ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


การลดการผูกโกรธ - บุพเพสันนิวาส

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้


คำถาม

Subject: ผูกโกรธ บุพเพฯ

อยากเรียนถามว่า การลดการผูกโกรธ แรงอาฆาตพยาบาท ไม่ยอมให้อภัยจริงๆ แต่ก็ไม่ถึงกับตั้งใจจะเอาคืน ทำอย่างไรได้ผลดี เร็ว แผ่เมตตาแล้วใจก็ยังไม่ค่อยอยากให้อภัยง่ายๆ เหมือนอาบน้ำแล้วแต่ก็ไม่รู้สึกว่าสะอาด จะเหม็นก็ไม่เชิง จะสบายตัวก็ไม่ใช่

ไม่อยากมีอะไรตกตะกอนอยู่ในใจค่ะ กลัวว่าจะเป็นเชื้อกรรมให้มาใช้คืนกันอีกไม่รู้จบ เป็นฝ่ายกระทำก็ไม่อยากเป็นอยู่ดี

บุพเพสันนิวาสคืออะไร หลบเลี่ยงได้ไหมคะ?

สองคำถามค่ะ ขอบคุณค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

  1. เรื่องการลดการผูกโกรธ แรงอาฆาตพยาบาท อย่างกรณีที่ถามมานี้ ก็คงต้องใช้การพิจารณาประกอบด้วยครับ คือพิจารณาโทษของการผูกโกรธ และคุณของการปล่อยวาง

    โทษของการผูกโกรธ เช่น จิตใจของเราเองก็จะเป็นทุกข์เร่าร้อน หยาบกระด้าง ไม่เป็นอิสระ ไม่ประณีตเบาสบาย สุขภาพกายและใจก็แย่ หน้าตาก็ไม่ผ่องใส

    แต่ถ้าปล่อยวางได้ก็จะเป็นตรงกันข้าม คือ จิตใจประณีต เบาสบาย มีความสุขกายสบายใจ เป็นอิสระ หน้าตาผ่องใส ฯลฯ

    คิดพิจารณาว่าการผูกโกรธเอาไว้นั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่โทษอย่างเดียว และผู้ที่ได้รับผลจากความรู้สึกเช่นนั้นอย่างเต็มที่ แท้จริงก็คือตัวเรานั่นเอง เหมือนกับว่าไม่พอใจคนอื่น แต่กลับมาทำร้ายตัวเอง จริงๆ นะครับ คิดดูให้ดี

    ควรจะคิดว่าปล่อยให้เป็นไปตามกรรมดีกว่า ใครทำกรรมอะไรเอาไว้ ก็จะได้รับผลกรรมอันนั้นเอง ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปส่งผลกรรมนั้นให้กับเขา

    และก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะคอยติดตามดูว่า เขาได้รับผลกรรมอันนั้นหรือยังด้วย เพราะถ้าทำอย่างนั้น ก็จะส่งผลเช่นเดียวกับการผูกโกรธเอาไว้นั่นเอง อย่างน้อยก็ทำให้ใจเราไม่เป็นอิสระ

    นอกจากนี้ก็ควรพิจารณาเรื่องเหตุปัจจัยประกอบไปด้วยนะครับ คือคิดดูว่า ตัวเราเองยังไม่สามารถกำหนดชีวิตของเราเองได้ทุกอย่างเลย ดังนั้น การที่เขาทำให้เราไม่พอใจนั้น ก็คงเป็นเพราะถูกเหตุปัจจัยต่างๆ บีบบังคับมาเช่นกัน รวมถึงอาจเกิดจากความเข้าใจผิด หรือความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้ แม้ตัวเราเองก็ยังเป็นเช่นนั้นได้ ก็ควรจะให้อภัยในความผิดพลาดของคนอื่นด้วยเช่นกันนะครับ

    แต่ถ้าพิจารณาแล้วยังไม่หาย ก็คงต้องรอให้ปัญญาเกิดขึ้นก่อนแล้วหละครับ คือต้องให้ทนทุกข์จากการผูกโกรธเอาไว้ จนกระทั่งเห็นโทษภัย และความไร้สาระ ด้วยปัญญาของเราเองอย่างแท้จริง แล้วจิตก็จะวางลงได้เองโดยอัตโนมัติ

    หรือเมื่อเห็นความจริงของชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ก็จะพ้นจากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไปได้เองครับ

  2. พระพุทธเมตตา พระประธานในมหาวิหาร พุทธคยา

  3. บุพเพสันนิวาส คือการที่เคยอยู่ร่วมกันมาในชาติปางก่อนครับ (บุพพ = ก่อน, นิวาส = ที่อยู่อาศัย) คืออาจจะเคยเป็นพ่อ แม่ ลูก หลาน สามี ภรรยา เพื่อน ฯลฯ กันในชาติก่อนๆ เมื่อเจอกันในชาตินี้จึงทำให้รู้สึกคุ้นเคยกัน ได้ง่ายกว่าคนทั่วๆ ไป

    เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว (ในชาติก่อนๆ ) จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความคุ้นเคยที่ยังฝังอยู่ในใจได้ครับ จะหลีกเลี่ยงได้ก็เฉพาะการกระทำในปัจจุบันนี้เท่านั้น คือเราสามารถเลือกได้ (ตามเหตุปัจจัย) ว่าเราจะทำอย่างไร หรือจะสร้างเหตุปัจจัยใหม่อย่างไร

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ
19 ตุลาคม 2545

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker