ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ


ลำดับขั้นของจิต

*** ขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเกี่ยวข้องโดยตรงในชีวิตประจำวันของทุกๆ ท่าน ในตารางจะมีศัพท์บางคำที่อาจจะยากสำหรับบางท่าน แต่ก็จะมีคำอธิบายรายละเอียดในช่องด้านขวา ซึ่งทางผู้ดำเนินการได้พยายามทำให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดแล้ว ขอให้ท่านพยายามอ่าน และทำความเข้าใจให้จบทั้งเรื่อง แล้วท่านจะได้ประโยชน์ ทั้งในการใช้ในชีวิตประจำวัน และในการศึกษาธรรมของพระพุทธศาสนาต่อไป ***

จิตของคนแต่ละคนในแต่ละขณะนั้น จะมีความประณีตแตกต่างกันไปตามสภาวะของจิตในขณะนั้น ซึ่งพอจะเรียงลำดับของสภาวะจิต จากที่มีความประณีตมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด คือมีความสุข เบาสบายที่สุดไปหาจิตที่มีความทุกข์มากที่สุด หรือเย็นที่สุดไปหาร้อนที่สุด ได้ดังตารางข้างล่างนี้

หมายเหตุ การดูตารางขอให้ดูที่คอลัมน์ซ้ายสุดก่อน โดยดูไล่ลงไปตามแนวตั้งจนสุดตาราง จากนั้นจึงดูในคอลัมน์ที่สองไล่ลงไปจนสุดตารางเช่นกัน ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงคอลัมน์ขวาสุด เพื่อให้เห็นภาพรวมก่อน แล้วจึงดูรายละเอียดไปทีละขั้น จากนั้นจึงกลับมาดูภาพรวมซ้ำอีกครั้ง จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น



ตารางแสดงลำดับขั้นของจิต

จิตที่เย็นที่สุด

โลกุตตรจิต

(จิตที่เหนือโลก)

อรหัตตมรรค / อรหัตตผล (พระอรหันต์)
อนาคามิมรรค / อนาคามิผล (อนาคามีบุคคล)
สกทาคามิมรรค / สกทาคามิผล (สกทาคามีบุคคล)
โสดาปัตติมรรค / โสดาปัตติผล (โสดาบัน)
สมาธิขั้นฌาน

อรูปฌาน

4 ขั้น

เนวสัญญานาสัญญายตนะ
อากิญจัญญายตนะ
วิญญาณัญจายตนะ
อากาสานัญจายตนะ

รูปฌาน

4 หรือ 5 ขั้น

(ปัญจมฌาน - ฌานที่ 5)
จตุตถฌาน - ฌานที่ 4
ตติยฌาน - ฌานที่ 3
ทุติยฌาน - ฌานที่ 2
ปฐมฌาน - ฌานที่ 1
มหากุศลจิต
วิปัสสนาปัญญาขั้นต้น
สามารถปล่อยวางได้ชั่วคราว แต่ยังไม่ถึงขั้นมรรค/ผล
สมาธิขั้นอุปจาระ
สมาธิขั้นเกือบถึงฌาน คือจิตสงบประณีตมากแล้ว แต่ยังไม่ตั้งมั่นได้นานตามต้องการ
สมาธิขั้นขณิกะ
สมาธิขั้นต้น สงบเป็นพักๆ จิตเริ่มประณีต
มหากุศลขั้นพื้นฐาน
เกิดจากการให้ทาน รักษาศีล ความศรัทธา หิริ โอตตัปปะ
ความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ธรรมปิติ
อเหตุกจิต
คือจิตที่เป็นกลางๆ ไม่มีทั้งกุศลเหตุและอกุศลเหตุ คือไม่มีทั้งโลภะ(ความโลภ) โทสะ(ความโกรธ) โมหะ(ความหลง-ไม่รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่ง)
และไม่มีอโลภะ(การสละ) อโทสะ(เมตตา) อโมหะ(วิปัสสนาปัญญา)
อกุศลจิต

โมหมูลจิต

(จิตที่มีโมหะเป็นมูลเหตุ)

อกุศลจิตที่มีแต่โมหะ(ความหลง)ล้วนๆ โดยไม่มีโลภะหรือโทสะเจือปน เพียงแต่ทำให้เกิดความลังเลสงสัย หรือฟุ้งซ่านขาดสติเท่านั้น

โลภมูลจิต

(จิตที่มีโลภะเป็นมูลเหตุ)

ขั้นอ่อน
ความเพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ความยึดมั่นแบบอ่อนๆ ความเพลิดเพลินในสมาธิ ความถือตัวแบบอ่อนๆ
ขั้นกลาง
ความอยากได้ในสิ่งที่ถูกทำนองคลองธรรม ความอยากได้ในสิ่งที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม แต่ยังห้ามใจไว้ได้
ความยึดมั่นขั้นกลาง ความถือตัวขั้นกลาง
ขั้นรุนแรง
ความอยากได้อย่างแรงกล้าจนห้ามใจไม่อยู่ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาแม้ผิดศีลธรรม ความยึดมั่นอย่างรุนแรง
ความถือตัวอย่างรุนแรง

โทสมูลจิต

(จิตที่มีโทสะเป็นมูลเหตุ)

ขั้นอ่อน
ความเหงา ความกลัว ความระแวง ความอิจฉาเล็กน้อย ความกังวลใจ ความขัดแย้งในใจ ความรำคาญใจ ไม่สบายใจ เศร้าโศกเสียใจไม่มาก ขัดเคืองใจ หงุดหงิด เครียด ความหมั่นไส้ อึดอัดใจ น้อยใจ มองโลกในแง่ร้าย
ขั้นกลาง
ความกลัวอย่างมาก ความอิจฉาอย่างมาก กังวลใจมาก เครียดจัด ความโกรธแต่ยังพอห้ามใจได้บ้าง ความเสียใจอย่างมาก
ขั้นรุนแรง
โกรธจัดจนห้ามใจไม่อยู่ ต้องแสดงออกทางกาย/วาจา อาจถึงขั้นทำร้ายผู้อื่น ความอาฆาตแค้น ความพยาบาท จองเวร
จิตที่ร้อนที่สุด

*** เรื่องโลกุตตรจิตขอให้ดูในเรื่องอริยบุคคล 8 ประเภท ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ
*** เรื่องสมาธิขั้นฌานนั้น ในช่องด้านขวาจะเป็นชื่อของฌานขั้นต่างๆ ซึ่งมีความประณีตของจิตสูงขึ้นไปตามลำดับ สำหรับคนทั่วๆ ไปแล้ว อาจจะยังไม่จำเป็นต้องรู้ลึกในรายละเอียด ท่านที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ในเรื่องสัญโยชน์ 10 ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) (รวมถึงเรื่องอื่นๆ ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ))

จิตในสภาวะต่างๆ นั้น เปรียบเหมือนน้ำที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน จิตที่ยิ่งประณีตมาก (อยู่ด้านบนของตาราง) ก็เหมือนน้ำที่เย็นมากและสงบนิ่งมาก ส่วนโทสะ (ความโกรธ) ก็เหมือนน้ำที่กำลังเดือดพล่านกลายเป็นไอ ทั้งร้อนทั้งปั่นป่วนไปหมด


แม่น้ำคงคา พาราณสี

การที่น้ำจะเปลี่ยนแปลงจากอุณหภูมิสูงไปต่ำ หรือจากอุณหภูมิต่ำไปสูง ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับอุณหภูมิ เช่น 25 ํc เป็น 24 ํc เป็น 23 ํ c ...... 2 ํc เป็น 1 ํc เป็น 0 ํc ตามลำดับ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็กระโดดจาก 25 ํc ไปเป็น 0 ํc ได้เลย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับปริมาณความร้อน/เย็นที่มากระทำด้วย ถ้ามีการกระทำอย่างรุนแรง ก็ย่อมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วตามไปด้วย

จิตก็เช่นกัน การที่จิตจะประณีตมากขึ้นหรือน้อยลง ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับขั้น เช่น คนที่กำลังอยู่ในความโกรธนั้น จะทำสมาธิให้เกิดขึ้นในทันทีก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ ต้องค่อยๆ ปรับจิตไปเรื่อยๆ จนจิตประณีตพอแล้วสมาธิจึงจะเกิดขึ้น

น้ำที่ 60 ํc ย่อมเดือดได้ง่ายกว่าน้ำที่ 10 ํc คือใช้เวลาและความร้อนไม่มากก็เดือดได้แล้ว
จิตที่อยู่ในระดับมหากุศลขั้นพื้นฐาน ย่อมโกรธได้ง่ายกว่าจิตที่อยู่ในระดับสมาธิและวิปัสสนาเช่นกัน คือใช้เวลาและเหตุปัจจัยที่รุนแรงน้อยกว่าก็โกรธได้แล้ว

น้ำที่ 10 ํc ย่อมเป็นน้ำแข็งได้ง่ายกว่าน้ำที่ 60 ํc คือใช้เวลาและความเย็นน้อยกว่า ก็เป็นน้ำแข็งแล้ว
จิตที่อยู่ในระดับสมาธิและวิปัสสนาขั้นต้น ย่อมทำสมาธิขั้นสูงและวิปัสสนาขั้นสูงขึ้นไป ได้ง่ายกว่าจิตที่อยู่ในระดับมหากุศลขั้นพื้นฐานเช่นกัน

นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนที่ไม่ค่อยทำสมาธิ ไม่ค่อยกำหนดสติ (เจริญวิปัสสนา) จิตใจถึงได้เร่าร้อนได้ง่ายกว่าคนที่ทำสมาธิหรือกำหนดสติอยู่เป็นประจำ ขณะเดียวกันคนที่ไม่ค่อยทำสมาธิ ไม่ค่อยกำหนดสติ ก็จะทำสมาธิได้ยากกว่าด้วย


ภาพจากวัดทิเบต พุทธคยา

และการที่บางคนทำสมาธิได้ยาก แต่บางคนกลับทำได้ง่ายกว่า ก็เป็นเพราะแต่ละคนมีพื้นฐานของจิตใจที่แตกต่างกัน คือมีความประณีตของจิตโดยส่วนใหญ่ ที่แตกต่างกันนั่นเอง

การที่คนเราจะรู้สึกเป็นสุขขึ้นมานั้น ก็เป็นเพราะจิตของเขาในขณะนั้น มีความประณีตสูงขึ้นกว่าสภาวะจิตที่เป็นพื้นฐาน หรือมีความประณีตสูงขึ้นกว่าสภาวะจิตที่เป็นปรกติธรรมดาของเขานั่นเอง เช่น คนที่มีชีวิตอยู่ในสังคมทั่วไปนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วในชีวิตประจำวันจะถูกความโลภขั้นกลาง หรือโทสะขั้นอ่อนครอบงำอยู่เป็นประจำ (ดูรายละเอียดของสภาพจิตแต่ละชนิด ในตารางข้างบนประกอบ) ดังนั้นเมื่อได้ดูหนัง ฟังเพลง เต้นรำ ฯลฯ (โลภะขั้นอ่อนทั้งหลาย) ซึ่งจะทำให้จิตประณีตขึ้นกว่าในสภาวะปรกติ ก็จะทำให้รู้สึกว่ามีความสุขขึ้นมาได้

ดังนั้น การดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งถึงแม้จะเป็นกิเลสก็ไม่ใช่จะมีผลเสียเสมอไป เพราะอย่างน้อยก็ทำให้จิตประณีตขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ควรควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีสติรักษาตัวได้

แต่การที่คนบางคน เมื่อได้ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นแล้วรู้สึกว่ามีความสุขนั้น เป็นเพราะว่าพื้นฐานจิตใจของเขาอยู่ในขั้นโทสมูลจิตขั้นรุนแรงที่รุนแรงกว่านั้นนั่นเอง เมื่อเขาสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของตนเองไปสู่สภาวะที่มีความรุนแรงน้อยลงได้ หรือสามารถทำให้ความรุนแรงนั้นผ่อนคลายลงได้ จึงทำให้รู้สึกเป็นสุขขึ้นมาได้

คนที่ฉลาดในการพัฒนาจิต จะต้องคอยสังเกต/สำรวจจิตของตนอยู่เสมอ ว่าตอนนี้จิตของตนอยู่ในขั้นไหน ดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร


ภาพจากวัดที่ระลึกถึงพระถังซำจั๋ง เมืองนาลันทา


ถ้าจะให้ดี อย่างน้อยที่สุดควรพิจารณาจิตของตนเองก่อนนอนทุกคืน ว่าวันนี้ทั้งวันจิตอยู่ในสภาพไหนบ้าง เพราะถ้ายิ่งรู้ทันจิตได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จิตจะถอยหลังลงไป ก็จะน้อยลงเท่านั้น ถ้าพลาดพลั้งไปก็จะแก้ไขได้โดยง่าย เพราะจิตยังไม่กระด้างเกินไป
ถ้าจะให้ดีที่สุดก็คือ ต้องฝึกให้มีสติรู้เท่าทันจิตอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ประคับประคองจิต ให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ เป็นภูมิคุ้มกันจิตให้ตกไปอยู่ในสภาพที่ไม่ดีได้ยากขึ้น และยังเป็นการเจริญวิปัสสนา คือศึกษาธรรมชาติของจิตไปพร้อมกันด้วย และเมื่อมีโอกาสที่จะพัฒนาจิตได้มากเป็นพิเศษ เช่น การสมาทานอุโบสถศีล (ศีล8) การทำสมาธิ การเจริญวิปัสสนาอย่างเข้มข้น ก็จะไม่ปล่อยให้โอกาสนั้นผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์เลย แม้ในชีวิตประจำวันตามปรกติ ก็จะพยายามจัดเวลาให้กับการทำสมาธิ และวิปัสสนาอยู่เป็นประจำ มากบ้างน้อยบ้างตามที่จะทำได้

ทั้งนี้ก็เพื่อจะทำสภาพที่เป็นปรกติของจิตของตนเองให้ประณีตที่สุด คือเพื่อให้จิตอยู่ในสภาพที่ประณีตที่สุดเป็นปรกตินั่นเอง ซึ่งจะส่งผลให้จิตแปรปรวนไปสู่สภาพที่หยาบกว่า หรือร้อนกว่าได้ยากขึ้น และสามารถพัฒนาจิตให้สูงขึ้น ประณีตขึ้นได้โดยง่าย

ตัวอย่างของการปรับสภาพจิต เช่นการแก้ความโกรธโดยการแผ่เมตตาให้แก่คนที่เราโกรธนั้น ก็เพื่อเป็นการปรับสภาพจิตให้ประณีตขึ้นโดยเร็ว คือจากโทสะเป็นเมตตา ซึ่งเป็นสภาวะของจิตที่ตรงข้ามกัน ระหว่างร้อนกับเย็น ซึ่งถ้าสามารถแผ่เมตตาให้กับคนนั้นได้อย่างสนิทใจ โทสะก็จะหายไป และจิตก็จะประณีตขึ้นมาก
แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ในทันที ก็อาจใช้การพิจารณาเพื่อข่มความโกรธเอาไว้ (ดูวิธีแก้ความโกรธ/พยาปาทะ ในเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบ) แล้วก็แผ่เมตตาให้กับตัวเองและสรรพสัตว์ทั่วๆ ไปก่อน เพื่อให้จิตเย็นขึ้น แล้วจึงค่อยๆ แผ่ให้กับคนที่เราโกรธก็ได้ ต้องฝืนใจยังไงก็คงต้องพยายามฝึกเอาไว้
ถ้ายังไม่ไหวอีก ก็พิจารณาว่าที่เราแผ่ให้นั้น จริงๆ แล้วก็เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง คือเพื่อปรับสภาพจิตของเราให้ดีขึ้น จะได้พ้นทุกข์จากไฟโทสะ ไม่ใช่เพื่อคนที่เราโกรธสักหน่อย

ลองคิดดูเถิดว่าจะมีความปลาบปลื้มใจเพียงใด ถ้าวันหนึ่งข้างหน้า สามารถแผ่เมตตาให้กับคนที่เราโกรธได้อย่างจริงใจ และสนิทใจเหมือนแผ่ให้กับตนเอง อยากให้ตัวเรามีความสุขเช่นไร ก็ปรารถนาให้ผู้ที่เราโกรธมีความสุขเช่นนั้น โดยไม่รู้สึกขัดแย้งในใจเลยแม้แต่นิดเดียว ถึงวันนั้นก็จะเป็นคนที่ไม่มีศัตรูเลย คือใครจะโกรธ จะเป็นศัตรูกับเราก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราจะไม่เป็นศัตรูกับใครเลย มีแต่ความเมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างเสมอกันหมด ด้วยความจริงใจ

ธัมมโชติ
26 พฤศจิกายน 2543

ขอเชิญทุกๆ ท่าน ร่วมลงนามเยี่ยม
และวิจารณ์เว็บไซต์ของเราใน สมุดเยี่ยม ด้วยนะครับ




eXTReMe Tracker