โรคแผลกระเพาะอาหาร รักษาหายขาดได้

..เพชร   เกษตรสุวรรณ

 

1.       โรคแผลกระเพาะอาหาร หรือที่เรียกกันติดปากว่า “โรคกระเพาะ” นั้น คืออะไร

                 โรคกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) คือโรคที่เกิดจากการที่เยื่อบุ

ของกระเพาะอาหารหรือ ลำไส้เล็กส่วนต้น  ถูกกรดในกระเพาะทำลายจน

เกิดเป็นแผลขึ้น

                 โดยส่วนมากที่ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง จุกแน่น ใต้ลิ้นปี่ มาพบ

แพทย์ แล้วแพทย์บอก  ว่าเป็นโรคกระเพาะนั้น มีเพียงบางคนเท่านั้นที่เป็น

แผลจริงๆ ส่วนมากแล้วจะยังไม่ถึงขนาด เป็นแผล แต่อาจจะเป็นเพียงแค่

อาการอักเสบ หรือมีการบีบตัวที่ผิดปกติของกระเพาะ หรืออาการเกิดจาก

การที่มีกรดหลั่งในกระเพาะมาก ซึ่งทั้งหมดส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้น เมื่อ

ได้รับการรักษาด้วยยาลดกรดหรือยาเคลือบกระเพาะ ในระยะเวลาสั้นๆ

 แต่ผู้ป่วยที่เป็นแผลจริงๆ จะต้องได้รับการรักษาในระยะเวลาที่นานกว่า

คือ ประมาณ 4-6 อาทิตย์  เพื่อให้เวลาแผลนั้นหายไปจากกระเพาะอาหาร

2.       ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าเป็นโรคแผลกระเพาะอาหาร

                  สำหรับวิธีการที่จะวินิจฉัยให้แน่นอนว่าเป็น “แผล” หรือไม่นั้น

 ในปัจจุบันมี 2 วิธีคือ การตรวจทาง x-ray โดยการกลืนสารทึบแสงก็จะเห็น

แผลได้ หรือการใช้กล้องส่องทางเดินอาหาร โดยส่องจากปากเข้าไปในกระเพาะ

3.       ผู้ป่วยที่มีอาการจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ จำเป็นต้องตรวจดังข้อ 2 ทุกรายหรือไม่

                 โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์มักลองให้การรักษาแบบโรคแผลในกระเพาะอาหารไปก่อน แล้วถ้ามีอาการซ้ำๆบ่อยๆ หรืออาการไม่ดีขึ้น จึงมักจะแนะนำให้ทำการตรวจ

4.       ทำไมคนที่เป็นโรคแผลกระเพาะอาหารจึงเป็นซ้ำได้เรื่อยๆทั้งๆที่รักษาครบตามที่แพทย์สั่ง

                  ในอดีตเราเชื่อว่าสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากการเสียสมดุลของการหลั่งกรดและกลไกป้องกันตนเองของกระเพาะ เช่นมีการหลั่งกรดมากเกินไป จากสาเหตุต่างๆ เช่น ความเครียด, การทานอาหารไม่ตรงเวลา, การมีฮอร์โมนบางชนิดมากเกินไป หรือกลไกป้องกันตนเองของกระเพาะเสียไป เช่น การทานยาบางอย่างซึ่งสามารถทำลายเยื่อบุกระเพาะ เช่น แอสไพริน, ยาแก้ข้ออักเสบ แอลกอฮอล์   ดังนั้น เมื่อทำการรักษาแผลให้หายแล้ว และกำจัดสาเหตุที่กล่าวมาแล้วไป แผลก็ไม่น่าจะเกิดซ้ำอีก  แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ผู้ป่วยจำนวนมากถึงแม้จะพยายามปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ไม่ไปทานยาที่ไม่ควรทานอีก แต่ก็กลับมีแผลซ้ำอีกใน 1-2 ปี จนกระทั่งแพทย์บางคน แนะนำให้ผู้ป่วยทานยาลดกรดเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้แผลเกิดซ้ำ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมาก

                 แต่ในปัจจุบันมีการค้นพบสาเหตุสำคัญ ซึ่งคิดว่าคำตอบสำหรับโรคแผลในกระเพาะขณะนี้ นั้นก็คือ พบว่ามีเชื้อโรคประเภทแบคทีเรีย ชนิดหนึ่งชื่อว่า Helicobactor pylori ซึ่งเชื้อโรคนี้อาศัยอยู่ ได้ในกระเพาะอาหาร แล้วกระตุ้นให้มีการอักเสบ และหลั่งกรดมาก ซึ่งนำไปสู่การเกิดแผล ดังนั้นถ้าเราสามารถกำจัดเชื้อโรคตัวนี้ได้ อัตราการเกิดแผลซ้ำก็จะลดน้อยลงอย่างมากมายหรืออาจเรียกได้ว่าหายขาดจากโรคแผลในกระเพาะอาหารได้เลยทีเดียว

5.       จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยแผลโรคกระเพาะอาหารคนไหนมีเชื้อโรคตัวนี้อยู่

                 มีการตรวจอยู่  3  วิธีใหญ่ๆ คือ

1.        เจาะเลือดตรวจหาแอนตี้บอดี้

2.        นำลมหายใจของผู้ป่วยมาตรวจ

3.       ตัดชิ้นเนื้อในกระเพาะอาหารด้วยการส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะอาหารและนำมาตรวจหาเชื้อ

                 ในประเทศไทยวิธีที่ 3 เป็นวิธีที่แพร่หลายที่สุด แต่ผู้ป่วยจะต้องถูกส่องกล้องตรวจกระเพาะ วิธีที่ 1และ2 เริ่มนำมาใช้บ้างแล้วในบาง รพ.ซึ่งไม่จำเป็นต้องถูกส่องกล้องตรวจ

6.       การรักษาทำอย่างไร

                 เมื่อตรวจพบว่ามีเชื้อโรคตัวนี้อยู่ และเป็นแผลในกระเพาะอาหาร  จำเป็นต้องรักษาทั้งกำจัดเชื้อโรคและรักษาแผล  การใช้ยาจึงประกอบด้วยกลุ่มของยาลดกรด ร่วมกับยาปฏิชีวนะ ซึ่งในปัจจุบันมียาดีๆอยู่มาก ซึ่งใช้เวลาสั้นๆในการกินยา  คือทานยาประมาณ 1-2 อาทิตย์ ก็จะสามารถกำจัดเชื้อโรคได้  แต่สิ่งสำคัญต้องทานยาที่กำหนดอย่างครบถ้วน มิฉะนั้นอาจได้ผลการรักษาที่ไม่ดีพอ

                 ดังนั้น กล่าวโดยสรุปว่า โรคแผลในกระเพาะอาหารที่เมื่อก่อนคิดว่าเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆหายๆ ต้องทานยาอยู่เป็นประจำ ในปัจจุบันทางการแพทย์พบว่าเป็นสาเหตุจากการติดเชื้อโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การรักษาอย่างถูกต้อง และสามารถหายขาดได้

 

(จากหนังสือ “สาระน่ารู้ทางศัลยกรรม” 50ปี รพ.ภูมิพลดุลยเดช พ.ศ.2542)