ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๔ วินัยปิฎกที่ ๐๔ มหาวรรค ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑.โพธิกถา

พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. มหาขันธกะ

๑. โพธิกถา๑
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์

เรื่องทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท

[๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้น
โพธิพฤกษ์๒ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้
ประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียว๓เสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์เป็นเวลา ๗ วัน
ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท๔ โดยอนุโลมและปฏิโลมตลอด
ปฐมยามแห่งราตรีว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อุ. ๒๕/๑-๔/๙๓-๙๖
๒ วิหรติ ... โพธิรุกฺขมูเล ปŸมาภิสมฺพุทฺโธ เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์ ฎีกาอธิบาย
ว่า “อภิสมฺพุทฺโธ หุตฺวา สพฺพปŸมํ โพธิรุกฺขมูเล วิหรติ ตรัสรู้แล้ว ประทับนั่ง ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ก่อนที่อื่นทั้งหมด” (วิมติ.ฏีกา ๒/๑/๑๐๘)
๓ นั่งโดยบัลลังก์เดียว หมายถึงนั่งขัดสมาธิโดยไม่ลุกขึ้นเลยตลอด ๗ วัน (วิ.อ. ๓/๑/๓)
๔ มนสิการปฏิจจสมุปบาท แปลว่า พิจารณาโดยถ้วนถี่ ใส่ใจโดยถ้วนถี่ พิจารณาโดยแยบคายซึ่งปฏิจจ-
สมุปบาท คือธรรมที่อาศัยกันและกันแล้วยังธรรมที่เกิดร่วมกันให้เกิดขึ้น (วิ.อ. ๓/๑/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑.โพธิกถา
ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้

ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ๑ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ


เชิงอรรถ :
๑ วิราคะ ในที่นี้หมายถึงมรรค (วิ.อ. ๓/๑/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑. โพธิกถา

เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการดับด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ใน
เวลานั้นว่า

พุทธอุทานคาถาที่ ๑๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ๒
[๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและ
ปฏิโลม ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรีว่า

ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี


เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานที่ ๑ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการที่ทรงพิจารณาปัจจยาการหรือปฏิจจสมุปบาท (วิ.อ. ๓/๓/๖)
๒ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงโพธิปักขิยธรรมที่ให้สำเร็จการตรัสรู้ปัจจยาการ(หรือปฏิจจสมุปบาท)โดย
อนุโลม(และปฏิโลม) (วิ.อ. ๓/๑/๕)
พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้ลอยบาปธรรมเสียได้ (วิ.อ. ๓/๑/๕)
ธรรม ในที่นี้หมายถึงธรรมคือกองทุกข์ทั้งสิ้นมีสังขารเป็นต้น พร้อมทั้งเหตุคืออวิชชาเป็นต้น (วิ.อ. ๓/๑/๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑.โพธิกถา

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้

ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการดับด้วยอาการอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑.โพธิกถา
ลำดับนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่ง
อุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทานคาถาที่ ๒๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย
[๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและ
ปฏิโลมตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีว่า

ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานที่ ๒ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการที่ทรงพิจารณานิพพาน (วิ.อ. ๓/๓/๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑. โพธิกถา
ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการดับด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทานคาถาที่ ๓๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนา๒เสียได้
ดุจพระอาทิตย์อุทัยขึ้นสาดส่องท้องฟ้าให้สว่างไสวฉะนั้น
โพธิกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานที่ ๓ นี้ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการที่ทรงพิจารณามรรค (วิ.อ. ๓/๓/๖)
๒ มารและเสนามาร ในที่นี้หมายถึงกามทั้งหลาย (วิ.อ. ๓/๓/๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒. อชปาลกถา
๒. อชปาลกถา
ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธ

เรื่องทรงแสดงธรรมเป็นเหตุให้เป็นพราหมณ์
[๔] ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จ
จากควงต้นโพธิพฤกษ์ ไปยังควงต้นอชปาลนิโครธ๑ ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธเป็นเวลา ๗ วัน
ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติ๒ผู้หนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันและกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นผู้ยืน ณ ที่สมควรแล้วแล
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระโคดมผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์
ด้วยเหตุเพียงไรหนอ ก็และธรรมเหล่าไหนที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พราหมณ์ใด ลอยบาปธรรมเสีย ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ
ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด สำรวมตน๓เรียนจบพระเวท๔อยู่จบพรหมจรรย์๕
พราหมณ์นั้น ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้นในอารมณ์ไหน ๆ ในโลก
ควรกล่าววาทะว่า เราเป็นพราหมณ์โดยธรรม
อชปาลกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ นิโครธ แปลว่า ต้นไทร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Banyan” หรือ “Indian Fig-tree” ไม้จำพวกไทรหรือกร่าง
ของอินเดีย พวกคนเลี้ยงแพะชอบมานั่งที่ร่มเงาของต้นนิโครธนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อชปาลนิโครธ
(วิ.อ. ๓/๔/๘; PALI-ENGLISH DICTIONARY, P.355, Edited by T.W. RHYS DAVIDS and
WILLIAM STEDE)
๒ หุหุกชาติ คือ ชอบตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ พราหมณ์นี้มีทิฏฐิว่า “สิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล” ชอบเที่ยวตวาดว่า
หึ หึ เพราะความถือตัวและเพราะความโกรธ (ดู ขุ.อุ. ๒๕/๔/๙๖)
๓ สำรวมตน หมายถึงมีจิตมุ่งมั่นอยู่ในภาวนาหรือสำรวมด้วยศีลสังวร (วิ.อ. ๓/๔/๙)
๔ เรียนจบพระเวท หมายถึงบรรลุมรรคญาณ ๔ (โสดาปัตติมรรค,สกทาคามิมรรค,อนาคามิมรรค,อรหัตต-
มรรค) หรือเรียนจบเวท ๓ (ฤคเวท,ยชุรเวท,สามเวท) (วิ.อ. ๓/๔/๙)
๕ อยู่จบพรหมจรรย์ หมายถึงจบมรรคพรหมจรรย์ (วิ.อ. ๓/๔/๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๓. มุจลินทกถา
๓. มุจลินทกถา
ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์

เรื่องทรงเปล่งอุทานปรารภความสุข
[๕] ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จ
จากควงต้นอชปาลนิโครธไปยังควงต้นมุจลินท์๑ ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์เป็นเวลา ๗ วัน
ครั้งนั้น ได้บังเกิดเมฆใหญ่ขึ้นในสมัยมิใช่ฤดูกาล เป็นฝนเจือลมหนาวตกพรำตลอด
๗ วัน ลำดับนั้น พญานาคมุจลินท์ได้ออกจากที่อยู่ของตนไปโอบรอบพระกายของ
พระผู้มีพระภาคด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเหนือพระเศียรด้วยหวังว่า
“ความหนาว อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ความร้อน อย่าได้เบียดเบียน
พระผู้มีพระภาค สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลานอย่าได้เบียดเบียน
พระผู้มีพระภาค”
ครั้น ๗ วันผ่านไป พญานาคมุจลินท์รู้ว่า ฝนหายปลอดเมฆแล้ว จึงคลาย
ขนดออกจากพระกายของพระผู้มีพระภาค จำแลงร่างของตนเป็นมาณพ ยืนประนมมือ
ถวายอภิวาทอยู่เบื้องพระพักตร์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทานคาถา
ความสงัด๒เป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ
ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว ผู้เห็นอยู่

เชิงอรรถ :
๑ มุจลินท์ คือ ต้นจิกนา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “The Tree Barringtonai Acutangula” ต้นมุจลินท์นี้
เป็นเจ้าแห่งต้นมุจละ (PALI-ENGLISH DICTIONARY, P.535, COL. 1, Edited by T.W. RHYS
DAVIDS and WILLIAM STEDE)
๒ ความสงัด ในที่นี้หมายถึงธรรมเป็นที่สงบระงับสังขารทั้งปวง คือ นิพพานนั่นเอง (วิ.อ. ๓/๕/๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔.ราชายตนกถา
ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก
ความปราศจากราคะคือความล่วงกามทั้งหลายได้ เป็นสุขในโลก
ความกำจัดอัสมิมานะ(ความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่)เสียได้
เป็นสุขอย่างยิ่ง๑
มุจลินทกถา จบ

๔. ราชายตนกถา
ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะ

เรื่องทรงพบกับตปุสสะและภัลลิกะ
[๖] ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จ
จากควงต้นมุจลินท์ไปยังควงต้นราชายตนะ๒ ครั้นถึงแล้วจึงประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียว
เสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะเป็นเวลา ๗ วัน
ครั้งนั้น พ่อค้า ๒ คนชื่อตปุสสะและภัลลิกะ เดินทางไกลจากอุกกลชนบท
มาถึงที่นั้น ขณะนั้น เทวดาผู้เป็นญาติร่วมสายโลหิตของตปุสสะและภัลลิกะพ่อค้า
ทั้งสอง ได้กล่าวว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ เมื่อแรกตรัสรู้
ประทับอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะ ท่านทั้งสองจงไปต้อนรับพระองค์ด้วยข้าวตูผงและ
ข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งเถิด การบูชาของท่านทั้งสองจักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขสิ้น
กาลนาน”
ต่อมา ตปุสสะและภัลลิกะ ได้ถือข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อุ. ๒๕/๑๑/๑๐๕
๒ ราชายตนะ แปลกันว่า ต้นเกด ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Buchania Latifolia” และอธิบายเพิ่มเติมว่า
เป็นต้นไม้หลวง เป็นที่สิงสถิตของเทพแห่งนางไม้ทั้งหลาย (PALI-ENGLISH DICTIONARY, P.569,
COL. 2, Edited by T.W. RHYS DAVIDS and WILLIAM STEDE)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔. ราชายตนกถา
ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดทรงรับข้าวตูผลและข้าวตูก้อนปรุงด้วยนำผึ้ง ซึ่งจะเป็นไป
เพื่อประโยชน์สุขสิ้นกาลนานแก่ข้าพระองค์ทั้งสองเถิด”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “พระตถาคตทั้งหลายไม่ทรงรับ
ภัตตาหารด้วยพระหัตถ์เลย เราจะพึงรับข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งอย่างไร
หนอ”
ทันใดนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทราบความดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยใจของตน ๆ จึงนำบาตรศิลา ๔ ใบมาจาก ๔ ทิศ เข้าไปถวายแล้ว
ทูลว่า “ขอพระองค์โปรดทรงรับข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงน้ำผึ้ง ด้วยบาตรนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งด้วยบาตรศิลาใหม่
เอี่ยมแล้วเสวย
ต่อมา ตปุสสะและภัลลิกะได้กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง
สองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำ
ข้าพระองค์ทั้งสองว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนตลอดชีวิต”
ตปุสสะและภัลลิกะนั้น ได้เป็นเทฺววาจิกอุบาสก(ผู้กล่าววาจาถึงรัตนะ ๒ ว่า
เป็นสรณะ)เป็นพวกแรกในโลกแล
ราชายตนกถา จบ๑

เชิงอรรถ :
๑ สรุปสถานที่สำคัญที่พระผู้มีพระภาค เสด็จประทับหลังจากตรัสรู้แล้วตามนัยแห่งอรรถกถา ดังนี้
สัปดาห์ที่ ๑ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิ์
สัปดาห์ที่ ๒ ประทับอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์ เรียกว่า อนิมิสสเจดีย์
สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จจงกรมไปมาระหว่างต้นโพธิ์กับอนิมิสสเจดีย์ เรียกบริเวณนั้นว่า รตนจงกรมเจดีย์
สัปดาห์ที่ ๔ ประทับอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์ เรียกบริเวณนั้นว่า รตนฆรเจดีย์
สัปดาห์ที่ ๕ ประทับอยู่ ณ ต้นอชปาลนิโครธ อยู่ห่างไกลออกไป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นโพธิ์
สัปดาห์ที่ ๖ ประทับอยู่ ณ ต้นมุจลินท์ อยู่ห่างไกลออกไป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นโพธิ์
สัปดาห์ที่ ๗ ประทับอยู่ ณ ต้นราชายตนะ อยู่ห่างไกลออกไป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของต้นโพธิ์
(วิ.อ. ๓/๔-๖/๘-๑๒, ขุ.พุทฺธ.อ. ๔๑๙-๔๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕.พรหมยาจนกถา
๕. พรหมยาจนกถา
ว่าด้วยพรหมอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม

เรื่องทรงพิจารณาความลึกซึ้งแห่งปฏิจสมุปบาท
[๗] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธิ แล้วเสด็จจาก
ควงต้นราชายตนะไปยังต้นอชปาลนิโครธ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงต้น
อชปาลนิโครธนั้น ขณะเมื่อทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิดความดำริขึ้นในพระ
ทัยว่า๑ “ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต
ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ สำหรับหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วย
อาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย๒ ฐานะอันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าว
คือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก
กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ
นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะ
พึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา”
อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่ไม่เคยทรงสดับมาก่อน ได้ปรากฏแจ่มแจ้ง
แก่พระผู้มีพระภาคว่า

อนัจฉริยคาถา
บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก
เพราะธรรมนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำ จะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส๓ ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต
ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. ๑๒/๒๘๑/๒๔๒, ม.ม. ๑๓/๓๓๗/๓๑๙
๒ อาลัย คือกามคุณ ๕ ที่สัตว์พัวพัน ยินดี เพลิดเพลิน (วิ.อ. ๓/๗/๑๓) เป็นชื่อเรียกกิเลส ๒ อย่างคือ กามคุณ
๕ และตัณหาวิจริต ๑๐๘ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗/๑๘๔) ดู อภิ.วิ. (แปล)๓๕/๙๗๓-๙๗๖/๖๒๒-๖๓๔
๓ พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึงพาเข้าถึงนิพพาน (วิ.อ. ๓/๗/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕.พรหมยาจนกถา
เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อการขวนขวายน้อย มิได้
น้อมไปเพื่อแสดงธรรม
[๘] ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยใจของตน ได้มีความดำริว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะ
พินาศหนอ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปเพื่อ
การขวนขวายน้อย มิได้น้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม” จึงหายไปจากพรหม
โลกมาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เปรียบประหนึ่งบุรุษมีกำลัง
เหยียดแขนออก หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น แล้วห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับพลางทูล
ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตเจ้าได้
โปรดแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในตาน้อยมีอยู่๑ สัตว์เหล่านั้นย่อม
เสื่อมเพราะไม่ได้สดับธรรม เพราะจักมีผู้รู้ธรรม๒”
ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทูลอาราธนาดังนี้ แล้วได้ทูลเป็นประพันธคาถาต่อไปว่า

พรหมนิคมคาถา
ในกาลก่อน ธรรมที่ไม่บริสุทธิ์อันคนที่มีมลทิน๓คิดค้นไว้
ปรากฏในแคว้นมคธ
พระองค์ โปรดทรงเปิดประตูอมตธรรมนั้นเถิด
ขอเหล่าสัตว์ จงฟังธรรมที่พระสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากมลทิน
ได้ตรัสรู้แล้วตามลำดับ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงมีธุลีคือราคะ โทสะ โมหะ ปิดบังดวงตาปัญญาเบาบาง (วิ.อ. ๗๘-๙/๑๔-๑๕)
๒ เหตุการณ์นี้เป็นที่มาแห่งพิธีอาราธนาพระสงฆ์แสดงธรรม(ดู ขุ.พุทธ. ๓๓/๑/๔๓๕)
๓ คนที่มีมลทิน ในที่นี้หมายถึงครูทั้ง ๖ (วิ.อ. ๓/๘/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕.พรหมยาจนกถา
ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีสมันตจักษุ
บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดเขาศิลาล้วน พึงเห็นหมู่ชนได้
โดยรอบ ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว ก็ฉันนั้น
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรมแล้ว
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความโศกและถูกชาติชรา
ครอบงำได้ชัดเจน
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ผู้ชนะสงคราม ผู้นำหมู่
ผู้ไม่มีหนี้ ขอพระองค์โปรดลุกขึ้นเสด็จจาริกไปในโลก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดจงทรงแสดง
ธรรม เพราะจักมีผู้รู้ธรรม
[เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับ
ท้าวสหัมบดีพรหมว่า พรหม แม้เราเองก็มีความดำริว่า ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้
... จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา พรหม อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่
ไม่เคยสดับมาก่อนได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่เราว่า
บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราได้บรรลุ ด้วยความลำบาก
... แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส ...
พรหม เมื่อเราพิจารณาแจ้งชัดดังนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการขวนขวายน้อย
หาน้อมไปเพื่อแสดงธรรมไม่
แม้ครั้งที่ ๒ ท้าวสหัมบดีพรหมก็ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคได้โปรดแสดงธรรม ... เพราะจักมีผู้รู้ธรรม”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า “พรหม แม้เราเองก็มีความคิด
ว่า... หาน้อมไปเพื่อแสดงธรรมไม่”
แม้ครั้งที่ ๓ ท้าวสหัมบดีพรหมก็ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคได้โปรดแสดงธรรม ... เพราะจักมีผู้รู้ธรรม”]

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕. พรหมยาจนกถา
เรื่องทรงพิจารณาเวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว๑
[๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงรับคำทูลอาราธนาของพรหม และเพราะ
อาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์ ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ๒ เมื่อทรงตรวจดูโลก
ด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในตาน้อย มีธุลีในตามาก๓ มีอินทรีย์แก่กล้า
มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวก
มักเห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวก็มี
มีอุปมาเหมือนในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม
ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำอยู่เสมอน้ำ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ ไม่แตะน้ำ ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีใน
ตาน้อย มีธุลีในตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการ
ทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่าเป็น
สิ่งน่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัวก็มี ฉันนั้น๔

เชิงอรรถ :
๑ ที.ม. ๑๐/๖๙/๓๓, ม.มู. ๑๒/๒๘๓/๒๔๔, อภิ.ก. ๓๗/๘๕๖/๔๙๐, ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๓๓/๑๕๓
๒ พุทธจักษุ หมายถึง (๑) อินทริยปโรปริยัตติญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่ง
อินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้ว่า สัตว์นั้น ๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด
มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีความพร้อม ที่จะตรัสรู้หรือไม่ (๒) อาสยานุสยญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย
ความมุ่งหมาย สภาพจิตที่นอนอยู่ (ขุ.ป. ๓๑/๑๑๑/๑๒๔,๑๑๓/๑๒๖)
๓ ตา ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. ๓/๙/๑๕, ดู ขุ.ป. ๓๑/๑๑๑-๑๑๕/๑๒๔-๑๒๘)
๔ นอกจากบัวจมอยู่ในน้ำ บัวอยู่เสมอน้ำ บัวพ้นน้ำ ๓ เหล่านี้ อรรถกถาได้กล่าวถึงบัวเหล่าที่ ๔
คือ บัวที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำเป็นภักษาของปลาและเต่า ซึ่งมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แล้วแบ่งบุคคลเป็น ๔ เหล่า
(ตามที่ปรากฏใน องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๓/๒๐๒, อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๐/๑๔๒,๑๔๘-๑๕๑/๑๘๖-๑๘๗)
คือ (๑) อุคฆฏิตัญญู (๒) วิปจิตัญญู (๓) เนยยะ (๔) ปทปรมะ แล้วเปรียบอุคฆฏิตัญญู เป็น
เหมือนบัวพ้นน้ำ ที่พอต้องแสงอาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้ เปรียบวิปจิตัญญู เป็นเหมือนบัวอยู่เสมอน้ำ
ที่จะบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเนยยะ เป็นเหมือนบัวจมอยู่ในน้ำที่จะขึ้นมาบานในวันที่ ๓ ส่วนปทปรมะ
เปรียบเหมือนบัวที่มีโรค ยังไม่พ้นน้ำ ไม่มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นภักษาของปลาและเต่า
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุอันเป็นเหมือนกออุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงว่า
หมู่ประชาผู้มีธุลีในตาน้อยมีประมาณเท่านี้ หมู่ประชาผู้มีธุลีในตามากมีประมาณเท่านี้ และในหมู่ประชา
ทั้ง ๒ นั้น อุคฆฏิตัญญูบุคคลมีประมาณเท่านี้ (ที.ม.อ. ๖๖/๖๔-๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๙/๑๙๒-๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ครั้นทรงเห็นแล้ว ได้ตรัสคาถาตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า
สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เราได้เปิดประตูอมตธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว
ท่านพรหม เพราะเราสำคัญว่าจะลำบาก
จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีตคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์
ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบว่า “พระพุทธองค์ได้ทรงประทานโอกาส
เพื่อจะแสดงธรรมแล้ว” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว
อันตรธานไป ณ ที่นั้นแล

พรหมยาจนกถา จบ

๖. ปัญจวัคคิยกถา
ว่าด้วยภิกษุปัญจวัคคีย์

เรื่องอาฬารดาบสกาลามโคตร
[๑๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อน
หนอ ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน” แล้วทรงดำริต่อไปว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร
นี้ เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยมานาน ถ้ากระไร เราจะพึง
แสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ ฉับพลัน”

ลำดับนั้น เทวดาผู้ไม่ปรากฏกายมาทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระองค์ผู้เจริญ
อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้ทำกาละ ๗ วันแล้ว”

แม้พระผู้มีพระภาคก็ได้เกิดญาณขึ้นว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้ทำ
กาละ ๗ วันแล้ว” จึงทรงดำริว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อม
นานหนอ๑ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน”

เชิงอรรถ :
๑ มีความเสื่อมนานหนอ หมายถึงมีความเสื่อมมาก เพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุ เพราะ
เกิดในอักขณะ คือ อาฬารดาบสตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุททกดาบสตายไปเกิดใน
เนวสัญญานาสัญญายตนภาพ (วิ.อ. ๓/๑๐/๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
เรื่องอุททกดาบสรามบุตร
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน” จึงทรงดำริต่อไปว่า “อุททกดาบส รามบุตรนี้
เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยมานาน ถ้ากระไร เราจะพึง
แสดงธรรมแก่อุททกดาบส รามบุตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน”
ลำดับนั้น เทวดาผู้ไม่ปรากฏกายมาทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระองค์ผู้เจริญ
อุททกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้”
แม้พระผู้มีพระภาคก็ได้เกิดญาณขึ้นว่า “อุททกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละ
เมื่อวานนี้” จึงทรงดำริว่า “อุททกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมนานหนอ
เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน” จึงทรงดำริว่า “ภิกษุปัญจวัคคีย์ มีอุปการะแก่เรามาก
ที่ได้เฝ้าปรนนิบัติเราผู้มุ่งหน้าบำเพ็ญเพียรมา ถ้ากระไร เราจะพึงแสดงธรรมแก่
ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน” แล้วทรงดำริต่อไปว่า “บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ”
ก็ได้ทรงเห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ด้วย
ทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์
ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาตามพระอัธยาศัยแล้ว
ได้เสด็จจาริกไปทางกรุงพาราณสี

เรื่องอุปกาชีวก
[๑๑] อาชีวกชื่ออุปกะได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกล ณ ระหว่าง
แม่น้ำคยากับต้นโพธิพฤกษ์ ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “อาวุโส อินทรีย์ของ
ท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็น
ศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
เมื่ออุปกาชีวกทูลถามดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาตอบอุปกาชีวกว่า
“เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง๑ รู้ธรรมทั้งปวง๒
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง๓ ละธรรมทั้งปวงได้สิ้นเชิง๔
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา ตรัสรู้ยิ่งเอง
แล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า
เราไม่มีอาจารย์๕ เราไม่มีผู้เสมอเหมือน
เราไม่มีผู้ทัดเทียม ในโลกกับทั้งเทวโลก
เพราะเราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม
เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเองเพียงผู้เดียว เป็นผู้เยือกเย็น
ดับกิเลสได้แล้วในโลก
เราจะไปเมืองหลวงแห่งชาวกาสี ประกาศธรรมจักร
ตีกลองอมตธรรมไปในโลกอันมีความมืดมน”๖
อุปกาชีวกทูลว่า “อาวุโส ท่านสมควรเป็นพระอนันตชินะตามที่ท่านประกาศ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา
อุปกะ เราชนะความชั่วได้แล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าพระชินะ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้แล้ว อุปกาชีวกจึงทูลว่า “อาวุโส ควรจะเป็น
อย่างนั้น” โคลงศีรษะแล้วเดินสวนทางหลีกไป

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๒ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๓ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๔ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๕ เราไม่มีอาจารย์ ในที่นี้หมายถึงไม่มีอาจารย์ในระดับโลกุตตรธรรม (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๗)
๖ ม.มู. ๑๒/๒๘๕/๒๔๖, ม.ม. ๑๓/๓๔๑/๓๒๓ อภิ.ก. ๓๗/๔๐๕/๒๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
เรื่องทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์
[๑๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตน
มฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี แล้วได้เสด็จไปทางที่ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ ภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ได้นัดหมายกันและกันว่า “ท่าน
ทั้งหลาย พระสมณโคดมนี้เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็น
คนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงกราบไหว้ ไม่พึงลุกรับ ไม่พึงรับบาตรและ
จีวรของพระองค์ แต่จะจัดอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง”
ครั้นเสด็จมาถึง ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ไม่อาจตั้งอยู่ในกติกาของตนได้ ต่างต้อนรับ
พระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งรับบาตรและจีวร รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้าง
พระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปวาง
พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนอาสนะที่ภิกษุปัญจวัคคีย์จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท
แต่ภิกษุปัญจวัคคีย์กลับร้องเรียกพระผู้มีพระภาคโดยออกพระนาม และใช้คำว่า
“อาวุโส”๑
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์ กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสห้ามภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าร้องเรียกตถาคตโดยออกชื่อและใช้คำว่า
อาวุโส ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ
เราได้บรรลุอมตธรรมแล้วจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เรา
สั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้”

เชิงอรรถ :
๑ ในครั้งพุทธกาล คำว่า “อาวุโส” เป็นคำที่คนทั่วไปใช้กล่าวนำทักทายร้องเรียกกัน ไม่แสดงความเคารพ
เป็นพิเศษ ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้ารับสั่งห้ามพระผู้น้อยเรียกพระผู้ใหญ่
โดยใช้คำว่า “อาวุโส” และห้ามพูดกับผู้ใหญ่โดยออกชื่อท่านนั้นท่านนี้ แต่ควรเรียกพระผู้ใหญ่โดยใช้คำว่า
“ภันเต” หรือ “อายัสมา” ส่วนพระผู้ใหญ่ควรเรียกพระผู้น้อยว่า “อาวุโส” หรือโดยการระบุชื่อนั้นชื่อนี้
(ดู. ที. ม. ๑๐/๒๑๖/๑๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วย
ทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่
ประเสริฐ อันสามารถ บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมากคลายความเพียร เวียนมาเพื่อ
ความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่
ประเสริฐ อันสามารถได้เล่า”
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่เป็นคนมักมาก ไม่ได้คลายความเพียร
ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เอง
โดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว จะสั่งสอน จะแสดง
ธรรม พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์
อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้”
แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “อาวุโส
โคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยัง
มิได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถ บัดนี้
พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจัก
บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถได้เล่า”
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังจำได้หรือไม่ว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้
เคยกล่าวในกาลก่อนแต่นี้”
ภิกษุปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า “ถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อน พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ
พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว จะสั่งสอน จะแสดงธรรม
พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม
อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้”
พระผู้มีพระภาคทรงสามารถให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว
ลำดับนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตสดับ ตั้ง
จิตเพื่อรู้ยิ่ง
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร๑
[๑๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ได้รับสั่งกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่างนี้ บรรพชิตไม่พึงเสพ กล่าวคือ
๑. กามสุขัลลิกานุโยคในกามทั้งหลาย (การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขใน
กามทั้งหลาย) เป็นธรรมอันทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
๒. อัตตกิลมถานุโยค(การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตน) เป็น
ทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาไม่เอียงเข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนั้น ตถาคตได้
ตรัสรู้อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ๒ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อ
ความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย ก็มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาก่อให้
เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
เพื่อพระนิพพานนั้นเป็นไฉน

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ม. ๑๙/๑๐๘๑/๓๖๗/, ขุ.ป. ๓๑/๓๐/๓๕๘
๒ จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. ๓/๑๓/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
มัชฌิมาปฏิปทานั้น ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ๑

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย นี้คือมัชฌิมาปฏิปทานั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทา
ก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
เพื่อพระนิพพาน
[๑๔] ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขอริยสัจ คือ แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความเจ็บก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ ความ
ประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็น
ทุกข์ ความไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ ก็เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขสมุทยอริยสัจ คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก
ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์
นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

เชิงอรรถ :
๑ องค์มรรคแต่ละข้อมีนัยพิสดาร ดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ หมายถึงเห็นอริยสัจ ๔ เห็นไตรลักษณ์ หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท
๒. สัมมาสังกัปปะ หมายถึงความนึกคิดในทางสละปลอดจากกาม ความนึกคิดปลอดจากพยาบาท และ
ความนึกคิดปลอดจากการเบียดเบียน
๓. สัมมาวาจา หมายถึงพูดคำสัตย์ พูดไม่ส่อเสียด พูดคำอ่อนหวาน พูดสิ่งมีสาระ
๔. สัมมากัมมันตะ หมายถึงไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
๕. สัมมาอาชีวะ หมายถึงเว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาอาชีพ
๖. สัมมาวายามะ หมายถึงเพียรระวังความชั่วไม่ให้เกิดขึ้น เพียรกำจัดความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำ
ความดีให้เกิด เพียรรักษาความดีไว้
๗. สัมมาสติ หมายถึงพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม
๘. สัมมาสมาธิ หมายถึงฌาน ๔
(ที.ม. ๑๐/๓๒๙/๒๑๔,๔๐๒/๒๖๖, ม.อุ. ๑๔/๓๒๕/๒๙๗,๓๗๕/๓๑๙, อภิ.วิ. (แปล)๓๕/๒๐๕/๑๗๑,๔๘๖/
๓๗๑,๔๘๘-๔๙๒/๓๗๓-๓๗๕,๔๙๘-๔๙๙/๓๗๗-๓๗๘,๕๐๔/๓๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วย
วิราคะ ความสละ ความสละทิ้ง ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
นี้แหละ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ

[๑๕] ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
นี้ทุกขอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขอริยสัจนี้ ควรกำหนดรู้
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขอริยสัจนี้ เราได้กำหนดรู้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขสมุทยอริยสัจนี้ ควรละเสีย
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขสมุทยอริยสัจนี้ เราละได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ ควรทำให้แจ้ง
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ ควรให้เจริญ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ เราได้ให้เจริญแล้ว
[๑๖] ภิกษุทั้งหลาย ญาณทัสสนะ๑ตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ เหล่านี้
๓ รอบ ๑๒ อาการ๒อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีตราบใด เราก็ยังไม่ยืนยันว่า เป็นผู้
ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ตราบนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ญาณทัสสนะ หมายถึงสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ (สํ.ม.อ. ๓/๑๐๘๑/๓๘๐, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๖/๒๑๙)
๒ ๓ รอบ ๑๒ อาการ หมายถึงสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ เกิดขึ้นเวียนไปในอริยสัจ ๔ ข้อ ข้อละ
๓ รอบ(๔ x ๓ = ๑๒) รวมเป็น ๑๒ รอบ ดังนี้ ก. (๑) นี้ทุกข์ (๒) ทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ (๓) ทุกข์นี้
กำหนดรู้แล้ว ข. (๑) นี้สมุทัย (๒) สมุทัยนี้ควรละ (๓) สมุทัยนี้ละแล้ว ค. (๑) นี้นิโรธ (๒) นิโรธ
นี้ควรทำให้แจ้ง (๓) นิโรธนี้ทำให้แจ้งแล้ว ง. (๑) นี้มรรค (๒) มรรคนี้ควรทำให้เจริญ (๓) มรรคนี้ทำให้
เจริญแล้ว (สํ.ม.อ. ๓/๑๐๘๑/๓๘๐, สารตฺถ. ฏีกา ๓/๑๖/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ความรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ เหล่านี้
๓ รอบ ๑๒ อาการอย่างนี้ หมดจดดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้
สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่
สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า “ความ
หลุดพ้นของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณ์นี้๑อยู่ ธรรมจักษุ๒อันปราศจากธุลีปราศ
จากมลทินได้เกิดแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา”
[๑๗] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ทวยเทพ
ชั้นภุมมะกระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงให้
เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์
เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้”๓
ทวยเทพชั้นจาตุมหาราช สดับเสียงของทวยเทพชั้นภุมมะแล้ว ได้กระจายข่าว
ต่อไป ฯลฯ
ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ สดับเสียงของทวยเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว ได้กระจายข่าว
ต่อไป ฯลฯ
ทวยเทพชั้นยามา...
ทวยเทพชั้นดุสิต...
ทวยเทพชั้นนิมมานรดี...
ทวยเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ...

เชิงอรรถ :
๑ เวยยากรณ์ ในที่นี้หมายถึงพระสูตรที่ไม่มีคาถา ประกอบด้วยคำถามคำตอบ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๖/๒๒๐)
เป็นองค์อันหนึ่งในนวังคสัตถุศาสน์ (วิ.อ. ๑/๒๖)
๒ ธรรมจักษุ แปลว่า ดวงตาเห็นธรรม คือ โสดาปัตติมรรคญาณ (วิ.อ. ๓/๕๖/๒๗)
๓ ใคร ๆ ในโลกปฏิเสธไม่ได้ เพราะพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเจ้าของธรรมตรัสรู้มาโดยชอบ และเพราะธรรมจักร
เป็นธรรมยอดเยี่ยม (เนตฺติ.อ. ๙/ ๖๓, เนตฺติ.วิ. ๙/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ทวยเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหม สดับเสียงของเหล่าเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
แล้วก็กระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร
พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้”
เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก ด้วย
ประการฉะนี้
ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ ก็สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างอันเจิดจ้า หาประมาณมิได้
ก็ปรากฏในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะ
ได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” ดังนั้น คำว่า “อัญญา
โกณฑัญญะ” นี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะนั่นแล

ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลขอการบรรพชาอุปสมบท
[๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว
รู้แจ้งธรรมแล้วหยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ
ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น๑ ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึง
ได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด”๒ แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรม
อันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หมายถึงไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยแนะนำพร่ำสอนในคำสอนของพระศาสดา ไม่ได้หมายถึง
ว่า ไม่ต้องเชื่อใครเลย (อปรปฺปจฺจโย-ไม่มีใครอื่นอีกเป็นปัจจัย) (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๘/๒๒๖)
๒ จงมาเป็นภิกษุเถิด หมายถึงคำประกาศอนุมัติการบรรพชาอุปสมบทแก่ผู้ขอบวชคือเท่ากับประกาศว่า
จงมารับการบรรพชาอุปสมบทตามที่ขอ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๘/๒๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
[๑๙] ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงโอวาท สั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือ
ด้วยธรรมีกถา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงโอวาท สั่งสอนด้วยธรรมีกถา ธรรมจักษุ
อันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระวัปปะและท่านพระภัททิยะ
ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็น
ธรรมดา”
ท่านทั้ง ๒ นั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง ๒ พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอทั้ง ๒ จงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปอีกว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้ง ๒ จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดย
ชอบเถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านทั้ง ๒ นั้น
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้เสวยพระกระยาหารที่ท่านทั้งสามนำมาถวายแล้ว
ก็ทรงโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือด้วยธรรมีกถา ภิกษุ ๓ รูปเที่ยวบิณฑบาตแล้ว
นำสิ่งใดมา ทั้ง ๖ รูป ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรง
โอวาท สั่งสอนด้วยธรรมีกถา ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่
ท่านพระมหานามะและท่านพระอัสสชิว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา”
ท่านทั้ง ๒ นั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้า
แต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง ๒ พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระองค์”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอทั้ง ๒ จงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้ง ๒ จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์
โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านทั้ง ๒ นั้น

อนัตตลักขณสูตร๑
[๒๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย
รูปเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ไม่พึงเป็นไป
เพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูปว่า “รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้
เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่า “รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็น อย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย เวทนาเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้จักเป็นอัตตา
แล้วไซร้ เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า “เวทนาของ
เราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเวทนา
เป็นอนัตตา ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า
“เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย สัญญาเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักเป็นอัตตา
แล้วไซร้ สัญญานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า “สัญญาของ
เราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญา
เป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า
“สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารเหล่านี้
จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ สังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสังขาร

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ข. ๑๗/๕๙/๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ทั้งหลายว่า “สังขารทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนี้ สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้
เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้น สังขาร
ทั้งหลายจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสังขารทั้งหลายว่า “สังขาร
ทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนี้ สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลายวิญญาณเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าวิญญาณนี้จักเป็นอัตตา
แล้วไซร้ วิญญาณนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า “วิญญาณ
ของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะ
วิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ใน
วิญญาณว่า “วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
[๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง”๑
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สามัญลักษณะ ๓ ประการ ใน สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๑-๑๒/๑-๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็น
สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็น
สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็น
สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
[๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูปอย่างใด
อย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖. ปัญจวัคคิยกถา
เลวหรือ ประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลายพึงเห็น
ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่
อัตตาของเรา
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลาย
พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่
อัตตาของเรา
สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือ
ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอ
ทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่
เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือ
ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลาย
พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น
นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
[๒๓] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลาย
กำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณว่า
หลุดพ้นแล้ว อริยสาวกย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควร
ทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
[๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนัตตลักขณสูตรนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็มีใจ
ยินดีชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเวยยากรณ์นี้อยู่ จิตของ
ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๖ รูป
ปัญจวัคคิยกถา จบ
ภาณวารที่ ๑ จบ

๗. ปัพพัชชากถา
ว่าด้วยการบรรพชา

เรื่องยสกุลบุตร
[๒๕] สมัยนั้น ในกรุงพาราณสี มีกุลบุตรชื่อยสะเป็นลูกเศรษฐีเป็น
ผู้สุขุมาลชาติ๑ ยสกุลบุตรนั้นมีปราสาท ๓ หลัง คือ หลังหนึ่งสำหรับฤดูหนาว
หลังหนึ่งสำหรับฤดูร้อน หลังหนึ่งสำหรับฤดูฝน ยสกุลบุตรได้รับการบำเรอด้วย
ดนตรี ไม่มีบุรุษเจือปน ตลอด ๔ เดือน อยู่บนปราสาทฤดูฝน ไม่ลงมายังปราสาท
ชั้นล่าง คืนวันหนึ่ง เมื่อยสกุลบุตรได้รับการบำเรออิ่มเอมเพียบพร้อมด้วยกามคุณ
๕ ได้หลับไปก่อน ฝ่ายบริวารชนได้หลับภายหลัง ตะเกียงน้ำมันถูกจุดสว่างทั้งคืน
คืนนั้นยสกุลบุตรตื่นขึ้นก่อน เห็นบริวารชนของตนกำลังหลับ บางนางมีพิณอยู่ใกล้
รักแร้ บางนางมีตะโพนอยู่ข้างคอ บางนางมีโปงมางอยู่ที่อก บางนางสยายผม
บางนางน้ำลายไหล บางนางละเมอเพ้อไปต่าง ๆ ปรากฏดุจป่าช้าผีดิบ เพราะได้เห็น
โทษจึงปรากฏแก่ยสกุลบุตร จิตตั้งอยู่ในความเบื่อหน่าย ยสกุลบุตรจึงเปล่งอุทาน
ขึ้นในขณะนั้นว่า “ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ท่านผู้เจริญ ที่นี่ขัดข้องหนอ”

เชิงอรรถ :
๑ สุขุมาลชาติ หมายถึงผู้ไม่มีทุกข์ (องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๙/๑๙๘, องฺ.ติก.อ. ๒/๓๙/๑๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
ครั้งนั้น ยสกุลบุตรจึงสวมรองเท้าทองเดินตรงไปยังประตูนิเวศน์ พวกอมนุษย์
เปิดประตูให้ด้วยคิดว่า “ใคร ๆ อย่าได้ทำอันตรายต่อการออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตของยสกุลบุตร”
ลำดับนั้น ยสกุลบุตรได้เดินต่อไปยังประตูเมือง พวกอมนุษย์ก็เปิดประตูให้
ด้วยคิดว่า “ใคร ๆ อย่าได้ทำอันตรายต่อการออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของ
ยสกุลบุตร” หลังจากนั้น ยสกุลบุตรจึงเดินต่อไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
[๒๖] ครั้นราตรีย่ำรุ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งได้
ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงเสด็จลงจากที่จงกรม
ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ ขณะนั้น ยสกุลบุตรได้เปล่งอุทานขึ้น ณ ที่ไม่ไกล
พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ท่านผู้เจริญ ที่นี่ขัดข้องหนอ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับยสกุลบุตรนั้นดังนี้ว่า “ยสะ ที่นี่๑ ไม่วุ่นวาย ที่นี่
ไม่ขัดข้อง มาเถิด ยสะ จงนั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่เธอ”
ลำดับนั้น ยสกุลบุตรร่าเริงเบิกบานใจว่า “ได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง”
จึงถอดรองเท้าทองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ
ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๒
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม) แก่ยสกุลบุตร
ผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ ที่นี่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงพระนิพพาน (วิมติ.ฏีกา ๒/๒๖/๑๒๐)
๒ แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
เมื่อทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนา๑ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่
ยสกุลบุตร ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

บิดาตามหายสกุลบุตร
[๒๗] ครั้นรุ่งเช้า มารดาขึ้นไปบนปราสาทไม่พบยสกุลบุตร จึงเข้าไปหาเศรษฐี
คหบดีถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับเศรษฐีคหบดี ดังนี้ว่า “ท่านคหบดีเจ้าข้า
ยสะบุตรของท่านหายไปไหน”
ฝ่ายเศรษฐีคหบดีส่งทูตขี่ม้าไปตามหาทั้ง ๔ ทิศแล้ว ส่วนตนเองไปยังป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบรองเท้าทองวางอยู่ จึงตามไปยังที่นั้น พระผู้มีพระภาค
ทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีคหบดีเดินมาแต่ไกล ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงมีพระดำริ
ว่า “ถ้ากระไร เราพึงบันดาลอิทธาภิสังขาร(การบันดาลทางฤทธิ์) ให้เศรษฐีคหบดี
ผู้นั่งที่นี่ไม่เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ที่นั่น” จึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขารเช่นนั้น
ลำดับนั้น เศรษฐีคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงพบยส
กุลบุตรบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี เชิญท่านนั่งลงก่อนเถิด บางทีท่านนั่งที่นี่แล้ว
จะพึงพบยสกุลบุตรนั่งอยู่ที่นี่ก็ได้”
เศรษฐีคหบดีร่าเริงเบิกบานใจว่า “ได้ยินว่า เรานั่งที่นี่จักพบยสกุลบุตรผู้นั่ง
อยู่ที่นี่” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ทรงเห็นด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับคำแนะนำจากผู้อื่น ทรงตรัสรู้ลำพังพระองค์เอง
ก่อนใครในโลก (วิ.อ. ๓/๒๙๓/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.ฏีกา อภินว. ๒/๒๙๘/๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่เศรษฐีคหบดีผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
เมื่อทรงทราบว่า เศรษฐีคหบดีมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่เศรษฐี
ผู้คหบดี ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง
มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำ
ย้อมได้เป็นอย่างดี
เศรษฐีคหบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ
องค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอ
ถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เศรษฐีคหบดีนี้แล ได้เป็นเตวาจิกอุบาสก(ผู้กล่าวถึงรัตนะทั้ง ๓ ว่าเป็นสรณะ)
เป็นคนแรก ในโลก

ยสกุลบุตรสำเร็จพระอรหัตตผล
[๒๘] ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโปรดบิดาของยสกุลบุตรอยู่ จิต
ของยสกุลบุตรผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ได้เห็นตามที่ได้รู้ ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริดังนี้ว่า “เมื่อเราแสดงธรรมแก่บิดาของ
ยสกุลบุตรอยู่ จิตของยสกุลบุตร ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ได้เห็นตามที่ได้รู้ ก็หลุด
พ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์
บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน ถ้ากระไร เราพึงคลายอิทธาภิสังขาร”
ทรงคลายอิทธาภิสังขารแล้ว
เศรษฐีคหบดีได้เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ ครั้นเห็นแล้วจึงกล่าวกับยสกุลบุตรว่า
“พ่อยสะ มารดาของเจ้าโศกเศร้าคร่ำครวญถึง เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาเถิด”
ยสกุลบุตรได้เงยหน้าดูพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเศรษฐีคหบดี
ดังนี้ว่า “คหบดี ท่านจะเข้าใจข้อนั้นอย่างไร ยสกุลบุตรได้เห็นได้รู้ธรรมด้วยญาณ
อันเป็นเสขะ๑ ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนท่าน เมื่อเธอพิจารณาภูมิธรรมตาม
ที่ได้เห็นตามที่ได้รู้อยู่ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น คหบดี
ยสกุลบุตรควรหรือที่จะกลับไปเป็นคฤหัสถ์บริโภคกามเหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน”
เศรษฐีคหบดีกราบทูลว่า “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองว่า “คหบดี ยสกุลบุตรได้เห็นได้รู้ธรรมด้วยญาณ
อันเป็นเสขะ ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนท่าน เมื่อเขาพิจารณาภูมิธรรมตามที่
ได้เห็นตามที่ได้รู้อยู่ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น คหบดี
ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน”
เศรษฐีคหบดีกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ การที่จิตของยสกุลบุตรหลุดพ้น
จากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เป็นลาภของยสกุลบุตร ยสกุลบุตรได้ดีแล้ว
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคมียสกุลบุตรเป็นปัจฉาสมณะโปรดทรงรับภัตตาหาร
ของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันนี้เถิด”

เชิงอรรถ :
๑ ญาณอันเป็นเสขะ หมายถึงญาณของบุคคลระดับพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี (ดู องฺ.ทุก.
(แปล) ๒๐/๓๖/๗๙ องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๖/๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ เศรษฐีคหบดีทราบการที่พระผู้มี
พระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากอาสนะถวายอภิวาทกระทำประทักษิณกลับไป
เมื่อเศรษฐีคหบดีกลับไปแล้วไม่นาน ยสกุลบุตรได้กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอัน
เรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านยสะนั้น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๗ รูป

มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้ธรรมจักษุ
[๒๙] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีท่าน
พระยสะเป็นปัจฉาสมณะ เสด็จไปยังนิเวศน์ของเศรษฐีคหบดี ครั้นถึงแล้วจึงประทับนั่ง
ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย
ลำดับนั้น มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะก็พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่มารดาและภรรยาเก่า
เมื่อทรงทราบว่าทั้งสองมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่มารดาและ
ภรรยาเก่า ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้ง
ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความ
เป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์
ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้ง
โดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่
ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ
หม่อมฉันทั้งสองนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสทั้งสองนี้ ได้เป็นเตวาจิกอุบาสิกา(ผู้กล่าว
ถึงรัตนะทั้ง ๓ ว่าเป็นสรณะ)เป็นคู่แรก ในโลก
ครั้นแล้ว มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะได้นำของเคี้ยวของฉัน
อันประณีตประเคนพระผู้มีพระภาคกับท่านพระยสะด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มี
พระภาคเสวยเสร็จแล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงนั่ง ณ ที่
สมควร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มารดาบิดาและภรรยาเก่าของ
ท่านพระยสะเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้ สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะจากไป

เรื่องการบรรพชาของสหาย ๔ คนของพระยสะ
[๓๐] สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะ ๔ คน คือ วิมละ สุพาหุ
ปุณณชิ ควัมปติ เป็นบุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยในกรุงพาราณสีได้ทราบข่าวว่า
“ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว”
ครั้นสหายคฤหัสถ์ได้ทราบข่าวแล้ว จึงได้มีความคิด ดังนี้ว่า “ธรรมวินัยและ
บรรพชาที่ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
นั้น คงจะไม่ต่ำทรามเป็นแน่” ครั้นแล้วสหายคฤหัสถ์เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปหา
ท่านพระยสะถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว ได้ไหว้ท่านพระยสะแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
ครั้งนั้น ท่านพระยสะได้พาสหายคฤหัสถ์ ๔ คนไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระยสะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
สหายคฤหัสถ์ของข้าพระองค์ ๔ คนเหล่านี้ คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ
เป็นบุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยในกรุงพาราณสี ขอพระองค์โปรดประทาน
โอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่สหายเหล่านั้น
เมื่อทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่ง
นั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็น
ธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้อง
เชื่อผู้อื่นในคำของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระองค์”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดย
ชอบเถิด” พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วย
ธรรมีกถา เมื่อทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ จิตของภิกษุเหล่านั้น
ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๑๑ รูป
เรื่องการบรรพชาของสหาย ๔ คนของพระยสะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
เรื่องการบรรพชาของสหาย ๕๐ คนของพระยสะ
[๓๑] สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะจำนวน ๕๐ คน เป็นชาวชนบท เป็น
บุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยได้ทราบข่าวว่า “ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่ม
ผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว” ครั้นสหายคฤหัสถ์ได้ทราบข่าว
แล้วจึงได้มีความคิด ดังนี้ว่า “ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรโกนผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทรามเป็นแน่”
ครั้นแล้วสหายคฤหัสถ์เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปหาท่านพระยสะถึงที่อยู่ ครั้น
ถึงแล้ว ได้ไหว้ท่านพระยสะแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ครั้งนั้น ท่านพระยสะจึงพาสหายคฤหัสถ์ ๕๐ คนไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระยสะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระพุทธ
เจ้าข้า สหายคฤหัสถ์ของข้าพระองค์ ๕๐ คนเหล่านี้ เป็นชาวชนบท เป็นบุตร
ของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อย ขอพระองค์โปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้า
พระองค์เหล่านี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่สหายเหล่านั้น
เมื่อทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่พวกเขา ณ
ที่นั่งนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไป
เป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๘. มารกถา
ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้น
ด้วย ธรรมีกถา เมื่อทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ จิตของภิกษุ
เหล่านั้น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๖๑ รูป
บรรพชากถา จบ

๘. มารกถา
ว่าด้วยมาร

เรื่องส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศศาสนา
[๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราพ้นแล้วจากบ่วง๑ทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอ
ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป
จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด
จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สัตว์
ทั้งหลายที่มีธุลีในตาน้อย มีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม ภิกษุ
ทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”

เชิงอรรถ :
๑ บ่วง ในที่นี้ หมายถึง โลภะ (วิ.อ. ๓/๓๒/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๘.มารกถา
เรื่องมาร
[๓๓] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเป็นคาถาความว่า
“ท่านได้ถูกบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์๑คล้องไว้แล้ว
ท่านได้ถูกผูกด้วยเครื่องพันธนาการมากมาย
แน่ะท่านสมณะ ท่านไม่พ้นจากเราได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
“เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราได้พ้นแล้วจากเครื่องพันธนาการมากมาย
แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”
มารกราบทูลว่า
“บ่วง นี้เที่ยวไปในอากาศ มีในใจ สัญจรไปอยู่
เราจักคล้องท่านด้วยบ่วงนั้น
แน่ะสมณะ ท่านไม่พ้นจากเราได้”๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ
แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”๓
ขณะนั้น มารผู้มีบาปทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้
จักเรา” มีทุกข์ เสียใจ ได้หายไป ณ ที่นั้น
มารกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ บ่วงทิพย์ บ่วงมนุษย์ คือบ่วงกิเลสที่เป็นทิพพกามคุณและกามคุณของมนุษย์ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๓/๒๔๔)
๒-๓ สํ.ส. ๑๕/๑๕๑/๑๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๙. ปัพพัชชูปสัมปทากถา
๙. ปัพพัชชูปสัมปทากถา
ว่าด้วยการบรรพชาและอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์

เรื่องทรงอนุญาตภิกษุบรรพชาอุปสมบทให้กุลบุตร
[๓๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายพาเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท
มาจากทิศต่าง ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจว่า “พระผู้มีพระภาคจักทรงให้พวกเขา
บรรพชาอุปสมบท” ในการที่ภิกษุทั้งหลายนำกุลบุตรมา ทั้งภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่า
กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท ย่อมลำบาก
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิดความรำพึงขึ้น
ในพระทัยอย่างนี้ว่า “บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายพาเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่ง
อุปสมบทมาจากทิศนั้น ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคจักทรง
ให้พวกเขาบรรพชาอุปสมบท ในการที่ภิกษุทั้งหลายนำกุลบุตรมานั้น ทั้งพวกภิกษุ
ทั้งเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท ย่อมลำบาก อย่ากระนั้นเลย เราพึง
อนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายนั่นแหละ จงให้บรรพชา
จงให้อุปสมบทในทิศนั้น ๆ ในชนบทนั้น ๆ เถิด”
ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น ทรงแสดงธรรมีกถา
เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอยู่ในที่สงัด
หลีกเร้นอยู่ที่นี้ ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจว่า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายพาเหล่า
กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบทมาจากทิศต่าง ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจ
ว่า พระผู้มีพระภาคจักทรงให้พวกเขาบรรพชาอุปสมบท ในการที่ภิกษุทั้งหลาย นำ
กุลบุตรมานั้น ทั้งภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบทย่อม
ลำบาก อย่ากระนั้นเลย เราควรอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้
ท่านทั้งหลายนั่นแหละ จงให้บรรพชา จงให้อุปสมบทในทิศนั้น ๆ ในชนบทนั้น ๆ เถิด
ภิกษุทั้งหลาย พึงให้บรรพชาพึงให้อุปสมบทอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๙.ปัพพัชชูปสัมปทากถา
ในเบื้องต้น พึงให้กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท ปลงผมและหนวด
ให้ครองผ้ากาสายะ ให้ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย
ให้นั่งกระโหย่ง ให้ประนมมือแล้วสั่งว่า ‘เธอจงกล่าวอย่างนี้’ แล้วให้ว่าสรณคมน์ดังนี้

ไตรสรณคมน์
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ๑

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๒
ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๒
ทุติยมฺปิ สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๒
ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๓
ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๓
ตติยมฺปิ สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๓

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบรรพชาอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์เหล่านี้”
ปัพพัชชูปสัมปทากถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ สรณะ หมายถึงสิ่งที่ทำลาย ขจัดปัดเป่า บรรเทาทุกข์ภัยและกิเลส การถือพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะก็
เพื่อเป็นเครื่องช่วยทำลายขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยและกิเลสต่าง ๆ ในจิตใจให้หมดสิ้น (ขุ.ขุ.อ. ๖-๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๐. ทุติยมารกถา
๑๐. ทุติยมารกถา
ว่าด้วยมาร เรื่องที่ ๒

เรื่องทรงแนะวิธีให้ได้อนุตตรวิมุตติ
[๓๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาแล้ว ได้รับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะมนสิการโดยแยบคาย เพราะตั้งความเพียรชอบโดย
แยบคายเราจึงได้บรรลุอนุตตรวิมุตติ ได้ทำอนุตตรวิมุตติให้แจ้ง ภิกษุทั้งหลาย
เพราะทำไว้ในใจโดยแยบคาย เพราะตั้งความเพียรชอบโดยแยบคาย แม้ท่าน
ทั้งหลายย่อมบรรลุอนุตตรวิมุตติได้ ย่อมทำอนุตตรวิมุตติให้แจ้งได้”
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเป็นคาถาความว่า
“ท่านได้ถูกผูกด้วยบ่วงมาร ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์
ท่านได้ถูกเครื่องผูกหลายประการรัดรึงแล้ว
แน่ะสมณะ ท่านไม่พ้นเราได้ดอก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
“เราได้พ้นแล้วจากบ่วงมาร ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราได้พ้นแล้วจากเครื่องผูกหลายประการ
แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”
ขณะนั้น มารผู้มีบาปทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้
จักเรา” มีทุกข์ เสียใจ ได้หายไป ณ ที่นั้น
ทุติยมารกถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๐.ภัททวัคคิยวัตถุ
๑๑. ภัททวัคคิยวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุภัททวัคคีย์

เรื่องทรงแสดงธรรมโปรดภัททวัคคีย์ ๓๐ คน
[๓๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี ตามพระอัธยาศัย
แล้วได้เสด็จจาริกไปทางตำบลอุรุเวลา เสด็จหลีกจากทาง เข้าไปยังไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง
ครั้นเสด็จถึงไพรสณฑ์แห่งนั้นแล้ว ได้ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง
สมัยนั้น สหายภัททวัคคีย์ประมาณ ๓๐ คนพร้อมภรรยาบำเรอกันใน
ไพรสณฑ์แห่งนั้น สหายคนหนึ่งไม่มีภรรยา พวกสหายจึงนำหญิงแพศยามาเพื่อ
ประโยชน์แก่เขา ต่อมา หญิงแพศยาได้ขโมยของหนีไป ขณะพวกเขาเผอเรอมัวบำเรอ
กัน สหายเหล่านั้นเมื่อจะช่วยเหลือเขา จึงเที่ยวตามหาหญิงแพศยาจนไปถึงไพรสณฑ์
แห่งนั้น ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง ครั้นเห็นแล้วจึงเข้า
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระองค์ทรงเห็นหญิงคนหนึ่งบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามว่า “กุมารทั้งหลาย พวกเธอมีความต้องการ
หญิงไปทำไม”
สหายภัททวัคคีย์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เป็น
สหายภัททวัคคีย์มีประมาณ ๓๐ คนในตำบลนี้ พร้อมภรรยาบำเรอกันในไพรสณฑ์
แห่งนี้ สหายคนหนึ่งไม่มีภรรยา พวกข้าพระองค์จึงได้นำหญิงแพศยามาเพื่อประโยชน์
แก่เขา ต่อมา หญิงแพศยาได้ขโมยของหนีไป ขณะพวกข้าพระองค์ เผอเรอมัวบำเรอ
กัน เพราะเหตุนั้น พวกข้าพระองค์เป็นสหายกัน เมื่อจะช่วยเหลือเขา จึงเที่ยวตามหา
หญิงแพศยาจนมาถึงไพรสณฑ์แห่งนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “กุมารทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร
การที่พวกเธอจะแสวงหาหญิงหรือแสวงหาตน อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๑. ภัททวัคคิยวัตถุ
“การที่พวกข้าพระองค์แสวงหาตนนี่แหละ ประเสริฐกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“กุมารทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกเธอจงนั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่พวกเธอ”
สหายภัททวัคคีย์เหล่านั้นทูลรับว่า “ดีละ พระพุทธเจ้าข้า” ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่พวกเขา
เมื่อทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่พวกเขา ณ
ที่นั่งนั้นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไป
เป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว๑ บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อ
ผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรม
อันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
ภัททวัคคิยวัตถุ จบ
ภาณวารที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เห็นธรรม หมายถึงได้ธรรมจักษุ คือ บางพวกได้บรรลุโสดาปัตติมรรค บางพวกได้บรรลุสกทาคามิมรรค
บางพวกได้บรรลุอนาคามิมรรค มรรคทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า ธรรมจักษุ (วิ.อ. ๓/๓๖/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
๑๒. อุรุเวลปาฏิหาริยกถา
ว่าด้วยปาฏิหาริย์ที่ตำบลอุรุเวลา

เรื่องชฎิล ๓ พี่น้อง
[๓๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ลุถึงตำบลอุรุเวลา
สมัยนั้น ชฎิล ๓ คน คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ อาศัยอยู่ที่
ตำบลอุรุเวลา
ในชฎิล ๓ คนนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึก เป็นเลิศ เป็นหัวหน้า
เป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน
ชฎิลนทีกัสสปะเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึก เป็นเลิศ เป็นหัวหน้า เป็นประธาน
ของชฎิล ๓๐๐ คน
ชฎิลคยากัสสปะเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึก เป็นเลิศ เป็นหัวหน้า เป็นประธาน
ของชฎิล ๒๐๐ คน
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปยังอาศรมของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ ครั้นถึงแล้ว
ได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะดังนี้ว่า “กัสสปะ ถ้าท่านไม่หนักใจ เราจะขอพัก
ในโรงไฟคืนหนึ่ง”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะกราบทูลว่า “ท่านมหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย หากแต่ว่า
ในโรงไฟนั้น มีพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้าย มันอย่าได้
ทำร้ายท่าน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แม้ครั้งที่ ๒ ว่า “กัสสปะ
ถ้าท่านไม่หนักใจ คืนนี้ เราจะขอพักในโรงไฟ”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะก็กราบทูลว่า “ท่านมหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย
หากแต่ว่า ในโรงไฟนั้น มีพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้าย มันอย่าได้
ทำร้ายท่าน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แม้ครั้งที่ ๓ ว่า “กัสสปะ
ถ้าท่าน ไม่หนักใจ คืนนี้ เราจะขอพักในโรงไฟ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย
หากแต่ว่าในโรงไฟนั้น มีพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้าย
มันอย่าได้ทำร้ายท่าน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า “พญานาคไม่ทำร้ายเรา ท่านกัสสปะท่าน
โปรดอนุญาตโรงไฟเถิด”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ นิมนต์ท่านอยู่ตามสบาย
เถิด”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปสู่โรงไฟ ทรงปูเครื่องลาดหญ้า
ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

ปาฏิหาริย์ที่ ๑
เรื่องโรงบูชาไฟ
[๓๘] ครั้งนั้น พญานาคนั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไป ก็โกรธขึ้ง
ไม่พอใจ บังหวนควัน
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “ถ้ากระไร เราพึงครอบงำเดช
ของพญานาคนี้ด้วยเดชของเรา ไม่ให้ระคายผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และ
เยื่อกระดูก” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำแดงอิทธาภิสังขารเช่นนั้นบังหวนควัน
พญานาคทนการลบหลู่ไม่ได้ จึงพ่นไฟใส่ทันที
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคก็ทรงเข้าเตโชกสิณ แล้วโพลงไฟสู้บ้าง
เมื่อทั้งสองฝ่ายบันดาลให้เกิดไฟขึ้น เรือนไฟได้ลุกโพลงโชติช่วงดุจทะเลเพลิง
ลำดับนั้น ชฎิลเหล่านั้นพากันล้อมเรือนไฟกล่าวกันว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
มหาสมณะรูปงามคงจะถูกพญานาคทำร้ายเป็นแน่”
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคก็ทรงครอบงำเดชของพญานาคนั้นด้วย
เดชของพระองค์ ไม่ให้ระคายผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และเยื่อกระดูกแล้ว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ทรงจับพญานาคขดลงในบาตรแสดงแก่ชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “ท่านกัสสปะ นี่พญานาค
ของท่าน เราครอบงำเดชของมันด้วยเดชของเราได้แล้ว”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “มหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง
ถึงกับครอบงำเดชของพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้ายได้ด้วยเดช
ของพระองค์ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”

คาถาสรุป
[๓๙] ณ ที่แม่น้ำเนรัญชรา พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ ถ้าท่านไม่หนักใจ
คืนนี้เราจะขอพักในโรงไฟ”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะกราบทูลว่า
“ข้าแต่มหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย
ข้าพเจ้าหวังความผาสุก จึงห้ามท่านว่า ที่โรงไฟนี้
มีพญานาค เป็นสัตว์ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้าย
มันอย่าได้ทำร้ายท่าน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“มันคงไม่ทำร้ายเรา กัสสปะ ท่านโปรดอนุญาตโรงไฟเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้อนุญาตให้แล้ว
ไม่ทรงครั่นคร้าม ทรงปราศจากความกลัว เสด็จเข้าไป
พญานาคเห็นพระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณเสด็จเข้าไป
ก็ไม่พอใจ จึงบังหวนควัน
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคทรงเป็นมนุสสนาคะ มีพระทัยชื่นบาน
มีพระทัยไม่ขัดเคือง ก็ทรงบังหวนควันในโรงไฟนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ส่วนพญานาคทนการลบหลู่ไม่ไหว จึงพ่นไฟราวกับไฟไหม้ป่าสู้
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคทรงเป็นมนุสสนาคะทรงฉลาดในเตโชกสิณ
ทรงโพลงไฟสู้บ้าง
เมื่อทั้งสองฝ่ายโพลงไฟขึ้น เรือนไฟก็ลุกโพลง
โชติช่วงดุจทะเลเพลิง พวกชฎิลกล่าวกันว่า
“แน่ะผู้เจริญ มหาสมณะรูปงามคงจะถูกพญานาค
ทำร้ายเป็นแน่”
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป เปลวไฟของพญานาคถูกทำลาย
ส่วนเปลวไฟหลากสีของพระผู้มีพระภาคผู้ทรงฤทธิ์ยังอยู่
พระรัศมีหลากสี คือ สีเขียว สีแดง สีแสด สีเหลือง
สีแก้วผลึก ปรากฏที่พระกายของพระอังคีรส
พระผู้มีพระภาค ทรงจับพญานาคขดลงในบาตรแล้ว
ทรงแสดงแก่ชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “ท่านกัสสปะ นี่พญานาค
ของท่าน เราครอบงำเดชของมันด้วยเดชของเราได้แล้ว”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์นี้ของพระผู้มีพระภาค
ยิ่งนักแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ โปรดประทับอยู่ที่
นี่แหละ ข้าพเจ้าจักบำรุงพระองค์ด้วยภัตตาหารประจำ”
ปาฏิหาริย์ที่ ๑ จบ

ปาฏิหาริย์ที่ ๒
เรื่องท้าวมหาราชทั้ง ๔
[๔๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ไม่ไกลจาก
อาศรมของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว๑ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้น
ให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วได้ยืนเฝ้าทั้ง ๔ ทิศ ดุจกองไฟใหญ่ฉะนั้น
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว ท่านพระมหาสมณะ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว พวกนั้นคือใครกันหนอ
เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาเฝ้าพระองค์ ถวายอภิวาทแล้ว
ได้ยืนเฝ้าทั้ง ๔ ทิศ ดุจกองไฟใหญ่ฉะนั้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ พวกนั้น คือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้ามาหา
เราเพื่อฟังธรรม”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากจริง ถึงกับท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้ามาเฝ้าเพื่อฟังธรรม แต่ไม่เป็น
พระอรหันต์เหมือนเราแน่”
พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่
ไพรสณฑ์แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์ที่ ๒ จบ

ปาฏิหาริย์ที่ ๓
เรื่องท้าวสักกะ
[๔๑] ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ เปล่งรัศมีงาม
ยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับยืน ณ ที่สมควร ดุจกองไฟใหญ่ที่งาม
และประณีตกว่ารัศมีก่อน

เชิงอรรถ :
๑ เมื่อราตรีผ่านไป ในที่นี้หมายถึงราตรีในช่วงแห่งปฐมยาม(ยามที่ ๑)ผ่านไป เพราะเวลาเที่ยงคืน เป็นช่วง
ที่เทวดาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า (ขุ.ขุ.อ. ๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าแต่พระมหาสมณะ ผู้นั้น คือใครกันหนอ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว
เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาเฝ้าพระองค์ ถวายอภิวาทแล้ว
ได้ยืน ณ ที่สมควร ดุจกองไฟใหญ่ที่งามและประณีตกว่ารัศมีก่อน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ผู้นั้น คือท้าวสักกะจอมเทพ เข้ามาหาเรา
เพื่อฟังธรรม”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากจริง ถึงกับท้าวสักกะจอมเทพเข้ามาหาเพื่อฟังธรรม แต่ไม่เป็นพระ
อรหันต์เหมือนเราแน่”
พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่
ไพรสณฑ์แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์ที่ ๓ จบ

ปาฏิหาริย์ที่ ๔
เรื่องท้าวสหัมบดีพรหม
[๔๒] ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหม เปล่งรัศมีงามยัง
ไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับยืน ณ ที่ควร ดุจกองไฟใหญ่ที่งามและ
ประณีตกว่ารัศมีก่อน
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าแต่มหาสมณะ ผู้นั้นคือใครกันหนอ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว
เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาเฝ้าพระองค์ ถวายอภิวาทแล้ว
ได้ยืน ณ ที่สมควร ดุจกองไฟใหญ่ที่งามและประณีตกว่ารัศมีก่อน”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ผู้นั้น คือท้าวสหัมบดีพรหม เข้ามาหาเรา
เพื่อฟังธรรม”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากจริง ถึงกับท้าวสหัมบดีพรหมเข้ามาหาเพื่อฟังธรรม แต่ไม่เป็นพระ
อรหันต์เหมือนเราแน่”
พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์
แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์ที่ ๔ จบ

ปาฏิหาริย์ที่ ๕
เรื่องชาวอังคะและมคธ
[๔๓] สมัยนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้ตระเตรียมการบูชายัญอันยิ่งใหญ่
ประชาชนชาวอังคะและชาวมคธทั้งสิ้น ต่างถือของเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมากมุ่ง
หน้าไปหา
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “บัดนี้ เราได้ตระเตรียมการบูชายัญอันยิ่งใหญ่
ประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้นจักถือของเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมากมุ่งหน้ามาหา
ถ้าพระมหาสมณะจักทำอิทธิปาฏิหาริย์ในหมู่มหาชนไซร้ ลาภสักการะจักเจริญยิ่งแก่
พระมหาสมณะ ลาภสักการะของเราจักเสื่อม ทำไฉน วันพรุ่งนี้ พระมหาสมณะ
จึงจะไม่เสด็จมาฉัน”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความรำพึงในใจของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ
ด้วยพระทัย จึงเสด็จไปยังอุตตรกุรุทวีป ทรงนำบิณฑบาตจากทวีปนั้นมาเสวยที่ริม
สระอโนดาต๑ ประทับพักกลางวัน ณ ที่นั้น

เชิงอรรถ :
๑ สระอโนดาต มีขนาดยาว กว้าง และลึก ๕๐ โยชน์ มีอาณาบริเวณโดยรอบ ๑๕๐ โยชน์ ตั้งอยู่
ในป่าหิมพานต์แวดล้อมด้วยยอดเขาทั้ง ๕ คือ สุทัสสนกูฏ จิตรกูฏ กาฬกูฏ คันธมาทนกูฏ และเกลาสกูฏ
(ม.ม.อ. ๒/๓๑/๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าแต่มหา
สมณะ ทำไมหนอ วานนี้พระองค์จึงไม่เสด็จมา อีกอย่างหนึ่ง พวกข้าพเจ้า
ระลึกถึงพระองค์ว่า ทำไมหนอ พระมหาสมณะจึงไม่เสด็จมา แต่ส่วนแห่งของเคี้ยว
ของฉัน ข้าพเจ้าได้จัดไว้เพื่อพระองค์แล้ว”
พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามว่า “กัสสปะ ท่านได้ดำริไว้มิใช่หรือว่า บัดนี้เราได้
ตระเตรียมการบูชายัญอันยิ่งใหญ่ ประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้นจักถือของ
เคี้ยวของฉันเป็นอันมากมุ่งหน้ามาหา ถ้าพระมหาสมณะจักทำอิทธิปาฏิหาริย์ใน
หมู่มหาชนไซร้ ลาภสักการะจักเจริญยิ่งแก่พระมหาสมณะ ลาภสักการะของเราจัก
เสื่อม ทำไฉน วันพรุ่งนี้ พระมหาสมณะจึงจะไม่เสด็จมาฉัน กัสสปะ เราได้ทราบ
ด้วยใจถึงความรำพึงในใจของท่าน จึงไปยังอุตตรกุรุทวีป นำบิณฑบาตจากทวีปนั้น
มาฉันที่ริมสระอโนดาต พักกลางวัน ณ ที่นั้น”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง ถึงกับทรงทราบความนึกคิดแม้ด้วยใจได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือน
เราแน่”
พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์
แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๕ จบ

เรื่องผ้าบังสุกุล
[๔๔] สมัยนั้น ผ้าบังสุกุลเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค พระองค์ได้ทรงพระดำริ
ดังนี้ว่า “เราจะพึงซักผ้าบังสุกุลที่ไหนหนอ”
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยพระทัย จึงทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์ขุดสระโบกขรณีแล้วทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระองค์โปรดทรงซักผ้าบังสุกุลในสระนี้เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงขยำผ้าบังสุกุลที่ไหนหนอ”
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยพระทัย จึงทรงยกศิลาแผ่นใหญ่มาวางไว้ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ
องค์โปรดทรงขยำผ้าบังสุกุลบนศิลานี้เถิด”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงพาดผ้าบังสุกุลไว้ที่ไหน
หนอ”
ลำดับนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มี
พระภาคด้วยใจ จึงได้น้อมกิ่งกุ่มลงมา กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์
โปรดทรงพาดผ้าบังสุกุล ที่กิ่งกุ่มนี้เถิด”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงผึ่งผ้าบังสุกุลไว้ที่ไหนหนอ”
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยพระทัย จึงทรงยกศิลาแผ่นใหญ่มาวางไว้ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ
องค์โปรดทรงผึ่งผ้าบังสุกุลไว้บนศิลานี้เถิด”
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระมหาสมณะ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าแต่พระมหาสมณะ เมื่อก่อนสระโบกขรณีนี้ไม่มีที่ตรงนี้ ทำไม
ที่ตรงนี้จึงมีสระโบกขรณีอยู่ เมื่อก่อนศิลาเหล่านี้ไม่มีวางอยู่ ศิลาเหล่านี้ ใครยกมา
วางไว้ เมื่อก่อนกิ่งกุ่มต้นนี้ไม่น้อมลง(เดี๋ยวนี้)กิ่งกุ่มต้นนี้กลับน้อมลง”

เรื่องสระโบกขรณี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ผ้าบังสุกุลเกิดขึ้นแก่เราที่นี่ เราได้คิดดังนี้ว่า
จะพึงซักผ้าบังสุกุลที่ไหนหนอ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความรำพึง
ในใจของเราด้วยพระทัย จึงทรงใช้พระหัตถ์ขุดสระโบกขรณีแล้วทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงซักผ้าบังสุกุลในสระนี้เถิด’ สระโบกขรณีนี้
อันผู้ที่มิใช่มนุษย์ใช้มือขุด

เรื่องขยำผ้าบังสุกุลบนแผ่นศิลา
กัสสปะ เราได้ดำริ(ต่อไป)ว่า ‘จะพึงขยำผ้าบังสุกุลที่ไหนหนอ’ ลำดับนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความดำริในใจของเราด้วยพระทัย จึงยกศิลาแผ่นใหญ่
มาวางไว้ทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดทรงขยำผ้าบังสุกุลบนแผ่น
ศิลานี้เถิด’ ศิลานี้อันผู้ที่มิใช่มนุษย์ได้ยกมาวางไว้

เรื่องพาดผ้าบังสุกุลบนต้นกุ่ม
กัสสปะ เราได้ดำริ(ต่อไป)ว่า ‘จะพึงพาดผ้าบังสุกุลไว้ที่ไหนหนอ’ ลำดับนั้น
เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มทราบความดำริในใจของเราด้วยใจ จึงได้น้อมกิ่งกุ่มลงมา
กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงพาดผ้าบังสุกุลไว้
ที่กิ่งกุ่มนี้เถิด’ ต้นกุ่มนี้ได้น้อมลงดุจจะกราบทูลว่า ‘โปรดทรงเอื้อมพระหัตถ์มาเถิด’

เรื่องผึ่งผ้าบังสุกุลบนแผ่นศิลา
กัสสปะ เราได้ดำริ(ต่อไป)ว่า ‘จะพึงผึ่งผ้าบังสุกุลไว้ที่ไหนหนอ’ ลำดับนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความดำริในใจของเราด้วยพระทัย จึงยกศิลาแผ่นใหญ่
มาวางไว้ทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงผึ่งผ้าบังสุกุลไว้
บนแผ่นศิลานี้เถิด’ ศิลานี้อันผู้ที่มิใช่มนุษย์ได้ยกมาวางไว้
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง ถึงกับท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงทำการช่วยเหลือ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์
เหมือนเราแน่”
พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์
แห่งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ปาฏิหาริย์เก็บผลหว้า
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้ว
จึงกราบทูลบอกภัตตกาลว่า “ข้าแต่พระมหาสมณะ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ไปเถิด กัสสปะ เราจะตามไป” ทรงส่งชฎิลอุรุเวล
กัสสปะไป ทรงเก็บผลหว้าจากต้นหว้าที่มีอยู่ในชมพูทวีป แล้วเสด็จมาประทับ
นั่งในโรงไฟก่อน
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งในโรงไฟ ครั้นเห็นแล้วได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พระองค์เสด็จมาทางไหน ข้าพเจ้า
กลับมาก่อนพระองค์ แต่พระองค์เสด็จมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ เราส่งท่านไปแล้วก็เก็บผลหว้าจากต้นหว้าที่
มีอยู่ในชมพูทวีป แล้วมานั่งในโรงไฟนี้ก่อน กัสสปะ ผลหว้านี้แลสมบูรณ์ด้วยสี
กลิ่น และรส ถ้าท่านต้องการ ก็เชิญบริโภคผลหว้าเถิด”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะทูลว่า “อย่าเลย มหาสมณะ, พระองค์นั่นแหละย่อมควรกับ
ผลหว้านั้น โปรดเสวยผลหว้านั้นเถิด”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
จริง ถึงกับส่งเรากลับมาก่อน ทรงเก็บผลหว้าจากต้นหว้าที่มีอยู่ในชมพูทวีปแล้ว
เสด็จมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”
พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์
แห่งนั้น

ปาฏิหาริย์เก็บผลมะม่วง ผลมะขามป้อม ดอกปาริฉัตร
[๔๕] ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ครั้นถึงแล้วจึงกราบทูลบอกภัตตกาลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ไปเถิด กัสสปะ เราจะตามไป” ทรงส่งชฎิลอุรุเวล
กัสสปะไป ทรงเก็บผลมะม่วง ฯลฯ ผลมะขามป้อม ฯลฯ ผลสมอ ณ ที่อันไม่
ไกลจากต้นหว้าที่มีอยู่ในชมพูทวีป ฯลฯ เสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์ ทรงเก็บดอก
ปาริฉัตรแล้วเสด็จลงมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งในโรงไฟ จึงทูลถามว่า
“ข้าแต่มหาสมณะ พระองค์เสด็จมาทางไหน ข้าพเจ้ากลับมาก่อนพระองค์ แต่
พระองค์เสด็จมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ เราส่งท่านไปแล้วก็ไปยังภพดาวดึงส์ เก็บ
ดอกปาริฉัตร แล้วลงมานั่งในโรงไฟก่อน กัสสปะ ดอกปาริฉัตรนี้สมบูรณ์ด้วยสี
และกลิ่น”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง ถึงกับส่งเรากลับมาก่อน เสด็จไปยังภพดาวดึงส์ทรงเก็บดอกปาริฉัตร
แล้วเสด็จลงมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”

เรื่องพวกชฎิลผ่าฟืน
[๔๖] สมัยนั้น ชฎิลเหล่านั้นต้องการจะบำเรอไฟ แต่ไม่อาจจะผ่าฟืนได้
ครั้งนั้น ชฎิลเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “การที่พวกเราไม่อาจจะผ่าฟืนได้ คง
เป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัยเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ พวก
ชฎิลจงผ่าฟืนเถิด”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะทูลรับพระดำรัสว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจงผ่าฟืน”
ชฎิลทั้งหลายได้ผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อน โดยการผ่าครั้งเดียวเท่านั้น
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง ถึงกับให้พวกชฎิลผ่าฟืนได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
เรื่องพวกชฎิลก่อไฟ
[๔๗] สมัยนั้น ชฎิลเหล่านั้นต้องการจะบูชาไฟ แต่ไม่อาจจะก่อไฟให้ลุกได้
ครั้งนั้น ชฎิลเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “การที่พวกเราไม่อาจจะก่อไฟให้ลุกได้
คงเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัยเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ พวกชฎิล
จงก่อไฟให้ลุกขึ้นเถิด”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะทูลรับพระดำรัสว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจงก่อไฟ
ให้ลุกขึ้น”
ไฟทั้ง ๕๐๐ กอง ได้ลุกขึ้นพร้อมกันทีเดียว
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
จริงถึงกับให้ไฟลุกขึ้นได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”

เรื่องพวกชฎิลดับไฟ
[๔๘] สมัยนั้น ชฎิลเหล่านั้นบูชาไฟกันแล้ว แต่ไม่อาจจะดับไฟได้ ลำดับนั้น
ชฎิลเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “การที่พวกเราไม่อาจจะดับไฟได้ คงเป็น
อิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัยเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ พวกชฎิล
จงดับไฟเถิด”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะทูลรับพระดำรัสว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจงดับไฟ”
ไฟทั้ง ๕๐๐ กอง ได้ดับพร้อมกันทีเดียว
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
จริงถึงกับให้พวกชฎิลดับไฟได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”

เรื่องพวกชฎิลดำน้ำ
[๔๙] สมัยนั้น ชฎิลเหล่านั้นพากันดำลงบ้าง ผุดขึ้นบ้าง ทั้งดำทั้งผุดบ้าง
ในแม่น้ำเนรัญชรา ในราตรีเหมันตฤดูอันหนาวเย็นคราวหิมะตก อยู่ในระหว่างปลาย
เดือน ๓ กับต้นเดือน ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
เรื่องภาชนะใส่ไฟ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเนรมิตภาชนะใส่ไฟไว้ ๕๐๐ ชุด สำหรับให้
ชฎิลเหล่านั้นขึ้นจากน้ำจะได้ผิง
ลำดับนั้น ชฎิลเหล่านั้นมีความคิดดังนี้ว่า “การที่ภาชนะใส่ไฟเหล่านี้ได้ถูก
เนรมิตไว้ คงเป็นเพราะอิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัยเลย”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดดังนี้ว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง ถึงกับเนรมิตภาชนะใส่ไฟไว้มากมายถึงเพียงนั้น แต่ไม่เป็นพระอรหันต์
เหมือนเราแน่”

เรื่องฝนตกน้ำท่วม
[๕๐] สมัยนั้น ฝนใหญ่นอกฤดูกาลตกลง เกิดห้วงน้ำใหญ่ สถานที่ที่พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ก็ถูกน้ำท่วม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “ถ้ากระไร เราพึงขับน้ำให้ออกไป
โดยรอบ แล้วจงกรมบนพื้นดินที่มีฝุ่นฟุ้งขึ้นตรงกลาง” ทรงขับน้ำให้ออกไปโดยรอบ
เสด็จจงกรมบนพื้นดินที่มีฝุ่นฟุ้งขึ้นตรงกลาง
ลำดับนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะกล่าวว่า “พระมหาสมณะอย่าได้ถูกน้ำพัดไปเลย”
พร้อมด้วยชฎิลเป็นอันมาก ลงเรือไปยังสถานที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้เห็น
พระผู้มีพระภาคทรงขับน้ำให้ออกไปโดยรอบ เสด็จจงกรมบนพื้นที่มีฝุ่นฟุ้งขึ้นตรง
กลางจึงทูลถามว่า “ข้าแต่พระมหาสมณะ พระองค์ยังประทับอยู่ที่นี่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ถูกละ กัสสปะ เรายังอยู่ที่นี่” แล้วเสด็จเหาะขึ้นไป
ปรากฏอยู่บนเรือ
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง ถึงกับทรงบันดาลไม่ให้น้ำไหลไปได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ชฎิล ๓ พี่น้องทูลขอการบรรพชาอุปสมบท
[๕๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริดังนี้ว่า “โมฆบุรุษนี้คงจักมีความคิด
อย่างนี้ไปอีกนานว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง แต่ไม่เป็น
พระอรหันต์เหมือนเราแน่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงให้ชฎิลนี้สลดใจ” จึงได้ตรัสกับ
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์แน่ ทั้งยังไม่ถึงอรหัตตมรรค
แม้ปฏิปทาของท่านอันจะเป็นเหตุให้เป็นพระอรหันต์หรือถึงอรหัตตมรรคก็ยังไม่มี”
ลำดับนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้ซบศีรษะลงแทบพระบาทพระผู้มีพระภาค
กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพเจ้าพึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ท่านเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึก เป็นเลิศ เป็น
หัวหน้า เป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน ท่านจงบอกลาพวกเขาก่อน ให้พวก
เขาทำตามที่พวกเขาเข้าใจ”
ต่อมา ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปหาชฎิลเหล่านั้นถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า
“ผู้เจริญทั้งหลาย เราต้องการจะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะ ท่าน
ทั้งหลาย จงทำตามที่พวกท่านเข้าใจ”
ชฎิลเหล่านั้นกราบเรียนว่า “พวกกระผมเลื่อมใสยิ่งในสำนักพระมหาสมณะ
มานานแล้ว ขอรับ ถ้าท่านจักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะ
พวกกระผมทั้งหมดก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะเช่นกัน” จึงเอา
ผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟลอยน้ำ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ แล้วซบศีรษะแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
[๕๒] ชฎิลนทีกัสสปะได้เห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟลอย
น้ำมาแล้วคิดว่า “อุปสรรคอย่าได้มีแก่พี่ชายของเราเลย” จึงส่งชฎิลทั้งหลายไป
ด้วยสั่งว่า “พวกเธอจงไป จงรู้ความเป็นไปของพี่ชายของเรา” และตนเอง
พร้อมชฎิล ๓๐๐ คน ได้เข้าไปหาท่านพระอุรุเวลกัสสปะถึงที่อยู่แล้วเรียนถามว่า
“ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐกว่าหรือ”
ท่านพระอุรุเวลกัสสปะตอบว่า “ถูกละ ผู้มีอายุ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐกว่า”
หลังจากนั้น ชฎิลเหล่านั้นจึงเอาผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ
ลอยน้ำ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบศีรษะแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค กราบทูล
ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดย
ชอบเถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
[๕๓] ชฎิลคยากัสสปะได้เห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ
ลอยน้ำมาแล้วคิดว่า “อุปสรรคอย่าได้มีแก่พี่ชายทั้งสองของเราเลย” จึงส่งชฎิล
ทั้งหลายไปด้วยสั่งว่า “พวกเธอจงไป จงรู้ความเป็นไปของพี่ชายทั้งสองของเรา”
และตนเอง พร้อมชฎิล ๒๐๐ คน ได้เข้าไปหาท่านพระอุรุเวลกัสสปะถึงที่อยู่แล้ว
เรียนถามว่า “ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐกว่าหรือ”
ท่านพระอุรุเวลกัสสปะตอบว่า “ถูกละ ผู้มีอายุ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐกว่า”
หลังจากนั้น ชฎิลเหล่านั้นจึงเอาผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ
ลอยน้ำ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบศีรษะแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค
กราบทูล ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การ
อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดย
ชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
ชฎิลเหล่านั้นผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อนไม่ได้ กลับผ่าได้ ก่อไฟไม่ติด กลับก่อไฟติด
ดับไฟไม่ได้ กลับดับได้ ด้วยการอธิษฐานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคทรงเนรมิตภาชนะใส่ไฟไว้ ๕๐๐ ชุด ปาฏิหาริย์ ๓,๕๐๐ วิธี
ย่อมมีโดยนัยนี้

อาทิตตปริยายสูตร๑
[๕๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
ตามพระอัธยาศัยได้เสด็จจาริกไปยังตำบลคยาสีสะ พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ราว
๑,๐๐๐ รูป ล้วนเคยเป็นชฎิลทั้งนั้น ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ตำบล
คยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยานั้น พร้อมด้วยภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ณ ที่นั้น พระผู้มี
พระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย รูปทั้งหลายเป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย จักขุวิญญาณเป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย จักขุสัมผัสเป็นของร้อน
แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้น
เพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะ
ไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะ
ความแก่ เพราะความตาย เพราะความโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะทุกข์
เพราะโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๘/๒๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒. อุรุเวลปาฏิหาริยกถา
โสตะ(หู)เป็นของร้อน เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ
ฆานะ(จมูก)เป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ
ชิวหา(ลิ้น)เป็นของร้อน รสทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ
กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะ(สิ่งที่กายสัมผัสถูกต้อง)ทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ
มนะ(ใจ)เป็นของร้อน ธรรม(อารมณ์)ทั้งหลายเป็นของร้อน มโนวิญญาณ
(ความรู้ทางใจ)เป็นของร้อน มโนสัมผัส(การกระทบทางใจ)เป็นของร้อน แม้ความ
เสวยอารมณ์ ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส
เป็นปัจจัย ก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟคือราคะ
เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่เพราะ
ความตาย เพราะความโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะทุกข์ เพราะโทมนัส
เพราะความคับแค้นใจ
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูปทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในจักขุสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือที่มิ
ใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียงทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่นทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรสทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในมโนวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความ
เสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส
เป็นปัจจัย
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณว่า หลุดพ้นแล้ว อริยสาวกย่อมรู้ชัดว่า ชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้มิได้มี”
ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณ์นี้อยู่ จิตของภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปนั้น ก็
หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
อาทิตตปริยายสูตร จบ
อุรุเวลปาฏิหาริยกถา จบ
ภาณวารที่ ๓ จบ

๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
ว่าด้วยสมาคมของพระเจ้าพิมพิสาร

เรื่องสวนตาลหนุ่ม
[๕๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะตามพระ
อัธยาศัยแล้วได้เสด็จจาริกไปทางกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ๑,๐๐๐ รูป
ล้วนเคยเป็นชฎิลทั้งนั้น เสด็จจาริกไปตามลำดับ จนถึงกรุงราชคฤห์ ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ต้นไทรต้นหนึ่งชื่อว่าสุประดิษฐเจดีย์ในสวนตาลหนุ่ม
เขตกรุงราชคฤห์นั้น
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้ทรงสดับข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดม เป็น
ศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับ ประทับอยู่
ณ ควงต้นไทรต้นหนึ่งชื่อสุประดิษฐเจดีย์ในสวนตาลหนุ่ม เขตกรุงราชคฤห์ ท่าน
พระโคดมผู้เจริญนั้น มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วย
วิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูพระวินัยปิฎกมหาวิภังค์แปล เล่ม ๑ ข้อ ๑ หน้า ๑-๒ (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้
ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริบูรณ์บริสุทธิ์
ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง

เรื่องพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงแวดล้อมด้วยพราหมณ์คหบดี
ชาวมคธ ๑๒ นหุต๑ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
ฝ่ายพราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุตเหล่านั้น บางพวกถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มี
พระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันและกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกก็ประคองอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกก็ประกาศนามและโคตรในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกก็นั่งนิ่ง ณ ที่สมควร
ขณะนั้น พราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุตเหล่านั้นได้มีความคิด
ดังนี้ว่า “พระมหาสมณะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระอุรุเวลกัสสปะ หรือพระ
อุรุเวลกัสสปะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะหนอ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความรำพึงในใจของพราหมณ์คหบดี
ชาวมคธ ๑๒ นหุตเหล่านั้นด้วยพระทัย จึงตรัสเชื้อเชิญท่านพระอุรุเวลกัสสปะ
ด้วยคาถาว่า
“ท่านอยู่อุรุเวลามานาน เคยเป็นอาจารย์สั่งสอนหมู่ชฎิลผู้ผอม๒
ท่านเห็นอุบายอะไร จึงได้ละไฟเสีย

เชิงอรรถ :
๑ นหุต เป็นมาตรานับ ๑ นหุต เท่ากับ ๑๐,๐๐๐ คน ๑๒ นหุต เท่ากับ ๑๒๐,๐๐๐ คน
๒ หมายถึงเป็นผู้อบรมสั่งสอนหมู่ดาบสที่ได้นามว่า “ผู้ผอม” เนื่องจากเป็นผู้ที่ร่างกายผอม เพราะบำเพ็ญ
ตนเป็นดาบส (วิ.อ. ๓/๕๕/๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
กัสสปะ เราถามข้อความนี้กะท่าน
ไฉนท่านจึงละการบูชาไฟของท่านเสียเล่า”
พระอุรุเวลกัสสปะทูลตอบว่า
“ยัญทั้งหลายกล่าวสรรเสริญกามทั้งหลาย
คือ รูป เสียง รสและสตรีทั้งหลาย
ข้าพระองค์ได้รู้ในอุปธิ๑ว่า นั่นเป็นมลทิน
เพราะฉะนั้น จึงมิได้ยินดีในการเซ่นสรวง มิได้ยินดีในการบูชา”
“กัสสปะ ใจของท่านไม่ยินดีในรูป เสียงและรสเหล่านั้นแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนั้น ใจของท่านยินดีในสิ่งไรเล่า
ในเทวโลกหรือมนุษยโลก กัสสปะ ท่านจงบอกสิ่งนั้นแก่เรา”
“ข้าพระองค์ได้เห็นบทอันสงบ๒ ไม่มีอุปธิ ไม่มีกังวล
ไม่ข้องอยู่ในกามภพ มีอันไม่แปรเป็นอย่างอื่น
ไม่ใช่ธรรมที่ผู้อื่นจะพึงแนะให้ได้
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงมิได้ยินดีในการเซ่นสรวงมิได้ยินดีใน
การบูชา”
[๕๖] ลำดับนั้น ท่านพระอุรุเวลกัสสปะลุกขึ้นจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า
ข้างหนึ่ง ซบศีรษะแทบพระบาทพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ขณะนั้น พราหมณ์คหบดีชาวมคธทั้ง ๑๒ นหุตเหล่านั้นก็ทราบว่า “พระ
อุรุเวลกัสสปะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความรำพึงในใจของพราหมณ์คหบดีชาว
มคธ ๑๒ นหุตเหล่านั้นด้วยพระทัย จึงได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ

เชิงอรรถ :
๑ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธุปธิ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์อันมีขันธ์เป็นมูล (สารตฺถ.ฎีกา ๓/๕๕/๒๖๐)
๒ บทอันสงบ ในที่นี้หมายถึงบทคือพระนิพพานที่มีสภาพสงบ ที่ชื่อว่า ไม่แปรเป็นอย่างอื่น เพราะไม่มีชาติ
ชรา และมรณะ (วิ.อ.๓/๕๕/๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่พราหมณ์
คหบดีชาวมคธ ๑๑ นหุต ซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข ณ ที่นั่งนั้นแลว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา”
เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
พราหมณ์คหบดีอีก ๑ นหุต ได้แสดงตนเป็นอุบาสก

เรื่องความปรารถนา ๕ ประการ
ของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
[๕๗] ขณะนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว
รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ
ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “เมื่อก่อนหม่อมฉันยังเป็นพระกุมาร ได้มีความปรารถนา ๕ ประการ
พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความปรารถนา ๕ ประการเหล่านั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว
คือ
๑. เมื่อก่อนหม่อมฉันยังเป็นพระกุมารได้มีความปรารถนาว่า ไฉนหนอ
พสกนิกรพึงอภิเษกเราในราชสมบัติ นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ ๑
พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว
๒. ขอพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพึงเสด็จมาสู่แว่นแคว้นของหม่อม
ฉันนั้น นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ ๒ พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความ
ปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
๓. ขอหม่อมฉันพึงเข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นี้เป็น
ความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ ๓ พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความปรารถนานั้น
ของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว
๔. ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน นี้เป็น
ความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ ๔ พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความปรารถนานั้น
ของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว
๕. ขอหม่อมฉันพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นี้เป็น
ความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ ๕ พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความปรารถนานั้น
ของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว
เมื่อก่อนหม่อมฉันยังเป็นพระกุมาร ได้มีความปรารถนา ๕ ประการเหล่านี้
พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความปรารถนา ๕ ประการเหล่านั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือ
ตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญหม่อมฉันนี้
ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต และ
ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับคำอาราธนาของหม่อมฉันเพื่อเจริญ
กุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพแล้ว
ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐทรงทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับ
นิมนต์แล้ว จึงเสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงทำ
ประทักษิณแล้วเสด็จกลับ ผ่านราตรีนั้นไป รับสั่งให้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉัน
อันประณีตไว้ แล้วให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตตกาลว่า “ได้เวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
[๕๘] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้วถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ราว ๑,๐๐๐ รูป ล้วนเคย
เป็นชฎิลทั้งนั้น
ขณะนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงเนรมิตเพศเป็นมาณพเสด็จพระดำเนินนำอยู่
เบื้องหน้าภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ทรงขับคาถาเหล่านี้ไปพลางว่า

คาถาสดุดีพระพุทธเจ้า
พระผู้มีพระภาคทรงมีพระฉวีวรรณเสมอด้วยสีลิ่มทองสิงคี
ทรงฝึกอินทรีย์แล้วทรงพ้นวิเศษแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์
พร้อมด้วยเหล่าภิกษุที่เคยเป็นชฎิล ผู้ฝึกอินทรีย์แล้ว พ้นวิเศษแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงมีพระฉวีวรรณเสมอด้วยสีลิ่มทองสิงคี
ทรงพ้นแล้ว ทรงพ้นวิเศษแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์
พร้อมด้วยเหล่าภิกษุที่เคยเป็นชฎิลผู้พ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงมีพระฉวีวรรณเสมอด้วยสีลิ่มทองสิงคี
ทรงข้ามแล้ว ทรงพ้นวิเศษแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์
พร้อมด้วยเหล่าภิกษุที่เคยเป็นชฎิลผู้ข้ามแล้ว พ้นวิเศษแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงมีพระฉวีวรรณเสมอด้วยสีลิ่มทองสิงคี
ทรงสงบแล้ว ทรงพ้นวิเศษแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์
พร้อมด้วยเหล่าภิกษุที่เคยเป็นชฎิลผู้สงบแล้ว พ้นวิเศษแล้ว
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงอยู่จบธรรม ๑๐ ประการ
ทรงมีทสพลญาณ ทรงทราบธรรม ๑๐ ประการ และทรงประกอบ
ด้วยธรรม ๑๐ ประการ๑ มีภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร
ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์

เชิงอรรถ :
๑ ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ คือ ประกอบด้วยอเสขธรรม ๑๐ (วิ.อ. ๓/๕๘/๒๘) ได้แก่ สัมมัตตะ
๑๐ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๕๘/๒๗๑) ดู ที.ปา ๑๑/๓๔๘,๓๖๐/๒๔๐,๒๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
คนทั้งหลายได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพแล้วพากันกล่าวว่า “มาณพนี้มีรูปงามหนอ
มาณพนี้น่าดูหนอ มาณพนี้น่าชมหนอ มาณพนี้เป็นผู้รับใช้ของใครหนอ”
เมื่อคนทั้งหลายกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสตอบคนเหล่านั้น
เป็นคาถาว่า
“พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด ทรงเป็นนักปราชญ์
ทรงฝึกในอินทรีย์ทั้งปวง เป็นผู้ผุดผ่อง ไม่มีผู้ใดเปรียบ
ทรงไกลจากกิเลส เสด็จไปดีในโลก
ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น”

เรื่องทรงรับพระเวฬุวันเป็นวัดแห่งแรก
[๕๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธรัฐ ครั้นถึงแล้วจึงประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ขณะนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงนำของเคี้ยวของฉันอันประณีต
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยพระองค์เอง กระทั่งพระผู้มีพระภาค
เสวยเสร็จแล้ว ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงประทับนั่ง ณ
ที่สมควร ท้าวเธอทรงดำริว่า “พระผู้มีพระภาคควรประทับที่ไหนหนอ ที่แห่งใดอยู่
ไม่ไกลและไม่ใกล้จากหมู่บ้านนัก คมนาคมสะดวก ผู้ประสงค์พึงเข้าเฝ้าได้ กลางวัน
ไม่พลุกพล่าน กลางคืนสงัด เสียงไม่อึกทึก เว้นจากคนสัญจรไปมา เป็นที่กระทำ
กรรมลับของหมู่มนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น” จึงมีพระราชดำริว่า “อุทยานเวฬุวัน
ของเรานี้ไม่ไกลและไม่ใกล้จากหมู่บ้านนัก คมนาคมสะดวก ผู้ประสงค์พึงเข้าเฝ้าได้
กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนสงัด เสียงไม่อึกทึก เว้นจากคนสัญจรไปมา เป็นที่
กระทำกรรมลับของหมู่มนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น อย่ากระนั้นเลย เราพึงถวาย
อุทยานเวฬุวันแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข” แล้วทรงจับพระสุวรรณภิงคาร
หลั่งน้ำน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคด้วยพระราชดำรัสว่า “หม่อมฉันขอถวาย
อุทยานเวฬุวันนั้นแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
พระผู้มีพระภาคทรงรับอารามแล้ว ทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ
มคธรัฐเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชะโลม
ใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับเสด็จกลับ ต่อมา
พระพุทธองค์ ได้ทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนั้นเป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาราม”
พิมพิสารสมาคมกถา จบ

๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
ว่าด้วยสารีบุตรและโมคคัลลานะบรรพชา
[๖๐] สมัยนั้น สัญชัยปริพาชกอาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยบริษัท
ปริพาชกหมู่ใหญ่จำนวน ๒๕๐ ท่าน ครั้งนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติ
พรหมจรรย์อยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชก ได้ตั้งกติกากันไว้ว่า “ผู้ใดบรรลุอมตธรรม
ก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง”
ขณะนั้นเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ มีกิริยาที่ก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า
เหยียดออก น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ
สารีบุตรปริพาชกได้เห็นท่านพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์
มีกิริยาก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง
ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถแล้วคิดว่า “ภิกษุรูปนี้คงเป็นองค์ใดองค์หนึ่ง บรรดาพระ
อรหันต์หรือท่านผู้ดำเนินสู่หนทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ในโลกเป็นแน่ ถ้ากระไร
เราพึงเข้าไปหาภิกษุนี้ถามว่า ผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน
หรือท่านชอบใจธรรมของใคร” แล้วคิดว่า “บัดนี้ ยังเป็นกาลไม่สมควรที่จะถาม
ภิกษุนี้ เพราะท่านกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ถ้ากระไร เราควรติดตาม
ภิกษุนี้ไปข้างหลัง เพราะการติดตามไปข้างหลังนี้เป็นหนทางที่ผู้มีความต้องการรู้แล้ว”
ต่อมา ท่านพระอัสสชิได้เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ รับบิณฑบาตแล้วกลับ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
ลำดับนั้น สารีบุตรปริพาชกจึงเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ แล้วได้สนทนาปราศรัย
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกกันแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร เรียนถามว่า
“ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้มีอายุ ท่านบวช
อุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”
พระอัสสชิกล่าวตอบว่า “ท่าน มีพระมหาสมณะผู้เป็นศากยบุตร เสด็จออก
ผนวชจากศากยตระกูล เราบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น เป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์
นั้น”
“ก็พระศาสดาของท่านตรัสอย่างไร สอนอย่างไร”
“ท่าน เราเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่สามารถแสดง
ธรรมโดยพิสดารแก่ท่านได้ แต่จักกล่าวแต่ใจความโดยย่อแก่ท่าน”
ทีนั้น สารีบุตรปริพาชกกราบเรียนท่านพระอัสสชิว่า
“เอาเถอะ ผู้มีอายุ จะน้อยหรือมากก็ตาม จงกล่าวเถิด
จงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น
ท่านจักทำพยัญชนะให้มากไปทำไม”

พระอัสสชิแสดงธรรม
ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้แก่สารีบุตรปริพาชกว่า
“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”๑

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่เกิดแต่เหตุ คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ตัวทุกข์
เหตุแห่งธรรม คือ สมุทัย
ความดับแห่งธรรมเหล่านั้น คือ นิโรธและมรรคมีองค์ ๘ (วิ.อ. ๓/๖๐/๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
สารีบุตรปริพาชกได้ธรรมจักษุ
เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้ ธรรมจักษุ อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดขึ้นแก่สารีบุตรปริพาชกว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” สารีบุตรปริพาชกกล่าวว่า
“ถ้าธรรมนี้ มีเพียงเท่านี้
ท่านก็ได้รู้แจ้งแทงตลอดทางอันหาความโศกมิได้แล้ว
อันเป็นทางที่พวกข้าพเจ้ายังไม่ได้เห็น
ล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัป”

สารีบุตรปริพาชกเปลื้องคำสัญญา
[๖๑] ครั้งนั้น สารีบุตรปริพาชกได้กลับไปหาโมคคัลลานปริพาชกถึงที่พัก
โมคคัลลานปริพาชก ได้เห็นสารีบุตรปริพาชกเดินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้วจึงได้
กล่าวกับสารีบุตรปริพาชก ดังนี้ว่า “ท่าน อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณ
บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ท่านได้บรรลุอมตธรรมแล้วหรือ”
สารีบุตรปริพาชกตอบว่า “ใช่แล้วท่าน เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว”
“ท่าน ท่านได้บรรลุอมตธรรมได้อย่างไร”
“ท่าน เราได้เห็นท่านพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์
มีกิริยาก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก น่าเลื่อมใส
มีจักษุทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถแล้วคิดว่า ‘ภิกษุรูปนี้คงเป็นองค์ใดองค์หนึ่ง
บรรดาพระอรหันต์หรือท่านผู้ดำเนินสู่หนทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ในโลกเป็นแน่
ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุนี้ถามว่า ผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็น
ศาสดาของท่าน หรือท่านชอบธรรมของใคร’ แล้วคิดว่า ‘บัดนี้ ยังเป็นกาลไม่
สมควรที่จะถามภิกษุนี้ เพราะท่านกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ถ้ากระไร
เราควรติดตามภิกษุนี้ไปข้างหลัง เพราะการติดตามไปข้างหลังนี้ เป็นหนทางที่ผู้มี
ความต้องการรู้แล้ว’
ต่อมา ท่านพระอัสสชิได้เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ รับบิณฑบาตแล้วกลับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
ลำดับนั้น เราจึงเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกกันและกันแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร เรียนถามว่า
‘ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้มีอายุ ท่านบวช
อุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร’
พระอัสสชิกล่าวตอบว่า “ท่าน มีพระมหาสมณะผู้เป็นศากยบุตร เสด็จออก
ผนวชจากศากยตระกูล เราบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นเป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น”
เราจึงถามว่า ‘ก็พระศาสดาของท่านตรัสอย่างไร สอนอย่างไร’
ท่านพระอัสสชิกล่าวว่า ‘ท่าน เราเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่
พระธรรมวินัยนี้ ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารแก่ท่านได้ แต่จักกล่าวแต่ใจ
ความโดยย่อแก่ท่าน’
ทีนั้น เราจึงกราบเรียนท่านพระอัสสชิว่า
“เอาเถอะ ผู้มีอายุจะน้อยหรือมากก็ตาม จงกล่าวเถิด
จงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น
ท่านจักทำพยัญชนะให้มากไปทำไม”
ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้ว่า
“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”

โมคคัลลานปริพาชกได้ธรรมจักษุ
เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้ ธรรมจักษุ อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดขึ้นแก่โมคคัลลานปริพาชกว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” โมคคัลลานปริพาชกกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
“ถ้าธรรมนี้ มีเพียงเท่านี้
ท่านก็ได้รู้แจ้งแทงตลอดทางอันหาความโศกมิได้แล้ว
อันเป็นทางที่พวกเรายังไม่ได้เห็น
ล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัป”

สองสหายไปอำลาอาจารย์
[๖๒] ครั้งนั้น โมคคัลลานปริพาชกได้กล่าวกับสารีบุตรปริพาชกว่า “ท่าน
เราไปสำนักพระผู้มีพระภาคกันเถิด เพราะพระองค์เป็นศาสดาของเรา”
สารีบุตรปริพาชกกล่าวว่า “ท่าน ปริพาชก ๒๕๐ คนเหล่านี้ อาศัยเรา
เห็นแก่เรา จึงอยู่ในสำนักนี้ เราบอกลาปริพาชกเหล่านั้นก่อน พวกเขาจักทำ
ตามที่เขาเข้าใจ”
ต่อมา สารีบุตรและโมคคัลลานะพากันเข้าไปหาปริพาชกเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้
กล่าวดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกเราจะไปสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์
เป็นศาสดาของพวกเรา”
พวกปริพาชกกล่าวว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายอาศัยพวกท่าน เห็นแก่พวกท่าน
จึงอยู่ในสำนักนี้ ถ้าท่านทั้งสองจักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะ
ข้าพเจ้าทั้งหมดก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะด้วย”
ต่อมา สารีบุตรและโมคคัลลานะพากันเข้าไปหาสัญชัยปริพาชกกราบเรียนว่า
“ท่านขอรับ พวกกระผมจะไปสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์เป็นศาสดา
ของพวกกระผม”
สัญชัยปริพาชกกล่าวห้ามว่า “อย่าเลย ท่านทั้งหลายอย่าไป เราทั้งหมด
๓ คน จักช่วยกันบริหารคณะนี้”
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ สารีบุตรและโมคคัลลานะ ก็กราบเรียนสัญชัยปริพาชกดังนี้ว่า
“ท่านขอรับ พวกกระผมจะไปสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์เป็นศาสดา
ของพวกกระผม”
สัญชัยปริพาชกก็ยังกล่าวห้ามว่า “อย่าเลย ท่านทั้งหลายอย่าไป เรา
ทั้งหมด ๓ คน จักช่วยกันบริหารคณะนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
หลังจากนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะได้พาปริพาชก ๒๕๐ คนนั้น มุ่งหน้าไป
ทางพระเวฬุวัน โลหิตร้อนก็พุ่งออกจากปากของสัญชัยปริพาชก ณ ที่นั้นเอง

ทรงพยากรณ์พระอัครสาวก
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นสารีบุตรและโมคคัลลานะเดินมาแต่ไกล
แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สหายทั้ง ๒ คนนั้น คือโกลิตะ
และอุปติสสะกำลังมา นั่นจักเป็นคู่สาวกชั้นยอด เป็นคู่ที่เจริญของเรา”
ท่านสารีบุตรและท่านโมคคัลลานะ ผู้น้อมจิตไปในธรรม
อันยอดเยี่ยม ลึกซึ้ง เป็นวิสัยแห่งญาณ เป็นที่สิ้นอุปธิ
ยังมาไม่ถึงพระเวฬุวัน พระศาสดาก็ทรงพยากรณ์แล้วว่า
“สหายทั้ง ๒ คนนั้น คือโกลิตะและอุปติสสะ
กำลังมา นั่นจักเป็นคู่สาวกชั้นยอด เป็นคู่ที่เจริญของเรา”

ทูลขอการบรรพชาอุปสมบท
ต่อมา สารีบุตรและโมคคัลลานะได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วซบ
ศีรษะแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวก
ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น๑

เชิงอรรถ :
๑ ท่านโกลิตะหรือพระโมคคัลลานะหลังจากบวชได้ ๗ วัน ไปพักอาศัยอยู่ ณ บ้านกัลลวาฬคาม
(กัลล วาฬมุตตคาม) บำเพ็ญสมณธรรม ฟังธรรมว่าด้วยธาตุกัมมัฏฐานจากพระพุทธเจ้า บรรลุพระอรหัตตผล
ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณตามที่ตั้งความปรารถนาไว้
ส่วนท่านอุปติสสะ หรือพระสารีบุตร หลังจากบวชได้ ๑๕ วัน ไปพักอาศัยอยู่ ณ ถ้ำสูกรขาตา
เขตกรุงราชคฤห์ พร้อมกับพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่หลานชายของ
ท่านชื่อทีฆนขปริพาชก พระสารีบุตรส่งญาณไปตามแนวพระสูตร บรรลุพระอรหัตตผล ถึงที่สุดแห่งสาวก
บารมีญาณตามที่ตั้งความปรารถนาไว้ (สารตฺถ.ฏีกา. ๓/๖๒/๒๗๗-๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
เรื่องกุลบุตรชาวมคธมีชื่อเสียงบรรพชา
[๖๓] สมัยนั้น พวกกุลบุตรชาวมคธที่มีชื่อเสียง พากันประพฤติพรหมจรรย์
ในสำนักพระผู้มีพระภาค คนทั้งหลายจึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“พระสมณโคดมปฏิบัติเพื่อให้ชายไม่มีบุตร เพื่อให้หญิงเป็นม่าย และเพื่อความ
ขาดสูญแห่งตระกูล บัดนี้ พระสมณโคดมบวชชฎิล ๑,๐๐๐ คนแล้ว และบวช
ปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัย ๒๕๐ คนแล้ว และพวกกุลบุตรชาวมคธเหล่านี้ที่
มีชื่อเสียง ก็พากันประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระสมณโคดม”
อนึ่ง คนทั้งหลายเห็นพวกภิกษุก็พากันโจทด้วยคาถานี้ว่า
“พระมหาสมณะเสด็จมาสู่พระคิริพชนคร๑ของชาวมคธ
ทรงนำปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัยไปหมดแล้ว
บัดนี้ยังจักทรงนำใครไปอีกเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เสียงนั้นคงอยู่ไม่นาน จักมีเพียง ๗
วันเท่านั้น พ้น ๗ วัน จักหายไป ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ชนเหล่าใดโจท
พวกเธอด้วยคาถานี้ว่า
“พระมหาสมณะเสด็จมาสู่พระคิริพชนครของชาวมคธ
ทรงนำปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัยไปหมดแล้ว
บัดนี้จักทรงนำใครไปอีกเล่า”
พวกเธอจงโจทตอบพวกนั้นด้วยคาถานี้ว่า
“พระตถาคตทั้งหลาย ทรงมีความเพียรมาก
ทรงแนะนำด้วยพระสัทธรรม เมื่อรู้ชัด(อย่างนี้)
จะต้องริษยาพระตถาคตผู้ทรงแนะนำโดยธรรมไปทำไมเล่า”

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงกรุงราชคฤห์ บางทีเรียกว่า เบญจคิรีนคร ที่ชื่อว่าคิริพชนคร เพราะเป็นเมืองที่ล้อมรอบด้วย
ภูเขา ๕ ลูก คือ ปัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ อสิคิลิ เวปุลละ (สารตฺถ. ฏีกา ๓/๖๓/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
สมัยนั้น คนทั้งหลายเห็นพวกภิกษุก็พากันโจทด้วยคาถานี้ว่า
“พระมหาสมณะเสด็จมาสู่คิริพชนครของชาวมคธ
ทรงนำปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัยไปหมดแล้ว
บัดนี้จักทรงนำใครไปอีกเล่า”
ภิกษุทั้งหลายก็โจทตอบคนพวกนั้นด้วยคาถานี้ว่า
“พระตถาคตทั้งหลายทรงมีความเพียรมาก
ทรงแนะนำด้วยพระสัทธรรม เมื่อรู้ชัด(อย่างนี้)
จะต้องริษยาพระตถาคตผู้ทรงแนะนำโดยธรรมไปทำไมเล่า”
คนทั้งหลายกล่าวกันอย่างนี้ว่า “ได้ยินว่า พระสมณะผู้เป็นเชื้อสายศากยบุตร
ทั้งหลาย ย่อมแนะนำโดยธรรม ย่อมไม่แนะนำโดยอธรรม”
เสียงนั้นมีอยู่เพียง ๗ วันเท่านั้น พ้น ๗ วันก็หายไป
สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา จบ
ภาณวารที่ ๔ จบ

๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา๑
ว่าด้วยอุปัชฌายวัตร

เรื่องภิกษุนุ่งห่มไม่เรียบร้อย
[๖๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายยังไม่มีพระอุปัชฌาย์ ไม่มีผู้คอยตักเตือน
พร่ำสอน จึงนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคน
ทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาต๒ เข้าไปบนของบริโภคบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. ๗/๓๗๕-๓๗๖/๑๗๔-๑๘๐
๒ บาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาต (อุตฺติฏฺŸปตฺตนฺติ ปิณฺฑาย จรณกปตฺตํ -วิ.อ. ๓/๖๔-๕/๓๒), พวกมนุษย์
สำคัญบาตรนั้นว่าเป็นเดน (วิ.อ. ๓/๖๔-๕/๓๒), ดู สารตฺถ.ฏีกา ๓/๖๔/๒๘๑,วิมติ.ฏีกา ๒/๖๔/๑๓๐-๑๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่ม ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง
ด้วยตนเองมาแน ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง
คนทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตร ทั้งหลายจึงนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต
เมื่อคนทั้งหลาย กำลังบริโภค ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของ
บริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง
ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง เหมือนพวกพราหมณ์ใน
สถานที่เลี้ยงพราหมณ์ฉะนั้นเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นกล่าวตำหนิอ ประณาม โพนทะนา บรรดา
ภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา จึง
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มี
มารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตร
สำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของบริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บนของ
ลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน
ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้างเล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุนุ่งห่มไม่เรียบร้อย
มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตร
สำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของบริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง
บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดัง
แม้ในโรงฉันบ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลาย ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษ
เหล่านั้น ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้
ไม่ควรทำเลย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาต
เข้าไปบนของบริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง
ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดังแม้ในโรงฉันบ้างเล่า
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของพวกโมฆบุรุษนั่น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่
เลื่อมใสให้ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวก ก็จะกลายเป็นอื่นไป”

ทรงอนุญาตอุปัชฌาย์
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้ว ได้ตรัส
โทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี
ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ
ความขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ
ความเพียร โดยประการต่าง ๆ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสม ให้คล้อยตาม
กับเรื่องนั้นแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
[๖๕] ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์จักเข้าไปตั้งจิตสนิท
สนมในสัทธิวิหาริกฉันบุตร สัทธิวิหาริก๑จักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในอุปัชฌาย์ฉันบิดา
เมื่อเป็นเช่นนี้ อุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริกจักมีความเคารพ ยำเกรงประพฤติ
กลมเกลียวกัน จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้

วิธีถืออุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกพึงถืออุปัชฌาย์อย่างนี้
สัทธิวิหาริกพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า นั่งกระโหย่ง
ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าเถิด

เชิงอรรถ :
๑ สัทธิวิหาริก แปลว่า ผู้อยู่ด้วยกัน เป็นคำเรียกผู้ที่ได้รับอุปสมบท ถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์รูปใด
ก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์รูปนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าเถิด ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็น
อุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าเถิด”
อุปัชฌาย์ให้สัทธิวิหาริกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา
ว่า “ดีละ” ว่า “เบาใจละ” ว่า “ชอบแก่อุบายละ” ว่า “สมควรละ” หรือว่า
“จงประพฤติปฏิบัติให้น่าเลื่อมใส” อุปัชฌาย์ชื่อว่าเป็นผู้ที่สัทธิวิหาริกถือแล้ว
อุปัชฌาย์ไม่ให้สัทธิวิหาริกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกาย
และวาจา อุปัชฌาย์ชื่อว่าเป็นผู้ที่สัทธิวิหาริกยังมิได้ถือ

อุปัชฌายวัตร
[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกพึงประพฤติโดยชอบในอุปัชฌาย์ วิธีประพฤติ
โดยชอบในอุปัชฌาย์นั้นมีดังนี้
สัทธิวิหาริกพึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า ปูอาสนะ
ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่ออุปัชฌาย์ฉันข้าวต้มเสร็จแล้ว
พึงถวายน้ำรับภาชนะมา ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด๑ ล้างแล้วเก็บงำไว้
เมื่ออุปัชฌาย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย
ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ
ถ้าอุปัชฌาย์หวังจะให้เป็นปัจฉาสมณะ ถึงนุ่งให้เรียบร้อยปกปิดได้มณฑล ๓๒
คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน กลัดลูกดุม ล้างบาตรถือไป เป็นปัจฉา
สมณะของอุปัชฌาย์ พึงเดินไม่ให้ห่างนัก ไม่ให้ชิดนัก พึงรับบาตรที่มีของบรรจุอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ให้ครูดพื้น (วิ.อ. ๓/๖๖/๓๖)
๒ มณฑล ๓ คือ ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์ (ผ้าห่ม) ต้องห่มปิดหลุมคอและทำชายจีวรทั้ง ๒ ข้างให้เสมอกัน
ถ้าเป็นอ้นตรวาสก ต้องนุ่งปิดสะดือ และปิดเข่าทั้ง ๒ ข้าง (ดู วิ.มหา.(แปล) ๒/๕๗๖-๕๗๗/๖๕๐-๖๕๑
และ วิ.อ. ๒/๕๗๖-๕๗๗/๔๔๗-๔๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
เมื่ออุปัชฌาย์กำลังกล่าว ไม่พึงกล่าวสอดขึ้นในระหว่าง อุปัชฌาย์กล่าวถ้อยคำ
ใกล้ต่ออาบัติ พึงห้ามเสีย
เมื่ออุปัชฌาย์จะกลับ พึงมาก่อนแล้วปูอาสนะไว้ พึงเตรียมน้ำล้างเท้า
ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งอาศัย
รับผ้านุ่งมา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร
เมื่อจะพับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ
พึงม้วนประคดเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และอุปัชฌาย์ต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วน้อมบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่ออุปัชฌาย์ฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา
ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่ง
ทิ้งไว้ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
เมื่ออุปัชฌาย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำเย็น
พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟเดินตามหลังอุปัชฌาย์ไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟแล้วรับจีวรมาวาง ณ
ที่สมควร พึงถวายจุรณและดิน
ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้า
และหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
พึงทำบริกรรม๑แก่อุปัชฌาย์ในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟปิดหน้าและหลัง จึงออกจากเรือนไฟ
พึงทำบริกรรม๒แก่อุปัชฌาย์แม้ในน้ำ ตนสรงน้ำเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัว
ให้แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวอุปัชฌาย์ ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ นำน้ำฉัน
มาถวายอุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะให้เรียน พึงเรียน
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะให้สอบถามอรรถ พึงสอบถาม
อุปัชฌาย์อยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด
เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร
พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร
เตียง ตั่ง สัทธิวิหาริกพึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน
พนักพิง พึงขนออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม
ค่อยขนออกมาวาง ณ ที่สมควร
ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุมห้อง
พึงเช็ด
ถ้าฝาที่ทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด
ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง
พึงเก็บหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร
พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึงผึ่งแดด
เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม
เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน

เชิงอรรถ :
๑ ทำบริกรรมในเรือนไฟ หมายถึงการถวายขี้เถ้า ดินเหนียว และน้ำร้อนเป็นต้น (วิ.สงฺคห. ๑๘๓/๒๕๘)
๒ ทำบริกรรมในน้ำ หมายถึงการขัดถูร่างกาย (วิ.สงฺคห. ๑๘๓/๒๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึงผึ่งแดด เช็ดถู
ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎีรก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความไม่ยินดี สัทธิวิหาริกพึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความรำคาญ สัทธิวิหาริกพึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความเห็นผิด สัทธิวิหาริกพึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยให้สละเสีย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องอาบัติหนัก๑ ควรแก่ปริวาส สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อุปัชฌาย์”

เชิงอรรถ :
๑ อาบัติหนัก ในที่นี้หมายถึงอาบัติสังฆาทิเสส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอุปัชฌาย์เข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่มานัต๑ สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อุปัชฌาย์”
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่อัพภาน๒ สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอุปัชฌาย์”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม๓ คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม๔แก่อุปัชฌาย์ สัทธิวิหาริกพึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อุปัชฌาย์หรือ
พึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา” หรือว่าอุปัชฌาย์ได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม
ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว สัทธิวิหาริกพึง
ทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ อุปัชฌาย์พึงกลับประพฤติชอบ
พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย”

เชิงอรรถ :
๑ มานัต เป็นชื่อวุฏฐานวิธี คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส แปลว่า นับ หมายถึงนับ
ราตรี ๖ ราตรี ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าปกปิดไว้ ต้องอยู่ปริวาสเท่าวันที่ปกปิดก่อน จึงจะขอ
มานัตได้ แต่ถ้าไม่ได้ปกปิดไว้ สามารถขอมานัตได้ แล้วประพฤติมานัต ๖ ราตรี (กงฺขา.อ. ๑๗๘)
๒ อัพภาน เป็นชื่อวุฏฐานวิธีที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย ภิกษุผู้ประพฤติมานัตครบ ๖ ราตรีแล้ว ขออัพภาน
จากสงฆ์ ๒๐ รูป เมื่อสงฆ์สวดอัพภานแล้ว ถือว่าภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสนั้นบริสุทธิ์ สมควรอยู่
ร่วมกับภิกษุสงฆ์ต่อไป (กงฺขา.อ. ๑๗๘-๑๗๙)
๓ ทำกรรม หมายถึงลงโทษ
๔ ตัชชนียกรรม คือ การขู่, การปราม (วิ.ม. ๕/๔๐๗-๔๐๘/๒๐๔-๒๐๕)
นิยสกรรม คือ การถอดยศ, การปลดออกจากตำแหน่ง (วิ.ม. ๕/๔๑๒/๒๐๗,๔๒๓/๒๑๒)
ปัพพาชนียกรรม คือ การไล่ออกจากหมู่, การไล่ออกจากวัด (วิ.ม. ๕/๔๑๓/๒๐๘)
ปฏิสารณียกรรม คือ การให้ระลึกความผิด (วิ.ม. ๕/๔๑๔/๒๐๘)
อุกเขปนียกรรม คือ การกันออกจากหมู่, การยกออกจากหมู่ (วิ.ม. ๕/๔๑๕/๒๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องซัก สัทธิวิหาริกพึงซัก หรือพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของอุปัชฌาย์”
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องตัดเย็บ สัทธิวิหาริกพึงตัดเย็บ หรือพึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของอุปัชฌาย์”
ถ้าน้ำย้อมของอุปัชฌาย์จะต้องต้ม สัทธิวิหาริกพึงต้ม หรือพึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของอุปัชฌาย์”
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องย้อม สัทธิวิหาริกพึงย้อม หรือพึงทำการขวน
ขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของอุปัชฌาย์” เมื่อจะ
ย้อมจีวร พึงย้อม พลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย
ไม่พึงหลีกไป
สัทธิวิหาริกไม่บอกอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตร
ของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่
พึงให้บริขารแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบริขารของภิกษุบางรูป ไม่พึงปลงผมให้
ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปปลงผมให้ ไม่พึงทำบริกรรมแก่ภิกษุบางรูป
ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปทำบริกรรมให้ ไม่พึงทำการขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึง
สั่งภิกษุบางรูปให้ทำการขวนขวาย ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป ไม่พึง
พาภิกษุบางรูปไปเป็นปัจฉาสมณะ ไม่พึงนำบิณฑบาตไปถวายภิกษุบางรูป ไม่พึง
สั่งภิกษุบางรูปให้นำบิณฑบาตไปถวาย
สัทธิวิหาริกไม่บอกลาอุปัชฌาย์ ไม่พึงเข้าหมู่บ้าน ไม่พึงไปป่าช้า ไม่พึงออกไป
ต่างถิ่น๑ ถ้าอุปัชฌาย์เป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอุปัชฌาย์นั้น
จะหาย
อุปัชฌายวัตตกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงไปอยู่ที่อื่น (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๓/๒๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา
๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา๑
ว่าด้วยสัทธิวิหาริกวัตร
[๖๗] ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์พึงประพฤติชอบในสัทธิวิหาริก วิธีประพฤติ
ชอบในสัทธิวิหาริกนั้นมีดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์พึงสงเคราะห์อนุเคราะห์สัทธิวิหาริก ด้วยอุทเทส
ปริปุจฉา โอวาท และอนุศาสน์
ถ้าอุปัชฌาย์มีบาตร สัทธิวิหาริกไม่มีบาตร อุปัชฌาย์พึงถวายบาตรแก่
สัทธิวิหาริก หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บาตรพึงเกิดขึ้น
แก่สัทธิวิหาริก”
ถ้าอุปัชฌาย์มีจีวร สัทธิวิหาริกไม่มีจีวร อุปัชฌาย์พึงถวายจีวรแก่สัทธิวิหาริก
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ จีวรพึงเกิดขึ้นแก่สัทธิวิหาริก”
ถ้าอุปัชฌาย์มีบริขาร สัทธิวิหาริกไม่มีบริขาร อุปัชฌาย์พึงถวายบริขารแก่
สัทธิวิหาริก หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บริขารพึงเกิดขึ้น
แก่สัทธิวิหาริก”
ถ้าสัทธิวิหาริกเป็นไข้ อุปัชฌาย์พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้าง
หน้า ปูอาสนะ
ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่อสัทธิวิหาริกฉันข้าวต้ม
เสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับภาชนะมาถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเก็บงำไว้
เมื่อสัทธิวิหาริกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าสัทธิวิหาริก ต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย
ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ ปูอาสนะ
ไว้โดยกำหนดว่า “เวลาเพียงเท่านี้ สัทธิวิหาริกจักกลับมา” พึงเตรียมน้ำล้างเท้า
ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งอาศัย
รับผ้านุ่งมา

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. ๗/๓๗๗-๓๗๘/๑๘๐-๑๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะพับ
จีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ พึงม้วน
ประคตเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และสัทธิวิหาริกต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วนำบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่อสัทธิวิหาริกฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา
ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้ง
ไว้ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
เมื่อสัทธิวิหาริกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าสัทธิวิหาริกต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าเธอต้องการน้ำเย็น
พึงจัดน้ำเย็นให้ ถ้าเธอต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย
ถ้าสัทธิวิหาริกต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟเดินไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟแล้วรับจีวรมาวาง ณ ที่สมควร พึงถวาย
จุรณและดิน
ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้า
และหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ พึงทำ
บริกรรมแก่สัทธิวิหาริกในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือน
ไฟปิดหน้าและหลัง จึงออกจากเรือนไฟ
พึงทำบริกรรมแก่สัทธิวิหาริกแม้ในน้ำ ตนสรงเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัวให้
แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวสัทธิวิหาริก ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ นำน้ำฉัน
มาถวายสัทธิวิหาริก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา
สัทธิวิหาริกอยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด
เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร
พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร
เตียง ตั่ง อุปัชฌาย์พึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบบาน
ประตูและกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน พนักพิง
พึงขนออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม ค่อยขนออก
มาวางไว้ ณ ที่สมควร
ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุม
ห้องพึงเช็ด
ถ้าฝาที่ทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด
ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง
พึงเก็บหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร
พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึง
ผึ่งแดด เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม
เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน
พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึงผึ่งแดด
เช็ดถู ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือข้าง
หนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎีรก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อน้ำชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าสัทธิวิหาริกเกิดความไม่ยินดี อุปัชฌาย์พึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริก
ถ้าสัทธิวิหาริกเกิดความรำคาญ อุปัชฌาย์พึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริก
ถ้าสัทธิวิหาริกเกิดความเห็นผิด อุปัชฌาย์พึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยให้สละเสีย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริก
ถ้าสัทธิวิหาริกต้องอาบัติหนัก ควรแก่ปริวาส อุปัชฌาย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่สัทธิวิหาริก”
ถ้าสัทธิวิหาริกควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม อุปัชฌาย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักสัทธิวิหาริกเข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าสัทธิวิหาริกควรแก่มานัต อุปัชฌาย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่สัทธิวิหาริก”
ถ้าสัทธิวิหาริกควรแก่อัพภาน อุปัชฌาย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานสัทธิวิหาริก”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนีย
กรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแก่สัทธิวิหาริก อุปัชฌาย์พึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่สัทธิวิหาริกหรือพึง
เปลี่ยนไปเป็นโทษเบา” หรือว่าสัทธิวิหาริกได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม
ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว อุปัชฌาย์พึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สัทธิวิหาริกพึงกลับประพฤติชอบ พึง
หายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องซัก อุปัชฌาย์พึงบอกว่า “พึงซักอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของสัทธิวิหาริก”
ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องตัดเย็บ อุปัชฌาย์พึงบอกว่า “พึงตัดเย็บอย่างนี้”
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของ
สัทธิวิหาริก”
ถ้าน้ำย้อมของสัทธิวิหาริกจะต้องต้ม อุปัชฌาย์พึงบอกว่า “พึงต้มอย่างนี้”
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของ
สัทธิวิหาริก”
ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องย้อม อุปัชฌาย์พึงบอกว่า “พึงย้อมอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของสัทธิวิหาริก”
เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยด ไม่ขาด
สาย ไม่พึงหลีกไป
ถ้าสัทธิวิหาริกเป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าสัทธิวิหาริกนั้น
จะหาย
สัทธิวิหาริกวัตตกถา จบ

๑๗. ปณามิตกถา
ว่าด้วยการประณาม
[๖๘] สมัยนั้น พวกสัทธิวิหาริกไม่ประพฤติชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลาย
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกสัทธิวิหาริกจึงได้ไม่ประพฤติชอบในพระอุปัชฌาย์ทั้งหลายเล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกสัทธิวิหาริกไม่ประพฤติ
ชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลาย จริงหรือ”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ ไฉน พวกสัทธิวิหาริก
จึงไม่ประพฤติชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลายเล่า” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกจะไม่ประพฤติชอบในอุปัชฌาย์
ไม่ได้ รูปใดไม่ประพฤติชอบ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงอนุญาตให้ประณาม
สัทธิวิหาริกทั้งหลายก็ยังไม่ประพฤติชอบอยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประณามสัทธิวิหาริก
ผู้ไม่ประพฤติชอบ

วิธีประณาม
ภิกษุทั้งหลาย ก็อุปัชฌาย์พึงประณามสัทธิวิหาริกอย่างนี้ว่า “ฉันประณาม
เธอ” หรือ “เธออย่าเข้ามาที่นี้” “เธอจงขนบาตรและจีวรของเธอไป” หรือ “เธอไม่
ต้องอุปัฏฐากฉัน”
อุปัชฌาย์ให้สัทธิวิหาริกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา
เป็นอันได้ประณามสัทธิวิหาริกแล้ว อุปัชฌาย์ไม่ให้สัทธิวิหาริกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้
ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา เป็นอันยังมิได้ประณามสัทธิวิหาริก

สัทธิวิหาริกไม่ขอขมา
สมัยนั้น สัทธิวิหาริกทั้งหลายถูกประณามแล้ว ก็ยังไม่ยอมขอขมาอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สัทธิวิหาริกขอขมา
อุปัชฌาย์”
สัทธิวิหาริกทั้งหลาย ก็ยังไม่ยอมขอขมาอุปัชฌาย์อยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกถูกประณามแล้ว จะไม่
ขอขมาอุปัชฌาย์ไม่ได้ รูปใดไม่ขอขมา ต้องอาบัติทุกกฏ”

อุปัชฌาย์ไม่รับการขอขมา
สมัยนั้น อุปัชฌาย์ทั้งหลายถูกสัทธิวิหาริกขอขมา ก็ยังไม่ยอมให้ขมา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปัชฌาย์รับการ
ขอขมา”
อุปัชฌาย์ทั้งหลายก็ยังไม่ยอมให้ขมาอยู่เช่นเดิม พวกสัทธิวิหาริกพากันหลีก
ไปเสียบ้าง สึกเสียบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์เสียบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์ผู้ที่สัทธิวิหาริกขอขมา
จะไม่รับการขอขมาไม่ได้ รูปใดไม่รับการขอขมา ต้องอาบัติทุกกฏ”

ทรงปรับทุกกฏเมื่อประณามไม่ถูกต้อง
สมัยนั้น อุปัชฌาย์ทั้งหลายประณามสัทธิวิหาริกผู้ประพฤติชอบ ไม่ประณาม
สัทธิวิหาริกผู้ประพฤติมิชอบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประพฤติชอบ
อุปัชฌาย์ไม่พึงประณาม รูปใดประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริก
ผู้ไม่ประพฤติชอบ อุปัชฌาย์จะไม่ประณามไม่ได้ รูปใดไม่ประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ”

องค์แห่งการประณาม
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์พึงประณามสัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. ไม่มีความหวังดี๑อย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์พึงประณามสัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์ไม่พึงประณามสัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์ไม่พึงประณามสัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรที่จะถูกประณาม คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ควรที่จะถูกประณาม
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรที่จะถูกประณาม คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์

เชิงอรรถ :
๑ ภาวนา ความหวังดีในที่นี้หมายถึง เมตตาภาวนา (วิ.อ. ๓/๖๘/๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ไม่ควรที่
จะถูกประณาม
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เมื่ออุปัชฌาย์ไม่ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อประณาม ย่อมไม่มีโทษ คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เมื่ออุปัชฌาย์ไม่
ประณาม ย่อมมีโทษ เมื่อประณาม ย่อมไม่มีโทษ
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เมื่ออุปัชฌาย์ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อไม่ประณาม ย่อมไม่มีโทษ คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เมื่ออุปัชฌาย์
ประณาม ย่อมมีโทษ เมื่อไม่ประณาม ย่อมไม่มีโทษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
มูลเหตุให้เกิดการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม
เรื่องพราหมณ์ซูบผอมเพราะไม่ได้บวช
[๖๙] สมัยนั้น พราหมณ์คนหนึ่ง เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอการบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายไม่ประสงค์จะให้เขาบรรพชา
เขาเมื่อไม่ได้การบรรพชาในหมู่ภิกษุ จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์นั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทำไมพราหมณ์
ผู้นั้นจึงได้ซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งเล่า”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “พราหมณ์นั่นได้เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอการ
บรรพชา ภิกษุทั้งหลายไม่ประสงค์จะให้เขาบรรพชา เขาเมื่อไม่ได้การบรรพชาใน
หมู่ภิกษุ จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ใคร
ระลึกความดีของพราหมณ์นั้นได้บ้าง”
เมื่อตรัสถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีภาคดังนี้ว่า “ข้า
พระองค์ระลึกความดีของพราหมณ์นั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอระลึกความดีอะไรของพราหมณ์นั้นได้”
“พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์นี้ พราหมณ์
นั้นได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง ข้าพระองค์ระลึกความดีนี้ของพราหมณ์นั้นได้ พระ
พุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ๆ สารีบุตร จริงอยู่ สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้กตัญญูกตเวที สารีบุตร
ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้พราหมณ์นั้นบรรพชาอุปสมบทเถิด”
“ข้าพระองค์จะให้พราหมณ์นั้นบรรพชาอุปสมบทอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย นับแต่วันนี้เป็นต้นไป เราห้ามการอุปสมบท
ด้วยไตรสรณคมน์ที่เราได้อนุญาตไว้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทด้วย
ญัตติจตุตถกรรม

วิธีให้อุปสมบทและกรรมวาจาให้อุปสมบท
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้อุปสมบทอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๗๐] “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ
(ผู้ขอบวชเป็นภิกษุ)ของท่านผู้มีชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท
มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของ
ท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็น
ด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด
ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าก็กล่าวความนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่าน
ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบทมีท่านผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าก็กล่าวความนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบทมีท่าน
ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
ผู้มีชื่อนี้สงฆ์ให้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

เรื่องภิกษุประพฤติไม่สมควร
[๗๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพออุปสมบทแล้วได้ประพฤติไม่สมควร ภิกษุ
ทั้งหลายพากันกล่าวห้ามปรามว่า “อาวุโส ท่านอย่าได้กระทำอย่างนั้น เพราะการ
กระทำอย่างนั้นไม่ควร”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “กระผมมิได้ขอร้องท่านผู้มีอายุทั้งหลายว่า ‘จงให้กระผม
อุปสมบท’ ท่านทั้งหลายมิได้รับการขอร้องจากกระผม ให้กระผมอุปสมบททำไม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมิได้รับการขอร้อง ไม่พึงให้
กุลบุตรอุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ภิกษุผู้ได้รับการขอร้องให้กุลบุตรอุปสมบทได้

วิธีขอการอุปสมบท
ภิกษุทั้งหลาย ก็อุปสัมปทาเปกขะพึงขออย่างนี้
อุปสัมปทาเปกขะพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุทั้งหลาย นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวคำขอการอุปสมบทอย่างนี้ว่า “ท่าน
ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอการอุปสมบทต่อสงฆ์ ขอสงฆ์โปรดอนุเคราะห์ยกข้าพเจ้า
ขึ้นเถิด๑ เจ้าข้า”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า

เชิงอรรถ :
๑ ยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด หมายถึงยกขึ้นจากอกุศล แล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล ในที่นี้หมายถึงยกขึ้นจากความเป็น
สามเณร ให้ตั้งอยู่ในความเป็นภิกษุ (วิ.อ. ๓/๗๑/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
กรรมวาจาให้อุปสมบท
[๗๒] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ
ของท่านผู้มีชื่อนี้ ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ผู้มีชื่อนี้
อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่าน
ผู้มีชื่อนี้ ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้
อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้
อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ฯลฯ
ผู้มีชื่อนี้สงฆ์ให้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องพราหมณ์บวชเพราะเห็นแก่ปากท้อง
[๗๓] สมัยนั้น ประชาชนในกรุงราชคฤห์ได้จัดลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้
พราหมณ์คนหนึ่งมีความคิดว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้มีลักษณะ
นิสัยดี ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารดี นอนในห้องมิดชิด ถ้ากระไร เราพึง
บวชในพวกสมณะเชื้อสายศากยบุตร” ต่อมา จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายได้ให้บรรพชาอุปสมบท ครั้นเขาบวชแล้ว ลำดับภัตตาหารได้ล้มเลิกไป
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “ท่าน มาเถิด บัดนี้ พวกเราจักไปบิณฑบาตกัน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมไม่ได้บวชเพราะเหตุนี้ว่า จักเที่ยวบิณฑบาต
ถ้าท่านทั้งหลายถวายผม ผมจักฉัน ถ้าไม่ถวายผม ผมจักสึก ขอรับ”
ภิกษุทั้งหลายจึงถามว่า “อาวุโส ก็ท่านบวชเพราะเหตุแห่งปากท้องหรือ”
ท่านตอบว่า “ใช่ ขอรับ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุจึงได้บวชในพระธรรมวินัยอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้ เพราะเหตุแห่ง
ปากท้องเล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่าเธอบวชเพราะเหตุ
แห่งปากท้อง จริงหรือ”
ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้บวชใน
ธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งปากท้องเล่า โมฆบุรุษ การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบทบอกนิสสัย ๔ คือ

นิสสัย ๔
๑. บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งเธอพึงทำอุตสาหะ
ในโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งนั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ สังฆภัต
อุทเทสภัต นิมันตนภัต สลากภัต ปักขิกภัต อุโปสถิกภัต ปาฏิปทิกภัต๑
๒. บรรพชาอาศัยผ้าบังสุกุล เธอพึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลนั้นจน
ตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน
ผ้าเจือกัน

เชิงอรรถ :
๑ สังฆภัต คือ ภัตตาหารถวายสงฆ์ทั้งหมด
อุทเทสภัต คือ ภัตตาหารถวายภิกษุ ๒ - ๓ รูป
นิมันตนภัต คือ ภัตตาหารที่นิมนต์แล้วถวาย
สลากภัต คือ ภัตตาหารที่นิมนต์ให้จับสลากแล้วถวาย(ตามสลาก)
ปักขิกภัต คือ ภัตตาหารถวายปักษ์(๑๕ วัน)ละ ๑ ครั้ง
อุโปสถิกภัต คือ ภัตตาหารถวายในวันอุโบสถ
ปาฏิปทิกภัต คือ ภัตตาหารถวายในวันแรม ๑ ค่ำ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗๑-๗๓/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
๓. บรรพชาอาศัยเสนาสนะคือควงไม้ เธอพึงทำอุตสาหะในเสนาสนะ
คือ ควงไม้นั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท
เรือนโล้น ถ้ำ
๔. บรรพชาอาศัยยาคือน้ำมูตรเน่า เธอพึงทำอุตสาหะในยาคือน้ำมูตร
เน่านั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
อุปัชฌายวัตตภาณวารที่ ๕ จบ
ปณามิตกถา จบ

๑๘. อาจริยวัตตกถา๑
ว่าด้วยอาจริยวัตร

เรื่องการบอกนิสสัยแก่มาณพก่อนบวช
[๗๔] สมัยนั้น มาณพคนหนึ่งเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา ภิกษุ
ทั้งหลายได้บอกนิสสัยแก่เขาก่อนบวช เขากล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ ถ้า
บวชแล้ว ท่านทั้งหลายจะพึงบอกนิสสัยแก่กระผม กระผมก็จะยินดียิ่ง บัดนี้
กระผมจักไม่บวช ขอรับ เพราะว่านิสสัยเป็นสิ่งที่น่าชังน่าเกลียดสำหรับกระผม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายไม่พึงบอกนิสสัยก่อนบวช รูปใดบอก
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกนิสสัยพออุปสมบทเสร็จ”

เรื่องให้อุปสมบทด้วยคณะ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายให้อุปสมบทด้วยคณะมีพวก ๒ บ้าง มีพวก ๓ บ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. ๗/๓๗๙-๓๘๐/๑๘๔-๑๘๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงให้อุปสมบทด้วยคณะมีพวก
หย่อน ๑๐ ภิกษุรูปใด ให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
อุปสมบทด้วยคณะมีพวก ๑๐ หรือมีพวกเกิน ๑๐ ได้”

เรื่องอุปัชฌาย์มีพรรษาเดียวให้กุลบุตรบวช
[๗๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีพรรษา ๑ บ้าง มีพรรษา ๒ บ้าง ให้
สัทธิวิหาริกอุปสมบท แม้ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรมีพรรษาเดียว ก็ให้สัทธิวิหาริก
อุปสมบท ท่านออกพรรษาแล้ว มีพรรษา ๒ ได้พาสัทธิวิหาริกมีพรรษา ๑ เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
อันการที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย
นั่นเป็นพุทธประเพณี ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันต
บุตรว่า “ภิกษุ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ เธอเดินทางมาโดยไม่
ลำบากหรือ”
ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอ
เป็นอยู่ได้ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เดินทางมาโดยไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”

พุทธประเพณี
พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่องตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบ
กาลอันควร ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัสถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัส
ถามเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็น
ประโยชน์เสียด้วยอริยมรรคแล้ว
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย สอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ
คือ จะทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่า “เธอมี
พรรษาเท่าไร ภิกษุ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ ๒ พรรษาแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุรูปนี้ มีพรรษาเท่าไร”
“มีพรรษาเดียว พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุรูปนี้ เป็นอะไรกับเธอ”
“เป็นสัทธิวิหาริกของข้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงตำหนิ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น
ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย โมฆบุรุษ
เธอยังเป็นผู้ที่ผู้อื่นจะต้องตักเตือนพร่ำสอน ไฉนจึงได้สำคัญตนเพื่อตักเตือนพร่ำสอน
ผู้อื่นเล่า เธอเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับหมู่เร็วยิ่งนัก
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีพรรษาหย่อน ๑๐ ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้
อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุมีพรรษาครบ ๑๐
หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้อุปสมบทได้”

เรื่องอุปัชฌาย์โง่เขลา
[๗๖] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า “เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษา
ครบ ๑๐” แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ให้อุปสมบท ปรากฏว่า อุปัชฌาย์เป็น
ผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นบัณฑิตก็มี อุปัชฌาย์เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็น
ผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นพหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม
สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี
แม้ภิกษุรูปหนึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ ถูกอุปัชฌาย์ว่ากล่าวโดยชอบธรรม ก็โต้
เถียงอุปัชฌาย์ไปเข้าลัทธิเดียรถีย์นั้นดังเดิม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
บรรดาภิกษุที่มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ทั้งหลายจึงได้อ้างว่า ‘เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐’ แต่เป็นผู้โง่เขลา
ไม่ฉลาด ให้อุปสมบท ปรากฏว่า อุปัชฌาย์เป็นผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นบัณฑิตก็มี
อุปัชฌาย์เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริก
เป็นพหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี” จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวก
ภิกษุได้อ้างว่า เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐ แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด
ให้อุปสมบท ปรากฏว่าอุปัชฌาย์เป็นผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์
เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็น
พหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษ
เหล่านั้นจึงได้อ้างว่า เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐ แต่เป็นผู้โง่เขลา
ไม่ฉลาด ให้อุปสมบทเล่า ปรากฏว่าอุปัชฌาย์เป็นผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นบัณฑิตก็มี
อุปัชฌาย์เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริก
เป็นพหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำของพวกโมฆบุรุษนั่น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใด
ให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถ
มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้อุปสมบทได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
เรื่องอุปัชฌาย์หลีกไป
[๗๗] สมัยนั้น เมื่ออุปัชฌาย์หลีกไปบ้าง สึกเสียบ้าง มรณภาพบ้าง ไปเข้า
รีตเดียรถีย์บ้าง ภิกษุทั้งหลายไม่มีอาจารย์ ไม่มีผู้คอยตักเตือนพร่ำสอน จึงนุ่งห่มไม่
เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายกำลังบริโภค
ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของบริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บน
ของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน
ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง
คนทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนสมณะเชื้อสายศากย
บุตรทั้งหลายจึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคน
ทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของบริโภคบ้าง
บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง
ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง เหมือนพวกพราหมณ์ในสถานที่เลี้ยง
พราหมณ์ฉะนั้นเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาอยู่ บรรดาภิกษุ
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลาย
จึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร ... ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้างเล่า” จึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวก
ภิกษุนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร ... ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

เรื่องถือนิสสัยอยู่ ๑๐ พรรษา
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน โมฆบุรุษ
เหล่านั้น ฯลฯ” ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตอาจารย์ อาจารย์จักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในอันเตวาสิกฉันบุตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
อันเตวาสิกจักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในอาจารย์ฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจารย์และ
อันเตวาสิกจักมีความเคารพยำเกรง ประพฤติกลมเกลียวกัน จักถึงความเจริญ
งอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อาศัยภิกษุ
มีพรรษา ๑๐ อยู่ อนุญาตให้ภิกษุมีพรรษา ๑๐ ให้นิสสัยได้”

วิธีถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงถืออาจารย์อย่างนี้
อันเตวาสิกนั้นพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า นั่งกระโหย่ง
ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้า
จักอาศัยท่านอยู่ ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจักอาศัย
ท่านอยู่ ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่”
อาจารย์ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา
ว่า “ดีละ” ว่า “เบาใจละ” ว่า “ชอบแก่อุบายละ” ว่า “สมควรละ” หรือว่า
“จงประพฤติปฏิบัติให้น่าเลื่อมใส” อาจารย์ชื่อว่าเป็นผู้ที่อันเตวาสิกถือแล้ว
อาจารย์ไม่ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกาย
และวาจา อาจารย์เป็นผู้ที่อันเตวาสิกยังมิได้ถือ

อาจริยวัตร
[๗๘] ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงประพฤติชอบในอาจารย์ วิธีประพฤติ
ชอบในอาจารย์นั้นมีดังนี้
อันเตวาสิกพึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า ปูอาสนะ
ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่ออาจารย์ฉันข้าวต้ม
เสร็จแล้ว พึงถวายน้ำรับภาชนะมา ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้ว
เก็บงำไว้ เมื่ออาจารย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
ถ้าอาจารย์ต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย
ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ
ถ้าอาจารย์หวังจะให้เป็นปัจฉาสมณะ พึงนุ่งให้เรียบร้อยปกปิดได้มณฑล ๓
คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน กลัดลูกดุม ล้างบาตรถือไป เป็นปัจฉา
สมณะของอาจารย์ พึงเดินไม่ให้ห่างนัก ไม่ให้ชิดนัก พึงรับบาตรที่มีของบรรจุอยู่
เมื่ออาจารย์กำลังกล่าว ไม่พึงกล่าวสอดขึ้นในระหว่าง อาจารย์กล่าวถ้อยคำ
ใกล้ต่ออาบัติ พึงห้ามเสีย
เมื่ออาจารย์จะกลับ พึงมาก่อนแล้วปูอาสนะไว้ พึงเตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรอง
เท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งอาศัย รับผ้านุ่งมา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะ
พับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ
พึงม้วนประคดเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และอาจารย์ต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วน้อมบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่ออาจารย์ฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา
ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้
ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งจับบาตร ใช้มือข้าง
หนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
เมื่ออาจารย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอาจารย์ต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำเย็น
พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
ถ้าอาจารย์ต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับเรือน
ไฟเดินตามหลังอาจารย์ไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟแล้วรับจีวรมาวาง ณ ที่สมควร
จึงถวายจุรณและดิน
ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้า
และหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ
พึงทำบริกรรมแก่อาจารย์ในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟปิดหน้าและหลัง จึงออกจากเรือนไฟ
พึงทำบริกรรมแก่อาจารย์แม้ในน้ำ ตนสรงน้ำเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัวให้
แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวอาจารย์ ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ นำ
น้ำฉัน มาถวายอาจารย์
ถ้าอาจารย์ต้องการจะให้เรียน พึงเรียน
ถ้าอาจารย์ต้องการจะให้สอบถามอรรถ พึงสอบถาม
อาจารย์อยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด
เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร
พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวาง ณ ที่สมควร
เตียง ตั่ง อันเตวาสิกพึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบบานประตู
และกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน พนักพิง
พึงขนออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม ค่อยขนออก
มาวาง ณ ที่สมควร
ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและ
มุมห้องพึงเช็ด
ถ้าฝาที่เขาทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา ควรใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด
ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง
พึงคัดหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึง
ผึ่งแดด เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม
เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้า
ปูนอน พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึง
ผึ่งแดด เช็ดถู ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎี รก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าอาจารย์เกิดความไม่ยินดี อันเตวาสิกพึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมีกถาแก่อาจารย์
ถ้าอาจารย์เกิดความรำคาญ อันเตวาสิกพึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมีกถาแก่อาจารย์
ถ้าอาจารย์เกิดความเห็นผิด อันเตวาสิกพึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยให้สละเสีย หรือพึงแสดงธรรมีกถาแก่อาจารย์
ถ้าอาจารย์ต้องอาบัติหนัก ควรแก่ปริวาส อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อาจารย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
ถ้าอาจารย์ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอาจารย์เข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าอาจารย์ควรแก่มานัต อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร
หนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อาจารย์”
ถ้าอาจารย์ควรแก่อัพภาน อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร
หนอ สงฆ์พึงอัพภานอาจารย์”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแก่อาจารย์ อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อาจารย์หรือพึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา”
หรือว่าอาจารย์ ได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณีย
กรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร
หนอ อาจารย์พึงกลับประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับ
กรรมนั้นเสีย”
ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องซัก อันเตวาสิกพึงซัก หรือพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของอาจารย์”
ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องตัดเย็บ อันเตวาสิกพึงตัดเย็บ หรือพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของอาจารย์”
ถ้าน้ำย้อมของอาจารย์จะต้องต้ม อันเตวาสิกพึงต้ม หรือพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของอาจารย์”
ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องย้อม อันเตวาสิกพึงย้อม หรือพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของอาจารย์” เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อม
พลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงหลีกไป
อันเตวาสิกไม่บอกอาจารย์ ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตรของ
ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้
บริขารแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบริขารของภิกษุบางรูป ไม่พึงโกนผมให้ภิกษุบางรูป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปโกนผมให้ ไม่พึงทำบริกรรมแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุ
บางรูปทำบริกรรมให้ ไม่พึงทำการขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งภิกษุบาง
รูปให้ทำการขวนขวาย ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป ไม่พึงพาภิกษุบาง
รูปไปเป็นปัจฉาสมณะ ไม่พึงนำบิณฑบาตไปถวายภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งภิกษุบาง
รูปให้นำบิณฑบาตไปถวาย
อันเตวาสิกไม่บอกลาอาจารย์ ไม่พึงเข้าหมู่บ้าน ไม่พึงไปป่าช้า ไม่พึงออก
ไปต่างถิ่น ถ้าอาจารย์เป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอาจารย์นั้น
จะหาย
อาจริยวัตตกถา จบ

๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา๑
ว่าด้วยอันเตวาสิกวัตร
[๗๙] ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประพฤติชอบในอันเตวาสิก วิธีประพฤติชอบ
ในอันเตวาสิกนั้น มีดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงสงเคราะห์อนุเคราะห์อันเตวาสิก ด้วยอุทเทส
ปริปุจฉา โอวาท และอนุศาสน์
ถ้าอาจารย์มีบาตร อันเตวาสิกไม่มีบาตร อาจารย์พึงถวายบาตรแก่อันเตวาสิก
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บาตรพึงเกิดขึ้นแก่อันเตวาสิก”
ถ้าอาจารย์มีจีวร อันเตวาสิกไม่มีจีวร อาจารย์พึงถวายจีวรแก่อันเตวาสิก หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ จีวรพึงเกิดขึ้นแก่อันเตวาสิก”
ถ้าอาจารย์มีบริขาร อันเตวาสิกไม่มีบริขาร อาจารย์พึงถวายบริขารแก่
อันเตวาสิก หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บริขารพึงเกิดขึ้น
แก่อันเตวาสิก”

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. ๗/๓๘๑-๓๘๒/๑๘๙-๑๙๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ถ้าอันเตวาสิกเป็นไข้ อาจารย์พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า
ปูอาสนะ
ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่ออันเตวาสิกฉันข้าวต้ม
เสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับภาชนะมาถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเก็บงำไว้
เมื่ออันเตวาสิกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอันเตวาสิกต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย
ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ ปู
อาสนะไว้ โดยกำหนดว่า “เวลาเพียงเท่านี้ อันเตวาสิกจักกลับมา” พึงเตรียมน้ำ
ล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้า
นุ่งอาศัย รับผ้านุ่งมา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะ
พับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ
พึงม้วนประคดเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และอันเตวาสิกต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วนำบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่ออันเตวาสิกฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำรับบาตร
มา ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึง
ผึ่งทิ้งไว้ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ในจึงเก็บจีวร
เมื่ออันเตวาสิกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอันเตวาสิกต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าเธอต้องการน้ำเย็น
พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าเธอต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ถ้าอันเตวาสิกต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟเดินไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วรับจีวรมาวาง ณ ที่สมควร พึงถวาย
จุรณและดิน
ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้า
และหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ
พึงทำบริกรรมแก่อันเตวาสิกในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟปิดหน้าและหลัง จึงออกจากเรือนไฟ
พึงทำบริกรรมแก่อันเตวาสิกแม้ในน้ำ ตนสรงเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัวให้
แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวอันเตวาสิก ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่ง
สำหรับเรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้อง
เช็ดเท้าไว้ นำน้ำฉันมาถวายอันเตวาสิก
อันเตวาสิกอยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด
เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร
พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร
เตียง ตั่ง อาจารย์พึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบบานประตู
และกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน พนักพิง
พึงขน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม ค่อยขนออก
มาวางไว้ ณ ที่สมควร
ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุมห้อง
พึงเช็ด
ถ้าฝาที่ทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด
ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง
พึงเก็บหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร
พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึง
ผึ่งแดด เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม
เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบหน้าต่าง ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ปูนอน พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึง
ผึ่งแดด เช็ดถู ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎีรก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าอันเตวาสิกเกิดความไม่ยินดี อาจารย์พึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อันเตวาสิก
ถ้าอันเตวาสิกเกิดความรำคาญ อาจารย์พึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อันเตวาสิก
ถ้าอันเตวาสิกเกิดความเห็นผิด อาจารย์พึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยสละเสีย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อันเตวาสิก
ถ้าอันเตวาสิกต้องอาบัติหนัก ควรแก่ปริวาส อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อันเตวาสิก”
ถ้าอันเตวาสิกควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอันเตวาสิกเข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าอันเตวาสิกควรแก่มานัต อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อันเตวาสิก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ถ้าอันเตวาสิกควรแก่อัพภาน อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอันเตวาสิก”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแก่อันเตวาสิก อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อันเตวาสิกหรือพึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา”
หรือว่าอันเตวาสิกถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณีย
กรรม หรืออุเขปนียกรรมแล้ว อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร
หนอ อันเตวาสิกพึงกลับประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับ
กรรมนั้นเสีย”
ถ้าจีวรของอันเตวาสิกจะต้องซัก อาจารย์พึงบอกว่า “พึงซักอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของอันเตวาสิก”
ถ้าจีวรของอันเตวาสิก จะต้องตัดเย็บ อาจารย์พึงบอกว่า “พึงตัดเย็บอย่างนี้”
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของ
อันเตวาสิก”
ถ้าน้ำย้อมของอันเตวาสิกจะต้องต้ม อาจารย์พึงบอกว่า “พึงต้มอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของ
อันเตวาสิก”
ถ้าจีวรของอันเตวาสิกจะต้องย้อม อาจารย์พึงบอกว่า “พึงย้อมอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของอันเตวาสิก”
เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย
ไม่พึงหลีกไป
ถ้าอันเตวาสิกเป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอันเตวาสิกนั้น
จะหาย
อันเตวาสิกวัตตกถา จบ
ภาณวารที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๐. ปฌามนาขมาปนา
๒๐. ปณามนาขมาปนา
ว่าด้วยการประณามและการขอขมา

เรื่องอันเตวาสิกไม่ประพฤติชอบ
[๘๐] สมัยนั้น พวกอันเตวาสิกไม่ประพฤติชอบในอาจารย์ทั้งหลาย ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกจะไม่
ประพฤติชอบในอาจารย์ไม่ได้ รูปใดไม่ประพฤติชอบ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงอนุญาตให้ประณาม
อันเตวาสิกทั้งหลายก็ยังไม่ประพฤติชอบอยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประณามอันเตวาสิก
ผู้ไม่ประพฤติชอบ”

วิธีประณาม
ภิกษุทั้งหลาย ก็อาจารย์พึงประณามอันเตวาสิกอย่างนี้ว่า “ฉันประณามเธอ”
หรือ “เธออย่าเข้ามาที่นี้” “เธอ จงขนบาตรและจีวรของเธอไป” หรือ “เธอไม่ต้อง
อุปัฏฐากฉัน”
อาจารย์ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา
เป็นอันได้ประณามอันเตวาสิกแล้ว อาจารย์ไม่ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วย
วาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา เป็นอันยังมิได้ประณามอันเตวาสิก”

อันเตวาสิกไม่ขอขมา
สมัยนั้น อันเตวาสิกทั้งหลายถูกประณามแล้ว ก็ยังไม่ยอมขอขมาอาจารย์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๐. ปฌามนาขมาปนา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อันเตวาสิกขอขมา
อาจารย์”
อันเตวาสิกทั้งหลายก็ยังไม่ยอมขอขมาอาจารย์อยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกถูกประณามแล้ว จะไม่ขอ
ขมาอาจารย์ไม่ได้ รูปใดไม่ขอขมา ต้องอาบัติทุกกฏ”

อาจารย์ไม่รับการขอขมา
สมัยนั้น อาจารย์ทั้งหลายถูกอันเตวาสิกขอขมา ก็ยังไม่ยอมให้ขมา ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อาจารย์รับการขอขมา”
อาจารย์ทั้งหลายก็ยังไม่ยอมให้ขมาอยู่เช่นเดิม พวกอันเตวาสิกพากันหลีกไป
เสียบ้าง สึกเสียบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์เสียบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ผู้ที่อันเตวาสิกขอขมาจะไม่
รับการขอขมาไม่ได้ รูปใดไม่รับการขอขมา ต้องอาบัติทุกกฏ”

ทรงปรับทุกกฏเมื่อประณามไม่ถูกต้อง
สมัยนั้น อาจารย์ทั้งหลายประณามอันเตวาสิกผู้ประพฤติชอบ ไม่ประณาม
อันเตวาสิกผู้ประพฤติมิชอบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประพฤติชอบ อาจารย์
ไม่พึงประณาม รูปใดประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ไม่
ประพฤติชอบ อาจารย์จะไม่ประณามไม่ได้ รูปใดไม่ประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๐. ปฌามนาขมาปนา
องค์แห่งการประณาม
[๘๑] ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ไม่พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ไม่พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรที่จะถูกประณาม คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ควรที่จะถูกประณาม
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรที่จะถูกประณาม คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๐. ปณามนาขมาปนา
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ไม่ควรที่จะถูก
ประณาม
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เมื่ออาจารย์ไม่ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อประณามย่อมไม่มีโทษ คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เมื่ออาจารย์
ไม่ประณาม ย่อมมีโทษ เมื่อประณามย่อมไม่มีโทษ
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เมื่ออาจารย์ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อไม่ประณาม ย่อมไม่มีโทษ คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เมื่ออาจารย์ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อไม่ประณาม ย่อมไม่มีโทษ
ปณามนาขมาปนา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๑. พาลอัพยัตตวัตถุ
๒๑. พาลอัพยัตตวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุโง่ไม่ฉลาด

เรื่องอาจารย์โง่เขลา
[๘๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า “เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษา
ครบ ๑๐” แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ให้นิสสัย ปรากฏว่า อาจารย์เป็นผู้โง่เขลา
อันเตวาสิกเป็นบัณฑิตก็มี อาจารย์เป็นผู้ไม่ฉลาด อันเตวาสิกเป็นผู้ฉลาดก็มี อาจารย์
มีสุตะน้อย อันเตวาสิกเป็นพหูสูตก็มี อาจารย์มีปัญญาทราม อันเตวาสิกมีปัญญาดีก็มี
บรรดาภิกษุผู้มีความมักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉน ภิกษุทั้งหลายจึงได้อ้างว่า ‘เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐’ แต่
เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ให้นิสสัยปรากฏว่า อาจารย์เป็นผู้โง่เขลา อันเตวาสิกเป็น
บัณฑิตก็มี อาจารย์เป็นผู้ไม่ฉลาด อันเตวาสิกเป็นผู้ฉลาดก็มี อาจารย์มีสุตะน้อย
อันเตวาสิกเป็นพหูสูตก็มี อาจารย์มีปัญญาทราม อันเตวาสิกมีปัญญาดีก็มี” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวก
ภิกษุได้อ้างว่า ‘เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐’ แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด
ให้นิสสัย ปรากฏว่า อาจารย์เป็นผู้โง่เขลา ... อันเตวาสิกมีปัญญาดีก็มี จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้โง่เขลา
ไม่ฉลาด ไม่พึงให้นิสสัย รูปใดให้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ภิกษุผู้ฉลาดสามารถ มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้นิสสัยได้”
พาลอัพยัตตวัตถุ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๒. นิสสยปฏิปัสสัทธิกถา
๒๒. นิสสยปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยการระงับนิสสัย

เรื่องนิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์และอาจารย์
[๘๓] สมัยนั้น เมื่ออุปัชฌาย์และอาจารย์หลีกไปก็ดี สึกเสียก็ดี มรณภาพ
ก็ดี ไปเข้ารีตเดียรถีย์ก็ดี ภิกษุทั้งหลายไม่รู้ว่านิสสัยระงับ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์ ๕ ประการ
เหล่านี้ คือ

๑. อุปัชฌาย์หลีกไป ๒. อุปัชฌาย์สึก
๓. อุปัชฌาย์มรณภาพ ๔. อุปัชฌาย์ไปเข้ารีตเดียรถีย์
๕. อุปัชฌาย์สั่งบังคับ

ภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์ ๕ ประการเหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอาจารย์ ๖ ประการเหล่านี้ คือ

๑. อาจารย์หลีกไป ๒. อาจารย์สึก
๓. อาจารย์มรณภาพ ๔. อาจารย์ไปเข้ารีตเดียรถีย์
๕. อาจารย์สั่งบังคับ ๖. สัทธิวิหาริก์ไปเข้าร่วมกับ
อุปัชฌาย์๑

ภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอาจารย์ ๖ ประการเหล่านี้
นิสสยปฏิปัสสัทธิกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไปเข้าร่วมกับอุปัชฌาย์ คือเมื่อสัทธิวิหาริกได้พบเห็นอุปัชฌาย์เที่ยวบิณฑบาต ได้ยินอุปัชฌาย์แสดง
ธรรมจำเสียงอุปัชฌาย์ได้นิสสัยระงับจากอาจารย์ (วิ.อ. ๓/๘๓/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
ว่าด้วยองค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ควรให้อุปสมบท ๑๖ หมวด

เรื่องภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕
กัณหปักษ์ ฝ่ายดำ ๑
[๘๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้
นิสสัย๑ ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑)

สุกกปักษ์ ฝ่ายขาว ๑
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่พึงให้อุปสมบท คือ ไม่พึงเป็นอุปัชฌาย์ให้ใคร ๆ อุปสมบท ไม่พึงให้นิสสัย คือ ไม่พึงเป็นอาจารย์ให้
นิสสัย (วิ.อ. ๓/๘๔/๔๘)
๒ สีลขันธ์อันเป็นอเสขะเป็นต้น หมายถึงสีล สมาธิ ปัญญา ผล และปัจจเวกขณญาณ ของพระอรหันต์
(วิ.อ. ๓/๘๔/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
๕. ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๒)

กัณหปักษ์ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ตนเองไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่นใน
สีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ตนเองไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ตนเองไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ตนเองไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ตนเองไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่
ชักชวนผู้อื่นในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๓)

สุกกปักษ์ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ตนเองประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นในสีลขันธ์
อันเป็นอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
๒. ตนเองประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
สมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ตนเองประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
ปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ตนเองประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
วิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ตนเองประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวน
ผู้อื่นในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๔)

กัณหปักษ์ ๓
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ไม่มีหิริ
๓. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้เกียจคร้าน
๕. เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๕)

สุกกปักษ์ ๓
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีหิริ
๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร
๕. เป็นผู้มีสติตั้งมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๖)

กัณหปักษ์ ๔
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้มีสีลวิบัติในอธิสีล ๒. เป็นผู้มีอาจารวิบัติในอัชฌาจาร
๓. เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ๑ ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังน้อย
๕. เป็นผู้มีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๗)

สุกกปักษ์ ๔
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้ไม่มีสีลวิบัติในอธิสีล ๒. เป็นผู้ไม่มีอาจารวิบัติในอัชฌาจาร
๓. เป็นผู้ไม่มีทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
๕. เป็นผู้มีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๘)

เชิงอรรถ :
๑ มีสีลวิบัติในอธิสีล หมายถึงเป็นผู้ต้องอาบัติปาราชิกและอาบัติสังฆาทิเสส
อาจารวิบัติในอัชฌาจาร หมายถึงเป็นผู้ต้องอาบัติ ๕ กองที่เหลือ (คืออาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์
อาบัติปาฎิเทสนียะ อาบัติทุกกฏ และอาบัติทุพพาสิต)และยังมิได้พ้นจากอาบัติ
ทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ หมายถึงเป็นผู้ละสัมมาทิฏฐิแล้วยึดถืออนัตคาหิกทิฏฐิ (วิ.อ. ๓/๘๔/๔๘๙, สารตฺถ.
ฏีกา ๓/๘๔/๒๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
กัณหปักษ์ ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่สามารถพยาบาลเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นพยาบาลอันเตวาสิกหรือ
สัทธิวิหาริกผู้เป็นไข้
๒. ไม่สามารถระงับเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยระงับความกระสัน
๓. ไม่สามารถบรรเทาเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยบรรเทาความเบื่อหน่าย
ที่เกิดขึ้นโดยธรรม
๔. ไม่รู้จักอาบัติ
๕. ไม่รู้จักวิธีออกจากอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๙)

สุกกปักษ์ ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. สามารถพยาบาลเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นพยาบาลอันเตวาสิก หรือ
สัทธิวิหาริกผู้เป็นไข้
๒. สามารถระงับเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยระงับความกระสัน
๓. สามารถบรรเทาเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยบรรเทาความเบื่อหน่ายที่
เกิดขึ้นโดยธรรม
๔. รู้จักอาบัติ
๕. รู้จักวิธีออกจากอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก (๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
กัณหปักษ์ ๖
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่สามารถฝึกปรืออันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกในอภิสมาจาริกาสิกขา๑
๒. ไม่สามารถแนะนำในอาทิพรหมจริยกาสิกขา๒
๓. ไม่สามารถแนะนำในอภิธรรม๓
๔. ไม่สามารถแนะนำในอภิวินัย๔
๕. ไม่สามารถเปลื้องความเห็นผิดอันเกิดขึ้นได้โดยธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๑)

สุกกปักษ์ ๖
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. สามารถฝึกปรืออันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกในอภิสมาจาริกาสิกขา
๒. สามารถแนะนำในอาทิพรหมจริกาสิกขา
๓. สามารถแนะนำในอภิธรรม
๔. สามารถแนะนำในอภิวินัย
๕. สามารถเปลื้องความเห็นผิดอันเกิดขึ้นได้โดยธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๒)

เชิงอรรถ :
๑ อภิมาจาริกาสิกขา คือ หลักการศึกษาเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติ ที่แสดงไว้ในหมวดขันธกวัตร (วิ.อ.
๓/๘๔/๔๙
๒ อาทิพรหมจริยกาสิกขา คือ หลักการศึกษาเกี่ยวกับบัญญัติเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ หมายถึง
สิกขาบทที่มาในภิกขุปาติโมกข์และภิกขุนีปาติโมกข์ เป็นเสกขบัญญัติที่สงฆ์ต้องยกขึ้นแสดงทุกครึ่งเดือน
(วิ.อ. ๓/๘๔/๔๙, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๔/๒๙๒)
๓ อภิธรรม คือ หลักการที่ว่าด้วยการกำหนดนามรูป (วิ.อ. ๓/๘๔/๔๙)
๔ อภิวินัย คือ หลักการในพระวินัยปิฎกทั้งสิ้น (วิ.อ. ๓/๔๘/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
กัณหปักษ์ ๗
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่รู้จักอาบัติ ๒. ไม่รู้จักอนาบัติ
๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา ๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก
๕. จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารไม่ได้ดี จำแนกไม่ได้ดี ไม่คล่องแคล่วดี
วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะไม่ได้ดี
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๓)

สุกกปักษ์ ๗
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. รู้จักอาบัติ ๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักอาบัติเบา ๔. รู้จักอาบัติหนัก
๕. จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารได้ดี จำแนกได้ดี คล่องแคล่วดี วินิจฉัย
โดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะได้ดี
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๔)

กัณหปักษ์ ๘
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่รู้จักอาบัติ ๒. ไม่รู้จักอนาบัติ
๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา ๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก
๕. มีพรรษาหย่อน ๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๕)

สุกกปักษ์ ๘
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. รู้จักอาบัติ ๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักอาบัติเบา ๔. รู้จักอาบัติหนัก
๕. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๖)
อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ ๑๖ หมวด จบ

๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
ว่าด้วยองค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ควรให้อุปสมบท ๑๔ หมวด

เรื่องภิกษุประกอบด้วยองค์ ๖

กัณหปักษ์ ๑
[๘๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้
นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
๓. ไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
๖. มีพรรษาหย่อน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑)

สุกกปักษ์ ๑
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๒)

กัณหปักษ์ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ตนเองไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่นใน
สีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ตนเองไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
๓. ตนเองไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ตนเองไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ตนเองไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่
ชักชวนผู้อื่นในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
๖. มีพรรษาหย่อน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๓)

สุกกปักษ์ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ตนเองประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
สีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ตนเองประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
สมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ตนเองประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
ปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ตนเองประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
วิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ตนเองประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวน
ผู้อื่นในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย
พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
กัณหปักษ์ ๓
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ไม่มีหิริ
๓. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้เกียจคร้าน
๕. เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน ๖. มีพรรษาหย่อน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๕)

สุกกปักษ์ ๓
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีหิริ
๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร
๕. เป็นผู้มีสติตั้งมั่น ๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษา
เกิน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๖)

กัณหปักษ์ ๔
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ

๑. เป็นผู้มีสีลวิบัติในอธิสีล ๒. เป็นผู้มีอาจารวิบัติในอัชฌาจาร
๓. เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ๑ ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังน้อย


เชิงอรรถ :
๑ มีสีลวิบัติในอธิสีล อาจารวิบัติในอัชฌาจาร ทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ ดูข้อ ๘๔ หน้า ๑๒๖ (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
๕. เป็นผู้มีปัญญาทราม ๖. มีพรรษาหย่อน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๗)

สุกกปักษ์ ๔
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย
พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ

๑. เป็นผู้ไม่มีสีลวิบัติในอธิสีล ๒. เป็นผู้ไม่มีอาจารวิบัติในอัชฌาจาร
๓. เป็นผู้ไม่มีทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
๕. เป็นผู้มีปัญญา ๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษา
เกิน ๑๐

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท
พึงให้นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๘)

กัณหปักษ์ ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่สามารถพยาบาลเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยพยาบาลอันเตวาสิกหรือ
สัทธิวิหาริกผู้เป็นไข้
๒. ไม่สามารถระงับเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยระงับความกระสัน
๓. ไม่สามารถบรรเทาเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยบรรเทาความเบื่อหน่ายที่เกิด
ขึ้นโดยธรรม
๔. ไม่รู้จักอาบัติ
๕. ไม่รู้จักวิธีออกจากอาบัติ
๖. มีพรรษาหย่อน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
สุกกปักษ์ ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย
พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. สามารถพยาบาลเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยพยาบาลอันเตวาสิกหรือ
สัทธิวิหาริกผู้เป็นไข้
๒. สามารถระงับเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยระงับความกระสัน
๓. สามารถบรรเทาเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยบรรเทาความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้น
โดยธรรม
๔. รู้จักอาบัติ
๕. รู้จักวิธีออกจากอาบัติ
๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท
พึงให้นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๐)

กัณหปักษ์ ๖
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่สามารถฝึกปรืออันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกในอภิสมาจาริกาสิกขา
๒. ไม่สามารถแนะนำในอาทิพรหมจาริกาสิกขา
๓. ไม่สามารถแนะนำในอภิธรรม
๔. ไม่สามารถแนะนำในอภิวินัย
๕. ไม่สามารถเปลื้องความเห็นผิดอันเกิดขึ้นได้โดยธรรม
๖. มีพรรษาหย่อน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
สุกกปักษ์ ๖
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย
พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. สามารถฝึกปรืออันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกในอภิสมาจาริกาสิกขา
๒. สามารถแนะนำในอาทิพรหมจาริกาสิกขา
๓. สามารถแนะนำในอภิธรรม
๔. สามารถแนะนำในอภิวินัย
๕. สามารถเปลื้องความเห็นผิดอันเกิดขึ้นได้โดยธรรม
๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท
พึงให้นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๒)

กัณหปักษ์ ๗
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่รู้จักอาบัติ
๒. ไม่รู้จักอนาบัติ
๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา
๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก
๕. จำปาติโมกข์ทั้งสอง๑โดยพิสดารไม่ได้ดี จำแนกไม่ได้ดี ไม่คล่องแคล่วดี
วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะไม่ได้ดี
๖. มีพรรษาหย่อน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๓)

เชิงอรรถ :
๑ ปาติโมกข์ทั้งสอง หมายถึงอุภโตวิภังค์ คือ ภิกขุปาติโมกข์และภิกขุนีปาติโมกข์ (วิ.อ. ๓/๘๕/๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๕. อัญญติตถิยปุพพกถา
สุกกปักษ์ ๗
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย
พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. รู้จักอาบัติ
๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักอาบัติเบา
๔. รู้จักอาบัติหนัก
๕. จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารได้ดี จำแนกได้ดี คล่องแคล่วดี
วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะได้ดี
๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท
พึงให้นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๔)
อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ ๑๔ หมวด จบ

๒๕. อัญญติตถิยปุพพกถา
ว่าด้วยภิกษุผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์

ติตถิยปริวาส
[๘๖] สมัยนั้น ภิกษุผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ถูกพระอุปัชฌาย์ว่ากล่าวโดยชอบธรรม
ได้โต้เถียงพระอุปัชฌาย์ ไปเข้ารีตเดียรถีย์ดังเดิมแล้วกลับมาขออุปสมบทกับภิกษุอีก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เคยเป็นอัญเดียรถีย์ถูกพระ
อุปัชฌาย์ว่ากล่าวโดยชอบธรรม ได้โต้เถียงพระอุปัชฌาย์ ไปเข้ารีตเดียรถีย์ดังเดิม
มาแล้ว สงฆ์ไม่พึงให้อุปสมบท ภิกษุทั้งหลาย แม้ผู้อื่นที่เคยเป็นอัญเดียรถีย์ หวัง
บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ พึงให้ผู้นั้นอยู่ปริวาส ๔ เดือน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๕. อัญญติตถิยปุพพกถา
วิธีให้ติตถิยปริวาส
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงให้ติตถิยปริวาสอย่างนี้ ก่อนอื่นพึงให้กุลบุตรที่เคย
เป็นอัญเดียรถีย์ปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสายะ ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย ให้นั่งกระโหย่ง ให้ประนมมือแล้วสั่งว่า “เธอจงกล่าวอย่างนี้”
แล้วให้ว่าสรณคมน์ดังนี้

ไตรสรณคมน์
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ข้าพเจ้า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ข้าพเจ้า ขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้า ขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพเจ้า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพเจ้า ขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรที่เคยเป็นอัญเดียรถีย์นั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียง
บ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวคำขอติตถิย
ปริวาสอย่างนี้ว่า

คำขอติตถิยปริวาสและกรรมวาจาให้ติตถิยปริวาส
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีชื่อนี้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ หวังอุปสมบทในพระธรรม
วินัยนี้ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้านั้นขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๕. อัญญติตถิยปุพพกถา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ หวัง
อุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว
พึงให้ปริวาส ๔ เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้ซึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เคยเป็นอัญเดียรถีร์ หวังอุปสมบท
ในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์ สงฆ์ให้ปริวาส ๔ เดือนแก่ผู้มีชื่อ
นี้ซึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ปริวาส ๔ เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้
ซึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ปริวาส ๔ เดือน สงฆ์ให้แล้วแก่ผู้มีชื่อนี้ซึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
[๘๗] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี
อย่างนี้ เป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้

ข้อปฏิบัติที่มิให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
อย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เข้าหมู่บ้านเช้าเกินไป
กลับสายเกินไป๑ แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้มีหญิง
แพศยาเป็นโคจร๒ มีหญิงม่ายเป็นโคจร มีสาวเทื้อเป็นโคจร มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร
หรือมีภิกษุณีเป็นโคจร แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี

เชิงอรรถ :
๑ เข้าหมู่บ้านเช้าเกินไป หมายถึงเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน ในเวลาที่ภิกษุทั้งหลายทำวัตร
กลับสายเกินไป หมายถึงมัวแต่คุยเรื่องของชาวบ้านกับสตรี บุรุษ เด็กชาย และเด็กหญิงเป็นต้นในตระกูล
ทั้งหลาย ฉันในตระกูลเหล่านั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรและจีวรแล้วเรียนบาลีและอรรถกถาอยู่ หรือ
หลีกเร้นอยู่ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ผู้นั้นจึงกลับมาไม่ทำอุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร เข้าไปที่พักแล้ว
นอน (วิ.อ. ๓/๘๗/๕๑)
๒ มีหญิงแพศยาเป็นโคจร หมายถึงไปมาหาสู่หญิงแพศยาด้วยปรารถนาความเป็นมิตร มีความคุ้นเคยกับ
หญิงแพศยา (วิ.อ. ๓/๘๗/๕๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๗/๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๕. อัญญติตถิยปุพพกถา
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้ไม่ขยัน
เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ไม่ประกอบด้วยปัญญา
เครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานเหล่านั้น ไม่อาจทำ ไม่อาจจัด แม้เช่นนี้
ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้ไม่มีฉันทะ
แรงกล้าในอุทเทส ในปริปุจฉา๑ ในอธิสีล อธิจิต อธิปัญญา แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็น
ผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ออกจากลัทธิ
ของครูใด เมื่อมีผู้กล่าวติเตียนครูนั้น กล่าวติเตียนความเห็นของครูนั้น ความ
ชอบใจของครูนั้น ความพอใจของครูนั้น ความยึดถือของครูนั้น ก็โกรธ ไม่พอใจ
ไม่ชอบใจ เมื่อมีผู้กล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับพอใจ
ร่าเริง ชอบใจ ก็หรือออกจากลัทธิของครูใด เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญครูนั้น กล่าว
สรรเสริญความเห็นของครูนั้น ความชอบใจของครูนั้น ความพอใจของครูนั้น
ความยึดถือของครูนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ เมื่อกล่าวสรรเสริญพระพุทธ
พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวน
ในข้อปฏิบัติที่ไม่ชวนให้สงฆ์ยินดีของกุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์
ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
อย่างนี้ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้มาแล้ว ไม่พึงให้
อุปสมบท

ข้อปฏิบัติที่ให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์นี้ เข้าหมู่บ้านไม่เช้านัก
กลับไม่สายนัก แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี

เชิงอรรถ :
๑ อุทเทส หมายถึงการเรียนบาลี
ปริปุจฉา หมายถึงอรรถกถา (วิ.อ. ๓/๘๗/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๕. อัญญติตถิยปุพพกถา
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ไม่เป็นผู้มีหญิง
แพศยาเป็นโคจร ไม่มีหญิงม่ายเป็นโคจร ไม่มีสาวเทื้อเป็นโคจร ไม่มีบัณเฑาะก์
เป็นโคจร หรือไม่มีภิกษุณีเป็นโคจร แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้ขยัน
ไม่เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญา
เครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานเหล่านั้น อาจทำ อาจจัด แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่า
เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้มีฉันทะ
แรงกล้าในอุทเทส ในปริปุจฉา ในอธิสีล อธิจิต อธิปัญญา แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้
ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ออกจากลัทธิของ
ครูใด เมื่อมีผู้กล่าวติเตียนครูนั้น กล่าวติเตียนความเห็นของครูนั้น ความชอบใจ
ของครูนั้น ความพอใจของครูนั้น ความยึดถือของครูนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ
เมื่อเขากล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ
ก็หรือออกจากลัทธิของครูใด เมื่อเขากล่าวสรรเสริญครูนั้น กล่าวสรรเสริญความ
เห็นของครูนั้น ความชอบใจของครูนั้น ความพอใจของครูนั้น ความยึดถือของ
ครูนั้น ย่อมโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เมื่อเขากล่าวสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม
หรือพระสงฆ์ ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวนในข้อปฏิบัติที่ชวน
ให้สงฆ์ยินดีของกุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์
ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้
กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้ มาแล้ว พึงให้อุปสมบท

เรื่องอัญเดียรถีย์เปลือยไม่โกนผม
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์เปลือยกายมา พึงแสวงหาจีวร
ซึ่งมีอุปัชฌาย์เป็นเจ้าของ ถ้ายังไม่ปลงผมมา สงฆ์พึงอปโลกน์เพื่อปลงผม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๖. ปัญจาพาธวัตถุ
เรื่องชฎิลบูชาไฟ
ภิกษุทั้งหลาย พวกชฎิลบูชาไฟมาแล้ว พึงให้อุปสมบท ไม่ต้องให้ปริวาสแก่
พวกเธอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชฎิลเหล่านั้นเป็นกรรมวาที เป็นกิริยวาที๑

เรื่องอัญเดียรถีย์ศากยะ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าศากยะโดยกำเนิดเคยเป็นอัญเดียรถีย์มา ศากยะนั้นมาแล้ว
พึงให้อุปสมบท ไม่ต้องให้ปริวาสแก่ศากยะนั้น เราให้สิทธิพิเศษส่วนนี้เฉพาะแก่หมู่
ญาติ
อัญญติตถิยปุพพกถา จบ
ภาณวารที่ ๗ จบ

๒๖. ปัญจาพาธวัตถุ
ว่าด้วยอาพาธ ๕ ชนิด

เรื่องอันตรายิกธรรม
[๘๘] สมัยนั้น ในแคว้นมคธเกิดโรคระบาดขึ้น ๕ ชนิด คือ (๑) โรคเรื้อน
(๒) โรคฝี (๓) โรคกลาก (๔) โรคมองคร่อ๒ (๕) โรคลมบ้าหมู พวกมนุษย์ถูกโรค ๕
ชนิดเบียดเบียน พากันไปหาหมอชีวกโกมารภัจ กล่าวว่า “ขอโอกาส คุณหมอ
ช่วยรักษาพวกข้าพเจ้าด้วยเถิด”
หมอชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ผมมีกิจมาก มีงานต้องทำมาก
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ พระสนมและภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
ผมก็ต้องพยาบาล ผมไม่สามารถรักษาได้”
มนุษย์เหล่านั้นกล่าวว่า “คุณหมอ ทรัพย์สมบัติยกให้ท่านทั้งหมด ทั้งพวก
ข้าพเจ้ายอมเป็นทาสของท่าน ขอโอกาส ขอความกรุณารักษาพวกข้าพเจ้าด้วยเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า “กรรมมีอยู่ ผลของกรรมมีอยู่ ” (วิ.อ. ๓/๘๗/๕๕)
๒ โรคมองคร่อ คือโรคหลอดลมโป่งพอง มีเสมหะแห้งอยู่ในช่องหลอดลม ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง ห้ามผู้ที่
เป็นโรคนี้บวชเป็นภิกษุ(พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๖. ปัญจาพาธวัตถุ
หมอชีวกโกมารภัจตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมมีกิจมาก มีงานต้องทำมาก
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ นางสนมและภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
ผมก็ต้องพยาบาล ผมไม่สามารถรักษา (พวกท่าน) ได้”
ขณะนั้น มนุษย์เหล่านั้นมีความคิดดังนี้ว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
เหล่านี้มีลักษณะนิสัยดี ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารดี นอนในห้องมิดชิด
ถ้ากระไรพวกเราพึงบรรพชาในพวกสมณะเชื้อสายศากยบุตร ในที่นั้นภิกษุทั้งหลาย
จักพยาบาลและหมอชีวกโกมารภัจจักรักษา” ต่อมา จึงเข้าไปขอบรรพชา ภิกษุ
ทั้งหลาย ได้ให้บรรพชาให้อุปสมบท
พวกภิกษุก็ต้องพยาบาลและหมอชีวกโกมารภัจก็ต้องรักษาพวกเขา
ครั้นต่อมา ภิกษุทั้งหลายพยาบาลภิกษุไข้เป็นอันมาก เป็นผู้มากด้วยการขอ
มากด้วยการออกปากขอว่า “จงให้อาหารสำหรับภิกษุผู้เป็นไข้ จงให้อาหารสำหรับ
ภิกษุพยาบาลไข้ จงให้ยาสำหรับภิกษุผู้เป็นไข้”
แม้หมอชีวกโกมารภัจมัวรักษาภิกษุไข้เป็นอันมาก ก็ปฏิบัติราชการบางอย่าง
บกพร่อง
[๘๙] ฝ่ายบุรุษคนหนึ่งถูกโรค ๕ ชนิดเบียดเบียน ก็เข้าไปหาหมอชีวก
โกมารภัจเรียนว่า “ขอโอกาส คุณหมอช่วยรักษากระผมด้วยเถิด”
หมอชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “แน่ะนาย ผมมีกิจมาก มีงานต้องทำมาก พระ
เจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ พระสนมและภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ผม
ก็ต้องพยาบาล ผมไม่สามารถรักษาได้”
“คุณหมอ ทรัพย์สมบัติยกให้ท่านทั้งหมด ทั้งกระผมยอมเป็นทาสของท่าน
ขอโอกาส โปรดรักษากระผมด้วยเถิด”
“แนะพนาย ผมมีกิจมาก มีงานต้องทำมาก พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
นางสนมและภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ผมก็ต้องพยาบาล ผมไม่สามารถ
รักษาได้”
ขณะนั้น บุรุษนั้นมีความคิดดังนี้ว่า “พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้
มีลักษณะนิสัยดี ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารดี นอนในห้องมิดชิด ถ้ากระไร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๖. ปัญจาพาธวัตถุ
พวกเราพึงบรรพชาในพวกสมณะเชื้อสายศากยบุตร ในที่นั้นภิกษุทั้งหลายจักพยาบาล
และหมอชีวกโกมารภัจจักรักษา เราหายโรคก็จะสึก” จึงเข้าไปขอการบรรพชา ภิกษุ
ทั้งหลายได้ให้บรรพชาให้อุปสมบท
พวกภิกษุก็ต้องพยาบาลและหมอชีวกโกมารภัจก็ต้องรักษา เขาหายโรคแล้วก็
สึก
หมอชีวกโกมารภัจเห็นบุรุษนั้นสึกจึงถามว่า “ท่านได้บรรพชาในหมู่ภิกษุมิใช่หรือ”
บุรุษนั้นตอบว่า “ใช่ ขอรับ”
“ท่านได้ทำเช่นนั้นเพื่ออะไร”
บุรุษนั้นได้บอกเรื่องนั้นให้หมอชีวกโกมารภัจทราบ
หมอชีวกโกมารภัจจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้า
ทั้งหลาย จึงให้กุลบุตรผู้ถูกโรค ๕ ชนิดเบียดเบียนบรรพชาเล่า” แล้วเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่พึง
ให้กุลบุตรผู้ถูกโรค ๕ ชนิดเบียดเบียนบรรพชา พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้หมอชีวกโกมารภัจเห็นชัด ชวนให้อยาก
รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมี
กถาแล้ว
ลำดับนั้น หมอชีวกโกมารภัจซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้วจึงลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณจากไป

ทรงห้ามคนเป็นโรคติดต่อบรรพชา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ถูกโรค ๕ ชนิดเบียดเบียน
ไม่พึงให้บรรพชา รูปใดให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๗. ราชภฏวัตถุ
๒๗. ราชภฏวัตถุ
ว่าด้วยราชภัฏบรรพชา๑

พระเจ้าพิมพิสารทูลขออนุญาต
[๙๐] สมัยนั้น เขตชายแดนของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเกิดความ
วุ่นวายขึ้น ท้าวเธอทรงรับสั่งเหล่ามหาอมาตย์ผู้เป็นแม่ทัพนายกองว่า “ท่าน
ทั้งหลายจงไปปราบเขตชายแดนให้สงบ”
เหล่ามหาอมาตย์ ผู้เป็นแม่ทัพนายกอง ทูลรับสนองพระกระแสรับสั่งของ
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
ขณะนั้น พวกทหารที่มีชื่อเสียงต่างมีความปริวิตกว่า พวกเรายินดีในการรบ
จะไปทำบาปกรรม และจะประสพสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยอุบายอย่างไรหนอ
พวกเราจะพึงเว้นจากกรรมชั่ว และทำกรรมดีได้เล่า
ทหารเหล่านั้นก็มีความคิดว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ประพฤติ
ธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าววาจาสัตย์ มีศีล มีกัลยาณ
ธรรม ถ้าพวกเราจะพึงบรรพชาในพวกสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไซร้ ด้วยอุบาย
อย่างนี้ พวกเราจะพึงเว้นจากกรรมชั่วและทำกรรมดีได้” จึงพากันเข้าไปขอการ
บรรพชา ภิกษุทั้งหลาย ได้ให้บรรพชาให้อุปสมบท
เหล่ามหาอมาตย์ผู้เป็นแม่ทัพนายกอง ถามพวกราชภัฏว่า “ทหารผู้มีชื่อนี้
และมีชื่อนี้หายไปไหน”
พวกราชภัฏเรียนว่า “ทหารผู้มีชื่อนี้และมีชื่อนี้ไปบรรพชาในหมู่ภิกษุแล้ว
ขอรับ”
เหล่ามหาอมาตย์ผู้เป็นแม่ทัพนายกอง พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนา
ว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรทั้งหลายจึงได้ให้ราชภัฏบรรพชาเล่า” แล้ว
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ ราชภัฏ หมายถึงอมาตย์ มหาอมาตย์ หรือคนรับใช้ได้รับฐานันดรบางอย่างแล้วหรือยังไม่ได้รับ เป็นผู้ที่
พระราชาทรงเลี้ยงดูด้วยข้าวและเงินเดือน (วิ.อ. ๓/๙๐/๕๗-๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๗. ราชภฏวัตถุ
เรื่องพระเจ้าพิมพิสารทูลขอห้ามให้ราชภัฏบรรพชา
ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้ตรัสถามคณะมหาอมาตย์ผู้
พิพากษาว่า “ท่าน ภิกษุรูปใด ให้ผู้ที่เป็นราชภัฏบรรพชา ภิกษุรูปนั้นต้องโทษสถานใด”
คณะมหาอมาตย์ผู้พิพากษากราบบังคมทูลว่า “ขอเดชะ พระอุปัชฌาย์ต้องถูก
ตัดศีรษะ พระอนุสาวนาจารย์ต้องถูกดึงลิ้น พระคณปูรกะ๑ต้องถูกหักซี่โครงไปแถบหนึ่ง
พระเจ้าข้า”
ต่อมา พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ได้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระราชาทั้งหลายผู้ไม่ทรงศรัทธา ไม่เลื่อมใสมีอยู่ พระราชา
เหล่านั้น จะพึงรบกวนเหล่าภิกษุด้วยเหตุเพียงเล็กน้อยได้ ขอประทานพระวโรกาส
ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่พึงให้ราชภัฏบรรพชา พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเห็นชัด
ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา
ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วกระทำประทักษิณเสด็จ
จากไป
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นราชภัฏภิกษุไม่พึงให้บรรพชา รูปใด
ให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ”

เชิงอรรถ :
๑ คณปูรกะ คือ ภิกษุที่ทำให้องค์ประชุมครบจำนวน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๙. การเภทกโจรวัตถุ
๒๘. อังคุลิมาลโจรวัตถุ
ว่าด้วยโจรองคุลีมาลบรรพชา
[๙๑] สมัยนั้น โจรองคุลีมาลได้บรรพชาในหมู่ภิกษุ ชาวบ้านเห็นเข้าต่างหวาด
กลัวบ้าง ตกใจบ้าง หนีไปบ้าง ไปเสียทางอื่นบ้าง หลบหน้าไปบ้าง ปิดประตูบ้าง
คนทั้งหลาย พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากย
บุตรทั้งหลายจึงให้โจรที่มีชื่อโด่งดังบรรพชาเล่า”

เรื่องห้ามโจรมีชื่อเสียงบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย โจรที่มีชื่อโด่งดัง ไม่พึงให้บรรพชา
รูปใดให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ”

๒๙. การเภทกโจรวัตถุ
ว่าด้วยโจรแหกเรือนจำบรรพชา
[๙๒] สมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐทรงมีพระบรมราชานุญาตไว้ว่า
“กุลบุตรเหล่าใดได้บรรพชาในพวกพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร กุลบุตรเหล่านั้น
ใคร ๆ จะทำอะไรมิได้ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติ
พรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งทำโจรกรรมแล้วถูกเจ้าหน้าที่จองจำไว้ในเรือนจำ เขาแหก
เรือนจำหนีไปบรรพชาในหมู่ภิกษุ มนุษย์ทั้งหลายพบเข้าแล้วจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
“ภิกษุรูปนี้คือโจรแหกเรือนจำคนนั้น เอาเถอะ พวกเราจะจับภิกษุนั้นไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๓๐. ลิขิตกโจกวัตถุ
มนุษย์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวอย่างนี้ พระเจ้า
พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตไว้ว่า กุลบุตรเหล่าใดได้
บรรพชาในพวกสมณะเชื้อสายศากยบุตร กุลบุตรเหล่านั้นใคร ๆ จะทำอะไรมิได้
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์
โดยชอบเถิด”
มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรเหล่านี้มิใช่ผู้หลบหนีภัย ใคร ๆ จะทำอะไรมิได้ ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรทั้งหลายจึงให้โจรแหกเรือนจำบรรพชาเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย โจรผู้แหกเรือนจำไม่พึงให้บรรพชา
รูปใดให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ”

๓๐. ลิขิตกโจรวัตถุ
ว่าด้วยโจรถูกออกหมายจับบรรพชา
[๙๓] สมัยนั้น บุรุษคนหนึ่งทำโจรกรรมแล้วได้หนีไปบรรพชาในหมู่ภิกษุ และ
เขาถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายจับทั่วราชอาณาจักรว่า “พบเข้าในที่ใด พึงฆ่าเสียในที่นั้น”
มนุษย์ทั้งหลายพบเข้าจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ภิกษุรูปนี้คือโจรผู้ถูกออกหมายจับคนนั้น
เอาเถอะ พวกเราจะฆ่าภิกษุนั้นเสีย”
มนุษย์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวอย่างนี้ พระเจ้า
พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตไว้ว่า ‘กุลบุตรเหล่าใดได้
บรรพชาในพวกสมณะเชื้อสายศากยบุตร กุลบุตรเหล่านั้นใคร ๆ จะทำอะไรมิได้
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์
โดยชอบเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๓๒. ลักขณาหตวัตถุ
มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตรเหล่านี้ปลอดภัย ใคร ๆ จะทำอะไรมิได้ ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตรจึงให้โจรผู้ถูกออกหมายจับบรรพชาเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย โจรผู้ถูกออกหมายจับไม่พึงให้
บรรพชา รูปใดให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ”

๓๑. กสาหตวัตถุ
ว่าด้วยบุรุษผู้ถูกเฆี่ยนด้วยหวายบรรพชา
[๙๔] สมัยนั้น บุรุษคนหนึ่งถูกลงอาญาเฆี่ยนด้วยหวาย ได้บรรพชาในหมู่ภิกษุ
มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตรทั้งหลายจึงให้บุรุษผู้ถูกลงอาญาเฆี่ยนด้วยหวายบรรพชาเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ถูกลงอาญาเฆี่ยนด้วยหวาย
ไม่พึงให้บรรพชา รูปใดให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ”

๓๒. ลักขณาหตวัตถุ
ว่าด้วยบุรุษถูกสักหมายโทษบรรพชา
[๙๕] สมัยนั้น บุรุษคนหนึ่งถูกลงอาญาสักหมายโทษได้บรรพชาในหมู่ภิกษุ
มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตรทั้งหลายจึงให้บุรุษผู้ถูกลงอาญาสักหมายโทษบรรพชาเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๓๓. อิณายิกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ถูกลงอาญาสักหมายโทษไม่พึง
ให้บรรพชา รูปใดให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ”

๓๓. อิณายิกวัตถุ
ว่าด้วยลูกหนี้บรรพชา
[๙๖] สมัยนั้น ชายผู้เป็นลูกหนี้๑คนหนึ่งได้หนีไปบรรพชาในหมู่ภิกษุ พวกเจ้า
ทรัพย์พบเข้าจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ภิกษุรูปนี้คือลูกหนี้ของพวกเราคนนั้น เอาเถอะ
พวกเราจงจับภิกษุนั้นไว้”
มนุษย์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวอย่างนี้ พระเจ้า
พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตไว้ว่า ‘กุลบุตรเหล่าใดได้
บรรพชาในพวกพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร กุลบุตรเหล่านั้นใคร ๆ จะทำอะไร
มิได้ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุด
ทุกข์โดยชอบเถิด”
มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตรเหล่านี้ปลอดภัย ใคร ๆ จะทำอะไรมิได้ ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตรทั้งหลายจึงให้คนมีหนี้บรรพชาเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนมีหนี้ไม่พึงให้บรรพชา รูปใด
ให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ”

เชิงอรรถ :
๑ หนี้ ในที่นี้หมายเอาทั้งหนี้ที่บุคคลนั้น ๆ ยืมมาเองและหนี้ที่บิดาและปู่ของบุคคลนั้นยืมไว้ก่อนแล้ว จะให้
บุคคลผู้มีหนี้เช่นนี้บรรพชาไม่ควร แต่ถ้ามีญาติและคนมีสายสัมพันธ์รับภาระหนี้แทน จะให้บุคคลเช่นนี้
บรรพชา ควรอยู่ (วิ.อ. ๓/๙๖/๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๓๕. กัมมารภัณฑวัตถุ
๓๔. ทาสวัตถุ
ว่าด้วยทาสบรรพชา
[๙๗] สมัยนั้น ทาสคนหนึ่งได้หนีไปบรรพชาในหมู่ภิกษุ พวกเจ้านายพบเข้า
จึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ภิกษุรูปนี้คือทาสของพวกเราคนนั้น เอาเถอะ พวกเราจงจับ
ภิกษุนั้นไว้”
มนุษย์บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวอย่างนี้ เพราะพระ
เจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตไว้ว่า ‘กุลบุตรเหล่าใดได้
บรรพชาในพวกสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร กุลบุตรเหล่านั้นใคร ๆ จะทำอะไรมิได้
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์
โดยชอบเถิด”
มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตรเหล่านี้ปลอดภัย ใคร ๆ จะทำอะไรมิได้ ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตรทั้งหลายจึงให้ทาสบรรพชาเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนเป็นทาสไม่พึงให้บรรพชา รูปใด
ให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ”

๓๕. กัมมารภัณฑวัตถุ
ว่าด้วยบุตรช่างทองผมจุกห้าแหยมบรรพชา
[๙๘] สมัยนั้น บุตรช่างทองศีรษะโล้นคนหนึ่งทะเลาะกับมารดาบิดา ได้ไปยัง
อารามบรรพชาในหมู่ภิกษุ ต่อมา มารดาบิดาได้ออกตามหาบุตร ไปถึงอารามถาม
ภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านได้พบเด็กชายมีรูปร่างเช่นนี้บ้างไหม เจ้าข้า”
พวกภิกษุที่ไม่รู้เลยก็กล่าวว่า “พวกอาตมาไม่รู้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๓๖. อุปาลิทารกวัตถุ
พวกภิกษุที่ไม่เห็นเลยก็กล่าวว่า “พวกอาตมาไม่เห็น”
ขณะมารดาบิดาตามหาได้พบบุตรบรรพชาในหมู่ภิกษุจึงพากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ไม่มีความละอาย ทุศีล
ชอบพูดเท็จ รู้อยู่แท้ ๆ ก็กล่าวว่า พวกอาตมาไม่รู้ เห็นอยู่ชัด ๆ ก็กล่าวว่า
พวกอาตมาไม่เห็น เด็กนี้ได้บรรพชาในหมู่ภิกษุเสียแล้ว”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินมารดาบิดาของบุตรช่างทองผมจุกตำหนิ ประณาม
โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อปโลกน์๑ต่อสงฆ์เพื่อ
การปลงผม”

๓๖. อุปาลิทารกวัตถุ๒
ว่าด้วยเด็กชายอุบาลีบรรพชา
[๙๙] สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์มีเด็กชายผู้เป็นเพื่อนกัน ๑๗ คน เด็กชาย
อุบาลีเป็นหัวหน้าของเด็กเหล่านั้น ครั้งนั้น มารดาบิดาของเด็กชายอุบาลีได้
ปรึกษากันดังนี้ว่า “เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลีจะอยู่สุขสบาย และไม่
ลำบากด้วยวิธีใดหนอ” ลำดับนั้นมารดาบิดาของเด็กชายอุบาลีได้ปรึกษากันอีกว่า
“ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนเขียนหนังสือ ด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลี
จะอยู่สุขสบาย และไม่ลำบาก” แต่ก็วิตกไปว่า “ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนเขียนหนังสือ นิ้ว
มือจะระบม ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาคำนวณ ด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับไป
เจ้าอุบาลีจะอยู่สุขสบาย และไม่ลำบาก” และวิตกอีกว่า “ถ้าเจ้าอุบาลีจักเรียน
วิชาคำนวณก็จะแน่นหน้าอก ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาเกี่ยวกับการเงิน ด้วยวิธีอย่างนี้
เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลี จะอยู่สุขสบาย และไม่ลำบาก” แล้วก็วิตก

เชิงอรรถ :
๑ อปโลกน์ หมายถึงการบอกกล่าวแก่ที่ประชุมเพื่อให้รับทราบร่วมกัน หรือการสอบถามขอความเห็นชอบ
ร่วมกันในกิจของสงฆ์เช่นสอบถามการปลงผม การอุปสมบท การบรรพชา (วิ.อ. ๓/๙๘-๙/๖๕)
๒ วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๐๒/๕๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๓๖. อุปาลิทารกวัตถุ
อีกว่า “ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาเกี่ยวกับการเงิน นัยน์ตาเขาจะปวด พระสมณะ
เชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้มีลักษณะนิสัยดี ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารดี
นอนในห้องมิดชิด ถ้าเจ้าอุบาลีได้บวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร
ด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลีจะอยู่สุขสบาย และไม่ลำบาก”

เด็กชายอุบาลีออกบวช
เด็กชายอุบาลีได้ยินคำสนทนาของมารดาบิดา ครั้นแล้วเด็กชายอุบาลีจึงได้ไป
หาพวกเด็ก ๆ ถึงที่พัก ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าวกับพวกเด็ก ๆ เหล่านั้น ดังนี้ว่า
“เพื่อนทั้งหลาย มาเถิด พวกเราจะไปบวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายศากยบุตร”
เด็กเหล่านั้นกล่าวว่า “เพื่อนเอ๋ย ถ้าเจ้าบวช พวกเราก็จะบวชเช่นกัน”
ครั้นแล้วเด็ก ๆ เหล่านั้น ต่างคนต่างก็เข้าไปหามารดาบิดาของตน แล้วได้กล่าว
ขออนุญาตดังนี้ว่า “พ่อแม่โปรดอนุญาตให้พวกลูก ๆ ออกจากเรือนไปบวชเป็น
บรรพชิตเถิด”
มารดาบิดาของเด็กเหล่านั้นอนุญาตด้วยคิดว่า “เด็กพวกนี้ต่างพร้อมใจมีความ
ปรารถนาสิ่งที่ดีงามทุกคน”
พวกเด็กเหล่านั้นจึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา ภิกษุทั้งหลายให้เด็ก
เหล่านั้นบรรพชาอุปสมบทแล้ว
ครั้นเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ภิกษุใหม่เหล่านั้นลุกขึ้นร้องไห้ว่า “ท่านทั้งหลาย
โปรดให้ข้าวต้ม โปรดให้ข้าวสวย โปรดให้ของเคี้ยว”
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “เธอทั้งหลาย รอให้สว่างเสียก่อน ถ้ามีข้าวต้ม
พวกเธอจะได้ฉัน ถ้ามีข้าวสวย พวกเธอจะได้ฉัน ถ้ามีของเคี้ยว พวกเธอจะได้เคี้ยว
แต่ถ้าข้าวต้มข้าวสวยหรือของเคี้ยวไม่มี พวกเธอต้องเที่ยวบิณฑบาตมาฉัน”
ภิกษุใหม่เหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายกล่าวอยู่อย่างนี้ ก็ยังพากันร้องไห้ว่า
“ท่านทั้งหลายโปรดให้ข้าวต้ม โปรดให้ข้าวสวย โปรดให้ของเคี้ยวเถิด” พากันถ่าย
อุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง รดเสนาสนะ

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๓๖. อุปาลิทารกวัตถุ
พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ได้ทรงสดับเสียงเด็ก
ครั้นได้ทรงสดับแล้วจึงตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เสียงเด็กร้องไห้เพราะ
เหตุใดหรือ”
ทีนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

เรื่องทรงห้ามกุลบุตรอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปีอุปสมบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุทรงสอบ
ถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุรู้อยู่ ก็ยังให้บุคคลอายุ
หย่อนกว่า ๒๐ ปีอุปสมบทจริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษ
เหล่านั้นรู้อยู่แต่ก็ยังให้บุคคลอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปีอุปสมบทเล่า ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลผู้มีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ยังไม่อดทน ไม่อดกลั้นต่อความเย็น ความร้อน
ความหิว ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน คำกล่าวร้าย
คำที่ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน
ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีอายุครบ ๒๐ ปี
จึงจะอดทน อดกลั้นต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย สัมผัสจาก
เหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน คำกล่าวร้าย คำที่ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึก
ทางกายที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบ
จะคร่าชีวิต ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นแล้วได้ทรงแสดง
ธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้อยู่ไม่พึงให้บุคคลผู้มี
อายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท พึงปรับอาบัติตามธรรม๑”

เชิงอรรถ :
๑ ตามธรรม คือ ตามความผิด,ตามโทษานุโทษ ในที่นี้ ปรับอาบัติปาจิตตีย์ตามความแห่งสิกขาบทที่ ๕
แห่งสัปปาณกวรรค (วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๐๓/๕๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๓๗. อหิวาตกโรควัตถุ
๓๗. อหิวาตกโรควัตถุ
ว่าด้วยอหิวาตกโรค

กำหนดอายุผู้บรรพชาเป็นสามเณร
[๑๐๐] สมัยนั้น ครอบครัวหนึ่งได้ถึงแก่กรรมด้วยอหิวาตกโรค เหลือเพียง
บิดากับบุตร คนทั้ง ๒ ได้บรรพชาในหมู่ภิกษุแล้วเที่ยวบิณฑบาตด้วยกัน ครั้งนั้น
เมื่อเขาถวายภิกษาแก่ภิกษุผู้บิดา สามเณรน้อยก็วิ่งไปหาแล้วได้กล่าวกับภิกษุผู้เป็น
บิดานั้นว่า “พ่อจ๋า ให้หนูบ้าง พ่อจ๋า ให้หนูบ้าง”
มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสาย
พระศากยบุตรเหล่านี้มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ สามเณรน้อยแม้รูปนี้คงจะเกิดจาก
ภิกษุณี”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินมนุษย์เหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เด็กชายมีอายุหย่อนกว่า ๑๕ ปี
ไม่พึงให้บรรพชา รูปใดให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องบรรพชาให้เด็กอายุหย่อนกว่า ๑๕ ปีของตระกูลมีศรัทธา
สมัยนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอานนท์มีศรัทธาเลื่อมใส ได้ถึงแก่กรรม
ด้วยอหิวาตกโรค เหลือเพียงเด็กชาย ๒ คน เด็กชายทั้ง ๒ เห็นภิกษุทั้งหลายแล้ว
ก็วิ่งเข้าไปหาด้วยกิริยาที่คุ้นเคยกันมาแต่ก่อน ภิกษุทั้งหลายได้ไล่ไปเสีย เด็กทั้ง ๒
เมื่อถูกภิกษุไล่ก็ร้องไห้ ขณะนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า เด็กชายมีอายุหย่อนกว่า ๑๕ ปี ไม่พึงให้บรรพชา ก็เด็ก
ทั้ง ๒ คนนี้มีอายุหย่อนกว่า ๑๕ ปี ด้วยอุบายอย่างไรหนอ เด็กทั้ง ๒ นี้จึงจะไม่
เสียโอกาส” ทีนั้นท่านพระอานนท์จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ ก็เด็กทั้ง ๒ นั้นสามารถไล่กาได้ไหม”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ได้ พระพุทธเจ้าข้า”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๓๙. อาหุนทริกวัตถุ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับ
สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุให้เด็กชายมีอายุ
หย่อนกว่า ๑๕ ปี ซึ่งสามารถไล่กาได้บรรพชา”

๓๘. กัณฏกวัตถุ
ว่าด้วยสามเณรกัณฏกะ
[๑๐๑] สมัยนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรมีสามเณรอยู่ ๒ รูป คือ
สามเณรกัณฏกะและสามเณรมหกะ เธอทั้ง ๒ ชอบรังแกกันและกัน ภิกษุทั้งหลาย
จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนสามเณรทั้งสองจึงได้ประพฤติไม่
สมควรเช่นนี้เล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปเดียวไม่ควรมีสามเณรรับใช้
๒ รูป รูปใดให้รับใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

๓๙. อาหุนทริกวัตถุ
ว่าด้วยทิศคับแคบ
[๑๐๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์เพียงแห่งเดียว
ทั้งฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูร้อน มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนา
ว่า “ทิศทั้งหลายคับแคบ มืดมนสำหรับพวกพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร
พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ จึงมองไม่เห็นทิศทาง”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งกับพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอจงไป
ถอดดาลแจ้งภิกษุทั้งหลายในบริเวณวิหารว่า “อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค
ทรงประสงค์จะเสด็จจาริกไปยังทักขิณาคิรีชนบท ท่านผู้ใดมีความประสงค์ ท่าน
ผู้นั้นจงมา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๐. นิสสยมุจจนกกถา
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธบัญชาแล้ว จึงถอดดาลแจ้งภิกษุทั้งหลาย
ในบริเวณวิหารว่า “อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์จะเสด็จจาริกไปยัง
ทักขิณาคิรีชนบท ท่านผู้ใดมีความประสงค์ ท่านผู้นั้นจงมา”
ภิกษุทั้งหลายเรียนชี้แจงว่า “ท่านพระอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้
ภิกษุถือนิสสัยอยู่ ๑๐ พรรษา และให้ภิกษุมีพรรษาครบ ๑๐ ให้นิสสัยได้ พวกผม
จะต้องไปในทักขิณาคิรีชนบทนั้น ก็ต้องถือนิสสัย พักอยู่เพียงเล็กน้อย ก็ต้องกลับ
มาอีก และต้องถือนิสสัยอีกด้วย ถ้าพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ของพวกผมไป
พวกผมก็จะไปด้วย ถ้าพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ของพวกผมไม่ไป พวกผมก็จะ
ไม่ไป ท่านพระอานนท์ ความที่พวกผมมีจิตใจโลเลจักปรากฏ”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จจาริกไปยังทักขิณาคิรีชนบทพร้อมด้วยภิกษุ
สงฆ์จำนวนน้อย

๔๐. นิสสยมุจจนกกถา
ว่าด้วยการถือนิสสัยและการพ้นนิสสัย
[๑๐๓] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ทักขิณาคิรีชนบทตามพระอัธยาศัยแล้ว
ก็เสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์ตามเดิมอีก ได้ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาสอบถามว่า
“อานนท์ ตถาคตได้จาริกไปยังทักขิณาคิรีชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนน้อย
เพราะเหตุไร”
ท่านพระอานนท์จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ทรงอนุญาตให้ถือนิสสัย
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดสามารถถือนิสสัยอยู่
๕ พรรษา ให้ภิกษุผู้ไม่ฉลาดถือนิสสัยอยู่จนตลอดชีวิต”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๐. นิสสยมุจจนกกถา
องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัยไม่ได้
คือ
๑. ไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ (๑)

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย คือ
๑. ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัย (๒)

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ คือ
๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ไม่มีหิริ
๓. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้เกียจคร้าน
๕. เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๐. นิสสยมุจจนกกถา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ (๓)

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย คือ
๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีหิริ
๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร
๕. เป็นผู้มีสติตั้งมั่น
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัย (๔)

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ คือ
๑. เป็นผู้มีสีลวิบัติในอธิสีล ๒. เป็นผู้มีอาจารวิบัติในอัชฌาจาร
๓. เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังน้อย
๕. เป็นผู้มีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ (๕)

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย คือ
๑. เป็นผู้ไม่มีสีลวิบัติในอธิสีล ๒. เป็นผู้ไม่มีอาจารวิบัติในอัชฌาจาร
๓. เป็นผู้ไม่มีทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
๕. เป็นผู้มีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัย (๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๐. นิสสยมุจจนกกถา
องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ คือ
๑. ไม่รู้จักอาบัติ ๒. ไม่รู้จักอนาบัติ
๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา ๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก
๕. จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารไม่ได้ดี จำแนกไม่ได้ดี ไม่คล่องแคล่วดี
วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะไม่ได้ดี
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ (๗)

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย คือ
๑. รู้จักอาบัติ ๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักอาบัติเบา ๔. รู้จักอาบัติหนัก
๕. จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารได้ดี จำแนกได้ดี คล่องแคล่วดี
วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะได้ดี
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัย (๘)

องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ คือ

๑. ไม่รู้จักอาบัติ ๒. ไม่รู้จักอนาบัติ
๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา ๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก
๕. มีพรรษาหย่อน ๕

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ (๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๐. นิสสยมุจจนกกถา
องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย คือ
๑. รู้จักอาบัติ ๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักอาบัติเบา ๔. รู้จักอาบัติหนัก
๕. มีพรรษาครบ ๕ หรือมีพรรษาเกิน ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัย (๑๐)
ปัญจกทสวาร จบ

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
[๑๐๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ คือ
๑. ไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
๖. มีพรรษาหย่อน ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ (๑)

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย คือ
๑. ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๐. นิสสยมุจจนกกถา
๔. ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
๖. มีพรรษาครบ ๕ หรือมีพรรษาเกิน ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัย (๒)

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ คือ

๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ไม่มีหิริ
๓. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้เกียจคร้าน
๕. เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน ๖. มีพรรษาหย่อน ๕

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ (๓)

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย คือ

๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีหิริ
๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร
๕. เป็นผู้มีสติตั้งมั่น ๖. มีพรรษาครบ ๕ หรือมีพรรษาเกิน ๕

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัย (๔)

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ คือ

๑. เป็นผู้มีสีลวิบัติในอธิสีล ๒. เป็นผู้มีอาจารวิบัติในอัชฌาจาร
๓. เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังน้อย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๐. นิสสยมุจจนกกถา
๕. เป็นผู้มีปัญญาทราม ๖. มีพรรษาหย่อน ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ (๕)

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย คือ
๑. เป็นผู้ไม่มีสีลวิบัติในอธิสีล
๒. เป็นผู้ไม่มีอาจารวิบัติในอัชฌาจาร
๓. เป็นผู้ไม่มีทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ
๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
๕. เป็นผู้มีปัญญา
๖. มีพรรษาครบ ๕ หรือมีพรรษาเกิน ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัย (๖)

องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ คือ
๑. ไม่รู้จักอาบัติ
๒. ไม่รู้จักอนาบัติ
๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา
๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก
๕. จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารไม่ได้ดี จำแนกไม่ได้ดี ไม่คล่อง
แคล่วดี วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะไม่ได้ดี
๖. มีพรรษาหย่อน ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล จะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้ (๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๑. ราหุลวัตถุ
องค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย คือ
๑. รู้จักอาบัติ
๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักอาบัติเบา
๔. รู้จักอาบัติหนัก
๕. จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารได้ดี จำแนกได้ดี คล่องแคล่วดี
วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะได้ดี
๖. มีพรรษาครบ ๕ หรือมีพรรษาเกิน ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัย (๘)
นิสสัยมุจจนกกถา จบ
อภยูวรภาณวารที่ ๘ จบ

๔๑. ราหุลวัตถุ
ว่าด้วยพระราหุลกุมารบรรพชา

พระราหุลกุมารทรงผนวชเป็นสามเณร
[๑๐๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระอัธยาศัย
แล้วได้เสด็จจาริกไปทางกรุงกบิลพัสดุ์ เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงกบิลพัสดุ์
ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้น
เวลาเช้า ทรงอันตรวาสกแล้วถือบาตรและจีวรเสด็จไปยังพระนิเวศน์พระเจ้าสุทโธทน
ศากยะ ประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์ที่ได้ปูลาดไว้
ขณะนั้น พระเทวีมารดาพระราหุลกุมารได้ทรงมีพระเสาวนีย์ว่า “แน่ะราหุล
สมณะนั้นเป็นบิดาของเจ้า เจ้าจงไปทูลขอทรัพย์มรดกเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๑. ราหุลวัตถุ
พระราหุลกุมารจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ประทับยืน ณ เบื้องพระพักตร์
พลางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระสมณะ พระฉายาของพระองค์เป็นสุข”
พระผู้มีพระภาคได้เสด็จลุกจากอาสนะแล้วเสด็จกลับไป พระกุมารก็เสด็จ
ติดตามไปเบื้องพระปฤษฎางค์ พลางกราบทูลขอว่า “พระสมณะได้โปรดประทาน
ทรัพย์มรดกแก่หม่อมฉัน พระสมณะได้โปรดประทานทรัพย์มรดกแก่หม่อมฉัน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมารับสั่งว่า “สารีบุตร
ถ้าอย่างนั้นเธอจงให้ราหุลกุมารบรรพชาเถิด”
ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า “ข้าพระองค์จะให้ราหุลกุมารบรรพชาอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบรรพชาเป็นสามเณร
ด้วยไตรสรณคมน์”๑

วิธีให้บรรพชา
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงให้กุลบุตรบรรพชา อย่างนี้
ในเบื้องต้น พึงให้กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสายะ
ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย ให้นั่งกระโหย่ง ให้ประนม
มือแล้วสั่งว่า “เธอจงกล่าวอย่างนี้” แล้วให้ว่าสรณคมน์ ดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ เดิมที พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการบรรพชาและอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ ต่อมาทรงห้ามอุปสมบทด้วย
ไตรสรณคมน์ ทรงอนุญาตวิธีอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม แต่ไม่ได้ทรงห้ามการบรรพชา ทั้งไม่ได้ทรง
อนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ใช้วิธีนี้ต่อไปอีก แต่มีพระประสงค์ที่จะอนุญาตให้บรรพชาสามเณรด้วยไตรสรณคมน์
พระสารีบุตรทราบพุทธอัธยาศัย จึงกราบทูลให้ทรงอนุญาตการบรรพชาอีก และใช้วิธีการบรรพชาด้วย
ไตรสรณคมน์ บวชราหุลกุมารเป็นสามเณรรูปแรก (วิ.อ. ๓/๑๐๕/๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๑. ราหุลวัตถุ
ไตรสรณคมน์
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ข้าพเจ้า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ข้าพเจ้า ขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้า ขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพเจ้า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพเจ้า ขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบรรพชาเป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์เหล่านี้”
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรได้ให้พระราหุลบรรพชาแล้ว

เรื่องพระเจ้าสุทโธทนะทูลขอพร๑
ครั้งนั้น พระเจ้าสุทโธทนศากยะได้เสด็จไปเฝ้าพระผู้พระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระเจ้าข้า หม่อมฉันทูลขอพรพระผู้มีพระภาคอย่างหนึ่ง”

เชิงอรรถ :
๑ ในวันที่ ๒ หลังจากที่เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงกบิลพัสดุ์ในเวลาเช้า
พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าว จึงเสด็จไปหา ตรัสว่า การที่พระพุทธองค์เสด็จเที่ยวบิณฑบาตนี้ ทำให้
ข้าพระองค์ละอายยิ่งนัก พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า การเที่ยวบิณฑบาตนี้เป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
แล้วตรัสพระคาถาว่า
ไม่ควรประมาทในบิณฑบาตที่พึงลุกรับ พึงประพฤติธรรมให้สุจริต
ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เมื่อตรัสพระคาถานี้จบ พระเจ้าสุทโธทนะบรรลุโสดาปัตติผล ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าพระ
นิเวศน์ตรัสพระคาถาว่า
พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมให้ทุจริต
ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
พระเจ้าสุทโธทนะทรงบรรลุสกทาคามิผล วันต่อมาได้ทรงสดับธรรมปาลชาดก ทรงบรรลุอนาคามิผล
ก่อนที่จะสวรรคตประทับบนแท่นบรรทมภายใต้เศวตฉัตร ทรงบรรลุอรหัตตผล (วิ.อ. ๓/๑๐๕/๗๑-๗๒,
สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๐๕/๓๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๑. ราหุลวัตถุ
พระผู้มีพระภาคถวายพระพรว่า “มหาบพิตรผู้โคดม ตถาคตทั้งหลายเลิก
พรเสียแล้ว”
พระเจ้าสุทโธทนศากยะทูลว่า “หม่อมฉันทูลขอพรที่สมควรและไม่มีโทษ
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปรดตรัสบอกพรนั้นเถิด มหาบพิตรผู้โคดม”
พระเจ้าสุทโธทนศากยะทูลว่า “เมื่อพระองค์ทรงผนวช หม่อมฉันมีทุกข์ไม่
น้อย เมื่อนันทะผนวชก็เช่นเดียวกัน ครั้นราหุลบรรพชา ยิ่งเกิดทุกข์เหลือ
ประมาณ พระพุทธเจ้าข้า ความรักในพระโอรสย่อมตัดผิว ตัดผิวแล้วก็ตัดหนัง
ตัดหนังแล้วก็ตัดเนื้อ ตัดเนื้อแล้วก็ตัดเอ็น ตัดเอ็นแล้วก็ตัดกระดูก ตัดกระดูก
แล้วก็จดเยื่อในกระดูก ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่พึงให้
บุตรที่มารดาบิดายังไม่อนุญาตบรรพชา พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าสุทโธทนศากยะทรงเห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ครั้นพระเจ้าสุทโธทนศากยะผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงทำ
ประทักษิณเสด็จกลับ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นเหตุ แล้วรับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาตไม่พึงให้บรรพชา
รูปใดให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ”
ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ตามพระอัธยาศัยแล้ว ได้
เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงสาวัตถี ทราบว่า
พระองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกคหบดีเขตกรุงสาวัตถีนั้น

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๒. สิกขาปทกถา
ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดมีสามเณรหลายรูปไว้อุปัฏฐาก
สมัยนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระสารีบุตรส่งเด็กชายไปยังสำนักของท่าน
ด้วยมอบหมายว่า “ขอพระเถระโปรดให้เด็กคนนี้บรรพชา”
ขณะนั้น ท่านพิจารณาเห็นว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุรูปเดียว
ไม่พึงใช้สามเณร ๒ รูปให้อุปัฏฐาก ก็เรามีสามเณรราหุลนี้อยู่แล้ว จะพึงปฏิบัติ
อย่างไรหนอ” จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ
รูปเดียวซึ่งเป็นผู้ฉลาดสามารถ ใช้สามเณร ๒ รูปให้อุปัฏฐากได้ หรืออนุญาตให้ใช้
สามเณรเท่าที่สามารถจะตักเตือนพร่ำสอนให้อุปัฏฐากได้”

๔๒. สิกขาปทกถา
ว่าด้วยสิกขาบทของสามเณร
[๑๐๖] ครั้งนั้น สามเณรทั้งหลายได้มีความคิดคำนึงว่า “สิกขาบทของพวกเรา
มีเท่าไรหนอ และเราจะต้องศึกษาในสิกขาบทไหน”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ แก่สามเณร
และให้สามเณรศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นั้น คือ
๑. เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
๓. เจตนางดเว้นจากพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์
๔. เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
๕. เจตนางดเว้นจากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๖. เจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๓. ทัณฑกัมมวัตถุ
๗. เจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรีและดูการละเล่น
อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์
๘. เจตนางดเว้นจากการทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ซึ่งใช้
เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
๙. เจตนางดเว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่
๑๐. เจตนางดเว้นจากการรับทองและเงิน
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ เหล่านี้แก่สามเณร และให้สามเณร
ศึกษาในสิกขาบท ๑๐ เหล่านี้”

๔๓. ทัณฑกัมมวัตถุ
ว่าด้วยการลงทัณฑกรรมสามเณร
[๑๐๗] สมัยนั้น สามเณรทั้งหลายไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความ
ประพฤติไม่เข้ากันกับภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกสามเณรจึงได้
ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความประพฤติไม่เข้ากันกับภิกษุทั้งหลายเล่า”
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมแก่
สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่ภิกษุทั้งหลาย
๒. พยายามเพื่อความพินาศแก่ภิกษุทั้งหลาย
๓. พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แก่ภิกษุทั้งหลาย
๔. ด่า บริภาษภิกษุทั้งหลาย
๕. ยุยงภิกษุกับภิกษุให้แตกกัน
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมแก่สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕
เหล่านี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๓. ทัณฑกัมมวัตถุ
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า “จะพึงลงทัณฑกรรมอย่างไรหนอ”
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมคือการห้าม”

เรื่องวิธีลงทัณฑกรรม
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ลงทัณฑกรรมคือห้ามสามเณรเข้าสังฆารามทุกแห่ง
พวกสามเณรเข้าอารามไม่ได้ จึงหลีกไปบ้าง สึกเสียบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์บ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงลงทัณฑกรรมคือห้ามสังฆาราม
ทุกแห่ง รูปใดลง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม คือ
ห้ามเฉพาะที่อยู่ของตนหรือที่ที่ตนจะเข้าไป”

เรื่องห้ามฉันทางปาก
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ลงทัณฑกรรม คือห้ามฉันอาหารทางปาก๑ มนุษย์
ทั้งหลายต้มน้ำยาคูบ้าง ทำสังฆภัตบ้าง นิมนต์พวกสามเณรว่า “จงมาดื่มยาคูเถิด
ขอรับ จงมาฉันภัตตาหารเถิด ขอรับ”
พวกสามเณรกล่าวว่า “พวกอาตมาทำอย่างนั้นไม่ได้ดอกโยม เพราะภิกษุ
ทั้งหลายได้ลงทัณฑกรรมห้ามไว้”
มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลาย
จึงได้ลงทัณฑกรรรม ห้ามฉันอาหารทางปากเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงลงทัณฑกรรมห้ามฉันอาหาร
ทางปาก รูปใดลง ต้องอาบัติทุกกฏ”
ทัณฑกัมมวัตถุ จบ.

เชิงอรรถ :
๑ ห้ามฉันอาหารทางปาก หมายถึงห้ามอย่างนี้ว่า “วันนี้ เธออย่าเคี้ยว อย่าฉัน” (วิ.อ. ๓/๑๐๗/๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๕. อปลาฬนวัตถุ
๔๔. อนาปุจฉาวรณวัตถุ
ว่าด้วยการกักกันสามเณรโดยไม่บอกอุปัชฌาย์
[๑๐๘] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไม่ถามพระอุปัชฌาย์ก่อน ได้กักกัน
พวกสามเณรไว้ พระอุปัชฌาย์ตามหาด้วยนึกสงสัยว่า “ทำไมหนอ พวกสามเณร
ของเราจึงหายไป”
ภิกษุทั้งหลายได้เรียนว่า “พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้กักกันไว้ ขอรับ”
พระอุปัชฌาย์ทั้งหลายพากัน ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงไม่ถามพวกเราก่อนกักกันสามเณรทั้งหลายของพวกเราไว้เล่า” จึง
กราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่ขออนุญาตอุปัชฌาย์ก่อน
ไม่พึงทำการกักกันสามเณรไว้ รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

๔๕. อปลาฬนวัตถุ
ว่าด้วยการเกลี้ยกล่อมสามเณร

ทรงห้ามเกลี้ยกล่อมสามเณร
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์พากันเกลี้ยกล่อมพวกสามเณรของภิกษุผู้เป็น
เถระทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายต้องหยิบไม้ชำระฟันบ้าง ตักน้ำล้างหน้าบ้าง
ด้วยตนเอง ย่อมลำบาก จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงเกลี้ยกล่อมบริษัทของภิกษุอื่น
รูปใดเกลี้ยกล่อม ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๖. กัณฏกสามเณรวัตถุ
๔๖. กัณฏกสามเณรวัตถุ
ว่าด้วยการนาสนะ๑สามเณรกัณฏกะ

องค์ ๑๐ สำหรับนาสนะสามเณร
สมัยนั้น สามเณรของท่านพระอุปนันทศากยบุตรชื่อกัณฏกะ ได้ประทุษร้าย
ภิกษุณีชื่อกัณฏกี
ภิกษุทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนสามเณร จึงได้
ประพฤติไม่สมควรเช่นนี้เล่า” จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นาสนะสามเณรผู้ประกอบ
ด้วยองค์ ๑๐ คือ
๑. ฆ่าสัตว์
๒. ถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
๓. ประพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์
๔. พูดเท็จ
๕. ดื่มน้ำเมา
๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
๗. กล่าวติเตียนพระธรรม
๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์
๙. มีความเห็นผิด
๑๐. ประทุษร้ายภิกษุณี
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นาสนะสามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ เหล่านี้”

เชิงอรรถ :
๑ นาสนะ มี ๓ อย่าง คือ (๑) สังวาสนาสนะ ไล่ออกจากการร่วมกิจกรรม (๒) ลิงคนาสนะ ไล่สึก
(๓) ทัณฑกรรม ลงโทษไล่ให้พ้นจากสังกัด ในที่นี้ หมายเอาลิงคนาสนะ คือไล่สึก (วิ.อ. ๒/๔๒๘/๔๒๐
วิ.อ. ๓/๑๐๘/๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๗. ปัณฑกวัตถุ
๔๗. ปัณฑกวัตถุ
ว่าด้วยบัณเฑาะก์บรรพชา

ห้ามบัณเฑาะก์๑อุปสมบท
[๑๐๙] สมัยนั้น บัณเฑาะก์คนหนึ่งได้บรรพชาในหมู่ภิกษุ เขาเข้าไปหาภิกษุ
หนุ่ม ๆ พูดชวนว่า “นี้พวกท่านจงมาประทุษร้ายผมเถิด๒ ขอรับ”
พวกพระหนุ่มพูดไล่ว่า “เจ้าบัณเฑาะก์จงฉิบหาย เจ้าบัณเฑาะก์จงพินาศ
เจ้าจะมีประโยชน์อะไร”
เขาถูกพวกภิกษุไล่ จึงเข้าไปหาพวกสามเณรโค่งร่างใหญ่ กำยำ พูดชวนว่า
“พวกเธอจงมาประทุษร้ายผมเถิด ขอรับ”
พวกสามเณรก็พูดรุกรานว่า “เจ้าบัณเฑาะก์จงฉิบหาย เจ้าบัณเฑาะก์จงพินาศ
เจ้าจะมีประโยชน์อะไร”
เขาถูกพวกสามเณรพูดรุกราน จึงเข้าไปหาพวกคนเลี้ยงช้าง พวกคนเลี้ยงม้า
พูดชวนว่า “พวกคุณจงมาประทุษร้ายเราเถิด จ้ะ”
พวกคนเลี้ยงช้าง พวกคนเลี้ยงม้าชำเราแล้ว ก็พากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เป็นบัณเฑาะก์ บรรดาสมณะ

เชิงอรรถ :
๑ บัณเฑาะก์มี ๕ ประเภท คือ
๑. คนที่ดับความใคร่เร่าร้อน (เพราะกาม) ของตนโดยการใช้ปากอมองคชาตของผู้อื่นแล้วให้น้ำอสุจิราด
ตัวเอง ชื่อว่า อาสิตตบัณเฑาะก์
๒. คนที่เมื่อเห็นผู้อื่นประพฤติล่วงเกินทางเพศกัน เกิดความริษยาขึ้น ความเร่าร้อนจึงระงับไป
ชื่อว่า อุสูยบัณเฑาะก์
๓. คนที่ถูกตัดองคชาต ชื่อว่า โอปักกมิกบัณเฑาะก์
๔. คนที่เป็นบัณเฑาะก์ในเวลาข้างแรมด้วยอานุภาพอกุศลวิบาก แต่ในเวลาข้างขึ้น ความเร่าร้อน
ย่อมระงับไป ชื่อว่า ปักขบัณเฑาะก์
๕. คนที่เป็นบัณเฑาะก์โดยกำเนิด ชื่อว่า นปุงสกบัณเฑาะก์
ในบัณเฑาะก์ ๕ ประเภทนี้ อาสิตตบัณเฑาะก์ และอุสูยบัณเฑาะก์ ไม่ห้ามบรรพชา ส่วนบัณเฑาะก์อีก
๓ ประเภทที่เหลือ ห้ามบรรพชา อนึ่งในกุรุนทีกล่าวว่า ปักขบัณเฑาะก์ ห้ามบรรพชาเฉพาะในปักษ์ที่เป็น
บัณเฑาะก์ (ข้างแรม) (วิ.อ. ๓/๑๐๙/๘๑-๘๒)
๒ ประทุษร้าย ในที่นี้ หมายถึง ร่วมเพศ เสพสังวาสกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๘. เถยยสังวาสวัตถุ
เหล่านี้ แม้ที่มิใช่บัณเฑาะก์ก็ชำเราบัณเฑาะก์เหล่านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณะเหล่านี้
จึงล้วนแต่มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเลี้ยงช้าง คนเลี้ยงม้าเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้เป็นบัณเฑาะก์ ไม่พึง
ให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย” (๑)

๔๘. เถยยสังวาสวัตถุ
ว่าด้วยคนลักเพศ๑และคนเข้ารีตเดียรถีย์บรรพชา

ห้ามคนลักเพศและคนเข้ารีตอุปสมบท
[๑๑๐] สมัยนั้น บุตรของตระกูลเก่าแก่คนหนึ่ง เป็นคนบอบบาง มีหมู่ญาติใน
ตระกูลสิ้นไป เขามีความคิดว่า “เราเป็นคนบอบบาง ไม่สามารถจะหาโภคทรัพย์
ที่ยังไม่มี หรือจะทำโภคทรัพย์ที่มีอยู่ให้เพิ่มพูนขึ้นได้ ด้วยวิธีใดหนอ เราจะอยู่สุขสบาย
และไม่ลำบาก” คิดได้ว่า “พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ มีลักษณะนิสัยดี
ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารดี ๆ นอนในห้องอันมิดชิด ถ้ากระไรเราพึงเตรียม

เชิงอรรถ :
๑ คนลักเพศ แปลมาจากคำว่า “เถยยสังวาสกะ” คนลักเพศมี ๓ จำพวก คือ (๑) คนลักเพศ
(๒) คนลักสังวาส (๓) คนลักทั้งเพศและสังวาส
คนที่บวชเองแล้วไปวัด ไม่คำนึงพรรษาของภิกษุ ไม่ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ไม่ห้ามอาสนะ
ไม่เข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น นี้ชื่อว่าคนลักเพศ
คนที่ภิกษุทั้งหลายบวชให้ ขณะยังเป็นสามเณร ไปต่างถิ่น พูดเท็จว่า “ผมบวชมาแล้ว ๑๐ พรรษา
หรือ ๒๐ พรรษา” คำนึงพรรษาของภิกษุ ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ห้ามอาสนะ เข้าร่วมในอุโบสถ
และปวารณาเป็นต้น เพราะเหตุเพียงลักสังวาสเท่านั้น นี้ชื่อว่า คนลักสังวาส ก็กิริยาทุกประเภทมีการนับ
พรรษาของภิกษุเป็นต้นพึงทราบว่า “สังวาส”
คนที่บวชเองแล้วไปวัด คำนึงถึงการนับพรรษาของภิกษุ ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ห้ามอาสนะ
เข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น เพราะลักเพศและสังวาส นี้ชื่อว่า คนลักทั้งเพศและสังวาส (วิ.อ.
๓/๑๑๐/๘๒-๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๙. ติรัจฉานคตวัตถุ
บาตรและจีวร ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะเสียเอง แล้วไปยังอารามอยู่ร่วม
กับภิกษุทั้งหลาย”
ต่อมา เขาได้เตรียมบาตรและจีวร ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะเอง
ไปยังอารามไหว้ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านมีพรรษาได้เท่าไรล่ะ”
เขาย้อนถามว่า “ที่ชื่อว่ามีพรรษาเท่าไร นั่นคืออะไร ขอรับ”
“ท่าน ก็ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านล่ะ”
“ที่ชื่อว่าพระอุปัชฌาย์ นั่นคือใคร ขอรับ”
ภิกษุทั้งหลายได้บอกเรื่องนี้แก่ท่านพระอุบาลีว่า “ท่านอุบาลี ขอนิมนต์ท่าน
สอบสวนบรรพชิตรูปนี้ดูเถิด”
ครั้นเขาถูกท่านพระอุบาลีสอบสวนจึงยอมบอกเรื่องนั้น ท่านพระอุบาลีได้บอก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้เป็นคนลักเพศ ไม่พึง
ให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย
ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ไปเข้ารีตเดียรถีย์ ไม่พึงให้อุปสมบท๑ ที่
อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย” (๒-๓)

๔๙. ติรัจฉานคตวัตถุ
ว่าด้วยสัตว์ดิรัจฉานบรรพชา

นาคแปลงกายเป็นมนุษย์มาขอบรรพชา
[๑๑๑] สมัยนั้น นาคตัวหนึ่งอึดอัด ระอา รังเกียจกำเนิดนาค ต่อมา
นาคนั้นมีความดำริว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ เราจะพึงพ้นจากกำเนิดนาค

เชิงอรรถ :
๑ อนุปสัมบันที่ไปเข้ารีตเดียรถีย์นั้น ไม่เพียงแต่ไม่พึงให้อุปสมบทเท่านั้น ยังเป็นผู้ที่ไม่พึงบรรพชาให้อีกด้วย
(วิ.อ. ๓/๑๑๐/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔๙. ติรัจฉานคตวัตถุ
และพึงได้อัตภาพมนุษย์ฉับพลัน” คิดได้ว่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้เป็น
ผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าววาจาสัตย์ มีศีล
มีกัลยาณธรรม ถ้าเราจะพึงบรรพชาในพวกพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไซร้
ด้วยอุบายอย่างนี้ เราก็จะพึงพ้นจากกำเนิดนาค และได้อัตภาพมนุษย์ฉับพลัน
จึงแปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา
ภิกษุทั้งหลาย ได้ให้บรรพชาให้อุปสมบท ต่อมา พระนาคอาศัยอยู่ในวิหาร
หลังสุดท้ายกับภิกษุรูปหนึ่ง ครั้นราตรีย่ำรุ่ง ภิกษุรูปนั้นตื่นขึ้นไปเดินจงกรมอยู่ในที่
แจ้ง เมื่อเธอออกไปแล้ว พระนาคก็วางใจก้าวลงสู่ความหลับ วิหารทั้งหลังเต็ม
ด้วยงู ขนดยื่นออกทางหน้าต่าง ครั้นภิกษุนั้นผลักบานประตูจะเข้าวิหาร ได้เห็น
วิหารทั้งหลังเต็มด้วยงู ขนดยื่นออกทางหน้าต่าง ก็ตกตะลึงร้องเสียงดัง
ภิกษุทั้งหลายวิ่งเข้าไปหาถามภิกษุนั้นว่า “อาวุโส ท่านร้องเสียงดังทำไม”
ภิกษุนั้นบอกว่า “ท่านทั้งหลาย วิหารทั้งหลังเต็มด้วยงู ขนดยื่นออกทาง
หน้าต่าง”
ทันใดนั้น พระนาคได้ตื่นขึ้นเพราะเสียงนั้น รีบนั่งบนอาสนะของตน
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “อาวุโส ท่านเป็นใคร”
พระนาคตอบว่า “ผมเป็นนาค ขอรับ”
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “อาวุโส ท่านได้ทำเช่นนี้เพื่ออะไร”
พระนาคได้บอกเรื่องนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
ได้ตรัสกับพระนาคนั้นว่า “พวกเจ้าเป็นนาค ไม่มีความงอกงามในพระธรรมวินัยนี้
ไปเถิด นาค เจ้าจงเข้าจำอุโบสถในดิถีที่ ๑๔ ดิถีที่ ๑๕ และดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์นั้น
แหละ ด้วยอุบายอย่างนี้ เจ้าจักพ้นจากกำเนิดนาค และได้อัตภาพมนุษย์ฉับพลัน”
นาคครั้นได้ทราบว่าตนไม่มีความงอกงามในพระธรรมวินัยนี้แน่นอน ก็มีทุกข์
เสียใจ หลั่งน้ำตาส่งเสียงดังหลีกไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๐. มาตุฆาตกวัตถุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหตุที่
ทำให้นาคปรากฏร่างเป็นนาค มี ๒ ประการเหล่านี้ คือ (๑) เวลาที่เสพเมถุนธรรม
กับนางนาคมีชาติเสมอกัน (๒) เวลาที่วางใจก้าวลงสู่ความหลับ ภิกษุทั้งหลาย
เหตุที่ทำให้นาคปรากฏร่างเป็นนาคมี ๒ ประการเหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบท
แล้วพึงให้สึกเสีย” (๔)

๕๐. มาตุฆาตกวัตถุ
ว่าด้วยคนฆ่ามารดาขอบรรพชา

ห้ามคนฆ่ามารดาอุปสมบท
[๑๑๒] สมัยนั้น มาณพผู้หนึ่งได้ปลงชีวิตมารดา เขาอึดอัด ระอา รังเกียจ
บาปกรรมนั้น ต่อมา เขามีความดำริว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ เราจะพึงทำการ
สะสางบาปกรรมนี้ได้” คิดได้ว่า “พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เป็นผู้
ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าววาจาสัตย์ มีศีล
มีกัลยาณธรรม ถ้าเราจะพึงบรรพชาในพวกพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร
ด้วยอุบายอย่างนี้ เราก็จะพึงทำการสะสางบาปกรรมนี้ได้” จึงเข้าไปหาภิกษุ
ทั้งหลายขอบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายได้บอกเรื่องนี้แก่ท่านพระอุบาลีว่า “ท่านอุบาลี เมื่อก่อนนาคได้
แปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้ามาบรรพชาในหมู่ภิกษุ ขอนิมนต์ท่านจงสอบสวนมาณพ
ผู้นี้ดูเถิด”
ครั้นมาณพนั้นถูกท่านพระอุบาลีสอบสวนจึงบอกเรื่องนั้นให้ทราบ ท่านพระ
อุบาลีได้บอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พวกภิกษุจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้
มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ฆ่ามารดา ไม่พึงให้
อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย” (๕)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๒. อรหันตฆาตกวัตถุ
๕๑. ปิตุฆาตกวัตถุ
ว่าด้วยคนฆ่าบิดาขอบรรพชา

ห้ามคนฆ่าบิดาอุปสมบท
[๑๑๓] สมัยนั้น มาณพผู้หนึ่งได้ปลงชีวิตบิดา เขาอึดอัด ระอา รังเกียจ
บาปกรรมนั้น ต่อมา เขามีความดำริว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ เราจะพึงทำการ
สะสางบาปกรรมได้” คิดได้ว่า “พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เป็นผู้
ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าววาจาสัตย์ มีศีล
มีกัลยาณธรรม ถ้าเราจะพึงบรรพชาในพวกพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ด้วย
อุบายอย่างนี้ เราก็จะพึงทำการสะสางบาปกรรมนี้ได้” จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย
ขอบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายได้บอกเรื่องนี้แก่ท่านพระอุบาลีว่า “ท่านอุบาลี เมื่อก่อนนาคได้
แปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้ามาบรรพชาในหมู่ภิกษุ ขอนิมนต์ท่านสอบสวนมาณพ
ผู้นี้ดูเถิด”
ครั้นมาณพนั้นถูกท่านพระอุบาลีสอบสวนจึงบอกเรื่องนั้นให้ทราบ ท่านพระ
อุบาลีได้บอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พวกภิกษุจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มี
พระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ฆ่าบิดา ไม่พึงให้
อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย” (๖)

๕๒. อรหันตฆาตกวัตถุ
ว่าด้วยคนฆ่าพระอรหันต์บรรพชา

ห้ามคนฆ่าพระอรหันต์อุปสมบท
[๑๑๔] สมัยนั้น ภิกษุจำนวนหลายรูปได้เดินทางไกลจากเมืองสาเกตไป
กรุงสาวัตถี ระหว่างทาง โจรยกพวกออกมาปล้นภิกษุบางพวก ฆ่าภิกษุบางพวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๓. ภิกขุนีทูสกวัตถุ
เจ้าหน้าที่ยกกำลังจากกรุงสาวัตถีไปจับโจรบางพวกได้ บางพวกหลบหนีไป พวกที่
หนีไปได้บรรพชาในหมู่ภิกษุ พวกที่ถูกจับกำลังถูกเจ้าหน้าที่นำไปฆ่า พวกโจรที่
หนีไปบรรพชา ได้เห็นโจรเหล่านั้นกำลังถูกนำไปฆ่า ก็กล่าวขึ้นว่า “ดีแล้วที่พวก
เราหนีรอดมาได้ ถ้าวันนั้นถูกจับก็จะต้องถูกฆ่าเช่นนั้นด้วย”
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านทั้งหลาย ก็พวกท่านได้ทำอะไร”
ภิกษุเหล่านั้นได้บอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พวกภิกษุจึงกราบทูลให้
พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกนั้นที่ถูกฆ่าเป็นพระอรหันต์
ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ฆ่าพระอรหันต์ ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว
พึงให้สึกเสีย” (๗)

๕๓. ภิกขุนีทูสกวัตถุ
ว่าด้วยคนประทุษร้ายภิกษุณีเป็นต้นบรรพชา

ห้ามคนประทุษร้ายภิกษุณีเป็นต้นอุปสมบท
[๑๑๕] สมัยนั้น ภิกษุณีหลายรูปได้เดินทางไกลจากเมืองสาเกตไปกรุงสาวัตถี
ระหว่างทาง โจรยกพวกออกมาปล้นภิกษุณีบางพวก ทำร้ายภิกษุณีบางพวก
เจ้าหน้าที่ยกกำลังออกจากกรุงสาวัตถีไปจับโจรบางพวกได้ บางพวกหลบหนีไป
พวกที่หนีไปได้บรรพชาในหมู่ภิกษุ พวกที่ถูกจับกำลังถูกเจ้าหน้าที่นำไปฆ่า พวก
โจรที่หนีไปบรรพชาได้เห็นโจรเหล่านั้นกำลังถูกนำไปฆ่า ก็กล่าวขึ้นว่า “ดีแล้วที่
พวกเราหนีรอดมาได้ ถ้าวันนั้นถูกจับ ก็จะต้องถูกฆ่าเช่นนั้นด้วย”
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านทั้งหลาย ก็พวกท่านได้ทำอะไร”
ภิกษุเหล่านั้นได้บอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พวกภิกษุจึงกราบทูลให้
พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ประทุษร้ายภิกษุณี
ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย” (๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๕. อนุปัชฌายกาทิวัตถุ
เรื่องคนทำลายสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ทำลายสงฆ์ ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว
พึงให้สึกเสีย (๙)

เรื่องคนทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต
ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต ไม่พึงให้
อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย (๑๐)

๕๔. อุภโตพยัญชนก
ว่าด้วยอุภโตพยัญชนกบรรพชา

ห้ามอุภโตพยัญชนกอุปสมบท
[๑๑๖] สมัยนั้น อุภโตพยัญชนก๑บางคนได้บรรพชาในหมู่ภิกษุ เธอเสพ
เมถุนธรรมในสตรีทั้งหลายด้วยปุริสนิมิตของตนบ้าง ให้บุรุษอื่นเสพเมถุนธรรมใน
อิตถีนิมิตของตนบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันผู้เป็นอุภโตพยัญชนก
ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึกเสีย” (๑๑)

๕๕. อนุปัชฌายกาทิวัตถุ
ว่าด้วยคนไม่มีอุปัชฌาย์อุปสมบทเป็นต้น
[๑๑๗] สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ไม่มีอุปัชฌาย์อุปสมบท ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ อุภโตพยัญชนก หมายถึงคนมี ๒ เพศ คือสัญลักษณ์เพศหญิง และสัญลักษณ์เพศชาย เพราะผลกรรม
ที่ทำไว้ (วิ.อ. ๓/๑๑๖/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๕. อนุปัชฌายกาทิวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ไม่มีอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้
อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๒)

เรื่องคนมีสงฆ์เป็นอุปัชฌาย์
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรมีสงฆ์เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรมีสงฆ์เป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึง
ให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๓)

เรื่องคนมีคณะเป็นอุปัชฌาย์
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรมีคณะเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรมีคณะเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้
อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๔)

เรื่องคนมีบัณเฑาะก์เป็นอุปัชฌาย์เป็นต้น
สมัยต่อมา พวกภิกษุให้กุลบุตรมีบัณเฑาะก์เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีคนลักเพศเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีภิกษุไปเข้ารีตเดียรถีย์เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีสัตว์ดิรัจฉานเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีคนฆ่ามารดาเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีคนฆ่าบิดาเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีคนฆ่าพระอรหันต์เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีคนประทุษร้ายภิกษุณีเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีคนทำลายสงฆ์เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๖. อปัตตกาทิวัตถุ
... ให้กุลบุตรมีคนทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิตเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท...
... ให้กุลบุตรมีอุภโตพยัญชนกเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรมีบัณเฑาะก์
เป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ”
... กุลบุตรมีคนลักเพศเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีภิกษุไปเข้ารีตเดียรถีย์เป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีสัตว์เดรัจฉานเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีคนฆ่ามารดาเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีคนฆ่าบิดาเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีคนฆ่าพระอรหันต์เป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีคนประทุษร้ายภิกษุณีเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีคนทำลายสงฆ์เป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท...
... กุลบุตรมีคนทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิตเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้
อุปสมบท...
... กุลบุตรมีอุภโตพยัญชนกเป็นอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท
ต้องอาบัติทุกกฏ (๑๕)

๕๖. อปัตตกาทิวัตถุ
ว่าด้วยคนไม่มีบาตรอุปสมบทเป็นต้น

ห้ามคนไม่มีบาตรอุปสมบท
[๑๑๘] สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ไม่มีบาตรอุปสมบท พวกเธออุปสมบท
แล้วก็เที่ยวบิณฑบาตด้วยมือ มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“เที่ยวบิณฑบาตเหมือนพวกเดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๖. อปัตตกาทิวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ไม่มีบาตร ไม่พึงให้
อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๖)

เรื่องคนไม่มีจีวร
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ไม่มีจีวรอุปสมบท พวกเธออุปสมบทแล้วก็เปลือย
กายเที่ยวบิณฑบาต มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนา ว่า “เที่ยว
บิณฑบาตเหมือนพวกเดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ไม่มีจีวร ไม่พึงให้อุปสมบท
รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๗)

เรื่องคนไม่มีทั้งบาตรและจีวร
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ไม่มีทั้งบาตรและจีวรอุปสมบท พวกเธอ
อุปสมบทแล้วก็เปลือยกายเที่ยวบิณฑบาตด้วยมือ มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เที่ยวบิณฑบาตเหมือนพวกเดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ไม่มีทั้งบาตรและจีวร ไม่พึง
ให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๘)

เรื่องคนยืมบาตร
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ยืมบาตรเขามาอุปสมบท เมื่ออุปสมบทแล้ว
เจ้าของก็ขอเอาบาตรคืน พวกเธอเที่ยวบิณฑบาตด้วยมือ มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เที่ยวบิณฑบาตเหมือนพวกเดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายกุลบุตรผู้ยืมบาตรเขามา ไม่พึงให้
อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๗. ปัพพาเชตัพพทวัตติงสวาร
เรื่องคนยืมจีวร
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ยืมจีวรเขามาอุปสมบท เมื่ออุปสมบทแล้ว
เจ้าของก็ขอเอาจีวรคืน พวกเธอเปลือยกายเที่ยวบิณฑบาตด้วยมือ มนุษย์ทั้งหลาย
พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เที่ยวบิณฑบาตเหมือนพวกเดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ยืมจีวรเขามา ไม่พึงให้
อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๒๐)

เรื่องคนยืมบาตรและจีวร
สมัยนั้น พวกภิกษุให้กุลบุตรผู้ยืมบาตรและจีวรเขามาอุปสมบท เมื่ออุปสมบท
แล้วเจ้าของก็ขอเอาบาตรและจีวรคืน พวกเธอเปลือยกายเที่ยวบิณฑบาตด้วยมือ
มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนานว่า “เที่ยวบิณฑบาตเหมือนพวก
เดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ยืมบาตรและจีวรเขามา
ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ” (๒๑)
นอุปสัมปาเทตัพพกวีสติวาร จบ

๕๗. ปัพพาเชตัพพทวัตติงสวาร
ว่าด้วยบุคคลไม่ควรให้บรรพชา ๓๒ จำพวก
[๑๑๙] สมัยนั้น พวกภิกษุให้คนมือด้วนบรรพชา ...
... ให้คนเท้าด้วนบรรพชา ...
... ให้คนทั้งมือทั้งเท้าด้วนบรรพชา ...
... ให้คนหูวิ่นบรรพชา ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๗. ปัพพาเชตัพพทวัตติงสวาร
... ให้คนจมูกแหว่งบรรพชา ...
... ให้คนทั้งหูวิ่นทั้งจมูกแหว่งบรรพชา ...
... ให้คนนิ้วมือนิ้วเท้าขาดบรรพชา ...
... ให้คนง่ามมือง่ามเท้าขาดบรรพชา ...
... ให้คนเอ็นขาดบรรพชา ...
... ให้คนมือเป็นแผ่นบรรพชา ...
... ให้คนค่อมบรรพชา ...
... ให้คนเตี้ยบรรพชา ...
... ให้คนคอพอกบรรพชา ...
... ให้คนถูกสักหมายโทษบรรพชา ...
... ให้คนมีรอยเฆี่ยนด้วยหวายบรรพชา ...
... ให้คนมีหมายจับบรรพชา ...
... ให้คนเท้าปุกบรรพชา ...
... ให้คนมีโรคเรื้อรังบรรพชา ...
... ให้คนมีรูปร่างไม่สมประกอบบรรพชา๑ ...
... ให้คนตาบอดข้างเดียวบรรพชา ...
... ให้คนง่อยบรรพชา ...
... ให้คนกระจอกบรรพชา ...
... ให้คนเป็นโรคอัมพาตบรรพชา ...
... ให้คนเคลื่อนไหวเองไม่ได้บรรพชา ...
... ให้คนชราทุพพลภาพบรรพชา ...
... ให้คนตาบอดสองข้างบรรพชา ...
... ให้คนใบ้บรรพชา ...
... ให้คนหูหนวกบรรพชา ...

เชิงอรรถ :
๑ คนมีรูปร่างไม่สมประกอบ เรียกว่า “คนประทุษร้ายบริษัท” คือ คนมีรูปร่างผิดปกติ เช่น สูงเกินไป
เตี้ยเกินไป ดำเกินไป ขาวเกินไป จมูกใหญ่เกินไป จมูกเล็กเกินไป (วิ.อ. ๓/๑๑๙/๙๖-๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๗. ปัพพาเชตัพพทวัตติงสวาร
... ให้คนทั้งบอดทั้งใบ้บรรพชา ...
... ให้คนทั้งบอดทั้งหนวกบรรพชา ...
... ให้คนทั้งใบ้ทั้งหนวกบรรพชา ...
... ให้คนทั้งบอดทั้งใบ้ทั้งหนวกบรรพชา ...
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

เรื่องทรงห้ามให้คนมือด้วนเป็นต้นบรรพชา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงให้คนมือด้วนบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนเท้าด้วนบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนทั้งมือทั้งเท้าด้วนบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนหูวิ่นบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนจมูกแหว่งบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนทั้งหูวิ่นทั้งจมูกแหว่งบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนนิ้วมือนิ้วเท้าขาดบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนง่ามมือง่ามเท้าขาดบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนเอ็นขาดบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนมือเป็นแผ่นบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนค่อมบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนเตี้ยบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนคอพอกบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนถูกสักหมายโทษบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนมีรอยเฆี่ยนด้วยหวายบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนมีหมายจับบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนเท้าปุกบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนมีโรคเรื้อรังบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนมีรูปร่างไม่สมประกอบบรรพชา ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๘. อลัชชีนิสสยวัตถุ
... ไม่พึงให้คนตาบอดข้างเดียวบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนง่อยบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนกระจอกบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนเป็นโรคอัมพาตบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนเคลื่อนไหวเองไม่ได้บรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนชราทุพพลภาพบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนตาบอดสองข้างบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนใบ้บรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนหูหนวกบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนทั้งบอดทั้งใบ้บรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนทั้งบอดทั้งหนวกบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนทั้งใบ้ทั้งหนวกบรรพชา ...
... ไม่พึงให้คนทั้งบอดทั้งใบ้ทั้งหนวกบรรพชา รูปใดให้บรรพชา ต้องอาบัติ
ทุกกฏ”
นปัพพาเชตัพพทวัตติงสวาร จบ
ทายัชชภาณวารที่ ๙ จบ

๕๘. อลัชชีนิสสยวัตถุ
ว่าด้วยการให้นิสสัยแก่ภิกษุอลัชชี

เรื่องทรงห้ามการให้นิสสัยแก่ภิกษุอลัชชี
[๑๒๐] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ให้นิสสัยแก่พวกภิกษุอลัชชี ภิกษุทั้งหลาย
จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงให้นิสสัยแก่พวกภิกษุอลัชชี
รูปใดให้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๙. คมิกาทินิสสยวัตถุ
เรื่องทรงห้ามการถือนิสสัยภิกษุอลัชชี
สมัยนั้น พวกภิกษุอยู่อาศัยพวกภิกษุอลัชชี ไม่นานนักแม้ภิกษุพวกนั้นก็กลาย
เป็นภิกษุอลัชชี เป็นภิกษุเลวทราม
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงอยู่อาศัยพวกภิกษุอลัชชี
รูปใดอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีความดำริว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘ไม่พึง
ให้นิสสัยแก่พวกภิกษุอลัชชี ไม่พึงอยู่อาศัยพวกภิกษุอลัชชี’ ทำอย่างไรหนอ พวกเรา
จึงจะรู้ว่าภิกษุเป็นลัชชีหรืออลัชชี” จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รอ ๔-๕ วัน พอจะรู้
ว่าภิกษุผู้ให้นิสสัยเป็นสภาคกัน”

๕๙. คมิกาทินิสสยวัตถุ
ว่าด้วยการถือนิสสัยของภิกษุผู้เดินทางเป็นต้น

เรื่องภิกษุผู้เดินทางไกลไม่ต้องถือนิสสัย
[๑๒๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล เธอมีความดำริว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุจะอยู่โดยไม่ถือนิสสัยไม่ได้ ก็เราจำต้องถือ
นิสสัย แต่ต้องเดินทางไกล เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เดินทางไกล
เมื่อไม่ได้ผู้ให้นิสสัย ให้อยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕๙. คมิกาทินิสสยวัตถุ
เรื่องภิกษุไข้ไม่ต้องถือนิสัย
สมัยนั้น ภิกษุ ๒ รูป เดินทางไกลไปในแคว้นโกศล ท่านทั้ง ๒ เข้าพัก ณ
อาวาสแห่งหนึ่ง ในภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งเป็นไข้ ท่านมีความดำริว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘ภิกษุจะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัยไม่ได้’ ก็เราจำต้องถือ
นิสสัย แต่กำลังเป็นไข้ เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เป็นไข้
เมื่อไม่ได้ผู้ให้นิสสัย พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย”
ต่อมา ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้มีความดำริว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ
ไว้ว่า ‘ภิกษุจะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัยไม่ได้’ ก็เราจำต้องถือนิสสัย แต่ภิกษุนี้
กำลังเป็นไข้ เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

เรื่องภิกษุผู้พยาบาลไข้ไม่ต้องถือนิสสัย
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้พยาบาล
ภิกษุไข้ เมื่อไม่ได้ผู้ให้นิสสัย ทั้งถูกภิกษุผู้เป็นไข้ขอร้อง พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในป่า และเธอมีความผาสุกในเสนาสนะนั้น ต่อมา
ท่านมีความดำริว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘ภิกษุจะพึงอยู่โดยไม่ต้องถือ
นิสสัยไม่ได้’ ก็เราจำต้องถือนิสสัย แต่ยังอยู่ในป่าและมีความผาสุกในเสนาสนะนี้
เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

เรื่องไม่ต้องถือนิสสัยเพราะหาผู้ให้นิสสัยไม่ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ป่า
เป็นวัตร กำหนดเอาความผาสุก เมื่อไม่ได้ผู้ให้นิสสัย พึงอยู่โดยไม่ต้องถือนิสสัย
ด้วยผูกใจว่า เราจักถือนิสสัยอยู่ในเมื่อภิกษุผู้ให้นิสสัยผู้สมควรมาถึง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๑. เทฺวอุปสัมปทาเปกขาทิวัตถุ
๖๐. โคตเตนอนุสสาวนานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตอุปสมบทกรรมโดยสวดระบุโคตรของอุปัชฌาย์

เรื่องพระมหากัสสปะนิมนต์พระอานนท์มาสวดนาค
[๑๒๒] สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะมีอุปสัมปทาเปกขะ ท่านจึงส่งทูตไปใน
สำนักพระอานนท์ให้นิมนต์ว่า “ท่านอานนท์จงมาสวดอุปสัมปทาเปกขะ๑นี้”
พระอานนท์ตอบไปว่า “กระผมไม่สามารถจะระบุนามของพระเถระ๒ได้ เพราะ
พระเถระเป็นที่เคารพของกระผม”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดระบุโคตรได้”

๖๑. เทฺวอุปสัมปทาเปกขาทิวัตถุ
ว่าด้วยอุปสมบทอุปสัมปทาเปกขะ ๒ คนเป็นต้น

เรื่องแย่งกันอุปสมบทก่อน
[๑๒๓] สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะมีอุปสัมปทาเปกขะ ๒ คน อุปสัมปทา
เปกขะทั้ง ๒ เถียงกันว่า “ผมจักอุปสมบทก่อน ผมจักอุปสมบทก่อน”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดอุปสัมปทาเปกขะ
๒ คน ในอนุสาวนาเดียวกันได้”

เชิงอรรถ :
๑ อุปสัมปทาเปกขะ คือ ผู้มุ่งจะบวชเป็นภิกษุ ผู้ประสงค์จะบวช
๒ หมายถึงไม่สามารถระบุชื่อของพระมหากัสสปะ ที่จะปรากฏอยู่ในคำสวดว่า “อายสฺมโต ปิปฺผลิสฺส
อุปสมฺปทาเปกฺโข (อุปสัมปทาเปกขะของท่านปิปผลิ) (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๒๒/๓๒๓) เพราะการระบุชื่อและ
โคตรถือเป็นการแสดงความไม่เคารพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๒. คัพภวีสูปสัมปทานุชานนา
เรื่องอุปสมบทครั้งละ ๓ คน มีอุปัชฌาย์รูปเดียว
สมัยต่อมา พระเถระหลายรูปต่างก็มีอุปสัมปทาเปกขะหลายคน อุปสัมปทา
เปกขะ เหล่านั้นต่างเถียงกันว่า “ผมจักอุปสมบทก่อน ผมจักอุปสมบทก่อน”
พระเถระทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดอุปสัมปทาเปกขะ
ในอนุสาวนาเดียวกันครั้งละ ๒ คน ๓ คนได้ แต่การสวดนั้น เราอนุญาตให้มี
อุปัชฌาย์รูปเดียวกัน ไม่อนุญาตให้มีอุปัชฌาย์ต่างรูปกัน”

๖๒. คัพภวีสูปสัมปทานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาต
อุปสมบทให้กุลบุตรโดยนับอายุ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์

เรื่องพระกุมารกัสสปะ
[๑๒๔] สมัยนั้น ท่านพระกุมารกัสสปะมีอายุครบ ๒๐ ปีนับทั้งอยู่ในครรภ์
ได้อุปสมบทแล้ว ต่อมา ท่านมีความดำริว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
‘บุคคลมีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี สงฆ์ไม่พึงให้อุปสมบท’ แต่เรามีอายุครบ ๒๐ ปี
นับทั้งอยู่ในครรภ์อุปสมบทแล้ว จะเป็นอันได้อุปสมบทหรือไม่หนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เกิดนับตั้งแต่จิตดวงแรก
วิญญาณดวงแรกเกิดปรากฏขึ้นในครรภ์ของมารดา ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
อุปสมบทให้กุลบุตรมีอายุครบ ๒๐ นับทั้งอยู่ในครรภ์ได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๓. อุปสัมปทาวิธิ
๖๓. อุปสัมปทาวิธิ
ว่าด้วยอุปสมบทวิธี

เรื่องอุปสัมบันถูกโรคเบียดเบียน
[๑๒๕] สมัยนั้น กุลบุตรทั้งหลายที่อุปสมบทแล้ว ปรากฏเป็นโรคเรื้อนก็มี
โรคฝีก็มี โรคกลากก็มี โรคมองคร่อก็มี โรคลมบ้าหมูก็มี
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ผู้จะให้อุปสมบท
ถามอันตรายิกธรรม ๑๓ ข้อได้”

เรื่องถามอันตรายิกธรรมกับอุปสัมปทาเปกขะ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงถามอุปสัมปทาเปกขะอย่างนี้
อาพาธเช่นนี้ของเจ้ามีอยู่หรือ คือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ
โรคลมบ้าหมู เจ้าเป็นมนุษย์หรือ เจ้าเป็นชายหรือ เจ้าเป็นไทหรือ เจ้าไม่มีหนี้หรือ
เจ้าไม่ใช่ราชภัฏหรือ มารดาบิดาอนุญาตเจ้าแล้วหรือ เจ้ามีอายุครบ ๒๐ ปีหรือ
บาตรและจีวรของเจ้ามีครบแล้วหรือ เจ้าชื่ออะไร อุปัชฌาย์ของเจ้าชื่ออะไร

เรื่องสอนซ้อมก่อนถามอันตรายิกธรรม
สมัยนั้น พวกภิกษุถามอันตรายิกธรรมกับพวกอุปสัมปทาเปกขะผู้ยังมิได้สอน
ซ้อม พวกอุปสัมปทาเปกขะย่อมสะทกสะท้าน เก้อเขิน ไม่อาจตอบได้
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สอนซ้อมจึงถาม
อันตรายิกธรรมภายหลัง”
พวกภิกษุ ก็สอนซ้อมในท่ามกลางสงฆ์นั่นแหละ พวกอุปสัมปทาเปกขะก็สะทก
สะท้าน เก้อเขิน ไม่อาจตอบเช่นเดิม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๓. อุปสัมปทาวิธิ
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สอนซ้อม ณ ที่สมควร
จึงถามอันตรายิกธรรมในท่ามกลางสงฆ์”
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงสอนซ้อมอุปสัมปทาเปกขะอย่างนี้

คำบอกบาตรและจีวร
[๑๒๖] ในเบื้องต้น พึงให้อุปสัมปทาเปกขะถืออุปัชฌาย์ ครั้นให้ถืออุปัชฌาย์
แล้วพึงบอกบาตรและจีวรว่า “นี้บาตร นี้สังฆาฏิ นี้อุตตราสงค์ นี้อันตรวาสก
ของเจ้า เจ้าจงออกไปยืนที่โน้น”

เรื่องภิกษุโง่เขลาสอนซ้อม
พวกภิกษุผู้โง่เขลาไม่ฉลาด สอนซ้อม พวกอุปสัมปทาเปกขะถูกสอนซ้อมไม่ดี
ก็สะทกสะท้าน เก้อเขิน ไม่สามารถตอบได้
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้โง่เขลาไม่ฉลาด ไม่พึงสอนซ้อม
รูปใดสอนซ้อม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด
สามารถสอนซ้อม”

เรื่องภิกษุยังไม่ได้รับแต่งตั้งสอนซ้อม
พวกภิกษุผู้ยังไม่ได้รับแต่งตั้งสอนซ้อม ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระ
ผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่ได้รับแต่งตั้งไม่พึงสอนซ้อม
รูปใดสอนซ้อม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้ง
สอนซ้อม”
ภิกษุทั้งหลาย พึงแต่งตั้งอย่างนี้ ตนเองแต่งตั้งตนเองก็ได้ ภิกษุรูปหนึ่ง
แต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่งก็ได้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๓. อุปสัมปทาวิธิ
วิธีแต่งตั้งตนและกรรมวาจา
อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้
สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าชื่อนี้ จะสอนซ้อมผู้มีชื่อนี้
อย่างนี้ ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง

วิธีแต่งตั้งผู้อื่นและกรรมวาจา
อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง คือ ภิกษุผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ท่านผู้มีชื่อนี้พึงสอนซ้อมผู้มีชื่อนี้
อย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง
ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งนั้น พึงเข้าไปหาอุปสัมปทาเปกขะกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า
แน่ะผู้มีชื่อนี้ เจ้าฟังนะ นี้เป็นกาลสัตย์ กาลจริงของเจ้า เมื่อภิกษุผู้สอนซ้อม
ถามในท่ามกลางสงฆ์ถึงสิ่งที่เกิด สิ่งที่มี พึงบอกว่า “มี” ไม่มีก็พึงบอกว่า “ไม่มี”
เจ้าอย่าสะทกสะท้าน อย่าเก้อเขิน ภิกษุผู้สอนซ้อมจักถามเจ้าอย่างนี้ว่า ‘อาพาธ
เช่นนี้ของเจ้ามีอยู่หรือ คือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู
เจ้าเป็นมนุษย์หรือ เจ้าเป็นชายหรือ เจ้าเป็นไทหรือ เจ้าไม่มีหนี้หรือ เจ้าไม่ใช่
ราชภัฏหรือ มารดาบิดาอนุญาตเจ้าแล้วหรือ เจ้ามีอายุครบ ๒๐ ปีแล้วหรือ
เจ้ามีบาตรและจีวรครบแล้วหรือ เจ้าชื่ออะไร อุปัชฌาย์ของเจ้าชื่ออะไร’

เรื่องห้ามผู้สอนซ้อมกับอุปสัมปทาเปกขะเดินมาพร้อมกัน
ภิกษุผู้สอนซ้อมกับอุปสัมปทาเปกขะเดินมาพร้อมกัน พระผู้มีพระภาครับ
สั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สอนซ้อมกับอุปสัมปทาเปกขะ ไม่พึงเดินมาพร้อมกัน
ภิกษุผู้สอนซ้อมพึงเดินมาก่อน แล้วประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๓. อุปสัมปทาวิธิ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ ข้าพเจ้าสอนซ้อมเขาแล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ผู้มีชื่อนี้พึงมาได้
พึงเรียกอุปสัมปทาเปกขะว่า “เจ้าจงเข้ามาเถิด”

คำขออุปสมบท
พึงให้อุปสัมปทาเปกขะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ ขออุปสมบทว่า
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ สงฆ์โปรดช่วยอนุเคราะห์ยก
ข้าพเจ้าขึ้นเถิด
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ เป็นครั้งที่ ๒ สงฆ์โปรดช่วย
อนุเคราะห์ยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ เป็นครั้งที่ ๓ สงฆ์โปรดช่วย
อนุเคราะห์ยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด

คำแต่งตั้งตนเพื่อถามอันตรายิกธรรม
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้
มีชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าพึงถามอันตรายิกธรรมกับผู้มีชื่อนี้ ดังนี้
แน่ะผู้มีชื่อนี้ เจ้าฟังนะ นี้เป็นกาลสัตย์ กาลจริงของเจ้า เราจะถามสิ่งที่เกิด
สิ่งที่มี พึงบอกว่า “มี” ไม่มีก็พึงบอกว่า “ไม่มี” อาพาธเช่นนี้ของเจ้ามีอยู่หรือ
คือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู เจ้าเป็นมนุษย์หรือ
เจ้าเป็นชายหรือ เจ้าเป็นไทหรือ เจ้าไม่มีหนี้หรือ เจ้าไม่ใช่ราชภัฏหรือ มารดาบิดา
อนุญาตเจ้าแล้วหรือ เจ้ามีอายุครบ ๒๐ ปีหรือ บาตรและจีวรของเจ้ามีครบแล้วหรือ
เจ้าชื่ออะไร อุปัชฌาย์ของเจ้าชื่ออะไร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๓. อุปสัมปทาวิธี
ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๑๒๗] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของ
ท่านผู้มีชื่อนี้ บริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย เขามีบาตรและจีวรครบแล้ว
ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว
สงฆ์พึงให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มี
ชื่อนี้ บริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย เขามีบาตรและจีวรครบแล้ว ผู้มีชื่อนี้ขอ
อุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่าน
ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ บริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย เขามี
บาตรและจีวรครบแล้ว ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์
สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้
มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ บริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรมทั้งหลาย เขามี
บาตรและจีวรครบแล้ว ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์
สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้
มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้น เป็นมติอย่างนี้
อุปสัมปทาวิธิ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๕. จัตตาริอกรณียะ
๖๔. จัตตารินิสสยะ
ว่าด้วยนิสสัย ๔

เรื่องทรงอนุญาตให้บอกนิสสัย ๔
[๑๒๘] ขณะนั้นแหละ พึงวัดเงาแดด บอกประมาณแห่งฤดู บอกส่วนแห่งวัน
บอกสังคีติ๑ บอกนิสสัย ๔ ว่า
๑. บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะใน
โภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ๒ สังฆภัต อุทเทสภัต
นิมันตนภัต สลากภัต ปักขิกภัต อุโปสถิกภัต ปาฏิปทิกภัต
๒. บรรพชาอาศัยผ้าบังสุกุล เธอพึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลนั้นจนตลอดชีวิต
อติเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน
๓. บรรพชาอาศัยเสนาสนะคือควงไม้ เธอพึงทำอุตสาหะในเสนาสนะคือควงไม้
นั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ
๔. บรรพชาอาศัยยาคือน้ำมูตรเน่า เธอพึงทำอุตสาหะในยาคือน้ำมูตรเน่านั้น
จนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
จัตตารินิสสยะ จบ

๖๕. จัตตาริอกรณียะ
ว่าด้วยอกรณียกิจ ๔

เรื่องทิ้งภิกษุบวชใหม่ไว้ตามลำพัง
[๑๒๙] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ให้ภิกษุรูปหนึ่งอุปสมบทแล้ว ทิ้งไว้ตาม
ลำพังหลีกไป ภิกษุรูปนั้นเดินมาทีหลังเพียงรูปเดียว ได้พบภรรยาเก่าระหว่างทาง

เชิงอรรถ :
๑ วัดเงา คือวัดเงาคนว่า ๑ ชั่วคน หรือ ๒ ชั่วคน บอกประมาณแห่งฤดู คือบอกว่าเป็นฤดูฝน เป็นฤดูหนาว
เป็นฤดูร้อน บอกส่วนแห่งวัน คือบอกว่าเป็นเวลาเช้า หรือเป็นเวลาเย็น บอกสังคีติ คือ บอกทั้งหมด
พร้อมกันว่าถ้าท่านถูกถามว่าได้ฤดูอะไร ได้ฉายาอะไร ได้เวลาในช่วงไหนของวัน พึงบอกว่า ได้ฤดูนี้
ฉายานี้ เวลาในช่วงนี้ของวัน (วิ.อ. ๓/๑๒๘/๑๐๔)
๒ ดูข้อ ๗๓ หน้า ๑๐๑ ในเล่มนี้(เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๕. จัตตาริอกรณียะ
นางได้ถามว่า “เวลานี้ท่านบรรพชาแล้วหรือ”
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “จ้ะ ฉันบรรพชาแล้ว”
นางจึงพูดชวนว่า “เมถุนธรรมสำหรับพวกบรรพชิตหาได้ยาก ขอท่านมาเสพ
เมถุนธรรมกันเถิด”
ภิกษุรูปนั้นได้เสพเมถุนธรรมกับภรรยาเก่าแล้ว จึงมาถึงล่าช้า
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่าน ทำไมท่านจึงมาถึงช้าเช่นนี้”
ภิกษุรูปนั้นได้บอกเรื่องนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ

ทรงอนุญาตให้บอกอกรณียกิจ ๔
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ”ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทแล้วให้มีภิกษุ
เป็นเพื่อน และให้บอกอกรณียกิจ ๔ ดังนี้
๑. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงเสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้กับสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวเมีย ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร
ภิกษุเสพเมถุนธรรมแล้ว ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือน
คนถูกตัดศีรษะ ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ โดยการต่อศีรษะเข้ากับร่างกายนั้น การเสพ
เมถุนธรรมนั้น อันเธอไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
๒. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ โดยส่วนแห่งจิต
คิดจะลัก โดยที่สุดกระทั่งหญ้าเส้นเดียว ภิกษุใดถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก ๑ บาทบ้าง ควรแก่ ๑ บาทบ้าง เกินกว่า ๑ บาทบ้าง
ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก ๑ บาทบ้าง ควรแก่ ๑ บาทบ้าง เกินกว่า ๑ บาทบ้าง
ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือน ใบไม้เหี่ยวเหลือง
หลุดจากขั้วแล้ว ไม่อาจเป็นของเขียวสดต่อไปได้ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
นั้น อันเธอไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๖. อาปัตติอทัสสนอุกขิตตวัตถุ
๓. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงจงใจพรากสัตว์เสียจากชีวิตโดยที่สุดกระทั่งมด
ดำ มดแดง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตโดยที่สุดกระทั่งยังครรภ์ให้ตกไป
ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุจงใจพรากกายมนุษย์เสียจาก
ชีวิต ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนแผ่นศิลาหนา
แตกออกเป็น ๒ เสี่ยง จะประสานให้สนิทเป็นแผ่นเดียวกันอีกไม่ได้ การจงใจพราก
กายมนุษย์เสียจากชีวิตนั้น อันเธอไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต
๔. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมโดยที่สุดพูดว่า
ข้าพเจ้ายินดีในเรือนว่าง ภิกษุใดมีความปรารถนาชั่ว ถูกความอยากครอบงำ
กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีอยู่ ไม่เป็นจริง คือ ฌานก็ดี วิโมกข์ก็ดี สมาธิก็ดี
สมาบัติก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุ
มีความปรารถนาชั่ว ถูกความอยากครอบงำ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีอยู่
ไม่เป็นจริง ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนต้นตาล
ยอดด้วนที่ไม่อาจงอกได้ต่อไป การกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมนั้น อันเธอไม่พึง
กระทำจนตลอดชีวิต”
จัตตาริอกรณียะ จบ

๖๖. อาปัตติอทัสสนอุกขิตตวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
[๑๓๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
ได้สึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวิธีปฏิบัติดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ก็ ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
ได้สึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก พึงถามเขาว่า ‘เจ้าเห็นอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๖. อาปัตติอทัสสนอุกขิตตวัตถุ
นั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมเห็น ขอรับ’ พึงให้บรรพชา ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผม
ไม่เห็น ขอรับ’ ไม่พึงให้บรรพชา ครั้นให้บรรพชาแล้วพึงถามว่า ‘เจ้าเห็นอาบัตินั้น
หรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมเห็น ขอรับ’ พึงให้อุปสมบท ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมไม่
เห็นขอรับ’ ไม่พึงให้อุปสมบท ครั้นให้อุปสมบทแล้วพึงถามว่า ‘ท่านเห็นอาบัตินั้น
หรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมเห็น ขอรับ’ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมไม่
เห็นขอรับ’ ไม่พึงเรียกเข้าหมู่ ครั้นเรียกเข้าหมู่แล้วพึงถามว่า ‘ท่านเห็นอาบัตินั้นหรือ’
ถ้าเขาเห็นเอง นั่นเป็นการดี ถ้าไม่เห็น เมื่อได้สามัคคี พึงลงอุกเขปนียกรรมอีก
เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่ต้องอาบัติเพราะกินร่วมและอยู่ร่วม

เรื่องภิกษุถูกลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืน
อาบัติ ได้สึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก พึงถามเขาว่า
‘เจ้าจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักทำคืน ขอรับ’ พึงให้บรรพชา
ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักไม่ทำคืน ขอรับ’ ไม่พึงให้บรรพชา ครั้นให้บรรพชาแล้ว
พึงถามว่า ‘เจ้าจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักทำคืน ขอรับ’
พึงให้อุปสมบท ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจะไม่กระทำคืน’ ไม่พึงให้อุปสมบท ครั้นให้
อุปสมบทแล้วพึงถามว่า ‘ท่านจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผม
จักทำคืน ขอรับ’ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจะไม่กระทำคืน’ ไม่พึง
เรียกเข้าหมู่ ครั้นเรียกเข้าหมู่แล้วพึงกล่าวว่า ‘จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย’ ถ้าเขา
ทำคืน นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ทำคืน เมื่อได้สามัคคี พึงลงอุกเขปนียกรรมอีก
เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่ต้องอาบัติเพราะกินร่วมและอยู่ร่วม

เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละ
ทิฏฐิบาปสึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก พึงถามเขาว่า ‘เจ้าจัก
สละทิฏฐิบาปนั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักสละ ขอรับ’ พึงให้บรรพชา ถ้าเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
ตอบว่า ‘กระผมจักไม่สละ ขอรับ’ ไม่พึงให้บรรพชา ครั้นให้บรรพชาแล้วพึงถามว่า
‘เจ้าจักสละทิฏฐิบาปนั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักสละ ขอรับ’ พึงให้
อุปสมบท ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักไม่สละ’ ไม่พึงให้อุปสมบท ครั้นให้อุปสมบท
แล้วพึงถามว่า ‘ท่านจักสละทิฏฐิบาปนั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักสละ
ขอรับ’ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักไม่สละ’ ไม่พึงเรียกเข้าหมู่
ครั้นเรียกเข้าหมู่แล้วพึงกล่าวว่า ‘จงสละทิฏฐิบาปนั้นเสีย’ ถ้าเขาสละ นั่นเป็นการดี
ถ้าไม่สละ เมื่อได้สามัคคี พึงลงอุกเขปนียกรรมอีก เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่ต้อง
อาบัติเพราะกินร่วมและอยู่ร่วม”
เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ จบ
มหาขันธกะที่ ๑ จบ

๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
[๑๓๑] เพราะภิกษุผู้ฉลาดในพระวินัย อันมีประโยชน์มาก
อันนำความสุขมาให้ภิกษุผู้มีศีลดีงาม ในการข่มภิกษุ
ผู้ปรารถนาต่ำทราม ในการยกย่องภิกษุผู้มีความละอาย
ในมหาวรรคขันธกะและจูฬวรรคขันธกะ ในภิกขุวิภังค์
และภิกขุนีวิภังค์ในคัมภีร์บริวาร ในภิกขุปาติโมกข์
และภิกขุนีปาติโมกข์ อันทรงไว้ซึ่งพระศาสนา
อันเป็นพุทธวิสัยแห่งพระสัพพัญญู
มิใช่วิสัยของบุคคลทั่วไป อันเกษม
ที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว และปราศจากข้อสงสัย
ย่อมปฏิบัติโดยแยบคาย นับว่าเป็นผู้กระทำประโยชน์
ผู้ใดไม่รู้จักโค ผู้นั้นย่อมรักษาฝูงโคไว้ไม่ได้ ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่อไม่รู้จักศีล ไฉนจะพึงรักษาสังวรได้เล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
เมื่อพระสูตรและพระอภิธรรมเลอะเลือนไปแล้ว
พระวินัยยังไม่เสื่อมสูญ พระศาสนาย่อมดำรงอยู่ได้
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักกล่าวหัวข้อเหตุแห่งการสังคายนา
ตามความรู้โดยลำดับ ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้ากล่าว
การที่จะแสดง วัตถุ นิทาน อาบัติ นัย และเปยยาล
ให้สิ้นเชิงนั้น ทำได้ยาก ท่านทั้งหลายจงทราบข้อนั้นโดยนัยเถิด

ในขันธกะมี ๑๗๒ เรื่องคือ
เรื่องเหตุการณ์แรกตรัสรู้ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
เรื่องเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธ
เรื่องเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์
เรื่องเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะ
เรื่องท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม
เรื่องอาฬารดาบส กาลามโคตร
เรื่องอุททกดาบส รามบุตร เรื่องอุปกาชีวก
เรื่องทรงแสดงธรรมแก่พระปัญจวัคคีย์ คือ
โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ
เรื่องยสกุลบุตร เรื่องสหาย ๔ คนของพระยสะ
เรื่องสหาย ๕๐ คนของพระยสะ
เรื่องส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูปไปทุกทิศ
เรื่องมาร เรื่องทรงแสดงธรรมโปรดภัททวัคคีย์ ๓๐ คน
เรื่องปาฏิหาริย์ที่ตำบลอุรุเวลา เรื่องชฎิล ๓ พี่น้อง
เรื่องโรงบูชาไฟ เรื่องท้าวมหาราชทั้ง ๔ เรื่องท้าวสักกะ
เรื่องท้าวสหัมบดีพรหม เรื่องชาวอังคะและมคธ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
เรื่องผ้าบังสุกุล เรื่องสระโบกขรณี เรื่องขยำผ้าบังสุกุลบนศิลา
เรื่องพาดผ้าบังสุกุลบนต้นกุ่ม เรื่องผึ่งผ้าบังสุกุลบนแผ่นศิลา
เรื่องต้นหว้า เรื่องต้นมะม่วง เรื่องต้นมะขามป้อม
เรื่องดอกปาริฉัตร
เรื่องพวกชฎิลผ่าฟืน เรื่องพวกชฎิลก่อไฟ
เรื่องพวกชฎิลดับไฟ เรื่องพวกชฎิลดำน้ำ เรื่องภาชนะใส่ไฟ
เรื่องฝนตกน้ำท่วม เรื่องทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรใกล้แม่น้ำคยา
เรื่องประทับ ณ สวนตาลหนุ่ม เรื่องพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
เรื่องสารีบุตรและโมคคัลลานะบรรพชา
เรื่องกุลบุตรมีชื่อเสียงบรรพชา
เรื่องภิกษุนุ่งห่มไม่เรียบร้อย เรื่องการประณาม
เรื่องพราหมณ์ซูบผอมเพราะไม่ได้บวช
เรื่องภิกษุประพฤติไม่สมควร
เรื่องพราหมณ์บวชเพราะเห็นแก่ท้อง
เรื่องการบอกนิสสัยแก่มาณพก่อนบวช เรื่องให้อุปสมบทด้วยคณะ
เรื่องอุปัชฌาย์มีพรรษาเดียวให้กุลบุตรอุปสมบท
เรื่องอุปัชฌาย์โง่เขลา เรื่องอุปัชฌาย์หลีกไป
เรื่องถือนิสสัยอยู่ ๑๐ พรรษา
เรื่องอันเตวาสิกไม่ประพฤติชอบ
เรื่องทรงอนุญาตให้ประณาม เรื่องอาจารย์โง่เขลา
เรื่องนิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์และอาจารย์
เรื่องภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ เรื่องภิกษุประกอบด้วยองค์ ๖
เรื่องให้ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์อุปสมบท
เรื่องผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์เปลือยกาย
เรื่องผู้เคยเป็นเดียรถีย์เปลือยกายไม่ปลงผม
เรื่องให้ชฎิลบูชาไฟอุปสมบท เรื่องอัญเดียรถีย์ศากยะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
เรื่องอาพาธ ๕ ที่กรุงราชคฤห์ เรื่องราชภัฏบรรพชา
เรื่องโจรองคุลีมาลบรรพชา เรื่องพระเจ้าพิมพิสารทรงอนุญาต
เรื่องโจรแหกเรือนจำบรรพชา เรื่องโจรถูกออกหมายจับบรรพชา
เรื่องบุรุษถูกเฆี่ยนด้วยหวายบรรพชา
เรื่องบุรุษถูกสักหมายโทษบรรพชา เรื่องลูกหนี้บรรพชา
เรื่องทาสบรรพชา เรื่องบุตรช่างทองผมจุก ๕ แหยมบรรพชา
เรื่องเด็กชายอุบาลีบรรพชา
เรื่องให้เด็กอายุหย่อนกว่า ๑๕ ปีของตระกูลมีศรัทธาบรรพชา
เรื่องสามเณรกัณฏกะ เรื่องทิศทั้งหลายคับแคบ
เรื่องการอยู่ถือนิสสัย เรื่องราหุลกุมาร
เรื่องสิกขาบทของสามเณร เรื่องสามเณรอยู่อย่างไม่เคารพ
เรื่องการลงทัณฑกรรมสามเณร
เรื่องลงทัณฑกรรมห้ามสามเณรเข้าสังฆารามทุกแห่ง
เรื่องลงทัณฑกรรมห้ามฉันทางปาก
เรื่องการกักกันสามเณรโดยไม่บอกพระอุปัชฌาย์
เรื่องการเกลี้ยกล่อมสามเณร เรื่องนาสนะสามเณรกัณฏกะ
เรื่องบัณเฑาะก์บรรพชา เรื่องคนลักเพศบรรพชา
เรื่องคนเข้ารีตเดียรถีย์บรรพชา เรื่องนาคแปลงกายมาบวช
เรื่องคนฆ่ามารดามาขอบวช เรื่องคนฆ่าบิดามาขอบวช
เรื่องคนฆ่าพระอรหันต์มาขอบวช
เรื่องคนประทุษร้ายภิกษุณีมาขอบวช
เรื่องคนทำลายสงฆ์มาขอบวช
เรื่องคนทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิตมาขอบวช
เรื่องอุภโตพยัญชนกบรรพชา
เรื่องคนไม่มีอุปัชฌาย์บรรพชา
เรื่องให้คนมีสงฆ์เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท
เรื่องให้คนมีคณะเป็นอุปัชฌาย์อุปสมบท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
เรื่องให้คนมีบัณเฑาะก์เป็นอุปัชฌาย์เป็นต้นอุปสมบท
เรื่องให้คนไม่มีบาตรอุปสมบท เรื่องให้คนไม่มีจีวรอุปสมบท
เรื่องให้คนไม่มีทั้งบาตรและจีวรอุปสมบท
เรื่องให้คนยืมบาตรเขามาอุปสมบท
เรื่องให้คนยืมจีวรเขามาอุปสมบท
เรื่องให้คนยืมบาตรและจีวรเขามาอุปสมบท
เรื่องให้คนมือด้วนบรรพชา เรื่องให้คนเท้าด้วนบรรพชา
เรื่องให้คนมือและเท้าด้วนบรรพชา เรื่องให้คนหูวิ่นบรรพชา
เรื่องให้คนจมูกแหว่งบรรพชา เรื่องให้คนหูวิ่นและจมูกแหว่งบรรพชา
เรื่องให้คนนิ้วมือนิ้วเท้าขาดบรรพชา
เรื่องให้คนง่ามมือง่ามเท้าขาดบรรพชา เรื่องให้คนเอ็นขาดบรรพชา
เรื่องให้คนมีมือเป็นแผ่นบรรพชา เรื่องให้คนค่อมบรรพชา
เรื่องให้คนเตี้ยบรรพชา
เรื่องให้คนคอพอกบรรพชา เรื่องให้คนถูกสักหมายโทษบรรพชา
เรื่องให้คนมีรอยเฆี่ยนด้วยหวายบรรพชา
เรื่องให้คนมีหมายจับบรรพชา เรื่องให้คนเท้าปุกบรรพชา
เรื่องให้คนมีโรคเรื้อรังบรรพชา
เรื่องให้คนมีรูปร่างไม่สมประกอบบรรพชา
เรื่องให้คนตาบอดข้างเดียวบรรพชา
เรื่องให้คนง่อยบรรพชา เรื่องให้คนกระจอกบรรพชา
เรื่องให้คนเป็นโรคอัมพาตบรรพชา
เรื่องให้คนเคลื่อนไหวไม่ได้บรรพชา
เรื่องให้คนชราทุพพลภาพบรรพชา
เรื่องให้คนตาบอด ๒ ข้างบรรพชา เรื่องให้คนใบ้บรรพชา
เรื่องให้คนหูหนวกบรรพชา เรื่องให้คนทั้งบอดทั้งใบ้บรรพชา
เรื่องให้คนทั้งบอดทั้งหนวกบรรพชา
เรื่องให้คนทั้งใบ้ทั้งหนวกบรรพชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ
เรื่องให้คนทั้งบอดทั้งใบทั้งหนวกบรรพชา
เรื่องให้นิสสัยแก่อลัชชี เรื่องถือนิสสัยอลัชชี
เรื่องภิกษุผู้เดินทางไกลไม่ต้องถือนิสสัย
เรื่องภิกษุไข้ไม่ต้องถือนิสสัย
เรื่องภิกษุอยู่ป่าไม่ต้องถือนิสสัยจนกว่าอาจารย์ผู้ให้นิสสัยจะมา
เรื่องพระมหากัสสปะนิมนต์พระอานนท์มาสวดอนุสาวนา
เรื่องแย่งกันอุปสมบทก่อน
เรื่องอุปสมบทครั้งละ ๓ คนโดยมีอุปัชฌาย์รูปเดียว
เรื่องพระกุมารกัสสปะอายุไม่ครบ ๒๐ ปีอุปสมบท
เรื่องผู้ถูกโรคเบียดเบียนอุปสมบท
เรื่องถามอันตรายิกธรรมกับอุปสัมปทาเปกขะ
เรื่องสอนซ้อมก่อนถามอันตรายิกธรรม
เรื่องสอนซ้อมในท่ามกลางสงฆ์ เรื่องภิกษุโง่เขลาสอนซ้อม
เรื่องภิกษุยังไม่ได้รับสมมติสอนซ้อม
เรื่องวิธีสมมติภิกษุเป็นผู้สอนซ้อม
เรื่องห้ามผู้สอนซ้อมกับอุปสัมปทาเปกขะเดินมาพร้อมกัน
เรื่องคำขออุปสมบทเพื่อยกขึ้นเป็นภิกษุ
เรื่องญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา เรื่องทรงอนุญาตให้บอกนิสสัย ๔
เรื่องทิ้งอุปสัมบันไว้ตามลำพัง
เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ
เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป๑
มหาขันธกะ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อเรื่องเหล่านี้ พระสังคีติกาจารย์ได้เก็บข้อความมากกล่าวเป็นคาถารวม ๑๗๒ เรื่อง แต่ในข้อความนั้น ๆ
ในฉบับภาษาบาลีและฉบับภาษาไทยนี้ ไม่ได้ตั้งข้อไว้ทั้ง ๑๗๒ เรื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๘. สันนิปาตานุชานนา
๒. อุโปสถขันธกะ

๖๘. สันนิปาตานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้สงฆ์ประชุมกัน

เรื่องปริพาชกอัญเดียรถีย์
[๑๓๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์๑ ประชุมกันกล่าวธรรม
ประชาชนพากันเข้าไปหาเพื่อฟังธรรม ประชาชนเหล่านั้นได้ความรักความเลื่อมใส
ในพวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ก็ได้พรรคพวก

เรื่องพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
สมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิด
ความคิดคำนึงขึ้นในพระทัยอย่างนี้ว่า “เดี๋ยวนี้ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ ประชุม
กันกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ มนุษย์ทั้งหลาย
พากันเข้าไปหาเพื่อฟังธรรม คนเหล่านั้นได้ความรักความเลื่อมใสในพวกปริพาชก
อัญเดียรถีย์ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ก็ได้พรรคพวก ไฉนหนอแม้พระคุณเจ้า
ทั้งหลายจะพึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์บ้าง” จึง
เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ประทับนั่ง
ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน
หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจอย่างนี้ว่า ‘เดี๋ยวนี้พวกปริพาชก
อัญเดียรถีย์ ประชุมกันกล่าวธรรม ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์

เชิงอรรถ :
๑ อัญเดียรถีย์ หมายถึงผู้เป็นเจ้าลัทธิอื่นนอกจากพระพุทธศาสนา (วิ.อ. ๓/๑๓๒/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๘. สันนิปาตานุชานนา
ประชาชนพากันเข้าไปหาเพื่อฟังธรรม ประชาชนเหล่านั้นได้ความรักความเลื่อมใส
ในพวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ก็ได้พรรคพวก ไฉนหนอ
พระคุณเจ้าทั้งหลายจะพึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่ง
ปักษ์บ้าง’ หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส ขอให้พระคุณเจ้าทั้งหลายพึง
ประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงแสดงธรรมีกถา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าพระทัยให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้
สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นท้าวเธอผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าพระทัยให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้สด
ชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ก็เสด็จลุกจากอาสนะถวายบังคม ทรงทำประทักษิณเสด็จหลีกไป

ทรงอนุญาตวันประชุม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ
๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์”

เรื่องภิกษุประชุมนั่งนิ่ง
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดกันว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ประชุมกันใน
วัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์” จึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ
๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ แล้วนั่งนิ่ง
ประชาชนเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นเพื่อฟังธรรม ประชาชนเหล่านั้นพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากบุตรทั้งหลายประชุมกันใน
วัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์แล้ว จึงนั่งนิ่งเหมือนสุกรใบ้เล่า๑
ธรรมดาว่าผู้ประชุมกันก็ควรกล่าวธรรมมิใช่หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ เหมือนสุกรอ้วน (วิ.อ. ๓/๑๓๒/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาอยู่ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เรื่องทรงอนุญาตให้กล่าวธรรมในวันประชุม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประชุมกันกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ
๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์”

๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
ว่าด้วยการทรงอนุญาตปาติโมกขุทเทส

เรื่องพระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
[๑๓๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้ทรงเกิดความ
ดำริขึ้นในพระทัยอย่างนี้ว่า “ถ้ากระไร เราพึงอนุญาตสิกขาบทที่ได้บัญญัติไว้แก่ภิกษุ
ทั้งหลายให้เป็นปาติโมกขุทเทสของพวกเธอ ปาติโมกขุทเทสนั้นก็จักเป็นอุโบสถกรรม
ของพวกเธอ”
ครั้นเวลาเย็น พระองค์เสด็จออกจากที่เร้น ทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้
เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราหลีกเร้นอยู่ในที่
สงัด ณ ที่นี้ได้เกิดความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า ‘ถ้ากระไร เราพึงอนุญาตสิกขาบทที่ได้
บัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายให้เป็นปาติโมกขุทเทสของพวกเธอ ปาติโมกขุทเทสนั้นก็จัก
เป็นอุโบสถกรรมของพวกเธอ’ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง”
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกขึ้นแสดงอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
[๑๓๔] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงทำ
อุโบสถพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง อะไรเป็นบุพพกิจของสงฆ์ ท่านทั้งหลายพึงบอก
ปาริสุทธิ ข้าพเจ้าจักยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พวกเราบรรดาที่มีอยู่ทั้งหมดจงฟังให้ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
จงใส่ใจปาติโมกข์นั้น ท่านรูปใดมีอาบัติ ท่านรูปนั้นพึงเปิดเผย เมื่อไม่มีอาบัติ
พึงนิ่ง ด้วยความเป็นผู้นิ่ง ข้าพเจ้าจักทราบว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็การ
สวดประกาศถึง ๓ ครั้ง ในบริษัทเช่นนี้เป็นเหมือนการเปิดเผยอาบัติของภิกษุแต่ละ
รูปที่ถูกถาม ก็เมื่อกำลังสวดประกาศถึงครั้งที่ ๓ ภิกษุใดระลึกได้ ยังไม่ยอมเปิดเผย
อาบัติที่มีอยู่ สัมปชานมุสาวาทย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น ท่านทั้งหลาย ก็สัมปชาน
มุสาวาท๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมที่ทำอันตราย เพราะฉะนั้น ภิกษุ
ต้องอาบัติแล้วระลึกได้ หวังความบริสุทธิ์ ก็พึงเปิดเผยอาบัติที่มีอยู่ เพราะเปิด
เผยอาบัติแล้ว ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น

นิทานุทเทสวิภังค์
[๑๓๕] คำว่า ปาติโมกข์ นี้เป็นเบื้องต้น นี้เป็นประธาน นี้เป็นประมุขแห่ง
กุศลธรรมทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า ปาติโมกข์
คำว่า ท่านทั้งหลาย นี้เป็นคำกล่าวด้วยความรัก นี้เป็นคำกล่าวด้วยความ
เคารพ นี้เป็นคำเรียกบุคคลผู้มีความเคารพและมีความยำเกรง เพราะเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ท่านทั้งหลาย
คำว่า จักยกขึ้นแสดง คือ จักบอก จักแสดง จักบัญญัติ จักเริ่มตั้ง จักเปิดเผย
จักจำแนก จักทำให้กระจ่าง จักประกาศ
คำว่า นั้น ตรัสหมายถึงปาติโมกข์
คำว่า บรรดาที่มีอยู่ทั้งหมด ความว่า ภิกษุในบริษัทนั้นเป็นเถระก็ตาม เป็น
นวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม มีจำนวนเท่าใด ภิกษุเหล่านั้น พระผู้มีพระภาค
ตรัสหมายถึงภิกษุที่มีอยู่ทั้งหมด
คำว่า จงฟังให้ดี ความว่า จงทำให้เป็นประโยชน์ ทำไว้ในใจ รวบรวมเรื่อง
ทั้งหมดด้วยใจ
คำว่า จงใส่ใจ ความว่า จงมีจิตแน่วแน่ มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่ซัดส่าย ตั้งใจฟัง

เชิงอรรถ :
๑ สัมปชานมุสาวาท คือ กล่าวเท็จทั้งที่รู้ (ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๒-๓/๑๘๖-๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
คำว่า ท่านรูปใดมีอาบัติ ความว่า ภิกษุผู้เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม
เป็นมัชฌิมะก็ตาม มีอาบัติตัวใดตัวหนึ่ง บรรดาอาบัติ ๕ กอง หรือ มีอาบัติตัวใด
ตัวหนึ่ง บรรดาอาบัติ ๗ กอง
คำว่า ท่านรูปนั้นพึงเปิดเผย ความว่า ภิกษุรูปนั้นพึงแสดง ภิกษุรูปนั้นพึง
เปิดเผย ภิกษุรูปนั้นพึงทำให้กระจ่าง ภิกษุรูปนั้นพึงประกาศในท่ามกลางสงฆ์
ในท่ามกลางคณะ หรือในบุคคลผู้หนึ่ง
อาบัติที่ชื่อว่าไม่มี ได้แก่ อาบัติที่ภิกษุมิได้ล่วงละเมิด หรือว่าต้องแต่ออกแล้ว
คำว่า พึงนิ่ง คือ พึงอยู่เฉย ไม่พึงกล่าว
คำว่า ข้าพเจ้าจักทราบว่า....เป็นผู้บริสุทธิ์ คือ จักรู้ จักจำไว้
คำว่า เป็นเหมือนการเปิดเผยอาบัติของภิกษุแต่ละรูปที่ถูกถาม ความว่า
บริษัทนั้นพึงรู้ว่า จะถามเรา ดังนี้ เหมือนภิกษุรูปหนึ่งได้ถูกภิกษุอีกรูปหนึ่งถาม
ก็พึงตอบ
บริษัทเช่นนี้ ตรัสหมายถึงภิกษุบริษัท
คำว่า การสวดประกาศถึง ๓ ครั้ง ความว่า สวดประกาศแม้ครั้งที่ ๑ สวด
ประกาศแม้ครั้งที่ ๒ สวดประกาศแม้ครั้งที่ ๓
คำว่า ระลึกได้ คือ รู้อยู่ จำได้อยู่
อาบัติที่ชื่อว่ามีอยู่ ได้แก่ อาบัติที่ภิกษุล่วงละเมิดแล้ว หรือที่ต้องแล้ว
ยังมิได้ออก
คำว่า ยังไม่ยอมเปิดเผย ความว่า ไม่ยอมแสดง ไม่ยอมเปิดเผย ไม่ยอมทำ
ให้ตื้น ไม่ยอมประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ในท่ามกลางคณะ หรือในบุคคลผู้หนึ่ง
คำว่า สัมปชานมุสาวาทย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น คือ เป็นอาบัติอะไรเพราะ
สัมปชานมุสาวาท เป็นอาบัติทุกกฏ
คำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมที่ทำอันตราย ความว่า เป็นธรรมที่
ทำอันตรายต่ออะไร เป็นธรรมที่ทำอันตรายต่อการบรรลุปฐมฌาน เป็นธรรมที่ทำ
อันตรายต่อการบรรลุทุติยฌาน เป็นธรรมที่ทำอันตรายต่อการบรรลุตติยฌาน เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
ธรรมที่ทำอันตรายต่อการบรรลุจตุตถฌาน เป็นธรรมที่ทำอันตรายต่อการบรรลุฌาน
วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ เนกขัมมะ นิสสรณะ ปวิเวก กุศลธรรม
คำว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะเหตุนั้น
คำว่า ระลึกได้ คือ รู้อยู่ จำได้อยู่
คำว่า หวังความบริสุทธิ์ คือ ประสงค์ออกจากอาบัติ ต้องการความหมดจด
อาบัติที่ชื่อว่ามีอยู่ ได้แก่ อาบัติที่ภิกษุล่วงละเมิด หรือที่ต้องแล้วยังมิได้ออก
คำว่า พึงเปิดเผย ความว่า พึงทำให้แจ้งในท่ามกลางสงฆ์ ในท่ามกลางคณะ
หรือในบุคคลผู้หนึ่ง
คำว่า เพราะเปิดเผยอาบัติแล้ว ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น ความว่า
ความผาสุกย่อมมีเพื่ออะไร ความผาสุกย่อมมีเพื่อบรรลุปฐมฌาน ความผาสุกย่อมมี
เพื่อบรรลุทุติยฌาน ความผาสุกย่อมมีเพื่อบรรลุตติยฌาน ความผาสุกย่อมมีเพื่อ
บรรลุจตุตถฌาน ความผาสุกย่อมมีเพื่อบรรลุฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ เนกขัมมะ
นิสสรณะ ปวิเวก กุศลธรรม

เรื่องภิกษุยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงทุกวัน
[๑๓๖] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงในวันอุโบสถแล้ว จึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงทุกวัน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงทุกวัน
รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงในวันอุโบสถ”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการยกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงในวันอุโบสถแล้ว จึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์ละ ๓ ครั้ง คือ ในวัน ๑๔ ค่ำ
วัน ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๖๙. ปาติโมกขุทเทสานุชานนา
เรื่องทรงอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์ละครั้ง
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์
ละ ๓ ครั้ง รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์ละ ๑ ครั้ง คือ ในวัน ๑๔ ค่ำ หรือวัน ๑๕ ค่ำ”๑

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่บริษัทเท่าที่มี
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่บริษัทเท่าที่มี คือเฉพาะ
บริษัทของตน ๆ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เรื่องทรงอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุผู้พร้อมเพรียง
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่บริษัท
เท่าที่มีคือเฉพาะบริษัทของตน ๆ รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุบริษัททั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน”

เรื่องทรงอนุญาตความพร้อมเพรียงกำหนดอาวาสเดียว
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายมีความคิดคำนึงว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติอุโบสถ
กรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน” แล้วดำริว่า “ความพร้อมเพรียงกันมี
กำหนดเพียงไรหนอ มีเพียงอาวาสหนึ่ง หรือมีทั้งแผ่นดิน” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตความพร้อมเพรียงมี
กำหนดเขตเพียงอาวาสเดียวเท่านั้น”

เชิงอรรถ :
๑ ปักษ์หนึ่งมี ๑๔ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง : ๑ ปีมี ๓ ฤดูคือ (๑) ฤดูร้อน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๔
ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ (๒) ฤดูฝน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
(๓) ฤดูหนาว ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔
๑ ฤดูมี ๘ ปักษ์ ปักษ์ ๑๔ วัน มี ๒ ครั้ง คือปักษ์ที่ ๓ และปักษ์ที่ ๗ ปักษ์ ๑๕ วัน มี ๖ ครั้ง
(วิ.อ. ๓/๓๖/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๐. มหากัปปินวัตถุ
๗๐. มหากัปปินวัตถุ
ว่าด้วยพระมหากัปปินเถระ

เรื่องมัททกุจฉิมฤคทายวัน
[๑๓๗] สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะอยู่ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจอย่างนี้ว่า
“เราควรไปทำอุโบสถหรือไม่ ควรไปทำสังฆกรรมหรือไม่ ที่จริงเราเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย
ความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงในใจของท่านพระมหา
กัปปินะด้วยพระทัยของพระองค์ ทรงหายไป ณ ภูเขาคิชฌกูฏมาปรากฏตรงหน้า
ท่านพระมหากัปปินะที่มัททกุจฉิมฤคทายวัน เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขน
ออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูลาดไว้
ฝ่ายท่านพระมหากัปปินะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระมหากัปปินะผู้นั่ง ณ ที่สมควรว่า “กัปปินะ
เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจอย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถ
หรือไม่ ควรไปทำสังฆกรรมหรือไม่ ที่จริงเราเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง
อย่างนี้มิใช่หรือ”
ท่านพระมหากัปปินะทูลรับว่า “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ทั้งหลาย๑ พวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ
ไม่นับถือ ไม่บูชาซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ซึ่งอุโบสถ พราหมณ์ เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ เธอจงไปทำสังฆกรรม จะไม่
ไปไม่ได้”
ท่านพระมหากัปปินะทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า “ไป พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์ทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงภิกษุขีณาสพ (ดู วิ.อ. ๓/๑/๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๑. สีมานุชานนา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระมหากัปปินะเห็นชัด ชวนให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงหายไปตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤค
ทายวัน มาปรากฏที่ภูเขาคิชฌกูฏ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้
แขนเข้า ฉะนั้น

๗๑. สีมานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตสีมา

สมมติสีมาและนิมิตแห่งสีมา
[๑๓๘] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรง
บัญญัติไว้ว่า ความพร้อมเพรียงมีกำหนดเขตเพียงอาวาสเดียวเท่านั้น” แล้วดำริ
ว่า “อาวาสหนึ่งมีการกำหนดเขตเท่าไร” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมา ภิกษุ
ทั้งหลาย พึงสมมติสีมาอย่างนี้

วิธีสมมติสีมา
ในเบื้องต้นพึงทักนิมิต คือ

ปัพพตนิมิต (นิมิตคือภูเขา) ปาสาณนิมิต (นิมิตคือแผ่นหิน)
วนนิมิต (นิมิตคือป่า) รุกขนิมิต (นิมิตคือต้นไม้)
มัคคนิมิต (นิมิตคือหนทาง) วัมมิกนิมิต (นิมิตคือจอมปลวก)
นทีนิมิต (นิมิตคือแม่น้ำ) อุทกนิมิต (นิมิตคือน้ำ)

ครั้นทักนิมิตแล้ว ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติ
ทุติยกรรมวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๑. สีมานุชานนา
กรรมวาจาสมมติสีมา
[๑๓๙] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตได้ระบุไว้โดยรอบเพียงใด
ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงสมมติสมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกัน๑ ด้วยนิมิต
เหล่านั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตได้ระบุไว้โดยรอบเพียงใด สงฆ์สมมติ
สมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น ท่านรูปใดเห็นด้วยกับ
การสมมติสมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น ท่านรูปนั้น
พึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์สมมติแล้ว ด้วยนิมิตเหล่านั้น
สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องสมมติสีมาใหญ่เกินขนาด
[๑๔๐] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์คิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการ
สมมติสีมาแล้ว” จึงสมมติสีมาใหญ่เกินไป ๔ โยชน์บ้าง ๕ โยชน์บ้าง ๖ โยชน์บ้าง
ภิกษุทั้งหลายมาทำอุโบสถ มาถึงเมื่อกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงก็มี มาถึงเมื่อ
ยกขึ้นแสดงจบแล้วก็มี รอนแรมอยู่ระหว่างทางก็มี
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมติสีมาใหญ่เกินไป ๔ โยชน์
บ้าง ๕ โยชน์บ้าง ๖ โยชน์บ้าง รูปใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้สมมติสีมาประมาณ ๓ โยชน์เป็นอย่างยิ่ง”

เรื่องสมมตินทีปารสีมา (สีมาคร่อมแม่น้ำ)
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สมมตินทีปารสีมา ภิกษุทั้งหลายมาทำอุโบสถ
ถูกน้ำพัดไปก็มี บาตรถูกน้ำพัดไปก็มี จีวรถูกน้ำพัดไปก็มี
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ สมานสังวาส หมายถึงเขตแดนที่สงฆ์สมมติเพื่อเข้าร่วมอุโบสถปวารณาและสังฆกรรมอื่นด้วยกัน (ดู วิ.อ.
๑/๕๕/๒๗๘, กงฺขา.ฏีกา ๑๕๒,๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๒. อุโปสถาคารกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมตินทีปารสีมา รูปใด
สมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมตินทีปารสีมาที่มีเรือจอด
ประจำหรือมีสะพานถาวร”

๗๒. อุโปสถาคารกถา
ว่าด้วยโรงอุโบสถ

เรื่องยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงตามบริเวณวิหาร
[๑๔๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงตามบริเวณวิหารโดยไม่
กำหนดที่ พระอาคันตุกะทั้งหลายไม่รู้ว่า “วันนี้สงฆ์จะทำอุโบสถ ณ ที่ไหน”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงตาม
บริเวณวิหารโดยไม่กำหนดที่ รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้สมมติวิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น หรือถ้ำ ที่สงฆ์
ต้องการให้เป็นโรงอุโบสถแล้วจึงทำอุโบสถ”
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงสมมติโรงอุโบสถอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

วิธีสมมติโรงอุโบสถและกรรมวาจาสมมติโรงอุโบสถ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์สมมติวิหารมีชื่อนี้
ให้เป็นโรงอุโบสถ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นโรงอุโบสถ
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสมมติวิหารมีชื่อนี้ให้เป็นโรงอุโบสถ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๒. อุโปสถาคารกถา
วิหารมีชื่อนี้สงฆ์สมมติให้เป็นโรงอุโบสถแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องสมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่งในอาวาสเดียวกัน
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์สมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่ง ภิกษุทั้งหลาย
ประชุมกันในโรงอุโบสถทั้ง ๒ แห่งด้วยตั้งใจว่า “สงฆ์จักทำอุโบสถ ณ ที่นี้ สงฆ์จัก
ทำอุโบสถ ณ ที่นี้”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์ไม่พึงสมมติ
โรงอุโบสถ ๒ แห่ง ภิกษุสงฆ์หมู่ใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ถอนโรงอุโบสถแห่งหนึ่งแล้ว จึงทำอุโบสถในโรงอุโบสถอีกแห่งหนึ่ง”

วิธีถอนโรงอุโบสถและกรรมวาจาถอนโรงอุโบสถ
ภิกษุทั้งหลาย พึงถอนโรงอุโบสถอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงถอนโรง
อุโบสถมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ถอนโรงอุโบสถมีชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วย
กับการถอนโรงอุโบสถมีชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น
พึงทักท้วง
โรงอุโบสถมีชื่อนี้สงฆ์ถอนแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือ
ความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๓. อุโปสถปมุขานุชานนา
๗๓. อุโปสถปมุขานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถ

เรื่องสมมติโรงอุโบสถเล็กเกินไป
[๑๔๒] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์สมมติโรงอุโบสถเล็กเกินไป ถึงวัน
อุโบสถ ภิกษุสงฆ์ลงประชุมกันมาก ภิกษุทั้งหลายต้องนั่งฟังปาติโมกข์ ณ พื้นที่
ที่มิได้สมมติ
ภิกษุทั้งหลายจึงได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘พึง
สมมติโรงอุโบสถแล้วจึงทำอุโบสถ’ ก็พวกเรานั่งฟังปาติโมกข์ ณ พื้นที่ที่มิได้สมมติ
อุโบสถเป็นอันพวกเราทำแล้วหรือไม่หนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ภิกษุนั่งในพื้นที่ที่สมมติ
แล้วก็ตาม ยังมิได้สมมติแล้วก็ตามฟังปาติโมกข์อยู่ อุโบสถย่อมเป็นอันเธอได้ทำแล้ว
ทีเดียว ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถให้ใหญ่
เท่าที่จำนงเถิด”

วิธีสมมติและกรรมวาจาสมมติพื้นที่ด้านหน้าในโรงอุโบสถ
ภิกษุทั้งหลาย พึงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถอย่างนี้
ในเบื้องต้นพึงทักนิมิต ครั้นทักนิมิตแล้ว ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้
สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้โดยรอบเพียงใด ถ้าสงฆ์พร้อม
กันแล้ว สงฆ์พึงสมมติพื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถด้วยนิมิตเหล่านั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้โดยรอบเพียงใด สงฆ์สมมติพื้นที่
ด้านหน้าโรงอุโบสถด้วยนิมิตเหล่านั้น ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสมมติพื้นที่ด้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๓. อุโปสถปมุขานุชานนา
หน้าโรงอุโบสถด้วยนิมิตเหล่านั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น
พึงทักท้วง
พื้นที่ด้านหน้าโรงอุโบสถสงฆ์ได้สมมติด้วยนิมิตเหล่านั้นแล้ว สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องภิกษุนวกะลงประชุมก่อน
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ ภิกษุผู้นวกะทั้งหลายลงประชุมกัน
ก่อนแล้วหลีกไปด้วยคิดว่า “ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายยังไม่มาเลย”
อุโบสถมีในเวลาวิกาล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ เราอนุญาตให้ภิกษุ
ผู้เถระทั้งหลายลงประชุมก่อน”

ทรงอนุญาตให้ภิกษุหลายวัดทำอุโบสถร่วมกัน
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ อาวาสหลายแห่งมีสีมาร่วมกัน ภิกษุทั้งหลาย
ในอาวาสเหล่านั้น กล่าวแย้งกันว่า “ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา ขอสงฆ์
จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรุงราชคฤห์นี้ อาวาสหลายแห่ง
มีสีมาร่วมกัน ภิกษุทั้งหลายในอาวาสเหล่านั้น กล่าวแย้งกันว่า ‘ขอสงฆ์จงทำอุโบสถ
ในอาวาสของพวกเรา ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา’ ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทุกรูปต้องประชุมทำอุโบสถในที่แห่งเดียวเท่านั้น หรือภิกษุผู้เถระอยู่
ในอาวาสใดก็ต้องประชุมทำอุโบสถในอาวาสนั้น สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำอุโบสถ
ภิกษุสงฆ์หมู่ใดพึงทำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๔. อวิปปวาสสีมานุชานนา
๗๔. อวิปปวาสสีมานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร

เรื่องกรุงราชคฤห์
[๑๔๓] สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะเดินทางจากอันธกวินทวิหารมายัง
กรุงราชคฤห์เพื่อทำอุโบสถ ระหว่างทางขณะข้ามแม่น้ำ ถูกน้ำพัดไปหน่อยหนึ่ง
จีวรของท่านเปียก ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับท่านพระมหากัสสปะดังนี้ว่า “อาวุโส
ทำไม จีวรของท่านจึงเปียกเล่า”
ท่านพระมหากัสสปะกล่าวตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมเดินทางจากอันธกวินท
วิหารมายังกรุงราชคฤห์เพื่อทำอุโบสถ ณ ที่นี้ ระหว่างทางขณะข้ามแม่น้ำ ถูกน้ำพัด
ไปหน่อยหนึ่ง เพราะฉะนั้น จีวรของผมจึงเปียก”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สมานสังวาสสีมา๑ มีอุโบสถเดียวกัน
แห่งใดที่สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์ก็จงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร”๒

วิธีสมมติและกรรมวาจาสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
ภิกษุทั้งหลาย พึงสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกันแห่งใด
สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์พึงสมมติสมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้นให้เป็นแดน
ไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร นี่เป็นญัตติ

เชิงอรรถ :
๑ สมานสังวาสสีมา ดู ข้อ ๑๓๙ หน้า ๒๑๕ (เชิงอรรถ)
๒ แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ติจีวราวิปปวาส” หมายถึงสถานที่ที่สงฆ์กำหนด
เป็นเขตอยู่ปราศจากไตรจีวรโดยไม่ต้องอาบัติ (ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๗๓-๔๗/๑๐-๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๔. อวิปปวาสสีมานุชานนา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมา มีอุโบสถเดียวกันแห่งใด
ที่สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์พึงสมมติสมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้นให้เป็นแดน
ไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสมมติสมานสังวาสสีมามีอุโบสถ
เดียวกันนั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้นสงฆ์ได้สมมติให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจาก
ไตรจีวรแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการสมมติแดนไม่
อยู่ปราศจากไตรจีวรแล้ว จึงเก็บจีวรทั้งหลายไว้ในละแวกหมู่บ้าน
จีวรเหล่านั้นสูญหายบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกหนูกัดบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงมีผ้าที่ไม่ดี มีแต่จีวรเก่า ๆ ภิกษุทั้งหลาย กล่าวอย่างนี้ว่า
“ท่านทั้งหลาย เหตุใด พวกท่านจึงมีแต่ผ้าไม่ดี มีแต่จีวรเก่า ๆ”
ภิกษุทั้งหลายจึงตอบว่า “ท่านทั้งหลาย พวกผมทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาค
ทรงอนุญาตการสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแล้ว’ จึงเก็บจีวรทั้งหลายไว้ใน
ละแวกหมู่บ้านอย่างนี้ จีวรเหล่านั้นเสียหายบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกหนูกัดบ้าง
เพราะเหตุนั้น พวกผมจึงมีผ้าไม่ดี มีแต่จีวรเก่า ๆ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เรื่องสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
(ติจีวราวิปปวาส)
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกัน
แห่งใดที่สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์จงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
เว้นหมู่บ้านและอุปจารแห่งหมู่บ้าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๕. สีมาสมูหนนา
วิธีสมมติและกรรมวาจาสมมติ
ติจีวราวิปปวาสสีมาเว้นบ้านและอุปจารบ้าน
ภิกษุทั้งหลาย พึงสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นหมู่บ้านและอุปจาร
หมู่บ้านอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๔๔] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกัน
แห่งใดที่สงฆ์สมมติแล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่
ปราศจากไตรจีวร เว้นหมู่บ้านและอุปจารหมู่บ้าน นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันแห่งใด
ที่สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์สมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นหมู่บ้าน
และอุปจารหมู่บ้าน ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศ
จากไตรจีวร ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สีมานั้นสงฆ์ได้สมมติให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นหมู่บ้านและอุปจาร
หมู่บ้านแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

๗๕. สีมาสมูหนนา
ว่าด้วยการถอนสีมา

เรื่องสมมติสมานสังวาสสีมาก่อน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะสมมติสีมา พึงสมมติ
สมานสังวาสสีมาก่อน พึงสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรในภายหลัง ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อจะถอนสีมา พึงถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรก่อน พึงถอนสมานสังวาสสีมา
ในภายหลัง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๕. สีมาสมูหนนา
วิธีถอนและกรรมวาจาถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
ภิกษุทั้งหลายพึงถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๔๕] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแห่งใด
ที่สงฆ์สมมติไว้แล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตร
จีวรนั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแห่งใดที่
สงฆ์สมมติไว้แล้ว สงฆ์ถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแห่งนั้น ท่านรูปใดเห็นด้วย
กับการถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแห่งนั้นสงฆ์ถอนแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องถอนสมานสังวาสสีมาภายหลัง
วิธีถอนและกรรมวาจาถอนสมานสังวาสสีมา
ภิกษุทั้งหลายพึงถอนสมานสังวาสสีมาอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๔๖] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกัน
แห่งใดที่สงฆ์สมมติแล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงถอนสมานสังวาสสีมามีอุโบสถ
เดียวกันนั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันแห่งใดที่
สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์ถอนสมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้น ท่านรูปใดเห็นด้วย
กับการถอนสมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่
เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๖. คามสีมาทิ
สมานสังวาสสีมามีอุโบสถเดียวกันนั้น สงฆ์ถอนแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

๗๖. คามสีมาทิ
ว่าด้วยคามสีมาเป็นต้น

อพัทธสีมา
[๑๔๗] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสีมาที่สงฆ์ยังไม่ได้
สมมติ ยังไม่ได้กำหนดสีมา ภิกษุสงฆ์อยู่อาศัยหมู่บ้านหรือนิคมใด เขตของหมู่บ้าน
นั้นเป็นคามสีมาบ้าง เขตของนิคมนั้นเป็นนิคมสีมาบ้าง สีมานี้ในหมู่บ้านหรือนิคม
ทั้งสองนั้นเป็นสมานสังวาส มีอุโบสถเดียวกัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าในป่าไม่มีหมู่บ้านชั่ว ๗ อัพภันดรโดยรอบ สีมานี้ในป่านั้น
เป็นสมานสังวาส มีอุโบสถเดียวกัน

เรื่องอุทกุกเขปสีมาในแม่น้ำเป็นต้น
ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำทั้งหมดไม่จัดเป็นสีมา สมุทรทั้งหมดไม่จัดเป็นสีมา
ชาตสระ๑ทั้งหมดไม่จัดเป็นสีมา
ภิกษุทั้งหลาย ในแม่น้ำ ในสมุทร หรือในชาตสระ ชั่วระยะชายมีสัณฐาน
ปานกลาง วักน้ำสาดไปโดยรอบเป็นอุทกุกเขปสีมา สีมานี้ในน่านน้ำเหล่านั้น เป็น
สมานสังวาส มีอุโบสถเดียวกัน

เรื่องสีมาคาบเกี่ยว
[๑๔๘] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ ชาตสระ หมายถึงสระที่เกิดเอง ไม่มีใครขุดไว้ น้ำไหลมาจากรอบข้างขังอยู่จนเต็ม (วิ.อ. ๓/๑๔๗/๑๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๗. อุโปสถาเภทาทิ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สีมาที่ภิกษุเหล่าใดสมมติไว้ก่อนแล้ว
กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นเป็นกรรมที่ถูกต้อง ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ สีมาที่ภิกษุ
เหล่าใดสมมติในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่ถูกต้อง กำเริบได้ ไม่ควร
แก่ฐานะ ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา ภิกษุสงฆ์หมู่ใดสมมติ
คาบเกี่ยวกัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

สมมติสีมาทับสีมา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สมมติสีมาทับสีมา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สีมาที่ภิกษุเหล่าใดสมมติไว้ก่อนแล้ว
กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นเป็นกรรมที่ถูกต้อง ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ สีมาที่ภิกษุ
เหล่าใดสมมติในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่ถูกต้อง กำเริบได้ ไม่ควร
แก่ฐานะ ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมติสีมาทับสีมา ภิกษุสงฆ์หมู่ใดสมมติทับ
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์จะสมมติสีมา เว้นช่องว่าง
ในระหว่างสีมาแล้วจึงสมมติสีมา”

๗๗. อุโปสถเภทาทิ
ว่าด้วยประเภทแห่งวันอุโบสถเป็นต้น

เรื่องประเภทแห่งวันอุโบสถ
[๑๔๙] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “วันอุโบสถมี
เท่าไร” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย วันอุโบสถนี้มี ๒ วัน คือ วัน
๑๔ ค่ำ และวัน ๑๕ ค่ำ ภิกษุทั้งหลาย วันอุโบสถมี ๒ วันเหล่านี้แล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๗. อุโปสถาเภทาทิ
เรื่องอาการที่ทำอุโบสถ
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “การทำอุโบสถมีเท่าไรหนอ”
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย การทำอุโบสถนี้มี ๔ อย่าง๑ คือ
๑. การทำอุโบสถแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม
๒. การทำอุโบสถพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม
๓. การทำอุโบสถแบ่งพวกโดยชอบธรรม
๔. การทำอุโบสถพร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในการทำอุโบสถ ๔ อย่างนั้น การทำอุโบสถใดแบ่งพวกโดย
ไม่ชอบธรรม การทำอุโบสถเช่นนั้น ไม่พึงทำและเราไม่อนุญาตการทำอุโบสถเช่นนั้น
การทำอุโบสถใดพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม การทำอุโบสถเช่นนั้น ไม่พึง
ทำและเราไม่อนุญาตการทำอุโบสถเช่นนั้น
การทำอุโบสถใดแบ่งพวกโดยชอบธรรม การทำอุโบสถเช่นนั้น ไม่พึงทำและเรา
ไม่อนุญาตการทำอุโบสถเช่นนั้น
การทำอุโบสถใดพร้อมเพรียงกัน โดยชอบธรรม การทำอุโบสถเช่นนั้น พึงทำ
และเราอนุญาตการทำอุโบสถเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ เช่น ถ้าในวัดหนึ่ง มีภิกษุ ๔ รูป ภิกษุ ๓ รูปนำฉันทะและปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่งมาทำปาริสุทธิอุโบสถ
หรือมีภิกษุอยู่ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปนำฉันทะและปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่งมายกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นี้ชื่อ
ว่า การทำอุโบสถแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม
ภิกษุ ๔ รูป ประชุมกันทำปาริสุทธิอุโบสถ ภิกษุ ๓ หรือ ๒ รูป ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นี้ชื่อว่า
การทำอุโบสถพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม
มีภิกษุ ๔ รูป ภิกษุ ๓ รูปนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่งมายกปาติโมกข์ขึ้นแสดง หรือมีภิกษุ
๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่งมา ทำปาริสุทธิอุโบสถ นี้ชื่อว่า การทำอุโบสถแบ่ง
พวกโดยชอบธรรม
ภิกษุ ๔ รูป อยู่ในวัดหนึ่ง ทั้งหมดประชุมกันยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุ ๓ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ
ภิกษุ ๒ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถต่อกันและกัน นี้ชื่อว่า การทำอุโบสถพร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม
(วิ.อ. ๓/๑๔๙/๑๓๐-๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๘. สังขิตตปาติโมกขุทเทสาทิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอพึงสำเหนียกไว้ว่า จักทำอุโบสถ
กรรมชนิดที่พร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม ดังนี้ พวกเธอพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้แล

๗๘. สังขิตตปาติโมกขุทเทสาทิ
ว่าด้วยการยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อเป็นต้น

เรื่องประเภทแห่งปาติโมกขุทเทส
[๑๕๐] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า “การยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
มีเท่าไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย การยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงนี้มี
๕ แบบ คือ
๑. ภิกษุยกนิทานขึ้นแสดงจบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท๑นี้
เป็นการยกปาติโมกข์แบบที่ ๑
๒. ยกนิทานขึ้นแสดง ยกปาราชิก ๔ ขึ้นแสดงจบแล้ว พึงสวดอุทเทส
ที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นการยกปาติโมกข์แบบที่ ๒
๓. ยกนิทานขึ้นแสดง ยกปาราชิก ๔ ขึ้นแสดง ยกสังฆาทิเสส ๑๓ ขึ้น
แสดงจบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นการยก
ปาติโมกข์แบบที่ ๓

เชิงอรรถ :
๑ การประกาศ สุตบท คือ การยกนิทานขึ้นแสดงสอบถามย้ำถึงความบริสุทธิ์ของแต่ละท่าน ในธรรม
เหล่านั้น ๆ แล้วประกาศอุทเทสที่เหลือโดยสุตบทอย่างนั้นว่า “ธรรม คือ ปาราชิก ๔ ธรรมคือสังฆาทิเสส
๑๓ ธรรมคืออนิยต ๒ ธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ธรรมคือปาจิตตีย์ ๙๒ ธรรมคือปาฏิเทสนียะ
๔ ธรรมคือเสขิยะ ๗๕ ธรรมคืออธิกรณสมถะ ๗ ท่านทั้งหลายได้ฟังแล้ว สิกขาบทของพระผู้มีพระภาค
นั้นมีเท่านี้ มาในสูตร นับเนื่องในสูตร มาสู่วาระที่จะยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับทุกกึ่งเดือน
พวกเราทั้งหมด พึงพร้อมเพรียงกันร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาในพระสูตรนั้นเทอญ” (วิ.อ. ๓/๑๕๐/๑๓๑)
สุตบทในอีก ๔ วิธีที่เหลือ มีนัยเหมือนกับวิธีที่ ๑ เพียงแต่ยกขึ้นแสดงจบตอนใดแล้ว ก็ไม่ต้องประกาศ
ตอนนั้นไว้ในสุตบทอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๘. สังขิตตปาติโมกขุทเทสาทิ
๔. ยกนิทานขึ้นแสดง ยกปาราชิก ๔ ขึ้นแสดง ยกสังฆาทิเสส ๑๓
ขึ้นแสดง ยกอนิยต ๒ ขึ้นแสดงจบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือ
ด้วยสุตบท นี้เป็นการยกปาติโมกข์แบบที่ ๔
๕. ยกขึ้นแสดงโดยพิสดารทั้งหมด นี้เป็นการยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
แบบที่ ๕
ภิกษุทั้งหลาย การยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงมี ๕ แบบเหล่านี้แล”๑

ทรงห้ามยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงโดยย่อ” จึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อทุกครั้ง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อ
ภิกษุสงฆ์หมู่ใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงอนุญาตให้ยกปกติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อ
เมื่อชาวป่ามาพลุกพล่าน
สมัยนั้น ณ อาวาสแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ในวันอุโบสถนั้น มีชาวป่ามาพลุกพล่าน
ภิกษุทั้งหลายไม่อาจยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยพิสดาร จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ การยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงทั้ง ๕ แบบนี้ สรุปเรียกชื่อเป็นภาษาเฉพาะว่า
๑. แบบที่ ๑ เรียกว่า นิทานุทเทส
๒. แบบที่ ๒ เรียกว่า ปาราชิกุทเทส
๓. แบบที่ ๓ เรียกว่า สังฆาทิเสสุทเทส
๔. แบบที่ ๔ เรียกว่า อนิยตุทเทส
๕. แบบที่ ๕ เรียกว่า วิตถารุทเทส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๘. สังขิตตปาติโมกขุทเทสาทิ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
โดยย่อเมื่อมีอันตราย”

เรื่องอันตราย ๑๐ ประการ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อเมื่อไม่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีอันตราย ไม่พึงยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงโดยย่อ ภิกษุสงฆ์หมู่ใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมี
อันตราย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อ”
ในเรื่องยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อนั้น อันตรายทั้งหลาย มีดังต่อไปนี้

๑. พระราชาเสด็จมา ๒. โจรมาปล้น
๓. ไฟไหม้ ๔. น้ำหลากมา
๕. คนมามาก ๖. ผีเข้าสิงภิกษุ
๗. สัตว์ร้ายเข้ามา ๘. งูเลื้อยเข้ามา
๙. ภิกษุจะถึงแก่ชีวิต๑ ๑๐. มีอันตรายแก่พรหมจรรย์๒

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อในเมื่อมีอันตรายอย่างนี้
เมื่อไม่มีอันตราย ให้ยกขึ้นแสดงโดยพิสดาร”

เรื่องทรงอนุญาตภิกษุเถระแสดงธรรมโดยไม่ต้องได้รับอาราธนา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไม่ได้รับอาราธนาก็แสดงธรรมในท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้รับอาราธนาไม่พึงแสดงธรรม
ในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้
เถระแสดงธรรมเองหรือให้อาราธนาภิกษุอื่นแสดง”

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุเป็นไข้ หรือ จะมรณภาพ หรือคนมีเวรกัน ประสงค์จะฆ่า จึงจับภิกษุนั้น (วิ.อ. ๓/๑๕๐/๑๓๑)
๒ มนุษย์ทั้งหลาย ประสงค์จะให้ภิกษุรูปเดียว หรือหลายรูป เคลื่อนจากพรหมจรรย์ (จะให้สึก) จึงจับภิกษุ
เหล่านั้นไว้ (วิ.อ. ๓/๑๕๐/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๗๙. วินยปุจฉนกถา
๗๙. วินยปุจฉนกถา
ว่าด้วยการถามพระวินัย

เรื่องถามพระวินัยท่ามกลางสงฆ์ต้องได้รับแต่งตั้งก่อน
[๑๕๑] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยังไม่ได้รับแต่งตั้งก็ถามพระวินัยในท่ามกลาง
สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่ได้รับแต่งตั้งไม่พึงถาม
วินัยในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดถาม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งถามวินัยในท่ามกลางสงฆ์ได้”

วิธีแต่งตั้งเป็นผู้ถาม
ภิกษุทั้งหลาย พึงแต่งตั้งอย่างนี้
ตนเองแต่งตั้งตนเองก็ได้ ภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่งก็ได้
อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง
คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

กรรมวาจาแต่งตั้งตนเอง
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าขอถาม
พระวินัยกับท่านผู้มีชื่อนี้ อย่างนี้ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง
อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง
คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

กรรมวาจาแต่งตั้งผู้อื่น
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ขอผู้มีชื่อนี้ถาม
พระวินัยกับท่านผู้มีชื่อนี้ อย่างนี้ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๐. วินยวิสัชชนกถา
เรื่องคุกคามจะฆ่า
สมัยนั้น พวกภิกษุผู้มีศีลดีงาม ได้รับแต่งตั้งแล้ว จึงถามพระวินัยใน
ท่ามกลางสงฆ์ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต แค้นเคือง คุกคามจะฆ่า ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแม้ได้รับ
แต่งตั้งแล้ว ตรวจดูบริษัท พิจารณาบุคคลแล้วจึงถามพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์”

๘๐. วินยวิสัชชนกถา
ว่าด้วยการวิสัชนาพระวินัย

เรื่องพวกภิกษุฉัพพัคคีย์วิสัชนาพระวินัย
[๑๕๒] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยังไม่ได้รับแต่งตั้ง ก็วิสัชนาพระวินัย
ในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ได้รับแต่งตั้ง ไม่พึง
วิสัชนาพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดวิสัชนา ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้ง วิสัชนาพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์ได้”

วิธีแต่งตั้งเป็นผู้วิสัชนา
ภิกษุทั้งหลาย พึงแต่งตั้งอย่างนี้
ตนเองแต่งตั้งตนเองก็ได้ ภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่งก็ได้
อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง
คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

กรรมวาจาแต่งตั้งตน
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ข้าพเจ้าอันผู้มีชื่อนี้
ถามพระวินัยแล้วขอวิสัชนา อย่างนี้ชื่อว่าตนเองแต่งตั้งตนเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๑. โจทนากถา
อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง
คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

กรรมวาจาแต่งตั้งผู้อื่น
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ผู้มีชื่อนี้อันผู้มีชื่อนี้
ถามพระวินัยพึงวิสัชนา อย่างนี้ชื่อว่าภิกษุรูปหนึ่งแต่งตั้งภิกษุอีกรูปหนึ่ง

เรื่องคุกคามจะฆ่าเรื่องที่ ๒
สมัยนั้น พวกภิกษุผู้มีศีลดีงามได้รับแต่งตั้งแล้ว วิสัชนาพระวินัยในท่ามกลาง
สงฆ์ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต แค้นเคือง คุกคามจะฆ่า ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแม้ได้รับแต่งตั้ง
แล้วตรวจดูบริษัท พิจารณาบุคคลแล้วจึงวิสัชนาพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์”

๘๑. โจทนากถา
ว่าด้วยการฟ้องร้อง

เรื่องโจทด้วยอาบัติ
[๑๕๓] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์โจทภิกษุผู้ยังไม่ให้โอกาสด้วยอาบัติ ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงโจทภิกษุผู้ยังไม่ได้ให้โอกาสด้วย
อาบัติ รูปใดโจท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โจทก์ขอโอกาส
ด้วยคำว่า ขอท่านจงให้โอกาส ผมใคร่จะพูดกับท่าน ดังนี้แล้วจึงโจทด้วยอาบัติ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๒. อธัมมกัมมปฏิกโกสนาทิ
เรื่องขอโอกาสก่อนโจท
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลดีงาม ได้ขอให้พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ให้โอกาสแล้ว
โจทด้วยอาบัติ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต แค้นเคือง คุกคามจะฆ่า
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โจทก์แม้เมื่อขอโอกาส
แล้ว พิจารณาดูบุคคลก่อน จึงโจทด้วยอาบัติ”

ก่อนขอโอกาสต้องพิจารณาดูบุคคล
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์คิดว่า “ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลดีงาม ขอให้พวกเรา
ให้โอกาสก่อน” แล้วรีบขอโอกาสในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่มีเหตุอันควร ต่อภิกษุ
ทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงขอโอกาสในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง
ไม่มีเหตุอันควร ต่อภิกษุทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ รูปใดขอ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พิจารณาดูบุคคลก่อนจึงขอโอกาส”

๘๒. อธัมมกัมมปฏิกโกสนาทิ
ว่าด้วยการคัดค้านทำกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรมเป็นต้น

เรื่องทรงอนุญาตคัดค้านกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรม
[๑๕๔] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทำสังฆกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรมใน
ท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงทำกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรมใน
ท่ามกลางสงฆ์ รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๒. ธัมมกัมมปฏิกโกสนาทิ
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยังทำกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรมอยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลายจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คัดค้านในเมื่อภิกษุ
ทำกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรม”
สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลดีงาม พากันคัดค้านในเมื่อพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
ทำกรรมที่ไม่ชอบด้วยธรรม พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต แค้นเคือง คุกคามจะฆ่า
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เรื่องภิกษุ ๔-๕ รูปแสดงความเห็น
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แสดงความเห็นได้”
ภิกษุทั้งหลายแสดงความเห็นในสำนักของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้นแหละ
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต แค้นเคือง คุกคามจะฆ่า ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๔-๕ รูป
คัดค้าน ให้ภิกษุ ๒-๓ รูปแสดงความเห็น ให้ภิกษุรูปเดียวอธิษฐานใจเสียว่า
เราไม่เห็นด้วยกับกรรมนั้น”

เรื่องจงใจยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ให้ได้ยิน
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เมื่อยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจงใจไม่สวดให้ได้ยินในท่าม
กลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เมื่อจะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
ไม่พึงจงใจสวดไม่ให้ได้ยิน รูปใดสวดไม่ให้ได้ยิน ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยต่อมา ท่านพระอุทายีเป็นผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในท่ามกลางสงฆ์ มีเสียง
เครือดุจเสียงกา จึงมีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุผู้ยก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๒. อธัมมกัมมปฏิกโกสนาทิ
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงต้องสวดให้ได้ยินทั่วกัน ส่วนเรามีเสียงเครือดุจเสียงกา เราจะพึง
ปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เรื่องพยายามยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงพยายามด้วยตั้งใจว่า ‘จะสวดให้ได้ยินชัดถ้อยชัดคำ’ เมื่อพยายาม ไม่ต้อง
อาบัติ”

เรื่องยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัทที่มีคฤหัสถ์
สมัยนั้น พระเทวทัตยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัทที่มีคฤหัสถ์อยู่ด้วย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัท
ที่มีคฤหัสถ์อยู่ด้วย รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยไม่ได้รับอาราธนา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไม่ได้รับอาราธนา ก็ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใน
ท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้รับอาราธนา ไม่พึงยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตปาติโมกข์ให้เป็นหน้าที่ของพระเถระ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๓. ปาติโมกขุทเทสกอัชเฌสนาทิ
๘๓. ปาติโมกขุทเทสกอัชเฌสนาทิ
ว่าด้วยการอาราธนาผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเป็นต้น

เรื่องภิกษุชาวเมืองโจทนาวัตถุไม่รู้จักอุโบสถ
[๑๕๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระประสงค์
แล้วได้เสด็จจาริกไปทางเมืองโจทนาวัตถุ เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงเมืองโจทนาวัตถุ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง มีภิกษุอยู่หลายรูป บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้
เถระเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์ หรือ
วิธีการยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้น มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติไว้ว่า
‘ปาติโมกข์เป็นหน้าที่ของพระเถระ’ ก็พระเถระของพวกเรารูปนี้เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด
ไม่รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์ หรือวิธียกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปใดเป็น
ผู้ฉลาดสามารถ เราอนุญาตปาติโมกข์ให้เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปนั้น”

เรื่องภิกษุมากรูปไม่รู้จักอุโบสถ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกันหลายรูป
ล้วนเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือ
ปาติโมกข์ หรือวิธียกปาติโมกข์ขึ้นแสดง จึงอาราธนาพระเถระว่า “นิมนต์พระเถระ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ”
พระเถระนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้”
ภิกษุเหล่านั้นจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๒ ว่า “นิมนต์พระเถระยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ” แม้ท่านก็ตอบอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงไม่ได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๓. ปาติโมกขุทเทสกอัชเณสนาทิ
ภิกษุเหล่านั้นจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๓ ว่า “นิมนต์ท่านยกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงเถิด ขอรับ” แม้ท่านก็ตอบอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงไม่ได้”
ภิกษุเหล่านั้นได้อาราธนาจนถึงพระผู้เป็นนวกะในสงฆ์โดยอุบายนั้นแหละว่า
“ท่านจงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด” แม้พระนวกะนั้นก็ตอบอย่างนี้ว่า “กระผมยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้ ขอรับ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวัน
อุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกันหลายรูป ล้วนเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ภิกษุเหล่านั้นไม่
รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์ หรือวิธียกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
จึงอาราธนาพระเถระว่า นิมนต์พระเถระยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ พระเถระ
นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นจึง
อาราธนาพระเถระรูปที่ ๒ ว่า นิมนต์พระเถระยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ
แม้พระเถระรูปที่ ๒ นั้นก็กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย เรายกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นจึงอาราธนาพระเถระรูปที่ ๓ ว่า นิมนต์พระเถระยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ขอรับ แม้พระเถระรูปที่ ๓ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย
เรายกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นได้อาราธนาจนถึงพระผู้เป็นนวกะ
ในสงฆ์โดยอุบายนั้นแหละว่า ท่านจงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด แม้พระนวกะนั้น
ก็ตอบอย่างนี้ว่า กระผมยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ได้ ขอรับ

เรื่องส่งภิกษุไปเรียนปาติโมกข์พอจะกลับมาทันในวันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียง พอจะ
กลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า “ท่าน ท่านจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดย
พิสดารมาเถิด”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “จะส่งภิกษุรูปไหนไปหนอ” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๔. ปักขคณนาทิอุคคหณานุชานนา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระบัญชา
ภิกษุผู้นวกะไป”
ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระบัญชาแล้วไม่ยอมไป
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกพระเถระบัญชาแล้ว
จะไม่ไปไม่ได้ รูปใดไม่ไป ต้องอาบัติทุกกฏ”

๘๔. ปักขคณนาทิอุคคหณานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้เรียนวิธีนับปักษ์เป็นต้น

เรื่องวิธีการนับปักษ์
[๑๕๖] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองโจทนาวัตถุตามพระอัธยาศัยแล้ว
ก็เสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์อีกเช่นเดิม
สมัยนั้น พวกชาวบ้านถามภิกษุทั้งหลายที่กำลังเที่ยวบิณฑบาตว่า “พระคุณเจ้า
วันนี้กี่ค่ำ”
ภิกษุทั้งหลายตอบอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกอาตมาไม่รู้”
พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “แม้เพียงการนับปักษ์
พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ยังไม่รู้ ไฉนจะรู้ความดีอะไร ๆ อย่างอื่นเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เรียนวิธีการนับปักษ์”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอ ควรเรียนวิธีการ
นับปักษ์ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทุก ๆ รูป เรียนวิธี
การนับปักษ์”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๔. ปักขคณนาทิอุคคหณานุชานนา
เรื่องทรงอนุญาตให้นับภิกษุในวันอุโบสถ
[๑๕๗] สมัยนั้น พวกชาวบ้านถามภิกษุทั้งหลายที่กำลังเที่ยวบิณฑบาตว่า
“ภิกษุมีจำนวนเท่าไร เจ้าข้า”
ภิกษุทั้งหลายตอบอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกอาตมาไม่รู้”
พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “แม้พวกกันเอง พระสมณะ
เชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ยังไม่รู้ ไฉนจะรู้ความดีอะไร ๆ อย่างอื่นเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นับภิกษุ”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “เมื่อไรหนอ เราควรนับภิกษุ” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ เราอนุญาตให้นับภิกษุ
ด้วยการเรียกชื่อหรือให้จับสลาก”

เรื่องไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านไกล
[๑๕๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่ทราบว่า “วันนี้เป็นวันอุโบสถ” ไปบิณฑบาต
ยังหมู่บ้านไกล มาถึงเมื่อสงฆ์กำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงบ้าง เมื่อใกล้จะยกขึ้นแสดง
จบบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกว่า วันนี้เป็นวัน
อุโบสถ”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอควรบอก” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระบอกแต่
เช้าตรู่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๕. ปุพพกรณานุชานนา
เรื่องนึกไม่ได้
สมัยต่อมา พระเถระรูปหนึ่ง เวลาเช้าตรู่ ก็นึกไม่ได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกแม้ในเวลาภัตกาล”
แม้ในเวลาภัตกาล พระเถระก็นึกไม่ได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกในเวลาที่นึกขึ้นได้”

๘๕. ปุพพกรณานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตบุพพกรณ์

เรื่องบุพพกรณ์และบุพพกิจในโรงอุโบสถ๑
[๑๕๙] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในโรงอุโบสถ พวกภิกษุอาคันตุกะพากัน
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ทำไมภิกษุทั้งหลายจึงไม่กวาดโรงอุโบสถกันเล่า”

เชิงอรรถ :
๑ บุพพกรณ์ หมายถึงการเตรียมการก่อนที่จะมีการประชุมสงฆ์
บุพพกรณ์ของการทำอุโบสถ คือ
๑. กวาดโรงอุโบสถ ๒. จุดประทีปเตรียมแสงสว่าง
๓. จัดเตรียมน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ๔. ปูอาสนะ
บุพพกิจ หมายถึง กิจเบื้องต้น
บุพพกิจของการทำอุโบสถ คือ
๑. นำฉันทะและปาริสุทธิของภิกษุผู้เป็นไข้ คือ ถ้ามีภิกษุผู้เป็นไข้อยู่ในสีมาเดียวกัน ต้องนำความ
ยินยอมและคำปฏิญญาว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์จากอาบัติของภิกษุผู้เป็นไข้นั้นมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ
๒. บอกฤดู
๓. บอกจำนวนภิกษุที่เข้าร่วมประชุม
๔. แจ้งการให้โอวาทภิกษุณี (วิ.อ. ๓/๑๖๘/๑๓๙, กงฺขา.อ. ๑๑๘-๑๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๕. ปุพพกรณานุชานนา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กวาดโรงอุโบสถ”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอ ควรกวาดโรงอุโบสถ”
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุ
นวกะ”
ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระใช้แล้ว ก็ไม่ยอมกวาด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกภิกษุเถระใช้แล้ว
จะไม่กวาดไม่ได้ รูปใดไม่กวาด ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องปูอาสนะและตามประทีปเป็นต้น
[๑๖๐] สมัยนั้น ในโรงอุโบสถ ไม่มีใครปูอาสนะไว้ ภิกษุทั้งหลายพากันนั่งที่พื้น
ทั้งตัวทั้งจีวรเปื้อนฝุ่น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปูอาสนะในโรงอุโบสถ”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอ ควรปูอาสนะใน
โรงอุโบสถ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุ
นวกะ”
ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระใช้แล้ว ก็ไม่ยอมปู
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกภิกษุเถระใช้แล้ว
จะไม่ปูไม่ได้ รูปใดไม่ปู ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๕. ปุพพกรณานุชานนา
[๑๖๑] สมัยนั้น ในโรงอุโบสถ ไม่ตามประทีปไว้ ภิกษุทั้งหลายเหยียบกายกัน
บ้าง จีวรบ้าง ในที่มืด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ตามประทีปในโรงอุโบสถ”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอ พึงตามประทีป
ในโรงอุโบสถ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุ
นวกะ”
ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระใช้แล้ว ก็ไม่ยอมตามประทีป
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกภิกษุเถระใช้แล้ว
จะไม่ตามประทีปไม่ได้ รูปใดไม่ตามประทีป ต้องอาบัติทุกกฏ”
[๑๖๒] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสไม่จัดน้ำฉัน
น้ำใช้ไว้ พระอาคันตุกะพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสจึงไม่จัดน้ำฉันน้ำใช้ไว้เล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จัดน้ำฉันน้ำใช้ไว้”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุรูปไหนหนอ พึงจัดน้ำฉัน
น้ำใช้ไว้” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุ
นวกะ”
ภิกษุนวกะทั้งหลายถูกภิกษุเถระใช้แล้ว ไม่ยอมจัดน้ำฉันน้ำใช้ไว้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่เป็นไข้ถูกภิกษุเถระใช้แล้ว
จะไม่จัดไม่ได้ รูปใดไม่จัด ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๖. ทิสังคมิกาทิวัตถุ
๘๖. ทิสังคมิกาทิวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุไปสู่ทิศเป็นต้น

เรื่องภิกษุจะไปไหนต้องบอกลาก่อน
[๑๖๓] สมัยนั้น พวกภิกษุหลายรูปด้วยกันเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไปสู่ทิศ
บอกลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุหลายรูปเป็นผู้โง่
เขลา ไม่ฉลาด ไปสู่ทิศ ย่อมบอกลาอุปัชฌาย์อาจารย์ ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์
อาจารย์ พึงถามภิกษุเหล่านั้นว่า พวกท่านจะไปไหนกัน ไปกับใคร”
ถ้าภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด อ้างถึงภิกษุเหล่าอื่นที่โง่เขลาไม่ฉลาด
เช่นกัน พระอุปัชฌาย์อาจารย์ไม่พึงอนุญาต ถ้าอนุญาต ต้องอาบัติทุกกฏ
อนึ่ง ถ้าพวกเธอเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด พระอุปัชฌาย์อาจารย์ยังไม่อนุญาต
ถ้ายังขืนไป ต้องอาบัติทุกกฏ

เรื่องควรสงเคราะห์ภิกษุผู้เป็นพหูสูต
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ในอาวาสแห่งหนึ่ง ภิกษุหลายรูปเป็นผู้โง่เขลา
ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถ หรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์หรือวิธียกปาติโมกข์
ขึ้นแสดง ภิกษุรูปอื่นเป็นพหูสูต เชี่ยวชาญปริยัติ(อาคตาคม) ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัดระวัง
ใฝ่การศึกษา มาในอาวาสนั้น ภิกษุพหูสูตรนั้นอันภิกษุเหล่านั้นพึงสงเคราะห์
อนุเคราะห์ โอภาปราศรัย บำรุงด้วยจุรณ ดินเหนียว ไม้ชำระฟัน น้ำบ้วนปาก
ถ้าไม่สงเคราะห์ อนุเคราะห์ โอภาปราศรัย บำรุงด้วยจุรณ ดินเหนียว ไม้ชำระฟัน
น้ำบ้วนปาก ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๗. ปาริสุทธิทานกถา
เรื่องส่งภิกษุไปพอจะกลับมาทันในวันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น ภิกษุอยู่
ด้วยกันหลายรูป เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถหรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์
หรือวิธียกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียง
พอจะกลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า ‘ท่าน ท่านจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดย
พิสดารมาเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้นทุกรูป
พึงไปสู่อาวาสที่มีภิกษุรู้อุโบสถหรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์หรือวิธีขึ้นแสดงปาติโมกข์
ถ้าไม่ไป ต้องอาบัติทุกกฏ

เรื่องจำพรรษาในอาวาสที่มีผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงได้
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ภิกษุอยู่จำพรรษาหลายรูป
เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักอุโบสถหรือวิธีทำอุโบสถ หรือปาติโมกข์หรือวิธียก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียง พอจะกลับ
มาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า “ท่าน ท่านจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดยพิสดาร
มาเถิด” ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปชั่วเวลา
๗ วัน ด้วยสั่งว่า “ท่าน ท่านจงไปเรียนปาติโมกข์โดยย่อหรือโดยพิสดารมาเถิด”
ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุเหล่านั้น ไม่พึงจำพรรษาอยู่ใน
อาวาสนั้น ถ้าจำพรรษาอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ

๘๗. ปาริสุทธิทานกถา
ว่าด้วยการมอบปาริสุทธิ

เรื่องภิกษุไข้มอบปาริสุทธิ
[๑๖๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์จักทำอุโบสถ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๗. ปาริสุทธิทานกถา
เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
“มีภิกษุเป็นไข้อยู่ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุไข้นั้นมาไม่ได้”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้มอบปาริสุทธิ”
ภิกษุทั้งหลาย ก็แล ภิกษุไข้พึงมอบปาริสุทธิอย่างนี้
ภิกษุไข้นั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าขอมอบปาริสุทธิ ท่านจงนำ
ปาริสุทธิของข้าพเจ้าไป จงบอกปาริสุทธิของข้าพเจ้า”
ภิกษุผู้มอบปาริสุทธิให้ภิกษุผู้นำปาริสุทธิรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้
ด้วยกายและวาจา ปาริสุทธิเป็นอันมอบให้แล้ว ภิกษุผู้มอบปาริสุทธิไม่ให้ภิกษุผู้นำ
ปาริสุทธิรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา ปาริสุทธิ
เป็นอันยังมิได้มอบ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงใช้
เตียงหรือตั่งหามภิกษุไข้มาในท่ามกลางสงฆ์แล้วทำอุโบสถ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ได้ปรึกษากัน ดังนี้ว่า ถ้าพวก
เราจักย้ายภิกษุไข้ อาการไข้จักกำเริบหนักขึ้นหรือภิกษุไข้จักถึงแก่มรณภาพ ไม่พึง
ย้ายภิกษุไข้ สงฆ์พึงไปทำอุโบสถในสำนักภิกษุไข้นั้น แต่สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำ
อุโบสถ ถ้าแบ่งพวกกันทำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิหลบไป
เสียจากที่นั้น ภิกษุไข้พึงมอบปาริสุทธิแก่ภิกษุรูปอื่น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิสึกเสีย
ณ ที่นั้นแหละ ... มรณภาพ ... ปฏิญญาเป็นสามเณร ... ปฏิญญาเป็นผู้บอก
คืนสิกขา ... ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุ๑ ... ปฏิญญาเป็นผู้วิกลจริต ... ปฏิญญา
เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ... ปฏิญญาเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ... ปฏิญญาเป็นผู้
ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลง

เชิงอรรถ :
๑ อันติมวัตถุ หมายถึงอาบัติปาราชิก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๗. ปาริสุทธิทานกถา
อุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่สละทิฏฐิบาป ... ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์ ... ปฏิญญาเป็นไถยสังวาส๑ ...
ปฏิญญาเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ... ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่า
มารดา ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดา ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ... ปฏิญญา
เป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณี ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์ ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระ
ศาสดาจนห้อพระโลหิต ... ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก๒ ภิกษุไข้พึงมอบปาริสุทธิแก่
ภิกษุรูปอื่น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิหลบไป
เสียในระหว่างทาง ปาริสุทธิเป็นอันยังมิได้นำมา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิสึกเสียใน
ระหว่างทาง ฯลฯ ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ปาริสุทธิเป็นอันยังมิได้นำมา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าที่
ประชุมสงฆ์แล้วหลบไป ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าที่
ประชุมสงฆ์แล้วสึกเสีย ฯลฯ ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้า
ที่ประชุมสงฆ์แล้วหลับเสียไม่ได้บอก เผลอไปไม่ได้บอก เข้าสมาบัติไม่ได้บอก
ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปาริสุทธิไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าที่
ประชุมสงฆ์แล้ว จงใจไม่บอก ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว แต่ภิกษุผู้นำปาริสุทธิต้อง
อาบัติทุกกฏ”

เชิงอรรถ :
๑ ไถยสังวาส แปลว่า คนลักเพศ คือ ไม่ใช่ภิกษุ แต่ปลอมบวชเป็นภิกษุ (วิ.อ. ๓/๑๑๐/๘๒ ดูรายละเอียดใน
เล่มนี้ข้อ ๑๑๐ หน้า ๑๗๔-๑๗๕)
๒ อุภโตพยัญชนก แปลว่า คน ๒ เพศ คือ มีสัญลักษณ์เพศชาย และเพศหญิง (วิ.อ. ๒/๒๘๕/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๘. ฉันททานกถา
๘๘. ฉันททานกถา
ว่าด้วยการมอบฉันทะ

เรื่องทำกรรมที่จะต้องทำ
[๑๖๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์จักทำกรรม”
เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
“มีภิกษุเป็นไข้อยู่ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุไข้นั้นมาไม่ได้”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้มอบฉันทะ

วิธีมอบฉันทะ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุไข้พึงมอบฉันทะอย่างนี้
ภิกษุไข้นั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าขอมอบฉันทะ ท่านจงนำฉันทะของ
ข้าพเจ้าไป จงบอกฉันทะของข้าพเจ้า
ภิกษุผู้มอบฉันทะให้ภิกษุผู้นำฉันทะรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วย
กายและวาจา ฉันทะเป็นอันมอบให้แล้ว ภิกษุผู้มอบฉันทะไม่ให้ภิกษุผู้นำฉันทะ
รู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา ฉันทะเป็นอันยัง
มิได้มอบ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงใช้เตียงหรือ
ตั่งหามภิกษุไข้มาในท่ามกลางสงฆ์แล้วทำกรรม
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ได้ปรึกษากัน ดังนี้ว่า ถ้าพวก
เราจักย้ายภิกษุไข้ อาการไข้จักกำเริบหนักขึ้นหรือภิกษุไข้จักถึงแก่มรณภาพ ไม่พึง
ย้ายภิกษุไข้ สงฆ์พึงไปทำกรรมในสำนักภิกษุไข้นั้น แต่สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำ
กรรม ถ้าแบ่งพวกกันทำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะหลบไปเสีย
จากที่นั้น ภิกษุไข้พึงมอบฉันทะแก่ภิกษุรูปอื่น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๘. ฉันททานกถา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะสึกเสีย ณ
ที่นั้นแหละ ... มรณภาพ ... ปฏิญญาเป็นสามเณร ... ปฏิญญาเป็นผู้บอกลาสิกขา
... ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุ ... ปฏิญญาเป็นผู้วิกลจริต ... ปฏิญญาเป็นผู้มี
จิตฟุ้งซ่าน ... ปฏิญญาเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูก
สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่ทำคืนอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละ
ทิฏฐิบาป ... ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์ ... ปฏิญญาเป็นไถยสังวาส ... ปฏิญญาเป็น
ผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ... ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่ามารดา ...
ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดา ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ... ปฏิญญาเป็นผู้ประทุษ
ร้ายภิกษุณี ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์ ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจน
ห้อพระโลหิต ... ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก ภิกษุไข้พึงมอบฉันทะแก่ภิกษุรูปอื่น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะหลบไปเสียใน
ระหว่างทาง ฉันทะเป็นอันยังมิได้นำมา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะสึกเสียใน
ระหว่างทาง ฯลฯ ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ฉันทะเป็นอันยังมิได้นำมา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าที่ประชุม
สงฆ์แล้วหลบไป ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าที่ประชุม
สงฆ์แล้วสึกเสีย ฯลฯ ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าที่ประชุม
สงฆ์แล้วหลับเสียไม่ได้บอก เผลอไปไม่ได้บอก เข้าสมาบัติไม่ได้บอก ฉันทะเป็น
อันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำฉันทะไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าที่ประชุม
สงฆ์แล้ว จงใจไม่บอก ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว แต่ภิกษุผู้นำฉันทะต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มอบปาริสุทธิให้มอบฉันทะ
ด้วย เรื่องเหล่านี้เป็นกิจที่สงฆ์ต้องทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๘๙. ญาตกาทิคหณกถา
๘๙. ญาตกาทิคหณกถา
ว่าด้วยพวกญาติเป็นต้นจับภิกษุ

เรื่องภิกษุถูกพวกญาติเป็นต้นจับไว้
[๑๖๖] สมัยนั้น ในวันอุโบสถนั้น หมู่ญาติได้จับภิกษุรูปหนึ่งไว้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น
หมู่ญาติ ได้จับภิกษุไว้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับหมู่ญาตินั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่าน
ทั้งหลาย กรุณาปล่อยภิกษุนี้ไว้สักครู่ จนกว่าภิกษุนี้จะทำอุโบสถเสร็จเถิด’ ถ้าได้
อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับญาติเหล่านั้นอย่างนี้ว่า
‘ท่านทั้งหลาย กรุณารอ ณ ที่สมควรสักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะมอบปาริสุทธิ
เสร็จเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับญาติ
เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย กรุณานำภิกษุนี้ไปไว้นอกสีมาสักครู่จนกว่า
สงฆ์จะทำอุโบสถเสร็จเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้อย่างนั้น
สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำอุโบสถ ถ้าแบ่งพวกกันทำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น พระราชาทั้งหลายทรงจับ
ภิกษุไว้ ... พวกโจรจับไว้ ... พวกนักเลงจับไว้ ... พวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันจับไว้
ภิกษุทั้งหลาย พึงกล่าวกับพวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย
กรุณาปล่อยภิกษุนี้ไว้สักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะทำอุโบสถเสร็จเถิด ถ้าได้อย่างนั้น
นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับพวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันนั้น
อย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย กรุณารอ ณ ที่สมควรสักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะมอบ
ปาริสุทธิเสร็จเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าว
กับพวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย กรุณานำภิกษุนี้ไปไว้นอกสี
มาสักครู่จนกว่าสงฆ์จะทำอุโบสถเสร็จเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้
อย่างนั้น สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำอุโบสถ ถ้าแบ่งพวกกันทำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๐. อุมมัตตกสมมติ
๙๐. อุมมัตตกสมมติ
ว่าด้วยการสมมติภิกษุวิกลจริต
[๑๖๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์มีกิจต้องทำ”
เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
“มีภิกษุวิกลจริตชื่อว่าคัคคะอยู่ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุคัคคะนั้นมาไม่ได้”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุวิกลจริตนี้มี ๒ ประเภท คือ
๑. ภิกษุวิกลจริต ระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรม
ได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกไม่ได้เลยบ้าง
๒. ภิกษุวิกลจริตมาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง
ไม่มาเลยบ้าง
ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุวิกลจริต ๒ ประเภทนั้น รูปใดที่ยังระลึก
อุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง
ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุมมัตตก
สมมติแก่ภิกษุวิกลจริตเห็นปานนั้น

วิธีให้อุมมัตตกสมมติและกรรมวาจาให้อุมมัตตกสมมติ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงให้อุมมัตตกสมมติอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุคัคคะเป็นผู้วิกลจริต ระลึกอุโบสถได้บ้าง
ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง
มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงให้อุมมัตตกสมมติแก่
ภิกษุคัคคะ ผู้วิกลจริต คือ ภิกษุคัคคะระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึก
สังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง
ไม่มาบ้าง สงฆ์พร้อมภิกษุคัคคะหรือเว้นภิกษุคัคคะ ทำอุโบสถก็ได้ ทำสังฆกรรม
ก็ได้ นี้เป็นญัตติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๑. สังฆุโปสถาทิปเภท
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุคัคคะเป็นผู้วิกลจริต ระลึกอุโบสถ
ได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มา
บ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงให้อุมมัตตก
สมมติแก่ภิกษุคัคคะผู้วิกลจริต คือ ภิกษุคัคคะระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้
บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆ
กรรมบ้าง ไม่มาบ้าง สงฆ์พร้อมภิกษุคัคคะหรือเว้นภิกษุคัคคะ ทำอุโบสถก็ได้
ทำสังฆกรรมก็ได้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้อุมมัตตกสมมติแก่ภิกษุคัคคะ
ผู้วิกลจริต ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
อุมมัตตกสมมติสงฆ์ได้ให้แล้วแก่ภิกษุคัคคะผู้วิกลจริต คือ ภิกษุคัคคะระลึก
อุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง
ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง สงฆ์พร้อมภิกษุคัคคะหรือเว้นภิกษุคัคคะ
ทำอุโบสถก็ได้ ทำสังฆกรรมก็ได้ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือ
ความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

๙๑. สังฆุโปสถาทิปเภท
ว่าด้วยประเภทแห่งอุโบสถมีอุโบสถเป็นการสงฆ์เป็นต้น

เรื่องภิกษุ ๔ รูป ๓ รูป ๒ รูป และ ๑ รูป
ทำอุโบสถ ๓ อย่าง ตามลำดับ

เรื่องภิกษุ ๔ รูป ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
[๑๖๘] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๔ รูป
ภิกษุเหล่านั้นได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ‘ภิกษุพึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๑. สังฆุโปสถาทิปเภท
ทำอุโบสถ’ ดังนี้ ก็พวกเรามีเพียง ๔ รูป จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป ยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง”

เรื่องภิกษุ ๓ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๓ รูป
ภิกษุเหล่านั้นได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ
๔ รูป ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ก็พวกเรามีเพียง ๓ รูป จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ”
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๓ รูป ทำ
ปาริสุทธิอุโบสถ

วิธีทำปาริสุทธิอุโบสถสำหรับภิกษุ ๓ รูปและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงทำปาริสุทธิอุโบสถอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้ภิกษุทั้งหลายทราบว่า
ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ถ้าท่านทั้งหลายพร้อม
กันแล้ว เราทั้งหลายพึงทำปาริสุทธิอุโบสถแก่กันและกัน
ภิกษุผู้เถระพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ บอก
ภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า

คำบอกปาริสุทธิสำหรับภิกษุมีพรรษาแก่กว่า
ท่านทั้งหลาย ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านทั้งหลาย ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านทั้งหลาย ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๑. สังฆุโปสถาทิปเภท
ภิกษุผู้นวกะพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ
บอกภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า

คำบอกปาริสุทธิสำหรับภิกษุมีพรรษาอ่อนกว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่า
เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่า
เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงจำผมว่า
เป็นผู้บริสุทธิ์”
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๒ รูป ภิกษุ
เหล่านั้นได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ให้ภิกษุ ๓ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ ก็พวกเรามีเพียง ๒ รูป
จะพึงทำอุโบสถ อย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๒ รูป ทำปาริสุทธิ
อุโบสถ”

วิธีทำปาริสุทธิอุโบสถสำหรับภิกษุ ๒ รูป
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงทำปาริสุทธิอุโบสถอย่างนี้
ภิกษุผู้เถระพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ
บอกภิกษุผู้นวกะอย่างนี้ว่า

คำบอกปาริสุทธิสำหรับภิกษุมีพรรษาแก่กว่า
ท่าน ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่าน ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่าน ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๑. สังฆุโปสถาทิปเภท
ภิกษุผู้นวกะพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ
บอกภิกษุผู้เถระอย่างนี้ว่า

คำบอกปาริสุทธิสำหรับภิกษุมีพรรษาอ่อนกว่า
ท่านผู้เจริญ ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านผู้เจริญ ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านผู้เจริญ ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอท่านจงจำผมว่า เป็นผู้บริสุทธิ์”

เรื่องภิกษุรูปเดียวอธิษฐานอุโบสถ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุอยู่รูปเดียว ภิกษุนั้นมี
ความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
ให้ภิกษุ ๓ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ ให้ภิกษุ ๒ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ ก็เราอยู่เพียง
รูปเดียว จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ”
ภิกษุนั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น
มีภิกษุอยู่รูปเดียว ภิกษุนั้นพึงกวาดสถานที่ที่ภิกษุทั้งหลายต้องกลับมา คือโรงฉัน
หรือมณฑป หรือโคนไม้ก็ตาม แล้วตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ปูอาสนะ ตามประทีป แล้วนั่งอยู่
ถ้ามีภิกษุเหล่าอื่นมา พึงทำอุโบสถกับภิกษุเหล่านั้น ถ้าไม่มีมา พึงอธิษฐานว่า วันนี้
เป็นวันอุโบสถของเรา ถ้าไม่อธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ ๔ รูป ไม่พึงนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่ง
มาแล้ว อีก ๓ รูปยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ถ้ายกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ ๓ รูป ไม่พึงนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่ง
มาแล้ว อีก ๒ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ ถ้าทำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ ๒ รูป ไม่พึงนำปาริสุทธิของภิกษุรูปหนึ่ง
มาแล้ว อีกรูปหนึ่งอธิษฐาน ถ้าอธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๒. อาปัตติปฏิกัมมวิธี
๙๒. อาปัตติปฏิกัมมวิธิ
ว่าด้วยวิธีแก้ไขอาบัติ

เรื่องภิกษุต้องอาบัติในวันอุโบสถ
[๑๖๙] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติในวันอุโบสถนั้น ภิกษุนั้นได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่พึงทำ
อุโบสถ ดังนี้ ก็เราต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น ภิกษุ
ต้องอาบัติ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่ง ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า ผมต้องอาบัติชื่อนี้ ขอแสดงคืนอาบัตินั้น ขอรับ
ภิกษุผู้รับพึงถามว่า “ท่านเห็นหรือ”
ภิกษุผู้แสดงพึงตอบว่า “ขอรับ ผมเห็น”
ภิกษุผู้รับพึงถามว่า “ท่านพึงสำรวมต่อไป”

ไม่แน่ใจในอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น ภิกษุมีความไม่แน่ใจ
ในอาบัติ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่งประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมมีความไม่แน่ใจในอาบัติมีชื่อนี้ ขอรับ
เมื่อผมหมดความไม่แน่ใจ จักทำคืนอาบัตินั้น” แล้วทำอุโบสถ ฟังปาติโมกข์
แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

เรื่องแสดงสภาคาบัติ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์แสดงสภาคาบัติ๑
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ สภาคาบัติ แปลว่า อาบัติที่มีวัตถุเสมอกัน เช่นภิกษุ ๒ รูปต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนาหารในเวลา
วิกาลเหมือนกัน อาบัติที่ภิกษุต้องเพราะความผิดเดียวกันอย่างนี้ เรียกว่า สภาคาบัติ (วิ.อ. ๓/๑๖๙/๑๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๓. อาปัตติอาวิกรณวิธิ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงแสดงสภาคาบัติ รูปใดแสดง
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รับการแสดงสภาคาบัติ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงรับการแสดงสภาคาบัติ รูปใด
รับ ต้องอาบัติทุกกฏ”

๙๓. อาปัตติอาวิกรณวิธิ
ว่าด้วยวิธีเปิดเผยอาบัติ

เรื่องระลึกอาบัติได้เมื่อจะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
[๑๗๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งระลึกอาบัติได้ เมื่อกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
ภิกษุนั้นมีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่
พึงทำอุโบสถ ดังนี้ ก็เราต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ เมื่อกำลังยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดง ภิกษุระลึกอาบัติได้ ภิกษุนั้นพึงบอกภิกษุใกล้เคียงอย่างนี้ว่า ผมต้อง
อาบัติชื่อนี้ ขอรับ ผมลุกจากที่นี้แล้วจักทำคืนอาบัตินั้น แล้วทำอุโบสถ ฟัง
ปาติโมกข์ แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

เมื่อกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่แน่ใจในอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุมีความไม่แน่ใจในอาบัติ เมื่อกำลังยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุนั้นพึงบอกภิกษุใกล้เคียง๑อย่างนี้ว่า “ผมมีความไม่แน่ใจใน
อาบัติมีชื่อนี้ ขอรับ เมื่อผมหมดความไม่แน่ใจจักทำคืนอาบัตินั้น” แล้วทำอุโบสถ
ฟังปาติโมกข์ แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุใกล้เคียง หมายถึงภิกษุที่ชอบพอกัน (วิ.อ. ๓/๑๗๐/๑๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๔. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธิ
๙๔. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธิ
ว่าด้วยวิธีแก้ไขสภาคาบัติ

เรื่องสงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ
[๑๗๑] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น สงฆ์ทั้งหมดต้อง
สภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
ภิกษุไม่พึงแสดงสภาคาบัติ ไม่พึงรับการแสดงสภาคาบัติ ก็สงฆ์ทั้งหมดนี้ต้อง
สภาคาบัติแล้ว พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง
ในวันอุโบสถนั้น สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยัง
อาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า ท่าน ท่านจงไปทำคืนอาบัติ
นั้นมาเถิด พวกเราจักทำคืนอาบัติในสำนักของท่าน” ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี
ถ้าไม่ได้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

ญัตติกรรมวาจา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้ต้องสภาคาบัติแล้ว เมื่อพบ
ภิกษุรูปอื่นผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ ก็จักทำคืนอาบัตินั้นในสำนักของภิกษุรูปนั้นดังนี้
แล้วทำอุโบสถ ยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดง แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะ
ข้อนั้นเป็นปัจจัย

สงฆ์ทั้งหมดไม่แน่ใจในสภาคาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น สงฆ์
ทั้งหมดไม่แน่ใจในสภาคาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๔. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธิ
ญัตติกรรมวาจา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้มีความไม่แน่ใจในสภาคาบัติ
เมื่อหมดความไม่แน่ใจ ก็จักทำคืนอาบัตินั้น ดังนี้ แล้วทำอุโบสถ ยกพระปาติโมกข์
ขึ้นแสดง แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่ออุโบสถ เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ สงฆ์เข้าจำพรรษาในอาวาสแห่งหนึ่งต้อง
สภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยังอาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมาทัน
ในวันนั้น ด้วยสั่งว่า ท่าน ท่านจงไปทำคืนอาบัตินั้นมาเถิด พวกเราจักทำคืนอาบัติ
นั้นในสำนักของท่าน ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พึงส่งภิกษุรูปหนึ่ง ไปชั่ว
เวลา ๗ วัน ด้วยสั่งว่า ท่าน ท่านจงไปทำคืนอาบัตินั้นมาเถิด พวกเรา จักทำคืน
อาบัตินั้นในสำนักของท่าน”

เรื่องไม่รู้จักชื่อและโคตรอาบัติ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ สงฆ์หมู่นั้นไม่รู้จัก
ชื่อและโคตร๑ของอาบัตินั้น ภิกษุรูปอื่นเป็นพหูสูต ชำนาญปริยัติ ทรงธรรม
ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัด
ระวัง ใฝ่การศึกษา มาในอาวาสนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุพหูสูตรูปนั้นเรียน
ถามว่า “ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่ออะไร ขอรับ”
ภิกษุพหูสูตตอบว่า “ท่าน ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้อง
อาบัติชื่อนี้ ท่านต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “มิใช่แต่ผมรูปเดียวเท่านั้นที่ต้องอาบัตินี้ ขอรับ
สงฆ์หมู่นี้ทั้งหมดต้องอาบัตินี้”
ภิกษุพหูสูตนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ภิกษุรูปอื่นต้องอาบัติก็ตาม ไม่ต้อง
อาบัติก็ตาม จะช่วยอะไรท่านได้ ท่านจงออกจากอาบัติของตนเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงกลุ่มหรือหมวดของอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๔. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธี
ต่อมา ภิกษุนั้นก็ได้ทำคืนอาบัตินั้นตามคำของภิกษุพหูสูตรูปนั้น แล้วเข้าไป
หาภิกษุเหล่านั้นเรียนชี้แจงว่า “ท่านทั้งหลาย ทราบมาว่า ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้
และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่อนี้ ท่านทั้งหลายต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว ขอรับ
จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย”
ภิกษุเหล่านั้นไม่ปรารถนาจะทำคืนอาบัตินั้นตามคำของภิกษุรูปนั้น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง
สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ สงฆ์หมู่นั้นไม่รู้จักชื่อและโคตรของอาบัตินั้น ภิกษุรูป
อื่นเป็นพหูสูต ชำนาญในปริยัติ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด
มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา มาในอาวาสนั้น
ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุพหูสูตรูปนั้นเรียนถามว่า ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้
ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่ออะไร ขอรับ”
ภิกษุพหูสูตกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ภิกษุรูปใดทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูป
นั้นต้องอาบัติชื่อนี้ ท่านต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “มิใช่แต่ผมรูปเดียวเท่านั้นที่ต้องอาบัตินี้ ขอรับ สงฆ์หมู่นี้
ทั้งหมดต้องอาบัตินี้”
ภิกษุพหูสูตนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ภิกษุรูปอื่นต้องอาบัติก็ตาม ไม่ต้อง
อาบัติก็ตาม จะช่วยอะไรท่านได้ ท่านจงออกจากอาบัติของตนเถิด”
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรูปนั้นได้ทำคืนอาบัตินั้นตามคำของภิกษุพหูสูตรูปนั้น
แล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นเรียนชี้แจงว่า “ท่านทั้งหลาย ทราบมาว่า ภิกษุรูปใด
ทำอย่างนี้และอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติชื่อนี้ ท่านทั้งหลายต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว
ขอรับ จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย”
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นจะพึงทำคืนอาบัตินั้นตามคำของภิกษุรูปนั้น
อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ทำคืน ภิกษุรูปนั้น ไม่พึงว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นผู้ไม่
ปรารถนาจะทำคืน
โจทนาวัตถุภาณวาร จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๕. อนาปัตติปัณณรสกะ
๙๕. อนาปัตติปัณณรสกะ
ว่าด้วยการทำอุโบสถโดยไม่ต้องอาบัติ ๑๕ กรณี
[๑๗๒] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่อยู่ในอาวาส
หลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า “ยังมีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ได้ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลัง
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า
ภิกษุเหล่านั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวัน
อุโบสถนั้น มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง
ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลัง
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า
ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ไม่ต้องอาบัติ (๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลัง
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มา
ทีหลังพึงฟังอุทเทสที่เหลือ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ไม่ต้องอาบัติ (๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๕. อนาปัตติปัณณรสกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียงทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มา
ทีหลังพึงฟังอุทเทสที่เหลือ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ไม่ต้องอาบัติ (๓)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า
ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ไม่ต้องอาบัติ (๔)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มา
ทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดงไม่ต้อง
อาบัติ (๕)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๕. อนาปัตติปัณณรสกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวน
น้อยกว่า ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวก
ภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง
ไม่ต้องอาบัติ (๖)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่น
มาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้
ยกขึ้นแสดง ไม่ต้องอาบัติ (๗)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาส
พวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอัน
ยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น
พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดงไม่ต้องอาบัติ (๘)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๕. อนาปัตติปัณณรสกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่น
มาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้น
แสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวก
ภิกษุผู้ยกขึ้นแสดงไม่ต้องอาบัติ (๙)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นบางส่วน ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่น
มาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้
ยกขึ้นแสดง ไม่ต้องอาบัติ (๑๐)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นบ้างบางส่วน ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาส
พวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยก
ขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวก
ภิกษุผู้ยกขึ้นแสดงไม่ต้องอาบัติ (๑๑)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๕. อนาปัตติปัณณรสกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นบ้างบางส่วน ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาส
พวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอัน
ยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น
พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดงไม่ต้องอาบัติ (๑๒)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่น
มาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยก
ขึ้นแสดง ไม่ต้องอาบัติ (๑๓)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่น
มาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดง
ดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้
ยกขึ้นแสดงไม่ต้องอาบัติ (๑๔)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๖. วัคคาวัคคสัญญิปัณณรสกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้น ยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่น
มาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้น
แสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวก
ภิกษุผู้ยกขึ้นแสดงไม่ต้องอาบัติ (๑๕)
อนาปัตติปัณณรสกะ จบ

๙๖. วัคคาวัคคสัญญิปัณณรสกะ
ว่าด้วยแบ่งพวกกันอยู่และสำคัญว่าแบ่งพวกกัน ๑๕ กรณี
[๑๗๓] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ยังไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย แบ่งพวกกันอยู่ และสำคัญว่า
เป็นผู้แบ่งพวกกัน ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า
ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ (๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย แบ่งพวกกันอยู่ และสำคัญ
ว่าเป็นผู้แบ่งพวกกัน ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังยก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๖. วัคคาวัคคสัญญิปัณณรสกะ
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มา
ทีหลังพึงฟังอุทเทสที่เหลือ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๒)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย แบ่งพวกกันอยู่ และสำคัญ
ว่าเป็นผู้แบ่งพวกกัน ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มา
ทีหลังพึงฟังอุทเทสที่เหลือ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๓)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ยังไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย แบ่งพวกกันอยู่ และสำคัญ
ว่าเป็นผู้แบ่งพวกกัน ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า
ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ (๔)
... พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาส
พวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยก
ขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น
พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดงต้องอาบัติทุกกฏ (๕)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๗. เวมติกปัณณรสกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย แบ่งพวกกันอยู่ และสำคัญ
ว่าเป็นผู้แบ่งพวกกัน ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้น
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวก
อื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุ
ผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๗)
... พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้น
แสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนัก
ของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๘)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๙)
... พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นบางส่วน ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงใหม่ ... (๑๐)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่
ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอก
ปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๑๑)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๑๒)
... พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ... (๑๓)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ... (๑๔)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๑๕)
วัคคาวัคคสัญญิปัณณรสกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๗. เวมติกปัณณรสกะ
๙๗. เวมติกปัณณรสกะ
ว่าด้วยภิกษุไม่แน่ใจทำอุโบสถ ๑๕ กรณี
[๑๗๔] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่ไม่แน่ใจว่า “พวกเรา
ควรทำอุโบสถหรือไม่ควรทำ” ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้น
กำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวน
มากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดงต้อง
อาบัติทุกกฏ (๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่ไม่แน่ใจว่า “พวกเราควรทำอุโบสถ
หรือไม่ควรทำ” ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มา
ทีหลังพึงฟังอุทเทสที่เหลือ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๒)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่ไม่แน่ใจว่า “พวกเราควรทำอุโบสถ
หรือไม่ควรทำ” ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มา
ทีหลังพึงฟังอุทเทสที่เหลือ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๓)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๗. เวมติกปัณณรสกะ
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่ไม่แน่ใจว่า “พวกเราควรทำอุโบสถ
หรือไม่ควรทำ” ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุ
เหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๔)
... พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาส
พวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยก
ขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น
พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๕)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๖)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่ไม่แน่ใจว่า “พวกเราควรทำอุโบสถ
หรือไม่ควรทำ” ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงจบ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้น พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้น
แสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๗)
... พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้น
แสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนัก
ของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๘)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๙)
... พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นบางส่วน ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ... (๑๐)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ... (๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๘. กุกกุจจปกตปัณณรสกะ
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๑๒)
... พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ... (๑๓)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ... (๑๔)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๑๕)
เวมติกปัณณรสกะ จบ

๙๘. กุกกุจจปกตปัณณรสกะ
ว่าด้วยภิกษุกังวลใจทำอุโบสถ ๑๕ กรณี
[๑๗๕] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุ
เหล่านั้นรู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่กังวลใจทำ
อุโบสถยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงด้วยคิดว่า “พวกเราควรทำอุโบสถแท้ ไม่ใช่ไม่
ควรทำ” เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่
ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง
ใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มี
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุ
เหล่านั้นรู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่กังวลใจทำ
อุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงด้วยคิดว่า “พวกเราควรทำอุโบสถแท้ ไม่ใช่ไม่
ควรทำ” เมื่อภิกษุเหล่านั้น กำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็น
อันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงฟังอุทเทสที่เหลือ พวกภิกษุผู้ยกขึ้น
แสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๘. กุกกุจจปกตปัณณรสกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มี
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุ
เหล่านั้นรู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่กังวลใจทำ
อุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงด้วยคิดว่า “พวกเราควรทำอุโบสถแท้ ไม่ใช่ไม่
ควรทำ” เมื่อภิกษุเหล่านั้น กำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว
เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงฟังอุทเทสที่เหลือ พวกภิกษุผู้ยก
ขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๓)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มี
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุ
เหล่านั้นรู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่กังวลใจทำ
อุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงด้วยคิดว่า “พวกเราควรทำอุโบสถแท้ ไม่ใช่ไม่
ควรทำ” พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่
พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๔)
... พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว
เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุ
เหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๕)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๖)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มี
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุ
เหล่านั้นรู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่กังวลใจทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๘. กุกกุจจปกตปัณณรสกะ
อุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงด้วยคิดว่า “พวกเราควรทำอุโบสถแท้ ไม่ใช่ไม่
ควรทำ” พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๗)
... พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้น
แสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิใน
สำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ (๘)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๙)
... พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นบางส่วน ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ... (๑๐)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ... (๑๑)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๑๒)
... พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ... (๑๓)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ... (๑๔)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๑๕)
กุกกุจจปกตปัณณรสกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๙. เภทปุเรกขารปัณณรสกะ
๙๙. เภทปุเรกขารปัณณรสกะ
ว่าด้วยมุ่งทำความแตกร้าวทำอุโบสถ ๑๕ กรณี
[๑๗๖] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุ
เหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้น
แสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงฟังอุทเทสที่เหลือ
พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๒)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุ
เหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้น
แสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงฟังอุทเทสที่เหลือ
พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๓)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๙. เภทปุเรกขารปัณณรสกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุ
เหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่
ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่
พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๔)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุ
เหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่
ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว
เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุ
เหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๕)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มี
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุ
เหล่านั้นรู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความ
แตกร้าวว่า “ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์
อะไร” ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้น
แสดงจบ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์
ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลัง
พึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย (๖)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มี
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุ
เหล่านั้นรู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๙. เภทปุเรกขารปัณณรสกะ
ร้าวว่า “ภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร”
ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ
บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า
ภิกษุเหล่านั้นพึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย (๗)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุ
เหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทยังไม่ทัน
ลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่ภิกษุ
เหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอก
ปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๘)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุ
เหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทยังไม่ทัน
ลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ปาติโมกข์ที่
ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึง
บอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย (๙)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุ
เหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๙. เภทปุเรกขารปัณณรสกะ
บางส่วน ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุ
เหล่านั้น พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย (๑๐)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุ
เหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นบ้าง
บางส่วน ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ปาติโมกข์ที่
ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงบอก
ปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๑๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุ
เหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นบ้าง
บางส่วน ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาที
หลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย (๑๒)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุที่
อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุ
เหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ
ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด
ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงใหม่ พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๑๓)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๙๙. เภทปุเรกขารปัณณรสกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มี
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุ
เหล่านั้นรู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตก
ร้าวว่า “ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร”
ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ
บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้น ยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้
มาทีหลัง พึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง
ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๑๔)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มี
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุ
เหล่านั้นรู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตก
ร้าวว่า “ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร”
ทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พอภิกษุเหล่านั้นยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงจบ เมื่อ
บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า
ปาติโมกข์ที่ภิกษุเหล่านั้นยกขึ้นแสดงแล้ว เป็นอันยกขึ้นแสดงดีแล้ว พวกภิกษุผู้
มาทีหลังพึงบอกปาริสุทธิในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยกขึ้นแสดง ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย (๑๕)
เภทปุเรกขารปัณณรสกะ จบ
ปัญจวีสติติกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๐. สีโมกกันติกเปยยาล
๑๐๐. สีโมกกันติกเปยยาล
ว่าด้วยการละข้อความเกี่ยวกับภิกษุเข้าสู่สีมา

เปยยาลมุข ๗๐๐ ติกะ
[๑๗๗] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันอุโบสถนั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป
๑. ประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง
๒. ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า “มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นกำลังเข้ามาภาย
ในสีมา ...”
๓. ... ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า “มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นเข้ามาภายใน
สีมาแล้ว ...”
๔. ... ภิกษุเหล่านั้นไม่เห็นภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นกำลังเข้ามาภาย
ในสีมา ...
๕. ... ภิกษุเหล่านั้นไม่เห็นภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นเข้ามาภายในสีมา
แล้ว ...
๖. ... ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ยินว่า “ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นกำลังเข้ามา
ภายในสีมา ...”
๗. ... ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ยินว่า “ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นเข้ามาภาย
ในสีมาแล้ว ...”
โดยนัย ๑๗๕ ติกะ
๑. ภิกษุที่อยู่ในอาวาสกับภิกษุที่อยู่ในอาวาส
๒. ภิกษุอาคันตุกะกับภิกษุที่อยู่ในอาวาส
๓. ภิกษุที่อยู่ในอาวาสกับภิกษุอาคันตุกะ
๔. ภิกษุอาคันตุกะกับภิกษุอาคันตุกะ
รวมเป็น ๗๐๐ ติกะ โดยเปยยาลมุข๑

เชิงอรรถ :
๑ นำเลข ๗ คือ ภิกษุประชุมกัน ๔ รูปบ้าง เกินกว่าบ้างเป็นต้นไปคูณ ๒๕ ติกะ ในข้อ ๑๗๖ เท่ากับ
๑๗๕ ติกะ แล้วนำเลข ๔ คือ ภิกษุที่อยู่ในอาวาสกับภิกษุที่อยู่ในอาวาสเป็นต้นไปคูณ ๑๗๕ ติกะ เท่ากับ
๗๐๐ ติกะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๐. สีโมกกันติกเปยยาล
[๑๗๘] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ วันอุโบสถของพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
เป็นวัน ๑๔ ค่ำ ของพวกภิกษุอาคันตุกะเป็นวัน ๑๕ ค่ำ ถ้าพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
มีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุอาคันตุกะพึงอนุวัตตามพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
ถ้ามีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุอาคันตุกะ พึงอนุวัตตามพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
ถ้าพวกภิกษุอาคันตุกะมีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสพึงอนุวัตตามพวก
ภิกษุอาคันตุกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ วันอุโบสถของพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
เป็นวัน ๑๕ ค่ำ ของพวกภิกษุอาคันตุกะเป็นวัน ๑๔ ค่ำ ถ้าพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
มีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุอาคันตุกะพึงอนุวัตตามพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
ถ้ามีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุอาคันตุกะพึงอนุวัตตามพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
ถ้าพวกภิกษุอาคันตุกะมีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสพึงอนุวัตตามพวก
ภิกษุอาคันตุกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ วันอุโบสถของพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
เป็นวัน ๑ ค่ำ ของพวกภิกษุอาคันตุกะเป็นวัน ๑๕ ค่ำ ถ้าพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
มีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสไม่ปรารถนา ก็ไม่พึงให้ความพร้อม
เพรียงแก่พวกภิกษุอาคันตุกะ พวกภิกษุอาคันตุกะพึงไปนอกสีมาทำอุโบสถเถิด
ถ้ามีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสไม่ปรารถนาก็ไม่พึงให้ความพร้อม
เพรียงแก่พวกภิกษุอาคันตุกะ พวกภิกษุอาคันตุกะพึงไปนอกสีมาทำอุโบสถเถิด
ถ้าพวกภิกษุอาคันตุกะมีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสพึงให้ความพร้อม
เพรียงแก่พวกภิกษุอาคันตุกะหรือไปนอกสีมา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ วันอุโบสถของพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
เป็นวัน ๑๕ ค่ำ ของพวกภิกษุอาคันตุกะเป็นวัน ๑ ค่ำ ถ้าพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
มีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุอาคันตุกะ พึงให้ความพร้อมเพรียงแก่ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาส หรือไปนอกสีมา ถ้ามีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุอาคันตุกะพึงให้ความ
พร้อมเพรียงแก่ภิกษุที่อยู่ในอาวาสหรือไปนอกสีมา ถ้าพวกภิกษุอาคันตุกะมีจำนวน
มากกว่า พวกภิกษุอาคันตุกะไม่ปรารถนาก็ไม่พึงให้ความพร้อมเพรียงแก่พวกภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาส พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสพึงไปนอกสีมาทำอุโบสถเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๑. ลิงคาทิทัสสนะ
๑๐๑. ลิงคาทิทัสสนะ
ว่าด้วยการเห็นลักษณะเป็นต้น
[๑๗๙] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ พวกภิกษุอาคันตุกะได้เห็นอาการของ
ภิกษุที่อยู่ในอาวาส๑ ลักษณะของภิกษุที่อยู่ในอาวาส๒ เครื่องหมายของภิกษุที่อยู่
ในอาวาส๓ สิ่งส่อแสดงภิกษุที่อยู่ในอาวาส๔ของพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส เตียง ตั่ง
ฟูก หมอน น้ำฉัน น้ำใช้ จัดไว้ดี บริเวณกวาดสะอาด ครั้นแล้ว ไม่แน่ใจว่า
“มีพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสอยู่หรือไม่มีหนอ”
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจแต่ไม่ค้นหา ทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหา แต่ไม่พบ ทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ แยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุเหล่านั้น
จงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พวกภิกษุอาคันตุกะได้ยินอาการของภิกษุที่
อยู่ในอาวาส ลักษณะของภิกษุที่อยู่ในอาวาส เครื่องหมายของภิกษุที่อยู่ในอาวาส
สิ่งส่อแสดงภิกษุที่อยู่ในอาวาสของพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส ได้ยินเสียงเท้าของพวก
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสกำลังจงกรม เสียงสาธยาย เสียงไอ เสียงจาม ครั้นแล้ว ไม่
แน่ใจว่า “มีพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสอยู่หรือไม่มีหนอ”

เชิงอรรถ :
๑ อาการ หมายถึงอาจารสัณฐาน คือมีอาจาระ ซึ่งทำให้รู้ว่ามีข้อวัตรมั่นคง เช่นจัดเครื่องเสนาสนะมีเตียง
ตั่งเป็นต้นไว้เรียบร้อยดี
๒ ลิงค์ หมายถึงเครื่องเสนาสนะมีเตียงตั่งเป็นต้นที่จัดไว้เรียบร้อยดี ซึ่งทำให้รู้ว่า มีภิกษุหลีกเร้นอยู่ แม้จะ
ไม่ปรากฏกายให้เห็นก็ตาม
๓ นิมิต หมายถึงเครื่องเสนาสนะมีเตียงตั่งเป็นต้นที่จัดไว้เรียบร้อยดี ซึ่งพอเห็นแล้วเป็นเหตุให้กำหนดรู้ได้ว่า
“มีภิกษุทั้งหลายอยู่”
๔ อุทเทส หมายถึงเครื่องเสนาสนะมีเตียงตั่งเป็นต้นที่จัดไว้เรียบร้อยดี ซึ่งเป็นเหตุให้อ้างได้ว่า “ภิกษุเหล่านั้น
มีบริขารอย่างนี้” (วิ.อ. ๓/๑๗๙/๑๔๒, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๗๙/๓๔๐, ปาจิตฺยาทิโยชนา ๑๗๙/๓๑๓ ม.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๑. ลิงคาทิทัสสนะ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจแต่ไม่ค้นหา ทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหา แต่ไม่พบ ทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ แยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุเหล่านั้น
จงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสได้เห็นอาการของ
พวกภิกษุอาคันตุกะ ลักษณะของพวกภิกษุอาคันตุกะ เครื่องหมายของพวกภิกษุ
อาคันตุกะ สิ่งส่อแสดงพวกภิกษุอาคันตุกะของพวกภิกษุอาคันตุกะ ได้เห็นบาตร
จีวร ผ้านิสีทนะ รอยน้ำล้างเท้าอันเป็นของภิกษุพวกอื่น ครั้นแล้ว ไม่แน่ใจว่า
“มีพวกภิกษุอาคันตุกะอยู่หรือไม่มีหนอ”
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจแต่ไม่ค้นหา ทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหา แต่ไม่พบ ทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ แยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุเหล่านั้น
จงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสได้ยินอาการของ
พวกภิกษุอาคันตุกะ ลักษณะของพวกภิกษุอาคันตุกะ เครื่องหมายของพวกภิกษุ
อาคันตุกะ สิ่งส่อแสดงพวกภิกษุอาคันตุกะของพวกภิกษุอาคันตุกะ ได้ยินเสียงเท้า
ของพวกภิกษุอาคันตุกะกำลังเดินมา เสียงรองเท้ากระทบพื้น เสียงไอ เสียงจาม
ครั้นแล้ว ไม่แน่ใจว่า “มีพวกภิกษุอาคันตุกะอยู่หรือไม่มีหนอ”
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจแต่ไม่ค้นหา ทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหา แต่ไม่พบ ทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๒. นานาสังวาสกาทิอุปสถกรณะ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ แยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุเหล่านั้น
จงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ทำอุโบสถ ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย

๑๐๒. นานาสังวาสกาทิอุโปสถกรณะ
ว่าด้วยภิกษุเป็นนานาสังวาสเป็นต้นทำอุโบสถ
[๑๘๐] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ พวกภิกษุอาคันตุกะเห็นพวกภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสผู้เป็นนานาสังวาส๑เข้าใจว่าเป็นสมานสังวาส ไม่ไต่ถาม ทำอุโบสถร่วมกัน
ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจ ทำอุโบสถร่วมกัน ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พวกภิกษุอาคันตุกะเห็นพวกภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสผู้เป็นสมานสังวาส เข้าใจว่าเป็นนานาสังวาส ไม่ไต่ถาม ทำอุโบสถร่วมกัน
ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสเห็นพวกภิกษุอาคันตุกะ
ผู้เป็นนานาสังวาส เข้าใจว่าเป็นสมานสังวาส ไม่ไต่ถาม ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้อง
อาบัติ

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุผู้เป็นนานาสังวาสคือมีสังวาสต่างกันหรือต่างพวกกัน มี ๒ กลุ่ม คือ เป็นนานาสังวาสเพราะลัทธิ
เช่นประพฤติตามภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมและเป็นนานาสังวาสเพราะกรรมเช่นถูกลงอุกเขปนียกรรม
เป็นต้น (วิ.อ. ๓/๔๒๙/๕๑๘, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๘๐/๔๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๓. นคันตัพพวาร
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสเหล่านั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจ ทำอุโบสถร่วมกัน ต้อง
อาบัติทุกกฏ
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสเหล่านั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ไม่ต้อง
อาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสเห็นพวกภิกษุ
อาคันตุกะผู้เป็นสมานสังวาส เข้าใจว่าเป็นนานาสังวาสไม่ไต่ถาม ทำอุโบสถร่วม
กัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสเหล่านั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสเหล่านั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ

๑๐๓. นคันตัพพวาร
ว่าด้วยสถานที่ไม่ควรไปในวันอุโบสถ
[๑๘๑] ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ๑ ไปสู่
อาวาสที่ไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์๒ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่สถานที่
มิใช่อาวาส๓ซึ่งไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่อาวาส
หรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย

เชิงอรรถ :
๑ อาวาสที่มีภิกษุ หมายถึงในอาวาสใด มีภิกษุพอที่จะทำอุโบสถอยู่ ไม่พึงออกจากอาวาสนั้นไปสู่อาวาส
ที่ไม่มีภิกษุพอที่จะทำอุโบสถ (วิ.อ. ๓/๑๘๑/๑๔๓)
๒ ไปกับสงฆ์ หมายถึงไปกับภิกษุทั้งหลายที่มีจำนวนครบองค์สงฆ์ คือ ไปกับภิกษุอื่น ๆ รวมกับตัวภิกษุ
นั้นเองเป็น ๔ รูปเป็นอย่างน้อย (วิ.อ. ๓/๑๘๑/๑๔๓)
๓ สถานที่มิใช่อาวาส หมายถึงสถานที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างและศาลาเป็นต้น (วิ.อ. ๓/๑๘๑/๑๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๓. นคันตัพพวาร
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ
ไปสู่อาวาสที่ไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ
ไปสู่สถานที่มิใช่อาวาสซึ่งไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ
ไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาส
ซึ่งมีภิกษุไปสู่อาวาสที่ไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาส
ซึ่งมีภิกษุไปสู่สถานที่มิใช่อาวาสซึ่งไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาส
ซึ่งมีภิกษุไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่
มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่อาวาสที่มี
ภิกษุ แต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มี
อันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่สถานที่
มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ แต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส เว้นแต่ไปกับสงฆ์
เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่อาวาส
หรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ แต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส
เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ
ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส เว้นแต่ไปกับสงฆ์
เว้นแต่มีอันตราย

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๔. คันตัพพวาร
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ
ไปสู่สถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ แต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส
เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ
ไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ แต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส
เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาส
ซึ่งมีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส
เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาส
ซึ่งมีภิกษุไปสู่สถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ แต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็น
นานาสังวาส เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น ไม่พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาส
ซึ่งมีภิกษุไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ แต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุ
ผู้เป็นนานาสังวาส เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย

๑๐๔. คันตัพพวาร
ว่าด้วยสถานที่ควรไปในวันอุโบสถ
[๑๘๒] ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่
อาวาสที่มีภิกษุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นสมานสังวาส ซึ่งตนเองรู้ว่า “เรา
สามารถไปถึงในวันนี้แหละ”
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่สถานที่มิใช่
อาวาสซึ่งมีภิกษุ ฯลฯ ไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ ซึ่งเป็นที่อยู่
ของพวกภิกษุผู้เป็นสมานสังวาส ซึ่งตนเองรู้ว่า “เราสามารถไปถึงในวันนี้แหละ”
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุไปสู่
อาวาสที่มีภิกษุ ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๕. วัชชนียปุคคลสันทัสสนา
... ไปสู่สถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ ...
... ไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้
เป็นสมานสังวาส ซึ่งตนเองรู้ว่า “เราสามารถไปถึงในวันนี้แหละ”
ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถนั้น พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาส
ซึ่งมีภิกษุไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ ...
... ไปสู่สถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ ...
... ไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้
เป็นสมานสังวาส ซึ่งตนเองรู้ว่า “เราสามารถไปถึงในวันนี้แหละ”

๑๐๕. วัชชนียปุคคลสันทัสสนา
ว่าด้วยการแสดงบุคคลที่ควรเว้นในอุโบสถกรรม
[๑๘๓] ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัทที่มีภิกษุณีนั่ง
อยู่ด้วย รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ
... ในบริษัทที่มีสิกขมานานั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีสามเณรนั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีสามเณรีนั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีภิกษุผู้บอกคืนสิกขานั่งอยู่ด้วย ...
ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัทที่มีภิกษุต้องอันติมวัตถุ๑
นั่งอยู่ด้วย รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัทที่มีภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่เห็นอาบัตินั่งอยู่ด้วย รูปใดยกขึ้นแสดง พึงปรับอาบัติตามธรรม
... ในบริษัทที่มีภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัตินั่งอยู่ด้วย ...
ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัททที่มีภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปนั่งอยู่ด้วย รูปใดยกขึ้นแสดง พึงปรับอาบัติตามธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุต้องอันติมวัตถุ หมายถึงภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๕. วัชชนียปุคคลสันทัสสนา
ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัทที่มีบัณเฑาะก์นั่งอยู่ด้วย
รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ
... ในบริษัทที่มีคนลักเพศนั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีภิกษุเข้ารีตเดียรถีย์นั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีสัตว์ดิรัจฉานอยู่ด้วย๑ ...
... ในบริษัทที่มีคนฆ่ามารดานั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีคนฆ่าบิดานั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีคนฆ่าพระอรหันต์นั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีคนประทุษร้ายภิกษุณีนั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีคนทำร้ายพระศาสดาจนห้อพระโลหิตนั่งอยู่ด้วย ...
ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัทที่มีอุภโตพยัญชนกนั่งอยู่
ด้วย รูปใดยกขึ้นแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ

เรื่องปาริวาสิกปาริสุทธิ
ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงทำอุโบสถด้วยการให้ปาริวาสิกปาริสุทธิ๒ เว้นแต่บริษัท
ยังไม่ลุกขึ้น ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ไม่พึงทำอุโบสถในวันมิใช่วันอุโบสถ เว้นแต่วันที่
สงฆ์สามัคคี
ภาณวารที่ ๓ จบ
อุโปสถขันธกะ ที่ ๒ จบ
ในขันธกะนี้ มี ๘๖ เรื่อง

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงสัตว์ดิรัจฉานที่พระผู้มีพระภาคทรงห้ามอุปสมบท (วิ.สงฺคห.๒๔๕, กงฺขา.อ. ๑๑๖)
๒ ปาริวาสิกปาริสุทธิ ให้ปาริสุทธิค้าง หมายถึงภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยประสงค์จะทำอุโบสถ ขณะ
นั้นเอง ได้มีภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า “วันนี้ ไม่ควรทำอุโบสถ เพราะฤกษ์ไม่ดี” ดังนี้เป็นต้น ภิกษุทั้งหลาย
จึงสละเลิกปาริสุทธิแล้วลุกขึ้น มีภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า “ประโยชน์ได้ล่วงเลยบุคคลผู้มัวแต่รอฤกษ์ ยามอยู่
พวกท่านจะได้ประโยชน์อะไรจากดวงดาว” ภิกษุทั้งหลายจึงตกลงจะทำสังฆกรรมต่อไป โดยไม่ต้อง นำ
ปาริสุทธิมาใหม่ อย่างนี้ไม่สมควร เพราะปาริสุทธิที่ให้ไว้ก่อน เป็น “ปาริวาสิกปาริสุทธิ” แปลว่า
ปาริสุทธิค้าง ปาริสุทธิที่ให้แล้วแต่งดไว้ก่อน (ดู กงฺขา.อ. ๔๐๓-๔๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๖. รวมเรื่องที่มีในอุโปสถขันธกะ
๑๐๖. รวมเรื่องที่มีในอุโปสถขันธกะ
เรื่องปริพาชกอัญเดียรถีย์ เรื่องพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
เรื่องภิกษุประชุมนั่งนิ่ง เรื่องทรงอนุญาตให้กล่าวธรรมในวันประชุม
เรื่องพระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
เรื่องยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงทุกวัน
เรื่องทรงอนุญาตให้ยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงปักษ์ละครั้ง
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัทเท่าที่มี
เรื่องทรงอนุญาตให้ยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุผู้พร้อมเพรียงกัน
เรื่องทรงอนุญาตความพร้อมเพรียงกำหนดเขตอาวาสเดียว
เรื่องมัททกุจฉิมฤคทายวัน เรื่องทรงอนุญาตให้สมมติสีมาและนิมิตสีมา
เรื่องสมมติสีมาใหญ่เกินขนาด เรื่องสมมตินทีปารสีมา
เรื่องยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงตามบริเวณวิหาร
เรื่องสมมติโรงอุโบสถ ๒ แห่งในอาวาสเดียวกัน
เรื่องสมมติโรงอุโบสถเล็กเกินไป
เรื่องภิกษุผู้นวกะลงประชุมก่อน เรื่องกรุงราชคฤห์
เรื่องสมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
เรื่องสมมติสมานสังวาสสีมาก่อน
เรื่องถอนสมานสังวาสสีมาภายหลัง
เรื่องคามสีมาที่ไม่ได้สมมติ เรื่องอุทกุกเขปสีมาในแม่น้ำ
เรื่องอุทกุกเขปสีมาในสมุทร เรื่องอุทกุกเขปสีมาในชาตสระ
เรื่องสีมาสังกระกัน เรื่องสมมติสีมาทับสีมา
เรื่องประเภทแห่งวันอุโบสถ เรื่องประเภทการทำอุโบสถ
เรื่องประเภทแห่งปาติโมกขุทเทส
เรื่องทรงอนุญาตให้ยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยย่อเมื่อ
ชาวป่ามาพลุกพล่าน
เรื่องอันตราย ๑๐ ประการ
เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระแสดงธรรมโดยไม่ต้องได้รับอาราธนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๖. รวมเรื่องที่มีในอุโปสถขันธกะ
เรื่องถามพระวินัยท่ามกลางสงฆ์ต้องได้รับสมมติก่อน
เรื่องคุกคามจะฆ่า เรื่องพระฉัพพัคคีย์วิสัชนาพระวินัย
เรื่องโจทด้วยอาบัติ เรื่องขอโอกาสก่อนโจท
เรื่องทรงอนุญาตให้คัดค้านกรรมที่ไม่ชอบธรรม
เรื่องภิกษุ ๔-๕ รูปแสดงความเห็นแย้ง
เรื่องแกล้งยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงไม่ให้ได้ยิน
เรื่องพยายามยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดง
เรื่องยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัทที่มีคฤหัสถ์
เรื่องยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงโดยไม่ได้รับอาราธนา
เรื่องภิกษุชาวเมืองโจทนาวัตถุไม่รู้จักอุโบสถ
เรื่องภิกษุมากรูปไม่รู้จักอุโบสถ เรื่องส่งภิกษุไปเรียน
พระปาติโมกข์ยังอาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมาทันในวันนั้น
เรื่องภิกษุผู้นวกะไม่ยอมไปเรียนพระปาติโมกข์
เรื่องวิธีการนับปักษ์ เรื่องทรงอนุญาตให้นับภิกษุในวันอุโบสถ
เรื่องไปบิณฑบาตยังบ้านไกล เรื่องนึกไม่ได้
เรื่องบุพพกรณ์และบุพพกิจในโรงอุโบสถ
เรื่องปูอาสนะและตามประทีปเป็นต้น เรื่องภิกษุจะไปไหนต้องบอกลาก่อน
เรื่องควรสงเคราะห์ภิกษุผู้เป็นพหูสูต
เรื่องส่งภิกษุไปเรียนพระปาติโมกข์ยังอาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมา
ทันในวันนั้น เรื่องเข้าพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุพอจะยก
พระปาติโมกข์ขึ้นแสดงได้
เรื่องการทำอุโบสถ
เรื่องมอบปาริสุทธิ เรื่องทำกรรมที่จะต้องทำ เรื่องพวกญาติ
เรื่องภิกษุคัคคะ เรื่องภิกษุ ๔ รูป ๓ รูป ๒ รูป และ ๑ รูป
ทำอุโบสถ ๓ อย่างตามลำดับ
เรื่องแสดงอาบัติก่อนทำอุโบสถ เรื่องแสดงสภาคาบัติ
เรื่องระลึกอาบัติได้เมื่อยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ] ๑๐๖. รวมเรื่องที่มีในอุโปสถขันธกะ
เรื่องสงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติและไม่แน่ใจ
เรื่องไม่รู้ชื่อและโคตรอาบัติ เรื่องภิกษุพหูสูต
เรื่องภิกษุมามากกว่า มาเท่ากัน และมาน้อยกว่า
เรื่องบริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น
เรื่องบริษัทลุกขึ้นบางส่วน เรื่องบริษัทลุกขึ้นทั้งหมด
เรื่องภิกษุรู้ว่ายังมีพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสที่ยังไม่มา
เรื่องภิกษุไม่แน่ใจว่าควรทำอุโบสถหรือไม่
เรื่องภิกษุกังวลใจทำอุโบสถ เรื่องภิกษุที่อยู่ในอาวาสรู้ เห็น
ได้ยินว่ายังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นอยู่
เรื่องภิกษุอาคันตุกะกับภิกษุที่อยู่ในอาวาสนับวันอุโบสถต่างกัน
เรื่องอาการของภิกษุที่อยู่ในอาวาสเป็นต้น
เรื่องภิกษุอาคันตุกะเข้าใจว่าภิกษุที่อยู่ในอาวาสมีสังวาสต่างกัน
เรื่องปาริวาสิกปาริสุทธิ เรื่องทำอุโบสถในวันมิใช่วันอุโบสถ
ยกเว้นแต่เป็นวันที่สงฆ์สามัคคี
หัวข้อที่จำแนกเหล่านี้เป็นหัวข้อที่บอกเรื่อง๑
อุโปสถขันธกะ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อเรื่องเหล่านี้ ในเนื้องเรื่อง มิได้ตั้งเป็นข้อไว้ทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๐๗. วัสสูปนายิกานุชานนา
๓. วัสสูปนายิกขันธกะ

๑๐๗. วัสสูปนายิกานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตการเข้าจำพรรษา
[๑๘๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน
สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระพุทธองค์ยังมิได้ทรงบัญญัติ
การเข้าจำพรรษาแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นเที่ยวจาริกไปทั้งฤดูหนาว ฤดูร้อน
และฤดูฝน มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะ
เชื้อสายศากยบุตรจึงได้เที่ยวจาริกไปทั้งฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ย่ำติณชาติ
อันเขียวสด เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตซึ่งมีอินทรีย์เดียว เหยียบสัตว์เล็ก ๆ จำนวนมาก
ให้ถึงความวอดวายเล่า พวกอัญเดียรถีย์เหล่านี้ผู้สอนธรรมไม่ดียังพักอยู่ประจำที่
ตลอดฤดูฝน อีกทั้งฝูงนกเหล่านี้เล่าก็ยังทำรวงรังบนยอดไม้พักอยู่ประจำที่ในฤดูฝน
ส่วนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ เที่ยวจาริกไปทั้งฤดูหนาว ฤดูร้อน และ
ฤดูฝน ย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตซึ่งมีอินทรีย์เดียว เหยียบสัตว์
เล็ก ๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวายไป”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินมนุษย์เหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา”

เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุเข้าจำพรรษาในฤดูฝน
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พวกเราจะพึงเข้าจำพรรษาเมื่อไร
หนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เข้าจำพรรษาในฤดูฝน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๐๘. วัสสานจาริกาปฏิกเขปาทิ
เรื่องประเภทแห่งวันเข้าพรรษา
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “วันเข้าพรรษามีเท่าไรหนอ” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษานี้มี ๒ วัน๑ คือ วันเข้า
พรรษาต้น ๑ วันเข้าพรรษาหลัง ๑ เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไป
แล้ววันหนึ่ง พึงเข้าจำพรรษาต้น เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้ว
เดือนหนึ่ง พึงเข้าจำพรรษาหลัง ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษามี ๒ วันเหล่านี้แล”

๑๐๘. วัสสานจาริกาปฏิกเขปาทิ
ว่าด้วยทรงห้ามเที่ยวจาริกระหว่างพรรษาเป็นต้น

เรื่องพระฉัพพัคคีย์เที่ยวจาริกในระหว่างพรรษา
[๑๘๕] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าจำพรรษาแล้วก็ยังเที่ยวจาริกไป
ในระหว่างพรรษา มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร จึงได้เที่ยวจาริกไปทั้งฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน
ย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตซึ่งมีอินทรีย์เดียว เหยียบสัตว์เล็ก ๆ
จำนวนมากให้ถึงความวอดวายเล่า พวกอัญเดียรถีย์เหล่านี้ผู้สอนธรรมไม่ดียังพักอยู่
ประจำที่ตลอดฤดูฝน อีกทั้งฝูงนกเหล่านี้เล่าก็ยังทำรวงรังบนยอดไม้พักอยู่ประจำที่
ในฤดูฝน ส่วนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้เที่ยวจาริกไปทั้งฤดูหนาว ฤดูร้อน
และฤดูฝน ย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตซึ่งมีอินทรีย์เดียว เหยียบ
สัตว์เล็ก ๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวาย”

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๐/๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๐๘. วัสสานจาริกาปฏิกเขปาทิ
ภิกษุทั้งหลายได้ยินมนุษย์เหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุ
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
เข้าจำพรรษาแล้ว จึงได้เที่ยวจาริกไปในระหว่างพรรษาเล่า” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเข้าจำพรรษาแล้วไม่อยู่จำให้ตลอด ๓ เดือน
พรรษาต้น หรือ ๓ เดือนพรรษาหลัง ไม่พึงหลีกจาริกไป รูปใดหลีกไปต้องอาบัติ
ทุกกฏ”

เรื่องปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่เข้าพรรษา
[๑๘๖] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไม่ต้องการจะเข้าจำพรรษา ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจะไม่เข้าจำพรรษาไม่ได้ รูปใด
ไม่เข้าจำพรรษา ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องจงใจเดินผ่านอาวาส
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไม่ต้องการจะเข้าจำพรรษาในวันเข้าพรรษานั้น จงใจ
เดินผ่านอาวาสไป ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ต้องการจะเข้าจำพรรษาใน
วันเข้าพรรษานั้น ไม่พึงจงใจเดินผ่านอาวาสไป รูปใดเดินผ่านไป ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องการเลื่อนกาลฝน
สมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐมีพระราชประสงค์จะทรงเลื่อน
วันเข้าพรรษาออกไป จึงทรงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ถ้ากระไร ขอพระ
คุณเจ้าทั้งหลายพึงเข้าจำพรรษาในชุณหปักษ์๑ที่จะมาถึง”

เชิงอรรถ :
๑ ชุณหปักษ์ หมายถึงเดือนต่อไป (วิ.อ. ๓/๑๘๖/๑๔๖) ในที่นี้หมายถึงขึ้น ๑ ค่ำของอีกเดือนหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๐๙. สัตตาหกรณียานุชานนา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระราชา”๑

๑๐๙. สัตตาหกรณียานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตสัตตาหกรณียะเมื่อเขาสร้างวิหารถวายเป็นต้น

เรื่องอุบาสกสร้างวิหารเป็นต้นถวาย
[๑๘๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระอัธยาศัย
แล้วได้เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงสาวัตถี ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี ในกรุง
สาวัตถีนั้น
สมัยนั้น อุบาสกชื่ออุเทนได้สร้างวิหารถวายอุทิศสงฆ์ ในแคว้นโกศลแล้วส่งทูต
ไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา ข้าพเจ้าปรารถนา
จะถวายทาน ฟังธรรมและเห็นภิกษุทั้งหลาย”
ภิกษุทั้งหลายตอบไปว่า “คุณโยม พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุเข้า
จำพรรษาแล้วไม่อยู่ให้ตลอด ๓ เดือนพรรษาต้น หรือ ๓ เดือนพรรษาหลัง ไม่พึง
หลีกจาริกไป ขอโยมอุเทนจงรอจนกว่าภิกษุอยู่จำพรรษาจนออกพรรษาแล้วจักมา
แต่ถ้าโยมมีธุระจำเป็นรีบด่วน ก็ขอให้ถวายวิหารไว้ในสำนักภิกษุที่อยู่ในอาวาส ใน
แคว้นโกศลนั่นแหละ”
อุบาสกอุเทนจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนเมื่อเราส่งทูตไปแล้ว
พระคุณเจ้าทั้งหลายจึงไม่มาเล่า เราก็เป็นทายก เป็นผู้สร้าง เป็นผู้บำรุงพระสงฆ์”

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงให้คล้อยตามบ้านเมือง แม้ในเรื่องอื่นที่ชอบธรรม ก็พึงคล้อยตาม แต่ไม่พึงคล้อยตามใคร ๆ
ในเรื่องที่ไม่ชอบธรรม (วิ.อ. ๓/๑๘๕-๖/๑๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๐๙. สัตตาหกรณียานุชานนา
ภิกษุทั้งหลายได้ยินอุบาสกอุเทนตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล ๗ จำพวกคือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา
สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา ส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไปด้วย
สัตตาหกรณียะ๑ได้ แต่เมื่อพวกเขาไม่ส่งทูตมา เราไม่อนุญาตให้ไป ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อบุคคล ๗ จำพวกเหล่านี้ส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้
แต่เมื่อพวกเขาไม่ส่งทูตมา เราไม่อนุญาต (เมื่อไปด้วยสัตตาหกรณียะ) พึงกลับใน
๗ วัน”๒
[๑๘๘] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ อุบาสกได้สร้างวิหารถวายอุทิศสงฆ์
ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา
ข้าพเจ้าปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรม และเห็นภิกษุทั้งหลาย” เมื่อเขาส่งทูตมา
พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งทูตมา ไม่พึงไป (เมื่อไปด้วยสัตตาห
กรณียะ) พึงกลับใน ๗ วัน
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ อุบาสกได้สร้างเรือนมุงแถบเดียวถวายอุทิศสงฆ์
ฯลฯ

... ได้สร้างปราสาท ... ... ได้สร้างเรือนโล้น ...
... ได้สร้างถ้ำ ... ... ได้สร้างบริเวณ ...
... ได้สร้างซุ้ม ... ... ได้สร้างโรงฉัน ...
... ได้สร้างโรงไฟ ... ... ได้สร้างกัปปิยกุฎี ...
... ได้สร้างวัจกุฎี ... ... ได้สร้างที่จงกรม ...
... ได้สร้างโรงจงกรม ... ... ได้สร้างบ่อน้ำ ...


เชิงอรรถ :
๑ สัตตาหกรณียะ แปลว่า ธุระที่จะพึงทำให้เสร็จได้ภายใน ๗ วัน หมายถึงธุระเป็นเหตุให้ภิกษุออกจาก
วัดไปค้างแรมที่อื่นได้ในระหว่างพรรษา เป็นเวลา ๗ วัน (วิ.อ. ๓/๑๘๗/๑๔๖)
๒ พึงกลับใน ๗ วัน คือ ต้องกลับมารับอรุณที่ ๗ ในวัดที่ตนเข้าพรรษา จะไปพักแรมครบ ๗ วันแล้ว
กลับมารับอรุณที่ ๘ ไม่ได้ (วิ.อ. ๓/๑๘๗/๑๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๐๙. สัตตาหกรณียานุชานนา

... ได้สร้างโรงบ่อน้ำ ... ... ได้สร้างเรือนไฟ ...
... ได้สร้างโรงเรืองไฟ ... ... ได้สร้างสระโบกขรณี ...
... ได้สร้างมณฑป ... ... ได้สร้างอาราม ...
... ได้สร้างอารามวัตถุ๑

ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา
ข้าพเจ้าปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรม และเห็นภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเขาส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งทูตมา ไม่พึงไป(เมื่อไป
ด้วยสัตตาหกรณียะ) พึงกลับใน ๗ วัน
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ อุบาสกได้สร้างวิหารถวายอุทิศภิกษุมากรูป
ได้สร้างวิหารอุทิศภิกษุรูปหนึ่ง ...

... ได้สร้างเรืองมุงแถบเดียว ... ... ได้สร้างปราสาท ...
... ได้สร้างเรืองโล้น ... ... ได้สร้างถ้ำ ...
... ได้สร้างบริเวณ ... ... ได้สร้างซุ้ม ...
... ได้สร้างโรงฉัน ... ... ได้สร้างโรงไฟ ...
... ได้สร้างกัปปิยกุฎี ... ... ได้สร้างวัจกุฎี ...
... ได้สร้างที่จงกรม ... ... ได้สร้างโรงจงกรม ...
... ได้สร้างบ่อน้ำ ... ... ได้สร้างโรงบ่อน้ำ ...
... ได้สร้างเรืองไฟ ... ... ได้สร้างโรงเรือนไฟ ...
... ได้สร้างสระโบกขรณี ... ... ได้สร้างมณฑป ...
... ได้สร้างอาราม ... ... ได้สร้างอารามวัตถุ

ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา
ข้าพเจ้าปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรม และเห็นภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเขาส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งทูตมา ไม่พึงไป (เมื่อไป
ด้วยสัตตาหกรณียะ) พึงกลับใน ๗ วัน

เชิงอรรถ :
๑ อารามวัตถุ หมายถึงพื้นที่ที่มิได้ปลูกพืชหรือไม้กอ แต่ปรับเป็นพื้นที่ไว้ อาจล้อมรั้วไว้หรือมิได้ล้อม
กำหนดไว้เป็นสถานที่สวนดอกไม้เป็นต้น (วิ.อ. ๑/๑๐๕/๓๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๐๙. สัตตาหกรณียานุชานนา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ อุบาสกได้สร้างวิหารถวายอุทิศภิกษุณีสงฆ์
ฯลฯ อุทิศภิกษุณีมากรูป ฯลฯ อุทิศภิกษุณีรูปเดียว ฯลฯ อุทิศสิกขมานามากรูป
ฯลฯ อุทิศสิกขมานารูปเดียว ฯลฯ อุทิศสามเณรมากรูป ฯลฯ อุทิศสามเณรรูปเดียว
ฯลฯ อุทิศสามเณรีมากรูป ฯลฯ อุทิศสามเณรีรูปเดียว ฯลฯ

... ได้สร้างเรืองมุงแถบเดียว ... ... ได้สร้างปราสาท ...
... ได้สร้างเรืองโล้น ... ... ได้สร้างถ้ำ ...
... ได้สร้างบริเวณ ... ... ได้สร้างซุ้ม ...
... ได้สร้างโรงฉัน ... ... ได้สร้างโรงไฟ ...
... ได้สร้างกัปปิยกุฎี ... ... ได้สร้างวัจกุฎี ...
... ได้สร้างที่จงกรม ... ... ได้สร้างโรงจงกรม ...
... ได้สร้างบ่อน้ำ ... ... ได้สร้างโรงบ่อน้ำ ...
... ได้สร้างเรืองไฟ ... ... ได้สร้างโรงเรือนไฟ ...
... ได้สร้างสระโบกขรณี ... ... ได้สร้างมณฑป ...
... ได้สร้างอาราม ... ... ได้สร้างอารามวัตถุ

ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา
ข้าพเจ้าปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรม และเห็นภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเขาส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งทูตมา ไม่พึงไป (เมื่อไป
ด้วยสัตตาหกรณียะ) พึงกลับใน ๗ วัน
[๑๘๙] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ อุบาสกได้สร้างที่อยู่อาศัยเพื่อ
ประโยชน์แก่ตน...

... ได้สร้างเรือนนอน ... ... ได้สร้างโรงเก็บของ ...
... ได้สร้างร้าน ... ... ได้สร้างโรงกลม ...
... ได้สร้างร้านค้า ... ... ได้สร้างโรงร้านค้า ...
... ได้สร้างปราสาท ... ... ได้สร้างเรือนโล้น ...
... ได้สร้างถ้ำ ... ... ได้สร้างบริเวณ ...
... ได้สร้างซุ้ม ... ... ได้สร้างโรงฉัน ...


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๐๙. สัตตาหกรณียานุชานนา

... ได้สร้างโรงไฟ ... ... ได้สร้างโรงครัว ...
... ได้สร้างที่จงกรม ... ... ได้สร้างโรงจงกรม ...
... ได้สร้างบ่อน้ำ ... ... ได้สร้างโรงบ่อน้ำ ...
... ได้สร้างเรือนไฟ ... ... ได้สร้างสระโบกขรณี ...
... ได้สร้างมณฑป ... ... ได้สร้างอาราม ...
... ได้สร้างอารามวัตถุ

เขามีงานมงคลสมรสของบุตรหรือธิดา เขาเป็นไข้หรือจะกล่าวพระสูตรซึ่ง
เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็ดี ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ขออาราธนา
พระคุณเจ้าทั้งหลายมา จะได้เล่าเรียนพระสูตรนี้ก่อนที่พระสูตรจะเลือนไป” ก็หรือว่า
เขามีกิจหรือธุระจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า
“ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา ข้าพเจ้าปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรม
และเห็นภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขาส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้
แต่เมื่อเขาไม่ส่งทูตมา ไม่พึงไป (เมื่อไปด้วยสัตตาหกรณียะ) พึงกลับใน ๗ วัน
[๑๙๐] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ อุบาสิกาได้สร้างวิหารถวายอุทิศสงฆ์
ถ้านางส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา
ดิฉันปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรม และเห็นภิกษุทั้งหลาย” เมื่อนางส่งทูตมา
พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อนางไม่ส่งทูตมา ไม่พึงไป (เมื่อไปด้วยสัตตาห
กรณียะ) พึงกลับใน ๗ วัน
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ อุบาสิกาได้สร้างเรือนมุงแถบเดียวถวายอุทิศ
สงฆ์ ฯลฯ

... ได้สร้างปราสาท ... ... ได้สร้างเรือนโล้น ...
... ได้สร้างถ้ำ ... ... ได้สร้างบริเวณ ...
... ได้สร้างซุ้ม ... ... ได้สร้างโรงฉัน ...
... ได้สร้างโรงไฟ ... ... ได้สร้างกัปปิยกุฎี ...
... ได้สร้างวัจกุฎี ... ... ได้สร้างที่จงกรม ...
... ได้สร้างโรงจงกรม ... ... ได้สร้างบ่อน้ำ ...
... ได้สร้างโรงบ่อน้ำ ... ... ได้สร้างเรือนไฟ ...


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๐๙. สัตตาหกรณียานุชานนา

... ได้สร้างโรงเรือนไฟ ... ... ได้สร้างสระโบกขรณี ...
... ได้สร้างมณฑป ... ... ได้สร้างอาราม ...
... ได้สร้างอารามวัตถุ

ถ้านางส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา
ดิฉันปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรม และเห็นภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อนางส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อนางไม่ส่งทูตมา ไม่พึงไป
(เมื่อไปด้วยสัตตาหกรณียะ) พึงกลับใน ๗ วัน
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ อุบาสิกาได้สร้างวิหารถวายอุทิศภิกษุมากรูป ...

... อุทิศภิกษุรูปเดียว... ... อุทิศภิกษุณีสงฆ์ ...
... อุทิศภิกษุณีมากรูป ... ... อุทิศภิกษุณีรูปเดียว ...
... อุทิศสิกขมานามากรูป ... ... อุทิศสิกขมานารูปเดียว ...
... อุทิศสามเณรมากรูป ... ... อุทิศสามเณรรูปเดียว...
... อุทิศสามเณรีมากรูป ... ... อุทิศสามเณรีรูปเดียว... ฯลฯ

[๑๙๑] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ อุบาสิกาได้สร้างที่อยู่อาศัยเพื่อ
ประโยชน์แก่ตน...

... ได้สร้างเรือนนอน ... ... ได้สร้างโรงเก็บของ ...
... ได้สร้างร้าน ... ... ได้สร้างโรงกลม ...
... ได้สร้างร้านค้า ... ... ได้สร้างโรงร้านค้า ...
... ได้สร้างปราสาท ... ... ได้สร้างเรือนโล้น ...
... ได้สร้างถ้ำ ... ... ได้สร้างบริเวณ ...
... ได้สร้างซุ้ม ... ... ได้สร้างโรงฉัน ...
... ได้สร้างโรงไฟ ... ... ได้สร้างโรงครัว ...
... ได้สร้างวัจกุฎี ... ... ได้สร้างที่จงกรม ...
... ได้สร้างโรงจงกรม ... ... ได้สร้างบ่อน้ำ ...
... ได้สร้างโรงบ่อน้ำ ... ... ได้สร้างสระโบกขรณี ...
... ได้สร้างมณฑป ... ... ได้สร้างอาราม ...
... ได้สร้างอารามวัตถุ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๐๙. สัตตาหกรณียานุชานนา
นางมีงานมงคลสมรสของบุตรหรือธิดา นางเป็นไข้หรือจะกล่าวพระสูตร
ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็ดี ถ้านางส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ขออาราธนา
พระคุณเจ้าทั้งหลายมา จะได้เล่าเรียนพระสูตรนี้ก่อนที่พระสูตรจะเลือนไป” ก็หรือ
ว่านางมีกิจหรือธุระจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้านางส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา ดิฉันปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรมและ
เห็นภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลาย เมื่อนางส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้
แต่เมื่อนางไม่ส่งทูตมา ไม่พึงไป (เมื่อไปด้วยสัตตาหกรณียะ) พึงกลับใน ๗ วัน
[๑๙๒] ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สร้างวิหาร
ถวายอุทิศสงฆ์ ฯลฯ ภิกษุณีได้สร้างวิหารถวายอุทิศสงฆ์ ฯลฯ สิกขมานาได้สร้าง
วิหารถวายอุทิศสงฆ์ ฯลฯ สามเณรได้สร้างวิหารถวายอุทิศสงฆ์ ฯลฯ สามเณรี
ได้สร้างวิหารถวายอุทิศสงฆ์ ฯลฯ

... อุทิศภิกษุมากรูป ... ... อุทิศภิกษุรูปเดียว ...
... อุทิศภิกษุณีสงฆ์ ... ... อุทิศภิกษุณีมากรูป ...
... อุทิศภิกษุณีรูปเดียว... ... อุทิศสิกขมานามากรูป ...
... อุทิศสิกขมานารูปเดียว... ... อุทิศสามเณรมากรูป ...
... อุทิศสามเณรรูปเดียว ... ... อุทิศสามเณรีมากรูป ...
... อุทิศสามเณรีรูปเดียว ...

ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุ ฯลฯ สามเณรีได้สร้างวิหารเพื่อ
ประโยชน์แก่ตน ...

... ได้สร้างเรือนมุงแถบเดียว ... ... ได้สร้างปราสาท ...
... ได้สร้างเรือนโล้น ... ... ได้สร้างถ้ำ ...
... ได้สร้างบริเวณ ... ... ได้สร้างซุ้ม ...
... ได้สร้างโรงฉัน ... ... ได้สร้างโรงไฟ ...
... ได้สร้างกัปปิยกุฎี ... ... ได้สร้างวัจกุฎี ...
... ได้สร้างที่จงกรม ... ... ได้สร้างโรงจงกรม ...
... ได้สร้างบ่อน้ำ ... ... ได้สร้างโรงบ่อน้ำ ...
... ได้สร้างสระโบกขรณี ... ... ได้สร้างมณฑป ...
... ได้สร้างอาราม ... ... ได้สร้างอารามวัตถุ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๐. ปัญจอัปปหิตานุชานนา
ถ้าภิกษุ ฯลฯ สามเณรีส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ขออาราธนา
พระคุณเจ้าทั้งหลายมา กระผม ฯลฯ ดิฉันปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรม และ
เห็นภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุ ฯลฯ สามเณรีส่งทูตมา พึงไปด้วย
สัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อภิกษุฯลฯ สามเณรีไม่ส่งทูตมา ไม่พึงไป (เมื่อไปด้วย
สัตตาหกรณียะ) พึงกลับใน ๗ วัน

๑๑๐. ปัญจอัปปหิตานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตสัตตาหกรณียะเมื่อสหธรรมิกทั้ง ๕ จะไม่ส่งทูตมา

เรื่องภิกษุเป็นไข้เป็นต้น
[๑๙๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ได้ส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า
“กระผมเป็นไข้ ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้ง
หลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย แม้สหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ
ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี จะไม่ส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไปด้วย
สัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อสหธรรมิกทั้ง ๕ ส่งทูตมา ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อสหธรรมิกทั้ง ๕ เหล่านี้ แม้มิได้ส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาห
กรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อสหธรรมิกทั้ง ๕ ส่งทูตมา แต่พึงกลับใน ๗ วัน

สัตตาหกรณียะเนื่องด้วยภิกษุ ๑๐ กรณี
๑. ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นไข้ ถ้าภิกษุนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนัก
ภิกษุทั้งหลายว่า “กระผมเป็นไข้ ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมประสงค์
ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำ
ต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักแสวงหาคิลานภัต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๐. ปัญจอัปปหิตานุชานนา
คิลานุปัฏฐากภัต หรือคิลานเภสัช จักถามอาการหรือจักพยาบาล” แต่พึงกลับ
ใน ๗ วัน
๒. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ความไม่ยินดีเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ถ้าภิกษุนั้น
จะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ความไม่ยินดีเกิดขึ้นแก่กระผมแล้ว
ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุนั้น
จะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุนั้นส่งทูตมา
พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักระงับความไม่ยินดีเอง หรือจักใช้ภิกษุอื่นให้ช่วยระงับ
หรือจักแสดงธรรมกถาแก่ภิกษุนั้น” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๓. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ความรำคาญเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ถ้าภิกษุนั้น
จะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ความรำคาญเกิดขึ้นแก่กระผมแล้ว
ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุนั้น
จะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุนั้นส่งทูตมา
พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักบรรเทาความรำคาญเอง หรือจักใช้ภิกษุอื่นให้ช่วยบรรเทา
หรือจักแสดงธรรมกถาแก่ภิกษุนั้น” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๔. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ความเห็นผิดเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ถ้าภิกษุนั้น
จะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ความเห็นผิดเกิดขึ้นแก่กระผมแล้ว
ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุนั้น
จะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุนั้นส่งทูตมา
พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักเปลื้องความเห็นผิดเอง หรือจักใช้ภิกษุอื่นให้ช่วยเปลื้อง
หรือจักแสดงธรรมกถาแก่ภิกษุนั้น” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๕. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นผู้ต้องครุธรรม๑ ควรอยู่ปริวาส
ถ้าภิกษุนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “กระผมต้องครุธรรม ควรอยู่
ปริวาส ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุ
นั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุนั้นส่งทูตมา

เชิงอรรถ :
๑ ครุธรรม ในที่นี้หมายถึงอาบัติสังฆาทิเสส (ดู องฺ.อฏฺฐก. อ. ๓/๕๑/๒๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๐. ปัญจอัปปหิตานุชานนา
พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักทำความขวนขวายให้ปริวาส หรือจักช่วยสวดกรรมวาจา
หรือจักเป็นคณปูรกะ๑” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๖. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม
ถ้าภิกษุนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “กระผมเป็นผู้ควรชักเข้าหา
อาบัติเดิม ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย
แม้ภิกษุนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุนั้น
ส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักทำความขวนขวายชักเข้าหาอาบัติเดิม หรือ
จักช่วยสวดกรรมวาจา หรือจักเป็นคณปูรกะ” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๗. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นผู้ควรมานัต ถ้าภิกษุนั้นจะพึง
ส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “กระผมเป็นผู้ควรมานัต ขออาราธนาภิกษุ
ทั้งหลายมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไป
ด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า
“เราจักทำความขวนขวายให้มานัต หรือจักช่วยสวดกรรมวาจา หรือจักเป็น
คณปูรกะ” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๘. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นผู้ควรอัพภาน ถ้าภิกษุนั้นจะ
พึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “กระผมเป็นผู้ควรอัพภาน ขออาราธนาภิกษุ
ทั้งหลายมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุนั้นจะไม่ส่งทูตมา
ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า
“เราจักทำความขวนขวายให้อัพภาน หรือจักช่วยสวดกรรมวาจา หรือจักเป็น
คณปูรกะ” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๙. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ สงฆ์ต้องการจะทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม
นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุ
ถ้าภิกษุนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “สงฆ์เป็นผู้ต้องการจะทำกรรม
แก่กระผม ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ เข้าร่วมสังฆกรรมเพื่อให้ครบองค์สงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๐. ปัญจอัปปหิตานุชานนา
แม้ภิกษุนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุนั้น
ส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์จะไม่พึงทำกรรม หรือ
พึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๑๐. ก็หรือว่า ภิกษุนั้นถูกสงฆ์ทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม
ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว ถ้าภิกษุนั้น จะพึง
ส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “สงฆ์ทำกรรมแก่กระผมแล้ว ขออาราธนาภิกษุ
ทั้งหลายมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุนั้นจะไม่ส่งทูตมา
ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วย
ตั้งใจว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ภิกษุนั้นจะพึงประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง
พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย” แต่พึงกลับใน ๗ วัน

สัตตาหกรณียะเนื่องด้วยภิกษุณี ๙ กรณี
[๑๙๔] ๑. ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุณีเป็นไข้ ถ้าภิกษุณีนั้นจะพึง
ส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ดิฉันเป็นไข้ ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา
ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุณีนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วย
สัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุณีนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า
“เราจักแสวงหาคิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต หรือคิลานเภสัช จักถามอาการ หรือ
จักพยาบาล” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๒. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ความไม่ยินดีเกิดขึ้นแก่ภิกษุณี ถ้า
ภิกษุณีนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ความไม่ยินดีเกิดขึ้นแก่ดิฉันแล้ว
ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้
ภิกษุณีนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุณี
นั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักระงับความไม่ยินดีเอง หรือจักใช้ภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือจักแสดงธรรมกถาแก่ภิกษุณีนั้น” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๓. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ความรำคาญเกิดขึ้นแก่ภิกษุณี ถ้า
ภิกษุณีนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ความรำคาญเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
แล้ว ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๐. ปัญจอัปปหิตานุชานนา
แม้ภิกษุณีนั้น จะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อ
ภิกษุณีนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักบรรเทาความรำคาญเอง หรือจักใช้
ภิกษุอื่นให้ช่วยบรรเทา หรือจักแสดงธรรมกถาแก่ภิกษุณีนั้น” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๔. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ความเห็นผิดเกิดขึ้นแก่ภิกษุณี ถ้าภิกษุณี
นั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ความเห็นผิดเกิดขึ้นแก่ดิฉันแล้ว ขอ
อาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุณี
นั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุณีส่งทูตมา
พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักเปลื้องความเห็นผิดเอง หรือจักใช้ภิกษุอื่นให้ช่วยเปลื้อง
หรือจักแสดงธรรมกถาแก่ภิกษุณีนั้น” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๕. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุณีเป็นผู้ต้องครุธรรม ควรแก่มานัต
ถ้าภิกษุณีนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ดิฉันเองต้องครุธรรม ควรแก่
มานัต ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย
แม้ภิกษุณีนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อ
ภิกษุณีนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักทำความขวนขวายให้มานัต” แต่พึง
กลับใน ๗ วัน
๖. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุณีเป็นผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม
ถ้าภิกษุณีนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ดิฉันเป็นผู้ควรชักเข้าหา
อาบัติเดิม ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย
แม้ภิกษุณีนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุณี
นั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักทำความขวนขวายชักเข้าหาอาบัติเดิม” แต่พึง
กลับใน ๗ วัน
๗. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุณีในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ควรอัพภาน
ถ้าภิกษุณีนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ดิฉันเป็นผู้ควรอัพภาน ขอ
อาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุณี
นั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุณีนั้นส่ง
ทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักทำความขวนขวายให้อัพภาน” แต่พึงกลับใน ๗ วัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๐. ปัญจอัปปหิตานุชานนา
๘. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ สงฆ์ต้องการจะทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม
นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุณี
ถ้าภิกษุณีนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “สงฆ์เป็นผู้ต้องการจะทำกรรม
แก่ดิฉัน ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย
แม้ภิกษุณีนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุณี
นั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์จะไม่พึงทำกรรม
หรือพึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๙. ก็หรือว่า ภิกษุณีนั้นถูกสงฆ์ทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม
ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว ถ้าภิกษุณีนั้นจะพึง
ส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “สงฆ์ทำกรรมแก่ดิฉันแล้ว ขออาราธนาพระผู้
เป็นเจ้าทั้งหลายมา ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุณีนั้นจะไม่ส่งทูตมา
ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อภิกษุณีนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้ง
ใจว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ภิกษุณีนั้นจะพึงประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง
พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย” แต่พึงกลับใน ๗ วัน

สัตตาหกรณียะเนื่องด้วยสิกขมานา ๖ กรณี
[๑๙๕] ๑. ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ สิกขมานาเป็นไข้ ถ้าสิกขมานานั้น
จะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ดิฉันเป็นไข้ ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้า
ทั้งหลายมา ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้สิกขมานานั้นจะไม่ส่งทูตมา
ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อสิกขมานานั้นส่งทูตมา พึงไปด้วย
ตั้งใจว่า “เราจักแสวงหาคิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต หรือคิลานเภสัช จักถามอาการ
หรือจักพยาบาล” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๒. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ความไม่ยินดีเกิดขึ้นแก่สิกขมานา...
๓. ความรำคาญเกิดขึ้นแก่สิกขมานา...
๔. ความเห็นผิดเกิดขึ้นแก่สิกขมานา..
๕. สิกขาของสิกขมานากำเริบ ถ้าสิกขมานานั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุ
ทั้งหลายว่า “สิกขาของดิฉันกำเริบแล้ว ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา ดิฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๐. ปัญจอัปปหิตานุชานนา
ประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้สิกขมานานั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาห
กรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อสิกขมานานั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักทำ
ความขวนขวายให้สมาทานสิกขา” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๖. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ สิกขมานาต้องการจะอุปสมบท
ถ้าสิกขมานานั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ดิฉันต้องการจะอุปสมบท
ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้สิกขมานา
นั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อสิกขมานานั้น
ส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักทำความขวนขวายให้อุปสมบท หรือจักช่วย
สวดกรรมวาจา หรือจักเป็นคณปูรกะ” แต่พึงกลับใน ๗ วัน

สัตตาหกรณียะเนื่องด้วยสามเณร ๖ กรณี
[๑๙๖] ๑. ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ สามเณรเป็นไข้ ถ้าสามเณรนั้นจะ
พึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “กระผมเป็นไข้ ขออาราธนาพระคุณเจ้า
ทั้งหลายมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้สามเณรนั้นจะไม่ส่งทูตมา
ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อสามเณรนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วย
ตั้งใจว่า “เราจักแสวงหาคิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต หรือคิลานเภสัช จักถามอาการ
หรือจักพยาบาล” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๒. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ความไม่ยินดีเกิดขึ้นแก่สามเณร...
๓. ความรำคาญเกิดขึ้นแก่สามเณร...
๔. ความเห็นผิดเกิดขึ้นแก่สามเณร...
๕. สามเณรต้องการจะถามปี ถ้าสามเณรนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุ
ทั้งหลายว่า “กระผมเองต้องการจะถามปี ขออาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผม
ประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้สามเณรนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาห
กรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อสามเณรนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจัก
ถามหรือจักบอก” แต่พึงกลับใน ๗ วัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๐. ปัญจอัปปหิตานุชานนา
๖. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ สามเณรต้องการจะอุปสมบท ถ้าสามเณร
นั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “กระผมเองต้องการจะอุปสมบท ขอ
อาราธนาภิกษุทั้งหลายมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้สามเณรนั้น
จะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อสามเณรนั้นส่งทูต
มา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักทำความขวนขวายให้อุปสมบท หรือจักช่วยสวด
กรรมวาจา หรือจักเป็นคณปูรกะ” แต่พึงกลับใน ๗ วัน

สัตตาหกรณียะเนื่องด้วยสามเณรี ๖ กรณี
[๑๙๗] ๑. ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ สามเณรีเป็นไข้ ถ้าสามเณรีนั้นจะ
พึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ดิฉันเป็นไข้ ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา
ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้สามเณรีนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วย
สัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อสามเณรีนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า
“เราจักแสวงหาคิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต หรือคิลานเภสัช จักถามอาการ หรือ
จักพยาบาล” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๒. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ความไม่ยินดีเกิดขึ้นแก่สามเณรี ...
๓. ความรำคาญเกิดขึ้นแก่สามเณรี ...
๔. ความเห็นผิดเกิดขึ้นแก่สามเณรี ...
๕. สามเณรีต้องการจะถามปี ถ้าสามเณรีนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ดิฉันต้องการจะถามปี ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา ดิฉัน
ประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้สามเณรีนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาห
กรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อสามเณรีนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักถาม
หรือจักบอก” แต่พึงกลับใน ๗ วัน
๖. ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ สามเณรีต้องการจะสมาทานสิกขา
ถ้าสามเณรีนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ดิฉันต้องการจะสมาทาน
สิกขา ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมา ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย
แม้สามเณรีนั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อ
สามเณรีนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักทำความขวนขวายให้สมาทานสิกขา”
แต่พึงกลับใน ๗ วัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๑. สัตตอัปปหิตานุชานนา
๑๑๑. สัตตอัปปหิตานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตสัตตาหกรณียะเมื่อบุคคล ๗ จำพวกจะไม่ส่งทูตมา

เรื่องมารดาบิดาเป็นไข้
[๑๙๘] สมัยนั้น มารดาของภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ มารดานั้นส่งทูตไปในสำนัก
ภิกษุผู้เป็นบุตรว่า “ดิฉันเป็นไข้ ขอบุตรของดิฉันจงมา ดิฉันประสงค์ให้มา”
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นคิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า เมื่อบุคคล ๗
จำพวกส่งทูตมา ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อไม่ส่งทูตมา จะไปไม่ได้ สำหรับ
สหธรรมิกทั้ง ๕ แม้ไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อ
สหธรรมิกทั้ง ๕ นั้น ส่งทูตมา อนึ่ง มารดาของเรานี้เป็นไข้ แต่มารดานั้นไม่ได้เป็น
อุบาสิกา เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อบุคคล ๗ จำพวก คือ ภิกษุ
ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี มารดา และบิดา จะไม่ส่งทูตมา เราอนุญาต
ให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อบุคคล ๗ จำพวกนั้นส่งทูตมา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล ๗ จำพวกเหล่านี้ แม้มิได้ส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไป
ด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อบุคคล ๗ จำพวกนั้น ส่งทูตมา
แต่พึงกลับใน ๗ วัน
ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ มารดาของภิกษุเป็นไข้ ถ้ามารดานั้นจะพึงส่งทูตไป
ในสำนักของภิกษุผู้เป็นบุตรว่า “ดิฉันเป็นไข้ ขอบุตรของดิฉันจงมา ดิฉันประสงค์
ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย แม้มารดานั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำ
ต้องกล่าวถึงเมื่อมารดานั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักแสวงหาคิลานภัต
คิลานุปัฏฐากภัต หรือคิลานเภสัช จักถามอาการ หรือจักพยาบาล” แต่พึงกลับ
ใน ๗ วัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๒. ปหิตานุชานนา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ บิดาของภิกษุเป็นไข้ ถ้าบิดานั้นจะพึงส่งทูตไป
ในสำนักของภิกษุผู้เป็นบุตรว่า “ผมเป็นไข้ ขอบุตรของผมจงมา ผมประสงค์ให้มา”
ภิกษุทั้งหลาย แม้บิดานั้นจะไม่ส่งทูตมา ก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ ไม่จำต้องกล่าว
ถึงเมื่อบิดานั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยตั้งใจว่า “เราจักแสวงหาคิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต
หรือคิลานเภสัช จักถามอาการ หรือจักพยาบาล” แต่พึงกลับใน ๗ วัน

๑๑๒. ปหิตานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตสัตตาหกรณียะเมื่อพี่ชายน้องชายเป็นต้นส่งทูตมา
[๑๙๙] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ พี่ชายน้องชายของภิกษุเป็นไข้ ถ้าพี่ชาย
น้องชายนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุผู้เป็นพี่ชายน้องชายว่า “กระผมเป็นไข้ ขอพี่ชาย
น้องชายของกระผมจงมา กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพี่ชายน้องชาย
นั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อพี่ชายน้องชายนั้นไม่ส่งทูตมา
ไม่พึงไป (เมื่อไปด้วยสัตตาหกรณียะ) พึงกลับใน ๗ วัน
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พี่สาวน้องสาวของภิกษุเป็นไข้ ถ้าพี่สาว
น้องสาวนั้นจะพึงส่งทูตไปในสำนักของภิกษุผู้เป็นพี่ชายน้องชายว่า “ดิฉันเป็นไข้ ขอพี่ชาย
น้องชายของดิฉันจงมา ดิฉันประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพี่สาวน้องสาวนั้น
ส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อพี่สาวน้องสาวนั้นไม่ส่งทูตมา ไม่พึงไป
(เมื่อไปด้วยสัตตาหกรณียะ) พึงกลับใน ๗ วัน
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ญาติของภิกษุเป็นไข้ ถ้าญาตินั้นจะพึงส่งทูตไป
ในสำนักภิกษุว่า “กระผมเป็นไข้ ขอพระคุณเจ้าจงมา กระผมประสงค์ให้มา”
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อญาตินั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อญาตินั้น
ไม่ส่งทูตมา ไม่พึงไป (เมื่อไปด้วยสัตตาหกรณียะ) พึงกลับใน ๗ วัน
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ บุรุษผู้อาศัยอยู่กับภิกษุเป็นไข้ ถ้าบุรุษนั้น
จะพึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุว่า “กระผมเป็นไข้ ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๓. อันตรายอนาปัตติวัสสเฉทวาร
กระผมประสงค์ให้มา” ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุรุษนั้นส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาห
กรณียะได้ แต่เมื่อบุรุษนั้นไม่ส่งทูตมา ไม่พึงไป (เมื่อไปด้วยสัตตาหกรณียะ) พึงกลับ
ใน ๗ วัน

ทรงอนุญาตสัตตาหกรณียะเฉพาะกิจของสงฆ์
สมัยนั้น วิหารของสงฆ์หักพัง อุบาสกคนหนึ่งได้ตัดเครื่องทัพพสัมภาระทิ้งไว้
ในป่า อุบาสกนั้นได้ส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า “ถ้าพระคุณเจ้าทั้งหลาย
จะพึงขนเครื่องทัพพสัมภาระนั้นมาได้ กระผมขอถวายเครื่องทัพพสัมภาระนั้น”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้
แต่พึงกลับใน ๗ วัน”

๑๑๓. อันตรายอนาปัตติวัสสเฉทวาร
ว่าด้วยการขาดพรรษาโดยไม่ต้องอาบัติในเมื่อมีอันตราย

เรื่องสัตว์ร้ายเบียดเบียน
[๒๐๐] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ณ อาวาสแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล
ถูกสัตว์ร้ายเบียดเบียน มันจับเอาไว้บ้าง วิ่งไล่ไปรอบ ๆ บ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้าจำ
พรรษาถูกสัตว์ร้ายเบียดเบียน มันจับเอาไว้บ้าง วิ่งไล่ไปรอบ ๆ บ้าง ภิกษุเหล่านั้น
พึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า “นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๓. อันตรายอนาปัตติวัสสเฉทวาร
เรื่องงูเบียดเบียน
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ถูกงูเบียดเบียน
มันขบกัดเอาบ้าง เลื้อยไล่ไปรอบ ๆ บ้าง ภิกษุเหล่านั้นพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า
“นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

เรื่องพวกโจรเบียดเบียน
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ถูกพวกโจร
เบียดเบียน มันปล้นบ้าง รุมตีบ้าง ภิกษุเหล่านั้นพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า
“นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

เรื่องปีศาจรบกวน
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ถูกพวกปีศาจ
รบกวน มันเข้าสิงบ้าง ฆ่าเอาบ้าง ภิกษุเหล่านั้นพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า “นั่นแล
อันตราย” ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

เรื่องหมู่บ้านถูกไฟไหม้
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ เมื่อภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา หมู่บ้าน
ถูกไฟไหม้ ภิกษุทั้งหลายลำบากด้วยบิณฑบาต ภิกษุเหล่านั้นพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า
“นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

เรื่องเสนาสนะถูกไฟไหม้
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ เมื่อภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา เสนาสนะถูก
ไฟไหม้ ภิกษุทั้งหลายเดือดร้อนด้วยเสนาสนะ ภิกษุเหล่านั้นพึงหลีกไปด้วยสำคัญ
ว่า “นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๓. อันตรายอนาปัตติวัสสเฉทวาร
เรื่องหมู่บ้านถูกน้ำท่วม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ เมื่อภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา หมู่บ้าน
ถูกน้ำท่วม ภิกษุทั้งหลายลำบากด้วยบิณฑบาต ภิกษุเหล่านั้นพึงหลีกไปด้วย
สำคัญว่า “นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

เรื่องเสนาสนะถูกน้ำท่วม
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ เมื่อภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา เสนาสนะ
ถูกน้ำท่วม ภิกษุทั้งหลายเดือดร้อนด้วยเสนาสนะ ภิกษุเหล่านั้นพึงหลีกไปด้วย
สำคัญว่า “นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

เรื่องชาวบ้านอพยพไปเพราะโจรภัย
[๒๐๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษาในอาวาสแห่งหนึ่ง ชาวบ้าน
อพยพไปเพราะโจรภัย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตามชาวบ้านไป”

เรื่องทรงอนุญาตให้ตามทายกมีจำนวนมากกว่า
ชาวบ้านแตกแยกเป็นสองพวก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตามชาวบ้านที่มาก
กว่าไป”
ชาวบ้านที่มากกว่าไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตามชาวบ้านที่มี
ศรัทธาเลื่อมใสไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๓. อันตรายอนาปัตติวัสสเฉทวาร
เรื่องไม่ได้โภชนะธรรมดาหรือประณีตเป็นต้น
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ณ อาวาสแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ไม่ได้
โภชนาหารธรรมดาหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้า
จำพรรษา ไม่ได้โภชนาหารธรรมดาหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการ ภิกษุเหล่านั้น
พึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า “นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ได้โภชนาหาร
ธรรมดาหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการ แต่ไม่ได้โภชนาหารที่สบาย ภิกษุเหล่านั้น
พึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า “นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ได้โภชนาหาร
ธรรมดาหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการและได้โภชนาหารที่สบาย แต่ไม่ได้เภสัช
ที่สบาย ภิกษุเหล่านั้นพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า “นั่นแลอันตราย” ไม่ต้องอาบัติ
เนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ได้โภชนาหาร
ธรรมดาหรือประณีตบริบูรณ์ตามต้องการ ได้โภชนาหารที่สบาย ได้เภสัชที่สบาย
แต่ไม่ได้อุปัฏฐากผู้สมควร ภิกษุเหล่านั้นพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า “นั่นแลอันตราย”
ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

เรื่องสตรีนิมนต์
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ สตรีนิมนต์ภิกษุผู้เข้าจำพรรษาว่า “ท่านจง
มาเถิดเจ้าข้า ดิฉันจะถวายเงิน ทอง นา สวน พ่อโค แม่โค ทาส ทาสีแก่ท่าน
หรือจะยกลูกสาวให้เป็นภรรยาของท่าน ดิฉันจะเป็นภรรยาของท่าน หรือจะนำสตรี
อื่นมาให้เป็นภรรยาของท่าน” ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า จิตกลับกลอกเร็วนัก สักหน่อยจะเป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์ของเราก็ได้
พึงหลีกไปเสีย ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๔. สังฆเภทอนาปัตติวัสสเฉทวาร
เรื่องหญิงแพศยานิมนต์
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ หญิงแพศยานิมนต์ภิกษุผู้เข้าจำพรรษา
... หญิงสาวเทื้อนิมนต์ ... ... บัณเฑาะก์นิมนต์...
... พวกญาตินิมนต์ ... ... พระราชาทั้งหลายนิมนต์...
... พวกโจรนิมนต์ ...
... พวกนักเลงนิมนต์ภิกษุผู้เข้าจำพรรษาว่า “ท่านจงมาเถิดขอรับ พวกผม
จะถวายเงิน ทอง นา สวน พ่อโค แม่โค ทาส ทาสีแก่ท่าน หรือจะยกลูกสาว
ให้เป็นภรรยาของท่าน หรือจะนำสตรีอื่นมาให้เป็นภรรยาของท่าน” ในเรื่องนั้น
ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จิตกลับกลอกเร็วนัก สักหน่อยจะ
เป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์ของเราก็ได้ พึงหลีกไปเสีย ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

เรื่องพบขุมทรัพย์
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเข้าจำพรรษา พบขุมทรัพย์ไม่มีเจ้าของ
ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จิตกลับกลอกเร็วนัก
อีกหน่อยจะเป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์ของเราก็ได้ พึงหลีกไปเสีย ไม่ต้องอาบัติ
เนื่องจากขาดพรรษา

๑๑๔. สังฆเภทอนาปัตติวัสสเฉทวาร
ว่าด้วยการขาดพรรษาโดยไม่ต้องอาบัติในเมื่อมีผู้พยายามทำลายสงฆ์

เรื่องทำลายสงฆ์ ๘ กรณี
[๒๐๒] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุเข้าจำพรรษา เห็นภิกษุมากรูป
กำลังเพียรพยายามทำลายสงฆ์ ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า “พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนักนัก เมื่อเรายังอยู่พร้อมหน้า สงฆ์อย่าแตก
กันเลย” พึงหลีกไปเสีย ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๔. สังฆเภทอนาปัตติวัสสเฉทวาร
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษาได้ยินข่าวว่า
ภิกษุมากรูปในอาวาสโน้นกำลังเพียรพยายามทำลายสงฆ์ ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิด
อย่างนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนักนัก เมื่อเรายังอยู่
พร้อมหน้า สงฆ์อย่าแตกกันเลย” พึงหลีกไปเสีย ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเข้าจำพรรษาได้ยินข่าวว่า ภิกษุมากรูป
ในอาวาสโน้นกำลังเพียรพยายามทำลายสงฆ์ ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า
“ภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นมิตรของเรา เราจักว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนักนัก พวกท่านอย่าชอบใจ
การทำลายสงฆ์เลย ภิกษุเหล่านั้นจักทำตามคำของเรา จักเชื่อฟัง จักเงี่ยโสต”
พึงหลีกไปเสีย ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเข้าจำพรรษาได้ยินข่าวว่า ภิกษุมากรูป
ในอาวาสโน้นกำลังเพียรพยายามทำลายสงฆ์ ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า
“ภิกษุเหล่านั้นไม่ใช่มิตรของเรา แต่ภิกษุทั้งหลายที่เป็นมิตรกับภิกษุเหล่านั้นเป็น
มิตรของเรา เราจักบอกภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นที่เราบอก ก็จักว่ากล่าวภิกษุ
เหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนักนัก
พวกท่านอย่าชอบใจการทำลายสงฆ์เลย ภิกษุเหล่านั้นจักทำตามคำของภิกษุเหล่านั้น
จักเชื่อฟัง จักเงี่ยโสต” พึงหลีกไปเสีย ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเข้าจำพรรษาได้ยินข่าวว่า ภิกษุมากรูป
ในอาวาสโน้นจะทำลายสงฆ์ ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า “ภิกษุเหล่านั้นล้วน
เป็นมิตรของเรา เราจักว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัส
ว่า การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนักนัก พวกท่านอย่าชอบใจการทำลายสงฆ์เลย
ภิกษุเหล่านั้นจักทำตามคำของเรา จักเชื่อฟัง จักเงี่ยโสต” พึงหลีกไปเสีย ไม่ต้อง
อาบัติเนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเข้าจำพรรษาได้ยินข่าวว่า ภิกษุมากรูป
ในอาวาสโน้นได้ทำลายสงฆ์แล้ว ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า “ภิกษุเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๔ สังฆเภทอนาปัตติวัสสเฉทวา
ไม่ใช่มิตรของเราเลย แต่ภิกษุทั้งหลายที่เป็นมิตรกับภิกษุเหล่านั้นเป็นมิตรของเรา
เราจักบอกภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นที่เราบอก ก็จักว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นว่า
ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนักนัก พวกท่าน
อย่าชอบใจการทำลายสงฆ์เลย ภิกษุเหล่านั้นจักทำตามคำของภิกษุเหล่านั้น
จักเชื่อฟัง จักเงี่ยโสต” พึงหลีกไปเสีย ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเข้าจำพรรษาได้ยินข่าวว่า ภิกษุณีมากรูป
ในอาวาสโน้นกำลังเพียรพยายามทำลายสงฆ์ ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า
“ภิกษุณีเหล่านั้นล้วนเป็นมิตรของเรา เราจักว่ากล่าวภิกษุณีเหล่านั้นว่า น้องหญิง
ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนักนัก พวกน้องหญิง
อย่าชอบใจการทำลายสงฆ์เลย ภิกษุณีเหล่านั้นจักทำตามคำของเรา จักเชื่อฟัง
จักเงี่ยโสต” พึงหลีกไปเสีย ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเข้าจำพรรษาได้ยินข่าวว่า ภิกษุณีมาก
รูปในอาวาสโน้นกำลังเพียรพยายามทำลายสงฆ์ ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า
“ภิกษุณีเหล่านั้นไม่ใช่มิตรของเรา แต่ภิกษุณีทั้งหลายที่เป็นมิตรกับภิกษุณีเหล่านั้น
เป็นมิตรของเรา เราจักบอกภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีเหล่านั้นที่เราบอก ก็จักว่ากล่าว
ภิกษุณีที่เพียรพยายามทำลายสงฆ์เหล่านั้นว่า น้องหญิงทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนักนัก พวกน้องหญิงอย่าชอบใจการทำลายสงฆ์เลย
ภิกษุณีเหล่านั้นจักทำตามคำของภิกษุณีเหล่านั้น จักเชื่อฟัง จักเงี่ยโสต” พึงหลีก
ไปเสีย ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเข้าจำพรรษาได้ยินข่าวว่า ภิกษุณีมากรูป
ในอาวาสโน้นจะทำลายสงฆ์ ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า “ภิกษุณีเหล่านั้น
ล้วนเป็นมิตรของเรา เราจักว่ากล่าวภิกษุณีเหล่านั้นว่า น้องหญิงทั้งหลาย พระผู้มี
พระภาคตรัสว่า การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนักนัก พวกน้องหญิงอย่าชอบใจการทำลาย
สงฆ์เลย ภิกษุณีเหล่านั้นจักทำตามคำของเรา จักเชื่อฟัง จักเงี่ยโสต” พึงหลีกไปเสีย
ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๕. วชาทิวัสสูปคมนะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุเข้าจำพรรษาได้ยินข่าวว่า ภิกษุณี
มากรูป ในอาวาสโน้นได้ทำลายสงฆ์แล้ว ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุคิดอย่างนี้ว่า
“ภิกษุณีเหล่านั้น ไม่ใช่มิตรของเรา แต่ภิกษุณีทั้งหลายที่เป็นมิตรกับภิกษุณีเหล่า
นั้นเป็นมิตรของเรา เราจักบอกภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีเหล่านั้นที่เราบอก ก็จักว่า
กล่าวภิกษุณีที่ทำลายสงฆ์เหล่านั้นว่า น้องหญิงทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนักนัก พวกน้องหญิงอย่าชอบใจการทำลายสงฆ์เลย
ภิกษุณีเหล่านั้น จักทำตามคำของภิกษุณีเหล่านั้น จักเชื่อฟัง จักเงี่ยโสต” พึงหลีก
ไปเสีย ไม่ต้องอาบัติเนื่องจากขาดพรรษา

๑๑๕. วชาทิวัสสูปคมนะ
ว่าด้วยการเข้าจำพรรษาในคอกโคเป็นต้น

เรื่องเข้าจำพรรษาในคอกโค
[๒๐๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งต้องการจะเข้าจำพรรษาในคอกโค๑
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เข้าจำพรรษาใน
คอกโคได้” คอกโคย้ายไป
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เดินทางไปกับคอกโคได้”

เรื่องเข้าจำพรรษาในหมู่เกวียน
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเมื่อใกล้วันเข้าพรรษาต้องการจะไปกับหมู่เกวียน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ คอกโค ในที่นี้หมายถึงสถานที่ซึ่งคนเลี้ยงโคพักอาศัย ในขณะที่ต้อนโคไปเลี้ยง ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง
ไม่ได้หมายถึงคอกโคที่ประจำอยู่ตามหมู่บ้าน (วิ.อ. ๓/๒๐๓/๑๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๖. วัสสานุปคันตัพพัฏฐาน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เข้าจำพรรษาในหมู่
เกวียนได้”

เรื่องเข้าจำพรรษาในเรือ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเมื่อใกล้วันเข้าพรรษาต้องการจะเดินทางไปกับเรือ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เข้าจำพรรษาในเรือได้”

๑๑๖. วัสสานุปคันตัพพัฏฐาน
ว่าด้วยสถานที่ไม่ควรเข้าจำพรรษา

เรื่องเข้าจำพรรษาในโพรงไม้
[๒๐๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษาในโพรงไม้ มนุษย์ทั้งหลายพากัน
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนพวกปีศาจ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเข้าจำพรรษาในโพรงไม้
รูปใดเข้าจำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องเข้าจำพรรษาบนค่าคบไม้
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษาบนค่าคบไม้ มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนพวกพรานเนื้อ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเข้าจำพรรษาบนค่าคบไม้
รูปใดเข้าจำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๖. วัสสานุปคันตัพพัฏฐาน
เรื่องเข้าจำพรรษาในที่แจ้ง
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษาในที่แจ้ง เมื่อฝนตก พากันวิ่งเข้า
โคนไม้บ้าง ชายคาบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเข้าจำพรรษาในที่แจ้ง
รูปใดเข้าจำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องภิกษุไม่มีเสนาสนะจำพรรษา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่มีเสนาสนะเป็นที่เข้าจำพรรษา เดือดร้อนเพราะ
ความหนาวบ้าง ความร้อนบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่มีเสนาสนะ ไม่พึงเข้าจำ
พรรษา รูปใดเข้าจำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องเข้าจำพรรษาในกระท่อมผี
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษาในกระท่อมผี๑ มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนพวกสัปเหร่อ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเข้าจำพรรษาในกระท่อมผี
รูปใดเข้าจำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เชิงอรรถ :
๑ กระท่อมผี หมายถึงกระท่อมที่เขาสร้างไว้ในป่าช้าเป็นที่เก็บศพ (ปาจิตฺยาทิโยชนา ๓๒๑ ม.) หรือเตียง
ตั่งที่เขาตั้งไว้ในป่าช้าและเทวสถาน และเรือนที่สร้างก่อแผ่นศิลา ๔ ด้าน และวางแผ่นศิลาทับไว้ข้างบน
(โกดังเก็บศพ) ทรงห้ามเข้าจำพรรษาในสถานที่ดังกล่าวนี้ แต่จะสร้างกุฎีหรือกระท่อมอื่นในป่าช้าแล้ว
เข้าจำพรรษาได้ ไม่ทรงห้าม (วิ.อ. ๓/๒๐๔/๑๕๑-๑๕๒, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๐๔/๓๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๗. อธัมมิกกติกา
เรื่องเข้าจำพรรษาในร่ม
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษาในร่ม มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “เหมือนพวกคนเลี้ยงโค”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเข้าจำพรรษาในร่ม
รูปใดเข้าจำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องเข้าจำพรรษาในตุ่ม
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษาในตุ่ม มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “เหมือนพวกเดียรถีย์”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเข้าจำพรรษาในตุ่ม
รูปใดเข้าจำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๑๗. อธัมมิกกติกา
ว่าด้วยการตั้งกติกาไม่ชอบธรรม

เรื่องตั้งกติกาไม่ชอบธรรม
[๒๐๕] สมัยนั้น พระสงฆ์ในกรุงสาวัตถีได้ตั้งกติกาเช่นนี้ว่า ในระหว่างพรรษา
ไม่พึงให้บรรพชา
หลานชายของนางวิสาขามิคารมาตาเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วขอบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “คุณ พระสงฆ์ได้ตั้งกติกาเช่นนี้ว่า ในระหว่าง
พรรษา ไม่พึงให้บรรพชา คุณจงรอจนกว่าภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา ออกพรรษา
แล้วจึงบวชได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๘. ปฏิสสวทุกกฏาปัตติ
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาแล้ว ได้กล่าวกับหลานชายของนางวิสาขา
มิคารมาตาดังนี้ว่า “บัดนี้ คุณจงมาบวชเถิด”
หลานชายของนางวิสาขามิคารมาตานั้น กล่าวอย่างนี้ว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย
ถ้ากระผมพึงบรรพชาแล้วไซร้ ก็พึงยินดียิ่ง บัดนี้กระผมจักไม่บรรพชาละ ขอรับ”
นางวิสาขามิคารมาตาจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน พระคุณเจ้า
ทั้งหลายจึงได้ตั้งกติกาเช่นนี้ว่า ในระหว่างพรรษา ไม่พึงให้บรรพชา กาลเช่นไรเล่า
ไม่พึงประพฤติธรรม”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินนางวิสาขามิคารมาตาตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงตั้งกติกาเช่นนี้ว่า ในระหว่าง
พรรษา ไม่พึงให้บรรพชา สงฆ์หมู่ใดตั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๑๘. ปฏิสสวทุกกฏาปัตติ
ว่าด้วยการต้องอาบัติทุกกฏเพราะรับคำ

เรื่องพระอุปนันทะเข้าจำพรรษาในอาวาส ๒ แห่ง
[๒๐๖] สมัยนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้รับคำกับพระเจ้าปเสนทิโกศล
ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้าพรรษาต้น ท่านกำลังไปอาวาสนั้น ระหว่างทางได้เห็น
อาวาส ๒ แห่ง มีจีวรมาก แล้วได้มีความคิดดังนี้ว่า “ถ้ากระไร เราพึงเข้า
จำพรรษาในอาวาส ๒ แห่งนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จีวรเป็นอันมากจักเกิดขึ้นแก่เรา”
จึงเข้าจำพรรษาในอาวาส ๒ แห่งนั้น
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน พระคุณเจ้า
อุปนันทศากยบุตรได้รับคำต่อเราว่าจะเข้าจำพรรษาแล้ว จึงได้ทำให้คลาดจากคำ
พูดเสียเล่า พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิการกล่าวเท็จ ทรงสรรเสริญการงดเว้นจาก
การกล่าวเท็จ โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๘. ปฏิสสวทุกกฏาปัตติ
ภิกษุทั้งหลายได้ยินพระเจ้าปเสนทิโกศลตำหนิ ประณาม โพนทะนาอยู่
บรรดาภิกษุผู้มักน้อยจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน ท่านพระอุปนันท
ศากยบุตรได้รับคำกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่าจะเข้าจำพรรษา แล้วจึงได้ทำให้คลาด
จากคำพูดเสียเล่า พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิการกล่าวเท็จ ทรงสรรเสริญการงดเว้น
จากการกล่าวเท็จ โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
ทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่าเธอได้ถวายปฏิญญา
ต่อพระเจ้าปเสนทิโกศลว่าจะเข้าจำพรรษา แล้วทำให้คลาดจากคำพูดเสีย จริงหรือ”
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอได้ถวายปฏิญญา
ต่อพระเจ้าปเสนทิโกศลว่าจะเข้าจำพรรษา แล้วทำให้คลาดจากคำพูดเสียเล่า
เราตำหนิการกล่าวเท็จ สรรเสริญการงดเว้นจากการกล่าวเท็จ โดยประการต่าง ๆ
มิใช่หรือ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรง
ตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
[๒๐๗] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาต้น ภิกษุนั้นกำลังไปอาวาสนั้น ระหว่างทางได้เห็นอาวาส ๒ แห่ง มีจีวรมาก
แล้วได้มีความคิดดังนี้ว่า “ถ้ากระไร เราพึงเข้าจำพรรษาในอาวาส ๒ แห่งนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้ จีวรเป็นอันมากจักเกิดขึ้นแก่เรา” แล้วเข้าจำพรรษาในอาวาส ๒ แห่ง
ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาต้นของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และเธอต้องอาบัติทุกกฏ
เพราะรับคำ๑
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาต้น ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรมภายนอก ถึงวันแรม ๑ ค่ำ

เชิงอรรถ :
๑ อาบัติทุกกฏที่ต้องเพราะรับคำ เรียกว่า ปฏิสสวทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๘. ปฏิสสวทุกกฏาปัตติ
จึงเข้าวิหาร จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไม่มีกิจจำต้องทำหลีกไป
ในวันนั้นทีเดียว ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาต้นของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และภิกษุนั้น
ต้องอาบัติทุกกฏเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาต้น ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรมภายนอก ถึงวันแรม ๑ ค่ำ
จึงเข้าวิหาร จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ มีกิจจำต้องทำหลีกไปใน
วันนั้นทีเดียว ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาต้นของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และภิกษุนั้น
ต้องอาบัติทุกกฏเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาต้น ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรมภายนอก ถึงวันแรม ๑ ค่ำ
จึงเข้าวิหาร จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ พักอยู่ ๒-๓ วัน ไม่มีกิจจำ
ต้องทำหลีกไป ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาต้นของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และภิกษุนั้น
ต้องอาบัติทุกกฏเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาต้น ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรมภายนอก ถึงวันแรม ๑ ค่ำ
จึงเข้าวิหาร จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ พักอยู่ ๒-๓ วัน มีกิจจำต้อง
ทำหลีกไป ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาต้นของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และภิกษุนั้น
ต้องอาบัติทุกกฏเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาต้น ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรมภายนอก ถึงวันแรม ๑ ค่ำ
จึงเข้าวิหาร จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ พักอยู่ ๒-๓ วัน หลีกไปด้วย
สัตตาหกรณียะ อยู่ภายนอกพ้น ๗ วัน ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาต้นของ
ภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาต้น ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรมภายนอก ถึงวันแรม ๑ ค่ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๘. ปฏิสสวทุกกฏาปัตติ
จึงเข้าวิหาร จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ พักอยู่ ๒-๓ วัน หลีกไปด้วย
สัตตาหกรณียะ กลับมาภายใน ๗ วัน ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาต้นของภิกษุ
นั้นปรากฏและภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาต้น ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรมภายนอก ถึงวันแรม ๑ ค่ำ จึงเข้า
วิหาร จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ อีก ๗ วัน จะถึงวันปวารณา
มีกิจจำต้องทำหลีกไป ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น จะกลับอาวาสนั้น หรือไม่กลับมา
ก็ตาม ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาต้นของภิกษุนั้นปรากฏ และภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติ
เพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาต้น ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรมภายนอก ถึงวันแรม ๑ ค่ำ
จึงเข้าวิหาร จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไม่มีกิจจำต้องทำหลีกไป
ในวันนั้นทีเดียว ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาต้นของภิกษุนั้นไม่ปรากฏและภิกษุ
นั้นต้องอาบัติทุกกฏเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาต้น ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นแล้วทำอุโบสถ ถึงวันแรม ๑ ค่ำจึงเข้าวิหาร
จัดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ มีกิจจำต้องทำหลีกไป ...
... พักอยู่ ๒-๓ วัน ไม่มีกิจจำต้องทำ หลีกไป...
... พักอยู่ ๒-๓ วัน มีกิจจำต้องทำหลีกไป ...
... พักอยู่ ๒-๓ วัน หลีกไปด้วยสัตตาหกรณียะ อยู่ภายนอกพ้น ๗ วัน
ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาต้นของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และภิกษุนั้นต้องอาบัติ
ทุกกฏเพราะรับคำ
... พักอยู่ ๒-๓ วัน หลีกไปด้วยสัตตาหกรณียะ กลับมาใน ๗ วัน
ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาต้นของภิกษุนั้นปรากฏ และภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติ
เพราะรับคำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๘. ปฏิสสวทุกกฏาปัตติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาต้น ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรม ถึงวันแรม ๑ ค่ำ จึงเข้าวิหาร
จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ อีก ๗ วัน จะเป็นวันปวารณา มีกิจจำต้อง
ทำหลีกไป ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นจะกลับมาอาวาสนั้นหรือไม่กลับมาก็ตาม วันเข้า
พรรษาต้นของภิกษุนั้นปรากฏ และภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติเพราะรับคำ

เรื่องรับคำที่จะเข้าจำพรรษาหลัง
[๒๐๘] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาหลัง ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรมภายนอก ถึงวันแรม ๑ ค่ำ
จึงเข้าวิหาร จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไม่มีกิจจำต้องทำหลีกไปในวัน
นั้นทีเดียว ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาหลังของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และภิกษุนั้น
ต้องอาบัติทุกกฏเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาหลัง ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรมภายนอก ถึงวันแรม ๑ ค่ำ จึงเข้า
วิหาร จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ มีกิจจำต้องทำหลีกไปในวันนั้น
ทีเดียว ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาหลังของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และภิกษุนั้นต้อง
อาบัติทุกกฏเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาหลัง ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรมภายนอก ถึงวันแรม ๑ ค่ำ จึง
เข้าวิหาร จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ พักอยู่ ๒-๓ วัน ไม่มีกิจ
จำต้องทำหลีกไป ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาหลังของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และ
ภิกษุนั้นต้องอาบัติเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาหลัง ... พักอยู่ ๒-๓ วัน มีกิจจำต้องทำหลีกไป ... วันเข้าพรรษาหลัง
ของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้าพรรษา
หลัง ... พักอยู่ ๒-๓ วัน หลีกไปด้วยสัตตาหกรณียะ อยู่ภายนอกพ้น ๗ วัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๘. ปฏิสสวทุกกฏาปัตติ
ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาหลังของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และภิกษุนั้นต้องอาบัติ
ทุกกฏเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาหลัง ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรมภายนอก ถึงวันแรม ๑ ค่ำ จึง
เข้าวิหาร จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ พักอยู่ ๒-๓ วัน หลีกไปด้วย
สัตตาหกรณียะ กลับมาภายใน ๗ วัน ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาหลังของ
ภิกษุนั้นปรากฏ และภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้าพรรษา
หลัง ... อีก ๗ วัน จะครบ ๔ เดือน อันเป็นวันที่ดอกโกมุทบานมีกิจจำต้องทำ
หลีกไป ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นจะกลับมาอาวาสนั้นหรือไม่กลับมาก็ตาม ภิกษุ
ทั้งหลาย วันเข้าพรรษาหลังของภิกษุนั้นปรากฏ และภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติเพราะ
รับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาหลัง ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรม ถึงวันแรม ๑ ค่ำ จึงเข้าวิหาร
จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไม่มีกิจจำต้องทำหลีกไปในวันนั้นทีเดียว
ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาหลังของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และภิกษุนั้นต้องอาบัติ
ทุกกฏเพราะรับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้าพรรษา
หลัง ... มีกิจจำต้องทำหลีกไป ...
... พักอยู่ ๒-๓ วัน ไม่มีกิจจำต้องทำหลีกไป ...
... พักอยู่ ๒-๓ วัน มีกิจจำต้องทำหลีกไป ...
... พักอยู่ ๒-๓ วัน หลีกไปด้วยสัตตาหกรณียะ อยู่ภายนอกพ้น ๗ วัน
ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาหลังของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และภิกษุนั้นต้องอาบัติเพราะ
รับคำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๙. รวมเรื่องที่มีในวัสสูปนายิกขันธกะ
... พักอยู่ ๒-๓ วัน หลีกไปด้วยสัตตาหกรณียะ กลับมาภายใน ๗ วัน
ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษาหลังของภิกษุนั้นปรากฏ และภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติเพราะ
รับคำ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุรับคำไว้ว่าจะเข้าจำพรรษาในวันเข้า
พรรษาหลัง ภิกษุนั้นไปอาวาสนั้นทำอุโบสถกรรม ถึงวันแรม ๑ ค่ำ จึงเข้าวิหาร
จัดเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ อีก ๗ วัน จะครบ ๔ เดือน อันเป็นวัน
ที่ดอกโกมุทบาน มีกิจจำต้องทำหลีกไป ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นจะกลับมาอาวาสนั้น
หรือไม่กลับมาก็ตาม วันเข้าพรรษาหลังของภิกษุนั้นปรากฏ และภิกษุนั้นไม่ต้อง
อาบัติเพราะรับคำ
วัสสูปนายิกขันธกะที่ ๓ จบ

๑๑๙. รวมเรื่องที่มีในวัสสูปนายิกขันธกะ
วัสสูปนายิกขันธกะ มี ๕๒ เรื่อง คือ
เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุเข้าจำพรรษา
เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุเข้าพรรษาในฤดูฝน
เรื่องประเภทแห่งวันเข้าพรรษา
เรื่องพระฉัพพัคคีย์เที่ยวจาริกในระหว่างพรรษา
เรื่องปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่เข้าพรรษา
เรื่องจงใจเดินผ่านอาวาส เรื่องการเลื่อนกาลฝน
เรื่องอุบาสกสร้างวิหารเป็นต้นถวาย
เรื่องภิกษุเป็นไข้เป็นต้น เรื่องมารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย
พี่สาวน้องสาว ญาติ และบุรุษผู้อาศัยอยู่กับภิกษุเป็นไข้
เรื่องวิหารทรุดโทรม เรื่องสัตว์ร้ายเบียดเบียน เรื่องงูเบียดเบียน
เรื่องพวกโจรเบียดเบียน เรื่องปีศาจรบกวน
เรื่องหมู่บ้านถูกไฟไหม้ เรื่องเสนาสนะถูกไฟไหม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๓. วัสสูปนายิกขันธกะ] ๑๑๙. รวมเรื่องที่มีในวัสสูปนายิกขันธกะ
เรื่องหมู่บ้านถูกน้ำท่วม เรื่องเสนาสนะถูกน้ำท่วม
เรื่องชาวบ้านพากันอพยพไปเพราะโจรภัย
เรื่องทรงอนุญาตให้ตามทายกมีจำนวนมากกว่า
เรื่องไม่ได้โภชนาหารธรรมดาหรือประณีตเป็นต้น
เรื่องสตรีนิมนต์ เรื่องหญิงแพศยานิมนต์ เรื่องสาวเทื้อนิมนต์
เรื่องบัณเฑาะก์นิมนต์ เรื่องพวกญาตินิมนต์
เรื่องพระราชานิมนต์ เรื่องพวกโจรนิมนต์
เรื่องพวกนักเลงนิมนต์ เรื่องพบขุมทรัพย์
เรื่องทำลายสงฆ์ ๘ วิธี เรื่องเข้าจำพรรษาในคอกโค
เรื่องเข้าจำพรรษาในหมู่เกวียน เรื่องเข้าจำพรรษาในเรือ
เรื่องเข้าจำพรรษาในโพรงไม้ เรื่องเข้าจำพรรษาบนค่าคบไม้
เรื่องเข้าจำพรรษาในที่แจ้ง เรื่องภิกษุไม่มีเสนาสนะจำพรรษา
เรื่องเข้าจำพรรษาในกระท่อมผี เรื่องเข้าจำพรรษาในร่ม
เรื่องเข้าจำพรรษาในตุ่มน้ำ
เรื่องตั้งกติกาไม่เป็นธรรม เรื่องรับคำจะจำพรรษา
เรื่องทำอุโบสถนอกวิหาร เรื่องรับคำที่จะเข้าจำพรรษาต้น
เรื่องรับคำที่จะเข้าจำพรรษาหลัง
เรื่องไม่มีกิจจำต้องทำหลีกไป เรื่องมีกิจจำต้องทำหลีกไป
เรื่องพักอยู่ ๒ - ๓ วันแล้วหลีกไปด้วยสัตตาหะกรณียะ
เรื่องอีก ๗ วันจะครบ ๔ เดือน เรื่องภิกษุกลับมาไม่กลับมา
พึงพิจารณาตามแนวทางตามลำดับหัวข้อเรื่อง
วัสสูปนายิกขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๐. อผาสุวิหาร
๔. ปวารณาขันธกะ

๑๒๐. อผาสุวิหาร
ว่าด้วยการอยู่จำพรรษาไม่ผาสุก

เรื่องภิกษุหลายรูปเข้าจำพรรษาในแคว้นโกศลมาเฝ้าพระศาสดา
[๒๐๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปซึ่งเคยเห็นเคยคบกัน
เข้าจำพรรษาอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ พวกเราจะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียง ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษา
อย่างผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต” แล้วปรึกษากันต่อไปว่า “ถ้าพวกเราจะไม่
ทักทายไม่ปราศรัยกันและกัน รูปใดบิณฑบาตกลับจากหมู่บ้านก่อน รูปนั้นพึง
ปูอาสนะ จัดน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างถาดสำหรับใส่อาหาร
ที่เหลือ๑ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ รูปใดบิณฑบาตกลับจากหมู่บ้านทีหลัง ถ้ามีอาหารที่รูป
ก่อนฉันเหลือ ถ้าต้องการพึงฉัน ถ้าไม่ต้องการ พึงเททิ้งยังที่อันปราศจากของ
เขียวสด หรือเทลงน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ รูปนั้นพึงเก็บอาสนะ น้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างถาดสำหรับใส่อาหารที่เหลือ แล้วเก็บน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดหอฉัน
รูปใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หม้อชำระว่างเปล่า รูปนั้นพึงตักใส่ ถ้าไม่สามารถ
พึงกวักมือเรียกเพื่อนมาช่วยยก ไม่พึงเอ่ยวาจาเพราะเหตุนั้นเลย ด้วยอุบาย
อย่างนี้แล พวกเราจะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษา
เป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นก็ไม่ทักทายไม่ปราศรัยกันและกัน รูปใดบิณฑบาตกลับ
จากหมู่บ้านก่อน รูปนั้นก็ปูอาสนะ จัดน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า

เชิงอรรถ :
๑ ภาชนะสำหรับใส่อาหารส่วนที่เหลือซึ่งนำออกจากบาตร (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๖๖/๔๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๐. อผาสุวิหาร
ล้างถาดสำหรับใส่อาหารที่เหลือ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ รูปใดบิณฑบาตกลับจากหมู่บ้าน
ทีหลัง ถ้ามีอาหารที่รูปก่อนฉันเหลือ ถ้าต้องการก็ฉัน หากไม่ต้องการ ก็เททิ้งยังที่
อันปราศจากของเขียวสด หรือเทลงน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ รูปนั้นก็เก็บอาสนะ น้ำล้างเท้า
ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างถาดสำหรับใส่อาหารที่เหลือ แล้วเก็บน้ำดื่มน้ำใช้
กวาดหอฉัน รูปใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หม้อชำระว่างเปล่า รูปนั้นก็ตักใส่
ถ้าไม่สามารถก็กวักมือเรียกเพื่อนมาช่วยยก ย่อมไม่เอ่ยวาจาเพราะเหตุนั้นเลย

ภิกษุมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
มีประเพณีอยู่ว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้วจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาครบ ๓ เดือน แล้วจึงเก็บเสนาสนะถือบาตรและจีวร
หลีกไปทางกรุงสาวัตถี จาริกไปโดยลำดับ ถึงกรุงสาวัตถี ไปถึงพระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี โดยลำดับแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร

พุทธประเพณี
อันการที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย
นั่นเป็นพุทธประเพณี
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายยังสบายดีอยู่หรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน
ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน
ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”
พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่องตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาล
อันควรตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัสถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัสถามเรื่อง
ที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์
เสียด้วยอริยมรรคแล้ว พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงสอบถามภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๐. อผาสุวิหาร
ทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ จะทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติ
สิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทำ
อย่างไร พวกเธอจึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษา
เป็นผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก”
ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรดา
ที่นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่นี้ เป็นภิกษุที่เคยเห็นเคยคบกันมาจำนวนหลายรูป ได้เข้าจำพรรษา
อยู่ในอาวาสแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ได้ปรึกษากันว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ
พวกเราจะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก
และบิณฑบาตไม่ลำบาก แล้วปรึกษากันต่อไปว่า ถ้าพวกเราจะไม่ทักทายไม่ปราศรัยกัน
และกัน รูปใดบิณฑบาตกลับจากหมู่บ้านก่อน รูปนั้นพึงปูอาสนะ จัดน้ำล้างเท้า
ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างถาดสำหรับใส่อาหารที่เหลือ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ รูปใด
บิณฑบาตกลับจากหมู่บ้านทีหลัง ถ้ามีอาหารที่รูปก่อนฉันเหลือ ถ้าต้องการพึงฉัน
ถ้าไม่ต้องการ พึงเททิ้งยังที่อันปราศจากของเขียวสด หรือเทลงน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์
รูปนั้นพึงเก็บอาสนะ น้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างถาดสำหรับใส่
อาหารที่เหลือ แล้วเก็บน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดหอฉัน รูปใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้
หม้อชำระว่างเปล่า รูปนั้นพึงตักใส่ถ้าไม่สามารถพึงกวักมือเรียกเพื่อนมาช่วยยก
ไม่พึงเอ่ยวาจาเพราะเหตุนั้นเลย ด้วยอุบายอย่างนี้แล พวกเราจะพึงเป็นผู้พร้อม
เพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก
พระองค์ผู้เจริญ ต่อมา ข้าพระองค์ทั้งหลายก็ไม่ทักทายไม่ปราศรัยกันและกัน รูปใด
บิณฑบาตกลับจากหมู่บ้านก่อน รูปนั้นก็ปูอาสนะ จัดน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างถาดสำหรับใส่อาหารที่เหลือ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ รูปใดบิณฑบาต
กลับจากหมู่บ้านทีหลัง ถ้ามีอาหารที่รูปก่อนฉันเหลือ ถ้าต้องการก็ฉัน ถ้าไม่
ต้องการ ก็เททิ้งยังที่อันปราศจากของเขียวสด หรือเทลงน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ รูปนั้นก็
เก็บอาสนะ น้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างถาดสำหรับใส่อาหารที่เหลือ
แล้วเก็บน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดหอฉัน รูปใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หม้อชำระว่างเปล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๐. อผาสุวิหาร
รูปนั้นก็ตักใส่ ถ้าไม่สามารถก็กวักมือเรียกเพื่อนมาช่วยยก ย่อมไม่เอ่ยวาจาเพราะ
เหตุนั้นเลย ด้วยอุบายอย่างนี้แล ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน
ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษา เป็นผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”

เรื่องเข้าจำพรรษาไม่ผาสุกดังปศุสัตว์อยู่ร่วมกัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า
โมฆบุรุษพวกนี้เป็นผู้อยู่ไม่ผาสุกเลย ยังยืนยันว่า อยู่เป็นผาสุก ทราบว่า โมฆบุรุษ
พวกนี้เป็นผู้อยู่ร่วมกันอย่างปศุสัตว์๑ ยังยืนยันว่า อยู่เป็นผาสุก ทราบว่า โมฆบุรุษ
พวกนี้เป็นผู้อยู่ร่วมกันอย่างแพะ ยังยืนยันว่า อยู่เป็นผาสุก ทราบว่า โมฆบุรุษ
พวกนี้เป็นผู้อยู่ร่วมกันอย่างศัตรู ยังยืนยันว่า อยู่เป็นผาสุก”

ทรงห้ามมูควัตรตามแบบอย่างเดียรถีย์
ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษพวกนี้จึงได้สมาทานมูควัตรที่พวกเดียรถีย์ถือ
ปฏิบัติกัน การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ ครั้นทรง
ตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง
สมาทานมูควัตรที่พวกเดียรถีย์ถือปฏิบัติกัน รูปใดสมาทานปฏิบัติ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ”

เรื่องทรงอนุญาตพิธีปวารณาเพื่อว่ากล่าวซึ่งกันและกัน
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณาด้วยเหตุ ๓ สถาน
คือ ด้วยได้เห็น ด้วยได้ยิน ด้วยนึกสงสัย การปวารณานั้น จักเป็นวิธีที่เหมาะสม
เพื่อว่ากล่าวซึ่งกันและกัน เป็นวิธีออกจากอาบัติ เป็นวิธีเคารพพระวินัยของภิกษุ
เหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ อยู่ร่วมกันอย่างปศุสัตว์ หมายถึง อยู่ร่วมกันโดยไม่มีการถามสุขทุกข์ของกันและกัน เพราะปศุสัตว์ทั้งหลาย
ย่อมไม่บอกสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ตนให้ใครทราบ และไม่ทำปฏิสันถารต่อกัน (วิ.อ. ๓/๒๐๙/๑๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๐. อผาสุวิหาร
วิธีปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

สัพพสังคาหิกาญัตติ
[๒๑๐] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วันนี้เป็นวันปวารณา ถ้าสงฆ์พร้อม
กันแล้ว สงฆ์พึงปวารณา
ภิกษุผู้เถระพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวกับ
สงฆ์อย่างนี้ว่า

เตวาจิกาปวารณา
ท่านทั้งหลาย กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี
ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผม เมื่อ
กระผมทราบจักได้แก้ไขต่อไป
ท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
กระผม เมื่อกระผมทราบจักได้แก้ไขต่อไป
ท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
กระผม เมื่อกระผมทราบจักได้แก้ไขต่อไป
ภิกษุผู้นวกะพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวกับ
สงฆ์อย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี
ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผม เมื่อ
กระผมทราบจักได้แก้ไขต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๐. อผาสุวิหาร
ท่านผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๒ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วย
ได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
กระผม เมื่อกระผมทราบจักได้แก้ไขต่อไป
ท่านผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๓ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วย
ได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
กระผม เมื่อกระผมทราบจักได้แก้ไขต่อไป

เรื่องพระฉัพพัคคีย์นั่งราบบนอาสนะปวารณา
ทรงอนุญาตให้นั่งกระโหย่งปวารณา
[๒๑๑] สมัยนั้น เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายนั่งกระโหย่งปวารณา พวกภิกษุ
ฉัพพัคคีย์อยู่บนอาสนะ บรรดาพวกภิกษุผู้มีความมักน้อย ฯลฯ พาตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนเมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายนั่งกระโหย่งปวารณา พวกภิกษุ ฉัพพัคคีย์
จึงอยู่บนอาสนะเล่า” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า เมื่อภิกษุ
ผู้เถระทั้งหลายนั่งกระโหย่งปวารณา ภิกษุฉัพพัคคีย์อยู่บนอาสนะ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนเมื่อภิกษุผู้เถระ
ทั้งหลายนั่งกระโหย่งปวารณา โมฆบุรุษพวกนั้นจึงอยู่บนอาสนะเล่า การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดง
ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบรรดาภิกษุผู้เถระทั้งหลาย
นั่งกระโหย่งปวารณา ไม่พึงอยู่บนอาสนะ รูปใดอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ภิกษุทุกรูปนั่งกระโหย่งปวารณา”
สมัยต่อมา พระเถระรูปหนึ่งชราทุพพลภาพ นั่งกระโหย่งรอจนกว่าภิกษุทุกรูป
จะปวารณาเสร็จ ได้เป็นลมล้มลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งกระโหย่งชั่วเวลา
ปวารณา และอนุญาตให้ภิกษุปวารณาเสร็จแล้วนั่งบนอาสนะ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๑. ปวารณาเภท
๑๒๑. ปวารณาเภท
ว่าด้วยประเภทแห่งวันปวารณา

เรื่องวันปวารณามี ๒ วัน
[๒๑๒] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “วันปวารณามีเท่าไร
หนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย วันปวารณานี้มี ๒ วัน คือ วัน ๑๔
ค่ำ และวัน ๑๕ ค่ำ ภิกษุทั้งหลาย วันปวารณามี ๒ วันเหล่านี้แล”

เรื่องอาการที่ทำปวารณามี ๔ อย่าง
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “การทำปวารณามีเท่าไร
หนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย การทำปวารณามี ๔ อย่างเหล่านี้๑ คือ
๑. การทำปวารณาแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม
๒. การทำปวารณาพร้อมเพรียงโดยไม่ชอบธรรม

เชิงอรรถ :
๑ การทำปวารณาแต่ละอย่างมีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้
๑. ถ้าในวัดหนึ่ง มีภิกษุอยู่ ๕ รูป ภิกษุ ๔ รูปนำปวารณาของรูปหนึ่งมา ตั้งคณญัตติแล้วปวารณา
หรือมีภิกษุอยู่ ๔ รูป ภิกษุ ๓ รูป นำปวารณาของรูปหนึ่งมา ตั้งสังฆญัตติแล้วปวารณา
หรือมีภิกษุ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูป นำปวารณาของรูปหนึ่งมาตั้งสังฆญัตติแล้วปวารณา นี้ชื่อ
ว่าการทำปวารณาแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม
๒. ถ้าภิกษุทั้งหมด ๕ รูป ประชุมร่วมกัน ตั้งคณญัตติแล้วปวารณา ภิกษุ ๔ รูป ๓ รูป หรือ
๒ รูป อยู่ประชุมร่วมกันตั้งสังฆญัตติแล้วปวารณา นี้ชื่อว่าการทำปวารณาพร้อมเพรียงโดยไม่ชอบธรรม
๓. ถ้ามีภิกษุ ๕ รูป ภิกษุ ๔ รูป นำปวารณาของรูปหนึ่งมาตั้งสังฆญัตติแล้วปวารณา
หรือมีภิกษุอยู่ ๔ รูป ภิกษุ ๓ รูป นำปวารณาของรูปหนึ่งมา ตั้งคณบัญญัติแล้วปวารณา
หรือมีภิกษุอยู่ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูป นำปวารณาของรูปหนึ่งมา ตั้งคณบัญญัติแล้วปวารณา
นี้ชื่อว่าการทำปวารณาแบ่งพวกโดยชอบธรรม
๔. ถ้าภิกษุทั้งหมด ๕ รูป ประชุมร่วมกัน ตั้งสังฆญัตติแล้วปวารณา ภิกษุ ๔ รูป หรือ ๓ รูป
ประชุมร่วมกันตั้งคณญัตติแล้วปวารณา หรือภิกษุ ๒ รูป ปวารณาต่อกัน ภิกษุ ๑ รูป ทำอธิษฐาน
ปวารณา นี้ชื่อว่า การทำปวารณาพร้อมเพรียงโดยชอบธรรม (วิ.อ. ๓/๒๑๒/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๒. ปวารณาทานานุชานนา
๓. การทำปวารณาแบ่งพวกโดยชอบธรรม
๔. การทำปวารณาพร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ในการทำปวารณา ๔ อย่างนั้น การทำปวารณาใดแบ่งพวก
โดย ไม่ชอบธรรม การทำปวารณาเช่นนั้น ไม่พึงทำ และเราไม่อนุญาตการทำ
ปวารณาเช่นนั้น
การทำปวารณาใดพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม การทำปวารณาเช่นนั้น
ไม่พึงทำ และเราไม่อนุญาตการทำปวารณาเช่นนั้น
การทำปวารณาใดแบ่งพวกโดยชอบธรรม การทำปวารณาเช่นนั้น ไม่พึงทำ
และเราไม่อนุญาตการทำปวารณาเช่นนั้น
การทำปวารณาใดพร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม การทำปวารณาเช่นนั้น
พึงทำ และเราอนุญาตการทำปวารณาเช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอพึงทำในใจว่า จักทำปวารณาชนิด
ที่พร้อมเพรียงกันโดยชอบธรรม ดังนี้ พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

๑๒๒. ปวารณาทานานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้มอบปวารณา

เรื่องภิกษุเป็นไข้มอบปวารณา
[๒๑๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์จักปวารณา”
เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “มี
ภิกษุเป็นไข้อยู่ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นไข้นั้นมาไม่ได้”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เป็นไข้มอบปวารณา”
ภิกษุทั้งหลาย ก็แล ภิกษุผู้เป็นไข้พึงมอบปวารณาอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๒. ปวารณาทานานุชานนา
ภิกษุผู้เป็นไข้นั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระ
โหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าขอมอบปวารณา ท่านจงนำ
ปวารณาของข้าพเจ้าไป จงบอกปวารณาของข้าพเจ้า จงปวารณาแทนข้าพเจ้า”
ภิกษุผู้มอบปวารณา ให้ภิกษุผู้รับมอบปวารณารู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือ
ให้รู้ด้วยกายและวาจา ปวารณาเป็นอันภิกษุไข้มอบให้แล้ว ภิกษุผู้รับมอบ ไม่ให้
ภิกษุผู้รับมอบปวารณารู้ด้วยกาย หรือไม่ให้รู้ด้วยวาจา ไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา
ปวารณาเป็นอันภิกษุไข้ยังมิได้มอบ ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย
พึงใช้เตียงหรือตั่งหามภิกษุไข้มาในท่ามกลางสงฆ์แล้วปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ได้ปรึกษากันดังนี้ว่า ถ้าพวก
เราจักย้ายภิกษุไข้ อาการไข้จักกำเริบหนักขึ้นหรือภิกษุไข้จักถึงแก่มรณภาพ ไม่พึง
ย้ายภิกษุไข้ สงฆ์พึงไปปวารณาในสำนักภิกษุไข้นั้น แต่สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำ
ปวารณา ถ้าแบ่งพวกปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปวารณาแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปวารณาหลบไป
เสียจากที่นั้น ภิกษุไข้พึงมอบปวารณาแก่ภิกษุรูปอื่น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปวารณาแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปวารณาสึกเสีย
ณ ที่นั้นแหละ ... มรณภาพ ... ปฏิญญาเป็นสามเณร ... ปฏิญญาเป็นผู้บอก
คืนสิกขา ... ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุ ... ปฏิญญาเป็นผู้วิกลจริต ... ปฏิญญา
เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ... ปฏิญญาเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ... ปฏิญญาเป็นผู้
ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่สละทิฏฐิบาป... ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์ ... ปฏิญญาเป็นไถยสังวาส...
ปฏิญญาเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ... ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่า
มารดา ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดา ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ... ปฏิญญาเป็นผู้
ประทุษร้ายภิกษุณี ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์ ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดา
จนห้อพระโลหิต ... ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก ภิกษุไข้พึงมอบปวารณาแก่ภิกษุรูปอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๒. ปวารณาทานานุชานนา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปวารณาแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปวารณาหลบไป
เสียในระหว่างทาง ปวารณาเป็นอันยังมิได้นำมา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปวารณาแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปวารณาสึกเสีย
ในระหว่างทาง ฯลฯ ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก ปวารณาเป็นอันยังมิได้นำมา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปวารณาแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปวารณาเข้าที่
ประชุมสงฆ์แล้วหลบไปเสีย ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปวารณาแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปวารณาเข้าที่
ประชุมสงฆ์แล้วสึกเสีย ฯลฯ ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก ปวารณาเป็นอันนำ
มาแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปวารณาแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปวารณาเข้าที่
ประชุมสงฆ์แล้วหลับเสียมิได้บอก ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปวารณา
ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปวารณาแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปวารณาเข้าที่
ประชุมสงฆ์แล้วเผลอไปไม่ได้บอก ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปวารณา
ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเป็นไข้ได้มอบปวารณาแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปวารณาเข้า
ที่ประชุมสงฆ์แล้วเข้าสมาบัติไม่ได้บอก ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปวารณา
ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปวารณาแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปวารณาเข้าที่
ประชุมสงฆ์แล้วจงใจไม่บอก ปวารณาเป็นอันนำมาแล้ว แต่ภิกษุผู้นำปวารณาต้อง
อาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มอบปวารณามอบ
ฉันทะด้วย เมื่อสงฆ์มีกิจธุระจำเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๓. ญาตกาทิคหณกถา
๑๒๓. ญาตกาทิคหณกถา
ว่าด้วยหมู่ญาติเป็นต้นจับภิกษุ

เรื่องภิกษุถูกพวกญาติเป็นต้นจับไว้
[๒๑๔] สมัยนั้น ในวันปวารณานั้น หมู่ญาติได้จับภิกษุรูปหนึ่งไว้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น
หมู่ญาติจับภิกษุไว้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับหมู่ญาตินั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย
กรุณาปล่อยภิกษุนี้ไว้สักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะมอบปวารณาเสร็จเถิด” ถ้าได้อย่างนั้น นั่น
เป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับญาติเหล่านั้นอย่างนี้ว่า “ท่าน
ทั้งหลายกรุณารอ ณ ที่อันควรสักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะมอบปวารณาเสร็จเถิด”
ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับญาติเหล่านั้น
อย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลายกรุณานำภิกษุนี้ไปไว้นอกสีมาสักครู่จนกว่าสงฆ์จะปวารณา
เสร็จเถิด” ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกปวารณา
ถ้าแบ่งพวกปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น พระราชาทั้งหลายทรงจับ
ภิกษุไว้... พวกโจรจับไว้... พวกนักเลงจับไว้... พวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันจับไว้
ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับพวกภิกษุที่เป็นศัตรกันเหล่านั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย
กรุณาปล่อยภิกษุนี้ไว้สักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะมอบปวารณาเสร็จเถิด” ถ้าได้อย่างนั้น นั่น
เป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย พึงกล่าวกับพวกภิกษุผู้เป็นศัตรูนั้นอย่างนี้ว่า
“ท่านทั้งหลายกรุณารอ ณ ที่สมควรสักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะมอบปวารณาเสร็จเถิด”
ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับพวกภิกษุผู้เป็น
ศัตรูนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย กรุณานำภิกษุนี้ไปไว้นอกสีมาสักครู่จนกว่าสงฆ์
จะปวารณาเสร็จเถิด” ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวก
กันปวารณา ถ้าแบ่งพวกกันปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๔. สังฆปวารณาทิปเภท
๑๒๔. สังฆปวารณาทิปเภท
ว่าด้วยประเภทปวารณามีปวารณาเป็นการสงฆ์เป็นต้น

เรื่องภิกษุ ๕ รูป ปวารณาเป็นการสงฆ์
[๒๑๕] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๕
รูป ภิกษุเหล่านั้นมีการสนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า สงฆ์
พึงปวารณา ก็พวกเรามี ๕ รูป จะพึงปวารณาอย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๕ รูป ปวารณา
เป็นการสงฆ์”

เรื่องภิกษุ ๔ รูปปวารณาเป็นการคณะ
[๒๑๖] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกัน
๔ รูป ภิกษุเหล่านั้นได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ
๕ รูป ปวารณาเป็นการสงฆ์ ก็พวกเรามีเพียง ๔ รูป จะพึงปวารณาอย่างไรหนอ”
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป ปวารณา
ต่อกัน”

วิธีทำปวารณาเป็นการคณะ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุ ๔ รูปนั้นพึงปวารณาอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นทราบว่า
ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า วันนี้เป็นวันปวารณา ถ้าท่านทั้งหลายพร้อม
กันแล้ว เราทั้งหลายพึงปวารณาต่อกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๔. สังฆปวารณาทิปเภท
ภิกษุผู้เถระพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าว
คำปวารณาต่อภิกษุ(ผู้นวกะ)เหล่านั้นอย่างนี้ว่า

คำปวารณาสำหรับภิกษุมีพรรษแก่กว่า
ท่านทั้งหลาย ผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี
ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนผม เมื่อผมทราบ
จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ ผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
ผม เมื่อผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ ผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
ผม เมื่อผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป

คำปวารณาสำหรับภิกษุพรรษาอ่อนกว่า
ภิกษุผู้นวกะพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ
กล่าวคำปวารณาต่อภิกษุ(ผู้เถระ)เหล่านั้นอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กระผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
กระผม เมื่อกระผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ กระผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย
ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์
ว่ากล่าวตักเตือนกระผม เมื่อกระผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ กระผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย
ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์
ว่ากล่าวตักเตือนกระผม เมื่อกระผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๔. สังฆปวารณาทิปเภท
เรื่องภิกษุ ๓ รูป ปวารณาเป็นการคณะ
สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๓ รูป
ภิกษุเหล่านั้นได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๕ รูป
ปวารณาเป็นการสงฆ์ ให้ภิกษุ ๔ รูป ปวารณาต่อกัน ก็พวกเรามีเพียง ๓ รูป
จะพึงปวารณาอย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๓ รูป ปวารณา
ต่อกัน”

วิธีทำปวารณาเป็นการคณะ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุ ๓ รูปนั้นพึงปวารณาอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นทราบว่า
ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า วันนี้เป็นวันปวารณา ถ้าท่านทั้งหลายพร้อม
กันแล้ว เราทั้งหลายพึงปวารณาต่อกัน
ภิกษุผู้เถระพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ
กล่าวคำปวารณาต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า

คำปวารณา
ท่านทั้งหลาย ผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี
ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนผม เมื่อ
ผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ ผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตัก
เตือนผม เมื่อผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ ผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตัก
เตือนผม เมื่อผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๔. สังฆปวารณาทิปเภท
ภิกษุผู้นวกะพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ
กล่าว คำปวารณาต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า

คำปวารณา
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กระผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
กระผม เมื่อกระผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ กระผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย
ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์
ว่ากล่าวตักเตือนกระผม เมื่อกระผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ กระผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย
ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์
ว่ากล่าวตักเตือนกระผม เมื่อกระผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป

เรื่องภิกษุ ๒ รูป ปวารณาต่อกัน
[๒๑๗] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๒
รูป ภิกษุเหล่านั้นได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ
๕ รูป ปวารณาเป็นการสงฆ์ ให้ภิกษุ ๔ รูป ปวารณาต่อกัน ให้ภิกษุ ๓
รูป ปวารณา ต่อกัน ก็พวกเรามีเพียง ๒ รูป จะพึงปวารณาอย่างไรหนอ”
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๒ รูป ปวารณา
ต่อกัน”

วิธีทำปวารณาเป็นการคณะ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุ ๒ รูปนั้นพึงปวารณาอย่างนี้
ภิกษุผู้เถระ พึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ
กล่าวกับภิกษุนวกะอย่างนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๔. สังฆปวารณาทิปเภท
ท่าน ผมขอปวารณาต่อท่าน ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี
ขอท่านได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนผม เมื่อผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป
ท่าน แม้ครั้งที่ ๒ ผมขอปวารณาต่อท่าน ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี
ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนผม เมื่อผมทราบ
จักได้แก้ไขต่อไป
ท่าน แม้ครั้งที่ ๓ ผมขอปวารณาต่อท่าน ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี
ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนผม เมื่อผมทราบ
จักได้แก้ไขต่อไป
ภิกษุผู้นวกะพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าว
กับภิกษุผู้เถระอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อท่าน ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี
ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผม เมื่อกระผมทราบ
จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๒ กระผมขอปวารณาต่อท่าน ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผม
เมื่อกระผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๓ กระผมขอปวารณาต่อท่าน ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผม
เมื่อกระผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป

เรื่องภิกษุรูปเดียวทำอธิษฐานปวารณา
[๒๑๘] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มีภิกษุอยู่รูปเดียว
ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๕ รูป ปวารณา
เป็นการสงฆ์ ให้ภิกษุ ๔ รูป ปวารณาต่อกัน ให้ภิกษุ ๓ รูป ปวารณาต่อกัน ให้ภิกษุ
๒ รูป ปวารณาต่อกัน ก็เราอยู่เพียงรูปเดียว จะพึงปวารณาอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๕. อาปัตติปฏิกัมมวิธิ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุอยู่รูปเดียว ภิกษุนั้นพึงกวาดสถานที่ที่ภิกษุทั้งหลายต้องกลับมา คือโรงฉัน
หรือมณฑป หรือโคนไม้ก็ตาม แล้วตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ปูอาสนะ ตามประทีปแล้วนั่งอยู่
ถ้ามีภิกษุเหล่าอื่นมา พึงปวารณากับภิกษุเหล่านั้น ถ้าไม่มีมา พึงอธิษฐานว่า วันนี้
เป็นวันปวารณาของเรา ถ้าไม่อธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ ๕ รูป ไม่พึงนำปวารณาของภิกษุรูป
หนึ่งมาแล้ว อีก ๔ รูปปวารณาเป็นการสงฆ์ ถ้าปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ ๔ รูป ไม่พึงนำปวารณาของภิกษุรูป
หนึ่งมาแล้ว อีก ๓ รูปปวารณาต่อกัน ถ้าปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ ๓ รูป ไม่พึงนำปวารณาของภิกษุรูป
หนึ่งมาแล้ว อีก ๒ รูปปวารณาต่อกัน ถ้าปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ ๒ รูป ไม่พึงนำปวารณาของภิกษุรูป
หนึ่งมาแล้ว อีกรูปหนึ่งอธิษฐาน ถ้าอธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๒๕. อาปัตติปฏิกัมมวิธิ
ว่าด้วยวิธีแก้ไขอาบัติ

เรื่องภิกษุต้องอาบัติในวันปวารณา
[๒๑๙] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติ ในวันปวารณานั้น ภิกษุนั้นได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่พึงปวารณา
ดังนี้ ก็เราต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น
ภิกษุต้องอาบัติ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่ง ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า ผมต้องอาบัติชื่อนี้ ขอแสดงคืนอาบัตินั้น ขอรับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๖. อาปัตติอาวิกรณวิธิ
ภิกษุผู้รับพึงกล่าวว่า “ท่านเห็นหรือ”
ภิกษุผู้แสดงพึงตอบว่า “ขอรับ ผมเห็น”
ภิกษุผู้รับพึงกล่าวว่า “ท่านพึงสำรวมต่อไป”

เรื่องภิกษุไม่แน่ใจในอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น ภิกษุมีความไม่แน่ใจใน
อาบัติ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่ง ประนม มือกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมมีความไม่แน่ใจในอาบัติชื่อนี้ ขอรับ
เมื่อผมหมดความไม่แน่ใจ จักทำคืนอาบัตินั้น” แล้วปวารณา แต่ต้องไม่ทำ
อันตรายต่อปวารณา เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

๑๒๖. อาปัตติอาวิกรณวิธิ
ว่าด้วยวิธีเปิดเผยอาบัติ

เรื่องภิกษุระลึกอาบัติได้
[๒๒๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งกำลังปวารณา ระลึกอาบัติได้ ภิกษุนั้นได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่พึง
ปวารณา ดังนี้ ก็เราต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ เมื่อภิกษุกำลัง
ปวารณา ระลึกอาบัติได้ ภิกษุนั้นพึงบอกภิกษุใกล้เคียงอย่างนี้ว่า “ผมต้องอาบัติ
ชื่อนี้ ขอรับ ผมลุกจากที่นี่แล้วจักทำคืนอาบัตินั้น” แล้วปวารณา แต่ต้องไม่ทำ
อันตรายต่อปวารณา เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๗. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธิ
กำลังปวารณาไม่แน่ใจในอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ เมื่อภิกษุกำลังปวารณา มีความไม่แน่ใจใน
อาบัติ ภิกษุนั้นพึงบอกภิกษุใกล้เคียงอย่างนี้ว่า “ผมมีความไม่แน่ใจในอาบัติชื่อนี้
ขอรับ ผมเมื่อหมดความไม่แน่ใจจักทำคืนอาบัตินั้น” แล้วปวารณา แต่ต้องไม่ทำ
อันตรายต่อปวารณา เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

๑๒๗. สภาคาปัตติปฏิกัมมวิธิ
ว่าด้วยวิธีแก้ไขสภาคาบัติ

เรื่องสงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ
[๒๒๑] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น สงฆ์ทั้งหมดต้อง
สภาคาบัติ๑ ภิกษุเหล่านั้นได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
ภิกษุไม่พึงแสดงสภาคาบัติ ไม่พึงรับการแสดงสภาคาบัติ ก็สงฆ์ทั้งหมดนี้ต้อง
สภาคาบัติแล้ว พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวัน
ปวารณานั้น สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปยัง
อาวาสใกล้เคียงพอจะกลับมาทันในวันนั้นด้วยสั่งว่า ท่าน ท่านจงไปทำคืนอาบัติ
นั้นมาเถิด พวกเราจักทำคืนอาบัตินั้นในสำนักของท่าน ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็น
การดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรม
วาจาว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๑๖๓ หน้า ๒๕๖ (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๘. อนาปัตติปัณณรสกะ
ญัตติกรรมวาจา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้ต้องสภาคาบัติแล้ว เมื่อพบ
ภิกษุรูปอื่นผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ ก็จักทำคืนอาบัตินั้นในสำนักของภิกษุรูปนั้น ดังนี้
แล้วปวารณา แต่ต้องไม่ทำอันตรายต่อปวารณา เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

สงฆ์ทั้งหมดไม่แน่ใจในสภาคาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น สงฆ์
ทั้งหมดมีความไม่แน่ใจในสภาคาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบ
ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

ญัตติกรรมวาจา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้มีความไม่แน่ใจในสภาคาบัติ
เมื่อหมดความไม่แน่ใจ ก็จักทำคืนอาบัตินั้น ดังนี้ แล้วปวารณา แต่ต้องไม่ทำ
อันตรายต่อปวารณา เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย
ปฐมภาณวารที่ ๑ จบ

๑๒๘. อนาปัตติปัณณรสกะ
ว่าด้วยการปวารณาโดยไม่ต้องอาบัติ ๑๕ กรณี
[๒๒๒] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มีภิกษุที่อยู่ในอาวาส
หลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่
ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ปวารณา เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่
ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๘. อนาปัตติปัณณรสกะ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง
ในวันปวารณานั้น มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง
เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ปวารณา เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่
ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่
พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
ไม่รู้ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ปวารณา เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอัน
ปวารณาดีแล้ว ภิกษุที่เหลือพึงปวารณา พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๒)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
ไม่รู้ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ปวารณา เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอัน
ปวารณาดีแล้ว ภิกษุที่เหลือพึงปวารณา พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๓)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
ไม่รู้ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๘. อนาปัตติปัณณรสกะ
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ปวารณา พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่
ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่ พวก
ภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๔)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ ขณะนั้น ภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอัน
ปวารณาดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวก
ภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๕)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ ขณะนั้น ภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอัน
ปวารณาดีแล้ว พวกภิกษุผู้มาทีหลังพึงปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวก
ภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๖)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
ไม่รู้ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ปวารณา พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทยังไม่ทัน
ลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่าภิกษุเหล่านั้น
พึงปวารณาใหม่ พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๗)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึง
ปวารณา ในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๘)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๘. อนาปัตติปัณณรสกะ
มีจำนวนน้อยกว่า พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึง
ปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๙)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
ไม่รู้ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ปวารณา พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นบางส่วน
ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึง
ปวารณาใหม่ พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๑๐)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึง
ปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๑๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนน้อยกว่า พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึง
ปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๑๒)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
ไม่รู้ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ปวารณา พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด
ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึง
ปวารณาใหม่ พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๑๓)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๙. วัคคาวัคคสัญญิปัณณรสกะ
จำนวนเท่ากัน ภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึง
ปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๑๔)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนน้อยกว่า ภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึง
ปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วไม่ต้องอาบัติ (๑๕)
อนาปัตติปัณณรสกะ จบ

๑๒๙. วัคคาวัคคสัญญิปัณณรสกะ
ว่าด้วยแบ่งพวกกันอยู่สำคัญว่าพร้อมเพรียง ๑๕ กรณี
[๒๒๓] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญ
ว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ปวารณา เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่
ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่
พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนเท่ากัน ภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ภิกษุที่เหลือ
พึงปวารณา พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๒)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ฯลฯ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนน้อยกว่า พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ภิกษุที่เหลือ
พึงปวารณา พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๒๙. วัคคาวัคคสัญญิปัณณรสกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุ
เหล่านั้น รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่
สำคัญว่าเป็นผู้พร้อมเพรียง ปวารณา พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่
พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๔)
... พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว พวกภิกษุผู้
มาทีหลังพึงปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติ
ทุกกฏ (๕)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๖)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่”
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำคัญว่าเป็นธรรม เป็นวินัย ยังแบ่งพวกกันอยู่ แต่สำคัญว่า
เป็นผู้พร้อมเพรียง ปวารณา พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น
ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึง
ปวารณาใหม่ พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๗)
... พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอัน
ปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลัง พึงปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่
ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๘)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๙)
... พอภิกษุเหล่านั้น ปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นบางส่วน ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ... (๑๐)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ... (๑๑)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๐. เวมติกปัณณรสกะ
... พอภิกษุเหล่านั้น ปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่
ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ... (๑๓)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ... (๑๔)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๑๕)
วัคคาวัคคสัญญิปัณณรสกะ จบ

๑๓๐. เวมติกปัณณรสกะ
ว่าด้วยภิกษุไม่แน่ใจปวารณา ๑๕ กรณี
[๒๒๔] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่ไม่แน่ใจว่า “พวกเรา
ควรปวารณาหรือไม่ควร” ปวารณา เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ขณะนั้นภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่
พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอัน
ปวารณาดีแล้ว ภิกษุที่เหลือพึงปวารณา พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติ
ทุกกฏ (๒)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณา
ดีแล้ว ภิกษุที่เหลือพึงปวารณา พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๓)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มี
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่ไม่แน่ใจว่า “พวกเราควร
ปวารณาหรือไม่ควร” ปวารณา พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ ขณะนั้น ภิกษุที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๐. เวมติกปัณณรสกะ
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่ พวก
ภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๔)
... พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึง
ปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๕)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๖)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่ไม่แน่ใจว่า “พวกเราควร
ปวารณาหรือไม่ควร” ปวารณา พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทยังไม่ทัน
ลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้น
พึงปวารณาใหม่ พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๗)
... พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอัน
ปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึงปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่
ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๘)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๙)
... พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นบางส่วน ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ... (๑๐)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ... (๑๑)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๑๒)
... พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ... (๑๓)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ... (๑๔)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๑๕)
เวมติกปัณณรสกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๑. กุกกุจจปกตปัณณรสกะ
๑๓๑. กุกกุจจปกตปัณณรสกะ
ว่าด้วยภิกษุกังวลใจทำปวารณา ๑๕ กรณี
[๒๒๕] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่กังวลใจปวารณาด้วย
คิดว่า “พวกเรา ควรปวารณาแท้ ไม่ใช่ไม่ควร” เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา
ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้น
พึงปวารณาใหม่ พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่
ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอัน
ปวารณาดีแล้ว ภิกษุที่เหลือพึงปวารณา พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติ
ทุกกฏ (๒)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป ... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวน
น้อยกว่า พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ภิกษุที่เหลือพึงปวารณา
พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๓)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มีภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้นรู้อยู่ว่า
“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่กังวลใจปวารณาด้วยคิดว่า
“พวกเราควรปวารณาแท้ ไม่ใช่ไม่ควร” พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ ขณะนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่
พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๑. กุกกุจจปกตปัณณรสกะ
... พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึง
ปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๕)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๖)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่กังวลใจปวารณาด้วย
คิดว่า “พวกเรา ควรปวารณาแท้ ไม่ใช่ไม่ควร” พอภิกษุเหล่านั้น ปวารณาเสร็จ
บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า
ภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่ พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๗)
... พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอัน
ปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึงปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่
ปวารณาแล้วต้องอาบัติทุกกฏ (๘)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๙)
... พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นบางส่วน ขณะนั้น ภิกษุที่
อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ... (๑๐)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ... (๑๑)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๑๒)
... พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ... (๑๓)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน ... (๑๔)
... ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า ... (๑๕)
กุกกุจจปกตปัณณรสกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๒. เภทปุเรกขารปัณณรสกะ
๑๓๒. เภทปุเรกขารปัณณสรกะ
ว่าด้วยมุ่งทำความแตกร้าวทำปวารณา ๑๕ กรณี
[๒๒๖] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่ พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้อง
อาบัติถุลลัจจัย (๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ภิกษุที่เหลือ
พึงปวารณา พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติถุลลัจจัย (๒)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณา ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนน้อยกว่า พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ภิกษุที่เหลือ
พึงปวารณา พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติถุลลัจจัย (๓)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๒. เภทปุเรกขารปัณณรสกะ
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่ พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้อง
อาบัติถุลลัจจัย (๔)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึง
ปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติถุลลัจจัย (๕)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า“ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมาถึง
มีจำนวนน้อยกว่า พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึง
ปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติถุลลัจจัย (๖)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่ พวกภิกษุ
ที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติถุลลัจจัย (๗)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๒. เภทปุเรกขารปัณณรสกะ
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอ
ภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดี
แล้ว ที่มาทีหลังพึงปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้อง
อาบัติถุลลัจจัย (๘)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทยังไม่ทันลุกขึ้น ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอัน
ปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึงปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่
ปวารณาแล้วต้องอาบัติถุลลัจจัย (๙)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นบางส่วน ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาส
พวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่ พวกภิกษุที่ปวารณา
แล้วต้องอาบัติถุลลัจจัย (๑๐)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นบางส่วน ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๒. เภทปุเรกขารปัณณรสกะ
ดีแล้ว ที่มาทีหลังพึงปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว
ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๑๑)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นบางส่วน ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอัน
ปวารณาดีแล้ว ที่มาทีหลังพึงปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่
ปวารณาแล้วต้องอาบัติถุลลัจจัย (๑๒)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนมากกว่า ภิกษุเหล่านั้นพึงปวารณาใหม่ พวกภิกษุ
ที่ปวารณาแล้วต้องอาบัติถุลลัจจัย (๑๓)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสพวกอื่นมาถึง มีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดี
แล้ว ที่มาทีหลังพึงปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว
ต้องอาบัติถุลลัจจัย (๑๔)
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป แต่ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง ภิกษุเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๓. สีโมกกันติกเปยยาล
รู้อยู่ว่า “ยังมีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นที่ไม่ได้มาอยู่” แต่มุ่งความแตกร้าวว่า
“ขอภิกษุเหล่านั้นจงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา
พอภิกษุเหล่านั้นปวารณาเสร็จ บริษัทลุกขึ้นทั้งหมด ขณะนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาส
พวกอื่นมาถึง มีจำนวนน้อยกว่า พวกภิกษุที่ปวารณาแล้ว เป็นอันปวารณาดีแล้ว
ที่มาทีหลังพึงปวารณาในสำนักของภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุที่ปวารณาแล้วต้อง
อาบัติถุลลัจจัย (๑๕)
เภทปุเรกขารปัณณรสกะ จบ
ปัญจวีสติติกะ ๑ จบ

๑๓๓. สีโมกกันติกเปยยาล
ว่าด้วยการละข้อความเกี่ยวกับภิกษุเข้าสู่สีมา

เปยยาลมุข ๗๐๐ ติกะ
[๒๒๗] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น
มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสหลายรูป
๑. ประชุมกัน ๕ รูปบ้าง เกินกว่าบ้าง
๒. ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า “มีภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นกำลังเข้ามาในสีมา...”
๓. ... ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่า “ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นเข้ามาภายในสีมา
แล้ว ...”
๔. ... ภิกษุเหล่านั้นไม่เห็นภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นกำลังเข้ามาภายใน
สีมา ...
๕. ... ภิกษุเหล่านั้นไม่เห็นภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นเข้ามาภายในสีมา
แล้ว ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๔. ทิวสนานัตตะ
๖. ... ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ยินว่า “ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นกำลังเข้ามา
ภายในสีมา ...”
๗. ... ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ยินว่า “ภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นเข้ามาภายใน
สีมาแล้ว ...”
โดยนัย ๑๗๕ ติกะ
๑. ภิกษุที่อยู่ในอาวาสกับภิกษุที่อยู่ในอาวาส
๒. ภิกษุอาคันตุกะกับภิกษุที่อยู่ในอาวาส
๓. ภิกษุที่อยู่ในอาวาสกับภิกษุอาคันตุกะ
๔. ภิกษุอาคันตุกะกับภิกษุอาคันตุกะ
รวมเป็น ๗๐๐ ติกะ โดยเปยยาลมุข๑

๑๓๔. ทิวสนานัตตะ
ว่าด้วยการนับวันปวารณาต่างกัน
[๒๒๘] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ วันปวารณาของภิกษุที่อยู่ในอาวาส เป็นวัน
๑๔ ค่ำ ของภิกษุอาคันตุกะเป็นวัน ๑๕ ค่ำ ถ้าพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสมีจำนวน
มากกว่า พวกภิกษุอาคันตุกะพึงอนุวัตรตามพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส ถ้ามีจำนวน
เท่ากัน พวกภิกษุอาคันตุกะพึงอนุวัตรตามพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส ถ้าพวกภิกษุ
อาคันตุกะมีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสพึงอนุวัตรตามพวกภิกษุอาคันตุกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ วันปวารณาของภิกษุที่อยู่ในอาวาส เป็นวัน
๑๕ ค่ำ ของพวกภิกษุอาคันตุกะเป็นวัน ๑๔ ค่ำ ถ้าพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสมี
จำนวนมากกว่า พวกภิกษุอาคันตุกะ พึงอนุวัตรตามพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
ถ้ามีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุอาคันตุกะ พึงอนุวัตรตามภิกษุที่อยู่ในอาวาส ถ้าพวก

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๑๗๗ หน้า ๒๗๙ (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๕. ลิงคาทิทัสสนะ
ภิกษุอาคันตุกะ มีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส พึงอนุวัตรตามพวกภิกษุ
อาคันตุกะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ วันปวารณาของภิกษุที่อยู่ในอาวาส เป็นวันแรม
๑ ค่ำ ของภิกษุอาคันตุกะเป็นวัน ๑๕ ค่ำ ถ้าพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส มีจำนวน
มากกว่า พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสไม่ปรารถนา ก็ไม่พึงให้ความพร้อมเพรียงแก่
พวกภิกษุอาคันตุกะ พวกภิกษุอาคันตุกะ พึงไปนอกสีมาปวารณาเถิด ถ้ามีจำนวน
เท่ากัน พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสไม่ปรารถนา ก็ไม่พึงให้ความพร้อมเพรียงแก่พวก
ภิกษุอาคันตุกะ พวกภิกษุอาคันตุกะ พึงไปนอกสีมาปวารณาเถิด ถ้าพวกภิกษุ
อาคันตุกะ มีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสพึงให้ความพร้อมเพรียงแก่
พวกภิกษุอาคันตุกะ หรือไปนอกสีมา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ วันปวารณาของพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส เป็นวัน
๑๕ ค่ำ ของพวกภิกษุอาคันตุกะเป็นวันแรม ๑ ค่ำ ถ้าพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส
มีจำนวนมากกว่า พวกภิกษุอาคันตุกะพึงให้ความพร้อมเพรียงแก่พวกภิกษุที่อยู่ใน
อาวาส หรือไปนอกสีมา ถ้ามีจำนวนเท่ากัน พวกภิกษุอาคันตุกะพึงให้ความพร้อมเพรียง
แก่พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส หรือไปนอกสีมา ถ้าพวกภิกษุอาคันตุกะ มีจำนวน
มากกว่า พวกภิกษุอาคันตุกะไม่ปรารถนา ก็ไม่พึงให้ความพร้อมเพรียงแก่พวกภิกษุ
ที่อยู่ในอาวาส พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสพึงไปนอกสีมาปวารณาเถิด

๑๓๕. ลิงคาทิทัสสนะ
ว่าด้วยการเห็นลักษณะเป็นต้น

เรื่องลักษณะของภิกษุที่อยู่ในอาวาส
[๒๒๙] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ พวกภิกษุอาคันตุกะได้เห็นอาการของ
ภิกษุที่อยู่ในอาวาส ลักษณะของภิกษุที่อยู่ในอาวาส เครื่องหมายของภิกษุที่อยู่ใน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๕. ลิงคาทิทัสสนะ
อาวาส สิ่งส่อแสดงภิกษุที่อยู่ในอาวาสของพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส เตียง ตั่ง ฟูก
หมอน น้ำฉัน น้ำใช้ จัดไว้ดี บริเวณกวาดสะอาด ครั้นแล้ว ไม่แน่ใจว่า “มีพวก
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสอยู่หรือไม่มีหนอ”
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจแต่ไม่ค้นหา ปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหา แต่ไม่พบ ปวารณา ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ ปวารณาร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ แยกกันปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุเหล่านั้น
จงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พวกภิกษุอาคันตุกะได้ยินอาการของภิกษุที่
อยู่ในอาวาส ลักษณะของภิกษุที่อยู่ในอาวาส เครื่องหมายของภิกษุที่อยู่ในอาวาส
สิ่งส่อแสดงภิกษุที่อยู่ในอาวาสของพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาส ได้ยินเสียงเท้าของพวก
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสกำลังจงกรม เสียงสาธยาย เสียงไอ เสียงจาม ครั้นแล้ว
ไม่แน่ใจว่า “มีพวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสอยู่หรือไม่มีหนอ”
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจ แต่ไม่ค้นหา ปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหา แต่ไม่พบ ปวารณา ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ ปวารณาร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ แยกกันปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุเหล่านั้น
จงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสได้เห็นอาการของ
พวกภิกษุอาคันตุกะ ลักษณะของพวกภิกษุอาคันตุกะ เครื่องหมายของพวกภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๕. ลิงคาทิทัสสนะ
อาคันตุกะ สิ่งส่อแสดงพวกภิกษุอาคันตุกะของพวกภิกษุอาคันตุกะ ได้เห็นบาตร
จีวร ผ้านิสีทนะ รอยน้ำล้างเท้า อันเป็นของพวกภิกษุพวกอื่น ครั้นแล้ว ไม่แน่ใจว่า
“มีพวกภิกษุอาคันตุกะอยู่หรือไม่มีหนอ”
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจ แต่ไม่ค้นหา ปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหา แต่ไม่พบ ปวารณา ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ ปวารณาร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ แยกกันปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุเหล่านั้น
จงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสได้ยินอาการของ
อาคันตุกะ ลักษณะของพวกภิกษุอาคันตุกะ เครื่องหมายของพวกภิกษุอาคันตุกะ
สิ่งส่อแสดงพวกภิกษุอาคันตุกะของพวกภิกษุอาคันตุกะ ได้ยินเสียงเท้าของพวก
ภิกษุอาคันตุกะกำลังเดินมา เสียงรองเท้ากระทบพื้น เสียงไอ เสียงจาม ครั้นแล้ว
ไม่แน่ใจว่า “มีพวกภิกษุอาคันตุกะอยู่หรือไม่มีหนอ”
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจ แต่ไม่ค้นหา ปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหา แต่ไม่พบ ปวารณา ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ ปวารณาร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ แยกกันปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเหล่านั้นไม่แน่ใจจึงค้นหาจนพบ มุ่งความแตกร้าวว่า “ขอภิกษุเหล่านั้น
จงเสื่อมสูญ จงพินาศ ภิกษุเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร” ปวารณา ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๖. นานาสังวาสกาทิปวารณา
๑๓๖. นานาสังวาสกาทิปวารณา
ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นนานาสังวาสเป็นต้นปวารณา

เรื่องภิกษุ ๒ สังวาสปวารณา
[๒๓๐] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ พวกภิกษุอาคันตุกะเห็นพวกภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสผู้เป็นนานาสังวาส๑เข้าใจว่าเป็นสมานสังวาส ไม่ไต่ถาม ปวารณาร่วมกัน
ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจ ปวารณาร่วมกัน ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจ แยกกันปวารณา ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พวกภิกษุอาคันตุกะเห็นพวกภิกษุที่อยู่ใน
อาวาสผู้เป็นสมานสังวาส เข้าใจว่าเป็นนานาสังวาส ไม่ไต่ถาม ปวารณาร่วมกัน
ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ แยกกันปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ ปวารณาร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสเห็นพวกภิกษุ
อาคันตุกะผู้เป็นนานาสังวาส เข้าใจว่าเป็นสมานสังวาส ไม่ไต่ถาม ปวารณาร่วมกัน
ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจ ปวารณาร่วมกัน ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจ แยกกันปวารณา ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ พวกภิกษุที่อยู่ในอาวาสเห็นพวกภิกษุ
อาคันตุกะผู้เป็นสมานสังวาส เข้าใจว่าเป็นนานาสังวาส ไม่ไต่ถาม ปวารณาร่วมกัน
ต้องอาบัติทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ นานาสังวาส ดูข้อ ๑๘๐ หน้า ๒๘๓ (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๗. นคันตัพพวาร
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสเหล่านั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ แยกกันปวารณา ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสเหล่านั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ ปวารณาร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ

๑๓๗. นคันตัพพวาร
ว่าด้วยไม่ควรไปไหนในวันปวารณา
[๒๓๑] ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ๑ไป
สู่อาวาสที่ไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่สถานที่
มิใช่อาวาสซึ่งไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่อาวาส
หรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ
ไปสู่อาวาสที่ไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ
ไปสู่สถานที่มิใช่อาวาสซึ่งไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ
ไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาส
ซึ่งมีภิกษุไปสู่อาวาสที่ไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่
อาวาสซึ่งมีภิกษุไปสู่สถานที่มิใช่อาวาสซึ่งไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย

เชิงอรรถ :
๑ อาวาสที่มีภิกขุ ดูข้อ ๑๘๑ หน้า ๒๘๔ (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๗. นคันตัพพวาร
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่
อาวาสซึ่งมีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งไม่มีภิกษุ เว้นแต่ไปกับสงฆ์
เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่อาวาสที่มี
ภิกษุแต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่สถานที่
มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุแต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส เว้นแต่ไปกับสงฆ์
เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่อาวาส
หรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุแต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส เว้นแต่ไป
กับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ
ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุแต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส เว้นแต่ไปกับสงฆ์
เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ
ไปสู่สถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุแต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส เว้นแต่ไป
กับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ
ไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุแต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส
เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาส
ซึ่งมีภิกษุไปสู่อาวาสที่มีภิกษุแต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส เว้นแต่ไป
กับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาส
ซึ่งมีภิกษุไปสู่สถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุแต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส
เว้นแต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๘. คันตัพพวาร
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น ไม่พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาส
ซึ่งมีภิกษุไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุแต่เป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็น
นานาสังวาส เว้นไว้แต่ไปกับสงฆ์ เว้นแต่มีอันตราย

๑๓๘. คันตัพพวาร
ว่าด้วยสถานที่ควรไปในวันปวารณา
[๒๓๒] ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่
อาวาสที่มีภิกษุซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็นสมานสังวาส ซึ่งรู้ว่า “เราสามารถไป
ถึงในวันนี้แหละ”
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุไปสู่สถานที่มิใช่
อาวาสซึ่งมีภิกษุ ฯลฯ ไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุซึ่งเป็นที่อยู่ของ
พวกภิกษุผู้เป็นสมานสังวาส ซึ่งรู้ว่า “เราสามารถไปถึงในวันนี้แหละ”
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น พึงออกจากสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุไป
สู่อาวาสที่มีภิกษุ...
... ไปสู่สถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ ...
... ไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็น
สมานสังวาส ซึ่งรู้ว่า “เราสามารถไปถึงในวันนี้แหละ”
ภิกษุทั้งหลาย ในวันปวารณานั้น พึงออกจากอาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาส
ซึ่งมีภิกษุไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ ...
... ไปสู่สถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ ...
... ไปสู่อาวาสหรือสถานที่มิใช่อาวาสซึ่งมีภิกษุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกภิกษุผู้เป็น
สมานสังวาส ซึ่งรู้ว่า “เราสามารถไปถึงในวันนี้แหละ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๓๙. วัชชนียปุคคลสันทัสสนา
๑๓๙. วัชชนียปุคคลสันทัสสนา
ว่าด้วยการแสดงบุคคลควรเว้นในปวารณากรรม
[๒๓๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงปวารณาในบริษัทที่มีภิกษุณีนั่งอยู่ด้วย รูปใด
ปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
... ในบริษัทที่มีสิกขมานานั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีสามเณรนั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีสามเณรีนั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีภิกษุผู้บอกคืนสิกขานั่งอยู่ด้วย ...
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงปวารณาในบริษัทที่มีภิกษุต้องอันติมวัตถุนั่งอยู่ด้วย
รูปใดปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงปวารณาในบริษัทที่มีภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่เห็นอาบัตินั่งอยู่ด้วย รูปใดปวารณา พึงปรับอาบัติตามธรรม
... ในบริษัทที่มีภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัตินั่งอยู่ด้วย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงปวารณาในบริษัทที่มีภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่สละทิฏฐิบาปนั่งอยู่ด้วย รูปใดปวารณา พึงปรับอาบัติตามธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงปวารณาในบริษัทที่มีบัณเฑาะก์นั่งอยู่ด้วย รูปใด
ปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
... ในบริษัทที่มีคนลักเพศนั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีภิกษุเข้ารีตเดียรถีย์นั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีสัตว์ดิรัจฉานอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีคนฆ่ามารดานั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีคนฆ่าบิดานั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีคนฆ่าพระอรหันต์นั่งอยู่ด้วย ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๐. เทฺววาจิกาทิปวารณา
... ในบริษัทที่มีคนประทุษร้ายภิกษุณีนั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั่งอยู่ด้วย ...
... ในบริษัทที่มีคนทำร้ายพระศาสดาจนห้อพระโลหิตนั่งอยู่ด้วย ...
ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงปวารณาในบริษัทที่มีอุภโตพยัญชนกนั่งอยู่ด้วย รูปใด
ปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ

เรื่องห้ามปวารณาในวันมิใช่วันปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงปวารณาด้วยการให้ปาริวาสิกปวารณา๑ เว้นแต่บริษัทยัง
ไม่ลุกขึ้น ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ไม่พึงปวารณาในวันมิใช่วันปวารณา เว้นแต่วันที่
สงฆ์สามัคคี๒
ภาณวารที่ ๒ จบ

๑๔๐. เทฺววาจิกาทิปวารณา
ว่าด้วยสงฆ์ปวารณา ๒ หนเป็นต้น

เรื่องชาวป่า
[๒๓๔] สมัยนั้น ณ อาวาสแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล ในวันปวารณานั้น
มีชาวป่ามาพลุกพล่าน ภิกษุทั้งหลายไม่อาจปวารณา ๓ หน จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปวารณา ๒ หน”
ชาวป่าได้มาพลุกพล่านมากขึ้น ภิกษุทั้งหลายไม่อาจปวารณา ๒ หน
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๑๘๓ หน้า ๒๘๘ (เชิงอรรถ)
๒ ดูนัยใน วิ.ม. ๕/๔๗๕/๒๕๖-๒๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๐. เทฺววาจิกาทิปวารณา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปวารณาหนเดียว”
ชาวป่าได้มาพลุกพล่านมากยิ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายไม่อาจปวารณาหนเดียว
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปวารณามีพรรษา
เท่ากัน”๑

เรื่องปวารณาเมื่อราตรีจวนสว่าง
สมัยนั้น ณ อาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น ชาวบ้านมัวให้ทานจน
ราตรีจวนสว่าง ครั้นแล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ชาวบ้านมัวให้ทาน
จนราตรีจวนสว่าง ถ้าสงฆ์จักปวารณา ๓ หนไซร้ สงฆ์จักปวารณาไม่ทัน เมื่อ
เป็นเช่นนี้ ราตรีก็จักสว่าง พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง
ในวันปวารณานั้น ชาวบ้านให้ทานจนราตรีจวนสว่าง ถ้าภิกษุทั้งหลายในอาวาส
นั้นได้ปรึกษากันดังนี้ว่า ”ชาวบ้านมัวให้ทานจนราตรีจวนสว่าง ถ้าสงฆ์จักปวารณา
๓ หนไซร้ สงฆ์จักปวารณาไม่ทัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ราตรีก็จักสว่าง”
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ชาวบ้านให้ทานอยู่จนราตรีจวนสว่าง
ถ้าสงฆ์จักปวารณา ๓ หนไซร้ สงฆ์จักปวารณาไม่ทัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ราตรีก็จักสว่าง
ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงปวารณา ๒ หน ปวารณาหนเดียว ปวารณามี
พรรษาเท่ากัน
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น ภิกษุ
ทั้งหลายกล่าวธรรมกัน ฯลฯ
... ภิกษุผู้ชำนาญพระสูตรก็สาธยายพระสูตรกัน...
... พระวินัยธรก็วินิจฉัยพระวินัยกัน...

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึง ให้ภิกษุที่มีพรรษาเท่ากัน ปวารณาพร้อมกัน (วิ.อ. ๓/๒๓๔/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๐. เทฺววาจิกาทิปวารณา
... พระธรรมกถึกก็สนทนาธรรมกัน...
... ภิกษุทั้งหลายทะเลาะกันจนราตรีจวนสว่าง ถ้าภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากัน
ดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายทะเลาะกันจนราตรีจวนสว่าง ถ้าสงฆ์จักปวารณา ๓ หนไซร้
สงฆ์จักปวารณาไม่ทัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ราตรีก็จักสว่าง
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุทั้งหลายทะเลาะกันจนราตรีจวนสว่าง
ถ้าสงฆ์จักปวารณา ๓ หนไซร้ สงฆ์จักปวารณาไม่ทัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ราตรีก็จักสว่าง
ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงปวารณา ๒ หน ปวารณาหนเดียว ปวารณามี
พรรษาเท่ากัน”

เรื่องปวารณาขณะที่ฝนตั้งเค้า
สมัยนั้น ณ อาวาสแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ในวันปวารณานั้น ภิกษุสงฆ์มา
ประชุมกันมาก ที่ประชุมจึงคับแคบ คุ้มฝนไม่ได้ และฝนก็ตั้งเค้าใหญ่ ภิกษุเหล่านั้น
ได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ภิกษุสงฆ์มาประชุมกันมาก ที่ประชุมจึงคับแคบ คุ้มฝนไม่ได้
และฝนก็ตั้งเค้าใหญ่ ถ้าสงฆ์จักปวารณา ๓ หนไซร้ สงฆ์จักปวารณาไม่ทัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝนก็จักตกเสียก่อน พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ” จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง
ในวันปวารณานั้น ภิกษุสงฆ์มาประชุมกันมาก ที่ประชุมจึงคับแคบ คุ้มฝนไม่ได้ และ
ฝนก็ตั้งเค้าใหญ่ ถ้าภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า ภิกษุสงฆ์มาประชุมกันมาก
ที่ประชุมจึงคับแคบ คุ้มฝนไม่ได้ และฝนก็ตั้งเค้าใหญ่ ถ้าสงฆ์จักปวารณา ๓ หนไซร้
สงฆ์จักปวารณาไม่ทัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝนก็จักตกเสียก่อน
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุสงฆ์มาประชุมกันมาก ที่ประชุม
ก็คับแคบ คุ้มฝนไม่ได้ ทั้งฝนก็ตั้งเค้าใหญ่ ถ้าสงฆ์จักปวารณา ๓ หนไซร้
สงฆ์จักปวารณาไม่ทัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝนก็จักตกเสียก่อน ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว
สงฆ์พึงปวารณา ๒ หน ปวารณาหนเดียว ปวารณามีพรรษาเท่ากัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๑. ปวารณาฐปนะ
เรื่องปวารณาเมื่อมีอันตราย ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น

๑. พระราชาเสด็จมา ๒. โจรมาปล้น
๓. ไฟไหม้ ๔. น้ำหลากมา
๕. คนมามาก ๖. ผีเข้าสิงภิกษุ
๗. สัตว์ร้ายเข้ามา ๘. งูร้ายเลื้อยเข้ามา
๙. ภิกษุจะถึงแก่ชีวิต ๑๐. มีอันตรายต่อพรหมจรรย์

ในอันตรายนั้น ถ้าภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า เหตุนี้แหละ คืออันตราย
ต่อพรหมจรรย์ ถ้าสงฆ์จักปวารณา ๓ หนไซร้ สงฆ์จักปวารณาไม่ทัน เมื่อ
เป็นเช่นนี้ อันตรายต่อพรหมจรรย์ก็จักเกิดเสียก่อน
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เหตุนี้แหละ คืออันตรายต่อพรหมจรรย์
ถ้าสงฆ์จักปวารณา ๓ หนไซร้สงฆ์จักปวารณาไม่ทัน เมื่อเป็นเช่นนี้ อันตราย
ต่อพรหมจรรย์ก็จักเกิดเสียก่อน ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงปวารณา ๒ หน
ปวารณาหนเดียว ปวารณามีพรรษาเท่ากัน

๑๔๑. ปวารณาฐปนะ
ว่าด้วยการงดปวารณา

เรื่องพระฉัพพัคคีย์มีอาบัติติดตัวปวารณา
[๒๓๕] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์มีอาบัติติดตัวปวารณา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีอาบัติติดตัว ไม่พึงปวารณา
รูปใดปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดมีอาบัติติดตัวปวารณา
เราอนุญาตให้ขอโอกาสแล้วโจทภิกษุนั้นด้วยอาบัติ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๑. ปวารณาฐปนะ
เรื่องไม่ยอมให้โอกาส
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ถูกสงฆ์ขอโอกาสก็ไม่ปรารถนาจะให้โอกาส
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้งดปวารณาแก่ภิกษุ
ผู้ไม่ยอมให้โอกาส”

วิธีงดปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงงดปวารณาอย่างนี้
ในวันปวารณา ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำนั้น เมื่อภิกษุนั้นอยู่พร้อมหน้า
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศในท่ามกลางสงฆ์ว่า
ท่านผู้เจริญ ภิกษุชื่อนี้มีอาบัติติดตัว ข้าพเจ้าของดปวารณาของภิกษุนั้นเสีย
เมื่อภิกษุนั้นยังอยู่พร้อมหน้า สงฆ์ไม่พึงปวารณา เท่านี้ เป็นอันได้งดปวารณาแล้ว

เรื่องพระฉัพพัคคีย์งดปวารณาของภิกษุบริสุทธิ์
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ปรึกษากันว่า “ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลดีงามจะงด
ปวารณาแก่พวกเราก่อน” จึงชิงงดปวารณาแก่ภิกษุทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติเพราะ
เรื่องอันไม่ควร เพราะเหตุอันไม่ควรเสียก่อน ทั้งงดปวารณาแก่ภิกษุทั้งหลายที่
ปวารณาเสร็จแล้วด้วย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงงดปวารณาแก่ภิกษุทั้งหลาย
ผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติเพราะเรื่องอันไม่ควร เพราะเหตุอันไม่ควร รูปใดงด ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงงดปวารณาแก่ภิกษุทั้งหลายที่ปวารณาเสร็จแล้ว
รูปใดงด ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องลักษณะปวารณาที่ไม่เป็นอันงด
[๒๓๖] ภิกษุทั้งหลาย ปวารณาเป็นอันงดอย่างนี้ ไม่เป็นอันงดอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ปวารณาไม่เป็นอันงดอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๑. ปวารณาฐปนะ
ภิกษุทั้งหลาย ในการปวารณา ๓ หน ถ้าภิกษุกล่าวเปล่งคำปวารณาออกมา
จนจบเสร็จสิ้นแล้ว จึงงดปวารณา ปวารณาไม่เป็นอันงด
ภิกษุทั้งหลาย ในการปวารณา ๒ หน ถ้าภิกษุกล่าวเปล่งคำปวารณาออกมา
จนจบเสร็จสิ้นแล้ว จึงงดปวารณา ปวารณาไม่เป็นอันงด
ภิกษุทั้งหลาย ในการปวารณาหนเดียว ถ้าภิกษุกล่าวเปล่งคำปวารณาออกมา
แต่ยังไม่จบเสร็จสิ้นแล้ว จึงงดปวารณา ปวารณาไม่เป็นอันงด
ภิกษุทั้งหลาย ในการปวารณามีพรรษาเท่ากัน ถ้าภิกษุกล่าวเปล่งคำปวารณา
ออกมา จนจบเสร็จสิ้นแล้ว จึงงดปวารณา ปวารณาไม่เป็นอันงด
ภิกษุทั้งหลาย ปวารณาไม่เป็นอันงดอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ปวารณาเป็นอันงดอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ในการปวารณา ๓ หน ถ้าภิกษุกล่าวเปล่งคำปวารณาออกมา
แต่ยังไม่จบเสร็จสิ้น งดปวารณา ปวารณาเป็นอันงด
ภิกษุทั้งหลาย ในการปวารณา ๒ หน ถ้าภิกษุกล่าวเปล่งคำปวารณาออกมา
แต่ยังไม่จบเสร็จสิ้น งดปวารณา ปวารณาเป็นอันงด
ภิกษุทั้งหลาย ในการปวารณาหนเดียว ถ้าภิกษุกล่าวเปล่งคำปวารณาออกมา
แต่ยังไม่จบเสร็จสิ้น งดปวารณา ปวารณาเป็นอันงด
ภิกษุทั้งหลาย ในการปวารณามีพรรษาเท่ากัน ถ้าภิกษุกล่าวเปล่งคำปวารณา
ออกมา แต่ยังไม่จบเสร็จสิ้น งดปวารณา ปวารณาเป็นอันงด
ภิกษุทั้งหลาย ปวารณาเป็นอันงดอย่างนี้แล

เรื่องงดปวารณาของภิกษุ
[๒๓๗] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น ภิกษุงดปวารณาของ
ภิกษุเสีย ถ้าภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุนั้นว่า “ท่านรูปนี้มีความประพฤติทางกาย
ไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้เขลา
ไม่ฉลาด เมื่อถูกซักถาม ไม่อาจตอบข้อซักถาม” สงฆ์พึงกล่าวห้ามว่า “พอทีภิกษุ
อย่าทุ่มเถียงกัน อย่าทะเลาะกัน อย่าแก่งแย่งกัน อย่าวิวาทกันเลย” แล้วจึงปวารณา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๑. ปวารณาฐปนะ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น ภิกษุงดปวารณาของภิกษุเสีย
ถ้าภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุนั้นว่า “ท่านรูปนี้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มี
ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด เมื่อถูก
ซักถาม ไม่อาจตอบข้อซักถาม” สงฆ์พึงกล่าวห้ามว่า “พอทีภิกษุ อย่าทุ่มเถียงกัน
อย่าทะเลาะกัน อย่าแก่งแย่งกัน อย่าวิวาทกันเลย” แล้วจึงปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น ภิกษุงดปวารณาของภิกษุเสีย
ถ้าภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุนั้นว่า “ท่านรูปนี้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มี
ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ แต่มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด เมื่อถูก
ซักถาม ไม่อาจตอบข้อซักถาม” สงฆ์พึงกล่าวห้ามว่า “พอทีภิกษุ อย่าทุ่มเถียงกัน
อย่าทะเลาะกัน อย่าแก่งแย่งกัน อย่าวิวาทกันเลย” แล้วจึงปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น ภิกษุงดปวารณาของภิกษุเสีย
ถ้าภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุนั้นว่า “ท่านรูปนี้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มี
ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ มีอาชีวะบริสุทธิ์ แต่เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด เมื่อถูก
ซักถาม ไม่อาจตอบข้อซักถาม” สงฆ์พึงกล่าวห้ามว่า “พอทีภิกษุ อย่าทุ่มเถียงกัน
อย่าทะเลาะกัน อย่าแก่งแย่งกัน อย่าวิวาทกันเลย” แล้วจึงปวารณา

เรื่องเหตุผลในการงดปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น ภิกษุงดปวารณาของภิกษุเสีย
ถ้าภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุนั้นว่า “ท่านรูปนี้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มี
ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ มีอาชีวะบริสุทธิ์ เป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด เมื่อถูก
ซักถาม สามารถตอบข้อซักถามได้” สงฆ์พึงถามภิกษุนั้นว่า “ท่าน ท่านงดปวารณา
ของภิกษุนี้ทำไม งดเพราะเรื่องอะไร งดเพราะสีลวิบัติ หรืองดเพราะอาจารวิบัติ หรือ
งดเพราะทิฏฐิวิบัติ”
ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมงดเพราะสีลวิบัติบ้าง งดเพราะอาจารวิบัติบ้าง
งดเพราะทิฏฐิวิบัติบ้าง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๑. ปวารณาฐปนะ
สงฆ์พึงถามภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “คุณรู้สีลวิบัติหรือ รู้อาจารวิบัติหรือ รู้ทิฏฐิ
วิบัติหรือ”
ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ผมรู้สีลวิบัติ รู้อาจารวิบัติ รู้ทิฏฐิ
วิบัติ”
สงฆ์พึงถามภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่าน ก็สีลวิบัติเป็นอย่างไร อาจารวิบัติเป็น
อย่างไร ทิฏฐิวิบัติเป็นอย่างไร”
ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ นี้ชื่อว่าสีลวิบัติ
ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต นี้ชื่อว่าอาจารวิบัติ มิจฉาทิฏฐิ
อันตคาหิกทิฏฐิ นี้ชื่อว่าทิฏฐิวิบัติ” สงฆ์พึงถามภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่าน ท่านงด
ปวารณาของภิกษุนี้ทำไม งดด้วยได้เห็นหรือ งดด้วยได้ยินหรือ งดด้วยนึกสงสัยหรือ”
ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “งดด้วยได้เห็นบ้าง งดด้วยได้ยินบ้าง งดด้วยนึก
สงสัยบ้าง”
สงฆ์พึงถามภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่าน ท่านงดปวารณาของภิกษุนี้ด้วยได้เห็น
อย่างใด ท่านเห็นอะไร ท่านเห็นว่าอย่างไร ท่านเห็นเมื่อไร ท่านเห็นที่ไหน
ภิกษุนี้ต้องอาบัติปาราชิก ท่านเห็นหรือ ภิกษุนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ท่านเห็นหรือ
ภิกษุนี้ ต้องอาบัติถุลลัจจัย... อาบัติปาจิตตีย์... อาบัติปาฏิเทสนียะ... อาบัติทุกกฏ...
อาบัติทุพภาสิต ท่านเห็นหรือ ท่านอยู่ที่ไหน ภิกษุนี้อยู่ที่ไหน ท่านทำอะไร
ภิกษุนี้ทำอะไร”
ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ผมมิได้งดปวารณาของภิกษุนี้
ด้วยได้เห็นดอก แต่ผมงดปวารณาด้วยได้ยินต่างหาก”
สงฆ์พึงถามภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่าน ท่านงดปวารณาของภิกษุนี้ด้วยได้ยิน
อย่างใด ท่านได้ยินอะไร ท่านได้ยินว่าอย่างไร ท่านได้ยินเมื่อไร ท่านได้ยินที่ไหน
ท่านได้ยินว่า ภิกษุนี้ต้องอาบัติปาราชิกหรือ ได้ยินว่า ภิกษุนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสหรือ
ได้ยินว่า ภิกษุนี้ต้องอาบัติถุลลัจจัย... อาบัติปาจิตตีย์... อาบัติปาฏิเทสนียะ...
อาบัติทุกกฏ... อาบัติทุพภาสิตหรือ ได้ยินจากภิกษุหรือ ได้ยินจากภิกษุณีหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๑. ปวารณาฐปนะ
ได้ยินจากสิกขมานาหรือ ได้ยินจากสามเเณรหรือ ได้ยินจากสามเณรีหรือ ได้ยิน
จากอุบาสกหรือ ได้ยินจากอุบาสิกาหรือ ได้ยินจากพระราชาทั้งหลายหรือ ได้ยิน
จากราชมหาอมาตย์ทั้งหลายหรือ ได้ยินจากพวกเดียรถีย์หรือ ได้ยินจากพวกสาวก
เดียรถีย์หรือ”
ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ผมมิได้งดปวารณาของภิกษุนี้
ด้วยได้ยินดอก แต่ผมงดปวารณาด้วยนึกสงสัยต่างหาก”
สงฆ์พึงถามภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่าน ท่านงดปวารณาของภิกษุนี้ด้วยนึก
สงสัยอย่างใด ท่านนึกสงสัยอะไร ท่านนึกสงสัยว่าอย่างไร ท่านนึกสงสัยเมื่อไร
ท่านนึกสงสัยที่ไหน ท่านนึกสงสัยว่า ภิกษุนี้ต้องอาบัติปาราชิกหรือ นึกสงสัยว่า
ภิกษุนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสหรือ นึกสงสัยว่า ภิกษุนี้ต้องอาบัติถุลลัจจัย... อาบัติ
ปาจิตตีย์... อาบัติปาฏิเทสนียะ... อาบัติทุกกฏ... อาบัติทุพภาสิตหรือ ท่านได้
ยินจากภิกษุแล้วนึกสงสัยหรือ ได้ยินจากภิกษุณีแล้วนึกสงสัยหรือ ได้ยินจากสิก
ขมานาแล้วนึกสงสัยหรือ ได้ยินจากสามเณรแล้วนึกสงสัยหรือ ได้ยินจากสาม
เณรีแล้วนึกสงสัยหรือ ได้ยินจากอุบาสกแล้วนึกสงสัยหรือ ได้ยินจากอุบาสิกาแล้ว
นึกสงสัยหรือ ได้ยินจากพระราชาทั้งหลายแล้วนึกสงสัยหรือ ได้ยินจากราชมหา
อำมาตย์ทั้งหลายแล้วนึกสงสัยหรือ ได้ยินจากพวกเดียรถีย์แล้วนึกสงสัยหรือ ได้ยิน
จากพวกสาวกเดียรถีย์แล้วนึกสงสัยหรือ”
ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ผมมิได้งดปวารณาของภิกษุนี้
ด้วยนึกสงสัย อีกทั้งผมก็ไม่ทราบว่า ผมงดปวารณาของภิกษุนี้ด้วยเหตุอะไร”

ฟังคำปฏิญญาของโจทก์และจำเลย
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้เป็นโจทก์นั้นตอบข้อซักถามไม่เป็นที่พอใจของเพื่อน
พรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย สงฆ์พึงบอกว่า ท่านไม่ควรฟ้องภิกษุจำเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๑. ปวารณาฐปนะ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้เป็นโจทก์นั้นตอบข้อซักถามเป็นที่พอใจของเพื่อน
พรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย สงฆ์พึงบอกว่า ท่านควรฟ้องภิกษุจำเลย
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้เป็นโจทก์นั้นปฏิญญาว่า ภิกษุนั้นถูกตนใส่ความ
ด้วยอาบัติปาราชิกอันไม่มีมูล สงฆ์พึงปรับอาบัติสังฆาทิเสสแล้วจึงปวารณา๑
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้เป็นโจทก์นั้นปฏิญญาว่า ภิกษุนั้นถูกตนใส่ความ
ด้วยอาบัติสังฆาทิเสสอันไม่มีมูล สงฆ์พึงปรับอาบัติตามธรรมแล้วจึงปวารณา๒
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้เป็นโจทก์นั้นปฏิญญาว่า ภิกษุนั้นถูกตนใส่ความ
ด้วยอาบัติถุลลัจจัยอันไม่มีมูล... ด้วยอาบัติปาจิตตีย์... ด้วยอาบัติปาฏิเทสนียะ...
ด้วยอาบัติทุกกฏ... ด้วยอาบัติทุพภาสิตอันไม่มีมูล สงฆ์พึงปรับอาบัติตามธรรม
แล้วจึงปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจำเลยนั้นปฏิญญาว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติปาราชิก
สงฆ์พึงนาสนะเสีย๓ แล้วจึงปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจำเลยนั้นปฏิญญาว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติสังฆาทิเสส
สงฆ์พึงปรับอาบัติสังฆาทิเสส แล้วจึงปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจำเลยนั้นปฏิญญาว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติถุลลัจจัย...
อาบัติปาจิตตีย์... อาบัติปาฏิเทสนียะ... อาบัติทุกกฏ... อาบัติทุพภาสิต สงฆ์พึงปรับ
อาบัติตามธรรม แล้วจึงปวารณา

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึง ภิกษุผู้เป็นโจทก์นั้นยอมรับว่า ตนใส่ความภิกษุอื่นด้วยอาบัตปาราชิกไม่มีมูล ในกรณีเช่นนี้สงฆ์
ปรับภิกษุผู้เป็นโจทก์ด้วยสังฆาทิเสส (วิ.อ. ๓/๒๓๗/๑๕๙)
๒ หมายถึง พึงปรับอาบัติปาจิตตีย์ เพราะใส่ความ (โจท) ภิกษุอื่นด้วยอาบัติสังฆาทิเสสที่ไม่มีมูล พึงปรับอาบัติ
ทุกกฏ เพราะใส่ความภิกษุอื่นด้วยอาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ หรือทุพภาสิต
ที่ไม่มีมูล (วิ.อ. ๓/๒๓๗/๑๕๙)
๓ นาสนะ ในที่นี้หมายถึง ให้สึกจากความเป็นภิกษุ (วิ.อ. ๓/๒๓๗/๑๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๒. ถุลลัจจยวัตถุกาทิ
๑๔๒. ถุลลัจจยวัตถุกาทิ
ว่าด้วยการต้องอาบัติถุลลัจจัยเป็นต้น

เรื่องต้องอาบัติถุลลัจจัยเป็นต้น
[๒๓๘] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น ภิกษุต้องอาบัติถุลลัจจัย
ภิกษุบางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติถุลลัจจัย บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติ
สังฆาทิเสส
ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่มีความเห็นว่าต้องอาบัติถุลลัจจัย พึงนำภิกษุนั้นไป
ณ ที่อันควร ปรับอาบัติตามธรรม แล้วเข้าไปหาสงฆ์กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย
อาบัติที่ภิกษุนั้นต้อง ภิกษุนั้นได้ทำคืนตามธรรมแล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึง
ปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น ภิกษุต้องอาบัติถุลลัจจัย
ภิกษุบางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติถุลลัจจัย บางพวกมีความเห็นว่า ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์...
บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติถุลลัจจัย บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติ
ปาฏิเทสนียะ... บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติถุลลัจจัย บางพวกมีความเห็นว่า
ต้องอาบัติทุกกฏ...
บางพวกมีความเห็นว่า ต้องอาบัติถุลลัจจัย บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติ
ทุพภาสิต
ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่มีความเห็นว่า ต้องอาบัติถุลลัจจัย พึงนำภิกษุนั้นไป
ณ ที่อันควร ปรับอาบัติตามธรรม แล้วเข้าไปหาสงฆ์กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย
อาบัติที่ภิกษุนั้นต้อง ภิกษุนั้นได้ทำคืนตามธรรมแล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึง
ปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในปวารณานั้น ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์...
ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ... ต้องอาบัติทุกกฏ... ต้องอาบัติทุพภาสิต ภิกษุบางพวก
มีความเห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๓. วัตถุฐปนาทิ
ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่มีความเห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต พึงนำภิกษุนั้นไป
ณ ที่อันควร ปรับอาบัติตามธรรม แล้วเข้าไปหาสงฆ์กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย
อาบัติที่ภิกษุนั้นต้อง ภิกษุนั้นได้ทำคืนตามธรรมแล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์
พึงปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น ภิกษุต้องอาบัติทุพภาสิต
ภิกษุบางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย...
บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์...
บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติ
ปาฏิเทสนียะ...
บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต บางพวกมีความเห็นว่าต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่มีความเห็นว่าต้องอาบัติทุพภาสิต พึงนำภิกษุนั้นไป
ณ ที่อันควร ปรับอาบัติตามธรรม แล้วเข้าไปหาสงฆ์กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย
อาบัติที่ภิกษุนั้นต้อง ภิกษุนั้นได้ทำคืนตามธรรมแล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์
พึงปวารณา

๑๔๓. วัตถุฐปนาทิ
ว่าด้วยการงดวัตถุเป็นต้น

เรื่องวัตถุและบุคคลปรากฏ
[๒๓๙] ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น ภิกษุจะพึงประกาศ ณ
ท่ามกลางสงฆ์ว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุนี้ปรากฏ บุคคลไม่ปรากฏ ถ้าสงฆ์
พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงงดวัตถุ แล้วปวารณาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๔. ภัณฑนการกวัตถุ
สงฆ์พึงกล่าวกับภิกษุนั้นว่า ท่าน พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติปวารณาไว้
สำหรับภิกษุทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ ถ้าวัตถุปรากฏ บุคคลไม่ปรากฏ ท่าน จงระบุ
บุคคลนั้นเดี๋ยวนี้เถิด
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ในวันปวารณานั้น ภิกษุจะพึงประกาศ ณ ท่าม
กลางสงฆ์ว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า บุคคลนี้ปรากฏ วัตถุไม่ปรากฏ ถ้าสงฆ์
พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงงดบุคคล แล้วปวารณาเถิด
สงฆ์พึงกล่าวกับภิกษุนั้นว่า ท่าน พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติปวารณาไว้
สำหรับภิกษุทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน ถ้าบุคคลปรากฏ วัตถุไม่ปรากฏ ท่านจงระบุ
วัตถุนั้นเดี๋ยวนี้เถิด
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันปวารณานั้น ภิกษุจะพึงประกาศ ณ ท่าม
กลางสงฆ์ว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ทั้งวัตถุและบุคคลนี้ปรากฏ ถ้าสงฆ์พร้อม
กันแล้ว สงฆ์พึงงดทั้งวัตถุและบุคคล แล้วปวารณาเถิด
สงฆ์พึงกล่าวกับภิกษุนั้นว่า ท่าน พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติปวารณาไว้
สำหรับภิกษุทั้งหลายผู้บริสุทธิ์และพร้อมเพรียงกัน ถ้าวัตถุและบุคคลปรากฏ ท่าน
จงระบุวัตถุและบุคคลนั้นเดี๋ยวนี้เถิด
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าวัตถุปรากฏก่อนปวารณา บุคคลปรากฏภายหลัง ควร
กล่าวขึ้น ถ้าบุคคลปรากฏก่อนปวารณา วัตถุปรากฏภายหลัง ก็ควรกล่าวขึ้น
ถ้าทั้งวัตถุและบุคคลปรากฏก่อนปวารณา ถ้าทำปวารณาเสร็จแล้ว รื้อฟื้นเรื่องขึ้น
ต้องอาบัติปาจิตตีย์เพราะรื้อฟื้นเรื่องนั้น

๑๔๔. ภัณฑนการกวัตถุ
ว่าด้วยการก่อความบาดหมาง
[๒๔๐] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเคยเห็นเคยคบกันมา เข้าจำพรรษา ณ
อาวาสแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ภิกษุเหล่าอื่นผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๔. ภัณฑนการกวัตถุ
ก่อความวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ก็เข้าจำพรรษา ณ ที่ใกล้
เคียงกับภิกษุเหล่านั้นด้วยประสงค์ว่า “ในวันปวารณาพวกเราจักงดปวารณาของ
พวกภิกษุที่เข้าจำพรรษาเหล่านั้นเสีย”
ภิกษุเหล่านั้นได้ทราบข่าวว่า “ภิกษุเหล่าอื่นผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความ
ทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ก็เข้าจำพรรษา ณ
ที่ใกล้เคียงกับภิกษุเหล่านั้นด้วยประสงค์ว่า ในวันปวารณาพวกเราจักงดปวารณา
ของพวกภิกษุที่เข้าจำพรรษาเหล่านั้นเสีย ดังนี้ พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุหลายรูปเคยเห็น
เคยคบกันมา เข้าจำพรรษาในอาวาสแห่งหนึ่ง ภิกษุเหล่าอื่นผู้ก่อความบาดหมาง
ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ก็เข้าจำพรรษา
ณ ที่ใกล้เคียงกับภิกษุเหล่านั้นด้วยประสงค์ว่า ในวันปวารณาพวกเราจักงด
ปวารณาของพวกภิกษุที่เข้าจำพรรษาเหล่านั้นเสีย ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นทำ ๒ (และ) ๓ อุโบสถ ให้เป็นอุโบสถวัน ๑๔ ค่ำ๑
ด้วยประสงค์ว่า ไฉนพวกเราพึงปวารณาก่อนภิกษุพวกนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท
ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์พวกนั้นพากันมาสู่อาวาสนั้น ภิกษุที่อยู่ในอาวาส
เหล่านั้นพึงรีบประชุมปวารณากันโดยเร็ว ครั้นแล้วพึงบอกว่า ท่านทั้งหลาย
พวกเราปวารณาเสร็จแล้ว ท่านทั้งหลายสำคัญอย่างใด จงทำอย่างนั้นเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท
ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ พวกนั้นไม่แจ้งให้ทราบก่อน มาสู่อาวาสนั้น
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสเหล่านั้นพึงปูอาสนะ จัดหาน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้

เชิงอรรถ :
๑ ๒ อุโบสถ คือ อุโบสถที่ ๓ และที่ ๔
๓ อุโบสถ คือ อุโบสถที่ ๓, ที่ ๔ และที่ ๕ (วิ.อ. ๓/๒๔๐/๑๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๔. ภัณฑนการกวัตถุ
พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร ต้อนรับด้วยน้ำดื่ม ทำภิกษุพวกนั้นให้ตายใจแล้วไป
ปวารณานอกสีมา ครั้นแล้วพึงบอกว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราปวารณาเสร็จแล้ว
ท่านทั้งหลายสำคัญอย่างใด จงทำอย่างนั้นเถิด ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้
ภิกษุที่อยู่ในอาวาสผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้ภิกษุที่อยู่ในอาวาสทั้งหลายทราบว่า
ขอภิกษุที่อยู่ในอาวาสทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้ว
บัดนี้พวกเราพึงทำอุโบสถ พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พึงปวารณาในกาฬปักษ์
ที่จะมาถึงเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท
ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์นั้นจะพึงกล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า ดีละ ท่าน
ทั้งหลาย ขอจงปวารณาต่อพวกเราในบัดนี้เถิด
ภิกษุเหล่านั้นพึงถูกว่ากล่าวว่า ท่านทั้งหลาย พวกท่านไม่เป็นใหญ่ ใน
ปวารณาของพวกเรา พวกเราจะยังปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท
ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์พวกนั้นจะพึงอยู่จนถึงกาฬปักษ์นั้นไซร้ ภิกษุที่อยู่
ในอาวาสผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้ภิกษุที่อยู่ในอาวาสทั้งหลายทราบว่า
ขอภิกษุที่อยู่ในอาวาสทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้ว
บัดนี้พวกเราพึงทำอุโบสถ พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พึงปวารณาในชุณหปักษ์ที่จะ
มาถึงเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท
ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์นั้น จะพึงกล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า ดีละ ท่าน
ทั้งหลาย ขอจงปวารณาต่อพวกเราในบัดนี้เถิด
ภิกษุเหล่านั้นพึงถูกว่ากล่าวว่า ท่านทั้งหลาย พวกท่านไม่เป็นใหญ่ ใน
ปวารณาของพวกเรา พวกเรายังไม่ปวารณาก่อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๔. ภัณฑนการกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความ
วิวาท ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์นั้นจะพึงอยู่จนถึงชุณหปักษ์แม้นั้นไซร้
ภิกษุเหล่านั้น ทั้งหมดไม่ประสงค์จะปวารณา ก็ต้องปวารณาในวันเพ็ญเดือน
๑๒ อันเป็นวันที่ครบ ๔ เดือน ที่จะมาถึงเท่านั้น
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณาอยู่ ภิกษุไข้งดปวารณาของ
ภิกษุผู้ไม่เป็นไข้ ภิกษุนั้นพึงถูกว่ากล่าวว่า ท่านกำลังเป็นไข้ ภิกษุไข้พระผู้มี
พระภาคตรัสว่าไม่อดทนในการซักถาม ท่าน ขอท่านจงรอจนกว่าจะหายเป็นไข้
ท่านหายไข้แล้ว เมื่อจำนงจึงค่อยโจท ดังนี้ ถ้าภิกษุนั้นถูกว่ากล่าวอย่างนี้ ยังขืน
โจท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะไม่เอื้อเฟื้อ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณาอยู่ ภิกษุผู้ไม่เป็นไข้งด
ปวารณาของภิกษุไข้ ภิกษุนั้นพึงถูกว่ากล่าวว่า ท่าน ภิกษุนี้กำลังเป็นไข้ อันผู้
เป็นไข้พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไม่อดทนในการซักถาม ท่าน ขอท่านจงรอจนกว่า
ภิกษุนี้จะหายเป็นไข้ ท่านจำนงจึงค่อยโจทภิกษุผู้หายไข้แล้วนั้น ดังนี้ ถ้าภิกษุนั้น
ถูกว่ากล่าวอย่างนี้ ยังขืนโจท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะไม่เอื้อเฟื้อ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณาอยู่ ภิกษุไข้งดปวารณาของ
ภิกษุไข้ ภิกษุไข้นั้นถูกว่ากล่าวว่า พวกท่านกำลังเป็นไข้ ภิกษุไข้พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า ไม่อดทนในการซักถาม ท่าน ขอท่านจงรอจนกว่าจะหายเป็นไข้
ท่านหายไข้แล้ว เมื่อจำนงจึงค่อยโจทภิกษุนั้นผู้หายไข้แล้ว ดังนี้ ถ้าภิกษุไข้นั้น
ถูกว่ากล่าวอย่างนี้ ยังขืนโจท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะไม่เอื้อเฟื้อ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้นกำลังปวารณาอยู่ ภิกษุผู้ไม่เป็นไข้งด
ปวารณาของภิกษุผู้ไม่เป็นไข้ สงฆ์พึงสอบสวนสืบสวนทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว ปรับอาบัติ
ตามธรรม ปวารณาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๕. ปวารณาสังคหะ
๑๔๕. ปวารณาสังคหะ
ว่าด้วยการสงเคราะห์กันด้วยปวารณา
[๒๔๑] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเคยเห็นเคยคบกันมา เข้าจำพรรษา ณ
อาวาสแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล เมื่อภิกษุเหล่านั้นพร้อมเพรียงร่วมใจกันไม่ทะเลาะกันอยู่
ย่อมบรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อมา ได้มีการสนทนาดังนี้ว่า เมื่อ
พวกเราพร้อมเพรียงร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกันอยู่ ได้บรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใด
อย่างหนึ่งแล้ว ถ้าพวกเราจักปวารณาในบัดนี้ บางทีภิกษุทั้งหลายปวารณาแล้ว
จะพึงหลีกไปสู่ที่จาริก เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็จักเป็นผู้เหินห่างผาสุวิหารธรรมนี้
พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอจึงนำเรื้องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงอนุญาตให้สงเคราะห์กันด้วยปวารณา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ภิกษุหลายรูปเคยเห็น
เคยคบกันมา เข้าจำพรรษา ณ อาวาสแห่งหนึ่ง เมื่อภิกษุเหล่านั้นพร้อมเพรียง
ร่วมใจกันไม่ทะเลาะกันอยู่ ย่อมบรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าภิกษุ
ทั้งหลายในที่นั้น สนทนากันว่า เมื่อพวกเราพร้อมเพรียงร่วมใจกันไม่ทะเลาะกันอยู่
ได้บรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ถ้าพวกเราจักปวารณาในบัดนี้ บาง
ทีภิกษุทั้งหลายปวารณาแล้ว จะพึงหลีกไปสู่ที่จาริก จะมีบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้
พวกเราก็จักเป็นผู้เหินห่างผาสุวิหารธรรมนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเหล่า
นั้นทำการสงเคราะห์กันด้วยปวารณา

วิธีสงเคราะห์กันด้วยปวารณาและกรรมวาจาสงเคราะห์กันด้วยปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงทำการสงเคราะห์กันปวารณาอย่างนี้
ภิกษุทุกรูปต้องประชุมในที่เดียวกัน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๙๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๕. ปวารณาสังคหะ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อภิกษุเหล่านั้นพร้อมเพรียงร่วมใจกัน
ไม่ทะเลาะกันอยู่ ได้บรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ถ้าพวกเราจัก
ปวารณาในบัดนี้ บางทีภิกษุทั้งหลายปวารณาแล้ว จะพึงหลีกไปสู่ที่จาริก จะมีบ้าง
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็จักเป็นผู้เหินห่างผาสุวิหารธรรมนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว
สงฆ์พึงทำการสงเคราะห์กันด้วยปวารณา บัดนี้สงฆ์พึงทำอุโบสถ พึงยกปาฏิโมกข์
ขึ้นแสดง พึงปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ อันเป็นวันที่ครบ ๔ เดือน ที่จะมา
ถึงเถิด นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อภิกษุเหล่านั้นพร้อมเพรียงร่วมใจกัน
ไม่ทะเลาะกันอยู่ ได้บรรลุผาสุวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ถ้าพวกเราจัก
ปวารณาในบัดนี้ บางทีภิกษุทั้งหลายปวารณาแล้ว จะพึงหลีกไปสู่ที่จาริก จะมีบ้าง
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็จักเป็นผู้เหินห่างผาสุวิหารธรรมนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว
สงฆ์พึงทำการสงเคราะห์กันด้วยปวารณา บัดนี้สงฆ์จักทำอุโบสถ จักยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดง จักปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ อันเป็นวันที่ครบ ๔ เดือน ที่จะ
มาถึง ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการที่ทำการสงเคราะห์กันด้วยปวารณา บัดนี้สงฆ์จักทำ
อุโบสถ จักยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง จักปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ อันเป็นวันที่ครบ
๔ เดือน ที่จะมาถึง ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
การเลื่อนปวารณาสงฆ์ได้ทำแล้ว บัดนี้สงฆ์จักทำอุโบสถ จักยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดง จักปวารณาในวันเพ็ญเดือน ๑๒ อันเป็นวันที่ครบ ๔ เดือน ที่จะมาถึง
สงฆ์เห็นด้วย เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องไม่มีใครเป็นใหญ่ในปวารณา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเหล่านั้นทำการสงเคราะห์กันด้วยปวารณาแล้ว ถ้ามี
ภิกษุสักรูปหนึ่งกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ผมปรารถนาจะหลีกจาริกไปยังชนบท
เพราะผมมีธุระในชนบท
ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับภิกษุนั้นว่า ดีแล้ว ท่าน ท่านจงปรารถนาแล้วไปเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๖. รวมเรื่องที่มีในปวารณาขันธกะ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุนั้นปวารณาอยู่ งดปวาณาของภิกษุรูปหนึ่งเสีย
ภิกษุผู้ถูกงดปวารณาพึงกล่าวกับภิกษุผู้งดปวารณาว่า “ท่าน ท่านไม่เป็นใหญ่ใน
ปวารณาของผม ผมจะยังไม่ปวารณาก่อน”
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นปวารณาอยู่ ภิกษุรูปหนึ่งงดปวาณาของภิกษุ
นั้นเสีย สงฆ์พึงสอบสวนสืบสวนทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว ปรับอาบัติตามธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุนั้นทำธุระจำเป็นในชนบทเสร็จแล้ว กลับมายังอาวาส
นั้นอีกภายในวันเพ็ญเดือน ๑๒ อันเป็นวันที่ครบ ๔ เดือน ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้น
ปวารณาอยู่ ภิกษุรูปหนึ่งงดปวาณาของภิกษุนั้นเสีย ภิกษุผู้ถูกห้ามปวารณาพึง
กล่าวกับภิกษุผู้งดปวารณาว่า “ท่าน ท่านไม่เป็นใหญ่ในปวารณาของผม เพราะ
ผมปวารณา เสร็จแล้ว”
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นปวารณาอยู่ ภิกษุนั้นงดปวารณาของภิกษุ
รูปหนึ่ง สงฆ์พึงสอบสวนสืบสวนทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว ปรับอาบัติตามธรรมปวารณาเถิด
ปวารณาขันธกะที่ ๔ จบ

๑๔๖. รวมเรื่องที่มีในปวารณาขันธกะ
ปวารณาขันธกะ มี ๔๖ เรื่อง คือ
เรื่องภิกษุหลายรูปเข้าจำพรรษาในแคว้นโกศลมาเฝ้าพระศาสดา
เรื่องเข้าพรรษาไม่ผาสุกดังปศุสัตว์อยู่ร่วมกัน
เรื่องทรงอนุญาตพิธีปวารณาเพื่อว่ากล่าวซึ่งกันและกัน
เรื่องพระฉัพพัคคีย์นั่งราบบนอาสนะปวารณา
เรื่องวันปวารณามี ๒ วัน เรื่องอาการที่ทำปวารณามี ๔ อย่าง
เรื่องภิกษุเป็นไข้มอบปวารณา เรื่องภิกษุถูกพวกญาติจับไว้
เรื่องภิกษุถูกพระราชา พวกโจร พวกนักเลง พวกภิกษุผู้เป็น
ข้าศึกจับไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๙๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๔. ปวารณาขันธกะ] ๑๔๖. รวมเรื่องที่มีในปวารณาขันธกะ
เรื่องภิกษุ ๕ รูป ปวารณาเป็นการสงฆ์
เรื่องภิกษุ ๔ รูป ปวารณาเป็นการคณะ
เรื่องภิกษุ ๓ รูป ปวารณาเป็นการคณะ
เรื่องภิกษุ ๒ รูป ปวารณาต่อกัน
เรื่องภิกษุรูปเดียวทำอธิษฐานปวารณา
เรื่องภิกษุต้องอาบัติในวันปวารณา
เรื่องภิกษุไม่แน่ใจในอาบัติ เรื่องภิกษุระลึกอาบัติได้
เรื่องสงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ
เรื่องสงฆ์ทั้งหมดไม่แน่ใจสภาคาบัติ
เรื่องภิกษุที่อยู่ในอาวาสพวกอื่นมามากกว่า มาเท่ากัน มาน้อยกว่า
เรื่องวันปวารณาของภิกษุที่อยู่ในอาวาสเป็น ๑๔ ค่ำ
เรื่องลักษณะของภิกษุที่อยู่ในอาวาส เรื่องภิกษุ ๒ สังวาสปวารณา
เรื่องไม่ควรไปไหนในวันปวารณา
เรื่องไม่พึงปวารณาในบริษัทที่มีภิกษุณีนั่งอยู่ด้วย เรื่องให้ฉันทะ
เรื่องห้ามปวารณาในวันมิใช่วันปวารณา
เรื่องชาวป่า เรื่องปวารณาเมื่อราตรีจวนสว่าง
เรื่องปวารณาขณะที่ฝนตั้งเค้า เรื่องปวารณาเมื่อมีอันตราย ๑๐ อย่าง
เรื่องพระฉัพพัคคีย์มีอาบัติติดตัวปวารณา
เรื่องไม่ยอมให้โอกาส เรื่องพระฉัพพัคคีย์งดปวารณา
ของภิกษุผู้บริสุทธิ์ เรื่องปวารณาที่ไม่เป็นอันงด
เรื่องเหตุผลในการงดปวารณา คือ
(๑) งดปวารณาเพราะเหตุไร (๒) งดปวารณาเพราะเรื่องอะไร
(๓) งดปวารณาด้วยได้เห็น ด้วยได้ยิน หรือด้วยนึกสงสัย
เรื่องต้องอาบัติถุลลัจจัยเป็นต้น เรื่องวัตถุและบุคคลปรากฏ
เรื่องการก่อความบาดหมาง เรื่องการสงเคราะห์กันด้วยปวารณา
เรื่องไม่มีใครเป็นใหญ่ในปวารณา
ปวารณาขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๙๓ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๔ วินัยปิฎกที่ ๐๔ มหาวรรค ภาค ๑ จบ





eXTReMe Tracker