ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


ฆ่าตัวตาย-ถูกฆ่าตาย

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้


คำถาม

คนที่ฆ่าตัวตายในชาติก่อน เช่น ยิงตัวตาย ต้องไปรับกรรมที่ไหนบ้าง (เพราะเคยอ่านเจอว่าเป็นกรรมหนักหนึ่งในห้าอย่าง) การกลับมาเกิดเป็นคนใหม่ในชาติภพต่อมาเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

และเคยอ่านว่า คนที่ฆ่าตัวตายมีแนวโน้มของจิตที่จะโน้มไปสู่การฆ่าตัวตายได้อีกในชาติต่อๆ มา มีวิธีการช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างไรบ้างคะ ที่ช่วยไม่ให้จิตโน้มไปแบบนั้นอีก (ถ้าเป็นไปได้ ต่อๆ ไปชาติถัดๆ ที่เหลือด้วยก็ดี)

และเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีโอกาสมาเกิดเป็นคนได้เร็วๆ เข่นตายไป สี่ห้าปีก็มาเกิดอีกเป็นคน และเป็นคนที่มีคุณสมบัติค่อนข้างดี (ไม่น่าเชื่อว่าเป็นจิตเก่าของคนที่ฆ่าตัวตายมาก่อน) และเกิดใหม่ได้เร็วขนาดนั้น ไม่ต้องรับกรรมก่อนเหรอคะ

อีกนัย หากถูกฆ่าตายแบบไม่รู้ตัว เช่น ถูกลอบวางแผนฆ่า อย่างนี้จิตจะตามอาฆาตหรือเปล่าคะ เพราะตอนตายไม่รู้ตัวว่าโดนฆ่าตายนี่คะ และหากเป็นเช่นนั้น ตัดกรรมกันอย่างไร เพราะตอนตายก็ไม่ได้อาฆาตมาดร้าย (เพราะไม่รู้) แต่ผู้ที่ฆ่า ตามหลักกรรมก็ต้องถูกเหนี่ยวมาชดใช้กันอยู่ดี ซึ่งก็เป็นวงจรที่ไม่จบ คำถามคือ ทำไงให้จบ หรือสั้นที่สุด

ขอบคุณค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

เรื่องการฆ่าตัวตายนั้นไม่จัดอยู่ในอนันตริยกรรม 5 นะครับ อนันตริยกรรม 5 มี 5 อย่าง คือ

1. มาตุฆาต - ฆ่ามารดา
2. ปิตุฆาต - ฆ่าบิดา
3. อรหันตฆาต - ฆ่าพระอรหันต์
4. โลหิตุปบาท - ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อเลือด
5. สังฆเภท - ยุสงฆ์ให้แตกแยกจนไม่ลงโบสถ์ทำสังฆกรรมร่วมกัน

เรื่องบาปกรรมของการฆ่าตัวตายนั้น ลองดูเรื่องโทษของการฆ่าตัวตาย ในหมวดบทวิเคราะห์ ประกอบนะครับ


ภาพจากวัดทิเบต พุทธคยา


โอกาสการได้กลับเป็นคนนั้น ก็ขึ้นกับพื้นฐานจิตใจของคนนั้นด้วยนะครับ ถ้าเป็นคนที่ปรกติพื้นฐานจิตใจดี ทำบุญอย่างสม่ำเสมอ แล้วมาถูกเหตุปัจจัยบีบคั้นอย่างรุนแรง จนตั้งตัวไม่ติด แล้วพลาดพลั้งฆ่าตัวตายนั้น โอกาสได้กลับมาเกิดเป็นคนก็เร็วหน่อย คือเมื่อใดเขานึกถึงบุญเก่าได้ จิตใจก็จะประณีต ผ่องใสขึ้น ถ้าจิตประณีตเพียงพอแก่การเกิดเป็นคน ก็พร้อมจะเกิดเป็นคนได้ทันทีถ้าขณะนั้นเป็นโอปปาติกะอยู่ แต่ถ้าอยู่ในภูมิอื่น เช่น เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ต้องรอให้พ้นจากภพภูมินั้นก่อนครับ (รอจนกว่าจะตาย) เพราะจะไม่สามารถเปลี่ยนภพภูมิได้รวดเร็วเหมือนโอปปาติกะ

แต่ถ้าเป็นคนที่พื้นฐานจิตใจแย่ก็คงต้องรอนานหน่อยนะครับ เพราะโอกาสที่จะนึกถึงบุญกุศลก็ย่อมจะน้อยลงไปตามขั้น

เรื่องที่คนที่ฆ่าตัวตาย มีแนวโน้มของจิตที่จะโน้มไปสู่การฆ่าตัวตายได้อีกในชาติต่อๆ มานั้น ก็เป็นไปได้ครับ เพราะธรรมดาคนที่คิดฆ่าตัวตายนั้น มักจะมีสภาพจิตใจที่ไม่ปรกติเท่าไหร่ เช่น ไม่มีความพยายามในการแก้ปัญหา คิดสั้น ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เก็บกด ซึมเศร้า ฯลฯ เมื่อตายไปแล้วสภาพจิตเช่นนี้ก็ย่อมจะตามไปด้วย จนกว่าจะมีเหตุปัจจัยอื่นๆ มาลดกำลังของสภาพจิตเช่นนี้ลงไป

ทางแก้ก็คือ ถ้าสังเกตเห็นว่าใครมีสภาพจิตที่มีแนวโน้มไปเช่นนี้ ก็พยายามสร้างเหตุปัจจัยที่ดีให้แก่เขา เพื่อให้เขาพ้นจากสภาพจิตเดิมๆ เช่น ทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง มีความมุ่งมั่น บากบั่น เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ให้เขายอมรับความจริงว่าชีวิตก็มีขึ้นมีลง มีความสำเร็จและความล้มเหลวสลับกันบ้างเป็นธรรมดา ให้ยอมรับในโลกธรรม 8 ให้เขาคิดยาวๆ คิดถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาจากการตัดสินใจของเขา ทั้งผลกระทบต่อตนเอง และบุคคลอื่น ให้เขากล้าพูดเพื่อระบายความรู้สึกในใจ ให้คนที่ไว้ใจได้และมีความหวังดีฟัง ให้เขารู้จักหาความรื่นรมย์ให้กับชีวิต เช่น ทำสมาธิ เข้าวัดฟังธรรม ไปพักผ่อนตากอากาศ ให้เขารู้ว่ายังมีคนที่รักและหวังดีกับเขาอยู่ ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลก ให้เขารู้จักปล่อยวาง ฯลฯ


วัดทิเบต พุทธคยา


ที่ว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีโอกาสมาเกิดเป็นคนได้เร็วๆ นั้น ก็ขึ้นกับพื้นฐานจิตใจของเขา อย่างที่กล่าวไปแล้วนะครับ

สำหรับกรณีถูกฆ่าตายแบบไม่รู้ตัว แล้วจิตจะตามอาฆาตหรือเปล่านั้น ก็ขึ้นกับแต่ละคนนะครับ เพราะตอนแรกไม่รู้ตัว แต่พอตายไปแล้วก็สามารถรู้ตัวได้ (ขึ้นกับภพภูมิที่ไปเกิดใหม่ด้วย) และเมื่อรู้ตัวแล้วจะอาฆาตหรือเปล่านั้น ก็ขึ้นกับพื้นฐานจิตใจของแต่ละคนนะครับ ว่าจะให้อภัยกันหรือเปล่า

การจะตัดกรรมกันนั้น ขอแยกเป็น การตัดเวร และการตัดกรรม นะครับ

การตัดกรรมได้ก็เมื่อกรรมที่ทำไว้นั้นส่งผลจนอ่อนกำลังไปแล้ว หรือผู้นั้นเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานไปแล้วกรรมจึงส่งผลต่อไปอีกไม่ได้ เช่น พระอหิงสกะ (องคุลิมาล) ดูเรื่องการแก้กรรม ในหมวดบทวิเคราะห์ ประกอบนะครับ

ส่วนการตัดเวรนั้น จะเป็นไปได้ก็เมื่อทั้งสองฝ่ายเลิกจองเวรกัน มีหลายกรณี เช่น จองเวรกันจนพอใจแล้ว จิตใจสูงขึ้นเลยเลิกจองเวร ฝ่ายหนึ่งเลิกจองเวรแล้วพยายามทำความดีชดเชยจนอีกฝ่ายพอใจ เช่น ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ สำนึกผิดอย่างแท้จริง ฯลฯ ฝ่ายหนึ่งปรินิพพานไปแล้วอีกฝ่ายเลยตามจองเวรไม่ได้อีก

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ
22 ธันวาคม 2545

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker