โรคคอพอกเป็นพิษ

  น.พ.วิโรจน์   วงศ์วิเศษ

 

               พูดถึงโรคคอพอก หรือคอหอยพอก หลายท่านคงนึกถึงภาพหญิงแก่ๆมีก้อนกลมๆห้อยที่ด้านหน้าของคอ เวลาเดินก้อนแกว่งไปมา ดูน่ารำคาญส่วนใหญ่จะมาจากทางอีสาน บางคนก้อนใหญ่หนักเกือบกิโล น่าหวาดเสียวว่าเวลานอนก้อนจะไปกดหลอดลม หายใจไม่ออก พาลเกิดโรคไหลตาย แต่มีอาการแถมมา เช่น ตาโปน เหงื่อออกมาก ตกใจง่ายมือไม้สั่น หัวใจเต้นเร็วกินจุ แต่ผอม ไม่มีแรง ถ้าใครมีอาการดังกล่าวนี้ละก้อ ให้สงสัยได้ว่าอาจจะเป็นโรคคอพอกเป็นพิษ

               เพื่อให้เข้าใจง่าย ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านเรื่องต้นๆคงทราบแล้วว่าด้านหน้าของคอเราไต้ลูกกระเดือก จะมีต่อมไธรอยด์ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องพอดี มากไป น้อยไป ก็ไม่ได้เป็นเกิดเรื่อง เมื่อไรก็ตามต่อมไธรอยด์โตขึ้น เราก็เรียกว่า คอพอก ซึ่งมี 2 ชนิด

               1.  คอพอกชนิดธรรมดา ไม่มีอาการดังกล่าวมาแล้ว นอกจากจะหนักน่ารำคาญและไม่สวย

               2.  คอพอกเป็นพิษ เกดจากต่อมไธรอยด์ทำงานมากไป คอจึงโตขึ้น และผลิตฮอร์โมนมากเกินความต้องการ ทำให้เกิดอาการอันได้แก่ คอโต ตกใจง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นแรงเร็ว มือสั่น ตาโปน กินจุแต่ผอม ฯลฯ ถ้าใครมีอาการดังกล่าวแล้ว สงสัยว่าจะเป็นคอพอกเป็นพิษ ก็รีบไปพบแพทย์ซึ่งจะให้การวินิจฉัยโดยการตรวจร่างกาย x-ray , scan เจาะเลือด เป็นต้นน

การรักษา

               เราทราบแล้วว่า คอพอกเป็นพิษ เนื่องจากต่อมไธรอยด์ทำงานมากกว่าธรรมดา จึงผลิตฮอร์โมนเกินความต้องการ ถ้าเราจะลดฮอร์โมน ก็อาจทำได้โดยป้องกันไม่ให้สร้างมากเกินไป หรือจัดการทำลายต่อมไธรอยด์เสียบางส่วน การสร้างฮอร์โมนจะได้ลดน้อยลง ในการรักษาจึงมี 3 วิธีคือ

               1.  ให้กินยา โดยยาจะไปกันการสร้างฮอร์โมน ทำให้สร้างน้อยลง โดยทั่วไปจะให้กินยาประมาณ 2 ปี แล้วหยุดยา  ถ้าหายก็ให้เลิกยาเลย ถ้าอาการกลับเป็นอีกก็หันมาใช้วิธีที่ 2 หรือ 3 ต่อไป

               2.  โดยการผ่าตัด ตัดเอาต่อมไธรอยด์ออกไปบางส่วนหรือไว้ทำงานพอดี

               3.  ให้กินน้ำแร่ หรือเรียกตามศัพท์แพทย์ว่า Radio iodine เพื่อทำลายต่อมไธรอยด์ทีละน้อย หลักการเหมือนข้อ 2

               ทั้งนี้การจะใช้วิธีไหน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาแนะนำแต่โดยทั่วไปแล้ว ถ้าคอไม่โตมากอาการไม่รุนแรงมักใช้วิธีที่ 1

               สรุปแล้ว ผู้ที่มีคอโต และมีอาการดังกล่าวสงสัยว่าจะเป็นคอพอกเป็นพิษ ควรไปพบแพทย์ ซึ่งจะให้การวินิจฉัยได้ง่าย และการรักษาก็ไม่ยากเย็นอะไร

 

(จากหนังสือ “สาระน่ารู้ทางศัลยกรรม” 50ปี รพ.ภูมิพลดุลยเดช พ.ศ.2542)