ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


โรคทางจิต

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้


คำถาม

คนที่จิตใจไม่นิ่ง ส่ายไหวตลอดเวลา (แบบอ่อน) จนกลายเป็นอาการทางจิตแบบต่างๆ เช่นโรคทางจิตต่างๆ (แบบรุนแรงจนแสดงอาการ) อาทิ โรคซึมเศร้า โรคหวาดระแวง หลงลืม โรคบุคลิกภาพหลายแบบ (มีหลายบุคลิกในหนึ่งคน) ฯลฯ

ถามทางกรรมเก่า ทำอะไรมา กรรมปัจจุบันทำอะไร (ดื่มสุราเนี่ยปัญญาอ่อนใช่มั้ยคะ แต่กลุ่มนี้นี่ฉลาดปรกติค่ะ)

ถามปัจจุบัน ถ้าเจอคนแบบนี้ แก้ไขได้อย่างไร ช่วยนะคะ ไม่ใช่หนีห่างๆ อันนั้นง่ายไป เพราะคนกลุ่มนี้ ส่วนมากจะไม่ยอมรับว่าตัวเองมีภาวะผิดธรรมชาติ และไม่มีความต้องการที่จะแก้ไขหน่ะค่ะ

ขอบคุณค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

โทษของการดื่มสุรา (รวมถึงกรรมชนิดอื่นๆ ด้วย) นั้นมีอยู่หลายระดับความรุนแรงนะครับ ถ้าขั้นเบาๆ ก็ไม่จำเป็นต้องถึงกับปัญญาอ่อนครับ เช่น อาจจะทำให้ขาดสติได้ง่าย เลื่อนลอย ไม่ค่อยมีสมาธิ (หมายถึงสมาธิตามธรรมชาตินะครับ) ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตด้านต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

แต่ก็ควรพิจารณาปัจจัยด้านอื่นๆ ประกอบด้วยนะครับ เช่น การพูดปด พูดส่อเสียด (ยุให้เขาแตกแยกกัน) พยาบาท อภิชฌา (อยากได้ของของคนอื่นอย่างไม่ชอบธรรม) เหล่านี้ก็จะทำให้เกิดความหวาดระแวง มองโลกในแง่ร้าย คิดหรือกลัวว่าคนอื่นจะทำเช่นนั้นกับตนเองบ้าง ก็จะเป็นตัวเสริมให้เกิดความผิดปรกติต่างๆ ทางจิตได้เช่นกันครับ หรือแม้แต่การชอบพูดเพ้อเจ้อ ถึงแม้จะไม่เป็นกรรมหนัก แต่ก็ส่งผลให้จิตไม่หนักแน่น เลื่อนลอย ไม่ค่อยมีสาระได้เช่นกันครับ

ซึ่งกรรมต่างๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมเก่า หรือกรรมในปัจจุบันก็ส่งผลได้ทั้งนั้นครับ ยิ่งถ้ามีทั้งกรรมเก่าและกรรมปัจจุบันประกอบกัน ก็ยิ่งส่งผลได้มากและรุนแรงขึ้นครับ


วัดพม่า พุทธคยา


สำหรับการช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้นั้น ถ้าทำให้เขายอมรับความจริงได้ก็ง่ายขึ้นนะครับ แต่ถ้าเขาไม่ยอมรับความจริงก็ยากหน่อย

ถ้ามองในแง่ของกรรม ก็ต้องแก้ด้วยการให้ทำกรรมใหม่ที่ให้ผลในทางตรงข้ามกันครับ เช่น ให้เลิกดื่มสุรา ให้รู้จักการฝึกสติในชีวิตประจำวัน การรักษาศีล 5 รวมถึงการปรับสภาวะจิตเพื่อแก้ปัญหาการมองโลกในแง่ร้าย และความหวาดระแวงต่างๆ เช่น การบริจาคทาน (เป็นการฝึกทำประโยชน์ให้คนอื่นอย่างจริงใจ) การทำสาธารณะประโยชน์ต่างๆ การแผ่เมตตา ถ้าได้อยู่ใกล้ชิดกับกัลยาณมิตร ก็จะทำให้เขาปรับมุมมองต่อบุคคลภายนอกได้ง่ายขึ้นด้วยครับ

นอกจากนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรยกระดับจิตให้ประณีตขึ้น เช่น การทำสมาธิ การเจริญวิปัสสนา (แต่สำหรับการทำสมาธิ และเจริญวิปัสสนาสำหรับผู้มีปัญหาทางจิตนั้น ต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษด้วยนะครับ ควรมีการดูแล และสอบอารมณ์อย่างใกล้ชิด และสม่ำเสมอ ไม่งั้นเสี่ยงที่จะเพี้ยนไปได้ง่ายๆ)

ในกรณีที่เขาไม่ยอมรับว่าตนเองผิดปรกติ หรือไม่มีความต้องการที่จะแก้ไข ก็คงต้องใช้การแสดงอานิสงส์ด้านอื่นๆ เข้าล่อครับ เพราะการกระทำต่างๆ นั้นมีประโยชน์หลายด้านประกอบกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องบอกเขาว่า ให้ทำเพื่อแก้ไขปัญหาทางจิตของเขาก็ได้ครับ (ถ้าบอกตรงๆ อาจได้รับแรงต้านก็ได้นะครับ)

เช่น การไม่ดื่มสุรา ก็อาจแสดงเหตุผลในเรื่องการทะเลาะวิวาท สุขภาพกาย สุขภาพจิต อุบัติเหตุ ความสิ้นเปลืองทรัพย์สิน ความน่าเชื่อถือ ฯลฯ การฝึกสติ ก็อาจพูดในแง่ของการไม่ให้สมองเสื่อมเร็วกว่าเวลาอันควร หรือประสิทธิภาพในการทำงาน การเรียน ฯลฯ การรักษาศีล ก็อาจพูดในแง่ของอานิสงส์ของศีลข้อต่างๆ ในแง่ต่างๆ ทั้งทางโลก ทางธรรม สำหรับการให้ทาน การแผ่เมตตา ฯลฯ ก็ทำนองเดียวกันครับ

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ
26 กุมภาพันธ์ 2546

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker