ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


พุทธวิธีพัฒนาจิต

*** ก่อนที่ท่านจะอ่านเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการขอแนะนำให้ท่านอ่านเรื่องลำดับขั้นของจิต ในหมวดบทวิเคราะห์ ให้จบเสียก่อน จะทำให้มองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น ***

การพัฒนาจิตใจ หรือการปรับสภาพจิตให้ประณีตขึ้น ตามแนวทางของพระพุทธศาสนานั้น มีหลายลำดับขั้น ตั้งแต่วิธีง่ายๆ ใช้เวลาและความเพียรพยายามน้อย ไปจนถึงขั้นที่ต้องใช้เวลาและความเพียรมาก ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละขั้นแต่ละวิธีก็ให้ผลที่แตกต่างกันไป
สรุปเป็นขั้น ได้ดังนี้

1.) การให้ทาน
2.) การรักษาศีล
3.) การทำสมาธิ รวมทั้งการแผ่เมตตา
4.) การเจริญวิปัสสนา

การให้ทาน

การให้ทานนั้น นับว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการปรับสภาพจิต ใช้เวลาและความพยายามน้อย ส่งผลให้จิตใจประณีต ผ่องใส เบาสบายได้ในระดับหนึ่ง (ระดับมหากุศลจิต ขั้นพื้นฐาน)


ภาพจากวัดทิเบต พุทธคยา อินเดีย


การให้ทานที่แท้จริงนั้น คือการให้ด้วยความปรารถนาดีแก่ผู้รับอย่างจริงใจ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เลย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งจากตัวผู้รับเองและจากผู้อื่น การให้ที่บริสุทธิ์มากเท่าใด ก็จะให้ผลที่มากขึ้นเท่านั้น (ดูเรื่องทำบุญอย่างไรได้บุญมาก ในหมวดทานประกอบ)

การให้ทานเป็นการลดความยึดมั่นถือมั่น และลดความตระหนี่ในของที่ให้เป็นทานนั้นลงไป และเนื่องจากความยึดมั่นถือมั่นนี้เองที่เป็นต้นเหตุของกิเลสตัวอื่นๆ (ดูเรื่องกิเลสเกิดจากอะไร ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ) ดังนั้น การให้ทานจึงส่งผลให้เกิดการขัดเกลากิเลสตัวอื่นๆ ไปในตัวด้วยเช่นกัน

การให้ทานจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการพัฒนาจิตใจ เริ่มต้นจากการให้เล็กๆ น้อยๆ ก่อน เช่น สิ่งของเหลือใช้ เงินไม่กี่สตางค์ การให้ความรู้ ให้ความช่วยเหลือด้วยแรงงาน หรือแม้แต่การให้อภัย เมื่อจิตประณีตขึ้นเรื่อยๆ แล้ว การให้ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นก็จะตามมาเอง อันจะทำให้จิตใจประณีต ผ่องใส เบาสบายขึ้นตามลำดับ ชีวิตก็จะมีความสุขที่เบาสบายมากขึ้นเรื่อยๆ

การรักษาศีล

การรักษาศีลนั้น สามารถทำได้โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย เพียงแต่คอยระวัง ไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางกาย หรือทางวาจาเท่านั้นเอง และเนื่องจากการรักษาศีลนั้น ต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าการให้ทาน ผลที่ได้จึงสูงกว่าด้วย (ถึงแม้จะทำให้จิตอยู่ในระดับมหากุศลขั้นพื้นฐานเหมือนกันก็ตาม แต่ก็มีกำลังมากกว่า เพราะต้องทำอยู่ตลอดเวลา จึงขัดเกลาจิตใจได้ดีกว่า)

การถือศีลแต่ละข้อนั้น จะส่งผลให้เกิดการขัดเกลา การปรับปรุงพัฒนาจิต ในทิศทางที่แตกต่างกันไป ดังที่แสดงรายละเอียดเอาไว้ในเรื่องประโยชน์ของศีล 5 ในหมวดศีล


ภาพจากวัดทิเบต พุทธคยา


สาเหตุที่การรักษาศีลสามารถทำให้จิตประณีต ละเอียดอ่อนขึ้นได้ก็เพราะ ศีลส่วนใหญ่ โดยเฉพาะศีล 5 นั้น ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุม ไม่ให้มีการแสดงออกทางกาย หรือทางวาจา ไปในทางที่ตอบสนองอำนาจของกิเลส
ดังนั้น การทำผิดศีลแต่ละครั้ง จึงทำให้จิตหยาบกระด้างขึ้น ตามลักษณะของกิเลสที่ครอบงำจิตอยู่นั้น ถ้ายิ่งทำผิดศีลมากครั้ง และบ่อยครั้งมากขึ้นเท่าไหร่ จิตก็จะยิ่งหยาบกระด้างขึ้นไปเรื่อยๆ จึงสามารถทำผิดได้รุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้จิตหยาบกระด้างหนักขึ้นไปอีก เป็นวังวนพอกพูนไม่รู้จบสิ้น
ครั้นพอมารักษาศีล กิเลสเหล่านั้นจึงครอบงำจิตใจได้น้อยลง กิเลสจึงมีกำลังอ่อนลงเรื่อยๆ ส่งผลให้จิตประณีต ละเอียดอ่อนขึ้นไปเรื่อยๆ

การทำสมาธิ

การที่จะทำสมาธิ รวมทั้งการจะเจริญวิปัสสนาให้ได้ผลดี หรือสามารถทำได้โดยง่ายนั้น ควรที่จะมีการเตรียมความพร้อม โดยการปรับสภาพของจิตใจให้ประณีต ละเอียดอ่อนขึ้นมาก่อน ด้วยการให้ทานและการรักษาศีล เพราะถ้าจิตใจไม่ประณีตพอ จะทำสมาธิและเจริญวิปัสสนาได้ยาก

จิตที่มีกิเลสนั้น ก็เหมือนน้ำที่มีเศษฝุ่นเศษดินเจือปนอยู่ ครั้นพอน้ำนั้นกระเพื่อมไหว เศษตะกอนต่างๆ ก็ย่อมจะฟุ้งขึ้นมา น้ำก็จะอยู่ในลักษณะที่ขุ่นข้น
จิตที่มีกิเลสก็เช่นกัน เมื่อซัดส่ายไปมา ก็ย่อมจะขุ่นข้นไปด้วยกิเลส จิตจึงหยาบกระด้าง ไม่ประณีตละเอียดอ่อน ทำให้ไม่มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น

จิตในสภาวะปรกติของคนทั่วๆ ไปนั้น จะซัดส่ายอยู่ตลอดเวลา
การทำสมาธิหรือสมถกรรมฐาน ก็คือการรวมจิตให้เป็นหนึ่ง เพ่งไปยังจุดยึดจิตเพียงจุดเดียว เพื่อไม่ให้จิตซัดส่ายไปมา
เหมือนการทำน้ำที่กระเพื่อมอยู่ให้นิ่ง เมื่อน้ำนิ่งแล้วไม่นานนักย่อมตกตะกอน ทำให้น้ำใสขึ้นฉันใด
เมื่อจิตนิ่ง ไม่ซัดส่าย กิเลสก็ย่อมจะตกตะกอนฉันนั้น เพราะจิตไม่ไปเกาะเกี่ยวอะไร ให้กิเลสแสดงตัวออกมา จิตจึงประณีต ผ่องใส เบิกบาน สงบ เย็นสบาย
จิตที่มีสมาธิจะอยู่ในสภาพที่ประณีต ละเอียดอ่อนกว่าจิตขั้นมหากุศลขั้นพื้นฐาน จึงทำให้มีความสุขที่มากกว่าการให้ทาน และการรักษาศีล


ภาพจากวัดทิเบต พุทธคยา


การแผ่เมตตานั้น ก็จัดเป็นการทำสมาธิชนิดหนึ่งเช่นกัน เป็นการทำสมาธิโดยมีสรรพสัตว์ทั้งหลาย (เป็นความรู้สึกที่ไม่เฉพาะเจาะจงถึงใครโดยเฉพาะ เรียกว่าเป็นการแผ่เมตตาแบบอัปปมัญญา คือแผ่ไปโดยไม่มีประมาณ) เป็นจุดยึดเหนี่ยวจิตใจ
หรือจะแผ่เมตตาแบบเฉพาะเจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้ แต่จะมีอานิสงส์น้อยกว่าแบบอัปปมัญญา เพราะใจไม่เปิดกว้างเท่า

การแผ่เมตตานั้นนอกจากเป็นการทำสมาธิแล้ว ยังมีผลในการขัดเกลากิเลสประเภทโทสะ (ความโกรธ) โดยตรงอีกด้วย เพราะเมตตากับโทสะนั้นเป็นสภาพจิตที่ตรงข้ามกัน เหมือนน้ำแข็งกับไฟเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น คนที่โกรธง่ายจึงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะแผ่เมตตาเป็นประจำ เพื่อทำใจให้เย็นลง

การเจริญวิปัสสนา

วิปัสสนานั้นไม่ใช่การทำสมาธิ แต่ก็สามารถทำควบคู่กันไปได้ และทั้งสองอย่างนี้ก็มีผลเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน คือคนที่มีสมาธิก็จะเจริญวิปัสสนาได้ง่ายขึ้น เพราะจิตใจประณีต ไม่ขาดสติ และจิตใจไม่วอกแวกซัดส่ายไปมา ทำให้สังเกตสิ่งต่างๆ ได้โดยง่าย ละเอียด และชัดเจน
ในขณะที่ผลของการเจริญวิปัสสนา คือความคลายความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไปนั้น ก็จะทำให้จิตไม่ไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ จึงไม่มีอะไรมาคอยดึงจิตให้ซัดส่ายไปมา การทำสมาธิจึงกลายเป็นเรื่องง่ายไปในตัว

การเจริญวิปัสสนา ก็คือการตามสังเกตธรรมชาติของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะร่างกายและจิตใจ เพื่อให้เห็นความจริงที่ว่า สิ่งทั้งปวงล้วนไม่ควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่น เพราะความที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความต้องการของใครนั่นเอง ซึ่งผลที่ต้องการขั้นสูงสุดก็คือ การคลายความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไป อันจะเป็นผลให้กิเลสทั้งหลายถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง คือการบรรลุมรรค ผล นิพพานนั่นเอง


ภาพจากวัดทิเบต พุทธคยา


สำหรับรายละเอียดในเรื่องการเจริญวิปัสสนานั้น ขอให้ดูในเรื่องต่างๆ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ซึ่งได้อธิบายไว้อย่างละเอียด ตามลำดับขั้นตอนแล้ว

การเจริญวิปัสสนานั้นให้ผลสูงกว่าการทำสมาธิ เพราะเมื่อเปรียบเทียบจิตที่มีกิเลสเหมือนน้ำที่มีฝุ่น มีเศษดินเจือปนแล้ว การทำสมาธิเหมือนการทำให้น้ำนั้นใสขึ้นด้วยการปล่อยให้ตกตะกอน ทำให้น้ำส่วนบน หรือจิตสำนึกใสขึ้นมาได้ แต่ว่าตะกอนหรือกิเลสเหล่านั้นก็ไม่ได้หายไปไหน ยังคงนอนก้นอยู่ในจิตใต้สำนึก (อนุสัยกิเลส) อยู่นั่นเอง รอวันที่จะแผลงฤทธิ์ออกมาได้อีกในอนาคต (เมื่อมีโอกาส คือมีเหตุปัจจัย/สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม)

แต่การเจริญวิปัสสนานั้น เมื่อบรรลุมรรคผลแต่ละขั้น ก็เหมือนเป็นการกรองน้ำนั้น ด้วยไส้กรองที่ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เศษฝุ่นเศษดินหรือกิเลส ในน้ำหรือในจิตนั้นถูกกำจัดออกไปอย่างถาวร จึงไม่มีโอกาสที่จะกลับมาแผลงฤทธิ์ได้อีกเลย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เหมือนน้ำที่ปราศจากสิ่งเจือปน จะเขย่า จะแกว่ง จะกวนให้กระเพื่อมอย่างไร น้ำนั้นก็ยังคงใสสะอาดอยู่นั่นเอง

การเจริญวิปัสสนา จึงเป็นการทำความสะอาดจิตใจให้หมดจด ผ่องใสอย่างแท้จริง ทั้งในส่วนของจิตสำนึก และจิตใต้สำนึก
อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา และเป็นขั้นสูงสุดของพุทธวิธีพัฒนาจิต

ธัมมโชติ
6 ธันวาคม 2543

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker