ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๕ วินัยปิฎกที่ ๐๕ มหาวรรค ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๕. จัมมขันธกะ

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ๑
ว่าด้วยบุตรเศรษฐีชื่อโสณโกฬิวิสะ

เรื่องพระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้โสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้า

[๒๔๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ครองราชสมบัติเป็นใหญ่
ปกครองหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน
ครั้งนั้น ในกรุงจัมปา มีบุตรเศรษฐีชื่อโสณโกฬิวิสะ เป็นคนมีลักษณะละเอียด
อ่อนมีขนขึ้นที่ฝ่าเท้าทั้งสอง
ต่อมา พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ รับสั่งให้กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐
คนประชุมกัน ทรงส่งราชทูตไปพบนายโสณโกฬิวิสะด้วยพระราชกรณียกิจบางอย่าง
ด้วยรับสั่งว่า “เราต้องการให้เจ้าโสณะมาหา”

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๕/๕๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ครั้งนั้น มารดาบิดาของนายโสณโกฬิวิสะได้กล่าวกับนายโสณโกฬิวิสะดังนี้ว่า
“พ่อโสณะ พระราชามีพระประสงค์จะทอดพระเนตรเท้าทั้งสองของเจ้า พ่อโสณะ
เจ้าไม่พึงเหยียดเท้าไปทางที่พระราชาประทับ จงนั่งขัดสมาธิตรงพระพักตร์ของ
พระราชา พระองค์จะทอดพระเนตรเท้าทั้งสอง เมื่อเจ้านั่งลงแล้ว”
ต่อมา บริวารชนใช้วอนำนายโสณโกฬิวิสะไป ลำดับนั้น โสณโกฬิวิสะได้เข้า
เฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ณ ที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งขัดสมาธิ
ตรงพระพักตร์ของพระราชา
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ได้ทอดพระเนตรเห็นขนที่ฝ่าเท้าทั้งสองของ
เขาแล้ว ทรงสั่งสอนกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน เกี่ยวกับประโยชน์ในปัจจุบัน๑
ทรงส่งกลับไปด้วยรับสั่งว่า “ท่านทั้งหลาย เราสั่งสอนพวกท่านเกี่ยวกับประโยชน์
ในปัจจุบันแล้ว พวกท่านจงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค
ของเราทั้งหลายพระองค์นั้น จะทรงสั่งสอนพวกท่านเกี่ยวกับประโยชน์ในภาย
ภาคหน้า”

เรื่องพระสาคตะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน พากันไปที่ภูเขาคิชฌกูฏ
สมัยนั้น ท่านพระสาคตะเป็นพระอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น
กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนเหล่านั้น เข้าไปหาท่านพระสาคตะ ณ ที่พักแล้ว
ได้กล่าวกับท่านพระสาคตะดังนี้ว่า “ท่านขอรับ กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนี้
พากันเข้ามาที่นี้เพื่อขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอโอกาสให้พวกเราได้เข้าเฝ้าพระผู้
มีพระภาคเถิด”
ท่านพระสาคตะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงรออยู่ที่นี้สักครู่ จนกว่า
อาตมาจะกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ”

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์ในปัจจุบัน หมายถึงประโยชน์ในโลกนี้ เช่น การทำไร่ไถนา การค้าขายที่สุจริตชอบธรรม
ตลอดถึงการเลี้ยงดูมารดาบิดาโดยถูกต้องชอบธรรม (วิ.อ. ๓/๒๔๒/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ลำดับนั้น ท่านพระสาคตะ เมื่อกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนกำลังเพ่ง
มองอยู่เฉพาะหน้า ได้ดำลงใต้แผ่นหินไปผุดขึ้นตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค
แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนี้พากัน
เข้ามาที่นี้เพื่อขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดทรงทราบเวลา
อันควรในบัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “สาคตะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงปูอาสนะใต้ร่มเงา
ที่มุมสุดวิหาร”
ท่านพระสาคตะรับสนองพระพุทธดำรัสแล้วถือตั่ง ดำลงเบื้องพระพักตร์ของ
พระผู้มีพระภาค ผุดขึ้นที่แผ่นหินต่อหน้ากุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนที่กำลัง
เพ่งมองอยู่แล้วปูอาสนะใต้ร่มเงาที่มุมสุดพระวิหาร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร ไปประทับนั่งบนพุทธ
อาสน์ที่จัดไว้ใต้ร่มเงาที่มุมสุดพระวิหาร
ลำดับนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้นได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร พากันสนใจแต่ท่านพระสาคตะ
เท่านั้น ไม่สนใจพระผู้มีพระภาคเลย
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิต
ของกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น จึงรับสั่งกับท่านพระสาคตะว่า “สาคตะ
ถ้าอย่างนั้น เธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นอุตตริมนุสสธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป”
ท่านพระสาคตะทูลรับสนองพระพุทธาณัติแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ จงกรมบ้าง
ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง บังหวนควันบ้าง โพลงไฟบ้าง หายตัวบ้าง ในอากาศ
กลางท้องฟ้า ลำดับนั้น ครั้นท่านพระสาคตะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นอุตตริ-
มนุสสธรรมหลายอย่างในอากาศกลางท้องฟ้าแล้ว จึงกลับลงมาซบศีรษะแทบ
พระบาทของพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดา
ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์
ข้าพระองค์เป็นสาวก”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น ต่างสรรเสริญว่า “น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ พระสาวกยังมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ พระศาสดา
จะต้องมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก(กว่านี้)แน่นอน” แล้วหันมาสนใจพระผู้มีพระภาค
เท่านั้น ไม่ยอมสนใจท่านพระสาคตะอีกเลย

ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิตของ
กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น จึงตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๑
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)๒
เมื่อทรงทราบว่ากุลบุตรเหล่านั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนา๓ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่กุลบุตร
ในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด
ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

เชิงอรรถ :
๑ แปลจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ
๒ อานิสงส์แห่งการออกจากกาม ในที่นี้หมายถึงอานิสงส์แห่งการออกจากกามสัญญา การออกจากกาม
วิตก การออกจากกามปริฬาหะ(ความเร่าร้อนเพราะกาม) การออกจากความขวนขวาย ได้แก่คุณในการ
บรรพชาและในฌานเป็นต้น (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๖-๒๓๗)
๓ สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็น
ด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับแนะนำจากผู้อื่น ทรงตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก
(วิ.อ. ๓/๒๙๒/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.ฏีกา (อภินว) ๒/๒๙๘/๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้ง
ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ
ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม
แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูป’
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

เรื่องโสณโกฬิวิสะเศรษฐีบุตรบรรพชา
[๒๔๓] ครั้นนั้น โสณโกฬิวิสะได้มีความคิดดังนี้ว่า “ธรรมตามที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงแสดงนั้น เราเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้
บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’ อย่ากระนั้นเลย
เราควรจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต”
ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ลุกจากอาสนะถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วจากไป ลำดับนั้น โสณโกฬิวิสะ
เมื่อกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วจากไปไม่นาน
ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร
โสณโกฬิวิสกะผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระพุทธเจ้าข้า ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ข้าพระองค์เข้าใจว่า
‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่
ขัดดีแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’ ข้าพระองค์ปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
กาสายะ ออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิต ขอพระผู้มีพระภาคทรงพระกรุณา
ให้ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด”
โสณโกฬิวิสะได้รับการบรรพชาอุปสมบทในพุทธสำนัก และเมื่อท่านอุปสมบท
ได้ไม่นาน พำนักอยู่ ณ ป่าสีตวัน ท่านปรารภความเพียรอย่างยิ่ง๑เดินจงกรมจน
เท้าทั้งสองแตก สถานที่เดินจงกรมเปื้อนเลือดดุจที่ฆ่าโค
ต่อมา ท่านพระโสณโกฬิวิสะหลีกเร้นอยู่ในสงัด ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ใน
บรรดาพระสาวกของพระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่
ไฉนจิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นได้เล่า ทรัพย์สมบัติใน
ตระกูลของเรามีอยู่ เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ อย่ากระนั้นเลย
เราควรสึกไปใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิตของท่าน
พระโสณโกฬิวิสะจึงทรงหายไปจากภูเขาคิชฌกูฏ มาปรากฏพระองค์ที่ป่าสีตวัน
เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อม
ด้วยภิกษุเป็นจำนวนมากเสด็จเที่ยวจาริกไปตามเสนาสนะ เสด็จไปทางที่เดินจงกรม
ของท่านพระโสณโกฬิวิสะ ทอดพระเนตรเห็นสถานที่เดินจงกรมเปื้อนเลือด จึงรับ
สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของใคร เปื้อนเลือดดุจที่ฆ่าโค”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ท่านพระโสณโกฬิวิสะปรารภความเพียรอย่างยิ่ง
เดินจงกรมจนเท้าทั้งสองแตก สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของท่านจึงเปื้อนเลือดดุจที่
ฆ่าโค พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ปรารภความเพียร หมายถึงประกอบความเพียรในสัมมัปปธาน (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๔/๒๙๒) หมายถึง
ระดมความเพียรอย่างเต็มที่ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปที่อยู่ของท่านพระโสณโกฬิวิสะ ประทับ
นั่งบนพุทธอาสน์ที่จัดไว้ แม้ท่านพระโสณโกฬิวิสะก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
แล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร

เรื่องทรงเปรียบเทียบความเพียรกับสายพิณ
พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระโสณโกฬิวิสะผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควรดังนี้ว่า
“โสณะ เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ในบรรดาพระสาวกของ
พระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิตของเราจึงยังไม่
หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นได้เล่า ทรัพย์สมบัติในตระกูลของเรามีอยู่
เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ อย่ากระนั้นเลย เราควรสึกไปใช้
สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ’ มิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เมื่อครั้งที่เธอ
อยู่ครองเรือนนั้น เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดีดพิณมิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอตึงเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามต่อว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสาย
พิณของเธอหย่อนเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป ขึงอยู่ในระดับที่พอเหมาะ พิณของเธอมีเสียงใช้การ
ได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การได้ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โสณะ เช่นเดียวกัน ความเพียรที่ปรารภอย่างยิ่ง
ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความ
เกียจคร้าน ฉะนั้น เธอจงตั้งความเพียรให้พอดี จงปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน๑ จงถือ
เอานิมิต๒ในความเสมอกันนั้น” ท่านพระโสณะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทรงสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว
ทรงหายไปจากป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะ มาปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น

พระโสณะบรรลุอรหัตตผล
ครั้นต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน
และถือเอานิมิตในความเสมอกันนั้น ได้หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” ท่านพระ
โสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

อุปนิสัยสมบัติของผู้เป็นพระอรหันต์
[๒๔๔] ครั้งนั้น ท่านพระโสณะผู้ได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ได้มีความคิดดังนี้
ว่า “ถ้ากระไร เราพึงพยากรณ์อรหัตตผลในสำนักของพระผู้มีพระภาค” จึงเข้าไป

เชิงอรรถ :
๑ ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน หมายถึงปรับศรัทธาให้เสมอกับปัญญา และปรับปัญญาให้เสมอกับศรัทธา ปรับ
วิริยะให้เสมอกับสมาธิ และปรับสมาธิให้เสมอกับวิริยะ ส่วนสตินั้นยิ่งมีเท่าไรก็ยิ่งดีไม่มีคำว่าเกิน (วิ.อ. ๓/
๒๔๓/๑๖๔, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๔๓/๓๕๒-๓๕๓)
๒ ถือเอานิมิต ในที่นี้ หมายถึงให้สมถนิมิต วิปัสสนานิมิต มัคคนิมิต และผลนิมิตเกิดขึ้น (สารตฺถ.ฏีกา
๓/๒๔๓/๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ไม่มี
อาสวกิเลส อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
ไม่มีหน้าที่ต้องทำอีก บรรลุประโยชน์สูงสุดแล้ว สิ้นกิเลสเครื่องผูกไว้ในภพ หลุด
พ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ย่อมน้อมไปในฐานะ ๖๑ คือ

๑. น้อมไปในเนกขัมมะ ๒. น้อมไปในปวิเวก
๓. น้อมไปในความไม่เบียดเบียน ๔. น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน
๕. น้อมไปในความสิ้นตัณหา ๖. น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง

พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้
อาศัยคุณเพียงศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่จึงน้อมไปในเนกขัมมะ’ แต่ข้อนี้ไม่พึงเห็น
อย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็น
ว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
เนกขัมมะ เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ
เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ เพราะสิ้นโมหะ
เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้
ต้องการลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมไปในปวิเวก’ แต่ข้อนี้ก็ไม่
พึงเห็นอย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่เห็นว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน

เชิงอรรถ :
๑ น้อมไป หมายถึงบรรลุอย่างประจักษ์ชัด
ฐานะ ๖ หมายถึงพระอรหัตตผล พระอรหัตตผล ชื่อว่าการออกจากกาม (เนกขัมมะ) เพราะออกไป
จากกิเลสทุกอย่าง ชื่อว่าความสงัด (ปวิเวก) เพราะสงัดจากกิเลสเหล่านั้น ชื่อว่าความไม่เบียดเบียน
(อัพยาปัชชะ) เพราะไม่มีความเบียดเบียน ขื่อว่าความสิ้นอุปาทาน (อุปาทานักขยะ) เพราะเกิดขึ้นใน
ที่สุดแห่งความสิ้นอุปาทาน ชื่อว่าความสิ้นตัณหา (ตัณหักขยะ) เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นตัณหา
ชื่อว่าความไม่ลุ่มหลง (อสัมโมหะ) เพราะไม่มีความลุ่มหลง (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๔-๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ปวิเวก เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในปวิเวก เพราะสิ้น
โทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในปวิเวก เพราะสิ้นโมหะ เพราะ
ปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า “ท่านรูปนี้
ถือสีลัพพตปรามาส๑โดยเป็นสาระแน่ จึงน้อมไปในความไม่เบียดเบียน’ แต่ข้อนี้ก็
ไม่พึงเห็นอย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่เห็นว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้น้อม
ไปในความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไป
ในความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้น้อม
ไปในความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้
น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อม

เชิงอรรถ :
๑ สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและพรต เป็นเพียงความยึดถึอ
ที่อิงอาศัยศีลและพรต (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ไปในความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
ถ้ารูปารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางตา มาปรากฏทางตาของภิกษุผู้มีจิตหลุด
พ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ รูปารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย
จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และภิกษุนั้น
ก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
ถ้าสัททารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางหู ...
ถ้าคันธารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางจมูก ...
ถ้ารสารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางลิ้น ...
ถ้าโผฏฐัพพารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางกาย ...
ถ้าธรรมารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางใจ มาปรากฏทางใจของภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้น
ได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และ
ภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
พระพุทธเจ้าข้า ภูเขาศิลาล้วน ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน
ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศตะวันออก ก็ทำภูเขานั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนไม่ได้
ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศตะวันตก ...
ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศเหนือ ...
ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศใต้ ก็ทำภูเขานั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนไม่ได้
แม้ฉันใด
พระพุทธเจ้าข้า ถ้ารูปารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางตา มาปรากฏทางตา
ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ รูปารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิต


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนัก
แน่น และภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
ถ้าสัททารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางหู ...
ถ้าคันธารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางจมูก ...
ถ้ารสารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางลิ้น ...
ถ้าโผฏฐัพพารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางกาย ...
ถ้าธรรมารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางใจ มาปรากฏทางใจของภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้น
ได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และ
ภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความ(เกิด)ดับของจิตนั้น

นิคมคาถา
จิตของพระขีณาสพผู้น้อมไปในเนกขัมมะ
น้อมไปในปวิเวก น้อมไปในความไม่เบียดเบียน
น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน น้อมไปในความสิ้นตัณหา
และน้อมไปในความไม่ลุ่มหลง๑ ย่อมหลุดพ้นโดยชอบ
เพราะเห็นความเกิดแห่งอายตนะ๒
ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับหลุดพ้นโดยชอบ
ย่อมไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ทั้งไม่มีกิจที่จะต้องทำอีก
ภูเขาหินแท่งทึบย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งมวล

เชิงอรรถ :
๑ ฐานะ ๖ มีเนกขัมมะเป็นต้น หมายถึงพระอรหัตตผล (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๕)
ส่วนในเถรคาถาอรรถกถากล่าวอธิบายโดยประการอื่น (ขุ.เถร.อ. ๒/๖๔๐-๖๔๑)
๒ ความเกิดและความดับแห่งอายตนะทั้งหลาย (วิ.อ. ๓/๒๔๓-๒๔๔/๑๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๔/๓๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๘. ทิคุณาทิอุปาหนปฏิกเขปะ
ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ย่อมทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวมิได้ ฉันนั้น
จิตของผู้คงที่นั้น เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไร เพราะท่านผู้คงที่
พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น๑

๑๔๘. ทิคุณาทิอุปาหนปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามใช้รองเท้า ๒ ชั้นเป็นต้น
[๒๔๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
กุลบุตรทั้งหลายกล่าวพยากรณ์อรหัตตผลอย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวแต่เนื้อความและมิได้
น้อมตนเข้าไป๒ แต่โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้เห็นเป็นของสนุก กล่าวพยากรณ์
อรหัตตผล ภายหลัง จึงเดือดร้อน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระโสณะว่า “โสณะ เธอเป็นคน
สุขุมาลชาติ เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียวแก่เธอ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ละทิ้งเงินถึง ๘๐ เล่มเกวียนและ
กองคาราวานประกอบด้วยช้าง ๗ เชือก ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อเป็นอย่างนี้
ถ้าข้าพระองค์จะใช้รองเท้าชั้นเดียวก็จะมีคนกล่าวว่า พระโสณโกฬิวิสะละทิ้งเงินถึง
๘๐ เล่มเกวียนและกองคาราวานประกอบด้วยช้าง ๗ เชือก ออกบวชเป็นบรรพชิต
เวลานี้ท่านพระโสณะนั้นยังข้องอยู่ในเรื่องรองเท้าชั้นเดียว ถ้าพระผู้มีพระภาคทรง
อนุญาตภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระองค์ก็จะใช้สอย ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต
ภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระองค์ก็จะไม่ใช้สอย พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๕/๕๓๘-๕๓๙ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๔๐-๖๔๔/๔๕๐
๒ มิได้น้อมตนเข้าไปด้วยการแสดงให้ปรากฏว่า เราเป็นพระอรหันต์ (วิ.อ. ๓/๒๔๕/๑๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๙. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปะ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้า ๒ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้า ๓ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้น
รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๔๙. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามใช้รองเท้าสีเขียวล้วนเป็นต้น

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๒๔๖] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ สวมรองเท้าสีเขียวล้วน ... สวมรองเท้า
สีเหลืองล้วน ... สวมรองเท้าสีแดงล้วน ... สวมรองเท้าสีบานเย็นล้วน ... สวมรองเท้า
สีดำล้วน ... สวมรองเท้าสีแสดล้วน ... สวมรองเท้าสีชมพูล้วน
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”๑
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าสีเขียวล้วน
... ไม่พึงสวมรองเท้าสีเหลืองล้วน ... ไม่พึงสวมรองเท้าสีแดงล้วน ... ไม่พึงสวม
รองเท้าสีบานเย็นล้วน ... ไม่พึงสวมรองเท้าสีดำล้วน ... ไม่พึงสวมรองเท้าสีแสดล้วน
... ไม่พึงสวมรองเท้าสีชมพูล้วน รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้ามีหูสีเขียวเป็นต้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวมรองเท้ามีหูสีเขียว ... สวมรองเท้ามีหูสีเหลือง
... สวมรองเท้ามีหูสีแดง ... สวมรองเท้ามีหูสีบานเย็น ... สวมรองเท้ามีหูสีดำ ...
สวมรองเท้ามีหูสีแสด ... สวมรองเท้ามีหูสีชมพู

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงผู้ครองเรือน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕/๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๙. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปะ
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีเขียว
... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีเหลือง ... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีแดง ... ไม่พึงสวมรองเท้า
มีหูสีบานเย็น ... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีดำ ... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีแสด ... ไม่พึง
สวมรองเท้ามีหูสีชมพู รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหุ้มส้นเป็นต้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าติดแผ่นหนังหุ้มส้น ... สวมรองเท้า
หุ้มแข้ง ... สวมรองเท้าปกหลังเท้า ... สวมรองเท้ายัดนุ่น ... สวมรองเท้ามีหูลาย
คล้ายขนปีกนกกระทา ... สวมรองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแกะ ... สวมรองเท้า
หูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแพะ ... สวมรองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายหางแมงป่อง ...
สวมรองเท้าที่เย็บด้วยขนนกยูง ... สวมรองเท้างดงามวิจิตร
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าติดแผ่นหนัง
หุ้มส้น ... ไม่พึงสวมรองเท้าหุ้มแข้ง ... ไม่พึงสวมรองเท้าปกหลังเท้า ... ไม่พึงสวม
รองเท้ายัดนุ่น ... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูลายคล้ายขนปีกนกกระทา ... ไม่พึงสวม
รองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแกะ ... ไม่พึงสวมรองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแพะ
... ไม่พึงสวมรองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายหางแมงป่อง ... ไม่พึงสวมรองเท้าที่เย็บ
ด้วยขนนกยูง ... ไม่พึงสวมรองเท้างดงามวิจิตร รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังราชสีห์ ... สวมรองเท้า
ขลิบด้วยหนังเสือโคร่ง ... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังเสือเหลือง ... สวมรองเท้าขลิบ

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๐. โอมุกกคุณังคุณุปาหนานุชานนา
ด้วยหนังเสือดาว... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังนาก ... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนัง
แมว ... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังค่าง ... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังนกเค้า
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนัง
ราชสีห์ ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังเสือโคร่ง ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วย
หนังเสือเหลือง ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังเสือดาว ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบ
ด้วยหนังนาก ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังแมว ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วย
หนังค่าง ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังนกเค้า รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๕๐. โอมุกกคุณังคุณุปาหนานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตรองเท้าหลายชั้นที่ใช้แล้ว

เรื่องภิกษุเท้าแตก
[๒๔๗] ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นปัจฉาสมณะ แต่
ภิกษุนั้นเดินเขยกตามพระองค์ไปเบื้องพระปฤษฎางค์
อุบาสกคนหนึ่งสวมรองเท้าหลายชั้น มองเห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมา
แต่ไกล จึงถอดรองเท้าแล้วเข้าไปเฝ้า ถวายอภิวาทแล้วเข้าไปหาภิกษุรูปนั้นไหว้แล้ว
ถามว่า “ทำไม พระคุณเจ้าเดินเขยกขอรับ”
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “อุบาสก อาตมาเท้าแตก”
อุบาสกกล่าวว่า “นิมนต์พระคุณเจ้ารับรองเท้า ขอรับ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๑. อัชฌารามุปาหนปฏิกเขปะ
ภิกษุตอบว่า “ไม่ละ พระผู้มีพระภาคทรงห้ามรองเท้าหลายชั้น”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ เธอรับรองเท้าคู่นั้นได้”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าหลายชั้นที่ใช้แล้ว ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้นที่ยังใหม่ รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๕๑. อัชฌารามุปาหนปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามสวมรองเท้าในอาราม

เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าในอาราม
[๒๔๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ทรงฉลองพระบาทเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง
ภิกษุผู้เถระทั้งหลายทราบว่า “พระศาสดาไม่ทรงฉลองพระบาทเสด็จจงกรมอยู่”
จึงไม่สวมรองเท้าเดินจงกรมบ้าง เมื่อพระศาสดาไม่ทรงฉลองพระบาทเสด็จจงกรม
เมื่อเหล่าภิกษุผู้เถระไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กลับสวมรอง
เท้าเดินจงกรม
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์ เมื่อพระศาสดาไม่ทรงฉลองพระบาทเสด็จจงกรม เมื่อภิกษุผู้เถระ
ทั้งหลายไม่สวมรองเท้าเดินจงกรมอยู่ กลับสวมรองเท้าเดินจงกรมเล่า” แล้วจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าเมื่อเราผู้ศาสดาไม่สวม
รองเท้าเดินจงกรม เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายก็ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม พวกภิกษุ
ฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเดินจงกรม จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๑. อัชฌารามุปาหนปฏิกเขปะ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราผู้ศาสดา
ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายก็ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม
ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงสวมรองเท้าเดินจงกรมเล่า แท้จริงพวกคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว
ก็ยังมีความเคารพยำเกรงประพฤติสม่ำเสมอในอาจารย์ เพราะได้ศึกษาศิลปะอัน
เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต การที่พวกเธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ พึงมี
ความเคารพยำเกรงประพฤติสม่ำเสมอในอาจารย์ ในภิกษุรุ่นอาจารย์ ในอุปัชฌาย์
ในภิกษุรุ่นอุปัชฌาย์ ก็จะงดงามในธรรมวินัยนี้แน่ การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้น
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออาจารย์ เมื่อภิกษุรุ่นอาจารย์ เมื่อ
อุปัชฌาย์ เมื่อภิกษุรุ่นอุปัชฌาย์ ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม ภิกษุไม่พึงสวมรอง
เท้าเดินจงกรม รูปใดสวมเดินจงกรม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง
ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าในอาราม รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องภิกษุอาพาธเป็นหน่อที่เท้า
[๒๔๙] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นหน่อที่เท้า พวกภิกษุต้องพยุง
ภิกษุนั้นไปถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นพวกภิกษุกำลัง
พยุงภิกษุรูปนั้นไปถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น
แล้วได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้น ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้อาพาธเป็นอะไร”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ท่านรูปนี้อาพาธเป็นหน่อที่เท้า พวกข้าพระ
พุทธเจ้าต้องพยุงท่านไปถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีเท้าเจ็บ เท้าแตก
หรืออาพาธเป็นหน่อที่เท้าสวมรองเท้าได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่ล้างเท้าขึ้นเตียงบ้าง ตั่งบ้าง จีวรและเสนาสนะจึง
เปรอะเปื้อน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวมรองเท้าในขณะ
ที่ตั้งใจว่า ประเดี๋ยวจะขึ้นเตียงหรือตั่ง”
สมัยนั้น เวลากลางคืน ภิกษุทั้งหลายเดินไปโรงอุโบสถบ้าง ที่ประชุมบ้าง
เหยียบตอไม้บ้าง หนามบ้างในที่มืด เท้าทั้งสองบาดเจ็บ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวมรองเท้า ใช้คบ
เพลิง ประทีป ไม้เท้าในอาราม”

๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามสวมเขียงเท้าไม้เป็นต้น

เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมเขียงเท้าไม้
[๒๕๐] สมัยนั้น ในเวลาเช้ามืด พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ลุกขึ้นสวมเขียงเท้าไม้
เดินจงกรมในที่กลางแจ้ง มีเสียงกึกกัก ดังอึกทึก สนทนาดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ๑

๑. ราชกถา เรื่องพระราชา ๒. โจรกถา เรื่องโจร
๓. มหามัตตกถา เรื่องมหาอมาตย์ ๔. เสนากถา เรื่องกองทัพ
๕. ภยกถา เรื่องภัย ๖. ยุทธกถา เรื่องการรบ
๗. อันนกถา เรื่องข้าว ๘. ปานกถา เรื่องน้ำดื่ม
๙. วัตถกถา เรื่องผ้า ๑๐. สยนกถา เรื่องที่นอน
๑๑. มาลากถา เรื่องพวงดอกไม้ ๑๒. คันธกถา เรื่องของหอม


เชิงอรรถ :
๑ วิ.มหา. (แปล) ๒/๕๐๘/๕๙๙-๖๐๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ

๑๓. ญาติกถา เรื่องญาติ ๑๔. ยานกถา เรื่องยาน
๑๕. คามกถา เรื่องบ้าน ๑๖. นิคมกถา เรื่องนิคม
๑๗. นครกถา เรื่องเมือง ๑๘. ชนปทกถา เรื่องชนบท
๑๙. อิตถีกถา เรื่องสตรี ๒๐. ปุริสกถา เรื่องบุรุษ
๒๑. สูรกถา เรื่องคนกล้าหาญ ๒๒. วิสิขากถา เรื่องตรอก
๒๓. กุมภัฏฐานกถา เรื่องท่าน้ำ ๒๔. ปุพพเปตกถา เรื่องคนที่ล่วง
ลับไปแล้ว
๒๕. นานัตตกถา เรื่องเบ็ดเตล็ด ๒๖. โลกักขายิกะ เรื่องโลก
๒๗. สมุททักขายิกะ เรื่องทะเล ๒๘. อิติภวาภวกถา เรื่องความ
เจริญและความเสื่อม

เหยียบแมลงตายบ้าง ทำภิกษุทั้งหลายให้คลาดจากสมาธิบ้าง
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน พวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงลุกขึ้นในเวลาเช้ามืด สวมเขียงเท้าไม้ เดินจงกรมในที่กลางแจ้ง
มีเสียงกึกกัก ดังอึกทึก สนทนาดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
๑. ราชกถา เรื่องพระราชา ๒. โจรกถา เรื่องโจร
ฯลฯ
๒๘. อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม
เหยียบแมลงตายบ้าง ทำภิกษุทั้งหลายให้คลาดจากสมาธิบ้างเล่า” แล้วจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ลุก
ขึ้นในเวลาเช้ามืด สวมเขียงเท้าไม้เดินจงกรมในที่กลางแจ้ง มีเสียงกึกกัก ดังอึกทึก
สนทนาดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
๑. ราชกถา เรื่องพระราชา ๒. โจรกถา เรื่องโจร
ฯลฯ
๒๘. อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม
เหยียบแมลงตายบ้าง ทำภิกษุทั้งหลายให้คลาดจากสมาธิบ้าง จริงหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาค ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าไม้ รูปใดสวม ต้องอาบัติ
ทุกกฏ”

เรื่องเขียงเท้าใบตาล
ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จ
จาริกไปทางกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงพาราณสีแล้ว ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันในกรุงพาราณสีนั้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้ปรึกษากันว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามเขียง
เท้าไม้” จึงให้ตัดต้นตาลอ่อน แล้วใช้ใบตาลมาทำเขียงเท้าสวม ต้นตาลอ่อนที่ถูก
ตัดนั้น ๆ ย่อมเหี่ยวแห้ง
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากย
บุตรจึงให้ตัดต้นตาลอ่อน ใช้ใบตาลทำเขียงเท้าสวมเล่า ต้นตาลอ่อนที่ถูกตัดนั้น ๆ
ย่อมเหี่ยวแห้ง พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตซึ่งมีอินทรีย์เดียว”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ให้
ตัดต้นตาลอ่อน นำใบตาลมาทำเขียงเท้าสวม ต้นตาลอ่อนที่ถูกตัดนั้น ๆ ย่อมเหี่ยว
แห้งไป จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น
จึงให้ตัดต้นตาลอ่อน ใช้ใบตาลมาทำเขียงเท้าสวมเล่า ต้นตาลอ่อน ที่ถูกตัดนั้น ๆ
ย่อมเหี่ยวแห้งไป ภิกษุทั้งหลาย เพราะคนทั้งหลายมีความสำคัญว่าต้นไม้มีชีวิต

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษนั้น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าใบตาล รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องเขียงเท้าสานด้วยใบไผ่
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้ปรึกษากันว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามเขียง
เท้าใบตาล” จึงให้ตัดไม้ไผ่อ่อน แล้วใช้ใบไผ่มาทำเขียงเท้าสวม ไม้ไผ่อ่อนที่ถูก
ตัดนั้น ๆ ย่อมเหี่ยวแห้ง
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากย
บุตรจึงให้ตัดไม้ไผ่อ่อน ใช้ใบไผ่มาทำเขียงเท้าสวมเล่า ไม้ไผ่อ่อนที่ถูกตัดนั้น ๆ
ย่อมเหี่ยวแห้งไป พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตซึ่งมีอินทรีย์เดียว”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าใบไผ่ รูปใด
สวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องเขียงเท้าสานด้วยหญ้าสามัญ
[๒๕๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสีตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปเมืองภัททิยะ เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงเมือง
ภัททิยะแล้ว ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าชาติยาวัน ในเมือง
ภัททิยะนั้น
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองภัททิยะ ขวนขวายตกแต่งเขียงเท้าหลายชนิด คือ
ทำเขียงเท้าหญ้า(สามัญ)เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่ายเองบ้าง
ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้าปล้องเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าใบเป้งเองบ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้าแฝกเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าขนสัตว์เองบ้าง
ใช้ให้ทำบ้าง ทอดทิ้งอุทเทส ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุชาวเมืองภัททิยะ จึงขวนขวายตกแต่งเขียงเท้าหลายชนิด คือ ทำเขียงเท้าหญ้า
(สามัญ)เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่ายเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง
ทำเขียงเท้าหญ้าปล้องเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าใบเป้งเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง
ทำเขียงเท้าหญ้าแฝกเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าขนสัตว์เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง
ทอดทิ้งอุทเทส ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญาเล่า”
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุชาวเมืองภัททิยะ
ขวนขวายตกแต่งเขียงเท้าหลายชนิด คือ ทำเขียงเท้าหญ้า(สามัญ)เองบ้าง ใช้ให้
ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่ายเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้าปล้อง
เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าใบเป้งเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้า
แฝกเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าขนสัตว์เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทอดทิ้งอุทเทส
ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษ
เหล่านั้นจึงขวนขวายตกแต่งเขียงเท้าหลายชนิด คือ ทำเขียงเท้าหญ้า(สามัญ)เอง
บ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่ายเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้า
หญ้าปล้องเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าใบเป้งเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียง
เท้าหญ้าแฝกเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าขนสัตว์เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทอด
ทิ้งอุทเทส ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่าง
นี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าหญ้า(สามัญ) ...
ไม่พึงสวมเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่าย ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าหญ้าปล้อง ... ไม่พึงสวม
เขียงเท้าใบเป้ง ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าหญ้าแฝก ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าขนสัตว์ ... ไม่
พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยทองคำ ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยเงิน ... ไม่
พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วมณี ...ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วไพฑูรย์ ...
ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วผลึก ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยสำริด ...
ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยกระจก ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าทำด้วยดีบุก ... ไม่พึง
สวมเขียงเท้าทำด้วยสังกะสี ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าทำด้วยทองแดง รูปใดสวม ต้อง
อาบัติทุกกฏ
อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าชนิดที่ต้องสวมเดิน รูปใดสวม
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเขียงเท้าที่ตรึงอยู่กับที่ ไม่ใช้สวมเดิน
๓ ชนิด คือ เขียงเท้าสำหรับใช้ในที่ที่ถ่ายอุจจาระ เขียงเท้าสำหรับใช้ในที่ที่ถ่าย
ปัสสาวะ เขียงเท้าสำหรับใช้ในที่ชำระ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์จับแม่โค
[๒๕๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองภัททิยะตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุง
สาวัตถีแล้ว ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ในกรุงสาวัตถีนั้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จับแม่โคที่กำลังข้ามแม่น้ำอจิรวดีที่เขาบ้าง จับที่
หูบ้าง จับที่คอบ้าง จับที่หางบ้าง ขึ้นขี่หลังบ้าง มีความกำหนัดจับองค์กำเนิดบ้าง
กดลูกโคจนจมน้ำตายบ้าง
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระ
ศากยบุตรจึงจับแม่โคที่กำลังข้ามแม่น้ำอจิรวดีที่เขาบ้าง จับที่หูบ้าง จับที่คอบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๓. ยานาทิปฏิกเขปะ
จับที่หางบ้าง ขึ้นขี่หลังบ้าง มีความกำหนัดจับองค์กำเนิดบ้าง กดลูกโคจนจมน้ำ
ตายบ้าง เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จับ
แม่โคที่กำลังข้ามแม่น้ำอจิรวดีที่เขาบ้าง จับที่หูบ้าง จับที่คอบ้าง จับที่หางบ้าง ขึ้นขี่
หลังบ้าง มีความกำหนัดจับองค์กำเนิดบ้าง กดลูกโคจนจมน้ำตายบ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงจับแม่โคทั้งหลายที่เขา รูปใดจับ
ต้องอาบัติทุกกฏ... ไม่พึงจับที่หู ... ไม่พึงจับที่คอ ... ไม่พึงจับที่หาง ... ไม่พึง
ขึ้นขี่หลัง รูปใดขึ้นขี่หลัง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีจิตกำหนัด
ไม่พึงจับองค์กำเนิด(แม่โค) รูปใดจับ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุไม่พึงฆ่าลูกโค
รูปใดฆ่า พึงปรับอาบัติตามธรรม”

๑๕๓. ยานาทิปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามยานพาหนะเป็นต้น

เรื่องพระฉัพพัคคีย์โดยสารยานพาหนะและภิกษุเป็นไข้
[๒๕๓] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยสารยานพาหนะเทียมด้วยโคเพศเมีย
มีบุรุษเป็นสารถีบ้าง เทียมด้วยโคเพศผู้มีสตรีเป็นสารถีบ้าง
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนชายหนุ่มหญิงสาว
โดยสารยานพาหนะไปเล่นน้ำในแม่น้ำคงคาและแม่น้ำมหี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๓. ยานาทิปฏิกเขปะ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงโดยสารยานพาหนะ รูปใด
โดยสาร ต้องอาบัติทุกกฏ”
ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปกรุงสาวัตถี ในแคว้นโกศล เพื่อจะเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเป็นไข้ในระหว่างทาง จึงแวะไปนั่งอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง คนทั้งหลาย
พบภิกษุรูปนั้นจึงถามว่า “พระคุณเจ้าจะไปไหน ขอรับ”
ภิกษุตอบว่า “โยมทั้งหลาย อาตมาจะไปกรุงสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค”
คนเหล่านั้นกล่าวว่า “นิมนต์มาเถิด พระคุณเจ้า เราจะไปด้วยกัน”
ภิกษุตอบว่า “อาตมาเป็นไข้ ไปไม่ได้”
คนทั้งหลายกล่าวว่า “นิมนต์มาขึ้นยานพาหนะเถิด พระคุณเจ้า”
ภิกษุตอบว่า “อย่าเลย พระผู้มีพระภาคทรงห้ามโดยสารยานพาหนะ” ยำเกรงอยู่
ไม่ยอมขึ้นยาน พอไปถึงกรุงสาวัตถีจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยานพาหนะสำหรับภิกษุผู้เป็นไข้”

เรื่องยานพาหนะเทียมด้วยโคเพศผู้และยานพาหนะที่ใช้มือลาก
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “ยานพาหนะที่ทรงอนุญาต
นั้นเทียมโคเพศเมียหรือโคเพศผู้”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยานพาหนะที่เทียมโค
เพศผู้๑ ยานพาหนะที่ใช้มือลาก”

เชิงอรรถ :
๑ คนที่ลากยานพาหนะจะเป็นบุรุษหรือสตรีก็ได้ (วิ.อ. ๓/๑๕๓/๑๖๘) ภิกษุขี่ยานพาหนะประเภทนี้ ไม่ต้อง
อาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๔. อุจจาสยนมหาสยนาปฏิกเขปะ
เรื่องคานหาม
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไม่สบายอย่างหนัก เพราะยานพาหนะกระเทือน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวอ(และ)เปลหาม”

๑๕๔. อุจจาสยนมหาสยนาปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามที่นอนสูงใหญ่

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้ที่นอนสูงใหญ่
[๒๕๔] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ที่นอนสูงใหญ่๑ คือ

๑. เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด ๒. เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย
๓. พรมขนสัตว์ ๔. เครื่องลาดขนแกะลายวิจิตร
๕. เครื่องลาดขนแกะสีขาว ๖. เครื่องลาดมีรูปดอกไม้
๗. เครื่องลาดยัดนุ่น ๘. เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูป
สัตว์ร้าย เช่นราชสีห์และเสือ
๙. เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒ ด้าน ๑๐. เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว
๑๑. เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ ๑๒. เครื่องลาดผ้าไหมประดับรัตนะ
๑๓. เครื่องลาดขนแกะขนาดใหญ่ที่นาง ๑๔. เครื่องลาดบนหลังช้าง
ฟ้อน ๑๖ คนร่ายรำได้
๑๕. เครื่องลาดบนหลังม้า ๑๖. เครื่องลาดในรถ
๑๗. เครื่องลาดทำด้วยหนังเสือดาว ๑๘. เครื่องลาดหนังชะมด
๑๙. เครื่องลาดมีเพดาน ๒๐. เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้าง๒


เชิงอรรถ :
๑ ที่นอนสูงใหญ่ หมายถึงเตียงเกินประมาณและเครื่องลาดที่ไม่สมควร (วิ.อ. ๓/๒๕๔/๑๖๙)
๒ วิ.จู. ๗/๓๒๐/๙๒-๙๓, ที.สี. (แปล) ๙/๑๕/๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๕. สัพพจัมมปฏิกเขปะ
คนทั้งหลายเดินเที่ยวไปตามวิหารพบเห็น จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ที่นอนสูงใหญ่ คือ

๑. เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด ๒. เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย
๓. พรมขนสัตว์ ๔. เครื่องลาดขนแกะลายวิจิตร
๕. เครื่องลาดขนแกะสีขาว ๖. เครื่องลาดมีรูปดอกไม้
๗. เครื่องลาดยัดนุ่น ๘. เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูป
สัตว์ร้าย เช่นราชสีห์และเสือ
๙. เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒ ด้าน ๑๐. เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว
๑๑. เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ ๑๒. เครื่องลาดผ้าไหมประดับรัตนะ
๑๓. เครื่องลาดขนแกะขนาดใหญ่ที่นาง ๑๔. เครื่องลาดบนหลังช้าง
ฟ้อน ๑๖ คนร่ายรำได้
๑๕. เครื่องลาดบนหลังม้า ๑๖. เครื่องลาดในรถ
๑๗. เครื่องลาดทำด้วยหนังเสือดาว ๑๘. เครื่องลาดหนังชะมด
๑๙. เครื่องลาดมีเพดาน ๒๐. เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้าง
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๕๕. สัพพจัมมปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามแผ่นหนัง

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้หนังผืนใหญ่
[๒๕๕] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามที่นอน
สูงใหญ่” จึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง แผ่นหนัง
เหล่านั้นตัดตามขนาดเตียงบ้าง ตัดตามขนาดตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายในเตียงบ้าง
ปูลาดไว้ภายนอกเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายในตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกตั่งบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๕. สัพพจัมมปฏิกเขปะ
คนทั้งหลายเดินเที่ยวไปตามวิหารพบเข้า จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ
หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
ต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามหนังผืนใหญ่” จึงใช้
หนังโค ตัดตามขนาดเตียงบ้าง ตัดตามขนาดตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายในเตียงบ้าง
ปูลาดไว้ภายนอกเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายในตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกตั่งบ้าง

เรื่องภิกษุใจบาปขอหนังลูกโค
มีภิกษุใจบาปรูปหนึ่งเป็นพระใกล้ชิดตระกูลของอุบาสกใจบาปคนหนึ่ง เช้าวัน
หนึ่ง ภิกษุนั้นครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเดินไปบ้านของอุบาสกนั้น นั่ง
บนอาสนะที่เขาจัดไว้ ลำดับนั้น อุบาสกใจบาปนั้นเข้าไปหาภิกษุใจบาปถึงอาสนะ
ไหว้แล้วนั่งลง ณ ที่สมควร อุบาสกใจบาปนั้นมีลูกโครุ่นรูปร่างงดงาม น่าดู น่าชม
คล้ายลูกเสือเหลือง ภิกษุใจบาปนั้นจึงมองลูกโคนั้นด้วยความสนใจ
อุบาสกถามภิกษุว่า “พระคุณเจ้า ท่านมองดูลูกโคอย่างสนใจ เพื่ออะไรกัน”
ภิกษุตอบว่า “อุบาสก อาตมาอยากได้หนังของมัน”
เขาจึงฆ่าลูกโคแล้วถลกหนังมาถวายภิกษุใจบาปนั้น ลำดับนั้น ภิกษุใจบาป
นั้นใช้สังฆาฏิห่อหนังเดินจากไป แม่โคจึงเดินตามภิกษุเพราะความรักลูก
ภิกษุทั้งหลายถามภิกษุใจบาปนั้นว่า “ทำไมแม่โคจึงเดินตามท่านเล่า”
ภิกษุนั้นตอบว่า “ผมเองก็ไม่ทราบว่า มันเดินตามมาเพราะเหตุใด”
พอดีสังฆาฏิของภิกษุใจบาปนั้นเปื้อนเลือด ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
“สังฆาฏิผืนนี้ท่านห่ออะไรไว้”
ภิกษุนั้นจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๖. คิหิวิกตานุญญาตาทิ
พวกภิกษุถามว่า “ท่านชักชวนให้ฆ่าสัตว์หรือ”
ภิกษุนั้นกล่าวว่า “อย่างนั้น ท่านทั้งหลาย”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุจึง
ชักชวนให้ฆ่าสัตว์เล่า พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิการฆ่าสัตว์ ทรงสรรเสริญการงด
เว้นจากการฆ่าสัตว์มิใช่หรือ” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เรื่องทรงห้ามใช้หนังโคเป็นต้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุใจบาปรูปนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่าเธอชักชวนให้ฆ่าสัตว์ จริงหรือ”
ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงชักชวนให้ฆ่าสัตว์
เล่า โมฆบุรุษ เราตำหนิการฆ่าสัตว์ สรรเสริญการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ โดย
ประการต่าง ๆ มิใช่หรือ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงชักชวนให้ฆ่าสัตว์ รูปใดชักชวน พึงปรับอาบัติตามธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังโค รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
หนังอะไรก็ตาม ภิกษุไม่พึงใช้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๕๖. คิหิวิกตานุญญาตาทิ
ว่าด้วยทรงอนุญาตเครื่องคิหิวิกัต๑เป็นต้น
[๒๕๖] สมัยนั้น เตียงก็ดี ตั่งก็ดีของคนทั้งหลาย หุ้มด้วยหนังบ้าง รัดด้วย
หนังบ้าง ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่นั่งทับ

เชิงอรรถ :
๑ คิหิวิกัต หมายถึงเครื่องใช้สอยของพวกคฤหัสถ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๖. คิหิวิกตานุญญาตาทิ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งทับเตียงตั่งที่เป็น
คิหิวิกัต แต่ไม่อนุญาตให้นอนทับ”
ต่อมา วิหารทั้งหลายเขาผูกรัดด้วยเชือกหนัง ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่
นั่งพิง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งพิงเฉพาะเชือก”

ทรงห้ามและอนุญาตให้สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้านและภิกษุเป็นไข้
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน
รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ไม่สวมรองเท้าไม่อาจเข้าหมู่บ้านได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้สวมรองเท้าเข้า
หมู่บ้านได้”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๗. โสณกุฏิกัณณวัตถุ
๑๕๗. โสณกุฏิกัณณวัตถุ๑
ว่าด้วยพระโสณกุฏิกัณณะ

เรื่องพระมหากัจจานะ
[๒๕๗] สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจานะพักอยู่ที่ภูเขาปปาตะ๒ เมืองกุรุรฆระ
ในแคว้นอวันตี ครั้งนั้น อุบาสกชื่อโสณกุฏิกัณณะ เป็นอุปัฏฐากของท่านพระ
มหากัจจานะ ต่อมา เขาเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ
ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ธรรมตามที่พระ
คุณเจ้ามหากัจจานะแสดงนั้น กระผมเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’
กระผมปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนมาบวช
เป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวกับอุบาสกโสณกุฏิกัณณะ
ดังนี้ว่า “การประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งต้องนอนผู้เดียว๓ บริโภคอาหารมื้อเดียวจน
ตลอดชีพทำได้ยาก แต่เอาเถอะ โสณะ ท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ที่บ้านนั้นแหละ จง
หมั่นประพฤติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นพรหมจรรย์ที่ต้อง
นอนผู้เดียว บริโภคอาหารมื้อเดียวตามเวลาที่เหมาะสมเถิด”๔
ครั้งนั้น ความคิดที่น้อมไปเพื่อบรรพชาของอุบาสกโสณกุฏิกัณณะ ระงับไป

เชิงอรรถ :
๑ โสณสูตร (ขุ.อุ. ๒๕/๔๖/๑๗๑)
๒ ภูเขาปวัตตะ (ขุ.อ. ๒๕/๔๖/๑๗๑)
๓ นอนผู้เดียว มิได้หมายถึงแต่เพียงอิริยาบถนอนอย่างเดียว แต่หมายถึงอิริยาบถอีก ๓ อิริยาบถด้วย คือ
ยืนผู้เดียว เดินผู้เดียว นั่งผู้เดียว ซึ่งจัดเป็นกายวิเวก (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๓/๓๖๐)
๔ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่อุบาสกจะพึงหมั่นประพฤติในส่วนเบื้องต้น คือ ศีล ๕ ที่จะต้องรักษาประจำ
ศีล ๘ ที่พึงรักษาในวันอุโบสถ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และศีล ๑๐ (ถ้าสามารถ)และเจริญสมาธิ
ปัญญาตามเหมาะสมแก่ศีลที่รักษานั้น ๆ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๗/๓๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
แม้ครั้งที่ ๒ อุบาสกโสณกุฏิกัณณะ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ อุบาสกโสณกุฏิกัณณะ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่
ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ
ธรรมตามที่พระคุณเจ้ามหากัจจานะแสดงนั้น กระผมเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครอง
เรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่
กระทำได้ง่าย’ กระผมปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจาก
เรือนมาบวชเป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัจจานะจึงให้อุบาสกโสณกุฏิกัณณะบวช
ก็สมัยนั้น อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ท่านพระมหากัจจานะจัดหาภิกษุ
สงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ ๑๐ รูป ได้ยากลำบาก เวลาล่วงไปถึง
๓ ปี จึงให้ท่านโสณะอุปสมบทได้

๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ว่าด้วยอาณัตติกพจน์ของท่านพระมหากัจจานะ ๕ ประการ
สมัยนั้น ท่านพระโสณะออกพรรษาแล้ว หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความ
คิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า “เราเพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงมีพระ
ลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ แต่เราไม่เคยเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เลย เราจะไปเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”
ครั้นเวลาเย็น ท่านพระโสณะออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปหาท่านพระมหา
กัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระโสณะได้กล่าวกับท่านพระ
มหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิด
ความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า “เราเพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ทรงมีพระลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ แต่เราไม่เคยเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เลย เราจะไป
เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ท่านผู้เจริญ กระผมจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”
ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ดีละ ดีละ โสณะ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด ท่านจะเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้น่าเลื่อมใส ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส๑ มีพระอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ทรง
บรรลุทมถะและสมถะสูงสุด๒ ทรงฝึกฝนแล้ว คุ้มครองแล้ว ทรงสำรวมอินทรีย์ ทรง
เป็นผู้ประเสริฐ ท่านโสณะ ท่านจงถวายอภิวาทด้วยเศียรเกล้าแทบพระบาทของ
พระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ‘พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระมหากัจจานะผู้เป็นพระ
อุปัชฌาย์ของข้าพระองค์ ขอถวายอภิวาทแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้า’ ดังนี้ และจงกราบทูลอย่างนี้ว่า
๑. พระพุทธเจ้าข้า อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ข้าพระองค์จัดหา
ภิกษุสงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ ๑๐ รูป ได้ยาก
ลำบาก เวลาล่วงไปถึง ๓ ปี๓ จึงได้อุปสมบท ถ้ากระไร พระผู้มี
พระภาคพึงทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะสงฆ์น้อยรูปกว่านี้ได้
เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ

เชิงอรรถ :
๑ น่าเลื่อมใส คือให้เกิดความเลื่อมใส (วิ.อ. ๓/๒๕๗/๑๗๐) พระรูปกายของพระผู้มีพระภาคถึงพร้อมด้วย
พระรัศมีแห่งพระสรีระอันนำความเลื่อมใสมารอบด้าน เพราะประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ
อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ และพระเกตุมาลามีพระรัศมีแผ่ออกข้างละวา นำความเลื่อมใสมาแก่ชนผู้สนใจ
ทัสสนาพระรูปกาย เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส พระผู้มีพระภาคทรงถึงพร้อมด้วยกองธรรมอันประกอบ
ด้วยหมู่แห่งคุณที่ประมาณมิได้ เป็นต้นว่า พลญาณ ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ (ดู ขุ.ป.
๓๑/๖๘-๗๓/๕,๑๒๑/๑๓๗) และพุทธธรรมเฉพาะอย่าง ๑๘ ประการ (ดู ที.ปา.อ. ๓/๓๐๕/๑๘๘-๑๘๙)
(ขุ.อุ.อ. ๙๐, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๗/๓๖๓)
๒ ทมถะและสมถะ หมายถึงปัญญาและสมาธิและหมายถึงความสงบกายและความสงบจิตบ้าง (วิ.อ. ๓/
๒๕๗/๑๗๐) ทมถะและสมถะที่สูงสุด คือปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติอันเป็นโลกุตตระ (สารตฺถ. ฏีกา. ๓/
๒๕๗/๓๖๓)
๓ หมายถึง เวลาผ่านไป ๓ พรรษา นับจากวันที่บรรพชาเป็นสามเณร (วิ.อ. ๓/๒๕๗/๑๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
๒. พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีสีดำมาก แข็ง มี
รอยระแหงกีบโค ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตรองเท้า
หลายชั้น เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๓. พระพุทธเจ้าข้า พวกมนุษย์ในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ
ถือว่าน้ำจะทำให้สะอาด ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาต
การอาบน้ำได้เป็นนิตย์ เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๔. พระพุทธเจ้าข้า ในอวันตีทักขิณาบถ มีหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ
หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค เหมือนกับที่มัชฌิมชนบทมีหญ้า
ตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง ถ้ากระไร
พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ หนังแกะ
หนังแพะ และหนังมฤค เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๕. พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ พวกมนุษย์ถวายจีวรฝากภิกษุทั้งหลาย
ผู้อยู่นอกสีมาด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้’
ภิกษุผู้รับฝากเหล่านั้นมาบอกว่า ‘พวกมนุษย์ชื่อนี้ถวายจีวรแก่ท่าน’
ภิกษุที่จะได้รับจีวรเหล่านั้นยำเกรงอยู่ จึงไม่ยินดี ด้วยคิดว่า
‘ของที่เป็นนิสสัคคีย์๑ อย่าได้มีแก่พวกเราเลย’ ถ้ากระไร พระผู้มี
พระภาคพึงตรัสบอกเหตุในเรื่องจีวร”

พระโสณะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ท่านพระโสณะรับคำของท่านพระมหากัจจานะแล้ว ลุกจากอาสนะไหว้ท่าน
พระมหากัจจานะ ทำประทักษิณ เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร จาริกไปทาง
กรุงสาวัตถี เดินทางไปโดยลำดับจนถึงกรุงสาวัตถี ถึงพระเชตวันอารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐีแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดเกี่ยวกับของที่เป็นนิสสัคคีย์ใน วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๕๙-๕๔๑/๑-๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอจงจัด
เสนาสนะต้อนรับภิกษุอาคันตุกะรูปนี้”
ท่านพระอานนท์ทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงมีพระประสงค์จะประทับอยู่ใน
วิหารหลังเดียวกับภิกษุรูปที่พระองค์มีพระบัญชาใช้เราว่า ‘อานนท์ เธอจงจัด
เสนาสนะต้อนรับภิกษุอาคันตุกะรูปนี้’ พระผู้มีพระภาคทรงมีพระประสงค์จะประทับ
อยู่ในวิหารแห่งเดียวกับท่านพระโสณะ” จึงจัดเสนาสนะต้อนรับท่านพระโสณะใน
พระวิหารอันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาค

เรื่องพระโสณะสวดพระสูตรในอัฏฐกวรรค
[๒๕๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในที่แจ้งจนดึกจึงเสด็จเข้าพระวิหาร
ฝ่ายท่านพระโสณะก็ใช้เวลาอยู่ในที่แจ้งจนดึกจึงเข้าพระวิหาร พอถึงเวลาใกล้รุ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นแล้ว ทรงเชื้อเชิญท่านพระโสณะว่า “ภิกษุ เธอจงกล่าวธรรม
ตามถนัดเถิด”๑
ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ได้สวดพระสูตรทั้งหมด ในอัฏฐก
วรรค๒โดยทำนองสรภัญญะ
เมื่อท่านพระโสณะสวดทำนองสรภัญญะจบแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงชื่นชม
อย่างยิ่งจึงได้ประทานสาธุการว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ เธอเล่าเรียนสูตรในอัฏฐก
วรรคมาดีแล้ว จำได้แม่นยำดี เปล่งเสียงสวดได้ไพเราะเพราะพริ้ง ไม่มีที่น่าตำหนิ
บอกความหมายได้ชัดเจน ภิกษุ เธอมีพรรษาเท่าไร”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์บวชได้ ๑ พรรษา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เพราะเหตุไร เธอจึงช้าอยู่เล่า”

เชิงอรรถ :
๑ จงกล่าวธรรมตามที่ได้ฟัง ตามที่เล่าเรียนมา (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๔)
๒ ขุ.สุ. ๒๕/๗๗๓-๙๘๒/๔๘๖-๕๒๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์เห็นโทษในกามนานแล้ว แต่ผู้ครองเรือน
วุ่นวาย๑ มีกิจมาก มีธุระมาก พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนี้แล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า
“อารยชนเห็นโทษในโลก รู้ธรรมที่ไม่มีอุปธิ
จึงไม่ยินดีในบาป เพราะคนบริสุทธิ์๒ ย่อมไม่ยินดีในบาป”๓
ลำดับนั้น ท่านพระโสณะคิดว่า “พระผู้มีพระภาคกำลังทรงชื่นชมเรา เวลานี้
ควรกราบทูลคำสั่งของพระอุปัชฌาย์” จึงลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า
ข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า กราบทูลพระผู้
มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระมหากัจจานะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของข้าพระองค์ ขอกราบ
ถวายอภิวาทแทบพระบาทของพระพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า สั่งให้กราบทูลว่า
๑. พระพุทธเจ้าข้า อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ข้าพระองค์จัดหา
ภิกษุสงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ ๑๐ รูป ได้ยาก
ลำบาก เวลาล่วงไปถึง ๓ ปี จึงได้อุปสมบท ถ้ากระไร พระผู้มี
พระภาค พึงทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะสงฆ์น้อยรูปกว่านี้ได้
เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๒. พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีสีดำมาก แข็ง มี
รอยระแหงกีบโค ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตรองเท้า
หลายชั้น เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๓. พระพุทธเจ้าข้า พวกมนุษย์ในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ
ถือว่าน้ำจะทำให้สะอาด ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาต
การอาบน้ำได้เป็นนิตย์ เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ

เชิงอรรถ :
๑ วุ่นวายอยู่กับกรณียกิจน้อยใหญ่ (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๕)
๒ คือเป็นผู้มีความประพฤติทางกายเป็นต้นบริสุทธิ์สม่ำเสมอ (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๖)
๓ ขุ.อุ. ๒๕/๔๖/๑๗๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
๔. พระพุทธเจ้าข้า ในอวันตีทักขิณาบถ มีหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ
หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค เหมือนกับที่มัชฌิมชนบทมีหญ้าตีนกา หญ้า
หางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง ถ้ากระไร
พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ หนังแกะ
หนังแพะ และหนังมฤค เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๕. พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ มนุษย์ทั้งหลายถวายจีวรฝากภิกษุทั้งหลาย
ผู้อยู่นอกสีมาด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้’
ภิกษุผู้รับฝากเหล่านั้นมาบอกว่า ‘พวกมนุษย์ชื่อนี้ถวายจีวรแก่ท่าน’
ภิกษุที่จะได้รับจีวรเหล่านั้นยำเกรงอยู่ จึงไม่ยินดีด้วยคิดว่า ‘ของ
ที่เป็นนิสสัคคีย์อย่าได้มีแก่พวกเราเลย’ ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสบอกเหตุในเรื่องจีวร”

เรื่องประทานพร ๕ อย่างแก่พระโสณะ
[๒๕๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
๑. ภิกษุทั้งหลาย อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะมีจำนวน ๕ รูปรวมทั้งพระ
วินัยธร ในปัจจันตชนบททั้งหมด

กำหนดเขตปัจจันตชนบทและมัชฌิมชนบท
บรรดาชนบทเหล่านั้น ปัจจันตชนบทกำหนดเขตไว้ ดังนี้
ทางทิศตะวันออกมีนิคมกชังคละ เป็นขอบเขต ถัดเข้ามาถึงมหาสาลนคร
พ้นเขตนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท
ทางทิศเหนือมีแม่น้ำสัลลวดี เป็นขอบเขต พ้นเขตนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท
ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ทางทิศใต้มีนิคมเสตกัณณิกะเป็นขอบเขต พ้นเขตนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท
ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท
ทางทิศตะวันตกมีหมู่บ้านพราหมณ์ถูณะเป็นขอบเขต พ้นเขตนั้นออกไป
เป็นปัจจันตชนบท ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท
ทางทิศอุดรมีภูเขาอุสีรธชะเป็นขอบเขต พ้นเขตนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท
ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์ ๕ รูปรวมทั้งพระ
วินัยธรได้ทั่วปัจจันตชนบทดังกล่าวนี้
๒. ภิกษุทั้งหลาย พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีสีดำมาก แข็ง มีรอย
ระแหงกีบโค เราอนุญาตรองเท้าหลายชั้น ในปัจจันตชนบททั้งหมด
๓. ภิกษุทั้งหลาย พวกมนุษย์ในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ
ถือว่าน้ำจะทำให้สะอาด เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ ใน
ปัจจันตชนบททั้งหมด
๔. ภิกษุทั้งหลาย ในอวันตีทักขิณาบถมีหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ
หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค เหมือนกับที่มัชฌิมชนบทมีหญ้า
ตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง เราอนุญาต
หนังที่เป็นเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ และหนังมฤค ใน
ปัจจันตชนบททั้งหมด
๕. ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกมนุษย์ถวายจีวรฝากภิกษุทั้งหลายผู้อยู่นอก
สีมาด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอฝากถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้’ เรา
อนุญาตให้ยินดีจีวรนั้นยังไม่นับ(ราตรี) ตลอดเวลาที่ยังไม่ถึงมือ”๑
จัมมขันธกะที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุที่รับฝากถวายจีวร ยังมิได้นำจีวรมาถวายจนถึงมือ หรือยังมิได้ส่งข่าวมาแจ้งให้ทราบว่า มีทายก
ถวายจีวร ต่อเมื่อภิกษุที่รับฝากถวายจีวรนำมาถวายจนถึงมือ หรือส่งข่าวมาแจ้งให้ทราบ หรือได้ฟังข่าวว่า
มีทายกถวายจีวรแล้วแต่นั้น จีวรนั้นเก็บไว้ได้ ๑๐ วัน (วิ.อ. ๓/๒๕๙/๑๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๙. รวมเรื่องที่มีในจัมมขันธกะ
๑๕๙. รวมเรื่องที่มีในจัมมขันธกะ
จัมมขันธกะมี ๖๓ เรื่อง คือ๑
เรื่องพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐปกครองหมู่บ้าน
๘๐,๐๐๐ หมู่บ้านรับสั่งให้นายโสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้า
เรื่องพระสาคตะแสดงอุตตริมนุสสธรรมอิทธิปาฏิหาริย์
เรื่องโสณโกฬิวิสะเศรษฐีบุตรออกบรรพชาปรารภความเพียรจนเท้าแตก
เรื่องทรงเปรียบเทียบความเพียรกับสายพิณ
เรื่องทรงอนุญาตให้ใช้รองเท้าชั้นเดียว เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีเขียว
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีเหลือง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีแดง เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีบานเย็น
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีดำ
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีแสด เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีชมพู
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้ามีหู เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าติดแผ่นหนังหุ้มส้น
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหุ้มแข้ง เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าปกหลังเท้า
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้ายัดนุ่น
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้ามีหูลายคล้ายขนปีกนกกระทา
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแกะ
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแพะ
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายหางแมลงป่อง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่เย็บด้วยขนนกยูง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่งดงามวิจิตร
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังราชสีห์
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือโคร่ง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือเหลือง

เชิงอรรถ :
๑ พระสังคีติกาจารย์ท่านเก็บข้อความมากล่าวเป็นคาถา ดูเหมือนจะไม่รวมข้อใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๙. รวมเรื่องที่มีในจัมมขันธกะ
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือดาว
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังนาก
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังแมว
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังค่าง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังนกเค้า
เรื่องภิกษุเท้าแตก เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าในอาราม
เรื่องภิกษุอาพาธเป็นหน่อที่เท้า เรื่องภิกษุไม่ล้างเท้า
เรื่องภิกษุเหยียบตอไม้ เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมเขียงเท้าเดินเสียงดังกึกกัก
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยใบตาล เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยใบไผ่
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยหญ้าสามัญ
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยหญ้ามุงกระต่าย
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยหญ้าปล้อง เรื่องสวมเขียงเท้าสานด้วยใบเป้ง
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยแฝก เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยขนสัตว์
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยทองคำ เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยเงิน
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วมณี
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วไพฑูรย์
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วผลึก
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยสำริด
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยกระจก เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยดีบุก
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยสังกะสี เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยทองแดง
เรื่องจับโค เรื่องพระฉัพพัคคีย์โดยสารยานพาหนะ
เรื่องภิกษุเป็นไข้ เรื่องยานเทียมด้วยโคเพศผู้
เรื่องวอ เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้ที่นอนสูงใหญ่
เรื่องหนังผืนใหญ่ เรื่องภิกษุใจบาปขอหนังลูกโค
เรื่องเตียงตั่งของพวกคฤหัสถ์หุ้มด้วยหนัง
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๙. รวมเรื่องที่มีในจัมมขันธกะ
เรื่องภิกษุเป็นไข้สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้านได้ เรื่องพระมหากัจจานะ
เรื่องพระโสณะสวดพระสูตรในอัฏฐกวรรคโดยทำนองสรภัญญะ
เรื่องทรงประทานพร ๕ อย่างแก่พระโสณะ คือ
๑. อนุญาตให้สงฆ์ปัญจวรรคให้อุปสมบทได้
๒. อนุญาตให้สวมรองเท้าหลายชั้นได้
๓. อนุญาตให้อาบน้ำได้เป็นนิตย์
๔. อนุญาตให้ใช้หนังเครื่องลาดได้ในทักขิณาบถ
๕. ทายกถวายจีวร เมื่อยังไม่ถึงมือภิกษุ อนุญาตให้
ไม่ต้องนับราตรี
จัมมขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๐. ปัญจเภสัชชกถา
๖. เภสัชชขันธกะ
๑๖๐. ปัญจเภสัชชกถา
ว่าด้วยทรงอนุญาตเภสัช ๕

เรื่องภิกษุอาพาธในฤดูสารท๑
[๒๖๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายป่วยด้วยอาพาธที่เกิดในฤดู
สารท แม้ข้าวต้มที่ดื่มเข้าไปก็กลับอาเจียนออกมา แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็กลับอาเจียน
ออกมา ภิกษุเหล่านั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง เพราะโรคนั้น
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง จึงตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ ทำไมเวลานี้ ภิกษุ
ทั้งหลายจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “เวลานี้ ภิกษุทั้งหลายป่วยด้วยอาพาธที่เกิดใน
ฤดูสารท แม้ข้าวต้มที่ดื่มเข้าไปก็กลับอาเจียนออกมา แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็กลับ
อาเจียนออกมา ภิกษุเหล่านั้นจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
เพราะโรคนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงอนุญาตเภสัช ๕ ในกาล
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้น ประทับในที่สงัด ได้เกิดความดำริใน
พระทัยอย่างนี้ว่า “เวลานี้ ภิกษุทั้งหลายป่วยด้วยอาพาธที่เกิดในฤดูสารท แม้ข้าว

เชิงอรรถ :
๑ อาพาธในฤดูสารท คือ ไข้เหลือง (หรือโรคดีซ่าน) ที่เกิดขึ้นในฤดูสารท (ฤดูใบไม้ร่วง) เพราะในฤดูสารทนี้
ภิกษุทั้งหลายเปียกชุ่มด้วยน้ำฝนบ้าง เดินย่ำโคลนบ้าง แสงแดดแผดกล้าบ้าง ทำให้น้ำดีของภิกษุ
ทั้งหลายขังอยู่แต่ในถุงน้ำดี (วิ.อ. ๓/๒๖๐/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๐. ปัญจเภสัชชกถา
ต้มที่ดื่มเข้าไปก็กลับอาเจียนออกมา แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็กลับอาเจียนออกมา
ภิกษุเหล่านั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง เพราะโรคนั้น เราจะ
อนุญาตอะไรเป็นยาแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นทั้งตัวยาและชาวโลกถือกันว่าเป็นยา
ทั้งจะให้ประโยชน์ทางโภชนาหาร และไม่เป็นอาหารหยาบ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ทรงดำริดังนี้ว่า “เภสัช ๕ นี้ ได้แก่ เนยใส
เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นทั้งตัวยาและชาวโลกถือกันว่าเป็นยา
ทั้งให้ประโยชน์ทางโภชนาหาร และไม่เป็นอาหารหยาบ อย่ากระนั้นเลย เราพึง
อนุญาตเภสัช ๕ นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคนในกาลแล้วฉันในกาล”
ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทรงแสดงธรรมีกถา
เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราหลีกเร้น
อยู่ในที่สงัด เกิดความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า ‘เวลานี้ ภิกษุทั้งหลายป่วยด้วย
อาพาธที่เกิดในฤดูสารท แม้ข้าวต้มที่ดื่มเข้าไปก็กลับอาเจียนออกมา แม้ข้าวสวย
ที่ฉันแล้วก็กลับอาเจียนออกมา ภิกษุเหล่านั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้น
เอ็นขึ้นสะพรั่ง เพราะโรคนั้น เราจะอนุญาตอะไรเป็นยาแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็น
ทั้งตัวยา และชาวโลกถือกันว่าเป็นยา ทั้งจะให้ประโยชน์ทางโภชนาหาร และไม่
เป็นอาหารหยาบ ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เภสัช ๕ นี้ ได้แก่
เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นทั้งตัวยาและชาวโลกถือกันว่าเป็นยา
ทั้งให้ประโยชน์ทางโภชนาหาร และไม่เป็นอาหารหยาบ เราพึงอนุญาตเภสัช ๕
นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคนในกาลแล้วฉันในกาล’ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัชทั้ง ๕ เหล่านั้นในกาลแล้วฉันในกาล”

เรื่องเภสัช ๕ ในเวลาวิกาล
[๒๖๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัช ๕ ในกาลแล้วฉันในกาล
โภชนาหารชนิดธรรมดาที่ฉันประจำวันของภิกษุเหล่านั้นยังไม่อาจย่อย ไม่จำต้องกล่าว
ถึงโภชนาหารชนิดที่มีไขมัน ภิกษุเหล่านั้นจึงป่วยด้วยอาพาธที่เกิดในฤดูสารท


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๐. ปัญจเภสัชชกถา
และเบื่อภัตตาหาร เพราะเหตุ ๒ ประการนั้น จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งมากยิ่งขึ้น
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสถามท่านพระอานนท์
อีกว่า “อานนท์ ทำไมเวลานี้ ภิกษุทั้งหลายจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “เวลานี้ ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัช ๕ ใน
กาลแล้วฉันในกาล โภชนาหารชนิดธรรมดาที่ฉันประจำวันของภิกษุเหล่านั้นยังไม่
อาจย่อย ไม่จำต้องกล่าวถึงโภชนาหารชนิดที่มีไขมัน ภิกษุทั้งหลายจึงป่วยด้วยอาพาธ
ที่เกิดในฤดูสารท และเบื่อภัตตาหาร เพราะเหตุ ๒ ประการนั้น จึงซูบผอม หมองคล้ำ
ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งมากยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช ๕ ฉันได้ทั้ง
ในกาลและในเวลาวิกาล”

เรื่องน้ำมันเหลวที่เป็นยา
[๒๖๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ต้องการมันเหลวที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมันเหลวที่เป็นยา คือ
มันเหลวหมี มันเหลวปลา มันเหลวปลาฉลาม๑ มันเหลวหมู มันเหลวลาที่รับ
ประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในกาลแล้วฉันอย่างน้ำมัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนมันเหลวในเวลาวิกาล เจียวในเวลาวิกาล
กรองในเวลาวิกาลแล้ว ถ้าภิกษุฉันมันเหลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๓ ตัว

เชิงอรรถ :
๑ บางอาจารย์ว่า จระเข้ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖๒/๓๖๗) ฉบับ PALI TEXT SOCIETY แปลว่า จระเข้ (Book
of the discipline past 4 P. 271) มหาวรรคฉบับภาษาพม่าแปลว่า “ปลาโลมา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนมันเหลวในกาล เจียวในเวลาวิกาล กรอง
ในเวลาวิกาลแล้ว ถ้าภิกษุฉันมันเหลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนมันเหลวในกาล เจียวในกาล กรองในเวลา
วิกาลแล้ว ถ้าภิกษุฉันมันเหลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ (๑ ตัว)
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนมันเหลวในกาล เจียวในกาล กรองในกาล
แล้ว ถ้าภิกษุฉันมันเหลวนั้น ไม่ต้องอาบัติ”

๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
ว่าด้วยทรงอนุญาตเครื่องยามีรากไม้เป็นต้น

เรื่องรากไม้ที่เป็นยา
[๒๖๓] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการรากไม้ที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรากไม้ที่เป็นยา คือ ขมิ้น
ขิงสด ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิต ข่า แฝก แห้วหมู หรือรากไม้ที่เป็นยาชนิด
อื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมี
เหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องรากไม้บดที่เป็นยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการรากไม้ที่บดเป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหินบด ลูกหินบด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องน้ำฝาดที่เป็นยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการน้ำฝาดที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาดที่เป็นยา คือ น้ำ
ฝาดสะเดา น้ำฝาดโมกมัน น้ำฝาดขี้กา น้ำฝาดบอระเพ็ด น้ำฝาดกระถินพิมาน
หรือน้ำฝาดที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้
ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้อง
อาบัติทุกกฏ”

เรื่องใบไม้ที่เป็นยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ต้องการใบไม้ที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตใบไม้ที่เป็นยา คือ ใบสะเดา
ใบโมกมัน ใบขี้กา ใบแมงลัก ใบฝ้าย หรือใบไม้ที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของ
เคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้
เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องผลไม้ที่เป็นยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ต้องการผลไม้ที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นยา คือ ลูกพิลังคะ
ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลโกฐ หรือผลไม้ที่เป็นยาชนิดอื่น
ที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น
ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องยางไม้ที่เป็นยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการยางไม้ที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยางไม้ที่เป็นยา คือ หิงคุ
ยางเคี่ยวจากหิงคุ ยางเคี่ยวจากเปลือกหิงคุ ยางจากยอดตันตกะ ยางจากใบ
ตันตกะ ยางเคี่ยวจากก้านตันตกะ กำยาน หรือยางที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่
ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุ
จึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องเกลือที่เป็นยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการเกลือที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเกลือที่เป็นยา คือ
เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโป่ง เกลือหุงหรือเกลือที่เป็นยา
ชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ
เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องมูลโค ดินเหนียว กากน้ำย้อมดับกลิ่นตัว
[๒๖๔] สมัยนั้น ท่านพระเพลัฏฐสีสะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพระอานนท์
เป็นโรคฝีดาษ จีวรติดกายเพราะน้ำเหลือง พวกภิกษุใช้น้ำชุบผ้าเหล่านั้นแล้ว
ค่อย ๆ ดึงออกมา
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น
กำลังใช้น้ำชุบผ้าแล้วค่อย ๆ ดึงออกมา จึงเสด็จเข้าไปหา ตรัสถามว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุนี้เป็นโรคอะไร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ภิกษุนี้เป็นโรคฝีดาษ จีวรติดกายเพราะน้ำเหลือง
พวกข้าพระองค์ใช้น้ำชุบผ้าแล้วค่อย ๆ ดึงออกมา พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาผงสำหรับภิกษุผู้เป็นหิด ตุ่ม
พุพอง ฝีดาษ หรือมีกลิ่นตัวแรง มูลโค ดินเหนียว กากน้ำย้อมสำหรับภิกษุผู้ไม่
เป็นไข้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตครกและสาก”

เรื่องยาผงและเครื่องร่อนยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการยาผงที่ร่อนแล้ว
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องร่อนยาผง”
ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ต้องการยาผงละเอียด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าร่อนยา”

เรื่องเนื้อดิบและเลือดสด
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้เพราะถูกอมนุษย์เข้าสิง อาจารย์และอุปัชฌาย์
ช่วยกันรักษาภิกษุนั้น แต่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ภิกษุนั้นเดินไปที่ร้านขายหมู
แล้วกินเนื้อดิบ ดื่มเลือดสด ๆ โรคอมนุษย์เข้าสิงของภิกษุนั้นจึงสงบ๑
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเนื้อดิบ เลือดสด ใน
เมื่อมีโรคอมนุษย์เข้าสิง”

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุผู้เป็นไข้นั้น ไม่ได้กินเนื้อดิบ ไม่ได้ดื่มเลือดสด แต่อมนุษย์ (ผี) ที่สิงอยู่ในร่างภิกษุนั้น กินและดื่ม
พอกินเนื้อดิบและดื่มเลือดสดแล้ว ก็ออกจากร่างภิกษุนั้นไป (วิ.อ. ๓/๒๖๔/๑๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องยาหยอดตา
[๒๖๕] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคตา พวกภิกษุต้องพยุงภิกษุนั้น
ไปให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นพวกภิกษุกำลัง
พยุงภิกษุนั้นไปให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง จึงเสด็จเข้าไปหาแล้วตรัสถาม
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เป็นโรคอะไร”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “ท่านรูปนี้อาพาธเป็นโรคตา พวกข้าพระองค์คอยพยุง
ท่านไปให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาหยอดตา อันได้แก่ยา
ทาตาที่ปรุงด้วยเครื่องปรุงหลายอย่าง ยาป้ายตาที่ทำด้วยเครื่องปรุงต่าง ๆ ยาทา
ตาที่เกิดในกระแสน้ำ หรดาลกลีบทอง เขม่าไฟ”

เรื่องเครื่องบดยาผสมยาตา
ภิกษุทั้งหลายต้องการเครื่องบดยาผสมยาตา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้จันทน์ กฤษณา
กะลัมพัก ใบเฉียง แห้วหมู”

เรื่องกลักยาตา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บยาตาชนิดผงไว้ในโอ่งบ้าง ในขันบ้าง ผงหญ้าบ้าง
ฝุ่นบ้างปลิวลงไป
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกลักยาตา”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้กลักยาตาชนิดต่าง ๆ ทำด้วยทองคำ ทำ
ด้วยเงิน มนุษย์ทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้
บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กลักยาตาชนิดต่าง ๆ
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกลักยาตาทำด้วยกระดูก
ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ทำด้วยไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยไม้ ทำด้วยยางไม้
ทำด้วยผลไม้ ทำด้วยโลหะ ทำด้วยเปลือกสังข์”
กลักยาตาไม่มีฝาปิด ผงหญ้าบ้าง ฝุ่นบ้างปลิวลงไป
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด”
ฝาปิดตกจากกลักยาตา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ด้ายผูกพันไว้กับ
กลักยาตา”
กลักยาตาแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ด้ายถัก”

เรื่องไม้ป้ายยาตา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้นิ้วมือป้ายทาตา นัยน์ตาช้ำ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ป้ายยาตา”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ไม้ป้ายยาตาชนิดต่าง ๆ ทำด้วยทองคำ ทำด้วยเงิน
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ไม้ป้ายยาตาชนิดต่าง ๆ
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ป้ายยาตาทำด้วยกระดูก
ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ฯลฯ ทำด้วยเปลือกสังข์”

เรื่องที่เก็บไม้ป้ายยาตา
สมัยนั้น ไม้ป้ายยาตาตกที่พื้นจึงเปื้อน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตภาชนะ สำหรับเก็บไม้
ป้ายยาตา”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้มือถือกลักยาตาบ้าง ไม้ป้ายยาตาบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงกลักยาตา”
ถุงกลักยาตาไม่มีหูสะพาย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกผูกเป็นสายสะพาย”

เรื่องน้ำมันทาศีรษะ
[๒๖๖] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะปวดร้อนที่ศีรษะ ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันทาศีรษะ”

เรื่องนัตถุ์ยา
พระปิลันทวัจฉะยังไม่หายโรคปวดร้อนที่ศีรษะ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการนัตถุ์”๑
น้ำมันที่นัตถุ์ไหลออก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องยานัตถุ์”

เรื่องกล้องยานัตถุ์
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้กล้องยานัตถุ์ชนิดต่าง ๆ ทำด้วยทองคำ ทำ
ด้วยเงิน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภค
กาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กล้องยานัตถุ์ชนิดต่าง ๆ
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องยานัตถุ์ทำด้วยกระดูก
ฯลฯ ทำด้วยเปลือกสังข์”
พระปิลินทวัจฉะนัตถุ์ได้ไม่เท่ากัน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้
มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องยานัตถุ์มีหลอดคู่”

เรื่องสูดควัน
พระปิลันทวัจฉะยังไม่หายโรคปวดศีรษะ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สูดควัน”

เชิงอรรถ :
๑ การนัตถุ์ หมายถึงการใช้น้ำมันที่ปรุงเป็นยาหยอดจมูก (ที.สี.อ. ๑/๙๑, ม.ม.อ. ๓/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องกล้องสูดควันและฝาปิดกล้องสูดควัน
ภิกษุทั้งหลายจุดเกลียวผ้าแล้วสูดควัน คอแสบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสูดควัน”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้กล้องสูดควันชนิดต่าง ๆ ทำด้วยทองคำ ทำ
ด้วยเงิน คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภค
กาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายภิกษุไม่พึงใช้กล้องสูดควันชนิดต่าง ๆ
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสูดควัน ทำด้วยกระดูก
ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ทำด้วยไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยไม้ ทำด้วยยางไม้ ทำด้วย
ผลไม้ ทำด้วยโลหะ ทำด้วยเปลือกสังข์”
สมัยนั้น กล้องสูดควันไม่มีฝาปิด ตัวสัตว์เล็ก ๆ เข้าไปได้ ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้มือถือกล้องสูดควัน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงกล้องสูดควัน”
กล้องสูดควันอยู่รวมกันย่อมกระทบกัน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงคู่”
ถุงคู่ไม่มีหูสะพาย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกผูกเป็นสายสะพาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
พระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลม
เรื่องน้ำมันหุง
[๒๖๗] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลม พวกแพทย์กล่าว
อย่างนี้ว่า “ต้องหุงน้ำมันถวาย”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันที่หุง”

เรื่องน้ำเมาเจือในน้ำมันหุง
แพทย์ต้องเจือน้ำเมาในน้ำมันที่หุง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เจือน้ำเมาลงในน้ำ
มันที่หุงได้”

เรื่องน้ำมันเจือด้วยน้ำเมามากเกินไป
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์หุงน้ำมันเจือน้ำเมาลงไปเกินขนาด ดื่มน้ำมัน
นั้นแล้วเมา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงดื่มน้ำมันเจือน้ำเมาลง
ไปเกินขนาด รูปใดดื่ม พึงปรับอาบัติตามธรรม๑ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ดื่มน้ำมันเจือด้วยน้ำเมาชนิดที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสน้ำเมา”

เชิงอรรถ :
๑ พึงปรับอาบัติตามธรรม ในที่นี้ หมายถึง ปรับอาบัติปาจิตตีย์เพราะดื่มสุราและเมรัย ตามความใน
สิกขาบทที่ ๑ แห่งสุราปานวรรค (ดู วิ.มหา (แปล) ๒/๓๒๗-๓๒๘/๔๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องทรงอนุญาตน้ำมันเจือน้ำเมามากใช้เป็นยาทา
สมัยนั้น น้ำมันที่ภิกษุหุงเจือน้ำเมาลงไปเกินขนาดมาก
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พวกเราจะปฏิบัติในน้ำมัน
เจือน้ำเมาลงไปเกินขนาดนี้ อย่างไร” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บไว้เป็นยาทา”

เรื่องลักจั่น
สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะหุงน้ำมันไว้มาก ไม่มีภาชนะบรรจุน้ำมัน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลักจั่น ๓ ชนิด คือ
ลักจั่นทำด้วยโลหะ ลักจั่นทำด้วยไม้ ลักจั่นทำด้วยผลไม้”

เรื่องการรมเหงื่อ
สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลมตามอวัยวะ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการเข้ากระโจมรมเหงื่อ”

เรื่องการรมด้วยใบไม้
ท่านพระปิลันทวัจฉะก็ยังไม่หายโรคลม
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการรมด้วยใบไม้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องรมใหญ่
ท่านพระปิลันทวัจฉะก็ยังไม่หายโรคลม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการรมใหญ่”๑

เรื่องรมด้วยใบไม้ต่าง ๆ
ท่านพระปิลันทวัจฉะก็ยังไม่หายโรคลม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำต้มใบไม้ชนิดต่าง ๆ”๒

เรื่องอ่างน้ำ
ท่านพระปิลันทวัจฉะก็ยังไม่หายโรคลม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอ่างน้ำ”

เรื่องใช้เขาสัตว์กอกระบายโลหิตออก
สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลมขัดยอกตามข้อ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ระบายโลหิตออก”

เชิงอรรถ :
๑ การรมใหญ่ หมายถึงเอาถ่านเพลิงใส่หลุมจนเต็ม เอาดินร่วนและทรายเป็นต้นปิดไว้ ลาดใบไม้นานา
ชนิดทับลงไป เอาน้ำมันทาตัวนอนบนหลุมนั้น รมร่างกายโดยการพลิกกลับไปมา (วิ.อ. ๓/๒๖๗/๑๗๔-
๑๗๕)
๒ น้ำต้มใบไม้ชนิดต่าง ๆ คือ น้ำต้มใบไม้นานาชนิดจนเดือดแล้ว ใช้ใบไม้และน้ำราดรม (วิ.อ. ๓/๒๖๗/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
ท่านพระปิลินทวัจฉะก็ยังไม่หายโรคลมขัดยอกตามข้อ ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้เขาสัตว์กอกระบาย
โลหิตออก”๑

เรื่องยาทาเท้า
สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะเท้าแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาทาเท้า”

เรื่องปรุงน้ำมันทาเท้า
ท่านพระปิลันทวัจฉะยังไม่หายโรคเท้าแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปรุงน้ำมันทาเท้า”

เรื่องภิกษุอาพาธเป็นฝี
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นฝี ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการผ่าตัด”

เรื่องน้ำฝาด
ภิกษุนั้นต้องการน้ำฝาด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาด”

เชิงอรรถ :
๑ กอก คือการดูดเลือด หนอง หรือลมออกจากร่างกาย หรือดูดเอาน้ำนม ออกจากเต้านม โดยใช้ถ้วย
กระบอก ฯลฯ เป็นเครื่องดูด วิธีดูดให้กดปากถ้วย หรือกระบอกแนบครอบลงบนแผล หนองแล้วยกขึ้น
ทำบ่อย ๆ จนดูดเลือดที่เสีย หรือหนองออกหมด ในที่นี้ใช้เขาสัตว์กอก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องงาบด
ภิกษุนั้นต้องการงาบด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตงาบด”

เรื่องยาพอก
ภิกษุนั้นต้องการยาพอก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาพอก”

เรื่องผ้าพันแผล
ภิกษุนั้นต้องการผ้าพันแผล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าพันแผล”

เรื่องชะแผลด้วยน้ำแป้งเมล็ดผักกาด
แผลคัน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ชะด้วยน้ำแป้งเมล็ด
ผักกาด”

เรื่องรมแผลด้วยควัน
แผลชื้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รมควัน”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องใช้ก้อนเกลือตัดเนื้องอก
เนื้องอกยื่นออกมา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตัดด้วยก้อนเกลือ”

เรื่องน้ำมันทาแผล
แผลไม่งอก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันทาแผล”

เรื่องผ้าปิดกันน้ำมันไหลเยิ้ม
น้ำมันไหลเยิ้ม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าเก่าสำหรับซับน้ำมัน
รักษาแผลทุกชนิด”

เรื่องยามหาวิกัฏ ๔ อย่าง
[๒๖๘] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ยามหาวิกัฏ ๔
อย่าง คือ คูถ มูตร เถ้า ดิน”

เรื่องรับประเคน
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ยามหาวิกัฏไม่ต้องรับประเคน
หรือต้องรับประเคน”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเมื่อมี
กัปปิยการก ถ้าไม่มีกัปปิยการก ให้หยิบเองได้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องน้ำดื่มเจือคูถ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งดื่มยาพิษเข้าไป ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำเจือคูถ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “คูถไม่ต้องรับประเคน หรือจะ
ต้องรับประเคน”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคูถที่ภิกษุหยิบไว้ขณะ
กำลังถ่ายนั่นแหละเป็นอันประเคนแล้ว จึงไม่ต้องรับประเคนอีก”

เรื่องภิกษุโดนยาแฝดดื่มน้ำที่ละลายจากดินติดผาลไถ
[๒๖๙] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธโดนยาแฝด๑ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำที่เขาละลายดิน
รอยไถติดผาล”

เรื่องดื่มน้ำด่างดิบ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคท้องผูก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำด่างดิบ”

เชิงอรรถ :
๑ อาพาธโดนยาแฝด แปลมาจากบาลีว่า “ฆรทินฺนาพาโธ” หมายถึงโรคที่เกิดขึ้นเพราะน้ำหรือยาที่หญิง
แม่เรือนให้ ซึ่งดื่มกินเข้าไปแล้วจะตกอยู่ในอำนาจของหญิงนั้น (วิ.อ. ๓/๒๖๙/๑๗๕, สารตฺถ. ฏีกา ๓/๒๖๙
/๓๖๗, วิมติ.ฏีกา ๒/๒๖๙/๒๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องดื่มน้ำสมอดองมูตรโค
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผอมเหลือง๑
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มยาผลสมอดอง
น้ำมูตร”๒

เรื่องไล้ทาของหอม
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผิวหนัง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลูบไล้ด้วยของหอม”

เรื่องดื่มยาถ่าย
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธมีผดผื่นขึ้นตามตัว
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มยาถ่าย”

เรื่องน้ำข้าวใส
ภิกษุนั้นต้องการน้ำข้าวใส ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำข้าวใส”

เชิงอรรถ :
๑ โรคผอมเหลือง คือ โรคดีซ่าน
๒ ดองด้วยมูตรโค (วิ.อ. ๓/๒๖๙/๑๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
เรื่องน้ำต้มถั่วเขียวไม่ข้น
ภิกษุนั้นต้องการน้ำต้มถั่วเขียวไม่ข้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำต้มถั่วเขียวไม่ข้น”

เรื่องน้ำต้มถั่วเขียวข้น
ภิกษุนั้นต้องการน้ำต้มถั่วเขียวข้นเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำต้มถั่วเขียวข้นเล็ก
น้อย”

เรื่องน้ำต้มเนื้อ
ภิกษุนั้นต้องการน้ำต้มเนื้อ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำต้มเนื้อ”

๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
ว่าด้วยพระปิลินทวัจฉะ๑

เรื่องพระปิลินทวัจฉะจะทำความสะอาดเงื้อมเขา
และพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานคนงานวัด
[๒๗๐] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะประสงค์จะทำที่เร้น จึงให้ภิกษุทั้งหลาย
ทำความสะอาดเงื้อมเขาในกรุงราชคฤห์

เชิงอรรถ :
๑ วิ.มหา. (แปล) ๒/๖๑๘-๖๑๙/๑๓๙-๑๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะ
ถึงที่พัก ครั้นถึงแล้ว ได้ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธรัฐผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ตรัสกับท่านพระปิลินทวัจฉะดังนี้ว่า
“พระคุณเจ้าให้ภิกษุทั้งหลายทำอะไร”
ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร อาตมภาพประสงค์
จะทำที่เร้น จึงให้ภิกษุทั้งหลายทำความสะอาดเงื้อมเขา”
พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามว่า “พระคุณเจ้า ต้องการคนวัด บ้างไหม”
ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคไม่ทรง
อนุญาตให้มีคนวัด”
พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามว่า “ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าพึงทูลถามพระผู้มีพระภาค
แล้วบอกโยมด้วย”
ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลสนองพระดำรัสแล้ว ชี้แจงให้ท้าวเธอเห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ซึ่งท่านพระปิลินทวัจฉะชี้แจงให้
เห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ได้เสด็จลุกจากราชอาสน์ ทรงอภิวาทพระเถระ ทำประทักษิณ
แล้วเสด็จกลับไป
ต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะส่งทูตไปยังสำนักพระผู้มีพระภาคให้กราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐมีพระราชประสงค์จะถวายคนวัด
ข้าพระองค์ จะพึงปฏิบัติอย่างไร”

ทรงอนุญาตคนงานวัด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มีคนวัด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
แม้ครั้งที่ ๒ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ เสด็จเข้าไปหาท่านพระ
ปิลินทวัจฉะถึงที่พัก ครั้นถึงแล้ว ได้ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้
ตรัสกับท่านพระปิลินทวัจฉะดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคน
วัดแล้วหรือ”
ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลว่า “ขอถวายพระพร ทรงอนุญาตแล้ว”
พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น โยมจะถวายคนวัดแก่พระคุณเจ้า”
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงรับที่จะถวายคนวัดแก่ท่าน
พระปิลินทวัจฉะแล้ว แต่ทรงลืม เมื่อเวลาผ่านไปนาน ทรงระลึกได้ จึงตรัสถาม
มหาอมาตย์ผู้สนองราชกิจคนหนึ่งว่า “เราถวายคนวัดที่ให้สัญญาไว้แก่พระคุณเจ้า
แล้วหรือ”
มหาอมาตย์กราบทูลว่า “ขอเดชะ ยังไม่ได้ถวายคนวัดแก่พระคุณเจ้าเลย”
พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า “ผ่านมากี่วันแล้ว”
มหาอมาตย์นับราตรีแล้วกราบทูลว่า “ขอเดชะ ผ่านมา ๕๐๐ ราตรี”
ท้าวเธอรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้น จงถวายคนวัด ๕๐๐ คน แก่พระคุณเจ้า”
มหาอมาตย์กราบทูลรับสนองพระราชโองการแล้ว จัดคนวัดไปถวายท่านพระ
ปิลินทวัจฉะ จำนวน ๕๐๐ คน ตั้งหมู่บ้านขึ้นมาต่างหาก มีชื่อเรียกว่า อารามิกคาม
บ้าง ปิลินทวัจฉคามบ้าง
[๒๗๑] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะเป็นพระประจำตระกูลในหมู่บ้านนั้น
เช้าวันหนึ่ง ท่านพระปิลินทวัจฉะครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต
ในหมู่บ้านปิลันทวัจฉคาม ครั้งนั้น ในหมู่บ้านนั้นกำลังมีมหรสพ พวกเด็ก ๆ
แต่งกายประดับ ดอกไม้เล่นอยู่ พอดีท่านพระปิลินทวัจฉะเที่ยวบิณฑบาตมาตามลำดับ
ในหมู่บ้านปิลินทวัจฉคาม มาถึงเรือนของคนวัดคนหนึ่งแล้วได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัด
ถวาย

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
ขณะนั้น ธิดาของสตรีคนวัดเห็นพวกเด็กคนอื่นแต่งกายประดับดอกไม้ จึงร้อง
ไห้ขอว่า “พ่อแม่ โปรดให้ดอกไม้ โปรดให้เครื่องประดับแก่หนู”
พระเถระถามสตรีนั้นว่า “เด็กคนนี้อยากได้อะไร”
นางตอบว่า “ท่านผู้เจริญ เด็กคนนี้เห็นพวกเด็กอื่นแต่งกายประดับดอกไม้
จึงร้องไห้ขอพวงดอกไม้และเครื่องประดับว่า “พ่อแม่โปรดให้ดอกไม้ โปรดให้เครื่อง
ประดับแก่หนู” เราคนจนจะได้ดอกไม้และเครื่องประดับจากไหนกัน”
ท่านพระปิลินทวัจฉะจึงหยิบเสวียนหญ้า๑อันหนึ่งส่งให้พลางกล่าวว่า “ท่านจง
สวมเสวียนหญ้าอันนี้ที่ศีรษะเด็กหญิงนั้น”
หญิงคนวัดหยิบเสวียนหญ้าสวมที่ศีรษะเด็กหญิง เสวียนหญ้ากลายเป็นพวง
ดอกไม้ทองคำงดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ทองคำอย่างนี้แม้ในพระราชฐานก็ยังไม่มี
พวกชาวบ้านกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า “ขอเดชะ ที่เรือนคนวัดโน้นมีพวง
ดอกไม้ทองคำงดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ทองคำอย่างนี้แม้ในพระราชฐานก็ยัง
ไม่มี เขาเป็นคนเข็ญใจจะได้มาจากไหน ชะรอยจะได้มาเพราะทำโจรกรรมเป็นแน่แท้”
พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้จองจำตระกูลคนวัดนั้น
ต่อมาเช้าวันที่ ๒ ท่านพระปิลินทวัจฉะครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
ไปบิณฑบาตที่ปิลินทวัจฉคามอีก เมื่อเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับในหมู่บ้าน
ปิลินทวัจฉคาม เดินผ่านไปทางที่อยู่คนวัดคนนั้นถามคนคุ้นเคยว่า “ครอบครัวคนวัด
นี้ไปไหน”
ชาวบ้านตอบว่า “ครอบครัวนี้ถูกจองจำเพราะเรื่องพวงดอกไม้ทองคำ เจ้าข้า”
ต่อจากนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะเข้าไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธรัฐ ครั้นถึงแล้วได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย

เชิงอรรถ :
๑ เสวียนหญ้า คือของเป็นวงกลมสำหรับรอบก้นหม้อ ทำด้วยหญ้าหรือหวายเป็นต้น ของที่ทำเป็น
วงกลมสำหรับรองหรือรับสิ่งต่าง ๆ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ เสด็จเข้าไปหาพระเถระจนถึง
อาสนะ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลถามพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐว่า “ขอถวายพระพร
ครอบครัวคนวัดถูกจองจำเพราะเรื่องอะไร”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “ที่เรือนเขามีพวงดอกไม้ทองคำ
งดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ทองคำอย่างนี้แม้ในวังก็ยังไม่มี เขาเป็นคนเข็ญใจจะ
ได้มาจากไหน ชะรอยจะได้มาเพราะทำโจรกรรมเป็นแน่แท้”
ทีนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะได้อธิษฐานให้ปราสาทของพระเจ้าพิมพิสารเป็นทองคำ
ปราสาทกลายเป็นทองคำไปทั้งหลัง แล้วท่านก็ถวายพระพรว่า “ทองคำมากมาย
มหาบพิตรได้มาจากไหน”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “โยมทราบแล้ว นี่เป็นฤทธานุภาพ
ของพระคุณเจ้า” แล้วรับสั่งให้ปล่อยครอบครัวนั้น
พวกชาวบ้านทราบข่าวว่า “พระคุณเจ้าปิลินทวัจฉะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อัน
เป็นอุตตริมนุสสธรรมในท่ามกลางราชบริษัท” พากันพอใจเลื่อมใสนำเภสัช ๕ คือ
เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยมาถวาย ตามปกติท่านพระปิลินทวัจฉะ
ก็ได้เภสัช ๕ อยู่เสมอ ท่านจึงแบ่งเภสัชให้บริษัทของท่าน แต่บริษัทของท่านมักมาก
บรรจุเภสัชที่ได้มาแล้วไว้ในตุ่มบ้าง ในหม้อน้ำบ้าง จนเต็มแล้วเก็บไว้ บรรจุลงใน
หม้อกรองน้ำบ้าง ในถุงย่ามบ้าง แล้วแขวนไว้ที่หน้าต่าง เภสัชเหล่านั้นซึมไหลเยิ้ม
จึงมีสัตว์จำพวกหนูชุกชุมทั่ววิหาร
พวกชาวบ้านเที่ยวไปตามวิหารพบเข้าจึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนา
ว่า “พวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้มีเรือนคลังเก็บของเหมือนพระเจ้า
พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงคิดเพื่อความ
มักมากเช่นนี้เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้ว
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๓. คุฬาทิอนุชานนา
เรื่องฉันเภสัชที่เก็บไว้ ๗ วัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุคิดเพื่อความมักมาก
อย่างนั้นจริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรับประเคนเภสัชที่ควรสำหรับภิกษุไข้ คือ เนยใส เนยข้น
น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย แล้วเก็บไว้ฉันได้ ๗ วัน เป็นอย่างมาก ให้เกินกำหนด
นั้นไปพึงปรับอาบัติตามธรรม”
เภสัชชานุญญาตภาณวาร ที่ ๑ จบ

๑๖๓. คุฬาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตน้ำอ้อยงบเป็นต้น

เรื่องน้ำอ้อยงบ
[๒๗๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัย
แล้ว เสด็จไปกรุงราชคฤห์ ในระหว่างทาง ท่านพระกังขาเรวตะแวะเข้าโรงทำน้ำ
อ้อยงบ เห็นเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในน้ำอ้อยงบ ยำเกรงอยู่ว่า “น้ำอ้อย
งบเจืออามิสเป็นของไม่ควรฉันในเวลาวิกาล” พร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันน้ำอ้อยงบ
แม้ภิกษุทั้งหลายที่เชื่อฟังท่านก็พลอยไม่ฉันน้ำอ้อยงบไปด้วย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านผสม
แป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในน้ำอ้อยงบเพื่ออะไร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๓. คุฬาทิอนุชานนา
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เพื่อให้เนื้อน้ำอ้อยเกาะกันแน่น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้างลงในน้ำ
อ้อยงบ เพื่อให้เนื้อน้ำอ้อยเกาะกันแน่น น้ำอ้อยงบนั้นก็ยังคงเป็นน้ำอ้อยงบเหมือนเดิม
เราอนุญาตให้ฉันน้ำอ้อยงบได้ตามสบาย”

เรื่องถั่วเขียว
ท่านพระกังขาเรวตะเห็นถั่วเขียวงอกขึ้นในกองอุจจาระระหว่างทาง ยำเกรงอยู่
ว่า “ถั่วเขียวเป็นของไม่ควร ถึงต้มแล้วก็ยังงอกได้” พร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันถั่วเขียว
แม้พวกภิกษุที่เชื่อฟังท่านก็พลอยไม่ฉันถั่วเขียวไปด้วย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าถั่วเขียวแม้ที่ต้มสุกแล้วแต่ยังงอกได้
เราอนุญาตให้ฉันได้ตามสบาย”

เรื่องยาดองโลณโสวีรกะ๑
[๒๗๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคลมในท้อง จึงดื่มยาดองโลณโสวีรกะ
โรคลมสงบลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้ฉันยาดองโลณ-
โสวีรกะได้ตามสบาย แต่ผู้ไม่เป็นไข้ต้องเจือน้ำฉันอย่างน้ำปานะ”

เชิงอรรถ :
๑ ยาดองโลณโสวีรกะ ได้แก่ ยาที่ปรุงด้วยส่วนประกอบนานาชนิด เช่น มะขามป้อมสด สมอพิเภก
ธัญชาติทุกชนิด ถั่วเขียว ข้าวสุก ผลกล้วย หน่อหวาย การเกด อินทผลัม หน่อไม้ ปลา เนื้อ น้ำผึ้ง
น้ำอ้อย เกลือ โดยใส่เครื่องยาเหล่านี้ในหม้อ ปิดฝามิดชิด เก็บดองไว้ ๑ วัน ๒ วัน หรือ ๓ วัน เมื่อยา
นี้สุกได้ที่แล้ว จะมีรสและสีเหมือนผลหว้า เป็นยาแก้โรคลม โรคไอ โรคเรื้อน โรคผอมเหลือง (ดีซ่าน)
โรคริดสีดวงเป็นต้น ในกาลภายหลังภัต คือเที่ยงวันไปก็ฉันได้ (วิ.อ. ๑/๑๙๒/๕๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา
๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามการหุงต้มภายในเป็นต้น

เรื่องอาหารที่หุงต้มเอง
[๒๗๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ
พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงประชวรโรคลมใน
พระอุทร
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ดำริว่า “เมื่อก่อน พระผู้มีพระภาคทรงประชวร
โรคลมในพระอุทร ก็ทรงพระสำราญได้ด้วยข้าวต้มปรุงด้วยของ ๓ อย่าง” จึงออก
ปากของาบ้าง ข้าวสารบ้าง ถั่วเขียวบ้าง ด้วยตนเองแล้วเก็บไว้ภายใน๑ ต้มเองแล้ว
น้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคด้วยกราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดื่มข้าวต้ม
ปรุงด้วยของ ๓ อย่างเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

พุทธประเพณี
พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่อง ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบ
กาลอันควร ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัสถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัส
ถามเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็น
ประโยชน์เสียด้วยอริยมรรคแล้ว
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ
คือ จะทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งถามว่า “เธอได้
ข้าวต้มนี้มาจากไหน อานนท์”

เชิงอรรถ :
๑ เก็บไว้ภายใน คือเก็บไว้ในอกัปปิยกุฎี (วิ.อ. ๓/๒๗๔/๑๗๖) ภายหลังพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตกัปปิย
กุฎี (ดูข้อ ๒๙๕ หน้า ๑๑๖ ในเล่มนี้) เพื่อให้ภิกษุภิกษุณี พ้นจากการเก็บของไว้ภายในและหุงต้มภายใน
(วิ.อ. ๓/๒๙๕/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “อานนท์ การทำอย่างนี้ไม่สมควร
ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉนเธอ
จึงขวนขวายเพื่อความมักมากเช่นนี้เล่า อาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่
หุงต้มเอง จัดเป็นอกัปปิยะ๑ การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
ฯลฯ” ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่
พึงฉันอาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายใน หุงต้มภายใน หุงต้มเอง ถ้าภิกษุฉัน
อาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๓ ตัว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายใน หุงต้มภายใน คนอื่นหุงต้มให้ ถ้า
ภิกษุฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายใน แต่หุงต้มภายนอก หุงต้มเอง ถ้า
ภิกษุฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายนอก แต่หุงต้มภายใน หุงต้มเอง ถ้าภิกษุ
ฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายใน แต่หุงต้มภายนอก คนอื่นหุงต้มให้
ถ้าภิกษุฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายนอก หุงต้มภายใน คนอื่นหุงต้มให้ ถ้าภิกษุ
ฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายนอก หุงต้มภายนอก หุงต้มเอง ถ้าภิกษุ
ฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายนอก หุงต้มภายนอก คนอื่นหุงต้มให้
ถ้าภิกษุฉันอาหารนั้น ไม่ต้องอาบัติ

เชิงอรรถ :
๑ อกัปปิยะ คือ ของที่ภิกษุไม่สมควรจะบริโภค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา
เรื่องอุ่นภัตตาหาร
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนาว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามภัตตาหารที่หุง
ต้มเอง” จึงยำเกรงโภชนาหารที่อุ่นใหม่
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุ่นภัตตาหารได้”

เรื่องให้เก็บอาหารภายในและหุงต้มเองเมื่อคราวจำเป็น
สมัยนั้น กรุงราชคฤห์เกิดข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายนำเกลือบ้าง น้ำมัน
บ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้างมาที่อาราม ภิกษุทั้งหลายให้เก็บของเหล่านั้นไว้ภาย
นอก สัตว์ต่าง ๆ๑ คาบไปกินเสียบ้าง พวกโจรลักเอาไปบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้เก็บไว้ภายในได้”
พวกกัปปิยการกเก็บอาหารไว้ภายในแล้วหุงต้มภายนอก พวกคนกินเดนพากัน
ห้อมล้อม ภิกษุทั้งหลายฉันไม่สะดวก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุงต้มภายในได้”
ในคราวข้าวยากหมากแพง พวกกัปปิยการก๒นำเอาสิ่งของไปเป็นจำนวนมากกว่า
ถวายภิกษุทั้งหลายเพียงเล็กน้อย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุงต้มเอง ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตอาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง”

เชิงอรรถ :
๑ สัตว์ต่าง ๆ แปลมาจากบาลีว่า “อุกฺกปิณฺฑกาปิ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “vermin” แปลว่า สัตว์ที่
ทำลายพืชพันธุ์ เช่น เสือปลา หนู นก ไส้เดือน (วิ.อ. ๓/๒๘๑/๑๗๘)
๒ กัปปิยการก หมายถึงผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ศิษย์พระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๕. อุคคหิตปฏิคคหณา
๑๖๕. อุคคหิตปฏิคคหณา
ว่าด้วยการรับประเคนของที่จับต้องแล้ว

เรื่องรับประเคนผลไม้ที่จับต้องแล้ว
[๒๗๕] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปอยู่จำตลอดพรรษาในแคว้นกาสีแล้ว เดินทาง
ไปกรุงราชคฤห์เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ระหว่างทาง ไม่ได้โภชนาหารธรรมดาหรือ
ที่ประณีตตามต้องการเลย แม้ว่าของเคี้ยวคือผลไม้จะมีมาก แต่ไม่มีกัปปิยการก
พากันลำบาก จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระเวฬุวัน เขตกรุงราชคฤห์ สถานที่
ให้เหยื่อกระแต ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร
การที่พระพุทธเจ้าทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ เดินทางมาไม่ลำบากหรือ และพวก
เธอมาจากที่ไหน”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ยังสบายดีพระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า ขอพระราชทานพระวโรกาส พวกข้าพระองค์จำพรรษาในแคว้น
กาสี เดินทางมากรุงราชคฤห์เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ระหว่างทางไม่ได้โภชนาหาร
ธรรมดาหรือที่ประณีตตามต้องการ แม้ของเคี้ยวคือผลไม้จะมีมาก แต่ก็หา
กัปปิยการกไม่ได้ ดังนั้นจึงเดินทางมาลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นของเคี้ยวคือผลไม้ที่ใด ถึงไม่มี
กัปปิยการก เราอนุญาตให้หยิบนำไปเอง พบกัปปิยการกแล้ววางไว้บนพื้นดินให้
เขาประเคนแล้วฉันได้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนสิ่งของที่จับต้องแล้ว”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๕. อุคคหิตปฏิคคหณา
เรื่องพราหมณ์ถวายงาและน้ำผึ้ง
[๒๗๖] สมัยนั้น พราหมณ์คนหนึ่งมีงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่ ครั้งนั้น พราหมณ์
นั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “อย่ากระนั้นเลย เราพึงถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่แก่
ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน” แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันและกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์โปรด
รับภัตตาหารของข้าพระองค์ เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น พราหมณ์นั้นทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงกลับไป
เมื่อผ่านราตรีนั้นไป พราหมณ์สั่งให้เตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้วให้คนไป
กราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหาร
เสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปนิเวศน์ของพราหมณ์พร้อมภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่จัด
ถวาย เขาได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น
ประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว
ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พราหมณ์นั้นเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วทรงลุก
จากอาสนะเสด็จกลับ
เมื่อพระองค์เสด็จกลับไม่นาน พราหมณ์นั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราตั้งใจว่า
จะถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่จึงได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แต่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๖. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา
กลับลืมเสีย เราพึงให้เขาจัดงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่บรรจุขวดและหม้อนำไปอาราม” แล้ว
ให้จัดงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่บรรจุขวดและหม้อนำไปอาราม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้
ว่า “พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ตั้งใจจะถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่จึงได้นิมนต์ภิกษุ
สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แต่ลืมถวาย ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดรับงาใหม่และ
น้ำผึ้งใหม่ของข้าพระองค์เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงถวายภิกษุทั้งหลาย”
สมัยนั้น เป็นคราวข้าวยากหมากแพง ภิกษุทั้งหลายรับของเล็กน้อยแล้ว
ห้ามเสียบ้าง พิจารณาแล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่า พระสงฆ์ล้วนเป็นผู้บอกห้าม
ภัตตาหารแล้วทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรับประเคนฉันเถิด เรา
อนุญาตให้ภิกษุผู้ฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้ว ฉันโภชนาหารที่ไม่เป็นเดนที่นำ
มาจากที่ฉันได้”

๑๖๖. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้ฉันของที่รับประเคนไว้เป็นต้น

เรื่องของฉันที่รับประเคนไว้ตอนเช้า
[๒๗๗] ๑สมัยนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตร ส่งของ
เคี้ยวไปถวายสงฆ์ด้วยแจ้งว่า “ขอมอบให้พระคุณเจ้าอุปนันทะเป็นผู้ถวายสงฆ์” ครั้งนั้น
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกำลังเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน

เชิงอรรถ :
๑ วิ.มหา. (แปล) ๒/๒๙๕/๔๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๖. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา
พอดี คนทั้งหลายไปถึงอารามได้ถามภิกษุทั้งหลายว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย
พระคุณเจ้าอุปนันทะไปไหน”
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “อุบาสกทั้งหลาย ท่านอุปนันทศากยบุตรองค์นั้นเข้า
ไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน”
คนเหล่านั้นกราบเรียนว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย ของเคี้ยวนี้ขอมอบให้พระ
คุณเจ้าอุปนันทะเป็นผู้ถวายสงฆ์”
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกเธอจงรับประเคน
เก็บไว้จนกว่าอุปนันทะจะกลับมา”
ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรเข้าไปเยี่ยมตระกูลก่อนเวลาฉัน กลับมา
ถึงตอนกลางวัน เวลานั้นเป็นคราวข้าวยากหมากแพง ภิกษุทั้งหลายรับสิ่งของเล็ก
น้อยแล้วห้ามเสียบ้าง พิจารณาแล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่า พระสงฆ์ล้วนเป็นผู้
บอกห้ามภัตตาหารแล้วทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรับประเคนฉันเถิด เรา
อนุญาตให้ภิกษุฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้ว ฉันโภชนาหารที่ไม่เป็นเดนที่รับ
ประเคนไว้ก่อนเวลาฉันได้”

เรื่องพระสารีบุตรอาพาธร้อนในกาย
[๒๗๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงสาวัตถี
แล้วทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก
เศรษฐีในกรุงสาวัตถีนั้น
สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอาพาธร้อนในกาย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๖. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่แล้ว
ได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร เมื่อก่อนท่านอาพาธร้อนในกาย
กลับมีความสำราญด้วยยาอะไร”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ผมมีความสำราญด้วยเหง้าบัวและ
รากบัว”
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะหายตัวจากพระเชตวันมาปรากฏที่ฝั่ง
สระโบกขรณีมันทากินีเร็วเหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า
ช้างตัวหนึ่งเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงได้กล่าวกับ
ท่านพระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า “นิมนต์พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะมาเถิด พระ
คุณเจ้ามาดี ต้องการอะไร จะถวายอะไรดีเล่า”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “อาตมาต้องการเหง้าบัวกับรากบัว”
ช้างนั้นสั่งช้างอีกตัวหนึ่งว่า “ท่านจงถวายเหง้าบัวกับรากบัวตามต้องการแด่
พระคุณเจ้า”
ช้างตัวนั้นลงสระโบกขรณีมันทากินี ใช้งวงถอนเหง้าบัวและรากบัวล้างน้ำจน
สะอาด ม้วนเป็นห่อแล้วเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะหายตัวจากฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี มา
ปรากฏตัวที่พระเชตวันวิหาร เหมือนคนมีกำลังเหยียดออกหรือคู้แขนเข้า แม้ช้าง
เชือกนั้นก็หายจากฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี มาปรากฏตัวที่พระเชตวันวิหาร
ประเคนเหง้าบัวและรากบัวแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ แล้วหายตัวไปจากพระ
เชตวันมาปรากฏที่ฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี
ต่อมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะน้อมเหง้าบัวและรากบัวเข้าไปถวายท่านพระ
สารีบุตร เมื่อท่านพระสารีบุตรฉันเหง้าบัวและรากบัว อาพาธร้อนในกายก็หาย
ทันที เหง้าบัวและรากบัวยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๗. สัตถกัมมปฏิกเขปกถา
สมัยนั้น เกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุทั้งหลายรับของเล็กน้อยแล้วห้ามเสียบ้าง
พิจารณาแล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่าพระสงฆ์ล้วนเป็นผู้ห้ามภัตตาหารแล้วทั้งนั้น
ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่ จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรับประเคนฉันเถิด เรา
อนุญาตให้ภิกษุฉันแล้วห้ามภัตตาหารแล้ว ฉันโภชนาหารที่ไม่เป็นเดน ที่เกิดในป่า
ที่เกิดในกอบัวได้”

เรื่องฉันผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออก
สมัยนั้น ของฉันคือผลไม้มีมากมายในกรุงสาวัตถี แต่ไม่มีกัปปิยการก ภิกษุ
ทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ฉันผลไม้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้ที่ใช้เพาะ
พันธุ์ไม่ได้๑ ผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออกแล้วยังไม่ทำกัปปะก็ฉันได้”

๑๖๗. สัตถกัมมปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยการทรงห้ามทำสัตถกรรม๒

เรื่องริดสีดวงทวาร
[๒๗๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัย
แล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงราชคฤห์ เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงราชคฤห์
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
ในกรุงราชคฤห์นั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผลไม้ที่เพาะพันธุ์ไม่ได้ หมายถึงผลไม้ที่มีเมล็ดอ่อน ไม่สามารถให้เกิดหน่อได้ (วิ.อ. ๓/๒๗๙/๑๗๖)
๒ สัตถกรรม คือ การผ่าตัดด้วยศัสตรา การบ่งด้วยเข็มหรือหนาม การตัดด้วยกรรไกรหรือใช้เล็บหยิก
ในที่ลับ (วิ.อ. ๓/๒๗๙/๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๗. สัตถกัมมปฏิกเขปกถา
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นริดสีดวงทวาร นายแพทย์อากาสโคตรกำลัง
ทำการผ่าตัดด้วยศัสตรา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามเสนาสนะ เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของ
ภิกษุนั้น นายแพทย์อากาสโคตรเห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดมผู้เจริญโปรดเสด็จมาทอดพระเนตรวัจมรรค
ของภิกษุรูปนี้ เหมือนปากเหี้ย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “โมฆบุรุษนี้เยาะเย้ยเรา” จึงเสด็จกลับ
จากที่นั้นแล้วรับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ในวิหารหลังโน้นมีภิกษุเป็นไข้หรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “มีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นอาพาธเป็นโรคอะไร”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ภิกษุนั้นเป็นริดสีดวงทวาร นายแพทย์อากาสโคตร
กำลังทำการผ่าตัดด้วยศัสตรา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “การกระทำของโมฆบุรุษนั้นไม่สมควร
ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉน
โมฆบุรุษนั้นจึงให้ทำการผ่าตัดด้วยศัสตราในที่แคบเล่า ในที่แคบมีผิวเนื้ออ่อน แผล
หายยาก ผ่าตัดลำบาก ภิกษุทั้งหลาย การทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ผ่าตัดด้วยศัสตราในที่แคบ รูปใดให้ผ่าตัด ต้องอาบัติถุลลัจจัย”

เรื่องทรงห้ามทำวัตถิกรรม๑
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามผ่าตัดด้วย
ศัสตรา” จึงเลี่ยงให้ทำการบีบหัวริดสีดวง

เชิงอรรถ :
๑ วัตถิกรรม คือ การใช้หนังหรือผ้าผูกรัดที่ทวารหนักเพื่อรัดหัวริดสีดวง (วิ.อ. ๓/๒๗๙/๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๘. มนุสสมังสปฏิกเขปกถา
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงให้ทำการบีบหัวริดสีดวงเล่า” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์ให้ทำการบีบหัวริดสีดวง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริงพระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้ว
ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ผ่า
ตัดทวารหนักด้วยศัสตราหรือบีบหัวริดสีดวง ประมาณ ๒ นิ้วรอบ ๆ ที่แคบ
รูปใดให้ผ่าหรือให้บีบ ต้องอาบัติถุลลัจจัย”

๑๖๘. มนุสสมังสปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์

เรื่องอุบาสิกาสุปปิยาเชือดเนื้อขาอ่อนถวาย
[๒๘๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุง
พาราณสี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใน
กรุงพาราณสีนั้น
สมัยนั้น อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา ทั้ง ๒ คนมีศรัทธาทั้งเป็น
ทายก เป็นกัปปิยการก เป็นผู้บำรุงพระสงฆ์ในกรุงพาราณสี วันหนึ่งอุบาสิกา
สุปปิยาไปที่อาราม เดินเที่ยวไปตามวิหารและบริเวณทั่วทุกแห่งแล้วถามภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุรูปใดอาพาธ รูปใดจะให้ดิฉันนำอะไรมาถวาย เจ้าข้า”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งดื่มยาถ่าย ลำดับนั้น ท่านได้กล่าวกับอุบาสิกาสุปปิยา
ดังนี้ว่า “น้องหญิง อาตมาดื่มยาถ่าย อาตมาต้องการน้ำต้มเนื้อ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๘. มนุสสมังสปฏิกเขปกถา
อุบาสิกาสุปปิยากล่าวว่า “พระคุณเจ้า ดิฉันจะนำมาถวายเป็นพิเศษ” แล้ว
กลับไปบ้านสั่งคนรับใช้ว่า “เจ้าจงไปหาซื้อเนื้อสัตว์ที่มีขายมา”๑
คนรับใช้รับคำแล้วไปเที่ยวหาซื้อเนื้อทั่วกรุงพาราณสีก็ไม่เห็นเนื้อสัตว์ที่มีขาย
ลำดับนั้น คนรับใช้นั้นจึงกลับเข้าไปหาอุบาสิกาสุปปิยาบอกว่า “แม่เจ้า ไม่มีเนื้อ
สัตว์ที่เขาขาย วันนี้เป็นวันห้ามฆ่าสัตว์”
ครั้งนั้น อุบาสิกาสุปปิยาได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุเป็นไข้รูปนั้นเมื่อไม่ได้
ฉันน้ำต้มเนื้อ อาพาธจะกำเริบหรือถึงมรณภาพได้ การที่เรารับคำแล้วไม่จัดหาไป
ถวายไม่สมควรเลย” จึงได้หยิบมีดหั่นเนื้อมาเชือดเนื้อขาอ่อนตนส่งให้หญิงรับใช้สั่ง
ว่า “แม่สาวใช้ เธอจงต้มเนื้อนี้แล้วนำไปถวายภิกษุไข้ที่วิหารหลังโน้น และใครถาม
ถึงเราก็จงบอกว่าเราเป็นไข้” แล้วใช้ผ้าห่มพันขาเข้าห้องนอนบนเตียง
ลำดับนั้น อุบาสกสุปปิยะไปบ้านถามหญิงรับใช้ว่า “แม่สุปปิยาไปไหน”
หญิงรับใช้ตอบว่า “นายท่าน แม่เจ้าสุปปิยานั่นนอนอยู่ในห้อง”
อุบาสกสุปปิยะเข้าไปหาแล้วได้กล่าวกับอุบาสิกาสุปปิยาดังนี้ว่า “เธอนอนทำไม”
อุบาสิกาตอบว่า “ดิฉันเป็นไข้”
อุบาสกถามว่า “เธอเป็นโรคอะไร”
อุบาสิกาจึงเล่าเรื่องนั้นให้อุบาสกสุปปิยะทราบ
ครั้งนั้น อุบาสกสุปปิยะร่าเริง เบิกบานใจว่า “น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ
ไม่เคยปรากฏ ท่านผู้เจริญ แม่สุปปิยามีศรัทธาถึงกับสละเนื้อตนเอง สิ่งใดอื่น
ทำไมนางจะให้ไม่ได้” แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มี
พระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญกุศลใน
วันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

เชิงอรรถ :
๑ เนื้อสัตว์ที่มีขาย หมายถึงเนื้อสัตว์ที่ตายแล้ว (วิ.อ. ๓/๒๘๐/๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๘. มนุสสมังสปฏิกเขปกถา
ครั้งนั้น อุบาสกสุปปิยะทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุก
จากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป
เมื่อผ่านราตรีนั้นไป อุบาสกสุปปิยะสั่งให้จัดของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้ว
ให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร
เสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปนิเวศน์ของอุบาสกสุปปิยะ ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมภิกษุสงฆ์
ลำดับนั้น อุบาสกสุปปิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วยืน ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอุบาสกสุปปิยะดังนี้ว่า “อุบาสิกาสุปปิยาอยู่ที่ไหน”
อุบาสกกราบทูลว่า “นางเป็นไข้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอให้นางมาเถอะ”
อุบาสกกราบทูลว่า “นางไม่สามารถมาได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น เธอช่วยพยุงมาเถิด”
อุบาสกสุปปิยะพยุงภรรยามาเฝ้า ทันทีที่นางได้เห็นพระผู้มีพระภาค แผลใหญ่
กลับหายเป็นปกติ มีผิวพรรณเรียบสนิทเกิดโลมชาติ
ลำดับนั้น อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยาร่าเริง เบิกบานใจว่า “น่า
อัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ ไม่เคยปรากฏ ท่านผู้เจริญ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมาก เพียงได้เห็นพระองค์เท่านั้น แผลใหญ่กลับหายเป็นปกติ มีผิว
พรรณเรียบสนิทเกิดโลมชาติ” แล้วนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตมาประเคนภิกษุ
สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว
ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยาเห็นชัด ชวน
ให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะแล้วเสด็จกลับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ
ถามพวกภิกษุว่า “ภิกษุทั้งหลาย ใครเล่าออกปากขอเนื้อกับอุบาสิกาสุปปิยา”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นจึงกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้า
ได้ออกปากขอเนื้อกับอุบาสิกาสุปปิยา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เขานำมาถวายแล้วหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “นำมาถวาย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอฉันแล้วหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ฉันแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอพิจารณาแล้วหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่ได้พิจารณา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอยังไม่ได้พิจารณาเลย
จึงฉันเนื้อเล่า เธอฉันเนื้อมนุษย์แล้ว โมฆบุรุษ การกระทำของเธอมิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายผู้มีศรัทธาเลื่อมใสมีอยู่ คนแม้เหล่านั้น
ได้สละเนื้อของตนถวาย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย อนึ่ง ภิกษุยังไม่ได้พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามฉันเนื้อช้างเป็นต้น

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อช้าง
[๒๘๑] สมัยนั้น ช้างหลวงล้ม ในคราวข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลาย
พากันกินเนื้อช้าง ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุจึงฉันเนื้อช้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงฉันเนื้อช้างเล่า ช้างเป็นราชพาหนะ ถ้าพระราชาทรงทราบคงไม่พอ
พระทัยภิกษุทั้งหลายเป็นแน่”
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อช้าง รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อม้า
สมัยนั้น ม้าหลวงตาย ในคราวข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายพากันกิน
เนื้อม้า ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุจึงฉันเนื้อม้า
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงฉันเนื้อม้าเล่า ม้าเป็นราชพาหนะ ถ้าพระราชาทรงทราบคงไม่พอ
พระทัยภิกษุทั้งหลายเป็นแน่”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อม้า รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อสุนัข
สมัยนั้น ในคราวข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายพากันกินเนื้อสุนัข ได้
ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุจึงฉันเนื้อสุนัข
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงฉันเนื้อสุนัขเล่า สุนัขเป็นสัตว์น่าเกลียดสกปรก”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสุนัข รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้องู
สมัยนั้น ในคราวข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายพากันกินเนื้องู ได้ถวาย
แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุจึงฉันเนื้องู
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย ศากย-
บุตรจึงฉันเนื้องูเล่า งูเป็นสัตว์น่าเกลียดน่าชัง”
ฝ่ายพญานาคสุปัสสะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืน ณ ที่สมควร พญานาคสุปัสสะซึ่งยืน
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า นาคงูที่ไม่ศรัทธา
ไม่เลื่อมใสมีอยู่ นาคเหล่านั้น พึงเบียดเบียนภิกษุแม้ด้วยเหตุเล็กน้อยได้ พระพุทธเจ้าข้า
ขอประทานวโรกาส พระคุณเจ้าทั้งหลายไม่พึงฉันเนื้องูเลย”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พญานาคสุปัสสะเห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา
ลำดับนั้น พญานาคสุปัสสะผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้วจากไป
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้องู รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อราชสีห์
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าราชสีห์กิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต
ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อราชสีห์แล้วอยู่ในป่า ราชสีห์ไล่ตะครุบภิกษุเพราะได้กลิ่นเนื้อ
ราชสีห์
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อราชสีห์ รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือโคร่ง
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าเสือโคร่งแล้วกิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว
บิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อเสือโคร่งแล้วอยู่ในป่า เสือโคร่งไล่ตะครุบภิกษุ
เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือโคร่ง
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือโคร่ง รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าเสือเหลืองแล้วกิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว
บิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อเสือเหลืองแล้วอยู่ในป่า เสือเหลืองไล่ตะครุบภิกษุ
เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือเหลือง
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือเหลือง รูปใด
ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๐. ยาคุมธุโคฬกานุชานนา
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อหมี
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าหมีแล้วกิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว
บิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อหมีแล้วอยู่ในป่า หมีไล่ตะครุบภิกษุเพราะได้กลิ่น
เนื้อหมี
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อหมี รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือดาว
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าเสือดาวแล้วกิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว
บิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อเสือดาวแล้วอยู่ในป่า เสือดาวไล่ตะครุบภิกษุเพราะ
ได้กลิ่นเนื้อเสือดาว
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือดาว รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สุปปิยภาณวารที่ ๒ จบ

๑๗๐. ยาคุมธุโคฬกานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตข้าวต้มและขนมหวาน

เรื่องพราหมณ์คอยโอกาสถวายภัตตาหาร
[๒๘๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสีตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางอันธกวินทชนบท พร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๐. ยาคุมธุโคฬกานุชานนา
๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้น ชาวชนบทบรรทุกเกลือ น้ำมัน ข้าวสาร ของเคี้ยวเป็นอัน
มากมาในเกวียน เดินตามภิกษุสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ด้วยตั้งใจว่า
“เมื่อได้โอกาสพวกเรา จะทำภัตตาหารถวาย” มีคนกินเดนอีก ๕๐๐ คนติดตาม
ไปด้วย ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามลำดับ จนถึงถึงอันธวินทชนบท
ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งเมื่อไม่ได้โอกาส ได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราเดินตาม
ภิกษุสงฆ์ที่มีพระพระพุทธเจ้าเป็นประธานมากว่า ๒ เดือนแล้ว ด้วยตั้งใจว่า ‘จะทำ
ภัตตาหารถวายเมื่อได้โอกาส’ แต่ก็หาโอกาสไม่ได้ เราตัวคนเดียวและยังเสีย
ประโยชน์ทางฆราวาสไปมาก อย่ากระนั้นเลย เราพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใดยังไม่
มีในโรงอาหาร จัดเตรียมสิ่งนั้นถวาย” แล้วตรวจดูโรงอาหาร ไม่เห็นของ ๒ อย่าง
คือ ข้าวต้มและขนมหวาน จึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์แล้ว ได้กล่าวกับท่านพระ
อานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ ขอโอกาสเถิด กระผมเมื่อไม่ได้โอกาสจึงได้มีความ
คิดดังนี้ว่า ‘เราเดินตามภิกษุสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานมากว่า ๒ เดือนแล้ว
ด้วยตั้งใจว่า ‘จะทำภัตตาหารถวายเมื่อได้โอกาส’ แต่ก็หาโอกาสไม่ได้ เราตัวคน
เดียวและยังเสียประโยชน์ทางฆราวาสไปมาก อย่ากระนั้นเลย เราพึงตรวจดูโรง
อาหาร สิ่งใดยังไม่มีในโรงอาหาร ‘จัดเตรียมสิ่งนั้นถวาย’ ท่านอานนท์ กระผม
นั้นตรวจดูโรงอาหาร ไม่เห็นของ ๒ อย่าง คือ ข้าวต้มและขนมหวาน ท่านอานนท์
ถ้ากระผมจัดเตรียมข้าวต้มและขนมหวาน พระโคดมผู้เจริญจะทรงรับหรือ”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น อาตมาจะกราบทูลถามพระ
ผู้มีพระภาค” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์จงจัดเตรียมถวายเถิด”
ท่านพระอานนท์บอกพราหมณ์ว่า “ท่านจัดเตรียมได้”
เมื่อผ่านราตรีนั้นไป พราหมณ์จัดเตรียมข้าวต้มและขนมหวานเป็นจำนวน
มากแล้ว น้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคว่า “ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดรับข้าว
ต้มและขนมหวานของข้าพระองค์เถิด”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๐. ยาคุมธุโคฬกานุชานนา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่ จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด”
ครั้งนั้น พราหมณ์ได้นำข้าวต้มและขนมหวานจำนวนมากมาประเคนภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงห้าม
ภัตแล้ว ล้างพระหัตถ์แล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร

ประโยชน์ของข้าวต้มมี ๑๐ อย่าง
พระผู้มีพระภาคตรัสกับพราหมณ์ผู้นั่ง ณ ที่สมควรว่า “พราหมณ์ ข้าวต้ม
มีอานิสงส์ ๑๐ ประการ คือ ผู้ถวายข้าวต้มชื่อว่า (๑) ให้อายุ (๒) ให้วรรณะ
(๓) ให้สุขะ (๔) ให้พละ (๕) ให้ปฏิภาณ (๖) บรรเทาความหิว (๗) ระงับความ
กระหาย (๘) ให้ลมเดินคล่อง (๙) ชำระลำไส้ (๑๐) เผาอาหารที่ยังไม่ย่อยให้ย่อย
พราหมณ์ ข้าวต้มมีอานิสงส์ ๑๐ ประการนี้แล
ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว พระสุคตตรัสอนุโมทนาต่อไปว่า
“ทายกผู้ตั้งใจถวายข้าวต้มแก่ปฏิคาหกผู้สำรวมแล้ว
ผู้ฉันอาหารที่ผู้อื่นถวายตามกาลสมควร
เขาได้ชื่อว่าตามเพิ่มให้ประโยชน์ ๑๐ ประการแก่ปฏิคาหก
คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ
นอกจากนั้นข้าวต้มย่อมบรรเทาความหิว ความกระหาย
ให้ลมเดินคล่อง ชำระลำไส้ และช่วยย่อยอาหาร
พระสุคตตรัสว่าข้าวต้มเป็นยา
ดังนั้น ผู้ที่ต้องการความสุขอันเป็นของมนุษย์ตลอดกาลนาน
และปรารถนาความสุขอันเป็นทิพย์ หรือปรารถนาความงาม
อันเป็นของมนุษย์ จึงควรถวายข้าวต้ม”
เมื่อทรงอนุโมทนาแก่พราหมณ์ด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว จึงเสด็จลุกจากที่
ประทับกลับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๑. ตรุณัปปสันนมหามัตตวัตถุ
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตข้าวต้มและขนมหวาน”

๑๗๑. ตรุณัปปสันนมหามัตตวัตถุ
ว่าด้วยมหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่
[๒๘๓] คนทั้งหลายทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าวต้มและ
ขนมหวานแก่ภิกษุ จึงจัดเตรียมข้าวต้มข้น๑และขนมหวานถวายแต่เช้า พวกภิกษุ
ที่รับประเคนข้าวต้มข้นและขนมหวานแต่เช้า ฉันภัตตาหารในโรงอาหารไม่ได้ตาม
ต้องการ
สมัยนั้น มหาอมาตย์คนหนึ่งผู้เลื่อมใสใหม่ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานเพื่อเจริญกุศลในวันรุ่งขึ้น มหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่นั้นได้มีความคิด
ดังนี้ว่า “ถ้ากระไร เราพึงตกแต่งสำรับเนื้อ ๑,๒๕๐ ที่ เพื่อภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป
น้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ ที่” โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้น เขาสั่งให้จัดเตรียม
ของฉันอย่างดี และสำรับเนื้อ ๑,๒๕๐ ที่ แล้วให้เจ้าหน้าที่ไปกราบทูลภัตกาล
พระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปนิเวศน์ของมหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่นั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เขาได้ประเคนภิกษุในโรงอาหาร
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “มหาอมาตย์ ท่านจงถวายแต่น้อย ๆ เถิด”
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านอย่ารับเพียงน้อย ๆ เพราะคิดว่า
‘นี่เป็นมหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่’ ผมจัดเตรียมของฉันไว้เป็นจำนวนมากพร้อมด้วย

เชิงอรรถ :
๑ ข้าวต้มข้น ข้าวต้มที่ควรบริโภค คือมีคติอย่างข้าวสุก (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๘๓/๓๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๑. ตรุณัปปสันนมหามัตตวัตถุ
สำรับเนื้อ ๑,๒๕๐ ที่ จะน้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ ที่ ท่านโปรดรับให้พอความ
ต้องการเถิด”
พวกภิกษุกล่าวว่า “มหาอมาตย์ พวกอาตมารับแต่น้อยไม่ใช่เพราะสาเหตุนั้น
แต่พวกอาตมารับประเคนข้าวต้มข้นและขนมหวานมาแต่เช้าแล้ว ดังนั้นจึงต้องรับ
แต่น้อย ๆ”
ครั้งนั้น มหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ที่ผมนิมนต์ไว้จึงฉันข้าวต้มข้นของผู้อื่นเล่า ผมไม่สามารถจะถวายให้พอแก่ความต้อง
การหรือ” โกรธเสียใจคอยจับผิด ได้บรรจุบาตรของภิกษุจนเต็มพลางกล่าวว่า “พวก
ท่านจะฉันก็ได้ จะขนเอาไปก็ได้” แล้วได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคน
ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเองกระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว
ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้า ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่นั้นเห็นชัด ชวนให้อยาก
รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมี
กถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไม่นาน มหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่นั้นได้มีความกังวล
ได้มีความร้อนใจว่า “ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ
เราได้ไม่ดีแล้วหนอ ที่ไปโกรธเสียใจคอยจับผิดแล้วบรรจุบาตรของภิกษุจนเต็มพลาง
กล่าวว่า พวกท่านจะฉันก็ได้ จะขนเอาไปก็ได้ เราสร้างสมบุญหรือบาปมากกว่า
กันหนอ” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้อภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควรแล้วได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
ขอพระราชทานวโรกาส เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไม่นาน ข้าพระองค์ได้มี
ความกังวล ได้มีความร้อนใจว่า ‘ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้
ชั่วแล้วหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ ที่ไปโกรธเสียใจคอยจับผิดแล้วบรรจุบาตรของภิกษุ
จนเต็มพลางกล่าวว่า พวกท่านจะฉันก็ได้ จะขนเอาไปก็ได้ เราสร้างสมบุญหรือ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๑. ตรุณัปปสันนมหามัตตวัตถุ
บาปมากกว่ากันหนอ’ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์สร้างสมบุญหรือบาปมากกว่า
กัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาอมาตย์ ท่านนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานด้วยการให้ที่ล้ำเลิศใด ท่านชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มากเพราะการให้ที่เลิศ
นั้น ภิกษุแต่ละรูปผู้รับเมล็ดข้าวสุกแต่ละเมล็ดของท่านล้วนเลิศด้วยคุณสมบัติใด
ท่านจึงเป็นผู้ที่ชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มากเพราะภิกษุผู้เลิศด้วยคุณสมบัตินั้น สวรรค์
เป็นหนทางที่ท่านเริ่มต้นไว้แล้ว”
ครั้งนั้น มหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่นั้น ร่าเริงเบิกบานใจว่า “ทราบว่าเป็นลาภ
ของเรา ทราบว่าเราได้ดีแล้ว ทราบว่าสวรรค์เป็นหนทางที่เราเริ่มต้นไว้แล้ว” แล้ว
ลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
ทรงสอบถามพวกภิกษุว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุได้รับนิมนต์ไว้ที่หนึ่ง
แล้วไปฉันข้าวต้มข้นอีกที่หนึ่ง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น
ได้รับนิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วไปฉันข้าวต้มข้นอีกที่หนึ่งเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่าง นี้มิได้ทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสขึ้น ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดง
ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรับนิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้ว
ไม่พึงไปฉันอีกที่หนึ่ง รูปใดพึงฉัน พึงถูกปรับอาบัติตามธรรม”๑

เชิงอรรถ :
๑ พึงถูกปรับอาบัติตามธรรม หมายถึงพึงปรับอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะ ตามความใน
สิกขาบทที่ ๓ แห่งโภชนวรรค (ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๒๒๑-๒๒๖/๓๘๑-๓๘๔) ภิกษุฉันข้าวต้มข้นที่มี
คติอย่างข้าวสุกของทายกรายหนึ่งแล้วไปฉันภัตตาหารของมหาอมาตย์ นับว่าฉันปรัมปรโภชนะ (ดู สารตฺถ.
ฏีกา ๓/๒๘๓/๓๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๒. เพลักฐกัจจานวัตถุ
๑๗๒. เพลัฏฐกัจจานวัตถุ
ว่าด้วยพราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะถวายน้ำอ้อยงบ
[๒๘๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อันธกวินทชนบทตามพระ
อัธยาศัย แล้วเสด็จจาริกไปทางกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป
สมัยนั้น พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะเดินทางไกลจากกรุงราชคฤห์ไปยังอันธกวินทชนบท
พร้อมด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม ล้วนบรรทุกน้ำอ้อยงบเต็ม พระผู้มีพระภาคทอด
พระเนตรเห็นเขาเดินมาแต่ไกล จึงเสด็จแวะข้างทางประทับนั่ง ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง
ลำดับนั้น พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พราหมณ์
เพลัฏฐกัจจานะผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าพระองค์
ปรารถนาจะถวายน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุรูปละ ๑ หม้อ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัจจานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงนำน้ำอ้อยงบมาหม้อ
เดียวเท่านั้น”
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะ กราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว นำหม้อน้ำ
อ้อยงบมาเพียงหม้อเดียว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าพระองค์นำหม้อน้ำอ้อยงบมาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ข้าพระองค์จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัจจานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงถวายน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด”
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าพระองค์ถวายน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว พระพุทธ
เจ้าข้า และน้ำอ้อยงบเหลือเป็นจำนวนมาก ข้าพระองค์จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงถวายน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุทั้งหลายตามต้องการ
เถิด”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๒. เพลักฐกัจจานวัตถุ
พราหมณ์กราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้ถวายน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุ
ทั้งหลายตามต้องการแล้วได้กราบทูลว่า “ข้าพระองค์ถวายน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุทั้งหลาย
ตามต้องการ แต่น้ำอ้อยงบยังเหลืออยู่มาก จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงนำน้ำอ้อยงบประเคนภิกษุทั้งหลายให้ฉันจน
อิ่มหนำเถิด”
พราหมณ์กราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้นำน้ำอ้อยงบประเคนภิกษุ
ทั้งหลายให้ฉันจนอิ่มหนำ ภิกษุบางพวกบรรจุน้ำอ้อยงบเต็มบาตรบ้าง เต็มหม้อ
กรองน้ำบ้าง เต็มถุงย่ามบ้าง พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะนำน้ำอ้อยงบประเคนภิกษุ
ทั้งหลายให้ฉันจนอิ่มแล้วกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้นำน้ำอ้อยงบประเคนภิกษุทั้งหลาย
ให้ฉันจนอิ่มหนำแล้ว แต่น้ำอ้อยงบยังเหลืออยู่มาก จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงให้น้ำอ้อยงบแก่พวกคนกินเดนเถิด”
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้ให้น้ำ
อ้อยงบแก่พวกคนกินเดนแล้วกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ให้น้ำอ้อยงบแก่พวกคน
กินเดนแล้ว แต่น้ำอ้อยงบยังเหลืออยู่มาก จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงให้น้ำอ้อยงบแก่พวกคนกินเดนจนพอแก่ความต้อง
การเถิด”
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้ให้น้ำอ้อย
งบแก่พวกคนกินเดนแล้วกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ให้น้ำอ้อยงบแก่พวกคนกินเดน
จนพอแก่ความต้องการแล้ว แต่น้ำอ้อยงบยังเหลืออยู่มาก จะปฏิบัติอย่างไร พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงนำน้ำอ้อยงบมาให้พวกคนกินเดนกินจนอิ่มหนำ
เถิด”
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้นำน้ำอ้อย
งบให้พวกคนกินเดนกินจนอิ่มหนำแล้ว

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๒. เพลักฐกัจจานวัตถุ
คนกินเดนบางพวกบรรจุน้ำอ้อยงบเต็มกระป๋องบ้าง เต็มหม้อบ้าง ห่อเต็ม
ผ้าขาวปูลาดบ้าง เต็มพกบ้าง
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะนำน้ำอ้อยงบเลี้ยงดูพวกคนกินเดนให้อิ่มหนำแล้วได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าพระองค์ได้นำน้ำอ้อยงบเลี้ยงดูพวกคนกินเดนจน
อิ่มหนำ แต่น้ำอ้อยงบยังเหลืออยู่มาก จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนกัจจานะ ทั่วโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลกทั่วทุกหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ เราไม่เล็งเห็น
ผู้ที่บริโภคน้ำอ้อยงบนั้นแล้วจะย่อยได้ดี ยกเว้นตถาคตหรือสาวกของตถาคต เธอจง
ทิ้งน้ำอ้อยงบนั้นในที่ปราศจากของเขียวหรือในที่ที่ไม่มีตัวสัตว์”
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้เทน้ำอ้อยงบ
ลงในที่ไม่มีตัวสัตว์ น้ำอ้อยงบนั้นได้เดือดพุ่งส่งเสียงดัง ฉี่ ฉี่ ฉี่ ฉี่ พ่นไอพ่นควันขึ้น
เหมือนผาลที่ร้อนโชนตลอดวันที่บุคคลจุ่มลงน้ำย่อมเดือดพุ่งส่งเสียงดัง ฉี่ ฉี่ ฉี่ ฉี่
ทันใดนั้นเขาสลดใจเกิดโลมชาติชูชัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึง
แล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่พราหมณ์เพลัฏฐะนั้นผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควร
เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์เพลัฏฐะนั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิก
บาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะ ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด
ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๒. เพลัฏฐกัจจานวัตถุ
ครั้งนั้น พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้ง
ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึง
ความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระ
สงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามลำดับ จนถึงกรุงราชคฤห์ ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต ในกรุงราช
คฤห์นั้น สมัยนั้น กรุงราชคฤห์มีน้ำอ้อยงบมาก ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่ว่า “พระ
ผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุผู้เป็นไข้เท่านั้น ไม่ทรงอนุญาตแก่ผู้ไม่เป็นไข้”
จึงไม่ฉันน้ำอ้อยงบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุผู้เป็นไข้
น้ำอ้อยงบละลายน้ำแก่ผู้ไม่เป็นไข้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๓. ปาฏลิคามวัตถุ
๑๗๓. ปาฏลิคามวัตถุ
ว่าด้วยชาวปาฏลิคามถวายที่พัก

เรื่องทรงรับอาคารพักแรม
[๒๘๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จไปทางปาฏลิคามพร้อมด้วยภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้น
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามลำดับ จนถึงปาฏลิคาม
อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง
ปาฏลิคามแล้ว” จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามเห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา
ครั้งนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาค
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับอาคารที่พักของพวกข้าพระองค์เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว
จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วพากันเดินไปที่
อาคารที่พัก ปูลาดอาสนะทั่วอาคาร จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมัน
แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พวกข้า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๓. ปาฏลิคามวัตถุ
พระองค์ปูลาดอาสนะ ดาดเพดานทั่วอาคารที่พัก จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีป
น้ำมันไว้แล้ว ขอพระองค์ทรงทราบเวลาอันเหมาะสมในบัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่อาคารพักแรมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ ทรงชำระพระบาทแล้วเสด็จเข้าอาคารที่พัก
ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แม้ภิกษุสงฆ์ก็ล้างเท้าแล้ว
เข้าอาคารที่พัก นั่งพิงฝาด้านตะวันตก ผินหน้าไปทางทิศตะวันออกห้อมล้อมพระ
ผู้มีพระภาค แม้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามก็ล้างเท้าแล้วเข้าไปอาคารที่พัก นั่ง
พิงฝาด้านทิศตะวันออกผินหน้าไปทางทิศตะวันตกห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค

โทษแห่งศีลวิบัติ ๕ ประการ๑
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามว่า “คหบดี
ทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษ ๕ ประการนี้ โทษ ๕ ประการ คือ
๑. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมถึงความเสื่อม
โภคทรัพย์ใหญ่หลวง ซึ่งมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษประการ
ที่ ๑ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๒. คหบดีทั้งหลาย กิตติศัพท์อันชั่วของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อม
กระฉ่อนไป นี้เป็นโทษประการที่ ๒ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๓. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะ
เป็นขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัก็ตาม
สมณบริษัทก็ตาม ย่อมไม่แกล้วกล้าเก้อเขินเข้าไป นี้เป็นโทษประการ
ที่ ๓ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๔. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมหลงลืมสติตาย นี้เป็น
โทษประการที่ ๔ แห่งศีลวิบัติของคนทุศีล

เชิงอรรถ :
๑ ที.ปา. ๑๑/๓๑๖/๒๐๙-๒๑๐, องฺ. ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๑๓/๓๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๓. ปาฏลิคามวัตถุ
๕. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ หลังจากตายแล้ว ย่อม
ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นโทษข้อที่ ๕ แห่งศีล
วิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษ ๕ ประการนี้แล

อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ ๕ ประการ๑
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการ อานิสงส์
๕ ประการนี้ คือ
๑. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติในโลกนี้ ย่อมได้โภค
ทรัพย์ใหญ่หลวง ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์
ประการที่ ๑ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๒. คหบดีทั้งหลาย กิตติศัพท์อันดีงามของบุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ
ย่อมกระฉ่อนไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งศีลสมบัติของ
บุคคลผู้มีศีล
๓. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ
จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัท
ก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๔. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ ย่อมไม่หลงลืมสติตาย นี้
เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๕. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ หลังจากตายแล้ว
ย่อมไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ แห่ง
ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ที.ปา. ๑๑/๓๑๖/๒๑๐, องฺ. ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๑๓/๓๕๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๔. สุนีธวัสสการวัตถุ
ครั้นทรงแสดงธรรมีกถาชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามเห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาจนดึกดื่นแล้ว ทรงส่งกลับด้วยรับสั่งว่า ราตรีใกล้จะสว่าง บัดนี้พวกท่าน
จงรู้เวลาที่จะกลับเถิด
พวกเขากราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้วลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป เมื่อพวกเขากลับไปได้ไม่นาน พระผู้มี
พระภาคได้เสด็จเข้าสุญญาคาร

๑๗๔. สุนีธวัสสการวัตถุ๑
ว่าด้วยมหาอมาตย์สุนีธะและวัสสการะ

เรื่องพุทธทำนายเกี่ยวกับนครปาฏลีบุตร
[๒๘๖] สมัยนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐ กำลังสร้าง
เมืองที่ปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี
พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมเวลาใกล้รุ่ง ทรงเล็งจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือ
มนุษย์ ได้ทอดพระเนตรเห็นทวยเทพเป็นจำนวนมากกำลังยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม
คือ ทวยเทพมีศักดิ์ใหญ่ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพวกพระราชาและราช
มหาอมาตย์ผู้สูงศักดิ์ต่างน้อมเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น๒
ทวยเทพที่มีศักดิ์ชั้นกลางยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพวกพระราชา
และราชมหาอมาตย์ที่มีศักดิ์ชั้นกลางต่างน้อมเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
ทวยเทพที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพวกพระราชาและ
ราชมหาอมาตย์ชั้นต่ำต่างน้อมเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ที.ม. ๑๐/๑๕๒/๗๙
๒ ทราบว่า เทวดาทั้งหลายเข้าสิงในร่างของคนผู้เชี่ยวชาญวิชาดูพื้นที่แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นบอกว่าควรจะ
สร้างบ้านเมืองที่นั้นที่นี้เพราะเทวดาเหล่านั้นประสงค์จะให้พระราชาและมหาอมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีศักดิ์
ปานกลาง มีศักดิ์ชั้นต่ำอยู่ใกล้ชิดกับตน และทำสักการะสมควรแก่ตน (วิ.อ. ๓/๒๘๖/๑๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๔. สุนีธวัสสการวัตถุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาถามว่า “อานนท์
คนที่สร้างเมืองที่ปาฏลิคามนั้นเป็นพวกไหน”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ๊สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธ
รัฐ กำลังสร้างเมืองที่ปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกวัชชี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่ง
มคธรัฐ กำลังสร้างเมืองที่ปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี เหมือนได้ปรึกษากับ
ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ อานนท์ เมื่อตอนเช้ามืดคืนนี้ เราลุกขึ้นเล็งจักษุทิพย์อัน
บริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เห็นทวยเทพเป็นจำนวนมากกำลังยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม คือ
ทวยเทพมีศักดิ์ใหญ่ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพวกพระราชาและราช
มหาอมาตย์ผู้สูงศักดิ์ต่างน้อมเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
ทวยเทพที่มีศักดิ์ชั้นกลางยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพวกพระราชา
และราชมหาอมาตย์ที่มีศักดิ์ชั้นกลางต่างน้อมเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
ทวยเทพที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพวกพระราชาและ
ราชมหาอมาตย์ชั้นต่ำต่างน้อมเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น

นครปาฏลีบุตรจะแตกด้วยภัย ๓ อย่าง
อานนท์ ตลอดพื้นที่อันเป็นย่านชุมชนแห่งอารยชนและเป็นทางค้าขาย นครนี้
จะเป็นนครชั้นเอก เป็นทำเลค้าขาย ชื่อปาฏลีบุตร และนครปาฏลีบุตรจะเกิด
อันตราย ๓ อย่าง คือ อัคคีภัย อุทกภัย หรือการแตกความสามัคคีภายในกลุ่ม”
ครั้งนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐ พากันไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลสนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอให้ระลึกถึงกันและกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร สุนีธะและ
วัสสการะมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐ ผู้ยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของพวกข้าพระ
องค์เพื่อเจริญกุศลในวันนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๔. สุนีธวัสสการวัตถุ
ครั้งนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐทราบว่าพระผู้มี
พระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ลุกจากอาสนะแล้วกลับไป ลำดับนั้น สุนีธะและ
วัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้ว
ให้เจ้าหน้าที่ไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่จัดเลี้ยงของสุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐ ประทับนั่ง
บนอาสนะที่จัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ลำดับนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็น
มหาอมาตย์แห่งมคธรัฐ ได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธาน กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ห้ามภัตตาหารแล้ว
ทรงละพระหัตถ์จากบาตร ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนา
แก่มหาอมาตย์ทั้งสองด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า
“บัณฑิตอยู่ในที่ใด ครั้นเลี้ยงดูท่านผู้มีศีล ผู้สำรวม
ประพฤติพรหมจรรย์ในที่ที่ตนอยู่นั้นพึงอุทิศทักษิณา๑
แก่เหล่าทวยเทพผู้สถิตอยู่ในที่นั้น
ทวยเทพเหล่านั้นอันเขาบูชาแล้วย่อมบูชาตอบ
อันเขานับถือแล้วย่อมนับถือตอบ
จากนั้นย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตนั้นเป็นการตอบแทน
ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก
ดังนั้น ผู้ที่ทวยเทพอนุเคราะห์แล้ว
ย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ”๒
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาสุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่ง
มคธรัฐด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว ได้เสด็จลุกจากอาสนะแล้วเสด็จกลับ

เชิงอรรถ :
๑ พึงอุทิศทักษิณา หมายถึงพึงให้ส่วนบุญ (ที.ม.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓)
๒ ที.ม. ๑๐/๑๕๓/๘๐-๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๕. โกฏิคามสัจจกถา
เรื่องประตูโคดมและท่าโคดมที่แม่น้ำคงคา
สมัยนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐ ตามส่งเสด็จพระ
ผู้มีพระภาคไปทางพระปฤษฎางค์ ด้วยดำริว่า “วันนี้ ประตูที่พระสมณโคดมเสด็จ
ออกจะได้ชื่อว่าประตูโคดม ท่าที่เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาจะได้ชื่อว่าท่าโคดม” ต่อมา
ประตูที่พระผู้มีพระภาคเสด็จผ่านไปนั้น ได้ปรากฏนามว่าประตูโคดม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปทางแม่น้ำคงคา เวลานั้น แม่น้ำคงคามีน้ำ
เต็มเสมอตลิ่ง นกกาพอดื่มกินได้ คนทั้งหลายประสงค์จะไปจากฝั่งนี้สู่ฝั่งโน้น ต่างก็
หาเรือแพหรือผูกแพลูกบวบ พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นคนเหล่านั้นกำลัง
หาเรือแพและผูกแพลูกบวบจะข้ามฟาก ได้ทรงหายไปจากฝั่งแม่น้ำคงคาไปปรากฏ
ที่ฝั่งฟากโน้น พร้อมกับภิกษุสงฆ์ เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า
ครั้นพระองค์ทรงทราบความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานว่า
“คนพวกหนึ่งกำลังสร้างสะพานข้ามสระใหญ่
โดยมิให้แปดเปื้อนด้วยเลนตม
ขณะที่คนอีกพวกหนึ่งกำลังผูกทุ่นอยู่
ชนผู้ฉลาดได้ข้ามพ้นไปแล้ว”๑

๑๗๕. โกฏิคามสัจจกถา
ว่าด้วยทรงแสดงอริยสัจที่โกฏิคาม
[๒๘๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปทางโกฏิคาม ทราบว่า พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ที่โกฏิคามนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายในโกฏิคาม
นั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราและพวกเธอเร่ร่อนไปตลอดเวลานานถึงเพียงนี้ เพราะ

เชิงอรรถ :
๑ ที.ม. ๑๐/๑๕๔/๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๖. อัมพปาลีวัตถุ
ไม่ตรัสรู้และไม่แทงตลอดอริยสัจ ๔ ได้แก่ เราและพวกเธอเร่ร่อนไปตลอดเวลา
นานถึงเพียงนี้ เพราะไม่ตรัสรู้และไม่แทงตลอดทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขสมุทยอริยสัจ
ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ เราและพวกเธอเร่ร่อนไปตลอดเวลานานถึงเพียงนี้
เพราะไม่ตรัสรู้และไม่แทงตลอดทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ภิกษุทั้งหลาย แต่บัดนี้
ทุกขอริยสัจ อันเราและพวกเธอได้ตรัสรู้และแทงตลอดแล้ว ทุกขสมุทยอริยสัจ อันเรา
และพวกเธอได้ตรัสรู้และแทงตลอดแล้ว ทุกขนิโรธอริยสัจ อันเราและพวกเธอได้ตรัสรู้
และแทงตลอดแล้ว ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อันเราและพวกเธอได้ตรัสรู้และ
แทงตลอดแล้ว เราและพวกเธอตัดตัณหาในภพได้เด็ดขาด ตัณหาที่จะนำไปเกิดสิ้นแล้ว
บัดนี้จึงไม่มีการเกิดอีกต่อไป

นิคมคาถา
เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง
เราและพวกเธอจึงต้องท่องเที่ยวไปในชาตินั้น ๆ ตลอดเวลานาน
แต่เพราะได้เห็นอริยสัจ ๔
เราและพวกเธอจึงถอนตัณหาที่จะนำไปเกิดได้
ตัดรากแห่งทุกข์ได้เด็ดขาด บัดนี้จึงไม่มีการเกิดอีกต่อไป

๑๗๖. อัมพปาลีวัตถุ
ว่าด้วยหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
[๒๘๘] หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จถึง
โกฏิคามแล้ว” จึงให้จัดยานพาหนะคันงาม ขึ้นยานพาหนะคันงาม มียานพาหนะ
คันงามหลายคันเดินทางออกจากกรุงเวสาลี เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค เดินทาง
ไปด้วยยานพาหนะตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้ แล้วลงเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ
ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๗. ลิจฉวีวัตถุ
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีผู้นั่ง ณ ที่สมควรเห็น
ชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของดิฉันเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์
แล้ว จึงลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป

๑๗๗. ลิจฉวีวัตถุ
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวี
[๒๘๙] พวกเจ้าลิจฉวีชาวกรุงเวสาลีได้ทรงสดับข่าวว่า “พระผู้มีพระภาค
เสด็จมาถึงโกฏิคามแล้ว” จึงให้จัดยานพาหนะคันงาม ขึ้นยานพาหนะคันงาม
มียานพาหนะคันงามหลายคัน เสด็จออกจากกรุงเวสาลี เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มี
พระภาค เจ้าลิจฉวีบางพวกเขียว คือ ทรงมีสีเขียว ทรงพัสตร์สีเขียว ทรงเครื่อง
ประดับเขียว เจ้าลิจฉวีบางพวกเหลือง คือ ทรงมีสีเหลือง ทรงพัสตร์เหลือง
ทรงเครื่องประดับเหลือง เจ้าลิจฉวีบางพวกแดง คือ ทรงมีสีแดง ทรงพัสตร์แดง
ทรงเครื่องประดับแดง เจ้าลิจฉวีบางพวกขาว คือ ทรงมีสีขาว ทรงพัสตร์ขาว
ทรงเครื่องประดับขาว
ครั้งนั้น หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีทำให้งอนรถกระทบงอนรถ แอกกระทบ
แอก ล้อกระทบล้อ เพลากระทบเพลา ของเจ้าลิจฉวีหนุ่ม ๆ ลำดับนั้น พวกเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๗. ลิจฉวีวัตถุ
ลิจฉวีเหล่านั้นจึงได้ตรัสกับหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีดังนี้ว่า “แม่อัมพปาลี เหตุ
ไฉนเธอจึงทำให้งอนรถกระทบงอนรถ แอกกระทบแอก ล้อกระทบล้อ เพลากระทบ
เพลา ของเจ้าลิจฉวีหนุ่ม ๆ เล่า”
นางตอบว่า “พระลูกเจ้าทั้งหลาย หม่อมฉันได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้แล้ว”
เจ้าลิจฉวีทั้งหลายตรัสว่า “แม่อัมพปาลี เธอจงให้พวกฉันถวายภัตตาหาร
มื้อนี้ด้วยทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะเถิด”
นางตอบว่า “พระลูกเจ้าทั้งหลาย ถ้าแม้พวกท่านจะประทานกรุงเวสาลีพร้อม
กับชนบท หม่อมฉันก็ให้พวกท่านถวายภัตตาหารมื้อนี้ไม่ได้”
เจ้าลิจฉวีทั้งหลายทรงดีดองคุลีตรัสว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราแพ้นางอัมพ
ปาลีเสียแล้ว ผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราแพ้นางอัมพปาลีเสียแล้ว” จึงพากันไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นกำลังเสด็จมาแต่ไกล
จึงรับสั่งภิกษุทั้งหลายมาว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหล่าภิกษุที่ไม่เคยเห็นพวกเทวดาชั้น
ดาวดึงส์ก็จงดูบริษัทเจ้าลิจฉวี จงพิจารณาดูบริษัทเจ้าลิจฉวี จงเทียบเคียงดูบริษัท
เจ้าลิจฉวีกับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์”
ครั้งนั้น พวกเจ้าลิจฉวีเสด็จขึ้นยานพาหนะไปตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้
แล้วเสด็จลงจากยานพาหนะ ดำเนินไปด้วยพระบาทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ
ที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พวกเจ้าลิจฉวีผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควรเห็นชัด
ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น พวกเจ้าลิจฉวีผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยาก
รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๗. ลิจฉวีวัตถุ
ธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์โปรดรับโภชนาหารของพวกข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อาตมารับนิมนต์ฉันภัตตาหารของหญิงงามเมืองชื่อ
อัมพปาลีไว้เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้แล้ว”
ลำดับนั้น พวกเจ้าลิจฉวีทรงดีดองคุลีตรัสว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราแพ้
หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีเสียแล้ว ผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราแพ้หญิงงามเมืองชื่อ
อัมพปาลีเสียแล้ว” ทรงชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค เสด็จลุกจากอาสนะ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกฏิคามตามอัธยาศัยแล้ว เสด็จ
จาริกไปทางนาทิกคาม ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระตำหนักตึกใน
นาทิกคามนั้น
คืนนั้นหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีสั่งให้จัดเตรียมโภชนาหารอันประณีตในสวน
ของตนแล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่จัดเลี้ยงของหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวาย พร้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์ นางได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงห้ามภัตตาหาร
แล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
ผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
หม่อมฉันขอถวายสวนมะม่วงนี้แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน”
พระผู้มีพระภาคทรงรับอารามแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้
หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ แกล้วกล้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จ ไปทาง
ป่ามหาวัน ทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใน
กรุงเวสาลีนั้น
ลิจฉวีภาณวารที่ ๓ จบ

๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
ว่าด้วยสีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์นาฏบุตร
[๒๙๐] สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงนั่งประชุมกันในสันถาคาร๑กล่าวสรรเสริญ
พระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์โดยประการต่าง ๆ
สมัยนั้น สีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์ นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ลำดับนั้น
สีหเสนาบดีได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ต้องเป็นพระอรหันต
สัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้นั่งประชุมกันในสันถาคาร
ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์
โดยประการต่าง ๆ อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ต่อมา เขาเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่งอยู่
ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับนิครนถ์นาฏบุตรดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเฝ้าพระ
สมณโคดม เจ้าข้า”
นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวว่า “สีหะ ท่านเป็นผู้สอนให้ทำ ไฉนจึงจะไปเฝ้าพระ
สมณโคดมผู้สอนไม่ให้ทำเล่า สีหะ เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ย่อม
แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น”
ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ สันถาคาร มีความหมาย ๒ นัยคือ หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักผ่อนสำหรับมหาชน ถูกสร้าง
ขึ้นที่ใจกลางเมือง คนที่อยู่รอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศสามารถมองเห็นได้ คนที่มาจากทิศทั้ง ๔ จะพักผ่อนที่อาคาร
นี้ก่อนที่จะไปพักในที่สบายสำหรับตน นัยที่ ๒ หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อประชุมพิจารณาราชกิจสำหรับ
ราชตระกูล ในที่นี้หมายถึงนัยที่ ๒ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๒/๒๒๙-๒๓๐ ดู องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๒/๑๔๙ ด้วย)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงนั่งประชุมอยู่ในสันถาคาร กล่าวสรรเสริญ
พระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์ โดยประการต่าง ๆ
แม้ครั้งที่ ๓ สีหเสนาบดีก็มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้นั่ง
ประชุมกันในสันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าว
สรรเสริญพระสงฆ์ โดยประการต่าง ๆ ก็พวกนิครนถ์เหล่านี้ เราจะบอกหรือไม่ก็ไม่
มีประโยชน์อะไร อย่ากระนั้นเลย เราจะไม่บอกพวกนิครนถ์แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ครั้งนั้น สีหเสนาบดีเดินทางออกจากกรุงเวสาลีแต่หัววัน พร้อมด้วยรถ ๕๐๐
คัน เดินทางไปด้วยยานพาหนะตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้แล้วลงเดินเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ
ที่สมควร สีหเสนาบดีผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ
องค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาดังนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ทรงแสดง
ธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ พระพุทธเจ้าข้า คนเหล่า
ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะ
นำพวกสาวกตามแนวนั้น’ พระพุทธเจ้าข้า คนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงตามที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่ากล่าวแก้
อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำกล่าวต่อ ๆ กันมา จะ
เป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ เพราะข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย”

ข้อกล่าวหาของคนทั่วไป ๘ ประการ
[๒๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
๑. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ
ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น
มีมูลอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
๒. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำ แสดง
ธรรมเพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่
๓. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำลาย
แสดงธรรมเพื่อความทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น
มีมูลอยู่
๔. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ
แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น
มีมูลอยู่
๕. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด แสดง
ธรรมเพื่อความกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมี
มูลอยู่
๖. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ
แสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’
นั้นมีมูลอยู่
๗. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด
แสดงธรรมเพื่อไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น
มีมูลอยู่
๘. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรม
เพื่อความเบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่

พระดำรัสแก้ข้อกล่าวหา ๘ ประการ
[๒๙๒] สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำทรง
แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่
เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
๑. สีหะ เพราะเราสอนไม่ให้ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ตลอด
ถึงการไม่ให้ทำบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำ
พวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำ แสดงธรรม
เพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
๒. สีหะ เพราะเราสอนให้ทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ตลอดถึง
การทำกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดม
เป็นผู้สอนให้ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวก
ตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมสอนให้ทำลาย แสดงธรรมเพื่อ
ความทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
๓. สีหะ เพราะเราสอนให้ทำลายราคะ โทสะ โมหะ ตลอดถึงให้ทำลาย
บาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดม
สอนให้ทำลาย แสดงธรรมเพื่อความทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวก
ตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ แสดงธรรม
เพื่อความรังเกียจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
๔. สีหะ เพราะเราช่างรังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ตลอด
ถึงรังเกียจบาป อกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมเป็นคน ช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ ทั้ง
แนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อ
ความกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
๕. สีหะ เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ และบาป
อกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคน
ช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตาม
แนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดงธรรม
เพื่อความเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
๖. สีหะ เพราะเรากล่าวถึงบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย คือ กายทุจริต
วจีทุจริต มโนทุจริตว่าเป็นสิ่งที่ควรเผาผลาญ สีหะ เราเรียกคน
ที่ละบาปอกุศลธรรมทั้งหลายที่ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนช่างเผาผลาญ’ ตถาคต
ละบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ที่ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ข้อที่เขากล่าว
หาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อ
การเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด แสดงธรรม
เพื่อความไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
๗. สีหะ เพราะเราเรียกคนที่ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมด
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนแล้ว เหลือแต่
พื้นที่ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนไม่ผุดไม่เกิด’ ตถาคต
ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมดสิ้นแล้ว ข้อที่เขากล่าว
หาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด แสดงธรรมเพื่อความ
ไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความ
เบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
๘. สีหะ เพราะเราเป็นผู้เบาใจด้วยความเบาใจอย่างยิ่ง แสดงธรรมเพื่อ
ความเบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
‘พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ ทั้งแนะนำ
พวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
[๒๙๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบอย่างนี้แล้ว สีหเสนาบดีได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม
แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น
สรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะตั้งแต่วัน
นี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเถิด คนที่
มีชื่อเสียงเช่นท่านต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี”
สีหเสนาบดีกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปลาบปลื้มชื่นใจอย่างยิ่ง
เพราะพระดำรัส ที่พระองค์ตรัสว่า ‘ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเถิด คนที่มี
ชื่อเสียงเช่นท่านต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี’ ความจริง เพราะพวก
อัญเดียรถีย์ได้ข้าพระองค์เป็นสาวกแล้วก็ป่าวประกาศไปทั่วกรุงเวสาลีว่า ‘สีหเสนาบดี
เป็นสาวกของพวกเรา’ แต่พระองค์กลับตรัสว่า ‘ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงค่อย
ตัดสินใจเถิด คนที่มีชื่อเสียงเช่นท่านต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี’
พระองค์ผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้
เข้าถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิตเถิด”

ทรงสนับสนุนให้อุปถัมภ์ลัทธิที่เคยนับถือมาก่อน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ตระกูลของท่านเคยเป็นที่ต้อนรับพวกนิครนถ์
มานาน ดังนั้น ท่านพึงใส่ใจว่าควรให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ผู้เข้าไปตระกูลต่อไปเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
สีหเสนาบดีกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปลาบปลื้มชื่นใจอย่าง
ยิ่งเพราะพระดำรัสที่พระองค์ตรัสว่า ‘สีหะ ตระกูลของท่านเคยเป็นที่ต้อนรับพวก
นิครนถ์มานาน ดังนั้น ท่านพึงใส่ใจว่าควรให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ผู้เข้าไป
ตระกูลต่อไปเถิด’ ข้าพระองค์ได้ฟังมาดังนี้ พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘ควรให้
ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่ศาสดาอื่น ควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น
ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของศาสดาอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้
แก่ศาสดาอื่นไม่มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่
สาวกของศาสดาอื่นไม่มีผลมาก’ แต่พระผู้มีพระภาคกลับทรงชักชวนให้ข้าพระองค์
ให้ทานแก่พวกนิครนถ์ ข้าพระองค์จะรู้เวลาในเรื่องนี้เอง พระองค์ผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอ
พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่สีหะเสนาบดี
เมื่อทรงทราบว่าสีหเสนาบดีมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่สีหเสนาบดี
นั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมี
ความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อม
ได้เป็นอย่างดี
ครั้งนั้น สีหเสนาบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา จึงกราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาค
พร้อมภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธ
เจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
สีหเสนาบดีนั้นทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงได้ลุกจาก
อาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป
[๒๙๔] ครั้งนั้น สีหเสนาบดีใช้มหาดเล็กผู้หนึ่งว่า “เธอไปหาซื้อเนื้อสดที่มี
ขายมา” โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้นได้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้วให้
มหาดเล็กไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและ
จีวร เสด็จไปที่นิเวศน์ของสีหเสนาบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมกับภิกษุสงฆ์
สมัยนั้น พวกนิครนถ์จำนวนมากพากันกอดแขนคร่ำครวญไปตามถนนสี่แยก
สามแยกทั่วกรุงเวสาลีว่า “วันนี้ สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวอ้วน ๆ ทำอาหาร
เลี้ยงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงตนเอง”
ครั้งนั้น มหาดเล็กผู้หนึ่งเข้าไปหาสีหเสนาบดี กล่าวว่า “เจ้านายพึงทราบเถิด
พวกนิครนถ์จำนวนมากพากันกอดแขนคร่ำครวญไปตามถนนสี่แยกสามแยกทั่ว
กรุงเวสาลีว่า ‘วันนี้ สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวอ้วน ๆ ทำอาหารเลี้ยงพระสมณ
โคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงตนเอง”
สีหเสนาบดีตอบว่า “ช่างเถิด ท่านเหล่านั้นประสงค์จะตำหนิพระพุทธ ประสงค์
จะตำหนิพระธรรม ประสงค์จะตำหนิพระสงฆ์มานานแล้ว อนึ่ง ท่านเหล่านั้นกล่าวตู่
พระผู้มีพระภาคด้วยเรื่องที่ไม่มีอยู่ เปล่าประโยชน์ เป็นเรื่องเท็จ ไม่เป็นจริง ส่วน
พวกเราไม่จงใจฆ่าสัตว์แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๙. กัปปิยภูมิอนุชานนา
ลำดับนั้น สีหเสนาบดี ได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงห้าม
ภัตตาหารแล้วทรงละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจง
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้สีหเสนาบดีเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรง
แสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุรู้อยู่ ไม่พึงฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตปลา เนื้อเป็นของบริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่างคือ
๑. ไม่ได้เห็น
๒. ไม่ได้ยิน
๓. ไม่ได้นึกสงสัย

๑๗๙. กัปปิยภูมิอนุชานนา
ว่าด้วยการทรงอนุญาตกัปปิยภูมิ

เรื่องกรุงเวสาลีหาอาหารได้ง่าย
[๒๙๕] สมัยนั้น กรุงเวสาลีมีภิกษาหารมาก มีข้าวกล้างอกงาม บิณฑบาต
หาได้ง่าย พระอริยะบิณฑบาตยังชีพได้ง่าย
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีพระดำริดังนี้ว่า
“อาหารที่เราอนุญาตแก่ภิกษุเมื่อคราวอัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าไม่งอกงาม บิณฑบาต
หาได้ลำบาก คือ อาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง ที่จับต้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๙. กัปปิยภูมิอนุชานนา
แล้วรับประเคนใหม่ ที่นำมาจากที่นิมนต์ ที่รับประเคนก่อนเวลาภัตตาหาร ที่เกิด
ในป่า ที่เกิดในกอบัว๑ ทุกวันนี้ภิกษุยังฉันภัตตาหารเหล่านั้นอยู่หรือหนอ”
ครั้นเวลาเย็นจึงเสด็จออกจากที่หลีกเร้น ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาถามว่า
“อานนท์ อาหารที่เราอนุญาตแก่ภิกษุเมื่อคราวอัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าน้อย
บิณฑบาตได้ลำบาก คือ อาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง ที่จับต้อง
แล้วรับประเคนใหม่ ที่นำมาจากที่นิมนต์ ที่รับประเคนก่อนเวลาอาหารที่เกิดในป่า
และที่เกิดในกอบัว ทุกวันนี้ภิกษุยังฉันอาหารเหล่านั้นอยู่หรือหนอ”

เรื่องทรงห้ามอาหารที่หุงต้มภายในเป็นต้น
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ภิกษุยังฉันอยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราห้ามอาหารเหล่านั้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอนุญาตแก่ภิกษุเมื่อคราวอัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าไม่งอกงาม บิณฑบาต
หาได้ลำบาก คือ อาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง ที่จับต้อง
แล้วรับประเคนใหม่ ที่นำมาจากที่นิมนต์ ที่รับประเคนก่อนเวลาภัตตาหาร ที่เกิด
ในป่า ที่เกิดในกอบัว ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันอาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้ม
ภายใน ที่หุงต้มเอง ที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่ ผู้ใดฉันต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่ฉันแล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้ว ไม่พึงฉันอาหารที่นำมา

เชิงอรรถ :
๑ อาหารที่เก็บไว้ภายใน แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า อันโตวุฏฐะ
ที่หุงต้มภายใน แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า อันโตปักกะ
ที่หุงต้มเอง แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า สามปักกะ
ที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่ แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า อุคคหิตปฏิคคหิตกะ
ที่นำมาจากที่นิมนต์ แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า ตโตนีหฏะ
ที่รับประเคนก่อนเวลาภัตตาหาร แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า ปุเรภัตตปฏิคคหิตกะ
ที่เกิดในป่า แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า วนัฏฐะ
ที่เกิดในกอบัว แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า โปกขรัฏฐะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๙. กัปปิยภูมิอนุชานนา
จากที่นิมนต์ ที่รับประเคนก่อนเวลาภัตตาหาร ที่เกิดในป่า ที่เกิดในกอบัว ซึ่งเป็น
อาหารที่ไม่เป็นเดน รูปใดฉัน พึงปรับอาบัติตามธรรม”๑

เรื่องฝนตั้งเค้า
สมัยนั้น คนทั้งหลายในชนบทบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง
ของฉันบ้างเป็นอันมากไว้ในเกวียนแล้วตั้งวงล้อมเกวียนอยู่นอกซุ้มประตูพระวิหาร
คอยว่า “พวกเราจะทำภัตตาหารถวายเมื่อได้โอกาส”
ก็เมฆฝนใหญ่ตั้งเค้าขึ้นแล้ว คนเหล่านั้นพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์แล้ว
ได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ ขอโอกาสเถิด พวกเราบรรทุก
เกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้าง เป็นอันมากไว้ในเกวียนแล้วตั้งวง
ล้อมเกวียนอยู่นอกซุ้มประตูพระวิหารนี้เอง ก็เมฆฝนใหญ่ตั้งเค้าขึ้นแล้ว พวกเราจะ
ปฏิบัติอย่างไรเล่า”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “อานนท์ ถ้าอย่างนั้น สงฆ์จงสมมติวิหารอยู่สุด
เขตวัดให้เป็นกัปปิยภูมิ แล้วให้เก็บไว้ในสถานที่ที่สงฆ์มุ่งหวัง คือ ในวิหาร เรือน
มุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น หรือถ้ำ”

วิธีสมมติกัปปิยภูมิและกรรมวาจาสมมติ
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงสมมติกัปปิยภูมิอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึง
ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงสมมติวิหารชื่อ
นี้ให้เป็นกัปปิยภูมิ นี่เป็นญัตติ

เชิงอรรถ :
๑ พึงปรับอาบัติตามธรรม หมายถึงปรับอาบัติปาจิตตีย์ เพราะเคี้ยวฉันของที่ไม่เป็นเดน ตามความใน
สิกขาบทที่ ๕ แห่งโภชนวรรค (วิ.มหา. (แปล) ๒/๒๓๗-๒๓๘/๓๙๔-๓๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๙. กัปปิยภูมิอนุชานนา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นกัปปิยภูมิ
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นกัปปิยภูมิ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน
รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
วิหารชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นกัปปิยภูมิแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
สมัยนั้น ชาวบ้านต้มข้าวต้ม หุงข้าวสวย ต้มแกง สับเนื้อ ผ่าฟืนส่งเสียงเซ็งแซ่
อยู่ในกัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมในเวลาเช้ามืด ได้ทรงสดับเสียงเซ็งแซ่และเสียง
การ้อง จึงตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เสียงเซ็งแซ่อะไร”
ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ทรงอนุญาตกัปปิยภูมิ ๓,๔ ชนิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ที่อันเป็นกัปปิยภูมิซึ่งสงฆ์
สมมติไว้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกัปปิยภูมิ ๓ ชนิด
คือ
๑. อุสสาวนันติกา (กัปปิยภูมิที่ประกาศให้รู้กันแต่เริ่มสร้าง)
๒. โคนิสาทิกา (กัปปิยภูมิเคลื่อนที่ได้)
๓. คหปติกา (เรือนของคหบดีที่เขาถวายให้เป็นกัปปิยภูมิ)

เรื่องพระยโสชะเป็นไข้
สมัยนั้น ท่านพระยโสชะเป็นไข้ คนทั้งหลายนำเภสัชมาถวายท่าน ภิกษุ
ทั้งหลายให้เก็บเภสัชเหล่านั้นไว้ข้างนอกจึงถูกสัตว์กินบ้าง ขโมยลักไปบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้กัปปิยภูมิที่สงฆ์
สมมติ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกัปปิยภูมิ ๔ ชนิด คือ๑

๑. อุสสาวนันติกา (กัปปิยภูมิที่ประกาศให้รู้กันแต่เริ่มสร้าง)
๒. โคนิสาทิกา (กัปปิยภูมิเคลื่อนที่ได้)
๓. คหปติกา (เรือนคหบดีที่เขาถวายให้เป็นกัปปิยภูมิ)
๔. สัมมติกา (กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ)”

สีหภาณวารที่ ๔ จบ

๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ว่าด้วยเมณฑกคหบดีถวายปัญจโครสกับเสบียงเดินทาง
[๒๙๖] สมัยนั้น เมณฑกคหบดีอยู่ในเมืองภัททิยะ ท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้
คือ สระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู สายธารข้าวเปลือกไหลตก
จากอากาศเต็มฉาง

เชิงอรรถ :
๑ กัปปิยภูมิ ๔ เป็นชื่อเรียกสถานที่เก็บโภชนาหารสำหรับภิกษุสงฆ์ มีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
๑. อุสสาวนันติกา แปลว่า กัปปิยภูมิที่ประกาศให้ได้ยินกัน ได้แก่ กุฎีที่ภิกษุทั้งหลายตั้งใจจะให้เป็น
กัปปิยกุฎี เป็นเรือนที่ใช้เป็นห้องครัวมาตั้งแต่แรก คือ เมื่อขณะทำ ก็ช่วยกันทำโดยประกาศให้ได้ยินทั่วกัน
๓ ครั้งว่า “กปฺปิยกุฏึ กโรม” แปลว่า “เราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี”
๒. โคนิสาทิกา แปลว่า กัปปิยภูมิเหมือนกับที่โคจ่อม ได้แก่ สถานที่ไม่มีรั้วล้อม แบ่งออกเป็น ๒
ประเภท คือ วัดที่ไม่มีรั้วล้อม เรียกว่า อารามโคนิสาทิกา กุฎีที่ไม่มีรั้วล้อม เรียกว่า วิหารโคนิสาทิกา
โดยความก็คือ เรือนครัวเล็ก ๆ ที่ไม่ลงหลักปักฐานมั่นคง สามารถเคลื่อนย้ายได้
๓. คหปติกา เรือนของคหบดี ได้แก่ เรือนของพวกชาวบ้าน เขาถวายให้ภิกษุสงฆ์เพื่อใช้เป็นกัปปิยกุฎี
สถานที่นั้นอาจเคยเป็นที่อยู่ของภิกษุมาก่อน โดยสวดประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
จะใช้ที่แห่งนี้เป็นกัปปิยกุฎีหรือกัปปิยภูมิ
๔. สัมมติกา แปลว่า กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ ได้แก่ สถานที่หรือกุฎีที่ภิกษุทั้งหลายตกลงกันเลือก
ใช้เป็นกัปปิยกุฎี สถานที่นั้นอาจเคยเป็นที่อยู่ของภิกษุมาก่อน โดยสวดประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติ
ทุติยกรรมวาจาว่า จะใช้ที่แห่งนี้เป็นกัปปิยกุฎีหรือเป็นกัปปิยภูมิ (วิ.อ. ๓/๒๙๕/๑๘๒-๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ภรรยาของท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ นั่งใกล้ถาดข้าวสุกขนาดจุน้ำได้ ๑
อาฬหกะใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกง ๑ หม้อ มีภัตตาหารเลี้ยงแก่ทาสและ
กรรมกรได้ ภัตตาหารนั้นย่อมไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกขึ้น
บุตรของท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ ถือถุงจุทรัพย์ ๑ พันเพียงถุงเดียวแล้ว
แจกค่าจ้างกลางปีแก่ทาสและกรรมกร ทรัพย์ค่าจ้างนั้นไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่
ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา
สะใภ้ของท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ นั่งใกล้กระบุงที่จุข้าว ๔ ทะนานเพียง
ใบเดียวแล้วแจกภัตตาหารกลางปีแก่ทาสและกรรมกร ภัตตาหารไม่หมดสิ้นไป
ตลอดเวลาที่เธอยังไม่ลุกขึ้น
ทาสของท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถ
ถึง ๗ รอย
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้ทรงสดับข่าวว่า “เมณฑกคหบดีอยู่ใน
เมืองภัททิยะ เขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ สระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่
นอกประตู สายธารข้าวเปลือกไหลตกจากอากาศเต็มฉาง
ภรรยาของเขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ นั่งใกล้ถาดข้าวสุกขนาดจุน้ำได้ ๑
อาฬหกะใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกง ๑ หม้อ มีภัตตาหารเลี้ยงแก่ทาสและ
กรรมกรได้ ภัตตาหารนั้นย่อมไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกขึ้น
บุตรของเขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ ถือถุงจุทรัพย์ ๑ พันเพียงถุงเดียว
แล้วแจกค่าจ้างกลางปีแก่ทาสและกรรมกร ทรัพย์ค่าจ้างนั้นไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลา
ที่ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา
สะใภ้ของเขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ นั่งใกล้กระบุงที่จุข้าว ๔ ทะนานเพียงใบ
เดียวแล้วแจกภัตตาหารกลางปีแก่ทาสและกรรมกร ภัตตาหารนั้นไม่หมดสิ้นไป
ตลอดเวลาที่เธอยังไม่ลุกขึ้น
ทาสของเขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถ
ถึง ๗ รอย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ตรัสเรียกมหาอมาตย์ผู้สำเร็จ
ราชกิจมารับสั่งว่า “ท่าน เมณฑกคหบดีอาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของเรา เขามีฤทธานุภาพ
อย่างนี้ คือ สระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู สายธารข้าวเปลือกไหล
ตกจากอากาศเต็มฉาง
ภรรยาของเขา ฯลฯ บุตรของเขา ฯลฯ สะใภ้ของเขา ฯลฯ ทาสของเขา
มีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย ท่าน
จงไปสืบดูให้รู้เห็นเหมือนอย่างที่เราเห็นด้วยตนเอง”
[๒๙๗] มหาอมาตย์รับสนองพระราชดำรัสแล้ว ออกเดินทางพร้อมด้วยเสนา
๔ เหล่าไปยังเมืองภัททิยะ เข้าไปหาเมณฑกคหบดีถึงที่พำนัก ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าว
กับเมณฑกคหบดีดังนี้ว่า “คหบดี พระราชารับสั่งข้าพเจ้ามาว่า ‘ทราบว่าเมณฑก
คหบดีอาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของเรา เขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ สระเกล้าแล้วให้
กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู สายธารข้าวเปลือกไหลตกจากอากาศเต็มฉาง ภรรยา
ของเขา ฯลฯ บุตรของเขา ฯลฯ สะใภ้ของเขา ฯลฯ ทาสของเขา มีฤทธานุภาพ
อย่างนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย ท่านจงไปสืบดูให้
รู้เห็นเหมือนอย่างที่เราเห็นด้วยตนเอง’ คหบดี พวกเราจะดูฤทธานุภาพของท่าน”
ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีสระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าวนั่งอยู่นอกประตู สาย
ธารข้าวเปลือกไหลตกจากอากาศเต็มฉาง
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นฤทธานุภาพของท่านแล้ว ขอชมฤทธานุ-
ภาพของภรรยาท่าน”
ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีสั่งภรรยาว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงเลี้ยงอาหารแก่เสนา
ทั้ง ๔ เหล่า”
ภรรยาของท่านนั่งใกล้ถาดข้าวสุกขนาดจุน้ำได้ ๑ อาฬหกะใบเดียวเท่านั้น
และหม้อแกงอีก ๑ หม้อ มีภัตตาหารเลี้ยงแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า ภัตตาหารนั้น
ไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกขึ้น
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นฤทธานุภาพของภรรยาท่านแล้ว ขอชม
ฤทธานุภาพของบุตรท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีสั่งบุตรว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงแจกค่าจ้างกลางปี
แก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า”
บุตรของเมณฑกคหบดีถือถุงจุทรัพย์ ๑ พันเพียงถุงเดียว แล้วแจกค่าจ้าง
กลางปีแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า ทรัพย์ค่าจ้างนั้นไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่ถุงเงินยังอยู่
ในมือของเขา
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นฤทธานุภาพของบุตรท่านแล้ว ขอชม
ฤทธานุภาพของสะใภ้ท่าน”
ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีสั่งสะใภ้ว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงแจกภัตตาหาร
กลางปีแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า”
สะใภ้ของเมณฑกคหบดีนั่งใกล้กระบุงที่จุข้าวได้ ๔ ทะนานเพียงใบเดียว แล้ว
แจกภัตตาหารกลางปีแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า ภัตตาหารนั้นไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลา
ที่นางยังไม่ลุกขึ้น
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นฤทธานุภาพของสะใภ้ท่านแล้ว ขอชม
ฤทธานุภาพของทาสท่าน”
ท่านเมณฑกคหบดีกล่าวว่า “นาย ท่านต้องไปชมฤทธานุภาพของทาสข้าพเจ้า
ที่นา ขอรับ”
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ไม่ต้องละ ข้าพเจ้าได้เห็นฤทธานุภาพของทาสท่านแล้ว”
ครั้นเสร็จราชการนั้น มหาอมาตย์จึงเดินทางกลับถึงกรุงราชคฤห์พร้อมกับเสนา ๔
เหล่า ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วกราบ
ทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ
[๒๙๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัยแล้ว
เสด็จจาริกไปทางเมืองภัททิยะพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๑,๒๕๐ รูป พระผู้มี
พระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงเมืองภัททิยะ ทราบว่า พระผู้มีพระภาค
ประทับ อยู่ ณ ป่าชาติยาวัน ในเมืองภัททิยะนั้น
เมณฑกคหบดีได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกผนวช
จากศากยตระกูล เสด็จถึงเมืองภัททิยะ ประทับอยู่ ณ ป่าชาติยาวัน ท่านพระโคดม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ผู้เจริญนั้น มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชา
และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็น
ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค”๑
พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้ผู้
อื่นรู้ตามทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความ
งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดี ให้จัดแจงยานพาหนะคันงาม ขึ้นยานพาหนะคันงาม
มียานพาหนะคันงามหลายคันเดินทางออกจากเมืองภัททิยะเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เดียรถีย์จำนวนมากเห็นเมณฑกคหบดีมาแต่ไกล จึงได้กล่าวกับเมณฑก
คหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านจะไปไหน”
เมณฑกคหบดีกล่าวว่า “จะไปเฝ้าพระสมณโคดม เจ้าข้า”
พวกเดียรถีย์กล่าวว่า “ท่านเป็นพวกสอนให้ทำ ไฉนจึงจะไปหาพระสมณโคดม
ผู้สอนไม่ให้ทำเล่า เพราะพระสมณโคดม เป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรรมเพื่อ
การไม่ให้ทำทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น”
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคจะต้องเป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ ดังนั้นพวกเดียรถีย์จึงพากันริษยา” แล้วออกเดินทาง
ไปด้วยยานตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้ แล้วลงเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ

เชิงอรรถ :
๑ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๑/๑-๒ (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่เมณฑกคหบดี ผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควร
เมื่อทรงทราบว่าเมณฑกคหบดีนั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่เมณฑก
คหบดีนั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวงย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว
หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้
แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย
ประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้
หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูป’ พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอ
พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้น
ไปจนตลอดชีวิต และขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหารของ
ข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุก
จากอาสนะถวายบังคม ทำประทักษิณแล้วกลับไป โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้นได้จัด
เตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้วให้เจ้าหน้าที่ไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระ
ภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ครั้นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่นิเวศน์ของเมณฑกคหบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมกับภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้นภรรยา บุตร สะใภ้ และทาสของคหบดีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
นั่งอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่คนเหล่านั้น
เมื่อทรงทราบว่าคนเหล่านั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่คนเหล่านั้น ณ
อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับ
ไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็น
อย่างดี
ครั้งนั้น ชนเหล่านั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่ง
ลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้ว
กล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักมองเห็นรูป’ พระองค์ผู้เจริญ พวกข้า
พระองค์ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอ
พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้วทรงห้าม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา
ภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ตลอดเวลาที่พระองค์ยังประทับอยู่ในเมืองภัททิยะ ข้าพระ
องค์ขอถวายภัตตาหารเป็นประจำแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกคหบดีเห็นชัด ชวนให้อยาก
รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมี
กถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ

๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตปัญจโครสเป็นต้น
[๒๙๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองภัททิยะตามพระอัธยาศัย
แล้ว ไม่ทรงบอกเมณฑกคหบดี เสด็จจาริกไปทางอังคุตตราปะ พร้อมกับภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป
เมณฑกคหบดีได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่อังคุตตราปะพร้อม
กับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป” ลำดับนั้น จึงสั่งทาสและกรรมกรไปว่า
“ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง
ของฉันบ้าง ลงในเกวียนให้มาก ๆ พวกคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คน จงต้อนแม่โค
๑,๒๕๐ ตัวมาด้วย เราจะเลี้ยงพระสงฆ์ด้วยน้ำนมสดรีดใหม่ที่ยังอุ่นในที่ที่เราได้
เฝ้าพระผู้มีพระภาค”
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีตามไปพบพระผู้มีพระภาคระหว่างทางกันดาร จึงเข้าไป
เฝ้าถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับ
ภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุก
จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป โดยล่วงไป
แห่งราตรีนั้นเขาให้จัดเตรียมโภชนาหารอันประณีตแล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มี
พระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว” ครั้นเวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จไปที่จัดเลี้ยง
ของคหบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
คหบดีสั่งคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คนไปว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงช่วยกัน
จับแม่โคนมคนละตัวแล้วยืนใกล้ภิกษุรูปละคน ๆ เราจะเลี้ยงพระด้วยนมสดรีดใหม่
ที่ยังอุ่น” แล้วนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตและน้ำนมสดที่เพิ่งรีดด้วยตนเอง
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยตนเองกระทั่งอิ่มหนำ
ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคนน้ำนมสด พระผู้มีพระภาคตรัส
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด”
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตและน้ำนมสดที่เพิ่งรีด
ด้วยมือตนเอง ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่ง
พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ แล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึง
ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ในหนทางกันดาร
อัตคัดน้ำอัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงเดินทางไปต้องลำบาก ขอประทานวโรกาส
เถิด พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุด้วยเถิด พระพุทธ-
เจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกคหบดีเห็นชัด ชวนให้อยากรับ
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโครส ๕ ชนิด คือ นมสด นมเปรี้ยว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
เปรียง เนยข้น และเนยใส ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดาร อัตคัดน้ำ อัดคัต
อาหารมีอยู่ ภิกษุไม่มีเสบียงเดินทางไป ต้องลำบาก เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้
คือ ผู้ต้องการข้าวสารพึงแสวงหาข้าวสาร ผู้ต้องการถั่วเขียวพึงแสวงหาถั่วเขียว
ผู้ต้องการถั่วราชมาสพึงแสวงหาถั่วราชมาส ผู้ต้องการเกลือพึงแสวงหาเกลือ ผู้
ต้องการน้ำอ้อยงบพึงแสวงหาน้ำอ้อยงบ ผู้ต้องการน้ำมันพึงแสวงหาน้ำมัน ผู้
ต้องการเนยใสพึงแสวงหาเนยใส ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายที่ศรัทธาเลื่อมใส
มอบเงินและทองไว้แก่กัปปิยการกกล่าวว่า ‘สิ่งใดควรแก่พระคุณเจ้า จงถวายสิ่งนั้น
จากกัปปิยภัณฑ์นี้’ ดังนี้ก็มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดควรจากกัปปิยภัณฑ์นั้น เรา
อนุญาตให้ยินดีสิ่งนั้นได้ แต่เราไม่ได้กล่าวว่า “ภิกษุพึงยินดีและแสวงหาทองและเงิน
ไม่ว่ากรณีใด ๆ”

๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
ว่าด้วยเกณิยชฎิลถวายน้ำอัฏฐบาน๑
[๓๐๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงอาปณนิคม
เกณิยชฎิลได้ทราบข่าวว่า “พระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกผนวชจาก
ศากยตระกูล เสด็จถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระโคดมผู้เจริญนั้น มีกิตติศัพท์
อันงามขจรไป อย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วย พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถี ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค‘๒ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วย
พระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น

เชิงอรรถ :
๑ อัฏฐบาน คือ น้ำดื่ม ๘ ชนิด (ดูหน้า ๑๓๑)
๒ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๑/๑-๒(เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อม
ทั้งอรรถและพยัญชนะบริบูรณ์ บริสุทธิ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลาย
เช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราจะนำอะไรหนอไปถวายพระสมณ
โคดม” ได้มีความคิดดังนี้ว่า “พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ
ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตตะ ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส
ฤๅษีภารทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ ฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ สอนมนต์
ที่พวกพราหมณ์ในเวลานี้สวด สอนซึ่งบทมนต์เก่าที่ท่านสวด สอนรวบรวมไว้
สอนได้ถูกต้องตามที่ท่านสอนไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้๑ ฤๅษีเหล่านั้น
เป็นผู้ไม่ฉันอาหารในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ฤๅษีเหล่านั้นยินดีน้ำดื่มอย่างนี้
แม้พระสมณโคดมก็ไม่ฉันอาหารในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ก็น่าจะยินดีน้ำดื่มอย่าง
นี้บ้าง” แล้วสั่งให้เตรียมน้ำดื่มเป็นอันมากให้คนหาบไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่
ประทับ ครั้นถึงแล้วได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็น
ที่ระลึกถึงกันและกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร เกณิยชฎิลผู้ยืน ณ ที่สมควรได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม โปรดรับน้ำดื่มของข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกณิยะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย”
ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด”
ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้นำน้ำดื่มมากมายประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น
ประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ห้ามภัตตาหารแล้ว
ทรงละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.สี. (แปล) ๙/๕๒๖/๒๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยะเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น เกณิยชฎิลผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยาก
รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับ
ภัตตาหารของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกณิยะ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป
และท่านเองก็เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์”
แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็กราบทูลนิมนต์ว่า “พระโคดมผู้เจริญ แม้ภิกษุ
สงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระองค์ เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์
ก็จริง ถึงกระนั้น ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับภัตตาหารของ
ข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น เกณิยชฎิลทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุกจาก
อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป

ทรงอนุญาตน้ำอัฏฐบาน
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอัฏฐบาน คือ

๑. น้ำมะม่วง ๒. น้ำหว้า
๓. น้ำกล้วยมีเมล็ด ๔. น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
๕. น้ำมะซาง ๖. น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น
๗. น้ำเหง้าบัว ๘. น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด”
คืนนั้น เกณิยชฎิลให้เตรียมโภชนาหารอันประณีตที่อาศรมของตนแล้วให้คนไป
กราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร
เสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตร
และจีวร เสด็จไปที่อาศรมของเกณิยชฎิล ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์ เกณิยชฎิลได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยมือของตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
ห้ามภัตตาหารแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว จึงนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถานี้ว่า
ยัญพิธีมีการบูชาไฟเป็นประธาน
สาวิตตีฉันท์เป็นประธานของพระเวท๑
พระเจ้าแผ่นดินเป็นประธานของประชาราษฎร์
มหาสมุทรเป็นประธานของแม่น้ำ
ดวงจันทร์เป็นประธานแห่งดาวนักษัตร
ดวงอาทิตย์เป็นประธานแห่งสิ่งที่ร้อน ฉันใด
พระสงฆ์ก็เป็นประธานของทายกผู้มุ่งบุญถวายทานอยู่ ฉันนั้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทรงอนุโมทนาเกณิยชฎิลเสร็จ จึงทรงลุกจาก
อาสนะแล้วเสด็จกลับ

เชิงอรรถ :
๑ พวกพราหมณ์เมื่อจะสวดสาธยายพระเวท ย่อมสวดสาวิตตีฉันท์ก่อน ฉันท์นี้จึงชื่อว่าเป็นบทนำ เป็นบท
เริ่มต้นแห่งพระเวท (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๐/๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
ว่าด้วยเจ้ามัลละชื่อโรชะถวายผักกาดสดและของฉันทำด้วยแป้ง
[๓๐๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาปณนิคมตามพระอัธยาศัยแล้ว
เสด็จจาริกไปทางเมืองกุสินาราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป
พวกมัลลกษัตริย์ชาวกรุงกุสินาราได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จมา
กรุงกุสินาราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป” ได้ทำกติกา
กันว่า “ผู้ไม่ต้อนรับพระผู้มีพระภาคจะถูกปรับสินไหม มีจำนวน ๕๐๐ กหาปณะ”
สมัยนั้น มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะเป็นสหายของท่านพระอานนท์ ครั้งนั้นพระผู้มี
พระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงกุสินารา ลำดับนั้น พวกมัลลกษัตริย์
ชาวกรุงกุสินาราได้ต้อนรับพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะรับเสด็จ
พระผู้มีพระภาคแล้วได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ณ ที่พัก ทรงอภิวาทแล้วประทับยืน
อยู่ ณ ที่สมควร
ท่านพระอานนท์กล่าวกับมัลลกษัตริย์ชื่อโรชะผู้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควรว่า
“โรชะ ท่านรับเสด็จพระผู้มีพระภาคได้สมพระเกียรติจริง ๆ”
มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะตรัสว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ต้อนรับพระพุทธ พระธรรม พระ
สงฆ์ให้ใหญ่โตเลย แต่พวกญาติได้ทำกติกากันว่า ‘ผู้ไม่ต้อนรับพระผู้มีพระภาคจะ
ถูกปรับสินไหม ๕๐๐ กหาปณะ’ ข้าพเจ้ารับเสด็จพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ก็เพราะ
กลัวพวกญาติจะปรับสินไหม”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ไม่พอใจว่า “ไฉนมัลลกษัตริย์โรชะจึงตรัสอย่างนี้เล่า”
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระ
ภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระอานนท์ผู้นั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “มัลลกษัตริย์โรชะผู้นี้เป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก และความ
เลื่อมใสในพระธรรมวินัยของคนเช่นนี้มีประโยชน์มาก พระองค์โปรดทรงกระทำให้
มัลลกษัตริย์โรชะเลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “การที่จะกระทำให้มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะเลื่อมใสใน
พระธรรมวินัย ทำได้ไม่ยาก”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแผ่พระเมตตาจิตไปยังมัลลกษัตริย์ชื่อโรชะแล้ว
เสด็จลุกจากอาสนะเข้าพระวิหาร มัลลกษัตริย์โรชะพอได้รับกระแสพระเมตตาจิต
ของพระผู้มีพระภาคถูกต้องจึงเที่ยวค้นหาตามพระวิหาร ตามบริเวณทั่วทุกแห่ง
ดุจโคแม่ลูกอ่อน ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “เวลานี้ พระผู้มีพระภาคอรหันต
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน เจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องการพบพระองค์”
ภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า “ท่านโรชะ พระวิหารหลังนั้นเขาปิดประตูเสียแล้ว
โปรดสงบเสียง ท่านจงเสด็จเข้าไปทางพระวิหารหลังนั้นแล้วค่อย ๆ เสด็จดำเนินไป
ที่หน้ามุข กระแอมแล้วเคาะประตูเถิด พระองค์จะทรงเปิดประตูรับท่าน”
ขณะนั้น มัลลกษัตริย์โรชะทรงสงบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารซึ่งปิดอยู่
ค่อย ๆ เสด็จดำเนินไปที่หน้ามุข กระแอมแล้วเคาะประตู พระผู้มีพระภาคทรงเปิด
ประตูรับ๑ มัลลกษัตริย์โรชะจึงเสด็จเข้าพระวิหาร ถวายบังคมแล้วประทับนั่งอยู่ ณ
ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่มัลลกษัตริย์โรชะผู้นั่ง ณ ที่สมควร
เมื่อทรงทราบว่ามัลลกษัตริย์โรชะนั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่มัลล

เชิงอรรถ :
๑ ทรงเปิดประตูรับ ไม่ได้หมายถึงว่า พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นมาเปิดประตูด้วยพระองค์เอง แต่ทรงเหยียด
พระหัตถ์ออกพร้อมกับตรัสว่า “จงเปิด” ประตูก็เปิดเอง เป็นการเปิดด้วยพระทัย (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๑/
๔๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
กษัตริย์โรชะ ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์โรชะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว
หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้
แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานวโรกาส ภิกษุทั้งหลายโปรดรับจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของข้าพระพุทธเจ้าเพียงคนเดียว อย่ารับ
ของคนอื่นเลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โรชะ แม้อริยบุคคลอื่น ๆ ผู้ได้เห็นธรรมด้วยญาณ
อันเป็นเสขะ ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนอย่างท่านก็คงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุ
จงรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของเราเท่านั้น
อย่ารับของคนอื่นเลย’ ดังนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงรับทั้งของท่านและของคนอื่น”
[๓๐๒] สมัยนั้น ชาวบ้านจัดเตรียมภัตตาหารอันประณีตไว้ที่กรุงกุสินารา
เมื่อมัลลกษัตริย์โรชะไม่มีโอกาสถวายภัตตาหาร จึงได้ทรงมีพระดำริดังนี้ว่า “อย่า
กระนั้นเลย เราพึงตรวจดูโรงอาหาร จัดเตรียมสิ่งที่ไม่มีในโรงอาหารไว้” แล้วตรวจดู
โรงอาหาร ไม่ทรงเห็นของ ๒ อย่าง คือ ผักสดและของฉันทำด้วยแป้ง จึงเสด็จเข้าไป
หาท่านพระอานนท์ตรัสว่า “เมื่อข้าพเจ้าไม่มีโอกาสจะถวายภัตตาหารในที่นี้จึงคิดว่า
‘เราควรตรวจดูโรงอาหาร จัดเตรียมสิ่งที่ไม่มีในโรงอาหารไว้’ แล้วตรวจดูโรงอาหาร
ไม่เห็นของ ๒ อย่าง คือ ผักสดและของฉันทำด้วยแป้ง ถ้าข้าพเจ้าเตรียมผักสดและ
ของฉันทำด้วยแป้งถวาย พระผู้มีพระภาคจะทรงรับสิ่งนั้นหรือ พระคุณเจ้า”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “อาตมาจะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค” แล้วได้
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ถ้าอย่างนั้น เขาจงจัดเตรียมเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ
พระอานนท์ถวายพระพรว่า “โรชะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงจัดเตรียมเถิด”
คืนนั้นมัลลกษัตริย์โรชะให้จัดเตรียมผักสดและของฉันทำด้วยแป้งเป็นจำนวนมาก
น้อมถวายพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรด
ทรงรับผักสดและของฉันทำด้วยแป้งของข้าพระองค์เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โรชะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย”
พวกภิกษุยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด”
ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์โรชะทรงนำผักสดและของฉันทำด้วยแป้งเป็นจำนวนมาก
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง กระทั่ง
พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตร จึง
ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มัลลกษัตริย์โรชะเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรง
ลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผักสดทุกชนิดและของฉันทำด้วย
แป้งทุกชนิด”

๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุเฒ่าเคยเป็นช่างกัลบกในเมืองอาตุมา
[๓๐๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงกุสินาราตามพระอัยธาศัยแล้ว
เสด็จจาริกไปทางเมืองอาตุมา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ
สมัยนั้น มีพระหลวงตารูปหนึ่งเคยเป็นช่างกัลบก๑ อาศัยอยู่ในเมืองอาตุมา
พระหลวงตานั้นมีบุตรชาย ๒ คน๒ เป็นเด็กพูดจาไพเราะอ่อนหวาน มีไหวพริบ
ขยันขันแข็ง ฝีมือเยี่ยมในงานกัลบกของตนเทียบเท่าระดับอาจารย์
พระหลวงตานั้นได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาเมืองอาตุมา
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป” ลำดับนั้น พระหลวงตานั้น
ได้กล่าวกับบุตรทั้งสองดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาเมืองอาตุมาพร้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ลูกทั้งสองจงถือเครื่องมือตัดผม
และโกนผมพร้อมกับทะนานและถุงเที่ยวไปตัดและโกนผมตามบ้านเรือน รวบรวม
เกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้างไว้ พ่อจะหุงข้าวต้มถวายพระผู้มี
พระภาคผู้เสด็จมาถึง”
บุตรชายทั้งสองรับคำสั่งของพระหลวงตาผู้เป็นพ่อแล้วถือเครื่องมือตัดผมพร้อม
กับทะนานและถุงเที่ยวไปตัดและโกนผมตามบ้านเรือน รวบรวมแลกเกลือบ้าง
น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้าง คนทั้งหลายเห็นเด็กทั้งสองคนพูดจาไพเราะ
อ่อนหวานมีไหวพริบ แม้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะให้ตัด ก็ให้ตัด ถึงให้ตัดแล้วก็ให้ค่าแรงมาก
ดังนั้น เด็กทั้งสองจึงรวบรวมเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้างได้
เป็นจำนวนมาก
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงเมืองอาตุมา ทราบ
ว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูสาคาร คืนนั้นพระหลวงตารูปนั้นสั่งคนให้จัด
เตรียมข้าวต้มเป็นอันมากแล้วน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคว่า “พระผู้มี
พระภาคโปรดรับข้าวต้มของข้าพระองค์เถิด พระพุทธเจ้าข้า”

พุทธประเพณี
พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่องตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบ
กาลอันควรตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัสถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัสถาม

เชิงอรรถ :
๑ ช่างกัลบก คือ ช่างตัดผม ช่างโกนผม
๒ บุตรชาย ๒ คนของพระหลวงตานั้น เป็นสามเณร (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๓/๔๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ
เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์
เสียด้วยอริยมรรคแล้ว
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย สอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ
คือ จะทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามพระหลวงตานั้นว่า “ข้าวต้มนี้เธอได้
มาจากไหน”
พระหลวงตานั้นจึงได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่
คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉนเธอบวชแล้ว
จึงได้ชักจูงทายกในสิ่งอันไม่ควรเล่า โมฆบุรุษ การทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย บรรพชิตไม่พึงชักชวนทายกในสิ่งไม่ควร รูปใดชักชวน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกไม่พึงเก็บรักษาเครื่องมือตัดผม รูปใด
เก็บรักษาไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องผลไม้ดาษดื่นในกรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองอาตุมาตามพระอัธยาศัยแล้วเสด็จ
จาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงสาวัตถีแล้ว ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในกรุง
สาวัตถีนั้น
เวลานั้น ในกรุงสาวัตถี มีของฉันคือผลไม้ดาษดื่น ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้
สนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตของฉันคือผลไม้หรือหนอแล” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตของฉันคือผลไม้ทุกชนิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๕. จตุมหาปเทสกถา
เรื่องปลูกพืช
[๓๐๔] สมัยนั้น เขาปลูกพืชของสงฆ์ในที่ของบุคคล ปลูกพืชของบุคคลในที่
ของสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พืชของสงฆ์ที่ปลูกในที่ของบุคคล
พึงให้ส่วนแบ่งแล้วบริโภคได้ พืชของบุคคลที่ปลูกในที่ของสงฆ์พึงให้ส่วนแบ่งแล้ว
บริโภคได้”

๑๘๕. จตุมหาปเทสกถา
ว่าด้วยมหาปเทส ๔
[๓๐๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเกิดความยำเกรงอยู่ในข้อบัญญัติบางอย่างว่า
“สิ่งใดหนอพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ สิ่งใดหนอไม่ทรงอนุญาตไว้”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคได้ประทานมหาปเทสไว้ ๔ ข้อ คือ
๑. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร๑

เชิงอรรถ :
๑ ตัวอย่างเช่น ธัญชาติ ๗ อย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า หญ้ากับแก้ ข้าวละมาน ลูกเดือย ข้าวเหนียว
ข้าวฟ่าง (วิ.อ. ๑/๑๐๔/๓๖๘) เป็นสิ่งที่ทรงห้ามฉันในเวลาตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงอรุณขึ้นวันใหม่ ส่วนมหาผล
๙ อย่าง คือ ตาล มะพร้าว ผลขนุน ขนุนสำปะลอ บวบ ฟักเขียว แตงกวา แตงโม ฟักทอง
รวมทั้งอปรัณณชาติทั้งหมด เช่น ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังภัตตาหาร แม้จะไม่ได้ทรงห้ามไว้
แต่อนุโลมเข้ากับธัญชาติ ๗ อย่าง เพราะฉะนั้น จึงทรงห้ามฉันในเวลาตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงอรุณขึ้นวัน
ใหม่เช่นกัน เข้ากับหลักมหาประเทสข้อ ๑ และข้อ ๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๕. จตุมหาปเทสกถา
๒. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร๑
๓. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร
๔. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร

เรื่องทรงอนุญาตกาลิกระคนกัน
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันดังนี้ว่า “ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิก
ควรหรือไม่ควรหนอ สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิกควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิก
ระคนกับยามกาลิกควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิกควรหรือไม่
ควรหนอ”๒
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับ
ประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในเวลาวิกาล

เชิงอรรถ :
๑ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำอัฏฐบาน (น้ำดื่ม ๘ ชนิด) ส่วนน้ำดื่มที่นับเนื่องในน้ำอัฏฐบาน ๘ ชนิดนั้น
เช่น น้ำหวาย น้ำผลมะงั่ว น้ำต้นเล็บเหยี่ยว และน้ำผลไม้เล็กเป็นต้น แม้จะไม่ได้ทรงอนุญาตไว้แต่อนุโลม
เข้ากับน้ำอัฏฐบาน เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันอนุญาตด้วย (วิ.อ. ๓/๓๐๕/๑๘๘-๑๘๙)
๒ กาลิก แปลว่า เนื่องด้วยกาล ขึ้นกับกาล เป็นชื่อของสิ่งที่จะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติ
ให้ภิกษุรับประเคนเก็บไว้ และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด แบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. ยาวกาลิก ของรับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้
ขนมต่าง ๆ
๒. ยามกาลิก ของรับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือ ปานะ (น้ำดื่ม) ๘ ชนิด หรือ
น้ำอัฏฐบาน ได้แก่ (๑) น้ำมะม่วง (๒) น้ำหว้า (๓) น้ำกล้วยมีเมล็ด (๔) น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด (๕) น้ำมะซาง
(๖) น้ำลูกจันทน์ (หรือองุ่น) (๗) น้ำเหง้าอุบล (๘) น้ำมะปราง (หรือลิ้นจี่)
๓. สัตตาหกาลิก ของรับประเคนไว้แล้ว ฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน คือ เภสัชทั้ง ๕ ได้แก่ (๑) เนยใส
(๒) เนยข้น (๓) น้ำมัน (๔) น้ำผึ้ง (๕) น้ำอ้อย
๔. ยาวชีวิก ของรับประเคนแล้วฉันได้ตลอด ไม่จำกัดเวลา คือ สิ่งของที่เป็นยารักษาโรค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
ภิกษุทั้งหลาย สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรใน
กาล ไม่ควรในเวลาวิกาล
ภิกษุทั้งหลาย ยาวชีวิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล
ไม่ควรในเวลาวิกาล
ภิกษุทั้งหลาย สัตตาหกาลิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรใน
กาล ไม่ควรในเวลาวิกาล
ภิกษุทั้งหลาย ยาวชีวิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม
ล่วงยามแล้วไม่ควร
ภิกษุทั้งหลาย ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควร
ตลอด ๗ วัน ล่วง ๗ วันแล้วไม่ควร
เภสัชชขันธกะที่ ๖ จบ
ในขันธกะนี้มี ๑๐๖ เรื่อง

๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
เรื่องภิกษุอาพาธในฤดูสารท เรื่องเภสัช ๕ ในเวลาวิกาล
เรื่องน้ำมันเหลวที่เป็นยา เรื่องรากไม้ที่เป็นยา
เรื่องรากไม้บดที่เป็นยา เรื่องน้ำฝาดที่เป็นยา เรื่องใบไม้ที่เป็นยา
เรื่องผลไม้ที่เป็นยา เรื่องยางไม้ที่เป็นยา เรื่องเกลือที่เป็นยา
เรื่องมูลโคดับกลิ่นตัว
เรื่องยาผงและเครื่องร่อนยา เรื่องเนื้อดิบและเลือดสด
เรื่องยาหยอดตา เรื่องเครื่องบดยาผสมยาตา
เรื่องกลักยาตา เรื่องกลักยาตาชนิดต่าง ๆ เรื่องกลักยาตา
ไม่มีฝาปิด เรื่องไม้ป้ายยาตา เรื่องที่เก็บไม้ป้ายยาตา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
เรื่องถุงกลักยาตา เรื่องเชือกผูกเป็นสายสะพาย
เรื่องน้ำมันทาศีรษะ เรื่องนัตถุ์ยา เรื่องกล้องยานัตถุ์
เรื่องสูดควัน กล้องสูดควัน และฝาปิดกล้องสูดควัน
เรื่องถุงกล้องสูดควัน
เรื่องน้ำมันหุง เรื่องน้ำเมาเจือในน้ำมันหุง
เรื่องน้ำมันเจือด้วยน้ำเมามากเกินไป เรื่องทรงอนุญาตน้ำมัน
เจือน้ำเมามากใช้เป็นยาทา เรื่องลักจั่น เรื่องการรมเหงื่อ
เรื่องรมด้วยใบไม้ เรื่องการรมใหญ่ เรื่องการรมด้วยใบไม้ต่าง ๆ
เรื่องอ่างน้ำ เรื่องระบายโลหิตออก เรื่องใช้เขาสัตว์กอก
ระบายโลหิตออก เรื่องยาทาเท้า เรื่องปรุงน้ำมันทาเท้า
เรื่องผ่าฝี เรื่องน้ำฝาด เรื่องงาบด เรื่องยาพอก
เรื่องผ้าพันแผล เรื่องชะแผลด้วยน้ำแป้งเมล็ดผักกาด
เรื่องรมแผลด้วยควัน เรื่องใช้ก้อนเกลือตัดเนื้องอก
เรื่องน้ำมันทาแผล เรื่องผ้าปิดกันน้ำมันไหลเยิ้ม
เรื่องยามหาวิกัฏ ๔ อย่าง เรื่องรับประเคน
เรื่องดื่มน้ำเจือคูถ เรื่องภิกษุโดนยาแฝดดื่มน้ำที่ละลายจาก
ดินติดผาลไถ เรื่องดื่มน้ำด่างดิบ เรื่องดื่มน้ำสมอดองมูตรโค
เรื่องไล้ทาของหอม เรื่องดื่มยาถ่าย เรื่องน้ำข้าวใส
เรื่องน้ำต้มถั่วเขียวไม่ข้น เรื่องน้ำต้มถั่วเขียวข้น
เรื่องน้ำต้มเนื้อ เรื่องพระปิลินทวัจฉะทำความสะอาด
เงื้อมเขาและพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานคนงานวัด
เรื่องฉันเภสัชที่เก็บไว้ ๗ วัน เรื่องน้ำอ้อยงบ เรื่องถั่วเขียว
เรื่องยาดองโลณโสวีรกะ เรื่องอาหารที่หุงต้มเอง
เรื่องอุ่นภัตตาหาร
เรื่องให้เก็บอาหารไว้ภายในและหุงต้มเองเมื่อคราวจำเป็น
เรื่องรับประเคนผลไม้ที่จับต้องแล้ว เรื่องพราหมณ์ถวายงาและน้ำผึ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
เรื่องของฉันที่รับประเคนไว้ตอนเช้า
เรื่องพระสารีบุตรอาพาธร้อนในกาย
เรื่องฉันผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออก เรื่องริดสีดวงทวาร
เรื่องทรงห้ามทำวัตถิกรรม เรื่องอุบาสิกาสุปปิยาเชือดเนื้อขาอ่อนถวาย
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์ เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อช้าง
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อม้า เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อสุนัข
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้องู เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อราชสีห์
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือโคร่ง เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อหมี เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือดาว
เรื่องพราหมณ์คอยโอกาสถวายภัตตาหาร
เรื่องมหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่
เรื่องรับนิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วไม่พึงไปฉันอีกที่หนึ่ง
เรื่องพราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะถวายน้ำอ้อยงบ
เรื่องทรงรับอาคารพักแรม
เรื่องมหาอมาตย์สุนีธะและวัสสการะ
เรื่องประตูโคดมและท่าโคดมที่แม่น้ำคงคา
เรื่องทรงแสดงอริยสัจที่โกฏิคาม เรื่องหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
เรื่องเจ้าลิจฉวี เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจง
เรื่องกรุงเวสาลีหาอาหารได้ง่าย
เรื่องทรงห้ามอาหารที่หุงต้มภายในเป็นต้น
เรื่องฝนตั้งเค้า เรื่องพระยโสชะเป็นไข้
เรื่องเมณฑกคหบดีถวายปัญจโครสกับเสบียงเดินทาง
เรื่องเกณิยชฎิลถวายน้ำอัฏฐบาน คือ (๑) น้ำมะม่วง
(๒) น้ำหว้า (๓) น้ำกล้วยมีเมล็ด (๔) น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
(๕) น้ำมะซาง (๖) น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น (๗) น้ำเหง้าบัว
(๘) น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
เรื่องเจ้ามัลละชื่อโรชะถวายผักกาดสดและของฉันทำด้วยแป้ง
เรื่องภิกษุเฒ่าเคยเป็นช่างกัลบกในเมืองอาตุมา
เรื่องผลไม้ดาษดื่นในกรุงสาวัตถี เรื่องปลูกพืช
เรื่องภิกษุทั้งหลายเกิดความยำเกรงในข้อบัญญัติบางอย่าง
เรื่องทรงอนุญาตกาลิกระคนกัน
เภสัชชขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
๗. กฐินขันธกะ
๑๘๗. กฐินานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้กรานกฐิน

เรื่องภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ ๓๐ รูป
[๓๐๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ๑ จำนวน ๓๐
รูป ทั้งหมดถืออารัญญิกธุดงค์ ถือปิณฑปาติกธุดงค์และถือเตจีวริกธุดงค์ เดินทาง
มากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อใกล้วันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดิน
ทางไปให้ทันวันเข้าพรรษาในกรุงสาวัตถีได้ จึงเข้าพรรษาในเมืองสาเกตระหว่างทาง
ภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะเหล่านั้นมีใจรัญจวน อยู่จำพรรษาด้วยคิดว่า “พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ พวกเราห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้า
พระองค์”
ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาแล้ว เมื่อปวารณาแล้ว ฝนยัง
ตกชุกอยู่ พื้นแผ่นดินชุ่มชื้นไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน พวกเธอมีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ
เหน็ดเหนื่อย เดินทางเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ อารามของอนาถบิณฑิก
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่สมควร
การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสนทนาปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะ
ทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี

เชิงอรรถ :
๑ เมืองปาเฐยยะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกแคว้นโกศล คำว่า “ปาเฐยยกะ” เป็นชื่อของพระภัททวัคคีย์เถระ
ทั้งหลายซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกับพระเจ้าโกศล ในบรรดาท่านเหล่านั้น ผู้เป็นพี่ใหญ่ เป็นพระอนาคามี
คนที่เป็นน้องสุดท้อง เป็นพระโสดาบัน ไม่มีใครเป็นพระอรหันต์หรือปุถุชน (วิ.อ. ๓/๓๐๖/๑๙๑) ว่า
“ปาเวยยกะ” ก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน
ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุกหรือ และบิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระองค์เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน
อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า ขอประทาน
วโรกาส พวกข้าพระองค์ มีประมาณ ๓๐ รูป เป็นภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ เดินทาง
มากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อใกล้ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดิน
ทางมาให้ทันวันเข้าพรรษาในกรุงสาวัตถีได้ จึงจำพรรษาที่เมืองสาเกตระหว่างทาง
พวกข้าพระองค์รัญจวนใจ อยู่จำพรรษาด้วยคิดว่า ‘พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ
พวกเราห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์’ ครั้นล่วงไตรมาส
พวกข้าพระองค์ออกพรรษาแล้ว เมื่อปวารณาแล้ว ฝนยังตกชุกอยู่ พื้นแผ่นดิน
เต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ เหน็ดเหนื่อย เดินทางไกลมา
พระพุทธเจ้าข้า”

เรื่องอานิสงส์กฐิน ๕ อย่าง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว
กรานกฐิน๑ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กรานกฐินแล้วจะได้อานิสงส์ ๕ อย่าง คือ

๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณโภชนะได้ ๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ
๕. พวกเธอจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ ๕ อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ กรานกฐิน เป็นวิธีการตัดเย็บจีวร โดยขึงไม้กฐิน(ไม้สะดึง) แล้วเอาผ้าที่เย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้กฐิน เย็บ
เสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์ เพื่ออนุโมทนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
เรื่องวิธีกรานกฐินและญัตติทุติยกรรมวาจาสำหรับกรานกฐิน
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๓๐๗] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์
พร้อมกันแล้ว พึงให้กรานกฐินแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อม
กันแล้ว พึงให้กรานกฐินแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้
ผ้ากฐินนี้แก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่าน
รูปนั้นพึงทักท้วง
ผ้ากฐินนี้อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องกฐินไม่เป็นอันกราน
[๓๐๘] ภิกษุทั้งหลาย กฐินย่อมเป็นอันกรานอย่างนี้ ไม่เป็นอันกรานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ก็กฐินย่อมไม่เป็นอันกรานอย่างไร กฐินย่อมไม่เป็นอันกราน
อย่างนี้ คือ
๑. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงมีรอยขีด
๒. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงซักผ้า
๓. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงกะผ้า
๔. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงตัดผ้า
๕. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงเนาผ้า
๖. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงเย็บผ้า
๗. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงทำลูกดุม
๘. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงทำรังดุม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
๙. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาต๑
๑๐. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาตด้านหน้า
๑๑. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงดามผ้า
๑๒. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงย้อมผ้าเป็นสีหม่น
๑๓. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา
๑๔. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา
๑๕. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ยืมเขามา
๑๖. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน
๑๗. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์
๑๘. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ทำพินทุ๒
๑๙. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากสังฆาฏิ
๒๐. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากอุตตราสงค์
๒๑. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากอันตรวาสก
๒๒. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากจีวรมีขันธ์๓ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว
ทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
๒๓. กฐินไม่เป็นอันกรานเพราะเว้นจากบุคคลกราน
๒๔. กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
ภิกษุทั้งหลาย กฐินชื่อว่าไม่เป็นอันภิกษุกรานอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ อนุวาต คือผ้าขอบจีวรทั้งด้านยาวทั้งด้านกว้าง (วิ.อ. ๓/๓๔๕/๒๑๗)
๒ ทำพินทุ คือการทำจุดเป็นวงกลมอย่างใหญ่เท่าแววตานกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเลือด ที่มุมจีวรด้วยสีเขียว
สีตมหรือสีดำคล้ำ เพื่อทำให้จีวรเสียหรือทำตำหนิ (วิ.อ. ๒/๓๖๘-๓๖๙/๔๑๐) ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๓๖๘-
๓๖๙/๔๙๑
๓ จีวรมีขันธ์ ๕ คือจีวรที่ตัดเย็บปรากฏกระทง(ผ้าท่อนหนึ่ง ๆ มีลักษณะเหมือนกระทงนา มีรูปสี่เหลี่ยม)ใหญ่
กระทงเล็ก โดยมีเส้นคั่นดุจคันนา ยืนระหว่างกระทงจีวร แบ่งเป็น ๕ กระทง (ดู วิ.อ. ๓/๓๐๘,๓๔๕/๑๙๗,
๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
เรื่องกฐินเป็นอันกราน
[๓๐๙] ภิกษุทั้งหลาย กฐินย่อมเป็นอันกรานอย่างไร
กฐินย่อมเป็นอันกรานอย่างนี้ คือ
๑. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าใหม่
๒. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าเทียมใหม่
๓. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าเก่า
๔. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าบังสุกุล
๕. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ตกตามร้าน๑
๖. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา
๗. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา
๘. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา
๙. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน
๑๐. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่เป็นนิสสัคคีย์
๑๑. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ทำพินทุ
๑๒. กฐินเป็นอันกรานด้วยสังฆาฏิ
๑๓. กฐินเป็นอันกรานด้วยอุตตราสงค์
๑๔. กฐินเป็นอันกรานด้วยอันตรวาสก
๑๕. กฐินเป็นอันกรานด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ที่ตัดดีแล้ว
ทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
๑๖. กฐินเป็นอันกรานเพราะมีบุคคลกราน
๑๗. กฐินเป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
ภิกษุทั้งหลาย กฐินชื่อว่าเป็นอันกรานอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าที่ตกตามร้าน คือผ้าเก่าที่ตกอยู่ข้างประตูร้านตลาด ซึ่งมีผู้เก็บมาถวาย (วิ.อ. ๓/๓๐๙/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๘. อาทายสัตตกะ
เรื่องกฐินเดาะด้วยมาติกา ๘ ข้อ
[๓๑๐] ภิกษุทั้งหลาย กฐินย่อเป็นอันเดาะได้อย่างไร๑ ภิกษุทั้งหลาย
มาตกาแห่งการเดาะกฐินมี ๘ ข้อ คือ

๑. กำหนดด้วยหลีกไป ๒. กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
๓. กำหนดด้วยตกลงใจ ๔. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย
๕. กำหนดด้วยได้ทราบข่าว ๖. กำหนดด้วยสิ้นหวัง
๗. กำหนดด้วยล่วงเขต ๘. กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน

๑๘๘. อาทายสัตตกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการถือจีวรหลีกไป ๗ กรณี
[๓๑๑] ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไป คิดว่า ‘จะไม่กลับ’
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยหลีกไป (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไป๒ อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะ
ให้ทำจีวรนี้ที่ภายนอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การเดาะกฐิน ของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่
ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะ
ให้ทำจีวรนี้ภายนอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำ
อยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๔)

เชิงอรรถ :
๑ กฐินเดาะ หมายถึงกฐินที่เสียหาย ไม่มีอานิสงส์ ใช้ไม่ได้ ภิกษุหมดโอกาสจะได้ประโยชน์จากกฐิน
๒ ถือเอาจีวรหลีกไป ในหมวดที่ ๒-๗ หมายถึง ผ้าสำหรับทำจีวร คือ จีวรที่ยังทำไม่เสร็จนั่นเอง (วิ.อ.
๓/๓๑๑/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๙. สมาทายสัตตกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวร
ผืนนั้น ครั้นทำเสร็จแล้วได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวร
ผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราวกฐินเดาะนอกสีมา
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวร
ผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๗)
อาทายสัตตกะ ที่ ๑ จบ

๑๘๙. สมาทายสัตตกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรติดตัวหลีกไป ๗ กรณี
[๓๑๒] ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยหลีกไป (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำ
จีวรนี้ที่นอกสีมานี่แหละ ไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้
ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำ
จีวรนี้นอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๔)

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๐. อาทายฉักกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืน
นั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืน
นั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ” แล้วล่วงคราวกฐินเดาะที่นอกสีมา การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืน
นั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ” แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๗)
สมาทายสัตตกะ ที่ ๒ จบ

๑๙๐. อาทายฉักกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ๖ กรณี
[๓๑๓] ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้ที่นอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่าง
นี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรผืนนั้น จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนด
ด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่าง
นี้ว่า “จะให้ทำจีวรผืนนี้ที่นอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่
เธอให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้า
เสียหาย (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๑. สมาทายฉักกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะ
เสียแล้ว” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราวกฐินเดาะ
นอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมาให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทัน
กฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๖)
อาทายฉักกะ ที่ ๓ จบ

๑๙๑. สมาทายฉักกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ๖ กรณี
[๓๑๔] ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้ที่นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรผืนนั้น จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้
ว่า “จะให้ทำจีวรผืนนี้ที่นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่
ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้า
เสียหาย (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๒. อาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมาให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะ
เสียแล้ว” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราว
กฐินเดาะนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทัน
กฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๖)
สมาทายฉักกะ ที่ ๔ จบ

๑๙๒. อาทายปัณณรสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการถือจีวรหลีกไป ๑๕ กรณี
[๓๑๕] ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้
ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่
ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้
ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำนั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ติกะที่ ๑ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๒. อาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำเสียหาย การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๖)
ติกะที่ ๒ จบ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปโดยไม่ตั้งใจ๑ ไม่ได้คิดว่า “จะกลับ”
แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้
นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่า “จะกลับ”
แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้
จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่า “จะกลับ”
แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้
นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำนั้นเกิดเสียหาย
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๙)
ติกะที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ โดยไม่ตั้งใจ คือโดยมิได้กำหนดว่า “จะกลับ จะไม่กลับ” (สารตฺถ. ฏีกา ๓/๓๑๒/๔๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๒. อาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมามีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑๐)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมามีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนด
ด้วยตกลงใจ (๑๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุ
นั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย
(๑๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมาให้ทำจีวร
ผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๑๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมาให้ทำจีวรผืนนั้น
ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราวกฐินเดาะนอกสีมา การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๑๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมาให้ทำจีวรผืนนั้น
ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๑๕)
ฉักกะ จบ
อาทายปัณณรสกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๔. วิปปกตสมาทายปัณณรสกะ
๑๙๓. สมาทายปัณณรสกาทิ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรติดตัวหลีกไป ๑๕ กรณีเป็นต้น
[๓๑๖] ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป ฯลฯ
(พระวินัยธรพึงขยายความให้พิสดารอย่างนี้ เหมือนวาระที่ว่าด้วยเรื่องการ
เดาะกฐินกำหนดด้วยถือจีวรหลีกไป)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมา มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรผืนนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ ฯลฯ
(พระวินัยธรพึงขยายความให้พิสดารอย่างนี้ เหมือนวาระที่ว่าด้วยเรื่องการ
เดาะกฐินกำหนดด้วยถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป)

๑๙๔. วิปปกตสมาทายปัณณรสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรที่ทำค้างไว้ติดตัวหลีกไป ๑๕ กรณี
[๓๑๗] ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมา มีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมา มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมา มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ให้ทำ
อยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ติกะที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๔. วิปปกตสมาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยตกลงใจ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่
ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้า
เสียหาย (๖)
ติกะที่ ๒ จบ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่า “จะ
กลับ” แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้
ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่า “จะ
กลับ” แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้
ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปโดยไม่ตั้งใจ คือ เธอไม่ได้คิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้
ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๙)
ติกะที่ ๓ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๔. วิปปกตสมาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑๐)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๑๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนด
ด้วยผ้าเสียหาย (๑๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว”
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๑๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรนั้น เธอทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราว
กฐินเดาะนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๑๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรนั้น เธอทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๑๕)
ฉักกะ จบ
สมาทายปัณณรสกะ จบ
อาทายภาณวาร จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๕. อนาสาโทฬสกะ
๑๙๕. อนาสาโทฬสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะความสิ้นหวัง ๑๒ กรณี
[๓๑๘] ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร อยู่นอกสีมา เข้าไป
ยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมี
หวังว่าจะได้จีวร แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่
ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมี
หวังว่าจะได้จีวร แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำ
จีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิด
เสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร อยู่นอกสีมา มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี่แหละ จะไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมี
หวังว่าจะได้จีวรนั้น ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของเธอสิ้นสุดลง การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๕. อนาสาโทฬสกะ
คิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะไปไม่กลับ” อยู่นอก
สีมาเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่
นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้ทำจีวรนอกสีมานี่แหละ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้ทำจีวรนั้น ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของเธอสิ้นสุดลง การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวรโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความคิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวัง
จะได้ทำจีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำ
จีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๙)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังจะได้จีวรโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความคิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวัง
จะได้ทำจีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำ
จีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๑๐)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวรโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความคิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวัง
ว่าจะได้จีวรแต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้
นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิด
เสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๑๑)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๖. อาสาโทฬสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังจะได้จีวรโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความคิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวัง
ว่าจะได้จีวร ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้นสิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุ
นั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๑๒)
อนาสาโทฬสกะ จบ

๑๙๖. อาสาโทฬสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะความสมหวัง ๑๒ กรณี
[๓๑๙] ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ”
อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่าง
นี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะ
ให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ จะไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๖. อาสาโทฬสกะ
กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ความหวังที่จะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้นสิ้น
สุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” มีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จะไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” มีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จะไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” มีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จะไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้
ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” มีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ จะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๖. อาสาโทฬสกะ
ไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้น
สิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง ให้ทำจีวรนั้น
ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๙)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะ
ไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้น
สิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๑๐)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง ให้ทำจีวรนั้น ทำจีวร
เสร็จแล้ว คิดว่า “จะกลับ จะกลับ” ล่วงคราวกฐินเดาะนอกสีมา การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๑๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมาเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง ให้ทำจีวรนั้น
ทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่า “จะกลับ จะกลับ” กลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๑๒)

อาสาโทฬสกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๗. กรณียโทฬสกะ
๑๙๗. กรณียโทฬสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะมีธุระจำเป็น ๑๒ กรณี
[๓๒๐] ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง อยู่นอกสีมา
เกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่
ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำ
จีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนด
ด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้นสิ้นสุดลง
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่
นอกสีมาเกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง
ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๗. กรณียโทฬสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่
นอกสีมา เกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่
สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้” การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา เกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่
สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ”
ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อ
ว่ากำหนดด้วยผ้าที่เสียหาย (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่
นอกสีมา เกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่
สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้
นอกสีมานี่แหละ” เข้าไปยังที่ซึ่งหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ความหวังว่าจะได้จีวรนั้น
ของภิกษุนั้นสิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความ
คิดว่า “จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๙)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความ
คิดว่า “จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๘. อปวิลายนนวกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความ
คิดว่า “จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า กำหนดด้วยผ้า
เสียหาย (๑๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความ
คิดว่า “จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้นอก
สีมานี่แหละ จะไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ความหวังว่า
จะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้นสิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
สิ้นหวัง (๑๒)
กรณียโทฬสกะ จบ

๑๙๘. อปวิลายนนวกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะหวังได้ส่วนจีวร ๙ กรณี
[๓๒๑] ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป แต่ยังหวังได้ส่วน
จีวร พวกภิกษุถามภิกษุนั้นผู้ไปสู่ทิศแล้วว่า “ท่านจำพรรษาที่ไหน ส่วนจีวรของ
ท่านอยู่ที่ไหน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมจำพรรษาในอาวาสโน้น ส่วนจีวรก็อยู่ที่นั้น
เหมือนกัน”
ภิกษุเหล่านั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านไปนำจีวรนั้นมา พวกเราจะทำจีวรให้
ท่านในที่นี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๘. อปวิลายนนวกะ
ภิกษุนั้นกลับไปยังอาวาสนั้นแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลาย ส่วน
จีวรของผมอยู่ที่ไหน”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “นี้เป็นส่วนจีวรของท่าน ท่านจะไปไหน”
ภิกษุนั้นจึงตอบอย่างนี้ว่า “ผมจะไปอาวาสโน้น ภิกษุในที่นั้นจะทำจีวรให้ผม”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านอย่าไปเลย พวกเราจะทำจีวรให้ท่านในที่นี้”
ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า “เราจะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ”
ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป ฯลฯ มีความคิดอย่างนี้ว่า
“เราจะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป ฯลฯ มีความคิดอย่างนี้ว่า
“เราจะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำ
อยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
[๓๒๒] ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป แต่ยังหวังได้ส่วนจีวร
พวกภิกษุถามภิกษุนั้นผู้ไปสู่ทิศแล้วว่า “ท่านจำพรรษาที่ไหน ส่วนจีวรของท่าน
อยู่ที่ไหน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมจำพรรษาในอาวาสโน้น ส่วนจีวรก็อยู่ที่นั้น
เหมือนกัน”
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านไปนำจีวรนั้นมา พวกเราจะทำจีวรให้ท่านใน
ที่นี้”
ภิกษุนั้นกลับไปยังอาวาสนั้นแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลาย ส่วน
จีวรของผมอยู่ที่ไหน”
ภิกษุเหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า “นี้เป็นส่วนจีวรของท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๘. อปวิลายนนวกะ
ภิกษุนั้นจึงถือเอาจีวรนั้นไปยังอาวาสนั้น ระหว่างทาง พวกภิกษุถามภิกษุนั้น
ว่า “ท่านจะไปไหน” ภิกษุนั้นจึงตอบว่า “ผมจะไปอาวาสโน้น ภิกษุในที่นั้นจะทำ
จีวรให้ผม”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านอย่าไปเลย พวกเราจะทำจีวรให้ท่านในที่นี้”
ภิกษุนั้นคิดว่า “เราจะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป แต่ยังหวังได้ส่วนจีวร พวก
ภิกษุถามภิกษุนั้นผู้ไปสู่ทิศแล้วว่า “ท่านจำพรรษาที่ไหน ส่วนจีวรของท่านอยู่ที่ไหน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมจำพรรษาในอาวาสโน้น ส่วนจีวรก็อยู่ที่โน้น
เหมือนกัน”
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านไปนำจีวรนั้นมา พวกเราจะทำจีวรให้ท่านใน
ที่นี้”
ภิกษุนั้นกลับไปยังอาวาสนั้นแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลาย ส่วน
จีวรของผมอยู่ที่ไหน” ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “นี้เป็นส่วนจีวรของท่าน”
ภิกษุนั้นจึงถือเอาจีวรนั้นไปยังอาวาสนั้น ระหว่างทาง พวกภิกษุถามภิกษุนั้น
ว่า “ท่านจะไปไหน” ภิกษุนั้นจึงตอบอย่างนี้ว่า “ผมจะไปอาวาสโน้น ภิกษุในที่
นั้นจะทำจีวรให้ผม”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านอย่าไปเลย พวกเราจะทำจีวรให้ท่านในที่นี้”
ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า “เราจะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ”
ภิกษุนั้นให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป แต่ยังหวังได้ส่วนจีวร พวก
ภิกษุถามภิกษุนั้นผู้ไปสู่ทิศแล้วว่า “ท่านจำพรรษาที่ไหน ส่วนจีวรของท่านอยู่ที่ไหน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมจำพรรษาในอาวาสโน้น ส่วนจีวรก็อยู่ที่นั้น
เหมือนกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๘. อปวิลายนนวกะ
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านไปนำจีวรนั้นมา พวกเราจะทำจีวรให้ท่านใน
ที่นี้”
ภิกษุนั้นกลับไปยังอาวาสนั้นแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลาย ส่วน
จีวรของผมอยู่ที่ไหน” ภิกษุเหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า “นี้เป็นส่วนจีวรของท่าน”
ภิกษุนั้นจึงถือเอาจีวรนั้นไปยังอาวาสนั้น ระหว่างทาง พวกภิกษุถามภิกษุนั้น
ว่า “ท่านจะไปไหน” ภิกษุนั้นจึงตอบอย่างนี้ว่า “ผมจะไปอาวาสโน้น ภิกษุในที่
นั้นจะทำจีวรให้ผม”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านอย่าไปเลย พวกเราจะทำจีวรให้ท่านใน
ที่นี้” ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า “เราจะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ”
ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๖)
[๓๒๓] ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป แต่ยังหวังได้ส่วนจีวร
พวกภิกษุถามภิกษุนั้นผู้ไปสู่ทิศแล้วว่า “ท่านจำพรรษาที่ไหน ส่วนจีวรของท่านอยู่
ที่ไหน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมจำพรรษาในอาวาสโน้น ส่วนจีวรก็อยู่ที่นั้น
เหมือนกัน”
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านไปนำจีวรนั้นมา พวกเราจะทำจีวรให้ท่านใน
ที่นี้”
ภิกษุนั้นกลับไปยังอาวาสนั้นแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลาย ส่วน
จีวรของผมอยู่ที่ไหน” ภิกษุเหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า “นี้เป็นส่วนจีวรของท่าน”
ภิกษุนั้นจึงถือเอาจีวรนั้นไปยังอาวาสนั้น ไปยังอาวาสนั้นแล้วมีความคิดอย่าง
นี้ว่า “เราจะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๙. ผาสุวิหารปัญจกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป ฯลฯ มีความคิดอย่างนี้ว่า
“เราจะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศ ฯลฯ มีความคิดอย่างนี้ว่า “เราจะ
ให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๙)
อปวิลายนนวกะ จบ

๑๙๙. ผาสุวิหารปัญจกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะหวังอยู่ผาสุก ๕ กรณี
[๓๒๔] ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะอยู่ผาสุก จึงถือจีวรหลีกไป คิดว่า
“เราจะไปยังอาวาสโน้น ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยัง
อาวาสโน้น ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น
ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะกลับ” อยู่นอกสีมามีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” เธอให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะอยู่ผาสุก จึงถือจีวรหลีกไป คิดว่า “เราจะไป
ยังอาวาสโน้น ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น
ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น ถ้าในอาวาส
นั้น เราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะกลับ” อยู่นอกสีมา มีคความคิดอย่างนี้ว่า
“จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๙. ผาสุวิหารปัญจกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะอยู่ผาสุก จึงถือจีวรหลีกไปคิดว่า “เราจะไปยัง
อาวาสโน้น ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น
ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น ถ้าในอาวาส
นั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะกลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่
นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะอยู่อย่างผาสุก จึงถือจีวรหลีกไปคิดว่า “เราจะไปยัง
อาวาสโน้น ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น
ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น ถ้าในอาวาส
นั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรนั้น ทำจีวร
เสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” จนล่วงคราวกฐินเดาะนอกสีมา การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะอยู่ผาสุก จึงถือจีวรหลีกไปคิดว่า “เราจะไปยัง
อาวาสโน้น ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น
ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น ถ้าในอาวาส
นั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะกลับ” อยู่นอกสีมาให้ทำจีวรนั้น ทำจีวร
เสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ” กลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
เดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๕)
ผาสุวิหารปัญจกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๒๐๐. ปลิโพธาปลิโพธกถา
๒๐๐. ปลิโพธาปลิโพธกถา
ว่าด้วยปลิโพธและอปลิโพธ

ปลิโพธ ๒ อย่าง๑
[๓๒๕] ภิกษุทั้งหลาย กฐินมีปลิโพธ ๒ อย่าง มีอปลิโพธ ๒ อย่าง
ภิกษุทั้งหลาย ปลิโพธ ๒ อย่าง คือ
๑. อาวาสปลิโพธ (ความกังวลในอาวาสเพราะคิดจะกลับมา)
๒. จีวรปลิโพธ (ความกังวลในจีวรเพราะยังไม่ได้ทำจีวรหรือทำยังไม่เสร็จ)
ภิกษุทั้งหลาย อาวาสปลิโพธ คือ ในกรณีนี้ ภิกษุยังอยู่ในอาวาสนั้น หรือ
หลีกไปแต่ผูกใจว่า “จะกลับ” อย่างนี้ชื่อว่าอาวาสปลิโพธ
ภิกษุทั้งหลาย จีวรปลิโพธ คือ ในกรณีนี้ ภิกษุยังไม่ได้ทำจีวรหรือทำ
จีวรค้างไว้ หรือความหวังว่าจะได้จีวรยังไม่สิ้นสุดลง อย่างนี้ชื่อว่าจีวรปลิโพธ
ภิกษุทั้งหลาย กฐินมีปลิโพธ ๒ อย่างนี้แหละ
ภิกษุทั้งหลาย กฐินมีอปลิโพธ ๒ อย่าง คือ
๑. อาวาสอปลิโพธ (ไม่มีความกังวลในอาวาส)
๒. จีวรอปลิโพธ (ไม่มีความกังวลในจีวร)
ภิกษุทั้งหลาย อาวาสอปลิโพธ คือ ในกรณีนี้ ภิกษุหลีกไปจากอาวาส
นั้น สละ คาย ปล่อยวาง ไม่ผูกใจ คิดว่า “จะไม่กลับมา” อย่างนี้ชื่อว่าอาวาส
อปลิโพธ

เชิงอรรถ :
๑ ปลิโพธ ในทางพระวินัย หมายถึงความกังวลที่เป็นเหตุให้กฐินยังไม่เดาะ คือยังรักษาอานิสงส์กฐินและ
เขตแห่งจีวรกาล ตามกำหนดไว้ได้ ถ้าภิกษุหลีกไปโดยคิดว่า “จะไม่กลับมาอีก” จีวรปลิโพธขาดก่อน
ในขณะที่อยู่ภายในสีมานั่นเอง อาวาสปลิโพธขาดในขณะเมื่อก้าวล่วงสีมาไปแล้ว (วิ.อ. ๓/๓๑๑/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๒๐๑. รวมเรื่องที่มีในกฐินขันธกะ
ภิกษุทั้งหลาย จีวรอปลิโพธ คือ ในกรณีนี้ ภิกษุทำจีวรเสร็จแล้ว จีวร
เสียหาย สูญหาย หรือถูกไฟไหม้ หรือความหวังว่าจะได้จีวรสิ้นสุดลง อย่างนี้ชื่อ
ว่าจีวรอปลิโพธ
ภิกษุทั้งหลาย กฐินอปลิโพธ ๒ อย่างนี้แล
ปลิโพธาปลิโพธกถา จบ
กฐินขันธกะที่ ๗ จบ
เรื่องในขันธกะนี้มี ๑๒ เรื่อง และเปยยาลมุข ๑๑๘ เรื่อง

๒๐๑. รวมเรื่องที่มีในกฐินขันธกะ
เรื่องภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ ๓๐ รูป เข้าจำพรรษา ณ
เมืองสาเกต ออกพรรษาแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยทั้ง
จีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ
เรื่องอานิสงส์กฐิน ๕ อย่าง คือ
๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณโภชนะได้
๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ
๕. พวกเธอจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น
เรื่องวิธีกรานกฐินและญัตติทุติยกรรมวาจาสำหรับกรานกฐิน
เรื่องกฐินไม่เป็นอันกราน คือ
๑. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงมีรอยขีด
๒. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงซักผ้า
๓. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงกะผ้า
๔. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงตัดผ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๒๐๑. รวมเรื่องที่มีในกฐินขันธกะ
๕. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงเนาผ้า
๖. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงเย็บผ้า
๗. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงทำลูกดุม
๘. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงทำรังดุม
๙. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาต
๑๐. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาตด้านหน้า
๑๑. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงดามผ้า
๑๒. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงย้อมผ้าเป็นสีหม่น
๑๓. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา
๑๔. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา
๑๕. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ยืมเขามา
๑๖. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน
๑๗. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์
๑๘. กฐินไม่เป็นอันกรานด้ายผ้าที่ไม่ทำพินทุ
๑๙. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากสังฆาฏิ
๒๐. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากอุตตราสงค์
๒๑. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากอันตรวาสก
๒๒. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากจีวรมีขันธ์ ๕ หรือ
เกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้วทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
๒๓. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากบุคคลกราน
๒๔. กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าย่อมไม่เป็นอันกราน
เรื่องกฐินเป็นอันกราน คือ
๑. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าใหม่
๒. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าเทียมใหม่
๓. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าเก่า
๔. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าบังสุกุล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๒๐๑. รวมเรื่องที่มีในกฐินขันธกะ
๕. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ตกตามร้าน
๖. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา
๗. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา
๘. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา
๙. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน
๑๐. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่เป็นนิสสัคคีย์
๑๑. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ทำพินทุ
๑๒. กฐินเป็นอันกรานด้วยสังฆาฏิ
๑๓. กฐินเป็นอันกรานด้วยอุตตราสงค์
๑๔. กฐินเป็นอันกรานด้วยอันตรวาสก
๑๕. กฐินเป็นอันกรานด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ที่ตัดดีแล้ว
ทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
๑๖. กฐินเป็นอันกรานเพราะมีบุคคลกราน
๑๗. กฐินเป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
อย่างนี้ชื่อกฐินเป็นอันกราน
เรื่องกฐินเดาะด้วยมาติกา ๘ ข้อ คือ
๑. กำหนดด้วยหลีกไป
๒. กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
๓. กำหนดด้วยตกลงใจ
๔. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย
๕. กำหนดด้วยได้ทราบข่าว
๖. กำหนดด้วยสิ้นหวัง
๗. กำหนดด้วยล่วงเขต
๘. กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน
อาทายสัตตกะ ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการถือจีวรหลีกไป
๗. กรณี คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๒๐๑. รวมเรื่องที่มีในกฐินขันธกะ
๑. ถือจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไป คิดว่าจะไม่กลับ
การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดด้วยการหลีกไป
๒. ถือจีวรหลีกไปอยู่นอกสีมา คิดว่าจะทำ ณ ที่นี้ จะไม่กลับ
การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
๓. ถือจีวรหลีกไปอยู่นอกสีมา คิดว่าจะไม่ให้ทำ จะไม่กลับ
การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ
๔. ถือจีวรหลีกไปอยู่นอกสีมา คิดว่าจะให้ทำจีวร ณ ที่นี้
จะไม่กลับ กำลังทำจีวรเสียหาย การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย
๕. ถือจีวรไป คิดว่าจะกลับ ให้ทำจีวรนอกสีมา ครั้นทำ
จีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า ในอาวาสนั้น กฐินเดาะแล้ว
การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว
๖. ถือจีวรไป คิดว่าจะกลับ ให้ทำจีวรนอกสีมา ครั้นทำ
จีวรเสร็จแล้วโอ้เอ้อยู่นอกสีมาจนกฐินเดาะ การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต
๗. ถือจีวรไป คิดว่าจะกลับ ให้ทำจีวร ณ ภายนอกสีมา ครั้นทำ
จีวรเสร็จแล้ว คิดว่าจะกลับ จะกลับ กลับทันกฐินเดาะ
การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อว่าพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย
สมาทายสัตตกะ ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำ
จีวรติดตัวหลีกไป ๗ กรณี
อาทายฉักกะและสมาทายฉักกะ ว่าด้วยการ
เดาะกฐินด้วยการถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ๖ กรณี
และการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป
๖ กรณี คือ ถือจีวรที่ทำค้างไว้อย่างละ ๖ กรณี
ไม่มีการเดาะกำหนดด้วยหลีกไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๒๐๑. รวมเรื่องที่มีในกฐินขันธกะ
อาทายภาณวาร ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยกรณีถือจีวรหลีกไป
๑๕ กรณี เป็นต้น กล่าวถึงภิกษุถือจีวรไปนอกสีมา คิดว่า
จะให้ทำจีวร มี ๓ มาติกา คือ
๑. กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
๒. กำหนดด้วยตกลงใจ
๓. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย กล่าวถึงภิกษุถือผ้า คิดว่า
จะไม่กลับไปนอกสีมา แล้วคิดว่าจะทำ มี ๓ มาติกา คือ
๑. กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
๒. กำหนดด้วยตกลงใจ
๓. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย กล่าวถึงภิกษุถือจีวรหลีกไป
ด้วยไม่ได้ตั้งใจ ภายหลังคิดว่า จะไม่กลับ มี ๓ นัย
กล่าวถึงภิกษุถือจีวรไป คิดว่า จะกลับ อยู่นอกสีมา คิดว่า
จะทำจีวร จะไม่กลับ ให้ทำจีวรเสร็จ การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ ด้วยตกลงใจ
ด้วยผ้าเสียหาย ด้วยได้ทราบข่าว ด้วยล่วงเขต ด้วยเดาะ
พร้อมกับภิกษุทั้งหลาย รวมเป็น ๑๕ ภิกษุนำจีวรหลีกไป
และนำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปอีก ๔ วาระก็เหมือนกัน
รวมทั้งหมด ๑๕ วิธี หลีกไปด้วยสิ้นหวัง ด้วยหวังว่าจะได้
หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง ทั้ง ๓ อย่างนั้น
นักปราชญ์พึงทราบโดยนัยอย่างละ ๑๒ วิธี
ผาสุวิหารปัญจกะ ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะหวังอยู่
สบาย ๕ กรณี
ปลิโพธาปลิโพธกถา ว่าด้วยปลิโพธและอปลิโพธ
พระวินัยธรพึงแต่งหัวข้อตามเค้าความเทอญ
กฐินขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๒. ชีวกวัตถุ
๘. จีวรขันธกะ
๒๐๒. ชีวกวัตถุ
ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจ

เรื่องคณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์พบหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
[๓๒๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน
สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น กรุงเวสาลีเป็นถิ่นอุดมสมบูรณ์
มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท
๗,๗๐๗ เรือนยอด ๗,๗๐๗ สวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ สระโบกขรณี ๗,๗๐๗ และ
มีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี รูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง
เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพา
เธอไปร่วมอภิรมย์ด้วยต้องจ่ายค่าตัวถึงคืนละ ๕๐ กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลี
นี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์และมีความงดงามเป็นพิเศษ
ครั้งนั้น คณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์ เดินทางไปกรุงเวสาลีด้วยธุระจำเป็น
บางอย่าง ได้พบเห็นกรุงเวสาลีที่อุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก
มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ เรือนยอด ๗,๗๐๗
สวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ สระโบกขรณี ๗,๗๐๗ และมีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
มีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง
และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่า
ตัวถึงคืนละ ๕๐ กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลีนี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์
และมีความงดงามเป็นพิเศษ
[๓๒๗] ครั้นคณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์เสร็จธุระที่จำเป็นในกรุงเวสาลีแล้ว
เดินทางกลับมายังกรุงราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้กราบทูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๒. ชีวกวัตถุ
ว่า “ขอเดชะ กรุงเวสาลีเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก
มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ เรือนยอด ๗,๗๐๗
สวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ สระโบกขรณี ๗,๗๐๗ และมีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
มีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง
และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่า
ตัวถึงคืนละ ๕๐ กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลีนี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์
และมีความงดงามเป็นพิเศษ ขอเดชะ แม้ชาวเราตั้งตำแหน่งหญิงงามเมืองขึ้นบ้าง
ก็จะเป็นการดี”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งว่า “พนาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงหา
เด็กสาวผู้มีความงามอย่างนั้นที่ควรคัดเลือกให้เป็นหญิงงามเมือง”

เรื่องบุตรของหญิงงามเมืองชื่อสาลวดี
ก็สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีเด็กสาวชื่อสาลวดีมีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิว
พรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง คณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์จึงคัดเลือกเธอให้เป็นหญิงงามเมือง
เมื่อเธอได้รับเลือกไม่นานนักก็เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี
คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่าตัวถึงคืนละ ๑๐๐
กหาปณะ ต่อมาเธอมีครรภ์จึงคิดว่า “ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่ชอบใจของบุรุษ
ถ้าใครทราบว่าเรามีครรภ์ ลาภผลของเราจะเสื่อมหมด อย่ากระนั้นเลย เราควรแจ้ง
ว่าเราป่วย” แล้วได้สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่า “นายประตู ท่านอย่าอนุญาตให้ชายใดเข้ามา
ถ้ามีคนถามหาดิฉัน ก็จงตอบให้เขาทราบว่าดิฉันเป็นไข้”
คนเฝ้าประตูนั้นรับคำของหญิงงามเมืองชื่อสาลวดีว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งนั้น
ต่อมา เมื่อนางมีครรภ์ครบกำหนดคลอดจึงได้คลอดบุตรชาย ได้กำชับหญิงรับใช้
ว่า “แม่สาวใช้ เธอจงวางทารกคนนี้ในกระด้งเก่า ๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองขยะ”
หญิงรับใช้รับคำแล้ววางทารกลงในกระด้งเก่า ๆ นำออกไปทิ้งที่กองขยะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๒. ชีวกวัตถุ
[๓๒๘] ก็เวลานั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัยกำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอด
พระเนตรเห็นทารกนั้นถูกฝูงกาแวดล้อม จึงตรัสถามคนทั้งหลายว่า “พนาย ฝูงกา
รุมล้อมอะไร”
คนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ทารกพระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยตรัสถามว่า “เขายังมีชีวิตอยู่หรือ”
คนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยตรัสถามว่า “ถ้าเช่นนั้น จงนำทารกไปในพระราชวังของเรามอบให้
แม่นมดูแล”
คนเหล่านั้นรับสนองพระบัญชาแล้ว นำทารกนั้นไปวังเจ้าชายมอบให้แม่นมว่า
“โปรดเลี้ยงไว้ด้วย” แล้วตั้งชื่อทารกนั้นว่า “ชีวก” เพราะบ่งถึงคำว่า “ยังมีชีวิตอยู่”
ตั้งชื่อว่า “โกมารภัจ” เพราะเป็นผู้ที่เจ้าชายรับสั่งให้เลี้ยงไว้
ไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจ เจริญวัยรู้เดียงสา เขาเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัยกราบ
ทูลถามว่า “ใครคือบิดามารดาของเกล้ากระหม่อม พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยรับสั่งว่า “พ่อชีวก แม้ตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า แต่เราคือ
บิดาของเจ้า เพราะเราให้เลี้ยงเจ้าไว้”
ชีวกโกมารภัจคิดว่า “คนที่ไม่มีศิลปะจะเข้าพึ่งราชสกุลนี้ได้ยาก อย่ากระนั้น
เลย เราควรเรียนศิลปวิทยาไว้”

เรื่องชีวกเดินทางไปกรุงตักกสิลา
[๓๒๙] สมัยนั้น นายแพทย์ทิศาปาโมกข์๑ตั้งสำนักอยู่ ณ กรุงตักกสิลา
ชีวกโกมารภัจไม่กราบทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางรอนแรมไปจนถึงกรุงตักกสิลา
เข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้นแล้วบอกว่า “ท่านอาจารย์ ผมใคร่จะศึกษาศิลปวิทยา”

เชิงอรรถ :
๑ ทิศาปาโมกข์ หมายถึง มีชื่อเสียง ปรากฏเป็นที่รู้จัก หรือเป็นหัวหน้าอยู่ในทิศทั้งปวง (วิ.อ. ๓/๓๒๙/
๒๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๓. เสฏฐิภริยาวัตถุ
นายแพทย์กล่าวว่า “พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงศึกษาเถิด”
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจเรียนได้มาก เรียนได้รวดเร็ว ทรงจำได้ดี ที่เรียนไว้ก็ไม่
ลืมเลือน พอล่วงมาได้ ๗ ปี จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราเรียนได้มาก เรียนได้
รวดเร็ว ทรงจำได้ดี ที่เรียนไว้ก็ไม่ลืมเลือน และเรียนมาถึง ๗ ปีแล้วก็ยังไม่จบ
ศิลปวิทยานี้ เมื่อไรจะจบศิลปวิทยานี้สักที” ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจ เข้าไปหา
นายแพทย์ ณ ที่อยู่ถามว่า “ท่านอาจารย์ ผมเรียนศิลปวิทยาได้มาก เรียนได้เร็ว
ทรงจำได้ดี ที่เรียนไว้ก็ไม่ลืมเลือน และเรียนมาถึง ๗ ปีแล้วก็ยังไม่จบศิลปวิทยานี้
เมื่อไรจะจบศิลปวิทยานี้สักทีเล่าขอรับ”
นายแพทย์ตอบว่า “พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียมแล้วเที่ยวไปรอบ ๆ
กรุงตักกสิลาในระยะ ๑ โยชน์ พบสิ่งที่ไม่ใช่ตัวยาก็จงนำมาด้วย”
ชีวกโกมารภัจรับคำของนายแพทย์แล้วถือเสียมเดินไปรอบ ๆ กรุงตักกสิลา
ในระยะ ๑ โยชน์ ไม่พบเห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างเดียว จึงเดินทางกลับไป
หานายแพทย์ ณ ที่อยู่ กราบเรียนว่า “ท่านอาจารย์ ผมเดินไปรอบ ๆ กรุง
ตักกสิลาในระยะ ๑ โยชน์แล้ว ไม่พบเห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่ง”
นายแพทย์บอกว่า “พ่อชีวก เธอเรียนได้ดีแล้ว ความรู้เท่านี้พอครองชีพได้”
แล้วได้ให้เสบียงเดินทางเล็กน้อยแก่ชีวกโกมารภัจ
ต่อมา ชีวกโกมารภัจถือเสบียงออกเดินทางมุ่งไปกรุงราชคฤห์ ระหว่างทาง
เสบียงหมดลงที่กรุงสาเกต ได้ตระหนักว่า ทางเหล่านี้กันดาร ขาดแคลนน้ำและ
อาหาร คนไม่มีเสบียงเดินทางไปจะลำบาก ถ้ากระไร เราพึงหาเสบียงทาง”

๒๐๓. เสฏฐิภริยาวัตถุ
ว่าด้วยภรรยาเศรษฐีปวดศีรษะ
[๓๓๐] สมัยนั้น ภรรยาเศรษฐีกรุงสาเกต ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะ เป็นเวลา
๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์คนสำคัญหลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษา
ให้หายได้ ได้เงินไปเป็นจำนวนมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๓. เสฏฐิภริยาวัตถุ
ชีวกโกมารภัจเดินทางเข้ากรุงสาเกต สอบถามคนทั้งหลายว่า “พนาย ใคร
เจ็บไข้บ้าง ผมจะรักษาใคร”
คนเหล่านั้น ตอบว่า “ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีป่วยเป็นโรคปวดศีรษะอยู่
๗ ปี เชิญท่านไปรักษานางเถิด”
ชีวกโกมารภัจเดินทางไปถึงถิ่นที่อยู่ของเศรษฐีคหบดีสั่งคนเฝ้าประตูว่า “นี่แน่ะ
นายประตู ท่านไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า หมอมาแล้วขอรับ เขาจะเยี่ยมภรรยา
ท่านเศรษฐี”
คนเฝ้าประตูรับคำแล้วเข้าไปหาภรรยาเศรษฐีกราบเรียนว่า “หมอมาแล้วขอรับ
เขาจะเยี่ยมคุณนาย”
ภรรยาเศรษฐีถามว่า “หมอเป็นคนเช่นไร”
คนเฝ้าประตูตอบว่า “เป็นหมอหนุ่ม ขอรับ”
ภรรยาเศรษฐีกล่าวว่า “อย่าเลย หมอหนุ่มจะช่วยอะไรฉันได้ นายแพทย์ทิศา
ปาโมกข์คนสำคัญหลายคน มารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ได้เงินไปเป็น
จำนวนมาก”
นายประตูออกมาหาชีวกโกมารภัจแล้วบอกว่า “ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐี
บอกว่า ‘ไม่ละ หมอหนุ่มจะช่วยอะไรฉันได้ นายแพทย์ทิศาปาโมกข์’ คนสำคัญ
หลายคน มารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ได้เงินไปเป็นจำนวนมาก”
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “ท่านไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า คุณนาย หมอสั่ง
มาว่า คุณนายอย่าเพิ่งให้อะไร ๆ ต่อเมื่อโรคหายแล้วจึงค่อยให้สิ่งที่ประสงค์จะให้
ก็ได้”
นายประตูรับคำของชีวกโกมารภัจเข้าไปหาภรรยาเศรษฐีแล้วกราบเรียนตามนั้น
ภรรยาเศรษฐีตอบว่า “ถ้าเช่นนั้น เชิญคุณหมอเข้ามาได้”
นายประตูรับคำของภรรยาเศรษฐีแล้วเข้าไปหาชีวกโกมารภัจบอกว่า “ท่าน
อาจารย์ ภรรยาเศรษฐีขอเชิญท่านเข้าไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๓. เสฏฐิภริยาวัตถุ
ลำดับนั้นชีวกโกมารภัจเข้าไปหาภรรยาเศรษฐี ตรวจดูอาการของโรคแล้ว
บอกว่า “คุณนายขอรับ ผมต้องการเนยใส ๑ ซองมือ” เมื่อภรรยาเศรษฐีให้หา
เนยใสมา ๑ ซองมือแล้ว เขาจึงหุงเนยใสนั้นกับยาต่าง ๆ ให้ภรรยาเศรษฐีนอนหงาย
บนเตียงแล้วนัตถุ์ยา ขณะนั้นเนยใสที่นัตถุ์เข้าไปได้พุ่งออกทางปาก
ภรรยาเศรษฐีถ่มเนยใสนั้นลงกระโถนสั่งหญิงรับใช้ว่า “แม่สาวใช้ เธอจงเอา
สำลีซับเนยใสนี้ไว้”
ขณะนั้นชีวกโกมารภัจตระหนักว่า “แปลกจริง ๆ แม่บ้านคนนี้ช่างสกปรกนัก
เนยใสที่ต้องทิ้งก็ยังให้หญิงรับใช้เอาสำลีซับไว้อีก ส่วนยาของเรามีราคาแพงมากกว่า
จะปล่อยให้เสีย เธอจะให้ไทยธรรมอะไรแก่เราบ้างนะ”
ภรรยาเศรษฐีสังเกตอาการของเขาจึงถามว่า “แปลกใจอะไรหรืออาจารย์”
ชีวกโกมารภัจจึงเล่าเรื่องนั้นให้ทราบ
ภรรยาเศรษฐีตอบว่า “อาจารย์ ดิฉันเป็นคนมีครอบครัว จำเป็นจะต้องรู้จัก
สิ่งที่ควรเก็บไว้ใช้ เนยใสนี้ยังดีอยู่จะใช้เป็นยาสำหรับทาเท้าพวกทาสหรือกรรมกร
ก็ได้ ใช้เป็นน้ำมันเติมตะเกียงก็ได้ ท่านอย่าวิตกไปเลย รางวัลของท่านจะไม่ลดลง”
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจได้รักษาโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นเรื้อรัง
มาถึง ๗ ปี ให้หายได้โดยวิธีนัตถุ์ยาครั้งเดียวเท่านั้น ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรค
แล้วจึงให้รางวัลแก่เขาเป็นเงิน ๔,๐๐๐ กหาปณะ บุตรเศรษฐีคหบดีพอได้ทราบ
ว่ามารดาของตนหายดีเป็นปกติ จึงให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กหาปณะ สะใภ้พอ
ได้ทราบว่าแม่ผัวของตนหายดีเป็นปกติ จึงให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กหาปณะ
เศรษฐีคหบดีพอได้ทราบว่าภรรยาของตนหายเป็นปกติ จึงให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐
กหาปณะ พร้อมกับให้ทาส ทาสี และรถม้า
ชีวกโกมารภัจรับเงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ พร้อมกับทาส ทาสี และรถม้า
ออกเดินทางไปกรุงราชคฤห์ ครั้นถึงแล้วได้เข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย กราบทูลว่า “เงิน
๑๖,๐๐๐ กหาปณะ พร้อมกับทาส ทาสี และรถม้านี้เป็นผลตอบแทนครั้งแรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๔. พิมพิสารราชวัตถุ
ของเกล้ากระหม่อม ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดรับค่าเลี้ยงดูของเกล้ากระหม่อม
ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยรับสั่งว่า “อย่าเลยพ่อชีวก ทรัพย์นี้เป็นของเจ้าคนเดียว เจ้าสร้าง
บ้านอยู่ในวังของเราเถิด”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับพระบัญชาว่า “เป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่ง พระเจ้าข้า”
แล้วได้สร้างบ้านอยู่ในวังของเจ้าชายอภัย

๒๐๔. พิมพิสารราชวัตถุ
ว่าด้วยพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ

เรื่องรักษาโรคริดสีดวงทวารของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
[๓๓๑] สมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงประชวรเป็นริดสีดวง
ทวาร พระภูษาเปื้อนพระโลหิต
พวกนางสนมเห็นจึงพากันหัวเราะเยาะว่า “เวลานี้พระราชาทรงมีระดู ต่อม
พระโลหิตเกิดแก่พระองค์ อีกไม่นานก็จะมีพระประสูติกาล”
ท้าวเธอทรงเก้อเขินเพราะคำหัวเราะเยาะของพวกนางสนม ทรงเล่าเรื่องนั้นให้
เจ้าชายอภัยทราบว่า “อภัย พ่อป่วยเป็นริดสีดวงทวารถึงกับภูษาเปื้อนโลหิต พวก
นางสนมเห็นแล้วพากันหัวเราะเยาะว่า ‘เวลานี้พระราชาทรงมีระดู ต่อมาพระโลหิต
เกิดแก่พระองค์ อีกไม่นานก็จะมีพระประสูติกาล’ เจ้าช่วยหาหมอที่พอจะรักษาพ่อ
ได้ให้ทีเถิด”
เจ้าชายอภัยกราบทูลว่า “ขอเดชะ นายชีวกผู้นี้เป็นหมอประจำข้าพระองค์ยัง
หนุ่ม ทรงคุณวุฒิจะรักษาพระองค์ได้”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงสั่งหมอชีวกให้
รักษาพ่อ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๕. ราชคหเสฏฐิวัตถุ
ต่อมาเจ้าชายอภัยสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ชีวก เธอจงไปรักษาพระราชา”
ชีวกโกมารภัจรับสนองพระบัญชาแล้วใช้เล็บตักยาเดินไปในราชสำนัก เข้าเฝ้า
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐกราบทูลว่า “ข้าพระองค์จะตรวจโรคของพระองค์
พระพุทธเจ้าข้า” แล้วรักษาริดสีดวงทวารของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐให้
หายขาดด้วยทายาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

เรื่องพระราชทานตำแหน่งแพทย์หลวง
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐทรงหายประชวรจึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐
นาง แต่งตัวเต็มยศแล้วให้เปลื้องออกรวมเป็นห่อ ตรัสกับชีวกโกมารภัจว่า “ชีวก
เครื่องประดับทั้งหมดของสตรี ๕๐๐ คนนี้เป็นสมบัติของเจ้า”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลว่า “อย่าเลยพระพุทธเจ้าข้า พระองค์โปรดระลึกว่า
เป็นหน้าที่ของข้าพระองค์”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงบำรุงเรากับ
พวกฝ่ายในและภิกษุสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคทรงเป็นประธาน”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระราชดำรัสว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะทรงโปรด
พระพุทธเจ้าข้า”

๒๐๕. ราชคหเสฏฐิวัตถุ
ว่าด้วยเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์

เรื่องรักษาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ผู้ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะ
[๓๓๒] สมัยนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะเป็นเวลา ๗ ปี
นายแพทย์ทิศาปาโมกข์คนสำคัญหลายคนมารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ได้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๕. ราชคหเสฏฐิวัตถุ
เงินไปเป็นจำนวนมาก นายแพทย์หลายคนบอกเลิกรักษา นายแพทย์บางพวก
กล่าวว่า “เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕” นายแพทย์บางพวกกล่าวว่า
“เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗”
ต่อมา คณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์มีความคิดดังนี้ว่า “เศรษฐีคหบดีผู้นี้สร้าง
คุณประโยชน์มากมายแก่พระราชาและชาวนิคม แต่กลับถูกพวกแพทย์บอกเลิก
รักษา แพทย์บางพวกกล่าวว่าเศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ แพทย์บาง
พวกกล่าวว่าเศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ก็ชีวกเป็นแพทย์หลวงหนุ่ม
ทรงคุณวุฒิ อย่ากระนั้นเลย พวกเราพึงกราบทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อพระราชา
เพื่อให้รักษาเศรษฐี” พากันไปในราชสำนักเข้าเฝ้ากราบทูลว่า “ขอเดชะ เศรษฐี
คหบดีผู้นี้สร้างคุณประโยชน์มากมายแก่พระราชาและชาวนิคม แต่กลับถูกพวก
แพทย์บอกเลิกรักษา แพทย์บางพวกกล่าวว่า เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่
๕ แพทย์บางพวกกล่าวว่า เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ขอพระราชทาน
พระบรมราชวโรกาส ขอพระองค์โปรดมีรับสั่งนายแพทย์ชีวกโกมารภัจเพื่อให้รักษา
ท่านเศรษฐีเถิด”
ดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐจึงทรงมีรับสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ชีวก เจ้า
จงไปรักษาเศรษฐีคหบดี”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วเข้าไปหาเศรษฐีคหบดี ตรวจดู
อาการของเศรษฐีคหบดีแล้วถามว่า “ท่านคหบดี ถ้าผมรักษาท่านหาย จะมีอะไร
เป็นรางวัลบ้าง”
เศรษฐีตอบว่า “ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทุกอย่างจะเป็นของท่าน และเรา
ก็ขอยอมเป็นทาสของท่าน”
ชีวกโกมารภัจถามว่า “ท่านจะนอนตะแคงข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ไหม”
เศรษฐีตอบว่า “ได้”
ชีวกโกมารภัจถามว่า “ท่านจะนอนอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือนได้ไหม”
เศรษฐีตอบว่า “ได้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๕. ราชคหเสฏฐิวัตถุ
ชีวกโกมารภัจถามว่า “ท่านจะนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ไหม”
เศรษฐีตอบว่า “ได้”
ต่อมา ชีวกโกมารภัจให้เศรษฐีคหบดีนอนบนเตียง มัดไว้กับเตียงแล้วถลก
หนังศีรษะเปิดรอยประสานกระโหลก นำสัตว์มีชีวิตออกมา ๒ ตัว แสดงแก่ชาว
บ้านว่า “พวกท่านจงดูสัตว์มีชีวิต ๒ ตัวนี้ ตัวหนึ่งเล็ก อีกตัวหนึ่งใหญ่ พวก
อาจารย์ที่กล่าวว่า เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ คงจะมองเห็นสัตว์ตัวใหญ่
มันจะเจาะกินมันสมองของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๕ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินสมอง
ก็จะถึงอนิจกรรม สัตว์ใหญ่ตัวนี้พวกอาจารย์เห็นถูกต้อง ส่วนพวกอาจารย์ที่กล่าวว่า
เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ คงจะมองเห็นสัตว์ตัวเล็ก มันจะเจาะกิน
มันสมองของเศรษฐีคหดบีในวันที่ ๗ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินสมองก็จะถึงอนิจ
กรรม สัตว์เล็กตัวนี้พวกอาจารย์เห็นถูกต้อง” แล้วให้ปิดแนวประสานกระโหลก
เย็บหนังศีรษะแล้วทายาสมานแผล
ครั้นผ่านไป ๑ สัปดาห์ เศรษฐีคหบดีกล่าวกับชีวกโกมารภัจว่า “อาจารย์
เราไม่สามารถนอนตะแคงข้างเดียวได้ตลอด ๗ เดือน”
ชีวกโกมารภัจถามว่า “คหบดีท่านรับคำไว้มิใช่หรือว่า อาจารย์ เราสามารถ
นอนตะแคงข้างเดียวได้ตลอด ๗ เดือน”
เศรษฐีตอบว่า “อาจารย์ เรารับรองไว้ก็จริง แต่เราคงตายแน่ เราไม่
สามารถนอนตะแคงข้างเดียวได้ตลอด ๗ เดือน”
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนอีกข้างหนึ่งตลอด ๗
เดือน”
ครั้นผ่านไป ๑ สัปดาห์ เศรษฐีคหบดีกล่าวกับหมอชีวกโกมารภัจว่า “อาจารย์
เราไม่สามารถนอนตะแคงอีกข้างหนึ่งได้ตลอด ๗ เดือน”
ชีวกโกมารภัจถามว่า “คหบดี ท่านรับรองเราไว้มิใช่หรือว่า อาจารย์ เรา
สามารถนอนตะแคงอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือน”
เศรษฐีตอบว่า “อาจารย์ เรารับรองไว้ก็จริง แต่เราคงตายแน่ เราไม่สามารถ
นอนตะแคงอีกข้างหนึ่งได้ตลอด ๗ เดือน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๖. เสฏฐิปุตตวัตถุ
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนหงายตลอด ๗ เดือน”
ครั้นผ่านไป ๑ สัปดาห์ เศรษฐีคหบดีกล่าวกับหมอชีวกโกมารภัจว่า “อาจารย์
เราไม่สามารถนอนหงายได้ตลอด ๗ เดือน”
ชีวกโกมารภัจถามว่า “คหบดี ท่านรับรองเราไว้มิใช่หรือว่า อาจารย์ เรา
สามารถนอนหงายได้ตลอด ๗ เดือน”
เศรษฐีตอบว่า “อาจารย์ เรารับรองไว้ก็จริง แต่เราคงตายแน่ เราไม่สามารถ
นอนหงายได้ตลอด ๗ เดือน”
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “ท่านคหบดี ถ้าผมไม่บอกท่านไว้เช่นนั้น ท่านก็จะนอน
เท่านั้นไม่ได้ ผมทราบอยู่ก่อนแล้วว่า “เศรษฐีคหบดีจะหายดีเป็นปกติใน ๓ สัปดาห์
ลุกขึ้นเถิด คหบดี ท่านหายป่วยแล้ว จะให้อะไรเป็นรางวัลเล่า”
เศรษฐีคหบดีตอบว่า จงรู้ว่า “อาจารย์ ทรัพย์สมบัติทุกอย่างเป็นของท่าน
เราเองก็ขอยอมเป็นทาสท่าน”
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “อย่าเลยขอรับ ท่านอย่าให้ทรัพย์สมบัติทุกอย่าง ท่านเอง
ก็ไม่ต้องยอมเป็นทาสของผม ท่านจงทูลเกล้าถวายทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ
แด่พระราชา ให้ผม ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะก็พอแล้ว”
เมื่อเศรษฐีคหบดีหายป่วยได้ทูลเกล้าถวายทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะแด่
พระราชา และให้แก่ชีวกโกมารภัจ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ

๒๐๖. เสฏฐิปุตตวัตถุ
ว่าด้วยบุตรเศรษฐี

เรื่องรักษาโรคเนื้องอกในลำไส้
[๓๓๓] สมัยนั้น บุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสีกำลังเล่นตีลังกา เกิดป่วยเป็น
โรคลำไส้บิด ข้าวต้มที่เธอดื่มไม่ย่อยไปด้วยดี อาหารที่รับประทานไม่ย่อยไปด้วยดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๖. เสฏฐิปุตตวัตถุ
อุจจาระ ปัสสาวะไม่สะดวก ดังนั้น บุตรเศรษฐีนั้น จึงซูบผอม หมองคล้ำ
ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
ต่อมา เศรษฐีชาวกรุงพาราณสี คิดว่า “บุตรของเราเจ็บป่วยถึงเพียงนี้
ข้าวต้มที่เธอดื่มไม่ย่อยไปด้วยดี อาหารที่รับประทานก็ไม่ย่อยไปด้วยดี อุจจาระ
ปัสสาวะไม่สะดวก ดังนั้น เธอจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
อย่ากระนั้นเลย เราควรไปกรุงราชคฤห์ กราบทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อพระราชา
เพื่อจะได้รักษาบุตรของเรา” แล้วเดินทางไปกรุงราชคฤห์เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธรัฐกราบทูลว่า “ขอเดชะ บุตรของข้าพระองค์เจ็บป่วยขนาดข้าวต้มที่
เธอดื่มไม่ย่อยไปด้วยดี อาหารที่รับประทานก็ไม่ย่อยไปด้วยดี อุจจาระ ปัสสาวะ
ไม่สะดวก ดังนั้น เธอจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง ขอ
ประทานวโรกาสเถิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โปรดรับสั่งนายแพทย์ชีวกเพื่อจะได้
รักษาบุตรของข้าพระองค์ด้วยเถิด”
ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ไปเถิด
ชีวก เจ้าเดินทางไปกรุงพาราณสี จงรักษาบุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เดินทางไปกรุงพาราณสี เข้า
ไปหาบุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี ตรวจดูอาการของเขาแล้วให้คนออกไป ขึงม่าน
มัดไว้กับเสา ให้ภรรยาอยู่ต่อหน้าแล้วผ่าหนังท้อง นำเนื้องอกที่ลำไส้ออกมาแสดง
แก่ภรรยาว่า “เธอจงดูความเจ็บป่วยของสามีเธอ ข้าวต้มที่เธอดื่มจึงไม่ย่อยไปด้วยดี
อาหารที่รับประทานจึงไม่ย่อยไปด้วยดี อุจจาระ ปัสสาวะไม่สะดวก ดังนั้น บุตร
เศรษฐีนี้จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง” แล้วตัดเนื้องอกใน
ลำไส้ออก สอดใส่ลำไส้กลับไว้ตามเดิมแล้วเย็บหนังท้องทายาสมานแผล ต่อมาไม่
นานนัก บุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสีจึงหายป่วยเป็นปกติ
ต่อมาเศรษฐีชาวกรุงพาราณสีคิดว่า “บุตรของเราหายป่วยแล้ว” จึงให้รางวัล
แก่ชีวกโกมารภัจเป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ ชีวกโกมารภัจรับเงินจำนวนนั้นแล้ว
เดินทางกลับกรุงราชคฤห์ตามเดิม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๗. ปัชโชตราชวัตถุ
๒๐๗. ปัชโชตราชวัตถุ
ว่าด้วยพระเจ้าปัชโชต

เรื่องรักษาโรคผอมเหลืองของพระเจ้าปัชโชต
[๓๓๔] สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตในกรุงอุชเชนี ทรงประชวรเป็นโรคผอมเหลือง
นายแพทย์ทิศาปาโมกข์คนสำคัญหลายคนมารักษาก็ไม่อาจทำให้โรคหายได้ ได้เงิน
ไปเป็นจำนวนมาก
สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตทรงส่งทูตไปยังราชสำนักของพระเจ้าพิมพิสารจอม
ทัพมคธรัฐใจความว่า “หม่อมฉันเจ็บป่วยมีอาการอย่างนี้ ขอประทานวโรกาสเถิด
พระองค์โปรดส่งหมอชีวกให้มารักษาหม่อมฉัน”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ไปเถิดชีวก เจ้าเดิน
ทางไปกรุงอุชเชนีจงถวายการรักษาพระเจ้าปัชโชต”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเดินทางไปกรุงอุชเชนี เข้าไปเฝ้า
พระเจ้าปัชโชต ตรวจพระอาการแล้วกราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์จะหุงเนยใส
ให้พระองค์เสวย”
พระเจ้าปัชโชตตรัสห้ามว่า “อย่าเลยชีวก ท่านจงรักษาเราด้วยวิธีที่ไม่ต้องใช้
เนยใสก็หายได้ เพราะเราเกลียดเนยใส”
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจคิดว่า “พระราชานี้ทรงประชวรถึงขนาดนี้ ถ้าไม่มีเนยใส
เราก็ไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายเป็นปกติ เอาละเราควรหุงเนยใสให้มีสี กลิ่น รส
เหมือนน้ำฝาด” แล้วให้หุงเนยใสด้วยยาชนิดต่าง ๆ ทำให้มีสี กลิ่น รสเหมือนน้ำฝาด
สมัยนั้น ชีวกโกมารภัจมีความคิดดังนี้ว่า “เนยใสที่ท้าวเธอเสวยแล้ว เมื่อย่อย
ไปจะทำให้เรอ พระราชาพระองค์นี้ทรงพิโรธก็จะพึงรับสั่งให้ฆ่าเราได้ ทางที่ดีเราควร
กราบทูลลาไว้เสียก่อน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๗. ปัชโชตราชวัตถุ
วันต่อมา ชีวกโกมารภัจจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปัชโชตถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์เป็นหมอ จะเก็บรากไม้ จะรวบรวมยา
โดยกาลชั่วครู่หนึ่ง ในขณะนั้น ๆ๑ ขอประทานวโรกาสเถิด พระองค์โปรดรับสั่ง
เจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและที่เฝ้าประตูว่า หมอชีวกจงเดินทางด้วยยานที่
ต้องการได้ จงออกไปทางประตูที่ต้องการได้ จงเข้าออกได้ในเวลาที่ต้องการ”
พระเจ้าปัชโชตมีรับสั่งเจ้าพนักงานในโรงพาหนะและที่เฝ้าประตูว่า “หมอชีวก
จงเดินทางด้วยยานที่ต้องการได้ จงออกไปทางประตูที่ต้องการได้ จงเข้าออกได้ใน
เวลาที่ต้องการ”
ก็สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตมีช้างพังชื่อภัททวดี เดินทางได้วันละ ๕๐ โยชน์
ชีวกโกมารภัจทูลถวายเนยใสแด่พระเจ้าปัชโชตนั้นกราบทูลว่า “พระองค์โปรด
เสวยน้ำฝาด” เมื่อให้ท้าวเธอเสวยเนยใสแล้วก็ไปที่โรงช้าง ขึ้นช้างภัททวดีหนีออกไป
ครั้งนั้น เนยใสที่ท้าวเธอเสวยกำลังย่อยจึงทำให้ทรงเรอขึ้น ทันใดนั้นพระเจ้า
ปัชโชตจึงรับสั่งคนทั้งหลายว่า “เราถูกหมอชีวกชาติชั่วลวงให้ดื่มเนยใส พวกเจ้าจง
ค้นหามันมาให้ได้”
คนทั้งหลายกราบทูลว่า “หมอชีวกขึ้นช้างภัททวดีหนีออกไปจากกรุงแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตมีทาสชื่อกากะซึ่งอาศัยเกิดกับอมนุษย์ เดินทางได้วัน
ละ ๖๐ โยชน์ จึงรับสั่งว่า “นายกากะ เจ้าจงไปตามหมอชีวกกลับมา โดยบอกว่า
พระราชารับสั่งให้เชิญท่านกลับ ธรรมดาพวกหมอมีเล่ห์เหลี่ยมมาก เจ้าอย่าไปรับ
สิ่งไรของเขานะ”
ครั้นทาสกากะเดินไปทันชีวกโกมารภัจผู้กำลังรับประทานอาหารเช้าในระหว่างทาง
กรุงโกสัมพี จึงบอกว่า “ท่านอาจารย์ พระราชารับสั่งให้เชิญท่านกลับ”

เชิงอรรถ :
๑ แปลมาจากคำว่า ตาทิเสน มุหุตฺเตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๗. ปัชโชตราชวัตถุ
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “กากะ ท่านโปรดรออยู่ชั่วเวลาที่เรารับประทานอาหาร
เชิญท่านมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันเถิด”
ทาสกากะตอบว่า “อย่าเลย ท่านอาจารย์ พระราชารับสั่งว่า ธรรมดาพวก
หมอมีเล่ห์เหลี่ยมมาก อย่าไปรับสิ่งไร ๆ ของเขา”
ขณะนั้น ชีวกโกมารภัจได้แทรกยาทาเล็บ พลางเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำ
แล้วร้องเชิญทาสกากะว่า “เชิญท่านกากะมาเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำด้วยกันเถิด”
ทาสกากะคิดว่า “แพทย์คนนี้กำลังเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำ คงไม่มีโทษ
อะไร” จึงเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำ มะขามป้อมครึ่งผลที่เขาเคี้ยวนั้นได้ระบายท้อง
ให้ถ่ายอุจจาระออกมาในที่นั้นทีเดียว
ต่อมาทาสกากะถามชีวกโกมารภัจว่า “ท่านอาจารย์ ผมจะยังมีชีวิตอยู่หรือ”
ชีวกโกมารภัจตอบว่า “อย่ากลัวไปเลย ท่านไม่มีอันตราย แต่พระราชาทรง
พิโรธก็จะรับสั่งให้ฆ่าเราได้ ดังนั้นเราไม่กลับละ” แล้วมอบช้างภัททวดีให้ทาสกากะ
เดินทางรอนแรมไปจนถึงกรุงราชคฤห์ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
แล้วกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “เจ้าไม่กลับไปก็เป็นการกระทำที่ดี
เพราะพระราชาพระองค์นั้นเหี้ยมโหดพึงสั่งให้ฆ่าเจ้าก็ได้”
เมื่อพระเจ้าปัชโชตทรงหายประชวรจึงทรงส่งราชทูตไปถึงชีวกโกมารภัจว่า “เชิญ
หมอชีวกมา เราจะให้พร”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลตอบไปว่า “อย่าเลย พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ทรง
ระลึกว่าเป็นหน้าที่ของข้าพระองค์”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๙. สมติงสวิเรจนกถา
๒๐๘. สิเวยยกทุสสยุคกถา
ว่าด้วยการพระราชทานผ้าสิไวยกะ ๑ คู่๑
[๓๓๕] สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตได้รับผ้าสิไวยกะ ๑ คู่ เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ
ประเสริฐสุดซึ่งมีชื่อเด่นเยี่ยมกว่าผ้าเป็นอันมาก คู่ผ้าหลายคู่ คู่ผ้าหลายร้อย คู่ผ้า
หลายพัน คู่ผ้าหลายแสน ต่อมาพระเจ้าปัชโชตจึงทรงส่งผ้าสิไวยกะนั้น ๑ คู่ไป
พระราชทานแก่ชีวกโกมารภัจ
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจคิดว่า “พระเจ้าปัชโชตทรงส่งผ้าสิไวยกะ ๑ คู่นี้อันเป็น
ผ้าเนื้อดีเลิศซึ่งมีชื่อเด่นเยี่ยมกว่าผ้าเป็นอันมาก คู่ผ้าหลายคู่ คู่ผ้าตั้งหลายร้อย
คู่ผ้าหลายพัน คู่ผ้าหลายแสน นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐแล้ว ไม่มีใครอื่นเหมาะที่จะใช้คู่ผ้านี้เลย”

๒๐๙. สมติงสวิเรจนกถา
ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย ๓๐ ครั้ง

เรื่องสรงพระกายพระผู้มีพระภาค
[๓๓๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีพระวรกายหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ
พระองค์ได้ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า “อานนท์ ตถาคตมีกายหมักหมม
ด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตประสงค์จะฉันยาถ่าย”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาชีวกโกมารภัจถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้
กล่าวกับชีวกโกมารภัจดังนี้ว่า “ท่านชีวก พระตถาคตมีพระวรกายหมักหมมด้วย
สิ่งอันเป็นโทษ พระตถาคตประสงค์จะฉันพระโอสถถ่าย”

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าสิไวยกะ เป็นผ้าที่ชาวแคว้นอุตตรกุรุใช้ห่อศพไปทิ้งไว้ในป่าช้า พวกนกหัสดีลิงค์คาบซากศพพร้อมทั้ง
ผ้านั้นไปที่ยอดเขาหิมาลัย ดึงผ้าออกแล้วกินซากศพ พวกนายพรานเห็นผ้านั้น จึงนำมาถวายพระเจ้า
ปัชโชต (วิ.อ. ๓/๓๓๕/๒๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๙. สมติงสวิเรจนกถา
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านโปรดทำ
พระวรกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื้นสัก ๒-๓ วัน”
ครั้นท่านพระอานนท์ทำพระวรกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื้น ๒-๓ วันแล้ว
จึงเข้าไปหาชีวกโกมารภัจถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับชีวกโกมารภัจดังนี้ว่า “ท่าน
ชีวก พระวรกายของพระผู้มีพระภาคชุ่มชื้นดี เวลานี้ท่านจงรู้เวลาที่ควร”

เรื่องหมอชีวกทูลถวายพระโอสถถ่าย ๓๐ ครั้ง
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจได้มีความคิดดังนี้ว่า “การที่เราจะทูลถวายพระโอสถ
ถ่ายชนิดหยาบแด่พระผู้มีพระภาคนั้นไม่สมควรเลย อย่ากระนั้นเลย เราพึงอบก้าน
อุบล ๓ ก้านด้วยยาต่าง ๆ แล้วน้อมเข้าไปถวายพระตถาคต” แล้วได้อบก้าน
อุบล ๓ ก้านด้วยยาต่าง ๆ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้น้อมถวายก้านอุบลก้านหนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดดมก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้ วิธีนี้จะทำให้พระผู้มีพระภาค
ทรงถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง” แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาค
กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคจงทรงสูดดมก้านอุบลก้านที่ ๒ นี้
วิธีนี้จะทำให้พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง” แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่
๓ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคจงทรงสูดดม
ก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้ วิธีนี้จะทำให้พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง”
ครั้นชีวกโกมารภัจทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อให้ถ่ายครบ
๓๐ ครั้งแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณกลับไป
เมื่อชีวกโกมารภัจออกไปนอกซุ้มประตู ได้เกิดความคิดดังนี้ว่า “เราทูลถวาย
พระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระตถาคตมีพระวร
กายหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จะไม่ทำพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง (แต่)
ทำพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๙. สมติงสวิเรจนกถา
ทรงถ่ายแล้วจะทรงสรงสนานแล้วจึงจะถ่ายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเป็นดังนั้น พระผู้มีพระ
ภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้งพอดี”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของชีวกโกมารภัจด้วยพระทัย
จึงรับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เวลานี้ ชีวกโกมารภัจออกไปนอกซุ้ม
ประตูได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อให้ถ่าย
ครบ ๓๐ ครั้ง พระตถาคตมีพระวรกายหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จะไม่ทำพระผู้มี
พระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง (แต่) จะทำพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วจะทรงสรงสนาน จักทำพระผู้มี
พระภาคซึ่งทรงสรงสนานแล้วให้ถ่ายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเป็นดังนั้น พระผู้มีพระภาค
จักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้งพอดี’ อานนท์ ถ้าอย่างนั้นเธอจงเตรียมน้ำร้อนไว้”
ท่านพระอานนท์กราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้วจัดเตรียมน้ำร้อนไว้ถวาย
ต่อมา ชีวกโกมารภัจเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า “พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ชีวก เราถ่ายแล้ว”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลว่า “เมื่อข้าพระองค์ออกไปนอกซุ้มประตูคิดว่า ‘เราทูล
ถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระตถาคตมี
พระวรกายหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จะทำพระผู้มีพระภาคให้ไม่ถ่ายครบ ๓๐
ครั้ง (แต่)จะทำพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง พระผู้มีพระภาคทรงถ่าย
แล้วจะทรงสรงสนาน จักทำพระผู้มีพระภาคซึ่งทรงสรงสนานแล้วให้ถ่ายอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเป็นดังนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้งพอดี พระผู้มีพระภาค
โปรดทรงสรงสนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระสุคตโปรดสรงสนานเถิด”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น วิธีนี้ทำพระผู้มีพระภาคซึ่งทรงสรง
สนานแล้วให้ถ่ายอีกครั้งหนึ่งจึงครบ ๓๐ ครั้งพอดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๐. วรยาจนากถา
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคไม่
ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผักต่าง ๆ จนกว่าพระวรกายจะเป็นปกติ”

๒๑๐. วรยาจนากถา
ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจกราบทูลขอพร
[๓๓๗] ต่อมาไม่นานนัก พระผู้มีพระภาคทรงมีพระวรกายเป็นปกติ ครั้งนั้น
ชีวกโกมารภัจจึงถือผ้าสิไวยกะคู่ ๑ นั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าพระองค์ ทูลขอพรอย่างหนึ่งกับพระผู้มีพระภาค
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว ชีวก”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ทูลขอพรที่เหมาะสมและไม่มีโทษ พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จงพูดมาเถิด ชีวก”

เรื่องทรงรับคู่ผ้าสิไวยกะ
ชีวกโกมารภัจกราบทูลว่า “พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ถือผ้าบังสุกุลอยู่เป็น
วัตร ผ้าสิไวยกะคู่นี้เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐสุด มีชื่อเด่นเยี่ยมกว่าคู่ผ้าเป็น
อันมาก หลายร้อย หลายพัน หลายแสนคู่ พระเจ้าปัชโชตทรงส่งมาพระราชทาน
พระองค์โปรดรับผ้าสิไวยกะคู่ ๑ ของข้าพระองค์เถิดพระพุทธเจ้าข้า และโปรด
ทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุสงฆ์”
พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้าสิไวยกะแล้ว
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ชีวกโกมารภัจเห็นชัด ชวนให้อยากรับ
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๐. วรยาจนากถา
ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจ ผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณ
แล้วจากไป

เรื่องทรงอนุญาตคหบดีจีวร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคหบดีจีวร รูปใดปรารถนา
จะถือผ้าบังสุกุลก็ได้ รูปใดปรารถนาจะรับคหบดีจีวรก็ได้ แต่เราสรรเสริญการยินดี
ปัจจัยตามที่ได้”

เรื่องจีวรเกิดขึ้นมากในกรุงราชคฤห์
คนทั้งหลายในกรุงราชคฤห์ทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวร
แก่ภิกษุทั้งหลาย” คนทั้งหลายเหล่านั้นต่างรื่นเริงบันเทิงใจว่า “บัดนี้พวกเราจะ
ถวายทาน จะบำเพ็ญบุญ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย” ชั่วเพียงวันเดียว จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นในกรุงราชคฤห์
ชาวชนบททราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย”
คนทั้งหลายเหล่านั้นต่างรื่นเริงบันเทิงใจว่า “บัดนี้พวกเราจะถวายทาน จะบำเพ็ญ
บุญเพราะพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย” ชั่วเพียงวันเดียว
จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นในชนบท

เรื่องทรงอนุญาตผ้าปาวาร ผ้าไหม และผ้าโกเชาว์
สมัยนั้น ผ้าปาวาร๑ได้เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าปาวาร คือ ผ้าห่มใหญ่ อาจเป็นผ้าฝ้ายมีขน หรือผ้าชนิดอื่นก็ได้ (วิ.อ. ๓/๓๓๗/๒๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๑. กัมพลานุชานนาทิกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปาวาร”
ผ้าปาวารแกมไหมเกิดขึ้นแก่สงฆ์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปาวารแกมไหม”
ผ้าโกเชาว์๑เกิดขึ้นแก่สงฆ์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าโกเชาว์”
ปฐมภาณวาร จบ

๒๑๑. กัมพลานุชานนาทิกถา
ว่าด้วยทรงอนุญาตผ้ากัมพลเป็นต้น

เรื่องผ้ากัมพลราคาครึ่งกาสิยะ
[๓๓๘] สมัยนั้น พระเจ้ากาสีทรงส่งผ้ากัมพลราคาครึ่งกาสิยะ๒ไปพระราชทาน
แก่ชีวกโกมารภัจ ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจรับผ้ากัมพลครึ่งกาสิยะนั้นแล้วเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ
ที่สมควร ชีวกโกมารภัจผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลของข้าพระองค์ผืนนี้ราคาครึ่งกาสิยะ พระเจ้ากาสีพระ
ราชทานมา ขอพระผู้มีพระภาคโปรดรับผ้ากัมพลผืนนี้เพื่อประโยชน์และความสุข
ตลอดกาลนานแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าโกเชาว์ คือ ผ้าทำด้วยขนแพะ ผ้าโกเชาว์ผืนใหญ่ไม่ควร ส่วนผ้าโกเชาว์ปกติทั่วไป ควรอยู่ (วิ.อ. ๓/
๓๓๗/๒๐๘)
๒ ผ้ากัมพล คือ ผ้าทอด้วยขนสัตว์ กาสิยะ หมายถึง ๑,๐๐๐ ผ้ากัมพลราคาครึ่งกาสิยะคือราคา ๕๐๐
(วิ.อ. ๓/๓๓๘/๒๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๑. กัมพลานุชานนาทิกถา
พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้ากัมพลแล้ว ชี้แจงให้ชีวกโกมารภัจเห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น ร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับ
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถา เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ากัมพล”

ทรงอนุญาตคหบดีจีวร ๖ ชนิด
เรื่องผ้าเนื้อดี เนื้อหยาบ
[๓๓๙] สมัยนั้น จีวรทั้งชนิดที่มีเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบได้เกิดขึ้นแก่สงฆ์
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตจีวรอะไรบ้าง
ไม่ทรงอนุญาตจีวรอะไรบ้าง”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวร ๖ ชนิด คือ

๑. โขมะ (ผ้าเปลือกไม้) ๒. กัปปาสิกะ (ผ้าฝ้าย)
๓. โกเสยยะ (ผ้าไหม) ๔. กัมพล (ผ้าขนสัตว์)
๕. สาณะ (ผ้าป่าน) ๖. ภังคะ (ผ้าที่ทำด้วยของผสมกัน)”

[๓๔๐] สมัยนั้น ภิกษุผู้ยินดีคหบดีจีวร พากันรังเกียจไม่ยอมรับผ้าบังสุกุล
เพราะคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตจีวรอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ ๒ ชนิด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๒. ปังสุกูลปริเยสนกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ยินดีคหบดี
จีวรยินดีผ้าบังสุกุลได้ แต่เราสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรทั้งสองชนิดนั้น”

๒๑๒. ปังสุกูลปริเยสนกถา
ว่าด้วยการแสวงหาผ้าบังสุกุล

เรื่องภิกษุรอกันและไม่รอ
[๓๔๑] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล บางพวกแวะเข้า
ป่าช้าเพื่อหาผ้าบังสุกุล บางพวกไม่ยอมรอ ผู้แวะเข้าป่าช้าเพื่อหาผ้าบังสุกุลต่างได้
ผ้าบังสุกุล ผู้ที่ไม่รอพูดว่า “ท่านทั้งหลาย โปรดให้ส่วนแบ่งพวกเราบ้าง”
พวกที่ได้ผ้าบังสุกุลตอบว่า “พวกเราไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน ทำไมท่าน
ไม่รอเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ไม่ต้องการไม่
ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุที่ไม่รอ”
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล บางพวกแวะเข้าป่าช้า
เพื่อหาผ้าบังสุกุล บางพวกรออยู่ ผู้แวะเข้าป่าช้าเพื่อหาผ้าบังสุกุลต่างได้ผ้าบังสุกุล
ผู้ที่รออยู่พูดอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย โปรดให้ส่วนแบ่งพวกเราบ้าง”
พวกที่ได้ผ้าบังสุกุลตอบว่า “พวกเราไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน ทำไมพวก
ท่านไม่แวะไปเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ไม่ต้องการก็
ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุที่รออยู่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๒. ปังสุกูลปริเยสนกถา
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล บางพวกแวะเข้าป่าช้า
เพื่อหาผ้าบังสุกุลก่อน บางพวกแวะเข้าไปทีหลัง ผู้แวะเข้าป่าช้าเพื่อหาผ้าบังสุกุล
ก่อนต่างได้ผ้าบังสุกุล ผู้ที่แวะเข้าไปทีหลังไม่ได้ผ้า จึงพูดว่า “ท่านทั้งหลาย โปรด
ให้ส่วนแบ่งพวกเราบ้าง”
พวกได้ผ้าบังสุกุลตอบว่า “พวกเราไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน ทำไมท่านแวะ
ไปทีหลังเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ไม่ต้องการไม่
ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุที่แวะเข้าไปทีหลัง”
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล พร้อมกันแวะเข้าป่าช้า
เพื่อหาผ้าบังสุกุล บางพวกได้ผ้าบังสุกุล บางพวกไม่ได้ผ้า พวกที่ไม่ได้ผ้า
พูดอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย โปรดให้ส่วนแบ่งพวกเราบ้าง”
พวกได้ผ้าบังสุกุลตอบว่า “พวกเราไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน ทำไมพวก
ท่านหาไม่ได้เล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ไม่ต้องการ
ก็ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุที่แวะเข้าไปพร้อมกัน”
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล นัดกันแวะเข้าป่าช้าเพื่อ
หาผ้าบังสุกุล บางพวกได้ผ้าบังสกุล บางพวกไม่ได้ผ้า พวกที่ไม่ได้ผ้าพูดอย่างนี้ว่า
“ท่านทั้งหลายโปรดให้ส่วนแบ่งพวกเราบ้าง”
พวกได้ผ้าบังสุกุลตอบว่า “พวกเราไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน ทำไมพวก
ท่านหาไม่ได้เล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ไม่ต้องการก็
ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุที่นัดกันแวะเข้าไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๓. จีวรปฏิคคาหกสมัตติกถา
๒๑๓. จีวรปฏิคคาหกสัมมติกถา
ว่าด้วยการแต่งตั้งภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร

เรื่องทายกนำจีวรกลับคืน
[๓๔๒] สมัยนั้น คนทั้งหลายถือจีวรมาสู่อาราม หาภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่รับ
ไม่ได้จึงนำจีวรกลับไป จีวรจึงเกิดแก่ภิกษุน้อย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุผู้มีคุณสมบัติ
๕ อย่างเป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร คือ
๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
๓. ไม่ลำเอียงเพราะหลง ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
๕. รู้จักจีวรที่รับไว้และจีวรที่ยังมิได้รับไว้

วิธีแต่งตั้งและกรรมวาจาแต่งตั้งภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ ในเบื้องต้นต้องขอร้องภิกษุ
จากนั้น ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุ
ชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่
รับจีวร ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร ท่านรูปนั้น
พึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวรแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๓. จีวรปฏิคคาหกสัมมติกถา
ก็สมัยนั้น พวกภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร รับจีวรแล้วทิ้งไว้ในที่นั้นเองแล้ว
หลีกไป จีวรจึงเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุผู้มีคุณสมบัติ
๕ อย่าง เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร คือ
๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
๓. ไม่ลำเอียงเพราะหลง ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
๕. รู้จักจีวรที่เก็บไว้และจีวรที่ยังมิได้เก็บไว้”

วิธีแต่งตั้งและกรรมวาจาแต่งตั้งภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ ในเบื้องต้นต้องขอร้องภิกษุ จากนั้น
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว สงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุ
ชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวรแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๔. ภัณฑาคารสัมมติอาทิกถา
๒๑๔. ภัณฑาคารสัมมติอาทิกถา
ว่าด้วยการสมมติเรือนคลังเป็นต้น

เรื่องสมมติเรือนคลัง
[๓๔๓] สมัยนั้น พวกภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร ได้เก็บจีวรไว้ในมณฑปบ้าง
ที่โคนไม้บ้าง ที่ชายคาบ้าง ที่กลางแจ้งบ้าง จีวรถูกหนูและปลวกกัดกิน
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติเรือนคลังที่สงฆ์
จำนงหวังคือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น หรือถ้ำ

วิธีสมมติและกรรมวาจาสมมติเรือนคลัง
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ คือ ในเบื้องต้นต้องขอร้องภิกษุ จากนั้น
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว สงฆ์พึงสมมติวิหารชื่อนี้
ให้เป็นเรือนคลัง นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นเรือนคลัง ท่าน
รูปใดเห็นด้วยกับการสมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นเรือนคลัง ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด
ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์สมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นเรือนคลังแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น จึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

เรื่องเจ้าหน้าที่รักษาผ้าในเรือนคลัง
สมัยนั้น จีวรในเรือนคลังของสงฆ์ไม่มีผู้ดูแล


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๔. ภัณฑาคารสัมมติอาทิกถา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุผู้มี
คุณสมบัติ ๕ อย่าง เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง คือ
๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
๓. ไม่ลำเอียงเพราะหลง ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
๕. รู้จักจีวรที่รักษาไว้และจีวรที่ยังมิได้รักษาไว้

วิธีสมมติและกรรมวาจาแต่งตั้งภิกษุให้เป็นเจ้าหน้าที่เรือนคลัง
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ ในเบื้องต้นต้องขอร้องภิกษุ จากนั้น
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว สงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้
ให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษา
เรือนคลัง ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง
ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลังแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
เหตุนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

เรื่องทรงห้ามย้ายเจ้าหน้าที่เรือนคลัง
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ย้ายเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่เรือนคลัง
ไม่ควรให้ย้าย ภิกษุใดให้ย้าย ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๔. ภัณฑาคารสัมมติอาทิกถา
เรื่องจีวรเกิดขึ้นมาก
ก็สมัยนั้น ในเรือนคลังของสงฆ์มีจีวรอยู่มาก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ผู้อยู่พร้อมหน้า
แจกจีวรกันได้”

เรื่องส่งเสียงดังขณะแจกจีวร
สมัยนั้น เมื่อสงฆ์ทั้งหมดกำลังแจกจีวร ได้เกิดชุลมุนขึ้น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุผู้มี
คุณสมบัติ ๕ อย่าง เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร คือ
๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
๓. ไม่ลำเอียงเพราะหลง ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
๕. รู้จักจีวรที่แจกและจีวรที่ยังมิได้แจก

วิธีแต่งตั้งและกรรมวาจาแต่งตั้งภิกษุให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ ในเบื้องต้นต้องขอร้องภิกษุ จากนั้น
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบ(ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา)ว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว สงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุ
ชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่
แจกจีวร ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร ท่าน
รูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๔. ภัณฑาคารสัมมติอาทิกถา
สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวรแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

เรื่องวิธีแจกจีวร
สมัยนั้น พวกภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวรได้มีความคิดดังนี้ว่า “ควรแจกจีวร
อย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คัดเลือกผ้าก่อนแล้ว
พิจารณาคิดถัวกัน นับภิกษุแล้วผูกผ้าเป็นมัดตั้งส่วนจีวรไว้”

เรื่องวิธีให้ส่วนแบ่ง
สมัยนั้น พวกภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวรได้มีความคิดดังนี้ว่า “พึงให้ส่วนจีวร
แก่สามเณรอย่างไร”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบแก่สามเณร
ครึ่งส่วน”๑

เรื่องให้แลกส่วนของตน
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งประสงค์จะรีบเดินทางโดยจะรับส่วนของตนไปด้วย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบส่วนของตนแก่
ภิกษุผู้รีบเดินทาง”

เชิงอรรถ :
๑ สามเณร ในที่นี้ หมายเอาสามเณรที่อวดตัวเองว่าเป็นใหญ่ ไม่ช่วยทำกิจที่พึงทำแก่ภิกษุเหล่าอื่นมุ่งแต่
จะเรียนบาลีและอรรถกถา ทำวัตรปฏิบัติแก่อุปัชฌาย์อาจารย์เท่านั้น ไม่ทำแก่คนอื่น สามเณรเหล่านี้
ควรให้ส่วนแบ่งครึ่งเดียว (วิ.อ. ๓/๓๔๓/๒๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๕. จีวรรชนกถา
เรื่องให้ส่วนพิเศษ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งประสงค์จะรีบเดินทางไปกับส่วนพิเศษ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบส่วนพิเศษในเมื่อ
ให้สิ่งทดแทน”

เรื่องวิธีให้ส่วนจีวร
สมัยนั้น ภิกษุเจ้าหน้าที่แจกจีวรได้มีความคิดดังนี้ว่า พึงให้ส่วนจีวร(ส่วนที่
ไม่พอแจก)อย่างไรหนอ คือ จะให้ตามลำดับผู้มาถึงหรือตามลำดับพรรษา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมยอมส่วนที่พร่อง
แล้วจับสลาก”

๒๑๕. จีวรรชนกถา
ว่าด้วยน้ำย้อมจีวร

เรื่องย้อมจีวรด้วยโคมัย
[๓๔๔] สมัยนั้น พวกภิกษุใช้โคมัยบ้าง ดินแดงบ้าง ย้อมจีวร จีวรมีสีคล้ำ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม ๖ ชนิด คือ
น้ำย้อมจากรากไม้ น้ำย้อมจากต้นไม้ น้ำย้อมจากเปลือกไม้ น้ำย้อมจากใบไม้
น้ำย้อมจากดอกไม้ และน้ำย้อมจากผลไม้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๕. จีวรรชนกถา
เรื่องย้อมด้วยน้ำเย็น
สมัยนั้น พวกภิกษุใช้น้ำย้อมที่เย็นย้อมจีวร จีวรมีกลิ่นเหม็นสาบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหม้อย้อมขนาดเล็กไว้
ต้มน้ำย้อม"

เรื่องนำย้อมล้น
น้ำย้อมล้นออก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผูกตะกร้อกันน้ำล้น”

เรื่องไม่รู้ว่าน้ำย้อมเดือดแล้วหรือยังไม่เดือด
สมัยนั้น พวกภิกษุไม่รู้ว่าน้ำย้อมต้มเดือดแล้วหรือยังไม่เดือด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หยดหยาดน้ำลงใน
น้ำหรือบนหลังเล็บ”

เรื่องยกหม้อน้ำย้อมลง
สมัยนั้น พวกภิกษุยกหม้อน้ำย้อมลงทำหม้อกลิ้งตกแตก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกระบวยตักน้ำย้อม
เป็นภาชนะมีด้าม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๕. จีวรรชนกถา
เรื่องไม่มีภาชนะสำหรับย้อม
สมัยนั้น พวกภิกษุไม่มีภาชนะสำหรับย้อม
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอ่างและหม้อไว้สำหรับ
ย้อม”

เรื่องขยำจีวรในถาดและในบาตร
สมัยนั้น พวกภิกษุขยำจีวรลงในถาดบ้าง ในบาตรบ้าง จีวรปริขาด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรางสำหรับย้อม”

เรื่องตากจีวรบนพื้น
สมัยนั้น พวกภิกษุตากจีวรบนพื้นดิน จีวรเปื้อนฝุ่น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องรองทำด้วยหญ้า”

เรื่องปลวกกัดเครื่องรองทำด้วยหญ้า
เครื่องรองทำด้วยหญ้าถูกปลวกกัด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวจีวรและสายระเดียง”

เรื่องแขวนจีวรพับกลาง
พวกภิกษุแขวนจีวรพับกลาง น้ำย้อมหยดออกจากชายจีวรทั้งสองข้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๕. จีวรรชนกถา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผูกมุมจีวรไว้”

เรื่องชายจีวรชำรุด
ชายจีวรชำรุด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตด้ายผูกมุมจีวร”

เรื่องน้ำย้อมหยดออกจากชายข้างเดียว
น้ำย้อมหยดออกจากชายข้างเดียว
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ย้อมจีวร พลิกกลับ
ไปกลับมาแต่เมื่อหยาดน้ำยังหยดไม่ขาดสาย อย่าเพิ่งหลีกไป”

เรื่องจีวรแข็ง
สมัยนั้น จีวรกลายเป็นผ้าเนื้อแข็ง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จุ่มลงในน้ำ”

เรื่องจีวรหยาบกระด้าง
สมัยนั้น จีวรเป็นผ้าหยาบกระด้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทุบด้วยฝ่ามือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๖. ฉินทกจีวรานุชานนา
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัดที่ย้อมน้ำฝาดมีสีเหมือนงาช้าง
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด ภิกษุใด
ใช้ต้องอาบัติทุกกฏ”

๒๑๖. ฉินทกจีวรานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตจีวรตัด

เรื่องตัดจีวรตามแบบคันนา
[๓๔๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทักขิณาคิรีชนบท ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ
ซึ่งเขาพูนดินเป็นคันนาสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง
คั่นระหว่างด้วยคันนาสั้น ๆ เชื่อมกันเหมือนทางสี่แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนาตัดผ่านกัน
รับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธซึ่งเขาพูนดินเป็น
คันนาสี่เหลี่ยม ยาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง คั่นระหว่างด้วยคันนาสั้น ๆ เชื่อมกัน
เหมือนทางสี่แพร่ง หรือ”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอสามารถทำจีวรของภิกษุให้มีรูปอย่างนั้นได้
หรือ”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “สามารถทำได้ พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระอัธยาศัยแล้ว
เสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์อีก ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๖. ฉินทกจีวรานุชานนา
หลายรูป แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลดังนี้ว่า “ขอพระองค์โปรดทอด
พระเนตรจีวรที่ข้าพระองค์จัดทำแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”

ตรัสสรรเสริญพระอานนท์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับ
สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิต ภิกษุทั้งหลาย อานนท์
มีปัญญามาก ที่เข้าใจความหมายที่เรากล่าวย่อ ๆ ได้อย่างพิสดาร เธอทำผ้ากุสิบ้าง
ทำผ้าอัฑฒกุสิบ้าง ทำผ้ามณฑลบ้าง ทำผ้าอัฑฒมณฑลบ้าง ทำผ้าวิวัฏฏะบ้าง
ทำผ้าอนุวิวัฏฏะบ้าง ทำผ้าคีเวยยกะบ้าง ทำผ้าชังเฆยยกะบ้าง ทำผ้าพาหันตะบ้าง๑
จีวรเป็นผ้าที่ต้องตัด เศร้าหมองเพราะศัสตรา เหมาะแก่สมณะ และพวกโจรไม่
ต้องการ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสังฆาฏิตัด อุตตราสงค์ตัด และอันตรวาสกตัด

เชิงอรรถ :
๑ ผ้ากุสิ คือ ผ้ายาวที่ติดขอบจีวรทั้งด้านยาวและด้านกว้าง (อนุวาต)
ผ้าอัฑฒกุสิ คือ ผ้าสั้นที่แทรกอยู่เป็นตอน ๆ ในระหว่างผ้ายาว
ผ้ามณฑล คือ ผ้ามีบริเวณกว้างใหญ่ในแต่ละตอนของจีวร ๕ ตอน (จีวร ๕ ขัณฑ์)
ผ้าอัฑฒมณฑล คือ ผ้ามีบริเวณเล็ก ๆ
ผ้าวิวัฏฏะ คือ ตอน (ขัณฑ์) ของผ้าที่อยู่ตรงกลางซึ่งเย็บผ้ามณฑลและอัฑฒมณฑลเข้าด้วยกัน
ผ้าอนุวิวัฏฏะ คือ ผ้า ๒ ตอน (ขัณฑ์) ที่อยู่ ๒ ด้านของจีวร
ผ้าคีเวยยกะ คือ ผ้าที่เอาด้ายเย็บเล็มทาบเข้ามาทีหลังเพื่อทำให้แน่นหนา บริเวณที่พันรอบคอ
ผ้าชังเฆยยกะ คือ ผ้าที่เอาด้ายเย็บทาบเข้าทีหลัง บริเวณที่ปิดแข้ง
ผ้าพาหันตะ คือ ผ้าทั้ง ๒ ด้าน (ของจีวร) ที่ภิกษุเมื่อห่มจีวรขนาดพอดี จะม้วนมาพาดไว้บนแขน
หันหน้าออกด้านนอก (วิ.อ. ๓/๓๔๕/๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๗. ติจีวรานุชานนา
๒๑๗. ติจีวรานุชานนา
ว่าด้วยการอนุญาตไตรจีวร

เรื่องทอดพระเนตรเห็นภิกษุแบกห่อจีวร
[๓๔๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปกรุงเวสาลี พระผู้มีพระภาคทรงดำเนินทางไกลระหว่าง
กรุงราชคฤห์ต่อกับกรุงเวสาลี ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้จำนวน
มากหอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกไว้บนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า
บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอวเดินมา ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้มี
พระดำริว่า “โมฆบุรุษเหล่านี้หมกมุ่นเพื่อความมักมากในจีวรเหลือเกิน อย่ากระนั้นเลย
เราควรกำหนดเขตแดน เราควรกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย” แล้ว
เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่โคตมกเจดีย์
สมัยนั้น เป็นยามค่ำคืนที่หนาวเหน็บในฤดูหนาวอยู่ในช่วงเดือน ๓ เดือน ๔
พระผู้มีพระภาคทรงห่มจีวรผืนเดียว ประทับนั่งอยู่กลางแจ้งตลอดราตรีขณะที่น้ำค้างตก
แต่ไม่ทรงหนาว เมื่อปฐมยามผ่านไปทรงรู้สึกหนาว ทรงห่มจีวรผืนที่ ๒ จึงไม่ทรง
หนาว เมื่อมัชฌิมยามผ่านไป ทรงรู้สึกหนาว ทรงห่มจีวรผืนที่ ๓ จึงไม่ทรงหนาว
เมื่อปัจฉิมยามผ่านไป ยามรุ่งอรุณแห่งราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ทรง
รู้สึกหนาว ทรงห่มจีวรผืนที่ ๔ จึงไม่ทรงหนาว แล้วทรงพระดำริว่า “กุลบุตรในธรรม
วินัยนี้ที่เป็นคนมีปกติหนาว กลัวความหนาว อาจครองชีพอยู่ได้ด้วยผ้า ๓ ผืน
อย่ากระนั้นเลย เราควรกำหนดเขตแดน ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องผ้า เราควร
อนุญาตผ้า ๓ ผืนแก่ภิกษุทั้งหลาย”

เรื่องทรงอนุญาตไตรจีวร
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราเดินทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๘. อติเรกจีวรกถา
กรุงเวสาลีต่อกัน ได้เห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้จำนวนมากหอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูน
ห่อผ้าที่พับดังฟูกไว้บนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอวเดินมา
ครั้นเห็นแล้ว เราได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘โมฆบุรุษเหล่านี้หมกมุ่นเพื่อความมักมากใน
จีวรเหลือเกิน อย่ากระนั้นเลย เราควรกำหนดเขตแดน เราควรกำหนดกฏเกณฑ์ใน
เรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย’ ต่อมา ในยามค่ำคืนที่หนาวเหน็บในฤดูหนาวอยู่ในช่วง
เดือน ๓ เดือน ๔ เราครองจีวรผืนเดียวนั่งอยู่กลางแจ้งตลอดราตรีขณะที่น้ำค้างตก
แต่ยังไม่รู้สึกหนาว เมื่อปฐมยามผ่านไป รู้สึกหนาว ห่มจีวรผืนที่ ๒ จึงไม่หนาว
เมื่อมัชฌิมยามผ่านไป รู้สึกหนาว ห่มจีวรผืนที่ ๓ จึงไม่หนาว เมื่อปัจฉิมยามผ่านไป
ยามรุ่งอรุณแห่งราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น รู้สึกหนาว ห่มจีวรผืนที่ ๔
จึงไม่หนาว ภิกษุทั้งหลาย เราเองได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ที่เป็น
คนมีปกติหนาว กลัวความหนาว อาจครองชีพอยู่ได้ด้วยผ้า ๓ ผืน อย่ากระนั้น
เลย เราควรกำหนดเขตแดน เราควรกำหนดกฏเกณฑ์ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย
เราควรอนุญาตผ้า ๓ ผืน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไตรจีวร คือ สังฆาฏิ ๒ ชั้น
อุตตราสงค์ชั้นเดียว อันตรวาสกชั้นเดียว”

๒๑๘. อติเรกจีวรกถา
ว่าด้วยอติเรกจีวร

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ทรงอติเรกจีวรชุดอื่นเข้าบ้าน
[๓๔๗] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต
ไตรจีวรแล้ว” จึงใช้ไตรจีวรชุดหนึ่งเข้าบ้าน ใช้ไตรจีวรอีกชุดหนึ่งอยู่ในอาราม
ใช้ไตรจีวรอีกชุดหนึ่งลงสรงน้ำ บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงทรงอติเรกจีวรเล่า” แล้วนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๘. อติเรกจีวรกถา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงอติเรกจีวร ภิกษุใดทรง พึงปรับอาบัติตามธรรม”
สมัยนั้น อติเรกจีวรเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ต้องการจะ
ถวายอติเรกจีวรนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่เมืองสาเกต ทีนั้น
ท่านพระอานนท์ ได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า
‘ภิกษุไม่พึงทรงอติเรกจีวร’ ก็อติเรกจีวรนี้เกิดขึ้นแก่เรา เราต้องการจะถวายท่าน
พระสารีบุตร แต่ท่านอยู่ที่เมืองสาเกต เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ อีกนานเพียงไร สารีบุตรจะกลับมา”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “อีก ๙ วัน หรือ ๑๐ วัน จึงจะกลับมา
พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วัน
เป็นอย่างมาก”

เรื่องอติเรกจีวรเกิดขึ้น
สมัยนั้น อติเรกจีวรเกิดขึ้นแก่พวกภิกษุ ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “พวกเราจะปฏิบัติในอติเรกจีวรอย่างไร” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปอติเรกจีวร”

เรื่องทรงอนุญาตผ้าปะเมื่ออันตรวาสกขาดทะลุ
[๓๔๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัย
แล้วเสด็จจาริกไปทางกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงพาราณสี
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
ครั้งนั้น อันตรวาสกของภิกษุรูปหนึ่งขาดทะลุ ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตผ้า ๓ ผืน คือ สังฆาฏิ ๒ ชั้น อุตตราสงค์ชั้นเดียว
อันตรวาสกชั้นเดียว ก็อันตรวาสกของเราผืนนี้ขาดทะลุ อย่ากระนั้นเลย เราควร
ทาบผ้าปะ บริเวณโดยรอบจะเป็น ๒ ชั้น ตรงกลางเป็นชั้นเดียว” จึงได้ทาบผ้าปะ
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นกำลังทาบ
ผ้าปะจึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า “เธอทำอะไรภิกษุ”
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ข้าพระองค์กำลังทาบผ้าปะ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ดีแล้วที่เธอทาบผ้าปะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สำหรับผ้าใหม่และผ้าเทียมผ้าใหม่ เรา
อนุญาตสังฆาฏิ ๒ ชั้น อุตตราสงค์ชั้นเดียว อันตรวาสกชั้นเดียว สำหรับผ้าที่เก็บไว้
ค้างฤดูเราอนุญาตสังฆาฏิ ๔ ชั้น อุตตราสงค์ ๒ ชั้น อันตรวาสกชั้นเดียว
ภิกษุพึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลได้ตามต้องการหรือในผ้าที่เก็บมาจากร้านตลาด ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปะ การชุน รังดุม ลูกดุม การทำให้แน่น”

๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
ว่าด้วยนางวิสาขากราบทูลขอพร

เรื่องฝนตกพร้อมกัน ๔ ทวีป
[๓๔๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสีตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุง
สาวัตถีแล้ว ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี ในกรุงสาวัตถีนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว
นั่งอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมาตาเห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น นางวิสาขามิคารมาตาผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาค
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของหม่อมฉัน เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุก
จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
ครั้นผ่านราตรีนั้น เมฆฝนใหญ่ตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้ง ๔ ตกลงมาอย่างหนัก๑
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ฝนตกใน
เชตวันฉันใด ตกในทวีปทั้ง ๔ ก็ฉันนั้น พวกเธอจงสรงสนานกายด้วยน้ำฝนเถิด
นี้เป็นเมฆฝนใหญ่ครั้งสุดท้ายที่ตั้งเค้าขึ้นตก (พร้อมกัน) ในทวีปทั้ง ๔”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พากันเอาจีวรวางไว้ สรงสนาน
กายด้วยน้ำฝน ลำดับนั้น นางวิสาขามิคารมาตาสั่งให้คนเตรียมของเคี้ยวของฉันอัน
ประณีตแล้วสั่งสาวใช้ว่า “ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปสู่อารามแล้วบอกภัตกาลว่า ถึงเวลา
แล้ว ท่านเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ ทวีปทั้ง ๔ ได้แก่
๑. ชมพูทวีป ๒. อมรโคยานทวีป
๓. อุตตรกุรุทวีป ๔. ปุพพวิเทหทวีป (องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๑/๓๐๖-๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
นางทาสีรับคำแล้วไปสู่อาราม เห็นพวกภิกษุเอาจีวรวางไว้ สรงสนานกายด้วย
น้ำฝนอยู่คิดว่า “ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกายด้วยน้ำ
ฝน”๑ จึงกลับไปหานางวิสาขามิคารมาตา ได้กล่าวดังนี้ว่า “แม่เจ้า ไม่มีภิกษุอยู่
ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกายด้วยน้ำฝน”
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาผู้เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา ได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “พวกพระคุณเจ้าคงเอาจีวรวางไว้สรงสนานกายด้วยน้ำฝนเป็นแน่
นางทาสีคนนี้เป็นคนเขลา จึงเข้าใจว่า ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลัง
สนานกายด้วยน้ำฝน” จึงสั่งสาวใช้ว่า “ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปที่อารามแล้วบอก
เวลาว่า ถึงเวลาแล้ว ท่านเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้นชำระร่างกายจนหนาวแล้วนุ่งผ้าเรียบร้อย ต่างถือจีวร
เข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิม นางทาสีนั้นไปสู่อารามไม่พบพวกภิกษุเข้าใจว่า “ไม่มีภิกษุใน
อาราม อารามว่างเปล่า” จึงกลับไปหานางวิสาขามิคารมาตา ได้กล่าวดังนี้ว่า
“แม่เจ้า ไม่มีภิกษุในอาราม อารามว่างเปล่า”
ลำดับนั้น นางวิสาขามิคารมาตา ผู้เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา ได้
มีความคิดดังนี้ว่า “พวกพระคุณเจ้าคงจะชำระร่างกายจนหนาวแล้วนุ่งผ้าเรียบร้อย
ต่างถือจีวรเข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิม นางทาสีคนนี้เป็นคนเขลาจึงเข้าใจว่า ไม่มีภิกษุใน
อาราม อารามว่างเปล่า” จึงสั่งสาวใช้อีกว่า “ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปที่อารามแล้ว
บอกภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ท่านเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
[๓๕๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า “พวก
เธอจงเตรียมบาตรและจีวร ถึงเวลาภัตตาหารแล้ว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จ
หายไปในพระเชตวัน มาปรากฏที่ซุ้มประตูบ้านนางวิสาขามิคารมาตา เปรียบเหมือน

เชิงอรรถ :
๑ อาชีวก เป็นชื่อเรียกพวกนักบวชเปลือย (วิ.อ. ๓/๑๑๐/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
คนมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่เขา
ปูไว้พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตารื่นเริงบันเทิงใจว่า “น่าอัศจรรย์จริง ผู้เจริญ
ทั้งหลาย ไม่เคยปรากฏ ผู้เจริญทั้งหลาย พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมี
อานุภาพมาก เมื่อห้วงน้ำไหลนองไปแค่เข่าบ้าง เมื่อห้วงน้ำไหลนองไปแค่สะเอว
บ้าง เท้าหรือจีวรของภิกษุสักรูปเดียวก็ไม่เปียกน้ำเลย” จึงได้ประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือตนเอง กระทั่ง
พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตร นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
กราบทูลว่า “หม่อมฉันกราบทูลขอพร ๘ ประการ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว วิสาขา”
นางวิสาขากราบทูลว่า “หม่อมฉันทูลขอพรที่เหมาะสมและไม่มีโทษ พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จงพูดมาเถิด วิสาขา”

เรื่องนางวิสาขาขอพรเพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนเป็นต้น
นางวิสาขามิคารมาตากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันประสงค์
จะถวายผ้าวัสสิกสาฎก ถวายอาคันตุกภัต ถวายคมิกภัต ถวายคิลานภัต ถวาย
คิลานุปัฏฐากภัต ถวายคิลานเภสัช ถวายธุวยาคู๑แก่พระสงฆ์ และถวายผ้า
อาบน้ำแก่ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีวิต”

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าวัสสิกสาฎก คือ ผ้าอาบน้ำฝน
อาคันตุกภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุที่มาขอพักอาศัย ไม่ใช่อยู่ประจำ
คมิกภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุที่เตรียมจะเดินทางไป
คิลานภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุไข้
คิลานุปัฏฐากภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้
คิลานเภสัช คือ เภสัชสำหรับภิกษุไข้
ธุวยาคู คือ ข้าวต้มที่ถวายเป็นประจำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอเห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงขอพร ๘
ประการกับตถาคต”
นางวิสาขามิคารมาตากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า วันนี้หม่อมฉันสั่งสาวใช้
ไปว่า ‘ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปสู่อารามแล้วบอกเวลาว่า ‘ได้เวลาแล้ว ท่านเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว’ ครั้นนางไปสู่อารามได้เห็นภิกษุเอาจีวรวางไว้ สรงสนานกาย
ด้วยน้ำฝนอยู่จึงเข้าใจว่า ‘ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกาย
ด้วยน้ำฝน’ จึงกลับเข้ามาหาหม่อมฉันบอกดังนี้ว่า ‘แม่เจ้า ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม
มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกายด้วยน้ำฝน”
๑. การเปลือยกายไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายผ้าวัสสิกสาฎกแก่พระสงฆ์จน
ตลอดชีวิต
๒. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง ไม่รู้จักที่โคจร
บิณฑบาตลำบาก ภิกษุอาคันตุกะนั้นฉันอาคันตุกภัตของหม่อมฉัน
แล้ว พอชำนาญทาง รู้จักที่โคจร จะเที่ยวบิณฑบาตได้ไม่ลำบาก
หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายอาคันตุกภัตแก่
พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๓. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้เตรียมตัวจะเดินทาง มัวแสวงหาภัตตาหาร
เพื่อตนอยู่ จะพลาดจากหมู่เกวียน หรือถึงที่ที่ตนจะไปอยู่เมื่อ
พลบค่ำ จะเดินทางลำบาก ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทางนั้นฉัน
คมิกภัตของหม่อมฉันแล้วจะไม่พลาดจากหมู่เกวียน หรือไม่ถึงที่ที่
ตนจะไปอยู่ทันเวลา จะได้เดินทางไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายคมิกภัตแก่พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๔. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุไข้ไม่ได้โภชนาหารที่เป็นสัปปายะ อาพาธ
จะกำเริบหรือจะถึงมรณภาพได้ ภิกษุไข้นั้นฉันคิลานภัตของหม่อม
ฉันแล้ว อาพาธจะทุเลาหรือไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็น
อำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายคิลานภัตแก่พระสงฆ์จน
ตลอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
๕. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้มัวแสวงหาภัตตาหารเพื่อ
ตนเอง จะนำภัตตาหารไปถวายภิกษุไข้ในเมื่อเวลาสาย ตนเองจะ
อดอาหาร ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้นั้นได้ฉันคิลานุปัฏฐากภัตของ
หม่อมฉันแล้ว จะนำภัตตาหารไปถวายภิกษุไข้ได้ทันเวลา ตนเองก็
ไม่อดอาหาร หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวาย
คิลานุปัฏฐากภัตแก่พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๖. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุไข้ไม่ได้เภสัชที่เป็นสัปปายะ อาพาธจะ
กำเริบ หรือถึงมรณภาพได้ ภิกษุไข้นั้นฉันคิลานเภสัชของหม่อมฉัน
แล้ว อาพาธจะทุเลาหรือไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายคิลานเภสัชแก่พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๗. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอานิสงส์ ๑๐ ประการ
จึงได้ทรงอนุญาตข้าวต้มไว้ที่เมืองอันธกวินทะ หม่อมฉันเห็น
อำนาจอานิสงส์เหล่านั้น จึงปรารถนาถวายข้าวต้มเป็นประจำแก่
พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๘. พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุณีทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เปลือยกายอาบน้ำ
ในแม่น้ำอจิรวดีท่าเดียวกับหญิงแพศยา พวกหญิงแพศยาทั้งหลาย
เย้ยภิกษุณีเหล่านั้นว่า แม่เจ้าทั้งหลาย พวกท่านยังเป็นสาว
จะประพฤติพรหมจรรย์ไปทำไมกัน ธรรมดามนุษย์ควรบริโภคกาม
มิใช่หรือ ต่อเมื่อชรา พวกท่านจึงค่อยประพฤติพรหมจรรย์
เมื่อเป็นอย่างนี้ ชื่อว่าได้หยิบฉวยเอาประโยชน์ทั้ง ๒ แล้ว”
ภิกษุณีเหล่านั้นถูกพวกหญิงแพศยาเย้ยหยันต่างเก้อเขิน พระ
พุทธเจ้าข้า มาตุคาม๑เปลือยกายย่อมไม่งดงาม น่าเกลียด น่าชัง
หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายผ้าอาบน้ำแก่
ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีวิต

เชิงอรรถ :
๑ มาตุคาม คือผู้หญิง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
[๓๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์อะไรจึงขอพร
๘ ประการกับตถาคต”
นางวิสาขามิคารมาตากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายในพระ
ธรรมวินัยนี้จำพรรษาในทิศต่าง ๆ แล้วจะเดินทางมากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มี
พระภาค ภิกษุเหล่านั้นจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามว่า ‘พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุ
ชื่อนี้มรณภาพแล้ว เธอมีคติอย่างไร มีภพหน้าอย่างไร’ พระผู้มีพระภาค
จะทรงพยากรณ์ภิกษุนั้นในโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผล
หม่อมฉันจะเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้วถามว่า ‘พระคุณเจ้ารูปนั้นเคยมากรุงสาวัตถี
ไหมเจ้าข้า’ ถ้าภิกษุเหล่านั้นตอบหม่อมฉันว่า ‘ภิกษุนั้นเคยมากรุงสาวัตถี’ ใน
เรื่องนี้หม่อมฉันจะสันนิษฐานได้ว่า ‘พระคุณเจ้านั้นคงใช้ผ้าวัสสิกสาฎก คงฉัน
อาคันตุกภัต คมิกภัต คิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต คิลานเภสัช หรือธุวยาคู
ของหม่อมฉันเป็นแน่’ เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงบุญกุศลนั้นก็จะเกิดความปลื้มใจ เมื่อ
หม่อมฉันปลื้มใจก็จะเกิดอิ่มใจ เมื่ออิ่มใจ กายจะสงบ หม่อมฉันมีกายสงบ
จะมีความสุข จิตของผู้มีความสุขจะตั้งมั่น หม่อมฉันจะได้อบรมอินทรีย์ พละ และ
โพชฌงค์ หม่อมฉันเห็นอานิสงส์นี้จึงกราบทูลขอพร ๘ ประการกับพระตถาคต
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ วิสาขา เป็นการดีแล้วที่เธอเห็นอานิสงส์
นี้จึงขอพร ๘ ประการกับตถาคต วิสาขา เราอนุญาตพร ๘ ประการแก่เธอ”

คาถาอนุโมทนา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนานางวิสาขามิคารมาตาด้วยพระคาถา
เหล่านี้ว่า
สตรีใดเมื่อให้ข้าวและน้ำก็เบิกบานใจ
มีศีล เป็นสาวิกาของพระสุคต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
ครอบงำความตระหนี่ ให้ทานซึ่งเป็นหนทางสวรรค์
เป็นเครื่องบรรเทาความโศก นำสุขมาให้
สตรีนั้นอาศัยหนทางที่ไม่มีธุลี ไม่มีกิเลสยวนใจ
ย่อมได้กำลังและอายุทิพย์ เธอผู้ประสงค์บุญ มีความสุข
มีพลานามัย ย่อมปลื้มใจในชาวสวรรค์ตลอดกาลนาน
[๓๕๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาต่อนางวิสาขามิคารมาตาด้วย
พระคาถาเหล่านี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะแล้วเสด็จกลับ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าวัสสิกสาฎก อาคันตุกภัต
คมิกภัต คิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต คิลานเภสัช ธุวยาคู และผ้าอาบน้ำ
สำหรับภิกษุณีสงฆ์”
วิสาขาภาณวาร จบ

๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตผ้ารองนั่งเป็นต้น

เรื่องภิกษุนอนหลับขาดสติสัมปชัญญะ
[๓๕๓] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันประณีต จำวัดหลับขาดสติ
สัมปชัญญะ เมื่อพวกเธอจำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ น้ำอสุจิออกมาเพราะความ
ฝัน เสนาสนะ เปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีท่านพระอานนท์ตามเสด็จ เสด็จจาริกไปตาม
เสนาสนะได้ทอดพระเนตรเห็นเสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ จึงตรัสถามท่านพระ
อานนท์ว่า “อานนท์ เสนาสนะนั่นเปรอะเปื้อนอะไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “เวลานี้ ภิกษุฉันอาหารอย่างดี จำวัดหลับขาด
สติสัมปชัญญะ เมื่อพวกภิกษุเหล่านั้นจำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ น้ำอสุจิออกมา
เพราะความฝัน เสนาสนะนี้จึงเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นแหละ อานนท์ อย่างนั้นแหละ อานนท์
เพราะเมื่อภิกษุเหล่านั้นจำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ น้ำอสุจิย่อมออกมาเพราะความ
ฝัน อานนท์ น้ำอสุจิของภิกษุผู้จำวัดหลับมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ ย่อมไม่ออกมา
อานนท์ น้ำอสุจิแม้ของปุถุชนผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม๑ ย่อมไม่ออกมา อานนท์
ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ใช่โอกาสที่น้ำอสุจิของพระอรหันต์จะออกมา”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย วันนี้ เรามีอานนท์เดินตามหลัง เที่ยวจาริกไป
ตามเสนาสนะได้เห็นเสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิจึงถามอานนท์ว่า ‘อานนท์ เสนาสนะ
นั่นเปรอะเปื้อนอะไร’ อานนท์ตอบว่า ‘เวลานี้ ภิกษุฉันอาหารอย่างดี จำวัดหลับ
ขาดสติสัมปชัญญะ เมื่อพวกภิกษุเหล่านั้นจำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ น้ำอสุจิ
ออกมาเพราะความฝัน เสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ’ เรากล่าวรับรองว่า อย่างนั้น
แหละ อานนท์ อย่างนั้นแหละ อานนท์ เพราะเมื่อภิกษุเหล่านั้นจำวัดหลับขาด
สติสัมปชัญญะ อานนท์ น้ำอสุจิย่อมออกมาเพราะความฝัน น้ำอสุจิของภิกษุผู้จำ
วัดหลับมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ ย่อมไม่ออกมา อานนท์ น้ำอสุจิแม้ของปุถุชนผู้
ปราศจากความกำหนัดในกามย่อมไม่ออกมา อานนท์ ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่
ใช่โอกาสที่น้ำอสุจิของพระอรหันต์จะออกมา”

นอนหลับขาดสติสัมปชัญญะมีโทษ ๕ อย่าง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่จำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ มีโทษ ๕ อย่าง คือ
๑. หลับเป็นทุกข์ ๒. ตื่นเป็นทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ปุถุชนผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม คือ ผู้มีปกติได้ฌาน (วิ.อ. ๓/๓๕๓/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
๓. เห็นความฝันเลวทราม ๔. เทวดาไม่รักษา
๕. น้ำอสุจิเคลื่อน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่จำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ มีโทษ ๕ อย่างนี้แล

นอนหลับมีสติสัมปชัญญะ มีอานิสงส์ ๕ อย่าง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่จำวัดหลับมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีอานิสงส์ ๕
อย่าง คือ

๑. หลับเป็นสุข ๒. ตื่นเป็นสุข
๓. ไม่เห็นความฝันเลวทราม ๔. เทวดารักษา
๕. น้ำอสุจิไม่เคลื่อน

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่จำวัดหลับมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีอานิสงส์ ๕
อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ารองนั่งเพื่อรักษากาย รักษาจีวร รักษาเสนาสนะ

เรื่องผ้าปูนั่งผืนเล็กเกินไป
สมัยนั้น ผ้ารองนั่งมีขนาดเล็กเกินไป ป้องกันเสนาสนะได้ไม่หมด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำผ้าปูนอนใหญ่ได้
ตามที่ภิกษุต้องการ”

เรื่องฝีดาษ
[๓๕๔] สมัยนั้น ท่านพระเพลัฏฐสีสะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพระอานนท์
อาพาธเป็นโรคฝีดาษ ผ้านุ่งห่มเกรอะกรังติดตัวเพราะน้ำเหลือง พวกภิกษุเอาน้ำ
ชุบผ้าเหล่านั้นแล้วค่อย ๆ ดึงออกมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น
กำลังเอาน้ำชุบผ้าแล้วค่อย ๆ ดึงออก จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้อาพาธเป็นโรคอะไร”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “อาพาธเป็นโรคฝีดาษ ผ้านุ่งห่มเกรอะกรังที่ตัวเพราะ
น้ำเหลือง พวกข้าพระองค์เอาน้ำชุบผ้าเหล่านั้นแล้วค่อย ๆ ดึงออก พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปิดฝีแก่ภิกษุอาพาธที่เป็นหิด
ตุ่มพุพองหรือฝีดาษ”

เรื่องทรงอนุญาตผ้าเช็ดปาก
[๓๕๕] ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาถือผ้าเช็ดปาก เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคโปรดรับผ้าเช็ดปากของหม่อมฉัน เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุขตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้าเช็ดปากแล้วทรงชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมาตาเห็นชัด
ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา จึงได้ลุกจากอาสนะ ทำประทักษิณแล้วจากไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าเช็ดปาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
เรื่องทรงอนุญาตให้ถือวิสาสะผ้าเปลือกไม้
[๓๕๖] สมัยนั้น มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะ เป็นสหายของท่านพระอานนท์
มัลลกษัตริย์โรชะนั้นฝากผ้าเปลือกไม้เก่าไว้กับท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์
เองก็มีความต้องการผ้าเปลือกไม้เก่า
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผู้ประกอบด้วย
คุณสมบัติ ๕ อย่างถือวิสาสะได้ คือ
๑. เคยเห็นกันมา ๒. เคยคบกันมา
๓. เคยบอกอนุญาตไว้ ๔. เขายังมีชีวิตอยู่
๕. รู้ว่า “เมื่อเราถือเอาแล้ว เขา(ผู้เป็นเจ้าของ)จะพอใจ”
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่างนี้ถือวิสาสะ
กันได้”

เรื่องไตรจีวรบริบูรณ์
[๓๕๗] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีไตรจีวรบริบูรณ์ แต่ยังต้องการผ้ากรอง
น้ำบ้าง ถุงบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าบริขาร”

๒๒๑. ปัจฉิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
ว่าด้วยผ้าที่ต้องวิกัปเป็นอย่างต่ำเป็นต้น

เรื่องอธิษฐาน
[๓๕๘] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ผ้าที่พระผู้มีพระภาค
ทรงอนุญาต คือไตรจีวร ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ผ้าปิดฝี ผ้าเช็ดปาก
หรือผ้าบริขาร ต้องอธิษฐานทั้งหมดหรือ หรือว่าต้องวิกัป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อธิษฐานผ้าไตรจีวร
ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิษฐาน ผ้าอาบน้ำฝนตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน พ้นเขตนั้นให้วิกัปไว้
ให้อธิษฐานผ้าปูนั่ง ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิษฐานผ้าปูนอน ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิฐานผ้า
ปิดฝีตลอดเวลาที่อาพาธ พ้นจากนั้นให้วิกัปไว้ ให้อธิษฐานผ้าเช็ดปาก ไม่ใช่ให้วิกัป
ให้อธิษฐานผ้าบริขาร ไม่ใช่ให้วิกัป”

เรื่องจีวรมีขนาดเพียงไรจึงต้องวิกัป
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “จีวรมีขนาดเพียงไรเป็นอย่างต่ำ
พึงวิกัป”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปจีวรมีขนาดยาว
๘ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว โดยนิ้วสุคตเป็นอย่างต่ำ”

เรื่องอุตตราสงค์ที่ทำจากผ้าบังสุกุลหนัก
[๓๕๙] สมัยนั้น อุตตราสงค์ที่ทำจากผ้าบังสุกุลของท่านพระมหากัสสปะหนัก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เย็บดามด้วยด้าย”

เรื่องชายสังฆาฏิไม่เสมอกัน
สังฆาฏิมีชายไม่เสมอกัน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อชายที่ไม่เท่ากัน
ออก”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
เรื่องด้ายหลุดลุ่ย
ด้ายหลุดลุ่ย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ติดผ้าอนุวาตหุ้มขอบ”

เรื่องแผ่นสังฆาฏิลุ่ยออก
สมัยนั้น แผ่นสังฆาฏิลุ่ยออก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เย็บตะเข็บดังตา
หมากรุก”

เรื่องผ้าไม่พอ
[๓๖๐] สมัยนั้น เมื่อสงฆ์กำลังทำไตรจีวรให้ภิกษุรูปหนึ่ง ผ้าตัดทั้งหมดไม่พอ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าที่ต้องตัด ๒ ผืน
ไม่ตัด ๑ ผืน”
ผ้าที่ตัด ๒ ผืน ที่ไม่ตัด ๑ ผืน ผ้าก็ยังไม่พอ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าที่ไม่ตัด ๒ ผืน
ตัด ๑ ผืน”

เรื่องผ้าเพลาะ
ผ้าที่ไม่ตัด ๒ ผืน ที่ตัด ๑ ผืน ผ้าก็ยังไม่พอ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ติดผ้าเพลาะ ภิกษุ
ทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุไม่พึงใช้ผ้าที่ไม่ได้ตัดทั้งหมด รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
ทรงอนุญาตให้ให้ผ้าแก่โยมมารดาบิดาได้
เรื่องจีวรเกิดขึ้นมาก
[๓๖๑] สมัยนั้น จีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุรูปหนึ่งหลายผืน และภิกษุนั้นประสงค์
จะให้ผ้านั้นแก่มารดาบิดา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุให้ด้วยกล่าวว่า ‘เป็น
มารดาบิดา’ เราจะว่าอะไร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ให้แก่มารดาบิดา แต่ภิกษุ
ไม่พึงทำสัทธาไทย(ของที่ให้ด้วยศรัทธา)ให้ตกไป รูปใดทำให้ตกไป ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องเก็บจีวรไว้ในวิหารอันธวัน
[๓๖๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเก็บจีวร(สังฆาฏิ)ไว้ในป่าอันธวัน ครองอุตตรา-
สงค์กับอันตรวาสกเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พวกโจรลักจีวร(สังฆาฏิ)นั้นไป ภิกษุ
นั้นจึงใช้ผ้าเก่า ครองจีวรเศร้าหมอง
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ทำไมท่านจึงใช้ผ้าเก่าครองจีวรเศร้าหมองเล่า”
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมเก็บจีวร(สังฆาฏิ)ไว้ในป่าอันธวันแห่งนี้
แล้วครองอุตตราสงค์กับอันตรวาสกเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พวกโจรลักจีวร(สังฆาฏิ)
นั้นไป เพราะเหตุนั้น ผมจึงใช้ผ้าเก่า ครองจีวรเศร้าหมอง”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีแต่อุตตราสงค์กับอันตรวาสก
ไม่พึงเข้าหมู่บ้าน รูปใดเข้าไป ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องท่านพระอานนท์เผลอสติ
สมัยนั้น ท่านพระอานนท์เผลอสติ ครองอุตตราสงค์กับอันตรวาสกเข้าไป
บิณฑบาตในหมู่บ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
พวกภิกษุได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติห้ามไว้มิใช่หรือว่า ‘ภิกษุมีแต่อุตตราสงค์กับอันตรวาสกไม่พึงเข้าหมู่บ้าน’
ทำไม่ท่านจึงมีเพียงอุตตราสงค์กับอันตรวาสกเข้าหมู่บ้านเล่า”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ใช่ขอรับ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามไว้แล้ว
ว่า ‘ภิกษุมีแต่อุตตราสงค์กับอันตรวาสกไม่พึงเข้าหมู่บ้าน’ แต่ผมเข้าหมู่บ้านเพราะ
เผลอสติ”
ภิกษุทั้งหลายจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บสังฆาฏิ มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นไข้ ๒. เป็นฤดูที่หมายรู้ว่าฝนจะตก๑
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๔. วิหารมีกุญแจคุมแน่นหนา
๕. ได้กรานกฐินแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บสังฆาฏิ มี ๕ อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บอุตตราสงค์ มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นไข้ ๒. เป็นฤดูที่หมายรู้ว่าฝนจะตก
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๔. วิหารมีกุญแจคุมแน่นหนา
๕. ได้กรานกฐินแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บอุตตราสงค์ มี ๕ อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บอันตรวาสก มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นไข้ ๒. สังเกตเห็นว่าฝนจะตก
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๔. วิหารมีกุญแจคุมแน่นหนา
๕. ได้กรานกฐินแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บอันตรวาสกไว้ มี ๕ อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึง อยู่ในช่วงฤดูฝน ๔ เดือน (วิ.อ. ๓/๓๖๒/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๒. สังฆิกจีวรุปปาทกถา
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บผ้าอาบน้ำฝนไว้ มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นไข้ ๒. ไปนอกสีมา
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๔. วิหารมีกุญแจคุมแน่นหนา
๕. ผ้าอาบน้ำฝนยังไม่ได้ทำหรือทำค้างไว้
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บผ้าอาบน้ำฝนไว้ มี ๕ อย่างนี้แล

๒๒๒. สังฆิกจีวรุปปาทกถา
ว่าด้วยการให้จีวรเกิดขึ้นแก่สงฆ์

เรื่องภิกษุรูปเดียวจำพรรษา
[๓๖๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอยู่จำพรรษาผู้เดียว คนทั้งหลายในถิ่นนั้นได้
ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์”
ต่อมา ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
‘ภิกษุมี ๔ รูปเป็นอย่างน้อย ชื่อว่าสงฆ์’ แต่เรามีผู้เดียว และคนเหล่านี้ได้ถวาย
จีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’ อย่ากระนั้นเลย เราพึงนำจีวรของสงฆ์
เหล่านี้ไปกรุงสาวัตถี” แล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปยังกรุงสาวัตถี ได้กราบทูลเรื่องนี้ให้
พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอผู้เดียวจนถึงคราว
เดาะกฐิน ภิกษุทั้งหลาย แต่ในกรณีนี้มีภิกษุจำพรรษารูปเดียว คนทั้งหลายในถิ่น
นั้นได้ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
จีวรเหล่านั้นแก่เธอรูปเดียวจนถึงคราวเดาะกฐิน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๒. สังฆิกจีวรุปปาทกถา
เรื่องภิกษุอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล๑ คนทั้งหลายในถิ่นนั้นได้
ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์”
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
‘ภิกษุมี ๔ รูปเป็นอย่างน้อย ชื่อว่าสงฆ์’ แต่เรามีผู้เดียว และคนเหล่านี้ได้ถวาย
จีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’ อย่ากระนั้นเลย เราพึงนำจีวรของสงฆ์
เหล่านี้ไปกรุงสาวัตถี” แล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปยังกรุงสาวัตถี แล้วบอกเรื่องนั้นแก่
ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์พร้อมใจกันแจกกัน
ภิกษุทั้งหลาย แต่ในกรณีนี้ภิกษุอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล คนทั้งหลายในถิ่น
นั้นได้ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุนั้นอธิษฐานจีวรเหล่านั้นว่า ‘จีวรเหล่านี้เป็น
ของเรา’
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นยังไม่ได้อธิษฐานจีวรนั้น มีภิกษุรูปอื่นมาก็พึง
ให้ส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังแบ่งจีวรนั้น แต่ยังไม่ได้จับสลาก
มีภิกษุรูปอื่นมาก็พึงให้ส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังแบ่งจีวรนั้น และจับสลากเสร็จ
แล้วมีภิกษุรูปอื่นมา ภิกษุเหล่านั้นไม่ต้องการก็ไม่ต้องให้ส่วนแบ่ง”

เชิงอรรถ :
๑ ฤดูกาล ในที่นี้ หมายถึงฤดูกาลอื่นนอกจากฤดูฝน (วิ.อ. ๓/๓๖๓/๒๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๒. สังฆิกจีวรุปปาทกถา
เรื่องพระเถระสองพี่น้อง
สมัยนั้น มีพระเถระสองพี่น้อง คือ ท่านพระอิสิทาสและท่านพระอิสิภัต จำ
พรรษาอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้เดินทางไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง
คนทั้งหลายกล่าวว่า “นาน ๆ พระเถระทั้งหลายจะมา” จึงได้ถวายภัตตาหาร
พร้อมด้วยจีวร
ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ประจำในอาวาสถามพระเถระทั้งสองว่า “ท่านขอรับ จีวร
ของสงฆ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยพระเถระ พระเถระจะยินดีส่วนแบ่งไหม”
พระเถระทั้งสองกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกเรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านเท่านั้นจนถึงคราว
เดาะกฐิน”

เรื่องภิกษุ ๓ รูปจำพรรษาในกรุงราชคฤห์
สมัยนั้น ภิกษุ ๓ รูปจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ คนทั้งหลายในถิ่นนั้น
ได้ถวายจีวรโดยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
‘ภิกษุมี ๔ รูปเป็นอย่างน้อย ชื่อว่าสงฆ์’ แต่พวกเรามีอยู่ ๓ รูป และคนเหล่านี้
ได้ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’ พวกเราจะปฏิบัติอย่างไรหนอ”
สมัยนั้น พระเถระหลายรูป คือ ท่านพระนีลวาสี ท่านพระสาณวาสี ท่าน
พระโคปกะ ท่านพระภคุ และท่านพระผลิกสันทานะอยู่ในกุกกุฏาราม เขตกรุง
ปาตลีบุตร
ภิกษุ ๓ รูปนั้นได้เดินทางไปกรุงปาตลีบุตรแล้วสอบถามพระเถระทั้งหลาย
พระเถระทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกเรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านเท่านั้นจนถึงคราว
เดาะกฐิน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๓. อุปนันทสักยปุตตวัตถุ
๒๒๓. อุปนันทสักยปุตตวัตถุ
ว่าด้วยพระอุปนันทศากยบุตร

เรื่องพระอุปนันทะจำพรรษาแล้วไปอาวาสใกล้บ้าน
[๓๖๔] สมัยนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจำพรรษาอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้
เดินทางไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลายในอาวาสนั้น ประสงค์จะแบ่งจีวร จึงประชุมกันกล่าวอย่างนี้ว่า
“ท่าน พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม”
ท่านพระอุปนันทะตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย” ได้รับ
ส่วนจีวรจากอาวาสนั้นแล้วเดินทางไปอาวาสอื่น แม้พวกภิกษุในอาวาสอื่นนั้นก็
ประสงค์จะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน แม้พวกภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน
พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม”
ท่านพระอุปนันทะตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย” ได้รับ
ส่วนจีวรจากอาวาสนั้น ถือจีวรห่อใหญ่เดินทางกลับไปกรุงสาวัตถีตามเดิม
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านอุปนันทะ ท่านเป็นผู้มีบุญมาก จีวรจึง
เกิดขึ้นแก่ท่านเป็นจำนวนมาก”
ท่านพระอุปนันทะกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ผมจะมีบุญมาจากไหนกัน ผม
จำพรรษาอยู่ในกรุงสาวัตถีนี้ ได้เดินทางไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง พวกภิกษุใน
อาวาสนั้นประสงค์จะแบ่งจีวรจึงได้ประชุมกัน พวกภิกษุเหล่านั้นกล่าวกับผมอย่างนี้
ว่า ‘ท่าน พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม’ ผมตอบ
ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย’ ได้รับส่วนจีวรจากอาวาสนั้นแล้วเดิน
ทางไปอาวาสอื่น แม้พวกภิกษุในอาวาสอื่นนั้นประสงค์จะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน
แม้พวกภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวกับผมอย่างนี้ว่า ‘ท่าน พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์
เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม’ ผมตอบว่า ‘ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย’ ได้รับ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๓. อุปนันทสักยปุตตวัตถุ
ส่วนจีวรจากอาวาสนั้นแล้วเดินทางไปอาวาสอื่น แม้พวกภิกษุในอาวาสอื่นนั้น
ประสงค์จะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน แม้พวกภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวกับผมอย่างนี้ว่า
‘ท่าน พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม’ ผมตอบว่า
‘ท่านทั้งหลาย ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย’ ได้รับจีวรแม้จากอาวาสนั้น จีวรเป็น
จำนวนมากจึงเกิดขึ้นแก่ผมอย่างนี้”
พวกภิกษุถามว่า “ท่านอุปนันทะ ท่านจำพรรษาในวัดหนึ่งแล้วยังยินดีส่วน
จีวรในวัดอื่นอีกหรือ”
ท่านพระอุปนันทะกล่าวยอมรับตามนั้น
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรจำพรรษาในวัดหนึ่งจึงยินดีส่วนจีวรในวัดอื่นอีกเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ฯลฯ อุปนันทะ ทราบว่าเธอจำพรรษาในวัดหนึ่ง
แล้วยังยินดีส่วนจีวรในวัดอื่นอีก จริงหรือ”
ท่านพระอุปนันทะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจำพรรษา
ในวัดหนึ่งแล้วยังยินดีส่วนจีวรในวัดอื่นอีกเล่า โมฆบุรุษ การทำอย่างนี้มิได้ทำให้คน
ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจำพรรษาในวัดหนึ่งแล้ว ไม่พึงยินดีส่วน
จีวรในวัดอื่นอีก รูปใดยินดี ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องพระอุปนันทะจำพรรษาใน ๒ อาวาส
สมัยนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรรูปเดียวจำพรรษาอยู่ใน ๒ อาวาส
เพราะคิดว่า “ด้วยอุบายนี้ จีวรจะเกิดขึ้นแก่เรามาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “พวกเราจะให้ส่วนแบ่งแก่ท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงให้ตามความประสงค์
ส่วนหนึ่งแก่โมฆบุรุษ ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีที่ภิกษุรูปเดียวจำพรรษาอยู่ใน ๒
อาวาสเพราะคิดว่า ‘ด้วยอุบายนี้จีวรจะเกิดขึ้นแก่เรามาก’ ถ้าภิกษุจำพรรษาใน
อาวาสโน้นกึ่งหนึ่ง ในอาวาสโน้นอีกกึ่งหนึ่ง ก็พึงให้ส่วนจีวรอาวาสละกึ่งหนึ่ง
หรือให้ส่วนจีวรในอาวาสที่เธอจำพรรษามากกว่า”

๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
ว่าด้วยภิกษุไข้

เรื่องภิกษุอาพาธเป็นโรคท้องร่วง
[๓๖๕] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคท้องร่วง ภิกษุนั้นนอนกลิ้ง
เกลือกไปมาบนปัสสาวะและอุจจาระของตนเอง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคมีท่านพระอานนท์ตามเสด็จ เสด็จจาริกไปตาม
เสนาสนะ เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของภิกษุนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นนอน
กลิ้งเกลือกไปมาบนปัสสาวะและอุจจาระของตนเอง จึงเสด็จเข้าไปใกล้แล้ว ได้ตรัส
ดังนี้ว่า “ภิกษุ เธออาพาธเป็นโรคอะไร”
ภิกษุนั้นทูลว่า “ข้าพระองค์อาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอมีภิกษุผู้คอยพยาบาลหรือ”
ภิกษุนั้นทูลว่า “ไม่มี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เหตุใด พวกภิกษุจึงไม่คอยพยาบาลเธอ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
ภิกษุนั้นทูลว่า “เพราะข้าพระองค์ไม่ได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น
พวกภิกษุจึงไม่คอยพยาบาลข้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า “อานนท์ เธอไปตัก
น้ำมา เราจะอาบน้ำให้ภิกษุนี้”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วตักน้ำมาถวาย พระผู้มีพระภาค
ทรงราดน้ำ ท่านพระอานนท์ขัดสี พระผู้มีพระภาคทรงประคองศีรษะขึ้น ท่าน
พระอานนท์ยกเท้าวางบนเตียง
ต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ
ถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวิหารหลังโน้นมีภิกษุเป็นไข้หรือ”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “มี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธออาพาธเป็นโรคอะไร”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “เธออาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุนั้นมีภิกษุผู้คอยพยาบาลหรือ”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “ไม่มี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เหตุใด พวกภิกษุจึงไม่คอยพยาบาลเธอ”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “เพราะเธอไม่ได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น
พวกภิกษุจึงไม่คอยพยาบาลเธอ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดาผู้คอย
พยาบาล ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจะคอยพยาบาล
พวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย ผู้จะพยาบาลเราก็จงพยาบาลภิกษุไข้เถิด ถ้ามีอุปัชฌาย์
อุปัชฌาย์พึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย ถ้ามีอาจารย์
อาจารย์พึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย ถ้ามีสัทธิ
วิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอ
จะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌาย์ ผู้ร่วมอุปัชฌาย์พึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอด
ชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาล
ภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌาย์ อาจารย์
สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ผู้ร่วมอุปัชฌาย์ หรือผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล
ภิกษุไข้นั้น ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องคนไข้ที่พยาบาลได้ยากและพยาบาลได้ง่าย
คนไข้ที่พยาบาลได้ยากมีอาการ ๕ อย่าง
[๓๖๖] ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่มีอาการ ๕ อย่าง พยาบาลได้ยาก คือ
๑. ไม่ทำความสบาย
๒. ไม่รู้ประมาณในความสบาย
๓. ไม่ฉันยา
๔. ไม่บอกอาการไข้ตามเป็นจริงแก่ผู้พยาบาลไข้ที่มุ่งประโยชน์ คือ ไม่
บอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้
ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่
๕. เป็นคนไม่อดทนความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น เป็นทุกข์แสนสาหัส
กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่มีอาการ ๕ อย่างนี้แล พยาบาลได้ยาก

คนไข้ที่พยาบาลได้ง่ายมีอาการ ๕ อย่าง
ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่มีอาการ ๕ อย่าง พยาบาลได้ง่าย คือ
๑. ทำความสบาย
๒. รู้ประมาณในความสบาย
๓. ฉันยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
๔. บอกอาการไข้ตามเป็นจริงแก่ผู้พยาบาลไข้ที่มุ่งประโยชน์ คือ บอก
อาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้ที่
ทรงอยู่ว่าทรงอยู่
๕. เป็นคนอดทนต่อความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น เป็นทุกข์แสนสาหัส
กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่มีอาการ ๕ อย่างนี้แล พยาบาลได้ง่าย

บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรพยาบาลภิกษุไข้
ภิกษุทั้งหลาย ผู้พยาบาลภิกษุไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรพยาบาลคนไข้ คือ
๑. ไม่สามารถจัดยา
๒. ไม่รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือ นำของแสลงเข้าไปให้ นำของไม่
แสลงออกไป
๓. พยาบาลคนไข้เพราะเห็นแก่อามิส ไม่มีจิตเมตตา
๔. รังเกียจที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลายหรือของที่อาเจียนออกมา
ไปเททิ้ง
๕. ไม่สามารถพูดให้คนไข้เห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา เป็น
บางครั้งบางคราว
ภิกษุทั้งหลาย ผู้พยาบาลภิกษุไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ควรพยาบาล
คนไข้

บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรพยาบาลภิกษุไข้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรพยาบาล
ภิกษุไข้ คือ
๑. สามารถจัดยา
๒. รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือ นำของแสลงออกไป นำของไม่แสลง
เข้ามาให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๕. มตสัจตกกถา
๓. ไม่พยาบาลคนไข้เพราะเห็นแก่อามิส มีจิตเมตตา
๔. ไม่รังเกียจที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลายหรือของที่อาเจียนออกมา
ไปเททิ้ง
๕. สามารถพูดให้คนไข้เห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา เป็นบางครั้ง
บางคราว
ภิกษุทั้งหลาย ผู้พยาบาลภิกษุไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ควรพยาบาล
คนไข้

๒๒๕. มตสันตกกถา
ว่าด้วยการให้บริขารของภิกษุมรณภาพแก่ผู้พยาบาลไข้

เรื่องภิกษุและสามเณรเป็นไข้
[๓๖๗] สมัยนั้น ภิกษุ ๒ รูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล เธอทั้ง ๒ เดิน
ทางไปยังอาวาสแห่งหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่งในอาวาสนั้นเป็นไข้
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค
ทรงสรรเสริญการพยาบาลภิกษุไข้ พวกเราจงพยาบาลภิกษุรูปนี้กันเถิด” แล้วพากัน
พยาบาลภิกษุไข้นั้น
เธอได้รับการพยาบาลอยู่ได้มรณภาพลง
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นถือเอาบาตรและจีวรของเธอไปกรุงสาวัตถี แล้วกราบทูล
เรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้าของ
บาตรและจีวรแต่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้เป็นผู้มีอุปการะมาก ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้สงฆ์มอบไตรจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๕. มตสัจตกกถา
วิธีมอบให้ไตรจีวร บาตร และกรรมวาจาสำหรับมอบให้
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้ไตรจีวรและบาตรอย่างนี้ คือ ภิกษุพยาบาลภิกษุ
ไข้นั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ภิกษุชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้
คือไตรจีวรและบาตรของเธอ”
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือไตรจีวรและ
บาตรของเธอ สงฆ์พึงให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือไตรจีวรและ
บาตรของเธอ สงฆ์ให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ ท่านรูปใดเห็น
ด้วยกับการให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์ให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้แล้วสงฆ์เห็นด้วย เพราะ
เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

สามเณรมรณภาพ
[๓๖๘] สมัยนั้น สามเณรรูปหนึ่งมรณภาพ ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสามเณรมรณภาพ สงฆ์เป็น
เจ้าของบาตรและจีวร แต่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้เป็นผู้มีอุปการะมาก ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้สงฆ์มอบจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้”

วิธีมอบจีวรและบาตรให้ และกรรมวาจาสำหรับมอบให้
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้จีวรและบาตรอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้นั้น
พึงเข้าไปหาสงฆ์แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สามเณรชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้
คือจีวรและบาตรของเธอ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๕. มตสัจตกกถา
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือจีวรและ
บาตรของเธอ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณร
ไข้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือจีวรและ
บาตรของเธอ สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณรไข้ ท่านรูปใดเห็น
ด้วยกับการให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณรไข้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน
รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณรไข้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

ภิกษุสามเณรช่วยกันพยาบาลไข้
[๓๖๙] สมัยนั้น ภิกษุและสามเณรช่วยกันพยาบาลภิกษุไข้ เธอได้รับการ
พยาบาลอยู่ได้มรณภาพลง ลำดับนั้น ภิกษุผู้พยาบาลไข้ได้มีความคิดดังนี้ว่า “เรา
พึงให้ส่วนจีวรแก่สามเณรผู้พยาบาลไข้อย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบส่วนจีวรแก่
สามเณรผู้พยาบาลไข้เท่า ๆ กัน”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีเครื่องบริขารมาก มรณภาพลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้า
ของบาตรและจีวร แต่ผู้พยาบาลไข้เป็นผู้มีอุปการะมาก ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้สงฆ์มอบไตรจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ บรรดาสิ่งของเหล่านั้น เราอนุญาต
ให้สงฆ์พร้อมใจกันแบ่งลหุภัณฑ์และลหุบริขาร ส่วนครุภัณฑ์และครุบริขาร เป็นของ
สงฆ์ผู้อยู่ในจตุรทิศทั้งที่เดินทางมาและยังไม่มา เป็นของที่ไม่ควรแจกไม่ควรแบ่ง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๗. กุสจีราทิปฏิกเขปกถา
๒๒๖. นัคคิยปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามเปลือยกาย

เรื่องภิกษุเปลือยกาย
[๓๗๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเปลือยกายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ
ที่ประทับแล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญ
ความมักน้อย สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม
การปรารภความเพียรโดยประการต่าง ๆ การเปลือยกายนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่าเลื่อมใส การไม่
สะสม การปรารภความเพียรโดยประการต่าง ๆ ขอประทานวโรกาส พระผู้มี
พระภาคทรงโปรดอนุญาตการเปลือยกายแก่ภิกษุเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่
สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย
โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้สมาทานการเปลือยกายที่พวกเดียรถีย์ทำกันเล่า โมฆบุรุษ
การทำอย่างนี้มิได้เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรง
ตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง
สมาทานการเปลือยกายที่พวกเดียรถีย์ทำกัน รูปใดสมาทาน ต้องอาบัติถุลลัจจัย”

๒๒๗. กุสจีราทิปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามผ้าคากรองเป็นต้น

เรื่องภิกษุนุ่งผ้าคากรองเป็นต้น
[๓๗๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้าคากรอง ฯลฯ นุ่งผ้าเปลือกไม้ ฯลฯ นุ่ง
ผ้าผลไม้ ฯลฯ นุ่งผ้าทอด้วยผมคน ฯลฯ นุ่งผ้าทอด้วยขนสัตว์ ฯลฯ นุ่งผ้าทอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๗. กุสจีราทิปฏิกเขปกถา
ด้วยขนปีกนกเค้า ฯลฯ นุ่งหนังเสือแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญความมักน้อย ความ
สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ
ความเพียรโดยประการต่าง ๆ หนังเสือนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความมักน้อยความสันโดษ
ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความ
เพียรโดยประการต่าง ๆ ขอประทานวโรกาส พระผู้มีพระภาคทรงโปรดอนุญาตหนังเสือ
แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร
ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉนเธอจึงได้ใช้
หนังเสืออันเป็นสัญลักษณ์ของเดียรถีย์เล่า โมฆบุรุษ การทำอย่างนี้ มิได้เป็นไป
เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังเสืออันเป็นสัญลักษณ์
ของเดียรถีย์ รูปใดใช้ ต้องอาบัติถุลลัจจัย”

เรื่องภิกษุนุ่งผ้าทำด้วยก้านดอกรักเป็นต้น
ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้าทำด้วยก้านดอกรัก ฯลฯ นุ่งผ้าทำด้วยเปลือกปอ
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความ
กำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยประการต่าง ๆ
ผ้าทำด้วยเปลือกปอนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา
ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยประการ
ต่าง ๆ ขอประทานวโรกาส พระผู้มีพระภาคทรงโปรดอนุญาตผ้าเปลือกปอแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่
สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๘. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปกถา
โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้นุ่งผ้าเปลือกปอเล่า โมฆบุรุษ การทำอย่างนี้ มิได้เป็น
ไปเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดง
ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าทำด้วยเปลือกปอ
รูปใดพึงนุ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ”

๒๒๘. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามจีวรสีเขียวล้วนเป็นต้น

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ห่มจีวรสีเขียวล้วนเป็นต้น
[๓๗๒] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ห่มจีวรสีเขียวล้วน ... ห่มจีวรสีเหลือง
ล้วน ... ห่มจีวรสีแดงล้วน ... ห่มจีวรสีบานเย็นล้วน ... ห่มจีวร สีดำล้วน ... ห่มจีวร
สีแสดล้วน ... ห่มจีวรสีชมพูล้วน ... ห่มจีวรที่ไม่ตัดชาย ... ห่มจีวรมีชายยาว ...
ห่มจีวรมีชายเป็นลายดอกไม้ ... ห่มจีวรมีชายเป็นแผ่น ... สวมเสื้อ ... สวมหมวก
... โพกศีรษะ
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระ
ศากยบุตรจึงใช้ผ้าโพกศีรษะเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงห่มจีวรสีเขียวล้วน ... ไม่
พึงห่มจีวรสีเหลืองล้วน ... ไม่พึงห่มจีวรสีแดงล้วน ... ไม่พึงห่มจีวรสีบานเย็นล้วน ...
ไม่พึงห่มจีวรสีดำล้วน ... ไม่พึงห่มจีวรสีแสดล้วน ... ไม่พึงห่มจีวรสีชมพูล้วน ... ไม่
พึงห่มจีวรที่ไม่ตัดชาย ... ไม่พึงห่มจีวรมีชายยาว ... ไม่พึงห่มจีวรมีชายลายดอกไม้
... ไม่พึงห่มจีวรมีชายเป็นแผ่น ...ไม่พึงสวมเสื้อ ... ไม่พึงสวมหมวก ... ไม่พึงใช้ผ้า
โพกศีรษะ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา
๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา
ว่าด้วยจีวรยังไม่เกิดแก่ภิกษุผู้จำพรรษา

เรื่องจีวรยังไม่เกิดขึ้นภิกษุหลีกไป
[๓๗๓] สมัยนั้น พวกภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น พากัน
หลีกไปบ้าง สึกบ้าง มรณภาพบ้าง ปฏิญญาเป็นสามเณรบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้
บอกลาสิกขาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุบ้าง๑ ปฏิญญาเป็นคนวิกลจริตบ้าง
ปฏิญญาเป็นคนมีจิตฟุ้งซ่านบ้าง ปฏิญญาเป็นคนกระสับกระส่ายเพราะเวทนาบ้าง
ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ถูก
สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปบ้าง ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์บ้าง๒ ปฏิญญาเป็นคน

