ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


การแก้กรรม

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้


คำถาม

เรื่องการแก้กรรม คือ บางท่านมีความเชื่อว่า กรรมเก่าสามารถชดใช้ หักล้างได้ และต้องแก้ด้วยกรรมประเภทนั้น เช่น ฆ่าชีวิต ก็ให้ทำทานชีวิต ปล่อยปลา เป็นต้น

บางท่านว่า ใช้การนั่งกรรมฐาน (และทำทาน) แก้กรรม

เรียนขอความเห็นครับ

ขอบคุณครับ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

สำหรับเรื่องกรรมตามความเข้าใจของผมนั้น ขอแยกเป็นกรณีดังนี้ครับ

ตามแนวพระสูตรแล้ว ผลของกรรมจะสิ้นสุดได้อย่างแท้จริง ก็เมื่อปรินิพพานไปแล้ว (ผลของกรรมนั้นอาจจะยังเหลืออยู่ แต่หมดโอกาสส่งผลได้อีก) หรือไม่ก็กรรมนั้นส่งผลจนหมดกำลังแล้วเท่านั้นนะครับ (ผลของกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว จึงไม่ส่งผลอีกต่อไป) แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง เมื่อยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ก็ยังถูกกรรมเก่าตามให้ผลหลายครั้ง

แต่ถ้าเป็นคำสอนในแนวอภิธรรมนั้น จะมีการกล่าวถึงอโหสิกรรม คือการที่กรรมไม่สามารถส่งผลได้อยู่ด้วย (ในชาติปรกติ) แต่ผมมองเรื่องนี้ว่าเป็นการวิเคราะห์อย่างเฝือเกินไป (โดยอาจารย์รุ่นหลังๆ ) เพราะมีการแบ่งการทำกรรมออกเป็นขณะจิตในชวนจิต (ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำเพียงครั้งเดียว แต่ช่วงที่ทำกรรมนั้นจิตเกิดดับติดต่อกันอย่างรวดเร็วหลายวิถีจิต)

คือมองว่าในการทำกรรมครั้งเดียวนั้น มีวิถีจิตเกิดขึ้นหลายวิถีจิต และในแต่ละวิถีจิตก็มีชวนจิตเกิดได้เต็มที่ 7 ดวง หรือ 7 ขณะ แล้วก็วิเคราะห์ต่อว่าจิตดวงไหน (ดวงที่ 1 ถึง 7 ของชวนจิตในแต่ละวิถีนั้น) น่าจะมีกำลังแรงที่สุด ปานกลาง น้อยที่สุด จากนั้นก็วิเคราะห์ว่าจิตที่มีกำลังขนาดไหนควรจะส่งผลในชาติไหน (ชาติปัจจุบัน, เป็นกรรมนำเกิดในชาติต่อไป, ส่งผลในชาติที่ 2-3, ส่งผลหลังจากนั้นไปอีก) (ซึ่งการวิเคราะห์นี้ ก็มีความเห็นที่ไม่ค่อยจะตรงกันในแต่ละอาจารย์ รวมถึงไม่มีพุทธพจน์รับรองด้วย)

จึงสรุปออกมาว่า การทำกรรมในขณะของชวนจิตดวงไหนจะส่งผลในชาติไหน เมื่อวิเคราะห์ถึงขั้นนี้แล้ว จึงมองว่ากรรมที่เกิดในชวนจิตดวงที่คิดว่าจะต้องส่งผลในชาติใดนั้น เมื่อยังไม่ส่งผลแต่ตายพ้นจากชาตินั้นไปก่อนจึงหมดโอกาสส่งผล จึงกลายเป็นอโหสิกรรมไป เหลือแต่กรรมที่เกิดในขณะจิตอื่นๆ ของชวนจิตที่จะรอส่งผลต่อไป (ซึ่งเป็นกรรมที่ทำในครั้งเดียวกันนั้น)

ซึ่งจะต่างจากแนวพระสูตรที่จะมองการทำกรรมรวมเป็นกรรมนั้นๆ ทั้งก้อน ไม่แตกย่อยเป็นขณะจิต ดังนั้น ถ้ากรรมในก้อนนั้น (คือในการกระทำครั้งนั้นๆ ไม่ว่าในขณะจิตใด) ยังส่งผลได้อีก ก็จะถือว่ายังไม่เป็นอโหสิกรรม ดังนั้น การส่งผลของกรรมจะสิ้นสุดได้ ก็ต่อเมื่อกรรมนั้นส่งผลจนหมดกำลังไปแล้ว หรือเมื่อปรินิพพานไปแล้วเท่านั้น


ภาพจากวัดศรีลังกา พุทธคยา


ซึ่งการวิเคราะห์ตามแนวพระสูตรนี้ จะพบได้ทั่วไปในพระไตรปิฎก ดังนั้น ผมจึงยึดตามแนวพระสูตรเป็นหลักครับ

ในประเด็นที่ถามมาถึงการแก้กรรมเก่านั้น (คงจะหมายถึงการทำให้กรรมเก่าหมดไป คือส่งผลไม่ได้อีก โดยการทำกรรมดีแก้กัน) ขอแยกตอบเป็น 2 ประเด็นนะครับ

  1. กรณีการจองเวรของเจ้ากรรมนายเวร คือการทำให้เขาเลิกจองเวรนั้น ก็คงมีอยู่หลายวิธีนะครับ เช่น เขาทำให้เราเดือดร้อนจนพอใจแล้วจึงเลิกจองเวร, จองเวรจนเบื่อแล้วเลยเลิกไปเอง, เราสำนึกผิดได้อย่างจริงใจแล้วเขาเลยพอใจเลิกจองเวร, เราทำความดีแล้วอุทิศส่วนกุศลให้เขาจนเขาพอใจเลยเลิกจองเวร, เขาเข้าถึงธรรม หรือเห็นโทษของการจองเวรแล้วเลยเลิกจองเวร ฯลฯ

    การเลิกจองเวรนั้นเป็นส่วนของเวรเท่านั้นนะครับ ไม่ได้หมายถึงว่าเลิกจองเวรแล้วผลของกรรมนั้นจะสิ้นสุดไปด้วยนะครับ

  2. กรณีมองที่ตัวกรรมโดยตรงนั้น กรรมจะเลิกส่งผลได้อย่างแท้จริง ก็คงต้องเป็นอย่างที่อธิบายไปแล้วข้างต้นนะครับ

    แต่การทำบุญทดแทนนั้น ก็น่าจะส่งผลได้หลายกรณี เช่น บุญนั้นขวางกรรมเก่าเอาไว้ก่อน ทำให้กรรมเก่าไม่สามารถส่งผลได้ในขณะนั้น ต้องรอส่งผลในโอกาสต่อๆ ไป, กรรมเก่าและกรรมใหม่ (บุญที่ทำทดแทนนั้น) ส่งผลพร้อมๆ กัน ทำให้ไม่เดือดร้อนเพราะกรรมเก่ามากนัก เหมือนกรรมเก่าทำให้ต้องทนร้อนอยู่กลางแดด แต่กรรมใหม่ทำให้ได้ดื่มน้ำเย็นๆ ช่วยคลายร้อนไปได้บางส่วน หรือกรรมเก่าทำให้อายุสั้น แต่กรรมใหม่ทำให้อายุยืน ผลจึงทำให้อายุไม่สั้นแต่ก็ไม่ยืนยาวมากนัก เป็นต้น (ผมตอบตามแนวพระสูตรนะครับ)

    และถ้าบุญที่ทำนั้นส่งผลในทางตรงข้ามกับบาปกรรมเก่าโดยตรง ก็น่าจะเป็นการแก้ที่ตรงจุดดีนะครับ ส่วนการทำกรรมฐานนั้น เนื่องจากว่าเป็นบุญที่มีผลมาก (ดูเรื่องเวลามสูตร : เปรียบเทียบผลบุญชนิดต่างๆ ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ) ดังนั้น ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นการแก้ที่ไม่ตรงจุดนัก แต่ก็น่าจะช่วยได้เช่นเดียวกันนะครับ

    สรุปง่ายๆ ว่า สิ่งใดเป็นบุญก็ทำๆ ไปเถอะครับ ไม่มีอะไรเสียหายอยู่แล้ว

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ
14 ธันวาคม 2545

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker