ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


โรคทางกายกับโรคทางใจ

พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย
จตุกนิบาต เล่ม ๒ โรคสูตร

ว่าด้วยโรค ๒ อย่าง

[๑๕๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ โรค ๒ อย่างเป็นไฉน คือ โรคกาย ๑ โรคใจ ๑ ปรากฏอยู่ว่าสัตว์ทั้งหลายผู้ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๑ ปีก็มี ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๒ ปีก็มี ๓ ปีก็มี ๔ ปีก็มี ๕ ปีก็มี ๑๐ ปีก็มี ๒๐ ปีก็มี ๓๐ ปีก็มี ๔๐ ปีก็มี ๕๐ ปีก็มี ๑๐๐ ปีก็มี ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีก็มี แต่ว่าผู้ที่จะยืนยันว่าไม่มีโรคทางใจแม้เพียงเวลาครู่เดียวนั้น หาได้ยากในโลก เว้นแต่พระขีณาสพ (พระอรหันต์ - ธัมมโชติ)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้ โรคของบรรพชิต ๔ อย่างเป็นไฉน คือ

  1. ภิกษุเป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจอยู่เสมอ ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย - ธัมมโชติ) คิลานปัจจัย (ยารักษาโรค - ธัมมโชติ) ตามมีตามได้

  2. ภิกษุนั้นเมื่อเป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจอยู่เสมอ ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยตามมีตามได้แล้ว ย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพื่อจะได้ความยกย่อง เพื่อจะได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ

  3. ภิกษุนั้นวิ่งเต้น ขวนขวาย พยายาม เพื่อจะได้ความยกย่อง เพื่อจะได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ

  4. ภิกษุนั้นเข้าสู่ตระกูล (หมายถึงเข้าไปหาครอบครัวต่างๆ - ธัมมโชติ) เพื่อให้เขานับถือ นั่งอยู่ (ในตระกูล) เพื่อให้เขานับถือ กล่าวธรรม (ในตระกูล) เพื่อให้เขานับถือ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะอยู่ (ในตระกูล) ก็เพื่อให้เขานับถือ

ภิกษุทั้งหลาย นี้แล โรคของบรรพชิต ๔ อย่าง.


ภาพจากวัดทิเบต พุทธคยา


เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.

จบโรคสูตร

วิเคราะห์เพิ่มเติม

ในพระสูตรนี้กล่าวถึงโรคทางใจอันมีความโลภเป็นมูลเป็นหลัก แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า กิเลสทุกตัว (ดูเรื่องอุปกิเลส 16 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ) ก็ล้วนเป็นโรคทางใจทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะทำให้จิตใจมีความผิดปรกติ แปรปรวนไป

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
28 พฤษภาคม 2545

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker