ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๓ วินัยปิฎกที่ ๐๓ ภิกขุนีวิภังค์

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ

พระวินัยปิฎก
ภิกขุนีวิภังค์
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ปาราชิกกัณฑ์

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ (๑)
ว่าด้วยการยินดีการจับต้องที่บริเวณเหนือเข่าขึ้นไปของชาย

เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา

[๖๕๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถปิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น นายสาฬหะหลานของนาง
วิสาขา มิคารมาตา๒ประสงค์จะสร้างวิหารถวายภิกษุณีสงฆ์ นายสาฬหะหลานของ
นางวิสาขามิคารมาตาจึงเข้าไปแจ้งความประสงค์แก่ภิกษุณีว่า “กระผมต้องการจะ
สร้างวิหารถวายภิกษุณีสงฆ์ ท่านทั้งหลายโปรดให้ภิกษุณีผู้ดูแลการก่อสร้างสัก ๑
รูปเถิด ขอรับ”

เชิงอรรถ :
๑ ถ้านับรวมกับสาธารณบัญญัติ คือที่ภิกษุต้องรักษาด้วย สิกขาบทนี้จัดเป็นสิกขาบทที่ ๕
๒ คำว่า “มิคารนตฺตา” แปลได้ ๒ นัย ในที่นี้ แปลว่า หลานของนางวิสาขามิคารมาตา ตาม
อธิบาย (วิ.อ. ๒/๖๕๖/๔๖๒, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๖๕๖/๑๓๗) ส่วนในพระสุตตันตปิฎก แปลว่า หลาน
ของมิคารเศรษฐี (องฺ.ติก. ๒๐/๖๗/๑๘๙) ตามอธิบาย (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๗/๒๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
สมัยนั้น มีหญิงสาว ๔ คนพี่น้องบวชอยู่ในสำนักภิกษุณี คือนันทา นันทวดี
สุนทรีนันทา ถุลลนันทา ในจำนวน ๔ รูปนี้ ภิกษุณีสุนทรีนันทาบวชตั้งแต่วัยสาว
มีรูปงามน่าดู น่าชม เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา ขยัน ไม่เกียจคร้าน
ประกอบด้วยปัญญาไตร่ตรองในงานนั้น ๆ สามารถกระทำ สามารถจัดแจงได้
ภิกษุณีสงฆ์จึงแต่งตั้งภิกษุณีสุนทรีนันทาให้เป็นผู้ดูแลการก่อสร้างของนายสาฬหะ
หลานของนางวิสาขามิคารมาตา
ครั้งนั้น ภิกษุณีสุนทรีนันทานั้นไปบ้านนายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคาร
มาตาเนือง ๆ บอกว่า “ท่านจงให้มีด จงให้ขวาน จงให้ผึ่ง จงให้จอบ จงให้สิ่ว” ฝ่าย
นายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตาก็หมั่นไปสำนักภิกษุณีอยู่เนือง ๆ เพื่อให้
รู้งานที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ คนทั้งสองนั้นมีจิตรักใคร่ต่อกันเพราะพบเห็นกันเนืองๆ
นายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตาเมื่อไม่ได้โอกาสที่จะทำมิดีมิร้าย
ภิกษุณีสุนทรีนันทา จึงได้จัดเตรียมภัตตาหารสำหรับถวายภิกษุณีสงฆ์เพื่อหาทางที่
จะประทุษร้ายนางนั้น เมื่อจะปูอาสนะในโรงฉัน ปูอาสนะไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่งด้วย
คิดว่า “ภิกษุณีจำนวนเท่านี้มีพรรษาแก่กว่าแม่เจ้าสุนทรีนันทา” ปูอาสนะไว้ ณ
ส่วนข้างหนึ่งด้วยคิดว่า “ภิกษุณีจำนวนเท่านี้มีพรรษาอ่อนกว่า” ปูอาสนะไว้สำหรับ
ภิกษุณีสุนทรีนันทา ณ ส่วนข้างหนึ่ง ในที่มิดชิด มีที่กำบัง เพื่อให้ภิกษุณีผู้เป็นเถระ
เข้าใจว่า “ภิกษุณีสุนทรีนันทานั่งอยู่กับพวกภิกษุณีนวกะ” แม้ภิกษุณีนวกะก็จะ
เข้าใจไปว่า “ภิกษุณีสุนทรีนันทานั่งอยู่กับพวกภิกษุณีผู้เป็นเถระ” ครั้นแล้วนาย
สาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตาจึงให้คนไปเรียนภิกษุณีสงฆ์ว่า “แม่เจ้า ได้
เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ภิกษุณีสุนทรีนันทาสังเกตรู้ว่า “นายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตา
เตรียมการไว้มาก มิใช่เพียงจัดภัตตาหารถวายภิกษุณีสงฆ์เท่านั้น แต่ประสงค์ที่จะ
ทำมิดี มิร้ายเรา ถ้าเราไปก็ต้องมีเรื่องอื้อฉาวแน่” จึงสั่งภิกษุณีอันเตวาสินีไปว่า
“เธอจงไปนำบิณฑบาตมาให้เรา ถ้ามีผู้ถามถึงเรา จงตอบว่าเราเป็นไข้”
ภิกษุณีนั้นปฏิบัติตามคำสั่งของภิกษุณีสุนทรีนันทา
เวลานั้น นายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตายืนคอยที่ซุ้มประตูด้าน
นอก ถามถึงภิกษุณีสุนทรีนันทาว่า “แม่เจ้าสุนทรีนันทาไปไหน ขอรับ แม่เจ้า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
สุนทรีนันทาไปไหน ขอรับ” เมื่อนายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตากล่าว
อย่างนั้น ภิกษุณีอันเตวาสินีของภิกษุณีสุนทรีนันทาได้กล่าวกับนายสาฬหะหลาน
ของนางวิสาขามิคารมาตาดังนี้ว่า “ท่าน ภิกษุณีสุนทรีนันทาเป็นไข้ ดิฉันจักรับ
บิณฑบาตไปถวาย”
ลำดับนั้น นายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตาคิดว่า “การที่เรา
เตรียมอาหารถวายภิกษุณีสงฆ์ ก็เพราะแม่เจ้าสุนทรีนันทา” จึงสั่งให้เลี้ยงดูภิกษุณี
สงฆ์แล้วเข้าไปทางสำนักภิกษุณี
สมัยนั้นแล ภิกษุณีสุนทรีนันทายืนคอยนายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคาร
มาตาอยู่นอกซุ้มประตูวัด พอเห็นเขาเดินมาแต่ไกลจึงหลบเข้าที่อยู่นอนคลุมโปงอยู่
บนเตียง
ลำดับนั้น นายสาฬหะเข้าไปหาภิกษุณีสุนทรีนันทาถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว ถาม
ภิกษุณีสุนทรีนันทาดังนี้ว่า “ท่านไม่สบายหรือ ทำไมจึงนอนอยู่ ขอรับ”
ภิกษุณีสุนทรีนันทากล่าวว่า “นาย สตรีผู้ปรารถนาคนที่ไม่ปรารถนาตอบ
ก็มีอาการเช่นนี้แหละ”
เขากล่าวว่า “แม่เจ้า ทำไม กระผมจะไม่ปรารถนาท่าน แต่หาโอกาสที่จะ
ทำมิดีมิร้ายท่านไม่ได้” มีความกำหนัด ถูกต้องกายภิกษุณีสุนทรีนันทาซึ่งมีความ
กำหนัด
คราวนั้น ภิกษุณีชรามีเท้าเจ็บรูปหนึ่งนอนอยู่ไม่ไกลจากที่ของภิกษุณีสุนทรีนันทา
นั้น เห็นนายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตาผู้กำหนัดกำลังถูกต้องกาย
กับภิกษุณีสุนทรีนันทาผู้กำหนัด จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้า
สุนทรีนันทาผู้กำหนัดจึงยินดีการถูกต้องกายกับชายผู้กำหนัดเล่า” บอกเรื่องนั้นแก่
ภิกษุณีทั้งหลาย บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง
ใฝ่การศึกษา พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าสุนทรีนันทาผู้
กำหนัดจึงยินดีการถูกต้องกายกับชายผู้กำหนัดเล่า” จากนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นจึงนำ
เรื่องไปบอกภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
ระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา ก็ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าสุนทรี
นันทาผู้กำหนัดจึงยินดีการถูกต้องกายกับชายผู้กำหนัดเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิ
ภิกษุณีสุนทรีนันทาโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีสุนทรีนันทากำหนัด
ยินดีการถูกต้องกายกับชายผู้กำหนัดจริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
ของภิกษุณีสุนทรีนันทาไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ
ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนภิกษุณีสุนทรีนันทาผู้กำหนัดจึงยินดีการถูกต้องกายกับชาย
ผู้กำหนัดเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริงกลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใส
ก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิภิกษุณีสุนทรีนันทาโดยประการต่าง ๆ แล้ว
ได้ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี
ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ
ความขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความ
เพียรโดยประการต่าง ๆ ทรงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายให้เหมาะสมให้คล้อย
ตามกับเรื่องนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะ
บัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุณีทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
๓. เพื่อข่มภิกษุณีผู้เก้อยาก
๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุณีผู้มีศีลดีงาม
๕. เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
๖. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต
๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว
๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๖๕๗] ก็ภิกษุณีใดกำหนัดยินดีการจับต้อง การลูบคลำ การจับ การต้อง
หรือการบีบของชายผู้กำหนัดบริเวณใต้รากขวัญ๑ลงมาเหนือเข่าขึ้นไป แม้ภิกษุณี
นี้เป็นปาราชิกที่ชื่อว่าอุพภชาณุมัณฑลิกา๒ หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๖๕๘] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด มีการงาน มีชาติวรรณะ มีชื่อ
มีตระกูล มีลักษณะนิสัย มีคุณธรรม มีอารมณ์อย่างไร เป็นเถระ นวกะ หรือ
มัชฌิมะ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ชื่อว่าภิกษุณี
เพราะอาศัยการเที่ยวขอ ชื่อว่าภิกษุณี เพราะใช้ผืนผ้าที่ถูกทำให้เสียราคา ชื่อว่า
ภิกษุณี เพราะเรียกกันโดยโวหาร ชื่อว่าภิกษุณี เพราะการปฏิญญาตน ชื่อว่าภิกษุณี
เพราะพระพุทธเจ้าทรงบวชให้ ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้อุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์

เชิงอรรถ :
๑ ใต้รากขวัญ คือใต้ส่วนของร่างกายที่เรียกว่า ไหปลาร้า
๒ คำว่า “อุพภชาณุมัณฑลิกา” แปลว่า บริเวณเหนือเข่า แม้บริเวณเหนือข้อศอกก็รวมอยู่กับบริเวณเหนือ
เข่า คำนี้เป็นชื่อเรียกภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิกสิกขาบทนี้ (วิ.อ. ๒/๖๕๗-๘/๔๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้เจริญ ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้มีสาระ ชื่อว่าภิกษุณี
เพราะเป็นผู้ยังต้องศึกษา ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ไม่ต้องศึกษา ชื่อว่าภิกษุณี
เพราะเป็นผู้ที่สงฆ์ ๒ ฝ่ายพร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมที่ถูกต้อง
สมควรแก่เหตุ ในภิกษุณีที่กล่าวมานั้น ภิกษุณีที่สงฆ์ ๒ ฝ่ายพร้อมเพรียงกัน
อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมที่ถูกต้องสมควรแก่เหตุนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรง
ประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า กำหนัด ได้แก่ ภิกษุณีมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ผู้กำหนัด ได้แก่ ชายมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ แต่เป็นชายที่รู้เดียงสา สามารถถูกต้องกายได้
คำว่า ใต้รากขวัญลงมา ได้แก่ ภายใต้รากขวัญลงมา
คำว่า เหนือเข่าขึ้นไป ได้แก่ บริเวณเข่าส่วนบนขึ้นไป
ที่ชื่อว่า จับต้อง ได้แก่ กิริยาเพียงแต่ลูบคลำ
ที่ชื่อว่า ลูบคลำ ได้แก่ ลูบคลำไปทางโน้นทางนี้
ที่ชื่อว่า จับ ได้แก่ ลักษณะเพียงแต่จับ
ที่ชื่อว่า ต้อง ได้แก่ ลักษณะเพียงสัมผัส
คำว่า ยินดี ... หรือการบีบ ได้แก่ ยินดีที่จะให้จับอวัยวะแล้วบีบ
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ๑
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุณีกำหนัดยินดีการจับต้อง การลูบคลำ
การจับ การต้อง หรือการบีบของชายผู้กำหนัดบริเวณใต้รากขวัญลงมาเหนือเข่าขึ้น
ไป ย่อมไม่เป็นสมณะหญิง ไม่เป็นเชื้อสายศากยธิดา เปรียบเหมือนคนถูกตัดศีรษะ
ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้โดยการต่อศีรษะเข้ากับร่างกายนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า เป็นปาราชิก

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิก ๔ สิกขาบท อันเป็นความผิดเช่นเดียวกับป่ราชิก ๔ สิกขาบท
ของภิกษุสงฆ์ (ดู พระวินัยปิฎกแปล ๑/๓๙/๒๙,๔๒/๓๑,๔๔/๓๒,๘๙/๗๘-๗๙,๙๑/๘๐,๑๖๗/๑๓๙,
๑๗๑/๑๔๐-๑๔๑,๑๙๖/๑๘๒,๑๙๗/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าสังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับ
ภิกษุณีรูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้

บทภาชนีย์
[๖๕๙] ทั้งสองฝ่ายมีความกำหนัด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กายจับต้องกายบริเวณ
ใต้รากขวัญลงมาเหนือเข่าขึ้นไป ภิกษุณีต้องอาบัติปาราชิก๑ ใช้กายจับต้องของที่
เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้กายถูกต้องกายบริเวณเหนือรากขวัญขึ้นไปใต้เข่าลงมา ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ใช้กายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้อง
กาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
[๖๖๐] ฝ่ายหนึ่งมีความกำหนัด ใช้กายจับต้องกาย บริเวณใต้รากขวัญลง
มาเหนือเข่าขึ้นไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ใช้กายจับต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้อง
อาบัติทุกกฏ ใช้ของเนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่อง
ด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย
ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้
ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ เมื่อภิกษุณีและชายมีความกำหนัดในอันจะถูกต้องกายกัน ภิกษุณีใช้กายตามที่กำหนดถูกต้องกายส่วนใด
ส่วนหนึ่งของชายหรือชายใช้กายส่วนใดส่วนหนึ่ง ถูกต้องกายตามที่กำหนดของภิกษุณีด้วยอาการทั้ง ๒
นั้น ภิกษุณีต้องอาบัติปาราชิก (วิ.อ. ๒/๖๕๙/๔๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์
ใช้กายจับต้องกายบริเวณเหนือรากขวัญขึ้นไปใต้เข่าลงมา ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้
กายจับต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องกาย
ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
[๖๖๑] ทั้งสองฝ่ายมีความกำหนัด ใช้กายถูกต้องกายของยักษ์ เปรต
บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานที่แปลงกายเป็นมนุษย์ บริเวณใต้รากขวัญลงมาเหนือ
เข่าขึ้นไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ใช้กายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้อง
ของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้กายถูกต้องกายบริเวณเหนือรากขวัญขึ้นไปใต้เข่าลงมา ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้กายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้อง
กาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
[๖๖๒] ฝ่ายหนึ่งมีความกำหนัด ใช้กายจับต้องกาย บริเวณใต้รากขวัญลง
มาเหนือเข่าขึ้นไป ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้กายจับต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วย
กายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
ใช้กายจับต้องกายบริเวณเหนือรากขวัญขึ้นไปใต้เข่าลงมา ต้องอาบัติทุกกฏ
ใช้กายจับของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องกาย
ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่อง
ด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ ใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๖๓] ๑. ภิกษุณีไม่จงใจ
๒. ภิกษุณีไม่มีสติ
๓. ภิกษุณีผู้ไม่รู้
๔. ภิกษุณีผู้ไม่ยินดี
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีจิตฟุ้งซ่าน
๗. ภิกษุณีกระสับกระส่ายเพราะเวทนา
๘. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการปกปิดโทษ

เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา
[๖๖๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีสุนทรีนันทามีครรภ์กับ
นายสาฬหะหลานของนางวิสาขามิคารมาตา แต่ปกปิดเรื่องไว้ในขณะที่ครรภ์ยัง
อ่อน ๆ เมื่อครรภ์แก่จึงสึกไปคลอดบุตร
ภิกษุณีทั้งหลายได้กล่าวกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า สุนทรีนันทาสึก
ไปไม่นานก็คลอดบุตร เธอคงจะมีครรภ์ขณะเป็นภิกษุณีกระมัง” ภิกษุณีถุลลนันทา
จึงยอมรับ ภิกษุณีทั้งหลายกล่าวว่า “แม่เจ้า เธอรู้ว่าภิกษุณีต้องอาบัติปาราชิก
เหตุใดจึงไม่โจทเอง ไม่บอกแก่คณะเล่า”
ภิกษุณีถุลลนันทาตอบว่า “แม่เจ้า ความเสียหายของภิกษุณีสุนทรีนันทานี้
ก็คือความเสียหายของดิฉันนั่นแหละ ความเสื่อมเกียรติของภิกษุณีสุนทรีนันทา นี้ก็
คือความเสื่อมเกียรติของดิฉันนั่นแหละ ความอัปยศของภิกษุณีสุนทรีนันทา นี้ก็คือ
ความอัปยศของดิฉันนั่นแหละ ความเสื่อมลาภของภิกษุณีสุนทรีนันทา นี้ก็คือ
ความเสื่อมลาภของดิฉันนั่นแหละ ดิฉันจะบอกความเสียหายของตน ความเสื่อม
เกียรติของตน ความอัปยศของตน ความเสื่อมลาภของตนแก่คนอื่นได้อย่างไร”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทารู้อยู่จึงไม่ทักท้วงภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือปาราชิกด้วยตนเอง ไม่บอก
แก่คณะเล่า” ครั้นแล้วภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทารู้อยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
ไม่ทักท้วงภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือปาราชิกด้วยตนเอง ไม่บอกแก่คณะ จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทารู้อยู่จึงไม่ทักท้วงภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือ
ปาราชิกด้วยตนเอง ไม่บอกแก่คณะเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๖๖๕] ก็ภิกษุณีใดรู้อยู่ไม่ทักท้วงภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือปาราชิกด้วยตนเอง
ไม่บอกแก่คณะ ก็ในกาลใดภิกษุณีนั้นยังครองเพศอยู่ก็ดี เคลื่อนไปก็ดี ถูก
นาสนะก็ดี ไปเข้ารีตก็ดี ภายหลังภิกษุณีผู้รู้เรื่องนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
เมื่อก่อนดิฉันรู้จักภิกษุณีนี้ดีว่า ‘นางมีความประพฤติอย่างนี้ ๆ แต่ดิฉันไม่ได้
โจทด้วยตนเอง ไม่ได้บอกแก่คณะ’ แม้ภิกษุณีนี้เป็นปาราชิกที่ชื่อว่าวัชช-
ปฏิจฉาทิกา๑ หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๖๖๖] คำว่า ก็ ... ใด คือผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “วัชชปฏิจฉาทิกา” แปลว่า ปกปิดโทษ, ปกปิดความผิด เป็นชื่อเรียกภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิก
สิกขาบทนี้ (วิ.อ. ๒/๖๖๕/๔๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุณีนั้นรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกเธอ หรือภิกษุณีที่ต้อง
อาบัตินั้นบอก
คำว่า ต้องธรรมคือปาราชิก คือ ต้องอาบัติปาราชิก ๘ ข้อใดข้อหนึ่ง
คำว่า ไม่โจทด้วยตนเอง คือ ไม่ทักท้วงเอง
คำว่า ไม่บอกแก่คณะ หมายถึง ไม่บอกภิกษุณีอื่น ๆ
คำว่า ก็ในกาลใดภิกษุณีนั้นยังครองเพศอยู่ก็ดี เคลื่อนไปก็ดี เป็นต้น
อธิบายว่า ที่ชื่อว่า ครองเพศอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงภิกษุณีผู้ดำรงอยู่
ในเพศของตน ที่ชื่อว่า เคลื่อนไป ตรัสหมายถึงภิกษุณีผู้มรณภาพ ที่ชื่อว่า ถูก
นาสนะ ตรัสหมายถึงภิกษุณีผู้สึกเองหรือถูกผู้อื่นให้สึก ที่ชื่อว่า เข้ารีต ตรัสหมาย
ถึงภิกษุณีผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ภายหลังภิกษุณีผู้รู้เรื่องนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
เมื่อก่อนดิฉันรู้จักภิกษุณีนี้ดีว่า ‘นางมีความประพฤติอย่างนี้ ๆ”
คำว่า แต่ดิฉันไม่ได้โจทด้วยตนเอง คือ แต่ดิฉันไม่ได้ทักท้วงด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ได้บอกแก่คณะ คือ ดิฉันไม่บอกภิกษุณีเหล่าอื่น
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุณีรู้อยู่ว่าพอทอดธุระว่า “เราจะไม่ทักท้วง
ภิกษุณีผู้ต้องธรรมคือปาราชิกต้วยตนเอง จะไม่บอกแก่หมู่คณะ” เธอย่อมไม่เป็น
สมณะหญิง ไม่เป็นเชื้อสายศากยธิดา เปรียบเหมือนใบไม้เหี่ยวเหลืองหลุดจากขั้ว
แล้วไม่อาจเป็นของเขียวสดต่อไปได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็น
ปาราชิก
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าสังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับ
ภิกษุณีรูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๖๗] ๑. ภิกษุณีไม่บอกด้วยคิดว่า “สงฆ์จักบาดหมาง ทะเลาะ ข้ดแย้ง
หรือวิวาทกัน”
๒. ภิกษุณีไม่บอกด้วยคิดว่า “สงฆ์จักแตกแยก จักร้าวราน”
๓. ภิกษุณีไม่บอกด้วยคิดว่า “ภิกษุณีนี้เป็นคนหยาบช้า ดุร้าย จัก
ทำอันตรายแก่ชีวิตหรืออันตรายแก่พรหมจรรย์ได้”
๔. ภิกษุณีไม่บอกเพราะไม่พบภิกษุณีอื่น ๆ ที่สมควร
๕. ภิกษุณีไม่ประสงค์จะปกปิดแต่ยังไม่ได้บอกใคร
๖. ภิกษุณีไม่บอกด้วยคิดว่า “ผู้นั้นจักเปิดเผยเพราะกรรมของตนเอง”
๗. ภิกษุณีวิกลจริต
๘. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการประพฤติตามภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๖๖๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาประพฤติตาม
พระอริฏฐะ๑ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรม
แล้ว บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงประพฤติตามพระอริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่
สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้
ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาประพฤติตาม
ภิกษุชื่ออริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนีย
กรรมจริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงประพฤติตามภิกษุชื่อ
อริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมเล่า
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสหรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ประพฤิตามพระอริฏฐะ” ในที่นี้หมายถึงประพฤติในทำนองเดียวกัน ประพฤติเลียนแบบ คือ
พระอริฏฐะมีทิฏฐิบาปเกิดขึ้นในใจว่า “ตัวเองรู้ธรรมถึงขนาดที่ว่า ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เป็นธรรมทำอันตรายก็หาสามารถทำอันตรายได้จริงไม่...” ภิกษุณีถุลลนันทาก็มีทิฏฐิเช่นนั้นเหมือนกัน (ดู
วินัยปิฎกแปล เล่ม ๒/๔๑๗/๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๖๖๙] ก็ภิกษุณีใดประพฤติตามภิกษุผู้ถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนีย
กรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์นั้น ผู้ไม่เอื้อเฟื้อ สงฆ์ยังไม่รับรอง
ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย๑ ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลาย
พึงว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ภิกษุนั่นถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันลง
อุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์๒ เป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ สงฆ์ยัง
ไม่รับรอง ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย แม่เจ้าอย่าประพฤติ
ตามภิกษุนั่น” ภิกษุณีนั้นผู้อันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่
อย่างนั้น ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ ๓ ครั้งเพื่อให้
สละเรื่องนั้น ถ้านางกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้งสละเรื่องนั้นได้
นั่นเป็นการดี ถ้านางไม่สละ แม้ภิกษุณีนี้ก็เป็นปาราชิกชื่ออุกขิตตานุวัตติกา๓
หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๖๗๐] คำว่า ก็ ... ใด คือผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

เชิงอรรถ :
๑ สมานสํวาสกา ภิกฺขู สหายา นาม, ยสฺส ปน โส สํวาโส เตหิ สทฺธึ นตฺถิ น เตน เต สหายา
กตา โหนฺติ, อิติ โส อกตสหาโย นาม. ภิกษุทั้งหลายผู้มีสังวาสเสมอกันชื่อว่า สหาย ก็ภิกษุใดไม่มี
สังวาสนั้นกับสหายเหล่านั้น (และ)ภิกษุนั้นไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันนั้นให้เป็นสหายของตน
เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย (กงฺขา.อ. ๓๔๔)
๒ “โดยธรรม” คือเรื่องจริง,โดยเรื่องที่เป็นจริง “โดยวินัย” คือโจทแล้วให้จำเลยให้การ “โดยสัตถุศาสน์” คือ
ด้วยความถึงพร้อมแห่งญัตติและอนุสาวนาหรือโดยศาสนาของพระพุทธเจ้า (วิ.อ. ๒/๖๖๙-๖๗๐/๔๖๖)
๓ คำว่า “อุกขิตตานุวัตติกา” แปลว่า ประพฤติตามผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ถูกสงฆ์ลงโทษโดยการไล่ออกจากหมู่
หมายถึงถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมนั่นเอง คำนี้เป็นชื่อเรียกภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิกสิกขาบทนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
สงฆ์ที่ชื่อว่า พร้อมเพรียงกัน คือ มีสังวาสเสมอกัน อยู่ในสมานสังวาสสีมา
ที่ชื่อว่า ถูก ... ลงอุกเขปนียกรรม คือ ถูกลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็น
เพราะไม่ทำคืน หรือเพราะไม่สละคืนอาบัติ
คำว่า โดยธรรม โดยวินัย คือ โดยธรรมใด โดยวินัยใด
คำว่า โดยสัตถุศาสน์ คือ โดยคำสั่งสอนของพระชินเจ้า โดยคำสั่งสอนของ
พระพุทธเจ้า
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่เอื้อเฟื้อ คือ ไม่ยอมรับสงฆ์ คณะ บุคคล หรือกรรม
ที่ชื่อว่า สงฆ์ยังไม่รับรอง คือ ถูกสงฆ์ขับไล่แล้วยังไม่เรียกกลับเข้าหมู่
ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย คือ ภิกษุทั้งหลาย
ผู้มีสังวาสเสมอกัน๑ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้เป็นสหาย ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรม ไม่มีสังวาสนั้นกับภิกษุเหล่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า “ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย”
คำว่า ประพฤติตามภิกษุ ... นั้น ความว่า ภิกษุนั้นมีความเห็นเช่นใด มี
ความชอบใจเช่นใด มีความพอใจเช่นใด แม้ภิกษุณีนั้นก็เป็นผู้มีความเห็นเช่นนั้น
มีความชอบใจเช่นนั้น มีความพอใจเช่นนั้น
คำว่า ภิกษุณีนั้น ได้แก่ ภิกษุณีผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
คำว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุณีเหล่าอื่น
ภิกษุณีทั้งหลายที่ได้เห็นได้ยินพึงว่ากล่าวตักเตือนเธอว่า “แม่เจ้า ภิกษุนั่นถูก
สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ เป็นผู้
ไม่เอื้อเฟื้อ สงฆ์ยังไม่รับรอง ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย แม่เจ้า
อย่าประพฤติตามภิกษุนั่น” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือน
เธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าเธอไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณี

เชิงอรรถ :
๑ มีสังวาสเสมอกัน คือมีกรรมที่ทำร่วมกันมีอุทเทสที่สวดร่วมกันและมีสิกขาเสมอกัน (ดู ข้อ ๖๕๘,๖๖๖,
๖๗๑ และข้อ ๖๗๖ หน้า ๗,๑๒,๑๘,๒๓, วิ.อ. ๒/๖๖๙-๖๗๐/๔๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
ทั้งหลายได้ยินไม่ว่ากล่าวตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลาย
พึงคุมตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนว่า “แม่เจ้า ภิกษุนั่นถูกสงฆ์พร้อม
เพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ เป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ
สงฆ์ยังไม่รับรอง ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย แม่เจ้าอย่า
ประพฤติตามภิกษุนั่น” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือน
เธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าเธอไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีสงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์

วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีสงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีนั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุณี
ผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๖๗๑] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกสงฆ์
พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ เป็นผู้ไม่
่เอื้อเฟื้อ สงฆ์ยังไม่รับรอง ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย เธอไม่
สละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น
นี่เป็นญัตติ๑
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีนี้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกสงฆ์พร้อมเพรียง
กันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ เป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ สงฆ์ยัง
ไม่รับรอง ยังไม่ได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย เธอไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์
สวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการสวด
สมณุภาสน์ภิกษุณีนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย
แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าขอกล่าวความนี้ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าขอกล่าว
ความนี้ ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ญัตติ คือ การประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจร่วมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ บทภาชนีย์
ภิกษุณีชื่อนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์เพื่อให้สละเรื่องนั้นแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้"
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย จบ
กรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติปาราชิก
คำว่า ภิกษุณีแม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุณีถูกสงฆ์สวดสมนุภาสน์จนครบ ๓
ครั้งก็ยังไม่ยอมสละ เธอย่อมไม่เป็นสมณะหญิง ไม่เป็นเชื้อสายศากยธิดา เปรียบ
เหมือนแผ่นศิลาหนาแตกออกเป็น ๒ เสี่ยงจะประสานให้สนิทเป็นเนื้อเดียวกันอีก
ไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าสังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับ
ภิกษุณีรูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้

บทภาชนีย์
ติกปาราชิก
[๖๗๒] กรรมที่ทำถูกต้อง๑ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ
ต้องอาบัติปาราชิก
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติปาราชิก
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้อง
อาบัติปาราชิก

เชิงอรรถ :
๑ “กรรมที่ทำถูกต้อง” ในที่นี้หมายถึงอุกเขปนียกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติปาราชิก คือ
[๖๗๓] ๑. ภิกษุณียังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุณียอมสละ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยวัตถุ ๘ มีการยินดีการจับมือของชายเป็นต้น

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๖๗๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์กำหนัด
ยินดีการจับมือบ้าง ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับมุมสังฆาฏิบ้าง ยืนเคียงคู่กันกับ
ชายบ้าง สนทนากันบ้าง ไปที่นัดหมายบ้าง ยินดีการที่ชายมาหาบ้าง เดินตาม
เข้าไปสู่ที่ลับบ้าง น้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้นเพื่อจะเสพอสัทธรรม
นั้น๑กับชายผู้กำหนัดบ้าง
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงกำหนัดยินดีการจับมือบ้าง ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับมุม
สังฆาฏิบ้าง ยืนเคียงคู่กันกับชายบ้าง สนทนากันบ้าง ไปที่นัดหมายบ้าง ยินดี
การที่ชายมาหาบ้าง เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับบ้าง น้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วย
กายนั้นเพื่อจะเสพอสัทธรรมกับชายผู้กำหนัดบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้น
ได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์กำหนัด
ยินดีการจับมือบ้าง ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับมุมสังฆาฏิบ้าง ยืนเคียงคู่กันกับ
ชายบ้าง สนทนากันบ้าง ไปที่นัดหมายบ้าง ยินดีการที่ชายมาหาบ้าง เดินตาม
เข้าไปสู่ที่ลับบ้าง น้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้นเพื่อจะเสพอสัทธรรม

เชิงอรรถ :
๑ คือประสงค์จะถูกต้องกายกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์
กับชายผู้กำหนัดบ้าง จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
มีความกำหนัดยินดีการจับมือบ้าง ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับมุมสังฆาฏิบ้าง ยืน
เคียงคู่กันกับชายบ้าง สนทนากันบ้าง ไปที่นัดหมายบ้าง ยินดีการที่ชายมาหาบ้าง
เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับบ้าง น้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้นเพื่อจะเสพ
อสัทธรรมกับชายผู้กำหนัดบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๖๗๕] ก็ภิกษุณีใดกำหนัดพึงยินดีการจับมือ ยินดีการที่ชายผู้กำหนัดจับ
มุมสังฆาฏิ ยืนเคียงคู่กันกับชาย สนทนากัน ไปที่นัดหมาย ยินดีการที่ชาย
มาหา เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับ หรือน้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้น
เพื่อจะเสพอสัทธรรม๑นั้นกับชายผู้กำหนัด แม้ภิกษุณีนี้เป็นปาราชิกชื่อ
อัฏฐวัตถุกา๒ หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๖๗๖] คำว่า ก็ ... ใด คือผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

เชิงอรรถ :
๑ “อสัทธรรม” ในที่นี้หมายถึงการถูกต้องกันทางกาย ไม่ใช่เมถุนธรรม (วิ.อ. ๒/๖๗๕/๔๖๗)
๒ คำว่า “อัฏฐวัตถุกา” แปลว่า วัตถุ เหตุ หรือกรณี ๘ อย่าง เป็นชื่อเรียกภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิก
สิกขาบทนี้ เมื่อทำครบ ๘ อย่าง คือ (๑) ยินดีการจับมือ (๒) ยินดีการจับมุมสังฆาฏิ (๓) ยืนเคียงคู่
(๔) สนทนากัน (๕) ไปที่นัดหมาย (๖) ยินดีที่เขามาหา (๗) เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับ (๘) น้อมกาย
เข้าเพื่อจะเสพอสัทธรรมกับชายผู้กำหนัด (วิ.อ. ๒/๖๗๖/๔๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์
ที่ชื่อว่า กำหนัด ได้แก่ ภิกษุณีมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ผู้กำหนัด ได้แก่ ชายมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
แต่เป็นชายที่รู้เดียงสา สามารถถูกต้องกายได้
คำว่า ยินดีการจับมือ ความว่า ที่ชื่อว่า มือ หมายเอาตั้งแต่ข้อศอกถึงปลาย
เล็บ ภิกษุณียินดีการจับอวัยวะบริเวณเหนือรากขวัญขึ้นไป ใต้เข่าลงมา เพื่อจะเสพ
อสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ยินดีการ...จับมุมสังฆาฏิ คือ ยินดีการจับผ้านุ่งหรือผ้าห่มเพื่อจะ
เสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ยืนเคียงคู่กัน คือ ยืนอยู่ในระยะช่วงแขนของชายเพื่อจะเสพอสัทธรรม
นั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า สนทนากัน คือ ยืนสนทนาอยู่ในระยะช่วงแขนของชายเพื่อจะเสพ
อสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ไปที่นัดหมาย ความว่า ภิกษุณีที่ชายสั่งว่า “จงมายังที่ชื่อนี้” แล้ว
ไปเพื่อจะเสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ ย่างเท้า พอย่างเข้าระยะช่วง
แขนของชาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า ยินดีการที่ชายมาหา ความว่า ยินดีการที่ชายมาเพื่อจะเสพอสัทธรรม
ต้องอาบัติทุกกฏ พอย่างเข้าระยะช่วงแขน ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า เดินตามเข้าไปสู่ที่ลับ ความว่า พอย่างเข้าสถานที่ที่ปกปิดด้วยวัตถุอย่างใด
อย่างหนึ่งเพื่อจะเสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า หรือน้อมกายเข้าไปเพื่อคลุกคลีกันด้วยกายนั้น ความว่า อยู่ในระยะ
ช่วงแขนของชาย น้อมกายเข้าไปเพื่อจะเสพอสัทธรรมนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุณีเมื่อทำวัตถุครบทั้ง ๘ ประการย่อม
ไม่เป็นสมณะหญิง ไม่เป็นเชื้อสายศากยธิดา๑ เปรียบเหมือนต้นตาลยอดด้วนที่ไม่
อาจงอกได้ต่อไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าสังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับ
ภิกษุณีรูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๗๗] ๑. ภิกษุณีไม่จงใจ
๒. ภิกษุณีไม่มีสติ

เชิงอรรถ :
๑ เมื่อภิกษุณีล่วงละเมิดแต่ละวัตถุ ต้องอาบัติเล็กน้อยดังนี้
๑. ในขณะที่เดินทางไปที่นัดหมาย ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ ย่างก้าว พอก้าวเข้าสู่
หัตถบาส(ระยะช่วงแขน)ของชาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๒. ยินดีการที่ชายมา ต้องอาบัติทุกกฏ พอชายก้าวเข้าสู่หัตถบาส ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ส่วนวัตถุที่เหลืออีก ๖ คือ
๑. ยินดีการจับมือ ๒. ยินดีการจับมุมสังฆาฏิ
๓. ยืนเคียงคู่กัน ๔. สนทนากัน
๕. ตามเข้าไปสู่ที่ลับ ๖. น้อมกายเข้าไปเพื่อจะเสพอสัทธรรม
ปรับอาบัติถุลลัจจัยเท่านั้นสำหรับแต่ละวัตถุ
ภิกษุณีต้องอาบัติถุลลัจจัยเพราะล่วงละเมิดแต่ละวัตถุแล้ว ไม่คิดจะสลัดทิ้ง โดยคิดว่า “เราจะต้อง
อาบัติแม้เพราะวัตถุอื่นอีก” แม้จะแสดง(ปลง)อาบัติก็ไม่เป็นอันแสดง อาบัตินั้นยังสะสมอยู่ เมื่อต้องอาบัติ
ถุลลัจจัยเพราะล่วงละเมิดวัตถุอื่น ๆ ก็เป็นการสะสมอาบัติเรื่อยไป พอเมื่อล่วงละเมิดครบวัตถุทั้ง ๘ ต้อง
อาบัติปาราชิก แต่ถ้าภิกษุณีนั้นล่วงละเมิดวัตถุใดวัตถุหนึ่งแล้ว คิดสลัดทิ้งไปว่า “บัดนี้เราจักไม่ต้องอาบัติ”
แล้วแสดง(ปลง)อาบัติ อาบัติถุลลัจจัยนั้นย่อมตกไป ไม่สะสมอยู่ แม้จะล่วงละเมิดวัตถุอื่น ๆ อีกจนครบ
ทั้ง ๘ ก็ไม่ต้องอาบัติปาราชิก เพราะเธอทำการสลัดทิ้งโดยแสดง(ปลง)อาบัติทุกครั้งที่ล่วงละเมิดวัตถุแต่ละ
อย่าง (วิ.อ. ๒/๖๗๖/๔๖๘, กงฺขา.อ. ๓๔๕-๓๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] บทสรุป
๓. ภิกษุณีผู้ไม่รู้
๔. ภิกษุณีผู้ไม่ยินดี
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีจิตฟุ้งซ่าน
๗. ภิกษุณีกระสับกระส่ายเพราะเวทนา
๘. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ จบ

บทสรุป
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือปาราชิก ๘ สิกขาบท๑ ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้วแต่
ละข้อ ๆ ซึ่งภิกษุณีต้องเข้าแล้วย่อมอยู่ร่วมกับภิกษุณีทั้งหลายไม่ได้ เป็นปาราชิก
หาสังวาสมิได้ เหมือนเมื่อก่อนบวช
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลายในธรรมคือปาราชิก ๘ สิกขาบทนั้นว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในธรรมคือปาราชิก ๘ สิกขาบทนี้ เพราะฉะนั้นจึง
นิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

ปาราชิกกัณฑ์ในภิกขุนีวิภังค์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ปาราชิกของภิกษุณีที่เหลืออีก ๔ สิกขาบท มีเนื้อความเหมือนกันกับปาราชิก ๔ สิกขาบทของภิกษุ ฉะนั้น
จึงรวมเป็น ๘ สิกขาบท (ดู วินัยปิฎกแปล เล่ม ๑/๔๔/๓๒,๙๑/๘๐,๑๗๑/๑๔๐-๑,๑๙๗/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือสังฆาทิเสส ๑๗ สิกขาบทเหล่านี้มาถึงวาระที่จะ
ยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการก่อคดีพิพาท

เรื่องอุบาสกกับภิกษุณีถุลลนันทา
[๖๗๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่งถวายโรงเก็บของ
แก่ภิกษุณีสงฆ์แล้วถึงแก่กรรม เขามีบุตร ๒ คน คนหนึ่งไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใส
อีกคนหนึ่งมีศรัทธาเลื่อมใส บุตรทั้งสองแบ่งสมบัติของบิดา บุตรคนที่ไม่มีศรัทธา
ไม่เลื่อมใสได้กล่าวกับบุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นดังนี้ว่า “พวกเรายังมีโรงเก็บของ
อยู่ เอาโรงเก็บของนี้มาแบ่งกันเถิด”
เมื่อเขากล่าวอย่างนั้น บุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสได้กล่าวกับบุตรคนที่ไม่มี
ศรัทธาไม่เลื่อมใสดังนี้ว่า “ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ บิดาของพวกเราถวายโรงเก็บ
ของให้ภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
บุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสได้กล่าวกับบุตรคนมีศรัทธาเลื่อมใสนั้นแม้ครั้ง
ที่ ๒ ดังนี้ว่า “พวกเรายังมีโรงเก็บของอยู่ เอามันมาแบ่งกันเถิด” บุตรคนที่มี
ศรัทธาเลื่อมใสก็กล่าวกับบุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสดังนี้ว่า “ท่านอย่าได้กล่าว
อย่างนี้ บิดาของพวกเราถวายโรงเก็บของให้ภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
บุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสกล่าวกับบุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสแม้ครั้งที่ ๓
ว่า “พวกเรายังมีโรงเก็บของอยู่ เอามันมาแบ่งกันเถิด”
ต่อมา บุตรคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสคิดว่า ถ้าเราได้โรงเก็บของก็จักถวายภิกษุณีสงฆ์
จึงกล่าวกับบุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสดังนี้ว่า “ตกลง เราจะแบ่งมรดกกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
ครั้งนั้น เมื่อทั้งสองกำลังแบ่งกันอยู่ โรงเก็บของตกเป็นสมบัติของบุตรคนที่ไม่มี
ศรัทธาไม่เลื่อมใส ต่อมา บุตรคนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสได้เข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย
แล้วได้กล่าวดังนี้ว่า “เชิญท่านทั้งหลายออกไป โรงเก็บของเป็นสมบัติของกระผม”
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับบุรุษนั้นดังนี้ว่า “เธออย่า
ได้กล่าวอย่างนี้ บิดาของเธอถวายโรงเก็บของให้ภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกันว่า ถวาย ไม่ได้ถวาย จึงพากันไปฟ้องพวกมหาอมาตย์
ผู้พิพากษา
พวกมหาอมาตย์ถามว่า “แม่เจ้า มีใครบ้างที่พอจะรู้เห็นเป็นพยานได้ว่า
โรงเก็บของเขาถวายภิกษุณีสงฆ์แล้ว”
เมื่อพวกมหาอมาตย์กล่าวอย่างนี้ ภิกษุณีถุลลนันทาจึงได้กล่าวกับพวกมหา
อมาตย์ดังนี้ว่า “พวกท่านเคยเห็นหรือได้ยินบ้างไหมว่า เมื่อจะถวายทานจะต้องมี
พยานด้วย”
พวกมหาอมาตย์ตอบว่า “แม่เจ้ากล่าวจริง” จึงตัดสินมอบโรงเก็บของให้
ภิกษุณีสงฆ์ไป
บุรุษนั้นแพ้คดี จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “หญิงชั่วหัวโล้นเหล่านี้
ไม่ใช่สมณะหญิง ไฉนจึงให้ผู้พิพากษาริบโรงเก็บของของเราเล่า”
ภิกษุณีถุลลนันทาบอกเรื่องนั้นให้พวกมหาอมาตย์ทราบ พวกมหาอมาตย์ได้
ปรับสินไหมเขา บุรุษนั้นถูกปรับจึงให้สร้างที่พักอาชีวก๑ ไว้ใกล้ที่อยู่ภิกษุณีแล้วสั่ง
อาชีวกว่า “พวกท่านจงช่วยกันพูดตะโกนใส่ภิกษุณีเหล่านี้”
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงบอกเรื่องนั้นให้พวกมหาอมาตย์ทราบ พวกมหาอมาตย์
สั่งให้จับบุรุษนั้นจองจำไว้ พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ครั้ง
แรกพวกภิกษุณีให้เจ้าหน้าที่ริบโรงเก็บของ ครั้งที่ ๒ ให้ปรับสินไหม ครั้งที่ ๓ ให้
จองจำ คราวนี้เห็นทีจะสั่งฆ่า”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “อาชีวก” เป็นคำเรียกนักบวชชีเปลือยพวกหนึ่งในครั้งพุทธกาล เป็นสาวกของมักขลิโคสาล (ดู
ทีฆนิกาย สีลขันวรรค แปล ๙/๑๖๗-๑๖๙/๕๔-๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
ชอบก่อคดีพิพาทเล่า” ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นผู้ชอบ
ก่อคดีพิพาท จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงเป็นผู้ชอบก่อ
คดีพิพาทเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๖๗๙] ก็ภิกษุณีใดก่อคดีพิพาทกับคหบดี กับบุตรคหบดี กับทาส หรือ
กับกรรมกร โดยที่สุดกระทั่งกับสมณปริพาชก ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือ
สังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ๑
เรื่องอุบาสกกับภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๖๘๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ” เป็นชื่อเฉพาะของธรรมคืออาบัติสังฆาทิเสสที่ต้องในทันทีที่ล่วงละเมิด
โดยไม่มีการสวดสมนุภาสน์ และภิกษุณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสต้องถูกไล่ออกจากภิกษุณีสงฆ์ (วิ.อ. ๒/
๖๗๙/๔๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ก่อคดีพิพาท พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผู้ก่อคดี
ที่ชื่อว่า คหบดี ได้แก่ ชายผู้ครองเรือนคนใดคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า บุตรคหบดี ได้แก่ บุตรและพี่น้องชายคนใดคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า ทาส ได้แก่ ทาสในเรือนเบี้ย ทาสน้ำเงิน ทาสเชลย
ที่ชื่อว่า กรรมกร ได้แก่ คนรับจ้างชั่วคราว คนงานประจำ
ที่ชื่อว่า สมณปริพาชก ได้แก่ นักบวชคนใดคนหนึ่งอยู่ในลัทธิปริพาชก
ยกเว้นภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร และสามเณรี
ภิกษุณีแสวงหาเพื่อนหรือเดินไปด้วยตั้งใจว่า “จะก่อคดี๋ ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกเรื่องของคนหนึ่ง(แก่ตุลาการ) ต้องอาบัติทุกกฏ บอกเรื่องของคนที่สอง ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย เมื่อศาลตัดสินแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้องสวด
สมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้นสงฆ์เท่านั้นให้มานัต ชักเข้า
หาอาบัติเดิม เรียกเข้าหมู่๑ ภิกษุณีหลายรูปก็ทำไม่ได้ ภิกษุณีรูปเดียวก็ทำไม่ได้
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส
คำว่า สังฆาทิเสส นี้เป็นการขนานนาม เป็นคำเรียกหมวดอาบัตินั้นนั่นเอง
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส๒

เชิงอรรถ :
๑ “ชักเข้าหาอาบัติเดิม” คือมูลปฏิกัสสนา “เรียกเข้าหมู่” คืออัพภาน
๒ สังฆาทิเสสนี้เป็นชื่อเรียกกองอาบัติ แปลว่า “หมู่อาบัติที่ต้องการสงฆ์ทั้งในระยะเบื้องต้นและในระยะที่
เหลือ” หมายความว่า ภิกษุณีผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะออกจากอาบัตินั้นได้ต้องอาศัยสงฆ์ให้มานัต(ปักข
มานัต) ชักเข้าหาอาบัติเดิมและอัพภาน(เรียกเข้าหมู่) ในกรรมทั้งหมดนี้ ขาดสงฆ์เสียแล้ว ก็ทำไม่ได้สำเร็จ
ภิกษุณีผู้จะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสนั้น แม้จะปิดอาบัติไว้ก็ไม่ต้องอยู่ปริวาส ประพฤติปักขมานัตในสงฆ์
๒ ฝ่ายเลยทีเดียว” (กงฺขา.อ. ๓๕๕, ดู วิ. มหา. ๑/๒๓๗/๒๕๒ เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๘๑] ๑. ภิกษุณีถูกพวกชาวบ้านดึงตัวไป
๒. ภิกษุณีขออารักขา
๓. ภิกษุณีบอกไม่เจาะจงบุคคล
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการบวชให้สตรีผู้เป็นโจร

เรื่องชายาเจ้าลิจฉวีกับภิกษุณีถุลลนันทา
[๖๘๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ในกรุงเวสาลี ชายาของเจ้าลิจฉวี
องค์หนึ่งประพฤตินอกใจพระสวามี เจ้าลิจฉวีผู้นั้นตรัสกับหญิงนั้นดังนี้ว่า “เอาละ
เธอจงงดเว้น ถ้าไม่เช่นนั้นฉันจะทำโทษเธอ” นางแม้จะถูกว่ากล่าวอย่างนี้ก็ไม่เชื่อ
ต่อมา คณะเจ้าลิจฉวีได้ประชุมกันด้วยราชกรณียกิจบางอย่าง
เจ้าลิจฉวีองค์นั้นได้ตรัสกับพวกเจ้าลิจฉวีดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายขออนุญาตให้
หม่อมฉันจัดการกับสตรีคนหนึ่ง”
คณะถามว่า “สตรีผู้นั้นคือใคร”
เจ้าลิจฉวีนั้นตอบว่า “นางคือภรรยาประพฤตินอกใจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจัก
ฆ่านาง”
คณะกล่าวว่า “ท่านจงรู้เองเถิด”
สตรีนั้นทราบข่าวว่า สามีประสงค์จะฆ่านาง จึงเก็บของสำคัญ ๆ หนีไปยังกรุง
สาวัตถี เข้าไปหาพวกเดียรถีย์ขอบวช พวกเดียรถีย์ไม่ต้องการบวชให้ นางจึงเข้า
ไปหาพวกภิกษุณีขอบวช พวกภิกษุณีก็ไม่ต้องการจะบวชให้ จึงเข้าไปหาภิกษุณี
ถุลลนันทาอวดของมีค่าแล้วขอบวช ภิกษุณีถุลลนันทารับเอาสิ่งของแล้วบวชให้นาง
ต่อมา เจ้าลิจฉวีนั้นทรงตามหาสตรีนั้นไปถึงกรุงสาวัตถี พบนางบวชอยู่ใน
สำนักภิกษุณี จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูล
พระเจ้าปเสนทิโกศลดังนี้ว่า “ขอเดชะ ชายาของหม่อมฉันขโมยของมีค่าหนีมา
กรุงสาวัตถี ขอพระองค์จงทรงอนุญาตให้จับนาง”
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “เชิญท่านสืบหานาง พบแล้วจงมาบอก”
เจ้าลิจฉวีกราบทูลว่า “หม่อมฉันเห็นนางบวชอยู่ในสำนักภิกษุณี พระเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๒ พระบัญญัติ
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “ถ้านางบวชอยู่ในสำนักภิกษุณี ใคร ๆ ก็ทำ
อะไรไม่ได้ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ขอให้นางประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึง
บวชให้สตรีผู้เป็นโจรเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินเจ้าลิจฉวีนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
บวชให้สตรีผู้เป็นโจรเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้สตรี
ผู้เป็นโจร จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงบวชให้สตรี
ผู้เป็นโจรเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๖๘๓] ก็ภิกษุณีใดรู้อยู่ไม่บอกพระราชา สงฆ์ คณะ สมาคม หรือ
กลุ่มชนให้ทราบ บวชให้สตรีผู้เป็นโจรซึ่งเป็นที่รู้กันว่าต้องโทษประหาร เว้น
ไว้แต่สตรีที่สมควร แม้ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ
นิสสารณียะ
เรื่องชายาเจ้าลิจฉวีกับภิกษุณีถุลลนันทา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๖๘๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุณีนั้นรู้เอง คนอื่นบอกให้เธอรู้ หรือสตรีผู้เป็นโจร
นั้นบอก
ที่ชื่อว่า สตรีผู้เป็นโจร คือ สตรีผู้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ มีราคา ๕
มาสกหรือมากกว่า ๕ มาสก โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก นี้ชื่อว่าสตรีผู้เป็นโจร
ที่ชื่อว่า ต้องโทษประหาร หมายถึง ผู้ทำความผิดโทษถึงประหารชีวิต
ที่ชื่อว่า เป็นที่รู้กัน หมายถึง ผู้คนเหล่าอื่นก็รู้ว่าผู้นี้ต้องโทษประหารชีวิต
คำว่า ไม่บอก...ให้ทราบ คือ ไม่บอก
ที่ชื่อว่า พระราชา ความว่า พระราชาทรงปกครองในที่ใด ต้องขอพระบรม
ราชานุญาตในถิ่นนั้น
ที่ชื่อว่า สงฆ์ พระผู้มีพระภาคตรัสถึงภิกษุณีสงฆ์ ต้องขอนุญาตภิกษุณีสงฆ์
ที่ชื่อว่า คณะ ความว่า คณะปกครองในถิ่นใด ต้องบอกคณะในถิ่นนั้น
ที่ชื่อว่า สมาคม ความว่า สมาคมปกครองในถิ่นใด ต้องบอกสมาคมในถิ่นนั้น
ที่ชื่อว่า กลุ่มชน ความว่า กลุ่มชนปกครองในถิ่นใด ต้องบอกกลุ่มชนในถิ่นนั้น
คำว่า เว้นไว้แต่สตรีที่สมควร อธิบายว่า ยกเว้นแต่สตรีผู้สมควร
ที่ชื่อว่า สตรีที่สมควร มี ๒ ประเภท คือ (๑) ผู้ที่บวชในสำนักเดียรถีย์
(๒) ผู้ที่บวชในสำนักภิกษุณีอื่น ภิกษุณีคิดว่า “เราจักบวชให้เว้นไว้แต่ผู้ที่ผ่านการ
บวชมาแล้ว” แล้วจึงแสวงหาคณะ กรรมวาจาจารย์ บาตรหรือจีวร หรือสมมติสีมา
ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย อุปัชฌาย์ต้องอาบัติสังฆาทิเสส คณะและอาจารย์ต้อง
อาบัติทุกกฏ
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส

บทภาชนีย์
[๖๘๕] สตรีผู้เป็นโจร ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นสตรีผู้เป็นโจร บวชให้ ต้องอาบัติ
สังฆาทิเสส เว้นไว้แต่สตรีที่สมควร
สตรีผู้เป็นโจร ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ เว้นไว้แต่สตรีที่
สมควร
สตรีผู้ป็นโจร ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่สตรีผู้เป็นโจร บวชให้ เว้นไว้แต่สตรีที่
สมควร ไม่ต้องอาบัติ
ไม่ใช่สตรีผู้เป็นโจร ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นสตรีผู้เป็นโจร บวชให้ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ไม่ใช่สตรีผู้เป็นโจร ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่สตรีผู้เป็นโจร ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่สตรีผู้เป็นโจร บวชให้ ไม่ต้องอาบัติ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๘๖] ๑. ภิกษุณีไม่รู้ว่าเป็นสตรีผู้เป็นโจรจึงบวชให้
๒. ภิกษุณีขออนุญาตแล้วบวชให้
๓. ภิกษุณีบวชให้สตรีผู้เป็นโจรผู้สมควร
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการเข้าละแวกหมู่บ้านตามลำพังเป็นต้น

เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี
[๖๘๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี
ทะเลาะกับภิกษุณีทั้งหลาย จึงหนีไปตระกูลญาติในหมู่บ้าน
พระภัททกาปิลานีไม่เห็นเธอจึงถามภิกษุณีทั้งหลายว่า “ภิกษุณีชื่อนี้หายไปไหน”
ภิกษุณีทั้งหลายตอบว่า “แม่เจ้า เธอทะเลาะกับภิกษุณีทั้งหลายแล้วหายไป”
พระภัททกาปิลานีกล่าวว่า “ที่หมู่บ้านโน้น มีตระกูลญาติของภิกษุณีนี้อยู่
ท่านทั้งหลายจงไปสืบหาดูที่ตระกูลญาตินั้น”
ภิกษุณีทั้งหลายไปที่ตำบลนั้นพบภิกษุณีนั้นแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า “แม่เจ้า
ทำไมเธอมาคนเดียว ไม่ถูกใครทำมิดีมิร้ายบ้างหรือ”
เธอตอบว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย ดิฉันไม่ถูกใครทำมิดีมิร้ายเลย”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียวเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้
ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีเข้าละแวกหมู่บ้าน
รูปเดียว จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูป
เดียวเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๓ พระบัญญัติ
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียว แม้ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส
ที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี จบ

เรื่องภิกษุณี ๒ รูป
[๖๘๘] สมัยนั้น ภิกษุณี ๒ รูปเดินทางไกลจากเมืองสาเกตไปกรุงสาวัตถี
ระหว่างทางต้องข้ามแม่น้ำ ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้เข้าไปหาพวกเรือจ้างแล้ว
ได้กล่าวดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายโปรดสงเคราะห์พวกดิฉันให้ข้ามฟากด้วยเถิด”
พวกเรือจ้างตอบว่า “แม่เจ้า พวกเราไม่สามารถพาข้ามไปคราวละ ๒ รูปได้
นายเรือจ้างคนหนึ่งจึงพาภิกษุณีรูปหนึ่งข้ามฟาก นายเรือจ้างคนที่ข้ามฟากแล้ว
ข่มขืนภิกษุณีรูปที่ข้ามฟากแล้ว นายเรือจ้างคนที่ยังไม่ข้ามฟากก็ข่มขืนอีกรูปหนึ่งที่
ยังไม่ข้ามฟาก
ภายหลัง ภิกษุณีทั้งสองนั้นพบกันแล้วถามกันว่า “เธอไม่ถูกทำมิดีมิร้ายบ้าง
หรือ”
รูปที่ถูกถามตอบว่า “แม่เจ้า ฉันถูกทำมิดีมิร้าย ก็ท่านไม่ถูกทำมิดีมิร้าย
บ้างหรือ”
อีกรูปหนึ่งตอบว่า “แม่เจ้า ฉันก็ถูกทำมิดีมิร้าย”
ครั้นเธอทั้งสองถึงกรุงสาวัตถี บอกเรื่องนี้ให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ บรรดา
ภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีจึงข้าม
ฝั่งแม่น้ำรูปเดียวเล่า” ครั้นแล้วภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๓ พระอนุบัญญัติ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว
จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรง
ตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียวเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุณีใดไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียว หรือข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว
แม้ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณี ๒ รูป จบ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๖๘๙] สมัยนั้น ภิกษุณีจำนวนหลายรูปเดินทางไปกรุงสาวัตถี ในแคว้นโกศล
ได้เข้าไปสู่หมู่บ้านหนึ่งในตอนเย็น ในบรรดาภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งมีรูปงาม
น่าดู น่าชม ชายคนหนึ่งพอได้เห็นก็มีจิตรักใคร่ภิกษุณีนั้น ชายผู้นั้นเมื่อจัดที่นอน
ถวายภิกษุณีเหล่านั้น ได้จัดที่นอนไว้เพื่อภิกษุณีรูปงามนั้น ณ ส่วนข้างหนึ่ง
ภิกษุณีนั้นรู้ทันว่า “ชายคนนี้ถูกราคะครอบงำ ถ้าเขามาหาตอนกลางคืน เราต้อง
เสียหายแน่” จึงไปนอนที่ตระกูลหนึ่งโดยไม่บอกภิกษุณีทั้งหลาย ครั้งนั้น ชายผู้นั้น
มาค้นหาภิกษุณีนั้น พอดีไปถูกตัวภิกษุณีทั้งหลาย พวกภิกษุณี(ตื่นขึ้นมา)ไม่เห็น
ภิกษุณีนั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ภิกษุณีนั้นออกไปกับผู้ชายแล้วแน่นอน”
ครั้นเมื่อผ่านราตรีนั้น ภิกษุณีนั้นเข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย พวกภิกษุณีได้
กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า เธอออกไปกับผู้ชายหรือ” ภิกษุณีนั้นกล่าวว่า
“แม่เจ้า ดิฉันมิได้ออกไปกับผู้ชาย” แล้วบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๓ พระอนุบัญญัติ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงออกไปอยู่พักแรมในราตรีเพียงรูปเดียวเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้
นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีออกไปอยู่พักแรมใน
ราตรีเพียงรูปเดียวจริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงออกไปอยู่พัก
แรมในราตรีเพียงรูปเดียวเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุณีใดไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียว ข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว หรือ
ออกไปอยู่พักแรมในราตรีรูปเดียว แม้ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสชื่อ
ปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๖๙๐] สมัยนั้น ภิกษุณีจำนวนหลายรูปเดินทางไกลไปกรุงสาวัตถี ในแคว้น
โกศล ภิกษุณีรูปหนึ่งปวดอุจจาระ จึงปลีกตัว เดินตามหลังไปรูปเดียว คนทั้งหลาย
เห็นเธอจึงข่มขืน ลำดับนั้น ภิกษุณีนั้นเข้าไปหาภิกษุณีเหล่านั้น พวกภิกษุณีได้
กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “ทำไมเธอจึงปลีกตัวอยู่เพียงรูปเดียว ไม่ถูกทำมิดีมิร้าย
ดอกหรือ” ภิกษุณีนั้นจึงตอบว่า “แม่เจ้า ดิฉันถูกทำมิดีมิร้าย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงเดินปลีกตัวจากคณะอยู่เพียงรูปเดียวเล่า” ฯลฯ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีเดินปลีกตัวจากคณะ
อยู่เพียงรูปเดียว จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงเดินปลีกตัวจากคณะ
อยู่เพียงรูปเดียวเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นอีกได้เลย ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[๖๙๑] อนึ่ง ภิกษุณีใดไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียว ข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว
ออกไปอยู่พักแรมในราตรีรูปเดียว หรือปลีกตัวจากคณะอยู่รูปเดียว แม้
ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๖๙๒] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ว่า อนึ่ง ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ไปสู่ละแวกหมู่บ้านรูปเดียว ความว่า เมื่อเธอย่างเท้าก้าวที่ ๑ เข้า
สู่บริเวณรั้วของหมู่บ้านที่มีรั้วล้อม ต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ ๒ ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
เมื่อเธอย่างเท้าก้าวที่ ๑ เข้าสู่อุปจารของหมู่บ้านที่ไม่มีรั้วล้อม ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ ๒ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า ข้ามฝั่งแม่น้ำรูปเดียว ความว่า ที่ชื่อว่าแม่น้ำ คือสถานที่ใดที่หนึ่งซึ่ง
เมื่อภิกษุณีครองผ้าปกปิดมณฑล ๓ เดินข้าม อันตรวาสกเปียก เมื่อเธอย่างเท้าก้าว
ที่ ๑ ข้ามไปต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ ๒ ข้ามไปต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า ออกไปอยู่พักแรมในราตรีรูปเดียว ความว่า เธอละหัตถบาส(ระยะ
ห่างสองศอกครึ่ง)จากภิกษุณีที่เป็นเพื่อนในขณะที่อรุณขึ้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย พ้น
หัตถบาสแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า หรือปลีกตัวจากคณะอยู่รูปเดียว ความว่า ในป่าซึ่งไม่มีหมู่บ้านอยู่
เมื่อเดินไปกำลังจะพ้นระยะที่จะมองเห็นได้หรือบริเวณที่เพื่อนภิกษุณีจะได้ยินเสียง ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย เมื่อพ้นไปแล้ว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๙๓] ๑. ภิกษุณีที่เพื่อนภิกษุณีจากไป สึก มรณภาพ หรือไปเข้ารีต
๒. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการเรียกภิกษุณีที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเข้าหมู่

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๖๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีเป็นผู้ก่อความ
บาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ก่อความอื้อฉาวถกเถียง ก่ออธิกรณ์ใน
สงฆ์ เมื่อสงฆ์จะลงโทษภิกษุณีจัณฑกาลีนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาก็คัดค้าน ต่อมา
ภิกษุณีถุลลนันทาเดินทางไปหมู่บ้านด้วยธุระบางอย่าง ครั้งนั้น ภิกษุณีสงฆ์ทราบว่า
“ภิกษุณีถุลลนันนทาจากไปแล้ว” จึงลงอุกเขปนียกรรมภิกษุณีจัณฑกาลีเพราะไม่
เห็นอาบัติ ครั้นภิกษุณีถุลลนันทาทำธุระในหมู่บ้านเสร็จแล้วกลับมายังกรุงสาวัตถี
เมื่อภิกษุณีถุลลนันทากำลังมาภิกษุณีจัณฑกาลีไม่ปูอาสนะ ไม่ตั้งน้ำล้างเท้า ตั้ง
รองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตรและจีวร ไม่เอาน้ำดื่มต้อนรับ ภิกษุณี
ถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีจัณฑกาลีนั้นดังนี้ว่า “เมื่อฉันกำลังมา ไฉนเธอจึงไม่
ปูอาสนะ ไม่ตั้งน้ำล้างเท้า ตั้งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตรและจีวร
ไม่เอาน้ำดื่มต้อนรับเล่า”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า “แม่เจ้า คนไม่มีที่พึ่งก็ทำอย่างนี้แหละ”
ภิกษุณีถุลลนันทาถามว่า “เพราะเหตุไร เธอจึงไม่มีที่พึ่ง”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า “แม่เจ้า ภิกษุณีเหล่านี้เข้าใจว่า ‘ดิฉันเป็นคนไม่มี
ที่พึ่ง ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครคอยกล่าวปกป้อง’ จึงลงอุกเขปนียกรรมดิฉันเพราะไม่
เห็นอาบัติ”
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวว่า “ภิกษุณีพวกนี้โง่เขลา ภิกษุณีพวกนี้ไม่ฉลาด
ภิกษุณีพวกนี้ไม่รู้จักกรรม โทษของกรรม กรรมวิบัติ หรือกรรมสมบัติ เรานี่แหละ
รู้จักกรรมบ้าง โทษของกรรมบ้าง กรรมวิบัติบ้าง กรรมสมบัติบ้าง เรานี่แหละพึงทำ
กรรมที่ยังไม่มีใครทำหรือรื้อฟื้นกรรมที่ตัดสินไปแล้วได้” จึงสั่งให้ประชุมภิกษุณีสงฆ์
ทันทีแล้วเรียกภิกษุณีจัณฑกาลีกลับเข้าหมู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๔ พระบัญญัติ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงเรียกภิกษุณีที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม
โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ให้กลับเข้าหมู่ โดยไม่บอกการกสงฆ์๑ ไม่รับรู้ฉันทะของ
คณะเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาเรียกภิกษุณี
ที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ให้กลับ
เข้าหมู่โดยไม่บอกการกสงฆ์ ไม่รับรู้ฉันทะของคณะ จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงเรียกภิกษุณีผู้ที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรม
โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ให้กลับเข้าหมู่โดยไม่บอกการกสงฆ์ ไม่รับรู้
ฉันทะของคณะเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๖๙๕] ก็ภิกษุณีใดเรียกภิกษุณีที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรม
โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ให้กลับเข้าหมู่โดยไม่บอกการกสงฆ์ ทั้งไม่
รับรู้ฉันทะของคณะ แม้ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ
นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

เชิงอรรถ :
๑ “การกสงฆ์” คือสงฆ์ผู้ดำเนินการในกิจสำคัญ เช่น การสังคายนาหรือสังฆกรรมต่าง ๆ ในที่นี้หมายถึง
สงฆ์ผู้ร่วมกันทำอุกเขปนียกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๖๙๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
สงฆ์ที่ชื่อว่า พร้อมเพรียงกัน คือ มีสังวาสเสมอกัน๑ อยู่ในสมานสังวาสสีมา๒
ที่ชื่อว่า ที่...ลงอุกเขปนียกรรม คือ ถูกสงฆ์ลงโทษเพราะไม่เห็นหรือไม่ทำ
คืนอาบัติ หรือเพราะไม่ยอมสละทิฏฐิบาป
คำว่า โดยธรรม โดยวินัย คือ โดยธรรมใด โดยวินัยใด
คำว่า โดยสัตถุศาสน์ คือ โดยคำสั่งสอนของพระชินเจ้า โดยคำสั่งสอน
ของพระพุทธเจ้า
คำว่า โดยไม่บอก คือ ไม่บอกสงฆ์ผู้กระทำกรรม
คำว่า ไม่รับรู้ฉันทะของคณะ คือ ไม่รู้ความพอใจของคณะ
ภิกษุณีคิดว่า “จะเรียกเข้าหมู่” จึงแสวงหาคณะ หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติ
ทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส

เชิงอรรถ :
๑ “มีสังวาสเสมอกัน” คือมีการทำกรรมร่วมกัน สวดอุทเทส(ปาติโมกข์)ร่วมกัน มีสิกขาเสมอกัน (ดู ข้อ
๖๕๘ หน้า ๗ ในเล่มนี้)
๒ “อยู่ในสมานสังวาสสีมา” อยู่ในเขตที่กำหนดไว้เป็นพิเศษสำหรับสงฆ์เพื่อเป็นสถานที่ทำสังฆกรรมร่วมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทท ๔ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกสังฆาทิเสส
[๖๙๗] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง เรียกเข้า
หมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ เรียกเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง เรียกเข้าหมู่ ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส

ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๙๘] ๑. ภิกษุณีบอกสงฆ์ผู้ทำกรรมแล้วเรียกกลับเข้าหมู่
๒. ภิกษุณีเรียกกลับเข้าหมู่ เมื่อรับรู้ฉันทะของคณะแล้ว
๓. ภิกษุณีเรียกภิกษุณีผู้ประพฤติข้อวัตรกลับเข้าหมู่
๔. ภิกษุณีเรียกกลับเข้าหมู่ในเมื่อไม่มีการกสงฆ์ผู้ทำกรรม
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทท ๕ พระบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการรับโภชนะจากมือชายผู้กำหนัด

เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา
[๖๙๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุณีสุนทรีนันทามีรูปงาม น่าดู
น่าชม คนทั้งหลายเห็นเธอที่โรงฉัน ต่างก็กำหนัด จึงถวายอาหารที่ดี ๆ แก่นางผู้
กำหนัด ภิกษุณีสุนทรีนันทาจึงได้ฉันตามความต้องการ ส่วนภิกษุณีอื่น ๆ ไม่ได้
ฉันตามที่คิดไว้
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณี
สุนทรีนันทากำหนัด จึงรับของเคี้ยวหรือของฉันจากมือชายผู้กำหนัดด้วยมือของตน
แล้วเคี้ยวฉันเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีสุนทรีนันทากำหนัด
รับของเคี้ยวหรือของฉันจากมือชายผู้กำหนัดด้วยมือของตนแล้วเคี้ยวฉัน จริงหรือ”
พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีสุนทรีนันทากำหนัดจึงรับของเคี้ยวหรือของฉันจาก
มือชายผู้กำหนัดด้วยมือของตนแล้วเคี้ยวฉันเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๐๐] ก็ภิกษุณีใดกำหนัด รับของเคี้ยวหรือของฉันจากมือชายผู้กำหนัด
ด้วยมือของตนแล้วเคี้ยวหรือฉัน แม้ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อ
ปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๕ สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๗๐๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า กำหนัด ได้แก่ ภิกษุณีมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ผู้กำหนัด ได้แก่ ชายมีความยินดี เพ่งเล็ง มีจิตรักใคร่
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ แต่เป็นชายที่รู้เดียงสา สามารถที่จะกำหนัดได้
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ น้ำและไม้ชำระฟัน นอกนั้นชื่อว่า
ของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา เนื้อ
ภิกษุณีรับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฉัน
ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุก ๆ คำกลืน
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส
ภิกษุณีรับประเคนน้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อฝ่ายหนึ่งกำหนัด
รับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
[๗๐๒] ฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทุกๆ คำกลืน ภิกษุณีรับประเคนน้ำและ
ไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างกำหนัด รับประเคนจากมือยักษ์ เปรต บัณเฑาะก์หรือ
สัตว์ดิรัจฉานมีกายเป็นมนุษย์ ด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน
ต้องอาบัติถุลลัจจัยทุกๆ คำกลืน รับประเคนน้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เมื่อกำหนัดฝ่ายเดียว รับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน รับประเคนน้ำและไม้ชำระฟัน ต้อง
อาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๐๓] ๑. ภิกษุณีไม่กำหนัดรับของจากชายผู้ไม่กำหนัด
๒. ภิกษุณีรู้อยู่ว่า “เขาไม่กำหนัด” จึงรับประเคน
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตภุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการส่งเสริมภิกษุณีให้รับโภชนะจากมือชายผู้กำหนัด

เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา
[๗๐๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีสุนทรีนันทามีรูปงาม น่าดู
น่าชม คนทั้งหลายเห็นภิกษุณีสุนทรีนันทานั้นที่โรงฉัน ต่างก็กำหนัด จึงถวาย
อาหารที่ดี ๆ แก่ภิกษุณีสุนทรีนันทา แต่ภิกษุณีสุนทรีนันทามีความยำเกรง ไม่ยอม
รับประเคน ภิกษุณีผู้นั่งถัดกันได้กล่าวกับภิกษุณีสุนทรีนันทานั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า
เหตุไรท่านจึงไม่รับประเคน”
นางตอบว่า “แม่เจ้า เพราะพวกเขาเป็นผู้กำหนัด”
ภิกษุณีนั้นถามว่า “ก็ท่านกำหนัดด้วยหรือ”
นางตอบว่า “แม่เจ้า ดิฉันไม่กำหนัด”
ภิกษุณีนั้นพูดว่า “แม่เจ้า ชายผู้นี้จะกำหนัดหรือไม่กำหนัดก็ทำอะไรท่านไม่ได้
เพราะท่านไม่กำหนัด นิมนต์เถิด แม่เจ้า ชายผู้นี้จะถวายของเคี้ยวหรือของฉันก็ตาม
ท่านจงรับประเคนของนั้นด้วยมือของตนเองแล้วเคี้ยวหรือฉันเถิด”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม่เจ้า ชายผู้นี้จะกำหนัดหรือไม่กำหนัดก็ตามก็ทำ
อะไรท่านไม่ได้ เพราะท่านไม่กำหนัด นิมนต์เถิด แม่เจ้า ชายผู้นี้จะถวายสิ่งใด จะ
เป็นของเคี้ยวหรือของฉันก็ตาม ท่านจงรับประเคนของนั้นด้วยมือของตนเองแล้ว
เคี้ยวฉันเถิด” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีกล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม่เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๖ สิกขาบทวิภังค์
ชายผู้นี้จะกำหนัดหรือไม่กำหนัดก็ตามก็ทำอะไรท่านไม่ได้ เพราะท่านไม่กำหนัด
นิมนต์เถิดแม่เจ้า ชายผู้นี้จะถวายสิ่งใด จะเป็นของเคี้ยวหรือของฉันก็ตาม ท่านจง
รับประเคนของนั้นด้วยมือของตนเองแล้วเคี้ยวหรือฉันเถิด ดังนี้ จริงหรือ” พวก
ภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม่เจ้า ชายผู้นี้จะกำหนัดหรือไม่
กำหนัดก็ตามก็ทำอะไรท่านไม่ได้ เพราะท่านไม่มีความกำหนัด นิมนต์เถิด แม่เจ้า
ชายผู้นี้จะถวายสิ่งใด จะเป็นของเคี้ยวหรือของฉันก็ตาม ท่านจงรับประเคนของนั้น
ด้วยมือของตนเองแล้วเคี้ยวหรือฉันเถิด ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๐๕] ก็ภิกษุณีใดกล่าวอย่างนี้ว่า “ชายผู้นั้นจะกำหนัดหรือไม่กำหนัดก็
ตามก็ทำอะไรท่านไม่ได้ เพราะท่านไม่กำหนัด นิมนต์เถิด แม่เจ้า ชายผู้นี้
จะถวายสิ่งใดจะเป็นของเคี้ยวหรือของฉันก็ตาม ท่านจงรับประเคนของนั้นด้วย
มือของตนเองแล้วเคี้ยวหรือฉันเถิด” ดังนี้ แม้ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส
ที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีสุนทรีนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๐๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า ภิกษุณีส่งเสริมด้วยกล่าวว่า “แม่เจ้า ชายผู้นี้
จะกำหนัดหรือไม่กำหนัดก็ตามก็ทำอะไรท่านไม่ได้ เพราะท่านไม่กำหนัด นิมนต์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๖ บทภาชนีย์
แม่เจ้า ชายผู้นี้จะถวายสิ่งใดจะเป็นของเคี้ยวหรือของฉันก็ตาม ท่านจงรับประเคน
ของนั้นด้วยมือของตนเองแล้วเคี้ยวหรือฉันเถิด” ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีรับประเคนตามคำของภิกษุณีนั้นด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้อง
อาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัยทุก ๆ คำกลืน ฉันเสร็จแล้ว ต้องอาบัติ
สังฆาทิเสส
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ปฐมาปัตติกะ คือ ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุโดยไม่ต้อง
สวดสมนุภาสน์
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส
ภิกษุณีส่งเสริมด้วยกล่าวว่า “จงรับประเคนน้ำและไม้ชำระฟัน” ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุณีรับประเคนตามคำของภิกษุณีนั้นด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้อง
อาบัติทุกกฏ

บทภาชนีย์
[๗๐๗] ฝ่ายหนึ่งกำหนัด ภิกษุณีส่งเสริมด้วยกล่าวว่า “จงเคี้ยวของเคี้ยว
หรือจงฉันของฉันจากมือของยักษ์ เปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานที่มีกาย
เป็นมนุษย์” ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีรับประเคนตามคำของภิกษุณีนั้นด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้อง
อาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน เมื่อฉันเสร็จ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ภิกษุณีส่งเสริมด้วยกล่าวว่า “จงรับประเคนน้ำและไม้สีฟัน” ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีรับประเคนตามคำของภิกษุณีนั้นด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติ
ทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๐๘] ๑. ภิกษุณีรู้อยู่ว่า “ชายไม่กำหนัด” จึงส่งเสริม
๒. ภิกษุณีรู้อยู่ว่า “นางโกรธ จึงไม่รับประเคน” จึงส่งเสริม
๓. ภิกษุณีรู้อยู่ว่า “นางจะไม่รับประเคนเพราะความเอ็นดูตระกูล”
จึงส่งเสริม
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการบอกคืนพระรัตนตรัย

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๗๐๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีทะเลาะกับ
ภิกษุณีทั้งหลาย โกรธ ไม่พอใจ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เราขอบอกลาพระพุทธ
ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่
สมณศากยธิดาเหล่านี้กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นที่ประพฤติดีมีความ
ละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็ยังมีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ใน
สำนักสมณะหญิงเหล่านั้น”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าจัณฑกาลีโกรธ ไม่พอใจ แล้วจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ดิฉันขอบอกลาพระพุทธ
ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่
สมณศากยธิดาเหล่านี้กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นที่ประพฤติดี มีความ
ละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็มีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ใน
สำนักสมณะหญิงเหล่านั้นดังนี้เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอก
ภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีจัณฑกาลีโกรธ ไม่
พอใจ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม
ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดาเหล่านี้
กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นที่ประพฤติดีมีความละอาย มีความระมัดระวัง
ใฝ่การศึกษาก็มีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสมณะหญิงเหล่านั้นดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๗ พระบัญญัติ
จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจัณฑกาลีโกรธ ไม่พอใจ จึงพูด
อย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์
ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดาเหล่านี้กระนั้นหรือ แม้สมณะ
หญิงเหล่าอื่นที่ประพฤติดี มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็มีอยู่
เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสมณะหญิงเหล่านั้น’ดังนี้เล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๑๐] ก็ภิกษุณีใดโกรธ ไม่พอใจ กล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันขอบอกลา
พระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะ
หญิงจะมีแต่สมณศากยธิดาเหล่านั้นกระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นผู้มี
ความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็ยังมีอยู่ เราจะไปประพฤติ
พรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหญิงเหล่านั้น” ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึง
ว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ท่านโกรธ ไม่พอใจ ก็อย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า
‘ดิฉันขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลา
สิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดากระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นผู้
มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็มีอยู่ เราจะไปประพฤติ
พรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหญิงเหล่านั้น’ ดังนี้ แม่เจ้า ท่านจงยินดีเถิด
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุด
ทุกข์โดยชอบเถิด” ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ ก็
ยังยืนยันอยู่อย่างนั้น ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ
๓ ครั้งเพื่อให้สละเรื่องนั้น ถ้าเธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้ง
สละเรื่องนั้นได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ แม้ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส
ที่ชื่อว่ายาวตติยกะ นิสสารณียะ

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๗ สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๗๑๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า โกรธไม่พอใจ คือ ไม่ชอบใจ แค้นใจ เจ็บใจ
คำว่า กล่าวอย่างนี้ คือ กล่าวว่า “ดิฉันขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระ
ธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดา
เหล่านี้กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นผู้มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่
การศึกษาก็มีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสมณะหญิงเหล่านั้น”
คำว่า ภิกษุณีนั้น ได้แก่ ภิกษุณีผู้กล่าวอย่างนั้น
คำว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุณีเหล่าอื่น
ภิกษุณีทั้งหลายที่ได้เห็นได้ยินพึงว่ากล่าวตักเตือนว่า “แม่เจ้า ท่านโกรธ ไม่
พอใจ ก็อย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ดิฉันขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม
ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดาเหล่านี้
กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นผู้มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การ
ศึกษาก็ยังมีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหญิงเหล่านั้น’ ดังนี้
แม่เจ้า ท่านจงยินดีเถิด พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติ
พรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึง
ว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินแล้วไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีนั้นอัน
ภิกษุณีทั้งหลายพึงนำมาท่ามกลางสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนว่า “แม่เจ้า ท่านโกรธ ไม่
พอใจ ก็อย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ดิฉันขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม
ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดาเหล่านี้
กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นผู้มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๗ สิกขาบทวิภังค์
ศึกษาก็ยังมีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหญิงเหล่านั้น’ ดังนี้
แม่เจ้า ท่านจงยินดีเถิด พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติ
พรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒
พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุณีนั้นอันสงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์

วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย ก็สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีนั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุณีผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๗๑๒] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้โกรธ ไม่พอใจ กล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ดิฉันขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอ
บอกลาสิกขา สมณะหญิงจะมีแต่สมณศากยธิดาเหล่านี้กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิง
เหล่าอื่นผู้มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็ยังมีอยู่ เราจะไป
ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหญิงเหล่านั้น’ เธอไม่ยอมสละเรื่องนั้น ถ้า
สงฆ์พร้อมกันแล้วพึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้โกรธ ไม่พอใจ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ดิฉัน
ขอบอกลาพระพุทธ ขอบอกลาพระธรรม ขอบอกลาพระสงฆ์ ขอบอกลาสิกขา
สมณะหญิงจะมีแต่สมณะศากยธิดาเหล่านี้กระนั้นหรือ แม้สมณะหญิงเหล่าอื่นผู้มี
ความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษาก็ยังมีอยู่ เราจะไปประพฤติพรหมจรรย์
ในสำนักของสมณะหญิงเหล่านั้น’ เธอไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุณี
ชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อ
ให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่ ๓
ฯลฯ
ภิกษุณีนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์เพื่อให้สละเรื่องนั้นแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๗ บทภาชนีย์
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อเธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส
อาบัติทุกกฏ(ที่ต้อง)เพราะญัตติ ถุลลัจจัย(ที่ต้อง)เพราะกรรมวาจา ๒ ครั้ง ย่อม
ระงับไป
คำว่า แม้ภิกษุณีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ยาวตติยกะ คือ ต้องอาบัติเพราะสวดสมนุภาสน์จบ ๓ ครั้ง ไม่ใช่
ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุ
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส

บทภาชนีย์
ติกสังฆาทิเสส
[๗๑๓] กรรม๑ที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ๒
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส๓
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส

เชิงอรรถ :
๑ “กรรม” หมายถึงญัตติจตุตถกรรมวาจาสำหรับสวดสมนุภาสน์
๒ “ไม่สละ” คือไม่สละเรื่องที่กล่าวด้วยอำนาจความโกรธว่า “ขอบอกลาพระพุทธ” เป็นต้นนั้น
๓ ต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลังจากที่สงฆ์สวดสมนุภาสน์ครบ ๓ ครั้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๑๔] ๑. ภิกษุณียังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุณียอมสละ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยภิกษุณีโกรธเพราะถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๗๑๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีถูกตัดสินให้แพ้
คดีในอธิกรณ์หนึ่ง๑ โกรธ ไม่พอใจ กล่าวอย่างนี้ว่า “พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ
พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชัง พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะหลง และพวกภิกษุณี
ลำเอียงเพราะกลัว”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าจัณฑกาลี เมื่อถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่งแล้วโกรธ ไม่พอใจ กล่าว
อย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชัง พวก
ภิกษุณีลำเอียงเพราะหลง และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัวเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีจัณฑกาลีถูกตัดสินให้
แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่งโกรธ ไม่พอใจ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ
พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชัง พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะหลง และพวกภิกษุณี
ลำเอียงเพราะกลัว’ ดังนี้ จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีผู้จัณฑกาลี
เมื่อถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่งโกรธ ไม่พอใจ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณี

เชิงอรรถ :
๑ “อธิกรณ์หนึ่ง” หมายถึงอธิกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในอธิกรณ์ ๔ (วิ.อ. ๒/๗๑๕/๔๘๐, ดู อธิกรณ์ ๔
ในสิกขาบทวิภังค์แห่งสิกขาบทนี้ และใน วิ.ป. ๘/๓๔๘/๓๒๓-๓๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๘ สิกขาบทวิภังค์
ลำเอียงเพราะชอบ พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชัง พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะหลง
และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัวเล่า’ ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๑๖] ก็ภิกษุณีใดถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่ง โกรธ ไม่พอใจ จึง
กล่าวอย่างนี้ว่า “พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชัง
พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะหลง และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว” ภิกษุณีนั้น
อันภิกษุณีทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ท่านเมื่อถูกตัดสิน
ให้แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่งโกรธ ไม่พอใจ ก็อย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณี
ลำเอียงเพราะชอบ พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชัง พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะ
หลง และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว’ แม่เจ้าเองก็ยังลำเอียงเพราะชอบบ้าง
ลำเอียงเพราะชังบ้าง ลำเอียงเพราะหลงบ้าง ลำเอียงเพราะกลัวบ้าง” ภิกษุณี
นั้นอันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ก็ยังยืนยันอยู่อย่างนั้น ภิกษุณี
นั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ ๓ ครั้งเพื่อให้สละเรื่องนั้น ถ้า
เธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้งสละเรื่องนั้นได้ นั่นเป็นการดี ถ้า
ไม่สละ แม้ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่ายาวตติยกะ นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๑๗] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๕๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๘ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ในอธิกรณ์หนึ่ง คือ ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ อธิกรณ์ ๔ อย่าง๑ คือ
(๑) วิวาทาธิกรณ์ (๒) อนุวาทาธิกรณ์ (๓) อาปัตตาธิกรณ์ (๔) กิจจาธิกรณ์
ที่ชื่อว่า ถูกตัดสินให้แพ้คดี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผู้แพ้คดี
คำว่า โกรธไม่พอใจ คือ ไม่ชอบใจ แค้นใจ เจ็บใจ
คำว่า กล่าวอย่างนี้ คือ กล่าวว่า พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ ฯลฯ
และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว
คำว่า ภิกษุณีนั้น คือ ภิกษุณีผู้กล่าวอย่างนั้น
คำว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย คือ อันภิกษุณีเหล่าอื่น
ภิกษุณีทั้งหลายที่ได้เห็นได้ยินพึงว่ากล่าวตักเตือนว่า “แม่เจ้า ท่านถูกตัดสิน
ให้แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่งแล้ว โกรธ ไม่พอใจ ก็อย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณี
ลำเอียงเพราะชอบ ฯลฯ และพวกภิกษุลำเอียงเพราะกลัว แม่เจ้าเองก็ยังลำเอียง
เพราะชอบบ้าง ฯลฯ ลำเอียงเพราะกลัวบ้าง” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒
พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินแล้วไม่ตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีนั้น
อันภิกษุณีทั้งหลายพึงพามาท่ามกลางสงฆ์แล้วว่ากล่าวตักเตือนว่า “แม่เจ้า ท่าน
เมื่อถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์หนึ่งแล้ว โกรธ ไม่พอใจ ก็อย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า
‘พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ ฯลฯ และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว’ ดังนี้
แม่เจ้าเองก็ยังลำเอียงเพราะชอบบ้าง ฯลฯ ลำเอียงเพราะกลัวบ้าง” พึงว่ากล่าว
ตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็น
การดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีนั้นอันสงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์

เชิงอรรถ :
๑ อธิกรณ์ ๔ อย่าง คือ
๑. วิวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การเถียงกันว่า นี้เป็นธรรมวินัย นี้ไม่ใช่ธรรมวินัยเป็นต้น
๒. อนุวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การโจทกันด้วยศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ
๓. อาปัตตาธิกรณ์ ได้แก่ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติและแก้ต่างให้พ้นอาบัติ
๔. กิจจาธิกรณ์ ได้แก่ กิจธุระของสงฆ์ เช่น อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม
ญัตติจตุตถกรรม มีการสวดปาติโมกข์เป็นต้น (ดู วิ.ป. ๘/๓๔๘/๒๒๒-๒๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๘ สิกขาบทวิภังค์
วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย ก็สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีนั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุณีผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๗๑๘] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้ถูกตัดสินให้แพ้คดีใน
อธิกรณ์หนึ่ง โกรธ ไม่พอใจ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ
ฯลฯ และพวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว” เธอไม่สละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกัน
แล้วพึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้ถูกตัดสินให้แพ้คดีในอธิกรณ์เรื่องหนึ่ง
โกรธ ไม่พอใจ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะชอบ ฯลฯ และ
พวกภิกษุณีลำเอียงเพราะกลัว’ เธอไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้
เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้
สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
ดิฉันกล่าวความนี้แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ ดิฉันกล่าวความนี้แม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุณีชื่อนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้วเพื่อให้สละเรื่องนั้น สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อเธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส
อาบัติทุกกฏ(ที่ต้อง)เพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัย(ที่ต้อง)เพราะกรรมวาจา ๒ ครั้ง
ย่อมระงับไป
คำว่า ภิกษุณีแม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ยาวตติยกะ คือ ต้องอาบัติเพราะสวดสมนุภาสน์จบ ๓ ครั้ง ไม่ใช่
ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุ
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกสังฆาทิเสส
[๗๑๙] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส

ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๒๐] ๑. ภิกษุณียังไม่ถูกสงฆ์สวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุณีผู้สละ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยภิกษุณีมีความประพฤติเลวทราม

เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของภิกษุณีถุลลนันทา
[๗๒๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีอันเตวาสินีของภิกษุณี
ถุลลนันทาอยู่คลุกคลีกัน๑ มีความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย
มีชื่อเสียงไม่ดี๒ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีจึงอยู่คลุกคลีกัน มีความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย
มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกันเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบพวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีอยู่คลุกคลีกัน มี
ความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียน
ภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวก
ภิกษุณีจึงอยู่คลุกคลีกัน มีความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มี
ชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกันเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ “อยู่คลุกคลีกัน” ในที่นี้หมายถึงอยู่คลุกคลีกันกับพวกคฤหัสถ์ทั้งทางกาย เช่น การตำข้าว หุงข้าว บดของ
หอม ร้อยดอกไม้ เป็นต้น และทางวาจา เช่น การช่วยส่งข่าวสาร การชักสื่อ เป็นต้น (วิ.อ. ๒/๗๒๓/๔๘๐)
๒ “มีชื่อเสียงไม่ดี” คือมีความเป็นอยู่ที่เสื่อมเสีย มีอาชีพไม่เหมาะสม (วิ.อ. ๒/๗๒๓/๔๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๙ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๗๒๒] ก็ภิกษุณีทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีความประพฤติเลวทราม มี
กิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิด
โทษของกันและกัน ภิกษุณีเหล่านั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือน
อย่างนี้ว่า “น้องหญิงทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีความประพฤติเลวทราม มี
กิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิด
โทษของกันและกัน น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อม
สรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น” ภิกษุณีเหล่านั้นอัน
ภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ ก็ยังยืนยันอยู่อย่างนั้น ภิกษุณี
เหล่านั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ ๓ ครั้งเพื่อให้สละเรื่องนั้น
ถ้าพวกเธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้งสละเรื่องนั้นได้ นั่นเป็น
การดี ถ้าไม่สละ แม้ภิกษุณีเหล่านี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่ายาวตติยกะ
นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๒๓] คำว่า ก็ ภิกษุณีทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงมาตุคามที่
อุปสมบทแล้ว
คำว่า อยู่คลุกคลีกัน คือ ที่ชื่อว่า คลุกคลีกัน ได้แก่ อยู่คลุกคลีกันทาง
กายและทางวาจาที่ไม่เหมาะสม
คำว่า มีความประพฤติเลวทราม คือ ประกอบด้วยความประพฤติเลวทราม
คำว่า มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย คือ มีกิตติศัพท์เสื่อมเสียขจรไป
คำว่า มีชื่อเสียงไม่ดี คือ เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีวะเลวทราม
คำว่า มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ คือ เมื่อถูกสงฆ์ทำกรรมแก่พวกเดียวกัน
ก็คัดค้าน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๙ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ปกปิดโทษของกันและกัน คือ ปกปิดความผิดของกันและกันไว้
คำว่า ภิกษุณีเหล่านั้น ได้แก่ ภิกษุณีที่อยู่คลุกคลีกัน
คำว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ อันภิกษุณีเหล่าอื่น
ภิกษุณีทั้งหลายที่ได้เห็นได้ทราบพึงว่ากล่าวตักเตือนว่า “น้องหญิงทั้งหลายอยู่
คลุกคลีกัน มีความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี
มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่าน
จงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น”
พึงว่ากล่าวตักเตือนพวกเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนพวกเธอแม้ครั้งที่ ๓
ถ้าพวกเธอสละได้นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีทั้งหลายได้ยิน
แล้วไม่ว่ากล่าวตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีเหล่านั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึง
นำมาท่ามกลางสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนว่า “น้องหญิงทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีความ
ประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียน
ภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงแยกกันอยู่
เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น” พึงว่ากล่าว
ตักเตือนพวกเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนพวกเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าพวกเธอ
สละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีเหล่านั้นอันสงฆ์พึงสวด
สมนุภาสน์

วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย ก็สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีเหล่านั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุณี
ผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๗๒๔] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้และชื่อนี้อยู่คลุกคลีกัน มี
ความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียน
ภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน พวกเธอไม่สละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว
พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้และชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๙ บทภาชนีย์
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชี่อนี้และชื่อนี้อยู่คลุกคลีกัน มีความ
ประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียน
ภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน พวกเธอยังไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวด
สมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้และชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการสวด
สมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้และชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใด
ไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
ข้าพเจ้ากล่าวข้อความนี้แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ ข้าพเจ้ากล่าวข้อความนี้แม้ครั้ง
ที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุณีชื่อนี้และชื่อนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์เพื่อให้สละเรื่องนั้น สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อเธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส
อาบัติทุกกฏ(ที่ต้อง)เพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัย(ที่ต้อง)เพราะกรรมวาจา ๒ ครั้ง
ย่อมระงับไป
สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณี ๒-๓ รูปคราวเดียวกัน ไม่พึงสวดสมนุภาสน์
ภิกษุณีมากกว่านั้นคราวเดียวกัน
คำว่า แม้ภิกษุณีเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ยาวตติยกะ คือ ต้องอาบัติเพราะสวดสมนุภาสน์จบ ๓ ครั้ง ไม่ใช่
ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุ
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ฯลฯ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส

บทภาชนีย์
[๗๒๕] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส

ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๒๖] ๑. ภิกษุณียังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุณีผู้สละ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีมีจิตฟุ้งซ่าน
๕. ภิกษุณีกระสับกระส่ายเพราะเวทนา
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑๐ นิทานวัตถุ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการยุยงส่งเสริมให้ภิกษุณีประพฤติเลวทราม

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๗๒๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวกับ
ภิกษุณีทั้งหลายผู้ถูกสงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้วอย่างนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย พวกท่าน
จงอยู่คลุกคลีกันเถิด อย่าแยกกันอยู่ ภิกษุณีเหล่าอื่นผู้มีความประพฤติอย่างนี้ มี
กิตติศัพท์อย่างนี้ มีชื่อเสียงอย่างนี้ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกัน
และกันก็มีอยู่ในสงฆ์ สงฆ์ก็ไม่ได้ว่ากล่าวภิกษุณีเหล่านั้นเลย สงฆ์ได้แต่ว่ากล่าวพวก
ท่านเท่านั้นด้วยความดูหมิ่นเหยียดหยาม ด้วยความไม่พอใจ ด้วยการข่มขู่ เพราะ
พวกท่านอ่อนแออย่างนี้ว่า ‘น้องหญิงทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีความประพฤติ
เลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์
ปกปิดโทษของกันและกัน น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์
ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงกล่าวกับภิกษุณีทั้งหลายผู้ถูกสงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้วอย่างนี้ว่า
‘ท่านทั้งหลายจงอยู่คลุกคลี อย่าแยกกันอยู่ ภิกษุณีเหล่าอื่น ฯลฯ ก็มีอยู่ในสงฆ์
ฯลฯ น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยก
กันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น’ ดังนี้เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่อง
นี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวกับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑๐ พระบัญญัติ
ภิกษุณีทั้งหลายผู้ถูกสงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้วอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลายจงอยู่คลุกคลี
กัน อย่าแยกกันอยู่ ภิกษุณีเหล่าอื่นผู้มีความประพฤติอย่างนี้ มีกิตติศัพท์อย่างนี้
มีชื่อเสียงอย่างนี้ก็มีอยู่ในสงฆ์ สงฆ์ก็ไม่ได้ว่ากล่าวภิกษุณีเหล่านั้นเลย สงฆ์ได้แต่ว่า
กล่าวพวกท่านเท่านั้นด้วยความดูหมิ่นเหยียดหยาม ด้วยความไม่พอใจ ด้วยการ
ข่มขู่ เพราะพวกท่านอ่อนแอ อย่างนี้ว่า ‘น้องหญิงทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีความ
ประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียนกัน
ภิกษุณีสงฆ์ปกปิดโทษของกันและกัน น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงแยกกันอยู่เถิด
สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น’ ดังนี้ จริงหรือ”
พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงบอกภิกษุณีทั้งหลายผู้ถูกสงฆ์สวด
สมนุภาสน์แล้วอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลายจงอยู่คลุกคลี อย่าแยกกันอยู่ ภิกษุณี
เหล่าอื่น ฯลฯ ก็มีอยู่ในสงฆ์ ฯลฯ แม่เจ้าทั้งหลาย พวกท่านจงแยกกันอยู่เถิด
สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้นดังนี้เล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่
แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๒๘] ก็ภิกษุณีใดกล่าวอย่างนี้ว่า “น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย
จงอยู่คลุกคลีกัน อย่าแยกกันอยู่ ภิกษุณีเหล่าอื่นผู้มีความประพฤติอย่างนี้ มี
กิตติศัพท์อย่างนี้ มีชื่อเสียงอย่างนี้ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของ
กันและกันไว้ก็มีอยู่ในสงฆ์ สงฆ์ก็ไม่ได้ว่ากล่าวพวกเธอเลย สงฆ์ได้แต่ว่ากล่าว
พวกท่านเท่านั้นด้วยความดูหมิ่นเหยียดหยาม ด้วยความไม่พอใจ ด้วยการข่มขู่
เพราะพวกท่านอ่อนแอ อย่างนี้ว่า “น้องหญิงทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีความ
ประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียน
ภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงแยก
กันอยู่เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๖๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑๐ สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “น้องหญิง ท่าน
อย่ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงอยู่คลุกคลีกัน อย่า
แยกกันอยู่ ภิกษุณีแม้เหล่าอื่นผู้มีความประพฤติอย่างนี้ มีกิตติศัพท์อย่างนี้
มีชื่อเสียงอย่างนี้ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษกันไว้ก็มีอยู่ใน
สงฆ์ สงฆ์ก็ไม่ได้ว่ากล่าวภิกษุณีเหล่านั้นเลย ได้แต่ว่ากล่าวพวกท่านเท่านั้น
ด้วยความดูหมิ่นเหยียดหยาม ด้วยความไม่พอใจ ด้วยการข่มขู่ เพราะพวกท่าน
อ่อนแอ อย่างนี้ว่า ‘น้องหญิงทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีความประพฤติเลวทราม
มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิด
โทษของกันและกัน น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อม
สรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น” ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณี
ทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ ก็ยังยืนยันอยู่อย่างนั้น ภิกษุณีนั้นอัน
ภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ ๓ ครั้งเพื่อให้สละเรื่องนั้น ถ้าเธอ
กำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้งสละเรื่องนั้นได้ นั่นเป็นการดี ถ้า
ไม่สละ แม้ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่ายาวตติยกะ นิสสารณียะ
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๒๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า กล่าวอย่างนี้ คือ กล่าวว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงอยู่
คลุกคลีกัน อย่าแยกกันอยู่ ภิกษุณีเหล่าอื่นที่มีความประพฤติอย่างนี้ มีกิตติศัพท์
อย่างนี้ มีชื่อเสียงอย่างนี้ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษกันไว้ก็มีอยู่
ในสงฆ์ สงฆ์ไม่ว่ากล่าวอะไร ๆ ภิกษุณีเหล่านั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๗๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑๐ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า สงฆ์ ... ว่ากล่าวพวกท่าน ... ด้วยความดูหมิ่น ได้แก่ ด้วยความดูถูก
คำว่า เหยียดหยาม ได้แก่ ความหยาบคาย
คำว่า ด้วยความไม่พอใจ ได้แก่ ด้วยความโกรธเคือง
คำว่า ด้วยการข่มขู่ ได้แก่ ด้วยการกำราบ
คำว่า เพราะพวกท่านอ่อนแอ คือ เพราะความไม่มีพวก
สงฆ์ว่ากล่าวอย่างนี้ว่า “น้องหญิงทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีความประพฤติ
เลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์
ปกปิดโทษของกันและกัน ท่านทั้งหลายจงแยกกันอยู่ สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยก
กันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น”
คำว่า ภิกษุณีนั้น ได้แก่ ภิกษุณีผู้ชอบพูดเช่นนั้น
คำว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ อันภิกษุณีพวกอื่น
ภิกษุณีทั้งหลายที่ได้เห็นได้ยินพึงว่ากล่าวตักเตือนว่า “แม่เจ้า ท่านอย่าพูด
อย่างนี้ว่า ‘พวกท่านจงอยู่คลุกคลีกัน อย่าแยกกัน ฯลฯ ท่านทั้งหลายจงแยกกัน
อยู่ สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลาย” พึงว่ากล่าวตักเตือน
เธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี
ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีทั้งหลายรู้แต่ไม่ตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงนำมาท่ามกลางสงฆ์ ว่ากล่าวตักเตือนว่า “แม่เจ้า
ท่านอย่ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม่เจ้าทั้งหลาย พวกท่านจงคลุกคลีกัน อย่าแยกกันอยู่
ฯลฯ พวกท่านจงแยกกันอยู่ สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลาย
เท่านั้น” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓
ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีนั้นอันสงฆ์พึง
สวดสมนุภาสน์

วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย ก็สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีนั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุณีผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๗๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑๐ สิกขาบทวิภังค์
[๗๓๐] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟัง ภิกษุณีชื่อนี้กล่าวกับภิกษุณีทั้งหลายผู้ถูกสงฆ์
สวดสมนุภาสน์แล้วอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านจงอยู่คลุกคลีกัน อย่าแยกกันอยู่ ภิกษุณี
เหล่าอื่นที่มีความประพฤติอย่างนี้ มีกิตติศัพท์อย่างนี้ มีชื่อเสียงอย่างนี้ มักเบียด
เบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษกันไว้ ก็มีอยู่ในสงฆ์ สงฆ์ก็ไม่ได้ว่ากล่าวภิกษุณี
เหล่านั้นเลย สงฆ์ได้แต่ว่ากล่าวพวกท่านเท่านั้นด้วยความดูหมิ่นเหยียดหยาม
ด้วยความไม่พอใจ ด้วยการข่มขู่ เพราะพวกท่านอ่อนแอ อย่างนี้ว่า ‘น้องหญิง
ทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มี
ชื่อเสียงในทางไม่ดี มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน น้องหญิง
ทั้งหลายพวกท่านพึงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิง
ทั้งหลายเท่านั้น” ภิกษุณีนั้นยังไม่สละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว ก็พึงสวด
สมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีนี้กล่าวกับภิกษุณีทั้งหลายผู้ถูกสงฆ์สวด
สมนุภาสน์แล้วอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านจงอยู่คลุกคลีกัน อย่าแยกกันอยู่ ภิกษุณี
เหล่าอื่นที่มีความประพฤติอย่างนี้ มีกิตติศัพท์อย่างนี้ มีชื่อเสียงอย่างนี้ มักเบียด
เบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษกันไว้ก็มีในสงฆ์ สงฆ์ก็ไม่ได้ว่ากล่าวพวกเธอเลย
สงฆ์ได้แต่ว่ากล่าวพวกท่านเท่านั้นด้วยความดูหมิ่นเหยียดหยาม ด้วยความไม่พอใจ
ด้วยการข่มขู่ เพราะพวกท่านอ่อนแอ อย่างนี้ว่า “น้องหญิงทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน
มีความประพฤติเลวทราม มีกิตติศัพท์ในทางเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี มักเบียด
เบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกัน น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงแยกกัน
อยู่เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงทั้งหลายเท่านั้น” ภิกษุณีนั้น
ยังไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปใด
เห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง
แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่ ๓
ฯลฯ
ภิกษุณีชื่อนี้ สงฆ์สวดสมนุภาสน์เพื่อให้สละเรื่องนั้น สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๗๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ ๑๐ บทภาชนีย์
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อเธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส
อาบัติทุกกฏ(ที่ต้อง)เพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัย(ที่ต้อง)เพราะกรรมวาจา ๒ ครั้ง
ย่อมระงับไป
คำว่า ภิกษุณีแม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน ๆ
คำว่า ยาวตติยกะ คือ ต้องอาบัติเพราะสวดสมนุภาสน์จบ ๓ ครั้ง ไม่ใช่
ต้องอาบัติพร้อมกับการล่วงละเมิดวัตถุ
คำว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ทำให้ถูกขับออกจากหมู่
คำว่า สังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ชัก
เข้าหาอาบัติเดิม เรียกเข้าหมู่ ภิกษุณีหลายรูปก็ทำไม่ได้ ภิกษุณีรูปเดียวก็ทำไม่ได้
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส
คำว่า สังฆาทิเสส นี้เป็นการขนานนาม เป็นคำเรียกหมวดอาบัตินั้นนั่นเอง
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังฆาทิเสส

บทภาชนีย์
ติกสังฆาทิเสส
[๗๓๑] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส

ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๗๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] บทสรูป
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๓๒] ๑. ภิกษุณียังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุณีผู้สละ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑๐ จบ

บทสรุป
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือสังฆาทิเสส ๑๗ สิกขาบท๑ ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
คือ ๙ สิกขาบทแรก ต้องอาบัติในขณะที่ล่วงละเมิดทีเดียว ๘ สิกขาบทหลัง
ต้องอาบัติเมื่อสวดสมนุภาสน์ครบ ๓ ครั้ง ภิกษุณีต้องอาบัติข้อใดข้อหนึ่งแล้วต้อง
ประพฤติปักขมานัต๒ในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ภิกษุณีผู้ประพฤติมานัตแล้วถูกสงฆ์เรียกเข้า
หมู่ในสีมาที่มีภิกษุณีสงฆ์ ๒๐ รูป ถ้าภิกษุณีสงฆ์มีคณะ ๒๐ รูปขาดไปแม้เพียง
๑ รูป เรียกภิกษุณีนั้นเข้าหมู่ ภิกษุณีนั้นไม่เป็นอันสงฆ์เรียกเข้าหมู่ และภิกษุณี
เหล่านั้นควรถูกตำหนิ นี้เป็นการทำที่สมควรในกรรมนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สังฆาทิเสส ๑๗ สิกขาบทของภิกษุณีสงฆ์นี้ปรากฏในที่นี้เพียง ๑๐ สิกขาบท เป็นอสาธารณบัญญัติ
คือ ภิกษุสงฆ์ไม่ต้องรักษา ที่เป็นสาธารณบัญญัติ คือ ภิกษุสงฆ์ต้องรักษาด้วย ๗ สิกขาบท คือ
(๑) สัญจริตตสิกขาบท ว่าด้วยการชักสื่อ (๒) ปฐมทุฏฐโทสะ ข้อที่ ๑ ว่าด้วยภิกษุณีขัดเคืองมีโทสะ
(๓) ทุติยทุฏฐโทสะ ว่าด้วยภิกษุณีขัดเคืองมีโทสะข้อที่ ๒ (๔) สังฆเภท ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน
(๕) สังฆเภทานุวัตตกะ ว่าด้วยภิกษุณีผู้ประพฤติตามกล่าวสนับสนุนภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ (๖) ทุพพจะ ว่า
ด้วยภิกษุณีเป็นคนว่ายาก (๗) กุลทูสกะ ว่าด้วยภิกษุณีผู้ประทุษร้ายตระกูล (ดู วินัยปิฎก แปล ๑/๒๙๙/
๓๔๒,๓๐๑/๓๔๔,๓๘๕/๔๑๙,๓๙๒/๔๓๒,๔๑๑/๔๔๔-๔๔๕,๔๑๘/๔๕๐,๔๒๕/๔๕๕,๔๓๖/๔๖๖-๔๖๗)
๒ ปักขมานัต คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากอาบัติหนักสำหรับภิกษุณี ใช้เวลา ๑๕ วัน (กงฺขา.อ.
๑๗๔-๑๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๗๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๒. สังฆาทิเลสกัณฑ์] บทสรูป
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลายในธรรมคือสังฆาทิเสส ๑๗ สิกขาบทเหล่านั้น
ว่า “ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
แม่เจ้าทั้งหลายผู้บริสุทธิ์แล้วในธรรมคือสังฆาทิเสส ๑๗ สิกขาบทนี้ เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

สังฆาทิเสส ๑๗ สิกขาบท จบ

สังฆาทิเสสกัณฑ์ในภิกขุนีวิภังค์ จบ

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๗๕ }





หน้าว่าง





{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๗๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๓. นิสสัคคิยกัณฑ์

แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบทเหล่านี้มาสู่วาระ
ที่จะยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ

๑. ปัตตวรรค
หมวดว่าด้วยบาตร

สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการสะสมบาตร

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๗๓๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ทำการ
สะสมบาตรไว้เป็นอันมาก พวกชาวบ้านเดินเที่ยวตามวิหารเห็นเข้าจึงตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงทำการสะสมบาตรไว้เป็นอันมาก จะขาย
บาตรหรือตั้งร้านขายภาชนะดินเผาหรือ”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงทำการสะสมบาตรเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ทำการ
สะสมบาตรจริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๗๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
การสะสมบาตรเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๓๔] ก็ภิกษุณีใดทำการสะสมบาตร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์๑
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๓๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า บาตร ได้แก่ บาตร ๒ ชนิด คือ (๑) บาตรเหล็ก (๒) บาตรดินเผา
บาตรมี ๓ ขนาด คือ (๑) บาตรขนาดใหญ่ (๒) บาตรขนาดกลาง (๓) บาตร
ขนาดเล็ก
ที่ชื่อว่า บาตรขนาดใหญ่ จุข้าวสุกจากข้าวสาร ๒ ทะนาน จุของเคี้ยวเศษ
หนึ่งส่วนสี่๒ จุกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น
ที่ชื่อว่า บาตรขนาดกลาง จุข้าวสุกจากข้าวสาร ๑ ทะนาน จุของเคี้ยว
เศษหนึ่งส่วนสี่ จุกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น
ที่ชื่อว่า บาตรขนาดเล็ก จุข้าวสุกจากข้าวสาร ครึ่งทะนาน จุของเคี้ยวเศษ
หนึ่งส่วนสี่ จุกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น

เชิงอรรถ :
๑ บาตรเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของที่ต้องสละให้ผู้อื่น ภิกษุณีผู้สะสมบาตร ต้องอาบัติปาจิตตีย์
๒ คือเศษหนึ่งส่วนสี่ของข้าวสุก (วิ.อ. ๒/๖๐๒/๒๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๗๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
บาตรที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นเป็นบาตรที่ใช้ไม่ได้ บาตรมีขนาดเล็กกว่านั้นก็เป็น
บาตรที่ใช้ไม่ได้
คำว่า ทำการสะสม คือ บาตรที่ไม่ได้อธิษฐาน ไม่ได้วิกัป
คำว่า บาตรเป็นนิสสัคคีย์ ความว่า บาตรเป็นนิสสัคคีย์พร้อมกับอรุณขึ้น
คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่ภิกษุณีรูปหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุณีพึงสละบาตรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละบาตรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า บาตรใบนี้
ของดิฉันเกินกำหนดราตรี เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอสละบาตรใบนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละ
แล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนบาตรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า บาตรใบนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอ
สละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนบาตรใบนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
กราบเท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลาย บาตรใบนี้ของดิฉันเกินกำหนดราตรี เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอสละบาตรใบ
นี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนบาตรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า
“แม่เจ้าทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า บาตรใบนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแล้ว
แก่แม่เจ้าทั้งหลาย ถ้าแม่เจ้าทั้งหลายพร้อมกันแล้วพึงคืนบาตรใบนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๗๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์
สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า บาตรใบนี้ของดิฉันเกินกำหนด
ราตรี เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอสละบาตรนี้แก่แม่เจ้า” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติ แล้วคืนบาตรที่เธอสละให้ด้วยการกล่าวว่า
“ดิฉันคืนบาตรนี้ให้แก่แม่เจ้า”

บทภาชนีย์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๗๓๖] บาตรที่เกินกำหนดราตรี ภิกษุณีสำคัญว่าเกินกำหนดแล้ว ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
บาตรที่เกินกำหนดราตรี ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
บาตรที่เกินกำหนดราตรี ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่เกิน ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
บาตรยังไม่ได้อธิษฐาน ภิกษุณีสำคัญว่าอธิษฐานแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
บาตรยังไม่ได้วิกัป ภิกษุณีสำคัญว่าวิกัปแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
บาตรยังไม่ได้สละ ภิกษุณีสำคัญว่าสละแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
บาตรยังไม่ได้สูญหาย ภิกษุณีสำคัญว่าสูญหายแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
บาตรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุณีสำคัญว่าฉิบหายแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
บาตรยังไม่แตก ภิกษุณีสำคัญว่าแตกแล้ว ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
บาตรยังไม่ถูกโจรชิงเอาไป ภิกษุณีสำคัญว่าถูกชิงเอาไปแล้ว ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๘๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
บาตรที่เป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุณียังไม่สละ ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ
บาตรที่ยังไม่เกินกำหนดราตรี ภิกษุณีสำคัญว่าเกินกำหนดแล้ว ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
บาตรที่ยังไม่เกินกำหนดราตรี ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
บาตรที่ยังไม่เกินกำหนดราตรี ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่เกินกำหนด ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๓๗] ๑. ภิกษุณีผู้อธิษฐานภายในอรุณขึ้น
๒. ภิกษุณีผู้วิกัปไว้ภายในอรุณขึ้น
๓. ภิกษุณีผู้สละให้ไปภายในอรุณขึ้น
๔. ภิกษุณีผู้มีบาตรสูญหายภายในอรุณขึ้น
๕. ภิกษุณีผู้มีบาตรฉิบหายภายในอรุณขึ้น
๖. ภิกษุณีผู้มีบาตรแตกภายในอรุณขึ้น
๗. ภิกษุณีผู้มีบาตรถูกโจรชิงเอาไปภายในอรุณขึ้น
๘. ภิกษุณีผู้มีบาตรถูกถือวิสาสะเอาไปภายในอรุณขึ้น
๙. ภิกษุณีผู้วิกลจริต
๑๐. ภิกษุณีผู้ต้นบัญญัติ

เรื่องไม่ยอมคืนบาตรให้เจ้าของเดิม
สมัยนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ไม่ยอมคืนบาตรที่มีผู้สละให้ ภิกษุทั้งหลายจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
บาตรที่ภิกษุณีสละให้แล้วจะไม่คืนให้ไม่ได้ ภิกษุณีรูปใดไม่คืน ต้องอาบัติทุกกฏ”
สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๘๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๑. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการแจกอกาลจีวร

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๗๓๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีหลายรูปจำพรรษาใน
วัดใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีวัตรปฏิบัติสมบูรณ์ มีอิริยาบถงดงาม แต่มีผ้าไม่ดี มีแต่
จีวรเก่า ๆ ได้เดินทางไปกรุงสาวัตถี อุบาสกอุบาสิกาเห็นภิกษุณีเหล่านั้นแล้วคิดว่า
“ภิกษุณีเหล่านี้มีวัตรปฏิบัติสมบูรณ์ มีอิริยาบถงดงาม แต่มีผ้าไม่ดี มีแต่จีวรเก่า ๆ
คงถูกโจรชิงเอาไป” จึงพากันถวายอกาลจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวว่า “พวกเรากรานกฐินแล้ว ผ้านี้เป็นกาลจีวร” แล้ว
อธิษฐานให้แจกกัน
อุบาสกอุบาสิกาเห็นภิกษุณีเหล่านั้น ได้กล่าวดังนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายได้จีวร
บ้างไหม”
ภิกษุณีเหล่านั้นตอบว่า “ยังไม่ได้จีวร แม่เจ้าถุลลนันทากล่าวว่า ‘พวกเรา
กรานกฐินแล้ว ผ้านี้เป็นกาลจีวร’ แล้วอธิษฐานให้แจกกัน”
อุบาสกอุบาสิกาตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
อธิษฐานอกาลจีวรเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกันเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินอุบาสกอุบาสิกาตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดา
ภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้า
ถุลลนันทาจึงอธิษฐานอกาลจีวรเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกันเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๘๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาอธิษฐาน
อกาลจีวรเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกัน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงอธิษฐานอกาลจีวรเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกันเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๓๙] ก็ภิกษุณีใดอธิษฐานอกาลจีวรเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกัน ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๔๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า อกาลจีวร๑ ได้แก่ (๑) ผ้าที่เกิดขึ้นตลอด ๑๑ เดือนในเมื่อไม่ได้
กรานกฐิน (๒) ผ้าที่เกิดขึ้นตลอด ๗ เดือนในเมื่อได้กรานกฐินแล้ว (๓) แม้ผ้า
ที่เขาถวายเจาะจงในกาล นี้ชื่อว่า อกาลจีวร

เชิงอรรถ :
๑ อกาลจีวร หมายถึงจีวรที่เกิดขึ้นนอกฤดูกาล คือ (๑) ในเมื่อไม่ได้กรานกฐิน จีวรที่เกิดขึ้นในระหว่างแรม
๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของปีถัดไป (ตามจันทรคติ) รวมเป็น ๑๑ เดือน ชื่อว่า
อกาลจีวร (๒) ในเมื่อได้กรานกฐินแล้ว จีวรที่เกิดขึ้นในระหว่างแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ
เดือน ๑๑ ในปีเดียวกัน (ตามจันทรคติ) รวมเป็น ๗ เดือน ชื่อว่าอกาลจีวร (๓) ส่วนจีวรที่เกิดขึ้น
นอกเวลาทั้ง ๒ กรณีดังกล่าวนี้ ชื่อว่ากาลจีวร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๘๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุณีอธิษฐานอกาลจีวรเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกัน ต้องอาบัติทุกกฏในขณะ
ที่แจกจีวร เป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ
หรือแก่ภิกษุณีรูปหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า อกาลจีวร
ผืนนี้ดิฉันอธิษฐานเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกัน เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอสละอกาลจีวร
ผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนอกาลจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรม
วาจาว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า อกาลจีวรผืนนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสัคคีย์
เธอสละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนอกาลจีวรผืนนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย
ฯลฯ ดิฉันขอสละอกาลจีวรผืนนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนอกาลจีวรผืนนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละอกาลจีวร
ผืนนี้แก่แม่เจ้า” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนอกาลจีวรผืนนี้ให้แก่แม่เจ้า”๑

เชิงอรรถ :
๑ ความที่ย่อไว้ทุกสิกขาบทในนิสสัคคิยปาจิตตีย์ พึงเปรียบเทียบในปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิสสัคคียกัณฑ์
ข้อ ๗๓๕ หน้า ๗๙-๘๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๘๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๗๔๑] อกาลจีวร ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอกาลจีวร อธิษฐานเป็นกาลจีวร
แล้วให้แจกกัน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
อกาลจีวร ภิกษุณีไม่แน่ใจ อธิษฐานเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกัน ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
อกาลจีวร ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกาลจีวร อธิษฐานเป็นกาลจีวรแล้วให้แจกกัน
ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
กาลจีวร ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอกาลจีวร ต้องอาบัติทุกกฏ
กาลจีวร ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กาลจีวร ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกาลจีวร ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๔๒] ๑. ภิกษุณีผู้ให้แจกอกาลจีวรด้วยสำคัญว่าเป็นกาลจีวร
๒. ภิกษุณีให้แจกกาลจีวรด้วยสำคัญว่าเป็นกาลจีวร
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๘๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
๑. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนจีวร

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๗๔๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาแลกเปลี่ยน
จีวรกับภิกษุณีรูปหนึ่งใช้สอย ครั้งนั้น ภิกษุณีนั้นพับจีวรเก็บไว้ ภิกษุณีถุลลนันทา
ได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “จีวรที่เธอแลกเปลี่ยนกับดิฉันอยู่ที่ไหน” ภิกษุณีนั้น
จึงนำจีวรนั้นออกมาให้ภิกษุณีถุลลนันทาดู
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงกล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า จีวรของเธอ จงนำจีวร
ของดิฉันมา จีวรของเธอต้องเป็นของเธอ จีวรของดิฉันต้องเป็นของดิฉัน จงนำจีวร
ของดิฉันมา จงรับเอาจีวรของเธอคืนไปเถิด” แล้วชิงเอาคืน ลำดับนั้น ภิกษุณีนั้น
นำเรื่องไปบอกภิกษุณีทั้งหลาย
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อยสันโดษ ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทาแลกเปลี่ยนจีวรกับภิกษุณีแล้วจึงชิงเอาคืนเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาแลกเปลี่ยน
จีวรกับภิกษุณีแล้วชิงเอาคืนจริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงแลกเปลี่ยนจีวรกับภิกษุณีแล้วชิงเอาคืนเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๘๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๔๔] ก็ภิกษุณีใดแลกเปลี่ยนจีวรกับภิกษุณี ภายหลังภิกษุณีนั้นกล่าว
อย่างนี้ว่า “แม่เจ้า จีวรของเธอ จงนำจีวรของดิฉันมา จีวรของเธอต้องเป็น
ของเธอ จีวรของดิฉันต้องเป็นของดิฉัน จงนำจีวรของดิฉันมา จงรับเอาจีวร
ของเธอคืนไปเถิด” ชิงเอาคืนหรือใช้ให้ชิงเอาคืน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๔๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า กับภิกษุณี คือ กับภิกษุณีรูปอื่น
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด๑ อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดพอที่จะทำ
วิกัปได้เป็นอย่างต่ำ
คำว่า แลกเปลี่ยน คือ แลกเปลี่ยนจีวรเนื้อดีกับจีวรเนื้อไม่ดี หรือจีวรเนื้อ
ดีกับจีวรเนื้อไม่ดี
คำว่า ชิงเอาคืน คือ ชิงเอาคืนเอง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ จีวร ๖ ชนิด คือ โขมะ(จีวรผ้าเปลือกไม้) กัปปาสิกะ(จีวรผ้าฝ้าย) โกเสยยะ(จีวรผ้าไหม) กัมพละ(จีวร
ผ้าขนสัตว์) สาณะ(จีวรผ้าป่าน) ภังคะ(จีวรผ้าผสม) (วิ.อ. ๒/๔๖๒-๔๖๓/๑๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๘๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ใช้ให้ชิงเอาคืน คือ ใช้ให้ผู้อื่นชิง ต้องอาบัติทุกกฏ ผู้รับคำสั่งครั้ง
เดียวแต่ชิงเอาคืนหลายครั้ง จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์
แก่คณะหรือแก่ภิกษุณีรูปหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า จีวรผืนนี้
ดิฉันแลกเปลี่ยนกับภิกษุณีแล้วชิงเอาคืน เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอสละจีวรผืนนี้แก่
สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนจีวรผืนนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย
ฯลฯ ดิฉันขอสละจีวรผืนนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนจีวรผืนนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละจีวรผืนนี้แก่แม่เจ้า”
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนจีวรผืนนี้ให้แก่แม่เจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๘๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
[๗๔๖] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน แลกเปลี่ยนจีวรกันแล้ว
ชิงเอาคืนหรือใช้ผู้อื่นให้ชิงเอาคืน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ แลกเปลี่ยนจีวรกันแล้วชิงเอาคืนหรือใช้ผู้อื่นให้ชิง
เอาคืน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน แลกเปลี่ยนจีวรกันแล้วชิงเอาคืน
หรือใช้ผู้อื่นให้ชิงเอาคืน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุณีเปลี่ยนบริขารอย่างอื่นแล้วชิงเอาคืนหรือใช้ผู้อื่นให้ชิงเอาคืน ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุณีเปลี่ยนจีวรหรือบริขารอย่างอื่นกับอนุปสัมบันแล้วชิงเอาคืนหรือใช้คน
อื่นให้ชิงเอาคืน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๔๗] ๑. ภิกษุณีผู้รับแลกเปลี่ยนคืนให้เอง หรือภิกษุณีผู้แลกเปลี่ยนถือ
เอาคืนโดยวิสาสะจากภิกษุณีผู้รับแลกเปลี่ยนแล้ว
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๘๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๑. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการออกปากขอของอย่างหนึ่งแล้วออกปากขอของอย่างอื่น

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๗๔๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นไข้อยู่ อุบาสก
คนหนึ่งเข้าไปเยี่ยมถึงที่อยู่ถามว่า “แม่เจ้าไม่สบายหรือ จะให้ผมนำอะไรมาถวาย”
นางตอบว่า “ดิฉันต้องการเนยใส”
ครั้งนั้น อุบาสกนั้นนำเนยใสราคา ๑ กหาปณะมาจากบ้านของเจ้าของร้านค้า
คนหนึ่งถวายแก่ภิกษุณีถุลลนันทา
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันไม่ต้องการเนยใส แต่ต้องการน้ำมัน”
ลำดับนั้น อุบาสกนั้นกลับไปหาเจ้าของร้านค้าคนนั้นถึงที่ร้าน ครั้นถึงแล้วได้
กล่าวกับเจ้าของร้านค้านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้าไม่ต้องการเนยใส แต่ต้องการน้ำมัน
โปรดรับเนยใสของท่านคืนไป โปรดให้น้ำมันแก่ผม”
เจ้าของร้านค้าจึงตอบว่า “นาย ถ้าเรารับของที่ขายไปกลับคืนอีก เมื่อไรเรา
จึงขายสินค้าได้ ท่านซื้อเนยใสตามราคาเนยใสไปแล้ว ท่านจะเอาน้ำมันก็จงนำเงิน
ค่าน้ำมันมา”
ครั้งนั้น อุบาสกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ภิกษุณีถุลลนันทาออก
ปากขอของอย่างหนึ่งแล้ว ไฉนจึงออกปากขอของอย่างอื่นเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินอุบาสกตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาออก
ปากขอของอย่างหนึ่งแล้วจึงขอของอย่างอื่นเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำ
เรื่องนั้นไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนั้นไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๙๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาออกปาก
ขอของอย่างหนึ่งแล้วออกปากขอของอีกอย่างหนึ่งจริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาออกปากขอของอย่างหนึ่งแล้วจึงออกปากขอของอย่างอื่นเล่า
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๔๙] ก็ภิกษุณีใดออกปากขอของอย่างหนึ่งแล้วออกปากขอของอย่างอื่น
ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๕๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ออกปากขอของอย่างหนึ่งแล้ว คือ ออกปากขอสิ่งของอย่างใด
อย่างหนึ่งแล้ว
คำว่า ออกปากขอของอย่างอื่น ความว่า ออกปากขอสิ่งของอย่างอื่นนอก
จากที่ออกปากขอไว้ก่อนนั้น ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ขอ ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์
เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่ภิกษุณีรูปหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละของที่เป็นนิสสัคคีย์นั้นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๙๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๔ บทภาชนีย์
วิธีสละของที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ของนี้ดิฉัน
ออกปากขอของอย่างหนึ่งแล้วจึงออกปากขอมา เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอสละของนี้
แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนของที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
“แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ของนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่สงฆ์
ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย
ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่แม่เจ้า”
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนของนี้ให้แก่แม่เจ้า”

บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๗๕๑] ของอย่างอื่น ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นของอย่างอื่น ออกปากขอของ
อย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๙๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
ของอย่างอื่น ภิกษุณีไม่แน่ใจ ออกปากขอของอย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
ของอย่างอื่น ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของอย่างอื่น ออกปากขอของอย่างอื่น
ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ของอย่างอื่น ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นของอย่างอื่น ออกปากขอของที่ไม่ใช่
ของอย่างอื่น(นั้น) ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของอย่างอื่น ภิกษุณีไม่แน่ใจ ออกปากขอของที่ไม่ใช่ของอย่างอื่น(นั้น)
ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของอย่างอื่น ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของอย่างอื่น ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๕๒] ๑. ภิกษุณีผู้ออกปากขอของนั้นเพิ่มและออกปากขอของคู่อย่างอื่น๑
๒. ภิกษุณีแสดงอานิสงส์แล้วจึงค่อยออกปากขอ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คือของที่ขอครั้งแรกนั้นไม่พอจึงขออีกและขอของที่พึงปรุงด้วยกัน เช่น ขอเนยใสก่อนแล้วขอน้ำมันอีก
เพื่อใช้ปรุงด้วยกัน (วิ.อ. ๒/๗๕๒/๔๘๓-๔๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๙๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
๑. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการให้ซื้อของอย่างหนึ่งแล้วให้ซื้อของอย่างอื่น

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๗๕๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นไข้ ลำดับนั้น
อุบาสกคนหนึ่งเข้าไปเยี่ยมภิกษุณีถุลลนันทาถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับภิกษุณี
ถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้ายังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ”
นางตอบว่า “ท่าน ดิฉันไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ”
เขาปวารณาว่า “แม่เจ้า กระผมฝากกหาปณะไว้ที่บ้านของเจ้าของร้านค้าชื่อ
โน้น ท่านใช้ให้คนไปนำสิ่งที่ต้องการมาเถิด ขอรับ”
ภิกษุณีถุลลนันทาสั่งสิกขมานารูปหนึ่งว่า “สิกขมานา เธอจงไปนำน้ำมันราคา
๑ กหาปณะมาจากบ้านของเจ้าของร้านค้าชื่อโน้น” ลำดับนั้น สิกขมานานั้นไป
นำน้ำมันราคา ๑ กหาปณะมาจากบ้านของเจ้าของร้านค้านั้นแล้วได้ถวายแก่ภิกษุณี
ถุลลนันทา
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวอย่างนี้ว่า “เราไม่ต้องการน้ำมัน แต่ต้องการเนยใส”
ลำดับนั้น สิกขมานานั้นกลับไปหาเจ้าของร้านค้าคนนั้นถึงที่ร้าน ครั้นถึงแล้ว
ได้กล่าวกับเจ้าของร้านค้านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้าไม่ต้องการน้ำมัน แต่ต้องการเนยใส
โปรดรับน้ำมันของท่านคืนไป โปรดให้เนยใสแก่ดิฉัน”
เจ้าของร้านค้าจึงตอบว่า “แม่เจ้า ถ้าเรารับของที่ขายไปกลับคืนอีก เมื่อไร
เราจึงจะขายสินค้าได้ ท่านซื้อน้ำมันตามราคาน้ำมันไปแล้ว ท่านจะเอาเนยใสก็จงนำ
เงินค่าเนยใสมา”
ครั้งนั้น สิกขมานานั้นได้ยืนร้องไห้ ภิกษุณีทั้งหลายจึงถามว่า “เธอร้องไห้
เพราะเหตุไร” เธอจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๙๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๕ สิกขาบทวิภังค์
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงสั่งให้ซื้อของอย่างหนึ่งแล้วให้ซื้อของอย่างอื่นเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาสั่งให้ซื้อของ
อย่างหนึ่งแล้วสั่งให้ซื้อของอย่างอื่น จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณี
ถุลลนันทาสั่งให้ซื้อของอย่างหนึ่งแล้วสั่งให้ซื้ออย่างอื่นเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๕๔] ก็ภิกษุณีใดสั่งให้ซื้อของอย่างหนึ่งแล้วสั่งให้ซื้อของอย่างอื่น
ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๕๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า สั่งให้ซื้อของอย่างหนึ่งแล้ว คือ สั่งให้ซื้อของอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๙๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๖ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า สั่งให้ซื้อของอย่างอื่น ความว่า สั่งให้ซื้อของอย่างอื่นนอกจากของที่
ให้สั่งให้ซื้อก่อนนั้น ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่สั่งให้ซื้อ ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์เพราะ
ได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่ภิกษุณีรูปหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละของที่เป็นนิสสัคคีย์นั้นอย่างนี้

วิธีสละของที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ของนี้
ดิฉันสั่งให้ซื้อของอย่างหนึ่งแล้วจึงสั่งให้ซื้อมา เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอสละของนี้แก่
สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนของที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ของนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่
สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย
ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่แม่เจ้า”
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนของนี้ให้แก่แม่เจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๙๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๗๕๖] ของอย่างอื่น ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอย่างอื่น สั่งให้ซื้อของอย่างอื่น
ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ของอย่างอื่น ภิกษุณีไม่แน่ใจ สั่งให้ซื้อของอย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
ของอย่างอื่น ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของอย่างอื่น สั่งให้ซื้อของอย่างอื่น ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ของอย่างอื่น ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นของอย่างอื่น สั่งให้ซื้อของที่ไม่ใช่อย่าง
อื่น ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของอย่างอื่น ภิกษุณีไม่แน่ใจ สั่งให้ซื้อของที่ไม่ใช่อย่างอื่น ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ไม่ใช่ของอย่างอื่น ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของอย่างอื่น ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๕๗] ๑. ภิกษุณีสั่งให้ซื้อของนั้นเพิ่มและสั่งให้ซื้อของคู่อย่างอื่น
๒. ภิกษุณีแสดงอานิสงส์แล้วสั่งให้ซื้อ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๙๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
๑. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนบริขารที่เขาถวายสงฆ์ข้อที่ ๑

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๗๕๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อุบาสกและอุบาสิการวบรวม
บริขาร๑ที่เขาให้ด้วยความพอใจเพื่อค่าจีวรถวายภิกษุณีสงฆ์แล้วฝากไว้ที่บ้านของคนขาย
ผ้าคนหนึ่งแล้วเข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย ได้กล่าวดังนี้ว่า “แม่เจ้า พวกเราฝาก
บริขารค่าจีวรไว้ที่บ้านของคนขายผ้าชื่อโน้น ท่านทั้งหลายโปรดให้ไวยาวัจกรไปนำ
จีวรจากบ้านนั้นมาแจกกันเถิด เจ้าข้า”
ภิกษุณีทั้งหลายให้เอาบริขารนั้นแลกเปลี่ยนเภสัชเองแล้วบริโภค
อุบาสกและอุบาสิกาทราบเข้า จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีจึงให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศ
ของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่สงฆ์ แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพวกอุบาสกและอุบาสิกาตำหนิ ประณาม โพนทะนา
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีจึงให้เอาบริขาร ที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศ
ของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่สงฆ์ แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า ฯลฯ” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ บริขาร หมายถึงกัปปิยภัณฑ์ คือของที่สมควรแก่ภิกษุณีสงฆ์ (กงฺขา.อ. ๓๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๙๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๖ สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีให้เอาบริขารที่เขา
ถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาค
แก่สงฆ์ แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นจริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
พวกภิกษุณีจึงให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวาย
อุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่สงฆ์ แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๕๙] ก็ภิกษุณีใดให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่าง
หนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่สงฆ์ แลกเปลี่ยนของ
อย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๖๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวาย
อุทิศของอย่างหนึ่ง คือ ของที่ทายกถวายเป็นมูลค่าปัจจัยอย่างหนึ่ง
คำว่า ที่เขาบริจาคแก่สงฆ์ คือ ที่เขาบริจาคเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ ไม่ใช่แก่
คณะ ไม่ใช่แก่บุคคล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๙๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๖ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ให้ ... แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ความว่า ให้แลกเปลี่ยนเป็นปัจจัย
อย่างอื่นนอกจากที่เขาถวายเจาะจงไว้ ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ให้แลกเปลี่ยน
ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่
ภิกษุณีรูปหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละของที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละของที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ของนี้ดิฉันให้
เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง
ที่เขาบริจาคแก่สงฆ์ แลกเปลี่ยนมา เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอสละของนี้แก่สงฆ์”
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนของที่เธอสละให้นั้นด้วยญัตติกรรม
วาจาว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ของนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอ
สละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
กราบเท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลาย ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่แม่เจ้า”
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนของนี้ให้แก่แม่เจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๐๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๗๖๑] ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็น
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ให้แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ให้แลกเปลี่ยน
ของอย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของที่เขา
ถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ให้แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีได้ของที่สละแล้วคืนมาพึงรวมกับปัจจัยที่เขาถวายไว้

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นของ
ที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๖๒] ๑. ภิกษุณีนำกัปปิยภัณฑ์ที่เหลือไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น
๒. ภิกษุณีขออนุญาตเจ้าของก่อนจึงนำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๐๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๑. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนบริขารที่เขาถวายสงฆ์ข้อที่ ๒

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๗๖๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อุบาสกและอุบาสิการวบรวม
บริขารที่เขาให้ด้วยความพอใจเพื่อค่าจีวรถวายภิกษุณีสงฆ์แล้วฝากไว้ที่บ้านของคน
ขายผ้าคนหนึ่งแล้วเข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย ได้กล่าวดังนี้ว่า “แม่เจ้า พวกเราฝาก
บริขารค่าจีวรไว้ที่บ้านของคนขายผ้าชื่อโน้น ท่านทั้งหลายโปรดให้ไวยาวัจกรไปนำ
จีวรจากบ้านนั้นมาแจกกันเถิด เจ้าข้า”
ภิกษุณีทั้งหลายขอให้เอาบริขารนั้นแลกเปลี่ยนเภสัชเองแล้วบริโภค
พวกอุบาสกและอุบาสิกาทราบเข้า จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีจึงให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวาย
อุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่สงฆ์ ที่ขอมาเอง แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินอุบาสกและอุบาสิกาตำหนิ ประณาม โพนทะนา
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณี
จึงให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของไว้
อย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่สงฆ์ ที่ขอมาเอง แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า” ครั้น
แล้วภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนั้นไปบอกภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุได้นำเรื่องนั้นไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีให้เอาบริขารที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๐๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๗ สิกขาบทวิภังค์
เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขา
บริจาคแก่สงฆ์ ที่ขอมาเอง แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นจริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูล
รับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัย
อย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่สงฆ์ ที่ขอมาเอง แลก
เปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลาย ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๖๔] ก็ภิกษุณีใดให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่าง
หนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่สงฆ์ ที่ขอมาเอง แลก
เปลี่ยนของอย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๖๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวาย
อุทิศของอย่างหนึ่ง คือ ของที่ทายกถวายเป็นมูลค่าปัจจัยอย่างหนึ่ง
คำว่า ที่เขาบริจาคแก่สงฆ์ คือ ที่เขาบริจาคเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ ไม่ใช่แก่
คณะ ไม่ใช่แก่บุคคล
คำว่า ที่ขอมาเอง คือ ขอมาแล้วเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๐๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๗ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ให้ ... แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ความว่า ให้แลกเปลี่ยนเป็นปัจจัย
อย่างอื่นนอกจากที่เขาถวายเจาะจงไว้ ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ให้แลกเปลี่ยนของ
นั้น เป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่
ภิกษุณีรูปหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละของที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละของที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ของนี้ดิฉัน
ให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่าง
หนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่สงฆ์ ที่ขอมาเอง แลกเปลี่ยนมา เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอ
สละของนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนของที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ของนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
กราบเท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลาย ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่
แม่เจ้า” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนของนี้ให้แก่แม่เจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๐๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๗๖๖] ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็น
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ให้แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ให้แลกเปลี่ยน
ของอย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของที่
เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ให้แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีได้ของที่สละแล้วคืนมาพึงรวมกับปัจจัยที่เขาถวายไว้

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นของ
ที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๖๗] ๑. ภิกษุณีนำกัปปิยภัณฑ์ที่เหลือไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น
๒. ภิกษุณีขออนุญาตเจ้าของก่อนจึงนำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๐๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
๑. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนบริขารที่เขาถวายคณะข้อที่ ๑

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๗๖๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายอาศัยอยู่ใน
บริเวณของสมาคมแห่งหนึ่ง อัตคัดข้าวต้ม สมาคมนั้นจึงรวบรวมบริขารที่เขาให้
ด้วยความพอเพื่อค่าข้าวต้มถวายภิกษุณีทั้งหลายแล้วฝากไว้ที่บ้านของเจ้าของ
ร้านค้าคนหนึ่งแล้วเข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย ได้กล่าวดังนี้ว่า “แม่เจ้า พวกเราฝาก
บริขารค่าข้าวต้มไว้ที่บ้านของเจ้าของร้านค้าชื่อโน้น ท่านทั้งหลายโปรดให้ไวยาวัจกร
ไปนำข้าวสารจากบ้านนั้นมาหุงต้มฉันเถิด เจ้าข้า”
ภิกษุณีทั้งหลายให้เอาบริขารนั้นแลกเปลี่ยนเภสัชแล้วบริโภค
สมาคมนั้นทราบเข้า จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึง
ให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่าง
หนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมาก แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินสมาคมนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงให้เอา
บริขาร ที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง
ที่เขาบริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมาก แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีให้เอาบริขารที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๐๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๘ สิกขาบทวิภังค์
เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขา
บริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมากแลกเปลี่ยนของอย่างอื่น จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูล
รับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุ
ทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่าง
หนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมากแลกเปลี่ยน
ของอย่างอื่นเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๖๙] ก็ภิกษุณีใดให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่าง
หนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมาก แลก
เปลี่ยนของอย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๗๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ นี้ที่พระผู้พระภาค
ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวาย
อุทิศของอย่างหนึ่ง คือ ของที่ทายกถวายเป็นมูลค่าปัจจัยอย่างหนึ่ง
คำว่า ที่เขาบริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมาก คือ ที่เขาบริจาคเพื่อประโยชน์
แก่คณะ ไม่ใช่แก่สงฆ์ ไม่ใช่แก่บุคคล
คำว่า ให้ ... แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ความว่า ให้แลกเปลี่ยนเป็นปัจจัย
อย่างอื่นนอกจากที่เขาถวายเจาะจงไว้ ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ให้แลกเปลี่ยน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๐๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๘ สิกขาบทวิภังค์
ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่
ภิกษุณีรูปเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละของที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละของที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ของนี้
ดิฉันให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของ
อย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมาก แลกเปลี่ยนมา เป็นนิสสัคคีย์
ดิฉันขอสละของนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนของที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ของนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
กราบเท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลาย ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง
กระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่แม่เจ้า”
ครั้นสละแล้วพึงแแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนของนี้ให้แก่แม่เจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๐๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๗๗๑] ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็น
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ให้แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ให้แลกเปลี่ยน
ของอย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของที่
เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ให้แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีได้ของที่สละแล้วคืนมาพึงรวมกับปัจจัยที่เขาถวายไว้

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นของ
ที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของ
ที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๗๒] ๑. ภิกษุณีนำกัปปิยภัณฑ์ที่เหลือไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น
๒. ภิกษุณีขออนุญาตเจ้าของก่อนจึงนำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๐๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๑. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนบริขารที่เขาถวายแก่คณะข้อที่ ๒

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๗๗๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายที่อาศัยอยู่ใน
บริเวณของสมาคมแห่งหนึ่ง อัตคัดข้าวต้ม สมาคมนั้นจึงรวบรวมบริขารที่เขาให้
ด้วยความพอใจเพื่อค่าข้าวต้มถวายภิกษุณีทั้งหลายแล้วฝากไว้ที่บ้านของเจ้าของ
ร้านค้าคนหนึ่งแล้วเข้าไปหาภิกษุณีทั้งหลาย ได้กล่าวดังนี้ว่า “แม่เจ้า พวกเราฝาก
บริขารค่าข้าวต้มไว้ที่บ้านของเจ้าของร้านค้าชื่อโน้น ท่านทั้งหลายโปรดให้ไวยาวัจกร
ไปนำข้าวสารจากบ้านนั้นมาหุงต้มฉันเถิด เจ้าข้า”
ภิกษุณีทั้งหลายขอให้เอาบริขารนั้นแลกเปลี่ยนเภสัชเองแล้วบริโภค
สมาคมนั้นทราบเข้า จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงให้
เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง
ที่เขาบริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมาก ที่ขอมาเอง แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินสมาคมนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงให้เอา
บริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง
ที่เขาบริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมาก ที่ขอมาเอง แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า” ครั้น
แล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีให้เอาบริขารที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๑๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๙ สิกขาบทวิภังค์
เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขา
บริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมาก ที่ขอมาเอง แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่
ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมาก
ที่ขอมาเอง แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๗๔] ก็ภิกษุณีใดให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่าง
หนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมาก ที่ขอ
มาเอง แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๗๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวาย
อุทิศของอย่างหนึ่ง คือ ของที่ทายกถวายเป็นมูลค่าปัจจัยอย่างหนึ่ง
คำว่า ที่เขาบริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมาก คือ ที่เขาบริจาคเพื่อประโยชน์
แก่คณะ ไม่ใช่แก่สงฆ์ ไม่ใช่แก่บุคคล
คำว่า ที่ขอมาเอง คือ ขอมาแล้วเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๑๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๙ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ให้ ... แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ความว่า ให้แลกเปลี่ยนเป็นปัจจัย
อย่างอื่นนอกจากที่เขาถวายเจาะจงไว้ ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ให้แลกเปลี่ยน
ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่
ภิกษุณีรูปเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละของที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละที่เป็นนิสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ของนี้ดิฉัน
ให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่าง
หนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่ภิกษุณีจำนวนมาก ที่ขอมาเอง แลกเปลี่ยนมา เป็นนิสสัคคีย์
ดิฉันขอสละของนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนของที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ของนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
กราบเท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลาย ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่
แม่เจ้า” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนของนี้ให้แก่แม่เจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๑๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๗๗๖] ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่า
เป็นของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ให้แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น
ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ให้แลก
เปลี่ยนของอย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของที่
เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ให้แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุณีได้ของที่สละแล้วคืนมาพึงรวมกับปัจจัยที่เขาถวายไว้

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นของ
ที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของ
ที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๗๗] ๑. ภิกษุณีนำกัปปิยภัณฑ์ที่เหลือไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น
๒. ภิกษุณีขออนุญาตเจ้าของก่อนจึงนำไปใช้เพื่อประโยช์อย่างอื่น
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๑๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ นิทานวัตถุ
๑. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนบริขารที่เขาถวายแก่บุคคล

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๗๗๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็น
นักพูด แกล้วกล้า สามารถกล่าวธรรมีกถา คนจำนวนมากเข้าไปหาภิกษุณีถุลล
นันทานั้น สมัยนั้น บริเวณที่อยู่ของภิกษุณีถุลลนันทาชำรุด ชาวบ้านได้กล่าวกับ
ภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า เพราะเหตุไรบริเวณที่อยู่ของท่านจึงชำรุดเล่า”
นางตอบว่า “เพราะไม่มีทายก ผู้ก่อสร้างซ่อมแซมก็ไม่มี”
คนทั้งหลายจึงรวบรวมบริขารที่เขาให้ด้วยความพอใจเป็นค่าบูรณะบริเวณถวาย
ภิกษุณีถุลลนันทา แต่ภิกษุณีถุลลนันทาขอให้เอาบริขารนั้นแลกเปลี่ยนเภสัชเอง
แล้วบริโภค
พวกชาวบ้านทราบเรื่องเข้า จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้า
ถุลลนันทาจึงให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวาย
อุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่บุคคล ที่ขอมาเอง แลกเปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้เอาบริขาร
ที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขา
บริจาคแก่บุคคลที่ขอมาเอง แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๑๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ สิกขาบทวิภังค์
รับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุ
ทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัย
อย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่บุคคล ที่ขอมาเอง แลก
เปลี่ยนของอย่างอื่นเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อม
ใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๗๙] ก็ภิกษุณีใดให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่าง
หนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของอย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่บุคคล ที่ขอมาเอง แลก
เปลี่ยนของอย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๘๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวาย
อุทิศของอย่างหนึ่ง คือ ของที่ทายกถวายเป็นมูลค่าปัจจัยอย่างหนึ่ง
คำว่า ที่เขาบริจาคแก่บุคคล คือ ที่เขาบริจาคเพื่อประโยชน์แก่บุคคล ไม่
ใช่แก่สงฆ์ ไม่ใช่แก่คณะ
คำว่า ที่ขอมาเอง คือ ขอมาแล้วเอง
คำว่า ให้ ... แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ความว่า ให้แลกเปลี่ยนปัจจัยอย่าง
อื่นนอกจากที่เขาถวายเจาะจงไว้ ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ให้แลกเปลี่ยน ของนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๑๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ สิกขาบทวิภังค์
เป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่ภิกษุณี
รูปเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละของที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละของที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ของนี้
ดิฉันให้เอาบริขารที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่เขาถวายอุทิศของ
อย่างหนึ่ง ที่เขาบริจาคแก่บุคคลที่ขอมาเอง แลกเปลี่ยนมา เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉัน
ขอสละของนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนของที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา
ว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ของนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละ
แก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
กราบเท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลาย ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนของนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละของนี้แก่แม่เจ้า”
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนของนี้ให้แก่แม่เจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๑๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๗๘๑] ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็น
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ให้แลกเปลี่ยนของอย่างอื่น ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ให้แลกเปลี่ยน
ของอย่างอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของที่เขา
ถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ให้แลกเปลี่ยนของอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
ภิกษุณีได้ของที่สละแล้วคืนมาพึงรวมกับปัจจัยที่เขาถวายไว้เดิม

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นของ
ที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่
ของที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยอย่างหนึ่ง ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๘๒] ๑. ภิกษุณีนำกัปปิยภัณฑ์ที่เหลือไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น
๒. ภิกษุณีขออนุญาตเจ้าของก่อนจึงนำไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๑๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ นิทานวัตถุ
๑. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ ๑๑
ว่าด้วยการขอผ้าห่มหนาในฤดูหนาว

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๗๘๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็น
นักพูด แกล้วกล้า สามารถกล่าวธรรมีกถา สมัยนั้นในฤดูหนาว พระเจ้าปเสนทิโกศล
ทรงผ้ากัมพลราคาแพงเข้าไปหาภิกษุณีถุลลนันทาถึงที่อยู่ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง
ณ ที่สมควร ภิกษุณีถุลลนันทาชี้แจงให้พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควร
เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ซึ่งภิกษุณีถุลลนันทา
ชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้ตรัสกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า
ท่านต้องการสิ่งใดก็โปรดได้บอกเถิด”
ภิกษุณีถุลลนันทานั้นทูลว่า “ขอถวายพระพร ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์
จะพระราชทาน ก็ขอได้โปรดพระราชทานผ้ากัมพลผืนนี้เถิด”
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลถวายผ้ากัมพลผืนนั้นแก่ภิกษุณีถุลลนันทา เสด็จ
ลุกจากที่ประทับนั่งทรงอภิวาทภิกษุณีถุลลนันทาแล้วทำประทักษิณเสด็จจากไป
พวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พวกภิกษุณีเป็นคนมักมาก
ไม่สันโดษ ไฉนจึงออกปากทูลขอผ้ากัมพลจากพระราชาเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงออกปาก
ทูลขอผ้ากัมพลจากพระราชาเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๑๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาออกปากทูล
ขอผ้ากัมพลจากพระราชา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงออกปากทูลขอผ้ากัมพลจากพระราชาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิ
ได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๘๔] ก็ภิกษุณีเมื่อจะขอผ้าห่มหนา พึงขอได้เพียงราคา ๔ กังสะ๑ เป็น
อย่างมาก ถ้าขอเกินกว่านั้น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์๒
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๘๕] ที่ชื่อว่า ผ้าห่มหนา ได้แก่ ผ้าห่มชนิดหนึ่งที่ใช้ห่มในฤดูหนาว๓
คำว่า เมื่อจะขอ คือ เมื่อจะออกปากขอ
คำว่า พึงขอได้เพียงราคา ๔ กังสะ คือ พึงขอผ้าที่มีราคา ๑๖ กหาปณะได้
คำว่า ถ้าขอเกินกว่านั้น ความว่า ภิกษุณีออกปากขอผ้าราคาเกินกว่านั้น
ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ขอ ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือ เป็นของจำต้อง
สละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่ภิกษุณีรูปเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ๑ กังสะ เท่ากับ ๔ กหาปณะ, ๔ กังสะ จึงเท่ากับ (๔x๔) ๑๖ กหาปณะ (กงฺขา.อ. ๓๖๒)
๒ หมายความว่า ภิกษุณีขอจากคนอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ แต่ถ้าขอจากสหธรรมิก ญาติและ
คนปวารณา แม้จะราคาเกิน ๔ กังสะ ก็ไม่ต้องอาบัติ (กงฺขา.อ. ๓๖๒)
๓ หมายถึงผ้าห่มเนื้อหนาสำหรับห่มในฤดูหนาว (สีตกาเล หิ มนุสฺสา ถูลปาวุรณํ ปารุปนฺติ -ปาจิตฺยาทิ-
โยชนา ๗๘๔/๑๕๘ ม.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๑๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ บทภาชนีย์
วิธีสละผ้าห่มที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ผ้าห่ม
หนาผืนนี้ราคาเกิน ๔ กังสะดิฉันขอมา เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอสละผ้าห่มหนาผืนนี้
แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนผ้าห่มหนาที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรม
วาจาว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้าห่มหนาผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้ เป็นนิสสัคคีย์
เธอสละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนผ้าห่มหนาผืนนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย
ฯลฯ ดิฉันขอสละผ้าห่มหนาผืนนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนผ้าห่มหนาผืนนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละผ้าห่มหนา
ผืนนี้แก่แม่เจ้า” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนผ้าห่มหนาผืนนี้ให้แก่แม่เจ้า”

บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๗๘๖] ผ้าห่มหนาราคาเกิน ๔ กังสะ ภิกษุณีสำคัญว่าเกิน ขอ ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๒๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ อนาปัตติวาร
ผ้าห่มหนาราคาเกิน ๔ กังสะ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ขอ ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
ผ้าห่มหนาราคาเกิน ๔ กังสะ ภิกษุณีสำคัญว่ามีราคาหย่อนกว่า ขอ ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ผ้าห่มหนาราคาหย่อนกว่า ๔ กังสะ ภิกษุณีสำคัญว่าเกิน ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าห่มหนาราคาหย่อนกว่า ๔ กังสะ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าห่มหนาราคาหย่อนกว่า ๔ กังสะ ภิกษุณีสำคัญว่าหย่อนกว่า ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๘๗] ๑. ภิกษุณีขอผ้าห่มหนาราคา ๔ กังสะเป็นอย่างมาก
๒. ภิกษุณีขอผ้าห่มหนาราคาหย่อนกว่า ๔ กังสะ
๓. ภิกษุณีขอจากญาติ
๔. ภิกษุณีขอจากคนปวารณา
๕. ภิกษุณีขอเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
๖. ภิกษุณีซื้อมาด้วยทรัพย์ของตน
๗. ภิกษุณีจ่ายผ้าราคาถูก แต่ทายกผู้ต้องการให้จ่ายผ้าราคาแพง
๘. ภิกษุณีวิกลจริต
๙. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๒๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ นิทานวัตถุ
๑. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ ๑๒
ว่าด้วยการขอผ้าห่มบางในฤดูร้อน

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๗๘๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็น
นักพูด แกล้วกล้า สามารถกล่าวธรรมีกถา สมัยนั้นในฤดูร้อน พระเจ้าปเสนทิโกศล
ทรงผ้าเปลือกไม้ราคาแพง เข้าไปหาภิกษุณีถุลลนันทาถึงที่อยู่ ทรงอภิวาทแล้ว
ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ภิกษุณีถุลลนันทาชี้แจงให้พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ประทับนั่ง
ณ ที่สมควรให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ซึ่งภิกษุณี
ถุลลนันทาชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้ตรัสกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า
“แม่เจ้า ท่านต้องการสิ่งใดก็โปรดได้บอกเถิด”
ภิกษุณีถุลลนันทานั้นทูลว่า “ขอถวายพระพร ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์
จะพระราชทาน ก็ขอได้โปรดพระราชทานผ้าเปลือกไม้ผืนนี้เถิด”
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลถวายผ้าเปลือกไม้ผืนนั้นแก่ภิกษุณีถุลลนันทา
เสด็จลุกจากที่ประทับนั่งแล้วทรงอภิวาทภิกษุณีถุลลนันทาแล้ว ทำประทักษิณเสด็จ
จากไป
พวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พวกภิกษุณีเป็นคนมักมาก
ไม่สันโดษ ไฉนจึงออกปากทูลขอผ้าเปลือกไม้จากพระราชาเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๒๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ สิกขาบทวิภังค์
จึงออกปากทูลขอผ้าเปลือกไม้จากพระราชาเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำ
เรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาออกปาก
ทูลขอผ้าเปลือกไม้จากพระราชา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงออกปากทูลขอผ้าเปลือกไม้จากพระราชาเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่
แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๘๙] ก็ภิกษุณีเมื่อจะขอผ้าห่มบาง พึงขอได้เพียงราคา ๒ กังสะครึ่ง
เป็นอย่างมาก ถ้าขอเกินกว่านั้น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๙๐] ที่ชื่อว่า ผ้าห่มบาง ได้แก่ ผ้าห่มชนิดหนึ่งที่ใช้ในฤดูร้อน๑
คำว่า เมื่อจะขอ คือ เมื่อจะออกปากขอ
คำว่า พึงขอได้เพียงราคา ๒ กังสะครึ่งเป็นอย่างมาก คือ พึงขอผ้ามีราคา
๑๐ กหาปณะได้

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงผ้าห่มเนื้อบางสำหรับห่มในฤดูร้อน (อุณฺหกาเล หิ มนุสฺสา สุขุมปาวุรณํ ปารุปนฺติ -ปาจิตฺยาทิ-
โยชนา ๗๘๙/๑๕๘ ม.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๒๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ถ้าขอเกินกว่านั้น ความว่า ภิกษุณีออกปากขอผ้าราคาเกินกว่านั้น
ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ขอ ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้อง
สละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่ภิกษุณีรูปเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละผ้าห่มบางที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

วิธีสละผ้าห่มที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ผ้าห่ม
บางผืนนี้ราคาเกิน ๒ กังสะครึ่ง ดิฉันขอมา เป็นนิสสัคคีย์ ดิฉันขอสละผ้าห่ม
บางผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนผ้าห่มบางที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรม
วาจาว่า “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้าห่มบางผืนนี้ของภิกษุณีชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์
เธอสละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคืนผ้าห่มบางผืนนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
กราบเท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลาย ฯลฯ ดิฉันขอสละผ้าห่มบางผืนนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึง
แสดงอาบัติ
“ฯลฯ พึงคืนผ้าห่มบางผืนนี้ให้แก่ภิกษุณีชื่อนี้”

สละแก่บุคคล
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ฯลฯ ดิฉันขอสละผ้าห่มบาง
ผืนนี้แก่แม่เจ้า” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ
ฯลฯ “ดิฉันคืนผ้าห่มบางผืนนี้ให้แก่แม่เจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๒๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] ๑. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๗๙๑] ผ้าห่มบางราคาเกิน ๒ กังสะครึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเกิน ขอ ต้อง
อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ผ้าห่มบางราคาเกิน ๒ กังสะครึ่ง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ขอ ต้องอาบัตินิสสัคคิย
ปาจิตตีย์
ผ้าห่มบางราคาเกิน ๒ กังสะครึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าหย่อนกว่า ขอ ต้องอาบัติ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ผ้าห่มบางราคาหย่อนกว่า ๒ กังสะครึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าเกิน ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ผ้าห่มบางราคาหย่อนกว่า ๒ กังสะครึ่ง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าห่มบางราคาหย่อนกว่า ๒ กังสะครึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่าหย่อนกว่า ไม่
ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๙๒] ๑. ภิกษุณีขอผ้าห่มบางราคา ๒ กังสะครึ่งเป็นอย่างมาก
๒. ภิกษุณีขอผ้าห่มบางราคาหย่อนกว่า ๒ กังสะครึ่ง
๓. ภิกษุณีขอจากญาติ
๔. ภิกษุณีขอจากคนปวารณา
๕. ภิกษุณีขอเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
๖. ภิกษุณีซื้อมาด้วยทรัพย์ของตน
๗. ภิกษุณีจ่ายผ้าราคาถูกต่อทายกผู้ต้องการให้จ่ายผ้าราคาแพง
๘. ภิกษุณีวิกลจริต
๙. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๒๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๓. นิสสัคคิยกัณฑ์] บทสรุป
บทสรุป
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท๑ ข้าพเจ้ายกขึ้น
แสดงแล้ว
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลายในธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท
เหล่านั้นว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
นิสสัคคิยกัณฑ์ในภิกขุนีวิภังค์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ของภิกษุณีมี ๓๐ สิกขาบท ในภิกขุนีวิภังค์นี้แสดงเฉพาะอสาธารณสิกขาบท คือ
ภิกษุสงฆ์ไม่ต้องรักษาเพียง ๑๒ สิกขาบท ที่เหลือ ๑๘ สิกขาบท คือ
๑. ปฐมกฐินสิกขาบทที่ ๑ แห่งจีวรวรรคของภิกษุสงฆ์
๒. อุทโทสิตสิกขาบทที่ ๒ แห่งจีวรวรรคของภิกษุสงฆ์
๓. ตติยกฐินสิกขาบทที่ ๓ แห่งจีวรวรรคของภิกษุสงฆ์
๔. อัญญาตกวิญญัติสิกขาบทที่ ๖ แห่งจีวรวรรคของภิกษุสงฆ์
๕. ตตุตตริสิกขาบทที่ ๗ แห่งจีวรวรรคของภิกษุสงฆ์
๖. อุปักขฏสิกขาบทที่ ๘ แห่งจีวรวรรคของภิกษุสงฆ์
๗. ทุติยอุปักขฏสิกขาบทที่ ๙ แห่งจีวรวรรคของภิกษุสงฆ์
๘. ราชสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งจีวรวรรคของภิกษุสงฆ์
๙. รูปิยสิกขาบทที่ ๘ แห่งโกสิยวรรคของภิกษุสงฆ์
๑๐. รูปิยสังโวหารสิกขาบทที่ ๙ แห่งโกสิยวรรคของภิกษุสงฆ์
๑๑. กยวิกกยสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งโกสิยวรรคของภิกษุสงฆ์
๑๒. อูนปัญจพันธนสิกขาบทที่ ๒ แห่งปัตตวรรคของภิกษุสงฆ์
๑๓. เภสัชชสิกขาบทที่ ๓ แห่งปัตตวรรคของภิกษุสงฆ์
๑๔. จีวรอัจฉิทนสิกขาบทที่ ๕ แห่งปัตตวรรคของภิกษุสงฆ์
๑๕. สุตตวิญญัตติสิกขาบทที่ ๖ แห่งปัตตวรรคของภิกษุสงฆ์
๑๖. มหาเปสการสิกขาบทที่ ๗ แห่งปัตตวรรคของภิกษุสงฆ์
๑๗. อัจเจกจีวรสิกขาบทที่ ๘ แห่งปัตตวรรคของภิกษุสงฆ์
๑๘. ปริณตสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งปัตตวรรคของภิกษุสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๒๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๔. ปาจิตติยกัณฑ์
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือปาจิตตีย์ ๑๖๖ สิกขาบทเหล่านี้มาถึงวาระที่จะยก
ขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ

๑. ลสุณวรรค
หมวดว่าด้วยกระเทียม

สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการขอกระเทียม

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๗๙๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่งปวารณาด้วย
กระเทียมกับภิกษุณีสงฆ์ไว้ว่า “กระผมขอปวารณาแม่เจ้าทั้งหลายที่ต้องการกระเทียม
ด้วยกระเทียม” และสั่งคนเฝ้าไร่ว่า “ถ้าภิกษุณีทั้งหลายมาก็จงถวายเธอไปรูปละ
๒-๓ กำ”
ครั้งนั้นมีมหรสพในกรุงสาวัตถี กระเทียมที่เขานำมาเก็บไว้ได้หมดลง ภิกษุณี
ทั้งหลายเข้าไปหาอุบาสกนั้นได้กล่าวดังนี้ว่า “พวกเราต้องการกระเทียม”
อุบาสกนั้นกล่าวว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย กระเทียมไม่มี กระเทียมที่เขานำมาเก็บ
ไว้หมดแล้ว ท่านทั้งหลายโปรดไปที่ไร่”
ภิกษุณีถุลลนันทาไปที่ไร่แล้วให้นำกระเทียมไปเป็นจำนวนมากโดยไม่รู้จักประมาณ
คนเฝ้าไร่จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า ๊ ไฉนพวกภิกษุณีจึงไปที่ไร่แล้วให้นำ
กระเทียมไปเป็นจำนวนมากโดยไม่รู้จักประมาณเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเฝ้าไร่ตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๒๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
ให้นำกระเทียมไปเป็นจำนวนมากโดยไม่รู้จักประมาณเล่า” ครั้นแล้วภิกษุณีเหล่านั้น
ได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้นำ
กระเทียมไปเป็นจำนวนมากโดยไม่รู้จักประมาณ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงให้นำกระเทียมไปเป็นจำนวนมากโดยไม่รู้จักประมาณเล่า
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริงกลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใส
ไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป” ครั้นทรงตำหนิภิกษุณี
ถุลลนันทาโดยประการต่าง ๆ แล้ว ทรงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายให้เหมาะ
สมให้คล้อยตามกับเรื่องนั้น รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุณีถุลลนันทาเคยเป็นภรรยาของพราหมณ์
คนหนึ่ง มีธิดา ๓ คน ชื่อนันทา นันทวดี สุนทรีนันทา ภิกษุทั้งหลาย ต่อมา
พราหมณ์นั้นตายไปเกิดเป็นหงส์ตัวหนึ่ง มีขนเป็นทองคำล้วน หงส์นั้นมาสลัดขน
ทองคำให้แก่ธิดาเหล่านั้นคนละขน ต่อมาภิกษุณีถุลลนันทาคิดว่า “หงส์ตัวนี้สลัด
ขนให้พวกเราคนละขนเท่านั้น” จึงจับพญาหงส์ถอนขนจนหมด แต่ขนที่งอกขึ้นใหม่
กลายเป็นสีขาว ในครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเสื่อมจากทองคำเพราะความโลภเกินไป
บัดนี้ก็เสื่อมจากกระเทียม
ได้สิ่งใด ควรพอใจสิ่งนั้น
ความโลภเกินไปเป็นความชั่วร้าย
(เหมือน)ถุลลนันทาจับพญาหงส์แล้วเสื่อมจากทอง”๑

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา. ๒๗/๑๓๖/๓๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๒๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์
ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิภิกษุณีถุลลนันทาโดยประการต่าง ๆ แล้ว
รับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๙๔] ก็ภิกษุณีใดฉันกระเทียม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๗๙๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า กระเทียม พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงกระเทียมชื่อมาคธิกะ๑
ภิกษุณีรับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๗๙๖] กระเทียม ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกระเทียม ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กระเทียม ภิกษุณีไม่แน่ใจ ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กระเทียม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่กระเทียม ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “มาคธิกะ” เป็นชื่อเฉพาะของกระเทียมพันธุ์นี้ เพราะเกิดในแคว้นมคธ กระเทียมชนิดนี้ หนึ่ง
ต้นจะมีหลายหัวติดกันเป็นพวง ไม่ใช่หัวเดียว (วิ.อ. ๒/๗๙๕/๔๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๒๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่กระเทียม ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกระเทียม ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่กระเทียม ภิกษุณีไม่แน่ใจ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่กระเทียม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่กระเทียม ฉัน ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๙๗] ๑. ภิกษุณีฉันกระเทียมเหลือง๑
๒. ภิกษุณีฉันกระเทียมแดง
๓. ภิกษุณีฉันกระเทียมเขียว
๔. ภิกษุณีฉันกระเทียมต้นเดี่ยว
๕. ภิกษุณีฉันกระเทียมปรุงในแกง
๖. ภิกษุณีฉันกระเทียมปรุงในเนื้อ
๗. ภิกษุณีฉันกระเทียมเจียวน้ำมัน
๘. ภิกษุณีฉันกระเทียมปรุงในยำผักสด
๙. ภิกษุณีฉันกระเทียมปรุงในแกงอ่อม
๑๐. ภิกษุณีวิกลจริต
๑๑. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กระเทียมชนิดอื่นๆ มีลักษณะต่างจากกระเทียมมาคธิกะ เฉพาะสีและเยื่อเท่านั้น (วิ.อ. ๒/๗๙๗/๔๘๘)
แต่พระวินัยปิฎก ฉบับ “PALI TEXT SOCIETY กล่าวว่า คำว่า “กระเทียมเหลือง” หมายถึงหัวหอม
“กระเทียมแดง” หมายถึงหัวผักกาด “กระเทียมเขียว” หมายถึงสมอเหลือง (ดู The Book of the
Discipline Vol.III, PP ๒๔๕, PTS.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๓๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๑. ลสุณวรรค

สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการถอนขนในที่แคบ

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๗๙๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ให้ถอนขน
ในที่แคบเปลือยกายอาบน้ำท่าเดียวกันกับพวกหญิงแพศยาในแม่น้ำอจิรวดี พวก
หญิงแพศยาตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงให้ถอนขนในที่
แคบเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพวกหญิงแพศยาตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดา
ภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณี
ฉัพพัคคีย์จึงให้ถอนขนในที่แคบเล่า” ครั้นแล้วภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ให้ถอนขน
ในที่แคบ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงให้ถอนขน
ในที่แคบเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๗๙๙] ก็ภิกษุณีใดให้ถอนขนในที่แคบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๓๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๘๐๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ที่แคบ คือ รักแร้ทั้ง ๒ ข้าง บริเวณองค์กำเนิด
คำว่า ให้ถอน คือ ให้ถอนขนแม้เส้นเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ให้ถอน
ขนหลายเส้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๐๑] ๑. ภิกษุณีถอนขนเพราะอาพาธเป็นเหตุ๑
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คือเพราะเป็นหิด เพราะคัน (วิ.อ. ๒/๘๐๑/๔๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๓๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
๑. ลสุณวรรค

สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการสัมผัสองค์กำเนิด

เรื่องภิกษุณี ๒ รูป
[๘๐๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณี ๒ รูปถูกความไม่ยินดี
บีบคั้น จึงเข้าไปสู่ห้องชั้นในแล้วใช้ฝ่ามือตบองค์กำเนิดกัน ภิกษุณีทั้งหลายพากัน
วิ่งเข้าไปตามเสียงนั้นแล้ว ได้กล่าวกับภิกษุณีทั้ง ๒ รูปนั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า ทำไม
พวกท่านจึงทำมิดีมิร้ายกับชายเล่า๑
ภิกษุณีทั้งสองตอบว่า “พวกดิฉันไม่ได้ทำมิดีมิร้ายกับชาย” แล้วเล่าเรื่องนั้น
ให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีทั้งหลายจึงใช้มือตบองค์กำเนิดกันเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่อง
นี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีทั้งหลายใช้ฝ่ามือตบ
องค์กำเนิดกัน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้
มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีทั้งหลายจึงใช้ฝ่า
มือตบองค์กำเนิดกันเล่า ภิกษุทั้งหลาย การทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงมีความสัมพันธ์กันในทางชู้สาว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๓๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๘๐๓] ภิกษุณีต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะใช้ฝ่ามือตบองค์กำเนิด
เรื่องภิกษุณี ๒ รูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๐๔] ที่ชื่อว่า ใช้ฝ่ามือตบองค์กำเนิด คือ ภิกษุณียินดีการสัมผัส โดย
ที่สุดใช้กลีบบัวตีที่องค์กำเนิด ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๐๕] ๑. ภิกษุณีสัมผัสเพราะอาพาธเป็นเหตุ๑
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คือจะบีบฝีหรือแผล (วิ.อ. ๒/๘๐๕/๔๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๓๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๑. ลสุณวรรค

สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการใช้ท่อนยาง

เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง
[๘๐๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อดีตนางสนมของพระราชาไปบวช
อยู่ในสำนักภิกษุณี ภิกษุณีรูปหนึ่งถูกความไม่ยินดียิ่งบีบคั้น จึงเข้าไปหาภิกษุณี(ผู้
เคยเป็นนางสนม)นั้นถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า
พระราชาเสด็จไปหาท่านนาน ๆ ครั้ง ท่านทนอยู่ได้อย่างไร”
ภิกษุณีนั้นตอบว่า “แม่เจ้า ดิฉันใช้ท่อนยาง”
ภิกษุณีนั้นถามว่า “แม่เจ้า ท่อนยางนี่เป็นอย่างไร”
ลำดับนั้น ภิกษุณีผู้เคยเป็นนางสนมบอกท่อนยางแก่ภิกษุณีนั้น ต่อมา
ภิกษุณีนั้นใช้ท่อนยางแล้วลืมล้างวางทิ้งไว้ในที่แห่งหนึ่ง ภิกษุณีทั้งหลายเห็นท่อน
ยางมีแมลงวันตอมจึงถามว่า “นี่เป็นการกระทำของใคร”
ภิกษุณีนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “นี้เป็นการกระทำของดิฉันเอง”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงใช้ท่อนยางเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีใช้ท่อนยาง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๓๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
ว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงใช้ท่อนยางเล่า ภิกษุทั้งหลาย การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้

พระบัญญัติ
[๘๐๗] ภิกษุณีต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะใช้ท่อนยาง
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๐๘] ที่ชื่อว่า ท่อนยาง ได้แก่ สิ่งที่ทำด้วยยาง ท่อนยางที่ทำด้วยไม้
ท่อนยางที่ทำด้วยแป้ง ท่อนยางที่ทำด้วยดิน ภิกษุณียินดีการสัมผัสโดยที่สุดแม้
สอดกลีบอุบลเข้าองค์กำเนิด ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๐๙] ๑. ภิกษุณีใช้ท่อนยางเพราะอาพาธเป็นเหตุ
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๓๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
๑. ลสุณวรรค

สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการใช้น้ำชำระ

เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี
[๘๑๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขต
กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ถวายอภิวาทแล้วยืนในที่ใต้ลม กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค มาตุคามกลิ่นไม่ดี”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุณีทั้งหลายจงใช้น้ำชำระทำความสะอาด”
ทรงชี้แจงให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น พระนาง
มหาปชาบดีโคตมีผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ถวาย
อภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีใช้น้ำชำระทำความสะอาดได้”
เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี จบ

เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง
สมัยนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำชำระทำ
ความสะอาด” จึงใช้น้ำชำระทำความสะอาดลึกเกินไป ทำให้เกิดแผลขึ้นที่องค์กำเนิด
ครั้งนั้น เธอบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ
พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีใช้น้ำชำระทำความสะอาดลึกเกิน
ไปเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวก
ภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๓๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๕ สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนั้นเป็นต้นเหตุ
ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีใช้น้ำชำระทำ
ความสะอาดลึกเกินไป จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงใช้น้ำ
ชำระทำความสะอาดลึกเกินไปเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๘๑๑] ก็ภิกษุณีผู้จะใช้น้ำชำระทำความสะอาด พึงใช้น้ำชำระทำความ
สะอาดลึกเพียง ๒ ข้อองคุลีเป็นอย่างมาก ให้เกินกำหนดนั้น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๑๒] ที่ชื่อว่า น้ำชำระทำความสะอาด พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงน้ำ
ชำระบริเวณองค์กำเนิด
คำว่า ผู้จะใช้ คือ ผู้ชะล้าง
คำว่า พึงใช้น้ำชำระทำความสะอาดลึกเพียง ๒ ข้อองคุลีเป็นอย่างมาก
คือใช้น้ำชำระลึกเพียง ๒ ข้อใน ๒ องคุลีเป็นอย่างมาก
คำว่า ให้เกินกำหนดนั้น ความว่า ภิกษุณียินดีการสัมผัสให้ล่วงเลยเข้าไป
โดยที่สุดเพียงปลายเส้นผม ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๓๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๘๑๓] เกิน ๒ ข้อองคุลี ภิกษุณีสำคัญว่าเกิน ชำระ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เกิน ๒ ข้อองคุลี ภิกษุณีไม่แน่ใจ ชำระ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เกิน ๒ ข้อองคุลี ภิกษุณีสำคัญว่าหย่อนกว่า ชำระ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
หย่อนกว่า ๒ ข้อองคุลี ภิกษุณีสำคัญว่าเกิน ต้องอาบัติทุกกฏ
หย่อนกว่า ๒ ข้อองคุลี ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
หย่อนกว่า ๒ ข้อองคุลี ภิกษุณีสำคัญว่าหย่อนกว่า ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๑๔] ๑. ภิกษุณีชำระลึกเพียง ๒ ข้อองคุลีเป็นอย่างมาก
๒. ภิกษุณีชำระลึกไม่ถึง ๒ ข้อองคุลี
๓. ภิกษุณีชำระลึกเกินเพราะอาพาธเป็นเหตุ
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๓๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
๑. ลสุณวรรค

สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการปรนนิบัติ

เรื่องภิกษุณีอดีตภรรยามหาอมาตย์
[๘๑๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น มหาอมาตย์ชื่ออาโรหันตะบวช
ในสำนักภิกษุ อดีตภรรยาของท่านบวชในสำนักภิกษุณี ต่อมา ภิกษุนั้นร่วมฉัน
ภัตตาหารในสำนักของภิกษุณีนั้น ขณะที่ท่านกำลังฉัน ภิกษุณีนั้นเข้าไปยืน
ปรนนิบัติอยู่ใกล้ ๆ ด้วยน้ำฉันและการพัดวี พูดเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว พูดมาก
เกินไป ลำดับนั้น ภิกษุนั้นจึงต่อว่าภิกษุณีนั้นว่า “น้องหญิงอย่าได้ทำอย่างนี้
เรื่องนี้ไม่สมควร”
ภิกษุณีนั้นกล่าวว่า “เมื่อก่อนท่านทำอย่างนี้ ๆ กับดิฉัน บัดนี้ เพียงเท่านี้
ก็ทนไม่ได้” จึงครอบขันน้ำลงบนศีรษะแล้วใช้พัดตี
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงตีภิกษุเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีตีภิกษุ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ
ว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงตีภิกษุเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่าง
นี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๔๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๖ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๘๑๖] ก็ภิกษุณีใดปรนนิบัติภิกษุผู้กำลังฉันอยู่ด้วยน้ำดื่มหรือด้วยการพัดวี
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องอดีตภรรยาของมหาอมาตย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๑๗] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ ภิกษุณีนี้พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ภิกษุ คือ อุปสัมบัน
คำว่า ผู้กำลังฉันอยู่ คือ ผู้กำลังฉันโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่ชื่อว่า น้ำดื่ม ได้แก่ น้ำดื่มชนิดใดชนิดหนึ่ง
ที่ชื่อว่า การพัดวี ได้แก่ พัดชนิดใดชนิดหนึ่ง
คำว่า ปรนนิบัติอยู่ ความว่า ยืนอยู่ในระยะหัตถบาส ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๘๑๘] อุปสัมบัน๑ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ปรนนิบัติอยู่ด้วยน้ำดื่ม
หรือการพัดวี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ปรนนิบัติอยู่ด้วยน้ำดื่มหรือการพัดวี ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ “อุปสัมบัน” ในที่นี้หมายถึงภิกษุที่ภิกษุณีนั้นปรนนิบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๔๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ปรนนิบัติอยู่ด้วยน้ำดื่มหรือการ
พัดวี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุณีปรนนิบัติอยู่นอกหัตถบาส ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุกำลังเคี้ยวของเคี้ยว ภิกษุณีเข้าไปปรนนิบัติ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีเข้าไปปรนนิบัติอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๑๙] ๑. ภิกษุณีถวาย
๒. ภิกษุณีให้คนอื่นถวาย
๓. ภิกษุณีสั่งอนุปสัมบันให้ปรนนิบัติ
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๔๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๑. ลสุณวรรค

สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการขอข้าวเปลือกดิบ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๘๒๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ในฤดูเก็บเกี่ยว พวกภิกษุณี
ออกปากขอข้าวเปลือกดิบ นำไปในเมือง พอถึงประตูเมือง พวกคนเฝ้าประตูกักตัว
ไว้โดยกล่าวว่า “แม่เจ้า ท่านทั้งหลายโปรดให้ส่วนแบ่งบ้าง” แล้วปล่อยไป ครั้น
กลับถึงสำนักได้บอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีจึงออกปากขอข้าวเปลือกดิบเล่า”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึง
ได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีออกปากขอข้าว
เปลือกดิบจริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงออกปากขอข้าว
เปลือกดิบ ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๘๒๑] ก็ภิกษุณีใดออกปากขอหรือใช้ให้ออกปากขอ คั่วหรือใช้ให้คั่ว
ตำหรือใช้ให้ตำ หุงหรือใช้ให้หุงข้าวเปลือกดิบแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๔๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๘๒๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ข้าวเปลือกดิบ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวละมาน
ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้๑
คำว่า ออกปากขอ คือ ออกปากขอเอง
คำว่า ใช้ให้ออกปากขอ คือ ใช้ผู้อื่นให้ออกปากขอ
คำว่า คั่ว คือ คั่วเอง
คำว่า ใช้ให้คั่ว คือ ใช้ผู้อื่นให้คั่ว
คำว่า ตำ คือ ตำเอง
คำว่า ใช้ให้ตำ คือ ใช้ผู้อื่นให้ตำ
คำว่า หุง คือ หุงเอง
คำว่า ใช้ให้หุง คือ ใช้ผู้อื่นให้หุง
ภิกษุณีรับประเคน ด้วยตั้งใจว่า “จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ

เชิงอรรถ :
๑ เรียกว่า “บุพพัณชาติ” (วิ.อ. ๑/๑๐๔/๓๖๘, สารตฺถ.ฏีกา ๒/๑๐๔/๑๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๔๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
[๘๒๓] ๑. ภิกษุณีออกปากขอเขามาฉันเพราะเหตุผลคืออาพาธ
๒. ภิกษุณีออกปากขออปรัณชาติ๑
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อปรัณชาติ ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังอาหาร (วิ.อ. ๑/๑๐๔/๓๖๘, สารตฺถ.ฏีกา
๒/๑๐๔/๑๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๔๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
๑. ลสุณวรรค

สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการทิ้งอุจจาระเป็นต้นภายนอกฝา

เรื่องพราหมณ์คนหนึ่ง
[๘๒๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งได้รับแต่งตั้ง
ให้เป็นผู้เก็บส่วยส่งหลวง๑ คิดว่า “เราจักทูลขอตำแหน่งนายด่านนั้น”๒ จึงสนาน
เกล้าแล้วเดินไปราชสำนักผ่านที่อยู่ภิกษุณี ภิกษุณีรูปหนึ่งถ่ายอุจจาระลงในหม้อ
แล้วเททิ้งภายนอกฝาราดลงบนศีรษะของพราหมณ์นั้นพอดี พราหมณ์นั้นตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “หญิงชั่วหัวโล้นพวกนี้ไม่ใช่สมณะหญิง ไฉนจึงเทหม้อคูถ
ลงที่ศีรษะของเรา เราจักเผาสำนักพวกนาง” ถือคบเพลิงเข้าไปสำนักภิกษุณี
อุบาสกคนหนึ่งกำลังออกจากสำนักภิกษุณี ได้เห็นพราหมณ์นั้นถือคบเพลิง
เดินเข้าไปสู่สำนัก จึงได้กล่าวกับพราหมณ์นั้นดังนี้ว่า “เหตุไรท่านจึงถือคบเพลิงไป
สำนักภิกษุณีเล่า”
พราหมณ์นั้นกล่าวว่า “หญิงชั่วหัวโล้นพวกนี้เทหม้อคูถลงที่ศีรษะของเรา เรา
จักเผาสำนักพวกนาง”
อุบาสกกล่าวว่า “กลับเถิด พราหมณ์ผู้เจริญ เหตุการณ์นี้จัดว่าเป็นมงคล
ท่านจะได้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ และจะได้ตำแหน่งนายด่านนั้น”
พราหมณ์นั้นสนานเกล้าแล้วไปราชสำนัก ได้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ และได้ตำแหน่ง
นายด่านนั้น

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์ผู้นี้ เป็นคนทำหน้าที่เก็บส่วยส่งพระราชาแล้วได้รับตำแหน่งหน้าที่ผู้หนึ่ง และได้รับรายได้จาก
ตำแหน่งนั้น ต่อมาอยากได้ตำแหน่งนายด่าน จึงนำส่วยไปส่งพระราชาเพื่อจะทูลขอตำแหน่งนายด่าน
(วิ.อ. ๒/๘๒๔/๔๙๓, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๒๔/๑๕๒)
๒ จะส่งส่วยพระราชาแล้วทูลขอตำแหน่งนายด่าน (วิ.อ. ๒/๘๒๔/๔๙๓, สารตฺถ.ฏีกา. ๓/๘๒๔/๑๕๒) ใน
วชิรพุทธิฎีกาว่า จะไปขอค่าบำเหน็จ (วชิร.ฏีกา ๘๒๔/๔๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๔๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๘ สิกขาบทวิภังค์
ครั้งนั้น อุบาสกนั้นกลับเข้าไปสำนัก แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลายแล้ว
บริภาษ๑
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีทั้งหลายจึงเทอุจจาระภายนอกฝาเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่อง
นี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีเทอุจจาระภาย
นอกฝา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงเทอุจจาระภายนอก
ฝาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือ
ทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๘๒๕] ก็ภิกษุณีใดเทหรือใช้ให้เทอุจจาระหรือปัสสาวะ หยากเยื่อหรือ
ของเป็นเดนภายนอกฝาหรือภายนอกกำแพง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพราหมณ์คนหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๒๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด

เชิงอรรถ :
๑ คือปรามพวกภิกษุณีว่า “อย่ากระทำอย่างนี้อีก” (วิ.อ. ๒/๘๒๔/๔๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๔๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า อุจจาระ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงคูถ
ที่ชื่อว่า ปัสสาวะ ตรัสหมายถึงมูตร
ที่ชื่อว่า หยากเยื่อ ตรัสหมายถึงขยะมูลฝอย
ที่ชื่อว่า ของเป็นเดน ตรัสหมายถึงอามิสที่เป็นเดน กระดูกเป็นเดน หรือ
น้ำเป็นเดน
ที่ชื่อว่า ฝา ได้แก่ ฝา ๓ ชนิด คือ (๑) ฝาอิฐ (๒) ฝาแผ่นศิลา (๓) ฝาไม้
ที่ชื่อว่า กำแพง ได้แก่ กำแพง ๓ ชนิด คือ (๑) กำแพงอิฐ (๒) กำแพงศิลา
(๓) กำแพงไม้
คำว่า ภายนอกฝา คือ อีกด้านหนึ่งของฝา
คำว่า ภายนอกกำแพง คือ อีกด้านหนึ่งของกำแพง
คำว่า เท คือ เทเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้เท คือ ใช้ผู้อื่นให้เท ต้องอาบัติทุกกฏ ผู้รับคำสั่งครั้งเดียวแต่
เทหลายครั้ง ภิกษุณีผู้สั่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีดังต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๒๗] ๑. ภิกษุณีมองดูก่อนแล้วจึงเท
๒. ภิกษุณีเทในที่ที่เขาไม่ใช้สัญจร
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๔๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๑. ลสุณวรรค

สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการทิ้งอุจจาระเป็นต้นภายนอกกำแพง

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๘๒๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งมีนาข้าวเหนียว
แปลงหนึ่งอยู่ติดกับสำนักภิกษุณี พวกภิกษุณีเทอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง หยาก
เยื่อบ้าง ของเป็นเดนบ้าง ทิ้งลงในนาข้าวเหนียว(ของพราหมณ์นั้น) พราหมณ์ตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงทำนาข้าวเหนียวของเราให้เสียหายเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพราหมณ์นั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีเท
อุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง หยากเยื่อบ้าง ของเป็นเดนบ้าง ลงบนของเขียวเล่า”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีเทอุจจาระบ้าง
ปัสสาวะบ้าง หยากเยื่อบ้าง ของเป็นเดนบ้าง ลงบนของเขียว จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงเทอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง หยากเยื่อบ้าง
ของเป็นเดนบ้าง ลงบนของเขียว ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๔๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๙ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๘๒๙] ก็ภิกษุณีใดเทหรือใช้ให้เทอุจจาระหรือปัสสาวะ หยากเยื่อหรือ
ของเป็นเดนลงบนของเขียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๓๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อ อุจจาระ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงคูถ
ที่ชื่อว่า ปัสสาวะ ตรัสหมายถึงมูตร
ที่ชื่อว่า หยากเยื่อ ตรัสหมายถึงขยะมูลฝอย
ที่ชื่อว่า ของเป็นเดน ตรัสหมายถึงอามิสที่เป็นเดน กระดูกเป็นเดน หรือ
น้ำเป็นเดน
ที่ชื่อว่า ของเขียว ได้แก่ บุพพัณชาติ อปรัณชาติ๑ที่เขาปลูกไว้สำหรับ
อุปโภคบริโภค
คำว่า เท คือ เทเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้เท คือ ใช้ผู้อื่นให้เท ต้องอาบัติทุกกฏ ผู้รับคำสั่งครั้งเดียวแต่
เทหลายครั้ง ภิกษุณีผู้สั่งต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ บุพพัณชาติ อปรัณชาติ ดูข้อ ๘๒๒-๘๒๓ หน้า ๑๔๔-๑๔๕ (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๕๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๘๓๑] ของเขียว ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นของเขียว เทหรือใช้ให้เท ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ของเขียว ภิกษุณีไม่แน่ใจ เทหรือใช้ให้เท ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ของเขียว ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของเขียว เทหรือใช้ให้เท ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ของเขียว ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นของเขียว เทหรือใช้ให้เท ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของเขียว ภิกษุณีไม่แน่ใจ เทหรือใช้ให้เท ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ของเขียว ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ใช่ของเขียว เทหรือใช้ให้เท ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๓๒] ๑. ภิกษุณีมองดูก่อนแล้วจึงเท
๒. ภิกษุณีเทบนคันนา
๓. ภิกษุณีบอกเจ้าของก่อนแล้วจึงเท
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๕๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ นิทานวัตถุ
๑. ลสุณวรรค

สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการดูการขับร้องฟ้อนรำ

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๘๓๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถาน
ที่ให้เหยื่อแก่กระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น มีงานมหรสพบนยอดเขา พวก
ภิกษุณีฉัพพัคคีย์พากันไปดูมหรสพบนยอดเขา พวกชาวบ้านจึงตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงไปดูการฟ้อนรำบ้าง การขับร้องบ้าง การประโคม
ดนตรีบ้าง เหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงไป
ดูการฟ้อนรำบ้าง การขับร้องบ้าง การประโคมดนตรีบ้าง เหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้
บริโภคกามเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้พระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ไปดู
การฟ้อนรำบ้าง การขับร้องบ้าง การประโคมดนตรีบ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูล
รับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุ
ทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงไปดูการฟ้อนรำบ้าง การขับร้องบ้าง การประโคมดนตรี
บ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๕๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.ลสุณวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๘๓๔] ก็ภิกษุณีใดไปดูการฟ้อนรำ การขับร้อง หรือการประโคมดนตรี
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๓๕] คำว่า ก็ ... ใด คือผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะว่าเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า การฟ้อนรำ ได้แก่ การฟ้อนรำอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่ชื่อว่า การขับร้อง ได้แก่ การขับร้องอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่ชื่อว่า การประโคมดนตรี ได้แก่ การประโคมดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่ง

บทภาชนีย์
[๘๓๖] ภิกษุณีเดินไปเพื่อที่จะดู ต้องอาบัติทุกกฏ ยืนอยู่ในที่ที่พอจะมอง
เห็นหรือได้ยิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ พ้นสายตาไปแล้วกลับแลดูหรือฟังอีก ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุณีเดินไปเพื่อจะดูมหรสพแต่ละอย่าง ต้องอาบัติทุกกฏ ยืนดูอยู่ในที่ที่พอ
จะมองเห็นหรือได้ยิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ พ้นสายตาไปแล้วกลับแลดูหรือฟังอีก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๕๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๓๗] ๑. ภิกษุณียืนในอาราม เห็นหรือได้ยิน ๑
๒. ภิกษุณียืน นั่งหรือนอนอยู่ เขาฟ้อนรำ ขับร้อง หรือประโคน
ผ่านมายังที่นั้น ๆ
๓. ภิกษุณีเดินสวนทางไปเห็นหรือได้ยิน
๔. ภิกษุณีมีธุระจำเป็นเดินผ่านไปเห็นหรือได้ยิน
๕. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๖. ภิกษุณีวิกลจริต
๗. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๐ จบ
ลสุณวรรคที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ยืนอยู่ภายในอาราม เห็นหรือได้ยินการฟ้อนรำเป็นต้นภายในอารามหรือภายนอกอาราม (วิ.อ. ๒/๘๗๗/
๔๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๕๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๒. อันธการวรรค
หมวดว่าด้วยความมืด

สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการสนทนากับชายในที่มืด

เรื่องภิกษุณีอันเตวาสีนีของพระภัททกาปิลานี
[๘๓๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ชายผู้เป็นญาติของภิกษุณีผู้เป็น
อันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานีเดินทางจากหมู่บ้านไปกรุงสาวัตถีด้วยธุระบางอย่าง
ครั้งนั้น ภิกษุณีนั้นยืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้าง๑สองต่อสองกับชายนั้นในเวลา
ค่ำคืน ไม่มีประทีป๒
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงยืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้างสองต่อสองกับชายในเวลาค่ำคืน ไม่มี
ประทีปเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณียืนเคียงคู่กันบ้าง
สนทนากันบ้างสองต่อสองกับชายในเวลาค่ำคืน ไม่มีประทีป จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงยืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้างสองต่อสอง

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงสนทนากันในเรื่องเกี่ยวกับการครองเรือน (วิ.อ. ๒/๘๓๙/๔๙๕)
๒ คำว่า “ไม่มีประทีป” หมายถึงไม่มีแสงสว่างอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาแสงตะเกียง แสงจันทร์ แสง
อาทิตย์ และแสงไฟ (วิ.อ. ๒/๘๓๙/๔๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๕๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
กับชาย ในเวลาค่ำคืนไม่มีประทีปเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคน
ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๘๓๙] ก็ภิกษุณีใดยืนเคียงคู่กันหรือสนทนากันสองต่อสองกับชายใน
เวลาค่ำคืน ไม่มีประทีป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๔๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ในเวลาค่ำคืน ได้แก่ เมื่อดวงอาทิตย์ตกแล้ว
คำว่า ไม่มีประทีป คือ ไม่มีแสงสว่าง
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
แต่เป็นมนุษย์ผู้ชายที่รู้เดียงสา สามารถยืนเคียงคู่กัน สนทนากันได้
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า สองต่อสอง คือ ชาย และภิกษุณี
คำว่า ยืนเคียงคู่กัน คือ ยืนอยู่ในช่วงแขนชาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า หรือสนทนากัน คือ ยืนเจรจาอยู่ในระยะช่วงแขนชาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๕๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันพ้นระยะช่วงแขน ต้องอาบัติทุกกฏ
ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันกับยักษ์ เปรต บัณเฑาะก์หรือสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ที่มีร่างคล้ายมนุษย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๔๑] ๑. ภิกษุณีมีสตรีคนใดคนหนึ่งที่รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน
๒. ภิกษุณีผู้ไม่ประสงค์จะอยู่ในที่ลับ ยืนเคียงคู่กันหรือสนทนากัน
๓. ภิกษุณีที่ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันแต่คิดในเรื่องอื่น
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๕๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๒. อันธการวรรค

สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการยืนกับชายในที่กำบัง

เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี
[๘๔๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ชายผู้เป็นญาติของภิกษุณีผู้เป็น
อันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานีเดินทางจากหมู่บ้านไปกรุงสาวัตถีด้วยธุระบางอย่าง
ลำดับนั้น ภิกษุณีนั้นคิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามยืนเคียงคู่กัน สนทนากัน
สองต่อสองกับชายในเวลาค่ำมืด ไม่มีประทีป” จึงยืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากัน
บ้างในโอกาสที่กำบัง
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงยืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้างสองต่อสองกับชายในโอกาสที่กำบังเล่า”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึง
ได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณียืนเคียงคู่กันบ้าง
สนทนากันบ้างสองต่อสองกับชายในโอกาสที่กำบัง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับ
ว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุ
ทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงยืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้างสองต่อสองกับชายใน
โอกาสที่กำบังเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๕๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๘๔๓] ก็ภิกษุณีใดยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันสองต่อสองกับชายใน
โอกาสที่กำบัง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๔๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะว่าเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
โอกาสชื่อว่า ที่กำบัง ได้แก่ ที่กำบังด้วยฝา บานประตู เสื่อลำแพน ม่าน
ต้นไม้ เสา หรือพ้อม๑ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ แต่เป็นมนุษย์ผู้ชายที่รู้เดียงสา สามารถจะยืนเคียงคู่สนทนากันได้
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า สองต่อสอง คือ ชาย และภิกษุณี
คำว่า ยืนเคียงคู่กัน คือ ยืนอยู่ในระยะช่วงแขนชาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า หรือสนทนากัน คือ สนทนาอยู่ในระยะช่วงแขนผู้ชาย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันพ้นระยะช่วงแขน ต้องอาบัติทุกกฏ
ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันกับยักษ์ เปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ที่มีร่างคล้ายมนุษย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ “พ้อม” คือภาชนะสานขนาดใหญ่สำหรับบรรจุข้าวเปลือก บางทีเรียกว่า กระพ้อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๕๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๔๕] ๑. ภิกษุณีมีสตรีคนใดคนหนึ่งที่รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน
๒. ภิกษุณีผู้ไม่ประสงค์ที่จะอยู่ในที่ลับ ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากัน
๓. ภิกษุณีที่ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันแต่คิดในเรื่องอื่น
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๖๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
๒. อันธการวรค

สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการสนทนากับชายในที่แจ้ง

เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี
[๘๔๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ชายผู้เป็นญาติของภิกษุณีผู้เป็น
อันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานีเดินทางจากหมู่บ้านไปกรุงสาวัตถีด้วยธุระบางอย่าง
ลำดับนั้น ภิกษุณีนั้นคิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามยืนเคียงคู่กัน สนทนากัน
สองต่อสองกับชายในโอกาสที่กำบัง” จึงยืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้างสองต่อ
สองกับชายในที่แจ้ง
ภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนนางภิกษุณีจึง
ยืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้างสองต่อสองกับชายในที่แจ้งเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณียืนเคียงคู่กันบ้าง
สนทนากันบ้างสองต่อสองกับชายในที่แจ้ง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนภิกษุณีจึงยืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้างสองต่อสองกับชายในที่แจ้งเล่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๖๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๘๔๗] ก็ภิกษุณีใดยืนเคียงคู่กันหรือสนทนากันสองต่อสองกับชายในที่แจ้ง
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๔๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ที่แจ้ง ได้แก่ สถานที่มิได้กำบังด้วยฝา บานประตู เสื่อลำแพน ม่าน
ต้นไม้ เสา หรือพ้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
แต่เป็นมนุษย์ผู้ชายที่รู้เดียงสา สามารถยืนเคียงคู่สนทนากันได้
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า สองต่อสอง คือ ชาย และภิกษุณี
คำว่า ยืนเคียงคู่กัน คือ ยืนอยู่ในระยะช่วงแขนชาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า หรือสนทนากัน คือ สนทนาอยู่ในระยะช่วงแขนชาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันพ้นระยะช่วงแขน ต้องอาบัติทุกกฏ
ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันกับยักษ์ เปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ที่มีร่างคล้ายมนุษย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๖๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๔๙] ๑. ภิกษุณีมีสตรีคนใดคนหนึ่งที่รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน
๒. ภิกษุณีผู้ไม่ประสงค์ที่จะอยู่ในที่ลับ ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากัน
๓. ภิกษุณีที่ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันแต่คิดในเรื่องอื่น
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๖๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๒. อันธการวรรค

สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการส่งเพื่อนภิกษุณีกลับ

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๘๕๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทายืนเคียงคู่กันบ้าง
สนทนากันบ้าง พูดกระซิบข้างหูบ้างสองต่อสองกับชายในถนนบ้าง ตรอกตันบ้าง
ทางสามแพร่งบ้าง ส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไปก่อนบ้าง
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทายืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้าง พูดกระซิบข้างหูบ้างสองต่อ
สองกับชายในถนนบ้าง ตรอกตันบ้าง ทางสามแพร่งบ้าง ส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับ
ไปก่อนบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทายืนเคียงคู่กัน
บ้าง สนทนากันบ้าง พูดกระซิบข้างหูบ้างสองต่อสองกับชายในถนนบ้าง ตรอกตัน
บ้าง ทางสามแพร่งบ้าง ส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไปก่อนบ้าง จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทายืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้าง พูด
กระซิบข้างหูบ้างสองต่อสองกับชายในถนนบ้าง ตรอกตันบ้าง ทางสามแพร่งบ้าง
ส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไปก่อนบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๖๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๘๕๑] ก็ภิกษุณีใดยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากัน หรือพูดกระซิบข้างหู
สองต่อสองกับชายในถนน หรือตรอกตัน หรือทางสามแพร่ง หรือส่งภิกษุณีผู้
เป็นเพื่อนกลับไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๕๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ถนน ได้แก่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงทางเดิน
ที่ชื่อว่า ตรอกตัน ได้แก่ คนเข้าไปทางใดต้องเดินออกทางนั้น
ที่ชื่อว่า ทางสามแพร่ง ได้แก่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงทางแยก
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ แต่เป็นมนุษย์ผู้ชายที่รู้เดียงสา สามารถยืนร่วมกัน สนทนากันได้
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า สองต่อสอง คือ ชาย และภิกษุณี
คำว่า ยืนเคียงคู่กัน คือ ยืนอยู่ในระยะช่วงแขนชาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า หรือสนทนากัน คือ สนทนากันอยู่ในระยะช่วงแขนชาย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
คำว่า หรือพูดกระซิบข้างหู คือ บอกเนื้อความใกล้หูชาย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๖๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
คำว่า หรือส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไป คือ ประสงค์จะประพฤติไม่สมควร
จึงส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนพ้น
ระยะที่จะมองเห็น หรือระยะที่จะได้ยิน ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อภิกษุณีผู้เป็นเพื่อน
พ้นไปแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันกับชายพ้นระยะช่วงแขน ต้องอาบัติทุกกฏ
ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันกับยักษ์ เปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ที่มีร่างคล้ายมนุษย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๕๓] ๑. ภิกษุณีมีสตรีคนใดคนหนึ่งที่รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน
๒. ภิกษุณีผู้ไม่ประสงค์ที่จะอยู่ในที่ลับยืนเคียงคู่กันหรือสนทนากัน
๓. ภิกษุณีที่ยืนเคียงคู่กันหรือสนทนากันแต่คิดในเรื่องอื่น
๔. ภิกษุณีส่งเพื่อนภิกษุณีกลับเมื่อมีเหตุจำเป็น
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๖๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
๒. อันธการวรรค

สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการจากไปโดยไม่บอกเจ้าของ

เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง
[๘๕๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเป็นภิกษุณีประจำ
ตระกูลหนึ่ง รับภัตตาหารประจำ ครั้นเวลาเช้า ภิกษุณีนั้นครองอันตรวาสก ถือ
บาตรและจีวร๑เข้าไปถึงที่ตระกูลนั้น ครั้นถึงแล้ว นั่งบนอาสนะแล้วจากไปโดยไม่
บอกเจ้าของบ้าน หญิงรับใช้ตระกูลนั้นกวาดเรือนได้เก็บอาสนะนั้นไว้ระหว่างภาชนะ
คนในบ้านไม่เห็นอาสนะ ได้ไปถามภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า อาสนะอยู่ที่ไหน”
ภิกษุณีนั้นกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ดิฉันก็ไม่เห็นอาสนะนั้น”
คนเหล่านั้นพูดว่า “แม่เจ้า โปรดให้อาสนะนั้นเถิด” บริภาษแล้วเลิกถวาย
ภัตตาหารประจำ ต่อมาคนเหล่านั้นทำความสะอาดบ้านหลังนั้นพบอาสนะซ่อนอยู่
ระหว่างภาชนะ จึงขอขมาภิกษุณีนั้นแล้วได้เริ่ม(ถวาย)ภัตตาหารประจำ
ครั้งนั้น ภิกษุณีนั้นบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุณีผู้มัก
น้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีจึงเข้าไปสู่ตระกูล
ในเวลาก่อนฉันภัตตาหาร นั่งบนอาสนะแล้วจากไปโดยไม่บอกเจ้าของ(บ้าน)เล่า”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีเข้าสู่ตระกูลในเวลา

เชิงอรรถ :
๑ ครองอันตรวาสกถือบาตรจีวร ดู วินัยปิฎกแปล เล่ม ๑ ข้อ ๒๒ หน้า ๑๔ (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๖๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๕ สิกขาบทวิภังค์
ก่อนฉันภัตตาหาร นั่งบนอาสนะแล้วจากไปโดยไม่บอกเจ้าของบ้าน จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีเข้าสู่ตระกูลในเวลาก่อนฉันภัตตาหาร นั่งบน
อาสนะแล้วจากไปโดยไม่บอกเจ้าของบ้านเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๘๕๕] ก็ภิกษุณีใดเข้าไปสู่ตระกูลในเวลาก่อนฉันภัตตาหาร นั่งบนอาสนะ
แล้วจากไปโดยไม่บอกเจ้าของบ้าน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๕๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า เวลาก่อนฉันภัตตาหาร คือ ตั้งแต่เวลาอรุณขึ้นจนถึงเที่ยงวัน
ที่ชื่อว่า ตระกูล หมายถึงตระกูล ๔ ได้แก่ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์
ตระกูลแพศย์ ตระกูลศูทร
คำว่า เข้าไป คือ ไปในตระกูลนั้น
ที่ชื่อว่า อาสนะ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงที่สำหรับนั่งขัดสมาธิ
คำว่า นั่ง คือ นั่งบนอาสนะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๖๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
คำว่า จากไปโดยมิได้บอกเจ้าของบ้าน ความว่า ไม่บอกคนใดคนหนึ่งใน
ตระกูลนั้นผู้รู้เดียงสา ก้าวพ้นชายคา ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เดินล่วงเขตบ้านในที่แจ้ง
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๘๕๗] ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก จากไป ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีไม่แน่ใจ จากไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว จากไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
ที่ไม่ใช่ที่สำหรับนั่งขัดสมาธิ ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๕๘] ๑. ภิกษุณีไปโดยบอกแล้ว
๒. ภิกษุณีผู้นั่งบนอาสนะที่เคลื่อนย้ายไม่ได้
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๖๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
๒. อันธการวรรค

สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการนั่งนอนบนอาสนะโดยไม่บอกเจ้าของ

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๘๕๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเข้าไปสู่ตระกูล
ทั้งหลายภายหลังฉันภัตตาหาร นั่งบ้าง นอนบ้างบนอาสนะโดยไม่บอกเจ้าของ(บ้าน)
คนในบ้านเกรงใจภิกษุณีถุลลนันทา จึงไม่กล้านั่งหรือนอนบนอาสนะ คนทั้งหลายพา
กันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงเข้าไปสู่ตระกูลภายหลัง
ฉันภัตตาหาร นั่งบ้าง นอนบ้างบนอาสนะโดยไม่บอกเจ้าของ(บ้าน)เล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึง
เข้าไปสู่ตระกูลภายหลังฉันภัตตาหาร นั่งบ้าง นอนบ้างบนอาสนะโดยไม่บอกเจ้า
ของ(บ้าน)เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาเข้าไปสู่ตระกูล
ภายหลังฉันภัตตาหาร นั่งบ้าง นอนบ้างบนอาสนะโดยไม่บอกเจ้าของ(บ้าน) จริง
หรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรง
ตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงเข้าไปสู่ตระกูลภายหลังฉัน
ภัตตาหาร นั่งบ้าง นอนบ้างบนอาสนะโดยไม่บอกเจ้าของ(บ้าน)เล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่
แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๗๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๖ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๘๖๐] ก็ภิกษุณีใดเข้าไปสู่ตระกูลภายหลังฉันภัตตาหาร นั่งหรือนอนบน
อาสนะ๑โดยไม่บอกเจ้าของบ้าน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๖๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ภายหลังฉันภัตตาหาร ได้แก่ ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันไปจนถึงดวงอาทิตย์
ตก
ที่ชื่อว่า ตระกูล หมายถึงตระกูล ๔ ได้แก่ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์
ตระกูลแพศย์ ตระกูลศูทร
คำว่า เข้าไป คือ ไปในตระกูลนั้น
คำว่า โดยไม่บอกเจ้าของบ้าน คือ ไม่ขออนุญาตเจ้าของบ้านผู้รับผิดชอบใน
ตระกูลนั้น
ที่ชื่อว่า อาสนะ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงที่สำหรับนั่งขัดสมาธิ
คำว่า นั่ง คือ นั่งบนอาสนะนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า หรือนอน คือ นอนบนอาสนะนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ นั่งแล้วไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์ตัวเดียว ไม่นั่งแต่นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ตัวเดียว นั่งแล้วนอน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ ๒ ตัว (วิ.อ. ๒/๘๖๐/๔๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๗๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๘๖๒] ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก นั่งหรือนอนบนอาสนะ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีไม่แน่ใจ นั่งหรือนอนบนอาสนะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว นั่งหรือนอนบนอาสนะ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
ไม่ใช่ที่สำหรับนั่งขัดสมาธิ ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๖๓] ๑. ภิกษุณีบอกแล้วนั่งหรือนอนบนอาสนะ
๒. ภิกษุณีนั่งหรือนอนบนอาสนะที่เขาปูไว้ประจำ
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๗๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๒. อันธการวรรค

สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการปูลาดโดยไม่บอก

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๘๖๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีหลายรูปเดินทางไปกรุง
สาวัตถี แคว้นโกศล ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเวลาเย็น เข้าไปสู่ตระกูลพราหมณ์
ตระกูลหนึ่งขอโอกาส ลำดับนั้น พราหมณีได้กล่าวกับภิกษุณีเหล่านั้น ดังนี้ว่า
“แม่เจ้าทั้งหลายโปรดรอจนกว่าพราหมณ์จะมา”
พวกภิกษุณีกล่าวว่า “พวกเราจะรอจนกว่าพราหมณ์จะมา” ได้ปูที่นอน
บางพวกนั่ง บางพวกนอน
ครั้นในตอนกลางคืน พราหมณ์กลับมาพบเห็นได้กล่าวกับพราหมณีดังนี้ว่า
“สตรีเหล่านี้เป็นใคร”
พราหมณีกล่าวว่า “พ่อเจ้า สตรีเหล่านี้เป็นภิกษุณี”
พราหมณ์กล่าวว่า “พวกท่านจงขับไล่หญิงชั่วหัวโล้นพวกนี้ออกไป” แล้วให้
ขับไล่ออกจากเรือน
ครั้นภิกษุณีเหล่านั้นไปถึงกรุงสาวัตถี เล่าเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีจึงเข้าไปสู่ตระกูลในเวลาวิกาล ปูหรือใช้ให้ปูที่นอนโดยไม่บอกเจ้าของบ้าน
แล้วนั่งบ้าง นอนบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีเข้าไปสู่ตระกูลในเวลา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๗๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๗ สิกขาบทวิภังค์
วิกาล ปูหรือใช้ให้ปูที่นอนโดยไม่บอกเจ้าของบ้านแล้วนั่งบ้าง นอนบ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงเข้าไปสู่ตระกูลในเวลาวิกาล ปูหรือใช้ให้ปู
ที่นอนโดยไม่บอกเจ้าของบ้านแล้วนั่งบ้าง นอนบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อม
ใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๘๖๕] ก็ภิกษุณีใดเข้าไปสู่ตระกูลในเวลาวิกาล ปูหรือใช้ให้ปูที่นอนโดย
ไม่บอกเจ้าของบ้านแล้วนั่งหรือนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๖๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า เวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เวลาดวงอาทิตย์ตกไปจนถึงอรุณขึ้น
ที่ชื่อว่า ตระกูล หมายถึงตระกูล ๔ ได้แก่ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์
ตระกูลแพศย์ ตระกูลศูทร
คำว่า เข้าไป คือ ไปในตระกูลนั้น
คำว่า โดยไม่บอกเจ้าของบ้าน คือ ไม่ขออนุญาตเจ้าของบ้านผู้รับผิดชอบ
ในตระกูลนั้น
ที่ชื่อว่า ที่นอน โดยที่สุดแม้เครื่องปูลาดที่ทำด้วยใบไม้
คำว่า ปู คือ ปูเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๗๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
คำว่า ใช้ให้ปู คือ ใช้ผู้อื่นให้ปู
คำว่า นั่ง คือ นั่งบนที่นอนนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า หรือนอน คือ นอนบนที่นอนนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
[๘๖๗] ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก ปูหรือใช้ผู้อื่นให้ปูที่นอน
แล้วนั่งหรือนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีไม่แน่ใจ ปูหรือใช้ผู้อื่นให้ปูที่นอนแล้วนั่งหรือนอน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว ปูหรือใช้ผู้อื่นให้ปูที่นอนแล้วนั่งหรือ
นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๖๘] ๑. ภิกษุณีบอกเจ้าของ ปูเองหรือใช้ผู้อื่นให้ปูที่นอน นั่งหรือนอน
๒. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๗๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
๒. อันธการวรรค

สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการให้ผู้อื่นโพนทะนา

เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี
[๘๖๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีอันเตวาสินีของพระ
ภัททกาปิลานีอุปัฏฐากพระภัททกาปิลานีโดยเคารพ พระภัททกาปิลานีได้กล่าวกับ
ภิกษุณีทั้งหลายดังนี้ว่า “แม่เจ้า ภิกษุณีนี้อุปัฏฐากเราโดยเคารพ เราจะให้จีวรเธอ”
แต่ภิกษุณีนั้นเพราะความเข้าใจผิด เพราะใคร่ครวญผิด ให้ผู้อื่นโพนทะนาว่า “แม่เจ้า
เขาว่าดิฉันไม่ได้อุปัฏฐากแม่เจ้าโดยเคารพ แม่เจ้าจะไม่ให้จีวรแก่ดิฉัน”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงให้ผู้อื่นโพนทะนาเพราะเข้าใจผิด เพราะใคร่ครวญผิดเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีให้ผู้อื่นโพนทะนา
เพราะเข้าใจผิดเพราะใคร่ครวญผิด จริงหรือภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีจึงให้ผู้อื่นโพนทะนาเพราะเข้าใจผิด เพราะใคร่ครวญผิดเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่
แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๗๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๘ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๘๗๐] ก็ภิกษุณีใดเพราะเข้าใจผิด เพราะใคร่ครวญผิด ให้ผู้อื่นโพนทะนา
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของพระภัททกาปิลานี จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๗๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า เพราะเข้าใจผิด คือ เพราะเข้าใจเป็นอย่างอื่น
คำว่า เพราะใคร่ครวญผิด คือ เพราะใคร่ครวญเป็นอย่างอื่น
คำว่า ผู้อื่น ได้แก่ ให้อุปสัมบันโพนทะนา ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๘๗๒] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ให้โพนทะนา ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ให้โพนทะนา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ให้โพนทะนา ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๗๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
ทุกกฏ
ภิกษุณีให้อนุปสัมบันโพนทะนา ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๗๓] ๑. ภิกษุณีวิกลจริต
๒. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๗๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๒. อันธการวรรค

สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการสาปแช่งตนเองและผู้อื่น

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๘๗๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายไม่เห็นสิ่งของของ
ตนได้กล่าวกับภิกษุณีจัณฑกาลีดังนี้ว่า “แม่เจ้า ท่านเห็นสิ่งของของพวกเราบ้างไหม”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ดิฉันนี่แหละที่เป็นขโมย
ดิฉันนี่แหละไม่มีความละอาย พวกแม่เจ้าที่ไม่เห็นสิ่งของของตนต่างพากันกล่าวกับ
ดิฉันอย่างนี้ว่า ‘เห็นสิ่งของของพวกเราบ้างไหม’ แม่เจ้า ถ้าดิฉันเอาสิ่งของของ
พวกท่านไป ดิฉันก็จงเป็นผู้ไม่ใช่สมณะหญิง จงเคลื่อนจากพรหมจรรย์ จงบังเกิดใน
นรก ส่วนผู้ที่กล่าวหาดิฉันด้วยเรื่องที่ไม่จริงก็จงไม่เป็นสมณะหญิง จงเคลื่อนจาก
พรหมจรรย์ จงบังเกิดในนรก”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าจัณฑกาลีจึงสาปแช่งตนเองบ้าง ผู้อื่นบ้าง ด้วยนรกบ้าง ด้วยพรหมจรรย์๑ บ้าง
เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุ
ได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีจัณฑกาลีสาปแช่งตนเอง

เชิงอรรถ :
๑ สาปแช่งด้วยนรกด้วยพรหมจรรย์ในที่นี้ คือด่าโดยนัยเป็นต้นว่า ขอให้ดิฉันจงบังเกิดในนรกอเวจี หรือ
ขอให้ผู้อื่นจงบังเกิดในนรกอเวจี ขอให้ดิฉันเป็นคฤหัสถ์ กลับไปนุ่งผ้าขาว เป็นปริพาชิกา หรือขอให้ผู้อื่น
จงเป็นอย่างที่ดิฉันเป็นนี้ คือสาปแช่งตนและผู้อื่นให้ตกนรก สาปแช่งตนและผู้อื่นให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์
(วิ.อ. ๒/๘๗๕/๔๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๗๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๙ บทภาชนีย์
บ้าง ผู้อื่นบ้าง ด้วยนรกบ้าง ด้วยพรหมจรรย์บ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับ
ว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุ
ทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจัณฑกาลีจึงสาปแช่งตนเองบ้าง ผู้อื่นบ้าง ด้วยนรกบ้าง
ด้วยพรหมจรรย์บ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๘๗๕] ก็ภิกษุณีใดสาปแช่งตนเองหรือผู้อื่นด้วยนรกหรือด้วยพรหมจรรย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๗๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ตนเอง คือ เฉพาะตัวเอง
คำว่า ผู้อื่น ได้แก่ อุปสัมบัน ภิกษุณีสาปแช่ง(อุปสัมบัน)ด้วยนรกหรือด้วย
พรหมจรรย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๘๗๗] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน สาปแช่งด้วยนรกหรือ
ด้วยพรหมจรรย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๘๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ สาปแช่งด้วยนรกหรือด้วยพรหมจรรย์ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน สาปแช่งด้วยนรกหรือด้วย
พรหมจรรย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุณีสาปแช่งด้วย(คำที่บ่งถึง)กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรตวิสัย หรือคน
โชคร้าย๑ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีสาปแช่งอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๗๘] ๑. ภิกษุณีมุ่งอรรถ๒
๒. ภิกษุณีมุ่งธรรม๓
๓. ภิกษุณีมุ่งสั่งสอน
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คือสาปแช่งให้เป็นคนมีรูปร่างแปลกประหลาดว่า “ขอให้เราตาบอด เป็นง่อย หรือให้คนอื่นเป็นอย่างนี้ ๆ”
(กงฺขา.ฏีกา ๔๙๗)
๒ “มุ่งอรรถ” ในที่นี้หมายถึงกล่าวอรรถกถา (วิ.อ. ๒/๘๗๘/๔๙๘)
๓ “มุ่งธรรม” ในที่นี้หมายถึงบอกบาลี (วิ.อ. ๒/๘๗๘/๔๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๘๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ นิทานวัตถุ
๒. อันธการวรรค

สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการร้องไห้ทุบตีตนเอง

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๘๗๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีทะเลาะกับ
ภิกษุณีทั้งหลายแล้วร้องไห้ทุบตีตนเอง
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าจัณฑกาลีจึงร้องไห้ทุบตีตนเองเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้
ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีจัณฑกาลีร้องไห้ทุบตี
ตนเอง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจัณฑกาลีจึงร้องไห้ทุบตี
ตนเองเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลาย ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๘๘๐] ก็ภิกษุณีใดร้องไห้ทุบตีตนเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๘๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๘๘๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ตนเอง คือ เฉพาะตนเอง
ภิกษุณีร้องไห้ทุบตีตนเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุบตี(ตนเอง)แต่ไม่ร้องไห้
ต้องอาบัติทุกกฏ ร้องไห้แต่ไม่ทุบตี(ตนเอง) ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๘๒] ๑. ภิกษุณีถูกความเสื่อมญาติ เสื่อมโภคะหรือโรครุมเร้า ร้องไห้แต่
ไม่ทุบตีตนเอง
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑๐ จบ
อันธการวรรคที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๘๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค
หมวดว่าด้วยการเปลือยกาย

สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการเปลือยกายอาบน้ำ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๘๘๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีหลายรูปเปลือยกาย
อาบน้ำในแม่น้ำอจิรวดีท่าเดียวกับหญิงแพศยา พวกหญิงแพศยาเย้ยหยันภิกษุณี
เหล่านั้นว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย พวกท่านยังเป็นสาว จะประพฤติพรหมจรรย์ไปทำไม
กัน ธรรมดามนุษย์ควรบริโภคกามมิใช่หรือ ต่อเมื่อชราพวกท่านจึงค่อยประพฤติ
พรหมจรรย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ชื่อว่าได้หยิบฉวยเอาประโยชน์ทั้งสองแล้ว” พวก
ภิกษุณีถูกพวกหญิงแพศยาเย้ยหยันต่างเก้อเขิน ครั้นกลับไปสำนักแล้วจึงบอกเรื่อง
นั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ พวกภิกษุณีได้บอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พวก
ภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่
ภิกษุณีทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
ฯลฯ
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย๑
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูความพิสดารข้อ ๖๕๖ หน้า ๔-๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๘๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๘๘๔] ก็ภิกษุณีใดเปลือยกายอาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๘๕] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า เปลือยกายอาบน้ำ คือ ไม่นุ่งผ้าหรือไม่ห่มผ้าอาบน้ำ ต้องอาบัติ
ทุกกฏในขณะที่อาบ อาบเสร็จแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๘๖] ๑. ภิกษุณีถูกโจรลักจีวรหรือจีวรหาย
๒. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๘๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค

สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการใช้ผ้าอาบน้ำไม่ได้ขนาด

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๘๘๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้
ภิกษุณีใช้ผ้าอาบน้ำ พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์คิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตผ้า
อาบน้ำแล้ว” พากันใช้ผ้าอาบน้ำไม่ได้ขนาด เดินเที่ยวย้อยข้างหน้าบ้าง ย้อยข้าง
หลังบ้าง
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงใช้ผ้าอาบน้ำไม่ได้ขนาดเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้
นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าอาบ
น้ำไม่ได้ขนาด จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึง
ใช้ผ้าอาบน้ำไม่ได้ขนาดเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๘๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๘๘๘] ก็ภิกษุณีผู้จะให้ทำผ้าอาบน้ำ พึงทำให้ได้ขนาด ขนาดในข้อนั้น
คือ ยาว ๔ คืบ กว้าง ๒ คืบ โดยคืบสุคต๑ ทำให้เกินขนาดนั้น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ที่ชื่อว่าเฉทนกะ๒
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๘๙] ที่ชื่อว่า ผ้าอาบน้ำ ได้แก่ ผ้าที่ใช้นุ่งอาบน้ำ
คำว่า ผู้จะให้ทำ อธิบายว่า ภิกษุณีทำเองหรือใช้ผู้อื่นให้ทำ พึงทำให้ได้ขนาด
ขนาดในข้อนั้น คือ ยาว ๔ คืบ กว้าง ๒ คืบ โดยคืบสุคต ภิกษุณีทำเอง
หรือใช้ผู้อื่นให้ทำเกินขนาดนั้น ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ทำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เพราะได้มา ต้องตัดของนั้นเสียก่อนแล้วแสดงอาบัติ

บทภาชนีย์
ปาจิตตีย์
[๘๙๐] ภิกษุณีทำผ้าอาบน้ำที่ตนทำค้างไว้ต่อจนสำเร็จด้วยตนเอง ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ภิกษุณีใช้ผู้อื่นให้ทำผ้าอาบน้ำที่ตนทำค้างไว้ต่อจนสำเร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุณีทำผ้าอาบน้ำที่ผู้อื่นทำค้างไว้ต่อจนสำเร็จด้วยตนเอง ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ภิกษุณีใช้ผู้อื่นให้ทำผ้าอาบน้ำที่ผู้อื่นทำค้างไว้ต่อจนสำเร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อมาตราวัด ๑ คืบสุคต เท่ากับ ๓ คืบ ของคนสัณฐานปานกลาง เท่ากับ ๑ ศอกครึ่ง โดยศอกช่างไม้
แต่ในปัจจุบันให้ถือตามไม้เมตร คือเท่ากับ ๒๕ เซนติเมตร (วิ.อ ๒/๓๔๘-๓๔๙/๖๑)
๒ คำว่า “เฉทนกะ” เป็นชื่อเฉพาะของสิกขาบทนี้ หมายถึงอาบัติที่เมื่อต้องเข้าแล้วจำเป็นต้องตัดหรือเฉือน
ผ้าอาบน้ำที่เกินขนาดออกเสียก่อนจึงจะสามารถแสดงอาบัติตกไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๘๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
ทุกทุกกฏ
ภิกษุณีทำเองหรือใช้ผู้อื่นให้ทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีได้ผ้าอาบน้ำที่ผู้อื่นทำไว้มาใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๙๑] ๑. ภิกษุณีทำผ้าอาบน้ำได้ขนาด
๒. ภิกษุณีทำผ้าอาบน้ำหย่อนกว่าขนาด
๓. ภิกษุณีได้ผ้าอาบน้ำที่ผู้อื่นทำไว้เกินขนาดมาตัดให้ได้ขนาดแล้ว
ใช้สอย
๔. ภิกษุณีทำเป็นเพดาน ผ้าปูพื้น ผ้าม่าน ผ้าเปลือกฟูกหรือหมอน
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๘๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค

สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการเลาะจีวรแล้วไม่เย็บ

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๘๙๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งทำจีวรไม่ดี เย็บ
ไม่ดีทั้งที่ใช้ผ้าสำหรับทำจีวรราคาแพง ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้
ว่า “แม่เจ้า ผ้าสำหรับทำจีวรของท่านดีจริง แต่กลับทำจีวรไม่ดี เย็บไม่ดี”
ภิกษุณีนั้นกล่าวว่า “แม่เจ้า ดิฉันจะเลาะออก ท่านจะเย็บให้หรือ”
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวว่า “แม่เจ้า ดิฉันจะเย็บให้”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีนั้นจึงเลาะจีวรแล้วมอบให้ภิกษุณีถุลลนันทา ภิกษุณีถุลลนันทา
กล่าวว่า “ดิฉันจะเย็บให้ ดิฉันจะเย็บให้” แต่ไม่เย็บให้ ทั้งไม่ขวนขวายใช้ผู้อื่นให้เย็บ
ภิกษุณีนั้นจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงให้เลาะจีวรของภิกษุณีแล้วไม่เย็บให้ ทั้งไม่ขวนขวายใช้ผู้อื่นให้
เย็บเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้เลาะจีวร
ของภิกษุณีแล้วไม่เย็บให้ ทั้งไม่ขวนขวายใช้ผู้อื่นให้เย็บ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลาย
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงให้เลาะจีวรของภิกษุณีแล้วไม่เย็บให้ ทั้งไม่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๘๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
ขวนขวายใช้ผู้อื่นเย็บเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๘๙๓] ก็ภิกษุณีใดเลาะหรือใช้ให้เลาะจีวรของภิกษุณีแล้ว ภายหลัง
ภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย๑ ไม่เย็บ ไม่ขวนขวายใชผู้อื่นให้เย็บ พ้น ๔-๕ วัน๒
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๙๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ของภิกษุณี ได้แก่ ภิกษุณีรูปอื่น
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า เลาะ คือ เลาะด้วยตนเอง
คำว่า ใช้ให้เลาะ คือ ใช้ผู้อื่นให้เลาะ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงไม่ตกอยู่ในอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งในอันตราย ๑๐ อย่าง คือ (๑) พระราชาเสด็จมา
(๒) โจรมาปล้น (๓) ไฟไหม้ (๔) น้ำหลากมา (๕) คนมามาก (๖) ผีเข้าภิกษุ (๗) สัตว์ร้ายเข้ามาในวัด
(๘) งูเลื้อยเข้ามา (๙) ภิกษุเป็นโรคร้าย (๑๐) เกิดอันตรายแก่พรมหจรรย์ เช่นมีคนมาจับภิกษุณีสึก
(วิ.อ. ๒/๘๙๓-๔/๕๐๐, ดู วิ. ม. ๔/๑๕๐/๑๕๙)
๒ “พ้น ๔-๕ วัน” หมายถึงล่วงเลย ๕ วัน นับจากวันที่เลาะจีวรนั้น (สารตฺถ.ฏีกา. ๓/๘๙๓/๑๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๙๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๓ บทภาชนีย์
คำว่า ภายหลัง ภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย คือ เมื่อไม่มีอันตราย
คำว่า ไม่เย็บ คือ ไม่เย็บด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ขวนขวายใช้ผู้อื่นให้เย็บ คือ ไม่สั่งผู้อื่น
คำว่า พ้น ๔-๕ วัน คือ เก็บไว้ได้ ๔-๕ วัน พอทอดธุระว่า “เราจักไม่เย็บ
จักไม่ขวนขวายใช้ผู้อื่นให้เย็บ” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๘๙๕] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน เลาะหรือใช้ให้เลาะจีวร
ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย ไม่เย็บ ทั้งไม่ขวนขวายใช้ผู้อื่นให้เย็บ พ้น ๔-๕
วัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ เลาะหรือใช้ให้เลาะจีวร ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มี
อันตราย ไม่เย็บ ทั้งไม่ขวนขวายใช้ผู้อื่นให้เย็บ พ้น ๔-๕ วัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน เลาะหรือใช้ให้เลาะจีวร ภายหลัง
ภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย ไม่เย็บ ทั้งไม่ขวนขวายใช้ผู้อื่นให้เย็บ พ้น ๔-๕ วัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุณีเลาะหรือใช้ให้เลาะบริขารอย่างอื่น ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย
ไม่เย็บ ทั้งไม่ขวนขวายใช้ผู้อื่นให้เย็บ พ้น ๔-๕ วัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีเลาะหรือใช้ให้เลาะจีวรหรือบริขารอย่างอื่นของอนุปสัมบัน ภายหลัง
ภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย ไม่เย็บ ทั้งไม่ขวนขวายใช้ผู้อื่นให้เย็บ พ้น ๔-๕ วัน
ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๙๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๙๖] ๑. ภิกษุณีไม่เย็บในเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหาแล้วไม่ได้
๓. ภิกษุณีกำลังทำการเย็บ พ้น ๔-๕ วัน
๔. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๕. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๖. ภิกษุณีวิกลจริต
๗. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๙๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค

สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการไม่ผลัดเปลี่ยนสังฆาฏิตามกำหนด

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๘๙๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายฝากจีวรไว้กับ
พวกภิกษุณี มีเพียงอุตตราสงค์กับอันตรวาสกหลีกจาริกไปสู่ชนบท จีวรนั้นเก็บไว้
นานจึงขึ้นรา พวกภิกษุณี(ที่รับฝาก)จึงนำออกผึ่งแดด ภิกษุณีทั้งหลายได้กล่าวกับ
ภิกษุณี(ที่รับฝาก)เหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย จีวรที่ขึ้นราเหล่านี้เป็นของใคร”
ลำดับนั้น พวกภิกษุณี(ที่รับฝาก)จึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีทั้งหลายจึงฝากจีวรไว้กับพวกภิกษุณีแล้วมีเพียงอุตตราสงค์กับอันตรวาสก
จาริกไปสู่ชนบทเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีทั้งหลายฝากจีวรไว้
กับพวกภิกษุณีแล้วมีเพียงอุตตราสงค์กับอันตรวาสกจาริกไปสู่ชนบท จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ
ว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงฝากจีวรไว้กับภิกษุณีแล้วมีเพียงอุตตราสงค์
กับอันตรวาสกจาริกไปสู่ชนบทเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๙๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๔ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๘๙๘] ก็ภิกษุณีใดให้วาระผลัดเปลี่ยนสังฆาฏิ๑ ที่มีกำหนดระยะเวลา ๕
วันล่วงเลยไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๘๙๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์ว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ให้วาระผลัดเปลี่ยนสังฆาฏิที่มีกำหนดระยะเวลา ๕ วันล่วงเลยไป
อธิบายว่า ไม่นุ่ง ไม่ห่ม ไม่ผึ่งจีวร ๕ ผืน สิ้นวันที่ ๕ คือให้ล่วงเลยไปเป็นวันที่
๕ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ปาจิตตีย์
[๙๐๐] ล่วงเลย ๕ วัน ภิกษุณีสำคัญว่าล่วงเลย ๕ วันแล้ว ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ล่วงเลย ๕ วัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ล่วงเลย ๕ วัน ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ล่วงเลย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “สังฆาฏิ” ในที่นี้หมายถึงจีวร ๕ ผืนของภิกษุณี คือ (๑) สังฆาฏิ (๒) อุตตราสงค์ (๓) อันตรวาสก
(๔) ผ้าอาบน้ำ (๕) ผ้ารัดถัน ภิกษุณีต้องนำผ้า ๕ ผืนนี้ออกมาใช้สอยหรือผึ่งแดด ห้ามเก็บไว้เกิน ๕ วัน
ถ้าเก็บผืนใดผืนหนึ่งไว้เกิน ๕ วัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ : เก็บไว้ ๑ ผืน ต้องอาบัติ ๑ ตัว เก็บไว้ ๕ ผืน
ต้องอาบัติ ๕ ตัว (วิ.อ. ๒ /๓๙๘-๙/๕๐๐-๕๐๑, กงฺขา.อ. ๓๗๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๙๘/๑๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๙๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
ทุกทุกกฏ
ยังไม่ล่วงเลย ๕ วัน ภิกษุณีสำคัญว่าล่วงเลยแล้ว ต้องอาบัติทุกกฏ
ยังไม่ล่วงเลย ๕ วัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ยังไม่ล่วงเลย ๕ วัน ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ล่วงเลย ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๐๑] ๑. ภิกษุณี นุ่ง ห่มจีวร ๕ ผืน หรือนำออกผึ่งแดดในวันที่ ๕
๒. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง๑
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จีวรมีค่ามาก จึงไม่สามารถใช้สอยในคราวมีภัยอันเกิดจากโจรผู้ร้ายเป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ ชื่อว่า มีเหตุ
ขัดข้อง (วิ.อ. ๒/๙๐๑/๕๐๑, กงฺขา.อ. ๓๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๙๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค

สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการห่มจีวรสับเปลี่ยนกัน

เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง
[๙๐๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาต
แล้วผึ่งจีวรที่เปียกชุ่ม แล้วเข้าวิหาร ภิกษุณีอีกรูปหนึ่งห่มจีวรผืนนั้นเข้าไป
บิณฑบาตในหมู่บ้าน ภิกษุณี(เจ้าของจีวร)นั้นออกมาถามภิกษุณีทั้งหลายว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลายเห็นจีวรของดิฉันบ้างไหม” ภิกษุณีทั้งหลายบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีนั้นทราบ
ลำดับนั้น ภิกษุณีนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีจึงห่มจีวรของ
ดิฉันโดยไม่บอกเล่า” แล้วบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงห่มจีวรของภิกษุณีอื่นโดยไม่บอกเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่อง
นี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีห่มจีวรของภิกษุณีอื่น
โดยไม่บอก จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงห่มจีวรของ
ภิกษุณีอื่นโดยไม่บอกเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๙๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๕ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๙๐๓] ก็ภิกษุณีใดห่มจีวรสับเปลี่ยนกัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๐๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า จีวรสับเปลี่ยนกัน ได้แก่ จีวร ๕ ผืน๑ อย่างใดอย่างหนึ่งของ
อุปสัมบัน
ภิกษุณีนุ่งหรือห่มจีวรนั้นที่เจ้าของไม่ได้ให้ หรือโดยไม่ได้บอกกล่าว ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๙๐๕] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ห่มจีวรสับเปลี่ยนกัน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ห่มจีวรสับเปลี่ยนกัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ห่มจีวรสับเปลี่ยนกัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ จีวร ๕ ผืน ดู เชิงอรรถข้อ ๘๙๘ หน้า ๑๙๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๙๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
ทุกกฏ
ภิกษุณีห่มจีวรสับเปลี่ยนกันกับอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๐๖] ๑. ภิกษุณีนุ่งหรือห่มจีวรที่เจ้าของให้ หรือภิกษุณีนุ่งหรือห่มจีวรนั้น
โดยบอกเจ้าของก่อน
๒. ภิกษุณีมีจีวรถูกชิงไป
๓. ภิกษุณีมีจีวรสูญหาย
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๙๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค

สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการทำอันตรายแก่จีวรลาภของคณะ

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๐๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของภิกษุณี
ถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า พวกเราจะถวายจีวรแก่
ภิกษุณีสงฆ์”
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวว่า “พวกท่านมีกิจมาก มีสิ่งที่ต้องทำมาก” ได้ทำ
อันตราย(แก่ลาภของคณะ) ต่อมา เรือนตระกูลนั้นถูกไฟไหม้ พวกเขาตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงทำอันตรายไทยธรรมของพวกเรา
เล่า พวกเราต้องคลาดจากสมบัติทั้งสอง คือ โภคสมบัติและบุญสมบัติ”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดา
ภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทา
จึงทำอันตรายแก่จีวรที่คณะจะพึงได้เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไป
บอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาทำอันตราย
แก่จีวรที่คณะจะพึงได้ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงทำอันตรายแก่จีวรที่คณะจะพึงได้เล่า ภิกษุทั้งหลาย การทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๑๙๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๙๐๘] ก็ภิกษุณีใดทำอันตรายแก่จีวรที่คณะจะพึงได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๐๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า คณะ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงภิกษุณีสงฆ์
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดพอที่จะวิกัป
ได้เป็นอย่างต่ำ
คำว่า ทำอันตราย คือ ทำอันตรายด้วยกล่าวว่า “ชนทั้งหลายจะพึงถวาย
จีวรนี้ได้อย่างไรกัน” ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทำอันตรายบริขารอย่างอื่น ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ทำอันตรายจีวรหรือบริขารอย่างอื่นของภิกษุณีหลายรูป ภิกษุณีรูปเดียว
หรือของอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๑๐] ๑. ภิกษุณีแสดงอานิสงส์แล้วกล่าวห้าม
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค

สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการคัดค้านการแจกจีวรที่ชอบธรรม

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๑๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อกาลจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุณีสงฆ์
ลำดับนั้น ภิกษุณีสงฆ์ประสงค์จะแจกจีวรนั้น จึงประชุมกัน เวลานั้นพวกภิกษุณี
อันเตวาสินีของภิกษุณีถุลลนันทาหลีกไปแล้ว ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณี
เหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย ภิกษุณีทั้งหลายหลีกไปแล้ว อย่าเพิ่งแจกจีวรเลย”
คัดค้านการแจกจีวร
พวกภิกษุณีกล่าวว่า “อย่าเพิ่งแจกจีวรเลย” แล้วแยกย้ายกันไป เมื่อเหล่า
ภิกษุณีอันเตวาสินีกลับมา ภิกษุณีถุลลนันทาจึงให้แจกจีวรนั้น บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
คัดค้านการแจกจีวรที่ชอบธรรม๑เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไป
บอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาคัดค้านการ
แจกจีวรที่ชอบธรรม จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา

เชิงอรรถ :
๑ “การแจกจีวรที่ชอบธรรม” คือการแจกจีวรที่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ประชุมกันแล้วดำเนินการร่วมกัน
(กงฺขา.อ. ๓๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๗ บทภาชนีย์
จึงคัดค้านการแจกจีวรที่ชอบธรรมเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคน
ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๑๒] ก็ภิกษุณีใดคัดค้านการแจกจีวรที่ชอบธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๑๓] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
การแจกจีวรที่ชื่อว่า ชอบธรรม ได้แก่ ภิกษุณีสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน
ประชุมกันแจก
คำว่า คัดค้าน คือ คัดค้านว่า “จะแจกจีวรนี้อย่างไร” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
[๙๑๔] การแจกชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าชอบธรรม คัดค้าน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
การแจกชอบธรรม ภิกษุณีไม่แน่ใจ คัดค้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
การแจกชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ชอบธรรม คัดค้าน ไม่ต้องอาบัติ
การแจกชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าชอบธรรม คัดค้าน ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
การแจกไม่ชอบธรรม ภิกษุณีไม่แน่ใจ คัดค้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
การแจกไม่ชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ชอบธรรม คัดค้าน ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๑๕] ๑. ภิกษุณีแสดงอานิสงส์แล้วคัดค้าน๑
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ “แสดงอานิสงส์แล้วคัดค้าน” หมายถึงในกรณีที่จีวรมีไม่พอแบ่งกันให้ได้ครบทุกรูป จึงแสดงอานิสงส์
คือให้เหตุผลว่า ผ้าสาฎกไม่เพียงพอยังขาดอยู่ผืนหนึ่ง โปรดรอสัก ๒-๓ วันเถิด เมื่อผ้าสาฎกมีพอที่จะ
แจกกันครบทุกรูปแล้วจึงแจกกัน (วิ.อ. ๒/๙๑๕/๕๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค

สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการให้สมณจีวรแก่ผู้ไม่ใช่ภิกษุณี

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๑๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาให้สมณจีวร
แก่พวกครูนักฟ้อนบ้าง พวกนักฟ้อนบ้าง พวกกระโดดไม้ค้ำบ้าง พวกมายากลบ้าง
พวกตีกลองบ้าง กล่าวว่า “พวกท่านจงกล่าวพรรณนาคุณของดิฉันในชุมนุมชน”
พวกครูนักฟ้อนบ้าง พวกนักฟ้อนบ้าง พวกกระโดดไม้ค้ำบ้าง พวกมายากลบ้าง
พวกตีกลองบ้าง ต่างกล่าวพรรณนาคุณของภิกษุณีถุลลนันทาในชุมนุมชนว่า “แม่
เจ้าถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถกล่าวธรรมีกถา พวก
ท่านจงถวาย จงกระทำ(สักการะ)แก่เธอ”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงให้สมณจีวรแก่ชาวบ้านเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่อง
นี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้สมณจีวร
แก่ชาวบ้าน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงให้
สมณจีวรแก่ชาวบ้านเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๙๑๗] ก็ภิกษุณีใดให้สมณจีวรแก่ชาวบ้าน แก่ปริพาชก หรือปริพาชิกา
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๑๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ชาวบ้าน ได้แก่ ผู้ครองเรือนคนใดคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า ปริพาชก ได้แก่ นักบวชชายคนใดคนหนึ่งผู้อยู่ในลัทธิปริพาชก ยก
เว้นภิกษุและสามเณร
ที่ชื่อว่า ปริพาชิกา ได้แก่ นักบวชหญิงคนใดคนหนึ่งผู้อยู่ในลัทธิปริพาชิกา
ยกเว้นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี
ที่ชื่อว่า สมณจีวร พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผ้าที่ทำกัปปะแล้ว ภิกษุณี
ให้ผ้านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๑๙] ๑. ภิกษุณีให้แก่มารดาบิดา
๒. ภิกษุณีให้เป็นของยืม
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค

สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๒๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของภิกษุณี
ถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า ถ้าพวกเราสามารถ ก็จะ
ถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์” ครั้นภิกษุณีทั้งหลายจำพรรษาแล้วประชุมกันด้วยประสงค์
จะแจกจีวร ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลาย
โปรดรอก่อน ภิกษุณีสงฆ์มีความหวังในจีวร”
ภิกษุณีทั้งหลายได้กล่าวกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า เชิญท่านไป
สืบดูจีวรนั้นให้รู้เรื่อง”
ภิกษุณีถุลลนันทาเข้าไปถึงตระกูลนั้น ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับคนเหล่านั้นดังนี้
ว่า “ท่านทั้งหลายจงถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์”
คนเหล่านั้นกล่าวว่า “พวกเรายังไม่สามารถที่จะถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์”
ภิกษุณีถุลลนันทานำเรื่องนั้นไปบอกให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงให้
ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล๑ด้วยความหวังในจีวรที่เลื่อนลอย๒เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ สมัยแห่งจีวรกาล คือในเมื่อไม่ได้กรานกฐินนับเอาตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
รวมเวลา ๑ เดือน ในเมื่อได้กรานกฐินแล้ว นับเอาตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
รวมเวลา ๕ เดือน ระยะเวลาในช่วงนี้เรียกว่า สมัยแห่งจีวรกาล
๒ “ความหวังในจีวรที่เลื่อนลอย” หมายถึงความหวังที่ภิกษุณีตั้งไว้เพราะได้ฟังเพียงคำของทายกว่า “ถ้า
สามารถก็จะถวาย” เป็นความหวังที่เลื่อนลอย ไม่แน่นอน (กงฺขา.อ. ๓๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๙ สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้ล่วงเลย
สมัยแห่งจีวรกาลผ่านไปด้วยความหวังในจีวรที่เลื่อนลอย จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลาย
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาลผ่านไปด้วยความ
หวังในจีวรที่เลื่อนลอยเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๒๑] ก็ภิกษุณีใดให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาลด้วยความหวังในจีวรที่เลื่อน
ลอย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๒๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ความหวังในจีวรที่เลื่อนลอย ได้แก่ ที่ทายกเปล่งวาจาปวารณาว่า
“ถ้าพวกเราสามารถ ก็จะถวาย จะทำ”
ที่ชื่อว่า สมัยแห่งจีวรกาล คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน มีกำหนด ๑ เดือน
ท้ายฤดูฝน เมื่อได้กรานกฐินแล้วมีกำหนด ๕ เดือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
คำว่า ให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล ความว่า เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน ให้
ล่วงเลย วันสุดท้ายฤดูฝน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อได้กรานกฐินแล้ว ให้ล่วงเลย
วันที่กฐินเดาะ๑ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
[๙๒๓] (ความหวังใน)จีวรที่เลื่อนลอย ภิกษุณีสำคัญว่า(เป็นความหวังใน)
จีวรที่เลื่อนลอย ให้ล่วงเลยสมัยจีวรกาลไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
(ความหวังใน)จีวรที่เลื่อนลอย ภิกษุณีไม่แน่ใจ ให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล
ต้องอาบัติทุกกฏ
(ความหวังใน)จีวรที่เลื่อนลอย ภิกษุณีสำคัญว่าเป็น(ความหวังใน)จีวรไม่เลื่อน
ลอย ให้ล่วงเลยสมัยแห่งจีวรกาล ไม่ต้องอาบัติ
(ความหวังใน)จีวรที่ไม่เลื่อนลอย ภิกษุณีสำคัญว่าเป็น(ความหวังใน)จีวรที่
เลื่อนลอย ต้องอาบัติทุกกฏ
(ความหวังใน)จีวรที่ไม่เลื่อนลอย ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
(ความหวังใน)จีวรที่ไม่เลื่อนลอย ภิกษุณีสำคัญว่าเป็น(ความหวังใน)จีวรที่ไม่
เลื่อนลอย ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๒๔] ๑. ภิกษุณีแสดงอานิสงส์แล้วห้าม
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงยกเลิกอานิสงส์กฐินที่ภิกษุและภิกษุณีพึงได้รับ ดู เหตุให้กฐินเดาะ พระวินัยปิฎกแปล เล่ม ๒
ข้อ ๔๖๓ หน้า ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๑๐ นิทานวัตถุ
๓. นัคควรรค

สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการห้ามการเดาะกฐินที่ชอบธรรม

เรื่องอุบาสกคนหนึ่ง
[๙๒๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่งให้สร้างวิหาร
อุทิศ(ถวาย)สงฆ์ ในการฉลองวิหารนั้น อุบาสกนั้นประสงค์จะถวายอกาลจีวรแก่
สงฆ์ทั้งสองฝ่าย แต่เวลานั้นสงฆ์ทั้งสองฝ่ายกรานกฐินแล้ว ลำดับนั้น อุบาสกนั้น
เข้าไปหาสงฆ์ ขอการเดาะกฐิน๑ ภิกษุทั้งหลายจึงได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระ
ภาคทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เดาะกฐินได้”

วิธีการเดาะกฐินและกรรมวาจาเดาะกฐิน
ภิกษุทั้งหลายพึงเดาะกฐินอย่างนี้ คือภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์
ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๙๒๖] “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงเดาะ
กฐิน นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ย่อมเดาะกฐิน ท่านรูปใดเห็นด้วยกับ
การเดาะกฐิน ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์เดาะกฐินแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่ง
นั้นเป็นมติอย่างนี้”

เชิงอรรถ :
๑ ขอการเดาะกฐิน ในที่นี้คือขอให้สงฆ์ยกเลิกอานิสงส์กฐินก่อนหมดเขตอานิสงส์กฐิน ด้วยต้องการจะถวาย
ผ้าเป็นอกาลจีวรในสมัยที่ยังเป็นจีวรกาล (ดู วินัยปิฎกแปล เล่ม ๒ ข้อ ๕๐๐ หน้า ๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๐๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๑๐ สิกขาบทวิภังค์
[๙๒๗] ต่อมา อุบาสกนั้นเข้าไปหาภิกษุณีสงฆ์ ขอเดาะกฐิน ภิกษุณีถุลล
นันทากล่าวว่า “พวกดิฉันจักมีจีวร” คัดค้านการเดาะกฐิน ครั้งนั้น อุบาสกนั้น
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีทั้งหลายจึงไม่ให้การเดาะกฐินแก่เราเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินอุบาสกตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
คัดค้านการเดาะกฐินที่ชอบธรรมเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอก
ภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าภิกษุณีถุลลนันทาคัดค้านการ
เดาะกฐินที่ชอบธรรม จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงคัดค้านการเดาะกฐินที่ชอบธรรมเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๒๘] ก็ภิกษุณีใดคัดค้านการเดาะกฐินที่ชอบธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องอุบาสกคนหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๒๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๓. นัคควรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
การเดาะกฐินที่ชื่อว่า ชอบธรรม คือ ภิกษุณีสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันประชุม
กันเดาะ
คำว่า คัดค้าน คือ คัดค้านว่า “จะเดาะกฐินได้อย่างไร” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
[๙๓๐] การเดาะที่ชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าชอบธรรม คัดค้าน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
การเดาะที่ชอบธรรม ภิกษุณีไม่แน่ใจ คัดค้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
การเดาะที่ชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ชอบธรรม คัดค้าน ไม่ต้องอาบัติ
การเดาะที่ไม่ชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าชอบธรรม คัดค้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
การเดาะที่ไม่ชอบธรรม ภิกษุณีไม่แน่ใจ คัดค้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
การเดาะที่ไม่ชอบธรรม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่ชอบธรรม คัดค้าน ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๓๑] ๑. ภิกษุณีแสดงอานิสงส์แล้วห้าม
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๐ จบ
นัคควรรคที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค
หมวดว่าด้วยการนอนร่วมกัน

สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการนอนบนเตียงเดียวกัน

เรื่องภิกษุณีนอนร่วมกัน ๒ รูป
[๙๓๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณี ๒ รูปนอนบนเตียงเดียวกัน
คนทั้งหลายเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็นแล้วจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณี ๒ รูปจึงนอนบนเตียงเดียวกันเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณี ๒ รูปจึง
นอนเตียงเดียวกันเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณี ๒ รูปนอนบนเตียง
เดียวกัน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณี ๒ รูปจึงนอนบนเตียง
เดียวกันเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๓๓] ก็ภิกษุณีเหล่าใด ๒ รูปนอนบนเตียงเดียวกัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีนอนร่วมกัน ๒ รูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๓๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงเหล่ามาตุคามที่อุปสมบทแล้ว
คำว่า ๒ รูป นอนบนเตียงเดียวกัน คือ เมื่อรูปหนึ่งนอน อีกรูปหนึ่งก็นอน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ หรือนอนพร้อมกัน ๒ รูป ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทั้ง ๒ รูป
ลุกขึ้นแล้วกลับนอนอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๓๕] ๑. ภิกษุณีรูปหนึ่งนอน อีกรูปหนึ่งนั่ง หรือนั่งทั้ง ๒ รูป
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค

สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการใช้ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม

เรื่องภิกษุณีนอนร่วมกัน ๒ รูป
[๙๓๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นภิกษุณี ๒ รูปใช้ผ้าผืนเดียวเป็น
ทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม นอนร่วมกัน คนทั้งหลายเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็นแล้วจึง
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณี ๒ รูปจึงใช้ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอน
และผ้าห่ม นอนร่วมกันเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน ภิกษุณี ๒ รูปจึงใช้
ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม นอนร่วมกันเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้น
ได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณี ๒ รูปใช้ผ้าผืนเดียว
เป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่มนอนร่วมกัน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนภิกษุณี ๒ รูปจึงใช้ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่มนอนร่วมกันเล่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๙๓๗] ก็ภิกษุณีเหล่าใด ๒ รูปใช้ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม
นอนร่วมกัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีนอนร่วมกัน ๒ รูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๓๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงเหล่ามาตุคามที่อุปสมบทแล้ว
คำว่า ๒ รูปใช้ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่มนอนร่วมกัน คือ ทั้ง
๒ รูปปูผ้าผืนนั้นแล้วห่มผ้าผืนนั้นแหละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๙๓๙] ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม ภิกษุณีสำคัญว่าผ้าผืนเดียว
เป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม ภิกษุณีไม่แน่ใจ นอน ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูนอนและผ้าห่ม ภิกษุณีสำคัญว่าผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้า
ปูนอนและผ้าห่ม นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ผ้าปูนอนผืนหนึ่ง ผ้าห่มนอนต่างผืน ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าปูนอนต่างผืน ผ้าห่มนอนผืนเดียวกัน ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
ผ้าปูนอนและผ้าห่มนอนต่างผืนกัน ภิกษุณีสำคัญว่าผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปู
นอนและผ้าห่ม ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าปูนอนและผ้าห่มนอนต่างผืนกัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าปูนอนและผ้าห่มนอนต่างผืนกัน ภิกษุณีสำคัญว่าผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปู
นอนและผ้าห่ม ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๔๐] ๑. ภิกษุณีแสดงเครื่องกำหนดแล้วนอน
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค

สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการจงใจก่อความรำคาญ

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๔๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็น
นักพูด แกล้วกล้า สามารถกล่าวธรรมีกถาได้ แม้พระภัททกาปิลานีก็เป็นพหูสูต
เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถกล่าวธรรมีกถาได้ ทั้งเธอก็ได้รับสรรเสริญว่ามี
คุณสมบัติยิ่งกว่า๑
คนทั้งหลายทราบว่า “แม่เจ้าภัททกาปิลานีเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า
สามารถกล่าวธรรมีกถา ทั้งได้รับสรรเสริญว่ามีคุณสมบัติยิ่งกว่า” จึงเข้าไปหาพระ
ภัททกาปิลานีก่อนแล้วไปหาภิกษุณีถุลลนันทาภายหลัง
ภิกษุณีถุลลนันทาถูกความริษยาครอบงำ คิดว่า “ทราบมาว่า ธรรมดาภิกษุณี
ผู้สาละวนอยู่กับการอภิปรายเรื่องราวให้ผู้อื่นเข้าใจ ย่อมมักน้อย สันโดษ ชอบสงัด
ไม่คลุกคลี” จึงจงกรมบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง ยกขึ้นแสดงเองบ้าง ใช้ผู้อื่น
ให้ยกขึ้นแสดงบ้าง ท่องบ่นบ้าง ต่อหน้าพระภัททกาปิลานี
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงจงใจก่อความไม่ผาสุกแก่แม่เจ้าภัททกาปิลานีเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ “มีคุณสมบัติยิ่งกว่า” คือบวชจากตระกูลที่ใหญ่หรือประเสริฐกว่าและเป็นผู้ประเสริฐกว่าโดยคุณทั้งหลาย
(วิ.อ. ๒/๙๔๑/๕๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาจงใจก่อความ
ไม่ผาสุกแก่ภัททกาปิลานี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงจงใจก่อความไม่ผาสุกแก่ภัททกาปิลานีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๔๒] ก็ภิกษุณีใดจงใจก่อความไม่ผาสุกแก่ภิกษุณี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๔๓] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า แก่ภิกษุณี คือ แก่ภิกษุณีรูปอื่น
คำว่า จงใจ คือ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ฝ่าฝืน ล่วงละเมิด
คำว่า ก่อความไม่ผาสุก คือ ภิกษุณีผู้ก่อความไม่ผาสุกนั้นคิดว่า “วิธีนี้จะ
ทำให้ภิกษุณีนี้ไม่ผาสุก” ไม่ขอโอกาส จงกรมบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง
ยกขึ้นแสดงเองบ้าง ใช้ผู้อื่นให้ยกขึ้นแสดงบ้าง ท่องบ่นบ้าง อยู่ข้างหน้า ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๙๔๔] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน จงใจก่อความไม่ผาสุก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ จงใจก่อความไม่ผาสุก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน จงใจก่อความไม่ผาสุก ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุณีจงใจก่อความไม่ผาสุกแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๔๕] ๑. ภิกษุณีไม่ประสงค์ก่อความไม่ผาสุก ขอโอกาส จงกรม ยืน นั่ง
นอน ยกขึ้นแสดงเอง ใช้ผู้อื่นให้ยกขึ้นแสดง หรือท่องบ่นข้างหน้า
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๑๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๔.ตุวัฏฏวรรค

สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการไม่ใส่ใจดูแลเพื่อนภิกษุณี

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๔๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาไม่ดูแลช่วยเหลือ
สหชีวินี๑ผู้ได้รับความลำบาก ทั้งไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลือ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงไม่ดูแลช่วยเหลือสหชีวินีผู้ได้รับความลำบาก ทั้งไม่ใส่ใจมอบหมาย
ให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลือเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาไม่ดูแลช่วย
เหลือสหชีวินีผู้เดือดร้อน ทั้งไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลือ จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงไม่ดูแลช่วยเหลือสหชีวินีผู้ได้รับความ
ลำบาก ทั้งไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลือเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๔๗] ก็ภิกษุณีใดไม่ดูแลช่วยเหลือ หรือไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดู
แลช่วยเหลือสหชีวินีผู้ได้รับความลำบาก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

เชิงอรรถ :
๑ สหชีวินี คือภิกษุณีผู้ที่ตนเป็นอุปัชฌาย์บวชให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๔๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ได้รับความลำบาก พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผู้เป็นไข้
ที่ชื่อว่า สหชีวินี ตรัสหมายถึงสัทธิวิหารินี
คำว่า ไม่ดูแลช่วยเหลือ คือ ไม่ดูแลช่วยเหลือด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลือ คือ ไม่สั่งผู้อื่น
ภิกษุณีทอดธุระว่า “จะไม่ดูแลช่วยเหลือ จะไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแล
ช่วยเหลือ” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุณีไม่ดูแลช่วยเหลือ ไม่ใส่ใจมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลช่วยเหลืออันเตวาสินี
หรืออนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๔๙] ๑. ภิกษุณีผู้ทอดธุระเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีหาผู้ช่วยไม่ได้
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑สหชีวินี คือภิกษุณีผู้ที่ตนเป็นอุปัชฌาย์บวชให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค

สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการฉุดลากออก

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๕๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระภัททกาปิลานีจำพรรษาที่
เมืองสาเกต เธอส่งทูตไปสำนักของภิกษุณีถุลลนันทาด้วยธุระบางอย่าง ให้แจ้งว่า
“ถ้าแม่เจ้าถุลลนันทาให้ที่พัก ดิฉันจะมากรุงสาวัตถี”
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวว่า “เชิญมาเถิด ดิฉันจะให้”
ลำดับนั้น พระภัททกาปิลานีเดินทางจากเมืองสาเกตไปถึงกรุงสาวัตถี ภิกษุณี
ถุลลนันทาได้ให้ที่พักแก่พระภัททกาปิลานี
สมัยนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถ
กล่าวธรรมีกถา แม้พระภัททกาปิลานีก็เป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถ
กล่าวธรรมีกถา ทั้งเธอก็ได้รับสรรเสริญว่า มีคุณสมบัติยิ่งกว่า
คนทั้งหลายเห็นว่า ภิกษุณีภัททกาปิลานีเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า
สามารถกล่าวธรรมีกถา ทั้งเธอก็ได้รับสรรเสริญว่ามีคุณสมบัติยิ่งกว่า จึงเข้าไปหา
พระเถรีก่อนแล้วไปหาภิกษุณีถุลลนันทาภายหลัง ภิกษุณีถุลลนันทารู้ว่า “ธรรมดา
ภิกษุณีผู้สาละวนอยู่กับการอภิปรายเรื่องราวให้ผู้อื่นเข้าใจ ย่อมมักน้อย สันโดษ
ชอบสงัด ไม่คลุกคลี” จึงโกรธ ขัดใจ ฉุดลากพระภัททกาปิลานีออกจากห้อง
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
เจ้าถุลลนันทาให้ที่พักแก่แม่เจ้าภัททกาปิลานีแล้วโกรธ ขัดใจ ฉุดลากออกไปเล่า”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๕ สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้ที่พักแก่
ภัททกาปิลานีแล้วโกรธ ไม่พอใจ ฉุดลากออกไป จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาให้ที่พักแก่ภัททกาปิลานีแล้วโกรธ ไม่พอใจ ฉุดลากออกไปเล่า
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๕๑] ก็ภิกษุณีใดให้ที่พักแก่ภิกษุณีแล้ว โกรธ ไม่พอใจ ฉุดลากออกไป
หรือใช้ให้ฉุดลากออกไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๕๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า แก่ภิกษุณี คือ ภิกษุณีรูปอื่น
ที่ชื่อว่า ที่พัก พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงที่พักที่มีประตู
คำว่า ให้ คือ ให้ด้วยตนเอง
คำว่า โกรธ ไม่พอใจ คือ ไม่ชอบใจ แค้นใจ เจ็บใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๕ บทภาชนีย์
คำว่า ฉุดลาก ความว่า จับในห้องแล้วฉุดลากออกมาหน้าห้อง ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ จับที่หน้าห้องแล้วฉุดลากออกข้างนอก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุณีฉุด
ลากพ้นประตูหลายประตูด้วยความพยายามครั้งเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้ฉุดลาก คือ ภิกษุณีสั่งผู้อื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ผู้รับคำสั่ง
ครั้งเดียวแต่ฉุดออกไปพ้นหลายประตู ภิกษุณีผู้สั่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๙๕๓] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ให้ที่พักแล้วโกรธ ไม่พอใจ
ฉุดลากหรือใช้ให้ฉุดลาก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ให้ที่พักแล้วโกรธ ไม่พอใจ ฉุดลากหรือใช้ให้ฉุดลาก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ให้ที่พักแล้วโกรธ ไม่พอใจ ฉุด
ลากหรือใช้ให้ฉุดลาก ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ขน หรือใช้ผู้อื่นให้ขนบริขารของเธอ ต้องอาบัติทุกกฏ
ฉุดลาก หรือใช้ผู้อื่นให้ฉุดลากจากสถานที่ไม่มีประตู ต้องอาบัติทุกกฏ
ขน หรือใช้ผู้อื่นให้ขนบริขารของเธอ ต้องอาบัติทุกกฏ
ฉุดลาก หรือใช้ผู้อื่นให้ฉุดลากอนุปสัมบัน จากที่มีประตูหรือไม่มีประตู ต้อง
อาบัติทุกกฏ
ขน หรือใช้ผู้อื่นให้ขนบริขารของเธอ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๕๔] ๑. ภิกษุณีฉุดลากหรือใช้ผู้อื่นให้ฉุดลากภิกษุณีไม่มีความละอาย
๒. ภิกษุณีขนหรือใช้ผู้อื่นให้ขนบริขารของภิกษุณีไม่มีความละอายนั้น
๓. ภิกษุณีฉุดลากหรือใช้ผู้อื่นให้ฉุดลากภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีขน หรือใช้ผู้อื่นขนบริขารของภิกษุณีวิกลจริตนั้น
๕. ภิกษุณีฉุดลากหรือใช้ผู้อื่นให้ฉุดลากภิกษุณีผู้ก่อความบาดหมาง ...
ก่อการทะเลาะ ... ก่อการวิวาท... ก่อความอื้อฉาว ... ก่อ
อธิกรณ์ในสงฆ์
๖. ภิกษุณีขนหรือใช้ผู้อื่นให้ขนบริขารของภิกษุณีผู้ก่อความบาดหมาง
... ก่อการทะเลาะ ... ก่อการวิวาท ... ก่อความอื้อฉาว ...
ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์นั้น
๗. ภิกษุณีฉุดลากหรือใช้ผู้อื่นให้ฉุดลากอันเตวาสินีหรือสัทธิวิหารินี
ผู้ประพฤติไม่ชอบ
๘. ภิกษุณีขนหรือใช้ผู้อื่นให้ขนบริขารของภิกษุณีอันเตวาสินีหรือ
สัทธิวิหารินีผู้ประพฤติไม่ชอบนั้น
๙. ภิกษุณีวิกลจริต
๑๐. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๖ พระบัญญัติ
๔. ตุวัฏฏวรรค

สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการอยู่คลุกคลีกับคฤหัสถ์

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๙๕๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีอยู่คลุกคลีกับ
คหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้าง บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าจัณฑกาลีจึงอยู่คลุกคลีกับคหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้างเล่า”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีจัณฑกาลีอยู่คลุกคลีกับ
คหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจัณฑกาลี
จึงอยู่คลุกคลีกับคหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๕๖] ก็ภิกษุณีใดอยู่คลุกคลีกับคหบดีหรือกับบุตรคหบดี ภิกษุณีนั้นอัน
ภิกษุณีทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า ‘น้องหญิง ท่านอย่าอยู่คลุกคลี
กับคหบดีหรือกับบุตรคหบดี น้องหญิงจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญการ
แยกกันอยู่ของน้องหญิง’ ก็ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๖ สิกขาบทวิภังค์
นี้ยังยืนยันอยู่อย่างนั้น ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ
๓ ครั้งเพื่อให้สละเรื่องนั้น ถ้าเธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้ง
สละเรื่องนั้นได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๕๗] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า คลุกคลี คือ คลุกคลีกันทางกายและวาจาที่ไม่สมควร
ที่ชื่อว่า คหบดี ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือนคนใดคนหนึ่ง
ที่ชื่อว่า บุตรคหบดี ได้แก่ บุตรและพี่ชายน้องชายคนใดคนหนึ่ง
คำว่า ภิกษุณีนั้น ได้แก่ ภิกษุณีผู้อยู่คลุกคลีคนใดคนหนึ่ง
คำว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุณีพวกอื่น
ภิกษุณีผู้ได้เห็นได้ทราบพึงว่ากล่าวตักเตือนภิกษุณีผู้คลุกคลีว่า “น้องหญิง
ท่านอย่าอยู่คลุกคลีกับคหบดีหรือกับบุตรคหบดี น้องหญิงจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์
ย่อมสรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงเท่านั้น” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่
๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุณีผู้ทราบเรื่องแล้วไม่ว่ากล่าวตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณี
นั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงนำตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนว่า “น้องหญิง
เธออย่าอยู่คลุกคลีกับคหบดีหรือกับบุตรคหบดี น้องหญิงจงแยกกันอยู่ สงฆ์ย่อม
สรรเสริญการแยกกันอยู่ของน้องหญิงเท่านั้น” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒
พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้อง
อาบัติทุกกฏ สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๖ บทภาชนีย์
วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์อย่างนี้ คือ ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถ
พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๙๕๘] แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้อยู่คลุกคลีกับคหบดีบ้าง
กับบุตรคหบดีบ้าง เธอยังไม่สละเรื่องนั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงสวดสมนุภาสน์
ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้อยู่คลุกคลีกับคหบดีบ้าง กับบุตร
คหบดีบ้าง เธอยังไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น
แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุณีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้น แม่เจ้า
รูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่ ๓
ฯลฯ
ภิกษุณีชื่อนี้สงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้วเพื่อให้สละเรื่องนั้น สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๙๕๙] กรรมที่ทำถูกต้อง๑ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่ทำถูกต้อง หมายถึงกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์ดังกล่าวข้างต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๖๐] ๑. ภิกษุณียังไม่ถูกสงฆ์สวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุณียอมสละ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๒๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค

สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการเที่ยวจาริกไปในที่ที่น่าหวาดระแวงภายในรัฐ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๙๖๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายเที่ยวจาริกไปไม่มี
กองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายในรัฐ พวกนักเลง
ข่มขืน(ภิกษุณีเหล่านั้น)
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงเที่ยวจาริกไปไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัย
น่ากลัวภายในรัฐเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีเที่ยวจาริกไปไม่
มีกองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายในรัฐ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ
ว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงเที่ยวจาริกไปไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อน
ในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายในรัฐเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๖๒] ก็ภิกษุณีใดเที่ยวจาริกไปไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่า
น่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายในรัฐ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๖๓] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ภายในรัฐ คือ ในรัฐที่ตนอาศัยอยู่
ที่ชื่อว่า น่าหวาดระแวง คือ ในหนทางนั้น ปรากฏที่อยู่ ปรากฏที่กิน ปรากฏ
ที่ยืน ปรากฏที่นั่ง ปรากฏที่นอนของพวกโจร
ที่ชื่อว่า มีภัยน่ากลัว คือ ในหนทางนั้น ปรากฏมีมนุษย์ถูกพวกโจรฆ่า
ปรากฏมีมนุษย์ถูกปล้น ปรากฏมีมนุษย์ถูกทุบตี
ที่ชื่อว่า ไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อน คือ เว้นกองเกวียน
คำว่า เที่ยวจาริกไป คือ เที่ยวจาริกไปในหมู่บ้านมีกำหนดระยะชั่วไก่บินตก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน เที่ยวจาริกไปในป่าไม่มีหมู่บ้าน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ กึ่งโยชน์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๖๔] ๑. ภิกษุณีไปกับกองเกวียน
๒. ภิกษุณีไปในสถานที่ปลอดภัย
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค

สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการเที่ยวจาริกไปในที่ที่น่าหวาดระแวงภายนอกรัฐ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๙๖๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีเที่ยวจาริกไปไม่มีกอง
เกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายนอกรัฐ พวกนักเลง
ข่มขืน(ภิกษุณีเหล่านั้น)
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีจึงเที่ยวจาริกไปไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มี
ภัยน่ากลัวภายนอกรัฐเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีเที่ยวจาริกไปไม่มี
กองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายนอกรัฐ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงเที่ยวจาริกไปไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อนในที่
ที่รู้กันว่าน่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายนอกรัฐเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๖๖] ก็ภิกษุณีใดเที่ยวจาริกไปไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อนในที่ที่รู้กันว่า
น่าหวาดระแวง มีภัยน่ากลัวภายนอกรัฐ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๖๗] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ภายนอกรัฐ คือ ในรัฐของฝ่ายอื่นนอกจากรัฐที่ตนอาศัยอยู่
ที่ชื่อว่า น่าหวาดระแวง คือ ในหนทางนั้น ปรากฏที่อยู่ ปรากฏที่กิน ปรากฏ
ที่ยืน ปรากฏที่นั่ง ปรากฏที่นอนของพวกโจร
ที่ชื่อว่า มีภัยน่ากลัว คือ ในหนทางนั้น ปรากฏมีคนทั้งหลายถูกพวกโจรฆ่า
ปรากฏมีคนถูกปล้น ปรากฏมีคนถูกทุบตี
ที่ชื่อว่า ไม่มีกองเกวียนเป็นเพื่อน คือ เว้นกองเกวียน
คำว่า เที่ยวจาริกไป คือ เที่ยวจาริกไปในหมู่บ้านมีกำหนดระยะชั่วไก่บินตก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน เที่ยวจาริกไปในป่าไม่มีหมู่บ้าน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ กึ่งโยชน์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๖๘] ๑. ภิกษุณีไปกับกองเกวียน
๒. ภิกษุณีไปในสถานที่ปลอดภัย ไม่มีภัยน่ากลัว
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค

สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการเที่ยวจาริกไปภายในพรรษา

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๙๖๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกภิกษุณีพากันเที่ยวจาริกไปภายใน
พรรษา คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงเที่ยวไป
ภายในพรรษาเหยียบย่ำของเขียวและหญ้า เบียดเบียนชีวิตซึ่งมีอินทรีย์เดียว ทำลาย
สัตว์เล็กน้อยเป็นจำนวนมากเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงเที่ยวจาริก
ไปภายในพรรษาเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีเที่ยวจาริกไป
ภายในพรรษา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงเที่ยวไป
ภายในพรรษาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๗๐] ก็ภิกษุณีใดเที่ยวจาริกไปภายในพรรษา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๗๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ภายในพรรษา คือ ไม่อยู่ตลอดพรรษาต้น ๓ เดือน หรือตลอดพรรษา
หลัง ๓ เดือน
คำว่า เที่ยวจาริกไป คือ เที่ยวจาริกไปในหมู่บ้านมีกำหนดระยะชั่วไก่บินตก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน เที่ยวจาริกไปในป่าไม่มีหมู่บ้าน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ครึ่งโยชน์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๗๒] ๑. ภิกษุณีไปด้วยสัตตาหกรณียะ๑
๒. ภิกษุณีถูกรบกวนจึงไป
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ “สัตตาหกรณียะ” คือธุระที่พึงทำเสร็จได้ในเวลา ๗ วัน หมายถึงธุระเป็นเหตุให้ภิกษุออกจากวัดไปค้าง
คืนที่อื่นได้ แต่ต้องกลับมาภายในเวลา ๗ วัน เป็นธุระที่ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี
อุบาสก อุบาสิกาส่งข่าวมานิมนต์ไป เช่นไปเพื่อพยาบาลภิกษุและภิกษุณีเป็นต้น(สหธรรมิก) หรือมารดาบิดา
ไปเพื่อระงับเพื่อนภิกษุเป็นต้นผู้กระสันจะสึก ไปเพื่อกิจของสงฆ์ เช่นสร้างวิหารหรือซ่อมวิหารที่ชำรุด ไป
กิจนิมนต์ (ดู.วิ.ม. ๔/๑๘๗-๒๐๒/๒๐๕-๒๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ นิทานวัตถุ
๔. ตุวัฏฏวรรค

สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการไม่หลีกจาริกไป

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๙๗๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน
สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกภิกษุณีอยู่จำพรรษาในเมือง
ราชคฤห์นั่นแหละตลอดฤดูฝน อยู่ในเมืองราชคฤห์นั้นตลอดฤดูหนาว อยู่ในเมือง
ราชคฤห์นั้นตลอดฤดูร้อน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ทิศทั้งหลาย
คงคับแคบมืดมนสำหรับภิกษุณี ภิกษุณีเหล่านี้จึงมองไม่เห็นทิศทาง”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา ลำดับนั้น
ภิกษุณีเหล่านั้นจึงบอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่
ภิกษุณีทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
ฯลฯ
๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย
ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุณีทั้งหลายพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๔. ตุวัฏฏวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๙๗๔] ก็ภิกษุณีใดจำพรรษาแล้ว ไม่หลีกจาริกไป โดยที่สุดแม้สิ้นระยะ
ทาง ๕-๖ โยชน์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์๑
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๗๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า จำพรรษาแล้ว คือ อยู่จำพรรษาต้น ๓ เดือน หรือตลอด
พรรษาหลัง ๓ เดือน พอทอดธุระว่า “เราจะไม่หลีกจาริกไปโดยที่สุดแม้สิ้นระยะ
ทาง ๕-๖ โยชน์” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๗๖] ๑. ภิกษุณีไม่จาริกไปเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหาภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนไม่ได้
๓. ภิกษุณีเป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๐ จบ
ตุวัฏฏวรรคที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุณีออกพรรษาแล้ว เดินทางไปได้เพียง ๓ โยชน์แล้วกลับสำนักเดิมโดยใช้เส้นทางใหม่ นับว่าได้หลีก
จาริกไปสิ้นระยะทาง ๖ โยชน์ (กงฺขา.อ. ๓๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค
หมวดว่าด้วยหอจิตรกรรม

สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการไปดูโรงละครหลวง

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๙๗๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ที่พระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล
มีการแสดงภาพจิตรกรรม ณ หอจิตรกรรม ครั้งนั้น คนทั้งหลายพากันไปดู
หอจิตรกรรม แม้พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ก็ไปดูหอจิตรกรรม คนทั้งหลายตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงไปดูหอจิตรกรรมเหมือนหญิงคฤหัสถ์
ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงไปดูหอ
จิตรกรรมเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ไปดูหอ
จิตรกรรม จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึง
ไปดูหอจิตรกรรมเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๙๗๘] ก็ภิกษุณีใดไปดูโรงละครหลวง หอจิตรกรรม สวนสาธารณะ อุทยาน
หรือสระโบกขรณี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๗๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์ว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า โรงละครหลวง ได้แก่ สถานที่ที่เขาสร้างขึ้นไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งเพื่อ
ถวายพระราชาทรงกีฬา เพื่อให้ทรงสำราญพระทัย
ที่ชื่อว่า หอจิตรกรรม ได้แก่ หอที่สร้างขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งเพื่อให้คนทั้งหลาย
ชมเล่น รื่นเริง
ที่ชื่อว่า สวนสาธารณะ ได้แก่ สวนที่สร้างขึ้นให้คนทั้งหลายชมเล่น รื่นเริง
ที่ชื่อว่า อุทยาน ได้แก่ อุทยานที่สร้างขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งเพื่อให้คนทั้งหลาย
ชมเล่น รื่นเริง
ที่ชื่อว่า สระโบกขรณี ได้แก่ สระน้ำที่ขุดไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งเพื่อให้คนทั้งหลาย
ชมเล่น รื่นเริง
[๙๘๐] ภิกษุณีเดินไปเพื่อจะดู ต้องอาบัติทุกกฏ ยืนดู ต้องอาบัติปาจิตตีย์๑
พ้นสายตาไปแล้วเหลียวกลับมาดูอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เดินเพื่อจะไปดูแต่ละแห่ง
ต้องอาบัติทุกกฏ ยืนดู ต้องอาบัติปาจิตตีย์ พ้นสายตาไปแล้วเหลียวกลับมาดูอีก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ ยืนอยู่ในที่แห่งเดียว มองดูสถานที่ทั้ง ๕ แห่งมีโรงละครหลวงเป็นต้น โดยไม่ก้าวเดินไปไหน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ ๑ ตัว ถ้าหันไปมองดูสถานที่เหล่านั้นซึ่งตั้งอยู่ในที่ต่าง ๆ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ตามจำนวนสถาน
ที่มองดู (วิ.อ. ๒/๙๗๘/๕๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๓๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๘๑] ๑. ภิกษุณียืนอยู่ที่สวนสาธารณะมองเห็น
๒. ภิกษุณีเดินไปเดินมามองเห็น
๓. ภิกษุณีมีธุระเดินไปเห็น
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๕.จิตตาคารวรรค

สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการใช้ตั่งหรือแท่น

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๙๘๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายใช้ตั่งยาวบ้าง แท่น
บ้าง คนทั้งหลายเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็นแล้วจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้ตั่งยาวบ้าง แท่นบ้าง เหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้ตั่งยาว
บ้าง แท่นบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้
ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีใช้ตั่งยาวบ้าง แท่น
บ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้เตียงบ้าง ตั่งบ้าง
เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือ
ทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๘๓] ก็ภิกษุณีใดใช้ตั่งยาวหรือแท่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๘๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ตั่งยาว พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงตั่งที่เกินขนาด
ที่ชื่อว่า แท่น ได้แก่ แท่นที่ถักด้วยขนสัตว์ที่ตนหามา
คำว่า ใช้ คือ นั่งหรือนอนบนตั่งยาว หรือบนแท่นนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๘๕] ๑. ภิกษุณีตัดเท้าตั่งยาวแล้วจึงใช้
๒. ภิกษุณีรื้อขนสัตว์ของแท่นแล้วจึงใช้
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๓ พระบัญญัติ
๕. จิตตาคารวรรค

สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการกรอด้าย

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๙๘๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์กรอด้าย
อยู่ คนทั้งหลายเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็นแล้วจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงกรอด้ายเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงกรอด้ายเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์กรอด้าย
จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงกรอด้ายเล่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๘๗] ก็ภิกษุณีใดกรอด้าย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๘๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ด้าย ได้แก่ด้าย ๖ ชนิด คือ ด้ายเปลือกไม้ ด้ายฝ้าย ด้ายไหม
ด้ายขนสัตว์ ด้ายป่าน ด้ายที่ใช้วัตถุเจือกัน
คำว่า กรอ คือ กรอเอง ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่กรอ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุก ๆ ขณะที่ม้วนเข้ามา

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๘๙] ๑. ภิกษุณีกรอด้ายที่ผู้อื่นกรอไว้
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค

สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการช่วยทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๙๙๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีช่วยทำการ
ขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์ บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงช่วยทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์เล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีช่วยทำการ
ขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีช่วย
ทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๙๙๑] ก็ภิกษุณีใดช่วยทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๙๙๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ช่วยทำการขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์ คือ ต้มข้าวต้ม หุงภัตตาหาร
หรือทำของเคี้ยว ซักผ้านุ่งหรือผ้าโพกเพื่อคฤหัสถ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๙๓] ๑. ภิกษุณีต้มข้าวต้ม จัดน้ำปานะถวายสงฆ์
๒. ภิกษุณีหุงข้าวถวายสงฆ์
๓. ภิกษุณีทำการบูชาเจดีย์
๔. ภิกษุณีต้มข้าวต้ม หุงภัตตาหารหรือทำของเคี้ยว ซักผ้านุ่งผ้าห่ม
หรือผ้าโพกให้ไวยาวัจกรของตน
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค

สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการไม่ช่วยระงับอธิกรณ์

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุณี
ถุลลนันทากล่าวว่า “แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด” ภิกษุณีถุลลนันทา
รับปากแต่ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ ลำดับนั้น ภิกษุณีนั้นได้
บอกเรื่องนี้ให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาอันภิกษุณีขอร้องอยู่ว่า ‘แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด’
รับปากแล้วแต่ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาอันภิกษุณี
ขอร้องอยู่ว่า ‘แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด’ รับปากแล้วแต่ไม่ช่วยระงับ
ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
อันภิกษุณีขอร้องอยู่ว่า ‘แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด’ รับปากแล้ว
แต่ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๕ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๙๙๕] ก็ภิกษุณีใดอันภิกษุณีขอร้องอยู่ว่า ‘แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับ
อธิกรณ์นี้ด้วยเถิด’ รับปากแล้ว ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย ไม่ช่วยระงับ
ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๙๙๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า อันภิกษุณี คือ ภิกษุณีรูปอื่น
ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ อธิกรณ์ ๔ อย่าง๑ คือ (๑) วิวาทาธิกรณ์
(๒) อนุวาทาธิกรณ์ (๓) อาปัตตาธิกรณ์ (๔) กิจจาธิกรณ์
คำว่า แม่เจ้าโปรดมาช่วยระงับอธิกรณ์นี้ด้วยเถิด ความว่า เชิญแม่เจ้าไป
ช่วยวินิจฉัยคดีนี้ด้วยเถิด
คำว่า ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย คือ เมื่อไม่มีอันตราย
คำว่า ไม่ช่วยระงับ คือ ไม่ระงับด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ คือ ไม่สั่งผู้อื่น เมื่อทอดธุระว่า
“เราจักไม่ระงับ จักไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับ” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ อธิกรณ์ ๔ อย่าง คือ
๑. วิวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การเถียงกันว่า นี้เป็นธรรมวินัย นี้ไม่ใช่ธรรมวินัยเป็นต้น
๒. อนุวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การโจทกันด้วยศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ
๓. อาปัตตาธิกรณ์ ได้แก่ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติและแก้ต่างให้พ้นอาบัติ
๔. กิจจาธิกรณ์ ได้แก่ กิจธุระของสงฆ์ เช่น อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม
ญัตติจตุตถกรรม มีการสวดปาติโมกข์เป็นต้น (ดู วิ.ป. ๘/๓๔๘-๒๙๑/๒๒๒-๒๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๙๙๗] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ไม่ช่วยระงับ ไม่
ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับอธิกรณ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นช่วยระงับอธิกรณ์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายให้ผู้
อื่นช่วยระงับอธิกรณ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุณีไม่ช่วยระงับ ไม่ขวนขวายเพื่อการระงับอธิกรณ์ของอนุปสัมบัน ต้อง
อาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๙๘] ๑. ภิกษุณีไม่ระงับในเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหา(คณะผู้วินิจฉัยอธิกรณ์)ไม่ได้
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๔๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค

สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการให้ของเคี้ยวของฉันแก่นักฟ้อนเป็นต้น

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๙๙๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาให้ของเคี้ยวของ
ฉันด้วยมือตนแก่พวกครูนักฟ้อนบ้าง พวกนักฟ้อนบ้าง พวกกระโดดไม้ค้ำบ้าง พวก
มายากลบ้าง พวกตีกลองบ้าง กล่าวว่า “พวกท่านจงกล่าวพรรณนาคุณของดิฉัน
ในที่ชุมนุมชน” พวกครูนักฟ้อนบ้าง พวกนักฟ้อนบ้าง พวกกระโดดไม้ค้ำบ้าง พวก
มายากลบ้าง พวกตีกลองบ้าง ต่างพากันกล่าวพรรณนาคุณของภิกษุณีถุลลนันทา
ในชุมนุมชนว่า “ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถ
กล่าวธรรมีกถา พวกท่านจงถวาย จงกระทำ(สักการะ)แก่เธอ”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงให้ของเคี้ยวของฉันด้วยมือตนแก่ชาวบ้านเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้ของเคี้ยว
ของฉันด้วยมือตนแก่ชาวบ้าน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงให้ของเคี้ยวของฉันด้วยมือตนแก่ชาวบ้านเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๐๐๐] ก็ภิกษุณีใดให้ของเคี้ยวหรือของฉันด้วยมือตนแก่ชาวบ้าน แก่
ปริพาชก หรือแก่ปริพาชิกา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๐๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ชาวบ้าน ได้แก่ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งที่อยู่ครองเรือน
ที่ชื่อว่า ปริพาชก ได้แก่ นักบวชชายคนใดคนหนึ่งผู้อยู่ในลัทธิปริพาชก ยก
เว้นภิกษุและสามเณร
ที่ชื่อว่า ปริพาชิกา ได้แก่ นักบวชหญิงคนใดคนหนึ่งผู้อยู่ในลัทธิปริพาชิกา
ยกเว้นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว ได้แก่ เว้นโภชนะ ๕ น้ำและไม้สีฟัน ที่เหลือชื่อว่า ของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา
เนื้อ
คำว่า ให้ คือ ให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือด้วยการโยนให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ให้น้ำและไม้สีฟัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
[๑๐๐๒] ๑. ภิกษุณีใช้ให้ผู้อื่นให้
๒. ภิกษุณีมิได้ให้เอง
๓. ภิกษุณีให้โดยวางไว้ใกล้ ๆ
๔. ภิกษุณีให้ของไล้ทาภายนอก
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค

สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการใช้ผ้าซับระดูแล้วไม่สละ

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๐๐๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาใช้ผ้าซับระดู
คนเดียวไม่ยอมสละ ภิกษุณีอื่นที่มีประจำเดือนไม่มีโอกาสได้ใช้
ภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้า
ถุลลนันทาจึงใช้ผ้าซับระดูไม่ยอมสละเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไป
บอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาใช้ผ้าซับระดู
ไม่ยอมสละ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงใช้
ผ้าซับระดูไม่ยอมสละเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๐๐๔] ก็ภิกษุณีใดใช้ผ้าซับระดูแล้วไม่ยอมสละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๐๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผ้าซับระดู ได้แก่ ผ้าที่เขาถวายไว้ให้ภิกษุณีผู้มีประจำเดือนใช้
คำว่า ไม่ยอมสละ คือ ใช้ ๒-๓ คืนแล้ว ซักในวันที่ ๔ ยังใช้อีก ไม่
ยอมสละให้แก่ภิกษุณี สิกขมานา หรือสามเณรีรูปอื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๐๐๖] ผ้าที่ยังไม่สละ ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่สละ ใช้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ผ้าที่ยังไม่สละ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ใช้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ผ้าที่ยังไม่สละ ภิกษุณีสำคัญว่าสละแล้ว ใช้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ผ้าที่สละแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่สละ ใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าที่สละแล้ว ภิกษุณีสงสัย ใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ผ้าที่สละแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าสละแล้ว ใช้ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๐๗] ๑. ภิกษุณีใช้สอยแล้วสละ
๒. ภิกษุณีใช้ผ้าที่สละแล้วอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
๓. ภิกษุณีใช้สอยในเมื่อไม่มีภิกษุณีอื่นผู้มีประจำเดือน
๔. ภิกษุณีถูกแย่งชิงผ้าเอาไป
๕. ภิกษุณีผ้าหาย
๖. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๗. ภิกษุณีวิกลจริต
๘. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค

สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการไม่สละที่พัก

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๐๐๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาไม่สละที่พัก
แล้วหลีกจาริกไป ต่อมาที่พักนั้นถูกไฟไหม้ ภิกษุณีทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า
พวกเราจงช่วยกันขนของออกมา” ภิกษุณีบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า พวก
ดิฉันไม่ขนของออกมา สิ่งใดสิ่งหนึ่งสูญหายไป แม่เจ้าจักทวงพวกดิฉัน”
เมื่อภิกษุณีถุลลนันทากลับมาสู่ที่พักนั้นอีก ถามภิกษุณีทั้งหลายว่า “แม่เจ้า
พวกท่านช่วยขนของออกบ้างหรือเปล่า”
ภิกษุณีตอบว่า “แม่เจ้า พวกดิฉันไม่ได้ช่วยขน”
ภิกษณีถุลลนันทาตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณี เมื่อที่
พักถูกไฟไหม้ จึงไม่ช่วยกันขนของออกมาเล่า”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาไม่สละที่พักแล้วหลีกจาริกไปเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำ
เรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาไม่สละที่
พักแล้วหลีกจาริกไป จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๘ บทภาชนีย์
ไม่สละที่พักแล้วหลีกจาริกไปเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๐๐๙] ก็ภิกษุณีใดไม่สละที่พักแล้วหลีกจาริกไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๑๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์ว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ที่พัก พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงที่พักที่ติดบานประตู
คำว่า ไม่สละ ... หลีกจาริกไป ความว่า ไม่สละแก่ภิกษุณี สิกขมานา
หรือสามเณรี
เมื่อเดินพ้นเขตที่พักมีรั้วล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เดินพ้นบริเวณที่พักที่ไม่มี
รั้วล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๐๑๑] ที่พักที่ยังไม่สละ ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้สละ หลีกไป ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ที่พักที่ยังไม่สละ ภิกษุณีไม่แน่ใจ หลีกไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ที่พักที่ยังไม่สละ ภิกษุณีสำคัญว่าสละแล้ว หลีกไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
ภิกษุณีไม่สละห้องพักไม่ได้ติดประตู หลีกไป ต้องอาบัติทุกกฏ
ที่พักที่สละแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่สละ หลีกไป ต้องอาบัติทุกกฏ
ที่พักที่สละแล้ว ภิกษุณีไม่แน่ใจ หลีกไป ต้องอาบัติทุกกฏ
ที่พักที่สละแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าสละแล้ว หลีกไป ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๑๒] ๑. ภิกษุณีสละแล้วหลีกไป
๒. ภิกษุณีหลีกไปเมื่อมีอันตราย
๓. ภิกษุณีแสวงหา(ผู้ดูแลแทน)แล้วไม่ได้
๔. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๕. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๖. ภิกษุณีวิกลจริต
๗. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๕. จิตตาคารวรรค

สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการเรียนดิรัจฉานวิชา

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๐๑๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์เรียน
ดิรัจฉานวิชา๑ ชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีจึงเรียนดิรัจฉาน
วิชาเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงเรียนดิรัจฉานวิชาเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์เรียน

เชิงอรรถ :
๑ ในวินัยปิฎกนี้ ดิรัจฉานวิชา คือวิชาที่ไม่มีประโยชน์ ไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เป็นวิชาที่เบียดเบียน
ผู้อื่น เช่น (๑) วิชาฝึกช้าง, ขี่ช้าง (๒) วิชาฝึกม้า, ขี่ม้า (๓) วิชาการขับรถ (๔) วิชายิงธนู (๕) วิชาฟันดาบ
(๖) ร่ายมนตร์ทำร้ายผู้อื่นด้วยพิธีอาถรรพณ์ (๗) ร่ายมนตร์เสกตะปูฝังดินฆ่าคนหรือเสกเข้าท้อง (๘) ร่าย
มนตร์ทำผู้อื่นให้อยู่ในอำนาจ หรือให้เป็นบ้า (๙) ร่ายมนตร์ทำผู้อื่นให้เนื้อเลือดเหือดแห้ง (๑๐) ปล่อยสัตว์มี
พิษ (วิ.อ. ๒/๑๐๑๕/๕๑๑, กงฺขา.อ. ๓๘๘, สารตฺถฏีกา ๓/๑๐๑๕/๑๕๕, กงฺขา.ฏีกา ๕๐๓, ปาจิตฺยาทิโยชนา
๑๗๓ ม.) ส่วนในพระสูตร หมายถึงการทำนายอวัยวะ ทำนายตำหนิ ทำนายโชคลาง ทำนายฝัน ทำนาย
ลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ พิธีเบิกแว่นเวียนเทียน พิธีซัดแกลบบูชาไฟ พิธีซัดรำบูชาไฟ
พิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ พิธีเติมเนยบูชาไฟ พิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ พิธีพ่นเครื่องเซ่นบูชาไฟ ฯลฯ (พระ
สุตตันตปิฎกแปล ที.สี. ๙/๒๑-๒๗/๘-๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๕๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
ดิรัจฉานวิชา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึง
เรียนดิรัจฉานวิชาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๐๑๔] ก็ภิกษุณีใดเรียนดิรัจฉานวิชา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๑๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ดิรัจฉานวิชา หมายถึง ศิลปวิทยาอย่างใดอย่างหนึ่งภายนอกพระ
ศาสนาที่ไม่มีประโยชน์
คำว่า เรียน คือ เรียนเป็นบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ บท เรียนเป็นอักษร
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ตัวอักษร

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๑๖] ๑. ภิกษุณีเรียนวิชาเขียนหนังสือ
๒. ภิกษุณีเรียนท่องจำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
๓. ภิกษุณีเรียนพระปริตรเพื่อคุ้มครองตน๑
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คือท่องมนต์ป้องกันยักษ์ ท่องมนต์กะบริเวณกันไม่ให้งูเข้ามา (วิ.อ. ๒/๑๐๑๖/๕๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ พระบัญัติ
๕. จิตตาคารวรรค

สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการสอนดิรัจฉานวิชา

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๐๑๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สอน
ดิรัจฉานวิชา ชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงสอนดิรัจฉานวิชาเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงสอนดิรัจฉานวิชาเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สอน
ดิรัจฉานวิชา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงสอน
ดิรัจฉานวิชาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๐๑๘] ก็ภิกษุณีใดสอนดิรัจฉานวิชา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๕. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๑๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ดิรัจฉานวิชา หมายถึง ศิลปวิทยาอย่างใดอย่างหนึ่งนอกพระ
ศาสนาที่ไม่มีประโยชน์
คำว่า สอน คือ สอนเป็นบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ บท สอนเป็นอักษร
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ตัวอักษร

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๒๐] ๑. ภิกษุณีสอนวิชาเขียนหนังสือ
๒. ภิกษุณีสอนการท่องจำ๑
๓. ภิกษุณีสอนพระปริตรเพื่อคุ้มครอง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑๐ จบ
จิตตาคารวรรคที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ การท่องจำ คือศาสตร์ว่าด้วยการทรงจำ ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามที่กล่าวไว้ จะทรงจำคัมภีร์ได้มากมาย
(กงฺขา.ฏีกา ๕๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๖. อารามวรรค
หมวดว่าด้วยอาราม

สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการเข้าอาราม โดยไม่บอก

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๐๒๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปมีจีวรผืนเดียว
กำลังตัดเย็บจีวรอยู่ในอาวาสใกล้หมู่บ้าน ภิกษุณีทั้งหลายเข้าไปสู่อาราม โดยไม่บอก
เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ภิกษุทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉนพวกภิกษุณีจึงเข้ามาสู่อารามโดยไม่บอกเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำ
เรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีเข้าไปสู่อาราม
โดยไม่บอก จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงเข้าไปสู่
อารามโดยไม่บอกเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดเข้าไปสู่อารามโดยไม่บอก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๑ พระอนุบัญญัติ
เรื่องภิกษุณีไม่กวาดอาราม
[๑๐๒๒] สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้นหลีกไปจากอาวาสนั้น ภิกษุณีทั้งหลายคิดว่า
“พระคุณเจ้าทั้งหลายจากไปแล้ว” จึงไม่ไปอาราม เมื่อภิกษุเหล่านั้นกลับมาสู่อาวาส
นั้นอีก ภิกษุณีทั้งหลายรู้ว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลายมาแล้ว” บอกแล้วพากันเข้าไป
หาภิกษุเหล่านั้นกราบไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวกับภิกษุณีเหล่านั้นผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “น้อง
หญิงทั้งหลาย เพราะเหตุไร พวกเธอจึงไม่กวาดอาราม ไม่ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้เล่า”
ภิกษุณีเหล่านั้นตอบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ‘ภิกษุณีไม่
พึงเข้าอาราม’ ดังนั้น พวกดิฉันจึงไม่มา”
ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกภิกษุณีที่
มีอยู่แล้วเข้าอารามได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุณีใดเข้าไปสู่อารามโดยไม่บอกภิกษุที่มีอยู่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีไม่กวาดอาราม จบ
[๑๐๒๓] สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้นหลีกไปจากอาวาสนั้นแล้วกลับมาสู่อาวาส
นั้นอีก ภิกษุณีทั้งหลายคิดว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลายจากไปแล้ว” จึงไม่บอก เข้าไป
สู่อาราม พวกเธอได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า
‘ภิกษุณีไม่บอกภิกษุที่มีอยู่ ไม่พึงเข้าอาราม ‘ พวกเรามิได้บอกภิกษุที่มีอยู่เข้าอาราม
ต้องอาบัติปาจิตตีย์แล้วกระมัง” ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาค
ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับ
สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ฯลฯ แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์
พระอนุบัญญัติ
[๑๐๒๔] อนึ่ง ภิกษุณีใดรู้อยู่ เข้าไปสู่อารามที่มีภิกษุโดยไม่บอก ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๒๕] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุณีรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกเธอ หรือภิกษุเหล่านั้นบอก
อารามที่ชื่อว่า มีภิกษุ คือ สถานที่มีภิกษุอาศัยอยู่แม้ที่โคนต้นไม้
คำว่า เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอก คือ ไม่บอกกล่าวภิกษุ สามเณร หรือ
คนวัด เมื่อล่วงเขตอารามที่มีรั้วล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อล่วงสู่อุปจารแห่ง
อารามที่มีรั้วล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
[๑๐๒๖] อารามที่มีภิกษุ ภิกษุณีสำคัญว่ามีภิกษุ เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอก
ภิกษุที่มีอยู่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อารามที่มีภิกษุ ภิกษุณีไม่แน่ใจ เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอกภิกษุที่มีอยู่ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
อารามที่มีภิกษุ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่มีภิกษุ เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอกภิกษุที่
มีอยู่ ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
อารามที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณีสำคัญว่ามีภิกษุ เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอกภิกษุที่
มีอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ
อารามที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณีไม่แน่ใจ เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอกภิกษุที่มีอยู่
ต้องอาบัติทุกกฏ
อารามที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่มีภิกษุ เข้าไปสู่อารามโดยไม่บอกภิกษุ
ที่มีอยู่ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๒๗] ๑. ภิกษุณีเข้าไปโดยบอกภิกษุที่มีอยู่
๒. ภิกษุไม่มีอยู่ ภิกษุณีจึงเข้าไปโดยไม่บอก
๓. ภิกษุณีเข้าไปเดินมองศีรษะภิกษุณีผู้เข้าไปก่อน
๔. ภิกษุณีไป ณ สถานที่มีภิกษุณีกำลังประชุมกัน
๕. ภิกษุณีเดินตามทางที่ผ่านไปอาราม
๖. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๗. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๘. ภิกษุณีวิกลจริต
๙. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๖. อารามวรรค

สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการด่าบริภาษภิกษุ

เรื่องพระกัปปิตกะ
[๑๐๒๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา
ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น ท่านพระกัปปิตกะผู้เป็นอุปัชฌาย์ของท่านพระ
อุบาลีพักอยู่ในป่าช้า คราวนั้นมีภิกษุณีรูปหนึ่งอายุมากกว่าพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
มรณภาพ พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ช่วยกันนำ(ศพ)ภิกษุณีนั้นออกไปเผาแล้วก่อสถูป
ไว้ไม่ไกลที่พักของพระกัปปิตกะแล้วร่ำไห้ที่สถูปนั้น ลำดับนั้น ท่านพระกัปปิตกะ
รำคาญเสียงนั้นจึงทำลายสถูปนั้นเสียแหลกละเอียด
พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ปรึกษากันว่า “พระกัปปิตกะทำลายสถูปแม่เจ้าของพวก
เรา มาเถิด พวกเราจะฆ่าพระกัปปิตกะนั้น”
ภิกษุณีรูปหนึ่งบอกความนั้นให้ท่านพระอุบาลีทราบ ท่านพระอุบาลีนำเรื่องนั้น
ไปบอกท่านพระกัปปิตกะ ท่านพระกัปปิตกะหนีออกจากวิหารไปซ่อนอยู่
คราวนั้นพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์เข้าไปที่วิหารของท่านพระกัปปิตกะตั้งอยู่ ครั้น
แล้วช่วยกันขนก้อนหินและก้อนดินทับวิหารของท่าน แล้วจากไปด้วยเข้าใจว่า
“พระกัปปิตกะมรณภาพแล้ว”
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ท่านพระกัปปิตกะครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตในกรุงเวสาลีแต่เช้า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์เห็นท่านเดินเที่ยวบิณฑบาตอยู่
กล่าวกันอย่างนี้ว่า “พระกัปปิตกะยังมีชีวิตอยู่ ใครกันนะที่นำแผนการของพวกเรา
ไปบอก” ครั้นได้ทราบว่า “พระคุณเจ้าอุบาลีนำแผนการของพวกเราไปบอก” จึง
พากันด่าท่านพระอุบาลีว่า “ท่านผู้เป็นทาสรับใช้เมื่อเวลาอาบน้ำ คอยถูขี้ไคล มี
ตระกูลต่ำคนนี้ ไฉนจึงนำแผนการของเราไปบอกเล่า”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงด่าพระคุณเจ้าอุบาลีเล่า” ครั้นแล้วภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอก
ภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ด่าอุบาลี
จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ด่าอุบาลีเล่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๐๒๙] ก็ภิกษุณีใดด่าหรือบริภาษภิกษุ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระกัปปิตกะ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๓๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ภิกษุ ได้แก่ อุปสัมบัน
คำว่า ด่า คือ ด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ อย่าง๑ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า บริภาษ คือ แสดงอาการที่น่ากลัว ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ อักโกสวัตถุ คำที่ใช้ด่า ๑๐ อย่าง ในวินัยท่านว่า ได้แก่ โอมสวาท คือคำกล่าวเสียดสี ๑๐ อย่าง (วิ.ป.
๘/๓๓๐/๒๙๗, วิ.อ. ๓/๓๓๐/๔๗๓, ดู วินัยปิฎกแปล เล่ม ๒ ข้อ ๑๕ หน้า ๒๐๒) ส่วนในธรรมบท
อรรถกถา หมายถึงคำที่ใช้ด่า ๑๐ อย่าง คือคำด่าว่า (๑) เจ้าเป็นโจร (๒) เป็นคนพาล (๓) เป็นคนหลง
(๔) เป็นอูฐ (๕) เป็นโค (๖) เป็นลา (๗) เป็นสัตว์นรก (๘) เป็นสัตว์ดิรัจฉาน (๙) เป็นคนไม่มีสุคติ
(๑๐) เป็นคนหวังได้เฉพาะทุคติ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๕/๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๖๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๐๓๑] อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ด่าหรือบริภาษ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ด่าหรือบริภาษ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ด่าหรือบริภาษ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุณีด่าหรือบริภาษอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ด่าหรือบริภาษ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีไม่แน่ใจ ด่าหรือบริภาษ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ด่าหรือบริภาษ ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๓๒] ๑. ภิกษุณีมุ่งอรรถ
๒. ภิกษุณีมุ่งธรรม
๓. ภิกษุณีมุ่งสั่งสอน
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๗๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
๖. อารามวรรค

สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการบริภาษคณะ

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๑๐๓๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีชอบก่อความ
บาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เมื่อ
สงฆ์ทำกรรมแก่จัณฑกาลีนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาก็คัดค้าน
ต่อมา ภิกษุณีถุลลนันทาเดินทางไปยังหมู่บ้านด้วยธุระบางอย่าง ภิกษุณีสงฆ์
พอรู้ว่า “ภิกษุณีถุลลนันทาจากไปแล้ว” จึงลงอุกเปขนียกรรมแก่ภิกษุณีจัณฑกาลี
เพราะไม่เห็นอาบัติ ครั้นภิกษุณีถุลลนันทาทำธุระนั้นในหมู่บ้านเสร็จแล้วกลับมา
ยังกรุงสาวัตถี เมื่อภิกษุณีถุลลนันทากำลังมา ภิกษุณีจัณฑกาลีไม่ปูอาสนะ ไม่ตั้ง
น้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตรและจีวร ไม่เอาน้ำดื่ม
ต้อนรับ
ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับภิกษุณีจัณฑกาลีนั้นดังนี้ว่า “เมื่อฉันกำลังมา
ไฉนเธอไม่ปูอาสนะ ไม่ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ไม่ลุกรับบาตร
และจีวร ไม่เอาน้ำดื่มต้อนรับเล่า”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า “แม่เจ้า คนไม่มีที่พึ่งก็เป็นอย่างนี้แหละ”
ภิกษุณีถุลลนันทาถามว่า “เพราะเหตุไรเธอจึงไม่มีที่พึ่ง”
ภิกษุณีจัณฑกาลีตอบว่า “แม่เจ้า ภิกษุณีเหล่านี้เข้าใจว่า ดิฉันไม่มีที่พึ่ง
ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครคอยกล่าวปกป้อง จึงลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ”
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงขึ้งเคียดบริภาษคณะว่า “ภิกษุณีพวกนี้โง่เขลา ภิกษุณี
พวกนี้ไม่ฉลาด ภิกษุณีพวกนี้ไม่รู้จักกรรม โทษของกรรม กรรมวิบัติ หรือ
กรรมสมบัติ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๗๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงขึ้งเคียดบริภาษคณะเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้
ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาขึ้งเคียด
บริภาษคณะ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึง
ขึ้งเคียดบริภาษคณะเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๐๓๔] ก็ภิกษุณีใดขึ้งเคียด บริภาษคณะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๓๕] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ขึ้งเคียด พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงความโกรธ
ที่ชื่อว่า คณะ ตรัสหมายถึงภิกษุณีสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๗๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
คำว่า บริภาษ คือ บริภาษว่า “ภิกษุณีพวกนี้โง่เขลา ภิกษุณีพวกนี้ไม่ฉลาด
ภิกษุณีพวกนี้ไม่รู้จักกรรม โทษของกรรม กรรมวิบัติ หรือกรรมสมบัติ” ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ บริภาษภิกษุณีหลายรูป ภิกษุณีรูปเดียว หรืออนุปสัมบัน ต้องอาบัติ
ทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๓๖] ๑. ภิกษุณีมุ่งอรรถ
๒. ภิกษุณีมุ่งธรรม
๓. ภิกษุณีมุ่งสั่งสอน
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๗๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๖. อารามวรรค

สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการฉันของเคี้ยวของฉันเมื่อห้ามภัตตาหารแล้ว

เรื่องภิกษุณีฉันหลายที่ในมื้อเดียวกัน
[๑๐๓๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งนิมนต์ภิกษุณี
ทั้งหลายให้ฉัน พวกภิกษุณีฉันแล้ว ห้ามภัตตาหารแล้ว พากันไปตระกูลญาติ
ภิกษุณีบางพวกยังฉันอีก บางพวกนำบิณฑบาตกลับไป
ครั้งนั้น พราหมณ์นั้นได้กล่าวกับเพื่อนบ้านดังนี้ว่า “นายทั้งหลาย
เราเลี้ยงภิกษุณีให้อิ่มหนำแล้ว เชิญมาเถิด เราจักเลี้ยงพวกท่านให้อิ่มหนำบ้าง”
เพื่อนบ้านผู้คุ้นเคยเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “นายท่านจะเลี้ยงพวกเราให้อิ่มได้
อย่างไร แม้พวกภิกษุณีที่ท่านนิมนต์แล้วก็ยังต้องไปที่เรือนพวกเรา บางพวกยังฉัน
อีก บางพวกก็นำบิณฑบาตกลับไป”
พราหมณ์ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉันที่เรือนเรา
แล้วยังไปฉันที่อื่นอีกเล่า เราไม่สามารถที่จะถวายให้พอแก่ความต้องการหรือ”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพราหมณ์ตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉันแล้ว ห้าม
ภัตตาหารแล้วยังฉันในที่อื่นอีก” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉันแล้ว ห้าม
ภัตตาหารแล้วยังฉันในที่อื่นอีก จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๗๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉันแล้ว
ห้ามภัตตาหารแล้วยังฉันในที่อื่นอีกเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคน
ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๐๓๘] ก็ภิกษุณีใดได้รับนิมนต์แล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้ว เคี้ยวของ
เคี้ยว หรือฉันของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉันหลายที่ในมื้อเดียวกัน จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๓๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ได้รับนิมนต์แล้ว คือ ได้รับนิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ ชนิด อย่างใด
อย่างหนึ่ง

ลักษณะการบอกห้ามภัตตาหาร
ที่ชื่อว่า บอกห้ามภัตตาหารแล้ว คือ (๑) ภิกษุณีกำลังฉัน (๒) ทายกนำ
โภชนะมาถวาย (๓) ทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย (๔) ภิกษุณีบอกห้าม
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ ข้าวต้ม ยามกาลิก สัตตาหกาลิก
และยาวชีวิก๑ นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา เนื้อ

เชิงอรรถ :
๑ ดู เชิงอรรถพระวินัยปิฎกแปล เล่ม ๒ ข้อ ๒๓๙ หน้า ๓๙๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๗๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
ภิกษุณีรับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๐๔๐] ได้รับนิมนต์แล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าได้รับนิมนต์แล้ว เคี้ยวของเคี้ยว
หรือฉันของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ได้รับนิมนต์แล้ว ภิกษุณีไม่แน่ใจ เคี้ยวของเคี้ยว หรือฉันของฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ได้รับนิมนต์แล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้รับนิมนต์ เคี้ยวของเคี้ยว หรือฉัน
ของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ภิกษุณีรับประเคนยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อเป็นอาหาร ต้อง
อาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏทุกๆ คำกลืน

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๔๑] ๑. ภิกษุณีที่ทายกไม่ได้นิมนต์
๒. ภิกษุณียังไม่ห้ามภัตตาหาร
๓. ภิกษุณีดื่มข้าวต้ม
๔. ภิกษุณีบอกเจ้าของแล้วฉัน
๕. ภิกษุณีฉันของที่เป็นยาวกาลิก สัตตาหกาลิกและยาวชีวิกเมื่อมี
เหตุผลจำเป็น
๖. ภิกษุณีวิกลจริต
๗. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๗๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
๖. อารามวรรค

สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยความหวงตระกูล

เรื่องภิกษุณีหวงตระกูล
[๑๐๔๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตใน
ตรอกแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถี เข้าไปที่ตระกูลแห่งหนึ่ง นั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ ครั้น
คนทั้งหลายนิมนต์เธอให้ฉันแล้วกล่าวดังนี้ว่า “แม้ภิกษุณีอื่น ๆ ก็นิมนต์มาเถิด
เจ้าข้า”
ขณะนั้น ภิกษุณีนั้นคิดว่า ทำอย่างไร ภิกษุณีอื่น ๆ จึงจะไม่มา จึงเข้าไปหา
ภิกษุณีทั้งหลายบอกว่า “ในที่โน้นสุนัขดุ โคดุ สถานที่ลื่น พวกท่านอย่าไปที่นั้นเลย”
ภิกษุณีแม้อีกรูปหนึ่งได้ไปบิณฑบาตที่ตรอกนั้น เข้าไปที่ตระกูลนั้นตั้งอยู่
ครั้นแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ ลำดับนั้น คนทั้งหลายนิมนต์ให้ภิกษุณีนั้นฉันแล้ว
ได้กล่าวดังนี้ว่า “แม่เจ้า ทำไมภิกษุณีทั้งหลายจึงไม่มา” ครั้งนั้น ภิกษุณีนั้นบอกเรื่อง
นั้นให้คนทั้งหลายทราบ คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณี
จึงหวงตระกูลเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้
ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีหวงตระกูล จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ
ว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงหวงตระกูลเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่ง
ขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๗๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๐๔๓] ก็ภิกษุณีใดหวงตระกูล ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหวงตระกูล จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๔๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ตระกูล หมายถึงตระกูล ๔ ได้แก่ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์
ตระกูลแพศย์ ตระกูลศูทร
ที่ชื่อว่า หวง คือ ภิกษุณีกล่าวโทษของตระกูลในสำนักภิกษุณีทั้งหลายด้วย
ประสงค์ว่า “ทำอย่างไร ภิกษุณีทั้งหลายจึงจะไม่มา” ต้องอาบัติปาจิตตีย์ หรือ
กล่าวโทษภิกษุณีในสำนักตระกูล ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๔๕] ๑. ภิกษุณีไม่ได้หวงตระกูลแต่บอกเฉพาะโทษที่มีอยู่
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๗๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
๖. อารามวรรค

สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๐๔๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีหลายรูปออกพรรษาแล้ว
ในอาวาสใกล้หมู่บ้าน พากันไปกรุงสาวัตถี ภิกษุณีทั้งหลายได้กล่าวกับภิกษุณี
เหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายจำพรรษาที่ไหน โอวาทสัมฤทธิ์ผลดีละหรือ”
ภิกษุณีเหล่านั้นตอบว่า “แม่เจ้า ในอาวาสที่พวกเราจำพรรษาไม่มีภิกษุเลย
โอวาทจักสัมฤทธิ์ผลดีจากที่ไหนกัน”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีจึงจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุเล่า”๑ ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำ
เรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีจำพรรษาในอาวาส
ที่ไม่มีภิกษุ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงจำพรรษาใน
อาวาสที่ไม่มีภิกษุเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ “อาวาสที่ไม่มีภิกษุ” หมายถึงสำนักภิกษุณีที่ไม่มีภิกษุผู้จะให้โอวาทอยู่ภายในระยะ ๑ โยชน์ หรือเส้นทาง
ที่จะไปยังสำนักภิกษุณีนั้น ไม่ปลอดภัย ไม่สะดวก ภิกษุไม่สามารถเดินทางไปให้โอวาทได้ (วิ.อ. ๒/๑๔๙/
๓๒๑, กงฺขา.อ. ๓๙๑) ไม่ได้หมายถึงอาวาสเดียวกันกับภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๗๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๐๔๗] ก็ภิกษุณีใดจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๔๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
อาวาสที่ชื่อว่า ไม่มีภิกษุ ได้แก่ อาวาสที่ภิกษุณีไม่สามารถไปรับโอวาท
หรือธรรมอันเป็นเหตุอยู่ร่วมกันได้๑
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะจำพรรษา” แล้วจัดแจงเสนาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้
กวาดบริเวณ ต้องอาบัติทุกกฏ พออรุณขึ้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๔๙] ๑. ภิกษุณีจำพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุอยู่จำพรรษา หลีกไป สึก
มรณภาพหรือไปเข้ารีตเดียรถีย์
๒. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ “โอวาท” หมายถึงครุธรรม ๘ “ธรรมอันเป็นเหตุอยู่ร่วมกัน” หมายถึงการสอบถามอุโบสถและปวารณา
(วิ.อ. ๒/๑๐๔๘/๕๑๓, ดู ข้อ ๑๐๕๖ หน้า ๒๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๘๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๖. อารามวรรค

สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการไม่ปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๐๕๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีหลายรูปออกพรรษาใน
อาวาสใกล้หมู่บ้านแล้วพากันไปกรุงสาวัตถี ภิกษุณีทั้งหลายได้กล่าวกับภิกษุณีเหล่านั้น
ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายจำพรรษาที่ไหน ได้ปวารณาต่อภิกษุสงฆ์แล้วหรือ”
ภิกษุณีเหล่านั้นตอบว่า “พวกเรายังมิได้ปวารณาต่อภิกษุสงฆ์เลย เจ้าข้า”
ภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีจำพรรษาแล้วไม่ปวารณาต่อภิกษุสงฆ์เล่า”๑ ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำ
เรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีจำพรรษาแล้วไม่
ปวารณาต่อภิกษุสงฆ์ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจำ
พรรษาแล้วจึงไม่ปวารณาต่อภิกษุสงฆ์เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ วิธีการปวารณาต่อภิกษุสงฆ์โดยย่อ คือหลังจากที่ได้ปวารณาต่อกันและกันแล้ว แต่งตั้งภิกษุณีรูปหนึ่ง
ด้วยญัตติทุติยกรรมให้เป็นผู้ไปปวารณาในสำนักภิกษุสงฆ์แทนภิกษุณีสงฆ์ (วิ.จู. ๗/๔๒๗/๒๖๑, กงฺขา.อ.
๓๙๒-๓๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๘๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๐๕๑] ก็ภิกษุณีใดจำพรรษาแล้ว ไม่ปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายด้วยฐานะ
๓ คือ ด้วยได้เห็น ด้วยได้ยิน หรือด้วยระแวงสงสัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๕๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า จำพรรษาแล้ว คือ อยู่จำพรรษาต้น ๓ เดือน หรือพรรษาหลัง ๓
เดือน
ภิกษุณีพอทอดธุระว่า “ เราจะไม่ปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายด้วยฐานะ ๓ คือ
ด้วยได้เห็น ด้วยได้ยิน หรือด้วยระแวงสงสัย” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๕๓] ๑. ภิกษุณีไม่ปวารณาในเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหาแล้วแต่ไม่ได้๑
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ได้ภิกษุณี (วิ.อ. ๒/๑๐๕๓/๕๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๘๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
๖. อารามวรรค

สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการไม่ไปรับโอวาทเป็นต้น

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๐๕๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม
เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไปสำนักภิกษุณีแล้ว
กล่าวสอนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
ภิกษุณีทั้งหลายได้กล่าวกับพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ดังนี้ว่า “มาเถิด แม่เจ้า
ทั้งหลาย พวกเราจะไปรับโอวาท”
ภิกษุณีฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “พวกเราจะไปรับโอวาททำไมกัน พระคุณเจ้า
ฉัพพัคคีย์มาให้โอวาทพวกเราถึงที่นี้แล้ว”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงไม่ไปรับโอวาทเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้
ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ไม่ไปรับ
โอวาท จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ไม่ไปรับโอวาท
เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือ
ทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๘๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๐๕๕] ก็ภิกษุณีใดไม่ไปรับโอวาท หรือธรรมเป็นเหตุอยู่ร่วมกัน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๕๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า โอวาท ได้แก่ ครุธรรม ๘ ประการ๑
ที่ชื่อว่า ธรรมเป็นเหตุอยู่ร่วมกัน ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน อุทเทสที่สวด
ร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน
ภิกษุณีพอทอดธุระว่า “เราจะไม่ไปรับโอวาทหรือธรรมเป็นเหตุอยู่ร่วมกัน”
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๕๗] ๑. ภิกษุณีไม่ไปรับโอวาทในเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหาแล้วแต่ไม่ได้ภิกษุณีเป็นเพื่อน
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ครุธรรม ๘ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าขณะที่ประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน
ได้ประทานแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีผู้เดินทางไกลจากกรุงบิลพัสดุ์เพื่อทูลบวชเป็นภิกษุณีในพระ
พุทธศาสนา นับเป็นภิกษุณีรูปแรก และเป็นการประทานครุธรรมครั้งแรก (ดู วินัยปิฎกแปล เล่ม ๒ ข้อ
๑๔๙ หน้า ๓๒๒-๓๒๓, วิ.จู. ๗/๔๐๓/๒๓๓-๒๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๘๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๖. อารามวรรค

สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการไม่ถามอุโบสถเป็นต้น

เรื่องภิกษุณีไม่ถามอุโบสถ ไม่ขอโอวาท
[๑๐๕๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีไม่ถามอุโบสถบ้าง ไม่ขอ
โอวาทบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึง
ไม่ถามอุโบสถบ้าง ไม่ขอโอวาทบ้างเล่า”

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีไม่ถามอุโบสถบ้าง
ไม่ขอโอวาทบ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีไม่ถาม
อุโบสถบ้าง ไม่ขอโอวาทบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๐๕๙] ก็ภิกษุณีพึงหวังธรรม ๒ อย่างจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน คือ
การถามอุโบสถ ๑ การเข้าไปขอโอวาท ๑ ผู้ฝ่าฝืนธรรม ๒ อย่างนั้น ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีไม่ถามอุโบสถ ไม่ขอโอวาท จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๘๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๖๐] คำว่า ทุกกึ่งเดือน คือ ทุกวันอุโบสถ
ที่ชื่อว่า อุโบสถ ได้แก่ อุโบสถ ๒ อย่าง คือ อุโบสถวัน ๑๔ ค่ำ และอุโบสถ
วัน ๑๕ ค่ำ
ที่ชื่อว่า โอวาท ได้แก่ ครุธรรม ๘ อย่าง๑
ภิกษุณีทอดธุระว่า “เราจะไม่ถามอุโบสถบ้าง จะไม่ขอโอวาทบ้าง” ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๖๑] ๑. ภิกษุณีไม่ถามอุโบสถและไม่ขอโอวาทในเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหาแล้วแต่ไม่ได้ภิกษุณีเป็นเพื่อน
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู วินัยปิฎกแปล เล่ม ๒ ข้อ ๑๔๙ หน้า ๓๒๒-๓๒๓, วิ.จู. ๗/๔๐๓/๒๓๓-๒๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๘๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ นิทานวัตถุ
๖. อารามวรรค

สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการให้บ่งฝีในร่มผ้า

เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง
[๑๐๖๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งให้บ่งฝีที่เกิดใน
ร่มผ้าอยู่กันสองต่อสองกับชาย ลำดับนั้น ชายนั้นพยายามจะข่มขืนภิกษุณีนั้น เธอ
ได้ส่งเสียงร้องขึ้น ภิกษุณีทั้งหลายวิ่งเข้าไปได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า
เธอส่งเสียงร้องทำไม” เธอจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีจึงใช้ชายให้บ่งฝีที่เกิดในร่มผ้าอยู่กันสองต่อสองกับชายเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีใช้บุรุษให้บ่งฝีที่เกิด
ในร่มผ้าอยู่กันสองต่อสองกับบุรุษ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีจึงใช้บุรุษให้บ่งฝีที่เกิดในร่มผ้าอยู่กันสองต่อสองกับบุรุษเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๘๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๑๐๖๓] ก็ภิกษุณีใดไม่บอกสงฆ์หรือคณะ ใช้ให้บ่ง ให้ผ่า ให้ชะล้าง
ให้ทา ให้พัน หรือให้แกะฝีหรือบาดแผลที่เกิดในร่มผ้าอยู่กันสองต่อสองกับชาย
ต้องอาบัติปาจิตตีย์๑
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๖๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ในร่มผ้า ได้แก่ บริเวณใต้สะดือลงมา เหนือเข่าขึ้นไป
คำว่า ที่เกิด คือ ที่เกิดในบริเวณนั้น
ที่ชื่อว่า ฝี ได้แก่ ฝีชนิดใดชนิดหนึ่ง
ที่ชื่อว่า บาดแผล ได้แก่ แผลอย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า ไม่บอก คือ ไม่แจ้งให้ทราบ
ที่ชื่อว่า สงฆ์ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงภิกษุณีสงฆ์
ที่ชื่อว่า คณะ ตรัสหมายถึงภิกษุณีหลายรูป

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุณีไม่บอกสงฆ์หรือคณะ ใช้ให้บ่ง ให้ผ่า ให้ชะล้าง ให้ทา ให้พัน ให้แกะ ชายนั้นทำหมดทุกอย่างตามที่ใช้
ภิกษุณีนั้นต้องอาบัติทุกกฏ ๖ ตัว ในขณะที่ใช้ เมื่อชายนั้นทำเสร็จ ภิกษุณีต้องอาบัติปาจิตตีย์ ๖ ตัว หรือ
แม้จะใช้ให้เขาทำตามที่เห็นสมควร เมื่อเขาทำเสร็จทุกอย่าง ก็ต้องอาบัติทุกกฏ ๖ ตัว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
๖ ตัวเช่นกัน แต่ถ้าใช้ให้ทำเพียงอย่างเดียว แม้ชายนั้นจะทำหมดทุกอย่าง ก็ต้องอาบัติทุกกฏ และ
ปาจิตตีย์เพียง ๑ ตัว (กงฺขา.อ. ๓๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๘๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๖. อารามวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ แต่เป็นมนุษย์ผู้ชายที่รู้เดียงสา สามารถที่จะทำมิดีมิร้ายได้
คำว่า ด้วยกัน คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า สองต่อสอง คือ บุรุษและภิกษุณี
[๑๐๖๕] ภิกษุณีสั่งว่า “จงบ่ง” ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อบ่งเสร็จ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ภิกษุณีสั่งว่า “จงผ่า” ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อผ่าเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุณีสั่งว่า “จงชะล้าง” ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อชะล้างเสร็จ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ภิกษุณีสั่งว่า “จงทา” ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อทาเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุณีสั่งว่า “จงพัน” ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อพันเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุณีสั่งว่า “จงแกะ” ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อแกะเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๖๖] ๑. ภิกษุณีบอกสงฆ์หรือคณะแล้วจึงให้บ่ง ให้ผ่า ให้ชะล้าง ให้ทา
ให้พันหรือให้แกะ
๒. ภิกษุณีมีสตรีผู้รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑๐ จบ
อารามวรรคที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๘๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๗. คัพภินีวรรค
หมวดว่าด้วยสตรีมีครรภ์

สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการบวชให้สตรีมีครรภ์

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๐๖๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้สตรีมีครรภ์
เธอเที่ยวบิณฑบาต คนทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลายจงถวายภิกษาหาร
แก่แม่เจ้า แม่เจ้ามีครรภ์แก่” แล้วตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีจึงบวชให้สตรีมีครรภ์เล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงบวชให้
สตรีมีครรภ์เล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้สตรีมีครรภ์
จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงบวชให้สตรีมีครรภ์เล่า
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๙๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๑๐๖๘] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สตรีมีครรภ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๖๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สตรีมีครรภ์ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงหญิงที่มีสัตว์มาถือปฏิสนธิ
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ (สวด)จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา
๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

บทภาชนีย์
[๑๐๗๐] สตรีมีครรภ์ ภิกษุณีสำคัญว่ามีครรภ์ บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สตรีมีครรภ์ ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
สตรีมีครรภ์ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่มีครรภ์ บวชให้ ไม่ต้องอาบัติ
สตรีไม่มีครรภ์ ภิกษุณีสำคัญว่ามีครรภ์ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
สตรีไม่มีครรภ์ ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
สตรีไม่มีครรภ์ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่มีครรภ์ บวชให้ ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๙๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๗๑] ๑. สตรีมีครรภ์ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่มีครรภ์ จึงบวชให้
๒. สตรีไม่มีครรภ์ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่มีครรภ์ จึงบวชให้
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๙๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๗. คัพภินีวรรค

สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการบวชให้สตรีมีลูกยังดื่มนม

เรื่องภิกษุณีหลายรูปบวชให้สตรีมีลูกยังดื่มนม
[๑๐๗๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้สตรีมีลูก
ยังดื่มนม เธอเที่ยวบิณฑบาต คนทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลายจงถวาย
ภิกษาหารแก่แม่เจ้า แม่เจ้ามีลูก” แล้วตำหนิว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงบวชให้สตรีมี
ลูกยังดื่มนมเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงบวชให้
สตรีมีลูกยังดื่มนมเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้สตรีมีลูก
ยังดื่มนม จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงบวชให้สตรีมี
ลูกยังดื่มนมเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๙๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๑๐๗๓] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สตรีมีลูกยังดื่มนม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูปให้สตรีมีลูกยังดื่มนมบวช จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๗๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์ว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สตรีมีลูกยังดื่มนม ได้แก่ สตรีที่เป็นมารดา หรือเป็นแม่นม
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ (สวด)จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา
๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

บทภาชนีย์
[๑๐๗๕] สตรีมีลูกยังดื่มนม ภิกษุณีสำคัญว่ามีลูกยังดื่มนม บวชให้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
สตรีมีลูกยังดื่มนม ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
สตรีมีลูกยังดื่มนม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่มีลูกยังดื่มนม บวชให้ ไม่ต้องอาบัติ
สตรีไม่มีลูกยังดื่มนม ภิกษุณีสำคัญว่ามีลูกยังดื่มนม บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
สตรีไม่มีลูกยังดื่มนม ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
สตรีไม่มีลูกยังดื่มนม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่มีลูกยังดื่มนม บวชให้ ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๙๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร

ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๗๖] ๑. สตรีมีลูกยังดื่มนม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่มีลูกยังดื่มนม จึงบวชให้
๒. สตรีไม่มีลูกยังดื่มนม ภิกษุณีสำคัญว่าไม่มีลูกยังดื่มนม จึงบวชให้
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๙๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
๗. คัพภินีวรรค

สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการบวชให้สิกขมานาผู้ยังไม่ได้ศึกษาธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๐๗๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้สิกขมานา
ผู้ไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อ๑ตลอด ๒ ปี สิกขมานาผู้บวชเป็นภิกษุณีเหล่านั้น
โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีจึงบวชให้สิกขมานาผู้ไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีเล่า”
ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้สิกขมานา
ผู้ยังไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนพวกภิกษุณีจึงบวชให้สิกขมานาผู้ยังไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒
ปีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรง

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงอนุปสัมบันหรือสามเณรีผู้ใคร่ศึกษา แต่ยังไม่มีภิกษุณีใดให้สิกขาหรือมีสิกขาเสียไป ที่ได้ชื่อว่า
สิกขมานา เพราะศึกษาในธรรม ๖ ข้อ หรือธรรมกล่าวคือสิกขาเหล่านั้น (กงฺขา.อ. ๓๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๙๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
แสดงธรรมีกถา แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ภิกษุณีสงฆ์ให้สิกขาสมมติ๑ในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปีแก่สิกขมานา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้สิกขาสมมติอย่างนี้

วิธีขอสิกขาสมมติและกรรมวาจาให้สิกขาสมมติ
สิกขมานานั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุณีทั้งหลายแล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ดิฉันชื่อนี้
เป็นสิกขมานาของแม่เจ้าชื่อนี้ขอสิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปีต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ พึงขอแม้ครั้งที่ ๓
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๐๗๘] แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขมานาชื่อนี้ของแม่เจ้าชื่อนี้ขอ
สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปีต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้
สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปีแก่สิกขมานาชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขมานาชื่อนี้ของแม่เจ้าชื่อนี้ขอสิกขาสมมติ
ในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปีต่อสงฆ์ สงฆ์ให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา
๒ ปีแก่สิกขมานาชื่อนี้ แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการให้สิกขาสมมติในธรรม ๖
ข้อเป็นเวลา ๒ ปีแก่สิกขมานาชื่อนี้ แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย
แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี สงฆ์ให้แก่สิกขมานาชื่อนี้แล้ว
สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
[๑๐๗๙] พึงบอกสิกขมานาผู้นั้นว่า “เธอจงกล่าวอย่างนี้ว่า
๑. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด
๒ ปี
๒. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ โดย
ไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี

เชิงอรรถ :
๑ สิกขาสมมติ คือข้อตกลงยินยอมร่วมกันที่จะให้สิกขมานานั้นศึกษาในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๙๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์
๓. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์๑
โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี
๔. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการพูดเท็จ โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด
๒ ปี
๕. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความประมาท โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี
๖. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล โดย
ไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี”
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิภิกษุณีเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วตรัส
โทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ฯลฯ แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๐๘๐] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานาผู้ยังไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อ
ตลอด ๒ ปี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๘๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ตลอด ๒ ปี คือ สิ้น ๒ ปี

เชิงอรรถ :
๑ พฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ หมายถึงการเสพเมถุนกรรม (การร่วมสังวาส) (ขุ.ขุ.อ. ๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๙๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๓ บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า ผู้ยังไม่ได้ศึกษาสิกขา คือ ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่ได้ให้สิกขา หรือให้แล้ว
แต่เธอทำขาด
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตร หรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๐๘๒] กรรมที่ทำถูกต้อง๑ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่ทำถูกต้อง หมายถึงกรรมวาจาสวดให้สิกขาสมบัติดังกล่าวข้างต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๒๙๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๘๓] ๑. ภิกษุณีบวชให้สิกขมานาผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อ ตลอด
๒ ปี
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๐๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๗. คัพภินีวรรค

สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการบวชให้สิกขมานาที่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๐๘๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้สิกขมานา
ผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี แต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ ภิกษุณีทั้งหลายกล่าว
อย่างนี้ว่า “สิกขมานาทั้งหลาย พวกเธอจงมานี่ จงรู้สิ่งนี้ ประเคนสิ่งนี้ นำสิ่งนี้มา
ฉันต้องการสิ่งนี้ จงทำสิ่งนี้ให้เป็นกัปปิยะ”
สิกขมานาเหล่านั้นตอบว่า “แม่เจ้า พวกดิฉันไม่ใช่สิกขมานา พวกดิฉันเป็น
ภิกษุณี”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีจึงบวชให้สิกขมานาผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี แต่สงฆ์ยัง
ไม่ได้สมมติเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีทั้งหลายบวชให้
สิกขมานาผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงบวชให้สิกขมานาผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖
ข้อตลอด ๒ ปีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๐๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถา แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์ให้วุฏฐานสมมติแก่สิกขมานาผู้ได้ศึกษาสิกขา
ในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้วุฏฐานสมมติ๑ อย่างนี้

วิธีขอวุฏฐานสมมติและกรรมวาจาให้วุฏฐานสมมติ
สิกขมานาผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้วนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์
ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุณีทั้งหลาย นั่งกระโหย่ง ประนมมือ
กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ดิฉันชื่อนี้เป็นสิกขมานาของแม่เจ้าชื่อนี้ ได้ศึกษาสิกขา
ในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว ขอวุฏฐานสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ พึงขอแม้ครั้งที่ ๓
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๐๘๕] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขมานาชื่อนี้ของแม่เจ้าชื่อนี้ได้
ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว ขอวุฏฐานสมมติต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อม
กันแล้วก็พึงให้วุฏฐานสมมติแก่สิกขมานาชื่อนี้ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด
๒ ปีแล้ว นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขมานาชื่อนี้ของแม่เจ้าชื่อนี้ได้ศึกษาสิกขา
ในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว ขอวุฏฐานสมมติต่อสงฆ์ สงฆ์ให้วุฏฐานสมมติแก่
สิกขมานาชื่อนี้ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วย
กับการให้วุฏฐานสมมติแก่สิกขมานาชื่อนี้ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
แล้ว แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง

เชิงอรรถ :
๑ วุฏฐานสมมติ แปลว่า สมมติการบวช หมายถึงการรับรองให้บวชได้ กรรมชนิดนี้ ภิกษุณีสงฆ์จะให้แก่
สิกขมานาผู้ศึกษาประพฤติตามธรรม ๖ ข้อ ครบ ๒ ปี วุฏฐานสมมติถือเป็นประกาศนียบัตรรับรองให้
บวชเป็นภิกษุณีได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๐๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์
วุฏฐานสมมติสงฆ์ให้แล้วแก่สิกขมานาชื่อนี้ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อ
ตลอด ๒ ปีแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็น
มติอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิภิกษุณีเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วตรัส
โทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ฯลฯ” แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๐๘๖] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานาผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด
๒ ปีแล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๘๗] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ตลอด ๒ ปี คือ สิ้น ๒ ปี
ที่ชื่อว่า ผู้ศึกษาสิกขา คือ ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อแล้ว
ที่ชื่อว่า แต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ คือ แต่สงฆ์ยังไม่ได้ให้วุฏฐานสมมติด้วย
ญัตติทุติยกรรม
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๐๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๐๘๘] กรรมที่ทำถูกต้อง๑ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๘๙] ๑. ภิกษุณีบวชให้สิกขมานาผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒
ปีที่สงฆ์สมมติแล้ว
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่ทำถูกต้อง หมายถึงกรรมวาจาให้วุฏฐานสมมติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๐๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
๗. คัพภินีวรรค

สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการบวชให้หญิงที่มีครอบครัวอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๐๙๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้หญิงที่มี
ครอบครัวมีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี๑ หญิงที่บวชเป็นภิกษุณีเหล่านั้นไม่อดทน ไม่อดกลั้น
ต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด
สัตว์เลื้อยคลาน คำกล่าวร้าย คำที่ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์
แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจแทบจะคร่าชีวิต
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีจึงบวชให้หญิงที่มีครอบครัวมีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปีเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้หญิงที่มี
ครอบครัวมีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน

เชิงอรรถ :
๑ หญิงที่จะได้รับการบวชเป็นภิกษุณีนั้น นอกจากจะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ตามขั้นตอนแล้ว ยังต้อง
มีอายุครบ ๒๐ ปี แต่ในกรณีนี้ เป็นข้อยกเว้นสำหรับหญิงที่มีครอบครัวแล้วหรือเคยผ่านการแต่งงานมี
ครอบครัวมาแล้ว แม้เธอจะมีอายุเพียง ๑๒ ปี ถ้าผ่านการศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี และสงฆ์
ให้การสมมติคือรับรองแล้ว ก็สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ (กงฺขา.อ. ๓๙๘-๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๐๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๕ สิกขาบทวิภังค์
พวกภิกษุณีจึงบวชให้หญิงที่มีครอบครัวมีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปีเล่า ภิกษุทั้งหลาย
เพราะว่าหญิงอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ยังไม่อดทน ไม่อดกลั้นต่อความเย็น ความร้อน
ความหิว ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน คำ
กล่าวร้าย คำที่ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึกทางกาย ที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์ แสนสาหัส รุนแรง
เผ็ดร้อน ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจแทบจะคร่าชีวิต ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๐๙๑] ก็ภิกษุณีใดบวชให้หญิงที่มีครอบครัวมีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๙๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า อายุต่ำกว่า ๑๒ ปี คือ อายุไม่ถึง ๑๒ ปี
ที่ชื่อว่า หญิงที่มีครอบครัว พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงหญิงที่เคยอยู่ร่วม
กับชาย
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๐๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
[๑๐๙๓] หญิงอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ภิกษุณีสำคัญว่ามีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี
บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
หญิงอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
หญิงอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ภิกษุณีสำคัญว่าครบ บวชให้ ไม่ต้องอาบัติ
หญิงอายุครบ ๑๒ ปี ภิกษุณีสำคัญว่ามีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
หญิงอายุครบ ๑๒ ปี ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
หญิงมีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ภิกษุณีสำคัญว่าครบ บวชให้ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๙๔] ๑. หญิงมีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ภิกษุณีสำคัญว่าอายุครบ จึงบวชให้
๒. หญิงมีอายุครบ ๑๒ ปี ภิกษุณีสำคัญว่าอายุครบ จึงบวชให้
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๐๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
๗. คัพภินีวรรค

สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการบวชให้หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปี
แต่ยังไม่ได้ศึกษาสิกขา

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๐๙๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้หญิงที่มี
ครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปียังไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี หญิงที่
บวชเป็นภิกษุณีเหล่านั้นโง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีจึงบวชให้หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปียังไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖
ข้อตลอด ๒ ปีเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้
ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้หญิงที่มี
ครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปียังไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงบวชให้หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒
ปียังไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถา แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์ให้สิกขาสมมติ ในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒
ปีแก่หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปี
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้สิกขาสมมติอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๐๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
วิธีขอสิกขาสมมติและกรรมวาจาให้สิกขาสมมติ
หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปีนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียง
บ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุณีทั้งหลายแล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
“แม่เจ้า ดิฉันชื่อนี้ เป็นหญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปี ของแม่เจ้าชื่อนี้ ขอ
สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี ต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ พึงขอแม้ครั้งที่ ๓
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๐๙๖] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า หญิงชื่อนี้เป็นหญิงที่มีครอบครัวมี
อายุครบ ๑๒ ปี ของแม่เจ้าชื่อนี้ ขอสิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี
ต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี
แก่หญิงชื่อนี้เป็นหญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปี นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า หญิงชื่อนี้เป็นหญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒
ปี ของแม่เจ้าชื่อนี้ ขอสิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี ต่อสงฆ์
สงฆ์ให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปีแก่หญิงชื่อนี้เป็นหญิงที่มีครอบครัว
มีอายุครบ ๑๒ ปี แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็น
เวลา ๒ ปีแก่หญิงชื่อนี้เป็นหญิงที่มีครอบครัว มีอายุครบ ๑๒ ปี แม่เจ้ารูปนั้นพึง
นิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี สงฆ์ให้แล้วแก่หญิงชื่อนี้เป็น
หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปี สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้า
ขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงบอกหญิงที่มีครอบครัว มีอายุครบ ๑๒ ปีนั้นว่า
“เธอจงกล่าวอย่างนี้ว่า
๑. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด
๒ ปี
ฯลฯ
๖. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล โดย
ไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๐๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๖ สิกขาบทวิภังค์
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิภิกษุณีเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วตรัส
โทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ฯลฯ แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๐๙๗] ก็ภิกษุณีใดบวชให้หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปียังไม่ได้
ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๙๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มีอายุครบ ๑๒ ปี คือ มีอายุถึง ๑๒ ปี
ที่ชื่อว่า หญิงที่มีครอบครัว พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงหญิงที่เคยอยู่ร่วม
กับชาย
คำว่า ตลอด ๒ ปี คือ สิ้น ๒ ปี
ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้ศึกษาสิกขา คือ ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่ได้ให้สิกขา หรือให้แล้ว
แต่เธอทำขาด
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๑๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๐๙๙] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๐๐] ๑. ภิกษุณีบวชให้หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปีผู้ได้ศึกษา
สิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๑๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๗. คัพภินีวรรค

สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการบวชให้หญิงที่มีครอบครัวซึ่งสงฆ์ยังไม่ได้สมมติ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๑๐๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีบวชให้หญิงที่มีครอบครัว
มีอายุครบ ๑๒ ปีผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ
ภิกษุณีทั้งหลายกล่าวว่า “สิกขมานาทั้งหลาย พวกเธอจงมานี่ จงรู้สิ่งนี้ ประเคนสิ่งนี้
นำสิ่งนี้มา ฉันต้องการสิ่งนี้ จงทำสิ่งนี้ให้เป็นกัปปิยะ”
สิกขมานาเหล่านั้นตอบว่า “แม่เจ้า พวกดิฉันมิใช่สิกขมานา พวกดิฉันเป็น
ภิกษุณี”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีบวชให้หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปีผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖
ข้อตลอด ๒ ปีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไป
บอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้หญิงที่มี
ครอบครัว มีอายุครบ ๑๒ ปีผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแต่สงฆ์ยังไม่
่ได้สมมติ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงบวชให้หญิงที่
มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปีผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อ ตลอด๒ ปีแต่สงฆ์ยังไม่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๑๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
่ได้สมมติเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรง
แสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์
ให้วุฏฐานสมมติแก่หญิงที่มีครอบครัวมีอายุ ๑๒ ปีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อ
ตลอด ๒ ปีแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้วุฏฐานสมมติอย่างนี้

วิธีขอสิกขาสมมติและกรรมวาจาให้วุฏฐานสมมติ
หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปีผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
แล้วนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุณีทั้งหลาย
นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวว่า “แม่เจ้า ดิฉันชื่อนี้เป็นหญิงที่มีครอบครัวของ
แม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุครบ ๑๒ ปี ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว ขอ
วุฏฐานสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ พึงขอแม้ครั้งที่ ๓
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๑๐๒] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า หญิงชื่อนี้เป็นหญิงที่มีครอบครัวของ
แม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุครบ ๑๒ ปี ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว ขอ
วุฏฐานสมมติต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงให้วุฏฐานสมมติแก่หญิงชื่อนี้เป็น
หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว
นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า หญิงชื่อนี้เป็นหญิงที่มีครอบครัวของแม่เจ้าชื่อนี้
มีอายุครบ ๑๒ ปี ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว ขอวุฏฐานสมมติ
ต่อสงฆ์ สงฆ์ให้วุฏฐานสมมติแก่หญิงชื่อนี้เป็นหญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปี
ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการให้
วุฏฐานสมมติแก่หญิงชื่อนี้เป็นหญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปีผู้ได้ศึกษาสิกขา
ในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้า
รูปนั้นพึงทักท้วง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๑๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๗ สิกขาบทวิภังค์
วุฏฐานสมมติสงฆ์ให้แก่หญิงชื่อนี้เป็นหญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปีผู้
ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิภิกษุณีเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วตรัส
โทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ฯลฯ แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๑๐๓] ก็ภิกษุณีใดบวชให้หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปีผู้ได้ศึกษา
สิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๐๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มีอายุครบ ๑๒ ปี คือ มีอายุถึง ๑๒ ปีแล้ว
ที่ชื่อว่า หญิงที่มีครอบครัว พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงหญิงที่เคยอยู่ร่วม
กับชาย
คำว่า ตลอด ๒ ปี คือ สิ้น ๒ ปี
ที่ชื่อว่า ผู้ศึกษาสิกขา คือ ได้ศึกษาในธรรม ๖ ข้อแล้ว
ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้สมมติ คือ สงฆ์ยังมิได้ให้การรับรองการบวชด้วยญัตติ
ทุติยกรรม
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๑๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๑๐๕] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๐๖] ๑. ภิกษุณีบวชให้หญิงที่มีครอบครัว มีอายุครบ ๑๒ ปี ผู้ได้ศึกษา
สิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีและสงฆ์สมมติแล้ว
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๑๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๘ พระบัญญัติ
๗. คัพภินีวรรค

สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการไม่อนุเคราะห์สหชีวินีตลอด ๒ ปี

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๐๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้สหชีวินี
แล้วไม่อนุเคราะห์ ทั้งไม่ให้ผู้อื่นอนุเคราะห์ตลอด ๒ ปี สหชีวนีผู้บวชเป็นภิกษุณี
เหล่านั้นเป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักสิ่งควรหรือไม่ควร
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาบวชให้สหชีวินีแล้วไม่อนุเคราะห์ ทั้งไม่ให้ผู้อื่นอนุเคราะห์ตลอด ๒
ปีเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวก
ภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้
สหชีวินีแล้วไม่อนุเคราะห์ ทั้งไม่ให้ผู้อื่นอนุเคราะห์ตลอด ๒ ปี จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้สหชีวินีแล้วไม่อนุเคราะห์ ทั้ง
ไม่ให้ผู้อื่นอนุเคราะห์ตลอด ๒ ปีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๑๐๘] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สหชีวินีแล้วไม่อนุเคราะห์ ไม่ให้อนุเคราะห์
ตลอด ๒ ปี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๑๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๐๙] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สหชีวินี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสัทธิวิหารินี
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
คำว่า ตลอด ๒ ปี คือ สิ้น ๒ ปี
คำว่า ไม่อนุเคราะห์ คือ ไม่อนุเคราะห์เองด้วยอุทเทส ปริปุจฉา โอวาท
อนุศาสนี
คำว่า ไม่ให้อนุเคราะห์ คือ ไม่สั่งภิกษุณีอื่น
พอทอดธุระว่า “จะไม่อนุเคราะห์ จะไม่ให้ผู้อื่นอนุเคราะห์ตลอด ๒ ปี” ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๑๐] ๑. ภิกษุณีผู้ไม่อนุคราะห์ในเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหาแล้วแต่ไม่ได้๑
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ได้ภิกษุณีรูปอื่น (วิ.อ. ๒/๑๑๑๐/๕๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๑๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๗. คัพภินีวรรค

สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการไม่ติดตามปวัตตินีตลอด ๒ ปี

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๑๑๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายไม่ติดตาม
ปวัตตินี๑ผู้บวชให้ตลอด ๒ ปี พวกเธอเป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักสิ่งควร
หรือไม่ควร
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีจึงไม่ติดตามปวัตตินีผู้บวชให้ตลอด ๒ ปีเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้น
ได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีไม่ติดตามปวัตตินี
ผู้บวชให้ตลอด ๒ ปี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีไม่
ติดตามปวัตตินีผู้บวชให้ตลอด ๒ ปีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ไม่ติดตาม” หมายถึงไม่อุปัฏฐากด้วยจุรณ ดินเหนียว ไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า “ปวัตตินี”
หมายถึงภิกษุณีผู้เป็นอุปชฌาย์ (กงฺขา.อ. ๓๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๑๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๑๑๒] ก็ภิกษุณีใดไม่ติดตามปวัตตินีผู้บวชให้ตลอด ๒ ปี ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๑๓] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ผู้บวชให้ คือ ผู้อุปสมบทให้
ที่เรียกว่า ปวัตตินี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงภิกษุณีที่เป็นอุปัชฌาย์
คำว่า ตลอด ๒ ปี คือ สิ้น ๒ ปี
คำว่า ไม่ติดตาม คือ ไม่อุปัฏฐากเอง
พอทอดธุระว่า “จะไม่ติดตามไปตลอด ๒ ปี” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๑๔] ๑. ภิกษุณีไม่ติดตามอุปัชฌาย์เป็นคนเขลาหรือมีความละอาย
๒. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๑๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ นิทานวัตถุ
๗. คัพภินีวรรค

สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการไม่พาสหชีวินีหลีกไป
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๑๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้สหชีวินี
แล้วไม่พาหลีกไป ทั้งไม่ให้ผู้อื่นพาหลีกไป สามีจึงจับ(สหชีวินีนั้น)
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาบวชให้สหชีวินีแล้วไม่พาหลีกไป ทั้งไม่ให้ผู้อื่นพาหลีกไปเล่า สามี
จึงจับ(สหชีวินี) ถ้าภิกษุณีนั้นพึงหลีกไป สามีก็จับเธอไม่ได้” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้
สหชีวินีแล้วไม่พาหลีกไป ทั้งไม่ให้ผู้อื่นพาหลีกไป สามีได้จับ(สหชีวินีนั้น) จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้สหชีวินีแล้วไม่พาหลีกไป ทั้ง
ไม่ให้ผู้อื่นพาหลีกไป จนสามีจับได้เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๑๑๖] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สหชีวินีแล้วไม่พาหลีกไป ไม่ให้พาหลีกไป
โดยที่สุดแม้สิ้นระยะทาง ๕-๖ โยชน์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๒๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๗. คัพภินีวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๑๗] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สหชีวินี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสัทธิวิหารินี
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
คำว่า ไม่พาหลีกไป คือ ตนเองไม่พาหลีกไป
คำว่า ไม่ให้พาหลีกไป คือ ไม่สั่งผู้อื่น
พอทอดธุระว่า “จะไม่พาหลีกไป ทั้งจะไม่ให้พาหลีกไปแม้สิ้นระยะทาง ๕-๖
โยชน์” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๑๘] ๑. ภิกษุณีไม่หลีกไปในเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหาแล้วแต่ไม่ได้ภิกษุณีเป็นเพื่อน
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑๐ จบ
คัพภินีวรรคที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๒๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค
หมวดว่าด้วยกุมารี

สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการบวชให้กุมารีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๑๑๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้กุมารี
อายุต่ำกว่า ๒๐ ปี กุมารีที่บวชเป็นภิกษุณีเหล่านั้นไม่อดทน ไม่อดกลั้นต่อความ
เย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด
สัตว์เลื้อยคลาน คำกล่าวร้าย คำที่ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์
แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีบวชให้กุมารีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำ
เรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้กุมารีอายุ
ต่ำกว่า ๒๐ ปี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงบวชให้กุมารี
อายุต่ำกว่า ๒๐ ปีเล่า เพราะกุมารีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปียังไม่อดทน ไม่อดกลั้น
ต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม
แดด สัตว์เลื้อยคลาน คำกล่าวร้าย คำที่ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๒๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
เป็นทุกข์ แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต
ส่วนหญิงสาวที่มีอายุครบ ๒๐ ปีย่อมอดทนต่อความเย็น ความร้อน ฯลฯ แทบ
จะคร่าชีวิต ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๑๒๐] ก็ภิกษุณีใดบวชให้กุมารีมีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๒๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี คือ มีอายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี
ที่ชื่อว่า กุมารี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสามเณรี
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติปาจิตตีย์ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๒๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
[๑๑๒๒] กุมารีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ภิกษุณีสำคัญว่าอายุต่ำ ๒๐ ปี บวชให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กุมารีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
กุมารีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ภิกษุณีสำคัญว่าครบ บวชให้ ไม่ต้องอาบัติ
กุมารีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุณีสำคัญว่าอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
กุมารีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
กุมารีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่าอายุครบ ๒๐ ปี บวชให้ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๒๓] ๑. กุมารีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ภิกษุณีสำคัญว่าอายุครบ ๒๐ ปี
จึงบวชให้
๒. กุมารีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุณีสำคัญว่าอายุครบ ๒๐ ปี
จึงบวชให้
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๒๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการบวชให้กุมารีที่ยังไม่ได้ศึกษาในธรรม ๖ ข้อ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๑๒๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้กุมารีมี
อายุครบ ๒๐ ปีแต่ยังไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี พวกเธอโง่เขลา
ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีจึงบวชให้กุมารีอายุครบ ๒๐ ปีแต่ยังไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อ
ตลอด ๒ ปีเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้กุมารีอายุ
ครบ ๒๐ ปีแต่ยังไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี จริงหรือ” ภิกษุ
ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึงบวชให้กุมารีอายุครบ ๒๐ ปีแต่ยังไม่ได้
ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำ ให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” ครั้นตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถา แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์ให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา
๒ ปีแก่กุมารีอายุ ๑๘ ปี
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงให้สิกขาสมมติอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๒๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
วิธีขอสิกขาสมมติและกรรมวาจาให้สิกขาสมมติ
กุมารีอายุ ๑๘ ปีนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ
เท้าภิกษุณีทั้งหลายแล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ดิฉันชื่อนี้
เป็นกุมารีของแม่เจ้าชื่อนี้มีอายุ ๑๘ ปีขอสิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี
ต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ พึงขอแมัครั้งที่ ๓
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๑๒๕] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า กุมารีชื่อนี้ของแม่เจ้าชื่อนี้มีอายุ
๑๘ ปีขอสิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปีต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว
พึงให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปีแก่หญิงสาวผู้มีอายุ ๑๘ ปี นี่
เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า กุมารีนี้ชื่อนี้ของแม่เจ้าชื่อนี้มีอายุ ๑๘ ปีขอ
สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปีต่อสงฆ์ สงฆ์ให้สิกขาสมมติในธรรม ๖
ข้อเป็นเวลา ๒ ปีแก่กุมารีชื่อนี้มีอายุ ๑๘ ปี แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการให้
สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปีแก่กุมารีชื่อนี้มีอายุ ๑๘ ปี แม่เจ้า
รูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี สงฆ์ให้แล้วแก่กุมารีชื่อนี้มีอายุ ๑๘
ปี สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
พึงบอกกุมารีมีอายุ ๑๘ ปีนั้นว่า “เธอจงกล่าวอย่างนี้ว่า
๑. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด
๒ ปี
๒. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ โดย
ไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี
๓. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ โดย
ไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๒๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
๔. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการพูดเท็จ โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด
๒ ปี
๕. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่ง
ความประมาท โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี
๖. ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล โดย
ไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี”
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิภิกษุณีเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วตรัส
โทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ฯลฯ แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๑๒๖] ก็ภิกษุณีใดบวชให้กุมารีผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีผู้ยังไม่ได้ศึกษาสิกขา
ในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๒๗] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า อายุครบ ๒๐ ปี คือ มีอายุถึง ๒๐ ปี
ที่ชื่อว่า กุมารี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสามเณรี
คำว่า ตลอด ๒ ปี คือ สิ้น ๒ ปี
ที่ชื่อว่า ผู้ยังไม่ได้ศึกษาสิกขา คือ ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่ได้ให้สิกขา หรือให้
แล้วแต่เธอทำขาด
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๒๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๑๒๘] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๒๙] ๑. ภิกษุณีบวชให้กุมารีอายุครบ ๒๐ ปีผู้ศึกษาธรรม ๖ ข้อตลอด
๒ ปี
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๒๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการบวชให้กุมารีที่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๑๓๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้กุมารีมี
อายุครบ ๒๐ ปีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ
ภิกษุณีทั้งหลายกล่าวว่า “สิกขมานาทั้งหลาย พวกเธอจงมานี่ จงรู้สิ่งนี้ ประเคน
สิ่งนี้ นำสิ่งนี้มา ฉันต้องการสิ่งนี้ จงทำสิ่งนี้ให้เป็นกัปปิยะ”
กุมารีเหล่านั้นกล่าวว่า “แม่เจ้า พวกดิฉันมิใช่สิกขมานา พวกดิฉันเป็น
ภิกษุณี”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีจึงบวชให้กุมารีมีอายุครบ ๒๐ ปีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด
๒ ปีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้กุมารีมีอายุ
ครบ ๒๐ ปีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ
ว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงบวชให้กุมารีมีอายุครบ ๒๐ ปีผู้ได้
ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๒๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถา แล้วรับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์ให้วุฏฐานสมมติแก่
กุมารีมีอายุ ๒๐ ปีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้วุฏฐานสมมติอย่างนี้

วิธีให้วุฏฐานสมมติและกรรมวาจาให้วุฏฐานสมมติ
กุมารีมีอายุ ๒๐ ปีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้วนั้นพึง
เข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุณีทั้งหลายแล้วนั่ง
กระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “แม่เจ้า ดิฉันชื่อนี้เป็นกุมารีของแม่เจ้าชื่อนี้
มีอายุครบ ๒๐ ปี ได้ศึกษาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว ขอวุฏฐานสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ พึงขอแม้ครั้งที่ ๓
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๑๓๑] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า กุมารีชื่อนี้ของแม่เจ้าชื่อนี้มีอายุครบ
๒๐ ปีได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี ขอวุฏฐานสมมติต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์
พร้อมแล้วพึงให้วุฏฐานสมมติแก่กุมารีชื่อนี้ผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีผู้ได้ศึกษาสิกขาใน
ธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า กุมารีชื่อนี้ของแม่เจ้าชื่อนี้มีอายุครบ ๒๐ ปี
ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว ขอวุฏฐานสมมติต่อสงฆ์ สงฆ์ให้
วุฏฐานสมมติแก่กุมารีชื่อนี้ผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด
๒ ปีแล้ว แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการให้วุฏฐานสมมติแก่กุมารีชื่อนี้ผู้มีอายุครบ ๒๐
ปีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใด
ไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
วุฏฐานสมมติสงฆ์ให้แล้วแก่กุมารีชื่อนี้มีอายุครบ ๒๐ ปีผู้ได้ศึกษาสิกขาใน
ธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความ
นิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิภิกษุณีเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วตรัส
โทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ฯลฯ แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๑๓๒] ก็ภิกษุณีใดบวชให้กุมารีมีอายุครบ ๒๐ ปี ผู้ได้ศึกษาสิกขาใน
ธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๓๓] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มีอายุครบ ๒๐ ปี คือ มีอายุถึง ๒๐ ปี
ที่ชื่อว่า กุมารี พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสามเณรี
คำว่า ตลอด ๒ ปี คือ สิ้น ๒ ปี
ที่ชื่อว่า ผู้ได้ศึกษาสิกขา คือ ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อแล้ว
ที่ชื่อว่า สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ คือ สงฆ์ยังมิได้ให้วุฏฐานสมมติด้วยญัตติทุติย
กรรม
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๑๓๔] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๓๕] ๑. ภิกษุณีบวชให้กุมารีอายุครบ ๒๐ ปี ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖
ข้อตลอด ๒ ปีที่สงฆ์สมมติแล้ว
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยภิกษุณีมีพรรษาต่ำกว่า ๑๒ เป็นปวัตตินี

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๑๓๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายมีพรรษาต่ำกว่า
๑๒๑บวชให้กุลธิดา พวกเธอเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร แม้
พวกสัทธิวิหารินีก็เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีมีพรรษาต่ำกว่า ๑๒ จึงบวชให้กุลธิดาเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้น
ได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีมีพรรษาต่ำกว่า ๑๒
บวชให้กุลธิดา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้
มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีมีพรรษา
ต่ำกว่า ๑๒ จึงบวชให้กุลธิดาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคน
ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ มีพรรษาต่ำกว่า ๑๒ หมายถึงบวชเป็นภิกษุณียังไม่ครบ ๑๒ พรรษา (กงฺขา.อ. ๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๑๓๗] ก็ภิกษุณีใดมีพรรษาต่ำกว่า ๑๒ บวชให้กุลธิดา ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๓๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มีพรรษาต่ำกว่า ๑๒ คือ พรรษายังไม่ถึง ๑๒
คำว่า บวชให้กุลธิดา คือ อุปสมบทให้กุลธิดา
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๓๙] ๑. ภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ บวชให้กุลธิดา
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ เป็นปวัตตินีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๑๔๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายมีพรรษาครบ ๑๒
แล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติบวชให้กุลธิดา พวกเธอเป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควร
หรือไม่ควร แม้สัทธิวิหารินีก็เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ แล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติจึงบวชให้กุลธิดาเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒
แล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติบวชให้กุลธิดา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ แต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ จึงบวชให้กุลธิดาเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วได้ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวุฏฐาปนสมมติ๑แก่ภิกษุณีผู้มีพรรษา
ครบ ๑๒ แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้วุฏฐาปนสมมติอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ “วุฏฐาปนสมมติ” แปลว่า สมมติให้เป็นผู้บวชให้กุลธิดา คือการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๕ นิทานวัตถุ
วิธีขอวุฏฐาปนสมมติและกรรมวาจาให้วุฏฐาปนสมมติ
ภิกษุณีผู้มีพรรษาครบ ๑๒ นั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้าง
หนึ่ง กราบเท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษาแล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
“แม่เจ้า ดิฉันมีชื่อนี้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว ขอวุฏฐาปนสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ พึงขอแม้ครั้งที่ ๓
ภิกษุณีนั้นสงฆ์พึงกำหนดได้ว่า “ภิกษุณีนี้เป็นคนฉลาด มีความละอาย” ถ้า
เธอเขลา ไม่มีความละอาย ก็ไม่ควรให้วุฏฐาปนสมมติ ถ้าเธอเขลาแต่มีความละอาย
ก็ไม่ควรให้ ถ้าเป็นคนฉลาดแต่ไม่มีความละอายก็ไม่ควรให้ แต่ถ้าเป็นทั้งคนฉลาด
และมีความละอายจึงควรให้
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้วุฏฐาปนสมมติอย่างนี้
ภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๑๑๔๑] “แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีนี้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว
ขอวุฏฐาปนสมมติต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วพึงให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มี
พรรษาครบ ๑๒ แล้ว นี่เป็นญัตติ
แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีนี้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้วขอวุฏฐาปนสมมติ
ต่อสงฆ์ สงฆ์ให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว แม่เจ้ารูป
ใดเห็นด้วยกับการให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว แม่เจ้า
รูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง
วุฏฐาปนสมมติสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุณีชื่อนี้ผู้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว สงฆ์เห็น
ด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิภิกษุณีเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๕ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๑๑๔๒] ก็ภิกษุณีใดมีพรรษาครบ ๑๒ แล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ บวช
ให้กุลธิดา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๔๓] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว คือ มีพรรษาถึง ๑๒
ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้สมมติ คือ สงฆ์ยังมิได้ให้วุฏฐาปนสมมติด้วยญัตติทุติย
กรรมวาจา
คำว่า บวชให้กุลธิดา คือ อุปสมบทให้กุลธิดา
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๑๔๔] กรรมที่ทำถูกต้อง๑ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่ทำถูกต้อง หมายถึงกรรมวาจาให้วุฏฐาปนสมมติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีไม่แน่ใจ บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง บวชให้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๔๕] ๑. ภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว และสงฆ์สมมติแล้ว จึงบวชให้
กุลธิดา
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการบ่นว่าภายหลัง

เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี
[๑๑๔๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีจัณฑกาลีเข้าไปหา
ภิกษุณีสงฆ์ ขอวุฏฐาปนสมมติ ลำดับนั้น ภิกษุณีสงฆ์กำหนดพิจารณาเธอในขณะ
นั้นแล้วไม่ยอมให้วุฏฐาปนสมมติ ด้วยกล่าวว่า “แม่เจ้า เธออย่าบวชให้กุลธิดาเลย”
ภิกษุณีจัณฑกาลีก็รับคำของสงฆ์
ครั้นต่อมา ภิกษุณีสงฆ์ให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีเหล่าอื่น
ภิกษุณีจัณฑกาลีจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ดิฉันเท่านั้นเป็นคนเขลา
ดิฉันเท่านั้นไม่มีความละอาย ที่ทำให้สงฆ์ให้วุฏฐาปนสมมติแก่ภิกษุณีเหล่าอื่น ไม่ให้
แก่ดิฉันเท่านั้น”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าจัณฑกาลีอันสงฆ์กล่าวอยู่ว่า ‘แม่เจ้า เธออย่าบวชให้กุลธิดาเลย’ รับคำแล้ว
ภายหลังกลับบ่นว่าเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีจัณฑกาลีอันสงฆ์
กล่าวอยู่ว่า ‘แม่เจ้า เธออย่าบวชให้กุลธิดาเลย” รับคำแล้ว ภายหลังกลับบ่นว่า
จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจัณฑกาลีอันสงฆ์กล่าวอยู่ว่า ‘แม่เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๓๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
เธออย่าบวชให้กุลธิดาเลย’ รับคำแล้ว ภายหลังกลับบ่นว่าเล่า ภิกษุทั้งหลาย การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๑๔๗] ก็ภิกษุณีใดอันสงฆ์กล่าวอยู่ว่า “แม่เจ้า เธออย่าบวชให้กุลธิดา
เลย” รับคำแล้ว ภายหลังกลับบ่นว่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีจัณฑกาลี จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๔๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า แม่เจ้า เธออย่าบวชให้กุลธิดาเลย ความว่า แม่เจ้า เธออย่าให้กุลธิดา
อุปสมบทเลย เธอรับคำแล้ว ภายหลังกลับบ่นว่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๔๙] ๑. ภิกษุณีผู้บ่นว่าภิกษุณีสงฆ์ที่มักกระทำไปด้วยความชอบ ด้วย
ความชัง ด้วยความหลง ด้วยความกลัว
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการบอกสิกขมานาให้ถวายจีวรแล้วไม่บวชให้

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๕๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น สิกขมานารูปหนึ่งเข้าไปหา
ภิกษุณีถุลลนันทา ขออุปสมบท
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวกับสิกขมานานั้นว่า “แม่คุณ ถ้าเธอจักให้จีวรแก่เรา
เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ” แล้วไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ ลำดับ
นั้น สิกขมานานั้นจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงกล่าวกับสิกขมานาว่า “แม่คุณ ถ้าเธอจักให้จีวรแก่เรา เมื่อ
เป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ’ แล้วไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายเพื่อบวชให้เล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวกับ
สิกขมานาว่า ‘แม่คุณ ถ้าเธอจักให้จีวรแก่เรา เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ’
แล้วไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงกล่าวกับสิกขมานาว่า ‘ถ้าเธอจักให้จีวรแก่เรา เมื่อเป็นอย่างนี้
เราก็จะบวชให้เธอ’ แล้วไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้เล่า ภิกษุทั้งหลาย การ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๗ สิกขาบทวิภังค์
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น แสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๑๕๑] ก็ภิกษุณีใดกล่าวกับสิกขมานาว่า “แม่คุณ ถ้าเธอจักให้จีวรแก่
เรา เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ” ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย
ไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๕๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว
คำว่า แม่คุณ ถ้าเธอจักให้จีวรแก่เรา เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ
ความว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะอุปสมบทให้เธอ
คำว่า ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย คือ เมื่ออันตรายไม่มี
คำว่า ไม่บวชให้ คือ ไม่บวชให้ด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ คือ ไม่สั่งภิกษุณีรูปอื่น
พอทอดธุระว่า “จะไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๕๓] ๑. ภิกษุณีไม่บวชให้ในเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหาแล้วแต่ไม่ได้๑
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงไม่ได้ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์รูปอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๘ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการบอกสิกขมานาให้ติดตามตลอด ๒ ปีแล้วไม่บวชให้

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๕๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น สิกขมานารูปหนึ่งเข้าไปหา
ภิกษุณีถุลลนันทาขออุปสมบท
ภิกษุณีถุลลนันทาได้กล่าวกับสิกขมานานั้นดังนี้ว่า “แม่คุณ ถ้าเธอจักติดตาม
ฉันตลอด ๒ ปี เมื่อเป็นอย่างนี้ ฉันจะบวชให้เธอ” แล้วไม่บวชให้ ไม่ขวนขวาย
ใช้ให้บวชให้ ลำดับนั้น สิกขมานานั้นบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลล นันทาพูดกับสิกขมานาแล้วว่า ‘แม่คุณ ถ้าเธอจักติดตามฉันตลอด ๒
ปี เมื่อเป็นอย่างนี้ ฉันจะบวชให้เธอ’ ไม่บวชให้ ทั้งไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาพูดกับ
สิกขมานาแล้วว่า ‘แม่คุณ ถ้าเธอจักติดตามฉันตลอด ๒ ปี เมื่อเป็นอย่างนั้น
ฉันจะบวชให้เธอ’ แล้วไม่บวชให้ ทั้งไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ จริงหรือ” พวก
ภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทากล่าวกับสิกขมานาแล้วว่า ‘แม่คุณ ถ้าเธอ
จักติดตามฉันตลอด ๒ ปี เมื่อเป็นอย่างนั้น ฉันจะบวชให้เธอ’ แล้วไม่บวชให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๘ สิกขาบทวิภังค์
ทั้งไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๑๕๕] ก็ภิกษุณีใดกล่าวกับสิกขมานาว่า ‘แม่คุณ ถ้าเธอจักติดตามเรา
ตลอด ๒ ปี เมื่อเป็นอย่างนั้น เราก็จะบวชให้เธอ’ ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มี
อันตรายไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๕๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ สามเณรีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
คำว่า แม่คุณ ถ้าเธอจักติดตามเราตลอด ๒ ปี ความว่า เธอจักอุปัฏฐากเรา
ตลอด ๒ ปี
คำว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะบวชให้เธอ ความว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะ
อุปสมบทให้เธอ
คำว่า ภายหลังภิกษุณีนั้นผู้ไม่มีอันตราย คือ เมื่ออันตรายไม่มี
คำว่า ไม่บวชให้ คือ ไม่บวชให้ด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้ คือ ไม่สั่งภิกษุณีรูปอื่น
พอทอดธุระว่า “จะไม่บวชให้ จะไม่ขวนขวายใช้ให้บวชให้” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๘ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๕๗] ๑. ภิกษุณีผู้ไม่บวชให้ในเมื่อมีอันตราย
๒. ภิกษุณีแสวงหาแล้วแต่ไม่ได้
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุณีวิกลจริต
๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๙ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ ๙
ว่าด้วยการบวชให้สิกขมานาผู้คลุกคลีกับชาย

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๕๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้สิกขมานา
ชื่อจัณฑกาลีผู้คลุกคลีกับชาย คลุกคลีกับเด็ก ดุร้าย ผู้ทำชายให้ระทมโศก
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงบวชให้สิกขมานาชื่อจัณฑกาลีผู้คลุกคลีกับชาย คลุกคลีกับเด็ก
ดุร้าย ผู้ทำชายให้ระทมโศกเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้
สิกขมานาชื่อจัณฑกาลีผู้คลุกคลีกับชาย คลุกคลีกับเด็ก ดุร้าย ผู้ทำชายให้ระทมโศก
จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงบวชให้สิกขมานาชื่อ
จัณฑกาลีผู้คลุกคลีกับชาย คลุกคลีกับเด็ก ดุร้าย ผู้ทำชายให้ระทมโศกเล่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๑๕๙] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานาผู้คลุกคลีกับชาย คลุกคลีกับเด็ก ดุร้าย
ผู้ทำชายให้ระทมโศก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๙ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๖๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ ชายผู้มีอายุถึง ๒๐ ปี
ที่ชื่อว่า เด็ก ได้แก่ ชายผู้มีอายุไม่ถึง ๒๐ ปี
ที่ชื่อว่า ผู้คลุกคลี คือ คลุกคลีด้วยกิริยาทางกายและวาจาที่ไม่เหมาะสม
ที่ชื่อว่า ดุร้าย พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผู้มักโกรธ
ที่ชื่อว่า ผู้ทำชายให้ระทมโศก คือ ผู้ก่อทุกข์ คือ นำความโศกให้แก่ชายอื่น
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ สามเณรีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือ สมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๖๑] ๑. ภิกษุณีไม่รู้จึงบวชให้
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ ๑๐
ว่าด้วยการบวชให้สิกขมานาที่ยังไม่ได้รับอนุญาต

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๖๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้
สิกขมานาผู้ที่มารดาบิดาบ้าง สามีบ้างยังไม่ได้อนุญาต ต่อมา มารดาบิดาบ้าง
สามีบ้างตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงบวชให้สิกขมานา
ที่พวกเรายังมิได้อนุญาตเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านี้ตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
บวชให้สิกขมานาที่มารดาบิดาบ้าง สามีบ้างยังไม่ได้อนุญาตเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้
สิกขมานาที่มารดาบิดาบ้าง สามีบ้างยังไม่ได้อนุญาต จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลาย
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงบวชให้สิกขมานาที่มารดาบิดาบ้าง สามีบ้าง
ยังไม่ได้อนุญาตเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใสหรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๔๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๑๖๓] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานาที่มารดาบิดาหรือสามียังไม่ได้อนุญาต
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๖๔] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มารดาบิดา พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผู้ให้กำเนิด
ที่ชื่อว่า สามี ได้แก่ ผู้ที่ครอบครองหญิง
คำว่า ยังไม่ได้อนุญาต คือ ยังมิได้บอกลา
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ สามเณรีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๖๕] ๑. ภิกษุณีไม่รู้จึงบวชให้
๒. ภิกษุณีขออนุญาตก่อนค่อยบวชให้
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ ๑๑
ว่าด้วยการบวชให้สิกขมานาด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะ

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๖๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทานิมนต์ภิกษุเถระทั้งหลาย
ให้ประชุมกันด้วยกล่าวว่า “ดิฉันจักบวชให้สิกขมานา” ครั้นเห็นของเคี้ยวของฉัน
จำนวนมาก จึงนิมนต์พระเถระทั้งหลายให้กลับไปด้วยกล่าวว่า “พระคุณเจ้า ดิฉัน
จะยังไม่บวชสิกขมานา” แล้วนิมนต์พระเทวทัต พระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสะ
พระขัณฑเทวีบุตร และพระสมุทททัตตะให้ประชุมกันบวชให้สิกขมานา
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงบวชให้สิกขมานาด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะเล่า๑” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้
สิกขมานาด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะจริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุ
ถุลลนันทาจึงบวชให้สิกขมานาด้วยปาริวาสิกฉันทะเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ “ด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะ” ด้วยให้ความเห็นชอบของภิกษุค้าง หมายถึงภิกษุณีเป็นเจ้ากี้เจ้าการให้
ภิกษุสละฉันทะโดยยินยอมบ้าง ไม่ยินยอมบ้าง แล้วนิมนต์ภิกษุกลุ่มอื่นมาทำกรรมนั้นใหม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๑๑๖๗] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานาด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะ๑ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๖๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะ คือ เมื่อที่ประชุมเลิกไปแล้ว๒
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ สามเณรีผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อ ตลอด
๒ ปี
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ การให้ปาริวาสิกฉันทะ ให้ฉันทะค้าง คือภิกษุทั้งหลายประชุมกันทำสังฆกรรมแต่ล้มเลิกสละฉันทะ
เสียเพราะเหตุบางอย่าง ถ้าจะทำสังฆกรรมนั้นใหม่ ต้องนำฉันทปาริสุทธิของภิกษุผู้ควรให้ฉันทปาริสุทธิมา
จึงควรทำสังฆกรรมนั้น ถ้าภิกษุทั้งหลายล้มเลิกสละฉันทะในสังฆกรรมแล้วภิกษุณีจัดการให้ทำสังฆกรรม
นั้นใหม่ โดยไม่นำฉันทปาริสุทธิมา ชื่อว่าให้ทำไปด้วยการให้ปาริวาสิกฉันทะ (กงฺขา.อ. ๔๐๓-๔๐๔)
๒ เมื่อสมาชิกที่ประชุมสละฉันทะล้มเลิก หรือลุกขึ้นด้วยเพียงแต่สละฉันทะด้วยกายหรือวาจา ชื่อว่าให้
ปาริวาสิกฉันทะ (วิ.อ. ๒/๑๑๖๘/๕๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๖๙] ๑. ภิกษุณีผู้บวชให้เมื่อบริษัทยังไม่เลิก๑
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงยังไม่สละฉันทะ ยังไม่เลิกประชุม (วิ.อ. ๒/๑๑๖๙/๕๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ ๑๒
ว่าด้วยการบวชให้สิกขมานาทุก ๆ ปี

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๑๗๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้สิกขมานา
ทุก ๆ ปี ที่อยู่จึงไม่เพียงพอ คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีบวชให้สิกขมานาทุก ๆ ปี (ทำให้)ที่อยู่ไม่เพียงพอเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีบวชให้
สิกขมานาทุก ๆ ปีเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลาย
ให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้สิกขมานา
ทุก ๆ ปี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีบวชให้
สิกขมานาทุก ๆ ปีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๑๗๑] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานาทุก ๆ ปี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๗๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ทุก ๆ ปี คือ ในทุก ๆ ปี
คำว่า บวชให้ คือ อุปสมบทให้
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์ บาตรหรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติปาจิตตีย์ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๗๓] ๑. ภิกษุณีบวชให้เว้นระยะ ๑ ปี
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๓ นิทานวัตถุ
๘. กุมารีภูตวรรค

สิกขาบทที่ ๑๓
ว่าด้วยการบวชให้สิกขมานาปีละ ๒ รูป

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๑๗๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้สิกขมานา
ปีละ ๒ รูป๑ (ทำให้)ที่อยู่ไม่เพียงพอเหมือนดังที่เป็นมานั่นแหละ คนทั้งหลายก็
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาอย่างนั้นแหละว่า “ไฉนพวกภิกษุณีบวชให้สิกขมานา
ปีละ ๒ รูปเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีบวชให้
สิกขมานาปีละ ๒ รูปเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีบวชให้สิกขมานา
ปีละ ๒ รูป จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีบวชให้สิกขมานา
ปีละ ๒ รูปเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุณีเหล่านั้นบวชให้สิกขามานา เว้นระยะ ๑ ปี เพื่อไม่ให้เป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทที่ ๑๒ แห่งวรรคนี้
แต่บวชให้คราวละ ๒ รูป จึงเป็นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบทที่ ๑๓ นี้ขึ้นมาอีก (วิ.อ. ๒/๑๑๗๕/๕๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๘. กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๓ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๑๗๕] ก็ภิกษุณีใดบวชให้สิกขมานา ๒ รูป ใน ๑ ปี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๗๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ใน ๑ ปี คือ ในปีเดียวกัน
คำว่า บวชให้สิกขมานา ๒ รูป คือ อุปสมบทให้สิกขมานา ๒ รูป
ภิกษุณีตั้งใจว่า “จะบวชให้สิกขมานา ๒ รูป” แล้วแสวงหาคณะ อาจารย์
บาตรหรือจีวร หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบ
กรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ภิกษุณี
ผู้เป็นอุปัชฌาย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๗๗] ๑. ภิกษุณีเว้นระยะ ๑ ปี บวชให้สิกขมานารูปเดียว
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑๓ จบ
กุมารีภูตวรรคที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค
หมวดว่าด้วยร่มและรองเท้า

สิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยภิกษุณีผู้ไม่เป็นไข้กั้นร่มและสวมรองเท้า

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๑๗๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์กั้นร่มและ
สวมรองเท้า คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงกั้น
ร่มและสวมรองเท้าเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงกั้นร่มและสวมรองเท้าเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์กั้นร่ม
และสวมรองเท้า จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้
มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงกั้นร่มและสวมรองเท้าเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดกั้นร่มและสวมรองเท้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้
[๑๑๗๙] สมัยนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเป็นไข้ ขาดร่มและรองเท้าแล้ว เธอจะไม่
มีความผาสุก พวกภิกษุจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ฯลฯ

ทรงอนุญาตร่มและรองเท้า
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตร่มและรองเท้าแก่
ภิกษุณีผู้เป็นไข้” แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[๑๑๘๐] อนึ่ง ภิกษุณีใดผู้ไม่เป็นไข้ กั้นร่มและสวมรองเท้า ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ย์
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๘๑] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่า ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่เป็นไข้ คือ ผู้ที่ขาดร่มและรองเท้าก็ยังมีความผาสุก
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ขาดร่มและรองเท้าย่อมไม่มีความผาสุก
ที่ชื่อว่า ร่ม ได้แก่ร่ม ๓ ชนิด คือ (๑) ร่มขาว (๒) ร่มลำแพน (๓) ร่มใบไม้
ที่เย็บเป็นวงกลม เย็บเข้ากับซี่
คำว่า กั้น ... สวม คือ ภิกษุณีกั้นสวมแม้ครั้งเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๕๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๑๘๒] ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ กั้นร่มและสวมรองเท้า ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ กั้นร่มและสวมรองเท้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ กั้นร่มและสวมรองเท้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุณีกั้นร่ม แต่ไม่สวมรองเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุณีสวมรองเท้า แต่ไม่กั้นร่ม ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ กั้นร่มและสวมรองเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ กั้นร่มและสวมรองเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ กั้นร่มและสวมรองเท้า ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๘๓] ๑. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๒. ภิกษุณีใช้ร่มอยู่ในอารามหรืออุปจารแห่งอาราม
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๒ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค

สิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการเดินทางด้วยยานพาหนะ

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๑๘๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์โดยสาร
ยานไป คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึง
โดยสารยานไปเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดา
ภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงโดยสารยานไปเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไป
บอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์โดย
สารยานไป จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงโดยสาร
ยานไปเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดโดยสารยานไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

เรื่องภิกษุณีเป็นไข้
[๑๑๘๕] สมัยนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเป็นไข้ ไม่สามารถจะเดินเท้าไปได้ พวก
ภิกษุจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ฯลฯ

ทรงอนุญาตยานพาหนะ
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยานแก่ภิกษุณี
ผู้เป็นไข้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[๑๑๘๖] อนึ่ง ภิกษุณีใดผู้ไม่เป็นไข้ โดยสารยานไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๘๗] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่า ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้
มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่เป็นไข้ คือ ผู้สามารถเดินเท้าไปได้
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ไม่สามารถเดินเท้าไปได้
ที่ชื่อว่า ยาน ได้แก่ วอ รถ เกวียน คานหาม แคร่ เปลหาม
คำว่า โดยสาร...ไป คือ ไปด้วยยานแม้ครั้งเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๑๘๘] ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ โดยสารยานไป ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ โดยสารยานไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ โดยสารยานไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ โดยสารยานไป ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ โดยสารยานไป ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ โดยสารยานไป ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๘๙] ๑. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๒. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๓ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค

สิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการใช้เครื่องประดับเอว

เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง
[๑๑๙๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเป็นภิกษุณีประจำ
ตระกูลของหญิงคนหนึ่ง สมัยนั้น หญิงนั้นได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า
ท่านโปรดนำเครื่องประดับเอวนี้ไปให้หญิงชื่อโน้น” ลำดับนั้น ภิกษุณีนั้นคิดว่า “ถ้า
เราจะใส่บาตรเดินไป เราต้องเสียหายแน่” จึงสวมเครื่องประดับเดินไป เมื่อด้ายขาด
เครื่องประดับเอวตกเรี่ยราดลงบนถนน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา
ว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้เครื่องประดับเอวเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีจึงใช้เครื่อง
ประดับเอวเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีใช้เครื่องประดับเอว
จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีจึงใช้เครื่องประดับเอวเล่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๑๙๑] ก็ภิกษุณีใดใช้เครื่องประดับเอว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๙๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่าชื่อว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า เครื่องประดับเอว ได้แก่ เครื่องประดับที่สวมเอวชนิดใดชนิดหนึ่ง
คำว่า ใช้ คือ ภิกษุณีใช้แม้ครั้งเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๙๓] ๑. ภิกษุณีใช้สายรัดเอวเพราะมีเหตุผลคืออาพาธ
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค

สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการใช้เครื่องประดับของสตรี

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๑๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ใช้เครื่อง
ประดับของหญิง คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึง
ใช้เครื่องประดับของสตรีเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึง
ใช้เครื่องประดับของสตรีเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบสวนภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ใช้เครื่อง
ประดับของสตรี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงใช้เครื่องประดับของสตรีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๑๙๕] ก็ภิกษุณีใดใช้เครื่องประดับของสตรี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๙๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า เครื่องประดับของสตรี ได้แก่ เครื่องประดับศีรษะ เครื่องประดับ
ลำคอ เครื่องประดับมือ เครื่องประดับเท้า เครื่องประดับสะเอว
คำว่า ใช้ คือ ภิกษุณีใช้แม้ครั้งเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๙๗] ๑. ภิกษุณีใช้เครื่องประดับของสตรีเพราะมีเหตุผลคืออาพาธ
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๕
๙. ฉัตตุปาหนวรรค

สิกขาบทที่ ๕
ว่าด้วยการใช้ของหอมเครื่องย้อมผิว

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๑๙๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สรงสนาน
ด้วยของหอมและเครื่องย้อมผิว คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีทั้งหลายจึงสรงสนานด้วยของหอมและเครื่องย้อมผิวเหมือนหญิงคฤหัสถ์
ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณี
ฉัพพัคคีย์จึงได้สรงสนานด้วยของหอมและเครื่องย้อมผิวเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สรง
สนานด้วยของหอมและเครื่องย้อมผิว จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ไฉนพวกภิกษุณี
ฉัพพัคคีย์จึงสรงสนานด้วยของหอมและเครื่องย้อมผิวเล่า ภิกษุทั้งหลาย การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๕ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๑๙๙] ก็ภิกษุณีใดสรงสนานด้วยของหอมและเครื่องย้อมผิว ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๐๐] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ของหอม ได้แก่ ของที่มีกลิ่นหอมชนิดใดชนิดหนึ่ง
ที่ชื่อว่า เครื่องย้อมผิว ได้แก่ เครื่องย้อมผิวชนิดใดชนิดหนึ่ง
คำว่า สรงสนาน คือ ภิกษุณีสรงสนาน ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่สรงสนาน
สรงสนานเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๐๑] ๑. ภิกษุณีสรงสนานเพราะมีเหตุผลคืออาพาธ
๒. ภิกษุณีวิกลจริต
๓. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๖๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๖ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค

สิกขาบทที่ ๖
ว่าด้วยการใช้ผงแป้งอบกลิ่น

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๒๐๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สรงสนาน
ด้วยแป้งที่อบกลิ่น คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณี
จึงสรงสนานด้วยแป้งที่อบกลิ่นเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณี
ฉัพพัคคีย์จึงสรงสนานด้วยแป้งที่อบกลิ่นเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่อง
นี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สรงสนาน
ด้วยแป้งที่อบกลิ่น จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า” พระผู้
มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงสรงสนานด้วยแป้งที่อบกลิ่นเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๒๐๓] ก็ภิกษุณีใดสรงสนานด้วยแป้งอบกลิ่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๖ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๐๔] คำว่า ก็ ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า อบกลิ่น ได้แก่ อบด้วยกลิ่นหอมชนิดใดชนิดหนึ่ง
ที่ชื่อว่า แป้ง พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงแป้งงา
คำว่า สรงสนาน คือ ภิกษุณีสรงสนาน ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่สรงสนาน
สรงสนานเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๐๕] ๑. ภิกษุณีสรงสนานเพราะมีเหตุผลคืออาพาธ
๒. ภิกษุณีสรงสนานด้วยแป้งที่ใช้ตามปกติ
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๗ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค

สิกขาบทที่ ๗
ว่าด้วยการให้บีบนวด

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๒๐๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายใช้ภิกษุณีให้บีบ
บ้าง ให้นวดบ้าง คนทั้งหลายเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็นแล้วตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้ภิกษุณีให้บีบบ้าง ให้นวดบ้าง เหมือนหญิง
คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้
ภิกษุณีให้บีบบ้าง ให้นวดบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีใช้ภิกษุณีให้บีบบ้าง
ให้นวดบ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้ภิกษุณีให้บีบบ้าง ให้นวดบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๒๐๗] ก็ภิกษุณีใดใช้ภิกษุณีให้บีบหรือให้นวด ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๗ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๐๘] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ใช้ภิกษุณี ได้แก่ ใช้ภิกษุณีรูปอื่น
คำว่า ให้บีบ คือ ภิกษุณีใช้ให้บีบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า หรือให้นวด คือ ใช้ให้นวด ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๐๙] ๑. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๒. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๘-๙-๑๐ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค

สิกขาบทที่ ๘-๙-๑๐๑
ว่าด้วยการใช้(สิกขมานาฯลฯสามเณรีฯลฯ)คฤหัสถ์ให้บีบนวด

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๒๑๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลาย(ใช้สิกขมานาให้
บีบบ้าง ให้นวดบ้าง ฯลฯ ใช้สามเณรีให้บีบบ้าง ให้นวดบ้าง ฯลฯ) ใช้หญิงคฤหัสถ์
ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้าง คนทั้งหลายเที่ยวจาริกไปตามวิหารเห็นจึงตำหนิประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้หญิงคฤหัสถ์ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้างเหมือน
หญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงใช้หญิง
คฤหัสถ์ ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไป
บอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีใช้หญิงคฤหัสถ์
ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีจึง
ใช้หญิงคฤหัสถ์ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ สิกขาบทที่ ๘-๙ พึงทราบว่าละไว้ ที่ปรากฏอยู่นี้ เป็นข้อความของสิกขาบทที่ ๑๐ สิกขาบทที่ ๘
ว่าด้วยการใช้สิกขมานา สิกขาบทที่ ๙ ว่าด้วยการใช้สามเณรี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๘-๙-๑๐ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[๑๒๑๑] ก็ภิกษุณีใด(ใช้สิกขมานา ฯลฯ ใช้สามเณรีฯลฯ) ใช้หญิง
คฤหัสถ์ให้บีบหรือให้นวด ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๑๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่สตรีผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
ชื่อว่า สามเณรี ได้แก่ สตรีผู้รักษาสิกขาบท ๑๐ ข้อ
ที่ชื่อว่า หญิงคฤหัสถ์ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสตรีผู้ครองเรือน
คำว่า ให้บีบ คือ ภิกษุณีใช้ให้บีบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า หรือให้นวด คือ ใช้ให้นวด ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๑๓] ๑. ภิกษุณีใช้ให้บีบหรือนวดเพราะอาพาธเป็นเหตุ
๒. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๘-๙-๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค

สิกขาบทที่ ๑๑
ว่าด้วยการนั่งบนอาสนะโดยไม่ขอโอกาสก่อน

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๒๑๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายไม่บอกก่อน
นั่งบนอาสนะข้างหน้าภิกษุ๑ ภิกษุทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีไม่บอกก่อนนั่งบนอาสนะข้างหน้าภิกษุเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้น
ได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีไม่บอกก่อนนั่งบน
อาสนะข้างหน้าภิกษุ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีไม่
บอกก่อนนั่งบนอาสนะข้างหน้าภิกษุเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ข้างหน้าภิกษุ” ไม่ได้หมายถึงเฉพาะตรงหน้าภิกษุเท่านั้น แต่หมายรวมถึงบริเวณใกล้ ๆ ภิกษุ
บริเวณโดยรอบใกล้กับภิกษุ (กงฺขา.อ. ๔๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๑๒๑๕] ก็ภิกษุณีใดไม่บอกก่อนนั่งบนอาสนะข้างหน้าภิกษุ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๑๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ข้างหน้าภิกษุ คือ ข้างหน้าอุปสัมบัน
คำว่า ไม่บอกก่อน คือ ไม่ขอโอกาสก่อน
คำว่า นั่งบนอาสนะ คือ ภิกษุณีนั่งโดยที่สุดแม้บนพื้นดิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๒๑๗] ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก นั่งบนอาสนะ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีไม่แน่ใจ นั่งบนอาสนะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว นั่งบนอาสนะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก นั่งบนอาสนะ ต้องอาบัติทุกกฏ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๑ อนาปัตติวาร
บอกแล้ว ภิกษุณีไม่แน่ใจ นั่งบนอาสนะ ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว นั่งบนอาสนะ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
[๑๒๑๘] ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
๑. ภิกษุณีบอกก่อนจึงนั่งบนอาสนะ
๒. ภิกษุณผู้เป็นไข้
๓. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุณีวิกลจริต
๕. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค

สิกขาบทที่ ๑๒
ว่าด้วยการถามปัญหากะภิกษุโดยไม่ได้ขอโอกาส

เรื่องภิกษุณีหลายรูป
[๑๒๑๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีทั้งหลายถามปัญหาภิกษุ
ที่ตนยังไม่ได้ขอโอกาส ภิกษุทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุณีจึงถามปัญหาภิกษุที่ตนยังไม่ได้ขอโอกาสเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้น
ได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีถามปัญหาภิกษุ
ที่ตนยังไม่ได้ขอโอกาส จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณี จึง
ถามปัญหาภิกษุที่ตนยังไม่ได้ขอโอกาสเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๒๒๐] ก็ภิกษุณีใดถามปัญหาภิกษุที่ตนยังไม่ได้ขอโอกาส๑ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ยังไม่ได้ขอโอกาส” หมายถึงยังไม่ระบุเรื่องที่จะถาม เพราะฉะนั้น ขอโอกาสที่จะถามปัญหาในพระ
สูตรแล้วไปถามพระวินัยหรือพระอภิธรรม หรือขอโอกาสในพระวินัยแล้วถามพระสูตรหรือพระอภิธรรม
หรือขอโอกาสในพระอภิธรรมแล้วถามพระสูตรหรือพระวินัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (กงฺขา.อ. ๔๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๗๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๒๑] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ที่ตนยังไม่ได้ขอโอกาส คือ ตนยังมิได้บอก
คำว่า ภิกษุ ได้แก่ อุปสัมบัน
คำว่า ถามปัญหา คือ ภิกษุณีขอโอกาสในพระสูตรแต่ถามพระวินัยหรือ
พระอภิธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ขอโอกาสในพระวินัย แต่ถามพระสูตรหรือพระอภิธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ขอโอกาสในพระอภิธรรม แต่ถามพระสูตรหรือพระวินัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๒๒๒] ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก ถามปัญหา ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีไม่แน่ใจ ถามปัญหา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้บอก ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว ถามปัญหา ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่ายังไม่ได้บอก ถามปัญหา ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีไม่แน่ใจ ถามปัญหา ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่าบอกแล้ว ถามปัญหา ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๒ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๒๓] ๑. ภิกษุณีขอโอกาสแล้วจึงถาม
๒. ภิกษุณีขอโอกาสโดยมิได้เจาะจงแล้วจึงถามในปิฎกใดปิฎกหนึ่ง
๓. ภิกษุณีวิกลจริต
๔. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๓ นิทานวัตถุ
๙. ฉัตตุปาหนวรรค

สิกขาบทที่ ๑๓
ว่าด้วยการเข้าหมู่บ้านโดยไม่มีผ้ารัดถัน

เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง
[๑๒๒๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งไม่มีผ้ารัดถัน
เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ขณะที่เธอเดินอยู่บนถนนลมบ้าหมูพัดเปิดสังฆาฏิเวิกขึ้น
คนทั้งหลายส่งเสียงว่า “ถันและท้องของแม่เจ้าสวยจริง” ภิกษุณีนั้นถูกคนทั้งหลาย
เยาะเย้าจึงเก้อเขิน ครั้นเธอไปถึงที่อยู่จึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุณีทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุณีไม่มีผ้ารัดถันจึงเข้าไปหมู่บ้านเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไป
บอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีไม่มีผ้ารัดถันเข้าไป
หมู่บ้าน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีไม่มีผ้ารัดถันจึง
เข้าไปหมู่บ้านเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๑๒๒๕] ก็ภิกษุณีใดไม่มีผ้ารัดถันเข้าหมู่บ้าน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] ๙. ฉัตตุปาหนวรรค สิกขาบทที่ ๑๓ อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๒๖] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
คำว่า ไม่มีผ้ารัดถัน คือ เว้นผ้ารัดถัน
ที่ชื่อว่า ผ้ารัดถัน ได้แก่ ผ้าที่ใช้ปกปิดอวัยวะใต้รากขวัญลงมาถึงสะดือ
คำว่า เข้าหมู่บ้าน คือ สำหรับหมู่บ้านที่มีรั้วล้อม เดินเลยเขตรั้วล้อม
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สำหรับหมู่บ้านที่ไม่มีรั้วล้อม ก้าวพ้นอุปจารไป ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๒๗] ๑. ภิกษุณีถูกชิงจีวรไป
๒. ภิกษุณีจีวรหาย
๓. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีผู้หลงลืม
๕. ภิกษุณีไม่รู้ตัว
๖. ภิกษุณีวิกลจริต
๗. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๑๓ จบ
ฉัตตุปาหนวรรคที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๓ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์] บทสรุป
บทสรุป
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือปาจิตตีย์ ๑๖๖ สิกขาบท๑ ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลายในธรรมคือปาจิตตีย์ ๑๖๖ สิกขาบทนั้นว่า
“ท่านทั้งหลายผู้บริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในธรรมคือปาจิตตีย์ทั้ง ๑๖๖ สิกขาบทเหล่านี้
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
ขุททกสิกขาบท จบบริบูรณ์
ปาจิตติยกัณฑ์ในภิกขุนีวิภังค์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มุสาวรรค ๑๐ สิกขาบท มีเนื้อความเหมือนกับมุสาวาทวรรคของภิกษุสงฆ์
ภูตคามวรรค ๑๐ สิกขาบท มีเนื้อความเหมือนกับภูตคามวรรคของภิกษุสงฆ์
โภชนวรรค ๑๐ สิกขาบท สิกขาบทที่ ๑-๖ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๑,๒,๔,๗,๘,๑๐ แห่ง
โภชนวรรคของภิกษุสงฆ์ สิกขาบทที่ ๗-๑๐ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบท
ที่ ๒-๕ แห่งอเจลกวรรคของภิกษุสงฆ์
จาริตวรรค ๑๐ สิกขาบท สิกขาบทที่ ๑-๕ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๖-๑๐ แห่งอเจลกวรรค
ของภิกษุสงฆ์ สิกขาบทที่ ๖-๑๐ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๑-๕
แห่งสุราปานวรรคของภิกษุ
โชติวรรค ๑๐ สิกขาบท สิกขาบทที่ ๑-๕ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๖-๑๐ แห่งสุราปานวรรค
ของภิกษุสงฆ์ สิกขาบทที่ ๖-๑๐ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๑,๒,๓,๖,๘
แห่งสัปปาณกวรรคของภิกษุสงฆ์
ทิฏฐิวรรค ๑๐ สิกขาบท สิกขาบทที่ ๑-๒ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๙-๑๐ แห่งสัปปาณก
วรรคของภิกษุสงฆ์ สิกขาบทที่ ๓-๑๐ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่
๑-๘ แห่งสหธรรมิกวรรคของภิกษุสงฆ์
ธรรมิกวรรค ๑๐ สิกขาบท สิกขาบทที่ ๑-๔ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่ ๙-๑๒ แห่งสหธรรมิก
วรรคของภิกษุสงฆ์ สิกขาบทที่ ๕-๑๐ มีเนื้อความเหมือนกับสิกขาบทที่
๒,๔,๕,๖,๘,๑๐ แห่งรตนวรรคของภิกษุสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๕. ปาฏิเทสนียกัณฑ์
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือปาฏิเทสนียะ ๘ สิกขาบทเหล่านี้มาถึงวาระที่จะยก
ขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ

ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการออกปากขอเนยใส

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๒๒๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ออกปากขอ
เนยใสมาฉัน คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึงออก
ปากขอเนยใสมาฉัน ใครเล่าจะไม่ชอบใจอาหารที่ปรุงดีพร้อม ใครเล่าจะไม่ชอบของ
เอร็ดอร่อย”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงออกปากขอเนยใสมาฉันเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ออกปาก
ขอเนยใสมาฉัน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงออกปากขอเนยใสมาฉันเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
รับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๑ พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดออกปากขอเนยใสมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า “แม่เจ้า
ดิฉันต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะเป็นธรรมที่น่าติเตียน ไม่เป็นสัปปายะ ดิฉันขอ
แสดงคืนธรรมนั้น”
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

เรื่องภิกษุณีเป็นไข้
[๑๒๒๙] สมัยนั้น ภิกษุณีทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุณีผู้ถามอาการไข้ได้กล่าว
กับภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า พวกท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ”
พวกภิกษุณีผู้เป็นไข้กล่าวว่า “แม่เจ้า เมื่อก่อนพวกดิฉันออกปากขอเนยใสมา
ฉันได้ เพราะเหตุนั้น พวกดิฉันจึงมีความผาสุก แต่บัดนี้พวกดิฉันยำเกรงอยู่ว่า
พระผู้มีพระภาคทรงห้าม จึงไม่กล้าออกปากขอ เพราะเหตุนั้นจึงไม่มีความผาสุก”
ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ

ทรงอนุญาตเนยใส
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีผู้เป็นไข้
ออกปากขอเนยใสมาฉันได้” แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[๑๒๓๐] อนึ่ง ภิกษุณีใดผู้ไม่เป็นไข้ออกปากขอเนยใสมาฉัน ภิกษุณีนั้น
พึงแสดงคืนว่า “แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะ เป็นธรรมที่น่าติเตียน
ไม่เป็นสัปปายะ ดิฉันขอแสดงคืนธรรมนั้น”
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๓๑] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า อนึ่ง ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่เป็นไข้ คือ ผู้ขาดเนยใสก็ยังมีความผาสุก
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ขาดเนยใสย่อมไม่มีความผาสุก
ที่ชื่อว่า เนยใส ได้แก่ เนยใสที่เกิดจากโค เนยใสจากแพะ เนยใสจากกระบือ
หรือเนยใสของสัตว์ที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ
ภิกษุณีไม่เป็นไข้ ขอเพื่อประโยชน์ตน ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ขอ รับ
ประเคนมาด้วยตั้งใจว่า “จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏเพราะได้มา เธอฉัน ต้องอาบัติ
ปาฏิเทสนียะ ทุกๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาฏิเทสนียะ
[๑๒๓๒] ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอเนยใสมาฉัน
ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ต้องอาบัติ
ปาฏิเทสนียะ

ทุกทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอเนยใสมาฉัน ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๓๓] ๑. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๒. ภิกษุณีเป็นไข้ ออกปากขอมา หายแล้วฉัน
๓. ภิกษุณีฉันเนยใสที่เหลือเดนของภิกษุณีผู้เป็นไข้
๔. ภิกษุณีฉันเนยใสของญาติ
๕. ภิกษุณีฉันเนยใสของคนที่ปวารณาไว้
๖. ภิกษุณีออกปากขอเพื่อผู้อื่น
๗. ภิกษุณีจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
๘. ภิกษุณีวิกลจริต
๙. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕. ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ๒-๘. ทุติยาทิปาฏิเทสนียสิกขาบท นิทานวัตถุ
ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๒-๘๑
ว่าด้วยการออกปากขอน้ำมันเป็นต้น

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๒๓๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์(ออกปาก
ขอน้ำมันมาฉัน ฯลฯ ออกปากขอน้ำผึ้งมาฉัน ฯลฯ ออกปากขอน้ำอ้อยมาฉัน ฯลฯ
ออกปากขอปลามาฉัน ฯลฯ ออกปากขอเนื้อมาฉัน ฯลฯ ออกปากขอนมสดมาฉัน
ฯลฯ) ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉนพวกภิกษุณีจึงออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉันเล่า ใครเล่าจะไม่ชอบใจอาหารที่ปรุง
ดีพร้อม ใครเล่าจะไม่ชอบใจของที่เอร็ดอร่อย”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณีผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึง
ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉันเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ออกปาก
ขอนมเปรี้ยวมาฉัน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณี
ฉัพพัคคีย์จึงขอนมเปรี้ยวมาฉันเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ สิกขาบทที่ ๒ ว่าด้วยการออกปากขอน้ำมัน สิกขาบทที่ ๓ ว่าด้วยการออกปากขอน้ำผึ้ง สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการออกปากขอน้ำอ้อย สิกขาบทที่ ๕ ว่าด้วยการออกปากขอปลา สิกขาบทที่ ๖ ว่าด้วยการ
ออกปากขอเนื้อ สิกขาบทที่ ๗ ว่าด้วยการออกปากขอนมสด พึงทราบว่าละข้อความเต็มไว้ ที่ปรากฏอยู่
นี้ เป็นข้อความของสิกขาบทที่ ๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๘๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕. ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๒-๘ พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุณีใดออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า “แม่เจ้า
ดิฉันต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะ เป็นธรรมที่น่าติเตียน ไม่เป็นสัปปายะ ดิฉันขอ
แสดงคืนธรรมนั้น”
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

เรื่องภิกษุณีเป็นไข้
[๑๒๓๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ ภิกษุณีผู้ถามอาการไข้ได้กล่าวกับ
ภิกษุณีเหล่านั้นดังนี้ว่า “แม่เจ้า พวกท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ”
ภิกษุณีผู้เป็นไข้กล่าวว่า “แม่เจ้า เมื่อก่อนพวกดิฉันออกปากขอนมเปรี้ยว
มาฉันได้ เพราะเหตุนั้นพวกดิฉันจึงมีความผาสุก แต่บัดนี้พวกดิฉันยำเกรงอยู่ว่า
‘พระผู้มีพระภาคทรงห้าม” จึงไม่กล้าออกปากขอ เพราะเหตุนั้นจึงไม่มีความผาสุก”
พวกภิกษุได้กราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ฯลฯ

ทรงอนุญาตนมเปรี้ยว
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีเป็นไข้
ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉันได้” แล้วรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[๑๒๓๖] อนึ่ง ภิกษุณีใดผู้ไม่เป็นไข้ออกปากขอ (น้ำมัน ฯลฯ น้ำผึ้ง
ฯลฯ น้ำอ้อย ฯลฯ ปลา ฯลฯ เนื้อ ฯลฯ นมสด ฯลฯ) นมเปรี้ยวมาฉัน
ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า “แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมคือปาฏิเทสนียะ เป็นธรรม
ที่น่าติเตียน ไม่เป็นสัปปายะ ดิฉันขอแสดงคืนธรรมนั้น”
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๐ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕. ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๒-๘ บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๓๗] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ผู้ไม่เป็นไข้ คือ ผู้ขาดนมเปรี้ยวก็ยังมีความผาสุก
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ขาดนมเปรี้ยวย่อมไม่มีความผาสุก
ที่ชื่อว่า น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดงา น้ำมันจากเมล็ดผักกาด
น้ำมันจากผลมะซาง น้ำมันจากเมล็ดละหุ่ง น้ำมันจากเปลวสัตว์
ที่ชื่อว่า น้ำผึ้ง ได้แก่ น้ำรสหวานที่ผึ้งทำ
ที่ชื่อว่า น้ำอ้อย ได้แก่ น้ำรสหวานที่เกิดจากอ้อย
ที่ชื่อว่า ปลา พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสัตว์ที่เกิดในน้ำ
ที่ชื่อว่า เนื้อ ได้แก่ เนื้อของสัตว์ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า นมสด ได้แก่ น้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำนมกระบือ หรือน้ำนมสัตว์
ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า นมเปรี้ยว ได้แก่ นมเปรี้ยวของสัตว์มีโคเป็นต้นเหล่านั้นแหละ
ภิกษุณีไม่เป็นไข้ ขอมาเพื่อตน ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ขอ รับประเคนไว้
ด้วยตั้งใจว่า “จักฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏเพราะได้มา เธอฉันต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ทุก ๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาฏิเทสนียะ
[๑๒๓๘] ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน
ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๑ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕. ปาฏิเทสนียกัณฑ์] ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๒-๘ อนาปัตติวาร
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
ไม่เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ต้องอาบัติ
ปาฏิเทสนียะ

ทุกทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีไม่แน่ใจ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุณีสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอนมเปรี้ยวมาฉัน ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๓๙] ๑. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๒. ภิกษุณีขอได้มาเมื่อตอนเป็นไข้ ฉันเมื่อไม่เป็นไข้
๓. ภิกษุณีฉันนมเปรี้ยวที่เหลือเดนของภิกษุณีไข้
๔. ภิกษุณีฉันนมเปรี้ยวของญาติ
๕. ภิกษุณีฉันนมเปรี้ยวของคนที่ปวารณาไว้
๖. ภิกษุณีออกปากขอเพื่อผู้อื่น
๗. ภิกษุณีจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
๘. ภิกษุณีวิกลจริต
๙. ภิกษุณีต้นบัญญัติ

ปาฏิเทสนียสิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๒ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๕. ปาฏิเทสนียกัณฑ์] บทสรุป
บทสรุป
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือปาฏิเทสนียะ ๘ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลายในธรรมคือปาฏิเทสนียะ ๘ สิกขาบทเหล่านั้น
ว่า “ท่านทั้งหลายผู้บริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ” .
แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในธรรมคือปาฏิเทสนียะทั้ง ๘ สิกขาบทเหล่านี้
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

ปาฏิเทสนียกัณฑ์ในภิกขุนีวิภังค์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๓ }


หน้าว่าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๔ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๖. เสขิยกัณฑ์] ๑. ปริมัญฑลวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๖. เสขิยกัณฑ์
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือเสขิยะเหล่านี้มาถึงวาระที่จะยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ
ตามลำดับ

๑. ปริมัณฑลวรรค
หมวดว่าด้วยการนุ่งห่มเรียบร้อย

สิกขาบทที่ ๑
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๒๔๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ครอง
อันตรวาสกย้อยข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีทั้งหลายจึงครองอันตรวาสกย้อยข้างหน้าบ้าง ข้าง
หลังบ้างเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงครองอันตรวาสกย้อยข้างหน้าบ้าง ย้อยข้างหลังบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณี
เหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ครอง
อันตรวาสกย้อยข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงครองอันตรวาสกย้อยข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้างเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๕ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๖. เสขิยกัณฑ์] ๑. ปริมัญฑลวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
พึงทำความสำเหนียกว่า เราจักครองอันตรวาสกให้เรียบร้อย
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุณีพึงครองอันตรวาสกให้เรียบร้อย คือนุ่งปิดบริเวณสะดือ บริเวณเข่า
ภิกษุณีใดไม่เอื้อเฟื้อ ครองอันตรวาสกย้อยข้างหน้าหรือข้างหลัง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
๑. ภิกษุณีไม่จงใจ
๒. ภิกษุณีไม่มีสติ
๓. ภิกษุณีผู้ไม่รู้
๔. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๕. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๖. ภิกษุณีวิกลจริต
๗. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
เป็นข้อความที่ย่อไว้๑

เชิงอรรถ :
๑ เสขิยสิกขาบทที่เหลือเป็นสาธารณบัญญัติ คือสิกขาบทที่ทรงบัญญัติทั่วไปทั้งแก่ภิกษุและภิกษุณี พึงทราบ
โดยนัยที่แสดงไว้ในภิกขุวิภังค์ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ท่านละข้อความวรรคเหล่านี้ คือ (๒) อุชชัคฆิกวรรค
(๓) ขัมภกตวรรค (๔) สักกัจจวรรค (๕) กพฬวรรค (๖) สุรุสุรุวรรค พึงทราบว่า ในเสขิยกัณฑ์ทั้งของ
ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ มีจำนวนวรรคและสิกขาบทเท่ากัน (ดู วินัยปิฎกแปล ๒/๕๗๖-๖๕๔/๖๔๙-๗๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๖ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๖. เสขิยกัณฑ์] ๗. ปาทุกาวรรค สิกขาบทที่ ๑ นิทานวัตถุ
๗. ปาทุกาวรรค
หมวดว่าด้วยรองเท้า

สิกขาบทที่ ๑

เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๑๒๔๑] สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ถ่ายอุจจาระ
บ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง ลงในน้ำ พวกชาวบ้านจึงตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุณีทั้งหลายจึงถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง
ลงในน้ำเหมือนหญิงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์
จึงถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง ลงในน้ำเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกให้ภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงน้ำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์ถ่าย
อุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้างลงในน้ำ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง ลงใน
น้ำเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือ
ทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๗ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๖. เสขิยกัณฑ์] ๗. ปาทุกาวรรค สิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
พึงทำความสำเหนียกว่า เราจักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลาย
ลงในน้ำ
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ

เรื่องภิกษุณีเป็นไข้
สมัยนั้น ภิกษุณีทั้งหลายผู้เป็นไข้ ยำเกรงอยู่ที่จะถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะ
บ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง ลงในน้ำ พวกภิกษุได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาค
ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณี
ผู้เป็นไข้ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง ลงในน้ำได้” แล้วรับสั่ง
ให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
พึงทำความสำเหนียกว่า เราไม่เป็นไข้ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ
เรื่องภิกษุณีเป็นไข้ จบ

สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุณีไม่เป็นไข้ ไม่พึงถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ
ภิกษุณีใดไม่เอื้อเฟื้อ ไม่เป็นไข้ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลาย ลงใน
น้ำ ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๘ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๖. เสขิยกัณฑ์] บทสรุป
๑. ภิกษุณีไม่จงใจ
๒. ภิกษุณีไม่มีสติ
๓. ภิกษุณีผู้ไม่รู้
๔. ภิกษุณีผู้เป็นไข้
๕. ภิกษุณีถ่ายบนบกแล้วไหลลงน้ำ
๖. ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง
๗. ภิกษุณีวิกลจริต
๘. ภิกษุณีมีจิตฟุ้งซ่าน
๙. ภิกษุณีกระสับกระส่ายเพราะเวทนา
๑๐. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๑๕ จบ
ปาทุกาวรรคที่ ๗ จบ

บทสรุป
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคือเสขิยทั้งหลายข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลาย ในธรรมคือเสขิยะเหล่านั้นว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในธรรมคือเสขิยะเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นไว้เป็นมติอย่างนี้

เสขิยกัณฑ์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๓๙๙ }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๗. อธิกรณสมถะ] บทสรุป
๗. อธิกรณสมถะ
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคืออธิกรณสมถะ ๗ เหล่านี้มาถึงวาระที่จะยกขึ้น
แสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ
[๑๒๔๒] เพื่อระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ (๑) พึงให้สัมมุขาวินัย (๒) พึง
ให้สติวินัย (๓) พึงให้อมูฬหวินัย (๔) พึงให้ปฏิญญาตกรณะ (๕) พึงให้เยภุยยสิกา
(๖) พึงให้ตัสสปาปิยสิกา (๗) พึงให้ติณวัตถารกวินัย๑

บทสรุป
แม่เจ้าทั้งหลาย ธรรมคืออธิกรณสมถะ ๗ อย่าง ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ข้าพเจ้าขอถามแม่เจ้าทั้งหลายในธรรมคืออธิกรณสมถะเหล่านั้นว่า “แม่เจ้า
ทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
ข้าพเจ้าขอถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วหรือ”
แม่เจ้าทั้งหลายบริสุทธิ์แล้วในธรรมคืออธิกรณสมถะ ๗ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

อธิกรณสมณะ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สัมมุขาวินัย วิธีตัดสินในที่พร้อมหน้าสงฆ์ พร้อมหน้าบุคคล พร้อมหน้าวัตถุ และพร้อมหน้าธรรม สติวินัย
วิธีตัดสินโดยประกาศสมมติให้ว่าเป็นพระอริยะผู้มีสติสมบูรณ์ อมูฬหวินัย วิธีตัดสินโดยยกประโยชน์ให้
ว่าต้องอาบัติในขณะเป็นบ้า ปฏิญญาตกรณะ วิธีตัดสินตามคำรับของจำเลย เยภุยยสิกา วิธีตัดสิน
ตามเสียงข้างมาก ตัสสปาปิยสิกา วิธีตัดสินโดยการลงโทษแก่ผู้ทำผิด ติณวัตถารกะ วิธีตัดสินโดยการ
ประนีประนอม
อธิกรณ์ ๔ ประการระงับด้วยอธิกรณสมณะแต่ละอย่าง คือ วิวาทาธิกรณ์ ระงับด้วยสัมมุขาวินัยและ
เยภุยยสิกา อนุวาทาธิกรณ์ ระงับด้วยสัมมุขาวินัยและเยภุยยสิกา อาปัตตาธิกรณ์ ระงับด้วยสัมมุขาวินัย
ปฏิญญาตกรณะ และติณวัตถารกะ กิจจาธิกรณ์ ระงับด้วยสัมมุขาวินัย (กงฺขา.อ. ๓๓๘-๓๓๙ ดู องฺ.ทุก.
๒๐/๒๐๒-๒๐๓/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๐๐ }


คำนิคม
คำนิคม
แม่เจ้าทั้งหลาย นิทาน ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว คือ
ธรรม คือ ปาราชิก ๘ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ธรรม คือ สังฆาทิเสส ๑๗ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ธรรม คือ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ธรรม คือ ปาจิตตีย์ ๑๖๖ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ธรรม คือ ปาฏิเทสนียะ ๘ สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ธรรม คือ เสขิยะทั้งหลาย ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
ธรรม คือ อธิกรณสมถะ ๗ ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว
สิกขาบทของพระผู้มีพระภาคนั้นมีเท่านี้มาในสูตร๑ นับเนื่องในพระสูตร มาสู่
วาระที่จะพึงยกขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ ตามลำดับทุกกึ่งเดือน
พวกเราทั้งหมดพึงพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาในพระสูตร
นั้นเทอญ

ภิกษุนีวิภังค์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “พระสูตร” หมายถึงพระปาติโมกข์นั่นเอง (ดู วิ.อ. ๑/๔๕/๒๔๗-๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า :๔๐๑ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๓ วินัยปิฎกที่ ๐๓ ภิกขุนีวิภังค์ จบ





eXTReMe Tracker