ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


การถูกให้ร้าย

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้


คำถาม

Sent: Tuesday, February 12, 2002 1:37 AM
Subject: การถูกให้ร้าย

ผมมีคำถามเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับบุคคลที่คอยจะทำร้ายเรา
ในการทำงาน ย่อมมีเรื่องขัดแย้งกับคน บุคคลที่ไม่เป็นมิตรพยายามหาทางที่จะทำร้ายและให้ร้ายเรา ผมศึกษาธรรมะมา ก็เห็นคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าให้ปล่อยวางและแผ่เมตตา ใครโกรธตอบถือว่าเลวกว่าบุคคลที่โกรธเราเสียอีก แต่ยิ่งเราเฉย เขาก็คิดว่ารังแกเราได้โดยง่าย ก็จะยิ่งหาเรื่องเราเข้าไปอีก ดังนั้นผมเลยไม่แน่ใจในคำสอนนี้ว่าจะใช้ได้ผลกับคนชั่ว ผมยังเป็นปุถุชนธรรมดา ยังมีความอ่อนไหวต่อโลกธรรม ไม่เหมือนกับพระอรหันต์ที่ไม่หวั่นไหวเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพราะหมดกิเลสแล้ว ดังนั้นผมอยากจะถามว่าถ้าเจอคนที่จะคอยทำร้ายและให้ร้ายเรา เราควรจะโต้ตอบดีหรือไม่ จะขัดแย้งกับคำสอนของศาสนาพุทธหรือไม่ มีวิธีการจัดการกับคนชั่วที่คอยให้ร้ายเราได้อย่างไร


ตอบ

สวัสดีครับ ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ

ในมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงสิ่งที่เป็นมงคล 38 ประการ (ดูรายละเอียดได้ในเรื่องมงคลในพระพุทธศาสนา ในหมวดธรรมทั่วไป) นั้น

มงคลข้อที่ 1 ก็คือ การไม่คบคนพาล
มงคลข้อที่ 2 ก็คือ การคบบัณฑิต
มงคลข้อที่ 4 ก็คือ การอยู่ในสถานที่อันเหมาะสม หรือสมควร
มงคลข้อที่ 6 ก็คือ การตั้งตนไว้ชอบ

การจัดการกับปัญหานี้ ขั้นแรกก็ควรทำอย่างที่คุณ..... ได้กล่าวเอาไว้แล้ว คือ ปล่อยวาง และแผ่เมตตาให้ ขอเสริมอีกนิดว่า ขณะเดียวกันก็คิดเสียว่าเป็นการชดใช้กรรมเก่า ที่เคยทำเอาไว้ในชาตินี้ หรือชาติก่อนๆ เมื่อใช้กรรมหมดไปแล้วก็จะได้หมดเวรกันไป จะได้สบายใจขึ้น ซึ่งตรงกับมงคลข้อที่ 6


พระพุทธเมตตา พระประธานในมหาวิหาร พุทธคยา


ถ้ายังไม่หายก็คงต้องใช้วิธีพูดกับเขาดีๆ อย่างตรงไปตรงมา ด้วยเหตุผล ว่าเขาเข้าใจอะไรเราผิดไปหรือเปล่า ถ้ามีการเข้าใจผิดก็ควรปรับความเข้าใจกันใหม่ แล้วชี้แจงให้เขาเข้าใจว่าที่ผ่านมาเขาทำให้เรารู้สึกอย่างไรบ้าง แล้วตกลงกันว่าเราจะยกโทษในเรื่องที่แล้วไปแล้วทั้งหมด ต่อไปก็เริ่มต้นกันใหม่ ขอให้เป็นมิตรที่ดีต่อกัน บางครั้งการให้ของกำนัลเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมาก็ได้ ขอให้ระลึกเอาไว้เสมอว่า เวรย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร

แต่ถ้ายังไม่หาย ก็ควรทำตามมงคลข้อที่ 1 และ 2 คือ พยายามหลีกเลี่ยงคนๆ นั้น และพยายามเข้าใกล้คนที่ดี มีศีลธรรม ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วคงทำได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะสำหรับคนทำงาน

ถ้าไม่สำเร็จก็คงต้องตั้งจิตอันประกอบด้วยเมตตา กรุณา แล้วสั่งสอนให้เขาได้รู้สำนึก เพื่อให้เขาเลิกทำบาปทำกรรมกับเราต่อไป ขอย้ำว่าทำด้วยความเมตตา กรุณา เพื่อให้เขากลับตัวกลับใจนะครับ ไม่ใช่ทำด้วยความโกรธแค้น ตัวอย่างเรื่องทำนองนี้ที่มีในพระไตรปิฎกก็มี เช่น พระพุทธเจ้าทรงทรมานพญานาคที่โรงไฟของชฎิล, พระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระโมคคัลลาน์ไปทรมานพญานาคเพื่อให้เลิกทำร้ายคน ฯลฯ

ขั้นตอนนี้ถ้าไม่แน่ใจที่จะทำคนเดียว ก็อาจหาเพื่อนคนอื่นๆ ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันมาเป็นแนวร่วมด้วยก็ได้ หรือถ้าจำเป็นก็อาจต้องให้เรื่องนี้ มีการรับรู้ไปถึงผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชาของคนๆ นั้นด้วย ขอย้ำอีกครั้งว่า ต้องทำด้วยความเมตตา กรุณา เพื่อให้เขากลับตัวกลับใจจริงๆ นะครับ ไม่ใช่ทำด้วยความโกรธแค้น

แต่ถ้ายังไม่สำเร็จอีก ก็อาจจะต้องทำตามมงคลข้อที่ 4 คือ ย้ายที่ทำงานซะเลย อาจจะเป็นการย้ายห้อง ย้ายหน้าที่ ย้ายสำนักงานสาขา หรืออาจถึงขั้นย้ายบริษัทตามความเหมาะสม หรือไม่ก็ต้องยอมรับความจริง ว่าโลกที่เต็มไปด้วยคนที่มีกิเลสก็เป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา หนีไปไหนก็คงจะต้องเจออีกไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับความจริงข้อนี้แล้วปล่อยวางให้ได้ พยายามมองหาข้อดีของเขา (คนที่สร้างปัญหาให้เรา) ให้เจอ แล้วนึกถึงแต่ข้อดีของเขา คิดว่าอย่างน้อยเขาก็ยังมีข้อดีอยู่บ้าง พยายามรักษาจิตของตนเองเอาไว้ให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เพื่อจะสามารถอยู่ในโลกนี้ต่อไปได้อย่างไม่เป็นทุกข์มากนัก

จะอย่างไรก็ตามก็ขอให้ใจเย็นๆ เย็นที่สุด พยายามทำไปตามขั้นตอน จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง

ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ

ธัมมโชติ
17 กุมภาพันธ์ 2545

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker