ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


ศีลหนึ่ง
(รักษาศีลเพียงข้อเดียวพ้นทุกข์ได้)

อรรถกถาธรรมบท จิตตวรรควรรณนา
เรื่องอุกกัณฐิตภิกษุ

พระเถระแนะอุบายพ้นทุกข์แก่เศรษฐีบุตร

ดังได้สดับมา เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี บุตรเศรษฐีผู้หนึ่งเข้าไปหาพระเถระผู้เป็นชีต้น (ภิกษุที่คุ้นเคย ซึ่งเขาเคารพนับถือเป็นอาจารย์ เป็นที่ปรึกษา เรียกอีกอย่างว่ากุลุปกะ - ธัมมโชติ) ของตน เรียนว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมใคร่จะพ้นจากทุกข์, ขอท่านโปรดบอกอาการสำหรับพ้นจากทุกข์แก่กระผมสักอย่างหนึ่ง."

พระเถระกล่าวว่า "ดีละ ผู้มีอายุ ถ้าเธอใคร่จะพ้นจากทุกข์ไซร้, เธอจงถวายสลากภัต (อาหารที่ทายกถวายตามสลาก คือผู้ประสงค์จะทำบุญแต่ละคนจะจับสลาก ว่าตนจะได้ถวายอาหารแก่ภิกษุรูปใด - ธัมมโชติ) ถวายปักขิกภัต (ภัตที่ทายกถวายในวันปักษ์ คือทุก 15 วัน - ธัมมโชติ) ถวายวัสสาวาสิกภัต (ภัตที่ทายกถวายแก่ภิกษุผู้จำพรรษา) ถวายปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น, แบ่งทรัพย์สมบัติของตนให้เป็น ๓ ส่วน ประกอบการงานด้วยทรัพย์ส่วน ๑ เลี้ยงบุตรและภรรยาด้วยทรัพย์ส่วน ๑ ถวายทรัพย์ส่วน ๑ ไว้ในพระพุทธศาสนา."

เขารับว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วทำกิจทุกอย่าง ตามลำดับแห่งกิจที่พระเถระบอก แล้วเรียนถามพระเถระอีกว่า "กระผมจะทำบุญอะไรอย่างอื่น ที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกเล่า ? ขอรับ."

พระเถระตอบว่า "ผู้มีอายุ เธอจงรับไตรสรณะ (คือยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง - ธัมมโชติ) (และ) ศีล ๕." เขารับไตรสรณะและศีล ๕ แม้เหล่านั้นแล้ว จึงเรียนถามถึงบุญกรรมที่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น.

พระเถระก็แนะว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงรับศีล ๑๐." เขากล่าวว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วก็รับ (ศีล ๑๐). เพราะเหตุที่เขาทำบุญกรรมอย่างนั้นโดยลำดับ เขาจึงมีนามว่า อนุปุพพเศรษฐีบุตร.

เขาเรียนถามอีกว่า "บุญอันกระผมพึงทำ แม้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ยังมีอยู่หรือ ? ขอรับ" เมื่อพระเถระกล่าวว่า "ถ้ากระนั้นเธอจงบวช," จึงออกบวชแล้ว.

ภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรมรูปหนึ่งได้เป็นอาจารย์ของเธอ, ภิกษุผู้ทรงพระวินัยรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์, ในเวลาที่ภิกษุนั้นได้อุปสมบทแล้วมาสู่สำนักของ (อาจารย์ของ) ตน อาจารย์กล่าวปัญหาในพระอภิธรรมว่า "ชื่อว่าในพระพุทธศาสนา ภิกษุทำกิจนี้จึงควร, ทำกิจนี้ไม่ควร."

ฝ่ายพระอุปัชฌาย์ก็กล่าวปัญหาในพระวินัย ในเวลาที่ภิกษุนั้นมาสู่สำนักของตนว่า "ชื่อว่าในพระพุทธศาสนา ภิกษุทำสิ่งนี้ควร, ทำสิ่งนี้ไม่ควร; สิ่งนี้เหมาะ สิ่งนี้ไม่เหมาะ."


มหาวิทยาลัยนาลันทา


อยากสึกจนซูบผอม

ท่านคิดว่า "โอ ! กรรมนี้หนัก; เราใคร่จะพ้นจากทุกข์จึงบวช, แต่ในพระพุทธศาสนานี้ สถานเป็นที่เหยียดมือของเราไม่ปรากฏ, (คือมีข้อห้ามและข้อปฏิบัติมากมายเต็มไปหมด จนแทบทำอะไรตามความพอใจไม่ได้เลย - ธัมมโชติ) เราดำรงอยู่ในเรือนก็อาจพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะได้ เราควรเป็นคฤหัสถ์ (ดีกว่า)."

ตั้งแต่นั้น ท่านกระสัน (จะสึก) หมดยินดี (ในพรหมจรรย์) ไม่ทำการสาธยายในอาการ ๓๒, (การพิจารณาส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกาย 32 อย่าง เพื่อคลายความยึดมั่น - ธัมมโชติ) ไม่เรียนอุเทศ (หัวข้อธรรม บางครั้งหมายถึงปาฏิโมกข์ คือศีล 227 ข้อ - ธัมมโชติ) ผอม ซูบซีด มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ถูกความเกียจคร้านครอบงำ เกลื่อนกล่นแล้วด้วยหิดเปื่อย.

ลำดับนั้น พวกภิกษุหนุ่มและสามเณรถามท่านว่า "ผู้มีอายุ ทำไม ? ท่านจึงยืนแฉะอยู่ในที่ยืนแล้ว นั่งแฉะในที่นั่งแล้ว ถูกโรคผอมเหลืองครอบงำ ผอม ซูบซีด มีตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น ถูกความ เกียจคร้านครอบงำ เกลื่อนกล่นแล้วด้วยหิดเปื่อย, ท่านทำกรรมอะไรเล่า ?"

ภิกษุ. (นั้นตอบว่า) ผู้มีอายุ ผมเป็นผู้กระสัน.

ภิกษุหนุ่มและสามเณร. (ถามว่า) เพราะเหตุไร ?

ภิกษุนั้นบอกพฤติการณ์นั้นแล้ว, ภิกษุหนุ่มและสามเณรเหล่านั้นบอกแก่พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของท่านแล้ว. พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ได้พากันไปยังสำนักพระศาสดา.

รักษาจิตอย่างเดียวอาจพ้นทุกข์ได้

(คำว่าอาจ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า 1. กล้า, ห้าวหาญ 2. มีคุณสมบัติเหมาะแก่การจัดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง 3. คำช่วยกริยาบอกการคาดคะเน ในที่นี้น่าจะเป็นความหมายที่ 2. มากกว่าความหมายอื่น - ธัมมโชติ)

พระศาสดาตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมาทำไมกัน ?"


ภาพจากวัดทิเบต พุทธคยา


อาจารย์และอุปัชฌาย์. (ทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปนี้กระสันในศาสนาของพระองค์.

พระศาสดา. ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ ? ภิกษุ.

ภิกษุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เพราะเหตุไร ?

ภิกษุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (เพราะ) ข้าพระองค์ใคร่จะพ้นจากทุกข์จึงได้บวช, พระอาจารย์ของข้าพระองค์นั้นกล่าวอภิธรรมกถา, พระอุปัชฌาย์กล่าววินัยกถา. ข้าพระองค์นั้นได้ทำความตกลงใจว่า 'ในพระพุทธศาสนานี้ สถานเป็นที่เหยียดมือของเราไม่มีเลย, เราเป็นคฤหัสถ์ก็อาจพ้นจากทุกข์ได้, เราจักเป็นคฤหัสถ์' ดังนี้ พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. ภิกษุ ถ้าเธอจักสามารถรักษาได้เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น, กิจคือการรักษาสิ่งทั้งหลายที่เหลือ ย่อมไม่มี.

ภิกษุ. อะไร ? พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เธอจักอาจรักษาเฉพาะจิตของเธอ ได้ไหม ?

ภิกษุ. อาจรักษาได้ พระเจ้าข้า.

พระศาสดาประทานพระโอวาทนี้ว่า " ถ้ากระนั้น เธอจงรักษาเฉพาะจิตของตนไว้, เธออาจพ้นจากทุกข์ได้" ดังนี้เเล้ว จึงตรัสพระคาถานี้

สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ ยตฺถ กามนิปาตินํ
จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ.

"ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิต ที่เห็นได้แสนยาก
ละเอียดยิ่งนัก มันตกไปในอารมณ์ตามความใคร่,
(เพราะว่า) จิตที่คุ้มครองไว้ได้ เป็นเหตุนำสุขมาให้."

(ในที่สุดภิกษุรูปนี้ก็บรรลุเป็นโสดาบัน สำหรับมรรคผลขั้นสูงกว่านี้ไม่ได้กล่าวถึงเอาไว้ในเรื่องนี้ - ธัมมโชติ)

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
20 กรกฎาคม 2545

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker