ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


ญาติอารมณ์ร้อน

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้


คำถาม

มีญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เอาแต่ใจตัวเองมาก อารมณ์ร้อน และคงเคยชินติดเป็นนิสัย ตอนนี้ก็แก้ยากมากแล้ว ไม่แน่ใจว่าเรื่องธรรมะจะสนใจมากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่เห็นไม่เคยปฏิบัติค่ะ ทำบุญตามเทศกาลบ้าง ปัญหาอยู่ที่ตอนนี้มีเหตุจำเป็นบางประการ ที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคุณแม่ดิฉันอย่างใกล้ชิด คุณแม่ดิฉันก็อดทนแต่เป็นอดแบบเก็บ นานมาก (ก็เพิ่งทราบเช่นกัน) จนปะทุในที่สุด แบบสุภาพนะคะ แต่ก็ปะทุ

คำถามข้อที่หนึ่ง ทำอย่างไรให้คุณแม่ไม่รู้สึกบาป เพราะท่านบอกเสมอว่า เหมือนมีวจีกรรม แต่มโนกรรมหน่ะนานแล้ว เช่น หงุดหงิด รำคาญ แล้วก็รู้สึกบาปทุกที

สอง จะทำอย่างไรให้ญาติผู้ใหญ่ท่านนั้นเย็น และมอง และพยายามปรับตัวเองบ้าง อาจจะยาก เพราะอายุมากแล้ว แต่ในฐานะหลานพออ่านคำตอบเรื่องบุตร (เรื่องดวง หรือชะตาชีวิต ในหมวดบทวิเคราะห์ - ธัมมโชติ) ก็อยากให้โน้มจิตเข้ามาทางนี้บ้าง สงสาร กลัวว่ามันจะไกลเกินโน้มได้ในชาติต่อๆไป อยากช่วยเพราะส่วนหนึ่งญาติท่านนี้ก็รักและเอ็นดูดิฉันมาก


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

  1. เรื่องญาติผู้ใหญ่ที่อารมณ์ร้อน (โทสจริต) นั้น ก็อยู่ที่ว่าท่านยอมรับความจริง และคิดที่จะปรับปรุงตัวหรือไม่

    ถ้าท่านไม่ยอมรับความจริง คนอื่นก็คงทำได้แค่เพียงจัดสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ สงบ ร่มรื่น เย็นสบาย ไม่มีสิ่งกวนใจโดยไม่จำเป็น ผู้ที่อยู่ใกล้ก็ควรทำใจให้เย็นที่สุด ไม่ทำให้ท่านขัดเคืองโดยไม่จำเป็น และพยายามทำความเข้าใจว่าธรรมชาติของท่านเป็นอย่างนี้เอง แล้วยอมรับความจริงตามสภาพ

    อาจมีการหย่อนใจเป็นระยะๆ เช่น พาไปเที่ยวสวนสาธารณะ ฯลฯ

    แต่ถ้าท่านคิดที่จะปรับปรุงก็ทำได้ดังนี้

    1. พูดคุยให้ท่านทราบว่า คนอื่นรู้สึกว่าท่านเป็นคนอารมณ์ร้อน เพราะบางทีท่านอาจจะทำไปด้วยความเคยชิน จนไม่รู้ตัวเองเลยก็ได้ แล้วก็พูดคุยถึงผลเสียจากการเป็นคนอารมณ์ร้อนนั้น เช่น ตัวท่านเองก็ไม่มีความสุข คนที่อยู่ใกล้ก็ไม่มีความสุข เป็นผลเสียต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ฯลฯ เพื่อให้ท่านมีความคิดที่จะพยายามปรับปรุงตัวอย่างจริงจัง

    2. จัดสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวเอาไว้แล้ว

    3. ให้ท่านทำสิ่งต่างๆ ให้ช้าลง ประณีตขึ้น เป็นระเบียบขึ้น เพื่อให้ใจเย็นขึ้น

    4. ให้ท่านแผ่เมตตาบ่อยๆ โดยแผ่ออกไปรอบๆ ตัว ให้กับคน และสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยทั่วไป จิตก็จะเย็นขึ้นเรื่อยๆ

    5. ให้ท่านสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำ สวดบทยาวๆ ยิ่งดี เพื่อเป็นการฝึกจิตให้เย็นขึ้น

    6. ให้ท่านให้ทาน รักษาศีล ทำสมาธิ วิปัสสนา ตามกำลังที่จะทำได้

    7. เวลาอยู่ว่างๆ ก็ให้ตามรู้การเข้าออกของลมหายใจไปเรื่อยๆ

    8. ให้พยายามปล่อยวางเรื่องต่างๆ ให้มากที่สุด คิดถึงหลักความจริงที่ว่า ไม่มีใครทำอะไรให้ได้อย่างใจของเราไปทุกอย่างหรอก แม้แต่ตัวเราเองก็ยังทำให้ตัวเราพอใจไม่ได้ตลอดเลย

  2. วัดทิเบต พุทธคยา

  3. สำหรับคุณแม่ของคุณนั้น ก็คงต้องทำความเข้าใจเรื่องของเหตุปัจจัยให้มากที่สุด คือ สิ่งต่างๆ ล้วนไม่มีอำนาจในตนเองอย่างแท้จริง (อนัตตา) ต่างก็แปรผันไปตามเหตุปัจจัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่ผิดหรือถูกในตัวของมันเองอย่างแท้จริง เพราะการกระทำทุกอย่างก็เป็นเพียงผลการตอบสนองต่อเหตุปัจจัย (อ่านเรื่องต่างๆ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ)

    อย่างการที่ท่านทนไม่ไหวจนกระทั่งมีปฏิกิริยาโต้ตอบออกมา ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางใจก็ตาม ก็ล้วนเกิดจากเหตุปัจจัยที่บีบคั้นอย่างรุนแรงทั้งสิ้น จะโทษว่าเป็นความผิดของท่านก็ไม่ถูก และท่านก็ไม่มีเจตนาที่จะให้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น ถึงจะบาปก็บาปไม่รุนแรง

    หรือแม้แต่การที่ญาติผู้ใหญ่ท่านนั้นมีลักษณะนิสัยอย่างนั้น ก็ล้วนเป็นผลของเหตุปัจจัยที่รุมเร้าท่านมาในอดีตเช่นกัน จึงส่งผลให้ปัจจุบันท่านเป็นเช่นนี้

    เพราะฉะนั้น อย่าได้กังวลในเรื่องเหล่านี้ เช่น เรื่องใครทำบาปทำกรรม หรือใครผิดใครถูก ให้มากนัก เพราะถึงอย่างไรก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้อยู่ดี ยิ่งคิดก็จะยิ่งทุกข์กันไปเปล่าๆ

    แต่ควรหันมายอมรับสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน แล้วหาทางปรับปรุง หรือรักษาสภาพจิตให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคตดีกว่า

    ขอเสนอแนวทางที่คุณแม่ของคุณน่าจะทำได้ ดังนี้ครับ

    1. ยอมรับความจริงตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด แล้วพยายามปล่อยวางให้ได้ อาจจะคิดว่าเป็นการใช้หนี้กรรมเก่าก็ได้ครับ

    2. แผ่เมตตาให้ญาติผู้ใหญ่ท่านนั้นให้มากๆ ถ้าญาติท่านนั้นไม่ดีขึ้น อย่างน้อยจิตของคุณแม่ของคุณก็เย็นขึ้น

    3. หาโอกาสอยู่ห่างๆ ญาติท่านนั้นเป็นระยะๆ เพื่อผ่อนคลายบ้าง จะได้ไม่เครียดจนเกินไป อาจจะทำกิจกรรมอื่นๆ ประกอบ เช่น ไปเที่ยว ดูโทรทัศน์ ไปทำบุญที่วัดและคุยกับพระ สวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิ เจริญวิปัสสนา ฯลฯ

    4. พยายามอย่าทำให้ญาติท่านนั้นขัดเคืองใจ หรือถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น ก็พยายามใช้ความเย็นดับความร้อน เช่น พยายามแผ่เมตตาสวนกลับไปให้ตั้งมั่นและทันกาลที่สุด ซึ่งอาจจะทำได้ยากแต่ถ้าทำได้ก็จะเห็นผลทันตาครับ คือ

      1. จิตของคุณแม่คุณก็เย็นขึ้น

      2. ไม่ไปก่อปฏิกิริยาลูกโซ่ คือ โกรธกันไปโกรธกันมาจนเรื่องวุ่นวายใหญ่โต ทำให้เรื่องระงับอยู่แค่นั้น

      3. ถ้ากำลังของเมตตาจิตมีมากพอ ญาติท่านนั้นก็จะระงับความโกรธได้อย่างรวดเร็ว

      4. คุณแม่ของคุณก็จะไม่ต้องมากังวลกับเรื่องกลัวบาปในเรื่องนี้อีก

      5. ถ้าคิดว่าพอเป็นไปได้ ก็หาโอกาสที่เหมาะสม พูดคุยกับญาติท่านนั้นตามที่ได้กล่าวแล้วในข้อ 1. (ข้อแรกสุด)

      6. อะไรที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงนักก็ตามใจท่านไปเถอะครับ จะได้อยู่กันอย่างสงบ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ
1 มีนาคม 2546

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker