การหานก (Bird Finding)
นักดูนกมือใหม่หลายคนคงจะแปลกใจ ในประเทศไทยมีนกมากมายเท่าในคู่มือดูนกจริงหรือ เพราะหลายคนคงจะเคยเห็นเฉพาะนกที่อยู่รอบๆ บ้าน ซึ่งมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น แต่ถ้าหากได้เดินทางออกไปดูนกในธรรมชาติบ่อยๆ ทั่วทุกแห่งในประเทศไทย ในสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน ย่อมได้เห็นนกมากมายหลายชนิดตามที่ระบุไว้ในคู่มือดูนก
อย่างไรก็ดี การหานกในธรรมชาติเป็นเรื่องที่จะต้องใช้การฝึกฝน เพื่อให้เกิดความชำนาญ จึงจะหานกที่อยากเห็นได้พบ การฝึกหานกที่ดีที่สุด ควรเริ่มจากการหานกที่อยู่รอบๆ บ้านให้พบก่อนว่ามีกี่ชนิด แล้วจึงค่อยๆ ไปดูนกในสวนสาธารณะ ตามชานเมือง ทุ่งนา แล้วค่อยเข้าไปดูนกตามป่าเขาลำเนาไพร และตามชายทะเล และเพื่อให้นักดูนกมือใหม่สามารถหานกได้พบ จึงขอแนะนำดังนี้คือ
1. ก่อนออกเดินทางไปดูนกในธรรมชาติ ควรจะต้องศึกษา หรือ หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปดูนกก่อนว่า มีสภาพแวดล้อมหรือแหล่งอาศัยของนกแบบใดบ้าง เราจะได้คาดเดาได้ว่า จะพบนกอะไรได้บ้าง เพราะนกแต่ละชนิดอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
2.เมื่อคาดการณ์ได้แล้วว่าจะพบนกอะไรได้บ้างเราจะต้องตรวจดูจากคู่มือดูนกเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับนกเหล่านั้นว่าอาศัยอยู่ใน
สภาพแวดล้อมแบบใด เช่น อยู่ในกอหญ้า ระดับกลางของต้นไม้ หรือ อยู่บนยอดไม้ อยู่ตามไม้พื้นล่าง หรืออยู่ในป่าบนเขาหินปูน เป็นต้น
3. เมื่อเดินทางไปดูนกในธรรมชาติ พยายามมองหานก หรือส่องกล้องดูนกในสภาพแวดล้อมต่างๆ กันบ่อยๆ เราจะพบนกที่เราคาดว่าจะพบได้ไม่ยากนัก แต่ทั้งนี้เราจะต้องแยกตัวนกออกจากสภาพแวดล้อมให้ได้ เฉพาะอย่างยิ่ง นกที่มีสีสันและลวดลายกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม
4. การดูนกในป่านั้น นักดูนกต้องใช้ความอดทนมากเป็นพิเศษ เพราะในป่ามักจะรกทึบ และมองหานกได้ยาก แม้ว่าจะได้ยินเสียงนกอยู่ล้อมรอบตัวเราก็ตาม ผิดกับการดูนกในทุ่งโล่ง หรือที่โล่ง ซึ่งหานกได้ง่ายกว่าการดูนกในป่า จึงต้องพยายามฟังเสียงร้องของนก จะได้เดาได้ว่า เสียงร้องของนกดังมาจากทางไหน และต้องคอยสังเกตดูกิ่งไม้ พุ่มไม้ หรือใบไม้ว่าขยับหรือไม่ ถ้าขยับอาจเนื่องจากมีนกอยู่ในบริเวณนั้นก็ได้ และต้องคอยมองดูว่า มีนกบินจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่งหรือไม่
5. ในบริเวณริมถนน ริมลำธาร ชายป่า หรือในบริเวณที่มีพืชพรรณธรรมชาติ 2 แบบมาบรรจบกัน ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า vegetation break นั้น เรามักพบนกมากมายหลายชนิด ด้วยเหตุนี้ จึงต้องใช้ความพยายามในการหาพื้นที่เช่นนี้ และหานกในพื้นที่เช่นนี้ เราจะได้เห็นนกที่อยากเห็น
6. นกที่กินน้ำหวานจากดอกไม้ มักชอบมากินน้ำหวานจากดอกงิ้ว ดอกทองหลาง และดอกไม้ยืนต้นอื่นๆ เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากเราเฝ้าดูนกเหล่านี้ ใกล้ๆ ต้นไม้เหล่านี้ที่กำลังดอกอยู่เต็มต้น เราอาจเห็นนกหกเล็ก (Hanging Parrots) นกแซงแซวหงอนขน (Hair-crested Drongo) นกปรอด (Bulbuls) นกเขียวก้านตอง (Leafbirds) นกกินปลี (Sunbirds) และนกกิง้โครงหัวสีทอง (Golden-crested Myna) เป็นต้น
7. นกที่กินผลไม้สุก เช่น นกเปล้า (Green Pigeons) นกโพระดก (Barbets) นกเขียวคราม (Asian Fairy-bluebird) นกกาฝาก (Flowerpeckers) นกเงือก (Hornbills) นกหกเล็ก และนกปรอด มักชอบมาหากินปะปนกันบนต้นไทร ต้นมะเดื่อ หรือต้นไม้อื่นๆ ที่มีผลสุกเต็มต้น ถ้าเราเฝ้าอยู่ใกล้ๆ ต้นไม้เหล่านี้ เราย่อมเห็นนกเหล่านี้ และบางทีอาจได้เห็นนกหายากๆ อย่างเช่น ไก่ฟ้า (Pheasants) ที่ชอบออกมาเก็บกินผลไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ตามโคนต้นไม้
8. ในฤดูแล้งหรือในป่าที่หาแหล่งน้ำได้ยาก ในช่วงเวลาเที่ยงหรือเวลาบ่ายแก่ๆ ซึ่งมีอากาศร้อนจัด นกมักลงมากินน้ำหรือเล่นน้ำในลำธารหรือแหล่งน้ำที่มีอยู่จำกัด ถ้าหากเราเฝ้าดูนกอย่างเงียบๆ เราอาจเห็นนกได้หลายชนิดเช่นกัน แม้กระทั่งนกที่หาตัวได้ยาก เช่น นกแต้วแล้ว (Pittas) ก็อาจพบเห็นได้
9. นกกินแมลงหลายชนิดมักมารวมฝูงและหากินปะปนกัน โดยกระโดดและบินตามๆ กันไปเรื่อยๆ ที่เรียกว่า คลื่นนก (bird wave) หรือบางทีก็เรียกว่า mixed species flock ถ้านักดูนกพบก็สามารถเห็นนกได้มากมายหลายชนิดในเวลาเดียวกัน

