ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


เวลามสูตร : เปรียบเทียบผลบุญชนิดต่างๆ

ที่มา : พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

เนื่องจากเวลามสูตรนี้ เป็นพระสูตรที่มีเนื้อหาบางตอนที่เข้าใจได้ค่อนข้างยาก ผู้ดำเนินการจึงได้ทำการสรุป โดยนำเอาเนื้อหาที่สำคัญมาจัดเรียงแยกเป็นข้อๆ เพื่อให้ง่ายในการทำความเข้าใจ ดังนี้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ณ พระวิหารเชตวัน ใกล้พระนครสาวัตถี แคว้นโกศล ถึงผลบุญที่เกิดขึ้น จากการทำบุญประเภทต่างๆ ตั้งแต่การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา (คำว่าบุญนั้น คือการชำระจิตให้ผ่องใสจากกิเลส มีหลายวิธี ไม่ใช่เฉพาะการให้ทานเท่านั้น) ว่าอย่างไหนให้บุญมาก/น้อย แตกต่างกันอย่างไร มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า : บุคคลให้ทานอันเศร้าหมอง หรือประณีตก็ตาม (ในที่นี้หมายถึงการให้ของที่มีราคาถูกมีสภาพไม่น่าดู หรือของที่มีราคาแพงประณีตสวยงาม เพราะในตอนนั้นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ประสบภัยพิบัติหลายอย่าง ทำให้ฐานะยากจนลง ไม่สามารถทำบุญด้วยอาหารชั้นดีได้อย่างเมื่อก่อน ทำได้แค่เพียงปลายข้าวกับน้ำผักดองเท่านั้น ) แต่ให้ทานนั้นโดยความเคารพ ทำความนบนอบให้ ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่เหลือ เชื่อกรรมและผลของกรรม ย่อมได้ผลบุญมาก

และได้ทรงแจกแจงรายละเอียดของผลบุญจากการทำบุญชนิดต่างๆ ไว้ดังนี้

- การให้ทานโสดาบันท่านเดียว ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานแก่ปุถุชนจำนวนมาก
- การให้ทานโสดาบัน 100 ท่าน ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานโสดาบันท่านเดียว
- การให้ทานสกทาคามีบุคคลท่านเดียว ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานโสดาบัน 100 ท่าน
- การให้ทานสกทาคามีบุคคล 100 ท่าน ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานสกทาคามีบุคคลท่านเดียว
- การให้ทานอนาคามีบุคคลท่านเดียว ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานสกทาคามีบุคคล 100 ท่าน
- การให้ทานอนาคามีบุคคล 100 ท่าน ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานอนาคามีบุคคลท่านเดียว
- การให้ทานพระอรหันต์ท่านเดียว ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานอนาคามีบุคคล 100 ท่าน
- การให้ทานพระอรหันต์ 100 ท่าน ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานพระอรหันต์ท่านเดียว
- การให้ทานพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์เดียว ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานพระอรหันต์ 100 ท่าน
- การให้ทานพระปัจเจกพุทธเจ้า 100 พระองค์ ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์เดียว
- การให้ทานพระสัพพัญญูพุทธเจ้าพระองค์เดียว ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานพระปัจเจกพุทธเจ้า 100 พระองค์
- การให้ทานภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข (สังฆทาน - การให้ทานโดยไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นภิกษุรูปนั้นรูปนี้) ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานพระสัพพัญญูพุทธเจ้า
- การสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง 4 (ให้โดยไม่เจาะจงผู้รับว่าต้องเป็นภิกษุรูปนั้นรูปนี้) ได้ผลบุญมากกว่าให้ทานภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
- การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ได้ผลบุญมากกว่า การสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง 4
- การรักษาศีล 5 ได้ผลบุญมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ
- การเจริญเมตตาจิต (เป็นการทำสมาธิรูปแบบหนึ่ง) แม้เพียงเวลาสูดดมของหอม ได้ผลบุญมากกว่าการรักษาศีล 5
- การเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงลัดนิ้วมือ (การเจริญอนิจจสัญญาคือการพิจารณาถึงความไม่เที่ยง ซึ่งเป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างหนึ่ง เพียงลัดนิ้วมือคือเพียงเท่าเวลาที่ดีดนิ้วมือ 1 ครั้ง) ได้ผลบุญมากกว่าการเจริญเมตตาจิตแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม


ภาพจากวัดศรีลังกา พุทธคยา

หมายเหตุ

พระพุทธเจ้ามี 2 ประเภทคือ
1.) พระปัจเจกพุทธเจ้า - ตรัสรู้สัจธรรมได้เองโดยไม่ได้ฟังคำสอนจากใคร แต่สอนผู้อื่นให้รู้ตามไม่ได้ จะอุบัติขึ้นในช่วงที่โลกว่างเปล่าจากศาสนา
2.) พระสัพพัญญูพุทธเจ้า - ตรัสรู้สัจธรรมได้เองโดยไม่ได้ฟังคำสอนจากใคร และสามารถสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ด้วย เช่น พระพุทธเจ้าที่เรารู้จักกันทั่วไป

ข้อสังเกต

- การเจริญวิปัสสนาจะได้บุญมากกว่าอย่างอื่น เพราะเป็นการฟอกจิตให้หมดจดจากกิเลสได้มากที่สุด ซึ่งถ้าทำได้ถึงขั้นสูงก็จะทำลายกิเลสได้อย่างถาวร และเมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็จะเป็นบุญขั้นสูงที่สุด
- การทำสมาธิจะได้บุญรองลงมา เพราะเป็นการกั้นจิตจากนิวรณ์ได้ตราบเท่าที่สมาธิยังอยู่ (ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบ)
- การรักษาศีลจะได้บุญรองจากการทำสมาธิ เพราะเป็นการขัดเกลาจิตจากกิเลสขั้นหยาบ คือการล่วงละเมิดทางกายและทางวาจา
- การมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ คือการหันมานับถือพระพุทธศาสนา ให้ผลบุญมากเพราะเป็นการหันมารับเอาความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาจิตด้วยวิธีการทั้งปวง
- การให้ทานแก่สงฆ์ (สังฆทาน) จะได้บุญมากกว่าการให้ทานแบบเจาะจงตัวผู้รับ เพราะใจเปิดกว้างกว่า (ต้องไม่เจาะจงตัวผู้รับด้วยใจที่แท้จริงถึงจะได้บุญมาก)
- การให้ทานแบบเจาะจงตัวผู้รับนั้น จะให้ผลบุญลดหลั่นกันไปตามขั้นของความบริสุทธิ์ของจิตของผู้รับ (ดูเรื่องอริยบุคคล 8 ประเภท ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
29 พฤศจิกายน 2543

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker