ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๒-๓ วินัยปิฎกที่ ๐๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก
มหาวิภังค์ ภาค ๒
___________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๑.อาวสถปิณฑสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๐๘] ๑. ภิกษุเป็นไข้
๒. ภิกษุไม่เป็นไข้ฉันมื้อเดียว
๓. ภิกษุเดินทางไปหรือมาแล้วแวะฉัน
๔. ภิกษุที่เจ้าของทานนิมนต์ให้ฉัน
๕. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาจัดไว้จำเพาะ
๖. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาไม่ได้จัดไว้อย่างเพียงพอ
๗. ภิกษุฉันภัตตาหารทุกชนิดยกเว้นโภชนะ ๕
๘. ภิกษุวิกลจริต
๙. ภิกษุต้นบัญญัติ

อาวสถปิณฑสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค

๒. คณโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการฉันคณโภชนะ

เรื่องพระเทวทัต
[๒๐๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเสื่อมลาภ
สักการะ จึงพากันออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน
พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อ
สายศากยบุตรจึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า ภัตตาหาร
ที่ดีใครจะไม่พอใจ ภัตตาหารอร่อยใครจะไม่ชอบเล่า”
พวกภิกษุได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระเทวทัตพร้อมกับ
บริษัทจึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้น
ตำหนิพระเทวทัตโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพระเทวทัตว่า “เทวทัต ทราบว่า เธอพร้อมกับบริษัทเที่ยวออกปากขอ
ภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน จริงหรือ” พระเทวทัตทูลรับว่า “จริง พระพุทธ
เจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอพร้อมกับบริษัท
จึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า โมฆบุรุษ การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะ๑
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระเทวทัต จบ

เรื่องภิกษุเป็นไข้
[๒๑๐] สมัยนั้น พวกชาวบ้านนิมนต์พวกภิกษุเป็นไข้ฉันภัตตาหาร ภิกษุ
เหล่านั้นมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” จึงไม่รับ
นิมนต์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เป็นไข้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ฉันคณโภชนะได้”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
ภิกษุ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น
คือ สมัยที่เป็นไข้ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ

เชิงอรรถ :
๑ การฉันคณโภชนะ มีได้ ๒ กรณี (๑) ทายกนิมนต์ไปฉัน (๒) ภิกษุออกปากขอภัตตาหารมาฉัน (วิ.ป.๘/
๓๒๒/๒๖๑) คือทายกนิมนต์ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปพร้อมกันไปฉันโดยออกชื่ออาหาร ภิกษุไปพร้อมกัน
รับประเคนพร้อมกัน ฉันพร้อมกัน แต่ถือการรับประเคนพร้อมกันเป็นประมาณ ถ้ารับประเคนแยกกัน
ไม่ต้องอาบัติ นี้จัดเป็นคณโภชนะโดยทายกนิมนต์ และอีกกรณีหนึ่ง ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ยืนหรือนั่ง
อยู่ด้วยกันเห็นอุบาสกแล้วออกปากขอว่า ท่านจงถวายภัตตาหารแก่อาตมาทั้ง ๔ รูป หรือเห็นต่างคราว
กัน แล้วต่างออกปากขอร่วมกัน หรือต่างคราวกันว่า ท่านจงถวายภัตตาหารแก่อาตมา ท่านจงถวาย
ภัตตาหารแก่อาตมา แล้วจะไปพร้อมกัน หรือไปแยกกัน จะรับประเคนภัตตาหารแล้วฉันพร้อมกัน หรือ
แยกกันฉันก็ตาม ต้องอาบัติเพราะถือการรับประเคนพร้อมกันเป็นประมาณ นี้จัดเป็นคณโภชนะโดยการ
ออกปากขอ (วิ.อ.๒/๒๑๗-๘/๓๔๖-๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ถวายจีวร
[๒๑๑] สมัยนั้น พวกชาวบ้านตระเตรียมภัตตาหารพร้อมจีวรในสมัยที่จะ
ถวายจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งหลายด้วยตั้งใจว่า “พวกเรานิมนต์ภิกษุทั้งหลายฉัน
แล้วจะให้ครองจีวร”
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ”
ไม่รับนิมนต์ จึงได้จีวรเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ถวาย
จีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ
สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ทำจีวร
[๒๑๒] สมัยนั้น พวกชาวบ้านนิมนต์พวกภิกษุผู้ทำจีวรฉันภัตตาหาร ภิกษุ
ทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” จึงไม่
รับนิมนต์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ทำ
จีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น
คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เดินทางไกล
[๒๑๓] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเดินทางไกลไปกับพวกชาวบ้าน ครั้งนั้น
ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวกับพวกชาวบ้านเหล่านั้นดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่าน
โปรดรอสักครู่ พวกอาตมาจะไปบิณฑบาต”
พวกชาวบ้านได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย นิมนต์
พวกท่านฉันที่นี่แหละ”
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ”
จึงไม่รับแล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เดินทาง
ไกล” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น
คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล นี้เป็น
สมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่โดยสารเรือ
[๒๑๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายโดยสารเรือไปกับพวกชาวบ้านครั้งนั้นภิกษุ
เหล่านั้นได้กล่าวกับพวกชาวบ้านเหล่านั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านโปรด
นำเรือเข้าเทียบที่ฝั่งสักครู่ พวกอาตมาจะไปบิณฑบาต”
พวกชาวบ้านเหล่านั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย นิมนต์พวก
ท่านฉันที่นี่แหละ”
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณ โภชนะ”
จึงไม่รับ แล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่โดยสาร
เรือ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น
คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล สมัยที่โดย
สารเรือ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในมหาสมัย
[๒๑๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายในถิ่นต่าง ๆ ออกพรรษาแล้ว ได้เดินทางมา
เฝ้าพระผู้มีพระภาคที่กรุงราชคฤห์ พวกชาวบ้านเห็นภิกษุทั้งหลายผู้มาจากต่างถิ่น
จึงนิมนต์ฉันภัตตาหาร
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ”
จึงไม่รับนิมนต์ แล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในมหาสมัย”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ
สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล สมัยที่โดย
สารเรือ มหาสมัย นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ
[๒๑๖] สมัยนั้น พระญาติร่วมสายโลหิตของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ
รัฐทรงผนวชในสำนักของอาชีวกทั้งหลาย ครั้งนั้น อาชีวกนั้นได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้า
พิมพิสารถึงพระราชสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ถวายพระพรพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ
รัฐดังนี้ว่า “มหาบพิตร อาตมาปรารถนาจะจัดภัตตาหารถวายนักบวชผู้เป็นเจ้าลัทธิ
ทั้งหมด”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธตรัสว่า “พระคุณเจ้า ถ้าท่านนิมนต์ภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้มาฉันก่อน โยมจึงจะจัดถวาย”
ครั้งนั้น อาชีวกนั้นส่งทูตไปหาภิกษุทั้งหลายให้อาราธนาว่า “ขอนิมนต์ภิกษุ
ทั้งหลายรับภัตตาหารของข้าพเจ้าเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้”
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ”
จึงไม่รับนิมนต์
ครั้งนั้น อาชีวกนั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บรรเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วได้
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร อาชีวกผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรนั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ดังนี้ว่า “ท่านพระโคดมก็เป็นบรรพชิต ข้าพเจ้าก็เป็นบรรพชิต บรรพชิตควรจะรับ
ภัตตาหารของบรรพชิต ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของ
ข้าพเจ้าเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นอาชีวกทราบว่าพระผู้มี
พระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงถวายอภิวาทแล้วจากไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เป็น
ภัตตาหารของสมณะ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[๒๑๗] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยใน
ข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล
สมัยที่โดยสารเรือ มหาสมัย สมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ นี้เป็นสมัยใน
ข้อนั้น

สิกขาบทวิภังค์
[๒๑๘] ที่ชื่อว่า ฉันคณโภชนะ คือ ภิกษุ ๔ รูปที่เขานิมนต์ด้วยโภชนะ ๕
อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วไปฉัน นี้ชื่อว่าฉันคณโภชนะ๑
คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย
ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นไข้ คือ ที่สุดแม้กระทั่งเท้าแตก ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่
เป็นไข้ พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน กำหนดเอาเดือนสุดท้าย
แห่งฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้วมีกำหนดเวลา ๕ เดือน ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ถวาย
จีวร พึงฉันได้

เชิงอรรถ :
๑ คณโภชนํ ฉันคณโภชนะ คือ คณสฺส โภชเน ฉันโภชนะ(อาหาร)ของคณะ (วิ.อ. ๒/๒๑๗-๒๑๘/๓๔๖),
คเณน ลทฺธตฺตา คณสฺส สนฺตเก โภชเน ฉันโภชนะที่เป็นของคณะซึ่งคณะได้มา (กงฺขา.ฏีกา ๔๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวร ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ทำ
จีวร พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่เดินทางไกล คือ ภิกษุคิดว่า เราจะเดินทางครึ่งโยชน์ พึงฉัน
ได้ เมื่อภิกษุนั้นไป พึงฉันได้ กลับมาถึงแล้ว พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่โดยสารเรือ คือ ภิกษุคิดว่า เราจะโดยสารเรือ พึงฉันได้
เมื่อภิกษุนั้นโดยสารไป พึงฉันได้ ขากลับ พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า มหาสมัย คือ คราวมีภิกษุ ๒-๓ รูปเที่ยวบิณฑบาตพอเลี้ยงกัน เมื่อ
มีภิกษุรูปที่ ๔ มารวมด้วย ไม่พอเลี้ยงกัน ภิกษุคิดว่า เป็นมหาสมัย พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ คือ ในคราวมีปริพาชกจัดภัตตาหาร
ถวาย ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ พึงฉันได้
ภิกษุรับด้วยคิดว่า “จะฉัน” นอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๑๙] คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าคณโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
คณโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่คณโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าคณโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่คณโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่คณโภชนะ ฉันนอกสมัย ไม่ต้อง
อาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๒.คณโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๒๐] ๑. ภิกษุฉันในสมัย
๒. ภิกษุ ๒-๓ รูปฉันร่วมกัน
๓. ภิกษุหลายรูปเที่ยวบิณฑบาตแล้วประชุมฉันร่วมกัน
๔. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิตย์
๕. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายตามสลาก
๖. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์
๗. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ
๘. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันปาฏิบท๑
๙. ภิกษุฉันภัตตาหารทุกชนิด ยกเว้นโภชนะ ๕
๑๐. ภิกษุวิกลจริต
๑๑. ภิกษุต้นบัญญัติ

คณโภชนสิกขาบทที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ วันปาฏิบท คือวันแรม ๑ ค่ำ ทายกคิดว่าวันอุโบสถมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสถวายภัตตาหารกันมาก ส่วนวันแรม
๑ ค่ำ ภิกษุทั้งหลายลำบากเรื่องภัตตาหาร ทานที่ถวายในวันปาฏิบท เป็นการถวายภิกษาหารที่หาได้ยาก
อีกประการหนึ่ง ภิกษุสงฆ์ลงปาติโมกข์แล้ววันรุ่งขึ้นจึงมีศีลบริสุทธิ์ การถวายทานแก่ท่านย่อมมีผลานิสงส์
มาก การถวายทานในวันปาฏิบท คือถวายถัดจากวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ไปหนึ่งวัน (วิ.อ.๓/๓๗๗-๓๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค

๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการฉันปรัมปรโภชนะ

เรื่องชายกรรมกรผู้ยากจน
[๒๒๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า
มหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น พวกชาวบ้านจัดลำดับวาระถวายภัตตาหารอย่าง
ประณีตไว้ใน กรุงเวสาลี ครั้งนั้น ชายกรรมกรยากจนคนหนึ่งได้มีความคิดดังนี้ว่า
ทานนี้ไม่ใช่เป็นของต่ำต้อย๑ เพราะพวกชาวบ้านเหล่านี้ได้ช่วยกันจัดภัตตาหารโดย
เคารพ เอาเถิด แม้ตัวเราก็พึงจัดภัตตาหารบ้าง
ครั้งนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนคนนั้นได้เข้าไปหานายจ้างชื่อกิรปติกะถึงที่อยู่
ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับนายกิรปติกะดังนี้ว่า “นายท่าน กระผมต้องการจัดภัตตาหาร
ถวายภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ท่านกรุณาให้ค่าจ้างแก่กระผมด้วย”
นายกิรปติกะมีศรัทธาเลื่อมใสอยู่แล้วจึงได้ให้ค่าจ้างแก่เขามากกว่าปกติ
ครั้งนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนคนนั้นได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ชายกรรมกรผู้
ยากจนคนนั้นผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบอาราธนาพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอ
พระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าเพื่อฉันใน
วันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาสก ภิกษุสงฆ์มีจำนวนมาก ท่านจงทราบ”
ชายกรรมกรผู้ยากจนกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ถึงภิกษุสงฆ์มีจำนวนมาก
ก็ไม่เป็นไร ข้าพระพุทธเจ้าจัดเตรียมผลพุทราไว้มากมาย น้ำพุทรามีเพียงพอ”

เชิงอรรถ :
๑ อีกนัยหนึ่ง ศาสนานี้หรือการถวายทานพระสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนี้ มิใช่เรื่องต่ำต้อย คือมิใช่
เรื่องเล็กน้อยเลวทราม (วิ.อ. ๒/๒๒๑/๓๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้นชายกรรมกรผู้ยากจนทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงลุกขึ้น
จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
ภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวว่า ชายกรรมกรผู้ยากจนนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระ
พุทธเจ้าเป็นประมุขเพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ น้ำพุทรามีเพียงพอ ภิกษุเหล่านั้น
ได้เที่ยวบิณฑบาตแล้วฉันแต่เช้าตรู่ทีเดียว
พวกชาวบ้านได้ทราบข่าวว่า ชายกรรมกรผู้ยากจนนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระ
พุทธเจ้าเป็นประมุข พวกชาวบ้านเหล่านั้นจึงได้นำขาทนียโภชนียาหารจำนวนมาก
ไปให้ชายกรรมกรผู้ยากจน
ครั้งนั้นแล ตลอดราตรีนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนได้จัดเตรียมขาทนีย
โภชนียาหารอย่างประณีต ให้คนไปกราบทูลภัตตกาลว่า “ได้เวลาแล้ว พระพุทธ
เจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จไป
ถึงที่อยู่ของชายกรรมกรผู้ยากจน ครั้นถึงแล้วได้ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย
พร้อมภิกษุสงฆ์ ทีนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนถวายภัตตาหารภิกษุทั้งหลายที่หอฉัน
ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวอย่างนี้ว่า “อุบาสก จงถวายแต่น้อยเถิด อุบาสก จงถวาย
แต่น้อยเถิด”
ชายกรรมกรผู้ยากจนกล่าวว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย พวกพระคุณเจ้าอย่า
เข้าใจว่าผู้นี้เป็นกรรมกรยากจน แล้วรับแต่น้อย ๆ เลย กระผมได้จัดเตรียมขาทนีย
โภชนียาหารไว้อย่างเพียงพอ พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรับให้พอแก่ความ
ต้องการเถิด”
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “พวกอาตมาขอรับแต่น้อย ไม่ใช่เพราะเหตุนั้น แต่
พวกอาตมาได้เที่ยวบิณฑบาตฉันมาแต่เช้าแล้วต่างหาก ดังนั้น พวกอาตมาจึงขอ
รับแต่น้อยๆ”
ลำดับนั้น ชายกรรมกรผู้ยากจนจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พระคุณเจ้าทั้งหลายที่เรานิมนต์ไว้แล้ว จึงได้ไปฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า เราไม่
สามารถจะถวายให้พอแก่ความต้องการหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท พระบัญญัติ
ภิกษุทั้งหลายได้ยินชายกรรมกรผู้ยากจนตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดา
ภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลาย
รับนิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วจึงไปฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุ
เหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์ไว้ที่หนึ่ง
แล้วไปฉันอีกในที่อีกแห่งหนึ่ง จริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงรับ
นิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วไปฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะ๑
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องชายกรรมกรผู้ยากจน จบ

เรื่องภิกษุเป็นไข้
[๒๒๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ภิกษุอีกรูปหนึ่งนำบิณฑบาตไปถึงที่อยู่
ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าวกับภิกษุรูปที่เป็นไข้นั้นดังนี้ว่า “นิมนต์ท่านฉันเถิด ขอรับ”
ภิกษุเป็นไข้ตอบว่า “ไม่ล่ะขอรับ กระผมมีภัตตาหารที่หวังว่าจะได้”

เชิงอรรถ :
๑ ฉันปรัมปรโภชนะ คือภิกษุรับนิมนต์ฉันภัตตาหารของทายกรายหนึ่งแล้ว ไปฉันภัตตาหารของทายกราย
อื่นก่อนแล้วกลับมาฉันรายแรกภายหลัง โดยมิได้ยกนิมนต์รายแรกให้ภิกษุรูปอื่น (กงฺขา.อ. ๒๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ทายกนำบิณฑบาตมาถวายภิกษุเป็นไข้รูปนั้น ในเวลาสาย ภิกษุเป็นไข้รูป
นั้นฉันไม่ได้ตามที่คิดไว้ ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ

ทรงอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่เป็นไข้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ฉันปรัมปรโภชนะได้”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อ
นั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ

ทรงอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่ถวายจีวร
[๒๒๓] สมัยนั้น พวกชาวบ้านตระเตรียมภัตตาหารพร้อมจีวรในสมัยที่จะ
ถวายจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งหลายด้วยตั้งใจว่า พวกเรานิมนต์ภิกษุทั้งหลายฉันแล้ว
จะให้ครองจีวร
ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉัน
ปรัมปรโภชนะ” ไม่รับนิมนต์ จึงได้จีวรเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัย
ที่ถวายจีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อ
นั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่ทำจีวร
[๒๒๔] สมัยนั้น พวกชาวบ้านนิมนต์พวกภิกษุผู้ทำจีวรฉันภัตตาหาร ภิกษุ
ทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันปรัมปรโภชนะ” จึง
ไม่รับนิมนต์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่ทำ
จีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[๒๒๕] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะนอกสมัย สมัย
ในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

เรื่องวิกัปอาหารที่หวังว่าจะได้
[๒๒๖] ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตร
และจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะเสด็จเข้าไปตระกูลหนึ่ง ครั้นถึงแล้วได้
ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย
ลำดับนั้น พวกชาวบ้านได้ถวายโภชนาหารแด่พระผู้มีพระภาคและท่านพระ
อานนท์ ท่านพระอานนท์มีความยำเกรงอยู่จึงไม่รับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “รับเถิด อานนท์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “อย่าเลย พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ามี
ภัตตาหารที่หวังว่าจะได้”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงวิกัปไว้แล้วรับ”๑
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะ
ได้แล้วฉันปรัมปรโภชนะ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายวิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะได้
อย่างนี้

คำวิกัปอาหาร
กระผมถวายภัตตาหารที่กระผมหวังว่าจะได้แก่ภิกษุชื่อนี้๒
เรื่องวิกัปอาหารที่หวังว่าจะได้ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๒๒๗] ที่ชื่อว่า ปรัมปรโภชนะ คือ ภิกษุที่ทายกนิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่าง
อย่างใดอย่างหนึ่งไว้ งดเว้นโภชนะนั้น ไปฉันโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง อื่น
จากที่ตนรับนิมนต์ไว้ อย่างนี้ชื่อว่าปรัมปรโภชนะ
คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย
ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นไข้ คือ นั่ง ณ อาสนะแห่งเดียว ไม่อาจจะฉันให้พอแก่
ความต้องการได้ ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่เป็นไข้ พึงฉันได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน กำหนดเอาเดือนสุดท้าย
แห่งฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้ว มีกำหนดเวลา ๕ เดือน ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่
ถวายจีวร พึงฉันได้

เชิงอรรถ :
๑ วิกัปภัตตาหาร คือยกภัตตาหารที่รับนิมนต์ไว้ก่อนให้ภิกษุรูปอื่น
๒ ในคัมภีร์บริวารและคัมภีร์ฎีกานับการวิกัปภัตตาหารเป็นพระอนุบัญญัติ (วิ.ป. ๘/๘๖/๓๔, สารตฺถ.ฏีกา
๓/๒๒๖/๗๐, วิมติ. ฏีกา ๒/๒๒๑/๓๘, กงฺขา. ฏีกา ๔๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวร ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ทำ
จีวร พึงฉันได้
ภิกษุรับด้วยคิดว่า “จะฉัน” นอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๒๘] ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าปรัมปรโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ปรัมปรโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าปรัมปรโภชนะ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๒๙] ๑. ภิกษุฉันในสมัย
๒. ภิกษุวิกัปแล้วฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๓.ปรัมปรโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
๓. ภิกษุฉันบิณฑบาตที่รับนิมนต์ไว้ ๒-๓ แห่งรวมกัน
๔. ภิกษุฉันตามลำดับที่รับนิมนต์
๕. ภิกษุที่ชาวตำบลทั้งหมดนิมนต์แล้วฉันในที่แห่งหนึ่งในตำบลนั้น
๖. ภิกษุที่สมาคมทั้งหมดนิมนต์แล้วฉันในที่แห่งหนึ่งในสมาคมนั้น
๗. ภิกษุรับนิมนต์แต่บอกว่าจะรับภิกษา
๘. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิตย์
๙. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายตามสลาก
๑๐. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์
๑๑. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ
๑๒. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันปาฏิบท
๑๓. ภิกษุฉันอาหารทุกชนิดยกเว้นโภชนะ ๕
๑๔. ภิกษุวิกลจริต
๑๕. ภิกษุต้นบัญญัติ

ปรัมปรโภชนสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๔.กาณมาตุสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค

๔. กาณมาตุสิกขาบท
ว่าด้วยมารดาของนางกาณา

เรื่องอุบาสิกามารดาของนางกาณา
[๒๓๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น อุบาสิกามารดาของนางกาณา
เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส นางได้ยกธิดาชื่อกาณาให้ชายหนุ่มผู้หนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ต่อมา นางกาณาได้มาบ้านมารดาด้วยกรณียกิจบางอย่าง ฝ่ายสามีของนางกาณาส่ง
ข่าวมาถึงนางกาณาว่า “จงกลับมาเถิด กาณา ฉันต้องการให้กาณากลับ”
ครั้งนั้น มารดาของนางกาณาคิดว่า “การที่กาณากลับไปมือเปล่า ดูกระไรอยู่”
จึงทอดขนมให้ เมื่อขนมสุก ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งเข้ามาถึงบ้าน
มารดาของนางกาณา มารดาของนางกาณาจึงสั่งให้ถวายขนมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุ
รูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น มารดาของนางกาณาก็สั่งให้ถวายขนมแก่ภิกษุรูป
นั้น ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น มารดาของนางกาณาก็สั่งให้ถวายขนมแก่
ภิกษุรูปนั้นจนกระทั่งขนมที่เตรียมไว้หมดสิ้นไป
แม้ครั้งที่ ๒ สามีของนางกาณาก็ได้ส่งข่าวมาถึงนางกาณาว่า “จงกลับมาเถิด
กาณา ฉันต้องการให้กาณากลับ”
แม้ครั้งที่ ๒ มารดาของนางกาณาคิดว่า “การที่กาณากลับไปมือเปล่า ดู
กระไรอยู่” จึงทอดขนมให้ เมื่อขนมสุก ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งเข้า
มาถึงบ้านมารดาของนางกาณา มารดาของนางกาณาจึงสั่งให้ถวายขนมแก่ภิกษุรูป
นั้น ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น มารดาของนางกาณาก็สั่งให้ถวายขนมแก่
ภิกษุรูปนั้น ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น มารดาของนางกาณาก็สั่งให้
ถวายขนมแก่ภิกษุรูปนั้นจนกระทั่งขนมที่เตรียมไว้หมดสิ้นไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๔.กาณมาตุสิกขาบท นิทานวัตถุ
แม้ครั้งที่ ๓ สามีของนางกาณาก็ได้ส่งข่าวมาถึงนางกาณาว่า “จงกลับมาเถิด
กาณา ฉันต้องการให้กาณากลับ หากกาณาไม่กลับ ฉันจะพาหญิงอื่นมาเป็นภรรยา”
แม้ครั้งที่ ๓ มารดาของนางกาณาคิดว่า “การที่กาณากลับไปมือเปล่า ดูกระไร
อยู่” จึงทอดขนมให้ เมื่อขนมสุก ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งเข้ามาถึง
บ้านมารดาของนางกาณา มารดาของนางกาณาจึงสั่งให้ถวายขนมแก่ภิกษุรูปนั้น
ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น มารดาของนางกาณาก็สั่งให้ถวายขนมแก่
ภิกษุรูปนั้น ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น มารดาของนางกาณาก็สั่งให้
ถวายขนมแก่ภิกษุรูปนั้นจนกระทั่งขนมที่เตรียมไว้หมดสิ้นไป
ครั้งนั้น สามีของนางกาณาได้พาหญิงอื่นมาเป็นภรรยา นางกาณาได้ทราบข่าว
ว่าสามีของตนได้พาหญิงอื่นมาเป็นภรรยา จึงได้ยืนร้องไห้
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เสด็จไปถึงบ้านของอุบาสิกามารดาของนางกาณา ครั้นถึงแล้วได้ประทับนั่งบน
อาสนะที่เขาจัดถวาย
ลำดับนั้น มารดาของนางกาณาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงอาสนะ ครั้น
ถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
กับมารดาของนางกาณาผู้นั่ง ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “นางกาณาร้องไห้ทำไม” อุบาสิกา
มารดาของนางกาณาจึงกราบทูลเรื่องราวนั้นให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค
ทรง ชี้แจงให้มารดาของนางกาณาเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจาก
อาสนะเสด็จไป
เรื่องอุบาสิกามารดาของนางกาณา จบ

เรื่องพ่อค้าเกวียน
[๒๓๑] สมัยนั้น พ่อค้าเกวียนกลุ่มหนึ่งต้องการจะเดินทางจากกรุงราชคฤห์
ไปถิ่นย้อนแสง๑ ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตรูปหนึ่งเข้าไปบิณฑบาตถึงหมู่เกวียน

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิยาโลกํ ถิ่นย้อนแสง คือ สูริยาโลกสฺส ปฏิมุขํ ย้อนแสงตะวัน ได้แก่ ปจฺฉิมทิสํ ทิศตะวันตก (วิ.อ.
๒/๔๐๗/๔๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๔.กาณมาตุสิกขาบท นิทานวัตถุ
อุบาสกคนหนึ่งได้ให้ถวายข้าวตูแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น
อุบาสกได้ให้ถวายข้าวตูแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุรูปนั้นได้ออกไปบอกภิกษุรูปอื่น อุบาสก
ก็ได้ให้ถวายข้าวตูแม้แก่ภิกษุรูปนั้นจนกระทั่งเสบียงที่จัดไว้หมดสิ้นไป
ครั้งนั้น อุบาสกนั้นได้กล่าวกับพวกพ่อค้าดังนี้ว่า “วันนี้ พวกท่านโปรดรอก่อน
เสบียงที่จัดเตรียมไว้กระผมถวายพระคุณเจ้าทั้งหลายไปแล้ว กระผมจะจัดเตรียมเสบียง”
พวกพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า “ท่านครับ พวกเราไม่สามารถจะรอได้ พ่อค้า
เกวียนออกเดินทางแล้ว” ได้ไปแล้ว
เมื่ออุบาสกจัดเตรียมเสบียงเสร็จแล้วเดินทางไปภายหลังจึงถูกพวกโจรปล้น
พวกพ่อค้าพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากย
บุตรจึงรับโดยไม่รู้ประมาณ อุบาสกคนนี้ซึ่งเมื่อถวายเสบียงแก่พระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรเหล่านี้แล้วเดินทางไปภายหลังได้ถูกโจรปล้น”
พวกภิกษุได้ยินพวกพ่อค้าตำหนิ ประณาม โพนทะนา ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้น
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
ฯลฯ
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย๑
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูความพิสดาร ข้อ ๕๖๖ หน้า ๙๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๔.กาณมาตุสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๒๓๒] ก็ ทายกนำขนมหรือข้าวตู๑ มาปวารณาภิกษุผู้เข้าไปถึงตระกูล
ภิกษุผู้ต้องการพึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร ถ้ารับเกินกว่านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว เมื่อนำออกจากที่นั้นแล้วพึงแบ่งปันกับภิกษุ
ทั้งหลาย นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น
เรื่องพ่อค้าเกวียน จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๒๓๓] คำว่า ก็...ภิกษุผู้เข้าไปถึงตระกูล ที่ชื่อว่าตระกูล ได้แก่ ตระกูล ๔
คือ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ตระกูลแพศย์ ตระกูลศูทร
คำว่า ผู้เข้าไปถึง คือ ผู้เข้าไปในตระกูลนั้น
ที่ชื่อว่า ขนม ได้แก่ ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมเพื่อส่งไปเป็น
ของกำนัล
ที่ชื่อว่า ข้าวตู ได้แก่ ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมเป็นเสบียงทาง
คำว่า ทายกนำมาปวารณา คือ เขานำมาปวารณาว่า “ท่านโปรดรับตาม
ต้องการ”
คำว่า ผู้ต้องการ คือ ผู้ปรารถนาได้

เชิงอรรถ :
๑ มนฺถ ข้าวตู หมายถึง อพทฺธสตฺตุนา จ ... พทฺธสตฺตุนา จ ข้าวตูก้อน ข้าวตูป่น (วิ.อ. ๓/๑๑) สตฺตุ
นาม สาลิวีหิยเวหิ กตสตฺตุ. กงฺคุวรกกุทฺรูสกสีสานิปิ ภชฺชิตฺวา อีสกํ โกฏฺเฏตฺวา ถุเส ปลาเปตฺวา
ปุน ทฬฺหํ โกฏฺเฏตฺวา จุณฺณํ กโรนฺติ. สเจปิ ตํ อลฺลตฺตา เอกาพทฺธํ โหติ สตฺตุสงฺคหเมว คจฺฉติ.
ขรปากภชฺชิตานํ วีหีนํ ตณฺฑุเล โกฏฺเฏตฺวา เทนฺติ, ตมฺปิ จุณฺณํ สตฺตุสงฺคหเมว คจฺฉติ. ข้าวตู หรือ
ข้าวสัตตุ ทำด้วยข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ที่เขาเด็ดรวงธัญชาติ ๓ อย่าง คือ ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้
มาตำนิดหน่อยแล้วฝัดแกลบออกแล้วตำอีกจนป่น ซึ่งถ้ายังชุ่มอยู่จะจับเป็นก้อน นี้ก็จัดเป็นข้าวตูเหมือน
กัน และที่เขาตำข้าวเปลือกแก่เป็นข้าวสารจนป่น นี้ก็จัดเป็นข้าวตูเช่นกัน (วิ.อ. ๒/๒๓๒/๓๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๔.กาณมาตุสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า พึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร ความว่า ภิกษุพึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร
คำว่า ถ้ารับเกินกว่านั้น ความว่า รับเกินกำหนดนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตร แล้วเมื่อออกจากที่นั้นไปพบภิกษุรูปอื่นพึงบอก
ว่า “กระผมรับเต็ม ๒-๓ บาตร ในที่โน้น ท่านอย่ารับในที่นั้น” ถ้าพบภิกษุรูป
อื่นแล้วไม่บอก ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อบอกแล้ว ภิกษุรูปนั้นยังไปรับ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
คำว่า เมื่อนำออกจากที่นั้นแล้วพึงแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลาย คือ ภิกษุพึง
นำกลับไปแล้วแบ่งกัน
คำว่า นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น คือ นี้เป็นความถูกต้องในเรื่องนั้น

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๓๔] ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุสำคัญว่าเกิน รับ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุไม่แน่ใจ รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เต็ม รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ของยังไม่เต็ม ๒-๓ บาตร ภิกษุสำคัญว่าเกิน ต้องอาบัติทุกกฏ
ของยังไม่เต็ม ๒-๓ บาตร ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ของยังไม่เต็ม ๒-๓ บาตร ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เต็ม ไม่ต้องอาบัติ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๔.กาณมาตุสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๓๕] ๑. ภิกษุรับเต็ม ๒-๓ บาตร
๒. ภิกษุรับไม่เต็ม ๒-๓ บาตร
๓. ภิกษุผู้รับของที่เขาไม่ได้จัดเตรียมไว้เพื่อส่งไปเป็นของกำนัล
๔. ภิกษุผู้รับของที่เขาไม่ได้จัดเตรียมเป็นเสบียงเดินทาง
๕. ภิกษุผู้รับของที่เหลือจากที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อส่งไปเป็นของ
กำนัลหรือเพื่อเป็นเสบียงเดินทาง
๖. ภิกษุผู้รับของที่ทายกถวายเมื่อเขาระงับการไปแล้ว
๗. ภิกษุรับของญาติ
๘. ภิกษุรับของคนปวารณา
๙. ภิกษุรับเพื่อภิกษุอื่น
๑๐. ภิกษุรับของที่จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
๑๑. ภิกษุวิกลจริต
๑๒. ภิกษุต้นบัญญัติ

กาณมาตุสิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๕.ปฐมปวารณาสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค

๕. ปฐมปวารณาสิกขาบท
ว่าด้วยการบอกห้ามภัตตาหารข้อที่ ๑

เรื่องภิกษุหลายรูป
[๒๓๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งนิมนต์ภิกษุ
ทั้งหลายให้ฉันภัตตาหาร ภิกษุฉันแล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้วพากันไปตระกูลญาติ
ภิกษุบางพวกยังฉันอีก บางพวกก็ยังรับบิณฑบาตกลับไป
ต่อมา พราหมณ์ได้กล่าวกับเพื่อนบ้านผู้คุ้นเคยดังนี้ว่า “นายทั้งหลาย เราเลี้ยง
ภิกษุทั้งหลายให้อิ่มหนำแล้ว เชิญมาเถิด เราจะเลี้ยงพวกท่านให้อิ่มหนำบ้าง”
เพื่อนบ้านผู้คุ้นเคยเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “นาย ท่านจะเลี้ยงพวกเราให้อิ่ม
หนำได้อย่างไร แม้พวกภิกษุที่ท่านนิมนต์แล้วก็ยังต้องไปที่เรือนพวกเรา บางพวกยัง
ฉันอีก บางพวกก็ยังรับบิณฑบาตกลับไป”
ครั้งนั้น พราหมณ์นั้นได้ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้า
ทั้งหลายฉันที่เรือนเราแล้วจึงไปฉันที่อื่นอีกเล่า เราไม่สามารถจะถวายให้พอแก่
ความต้องการหรือ”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินพราหมณ์ตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายฉันแล้ว บอกห้าม
ภัตตาหารแล้วไปฉันต่อที่อื่นอีกเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิภิกษุทั้งหลายโดย
ประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุฉันแล้ว บอก
ห้ามภัตตาหารแล้วไปฉันต่อที่อื่นอีก จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๕.ปฐมปวารณาสิกขาบท พระบัญญัติ
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
โมฆบุรุษเหล่านั้นฉันแล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้วไปฉันต่อที่อื่นอีกเล่า การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดฉันแล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้ว เคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ

เรื่องภัตตาหารที่เป็นเดน
[๒๓๗] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายนำบิณฑบาตอย่างประณีตไปถวายพวกภิกษุ
ผู้เป็นไข้ พวกภิกษุเป็นไข้ฉันภัตตาหารไม่ได้สมใจ ภิกษุทั้งหลายจึงทิ้งบิณฑบาต
เหล่านั้น
พระผู้มีพระภาคทรงได้สดับนกกาส่งเสียงร้องดังเซ็งแซ่ ครั้นได้ทรงสดับแล้ว
จึงได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ ทำไมนกกาจึงส่งเสียงร้องดังเซ็งแซ่”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ ภิกษุทั้งหลายได้ฉันภัตตาหารที่เป็น
เดนภิกษุไข้หรือ”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ไม่ได้ฉัน พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงอนุญาตให้ฉันภัตตาหารที่เป็นเดนภิกษุเป็นไข้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันภัตตาหารที่เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๕.ปฐมปวารณาสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
เดนภิกษุผู้เป็นไข้และภิกษุผู้ไม่เป็นไข้ ภิกษุทั้งหลายพึงทำภัตตาหารให้เป็นเดนด้วย
การกล่าวอย่างนี้ว่า “ทั้งหมดนั่นพอแล้ว” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[๒๓๘] อนึ่ง ภิกษุใดฉันแล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้ว เคี้ยวของเคี้ยว
หรือฉันของฉันที่ไม่เป็นเดน๑ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภัตตาหารที่เป็นเดน จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๒๓๙] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ฉันแล้ว คือ ภิกษุฉันโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง โดย
ที่สุดแม้ฉันด้วยปลายหญ้าคาแตะ

ลักษณะการบอกห้ามภัตตาหาร
ที่ชื่อว่า บอกห้ามภัตตาหาร คือ (๑) ภิกษุกำลังฉัน (๒) ทายกนำโภชนะมา
ถวาย (๓) ทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย (๔) ภิกษุบอกห้าม

เชิงอรรถ :
๑ อนติริตฺตํ โภชนะที่ไม่เป็นเดน, โภชนะที่ไม่เหลือเฟือ, โภชนะที่ยังมิได้ทำอติเรกวินัย คือพระวินัยธรยังมิ
ได้ทำให้เป็นเดนว่า “อลเมตํ สพฺพํ ทั้งหมดนั่นพอแล้ว” (วิ.อ. ๒/๓๖๖, วชิร.ฏีกา ๔๐๘), อติเรโก โหตีติ
อติริตฺโต โหติ อติริตฺต ที่เป็นเดน หมายถึงเหลือเฟือ (ปฏิสํ.อ. ๒/๓๐๗) อนติริตฺต ที่ไม่เป็นเดน จึง
หมายถึงไม่เหลือเฟือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๕.ปฐมปวารณาสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ของที่ไม่เป็นเดน
ที่ชื่อว่า ที่ไม่เป็นเดน คือ (๑) ของที่ภิกษุยังมิได้ทำให้เป็นกัปปิยะ (๒) ของ
ที่ภิกษุยังมิได้รับประเคน (๓) ของที่ภิกษุยังมิได้ยกขึ้นส่งให้ (๔) ของที่อยู่นอก
หัตถบาส (๕) ของที่ภิกษุยังมิได้ฉัน (๖) ของที่ภิกษุฉันแล้วบอกห้าม ลุกจาก
อาสนะแล้ว (๗) ของที่ภิกษุยังมิได้กล่าวว่า “ทั้งหมดนั่นพอแล้ว” (๘) ของไม่เป็น
เดนภิกษุเป็นไข้ นี้ชื่อว่าที่ไม่เป็นเดน

ของที่เป็นเดน
ที่ชื่อว่า ที่เป็นเดน คือ (๑) ของที่ภิกษุทำให้เป็นกัปปิยะแล้ว (๒) ของที่ภิกษุ
รับประเคนแล้ว (๓) ของที่ภิกษุยกขึ้นส่งให้แล้ว (๔) ของที่อยู่ในหัตถบาส (๕) ของ
ที่ภิกษุฉันแล้ว (๖) ของที่ภิกษุฉันแล้วบอกห้าม แต่ยังไม่ลุกจากอาสนะ (๗) ของที่
ภิกษุกล่าวว่า “ทั้งหมดนั่นพอแล้ว” (๘) ของเป็นเดนภิกษุเป็นไข้ นี้ชื่อว่าที่เป็นเดน

ของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ ๑ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และ
ยาวชีวิก นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว

เชิงอรรถ :
๑ ยามกาลิก ของที่ภิกษุรับประเคนไว้แล้วฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่งก่อนอรุณของวันใหม่ คือ นํ้าปานะ ได้แก่
นํ้าคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต ๘ อย่าง คือ (๑) อัมพปานะ นํ้ามะม่วง (๒) ชัมพุปานะ นํ้าหว้า (๓) โจจปานะ
นํ้ากล้วยมีเมล็ด (๔) โมจปานะ นํ้ากล้วยไม่มีเมล็ด (๕) มธุกปานะ นํ้ามะทราง (๖) มุททิกปานะ นํ้าผล
จันทน์หรือนํ้าองุ่น (๗) สาลูกปานะ นํ้าเหง้าบัว (๘) ผารุสกปาน นํ้าผลมะปรางหรือนํ้าลิ้นจี่ และนํ้าผลไม้
ทุกชนิด เว้นนํ้าต้มเมล็ดข้าวเปลือก, นํ้าใบไม้ทุกชนิด เว้นนํ้าผักดอง, นํ้าดอกไม้ทุกชนิด เว้นนํ้าดอกมะทราง,
นํ้าอ้อยสด ฉันได้ (วิ.ม. ๕/๓๐๐/๘๔, วิ.อ. ๒/๒๕๕-๖/๓๗๘)
สัตตาหกาลิก ของที่ภิกษุรับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายใน ๗ วัน คือ เภสัชทั้ง ๕ ได้แก่ (๑) สัปปิ เนยใส
(๒) นวนีตะ เนยข้น (๓) เตละ นํ้ามัน (๔) มธุ นํ้าผึ้ง (๕) ผาณิต นํ้าอ้อย (วิ.ม. ๕/๒๖๐/๒๗)
ยาวชีวิก ของที่ภิกษุรับประเคนไว้แล้ว ฉันได้ตลอดไป ไม่จำกัดเวลา คือ ของที่ใช้ปรุงเป็นยา ได้แก่
หลิททะ ขมิ้น, สิงคิเวระ ขิง, วจะ ว่านนํ้า, วจัตถะ ว่านเปราะ, อติวิสะ อุตพิด, กฏุกโรหิณี ข่า, อุสีระ
แฝก, ภัททมุตตกะ แห้วหมู เป็นต้น (วิ.ม. ๕/๒๖๓/๒๙) ดูเชิงอรรถ ข้อ ๒๕๖ หน้า ๔๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๕.ปฐมปวารณาสิกขาบท อนาปัตติวาร
ของฉัน
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา เนื้อ
ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๔๐] ของที่ไม่เป็นเดน ภิกษุสำคัญว่าเป็นของที่ไม่เป็นเดน เคี้ยวของเคี้ยว
หรือฉันของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ของที่ไม่เป็นเดน ภิกษุไม่แน่ใจ เคี้ยวของเคี้ยว หรือฉันของฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ของที่ไม่เป็นเดน ภิกษุสำคัญว่าเป็นของที่เป็นเดน เคี้ยวของเคี้ยว หรือฉัน
ของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
ภิกษุรับประเคนยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อเป็นอาหาร ต้อง
อาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน
ของที่เป็นเดน ภิกษุสำคัญว่าเป็นของที่ไม่เป็นเดน ต้องอาบัติทุกกฏ
ของที่เป็นเดน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ของที่เป็นเดน ภิกษุสำคัญว่าเป็นของที่เป็นเดน ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๔๑] ๑. ภิกษุให้ทำเป็นของที่เป็นเดนแล้วฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๕.ปฐมปวารณาสิกขาบท อนาปัตติวาร
๒. ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า จะให้ทำเป็นของที่เป็นเดนก่อนจึงฉัน
๓. ภิกษุรับไปเพื่อภิกษุอื่น
๔. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เหลือของภิกษุผู้เป็นไข้
๕. ภิกษุฉันของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก เมื่อมี
เหตุผลที่สมควร
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ

ปฐมปวารณาสิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๖.ทุติยปวารณาสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค

๖. ทุติยปวารณาสิกขาบท
ว่าด้วยการบอกห้ามภัตตาหารข้อที่ ๒

เรื่องภิกษุ ๒ รูป
[๒๔๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุ ๒ รูปเดินทางไกลไปกรุง
สาวัตถี แคว้นโกศล ภิกษุรูปหนึ่งประพฤติอนาจาร ภิกษุผู้เป็นเพื่อนได้กล่าวกับ
ภิกษุรูปนั้นดังนี้ว่า “ท่านอย่าได้กระทำอย่างนี้ การกระทำอย่างนี้ไม่สมควร”
ภิกษุรูปนั้นแค้นเคืองภิกษุผู้เป็นเพื่อนนั้น ครั้นภิกษุเหล่านั้นถึงกรุงสาวัตถี ครั้ง
นั้น มีสังฆภัตของสมาคมหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นเพื่อนฉันแล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้ว
ภิกษุรูปที่แค้นเคืองไปตระกูลญาตินำบิณฑบาตมา แล้วเข้าไปหาภิกษุผู้เป็นเพื่อนถึง
ที่พัก ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับภิกษุนั้นดังนี้ว่า “เชิญท่านฉันเถิด ขอรับ”
ภิกษุผู้เป็นเพื่อนปฏิเสธว่า “ไม่ล่ะขอรับ กระผมบริบูรณ์แล้ว”
ภิกษุผู้แค้นเคืองนั้นรบเร้าว่า “บิณฑบาตอร่อย ฉันเถิด ขอรับ”
ครั้นภิกษุผู้เป็นเพื่อนถูกรบเร้าจึงฉันบิณฑบาตนั้น
ภิกษุผู้แค้นเคืองได้กล่าวกับภิกษุนั้นดังนี้ว่า “ท่านเข้าใจว่ากระผมเป็นผู้ที่ควร
ว่ากล่าว ท่านเองฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้วก็ยังฉันโภชนะที่ไม่เป็นเดนอีก”
ภิกษุผู้เป็นเพื่อนกล่าวว่า “ท่านควรบอกเรื่องนี้มิใช่หรือ”
ภิกษุผู้แค้นเคืองกล่าวว่า “ท่านควรถามก่อนมิใช่หรือ”
ต่อมา ภิกษุนั้นได้แจ้งเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ
พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุจึงนำโภชนะที่ไม่เป็นเดนไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๙๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๖.ทุติยปวารณาสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ปวารณาภิกษุผู้ฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้วเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุ
นั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอนำโภชนะที่ไม่เป็นเดนไปปวารณาภิกษุผู้
ฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้ว จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงนำโภชนะที่ไม่เป็น
เดนไปปวารณาภิกษุผู้ฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้วเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่าง
นี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๒๔๓] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ แต่ต้องการจะจับผิด นำของเคี้ยวหรือของฉันที่
ไม่เป็นเดนไปปวารณา ภิกษุผู้ฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้ว โดยกล่าว
รบเร้าว่า “นิมนต์เถิดขอรับ ท่านจงเคี้ยวหรือจงฉันก็ได้” เมื่อเธอฉันแล้ว ภิกษุ
นั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุ ๒ รูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๒๔๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๖.ทุติยปวารณาสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
คำว่า ภิกษุ หมายถึง ภิกษุรูปอื่น
ที่ชื่อว่า ฉันแล้ว คือ ภิกษุฉันโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งโดยที่สุดแม้
ฉันด้วยปลายหญ้าคาแตะ๑

ลักษณะห้ามภัตร
ที่ชื่อว่า บอกห้ามภัตตาหาร คือ (๑) ภิกษุกำลังฉัน (๒) ทายกนำโภชนะมา
ถวาย (๓) ทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย (๔) ภิกษุบอกห้าม

ของที่ไม่เป็นเดน
ที่ชื่อว่า ที่ไม่เป็นเดน คือ (๑) ของที่ยังมิได้ทำให้เป็นกัปปิยะ (๒) ของที่ภิกษุ
ยังมิได้รับประเคน (๓) ของที่ภิกษุยังมิได้ยกขึ้นส่งให้ (๔) ของที่อยู่นอกหัตถบาส
(๕) ของที่ภิกษุยังมิได้ลงมือฉัน (๖) ของที่ภิกษุลงมือฉันแล้วบอกห้าม ลุกจาก
อาสนะแล้ว (๗) ของที่ภิกษุยังมิได้กล่าวว่า “ทั้งหมดนั่นพอแล้ว” (๘) ของไม่เป็น
เดนภิกษุเป็นไข้ นี้ชื่อว่าที่ไม่เป็นเดน

ของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และ
ยาวชีวิก นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว
ของฉัน
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา เนื้อ
คำว่า นำมาปวารณา คือ นำมาปวารณาว่า “ท่านโปรดรับตามต้องการ”
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกท่าน หรือคนนั้นบอก

เชิงอรรถ :
๑ ฉันด้วยปลายหญ้าคาแตะ คือเกลี่ยอาหารที่ได้มาในภาชนะใบเดียวกันคลุกเคล้าให้เข้ากันจนเป็นรส
เดียวกันแล้วเอาปลายหญ้าคาแตะเพียงหยดเดียวแล้ววางที่ปลายลิ้น กลืนกิน (วิ.อ. ๒/๒๖๐/๓๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๖.ทุติยปวารณาสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า ต้องการจะจับผิด คือ ภิกษุเพ่งเล็งว่า เราจะท้วง เราจะเตือน
เราจะทักท้วง เราจะตักเตือน เราจะทำภิกษุนี้ให้เก้อเขินด้วยวิธีนี้ นำไป ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุรับไว้ตามคำของภิกษุนั้นด้วยตั้งใจว่า จะฉัน ภิกษุผู้นำไป ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุผู้รับฉัน ภิกษุผู้นำไป ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน
เมื่อภิกษุผู้รับนั้นฉันเสร็จ ภิกษุผู้นำไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
[๒๔๕] บอกห้ามภัตตาหารแล้วภิกษุสำคัญว่าบอกห้ามภัตตาหารแล้ว นำ
ของเคี้ยวหรือของฉันที่ไม่เป็นเดนไปปวารณา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกห้ามภัตตาหารแล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ นำของเคี้ยวหรือของฉันที่ไม่เป็นเดนไป
ปวารณา ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกห้ามภัตตาหารแล้ว ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้บอกห้ามภัตตาหารนำของ
เคี้ยวหรือของฉันที่ไม่เป็นเดนไปปวารณา ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุนำยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิกไปเป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุรับไว้ตามคำของภิกษุผู้นำไปนั้นด้วยตั้งใจว่า จะฉัน ภิกษุผู้นำไป ต้อง
อาบัติทุกกฏ
ภิกษุผู้รับฉัน ภิกษุผู้นำไป ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน
ยังมิได้บอกห้ามภัตตาหาร ภิกษุสำคัญว่าบอกห้ามภัตตาหารแล้ว ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ยังมิได้บอกห้ามภัตตาหาร ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ยังมิได้บอกห้ามภัตตาหาร ภิกษุสำคัญว่ายังมิได้บอกห้ามภัตตาหาร ไม่ต้อง
อาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๖.ทุติยปวารณาสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๔๖] ๑. ภิกษุให้ทำเป็นของที่เป็นเดนแล้วให้
๒. ภิกษุให้ด้วยกล่าวว่า ท่านจงให้ทำเป็นของที่เป็นเดนก่อนจึงฉัน
๓. ภิกษุให้ด้วยกล่าวว่า ท่านจงนำไปเพื่อภิกษุอื่น
๔. ภิกษุให้ภัตตาหารที่เหลือของภิกษุเป็นไข้
๕. ภิกษุให้ของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ด้วย
กล่าวว่า ท่านจงฉันเมื่อมีเหตุสมควร
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ

ทุติยปวารณาสิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๗.วิกาลโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔.โภชนวรรค

๗. วิกาลโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการฉันโภชนะในเวลาวิกาล

เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์
[๒๔๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีมหรสพบนยอดเขา
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ได้ไปชมมหรสพ พวกชาวบ้านเห็นพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์
แล้วจึงนิมนต์ให้สรงน้ำ ให้ลูบไล้ของหอม ให้ฉันภัตตาหารแล้วถวายของเคี้ยวพวก
ภิกษุสัตตรสวัคคีย์นำของเคี้ยวไปอาราม แล้วได้กล่าวกับพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ดังนี้ว่า
“ท่านทั้งหลาย นิมนต์พวกท่านรับแล้วจงฉันของเคี้ยวเถิด ขอรับ”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ถามว่า “พวกท่านได้ของเคี้ยวมาจากไหน”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์จึงแจ้งเรื่องนั้นให้พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทราบ
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ถามว่า “พวกท่านฉันอาหารในเวลาวิกาลหรือ”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า “ใช่ ขอรับ”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุ
สัตตรสวัคคีย์จึงฉันภัตตาหารในเวลาวิกาลเล่า” แล้วพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงแจ้งเรื่อง
นี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์จึงฉันภัตตาหารในเวลาวิกาลเล่า”ครั้น
ภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอฉันภัตตาหาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๗.วิกาลโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ในเวลาวิกาล จริงหรือ” พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงฉัน
ภัตตาหารในเวลาวิกาลเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๒๔๘] ก็ ภิกษุใดเคี้ยวของเคี้ยว หรือฉันของฉันในเวลาวิกาล ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๒๔๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า เวลาวิกาล หมายเอาเวลาเมื่อเที่ยงวันล่วงไปจนถึงอรุณขึ้น
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และ
ยาวชีวิก นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาส ข้าวตู ปลา เนื้อ
ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๗.วิกาลโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๕๐] เวลาวิกาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นวิกาล เคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เวลาวิกาล ภิกษุไม่แน่ใจ เคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เวลาวิกาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นกาล เคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
ภิกษุรับประเคนยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิกไว้เป็นอาหาร ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน
กาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นวิกาล ต้องอาบัติทุกกฏ
กาล ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กาล ภิกษุสำคัญว่าเป็นกาล ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๕๑] ๑. ภิกษุฉันของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก เมื่อมี
เหตุผลที่สมควร
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ

วิกาลโภชนสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๘.สันนิธิการกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค

๘. สันนิธิการกสิกขาบท
ว่าด้วยการสะสมโภชนะ

เรื่องพระเวฬัฏฐสีสะ
[๒๕๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระเวฬัฏฐสีสะ พระอุปัชฌาย์
ของท่านพระอานนท์อยู่ในป่า ท่านเที่ยวบิณฑบาตได้มากมาย เอาข้าวสุกเปล่าไป
ตากแห้งเก็บไว้ที่อาราม คราวที่ต้องการภัตตาหารก็นำมาแช่น้ำแล้วฉัน นาน ๆ จึง
จะเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน
ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับท่านพระเวฬัฏฐสีสะดังนี้ว่า “ท่าน ทำไมนาน ๆ
ท่านจึงเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน” ลำดับนั้น ท่านพระเวฬัฏฐสีสะจึงแจ้งเรื่องนั้นให้
ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่าน ท่านฉันอาหารที่เก็บสะสมไว้หรือ”
ท่านตอบว่า “ใช่ ขอรับ”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า“ไฉนท่าน
พระเวฬัฏฐสีสะจึงฉันโภชนะที่เก็บสะสมไว้เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระ
เวฬัฏฐสีสะโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุทรง
สอบถามท่านพระเวฬัฏฐสีสะว่า “เวฬัฏฐสีสะ ทราบว่า เธอฉันโภชนะที่เก็บสะสมไว้
จริงหรือ” พระเถระทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ เวฬัฏฐสีสะ ไฉนเธอจึงฉันโภชนะที่เก็บสะสมไว้เล่า เวฬัฏฐสีสะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๘.สันนิธิการกสิกขาบท บทภาชนีย์
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๒๕๓] ก็ ภิกษุใดเคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉันที่เก็บสะสมไว้ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระเวฬัฏฐสีสะ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๒๕๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ของที่เก็บสะสมไว้ คือ ของที่ภิกษุรับประเคนในวันนี้แล้วฉันในวันอื่น
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และ
ยาวชีวิก นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาส ข้าวตู ปลา เนื้อ
ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า “จะเคี้ยว จะฉัน” ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๕๕] ของเก็บสะสมไว้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของเก็บสะสมไว้ เคี้ยวของเคี้ยว
หรือฉันของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๘.สันนิธิการกสิกขาบท อนาปัตติวาร
ของเก็บสะสมไว้ ภิกษุไม่แน่ใจ เคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ของเก็บสะสมไว้ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ของเก็บสะสมไว้ เคี้ยวของเคี้ยวหรือฉัน
ของฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุรับประเคนยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิกไว้เป็นอาหาร ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ คำกลืน
มิใช่ของเก็บสะสมไว้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของเก็บสะสมไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ
มิใช่ของเก็บสะสมไว้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
มิใช่ของเก็บสะสมไว้ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่เป็นของเก็บสะสมไว้ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๕๖] ๑. ภิกษุเก็บของที่เป็นยาวกาลิกไว้ฉันชั่วกาล
๒. ภิกษุเก็บของที่เป็นยามกาลิกไว้ฉันชั่วยาม๑
๓. ภิกษุเก็บของที่เป็นสัตตาหกาลิกไว้ฉันชั่วสัปดาห์
๔. ภิกษุฉันของที่เป็นยาวชีวิกเมื่อมีเหตุผลสมควร
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ

สันนิธิการกสิกขาบทที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ชั่วกาล คือชั่วเวลาเที่ยงวัน,ชั่วยาม คือชั่วปัจฉิมยาม (วิ.อ. ๒/๒๕๖/๓๗๘, ดูเชิงอรรถ ข้อ ๒๓๙ หน้า ๓๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๐๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๙.ปณีตโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค

๙. ปณีตโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการออกปากขอโภชนะอันประณีต

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๒๕๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ออกปากขอ
โภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉัน พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนา
ว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้ว
ฉันเล่า ภัตตาหารที่ดีใครจะไม่พอใจ ภัตตาหารอร่อยใครจะไม่ชอบเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึง
ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอออกปากขอ
โภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันจริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย
ไฉนพวกเธอจึงออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันเล่า โมฆบุรุษ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๙.ปณีตโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน
น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เรื่องภิกษุเป็นไข้
[๒๕๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุผู้มีหน้าที่สอบถามอาการ
ไข้ ได้กล่าวกับพวกภิกษุผู้เป็นไข้ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้
หรือ”
พวกภิกษุเป็นไข้ตอบว่า “เมื่อก่อนพวกกระผมออกปากขอโภชนะอันประณีต
มาเพื่อตนแล้วฉัน ดังนั้นจึงมีความผาสุก แต่เดี๋ยวนี้พวกกระผมมีความยำเกรงอยู่ว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้” จึงไม่ออกปากขอ ดังนั้นจึงไม่มีความผาสุก”
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอโภชนะอันประณีตได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอโภชนะ
อันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๒๕๙] อนึ่ง ภิกษุใดไม่เป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้
คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อ
ตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๙.ปณีตโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๒๖๐] คำว่า โภชนะอันประณีต ความว่า ที่ชื่อว่า เนยใส ได้แก่ เนยใสที่
ทำจากน้ำนมโค เนยใสที่ทำจากน้ำนมแพะ เนยใสที่ทำจากน้ำนมกระบือ หรือเนยใส
ที่ทำจากน้ำนมสัตว์ที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า เนยข้น ได้แก่ เนยข้นที่ทำจากน้ำนมสัตว์เหล่านั้น
ที่ชื่อว่า น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดงา น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดพันธุ์
ผักกาด น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดมะซาง น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดละหุ่ง น้ำมันที่ทำจาก
เปลวสัตว์
ที่ชื่อว่า น้ำผึ้ง ได่แก่ น้ำหวานของแมลงผึ้ง
ที่ชื่อว่า น้ำอ้อย ได้แก่ น้ำหวานที่เกิดจากอ้อย
ที่ชื่อว่า ปลา ท่านกล่าวถึงสัตว์ที่เที่ยวไปในน้ำ
ที่ชื่อว่า เนื้อ ได้แก่ เนื้อของสัตว์บกที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า นมสด ได้แก่ น้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำนมกระบือหรือน้ำนมของสัตว์
ที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ
ที่ชื่อว่า นมส้ม ได้แก่ นมส้มที่ทำจากน้ำนมของสัตว์เหล่านั้น
คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า โภชนะอันประณีตเช่นนี้ ได้แก่ โภชนะอันประณีตดังกล่าว
ที่ชื่อว่า ไม่เป็นไข้ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต ก็เป็นอยู่ผาสุก
ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต จะไม่มีความผาสุก
ภิกษุไม่เป็นไข้ออกปากขอมาเพื่อตน ต้องอาบัติทุกกฏทุก ๆ ครั้งที่พยายาม
ภิกษุรับไว้ด้วยตั้งใจว่า จะฉันของที่ได้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๙.ปณีตโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๖๑] ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีต
มาเพื่อตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ไม่เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉัน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้ว
ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๖๒] ๑. ภิกษุเป็นไข้
๒. ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอมาแล้วหายเป็นไข้จึงฉัน
๓. ภิกษุฉันโภชนะที่เหลือของภิกษุเป็นไข้
๔. ภิกษุออกปากขอจากญาติ
๕. ภิกษุออกปากขอจากคนปวารณา
๖. ภิกษุออกปากขอเพื่อภิกษุอื่น
๗. ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
๘. ภิกษุวิกลจริต
๙. ภิกษุต้นบัญญัติ

ปณีตโภชนสิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๑๐.ทันตโปนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๔. โภชนวรรค

๑๐. ทันตโปนสิกขาบท
ว่าด้วยการรับประเคนอาหารนอกจากน้ำและไม้ชำระฟัน

เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๒๖๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า
มหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งผู้ถือว่าทุกอย่างเป็นของบังสุกุล พักอยู่
ในป่าช้า ท่านไม่ปรารถนารับภัตตาหารที่พวกชาวบ้านถวาย เที่ยวถือเอาเครื่องเซ่น
ตามป่าช้าโคนไม้หรือธรณีประตูมาฉัน
พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุนี้จึงถือเอาเครื่อง
เซ่นของพวกเราไปฉันเองเล่า ภิกษุนี้อ้วนล่ำเห็นทีจะฉันเนื้อมนุษย์กระมัง”
พวกภิกษุได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุจึงกลืนอาหารที่ยัง
ไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุนั้นโดยประการต่าง ๆ
แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอฉันอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอ
จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรง
ตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงกลืนอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอเล่า
โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๑๐.ทันตโปนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดกลืนอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ

ทรงอนุญาตน้ำและไม้ชำระฟัน
[๒๖๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรง ไม่ยอมหยิบน้ำและไม้ชำระ
ฟันใช้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มี
พระภาคทรงอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถือเอาน้ำและไม้ชำระฟันมา
ใช้เองได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[๒๖๕] อนึ่ง ภิกษุใดกลืนอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอ นอกจาก
น้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

สิกขาบทวิภังค์
[๒๖๖] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ที่ยังไม่มีผู้ถวาย ท่านกล่าวถึงของที่ยังไม่ได้รับประเคน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๑๐.ทันตโปนสิกขาบท บทภาชนีย์
ลักษณะการรับประเคน
ที่ชื่อว่า มีผู้ถวาย คือ (๑) เขาถวายด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือ
ด้วยโยนให้ (๒) เขาอยู่ในหัตถบาส (๓) ภิกษุรับประเคนด้วยกายหรือด้วยของ
เนื่องด้วยกาย นี้ชื่อว่ามีผู้ถวาย
ที่ชื่อว่า อาหาร ได้แก่ ของที่ฉันได้ ยกเว้นน้ำและไม้ชำระฟัน นี้ชื่อว่าอาหาร
คำว่า นอกจากน้ำและไม้ชำระฟัน คือ ยกเว้นน้ำและไม้ชำระฟัน
ภิกษุถือเอาด้วยตั้งใจว่า จะเคี้ยว จะฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ คำกลืน

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๖๗] อาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่รับประเคน ฉัน
อาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอ นอกจากน้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันอาหารที่ไม่มีผู้ถวายให้ล่วง
ลำคอ นอกจากน้ำและไม้ชำระฟัน ต้องปาจิตตีย์
อาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุสำคัญว่ารับประเคน ฉันอาหารที่ไม่มีผู้
ถวาย นอกจากน้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
อาหารที่รับประเคน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้รับประเคน ต้องอาบัติทุกกฏ
อาหารที่รับประเคน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อาหารที่รับประเคน ภิกษุสำคัญว่ารับประเคน ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค รวมสิกขาบทที่มีในโภชนวรรค
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๖๘] ๑. ภิกษุใช้น้ำและไม้ชำระฟัน
๒. ภิกษุหยิบยามหาวิกัติ ๔ ฉันเอง๑ เมื่อมีเหตุผลที่สมควร ในเมื่อ
ไม่มีกัปปิยการกถวาย
๓. ภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุต้นบัญญัติ
ทันตโปนสิกขาบทที่ ๑๐ จบ
โภชนวรรคที่ ๔ จบ

รวมสิกขาบทที่มีในโภชนวรรค
โภชนวรรคมี ๑๐ สิกขาบท คือ

๑. อาวสถปิณฑสิกขาบท ว่าด้วยการฉันภัตตาหารในที่พักแรม
๒. คณโภชนสิกขาบท ว่าด้วยการฉันคณโภชนะ
๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท ว่าด้วยการฉันปรัมปรโภชนะ
๔. กาณมาตุสิกขาบท ว่าด้วยมารดาของนางกาณา
๕. ปฐมปวารณาสิกขาบท ว่าด้วยการบอกห้ามภัตตาหารข้อที่ ๑
๖. ทุติยปวารณาสิกขาบท ว่าด้วยการบอกห้ามภัตตาหารข้อที่ ๒
๗. วิกาลโภชนสิกขาบท ว่าด้วยการฉันโภชนะในเวลาวิกาล
๘. สันนิธิการกสิกขาบท ว่าด้วยการสะสมโภชนะ
๙. ปณีตโภชนสิกขาบท ว่าด้วยการออกปากขอโภชนะอันประณีต
๑๐. ทันตโปนสิกขาบท ว่าด้วยการรับประเคนอาหารนอกจากน้ำ
และไม้ชำระฟัน


เชิงอรรถ :
๑ ยามหาวิกัติ ๔ คือ คูถ มูตร เถ้า ดิน (วิ.ม. ๕/๒๖๘/๓๖) ภิกษุอาพาธหรือถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย หยิบฉัน
ได้โดยไม่ต้องรับประเคน ถ้าไม่อาพาธก็ควรจะรับประเคน (วิ.อ. ๓/๒๖๘/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑.อเจลกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค
หมวดว่าด้วยนักบวชเปลือย

๑. อเจลกสิกขาบท
ว่าด้วยนักบวชเปลือย

เรื่องพระอานนท์
[๒๖๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า
มหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น พระสงฆ์มีของเคี้ยวเหลือเฟือ ทีนั้น ท่านพระ
อานนท์ได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่ง
ว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงแจกขนมเป็นทานแก่พวกคนกินเดน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แล้วจัดพวกคนกิน
เดนให้นั่งตามลำดับ แจกขนมให้คนละชิ้น แจกขนมให้ปริพาชิกาคนหนึ่ง ๒ ชิ้นด้วย
สำคัญว่าเป็นชิ้นเดียว
พวกปริพาชิกาที่อยู่ใกล้ ๆ ได้กล่าวกับปริพาชิกานั้นดังนี้ว่า “สมณะรูปนั้นเป็น
คู่รักของเธอหรือ”
ปริพาชิกานั้นตอบว่า “สมณะรูปนั้นไม่ใช่คู่รักของดิฉัน ท่านแจกให้ ๒ ชิ้นด้วย
สำคัญว่าเป็นชิ้นเดียว”
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอานนท์ก็แจกขนมให้ปริพาชิกานั้น ๒ ชิ้นด้วยสำคัญว่า
เป็นชิ้นเดียว พวกปริพาชิกาที่อยู่ใกล้ ๆ ได้กล่าวกับปริพาชิกานั้น ดังนี้ว่า “สมณะ
รูปนั้นเป็นคู่รักของเธอหรือ”
ปริพาชิกานั้นตอบว่า “สมณะรูปนั้นไม่ใช่คู่รักของดิฉัน ท่านแจกให้ ๒ ชิ้นด้วย
สำคัญว่าเป็นชิ้นเดียว”
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์ก็แจกขนมให้ปริพาชิกานั้น ๒ ชิ้นด้วยสำคัญว่า
เป็นชิ้นเดียว พวกปริพาชิกาที่อยู่ใกล้ ๆ ได้กล่าวกับปริพาชิกานั้นดังนี้ว่า “สมณะรูป
นั้นเป็นคู่รักของเธอหรือ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑.อเจลกสิกขาบท นิทานวัตถุ
ปริพาชิกานั้นตอบว่า “สมณะรูปนั้นไม่ใช่คู่รักของดิฉัน ท่านแจกให้ ๒ ชิ้นด้วย
สำคัญว่าเป็นชิ้นเดียว”
พวกปริพาชิกาเหล่านั้นโต้เถียงกันว่า “เป็นคู่รัก ไม่ใช่คู่รัก”
อาชีวกอีกคนหนึ่งได้เข้าไปที่ที่เลี้ยงอาหาร ภิกษุรูปหนึ่งคลุกข้าวกับเนยใส
จำนวนมาก ได้แจกข้าวก้อนใหญ่แก่อาชีวกนั้น ครั้นแล้ว อาชีวกนั้นได้ถือก้อนข้าว
นั้นไป อาชีวกอีกคนหนึ่งได้กล่าวกับอาชีวกนั้นดังนี้ว่า “ท่านได้ก้อนข้าวมาจาก
ที่ไหน”
อาชีวกนั้นตอบว่า “ข้าพเจ้าได้มาจากที่เลี้ยงอาหารของคหบดีโล้นสมณโคดม”
พวกอุบาสกได้ยินอาชีวกเหล่านั้นสนทนากัน ลำดับนั้น อุบาสกเหล่านั้นได้
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร อุบาสกเหล่านั้นผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกเดียรถีย์เหล่านี้ต้องการติเตียนพระพุทธ
ต้องการติเตียนพระธรรม ต้องการติเตียนพระสงฆ์ ขอประทานวโรกาสเถิด
พระพุทธเจ้าข้า พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดอย่าให้สิ่งของแก่พวกเดียรถีย์ด้วยมือตน
เองเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้อุบาสกเหล่านั้นเห็นชัด ชวนให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา จากนั้น อุบาสกเหล่านั้นซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงธรรมีกถาแล้วได้ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ
แล้วจากไป
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
แสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายให้สมควรให้เหมาะสมกับเรื่องนั้น แล้วรับสั่งกับ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑.อเจลกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุ
ทั้งหลายโดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
ฯลฯ
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย”๑
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๒๗๐] ก็ ภิกษุใดให้ของเคี้ยวหรือของฉันแก่อเจลก ปริพาชกหรือ
ปริพาชิกาด้วยมือตน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอานนท์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๒๗๑] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า อเจลก ได้แก่ ชีเปลือยคนใดคนหนึ่งอยู่ในลัทธิปริพาชก
ที่ชื่อว่า ปริพาชก ได้แก่ นักบวชคนใดคนหนึ่งอยู่ในลัทธิปริพาชก ยกเว้น
ภิกษุและสามเณร

เชิงอรรถ :
๑ ดูความพิสดาร ข้อ ๕๖๖ หน้า ๙๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑.อเจลกสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า ปริพาชิกา ได้แก่ นักบวชหญิงคนใดคนหนึ่งนับเนื่องในลัทธิปริพาชก
ยกเว้นภิกษุณี สิกขมานาและสามเณรี
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกเว้นโภชนะ ๕ อย่าง น้ำและไม้ชำระฟัน นอกนั้น
ชื่อว่าของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่างคือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา
เนื้อ
คำว่า ให้ คือ ภิกษุให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือด้วยโยนให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๗๒] เดียรถีย์๑ ภิกษุสำคัญว่าเป็นเดียรถีย์ ให้ของเคี้ยวหรือของฉันด้วย
มือตน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เดียรถีย์ ภิกษุไม่แน่ใจ ให้ของเคี้ยวหรือของฉันด้วยมือตน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เดียรถีย์ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่เดียรถีย์ให้ของเคี้ยวหรือของฉันด้วยมือตน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
ภิกษุให้น้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นเดียรถีย์ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่เดียรถีย์ ไม่ต้องอาบัติ

เชิงอรรถ :
๑ เดียรถีย์ คือผู้ถือลัทธินอกพระพุทธศาสนา เป็นนักบวชผู้ถือลัทธิอื่น (วิ.อ. ๓/๑๓๒/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑.อเจลกสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๗๓] ๑. ภิกษุใช้ให้ผู้อื่นให้ มิได้ให้เอง
๒. ภิกษุวางให้
๓. ภิกษุให้ของไล้ทาภายนอก
๔. ภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุต้นบัญญัติ

อเจลกสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๒.อุยโยชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค

๒. อุยโยชนสิกขาบท
ว่าด้วยการส่งกลับ

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๒๗๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้
กล่าวชักชวนสัทธิวิหาริกของพระพี่ชายว่า “ท่านจงมาเถิด พวกเราจะไปบิณฑบาต
ในหมู่บ้าน” แล้วไม่ได้ให้ทายกถวายอะไรแก่เธอ นิมนต์กลับด้วยกล่าวว่า “ท่านจง
กลับไปเถิด พูดหรือนั่งกับท่าน ไม่ทำให้เราสบาย เราพูดหรือนั่งคนเดียวสบายกว่า”
เมื่อใกล้เวลาฉันแล้ว ภิกษุนั้นไม่สามารถหาบิณฑบาตฉันได้ทัน แม้ไปรับ
ภัตตาหารที่เขาแจกในโรงฉันก็ไม่ทัน จึงไม่ได้ฉันภัตตาหาร ครั้นภิกษุนั้นไปถึงอาราม
จึงเล่าเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรกล่าวชักชวนภิกษุว่า ‘ท่านจงมาเถิด พวกเราจะไปบิณฑบาต
ในหมู่บ้าน แล้วไม่ได้ให้ทายกถวายอะไรแก่เธอ แล้วนิมนต์กลับเล่า” ครั้นภิกษุ
ทั้งหลายตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอกล่าวชักชวนภิกษุ
ว่า ท่านจงมาเถิด พวกเราจะไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน แล้วไม่ได้ให้ทายกถวายอะไร
แก่เธอ แล้วนิมนต์กลับ จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๒.อุยโยชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
กล่าวชักชวนภิกษุว่า ท่านจงมาเถิด พวกเราจะไปบิณฑบาตในหมู่บ้านแล้วไม่ได้ให้
ทายกถวายอะไรแก่เธอแล้วนิมนต์กลับเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๒๗๕] ก็ ภิกษุใดกล่าวชักชวนภิกษุว่า “ท่านจงมาเถิด พวกเราจะไป
บิณทบาตในหมู่บ้านหรือในนิคม” แล้วให้ทายกถวายหรือไม่ให้ทายกถวายแก่
เธอแล้วนิมนต์กลับด้วยกล่าวว่า “ท่านจงกลับไปเถิด พูดหรือนั่งกับท่านไม่
ทำให้เราสบาย เราพูดหรือนั่งคนเดียวสบายกว่า” มีเหตุผลเพียงเท่านี้ ไม่มี
อะไรอื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๒๗๖] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ภิกษุ หมายถึง ภิกษุรูปอื่น
คำว่า ท่านจงมาเถิด...ในหมู่บ้านหรือในนิคม คือ หมู่บ้านก็ดี นิคมก็ดี
เมืองก็ดี ชื่อว่าหมู่บ้านและนิคม
คำว่า ให้ทายกถวายแก่เธอ คือ ให้เขาถวายข้าวต้ม ข้าวสวย ของเคี้ยว
หรือของฉัน
คำว่า ไม่ให้ทายกถวาย คือ ไม่ให้ทายกถวายอะไร ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๒.อุยโยชนสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า นิมนต์กลับ ความว่า ภิกษุปรารถนาจะกระซิกกระซี้ ปรารถนาจะ
หยอกเย้า ปรารถนาจะนั่งในที่ลับ หรือปรารถนาจะประพฤติอนาจารกับมาตุคาม
กล่าวนิมนต์กลับอย่างนี้ว่า “ท่านจงกลับไปเถิด พูดหรือนั่งกับท่าน ไม่ทำให้เรา
สบาย เราพูดหรือนั่งคนเดียวสบายกว่า” ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อเธอไปถึงระยะที่มอง
ไม่เห็นหรือไม่ได้ยินเสียง ภิกษุรูปที่นิมนต์กลับต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อเธอไปจนพ้น
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า มีเหตุผลเพียงเท่านี้ไม่มีอะไรอื่น ความว่า ไม่มีเหตุผลอย่างอื่นเพื่อ
ส่งกลับ

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๗๗] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน นิมนต์กลับ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ นิมนต์กลับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน นิมนต์กลับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุทำเป็นโกรธ นิมนต์กลับ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุนิมนต์อนุปสัมบันกลับ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทำเป็นโกรธ นิมนต์กลับ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๒.อุยโยชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๗๘] ๑. ภิกษุนิมนต์กลับด้วยคิดว่า เราสองรูปฉันด้วยกัน ภัตตาหาร
จะไม่พอ
๒. ภิกษุนิมนต์กลับด้วยคิดว่า รูปนั้นพบของมีค่าแล้วจะเกิดความ
โลภ
๓. ภิกษุนิมนต์กลับด้วยคิดว่า รูปนั้นเห็นมาตุคามแล้วจะเกิดความ
กำหนัด
๔. ภิกษุนิมนต์กลับด้วยสั่งว่า เธอจงนำข้าวต้ม ข้าวสวย หรือของ
เคี้ยวของฉันไปถวายภิกษุเป็นไข้ ภิกษุผู้ตกค้างอยู่ หรือภิกษุ
ผู้เฝ้าวิหาร
๕. ภิกษุไม่ประสงค์จะประพฤติอนาจารแต่มีธุระจำเป็นจึงส่งกลับ
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ

อุยโยชนสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๓.สโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค

๓. สโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการเข้าไปแทรกแซงในที่ที่มีคน ๒ คน

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๒๗๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ไป
เรือนของสหายแล้วได้นั่งในห้องนอนกับภรรยาของสหาย ทีนั้น สหายนั้นได้เข้าไปหา
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถึงอาสนะ ครั้นถึงแล้วได้ไหว้ท่านพระอุปนันทศากยบุตร
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร สหายนั้นผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กล่าวกับภรรยาดังนี้ว่า “เธอ
จงถวายภิกษาหารแด่พระคุณเจ้า” ลำดับนั้น ภรรยาของสหายนั้นได้ถวายภิกษาหาร
แก่ท่านอุปนันทศากยบุตรแล้ว
ครั้งนั้น สหายนั้นได้กล่าวกับท่านพระอุปนันทศากยบุตรดังนี้ว่า “นิมนต์พระ
คุณเจ้ากลับไปเถิด ขอรับ เพราะได้ถวายภิกษาหารแด่พระคุณเจ้าแล้ว”
ภรรยาของสหายนั้นกำหนดรู้ว่าสามีถูกราคะกลุ้มรุมแล้ว จึงได้กล่าวกับท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า นิมนต์ท่านนั่งอยู่เถิด อย่าเพิ่งกลับ”
แม้ครั้งที่ ๒ สหายนั้น ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ สหายนั้นได้กล่าวกับท่านพระอุปนันทศากยบุตรดังนี้ว่า “นิมนต์
พระคุณเจ้ากลับไปเถิด ขอรับ เพราะได้ถวายภิกษาหารแด่พระคุณเจ้าแล้ว”
แม้ครั้งที่ ๓ ภรรยาของสหายนั้น ก็ได้กล่าวกับท่านพระอุปนันทศากยบุตร
ดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า นิมนต์ท่านนั่งอยู่เถิด อย่าเพิ่งกลับ”
ครั้งนั้น สหายของท่านพระอุปนันทศากยบุตร ได้ออกไปเที่ยวฟ้องภิกษุทั้งหลาย
ว่า “พระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตรรูปนี้นั่งในห้องนอนกับภรรยาของกระผม กระผม
นิมนต์ให้ท่านกลับ ก็ไม่ปรารถนาจะกลับ พวกกระผมมีกิจมาก มีงานที่ต้องทำมาก”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๓.สโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรจึงเข้านั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คนเล่า” ครั้นภิกษุ
ทั้งหลายตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอนั่งแทรกแซงใน
ตระกูลที่มีคน ๒ คน จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึง
เข้าไปนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คนเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๒๘๐] ก็ ภิกษุใดเข้าไปนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๒๘๑] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
สกุลที่ชื่อว่า มีคน ๒ คน คือ สตรีกับบุรุษอยู่ด้วยกัน สตรีและบุรุษยังไม่
แยกออกจากกัน ทั้ง ๒ คนยังไม่ปราศจากราคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๓.สโภชนสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า เข้าไปแทรกแซง คือ เข้าไปข้างใน
คำว่า นั่ง ความว่า ในเรือนใหญ่ ภิกษุนั่งละหัตถบาสบานประตู๑ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ในเรือนเล็ก ภิกษุนั่งล้ำตรงกลางห้องนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๘๒] ห้องนอน ภิกษุสำคัญว่าเป็นห้องนอน เข้าไปนั่งแทรกแซงในตระกูลที่
มีคน ๒ คน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ห้องนอน ภิกษุไม่แน่ใจ เข้าไปนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คน ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ห้องนอน ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ห้องนอน เข้าไปนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒
คน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ห้องนอน ภิกษุสำคัญว่าเป็นห้องนอน ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ห้องนอน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ห้องนอน ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ห้องนอน ไม่ต้องอาบัติ

เชิงอรรถ :
๑ นั่งละหัตถบาสบานประตู หมายความว่า นั่งห่างชั่วระยะเหยียดแขนออกไปจับตัวคนที่นั่งใกล้ได้ เท่ากับ ๒
ศอกคืบ (วิ.อ. ๒/๔๗๗-๘/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๓.สโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๘๓] ๑. ภิกษุนั่งในเรือนใหญ่ห่างจากบานประตูไม่เกินหัตถบาส
๒. ภิกษุนั่งในเรือนเล็กไม่ล้ำตรงกลางห้องนอน
๓. ภิกษุมีเพื่อนอยู่ด้วย
๔. ภิกษุนั่งในเรือนที่คนทั้งสองออกไปแล้ว
๕. ภิกษุนั่งในเรือนที่คนทั้งสองสร่างจากราคะ
๖. ภิกษุนั่งในที่ไม่ใช่ห้องนอน
๗. ภิกษุวิกลจริต
๘. ภิกษุต้นบัญญัติ

สโภชนสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๔.รโหปฏิจฉันนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค

๔. รโหปฏิจฉันนสิกขาบท
ว่าด้วยการนั่งในที่ลับมีสิ่งกำบัง

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๒๘๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ไป
เรือนของสหายแล้วได้นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับภรรยาของสหาย
ครั้งนั้น สหายนั้นได้ตำหนิ ประณาม โพนทนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันท
ศากยบุตรจึงนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับภรรยาของกระผมเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินสหายของท่านพระอุปนันทศากยบุตรนั้นตำหนิ ประณาม
โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับมาตุคามเล่า” ครั้น
ภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอนั่งบนอาสนะที่
กำบังในที่ลับกับมาตุคาม จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึง
นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับมาตุคามเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๔.รโหปฏิจฉันนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๒๘๕] ก็ ภิกษุใดนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับมาตุคาม ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๒๘๖] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่
สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย หญิงมนุษย์นั้นโดยที่สุดกระทั่งเด็กหญิงซึ่งเกิดในวันนั้น หญิง
โตกว่านี้ไม่ต้องกล่าวถึง
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
ที่ชื่อว่า ที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตาและที่ลับหู
ที่ชื่อว่า ที่ลับตา หมายถึง สถานที่ซึ่งเมื่อบุคคลขยิบตา ยักคิ้วหรือผงกศีรษะ
ขึ้น ใคร ๆ ก็ไม่สามารถแลเห็นได้
ที่ชื่อว่า ที่ลับหู หมายถึง ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่พูดกันตาม
ปกติได้
อาสนะที่ชื่อว่า ที่กำบัง คือ อาสนะที่กำบังด้วยฝา บานประตู เสื่อลำแพน
ม่าน ต้นไม้ เสา หรือพ้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า นั่ง หมายความว่า เมื่อมาตุคามนั่ง ภิกษุนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เมื่อภิกษุนั่ง มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทั้งภิกษุและมาตุคามนั่งหรือนอน ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๔.รโหปฏิจฉันนสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๘๗] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
ภิกษุนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับนางยักษ์ นางเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์
ดิรัจฉานมีกายเป็นมนุษย์ผู้หญิง ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๘๘] ๑. ภิกษุนั่งในที่ที่มีบุรุษรู้เดียงสาคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน
๒. ภิกษุยืนไม่ได้นั่ง
๓. ภิกษุไม่ได้มุ่งให้เป็นที่ลับ
๔. ภิกษุนั่งคิดเรื่องอื่น
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ

รโหปฏิจฉันนสิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๕.รโหนิสัชชสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค

๕. รโหนิสัชชสิกขาบท
ว่าด้วยการนั่งในที่ลับ

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๒๘๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ไป
เรือนของสหายแล้วได้นั่งในที่ลับกับภรรยาของสหายนั้นสองต่อสอง
ครั้งนั้น สหายนั้นได้ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันท
ศากยบุตรจึงนั่งในที่ลับกับภรรยาของกระผมสองต่อสองเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินสหายของท่านพระอุปนันทศากยบุตรนั้นตำหนิ ประณาม
โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงนั่งในที่ลับกับมาตุคามสองต่อสองเล่า” ครั้นภิกษุ
ทั้งหลายตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอนั่งในที่ลับกับ
มาตุคามสองต่อสอง จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงนั่งในที่ลับกับ
มาตุคามสองต่อสองเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๕.รโหนิสัชชสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๒๙๐] ก็ ภิกษุใดนั่งในที่ลับกับมาตุคามสองต่อสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๒๙๑] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่
สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย แต่เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรับรู้ถ้อยคำสุภาษิต ทุพภาษิต
คำหยาบและคำสุภาพ
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า สองต่อสอง ได้แก่ ภิกษุกับมาตุคาม
ที่ชื่อว่า ที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตาและที่ลับหู
ที่ชื่อว่า ที่ลับตา หมายถึง สถานที่ซึ่งเมื่อบุคคลขยิบตา ยักคิ้วหรือผงกศีรษะ
ขึ้น ใคร ๆ ก็ไม่สามารถเห็นได้
ที่ชื่อว่า ที่ลับหู หมายถึง ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่พูดกันตาม
ปกติได้
คำว่า นั่ง หมายความว่า เมื่อมาตุคามนั่ง ภิกษุนั่งใกล้ หรือนอนใกล้
ต้อง อาบัติปาจิตตีย์
เมื่อภิกษุนั่ง มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทั้งภิกษุและมาตุคามนั่งหรือนอน ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๕.รโหนิสัชชสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๙๒] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม นั่งในที่ลับสองต่อสอง ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ นั่งในที่ลับสองต่อสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม นั่งในที่ลับสองต่อสอง ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
ภิกษุนั่งในที่ลับกับนางยักษ์ นางเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานมีกาย
เป็นมนุษย์ผู้หญิงสองต่อสอง ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๙๓] ๑. ภิกษุนั่งในที่ที่มีบุรุษรู้เดียงสาคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน
๒. ภิกษุยืนไม่ได้นั่ง
๓. ภิกษุไม่ได้มุ่งที่ลับ
๔. ภิกษุนั่งคิดเรื่องอื่น
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ

รโหนิสัชชสิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค

๖. จาริตตสิกขาบท
ว่าด้วยการเที่ยวสัญจรไป

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๒๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันท
ศากยบุตรนิมนต์ท่านฉันภัตตาหาร แม้ภิกษุเหล่าอื่นตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระ
อุปนันทศากยบุตรก็ได้นิมนต์ฉันภัตตาหาร ครั้งนั้น ก่อนถึงเวลาฉันภัตตาหาร ท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรเข้าไปเยี่ยมเยียนตระกูลทั้งหลาย
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับทายกเหล่านั้นดังนี้ว่า “อุบาสกทั้งหลาย
พวกท่านจงถวายภัตตาหารเถิด”
พวกทายกกล่าวว่า “นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรอจนกว่าพระคุณเจ้า
อุปนันทศากยบุตรจะมาเถิด”
แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับทายกเหล่านั้นดังนี้ว่า “อุบาสกทั้งหลาย
พวกท่านจงถวายภัตตาหารเถิด”
พวกทายกกล่าวว่า “นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรอจนกว่าพระคุณเจ้า
อุปนันทศากยบุตรจะมา”
พอครั้งที่ ๓ ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับทายกเหล่านั้นดังนี้ว่า “อุบาสกทั้งหลาย
พวกท่านจงถวายภัตตาหารเถิด ก่อนที่เวลาจะล่วงเลยไปเสีย”
พวกทายกตอบว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย พวกโยมจัดภัตตาหารเพราะเหตุแห่ง
พระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตร นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรอจนกว่าพระคุณเจ้า
อุปนันทศากยบุตรจะมาเถิด”
ครั้นท่านพระอุปนันทศากยบุตรเข้าไปเยี่ยมเยียนตระกูลทั้งหลายก่อนถึงเวลา
ฉันภัตตาหารแล้วกลับใกล้เวลาฉัน ภิกษุทั้งหลายจึงฉันภัตตาหารไม่ได้สมใจ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท พระบัญญัติ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารแล้ว จึงยังเที่ยวสัญจรไปใน
ตระกูลทั้งหลายก่อนถึงเวลาฉันภัตตาหารเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระ
อุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอรับนิมนต์ไว้แล้ว มี
ภัตตาหารแล้ว ยังเที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนถึงเวลาฉันภัตตาหาร จริง
หรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารแล้ว ยัง
เที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนถึงเวลาฉันภัตตาหารเล่า โมฆบุรุษ การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว๑ เที่ยวสัญจรไปในตระกูล
ทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
[๒๙๕] สมัยนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตรส่งของ
เคี้ยวไปถวายสงฆ์ด้วยสั่งว่า “ขอมอบให้พระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตรเป็นผู้ถวาย
สงฆ์” ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกำลังไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พอดีพวก
ชาวบ้านไปถึงอารามถามภิกษุทั้งหลายว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย พระคุณเจ้า
อุปนันทศากยบุตรไปไหน”

เชิงอรรถ :
๑ คือที่ทายกจัดเตรียมไว้ถวาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท พระบัญญัติ
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “อุบาสกทั้งหลาย ท่านพระอุปนันทะไปบิณฑบาตใน
หมู่บ้าน”
พวกชาวบ้านเรียนว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย ของเคี้ยวนี้มอบให้พระคุณเจ้า
อุปนันทะเป็นผู้ถวายสงฆ์”
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงรับประเคนแล้วเก็บไว้จนกว่าอุปนันทะ
จะกลับมา”
ฝ่ายท่านพระอุปนันทศากยบุตรคิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการเที่ยว
สัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร” จึงเข้าไปเยี่ยมเยียนตระกูล
ทั้งหลายภายหลังเวลาฉันภัตตาหาร กลับออกมาเวลาบ่าย ของฉันถูกส่งคืน
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรจึงเที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายภายหลังเวลาภัตตาหาร
เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอเที่ยวสัญจรไปใน
ตระกูลทั้งหลายภายหลังเวลาฉันภัตตาหาร จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตร
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงเที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายภายหลังเวลาฉันภัตตาหารเล่า
โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว เที่ยวสัญจรไปใน
ตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร หรือหลังเวลาฉันภัตตาหาร ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

ทรงอนุญาตให้เข้าตระกูลได้ในสมัยที่ถวายจีวร
[๒๙๖] สมัยนั้น พวกภิกษุมีความยำเกรงอยู่จึงไม่เข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย
ในสมัยที่ถวายจีวรจึงได้จีวรเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่อง
นี้เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เข้าไปหา
ตระกูลทั้งหลายได้ในสมัยที่ถวายจีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว เที่ยวสัญจรไปใน
ตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร หรือหลังเวลาฉันภัตตาหาร นอกสมัย
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่ถวายจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

ทรงอนุญาตให้เข้าตระกูลได้ในสมัยที่ทำจีวร
[๒๙๗] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายตัดเย็บจีวรอยู่ต้องการเข็มบ้าง ด้ายบ้าง
มีดบ้าง แต่มีความยำเกรงอยู่จึงไม่เข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่อง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
ธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้เข้าไปหาตระกูลทั้งหลายได้ในสมัยที่ทำจีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว เที่ยวสัญจรไปใน
ตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร หรือหลังเวลาฉันภัตตาหาร นอกสมัย
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร นี้เป็น
สมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

ทรงอนุญาตให้บอกลาก่อนเข้าตระกูล
[๒๙๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ต้องการเภสัช แต่มีความยำเกรง
อยู่จึงไม่เข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้
เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกลา
ภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าไปในตระกูลทั้งหลายได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขา
บทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่
เที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร หรือหลังเวลาฉัน
ภัตตาหาร นอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่ถวายจีวร
สมัยที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๓๐๐] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รับนิมนต์ไว้แล้ว คือ ภิกษุรับนิมนต์ฉันโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใด
อย่างหนึ่ง
ที่ชื่อว่า มีภัตตาหารอยู่แล้ว คือ ภิกษุมีอาหารที่รับนิมนต์ไว้
ที่ชื่อว่า ภิกษุมีอยู่ คือ ภิกษุที่อาจบอกลาก่อนเข้าบ้านได้
ที่ชื่อว่า ภิกษุไม่มีอยู่ คือ ภิกษุที่ไม่อาจบอกลาก่อนเข้าบ้านได้
ที่ชื่อว่า ก่อนเวลาฉันภัตตาหาร คือ ภิกษุยังไม่ได้ฉันภัตตาหารที่รับนิมนต์ไว้
ที่ชื่อว่า หลังเวลาฉันภัตตาหาร คือ ภิกษุฉันภัตตาหารที่รับนิมนต์ไว้ โดย
ที่สุดฉันด้วยใช้ปลายหญ้าคาแตะ
ที่ชื่อว่า ตระกูล หมายถึง ตระกูล ๔ ได้แก่ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์
ตระกูลแพศย์ และตระกูลศูทร
คำว่า เที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลาย ความว่า ภิกษุก้าวเข้าอุปจารเรือน
ของผู้อื่น ต้องอาบัติทุกกฏ ก้าวเท้าที่ ๑ ล่วงธรณีประตู ต้องอาบัติทุกกฏ ก้าวเท้า
ที่ ๒ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย
ที่ชื่อว่า สมัยที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน กำหนดเอาเดือนท้าย
แห่งฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้ว มีกำหนดเวลา ๕ เดือน
ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๐๑] รับนิมนต์ไว้แล้ว ภิกษุสำคัญว่ารับนิมนต์ไว้แล้ว ไม่บอกลาภิกษุที่
มีอยู่ เที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหารหรือหลังเวลาฉัน
ภัตตาหาร นอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
รับนิมนต์ไว้แล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่ เที่ยวสัญจรไปในตระกูล
ทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหารหรือหลังเวลาฉันภัตตาหาร นอกสมัย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
รับนิมนต์ไว้แล้ว ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้รับนิมนต์ไว้ ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่ เที่ยว
สัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหารหรือหลังเวลาฉันภัตตาหาร นอก
สมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ ภิกษุสำคัญว่ารับนิมนต์ไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้รับนิมนต์ไว้ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๐๒] ๑. ภิกษุฉันในสมัย
๒. ภิกษุบอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้วจึงเข้าไป
๓. ภิกษุไม่บอกลาภิกษุที่ไม่มีอยู่เข้าไป
๔. ภิกษุเดินไปตามทางที่ผ่านเรือนผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท อนาปัตติวาร
๕. ภิกษุเดินไปตามทางที่ผ่านใกล้เรือน
๖. ภิกษุไปอารามอื่น
๗. ภิกษุไปสำนักภิกษุณี
๘. ภิกษุไปสำนักเดียรถีย์
๙. ภิกษุไปโรงฉัน
๑๐. ภิกษุไปเรือนที่เขานิมนต์
๑๑. ภิกษุไปในคราวมีเหตุขัดข้อง
๑๒. ภิกษุวิกลจริต
๑๓. ภิกษุต้นบัญญัติ

จาริตตสิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๗.มหานามสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค

๗. มหานามสิกขาบท
ว่าด้วยพระเจ้ามหานามศากยะ

เรื่องพระเจ้ามหานามศากยะ
[๓๐๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขต
กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยะมีเภสัชเหลือเฟือ ลำดับ
นั้น พระเจ้ามหานามศากยะจึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้ามหานามศากยะผู้นั่ง
ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “หม่อมฉันประสงค์จะปวารณา
สงฆ์ด้วยเภสัชตลอด ๔ เดือน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สาธุ สาธุ มหานามะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงปวารณา
สงฆ์ด้วยเภสัชตลอด ๔ เดือนเถิด”
พวกภิกษุมีความยำเกรงอยู่จึงไม่รับปวารณา ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถา
เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ยินดีการปวารณาด้วยปัจจัยตลอด ๔ เดือน”
[๓๐๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายออกปากขอเภสัชกะพระเจ้ามหานามศากยะ
เพียงเล็กน้อย เภสัชของพระเจ้ามหานามศากยะก็ยังมีเหลือเฟืออยู่เหมือนเดิม
แม้ครั้งที่ ๒ พระเจ้ามหานามศากยะก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้ามหานาม
ศากยะผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “หม่อมฉันประสงค์
จะปวารณาสงฆ์ด้วยเภสัชต่อไปอีก ๔ เดือน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สาธุ สาธุ มหานามะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงปวารณา
สงฆ์ด้วยเภสัชต่อไปอีก ๔ เดือนเถิด”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๗.มหานามสิกขาบท นิทานวัตถุ
พวกภิกษุมีความยำเกรงอยู่จึงไม่รับปวารณา ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถา
เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ยินดีการปวารณาต่อไปอีก”
[๓๐๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายออกปากขอเภสัชกะพระเจ้ามหานามศากยะ
เพียงเล็กน้อย เภสัชของพระเจ้ามหานามศากยะก็ยังมีเหลือเฟืออยู่เหมือนเดิม
แม้ครั้งที่ ๓ พระเจ้ามหานามศากยะก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้ามหานาม
ศากยะผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “หม่อมฉันประสงค์
จะปวารณาสงฆ์ด้วยเภสัชตลอดชีวิต พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สาธุ สาธุ มหานามะ ถ้าเช่นนั้นเธอจงปวารณาสงฆ์
ด้วยเภสัชตลอดชีวิตเถิด”
พวกภิกษุมีความยำเกรงอยู่จึงไม่รับปวารณา ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถา
เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ยินดีการปวารณาเป็นนิตย์”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งไม่เรียบร้อย ห่มไม่เรียบร้อย อากัปกิริยาไม่
เรียบร้อย พระเจ้ามหานามศากยะจึงว่ากล่าวว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย ทำไมพวก
ท่านจึงนุ่งไม่เรียบร้อย ห่มไม่เรียบร้อย อากัปกิริยาไม่เรียบร้อยเล่า ธรรมเนียม
บรรพชิตต้องนุ่งให้เรียบร้อย ห่มให้เรียบร้อย และมีอากัปกิริยาเรียบร้อย มิใช่หรือ”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์แค้นเคืองพระเจ้ามหานามศากยะ ทีนั้น พวกภิกษุ
ฉัพพัคคีย์ได้ปรึกษากันว่า “พวกเราจะทำให้พระเจ้ามหานามศากยะได้รับความ
เก้อเขินด้วยวิธีไหน” จึงปรึกษากันว่า “ท่านทั้งหลาย พระเจ้ามหานามศากยะ
ปวารณาสงฆ์ด้วยเภสัช พวกเราจะไปออกปากขอเนยใสกะพระเจ้ามหานามศากยะ”
ลำดับนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้เข้าไปหาพระเจ้ามหานามศากยะถึงพระตำหนัก
ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับพระเจ้ามหานามศากยะดังนี้ว่า “โยม พวกอาตมาต้องการ
เนยใส ๑ ทะนาน”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๗.มหานามสิกขาบท นิทานวัตถุ
พระเจ้ามหานามศากยะรับสั่งว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย วันนี้พระคุณเจ้าโปรด
รอก่อน พวกคนงานกำลังไปที่คอกเพื่อจะนำเนยใสมา พวกเขาจะนำมาให้ทันเวลา”
แม้ในครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ในครั้งที่ ๓ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ก็ได้กล่าวกับพระเจ้ามหานามศากยะดังนี้ว่า
“โยม พวกอาตมาต้องการเนยใส ๑ ทะนาน”
พระเจ้ามหานามศากยะรับสั่งว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย วันนี้พระคุณเจ้าโปรด
รอก่อน พวกคนงานกำลังไปที่คอกเพื่อจะนำเนยใสมา พวกเขาจะนำมาให้ทันเวลา”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “โยม ท่านไม่ต้องการถวายแล้วปวารณาจะมี
ประโยชน์อะไร ปวารณาแล้วไม่ถวาย”
ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยะได้ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระ
คุณเจ้าทั้งหลาย ไฉนเมื่อข้าพเจ้าขอร้องว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย วันนี้พระคุณเจ้า
โปรดรอก่อน จึงรอไม่ได้เล่า”
พวกภิกษุได้ยินพระเจ้ามหานามศากยะตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดา
ภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระเจ้ามหานามศากยะ
ขอร้องพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย วันนี้พระคุณเจ้าโปรดรอก่อน
ไฉนจึงรอไม่ได้เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ
แล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พระเจ้ามหานามะขอร้อง
พวกเธอว่า ‘พระคุณเจ้าทั้งหลาย วันนี้ พระคุณเจ้าโปรดรอก่อน’ แล้วรอไม่ได้ จริง
หรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอเมื่อพระเจ้ามหานามศากยะ
ขอร้องว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย วันนี้พระคุณเจ้าโปรดรอก่อน ก็รอไม่ได้เล่า โมฆบุรุษ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๗.มหานามสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๓๐๖] ภิกษุไม่เป็นไข้ พึงยินดีการปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือน
เว้นไว้แต่ปวารณาอีก เว้นไว้แต่ปวารณาเป็นนิตย์ ถ้ายินดีเกินกว่ากำหนดนั้น
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระเจ้ามหานามศากยะ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๐๗] คำว่า ภิกษุไม่เป็นไข้พึงยินดีการปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔
เดือน ความว่า พึงยินดีการปวารณาเพียงคิลานปัจจัย
แม้เขาปวารณาอีก พึงยินดีว่า เราจะออกปากขอในเวลาที่เราเจ็บไข้
แม้เขาปวารณาไว้เป็นนิตย์ พึงยินดีว่า เราจะออกปากขอในเวลาที่เราเจ็บไข้
คำว่า ถ้ายินดีเกินกว่ากำหนดนั้น ความว่า การปวารณากำหนดเภสัชไม่
กำหนดราตรีก็มี การปวารณากำหนดราตรีไม่กำหนดเภสัชก็มี การปวารณากำหนด
ทั้งเภสัชทั้งราตรีก็มี การปวารณาไม่กำหนดเภสัชไม่กำหนดราตรีก็มี
ที่ชื่อว่า กำหนดเภสัช คือ เขากำหนดเภสัชไว้ว่า ข้าพเจ้าปวารณาด้วยเภสัช
เพียงเท่านี้
ที่ชื่อว่า กำหนดราตรี คือ เขากำหนดราตรีไว้ว่า ข้าพเจ้าปวารณาในราตรี
เพียงเท่านี้
ที่ชื่อว่า กำหนดทั้งเภสัชกำหนดทั้งราตรี คือ เขากำหนดเภสัชและกำหนด
ราตรีไว้ว่า ข้าพเจ้าปวารณาด้วยเภสัชเท่านี้ในราตรีเพียงเท่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๗.มหานามสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า ไม่กำหนดเภสัชและไม่กำหนดราตรี คือ เขาไม่ได้กำหนดเภสัช
และไม่ได้กำหนดราตรีไว้

บทภาชนีย์
ปาจิตตีย์
[๓๐๘] ในการกำหนดเภสัช ภิกษุออกปากขอเภสัชอื่นนอกจากเภสัชที่เขา
ปวารณาไว้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ในการกำหนดราตรี ภิกษุออกปากขอในราตรีอื่นนอกจากราตรีที่เขาปวารณา
ไว้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ในการกำหนดทั้งเภสัชและกำหนดราตรี ภิกษุออกปากขอเภสัชอื่นนอก
จากเภสัชที่เขาปวารณาไว้ในราตรีอื่นนอกจากราตรีที่เขาปวารณาไว้ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ในการไม่กำหนดเภสัชไม่กำหนดราตรี ไม่ต้องอาบัติ
[๓๐๙] เมื่อไม่มีความจำเป็นด้วยเภสัช ภิกษุออกปากขอเภสัช ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เมื่อมีความจำเป็นด้วยเภสัชอย่างหนึ่ง ภิกษุออกปากขอเภสัชอีกอย่างหนึ่ง ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เกินกว่ากำหนดนั้น ภิกษุสำคัญว่าเกินกว่ากำหนดนั้น ออกปากขอเภสัช ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เกินกว่ากำหนดนั้น ภิกษุไม่แน่ใจ ออกปากขอเภสัช ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เกินกว่ากำหนดนั้น ภิกษุสำคัญว่าไม่เกินกว่ากำหนดนั้น ออกปากขอเภสัช
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๗.มหานามสิกขาบท อนาปัตติวาร
ทุกทุกกฏ
ไม่เกินกว่ากำหนดนั้น ภิกษุสำคัญว่าเกินกว่ากำหนดนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่เกินกว่ากำหนดนั้น ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่เกินกว่ากำหนดนั้น ภิกษุสำคัญว่าไม่เกินกว่ากำหนดนั้น ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๑๐] ๑. ภิกษุออกปากขอเภสัชตามที่เขาปวารณาไว้
๒. ภิกษุออกปากขอเภสัชในราตรีตามที่เขาปวารณาไว้
๓. ภิกษุออกปากขอเภสัชว่า ท่านปวารณาพวกอาตมาด้วยเภสัช
เหล่านี้และพวกอาตมาก็ต้องการเภสัชนี้และนี้
๔. ภิกษุออกปากขอเภสัชว่า ราตรีที่ท่านปวารณาผ่านไปแล้ว แต่
เรายังต้องการเภสัช
๕. ภิกษุออกปากขอเภสัชจากญาติ
๖. ภิกษุออกปากขอเภสัชจากคนปวารณา
๗. ภิกษุออกปากขอเภสัชเพื่อภิกษุอื่น
๘. ภิกษุออกปากขอเภสัชที่จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
๙. ภิกษุวิกลจริต
๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ

มหานามสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๘.อุยยุตตเสนาสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค

๘. อุยยุตตเสนาสิกขาบท
ว่าด้วยกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบ

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๑๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยกกองทัพ
ออกรบ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ก็ออกไปเพื่อชมกองทัพที่กำลังเคลื่อนขบวนออกรบ
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทอดพระเนตรเห็นพวกภิกษุฉัพพัคคีย์กำลังเดินมาแต่ไกล
ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงรับสั่งให้นิมนต์มา แล้วตรัสถามดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า
ทั้งหลาย พวกท่านมาทำไมกัน”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ถวายพระพรว่า “พวกอาตมาต้องการจะมาเยี่ยมมหาบพิตร”
พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย ไม่มีประโยชน์ใดเลยที่
ท่านมาเยี่ยมโยมผู้ใฝ่ในการรบ พวกท่านควรไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคมิใช่หรือ”
พวกพลรบตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสายศากย
บุตรจึงมาดูกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบเล่า ไม่ใช่เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้
ไม่ดี ที่พวกเรามาอยู่ในกองทัพก็เพราะการครองชีพ เพราะต้องเลี้ยงดูบุตรภรรยา”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกพลรบตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงไป
ดูกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอไปดูกองทัพที่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๘.อุยยุตตเสนาสิกขาบท พระบัญญัติ
เคลื่อนขบวนออกรบ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงไปดู
กองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคน
ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดไปดูกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๓๑๒] สมัยนั้น ลุงของภิกษุรูปหนึ่งป่วยอยู่ในกองทัพ เขาส่งข่าวไปถึงภิกษุ
นั้นว่า “ลุงกำลังป่วยอยู่ในกองทัพ นิมนต์ท่านมา ลุงปรารถนาให้ท่านมาเยี่ยม”
ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุไม่
พึงไปดูกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบ นี่ลุงของเราป่วยอยู่ในกองทัพ เราจะพึง
ปฏิบัติอย่างไรดีเล่า ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ

ทรงอนุญาตให้ไปในกองทัพได้เมื่อมีเหตุผลที่สมควร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ไปในกองทัพได้เมื่อมีเหตุผลเช่น
นั้น” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๘.อุยยุตตเสนาสิกขาบท บทภาชนีย์
พระอนุบัญญัติ
[๓๑๓] อนึ่ง ภิกษุใดไปดูกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบ นอกจากมีเหตุผล
ที่สมควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๑๔] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า เคลื่อนขบวนออกรบ ได้แก่ กองทัพที่เคลื่อนออกจากหมู่บ้านแล้ว
ตั้งค่ายพักแรมหรือเคลื่อนขบวนต่อไป
ที่ชื่อว่า กองทัพ ได้แก่ กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพพลเดินเท้า
ช้าง ๑ เชือก มีทหารประจำอยู่ ๑๒ นาย ม้า ๑ ตัว มีทหารประจำอยู่ ๓
นาย รถ ๑ คัน มีทหารประจำอยู่ ๔ นาย พลเดินเท้ามีทหารแม่นธนู ๔ นาย
ภิกษุไปเพื่อจะดูกองทัพนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ยืนดูในระยะที่พอมองเห็น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ พ้นวิสัยที่จะเห็น แต่พยายามดูจนเห็น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า นอกจากมีเหตุผลที่สมควร คือ ยกเว้นเมื่อมีเหตุผลที่สมควร

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๑๕] กองทัพเคลื่อนขบวนออกรบ ภิกษุสำคัญว่าเคลื่อนขบวนออกรบ ไป
เพื่อจะดู นอกจากมีเหตุผลที่สมควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๘.อุยยุตตเสนาสิกขาบท อนาปัตติวาร
กองทัพเคลื่อนขบวนออกรบ ภิกษุไม่แน่ใจ ไปเพื่อจะดู นอกจากมีเหตุผลที่
สมควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กองทัพเคลื่อนขบวนออกรบ ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้เคลื่อนขบวนออกรบ ไป
เพื่อจะดู นอกจากมีเหตุผลที่สมควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุไปเพื่อจะดูกองทัพแต่ละกอง ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุยืนดูในระยะที่พอมองเห็น ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุอยู่พ้นวิสัยที่จะเห็น แต่พยายามดูจนเห็น ต้องอาบัติทุกกฏ
กองทัพยังไม่ได้เคลื่อนขบวนออกรบ ภิกษุสำคัญว่าเคลื่อนขบวนออกรบ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
กองทัพยังไม่ได้เคลื่อนขบวนออกรบ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กองทัพยังไม่ได้เคลื่อนขบวนออกรบ ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้เคลื่อนขบวนออก
รบ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๑๖] ๑. ภิกษุยืนดูอยู่ในอาราม
๒. ภิกษุดูกองทัพที่ยกผ่านมายังที่ที่ภิกษุยืน ที่ภิกษุนั่ง หรือที่ภิกษุ
นอน
๓. ภิกษุเดินสวนทางไปเห็น
๔. ภิกษุดูเมื่อมีเหตุผลที่สมควร
๕. ภิกษุดูเมื่อคราวมีเหตุขัดข้อง
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ

อุยยุตตเสนาสิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๙.เสนาวาสสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค

๙. เสนาวาสสิกขาบท
ว่าด้วยการพักอยู่ในกองทัพ

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๑๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์มีธุระต้องเดิน
ผ่านกองทัพ ได้พักแรมอยู่ในกองทัพเกิน ๓ คืน พวกพลรบตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงพักแรมอยู่ในกองทัพเกิน
๓ คืนเล่า ไม่ใช่เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ไม่ดี ที่พวกเรามาพักแรมอยู่ใน
กองทัพก็เพราะการครองชีพ เพราะต้องเลี้ยงดูบุตรภรรยา” ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวก
พลรบเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากัน
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงพักแรมอยู่ในกองทัพ
เกิน ๓ ราตรีเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ
แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอพักแรมอยู่ใน
กองทัพเกิน ๓ คืน จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึง
พักแรมอยู่ในกองทัพเกิน ๓ ราตรีเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๙.เสนาวาสสิกขาบท บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๓๑๘] ก็ เมื่อภิกษุมีเหตุผลจำเป็นต้องไปในกองทัพ ภิกษุนั้นพึงพักแรม
อยู่ในกองทัพได้เพียง ๒-๓ คืน ถ้าพักแรมอยู่เกินกำหนดนั้น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๑๙] คำว่า ก็ เมื่อภิกษุมีเหตุผลจำเป็นต้องไปในกองทัพ คือ มีเหตุผล
จำเป็น มีธุระจำเป็น
คำว่า ภิกษุนั้นพึงพักแรมอยู่ในกองทัพได้เพียง ๒-๓ คืน คือ ภิกษุอยู่ได้
๒ - ๓ คืน
คำว่า ถ้าพักแรมอยู่เกินกำหนดนั้น ความว่า เมื่อดวงอาทิตย์อัสดงในวันที่ ๔
ภิกษุยังพักแรมอยู่ในกองทัพ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๒๐] เกิน ๓ คืน ภิกษุสำคัญว่าเกิน พักอยู่ในกองทัพ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เกิน ๓ คืน ภิกษุไม่แน่ใจ พักอยู่ในกองทัพ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เกิน ๓ คืน ภิกษุสำคัญว่าหย่อนกว่า พักอยู่ในกองทัพ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
หย่อนกว่า ๓ คืน ภิกษุสำคัญว่าเกิน ต้องอาบัติทุกกฏ
หย่อนกว่า ๓ คืน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
หย่อนกว่า ๓ คืน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เกิน ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๙.เสนาวาสสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๒๑] ๑. ภิกษุพักอยู่ ๒-๓ คืน
๒. ภิกษุพักอยู่หย่อนกว่า ๒-๓ คืน
๓. ภิกษุพักอยู่ ๒ คืน แต่ออกไปก่อนอรุณของวันที่ ๓ แล้วกลับ
มาอยู่อีก
๔. ภิกษุเจ็บไข้พักอยู่
๕. ภิกษุอยู่ด้วยธุระของผู้เป็นไข้
๖. ภิกษุอยู่ในกองทัพที่ถูกข้าศึกล้อม
๗. ภิกษุถูกใครคนใดคนหนึ่งรบกวน
๘. ภิกษุพักอยู่ในคราวมีเหตุขัดข้อง
๙. ภิกษุวิกลจริต
๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ

เสนาวาสสิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑๐.อุยโยธิกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค

๑๐. อุยโยธิกสิกขาบท
ว่าด้วยการไปดูสนามรบ

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๒๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์พักแรมอยู่ใน
กองทัพ ๒-๓ คืน ไปที่สนามรบบ้าง ที่พักพลบ้าง ที่จัดขบวนทัพบ้าง ไปดูกองทัพที่
จัดเป็นขบวนแล้วบ้าง ภิกษุฉัพพัคคีย์รูปหนึ่งไปที่สนามรบ ถูกยิงด้วยลูกศร
พวกชาวบ้านพากันเยาะเย้ยว่า “เป็นอย่างไรพระคุณเจ้า ท่านรบสนุกไหม
ท่านชนะได้กี่แต้ม”
ภิกษุนั้นถูกเยาะเย้ยจนเก้อเขิน
พวกพลรบตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงเที่ยวดูสนามรบเล่า ไม่ใช่เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ไม่ดี ที่พวก
เรามาสนามรบก็เพราะการครองชีพ เพราะต้องเลี้ยงดูบุตรภรรยา”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกพลรบตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึง
ไปเที่ยวดูสนามรบเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการ
ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอไปเที่ยวดูสนาม
รบ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงเที่ยวไปดูสนามรบเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑๐.อุยโยธิกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๓๒๓] ถ้าภิกษุพักอยู่ในกองทัพ ๒-๓ คืน เที่ยวไปในสนามรบก็ดี ที่
พักพลก็ดี ที่จัดขบวนทัพก็ดี ไปดูกองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้วก็ดี ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๒๔] คำว่า ถ้าภิกษุพักอยู่ในกองทัพ ๒-๓ คืน คือ ภิกษุพักแรมอยู่
๒-๓ คืน
ที่ชื่อว่า สนามรบ ได้แก่ สถานที่รบซึ่งปรากฏอยู่
ที่ชื่อว่า ที่พักพล ได้แก่ กองช้างประมาณเท่านี้ กองม้าประมาณเท่านี้
กองรถประมาณเท่านี้ กองพลเดินเท้าประมาณเท่านี้
ที่ชื่อว่า ที่จัดขบวนทัพ ได้แก่ กองช้างจงอยู่ทางนี้ กองม้าจงอยู่ทางนี้
กองรถจงอยู่ทางนี้ กองพลเดินเท้าจงอยู่ทางนี้
ที่ชื่อว่า กองทัพ ได้แก่ กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพพล
เดินเท้า
กองทัพช้างมีช้าง ๓ เชือกเป็นอย่างน้อย กองทัพม้ามีม้า ๓ ตัวเป็นอย่างน้อย
กองทัพรถมีรถ ๓ คันเป็นอย่างน้อย กองทัพพลเดินเท้ามีทหารถือธนู ๔ นายเป็น
อย่างน้อย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑๐.อุยโยธิกสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ภิกษุไปเพื่อจะดู ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุยืนดูในระยะที่พอมองเห็น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
พ้นวิสัยจะเห็น แต่ภิกษุยังมองดูอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุไปเพื่อจะดูกองทัพแต่ละกอง ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุยืนดูในระยะที่พอมองเห็น ต้องอาบัติทุกกฏ
พ้นวิสัยที่จะเห็น แต่ภิกษุยังมองดูอีก ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๒๕] ๑. ภิกษุยืนดูอยู่ในอาราม
๒. ภิกษุดูการรบพุ่งที่ผ่านมายังที่ที่ภิกษุยืน ที่ภิกษุนั่ง หรือที่ภิกษุ
นอน
๓. ภิกษุเดินสวนทางไปพบ
๔. ภิกษุมีธุระเดินไปพบ
๕. ภิกษุดูในคราวมีเหตุขัดข้อง
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ

อุยโยธิกสิกขาบทที่ ๑๐ จบ
อเจลกวรรคที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค รวมสิกขาบทที่มีในอเจลกวรรค
รวมสิกขาบทที่มีในอเจลกวรรค
อเจลกวรรคมี ๑๐ สิกขาบท คือ

๑. อเจลกสิกขาบท ว่าด้วยนักบวชเปลือย
๒. อุยโยชนสิกขาบท ว่าด้วยการส่งกลับ
๓. สโภชนสิกขาบท ว่าด้วยการเข้าไปแทรกแซงในที่ที่มีคน ๒ คน
๔. รโหปฏิจฉันนสิกขาบท ว่าด้วยการนั่งในที่ลับมีสิ่งกำบัง
๕. รโหนิสัชชสิกขาบท ว่าด้วยการนั่งในที่ลับ
๖. จาริตตสิกขาบท ว่าด้วยการเที่ยวสัญจรไป
๗. มหานามสิกขาบท ว่าด้วยพระเจ้ามหานามศากยะ
๘. อุยยุตตเสนาสิกขาบท ว่าด้วยกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบ
๙. เสนาวาสสิกขาบท ว่าด้วยการพักอยู่ในกองทัพ
๑๐. อุยโยธิกสิกขาบท ว่าด้วยการไปดูสนามรบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑.สุราปานสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค
หมวดว่าด้วยการดื่มสุรา

๑. สุราปานสิกขาบท
ว่าด้วยการดื่มสุราและเมรัย

เรื่องพระสาคตะ
[๓๒๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จจาริกอยู่ในแคว้นเจตีย์ เสด็จ
ไปทางหมู่บ้านภัททวดี พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกชาวนา พวกคน
เดินทางได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงดำเนินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อย่าเสด็จไปที่ท่าอัมพติตถะเลย
นาคมีฤทธิ์ มีพิษที่เขี้ยว๑ มีพิษกล้า อาศัยอยู่ที่อาศรมของชฎิล ที่ท่าอัมพติตถะ
นาคนั้นอย่าทำร้ายพระผู้มีพระภาคเลย พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อพวกเขากราบทูลเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่ง แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้
ครั้งที่ ๓ พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกชาวนา พวกคนเดินทางก็ได้กราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อย่าเสด็จไปที่ท่าอัมพติตถะ
เลย นาคมีฤทธิ์ มีพิษที่เขี้ยว อาศัยอยู่ที่อาศรมของชฎิล ที่ท่าอัมพติตถะ นาคนั้น
อย่าทำร้ายพระผู้มีพระภาคเลย”
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงนิ่ง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงหมู่บ้านภัททวดี ประทับ
อยู่ ณ หมู่บ้านภัททวดีนั้น

เชิงอรรถ :
๑ อาสีวิโส มีพิษที่เขี้ยว หรือมีพิษแล่นเร็ว ท่านอธิบายไว้ดังนี้ อาสุ สีฆํ เอตสฺส วิสํ อาคจฺฉตีติ อาสีวิโส
พิษของนาคนั้นย่อมแล่นเร็ว คือด่วน ดังนี้ จึงชื่อว่าอาสีวิสะ มีพิษแล่นเร็ว (วิ.อ. ๑/๓๙/๒๓๐), อาสีติ
ทาฐา วุจฺจติ, ตตฺถ สนฺนิหิตวิโสติ อาสีวิโส อีกอย่างหนึ่ง คำว่า อาสิ ท่านหมายถึงเขี้ยว ที่เขี้ยว
นั้นมีพิษฝังอยู่ จึงชื่อว่าอาสีวิสะ มีพิษที่เขี้ยว (สารตฺถ.ฏีกา ๒/๓๙/๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑.สุราปานสิกขาบท นิทานวัตถุ
ครั้งนั้น ท่านพระสาคตะเดินเข้าไปที่ท่าอัมพติตถะจนถึงอาศรมของชฎิล
ครั้นถึงแล้วได้เข้าไปในโรงบูชาไฟ ปูเครื่องลาดหญ้าแล้วจึงนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
พอนาคนั้นเห็นท่านพระสาคตะเข้ามาแล้ว ก็เป็นทุกข์ เสียใจ จึงทำให้ควัน
ตลบขึ้น
แม้ท่านพระสาคตะก็ทำให้ควันตลบขึ้นบ้าง นาคนั้นทนการลบหลู่ไม่ได้
จึงพ่นไฟสู้ แม้ท่านพระสาคตะก็เข้าเตโชกสิณพ่นไฟสู้บ้าง ทีนั้น ท่านพระสาคตะ
ครั้นปราบเดชของนาคนั้นได้แล้ว จึงเดินไปทางหมู่บ้านภัททวดี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ หมู่บ้านภัททวดีตามพระอัธยาศัยแล้ว
จึงเสด็จจาริกไปทางกรุงโกสัมพี พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีทราบข่าวว่า
พระสาคตะต่อสู้กับนาคที่ท่าอัมพติตถะ
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงโกสัมพี ทีนั้น พวก
อุบาสกและอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีพากันรับเสด็จพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหา
ท่านพระสาคตะ ไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีผู้
ยืนอยู่ ณที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระสาคตะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สิ่งที่หาได้ยาก
และเป็นที่ชอบใจของพระคุณท่านมีอะไรบ้าง พวกข้าพเจ้าจะจัดเตรียมอะไร ”
เมื่ออุบาสกอุบาสิกากล่าวอย่างนี้ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้กล่าวกับพวกอุบาสก
อุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีดังนี้ว่า “มีอยู่ท่านทั้งหลาย หัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะ๑หายาก
เป็นที่ชอบใจของภิกษุทั้งหลาย พวกท่านจงจัดเตรียมหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะนั้นไว้”

เชิงอรรถ :
๑ กาโปติกาติ กโปตปาทสมวณฺณรตฺโตภาสา. ปสนฺนาติ สุรามณฺฑสฺเสตํ อธิวจนํ แปลสรุปความได้ว่า
หัวเชื้อสุราที่มีสีแดงเหมือนเท้านกพิราบ (วิ.อ. ๒/๓๒๖/๔๐๔)
คำว่า ปสนฺน หัวเชื้อสุรา ในที่นี้มิได้หมายถึงนํ้าใส แต่หมายถึงนํ้าหัว (ตสฺสาเยวกิณฺ-
ปกฺขิตฺตาย มณฺเฑ คหิเต เมื่อใส่หัวเชื้อในสุรานั้นแล้ว จนจับตัวเป็นฝา - วิ.อ. ๒/๓๒๘/๔๐๕) รสานํ
สพฺพรสานํ อคฺคมฺหิ รเส มณฺฑสทฺโท มัณฑศัพท์ หมายถึงนํ้าที่สุดยอดกว่านํ้าทั้งหมด (ดู อภิธา.
และ อภิธา.ฏีกา คาถา ๔๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑.สุราปานสิกขาบท นิทานวัตถุ
ครั้งนั้น พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีจัดเตรียมหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะ
ไว้ทุกครัวเรือน พอเห็นท่านพระสาคตะเดินบิณฑบาตจึงได้กล่าวกับท่านพระสาคตะ
ดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า ขอนิมนต์พระคุณเจ้าสาคตะดื่มหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะเถิด
พระคุณเจ้า ขอนิมนต์พระคุณเจ้าสาคตะดื่มหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะเถิด”
ครั้นท่านพระสาคตะดื่มหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะทุก ๆ ครัวเรือนแล้วออกจากเมือง
ได้ล้มกลิ้งที่ประตูเมือง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกมาพร้อมภิกษุหลายรูป
ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสาคตะนอนกลิ้งอยู่ที่ประตูเมือง ครั้นเห็นแล้วจึงรับสั่ง
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพาสาคตะไป”
ภิกษุทั้งหลายรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ช่วยกันนำท่านพระสาคตะไปที่
อาราม ให้นอนหันศีรษะไปทางพระผู้มีพระภาค แต่ท่านพระสาคตะพลิกกลับนอน
หันเท้าไปทางพระผู้มีพระภาค
ทีนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ก่อนนี้
สาคตะเคยมีความเคารพยำเกรงตถาคตมิใช่หรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้สาคตะยังมีความเคารพ
ยำเกรงตถาคตอยู่อีกหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย สาคตะต่อสู้กับนาคที่ท่า
อัมพติตถะ มิใช่หรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้สาคตะพอจะต่อสู้แม้กับ
งูนํ้าได้ละหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “สู้ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “น้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วทำให้ความจำได้หมายรู้
วิปริตไปนั้น ควรจะดื่มหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑.สุราปานสิกขาบท บทภาชนีย์
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่ควรดื่มเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของสาคตะนั้นไม่สมควร
ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนสาคตะจึง
ดื่มนํ้าเมาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๓๒๗] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย
เรื่องพระสาคตะ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๒๘] ที่ชื่อว่า สุรา ได้แก่ สุราที่ทำจากแป้ง สุราที่ทำจากขนม สุราที่ทำ
จากข้าวสุก สุราหมักแป้งเชื้อเหล้า สุราที่ผสมเครื่องปรุงหลายชนิด
ที่ชื่อว่า เมรัย ได้แก่ น้ำหมักดองดอกไม้ น้ำหมักดองผลไม้ น้ำหมักดอง
น้ำผึ้ง น้ำหมักดองนํ้าอ้อยงบ น้ำหมักดองที่ผสมเครื่องปรุงหลายชนิด
คำว่า ดื่ม คือ ภิกษุดื่ม โดยที่สุดแม้ดื่มด้วยปลายหญ้าคาแตะ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าเป็นน้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
น้ำเมา ภิกษุไม่แน่ใจ ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่น้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑.สุราปานสิกขาบท อนาปัตติวาร
ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าเป็นน้ำเมา ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่น้ำเมา ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๒๙] ๑. ภิกษุดื่มยาดองที่มีสี กลิ่น รส เหมือนน้ำเมาแต่ไม่ใช่น้ำเมา
๒. ภิกษุดื่มน้ำเมาเจือในแกง
๓. ภิกษุดื่มน้ำเมาเจือในเนื้อ
๔. ภิกษุดื่มน้ำเมาเจือในน้ำมัน
๕. ภิกษุดื่มน้ำเมาเจือน้ำอ้อยดองมะขามป้อม
๖. ภิกษุดื่มยาดองอริฏฐะ๑ซึ่งไม่ใช่นํ้าเมา
๗. ภิกษุวิกลจริต
๘. ภิกษุต้นบัญญัติ

สุราปานสิกขาบทที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ยาดองอริฏฐะ นั้นดองด้วยนํ้ามะขามป้อมเป็นต้น สี กลิ่น และรสคล้ายนํ้าเมา แต่ไม่ใช่นํ้าเมา (วิ.อ.๒/
๓๒๙/๔๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๒.อังคุลิปโตทกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค

๒. อังคุลิปโตทกสิกขาบท
ว่าด้วยการใช้นิ้วมือจี้กันและกัน

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๓๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้นิ้วมือจี้
ภิกษุรูปหนึ่งในกลุ่มภิกษุสัตตรสวัคคีย์ให้หัวเราะ ภิกษุนั้นหัวเราะจนเหนื่อย หายใจ
ไม่ทันถึงแก่มรณภาพ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงใช้นิ้วมือจี้ภิกษุให้หัวเราะเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอใช้นิ้วมือจี้
ภิกษุให้หัวเราะ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงใช้นิ้วมือ
จี้ภิกษุให้หัวเราะเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๓๓๑] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะใช้นิ้วมือจี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๒.อังคุลิปโตทกสิกขาบท บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๓๓๒] ที่ชื่อว่า ใช้นิ้วมือจี้ คือ ภิกษุจี้ด้วยนิ้วมือ
อุปสัมบันประสงค์จะให้อุปสัมบันหัวเราะ ใช้กายจับต้องกาย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ใช้นิ้วมือจี้ให้หัวเราะ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ใช้นิ้วมือจี้ให้หัวเราะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ใช้นิ้วมือจี้ให้หัวเราะ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุใช้กายจับต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของเนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
[๓๓๓] ภิกษุใช้กายจับต้องกายอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้กายจับต้องของเนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๒.อังคุลิปโตทกสิกขาบท อนาปัตติวาร
ภิกษุใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๓๔] ๑. ภิกษุไม่ประสงค์จะให้หัวเราะ จับต้องกายเมื่อมีเหตุจำเป็น
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ

อังคุลิปโตทกสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๓.หัสสธัมมสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค

๓. หัสสธัมมสิกขาบท
ว่าด้วยการเล่นนํ้า

เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์
[๓๓๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เล่นนํ้าใน
แม่นํ้าอจิรวดี เวลานั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่ที่ปราสาทชั้นบนกับพระนาง
มัลลิกาเทวี พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เล่นนํ้าอยู่ใน
แม่นํ้าอจิรวดี ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว จึงรับสั่งกับพระนางมัลลิกาเทวีดังนี้ว่า
“น้องมัลลิกา นั่นพระอรหันต์เหล่านั้นกำลังเล่นนํ้า”
พระนางกราบทูลว่า “พระผู้มีพระภาคคงจะยังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบท หรือ
ภิกษุเหล่านั้นยังไม่รอบรู้พระบัญญัติเป็นแน่ พระพุทธเจ้าข้า”
ทีนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงมีพระดำริดังนี้ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ
ที่ทำให้เราไม่ต้องกราบทูลพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคจะทรงทราบได้ว่า
ภิกษุเหล่านี้เล่นนํ้ากัน” ครั้นแล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงรับสั่งให้นิมนต์พวก
ภิกษุสัตตรสวัคคีย์มา แล้วพระราชทานนํ้าอ้อยงบเป็นอันมากแก่ภิกษุเหล่านั้นด้วย
รับสั่งว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดถวายนํ้าอ้อยงบนี้แด่
พระผู้มีพระภาค”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์นำน้ำอ้อยงบนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระเจ้าปเสนทิโกศลถวายนํ้าอ้อยงบนี้แด่พระผู้มี
พระภาค พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระราชาพบพวกเธอที่ไหน”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กราบทูลว่า “พระราชาพบพวกข้าพระพุทธเจ้ากำลัง
เล่นน้ำอยู่ในแม่น้ำอจิรวดี พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๓.หัสสธัมมสิกขาบท บทภาชนีย์
ทรงตำหนิแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวก
เธอจึงเล่นนํ้าเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๓๓๖] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะเล่นน้ำ
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๓๗] ที่ชื่อว่า เล่นน้ำ คือ ภิกษุประสงค์จะเล่นน้ำจึงดำลง ผุดขึ้น หรือ
ลอยในนํ้าลึกพอท่วมข้อเท้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๓๘] เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าเล่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เล่นน้ำ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้เล่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุเล่นน้ำตื้นใต้ข้อเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุนั่งเรือเล่นในนํ้า ต้องอาบัติทุกกฏ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๓.หัสสธัมมสิกขาบท อนาปัตติวาร
ภิกษุใช้มือ ใช้เท้า ใช้ไม้ หรือใช้กระเบื้องตีน้ำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเล่นน้ำ น้ำซาวข้าว น้ำนม เปรียง น้ำย้อม น้ำปัสสาวะ หรือน้ำโคลน
ที่ขังในภาชนะ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าเล่น ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้เล่น ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๓๙] ๑. ภิกษุไม่ประสงค์จะเล่นน้ำ
๒. ภิกษุลงน้ำแล้วดำลง ผุดขึ้น หรือลอยในนํ้าเมื่อมีเหตุจำเป็น
๓. ภิกษุจะข้ามฟากจึงดำลง ผุดขึ้น หรือลอยในนํ้า
๔. ภิกษุผู้ว่ายน้ำในคราวมีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ

หัสสธัมมสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๔.อนาทริยสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค

๔. อนาทริยสิกขาบท
ว่าด้วยความไม่เอื้อเฟื้อต่อคำตักเตือน

เรื่องพระฉันนะ
[๓๔๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขต
กรุงโกสัมพี ครั้งนั้น ท่านพระฉันนะประพฤติไม่สมควร ภิกษุทั้งหลายกล่าวตักเตือน
อย่างนี้ว่า “ท่านฉันนะ ท่านอย่ากระทำอย่างนั้น การกระทำเช่นนี้ไม่สมควร” ท่าน
ไม่เอื้อเฟื้อยังขืนทำเหมือนเดิม
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระฉันนะจึงไม่เอื้อเฟื้อเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระฉันนะโดยประการ
ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระฉันนะว่า “ฉันนะ ทราบว่า เธอไม่เอื้อเฟื้อ จริงหรือ” ท่านพระ
ฉันนะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงไม่เอื้อเฟื้อเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๓๔๑] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะไม่เอื้อเฟื้อ
เรื่องพระฉันนะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๔.อนาทริยสิกขาบท บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๓๔๒] ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อ ได้แก่ ความไม่เอื้อเฟื้อ ๒ อย่าง คือ
(๑) ความไม่เอื้อเฟื้อต่อบุคคล (๒) ความไม่เอื้อเฟื้อต่อธรรม
ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อต่อบุคคล ได้แก่ ภิกษุถูกอุปสัมบันตักเตือนด้วยพระ
บัญญัติ ไม่เอื้อเฟื้อด้วยกล่าวว่า “ผู้นี้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ถูกสงฆ์ดูหมิ่นหรือ
ถูกสงฆ์ตำหนิ คำพูดของผู้นี้ไม่น่าทำตาม” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อต่อธรรม ได้แก่ ภิกษุถูกอุปสัมบันตักเตือนด้วย
พระบัญญัติ ไม่เอื้อเฟื้อด้วยกล่าวว่า “จะทำอย่างไร ธรรมข้อนี้พึงเสื่อม พึงสูญ
หรือพึงอันตรธานไป” หรือว่าเธอไม่ประสงค์จะศึกษาพระบัญญัตินั้น จึงไม่เอื้อเฟื้อ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๔๓] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุอันอุปสัมบันตักเตือนด้วยเรื่องที่ไม่ใช่พระบัญญัติ ไม่เอื้อเฟื้อด้วยกล่าวว่า
“เรื่องนี้ไม่เป็นไปเพื่อความขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อความกำจัด ไม่เป็นไปเพื่อความเป็น
ผู้น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่ก่อ๑ ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร” ต้องอาบัติ
ทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ อปจยายาติ สพฺพสฺสปิ วฏฺฏสฺส อปจยตฺถาย, นิพฺพานายาติ อตฺโถ ความไม่ก่อ คือ ไม่ก่อวัฏฏะ ได้แก่
เพื่อนิพพาน (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๐๖/๕๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๔.อนาทริยสิกขาบท อนาปัตติวาร
ภิกษุอันอนุปสัมบันตักเตือนด้วยพระบัญญัติหรือไม่ใช่พระบัญญัติ ไม่เอื้อเฟื้อ
ด้วยกล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่เป็นไปเพื่อความขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อความกำจัด ไม่เป็น
ไปเพื่อความเป็นผู้น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่ก่อ ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความ
เพียร” ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๔๔] ๑. ภิกษุผู้กล่าวว่า “อาจารย์ของพวกเราเรียนกันมา สอบถามกัน
มาอย่างนี้”
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ

อนาทริยสิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๕.ภิงสาปนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค

๕. ภิงสาปนสิกขาบท
ว่าด้วยการทำให้ตกใจ

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๔๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทำให้พวก
ภิกษุสัตตรสวัคคีย์ตกใจ พวกภิกษุเหล่านั้นถูกทำให้ตกใจ จึงร้องไห้ ภิกษุทั้งหลาย
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านร้องไห้ทำไม” พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์
ตอบว่า “พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทำให้พวกผมตกใจ ขอรับ”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงทำให้ภิกษุตกใจเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอทำให้ภิกษุตกใจ
จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงทำให้ภิกษุตกใจเล่า
โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๓๔๖] ภิกษุใดทำให้ภิกษุตกใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๕.ภิงสาปนสิกขาบท บทภาขนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๓๔๗] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ภิกษุ ได้แก่ ภิกษุอื่น
คำว่า ทำให้...ตกใจ ความว่า อุปสัมบันต้องการจะทำให้อุปสัมบันตกใจ นำ
รูป เสียง กลิ่น รส หรือโผฏฐัพพะเข้าไปใกล้๑ ภิกษุผู้ถูกทำให้ตกใจนั้นจะกลัวหรือ
ไม่กลัวก็ตาม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบันต้องการจะทำให้อุปสัมบันตกใจ บอกทางกันดารเพราะมีโจร กันดาร
เพราะมีสัตว์ร้าย หรือกันดารเพราะมีปีศาจ ภิกษุผู้ถูกทำให้ตกใจจะกลัวหรือไม่กลัว
ก็ตาม ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๔๘] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ทำให้ตกใจ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ทำให้ตกใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ทำให้ตกใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
อุปสัมบันต้องการจะทำให้อนุปสัมบันตกใจ จึงนำรูป เสียง กลิ่น รส หรือ
โผฏฐัพพะเข้าไปใกล้ อนุปสัมปันผู้ถูกทำให้ตกใจนั้นจะกลัวหรือไม่กลัวก็ตาม ต้อง
อาบัติทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ นำรูป เสียง กลิ่น รส หรือโผฏฐัพพะที่น่ากลัวเข้าไปใกล้ (ดู พระวินัยปิฎกแปล เล่ม ๑ ข้อ ๑๗๘
หน้า ๑๔๗-๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๕.ภิงสาปนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อุปสัมบันต้องการจะทำให้อนุปสัมบันตกใจ บอกทางกันดารเพราะมีโจร
กันดารเพราะมีสัตว์ร้าย หรือกันดารเพราะมีปีศาจ อนุปสัมบันผู้ถูกทำให้ตกใจนั้น
จะกลัวหรือไม่กลัวก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๔๙] ๑. ภิกษุไม่ต้องการจะทำให้ตกใจ นำรูป เสียง กลิ่น รส หรือ
โผฏฐัพพะเข้าไปใกล้
๒. ภิกษุไม่ต้องการจะทำให้ตกใจ บอกทางกันดารเพราะมีโจร
กันดารเพราะมีสัตว์ร้าย หรือกันดารเพราะมีปีศาจ
๓. ภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุต้นบัญญัติ

ภิงสาปนสิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๖.โชติกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค

๖. โชติกสิกขาบท
ว่าด้วยการก่อไฟผิง

เรื่องภิกษุหลายรูป
[๓๕๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เภสกฬามฤคทายวัน
เขตเมืองสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ ครั้งนั้นในฤดูหนาว พวกภิกษุก่อไฟที่ขอนไม้ใหญ่
ขอนหนึ่งซึ่งมีโพรงแล้วผิง งูเห่าในโพรงไม้นั้น พอถูกไฟร้อน ได้เลื้อยออกมาไล่
พวกภิกษุ ภิกษุทั้งหลายวิ่งหนีไปในที่นั้น ๆ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ทั้งหลายจึงก่อไฟผิงเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ
แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าภิกษุทั้งหลายก่อไฟผิง จริงหรือ”
พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงก่อไฟผิงเล่า ภิกษุทั้งหลาย การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๖.โชติกสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ผิงไฟได้
[๓๕๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุผู้มีหน้าที่สอบถามอาการไข้
ได้กล่าวกับพวกภิกษุเป็นไข้ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้
หรือ” พวกภิกษุตอบว่า “เมื่อก่อนพวกกระผมก่อไฟผิง ดังนั้นจึงมีความผาสุก
แต่เดี๋ยวนี้พวกกระผมมีความยำเกรงอยู่ว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้’ จึงไม่ผิงไฟ
ดังนั้นจึงไม่มีความผาสุก”
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระ
ภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เป็นไข้ก่อ
ไฟหรือใช้ให้ก่อไฟผิงได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดไม่เป็นไข้ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

ทรงอนุญาตให้ตามประทีป
[๓๕๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงการตามประทีปบ้าง การก่อไฟ
บ้าง การติดไฟในเรือนไฟบ้าง จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อไฟหรือ
ใช้ให้ก่อไฟเพราะมีเหตุผลที่สมควร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[๓๕๓] อนึ่ง ภิกษุใดไม่เป็นไข้ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุผลที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๖.โชติกสิกขาบท บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๓๕๔] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ไม่เป็นไข้ คือ ภิกษุผู้เว้นจากไฟก็มีความผาสุก
ที่ชื่อว่า เป็นไข้ คือ ภิกษุผู้เว้นจากไฟจะไม่มีความผาสุก
คำว่า ต้องการผิงไฟ คือ ต้องการให้ร่างกายอบอุ่น
ที่ชื่อว่า ไฟ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงอัคคี
คำว่า ก่อ คือ ภิกษุก่อเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้ก่อ คือ ภิกษุสั่งผู้อื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุผู้รับคำสั่งครั้งเดียวแต่ก่อไฟหลายครั้ง ภิกษุผู้สั่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า เว้นไว้แต่มีเหตุผลเช่นนั้น คือ ยกไว้แต่มีเหตุผลที่สมควร

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๕๕] ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุผลเช่นนั้น
ไม่เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่มีเหตุผลเช่นนั้น
ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุผลเช่นนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๖.โชติกสิกขาบท อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
ภิกษุเก็บดุ้นไฟที่ตกเข้าที่เดิม ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๕๖] ๑. ภิกษุเป็นไข้
๒. ภิกษุผิงไฟที่ผู้อื่นก่อไว้
๓. ภิกษุผิงไฟถ่านที่ไม่มีเปลว
๔. ภิกษุตามประทีป ก่อไฟหรือติดไฟในเรือนไฟเพราะมีเหตุผลเช่นนั้น
๕. ภิกษุผู้ก่อไฟในคราวมีเหตุขัดข้อง๑
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ

โชติกสิกขาบทที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ “เหตุขัดข้อง” ในที่นี้หมายถึงจะมีสัตว์ร้าย เนื้อร้าย และอมนุษย์มาทำร้าย (วิ.อ. ๒/๓๕๖/๔๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค

๗. นหานสิกขาบท
ว่าด้วยการสรงน้ำนอกสมัย

เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร
[๓๕๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายสรงน้ำในแม่น้ำตโปทา๑ ทีนั้น
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเสด็จไปแม่น้ำตโปทาด้วยมีพระราชประสงค์จะทรง
สนานพระเศียร ประทับรออยู่ด้านหนึ่ง ด้วยพระดำริว่า “เราจะสนานต่อเมื่อพระคุณ
เจ้าทั้งหลายสรงน้ำเสร็จแล้ว” ภิกษุสรงน้ำจนพลบค่ำ ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอม
ทัพมคธรัฐต้องทรงสนานพระเศียรในเวลาพลบคํ่า เมื่อประตูเมืองปิดจำต้องประทับ
แรมอยู่นอกเมือง เช้าตรู่จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับทั้ง ๆ ที่
เครื่องประทินในพระวรกายยังไม่จางหายเลย ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วประทับ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ประทับนั่ง ณ ที่
สมควรดังนี้ว่า “เหตุไรพระองค์จึงเสด็จมาแต่เช้าทั้ง ๆ ที่เครื่องประทินในพระวรกาย
ยังไม่จางหาย” ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐกราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้
มีพระภาคทรงทราบ ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ
มคธรัฐเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้
ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้

เชิงอรรถ :
๑ แม่น้ำตโปทา คือแม่นํ้าสายนี้มีนํ้าร้อนเดือดพล่าน ต้นกำเนิดไหลมาจากแอ่งทะเลสาบใต้ภูเขาเวภารบรรพต
ไหลตัดผ่านพระนครราชคฤห์ นํ้าในแอ่งต้นกำเนิดใสเย็น แต่พอไหลเป็นสายแม่นํ้าแล้วกลายเป็นนํ้าร้อน
อรรถกถาอธิบายว่า สาเหตุที่นํ้าในแม่นํ้ามีความร้อนนั้น เพราะไหลผ่านมาระหว่างมหานรก ๒ ขุม (ดู
พระวินัยปิฎกแปล เล่ม ๑ ข้อ ๒๓๑ หน้า ๒๔๕, สํ.อ. ๑/๒๐/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท พระบัญญัติ
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกขึ้นจาก
อาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ทำประทักษิณแล้วเสด็จไป