เชิงอรรถ :
๑ ต้องอันติมวัตถุ ได้แก่ ต้องอาบัติปาราชิก
๒ บัณเฑาะก์มี ๕ ประเภท คือ
๑. คนที่ดับความใคร่เร่าร้อน (เพราะกาม) ของตนโดยการใช้น้ำอสุจิผู้อื่นราดตัวเอง ชื่อว่า อาสิตต
บัณเฑาะก์
๒. เมื่อเกิดความริษยาขึ้น คนที่เมื่อเห็นผู้อื่นประพฤติล่วงเกินกัน ความเร่าร้อนจึงระงับ ชื่อว่า
อุสูยบัณเฑาะก์
๓. คนที่ถูกตัดองคชาต ชื่อว่า โอปักกมิกบัณเฑาะก์
๔. คนที่เป็นบัณเฑาะก์ในเวลาข้างแรมด้วยอานุภาพอกุศลวิบาก แต่ในเวลาข้างขึ้น ความเร่าร้อน
ย่อมระงับไป ชื่อว่า ปักขบัณเฑาะก์
๕. คนที่เป็นบัณเฑาะก์โดยกำเนิด ชื่อว่า นปุงสกบัณเฑาะก์
ในบัณเฑาะก์ ๕ ประเภทนี้
อาสิตตบัณเฑาะก์ และอุสูยบัณเฑาะก์ ไม่ห้ามบรรพชา
ส่วนบัณเฑาะก์อีก ๓ ประเภทที่เหลือ ห้ามบรรพชา
อนึ่งในกุรุนทีกล่าวว่า ปักขบัณเฑาะก์ ห้ามบรรพชาเฉพาะในปักษ์ที่เป็นบัณเฑาะก์ (ข้างแรม) (วิ.อ. ๓/
๑๐๙/๘๑-๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา
ลักเพศบ้าง๑ ปฏิญญาเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์บ้าง ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง
ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่ามารดาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระ
อรหันต์บ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณีบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์บ้าง
ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิตบ้าง ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก
บ้าง๒
ภิกษุทั้งหลายจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
[๓๗๔] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุจำพรรษา
แล้ว หลีกไปเสียเมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้รับแทนที่สมควร สงฆ์ก็พึงให้
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น สึกเสีย
มรณภาพลง ปฏิญญาเป็นสามเณร ปฏิญญาเป็นผู้บอกลาสิกขา เป็นผู้ต้อง
อันติมวัตถุ สงฆ์เป็นเจ้าของ(จีวรนั้น)
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้วเมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น ปฏิญญา
เป็นคนวิกลจริต ปฏิญญาเป็นคนมีจิตฟุ้งซ่าน ปฏิญญาเป็นคนกระสับกระส่าย

เชิงอรรถ :
๑ คนลักเพศ แปลมาจากคำว่า “เถยยสังวาสกะ” คนลักเพศมี ๓ จำพวก คือ
๑. คนลักเพศ ๒. คนลักสังวาส
๓. คนลักทั้งเพศและสังวาส
คนที่บวชเองแล้วไปวัด ไม่คำนึงพรรษาของภิกษุ ไม่ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ไม่ห้ามอาสนะ
ไม่เข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น นี้ชื่อว่า คนลักเพศ
คนที่ภิกษุทั้งหลายบวชให้ ขณะยังเป็นสามเณร ไปต่างถิ่น พูดเท็จว่า “ผมบวชมาแล้ว ๑๐ พรรษา
หรือ ๒๐ พรรษา” นับพรรษาตามแบบพรรษาของภิกษุ ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ห้ามอาสนะ
เข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น เพราะเหตุเพียงลักสังวาสเท่านั้น นี้ชื่อว่า คนลักสังวาส ก็กิริยา
ทุกประเภทมีการนับพรรษาของภิกษุเป็นต้นพึงทราบว่า “สังวาส”
คนที่บวชเองแล้วไปวัด นับพรรษาตามแบบพรรษาของภิกษุ ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ห้าม
อาสนะเข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น เพราะลักเพศและสังวาส นี้ชื่อว่า คนลักทั้งเพศและสังวาส
(วิ.อ. ๓/๑๑๐/๘๒-๘๓)
๒ อุภโตพยัญชนก หมายถึงคนมี ๒ เพศ คือ สัญลักษณ์เพศหญิง และสัญลักษณ์เพศชาย เพราะผล
กรรมที่ทำไว้ (วิ.อ. ๓/๑๑๖/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา
เพราะเวทนา ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ ปฏิญญา
เป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรมเพราะไม่ละทิฏฐิบาป เมื่อมีผู้รับแทนที่สมควร สงฆ์ก็พึงให้
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้วเมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น ปฏิญญา
เป็นบัณเฑาะก์ ปฏิญญาเป็นคนลักเพศ ปฏิญญาเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ปฏิญญา
เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่ามารดา ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดา ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่า
พระอรหันต์ ปฏิญญาเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณี ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์ ปฏิญญา
เป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก สงฆ์เป็น
เจ้าของจีวรนั้น
[๓๗๕] ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้วหลีกไป เมื่อจีวรเกิดขึ้น
แล้วแต่ยังไม่ได้แบ่งกัน เมื่อมีผู้รับแทนที่สมควร สงฆ์พึงให้
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรเกิดขั้นแล้วแต่ยังไม่
ได้แบ่งกัน สึกเสีย มรณภาพลง ปฏิญญาเป็นสามเณร ปฏิญญาเป็นผู้บอกลาสิกขา
ปฏิญญาเป็นผู้ต้ออันติมวัตถุ สงฆ์เป็นเจ้าของ(จีวรนั้น)
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรเกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ได้
แบ่งกัน ปฏิญญาเป็นคนวิกลจริต ปฏิญญาเป็นคนมีจิตฟุ้งซ่าน ปฏิญญาเป็น
คนกระสับกระส่ายเพราะเวทนา ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็น
อาบัติ ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ปฏิญญาเป็น
ผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป เมื่อมีผู้รับแทนที่สมควร สงฆ์ก็
พึงให้
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรเกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่
ได้แบ่งกัน ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์ ปฏิญญาเป็นคนลักเพศ ปฏิญญาเป็นผู้ไปเข้ารีต
เดียรถีย์ ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่ามารดา ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดา
ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ปฏิญญาเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณี ปฏิญญาเป็นผู้

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๓๐. สังฆภินเนจีวรุปปาทกถา
ทำลายสงฆ์ ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต ปฏิญญาเป็น
อุภโตพยัญชนก สงฆ์เป็นเจ้าของจีวรนั้น

๒๓๐. สังฆภินเนจีวรุปปาทกถา
ว่าด้วยความเกิดขึ้นแห่งจีวรเมื่อสงฆ์แตกกัน

เรื่องสงฆ์แตกกัน
[๓๗๖] ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลาย
ที่จำพรรษาแล้ว สงฆ์แตกกัน คนทั้งหลายในถิ่นนั้นถวายน้ำในฝ่ายหนึ่ง ถวาย
จีวรในฝ่ายหนึ่งด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์” นั่นเป็นของสงฆ์เท่านั้น
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษา
แล้ว สงฆ์แตกกัน คนทั้งหลายในถิ่นนั้นถวายน้ำในฝ่ายหนึ่ง ถวายจีวรในฝ่ายนั้น
เหมือนกันด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์” นั่นเป็นของสงฆ์เท่านั้น
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษา
แล้ว สงฆ์แตกกัน คนทั้งหลายในถิ่นนั้นถวายน้ำในฝ่ายหนึ่ง ถวายจีวรในฝ่ายหนึ่ง
ด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายเฉพาะฝ่าย” นั่นเป็นของเฉพาะฝ่ายเท่านั้น
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษา
แล้ว สงฆ์แตกกัน คนทั้งหลายในถิ่นนั้นถวายน้ำในฝ่ายหนึ่ง ถวายจีวรในฝ่ายนั้น
เหมือนกันด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายเฉพาะฝ่าย” นั่นเป็นของเฉพาะฝ่ายเท่านั้น
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ เมื่อจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาแล้ว
แต่ยังไม่ได้แบ่ง สงฆ์แตกกัน พึงแบ่งส่วนให้ภิกษุทุกรูปเท่า ๆ กัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๓๑. ทุคคหิตสุคคหิตาทิกถา
๒๓๑. ทุคคหิตสุคคหิตาทิกถา
ว่าด้วยจีวรที่ถือเอาไม่ดีและถือเอาดีเป็นต้น

เรื่องพระเรวตะฝากจีวร
[๓๗๗] สมัยนั้น ท่านพระเรวตะฝากจีวรไปกับภิกษูรูปหนึ่งให้นำไปถวาย
ท่านพระสารีบุตรด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวายจีวรผืนนี้แก่พระเถระ”
ลำดับนั้น ในระหว่างทาง ภิกษุรูปนั้นได้ถือเอาจีวรนั้นเพราะวิสาสะกับท่าน
พระเรวตะ ต่อมา ท่านพระเรวตะมาพบท่านพระสารีบุตรจึงถามว่า “ผมฝากจีวร
มาถวาย ท่านได้รับแล้วหรือขอรับ”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่าน ผมยังไม่เห็นจีวรนั้นเลย”
ต่อมา ท่านพระเรวตะได้ถามภิกษุผู้รับฝากนั้นว่า “ท่าน ผมฝากจีวรกับท่าน
ให้นำไปถวายพระเถระ จีวรนั้นอยู่ที่ไหน”
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ท่าน ผมได้ถือเอาจีวรนั้นแล้วเพราะวิสาสะกับท่าน”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เรื่องการถือเอาของฝากโดยวิสาสะ
และการอธิษฐานเป็นจีวรมรดก

กรณีที่ ๑ ฝากไปด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวาย...”
[๓๗๘] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวร
ไปกับภิกษุด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุ
ผู้รับฝาก ถือเอาจีวรเองเพราะวิสาสะกับภิกษุผู้รับนั้น อย่างนี้ชื่อว่าถือเอาดี แต่
ถือเอาเพราะวิสาสะกับผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาไม่ดี

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๓๑. ทุคคหิตสุคคหิตาทิกถา
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวาย
จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเองเพราะวิสาสะกับ
ผู้รับ อย่างนี้ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง แต่ถือเอาเพราะวิสาสะกับผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอา
ถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวายจีวร
ผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากได้ทราบข่าวว่า “ผู้ฝากมรณภาพ
เสียแล้ว” จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้ฝากนั้น อย่างนี้ชื่อว่าอธิษฐาน
ถูกต้อง แต่ถือเอาเองเพราะวิสาสะกับผู้รับชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวายจีวร
ผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทางภิกษุผู้รับฝากได้ทราบข่าวว่า “ผู้รับมรณภาพ
เสียแล้ว” จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้รับนั้น อย่างนี้ชื่อว่าอธิษฐานไม่
ถูกต้อง แต่ถือเอาเพราะวิสาสะกับผู้ฝากชื่อว่าถือเอาถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยสั่งว่า “ท่านจงถวายจีวร
ผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากได้ทราบข่าวว่า “ผู้ฝากและผู้รับ
ทั้ง ๒ มรณภาพเสียแล้ว” จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้ฝาก อย่างนี้ชื่อว่า
อธิษฐานถูกต้อง อธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้รับชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง

กรณีที่ ๒ ฝากไปด้วยกล่าวว่า “ผมขอถวาย...”
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยกล่าวว่า “ผมขอ
ถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเองเพราะวิสาสะ
กับผู้ฝาก อย่างนี้ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง แต่ถือเอาเพราะวิสาสะกับผู้รับชื่อว่าถือเอา
ถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยกล่าวว่า “ผมขอ
ถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเองเพราะวิสาสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๓๒. อัฏฐจีวรมาติกา
กับผู้รับ อย่างนี้ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง แต่ถือเอาเพราะวิสาสะกับผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอา
ไม่ถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยกล่าวว่า “ผมขอถวาย
จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากได้ทราบข่าวว่า “ผู้ฝาก
มรณภาพเสียแล้ว” จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้ฝากนั้น อย่างนี้ชื่อว่า
อธิษฐานไม่ถูกต้อง แต่ถือเอาเองเพราะวิสาสะกับผู้รับชื่อว่าถือเอาถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยกล่าวว่า “ผมขอถวาย
จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากได้ทราบข่าวว่า “ผู้รับมรณ-
ภาพเสียแล้ว” จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้รับนั้น อย่างนี้ชื่อว่าอธิษฐาน
ถูกต้อง แต่ถือเอาเพราะวิสาสะกับผู้ฝากชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุฝากจีวรไปกับภิกษุด้วยกล่าวว่า “ท่านจง
ถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” ในระหว่างทาง ภิกษุผู้รับฝากได้ทราบข่าวว่า “ผู้ฝาก
และผู้รับทั้ง ๒ มรณภาพเสียแล้ว” จึงอธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้ฝาก
อย่างนี้ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง อธิษฐานเป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้รับชื่อว่าอธิษฐาน
ถูกต้อง

๒๓๒. อัฏฐจีวรมาติกา
ว่าด้วยจีวรที่เกิดขึ้นมี ๘ มาติกา

เรื่องมาติกาแห่งจีวร ๘ ข้อ
[๓๗๙] ภิกษุทั้งหลาย มาติกาเพื่อความเกิดขึ้นแห่งจีวร มี ๘ อย่างนี้ คือ
๑. ถวายแก่สีมา ๒. ถวายตามกติกา
๓. ถวายในที่จัดภิกษาหาร ๔. ถวายแก่สงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๓๓. รวมเรื่องที่มีในจีวรขันธกะ
๕. ถวายแก่สงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย ๖. ถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว
(คือภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)
๗. ถวายเจาะจง ๘. ถวายแก่บุคคล
ที่ชื่อว่า ถวายแก่สีมา ได้แก่ ภิกษุที่อยู่ในสีมามีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้น
พึงแบ่งกัน
ที่ชื่อว่า ถวายตามกติกา ได้แก่ อาวาสจำนวนมาก มีลาภเสมอกัน คือ เมื่อ
ทายกถวายในวัดหนึ่งชื่อว่าเป็นอันถวายทุกวัด
ที่ชื่อว่า ถวายในที่จัดภิกษาหาร ได้แก่ ทายกทำสักการะเป็นประจำแก่สงฆ์
ในที่ใด ถวายในที่นั้น
ที่ชื่อว่า ถวายแก่สงฆ์ ได้แก่ สงฆ์อยู่พร้อมหน้ากันแบ่ง
ที่ชื่อว่า ถวายแก่สงฆ์ ๒ ฝ่าย ได้แก่ ภิกษุแม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่มี
ภิกษุณีอยู่รูปเดียว พึงให้ฝ่ายละครึ่ง ภิกษุณีแม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่มีภิกษุอยู่
รูปเดียว พึงให้ฝ่ายละครึ่ง
ที่ชื่อว่า ถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว ได้แก่ ภิกษุมีจำนวนเท่าใดอยู่จำพรรษา
แล้วในอาวาสนั้น ภิกษุเหล่านั้นพึงแบ่งกัน
ที่ชื่อว่า ถวายเจาะจง ได้แก่ ถวายเฉพาะข้าวต้ม ภัตตาหาร ของเคี้ยว จีวร
เสนาสนะ หรือเภสัช
ที่ชื่อว่า ถวายแก่บุคคล ได้แก่ ถวายด้วยกล่าวว่า “เราถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุ
ชื่อนี้”
จีวรขันธกะที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๓๓. รวมเรื่องที่มีในจีวรขันธกะ
๒๓๓. รวมเรื่องที่มีในจีวรขันธกะ
จีวรขันธกะมี ๙๖ เรื่อง คือ
เรื่องคณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์พบหญิงงามเมือง
ชื่ออัมพปาลีในกรุงเวสาลีกลับมากรุงราชคฤห์แล้ว
กราบทูลเรื่องนั้นให้พระราชาทรงทราบ
เรื่องบุตรของหญิงงามเมืองชื่อสาลวดี ซึ่งต่อมาเป็นโอรส
ของเจ้าชายอภัย เพราะเหตุที่ยังมีชีวิต เจ้าชายจึงประทานชื่อว่าชีวก
เรื่องชีวกเดินทางไปกรุงตักกสิลา เรียนวิชาแพทย์สำเร็จ
เป็นหมอใหญ่ได้รักษาโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐีที่เป็น
เรื้อรังอยู่ ๗ ปี จนหายด้วยการนัตถุ์ยาเพียงครั้งเดียว
เรื่องรักษาโรคริดสีดวงทวารของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
เรื่องพระราชทานตำแหน่งหมอชีวกเป็นแพทย์หลวงประจำ
พระองค์ พระสนม นางกำนัลและอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์
เรื่องรักษาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ผู้ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะ
เรื่องรักษาโรคเนื้องอกในลำไส้ เรื่องรักษาโรคผอมเหลืองของ
พระเจ้าปัชโชตหายด้วยให้เสวยพระโอสถผสมเนยใส
เรื่องได้รับพระราชทานผ้าคู่สิไวยกะเป็นรางวัล เรื่องสรงพระกาย
ของพระผู้มีพระภาคซึ่งหมักหมมด้วยสิ่งเป็นโทษได้ชุ่มชื่น
เรื่องหมอชีวกทูลถวายพระโอสถ ๓๐ ครั้ง โดยอบก้านอุบล
๓ ก้านด้วยยา
เรื่องหมอชีวกกราบทูลขอพร เมื่อพระผู้มีพระภาคทรง
มีพระกายเป็นปกติแล้ว เรื่องทรงรับผ้าคู่สิไวยกะ
เรื่องทรงอนุญาตคหบดีจีวร
เรื่องจีวรเกิดขึ้นมากในกรุงราชคฤห์ เรื่องทรงอนุญาตผ้าปาวาร
ผ้าไหมและผ้าโกเชาว์ เรื่องผ้ากัมพลราคาครึ่งกาสิยะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๓๓. รวมเรื่องที่มีในจีวรขันธกะ
เรื่องผ้าเนื้อดีเนื้อหยาบ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญความสันโดษ
เรื่องภิกษุรอกันและไม่รอกัน เรื่องทายกนำจีวรกลับคืน
เรื่องสมมติเรือนคลัง เรื่องเจ้าหน้าที่รักษาผ้าในเรือนคลัง
เรื่องทรงห้ามย้ายเจ้าหน้าที่เรือนคลัง เรื่องจีวรเกิดขึ้นมาก
เรื่องส่งเสียงดังขณะแจกจีวร เรื่องวิธีแจกจีวร เรื่องวิธีให้ส่วนแบ่ง
เรื่องให้แลกส่วนของตน เรื่องให้ส่วนพิเศษ
เรื่องวิธีให้ส่วนจีวร เรื่องย้อมจีวรด้วยโคมัย เรื่องย้อมด้วยน้ำเย็น
เรื่องน้ำย้อมล้น เรื่องไม่รู้ว่าน้ำย้อมเดือดแล้วหรือยังไม่เดือด
เรื่องยกหม้อน้ำย้อมลง เรื่องไม่มีภาชนะสำหรับย้อม
เรื่องขยำจีวรในถาด เรื่องตากจีวรบนพื้น เรื่องปลวกกัดเครื่อง
รองทำด้วยหญ้า เรื่องแขวนจีวรพับกลาง เรื่องชายจีวรชำรุด
เรื่องน้ำย้อมหยดออกจากชายข้างเดียว
เรื่องจีวรแข็ง เรื่องจีวรหยาบกระด้าง
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด เรื่องตัดจีวรตามแบบคันนา
เรื่องทอดพระเนตรเห็นภิกษุแบกห่อจีวร เรื่องทรงอนุญาตไตรจีวร
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ทรงอติเรกจีวรชุดอื่นเข้าบ้าน
เรื่องอติเรกจีวรเกิดขึ้น เรื่องทรงอนุญาตผ้าปะเมื่ออันตรวาสกขาดทะลุ
เรื่องฝนตกพร้อมกัน ๔ ทวีป เรื่องนางวิสาขาขอพร
เพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝน อาคันตุกภัต คมิกภัต คิลานภัต
คิลานุปัฏฐากภัต เภสัช ธุวยาคู และถวายผ้าอาบน้ำแก่ภิกษุณีสงฆ์
เรื่องภิกษุนอนหลับขาดสติสัมปชัญญะเพราะฉันโภชนะอันประณีต
เรื่องผ้าปูนั่งผืนเล็กเกินไป
เรื่องฝีดาษ เรื่องทรงอนุญาตผ้าเช็ดปาก
เรื่องทรงอนุญาตให้ถือวิสาสะผ้าเปลือกไม้ เรื่องไตรจีวรบริบูรณ์
เรื่องอธิษฐาน เรื่องจีวรมีขนาดเพียงไรจึงต้องวิกัป
เรื่องอุตตราสงค์ที่ทำเป็นผ้าบังสุกุลหนัก เรื่องชายสังฆาฏิไม่เสมอกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๓๓. รวมเรื่องที่มีในจีวรขันธกะ
เรื่องด้ายหลุดลุ่ย เรื่องแผ่นสังฆาฏิบลุ่ยออก เรื่องผ้าไม่พอ
เรื่องผ้าเพลาะ เรื่องจีวรเกิดขึ้นมาก เรื่องเก็บจีวรไว้ในวิหารอันธวัน
เรื่องท่านพระอานนท์เผลอสติ เรื่องภิกษุรูปเดียวจำพรรษา
เรื่องภิกษุอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล
เรื่องพระเถระสองพี่น้อง เรื่องภิกษุ ๓ รูปจำพรรษาในกรุงราชคฤห์
เรื่องพระอุปนันทะจำพรรษาแล้วไปอาวาสใกล้บ้าน
เรื่องพระอุปนันทะจำพรรษาในอาวาส ๒ แห่ง
เรื่องภิกษุอาพาธเป็นโรคท้องร่วง
เรื่องคนไข้ที่พยาบาลได้ง่ายและพยาบาลได้ยาก
เรื่องภิกษุและสามเณรเป็นไข้
เรื่องภิกษุเปลือยกาย เรื่องภิกษุนุ่งผ้าคากรอง ผ้าเปลือกไม้
ผ้าผลไม้ ผ้าทอด้วยผมคน ผ้าทอด้วยขนสัตว์ ผ้าทอด้วยปีกนกเค้า
หนังเสือ
เรื่องภิกษุนุ่งผ้าทำด้วยก้านดอกรัก ผ้าเปลือกปอ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ห่มจีวรสีเขียวห่มจีวรสีเหลือง ห่มจีวรสีแดง
ห่มจีวรสีบานเย็น ห่มจีวรสีดำ ห่มจีวรสีแสด หดจีวรสีชมพู
ห่มจีวรไม่ตัดชาย ห่มจีวรชายยาว ห่มจีวรมีชายลายดอกไม้
ห่มจีวรชายเป็นแผ่นสวมเสื้อ สวมหมวก โพกผ้า
เรื่องจีวรยังไม่เกิดขึ้นภิกษุหลีกไป เรื่องสงฆ์แตกกัน
เรื่องทายกถวายน้ำแก่สงฆ์ฝ่ายหนึ่ง ถวายจีวรแก่สงฆ์อีกฝ่ายหนึ่ง
เรื่องพระเรวตะฝากจีวร เรื่องการถือเอาของฝากโดยถือวิสาสะ
และการอธิษฐานเป็นจีวรมรดก เรื่องมาติกาของจีวร ๘ ข้อ
จีวรขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๓๔. กัสสปโคตตภิกขุวัตถุ
๙. จัมเปยยขันธกะ
๒๓๔. กัสสปโคตตภิกขุวัตถุ
ว่าด้วยพระกัสสปโคตร

เรื่องพระกัสสปโคตรผู้อยู่ประจำในอาวาส ณ วาสภคาม
[๓๘๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัคครา เขต
กรุงจัมปา ครั้งนั้น ในแคว้นกาสี มีหมู่บ้านชื่อวาสภคาม ภิกษุชื่อกัสสปโคตรอยู่ประจำ
ในอาวาสในที่นั้น ฝักใฝ่กังวลอยู่ ขวนขวายอยู่ว่า “ด้วยวิธีใดหนอ ภิกษุผู้มีศีลดีงาม
ที่ยังไม่มาพึงมา และภิกษุผู้มีศีลดีงามที่มาแล้วพึงอยู่เป็นผาสุก และอาวาสนี้จะเจริญ
งอกงามไพบูลย์ได้”
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนหลายรูปเที่ยวจาริกไปในแคว้นกาสี จนถึงวาสภคาม ภิกษุ
กัสสปโคตรได้เห็นภิกษุเหล่านั้นเดินมาแต่ไกล จึงปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ลุกไปรับบาตรและจีวร ต้อนรับด้วยน้ำดื่ม จัดแจงน้ำสรง แม้
ข้าวต้ม ของเคี้ยว ภัตตาหารก็จัดแจงให้
ครั้งนั้น ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุ
อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้ดีจริง ได้จัดแจงน้ำสรง แม้ข้าวต้ม ของเคี้ยว ภัตตาหาร
ก็จัดแจงให้ เอาเถอะพวกเราพักอยู่ในวาสภคามนี้แหละ” ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น
ได้พักอยู่ในวาสภคามนั้นเอง
ต่อมา ภิกษุกัสสปโคตรได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุอาคันตุกะเหล่านี้ไม่ต้อง
ลำบากในฐานะที่เป็นพระอาคันตุกะ เวลานี้ภิกษุอาคันตุกะเหล่านี้ที่ไม่ชำนาญทางโคจร๑
ก็ชำนาญแล้ว การทำความจัดแจงในตระกูลคนอื่นจนตลอดชีวิตทำได้ยาก อนึ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ทางโคจร หมายถึงหนทางที่จะไปบิณฑบาต สถานที่เที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว (วิ.อ. ๓/๓๕๗/๓๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๔. กัสสปโคตตภิกขุวัตถุ
การออกปากขอย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของคนทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย เราไม่พึงจัดแจง
ข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหาร” แล้วเลิกจัดแจงข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหาร
ลำดับนั้น ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นปรึกษากันว่า “ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนนี้
ภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้จัดแจงน้ำสรง แม้ข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหารก็จัดแจงให้
เวลานี้ ภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้ไม่จัดแจงข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหารแล้ว ท่าน
ทั้งหลาย บัดนี้ภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้ไม่ดีเสียแล้ว เอาเถอะพวกเราจงลง
อุกเขปนียกรรมภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้ออกไป” ครั้งนั้น ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น
ประชุมกัน ได้กล่าวกะภิกษุกัสสปโคตรนั้นดังนี้ว่า “ท่าน เมื่อก่อน ท่านจัดแจง
น้ำสรง แม้ข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหารก็จัดให้ เวลานี้ไม่จัดแจงข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหาร
เสียแล้ว ท่านต้องอาบัติแล้ว ท่านเห็นอาบัตินั้นไหม”
ภิกษุกัสสปโคตรกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่พึงเห็น”
ครั้งนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะได้ลงอุกเขปนียกรรมภิกษุกัสสปโคตร เพราะการ
ไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ
ลำดับนั้น ภิกษุกัสสปโคตรได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราไม่รู้เรื่องนี้ว่า ‘นั่นเป็นอาบัติ
หรือไม่เป็นอาบัติ เราต้องอาบัติหรือไม่ต้องอาบัติ เราถูกลงอุกเขปนียกรรม หรือ
ไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม ด้วยกรรมที่ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม ถูกต้องหรือไม่
ถูกต้อง ควรแก่เหตุหรือไม่ควรแก่เหตุ’ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเดินทางไปกรุงจัมปา
แล้วกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเกี่ยวกับเรื่องนั้น”
ครั้งนั้น ภิกษุกัสสปโคตรเก็บเสนาสนะถือบาตรและจีวร เดินทางไปกรุงจัมปา
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง
ณ ที่สมควร

พุทธประเพณี
การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย
นั่นเป็นพุทธประเพณี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๔. กัสสปโคตตภิกขุวัตถุ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุกัสสปโคตรดังนี้ว่า “ภิกษุ เธอยัง
สบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ เธอเดินทางไกลมาไม่ลำบากหรือ เธอมาจาก
ที่ไหน”
ภิกษุกัสสปโคตรกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า และข้าพระองค์เดินทางไกลมาไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า ในชนบท
แคว้นกาสีมีหมู่บ้านชื่อวาสภะ ข้าพระองค์อยู่ประจำในอาวาสในที่นั้น ฝักใฝ่ในการ
ก่อสร้าง ขวนขวายอยู่ว่า ‘ด้วยวิธีใดหนอ ภิกษุผู้มีศีลดีงามที่ยังไม่มาพึงมา และ
ภิกษุผู้มีศีลดีงามที่มาแล้วพึงอยู่เป็นผาสุก และอาวาสนี้จะเจริญงอกงามไพบูลย์ได้’
พระพุทธเจ้าข้า ต่อมา ภิกษุจำนวนหลายรูปเที่ยวจาริกไปในแคว้นกาสี จนถึง
วาสภคาม ข้าพระองค์ได้เห็นภิกษุเหล่านั้นเดินมาแต่ไกล จึงปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า
ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ลุกไปรับบาตรและจีวร ต้อนรับด้วยน้ำดื่ม จัดแจงน้ำสรง
แม้ข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหารก็จัดแจงให้
พระพุทธเจ้าข้า ครั้งนั้น ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นได้ปรึกษากันดังนี้ว่า ‘ท่าน
ทั้งหลาย ภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้ดีจริง ได้จัดแจงน้ำสรง แม้ข้าวต้มของเคี้ยว
ภัตตาหารก็จัดแจงให้ เอาเถอะพวกเราพักอยู่ในวาสภคามนี้แหละ’ ภิกษุอาคันตุกะ
เหล่านั้นได้พักอยู่ในวาสภคามนั้นเอง
พระพุทธเจ้าข้า ต่อมา ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ภิกษุอาคันตุกะ
เหล่านี้ไม่ต้องลำบากในฐานะที่เป็นพระอาคันตุกะ เวลานี้ภิกษุอาคันตุกะเหล่านี้ที่ไม่
ชำนาญทางโคจรก็ชำนาญแล้ว การทำความจัดแจงในตระกูลคนอื่นจนตลอดชีวิตทำ
ได้ยาก อนึ่ง การออกปากขอย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของคนทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย
เราไม่พึงจัดแจงข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหาร’ แล้วเลิกจัดแจงข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหาร
พระพุทธเจ้าข้า ลำดับนั้น ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นปรึกษากันว่า ‘ท่านทั้งหลาย
เมื่อก่อนนี้ ภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้จัดแจงน้ำสรง แม้ข้าวต้มของเคี้ยวภัตตา
หารก็จัดแจงให้ เวลานี้ ภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้ไม่จัดแจงข้าวต้ม ของเคี้ยว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๔. กัสสปโคตตภิกขุวัตถุ
ภัตตาหารแล้ว ท่านทั้งหลาย บัดนี้ ภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้ ไม่ดีเสียแล้ว
เอาเถอะ พวกเราจงลงอุกเขปนียกรรมภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้ออกไป”
พระพุทธเจ้าข้า ครั้งนั้น ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นประชุมกัน ได้กล่าวกับ
ข้าพระองค์ดังนี้ว่า “ท่าน เมื่อก่อนท่านจัดแจงน้ำสรง แม้ข้าวต้ม ของเคี้ยว ภัตตาหาร
ก็จัดแจงให้ เวลานี้ไม่จัดแจงข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหารเสียแล้ว ท่านต้องอาบัติแล้ว
ท่านเห็นอาบัตินั้นไหม”
ข้าพระองค์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่พึงเห็น”
พระพุทธเจ้าข้า ครั้งนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะได้ลงอุกเขปนียกรรมข้าพระองค์
เพราะการไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ
ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราไม่รู้เรื่องนี้ว่า นั่นเป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติ
เราต้องอาบัติหรือไม่ต้องอาบัติ เราถูกลงอุกเขปนียกรรมหรือไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม
ด้วยกรรมที่ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ควรแก่เหตุหรือไม่ควร
แก่เหตุ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเดินทางไปกรุงจัมปาแล้วกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค
เกี่ยวกับเรื่องนั้น’ ข้าพระพุทธเจ้าเดินทางมาจากวาสภคามนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ เธอ
ไม่ต้องอาบัติ เธอต้องอาบัติหามิได้ เธอไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม เธอถูกลงอุกเขปนีย
กรรมหามิได้ เธอถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ไม่ชอบธรรม ไม่ถูกต้อง ไม่ควร
แก่เหตุ เธอจงไปอยู่ในวาสภคามนั่นแหละ”
ภิกษุกัสสปโคตรทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้วลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไปสู่วาสภคาม
[๓๘๑] ครั้งนั้น ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นมีความกังวลใจ มีความเดือดร้อน
ใจปรึกษากันว่า “ไม่ใช่ลาภของพวกเรา พวกเราไม่มีลาภหนอ พวกเราได้ชั่วแล้วหนอ
พวกเราได้ไม่ดีแล้วหนอ ที่ลงอุกเขปนียกรรมภิกษุผู้บริสุทธิ์ ผู้ไม่ต้องอาบัติ เพราะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๔. กัสสปโคตตภิกขุวัตถุ
เรื่องที่ไม่สมควร เพราะเหตุไม่สมควร เอาเถอะ พวกเราจะเดินทางไปกรุงจัมปาแล้ว
แสดงโทษที่ล่วงเกินโดยยอมรับผิดในพุทธสำนัก”
ลำดับนั้น ภิกษุอาคันตุกะพวกนั้น ได้เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรเดินทาง
ไปกรุงจัมปา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสนทนาปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะ
ทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ พวกเธอเดินทางไกลมาไม่ลำบากหรือ
พวกเธอมาจากที่ไหน”
พวกภิกษุอาคันตุกะกราบทูลว่า “สบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า และพวกข้าพระองค์เดินทางไกลมาไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า ใน
ชนบทแคว้นกาสี มีหมู่บ้านชื่อวาสภคาม พวกข้าพระพุทธเจ้าเดินทางมาจากวาสภคาม
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ
ที่อยู่ประจำในอาวาสหรือ”
พวกภิกษุอาคันตุกะกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พวกเธอลงอุกเขปนียกรรมเพราะเรื่องอะไร
เพราะเหตุไร”
พวกภิกษุอาคันตุกะกราบทูลว่า “เพราะเรื่องที่ไม่สมควร เพราะเหตุไม่สมควร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวก
เธอไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๔. กัสสปโคตตภิกขุวัตถุ
โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้ลงอุกเขปนียกรรมภิกษุผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ
เพราะเรื่องที่ไม่สมควร เพราะเหตุที่ไม่สมควรเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การทำอย่าง
นี้มิได้เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรง
แสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ไม่พึงลงอุกเขปนีย
กรรมภิกษุผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ เพราะเรื่องไม่สมควร เพราะเหตุไม่สมควร สงฆ์หมู่ใด
ลงอุกเขปนียกรรม ต้องอาบัติทุกกฏ”
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้ลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่งซบ
ศีรษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ทั้งหลายได้กระทำความผิดเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา ที่ได้ลงอุกเขปนีย
กรรมภิกษุผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ เพราะเรื่องที่ไม่ควร เพราะเหตุไม่สมควร ขอพระ
ผู้มีพระภาคทรงโปรดรับการขอขมา เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เอาเถิด ภิกษุทั้งหลาย การที่พวกเธอทั้งหลายได้
กระทำความผิดเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา ที่ได้ลงอุกเขปนียกรรมภิกษุผู้บริสุทธิ์
ไม่มีอาบัติ เพราะเรื่องที่ไม่ควร เพราะเหตุไม่สมควร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่
พวกเธอเห็นความผิดเป็นความผิดแล้ว แก้ไขให้ถูกต้อง ข้อนั้นเรายอมรับ ภิกษุทั้งหลาย
เพราะการที่บุคคลเห็นความผิดเป็นความผิดแล้วแก้ไขให้ถูกต้องและสำรวมต่อไป
นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๕. อธัมมวัคคาทิกัมมกถา
๒๓๕. อธัมมวัคคาทิกัมมกถา
ว่าด้วยกรรมที่แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมเป็นต้น

เรื่องภิกษุชาวกรุงจัมปาทำกรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมเป็นต้น
[๓๘๒] สมัยนั้น พวกภิกษุในกรุงจัมปาทำกรรมเช่นนี้ คือ ทำกรรม
แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม ทำกรรมพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ทำกรรม
แบ่งพวกโดยชอบธรรม ทำกรรมแบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป๑ ทำกรรมพร้อมเพรียง
กันโดยธรรมปฏิรูป ภิกษุรูปเดียวลงอุกเขปนียกรรมภิกษุรูปเดียวบ้าง ภิกษุรูป
เดียวลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ ๒ รูปบ้าง ภิกษุรูปเดียวลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ
หลายรูปบ้าง ภิกษุรูปเดียวลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์บ้าง ภิกษุ ๒ รูปลง
อุกเขปนียกรรมภิกษุรูปเดียวบ้าง ภิกษุ ๒ รูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ ๒ รูปบ้าง
ภิกษุ ๒ รูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุหลายรูปบ้าง ภิกษุ ๒ รูปลงอุกเขปนียกรรม
สงฆ์บ้าง ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุรูปเดียวบ้าง ภิกษุหลายรูปลง
อุกเขปนียกรรมภิกษุ ๒ รูปบ้าง ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุหลายรูปบ้าง
ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์บ้าง สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมปฏิรูป แปลว่า ธรรมปลอม,ธรรมเทียม,ธรรมที่ไม่แท้ ในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงสัทธรรมที่ไม่แท้
ที่ชื่อว่าสัทธรรมปฏิรูป ๒ อย่างคือ
๑. อธิคมสัทธรรมปฏิรูป คือ ธรรมที่เป็นเหตุเศร้าหมองแห่งวิปัสสนาญาณ เช่น โอภาส ญาณ ปีติ
ปัสสัทธิ สุข เป็นต้น ที่เป็นเหตุให้จิตหวั่นไหว
๒. ปริยัตติสัทธรรมปฏิรูป ได้แก่ สิ่งที่ไม่ใช่พระพุทธพจน์ คือ คัมภีร์คุฬหวินัย คัมภีร์คุฬห
เวสสันดรชาดก คัมภีร์คุฬหมโหสธชาดก คัมภีร์วรรณปิฎก คัมภีร์องคุลิมาลปิฎก คัมภีร์เวทัลลปิฎก
คัมภีร์รัฏฐปาลคัชชิตะ คัมภีร์อาฬวกคัชชิตะ ที่ไม่ได้ยกขึ้นสู่การสังคายนา ๓ ครั้ง อยู่นอกเหนือจาก
กถาวัตถุ ๕ เหล่านี้ ธาตุกถา อารัมมณกถา อสุภกถา ญาณกถา วิชชากรัณฑกะ (สํ.นิ.อ. ๒/๑๕๖/
๒๒๓-๒๒๔)เป็นคำสอนของอธรรมวาทีนิกายต่าง ๆ ที่แสดงช่วงก่อนสังคายนาครั้งที่ ๓ และมีการสอบ
ถามเมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ ชื่อคัมภีร์เหล่านี้มีกล่าวถึงในอรรถกถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๕. อธัมมวัคคาทิกัมมกถา
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุใน
กรุงจัมปาจึงทำกรรมเช่นนี้เล่า คือ ทำกรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม ฯลฯ สงฆ์
ลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์บ้าง” ครั้นแล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุในกรุง
จัมปาทำกรรมเช่นนี้ คือ ทำกรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม ฯลฯ สงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมสงฆ์บ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิทรงแสดงธรรมีกถา
แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

เรื่องพระผู้มีพระภาคตรัสห้ามเพราะไม่ชอบธรรม
[๓๘๓] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเป็นกรรมที่แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม ไม่จัดเป็น
กรรมและไม่ควรทำ ถ้าเป็นกรรมที่พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ไม่จัดเป็น
กรรมและไม่ควรทำ ถ้าเป็นกรรมที่แบ่งพวกโดยชอบธรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่
ควรทำ ถ้าเป็นกรรมที่แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ถ้า
กรรมที่พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ภิกษุรูป
เดียวลงอุกเขปนียกรรมภิกษุรูปเดียว ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ภิกษุรูปเดียว
ลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ ๒ รูป ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ภิกษุรูปเดียวลง
อุกเขปนียกรรมภิกษุหลายรูป ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ภิกษุรูปเดียวลง
อุกเขปนียกรรมสงฆ์ ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ภิกษุ ๒ รูปลงอุกเขปนีย
กรรมภิกษุรูปเดียว ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ภิกษุ ๒ รูปลงอุกเขปนียกรรม
ภิกษุ ๒ รูป ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ภิกษุ ๒ รูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ
หลายรูป ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ภิกษุ ๒ รูปลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์ ไม่

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๕. อธัมมวัคคาทิกัมมกถา
จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุรูปเดียว ไม่จัด
เป็นกรรมและไม่ควรทำ ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ ๒ รูป ไม่จัดเป็น
กรรมและไม่ควรทำ ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุหลายรูป ไม่จัดเป็นกรรม
และไม่ควรทำ ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์ ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์ ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ

กรรม ๔ ประเภท
[๓๘๔] ภิกษุทั้งหลาย กรรม มี ๔ ประเภทเหล่านี้ คือ
๑. กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม (อธัมมวัคคกรรม)
๒. กรรมพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม (อธัมมสมัคคกรรม)
๓. กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม (ธัมมวัคคกรรม)
๔. กรรมพร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม (ธัมมสมัคคกรรม)
ภิกษุทั้งหลาย ในกรรม ๔ ประเภทนั้น กรรมที่แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม
นี้ชื่อว่าไม่ถูกต้อง ไม่ควรแก่เหตุ เพราะไม่ชอบธรรม เพราะแบ่งพวก ภิกษุทั้งหลาย
กรรมเช่นนี้ไม่ควรทำและเราก็ไม่อนุญาต
ภิกษุทั้งหลาย ในกรรม ๔ ประเภทนั้น กรรมที่พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบ
ธรรมนี้ชื่อว่าไม่ถูกต้อง ไม่ควรแก่เหตุ เพราะไม่ชอบธรรม ภิกษุทั้งหลาย กรรม
เช่นนี้ไม่ควรทำและเราก็ไม่อนุญาต
ภิกษุทั้งหลาย ในกรรม ๔ ประเภทนั้น กรรมที่แบ่งพวกโดยชอบธรรมนี้ก็
ชื่อว่าไม่ถูกต้อง ไม่ควรแก่เหตุ เพราะแบ่งพวก ภิกษุทั้งหลาย กรรมเช่นนี้ไม่ควร
ทำและเราก็ไม่อนุญาต
ภิกษุทั้งหลาย ในกรรม ๔ ประเภทนั้น กรรมที่พร้อมเพรียงกันโดยชอบ
ธรรมนี้ชื่อว่าถูกต้อง ควรแก่เหตุ เพราะชอบธรรม เพราะพร้อมเพรียงกัน ภิกษุ
ทั้งหลาย กรรมเช่นนี้ควรทำและเราก็อนุญาต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๖. ญัตติวิปันนกัปปาทิกถา
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘พวกเรา
จะทำกรรมที่พร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม”

๒๓๖. ญัตติวิปันนกัปปาทิกถา
ว่าด้วยกรรมที่ญัตติวิบัติเป็นต้น
[๓๘๕] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทำกรรมเช่นนี้ คือ ทำกรรมแบ่งพวก
โดยไม่ชอบธรรม ทำกรรมพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ทำกรรมแบ่งพวกโดย
ชอบธรรม ทำกรรมแบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ทำกรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป
ทำกรรมที่ญัตติวิบัติแต่อนุสาวนาสมบูรณ์บ้าง ทำกรรมที่อนุสาวนาวิบัติแต่ญัตติ
สมบูรณ์บ้าง ทำกรรมที่ญัตติวิบัติอนุสาวนาวิบัติบ้าง ทำกรรมเว้นจากธรรม๑บ้าง ทำ
กรรมเว้นจากวินัยบ้าง ทำกรรมเว้นจากสัตถุศาสน์บ้าง ทำกรรมที่ถูกค้านแล้วและ
ขืนทำ ไม่ชอบธรรม เป็นกรรมไม่ถูกต้อง ไม่ควรแก่เหตุบ้าง
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
จึงทำกรรมเช่นนี้เล่า คือ ทำกรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม ทำกรรมพร้อมเพรียงกัน
โดยไม่ชอบธรรม ทำกรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม ทำกรรมแบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป
ทำกรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ทำกรรมที่ญัตติวิบัติแต่อนุสาวนาสมบูรณ์
บ้าง ทำกรรมที่อนุสาวนาวิบัติแต่ญัตติสมบูรณ์บ้าง ทำกรรมที่ญัตติวิบัติอนุสาวนา
วิบัติบ้าง ทำกรรมเว้นจากธรรมบ้าง ทำกรรมเว้นจากวินัยบ้าง ทำกรรมเว้นจาก
สัตถุศาสน์บ้าง ทำกรรมที่ถูกค้านแล้วและขืนทำ ไม่ชอบธรรม เป็นกรรมไม่ถูกต้อง
ไม่ควรแก่เหตุบ้าง
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ เว้นจากธรรม คือ ไม่ทำกรรมด้วยเรื่องที่เป็นจริง ได้แก่ตามเรื่องที่เกิดขึ้น และไม่ทำกรรมโดยธรรม
(วิ.อ. ๓/๓๘๕/๒๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๖. ญัตติวิปันนกัปปาทิกถา
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าภิกษุฉัพพัคคีย์ทำ
กรรมเช่นนี้จริงหรือ คือ แบ่งพวกทำกรรมโดยไม่ชอบธรรม ฯลฯ ทำกรรมที่ถูกค้าน
แล้วและขืนทำ ไม่ชอบธรรม เป็นกรรมไม่ถูกต้อง ไม่ควรแก่เหตุบ้าง”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมี
กถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

เรื่องแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
[๓๘๖] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเป็นกรรมที่แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม ไม่จัดเป็นกรรม
และไม่ควรทำ ถ้าเป็นกรรมที่พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ไม่จัดเป็นกรรม และ
ไม่ควรทำ ถ้าเป็นกรรมที่แบ่งพวกโดยชอบธรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
ถ้าเป็นกรรมที่แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ถ้าเป็น
กรรมที่พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูปไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
ถ้าเป็นกรรมญัตติวิบัติแต่อนุสาวนาสมบูรณ์ ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ถ้า
เป็นกรรมอนุสาวนาวิบัติแต่ญัตติสมบูรณ์ ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ถ้าเป็นกรรม
ที่ญัตติวิบัติ อนุสาวนาวิบัติ ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
กรรมที่เว้นจากธรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ กรรมที่เว้นจากวินัย ไม่
จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ กรรมที่เว้นจากสัตถุศาสน์ ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
ถ้ากรรมที่ถูกค้านแล้วขืนทำ ไม่ชอบธรรม ไม่ถูกต้องและไม่ควรแก่เหตุ ก็ไม่จัดเป็น
กรรมและไม่ควรทำ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๖. ญัตติวิปันนกัปปาทิกถา
กรรม ๖ ประเภท
[๓๘๗] ภิกษุทั้งหลาย กรรมมี ๖ ประเภทเหล่านี้ คือ

๑. กรรมไม่ชอบธรรม(อธัมมกรรม)๑ ๒. กรรมแบ่งพวก(วัคคกรรม)
๓. กรรมพร้อมเพรียงกัน(สมัคคกรรม) ๔. กรรมแบ่งพวกโดยธรรมปฏิ-
รูป(ธัมมปฏิรูปวัคคกรรม)
๕. กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรม ๖. กรรมพร้อมเพรียงกันโดย
ปฏิรูป(ธัมมปฏิรูปสมัคคกรรม) ชอบธรรม(ธัมมสมัคคกรรม)

อธิบายกรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมไม่ชอบธรรม อะไรบ้าง คือ ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติ
ทุติยกรรม ถ้าทำกรรมด้วยญัตติ ๑ ครั้ง ไม่สวดกรรมวาจา ชื่อว่ากรรมไม่
ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าทำกรรมด้วยญัตติ ๒ ครั้ง แต่ไม่
สวดกรรมวาจา ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าทำกรรมด้วยกรรมวาจา ๑ ครั้ง แต่ไม่
ตั้งญัตติ ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าทำกรรมด้วยกรรมวาจา ๒ ครั้ง แต่ไม่
ตั้งญัตติ ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าทำกรรมด้วยญัตติ ๑ ครั้ง แต่ไม่
สวดกรรมวาจา ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าทำกรรมด้วยญัตติ ๒ ครั้ง แต่ไม่
สวดกรรมวาจา ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้ เป็นชื่อของบาลี (พระไตรปิฎก) (วิ.อ. ๓/๓๗๘/๒๓๙) ไม่ชอบธรรม จึงหมายถึง ไม่ถูกต้อง
ตามพระบาลี ไม่ถูกต้องตามพระพุทธพจน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๖. ญัตติวิปันนกัปปาทิกถา
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าทำกรรมด้วยญัตติ ๓ ครั้ง แต่ไม่
สวดกรรมวาจา ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าทำกรรมด้วยญัตติ ๔ ครั้ง แต่ไม่
สวดกรรมวาจา ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าทำกรรมด้วยกรรมวาจา ๑ ครั้ง แต่ไม่
ตั้งญัตติ ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าทำกรรมด้วยกรรมวาจา ๒ ครั้ง แต่ไม่
ตั้งญัตติ ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าทำกรรมด้วยกรรมวาจา ๓ ครั้ง แต่ไม่
ตั้งญัตติ ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าทำกรรมด้วยกรรมวาจา ๔ ครั้ง แต่ไม่
ตั้งญัตติ ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากรรมไม่ชอบธรรม (๑)

อธิบายกรรมที่แบ่งพวกทำ
ภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมที่แบ่งพวก อะไรบ้าง คือ ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติ
ทุติยกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้มา
ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะก็ไม่ได้นำมา ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้าก็คัดค้าน ชื่อว่า
กรรมที่แบ่งพวก
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด
ภิกษุเหล่านั้นมา แต่ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะไม่ได้นำมา ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้า
กันแล้วคัดค้าน ชื่อว่ากรรมที่แบ่งพวก
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด
ภิกษุเหล่านั้นมา ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะก็ได้นำมาแล้ว แต่ภิกษุที่อยู่พร้อม
หน้ากันแล้วคัดค้าน ชื่อว่ากรรมที่แบ่งพวก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๖. ญัตติวิปันนกัปปาทิกถา
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด
ภิกษุเหล่านั้นไม่มา ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะก็ยังไม่ได้นำมา ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้า
ก็คัดค้าน ชื่อว่ากรรมที่แบ่งพวก
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด
ภิกษุเหล่านั้นมา แต่ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะไม่ได้นำมา ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้า
กันแล้วคัดค้าน ชื่อว่ากรรมที่แบ่งพวก
ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้น
มา ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะก็นำมาแล้ว แต่ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้ากันแล้วคัดค้าน
ชื่อว่ากรรมที่แบ่งพวก
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากรรมที่แบ่งพวก (๒)

อธิบายกรรมที่พร้อมเพรียงกันทำ
ภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมที่พร้อมเพรียงกัน อะไรบ้าง คือ ภิกษุทั้งหลาย ใน
ญัตติทุติยกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมา ฉันทะ
ของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะก็ได้นำมาแล้ว ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้ากันแล้วก็ไม่คัดค้าน ชื่อว่า
กรรมที่พร้อมเพรียงกัน
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด
ภิกษุเหล่านั้นมา ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะได้นำมาแล้ว ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้า
กันแล้วก็ไม่คัดค้าน ชื่อว่ากรรมที่พร้อมเพรียงกัน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากรรมที่พร้อมเพรียงกัน (๓)

อธิบายกรรมแบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป
ภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมที่แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป อะไรบ้าง คือ ภิกษุทั้งหลาย
ในญัตติทุติยกรรม ถ้าสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติภายหลัง ภิกษุผู้เข้ากรรม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๖. ญัตติวิปันนกัปปาทิกถา
กำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นไม่มา ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะไม่ได้นำมา
พวกที่อยู่พร้อมหน้าก็คัดค้าน ชื่อว่ากรรมที่แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติภายหลัง
ภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมา แต่ฉันทะของภิกษุผู้
ควรแก่ฉันทะไม่ได้นำมา ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้ากันแล้วก็คัดค้าน ชื่อว่ากรรมที่แบ่ง
พวกโดยธรรมปฏิรูป
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติภายหลัง
ภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมา ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่
ฉันทะก็นำมาแล้ว แต่ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้ากันแล้วคัดค้าน ชื่อว่ากรรมที่แบ่งพวก
โดยธรรมปฏิรูป
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติภายหลัง
ภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นไม่มา ฉันทะของภิกษุผู้ควร
แก่ฉันทะก็ไม่ได้นำมา ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้ากันแล้วคัดค้าน ชื่อว่ากรรมที่แบ่ง
พวกโดยธรรมปฏิรูป
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติภายหลัง
ภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาแล้ว แต่ฉันทะของภิกษุ
ผู้ควรแก่ฉันทะไม่ได้นำมา ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้าก็คัดค้าน ชื่อว่ากรรมที่แบ่งพวก
โดยธรรมปฏิรูป
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติภายหลัง
ภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาแล้ว ฉันทะของภิกษุ
ผู้ควรแก่ฉันทะก็นำมาแล้ว แต่ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้ากันแล้วคัดค้าน ชื่อว่ากรรมที่
แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากรรมที่แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป (๔)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๖. ญัตติวิปันนกัปปาทิกถา
อธิบายกรรมที่พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป
ภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมที่พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป อะไรบ้าง คือ ภิกษุ
ทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติภายหลังภิกษุผู้เข้า
กรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาแล้ว ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะ
ก็นำมาแล้ว ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้ากันแล้วก็ไม่คัดค้าน ชื่อว่ากรรมพร้อมเพรียงกัน
โดยธรรมปฏิรูป
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าสวดกรรมวาจาก่อน ตั้งญัตติภายหลัง
ภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาแล้ว ฉันทะของภิกษุผู้ควร
แก่ฉันทะก็นำมาแล้ว ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้ากันไม่คัดค้าน ชื่อว่ากรรมพร้อมเพรียง
กันโดยธรรมปฏิรูป
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป (๕)

อธิบายกรรมที่พร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมที่พร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม อะไรบ้าง คือ ภิกษุ
ทั้งหลาย ในญัตติทุติยกรรม ถ้าตั้งญัตติก่อน ทำกรรมด้วยกรรมวาจา ๑ ครั้ง
ภายหลัง ภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาแล้ว ฉันทะของ
ภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะก็นำมาแล้ว ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้ากันแล้วก็ไม่คัดค้าน ชื่อว่า
กรรมพร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในญัตติจตุตถกรรม ถ้าตั้งญัตติก่อน ทำกรรมด้วยกรรม
วาจา ๓ ครั้งภายหลัง ภิกษุผู้เข้ากรรมกำหนดจำนวนไว้เท่าใด ภิกษุเหล่านั้นมาแล้ว
ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะก็นำมาแล้ว ภิกษุที่อยู่พร้อมหน้ากันแล้วก็ไม่คัดค้าน
ชื่อว่ากรรมพร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ากรรมพร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม (๖)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๗. จตุวัคคกรณาทิกถา
๒๓๗. จตุวัคคกรณาทิกถา
ว่าด้วยกรรมที่สงฆ์กำหนดจำนวน ๔ รูปทำเป็นต้น

เรื่องสงฆ์ ๕ ประเภท
[๓๘๘] สงฆ์มี ๕ ประเภท คือ

๑. สงฆ์จตุวรรค (กำหนดจำนวน ๔ รูป)
๒. สงฆ์ปัญจวรรค (กำหนดจำนวน ๕ รูป)
๓. สงฆ์ทสวรรค (กำหนดจำนวน ๑๐ รูป)
๔. สงฆ์วีสติวรรค (กำหนดจำนวน ๒๐ รูป)
๕. สงฆ์อติเรกวีสติวรรค (กำหนดจำนวน เกิน ๒๐ รูป)

ภิกษุทั้งหลาย ในสงฆ์เหล่านั้น สงฆ์จตุวรรคพร้อมเพรียงกันโดยธรรม
เข้ากรรมได้ทุกอย่าง ยกเว้นกรรม ๓ อย่าง คือ อุปสมบท ปวารณา อัพภาน
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ปัญจวรรคพร้อมเพรียงกันโดยธรรม เข้ากรรมได้ทุกอย่าง
ยกเว้นกรรม ๒ อย่าง คือ อุปสมบทในมัชฌิมชนบท อัพภาน
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ทสวรรคพร้อมเพรียงกันโดยธรรม เข้ากรรมได้ทุกอย่าง
ยกเว้นอัพภานอย่างเดียว
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์วีสติวรรคพร้อมเพรียงกันโดยธรรม เข้ากรรมได้ทุกอย่าง
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์อติเรกวีสติวรรคพร้อมเพรียงกันโดยธรรม เข้ากรรมได้ทุกอย่าง

เรื่องกรรมที่สงฆ์จตุวรรคพึงทำ
[๓๘๙] ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากรรมที่สงฆ์จตุวรรคพึงทำ สงฆ์มีภิกษุณีเป็นที่ ๔
ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากรรมที่สงฆ์จตุวรรคพึงทำ สงฆ์มีสิกขมานาเป็นที่ ๔ ทำ
กรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีสามเณรเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๗. จตุวัคคกรณาทิกถา
กรรมและไม่ควรทำ ... มีสามเณรีเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
... มีภิกษุผู้บอกลาสิกขาเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีภิกษุ
ผู้ต้องอันติมวัตถุเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีภิกษุผู้ถูก
สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม เพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็น
กรรมและไม่ควรทำ ... มีภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติเป็นที่ ๔
ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเพราะ
ไม่สละทิฏฐิบาปเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีบัณเฑาะก์
เป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีคนลักเพศเป็นที่ ๔ ทำกรรม
ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีภิกษุผู้เข้ารีตเดียรถีย์เป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัด
เป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีสัตว์ดิรัจฉาน เป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรม
และไม่ควรทำ ... มีคนผู้ฆ่ามารดาเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
... มีคนผู้ฆ่าบิดาเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีคนผู้ฆ่า
พระอรหันต์เป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรม และไม่ควรทำ ... มีคนผู้ประทุษ
ร้ายภิกษุณีเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีภิกษุผู้ทำลาย
สงฆ์เป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีภิกษุผู้ทำร้ายพระศาสดา
จนถึงห้อพระโลหิตเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีอุภโต
พยัญชนกเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีภิกษุผู้เป็นนานา
สังวาสเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีภิกษุผู้อยู่ในนานา
สีมาเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... มีภิกษุผู้อยู่ในอากาศ
ด้วยฤทธิ์เป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ ... สงฆ์ทำกรรมแก่
ภิกษุใด มีภิกษุนั้นเป็นที่ ๔ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
เรื่องกรรมที่สงฆ์จตุวรรคพึงทำ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๗. จตุวัคคกรณาทิกถา
เรื่องกรรมที่สงฆ์ปัญจวรรคพึงทำ
[๓๙๐] ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากรรมที่สงฆ์ปัญจวรรคพึงทำ สงฆ์มีภิกษุณีเป็นที่
๕ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากรรมที่สงฆ์ปัญจวรรคพึงทำ สงฆ์มีสิกขมานาเป็นที่ ๕
ฯลฯ มีสามเณรเป็นที่ ๕ ... ... มีสามเณรีเป็นที่ ๕ ... ... มีภิกษุผู้บอกลาสิกขา
เป็นที่ ๕ ... ... มีภิกษุผู้ต้องอันติมวัตถุเป็นที่ ๕ ... ... มีภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติเป็นที่ ๕ ... ... มีภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่ทำคืนอาบัติเป็นที่ ๕ ... ... มีภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่
สละทิฏฐิบาปเป็นที่ ๕ ... ... มีบัณเฑาะก์เป็นที่ ๕ ... ... มีคนลักเพศ เป็นที่ ๕
... ... มีภิกษุผู้เข้ารีตเดียรถีย์เป็นที่ ๕ ... ... มีสัตว์ดิรัจฉานเป็นที่ ๕ ... ... มีคน
ผู้ฆ่ามารดาเป็นที่ ๕ ... ... มีคนผู้ฆ่าบิดาเป็นที่ ๕ ... ... มีคนผู้ฆ่าพระอรหันต์
เป็นที่ ๕ ... ... มีคนผู้ประทุษร้ายภิกษุณีเป็นที่ ๕ ... ... มีภิกษุผู้ทำลายสงฆ์เป็น
ที่ ๕ ... ... มีภิกษุผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิตเป็นที่ ๕ ... ... มี
อุภโตพยัญชนกเป็นที่ ๕ ... ... มีภิกษุผู้เป็นนานาสังวาสเป็นที่ ๕ ... ... มีภิกษุผู้อยู่
ในนานาสีมาเป็นที่ ๕ ... ... มีภิกษุผู้อยู่ในอากาศด้วยฤทธิ์เป็นที่ ๕ ... สงฆ์ทำ
กรรมแก่ภิกษุใด มีภิกษุนั้นเป็นที่ ๕ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
เรื่องกรรมที่สงฆ์ปัญจวรรคพึงทำ จบ

เรื่องกรรมที่สงฆ์ทสวรรคพึงทำ
[๓๙๑] ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากรรมที่สงฆ์ทสวรรคพึงทำ สงฆ์มีภิกษุณีเป็นที่
๑๐ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากรรมที่สงฆ์ทสวรรคพึงทำ สงฆ์มีสิกขมานาเป็นที่ ๑๐ ฯลฯ
มีสามเณรเป็นที่ ๑๐ ... ... มีสามเณรีเป็นที่ ๑๐ ... ... มีภิกษุผู้บอกลาสิกขาเป็นที่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๗. จตุวัคคกรณาทิกถา
๑๐ ... ... มีภิกษุผู้ต้องอันติมวัตถุเป็นที่ ๑๐ ... ... มีภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติเป็นที่ ๑๐ ... ... มีภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่ทำคืนอาบัติเป็นที่ ๑๐ ... ... มีภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะ
ไม่สละทิฏฐิบาปเป็นที่ ๑๐ ... ... มีบัณเฑาะก์เป็นที่ ๑๐ ... ... มีคน ลักเพศเป็นที่
๑๐ ... ... มีภิกษุผู้เข้ารีตเดียรถีย์เป็นที่ ๑๐ ... ... มีสัตว์ดิรัจฉาน เป็นที่ ๑๐ ...
... มีคนผู้ฆ่ามารดาเป็นที่ ๑๐ ... ... มีคนผู้ฆ่าบิดาเป็นที่ ๑๐ ... ... มีคนผู้ฆ่า
พระอรหันต์เป็นที่ ๑๐ ... ... มีคนผู้ประทุษร้ายภิกษุณีเป็นที่ ๑๐ ... ... มีภิกษุ
ผู้ทำลายสงฆ์เป็นที่ ๑๐ ... ... มีภิกษุผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิตเป็นที่
๑๐ ... ... มีอุภโตพยัญชนกเป็นที่ ๑๐ ... ... มีภิกษุผู้เป็นนานาสังวาสเป็นที่ ๑๐
... ... มีภิกษุผู้อยู่ในนานาสีมาเป็นที่ ๑๐ ... ... มีภิกษุผู้อยู่ในอากาศด้วยฤทธิ์เป็นที่
๑๐ ... สงฆ์ทำกรรมแก่ภิกษุใด มีภิกษุนั้นเป็นที่ ๑๐ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรม
และไม่ควรทำ
เรื่องกรรมที่สงฆ์ทสวรรคพึงทำ จบ

เรื่องกรรมที่สงฆ์วีสติวรรคพึงทำ
[๓๙๒] ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากรรมที่สงฆ์วีสติวรรคพึงทำ สงฆ์มีภิกษุณีเป็นที่
๒๐ ทำกรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากรรมที่สงฆ์วีสติวรรคพึงทำ สงฆ์มีสิกขมานาเป็นที่ ๒๐
... มีสามเณรเป็นที่ ๒๐ ... ... มีสามเณรีเป็นที่ ๒๐ ... ... มีภิกษุผู้บอกลาสิกขา
เป็นที่ ๒๐ ... ... มีภิกษุผู้ต้องอันติมวัตถุเป็นที่ ๒๐ ... ... มีภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติเป็นที่ ๒๐ ... ... มีภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติเป็นที่ ๒๐ ... ... มีภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปเป็นที่ ๒๐ ... ... มีบัณเฑาะก์เป็นที่ ๒๐ ... ... มีคน
ลักเพศเป็นที่ ๒๐ ... ... มีภิกษุผู้เข้ารีตเดียรถีย์เป็นที่ ๒๐ ... ... มีสัตว์ดิรัจฉาน

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๘. ปาริวาสิกาทิกถา
เป็นที่ ๒๐ ... ... มีคนผู้ฆ่ามารดาเป็นที่ ๒๐ ... ... มีคนผู้ฆ่าบิดาเป็นที่ ๒๐ ...
... มีคนผู้ฆ่าพระอรหันต์เป็นที่ ๒๐ ... ... มีคนผู้ประทุษร้ายภิกษุณีเป็นที่ ๒๐ ...
... มีภิกษุผู้ทำลายสงฆ์เป็นที่ ๒๐ ... ... มีภิกษุผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระ
โลหิตเป็นที่ ๒๐ ... ... มีอุภโตพยัญชนกเป็นที่ ๒๐ ... ... มีภิกษุผู้เป็นนานา
สังวาสเป็นที่ ๒๐ ... ... มีภิกษุผู้อยู่ในนานาสีมาเป็นที่ ๒๐ .. ... มีภิกษุผู้อยู่ใน
อากาศด้วยฤทธิ์เป็นที่ ๒๐ ... สงฆ์ทำกรรมแก่ภิกษุใด มีภิกษุนั้นเป็นที่ ๒๐ ทำ
กรรม ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
เรื่องกรรมที่สงฆ์วีสติวรรคพึงทำ จบ

๒๓๘. ปาริวาสิกาทิกถา
ว่าด้วยภิกษุผู้อยู่ปริวาสเป็นต้น

เรื่องสงฆ์มีภิกษุผู้อยู่ปริวาสเป็นที่ ๔ ทำสังฆกรรมไม่ได้
และสงฆ์มีภิกษุผู้อยู่ปริวาสนั้นเป็นที่ ๒๐ อัพภานไม่ได้
[๓๙๓] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสงฆ์มีภิกษุผู้อยู่ปริวาสเป็นที่ ๔ พึงให้ปริวาส ชัก
เข้าหาอาบัติเดิม ให้มานัต สงฆ์มีภิกษุผู้อยู่ปริวาสนั้นเป็นที่ ๒๐ อัพภาน ไม่จัด
เป็นกรรมและไม่ควรทำ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสงฆ์มีภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิมเป็นที่ ๔ พึงให้ปริวาส
ชักเข้าหาอาบัติเดิม ให้มานัต สงฆ์มีภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิมนั้นเป็นที่ ๒๐
อัพภาน ไม่จัดเป็นกรรมและไม่ควรทำ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสงฆ์มีภิกษุผู้ควรมานัตเป็นที่ ๔ พึงให้ปริวาส ชักเข้าหา
อาบัติเดิม ให้มานัต สงฆ์มีภิกษุผู้ควรมานัตนั้นเป็นที่ ๒๐ อัพภาน ไม่จัดเป็นกรรม
และไม่ควรทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๘. ปาริวาสิกาทิกถา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสงฆ์มีภิกษุผู้ประพฤติมานัตเป็นที่ ๔ พึงให้ปริวาส ชักเข้า
หาอาบัติเดิม ให้มานัต สงฆ์มีภิกษุผู้ประพฤติมานัตนั้นเป็นที่ ๒๐ อัพภาน ไม่จัด
เป็นกรรมและไม่ควรทำ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสงฆ์มีภิกษุผู้ควรอัพภานเป็นที่ ๔ พึงให้ปริวาส ชักเข้าหา
อาบัติเดิม ให้มานัต สงฆ์มีภิกษุผู้ควรอัพภานนั้นเป็นที่ ๒๐ อัพภาน ไม่จัดเป็น
กรรมและไม่ควรทำ

ปฏิโกสนา(การกล่าวคัดค้าน) ๒ อย่าง
เรื่องคำคัดค้านของคน ๒๗ จำพวกฟังไม่ขึ้น
[๓๙๔] ภิกษุทั้งหลาย คำคัดค้านในท่ามกลางสงฆ์ของบางคน ฟังขึ้น ของ
บางคนฟังไม่ขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย คำคัดค้านในท่ามกลางสงฆ์ของใครเล่า ฟังไม่ขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย คำคัดค้านในท่ามกลางสงฆ์ของภิกษุณี ฟังไม่ขึ้น ... ของสิกขมานา
... ... ของสามเณร ... ... ของสามเณรี ... ... ของภิกษุผู้บอกลาสิกขา ... ... ของ
ภิกษุผู้ต้องอันติมวัตถุ ... ... ของภิกษุผู้วิกลจริต ... ... ของภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ...
... ของภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ... ... ของภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ ... ... ของภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่
ทำคืนอาบัติ ... ... ของภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป ... ...
ของบัณเฑาะก์ ... ... ของคนลักเพศ ... ... ของภิกษุผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ... .. ของ
สัตว์ดิรัจฉาน ... ... ของคนผู้ฆ่ามารดา ... ... ของคนผู้ฆ่าบิดา ... ... ของคนผู้ฆ่า
พระอรหันต์ ... ... ของคนผู้ประทุษร้ายภิกษุณี ... ... ของภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ ... ...
ของภิกษุผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต ... ... ของอุภโตพยัญชนก ... ... ของ
ภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส ... ... ของภิกษุผู้อยู่ในนานาสีมา ... ... ของภิกษุผู้อยู่ใน
อากาศด้วยฤทธิ์ ... ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ทำกรรมแก่ผู้ใด คำคัดค้านในท่ามกลางสงฆ์
ของผู้นั้น ฟังไม่ขึ้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๙. เทฺวนิสสารณาทิกถา
ภิกษุทั้งหลาย คำคัดค้านในท่ามกลางสงฆ์ของบุคคลเหล่านี้แล ฟังไม่ขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย คำคัดค้านในท่ามกลางสงฆ์ของใครเล่า ฟังขึ้น

เรื่องคำคัดค้านของภิกษุที่ฟังขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย คำคัดค้านในท่ามกลางของปกตัตตภิกษุ๑ ภิกษุผู้มีสังวาส
เสมอกัน ภิกษุผู้อยู่ในสมานสังวาสสีมา โดยที่สุดแม้ภิกษุผู้นั่งอยู่บนอาสนะติดกัน
บอกให้กันรู้ ฟังขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย คำคัดค้านในท่ามกลางสงฆ์ของบุคคลเหล่านี้แล ฟังขึ้น

๒๓๙. เทฺวนิสสารณาทิกถา
ว่าด้วยนิสสารณา ๒ อย่างเป็นต้น

เรื่องบุคคลที่ถูกขับออกไปดีและบุคคลที่ถูกขับออกไปไม่ดี
[๓๙๕] ภิกษุทั้งหลาย นิสสารณา(การขับออกจากหมู่) มี ๒ อย่างนี้ คือ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ยังไม่ถูกขับออก ถ้าสงฆ์ขับบุคคลนั้นออกไป บางคนเป็น
อันถูกขับออกดีแล้วก็มี บางคนเป็นอันถูกขับออกไม่ดีก็มี
๑. ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่ยังไม่ถูกขับออก ถ้าสงฆ์ขับบุคคลนั้นออก
เป็นอันขับออกไม่ดี เป็นอย่างไร คือ
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ ถ้าสงฆ์ขับบุคคล
นั้นออก เป็นอันขับออกไม่ดี บุคคลประเภทนี้ เรียกว่ายังไม่ถูกขับออก ถ้าสงฆ์
ขับบุคคลนั้นออก เป็นอันขับออกไม่ดี

เชิงอรรถ :
๑ ปกตัตตภิกษุ คือ ภิกษุผู้มีศีลไม่วิบัติ ไม่ต้องอาบัติปาราชิก (วิ.อ. ๓/๓๙๔/๒๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๙. เทฺวนิสสารณาทิกถา
๒. ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่ยังไม่ถูกขับออก ถ้าสงฆ์ขับบุคคลนั้นออก
เป็นอันขับออกดีแล้ว เป็นอย่างไร คือ
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด มีอาบัติมาก ต้อง
อาบัติกำหนดไม่ได้ อยู่คลุกคลีกับคฤหัสถ์ด้วยการคลุกคลีอันไม่ควร ถ้าสงฆ์ขับบุคคล
นั้นออก เป็นอันขับออกดีแล้ว บุคคลประเภทนี้ เรียกว่ายังไม่ถูกขับออก แต่ถ้าสงฆ์
ขับบุคคลนั้นออก เป็นอันขับออกดีแล้ว

โอสารณา ๒ อย่าง
[๓๙๖] ภิกษุทั้งหลาย โอสารณา(การเรียกเข้าหมู่) มี ๒ อย่างนี้ คือ ภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลที่ยังไม่ได้ถูกรับเข้าหมู่ ถ้าสงฆ์รับบุคคลนั้นเข้าหมู่ บางคนเป็น
อันรับเข้าดีก็มี บางคนเป็นอันรับเข้าไม่ดีก็มี

เรื่องบุคคลที่ไม่ควรรับเข้าหมู่ ๑๑ จำพวก
๑. ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่ยังไม่ถูกรับเข้าหมู่ ถ้าสงฆ์รับบุคคลนั้น
เข้าหมู่ เป็นอันรับเข้าไม่ดี เป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย บัณเฑาะก์ที่ยังไม่ถูกรับเข้าหมู่ ถ้าสงฆ์รับบัณเฑาะว์นั้นเข้าหมู่
เป็นอันรับเข้าไม่ดี ... ... คนลักเพศ ... ... คนเข้ารีตเดียรถีย์ ... ... สัตว์ดิรัจฉาน ...
... คนผู้ฆ่ามารดา ... ... คนผู้ฆ่าบิดา ... ... คนผู้ฆ่าพระอรหันต์ ... ... คนผู้ประทุษร้าย
ภิกษุณี ... ... คนผู้ทำลายสงฆ์ ... ... คนผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต
... ภิกษุทั้งหลาย อุภโตพยัญชนกที่ยังไม่ถูกรับเข้าหมู่ ถ้าสงฆ์รับอุภโตพยัญชนนั้น
เข้าหมู่ เป็นอันรับเข้าไม่ดี
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประเภทนี้ เรียกว่าที่ยังไม่ถูกรับเข้าหมู่ ถ้าสงฆ์รับบุคคล
ประเภทนี้เข้าหมู่เป็นอันรับเข้าไม่ดี
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้ เรียกว่าที่ยังไม่ถูกเรียกเข้าหมู่ ถ้าสงฆ์รับพวก
เธอเข้าหมู่ เป็นอันรับเข้าไม่ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๓๙. เทฺวนิสสารณาทิกถา
เรื่องบุคคลที่ควรรับเข้าหมู่ ๓๒ จำพวก
๒. ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่ยังไม่ถูกรับเข้าหมู่ ถ้าสงฆ์รับบุคคลนั้น
เข้าหมู่ เป็นอันรับเข้าดีแล้ว เป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย คนมือด้วนที่ยังไม่ถูกรับเข้าหมู่ ถ้าสงฆ์รับเธอเข้าหมู่ เป็นอันรับ
เข้าดี ... คนเท้าด้วน ... ... คนทั้งมือทั้งเท้าด้วน ... ... คนหูวิ่น ... ... คนจมูกแหว่ง
... ... คนทั้งหูวิ่นทั้งจมูกแหว่ง ... ... คนนิ้วมือนิ้วเท้าขาด ... ... คนง่ามมือง่ามเท้า
ขาด ... ... คนเอ็นขาด ... ... คนมือเป็นแผ่น ... ... คนค่อม ... ... คนเตี้ย ...
... คนคอพอก ... ... คนถูกสักหมายโทษ ... ... คนมีรอยเฆี่ยนด้วยหวาย ... ... คนมี
หมายจับ ... ... คนเท้าปุก ... ... คนมีโรคเรื้อรัง ... ... คนมีรูปร่างไม่สมประกอบ ...
... คนตาบอดข้างเดียว ... ... คนง่อย ... ... คนกระจอก ... ... คนเป็นโรคอัมพาต
... ... คนเคลื่อนไหวเองไม่ได้ ... ... คนชราทุพพลภาพ ... ... คนตาบอดสองข้าง ...
... คนใบ้ ... ... คนหูหนวก ... ... คนทั้งบอดทั้งใบ้ ... ... คนทั้งบอดทั้งหนวก
... ... คนทั้งใบ้ทั้งหนวก ... ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งบอดทั้งใบ้ ทั้งหนวกที่ยังไม่ได้ถูก
รับเข้าหมู่ ถ้าสงฆ์รับเธอเข้าหมู่ เป็นอันรับเข้าดีแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประเภทนี้ เรียกว่าที่ยังไม่ถูกรับเข้าหมู่ ถ้าสงฆ์รับ
บุคคลประเภทนี้เข้าหมู่ เป็นอันรับเข้าดีแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้ เรียกว่าที่ยังไม่ถูกเรียกเข้าหมู่ ถ้าสงฆ์รับ
บุคคลเหล่านี้เข้าหมู่ เป็นอันรับเข้าดีแล้ว
วาสภคามภาณวารที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๐. อธัมมกัมมาทิกถา
๒๔๐. อธัมมกัมมาทิกถา
ว่าด้วยกรรมที่ไม่ชอบธรรมเป็นต้น

เรื่องการลงอุกเขปนียกรรมที่ไม่ชอบธรรม ๗ กรณี
[๓๙๗] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุไม่มีอาบัติที่พึงเห็น สงฆ์ ภิกษุ
หลายรูป หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว เห็นอาบัตินั้นไหม”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่พึงเห็น” สงฆ์จึงลงอุกเขปนีย
กรรมภิกษุนั้นเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุไม่มีอาบัติที่พึงทำคืน สงฆ์ ภิกษุหลายรูป
หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว จงทำคืนอาบัตินั้น”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่พึงทำคืน” สงฆ์จึงลง
อุกเขปนียกรรมภิกษุนั้นเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุไม่มีทิฏฐิบาปที่พึงสละ สงฆ์ ภิกษุ
หลายรูป หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านมีทิฏฐิบาป จงสละทิฏฐิบาปนั้น”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีทิฏฐิบาปที่พึงสละ” สงฆ์จึงลง
อุกเขปนียกรรมภิกษุนั้นเพราะไม่สละทิฏฐิบาป ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุไม่มีอาบัติที่พึงเห็น ไม่มีอาบัติที่พึง
ทำคืน สงฆ์ ภิกษุหลายรูป หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว
เห็นอาบัตินั้นไหม จงทำคืนอาบัตินั้น” ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย
ผมไม่มีอาบัติที่พึงเห็น ผมไม่มีอาบัติที่พึงทำคืน” สงฆ์จึงลงอุกเขปนียกรรมภิกษุนั้น
เพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ หรือเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุไม่มีอาบัติที่พึงเห็น ไม่มีทิฏฐิบาปที่
พึงสละ สงฆ์ ภิกษุหลายรูปหรือ รูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๐. อธัมมกัมมาทิกถา
เห็นอาบัตินั้นไหม ท่านมีทิฏฐิบาป จงสละทิฏฐิบาปนั้น” ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า
“ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่พึงเห็น ผมไม่มีทิฏฐิบาปที่พึงสละ” สงฆ์จึงลงอุกเขปนีย
กรรมภิกษุนั้นเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ หรือเพราะไม่สละทิฏฐิบาป ชื่อว่ากรรมไม่
ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุไม่มีอาบัติที่พึงทำคืน ไม่มีทิฏฐิบาป
ที่พึงสละ สงฆ์ ภิกษุหลายรูปหรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว
จงทำคืนอาบัตินั้น ท่านมีทิฏฐิบาป จงสละทิฏฐิบาปนั้น” ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า
“ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่พึงทำคืน ผมไม่มีทิฏฐิบาปที่พึงสละ” สงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมภิกษุนั้นเพราะไม่ทำคืนอาบัติ หรือเพราะไม่สละทิฏฐิบาป ชื่อว่ากรรมไม่ชอบ
ธรรม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุไม่มีอาบัติที่พึงเห็น ไม่มีอาบัติที่พึงทำคืน
ไม่มีทิฏฐิบาปที่พึงสละ สงฆ์ ภิกษุหลายรูป หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน
ท่านต้องอาบัติแล้ว เห็นอาบัตินั้นไหม จงทำคืนอาบัตินั้น ท่านมีทิฏฐิบาป จงสละ
ทิฏฐิบาปนั้น” ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่พึงเห็น
ผมไม่มีอาบัติที่พึงทำคืน ผมไม่มีทิฏฐิบาปที่พึงสละ” สงฆ์จึงลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ
นั้นเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ เพราะไม่ทำคืนอาบัติ หรือเพราะไม่สละทิฏฐิบาป ชื่อว่า
กรรมไม่ชอบธรรม

เรื่องการลงอุกเขปนียกรรมที่ไม่ชอบธรรมอีก ๗ กรณี
[๓๙๘] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุมีอาบัติที่พึงเห็น สงฆ์ ภิกษุหลายรูป
หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว เห็นอาบัตินั้นไหม” ภิกษุนั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ขอรับ ผมเห็น” สงฆ์ยังขืนลงอุกเขปนียกรรม
ภิกษุนั้นเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๐. อธัมมกัมมาทิกถา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุมีอาบัติที่พึงทำคืน สงฆ์ ภิกษุหลายรูป
หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว จงทำคืนอาบัตินั้น” ภิกษุนั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ขอรับ ผมจะทำคืน” สงฆ์ยังขืนลงอุกเขปนียกรรม
ภิกษุนั้นเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุมีทิฏฐิบาปที่พึงสละ สงฆ์ ภิกษุหลายรูป
หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านมีทิฏฐิบาป จงสละทิฏฐิบาปนั้น” ภิกษุนั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ขอรับ ผมจะสละ” สงฆ์ยังขืนลงอุกเขปนียกรรม
ภิกษุนั้นเพราะไม่สละทิฏฐิบาป ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุมีอาบัติที่พึงเห็น มีอาบัติที่พึงทำคืน
... ... มีอาบัติที่พึงเห็น มีทิฏฐิบาปที่พึงสละ ... ... มีอาบัติที่พึงทำคืน มีทิฏฐิบาป
ที่พึงสละ ... ... มีอาบัติที่พึงเห็น มีอาบัติที่พึงทำคืน มีทิฏฐิบาปที่พึงสละ สงฆ์
ภิกษุหลายรูป หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว เห็นอาบัติ
นั้นไหม จงทำคืนอาบัตินั้น ท่านมีทิฏฐิบาป จงสละทิฏฐิบาปนั้น” ภิกษุนั้นกล่าว
อย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ขอรับ ผมเห็น ผมจะทำคืน ผมจะสละทิฏฐิบาป”
สงฆ์ยังขืนลงอุกเขปนียกรรมภิกษุนั้นเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ เพราะไม่ทำคืนอาบัติ
หรือ เพราะไม่สละทิฏฐิบาป ชื่อว่ากรรมไม่ชอบธรรม

เรื่องการลงอุกเขปนียกรรมที่ชอบธรรม ๗ กรณี
[๓๙๙] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุมีอาบัติที่พึงเห็น สงฆ์ ภิกษุหลายรูป
หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว เห็นอาบัตินั้นไหม” ภิกษุนั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่พึงเห็น” สงฆ์จึงลงอุกเขปนียกรรม
ภิกษุนั้นเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ ชื่อว่ากรรมชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุมีอาบัติที่พึงทำคืน สงฆ์ ภิกษุหลายรูป
หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว จงทำคืนอาบัตินั้น” ภิกษุนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๑. อุปาลิปุจฉากถา
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่พึงทำคืน” สงฆ์จึงลงอุกเขปนียกรรม
ภิกษุนั้นเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ชื่อว่ากรรมชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุมีทิฏฐิบาปที่พึงสละ สงฆ์ ภิกษุหลายรูป
หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านมีทิฏฐิบาป จงสละทิฏฐิบาปนั้น” ภิกษุนั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีทิฏฐิบาปที่พึงสละ” สงฆ์จึงลงอุกเขปนียกรรม
ภิกษุนั้นเพราะไม่สละทิฏฐิบาป ชื่อว่ากรรมชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุมีอาบัติที่พึงเห็น มีอาบัติที่พึงทำคืน
... ... มีอาบัติที่พึงเห็น มีทิฏฐิบาปที่พึงสละ ... ... มีอาบัติที่พึงทำคืน มีทิฏฐิบาป
ที่พึงสละ ... ... มีอาบัติที่พึงเห็น มีอาบัติที่พึงทำคืน มีทิฏฐิบาปที่พึงสละ สงฆ์
ภิกษุหลายรูป หรือรูปเดียวโจทภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว เห็นอาบัติ
นั้นไหม จงทำคืนอาบัตินั้น ท่านมีทิฏฐิบาป จงสละทิฏฐิบาปนั้น” ภิกษุนั้นกล่าว
อย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่พึงเห็น ผมไม่มีอาบัติที่พึงทำคืน ผม
ไม่มีทิฏฐิบาปที่พึงสละ” สงฆ์จึงลงอุกเขปนียกรรมภิกษุนั้นเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ
เพราะไม่ทำคืนอาบัติ หรือเพราะไม่สละทิฏฐิบาป ชื่อว่ากรรมชอบธรรม

๒๔๑. อุปาลิปุจฉากถา
ว่าด้วยพระอุบาลีกราบทูลถามปัญหา

เรื่องกรรมไม่ชอบด้วยธรรมไม่ชอบด้วยวินัย
หมวดที่ ๑ รวม ๑๖ กรณี
[๔๐๐] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้น
ถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ท่านพระอุบาลีผู้
นั่งแล้ว ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “กรรมที่ควรทำต่อหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๑. อุปาลิปุจฉากถา
แต่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันกลับทำลับหลัง กรรมนั้นจัดว่าเป็นกรรมชอบด้วยธรรม
เป็นกรรม ชอบด้วยวินัยหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี กรรมนั้นจัดว่าเป็นกรรมไม่ชอบด้วย
ธรรม เป็นกรรมไม่ชอบด้วยวินัย”
ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “กรรมที่ควรทำโดยการสอบถาม แต่สงฆ์พร้อม
เพรียงกันทำโดยไม่สอบถาม ... ... กรรมที่ควรทำตามปฏิญญา แต่สงฆ์พร้อม
เพรียงกันทำโดยไม่ตามปฏิญญา ... ... ให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย ... ...
ลงตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย ... ... ลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้
ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ... ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัชชนียกรรม ... ...
ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรนิยสกรรม ... ... ลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้
ควรปัพพาชนียกรรม ... ... ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปฏิสารณียกรรม ... ...
ให้ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรอุกเขปนียกรรม ... ... ชักภิกษุผู้ควรปริวาสเข้าหาอาบัติเดิม
... ... ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม ... ... อัพภานภิกษุผู้ควรมานัต ...
... ให้ภิกษุผู้ควรอัพภาน อุปสมบทให้กุลบุตร กรรมนั้นจัดว่าเป็นกรรมชอบด้วย
ธรรม เป็นกรรมชอบด้วยวินัยหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี กรรมนั้นจัดว่าเป็นกรรมไม่ชอบด้วยธรรม
เป็นกรรมไม่ชอบด้วยวินัย
อุบาลี กรรมที่ควรทำต่อหน้า แต่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันกลับทำลับหลัง อย่างนี้แล
จัดว่าเป็นกรรมไม่ชอบด้วยธรรม เป็นกรรมไม่ชอบด้วยวินัย อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมมี
ความผิด
อุบาลี กรรมที่ควรทำโดยการสอบถาม แต่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันกลับทำ
โดยไม่สอบถาม ... ... กรรมที่ควรทำตามปฏิญญา แต่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันกลับ
ทำโดยไม่ตามปฏิญญา ... ... ให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย ... ... ลงตัสส-
ปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย ... ... ลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควร
ตัสสปาปิยสิกากรรม ... ... ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัชชนียกรรม ... ... ลง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๑. อุปาลิปุจฉากถา
ปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรนิยสกรรม ... ... ลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ควร
ปัพพาชนียกรรม ... ... ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปฏิสารณียกรรม ... ...
ให้ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรอุกเขปนียกรรม ... ... ชักภิกษุผู้ควรปริวาสเข้าหาอาบัติเดิม
... ... ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม ... ... อัพภานภิกษุผู้ควรมานัต ...
... ให้ภิกษุผู้ควรอัพภาน อุปสมบทให้กุลบุตร อุบาลี อย่างนี้แล จัดว่าเป็น
กรรมไม่ชอบด้วยธรรม เป็นกรรมไม่ชอบด้วยวินัย อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมมีความผิด”

เรื่องกรรมที่ชอบด้วยธรรมชอบด้วยวินัย
หมวดที่ ๑ รวม ๑๖ กรณี
[๔๐๑] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “กรรมที่ควรทำต่อหน้า สงฆ์ผู้พร้อม
เพรียงกันทำต่อหน้า กรรมนั้นจัดว่าเป็นกรรมชอบด้วยธรรม จัดว่าเป็นกรรมชอบ
ด้วยวินัยหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี กรรมนั้นจัดว่าเป็นกรรมชอบด้วยธรรม
เป็นกรรมชอบด้วยวินัย”
พระอุบาลีกราบทูลว่า “กรรมที่ควรทำโดยการสอบถาม สงฆ์ผู้พร้อมเพรียง
กันทำโดยการสอบถาม ... ... กรรมที่ควรทำตามปฏิญญา สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน
ก็ทำตามปฏิญญา ... ... ให้สติวินัยแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย ... ... ให้อมูฬหวินัยแก่
ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย ... ... ลงตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกา
กรรม ... ... ลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัชชนียกรรม ... ... ลงนิยสกรรมแก่
ภิกษุผู้ควรนิยสกรรม ... ... ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปัพพาชนียกรรม ...
... ลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปฏิสารณียกรรม ... ... ลงอุกเขปนียกรรมแก่
ภิกษุผู้ควรอุกเขปนียกรรม ... ... ให้ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรปริวาส ... ... ชักภิกษุผู้
ควรชักเข้าหาอาบัติเดิมเข้าหาอาบัติเดิม ... ... ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควรมานัต ... ...
อัพภานภิกษุผู้ควรอัพภาน ... ... อุปสมทให้กุลบุตรผู้ควรอุปสมบท กรรมนั้นจัด
ว่าเป็นกรรมชอบด้วยธรรม จัดว่าเป็นกรรมชอบด้วยวินัยหรือ พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๑. อุปาลิปุจฉากถา
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี กรรมนั้นจัดว่าเป็นกรรมชอบด้วยธรรม
เป็นกรรมชอบด้วยวินัย
อุบาลี กรรมที่ควรทำต่อหน้า สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันก็ทำต่อหน้า อย่างนี้แล
จัดว่าเป็นกรรมชอบด้วยธรรม เป็นกรรมชอบด้วยวินัย อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมไม่มี
ความผิด
อุบาลี กรรมที่ควรทำโดยการสอบถาม สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันก็ทำโดยการ
สอบถาม ... ... กรรมที่ควรทำตามปฏิญญา สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันก็ทำตามปฏิญญา
... ... ให้สติวินัยแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย ... ... ให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย
... ... ลงตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ... ลงตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัชชนียกรรม ... ... ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้ควรนิยสกรรม ...
... ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปัพพาชนียกรรม ... ... ลงปฏิสารณียกรรมแก่
ภิกษุผู้ควรปฏิสารณียกรรม ... ... ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรอุกเขปนียกรรม
... ... ให้ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรปริวาส ... ... ชักภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิมเข้าหา
อาบัติเดิม ... ... ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควรมานัต ... ... อัพภานภิกษุผู้ควรอัพภาน
... ... อุปสมบทให้กุลบุตรผู้ควรอุปสมบท อุบาลี อย่างนี้แล จัดว่าเป็นกรรมชอบ
ด้วยธรรม เป็นกรรมชอบด้วยวินัย อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมไม่มีความผิด”

เรื่องกรรมไม่ชอบด้วยธรรมไม่ชอบด้วยวินัย
หมวดที่ ๒ อีก ๑๖ กรณี
[๔๐๒] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้อมูฬหวินัยแก่
ภิกษุผู้ควรสติวินัย ให้สติวินัยแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย กรรมนั้นจัดว่าเป็นกรรม
ชอบด้วยธรรม เป็นกรรมชอบด้วยวินัยหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี กรรมนั้นจัดว่าเป็นกรรมไม่ชอบด้วยธรรม
เป็นกรรมไม่ชอบด้วยวินัย”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๑. อุปาลิปุจฉากถา
ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงตัสสปาปิยสิกากรรมแก่
ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย ให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ... ลง
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ... ลงตัสสปาปิยสิกากรรมแก่
ภิกษุผู้ควรตัชชนียกรรม ... ... ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัชชนียกรรม ... ... ลง
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรนิยสกรรม ... ... ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรนิยส
กรรม ... ... ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปัพพาชนียกรรม ... ... ลงปฏิสารณียกรรม
แก่ภิกษุผู้ควรปัพพาชนียกรรม ... ... ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปฏิสารณีย
กรรม ... ... ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปฏิสารณียกรรม ... ... ลงปฏิสารณีย
กรรมแก่ภิกษุผู้ควรอุกเขปนียกรรม ... ... ให้ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรอุกเขปนียกรรม ...
... ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปริวาส ... ... ชักภิกษุผู้ควรปริวาสเข้าหาอาบัติ
เดิม ... ... ให้ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม ... ... ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควร
ชักเข้าหาอาบัติเดิม ... ... ชักภิกษุผู้ควรมานัตเข้าหาอาบัติเดิม ... ... อัพภานภิกษุ
ผู้ควรมานัต ... ... ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควรอัพภาน ... ... ให้ภิกษุผู้ควรอัพภาน
อุปสมบทให้กุลบุตร ... ... อัพภานกุลบุตรผู้ควรอุปสมบท กรรมนั้น จัดว่าเป็น
กรรมชอบด้วยธรรม จัดว่าเป็นกรรมชอบด้วยวินัยหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี กรรมนั้นจัดว่าเป็นกรรมไม่ชอบด้วยธรรม
เป็นกรรมไม่ชอบด้วยวินัย
อุบาลี สงฆ์พร้อมเพรียงกันให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย ให้สติวินัย
แก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย
อุบาลี อย่างนี้แลจัดว่าเป็นกรรมไม่ชอบด้วยธรรม เป็นกรรมไม่ชอบด้วยวินัย
อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมมีความผิด
อุบาลี สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันลงตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย
ให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ... ลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้
ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ... ลงตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัชชนียกรรม
... ... ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัชชนียกรรม ... ... ลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควร
นิยสกรรม ... ... ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรนิยสกรรม ... ... ลงนิยสกรรม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๑. อุปาลิปุจฉากถา
แก่ภิกษุผู้ควรปัพพาชนียกรรม ... ... ลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปัพพาชนีย
กรรม ... ... ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปฏิสารณียกรรม ... ... ลงอุกเขปนีย
กรรมแก่ภิกษุผู้ควรปฏิสารณียกรรม ... ... ลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรอุกเขปนีย
กรรม ... ... ให้ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรอุกเขปนียกรรม ... ... ลงอุกเขปนียกรรมแก่
ภิกษุผู้ควรปริวาส ... ... ชักภิกษุผู้ควรปริวาสเข้าหาอาบัติเดิม ... ... ให้ปริวาสแก่
ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม ... ... ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม ...
... ชักภิกษุผู้ควรมานัตเข้าหาอาบัติเดิม ... ... อัพภานภิกษุผู้ควรมานัต ... ...
ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควรอัพภาน ... ... ให้ภิกษุผู้ควรอัพภานอุปสมบทให้กุลบุตร ... ...
อัพภานผู้ควรอุปสมบท
อุบาลี อย่างนี้แล จัดว่าเป็นกรรมไม่ชอบด้วยธรรม เป็นกรรมไม่ชอบด้วยวินัย
อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมมีความผิด”

เรื่องกรรมชอบด้วยธรรมชอบด้วยวินัย
หมวดที่ ๒ อีก ๑๖ กรณี
[๔๐๓] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “สงฆ์พร้อมเพรียงกันให้สติวินัยแก่ภิกษุผู้
ควรสติวินัย ให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย กรรมนั้น จัดว่าเป็นกรรม
ชอบด้วยธรรม เป็นกรรมชอบด้วยวินัยหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี กรรมนั้น จัดว่าเป็นกรรมชอบด้วยธรรม
เป็นกรรมชอบด้วยวินัย”
ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “สงฆ์พร้อมเพรียงกันให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้ควร
อมูฬหวินัย ... ... ลงตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ...
ลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัชชนียกรรม ... ... ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้ควรนิยส
กรรม ... ... ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปัพพาชนียกรรม ... ... ลงปฏิสารณีย
กรรมแก่ภิกษุผู้ควรปฏิสารณียกรรม .. ... ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรอุกเขปนีย
กรรม ... ... ให้ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรปริวาส ... ... ชักภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๑. อุปาลิปุจฉากถา
เข้าหาอาบัติเดิม ... ... ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควรมานัต ... ... อัพภานภิกษุผู้ควรอัพภาน
... ... อุปสมบทให้กุลบุตรผู้ควรอุปสมบท กรรมนั้น จัดว่าเป็นกรรมชอบด้วยธรรม
เป็นกรรมชอบด้วยวินัยหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี กรรมนั้น จัดว่าเป็นกรรมชอบด้วยธรรม
เป็นกรรมชอบด้วยวินัย
อุบาลี สงฆ์พร้อมเพรียงกันให้สติวินัยแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย ให้อมูฬหวินัยแก่
ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย
อุบาลี อย่างนี้แล จัดว่าเป็นกรรมชอบด้วยธรรม เป็นกรรมชอบด้วยวินัย
อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมไม่มีความผิด
อุบาลี สงฆ์พร้อมเพรียงกันให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย ... ... ลง
ตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ... ลงตัชชนียกรรมแก่
ภิกษุผู้ควรตัชชนียกรรม ... ... ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้ควรนิยสกรรม ... ... ลง
ปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปัพพาชนียกรรม ... ... ลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุ
ผู้ควรปฏิสารณียกรรม ... ... ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรอุกเขปนียกรรม ...
... ให้ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรปริวาส ... ... ชักภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิมเข้าหา
อาบัติเดิม ... ... ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควรมานัต ... ... อัพภานภิกษุผู้ควรอัพภาน ...
... อุปสมบทให้กุลบุตรผู้ควรอุปสมบท
อุบาลี อย่างนี้แล จัดว่าเป็นกรรมชอบด้วยธรรม เป็นกรรมชอบด้วยวินัย
อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมไม่มีความผิด”

เรื่องกรรมไม่ชอบด้วยธรรมไม่ชอบด้วยวินัย
หมวดที่ ๓
[๔๐๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย อย่างนี้แล จัดว่าเป็นกรรม
ไม่ชอบด้วยธรรม เป็นกรรมไม่ชอบด้วยวินัย อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมมีความผิด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๑. อุปาลิปุจฉากถา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ลงตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุผู้ควร
สติวินัย ... ... ลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย ... ... ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้
ควรสติวินัย ... ... ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย ... ... ลงปฏิสารณีย
กรรมแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย ... ... ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย ... ... ให้
ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย ... ... ชักภิกษุผู้ควรสติวินัยเข้าหาอาบัติเดิม ... ... ให้
มานัตแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย ... ... อัพภานภิกษุผู้ควรสติวินัย ... ... ให้ภิกษุผู้ควร
สติวินัยอุปสมบทให้กุลบุตร
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล จัดว่าเป็นกรรมไม่ชอบด้วยธรรม เป็นกรรมไม่
ชอบด้วยวินัย อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมมีความผิด
[๔๐๕] ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันลงตัสสปาปิยสิกากรรมแก่
ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย อย่างนี้แล จัดว่าเป็นกรรมไม่ชอบด้วยธรรม เป็นกรรมไม่
ชอบด้วยวินัย อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมมีความผิด
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย
... ... ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย ... ... ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควร
อมูฬหวินัย ... ... ลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย ... ... ลงอุกเขปนีย
กรรมแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย ... ... ให้ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย ... ... ชัก
ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัยเข้าหาอาบัติเดิม ... ... ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย ...
... อัพภานภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย ... ... ให้ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัยให้อุปสมบทกุลบุตร
... ... ให้สติวินัยแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล จัดว่าเป็นกรรมไม่ชอบด้วยธรรม เป็นกรรมไม่
ชอบด้วยวินัย อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมมีความผิด
[๔๐๖] ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควร
ตัสสปาปิยสิกากรรม ... ... ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ...
ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ... ลงปฏิสารณียกรรม

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๑. อุปาลิปุจฉากถา
แก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ... ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัสส-
ปาปิยสิกากรรม ... ... ให้ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ... ให้
สติวินัย แก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ... ให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้ควรตัสส-
ปาปิยสิกากรรม
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล จัดว่าเป็นกรรมไม่ชอบด้วยธรรม เป็นกรรมไม่
ชอบด้วยวินัย อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมมีความผิด
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันทำลง ... ... แก่ภิกษุผู้ควรลงตัชชนียกรรม
... ... แก่ภิกษุผู้ควรนิยสกรรม ... ... แก่ภิกษุผู้ควรปัพพาชนียกรรม ... ... แก่
ภิกษุผู้ควรปฏิสารณียกรรม ... ... แก่ภิกษุผู้ควรอุกเขปนียกรรม ... ... แก่ภิกษุผู้ควร
ปริวาส ... ... แก่ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม ... ... แก่ภิกษุผู้ควรมานัต ... ... แก่
ภิกษุผู้ควรอัพภาน ... ... ให้สติวินัยแก่ภิกษุผู้ควรอุปสมบท ... ... ให้อมูฬหวินัย
แก่ภิกษุผู้ควรอุปสมบท ... ... ลงตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุผู้ควรอุปสมบท ...
... ลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรอุปสมบท ... ... ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้ควรอุปสมบท
... ... ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรอุปสมบท ... ... ลงปฏิสารณียกรรมแก่
ภิกษุผู้ควรอุปสมบท ... ... ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรอุปสมบท ... ... ให้
ปริวาสแก่ภิกษุผู้ควรอุปสมบท ... ... ชักกุลบุตรผู้ควรอุปสมบทเข้าหาอาบัติเดิม ...
... ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควรอุปสมบท ... ... อัพภานให้แก่ภิกษุผู้ควรอุปสมบท
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล จัดว่าเป็นกรรมไม่ชอบด้วยธรรม เป็นกรรมไม่
ชอบด้วยวินัย อย่างนี้แล สงฆ์ย่อมมีความผิด”
อุปาลิปุจฉาภาณวารที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๒. ตัชชนียกัมมกถา
๒๔๒. ตัชชนียกัมมกถา
ว่าด้วยตัชชนียกรรม

เรื่องภิกษุแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรม
[๔๐๗] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษา
กันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เอาละ พวกเราจะลง
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้นพวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้
ถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนียกรรม
แก่ภิกษุนั้น” แล้วได้พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้นพวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้
ถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุนั้น
ไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้นพวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้
ถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยชอบธรรมลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนียกรรม
แก่ภิกษุนั้น” แล้วได้แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุ
นั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้นพวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูก
สงฆ์แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนียกรรมแก่
ภิกษุนั้น” แล้วได้พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๒. ตัชชนียกัมมกถา
เรื่องภิกษุในอาวาสอื่นพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม
ลงตัชนียกรรมเป็นต้น
[๔๐๘] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ก่อความบาดหมาง ก่อ
ความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เอาละ พวกเรา
จะลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรม
แก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้นพวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แล
ถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วได้แบ่งพวกโดยชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุนั้น
ไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้นพวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แล
ถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยชอบธรรมลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนียกรรม
แก่ภิกษุนั้น” แล้วได้แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้นพวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แล
ถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนียกรรม
แก่ภิกษุนั้น” แล้วได้พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้นพวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แล
ถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วได้แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๒. ตัชชนียกัมมกถา
[๔๐๙] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แลก่อความบาดหมาง
ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เอาละพวก
เราจะลงตัชชนียกรรมแก่เธอ” แล้วแบ่งพวกโดยชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แล
ถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยชอบธรรมลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนียกรรม
แก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุนั้น
ไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แล
ถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนียกรรม
แก่ภิกษุนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุ
นั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูป
นี้แลถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลง
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุ
รูปนั้น ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูป
นี้แลถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนีย
กรรมแก่เธอ” แล้วได้พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
[๔๑๐] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แลก่อความบาดหมาง

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๒. ตัชชนียกัมมกถา
ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เอาละ พวกเรา
จะลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุ
รูปนั้น ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แล
ถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนียกรรม
แก่ภิกษุนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุ
นั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แล
ถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุ
นั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูป
นี้แลถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูป
นั้น ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูป
นี้แลถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลง
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
[๔๑๑] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษา
กันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แลก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เอาละ พวกเราจะลง
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรมแก่
ภิกษุรูปนั้น ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๓. นิยสกัมมกถา
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แล
ถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุ
นั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แล
ถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนียกรรม
แก่ภิกษุนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูป
นี้แลถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลง
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แล
ถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยชอบธรรมลงตัชชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลงตัชชนียกรรมแก่
ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
เรื่องสรุปความที่นักปราชญ์ผูกให้เป็นจักรเปยยาล จบ

๒๔๓. นิยสกัมมกถา
ว่าด้วยนิยสกรรม

เรื่องสงฆ์ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้โง่เขลาไม่ฉลาด
[๔๑๒] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด
มีอาบัติมาก ต้องอาบัติกำหนดไม่ได้ อยู่คลุกคลีกับคฤหัสถ์ด้วยการคลุกคลีกับ

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๔. ปัพพาชนียกัมมกถา
คฤหัสถ์อันไม่สมควร ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย
ภิกษุรูปนี้เป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด มีอาบัติมาก ต้องอาบัติกำหนดไม่ได้ อยู่คลุกคลี
กับคฤหัสถ์ด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์อันไม่สมควร เอาละ พวกเราจะลงนิยสกรรม
แก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงนิยสกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุนั้น
ไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุ
รูปนี้แลถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงนิยสกรรม เอาละ พวกเราจะลงนิยสกรรม
แก่ภิกษุนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลงนิยสกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ...
แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกัน โดย
ธรรมปฏิรูป ...
พึงหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา๑

๒๔๔. ปัพพาชนียกัมมกถา
ว่าด้วยปัพพาชนียกรรม

เรื่องสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายตระกูล
[๔๑๓] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุประทุษร้ายตระกูล มีมารยาททราม
ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ประทุษร้าย
ตระกูล มีมารยาททราม เอาละ พวกเราจะลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่ง
พวกโดยไม่ชอบธรรมลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่
อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้
แลถูกสงฆ์แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงปัพพาชนียกรรม เอาละ พวกเราจะลง

เชิงอรรถ :
๑ คือ พึงเพิ่มข้อควาทหมุนเวียนเหมือนในตัชชนียกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๖. อทัสสนอุกเขปนียกัมมกถา
ปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลงปัพพาชนีย
กรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป
... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
พึงหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา

๒๔๕. ปฏิสารณียกัมมกถา
ว่าด้วยปฏิสารณียกรรม

เรื่องสงฆ์ลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ด่าบริภาษคฤหัสถ์
[๔๑๔] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุด่าบริภาษพวกคฤหัสถ์
ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ด่า
บริภาษพวกคฤหัสถ์ เอาละ พวกเราจะลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่ง
พวกโดยไม่ชอบธรรมลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดย
ไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ...
พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
พึงหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา
เรื่องพระผู้มีพระภาคตรัสอุกเขปนียกรรมในกรณีต่าง ๆ จบ

๒๔๖. อทัสสนอุกเขปนียกัมมกถา
ว่าด้วยอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ
[๔๑๕] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุต้องอาบัติแล้วไม่ปรารถนาจะ
เห็นอาบัติ ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุ
รูปนี้ต้องอาบัติแล้วไม่ปรารถนาจะเห็นว่าเป็นอาบัติ เอาละ พวกเราจะลงอุกเขปนีย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๘. อัปปฏินิสสัคคอุกเขปนียกัมมกถา
กรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลง
อุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดย
ไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ...แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ...
พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
พึงหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา

๒๔๗. อัปปฏิกัมมอุกเขปนียกัมมกถา
ว่าด้วยอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ
[๔๑๖] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุต้องอาบัติแล้วไม่ปรารถนาจะทำ
คืนอาบัติ ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุ
รูปนี้ต้องอาบัติแล้วไม่ปรารถนาจะทำคืนอาบัติ เอาละ พวกเราจะลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่ทำคืนอาบัติแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงอุกเขปนีย กรรม
เพราะไม่ทำคืนอาบัติแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ...
แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดย
ธรรมปฏิรูป ...
พึงหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา

๒๔๘. อัปปฏินิสสัคคอุกเขปนียกัมมกถา
ว่าด้วยอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป
[๔๑๗] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุไม่ปรารถนาจะสละทิฏฐิบาป
ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แลไม่
ปรารถนาจะสละทิฏฐิบาป เอาละ พวกเราจะลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๙. ตัชชนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
บาปแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละ
ทิฏฐิบาปแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบ
ธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
พึงหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา๑

๒๔๙. ตัชชนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยการระงับตัชชนียกรรม
[๔๑๘] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้วกลับ
ประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้แลถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม
แล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม เอาละ
พวกเราจะระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมระงับตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น

เชิงอรรถ :
๑ กรรมทั้ง ๕ อย่างดังกล่าวมานี้ เรียกโดยรวมว่า “นิคคหกรรม” ความหมายและสาเหตุที่ทำให้ภิกษุ
ถูกทำนิคคหกรรมแต่ละอย่าง สรุปได้ดังนี้
๑. ตัชชนียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ควรขู่ สงฆ์ลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ก่อ
ความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์
๒. นิยสกรรม แปลว่า กรรมคือการถอดยศ สงฆ์ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด มี
อาบัติมาก ไม่มีมารยาท
๓. ปัพพาชนียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ควรขับไล่ สงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมแก่
ภิกษุผู้ประทุษร้ายตระกูล มีมารยาทเลวทราม
๔. ปฏิสารณียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ควรให้กลับระลึกได้ สงฆ์ทำปฏิสารณีย
กรรมแก่ภิกษุผู้ด่าบริภาษคฤหัสถ์
๕. อุกเขปนียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ควรยกเสียจากหมู่ สงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมแก่ภิกษุผู้แม้ต้องอาบัติก็ไม่ปรารถนาจะเห็นว่าเป็นอาบัติ แม้ต้องอาบัติแล้วก็ไม่ปรารถนา
จะทำคืน (แสดง) อาบัติ แม้มีทิฏฐิบาปก็ไม่ปรารถนาจะสละทิฏฐิบาปนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๙. ตัชชนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย สงฆ์
แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนี้ เอาละ พวกเราจะระงับ
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมระงับตัชชนียกรรม
แก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย สงฆ์
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนี้ เอาละ พวกเราจะ
ระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยชอบธรรมระงับตัชชนียกรรมแก่
ภิกษุรูปนั้น ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย สงฆ์
พร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรมระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนี้ เอาละ พวกเราจะ
ระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูประงับตัชชนียกรรมแก่
ภิกษุรูปนั้น ภิกษุนั้นไปจากอาวาสนั้นสู่อาวาสอื่น
แม้ในอาวาสนั้น พวกภิกษุได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย สงฆ์แบ่ง
พวกโดยธรรมปฏิรูประงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนี้ เอาละพวกเราจะระงับตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูประงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุ
รูปนั้น
[๔๑๙] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม เอาละ พวกเรา
จะระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมระงับตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป
... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ... ... แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม ...


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๔๙. ตัชชนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
[๔๒๐] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้วกลับ
ประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม
แล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม เอาละ
พวกเราจะระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยชอบธรรมระงับตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดย
ธรรมปฏิรูป ... ... แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม
...
[๔๒๑] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม ถ้าภิกษุ
ทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงตัชชนีย
กรรมแล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม
เอาละ พวกเราจะระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูประงับ
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ... ... แบ่งพวกโดย
ไม่ชอบธรรม ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม
...
[๔๒๒] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม ถ้าภิกษุ
ทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงตัชชนีย
กรรมแล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม เอาละ
พวกเราจะระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูประงับ
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม ... ... พร้อมเพรียง
กันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๕๑. ปัพพาชนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
๒๕๐. นิยสกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยการระงับนิยสกรรม
[๔๒๓] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงนิยสกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับนิยสกรรม ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงนิยสกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับนิยสกรรม เอาละ พวกเรา
จะระงับนิยสกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูประงับนิยสกรรม
แก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม .
.. ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
พึงหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา

๒๕๑. ปัพพาชนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยการระงับปัพพาชนียกรรม
[๔๒๔] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับปัพพาชนียกรรม ถ้าภิกษุ
ทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลง
ปัพพาชนียกรรมแล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับปัพพาชนีย
กรรม เอาละ พวกเราจะระงับปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดย
ไม่ชอบธรรมระงับปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบ
ธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อม
เพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
พึงหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๕๓. อทัสสนอุกเขปนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
๒๕๒. ปฏิสารณียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยการระงับปฏิสารณียกรรม
[๔๒๕] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงปฏิสารณียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับปฏิสารณียกรรม ถ้าภิกษุ
ทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลง
ปฏิสารณียกรรมแล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับปฏิสารณีย
กรรม เอาละ พวกเราจะระงับปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่
ชอบธรรม ระงับปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบ
ธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียง
กันโดยธรรมปฏิรูป ...
พึงหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา

๒๕๓. อทัสสนอุกเขปนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยการระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ
[๔๒๖] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะ
ไม่เห็นว่าเป็นอาบัติแล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่าน
ทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติแล้วกลับ
ประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับ อุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่า
เป็นอาบัติ เอาละ พวกเราจะระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติแก่
ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม ระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็น
อาบัติแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบ
ธรรม ... .... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป
พึงหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๕๕. อัปปฏินิสสัคคอุกเขปนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
๒๕๔. อัปปฏิกัมมอุกเขปนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยการระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ
[๔๒๗] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่ทำคืนอาบัติแล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับ
อุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้
ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ
เอาละ พวกเราจะระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่ง
พวกโดยไม่ชอบธรรมระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติแก่ภิกษุรูปนั้น ... ...
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวก
โดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
พึงหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา

๒๕๕. อัปปฏินิสสัคคอุกเขปนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยการระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ละทิฏฐิบาป
[๔๒๘] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่สละทิฏฐิบาปแล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับ
อุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่าง
นี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละ
ทิฏฐิบาป เอาละ พวกเราจะระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปแก่ภิกษุ
รูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๕๖. ตัชชนียกัมมวิวาทกถา
แก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม
... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
พึงหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา
เรื่องการระงับตัชชนียกรรมเป็นต้นแก่ภิกษุผู้กลับตัวได้ จบ

๒๕๖. ตัชชนียกัมมวิวาทกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในตัชชนียกรรม
[๔๒๙] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษา
กันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เอาละพวกเราจะลง
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุ
รูปนั้น
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”
ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรม
แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรม
ทำไม่ดี ต้องทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
[๔๓๐] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ถ้าภิกษุทั้งหลาย

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๕๖. ตัชชนียกัมมวิวาทกถา
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ก่อความบาดหมาง ก่อ
ความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เอาละพวกเรา
จะลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกันโดย
ไม่ชอบธรรม” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
[๔๓๑] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษา
กันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เอาละ พวกเราจะลง
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยชอบธรรมลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวก
โดยธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรม
ทำไม่ดี ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมแบ่งพวกโดยชอบ
ธรรม” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้องทำใหม่”
จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๕๖. ตัชชนียกัมมวิวาทกถา
[๔๓๒] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ ก่อความบาดหมาง
ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เอาละ
พวกเราจะลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูปลงตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวก
โดยธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกัน
โดยธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
[๔๓๓] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ ก่อความบาดหมาง
ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เอาละ
พวกเราจะลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูปลง
ตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวก
โดยธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรม
ทำไม่ดี ต้องทำใหม่”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๕๗. นิยสกัมมวิวาทกถา
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกันโดย
ธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น

๒๕๗. นิยสกัมมวิวาทกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในนิยสกรรม
[๔๓๔] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด มี
อาบัติมาก มีมารยาทไม่สมควร อยู่คลุกคลีกับคฤหัสถ์ด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์
อันไม่สมควร ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย
ภิกษุรูปนี้เป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด มีอาบัติมาก มีมารยาทไม่สมควร อยู่คลุกคลี
กับคฤหัสถ์ด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์อันไม่สมควร เอาละ พวกเราจะลงนิยสกรรม
แก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงนิยสกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ...
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวก
โดยธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรม
ทำไม่ดี ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกัน
โดยธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
๕ วาระนี้ท่านย่อไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๕๙. ปฏิสารณียกัมมวิวาทกถา
๒๕๘. ปัพพาชนียกัมมวิวาทกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในปัพพาชนียกรรม
[๔๓๕] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุประทุษร้ายตระกูล มีมารยาท
เลวทราม ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุ
รูปนี้ประทุษร้ายตระกูล มีมารยาทเลวทราม เอาละ พวกเราจะลงปัพพาชนีย
กรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวก
โดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวคัดค้านว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม
กรรมพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวก
โดยธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำ
ไม่ดี ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกัน
โดยธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ถูก
ต้องทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
๕ วาระนี้ท่านย่อไว้

๒๕๙. ปฏิสารณียกัมมวิวาทกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในปฏิสารณียกรรม
[๔๓๖] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุด่าบริภาษพวกคฤหัสถ์ ถ้า
ภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ด่าบริภาษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๖๐. อทัสสนอุกเขปนียกัมมวิวาทกถา
พวกคฤหัสถ์ เอาละ พวกเราจะลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวก
โดยไม่ชอบธรรมลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบ
ธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อม
เพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกันโดย
ธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
๕ วาระนี้ท่านย่อไว้

๒๖๐. อทัสสนอุกเขปนียกัมมวิวาทกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ
[๔๓๗] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุต้องอาบัติแล้วไม่ปรารถนาจะ
เห็นว่าเป็นอาบัติ ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุ
รูปนี้ต้องอาบัติแล้วไม่ปรารถนาจะเห็นว่าเป็นอาบัติ เอาละ พวกเราจะลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม
... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดย
ธรรมปฏิรูป ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๖๑. อัปปฏิกัมมอุกเขปนียกัมมวิวาทกถา
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกันโดย
ธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
๕ วาระนี้ท่านย่อไว้

๒๖๑ อัปปฏิกัมมอุกเขปนียกัมมวิวาทกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ
[๔๓๘] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุต้องอาบัติแล้วไม่ปรารถนา
จะทำคืนอาบัติ ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย
ภิกษุรูปนี้ต้องอาบัติแล้วไม่ปรารถนาจะทำคืนอาบัติ เอาละ พวกเราจะลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ...
... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกัน
โดยธรรมปฏิรูป ...
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวก
โดยธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำ
ไม่ดี ต้องทำใหม่”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๖๒. อัปปฏินิสสัคคอุกเขปนียกัมมวิวาทกถา
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกันโดย
ธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
๕ วาระนี้ท่านย่อไว้

๒๖๒. อัปปฏินิสสัคคอุกเขปนียกัมมวิวาทกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป
[๔๓๙] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุไม่ปรารถนาจะสละทิฏฐิบาป
ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ไม่ปรารถนา
สละทิฏฐิบาป เอาละ พวกเราจะลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปแก่ภิกษุ
รูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปแก่
ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ...
... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกันโดย
ธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
๕ วาระนี้ท่านย่อไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๖๓. ตัชชนียกัมมปกิปัสสัทธิกถา
๒๖๓. ตัชชนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในการระงับตัชชนียกรรม
[๔๔๐] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม
แล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม เอาละ
พวกเราจะระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมระงับตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมแบ่งพวกกันโดยไม่
ชอบธรรม” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้องทำ
ใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
[๔๔๑] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม เอาละ พวกเรา
จะระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมระงับตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๖๓. ตัชชนียกัมมปกิปัสสัทธิกถา
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกันโดย
ไม่ชอบธรรม” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
[๔๔๒] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม เอาละ พวกเรา
จะระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยชอบธรรมระงับตัชชนียกรรม
แก่ภิกษุรูปนั้น
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวก
โดยไม่ชอบธรรม กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรม
ทำไม่ดี ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมแบ่งพวกกันโดยไม่
ชอบธรรม” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
[๔๔๓] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม เอาละ พวกเรา
จะระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูประงับตัชชนียกรรม
แก่ภิกษุรูปนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๖๓. ตัชชนียกัมมปกิปัสสัทธิกถา
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมแบ่งพวกกันโดย
ธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้องทำ
ใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
[๔๔๔] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับตัชชนียกรรม เอาละ พวกเรา
จะระงับตัชชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูประงับตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุรูปนั้น
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกันโดย
ธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้องทำ
ใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๖๕. ปัพพาชนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
๒๖๔. นิยสกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในการระงับนิยสกรรม
[๔๔๕] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมแล้วกลับ
ประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับนิยสกรรม ถ้าภิกษุทั้งหลาย
ปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงนิยสกรรมแล้ว
กลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ขอระงับนิยสกรรม เอาละ พวกเราจะ
ระงับนิยสกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยชอบธรรมระงับนิยสกรรมแก่ภิกษุ
รูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ...
แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกัน
โดยธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
๕ วาระนี้ท่านย่อไว้

๒๖๕. ปัพพาชนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในการระงับปัพพาชนียกรรม
[๔๔๖] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรม
แล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับปัพพาชนียกรรม ถ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๖๖. ปฏิสารณีกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ภิกษุทั้งหลายตกลงกันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลง
ปัพพาชนียกรรมแล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับ
ปัพพาชนียกรรม เอาละ พวกเราจะระงับปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่ง
พวกโดยไม่ชอบธรรมระงับปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกัน
โดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ...
... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวก
โดยธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำ
ไม่ดี ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกัน
โดยธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
๕ วาระนี้ท่านย่อไว้

๒๖๖. ปฏิสารณียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในการระงับปฏิสารณียกรรม
[๔๔๗] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงปฏิสารณียกรรม
แล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับปฏิสารณียกรรม ถ้า
ภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลง
ปฏิสารณียกรรมแล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับ
ปฏิสารณียกรรม เอาละ พวกเราจะระงับปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่ง
พวกโดยไม่ชอบธรรมระงับปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกัน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๖๗. อทัสสอุกเขปนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
โดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ...
พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกัน
โดยธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า ''กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
๕ วาระนี้ท่านย่อไว้

๒๖๗. อทัสสนอุกเขปนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในการระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ
[๔๔๘] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะ
ไม่เห็นว่าเป็นอาบัติแล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่าน
ทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติแล้วกลับ
ประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็น
อาบัติ เอาละ พวกเราจะระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติแก่ภิกษุรูป
นั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ
แก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม
... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๖๘. อัปปฏิกัมมอุกเขปนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
โดยธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำ
ไม่ดี ต้องทำใหม่”
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกันโดย
ธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
๕ วาระนี้ท่านย่อไว้

๒๖๘. อัปปฏิกัมมอุกเขปนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในการระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ
[๔๔๙] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะ
ไม่ทำคืนอาบัติแล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่าน
ทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติแล้วกลับประพฤติชอบ
หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ เอาละ พวกเรา
จะระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวกโดยไม่ชอบ
ธรรมระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อมเพรียง
กันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป
... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๖๙. อัปปฏินิสสัคคอุกเขปนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกันโดย
ธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้องทำ
ใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
๕ วาระนี้ท่านย่อไว้

๒๖๙. อัปปฏินิสสัคคอุกเขปนียกัมมปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยความขัดแย้งในการระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป
[๔๕๐] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะ
ไม่สละทิฏฐิบาปแล้วกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป ถ้าภิกษุทั้งหลายปรึกษากันในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า “ท่าน
ทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปแล้วกลับประพฤติชอบ
หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป เอาละ
พวกเราจะระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปแก่ภิกษุรูปนั้น” แล้วแบ่งพวก
โดยไม่ชอบธรรมระงับอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปแก่ภิกษุรูปนั้น ... ... พร้อม
เพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยชอบธรรม ... ... แบ่งพวกโดยธรรม
ปฏิรูป ... ... พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป ...
สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมนั้นกล่าวแย้งว่า “กรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม กรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม กรรมแบ่งพวกโดย
ธรรมปฏิรูป กรรมพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี
ต้องทำใหม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๗๐. รวมเรื่องที่มีในจัมเปยยขันธกะ
บรรดาภิกษุในที่ประชุมนั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมพร้อมเพรียงกันโดย
ธรรมปฏิรูป” และพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า “กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ดี ต้อง
ทำใหม่” จัดเป็นฝ่ายธรรมวาทีในที่ประชุมนั้น
แม้ ๕ วาระนี้ท่านย่อไว้
จัมเปยยขันธกะที่ ๙ จบ

๒๗๐. รวมเรื่องที่มีในจัมเปยยขันธกะ
จัมเปยยขันธกะ มี ๓๖ เรื่อง คือ
เรื่องพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กรุงจัมปา เรื่องพระกัสสป
โคตรในวาสภคามขวนขวายในสิ่งที่พึงปรารถนาเพื่อภิกษุอาคันตุกะ
ครั้นท่านทราบว่าพวกภิกษุอาคันตุกะชำนาญทางโคจรดีแล้ว
จึงเลิกขวนขวายในเวลานั้น แต่ถูกภิกษุอาคันตุกะลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่ทำจึงไปเฝ้าพระชินเจ้า
เรื่องภิกษุชาวกรุงจัมปาทำกรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม
พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ทำกรรมแบ่งพวกโดยชอบธรรม
แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูปพร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป
ภิกษุรูปเดียวลงอุกเขปนียกรรมภิกษุรูปเดียวบ้าง
ภิกษุรูปเดียวลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ
๒ รูปบ้าง ภิกษุรูปเดียวลงอุกเขปนียกรรมภิกษุหลายรูปบ้าง
ภิกษุรูปเดียวลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์บ้าง ภิกษุ ๒ รูปลงอุกเขปนีย
กรรมภิกษุรูปเดียวบ้าง ภิกษุ ๒ รูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ ๒ รูปบ้าง
ภิกษุ ๒ รูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุหลายรูปบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๗๐. รวมเรื่องที่มีในจัมเปยยขันธกะ
ภิกษุ ๒ รูปลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์บ้าง ภิกษุหลายรูป
ลงอุกเขปนียกรรมภิกษุรูปเดียวบ้าง ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนีย
กรรมภิกษุ ๒ รูปบ้าง ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนียกรรม
ภิกษุหลายรูปบ้าง ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์บ้าง
สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์บ้าง เรื่องพระผู้มีพระภาคได้
ทรงสดับแล้วตรัสห้ามเพราะไม่ชอบธรรม
เรื่องกรรมที่ญัตติวิบัติ อนุสาวนาสมบูรณ์ วิบัติโดยอนุสาวนา
สมบูรณ์ด้วยญัตติ วิบัติทั้งสองอย่าง ทำกรรมผิดธรรมวินัย
ผิดสัตถุศาสน์ ทำกรรมที่ถูกคัดค้านกรรมที่กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ
เรื่องแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม พร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม
แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูป
พระตถาคตทรงอนุญาตกรรมที่พร้อมเพรียงกันโดยธรรมเท่านั้น
เรื่องสงฆ์ ๕ ประเภท คือ สงฆ์จตุวรรค สงฆ์ปัญจวรรค
สงฆ์ทสวรรค สงฆ์วีสติวรรค และสงฆ์อติเรกวีสติวรรค
เรื่องยกเว้นอุปสมบทกรรม ปวารณากรรมและอัพภานกรรม
นอกนั้นสงฆ์จตุวรรคทำได้
เรื่องยกเว้นกรรม ๒ อย่าง คือ อุปสมบทกรรมใน
มัชฌิมประเทศและอัพภานกรรม นอกนั้นสงฆ์ปัญจวรรคทำได้ทั้งสิ้น
เรื่องยกเว้นอัพภานกรรมอย่างเดียว นอกนั้นสงฆ์ทสวรรคทำได้
เรื่องสงฆ์วีสติวรรคทำกรรมได้ทุกอย่าง
เรื่องสรุปคน ๒๔ จำพวกคือ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร
สามเณรี ภิกษุผู้บอกลาสิกขา ผู้ต้องอันติมวัตถุ
ผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
เพราะไม่ทำคืนอาบัติ เพราะไม่สละทิฏฐิบาป
บัณเฑาะก์ คนลักเพศ ภิกษุผู้เข้ารีตเดียรถีย์ สัตว์ดิรัจฉาน
คนผู้ฆ่ามารดา คนผู้ฆ่าบิดา คนฆ่าพระอรหันต์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๗๐. รวมเรื่องที่มีในจัมเปยยขันธกะ
คนประทุษร้ายภิกษุณี คนทำลายสงฆ์
คนทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต อุภโตพยัญชนก
ภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส ภิกษุผู้อยู่ในนานาสีมา ภิกษุผู้อยู่ใน
อากาศด้วยฤทธิ์
สงฆ์ทำกรรมแก่ภิกษุใดมีภิกษุนั้นครบจำนวนสงฆ์พอดี
รวม ๒๔ จำพวก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้ามไว้
เพราะคนพวกนั้นเป็นคณปูรกะไม่ได้
เรื่องสงฆ์มีภิกษุผู้อยู่ปริวาสเป็นที่ ๔ ให้ปริวาส ชักเข้าหาอาบัติเดิม
ให้มานัตหรืออัพภาน เป็นกรรมที่ใช้ไม่ได้และไม่ควรทำ
เรื่องสงฆ์มีผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิมเป็นที่ ๔ สงฆ์มีภิกษุ
ผู้ควรมานัตเป็นที่ ๔ สงฆ์มีภิกษุผู้ประพฤติมานัตเป็นที่ ๔
สงฆ์มีภิกษุผู้ควรอัพภานเป็นที่ ๔ สงฆ์ ๕ ประเภทนี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศว่าทำสังฆกรรมให้ไม่ได้
เรื่องคน ๒๗ จำพวกคือ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร
สามเณรี ภิกษุผู้บอกลาสิกขา ผู้ต้องอันติมวัตถุ วิกลจริต
มีจิตฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ถูกลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ เพราะไม่ทำคืนอาบัติ เพราะไม่สละทิฏฐิบาป
บัณเฑาะก์คนลักเพศ ภิกษุผู้เข้ารีตเดียรถีย์ สัตว์ดิรัจฉาน
คนผู้ฆ่ามารดา คนผู้ฆ่าบิดา คนผู้ฆ่าพระอรหันต์
คนประทุษร้ายภิกษุณี คนผู้ทำลายสงฆ์
คนทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต อุภโตพยัญชนก
ภิกษุผู้อยู่ในนานาสังวาส ภิกษุผู้อยู่ในนานาสีมา ภิกษุผู้อยู่ใน
อากาศด้วยฤทธิ์ และภิกษุผู้ถูกสงฆ์ทำกรรม ๒๗ จำพวกนี้ค้านไม่ขึ้น
เรื่องคำคัดค้านของภิกษุปกตัตตะฟังขึ้น เรื่องบุคคลที่ถูกขับ
ออกไปดีและบุคคลที่ถูกขับออกไปไม่ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๗๐. รวมเรื่องที่มีในจัมเปยยขันธกะ
เรื่องคน ๑๑ จำพวก คือ บัณเฑาะก์ คนลักเพศ ภิกษุ
ผู้เข้ารีตเดียรถีย์ สัตว์ดิรัจฉาน คนผู้ฆ่ามารดา คนผู้ฆ่าบิดา
คนผู้ฆ่าพระอรหันต์ คนประทุษร้ายภิกษุณี คนผู้ทำลายสงฆ์
คนทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต อุภโตพยัญชนก
คน ๑๑ จำพวกนี้ไม่ควรรับเข้าหมู่
เรื่องคน ๓๒ จำพวก คือ คนมือด้วน เท้าด้วน ทั้งมือ
ทั้งเท้าด้วน คนหูวิ่น คนจมูกแหว่ง คนทั้งหูวิ่นทั้งจมูกแหว่ง
คนนิ้วมือนิ้วเท้าขาด คนมีง่ามมือง่ามเท้าขาด คนเอ็นขาด
คนมือเป็นแผ่น คนค่อม คนเตี้ย คนคอพอก คนถูกสักหมายโทษ
มีรอยเฆี่ยนด้วยหวาย คนมีหมายจับ คนเท้าปุก
คนมีโรคเรื้อรัง คนมีรูปร่างไม่สมประกอบ
คนตาบอดข้างเดียว คนง่อย คนกระจอก คนเป็นโรคอัมพาต
คนเคลื่อนไหวเองไม่ได้ คนชราทุพพลภาพ คนตาบอดทั้งสองข้าง
คนใบ้ คนหูหนวก คนทั้งบอดทั้งใบ้ คนทั้งบอดทั้งหนวก
คนทั้งใบ้ทั้งหนวก คนทั้งบอด ทั้งใบ้ ทั้งหนวก ๓๒ จำพวกนี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศว่ารับเข้าหมู่ได้
เรื่องการลงอุกเขปนียกรรมภิกษุผู้ไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ
การลงอุกเขปนียกรรมภิกษุผู้ไม่ทำคืนอาบัติ การลงอุกเขปนียกรรม
ภิกษุไม่สละทิฏฐิบาป ๗ กรณี เป็นกรรมไม่ชอบธรรม
เรื่องการลงอุกเขปนียกรรมภิกษุที่ต้องอาบัติไม่ชอบธรรมอีก
๗ กรณี เรื่องการลงอุกเขปนียกรรมภิกษุที่ชอบธรรม ๗ กรณี
เรื่องกรรมที่ควรทำต่อหน้ากลับทำลับหลัง กรรมที่ควรทำ
โดยการสอบถามกลับไม่ซักถาม กรรมที่ควรทำตามปฏิญญา
กลับทำโดยไม่ปฏิญญา ให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้ควรสติวินัย
ทำตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุผู้ควรอมูฬหวินัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๗๐. รวมเรื่องที่มีในจัมเปยยขันธกะ
ลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรตัสสปาปิยสิกากรรม ลงนิยสกรรม
แก่ภิกษุผู้ควรตัชชนียกรรม ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรนิยสกรรม
ลงปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปัพพาชนียกรรม
ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้ควรปฏิสารณียกรรม ให้ปริวาสแก่ภิกษุ
ผู้ควรอุกเขปนียกรรม ชักภิกษุผู้ควรปริวาสเข้าหาอาบัติเดิม
ให้มานัตแก่ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม อัพภานภิกษุผู้ควรมานัต
ให้ภิกษุผู้ควรอัพภานให้อุปสมบทกุลบุตร
ทำกรรมอย่างหนึ่งแก่ภิกษุผู้ควรกรรมอย่างหนึ่ง รวม ๑๖
กรณีเป็นกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรม ไม่ชอบด้วยวินัย
เรื่องทำกรรมนั้น ๆ แก่ภิกษุผู้ควรแก่กรรมนั้น ๆ รวม
๑๖ กรณี เป็นกรรมที่ชอบด้วยธรรมชอบด้วยวินัย เรื่องทำกรรม
แต่ละอย่างไม่ชอบด้วยธรรม ไม่ชอบด้วยวินัย ๑๖ กรณี ๒ หมวด
เรื่องทำกรรมที่ชอบด้วยธรรม ชอบด้วยวินัย ๑๖ กรณี ๒ หมวด
เรื่องหมุนเวียนกรรมมีกรรมแต่ละข้อเป็นมูล พระชินเจ้าตรัสว่า
ไม่ชอบด้วยธรรม เรื่องสงฆ์แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมลงตัชชนีย
กรรมแก่ภิกษุผู้ก่อความบาดหมาง
เรื่องภิกษุในอาวาสอื่นพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรมลง
ตัชชนียกรรม และภิกษุในอาวาสอื่นแบ่งพวกโดยชอบธรรมก็มี
แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูปก็มี พร้อมเพรียงกันโดยธรรมปฏิรูปก็มี
ลงตัชชนียกรรมเรื่องพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม แบ่งพวก
โดยชอบธรรม แบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป และพร้อมเพรียงกัน
โดยธรรมปฏิรูป
นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงจัดแต่ละข้อเป็นมูลหมุนเวียน
เรื่องสงฆ์ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้โง่เขลาไม่ฉลาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๗๐. รวมเรื่องที่มีในจัมเปยยขันธกะ
เรื่องสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายตระกูล
เรื่องสงฆ์ทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ด่าบริภาษคฤหัสถ์
เรื่องพระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำหมู่ตรัสอุกเขปนียกรรม
แก่ภิกษุผู้ไม่เห็นอาบัติ ไม่ทำคืนอาบัติ และไม่สละทิฏฐิบาป
เรื่องการระงับตัชชนียกรรมเป็นต้นแก่ภิกษุผู้กลับตัวได้
ภิกษุผู้มีปัญญาพึงลงตัชชนียกรรมให้ถูกต้องตามวินัย
ภิกษุผู้ประพฤติเรียบร้อยอนุวัตรตามระเบียบวินัยเหล่านั้น
ขอระงับกรรมเหล่านั้นตามนัยแห่งกรรมที่กล่าวไว้ก่อน
เรื่องในกรรมนั้น ๆ สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมคัดค้านว่า
กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ถูก ต้องทำใหม่ และเมื่อกรรมระงับ
ภิกษุเหล่านั้นเป็นธรรมวาที
พระมหามุนีทรงเห็นภิกษุพวกเข้ากรรมได้รับความลำบาก
โดยกรรมาวิบัติจึงทรงชี้วิธีระงับได้ ดุจนายแพทย์ผู้ชำนาญได้
บอกตัวยาไว้ฉะนั้น
จัมเปยยขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๑. โกสัมพิกวิวาทกถา
๑๐. โกสัมพิกขันธกะ
๒๗๑. โกสัมพิกวิวาทกถา
ว่าด้วยเรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพีทะเลาะวิวาทกัน
[๔๕๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี
ครั้งนั้นมีภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติ ภิกษุรูปนั้นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ
แต่ภิกษุพวกอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ
ต่อมา ภิกษุรูปนั้นกลับมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุพวก
อื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวกับภิกษุรูปนั้นดังนี้ว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว
ท่านจงเห็นอาบัตินั้น” ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่จะพึงเห็น”
ภายหลัง ภิกษุเหล่านั้นได้ความพร้อมเพรียงแล้วจึงลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ
รูปนั้นเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ๑

เชิงอรรถ :
๑ พวกภิกษุที่ลงอุกเขปนียกรรม เป็นอุปัชฌาย์ของพวกภิกษุวินัยธรผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย ส่วนภิกษุที่ถูกลง
อุกเขปนียกรรมเป็นอุปัชฌาย์ของพวกภิกษุสุตตันติกะผู้เชี่ยวชาญในพระสูตร เรื่องมีอยู่ว่า
ณ อาวาสแห่งหนึ่ง ในกรุงโกสัมพี มีภิกษุอยู่ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มสุตตันติกะเชี่ยวชาญพระสูตร และ
กลุ่มวินัยธร เชี่ยวชาญพระวินัย วันหนึ่ง อุปัชฌาย์ของพวกสุตตันติกะ เข้าห้องสุขา(วัจกุฎี)เหลือน้ำชำระ
ไว้ในภาชนะแล้วออกมา อุปัชฌาย์ของพวกวินัยธรเข้าไปทีหลัง เห็นน้ำนั้นจึงออกมาถามภิกษุสุตตันติกะว่า
“ท่านเหลือน้ำไว้หรือ” ภิกษุสุตตันติกะตอบว่า “ผมเหลือน้ำไว้” “ในกรณีนี้ ท่านไม่รู้ว่าเป็นอาบัติหรือ”
“ผมไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ” “ท่าน ในกรณีนี้ มีอาบัติอยู่” “ถ้ามีอาบัติ ผมจะแสดงอาบัติ” “ท่าน ถ้าไม่จงใจ
ไม่มีสติ ก็ไม่มีอาบัติ” เมื่อภิกษุวินัยธรกล่าวอย่างนี้ ภิกษุสุตตันติกะจึงมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ
ฝ่ายภิกษุวินัยธรบอกพวกนิสิตของตนว่า “ภิกษุสุตตันติกะนี้ แม้ต้องอาบัติก็ไม่รู้” พวกนิสิตของภิกษุวินัยธร
จึงไปกล่าวกะพวกภิกษุสุตตันติกะว่า “อุปัชฌาย์ของท่าน แม้ต้องอาบัติแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ” พวก
ภิกษุสุตตันติกะ จึงไปบอกแก่อุปัชฌาย์ของตน พระอุปัชฌาย์ของพวกภิกษุสุตตันติกะกล่าวว่า “ในตอนต้น
ภิกษุวินัยธรนี้ กล่าวว่า “ไม่มีอาบัติ แต่ตอนนี้ กลับกล่าวว่า มีอาบัติ ภิกษุวินัยธรนี้พูดเท็จ” เมื่อ
อุปัชฌาย์กล่าวอย่างนี้ พวกนิสิตจึงไปกล่าวกะพวกภิกษุวินัยธรว่า “อุปัชฌาย์ของพวกท่านพูดเท็จ”
แล้วก่อความทะเลาะขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ลำดับนั้น ภิกษุวินัยธรได้โอกาส จึงลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่เห็นอาบัติแก่ภิกษุสุตตันติกะนั้น (วิ.อ. ๓/๔๕๑/๒๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๑. โกสัมพิกวิวาทกถา
ก็ภิกษุรูปนั้นเป็นพหูสูต ชำนาญปริยัติ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา
ต่อมา ภิกษุรูปนั้นเข้าไปหาพวกภิกษุที่เป็นเพื่อนเห็นเพื่อนคบกันมาแล้วได้กล่าวอย่างนี้
ว่า “ท่านทั้งหลาย นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นหาเป็นอาบัติไม่ ผมไม่ต้องอาบัติ ผมต้อง
อาบัติหามิได้ ผมไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม ผมถูกลงอุกเขปนียกรรมหามิได้ แต่ถูก
ลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ไม่ชอบธรรม เป็นความเสียหาย ไม่ควรแก่ฐานะ ท่าน
ทั้งหลายจงเป็นฝ่ายผมโดยธรรมโดยวินัยเถิด”
ภิกษุรูปนั้นได้พวกภิกษุที่เป็นเพื่อนเคยเห็นเคยคบกันมาเป็นพรรคพวกแล้ว
ภิกษุรูปนั้นได้ส่งทูตไปในสำนักของพวกภิกษุชาวชนบทที่เป็นเพื่อนเห็นเพื่อน
คบกันมาว่า “ท่านทั้งหลาย นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้อง
อาบัติ ผมต้องอาบัติหามิได้ ผมไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม ผมถูกลงอุกเขปนียกรรม
หามิได้ แต่ถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ไม่ชอบธรรม เป็นความเสียหาย ไม่
ควรแก่ฐานะ ท่านทั้งหลายจงเป็นฝ่ายผมโดยธรรมโดยวินัยเถิด”
ภิกษุรูปนั้นได้พวกภิกษุชาวชนบทที่เป็นเพื่อนเคยเห็นเคยคบกันมาเป็นพรรคพวก
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นผู้ประพฤติตามภิกษุที่ถูกลงอุกเขปนียกรรม ได้เข้าไป
หาพวกภิกษุที่ลงอุกเขปนียกรรมถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย นั่นไม่
เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุรูปนั้นไม่ต้องอาบัติ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติ
หามิได้ ภิกษุรูปนั้นไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุรูปนั้นถูกลงอุกเขปนียกรรมหามิได้
แต่ถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ไม่ชอบธรรม เป็นความเสียหาย ไม่ควรแก่ฐานะ”
เมื่อพวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมกล่าวอย่างนี้แล้ว
พวกภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรมจึงกล่าวดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่น
ไม่เป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติแล้ว ภิกษุรูปนั้นไม่ต้องอาบัติหามิได้
ภิกษุรูปนั้นถูกลงอุกเขปนียกรรมแล้ว ภิกษุรูปนั้นไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรมหามิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๑. โกสัมพิกวิวาทกถา
เธอถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ชอบธรรม ไม่เป็นความเสียหาย ควรแก่ฐานะ
ท่าน ทั้งหลายอย่าประพฤติตาม อย่าห้อมล้อมภิกษุรูปนั้นผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้น”
พวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุถูกลงอุกเขปนียกรรมเหล่านั้น แม้ถูกพวกภิกษุ
ผู้ลงอุกเขปนียกรรมว่ากล่าวอย่างนี้ ก็ยังประพฤติตาม ยังห้อมล้อมภิกษุผู้ถูกลง
อุกเขปนียกรรมนั้นเหมือนเดิม
[๔๕๒] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร ภิกษุรูปนั้นผู้นั่งแล้ว ณ ที่
สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส
ภิกษุรูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้ต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ
พวกภิกษุอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ ต่อมาภิกษุรูปนั้นกลับมีความ
เห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ พวกภิกษุอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ
พระพุทธเจ้าข้า ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวกับภิกษุรูปนั้นดังนี้ว่า ‘ท่าน
ท่านต้องอาบัติแล้ว ท่านจงเห็นอาบัตินั้น’
ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่ผมจะพึงเห็น’
พระพุทธเจ้าข้า ภายหลัง ภิกษุเหล่านั้นได้ความพร้อมเพรียงแล้วจึงลง
อุกเขปนียกรรมภิกษุรูปนั้นเพราะไม่เห็นอาบัติ
พระพุทธเจ้าข้า ก็ ภิกษุรูปนั้นเป็นพหูสูต ชำนาญปริยัติ ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัดระวัง
ใฝ่การศึกษา ต่อมา ภิกษุรูปนั้นได้เข้าไปหาพวกภิกษุที่เป็นเพื่อนเห็นเพื่อนคบกัน
มาแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ผม
ไม่ต้องอาบัติ ผมต้องอาบัติหามิได้ ผมไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม ผมถูกลงอุกเขปนีย
กรรมหามิได้ แต่ถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ไม่ชอบธรรม ไม่ควรแก่ฐานะ
ท่านทั้งหลายจงเป็นฝ่ายผมโดยธรรมโดยวินัยเถิด’


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๑. โกสัมพิกวิวาทกถา
พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุรูปนั้นได้พวกภิกษุที่เป็นเพื่อนเคยเห็นเคยคบกันมาเป็น
พรรคพวกแล้ว
ภิกษุรูปนั้นได้ส่งทูตไปในสำนักของพวกภิกษุชาวชนบทที่เป็นเพื่อนเคยเห็นเคยคบ
กันมาว่า “ท่านทั้งหลาย นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องอาบัติ
ผมต้องอาบัติหามิได้ ผมไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม ผมถูกลงอุกเขปนียกรรมหามิได้
แต่ถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ไม่ชอบธรรม ไม่ควรแก่ฐานะ ท่านทั้งหลายจง
เป็นฝ่ายผมโดยธรรมโดยวินัยเถิด”
ภิกษุรูปนั้นได้พวกภิกษุที่เป็นเพื่อนเคยเห็นเคยคบกันมาเป็นพรรคพวกแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นผู้ประพฤติตามภิกษุที่ถูกลงอุกเขปนีย
กรรม ได้เข้าไปหาพวกภิกษุที่ลงอุกเขปนียกรรมถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวดังนี้ว่า ‘ท่าน
ทั้งหลาย นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นหาเป็นอาบัติไม่ ภิกษุรูปนั้นไม่ต้องอาบัติ ภิกษุรูป
นั้นต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุรูปนั้นไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุรูปนั้นถูกลงอุกเขปนีย
กรรมหามิได้ แต่ถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ไม่ชอบธรรม ไม่ควรแก่ฐานะ’
พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรม
กล่าวอย่างนี้แล้ว พวกภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรมจึงกล่าวดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย นั่น
เป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติแล้ว ภิกษุรูปนั้นไม่ต้อง
อาบัติหามิได้ ภิกษุรูปนั้นถูกลงอุกเขปนียกรรมแล้ว ภิกษุรูปนั้นไม่ถูกลงอุกเขปนีย
กรรมหามิได้ เธอถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ชอบธรรม ควรแก่ฐานะ ท่าน
ทั้งหลายอย่าประพฤติตาม อย่าห้อมล้อมภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้น’
พระพุทธเจ้าข้า พวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุถูกลงอุกเขปนียกรรมเหล่านั้น
แม้อันพวกภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรมว่ากล่าวอย่างนี้ ก็ยังประพฤติตาม ยังห้อมล้อม
ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้นเหมือนเดิม”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๑. โกสัมพิกวิวาทกถา
[๔๕๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “ภิกษุสงฆ์จะแตกกัน
ภิกษุสงฆ์จะแตกกัน”๑ เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าไปหาพวกภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรม
ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่จัดไว้ แล้วได้ตรัสกับภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรม
เหล่านั้นดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าคิดอย่างนี้ว่า ‘เรื่องนี้แจ่มแจ้งแก่
พวกเรา เรื่องนี้แจ่มแจ้งแก่พวกเรา’ แล้วจ้องแต่จะลงอุกเขปนียกรรมภิกษุในเรื่องใด
เรื่องหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัตินั้นว่า
ไม่เป็นอาบัติ พวกภิกษุอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าภิกษุเหล่านั้นรู้จักภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านรูปนี้แลเป็นพหูสูต ฯลฯ ใฝ่การ
ศึกษา ถ้าพวกเราจะลงอุกเขปนียกรรมภิกษุรูปนี้เพราะไม่เห็นอาบัติ พวกเราก็จะ
ทำอุโบสถร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ ต้องทำอุโบสถแยกจากภิกษุรูปนี้ ความบาดหมาง
ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่ง
สงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันซึ่งมีเรื่องนั้นเป็นเหตุ
จะมีแก่สงฆ์’ ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุผู้หนักในความแตกกัน ไม่พึงลงอุกเขปนีย
กรรมภิกษุรูปนั้นเพราะไม่เห็นอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัติ
นั้นว่าไม่เป็นอาบัติ พวกภิกษุอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ถ้าภิกษุ
เหล่านั้นรู้จักภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านรูปนี้เป็นพหูสูต ฯลฯ ใฝ่การศึกษา ถ้า
พวกเราจะลงอุกเขปนียกรรมภิกษุรูปนี้เพราะไม่เห็นอาบัติ พวกเราก็จะปวารณา
ร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ ต้องปวารณาแยกจากภิกษุรูปนี้ จะทำสังฆกรรมร่วมกับภิกษุรูปนี้
ไม่ได้ ต้องทำสังฆกรรมแยกจากภิกษุรูปนี้ จะนั่งร่วมบนอาสนะเดียวกับภิกษุรูปนี้

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุสงฆ์ยังไม่แตกกัน แต่มีเหตุคือความทะเลาะวิวาทที่บ่งบอกว่า จะแตกกันแน่นอนในโอกาสต่อไป เหมือน
เมื่อฝนตกลงมา ชาวนาทั้งหลายก็มักจะกล่าวว่า “ข้าวกล้าสำเร็จแล้ว” เพราะฝนเป็นเครื่องบ่งบอกถึง
ความสำเร็จแห่งข้าวกล้าในโอกาสต่อไปแน่นอน (วิ.อ. ๓/๔๕๓/๒๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๑. โกสัมพิกวิวาทกถา
ไม่ได้ ต้องนั่งบนอาสนะแยกจากภิกษุรูปนี้ จะนั่งในที่ดื่มข้าวต้มร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้
ต้องนั่งแยกจากภิกษุรูปนี้ จะนั่งในโรงอาหารร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ ต้องนั่งแยก
จากภิกษุรูปนี้ จะอยู่ในที่มุงบังเดียวกันร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ ต้องอยู่แยกจาก
ภิกษุรูปนี้ จะกราบไหว้ ต้อนรับ ประนมมือ ทำสามีจิกรรมตามลำดับพรรษาร่วม
กับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ ต้องทำแยกจากภิกษุรูปนี้ ความบาดหมาง ความทะเลาะ
ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่ง
แยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันซึ่งมีเรื่องนั้นเป็นเหตุจะมีแก่สงฆ์’
ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุผู้หนักในความแตกกัน จึงไม่พึงลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ
รูปนั้นเพราะไม่เห็นอาบัติ”

เรื่องพระผู้มีพระภาคทรงแนะนำให้ภิกษุแสดงอาบัติ
[๔๕๔] ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนั้นแก่พวกภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรมแล้ว
เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไปหาพวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนีย
กรรมประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูไว้แล้ว ได้ตรัสกับพวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูก
ลงอุกเขปนียกรรมดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติแล้วอย่าคิดว่า
‘พวกเราหาได้ต้องอาบัติไม่ พวกเราหาได้ต้องอาบัติไม่’ สำคัญว่าอาบัติไม่ต้องทำคืน
ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีที่ภิกษุต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่
เป็นอาบัติ พวกภิกษุอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ถ้าภิกษุรูปนั้นรู้จัก
ภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านเหล่านี้แลเป็นพหูสูต ฯลฯ ใฝ่การศึกษา คงจะไม่
ลำเอียงเพราะความรัก เพราะความชัง เพราะความหลง เพราะความกลัว เพราะ
เราเป็นเหตุ หรือเพราะภิกษุอื่นเป็นเหตุ ถ้าภิกษุเหล่านี้จะลงอุกเขปนียกรรมเรา
เพราะไม่เห็นอาบัติ ภิกษุเหล่านั้นจะทำอุโบสถร่วมกับเราไม่ได้ ต้องทำอุโบสถแยก
จากเรา ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตก
แห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ
กันซึ่งมีเรื่องนั้นเป็นเหตุจะมีแก่สงฆ์’ ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุผู้ตระหนักในความแตกกัน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๑. โกสัมพิกวิวาทกถา
จึงไม่พึงลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้นเพราะไม่เห็นอาบัติ” ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
ผู้หนักในความแตกกันจึงพึงแสดงอาบัตินั้นแม้เพราะเชื่อผู้อื่น
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัตินั้น
ว่าไม่เป็นอาบัติ พวกภิกษุอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ถ้าภิกษุรูปนั้นรู้
จักภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านเหล่านี้แลเป็นพหูสูต ฯลฯ ใฝ่การศึกษา คงจะ
ไม่ลำเอียงเพราะความชอบ เพราะความชัง เพราะความหลง เพราะความกลัว
เพราะเราเป็นเหตุ หรือเพราะภิกษุอื่นเป็นเหตุ ถ้าภิกษุเหล่านี้จะลงอุกเขปนีย
กรรมเราเพราะไม่เห็นอาบัติ ภิกษุเหล่านั้นจะปวารณาร่วมกับเราไม่ได้ ต้อง
ปวารณาแยกจากเรา จะทำสังฆกรรมร่วมกับเราไม่ได้ ต้องทำสังฆกรรมแยกจากเรา
จะนั่งร่วมบนอาสนะเดียวกับเราไม่ได้ ต้องนั่งบนอาสนะแยกจากเรา จะนั่งในที่ดื่ม
ข้าวต้มร่วมกับเราไม่ได้ ต้องนั่งแยกจากเรา จะนั่งในโรงอาหารร่วมกับเราไม่ได้
ต้องนั่งแยกจากเรา จะอยู่ในที่มุงบังเดียวร่วมกับเราไม่ได้ ต้องอยู่แยกจากเรา จะ
กราบไหว้ ต้อนรับ ประนมมือ ทำสามีจิกรรมตามลำดับพรรษาร่วมกับเราไม่ได้
ต้องทำแยกจากเรา ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท
ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้
เป็นต่าง ๆ กัน ซึ่งมีเรื่องนั้นเป็นเหตุจะมีแก่สงฆ์’ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้หนักใน
ความแตกกัน จึงพึงแสดงอาบัตินั้นแม้เพราะเชื่อผู้อื่น”
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนั้น แก่พวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลง
อุกเขปนียกรรมแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะแล้วเสด็จหลีกไป

เรื่องพวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรม
ทำอุโบสถภายในสีมา
[๔๕๕] สมัยนั้น พวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรม ทำ
อุโบสถ ทำสังฆกรรมภายในสีมานั้นเอง ส่วนพวกภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรมไปทำ
อุโบสถ ทำสังฆกรรมนอกสีมา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๑. โกสัมพิกวิวาทกถา
ต่อมา ภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรมอีกรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่
ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ภิกษุรูปนั้นผู้นั่งแล้ว ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกภิกษุผู้ประพฤติตาม
ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้น ทำอุโบสถ ทำสังฆกรรมภายในสีมานั้นเอง ส่วน
พวกข้าพระองค์ซึ่งเป็นผู้ลงอุกเขปนียกรรมกลับต้องไปทำอุโบสถทำสังฆกรรมนอกสีมา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ถ้าพวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลง
อุกเขปนียกรรมนั้นจะทำอุโบสถ ทำสังฆกรรมภายในสีมานั้น กรรมเหล่านั้นของ
ภิกษุเหล่านั้นเป็นกรรมที่ถูกต้อง ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะตามญัตติและอนุสาวนา
ที่เราบัญญัติไว้ ภิกษุ ถ้าภิกษุเหล่านั้นเองซึ่งเป็นผู้ลงอุกเขปนียกรรมจะทำอุโบสถ
สังฆกรรมภายในสีมานั้น กรรมเหล่านั้นแม้ของพวกเธอก็เป็นกรรมที่ถูกต้อง ไม่
เสียหาย ควรแก่ฐานะตามญัตติและอนุสาวนาที่เราบัญญัติไว้ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุพวกนั้นเป็นนานาสังวาสจากพวกเธอ และพวกเธอก็เป็นนานาสังวาส
จากภิกษุพวกนั้น

นานาสังวาสกภูมิและสมานสังวาสกภูมิ
ภิกษุ นานาสังวาสกภูมิมี ๒ อย่างนี้ คือ
๑. ภิกษุทำตนให้เป็นนานาสังวาสด้วยตนเอง
๒. สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมภิกษุรูปนั้น เพราะไม่เห็นว่า
เป็นอาบัติ เพราะไม่ทำคืนอาบัติ หรือเพราะไม่สละทิฏฐิบาป
ภิกษุ นานาสังวาสกภูมิมี ๒ อย่างนี้แล
ภิกษุ สมานสังวาสกภูมิมี ๒ อย่างนี้ คือ
๑. ภิกษุทำตนให้เป็นสมานสังวาสด้วยตนเอง
๒. สงฆ์พร้อมเพรียงกันรับภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่า
เป็นอาบัติ เพราะไม่ทำคืนอาบัติ หรือเพราะไม่สละทิฏฐิบาปเข้าหมู่
ภิกษุ สมานสังวาสกภูมิมี ๒ อย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๑. โกสัมพิกวิวาทกถา
[๔๕๖] สมัยนั้น พวกภิกษุเกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะวิวาท
แสดงกายกรรมวจีกรรมอันไม่สมควรต่อกันและกัน ฉุดรั้งกันในโรงอาหารในละแวกบ้าน
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระ
ศากยบุตรจึงเกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะวิวาท แสดงกายกรรม วจี
กรรมอันไม่สมควรต่อกันและกัน ฉุดรั้งกันในโรงอาหารในละแวกบ้านเล่า”
พวกภิกษุได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน ภิกษุทั้งหลาย จึงเกิดความ
บาดหมาง ฯลฯ ฉุดรั้งกันในโรงฉันในละแวกบ้านเล่า” แล้วนำเรื่องนั้นไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามพวกภิกษุว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวก
ภิกษุเกิดความบาดหมาง ฯลฯ ถึงกับฉุดรั้งกันในโรงอาหารในละแวกบ้านจริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดง
ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว แต่ยัง
ทำกิจที่ไม่เป็นธรรม เมื่อคำแสลงใจเป็นไปอยู่ ภิกษุเหล่านั้นพึงนั่งบนอาสนะโดย
คิดว่า ‘เพราะเหตุเพียงเท่านี้ พวกเราจะไม่แสดงกายกรรม วจีกรรมอันไม่สมควร
ต่อกันและกัน จะไม่ฉุดรั้งกัน’ เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว ทำกิจที่ไม่เป็นธรรมอยู่ เมื่อ
คำแสลงใจเป็นไปอยู่ พวกเธอพึงนั่งในแถวที่มีอาสนะคั่น”
[๔๕๗] สมัยนั้น พวกภิกษุเกิดความบาดหมาง เกิดการทะเลาะวิวาท ถึง
กับใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถระงับ
อธิกรณ์นั้นได้
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ภิกษุรูปนั้นผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๑.โกสัมพิกวิวาทกถา
พระภาค ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานวโรกาส พวกภิกษุเกิดความบาดหมาง
เกิดการทะเลาะวิวาท ถึงกับใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุ
เหล่านั้นไม่สามารถระงับอธิกรณ์นั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานวโรกาส ขอ
พระผู้มีพระภาคทรงโปรดอนุเคราะห์เสด็จไปหาพวกภิกษุเหล่านั้นเถิด”
พระผู้มีพระภาครับอาราธนาโดยดุษณีภาพ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาพวกภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ประทับ
นั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูไว้ได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย พวก
เธออย่าบาดหมาง อย่าทะเลาะ อย่าขัดแย้ง อย่าวิวาทกันเลย”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุฝ่ายอธรรมวาทีรูปหนึ่ง๑ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นธรรมสามีทรงโปรดรอไปก่อน
พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงขวนขวายน้อย ประกอบตามสุขวิหาร
ธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์จะปรากฏเพราะความบาดหมาง
ความทะเลาะ ความขัดแย้ง และความวิวาทนั่งเอง”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “อย่าเลย
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าบาดหมาง อย่าทะเลาะ อย่าขัดแย้ง อย่าวิวาทกันเลย”
ภิกษุฝ่ายอธรรมวาทีรูปนั้นได้กราบทูลอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “ขอพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นธรรมสามีทรงโปรดรอไปก่อน พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรง
ขวนขวายน้อย ประกอบตามสุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พระพุทธเจ้าข้า พวก
ข้าพระองค์จะปรากฏเพราะความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง และความ
วิวาทนั่งเอง”

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุฝ่ายอธรรมวาทีรูปนี้ เป็นพวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม (วิ.อ. ๓/ ๔๕๗/
๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
ว่าด้วยทีฆาวุกุมาร
[๔๕๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เรื่องเคยมีมาแล้ว ในกรุงพาราณสี ได้มีพระเจ้ากาสีพระนามว่าพรหมทัต ทรงเป็น
กษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีกำลังพลมาก มีพาหนะมาก มี
อาณาจักรกว้างใหญ่ มีภัณฑาคารห้องเก็บของมีค่าและคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดม
สมบูรณ์๑
พระเจ้าโกศลทรงพระนามว่าทีฆีติทรงเป็นกษัตริย์ผู้ขัดสน มีทรัพย์น้อย มีโภค
สมบัติน้อย มีกำลังพลน้อย มีพาหนะน้อย มีอาณาจักรไม่กว้างใหญ่ มีภัณฑาคาร
ห้องเก็บของมีค่าและคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่อุดมสมบูรณ์
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชเสด็จคุมกองทหารประกอบ
ด้วยองค์ ๔ ไปโจมตีพระเจ้าทีฆีติโกศลราช
ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าทีฆีติโกศลราชทรงสดับว่า “พระเจ้าพรหมทัตกาสีราช
เสด็จคุมกองทหารประกอบด้วยองค์ ๔ มาโจมตีเรา” จึงทรงดำริดังนี้ว่า “พระเจ้า
พรหมทัตกาสีราช ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก มีกำลัง
พลมาก มีพาหนะมาก มีอาณาจักรกว้างใหญ่ มีภัณฑาคารห้องเก็บของมีค่าและ
คลังพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ส่วนเราเองเป็นกษัตริย์ผู้ขัดสน มีทรัพย์น้อย
มีโภคสมบัติน้อย มีกำลังพลน้อย มีพาหนะน้อย มีอาณาจักรไม่กว้างใหญ่ มี
ภัณฑาคารห้องเก็บของมีค่าและคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่อุดมสมบูรณ์ เราไม่
สามารถจะทำสงครามแม้เพียงครั้งเดียวกับพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชได้เลย อย่า
กระนั้นเลย เราควรรีบหนีไปจากเมืองเสียก่อน”

เชิงอรรถ :
๑ อีกอย่างหนึ่ง มีกองทัพ ๔ คือ กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ พลเดินเท้า และมีคลังสมบัติ
คลังธัญชาติ คลังผ้าบริบูรณ์ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๖๓/๔๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระเจ้าทีฆีติโกศลราชจึงทรงพาพระมเหสีเสด็จหนี
ไปจากเมืองเสียก่อน
ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชทรงยึดกำลังพล พาหนะ ชนบท คลังอาวุธ-
ยุทโธปกรณ์และคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชไว้ได้แล้วเสด็จเข้า
ครอบครองแทน
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าทีฆีติโกศลราช พร้อมด้วยพระมเหสีได้เสด็จ
หนีไปทางกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปตามลำดับ ลุถึงกรุงพาราณสีแล้ว ทราบว่า
ท้าวเธอพร้อมกับพระมเหสีทรงปลอมแปลงพระองค์มิให้คนรู้จัก ทรงนุ่งห่มเยี่ยง
ปริพาชก ประทับอยู่ในบ้านช่างหม้อซึ่งตั้งอยู่ชายแดนแห่งหนึ่งในกรุงพาราณสี
ภิกษุทั้งหลาย ต่อมาไม่นานนัก พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชทรงมี
พระครรภ์ พระนางเกิดอาการแพ้ท้องเช่นนี้ คือ ในยามรุ่งอรุณ พระนางปรารถนา
จะทอดพระเนตรกองทหารประกอบด้วยองค์ ๔ ผู้สวมเกราะยืนอยู่ในสมรภูมิ และ
จะทรงเสวยน้ำล้างพระแสงขรรค์
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชจึงได้กราบทูล
ดังนี้ว่า “ขอเดชะ หม่อมฉันมีครรภ์ หม่อมฉันนั้นเกิดอาการแพ้ท้องเช่นนี้ คือ
ยามรุ่งอรุณปรารถนาจะทอดพระเนตรกองทหารประกอบด้วยองค์ ๔ ผู้สวมเกราะ
ยืนอยู่ในสมรภูมิ และจะทรงเสวยน้ำล้างพระแสงขรรค์”
พระเจ้าทีฆีติตรัสว่า “แม่เทวี เรากำลังตกยาก จะได้กองทหารประกอบด้วย
องค์ ๔ ผู้สวมเกราะยืนอยู่ในสมรภูมิและน้ำล้างพระแสงขรรค์จากที่ไหนเล่า”
พระราชเทวีกราบทูลว่า “ขอเดชะ ถ้าหม่อมฉันไม่ได้คงตายแน่”
[๔๕๙] ภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยนั้น พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัต
กาสีราชเป็นพระสหายของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช ลำดับนั้น พระเจ้าทีฆีติโกศลราช
เสด็จเข้าไปหาพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราช ณ ที่พัก แล้วตรัสกับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชดังนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย สหายหญิงของ
ท่านมีครรภ์ นางเกิดอาการแพ้ท้องเช่นนี้ คือ เมื่อยามรุ่งอรุณ เธอปรารถนาจะ
ชมกองทหารประกอบด้วยองค์ ๔ ผู้สวมเกราะยืนในสมรภูมิ และจะดื่มน้ำล้างพระ
แสงขรรค์”
ปุโรหิตกราบทูลว่า “ขอเดชะ ถ้าอย่างนั้น หม่อมฉันขอเฝ้าพระเทวีก่อน”
ลำดับนั้น พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้เสด็จไปหาพราหมณ์ปุโรหิต
ของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราช ณ ที่พัก
ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชได้แลเห็นพระ
มเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลกำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงลุกจากอาสนะห่มผ้าเฉวียงบ่า
ข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระมเหสีแล้วอุทานขึ้น ๓ ครั้งว่า “ท่านผู้เจริญ พระเจ้า
โกศลประทับอยู่ในพระอุทรแน่แล้ว ท่านผู้เจริญ พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระ
อุทรแน่แล้ว พระเทวีอย่าได้ท้อพระทัยเลย เมื่อยามรุ่งอรุณจะได้ทอดพระเนตรกอง
ทหารประกอบด้วยองค์ ๔ ผู้สวมเกราะยืนอยู่ในสมรภูมิและจะได้เสวยน้ำล้างพระ
แสงขรรค์”
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชเข้าไป
เฝ้าพระเจ้าพรหมทัตกาสีราช ณ ที่ประทับ แล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า “ขอเดชะ
นิมิตทั้งหลายปรากฏอย่างนั้น คือ พรุ่งนี้ยามรุ่งอรุณ กองทหารประกอบด้วยองค์
๔ จะสวมเกราะยืนอยู่ในสมรภูมิ และเจ้าพนักงานจะเอาน้ำล้างพระแสงขรรค์”
ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชจึงรับสั่งกับเจ้าพนักงานว่า “พนาย พวก
เจ้าจงทำตามที่พราหมณ์ปุโรหิตสั่งการเถิด”
ภิกษุทั้งหลาย พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชจึงได้ทอดพระเนตรกอง
ทหารประกอบด้วยองค์ ๔ ผู้สวมเกราะยืนอยู่ในสมรภูมิ และได้เสวยน้ำล้างพระ
แสงขรรค์ในเวลารุ่งอรุณสมความปรารถนา ต่อมาเมื่อพระครรภ์แก่ครบกำหนดจึง
ประสูติพระโอรส พระประยูรญาติได้ขนานพระนามให้ว่า ทีฆาวุ ต่อมาไม่นานนัก
พระกุมารได้ทรงเจริญวัยรู้เดียงสา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าทีฆีติโกศลราชทรงมีดำริดังนี้ว่า “พระเจ้า
พรหมทัตกาสีราชนี้ได้ก่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ให้แก่เรามากมาย ได้ช่วงชิงเอากองทหาร
พาหนะ ชนบท คลังอาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดถึงคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารของพวกเรา
ไป ถ้าท้าวเธอจะทรงสืบทราบถึงพวกเรา จะรับสั่งให้ประหารชีวิตหมดทั้ง ๓ คนแน่
อย่ากระนั้นเลย เราควรให้พ่อทีฆาวุกุมารหลบอยู่นอกเมือง” แล้วได้ให้ทีฆาวุกุมาร
หลบอยู่นอกเมือง ทีฆาวุกุมารอาศัยอยู่นอกเมืองไม่นานก็ได้ศึกษาศิลปวิทยาจบทุก
สาขา
[๔๖๐] ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น ช่างกัลบกของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้
สวามิภักดิ์อยู่ในสำนักของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราช เขาได้เห็นพระเจ้าทีฆีติโกศลราช
พร้อมกับพระมเหสีทรงปลอมแปลงพระองค์มิให้ใครรู้จัก ทรงนุ่งห่มเยี่ยงปริพาชก
ประทับอยู่ในบ้านช่างหม้อซึ่งตั้งอยู่ชายแดนแห่งหนึ่งในกรุงพาราณสี จึงได้เข้าไปเฝ้า
พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชแล้วกราบทูลว่า “ขอเดชะ พระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมด้วย
พระมเหสีทรงปลอมแปลงพระองค์มิให้ใครรู้จัก ทรงนุ่งห่มเยี่ยงปริพาชก ประทับอยู่
ในบ้านช่างหม้อซึ่งตั้งอยู่ชายแดนแห่งหนึ่งในกรุงพาราณสี”
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชจึงรับสั่งเจ้าพนักงานว่า
“พนาย ถ้าอย่างนั้น พวกเจ้าจงไปจับพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมด้วยพระมเหสีมา”
พวกเจ้าพนักงานกราบทูลรับสนองพระดำรัส แล้วไปจับพระเจ้าทีฆีติโกศลราช
พร้อมพระมเหสีมาถวาย
พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชรับสั่งเจ้าพนักงานว่า “พวกเจ้าจงเอาเชือกที่เหนียวแน่น
มัดพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับพระมเหสี มัดพระพาหาไพล่หลังให้แน่นกล้อน
พระเกศาแล้วพาตระเวนไปตามถนน ตามตรอกทุกแห่งพร้อมกับตีกลองให้ดัง สนั่น
พาออกไปทางประตูด้านทิศทักษิณแล้วบั่นร่างออกเป็น ๔ ท่อนวางเรียงไว้ในหลุมทั้ง
๔ ทิศทางด้านทิศทักษิณแห่งเมือง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
ภิกษุทั้งหลาย พวกเจ้าพนักงานทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วได้เอาเชือกที่
เหนียวแน่นมัดพระเจ้าทีฆีติพร้อมกับพระมเหสี มัดพระพาหาไพล่หลังให้แน่น กล้อน
พระเกศาแล้วพาตระเวนไปตามถนน ตามตรอกทุกแห่งพร้อมกับตีกลองให้ดังสนั่น
เวลานั้น ทีฆาวุราชกุมารทรงดำริดังนี้ว่า “นานแล้วที่เราได้เยี่ยมพระชนกชนนี
อย่ากระนั้นเลย เราควรไปเยี่ยมท่านทั้งสอง” จึงเดินทางเข้ากรุงพาราณสี ได้ทอด
พระเนตรเห็นเจ้าพนักงานเอาเชือกอย่างเหนียวมัดพระชนกชนนี มัดพระพาหาไพล่
หลังให้แน่น กล้อนพระเกศาแล้วพาตระเวนไปตามถนนตามตรอกทุกแห่งพร้อมกับ
ตีกลองให้ดังสนั่น จึงเสด็จเข้าไปใกล้พระชนกชนนี
ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าทีฆีติโกศลราชทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารดำเนินมา
แต่ไกลจึงได้ตรัสดังนี้ว่า “พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวรย่อม
ไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร”
เมื่อพระเจ้าทีฆีติโกศลราชตรัสอย่างนี้ พวกเจ้าพนักงานได้กราบทูลดังนี้ว่า
“พระเจ้าทีฆีติโกศลราชพระองค์นี้ทรงวิกลจริตจึงบ่นเพ้อ ใครคือทีฆาวุของพระเจ้า
ทีฆีติโกศลราชนี้ พระองค์ตรัสกับใครอย่างนี้ว่า ‘พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว
อย่าเห็นแก่สั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร”
พระเจ้าทีฆีติโกศลราชจึงตรัสตอบว่า “เราไม่ได้วิกลจริตบ่นเพ้อ ผู้ใดรู้แจ้ง
ผู้นั้นจะเข้าใจ”
ภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ พระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้ตรัสกะทีฆาวุกุมารดังนี้ว่า “พ่อทีฆาวุ
เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้
ด้วยการไม่จองเวร”
ภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ พวกเจ้าพนักงานก็ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระเจ้า
ทีฆีติโกศลราชพระองค์นี้ทรงวิกลจริตจึงบ่นเพ้อ ใครคือทีฆาวุของพระเจ้าทีฆีติโกศล
ราชนี้ พระองค์ตรัสกับใครอย่างนี้ว่า ‘พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
พระเจ้าทีฆีติโกศลราชก็ยังคงตรัสว่า “เราไม่ได้วิกลจริตบ่นเพ้อ ผู้ใดรู้แจ้ง ผู้นั้น
จะเข้าใจ”
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พวกเจ้าพนักงานได้นำพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อม
กับพระมเหสีตระเวนไปตามถนนตามตรอกทุกแห่งแล้วให้ออกไปทางประตูด้านทิศ
ทักษิณแล้วบั่นพระกายเป็น ๔ ท่อนแล้ววางเรียงไว้ในหลุมทั้ง ๔ ทิศทางด้านทิศ
ทักษิณแห่งเมือง วางยามคอยระวังเหตุการณ์ไว้แล้วพากันกลับ
ต่อมา ทีฆาวุกุมารลอบเสด็จเข้าไปยังกรุงพาราณสี นำสุรามาเลี้ยงพวกอยู่ยาม
เมื่อพวกยามเมาฟุบลง จึงจัดหาฟืนมาวางเรียงกันแล้วหาไม้มาสร้างจิตกาธานยก
พระบรมศพของพระชนกชนนีขึ้นสู่จิตกาธาน ถวายพระเพลิงแล้วประนมพระหัตถ์
ทำประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบ
[๔๖๑] ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชประทับอยู่ชั้นบน
ปราสาท ทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารกำลังประนมพระหัตถ์ทำประทักษิณจิตกาธาน
๓ รอบ จึงทรงดำริดังนี้ว่า “พนักงานผู้นั้นคงเป็นญาติหรือคนร่วมสายโลหิตของ
พระเจ้าทีฆีติโกศลราชแน่ น่ากลัวจะก่อความพินาศแก่เรา ช่างไม่มีใครบอกเราเลย”
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ทีฆาวุกุมารเสด็จหลบเข้าป่า ทรงกันแสงด้วยความ
โศกเศร้าพระทัย ทรงซับน้ำพระเนตรแล้วเสด็จเข้ากรุงพาราณสี ถึงโรงช้างใกล้
พระบรมมหาราชวัง ตรัสแก่นายหัตถาจารย์ดังนี้ว่า “ท่านอาจารย์ ผมอยากเรียน
ศิลปวิทยา”
นายหัตถาจารย์ตอบว่า “ถ้าอย่างนั้น เชิญพ่อหนุ่มมาเรียนเถิด”
เช้ามืดวันหนึ่ง ทีฆาวุกุมารทรงตื่นบรรทม ทรงขับร้องดีดพิณคลอเสียงเจื้อย
แจ้วอยู่ที่โรงช้าง พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชทรงตื่นบรรทมเวลานั้นพอดี ได้ทรงสดับ
เสียงเพลงและเสียงพิณที่ดังแว่วมาทางโรงช้าง จึงตรัสถามพวกเจ้าพนักงานว่า “ใคร
กันตื่นแต่เช้าขับร้องดีดพิณแว่วมาทางโรงช้าง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
พวกเจ้าพนักงานกราบทูลว่า “ขอเดชะ ชายหนุ่มศิษย์ของนายหัตถาจารย์
คนโน้นตื่นแต่เช้า ขับร้องดีดพิณคลอเสียงเจื้อยแจ้วอยู่ที่โรงช้าง”
พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชตรัสว่า “ถ้ากระนั้น พวกเจ้าจงพาชายหนุ่มมาเฝ้า”
พวกเจ้าพนักงานทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว พาทีฆาวุกุมารมาเฝ้า
ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชตรัสถามทีฆาวุกุมารดังนี้ว่า “พ่อหนุ่ม
เธอตื่นแต่เช้า ขับร้องดีดพิณคลอเสียงเจื้อยแจ้วอยู่ที่โรงช้างหรือ”
ทีฆาวุกุมารกราบทูลว่า “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
ท้าวเธอตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับร้องดีดพิณไปเถิด”
ทีฆาวุกุมารกราบทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว ปรารถนาจะให้ทรงโปรดจึง
ขับร้องและดีดพิณด้วยเสียงอันไพเราะ
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชได้ตรัสกับทีฆาวุกุมารดังนี้
ว่า “พ่อหนุ่ม เธอจงอยู่รับใช้เราเถิด”
ทีฆาวุกุมารทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วจึงได้ประพฤติทำนองตื่นก่อนนอนทีหลัง
คอยเฝ้าปรนนิบัติ ทำให้ถูกพระอัธยาศัย พูดไพเราะ
ภิกษุทั้งหลาย ไม่นานนัก พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชทรงแต่งตั้งทีฆาวุกุมารไว้
ในตำแหน่งมหาดเล็กคนสนิทภายใน
[๔๖๒] ภิกษุทั้งหลาย ต่อมา พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชตรัสกับทีฆาวุกุมาร
ดังนี้ว่า “พ่อหนุ่ม เธอจงเทียมรถ พวกเราจะไปล่าเนื้อ”
ทีฆาวุกุมารทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วจัดเทียมรถไว้ได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ
รถพระที่นั่งเทียมเสร็จแล้ว เวลานี้ขอได้ทรงโปรดทราบเวลาอันควรเถิด”
ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชเสด็จขึ้นราชรถ ทีฆาวุกุมารขับราชรถ
แยกไปทางหนึ่งจากกองทหาร เมื่อท้าวเธอเสด็จไปไกลจึงตรัสกับทีฆาวุกุมารว่า
“พ่อหนุ่ม เธอจงจอดรถ เราเหน็ดเหนื่อยจะนอนพัก”
ทีฆาวุกุมารทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วจอดราชรถนั่งขัดสมาธิที่พื้นดิน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชทรงพาดพระเศียร
บรรทมอยู่บนตักของทีฆาวุกุมารเพราะทรงเหน็ดเหนื่อยมา เพียงครู่เดียวก็บรรทม
หลับสนิท
ขณะนั้น ทีฆาวุกุมารได้ทรงดำริดังนี้ว่า “พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชนี้แลทรง
ก่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่พวกเรามากมาย ทรงช่วงชิงกองทหาร พาหนะ ชนบท
คลังอาวุธยุทโธปกรณ์และคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารของพวกเราไป ได้ปลงพระชนม์
ชีพของพระชนกชนนีของเราอีก บัดนี้เป็นเวลาที่เราพบคู่เวร” จึงชักพระแสงขรรค์
ออกจากฝัก
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ทีฆาวุกุมารได้ทรงดำริดังนี้ว่า “พระชนกได้ตรัสสั่ง
เราไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า ‘พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวรย่อม
ไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร การที่เราจะละเมิดพระดำรัส
สั่งของพระชนกนั้นไม่ควรเลย” จึงสอดพระแสงขรรค์กลับเข้าฝักตามเดิม
ภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ทีฆาวุกุมารก็ทรงดำริดังนี้ว่า “พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชนี้แลทรง
ก่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่พวกเรามากมาย ทรงช่วงชิงกองทหาร พาหนะ ชนบท
คลังอาวุธยุทโธปกรณ์และคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารของพวกเราไป ได้ปลงพระชนม์ชีพ
ของพระชนกชนนีของเราอีก บัดนี้เป็นเวลาที่เราพบคู่เวร” จึงชักพระแสงขรรค์ออก
จากฝัก
ภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ ทีฆาวุกุมารได้ทรงดำริดังนี้ว่า “พระชนกได้ตรัส
สั่งเราไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า ‘พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวร
ย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร การที่เราจะละเมิดพระ
ดำรัสสั่งของพระชนกนั้นไม่ควรเลย” จึงสอดพระแสงขรรค์กลับเข้าฝักตามเดิม
ภิกษุทั้งหลาย พอดีกับที่พระเจ้าพรหมทัตทรงสะดุ้งพระทัย หวาดหวั่น รีบ
เสด็จลุกขึ้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
ลำดับนั้น ทีฆาวุกุมารทูลถามพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชดังนี้ว่า “ขอเดชะ
เพราะอะไรพระองค์จึงทรงสะดุ้งพระทัย หวาดหวั่น รีบเสด็จลุกขึ้น”
ท้าวเธอตรัสตอบว่า “พ่อหนุ่ม ฉันฝันว่าทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติ
โกศลราชฟันฉันด้วยพระแสงขรรค์ ณ ที่นี้ ดังนั้นฉันจึงตกใจสะดุ้ง หวาดหวั่น รีบ
ลุกขึ้น”
ทีนั้น ทีฆาวุกุมารจับพระเศียรของพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชด้วยพระหัตถ์ซ้าย
ชักพระแสงขรรค์ด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วกล่าวขู่ว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้านี่
แหละคือทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชคนนั้น พระองค์ทรงก่อสิ่งที่มิใช่
ประโยชน์แก่พวกข้าพระองค์มากมาย ทรงช่วงชิงกองทหาร พาหนะ ชนบท
คลังอาวุธยุทโธปกรณ์และคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารของพวกข้าพระองค์ไป มิหนำซ้ำ
ยังปลงพระชนม์ชีพพระชนกชนนีของข้าพระองค์อีก เวลานี้เป็นเวลาที่ข้าพระองค์ได้
เจอคู่เวร”
พระเจ้าพรหมทัตได้ซบพระเศียรลงแทบบาทของทีฆาวุกุมาร ตรัสอ้อนวอนว่า
“พ่อทีฆาวุ พ่อจงให้ชีวิตแก่ฉันเถิด พ่อทีฆาวุ พ่อจงให้ชีวิตแก่ฉันเถิด”
ทีฆาวุกุมารกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่อาจจะถวายชีวิตแด่สมมติเทพได้ องค์
สมมติเทพต่างหากควรพระราชทานชีวิตแก่ข้าพระองค์”
ท้าวเธอตรัสว่า “พ่อทีฆาวุ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้ชีวิตฉัน และฉันก็ให้ชีวิต
แก่เธอ”
ดังนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชและทีฆาวุกุมารจึงต่างได้ให้ชีวิตแก่กันและกัน
จับพระหัตถ์กันและได้สาบานเพื่อจะไม่ทำร้ายกันและกัน
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชได้ตรัสกับทีฆาวุกุมารดัง
นี้ว่า “พ่อทีฆาวุ ถ้าอย่างนั้นเธอจงเทียมรถกลับกันเถอะ”
ภิกษุทั้งหลาย ทีฆาวุกุมารทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วเทียมรถได้กราบทูลว่า
“ขอเดชะ รถพระที่นั่งเทียมเสร็จแล้ว บัดนี้พระองค์โปรดทรงทราบเวลาอันควรเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
ท้าวเธอเสด็จขึ้นราชรถแล้ว ทีฆาวุกุมารขับราชรถไปไม่นานก็มาพบกองทหาร
เมื่อเสด็จเข้ากรุงพาราณสีแล้ว รับสั่งให้เรียกประชุมอมาตย์ราชบริษัทแล้วตรัสถาม
ว่า “ถ้าพวกท่านพบทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชจะทำอะไรแก่เขา”
อมาตย์บางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “ขอเดชะ พวกข้าพระองค์จะตัดมือ
ขอเดชะ พวกข้าพระองค์จะตัดเท้า ขอเดชะ พวกข้าพระองค์จะตัดทั้งมือและเท้า
ขอเดชะ พวกข้าพระองค์จะตัดหู ขอเดชะ พวกข้าพระองค์จะตัดจมูก ขอเดชะ
พวกข้าพระองค์จะตัดทั้งหูและจมูก ขอเดชะ พวกข้าพระองค์จะตัดศีรษะ”
พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชตรัสว่า “นาย ชายหนุ่มผู้นี้แล คือ ทีฆาวุกุมาร
โอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชคนนั้น ใครจะทำร้ายชายหนุ่มคนนี้ไม่ได้ เขาให้ชีวิต
แก่เราและเราก็ได้ให้ชีวิตแก่เขา”
[๔๖๓] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชได้ตรัสกับทีฆาวุ
กุมารดังนี้ว่า “พ่อทีฆาวุ คำสั่งที่พระชนกของเธอได้ตรัสไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า ‘พ่อ
ทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวรแต่ระงับ
ได้ด้วยการไม่จองเวร’ พระชนกของเธอตรัสไว้หมายความว่าอย่างไร”
ทีฆาวุกุมารกราบทูลว่า “ขอเดชะ คำสั่งที่พระชนกของข้าพระองค์ตรัสไว้เมื่อ
ใกล้จะสวรรคตว่า ‘เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว’ นี้หมายความว่า ‘อย่าได้จองเวรให้ยืดเยื้อ’
ดังนั้น พระชนกของข้าพระองค์จึงตรัสไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า ‘เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว’
คำสั่งที่พระชนกของข้าพระองค์ตรัสไว้อีกว่า ‘เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น’ นี้หมายความ
ว่า ‘เจ้าอย่าแตกร้าวจากมิตรเร็วนัก’ ดังนั้น พระชนกของข้าพระองค์จึงตรัสไว้เมื่อ
ใกล้จะสวรรคตว่า ‘เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น’
คำสั่งที่พระชนกของข้าพระองค์ตรัสไว้อีกว่า ‘เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร
แต่ย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร’ นี้หมายความว่า ‘พระชนกชนนีของข้าพระองค์
ถูกพระองค์ปลงพระชนม์ชีพแล้ว ถ้าข้าพระองค์ปลงพระชนม์ชีพของพระองค์บ้าง
คนที่มุ่งประโยชน์แก่พระองค์ก็จะพึงฆ่าข้าพระองค์ คนที่มุ่งประโยชน์แก่ข้าพระองค์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
ก็จะพึงฆ่าคนพวกนั้นอีก เมื่อเป็นเช่นนี้ เวรนั้นไม่พึงระงับด้วยการจองเวร แต่มา
บัดนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานชีวิตแก่ข้าพระองค์ และข้าพระองค์
ก็ได้ทูลถวายพระชนมชีพแก่พระองค์ จึงเป็นอันว่าเวรนั้นระงับแล้วด้วยการไม่จองเวร
ดังนั้น พระชนกของข้าพระองค์จึงตรัสไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า ‘เวรย่อมไม่ระงับด้วย
การจองเวร แต่ย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร”
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชตรัสว่า “น่าอัศจรรย์จริง
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เป็นเรื่องที่ไม่เคยมี ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทีฆาวุกุมารผู้นี้
เฉลียวฉลาดจึงเข้าใจความหมายแห่งคำพูดที่พระชนกตรัสไว้โดยย่อได้โดยพิสดาร”
แล้วได้โปรดพระราชทานคืนกองทหาร พาหนะ ชนบท คลังอาวุธยุทโธปกรณ์และ
คลังพืชพันธุ์ธัญญาหารอันเป็นพระราชสมบัติของพระชนกและได้พระราชทานพระ
ราชธิดาให้อภิเษกสมรสด้วย
ภิกษุทั้งหลาย ขันติและโสรัจจะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระราชาเหล่านั้นผู้ทรง
อาญาทรงถือศัสตราวุธ การที่พวกเธอบวชในธรรมวินัยอันเรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้
จะพึงมีความอดทนและความสงบเสงี่ยมนั้น ก็จะพึงงดงามในธรรมวินัยนี้แน่
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “อย่าเลย ภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเธออย่าบาดหมาง อย่าทะเลาะ อย่าขัดแย้ง อย่าวิวาทกันเลย”
ภิกษุอธรรมวาทีรูปนั้นก็ยังกราบทูลอีกเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “ขอพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นธรรมสามีทรงโปรดรอไปก่อน ขอพระองค์จงทรงขวนขวายน้อยประกอบ
ตามสุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระพุทธเจ้าจะปรากฏเพราะความบาด
หมาง เพราะความทะเลาะ เพราะความขัดแย้ง เพราะการวิวาทนั้นเอง พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “พวกโมฆบุรุษเหล่านี้ดื้อรั้นนัก จะทำ
ให้สามัคคีกันไม่ใช่ง่าย” แล้วทรงลุกจากอาสนะแล้วเสด็จจากไป
ทีฆาวุภาณวารที่ ๑ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๒. ทีฆาวุวัตถุ
[๔๖๔] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตร
และจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงโกสัมพี เสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลัง
เสวยเสร็จแล้ว ทรงเก็บเสนาสนะถือบาตรและจีวรประทับยืนท่ามกลางสงฆ์ตรัส
พระคาถาเหล่านี้ว่า
ภิกษุมีเสียงดังเป็นเสียงเดียวกัน ที่จะรู้สึกว่าตนเป็นพาลนั้น
ไม่มีเลยสักรูปเดียว ยิ่งเมื่อสงฆ์แตกกันก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่น
พวกเธอขาดสติ แสดงตนว่าเป็นบัณฑิต เจ้าคารม พูดได้
ตามที่ปรารถนา จะยื่นปากพูดก็ไม่รู้สึกถึงการทะเลาะ
คนเหล่าใดผูกใจเจ็บว่า
“มันได้ด่าเรา มันได้ทำร้ายเรา
มันได้ชนะเรา มันได้ลักของของเรา”
เวรของคนเหล่านั้น ย่อมระงับไม่ได้เลย
ส่วนคนเหล่าใดไม่ผูกใจเจ็บว่า
“มันได้ด่าเรา มันได้ทำร้ายเรา
มันได้ชนะเรา มันได้ลักของของเรา”
เวรของเขาเหล่านั้น ย่อมระงับได้
ไม่ว่ายุคไหน ๆ ในโลกนี้
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร
แต่ระงับด้วยการไม่จองเวร
นี้เป็นของเก่า๑
คนเหล่าอื่นไม่รู้ชัดว่า
“พวกเรากำลังย่อยยับอยู่ ณ ทีนี้
ส่วนคนเหล่าใด ในหมู่นั้นรู้ชัด

เชิงอรรถ :
๑ เป็นของเก่า หมายถึงเป็นข้อปฏิบัติสืบ ๆ กันมาของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระขีณาสพ
(ขุ.ธ.อ. ๑/๔/๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๓. พาลกโลณกคมนกถา
ความมุ่งร้ายกันย่อมระงับ
เพราะการปฏิบัติของชนเหล่านั้น
พวกคนที่บั่นกระดูก ฆ่า ลักทรัพย์ คือ โคและม้า
ถึงจะช่วงชิงแว่นแคว้นกันก็ยังกลับมาคบหากันได้อีก
ไฉนพวกเธอจึงคบหากันไม่ได้เล่า
ถ้าบุคคลพึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี๑ เป็นปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์ พึงประพฤติอยู่ผู้เดียว
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแว่นแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ประพฤติอยู่พระองค์เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น
การเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า
เพราะคุณเครื่องความเป็นสหายไม่มีในคนพาล
บุคคลนั้นพึงเที่ยวไปคนเดียวและไม่ทำบาป
เหมือนช้างมาตังคะมีความขวนขวายน้อยอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น

๒๗๓. พาลกโลณกคมนกถา
ว่าด้วยการเสด็จไปพาลกโลณกคาม

เรื่องท่านพระภคุอยู่ ณ พาลกโลณกคาม
[๔๖๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ท่ามกลางสงฆ์นั่นแหละ ตรัสพระ
คาถาเหล่านี้แล้วเสด็จไปทางพาลกโลณกคาม

เชิงอรรถ :
๑ สาธุวิหารี หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยปฐมฌาน ฯลฯ ด้วยนิโรธสมาบัติ (ขุ.จู.๓๐/๑๓๒/๒๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๔. ปาจีนวังสทายคมนกถา
สมัยนั้น ท่านพระภคุพักอยู่ที่พาลกโลณกคาม ท่านพระภคุได้เห็นพระผู้มี
พระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกลจึงได้จัดที่ประทับ ตั้งน้ำล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท
กระเบื้องเช็ดพระบาท ไปต้อนรับเสด็จแล้วรับบาตรและจีวร
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูไว้แล้วทรงล้างพระบาท ฝ่ายท่าน
พระภคุถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระภคุผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “ภิกษุ
เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ บิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
ท่านพระภคุกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า และข้าพระองค์บิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระภคุเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุก
จากอาสนะ เสด็จไปทางปาจีนวังสทายวัน

๒๗๔. ปาจีนวังสทายคมนกถา
ว่าด้วยการเสด็จไปปาจีนวังสทายวัน

เรื่องท่านพระอนุรุทธะท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมพิละ
[๔๖๖] สมัยนั้น ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ
พักอยู่ที่ปาจีนวังสทายวัน
คนเฝ้าสวนได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่สมณะ ท่านอย่าเข้ามาสู่สวนนี้ เพราะในที่นี้มีกุลบุตร ๓
คนต่างกำลังมุ่งประโยชน์ของตนอยู่ อย่าได้ทำความไม่สงบแก่พวกท่านเลย”
ท่านพระอนุรุทธะได้ยินเสียงคนเฝ้าสวนทูลปรึกษากับพระผู้มีพระภาค จึงได้กล่าว
กับคนเฝ้าสวนดังนี้ว่า “นี่แน่คนเฝ้าสวน ท่านอย่าห้ามพระผู้มีพระภาคเลย พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๔. ปาจีนวังสทายคมนกถา
เป็นพระศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้ว” แล้วเข้าไปหาท่านพระนันทิยะและ
ท่านพระกิมพิละ บอกว่า “พวกท่านจงรีบออกไป พระบรมศาสดาของพวกเรา เสด็จ
มาถึงแล้ว”
ลำดับนั้น ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละพากัน
ไปต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งรับบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่ง
ปูอาสนะ รูปหนึ่งตั้งน้ำล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท กระเบื้องเช็ดพระบาท
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้วให้ล้างพระบาท ท่านเหล่านั้น
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสถาม
ท่านพระอนุรุทธะผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควรว่า “อนุรุทธะ พวกเธอยังสบายดีหรือ ยัง
พอเป็นอยู่ได้หรือ บิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
พวกพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “พวกข้าพระองค์ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยัง
พอเป็นอยู่ได้ พระพุทธเจ้าข้า และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”
“อนุรุทธะ นันทิยะและกิมพิละ ก็พวกเธอยังพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่
ทะเลาะกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันดุจนมสดกับน้ำ มองหน้ากันด้วยความชื่นบาน
อยู่หรือ”
“พวกข้าพระองค์ยังพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน เป็นน้ำหนึ่ง
ใจเดียวกันดุจนมสดกับน้ำ มองหน้ากันด้วยความชื่นบานอยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
“อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมพิละ ก็พวกเธอยังพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน
ไม่ทะเลาะกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันดุจนมสดกับน้ำ มองหน้ากันด้วยความชื่นบาน
อยู่ด้วยวิธีใด”
ท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ในเรื่องนี้ พวกข้าพระองค์มี
ความคิดอย่างนี้ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่ร่วมกับเพื่อน
พรหมจารีเช่นนี้’
พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์นั้นเข้าไปตั้งเมตตากายกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลัง
เข้าไปตั้งเมตตาวจีกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลัง เข้าไปตั้งเมตตามโนกรรมทั้งต่อหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๔. ปาจีนวังสทายคมนกถา
และลับหลังในท่านเหล่านี้ ข้าพระองค์นั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอเราพึงวาง
จิตตนไปตามอำนาจจิตของท่านทั้งสองนี้เท่านั้น’ แล้ววางจิตตนให้เป็นไปตามอำนาจ
จิตของท่านเหล่านี้แล กายของพวกข้าพระพุทธเจ้าต่างกันก็จริงแล แต่จิตเป็นเหมือน
ดวงเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า”
ฝ่ายท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมพิละก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ
เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจารีเช่นนี้’
พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์นั้นเข้าไปตั้งเมตตากายกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลัง
เข้าไปตั้งเมตตาวจีกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลัง เข้าไปตั้งเมตตามโนกรรมทั้งต่อหน้า
และลับหลังในท่านเหล่านี้ ข้าพระองค์นั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอเราพึงวาง
จิตตนไปตามอำนาจจิตของท่านเหล่านี้เท่านั้น’ แล้ววางจิตตนให้เป็นไปตามอำนาจ
จิตของท่านเหล่านี้แล กายของพวกข้าพระองค์ต่างกันก็จริงแล แต่จิตเป็นเหมือน
ดวงเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน
ไม่ทะเลาะกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันดุจนมสดกับน้ำ มองหน้ากันด้วยความชื่นบาน
ด้วยวิธีอย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส
มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่หรือ”
พวกพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาท มีความ
เพียรเผากิเลส มีใจเด็ดเดียวอยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส
มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ด้วยวิธีใดเล่า”
พวกพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ในเรื่องนี้ บรรดาพวกข้าพระองค์
ผู้ที่กลับจากบิณฑบาตมาถึงก่อนก็ปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้อง
เช็ดเท้า ล้างสำรับกับข้าวแล้วตั้งไว้ ตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๕. ปาริเลยยกคมนกถา
ผู้กลับจากบิณฑบาตภายหลัง ถ้ามีอาหารที่เป็นเดน ถ้าต้องการก็ฉันได้ ถ้า
ไม่ต้องการก็เททิ้งในที่ปราศจากของเขียวสด หรือล้างในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ เธอเก็บ
อาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างสำรับกับข้าวแล้วเก็บไว้
เก็บน้ำดื่ม น้ำใช้กวาดโรงฉัน
ผู้ใดเห็นหม้อน้ำดื่ม หม้อน้ำใช้ หรือหม้อน้ำในวัจกุฎีว่างเปล่าก็ตักน้ำตั้งไว้
ถ้าเธอไม่อาจทำได้ พวกข้าพระองค์ก็กวักมือเรียกเพื่อนมาแล้วช่วยกันตักยกเข้าไป
ตั้งไว้ แต่ไม่ได้บ่นว่าเพราะเรื่องนั้นเลย และทุก ๆ ๕ วันพวกข้าพระองค์จะนั่งประชุม
สนทนาธรรมตลอดคืนยันรุ่ง
พวกข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่
ด้วยวิธีนี้แล พระพุทธเจ้าข้า”

๒๗๕. ปาริเลยยกคมนกถา
ว่าด้วยการเสด็จไปป่าปาริไลยกะ

เรื่องพญาช้างปาริไลยกะ
[๔๖๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระ
นันทิยะ และท่านพระกิมพิละเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ
เสด็จจาริกไปทางป่าปาริไลยกะ เสด็จจาริกไปตามลำดับ จนถึงป่าปาริไลยกะแล้ว
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ควงไม้รัง ในราวป่ารักขิตวัน เขตป่าปาริไลยกะนั้น
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิดความคิดคำนึงใน
พระทัยอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อนเราคลุกคลีกับพวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีที่ก่อความบาด
หมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ อยู่ไม่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๕. ปาริเลยยกคมนกถา
ผาสุกเลย เวลานี้เราว่างเว้นจากพวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีเหล่านั้น ที่ก่อความบาด
หมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ อยู่ผู้
เดียวไม่มีเพื่อน อยู่ผาสุกดี”
แม้พญาช้างตัวหนึ่งอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ และ
ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่พญาช้างนั้นหักลงมากองไว้ ช้างเหล่านั้น
ก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อพญาช้างนั้นเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพังก็เดิน
เสียดสีกายไป
ต่อมา พญาช้างนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราอยู่ปะปนกับพวกช้างพลาย
ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ และลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เราหักลงมา
กองไว้ ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ
ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป อย่ากระนั้นเลย เราพึงหลีกออกจากโขลงอยู่แต่ผู้เดียว”
แล้วได้หลีกออกจากโขลงเดินไปทางเขตป่าปาริไลยกะ ราวป่ารักขิตะ ควงไม้รัง เข้า
ไปหาพระผู้มีพระภาคแล้วใช้งวงตักน้ำดื่มน้ำใช้เข้าไปตั้งไว้เพื่อพระผู้มีพระภาค และ
ปรับพื้นที่ให้ปราศจากของเขียวสด
ครั้งนั้น พญาช้างนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “เมื่อก่อนเราอยู่ปะปนกับพวก
ช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ และลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เรา
หักลงมากองไว้ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจาก
ท่าน้ำ ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป เวลานี้เราว่างเว้นจากช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้าง
ใหญ่ และลูกช้างเล็กอยู่แต่ผู้เดียวไม่มีเพื่อน อยู่ผาสุกดี”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความสงัดของพระองค์ และทรงทราบ
ความคิดคำนึงในใจของพญาช้างนั้นด้วยพระทัย จึงทรงเปล่งพระอุทานในขณะนั้นว่า
“จิตของพญาช้างผู้มีงางามดุจงอนรถนั้น
เสมอกับจิตของพระพุทธเจ้า เพราะอยู่ผู้เดียวยินดีในป่าเหมือนกัน”๑

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อุ. ๒๕/๓๕/๑๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๕. ปาริเลยยกคมนกถา
ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าปาริไลยกะตามพระอัธยาศัยแล้วเสด็จจาริก
ไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปตามลำดับ ลุถึงกรุงสาวัตถีแล้ว ทราบว่า พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตกรุงสาวัตถีนั้น
ครั้งนั้น พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีปรึกษากันว่า “พวกภิกษุชาว
กรุงโกสัมพีเหล่านี้ทำความพินาศใหญ่โตให้พวกเรา พระผู้มีพระภาคถูกภิกษุพวกนี้
รบกวนจึงเสด็จหลีกไป เอาละ พวกเราจะไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ ไม่ทำอัญชลีกรรม
สามีจิกรรม ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่คบหา ไม่บูชาภิกษุชาวเมือง
โกสัมพีพวกนี้ แม้พวกเธอเข้ามาบิณฑบาตก็จะไม่ถวายก้อนข้าว ท่านพวกนี้ เมื่อ
ถูกพวกเราไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่คบหา ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะ
อย่างนี้ก็จะพากันหลีกไป สึกไปหรือจะให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรด”
ครั้งนั้น อุบาสกและอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ ไม่ทำอัญชลี
กรรม สามีจิกรรม ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่คบหา ไม่บูชาพวกภิกษุ
ชาวกรุงโกสัมพี แม้พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีเข้ามาบิณฑบาตก็ไม่ถวายก้อนข้าว
ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีถูกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีไม่สักการะ
ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่คบหา ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะ พูดกันอย่างนี้ว่า “ท่าน
ทั้งหลาย เอาเถิด พวกเราพึงเดินทางไปกรุงสาวัตถีแล้วระงับอธิกรณ์นี้ใน สำนักของ
พระผู้มีพระภาค”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๖. อัฏฐารสวัตถุกถา
๒๗๖. อัฏฐารสวัตถุกถา
ว่าด้วยเรื่องที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ๑๘ ประการ

เรื่องทรงแสดงเหตุแห่งความแตกแยก
แก่ท่านพระสารีบุตร ณ กรุงสาวัตถี
[๔๖๘] ต่อมา พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีเก็บเสนาสนะแล้วถือบาตรและจีวร
พากันเดินทางไปกรุงสาวัตถี
ท่านพระสารีบุตรได้ทราบข่าวว่า “พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีผู้ก่อความบาดหมาง
ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้นกำลัง
เดินทางมาสู่กรุงสาวัตถี” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
“พระพุทธเจ้าข้า ทราบว่าพวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้นกำลังเดินทางมา
สู่กรุงสาวัตถี ข้าพระองค์จะปฏิบัติต่อพวกเธออย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “สารีบุตร เธอจงวางตนอยู่อย่างชอบธรรมเถิด”
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลถามว่า “ข้าพระองค์จะพึงรู้ได้อย่างไรว่า ชอบธรรม
หรือไม่ชอบธรรม พระพุทธเจ้าข้า”

ลักษณะของภิกษุผู้เป็นอธรรมวาที ๑๘ อย่าง๑
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “สารีบุตร เธอพึงรู้จักอธรรมวาทีภิกษุด้วยวัตถุ ๑๘
ประการ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. แสดงอธรรมว่า เป็นธรรม
๒. แสดงธรรมว่า เป็นอธรรม

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. ๗/๓๕๒/๑๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๖. อัฏฐารสวัตถุกถา
๓. แสดงสิ่งมิใช่วินัยว่า เป็นวินัย
๔. แสดงวินัยว่า มิใช่วินัย
๕. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ว่า ตถาคตได้ภาษิตไว้
ได้กล่าวไว้
๖. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ว่า ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้
ไม่ได้กล่าวไว้
๗. แสดงจริยาวัตรที่ตถาคตไม่ได้ประพฤติมาว่าตถาคตได้ประพฤติมา
๘. แสดงจริยาวัตรที่ตถาคตประพฤติมาว่าตถาคตไม่ได้ประพฤติมา
๙. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่าตถาคตได้บัญญัติไว้
๑๐. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่าตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้
๑๑. แสดงอนาบัติว่าเป็นอาบัติ
๑๒. แสดงอาบัติว่าเป็นอนาบัติ
๑๓. แสดงอาบัติเบาว่าเป็นอาบัติหนัก
๑๔. แสดงอาบัติหนักว่าเป็นอาบัติเบา
๑๕. แสดงอาบัติที่มีส่วนเหลือว่าเป็นอาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือ
๑๖. แสดงอาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือว่าเป็นอาบัติที่มีส่วนเหลือ
๑๗. แสดงอาบัติชั่วหยาบว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ
๑๘. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ
สารีบุตร เธอพึงรู้จักอธรรมวาทีภิกษุด้วยวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล

ลักษณะของภิกษุผู้เป็นธรรมวาที ๑๘ อย่าง
สารีบุตร เธอพึงรู้จักธรรมวาทีภิกษุด้วยวัตถุ ๑๘ ประการ คือ ภิกษุในธรรม
วินัยนี้
๑. แสดงอธรรมว่าเป็นอธรรม
๒. แสดงธรรมว่าเป็นธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๖. อัฏฐารสวัตถุกถา
๓. แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่ามิใช่วินัย
๔. แสดงวินัยว่าเป็นวินัย
๕. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ว่าตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้
ไม่ได้กล่าวไว้
๖. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ว่าตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้
๗. แสดงจริยาวัตรที่ตถาคตไม่ได้ประพฤติมาว่าตถาคตไม่ได้ประพฤติมา
๘. แสดงจริยาวัตรที่ตถาคตประพฤติมาว่าตถาคตได้ประพฤติมา
๙. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่าตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้
๑๐. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่าตถาคตได้บัญญัติไว้
๑๑. แสดงอนาบัติว่าเป็นอนาบัติ
๑๒. แสดงอาบัติว่าเป็นอาบัติ
๑๓. แสดงอาบัติเบาว่าเป็นอาบัติเบา
๑๔. แสดงอาบัติหนักว่าเป็นอาบัติหนัก
๑๕. แสดงอาบัติที่มีส่วนเหลือว่าเป็นอาบัติที่มีส่วนเหลือ
๑๖. แสดงอาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือว่าเป็นอาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือ
๑๗. แสดงอาบัติชั่วหยาบว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ
๑๘. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ
สารีบุตร เธอพึงรู้จักธรรมวาทีภิกษุด้วยวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล

เรื่องทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่อพวกภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท
พระเถระกราบทูลถามถึงวิธีปฏิบัติ
[๔๖๙] ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ทราบข่าวว่า ฯลฯ ท่านพระมหากัสสปะ
ได้ทราบข่าวว่า ฯลฯ ท่านพระมหากัจจานะได้ทราบข่าวว่า ฯลฯ ท่านพระมหา
โกฏฐิตะได้ทราบข่าวว่า ฯลฯ ท่านพระมหากัปปินะได้ทราบข่าวว่า ฯลฯ ท่านพระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๖. อัฏฐารสวัตถุกถา
มหาจุนทะได้ทราบข่าวว่า ฯลฯ ท่านพระอนุรุทธะได้ทราบข่าวว่า ฯลฯ ท่านพระ
เรวตะได้ทราบข่าวว่า ฯลฯ ท่านพระอุบาลีได้ทราบข่าวว่า ฯลฯ ท่านพระอานนท์
ได้ทราบข่าวว่า ฯลฯ
ท่านพระราหุลได้ทราบข่าวว่า “พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีผู้ก่อความบาดหมาง
ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้นกำลัง
เดินทางมาสู่กรุงสาวัตถี” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระพุทธเจ้าข้า ทราบว่า พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้นกำลังเดินทางมา
สู่กรุงสาวัตถี ข้าพระองค์จะปฏิบัติต่อพวกเธออย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราหุล เธอจงวางตนอยู่อย่างชอบธรรมเถิด”
ท่านพระราหุลกราบทูลถามว่า “ข้าพระองค์จะพึงรู้ได้อย่างไรว่า ชอบธรรม
หรือไม่ชอบธรรม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราหุล เธอพึงรู้จักอธรรมวาทีภิกษุเพราะวัตถุ ๑๘
ประการ ฯลฯ ราหุล เธอพึงรู้จักอธรรมวาทีภิกษุเพราะวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล
ราหุล เธอพึงรู้จักธรรมวาทีภิกษุเพราะวัตถุ ๑๘ ประการ ฯลฯ ราหุล เธอ
พึงรู้จักธรรมวาทีภิกษุเพราะวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล”

พระนางมหาปชาบดีโคตมีกราบทูลถามวิธีปฏิบัติ
[๔๗๐] พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้ทราบข่าวว่า “พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพี
ผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์
ในสงฆ์เหล่านั้นกำลังเดินทางมาสู่กรุงสาวัตถี” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่
ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลถาม
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ทราบว่า พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีผู้ก่อ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๖. อัฏฐารสวัตถุกถา
ความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์
เหล่านั้นกำลังเดินทางมาสู่กรุงสาวัตถี หม่อมฉันจะปฏิบัติต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โคตมี บรรดาภิกษุทั้งฝ่ายธรรมวาทีและฝ่ายอธรรม
วาที เธอจงฟังธรรมในภิกษุทั้ง ๒ ฝ่าย ครั้นฟังแล้วจงพอใจความเห็น ความถูกใจ
ความชอบใจและความเชื่อถือของพวกภิกษุฝ่ายธรรมวาที อนึ่ง วัตรที่ภิกษุณีสงฆ์
พึงหวังจากภิกษุสงฆ์ทุกอย่างนั้นก็พึงหวังจากภิกษุฝ่ายธรรมวาทีเท่านั้น”

อนาถบิณฑิกคหบดีกราบทูลถามวิธีปฏิบัติ
[๔๗๑] อนาถบิณฑิกคหบดีได้ทราบข่าวว่า “พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีผู้ก่อ
ความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ใน
สงฆ์เหล่านั้นกำลังเดินทางมาสู่กรุงสาวัตถี” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ทราบว่า พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีผู้ก่อความบาดหมาง
ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้นกำลัง
เดินทางมาสู่กรุงสาวัตถี ข้าพระองค์จะปฏิบัติต่อภิกษุเหล่านั้น อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี ท่านจงถวายทานในภิกษุทั้งสองฝ่าย ครั้น
แล้วจงฟังธรรมในภิกษุทั้งสองฝ่าย แล้วจงพอใจความเห็น ความถูกใจ ความชอบใจ
และความเชื่อถือของพวกภิกษุฝ่ายธรรมวาทีเท่านั้น”

นางวิสาขามิคารมาตากราบทูลถามวิธีปฏิบัติ
[๔๗๒] นางวิสาขามิคารมาตาได้ทราบข่าวว่า “พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีผู้ก่อ
ความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ใน
สงฆ์เหล่านั้นกำลังเดินทางมาสู่กรุงสาวัตถี” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาค


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๖. อัฏฐารสวัตถุกถา
ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ทราบว่าพวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีผู้ก่อความบาดหมาง
ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้นกำลัง
เดินทางมาสู่กรุงสาวัตถี หม่อมฉันจะปฏิบัติต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วิสาขา เธอจงถวายทานในภิกษุทั้งสองฝ่าย ครั้นแล้ว
จงฟังธรรมในภิกษุทั้งสองฝ่าย แล้วจงพอใจความเห็น ความถูกใจ ความชอบใจและ
ความเชื่อถือของพวกภิกษุฝ่ายธรรมวาทีเท่านั้น”

เรื่องให้เสนาสนะที่ว่างแก่พวกภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท
[๔๗๓] ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีได้เดินทางไปโดยลำดับ จนถึงกรุง
สาวัตถี ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ
พุทธเจ้าข้า ทราบว่า พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพีผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ
ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้นกำลังเดินทาง มาสู่กรุง
สาวัตถี ข้าพระองค์จะจัดเสนาสนะต่อพวกเธออย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร เธอพึงให้เสนาสนะที่ว่าง”

เรื่องจัดเสนาสนะให้ว่าง
สำหรับพวกภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลถามว่า “ก็ถ้าไม่มีเสนาสนะว่าง จะปฏิบัติอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร ถ้าอย่างนั้น เธอพึงจัดเสนาสนะให้ว่าง
แล้วให้ แต่เราไม่กล่าวว่า ‘พึงห้ามเสนาสนะแก่ภิกษุผู้มีพรรษามากโดยปริยายไร ๆ’
(เพราะ)ผู้ใดห้ามต้องอาบัติทุกกฏ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๗. โอสารณานุชานนา
เรื่องให้อามิสเท่า ๆ กัน
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลถามว่า “ในอามิส จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร พึงแบ่งอามิสให้ภิกษุเท่า ๆ กันทุกรูป”

๒๗๗. โอสารณานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตรับเข้าหมู่ซึ่งภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรม
[๔๗๔] ครั้งนั้น ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมรูปหนึ่งกำลังพิจารณาพระธรรม
วินัยว่า “นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ เราต้องอาบัติ เราไม่ต้องอาบัติ
หามิได้ เราถูกลงอุกเขปนียกรรมแล้ว เราไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรมหามิได้ เราถูก
ลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ชอบธรรม ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะ”
ลำดับนั้น ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้นเข้าไปหาพวกภิกษุผู้ประพฤติตาม
กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมต้องอาบัติ
ผมไม่ต้องอาบัติหามิได้ ผมถูกลงอุกเขปนียกรรมแล้ว ผมไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม
หามิได้ ผมถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ชอบธรรม ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะ
เชิญพวกท่านมารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิดขอรับ”
ลำดับนั้น พวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเหล่านั้นพา
ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวาย
อภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมรูปนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ
นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมต้องอาบัติ ผมไม่ต้องอาบัติหามิได้ ผมถูกลงอุกเขปนีย
กรรมแล้ว ผมไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรมหามิได้ ผมถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรม
ที่ชอบธรรม ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะ เชิญพวกท่านมารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิดขอรับ’
พวกข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๘. สังฆสามัคคีกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้
ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติแล้ว ภิกษุรูปนั้นไม่ต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุรูปนั้นถูกลง
อุกเขปนียกรรมแล้ว ภิกษุรูปนั้นไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรมหามิได้ เธอถูกลง
อุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ชอบธรรม ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะ เพราะเธอ
ต้องอาบัติ ถูกลงอุกเขปนียกรรมแล้วและเห็นอาบัติ ภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น พวกเธอ
จงรับภิกษุรูปนั้นเข้าหมู่เถิด”

๒๗๘. สังฆสามัคคีกถา
ว่าด้วยสังฆสามัคคี
[๔๗๕] ครั้งนั้นพวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเหล่านั้น
รับเธอผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเข้าหมู่แล้วเข้าไปหาพวกภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรมถึงที่
อยู่กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท
ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้
เป็นต่าง ๆ กันได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุรูปนั้นผู้ต้องอาบัติถูกลงอุกเขปนียกรรม
แล้ว เห็นอาบัติและสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว เอาละ พวกเราจะทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับ
เรื่องนั้น”
ลำดับนั้น พวกภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรมเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ
ที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า
“พระพุทธเจ้าข้า พวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเหล่านั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความ
วิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำ
สงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุรูปนั้นผู้ต้องอาบัติถูกลงอุกเขปนีย
กรรมแล้ว เห็นอาบัติและสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว เอาละ พวกเราจะทำสังฆสามัคคีเพื่อ
ระงับเรื่องนั้น’ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๘. สังฆสามัคคีกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุรูปนั้นผู้ต้องอาบัติ ถูก
ลงอุกเขปนียกรรมแล้ว เห็นอาบัติและสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงทำสังฆ
สามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น”

วิธีทำสังฆสามัคคีและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงทำสังฆสามัคคีอย่างนี้ คือ พวกภิกษุทั้งที่เป็นไข้และ
ไม่เป็นไข้พึงประชุมกันทุกรูป รูปไหนจะให้ฉันทะไม่ได้ จากนั้นภิกษุผู้ฉลาดสามารถ
พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความ
ขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยก
แห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุรูปนั้นผู้ต้องอาบัติ
ถูกลงอุกเขปนียกรรม เห็นอาบัติและสงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว สงฆ์
พึงทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง
ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์
การทำสงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุรูปนั้นผู้ต้องอาบัติ ถูกลง
อุกเขปนียกรรม เห็นอาบัติและสงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว สงฆ์ทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน
รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์ทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้นแล้ว ความแตกแห่งสงฆ์ถูกกำจัดแล้ว
ความร้าวรานแห่งสงฆ์ถูกกำจัดแล้ว ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ถูกกำจัดแล้ว การทำ
สงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันถูกกำจัดแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือ
ความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
สงฆ์พึงทำอุโบสถ พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในขณะนั้นทีเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๙. อุปาลิสังฆสามัคคีปุจฉา
๒๗๙. อุปาลิสังฆสามัคคีปุจฉา
ว่าด้วยพระอุบาลีกราบทูลถามถึงสังฆสามัคคี

เรื่องทรงแสดงสังฆสามัคคี ๒ อย่างแก่ท่านพระอุบาลี
[๔๗๖] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวาย
อภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระพุทธเจ้าข้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความ
แตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็น
ต่าง ๆ กันมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ยังไม่ได้สืบสวนเรื่องนั้นแล้วทำสังฆ
สามัคคี สังฆสามัคคีนั้นชอบธรรมหรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง
ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์
การทำสงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ยังไม่ได้สืบสวน
เรื่องนั้นแล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้นไม่ชอบด้วยธรรม
ท่านพระอุบาลีกราบทูลถามว่า “พระพุทธเจ้าข้า ก็ความบาดหมาง ความ
ทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์
ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ได้
วินิจฉัย สืบสวนเรื่องนั้นแล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้นชอบด้วยธรรมหรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความ
ขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยก
แห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ได้วินิจฉัย สืบสวน
เรื่องนั้นแล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้นชอบด้วยธรรม

สังฆสามัคคี ๒ อย่าง
ท่านพระอุบาลีกราบทูลถามว่า “สังฆสามัคคีมีเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๙. อุปาลิสังฆสามัคคีปุจฉา
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี สังฆสามัคคีมี ๒ อย่าง คือ สังฆสามัคคี
ผิดไปจากอรรถ แต่ได้พยัญชนะ และสังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถและได้ทั้งพยัญชนะ
สังฆสามัคคีผิดไปจากอรรถแต่ได้พยัญชนะอย่างไรบ้าง คือ ความบาดหมาง
ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์
ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ไม่ได้
วินิจฉัย ไม่ได้สืบสวนเรื่องนั้นแล้วทำสังฆสามัคคี อย่างนี้เรียกว่าสังฆสามัคคีผิดไป
จากอรรถแต่ได้พยัญชนะ
สังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถและได้ทั้งพยัญชนะเป็นอย่างไร คือ ความบาดหมาง
ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์
ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ได้
วินิจฉัยสืบสวนเรื่องนั้นแล้วทำสังฆสามัคคี อย่างนี้เรียกว่าสังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถและ
ได้ทั้งพยัญชนะ
อุบาลี สังฆสามัคคีมี ๒ อย่างนี้แล

เรื่องไม่ถูกตำหนิโดยศีลอุบาลีคาถา
[๔๗๗] ลำดับนั้น ท่านพระอุบาลีลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้าง
หนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาดังนี้ว่า
[๔๗๘] พระอุบาลีกราบทูลถามว่า “เมื่อมีกิจการปรึกษา
การตีความและการวินิจฉัยความเรื่องวินัยเกิดขึ้นแก่สงฆ์
ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุเช่นไรจึงจัดว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก
และควรแก่การยกย่อง”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เบื้องต้น ภิกษุมีศีลไม่ด่างพร้อย
มีมารยาทสงบเสงี่ยม ศัตรูตำหนิไม่ได้โดยธรรม
เพราะไม่มีความผิดที่จะตำหนิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๗๙. อุปาลิสังฆสามัคคีปุจฉา
เธอผู้เช่นนั้น ตั้งอยู่ในสีลวิสุทธิ กล้าหาญ พูดจาฉะฉาน
เข้าที่ประชุมก็ไม่หวาดหวั่น ไม่ประหม่า พูดมีเหตุผลไม่เสียความ
เมื่อเธอถูกถามปัญหาในที่ประชุมก็คงเป็นเช่นนั้น
ไม่นิ่งอึ้ง ไม่เก้อเขิน เป็นผู้ชำนาญการ พูดถูกกาล สามารถตอบได้
เป็นที่ชอบใจของวิญญูชน เคารพภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า
แกล้วกล้าในอาจริยวาทของตน วิพากษ์วิจารณ์ได้
พูดได้คล่อง สามารถจับข้อผิดพลาดของศัตรูได้
เป็นเหตุให้ศัตรูต้องพ่ายแพ้และมหาชนก็นิยม
เธอย่อมไม่ลบล้างความเชื่อคืออาจริยวาทของตน
สามารถในการแก้ปัญหา
สามารถทำงานทูตและรับทำกิจของสงฆ์
ดุจรับบิณฑบาตของที่มีคนนำมาบูชาฉะนั้น
เมื่อถูกสงฆ์ส่งไปเจรจาก็ไม่ทะนงตัวว่าตนทำได้
เพราะการทำหน้าที่เจรจานั้น
ภิกษุต้องอาบัติเพราะวัตถุมีประมาณเท่าใด
และการออกจากอาบัติย่อมมีด้วยวิธีใด
วิภังค์ทั้งสองนั้นมาแล้วด้วยดีแก่ภิกษุรูปนั้น
ผู้ซึ่งฉลาดในวิธีออกจากอาบัติ
อนึ่ง ภิกษุทำกรรมมีก่อความบาดหมางเป็นต้นเหล่าใด
ย่อมถึงการขับออกและถูกขับออกด้วยเรื่องเช่นใด
เธอฉลาดในวิภังค์ ย่อมเข้าใจวิธีการรับเข้าหมู่แม้นั้น
ที่ควรทำแก่ภิกษุผู้ประพฤติวัตรนั้นเสร็จแล้ว
เธอเคารพภิกษุทั้งหลายผู้มีพรรษามากกว่า
คือ ทั้งที่เป็นเถระ มัชฌิมะ และนวกะ
เป็นบัณฑิต ทำประโยชน์แก่มหาชนในโลกนี้
ภิกษุเช่นนี้จึงควรแก่การยกย่องในธรรมวินัยนี้แล”
โกสัมพิกขันธกะที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ] ๒๘๐. รวมเรื่องที่มีในโกสัมพิกขันธกะ
๒๘๐. รวมเรื่องที่มีในโกสัมพิกขันธกะ
โกสัมพิกขันธกะ มี ๑๔ เรื่อง คือ
เรื่องสมเด็จพระชินวรประทับในกรุงโกสัมพี
ภิกษุทะเลาะวิวาทกันเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ
และลงอุกเขปนียกรรมแก่กันเพราะเหตุเล็กน้อย
เรื่องพระผู้มีพระภาคทรงแนะนำให้ภิกษุแสดงอาบัติ
เรื่องพวกภิกษุประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรม
ทำอุโบสถภายในสีมา เรื่องท่านพระภคุอยู่ ณ พาลกโลณกคาม
เรื่องท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละอยู่
ณ จีนวังสทายวัน เรื่องพญาช้างปาริไลยกะ เรื่องทรงแสดงเหตุแห่ง
ความแตกแยกแก่ท่านพระสารีบุตร ณ กรุงสาวัตถี
เรื่องทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่อพวกภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท
ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ
ท่านพระมหากัจจานะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากัปปินะ
ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอุบาลี
ท่านพระอานนท์ ท่านพระราหุล พระนางมหาปชาบดีโคตมี
อนาถบิณฑิกคหบดี และนางวิสาขามิคารมาตา เข้าเฝ้ากราบทูล
ถามวิธีปฏิบัติ เรื่องให้เสนาสนะที่ว่างแก่พวกภิกษุผู้ก่อความ
ทะเลาะวิวาท เรื่องจัดเสนาสนะให้ว่างสำหรับพวกภิกษุ
ผู้ก่อความทะเลาะวิวาท เรื่องแบ่งอามิสให้เท่า ๆ กัน
เรื่องวิธีและกรรมวาจาทำสังฆสามัคคี เรื่องทรงแสดงสังฆสามัคคี
๒ อย่างแก่ท่านพระอุบาลี เรื่องไม่ถูกตำหนิโดยศีล
โกสัมพิกขันธกะ จบ
มหาวรรค จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๗๔ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๕ วินัยปิฎกที่ ๐๕ มหาวรรค ภาค ๒ จบ





eXTReMe Tracker