มะเร็ง…….ท่านรู้จักดีแล้วหรือ ?

  ..จุมพล     สุรัสวดี 

 

 

           คนส่วนใหญ่รู้จักมะเร็งในนามของโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก โดยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และคนที่เป็นโรคนี้จะถึงแก่ความตายจากโรคนี้ ทุกคนกลัวและไม่อยากพบโรคนี้กับตนเองหรือญาติพี่น้อง   เมื่อรู้ว่าเป็นโรคนี้จะมีผลกระทบต่อจิตใจ ผู้ที่เป็นและญาติพี่น้องอย่างมาก มักรู้สึกท้อแท้ ใจคอหดหู่และสิ้นหวัง  ซึ่งแตกต่างจากการเป็นโรคอื่นๆมาก  ปัจจุบันพบโรคมะเร็งมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะสามารถตรวจพบได้ดีขึ้น คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น และมีการบันทึกเก็บข้อมูลทางสถิติได้ดีขึ้น

มะเร็งคืออะไรและมีลักษณะเฉพาะอย่างไร     มะเร็งคือก้อนเนื้อร้ายที่เริ่มเกิดขึ้นมาจากเซลล์เพียงเซลล์เดียว โดยที่เจริญเติบโตขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแตกต่างไปจากเซลล์ปกติ     มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์อย่างรวดเร็ว ส่วนประกอบในเซลล์ผิดปกติไปจากเดิม ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้ เซลล์มะเร็งสามารถทำลายเซลล์ปกติข้างเคียงและเข้าไปแทนที่เซลล์ปกติได้โดยการลุกลามเข้าไปโดยตรง และสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆได้ง่าย ทำให้รักษาหายได้ยาก แต่หากพบในระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายได้

มะเร็งพบได้ที่ใดบ้าง     มะเร็งมีมากมายหลายชนิด แบ่งได้ตามชนิดของเนื้อเยื่อและอวัยวะที่เกิดโรค พบได้ทุกเนื้อเยื่อและอวัยวะ เช่น ผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก หลอดเลือด เม็ดเลือด ปอด สมอง ตับ ลำไส้ ฯลฯ  มะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิงได้แก่ มะเร็งปากมดลูก เต้านม ลำไส้ใหญ่ ช่องปากและลำคอ ส่วนในเพศชายพบมะเร็งของปอด ตับ ลำไส้ใหญ่ ช่องปากและลำคอ เป็นต้น

เกิดจากสาเหตุอะไร      สาเหตุการเกิดมะเร็งที่แท้จริงยังไม่รู้ แต่มีปัจจัยต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุเกิดมะเร็งได้หลายอย่าง เช่น สารเคมีบางอย่าง   สี  อาจก่อให้เกิดมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ สารเบนซิน อาจก่อให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว การฉายรังสีอาจทำให้เกิดมะเร็งของผิวหนัง ต่อมไทรอยด์ เม็ดเลือดขาวได้  แสงอัลตราไวโอเล็ตอาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง การสูบบุหรี่จัดเกิดมะเร็งปอด  อนามัยช่องปากไม่ดี  การสูบซิการ์  สูบกล้อง ทำให้เกิดมะเร็งช่องปาก ปัจจัยเรื่องกรรมพันธุ์ พบได้เช่นในมะเร็งเต้านม  และลำไส้ ปัจจัยทางภูมิภาคและอาหาร เช่นพบมะเร็งท่อน้ำดีในตับมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มะเร็งหลอดอาหารมากทางภาคใต้ เป็นต้น

สามารถแพร่กระจายได้อย่างไร      เซลล์มะเร็งสามารถลุกลามโดยการแทรกเบียดไปตามเนื้อเยื่อที่ดีรอบๆก้อนมะเร็งได้โดยตรง และสามารถแพร่กระจายไปจากตำแหน่งเดิมที่เริ่มเป็นอยู่โดยทางท่อน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองต่างๆ และโดยทางกระแสโลหิตไปสู่อวัยวะต่างๆที่อยู่ไกลได้ ที่พบได้บ่อยได้แก่การแพร่กระจายไปยังตับ ปอด กระดูก สมอง เป็นต้น

อาการอย่างไรเป็นอาการของโรคมะเร็ง     มะเร็งมีอาการได้ต่างๆตามชนิด ระยะของโรค และตามตำแหน่งอวัยวะที่เป็น  บางรายอาจไม่มีอาการอะไรเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นในระยะแรกของโรคหรือเริ่มเป็น  โดยทั่วไปมีคำแนะนำสำหรับอาการเตือนที่สำคัญ 7 ประการคือ

1.      มีการเปลี่ยนแปลงในระบบขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ เช่น มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย  อาการปวดเบ่งอยากถ่ายอุจจาระ เหมือนถ่ายไม่สุด เป็นต้น

2.      มีแผลเรื้อรัง ไม่ยอมหาย

3.      มีเลือดออกผิดปกติหรือมีน้ำคัดหลั่งออกผิดปกติ เช่นมีเลือดออกทางหัวนม ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด ฯลฯ

4.      การพบก้อนหรือเป็นดานคล้ายก้อนที่บริเวณใดก็ตาม

5.      มีอาหารไม่ย่อยหรือกลืนลำบาก

6.      ไฝหรือหูด ที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น โตเร็ว,คัน,มีเลือดออก เป็นต้น

7.      ไอถี่เรื้อรัง หรือมีเสียงแหบ

เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่    เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น หรืออาการที่น่าสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษารับคำแนะนำหรือรับการตรวจเพิ่มเติม ไม่ควรวิตกกังวลเกินไปหรือฟังคำพูดของผู้อื่นที่อาจชักนำให้เข้าใจผิดและรักษาไปผิดทางได้ แพทย์จะซักประวัติ   ตรวจร่างกายและอาจต้องทำการตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ ตรวจทางรังสี หรือต้องตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ส่องกล้อง ดูดหรือตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจหาเซลล์มะเร็ง เป็นต้น

หากเป็นมะเร็งแล้วจะมีวิธีการรักษากันอย่างไร     การเป็นมะเร็งไม่ได้เป็นการสิ้นหวังเสียแล้วสำหรับชีวิตนี้ มะเร็งสามารถรักษาให้หายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบในระยะเริ่มเป็นหรือระยะแรกๆของโรค และมะเร็งหลายอย่างมีความรุนแรงน้อย สามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นปกติได้เป็นเวลายาวนาน จนอาจจะเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆไปเสียก่อนด้วยถ้าได้รับการรักษาและควบคุมโรคอย่างถูกต้อง  การรักษาโรคมะเร็งมี 4 วิธีคือ การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด และการบำบัดด้วยวิธีให้วัคซีนหรือสารที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน     แพทย์จะเลือกวิธีไหนขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ตำแหน่งและอวัยวะที่เป็นโรค อายุ ตลอดจนภาวะของผู้ป่วย อาจใช้เพียงวิธีหนึ่งวิธีใดหรือหลายวิธีร่วมกัน    โดยการผ่าตัดมักเป็นวิธีที่ใช้มากที่สุดและได้ผลดีที่สุด โดยเฉพาะในระยะแรกๆของโรค การรักษาโดยการผ่าตัด อาศัยหลักที่ว่ามะเร็งเกิดขึ้นมาจากเซลล์มะเร็งรวมตัวกันเป็นก้อนและอยู่เฉพาะที่ก่อน ต่อมาจึงลุกลามไปรอบข้างและไปยังต่อมน้ำเหลือง    ทางท่อน้ำเหลือง การผ่าตัดจึงต้องเอาก้อน, ท่อทางเดินน้ำเหลือง,และต่อมน้ำเหลืองออก การรักษาโดยวิธีรังสีรักษา เซลล์ที่มีชีวิตอยู่จะถูกทำลายเมื่อถูกรังสี เซลล์มะเร็งไวต่อการถูกทำลายโดยรังสีได้ดีกว่าเซลล์ปกติ ด้วยเหตุผลนี้รังสีที่ใช้ในระดับปลอดภัยสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ก่อนที่จะทำลายเซลล์ปกติ       ส่วนการรักษาโดยเคมีบำบัด ยาเคมีบำบัดจะทำลายเซลล์ทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ แต่จะทำลายเซลล์มะเร็งได้มากกว่าเซลล์ปกติมาก และเป็นการทำลายเซลล์มะเร็งทุกที่ที่ยาสามารถไปถึง ดังนั้น การให้ยาทั้งขนาดและความถี่จึงมุ่งที่จะทำลายเซลล์มะเร็งให้มากที่สุดในขณะที่เกิดพิษต่อผู้ป่วยไม่มากเกินไป และอาศัยหลักว่าเนื้อเยื่อหรือเซลล์ปกติสามารถเกิดขึ้นใหม่ได้โดยตนเอง ปกติในร่างกายเราเนื้อเยื่อที่มีการแบ่งตัวได้มาก เช่นไขกระดูก เป็นต้น จะเกิดพิษจากยาได้ง่ายกว่าเนื้อเยื่อที่มีการแบ่งตัวเซลล์ได้น้อย การแสดงของการทำลายไขกระดูกคือเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดต่ำลง จึงต้องมีการตรวจเช็คเป็นระยะในขณะที่ได้รับยาเคมีบำบัด  การบำบัดด้วยวัคซีน   และสารเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันยังอยู่ในขั้นการทดลอง        อาจจะมีประโยชน์ มากขึ้นในอนาคต

ป้องกันและลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้อย่างไร     หนทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งให้มากที่สุด  ให้ความสนใจดูแลสุขภาพอยู่เสมอเมื่อมีอาการเตือนหรืออาการที่น่าสงสัยรีบปรึกษาแพทย์โดยไม่รอช้า  และควรตรวจเช็คร่างกายเป็นระยะๆ เพื่อเป็นการตรวจสุขภาพทั่วไปและค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก     ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจทุก 3-5 ปี และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจทุกปี ควรตรวจหามะเร็งของเต้านม ปอด ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่ ตับ ต่อมไทรอยด์ ลูกอัณฑะ ต่อมลูกหมาก รังไข่ ต่อมน้ำเหลือง ช่องปากและผิวหนัง เป็นต้น    มีคำแนะนำในการตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก เช่น หญิงอายุ 20-40 ปีควรได้รับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 2 ปี  หลังอายุ 40 ปี ตรวจทุกปี และเมื่ออายุ 35-40 ปี     ควรตรวจเต้านมด้วยเอ็กซเรย์พิเศษ (แมมโมกราฟี)  ไว้เป็นหลักฐานเพื่อการติดตามผล หลังจากนั้นควรทำทุก 1-2 ปี หญิงทุกคนควรหัดตรวจเต้านมด้วยตนเองด้วย และหมั่นตรวจเดือนละ ครั้งในวันที่ 5-7 หลังมีประจำเดือน     ผู้ที่เป็นตับแข็ง ตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสบี หรือ ซี หรือเป็นพาหะไวรัสอักเสบบี  ทั้งหญิงและชายควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ตับและตรวจเลือดหาค่าอัลฟาฟีโตโปรเทอีน ทุก 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อตรวจเช็คหามะเร็งตับ  ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจทวารหนัก ตรวจเลือดในอุจจาระ หรือตรวจพิเศษทางลำไส้ใหญ่โดยการส่องกล้องทุกปี ถ้าผลส่องกล้องปกติ 2 ปี ติดต่อกัน ต่อไปตรวจโดยส่องกล้องห่างออกเป็นทุก 3-5 ปี เป็นต้น    ส่วนคำแนะนำสำหรับลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและการป้องกัน เช่น งดหรือลดการสูบบุหรี่ เพื่อหลีกเลี่ยงจากโรคมะเร็งปอด  เลิกการเคี้ยวอมยาสูบ การสูบซิการ์ สูบกล้อง เพื่อลดความเสี่ยงจากมะเร็งปากและคอ  ลดหรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเลี่ยงจากมะเร็งตับ หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัด เพื่อเลี่ยงจากมะเร็งผิวหนัง ไม่รับประทานอาหารดิบๆสุกๆ เช่น ก้อยปลา ปลาร้า ปลาจ่อม ฯลฯ  ที่จะทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ  ไม่รับประทานอาหารที่มีราขึ้น เพราะอาจมีสารพิษอัลฟาทอกซินปนเปื้อนในอาหารซึ่งอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งตับ    ลดอาหารไขมันสูง อาหารไขมันสูงๆ นอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม   ลำไส้ใหญ่  และต่อมลูกหมากได้    ลดอาหารดอง เค็ม อาหารปิ้ง ย่าง รมควัน เพราะเสี่ยงต่อมะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่ ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ผักสด ผลไม้สด เพื่อป้องกันมะเร็งหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ผักตระกูลกระหล่ำ เช่นกระหล่ำปลี กระหล่ำดอก ผักคะน้า หัวผักกาด บรอกโคลี่ ฯลฯ  ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหาร  รับประทานอาหารมีกากมาก เพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาหารที่มีเบต้า-แคโรทีนและวิตามินเอสูง เช่น ผักสดผลไม้สีเขียว-เหลือง ช่วยป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร กล่องเสียงและปอด  เป็นต้น

ความรู้เรื่องโรคมะเร็งอย่างย่อที่กล่าวข้างต้นคงพอจะทำให้ท่านผู้สนใจเกิดความเข้าใจโรคมะเร็งได้บ้าง รู้ในธรรมชาติของมะเร็ง เข้าใจการตรวจรักษาโรคนี้ของแพทย์ได้ดีขึ้น ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกัน หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ           ดูแลสุขภาพตนเองและผู้ที่ท่านรักอยู่เสมอ รีบปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหาหรือข้อสงสัยด้านสุขภาพ  และขอให้ท่านจงแคล้วคลาดจากโรคมะเร็งนี้ตลอดไป

 

(จากหนังสือ “สาระน่ารู้ทางศัลยกรรม” 50ปี รพ.ภูมิพลดุลยเดช พ.ศ.2542)