ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


ปริญญาของพระพุทธศาสนา

พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๙
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ปริญเญยยสูตร

ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้

[๓๖๙] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระราธะว่า ดูกรราธะ เราจักแสดงปริญเญยยธรรม (คือ) ธรรมอันบุคคลควรกำหนดรู้ ปริญญา (คือ) ความกำหนดรู้ และปริญญาตาวีบุคคล (คือ) บุคคลผู้กำหนดรู้ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.

ท่านพระราธะรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ ปริญเญยยธรรมเป็นไฉน? ดูกรราธะ รูปแลเป็นปริญเญยยธรรม เวทนาเป็นปริญเญยยธรรม สัญญาเป็นปริญเญยยธรรม สังขารเป็นปริญเญยยธรรม วิญญาณเป็นปริญเญยยธรรม. (ดูเรื่องขันธ์ 5 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) ดูกรราธะ ธรรมเหล่านี้เรากล่าวว่าปริญเญยยธรรม:

ดูกรราธะ ปริญญาเป็นไฉน? ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ. (ดูเรื่องอุปกิเลส 16 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) (ราคะมีความหมายเดียวกับโลภะ - ธัมมโชติ) นี้เรากล่าวว่าปริญญา.

ดูกรราธะ ปริญญาตาวีบุคคลเป็นไฉน? ผู้ที่เขาพึงเรียกกันว่าพระอรหันต์ คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้. ดูกรราธะ ผู้นี้เรากล่าวว่าปริญญาตาวีบุคคล.


พระพุทธรูปในมูลคันธกุฎีวิหาร สารนาถ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พาราณสี


วิเคราะห์เพิ่มเติม

หลักสูตร หรือเนื้อหาที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ก็คือการกำหนดรู้ หรือการเรียนรู้ธรรมชาติของรูปนาม หรือขันธ์ 5 นั่นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริง คือความไม่เที่ยง แปรปรวนไปตลอดเวลา เอาแน่อะไรไม่ได้ เป็นบ่อเกิดของทุกข์สารพัดอย่าง ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา ยึดมั่นถือมั่นอะไรไม่ได้เลย ฯลฯ

โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การพ้นจากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง อันเป็นผลให้กิเลสทั้งหลายหมดไปอย่างสิ้นเชิง (ดูเรื่องต่างๆ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปริญญาของพระพุทธศาสนา และผู้ที่ได้ชื่อว่ารับปริญญาขั้นสูงสุดแล้ว ก็คือพระอรหันต์ทั้งหลายนั่นเอง

ลองพิจารณาดูกันเถิดว่า การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ ทั้งในหลักสูตรที่มีจุดหมายปลายทางเป็นปริญญาบัตร เปรียญธรรม 9 ประโยค (ปธ.9) อภิธรรมบัณฑิต นักธรรมชั้นเอก ผู้เรียนแต่ละท่านมีจุดหมายปลายทางที่แท้จริงอยู่ที่อะไร ตรงกับเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหวังให้เป็นหรือไม่

(ผู้ดำเนินการไม่ได้มีเจตนาที่จะตำหนิหลักสูตร เพียงแต่ต้องการสะกิดให้แต่ละท่านได้พิจารณาตนเอง และปรับจุดหมายปลายทางให้เหมาะสมอย่างที่ควรจะเป็นเท่านั้นเอง)

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
27 กรกฎาคม 2545

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker