ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


ปิงคิยมาณพ

ย่อความจากพระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม 17 ขุททกนิกาย อุทาน
ปรายนวรรคที่ 5 ปิงคิยปัญหาที่ ๑๖

[๔๔๐] ปิงคิยมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์เป็นคนแก่แล้ว มีกำลังน้อย ผิวพรรณเศร้าหมอง นัยน์ตาทั้งสองของข้าพระองค์ไม่ผ่องใส (เห็นไม่จะแจ้ง) หูสำหรับฟังก็ไม่สะดวก ขอข้าพระองค์อย่างได้เป็นคนหลง ฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ ข้าพระองค์ควรรู้ ซึ่งเป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้ เสียเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรปิงคิยะ ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่ เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังเป็นผู้ประมาทก็ย่อยยับอยู่เพราะรูปทั้งหลาย ดูกรปิงคิยะเพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละรูปเสีย เพื่อความไม่เกิดอีก ฯ

ปิ. ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ รวมเป็น สิบทิศ สิ่งไรๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ทราบ หรือไม่ได้รู้แจ้ง มิได้มี ขอพระองค์จงตรัส บอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ เป็นเครื่องละชาติและชราใน อัตภาพนี้เถิด ฯ

พ. ดูกรปิงคิยะ เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้ว เกิดความเดือดร้อน อันชราถึงรอบข้าง ดูกรปิงคิยะ เพราะ เหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละตัณหาเสีย เพื่อความไม่เกิดอีก ฯ

... (หลังจากนั้นปิงคิยมาณพได้บวช แล้วเดินทางกลับไปหาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ และได้สนทนากัน - ธัมมโชติ) ...

[๔๔๓] ... พราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์ถามพระปิงคิยะว่า ท่านปิงคิยะ พระโคดมพระองค์ใด ได้ทรงแสดงธรรมอันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีจัญไร หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้แก่ท่าน เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระปัญญาเป็นเครื่องปรากฏดุจแผ่นดิน มีพระปัญญากว้างขวาง สิ้นกาลแม้ครู่หนึ่งเล่า ฯ

พระปิงคิยะตอบพราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์ว่า ท่านพราหมณ์ พระโคดมพระองค์ใด ได้ทรงแสดงธรรมอันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีจัญไร หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้แก่อาตมา อาตมามิได้อยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระปัญญาเป็นเครื่องปรากฏดุจแผ่นดิน มีพระปัญญากว้างขวาง สิ้นกาล แม้ครู่หนึ่ง ท่านพราหมณ์ อาตมาไม่ประมาททั้งกลางคืน กลางวัน เห็นอยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยจักษุ ฉะนั้น อาตมานมัสการอยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้นตลอดราตรี อาตมามาสำคัญความ ไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้น ด้วยความไม่ประมาทนั้น ศรัทธา ปีติ มานะ และสติของอาตมา ย่อมน้อมไปในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้โคดม พระพุทธเจ้าผู้โคดมผู้มีพระปัญญากว้างขวาง ประทับอยู่ยังทิศาภาค ใดๆ อาตมานั้นเป็นผู้นอบน้อมไปโดยทิศาภาคนั้นๆ นั่นแล ร่างกายของอาตมาผู้แก่แล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อยนั่นเอง ท่านพราหมณ์ อาตมาไปสู่พระพุทธเจ้าด้วยการไปแห่งความ ดำริเป็นนิตย์ เพราะว่าใจของอาตมาประกอบแล้วด้วยพระพุทธเจ้านั้น อาตมานอนอยู่บนเปือกตม คือกาม ดิ้นรนอยู่ (เพราะตัณหา) ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง ครั้งนั้นอาตมา ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ฯ


พระพุทธเมตตา พระประธานในมหาวิหาร พุทธคยา


(ในเวลาจบคาถานี้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ ของพระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีแล้ว ประทับอยู่ ณ นครสาวัตถีนั้นเอง ทรงเปล่งพระรัศมีดุจทองไปแล้ว พระปิงคิยะกำลังนั่งพรรณนาพระพุทธคุณแก่ พราหมณ์พาวรีอยู่ ได้เห็นพระรัศมีแล้วคิดว่า นี้อะไร เหลียวแลไป ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประหนึ่งประทับอยู่เบื้องหน้าตน จึงบอกแก่พราหมณ์พาวรีว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว พราหมณ์พาวรีได้ลุกจากอาสนะประคองอัญชลียืนอยู่ แม้พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงแผ่พระรัศมีแสดงพระองค์แก่พราหมณ์พาวรี ทรงทราบธรรมเป็นที่สบายของพระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีทั้งสองแล้ว เมื่อจะ ตรัสเรียกแต่พระปิงคิยะองค์เดียว จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า)

ดูกรปิงคิยะ พระวักกลิ พระภัทราวุธะ และพระอาฬวีโคดม เป็นผู้มีศรัทธาน้อมลงแล้ว (ได้บรรลุอรหัตด้วยศรัทธาธุระ) ฉันใด แม้ท่านก็จงปล่อยศรัทธาลง ฉันนั้น ดูกรปิงคิยะ เมื่อท่านน้อมลงด้วยศรัทธาปรารภวิปัสสนา โดยนัยเป็นต้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ก็จักถึงนิพพาน อันเป็นฝั่งโน้นแห่ง วัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมัจจุราช ฯ

พระปิงคิยะเมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของตนจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์นี้ย่อมเลื่อมใสอย่างยิ่ง เพราะได้ฟังพระวาจาของ พระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์มีกิเลสดุจหลังคาอันเปิดแล้ว ตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เอง ไม่มีกิเลสดุจเสาเขื่อน ทรงมีปฏิภาณ ทรงทราบธรรมเป็นเหตุกล่าวว่าประเสริฐยิ่ง ทรงทราบธรรมชาติทั้งปวง ทั้งเลวและประณีต พระองค์เป็นศาสดาผู้กระทำที่สุดแห่งปัญหาทั้งหลาย แก่เหล่าชนผู้มีความสงสัยปฏิญาณอยู่ นิพพานอันกิเลสมีราคะเป็นต้นไม่พึงนำไปได้ เป็นธรรมไม่กำเริบ หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้ ข้าพระองค์จักถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแน่แท้ ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในนิพพานนี้เลย ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปแล้ว (ในนิพพาน) ด้วย ประการนี้แล ฯ (บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว - ธัมมโชติ)

จบปารายนวรรคที่ ๕

วิเคราะห์

เนื่องจากพระปิงคิยะเป็นผู้ยิ่งด้วยศรัทธา พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ท่านใช้ศรัทธา นำหน้าปัญญาในการเข้าถึงธรรม คือท่านมีปัญญาเห็นแจ้งในธรรมชาติทั้งปวง (เช่น สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นต้น) อยู่ระดับหนึ่ง แล้วอาศัยศรัทธาน้อมใจเชื่อคำสอนอื่นๆ ของพระพุทธเจ้าทั้งหมด เพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไป จนกลายเป็นพระอรหันต์ ซึ่งผู้ที่บรรลุธรรมด้วยวิธีนี้ ที่กล่าวถึงไว้ในพระไตรปิฎก มีเพียงไม่กี่รูปเท่านั้น เช่น พระวักกลิ พระภัทราวุธะ และพระอาฬวีโคดม รวมถึงพระปิงคิยะรูปนี้ด้วย.

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
22 กรกฎาคม 2544

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker