ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาทนับว่าเป็นหลักคำสอนที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งของพระพุทธศาสนา มีหลายชื่อเช่น ปัจจยาการ, อิทัปปัจจยตา เป็นต้น เป็นคำสอนที่ อธิบายถึงสาเหตุและผลลัพธ์ ในแต่ละขั้นตอนของชิวิตในวัฏสงสาร คืออธิบายว่า เหตุใดเมื่อตายแล้ว จึงมีการเกิดใหม่อย่างไม่รู้จบสิ้น หรืออธิบายถึงบ่อเกิดแห่งทุกข์ นั่นเอง รวมถึงอธิบายให้เห็นว่า จะดับหรือยุติกระบวนการเหล่านี้ได้อย่างไร

ปฏิจจ แปลว่า อาศัย, พึ่งพิง คือสิ่งต่างๆ นั้นจะเกิดขึ้นมาเองลอยๆ โดยไม่มีสาเหตุไม่ได้ จะต้องมีสิ่งอื่นเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด จึงเกิดขึ้นมาได้ ปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นสิ่งที่อธิบายให้เห็นว่า เพราะมีสิ่งนี้(เหตุ) สิ่งนี้(ผล)จึงมี เพราะสิ่งนี้(เหตุ)เกิด สิ่งนี้(ผล)จึงเกิดขึ้น เมื่อเหตุสิ้นไป ผลจึงไม่เกิดขึ้น คืออธิบายถึงการที่สิ่งต่างๆ อิงอาศัยสิ่งอื่นจึงเกิดขึ้นมาได้ นั่นเอง

ปฏิจจสมุปบาทนั้น อธิบายถึงชีวิตใน 3 ชาติ โดยแบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ 12 ขั้น โดยแต่ละขั้นนั้น จะมีขั้นก่อนหน้าเป็นเหตุให้เกิด และตัวขั้นนั้นเองก็เป็นเหตุให้ขั้นถัดไปเกิดขึ้น คืออดีตเป็นเหตุให้ปัจจุบันเกิด และปัจจุบันก็เป็นเหตุให้อนาคตเกิดขึ้นนั่นเอง

ในที่นี้จะยกหัวข้อขึ้นแสดงให้เห็นภาพรวมก่อน แล้วแสดงรายละเอียดในลำดับถัดไป

ชาติที่ 1 >
อวิชชา
v
สังขาร
v
ชาติที่ 2 >
วิญญาณ
v
นาม - รูป
v
สฬายตนะ
v
ผัสสะ
v
เวทนา
v
ตัณหา
v
อุปาทาน
v
ภพ หรือ ภวะ
v
ชาติที่ 3 >
ชาติ
v
ชรา มรณะ ทุกข์ต่างๆ
   


โดยมีรายละเอียดดังนี้

อวิชชา (ความไม่รู้) เพราะความไม่รู้ว่าการเกิดเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เป็นทุกข์ ไม่รู้ว่าการเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป (ดูเรื่องทุกข์เกิดจากอะไร ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ) ความยินดีในการเกิดจึงมีอยู่ในจิตใจ โดยเฉพาะในจิตใต้สำนึกอยู่ตลอดเวลา การคิดปรุงแต่งของจิต(สังขาร) ที่เกี่ยวเนื่องด้วยการเกิดใหม่ จึงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ

สังขาร (การปรุงแต่งของจิต - ดูเรื่องขันธ์ 5 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ โดยเฉพาะในหัวข้อสังขารขันธ์) เมื่อความยินดีในการเกิดยังมีแฝงลึกอยู่ในจิตใต้สำนึก เมื่อความตายกำลังจะมาถึง จิตจึงปรุงแต่งไปในทางที่ดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไป เมื่อไม่สามารถรักษาชีวิตในชาตินี้ให้ยั่งยืนต่อไปได้แล้ว ความดิ้นรนของจิตเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไป จึงทำให้เกิดพลังอย่างมหาศาล ส่งผลให้จิตวิญญาณในภพใหม่ หรือชาติใหม่ เกิดขึ้นทันทีที่ตายจากชาตินี้

กรณีของคนที่ฆ่าตัวตายนั้น(ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) เนื่องจากอวิชชายังมีอยู่ จิตใต้สำนึกของเขา จึงยังยินดีในการเกิดอยู่ และการที่เขาคิดฆ่าตัวตายนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีความยินดีในการเกิด แต่เป็นเพราะว่าเขาทนกับสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้นไม่ได้ต่างหาก ถ้าเขาสามารถพ้นจากสภาพนั้นได้ เขาก็ย่อมจะไม่ฆ่าตัวตาย ดังนั้น เมื่อใกล้จะตาย ความดิ้นรนของจิตอันเกิดจากความยินดีในการเกิด ที่แฝงเร้นอยู่ในจิตใต้สำนึกจึงเกิดขึ้น เขาจึงต้องเกิดใหม่อีกเช่นกัน

ผู้ที่พ้นจากการเกิดใหม่ได้ จึงมีแต่พระอรหันต์เท่านั้น เพราะอวิชชาหมดไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ทั้งในจิตสำนึก และในจิตใต้สำนึก ความยินดีในการเกิดจึงไม่ปรากฏขึ้นมาอีก

วิญญาณ (สิ่งที่รับรู้ความรู้สึกต่างๆ - ดูเรื่องขันธ์ 5 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ) คำว่าวิญญาณ ในที่นี้ มุ่งเน้นที่ปฏิสนธิวิญญาณ หรือปฏิสนธิจิต คือจิตหรือวิญญาณที่เกิดขึ้นในขณะแรกของภพ หรือของชาติใหม่ เนื่องจากวิญญาณขันธ์ไม่สามารถอยู่โดยลำพังเพียงขันธ์เดียวได้ จะต้องมีรูปขันธ์ และนามขันธ์อื่นที่เหลือ (เวทนา สัญญา สังขารขันธ์) อยู่ด้วยเสมอ (ยกเว้นในบางภูมิ ที่มีเฉพาะรูปขันธ์ หรือนามขันธ์เท่านั้น) ดังนั้น เมื่อปฏิสนธิวิญญาณเกิดขึ้น จึงเหนี่ยวนำให้นามขันธ์อื่นที่เหลือ และรูปขันธ์ (นาม - รูป) เกิดขึ้นพร้อมกับวิญญาณขันธ์นั้น เหมือนเมื่อมีเปลวไฟแล้ว แสงสว่างกับความร้อนก็ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกัน

นาม - รูป (นามขันธ์และรูปขันธ์ - ดูเรื่องขันธ์ 5 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ) เมื่อนามขันธ์ และรูปขันธ์เกิดขึ้นมาแล้ว อวัยวะรับความรู้สึกทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งรวมเรียกว่าสฬายตนะ หรืออายตนะภายใน 6 อย่าง (ดูเรื่องอายตนะ 12 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ) ย่อมเกิดขึ้นตามสมควรแก่กรรมของบุคคลนั้น และตามสมควรแก่ภพภูมิที่เกิดนั้น

สฬายตนะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ - ดูเรื่องอายตนะ 12 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ) เมื่อสฬายตนะ หรืออวัยวะรับความรู้สึกต่างๆ อยู่ในสภาพที่ดี พร้อมใช้งานแล้ว เมื่อมีสิ่งต่างๆ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ธัมมารมณ์ (ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ) มากระทบอย่างเหมาะสมกับอวัยวะเหล่านั้น ผัสสะ (การกระทบกันของประสาทตากับรูป, ประสาทหูกับเสียง, ประสาทรับกลิ่นกับกลิ่น, ประสาทรับรสกับรส, ประสาทกายกับโผฏฐัพพะ, ใจกับธัมมารมณ์) ย่อมเกิดขึ้น


ภาพจากวัดจีน พุทธคยา


ผัสสะ (การกระทบกันของประสาทตากับรูป,..., ใจกับธัมมารมณ์) เมื่อมีผัสสะแล้ว การรับรู้ในสิ่งต่างๆ จึงตามมา ส่งผลให้เวทนาเกิดขึ้น (สุข ทุกข์ กลางๆไม่สุขไม่ทุกข์ - ดูหัวข้อเวทนาขันธ์ ในเรื่องขันธ์ 5 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ)

เวทนา (เวทนาขันธ์ - ดูเรื่องขันธ์ 5 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ) เมื่อสุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนาเกิดขึ้น ความเพลิดเพลิน ความยินดีพอใจย่อมตามมา (ยกเว้นพระอรหันต์ เพราะไม่มีอวิชชา และกิเลสทั้งปวงแล้ว) ไม่นานนักตัณหา (ความทะยานอยาก) คือความอยากได้สิ่งเหล่านั้น หรือสัมผัสเหล่านั้นต่อไปเรื่อยๆ หรือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เกิดขึ้น

ตัณหา (ความทะยานอยาก) เมื่อตัณหาเกิดขึ้นบ่อยๆ กำลังของตัณหานั้นก็ย่อมจะมากขึ้นทุกที ความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ในสิ่งเหล่านั้น หรือในความทะยานอยากนั้น ย่อมเกิดขึ้น และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดแล้ว ก็ย่อมอยากจะได้รับสิ่งเหล่านั้นต่อไปอีกในอนาคต ซึ่งรวมถึงในชาติต่อๆ ไปด้วย การสร้างวิมานในอากาศจึงเกิดขึ้น (ความปรารถนาไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ที่มีสภาพเหมือน หรือดีกว่าสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้น) จึงเรียกได้ว่าขณะนั้น ภพได้เกิดขึ้นในใจแล้ว และเมื่อปรารถนาไปเกิดในภพภูมิใด ความพยายามในการสร้างกรรม (อาจจะเป็นกรรมดี หรือกรรมชั่วก็ได้) เพื่อให้ไปเกิดในภพภูมินั้น (เรียกว่ากรรมภวะ) ย่อมตามมา (ภวะ หรือภพมี 2 อย่าง คือ ขณะสร้างกรรมเพื่อให้ไปเกิดในภพภูมินั้น เรียกว่ากรรมภวะ หรือกรรมภพ และขณะที่ได้ไปเกิดในภพภูมินั้นจริงๆ เรียกว่าอุปปัตติภวะ หรืออุปปัตติภพ)

ภพ หรือ ภวะ เมื่อวิมานในอากาศเกิดขึ้นในใจ หรือเมื่อกรรมภพ หรือกรรมภวะเกิดขึ้นแล้ว เช่น การทำบุญให้ทาน การรักษาศีลเพราะหวังว่าจะได้ไปสวรรค์ หรือหวังว่าชาติหน้าจะได้รวยๆ การทำสมาธิเพราะหวังว่าจะได้ไปเกิดในรูปภูมิ หรืออรูปภูมิ ฯลฯ ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ความยินดีพอใจ หรือความปรารถนาในการเกิดใหม่นั้น มีอยู่อย่างเต็มที่ ดังนั้น เมื่อใกล้จะตาย จิตจึงดิ้นรนเพื่อให้ได้เกิดใหม่ในชาติต่อไป ซึ่งจะไปเกิดเป็นอะไร ในภพภูมิไหนนั้น ก็ขึ้นกับกรรมที่ได้กระทำเอาไว้

ชาติ (ชาตะ - การเกิดใหม่) เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นชรา (ความเสื่อมไปตามกาลเวลา) มรณะ (ความตาย) และความทุกข์ทั้งหลาย ทั้งทางกาย และทางใจนานัปการ (ดูเรื่องทุกข์เกิดจากอะไร ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ)

และตราบใดที่อวิชชายังมีอยู่ วงล้อแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้ ย่อมหมุนไปอย่างไม่รู้จบสิ้น โดยมีอวิชชาเป็นผู้ลากไป เหมือนล้อเกวียน ที่หมุนทับรอยเดิม (ทับแต่ละจุดบนผิวล้อ ซึ่งเปรียบเหมือนแต่ละขั้นของปฏิจจสมุปบาท) ซ้ำไปซ้ำมาอย่างไม่รู้จบ

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการอธิบายปฏิจจสมุปบาทในแง่ของการเกิด ซึ่งจะเห็นได้ว่าสาเหตุที่สำคัญ ของการเกิดใหม่ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงนั้น ก็คืออวิชชา และที่รองลงมาก็คือ ตัณหา และอุปาทานนั่นเอง


กุสินารา อินเดีย


สำหรับปฏิจจสมุปบาทในแง่ของการดับนั้น อธิบายได้ว่า

เมื่ออวิชชาดับไป คืออวิชชาไม่เกิดขึ้น > สังขารที่ปรุงแต่งไปในทางยินดีในการเกิด จึงไม่เกิดขึ้น
เมื่อสังขารที่ปรุงแต่งไปในทางยินดีในการเกิดไม่เกิดขึ้น > วิญญาณในภพใหม่จึงไม่เกิดขึ้น
เมื่อวิญญาณในภพใหม่ไม่เกิดขึ้น > นาม - รูปในภพใหม่จึงไม่เกิดขึ้น
เมื่อนาม - รูปในภพใหม่ไม่เกิดขึ้น > สฬายตนะในภพใหม่จึงไม่เกิดขึ้น

... ผัสสะ ... เวทนา ... ตัณหา ... อุปาทาน ... ภพ หรือ ภวะ ... ชาติ ... จึงไม่เกิดขึ้น

เมื่อชาติ (การเกิด) ในภพใหม่ไม่เกิดขึ้น > ชรา มรณะ ทุกข์ต่างๆ ในภพใหม่จึงไม่เกิดขึ้น

วงล้อแห่งปฏิจจสมุปบาท จึงหยุดหมุนได้ด้วยประการฉะนี้

ซึ่งอวิชชาจะหมดไปได้ก็ด้วยการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น

หมายเหตุ
ส่วนประกอบต่างๆ เช่น อวิชชา, สังขาร, ..., ทุกข์ต่างๆ ที่กล่าวแยกกันอยู่ในแต่ละชาตินั้น เพื่อเป็นการเน้นบทบาทของส่วนประกอบนั้นๆ เป็นพิเศษ ทั้งนี้ในทุกๆ ชาติ ก็ล้วนมีส่วนประกอบทั้งหมดเหล่านี้ อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ไม่ได้กล่าวถึงเท่านั้นเอง (ยกเว้นในบางภพภูมิ หรือบางบุคคล ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว เช่น ในอรูปภูมิมีแต่นามขันธ์ ไม่มีรูปขันธ์ พระอรหันต์ไม่มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ทุกข์ทางใจ เป็นต้น)

ธัมมโชติ
2 เมษายน 2544

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker