วิธีดูว่าเข้าข่ายมุสาวาทหรือไม่

การแสดงเท็จ หรือลักษณะมุสาวาท มี 7 วิธี
1. ปด - การโกหกชัด ๆ เช่น ไม่รู้ว่ารู้ ไม่เห็นว่าเห็น ไม่มีว่ามี เป็นต้น
2. ทนสาบาน - ทนสาบานเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อว่าตนไม่ได้เป็นเช่นนั้น จะเป็นวิธีแช่งตัวเอง หรือด้วยวิธีนั่งนิ่ง เมื่อถูกถาม ก็จัดเป็นทนสาบาน
3. ทำเล่ห์กะเท่ห์ ได้แก่ การอวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์เกินความจริง เช่น อวดวิเศษเรื่องใบหวย โดยไม่รู้จริงเห็นจริง เป็นต้น
4. มายา แสดงอาการหลอกคนอื่น เช่น ไม่เจ็บ ทำเป็นเจ็บ เจ็บน้อย ทำเป็นเจ็บมาก เป็นต้น
5. ทำเลศ คือ ใจอยากจะพูดเท็จ แต่พูดเล่นสำนวน พูดคลุมเครือให้ผู้ฟังคิดผิดไปเอง เช่น เห็นขโมยวิ่งผ่านหน้าไป ไม่อยากบอกให้ผู้ตามจับทราบว่าตนเห็น จึงย้ายที่ยืนหรือที่นั่งไป เมื่อถูกถามก็พูดเล่นสำนวนว่าอยู่นี่ไม่เห็น อย่างนี้เรียกว่าทำเลศ
6. เสริมความ เรื่องเล็ก แต่พูดให้คนฟังเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เช่น เห็นไฟก้นบุหรี่ไหม้หญ้าแห้ง ก็ตะโกนเสียงดังว่า ไฟ ๆ เพื่อให้คนแตกตื่นตกใจ เป็นต้น โฆษณาสินค้า พรรณาสรรพคุณจนเกินความจริงก็จัดเข้าข้อนี้
7. อำความ - เรื่องใหญ่ แต่พูดให้เป็นเรื่องเล็ก หรือปิดบังอำพรางไว้ ไม่พูด ไม่รายงานต่อผู้มีหน้าที่รับทราบ

การแสดงเท็จหรือโกหก แสดงได้ 2 ทาง คือ ทางวาจา กับทางกาย
1. ทางวาจา คือพูดคำเท็จออกมา
2. ทางกาย เช่น การเขียนจดหมายโกหก รายงานเท็จ ทำหลักฐานปลอม ตีพิมพ์ข่าวเท็จ เผยแผ่ ทำเครื่องหมายให้คนอื่นหลงเชื่อ ตลอดจนการใช้ใบให้คนอื่นเข้าใจผิด เช่น สั่นศีรษะ หรือโบกมือปฏิเสธในเรื่องควรรับ หรือพยักหน้ารับในเรื่องควรปฏิเสธ

 

อนุโลมมุสา - พูดเรื่องไม่จริง ซึ่งไม่มีเจตนาจะกล่าวเท็จ แต่เจตนาจะให้เขาเจ็บใจหรือแตกร้าวกัน
- พูดเสียดแทง กระทบกระแทก แดกดัน
- พูดประชด ยกให้เกิน ความเป็นจริง
- พูดด่า กดให้ต่ำกว่าความเป็นจริง
- พูดสับปลับ ด้วยความคะนองวาจา แต่ไม่ได้ตั้งใจให้เข้าใจผิด
- พูดคำหยาบคาย คำต่ำทราม
ไม่จัดเป็นมุสาวาท

ปฏิสสวะ ได้แก่ การรับคำของคนอื่น ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่ภายหลังกลับใจไม่ทำตามที่รับคำนั้น โดยที่ตนยังพอทำตามคำนั้นได้อยู่ มี 3 อย่าง
1. ผิดสัญญา สัญญาว่าจะทำด้วยความสุจริตใจ แต่กลับไม่ทำภายหลัง
2. เสียสัตย์ ให้สัตย์ปฏิญาณไว้แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม
3. คืนคำ รับปากว่าจะไ แต่กลับใจภายหลังไม่ไป
ไม่เป็นมุสาวาท ศีลไม่ขาด แต่ทำให้ศีลด่างพร้อยได้

 


Hosted by www.Geocities.ws

1