กีฬากอล์ฟจะช่วยให้บรรเทาอาการปวดหลังได้อย่างไร

  ..ปรีดา   จินดา

 

                 การบาดเจ็บในการเล่นกอล์ฟนั้น ผู้ที่เป็นนักกอล์ฟอาชีพนั้น โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุได้น้อยกว่ามือสมัครเล่น นักกอล์ฟมือใหม่ที่ตีสูงกว่า 50 ขึ้นไป จะได้รับการบาดเจ็บในการตีกอล์ฟสูงขึ้น  การบาดเจ็บส่วนใหญ่จะอยู่ที่หลังส่วนล่าง, ข้อศอกซ้าย (สำหรับผู้ที่ถนัดมือขวา) และไหล่  การบาดเจ็บส่วนใหญ่จากนักกอล์ฟมือใหม่ที่มีการวงสวิงไม่ถูกต้องและทำให้เกิดอาการปวดหลังได้  กลไกของการตีกอล์ฟมีทั้งการเอียงไปข้างๆดันและกดลงบนกระดูกสันหลัง ซึ่งพวกมืออาชีพรู้จักวิธีตี จังหวะที่ถูกต้องก็จะไม่ต้องเกิดการบาดเจ็บจากการตีกอล์ฟ แต่พวกมืออาชีพเกิดบาดเจ็บขึ้นเนื่องจากฝึกซ้อมเป็นเวลานานเกินไปทำให้เกิดการอักเสบและบาดเจ็บขึ้นได้ เพื่อที่จะป้องกันอาการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นได้ เราจึงควรจะเรียนรู้และเข้าใจพยาธิสภาพของร่างกายก่อน

                 เนื่องจากกระดูกสันหลังเป็นส่วนที่รองน้ำหนักของร่างกาย โดยเฉพาะส่วนล่างหรือที่เราเรียกกันว่า lumbosacral spine กระดูกสันหลังของคนเราจะมีหมอนกระดูกลองอยู่ และมีกล้ามเนื้อซึ่งอยู่รอบๆกระดูกสันหลังจะช่วยพยุงกระดูกสันหลัง  คนเราเมื่อมีอายุมากขึ้นหมอนลองกระดูกก็จะเริ่มเสื่อมลงไปเรื่อยๆ และกล้ามเนื้อรอบๆกระดูกสันหลังก็จะมีขนาดเล็กลง จนไม่สามารถจะช่วยพยุงกระดูกสันหลังได้ดีพอ และหมอนลองกระดูกนั้นก็อาจจะปลิ้นออกมากดทับ  เส้นประสาทก็จะทำให้รู้สึกปวดหลัง ถ้าเป็นมากๆก็จะรู้สึกปวดร้าวไปที่ขาอาการปวดหลังนี้อาจจะเป็นแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรัง อาการปวดหลังอย่างเฉียบพลันก็จะเกิดขึ้นได้มากที่สุดในช่วงอายุ 30-50 ปี ขึ้นอยู่กับการใช้งานมากน้อยแค่ไหน หรือนั่งผิดท่า จะทำให้กล้ามเนื้อพยุงสันหลังเกิดอาการเกร็ง  และปวดหลังได้   ถ้าไอจามแรงๆก็จะมีอาการเจ็บปวดหลังมากขึ้น ถ้าหมอนกระดูกมีอาการกดทับเส้นประสาทก็จะรู้สึกชาที่ขาหรือขามีอาการอ่อนแรง  แต่การปวดหลังโดยไม่รู้สาเหตุเป็นได้ถึง 90% แต่อาการก็จะค่อยหายไปเองใน 3 เดือน  50-60% ของผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังอย่างเฉียบพลัน   อาการต่างๆก็จะหายเองได้ใน 1 สัปดาห์

              สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นการปวดหลังแบบ degenerative  change คือโรคสำหรับคนมีอายุมากขึ้น  ไม่ได้รวมถึงผู้ป่วยที่ปวดหลังจากการติดเชื้อ, มะเร็ง หรืออุบัติเหตุ  สำหรับผู้ที่เล่นกีฬากอล์ฟ และมีวงสวิงที่ถูกต้อง คือมีวงสวิงที่ขึ้นและลงอย่างนุ่มนวล ไม่กระชากและทุบพื้น เมื่อมีอาการสวิงอย่างช้าๆแล้วฝึกทำบ่อยๆเท่ากับเป็นการบริหารกล้ามเนื้อหลังและทำให้กล้ามเนื้อที่หลัง (paravertehral muscle  นั้นแข็งแรงขึ้น ก็จะช่วยพยุงกระดูกสันหลังได้ดีและมั่นคงขึ้น ก็จะลดอาการปวดหลังได้มากขึ้น  

                 การที่จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงจะต้องมีการทำ streching exercise  อาจจะทำได้โดยการนอนคว่ำในท่าขาเหยียดตรงแล้วค่อยยกขาขึ้นสลับกันทั้งสองข้าง ในผู้ที่เริ่มทำให้ทำ 10 ครั้งและเพิ่มเป็น 15 ครั้ง   อีกท่าหนึ่งให้นอนหงายและงอเข่าไปที่หน้าอก ทำสลับกันทั้งสองข้าง 20 วินาที

                 ก่อนการเล่นกอล์ฟนั้น ควรจะมีการ warm up ก่อนการเล่นกอล์ฟ 45 นาที เป็นอย่างสูง หรือ 10 นาทีอย่างน้อย โดยแบ่งเวลาเป็น

              1.  Stretching   2 นาที  เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อโดยการหมุนคอไปมาอย่างช้าๆ, หมุนไหล่ด้วยไม้กอล์ฟ บิดเอวไปมาอย่างช้าๆ, หมุนลำตัวไปมา, เอามือแตะนิ้วเท้า โดยให้ทำเป็นระยะอย่างช้าๆ

              2.  ให้ฝึก สวิง 3 นาที โดยใช้เหล็ก wedge, ใช้เหล็ก 5 สวิงวงแค่ 3 ใน 4 และใช้หัวไม้สวิงเต็มวงสวิง การสวิงนี้ทำอย่างช้าๆ และไม่หมุนไหล่มากจนเกินไป

              3.  ฝึก putt ข้ามกรีนสัก 2 นาที เพื่อเอาความรู้สึกและฝึกพัตต์ระยะ 3 ฟุต อีก 2 นาที

               4.  ให้ยืนรอ Tee off 1 นาที โดยแบ่งเป็น 30 วินาที ฝึกการสวิง ให้เน้นการลากไม้ต่ำๆ และเอียงไหล่ขวาลงให้มาก (สำหรับผู้สูงอายุ) ลากไม้จนสุดวงพร้อมหมุนสะโพกสวิงลงมาด้วยความนิ่มนวล ที่เหลืออีก 30 วินาทีให้ผ่อนคลายและฝึกสมาธิและสายตาให้อยู่ที่ลูกเวลา drive

                 การรักษาโรคปวดหลัง เพื่อจะให้กลับไปเล่นกอล์ฟได้เร็วขึ้น

1.  ใช้ยาทา anti-inflammatory cream, และนวดเบาๆ ทายาวันละ 4  ครั้ง

2.  พักผ่อน โดยการนอนบนพื้นแข็ง เช่นบนฟูก, ที่นอนชนิดแข็งหรือพื้นกระดาน โดยการใช้  

      หมอนลองใต้เข่า

3.  ใช้ Lumhosacral support (L.S.) support  ช่วยรัดเอว จะทำให้ อาการปวดน้อยลง ทำให้

     สบายขึ้น

4.  ทานยาคลายกล้ามเนื้อ และยาเพื่อจะลดบวม (anti-inflammatory drug)  ยานี้ควรจะ

     ทานหลังอาหาร

                ฉะนั้นนักกอล์ฟทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุสูงขึ้น การจะมีการปฏิบัติออกกำลังกายฝึกหัดให้กล้ามเนื้อที่หลังแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ และมีการ warm up ที่ดีก่อนการออกรอบ ถ้าได้ปฏิบัติตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังจากการตีกอล์ฟได้มาก จะช่วยทำให้ Handicap ท่านนักกอล์ฟลดลงด้วย

 

(จากหนังสือ “สาระน่ารู้ทางศัลยกรรม” 50ปี รพ.ภูมิพลดุลยเดช พ.ศ.2542)