เรื่องของแผล

  น.พ.สมิทธิ์  ปรัชญากร

 

           แผลที่จะกล่าวนี้ เป็นแผลที่เกิดจากการบาดเจ็บ เป็นแผลที่ตัวเองทำหรือผู้อื่นทำให้เกิดฃึ้น ส่วนแผลใจ แผลเก่า หรือแผลเป็นเอาไว้กล่าวภายหลัง

           เรื่องของบาดแผลแบ่งได้ใหญ่ๆ เป็น 2 ชนิด คือแผลสด และแผลอักเสบติดเชื้อ

           แผลสดหมายถึง แผลที่ได้รับบาดเจ็บและเกิดขึ้นไม่นาน การปฐมพยาบาลมีหลักการคือ ถ้ามีเลือดออกต้องห้ามเลือดหรือทำให้เลือดหยุด และป้องกันการปนเปื้อนไม่ให้แผลสกปรกมากกว่าที่เป็นอยู่เดิม

           การห้ามเลือด ถ้าทีบาดแผลและมีเลือดออกตรงจุดไหน ให้ใช้ผ้าสะอาดปิดแล้วกดทับด้วยมือ หรือใช้ผ้าพันให้แน่นอนพอสมควร ถ้าเป็นร่างกายแขนหรือขา โดยพันไว้ตรงตำแหน่งบาดแผล จนเลือดหยุด หรือออกเล็กน้อย

           แผลสดสามารถแบ่งได้ย่อยๆดังนี้

           1. แผลถลอก  จะมีความลึกของบาดแผลจากผิวชั้นนอก ถึงหนังกำพร้า การดูแลเบื้องต้นให้ใช้สบู่ฟอกและล้างด้วยน้ำสะอาด ถ้ามีเศษหิน ดิน ทราย ค้างอยู่ให้เอาออกให้หมด (อย่าเสียดาย)  ถ้าเจ็บมากต้องทำในโรงพยาบาล โดยใช้ยาชาช่วย แล้วใช้ใบมีดขุดเอาสิ่งสกปรกออก ถ้าติดแน่นมากๆ เสร็จแล้วหายาฆ่าเชื้อทาบริเวณผิวหนังรอบๆแผล (ป้องกันเชื้อโรคจากผิวหนังรอบๆทำให้แผลอักเสบ) ไม่ควรทายาเข้าไปในบาดแผลแล้วใช้ผ่าก๊อซสะอาดปิดทับไว้ ถ้าเป็นบริเวณไม่กว้างและแผลไม่ลึกมากอาจเปิดแผลทิ้งไว้ แผลพวกนี้จะแห้งและหายได้ภายใน 7-10 วัน

           2.  บาดแผลถูกของมีคมขอบเรียบ แผลพวกนี้จะเป็นแผลสะอาด เบื้องต้นถ้ามีเลือดออกให้ใช้ผ้าสะอาดปิดไว้ แล้วมาเย็บแผลที่โรงพยาบาล

           3.  แผลฉีกขาดเกิดจากของแข็งไม่มีคม ขอบไม่เรียบและขอบแผลช้ำ ถ้ามีเลือดออกให้ใช้ผ้าสะอาดปิดทับไว้ มาเย็บแผลที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์อาจจะต้องตกแต่งบาดแผล โดยใช้มีดตัดขอบแผลให้เรียบและเย็บแผลปิด ซึ่งจะต้องใช้ยาชาช่วย

           4.  แผลถูกของแหลมมีคมทิ่มตำ ถ้าแผลลึกและถูกบริเวณเส้นเลือดผ่าน อาจจะมีเลือดพุ่งออกมาให้เห็นภายนอก ก็จะมีอาการบวมขึ้น อย่างรวดเร็วบริเวณบาดแผล ให้ใช้ผ้าก๊อซปิดทับและกดให้แน่น แล้วรีบมาโรงพยาบาล ถ้าเป็นบาดแผลไม่รุนแรง แต่มีเศษสิ่งสกปรกค้างอยู่ในแผล จำเป็นต้องเปิดปากแผล ล้างและแคะเอาสิ่งสกปรกออก แน่นอนจำเป็นต้องใช้ยาชาช่วย และต้องทำในโรงพยาบาลหรือคลินิกแพทย์

           5.  บาดแผลถูกมนุษย์หรือสัตว์กัด ในน้ำลายคนหรือสัตว์จะมีเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดผสมอยู่ ทำให้เกิดการอักเสบมีหนองได้ง่าย รวมทั้งเชื้อบาดทะยักและไวรัสพิษสุนัขบ้าด้วยถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การดูแลแผลเหล่านี้จะต้องล้างให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำสบู่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ ถ้าปากแผลแคบก็ให้เปิดปากแผลให้ลึกถึงก้นแผล ถ้าบาดแผลเป็นแผลฉีกขาดแล้วให้ล้างให้สะอาด ตัดของแผลให้เรียบและเย็บหลวมๆไว้

           6.  แผลถูกความร้อน ระยะแรกจะปวดมาก โดยเฉพาะแผลที่ถูกความร้อนและผิวหนังไหม้แดงให้ใช้ความเย็นประคบโดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นประคบไว้ เพื่อลดความเจ็บปวดแล้วรีบมาโรงพยาบาล ถ้าผิวหนังพองให้เปิดผิวหนังเป็นช่วงๆ เอาน้ำเหลืองใต้ผิวหนังออก หรืออาจจะลอกหนังที่พองออก ฟอกให้สะอาดทาด้วยครีมฆ่าเชื้อโรค

           7.  บาดแผล ฟก ช้ำ บวม แผลพวกนี้ภายใน 24-48 ชม.หลังเกิดเหตุให้ประคบด้วยความเย็น เพื่อให้หลอดเลือดฝอยหดตัว เลือดและน้ำเหลืองซึมออกน้อยลง ป้องกันไม่ให้บวมมากขึ้น  หลังจากนั้นจึงประคบด้วยน้ำอุ่น หรือจะทายาลดบวมอะไรก็ดี ตามอัธยาศัยไม่ว่ากัน

           บาดแผลอีกชนิดหนึ่งนอกเหนือจากแผลสดก็คือ แผลอักเสบติดเชื้อ หรือแผลฝีหนอง มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

           แผลสดแล้วเกิดอักเสบติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นแผลฉีกขาดแล้วเย็ยไว้หรือแผลผ่าตัดหรือแผลเกอดจากของมีคมทิ่มตำ แผลพวกนี้จะเริ่มการอักเสบให้เห็นก็ประมาณ วันที่ 4,5 หลังเกิเดอุบัติเหตุ เราจะสังเกตได้คือถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดตุ๊บๆและแผลมีอาการบวม,แดง และคลำดูร้อนๆ เชื่อได้เลยว่าแผลมีการอักเสบติดเชื้อแล้ว และจะเริ่มเป็นหนองให้รีบตัดไหมออก หรือทำให้ปากแผลกว้างขึ้น เพ่อให้หนองระบายออกได้   การให้ยาปฏิชีวนะอย่างเดียวจะไม่ได้ผล  จะทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลือง

           สำหรับแผลอักเสบที่เป็นฝีหนองนั้น ก็ให้ถือกติกาว่าถ้ามีฝีหนองที่ไหน ก็ให้เปิดแผลระบายเอาฝีหนองออก ถ้าแผลเละมากๆ ก็อาจใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีลักษณะคล้ายช้อนช้อนออก (ต้องใช้ยาชาช่วย)  ซึ่งก็คงทำเองไม่ได้ ต้องไปใช้บริการที่คลินิกหรือโรงพยาบาล

มีคำจำกัดความที่แพทย์พบบ่อยๆจากคนไข้คือ

คำถาม คุณหมอคะ/ครับ  จะต้องทำแผลทุกวันหรือเปล่าคะ/ครับ

คำตอบ  สำหรับแผลสะอาด และได้รับการเย็บแผลปิดเรียบร้อยแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปิดบาดแผลทุกวัน  จะเปลี่ยนผ้าปิดแผลต่อเมื่อมีเลือดซึมออกมาเปียกผ้าปิดแผลชั้นนอก หรือมีอาการคัน (อาจแพ้ปลาสเตอร์หรือนำยา) แผลพวกนี้แพทย์จะนัดมาดูแผลหรือเปลี่ยนผ้าปิดแผล ในวันที่ 4-5 หลังเย็บแผล

           สำหรับแผลถลอก หรือแผลฝีหนองหรือแผลอักเสบ จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนผ้าปิดแผลทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

คำถาม  คุณหมอคะ/ครับ  จะให้แผลถูกน้ำได้ไหมคะ/ครับ

คำตอบ  แผลทุกชนิดไม่ควรให้ถูกน้ำ ยกเว้นแพทย์เย็บที่ศรีษะ ซึ่งเย็บโดยใช้ไหมไนล่อน อาจสระผมหรือถูกน้ำได้ หลังเย็บแผลแล้ว 3 วัน  สำหรับแผลฝี,หนอง ถ้าแผลสะอาดและคงตัวแล้ว สามารถอาบน้ำฟอกสบู่ก่อนมาเปลี่ยนผ้าปิดแผลได้

คำถาม  คุณหมอคะ/ครับ หลังเย็บแผลแล้วจะตัดไหมได้เมื่อไร

คำตอบ  แผลเย็บโดยเฉลี่ยจะใช้เวลา 7 วัน จึงจะตัดไหม แต่อาจจะตัดเร็วหรือช้ากว่านี้ได้ เช่นแผลที่หน้าหรือแผลที่คออาจจะตัดไหมเร็วกว่า 7 วัน แต่ให้จำไว้เสมอว่า แผลที่เย็บไว้ถ้ามีการอักเสบติดเชื้อ เป็นหนอง ให้รีบตัดไหมทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้

           ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น การจะรักษาจริงๆจังๆ ก็คงต้องอาศัยบริการของแพทย์และพยาบาลครับ

     

(จากหนังสือ “สาระน่ารู้ทางศัลยกรรม” 50ปี รพ.ภูมิพลดุลยเดช พ.ศ.2542)