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอเห็นพระราชาก็ยัง
อาบน้ำไม่รู้ความพอดี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกโมฆบุรุษ
เหล่านั้นเห็นพระราชาแล้วก็ยังอาบน้ำไม่รู้ความพอดีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร จบ

ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบนํ้าได้ในสมัยที่ร้อน
[๓๕๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรง ไม่ยอมอาบนํ้าในสมัยที่ร้อน
ในสมัยที่อบอ้าว จำวัดทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวยังชุ่มเหงื่อ จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระ
ภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เราอนุญาตให้อาบ
นํ้าในสมัยที่ร้อน ในสมัยที่อบอ้าวได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่
ในสมัย สมัยในข้อนั้น คือ ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรกแห่งฤดูฝน
รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบนํ้าได้ในสมัยที่เป็นไข้
[๓๕๙] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุผู้มีหน้าที่สอบถามอาการ
ไข้ ได้กล่าวกับพวกภิกษุเป็นไข้ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้
หรือ”
พวกภิกษุผู้เป็นไข้ตอบว่า “เมื่อก่อนยังไม่ถึงครึ่งเดือน พวกกระผมอาบนํ้า
กันได้ ดังนั้นจึงมีความผาสุก แต่เดี๋ยวนี้พวกกระผมมีความยำเกรงอยู่ว่า ‘พระผู้มี
พระภาคทรงห้ามไว้’ จึงไม่ได้อาบนํ้า ดังนั้นจึงไม่มีความผาสุก’’
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มี
พระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เราอนุญาต
ให้ภิกษุผู้เป็นไข้อาบนํ้าได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบนํ้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่
ในสมัย สมัยในข้อนั้น คือ (๑) ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรกแห่ง
ฤดูฝน รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว (๒) สมัยที่เป็น
ไข้ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบนํ้าได้ในสมัยที่ทำงาน
[๓๖๐] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทำงาน มีความยำเกรง จึงไม่อาบนํ้า จำวัด
ทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวยังชุ่มเหงื่อ จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ พระ
ผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เรา
อนุญาตให้อาบนํ้าได้ในสมัยที่ทำงาน” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบนํ้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่
ในสมัย สมัยในข้อนั้น คือ (๑) ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรกแห่งฤดู
ฝน รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว (๒) สมัยที่เป็นไข้
(๓) สมัยที่ทำงาน นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบนํ้าได้ในสมัยที่เดินทางไกล
[๓๖๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเดินทางไกล มีความยำเกรง จึงไม่อาบนํ้า
จำวัดทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวยังชุ่มเหงื่อ จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ พระ
ผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เรา
อนุญาตให้อาบนํ้าได้ในสมัยที่เดินทางไกล” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบนํ้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ใน
สมัย สมัยในข้อนั้น คือ (๑) ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรกแห่งฤดูฝน
รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว (๒) สมัยที่เป็นไข้
(๓) สมัยที่ทำงาน (๔) สมัยที่เดินทางไกล นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบนํ้าได้ในสมัยที่มีพายุฝุ่น
[๓๖๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายตัดเย็บจีวรอยู่กลางแจ้ง ถูกลมฝุ่นเปรอะเปื้อน
ฝนก็ตกประปราย พวกภิกษุมีความยำเกรง จึงไม่อาบนํ้า จำวัดทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวยัง
เปรอะเปื้อน จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ พระ
ผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เรา
อนุญาตให้อาบนํ้าในสมัยที่มีพายุฝุ่นได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
[๓๖๓] อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์เว้น
ไว้แต่ในสมัย สมัยในข้อนั้น คือ (๑) ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรก
แห่งฤดูฝน รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว (๒) สมัย
ที่เป็นไข้ (๓) สมัยที่ทำงาน (๔) สมัยที่เดินทางไกล (๕) สมัยที่มีพายุฝุ่น นี้
เป็นสมัยในข้อนั้น

สิกขาบทวิภังค์
[๓๖๔] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ฯลฯ ชื่อว่าภิกษุ เพราะว่าเป็นผู้ขอ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ยังไม่ถึงครึ่งเดือน คือ หย่อนกว่าครึ่งเดือน
คำว่า อาบน้ำ ได้แก่ ภิกษุอาบน้ำถูตัวด้วยจุรณหรือดินเหนียว ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ทุก ๆ ครั้งที่ถู อาบเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า เว้นไว้แต่ในสมัย คือ ยกเว้นแต่ในสมัย
ที่ชื่อว่า สมัยที่ร้อน คือ ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง
ที่ชื่อว่า สมัยที่อบอ้าว คือ เดือนแรกแห่งฤดูฝน ภิกษุพึงอาบนํ้าได้เพราะ
ถือว่า ๒ เดือนครึ่งนี้เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว
ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นไข้ คือ ภิกษุใดไม่ได้อาบนํ้าจะไม่มีความผาสุก ภิกษุพึง
อาบนํ้าได้เพราะถือว่า เป็นสมัยที่เป็นไข้
ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำงาน คือ โดยที่สุดแม้การกวาดบริเวณ ภิกษุพึงอาบนํ้าได้
เพราะถือว่า เป็นสมัยที่ทำงาน
ที่ชื่อว่า สมัยที่เดินทางไกล คือ ภิกษุคิดว่า “เราจะเดินทางครึ่งโยชน์” พึง
อาบนํ้าได้ ภิกษุนั้นเมื่อจะไปพึงอาบนํ้าได้ ไปแล้วพึงอาบนํ้าได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่มีพายุฝุ่น คือ ภิกษุทั้งหลายถูกลมฝุ่นเปรอะเปื้อนหรือหยาด
ฝนตกถูกกาย ๒-๓ หยด ภิกษุพึงอาบนํ้าได้เพราะถือว่า เป็นสมัยที่มีพายุฝุ่น

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๖๕] หย่อนกว่าครึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าหย่อนกว่า อาบน้ำ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ในสมัย
หย่อนกว่าครึ่งเดือน ภิกษุไม่แน่ใจ อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่
ในสมัย
หย่อนกว่าครึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าเกินกว่า อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่ในสมัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท อนาปัตติวาร
ทุกทุกกฏ
เกินกว่าครึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าหย่อนกว่า ต้องอาบัติทุกกฏ
เกินกว่าครึ่งเดือน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
เกินกว่าครึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าเกินกว่า ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๖๖] ๑. ภิกษุอาบน้ำในสมัย
๒. ภิกษุอาบน้ำช่วงครึ่งเดือน
๓. ภิกษุอาบน้ำช่วงเกินกว่าครึ่งเดือน
๔. ภิกษุผู้ข้ามฝั่งจึงอาบน้ำ
๕. ภิกษุอาบน้ำในปัจจันตชนบททุกแห่ง
๖. ภิกษุผู้มีเหตุขัดข้อง
๗. ภิกษุวิกลจริต
๘. ภิกษุต้นบัญญัติ

นหานสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๘.ทุพพัณณกรณสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค

๘. ทุพพัณณกรณสิกขาบท
ว่าด้วยการทำจีวรใหม่ให้เสียสี

เรื่องภิกษุหลายรูป
[๓๖๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุและปริพาชกจำนวนมาก
ต่างเดินทางไกลจากเมืองสาเกตไปกรุงสาวัตถี ระหว่างทาง โจรทั้งหลายออกมา
ปล้น พวกเจ้าหน้าที่ในกรุงสาวัตถีจับโจรเหล่านั้นได้พร้อมของกลาง จึงส่งข่าวถึง
ภิกษุทั้งหลายว่า “นิมนต์พระคุณเจ้ามาเถิด ถ้าจำได้ นิมนต์รับเอาจีวรของตน ๆ
คืนไป” ภิกษุทั้งหลายจำจีวรของตนไม่ได้ คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนา
ว่า “ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงจำจีวรของตนไม่ได้เล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
แสดงธรรมีกถาให้เหมาะสม ให้คล้อยตามกับเรื่องนั้นแก่พวกภิกษุแล้วรับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้ง
หลายโดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
ฯลฯ
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย๑
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดู ข้อ ๕๖๖ หน้า ๙๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๘.ทุพพัณณกรณสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๓๖๘] ก็ภิกษุได้จีวรใหม่ พึงใช้วัตถุที่ทำให้เสียสี ๓ ชนิดอย่างใดอย่าง
หนึ่งคือ สีเขียว สีตม หรือสีดำคลํ้า มาทำให้เสียสี ถ้าภิกษุไม่ใช้วัตถุที่ทำให้
เสียสี ๓ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง มาทำให้เสียสี ใช้สอยจีวรใหม่ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๖๙] ที่ชื่อว่า ใหม่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผ้าที่ยังไม่ทำพินทุกัปปะ๑
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า ภิกษุพึงใช้วัตถุที่ทำให้เสียสี ๓ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง มาทำให้
เสียสี คือ โดยที่สุดภิกษุพึงทำให้เสียสีแม้ด้วยปลายหญ้าคาแตะ
ที่ชื่อว่า สีเขียว ได้แก่ สีเขียว ๒ อย่าง คือ เขียวสำริด สีเขียวใบไม้
ที่ชื่อว่า สีตม พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสีน้ำโคลน
ที่ชื่อว่า สีดำคล้ำ ได้แก่ สีดำคล้ำอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่ชื่อว่า ถ้าภิกษุไม่ใช้วัตถุที่ทำให้เสียสี ๓ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง มา
ทำให้เสียสี ความว่า โดยที่สุดภิกษุไม่เอาปลายหญ้าคาแตะวัตถุที่ทำให้เสียสี ๓
ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง มาทำให้เสียสี แล้วใช้สอยจีวรใหม่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “พินทุกัปปะ” หมายถึงการทำจุดเป็นวงกลมอย่างใหญ่เท่าแววตานกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเรือด
ที่มุมจีวร ด้วยสีเขียว สีตม หรือสีดำคลํ้า เพื่อทำให้จีวรเสียสีหรือมีตำหนิ (วิ.อ. ๒/๓๖๘-๙/๔๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๘.ทุพพัณณกรณสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๗๐] ยังไม่ได้ทำให้เสียสี ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้ทำให้เสียสี ใช้สอย ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้ทำให้เสียสี ภิกษุไม่แน่ใจ ใช้สอย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้ทำให้เสียสี ภิกษุสำคัญว่าทำให้เสียสีแล้ว ใช้สอย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกทุกกฏ
ทำให้เสียสีแล้ว ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้ทำให้เสียสี ต้องอาบัติทุกกฏ
ทำให้เสียสีแล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ทำให้เสียสีแล้ว ภิกษุสำคัญว่าใช้ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๗๑] ๑. ภิกษุทำให้เสียสีแล้วนุ่งห่ม
๒. ภิกษุห่มจีวรที่พินทุกัปปะเสียหายไป
๓. ภิกษุห่มจีวรที่ทำพินทุกัปปะไว้ แต่เก่าคร่ำคร่า
๔. ภิกษุห่มจีวรที่ไม่ได้ทำพินทุกัปปะไว้ แต่เย็บติดกับจีวรที่ทำ
พินทุกัปปะไว้
๕. ภิกษุนุ่งห่มผ้าปะ
๖. ภิกษุนุ่งห่มผ้าทาบ
๗. ภิกษุใช้ผ้าดาม
๘. ภิกษุวิกลจริต
๙. ภิกษุต้นบัญญัติ

ทุพพัณณกรณสิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๙.วิกัปปนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค

๙. วิกัปปนสิกขาบท
ว่าด้วยการวิกัปปจีวร

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๓๗๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรวิกัป๑
จีวรด้วยตนเองแก่ภิกษุสัทธิวิหาริกของภิกษุผู้เป็นพี่น้องกันแล้วใช้สอยจีวรที่ยังไม่ได้
ปัจจุทธรณ์๒ ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้แจ้งเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบว่า “ท่านทั้งหลาย
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรวิกัปจีวรด้วยตนเองแก่กระผมแล้วใช้สอยจีวรที่ยังไม่ได้
ปัจจุทธรณ์”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรวิกัปจีวรด้วยตนเองแก่ภิกษุแล้ว จึงใช้สอยจีวรที่ยังมิได้
ปัจจุธรณ์เล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการ
ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอวิกับจีวรด้วยตน

เชิงอรรถ :
๑ วิกัป เป็นวินัยกรรม คือวิธีการทางพระวินัย เพื่อป้องกันอาบัติ ตามปกติภิกษุจะใช้สอยผ้านุ่งห่มเพียง
๓ ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าอุตตราสงค์ ผ้าอันตรวาสก ผ้านอกจากนี้เรียกว่า ผ้าอติเรกจีวร เก็บไว้ใช้สอยได้
ไม่เกิน ๑๐ วัน ถ้าต้องการจะใช้สอยตลอดไป ต้องวิกัป คือ ยกให้แก่ผู้อื่น ให้ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ร่วม ผู้ที่
รับไป ต้องให้คืนไว้ใช้สอย นี้เป็นวินัยกรรม ในกรณีนี้ถ้าเป็นสมัยจีวรกาล ไม่ต้องวิกัป ใช้ได้ตลอดจน
กว่าจะหมดจีวรกาล (ดู นิสสัคคีย์ สิกขาบทที่ ๑ ข้อ ๔๖๐-๔๗๐ หน้า ๒-๘ ในเล่มนี้ และ วิ.ม. ๕/
๓๕๘/๑๖๐, วิ.อ. ๒/๔๖๙/๑๔๖-๑๕๕)
๒ คำว่า “ปัจจุทธรณ์” แปลว่า ถอนคืน คือถอนผ้าที่วิกัปไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๙.วิกัปปนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
เองแก่ภิกษุแล้วใช้สอยจีวรที่ยังมิได้ปัจจุทธรณ์ จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตร
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
โมฆบุรุษ ไฉนเธอ เมื่อวิกัปจีวรด้วยตนเองแก่ภิกษุแล้ว จึงใช้สอยจีวรที่ยังมิได้
ปัจจุทธรณ์เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใส อยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๓๗๓] ก็ ภิกษุใดวิกัปจีวรด้วยตนเองแก่ภิกษุ หรือแก่ภิกษุณี หรือแก่
สิกขมานา หรือแก่สามเณร หรือแก่สามเณรี แล้วใช้สอยจีวรที่ยังมิได้ปัจจุทธรณ์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๗๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า แก่ภิกษุ คือ ภิกษุรูปอื่น
ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีที่อุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ สตรีผู้ศึกษาสิกขาธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
ที่ชื่อว่า สามเณร ได้แก่ บุรุษผู้ถือสิกขาบท ๑๐ ข้อ
ที่ชื่อว่า สามเณรี ได้แก่ สตรีผู้ถือสิกขาบท ๑๐ ข้อ
คำว่า ด้วยตนเอง คือ วิกัปเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๙.วิกัปปนสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีขนาดพอที่จะวิกัป
ได้เป็นอย่างตํ่า
ที่ชื่อว่า วิกัป มี ๒ อย่าง คือ (๑) วิกัปต่อหน้า (๒) วิกัปลับหลัง
ที่ชื่อว่า วิกัปต่อหน้า คือ ภิกษุกล่าวว่า “ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ท่าน
หรือข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ภิกษุนี้”
ที่ชื่อว่า วิกัปลับหลัง คือ ภิกษุกล่าวว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่านเพื่อวิกัป”
ภิกษุผู้รับวิกัปถามภิกษุผู้วิกัปว่า “ใครเป็นมิตรหรือเพื่อนของท่าน”
พึงตอบว่า “ภิกษุชื่อนี้และภิกษุชื่อนี้”
ภิกษุผู้รับวิกัปพึงกล่าวกับภิกษุผู้วิกัปว่า “ข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุเหล่านั้น จีวร
ผืนนี้เป็นของภิกษุเหล่านั้น ท่านจงใช้สอย จงสละ หรือจงทำตามเหตุผลเถิด”
ที่ชื่อว่า ที่ยังมิได้ปัจจุทธรณ์ คือ จีวรที่ผู้รับวิกัปยังไม่ได้คืนให้๑ หรือภิกษุผู้
วิกัปใช้สอยจีวรโดยไม่คุ้นเคยกับภิกษุผู้รับวิกัปนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๗๕] จีวรยังไม่ได้ปัจจุทธรณ์ ภิกษุสำคัญว่ายังมิได้ปัจจุทธรณ์ ใช้สอย
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ได้ปัจจุทธรณ์ ภิกษุไม่แน่ใจ ใช้สอย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ได้ปัจจุทธรณ์ ภิกษุสำคัญว่าปัจจุทธรณ์แล้ว ใช้สอย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ คือภิกษุผู้รับวิกัปยังมิได้ให้คืนด้วยกล่าวว่า “ท่านจะใช้สอย จะสละ หรือจะทำตามเหตุผลก็ได้”
ปัจจุทธรณ์ คือถอนวิกัปนั่นเอง (วิ.อ. ๒/๓๗๔/๔๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๙.วิกัปปนสิกขาบท อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
ภิกษุอธิษฐานหรือสละ ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรปัจจุทธรณ์แล้ว ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้ปัจจุทธรณ์ ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรปัจจุทธรณ์แล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรปัจจุทธรณ์แล้ว ภิกษุสำคัญว่าปัจจุทธรณ์แล้ว ไม่เป็นอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๗๖] ๑. ภิกษุใช้สอยจีวรที่ผู้รับวิกัปคืนให้หรือใช้สอยจีวรด้วยความคุ้น
เคยกับภิกษุผู้รับวิกัป
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ

วิกัปปนสิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑๐.จีวรอปนิธานสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค

๑๐. จีวรอปนิธานสิกขาบท
ว่าด้วยการซ่อนจีวร

เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์
[๓๗๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ไม่เก็บ
บริขาร พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงเอาบาตรบ้าง จีวรบ้างของพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ไป
ซ่อน พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ได้กล่าวกับพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย
พวกท่านโปรดคืนบาตรบ้างจีวรบ้างให้แก่พวกเราเถิด” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์พากัน
หัวเราะ พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์พากันร้องไห้
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “พวกท่านร้องไห้ทำไม”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เอาบาตร
บ้าง จีวรบ้างของพวกกระผมไปซ่อน”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงเอาบาตรบ้าง จีวรบ้างของภิกษุทั้งหลายไปซ่อนเล่า” ครั้นภิกษุ
เหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอเอาบาตรบ้าง
จีวรบ้างของภิกษุทั้งหลายไปซ่อน จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนเธอ
จึงเอาบาตรบ้าง จีวรบ้างของพวกภิกษุไปซ่อนเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑๐.จีวรอปนิธานสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๓๗๘] ก็ ภิกษุใดเอาบาตรหรือจีวร ผ้าปูนั่ง กล่องเข็มหรือประคดเอว
ของภิกษุไปซ่อน ใช้ให้เอาไปซ่อน โดยที่สุดแม้มุ่งจะล้อเล่น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๗๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็.....ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ของภิกษุ คือ ของภิกษุอื่น
ที่ชื่อว่า บาตร ได้แก่ บาตร ๒ ชนิด คือ (๑) บาตรเหล็ก (๒) บาตรดิน
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดพอที่จะ
วิกัปได้เป็นอย่างต่ำ
ที่ชื่อว่า ผ้าปูนั่ง พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผ้าปูนั่งมีชาย
ที่ชื่อว่า กล่องเข็ม ได้แก่ กล่องที่มีเข็มหรือไม่มีเข็มก็ตาม
ที่ชื่อว่า ประคดเอว ได้แก่ ประคดเอว ๒ ชนิด คือ (๑) ประคดเอวผ้า
(๒) ประคดเอวไส้สุกร
คำว่า เอาไปซ่อน คือ ภิกษุเอาไปซ่อนเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้เอาไปซ่อน คือ ภิกษุใช้ผู้อื่นให้เอาไปซ่อน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑๐.จีวรอปนิธานสิกขาบท บทภาชนีย์
ภิกษุผู้รับคำสั่งครั้งเดียวแต่ซ่อนหลายครั้ง ภิกษุผู้สั่งต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า โดยที่สุดแม้มุ่งจะล้อเล่น คือ ภิกษุประสงค์จะเล่น

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๘๐] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน เอาบาตร หรือจีวร หรือ
ผ้าปูนั่ง หรือกล่องเข็ม หรือประคดเอวไปซ่อน หรือใช้ให้เอาไปซ่อน โดยที่สุดแม้
มุ่งจะล้อเล่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ เอาบาตร หรือจีวร หรือผ้าปูนั่ง หรือกล่องเข็ม
หรือประคดเอวไปซ่อน หรือใช้ให้เอาไปซ่อน โดยที่สุดแม้มุ่งจะล้อเล่น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน เอาบาตร หรือจีวร หรือผ้าปูนั่ง
หรือกล่องเข็ม หรือประคดเอวไปซ่อน หรือใช้ให้เอาไปซ่อน โดยที่สุดแม้มุ่งจะล้อเล่น
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุเอาบริขารอื่นไปซ่อน หรือใช้ให้เอาไปซ่อน โดยที่สุดแม้มุ่งจะล้อเล่น
ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเอาบาตร หรือจีวร หรือบริขารอื่นของอนุปสัมบันไปซ่อน หรือใช้ให้เอา
ไปซ่อน โดยที่สุดแม้มุ่งจะล้อเล่น ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค รวมสิกขาบทที่มีในสุราปานวรรค
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๘๑] ๑. ภิกษุไม่ประสงค์จะล้อเล่น
๒. ภิกษุเก็บบริขารที่ผู้อื่นวางไว้ไม่ดี
๓. ภิกษุเก็บไว้ด้วยหวังจะสั่งสอนแล้วคืนให้
๔. ภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุต้นบัญญัติ

จีวรอปนิธานสิกขาบทที่ ๑๐ จบ
สุราปานวรรคที่ ๖ จบ

รวมสิกขาบทที่มีในสุราปานวรรค
สุราปานวรรคมี ๑๐ สิกขาบท คือ

๑. สุราปานสิกขาบท ว่าด้วยการดื่มสุราและเมรัย
๒. อังคุลิปโตทกสิกขาบท ว่าด้วยการใช้นิ้วมือจี้กันและกัน
๓. หัสสธัมมสิกขาบท ว่าด้วยการเล่นน้ำ
๔. อนาทริยสิกขาบท ว่าด้วยความไม่เอื้อเฟื้อต่อคำตักเตือน
๕. ภิงสาปนสิกขาบท ว่าด้วยการทำให้ตกใจ
๖. โชติกสิกขาบท ว่าด้วยการก่อไฟผิง
๗. นหานสิกขาบท ว่าด้วยการสรงน้ำนอกสมัย
๘. ทุพพัณณกรณสิกขาบท ว่าด้วยการทำจีวรใหม่ให้เสียสี
๙. วิกัปปนสิกขาบท ว่าด้วยการวิกัปจีวร
๑๐. จีวรอปนิธานสิกขาบท ว่าด้วยการซ่อนจีวร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑.สัญจิจจสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค
หมวดว่าด้วยสัตว์มีชีวิต

๑. สัญจิจจสิกขาบท
ว่าด้วยความจงใจปลงชีวิตสัตว์

เรื่องพระอุทายี
[๓๘๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีเป็นนักยิงธนู๑
และท่านไม่ชอบอีกา ท่านจึงยิงอีกาทั้งหลายแล้วตัดหัวมาเสียบหลาวเรียงไว้
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ใครฆ่าอีกาเหล่านี้”
ท่านพระอุทายีตอบว่า “ท่านทั้งหลาย กระผมเอง กระผมไม่ชอบอีกา”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุทายีจึงจงใจปลงชีวิตสัตว์เล่า ฯลฯ” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระอุทายี
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอจงใจปลงชีวิตสัตว์ จริงหรือ” ท่าน
พระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงจงใจปลงชีวิตสัตว์เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิ
ได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ สมัยเป็นคฤหัสถ์ ท่านพระอุทายีเป็นนักแม่นธนู เชี่ยวชาญในศิลปะการใช้ธนู และเป็นอาจารย์ของนัก
แม่นธนูด้วย (วิ.อ. ๒/๓๘๒/๔๑๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๘๒/๑๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑.สัญจิจจสิกขาบท บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๓๘๓] ก็ ภิกษุใดจงใจปลงชีวิตสัตว์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุทายี จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๘๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า จงใจ ได้แก่ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ฝ่าฝืน ล่วงละเมิด
ที่ชื่อว่า สัตว์มีชีวิต พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสัตว์ดิรัจฉาน
คำว่า ปลงชีวิต ได้แก่ ตัดทำลายชีวิตินทรีย์ ตัดความสืบต่อ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ปาจิตตีย์
[๓๘๕] สัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าเป็นสัตว์มีชีวิต ปลงชีวิต ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
สัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ ปลงชีวิต ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ปลงชีวิต ไม่ต้องอาบัติ

ทุกกฏ
ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าเป็นสัตว์มีชีวิต ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑.สัญจิจจสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๘๖] ๑. ภิกษุไม่จงใจจะปลงชีวิตสัตว์
๒. ภิกษุไม่มีสติปลงชีวิตสัตว์
๓. ภิกษุผู้ไม่รู้ตัว
๔. ภิกษุไม่ประสงค์จะฆ่า
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ

สัญจิจจสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๒.สัปปาณกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค

๒. สัปปาณกสิกขาบท
ว่าด้วยการบริโภคน้ำที่มีสัตว์มีชีวิต

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๘๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ว่านํ้ามี
สัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภค๑
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ว่านํ้ามีสัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภคเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอรู้อยู่ว่านํ้ามีสัตว์
มีชีวิต ก็ยังบริโภค จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอรู้อยู่
ว่านํ้ามีสัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภคเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๓๘๘] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ว่าน้ำมีสัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภค ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “บริโภค” หมายถึง ดื่ม ใช้ล้างบาตร เอาบาตรข้าวต้มร้อนแช่ให้เย็น อาบ หรือแม้ลงไปลุยนํ้าใน
ตระพัง ในสระโบกขรณี ทำให้เกิดคลื่น (วิ.อ. ๒/๓๘๗/๔๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๒.สัปปาณกสิกขาบท อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๓๘๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ ได้แก่ ภิกษุรู้เอง หรือคนเหล่าอื่นบอกให้ภิกษุนั้นรู้
ภิกษุรู้อยู่ว่า “นํ้ามีสัตว์มีชีวิต” รู้อยู่ว่า “สัตว์มีชีวิตจะตายเพราะการบริโภค”
ก็ยังบริโภค ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
[๓๙๐] นํ้ามีสัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่ามีสัตว์มีชีวิต บริโภค ต้องอาบัติปาจิตตีย์
นํ้ามีสัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ บริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ
นํ้ามีสัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าไม่มีสัตว์มีชีวิต บริโภค ไม่ต้องอาบัติ
นํ้าไม่มีสัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่ามีสัตว์มีชีวิต ต้องอาบัติทุกกฏ
นํ้าไม่มีสัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
นํ้าไม่มีสัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าไม่มีสัตว์มีชีวิต ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๙๑] ๑. ภิกษุไม่รู้ว่า “น้ำมีสัตว์มีชีวิต”
๒. ภิกษุรู้ว่า “น้ำไม่มีสัตว์มีชีวิต”
๓. ภิกษุรู้อยู่ว่า “สัตว์มีชีวิตจะไม่ตายเพราะการบริโภค”
๔. ภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุต้นบัญญัติ

สัปปาณกสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๓.อุกโกฏนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณวรรค

๓. อุกโกฏนสิกขาบท
ว่าด้วยการรื้อฟื้นอธิกรณ์ขึ้นมาพิจารณาใหม่

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๙๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ รื้อฟื้น
อธิกรณ์ที่ได้ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้องเพื่อพิจารณาใหม่ด้วยกล่าวว่า “กรรมยังไม่ได้ทำ
กรรมทำไม่ดี พึงทำใหม่ กรรมนั้นยังไม่ได้ตัดสิน กรรมนั้นตัดสินไม่ดี พึงตัดสินใหม่”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ยังขืนรื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้องเพื่อพิจารณาใหม่
เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอรู้อยู่ รื้อฟื้น
อธิกรณ์ที่ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้องเพื่อพิจารณาใหม่ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอรู้อยู่ยังขืนรื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้อง
เพื่อพิจารณาใหม่เล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๓.อุกโกฏนสิกขาบท บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๓๙๓] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ รื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้อง เพื่อ
พิจารณาใหม่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๙๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ ได้แก่ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น หรือคนนั้นบอก
ที่ชื่อว่า อย่างถูกต้อง คือ อธิกรณ์ที่ตัดสินโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์
ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ อธิกรณ์ ๔ คือ (๑) วิวาทาธิกรณ์ (๒) อนุวาทาธิกรณ์
(๓) อาปัตตาธิกรณ์ (๔) กิจจาธิกรณ์
คำว่า รื้อฟื้น...เพื่อพิจารณาใหม่ คือ ภิกษุรื้อฟื้นด้วยกล่าวว่า “กรรมยัง
ไม่ได้ทำ กรรมทำไม่ดี พึงทำใหม่ กรรมนั้นยังไม่ได้ตัดสิน กรรมนั้นตัดสินไม่ดี พึง
ตัดสินใหม่” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
[๓๙๕] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง รื้อฟื้น ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ รื้อฟื้น ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง รื้อฟื้น ไม่ต้องอาบัติ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๓.อุกโกฏนสิกขาบท อนาปัตติวาร
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๙๖] ๑. ภิกษุรู้ว่า “กรรมนั้นทำไม่ถูกต้อง แยกกันทำหรือทำแก่ผู้ไม่ควร
แก่กรรม” จึงรื้อฟื้น
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ

อุกโกฏนสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๔.ทุฏฐุลลสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค

๔. ทุฏฐุลลสิกขาบท
ว่าด้วยการปกปิดอาบัติชั่วหยาบ

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๓๙๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตร
ต้อง อาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ๑ จึงบอกภิกษุสัทธิวิหาริกผู้เป็นพี่น้องกันว่า
“ท่าน ผมต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ท่านโปรดอย่าบอกใคร ๆ” ต่อมา
ภิกษุรูปหนึ่งก็ต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ได้ขอสงฆ์อยู่ปริวาสเพื่อ(จะออก
จาก)อาบัตินั้น สงฆ์ได้ให้ปริวาสเพื่อ(ออกจาก)อาบัตินั้นแก่ภิกษุนั้น ภิกษุผู้กำลัง
อยู่ปริวาสนั้นพบภิกษุนั้นจึงได้กล่าวดังนี้ว่า “ท่าน ผมต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกา
สุกกวิสัฏฐิ จึงได้ขอสงฆ์อยู่ปริวาส สงฆ์ได้ให้ผมอยู่ปริวาสเพื่อ(ออกจาก)อาบัติแล้ว
ผมกำลังอยู่ปริวาส ขอบอกให้ทราบ ท่านจงจำผมไว้ว่า ‘บอกให้ทราบแล้ว”
ภิกษุนั้นถามว่า “ภิกษุอื่นผู้ต้องอาบัตินี้ก็ต้องทำอย่างนี้หรือ”
ภิกษุผู้อยู่ปริวาสตอบว่า “ใช่ ต้องทำอย่างนี้”
ภิกษุนั้นกล่าวว่า “ท่านพระอุปนันทศากยบุตรนี้ต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกา
สุกกวิสัฏฐิ ได้บอกผมว่า ‘ท่าน ผมต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ท่านโปรด
อย่าบอกใคร ๆ”
ภิกษุผู้อยู่ปริวาสถามว่า “ท่านปกปิดอาบัติไว้หรือ”
ภิกษุนั้นตอบว่า “ใช่ ขอรับ”
ภิกษุผู้อยู่ปริวาสจึงบอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “สัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ” แปลว่า มีความจงใจ มีเจตนาทำนํ้าอสุจิให้เคลื่อน เป็นชื่อสังฆาทิเสส
สิกขาบทที่ ๑ (ดู พระวินัยปิฎแปล เล่ม ๑ ข้อ ๒๓๔ หน้า ๒๔๙-๒๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๔.ทุฏฐุลลสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุรู้อยู่ จึงปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิภิกษุผู้
ปกปิดอาบัตินั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุผู้ปกปิดอาบัตินั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอรู้อยู่ ยังปกปิดอาบัติชั่ว
หยาบของภิกษุจริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอรู้อยู่ จึงปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุเล่า
โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๓๙๘] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ ปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๙๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ของภิกษุ คือ ของภิกษุรูปอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๔.ทุฏฐุลลสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น หรือภิกษุผู้ต้องอาบัติ
ชั่วหยาบนั้นบอก
ที่ชื่อว่า อาบัติชั่วหยาบ ได้แก่ อาบัติปาราชิก ๔ สิกขาบท และอาบัติ
สังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท
คำว่า ปกปิด ความว่า เมื่อภิกษุคิดว่า “ภิกษุทั้งหลายรู้แล้วจะโจท จะ
ตักเตือน จะขู่ จะบังคับ จะทำให้เก้อเขิน เราจะไม่บอก” พอทอดธุระ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
[๔๐๐] อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ปกปิดไว้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุไม่แน่ใจ ปกปิดไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ
อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ปกปิดไว้ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุปกปิดอาบัติไม่ชั่วหยาบ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุปกปิดความประพฤติชั่วหยาบหรือไม่ชั่วหยาบของอนุปสัมบัน ต้อง
อาบัติทุกกฏ
อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ต้องอาบัติทุกกฏ
อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ปกปิดไว้ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๔.ทุฏฐุลลสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๐๑] ๑. ภิกษุคิดว่า “สงฆ์จะบาดหมาง จะทะเลาะ จะขัดแย้ง หรือจะ
วิวาทกัน” จึงไม่บอก
๒. ภิกษุคิดว่า “สงฆ์จะแตกแยก หรือจะร้าวราน” จึงไม่บอก
๓. ภิกษุคิดว่า “ผู้นี้กักขฬะ หยาบคาย จะทำอันตรายแก่ชีวิตหรือ
อันตรายแก่พรหมจรรย์” จึงไม่บอก
๔. ภิกษุไม่พบภิกษุเหล่าอื่นที่สมควรจึงไม่ได้บอก
๕. ภิกษุไม่ต้องการจะปกปิด แต่ยังไม่ได้บอก
๖. ภิกษุคิดว่า “เขาจักปรากฏด้วยกรรมของตนเอง” จึงไม่บอก
๗. ภิกษุวิกลจริต
๘. ภิกษุต้นบัญญัติ

ทุฏฐุลลสิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๕.อูนวีสติวัสสสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค

๕. อูนวีสติวัสสสิกขาบท
ว่าด้วยการอุปสมบทให้บุคคลมีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี

เรื่องเด็กชายอุบาลี๑
[๔๐๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีเด็กชายผู้เป็นเพื่อนกัน
๑๗ คน เด็กชายอุบาลีเป็นหัวหน้าของเด็กเหล่านั้น ทีนั้น มารดาบิดาของเด็กชาย
อุบาลีได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลีจะอยู่สุขสบายและไม่
ลำบากด้วยวิธีใดหนอ” ลำดับนั้น มารดาบิดาของเด็กชายอุบาลีได้ปรึกษากันอีกว่า
“ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนเขียนหนังสือด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลีจะ
อยู่สุขสบายและไม่ลำบาก” แต่ก็วิตกไปว่า “ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนเขียนหนังสือ นิ้วมือจะ
ระบม ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาคำนวณด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลี
จะอยู่สุขสบายและไม่ลำบาก” และวิตกอีกว่า “ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาคำนวณก็จะแน่น
หน้าอก ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาเกี่ยวกับการเงิน๒ ด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับ
ไป เจ้าอุบาลีจะอยู่สุขสบายและไม่ลำบาก” แต่ก็วิตกอีกว่า “ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชา
เกี่ยวกับการเงิน นัยน์ตาของเขาจะปวด พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้มี
ลักษณะนิสัยดี ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารดี นอนในห้องมิดชิด ถ้าเจ้าอุบาลี
ได้บวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับไป
เจ้าอุบาลีจะอยู่สุขสบายและไม่ลำบาก”

เด็กชายอุบาลีออกบวช
เด็กชายอุบาลีได้ยินคำสนทนาของมารดาบิดา ครั้นแล้วเด็กชายอุบาลีจึงได้ไป
หาพวกเด็ก ๆ ถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับพวกเด็ก ๆ เหล่านั้นดังนี้ว่า “เพื่อน
ทั้งหลาย มาเถิด พวกเราจะไปบวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายศากยบุตร”

เชิงอรรถ :
๑ วิ.ม. ๔/๙๙/๑๑๑-๑๑๓
๒ เป็นวิชาการทำบัญชี แลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นเหรัญญิก (วิ.อ. ๒/๔๐๒/๔๑๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๐๒/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๕.อูนวีสติวัสสสิกขาบท นิทานวัตถุ
เด็กเหล่านั้นกล่าวว่า “เพื่อนเอ๋ย ถ้าเจ้าบวช พวกเราก็จะบวชเช่นกัน” ครั้น
แล้วเด็ก ๆ เหล่านั้นต่างคนต่างก็เข้าไปหามารดาบิดาของตน แล้วได้กล่าวขอ
อนุญาตดังนี้ว่า “พ่อแม่โปรดอนุญาตให้พวกลูก ๆ ออกจากเรือนไปบวชเป็น
อนาคาริกเถิด”
มารดาบิดาของเด็กเหล่านั้นอนุญาตด้วยคิดว่า “เด็กพวกนี้ต่างพร้อมใจ มี
ความปรารถนาสิ่งที่ดีงามทุกคน” พวกเด็กเหล่านั้นจึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย ขอ
บรรพชา ภิกษุทั้งหลายให้เด็กพวกนั้นบรรพชาอุปสมบทแล้ว
ครั้นเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ภิกษุใหม่เหล่านั้นลุกขึ้นร้องไห้ว่า “ท่านทั้งหลาย
โปรดให้ข้าวต้ม โปรดให้ข้าวสวย โปรดให้ของเคี้ยว”
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “เธอทั้งหลายรอให้สว่างเสียก่อน ถ้ามีข้าวต้ม
พวกเธอจะได้ฉัน ถ้ามีข้าวสวย พวกเธอจะได้ฉัน ถ้ามีของเคี้ยว พวกเธอก็จะได้เคี้ยว
แต่ถ้าข้าวต้ม ข้าวสวย หรือของเคี้ยวไม่มี พวกเธอต้องเที่ยวบิณฑบาตมาฉัน”
ภิกษุใหม่เหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายกล่าวอยู่อย่างนี้ ก็ยังพากันร้องไห้ว่า
“ท่านทั้งหลายโปรดให้ข้าวต้ม โปรดให้ข้าวสวย โปรดให้ของเคี้ยวเถิด” พากันถ่าย
อุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง รดเสนาสนะ
พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ได้ทรงสดับเสียงเด็ก
ครั้นได้ทรงสดับแล้วจึงตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เสียงเด็กร้องไห้เพราะ
สาเหตุใดหรือ”
ทีนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุรู้อยู่ก็ยังอุปสมบทให้
บุคคลอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๕.อูนวีสติวัสสสิกขาบท พระบัญญัติ
รู้อยู่ก็ยังอุปสมบทให้บุคคลผู้มีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปีเล่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มี
อายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ยังไม่อดทน ไม่อดกลั้นต่อความเย็น ความร้อน ความหิว
ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน คำกล่าวร้าย คำที่
ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์ แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน ไม่น่า
ยินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีอายุครบ ๒๐ ปี๑ จึงจะ
อดทน อดกลั้นต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ
ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน คำกล่าวร้าย คำที่ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึกทางกายที่
เกิดขึ้นเป็นทุกข์ แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต
ได้ ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๔๐๓] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ อุปสมบทให้บุคคลผู้มีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี บุคคล
นั้นไม่เป็นอันอุปสมบท และภิกษุเหล่านั้นควรถูกตำหนิ ภิกษุนั้นต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์นี้๒
เรื่องเด็กชายอุบาลี จบ

เชิงอรรถ :
๑ ที่ชื่อว่า อายุครบ ๒๐ ปี นั้นกำหนดนับเอาตั้งแต่วันที่ถือปฏิสนธิ จิตดวงแรกเกิดในครรภ์มารดา (วิ.อ.
๒/๔๐๔/๔๑๕-๖)
๒ โส จ ปุคฺคโล อนุปสมฺปนฺโนติ ชานนฺเตนาปิ อชานนฺเตนาปิ อุปสมฺปาทิโต อนุปสมฺปนฺโนว. เต จ ภิกฺขู
คารยฺหาติ ฐเปตฺวา อุปชฺฌายํ อวเสสา คารยฺหา โหนฺติ, สพฺเพ ทุกฺกฏํ อาปชฺชติ. อิทํ ตสฺมึ ปาจิตฺติยนฺติ
โย ปน อุปชฺฌาโย หุตฺวา อุปสมฺปาเทติ, ตสฺมึเยว ปุคฺคเล อิทํ ปาจิตฺติยํ เวทิตพฺพํ
คำว่า “บุคคลนั้นไม่เป็นอันอุปสมบท” คือ ผู้ที่พระอุปัชฌาย์พร้อมการกสงฆ์ ซึ่งรู้อยู่ก็ดี ไม่รู้ก็ดี
อุปสมบทให้แล้ว ก็ไม่เป็นอันได้รับการอุปสมบทเลย คำว่า “และภิกษุเหล่านั้นควรได้รับการตำหนิ” คือ ยก
เว้นพระอุปัชฌาย์แล้ว ภิกษุที่เหลือสมควรถูกตำหนิ ทุกรูปต้องอาบัติทุกกฏ คำว่า “ภิกษุนั้นต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์นี้” คือ ภิกษุรูปที่เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้นั่นแหละต้องอาบัติปาจิตตีย์ (กงฺขา.อ. ๒๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๕.อูนวีสติวัสสสิกขาบท บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๔๐๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ ได้แก่ ภิกษุรู้เอง ผู้อื่นบอกให้ภิกษุนั้นรู้ หรือบุคคลผู้มีอายุไม่
ครบ ๒๐ ปีนั้นบอก
ที่ชื่อว่า มีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี คือ ผู้มีอายุไม่ถึง ๒๐ ปี
ภิกษุตั้งใจว่า “จะอุปสมบทให้” แสวงหาคณะ อาจารย์ บาตร หรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย พระอุปัชฌาย์ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ คณะ และอาจารย์ต้องอาบัติทุกกฏ

บทภาชนีย์
[๔๐๕] บุคคลอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่าอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี
อุปสมบทให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บุคคลอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ภิกษุไม่แน่ใจ อุปสมบทให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
บุคคลอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่าอายุครบ ๒๐ ปี อุปสมบทให้
ไม่ต้องอาบัติ
บุคคลอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่าอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี อุปสมบทให้
ต้องอาบัติทุกกฏ
บุคคลอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุไม่แน่ใจ อุปสมบทให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
บุคคลอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่าอายุครบ ๒๐ ปี อุปสมบทให้ ไม่
ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๕.อูนวีสติวัสสสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๐๖] ๑. ภิกษุสำคัญบุคคลอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ว่าอายุครบ ๒๐ ปี จึง
อุปสมบทให้
๒. ภิกษุสำคัญบุคคลอายุครบ ๒๐ ปี ว่าอายุครบ ๒๐ ปี จึง
อุปสมบทให้
๓. ภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุต้นบัญญัติ

อูนวีสติวัสสสิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๖.เถยยสัตถสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค

๖. เถยยสัตถสิกขาบท
ว่าด้วยการเดินทางไกลร่วมกับพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร

เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๔๐๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พ่อค้าเกวียนกลุ่มหนึ่งต้องการ
จะเดินทางจากกรุงราชคฤห์ไปถิ่นย้อนแสง๑ ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับคนเหล่านั้น
ดังนี้ว่า “อาตมาจะเดินทางร่วมไปกับพวกท่าน”
พวกพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า “พระคุณเจ้า พวกกระผมจะเลี่ยงภาษีขอรับ”
เจ้าหน้าที่เก็บภาษีทราบข่าวว่า “พวกพ่อค้าเกวียนจะเลี่ยงภาษี” จึงดักซุ่มใน
หนทาง ครั้นเจ้าหน้าที่เก็บภาษีจับพวกพ่อค้าเกวียนหมู่นั้น ริบของแล้วได้กล่าวกับ
ภิกษุนั้นว่า “พระคุณเจ้า ท่านรู้อยู่ เหตุไรจึงเดินทางร่วมกันกับกลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้
เป็นโจรเล่า” ไต่สวนแล้วปล่อยไป ครั้นภิกษุนั้นไปถึงกรุงสาวัตถีจึงแจ้งเรื่องนี้ให้ภิกษุ
ทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุรู้อยู่จึงชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับกลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจรเล่า” ครั้น
ภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุนั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิยาโลกํ ถิ่นย้อนแสง สูริยาโลกํ ปฏิมุขํ คือ ย้อนแสงตะวัน ปจฺฉิมทิสํ ได้แก่ ทิศตะวันตก (วิ.อ.
๒/ ๔๐๗/๔๑๗) พระวินัยปิฎกฉบับ “PALI TEXT SOCIETY” แปลว่า ถิ่นที่อยู่ทางทิศใต้กรุงราชคฤห์(The
Book of the Discipline, Vol. III, P. 15.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๖.เถยยสัตถสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอรู้อยู่ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับ
กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอรู้อยู่ยังชักชวนกัน
เดินทางไกลร่วมกันกับกลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจรเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๔๐๘] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับกลุ่มพ่อค้าเกวียน
ผู้เป็นโจร โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๔๐๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ ได้แก่ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น
ที่ชื่อว่า กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ได้แก่ พวกโจรผู้เคยทำการปล้นแล้ว
หรือยังไม่เคยทำการปล้น ผู้ลักของหลวงหรือเลี่ยงภาษี
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า ชักชวนกัน คือ ชักชวนว่า “พวกเราไปกันเถิด ท่าน พวกเราไปกัน
เถิด ท่านผู้เจริญ ไปกันเถิด ท่านผู้เจริญ พวกเราไปกันเถิด ท่าน พวกเราจะไปวันนี้
พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๖.เถยยสัตถสิกขาบท อนาปัตติวาร
คำว่า โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง คือ หมู่บ้านหนึ่งกำหนดชั่วไก่
บินตก ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน ในป่าที่ไม่มีหมู่บ้าน ภิกษุ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ระยะกึ่งโยชน์

บทภาชนีย์
[๔๑๐] กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ภิกษุสำคัญว่าเป็นกลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้
เป็นโจร ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันโดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ภิกษุไม่แน่ใจ ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันโดย
ที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ
กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ชัก
ชวนกันเดินทางไกลร่วมกันโดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุชักชวน คนทั้งหลายไม่ได้ชักชวน ภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ภิกษุสำคัญว่ากลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร
ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็น
โจร ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๑๑] ๑. ภิกษุเดินทางโดยไม่ได้ชักชวน
๒. คนทั้งหลายชักชวน แต่ภิกษุไม่ได้ชักชวน
๓. ภิกษุไปผิดเวลานัดหมาย
๔. ภิกษุผู้เดินทางกับพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจรในคราวมีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ

เถยยสัตถสิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๗.สังวิธานสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค

๗. สังวิธานสิกขาบท
ว่าด้วยการชักชวนเดินทางไกลร่วมกับมาตุคาม

เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๔๑๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปกรุงสาวัตถี
ในแคว้นโกศล ผ่านทางประตูหมู่บ้านแห่งหนึ่ง หญิงคนหนึ่งทะเลาะกับสามี ออก
จากหมู่บ้านพบภิกษุนั้นแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญจะไปไหน”
ภิกษุนั้นตอบว่า “น้องหญิง อาตมาจะไปกรุงสาวัตถี”
หญิงนั้นกล่าวว่า “ดิฉันขอเดินทางไปกับพระคุณเจ้าด้วย”
ภิกษุนั้นกล่าวว่า “ไปเถิด น้องหญิง”
ครั้งนั้น สามีของหญิงนั้นออกจากบ้านแล้วถามพวกชาวบ้านว่า “เจ้านาย
พวกท่านเห็นหญิงรูปร่างอย่างนี้บ้างไหม”
พวกชาวบ้านตอบว่า “นาย หญิงรูปร่างอย่างนั้นเดินทางไปกับบรรพชิต”
ลำดับนั้น ชายคนนั้นได้ติดตามไปจับภิกษุนั้นได้ทุบตีแล้วปล่อยไป ครั้งนั้น
ภิกษุนั้นนั่งบ่นอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง
ทีนั้น หญิงนั้นได้กล่าวกับสามีดังนี้ว่า “นาย ภิกษุนั้นไม่ได้พาดิฉันไป ดิฉัน
เองเป็นฝ่ายไปกับภิกษุนั้น ภิกษุนั้นไม่ใช่ตัวการ ท่านจงไปขอขมาภิกษุนั้น”
ครั้งนั้น ชายคนนั้นได้ไปขอขมาภิกษุนั้น
ครั้นภิกษุนั้นไปถึงกรุงสาวัตถีแล้วจึงเล่าเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
จึงชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับมาตุคามเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุนั้น
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๗.สังวิธานสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับมาตุคาม
จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรง
ตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับมาตุคาม
เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้”

พระบัญญัติ
[๔๑๓] ก็ ภิกษุใดชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับมาตุคาม โดยที่สุดแม้
ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๔๑๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่
สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย แต่เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรับรู้ถ้อยคำสุภาษิต ทุพภาษิต
คำหยาบและคำสุภาพ
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า ชักชวนกัน คือ ชักชวนว่า “พวกเราไปกันเถิด น้องหญิง พวกเรา
ไปกันเถิด พระคุณเจ้า ไปกันเถิด พระคุณเจ้า พวกเราไปกันเถิด น้องหญิง พวก
เราจะไปวันนี้ พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๗.สังวิธานสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง คือ หมู่บ้านหนึ่งกำหนดชั่วไก่
บินตก ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน ในป่าที่ไม่มีหมู่บ้าน ภิกษุต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ระยะกึ่งโยชน์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๔๑๕] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกัน
โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันโดยที่สุดแม้ชั่วละแวก
หมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันโดย
ที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุชักชวน มาตุคามไม่ได้ชักชวน ภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับนางยักษ์ นางเปรต บัณเฑาะก์ หรือ
สัตว์ดิรัจฉานมีกายเป็นมนุษย์ผู้หญิง โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ไม่ต้องอาบัติ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๗.สังวิธานสิกขาบ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๑๖] ๑. ภิกษุเดินทางโดยไม่ได้ชักชวน
๒. มาตุคามชักชวน แต่ภิกษุไม่ได้ชักชวน
๓. ภิกษุไปผิดเวลานัดหมาย
๔. ภิกษุผู้เดินทางกับมาตุคามในคราวมีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ

สังวิธานสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค

๘. อริฏฐสิกขาบท
ว่าด้วยพระอริฏฐะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค

เรื่องพระอริฏฐะ
[๔๑๗] ๑สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่พระ
อริฏฐะ ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง๒ ว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตราย
ก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”๓
ภิกษุหลายรูปได้ทราบข่าวว่า “ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่พระอริฏฐะผู้มี
บรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว
จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถ

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จูฬ. ๖/๖๕/๘๒-๔, ม.มู. ๑๒/๒๓๔/๑๙๖-๑๙๙
๒ คทฺธาธิปุพฺโพ ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง อรรถกถาอธิบายว่า คทฺเธ พาธยึสูติ คทฺธพาธิโน,
คทฺธพาธิโน ปุพฺพปุริสา อสฺสาติ คทฺธพาธิปุพฺโพ. ...คิชฺฌฆาฏกกุลปฺปสูตสฺส พรานฆ่านกแร้งเป็นบรรพ
บุรุษของเขา เหตุนั้น เขาจึงชื่อว่าเป็นผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง หมายความว่า เป็นคนเกิดใน
ตระกูลพรานฆ่านกแร้ง (วิ.อ. ๒/๔๑๗/๔๑๘)
๓ พระอริฏฐะ รูปนี้เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก รู้แต่อันตรายิกธรรมบางส่วน เพราะเหตุที่ท่านไม่ฉลาดเรื่อง
วินัย จึงไม่รู้เรื่องอันตรายิกธรรมแห่งการล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติ ดังนั้น ครั้งที่ท่านอยู่ในที่หลีกเร้นจึง
ได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า พวกคฤหัสถ์ที่ยุ่งกี่ยวอยู่กับกามคุณ ที่เป็นโสดาบันก็มี เป็นสกทาคามีก็มี เป็น
อนาคามีก็มี ส่วนพวกภิกษุก็ยังเห็นรูปที่จะพึงรู้ด้วยจักษุ ฯลฯ ยังถูกต้องสิ่งสัมผัสที่จะพึงรู้ด้วยกาย ยังใช้
สอยผ้าปูผ้าห่มอ่อนนุ่ม สิ่งนี้ทั้งหมดถือว่าควร ทำไมรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของหญิงจะไม่ควร สิ่ง
เหล่านั้นต้องควรแน่นอน ท่านเกิดทิฏฐิบาปขึ้นมาแล้ว ขัดแย้งกับพระสัพพัญ�ุตญาณว่า “ทำไมพระผู้มี
พระผู้มีพระภาคจึงบัญญัติปฐมปาราชิกอย่างกวดขัน ประดุจกั้นมหาสมุทรฉะนั้น ในข้อนี้ไม่มีโทษ” ตัด
ความหวังของเหล่าภัพพบุคคล คัดค้านพระเวสารัชญาณ ใส่ตอและหนามในอริยมรรค ประหารอาณาจักร
ของพระชินเจ้าด้วยกล่าวว่า “เมถุนธรรม ไม่มีโทษ” (วิ.อ. ๒/๔๑๗/๔๑๘-๔๑๙, ม.มู.อ. ๒/๒๓๔/๙-๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท นิทานวัตถุ
ก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่” ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหาพระอริฏฐะผู้
มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับพระอริฏฐะผู้มีบรรพ
บุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งดังนี้ว่า “ท่านอริฏฐะ ได้ทราบว่า ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้น
แก่ท่านว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพ
ได้จริงไม่’ จริงหรือ”
พระอริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งกล่าวว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น
ท่านทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรม
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้
ซ่องเสพได้จริงไม่”
ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวว่า “ท่านอริฏฐะ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่
พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้
ตรัสอย่างนั้น ท่านอริฏฐะ พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่อ
อันตรายไว้โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่อง
เสพได้จริง พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มี
ความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลาย
เปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่าง
ยิ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฯลฯ พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากาม
ทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลาย
เปรียบเหมือนความฝัน ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือน
ของที่ยืมมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้คาต้น๑

เชิงอรรถ :
๑ วิสรุกฺขผลูปมา สพฺพงฺคปจฺจงฺคปลิภ�ฺชนฏฺเ�น เปรียบเหมือนผลไม้มีพิษ เพราะบั่นทอนร่างกาย
(ม.มู.อ. ๒/๒๓๔/๑๐)
อีกนัยหนึ่ง คนที่ต้องการผลไม้ เที่ยวแสวงหาผลไม้ เมื่อพบต้นไม้ผลดกจึงปีนขึ้นไปเก็บกิน เก็บใส่ห่อ
อีกคนหนึ่งก็ต้องการผลไม้เช่นกัน เที่ยวแสวงหา พบเห็นต้นไม้ผลดกต้นเดียวกันนั้น แต่แทนที่จะปีนขึ้น
ไปเก็บผลไม้กิน กลับเอาขวานตัดต้นไม้ผลดกนั้นในขณะที่คนแรกยังอยู่บนต้นไม้ อันตรายจึงเกิดขึ้นแก่
เขา (ดู ม.ม. ๑๓/๔๘/๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท นิทานวัตถุ
ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ ฯลฯ พระ
ผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหอกหลาว ฯลฯ พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มี
โทษอย่างยิ่ง”
พระอริฏฐะถูกภิกษุเหล่านั้นตักเตือนแต่ก็ยังกล่าวด้วยความยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิ
บาปนั้นอยู่อย่างนั้นว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น ท่านทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงธรรมที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรม
ก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจจะปลดเปลื้องพระอริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านก
แร้งจากทิฏฐิบาปนั้นได้ ครั้นแล้วภิกษุทั้งหลายจึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพระอริฏฐะว่า “อริฏฐะ ทราบว่า ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่เธอว่า ‘เรารู้
ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’ จริง
หรือ” พระอริฏฐะทูลรับว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์รู้ทั่ว
ถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วได้
อย่างไร โมฆบุรุษ เรากล่าวธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้โดยประการ
ต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้จริง มิใช่หรือ เรา
กล่าวว่ากามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้
มีโทษอย่างยิ่ง เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท พระบัญญัติ
ชิ้นเนื้อ ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า ฯลฯ เรากล่าว
ว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบ
เหมือนความฝัน ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนของที่ยืมมา ฯลฯ เรา
กล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้คาต้น ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลาย
เปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหอกหลาว
ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง โมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยทิฏฐิที่ยึด
ถือไว้ผิด ชื่อว่าทำลายตนเองและชื่อว่าประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก โมฆบุรุษ ข้อ
นั้นจักเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน โมฆบุรุษ การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๔๑๘] ก็ ภิกษุใดกล่าวอย่างนี้ว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตราย
ก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่” ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึง
ว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้น
ท่าน พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้โดย
ประการต่างๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง”
ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ ก็ยังยืนยันอยู่อย่างนั้น
ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ ๓ ครั้ง เพื่อให้สละทิฏฐินั้น
ถ้าเธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้ง สละทิฏฐินั้นได้ นั่นเป็นการดี
ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เรื่องพระอริฏฐะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๔๑๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า ภิกษุกล่าวว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่อ
อันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
คำว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้กล่าวอย่างนั้น
คำว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ อันภิกษุเหล่าอื่น
พวกภิกษุที่ได้เห็น ได้ยิน พึงว่ากล่าวตักเตือนภิกษุนั้นว่า “ท่านอย่าได้กล่าว
อย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระ
ผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้น ท่าน พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็น
ธรรมก่ออันตรายไว้โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายแก่ผู้
ซ่องเสพได้จริง” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้
ครั้งที่ ๓ ถ้าภิกษุนั้นสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลายทราบเรื่องแล้วไม่ตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลายพึงนำตัวภิกษุนั้นมาท่ามกลางสงฆ์แล้วว่ากล่าวตักเตือนว่า
“ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้น ท่าน พระผู้มีพระภาคตรัสธรรม
ที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็
สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้จริง” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึง
ว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าภิกษุนั้นสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุนั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึง
ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๔๒๐] “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุ
ชื่อนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพ
ได้จริงไม่’ ภิกษุนั้นไม่สละทิฏฐินั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อ
นี้เพื่อให้สละทิฏฐินั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า
‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’
ภิกษุนั้นไม่สละทิฏฐินั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้เพื่อให้สละทิฏฐินั้น ท่านรูปใด
เห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้เพื่อให้สละทิฏฐินั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน
รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นถึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าก็ขอกล่าวความนี้ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าก็ขอกล่าว
ความนี้ว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุชื่อนี้
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพ
ได้จริงไม่’ ภิกษุนั้นไม่สละทิฏฐินั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้เพื่อให้สละทิฏฐินั้น
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้เพื่อให้สละทิฏฐินั้น ท่านรูปนั้น
พึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ภิกษุชื่อนี้ สงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้วเพื่อให้สละทิฏฐินั้น สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท อนาบัติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๔๒๑] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๒๒] ๑. ภิกษุยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุผู้สละ
๓. ภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุต้นบัญญัติ

อริฏฐสิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๙.อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค

๙. อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท
ว่าด้วยการคบหาภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๔๒๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ก็ยัง
คบหาบ้าง อยู่ร่วมบ้าง นอนร่วมบ้างกับภิกษุชื่ออริฏฐะผู้กล่าวตู่อย่างนั้น ผู้ที่สงฆ์ยัง
มิได้ทำธรรมอันสมควร๑ ยังไม่ยอมสละทิฏฐินั้น๒
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ยังคบหาบ้าง อยู่ร่วมบ้าง นอนร่วมบ้างกับภิกษุชื่ออริฏฐะ
ผู้กล่าวตู่อย่างนั้น ผู้ที่สงฆ์ยังมิได้ทำธรรมอันสมควร ยังไม่ยอมสละทิฏฐินั้นเล่า”
ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอรู้อยู่ก็ยังคบหา
บ้าง อยู่ร่วมบ้าง นอนร่วมบ้างกับภิกษุอริฏฐะผู้กล่าวตู่อย่างนั้น ผู้ที่สงฆ์ยังมิได้ทำ
ธรรมอันสมควร ยังไม่ยอมสละทิฏฐินั้น จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ผู้ที่สงฆ์ยังมิได้ทำธรรมอันสมควร” หมายถึงพระอริฏฐถูกสงฆ์ลงโทษโดยการยกออกจากหมู่
จากชุมนุมสงฆ์ ที่เรียกว่า “ลงอุกเขปนียกรรม” สงฆ์ยังไม่ได้ยกเลิกโทษนั้น (วิ.อ. ๒/๔๒๔-๕/๔๒๐)
๒ พระอริฏฐะกล่าวตู่พระธรรมวินัยในสิกขาบทที่ ๘ สัปปาณกวรรค ข้อ ๔๑๗ หน้า ๕๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๙.อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ไฉนพวกเธอรู้อยู่ก็ยังคบหาบ้าง อยู่ร่วมบ้าง นอนร่วมบ้างกับภิกษุอริฏฐะผู้กล่าว
ตู่อย่างนั้น ผู้ที่สงฆ์ยังมิได้ทำธรรมอันสมควร ยังไม่ยอมสละทิฏฐินั้นเล่า โมฆบุรุษ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อม
ใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๔๒๔] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ก็ยังคบหา อยู่ร่วม หรือนอนร่วมกับภิกษุผู้กล่าว
ตู่อย่างนั้น ผู้ที่สงฆ์ยังมิได้ทำธรรมอันสมควร ยังไม่ยอมสละทิฏฐินั้น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๔๒๕] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น หรือภิกษุรูปที่กล่าวตู่
นั้นบอก
คำว่า ผู้กล่าวตู่อย่างนั้น คือ ภิกษุผู้กล่าวอย่างนี้ว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรม
ก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
ที่ชื่อว่า ผู้ที่สงฆ์ยังมิได้ทำธรรมอันสมควร คือ ภิกษุนั้นถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมแล้ว แต่สงฆ์ยังมิได้เรียกเข้าหมู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๙.อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า กับ...ยังไม่ยอมสละทิฏฐินั้น คือ ร่วมกับผู้ที่ยังไม่ยอมสละความเห็นนั้น
คำว่า คบหา อธิบายว่า ที่เรียกว่าคบหา ได้แก่ การคบหา ๒ อย่างคือ
(๑) คบหาทางอามิส (๒) คบหาทางธรรม
ที่ชื่อว่า คบหาทางอามิส คือ ภิกษุให้อามิสหรือรับอามิส ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ที่ชื่อว่า คบหาทางธรรม คือ ภิกษุยกธรรมขึ้นแสดงหรือให้ยกธรรมขึ้นแสดง
ภิกษุยกธรรมขึ้นแสดงหรือให้ยกธรรมขึ้นแสดงเป็นบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุก ๆ บท
ภิกษุยกธรรมขึ้นแสดงหรือให้ยกธรรมขึ้นแสดงเป็นอักษร ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุก ๆ อักษร
คำว่า อยู่ร่วม ความว่า ภิกษุทำอุโบสถ ปวารณา หรือสังฆกรรมร่วมกับ
ภิกษุผู้ถูกสงฆ์อุกเขปนียกรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า นอนร่วมกับ อธิบายว่า ในที่ที่มีหลังคาเดียวกัน เมื่อภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรมนอน ภิกษุก็นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนอน ภิกษุ
ผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมก็นอน ภิกษุที่นอนด้วย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ หรือนอน
ทั้ง ๒ รูป ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุลุกขึ้นแล้วกลับนอนอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
[๔๒๖] ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุสำคัญว่าเป็นภิกษุถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรม คบหา อยู่ร่วม หรือนอนร่วม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุไม่แน่ใจ คบหา อยู่ร่วม หรือนอนร่วม
ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรม คบหา อยู่ร่วม หรือนอนร่วม ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุไม่ได้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุสำคัญว่าเป็นภิกษุที่ถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรม ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๙.อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท อนาปัตติวาร
ภิกษุไม่ได้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุไม่ได้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ภิกษุที่ถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรม ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๒๗] ๑. ภิกษุรู้ว่า ภิกษุนั้นไม่ได้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
๒. ภิกษุรู้ว่า “ภิกษุนั้นถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม แต่สงฆ์เรียกเข้า
หมู่แล้ว”
๓. ภิกษุรู้ว่า “ภิกษุนั้น ยอมสละทิฏฐินั้นแล้ว”
๔. ภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุต้นบัญญัติ

อุกขิตตสัมโภคสิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค

๑๐. กัณฏกสิกขาบท
ว่าด้วยสมณุทเทสชื่อกัณฏกะถูกสงฆ์นาสนะ

เรื่องสมณุทเทสชื่อกัณฏกะ
[๔๒๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่
สมณุทเทสชื่อกัณฏกะว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่ง
ว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตราย
แก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
ภิกษุหลายรูปได้ทราบข่าวว่า “ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่สมณุทเทสชื่อ
กัณฏกะว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพ
ได้จริงไม่” ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหาสมณุทเทสชื่อกัณฏกะถึงที่อยู่ ครั้นถึง
แล้วได้กล่าวกับสมณุทเทสชื่อกัณฏกะดังนี้ว่า “กัณฏกะ ได้ทราบว่า ทิฏฐิบาปเช่นนี้
ได้เกิดขึ้นแก่เธอว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่า
ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมว่าก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตราย
แก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’ จริงหรือ”
สมณุทเทสชื่อกัณฏกะกล่าวว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
กระผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มี
พระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
ภิกษุทั้งหลาย ได้กล่าวว่า “กัณฏกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระ
ผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัส
อย่างนั้น กัณฏกะ พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตราย
ไว้โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้จริง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท นิทานวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้น
มาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่าง
โครงกระดูก ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า ฯลฯ พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝัน ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลาย
เปรียบเหมือนของที่ยืมมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือน
ผลไม้คาต้น ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ
ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหอกหลาว ฯลฯ พระผู้มี
พระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ใน
กามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”
สมณุทเทสชื่อว่ากัณฏกะถูกภิกษุเหล่านั้นตักเตือน แต่ก็ยังกล่าวด้วยความยึด
มั่นถือมั่นทิฏฐิบาปนั้นอยู่อย่างนั้นว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น ท่านทั้งหลาย กระผม
รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจปลดเปลื้องสมณุทเทสชื่อกัณฏกะจากทิฏฐิบาปนั้นได้ ครั้น
แล้วภิกษุทั้งหลายจึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วจึง
กราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์สั่งนาสนะกัณฏกสมณุทเทส
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามสมณุทเทสชื่อกัณฏกะว่า “กัณฏกะ ทราบว่า ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่
เธอว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้
จริงไม่ จริงหรือ” สมณุทเทสชื่อกัณฏกะทูลรับว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น พระพุทธ
เจ้าข้า ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรม
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้
ซ่องเสพได้จริงไม่”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท นิทานวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมฆบุรุษ เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วได้อย่างไร
โมฆบุรุษ เรากล่าวธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้โดยประการต่าง ๆ
และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้จริง มิใช่หรือ เรากล่าวว่า
กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่าง
ยิ่ง เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก ฯลฯ เรากล่าวว่ากาม
ทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิง
หญ้า ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ฯลฯ เรากล่าว
ว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝัน ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบ
เหมือนของที่ยืมมา ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้คาต้น ฯลฯ
เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลาย
เปรียบเหมือนหอกหลาว ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์
มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง โมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอชื่อ
ว่ากล่าวตู่เราด้วยทิฏฐิที่ยึดถือไว้ผิด ชื่อว่าทำลายตนเองและชื่อว่าประสบสิ่งมิใช่บุญ
เป็นอันมาก โมฆบุรุษ ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เธอ
ตลอดกาลนาน โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย” ครั้นทรงตำหนิแล้วจึงทรงแสดง
ธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น สงฆ์จงนาสนะ๑
สมณุทเทสชื่อกัณฏกะ ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงนาสนะ สมณุทเทสชื่อกัณฏกะอย่างนี้
ว่า “กัณฏกะ ตั้งแต่วันนี้เธอไม่พึงอ้างพระผู้มีพระภาคว่าเป็นศาสดา และเธอจะไม่
มีการนอนร่วมกัน ๒-๓ คืนกับภิกษุทั้งหลายเหมือนสมณุทเทสเหล่าอื่นได้ เธอจงไปที่
อื่น เธอจงไปให้พ้น” ดังนี้ ครั้งนั้นแล สงฆ์ได้นาสนะสมณุทเทสชื่อกัณฏกะแล้ว
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ ก็ยังปลอบโยนสมณุทเทสชื่อกัณฏกะที่ถูก
สงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้วบ้าง ใช้เธอให้อุปัฏฐากบ้าง คบหาบ้าง นอนร่วมบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “นาสนะ” แปลว่า ให้ฉิบหาย ได้แก่ การลงโทษภิกษุ มี ๓ วิธี คือ (๑) ลิงคนาสนะ ให้สึก
(๒) ทัณฑกรรมนาสนะ ไล่ออกจากสำนัก (๓) สังวาสนาสนะ ยกออกจากหมู่ สมณุทเทสชื่อกัณฏกะนี้
ถูกลงโทษโดยการไล่ออกจากสำนัก (วิ.อ. ๒/๔๒๘/๔๒๐-๔๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท พระบัญญัติ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ จึงปลอบโยนสมณุทเทสชื่อกัณฏกะที่ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้น
แล้วบ้าง ใช้เธอให้อุปัฏฐากบ้าง คบหาบ้าง นอนร่วมบ้างเล่า” ครั้นภิกษุหล่านั้น
ตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอรู้อยู่ยังปลอบโยน
สมณุทเทสชื่อกัณฏกะที่ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้วบ้าง ใช้เธอให้อุปัฏฐากบ้าง
คบหาบ้าง นอนร่วมบ้าง จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธ
เจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวก
เธอรู้อยู่ ยังปลอบโยนสมณุทเทสชื่อกัณฏกะที่ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้วบ้าง ใช้
เธอให้อุปัฏฐากบ้าง คบหาบ้าง นอนร่วมบ้างเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่าง
นี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เสื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น
ได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๔๒๙] ถ้าสมณุทเทสกล่าวอย่างนี้ว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่อ
อันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่” สมณุทเทสนั้นอันภิกษุ
ทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือนว่า “เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มี
พระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัส
อย่างนั้น สมณุทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่อ
อันตรายไว้โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่อง
เสพได้จริง” สมณุทเทสนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ ก็ยังคง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ยืนยันอยู่อย่างนั้น สมณุทเทสนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือนว่า
“สมณุทเทส ตั้งแต่วันนี้เธอไม่พึงอ้างพระผู้มีพระภาคว่าเป็นศาสดา และเธอจะ
ไม่มีการนอนร่วมกัน ๒-๓ คืนกับภิกษุทั้งหลายเหมือนสมณุทเทสเหล่าอื่นได้
เธอจงไปที่อื่น๑ เธอจงไปให้พ้น” ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ก็ยังปลอบโยนสมณุทเทสผู้ถูก
สงฆ์นาสนะแล้วอย่างนั้น ใช้เธอให้อุปัฏฐาก คบหา หรือนอนร่วม ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องสมณุทเทสชื่อกัณฏกะ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๔๓๐] ที่ชื่อว่า สมณุทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสามเณร
คำว่า กล่าวอย่างนี้ คือ สมณุทเทสกล่าวว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่อ
อันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
คำว่า สมณุทเทสนั้น ได้แก่ สมณุทเทสผู้กล่าวอย่างนั้น
คำว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ อันภิกษุเหล่าอื่น
พวกภิกษุที่ได้เห็นได้ยิน พึงว่ากล่าวตักเตือนสมณุทเทสนั้นว่า “สมณุทเทส
เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้น สมณุทเทส พระผู้มีพระภาคตรัส
ธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้น
ก็สามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึง
ว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้เป็นการดี ถ้าไม่สละ สมณุทเทสนั้น

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “จงไปที่อื่น” แปลมาจากคำว่า “จร ปิเร” ตามนัยฎีกาว่า จร ปิเรติ ปรโต คจฺฉ, มา อิธ ติฏฺฐ
(สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๒๘/๑๑๑) จงไปทางอื่น อย่าอยู่ที่นี้, อีกนัยหนึ่งว่า ปิเรติ ปร อมามก (วิ.อ. ๒/๔๒๘/
๔๒๑) อมฺหากํ อนชฺฌตฺติกภูต (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๒๘/๑๑๐) โอวาทสฺส อปฏิคฺคหเณน
อติกฺกมเนน อมามกา ปเร นาม (ขุ.ธ.อ. ๑/๕/๕๘) เธอเป็นคนอื่นผู้ไม่นับถือพระรัตนตรัย, มิได้อยู่
ในวงศ์ของพวกเรา เพราะไม่รับโอวาท เพราะล่วงละเมิดโอวาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท บทภาชนีย์
อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “สมณุทเทส ตั้งแต่วันนี้เธอไม่พึง
อ้างพระผู้มีพระภาคว่าเป็นศาสดา และเธอจะไม่มีการนอนร่วมกัน ๒-๓ คืนกับภิกษุ
ทั้งหลายเหมือนสมณุทเทสเหล่าอื่นได้ เธอจงไปที่อื่น เธอจงไปให้พ้น”
คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น หรือสมณุทเทส
นั้นบอก
คำว่า ผู้ถูกสงฆ์นาสนะแล้วอย่างนั้น คือ ถูกสงฆ์ให้ฉิบหายแล้วอย่างนั้น
ที่ชื่อว่า สมณุทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสามเณร
คำว่า ปลอบโยน คือ ภิกษุปลอบโยนว่า “เราจะให้บาตร จีวร อุทเทส
หรือปริปุจฉาแก่สมณุทเทสนั้น” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้เธอให้อุปัฏฐาก คือ ภิกษุยินดีจุรณ ดินเหนียว ไม้สีฟัน หรือ
น้ำบ้วนปากของสมณุทเทสนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า คบหา อธิบายว่า ที่เรียกว่าคบหา ได้แก่ การคบหา ๒ อย่าง คือ
(๑) คบหาทางอามิส (๒) คบหาทางธรรม
ที่ชื่อว่า คบหาทางอามิส คือ ภิกษุให้อามิสหรือรับอามิส ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ที่ชื่อว่า คบหาทางธรรม คือ ภิกษุยกธรรมขึ้นแสดงหรือให้ยกธรรมขึ้นแสดง
ภิกษุยกธรรมขึ้นแสดงหรือให้ยกธรรมขึ้นแสดง เป็นบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุก ๆ บท
ภิกษุยกธรรมขึ้นแสดงหรือให้ยกธรรมขึ้นแสดง เป็นอักษร ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ทุก ๆ อักษร
คำว่า นอนร่วม อธิบายว่า ในที่ที่มีหลังคาเดียวกัน เมื่อสมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์
นาสนะนอน ภิกษุก็นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนอน สมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท อนาปัตติวาร
นาสนะก็นอน ภิกษุที่นอนด้วย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ หรือนอนทั้ง ๒ รูป ก็ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ ทั้ง ๒ ลุกขึ้นแล้ว กลับนอนอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
[๔๓๑] สมณุทเทสที่ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุสำคัญว่าถูกสงฆ์นาสนะแล้ว
ปลอบโยน ใช้เธอให้อุปัฏฐาก คบหา หรือนอนร่วม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สมณุทเทสที่ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ ปลอบโยน ใช้เธอให้อุปัฏฐาก
คบหา หรือนอนร่วม ต้องอาบัติทุกกฏ
สมณุทเทสที่ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้ถูกสงฆ์นาสนะ ปลอบโยน
ใช้เธอให้อุปัฏฐาก คบหา หรือนอนร่วม ไม่ต้องอาบัติ
สมณุทเทสที่ไม่ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุสำคัญว่าถูกสงฆ์นาสนะ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
สมณุทเทสที่ไม่ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
สมณุทเทสที่ไม่ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ถูกสงฆ์นาสนะ ไม่ต้องอาบัติ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๓๒] ๑. ภิกษุรู้อยู่ว่า “สมณุทเทสไม่ถูกสงฆ์นาสนะ”
๒. ภิกษุรู้อยู่ว่า “สมณุทเทสสละทิฏฐินั้นแล้ว”
๓. ภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุต้นบัญญัติ

กัณฏกสิกขาบทที่ ๑๐ จบ
สัปปาณกวรรคที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค รวมสิกขาบทที่มีในสัปปาณกวรรค
รวมสิกขาบทที่มีในสัปปาณกวรรค
สัปปาณกวรรคมี ๑๐ สิกขาบท คือ

๑. สัญจิจจสิกขาบท ว่าด้วยความจงใจฆ่าสัตว์มีชีวิต
๒. สัปปาณกสิกขาบท ว่าด้วยการบริโภคนํ้าที่มีสัตว์มีชีวิต
๓. อุกโกฏนสิกขาบท ว่าด้วยการรื้อฟื้นอธิกรณ์ขึ้นมาพิจารณา
ใหม่
๔. ทุฏฐุลลสิกขาบท ว่าด้วยการปกปิดอาบัติชั่วหยาบ
๕. อูนวีสติวัสสสิกขาบท ว่าด้วยการอุปสมบทให้บุคคลมีอายุหย่อน
กว่า ๒๐ ปี
๖. เถยยสัตถสิกขาบท ว่าด้วยการเดินทางไกลร่วมกับพ่อค้าเกวียน
ผู้เป็นโจร
๗. สังวิธานสิกขาบท ว่าด้วยการชักชวนเดินทางไกลร่วมกับ
มาตุคาม
๘. อริฏฐสิกขาบท ว่าด้วยพระอริฏฐะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
๙. อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท ว่าด้วยการคบหาภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรม
๑๐. กัณฏกสิกขาบท ว่าด้วยสมณุทเทสชื่อกัณฏกะถูกสงฆ์นาสนะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๑.สหธรรมิกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๘. สหธรรมิกวรรค
หมวดว่าด้วยผู้ร่วมประพฤติธรรม

๑. สหธรรมิกสิกขาบท
ว่าด้วยการกล่าวตักเตือนผู้ร่วมประพฤติธรรมโดยชอบธรรม

เรื่องพระฉันนะ
[๔๓๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขต
กรุงโกสัมพี ครั้งนั้น ท่านพระฉันนะประพฤติไม่สมควร ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้
ว่า “ท่านฉันนะ ท่านอย่าได้กระทำอย่างนี้ การกระทำอย่างนี้ไม่สมควร” ท่านพระ
ฉันนะนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จน
กว่าจะได้สอบถามภิกษุรูปอื่นผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธร”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประฌาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระฉันนะอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนโดยชอบธรรม จึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จนกว่าจะได้สอบถามภิกษุรูปอื่น
ผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธรเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระฉันนะโดยประการ
ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระฉันนะว่า “ฉันนะ ทราบว่า เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือน
โดยชอบธรรมก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้
จนกว่าจะได้สอบถามภิกษุรูปอื่น ผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธร’ จริงหรือ” ท่าน
พระฉันนะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนโดยชอบธรรมก็กล่าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๑.สหธรรมิกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
อย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จนกว่าจะได้สอบถาม
ภิกษุรูปอื่นผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธร’ เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคน
ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๔๓๔] ก็ ภิกษุใดอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนโดยชอบธรรม กล่าว
อย่างนี้ว่า “กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จนกว่าจะได้สอบถามภิกษุรูปอื่น
ผู้ฉลาด ผู้เป็นวินัยธร” ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ศึกษาพึงรู้
พึงสอบถาม พึงพิจารณา นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น
เรื่องพระฉันนะ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๔๓๕] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ อันภิกษุเหล่าอื่น
ที่ชื่อว่า โดยชอบธรรม คือ สิกขาบทใดที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้
นี้ชื่อว่าโดยชอบธรรม
ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนด้วยพระบัญญัติโดยชอบธรรมนั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จนกว่าจะได้
สอบถามภิกษุรูปอื่นผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธร ผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญา ผู้เป็น
พหูสูต ผู้เป็นพระธรรมกถึก” ดังนี้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๑.สหธรรมิกสิกขาบท บทภาชนีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๔๓๖] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฏ
ภิกษุนั้นอันอุปสัมบันว่ากล่าวตักเตือนด้วยเรื่องที่ไม่ใช่พระบัญญัติ กล่าวว่า
“เรื่องนี้ไม่เป็นไปเพื่อความขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อความกำจัด ไม่เป็นไปเพื่อความ
เป็นผู้น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่ก่อ ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร” กล่าว
ว่า “ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จนกว่าจะได้สอบถามภิกษุรูป
อื่นผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธร ผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญา ผู้เป็นพหูสูต ผู้เป็นพระ
ธรรมกถึก” ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุนั้นอันอนุปสัมบันว่ากล่าวตักเตือนด้วยพระบัญญัติ หรือไม่ใช่พระบัญญัติ
กล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่เป็นไปเพื่อความขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อความกำจัด ไม่เป็นไป
เพื่อความเป็นผู้น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่ก่อ ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความ
เพียร” กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จนกว่าจะได้
สอบถามภิกษุรูปอื่นผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธร ผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญา ผู้เป็น
พหูสูต ผู้เป็นพระธรรมกถึก” ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๑.สหธรรมิกสิกขาบท อนาปัตติวาร
คำว่า ผู้ศึกษา คือ ผู้ใคร่สำเหนียก
คำว่า พึงรู้ คือ พึงทราบ
คำว่า พึงสอบถาม คือ พึงสอบถามว่า “ท่านผู้เจริญ สิกขาบทนี้เป็นอย่างไร
หรือสิกขาบทนี้มีเนื้อความว่าอย่างไร”
คำว่า พึงพิจารณา คือ พึงคิด พึงไตร่ตรอง
คำว่า นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น คือ นี้เป็นความถูกต้องในเรื่องนั้น

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๓๗] ๑. ภิกษุกล่าวว่า “เราจักรู้ จักศึกษา”
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ

สหธรรมิกสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๒วิเลขนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๘. สหธรรมิกวรรค

๒. วิเลขนสิกขาบท
ว่าด้วยความยุ่งยากแห่งสิกขาบท

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๔๓๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถา ทรง
พรรณนาคุณแห่งพระวินัย ตรัสสรรเสริญการเรียนพระวินัย ทรงพรรณนาคุณพระ
อุบาลีโดยประการต่าง ๆ
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถา ทรงพรรณนาคุณแห่ง
พระวินัย ตรัสสรรเสริญการเรียนพระวินัย ทรงพรรณนาคุณท่านพระอุบาลี
โดยประการต่าง ๆ อย่ากระนั้นเลย ท่านทั้งหลาย พวกเราจะเรียนพระวินัยในสำนัก
ท่านพระอุบาลี”
ภิกษุเหล่านั้นจำนวนมาก เป็นเถระก็มี เป็นนวกะก็มี เป็นมัชฌิมะก็มี ต่างพา
กันเล่าเรียนพระวินัยในสำนักท่านพระอุบาลี
ครั้งนั้นแล พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้ปรึกษากันว่า “ท่านทั้งหลาย บัดนี้ ภิกษุ
จำนวนมากเป็นเถระก็มี เป็นนวกะก็มี เป็นมัชฌิมะก็มี ต่างพากันเล่าเรียนพระวินัย
ในสำนักท่านพระอุบาลี ถ้าภิกษุเหล่านี้รอบรู้พระบัญญัติในพระวินัย ก็จักชักจูงชี้นำ
พวกเราได้ตามที่ปรารถนาในคราวที่ปรารถนาจนพอแก่ความปรารถนา อย่า
กระนั้นเลย ท่านทั้งหลาย พวกเราจะดูหมิ่นพระวินัย” ครั้นแล้วพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “สิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยกขึ้น
แสดงเหล่านี้จะมีประโยชน์อะไร ย่อมเป็นไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อ
ความยุ่งยาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๒.วิเลขนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงดูหมิ่นพระวินัยเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอดูหมิ่นวินัย จริง
หรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงดูหมิ่นวินัยเล่า โมฆบุรุษ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[๔๓๙] ก็ ภิกษุใด เมื่อมีผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า
“สิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยกขึ้นแสดงเหล่านี้ จะมีประโยชน์อะไร ย่อมเป็น
ไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งยาก” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เพราะดูหมิ่นสิกขาบท
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๔๔๐] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๒.วิเลขนสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า เมื่อมีผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่ ความว่า เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งยกขึ้น
แสดงเอง ใช้ผู้อื่นให้ยกขึ้นแสดงอยู่ หรือกำลังท่องปาติโมกข์
คำว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า “สิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยกขึ้นแสดงเหล่านี้
จะมีประโยชน์อะไร ย่อมเป็นไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งยาก”
คือ ดูหมิ่นพระวินัยให้อุปสัมบันฟังว่า “พวกภิกษุที่เล่าเรียนพระวินัยนี้จะมีความ
รำคาญ มีความลำบาก มีความยุ่งยาก พวกภิกษุที่ไม่เล่าเรียนพระวินัยนี้จะไม่มี
ความรำคาญ ไม่มีความลำบาก ไม่มีความยุ่งยาก สิกขาบทนี้พวกท่านไม่ยกขึ้น
แสดงจะดีกว่า ไม่ศึกษาจะดีกว่า ไม่เล่าเรียนจะดีกว่า ไม่ทรงจำจะดีกว่า พระวินัย
จงอันตรธานไป หรือภิกษุพวกนี้จงเป็นผู้ไม่รอบรู้พระบัญญัติ” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๔๔๑] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ดูหมิ่นพระวินัย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ดูหมิ่นพระวินัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ดูหมิ่นพระวินัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ทุกกฎ
ภิกษุดูหมิ่นธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุดูหมิ่นพระวินัยหรือธรรมอย่างอื่นให้อนุปสัมบันฟัง ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๒.วิเลขนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๔๒] ๑. ภิกษุไม่ประสงค์จะดูหมิ่นกล่าวตามเหตุว่า “นิมนต์ท่านเรียน
พระสูตร พระคาถา หรือพระอภิธรรมไปก่อน ภายหลังจึงเรียน
พระวินัย”
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ

วิเลขนสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๓.โมหนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๘. สหธรรมิกวรรค

๓. โมหนสิกขาบท
ว่าด้วยการทำให้ผู้อื่นหลง

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๔๔๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ประพฤติไม่
สมควรแล้ว ตั้งใจอยู่ว่า “ขอภิกษุทั้งหลายจงทราบว่า พวกเราต้องอาบัติเพราะ
ความไม่รู้ ” เมื่อภิกษุยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่ก็กล่าวอย่างนี้ว่า “พวกกระผมเพิ่ง
ทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ทราบว่า ธรรมแม้นี้มาในพระสูตร๑ อยู่ในพระสูตร มีการยกขึ้น
แสดงทุกกึ่งเดือน”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ เมื่อภิกษุยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวก
กระผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ทราบว่า ธรรมแม้นี้มาในพระสูตร อยู่ในพระสูตร
มีการยกขึ้นแสดงทุกกึ่งเดือน” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดย
ประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอ เมื่อภิกษุยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า พวกกระผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ทราบว่า
ธรรมแม้นี้มาในพระสูตร อยู่ในพระสูตร มีการยกขึ้นแสดงทุกกึ่งเดือน จริงหรือ”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรง

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ธรรม” หมายถึงสิกขาบท คำว่า “พระสูตร” หมายถึงพระปาติโมกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๕๒ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker