ยาสลบมิใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด

..ประสิทธิ์     จงเลิศตระกูล

 

 

           โดยทั่วไปประชาชนเมื่อไม่สบาย ไปตรวจกับแพทย์ ถ้าแพทย์แจ้งให้ทราบว่าเป็นโรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยและญาติจะเกิดความวิตกกังวลว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ทำผ่าตัดแล้วจะหายขาดหรือไม่ ขณะทำผ่าตัดจะเจ็บหรือไม่ ดมยาสลบก็กลัวจะไม่ฟื้น ยิ่งมีคนรู้จักหรือญาติเคยผ่าตัดแล้วเกิดความไม่ประทับใจในผลการผ่าตัด หรืออ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่าคนไข้มาผ่าตัดแล้วเกิดโรคแทรกซ้อน ยิ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นจนไม่ยอมทำผ่าตัดตามแพทย์แนะนำ มาตรวจอีกครั้งอาจจะเป็นมากจนผ่าตัดไม่ได้แล้ว   ดังนั้นเราควรทำความรู้จักเกี่ยวกับยาสลบที่ใช้ในระหว่างผ่าตัด เพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง แพทย์ที่ให้ยาสลบเรียก วิสัญญีแพทย์

การให้ยาสลบที่ใช้ในปัจจุบันมี 3 วิธีคือ

วิธีที่ 1     การให้ยาชาเฉพาะที่ ได้แก่การใช้ยาชาฉีด, พ่น, กิน, หยอดตา, หรือทา บริเวณที่จะทำผ่าตัด จะใช้วิธีนี้กับการผ่าตัดเล็ก ใช้เวลาไม่นานเกิน 1 ชม. เช่นการผ่าตัด ก้อนเนื้อที่เต้านม ก้อนไขมันขนาดเล็ก วิธีนี้จะดีเสียค่าใช้จ่ายน้อย ไม่ต้องงดอาหารและน้ำหลังทำผ่าตัด กินอาหารและน้ำได้  ในขณะที่ทำผ่าคัดจะรู้สึกตัวดี แพทย์ผ่าตัดจะเป็นผู้ให้ยาชาบริเวณที่จะผ่าตัด จะเริ่มผ่าตัดหลังจากที่ยาชาออกฤทธิ์เต็มที่แล้ว หลังผ่าตัดก็ไม่เจ็บแผล โดยมากแพทย์จะนัดให้ผู้ป่วยมาจากบ้านหลังจากทำผ่าตัดเสร็จก็กลับบ้านได้ แต่ผู้ป่วยต้องร่วมมือขณะทำผ่าตัด  ดังนั้นในผู้ป่วยเด็กส่วนมากจะใช้วิธีนี้ไม่ได้

วิธีที่ 2     การให้ยาชาเฉพาะส่วน เช่น ชาเฉพาะส่วนของร่างกายท่อนล่างและขา หรือชาเฉพาะแขนข้างใดข้างหนึ่ง จะใช้วิธีนี้ในการผ่าตัดช่องท้องส่วนล่าง เช่นผ่าตัดไส้เลื่อน  ผ่าตัดกระบังลมหย่อน ผ่าตัดกระดูแขน, ขา  จะใช้เวลาผ่าตัดอย่างมากไม่เกิน 3 ชม.  ผู้ป่วยต้องมีการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด ตรวจเลือด เอ็กซ์-เรย์ ปอด ต้องมานอนโรงพยาบาลก่อนวันผ่าตัด ก่อนที่จะเริ่มผ่าตัด  วิสัญญีแพทย์จะใช้ยาชา จนกระทั่งยาชาออกฤทธิ์เต็มที่ ไม่สามารถเคลื่อนไหวบริเวณนั้นได้แล้ว  แพทย์ผ่าตัดจึงจะเริ่มทำผ่าตัดหลังจากทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว  ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอด เวลาพูดคุยกับวิสัญญีแพทย์ได้ แต่จะไม่เจ็บขณะที่ทำผ่าตัด ในผู้ป่วยที่กลัว, วิตกกังวลมาก วิสัญญีแพทย์อาจให้ยาสลบเพิ่มทางน้ำเกลือทำให้หลับ ไม่กลัว วิธีนี้มีข้อดีที่หลังผ่าตัดจะกินอาหาร น้ำ ได้ ยังมีอาการชาเหลืออยู่ ไม่ปวดแผล  เสียค่าใช้จ่ายน้อย เข็มที่ใช้มีขนาดเล็กเท่าเส้นผม ขณะที่ฉีดยาชาจะไม่เจ็บมาก ใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที  แต่ผู้ป่วยต้องร่วมมือไม่ขยับตัวอยู่นิ่งๆ ขณะที่วิสัญญีแพทย์ให้ยาชา

วิธีที่ 3   การดมยาสลบ วิธีนี้ใช้กับผู้ป่วยเด็ก หรือการผ่าตัดที่ไม่สามารถใช้วิธีการฉีดยาชาได้ เช่นการผ่าตัดช่องท้องส่วนบน, ผ่าตัดช่องอก, ผ่าตัดสมอง ผ่าตัดใหญ่ที่ใช้เวลาผ่าตัดเป็นเวลานานๆ เช่น มากกว่า 3 ชม. ขึ้นไป   ดังนั้นจึงต้องนอนโรงพยาบาลก่อนผ่าตัด มีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี ตรวจเลือด  เอ็กซ์-เรย์ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาล  งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6 ชม. ก่อนทำผ่าตัด วันที่จะทำผ่าตัดวิสัญญีแพทย์จะให้ยาสลบทางสายน้ำเกลือ แล้วตามด้วยยาสลบทางหน้ากากหรือท่อหลอดลม ผู้ป่วยจะเหมือนกับนอนหลับ  ไม่รู้สึกตัว  ไม่เจ็บในขณะที่แพทย์ทำผ่าตัด หลังผ่าตัดเสร็จ วิสัญญีแพทย์จะหยุดให้ยาสลบผู้ป่วยจะตื่น   หลังจากรู้สึกตัวดีแล้ววิสัญญีแแพทย์จะเอาอุปกรณ์ให้ยาสลบออกจากตัวผู้ป่วย

แล้วย้ายนอนพักฟื้นที่ห้องพักฟื้นประมาณ 1 ชม. จะส่งกลับไปพักต่อที่ตึกผู้ป่วย  ถ้าเป็นการผ่าตัดที่ไม่ใหญ่มาก ผู้ป่วยอาจกลับบ้านได้หลังจากฟื้นดีแล้ว  แต่ต้องมีญาติมากลับ  หลังดมยาสลบ ผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงจากฤทธิ์ของยาสลบที่เหลือ  อาจมีอาการระคายคอ แต่ต้องงดอาหารและน้ำ หลังดมยาสลบประมาณ 4-6 ชม. ถ้าไม่ได้ผ่าตัดในช่องท้อง  รู้สึกตัวดีแล้วกินอาหารได้  วิธีนี้จะเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าวิธีอื่น  หลังผ่าตัดเสร็จมีอาการปวดแผล  หรือมีคลื่นไส้อาเจียน  แพทย์จะให้ยาแก้ปวด,  แก้อาเจียน  หลังผ่าตัดต้องนอนโรงพยาบาล การเลือกวิธีให้ยาสลบ วิสัญญีแพทย์จะเลือกวิธีที่ปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด  โดยพิจารณาจากโรคประจำตัวอื่นๆของผู้ป่วย, อายุ, โรคที่เป็นและตำแหน่งที่จะผ่าตัด รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ประหยัด และเฝ้าดูและระหว่างการให้ยาสลบและทำผ่าตัดอย่างใกล้ชิด

           การเตรียมตัวก่อนการดมยาสลบ ต้องมีการตรวจสุขภาพของผู้ป่วย, ตรวจเลือด, เอ็กซ์-เรย์ ก่อน  ถ้าเกิดความผิดปกติจะให้การดูแลรักษาก่อน ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

           ก่อนจะให้ยาสลบเพื่อทำผ่าตัด ต้องมีการงดอาหารและน้ำทุกชนิดก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 6 ชม.ยกเว้น

ยาที่แพทย์สั่ง ทำความสะอาดร่างกายที่บริเวณที่ทำผ่าตัด การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลก่อนและหลังผ่าตัด เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก เพื่อให้การผ่าตัดได้ผลดีไม่มีภาวะแทรกซ้อน กลับบ้านได้เร็ว หลังจากที่รู้จักเกี่ยวกับการให้ยาสลบแล้ว จะเห็นว่าไม่เป็นเรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด หรือตามที่ได้ยินมา การให้ยาสลบเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคเกี่ยวกับการผ่าตัดจะไม่เจ็บแผล มีความปลอดภัยสูง จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นอย่างดีจากวิสัญญีแพทย์  ดังนั้นเมื่อแพทยืแนะนำให้ทำผ่าตัดจงอย่าลังเลในการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่าปล่อยให้เป็นมากจนกระทั่งไม่สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด

 

 

(จากหนังสือ “สาระน่ารู้ทางศัลยกรรม” 50ปี รพ.ภูมิพลดุลยเดช พ.ศ.2542)