การบาดเจ็บที่ศีรษะ

  น.พ.สุทธิกร   ตัณฑ์ไพโรจน์

 

           จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข การบาดเจ็บที่ศรีษะเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญที่สุดของผู้ป่วยบาดเจ็บอุบัติเหตุทุกประเภท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

           ความหมาย การบาดเจ็บที่ศรีษะ หมายถึง การบาดเจ็บที่เกิดจากแรงที่เข้ามากระทบต่อศรีษะและร่างกาย แล้วก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อหนังศรีษะ กะโหลกศรีษะ เส้นประสาทสมอง และสมอง

           ระดับความรุนแรง ในทางการแพทย์นั้นได้แบ่งระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศรีษะ โดยดูจากระดับความรู้สึกตัว และการตอบสนองทางระบบประสาท ออกได้เป็น 3 ระดับ คือ การบาดเจ็บที่ศรีษะในระดับเล็กน้อย, ระดับปานกลาง และระดับรุนแรง

           การบาดเจ็บที่ศรีษะในระดับเล็กน้อยนั้น แพทย์จะใช้วิธีการสังเกตอาการประมาณ 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจเป็นการสังเกตอาการในโรงพยาบาลหรืออาจให้ญาติกลับไปสังเกตอาการของผู้ป่วยก็ได้ ถ้าอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลนัก

           ส่วนการบาดเจ็บที่ศรีษะในระดับปานกลาง และระดับรุนแรงนั้น แพทย์มักรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลและส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ สมอง (CT scan) เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนว่ามีภาวะที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเปิดกะโหลกศรีษะหรือไม่ (เช่น เลือดออกใต้กะโหลกศรีษะ,เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง, เลือดออกในเนื้อสมอง) ถ้าจำเป็นก็จะทำการผ่าตัดเปิดกะโหลกศรีษะ ถ้าไม่จำเป็นต้องผ่าตัดก็จะให้การรักษาทางยาต่อไป

           การสังเกตอาการคืออะไร ?  ในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศรีษะในระดับเล็กน้อยแต่อาการทางสมอง, อาการชัก, กะโหลกศรีษะแตก, หมดสติตอนได้รับบาดเจ็บนานกว่า 10 นาที หรือผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวเต็มที่ แพทย์ใช้วิธีสังเกตอาการในโรงพยาบาลประมาณ 24

ชั่วโมง ในระหว่าง 24 ชั่วโมงนี้จะมีการตรวจและประเมินอาการของผู้ป่วยเป็นระยะอย่างใกล้ชิด เป็นการเฝ้าดูว่าเกิดภาวะที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยแล้วหรือไม่  เพื่อจะได้ตรวจและรักษาต่อไปได้อย่างทันท่วงที ถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก็จะให้กลับบ้านได้ แต่ถ้าผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการเลวลง แพทย์ก็จะตรวจและรักษาตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ต่อไป

           จำเป็นต้องส่งทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือไม่ ?  เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)ของสมอง จะเห็นภาพของเนื้อสมองได้ชัดเจนกว่าเอ็กซเรย์ธรรมดา(ซึ่งจะเห็นแต่เงาของกะโหลกศรีษะเท่านั้น) แต่เอ็กซเรย์นั้นมีราคาแพงกว่ามาก ในบางครั้งญาติจะมารบเร้าให้แพทย์ส่งเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์โดยไม่จำเป็นและไม่มีข้อบ่งชี้ที่แน่นอน นอกจากจะเสียเงินโดยไม่จำเป็น อาจแพ้สารทึบแสงที่ฉีดเข้าไปในเส้นเลือด ระหว่างการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ได้  นอกจากนี้การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่เร็วเกินไปอาจทำให้วินิจฉัยผิดพลาดได้ ดังนั้นจึงควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาว่าสมควรส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือไม่ โดยทั่วๆไปมีหลักเกณฑ์ในการส่งตรวจคือผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศรีาะในระดับปานกลางและรุนแรง, ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศรีษะเล็กน้อย แต่มีอาการทางสมองที่แย่ลงระหว่างการสังเกตอาการ, กะโหลกศรีษะแตกยุบ ทะลุกะโหลกศรีษะ (เช่น ถูกยิง ถูกแทงเข้าสมอง)

           การรักษา  โดยทั่วๆไป การรักษาแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆได้แก่การรักษาโดยการผ่าตัดเปิดกะโหลกศรีษะและการรักษาทางยา โดยไม่ผ่าตัด  โดยทั่วไปข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคือก้อนเลือดออกภายในกะโหลกศรีษะ และก้อนเลือดนั้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่แย่ลง, กะโหลกศรีษะแตก ยุบ, กะโหลกศรีษะแตกแบบมีแผลเปิด, การบาดเจ็บที่ศรีษะแบบทะลุกะโหลกศรีษะ, ฯลฯ นอกจากนี้ข้อบ่งชี้ด้งที่ได้กล่าวมาแล้ว การตัดสินใจในการทำผ่าตัดยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย ซึ่งแพทย์จะพูดคุยกับญาติเพื่อให้ญาติมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทำผ่าตัดด้วย

 

(จากหนังสือ “สาระน่ารู้ทางศัลยกรรม” 50ปี รพ.ภูมิพลดุลยเดช พ.ศ.2542)