ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ

Interesting Books.


หนังสือและแหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่ทางผู้ดำเนินการจะได้แนะนำต่อไปนี้นั้น
ทางผู้ดำเนินการได้อ่านแล้วเห็นว่ามีเนื้อหาที่ดีมีประโยชน์
จึงได้แนะนำให้ผู้สนใจทุก ๆ ท่านได้ไปหาอ่านบ้าง
ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในธรรมของท่านทั้งหลาย
โดยทางผู้ดำเนินการไม่ได้รับค่าตอบแทนจากทางเจ้าของหนังสือหรือสำนักพิมพ์ใด ๆ ทั้งสิ้น




ซีดีรอมพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ชุดภาษาไทย

ผู้จัดทำ
สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะ
ประกอบด้วยแผ่น CD ROM ข้อมูลพระไตรปิฎก 1 แผ่น และแผ่น Floppy Disk ขนาด 3.5 นิ้ว จำนวน 2 แผ่น เพื่อใช้ติดตั้งโปรแกรมสำหรับเรียกดูข้อมูลพระไตรปิฎก
คุณสมบัติ
สามารถค้นหาข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็ว โดยการระบุคำที่ต้องการค้นหา หรือจะระบุชื่อคำภีร์ เล่มที่ หรือชื่อสูตรก็ได้
สามารถแปลหรือแปลงกลับไปกลับมาได้ระหว่างภาษาไทย ภาษาบาลีอักษรไทย และภาษาบาลีอักษรโรมัน
โปรแกรมสามารถอ่านออกเสียงให้เราฟังได้ ( เฉพาะภาษาบาลีอักษรไทย และภาษาบาลีอักษรโรมันเท่านั้น )
สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่ขยายความพระไตรปิฎกข้อนั้น ๆ ได้
สามารถเปิดดูข้อมูลได้หลาย Windows พร้อม ๆ กัน ทำให้สะดวกในการเทียบเคียงข้อมูลในจุดต่าง ๆ
สามารถสั่งพิมพ์ข้อมูลทางเครื่องพิมพ์ และสั่ง Save ข้อมูลลง Floppy Disk หรือ Hard Disk ได้
เนื้อหา
ประกอบด้วยพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสยามรัฐ
พระไตรปิฎกภาษาบาลี ( ทั้งอักษรไทยและอักษรโรมัน ) ฉบับสยามรัฐ
อรรถกถาและฎีกาภาษาบาลี ( ทั้งอักษรไทยและอักษรโรมัน ) ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฏราชวิทยาลัย
*** ไม่มีอรรถกถาและฎีกาภาษาไทย ***
สถานที่ติดต่อ
สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรฯ 2470333 โทรสาร 2467308
WebSite : www.mahidol.ac.th/budsir
E-mail : [email protected]
ราคา
ประมาณ 2,999 บาท ( ดูเหมือนราคาจะลดลงเรื่อย ๆ )

 

 

 

 

 

 

 

 

 





หมายเหตุ

พระไตรปิฎกชุดอื่นๆ มีให้อ่านได้ฟรี มีทั้งแบบให้อ่านและค้นทาง Internet และแบบให้ Download ไปเก็บไว้อ่านที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของท่านเอง เชิญเลือกดูได้ที่ Link น่าสนใจ นะครับ



หนังสือวิมุตติมรรค

ผู้ประพันธ์ต้นฉบับภาษาบาลี
พระอุปติสสเถระ
ประวัติผู้ประพันธ์
ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน สันนิษฐานว่าท่านเป็นพระอรหันต์ผู้ชำนาญในพระวินัย มีผลงานแพร่หลายในรัชสมัยของพระเจ้าวสภะผู้ครองราชย์ในลังกา พ.ศ. 609-653 ยังสรุปไม่ได้ว่าท่านเป็นชาวอินเดียหรือลังกา และท่านรจนาคัมภีร์นี้ที่อินเดียหรือลังกากันแน่ เห็นพ้องต้องกันว่าท่านรจนาวิมุตติมรรคก่อนที่พระพุทธโฆสาจารย์จะได้รจนาวิสุทธิมรรค และพระพุทธโฆสาจารย์ได้ศึกษาวิมุตติมรรคก่อนจะรจนาวิสุทธิมรรค
ประวัติของคัมภีร์
น่าเสียดายที่วิมุตติมรรคฉบับภาษาบาลีได้สูญหายไปนานแล้ว โชคดีที่ยังเหลือฉบับภาษาจีน ที่ท่านพระติปิฎกสังฆปาละแห่งฟูนานได้แปลไว้เมื่อคริสตศตวรรษที่ 6 ต่อมาพระเอฮาราแห่งญี่ปุ่นร่วมกับพระโสมเถระ และพระเขมินทเถระได้แปลจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า The Path of Freedom ซึ่งพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2504
สำหรับคัมภีร์วิมุตติมรรคฉบับภาษาไทยนั้น มีผู้แปลไว้หลายฉบับ เช่น พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะ พิมพ์ที่สำนักพิมพ์ศยาม บริษัทเคล็ดไทย จำกัด โทรฯ 2259536-40 จำนวน 427 หน้า ปกแข็งราคา 450 บาท เป็นต้น
เนื้อหา
เป็นหนังสือที่ผู้ที่คิดจะศึกษาธรรมของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่คิดจะทำกรรมฐาน สมควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง
เป็นหนังสือที่อธิบายหลักการของพระพุทธศาสนาไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง มองเห็นเหตุผล และที่มาที่ไป ได้อย่างชัดเจน แจกแจงรายละเอียดไว้เป็นหมวดหมู่ ตั้งแต่หมวดของศีล สมาธิ(สมถกรรมฐาน) ปัญญา(วิปัสสนากรรมฐาน) โดยการเขียนแบบถามตอบที่สั้นกระชับตรงประเด็น ทำให้จับประเด็นหลัก และความคิดรวบยอดได้อย่างรวดเร็ว มีรายละเอียดตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด เหมาะกับนักปฏิบัติในทุกระดับ
สถานที่ติดต่อ
สามารถหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติ และตามห้องสมุดรวมทั้งในวัดบางวัด
หรือลองติดต่อที่ สำนักพิมพ์ศยาม บริษัทเคล็ดไทย จำกัด โทรฯ 2259536-40
ราคา
ประมาณ 450 บาท ( มีของหลายสำนักพิมพ์ราคาคงไม่เท่ากัน )

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



หนังสือวิสุทธิมรรค

ผู้ประพันธ์ต้นฉบับภาษาบาลี
พระพุทธโฆสาจารย์
ประวัติผู้ประพันธ์
พระพุทธโฆสาจารย์หรือพระพุทธโฆสะ เป็นพระภิกษุชาวอินเดียในสมัยประมาณ พ.ศ. 900 กว่า เป็นผู้ที่มีความจำเป็นเลิศ และมีความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ลังกา และได้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่นั่นเพื่อเป็นการพิสูจน์ความรู้ของท่านให้เป็นที่ยอมรับของชาวลังกา พระพุทธโฆสาจารย์นี้นับได้ว่าเป็นภิกษุที่มีชื่อเสียง และมีบทบาทสำคัญต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากรูปหนึ่ง ท่านได้แต่งคัมภีร์ที่สำคัญไว้มากมายเพื่อใช้ขยายความพระไตรปิฎกให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น (คัมภีร์ในชั้นอรรถกถา) สำหรับคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้นับได้ว่าเป็นคัมภีร์ที่สำคัญมากของเถรวาทคัมภีร์หนึ่ง
ประวัติของคัมภีร์
คัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยมานานแล้ว และมีผู้แปลไว้หลายครั้งหลายสำนวน มีทั้งการแปลแบบถอดความเป็นสำนวนไทย (ทำให้อ่านเข้าใจง่าย) และแปลแบบเทียบคำศัพท์จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยคำต่อคำ ทำให้ได้เป็นภาษาไทยสำนวนบาลี ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาการแปลภาษาบาลี (คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ยาก) เพราะฉะนั้นเวลาซื้อต้องเลือกให้ดี (ทั้งนี้เพราะหนังสือวิสุทธิมรรคเป็นหนังสือแบบเรียนวิชาภาษาบาลีเล่มหนึ่ง ของภิกษุ สามเณรในปัจจุบัน)
เนื้อหา
ผู้ที่หาหนังสือวิมุตติมรรคอ่านไม่ได้ หนังสือวิสุทธิมรรคนี้ก็เป็นอีกเล่มหนึ่งที่น่าสนใจ
หนังสือวิสุทธิมรรคนี้อธิบายหลักการของพระพุทธศาสนาไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง แจกแจงรายละเอียดไว้เป็นหมวดหมู่ ตั้งแต่หมวดของศีล สมาธิ(สมถกรรมฐาน) ปัญญา(วิปัสสนากรรมฐาน) เช่นเดียวกับหนังสือวิมุตติมรรค แต่จะเน้นไปในเรื่องปริยัติ (ทฤษฎี) มากกว่า ทำให้เข้าใจและมองเห็นภาพได้ยากกว่าวิมุตติมรรค มีรายละเอียดตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด เหมาะกับนักปริยัติและนักปฏิบัติ (ที่มีพื้นฐานทางปริยัติมาพอสมควร)
สถานที่ติดต่อ
หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายหนังสือธรรมทั่วไป (แต่ต้องเลือกสำนวนให้ดี ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น)
ราคา
ราคาไม่แพง ประมาณหลักสิบถึงร้อยบาทต้น ๆ มีทั้งแบบแยกเป็นเล่มเล็ก ๆ และรวมเป็นเล่มใหญ่ทั้งคัมภีร์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



หนังสือมิลินทปัญหา

ผู้ประพันธ์ต้นฉบับภาษาบาลี
เป็นเสมือนบันทึกการสนทนาซักถามปัญหาธรรมระหว่างพระยามิลินท์กับพระนาคเสน
ประวัติ
ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน สันนิษฐานว่าพระยามิลินท์เป็นกษัตริย์ผู้ครองแคว้นหรือนคร ๆ หนึ่ง ในอาณาจักรอินเดียโบราณ (น่าจะอยู่ประมาณ พ.ศ. 300-500) เป็นผู้มีปัญญามาก แต่ยังไม่เลื่อมใสในลัทธิหรือศาสนาใดเลย และได้เที่ยวสนทนาซักถามปัญหาเกี่ยวกับคำสอนของลัทธิและศาสนาต่าง ๆ กับนักบวชของลัทธิหรือศาสนานั้น ๆ อยู่เป็นประจำ ว่ากันว่าไม่มีใครสามารถโต้ตอบปัญหากับพระยามิลินท์ได้เลย จนนักบวชทั้งหลายพากันเกรงกลัวการซักถามปัญหาของพระยามิลินท์กันไปทั่ว สำหรับพระนาคเสนนั้น เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาในสายของเถรวาท สันนิษฐานว่าเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นผู้มีปัญญามากและแตกฉานในพระไตรปิฎก เมื่อพระยามิลินท์ได้มีโอกาสซักถามปัญหากับพระนาคเสนจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ประวัติของคัมภีร์
หนังสือมิลินทปัญหานี้ได้รับการแปลเอาไว้หลายภาษา สำหรับภาษาไทยนั้นมีผู้แปลไว้หลายครั้ง มีทั้งแบบรวมเป็นเล่มใหญ่หลายร้อยหน้า และแบบแบ่งเป็นเล่มเล็ก ๆ หลายเล่ม
เนื้อหา
เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผู้ที่คิดจะศึกษาธรรมของพระพุทธศาสนา สมควรได้อ่าน
เนื้อความจะเป็นการซักถามปัญหาธรรม โดยพระยามิลินท์จะเป็นผู้ซักถามและพระนาคเสนเป็นผู้ตอบ คำถามนั้นจะกระจายกว้าง จนแทบจะเรียกได้ว่าครอบคลุมหลักธรรมที่สำคัญทั้งหมดของพระพุทธศาสนา คำตอบนั้นนอกจากจะอธิบายเหตุผลแล้ว ยังได้ยกตัวอย่างประกอบทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น พระยามิลินท์จะซักถามจนกระทั่งหมดข้อสงสัยแล้ว จึงเปลี่ยนไปถามปัญหาข้อใหม่ต่อไป ในที่สุดพระยามิลินท์ก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่อธิบายหลักการของพระพุทธศาสนาไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง มองเห็นเหตุผล และที่มาที่ไป ได้อย่างชัดเจนอีกเล่มหนึ่ง เหมาะกับผู้สนใจพระพุทธศาสนาในทุกระดับ
สถานที่ติดต่อ
สามารถหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติ และตามห้องสมุดรวมทั้งในวัดบางวัด
ราคา
มีของหลายสำนักพิมพ์ ราคาคงไม่เท่ากัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



หนังสือพุทธธรรม

ผู้ประพันธ์
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) หรือ เจ้าคุณประยุทธ ปยุตฺโต
*** หากสะกดผิดก็ขออภัยด้วย ***
ประวัติผู้ประพันธ์
พระธรรมปิฎกนับเป็นเพชรน้ำงามเม็ดหนึ่งของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และของวงการพระพุทธศาสนาเมืองไทย ท่านได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 8 สถาบัน นอกจากนี้ ท่านยังเป็นคนเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ (Prize for Peace Education) จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ท่านมีงานนิพนธ์ไม่น้อยกว่า 157 เรื่อง ดังปรากฏตามร้านหนังสือทั่วไป โดยเฉพาะร้านหนังสือของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาจุฬาบรรณาคาร) บริเวณวัดมหาธาตุฯ ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ประวัติของคัมภีร์
หนังสือพุทธธรรมนับว่าเป็นผลงานดีเด่นดุจเพชรน้ำเอกของวงการพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน และมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปยอมรับภูมิปัญญาบนรากฐานธรรมของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
เนื้อหา
เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาละเอียด ลึกซึ้ง และทำความเข้าใจได้ง่ายเป็นอย่างยิ่ง แม้ผู้อ่านจะไม่มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจธรรมมาก่อนเลย กล่าวได้ว่าผู้ที่คิดจะศึกษาธรรมของพระพุทธศาสนาสมควรอ่านเป็นเล่มแรก ๆ
เป็นหนังสือที่อธิบายหลักการของพระพุทธศาสนาไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง มองเห็นเหตุผล และที่มาที่ไป ได้อย่างชัดเจน แจกแจงรายละเอียดไว้เป็นหมวดหมู่ ครอบคลุมคำสอนสำคัญทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ชีวิตคืออะไร ชีวิตเป็นอย่างไร ชีวิตเป็นไปอย่างไร ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร ชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร (ศีล สมาธิ ปัญญา) มีรายละเอียดตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด ท่านเจ้าคุณฯ ได้เขียนหนังสือพุทธธรรมนี้และได้ปรับปรุง แทรกรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติมหลายครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย และชัดเจนขึ้น จนทำให้มีเนื้อหารวมทั้งหน้าแทรกมากกว่าหนึ่งพันหน้า (อย่าพึ่งตกใจนะครับ เพราะเราสามารถเลือกอ่านเฉพาะเรื่องที่เราสนใจได้ก่อน) เหมาะสำหรับนักศึกษาค้นคว้า นักปฏิบัติ และผู้สนใจธรรมในทุกระดับ
สถานที่ติดต่อ
สามารถหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติ และตามห้องสมุดรวมทั้งในวัดบางวัด
หรือลองติดต่อที่ มหาจุฬาบรรณาคาร (ร้านหนังสือของมหาจุฬาฯ) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ (ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) โทรฯ 02-2229865
ราคา
ประมาณ 500 บาท ( พิมพ์หลายครั้งราคาคงไม่เท่ากัน )

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 









หมายเหตุ

เนื่องจากทุกวันนี้มีคำสอนออกมาแตกต่างกันมากมายหลายสาย หลายแนว สร้างความสับสนให้ผู้ที่สนใจอยู่ไม่น้อย หนังสือที่แนะนำในที่นี้จึงเน้นที่หนังสือที่เป็นหลักสำคัญของพุทธศาสนา โดยเฉพาะนิกายเถรวาท ซึ่งหนังสือที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปในปัจจุบัน เท่าที่ทางผู้ดำเนินการทราบ ก็มีเท่าที่แนะนำเอาไว้เท่าที่เห็นนี้เท่านั้น ทางผู้ดำเนินการจึงได้แนะนำให้อ่านเอาไว้เพื่อเป็นหลักเทียบเคียงในการศึกษาธรรมของพระพุทธศาสนาต่อไป

สำหรับหนังสืออื่นๆ สามารถค้นได้จาก Link น่าสนใจ นะครับ



ด้วยความปรารถนาดี
จาก
ธัมมโชติ


กลับไปหน้าหลัก