ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


อาจารย์และศีลจำเป็นหรือไม่

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้


คำถาม

การนั่งวิปัสนา ต้องมีอาจารย์หรือเปล่าน้อ และต้องถือศีลด้วยหรือเปล่า แล้วจะทำให้จิตใจที่หมกมุ่น ที่สกปรก ใสสะอาดได้ไหมน้า บอกหน่อยนะคะ


ตอบ

เรียน คุณ .....

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ผมขอเรียนให้ทราบดังนี้นะครับ

  1. การเจริญวิปัสสนานั้นจำเป็นต้องรู้แนวทางที่ถูกต้องครับ ซึ่งอาจจะรู้ได้จากการอ่าน หรือการฟัง หรือด้วยวิธีอื่นใดก็แล้วแต่ เพราะผู้ที่จะรู้ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีผู้อื่นแนะนำ ก็มีอยู่ 2 จำพวกคือ พระพุทธเจ้า (พระสัพพัญญูพุทธเจ้า) กับพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น (ดูรายละเอียดเรื่องพระพุทธเจ้าได้ในเรื่องเวลามสูตร : เปรียบเทียบผลบุญชนิดต่างๆ ในหมวดธรรมทั่วไป) ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ จะไม่มาตรัสรู้ในช่วงที่คำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนยังไม่เลือนหายไปจากโลก

    ในสมัยพุทธกาลนั้น เท่าที่สังเกตจากในพระไตรปิฎก จะเห็นว่าภิกษุส่วนใหญ่จะฟังคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติกรรมฐานจากพระพุทธเจ้า หรือจากอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์ แล้วก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติตามป่า ตามถ้ำ หรือในท้องถิ่นอื่น จนกระทั่งบรรลุมรรคผลโดยไม่ได้ฟังคำแนะนำเพิ่มเติมเป็นระยะๆ อย่างเช่นในปัจจุบัน

    คือพอรู้ทางที่ถูกแล้วก็ไม่ต้องฟังอะไรเพิ่มเติมอีกเลย จะมีบ้างก็เพียงบางรูปเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำเพิ่มเติมให้อีกในภายหลัง แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าอินทรีย์ของคนในสมัยนั้นกล้าแข็งกว่าคนสมัยนี้เป็นส่วนใหญ่

    เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เหมาะสมกับคนสมัยนี้ ก็น่าจะใช้วิธีศึกษาหลักการให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน (จะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม) แล้วก็ปฏิบัติด้วยตัวเองอย่างจริงจัง เมื่อติดขัดหรือไม่แน่ใจตรงส่วนไหนก็ศึกษาเพิ่มเติม หรือถามผู้รู้เป็นระยะๆ แล้วก็ปฏิบัติต่อไป ก็น่าจะเป็นทางที่เหมาะสมที่สุด

  2. ภาพจากวัดที่ระลึกถึงพระถังซำจั๋ง เมืองนาลันทา

  3. เรื่องที่ว่าต้องถือศีลด้วยหรือเปล่า และจะทำให้จิตใจที่หมกมุ่น ที่สกปรก ใสสะอาดได้ไหมนั้น คิดว่าถ้าอ่านเรื่องลำดับขั้นของจิต และเรื่องพุทธวิธีพัฒนาจิต ในหมวดบทวิเคราะห์ ของเว็บไซต์ธัมมโชติ ก็น่าจะเข้าใจได้ชัดเจนนะครับ

    เพราะไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน การรักษาศีล การทำสมาธิ การเจริญวิปัสสนา ก็ล้วนมีส่วนในการซักฟอกจิตให้ใสสะอาด เบาสบายด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ช่วยกันคนละแง่มุมเท่านั้นเอง

    ดังนั้น ทุกอย่างก็จะมีผลที่คอยเกื้อหนุนซึ่งกันและกันไปในตัวอยู่แล้ว ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป อย่างอื่นก็ต้องเพิ่มกำลังให้แรงขึ้นอีกเพื่อชดเชยกัน ซึ่งบางกรณีก็อาจชดเชยกันไม่ได้ หรือได้ก็ลำบากมาก เช่น การผิดศีลจะทำให้จิตใจหยาบกระด้างขึ้น ถ้าผิดศีลอยู่เป็นประจำแล้ว การจะให้ทาน ทำสมาธิ หรือเจริญวิปัสสนา ให้หนักขึ้นเพื่อชดเชยกันก็จะทำได้ลำบาก เพราะการผิดศีลจะคอยดึงจิตลงอยู่เรื่อยๆ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ
2 กุมภาพันธ์ 2545

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker