพาชกทูลถามว่า “สัญญาเป็นอัตตาของคนหรือว่า
สัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โปฏฐปาทะ ท่านหมายถึงอัตตาเช่นไร”
เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หมายถึงอัตตาหยาบซึ่ง
มีรูปที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ บริโภคอาหารเป็นคำ ๆ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นอัตตา
หยาบซึ่งมีรูปที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ บริโภคอาหารเป็นคำ ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้

เชิงอรรถ :
๑ เป็นคำถามในทำนองว่า ระหว่างสัญญากับญาณ ฝ่ายไหนเกิดก่อนกัน อนึ่ง คู่ของสัญญาและญาณมี
ฝ่ายละ ๓ คือ ญาณสัญญา กับ วิปัสสนาญาณ, วิปัสสนาสัญญา กับ มัคคญาณ และมัคคสัญญา กับ
ผลญาณ (ที.สี.อ. ๔๑๖/๓๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

สัญญากับอัตตาก็เป็นคนละอย่างกัน ตามข้อนี้ท่านพึงทราบโดยปริยายว่า สัญญา
กับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน อัตตาหยาบซึ่งมีรูปที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔
บริโภคอาหารเป็นคำ ๆ นี้ จงยกไว้ก่อน ถ้าสัญญาของคนที่พูดถึงนี้อย่างหนึ่งเกิด
และอีกอย่างหนึ่งดับ ท่านก็พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็นคนละ
อย่างกัน”
[๔๑๘] เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หมายถึงอัตตา
ที่สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นอัตตาที่สำเร็จ
ด้วยใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ สัญญากับอัตตา
ก็เป็นคนละอย่างกัน ตามข้อนี้ ท่านก็พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็น
คนละอย่างกัน อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง จงยก
ไว้ก่อน ถ้าสัญญาของคนที่พูดถึงนี้อย่างหนึ่งเกิดและอีกอย่างหนึ่งดับ ท่านก็พึง
ทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน”
[๔๑๙] เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หมายถึงอัตตาที่
ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นอัตตาที่ไม่มี
รูป สำเร็จด้วยสัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ สัญญากับอัตตาก็เป็นคนละอย่างกัน ตามข้อ
นี้ ท่านก็พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน อัตตาที่ไม่มี
รูปสำเร็จด้วยสัญญา จงยกไว้ก่อน ถ้าสัญญาของคนที่พูดถึงนี้อย่างหนึ่งเกิดและ
อีกอย่างหนึ่งดับ ท่านก็พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน”
[๔๒๐] เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อาจรู้ได้ไหมว่า
สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือว่าสัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ ท่านมีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความถูก
ใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน มีอาจารย์
แตกต่างกัน จึงเข้าใจได้ยากว่า สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือว่าสัญญากับอัตตา
เป็นคนละอย่างกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์มีทิฏฐิแตกต่างกันมี
ความถูกใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน
มีอาจารย์แตกต่างกันจึงเข้าใจได้ยากว่า สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือว่าสัญญากับ
อัตตาเป็นคนละอย่างกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
เป็นโมฆะกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็น
โมฆะกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกมีที่สุด ฯลฯ โลกไม่มีที่สุด ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้ว ตถาคต๑
เกิดอีก หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและ
ไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้
เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ทรงตอบ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เพราะเรื่องนั้นไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ ไม่ใช่จุด
เริ่มต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัดยินดี
ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่
เป็นไปเพื่อนิพพาน ฉะนั้นเราจึงไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงตอบเรื่องอะไรเล่า”

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึง อัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระ
พุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึง สัตตะ (ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘ )

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เราตอบเรื่องทุกข์ เรื่องทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์)
เรื่องทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) เรื่องทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเครื่อง
ดำเนินไปสู่ความดับทุกข์)”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไรพระองค์จึงทรงตอบเรื่อง
นั้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เพราะเรื่องนั้นมีประโยชน์ มีสาระ เป็นจุดเริ่ม
ต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัดยินดี เพื่อดับ เพื่อ
สงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฉะนั้นเราจึงตอบ”
เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต
ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นจากอาสนะเสด็จจากไปแล้ว
[๔๒๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน พวกปริพาชกได้ตัดพ้อ
ต่อว่าโปฏฐปาทปริพาชกด้วยคำตัดพ้อ ต่อว่า ทิ่มแทงว่า “ท่านโปฏฐปาทะเป็นคน
อย่างนี้นี่เอง ท่านโปฏฐปาทะพลอยชื่นชมคำพูดของพระสมณโคดมทุกคำว่า ‘ข้าแต่
พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น’ แต่พวกเรา
กลับไม่เข้าใจความหมายที่พระสมณโคดมตรัสแม้แต่นิดเดียวว่า โลกเที่ยง หรือโลก
ไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือชีวะกับ
สรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก หรือหลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก หรือหลังจากตาย
แล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่”
เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้ โปฏฐปาทปริพาชกได้บอกพวกเขาว่า “ท่าน
ทั้งหลาย ข้าพเจ้าเองก็ไม่เข้าใจความหมายที่พระสมณโคดมตรัสไว้แม้แต่นิดเดียวว่า
‘โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง ฯลฯ หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่
จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ แต่ว่า พระสมณโคดมทรงบัญญัติข้อปฏิบัติที่จริง แท้ แน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
เรื่องจิตตหัตถิ สารีบุตร และโปฏฐปาทปริพาชก

เป็นธรรมฐิติ๑ เป็นธรรมนิยาม๒ ไว้ ก็เมื่อทรงบัญญัติเช่นนี้ ไฉนวิญญูชนอย่าง
ข้าพเจ้าจะไม่พลอยชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมโดยเป็นคำสุภาษิตเล่า”

เรื่องจิตตะ หัตถิสารีบุตร และโปฏฐปาทปริพาชก

[๔๒๒] ครั้นผ่านไป ๒-๓ วัน จิตตะ หัตถิสารีบุตร๓ กับโปฏฐปาทปริพาชกพา
กันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค จิตตะ หัตถิสารีบุตร กราบพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ
ที่สมควร ฝ่ายโปฏฐปาทปริพาชกสนทนากับพระผู้มีพระภาคพอคุ้นเคยแล้วจึงนั่ง ณ
ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไป
ไม่นาน พวกปริพาชกได้ตัดพ้อต่อว่าข้าพระองค์ด้วยคำตัดพ้อ ต่อว่า ทิ่มแทงว่า
‘ท่านโปฏฐปาทะเป็นคนอย่างนี้นี่เอง ท่านโปฏฐปาทะพลอยชื่นชมคำพูดของ
พระสมณโคดมทุกคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต
ข้อนี้เป็นอย่างนั้น แต่พวกเรากลับไม่เข้าใจความหมายที่พระสมณโคดมตรัสแม้
แต่นิดเดียวว่า โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง ฯลฯ หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็ไม่ใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่’ เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้ ข้าพระองค์
ได้บอกพวกเขาว่า ‘ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าเองก็ไม่เข้าใจความหมายที่พระสมณโคดม
ตรัสแม้แต่นิดเดียวว่า โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง ฯลฯ หรือหลังจากตายแล้ว
ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ แต่ว่าพระสมณโคดมทรงบัญญัติข้อ
ปฏิบัติที่จริง แท้ แน่นอน เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามไว้ ก็เมื่อทรงบัญญัติเช่น
นี้ ไฉนวิญญูชนอย่างข้าพเจ้าจะไม่พลอยชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมโดยเป็น
คำสุภาษิตเล่า”
[๔๒๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ ปริพาชกทั้งหมดเหล่านี้เป็น
คนตาบอดไม่มีจักษุ ในชุมนุมชนนั้นมีแต่ท่านเท่านั้นที่มีจักษุ ธรรมที่เป็นเอกังสิก

เชิงอรรถ :
๑ สภาวะที่ดำรงอยู่เอง เป็นอยู่เองตามธรรมดา อรรถกถาหมายเอา สภาวะที่ดำรงอยู่ในโลกุตตรธรรม ๙
(ที.สี.อ. ๔๒๑/๓๑๓)
๒ กฏที่แน่นอนแห่งสภาวะอันมีอยู่จริง แท้ และแน่นอนหลบเลี่ยงไม่ได้ ต้องเป็นไปตามที่มันเป็น หรืออาจเรียก
ว่า กฏธรรมชาติก็ได้ อรรถกถาหมายเอา กฏที่แน่นอนแห่งโลกุตตรธรรม (ที.สี.อ. ๔๒๑/๓๑๓)
๓ จิตตะ หัตถิสารีบุตร เป็นบุตรนายควาญช้างกรุงสาวัตถี บวชๆ สึกๆ จนครบ ๗ ครั้งในตอนเกิดพระสูตรนี้
(ที.สี.อ. ๔๒๒/๓๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
เรื่องจิตตหัตถิ สารีบุตร และโปฏฐปาทปริพาชก

ธรรม๑ เราได้แสดงและบัญญัติไว้แล้ว ธรรมที่เป็นอเนกังสิกธรรม๒ เราก็ได้แสดงและ
บัญญัติไว้แล้ว
โปฏฐปาทะ เราแสดงและบัญญัติธรรมเหล่าไหนว่าเป็นอเนกังสิกธรรม คือ
ธรรมที่ว่า โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน หรือชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิด
อีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่
เกิดอีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ เรา
แสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นอเนกังสิกธรรม
โปฏฐปาทะ เพราะเหตุไร เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นอเนกังสิก-
ธรรมเล่า เพราะว่าธรรมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่ง
พรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัดยินดี ไม่เป็น
ไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไป
เพื่อนิพพาน ฉะนั้น เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นอเนกังสิกธรรม
[๔๒๔] โปฏฐปาทะ เราแสดงและบัญญัติธรรมเหล่าไหนว่าเป็นเอกังสิกธรรม
คือธรรมที่ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) นี้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินไปสู่ความดับทุกข์) เราแสดงและ
บัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นเอกังสิกธรรม
โปฏฐปาทะ เพราะเหตุไร เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นเอกังสิก-
ธรรมเล่า เพราะว่าธรรมเหล่านี้มีประโยชน์ มีสาระ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์
เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัดยินดี เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อ
รู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฉะนั้น เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็น
เอกังสิกธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่เป็นได้อย่างเดียว ได้แก่ ธรรมที่มีความชัดเจน แน่นอน สามารถบอกได้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่เป็น
อย่างอื่น เช่นเหตุของทุกข์คือตัณหาเท่านั้น (ที.สี.อ. ๔๒๓/๓๑๔)
๒ ธรรมที่เป็นได้หลายอย่าง ได้แก่สิ่งที่ไม่อาจตอบได้ว่า ใช่หรือไม่ใช่ เพียงอย่างเดียว เช่น ไม่อาจตอบว่า
โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง (ที.สี.อ. ๔๒๓/๓๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
เปรียบด้วยชายหลงรักหญิงงามแห่งชนบท

[๔๒๕] โปฏฐปาทะ มีสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ปลอดภัย’ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
แล้วถามว่า ‘ท่านมีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า หลังจากตายแล้ว อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว
ปลอดภัยจริงหรือ’
ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกถามอย่างนี้ยังยืนยันว่า ‘จริง’ เราจะถามว่า ‘ก็
ท่านรู้ท่านเห็นโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า
‘ไม่รู้ไม่เห็น’
เราจะถามว่า ‘ท่านรู้อัตตาที่มีสุขโดยส่วนเดียว ตลอด ๑ วัน ตลอด ๑ คืน
หรือตลอดครึ่งวันตลอดครึ่งคืนหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้’
เราจะถามว่า ‘ก็ท่านรู้ว่า นี้เป็นทาง นี้เป็นข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขโดย
ส่วนเดียวหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้’
เราจะถามว่า ‘ก็ท่านได้ยินเสียงพวกเทวดาผู้บังเกิดในโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว
ซึ่งกล่าวอยู่ว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขโดย
ส่วนเดียว ถึงข้าพเจ้าก็ปฏิบัติอย่างนี้จึงบังเกิดในโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวหรือ’ เมื่อ
ถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่ได้ยิน’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นถือว่าเลื่อนลอย๑ มิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณพราหมณ์
เหล่านั้นถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”

เปรียบด้วยชายหลงรักหญิงงามแห่งชนบท๒

[๔๒๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนชายคนหนึ่ง
ปรารภถึงหญิงสาวอย่างนี้ว่า ‘เราปรารถนารักใคร่หญิงงามแห่งชนบทนี้’ คนจะถาม
เขาว่า ‘พ่อคุณ เธอรู้จักหญิงคนนั้นหรือว่าเป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์

เชิงอรรถ :
๑ เลื่อนลอย (อปฺปาฏิหีรกตํ) หมายถึง เป็นคำที่ไม่มีปาฏิหาริย์ ขาดเหตุผลที่จะจูงใจฝ่ายตรงข้ามให้เชื่อถือ
หรือยินยอมได้ [ที.สี.ฎีกา(อภินว.) ๒/๔๒๕/๔๙๓]
๒ หญิงที่มีผิวพรรณ ทรวดทรง และกิริยามารยาทงดงามกว่าหญิงทั่วไปในชนบทนั้น (ที.สี.อ. ๔๒๖/๓๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
เปรียบด้วยชายหลงรักหญิงงามแห่งชนบท

หรือนางศูทร’ เมื่อถูกถามอย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอ
รู้จักหญิงคนนั้นหรือว่ามีชื่อ ตระกูล สูง ต่ำ สันทัด ดำ คล้ำ หรือผิวเหลือง อยู่ใน
หมู่บ้าน นิคม หรือเมืองโน้น’ เมื่อถูกถามอย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ยังไม่รู้จัก’ จะถูก
ถามต่อไปว่า ‘เธอปรารถนารักใคร่หญิงที่ยังไม่เคยรู้จักทั้งไม่เคยเห็นอย่างนั้นหรือ’
เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้น
ถือว่าเลื่อนลอย มิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่า
เลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ แม้สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้
ว่า ‘หลังจากตายแล้ว อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ปลอดภัย’ ก็เช่นกัน เราเข้าไปหา
สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วถามว่า ‘ท่านมีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า หลังจากตายแล้ว
อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ปลอดภัย จริงหรือ’ ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกถามอย่าง
นี้ ยังยืนยันว่า ‘จริง’ เราจะถามว่า ‘ก็ท่านรู้ท่านเห็นโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวหรือ’
เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้ไม่เห็น’
เราจะถามว่า ‘ท่านรู้อัตตาที่มีสุขโดยส่วนเดียวตลอด ๑ วัน ตลอด ๑ คืน
หรือตลอดครึ่งวันตลอดครึ่งคืนหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้’
เราจะถามว่า ‘ก็ท่านรู้ว่า นี้เป็นทาง นี้เป็นข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขโดยส่วน
เดียวหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้’
เราจะถามว่า ‘ก็ท่านได้ยินเสียงพวกเทวดาผู้บังเกิดในโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว
ซึ่งกล่าวอยู่ว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขโดย
ส่วนเดียว ถึงข้าพเจ้าก็ปฏิบัติอย่างนี้จึงบังเกิดในโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว หรือ’ เมื่อ
ถูกถามอยู่อย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่ได้ยิน’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
เปรียบด้วยคนสร้างบันได

เปรียบด้วยคนสร้างบันได

[๔๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษทำบันไดที่
หนทางใหญ่สี่แพร่งเพื่อขึ้นปราสาท คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอจะทำบันไดขึ้น
ปราสาท เธอรู้จักปราสาทนั้นหรือว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก
หรือทิศเหนือ มีขนาดสูง ต่ำ หรือปานกลาง’ เมื่อถูกถามอย่างนี้เขาจะตอบว่า
‘ยังไม่รู้’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอจะทำบันไดขึ้นปราสาทที่ยังไม่เคยรู้จักไม่เคยเห็น
อย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของบุรุษนั้น
ถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของบุรุษนั้นถือว่า
เลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ แม้สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิอย่าง
นี้ว่า ‘หลังจากตายแล้วอัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ปลอดภัย’ ก็เช่นกัน เราเข้าไปหา
สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วถามว่า ‘ท่านมีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า หลังจากตายแล้ว
อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ปลอดภัย จริงหรือ’ ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกถามอย่าง
นี้ ยังยืนยันว่า ‘จริง’ เราจะถามว่า ‘ก็ท่านรู้ ท่านเห็นโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวหรือ’
เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้ไม่เห็น’
เราจะถามว่า ‘ท่านรู้อัตตาที่มีสุขโดยส่วนเดียวตลอด ๑ วัน ตลอด ๑ คืน
หรือตลอดครึ่งวันตลอดครึ่งคืนหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้’
เราจะถามว่า ‘ก็ท่านรู้ว่า นี้เป็นทาง นี้เป็นข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว
หรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้’
เราจะถามว่า ‘ก็ท่านได้ยินเสียงพวกเทวดาผู้บังเกิดในโลกที่มีสุขโดยส่วน
เดียว ซึ่งกล่าวอยู่ว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขโดย
ส่วนเดียว ถึงข้าพเจ้าก็ปฏิบัติอย่างนี้จึงบังเกิดในโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวหรือ’ เมื่อ
ถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่ได้ยิน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง

โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นถือว่าเลื่อนลอย มิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณพราหมณ์
เหล่านั้นถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”

การได้อัตตภาพ๑ ๓ อย่าง

[๔๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ การได้อัตตภาพมี ๓ อย่าง คือ
การได้อัตตภาพที่หยาบ การได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ และการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป
โปฏฐปาทะ การได้อัตตภาพที่หยาบเป็นอย่างไร คืออัตตภาพที่มีรูปประกอบด้วย
มหาภูตรูป ๔ บริโภคอาหารเป็นคำ ๆ นี้จัดเป็นการได้อัตตภาพที่หยาบ การได้
อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจเป็นอย่างไร คืออัตตภาพที่มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบ
ถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง นี้จัดเป็นการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ การได้อัตตภาพ
ที่ไม่มีรูปเป็นอย่างไร คืออัตตภาพที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา นี้จัดเป็นการได้
อัตตภาพที่ไม่มีรูป
[๔๒๙] โปฏฐปาทะ เราแสดงธรรมเพื่อละการได้อัตตภาพที่หยาบว่า ‘พวก
ท่านปฏิบัติตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรม๒ ได้ และโวทานิยธรรม๓ จะเพิ่มพูนยิ่ง
ขึ้น จะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึง
อยู่ในปัจจุบัน’ บางคราวท่านมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘เราพอจะละสังกิเลสิกธรรมได้
และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น บุคคลจะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์
แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าจะมีความเป็นอยู่ลำบาก’
ก็เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น แท้จริง ท่านจะละสังกิเลสิกธรรมได้ และโวทานิย

เชิงอรรถ :
๑ อตฺตปฏิลาภ อรรถกถาหมายถึงการได้อัตตภาพ ในที่นี้พระพุทธองค์ตรัสถึงการได้อัตตภาพ ๓ อย่าง คือ
การได้อัตตภาพที่หยาบ ได้แก่ กามภพ, การได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ ได้แก่ รูปภพ, การได้อัตตภาพที่
ไม่มีรูป ได้แก่ อรูปภพ (ที.สี.อ. ๔๒๘/๓๑๕)
๒ ธรรมที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ (โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒) [ที.สี.อ.
๔๒๙/๓๑๕]
๓ ธรรมที่ทำให้จิตผ่องแผ้ว ได้แก่ สมถวิปัสสนา (ที.สี.อ. ๔๒๙/๓๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง

ธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น บุคคลจะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจะมีความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติ
สัมปชัญญะ และอยู่เป็นสุข
[๔๓๐] โปฏฐปาทะ เราแสดงธรรมเพื่อละการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจว่า
‘พวกท่านปฏิบัติตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น
จะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่
ในปัจจุบัน’ บางคราวท่านมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘เราพอจะละสังกิเลสิกธรรมได้ และ
โวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น บุคคลจะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่ง
ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าจะมีความเป็นอยู่ลำบาก’ ก็
เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น แท้จริง ท่านจะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรม
จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น บุคคลจะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจะมีความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติ
สัมปชัญญะ และอยู่เป็นสุข
[๔๓๑] โปฏฐปาทะ เราแสดงธรรมเพื่อละการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปว่า ‘พวก
ท่านปฏิบัติตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น
จะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน’ ฯลฯ ทั้งจะมีความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติ สัมปชัญญะ และอยู่เป็นสุข
[๔๓๒] โปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะถามเราอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ อะไรคือ
การได้อัตตภาพที่หยาบซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติตามนั้น
แล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้แจ้งความ
บริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เมื่อถูก
ถามอย่างนี้ เราจะตอบว่า ‘ผู้มีอายุ นี้แลจัดเป็นการได้อัตตภาพที่หยาบซึ่งเราแสดง
ธรรมเพื่อให้ละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และ
โวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญา
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง

[๔๓๓] โปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะถามเราอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ อะไรคือ
การได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติ
ตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้แจ้ง
ความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
เมื่อถูกถามอย่างนี้ เราจะตอบว่า ‘ผู้มีอายุ นี้แลจัดเป็นการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ
ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า ฯลฯ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
[๔๓๔] โปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะถามเราอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ อะไรคือ
การได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติตามนั้น
แล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้แจ้งความ
บริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เมื่อถูก
ถามอย่างนี้ เราจะตอบว่า ‘ผู้มีอายุ นี้แลจัดเป็นการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป ซึ่งเรา
แสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า ฯลฯ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดนั้นถือว่าไม่
เลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดนั้นถือว่าไม่เลื่อน
ลอยแน่นอน”

เปรียบด้วยคนสร้างบันได

[๔๓๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษทำบันได
เพื่อขึ้นปราสาท ที่ใต้ปราสาทนั้นเอง คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอจะทำบันไดขึ้น
ปราสาท เธอรู้จักปราสาทนั้นหรือว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก
หรือทิศเหนือ มีขนาดสูง ต่ำ หรือปานกลาง’ ถ้าเขาตอบว่า ‘นี้แลคือปราสาทที่เรา
กำลังทำบันไดเพื่อจะขึ้นไปที่ใต้ปราสาทนั้นเอง’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของบุรุษนั้น
ถือว่าไม่เลื่อนลอยมิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง

เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของบุรุษนั้นถือว่าไม่
เลื่อนลอยแน่นอน”
[๔๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เช่นเดียวกัน โปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่น
จะถามเราอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ อะไรคือการได้อัตตภาพที่หยาบ ฯลฯ อะไรคือการได้
อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ ฯลฯ อะไรคือการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปซึ่งท่านแสดงธรรม
เพื่อให้ละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิย
ธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เราจะตอบว่า ‘ฯลฯ ผู้มีอายุ
นี้แลจัดเป็นการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า พวกท่าน
ปฏิบัติตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะ
ทำให้แจ้งความบริบูรณ์ ความไพบูลย์แห่งปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดนั้นถือว่าไม่
เลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดนั้นถือว่าไม่เลื่อนลอย
แน่นอน”
[๔๓๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ จิตตะ หัตถิสารีบุตร ได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่หยาบ การได้อัตตภาพที่สำเร็จ
ด้วยใจและการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปก็เปล่าไป(เป็นโมฆะ) มีแต่การได้อัตตภาพที่
หยาบเป็นเรื่องจริงกระนั้นหรือ ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ การได้
อัตตภาพที่หยาบและการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปก็เปล่าไป มีแต่การได้อัตตภาพที่
สำเร็จด้วยใจเป็นเรื่องจริงกระนั้นหรือ ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป การได้
อัตตภาพที่หยาบและการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจก็เปล่าไป มีแต่การได้อัตตภาพ
ที่ไม่มีรูปเป็นเรื่องจริงกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จิตตะ ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่หยาบ ก็ไม่นับว่า
มีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจและการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป มีเพียงการได้อัตตภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง

ที่หยาบเท่านั้น ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ ก็ไม่นับว่ามีการได้
อัตตภาพที่หยาบและการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป มีเพียงการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วย
ใจเท่านั้น ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป ก็ไม่นับว่ามีการได้อัตตภาพที่หยาบ
และการอัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ มีเพียงการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปเท่านั้น
[๔๓๘] จิตตะ ถ้าคนจะถามท่านว่า ‘ในอดีตกาล ท่านได้มีแล้ว ไม่ใช่ว่า
ไม่มี ในอนาคตกาลท่านจักมี ไม่ใช่ว่าจักไม่มี เวลานี้ท่านมีอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีอยู่
กระนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ ท่านจะตอบว่าอย่างไร”
จิตตะ หัตถิสารีบุตร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าคนจะถามข้าพระ
องค์ว่า ‘ในอดีตกาล ... กระนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์ก็จะตอบว่า ‘ใน
อดีตกาล เราได้มีแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มี ในอนาคตกาลเราจักมี ไม่ใช่ว่าจักไม่มี เวลานี้
เรามีอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีอยู่’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์ก็จะตอบอย่างนี้ พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จิตตะ ถ้าคนจะถามท่านว่า ‘ท่านมีการได้อัตต-
ภาพที่เป็นอดีต การได้อัตตภาพเช่นนั้นเป็นเรื่องจริง การได้อัตตภาพที่เป็นอนาคต
และการได้อัตตภาพที่เป็นปัจจุบันก็เปล่าไป ท่านจักมีการได้อัตตภาพที่เป็นอนาคต
การได้อัตตภาพเช่นนั้นเป็นเรื่องจริง การได้อัตตภาพที่เป็นอดีตและการได้อัตตภาพ
ที่เป็นปัจจุบันก็เปล่าไป ท่านกำลังได้อัตตภาพที่เป็นปัจจุบัน การได้อัตตภาพเช่นนั้น
เป็นเรื่องจริง การได้อัตตภาพที่เป็นอดีตและการได้อัตตภาพที่เป็นอนาคตก็เปล่า
ไปกระนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ ท่านจะตอบว่าอย่างไร”
จิตตะ หัตถิสารีบุตร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าคนจะถามข้าพระ
องค์ว่า ‘ท่านมีการได้อัตตภาพที่เป็นอดีต ... กระนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้า
พระองค์ก็จะตอบว่า ‘เรามีการได้อัตตภาพที่เป็นอดีต การได้อัตตภาพเช่นนั้นเป็น
เรื่องจริงในสมัยนั้น การได้อัตตภาพที่เป็นอนาคตและการได้อัตตภาพที่เป็นปัจจุบัน
ก็เปล่าไป เราจักมีการได้อัตตภาพที่เป็นอนาคต การได้อัตตภาพเช่นนั้นเป็นเรื่องจริง
ในสมัยนั้น การได้อัตภาพที่เป็นอดีตและการได้อัตภาพที่เป็นปัจจุบันก็เปล่าไป
เรากำลังได้อัตภาพที่เป็นปัจจุบันในเวลานี้ และการได้อัตภาพเช่นนี้พึ่งเป็นเรื่องจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง

การได้อัตตภาพที่เป็นอดีตและการได้อัตตภาพที่เป็นอนาคตก็เปล่าไป’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้ ข้าพระองค์ก็จะตอบอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
[๔๓๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เป็นอย่างนั้นแล จิตตะ ในเวลาที่มีการได้
อัตตภาพที่หยาบ ก็ไม่นับว่ามีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจและการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป
มีเพียงการได้อัตตภาพที่หยาบเท่านั้น ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ ฯลฯ
ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป ก็ไม่นับว่ามีการได้อัตตภาพที่หยาบและการได้
อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ มีเพียงการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปเท่านั้น
[๔๔๐] จิตตะ เปรียบเหมือนนมสดมาจากแม่โค นมส้มมาจากนมสด เนยข้น
มาจากนมส้ม เนยใสมาจากเนยข้น หัวเนยใสมาจากเนยใส ในเวลาที่ยังเป็นนมสด
ก็ไม่นับว่าเป็นนมส้ม ไม่นับว่าเป็นเนยข้น ไม่นับว่าเป็นเนยใส ไม่นับว่าเป็นหัวเนยใส
ยังเป็นนมสดเท่านั้น ในเวลาที่เป็นนมส้ม ฯลฯ ในเวลาที่เป็นเนยข้น ฯลฯ ในเวลาที่เป็น
เนยใส ฯลฯ ในเวลาที่เป็นหัวเนยใส ไม่นับว่าเป็นนมสด ไม่นับว่าเป็นนมส้ม ไม่นับ
ว่าเป็นเนยข้น ไม่นับว่าเป็นเนยใส ยังเป็นหัวเนยใสเท่านั้น ฉันใด จิตตะ เรื่องนี้ก็เช่น
กัน ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่หยาบ ก็ไม่นับว่ามีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ
และการได้อัตตภาพที่มีรูป มีเพียงการได้อัตตภาพหยาบเท่านั้น ในเวลาที่มีการได้
อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ ฯลฯ ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป ก็ไม่นับว่ามีการ
ได้อัตตภาพหยาบและการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ มีเพียงการได้อัตตภาพที่ไม่มี
รูปเท่านั้น
จิตตะ เหล่านี้แลเป็นโลกสมัญญา (ชื่อที่ชาวโลกใช้เรียก) เป็นโลกนิรุตติ
(ภาษาของชาวโลก) เป็นโลกโวหาร (โวหารของชาวโลก) เป็นโลกบัญญัติ (บัญญัติ
ของชาวโลก) ซึ่งตถาคตก็ใช้อยู่แต่ไม่ยึดถือ”
[๔๔๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ โปฏฐปาทปริพาชกได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง
ประกาศธรรม แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙. โปฏฐปาทสูตร]
จิตตะ หัตถิสารีบุตร ทูลขออุปสมบท

จักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์
เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

จิตตะ หัตถิสารีบุตร ทูลขออุปสมบท

[๔๔๒] ฝ่ายจิตตะ หัตถิสารีบุตร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มี
พระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการ
ต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ขอถึง
พระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาพึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด”
[๔๔๓] จิตตะ หัตถิสารีบุตร ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระ
ภาคแล้วแล เมื่อท่านหัตถิสารีบุตรได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน จากไปอยู่ผู้
เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มุ่งมั่นพระนิพพานอยู่ ไม่นานนักทำให้แจ้งที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
จึงเป็นอันว่าท่านพระหัตถิสารีบุตรได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระ
อรหันต์ทั้งหลาย

โปฏฐปาทสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] เรื่องมาณพชื่อสุภะ

๑๐. สุภสูตร
ว่าด้วยสุภมาณพ

เรื่องมาณพชื่อสุภะ

[๔๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานไปไม่นาน ท่านพระ
อานนท์พำนักอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี
สมัยนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตร๑ มีกิจธุระพำนักอยู่ในกรุงสาวัตถี
[๔๔๕] ครั้งนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตรเรียกมาณพคนหนึ่งมาสั่งว่า “มานี่แน่ะ
พ่อหนุ่ม เธอจงเข้าไปหาพระสมณะชื่ออานนท์ แล้วเรียนถามพระสมณะชื่ออานนท์
ถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ
ตามคำของเราว่า สุภมาณพโตเทยยบุตรถามท่านพระอานนท์ถึงสุขภาพ ความมี
โรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ และเธอจงเรียนว่า
ขอท่านพระอานนท์โปรดอนุเคราะห์สละเวลาเข้าไปเยี่ยมสุภมาณพโตเทยยบุตรบ้าง”
[๔๔๖] มาณพนั้นรับคำของสุภมาณพโตเทยยบุตรแล้วเข้าไปหาท่านพระอานนท์
สนทนากันพอคุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควรแล้วกล่าวว่า “สุภมาณพโตเทยย
บุตรถามท่านพระอานนท์ถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มี
พลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ และสั่งมาว่า ขอท่านพระอานนท์โปรดอนุเคราะห์
สละเวลาเข้าไปเยี่ยมสุภมาณพโตเทยยบุตรบ้าง”
[๔๔๗] เมื่อมาณพนั้นกล่าวอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ตอบว่า “เวลานี้ไม่
เหมาะ วันนี้อาตมาดื่มยาถ่ายเข้าไปแล้ว เอาไว้พรุ่งนี้ เมื่อมีเวลาอาตมาจะเข้าไป
เยี่ยม”
เขารับคำของท่านพระอานนท์แล้วลุกจากที่นั่งกลับไปหาสุภมาณพโตเทยยบุตร
บอกว่า “ข้าพเจ้าได้บอกท่านพระอานนท์ตามคำของท่านว่า ‘สุภมาณพ ... ไปเยี่ยม

เชิงอรรถ :
๑ สุภมาณพเป็นบุตรของโตเทยยพราหมณ์ผู้ตระหนี่ อยู่ที่หมู่บ้านตุทิ เขตกรุงสาวัตถี (ที.สี.อ. ๔๔๔/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] สีลขันธ์

สุภมาณพโตเทยยบุตรบ้าง’ เมื่อข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ตอบว่า ‘วันนี้
ไม่เหมาะ ... เมื่อมีเวลาอาตมาจะเข้าไปเยี่ยม’ ข้าพเจ้าได้ดำเนินการให้ท่านพระ
อานนท์สละเวลามาฉันในวันพรุ่งนี้ด้วยเหตุดังว่ามานี้”
[๔๔๘] ครั้นล่วงราตรีนั้น ยามเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือ
บาตรและจีวร มีพระเจตกะเป็นปัจฉาสมณะ๑ เข้าไปยังนิเวศน์ของสุภมาณพ-
โตเทยยบุตรแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้
สุภมาณพโตเทยยบุตรเข้าไปหาท่านพระอานนท์ สนทนากันพอคุ้นเคยดีแล้ว
นั่งลง ณ ที่สมควรแล้วถามว่า “ท่านอานนท์เป็นพระอุปัฏฐาก อยู่เฝ้าใกล้ชิดเบื้อง
พระยุคลบาทของท่านพระโคดมมานาน ท่านอานนท์คงจะทราบธรรมที่ท่านพระโค
ดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่ ท่านอานนท์ ธรรมเหล่า
ไหนหนอแลที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่”
[๔๔๙] ท่านพระอานนท์ตอบว่า “มาณพ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและ
ทรงให้ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่ในขันธ์ ๓ แล ขันธ์ ๓ อะไรบ้าง คือ อริยสีลขันธ์
อริยสมาธิขันธ์ และอริยปัญญาขันธ์ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่ในขันธ์ ๓ นี้แล”

สีลขันธ์

[๔๕๐] เขาถามว่า “อริยสีลขันธ์ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “มาณพ พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น
พระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ฯลฯ
พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก ฯลฯ ทรงประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดีหรือ
อนุชน(คนผู้เกิดภายหลัง)ในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ได้สดับธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาใน

เชิงอรรถ :
๑ ปัจฉาสมณะ คือพระผู้ติดตาม พระอานนท์ก็เคยเป็นปัจฉาสมณะของพระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] สีลขันธ์

พระตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็น
ทางแห่งธุลี การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์
ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิงดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและ
หนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต’ ต่อมาเขาละทิ้งกอง
โภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาว-
พัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ สำรวมด้วยการสังวร
ในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยมารยาทและโคจร(การเที่ยวไป) เห็นภัยในโทษแม้
เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรม
อันเป็นกุศล มีอาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ(และ) เป็นผู้สันโดษ
[๔๕๑] ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ละ
เว้นขาดการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่ง
ประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ข้อนี้จัดเป็นศีลของภิกษุอย่างหนึ่ง (ต่อจากนี้พึง
ขยายศีลทุกข้อให้พิสดาร)๑
ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้
เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉาน-
วิชาอย่างนี้ คือ ทำพิธีบนบาน พิธีแก้บน ร่ายมนตร์ขับผี ตั้งศาลพระภูมิ ทำกะเทย
ให้เป็นชาย ทำชายให้เป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน พิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนตร์
รดน้ำมนตร์ พิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ยาถ่าย ยาแก้โรคลมตีขึ้นเบื้องบน
ยาแก้โรคลมตีลงเบื้องต่ำ ยาแก้ปวดศีรษะ น้ำมันหยอดหู น้ำมันหยอดตา ยานัตถุ์
ยาหยอดตา ยาป้ายตา เป็นหมอตา หมอผ่าตัด หมอรักษาเด็ก(กุมารเวช) การให้
สมุนไพรและยา การใส่ยาแล้วล้างออกเมื่อโรคหาย ข้อนี้จัดเป็นศีลของภิกษุอย่างหนึ่ง
[๔๕๒] ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากการ
สำรวมในศีลเลย เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกเป็นพระราชา กำจัดข้าศึก
ได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากข้าศึกเลย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอริยสีลขันธ์

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] สมาธิขันธ์

อย่างนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน มาณพ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็น
อย่างนี้แล
[๔๕๓] มาณพ อริยสีลขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ แต่ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้อง
ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสีลขันธ์นี้อีก”
เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยสีลขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่ใช่ไม่
บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยสีลขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ ในสมณพราหมณ์เหล่าอื่น
นอกพระศาสนานี้เลย สมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้ เห็นอริยสีลขันธ์ที่
บริบูรณ์อย่างนี้ในตน ก็จะพอใจว่า ‘เพียงแค่นี้พอแล้ว เพียงแค่นี้สำเร็จแล้ว เราได้
บรรลุสามัญคุณแล้ว ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นนี้อีก’ แต่ท่านยังบอก
ว่า ‘ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสีลขันธ์นี้อีก’

สมาธิขันธ์

[๔๕๔] อริยสมาธิขันธ์ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชน
สมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “มาณพ ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมในจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาป
อกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมใน
จักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้อง
โผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุ
ผู้ประกอบด้วยความสำรวมอินทรีย์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมเสวยสุขที่ไม่ระคนกับกิเลส
ในภายใน มาณพ ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] อุปมานิวรณ์ ๕

[๔๕๕] มาณพ ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างไร คือ ภิกษุ
ในพระธรรมวินัยนี้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิบาตรและจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว
การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น
การพูด การนิ่ง มาณพ ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างนี้แล
[๔๕๖] มาณพ ภิกษุชื่อว่าผู้สันโดษเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้
ทันทีเหมือนนกบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ มาณพ ภิกษุชื่อว่าผู้สันโดษ
เป็นอย่างนี้แล
[๔๕๗] ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร อริยสติ-
สัมปชัญญะ และอริยสันโดษอย่างนี้แล้ว พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า
โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้ว นั่งขัดสมาธิตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า
[๔๕๘] เธอละอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา)ในโลก มีใจปราศจาก
อภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท
มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท
ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มี
สติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความ
ฟุ้งซ่านและรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
อุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉา
ในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

อุปมานิวรณ์ ๕

[๔๕๙] เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ ใช้หนี้เก่าที่
เป็นต้นทุนจนหมด เก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อน
เรากู้หนี้มาลงทุน การงานสำเร็จผลดี ได้ใช้หนี้เก่าที่ยืมมาลงทุนหมดแล้ว กำไรก็ยัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] อุปมานิวรณ์ ๕

มีเหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา’ เพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุ เขาจึงได้รับ
ความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๔๖๐] เปรียบเหมือนคนไข้อาการหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง ต่อมา
หายป่วยบริโภคอาหารได้ กลับมีกำลัง เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราป่วยอาการหนัก
บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง เวลานี้หายป่วย บริโภคอาหารได้ มีกำลังเป็นปกติ’
เพราะการหายจากโรคเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๔๖๑] เปรียบเหมือนคนต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ ต่อมา พ้นโทษออก
จากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราต้อง
โทษถูกคุมขังในเรือนจำ เวลานี้พ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพไม่ต้องเสียค่า
ใช้จ่ายใด ๆ’ เพราะการพ้นจากเรือนจำเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและ
ความสุขใจ
[๔๖๒] เปรียบเหมือนคนที่ตกเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไป
ไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ ต่อมา พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเอง
ไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ เวลานี้พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัว
เองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ’ เพราะความเป็น
ไทแก่ตัวเองเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๔๖๓] เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหาร
ได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า ต่อมา ข้ามพ้นทางกันดารถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็น
ปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเรามีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร
หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า เวลานี้ข้ามพ้นทางกันดารถึงหมู่บ้านอันสงบ
ร่มเย็นปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ’ เพราะการพบภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ เขาจึงได้
รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๔๖๔] มาณพ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนยังละไม่ได้ เหมือนหนี้
โรค เรือนจำ ความเป็นทาส และทางไกลกันดาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] ทุติยฌาน

[๔๖๕] มาณพ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้ว เหมือนความ
ไม่มีหนี้ ความไม่มีโรค การพ้นโทษจากเรือนจำ ความเป็นไทแก่ตัวเอง และภูมิสถาน
อันสงบร่มเย็น
[๔๖๖] เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้ว ย่อมเกิดความ
เบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบ
ย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ปฐมฌาน

[๔๖๗] ภิกษุนั้น สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติ
และสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอัน
เกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนานหรือลูกมือพนักงานสรงสนาน ผู้ชำนาญ
เทผงถูตัวลงในภาชนะสัมฤทธิ์แล้วเอาน้ำประพรมให้ติดเป็นก้อน พอตกเย็น ก้อนถู
ตัวที่ยางซึมไปจับก็ติดกันหมด ไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม
ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและ
สุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ

ทุติยฌาน

[๔๖๘] ยังมีอีก มาณพ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมี
ความผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและ
สุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจาก
สมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่
ถูกต้อง
เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกเป็นวังวน ไม่มีทางที่กระแสน้ำจะไหลเข้าได้ ทั้งด้าน
ตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก และด้านเหนือ ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่กระแส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] จตุตถฌาน

น้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่นเอิบอาบเนืองนองไปด้วยน้ำเย็น
ไม่มีส่วนไหนของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบ
อิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ

ตติยฌาน

[๔๖๙] ยังมีอีก มาณพ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ-
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึก
ซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนในกอบัวเขียว(อุบล) กอบัวหลวง(ปทุม)หรือกอบัวขาว(บุณฑริก)
ดอกบัวเขียว ดอกบัวหลวงหรือดอกบัวขาวบางเหล่าที่เกิดเจริญเติบโตในน้ำ ยังไม่
พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำ
เย็นตั้งแต่ยอดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่ม
ชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มี
ปีติจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ

จตุตถฌาน

[๔๗๐] ยังมีอีก มาณพ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัส
ดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์
ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนคนนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ ไม่มีส่วนไหนของร่างกาย
ที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม ฉันใด ภิกษุมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มี
ส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิ
อย่างหนึ่งของภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๑.วิปัสสนาญาณ

[๔๗๑] มาณพ สมาธิขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ แต่ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้อง
ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสมาธินี้อีก”
เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยสมาธิขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่ใช่
ไม่บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยสมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในสมณพราหมณ์
เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้เลย สมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้ เห็น
อริยสมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในตน ก็จะพอใจว่า ‘เพียงแค่นี้พอแล้ว เพียงแค่นี้
สำเร็จแล้ว เราได้บรรลุสามัญคุณแล้ว ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นนี้
อีก’ แต่ท่านยังบอกว่า ‘ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้น
อริยสมาธิขันธ์นี้อีก’

ปัญญาขันธ์

[๔๗๒] อริยปัญญาขันธ์ ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชน
สมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์”

วิชชา ๘ ประการ
๑. วิปัสสนาญาณ

ท่านพระอานนท์ตอบว่า “เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดัง
เนิน๑ ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
อย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ๒ รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกัน
เป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากบิดามารดา เจริญวัยเพราะข้าว
สุกและขนมสด ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็น
ธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสมีราคะเป็นต้น ท่านเรียกว่า กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) เพราะยังจิตให้ลาดต่ำ โน้มเอียงไปสู่ที่ต่ำ
เช่น ต้องย้อนกลับไปสู่จตุตถฌานอีก เป็นต้น
๒ ความรู้และความเห็นตรงตามความเป็นจริง อาจเรียกว่า มรรคญาณ ผลญาณ สัพพัญญุตญาณ
ปัจจเวกขณญาณ หรือวิปัสสนาญาณก็ได้ (ที.สี.อ. ๒๓๔/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๒.มโนมยิทธิญาณ

เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดี
แล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาวหรือสีนวลร้อยอยู่
ข้างใน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณารู้ว่า ‘แก้วไพฑูรย์อัน
งดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน
มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาวหรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิ
บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่
การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ รู้ชัดอย่างนี้ว่า
‘กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากบิดามารดา
เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตก
กระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’ ฉันนั้น
ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

๒. มโนมยิทธิญาณ

[๔๗๓] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อเนรมิตกายที่เกิดแต่ใจ คือ เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ
มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง
เปรียบเหมือนคนชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาเห็นว่า ‘นี้คือหญ้าปล้อง นี้คือ
ไส้ หญ้าปล้องเป็นอย่างหนึ่ง ไส้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ไส้ถูกชักออกมาจากหญ้า
ปล้องนั่นเอง’ เปรียบเหมือนคนชักดาบออกจากฝัก เขาเห็นว่า ‘นี้คือดาบ นี้คือฝัก
ดาบเป็นอย่างหนึ่ง ฝักก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ดาบถูกชักออกมาจากฝักนั่นเอง’ หรือ
เปรียบเหมือนคนดึงงูออกจากคราบ เขาเห็นว่า ‘นี้คืองู นี้คือคราบ งูเป็นอย่างหนึ่ง
คราบก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่งูถูกดึงออกจากคราบนั่นเอง’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิ
บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่
การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อเนรมิตกายที่เกิดแต่ใจ คือ
เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง
ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๔.ทิพยโสตธาตุญาณ

๓. อิทธิวิธญาณ

[๔๗๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลาย
คนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา
กำแพง(และ)ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดิน
เหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัด
สมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือช่างหม้อผู้ชำนาญ เมื่อนวดดินเหนียวดีแล้ว
พึงทำภาชนะที่ต้องการให้สำเร็จได้ เปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือช่างงาผู้ชำนาญ
เมื่อแต่งงาดีแล้ว พึงทำเครื่องงาชนิดที่ต้องการให้สำเร็จได้ เปรียบเหมือนช่างทอง
หรือลูกมือช่างทองผู้ชำนาญ เมื่อหลอมทองดีแล้ว พึงทำทองรูปพรรณชนิดที่
ต้องการให้สำเร็จได้ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็น
หลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา
กำแพง(และ)ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดิน
เหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัด
สมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ ฉันนั้น
ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

๔. ทิพพโสตธาตุญาณ

[๔๗๕] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๕.เจโตปริยญาณ

จิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุญาณได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่
อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
เปรียบเหมือนคนเดินทางไกล (มีประสบการณ์มาก) ได้ยินเสียงกลอง เสียง
ตะโพน เสียงสังข์ เสียงบัณเฑาะว์ เสียงเปิงมาง ก็เข้าใจว่า นั่นเสียงกลอง เสียง
ตะโพน เสียงสังข์ เสียงบัณเฑาะว์ เสียงเปิงมาง ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์
ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน
ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุญาณได้ยินเสียง ๒
ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือ
มนุษย์ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

๕. เจโตปริยญาณ

[๔๗๖] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิต
ไปเพื่อเจโตปริยญาณ กำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน คือ จิตมีราคะ
ก็รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ หรือ
ปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ หรือปราศจากโมหะก็รู้
ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะ๑
ก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้
ว่ามีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า
เป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น หรือไม่
หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น
เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตน
ในกระจกใสสะอาดหรือในภาชนะน้ำใส หน้ามีไฝฝ้าก็รู้ว่ามีไฝฝ้า หรือไม่มีไฝฝ้าก็รู้ว่า
ไม่มีไฝฝ้า ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า มหัคคตะ แปลว่า ถึงความเป็นใหญ่ มหัคคตจิต หมายถึงจิตที่ถึงฌานสมาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๖.ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ

ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อม
จิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ กำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน คือ จิตมี
ราคะก็รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ
หรือปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ หรือปราศจาก
โมหะก็รู้ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตเป็น
มหัคคตะก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ จิตมีจิตอื่น
ยิ่งกว่าก็รู้ว่ามีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็น
สมาธิก็รู้ว่าเป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น
หรือไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

[๔๗๗] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติ
บ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐
ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด
สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล
มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพ
โน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และ
มีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เปรียบเหมือนคนจากบ้านตนไปบ้านอื่นแล้วจากบ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีก เขา
จากบ้านนั้นกลับมายังบ้านเดิมของตน ระลึกได้อย่างนี้ว่า ‘เราได้จากบ้านตนไปบ้าน
โน้น ในบ้านนั้นเราได้ยืน นั่ง พูด นิ่งเฉยอย่างนั้น ๆ เราได้จากแม้บ้านนั้นไปยังบ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๗.ทิพพจักขุญาณ

โน้น แม้ในบ้านนั้นเราก็ได้ยืน นั่ง พูด นิ่งเฉยอย่างนั้น ๆ แล้วกลับจากบ้านนั้นมา
ยังบ้านเดิมของตน’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติ
บ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่า ‘ในภพโน้น
เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ
จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอ
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ ฉันนั้น ข้อนี้
จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

๗. ทิพพจักขุญาณ

[๔๗๘] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้น
สูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึง
หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่
ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไป
บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล
เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ที่ทางสามแพร่งกลางเมืองหลวง คนตาดียืนบน
ปราสาทนั้นเห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง ออกจากเรือนบ้าง สัญจรอยู่ตามถนน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๘.อาสวักขยญาณ

บ้าง นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่งกลางเมืองหลวงบ้าง ก็รู้ว่า ‘คนเหล่านี้เข้าไปสู่เรือน คน
เหล่านี้ออกจากเรือน คนเหล่านี้สัญจรอยู่ตามถนน คนเหล่านี้นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่ง
กลางเมืองหลวง’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ
ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้
ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และ
มโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตาม
ความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่
หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ
เห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะ
ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

๘. อาสวักขยญาณ

[๔๗๙] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้
ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๑ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก
ต่อไป’๒

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำในที่นี้ หมายถึง กิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำให้
แจ้งซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓ )
๒ ไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความหมดสิ้นแห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า
การบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓ )

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ สุภมาณพประกาศตนเป็นอุบาสก

เปรียบเหมือนสระน้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัวบนยอดภูเขา คนตาดียืนที่ขอบสระนั้น
เห็นหอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวดและก้อนหินหรือฝูงปลากำลังแหวกว่ายอยู่บ้าง
หยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ก็คิดอย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอย
กาบ ก้อนกรวดและก้อนหิน และฝูงปลาเหล่านี้กำลังแหวกว่ายอยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มี
ในสระนั้น’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิต
ไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธ-
คามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ
และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

สุภมาณพประกาศตนเป็นอุบาสก

[๔๘๐] มาณพ อริยปัญญาขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ ในพระธรรมวินัยนี้ ไม่มีกรณียกิจที่ต้อง
ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยปัญญาขันธ์นี้อีกแล้ว”
เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยปัญญาขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่
ใช่ไม่บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในสมณพราหมณ์
เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้เลย ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยปัญญา
ขันธ์นี้อีกแล้ว ท่านอานนท์ ภาษิตของท่านอานนท์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านอานนท์
ภาษิตของท่านอานนท์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านอานนท์ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย
ประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้
หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพเจ้านี้ขอถึง
ท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านอานนท์โปรดจำ
ข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

สุภสูตรที่ ๑๐ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร] เรื่องบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ

๑๑. เกวัฏฏสูตร
ว่าด้วยบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ

เรื่องบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ

[๔๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เขต
เมืองนาลันทา ครั้งนั้นบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
กราบพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เมืองนาลันทามั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่นที่ล้วนเลื่อมใส
ในพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาสเถิด ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดมีพระบัญชาให้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่พอจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์โดย
อุตตริมนุสสธรรม๑ ได้ ซึ่งจะทำให้ชาวเมืองนาลันทาพากันเลื่อมใสในพระผู้มีพระ
ภาคมากขึ้นสุดจะประมาณ”
เมื่อเขากราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราไม่ได้แสดง
ธรรมแก่ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิด พวกเธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยอุตตริมนุสส-
ธรรมแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว”
[๔๘๒] แม้ครั้งที่ ๒ บุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ไม่ได้คาดคั้นพระผู้มีพระภาคเลย แต่ข้าพระองค์ขอกราบทูลอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทามั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมือง
หนาแน่นที่ล้วนเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
เถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดมีพระบัญญัติให้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่พอจะแสดง
อิทธิปาฏิหาริย์โดยอุตตริมนุสสธรรมได้ ซึ่งจะทำให้ชาวเมืองนาลันทาพากันเลื่อมใส
ในพระผู้มีพระภาคมากขึ้นสุดจะประมาณ”

เชิงอรรถ :
๑ อุตตริมนุสสธรรม คือธรรมยวดยิ่งของมนุษย์, ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ
สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำผลให้แจ้ง การละกิเลส ความที่จิตปลอดจากนิวรณ์ ความ
ยินดีในเรือนว่าง (วิ.มหา. ๑/๑๙๘/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร]
ปาฏิหารย์ ๓ อย่าง ๑.อิทธิปาฏิหาริย์

แม้ครั้งที่ ๓ บุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้า
พระองค์ไม่ได้คาดคั้นพระผู้มีพระภาคเลย ฯลฯ พากันเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค
มากขึ้นสุดจะประมาณ”

ปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง

[๔๘๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราทำให้แจ้งปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงได้ประกาศให้รู้กัน ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างคืออะไรบ้าง คือ
อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์

๑. อิทธิปาฏิหาริย์

[๔๘๔] เกวัฏฏะ ก็อิทธิปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคน
เดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง(และ)ภูเขาไปได ้ไม่ติด
ขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำ
โดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนก
บินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้
ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
เพราะเหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลาย
อย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึง
พรหมโลกก็ได้ ผู้นั้นจะบอกแก่บุคคลผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสว่า ‘น่าอัศจรรย์
จริง ไม่เคยปรากฏ สมณะมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากเหลือเกิน ข้าพเจ้าเพิ่งเคยเห็น
ท่านนี้ที่แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้
อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้’
เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใส
ว่า ‘ท่าน มีวิชาประเภทหนึ่งเรียกว่าคันธาริ๑ ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ

เชิงอรรถ :
๑ วิชาคันธาริ หมายถึง วิชาที่ฤๅษีคันธาระเป็นผู้ทำ อีกนัยหนึ่ง หมายถึง วิชาที่เกิดขึ้นในแคว้นคันธาระ
ซึ่งมีฤๅษีพำนักอยู่มาก (ที.สี.อ. ๔๘๔/๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร]
ปาฏิหารย์ ๓ อย่าง ๒.อาเทสนาปาฏิหารย์

คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
เพราะมีวิชานั้น’
เกวัฏฏะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูด
กับผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนั้นหรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ต้องพูดแน่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราเล็งเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้
จึงเหนื่อยหน่าย ระอา รังเกียจเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์

๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์

[๔๘๕] เกวัฏฏะ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่าน
เป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้
เพราะเหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นทายจิต ทายเจตสิก
ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไป
โดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้ ผู้นั้นจะบอกแก่บุคคลผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสว่า
‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ สมณะมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากเหลือเกิน ข้าพเจ้า
เพิ่งเคยเห็นท่านนี้ที่ทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคล
อื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้’
เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับผู้มีศรัทธาเลื่อมใสว่า
‘ท่าน มีวิชาประเภทหนึ่งเรียกว่ามณิกา๑ ภิกษุรูปนั้นทายจิต ทายเจตสิก ทายความ
วิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการ
อย่างนี้ เป็นดังนี้ เพราะมีวิชานั้น’

เชิงอรรถ :
๑ วิชามณิกา ได้แก่ วิชาจินดามณี ผู้รู้วิชาจินดามณี สามารถรู้ใจคนอื่นได้ (ที.สี.อ. ๔๘๕/๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร]
เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

เกวัฏฏะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ผู้ที่ยังไม่ศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับ
ผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนั้นหรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ต้องพูดแน่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราเล็งเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์อย่างนี้ จึง
เหนื่อยหน่าย ระอา รังเกียจเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์

[๔๘๖] เกวัฏฏะ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ‘ท่านจงตรึกตรองอย่างนี้ อย่าตรึกตรองอย่างนั้น จงใส่ใจ
อย่างนี้ อย่าใส่ใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด’ นี้จัดเป็นอนุสาสนี-
ปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง
ยังมีอีก เกวัฏฏะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง
โดยชอบ ฯลฯ๑ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่า
สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์
อย่างหนึ่ง
ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ฯลฯ น้อม
จิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง ฯลฯ รู้ชัดว่า ...
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง
เกวัฏฏะ เราทำให้แจ้งปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึง
ประกาศให้รู้กัน

เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

[๔๘๗] เกวัฏฏะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุเกิดความคิดคำนึง
ว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่
ไหนหนอ

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒ และควรดูเทียบจนถึงข้อ ๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร]
เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

[๔๘๘] ทีนั้นแล ภิกษุจึงเข้าสมาธิถึงขั้นที่จิตตั้งมั่นจนเห็นทางไปเทวโลก ครั้น
แล้วเธอเข้าไปหาพวกเทพชั้นจาตุมหาราชิกา แล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ มหาภูต-
รูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’
เมื่อเธอถามอย่างนี้ พวกเทพชั้นจาตุมหาราชิกาตอบว่า ‘พวกเราไม่ทราบที่
ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือน
กัน แต่ท้าวมหาราช ๔ องค์ซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ’
[๔๘๙] ทีนั้น เธอจึงเข้าไปหาท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ แล้วถามว่า ‘ท่าน
ผู้มีอายุ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับ
สนิทที่ไหน’ เมื่อเธอถามอย่างนี้ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ตอบว่า ‘แม้พวกเรา
ก็ไม่ทราบที่ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิท
ไปเหมือนกัน แต่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ’
[๔๙๐] ทีนั้น เธอจึงเข้าไปหาพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่
ไหน’ เมื่อเธอถามอย่างนี้ พวกเทพชั้นดาวดึงส์ตอบว่า ‘แม้พวกเราก็ไม่ทราบที่ที่
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือนกัน
แต่ท้าวสักกเทวราชผู้ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ’
[๔๙๑] ทีนั้น เธอจึงเข้าไปหาท้าวสักกเทวราชแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่
ไหน’ เมื่อเธอถามอย่างนี้ ท้าวสักกเทวราชตอบว่า ‘แม้เราก็ไม่ทราบที่ที่มหาภูตรูป
๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือนกัน แต่
พวกเทพชั้นยามา ฯลฯ เทพบุตรชื่อสุยาม ฯลฯ พวกเทพชั้นดุสิต ฯลฯ เทพบุตร
ชื่อสันดุสิต ฯลฯ พวกเทพชั้นนิมมานรดี ฯลฯ เทพบุตรชื่อสุนิมมิต ฯลฯ พวก
เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ เทพบุตรชื่อวสวัตดีซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเรา
คงจะทราบ’
[๔๙๒] ทีนั้น เธอจึงเข้าไปหาเทพบุตรชื่อวสวัตดีแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร]
เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

เมื่อเธอถามอย่างนี้ เทพบุตรชื่อวสวัตดีตอบว่า ‘แม้เราก็ไม่ทราบที่ที่มหาภูตรูป ๔
คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือนกัน แต่พวก
เทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหม ซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าเราคงจะทราบ’
[๔๙๓] ทีนั้นแล ภิกษุจึงเข้าสมาธิถึงขั้นที่จิตตั้งมั่นจนเห็นทางไปพรหมโลก
ครั้นแล้วเธอเข้าไปหาพวกเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหมแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’
เมื่อเธอถามอย่างนี้ พวกเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหมตอบว่า ‘แม้พวกเราก็ไม่ทราบที่
ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือนกัน
แต่พระพรหมผู้เป็นท้าวมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้
กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็น
บิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิดซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ’
เธอถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เวลานี้ท้าวมหาพรหมอยู่ที่ไหน’
พวกเทพเหล่านั้นตอบว่า ‘แม้พวกเราก็ไม่รู้ที่อยู่ของท้าวมหาพรหมหรือ
ทิศทางที่ท้าวมหาพรหมอยู่ แต่มีนิมิตที่สังเกตได้ (คือ) แสงสว่างเกิดขึ้น โอภาส
ปรากฏขึ้น ท้าวมหาพรหมก็จะปรากฏพระองค์ด้วย การที่แสงสว่างเกิดขึ้น โอภาส
ปรากฏขึ้นนี้ จัดเป็นบุรพนิมิตแห่งการปรากฏของท้าวมหาพรหม’ ต่อมาไม่นาน
ท้าวมหาพรหมได้ปรากฏพระองค์ขึ้น
[๔๙๔] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นเข้าไปหาท้าวมหาพรหมแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’
เมื่อเธอถามอย่างนี้ ท้าวมหาพรหมตอบว่า ‘เราเป็นพรหมผู้เป็นท้าวมหาพรหมผู้ยิ่ง
ใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล
ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด’
แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุนั้นกล่าวกะท้าวมหาพรหมว่า ‘ท่านผู้มีอายุ อาตมาไม่ได้
ถามท่านว่า ท่านเป็นพระพรหมผู้เป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้
เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ
เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิดหรือ แต่อาตมาถามท่านอย่างนี้ว่า มหา
ภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร] อุปมาด้วยนกบินดูฝั่ง

แม้ครั้งที่ ๒ ท้าวมหาพรหมก็คงตอบว่า ‘เราเป็นพรหมผู้เป็นท้าวมหาพรหมผู้
ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล
ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด’
แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุนั้นกล่าวกะท้าวมหาพรหมว่า ‘ท่านผู้มีอายุ อาตมาไม่ได้
ถามท่านว่า ท่านเป็นพระพรหมผู้เป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็น
ถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้
ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิดหรือ แต่อาตมาถามท่าน
อย่างนี้ว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อม
ดับสนิทที่ไหน’
[๔๙๕] ทันใดนั้น ท้าวมหาพรหมนั้นจับแขนภิกษุนั้นพาไป ณ ที่สมควรแล้ว
กล่าวว่า ‘ภิกษุ พวกเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหมเข้าใจว่า ไม่มีอะไรที่พระพรหมไม่ได้
รู้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ทราบ ไม่ได้ประจักษ์แจ้ง ดังนั้น เราจึงไม่ตอบต่อหน้าพวกเทพ
เหล่านั้นว่า แม้เราก็ไม่ทราบที่ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ
และวาโยธาตุดับสนิทเหมือนกัน ฉะนั้น การที่ท่านละเลยพระผู้มีพระภาคแล้วมาหา
คำตอบเรื่องนี้ภายนอก นับว่าทำผิด นับว่าทำพลาด ไปเถิด ภิกษุ ท่านจงไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคแล้วทูลถามปัญหานี้ และพึงจำไว้ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ’
[๔๙๖] ลำดับนั้น ภิกษุได้หายไปจากพรหมโลกมาปรากฏต่อหน้าเรา เปรียบ
เหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือพับแขนเข้าฉะนั้น เธอกราบเราแล้วนั่งลง ณ
ที่สมควร ถามเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ
เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหนหนอแล’

อุปมาด้วยนกบินดูฝั่ง

[๔๙๗] เมื่อเธอถามอย่างนี้ เราได้ตอบว่า ภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวก
พ่อค้าเดินเรือทะเลนำนกตีรทัสสีลงเรือไป เมื่อมองไม่เห็นฝั่ง พวกเขาจึงปล่อยนก
ตีรทัสสีไป นกนั้นบินไปยังทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศเบื้องบน
และทิศเฉียง ถ้ามันยังแลเห็นชายฝั่งรอบ ๆ ก็จะบินเลยไป ถ้ามันแลไม่เห็นฝั่งโดย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร] อุปมาด้วยนกบินดูฝั่ง

รอบก็จะบินกลับมาที่เรือนั้นอีก ภิกษุ เธอก็เช่นกัน เที่ยวเสาะหาไปจนถึงพรหมโลก
ก็ยังไม่ได้คำตอบของปัญหานี้ ในที่สุดต้องกลับมาหาเรา ปัญหานี้เธอไม่ควรถามว่า
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่
ไหนหนอแล
[๔๙๘] แต่ควรถามอย่างนี้ว่า
ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมตั้ง
อยู่ไม่ได้ในที่ไหน อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียด
และหยาบ งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน
นามและรูปย่อมดับสนิทในที่ไหน
[๔๙๙] ในปัญหานั้น มีคำตอบดังนี้
ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมตั้ง
อยู่ไม่ได้ในวิญญาณ๑ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่มีที่สุด
แต่มีท่าข้าม๒โดยรอบด้าน อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น
ละเอียด และหยาบ งามและไม่งาม ก็ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้
ในวิญญาณ๑นี้เช่นเดียวกัน นามและรูปย่อมดับสนิท
ในวิญญาณ๑นี้เช่นเดียวกัน เพราะวิญญาณ๓ดับไป
นามและรูปนั้นก็ย่อมดับสนิทในที่นั้น”
[๕๐๐] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว บุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะมีใจยินดี
ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

เกวัฏฏสูตรที่ ๑๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร] ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโลหิจจะ

๑๒. โลหิจจสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโลหิจจะ

[๕๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านสาลวติกา สมัยนั้น โลหิจจพราหมณ์
ปกครองหมู่บ้านสาลวติกา ซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์
ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระ
ราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย (ส่วนพิเศษ)
[๕๐๒] สมัยนั้น โลหิจจพราหมณ์มีความคิดเห็นชั่วร้ายเกิดขึ้นว่า ‘สมณะ
หรือพราหมณ์ในโลกนี้จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อบรรลุแล้วไม่ควรสอนคนอื่น เพราะ
ไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออก
แล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความ
โลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้’
[๕๐๓] โลหิจจพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า “พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จ
ผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านสาลวติกาโดยลำดับ ท่านพระโคดมนั้นมี
กิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จ
ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลก
นี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระ
อรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร] ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโลหิจจะ

[๕๐๔] ทีนั้น โลหิจจพราหมณ์เรียกช่างกัลบกชื่อโรสิกะมาสั่งว่า “มานี่แน่ะ
เพื่อนโรสิกะ ท่านจงไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม แล้วทูลถามพระสมณโคดมถึงสุขภาพ
ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญตาม
คำของเราว่า โลหิจจพราหมณ์ทูลถามท่านพระโคดมถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธ
น้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ และท่านจงกราบทูลว่า
ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหารของโลหิจจพราหมณ์
ในวันพรุ่งนี้เถิด”
[๕๐๕] โรสิกกัลบกรับคำแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบ
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “โลหิจจพราหมณ์ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึง
สุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ
และกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหารของ
โลหิจจพราหมณ์ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยอาการดุษณี
[๕๐๖] ทีนั้น โรสิกกัลบกทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึง
ลุกจากที่นั่ง กราบพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปหาโลหิจจพราหมณ์
แล้วบอกว่า “ข้าพเจ้าได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคตามคำของท่านว่า ‘โลหิจจ-
พราหมณ์ทูลถามพระผู้มีพระภาค ... ในวันพรุ่งนี้เถิด’ และพระผู้มีพระภาคนั้นก็ทรง
รับนิมนต์แล้ว”
[๕๐๗] ครั้นล่วงราตรีนั้น โลหิจจพราหมณ์ได้จัดของขบฉันอย่างดีไว้ใน
นิเวศน์ของตน เรียบร้อยแล้ว เรียกโรสิกกัลบกมาสั่งว่า “มานี่แน่ะ เพื่อนโรสิกะ ท่าน
จงไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมแล้วกราบทูลภัตกาลว่า ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
โรสิกกัลบกรับคำของโลหิจจพราหมณ์แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
กราบแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร]
ความขวนขวายของโลหิจจพราหมณ์

[๕๐๘] ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จ
เข้าไปยังหมู่บ้านสาลวติกาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โรสิกกัลบกตามเสด็จไปเบื้องพระ
ปฤษฎางค์ กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์มีความคิดเห็น
ชั่วร้ายเกิดขึ้นว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อบรรลุแล้ว
ไม่ควรสอนคนอื่น เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้
ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อเปรียบเทียบ
อย่างนี้ว่า เป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาสเถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงปลด
เปลื้องโลหิจจพราหมณ์ออกจากความคิดเห็นอันชั่วร้ายนั้นด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โรสิกะ นั่นเป็นหน้าที่ของเรา”
ทีนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของโลหิจจพราหมณ์แล้ว
ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ โลหิจจพราหมณ์ประเคนของขบฉันอย่างดีแด่ภิกษุสงฆ์ที่
มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยตนเองจนอิ่มหนำ

ความขวนขวายของโลหิจจพราหมณ์

[๕๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์ โลหิจจพราหมณ์
จึงนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสถามโลหิจจพราหมณ์ว่า “โลหิจจะ ทราบว่า ท่านมีความ
คิดเห็นชั่วร้ายเกิดขึ้นว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อ
บรรลุแล้วไม่ควรสอนคนอื่น เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้ เปรียบ
เหมือนบุคคลผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เรา
เรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใด
จะช่วยผู้สอนได้’ ดังนี้ เป็นความจริงหรือ”
เขาทูลตอบว่า “จริงอย่างนั้น ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โลหิจจะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ท่าน
ปกครองหมู่บ้านสาลวติกามิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร]
ความขวนขวายของโลหิจจพราหมณ์

เขาทูลตอบว่า “เป็นอย่างนั้น ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “โลหิจจะ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘โลหิจจ-
พราหมณ์ปกครองหมู่บ้านสาลวติกาก็ควรได้รับผลประโยชน์ที่เกิดในหมู่บ้าน
สาลวติกาแต่เพียงผู้เดียว ไม่ควรแบ่งให้ผู้อื่น’ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้จะชื่อว่าทำความ
เดือดร้อนให้แก่คนที่อาศัยท่านเลี้ยงชีพใช่หรือไม่”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อทำความเดือดร้อนให้ จะชื่อว่าหวัง
ประโยชน์หรือไม่หวังประโยชน์ต่อคนเหล่านั้น”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “ผู้ไม่หวังประโยชน์ จะชื่อว่ามีเมตตาจิต
หรือชื่อว่าคิดเป็นศัตรูกับคนเหล่านั้นเล่า”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อคิดเป็นศัตรู จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ
หรือสัมมาทิฏฐิเล่า”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติอย่าง ๑ ใน ๒
อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน”
[๕๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “โลหิจจะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่า
อย่างไร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปกครองแคว้นกาสีกับแคว้นโกศลมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “เป็นอย่างนั้น ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “โลหิจจะ ผู้ที่กล่าวว่า ‘พระเจ้าปเสนทิโกศล
ทรงปกครองแคว้นกาสีกับแคว้นโกศล พระองค์ก็ควรได้รับผลประโยชน์ที่เกิดใน
แคว้นทั้งสองแต่เพียงลำพัง ไม่ควรพระราชทานให้แก่ผู้อื่น’ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้จะ
ชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้แก่ท่านและแก่คนอื่นซึ่งอาศัยพระบรมโพธิสมภารของ
พระองค์เลี้ยงชีพใช่หรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร]
ความขวนขวายของโลหิจจพราหมณ์

เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อทำความเดือดร้อนให้ จะชื่อว่า หวัง
ประโยชน์หรือไม่หวังประโยชน์ต่อคนเหล่านั้น”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “ผู้ไม่หวังประโยชน์ จะชื่อว่ามีเมตตาจิต
หรือชื่อว่าคิดเป็นศัตรูกับคนเหล่านั้นเล่า”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อคิดเป็นศัตรู จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ
หรือสัมมาทิฏฐิเล่า”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติอย่าง ๑ ใน ๒
อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน
[๕๑๑] โลหิจจะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า ผู้กล่าวว่า ‘โลหิจจพราหมณ์ปกครอง
หมู่บ้านสาลวติกาก็ควรได้รับผลประโยชน์ที่เกิดในหมู่บ้านสาลวติกาแต่เพียงผู้เดียว
ไม่ควรแบ่งให้ผู้อื่น’ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้แก่คนที่อาศัยท่าน
เลี้ยงชีพ เมื่อทำความเดือดร้อนให้ก็ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ผู้ไม่หวังประโยชน์ก็ชื่อ
ว่าคิดเป็นศัตรู เมื่อคิดเป็นศัตรูก็ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ข้ออุปไมยนี้ก็เช่นกัน ผู้ที่กล่าว
ว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อบรรลุแล้วไม่ควรสอน
คนผู้อื่น เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตัดเครื่อง
จองจำเก่าออกแล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่าง
นี้ว่าเป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้’ ผู้ที่กล่าว
อย่างนี้ชื่อว่า ทำความเดือดร้อนให้แก่เหล่ากุลบุตรผู้อาศัยธรรมวินัยที่เราแสดง
แล้วบรรลุคุณวิเศษ คือ ทำให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง ทำให้แจ้งสกทาคามิผลบ้าง
ทำให้แจ้งอนาคามิผลบ้าง ทำให้แจ้งอรหัตตผลบ้าง และชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้
แก่เหล่ากุลบุตรผู้อบรมคุณธรรมให้แก่กล้าเพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ยิ่งขึ้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร]
ศาสดาที่สมควรถูกทักท้วง ๓ ประเภท

เมื่อทำความเดือดร้อนให้ก็ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ผู้ไม่หวังประโยชน์ก็ชื่อว่าคิดเป็น
ศัตรู เมื่อคิดเป็นศัตรูก็ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติ
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน
[๕๑๒] โลหิจจะ คนที่กล่าวว่า ‘พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปกครองแคว้นกาสี
กับแคว้นโกศล พระองค์ก็ควรได้รับผลประโยชน์ที่เกิดในแคว้นทั้งสองแต่เพียง
ลำพัง ไม่ควรพระราชทานให้แก่ผู้อื่น’ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ชื่อว่า ทำความเดือดร้อนให้
แก่ท่านและแก่คนอื่นซึ่งอาศัยพระบรมโพธิสมภารของพระองค์เลี้ยงชีพ เมื่อทำ
ความเดือดร้อนให้ก็ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ผู้ไม่หวังประโยชน์ก็ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู เมื่อ
คิดเป็นศัตรูก็ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ข้ออุปไมยนี้ก็เช่นกัน ผู้ที่กล่าวว่า ‘สมณะหรือ
พราหมณ์ในโลกนี้จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อบรรลุแล้วไม่ควรสอนคนอื่น เพราะไม่มี
ผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว
สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความโลภ
อันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้’ ผู้กล่าวอย่างนี้ชื่อว่าทำความ
เดือดร้อนให้แก่เหล่ากุลบุตรผู้อาศัยธรรมวินัยที่เราแสดงแล้วบรรลุคุณวิเศษ คือ
ทำให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง ทำให้แจ้งสกทาคามิผลบ้าง ทำให้แจ้งอนาคามิผลบ้าง
ทำให้แจ้งอรหัตตผลบ้าง และชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้แก่เหล่ากุลบุตรผู้อบรม
คุณธรรมให้แก่กล้าเพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ยิ่งขึ้นไป เมื่อทำความเดือดร้อนให้
ก็ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ผู้ไม่หวังประโยชน์ก็ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู เมื่อคิดเป็นศัตรูก็ชื่อว่า
เป็นมิจฉาทิฏฐิ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเรากล่าวว่า มีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรก
หรือกำเนิดเดรัจฉาน

ศาสดาที่สมควรถูกทักท้วง ๓ ประเภท

[๕๑๓] โลหิจจะ ศาสดา ๓ ประเภทต่อไปนี้ สมควรถูกทักท้วง ทั้งการ
ทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาเห็นปานนั้นก็จัดว่าจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ ศาสดา
๓ ประเภทเป็นเช่นไร คือ
(๑) โลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต
ยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ทั้งที่ยังไม่ได้บรรลุจุดมุ่งหมายแห่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร]
ศาสดาที่สมควรถูกทักท้วง ๓ ประเภท

ความเป็นสมณะแต่กลับแสดงธรรมสอนสาวกว่า ‘เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์และเพื่อ
ความสุขแก่พวกท่าน’ สาวกของเขาจึงไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และหลีกเลี่ยงที่
จะประพฤติตามคำสั่งสอน เขาสมควรถูกทักท้วงว่า ‘ท่านออกจากเรือนไปบวชเป็น
บรรพชิตยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ทั้งที่ยังไม่ได้บรรลุจุดมุ่งหมาย
แห่งความเป็นสมณะแต่กลับแสดงธรรมสอนสาวกว่า เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์และเพื่อ
ความสุขแก่พวกท่าน สาวกของท่านจึงไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และหลีกเลี่ยงที่
จะประพฤติตามคำสั่งสอน เปรียบเหมือนบุรุษที่ประชิดตัวสตรีผู้กำลังถอยหนี หรือ
เปรียบเหมือนบุรุษสวมกอดสตรีที่หันหลังให้ ข้ออุปไมยนี้ก็เช่นกัน เราเรียกข้อ
เปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้
สอนได้’ นี้คือศาสดาประเภทที่ ๑ ซึ่งสมควรถูกทักท้วง ทั้งการทักท้วงของผู้ทักท้วง
ศาสดาประเภทนี้ก็จัดว่าจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ
[๕๑๔] (๒) ยังมีอีก โลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ออกจากเรือนไปบวช
เป็นบรรพชิตยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ทั้งที่ยังไม่ได้บรรลุจุดมุ่ง
หมายแห่งความเป็นสมณะแต่กลับแสดงธรรมสอนสาวกว่า ‘เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์
และเพื่อความสุขแก่พวกท่าน’ สาวกของเขาก็ตั้งใจฟัง ตั้งใจเพื่อจะรู้ และไม่หลีก
เลี่ยงที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน เขาสมควรถูกทักท้วงว่า ‘ท่านออกจากเรือนไป
บวชเป็นบรรพชิตยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ทั้งที่ยังไม่ได้บรรลุจุด
มุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะแต่กลับแสดงธรรมสอนสาวกว่า เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์
และเพื่อความสุขแก่พวกท่าน สาวกของท่านก็ตั้งใจฟัง ตั้งใจเพื่อจะรู้ และไม่หลีก
เลี่ยงที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน เปรียบเหมือนคนผู้ละเลยนาของตน เข้าใจนาของ
ผู้อื่นว่าเป็นที่อันตนควรบำรุง ข้ออุปไมยนี้ก็เช่นเดียวกัน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า
เป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้’ นี้คือศาสดาประเภท
ที่ ๒ ซึ่งสมควรถูกทักท้วง ทั้งการทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาประเภทนี้ก็จัดว่าจริง
แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ
[๕๑๕] (๓) ยังมีอีก โลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ออกจากเรือนไปบวช
เป็นบรรพชิตได้บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ครั้นบรรลุจุดมุ่งหมายแห่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร] ศาสดาที่ไม่สมควรถูกทักท้วง

ความเป็นสมณะแล้วก็แสดงธรรมสอนสาวกว่า ‘เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์และเพื่อความ
สุขแก่พวกท่าน’ แต่สาวกของเขากลับไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และยังหลีกเลี่ยง
ที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน เขาสมควรถูกทักท้วงว่า ‘ท่านออกจากเรือนไปบวชเป็น
บรรพชิตได้บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ครั้นบรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความ
เป็นสมณะแล้วก็แสดงธรรมสอนสาวกว่า เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์และเพื่อความสุขแก่
พวกท่าน แต่สาวกของท่านกลับไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และยังหลีกเลี่ยงที่จะ
ประพฤติตามคำสั่งสอน เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว สร้าง
เครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความโลภอัน
ชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้’ นี้คือศาสดาประเภทที่ ๓ ซึ่ง
สมควรถูกทักท้วง ทั้งการทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาประเภทนี้ก็จัดว่าจริง แท้
เป็นธรรม ไม่มีโทษ
โลหิจจะ ศาสดา ๓ ประเภทเหล่านี้แล สมควรถูกทักท้วง ทั้งการทักท้วงของ
ผู้ทักท้วงศาสดาเห็นปานนี้ก็จัดว่าจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ”

ศาสดาที่ไม่สมควรถูกทักท้วง

[๕๑๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ โลหิจจพราหมณ์ทูลถามว่า “ท่าน
พระโคดม ศาสดาซึ่งไม่สมควรถูกทักท้วงมีบ้างไหม”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โลหิจจะ ศาสดาซึ่งไม่สมควรถูกทักท้วงมีอยู่”
เขาทูลถามว่า “ศาสดาประเภทนี้เป็นเช่นไร ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โลหิจจะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระ
อรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๑ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมา
ใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่
โลหิจจะ ศาสดาที่สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเห็นปานนี้ไม่สมควรถูกทัก
ท้วง การทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาเห็นปานนี้ก็จัดว่าไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒ และควรดูเทียบจนถึงข้อ ๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร]
โลหิจจพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก

มีโทษ ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ โลหิจจะ
ศาสดาที่สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเห็นปานนี้ไม่สมควรถูกทักท้วง การ
ทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาเห็นปานนี้ก็จัดว่าไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม มีโทษ
ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ โลหิจจะ ศาสดาที่สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันยอด
เยี่ยมเห็นปานนี้ไม่สมควรถูกทักท้วง การทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาเห็นปานนี้ก็จัด
ว่าไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม มีโทษ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่าง
นี้อีกต่อไป โลหิจจะ ศาสดาที่สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเห็นปานนี้ไม่
สมควรถูกทักท้วง การทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาเห็นปานนี้ก็จัดว่าไม่จริง ไม่แท้
ไม่เป็นธรรม มีโทษ”

โลหิจจพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก

[๕๑๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ โลหิจจพราหมณ์ได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์กำลังจะตกเหวคือนรก แต่ท่านพระโคดมช่วยฉุดให้
กลับขึ้นมายืนอยู่บนที่มั่น เปรียบเหมือนคนผู้หนึ่งคว้าผมของอีกคนหนึ่งซึ่งกำลังจะ
ตกเหวแล้วฉุดให้กลับขึ้นมายืนอยู่บนที่มั่น ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระ
โคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบ
เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อม
ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็น
อุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

โลหิจจสูตรที่ ๑๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] ว่าด้วยเรื่องไตรเพท

๑๓. เตวิชชสูตร
ว่าด้วยเรื่องไตรเพท

[๕๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ของชาวโกศลชื่อมนสากฏะ
ประทับอยู่ ณ อัมพวัน ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ด้านเหนือหมู่บ้านมนสากฏะ
[๕๑๙] สมัยนั้น ในหมู่บ้านมนสากฏะ มีพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียง
มาพักอาศัยอยู่หลายคน คือ ๑จังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์
ชาณุสโสณิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์๑ และยังมีพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียง
คนอื่น ๆ อีก
[๕๒๐] ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพกับภารัทวาชมาณพไปเดินเล่น สนทนากันใน
เรื่องทางและไม่ใช่ทาง วาเสฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “ทางที่โปกขรสาติพราหมณ์
บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่
ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้”
ฝ่ายภารัทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “ทางที่ตารุกขพราหมณ์บอกไว้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้”
วาเสฏฐมาณพไม่อาจให้ภารัทวาชมาณพยินยอมได้ ฝ่ายภารัทวาชมาณพก็ไม่
อาจให้วาเสฏฐมาณพยินยอมได้เช่นกัน
[๕๒๑] วาเสฏฐมาณพจึงบอกภารัทวาชมาณพว่า “ภารัทวาชะ ก็พระสมณ-
โคดมพระองค์นี้เป็นศากยบุตร ผนวชแล้วจากศากยตระกูล ประทับอยู่ที่อัมพวัน
ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ด้านเหนือหมู่บ้านมนสากฏะ ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อัน

เชิงอรรถ :
๑-๑ จังกีพราหมณ์อยู่ที่หมู่บ้านโอปาสาทะ ตารุกขพราหมณ์อยู่ที่หมู่บ้านอิจฉานังคละ โปกขรสาติพราหมณ์
อยู่ที่เมืองอุกกัฏฐะ ชาณุสโสณิพราหมณ์อยู่ที่กรุงสาวัตถี โตเทยยพราหมณ์อยู่ที่หมู่บ้านตุทิ (ที.สี.อ.
๕๑๙/๓๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] ว่าด้วยเรื่องทางและไม่ใช่ทาง

งามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ฯลฯ๑ เป็นพระผู้มีพระภาค’ ภารัทวาชะ มาเถิด
พวกเราจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วยกัน ทูลถามเรื่องนี้แล้วทรงจำข้อความตามที่
พระสมณโคดมตรัสตอบแก่พวกเรา”
ภารัทวาชมาณพรับคำของวาเสฏฐมาณพแล้ว

ว่าด้วยเรื่องทางและไม่ใช่ทาง

[๕๒๒] วาเสฏฐมาณพและภารัทวาชมาณพ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ สนทนากับพระผู้มีพระภาคพอคุ้นเคยดีแล้ว นั่งลง ณ ที่สมควร
วาเสฏฐมาณพได้ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ขอประทานวโรกาสเถิด เมื่อข้า
พระองค์ทั้งสองไปเดินเล่น ได้สนทนากันในเรื่องทางและไม่ใช่ทาง ข้าพระองค์กล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ทางที่โปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป
เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ ภารัทวาชมาณพ
กลับกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ตารุกขพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดิน
ตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ ท่าน
พระโคดม ในเรื่องนี้ยังมีการถือผิดกัน กล่าวผิดกัน กล่าวต่างกันอยู่”
[๕๒๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทางที่
โปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก
นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ ภารัทวาชมาณพกลับกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ทางที่ตารุกขพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป
เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ พวกเธอถือ
ผิดกันในเรื่องไหน กล่าวผิดกันในเรื่องไหน กล่าวต่างกันในเรื่องไหน”
[๕๒๔] วาเสฏฐมาณพกราบทูลว่า “ในเรื่องทางและไม่ใช่ทาง ท่านพระโคดม
พวกพราหมณ์ทั้งหลาย คือ พวกอัทธริยพราหมณ์ พวกติตติริยพราหมณ์ พวก
ฉันโทกพราหมณ์ พวกพวหาริชฌพราหมณ์บัญญัติทางไว้ต่างกันก็จริง ถึงกระนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในข้อ ๒๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

ทางทั้งปวงก็ล้วนเป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้
เปรียบเหมือนในที่ใกล้หมู่บ้านหรือนิคม ถึงจะมีทางอยู่หลายเส้นทางก็จริง ถึงกระนั้น
ทุกเส้นทางก็มาบรรจบกันที่กลางหมู่บ้านนั่นเอง ฉันใด พวกพราหมณ์ทั้งหลาย
คือ พวกอัทธริยพราหมณ์ พวกติตติริยพราหมณ์ พวกฉันโทกพราหมณ์ พวก
พวหาริชฌพราหมณ์บัญญัติทางไว้ต่างกันก็จริง ถึงกระนั้น ทางทั้งปวงก็ล้วนเป็นทาง
นำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้ ฉันนั้น”

ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

[๕๒๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอกล่าวว่า ทางเหล่านั้น
นำออกได้หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์กล่าวว่านำออกได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอกล่าวว่า ทางเหล่านั้นนำออกได้หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์กล่าวว่านำออกได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอกล่าวว่า ทางเหล่านั้นนำออกได้หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์กล่าวว่านำออกได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ บรรดาพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท มี
พราหมณ์แม้สักคนหนึ่งไหมที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
แม้สักคนหนึ่งไหมที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ มีปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้
ได้ไตรเพทแม้สักคนหนึ่งไหมที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
สักคนหนึ่งไหมที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนซึ่งเคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็น
พยานได้”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
[๕๒๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์
ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท ได้แก่ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษี
เวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ
และฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้
ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้ รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้อง
ตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นมีไหมที่กล่าว
อย่างนี้ว่า พวกเรารู้ พวกเราเห็นพระพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด หรืออยู่ภพใด”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
[๕๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า บรรดา
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยาน
ได้ แม้อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหม
พอจะอ้างเป็นพยานได้ แม้ปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ไม่มีเลย
แม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนก็ไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็น
พรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
ได้แก่ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษี
อังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์
บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่า
ที่ท่านขับไว้กล่อมไว้รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้อง
ตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นก็ไม่มีเลยที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเรารู้ พวกเรา
เห็นพระพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด หรืออยู่ภพใด’ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อความเป็นผู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

อยู่ร่วมกับพระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก
นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’
[๕๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอย๑ มิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้
ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นไม่ใช่ฐานะที่เป็นไปได้”
[๕๒๙] วาเสฏฐะ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหมือนคนตาบอดเข้าแถว
เกาะหลังกัน คนอยู่หัวแถว คนอยู่กลางแถว และคนอยู่ปลายแถวต่างก็มองไม่เห็น
ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นช่างน่าขบขัน ต่ำต้อย เหลวไหล ไร้สาระ
[๕๓๐] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น
แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือนอบน้อมเดินเวียนอยู่”
เขาทูลตอบว่า “เป็นเช่นนั้น ท่านพระโคดม พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวง
จันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือ
นอบน้อมเดินเวียนอยู่”
[๕๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น
แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือนอบน้อมเดินเวียนอยู่ พราหมณ์เหล่านั้นจะ
สามารถแสดงทางไปอยู่ร่วมกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทาง

เชิงอรรถ :
๑ เลื่อนลอย (อปฺปาฏิหีรกตํ) หมายถึง เป็นคำที่ไม่มีปาฏิหาริย์ ขาดเหตุผลที่จะจูงใจฝ่ายตรงข้ามให้เชื่อถือ
หรือยินยอมได้ [ที.สี.ฎีกา(อภินว.) ๒/๔๒๕/๔๙๓]

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

ตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ได้ละหรือ”
เขาทูลตอบว่า “หามิได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า พราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทมองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น แต่ก็ยังอ้อนวอน
ชื่นชมประนมมือนอบน้อมเดินเวียนอยู่ พราหมณ์เหล่านั้นไม่สามารถแสดงทาง
ไปอยู่ร่วมกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ได้ว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดิน
ตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับดวงจันทร์และ
ดวงอาทิตย์ได้
[๕๓๒] วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า ไม่มีพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็น
พรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็น
พรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่
เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เป็น
อาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนซึ่งเคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ พวกฤๅษี
ผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท ได้แก่ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษี
วามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ
ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
ในเวลานี้ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้รวบรวมไว้ กล่าว
ได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นก็ไม่
มีเลยที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเรารู้ พวกเราเห็นพระพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด
หรืออยู่ภพใด’ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเรา
ไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’
[๕๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
เปรียบด้วยชายหลงรักหญิงงามแห่งชนบท

เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้
ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้

เปรียบด้วยชายหลงรักหญิงงามแห่งชนบท

[๕๓๔] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งปรารภถึงหญิงสาวอย่างนี้ว่า
‘เราปรารถนารักใคร่หญิงงามแห่งชนบทนี้’ คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอรู้จักหญิง
คนนั้นหรือว่าเป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์ หรือนางศูทร’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอรู้จักหญิงคนนั้นหรือว่ามีชื่อ ตระกูล
สูง ต่ำ สันทัด ดำ คล้ำ หรือผิวเหลือง อยู่ในบ้าน นิคม หรือเมืองโน้น’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอปรารถนารักใคร่หญิงที่ไม่
รู้จักทั้งไม่เคยเห็นอย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
[๕๓๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่า
เลื่อนลอยแน่นอน”
[๕๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้
สรุปได้ว่า ไม่มีพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มี
อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มี
ปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้
ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนที่เคย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] เปรียบด้วยคนสร้างบันได

เห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ฯลฯ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้
ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
พระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้
เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’
[๕๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้
ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้”

เปรียบด้วยคนสร้างบันได

[๕๓๘] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษทำบันไดที่หนทางใหญ่สี่แพร่งเพื่อขึ้น
ปราสาท คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอจะทำบันไดขึ้นปราสาท เธอรู้จักปราสาทนั้น
หรือว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ มีขนาดสูง ต่ำ
หรือปานกลาง’ เมื่อถูกถามอย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ยังไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า
‘เธอจะทำบันไดขึ้นปราสาทที่ยังไม่เคยรู้จักทั้งไม่เคยเห็นอย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
[๕๓๙] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่า
เลื่อนลอยแน่นอน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

[๕๔๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้
สรุปได้ว่า ไม่มีพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มี
อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มี
ปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้
ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนซึ่งเคย
เห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพท ได้แก่ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษี
ยมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่ง
เป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้ขับตามกล่อมตาม
ซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้
บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นก็ไม่มีเลยที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวก
เรารู้ พวกเราเห็นพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด หรืออยู่ภพใด’ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
เหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อ
ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป
เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’
[๕๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทก็ถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้
ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้

เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

[๕๔๒] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีมีน้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)
ดื่มกินได้ ชายคนหนึ่งต้องการจะข้ามฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปถึงฝั่ง ประสงค์จะข้าม เขา
ยืนอยู่ที่ฝั่งนี้ตะโกนเรียกฝั่งโน้นว่า ‘ฝั่งโน้นจงเลื่อนมาฝั่งนี้ ๆ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

