การบาดเจ็บที่ใบหน้า

..ปรีดา   จินดา

                                       

           การบาดเจ็บที่ใบหน้า ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุจากจักรยานยนต์, รถยนต์,ตกจากที่สูง, ทะเลาะกัน, ชกต่อยกัน, ถูกยิง, ถูกฟัน, ไฟไหม้น้ำร้อนลวก ฯลฯ

จุดประสงค์ในการรักษา

           ภายหลังจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยอาจมีบาดแผลที่ใบหน้าและบริเวณศีรษะ ในกรณีเมื่อผู้ป่วยมีบาดแผลที่หน้า ปาก จมูก  สิ่งแรกที่จะต้องดูแลผู้ป่วยก็คือทางเดินหายใจ เพราะว่าบาดแผลที่หน้าจะมีเลือดออกมามาก อาจจะมีการอาเจียนพร้อมทั้งเศษอาการของผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้จะอุดทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจออกได้ จะต้องใช้สายยางดูดเลือดและเศษอาหารในปากและจมูกออก เพื่อผู้ป่วยจะได้หายใจได้สะดวก และให้ผู้ป่วยควรจะนอนตะแคง  ถ้ามีบาดแผล มีเลือดออกมามาก ให้ใช้ผ้าก๊อซกดทับลงบนแผลด้วยนิ้วมือ แล้วจึงใช้ผ้าพันรอบศีรษะเพื่อกดไว้ไม่ให้มีเลือดออกมากขึ้น เพราะถ้าผู้ป่วยเสียเลือดมากจะทำให้ผู้ป่วยจะเกิดอาการช๊อคได้ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะให้ผู้ป่วยนอนตะแคง เพื่อป้องกันลิ้นตกเข้าไปในปากอุดทางเดินหายใจ

การเย็บแผล 

           ในกรณีแผลที่สะอาดต้องล้างด้วยน้ำเกลือ และให้เป็นแผลปิดได้เลยภายใน

6 ชม. เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ถ้าแผลที่ไม่สะอาดมีเศษหิน ทรายคราบน้ำมัน จะต้องทำความสะอาดล้างด้วยน้ำเกลือจนสะอาดและปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ โดยจะต้องเปลี่ยนผ้าก๊อซทุก 4-6 ชม.เป็นระยะเวลา 2-3 วัน แล้วจึงเย็บปิดแผล ในทั้งสองกรณีจะต้องให้ยาปฏิชีวนะและยาป้องกันบาดทะยัก เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ

           การเย็บแผลที่หน้า ถ้าแผลไม่ใหญ่มากผู้ป่วยทนต่อการฉีดยาชาเฉพาะที่ได้ ก็จะฉีดยาชาก่อนเย็บแผล แต่ถ้าบาดแผลใหญ่และมีกระดูกใบหน้าหักด้วยก็จะต้องดมยาสลบ เมื่อทำการผ่าตัด แต่ถ้ามีกระดูกใบหน้าหักต้องดามด้วยเหล็กขนาดเล็กและน้ำหนักเบา (Plate and screw) ทำด้วย Titanium  ซึ่งมีปฏิกิริยาเกี่ยวกับอาการแทรกซ้อน ต่อผู้ป่วยน้อยมาก  และไม่มีความจำเป็นจะต้องเอาเหล็กออกหลังผ่าตัด ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะหายแล้วก็ตาม เพราะเหล็กนี้มีขนาดเล็กมาก

           การดูแลแผลหลังผ่าตัด ดูแลรักษาความสะอาดโดยไม่ให้แผลเปียกน้ำ แผลที่ใบหน้าไม่จำเป็นต้องปิดด้วยผ้าก๊อซ โดยเราอาจจะใช้ยาปฏิชีวนะแบบ Ointment  ทาที่ขอบแผล ภายใน 24 ชม. ปากแผลจะปิดโดยจะมีเนื้อเยื่อมาปกคลุม (Epithiealization) ซึ่งเชื้อโรคก็ไม่สามารถรอดเข้าไปในแผลได้ ข้อดีเกี่ยวกับการไม่ปิดแผล ด้วยผ้าก๊อซ    ผู้ป่วยสามารถเห็นอาการติดเชื้อและอักเสบของแผลได้ง่าย และ  ทำให้คนไข้สามารถคลายการวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องทำแผลคนไข้สามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง  แผลที่หน้าสามารถจะตัดไหมได้ตั้งแต่ 3-5 วัน  และถ้าทิ้งไว้นานเกินไปจะเห็นเป็นรอยรูเข็มและแผลเป็นจะเห็นได้ชัดกว่า     เพราะว่าบริเวณหน้าแผลจะหายได้เร็วกว่าอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย   เพราะฉะนั้นหลังจากเย็บแผลปิด หลังจากตัดไหมแล้วก็ควรจะติดกระดาษกาวหรือเทปปิดหรือกดแผลเป็นไว้ เพื่อป้องกันแผลที่จะเกิดเป็นแผลกลายขึ้นได้ภายหลัง

           อนึ่ง แผลเป็นบนใบหน้าผู้ป่วย เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยวิตกกังวลมาก เพราะผู้ป่วยกลัวว่าจะต้องเสียโฉมตลอดไปหรือไม่ ศัลยแพทย์ก็ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยฟังว่าระยะแรกแผลจะนูนแดง จะต้องใช้เทปหรือกระดาษกาวกดและใช้ Steriod cream และนวดแผลเพื่อให้แผลนิ่ม แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการวิตกกังวลมากก็อาจจะต้องเรียนปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อปลอบใจและทำให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น หลังจากอุบัติเหตุ 3-6 เดือน แผลก็จะเรียบนิ่มขึ้น (Maturation of scar) แต่ถ้ามีริ้วรอยแผลเป็นที่เห็นได้ชัด ควรจะกลับมาทำผ่าตัดแผลนั้นให้เล็กลงได้อีก เพื่อให้แผลนั้นดูดีขึ้น    ลักษณะของแผลเป็น ถ้าแผลเป็นที่ขวางกับรายของหน้า แผลเป็นจะมีการดึงรั้ง แผลเป็นก็จะดูกว้างและไม่สวยงาม แผลเป็นที่ตรงกับรอยหน้าก็จะดีกว่า เรียบเร็วกว่า   

           ถ้าผู้ป่วยมีกระดูกกรามหักด้วย การรักษาคือการจัดกระดูกให้เข้าที่ เพื่อที่จะให้มีการทำหน้าที่ของใบหน้าเป็นปกติ และดูสวยงามเหมือนเดิม    การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่มีกระดูกใบหน้าหักเหมือนกับการปฐมพยาบาลเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วในตอนแรก  แต่การจะผ่าตัดกระดูกใบหน้าให้เข้าที่นั้นจะต้องรอให้ใบหน้ายุบบวม จึงจะทำให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้นและจะต้องดูอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยมีเลือดตกในสมอง, บาดเจ็บที่ท้อง, กระดูกสันหลังหักหรือไม่ ปราศจากอาการเหล่านี้แล้ว และยุบบวมดีแล้วจึงค่อยพิจารณาผ่าตัดผู้ป่วย คือ การรอประมาณ 4-5 วัน นับจากวันที่เกิดอุบัติเหตุ แต่ไม่ควรเกิน 14 วัน เพราะถูกที่หักจะติดกันแบบผิดรูป  อาการที่ตรวจผู้ป่วยเด่นชัดที่สุดก็คือ ฟันจะไม่สบกัน เวลาคลำขอบกระดูกที่ใบหน้าจะมีขอบไม่เรียบ ถ้าจมูกหักก็จะดูผิดรูปไปจากเดิม คลำได้เสียงกรอบแกรบ บางครั้งเยื่อบุจมูกจะบวม และมีก้อนเลือดมาติด ก็จะทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่สะดวก ผู้ป่วยจะมีอาการบวมช้ำที่หนังและตาแดง บางครั้งผู้ป่วยก็จะเห็นภาพซ้อน  ลูกตาอาจจะกรอกขึ้นลงไม่ได้  เนื่องจากกล้ามเนื้อของลูกตาถูกดึงรั้งไว้ด้วยรอยแตกของกระดูกเบ้าตา  บางครั้งจะมีอาการชาที่ใบหน้าข้างที่กระดูกหัก เนื่องจากเส้นประสาทที่มาเลี้ยงที่ใบหน้าถูกกระแทกหรือกดทับ หรือกระดูกที่หักหนีบเส้นประสาทที่เลี้ยงใบหน้าอยู่

การดูแลรักษาหลังผ่าตัด

           จะต้องดูแลเรื่องความสะอาดของปากและฟันด้วยการบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปาก  แปรงฟัน เอาเศษอาหารออกจากปากและฟันให้หมด และหลังจากแปรงฟันเสร็จจะต้องบ้วนปากด้วยยาฆ่าเชื้อโรค

 

(จากหนังสือ “สาระน่ารู้ทางศัลยกรรม” 50ปี รพ.ภูมิพลดุลยเดช พ.ศ.2542)