ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


พระอนุรุทธะ

พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย
ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ ทุติยอนุรุทธสูตร

ว่าด้วยพระอนุรุทธะสนทนากับพระสารีบุตร

[๕๗๐] ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ก็ชื่นชมกับท่านพระสารีบุตร กล่าวถ้อยคำที่ทำให้เกิดความชื่นบานต่อกัน เป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แล้วกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า อาวุโสสารีบุตร ข้าพเจ้า (อยู่) ในที่นี้ตรวจดูสหัสสโลก (๑,๐๐๐ โลก) ได้ด้วยจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เกินจักษุมนุษย์สามัญ อนึ่ง ความเพียรข้าพเจ้าก็ทำไม่ท้อถอย สติก็ตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน กายก็รำงับไม่กระสับกระส่าย จิตก็มั่นคงเป็นหนึ่งแน่วแน่ เออก็เหตุไฉน จิตของข้าพเจ้าจึงยังไม่สิ้นอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น - ธัมมโชติ) หลุดพ้นจากอาสวะ (กิเลสที่นอนเนื่องในขันธสันดาน - ธัมมโชติ) ทั้งหลายเล่า. (คือยังไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ - ธัมมโชติ)

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า อาวุโสอนุรุทธะ ข้อที่ท่านว่า ข้าพเจ้าตรวจดูสหัสสโลกได้ ด้วยจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เกินจักษุมนุษย์สามัญ นี้เป็นเพราะมานะ (ความเย่อหยิ่งถือตัว ในที่นี้เป็นอติมานะ คือถือตัวว่าเหนือกว่าคนอื่นเขา - ธัมมโชติ)

ข้อที่ว่า อนึ่ง ความเพียรข้าพเจ้าก็ทำไม่ท้อถอย สติก็ตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายก็รำงับไม่กระสับกระส่าย จิตก็มั่นคงเป็นหนึ่งแน่วแน่ นี้เป็นเพราะอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน คือจิตไม่อยู่กับปัจจุบัน ไม่ใส่ใจกับสภาวะที่ปรากฏเฉพาะหน้าในขณะนั้น แต่ซัดส่ายไปถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นคือการบรรลุธรรม - ธัมมโชติ)


ภาพจากวัดจีน พุทธคยา


(โปรดสังเกตว่า ข้อความที่ว่า อนึ่ง ความเพียรข้าพเจ้าก็ทำ ..... (จนถึง) .....จิตก็มั่นคงเป็นหนึ่งแน่วแน่ นั้นคล้ายๆ กับว่าจิตกำลังอยู่กับปัจจุบัน คือกำลังดูสภาวะของกายและจิตในขณะนั้น แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า ความคิดนั้นมีความรู้สึกว่า เหตุไฉนจึงยังไม่บรรลุธรรม แอบแฝงอยู่ด้วย นั่นคือแท้จริงแล้วจิตกำลังน้อมไปสู่เรื่องการบรรลุธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น จิตจึงไม่อยู่ที่ปัจจุบันอย่างแท้จริง - ธัมมโชติ)

ข้อที่ว่า เออก็เหตุไฉน จิตของข้าพเจ้าจึงยังไม่สิ้นอุปาทาน หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเล่า นี้เป็นเพราะกุกกุจจะ (ความรำคาญใจ ความขัดเคืองใจอย่างอ่อนๆ ซึ่งเป็นโทสะชนิดอ่อน - ธัมมโชติ)

ทางที่ดีนะ ท่านอนุรุทธะจงละธรรม ๓ ประการนี้เสีย (คือ มานะ อุทธัจจะ และกุกกุจจะ - ธัมมโชติ) อย่าใส่ใจถึงธรรม ๓ ประการนี้ แล้วน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ (ธาตุไม่ตาย คือ พระนิพพาน) เถิด. (คือปล่อยวาง จะได้ไม่เกิดมานะ อุทธัจจะ และกุกกุจจะขึ้นมาในใจ แล้วยินดีในพระนิพพาน คือ ความสิ้นตัณหา ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง - ธัมมโชติ)

ภายหลังท่านอนุรุทธะก็ละธรรม ๓ ประการนี้ ไม่ใส่ใจถึงธรรม ๓ ประการนี้ น้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ อยู่มาท่านหลีกจากหมู่อยู่คนเดียว ไม่ประมาท ทำความเพียร มีตนอันส่งไปอยู่ ไม่ช้าเลย กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการเพื่อประโยชน์อันใด ท่านก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันนั้น ซึ่งเป็นคุณที่สุดแห่งพรหมจรรย์อย่างเยี่ยมยอด ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนั่น ท่านรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำแล้ว กิจอื่น (ที่จะต้องทำ) เพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีก. ท่านพระอนุรุทธะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในพระอรหันต์ทั้งหลายแล้ว.

จบทุติยอนุรุทธสูตร

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
19 พฤษภาคม 2545

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker