SJ413TH
 

การเลือกและใช้ยางรถยนต์
ถ้าการเดินทางภาคพื้นดินฝากไว้กับรถยนต์และหากรถยนต์มีชีวิต ทั้งคนและรถยนต์ก็ต้องฝากชีวิตไว้กับยางทั้ง 4 เส้นการเลือกใช้ยางรถยนต์มิได้ง่ายเพียงแค่ขับรถยนต์เข้าไปแล้วเลือกยี่ห้อที่มั่นใจ พร้อมบอกว่าใช้ขนาดเดิมและตั้งศูนย์ถ่วงล้อให้ด้วยเท่านั้นเลือกไม่ยาก ใช้ไม่ยุ่ง ถ้าใส่ใจในรายละเอียด

เ ลื อ ก ข น า ด
ไม่สามารถสรุปได้ในรถยนต์ทุกรุ่นว่ายางขนาดใดดีที่สุด เพราะรถยนต์บางรุ่นเลือกขนาดยางโดยเน้นการลดต้นทุนเป็นหลัก แต่ขนาดยางในรถยนต์บางรุ่นก็มีความเหมาะสมแล้ว ความเชื่อที่ว่าไม่สามารถเปลี่ยนขนาดยางจากมาตรฐานเดิมได้ เพราะช่วงล่างจะสึกหรอเร็วนั้นไม่จริงเสมอไป พิสูจน์ได้จากรถยนต์ตัวถังเดียวกันแต่ต่างรุ่น เช่น 1.5, 1.6 หรือ 1.8 ยังใช้ยางมาตรฐานต่างขนาดกัน ถ้าต้องการเปลี่ยนขนาดยางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเกาะถนน ต้องดูถึงอาการของยางขนาดเดิมในการใช้งานที่ผ่านมาว่าลงตัวไหม รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในช่วงความเร็วสูงหรือในทางโค้งหรือไม่ ถ้าอยากเพิ่มประสิทธิภาพการเกาะถนนโดยเพิ่มขนาดยาง ต้องเลือกอย่างมีหลักการและยอมรับผลกระทบด้านอื่นที่ตามมาด้วย โดยต้องเน้นเรื่องเส้นรอบวงของยางที่เปลี่ยนใหม่ให้ใกล้เคียงกับยางขนาดเดิมมากที่สุด

เ ส้ น ร อ บ ว ง ข อ ง ย า ง ส ำ คั ญ
เส้นรอบวงของยางเกี่ยวข้องกับอัตราเร่ง, อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง, ความเพี้ยนของการแสดงผลของมาตรวัดความเร็ว, ช่องว่างระหว่างยางกับขอบบังโคลน ความสูงของรถยนต์ และความเร็วสูงสุด เพราะผู้ผลิตรถยนต์กำหนดเส้นรอบวงของยางไว้ให้เหมาะสมกับอัตราทดเกียร์, เฟืองท้าย และรอบเครื่องยนต์ เช่น ยางเดิมมีเส้นรอบวง 1,900 มิลลิเมตร ที่เกียร์ 5 เครื่องยนต์หมุน 3,000 รอบ/นาที อัตราทดเกียร์ 1:1 เฟืองท้าย 4.0:1 ล้อจะหมุน 750 รอบ/นาที ได้ระยะทาง 1,900 X 750 = 1,425,000 มิลลิเมตร หรือ 1,425 เมตร (จาก 1,000 มิลลิเมตร = 1 เมตร) คิดเป็นเมตร/ชั่วโมง ก็คูณ 60 นาทีเข้าไปได้ 1,425 X 60 = 85,500 = 85.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง (คิดจาก 1,000 เมตร = 1 กิโลเมตร) มาตรวัดความเร็ว อัตราเร่ง และความสิ้นเปลืองก็จะเป็นไปตามการออกแบบ

ล ด เ ส้ น ร อ บ ว ง
การเปลี่ยนยางใหม่ที่มีขนาดเส้นรอบวงลดลงโดยไม่เปลี่ยนองค์ประกอบอื่น เช่น ตัวรถยนต์, เครื่องยนต์, เกียร์ และเฟืองท้าย จะมีผลกระทบ เพราะไม่เกี่ยวข้องเลยว่ายางถูกเปลี่ยนเป็นเส้นรอบวงเท่าไร ถ้าเครื่องยนต์หมุน 3,000 รอบ/นาที ที่เกียร์ 4 แล้ว ล้อก็ยังหมุน 750 รอบ/นาที แต่ได้ระยะทางสั้นลงจากระยะ/1 รอบการหมุนของยาง มาตรวัดความเร็วขึ้น 85.5 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่าเดิม แต่น้อยกว่าความเร็วจริง (ไมล์อ่อน) และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น เพราะเครื่องยนต์ทำงานหนักขึ้นในทุกช่วงความเร็ว อัตราเร่งตี-นต้นดีขึ้นบ้าง เพราะล้อหมุนลากน้ำหนักตัวถังได้ง่ายขึ้น ต้องเปลี่ยนเกียร์ขึ้นสูงเร็วขึ้นในระยะทางสั้นลง เช่น เกียร์ 1 ที่ 6,000 รอบ/นาที เคยได้ระยะทาง 80 เมตร เมื่อเส้นรอบวงยางลดลง เมื่อใช้รอบเครื่องยนต์เท่าเดิม จะได้ระยะทางสั้นลง เช่น 70 เมตร ก็ต้องเปลี่ยนขึ้นสู่เกียร์สูงขึ้นความเร็วปลายที่แท้จริงลดลง เช่น เกียร์ 5 ที่ 5,000 รอบ/นาที ล้อหมุน 1,500 ครั้ง/นาที เคยได้ระยะทางยาวและความเร็ว 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อเส้นรอบวงยางลดลง เมื่อใช้รอบเครื่องยนต์เท่าเดิม จะได้ระยะทางและความเร็วจริงลดลง แต่มาตรวัดความเร็วชี้ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่าเดิม

เ พิ่ ม เ ส้ น ร อ บ ว ง
การเปลี่ยนยางใหม่ที่มีขนาดเส้นรอบวงเพิ่มขึ้นโดยไม่เปลี่ยนองค์ประกอบอื่น ในการคำนวณอาจเสมือนว่าจะทำให้รถยนต์มีความเร็วเพิ่มขึ้น เพราะเครื่องยนต์, เกียร์ และเฟืองท้าย ทำงานที่รอบเครื่องยนต์เท่าเดิม แต่ได้ระยะทางจากการหมุนของยางต่อรอบมากขึ้นในความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการเพิ่มเส้นรอบวงของยางเป็นการเพิ่มภาระให้กับเครื่องยนต์ เนื่องจากส่งกำลังให้ยางหมุนครบรอบได้ยากขึ้น เช่น ออฟโรดเปลี่ยนไปใส่ยางบิ๊กฟุต-ล้อโต จะทำให้อัตราเร่งแย่ลง, สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น, บั่นทอนอายุการใช้งานของช่วงล่าง, มาตรวัดความเร็วแสดงผลน้อยกว่าความเร็วจริง (ไมล์แข็ง) และไต่ขึ้นสู่ความเร็วสูงยาก ยกเว้นการปรับแต่งเพิ่มกำลังของเครื่องยนต์หรือเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์พลังแรง การเปลี่ยนยางที่มีเส้นรอบวงมากขึ้น จะช่วยให้อัตราเร่งตี-นต้นไม่จัดเกินไป และความเร็วปลายเพิ่มขึ้น แต่ควรลดอัตราทดเฟืองท้ายจะดีกว่า

ห น้ า ก ว้ า ง เ ท่ า เ ดิ ม & ห น้ า แ ค บ
ตัวอย่างรหัสบนแก้มยาง 185/70/R13 ตัวเลขชุดแรก 185 คือ ความกว้างของหน้ายางจากซ้ายสุดถึงขวาสุด หน่วยเป็นมิลลิเมตร แม้ระบุค่าเท่ากัน แต่หน้าสัมผัสที่แท้จริงในยางต่างรุ่นต่างยี่ห้ออาจไม่เท่ากันเป๊ะ แต่ใกล้เคียงกันมาก ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่มิได้เลือกความกว้างของหน้ายางที่จะให้สมรรถนะในการเกาะถนนของรถยนต์รุ่นนั้นสูงสุดเสมอไป เพราะมีหลายตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเลือกยางหน้ากว้างพอประมาณ จะได้ประสิทธิภาพการเกาะถนนช่วงความเร็วปานกลาง-สูง และในโค้งหนักๆ ดีมาก แต่ส่งผลให้พวงมาลัยหนักขึ้น, ช่วงล่างเสียเร็วขึ้น, อัตราเร่งลดลง, สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจากน้ำหนักและแรงต้านการหมุน และที่สำคัญคือต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นการใช้งานทั่วไปที่ใช้ความเร็วไม่จัดจ้านนัก ด้วยเหตุผลข้างต้น ยางขนาดมาตรฐานของรถยนต์ทั่วไป จึงอาจมีหน้ากว้างน้อยกว่าที่จะให้ประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงความเร็วสูงอยู่ประมาณ 10-20 มิลลิเมตร เพื่อให้การใช้งานปกติ พวงมาลัยไม่หนัก, ช่วงล่างทนทาน, อัตราเร่งดี และประหยัดเชื้อเพลิง เพราะมีน้ำหนักและแรงต้านการหมุนน้อย รวมทั้งลดต้นทุนการผลิต โดยยอมสูญเสียประสิทธิภาพการเกาะถนนในช่วงความเร็วสูงที่ไม่ค่อยได้ใช้งานลงไป ถ้าใช้รถยนต์ในเมืองหรือไม่ได้ใช้งานด้วยความเร็วสูงจัดจ้าน หน้ายางขนาดมาตรฐานมีความเหมาะสมอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องการเพิ่มความมั่นใจในช่วงความเร็วปานกลาง-สูง โดยยอมสูญเสียคุณสมบัติที่ดีในช่วงความเร็วต่ำ-ปานกลางไปบ้าง สามารถเลือกยางหน้ากว้างขึ้นสัก 10 มิลลิเมตร (หรือเพิ่มเต็มที่ 20 มิลลิเมตร) ใส่กับกระทะล้อเดิมได้ โดยผลเสียที่เพิ่มขึ้นมีน้อยมากและไม่ต้องกังวล แต่ต้องเกี่ยวข้องกับซีรีส์ของแก้มยางที่ต้องเปลี่ยนแปลง การเพิ่มขนาดหน้ายางขึ้น 10 มิลลิเมตรกับกระทะล้อเดิม ควรลดความสูงของแก้มยางลง 5 ซีรีส์ เพื่อรักษาความสูงของแก้มยางและเส้นรอบวงของยางเช่น ยางเดิมขนาด 185/70/R13 แก้มยางมีความสูงเท่ากับ 185 X 0.70 = 129.5 มิลลิเมตร เปลี่ยนเป็นยางหน้ากว้างขึ้น 10 มิลลิเมตร โดยลดแก้มยางลง 5 ซีรีส์ จาก 70 เป็น 65 ซีรีส์ เป็นขนาด 195/65/R13 แก้มยางมีความสูงเท่ากับ 195 X 0.65 = 126.75 มิลลิเมตร ต่างจากแก้มยางเดิมเพียง 129.5 - 126.75 = 2.75 มิลลิเมตร แทบไม่แตกต่าง รักษาความนุ่มนวลและเส้นรอบวงของยางไว้ ทำให้คงอัตราเร่ง การแสดงผลของมาตรวัดความเร็ว และความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไว้ได้ ถ้าเพิ่มขนาดหน้ายางขึ้น 10 มิลลิเมตรกับขนาดกระทะล้อเดิม แต่ไม่ลดความสูงของแก้มยางลง แก้มยางจะสูงขึ้นเล็กน้อย แต่เป็นค่ามากกว่าการลดความสูงของแก้มยางลง 5 ซีรีส์ คือ เปลี่ยนยางเป็นขนาด 195/70/R13 70 ซีรีส์เท่าเดิม แก้มยางมีความสูงเท่ากับ 195 X 0.70 = 136.5 มิลลิเมตร แก้มยางสูงกว่าเดิมมากถึง 136.5 - 129.5 = 7 มิลลิเมตร ต่างจากการลดความสูงของแก้มยางลง 5 ซีรีส์ ที่เตี้ยลงเพียง 2.75 มิลลิเมตร แก้มยางที่สูงขึ้นมากในกระทะล้อขนาดเท่าเดิมมีผลให้อัตราเร่งต่ำลง มาตรวัดความเร็วชี้น้อยกว่าความเป็นจริง (ไมล์แข็ง) และอาจสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น การลดหน้ายางให้แคบกว่ามาตรฐานเดิม ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง แม้ในหลักการแล้วจะช่วยลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลงบ้าง จากน้ำหนักและแรงต้านการหมุนที่ลดลง แต่จะสูญเสียประสิทธิภาพการเกาะถนนลงเกือบตลอดการใช้งาน

แ ก้ ม ย า ง เ ตี้ ย & สู ง ไ ด้ อ ย่ า ง เ สี ย อ ย่ า ง
ตัวอย่างรหัสบนแก้มยาง 185/70/R13 เลขตัวกลาง 70 คือ ความสูงของแก้มยางเป็นเปอร์เซ็นต์จากความกว้างของหน้ายาง ต้องผ่านการคำนวณก่อนจึงจะทราบความสูงของแก้มยางที่แท้จริง กรณีนี้ คือ 185 X 0.70 = แก้มยางสูง 129.5 มิลลิเมตร ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วไปที่ไม่ใช่รถสปอร์ตสมรรถนะสูง มักเลือกใช้ยางแก้มสูงเพื่อช่วยซึมซับแรงสั่นสะเทือนจากพื้น ให้ความนุ่มนวลโดยรวม ป้องกันกระทะล้อคดหรือแตก และลดต้นทุนได้ทั้งยางและกระทะล้อ อันเป็นการเลือกที่ลงตัวดีสำหรับการใช้งานปกติช่วงความเร็วปานกลาง-ถึงสูงแบบไม่จัดจ้านนัก แต่ก็ยังมีความต้องการของผู้ใช้ ที่อยากเปลี่ยนขนาดยางและลดซีรีส์ความสูงของแก้มยางลงอีก ด้วยหลายเหตุผล เช่น อยากเพิ่มความสวย หรือลดการบิดตัวของแก้มยางขณะเปลี่ยนเลนหรือใช้ความเร็วสูง ซึ่งต้องยอมรับผลเสีย คือ ความกระด้างจากแก้มยางที่เตี้ย ทำให้ซึมซับแรงสั่นสะเทือนจากพื้นได้น้อยลง และล้อแม็กคด-แตกง่ายขึ้น อยากสวย อยากเกาะ ต้องยอมกระด้าง

ส รุ ป สั้ น ๆ แ ล ะ ชั ด เ จ น ว่ า
ยางแก้มสูง นุ่มนวล ราคาไม่แพง แต่บิดตัวมากในการเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลนอย่างรวดเร็ว และไม่สวยยางแก้มเตี้ย กระด้าง เพราะมีช่วงการซึมซับแรงสั่นสะเทือนน้อย แต่ให้ความฉับไวและแม่นยำในการควบคุมบนทางโค้งหนักๆ -เปลี่ยนเลน สวย และราคาแพง ถ้าไม่เปลี่ยนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกระทะล้อ หรือไม่เพิ่มความกว้างของหน้ายาง จะไม่สามารถลดความสูงของแก้มยางได้เลย เช่น ถ้าใช้ยางหน้ากว้าง 175 มิลลิเมตรกับกระทะล้อ 13 นิ้วเท่าเดิม หากเพิ่มจากแก้มยาง 70 ซีรีส์ เป็น 80 ซีรีส์ เพราะต้องการเพิ่มความนุ่มนวลหรืออะไรก็แล้วแต่ แก้มยางจะสูงขึ้น 175 X 0.10 (คิดจาก 10 เปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น) = 17.5 มิลลิเมตร เกือบ 2 เซนติเมตร ในทางกลับกัน อยากให้รถยนต์ดูเตี้ยโดยไม่ลดความสูงด้วยการเปลี่ยนช่วงล่าง ลดแก้มยางลง 10 ซีรีส์ แก้มยางก็เตี้ยลง 17.5 มิลลิเมตร เส้นรอบวงของยางจะเปลี่ยนไปมาก ในทั้งกรณีลดและเพิ่มซีรีส์โดยไม่เปลี่ยนขนาดอื่นของยาง หากต้องการลดความสูงของแก้มยางเพื่อความสวยงามหรือลดการบิดตัว ต้องเปลี่ยนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกระทะล้อชดเชยกัน และต้องคำนวณอย่างละเอียด เพื่อรักษาเส้นรอบวงของยางไว้ โดยการประมาณคร่าวๆ หากอยากลดความสูงของแก้มยางลง 10 ซีรีส์ ต้องเปลี่ยนขนาดกระทะล้อเพิ่มขึ้น +1 นิ้ว หรือ 20 ซีรีส์ก็ +2 นิ้ว ถ้าจะให้แน่นอนต้องคำนวณ หรือนำยางขนาดใหม่มาตั้งเปรียบเทียบความสูงกับยางเส้นเดิมขนาดมาตรฐาน
และอย่าลืมเผื่อระยะที่ดอกของยางเส้นเดิมสึกหรอลงไปแล้วด้วย

เ ส้ น ผ่ า ศู น ย์ ก ล า ง ก ร ะ ท ะ ล้ อ แ ล ะ ย า ง เ ป ลี่ ย น ไ ด้ แ ต่ ต้ อ ง ย อ ม รั บ
ตัวอย่าง รหัสบนแก้มยาง 185/70/R13 เลขตัวสุดท้าย 13 คือเส้นผ่าศูนย์กลางกระทะล้อ มีหน่วยเป็นนิ้ว สำหรับใส่ยางเส้นนั้น ปัจจุบันนิยมขนาด 13-18 นิ้วเป็นหลัก ในการใช้งานปกติไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนขนาด แต่ก็มีความต้องการเปลี่ยนในทางใหญ่ขึ้น คือ เปลี่ยนกระทะล้อเพื่อความสวยงาม หรืออยากใช้ยางแก้มเตี้ยลงเพื่อความสวยและลดการบิดตัว ซึ่งมีราคาแพงขึ้น แต่คงเส้นรอบวงไว้ได้ ล้อแม็กวงโตกับยางแก้มเตี้ย มีความสวยมากขึ้น เพราะล้อแม็กที่วาววับจะสร้างความสะดุดตา ส่วนสีดำของแก้มยางที่ลดลงก็ลดความหนาทึบในการมอง คล้ายล้อและยางตามสไตล์รถแข่งทางเรียบ เมื่อเปลี่ยนล้อแม็กขนาดใหญ่ขึ้น ต้องลดซีรีส์ความสูงของแก้มยางลงให้เหมาะสม เพื่อรักษาขนาดเส้นรอบวงของยางไว้ กระทะล้อหรือล้อแม็กในมาตรฐานเดียวกัน ยิ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ย่อมมีราคาแพง คด-แตกง่าย เป็นภาระกับระบบช่วงล่าง ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นบ้างจากน้ำหนักและแรงต้านการหมุนที่เพิ่มขึ้น แต่สวยและสามารถเปลี่ยนขนาดดิสก์เบรกให้ใหญ่ขึ้นได้สำหรับรถยนต์โมดิฟาย

ย า ง ใ ห ม่ ต้ อ ง ป รั บ ส ภ า พ
ไม่เฉพาะแต่รถยนต์และเครื่องยนต์เท่านั้น ที่ต้องมีการปรับสภาพในช่วงแรกของการใช้งาน ในช่วง 100-200 กิโลเมตรแรกของการใช้งานยางใหม่ ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 80-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงหลุมหรือทางขรุขระควรหยอดเบาๆ เพื่อให้โครงสร้าง แก้มยาง และหน้ายางปรับสภาพในการใช้งาน

ใ น & น อ ก ป ร ะ เ ท ศ
ยังมีความเชื่อแบบเก่าอยู่บ้างว่า ยางผลิตจากต่างประเทศมีคุณภาพเหนือกว่ายางผลิตในประเทศอาจจริงในยุค 10-20 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้สรุปในทันทีไม่ได้ เพราะพัฒนาการของผู้ผลิตยางรถยนต์ในประเทศก้าวหน้าขึ้นมาก ไม่เก่าเก็บ และไม่ต้องขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมา ยางจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่มักถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานในแถบประเทศนั้นๆ หรือสภาพทั่วไป คือ ไม่ร้อนมากและถนนเรียบ ต่างจากไทยที่ทั้งร้อนและสภาพถนนแย่ ผู้ผลิตยางในประเทศจึงน่าจะมีการพัฒนาและวิจัยที่ตรงกับลักษณะการใช้งานมากกว่า ยังเคยพบว่ายางจากนอกบางรุ่นใช้งานในเมืองไทยแล้วประสิทธิภาพแย่กว่าหรือไม่ทนทานก็มี นอกจากเทคโนโลยีและสูตรในการผลิตแล้ว ความเก่าเก็บของยางก่อนใช้งานก็เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพโดยรวมของยางด้วย ยางที่เก็บไว้นานๆ เนื้อยางจะเริ่มแข็งและโครงสร้างของยางกระด้างขึ้น ยางจากต่างประเทศมักใช้การขนส่งทางเรือ อาจค้างสต็อกนาน และเคยมีข่าวว่า ผู้นำเข้าบางรายเลือกนำเข้ายางล็อตเก่าที่ต่างประเทศโละมาในราคาถูกก็มี ยางแก้มเตี้ยสมัยก่อนไม่มีการผลิตในประเทศไทย ปัจจุบันมีการผลิตเกือบทุกยี่ห้อและหลายรุ่น นอกจากนี้ ยางจากต่างประเทศต้องใช้เงินต่างสกุลสั่งซื้อมา ซึ่งแน่นอนว่า หลังหมดสต็อกเดิมจากปี 2540 ที่ค่าเงินบาทเพิ่งลอยตัว ยางนำเข้าล็อตใหม่ ณ กลางปี 2541 เป็นต้นไป ต้องมีราคาสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 50-100 เปอร์เซ็นต์ตามค่าเงิน ยางนำเข้าเส้นละ 6,000-10,000 บาท ต่อไปคงเป็นเรื่องปกติ ยางในประเทศรุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่มีความน่าสนใจมากกว่าทั้งในด้านคุณภาพ, ราคา และความสดแต่ก็ยังมียางนำเข้าบางยี่ห้อบางรุ่น ที่ถูกเลือกมาตรฐานมาให้เหมาะสำหรับการใช้งานในเมืองไทย และมีการเจรจาลดราคาจากผู้ผลิตโดยตรง จนสามารถตั้งราคาได้ไม่สูงนักและมีประสิทธิภาพคุ้มค่า

ย า ง รุ่ น ใ ห ม่ น่ า ส น ใ จ
สรุปได้เกือบเต็มที่เลยว่า ยางยี่ห้อเดียวกันแต่รุ่นใหม่กว่ามีคุณภาพโดยรวมสูงกว่า คล้ายกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น รถยนต์, โทรทัศน์, คอมพิวเตอร์ ฯลฯ นอกจากนั้นยังลดความเสี่ยงเรื่องเก่าเก็บจนหมดสภาพได้อีกด้วย

เ ป ลี่ ย น ข น า ด เ พื่ อ เ ก า ะ & ส ว ย
การเปลี่ยนขนาดของยางมี 2 กรณีหลัก คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว และเพื่อความสวยงามการเปลี่ยนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัวมี 2 กรณีหลัก คือ เพิ่มความกว้างของหน้ายางเพื่อเพิ่มพื้นที่สัมผัส หรือลดความสูงของแก้มยางเพื่อลดการบิดตัวในทางโค้งหรือเปลี่ยนเลน อาจเลือกเปลี่ยนกรณีเดียวหรือควบคู่กัน การเปลี่ยนขนาดยางเพื่อความสวยงามมีสูตรสำเร็จอยู่ที่ยางหน้ากว้าง-แก้มเตี้ย ประกบกับล้อแม็กวงโต แต่ไม่ว่าจะเลือกเปลี่ยนขนาดของยางเพื่ออะไรก็ตาม ต้องรักษาเส้นรอบวงโดยรวมของยางไว้

แ ห ล่ ง ใ ห ญ่ ย า ง ใ ห ม่ แ ล ะ เ ก่ า
วงเวียน 22 กรกฎาคม แถบหัวลำโพง จากกึ่งกลางวงเวียน กระจายไปยังแยกที่จะไปโรงพยาบาลกลาง หรือวัดเทพศิรินทร์ ราคาถูกกว่าร้านทั่วไปเส้นละ 100-300 บาท (แล้วแต่รุ่น) เดินสอบถามกัน และต้องคำนวณถึงความคุ้มค่าที่ต้องฝ่าการจราจรเข้าไปกับราคาที่ต่างกันไม่มากนักด้วย

ย า ง มื อ ส อ ง บ า ง ก ร ณี น่ า ส น ใ จ
อย่ารีบสรุปว่ายางมือสองหรือที่เรียกกันว่ายางเปอร์เซ็นต์ไม่น่าสนใจ หากยางนั้นถูกเปลี่ยนออกเพราะหมดสภาพ แล้วร้านยางนำมาทำความสะอาดจำหน่าย ถือว่าไม่น่าสนใจ เพราะราคาถูก แต่อาจเกิดอันตรายยางมือสองที่น่าสนใจ คือ ยางขนาดมาตรฐานที่ถูกถอดออกเพราะอยากเปลี่ยนขนาด หรือเลือกเปลี่ยนล้อแม็กวงโตพร้อมยางแก้มเตี้ย บางครั้งใช้งานมาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็ยังมี ถ้ายางมือสองเหล่านี้มีขนาดตรงตามความต้องการ ราคาจะถูกกว่ายางใหม่ประมาณ 30-50% แต่สภาพเกือบ 100% บางคันออกจากโชว์รูมไม่กี่วันก็ถูกเปลี่ยนออกแล้ว ยางมือสองในกรณีนี้หาได้ตามร้านล้อแม็กใหญ่ทั่วไป แต่ควรศึกษาก่อนว่า ยางขนาดที่ต้องการมีใช้ในรถยนต์ทั่วไปมากแค่ไหน ส่วนใหญ่ยาง 65-70 ซีรีส์ ขนาด 13-15 นิ้ว หาไม่ยาก

ต้ อ ง ถ่ ว ง ล้ อ
เพราะกระทะล้อและยางหมุนรอบจัดและเปลี่ยนแปลงตลอดการขับ จึงต้องมีการถ่วงสมดุล โดยเฉพาะล้อคู่หน้า แต่ถ้าให้ดีควรถ่วงทั้ง 4 ล้อ เพราะการไม่ได้สมดุลในล้อหน้า จะแสดงผลชัดเจนจากอาการพวงมาลัยสั่นในบางช่วงความเร็ว และทุกล้อที่ไม่ได้สมดุลจะบั่นทอนอายุของช่วงล่าง โดยเฉพาะลูกปืนล้อ เมื่อเปลี่ยนยางใหม่ ถอดยางออกจากกระทะล้อเพื่อปะหรือสลับระหว่างล้อหลังกับล้อหน้า ต้องมีการถ่วงสมดุลเสมอ รวมทั้งเมื่อใช้งานไปสัก 40-50% ของอายุการใช้งานยาง ควรถอดมาถ่วงสมดุล เพราะการสึกหรออาจไม่สม่ำเสมอกันถ้าใช้วิธีถอดกระทะล้อออกมาถ่วงสมดุล แล้วยังมีอาการสั่นของพวงมาลัยบางช่วงความเร็ว ต้องขยับไปใช้วิธีถ่วงแบบจี้ คือ ไม่ต้องถอดล้อออกจากรถยนต์ เป็นการถ่วงสมดุลกระทะล้อ ยาง, จานดิสก์เบรก, เพลาขับ (ถ้าล้อนั้นมี), ลูกปืนล้อ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง แต่โดยทั่วไปการถอดล้อออกมาถ่วงภายนอกเพียงพอแล้ว

ก า ร ดู แ ล แ ล ะ ใ ช้ ย า ง
วัดแรงดันลมให้ได้มาตรฐาน หากยางปกติ ไม่มีการรั่วซึม ตรวจแรงดันลมทุกสัปดาห์ก็พอ แรงดันลมมาตรฐานของยางรถยนต์ทุกรุ่นมีระบุไว้ที่ตัวรถยนต์หรือคู่มือประจำรถยนต์ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 28-32 ปอนด์/ตารางนิ้ว (PSI) สำหรับรถยนต์นั่งการวัดแรงดันลมยางต้องกระทำในขณะที่ยางยังเย็นหรือร้อนไม่มาก (ขับไม่เกิน 2-3 กิโลเมตร) หากเติมและวัดลมตามปั๊มน้ำมันพร้อมเติมน้ำมันก็สะดวกดี แต่เมื่อยางร้อนแล้วต้องเผื่อแรงดันที่วัดได้เกินจากมาตรฐานสัก 1-2 ปอนด์/ตารางนิ้ว แล้วดูว่ายางเส้นไหนลมอ่อนมากกว่ายางเส้นอื่นมากหรือเปล่า หากมีแสดงว่ามีปัญหารั่วซึม ระวังความเพี้ยนของมาตรวัดแรงดันลมตามปั๊มน้ำมันไว้ด้วย เพราะมักถูกใช้งานหนัก ควรซื้อมาตรวัดแรงดันลมส่วนตัวไว้ และต้องเลือกแบบที่มีมาตรฐานราคาแพงสักหน่อย ปั๊มหรือเครื่องมือเติมลมส่วนตัวมี 2 แบบหลัก คือ แบบเท้าเหยียบ ควรซื้อแบบลูกสูบคู่จะรวดเร็ว และแบบปั๊มไฟฟ้า อาจไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้ดูแลรถยนต์ด้วยตัวเอง แต่ควรมีมาตรวัดแรงดันลมส่วนตัว

แ ร ง ดั น ล ม อ่ อ น - แ ข็ ง
แรงดันลมน้อย-ยางอ่อน แก้มยางมีการบิดตัวมากและร้อนง่าย สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น และอัตราเร่งลดลงจากแรงต้านการหมุนที่เพิ่มขึ้นหากยางอ่อนมากๆ โครงสร้างภายในจะหมดสภาพเร็วขึ้น และมีการสึกหรอบริเวณริมนอกซ้าย-ขวาของหน้ายางมากกว่าแนวกลางแรงดันลมมาก-ยางแข็ง ประสิทธิภาพการเกาะถนนลดลง ถ้ายางแข็งมากๆ เสี่ยงต่อการระเบิด และมีการสึกหรอบริเวณแนวกลางมากกว่าริมนอกซ้าย-ขวา

เ ดิ น ท า ง ไ ก ล เ ติ ม แ ร ง ดั น ล ม เ พิ่ ม
ควรเติมแรงดันลมยางแข็งกว่าปกติ 2-3 ปอนด์/ตารางนิ้ว เพื่อป้องกันยางร้อนมาก หรือแรงดันลมสูงเกินไปจนระเบิดอาจสวนความคิดที่ว่า เมื่อเดินทางไกลยางหมุนด้วยความเร็วสูงและต่อเนื่อง ยางน่าจะร้อนและมีผลให้แรงดันลมเพิ่มขึ้น จากหลักการของก๊าซเมื่ออากาศร้อนจะขยายตัว-แรงดันลมเพิ่ม และหากเย็นจะหดตัว-แรงดันลมลดลง จึงเสมือนว่าน่าจะลดแรงดันลมลงจากปกติ หากมีการลดแรงดันลมยางลงในการเดินทางไกล ยางกลับจะร้อนและมีแรงดันสูงขึ้นมาก เพราะยางอ่อนแก้มยางจะบิดตัวมากจนร้อน และทำให้แรงดันลมสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว วิธีที่ถูกต้อง คือ เพิ่มแรงดันลมขึ้น 2-3 ปอนด์/ตารางนิ้ว เพื่อป้องกันการบิดตัวของแก้มยางมากจนร้อนและแรงดันลมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นการป้องกันล่วงหน้า เช่น ยางที่มีแรงดันลม 32 ปอนด์/ตารางนิ้ว มากกว่าปกติ 2 ปอนด์/ตารางนิ้ว เมื่อเดินทางไกลอาจมีแรงดันลมเพิ่มขึ้นจากความร้อนเพียง 2 ปอนด์ แต่ถ้าลดแรงดันลมเหลือเพียง 28 ปอนด์/ตารางนิ้ว อาจร้อนมากและมีแรงดันลมเพิ่มขึ้นถึง 5-6 ปอนด์/ตารางนิ้ว รวมแล้วมากกว่าการเติมลมยางเผื่อไว้แข็งและร้อนแล้ว

เ ส้ น ท า ง ข รุ ข ร ะ
ลดความเร็วให้เหมาะสม เพื่อลดภาระของหน้ายางและโครงสร้างยาง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยและถนอมช่วงล่างด้วย

นํ้ า ย า เ ค ลื อ บ ส ว ย แ ต่ ต้ อ ง ร ะ วั ง
เป็นเรื่องปกติของคนไทยที่รักสวยรักงาม สำหรับการทาน้ำยาเคลือบแก้มยางเพื่อเพิ่มความสวย มีข้อควรระวังคือ น้ำยาบางชนิดมีฤทธิ์ต่อเนื้อยางของแก้มยาง ทำให้บวม ควรเป็นสารประเภทซิลิโคนจะปลอดภัยที่สุด

เ บี ย ด ท า ง เ ท้ า ร ะ วั ง แ ก้ ม ย า ง
การเข้าจอดเลียบทางเท้าหรือทางที่มีขอบสูง ระวังการเบียดของแก้มยางทั้งในขณะจอด หรือจอดเบียดแก้มยางทิ้งไว้ เพราะจะทำให้แก้มยางบวมหรือรั่ว ซึ่งไม่สามารถซ่อมแก้มยางให้ใกล้เคียงปกติเหมือนหน้ายางรั่วได้ในการเข้าจอดเลียบทางเท้า ถ้าไม่มั่นใจว่าจะเบียดแก้มยางหรือเปล่า ควรชะลอให้ช้าที่สุด และอย่าจอดเบียดแก้มยางทิ้งไว้ ควรจอดให้แก้มยางไม่เบียดอะไรเลย

ส ลั บ ย า ง
ทุก 10,000 กิโลเมตร สลับยางพร้อมกระทะล้อหน้า-หลังในแต่ละด้าน เพื่อให้มีการสึกหรอจนหมดใกล้เคียงกันทั้ง 4 เส้น เพราะยางที่ใส่กับล้อคู่ขับเคลื่อน จะมีการสึกหรอมากกว่ายางอีกคู่หนึ่ง อย่าลืมดูทิศทางการหมุนและถ่วงสมดุลใหม่ด้วยถ้าไม่สลับยางแล้วมีการสึกหรอไม่เท่ากัน หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนยางครั้งละคู่หรือ 2 ล้อ เพราะจะทำให้ต้องเปลี่ยนสลับครั้งละคู่ไปเรื่อยๆ เสียเวลาและไม่ถูกต้อง ยางต้องเปลี่ยนพร้อมกันทั้ง 4 เส้น เพราะมีอายุการใช้งานเท่ากันทุกเส้น ควรเปลี่ยนยางพร้อมกันทั้ง 4 เส้น และอย่าใช้ยางต่างรุ่นต่างดอกกันในล้อข้างซ้ายและขวาในคู่เดียวกัน เพราะประสิทธิภาพการเกาะถนนจะแย่ลง ควรใช้ยางขนาดเดียวและรุ่นเดียวกันทั้ง 4 ล้อ ไม่มีความจำเป็นต้องเลียนแบบรถแข่งที่ใช้ยางหน้ากว้างกว่าในล้อขับเคลื่อน

ห มั่ น ต ร ว จ ส อ บ ก า ร สึ ก ห ร อ ข อ ง ด อ ก ย า ง
นอกจากตรวจสอบความลึกของดอกยางและสลับตามระยะ ยังต้องสังเกตการสึกหรอที่ผิดปกติตลอดหน้ายาง ซึ่งมีหลายลักษณะยางต้องมีการสึกหรอสม่ำเสมอใกล้เคียงกันตลอดหน้ายางซ้ายจรดขวา หากมีการสึกหรอของดอกยางผิดปกติ ควรตรวจสอบและตั้งศูนย์ล้อใหม่

อ ย่ า จ อ ด ทิ้ ง ไ ว้ น า น
รถยนต์ที่จอดนิ่งอยู่กับที่ น้ำหนักของตัวรถยนต์ทั้งหมดจะตกสู่ยางแต่ละเส้นในจุดเดียว โครงสร้างภายในและแก้มยางจะมีการยึดตัวและเสียความยืดหยุ่นลงไป ยิ่งจอดนิ่งนาน โครงสร้างของยางยิ่งมีโอกาสเสียง่ายขึ้น ถ้าต้องจอดนานมาก ทุก 1 สัปดาห์ควรสตาร์ทเครื่องยนต์ และนำรถยนต์ออกไปแล่นอย่างน้อย 2-3 กิโลเมตร หรือเดินหน้าถอยหลัง 5-10 เมตรหลายๆ ครั้ง เพื่อให้แก้มและโครงสร้างของยางมีการขยับตัว ทำให้ระบบช่วงล่างและเบรกมีการใช้งานด้วย

ด อ ก ย า ง สึ ก ห ร อ ผิ ด ป ก ต
ปกติแล้วยางทุกเส้นต้องมีการสึกหรอของดอกยางสม่ำเสมอตลอดหน้ายางซ้ายจรดขวาและรอบวง แต่อาจอนุโลมได้บ้างสำหรับรถยนต์ที่ใช้ช่วงล่างแบบอิสระในล้อซ้าย-ขวา ไม่ได้เป็นเพลาตรงแท่งเดียวกัน หน้ายางด้านในอาจสึกหรอมากกว่าด้านนอกเพียงเล็กน้อย แต่ยังเรียบเป็นแนวตรงลูบมือผ่านโดยไม่สะดุด เพราะในการขับช่วงล่างจะมีการยุบตัว ล้อเปลี่ยนมุมจากแนวตั้งฉากแบะ (มุมแคมเบอร์ลบ) ด้านล่างออก ด้านบนหุบเข้า น้ำหนักกดลงที่หน้ายางด้านในมากกว่าเล็กน้อย สำหรับรถยนต์ที่ใช้ช่วงล่างแบบอิสระในล้อซ้าย-ขวา และโหลดลดความสูงโดยไม่ได้ปรับให้ล้อตั้งฉากกับพื้น (หรือปรับไม่ได้) ล้อแบะ (มุมแคมเบอร์ลบ) หน้ายางด้านในจะสึกหรอมากกว่าด้านนอกมาก และใช้ยางได้ไม่คุ้ม ต้องสลับหน้ายางในออกนอกด้วยการถอดออกจากกระทะล้อทุก 10,000-20,000 กิโลเมตร นอกเหนือจากการสลับหน้า-หลัง หากยางรุ่นนั้นกำหนดทิศทางการหมุนต้องใส่ให้ถูกต้องหากไม่ได้ลดความสูงของตัวรถยนต์ แล้วมุมล้อมีมุมแคบเบอร์ลบหรือบวกผิด ต้องปรับตั้งให้ได้มาตรฐานด้วยวิธีที่ถูกต้อง ถ้าหน้ายางมีการสึกหรอด้านใน-นอกไม่เท่ากันและเป็นบั้ง แสดงว่ามุมโทอิน-โทเอ๊าท์ผิดปกติ คือ มุมล้อที่เมื่อมองจากด้านบนแล้วล้อซ้าย-ขวาในแต่ละคู่ต้องขนานกัน หรือเกือบขนานกันตามมาตรฐาน มุมล้อโทอินมากเกินไป คือ มองจากด้านบนแล้วด้านหน้าของล้อซ้าย-ขวาหุบเข้าหากันมากเกินไป ดอกยางริมนอกจะสึกมากกว่าด้านในและเป็นบั้ง ลูบมือผ่านแล้วสะดุด มุมล้อโทเอ๊าท์มากเกินไป คือ มองจากด้านบนแล้วด้านหน้าของล้อซ้าย-ขวาอ้าออกจากกันมากเกินไป หรือด้านหลังของล้อซ้าย-ขวาหุบเข้าหากันมากเกินไป ดอกยางริมในจะสึกมากกว่าด้านในและเป็นบั้ง ลูบมือผ่านแล้วสะดุดถ้ามุมโทผิดปกติ ต้องนำไปตั้งศูนย์ล้อในค่าใช้จ่ายประมาณ 150-300 บาท เสียเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง และรถยนต์ทั่วไปมักกำหนดให้ต้องตั้งมุมล้อโทอินไว้บ้าง คือ ล้อด้านหน้าหุบเข้าหากันเล็กน้อย เพื่อให้เวลารถยนต์แล่นมีแรงกระทำด้านหน้าแล้วมุมโทจะพอดี ถ้าตั้งโทเอ๊าท์มากเกินไป เมื่อรถยนต์แล่นล้อด้านหน้าจะยิ่งอ้าออก รถยนต์ทุกรุ่นมีการกำหนดค่ามาตรฐานของมุมล้อแตกต่างกันออกไป

ย า ง แ ต ก
ปกติแล้วยางแบบเรเดียลไม่ใช้ยางใน จะแตกเองยากมาก และหากถูกของมีคมขนาดไม่ใหญ่ทิ่มแทง จะมีการรั่วของลมช้า และถ้าทิ่มค้างอยู่ ก็ยิ่งรั่วช้าลงอีกถ้ารถยนต์แล่นอยู่แล้วยางแตกกะทันหัน หากค่อยๆ รั่วช้าๆ สัก 5-10 วินาที และใช้ความเร็วไม่สูงนัก รถยนต์จะไม่เสียการทรงตัวมาก แต่ถ้ารั่วเร็วต้องตั้งสติเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดี ไม่ว่ายางจะรั่วช้าหรือเร็ว อย่ากระแทกแป้นเบรกกะทันหัน บังคับพวงมาลัยให้มั่นคง เพราะจะมีแรงดึงผิดปกติ ต้องเบรกช้าๆ และเบาที่สุด ถ้ายางล้อหน้าแตกในรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง ยังพอใช้การลดเกียร์ต่ำช่วยได้บ้าง แต่ถ้าเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าให้ใช้เบรกเบาๆ เท่านั้น เพราะหากลดเกียร์ต่ำช่วย ล้อหน้าอาจมีการกระตุกจนเสียการทรงตัวหรือตัวรถยนต์หมุนได้ เมื่อยางแตกแล้ว ต้องจอดหลบให้ปลอดภัย อย่าบดยางยาวต่อเนื่องไปอีก เพราะขอบกระทะล้อจะกดลงบนแก้มยางอย่างรุนแรง จนแก้มยางเสียและต้องทิ้งยางเส้นนั้นไปเลย ยางรถยนต์ในยุคใหม่มีโอกาสรั่วน้อยมาก ไม่น่าเกิน 1-2 ครั้ง/ปี ยางอะไหล่จึงมักไม่ค่อยได้รับความสนใจในการตรวจสอบทุกสัปดาห์เหมือนยางเส้นปกติ จึงควรเติมลมยางอะไหล่ไว้มากหน่อย คือ 40 ปอนด์/ตารางนิ้ว และตรวจสอบทุกเดือน เมื่อต้องสลับมาใช้ยางอะไหล่ ถ้าแรงดันลมที่มีอยู่สูงเกินไปก็ปล่อยออกให้เท่าปกติ หรือยางอ่อนนิดหน่อยก็ควรขับต่อด้วยความเร็วต่ำ ดีกว่าบดยางเส้นที่แตกจนเสีย การเปลี่ยนยางที่รั่วสลับกับยางอะไหล่เป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุด แต่อาจไม่สะดวกในหลายกรณี เช่น การจราจรคับคั่ง พื้นที่เปลี่ยว หรือเป็นสุภาพสตรีโฟมสเปรย์อุดรอยรั่วของยางช่วยได้ ถ้ารอยรั่วไม่ใหญ่นัก กระป๋องละไม่กี่ร้อยบาท เติมให้หมดกระป๋อง ยางอาจจะอ่อนไปหน่อย แต่สามารถขับไปร้านปะยางหรือหลบจากพื้นที่คับขันได้ เมื่อถอดยางออกปะต้องล้างโฟมนั้นออกให้หมดไม่มีความจำเป็นต้องเติมโฟมอุดรอยรั่วไว้ล่วงหน้าทุกล้อ เพราะสิ้นเปลือง และอาจทำให้น้ำหนักของล้อและยางไม่สมดุล เกิดการสั่นของพวงมาลัยได้

ป ะ ย า ง 2 แ บ บ
การรั่วที่หน้ายางปะได้ 2 แบบ แต่การรั่วที่แก้มยางต้องทิ้งยางเส้นนั้นไป เพราะแก้มยางต้องมีการยืดหยุ่นตลอดการหมุนถ้ารอยรั่วไม่ใหญ่นักสามารถเลือกปะได้ 2 แบบ คือ สอดเส้นยางพิเศษที่เบ่งตัวจนแน่นเข้าไปได้โดยไม่ต้องถอดยางออกจากกระทะล้อ ใช้เวลาน้อย หรือปะแบบสตีมใช้ความร้อน ถอดยางออกจากกระทะล้อ ใช้แผ่นปะปิดจากด้านในแล้วอัดทับด้วยความร้อนสักพักใหญ่ ซึ่งแน่นหนาทนทานกว่าการปะแบบแรก แต่จะทำให้เนื้อยางบริเวณนั้นแข็งกระด้างจากความร้อนสูง และต้องถ่วงสมดุลใหม่ เพราะยางถูกถอดออกจากกระทะล้อและมีน้ำหนักจากแผ่นปะเพิ่ม หากรอยรั่วใหญ่ต้องปะแบบสตีมใช้ความร้อน

เ มื่ อ ไ ร ห ม ด ส ภ า พ
ยางหมดอายุได้ใน 6 ลักษณะหลัก เช่น ดอกหมด, ไม่เกาะ, เนื้อแข็ง, โครงสร้างกระด้าง เสียงดัง หรือแก้มบวม เกิดขึ้นเพียงลักษณะเดียวหรือควบคู่กันก็ถือว่าหมดอายุ ไม่จำเป็นต้องดอกหมดแล้วยางถึงจะหมดสภาพเสมอไป เพราะความลึกของดอกยางเกี่ยวข้องกับการรีดน้ำ ฝุ่น และโคลนเป็นหลักเท่านั้น ประสิทธิภาพการเกาะถนนและการทรงตัวต้องขึ้นอยู่กับความแข็งของเนื้อยาง การเก่าเก็บ และโครงสร้างภายในด้วยยางรถยนต์ส่วนใหญ่จะเริ่มแข็งตัวขึ้นเมื่อผ่านการใช้งานไประยะหนึ่ง ตามพื้นฐานของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางที่แพ้ความร้อนเนื้อยางที่แข็ง แม้ดอกยังลึกอยู่ แรงเสียดทานระหว่างหน้ายางกับผิวถนนจะลดลง ดอกยางสึกช้าลง และโครงสร้างยางก็เสื่อมสภาพลง หากเปรียบเทียบอัตราการสึกของดอกยางต่อระยะทาง แทบไม่มียางรุ่นไหนที่ดอกสึกเร็วขึ้นเมื่อผ่านการใช้งาน ส่วนใหญ่มักจะสึกช้าลงหรือแทบไม่สึกเลยเมื่อเนื้อยางแข็งกระด้างเต็มที่ ทดสอบง่ายๆ โดยใช้เล็บจิกลงบนเนื้อของหน้ายาง เปรียบเทียบกับยางใหม่ๆหากดอกไม่หมดเฉลี่ยคร่าวๆ ว่า 3 ปี หรือไม่เกิน 35,000-50,000 กิโลเมตร ถือว่ายางเสื่อมสภาพแล้ว และควรหลีกเลี่ยงยางเก่าเก็บเพราะจะทำให้ระยะเวลาในการใช้ยางสั้นลงกว่า 3 ปี

การปะซ่อมยาง
ยางรถยนต์เป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของรถยนต์ ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนให้ไปในทิศทางต่าง ๆ ตามความต้องการอย่าง สะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนนได้ดีเยี่ยม แม้จะขับขี่ด้วยความเร็ว สูง นอกจากนี้ยังให้ความนุ่มนวลในขณะขับขี่ ดังนั้นยางรถยนต์จึงได้รับการพัฒนาตลอดมาด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพ ประสิทธิภาพ สมรรถนะสูง สำหรับรองรับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่รับความทันสมัย
ยางรถยนต์เมื่อถูกนำมาใช้งานก็ย่อมสึกหรอไปตามกาลเวลาภายในอายุการใช้งาน แต่ถ้าหากการใช้งานขาดความระมัดระวังและการดูแลรักษาอย่างดี ยางรถยนต์ก็อาจได้รับความเสียหายไปก่อนที่ยางจะหมดอายุการใช้งาน
วันนี้คอลัมน์ของเราจึงขอแนะนำ "การปะซ่อมยาง" ให้กับผู้อ่านเป็นความรู้ และเข้า ใจเกี่ยวกับ การปะซ่อมยางประเภทรถยนต์นั่ง รถปิกอัพ อันจะเป็นแนวทางนำไปปฏิบัติ ได้อย่างถูกต้องและสามารถนำยางกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม เพราะยางรถยนต์ต้องสัมผัสสภาพถนนทุกเส้นทาง ดังนั้นจึงมีโอกาสได้รับความเสียหายตลอดเวลา เนื่อง จากถนนแต่ละเส้นทางมิได้ราบเรียบปราศจากเศษวัสดุแต่อย่างใด ฉะนั้นยางรถยนต์อาจจะวิ่งไปทับกับเศษวัสดุของมีคมบาด หรือตำทะลุยางทำให้เกิดความเสียหายก่อนที่ยางจะหมดอายุการใช้งาน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องทำการปะซ่อมยางให้อยู่ในสภาพเดิมเพื่อสามารถนำกลับมาใช้งานได้ตามปกติ
การปะซ่อมยางนั้นมีหลักการและวิธีการต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับลักษณะความเสียหายและประเภทของโครงยาง หากการปะซ่อมยางกระทำอย่างไม่ถูกต้องแล้ว ก็จะทำให้เกิดปัญหาได้เมื่อนำกลับมาใช้งาน ดังเช่น ในกรณีที่ใช้ยางเรเดียลเสริมเส้นลวดเหล็กกล้าถูกตะปูตำทะลุโครงยาง เมืื่อนำไปปะซ่อมตามร้านยางทั่วไป โดยปกติจะทำการซ่อมได้ด้วยอุปกรณ์ที่มีอยู่ตามวิธีการเดิมๆ ที่เคยใช้เป็นปกติ ซึ่งมิได้คำนึงถึงโครงสร้างยางว่าเป็นยางประเภทใด เนื่อง จากช่างซ่อมส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างยางซึ่งมีความแตกต่างกัน และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็อาจจะเป็นแบบที่ไม่เหมาะสมกับโครงสร้างยาง
ในกรณีนี้หากช่างใช้วิธีการปะซ่อมแบบยางเรเดียลจุ๊บเลสธรรมดา ซึ่งโครง สร้างเป็นแบบผ้าใบวิธีการคือ นำยางในมาตัดเป็นเส้นเล็กๆ จากนั้นก็ทาน้ำยาที่รูบาด แผลให้ทั่ว นำยางเส้นเล็ก ๆ ที่ตัดไว้มาอุดลงไปในรูบาดแผลให้เต็ม ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที เมื่อน้ำยาแห้งแล้งก็นำยางไปประกอบกับกระทะล้อเดิม สูบลมตามอัตราที่กำหนด เป็นอันเสร็จวิธีการปะซ่อมวิธีนี้ ถ้าใช้ปะซ่อมยางเรเดียลจุ๊บเลสธรรมดาก็อาจจะใช้ต่อไปได้ หากลมภายในยางไม่เกิดการรั่วซึมออก มา
แต่ยางที่ทำการปะซ่อมนั้นเป็นยางเรเดียลเส้นลวดเสริมเหล็กกล้า ซึ่งมีเข็มขัดรัดหน้ายางเป็นเส้นลวด เมื่อถูกตำทะลุเส้นลวดบางเส้นอาจจะถูกตัดขาดจากกัน ดังนั้นการปะซ่อมยางด้วยวิธีการนี้ จะเกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อนำไปใช้งาน เนื่องจากเส้นลวดที่ขาดจากกันจะเสียดสีกับยางในเส้นเล็ก ๆ ที่อุดลงไปทำให้ยางเกิดการชำรุดเสียหายใช้งานต่อไปได้ ฉะนั้นการปะซ่อมยางรถยนต์นั่งหรือยางรถปิกอัพแบบเรเดียลเสริมเส้นลวดเหล็กกล้า จะต้องตรวจดูลักษณะบาดแผล เพื่อตัดสินว่า "ซ่อมได้ หรือซ่อมไม่ได้"

การซ่อมยาง
1.การตรวจดูลักษณะบาดแผลเพื่อตัดสินใจว่า "ซ่อมได้หรือไม่ได้"
-ในกรณีถูกของมีคมตำทะลุบริเวณหน้ายาง ซึ่งบาดแผลมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 0.6 เซนติเมตร ก็สามารถทำการปะซ่อมได้ โดยวิธีการดังนี้
1. นำยางประกอบเข้ากับเครื่องจับยึดยาง
2.ตรวจหาบาดแผลและดึงวัสดุที่ตำยางและทำเครื่องหมายรอบบาดแผลทั้งภายในและภายนอก
3. ตรวจสอบการบวมล่อนของยางทั้งเส้นโดยละเอียด
การตัดสิน : ยางมีลักษณะบวม...ซ่อมไม่ได้, ยางไม่มีลักษณะการบวม....ซ่อมได้
4.ใช้ไขควงสว่านเบอร์ 915 เสียบไปที่บาดแผลบริเวณหน้ายาง เพื่อตรวจดูทิศทางของบาดแผล ในกรณีถูกตำทะลุในแนวเฉียงไม่เกิน 15 องศา ให้ใช้วิธีปะซ่อมโดยแท่งยางกลมแบบ 1 ชิ้น
5. ใช้สว่านเบอร์ 271 เจาะรูบาดแผล พร้อมทั้งเตรียมแท่งยางเบอร์ 251 เอาไว้
6.ใช้ไขควงสว่านเบอร์ 915 จุ่มน้ำยาเชื่อมเนื้อยางเบอร์ 760 แล้วแทงเข้าไปในแผลแล้วหมุนไป ตามทิศทางการหมุนของเข็มนาฬิกาให้ตลอดทั้งรูแผลจึงหมุนดึงออกโดยหมุนในทิศทางตามเข็มนาฬิกาเช่นเดิม
7.นำแท่งยางเบอร์ 251 ลอกแผ่นพลาสติกสีฟ้าออก บีบหังแท่งยางด้านหนึ่งให้แบบเพื่อยัดเข้าไปในรูของแท่งเหล็กและดึงแท่งยางให้อยู่ระหว่างจุดกึ่งกลางทาน้ำยาเชื่อมยางเบอร์ 760 ให้ทั่วทั้งแท่งยางจากนั้น นำแท่งเหล็กนี้แทงลงไปในรูบาดแผลให้เหลือปลายของแท่งยางโผล่ยื่นออกมาประมาณ 1 เซนติเมตร ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที ใช้มีดบาง ๆ ตัดเนื้อยางส่วนเกินบริเวณด้านหน้ายางให้เหลือโผล่ยื่นออกมาสักเล็กน้อย โดยใช้มือจับแท่งยางส่วนเกินเอาไว้เบา ๆ ในขณะตัดห้ามดึงแท่งยาง ต่อจากนั้นจึงนำยางไประกอบกับกระทะล้อสูบลมตามมาตรฐานกำหนด พร้อมทั้งประกอบเข้ากับตัวรถดังเดิมก็สามารถใช้งานได้ตามปกติจนยางหมดดอก
สำหรับยางรถยนต์นั่งและยางรถปิกอัพสามารถทำการปะซ่อมได้ทุกจุดบริเวณหน้า ยาง ยกเว้นในกรณีถูกบาดบริเวณไหล่ยางและบริเวณแก้มยางไม่ควรทำการปะซ่อมยาง ขอแนะนำว่าให้เปลี่ยนยางเส้นใหม่เลยเพื่อความปลอดภัย
ในกรณีที่ยางรถยนต์ถูกของมีคมบาดหรือตำทะลุ มีบาดแผลเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่กว่า 0.6 เซนติเมตร อาจจะใช้แท่งยาง 2 แท่งรวมกันหรือใช้แท่งยาง (STEM) ของอุปกรณ์ปะแบบ 1 ชิ้น ลักษณะคล้ายดอกเห็ดทำการปะซ่อมก็สามารถนำยางไปใช้งานได้ต่อไป
การปะซ่อมยางแบบเรเดียล ช่างประจำร้านควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับลักษณะโครง สร้างยางให้ถ่องแท้ ว่ายางประเภทนี้เป็นแบบเรเดียลผ้าใบธรรมดาหรือเป็นยางแบบเรเดียลเสริมเส้นลวดเหล็กกล้า เพื่อป้องกันความผิดพลาดในวิธีการปะซ่อมยาง แต่ในบางครั้งการปะซ่่อมยางแบบจุ๊บเลสอาจจะต้องเปลี่ยนสภาพมาเป็นยางแบบต้องใช้ยางในก็มี ดังนั้น เมื่อยางรถยนต์ของท่านเกิดปัญหาถูกของมีคมบาดหรือตำทะลุ ท่านควรใช้ดุลพินิจเลือกร้านที่เป็นขาประจำเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของท่าน

ยางไร้ลมยางแตกขับต่อได้จริงหรือ
การผลิตยางรถยนต์มีพัฒนาการทางเทคโน-โลยีก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่ เน้นการเพิ่ม ประสิทธิภาพและความทนทานเท่านั้น ยังมีความพยายามเพิ่มความปลอดภัยที่เกิดขึ้นในวงแคบๆ แต่น่าสนใจ และจะแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ... ยางไร้ลม ยางแตกขับต่อได้ จากต้นกำเนิดของยางรถยนต์ในยุคแรกที่เป็นยางตัน ซึ่งมีความทนทานแต่ขาดความนุ่มนวล ก็ก้าวเข้าสู่ยุคยางกลวงอัดลมไว้ภายใน มีน้ำหนักเบา ให้ความทนทานพอสมควร ซึ่งในยุคแรกของยางกลวงมีการใส่ยางในบางๆ เป็นตัวกักลม ซ้อนอยู่ภาย ในยางด้านนอกที่สัมผัสกับถนน ผลิตง่ายและต้นทุน ต่ำทั้งยางในยางนอก แต่ถ้ามีการรั่วของลมจากการทิ่มแทง ลมจะรั่วออกอย่างรวดเร็วจนทำให้รถยนต์เสียการทรงตัวได้ง่าย เพราะยางในบางๆ ก็เสมือนลูกโป่ง เมื่อถูกทิ่มแทงหรือแตก ลมก็จะรั่วออกหมดในทันที เพียง 1-3 วินาที ก็แบนสนิท ก้าวสู่ยางรถยนต์ยุคนี้ ยางแบบมียางใน ซึ่งมีจุดด้อยที่ชัดเจนในการ รั่วของลมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดพัฒนาการใหม่เพื่อแก้ไขจุดด้อยนั้นยางไม่มียางใน ใช้ตัวยางนอกเป็นตัวกักเก็บลมภายในตัวเอง หรือเรียกกันว่า TUBLESS กลายเป็นมาตรฐานของยางรถยนต์มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะหากเกิดการทิ่มแทงจากภาย นอก หากรูไม่ใหญ่นัก เนื้อยางที่หนาจะบีบรูไว้ ลมจะค่อยๆ รั่วออกอย่างช้าๆ แบนช้ากว่าแบบมียางใน หรือถ้าของแหลมนั้นคาอยู่ในเนื้อยาง เนื้อยางหนาๆ ก็จะช่วยบีบตัวให้ลมรั่วออกมาช้ามากๆ บางครั้งนานหลายวันกว่าจะแบนก็ยังมี เช่น ตะปูทิ่มคา อยู่กับหน้ายาง นอกจากยางรถยนต์ยุคใหม่จะไม่ใช้ยางใน แล้วยังเปลี่ยนโครงสร้างมาเป็นยางเรเดียลเสริมใยเหล็ก แทนที่โครงสร้างแบบผ้าใบ เพราะยางเรเดียล มีความแข็งแรงของโครงสร้างและรักษารูปทรงตลอดการหมุนได้ดีกว่า รั่วยาก รั่วช้า แต่มีโอกาสแบน รถยนต์รุ่นใหม่ๆมีสมรรถนะสูงขึ้นมาก เครื่อง ยนต์หลายร้อยแรงม้า อัตราเร่งดี 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงต่ำกว่า 10 วินาทีความเร็วสูงสุดระดับ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นเรื่องปกติ ไม่น่าตื่นเต้นแล้ว ยางรถยนต์จึงจำเป็นต้องรองรับสมรรถนะนั้นให้ได้ เพราะยิ่งยางหมุนเร็วเท่าไร ก็ย่อมมีแรงกระทำที่หน้ายาง จากแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางมากตามความเร็วที่เพิ่มขึ้น รถยนต์ทำอัตราเร่งได้ดี ทำ ความเร็วได้สูง ยางก็ต้องทนไหว ไม่ระเบิดง่ายๆ ปัญหาอยู่ที่ แม้ยางจะแตกยาก แต่ถ้าแตกเมื่อไร ก็เสี่ยงต่ออุบัติเหตุรุนแรงจากการเสียการทรง ตัวด้วยความเร็วและความแรงที่เพิ่มขึ้นจากยุคก่อน เมื่อยางแตกแล้ว แม้การเปลี่ยนยางอะไหล่จะไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับบางคน (เช่น ผู้หญิง), บางเส้นทาง เช่น ริมทางหลวงที่ไหล่ทางแคบ มีรถยนต์อื่นๆ ผ่านไปมาด้วยความเร็วสูง ยางแตกช่องทางนอกสุดของถนน หรือบางสถานการณ์ เช่น เส้นทางเปลี่ยวในเวลากลางคืน แม้ยางรถยนต์จะยางแตกยาก และมียางอะไหล่เตรียมไว้ทดแทนชั่วคราวแล้ว แต่ถ้ายางแบนแล้วไม่เสียการทรงตัวโดยฉับพลัน สามารถขับต่อได้อีกระยะหนึ่ง ย่อมดีกว่ายางแบนแล้วต้องจอดเปลี่ยนยางอะไหล่ทันที เพราะถ้าทนขับต่อไปไม่กี่ร้อยเมตร แก้มยางก็ถูกบดกระจุย กระทะล้อหรือล้อแม็กก็อาจเสียหายไปด้วย หลายปีที่ผ่านมา จึงมีแนวคิดของหลายบริษัทยางรถยนต์ ที่อยากจะผลิตยางแบบพิเศษ ถ้าลมรั่วแล้ว รถยนต์จะไม่เสียการทรงตัวฉับพลัน และยังขับต่อได้ด้วยความเร็วพอสมควรเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร ปัญหาอยู่ที่ยางแบบพิเศษนี้ เมื่อมีการพัฒนา ขึ้นมา แต่ละแบบล้วนมีต้นทุนสูงมากกว่ายางทั่วไปมาก การใส่หรือถอดจากกระทะล้อยุ่งยากและต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ขนาดยางมีให้เลือกน้อย รวมถึง ต้องใช้กระทะล้อแบบพิเศษแตกต่างจากทั่วไปเลย

PAX SYSTEM
เริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เป็นยางแบบพิเศษที่มีรูปแบบของยาง และกระทะล้อ แตกต่างจากทั่วไป ไม่สามารถนำมาใช้ผสมกันได้ใน วงเดียวกัน ต้องผลิตขึ้นมาพิเศษทุกชิ้น เพราะตัวกระทะล้อต้องมีไส้ในเป็นวงแหวนพลาสติกหนา ล้อมรัดอยู่รอบวง แทรกอยู่ในช่องว่างด้านในของยางที่เคยมีแต่ลม ซึ่งขอบพลาสติกนี้มีน้ำหนักไม่น้อย ถือว่าเพิ่มภาระในการหมุนพอสมควร เมื่อลมรั่ว วงแหวนพลาสติกด้านใน จะทรุด ลงมากดลงบนด้านหลังของหน้ายาง แก้มยางทรุดตัวลงมาเล็กน้อยเท่านั้น ขอบกระทะล้อไม่บดลงบน แก้มยาง ตัวกระทะล้อนอกจากจะต้องมีวงแหวนพลาสติกรัดอยู่ช่วงกลาง ช่วงขอบทั้ง 2 ด้าน ก็ต้อง เป็นแบบพิเศษแนบแน่นกับขอบของแก้มยางแบบพิเศษเช่นกัน ทั้งการผลิต การประกอบ การถอด ล้วนแตก ต่างจากยางรถยนต์ทั่วไป โดยสิ้นเชิง แต่ก็ทำงานอย่างได้ผลเมื่อยางแตกในทุกกรณี เพราะแก้มยางจะทรุดตัวลงน้อยมาก ยังสามารถขับได้ด้วยความ เร็วระดับ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นระยะทางหลาย สิบกิโลเมตรได้ เพียงแต่ความนุ่มนวลของล้อนั้นจะลดลง เพราะไม่มีแรงดันลมช่วยซึมซับแรงสั่นสะเทือน กลายเป็นหน้ายางถูกกดโดยตรงจากวง แหวนพลาสติกซึ่งหนาและแข็ง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา PAX SYSTEM มีความแพร่หลายช้ามาก เพราะราคานั่นเอง มีการจำหน่ายเป็นอุปกรณ์เลือกติดตั้งพิเศษในรถยนต์เพียง2ไม่กี่รุ่น และมีคนสั่งซื้อน้อยมาก ส่วนใหญ่ถูกนำไปติดตั้งในรถยนต์ต้นแบบแสดงตามมอเตอร์โชว์ต่างๆ ต้นปี 2002 นี้เอง ที่ PAX SYSTEM ถูกนำไปติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์เรโนลต์ ซีนิก รุ่นสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะมียอดจำหน่ายในปีแรก หลายหมื่นคัน ปัจจุบันนี้มีผู้ผลิตยางรถยนต์ 4 รายที่ผลิตยางบางรุ่นเป็น PAX SYSTEM คือ MICHELIN PIRELLI GOODYEAR และ SUMITOMO (DUNLOP JAPAN) ซึ่งคาดว่าการขยายตัวของ PAX SYSTEM จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นไปอย่าง ช้ามาก เพราะราคากับความยุ่งยากนั่นเอง รวมทั้งมีเทคโนโลยีอื่นมาเบียด ซึ่งมีราคาและความยุ่งยาก น้อยกว่า

เทคโนโลยี ยางแก้มแข็ง
PAX SYSTEM ทำงานได้ดีก็จริง แต่แพงและยุ่งยาก เพราะต้องเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ทั้งหมด ของกระทะล้อ และยาง รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับถอด ใส่ด้วย จึงมีความพยายามในการพัฒนาแนวทางอื่นเกิดขึ้นมา ไม่ต้องมีไส้วงแหวนรัดอยู่กับด้านในของกระทะล้อ ขอบของแก้มยางก็ยังมีทรงไม่แปลก ยังสามารใช้กระทะล้อแบบมาตรฐานได้ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน โดยค้นคิดให้แก้มยางหนา มีโครงสร้างแข็งแรง แม้ไม่มีลมภายในเลย แก้มยาง ก็ยังรับน้ำหนักและการกดลงของขอบกระทะล้อได้ ยังใช้กระทะล้อทั่วไป การถอดใส่สามารถดัดแปลงใช้เครื่องมือทั่วไปได้การทำงานหลังยางแบน แม้จะไม่ดีเท่ากับ PAX SYSTEM เพราะไม่มีแหวนพลาสติกหนารับน้ำหนักแทนลม เป็นการรับนำหนัก ด้วยแก้มยางทั้ง 2 ข้าง แต่ก็ไม่ทำให้เสียการทรงตัว สามารถขับต่อด้วยความเร็วหลายสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตรได้ แต่อย่าง ไรก็ยางยิ่งขับเป็นระยะทางสั้นเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสปะและใช้ยางเส้นนั้นต่อได้ แทนที่จะทิ้งไปเพราะหลังจากยางแบน ได้ใช้แก้มยางรับน้ำหนักลมต่อเนื่องอยู่นาน มียางรถยนต์หลายยี่ห้อเริ่มผลิตยางแบบนี้ออกมาจำหน่ายทั่วไป เช่น GOODYEAR เรียกว่า EMT-EXTENDED MOBILITY TECHNOLOGY มีตั้งแต่ขอบ 15-19 นิ้ว แก้มยาง 35-60 ซีรี่ส์ รวมประมาณ 20 ขนาด ส่วนยี่ห้อ BRIDGESTONE เรียกว่า RFT-RUNFLAT TIRE มียางไม่กี่ขนาด แต่ถูกนำไปใช้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์ 4 รุ่นจำหน่ายในหลายประเทศ ยางพิเศษแบบนี้ มีจุดด้อยคือขาดความนุ่มนวลในการยืดหยุ่นของแก้มยางจากปกติไปมากพอสมควร

INTERNAL SUPPORT RUNFLAT SYSTEM
คล้าย PAX SYSTEM บริดจสโตน มีเทคโนโลยีอื่นนอกจาก RFT-RUNFLAT TIRE ยางไม่มีไส้ใน แต่ใช้แก้มยางแข็ง รับน้ำหนักแทนลมเมื่อยางแบน คือ INTERNAL SUPPORT RUNFLAT SYSTEM คล้าย PAX SYSTEM มีไส้ในเป็นวงแหวนโลหะบางทรงโปร่ง (ต่างจาก PAX ซึ่งเป็นขอบพลาสติกหนา) มีขอบเป็นยาง ใส่เข้าไปล้อมรัดอยู่กับกระทะล้อซ่อนอยู่ในยางด้านนอกอีกทีหนึ่ง (ตามภาพประกอบ) เมื่อลมรั่ว วงแหวนโลหะด้านในจะทรุดกดลง บนด้านหลังของหน้ายาง แก้มยางทรุดตัวลงมานิดเดียวเท่านั้น ขอบกระทะล้อไม่บดลงบนแก้มยาง ขับต่อได้นาน มีจุดด้อยคล้าย PAX SYSTEM คือ ยุ่งยาก และแพง แต่มีจุดที่เด่นกว่า คือ ตัวแหวนโลหะมีน้ำ หนักเบา เพราะบาง ล้อและยางไม่หนักกว่าปกติมาก ไม่เป็นภาระแก่ช่วงล่างมากนัก เมื่อยางแตก การรับน้ำหนักทำได้ดีกว่ายางแก้มแข็ง ขับได้เร็วและไกล กว่า โดยไม่ทำให้ยางเสียหายเพิ่มเติมหลังจากยางแบน คาดว่ายางพิเศษแบบมีไส้แหวนโลหะ INTERNAL SUPPORT RUNFLAT SYSTEM ของบริดจสโตน จะได้รับความนิยมช้าและน้อยกว่า ยางแก้มแข็ง RFT ด้วยเหตุผลเดียวกับ PAX SYSTEM นั่นเอง

แนวโน้มในอนาคต
คาดว่ายางแบบมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ต้องการแรงดันลมช่วยรับน้ำหนัก ถ้าแบนแล้วขับต่อ ไม่ได้ จะได้รับความนิยมทั้งจากผู้ผลิตและผู้บริโภค ไปอีกไม่น้อยกว่า 5-10 ปี เพราะปัจจุบันนี้ยางแบบมาตรฐานมีความทนทานมากแล้ว ถ้าโดนตะปูหรือของแหลมทิ่มแล้วค้างอยู่ ลมก็จะค่อยๆ รั่วออก นานๆ ครั้งถึงจะเจอยางแตกแบบฉับพลัน และการ เปลี่ยนยางอะไหล่ก็ไม่ลำบากนัก ยางแบบพิเศษ ไร้ลมแล้วยังขับต่อได้ ก็จะเพิ่มความนิยมขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะที่ราคาและความยุ่งยากต่างๆ จะลดลง โดยมีแนวโน้มว่ากลุ่มยางที่ไม่ซับซ้อนแบบใช้แก้มแข็ง โดยไม่มีวงแหวนไส้ใน จะมีความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะราคาไม่แพงและไม่ยุ่งยาก เมื่อยางแตกยังพอขับต่อได้แบบไม่เสียการทรงตัวและไม่เสียหาย ขอแค่ขับไปในจุดปลอดภัยหรือสะดวกต่อ การเปลี่ยนยางอะไหล่ก็พอ ไม่ต้องถึงกับขับข้ามเมือง ได้ แบบที่มีวงแหวนเป็นไส้ใน กระทะล้อและอุปกรณ์ ถอดใส่ยังอยู่บนพื้นฐานเดิม ถ้ามีราคาแพงกว่ายางปกติไม่มาก ก็คงเพิ่มความนิยมเร็วขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะเน้นหนักในกลุ่มรถยนต์สมรรถนะสูง ยางหน้า กว้างแก้มเตี้ยพร้อมล้อแม็กวงโต มากกว่าจะเน้นหนักกับยางขนาดเล็กๆ ที่ใช้กับรถยนต์ทั่วไป เพราะยังไงก็ยังต้องมีราคาแพงอยู่นั่นเอง อีกนานกว่ายางพิเศษแบบนี้ จะทดแทนหรือมียอดจำหน่ายมากกว่ายางแบบพื้นฐาน เพราะยางแบบพื้นฐานก็ไม่หยุดการพัฒนา ซึ่งอาจจะมีการ ประยุกต์มาจากยางแก้มแข็ง โดยเสริมให้แก้มแข็งกว่าปกติบ้าง สามารถขับต่อหลังยางแบนอย่างช้าๆ เป็นระยะทางสัก 5-10 กิโลเมตรโดยไม่เสียหาย ก็อาจจะเพียงพอแล้ว เพราะขอแค่ไม่เสียการทรงตัวหลังยางแตก และขับคลานๆ หลบเข้าข้างทางเพื่อเปลี่ยนยางอะไหล่ในสถานที่ปลอดภัยก็พอ ความก้าวหน้าของโลกยนตรกรรม ไม่ได้อยู่ที่ตัวรถยนต์เท่านั้น ส่วนประกอบอื่นก็สำคัญ

เสียงยาง
ในการออกแบบรถรุ่นใหม่ๆ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้พิจารณาหาทางลดเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้รถมีความ สุนทรีย์ในการขับขี่มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับผู้ผลิตยางรถยนต์ต่างก็พยายามที่จะพัฒนายางรุ่นใหม่ ๆให้มีเสียงเกิดขึ้นขณะใช้งานน้อยที่สุด เงียบที่สุด ที่นี้เราลองมาดูกันว่าเสียงยางนั้นมีกี่ชนิดและเกิดขึ้นได้อย่างไร

1.เสียงดอกยาง (Pattern noise) ขณะยางวิ่งสัมผัสพื้นถนนอากาศจะถูกอัดอยู่ภายในร่องดอกยางกับพื้นผิวถนน เมื่อยางวิ่งต่อไปอากาศจะขยายตัวออกจากร่องยางทำให้เกิดเสียงขึ้น เสียงจะเกิดขึ้นต่อเนื่องซ้ำอยู่ตลอดเวลาด้วยความถี่คงที่ เสียงที่เกิดขึ้นนี้ คือ "เสียงดอกยาง"


2.เสียงแหลม (Squeal) เสียงแหลมดัง "เอี๊ยด" เกิดจากการสั่นสะเทือนของบริเวณหน้ายางที่กระทำกับผิวถนนในชั่วเวลาหนึ่ง ขณะที่ออกรถหรือหยุดรถอย่างกะทันหันหรือขณะเลี้ยวรถมุมแคบอย่างทันทีท้นใด เสียงดังกล่าวเป็นตัวชี้ให้ทราบว่าผู้ขับรถได้ใช้งานจนเกินความสามารถของยางที่จะรับได้ ความสามารถในการยืดเกาะถนนจะลดลงอย่างมากและทำให้เกิดผลเสียดังนี้
- ออกรถกะทันหัน ล้อหมุนฟรีดอกยางสึกหรออย่างรวดเร็วและสึกไม่เรียบ
- หยุดรถกะทันหัน ล้อล็อกตายแต่ไถลไปกับพื้นถนนหน้ายางสึกเป็นจ้ำเนื้อยางไหม้ความฝืดระหว่างหน้ายางกับผิวถนนลดลงทำให้รถลื่นไถลเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- เลี้ยวรถมุมแคบทันทีทันใด ยางลื่นไถลออกทางด้านข้าง ทำให้ควบคุมพวงมาลัยไม่ได้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายอีกทั้งทำให้ดอกยางสึกหรออย่างรวดเร็วและสึกไม่เรียบ

3.เสียงถนน (Road noise) ผิวถนนในปัจจุบันนี้มีอยู่มากมายหลายประเภท เช่น คอนกรีตผิวเรียบ,คอนกรีตมีร่องเล็กๆ ตามแนวขวาง, แอสฟัสต์ผิวเรียบ แอสฟัสต์มีหินลอย, ทางลูกรัง ฯลฯ เวลาขับรถผ่านผิวถนนดังกล่าวก็จะเกิดเสียงต่างๆกันออกไป สำหรับผิวถนนที่เรียบละเอียดนั้นเสียงที่เกิดจากผิวถนนอาจจะคล้ายกับเสียงดอกยาง

4.เสียงสะเทือน (Elastic vibration noise) เสียงนี้เกิดขึ้นจากความสั่นสะเทือนของยางเมื่อวิ่งผ่านผิวถนนทีี่มีสภาพผิดปกติ เช่น เป็นหลุม ,แตกร้าว หรือเนื่องจากความไม่สมดุลของยาง

5.เสียงดอกยางบิดตัว (Slip noise) เป็นเสียงที่เกิดขึ้นเนื่องจากการบิดตัวไม่สัมผัสถนนของดอกยางบางส่วนเกิดขึ้นในขณะเลี้ยวโค้ง แต่ไม่รุนแรงถึงกับหน้ายางลื่นไถล

เมื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดและที่มาของเสียงแล้วเราลองมาดูกันว่าองค์ประกอบที่ทำให้เกิดเสียงดอกยางดังมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง โดยเราสามารถทราบระดับความดังของเสียงได้จากผลการทดสอบโดยใช้เครื่องมือตรวจวัดกราฟ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ระดับความดังของเสียงจะเพิ่มตามความเร็วของรถ ถ้าความเร็วของรถสูงเสียงก็จะดังตามไปด้วย ,ยางดอกบั้งจะมีระดับของเสียงสูงกว่ายางดอกละเอียด ความดังของเสียงยางสามารถถูกทำให้ลดลงได้โดยใช้เทคนิคในการออกแบบ ดอกยางให้มีลักษณะที่ช่วยลดปริมาณอากาศที่ถูกอัด ขณะดอกยางสัมผัสผิวถนนหรืออีกวิธีหนึ่งก็โดยการกำจัดเสียงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในระดับความถี่เดียวกันด้วยการออกแบบขนาดของดอกยางแต่ละดอกให้ต่างกันออกไป การออกแบบดอกยางให้มีหลายขนาดนั้น ส่วนมากจะใช้กับยางที่ต้องการให้มีระดับเสียงน้อยที่สุด เช่น ยางรถโดยสาร ,ยางล้อหน้ารถบรรทุก,ยางปิกอัพ และยางรถเก๋ง จากความเข้าใจของผู้ใช้รถทั่วไป ส่วนมากจะคิดว่าขนาดของดอกยางแต่ละดอกจะเท่ากัน แต่ถ้าท่านลองสังเกตดูยางที่ท่านใช้อยู่ ท่านจะเห็นความแตกต่างของขนาดดอกยางในยางเส้นเดียวกันอย่างชัดเจน และทุกบริษัทต่างก็ใช้เทคนิคการออกแบบดังกล่าว ผสมผสานกับเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อวิเคราะห์หาลักษณะการจัดวางขนาดดอกยางที่ทำให้เกิดเสียงน้อยที่สุดนำมาผลิตยางเพื่อให้ผู้ใช้พึงพอใจในคุณภาพ

ลมยาง
ยางรถยนต์ใช้ลมเป็นตัวช่วยซึมซับแรงสั่นสะเทือนและช่วยให้ยางคงรูปได้ ด้วยความ ทนทานของยางยุคใหม่ ลดแรงดันลงช้า รั่วยาก ระเบิดยาก จึงทำให้หลายคนละเลยหรือไม่ได้หาความรู้เรื่อง /แรงดันลมยาง/ มากนัก อ่านแง่มุมที่น่าสนใจ หลายประเด็นอาจไม่เคยทราบกันมาก่อน และเกี่ยวข้องกับการใช้งานจริง ไม่เน้นวิชาการลึกล้ำจนยากจะเข้าใจ แต่มีหลักการอ้างอิงควบคู่กัน

ยางไม่รั่ว ทำไมแรงดันลด ?
ดูแล้วยางรถยนต์มีเนื้อหนาหลายมิลลิ-เมตร และมีโครงสร้างภายในเป็นวัสดุแข็งแรง ถ้าไม่มีรูรั่ว แรงดันลมยางก็ไม่น่าจะลดลงได้ง่ายๆ ในความเป็นจริง เนื้อยางมีรูพรุนขนาดเล็กมากๆ อยู่เต็มไปหมด และขอบยางแบบไม่มียางในที่อัดอยู่กับขอบของกระทะล้อ ก็อาจจะมีรูขนาดเล็กอยู่บ้าง แม้แช่น้ำดูแล้วไม่มี ฟองอากาศแสดงการรั่ว แต่แรงดันของลมภายในยางที่สูงหลายเท่าของบรรยากาศปกติ ย่อมซึมออกมาได้บ้าง โดยเฉลี่ยแล้ว ถ้าแรงดันลมลดลงสัปดาห์ละ 1 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ถือเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ต้องยุ่งยากวัดแรงดันลมทุกวัน ทำสัปดาห์ละครั้งหรือช้าที่สุด 2 สัปดาห์ครั้งก็ได้

มาตรวัดแรงดันลมยาง
อาจจะดูเหมือนไม่จำเป็น เพราะไม่ค่อยมีใครเติมลมเอง แต่จริงๆ แล้วควรมีไว้ใช้ส่วน ตัว เพราะคนส่วนใหญ่เติมลมตามปั๊มน้ำมัน ซึ่งมีบริการวัดแรงดันลมด้วย และมาตรวัดก็มักจะมีความเพี้ยน เพราะใช้วัดกันนับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งพบว่าแสดงผลผิดพลาดกว่า 10 ปอนด์ต่อตารางนิ้วก็ยังมี จึงควรมีมาตรวัดแรง ดันลมยางส่วนตัว และควรเลือกที่มีคุณภาพดี เพื่อความแม่นยำ ในราคาตัวละหลายร้อยบาท หากมีปั๊มที่เติมลมประจำ ก็สามารถนำมาวัดเปรียบเทียบกันนานๆ ครั้งว่า มาตรวัดของเขา แสดงผลเพี้ยนแค่ไหน ครั้งต่อไปจะได้บอกให้เติมลมให้มีแรงดันตรงตามต้องการ หรือเติมลมทั่วไป ในสถานที่ไม่ประจำ ก็สามารถตรวจสอบแรงดันซ้ำได้อย่างสะดวก

แรงดันลมยาง ต้องเชื่อคู่มือประจำรถยนต์ เหรอ ?
คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ค่าแรงดันลมยางที่แนะนำนั้น น่าเชื่อถือและต้องปฏิบัติตามอย่าง เคร่งครัด โดยไม่สามารถประยุกต์ไปใช้แรงดันต่างออกไปได้ ถ้าเติมลมตามสเปกนั้นก็ไม่อันตราย แต่อาจไม่ใช่แรงดันลมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับยางรุ่นนั้นๆ ก็เป็นได้ เพราะผู้ผลิตรถยนต์ไม่ทราบเลยว่าหลังจากยางที่ให้มาจากโรงงานประกอบถูกใช้หมดสภาพ จะถูกเปลี่ยนเป็นยาง รุ่นใด มีโครงสร้างอย่างไร แต่ก็ต้องแนะนำไว้ล่วงหน้าให้เป็นค่าเฉลี่ย ซึ่งอาจไม่ใช่ดีที่สุด แต่สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา ตามหลักวิชาการที่ลึกกว่านั้น อาจมีค่า แรงดันลมยางซึ่งเหมาะสมกว่าและต่างจากคำแนะนำในคู่มือฯ เพราะยางแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ แม้เป็นขนาดเดียวกัน แต่ก็มีโครงสร้างภายใน และเนื้อยางแตกต่างกัน หรืออีกในกรณี ถ้าเปลี่ยนขนาดยาง ทั้งความกว้างหรือแก้มยางต่างออกไป ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่า อาจไม่ต้องเติมลมยางตามกำหนดนั้นเสมอไป ในการใช้งานจริง เราสามารถเลือกเติมลม ยางได้แรงดันที่ต่างจากการแนะนำนั้นได้ โดยเริ่มจากทำตามการแนะนำก่อน ขับใช้งานเพื่อจับอาการต่างๆ สักวันสองวัน แล้วก็ลองลดแรงดันลมยางลงสัก 2 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ขับไปวันสองวันเปรียบเทียบอาการกัน ต่อมาก็เพิ่มแรงดันขึ้นจากการแนะนำ 2 ปอนด์ต่อ ตารางนิ้ว ทำซ้ำต่อมาถ้ายังมีเวลาก็เพิ่มหรือลด จากจากการแนะนำสัก 4-5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว แล้วจับอาการดูว่าอัตราเร่งอืดไหม กระเด้งกระด้างไปไหม ลื่นไปไหม แล้วค่อยตัดสินใจว่ายางชุดนั้นควรเติมลมด้วยแรงดันเท่าไร เหมาะสำหรับลักษณะการขับของตนเองไหม รถ ยนต์รุ่นเดียวกันยางรุ่นเดียวกันขนาดเดียวกัน แต่ต่างคนขับกัน ก็อาจจะใช้แรงดันลมยางที่ชอบต่างกันก็เป็นได้ โดยทั่วไปหากมีการเติมลมต่างจากการแนะนำ ก็พบว่าไม่น่าต่างเกิน + หรือ - 5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หากแรงดันลมยางอ่อนเกินไป เร่งแล้วจะหนืด อัตราเร่งไม่ดี เพราะยางจะย้วยจึงหมุน ยาก แต่รู้สึกว่าเกาะถนน เพราะมีหน้าสัมผัสเต็มที่ ถ้าแข็งมาก ยางจะหมุนง่าย เพราะหน้ายางและแก้มยางมีความตึง แต่จะลดการเกาะถนนลงไป เพราะหน้าสัมผัสมีแรงกดเต็มที่แนวกลางเท่านั้น และกระด้าง เมื่อตัดสินใจใช้แรงดันใดๆ ไปสักเดือน ให้ดูการสึกหรอของหน้ายางด้วย หากสึกหรอแถบกลางมากว่า แสดงว่าแรงดันลมยางสูงไป แต่ถ้าริมทั้ง 2 ข้างสึกหรอมากกว่าแถบกลาง แสดงว่าแรงดันต่ำไป (ศูนย์ล้อและระบบช่วงล่างต้องปกติ) หากไม่ใช่เป็นคนที่จับอาการของรถยนต์ในการขับได้ดี หรือความรู้สึกช้า ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ ก็ควรปฏิบัติตามคู่มือประจำรถยนต์

เติมไนโตรเจน
หลายคนสนใจ เพราะความเชื่อหรือโฆษณาว่า เติมไนโตรเจน 100 เปอร์เซ็นต์แทน ลม (อากาศปกติ) แล้วแรงดันลมยางจะเปลี่ยน แปลงน้อยเมื่อยางร้อน ในความเป็นจริง อากาศก็มีไนโตรเจนอยู่กว่า 75 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว มีออกซิเจนอยู่กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ การขยายตัวออกอากาศปกติกับไนโตรเจนล้วนๆ เมื่อเกิดความร้อนขึ้น จึงไม่ต่างกันมาก ปัญหาที่สำคัญกว่า และถูกมองข้าม เป็นเรื่องความชื้นหรือไอน้ำที่ผสมอยู่ในลมที่ถูกเติม เพราะปั๊มลมส่วนใหญ่มีการกรองเอาไอน้ำออกไม่หมด หรือไม่กรองเลย ซึ่งในการเติมลมยางตามสถานที่ทั่วไป จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงลมผสมไอน้ำได้ เพราะไม่สะดวกที่จะตรวจสอบ เมื่อความชื้นกลับกลายเป็นน้ำ แรงดันรวมของยางจะลดลง แต่เมื่อยางร้อนน้ำจะกลายเป็นก๊าซ แรงดันจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นการเติมลมด้วยไนโตรเจนล้วนๆ จึงอาจจะดีในแง่ที่มีความชื้นปนอยู่น้อยมาก หากอยากเติม ก็ควรสะดวกทั้งในการเติมครั้งแรก และการเติมครั้งต่อๆ ไป ถ้าเติมได้แค่ครั้งแรกแล้วครั้งต่อไปเติมด้วยลมธรรมดา (ที่มีไอน้ำปน) ประโยชน์ก็จะลดลงไป

ขับทางไกล/บรรทุกหนัก เพิ่มแรงดันลม
การขับทางไกลด้วยความเร็วและต่อเนื่อง ยางจะเกิดความร้อนมากกว่าปกติ จากการเคลื่อนไหวของยางในทุกส่วน ลมยางที่ร้อนจะขยายตัวเพิ่มแรงดัน จนลดการเกาะถนนและการทรงตัว ถ้าแรงดันเพิ่มขึ้นมากๆ และร้อนจัด ยางก็อาจระเบิดได้ บางคนก็เลยคิดและทำแบบผิดๆ โดยเติมลมยางอ่อนกว่าปกติ เพราะคิดว่าจะเป็นการ เผื่อล่วงหน้า เวลายางร้อน แรงดันจะได้ไม่เพิ่ม ขึ้นเกิน ในการใช้งานจริง แรงดันกลับเพิ่มขึ้นมาก เพราะยางร้อนง่ายจากการบิดตัวง่าย และเป็นทั้งแรงดันที่สูงและเป็นลมร้อน ยางจึงเสี่ยงต่อการระเบิด ในความเป็นจริง ยางที่จะใช้ขับทางไกลหรือความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง ควรเติมไว้ให้มีแรงดันลมสูงกว่าปกติ 2-3 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อเป็นการลดการบิดตัวของยาง จึงทำให้ เกิดความร้อนน้อยกว่ายางอ่อน แม้จะเริ่มต้นด้วยแรงดันสูง แต่การขยายตัวของลมยางน้อย การเพิ่มแรงดันจึงมีไม่มาก และไม่ร้อนจัด การบรรทุกน้ำหนักเพิ่มขึ้น ควรเพิ่มแรงดันลมยาง ไม่เฉพาะแต่ปิกอัพ แต่รวมถึงรถเก๋งด้วย เพราะถ้าใช้แรงดันลมยางเท่าเดิม หน้าสัมผัสจะมากขึ้น ยางจะแบนลง หมุนยากขึ้น ตามหลักการง่ายๆ คือ ลมยางมีขอบเขตการรับน้ำหนักตามแรงดันที่ใส่ไว้ เช่น หน่วยแรงดันเป็นปอนด์ต่อตารางนิ้ว ถ้ายางล้อนั้นมีน้ำหนักกดลง 300 ปอนด์ เติมลมไว้ 30 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ยางก็จะถูกกดลงจนมีหน้าสัมผัส 10 ตารางนิ้ว ถ้ามีน้ำหนักกดลงมาเพิ่มเป็น 420 ปอนด์ หน้าสัมผัสก็ต้องเพิ่มเป็น 14 ตารางนิ้ว นั่นคือ ยางต้องแบนลง ลดความกลม หมุนยาก อัตราเร่งอืด และยางต้องถูกบิดตัวมากจนร้อนมาก เพราะเมื่อรถยนต์แล่น ก็จะพยายามทำให้ยางกลม ในขณะที่หน้าสัมผัสของยางแบนกว่าปกติ เรื่องต่างๆ ของยางรถยนต์ล้วนมีความน่าสนใจ เพราะเกี่ยวข้องทั้งสมรรถนะและความปลอดภัย

เนื้อยางนิ่ม - แข็งมีผลต่อการเกาะถนน ร่องยางไม่ได้มีไว้เกาะถนน
ประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนของยาง ขึ้นอยู่ กับหลายส่วนประกอบ นอกจากยี่ห้อและรุ่นของยางแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสนใจ คือ เนื้อยาง พื้นที่ของหน้าสัมผัส และพื้นที่ของร่องยาง

เนื้อยาง
นิ่ม-แข็ง มีผลต่อการเกาะถนน
เนื้อยางนิ่ม น่าจะมีการยึดเกาะถนนที่ดี เพราะจะมีเฟืองยางนิ่มๆ ขนาดจิ๋วฝังลงไปบนพื้นมาก และเมื่อยางถูกหมุน เฟืองเหล่านั้นก็จะช่วยผลักให้ตัวรถยนต์เคลื่อนที่ การยึดเกาะก็จะดี และตัวเฟืองยางก็จะหลุดออกไปบ้าง จึงสึกหรอเร็ว หรือถ้าเนื้อยางนิ่มเกินไป เมื่อล้อเริ่มหมุนเฟืองนิ่มก็จะล้ม ไม่สามารถช่วยผลักรถยนต์ให้เคลื่อนที่ไปได้ ถ้าเป็นยางเนื้อแข็ง ก็จะมีเฟืองลงไปฝังในพื้นถนนได้น้อย การยึดเกาะไม่ค่อยดี แต่ทนทาน ถ้ายังงง ให้นึกเปรียบเทียบกับหลายวัสดุที่มีความแข็งต่างกันว่าจะมีผลต่อแรงเสียดทานอย่าง ไร เช่น นำหล็กแผ่นเรียบ, ไม้, ยาง และรองเท้าฟอง น้ำ ถูกับถนน จะเห็นชัดเจนว่า เหล็กซึ่งแข็งที่สุดจะลื่นที่สุด ขณะที่รองเท้าฟองน้ำซึ่งมีความนิ่มกลับฝืดที่สุด ผู้ผลิตยางรถยนต์จึงต้องหาจุดพอดีของเนื้อ ยาง ถ้านิ่มมาก เกาะถนนดีและเสียงเงียบ แต่ใช้ไม่ นานก็สึกหมด และถ้าในตลาด ผู้ใช้ไม่ต้องการการยึดเกาะที่ดีสุดยอด แต่กลับผลิตยางเนื้อนิ่มมากออกมา แทนที่จะขายดีก็กลับกลายเป็นจุดด้อย หรือหากผลิตให้เนื้อแข็งไว้หน่อย ก็จะลื่นและเสียงดังกว่า แต่ก็แลกมาด้วยความทนทาน เนื้อยางรถแข่งฟอร์มูลา วัน หลังผ่านการใช้งานมาแล้ว จะเห็นว่าเป็นขุยและนิ่มมาก ดูแล้วคล้ายฟอง น้ำมากกว่ายาง เอาเล็บจิกได้ง่ายและลึก ความนิ่มไม่ต่างจากรองเท้าฟองน้ำที่ใช้กันอยู่เท่าไรนัก เพราะต้องการให้ยึดเกาะดีมากๆ ลื่นไถลน้อยที่สุด สึกหรอเร็วไม่เป็นไร เพราะแข่งสัก 100 กว่ากิโลเมตรก็เข้าพิตเปลี่ยนยางชุดใหม่แล้ว ยางที่ใช้กับรถยนต์ทั่วไปจะมีเนื้อแข็งกว่ามาก ทั้งดูใกล้ๆ ด้วยสายตาหรือใช้เล็บจิก เป็นเนื้อยางที่แน่น ไม่เป็นขุย และไม่คล้ายฟองน้ำเลย นอกจากโครงสร้างและพื้นที่ของหน้าสัมผัส ซึ่งมีผลต่อการเกาะถนนแล้ว เนื้อยางก็มีความเกี่ยว ข้องอย่างมาก ตามที่เห็นว่าเมื่อใช้เล็บลองจิกดู ยางใหม่เอี่ยมจะมีเนื้อนิ่ม จิกลงไปได้ง่าย เกาะถนนดีและเงียบ เมื่อผ่านการใช้งานไปสักระยะก็จะค่อยๆ แข็งขึ้นและลื่นขึ้น ไม่มีบทสรุปตายตัวว่า ยางใหม่เนื้อนิ่มแค่ไหน ถึงจะดี เพราะต้องขึ้นกับความต้องการของผู้ซื้อว่า เน้นการเกาะถนนเพราะขับดุเดือด แล้วยอมให้ยางหมดเร็ว หรือขับเรื่อยๆ เกาะดีแค่พอประมาณก็พอ เน้นให้ใช้งานได้นานๆ เมื่อใช้งานแล้ว ก็ไม่มีบทสรุปตายตัวเช่นกันว่า เมื่อใช้เล็บลองจิกดู เนื้อยางแข็งขึ้นแค่ไหนจึงควรเปลี่ยนใหม่ เพราะต้องแล้วแต่ความพอใจในประสิทธิภาพว่า ขณะนั้นขับแล้วเกิดอาการลื่นเพราะเนื้อ ยางแข็ง บ่อยหรือไม่, มีเสียงดังเกินรับได้ หรือสภาพ โครงสร้างยางส่วนอื่น บวม-แตกลายงา-ปริร้าว แม้ในแวดวงวิศวกรรมยานยนต์จะมีมิเตอร์ (DUROMETER) ที่มีปลายสำหรับกดลงบนเนื้อยาง แสดงผลเป็นเข็มหรือตัวเลขบอกถึงความแข็งของเนื้อยาง แต่สำหรับคนทั่วไปไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อมาใช้งาน เพราะมีราคาแพงกว่า 4,000 บาท และไม่ได้ใช้บ่อย แค่ใช้วิธีง่ายๆ โดยใช้เล็บจิกเนื้อยางก็พอ แต่การจะตัดสินว่า จิกได้ง่ายขนาดไหนถึงเรียกว่านิ่มหรือแข็ง ไม่มีมาตรฐานตายตัว ต้องใช้ความรู้สึกส่วนตัวจากการทดลองจิกยางใหม่-เก่าของรถตัวเอง รถเพื่อน หรือรถที่จอดอยู่

ร่องยาง
ไม่ได้มีไว้เกาะถนน
ร่องยาง คือ ร่องที่ลึกลงไปจากหน้ายาง ดอกยาง ในความหมายของคนทั่วไป เข้าใจกันว่า คือ ตัวแท่งของยางที่มียอดบนเป็นหน้ายางสัมผัสกับพื้น ร่องยางไม่ได้มีไว้สัมผัสถนน การออกแบบให้ยางมีร่อง เพราะต้องการให้มีการรีดน้ำออกจากหน้ายางเมื่อลุยน้ำ ร่องยางเป็นช่องให้น้ำที่ถูกหน้ายาง กดแล้วถูกรีดกระเด็นขึ้นมาอยู่ หรือบางส่วนก็ถูกสบัดผ่านร่องยางแนวขวางหรือเฉียง ไล่ออกไปทางด้านข้างของหน้ายาง หลายคนที่นึกว่าร่องยางมีไว้ให้ยึดเกาะถนน จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร เพราะปกติแล้วร่องยางจะมีแต่อากาศ ไม่ได้สัมผัสถนนเลย แถมร่องยางยังลดพื้นที่หน้าสัมผัสของยางอีกด้วย ยิ่งมีร่องยางมากเท่าไร ก็ยิ่งลดพื้นที่หน้าสัมผัสของหน้ายางลงไป ตามภาพประกอบ เป็นยางรถแข่งฟอร์มูลา วัน จะเห็นว่าบริเวณร่องยาง จะไม่เป็นขุย เพราะไม่ได้สัมผัสถนนเลย และสาเหตุที่ยางฟอร์มูลา วัน ต้องทำเป็นร่องยาว ก็ไม่ได้หวังผลในการรีดน้ำ แต่เป็นเพราะผู้จัดการแข่งขันต้องการลดหน้าสัมผัสของยาง จากแต่ก่อนที่เป็นยางสลิกหน้าเรียบไร้ร่อง เพื่อไม่ให้รถแข่งทำความเร็วสูงเกินไปจนอันตราย เพราะถ้าจะลดหน้าสัมผัสด้วยการลดความกว้างของหน้ายางโดยรวม ก็ต้องยุ่งยากเปลี่ยนขนาดยางหรือล้อแม็ก ประโยคที่ว่า ยางดอกหมด ยางหัวโล้น ขับแล้วจะลื่น จึงไม่เป็นความจริงบนถนนแห้ง แต่เป็น ความจริงบนถนนเปียก เพราะจะลื่นมาก จากการที่น้ำไม่มีร่องให้แทรกตัวและสบัดออกจากหน้ายาง กลายเป็นหน้ายางหมุนอยู่บนฟิล์มน้ำบางๆ ในการใช้งานทั่วไป เมื่อร่องยางเหลือตื้นมาก ดอกยางสึกจนถึงตัวนูนลึกสุดของร่องยาง ก็ควรจะเปลี่ยนออก เพราะถึงจะเกาะถนนแห้งได้ดี แต่ก็ไม่ทราบว่าเมื่อไรฝนจะตกหรือต้องลุยน้ำ

DUROMETER
มาตรวัดความแข็งของเนื้อยาง
แค่เล็บจิก คงตัดสินความนิ่มความแข็ง ด้วยความรู้สึกได้ยาก และไม่มีมาตรฐาน เปรียบเทียบว่า ขนาดไหนคือนิ่ม คือ เกือบแข็ง หรือแข็ง อีกทั้งถ้าลงมือจิกต่างเวลากันมากๆ ก็อาจจะจำความรู้สึกนั้นไม่ได้ ในทางวิชาการแล้ว ต้องสามารถแสดงผล การวัดได้ว่า เนื้อยางถูกจิกหรือกดได้ง่ายเพียงไร ถึงจะเรียกว่านิ่มหรือแข็ง จึงมีการคิดค้นมาตรวัดขึ้นมา สามารถใช้เครื่องมือแทนแรงคนในการจิกและแสดงค่าแทนความ รู้สึกบนพื้นฐานของหลักการเดียวกัน คือ ใช้เครื่องมือจิกหรือกดลงบนเนื้อยาง โดยมีขนาดของหัวที่กดลงไปตายตัว ไม่ใช่ใช้เล็บแต่ละนิ้วที่ต่างขนาดต่างรูปทรง อีกทั้งเล็บบางนิ้วยังมีทรงโค้งทื่อๆ ซึ่งจะจิกยากกว่าเล็บ คมทรงแหลมเพิ่งตัดมาใหม่ๆ อีกทั้งแรงจิกของคนก็ไม่แน่นอน เครื่องมือชนิดนี้ใช้สปริงอยู่ตรงกลาง ปลายด้านหนึ่งต่อเข้ากับหัวจิก และอีกด้านหนึ่งดันกับมาตรวัดแสดงผล ส่วนความลึกของการจิกที่อิสระก็เปลี่ยนมาเป็นปลอกหรือบ่าตายตัวอยู่รอบหัวที่กดลงไป เมื่อกดหัวจิกของมาตรวัดลงไปจนสุดขอบนอกแล้ว สปริงก็จะดันให้หัวจิกลงไปในเนื้อยาง ความลึกของหัวจิก (ไส้กลาง) ที่กดลงไปในเนื้อยาง มีผลต่อการแสดงผล ถ้าหัวจิกลงไปแทบไม่ได้เลย สปริงย่อมถูกดันหดขึ้นมาสั้นกว่ากรณีที่หัววัดจิกลงไปในเนื้อยางได้ลึกกว่า ความยาวและการดีดตัวของสปริง ถูกแปลงออกมาเป็นผลที่แสดงบนมาตรวัด ส่วนใหญ่มักจะแบ่งเป็น 100 หน่วย โดยไม่ได้มีการสรุปว่าจะเป็นหน่วยของอะไร เพราะมาตรวัดชนิดนี้อาจจะถูกนำไป ใช้ในหลายแวดวง เช่น นำไปวัดความแข็งของวัสดุเนื้อแข็ง เช่น ยางหรือวัสดุเนื้อนิ่มหน่อย ขนาดฟอง น้ำรองเท้าแตะ ฯลฯ ดังนั้นการเปรียบเทียบ ก็ต้องดูกันที่ผลที่วัดได้ในวัสดุกลุ่มเดียวกัน เช่น วัดความนิ่มของหน้ายางรถยนต์แต่ละรุ่นก็ต้องเทียบกันเอง จะนำค่าไปเทียบกับวัสดุอื่นไม่ได้ นอกจากนั้น หากมีการนำไปใช้ต่างวัสดุออกไป ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปทรงของหัวที่จะถูกกดลงไป รวมถึงความแข็งของสปริงที่ดันอยู่ด้วย เพื่อความเหมาะสมในการวัด เช่น จะวัดวัสดุเนื้อแข็ง ก็อาจทำให้หัวแหลมมากและใช้สปริงแข็ง เพราะถ้าเป็นหัวทู่ๆ และสปริงอ่อน วัดกี่ครั้งก็คงเท่ากัน เพราะหัว วัดจิกลงไปไม่ได้เลย หดตัวจนสุดขอบนอกทุกครั้ง เท่ากับเนื้อวัสดุไม่มีความนิ่มเลย การวัดเปรียบเทียบกัน จึงควรใช้เครื่องมือที่เหมาะสมทั้งขนาดของหัวจิก และความแข็งของสปริง โดยนำผลที่วัดได้เปรียบเทียบกันเฉพาะในกลุ่มวัสดุเดียวกัน เช่น วัดยางรถยนต์ก็เทียบกันเองว่ายางเส้นใดเนื้อ นิ่ม วัดออกมาได้ค่า เท่าไร ไม่ใช่นำไปวัดเปรียบเทียบกับเนื้อไม้ มาตรวัดชนิดนี้เรียกกันว่า DUROMETER คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย เพราะมักใช้กันในกลุ่มผู้ผลิตหรือโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงบางทีมแข่งรถยนต์และจักรยานยนต์เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นแบบ อนาลอก กลไกล้วนๆ แสดงผลด้วยเข็ม มีราคาจำหน่ายตัวละกว่า 4,000 บาท ในต่างประเทศ หลายรุ่นแพงระดับหมื่นบาท แล้วแต่ความละเอียด ความแม่นยำ และความทนทาน ดูราคาแล้วบางคนอาจคิดว่าไม่แพง คนทั่วไปมีเงินก็ซื้อได้ไม่ยาก จึงน่าจะแพร่หลาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ซื้อมาก็ไม่ได้ใช้บ่อย ต่อให้แค่ 2,000 บาทก็ยังไม่มีใครสนใจ นอกจากนั้น ยังเป็นเพราะคนส่วนใหญ่มองข้ามความนิ่มของเนื้อยาง ว่ามีผลต่อการสร้างแรงเสียดทานกับพื้นถนน บางคนแค่เอาเล็บจิกยังไม่เคยทำเลย ดูแต่ตาเท่านั้นว่าดอกยางหมดหรือยัง แตกลายงาหรือไม่ ด้วยความที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ ร้านยางหลายพันร้านทั่วประเทศไทย ก็ยังแทบไม่มีร้านใดซื้อมิเตอร์นี้มาใช้ บางร้านไม่รู้จักเลย DUROMETER ส่วนใหญ่ทำงานด้วยระบบกลไกล้วนๆ แต่ในระยะหลังมานี้ก็เริ่มมีการผลิตแบบแสดงผลด้วยดิจิตอลออกมาด้วย โดยนำแรงดันของสปริง ที่เกิดขึ้นไปแปลงค่าเพื่อแสดงผลออกมา มีความละเอียดและซับซ้อนในการทำงานมากกว่า จึงมีราคาแพงกว่า เท่าที่พบตัวละเกิน 8,000 บาททั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรวัดความแข็งแบบอนาล็อกหรือดิจิตอล เมื่อผ่านการใช้งานไปแล้ว ก็ควรจะนำไปปรับตั้งค่ามาตรฐานรวมทั้งตรวจสอบสภาพการสึกหรอของหัวจิกและความแข็งของสปริงอยู่เสมอ บทความนี้ตั้งใจนำเสนอว่า ในโลกวิศวกรรมยุคปัจจุบัน มีหลายอุปกรณ์ ที่สามารถใช้แทนความรู้สึกของคนในการวัดค่าอะไรสักอย่างได้อย่างมีมาตรฐาน แต่ก็มิได้จำเป็นต้องหาซื้อมาใช้ส่วนตัว เพราะมีราคาแพง และสำหรับคนทั่วไปก็ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้แทนเล็บจิกเนื้อยางเท่าไรนัก


 
 
Home

เวบไซค์นี้ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวเท่านั้น มิได้มีจุดประสงค์ทางการค้าใดๆทั้งสิ้น
ข้อมูลทั้งหมดในเวบนี้เป็นการเก็บรวบรวมไว้ ไม่ได้รับประกันว่าจะถูกต้องตามหลักการด้านวิศวกรรมรถยนต์

หากมีความผิดพลาดในเรื่องของข้อมูลในเวบนี้ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้จัดทำ
[email protected]

 
Hosted by www.Geocities.ws

1