ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


โยนิโสมนสิการ

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้


คำถาม

Sent: Monday, January 21, 2002 10:34 AM
Subject: ขอความกรุณาค่ะ

ต้องการทราบความหมายของคำว่าโยนิโสมนสิการ พร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วยค่ะ ช่วยเมลกลับมาด้วยนะค่ะ ขอบคุณมากค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

คำว่าโยนิโสมนสิการ จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความหมายไว้ดังนี้ :

โยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยแยบคาย, กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย, การพิจารณาโดยแยบคาย คือ พิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นตัวสภาวะ และความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่งจะมิให้เกิดอวิชชาและตัณหา, ความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี


ภาพจากวัดที่ระลึกถึงพระถังซำจั๋ง เมืองนาลันทา


อธิบายเพิ่มเติม

โดยหลักแล้วโยนิโสมนสิการก็คือหลักการสำคัญของการเจริญวิปัสสนา คือการมีสติเฝ้าสังเกตสภาวะที่ปรากฏตามความเป็นจริงในขณะที่เป็นปัจจุบันนั้นของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจ (โดยเน้นที่ร่างกายและจิตใจของตนเองเป็นหลัก) เพื่อให้เห็นความเป็นไปของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจ โดยเป้าหมายขั้นสูงสุดก็เพื่อให้เห็น หรือให้รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจ คือความที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แปรปรวนไปตลอดเวลา ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ถ้าขืนไปยึดก็มีแต่ทุกข์ที่จะตามมา ฯลฯ

เมื่อเห็นความเป็นจริงมากขึ้น และชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ก็จะลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ จนถึงขั้นทำลายกิเลสได้ในที่สุด (อ่านรายละเอียดได้ในเรื่องต่างๆ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ตั้งแต่เรื่องแรกของหมวดเป็นต้นไป)

ซึ่งการมีสติเฝ้าสังเกตนี้จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประกอบด้วย (ความจริงแล้วโยนิโสมนสิการก็คือตัวสำคัญที่ทำให้ปัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง) และเมื่อสังเกตไปมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ก็จะได้ข้อมูล (ตามความเป็นจริง) มากขึ้นเรื่อยๆ การพิจารณาโดยแยบคายก็จะตามมา ทำให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจ นอกจากจะเห็นสภาวะที่แท้จริงในแต่ละขณะแล้ว ยังสามารถเห็นความสัมพันธ์ของสภาวะอันนั้นกับเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาวะอันนั้นเกิดขึ้นอีกด้วย ยิ่งสังเกตมากขึ้นเท่าใด ปัญญา ความรู้แจ้งในธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจก็จะมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าเป็นการดูแบบไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีโยนิโสมนสิการประกอบ ก็จะเป็นเหมือนการเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ
27 มกราคม 2545

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker