การปฐมพยาบาลแผลไหม้เนื่องจากถูกกรดหรือด่าง

 ถูกฟ้าผ่าและช็อกจากกระแสไฟฟ้า

  ..อนันต์ชัย   เดชอมรธัญ

 

 

แผลที่ถูกน้ำกรดหรือด่าง

               จะมีลักษณะเหมือนแผลที่ถูกไฟไหม้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากความประมาท

การปฐมพยาบาล

           1.  ล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดจำนวนมากเป็นเวลานานๆ เช่น เปิดก๊อกหรือราดน้ำนานๆ อย่าแช่น้ำเพื่อชะล้างกรดและด่างออกให้หมด

           2.  การรักษาบาดแผลทำเหมือนการรักษาแผลถูกไฟไหม้

           3.  ป้องกันการติดเชื้อ

 

บาดเจ็บเนื่องจากถูกฟ้าผ่า

           เมื่อถูกฟ้าผ่าร่างกายจะหมดสติและถึงแก่ความตายได้ ผู้ที่ถูกฟ้าผ่าจะพบว่ากล้ามเนื้อประสาทที่ควบคุมการหายใจเป็นอัมพาต ทำให้หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้นและมีแผลไหม้

การปฐมพยาบาล

           ให้รีบผายปอดโดยเร็วที่สุด แต่ต้องทำอย่างถูกวิธีเพราะผู้ที่ทำไม่ถูกต้องจะมีผลร้ายต่อผู้ป่วย และถ้าคนไข้หยุดหายใจด้วยให้ผายปอด และกระตุ้นหัวใจสลับกันไป บาดแผลที่มีให้รักษาในเบื้องต้นเหมือนบาดแผลถูกไฟไหม้และต้องให้แพทย์รักษาเพราะภายในมักมีบาดแผลรุนแรงกว่าที่มองเห็นด้วยตา

 

ช๊อกจากกระแสไฟฟ้า

           อาการเมื่อถูกกระแสไฟฟ้า ไฟฟ้าจะแล่นเข้าสู่ร่างกายซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตได้ อาการที่ปรากฏคือ หมดสติ, ชีพจรเต้นเบา, อาจมีอาการช๊อกหรือหัวใจหยุดเต้นในทันที และมีรอยไหม้บริเวณที่ถูกกระแสไฟฟ้า

วิธีช่วยคนที่ถูกกระแสไฟฟ้า

           ให้ปฏิบัติโดยทันที เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหลุดจากสายไฟฟ้าให้เร็วที่สุด ซึ่งปฏิบัติได้หลายวิธีต่อไปนี้

           1.  ปิดสวิตช์ไฟทันที

           2.  ถ้าปิดสวิตช์ไม่ได้ให้ใช้วิธีดังต่อไปนี้

                2.1  สวมถุงมือยางแล้วยืนบนพื้นที่ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า ดึงผู้ป่วยออกถ้าไม่มีถุงมือก็ต้องพับด้วยผ้า หรือสิ่งที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า                เช่น ผ้ายางหรือแผ่นยาง เป็นต้น

                 2.2  ทำเป็นบ่วงสอดคล้องแขนหรือขาของผู้ป่วยแล้วลากออกมา หรือคล้องสายไฟฟ้าแล้วดึงออกมา

2.3     ใช้ผ้ายาวๆ เช่น ผ้าขาวม้าหรือเชือกจับชายหรือปลายทั้งสองข้างละมือตลบผ้าหรือเชือก ให้คล้องตัวผู้ป่วยแล้วกระตุกออกมา

2.4     ใช้ขวานคมๆที่มีด้ามเป็นไม้ ฟันอย่างแรงลงบนสายไฟนั้น

 

การปฐมพยาบาล

เมื่อผู้ป่วยหลุดออกมาได้ ให้รีบนำส่งแพทย์ทันที

ถ้าสลบให้พยายามปลุกให้รู้สึกตัว

ให้ทำการผายปอดช่วยหายใจ(ถ้าหยุดหายใจ) จนกว่าจะหายใจเป็นปกติ

แม้จะหายใจเป็นปกติแล้ว ก็ต้องเฝ้าดูอาการอย่างเสมอ เพราะอาจเกิดช็อกขึ้นอีกได้

 

(จากหนังสือ “สาระน่ารู้ทางศัลยกรรม” 50ปี รพ.ภูมิพลดุลยเดช พ.ศ.2542)