หัดใช้กล้องส่องทางไกล เพราะนักดูนกใหม่ๆ มักจะมีปัญหาเห็นนกด้วยตาเปล่าแล้ว แต่พอยกกล้องขึ้นส่องดู กลับหานกไม่เจอ วิธีแก้ไขก็คือต้องหัดใช้กล้องให้คล่องก่อน เราสามารถหัดใช้กล้องได้แม้จะไม่ได้ไปดูนก เช่นอยู่ที่บ้าน เราก็ลองมองไปที่วัตถุสักชิ้นหนึ่ง กิ่งไม้สักกิ่งหนึ่ง แล้วลองยกกล้องขึ้นส่องดู พยายามค้นหาและปรับโฟกัสภาพให้เร็วที่สุด พยายามซ้อมจนสามารถยกกล้องแล้วเล็งไปที่วัตถุนั้นได้ทันทีและสามารถปรับโฟกัสได้ใน 1 วินาที เพราะการออกไปดูนกในสนามนั้น นกบางชนิดมีเวลาให้เราดูไม่ถึง 2 วินาทีด้วยซ้ำ ดังนั้นความรวดเร็วของการใช้กล้องจึงสำคัญมาก อีกเทคนิคหนึ่งคือ ขณะที่เรามองด้วยตาเปล่านั้น พยายามหาจุดเด่นของสิ่งที่นกเกาะอยู่ ปลายกิ่งไม้ ดอกไม้ เป็นต้น เมื่อยกกล้องขึ้นส่องแล้ว ก็รีบหาจุดเด่นนั้น ก่อนที่จะเลื่อนกล้องไปยังจุดที่นกเกาะอยู่ อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ คือ
การปรับโฟกัสไว้ล่วงหน้า เมื่อเราดูนกเสร็จ ส่วนใหญ่มักจะปล่อยตำแหน่งโฟกัสไว้ที่ตำแหน่งสุดท้าย ถ้านกตัวสุดท้ายเราดูใกล้ๆ แล้วเราเจอนกตัวต่อไปซึ่งอยู่ไกล เมื่อเรายกกล้องขึ้นส่อง ภาพที่เห็นจะเบลอจนดูไม่รู้เรื่อง เนื่องจากภาพหลุดโฟกัสไปมาก เราต้องมาเสียเวลาปรับโฟกัสอยู่นาน ดังนั้นเราควรจะปรับโฟกัสทิ้งไว้ที่ระยะราว 10 เมตรไว้ตลอดเวลา เมื่อเราเจอนกตัวต่อไป เราก็จะไม่เสียเวลาโฟกัสนาน และภาพที่ได้เห็นเมื่อยกกล้องส่องดูครั้งแรก จะยังพอมองออกว่าเป็นภาพอะไร ทำให้หานกได้ง่ายขึ้นครับ

ใช้สัมผัส อันนี้ค่อนข้างยาก เพราะแต่ละคนมีประสาทสัมผัสต่างกัน บางคนหูดี บางคนตาดี แต่ก็พยายามใช้สัมผัสที่เราแต่ละคนมีอยู่ให้มากที่สุด สำหรับเทคนิคในการใช้ประสาทสัมผัส ก็คือสังเกตสิ่งที่แปลกปลอมครับ

เริ่มด้วยการใช้สายตา เราต้องสังเกตว่ามีอะไรแปลกๆ ไหม เช่น ไม่มีลมพัดแต่กลับเห็นใบไม้หรือกิ่งไม้ไหว ก็น่าสงสัยว่าต้องมีสัตว์อยู่ตรงนั้น หรือจะเป็นการสังเกตเห็นกิ่งไม้ที่ดูแปลกตาเพราะกิ่งไม้เปล่ากับกิ่งไม้ที่มีนกเกาะจะแตกต่างกัน แม้แต่การสังเกตสิ่งแวดล้อมอย่างพืชพรรณต่างๆ ก็มีส่วน เช่นเจอต้นกล้วย ก็มีโอกาสพบนกปลีกล้วย พบดอกไม้ที่นกชอบกิน ก็ลองเฝ้าอยู่สักพัก อาจจะมีนกกินปลีมาดูดน้ำหนาวก็ได้ นอกจากพืชแล้วยังมีสิ่งที่ให้สังเกตอีก เช่น โพรงรัง ลำธาร ต้นไทรที่ออกลูก หนองน้ำที่มีแมลงมากๆ ล้วนแต่เป็นแหล่งอาหารของนก จึงมีโอกาสที่มันจะมาแวะเวียนอยู่เสมอ

ต่อไปก็เรื่องการใช้หูฟัง หลักๆ ก็คงเป็นเสียงร้องของนก เช่น ถ้าเราได้ยินเสียงนกพญาไฟ เราก็ต้องพยายามส่องหาบนยอดไม้ แต่ถ้าได้ยินเสียงนกกินแมลงก็ต้องพยายามส่องหาตามพื้น แต่เราคงจะไม่สามารถจำเสียงนกได้หมด การหาทิศทางของเสียงก็สำคัญ ต้องหัดหาทิศทางของเสียงให้ได้ก่อนซึ่งจะได้จากประสบการณ์ ถ้าเราดูนกบ่อยๆ ก็จะหาทิศทางของเสียงได้เก่งขึ้น มีเทคนิคอันหนึ่งสำหรับการหาทิศทางของเสียง ก็คือหลับตาครับ แล้วจึงค่อยๆ ฟังว่าเสียงมาจากทางไหน อีกสิ่งหนึ่งสำหรับการใช้ประสาทหูก็คือ การฟังเสียงแปลกปลอม เช่นเสียงใบไม้ เสียงคุ้ยเขี่ยใบไม้ เสียงกระพือปีก นี่ก็เป็นเสียงที่เราควรสังเกตไว้เวลาที่เราออกไปดูนกครับ


อ่านหนังสือมากๆ และหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ เนื่องจากนกเป็นสัตว์ที่มาความหลากหลาย ในประเทศไทยเองก็มีนกมากกว่า 960 ชนิด นกแต่ละชนิดก็มีลักษณะนิสัยแต่งต่างกันออกไป บางชนิดก็ชอบอยู่ป่าละเมาะเช่น บรรดานกคุ่มต่างๆ บางชนิดก็พบมากในป่าชายเลน บางชนิดก็อาศัยอยู่เฉพาะป่าดงดิบ บางชนิดหากินกลางคืน บางชนิดก็ปรากฏตัวตอนช่วงเช้าตรู่และพลบค่ำอย่าง นกโป่งวิด (Painted Snipe) ถ้าเราทราบพฤติกรรม ลักษณะนิสัยของนก การหาตัวมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนข้อมูลเบื้องต้นเราก็สามารถหาอ่านได้จากคู่มือดูนก (Bird Guide) จากนั้นก็หาอ่านเพิ่มเติมจากหนังต่างๆ นอกจากนั้นยังมีสื่ออื่นๆ เช่น กระดานข่าวทาง Intranet มักจะมีการรายงานข่าวสาร การพบนกชิดต่างๆ อยู่เสมอ การติดตามข่าวสารทำให้เราสามรถตามไปดูนกเหล่านั้นได้ทันเวลา เพราะนกบางชนิดจะอพยพผ่านประเทศไทยเป็นเวลาช่วงสั้นๆ หรือข่าวพบการทำรังของนกบางชนิด ก็เป็นข้อมูลที่สามารถช่วยให้เราพบนกได้ง่ายขึ้น

กลับหน้าหลัก


Hosted by www.Geocities.ws

1