ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


ข้อเตือนใจนักบวช

อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร (พระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต)

ธรรมที่บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ 10 ประการ

  1. เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์
  2. การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
  3. อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่
  4. เราย่อมติเตียนตนเองได้โดยศีล หรือไม่
  5. เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีล หรือไม่
  6. เราจะต้องพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
  7. เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน ...... เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
  8. วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่
  9. เราย่อมยินดีในเรือนว่างเปล่า หรือไม่
  10. ญาณทัสสนะวิเศษ อันสามารถกำจัดกิเลส เป็นอริยะ คืออุตตริมนุสสธรรมอันเราได้บรรลุแล้ว มีอยู่หรือหนอ.

นิรยวรรค ที่ 22 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

@ ก้อนเหล็กอันร้อนประหนึ่งเปลวไฟ ภิกษุบริโภคยังดีกว่า
ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวม บริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นจะประเสริฐอะไร.

@ หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด
คุณเครื่องเป็นสมณะที่บุคคลลูบคลำไม่ดี
(หมายถึงนักบวชที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม - ธัมมโชติ)
ย่อมคร่าเขาไปนรก ฉันนั้น.

ภาพจากวัดทิเบต พุทธคยา

นีตเถรคาถา (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา)

@ คนโง่เขลา มัวแต่นอนหลับตลอดทั้งคืน
และคลุกคลีอยู่ในหมู่ชน ตลอดวันยังค่ำ
เมื่อไรจักทำที่สุดแห่งทุกข์ (พระนิพพาน - ธัมมโชติ) ได้เล่า.

ยโสชเถรคาถา (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา)

ภิกษุอยู่รูปเดียวย่อมเป็นเหมือนพรหม
อยู่สองรูปเหมือนเทวดา
อยู่สามรูปเหมือนชาวบ้าน
อยู่ด้วยกันมากกว่านั้น ย่อมมีความโกลาหลมากขึ้น.....

อรรถกถา ที่ 3 (ธัมมัฏฐวรรค ที่ 19 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

@ ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกผู้เรียนมากหรือพูดมาก ว่า"เป็นผู้ทรงธรรม"
ส่วนผู้ใด เรียนคาถาแม้คาถาเดียว แล้วแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย (บรรลุมรรคผล - ธัมมโชติ)
ผู้นั้นชื่อว่าผู้ทรงธรรม.


พระพุทธรูปศรีลังกา


บัณฑิตวรรค ที่ 6 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

@ บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าวนิคคหะชี้โทษ
ว่าเป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น ซึ่งเป็นบัณฑิต
เพราะว่าเมื่อคบท่านผู้เช่นนั้น มีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มีโทษที่ลามก.

อรรถกถาที่ 8 (มลวรรค ที่ 20 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

@ ความเพียรเครื่องเผากิเลสควรทำในวันนี้ ทีเดียว
ใครพึงรู้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่งนี้
เพราะว่าความผัดเพี้ยนด้วยความตาย ซึ่งมีเสนาใหญ่นั้น ไม่มีเลย
มุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนั้น
มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน ตลอดกลางวันและกลางคืน
นั้นแล ว่าผู้มีราตรีเดียวเจริญ.

สัพพกามเถรคาถา (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา)

@ เบญจกามคุณอันน่ารื่นรมย์ใจเหล่านี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ที่มีปรากฏอยู่ในรูปร่างหญิง ย่อมล่อลวงปุถุชนให้ลำบาก
เหมือนพรานเนื้อแอบดักเนื้อด้วยเครื่องดัก
พรานเบ็ดจับปลาด้วยเบ็ด
บุคคลจับวานรด้วยตัง ฉะนั้น.

ภาพจากวัดทิเบต พุทธคยา

ตัณหาวรรค ที่ 24 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

@ ตัณหาดุจเถาย่านทราย ย่อมเจริญแก่คนผู้มีปกติประมาท
เขาย่อมเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ ดังวานรปรารถนาผลไม้ เร่ร่อนไปในป่า ฉะนั้น.

@ หมู่สัตว์อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว
ย่อมกระเสือกกระสน เหมือนกระต่ายที่นายพรานดักได้แล้ว ฉะนั้น.

สุขวรรค ที่ 15 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

@ ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะย่อมไม่มี
ทุกข์ทั้งหลายเสมอด้วยขันธ์ย่อมไม่มี สุขอื่นจากความสงบย่อมไม่มี.

อรรถกถาที่ 8 (นาควรรค ที่ 23 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

@ บรรพต พึงเป็นของล้วนด้วยทองคำที่สุกปลั่ง
แม้ความที่บรรพตนั้น (ทวีขึ้น) เป็นสองเท่า
ก็ยังไม่เพียงพอแก่ (ความต้องการของ) บุคคล (เพียง) คนหนึ่ง
บุคคลทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติแต่พอสม.

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
17 พฤศจิกายน 2544

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker