ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


ฆราวาสกับการปฏิบัติธรรม

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้


คำถาม

Sent: Tuesday, March 12, 2002 8:36 AM
Subject: สภาวะการมีครอบครัว...

สภาวะการมีครอบครัวที่เรายังต้องมีหน้าที่ของภรรยาที่ต้องปฏิบัติต่อผู้เป็นสามี กับการปฏิบัติธรรมจนจิตใจสะอาด สงบ ระงับจากความยินดีในกามราคะ จะไปด้วยกันได้อย่างไรคะ

ขอบคุณค่ะ


ตอบ

สวัสดีครับ คุณ .....

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ชีวิตของฆราวาสนั้น ถ้าต้องการปฏิบัติธรรมให้บริสุทธิ และได้ผลอย่างรวดเร็วนั้น ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะมีข้อติดขัดหลายประการ ทั้งหน้าที่การงาน ครอบครัว ฯลฯ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว

ในสมัยพุทธกาลก็มีตัวอย่างอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา (มิคารมาตา) นั้นเป็นโสดาบันตั้งแต่อายุ 7 ขวบ พอโตขึ้นก็แต่งงาน มีลูกหลานหลายคน และก็ไม่ได้ทิ้งธรรม


ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา อินเดีย


ผู้ที่จะงดเว้นจากกามราคะได้อย่างสิ้นเชิงก็ต้องเป็นอนาคามีบุคคล หรือพระอรหันต์เท่านั้น ส่วนผู้ที่ยังอยู่ในขั้นต่ำกว่านั้น (ตั้งแต่สกทาคามีบุคคลลงมา) ก็ยังมีกิเลสในเรื่องนี้อยู่ตามขั้น เพียงแต่กิเลสนั้นจะแสดงตัวออกมาหรือไม่เท่านั้น เช่น พระอานนท์ท่านกล่าวว่า ตั้งแต่ท่านบวชมาแล้วความกำหนัดในกามไม่ได้เกิดขึ้นกับท่านเลย แม้ในขณะที่ยังเป็นโสดาบันอยู่ก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ที่จริตของแต่ละบุคคล

ดังนั้น ผู้ที่สนใจธรรมอย่างแท้จริง ถ้าสามารถออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ก็เป็นการดี แต่ถ้ายังมีภาระหน้าที่ ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็ควรจะปฏิบัติธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในวิสัยของฆราวาส เช่น การปฏิบัติกับสามี หรือภรรยา ก็ทำไปโดยสมควรตามหน้าที่ ไม่ใช่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส การบริโภคอาหารก็บริโภคเพื่อแก้หิว เพื่อไม่ให้เจ็บป่วย เพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้ตามสมควร ไม่ใช่เพื่อความเอร็ดอร่อย ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ใช่เพื่อตอบสนองกิเลส ฯลฯ

การกระทำอย่างอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน คือ พยายามทำไปในทางที่ไม่ให้กิเลสงอกเงย หรือครอบงำจิตใจได้ สร้างสมบุญบารมีเอาไว้ทีละเล็กละน้อยตามกำลังที่จะทำได้ ทั้งในด้านทาน ศีล สมาธิ และวิปัสสนา

เมื่อใดถูกกิเลสครอบงำ พอมีสติระลึกได้ก็รับรู้ตามสภาพความเป็นจริง แล้วปล่อยวาง (เพื่อแก้ไข ปรับปรุง ในโอกาสต่อๆ ไป) อย่ายึดมั่น เสียใจ เพราะความยึดมั่น เสียใจก็เป็นกิเลส จะดึงให้จิตตกต่ำไปเปล่าๆ

ถ้าสามารถพูดคุยกับคู่สมรสให้ปฏิบัติธรรมไปด้วยกันได้ ก็จะยิ่งดีขึ้นมาก และจะลดความขัดแย้งทางจิตใจในการปฏิบัติตัวได้มาก หรืออย่างน้อยก็ควรพูดให้เขาเข้าใจสภาพจิตใจของเรา แต่ละฝ่ายก็จะได้ทำตัวได้ง่ายขึ้น

สรุปคือทำเท่าที่จะทำได้ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น อย่าคิดมาก อย่ากังวล แต่ถ้าออกบวชได้ก็จะดีที่สุด

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ
16 มีนาคม 2545

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker