การรวบรวมรายชื่อนก (Checklist of Birds)
ภายหลังจากการดูนกภาคสนามเสร็จสิ้นในแต่ละวันหรือแต่ละทริพแล้ว นักดูนกจะต้องทำการรวบรวมรายชื่อนกที่พบในแต่ละวันหรือแต่ละทริพ โดยใช้คู่มือดูนก A Field Guide to the Birds of Thailand ช่วยเตือนความจำ ด้วยการตรวจดูจากรายชื่อและภาพนกในคู่มือดูนก ตั้งแต่หมายเลข 1 ไปจนถึงหมายเลข 915
ถ้าหากเดินทางไปดูนกในธรรมชาติเป็นกลุ่ม ควรมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งในกลุ่มทำหน้าที่เป็นผู้นำในการรวบรวมรายชื่อนก ผู้นำจะต้องเปิดหนังสือคู่มือดูนกทีละหน้าๆ และถามคนในกลุ่มว่ามีใครพบเห็นนกชนิดใดในหน้านั้นบ้าง หน้าใดที่มีนกซึ่งคนในกลุ่มพบจะต้องบันทึกไว้ หน้าใดไม่มีนกที่พบก็ข้ามไป จนกระทั่งจบหน้าสุดท้าย เป็นอันว่าเราได้รายชื่อนกที่พบในแต่ละวันหรือแต่ละทริพที่ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว
การรวบรวมรายชื่อนกในธรรมชาติในแต่ละวันหรือแต่ละทริพนั้น มีประโยชน์อย่างมาก ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
1. ช่วยทบทวนความจำของนักดูนกแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเดินทางไปดูนกในธรรมชาติเป็นกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มจะได้ช่วยกันจดจำนกที่พบในธรรมชาติ ทำให้รวบรวมรายชื่อนกได้ครบถ้วนไม่ตกหล่น ดีกว่าไปนั่งรวบรวมรายชื่อนกอยู่เพียงคนเดียว
2. ทำให้ทราบว่าสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มมีหลักในการจำแนกชนิดของนกอย่างไร หรือ จำแนกชนิดของนกถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้เพราะในขณะที่กำลังรวบรวมรายชื่อนก จะต้องมีการออกความเห็นว่า เป็นนกชนิดนั้นชนิดนี้หรือไม่ หรือถ้ามิใช่เพราะเหตุใด โดยต้องอธิบายรายละเอียดของนกชนิดนั้นๆ ประกอบ จนสมาชิกทุกคนหรือส่วนมากในกลุ่มยอมรับว่าเป็นนกชนิดนั้น
3. ทำให้สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มทราบว่า ตนได้พบนกชนิดใดบ้าง และกี่ชนิด และมีชนิดใดบ้างที่สมาชิกคนอื่นพบแต่ตัวเองไม่พบ จะได้สอบถามสมาชิกที่พบว่าพบตรงไหน เผื่อจะได้หาโอกาสไปดูได้ในภายหลัง
4. ทำให้ทราบว่าในพื้นที่ที่เราไปดูนก ซึ่งอาจเป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หรือพื้นที่อื่นๆ นั้น มีนกชนิดใดอาศัยหากินหรือทำรังวางไข่อยู่บ้าง
5. ทำให้ทราบว่าในพื้นที่ซึ่งเราไปดูนกนั้นมีความหลากหลายของนกมากมายเพียงใด ถ้าหากความหลากหลายของนกมีมาก แสดงว่าในพื้นที่นั้นมีความหลากหลายของพืชพรรณธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับนกมากด้วย
6. ทำให้ทราบว่าในพื้นที่ซึ่งเราไปดูนกนั้น มีพืชพรรณธรรมชาติหรือแหล่งอาศัยของนกเป็นแบบใดบ้าง เพราะนกแต่ละชนิดย่อมอาศัยอยู่ในแหล่งอาศัยที่แตกต่างกัน เมื่อทราบว่าในพื้นที่นั้นพบนกอะไรบ้างแล้ว เราย่อมสรุปได้ว่าในพื้นที่นั้นมีพืชพรรณธรรมชาติหรือแหล่งอาศัยเป็นเช่นใด
7. ทำให้มีรายชื่อนกในแต่ละพื้นที่เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลสำหรับการเดินทางไปดูนกในพื้นที่นั้นในครั้งต่อไปของเราและของคนอื่น และยังใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนอนุรักษ์นกในพื้นที่นั้นๆ ต่อไปอีกด้วย รายชื่อนกที่รวบรวมไว้นี้ จึงควรทำสำเนาส่งให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ที่เราไปดูนกด้วย

กลับหน้าหลัก

 

Hosted by www.Geocities.ws

1