ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเส้นเลือดขอดที่ขา

..เกรียงศักดิ์  จิริสิริโรจนากร

 

 

          เส้นเลือดขอด หมายถึง เส้นเลือดที่มีการยืด โป่งพองและคดเคี้ยว มักเกิดกับเส้นเลือดดำที่อยู่บริเวณตื้นๆใต้ผิวหนังของขา

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

           เส้นเลือดขอดเกิดจากความผิดปกติของลิ้นของเส้นเลือดดำหรือมีการอุดตันของเส้นเลือดดำในชั้นลึก  ทำให้เลือดไหลเวียนขึ้นไปยังส่วนบนของร่างกายไม่ดี  เกิดเลือดคั่งในเส้นเลือดดำชั้นตื้นจนขยายตัวโป่งพองกลายเป็นเส้นเลือดขอดในที่สุด

           ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้แก่ อาชีพที่ต้องยืนอยู่นานๆ ภาวะการตั้งครรภ์ ภาวะอ้วน อายุมาก อุบัติเหตุที่ขา การอุดตันของเส้นเลือดดำจากมะเร็ง

อาการ

           ผู้ป่วยที่เป็นเส้นเลือดขอดมักมาพบแพทย์เนื่องจากเส้นเลือดขอดนั้นทำให้ขาแลดูไม่สวยงาม โดยลักษณะของเส้นเลือดขอดที่อาจพบได้หลายแบบ  ตั้งแต่เป็นการขยายตัวของเส้นเลือดฝอยเล็กๆ จนกระทั่งเห็นเป็นเส้นเลือดดำขยายใหญ่นูนขึ้นมาจากผิวหนังและคดเคี้ยวคุดคล้ายตัวหนอนขดอยู่ใต้ผิวหนัง อาการอื่นที่เกิดจากเส้นเลือดขอด คือ อาการปวดขา โดยเฉพาะเวลายืนหรือนั่งอยู่นานๆ บางครั้งจะรู้สึกขาหนัก ในกรณีที่เป็นมานานหรือเป็นมาก โดยเฉพาะสาเหตุจากการอุดตันของเส้นเลือดดำที่อยู่ชั้นลึกของขา ก็อาจจะมีอาการขาบวม  ผิวหนังมีสีคล้ำ เป็นแผล หรือมีเลือดออกจากเส้นเลือด

การรักษา

           มีอยู่หลายวิธีขึ้นกับว่าเส้นเลือดขอดนั้นเป็นมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นกับสาเหตุของเส้นเลือดขอดและขึ้นกับสภาพของผู้ป่วยว่ามีข้อห้ามในการรักษาในแต่ละวิธีหรือไม่  โดยอาจมีวิธีต่างๆดังนี้

           )  การสวมถุงน่องชนิดพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อที่จะรักษาเส้นเลือดขอดโดยเฉพาะ เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดเล็กๆ หรือมีข้อห้ามในการผ่าตัด หรือการฉีดยา

           )  การฉีดยาที่ทำให้เส้นเลือดแฟบและแข็งตัว เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดขนาดไม่ใหญ่มากนัก โดยแพทย์จะทำการฉีดยาเข้าไปในเส้นเลือดขอดนั้นโดยโตรง แล้วพันผ้าไว้เพื่อให้ผนังเส้นเลือดแบนแฟบติดกันประมาณ 2-6 สัปดาห์ ข้อห้ามของการฉีดยาคือ ผู้ป่วยที่มีโอกาสแพ้ยา ผู้ป่วยตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่อ้วนมาก หรือสูงอายุ

           )  การผ่าตัดเลาะเอาเส้นเลือดดำที่อยู่ชั้นตื้นของขาออกทั้งเส้น  หรือบางส่วน เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่ หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เป็นแผล มีเลือดไหล ข้อห้ามของการผ่าตัดคือ ผู้ป่วยที่มีการอุดตันของเส้นเลือดดำที่อยู่ชั้นลึกของขา   ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจหรือโรคของหลอดเลือดส่วนปลายอื่นๆ ผู้ป่วยสูงอายุ สตรีมีครรภ์

           )  การใช้แสงเลเซอร์รักษา ใช้ในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดฝอยๆเล็กๆ เป็นวิธีที่ยังไม่แพร่หลาย

การป้องกัน

           )  หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เลือดคั่งค้างบริเวณขา  ได้แก่การหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นระยะเวลานานๆ ถ้าจำเป็นต้องยืนอยู่นานๆ ก็ให้เขย่งเท้าหรือยกเท้าขึ้นเป็นครั้งคราว ถ้าต้องนั่งอยู่นานๆ  ก็พยายามเคลื่อนไหวขาและเท้าขณะที่นั่งอยู่

           )  หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรคเส้นเลือดขอด เช่นลดน้ำหนัก

           )  ทำให้เลือดดำไหลเวียนสะดวก ได้แก่ การนอนยกขาสูง หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าโดยเฉพาะกางเกงที่รัดเกินไป

          )  หลีกเลี่ยงกีฬาที่ทำให้เกิดการกระแทกบริเวณข้อเท้า เช่น เทนนิส กระโดดสูง ยกน้ำหนัก

๕)     ในกรณีที่มีเส้นเลือดขอดในขณะตั้งครรภ์ บางครั้ง เส้นเลือดขอดนั้นอาจหายเองได้หลังคลอด โดยที่ไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด

 

 

(จากหนังสือ “สาระน่ารู้ทางศัลยกรรม” 50ปี รพ.ภูมิพลดุลยเดช พ.ศ.2542)