[๕๔๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เพราะเหตุที่ชายผู้นั้นร้องเรียก อ้อนวอน ปรารถนา หรือสรรเสริญ ฝั่งโน้นของแม่น้ำ
อจิรวดีจะเลื่อนมายังฝั่งนี้ได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “ไม่ได้ ท่านพระโคดม”
[๕๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ การที่
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์๑ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้
เป็นพราหมณ์มาประพฤติ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราร้องเรียกพระอินทร์ ร้องเรียก
พระจันทร์ ร้องเรียกพระพิรุณ ร้องเรียกพระอีสาน ร้องเรียกพระปชาบดี ร้องเรียก
พระพรหม ร้องเรียกพระมหิทธิ์’ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้น
ละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มา
ประพฤติ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม เพราะการเรียกร้อง
การอ้อนวอน การปรารถนา หรือการสรรเสริญ นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้
[๕๔๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีมี
น้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ ชายคนหนึ่งต้องการข้ามไปฝั่งโน้น แต่กลับเอา
เชือกเหนียวมัดแขนไพล่หลังแน่นหนาอยู่ที่ฝั่งนี้ วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
ชายคนนั้นจะข้ามแม่น้ำอจิรวดีได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “ไม่ได้ ท่านพระโคดม”
[๕๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ กามคุณ๒ ๕
ต่อไปนี้ ในวินัยของพระอริยะเรียกว่า ขื่อคาบ้าง เครื่องจองจำบ้าง กามคุณ ๕
อะไรบ้าง คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยตา อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก ชักให้
ใคร่ พาใจให้กำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ (พฺราหฺมณการกา) ในที่นี้หมายถึง ศีล ๕ ศีล ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐ (ที.สี.อ.
๕๔๔-๕๔๕/๓๓๕)
๒ กาม (สิ่งที่ทำให้เกิดความใคร่) และ คุณ (เครื่องผูกพันหรือพันธนาการ) [ที.สี.อ. ๕๔๖/๓๓๕] ฉะนั้น
กามคุณ จึงหมายถึงสิ่งที่ผูกพันสัตว์ไว้คือกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น อันน่าปรารถนารักใคร่
พอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่า
ปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทผู้กำหนัด สยบ หมกมุ่น มองไม่เห็นโทษ ไม่มี
ปัญญาที่จะสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ อย่างนี้อยู่ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
ละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มา
ประพฤติ กำหนัด สยบ หมกมุ่น มองไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะสลัดออก บริโภค
กามคุณ ๕ อยู่ ติดตรวนคือกาม หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม
นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้
[๕๔๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีมี
น้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ ชายคนหนึ่งต้องการข้ามไปฝั่งโน้น แต่กลับนอน
คลุมโปงอยู่ที่ฝั่งนี้ วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ชายคนนั้นจะข้ามแม่น้ำ
อจิรวดีได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “ไม่ได้ ท่านพระโคดม”
[๕๔๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ นิวรณ์ ๕
ต่อไปนี้ ในวินัยของพระอริยะเรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง
เครื่องรัดรึงบ้าง เครื่องตรึงตราบ้าง นิวรณ์ ๕ อะไรบ้าง คือ กามฉันทะ พยาบาท
ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา วาเสฏฐะ นิวรณ์ ๕ เหล่านี้แล ในวินัย
ของพระอริยะเรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง เครื่องรัดรึงบ้าง
เครื่องตราตรึงบ้าง”
[๕๔๙] วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถูกนิวรณ์ ๕ เหล่านี้แลหน่วงเหนี่ยว
กางกั้น รัดรึง ตรึงเอาไว้แล้ว การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทละธรรมที่ทำให้เป็น
พราหมณ์ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มาประพฤติ ถูกนิวรณ์ ๕
หน่วงเหนี่ยว กางกั้น รัดรึง ตรึงเอาไว้ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วม
กับพรหม นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
เรื่องที่ตรัสเทียบเคียงระหว่างพรหมกับพราหมณ์

เรื่องที่ตรัสเทียบเคียงระหว่างพรหมกับพราหมณ์

[๕๕๐] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เธอเคยได้ยินพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวว่าอย่างไร พรหม
มีเครื่องเกาะเกี่ยว(ภรรยา) หรือไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พรหมคิดจองเวรหรือไม่คิดจองเวร”
เขาทูลตอบว่า “ไม่คิดจองเวร ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พรหมคิดเบียดเบียนหรือไม่คิดเบียดเบียน”
เขาทูลตอบว่า “ไม่คิดเบียดเบียน ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พรหมมีจิตเศร้าหมองหรือมีจิตไม่เศร้าหมอง”
เขาทูลตอบว่า “มีจิตไม่เศร้าหมอง ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พรหมบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้หรือบังคับจิต
ให้อยู่ในอำนาจไม่ได้”
เขาทูลตอบว่า “บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พราหมณ์
ผู้ได้ไตรเพทมีเครื่องเกาะเกี่ยวหรือไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว”
เขาทูลตอบว่า “มีเครื่องเกาะเกี่ยว ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์คิดจองเวรหรือไม่คิดจองเวร”
เขาทูลตอบว่า “คิดจองเวร ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์คิดเบียดเบียนหรือไม่คิดเบียดเบียน”
เขาทูลตอบว่า “คิดเบียดเบียน ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์มีจิตเศร้าหมองหรือมีจิตไม่เศร้า
หมอง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
เรื่องที่ตรัสเทียบเคียงระหว่างพรหมกับพราหมณ์

เขาทูลตอบว่า “มีจิตเศร้าหมอง ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้หรือบังคับ
จิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้”
เขาทูลตอบว่า “บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ ท่านพระโคดม”
[๕๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า พราหมณ์ผู้
ได้ไตรเพทยังมีเครื่องเกาะเกี่ยว แต่พรหมไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ดังนั้น จะเปรียบ
เทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังมีเครื่องเกาะเกี่ยวกับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยวได้
ละหรือ”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
เหล่านั้นซึ่งยังมีเครื่องเกาะเกี่ยว หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม
ผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังคิด
จองเวร แต่พรหมไม่คิดจองเวร ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังคิด
จองเวรกับพรหมผู้ไม่คิดจองเวรได้ละหรือ”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังคิดเบียดเบียน แต่
พรหมไม่คิดเบียดเบียน ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังคิด
เบียดเบียนกับพรหมผู้ไม่คิดเบียดเบียนได้ละหรือ”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังมีจิตเศร้าหมอง แต่
พรหมมีจิตไม่เศร้าหมอง ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังมีจิต
เศร้าหมองกับพรหมผู้มีจิตไม่เศร้าหมองได้ละหรือ”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
เรื่องที่ตรัสเทียบเคียงระหว่างพรหมกับพราหมณ์

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังบังคับจิตให้อยู่ใน
อำนาจไม่ได้ แต่พรหมบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้
ได้ไตรเพทที่ยังบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้กับพรหมผู้บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้
ละหรือ”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยัง
บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมผู้
บังคับจิตอยู่ในอำนาจได้ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้
[๕๕๒] วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นจมลงแล้วก็ยังจะจมอยู่ต่อไป
ในโลกนี้ เมื่อจมแล้ว ก็ถึงความย่อยยับ แต่ก็ยังเข้าใจว่า ตนข้ามไปได้ง่าย ๆ ดังนั้น
เราจึงเรียกไตรเพทของพราหณ์ผู้ได้ไตรเพทว่า ป่าใหญ่คือไตรเพทบ้าง ดงกันดารคือ
ไตรเพทบ้าง ความพินาศคือไตรเพทบ้าง”
[๕๕๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วาเสฏฐมาณพกราบทูลว่า “ท่าน
พระโคดม ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบทางไปเพื่อความเป็นผู้
อยู่ร่วมกับพระพรหม”
พระผู้มีพระภาคตรัสย้อนถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร หมู่
บ้านมนสากฏะอยู่ใกล้แค่นี้ ไม่ไกลไปจากนี้ใช่ไหม”
เขาทูลตอบว่า “เป็นเช่นนั้น ท่านพระโคดม”
[๕๕๔] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คน
ที่เติบโตมาในหมู่บ้านมนสากฏะนี้ เมื่อถูกถามถึงทางไปหมู่บ้านมนสากฏะที่เขาเพิ่ง
จะออกมา มีหรือที่เขาจะชักช้าหรือรีรออยู่”
เขาทูลตอบว่า “ไม่ชักช้าหรือรีรอเลย ท่านพระโคดม เพราะเขาเติบโตมาในหมู่
บ้านมนสากฏะ จึงรู้หนทางในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ผู้ที่เติบโตมาในหมู่บ้านมนสากฏะถูกถาม
ถึงทางไปหมู่บ้านนั้นก็ยังอาจจะชักช้าหรือรีรออยู่บ้าง แต่(เรา)ตถาคตถูกถามถึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] ทรงแสดงทางไปพรหมโลก

พรหมโลกหรือข้อปฏิบัติที่พาไปพรหมโลก จะไม่ชักช้าหรือรีรอเลย เพราะเรารู้จัก
พรหมโลกและข้อปฏิบัติที่พาไปพรหมโลก อีกทั้งรู้ว่า พรหมปฏิบัติอย่างไรจึงได้เข้า
ถึงพรหมโลก”
[๕๕๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วาเสฏฐมาณพกราบทูลว่า “ท่าน
พระโคดม ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า พระสมณโคดมทรงแสดงทางไปเพื่อความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหม ข้าพระองค์ขอวโรกาส ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงทางไปเพื่อ
ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหม โปรดอนุเคราะห์ชุมชนพราหมณ์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจะ
กล่าว”
เขาทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

ทรงแสดงทางไปพรหมโลก

[๕๕๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๑ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตร
มาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ เมื่อภิกษุนั้นพิจารณา
เห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้วย่อมเกิดความเบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ
เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อม
ตั้งมั่น
ภิกษุนั้นมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
วาเสฏฐะ กรรมที่ทำพอประมาณในเมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลอบรมแล้ว
อย่างนี้จะไม่เหลืออยู่ในรูปาวจรและอรูปาวจร เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้แข็งแรงพึง

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] ทรงแสดงทางไปพรหมโลก

ให้ผู้อื่นได้ยินตลอดทั้ง ๔ ทิศได้โดยไม่ยาก วาเสฏฐะ นี้แลเป็นทางไปเพื่อความเป็น
ผู้อยู่ร่วมกับพรหม
ยังมีอีก วาเสฏฐะ ภิกษุมีกรุณาจิต ฯลฯ มีมุทิตาจิต ฯลฯ มีอุเบกขาจิตแผ่ไป
ตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศเบื้องบน เบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไป
ตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่
มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
วาเสฏฐะ กรรมที่ทำพอประมาณในอุเบกขาเจโตวิมุตติที่บุคคลอบรมแล้วอย่าง
นี้ จะไม่เหลืออยู่ในรูปาวจรและอรูปาวจร เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้แข็งแรงพึงให้
ผู้อื่นได้ยินตลอดทั้ง ๔ ทิศได้โดยไม่ยาก วาเสฏฐะ นี้แลเป็นทางไปเพื่อความเป็นผู้
อยู่ร่วมกับพรหม
[๕๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้จะมีเครื่องเกาะเกี่ยวหรือไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “คิดจองเวรหรือไม่คิดจองเวร”
เขาทูลตอบว่า “ไม่คิดจองเวร ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “คิดเบียดเบียนหรือไม่คิดเบียดเบียน”
เขาทูลตอบว่า “ไม่คิดเบียดเบียน ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “มีจิตเศร้าหมองหรือมีจิตไม่เศร้าหมอง”
เขาทูลตอบว่า “มีจิตไม่เศร้าหมอง ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้หรือบังคับจิตให้อยู่
ในอำนาจไม่ได้”
เขาทูลตอบว่า “บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ท่านพระโคดม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] ทรงแสดงทางไปพรหมโลก

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า ภิกษุไม่มีเครื่อง
เกาะเกี่ยว พรหมก็ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้ไม่มีเครื่อง
เกาะเกี่ยวกับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยวได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่ภิกษุนั้นผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว
หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมผู้ไม่มีเป็นเครื่องเกาะเกี่ยว นั่น
เป็นฐานะที่เป็นไปได้
[๕๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ ภิกษุไม่คิดจองเวร พรหมก็ไม่
คิดจองเวร ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้ไม่คิดจองเวรกับพรหมผู้ไม่คิดจองเวรได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุไม่คิดเบียดเบียน พรหมก็ไม่คิดเบียดเบียน
ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้ไม่คิดเบียดเบียนกับพรหมผู้ไม่คิดเบียดเบียนได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุมีจิตไม่เศร้าหมอง พรหมก็มีจิตไม่เศร้า
หมอง ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้มีจิตไม่เศร้าหมองกับพรหมผู้มีจิตไม่เศร้าหมอง
ได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ พรหมก็บังคับ
จิตให้อยู่ในอำนาจได้ ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้กับ
พรหมผู้บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่ภิกษุนั้นผู้บังคับจิตให้อยู่ใน
อำนาจได้ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมผู้บังคับจิตให้อยู่ใน
อำนาจได้ นั่นเป็นฐานะที่เป็นไปได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
มาณพทั้งสองประกาศตนเป็นอุบาสก

มาณพทั้งสองประกาศตนเป็นอุบาสก

[๕๕๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วาเสฏฐมาณพกับภารัทวาชมาณพ
ได้กราบทูลว่า“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม
ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดี
จักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

เตวิชชสูตรที่ ๑๓ จบ
สีลขันธวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พรหมชาลสูตร___๒. สามัญญผลสูตร
๓. อัมพัฏฐสูตร___๔. โสณทัณฑสูตร
๕. กูฏทันตสูตร___๖. มหาลิสูตร
๗. ชาลิยสูตร___๘. มหาสีหนาทสูตร
๙. โปฏฐปาทสูตร___๑๐. สุภสูตร.
๑๑. เกวัฏฏสูตร___๑๒. โลหิจจสูตร
๑๓. เตวิชชสูตร

สีลขันธวรรค จบบริบูรณ์


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๙ สุตตันตปิฎกที่ ๐๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค จบ





eXTReMe Tracker